โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'สังศิต' รับทราบข้อกล่าวหาหมิ่น ตร. ปมพูดในวงเสวนา 'ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร'

Posted: 06 Jul 2017 12:55 PM PDT

'สังศิต' ยันในงานเสวนาไม่เคยหมิ่นองค์กรตำรวจหรือตำรวจทั่วประเทศ แต่ยินดีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ส่วนจะถูกกลั่นแกล้งหรือไม่นั้น ไม่ติดใจ ขณะที่ ผบ.ตร.มอบผู้แทนแจ้งจับ 'วิทยา แก้วภราดัย' หมิ่นฯ ตร. อีกคดี

ที่มาภาพ เพจ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

6 ก.ค.2560 รายงานความระบุว่า สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี รับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันหมิ่นประมาท หลังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้กองกฎหมายและคดี แจ้งความเอาผิด สังศิต กรณีร่วมอภิปรายในงานเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ "ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร" โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา มี พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ตกเป็นผู้ต้องหาร่วม และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ มี วิทยา แก้วภราดัย และ ถาวร เสนเนียม มาให้กำลังใจ

สังศิต ยินดีเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แต่ปฏิเสธไม่ได้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวข้อ "ตำรวจไทย มีไว้ทำไม" เป็นหัวข้อที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เป็นผู้จัด ซึ่งเป็นงานเสวนาเชิงวิชาการ และตนเห็นว่าองค์กรนี้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จึงยินดีมาเป็นวิทยากรและแสดงความคิดเห็นหรือแนวคิดและหลักการปฏิรูปตำรวจว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสถาบันแห่งนี้ ไม่มีเยาะเย้ย ถากถาง ดูหมิ่นดูแคลนหน่วยงานหรือบุคคลใด ไม่ได้กล่าวถึงชื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือชื่อนายตำรวจคนใดทั้งสิ้น อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็มีหัวข้อเรื่องการปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี ซึ่งมีความสอดคล้องกับหัวข้อที่จัดเสวนา ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาล ส่วนคำพูดที่ว่า "ตำรวจไทย มีไว้ทำไมนั้น" ตนพูดในฐานะที่เป็นหัวข้องานเสวนา ทั้งนี้ เคยมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าไม่สามารถหมิ่นประมาทองค์กรได้ หมิ่นประมาทได้เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ด้าน พ.ต.ท.ศิริพงษ์ ภูมิเหล่าแจ้ง หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี กล่าวว่า เมื่อผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จะพิมพ์ลายนิ้วมือ แจ้งข้อหาให้ทราบ สอบประวัติและสอบปากคำ ก่อนจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมเข้ามอบตัวเอง ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้ความเห็นทางคดีภายใน 2 สัปดาห์ โดยนายสังศิตต้องมารายงานตัวในวันส่งฟ้องด้วย สำหรับคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมายให้ผู้บังคับการกองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่ สน. ปทุมวัน ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา วิทยาได้ให้สัมภาษณ์ ในรายการเจาะลึกทั่วไทย "อินไซด์ไทยแลนด์" ประเด็นการซื้อขายตำแหน่ง ในการโยกย้ายนายตำรวจวาระประจำปี 2559  ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ในลักษณะใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จทำให้ประชาชน เข้าใจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในทางที่เสื่อมเสีย และเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย พนักงานสอบสวนสน. ปทุมวัน รับเรื่องไว้ โดยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรงเรียนในสวีเดนไม่จำกัดเด็กด้วยเรื่อง 'ชาย-หญิง' ช่วยส่งเสริมโอกาสมากขึ้น

Posted: 06 Jul 2017 08:13 AM PDT

ในสวีเดนมีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีความก้าวหน้าในเรื่องเพศสภาพมากในระดับที่ไม่เข้าไปกำกับการแสดงออกทางเพศของเด็กหรือแบ่งแยกเพศเด็กแบบเหมารวม ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าการทำเช่นนี้เด็กจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

ล็อตตา ราจาลิน เมื่อครั้งพูดในงาน TEDx (ที่มา: YouTube/TEDx Talks)

6 ก.ค. 2560 ล็อตตา ราจาลิน ผู้อำนวยการของโรงเรียนอนุบาลแห่งดังกล่าวในสวีเดนเคยขึ้นพูดบนเวที TEDx เมื่อไม่นานมานี้ว่าโรงเรียนอนุบาลของเธอไม่แบ่งแยกเพศนักเรียนด้วยของเล่นที่ต่างกัน เด็กที่มีเพศกำเนิดเป็นชายหรือหญิงต่างก็สามารถเล่นตุ๊กตา หุ่นยนต์ ตัวต่อไม้ หรือรถของเล่น ได้มีหุ่นยนต์ที่สวมกระโปรงบัลเลต์โดยไม่ระบุว่าเป็นเพศใด

นอกจากเรื่องของเล่นแล้วโรงเรียนแห่งนี้ยังไม่จำกัดการแสดงออกในเรื่องต่างๆ โดยอ้างเพศในเชิงแบ่งแยกด้วย ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเก็บความรู้สึกโกรธ เด็กผู้ชายไม่จำเป็นต้องถูกกดดันให้ไม่ร้องไห้ แต่ละคนมีบุคลิกในแบบของตัวเองไม่ว่าจะเป็นโผงผางหรือแสดงออกมากน้อยได้ตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมกับตัวเอง

ราจาลินเล่าว่าโรงเรียนของเธอจะไม่แปะป้ายทางเพศให้กับเด็ก ครูที่โรงเรียนจะถูกสอนไม่ให้เรียกเด็กว่าเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง แต่จะนับพวกเขาเป็นเด็ก เป็นมนุษย์ และเป็นเพื่อน ในประเทศสวีเดนมีคำบสรรพนามเรียกแทนคนอื่นที่เป็นกลางทางเพศอย่าง "เฮน" (Hen) ที่บัญญัติขึ้นเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้รับการบรรจุในพจนานุกรมทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง โดยคำว่า "เฮน" ถูกใช้แทนสรรพนามระบุเพศของภาษาสวีเดนอย่างคำว่า "ฮาน" (Han) และ "ฮน" (Hon) ได้

ในแง่ที่ว่าการเรียนการสอนที่ไม่ระบุเพศเช่นนี้จะส่งผลดีต่อเด็กหรือไม่นั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุปซอลาของสวีเดนที่ตีพิมพ์ในวารสารการทดลองจิตวิทยาเด็กระบุว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนอนุบาลแบบที่ไม่กำหนดบทบาทางเพศมักจะเข้าไปเล่นกับเด็กที่เป็นเพศตรงข้ามมากกว่าและมักจะไม่รับอิทธิพลการเหมารวมทางเพศเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับการสอนแบบกำหนดบทบาททางเพศทางวัฒนธรรมทั่วๆ ไป แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะทำให้เด็กไม่แยกเพศเลยระหว่างชายหญิงเลย

เบน เคนวาร์ด นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอุปซอลาและอ็อกฟอร์ดบรูกส์เป็นคนเขียนการวิจัยเรื่องที่ให้เด็กได้เรียนโดยไม่แบ่งแยกทางเพศ เขาอธิบายถึงผลลัพธ์ว่าเด็กที่ได้เรียนแบบนี้มีแนวโน้มจะไม่เหมารวมทางเพศและไม่แบ่งแยกโดยอาศัยเพศเป็นข้ออ้าง เคนวาร์ดยอมรับว่างานวิจัของเขาอาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ยังมีกลุ่มตัวอย่างไม่มากพอ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยต่อยอดออกไปพยายามจะค้นคว้าว่าการศึกษาระดับอนุบาลแบบเป็นกลางทางเพศนั้นจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จมากขึ้นหรือไม่ แม้ว่าผลการวิจัยจะยังไม่ออกมาเป็นทางการแต่นักวิจัยที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อควอตซ์ระบุว่าหลักฐานการวิจัยชี้ให้เห็นแนวโน้มไปในทางนั้น คือเด็กที่มีการสอนอย่างเป็นกลางทางเพศจะมีพัฒนาการทางการเล่นและการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหลากหลายมากกว่าเพราะได้เล่นของเล่นแบบที่ไม่ถูกจำกัดตามเพศ ทำให้เด็กมีพัฒนาการดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตมากขึ้น

ในทางตรงกันข้ามมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาพบว่าการแบ่งบทบาทในห้องเรียนโดยใช้เพศส่งผลลบต่อทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเท่าๆ กัน เช่น เด็กผู้ชายมักจะได้รับการส่งเสริมให้เล่นตัวต่อมากกว่าซึ่งจะได้รับการพัฒนาเกี่ยวกับพื้นที่ ส่วนเด็กหญิงมักจะถูกคาดหวังให้ต้องยอมตามคำชี้แนะของผู้ใหญ่มากกว่าซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเด็กผู้ชายเป็นพวกอยู่ไม่นิ่งอยู่แล้วเป็นความเชื่อที่ส่งผลให้เด็กชายมีผลการเรียนทางลบด้วย

นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยเรื่องพัฒนาการเด็กปี 2553 ที่ระบุว่าเด็กที่ถูกสอนแบบเน้นว่าสองเพศต่างกันมากเกินไปมักจะไม่ค่อยเล่นกับคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเพศตรงข้าม ในสวีเดนเองก็มีการแก้ไขกฎหมายให้โรงเรียนรัฐในทุกระดับต้องส่งเสริมนโยบายและการสอนเป็นกลางทางเพศมาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว อย่างไรก็ตามกรณีของราจาลินเป็นกรณีแรกๆ ที่เน้นเรื่องความเป็นกลางทางเพศในเด็กระดับอนุบาล

แน่นอนว่าการกระทำที่ก้าวหน้าของราจาลินก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เธอเคยให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์เมื่อปี 2555 ว่าเธอได้รับจดหมาย อีเมลล์ และความคิดเห็นทางเว็บล็อกในเรื่องที่เธอทำแต่ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความโกรธมากกว่าจะเป็นการโต้แย้งถกเถียงกัน กระนั้นราจาลินก็เชื่อว่าการทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ ได้โดยไม่ถูกจำกัดและได้คิดจินตนาการเองมันเป็นปรัชญาการศึกษาที่สำคัญ "พวกเราไม่ได้ทำให้เด็กเสียอะไรไปเลย พวกเรามีแต่ทำให้เด็กได้รับมากขึ้น" ราจาลินกล่าวใน TEDx

เรียบเรียงจาก

Sweden's gender-neutral preschools produce kids who are more likely to succeed, Quartz, 18-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา สื่อสาธารณะ: ปกป้อง จันวิทย์ เสียงแห่งความเงียบของไทยพีบีเอส

Posted: 06 Jul 2017 06:34 AM PDT

'ปกป้อง' ชี้ หลังรัฐประหาร ไทยพีบีเอสควรกล้าชนกับฝ่ายรัฐ เปิดพื้นที่ให้ความจริงหลากหลาย ต้องแก้โจทย์ 'ทำรายการดีที่มีคนดู' ให้คุ้มเงินภาษี 2,000 ล้าน หากประชาชนเห็นคุณค่าก็จะปกป้องหากรัฐเข้าแทรกแซง เสนอ ควรทบทวนระบบบริหารงานภายใน ทำไมคนมีศักยภาพไม่อาจอยู่ในองค์กร พบ รายงานการประชุมนโยบายไม่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 57

ปกป้อง จันวิทย์: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum "วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการร่วม the101.world และผู้วิจัย โครงการประเมินผลการดำเนินงานไทยพีบีเอสประจำปี 2552 กล่าวว่า

"10 ปีของไทยพีบีเอสเป็นการทำงานที่ท้าทายและเต็มไปด้วยความคาดหวัง ผมอยากเห็นเหมือนหลายๆ คน ที่อยากเห็นสื่อมืออาชีพที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐและทุน มีพื้นที่ให้กับประเด็นและผู้คนที่ไร้อำนาจต่อรองหรือเห็นต่างจากรัฐ และมีพื้นที่ให้ประเด็นและผู้คนที่ตลาดไม่สนใจ ที่มีค่าแต่ไม่มีมูลค่าตลาด เราต้องการสื่อที่ให้ปัญญาความรู้แก่สังคม ทำหน้าที่ตลาดวิชาที่เข้าถึงคนวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำรายการดีที่มีคนดู ซึ่งยาก ต้องอาศัยองค์ความรู้ในวิชาชีพสื่อมาแปลงความรู้ไปสู่สังคมได้อย่างมีพลังW

ในช่วงวิกฤตเรายิ่งต้องการสื่อที่ทำหน้าที่รายงานความจริงแต่ละชุดอย่างรอบด้านครบถ้วน เปิดพื้นที่ให้ความจริงหลากหลาย

คนทำสื่อต้องเก่งพอที่จะขุดความจริงมาตีแผ่และมองเห็นถึงความสัมพันธ์และเชื่อมโยงความจริงแต่ละชุด กล้าหาญพอที่จะเอาความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดหรือผู้มีอำนาจไม่อยากฟังออกมารายงานสู่สาธารณะแม้ว่าต้องชนกับรัฐบาลก็ตาม

ถ้าสื่อสาธารณะทำหน้าที่ได้ดีก็จะมีศักยภาพที่จะกำหนดหรือชี้นำทั้งวาระ ทิศทาง ผลลัพธ์ในเรื่องสำคัญของสังคมได้ ต้องถามตัวเองว่าเราสามารถ ask the right question ในประเด็นถกเถียงสำคัญหรือยัง บทบาทที่ถ้าเราทำได้เต็มที่เราคงมีโอกาสผลักดันนโยบายสาธารณะที่ดี สร้างพลังทางการเมืองและปัญญาความรู้ให้พลเมือง สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และช่วยทำหน้าที่กำกับทางสังคม ให้สังคมข้ามพ้นวิกฤตเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ มีสติ และมีปัญญา ถ้าทำหน้าที่ให้ดีแล้วก็จะเป็นตัวแบบที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อในเมืองไทยให้สูงขึ้นได้

ในช่วงหลังรัฐประหารสังคมไทยอาจต้องการสื่อสาธารณะมากที่สุด ในการรายงานความจริงชุดที่แตกต่างจากความจริงของรัฐ ในการเป็นธงนำส่งเสียงปกปักษ์รักษาเสรีภาพของทั้งสื่อและพลเมือง และในการติดตามตรวจสอบรัฐบาลที่ตรวจสอบไม่ได้เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แต่คนจำนวนมากในสังคมได้ยินแต่เสียงแห่งความเงียบของไทยพีบีเอส

ถ้าเงียบจริงก็เป็นปัญหาใหญ่ว่าไทยพีบีเอสมีไว้ทำไม

ถ้าส่งเสียงแล้วคนไม่ได้ยินก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งที่ต้องทบทวนว่าพลังของไทยพีบีเอสหายไปไหน ทั้งที่มีคนทำงานภายใน มีผู้ผลิตภายนอก และมีเครือข่ายคนทำงานที่ตั้งใจดีมีคุณภาพ และมีสำนึกของคนทำสื่อสาธารณะอยู่เต็มไปหมด คำถามคือพลังของคนเหล่านี้ไม่ส่งผ่านไปสร้างพลังที่หน้าจอ ในช่วงสามปีหลังพลังของเราในการเขย่าสังคมลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าใจหาย และคนรับรู้ถึงการมีอยู่ของเราน้อยลงเรื่อยๆ จากเรตติ้งที่เคยอยู่อันดับ 4 ของฟรีทีวี เดี๋ยวนี้ลงไปอยู่ต่ำกว่าที่ 15 ทั้งที่เราไม่ต้องลงสนามแข่งขันทางธุรกิจเหมือนอย่างช่องทีวีดิจิทอลส่วนใหญ่ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกัน

เราได้รับเงินที่ส่งมาสร้างสรรค์ผลงานปีละ 2,000 ล้านทุกปี ไม่ต้องออกแรง หรือการไม่ต้องออกแรงนี่เองที่ทำให้เราเฉื่อย ไม่ต้องปรับตัว แต่น่าสนใจว่าทรัพยากรที่ลงไปกับผลลัพธ์ที่ออกมาทำไมห่างไกลจากความคาดหวังของเรามาก กระบวนการบริหารจัดการภายในองค์กรมีปัญหาอะไร ถึงเราไม่ต้องแข่งขันในสนามธุรกิจแต่เราต้องแข่งขันในหน้าจอ เพราะคนมีทางเลือกมาก เราต้องปรับตัวให้เป็นทางเลือกที่โดดเด่นแก่คนดูได้

วิธีคิดของบางคนที่นี่ เราทำของดีไปไม่ต้องสนใจเรตติ้ง หรือโทษคนดูเป็นหลัก จึงไม่ใช่ ผมเชื่อว่าหน้าที่ไทยพีบีเอสคือทำรายการที่ดีมีคุณภาพนั้นเป็นเงื่อนไขจำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอ ถ้าเพียงพอต้องสู้กับคนดู ดึงคนดูให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เป็นคนละเรื่องกับการ ประนีประนอม (compromise) บทบาทหน้าที่ของไทยพีบีเอส

นี่คือความท้าทายใหญ่ ถ้าคนไม่ดูเราต้องโทษตัวเอง ต้องเพิ่มการเข้าถึง (reach) ให้คุ้มกับเงินภาษีประชาชนและคุ้มกับความตั้งใจของทีมงาน

ถ้าเราโทษระบบเรตติ้งที่มีอยู่ ไม่ต้องสนใจ ใช้ไม่ได้ ไม่ดี ก็ต้องออกแบบเรตติ้งของตัวเองที่คิดว่ามันสะท้อนการทำงานของสื่อสาธารณะได้ดีแล้วใช้ประเมินตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ไม่ผูกตัวเองกับการประเมินใดๆเลย แม้เรตติ้งจะมีข้อจำกัด มันก็เหมือน GDP ที่บอกอะไรเราหลายอย่าง และทำให้เราเทียบเคียงกับเพื่อนร่วมวงการได้ และมีประโยชน์ในการวางแผนการทำงานของเรา เราอยู่กับเรตติ้งที่เราเข้าใจข้อจำกัดของมัน แต่ไม่ใช่ใช้มันเป็นเป็นข้ออ้างในการไม่ต้องลงแรง

ในยุคที่มีการแข่งขันทางทีวีมากที่สุดและไทยพีบีเอสได้แต้มต่อจากเงิน 2,000 ล้าน เรากลับไม่มีความสามารถไปแข่งกับเพื่อนๆ ในการสร้างสรรค์หน้าจอคุณภาพ ยกระดับวงการทีวี

ต้องหันมาทบทวนว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะระบบราชการที่ผลิตสร้างกันเองภายในที่ฉุดการเติบโตไปข้างหน้าและความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรไหม เรายังจัดซื้อจัดจ้างรายการเหมือนซื้อโต๊ะซื้อเก้าอี้กันอยู่ไหม หรือเป็นเพราะการกำกับดูแล (governance) ขององค์กรที่ถูกกำหนดมาตามกฎหมาย ซึ่ง 10 ปีแล้วอาจต้องมาคิดจริงจังว่ามันเหมาะกับการบริหารองค์กรสื่อไหม เช่น การมีผอ.และบอร์ดบริหาร มีคณะกรรมการ 9 คนซ้อนกัน มันเหมาะกับการบริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่ไหม องค์ประกอบของกรรมการนโยบายถ้าคิดว่ายังต้องมีอยู่เหมาะสมไหม คนเยอะไปไหม บทบาทหน้าที่ควรจะเป็นอย่างไร หรือไม่ต้องมีเลย ถ้าไม่ต้องมีแทนที่ด้วยอะไร ถ้ามี คนที่รู้เรื่องสื่อจริง ๆ มีน้อยเกินไปไหม คนที่เป็นมืออาชีพมีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มือถึงมีน้อยไปไหม รูปแบบการสรรหาเพื่อให้ได้คนที่หลากหลายจะเป็นอย่างไร ในที่สุดอาจถึงเวลาที่ต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร โดยเฉพาะพนักงาน มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการตรวจสอบฝ่ายบริหารมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้นผู้ชมทั่วไปที่ต้องเป็นเจ้าของไทยพีบีเอส มีส่วนร่วมในการแนะนำและตรวจสอบไทยพีบีเอสอย่างไร ประชาชนกับไทยพีบีเอสจะสัมพันธ์กันอย่างไรเพราะเราใช้เงินภาษีประชาชน

ผมเข้าไปในเว็บไซต์พยายามดูว่าเดี๋ยวนี้กรรมการนโยบายเขาประชุมอะไรกัน ซึ่งแต่ก่อนมีการลงรายงานการประชุมนโยบายให้คนทั่วไปดูได้ ตอนนี้รายงานการประชุมล่าสุดที่ลงในเว็บไซต์คือ 19 มิถุนายน 2557 เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในนั้น มีข้อมูลอะไรที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะบ้าง

หรือเพราะการเมืองภายในองค์กรที่ฉุดรั้งไม่ให้เราไปข้างหน้า องค์กรไม่สามารถประสานคนจากหลากหลายที่มา หลากหลายความคิด ให้ทำงานร่วมกันและเห็นคุณค่าร่วมขององค์กรสื่อสาธารณะได้ กลับตีกันเอง ชิงอำนาจกันไปมา ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่ควรจะทำหรือเปล่า?

หรือเพราะการบริหารคน ทำไมคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะด้วย เก่งด้วย มีวิสัยทัศน์ด้วย ถึงไม่เลือกมาทำงานที่นี่ ทำไมคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะมีคุณภาพในไทยพีบีเอส ไม่สามารถใช้ศักยภาพในตัวเขาได้อย่างเต็มที่ ทำไมเรารักษาคนเหล่านี้ในองค์กรไม่ได้ ถ้าองค์กรไม่สามารถรักษาคนเหล่านี้ได้ แสดงว่าองค์กรมีปัญหาจริง ๆ เพราะสำหรับเขาเท่าที่ผมรู้จัก ใจเขาอยู่ที่นี่ จิตวิญญาณเขาอยู่ที่นี่ แต่เขาเหนื่อยและท้อจนสุดท้ายต้องลาออกไป

สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะก็ประมาณนี้แหละ จะเอาอะไรมาก ยังดีไม่พอ เราไม่ได้เทียบกับช่องอื่น เราต้องเทียบกับอุดมคติที่เราอยากไปถึงต่างหาก การมีอยู่ของสื่อสาธารณะต้องเพื่อผลักดันวงการสื่อและเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ อยู่ตรงที่สังคมหยุดนิ่ง

สื่อสาธารณะต้องอยู่ข้างๆ กับสังคม แต่ต้องมีส่วนในการเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ถ้าล้ำหน้าสังคมได้ก็ดี แต่ต้องไม่ลืมที่จะพาสังคมให้ยกระดับตามไปด้วย ถ้าสังคมถอยหลังเราไม่ต้องถอยหลังตาม เป็นหน้าที่เราที่ต้องดึงรั้งสังคมไว้ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อสาธารณะตามสังคมไม่ทัน ตามความเป็นจริงของสภาพของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมทั้งไทยและโลกไม่ทัน อาจรวมถึงการตามวงการสื่อไม่ทัน ยิ่งน่าเป็นห่วง

ไทยพีบีเอสต้องกล้าพูดความจริง กล้าวิจารณ์รัฐบาลแบบไม่กลัวถูกยุบ วัตถุประสงค์ของไทพีบีเอสก็กำหนดให้มีส่วนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย ถ้าทำหน้าที่สื่อสาธารณะเต็มที่คนก็จะเห็นคุณค่าและปกป้องเวลาที่รัฐจะเข้ามารังแกหรือแทรกแซง แต่ถ้ากล้าๆ กลัวๆ ไม่แตกต่างอย่างชัดเจน คนก็ไม่รู้สึกหวงแหน ไม่เห็นความหมายของการมีอยู่ของไทยพีบีเอส ยิ่งถ้าคิดไปตามใจรัฐสุดท้ายโดนยุบด้วย แทรกแซงด้วย คนก็จะยิ่งหัวเราะเยาะแทนที่จะเข้ามาช่วยปกป้อง

ผมในฐานะคนรักไทยพีบีเอส รักมากก็ต้องวิจารณ์หนักมาก ผมหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหน้าจอ ข่าว สารคดี และรายการ ที่ทำให้พวกเรากลับมาตื่นเต้นกับไทยพีบีเอสได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้หน้าจอและหลังจอต้องถูกปฏิรูปใหญ่ไปพร้อมกัน และที่สำคัญต้องกลับมายืนนิ่งๆ แน่นๆ ในจุดยืนที่สื่อสาธารณะควรตั้งมั่นอยู่ เชื่อว่าคนในที่นี้รู้อยู่แล้ว ปัญหาคือคิดจะทำรึเปล่า ยอมเหนื่อยไหม และกล้ารึเปล่าเท่านั้นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารยกฟ้อง คดี 'จิตรา' ฝืนคำสั่ง รายงานตัวกับ คสช. ชี้ทำเท่าที่จะดำเนินการได้แล้ว

Posted: 06 Jul 2017 05:38 AM PDT

ศาลทหารยกฟ้องคดี  'จิตรา คชเดช' ฝืนคำสั่งรายงานตัวกับ คสช. ชี้ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้แล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด ขณะที่เลื่อนสืบพยานคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ รอศาลสั่งรวมคดีรังสิมันต์ โรม เข้าเป็นคดีเดียวกัน

จิตรา คชเดช

6 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.ค.60) เมื่อเวลา 9.30 น. ศาลทหารอ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดี จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว จากการที่เธอไม่ได้เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557

โดยศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อ คสช. มีคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2557 โดยกำหนดให้ผู้มีรายชื่อในคำสั่งดังกล่าวไปรายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 เวลา 10.00 - 12.00 น. โดยจำเลยมีรายชื่ออยู่ในคำสั่งลำดับที่ 10 จำเลยไม่ไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดตามฟ้องโจทก์ จำเลยซึ่งให้การปฏิเสธและอ้างตัวเองเป็นพยานนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จำเลยเดินทางไปประเทศสวีเดน ก่อนที่คสช. มีคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว และหลังจากมีคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557 ไม่มีข้อความระบุว่าหากไม่สามารถมารายงานตัวตามกำหนดต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อจำเลยทราบคำสั่ง ได้ไปขอรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ในวันที่ 3 มิ.ย.2557  เวลา 10.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาที่ให้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. ชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถมารายงานตัว ตามกำหนดได้ การไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน จำเลยพบกับ เลขานุการทูตชั้นเอก ซึ่งแจ้งว่าทูตทหารที่ประจำการที่สถานทูต และเอกอัคราชทูตไม่อยู่ และสถานทูตไม่มีกรอบการทำงานการรับรายงานตัว จำเลยได้บันทึกภาพการเดินทางมาที่สถานทูตไทยในสวีเดน และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทำการบันทึกภาพการเดินทาง และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน แล้วนำภาพจากโทรศัพท์เคลื่อนที่คัดลอกข้อมูลลงแผ่นบันทึกภาพและเสียงเป็นวีซีดีเป็นวัตถุพยาน และจำเลยได้ทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. และพยายามติดต่อทางโทรศัพท์ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ คสช. 

จากนั้นได้ทำหนังสือติดต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ส่งคนมารับที่สนามบิน ในวันเดินทางกลับถึงประเทศไทย ในวันที่ 13 มิ.ย. 2557 รวมทั้งจำเลยมีนายมาธิอัส สโกล์ด เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้พาจำเลยเดินทางไปสถานทูตและบันทึกภาพในการติดต่อสถานทูตไว้ และ เกศรินทร์ เตียวสกุล เป็นพยานเบิกความว่า พยานแนะนำให้จำเลยทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและฝ่ายกฎหมาย คสช. และได้ไปรับจำเลยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันเดินทางกลับด้วย และมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นพยานเบิกความว่า ได้นำเอกสารที่จำเลยมีถึงหัวหน้า คสช. ส่งให้กับ เจ้าหน้าที่ที่รับรายงานตัว รับไว้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2557 เมื่อถูกจับกุมตัว จำเลยได้ให้การพร้อมกับแสดงเอกสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้มารายงานตัว ตามสำเนาบันทึกในชั้นสอบสวน และได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการทหาร ซึ่ง พ.ท.ชัยยง เจ้าหน้าที่ที่รับรายงานตัว และ ร.ท.ไพทูลย์ พนักงานงานสอบสวน พยานโจทก์ ก็เบิกความเจือสมกับจำเลย ที่นำสืบว่า จำเลยมีเหตุที่ไม่สามารถมารายงานตัวตามที่กำหนดได้ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ขณะมีคำสั่ง คสช. ให้มารายงานตัว และไม่สามารถกลับมาได้ทัน  และระหว่างที่อยู่ประเทศสวีเดนได้ไปรายงานตัวที่สถานทูตไทยในประเทศสวีเดน ตามวันเวลาที่กำหนดในคำสั่ง
 
ศาลระบุด้วยว่า เห็นได้ว่าจำเลยได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้แล้ว อีกทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน ถึงชั้นพิจารณาของศาล โดยนำเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตามสมควรแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้อง
 
จิตรา ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังทราบคำพิพากษาว่า 3 ปีที่ถูกดำเนินคดีนี้ทำให้ตนต้องเสียทั้งเวลาและสุขภาพ ตนไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีหรือออกหมายจับแต่ต้นอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีมีเจตนา และ คสช. เรียกรายงานตัวก็อ้างเรื่องการสร้างความปรองดอง จึงไม่ควรดำเนินคดีหรือออกหมายจับกับคนที่ถูกเรียกรายงานตัว
 
ทั้งนี้ จิตรา ถูก คสช. เรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งที่ 44/2557 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57 แต่ไม่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้เนื่องจากติดภารกิจดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน อย่างไรก็ตามเธอได้แจ้งกับสถานทูตไทยในสวีเดนแล้ว ฝากเพื่อนยื่นหนังสือชี้แจงถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ไม่เป็นผล ยังถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว เมื่อจิตราเดินทางกลับจากสวีเดนถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 13 มิ.ย.57 ก็ถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบ 1 คืนก่อนจะได้รับการประกันตัวและถูกดำเนินคดีดังกล่าว ตลอดการสู้คดีจิตรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงการเข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ดังกล่าว

เลื่อนสืบพยานคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ รอศาลสั่งรวมคดีรังสิมันต์ โรม เข้าเป็นคดีเดียวกัน

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีนักศึกษาและนักกิจกรรมทำกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากอัยการทหารยื่นคำร้องขอรวมคดีของรังสิมันต์ โรม ที่เพิ่งฟ้องเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560 เข้าเป็นคดีเดียวกัน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานออกไปก่อน จนกว่าศาลในคดีของรังสิมันต์จะมีคำสั่งให้รวมคดี

ส่วนหนึ่งของจำเลยคดีรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช. ที่หน้าหอศิลป์ฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ขออย่าเปรียบตนเป็นพระเอก “เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน” แม้พระเอกเป็นทหารเสือราชินี

Posted: 06 Jul 2017 05:14 AM PDT

ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยยังไม่ได้ดูละคร "เหนี่ยวหัวใจ สุดไกปืน" แต่ชวนให้ประชาชนดู พร้อมขออย่าเปรียบว่าพระเอกเป็นตัวแทนของตน แม้จะเป็นทหารเสือราชินีก็ตาม ชี้ถ้าเป็นตนคนไม่ดู เพราะทุกวันนี้ถูกมองเป็นผู้ร้าย

6 ก.ค. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงละครชุดภารกิจรัก ตอน "เหนี่ยวหัวใจ สุดไกปืน" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภารกิจของทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ และตำรวจ โดยนักแสดงนำตัวเอกของเรื่อง เป็นนายทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ได้ดู ยังไม่เห็น เพิ่งจะรู้ แล้วใครทำล่ะ ตอนนี้ตนมัววุ่นอยู่กับการเมืองที่สื่อถาม จึงไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเท่าไร

เมื่อถามว่า คสช.เป็นผู้สนับสนุนการสร้างละครเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็คงมั้ง ไม่รู้เดี๋ยวต้องถามก่อน หากคสช.ทำเดี๋ยวเขาก็รายงานผม แต่ทำไมต้องมองว่า พระเอกเป็นทหารจาก ร. 21 รอ. ผมไม่ได้เป็นคนสร้างละครเรื่องนี้" เมื่อถามว่า จะสนับสนุนให้ประชาชนดูละครเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ดูซิ"

เมื่อถามว่า ละครเรื่องนี้ มีทหารหลายเหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีหลายเหล่าก็หลายเหล่าไปซิ ก็เป็นกิจการหนึ่งของกองทัพบก หรือ คสช. โดยกองทัพบกเป็นคนทำในนาม คสช. โดยใส่กิจการกองทัพบกไปในละคร และเอากิจการของหลายเหล่าทัพใส่ไปในเรื่องด้วย ส่วนเขาจะใส่ใครเป็นพระเอก ผู้ร้าย ตนก็ไม่รู้

เมื่อถามว่าย้ำว่า พระเอกเล่นบท ทหารบก ร. 21 รอ. เหมือนแสดงแทนเป็นตัวนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เป็น ร.21 รอ. แล้วเป็นไง" ผู้สื่อข่าวกระเซ้ากลับว่า พระเอกหน้าตาหล่อ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เหรอ ไม่ใช่ฉันนี่ ถ้าเป็นผมไม่มีคนดูอยู่แล้ว วันนี้ผมเป็นผู้ร้ายไปหมดแล้ว"

ภารกิจรัก ละครชุคความรักระหว่างรบ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหม

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า ละคร "เหนี่ยวหัวใจ สุดไกปืน" เป็นหนึ่งในชุดละคร ภารกิจรัก เป็นละครแนวแอคชั่น โรแมนติก ดราม่า ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 โดยมีเนื้อเรื่องที่ถ่ายทอดถึงเรื่องราวความรักระหว่างการรบของคนในเครื่องแบบ จาก 4 เหล่าทัพ ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ และตำรวจ ซึ่งดัดแปลงมาจากชุดนิยายภารกิจรัก ประกอบไปด้วยนิยาย 4 เรื่องคือ เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน โดย อักษรา ,ราชนาวีที่รัก โดย เฟื่องนคร ,ยึดฟ้าหาพิกัดรัก โดย ทองหลาง และ มือปราบเจ้าหัวใจ โดย อัคนี

โดยละคร เหนี่ยวหัวใจ สุดไกปืน เป็นละครตอนแรกที่ออกกาศ โดยออกอากาศในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 – 22 ก.ค. 2560 มี เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ และพีค ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ รับบทเข้าคู่พระนาง กำกับการแสดงโดย สยาม น่วมเศรษฐี ผู้ฝากผลงานไว้กับละครเรื่อง นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ควบคุมการผลิตโดยบริษัท พอดีคำ เอนเตอร์เทนเมนต์ ภายใต้การบริหารโดย ธงชัย ประสงค์สันติ โดยร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพล

สำหรับเนื้อเรื่องของ เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน เป็นเรื่องราวของนายทหารหน่วยรบพิเศษแห่งกองทัพ ซึ่งมีภารกิจหลักในการขัดขวางการขนส่งยาเสพติดข้ามประเทศ และอีกหนึ่งภารกิจกับการช่วยเหลือแพทย์อาสาลูกสาวท่านฑูต ผู้เป็นรักแรกของเขาที่ถูกจับตัวไป

เวียร์ ศุกลวัฒน์ เผยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแสดงเป็นทหารคือ ความตื้นตันที่เกินจะหาคำมาอธิบายได้

ขณะที่ เวียร์ ศุกลวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ true id เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นี้ว่า รู้สึกภูมิใจกับบท ร้อยเอกภูริช ที่ได้รับในครั้งนี้มาก การรับบททหารในเรื่องนี้ไม่เหมือนการแสดงละครเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาคือ ศึกษาตัวละครในบทบาทนั้นๆ แล้วแสดงให้แฟนๆ ดู แต่ในเรื่อง เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน เราต้องศึกษา เรียนรู้เรื่องราวการใช้ชีวิต การปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆ ของทหาร ซึ่งสิ่งที่ได้รับรู้และรับฟังมันยิ่งกว่า ความภาคภูมิใจ มันเป็นความตื้นตันที่เกินจะหาคำมาอธิบายได้ หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่าทหารที่เสียสละปกป้องเป็นแนวหน้าให้พวกเราแท้จริงแล้ว เขาเหล่านั้นต้องทำอะไรและเสียสละอะไร เพื่อให้พวกเราได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข พวกเขาต้องเสียสละชีวิตความสุขสะดวกสบายฝึกฝนอย่างหนักเพื่อปราบปรามผู้ร้าย และกลุ่มคนที่รุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทย รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ

ธงชัย ประสงค์สันติ เผยทหารไม่ยุ่งบทละคร แต่อยู่ตรงกลางตามความเหมาะสม

ธงชัย ประสงค์สันติ ผู้บริหารบริษัท พอดีคำ จำกัด ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Spring News เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ว่า บริษัทได้ทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด ในส่วนการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมนั้น เป็นการสนับสนุนเช่น การเอื้อเฟื้อสถานที่ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องยศตำแหน่ง เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นความลับของทางราชการ ไม่สามารถที่จะนำมาเปิดเผยในละครได้ทั้งหมด

"เขา(ทหาร) ปล่อยเราอยู่แล้วครับ แต่ก็มีอ่านบทบ้าง เขาอยากให้มันเป็นละคร เป็นเอนเตอร์เทน เป็นอะไรที่สนุก ไม่อยากให้เป็นอะไรที่มันจริงจังซีเรียสเกินไป ในเรื่องการเขียนบทเราก็มีอิสระอยู่บ้าง คือไม่ให้มันบิดไปเยอะ แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่กองทัพจะเข้ามาเขียนบทเอง แต่อยู่ตรงกลางตรงที่มันเหมาะสม และไม่ได้มีการกำชับอะไร เพราะจริงๆ หน่วยงานของรัฐกับประชาชนใกล้ชิดกันอยู่แล้ว พอมาเล่าผ่านละครก็อยากให้ได้ความบันเทิง อยากให้ความสุขกลับคืนไปให้ท่านผู้ชมบ้าง แล้วยิ่งคนรุ่นใหม่ เราดูซีรี่ย์ต่างชาติ ฝรั่งก็ดี เกาหลีก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอิทธิพลมาก ดังนั้นเขาก็อยากได้มุมนี้บ้างเท่านั้นเอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำแหละแก้ กม.บัตรทอง ‘ชนชั้นกลาง’ โดนก่อน เสี่ยงยา-หมอขาดแคลน ปชช.ต้องร่วมจ่าย

Posted: 06 Jul 2017 04:36 AM PDT

ภาคประชาชนจัดเวทีค้านแก้กฎหมายบัตรทอง เพราะกำลังทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชำแหละข้อเสียทำหมอ-ยาขาดแคลน ปชช.อาจต้องร่วมจ่าย เสนอตัดคำว่าร่วมจ่ายและรวมระบบสวัสดิการทั้ง 3 ระบบเข้าด้วยกัน ย้ำพร้อมเคลื่อนไหวทุกวิถีทางหากรัฐบาลยังดึงดัน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำลังพิจารณากฎหมายและความคิดเห็นต่างๆ ทางด้านภาคประชาชนและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพก็ได้จัดเสวนาคู่ขนาน ในหัวข้อ 'แก้ กม.บัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?' ที่โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน

ในงานดังกล่าว ตัวแทนจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ได้อธิบายถึงความสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความจำเป็นที่จะต้องปกป้องไม่ให้เกิดการทำลายหลักการนี้ลงจากการแก้ไขครั้งนี้ โดยชโลม เกตุจินดา จากเครือข่ายผู้บริโภคสงขลา กล่าวถึงอดีตครั้งที่มีการรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือของทุกกลุ่ม

บัตรทองคือหลักประกันชีวิตของประชาชน เสนอตัดคำว่าร่วมจ่ายออก

ภายหลังจากเกิดกฎหมายขึ้น ทำให้ภาคประชาชนในพื้นที่สามารถมีส่วนร่วมในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเข้าใจบริบทและมีความคล่องตัวมากกว่าหน่วยงานราชการ ชโลม เสนอว่า

"ให้ตัดคำว่าร่วมจ่ายออกและทำให้สามกองทุน (สวัสดิการข้าราชการ, ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ใช้ระบบรักษาพยาบาลร่วมกัน ต้องทำให้สิทธิใกล้เคียงกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการเสนอการปรับปรุงกฎหมายมาตลอด แต่ข้อมูลเหล่านี้เข้าไม่ถึงคณะกรรมการแก้กฎหมายเลย"

ด้าน บุษยา คุณากรสวัสดิ์ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ของตนว่า ครอบครัวของตน แม่ต้องผ่าตัดเข่าทั้งสองข้าง ส่วนพี่ชายก็เป็นลูคีเมีย ซึ่งต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากไม่มีหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ครอบครัวของตนอาจล้มละลายไปแล้ว ดังนั้น บัตรทองจึงทำให้ชีวิตมีหลักประกันที่มั่นคง เมื่อหลักประกันนี้กำลังถูกสั่นคลอนจึงจำเป็นต้องออกมาสู้

"บัตรทองมีการใช้ข้อมูลจากการศึกษามหาศาล จึงมีการพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ แม้มีงบจำกัด บัตรทองก็สามารถให้ยารักษาโรคหัวใจได้ ถึงจะแพงมาก แต่เพราะมีกระบวนการต่อรองทำให้ค่ายาถูกลง แต่ข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคนกลับใช้เงินครึ่งหนึ่งของประชาชนในระบบหลักประกัน หรือข้าราชการ 1 คนใช้เงินเท่ากับประชาชนในระบบหลักประกัน 4.3 คน

"ยุคนี้ถ้าแก้กฎหมายบัตรทองได้ จบเลย เพราะจะเท่ากับตีเช็คเปล่า แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายจะมีเรื่องร่วมจ่าย แต่สัดส่วนกรรมการที่มีอยู่ทำให้ยันไว้ได้ตลอด ถ้าปล่อยให้แก้ได้ มีการเปลี่ยนสัดส่วนคณะกรรมการเท่ากับตีเช็คเปล่าให้คนที่ทำงานตามอำนาจ ตามกระแส ตามพรรคพวก"

ด้าน มีนา ดวงราศี จากเครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน มองว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนลดน้อยลง

"สถานการณ์จริงตอนนี้ให้สาธารณสุขจังหวัดควบคุมกำกับการขอเงินของ รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) จะขอโครงการต้องส่งมาให้พิจารณาที่สาธารณสุขจังหวัดก่อน อ้างว่าเพื่อทำให้ถูกต้อง ทำให้ รพสต. ไม่มีสภาพคล่องในการทำงาน อยากทำให้สอดคล้องกับพื้นที่ก็ทำไม่ได้ กฎหมายที่จะแก้ก็ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ถ้าผ่านจะเกิดการกระจุกตัวการให้บริการสาธารณสุขในแบบของรัฐเท่านั้น"

ชนชั้นกลางในระบบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่จะต้องร่วมจ่าย เพราะถูกตีความว่าไม่ใช่คนจน

มีนา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพจะต้องยึดหลักการที่เป็นหัวใจ 3 ข้อไว้ให้ได้ คือต้องครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย, ต้องครอบคลุมทุกบริการสาธารณสุข และต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่นี้กำลังทำให้ 3 หลักนี้สั่นคลอนและหดหาย

สิ่งที่ประชาชนจะสูญเสียจากแก้กฎหมายรอบนี้

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการแยกผู้ซื้อกับผู้ให้บริการออกจากกัน, เป็นระบบบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ สำหรับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการให้ดียิ่งขึ้น แต่การแก้ไขกฎหมายรอบนี้กำลังจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียอะไรบ้าง เขาแจกแจงออกมาดังนี้

หนึ่ง-อาจมีการปรับเพิ่มจำนวนเงินร่วมจ่ายต่อครั้งที่ไปรักษาพยาบาล เพราะไม่ตัดคำนี้ออกจากมาตรา 5 วงเล็บ 2

สอง-ชนชั้นกลางในระบบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรกที่จะต้องร่วมจ่าย เพราะถูกตีความว่าไม่ใช่คนจน อย่างไรก็ตาม นิมิตร์ย้ำว่าระบบหลักประกันหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ระบบของคนจน แต่เป็นสิทธิประโยชน์ของทุกคนที่จะได้รับบริการจากรัฐ และถ้ามีการแก้สัดส่วนกรรมการได้ ชนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มแรกที่เสี่ยง

สาม- เมื่อไหร่ที่ผู้ได้รับสิทธิประกันสังคมออกจากงาน ถ้าหางานไม่ได้ใน 6 เดือนหรือเมื่ออายุครบ 55 ปี จะถูกโยกมาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้ากฎหมายถูกแก้ตอนนี้ อนาคตคนกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

สี่-โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บเงินหรือร่วมจ่าย แต่รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เหตุนี้จึงควรแก้กฎหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกลไกต่อรองราคายา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้แก้กฎหมายไม่สนใจ

ห้า-ประชาชนจะเสียสิทธิการมีส่วนร่วมบริหารจัดการการส่งเสริมและป้องกันโรค เพราะกฎหมายจะแก้ว่าถ้าประชาชนต้องการทำงานส่งเสริมและป้องกันต้องติดต่อให้โรงพยาบาลเป็นผู้เขียนโครงการให้

หก-ประชาชนจะเสียสิทธิในการเสนอ ปรับปรุง หรือแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เพราะสัดส่วนกรรมการจะหายไป

เจ็ด-ประชาชนอาจเสียโอกาสในการได้รับยาต่อเนื่องกรณีโรคเรื้อรัง หรือเสียโอกาสในการซื้อยาในราคาที่เป็นธรรม และอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนยาในบางช่วง

แปด-ในอนาคตอาจเสี่ยงกับการมีผู้ให้บริการไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย เพราะถ้ามีการแยกเงินเดือนจากค่าเหมาจ่ายรายหัว จะทำให้ค่าเหมาจ่ายรายหัวไม่สัมพันธ์กับจำนวนประชากร ในพื้นที่ที่มีประชากรมาก แต่ห่างไกล แพทย์อาจไม่ต้องการไปอยู่ เงินเหมาจ่ายรายหัวที่รวมเงินเดือนนี้ก็ยังสามารถนำไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้ หากแยกออกจากกันอาจทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ และเกิดการกระจุกตัวของแพทย์ในเขตเมือง

เก้า-ประชาชนต้องรีบป่วยตั้งแต่ต้นปี เพราะปลายปีเงินอาจหมด เนื่องจากในกฎหมายใช้คำว่า ให้คิดค่าใช้จ่ายที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาปัจจุบัน ตอนนี้หลักประกันสุขภาพจ่ายราคาตามรายโรคร่วม ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกคิดไว้แบบถัวเฉลี่ยทั้งปี การแก้ว่าต้องสะท้อนต้นทุน ณ ปัจจุบัน หากต้นทุนเพิ่ม ผู้ป่วยก็ต้องร่วมจ่าย ประเด็นนี้เป็นการแก้โดยไม่บอกประชาชน

นิมิตร์ เสนอว่า หากจะแก้กฎหมายหลักประกันจะต้องตัดเรื่องร่วมจ่ายออกจากกฎหมาย รวมทั้งต้องรวมระบบสวัสดิการสุขภาพเข้าเป็นระบบเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ไม่ทำ เพราะตอนนี้รัฐไทยเป็นรัฐราชการ ข้าราชการเป็นใหญ่จึงทำให้แก้ยาก

ภายหลังการเสวนา นิมิตร์ ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า

"ถ้ายังมีการแก้ในประเด็นที่มีความขัดแย้งกันอยู่ เครือข่ายประชาชนจะจับตามอง และเราก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ทุกวิถีทาง เพื่อหยุดยั้งการแก้ในประเด็นที่เห็นต่าง ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าพี่น้องทุกคนหวงแหนระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเป็นหลักประกันด้านสุขภาพของคนทุกคน เราคิดว่าเราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้อง ถ้าคุณแก้ แล้วทำให้แย่"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.มีมติอนุมัติ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็น พ.ร.บ.

Posted: 06 Jul 2017 04:08 AM PDT

สนช. มีมติ 177 เสียง อนุมัติ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเป็น พ.ร.บ. ต่อไป พร้อมฝากข้อสังเกตเรื่องบทลงโทษที่หนัก และปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ย้ำการแก้ปัญหาต้องทำอย่างสุจริต

6 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ด้วยคะแนน เห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง  

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้คำนึกถึงการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของภายในและต่างประเทศ

ด้านสมาชิก สนช. เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมองว่าปัญหาแรงงงานต่างด้าวเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จึงจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขและจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เกิดความชัดเจน แต่จะต้องทำอย่างสุจริต สะดวกต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อยและผู้ลงทะเบียน และป้องกันปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกันได้ฝากข้อสังเกตในหลายประเด็นที่อาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะถูกโทษปรับ 4 - 8 แสนบาท ซึ่งถือเป็นโทษที่หนัก , การกำหนดประเภทงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำต้องชัดเจน อำนวยความสะดวกการรับแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศตั้งแต่ต้นทาง ป้องกันปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์

ส่วนประเด็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ในบางมาตรา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชน ออกไปอีก 6 เดือน ถือเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่า เมื่อครบกำหนดเวลาหากยังมีปัญหา นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาและดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เหมาะสมและแก้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศุภชัย' เผยมีอาวุธลับแต่ยังไม่บอกว่า จะใช้ช่องทางใดให้ศาล รธน. ตีความ พ.ร.ป.กกต.

Posted: 06 Jul 2017 03:02 AM PDT

ประธาน กกต. ระบุมีอาวุธลับ กฎหมายพิเศษ เพื่อส่งเรื่องให้ศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. ขัด รธน. หรือไม่ พร้อมย้ำกรณีตรวจสอบคุณสมบัติ สนช. ครม. ไม่ได้ทำเพื่อต่อรองการเซ็ตซีโร่ ลั่นไม่กลัวหลุดจากตำแหน่งจากคำสั่งศาล หรือคำสั่งพิเศษ

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภาพจาก: สำนักข่าวไทย

6 ก.ค. 2560 ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง กรณีที่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า กกต.ยังไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ จนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ว่า เรื่องนี้ต้องไปศึกษาว่ามีช่องทางใดในการยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเดิมได้หรือไม่ เพราะ กกต.มีมติเอกฉันท์เห็นว่า 6 ประเด็นในร่าง พ.ร.ป.กกต.ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) เป็นเพียงช่องทางที่ให้อำนาจ หรือที่ศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาว่าร่างกฎหมาย หรือกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กกต.ก็ต้องหารือกัน ไม่ใช่ยื่นไปแล้วเสียรังวัด ส่วนจะใช่ช่องทางใดในการยื่นนั้นยังบอกไม่ได้ ถือเป็นอาวุธลับ เพราะทุกฝ่ายก็มีอาวุธลับเป็นของตัวเอง

ต่อกรณีที่มีชัยระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ กกต.ต้องพ้นสภาพในทันที ศุภชัย กล่าวว่า กกต. ไม่ได้วิตกว่า จะพ้นจากหน้าที่เมื่อไร เพราะพร้อมอยู่แล้ว 

"พวกเราไมได้กังวล จะช้าหรือเร็ว เราก็ต้องไปอยู่ดี ถ้าเราไปเร็ว เราก็ได้พักผ่อน ไม่ต้องมากังวล หรือถกเถียงอะไรให้วุ่นวาย แม้ตัวเราจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่ก็ต้องรักษาองค์กรให้อยู่อย่างมีคุณภาพ เป็นเสือต้องไม่ร้องไห้ ต้องมีศักดิ์ศรี" ศุภชัยกล่าว

ศุภชัยยังกล่าวกรณีที่มีการมองว่า กกต. มีมติตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีและ สนช. ถือเป็นนำเรื่องนี้มาต่อรองกับปมจะถูกเซตซีโร่ ว่าไม่ใช่ แต่เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่เมื่อ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยยื่นร้องให้ตรวจสอบ กกต.ก็ต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ทำก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่

"ไม่ได้ต่อรองเรื่องเซตซีโร่ เรามีหน้าที่อะไรก็ทำไป ไม่คิดว่าจะยื้อเพื่อให้อยู่ในตำแหน่ง เราต้องรอบคอบ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องของการกระทบสิทธิ" ศุภชัยกล่าวด้วยว่า ไม่กลัวที่จะพ้นจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาล หรือคำสั่งพิเศษใดๆ

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย , ผู้จัดการออนไลน์

       

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิลาสินี พิพิธกุล นั่ง ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่

Posted: 06 Jul 2017 02:28 AM PDT

มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเลือก "รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล" เป็น ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม 

6 ก.ค.2560  ไทยพีบีเอสรายงานว่า หลังจากเมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) คนใหม่ คือ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่นบรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด มหาชน รศ.วิลาสินี พิพิธกุล  อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ในสมัยของ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีต ผอ.ส.ส.ท. โดยทั้งสองคน ได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครต่อคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ที่มี รศ.จุมพล รอดคำดี เป็นประธานกรรมการนโยบาย  

มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเลือก "รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล" เป็น ผอ.ไทยพีบีเอสคนใหม่ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม จากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ที่เข้าจำนวน 7 คนจาก 9 คน เนื่องจากไม่มา 2 คน 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ กำหนดให้แสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาทีและอีก 15 นาทีให้เลือกตอบคำถามจากซอง โดยกรรมการ 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมการสรรหาครั้งนี้คือ พิพัทธ์ ชนะสงคราม และ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชประเสริฐ

โดย รศ.ดร.ณรงค์ ให้เหตุผลว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาไม่ถูกต้อง และคุณสมบัติของผู้สมัคร ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทั้ง 2 คน ซึ่งไม่น่าจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเข้ารับการสรรหา

ส่วน พิพัทธ์ ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายเมื่อวันที่ 5 ก.ค.นี้ ขอให้ทบทวนและแก้ไขกระบวนการสรรหา โดยระบุว่า เหตุผลว่าการพิจารณากลั่นกรองไม่ถูกต้อง และให้ตรวจสอบประวัติของผู้สมัครสรรหา รวมทั้งต้องการขอความเห็นประกอบว่าควรให้คณะกรรมการสรรหาเสนอความเห็นประกอบผู้เข้ารับการสรรหาทุกคนที่ผ่านและไม่ผ่านการคัดเลือก สรุปความเห็นประกอบให้ชัดเจนในแต่ละคน

ส่วน รศ.จุมพล บอกถึงเหตุผลการคัดเลือก รศ.วิลาสินี ว่ามีความเหมาะสม และการแสดงวิสัยทัศน์มีความละเอียด มีขั้นมีตอนมากกว่า ทั้งนี้ยังมีการตั้งคำถามเรื่องการล็อกสเปก โดยยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเปก และความเห็นของกรรมการแต่ละคนเป็นอิสระ

ทั้งนี้ รศ.ดร.วิลาสินี อายุ 52 ปี จะรับตำแหน่งต่อจาก นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ซึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2550 เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีซื้อตราสารหนี้ บ.เอกชน ชี้ กระทบความรู้สึกประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม

รศ.ดร.วิลาสินี เป็นนักวิชาการด้านสื่อและสตรีศึกษา และดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส ระหว่างปี 2559-2560 ในยุคของนายกฤษดา

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.วิลาสินี เคยเป็น ผู้อำนวยการอาวุโส สสส. และรองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บอร์ดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก' ไฟเขียวท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด

Posted: 06 Jul 2017 01:48 AM PDT

ประยุทธ์ นั่งประธานประชุมบอร์ด EEC ครั้งที่ 2/60 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด ให้มีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง-มีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการหลัก EEC ยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์ทางเศรษฐกิจระดับโลก

6 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2560 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญของผลการประชุม ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง (แหลมฉบัง สัตหีบ มาบตาพุด) โดยมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยงและมีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) เป็นโครงการหลักของ EEC ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก ดังนี้ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะมีระบบการจัดการแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้า เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้/ปี จากปัจจุบัน 7 ล้าน ตู้/ปี และขนส่งรถยนต์เพิ่มจาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 3 ล้าน คัน/ปี และเป็นท่าเรือใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก  โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างช้าในปี 2568  ด้านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จะช่วยขยายการนำเข้าวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และ Bio-economy และรองรับ LNG เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตัน/ปี เป็น 62 ล้านตัน/ปี อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเปิดให้เอกชนลงทุนในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ขณะที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จะพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อรองรับการเชื่อมอ่าวไทย (สัตหีบ-กรุงเทพ-หัวหิน)  ซึ่งจะเร่งรัดการออกแบบ-ก่อสร้างอาคารท่าเรือเฟอร์รี่ให้แล้วเสร็จเพื่อดำเนินการได้ ภายในปี 2561  ส่วนท่าเรือสำราญกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเตรียมการ

สำหรับการมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และมีระบบบริการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) มีสาระสำคัญคือจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศ ทำให้เพิ่มการขนสินค้าทางรางที่มาถึงท่าเรือ จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30  และทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงจากร้อยละ 14 ของ GDP เป็นประมาณร้อยละ 12 หรือประหยัดลงได้ประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบทางคู่สมบูรณ์จะมีการลงทุนปรับปรุงและสร้างทางคู่รวมทั้งสร้างศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้า (ศูนย์ขนส่งตู้สินค้า In-land Container Depot: ICD และ ศูนย์รวมสินค้า Container Yard: CY ) เป็นเงินลงทุนประมาณ 68,000 ล้านบาท โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม พิจารณาเห็นว่า สามารถปรับให้มีการให้บริการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Operation) เพื่อให้สามารถลดระยะเวลาขนส่งเฉลี่ย จากเดิม 24 ช.ม.หรือนานกว่า เหลือประมาณ 8 ช.ม. และจะรับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งการพิจารณาจัดศูนย์ขนส่งตู้สินค้า (In land Container Depot: ICD) และ ศูนย์รวมสินค้า (Container Yard: CY) ตามความเหมาะสมระหว่างเส้นทางรถไฟจาก หนองคายถึงท่าเรือ แหลมฉบัง

ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ การร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้การลงทุนสำคัญๆ ใน EEC สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว เพื่อรักษากระบวนการและมาตรฐานความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบ ตามการร่วมลงทุนกับเอกชน โดยทั่วไปตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และจะสามารถลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการโดยการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนร่วมกัน และคู่ขนานกัน ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินการเหลือ 8-10 เดือน (กรณีปรกติ 40 เดือน กรณี Fast Track 20 เดือน) ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะให้กับโครงการลงทุนหลักที่มีสำคัญสูงเท่านั้น โดยที่ประชุมได้อนุมัติ โครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ (1) สนามบินอู่ตะเภา (2) รถไฟความเร็วสูง (3) ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ (4) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC และ เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ดังนี้ รับทราบสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC (1) ระหว่างปี 2558 – 2559 มีการขอการลงทุนประมาณ 280,000 ล้านบาท (ร้อยละ 36 ของทั้งประเทศ) เป็น คำขอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 198,000 ล้านบาท  (2) ใน 5 เดือนแรกของปี 2560 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ประมาณ 23,400 ล้านบาท  โดยเป็น คำขอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท

เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC และให้ดำเนินการ ดังนี้ - เน้นการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมและเอกชนที่เหลือประมาณ 12,000 ไร่ และที่รอขอจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วประมาณ 20,000 ไร่  มาใช้ให้เป็นประโยชน์ - ให้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในพื้นที่ 1,466 ไร่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ประสานงานกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีที่ดินเหลืออยู่เพื่อกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริม อุตสาหกรรมเป้าหมายในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้สามารถระบุพื้นที่ลงทุนให้กับนักลงทุนที่สนใจทั้งไทย และต่างประเทศมาลงทุนได้ทันที

ที่ประชุมเห็นชอบให้ประกาศเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) โดย EECi อยู่ภายใต้การดูแลของ  สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำหน้าที่เป็นฐานเชื่อมโยง และถ่ายทอดวิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ขนาด 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ ส่วน EECd  อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำหน้าที่เป็นแหล่งลงทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลขนาดใหญ่ และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 709 ไร่ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนงานและปัจจัยความสำเร็จ และนำความคิดเห็นของประชาชน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปประกอบการดำเนินงานด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการทำความเข้าใจในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC และแนวทางการพัฒนาคน และการศึกษา ที่ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนและเห็นโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา EEC และจะร่วมกันแก้ไขข้อกังวลโดยเห็นด้วยว่า EEC จะทำให้อนาคตดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น โอกาสประกอบอาชีพดีขึ้น ลูกหลานได้ประโยชน์ในอนาคต และประชาชนในพื้นที่ขอให้ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น ความพอเพียงของน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งให้เร่งการฝึกอบรมเยาวชนให้ทันการพัฒนา EEC ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดแนวทางดำเนินการ ให้ สกรศ. ผนวกแผนจังหวัดเข้ากับแผนปฏิบัติการ EEC โดย สกรศ. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระบบเดียวกัน และให้ สกรศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการยกระดับการพัฒนาความรู้ของคน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ทำงานในพื้นที่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเน้นให้สถานประกอบการ โรงงานมาช่วยสร้างหลักสูตรและฝึกอบรมกับสถานศึกษา โดยเฉพาะกับอาชีวะ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีงานรายได้สูงจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้เร่งทำหลักสูตรเฉพาะร่วมกับบริษัทที่มาลงทุนและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก (ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่องการส่งเสริมการจัดการการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ)  

ที่ประชุมยังรับทราบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Start Up ในพื้นที่ EEC ตามที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดพื้นที่บริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมแหลม ฉบัง พื้นที่ประมาณ 350 ตารางเมตร ให้เป็น Co Working Space สำหรับกลุ่ม Start up ในพื้นที่  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนระบบ Internet ความเร็วสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการจัดหลักสูตรสำหรับ SMEs และรับทราบการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ที่กรุงเทพฯ (กล้วยน้ำไท) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ในทุกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ จะเปิดศูนย์ให้บริการอย่างเป็นทางการปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้มีการปรับการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของ EEC และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ EEC ได้รับความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้รวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อไป และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงจาก EEC ต่อไปยังทวาย-ย่างกุ้ง-ติลาวา เพื่อให้เชื่อมโยงไปจนถึงอินเดีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เตรียมจัดงานเลี้ยงส่งอำลา สปท. ทำงานครบวาระ 31 ก.ค.

Posted: 06 Jul 2017 01:26 AM PDT

วิป สปท. ระบุ 31 ก.ค. นี้ ส่งมอบงานปฏิรูปแก่แม่น้ำ 5 สาย ที่รัฐสภา ขณะนายกฯ พร้อมแจงแนวทางการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 พร้อมเลี้ยงส่ง ส่วนสัปดาห์หน้า สปท.ยังมีประชุมเตรียมพิจารณาวาระด้านปฏิรูปด้านพลังงาน 2 เรื่อง

คำนูณ สิทธิสมาน ภาพจาก: เว็บข่าวรัฐสภา

6 ก.ค. 2560 คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) เปิดเผยถึงการประชุมในสัปดาห์หน้าว่า ในวันอังคารที่ 11 ก.ค. นี้ จะมีการพิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านพลังงาน 2 เรื่อง ได้แก่ รายงานเรื่อง การส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน และรายงานเรื่อง การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยภาคอุตสาหกรรมและกิจการพลังงาน อย่างไรก็ตาม สปท. จะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 23 ก.ค. นี้ ซึ่งปัจจุบันเหลือสมาชิก สปท. 174 คนหลังลาออกไป 25 คน และถึงแก่อนิจกรรม 1 คน

โฆษกวิป สปท. ยังได้เปิดเผยถึงการส่งมอบงานปฏิรูป ก่อน สปท. หมดวาระว่า ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น. จะมีการส่งมอบงานในความรับผิดชอบของ สปท. ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุมรัฐสภา โดยมีสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 900 คน เข้าร่วม อาทิ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สมาชิก สปท. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อดีตประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ โดยในวันดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พร้อมมีการจัดเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วม

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เผย ส.ค.นี้ เดินหน้านำสายสื่อสารลงดิน ถ.พหลโยธินจากอนุสาวรีย์ฯ ถึงห้าแยกลาดพร้าว

Posted: 05 Jul 2017 11:55 PM PDT

สำนักงาน กสทช. เผยเดือน ส.ค. นี้เดินหน้านำสายสื่อสารลงดินเส้นทางถนนพหลโยธินจากอนุสาวรีย์ฯ ถึงห้าแยกลาดพร้าว

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านา รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เดือน ส.ค.นี้ จะเริ่มดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงดินในเส้นทางถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ถนนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจนถึงบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.)

ส่วนการดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินได้ดำเนินการแล้วใน 2 เส้นทาง คือ ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่แยกพญาไทถึงศรีอยุธยา และถนนโยธี ตั้งแต่ซอยเสนารักษ์ถึงพระรามหก โดยยังเหลือ 3 เส้นทาง คือ ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่แยกบรรทัดทองถึงแยกอุรุพงษ์ ถนนราชปรารภ ตั้งแต่ถนนศรีอยุธยาถึงแยกประตูน้ำ และถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่
ถนนพญาไทถึงสะพานกษัตริย์ศึก โดยทุกเส้นทางมีแผนดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้

ก่อกิจ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้สำนักงาน กสทช. จะร่วมกับ กฟน. และผู้ได้รับสิทธิแห่งทาง จัดทำสายครอบสายสื่อสารในพื้นที่ที่มีการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเนื้อหา พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560: ของเล่นชิ้นใหม่รัฐไทย

Posted: 05 Jul 2017 08:49 PM PDT

 

12 กันยายน 2557 ถ้อยแถลงหนึ่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในนโยบายที่ 2.1 เรื่องการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ ว่า "ในระยะเร่งด่วน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในกิจการ 5 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้วางใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและจัดการปัญหาอื่น ๆที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ เช่น ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล การปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เป็นต้น"

หลังจากนั้นแนวนโยบายต่างๆผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้องจึงปรากฎออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

(1)  17 มิถุนายน 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เรื่องการแต่งตั้งคณะ กรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบและแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบด้วยการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ

(2) 22 มิถุนายน 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้มีนโยบายเปิดศูนย์การบริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ตามจังหวัดต่างๆ

(3) 29 มิถุนายน 2557 ขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวเพื่อเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ

(4) 28 ตุลาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราวจากศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

(5) 25 พฤศจิกายน 2557 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ขยายการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(6) 16 ธันวาคม 2557 ข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ ขยายการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ครอบคลุมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(7) 20 มกราคม 2558 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องให้กระทรวงแรงงานพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการครบกำหนดเวลาที่ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จออกให้แก่แรงงานต่างด้าวจะหมดอายุ แต่กระบวนการตรวจสัญชาติอาจไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558

(8) 10 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการแนวทางการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม

(9) 3 มีนาคม 2558 เห็นชอบการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2558

(10) 23 กุมภาพันธ์ 2559 การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 กำหนดให้สิ้นสุดการทำงานในวันที่ 31 มีนาคม 2561 และเร่งรัดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ภายใต้ระบบการนำเข้าภายใต้ข้อตกลง (MOU) รวมทั้งให้ยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงาน

(11) 26 กรกฎาคม 2559 ปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ (2) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ติดตามของแรงงานต่างด้าวและบุตรของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และ (3) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 และคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย

(12) 11 ตุลาคม 2559 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น โดยอาจพิจารณาจัด Zoning พื้นที่ที่พักอาศัย

(13)  25 ตุลาคม 2559 เห็นชอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังสิ้นสุดการจดทะเบียน โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมอำนวยความสะดวกการตรวจสัญชาติแรงงาน และเห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560–2564

(14) 17 มกราคม 2560 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องเร่งรัดการจัด Zoning พื้นที่ที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว

(15) 6 มิถุนายน 2560 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว และการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นทางที่เป็นสาเหตุ

นี้ไม่นับว่าตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน (Memorandum of Understanding on Employment Corporation-MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งสามประเทศแรกดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-46 ส่วนประเทศเวียดนาม ดำเนินการในปี 2558 แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และยังคงมีแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองมาตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้

จนนำมาสู่การที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบแรงงานและระบบคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีการเสนอรายงานเรื่องการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวร เพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ ถือเป็น 1 ใน 27 วาระของการปฏิรูป เมื่อเมษายน 2560

และล่าสุดกับการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ราวกับสะท้อนให้เห็นดังที่ Phillip Martin ได้เคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะถาวรไปกว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวชั่วคราว" (Nothing more permanently than hiring temporary migrants)[2]

ภายหลังจากที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้ ได้สร้างความแตกตื่น-ตระหนก-ตกใจให้กับทั้งตัวนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา อย่างมหาศาล จนนำมาสู่ปรากฎการณ์ "ลอยแพ-ถีบหัวส่ง-ผลักไสลูกจ้างที่ผิดกฎหมาย" "มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะมากขึ้นถ้านายจ้างคนไหนยังอยากจ้างคนงานผิดกฎหมายอยู่" กระทั่งการออกแถลงการณ์จากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งนายจ้างและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อให้เกิดการทบทวนการออกกฎหมายฉบับนี้

ดิฉันคงไม่สามารถก้าวล่วงไปยังที่มาที่ไปของการออกกฎหมายฉบับนี้ได้ว่าเบื้องหลังคืออะไร อย่างไร แม้จะเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เข้ามาด้วยกันก็ตาม เพราะตนเองไม่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายใดเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการหาคำอธิบายในเรื่องนี้จึงมิง่าย

อีกทั้งยังมีความพยายามของอีกหลายภาคส่วนในการนำมาตรา 14 ใน พ.ร.ก. ฉบับนี้มาปลดล็อคปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ที่ระบุไว้ว่า

"มาตรา 14 เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้บุคคลดังต่อไปนี้ทํางานในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จําต้องปฏิบัติตามพระราชกําหนดนี้ ในกรณีใด ๆ ก็ได้

(1) ผู้รับอนุญาตให้นําคนต่างด้าวมาทํางานหรือนายจ้างนําคนต่างด้าวมาทํางานในประเทศ

(2) คนต่างด้าวเข้ามาทํางานในราชอาณาจักร"

ตลอดจนเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยขยายเวลาออกไป 120 วัน เพื่อให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาต่อจากนี้ จะมุ่งไปที่ตัวบทบัญญัติที่กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้เป็นสำคัญ อย่างน้อยก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าอะไรคือความน่ากลัวของกฎหมายฉบับนี้ ? จนสร้างความกริ่งเกรง-หวาดหวั่นไปทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานแรงงานข้ามชาติได้ขนาดนี้

เมื่อสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และงานที่คนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามกลับพบปัญหาในตัวกฎหมาย ดังนี้

(1) แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายอย่างน้อย 1 ล้านคนที่มีการจ้างงานอยู่ในขณะนี้ ? จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง การเลิกจ้างโดยฉับพลันโดยไม่มีกลไกด้านแรงงานใดๆคุ้มครองแม้แต่น้อย มันคือการละเมิดสิทธิแรงงานดีๆนี้เอง เช่น ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ฯลฯ หรือนี้คือ "ใบอนุญาตเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยชอบธรรม"

(2) รัฐบาลไทยยืนยันว่าไม่มีการจดทะเบียนใหม่แน่นอน โดยผลักดันให้นายจ้างไปใช้การจ้างงานแบบระบบ MOU คือ การจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งก็พบปัญหาการติดขัดในขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้จ้างแรงงานคนหนึ่งๆ อีกทั้งบางประเทศ ระบบ MOU ก็ไม่อนุญาตให้คนธรรมดานำเข้าเอง และบางกิจการก็นำเข้าไม่ได้ เช่น งานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น

(3) มีนายจ้างจำนวนมากที่จ้างงานแรงงานข้ามชาติ แต่ชื่อนายจ้างที่จ้างงานยังคงเป็นนายจ้างคนเดิมอยู่ที่ไม่ได้แจ้งย้ายออก

(4) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคอุตสาหกรรมบริการ ท่องเที่ยว งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง และงานรับใช้ในบ้าน จะได้รับผลกระทบอย่างมากแน่นอน

(5) มีการกำหนดโทษสูงมาก อาจเป็นช่องทางให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายและการทุจริตมากขึ้น รับเงินใต้โต๊ะมากขึ้น

(6) ไม่มีระยะเวลากำหนดที่ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานไม่ถูกกฎหมายมีระยะเวลาดำเนินการให้ถูกต้อง

(7) มีแรงงานจำนวนมากได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว การกลับมาทำงานมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงาน นายจ้างหาแรงงานมาทดแทนไม่ได้ แรงงานไทยไม่ทำงานกับงานประเภทนี้

(8) เกิดการจับกุมแรงงานและส่งกลับอย่างหนาแน่นในหลายพื้นที่

(9) แรงงานถูกลอยแพ โดยไม่มีกลไกการคุ้มครองปกป้องสิทธิแรงงานในการจ้างงานใดๆทั้งสิ้น เช่น ในพื้นที่แม่สอด

แต่ในอีกมุมหนึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า

(1) รัฐไทยมีความชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะรูปธรรมการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ผ่านมาตรการและกลไกต่างๆ เช่น การมีคณะกรรมการระดับชาติกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว , การมีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว , การทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนผ่านโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงาน

(2) ลดการแสวงหาประโยชน์ของนายทุนในหลายกิจการ ที่ไม่จำเป็นในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจริงๆ แต่เป็นไปเพื่อลดอำนาจการต่อรองของแรงงานไทย หรือสหภาพแรงงาน และเลือกใช้การจ้างแรงงานข้ามชาติแทน ที่จ่ายเพียงค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น และแรงงานไม่สามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ เช่น ที่พบในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น

(3) การใช้แรงงานข้ามชาติต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและปกป้องแรงงานเมื่อถูกละเมิดสิทธิ เช่น มีกองทุนประกันความเสี่ยงจากการจ้างงานที่นายจ้างต้องรับผิดชอบในการวางหลักประกันล่วงหน้า ไม่ใช่ปล่อยลอยแพเลิกจ้างอะไรอย่างไรก็ได้ เฉกเช่นที่แรงงานไทยประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังตัวอย่างที่พบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ทั้งนี้สามารถพิจารณาสาระสำคัญแต่ละเรื่อง รวม 13 เรื่อง ได้ดังนี้

(1) แรงงานข้ามชาติในกฎหมายฉบับนี้หมายถึงใคร ?

- บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ใช้กำลังกายหรือความรู้เพื่อประกอบอาชีพหรือประกอบการงานด้วยประสงค์ค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นงานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(2) แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดบ้างที่จะต้องบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ ?

(2.1) กลุ่มที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(2.2) กลุ่มที่มีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ที่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อมาทำงานชั่วคราว

(2.3) กลุ่มที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม หรือกฎหมายอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการลงทุน

(2.4) กลุ่มที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(3) แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดบ้างที่จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม คุมขัง ส่งกลับ ตามกฎหมายนี้ ?

(3.1) แรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆเลยทั้งสิ้น

(3.2) แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน

(3.3) แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานระบุงานประเภทหนึ่ง แต่ไปทำงานอีกประเภทหนึ่ง

(4) แล้วกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยตอนนี้แล้ว จะถูกกฎหมายนี้ใช้บังคับหรือไม่ อย่างไร ?

- กลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำงานหรือได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้รับใบอนุญาตทำงานหรือได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มบัตรสีชมพู , กลุ่มรอพิสูจน์สัญชาติ , กลุ่ม MOU ยังคงสามารถทำงานได้ต่อไป

- ใบอนุญาตทำงานที่ออกให้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคมพุทธศักราช 2515 ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตทำงานนั้น

- นายจ้างผู้ใดได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ ตามพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ให้ดำเนินการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนเองในประเทศได้ต่อไป

(5) งานอะไรบ้างที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถทำได้บ้าง ?

- คณะกรรมการ (คกก.) นโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็น คกก.ตามกฎหมายฉบับนี้ จะประกาศกำหนดเองว่า งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดเพียงใดก็ได้ รวมทั้งการจัดสรรจำนวนคนต่างด้าวเข้าทำงาน

- ในระหว่างที่ยังมิได้มีประกาศ ให้อธิบดีกรมการจัดหางาน อนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานใด ๆ ได้ เว้นแต่งานที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 (ในที่นี้ คือ การนำบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้ชั่วคราว)

- คกก. สามารถประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัยสำหรับแรงงานข้ามชาติ เฉพาะจำพวกใดหรือท้องที่ใดก็ได้

- ก่อนทำงานต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานจากนายทะเบียน เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วนตามที่อธิบดีประกาศกำหนดซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน แต่คนต่างด้าวจะทำงานนั้นได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ

- เมื่อ 29 มิถุนายน 2560 ได้มีประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง กําหนดงานอันจําเป็นและเร่งด่วน ออกมาใช้แล้วซึ่งไม่ต้องขออนุญาตทำงาน แต่ต้องแจ้งให้นายทะเบียน ซึ่งก็คือ อธิบดีกรมการจัดหางานทราบ

(6) ถ้านายจ้างจะจ้างแรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทย ต้องทำอย่างไร ?

มี 2 ประเภท คือ

(6.1) ผ่านบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในกฎหมายส่วนที่ 2 การประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

- ต้องเป็น "บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ" หรือลักษณะเดียวกันเท่านั้น

- ก่อนที่อธิบดีจะอนุญาต ต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทไว้กับอธิบดี เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

- ถ้าทำผิดเงื่อนไขการจัดหางานที่กำหนดไว้ จะมีโทษพักใบอนุญาต

- ใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานมีอายุ 2 ปี ฉบับละ 20,000 บาท

- ถ้าใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ต้องจัดการใหม่ภายใน 15 วัน

- เมื่อนำแรงงานเข้ามาแล้ว แต่นายจ้างไม่รับหรือแรงงานไม่ยินยอมทำงาน ให้บริษัทส่งกลับไปยังประเทศต้นทางภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งจากนายจ้าง และมาแจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายใน 7 วันนับแต่วันที่คนต่างด้าวกลับออกไป

- ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานอาจจัดให้คนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างรายอื่นได้ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่นายจ้างไม่รับเข้าทำงานหรือวันที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานกับนายจ้างด้วยเหตุดังกล่าว

- คนต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างรายอื่นได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

- ถ้าบริษัทที่จัดหาคนต่างด้าวมาทำงานไม่นำคนต่างด้าวมา ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนายจ้างไปแล้วทั้งหมดภายใน 30 วัน ที่นายจ้างเรียกคืน

- ถ้าลูกจ้างทำงานครบตามสัญญาแล้ว ให้นายจ้างแจ้งบริษัทผู้จัดหาแรงงานให้ ภายใน 7 วัน เพื่อให้บริษัทผู้จัดหาแรงงานส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป

(6.2) นายจ้างจ้างเองโดยตรง หรือจ้างต่อจากนายจ้างคนอื่น

- ยื่นคำขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานต่ออธิบดี และต้องได้รับอนุญาตก่อน

- ชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขออนุญาตทำงานและการออกใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 20,000 บาท ต่อแรงงาน 1 คน

- อายุใบอนุญาตทำงาน 2 ปี หรือเป็นไปตามที่กฎหมายอื่นกำหนด

- ต่อใบอนุญาตทำงานได้ครั้งละ 2 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี ต่อครั้งละ 20,000 บาท

- ใบอนุญาตทำงานหาย ต้องแจ้งขอใหม่ ใบละ 3,000 บาท

- วางหลักประกันไว้กับอธิบดีเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่นายจ้างได้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ คาดว่าอาจจะจำนวนประมาณ 20,000 บาทต่อคน

- ถ้าจ้างต่อจากนายจ้างคนอื่นที่เลิกจ้างแล้ว ต้องไปทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิม

- ต้องทำงานตามประเภทที่ขออนุญาตเท่านั้น ถ้าจะเปลี่ยนต้องแจ้งนายทะเบียน ค่าเปลี่ยนครั้งละ 5,000 บาท

(7) โทษที่เกี่ยวข้องถ้าไม่ทำตามกฎหมายนี้ ?

- แรงงานจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือต้องเดินทางกลับออกไปจากประเทศไทยภายใน 30 วัน

- นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยเป็นงานที่กำหนดว่าห้ามทำ ปรับ 4 -8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน

- นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับ 4 -8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน

- นายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่ตรงกับงานที่กำหนดในใบอนุญาตทำงาน ปรับ 4 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน ส่วนลูกจ้างจะถูกปรับ 1 แสนบาท

- แรงงานข้ามชาติที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

- บริษัทจัดหาแรงงานข้ามชาติ หรือนายจ้างที่รับแรงงานมาทำงานโดยไม่ขออนุญาตต่ออธิบดี จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ขออนุญาตแล้ว แต่อธิบดียังไม่อนุญาต แต่นำมาทำงานแล้ว จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน

- บริษัทจัดหาแรงงานข้ามชาติ ไม่ทำตามระเบียบที่กำหนด ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เช่น ปรับตั้งแต่ 5,000- 20,000 บาท , จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท

- เมื่อลูกจ้างไม่ทำงาน นายจ้างไม่แจ้งกับอธิบดี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

- ส่งลูกจ้างกลับประเทศต้นทางแล้วไม่แจ้ง ถ้าเป็นนายจ้างปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่ถ้าเป็นบริษัท ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

- นายจ้างไม่จัดส่งลูกจ้างกลับ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน แต่ถ้าเป็นบริษัท ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทต่อลูกจ้าง 1 คน

- ยึดใบอนุญาตทำงาน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- หลอกลวงว่าสามารถนำแรงงานมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยได้ จำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 แสนบาท - 1 ล้านบาท ต่อแรงงาน 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ช่วยดำเนินการ จำคุก 1-3 ปี ปรับ 2-6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(8) ถ้านายจ้างจะเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยมีเหตุผลอันสมควร หรือลูกจ้างแรงงานข้ามชาติอยากลาออก หรือทำงานครบกำหนดแล้ว ต้องทำอย่างไร ?

- จัดส่งคนต่างด้าวนั้นกลับไปยังประเทศต้นทางภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวไม่ได้ทำงานกับนายจ้างหรือวันที่ครบกำหนดตามสัญญา

- เมื่อจัดส่งคนต่างด้าวกลับไปยังประเทศต้นทางแล้ว ให้นายจ้างแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

- ไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(9) ถ้านายจ้างเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร , นายจ้างเลิกกิจการ , นายจ้างผิดสัญญาจ้างหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องทำอย่างไร ?

- นายจ้างหรือลูกจ้างแจ้งต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

- ถ้าแรงงานข้ามชาติหางานใหม่ไม่ได้ ให้นายจ้างรายเดิมส่งกลับประเทศต้นทางภายใน 7 วัน

- ถ้านายจ้างไม่จัดส่งเอง ให้อธิบดีเป็นผู้ส่ง โดยหักค่าใช้จ่ายจากหลักประกันที่นายจ้างได้วางไว้

(10) ใครเป็นคนดูแลเรื่องนี้ ? ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายและกำกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

- กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว รวม 26 คน

- กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

- มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ

- ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานกรรมการ

- ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประธานสภาหอการค้าไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

- ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ซึ่งอธิบดีเสนอชื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคน โดยแต่งตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

- ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านแรงงาน ด้านอุตสาหกรรม ด้านกฎหมาย และด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ โดยแต่งตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

- ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ

- ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางานเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

(11) อำนาจหน้าที่อธิบดีกรมจัดหางานในฐานะนายทะเบียน และเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง

- มีหนังสือเรียกหรือสั่งให้บุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งเอกสารประกอบการพิจารณา

- เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศในระหว่างเวลาทำการ

- เข้าไปในสถานประกอบการซึ่งรับคนต่างด้าวจากผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานในระหว่างเวลาทำการเพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชกำหนดนี้

- ค้นในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศหรือมีคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาจมีหมายค้น

- มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถจับกุมไปส่งสถานีตำรวจได้ทันที

(12) เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิต้องทำอย่างไร ?

- สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้

- ยื่นคำร้องต่ออธิบดีเพื่อดำเนินการ และสามารถหักหลักประกันที่นายจ้างวางไว้ เป็นการชดใช้ความเสียหาย

(13) กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

- เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

- มีคณะกรรมการดูแลเรียกว่า  "คณะกรรมการกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว" ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ

- ช่วยเหลือคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานแล้วถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายด้านแรงงาน

- ส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

- ช่วยเหลือและอุดหนุนหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ที่เสนอโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงานแก่คนต่างด้าว

เหล่านี้คือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของพระราชกำหนดฉบับนี้ ที่ดิฉันพยายามย่อยออกมาเพื่อทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามมาแต่ต้น ยังไม่เข้าใจอย่างกระจ่าง ได้มีโอกาสทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การส่งเสียงให้เกิดการทบทวนการออกกฎหมายฉบับนี้ บนพื้นฐานความสมดุลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 




[1] ปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นจากบทความที่เผยแพร่แล้วใน http://voicelabour.org/แม้ไม่เข้าใจก็ต้องทำใจ/ เมื่อ 2 กรกฎาคม 2560

[2] Managing Labor Migration: Temporary Worker Programs for the 21st Century1, June 20, 2006

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น