ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'แกร็บ' ยันจดทะเบียนนิติบุคคลและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายไทย
- ครม.อนุมัติ ร่าง พรฎ.เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสลักพระ บางส่วน
- วงเสวนาสื่อสาธารณะ: วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ‘ปรับตัวสู่สื่อสาธารณะครบวงจร’
- สำนักนายกฯ ติดอันดับ 4 ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน มิ.ย. มูลค่าราว 129 ล้านบาท
- สุพจน์ ไข่มุกด์ ย้ำ ก.ม.ไต่สวนคดีลับหลัง หวังกำจัดนักการเมืองโกง ไม่ได้รังแกคนดี
- เตรียมเปลี่ยนผู้ร้องเพลงชาติ พร้อมทำ MV ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
- ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย: หากสังคมไทยยังเป็นสังคมอำนาจนิยม การรับน้องก็ไม่มีวันหมดไป
- กกต. สมชัย เผย 4 ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. ขัด รธน. หรือไม่
- TCIJ School: นศ.กัมพูชาในไทยยังถูกเหยียด ชี้แบบเรียนรัฐเป็นเครื่องมือสร้างอคติ
- เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กกต. ฉบับปรับแก้ กรรมาธิการเสียงข้างมากยัน เซ็ตซีโร่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
- สนช. ผ่านวาระ 3 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- บทเรียนความเหลื่อมล้ำระหว่าง Silicon Valley และ Central Valley สาเหตุจาก 'กองทัพ' และ 'รัฐบาลกลาง'
'แกร็บ' ยันจดทะเบียนนิติบุคคลและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายไทย Posted: 14 Jul 2017 06:11 AM PDT แกร็บ ยืนยันเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทย และได้ชำระภาษี รวมถึงยื่นแบบและจัดเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ ตามที่กรมสรรพากรบัญญัติไว้อย่างถูกต้องทุกประการ 14 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าแกร็บไม่ได้ชำระภาษีตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น บริษัทฯ ขอยืนยันว่าการรายงานข่าวดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่าแกร็บ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และดำเนินการให้บริการทุกบริการในประเทศไทยภายใต้ชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการว่าบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105556090377) ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2556 แกร็บปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ด้านภาษีอากรของกรมสรรพากรอย่างเคร่งครัด รวมถึงการชำระภาษีที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตลอดจนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และเอกสารอื่น ๆ ตามระเบียบข้อบังคับของทางกรมสรรพากรตลอด เนื่องจากแกร็บเป็นบริษัทที่จดทะเบียนก่อตั้งในประเทศไทย บริษัทฯ จึงมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 จากรายได้ที่นำจ่ายแก่สมาชิกผู้ขับขี่ทุกคนจากทุกบริการ และบริษัทฯ นำเงินภาษีที่หักนั้นส่งให้กรมสรรพากรอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังออกใบกำกับภาษีและหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้สมาชิกผู้ขับขี่ทุกคน เพื่อให้สามารถนำไปเป็นหลักฐานประกอบการแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรบัญญัติไว้ทุกประการ นอกจากนี้ รายได้ทั้งหมดของแกร็บ ที่ได้รับจากการให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถในประเทศไทยยังได้รับการบันทึกอย่างครบถ้วนในบัญชีของบริษัท รวมถึงการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากรายได้ดังกล่าว และในฐานะที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนก่อตั้งในประเทศไทย บริษัทฯ จึงพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมภารกิจของรัฐบาลไทยในการยกระดับการให้บริการขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ ให้ปลอดภัยและมอบความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น บริษัทฯ ขอให้คำมั่นว่าพร้อมจะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อร่วมสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สาธารณชน แกร็บ ยึดหลักความถูกต้องโปร่งใสด้านภาษีอากรตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าบริษัทฯ จะต้องทำประโยชน์เพื่อสังคมทุกที่ที่ให้บริการอยู่ และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ จะยึดหลักปฏิบัติเช่นเดียวกัน ด้วยการจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ที่มา : สำนักข่าวไทยและประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครม.อนุมัติ ร่าง พรฎ.เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสลักพระ บางส่วน Posted: 14 Jul 2017 04:08 AM PDT ครม.อนุมัติ ร่าง พรฎ.เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสลักพระ บางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลางอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) และอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสลักพระ บางส่วน ในท้องที่ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดย สาระสำคัญของร่าง พรฎ. ดังกล่าวระบุว่า กำหนดให้เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสลักพระ บางส่วน ในท้องที่ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ออกจากการเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามที่กำหนดไว้โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 64 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 และกำหนดให้บริเวณที่ดินป่าสลักพระ ซึ่งอยู่ในท้องที่ตำบลท่ากระดาน ตำบลหนองเป็ด ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ ตำบลหนองรี ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย และตำบลช่องสะเดา ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภายในแนวเขตที่เพิกถอนตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เพื่อก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลางอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพิน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ให้แก่ราษฎรใช้เพียงพอตลอดปี อันจะเป็นประโยชน์และเป็นการจัดหาแหล่งน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งได้ผ่านการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติแล้ว นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งกำหนดเขตท้องที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ โดยมีจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์ปฏิบัติการของเขตพัฒนาการท่องเที่ยว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วงเสวนาสื่อสาธารณะ: วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ‘ปรับตัวสู่สื่อสาธารณะครบวงจร’ Posted: 14 Jul 2017 03:29 AM PDT 'วรพจน์' ระบุ ไทยพีบีเอสควรปรับตัวเป็นสื่อครบวงจร คอนเทนต์ออนไลน์ สร้างความเฉพาะให้คนจดจำ มีระบบจัดเก็บ archive ให้ดึงเนื้อหาไปใช้ได้ บาลานซ์ความสร้างสรรค์กับเนื้อหา ออกแบบระบบวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพ เป็นสื่อสาธารณะที่กล้าพูด ย้ำ สื่อสาธารณะยังจำเป็น เสนอโมเดล โครงสร้างองค์กร BBC และทบทวนกฎหมายทุกสิบปี วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum "วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบาย สื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เริ่มจากการเล่าว่าได้ไปทำแบบสำรวจเล็กๆ คุยกับคนรู้จักในวงการสื่อ คอมเมนต์หลักที่ได้มา เช่น ประเด็นที่ไทยพีบีเอสควรเป็นคนชูกลับไม่ค่อยเห็น เช่น ข่าวเรื่องการส่งคนพม่ากลับประเทศ บางคนลืมไปแล้วว่ามีไทยพีบีเอส ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทีวีดิจิทอลหลายช่อง และอาจเพราะเนื้อหาด้วย ที่คนจำไม่ได้เลยว่ามีเนื้อหารายการอะไรบ้างที่เป็นไทยพีบีเอส นี่อาจเป็นเสียงสะท้อนจากคนที่อายุยังไม่มากอายุประมาณ 20 กว่า วรพจน์กล่าวต่อว่า รายการของไทยพีบีเอสทุกวันนี้ไม่ได้ต่างจากรายการของช่องทีวีใหม่ๆ สะท้อนให้เห็นว่ารายการไทยพีบีเอสอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ความเฉพาะ" เพราะถ้าแยกรายการของไทยพีบีเอสออกจากช่องอื่นไม่ได้ อาจต้องกลับไปถามว่า ถ้าอย่างนั้นควรให้เงินสนับสนุนอยู่รึเปล่า เพราะการสนับสนุนคุณแปลว่าทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เท่าเทียม ในอนาคตจะมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้นหลายช่อง แต่ถ้าไปดูหลักการจริงทีวีช่องอื่นๆ ยังไม่เป็นทีวีสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความอิสระ เพราะการจะขอใบอนุญาตส่วนมากก็เป็นองค์กรของรัฐที่ทำ แต่ไทยพีบีเอสมีการออกแบบให้รายได้ที่มาเป็นอิสระจากอิทธิพลของรัฐและเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย วรพจน์กล่าว่าประเด็นที่อยากฝากไว้ ประเด็นแรกคือสิ่งที่สื่อสาธารณะทั่วโลกต้องเจอ คือ digitization หรือมีความเป็นดิจิทอลมากขึ้น ไม่มากก็น้อยไทยพีบีเอสจะได้รับผลกระทบจากการมีช่องทีวีมากขึ้น และอีกส่วนคือสื่อออนไลน์ทั้งหลาย มีคนให้บริการคอนเทนต์ผ่านสิ่งที่ กสทช. เรียกว่า OTT (Over the Top - การเผยแพร่เนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ต) กรณีนี้สื่อสาธารณะทั่วโลกปรับจาก PSB (Public Service Broadcasting) มาเป็น PSM (Public Service Media) คือการเป็นสื่อที่ครบวงจรมากขึ้น เพราะคนดูคอนเทนต์ในโลกออนไลน์มากขึ้น ไทยพีบีเอสก็อาจจะต้องมาทำคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น หรือปรับระบบสตรีมมิ่งให้ดีขึ้น จัดเก็บ archive ทั้งหลายให้ดีขึ้น สามารถดูย้อนหลังได้มากขึ้น หรืออย่างบีบีซีเขาทำสิ่งที่เรียกว่า creative archive คนทั่วไปสามารถดึงเนื้อหาหรือคลิปข่าวไปใช้ได้เลยตราบที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ไทยพีบีเอสในฐานะที่ได้เงินภาษีประชาชนควรเร่งทำสิ่งนี้เพราะมีประโยชน์มหาศาล คนสามารถนำคลิปข่าวไปต่อยอดได้ ประเด็นที่สอง คือเรื่องของประเด็น ทำอย่างไรให้รายการไทยพีบีเอสต่างจากช่องอื่น ต้องต่างจากทีวีของรัฐและทีวีเอกชน แต่ต้องบาลานซ์ระหว่างความสร้างสรรค์กับเนื้อหาให้ได้ ถ้าทำแต่อะไรน่าเบื่อก็จะไม่มีคนดู ซึ่งเนื้อหาก็ต้องเป็นเชิงประโยชน์สาธารณะ สะท้อนความหลากหลาย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก ประเด็นที่สาม การวัดความสำเร็จ อาจไม่ใช่แค่เรตติ้ง แต่ต้องสร้างการวัดขึ้นมาเอง สมัยหนึ่งไทยพีบีเอสเคยจ้างเอแบคโพล แต่สุดท้ายก็เลิกไปอาจเพราะการออกแบบโพลในครั้งนั้นเป็นการวัดเชิงปริมาณมาก ๆ อาจยังไม่ได้วัดในเชิงอื่น ยกตัวอย่างบีบีซี มีการวัดเรตติ้งแบบทั่วไปในเชิงปริมาณ และมี Public Service Obligation คล้ายๆ หน้าที่ 6 ข้อของบีบีซี แต่ละรายการของบีบีซีจะเขียนว่าบรรลุข้อไหนบ้าง ไทยพีบีเอสต้องทำแบบนี้เพราะไม่ใช่แค่เรื่องบรรลุเป้าหมายของตัวเอง แต่แสดงให้เห็นว่าคุณรับผิดชอบกับสังคมด้วย ว่าคุณทำตามเป้าหมายนั้นจริงๆ "สุดท้าย แน่นอนว่าการออกแบบกฎหมายที่ผ่านมาทำให้ไทยพีบีเอสมีอิสระจากทุนจากรัฐ แต่อาจไม่อิสระเชิงวัฒนธรรมนัก มีบางประเด็นไทยพีบีเอสยังไม่กล้าหาญพอที่จะนำเสนอ สุดท้ายถ้ามีนักการเมืองบางกลุ่มจะล้มไทยพีบีเอส ยกเลิกพ.ร.บ. มันก็จะจบไป แต่ถ้า 10 ปีที่ผ่านมาไทยพีบีเอสพิสูจน์ว่าตนเองเป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริง สร้างอัตลักษณ์ว่าตนเองผลิตรายการเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ผมคิดว่าอย่างไรสาธารณะก็จะต้องปกป้องคุณ เพราะฉะนั้นมันเป็นวิธีการที่ยั่งยืนที่สุดที่ไทยพีบีเอสจะยืนหยัดในสังคม" วรพจน์กล่าว วรพจน์ชวนตั้งคำถามว่า สื่อสาธารณะยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เขาเล่าว่าเมืองนอกมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมาก แต่ถ้ากลับไปเรื่องคอนเทนต์ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดเขาก็บอกว่ามันยังต้องมีอยู่ เพราะสุดท้ายถึงมีร้อยช่อง แต่ทุกช่องนำเสนอสิ่งที่ไม่มีสาระเท่าไหร่ หรือเป็นแต่ผลลบด้วย เช่น ถ้าแคร์แค่ตลาดก็อาจจะฉายหนังโป๊ 24 ชั่วโมงเลยก็ได้ นั่นอาจเป็นการตอบคำถามว่าทำไมเรายังต้องมีสื่อสาธารณะอยู่ เพื่อเป็นการผลิตวาทกรรมที่สำคัญที่เป็นการตั้งต้นการถกเถียงให้กับประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สุดท้ายมันปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมัน disrupt (ก่อกวนระบบที่มีอยู่เดิมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง) ไปทั่ว สื่อสาธารณะก็จำเป็นต้องปรับตัว สุดท้ายก็ไปวัดที่ผลลัพธ์ว่าคนเสพสื่อสาธารณะไปแล้วเขาได้อะไร ไม่ได้วัดแค่ตัวปัจจัยนำเข้าหรือผลที่ออกมา ทั้งนี้วรพจน์ยกตัวอย่าง BBC ในปีที่แล้วก็เพิ่งมีการทบทวนกฎบัตรของเขาไป เพราะทุกสิบปีเขาต้องทบทวน อาจนำเอาหลักการนี้มาใช้กับกฎหมายไทยด้วย เคส BBC อาจเป็นเคสเฉพาะ อาจบอกไม่ได้ว่าเราต้องทำเหมือนเขา เขามีการไปศึกษาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลขององค์กร จากที่มี BBC Trust กับ BBC Executive เขาจะเปลี่ยนเหลือบอร์ดเดียว ให้ตัว ผอ.เป็นคนดูด้านเนื้อหาทั้งหมด ถ้ามีการทำ complain ขึ้นมา บอร์ดนี้จะเป็นคนดูแล รับเรื่อง และรับหน้ากับสังคม หรือเป็นคนกำหนดวิสัยทัศน์ต่างๆ เพื่อแบ่งแยกการทำงานให้ชัดเจน เรื่องนี้ไทยพีบีเอสอาจจะลองดูว่าควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) และบีบีซีเองก็เคยถูกวิจารณ์เรื่องที่เอารายการ The Voice มาทำ ว่าแทรกแซงการแข่งขันโดยไม่จำเป็นหรือเปล่า ก็มีการเสนอว่าจะปรับเรื่องคอนเทนต์อย่างไร ไทยพีบีเอสเองก็มีบริบทเฉพาะในการปรับเปลี่ยน แต่จะแก้กฎหมายอย่างไรอยากเห็นรายงานศึกษาทั้งหมด ทั้งรายงานเชิงโครงสร้าง และเชิงคอนเทนต์ว่ามีปัญหาอะไร เราจะได้แก้ได้ถูกจุด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สำนักนายกฯ ติดอันดับ 4 ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน มิ.ย. มูลค่าราว 129 ล้านบาท Posted: 14 Jul 2017 02:52 AM PDT ติดโผมาแล้ว 3 เดือนต่อกันด้วยงบโฆษณาเกิน 1 ร้อยล้าน ไทยพับลิก้าเปิดยอดงบโฆษณา 7 ปี พบ ร้อยละ 90 จัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพราะเร็วกว่าปรกติ แหล่งข่าวปัดเอื้อทุจริต อ้างถ้าถูกระเบียบก็ดำเนินตามขั้นตอน เปิดเทรนด์อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2559 กลุ่มทีวียังครองแชมป์ หนังสือพิมพ์เป็นพระรองแต่ยอดลดลง ทีวีดิจิทัลมาแรงเติบโตขึ้นทุกปี ตึกทำเนียบรัฐบาล ที่ตั้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ที่มา:มทร. พระนคร) เมื่อ 11 ก.ค. 2559 บริษัทวิจัยการตลาด นีลเส็น (Nielsen) เปิดโผ 10 อันดับองค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน มิ.ย. 2560 พร้อมจำนวนเงินที่ใช้ไปกับงบโฆษณา ดังนี้ 1. บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จํากัด: 329,136,000 บาท 2. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด: 147,080,000 บาท 3. บริษัท โคคา-โคล่า (ไทย) จำกัด: 135,125,000 บาท 4. สำนักนายกรัฐมนตรี: 129,377,000 บาท 5. บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ จำกัด: 128,978,000 บาท 6. ไทยประกันชีวิต: 103,662,000 บาท 7. บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ P&G: 103,611,000 บาท 8. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (พับบลิค) จำกัด: 99,419,000 บาท 9. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน): 98,222,000 บาท 10. บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จํากัด : 95,019,000 บาท สำนักนายกรัฐมนตรีติดอันดับ 1 ใน 10 ขององค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 โดยในเดือน เม.ย. อยู่ในอันดับที่ 5 ใช้งบโฆษณา 123,765,000 บาท ส่วนในเดือน พ.ค. อยู่ในอันดับ 10 ใช้งบโฆษณา 102,030,000 บาท ในขณะที่บริษัท อสมท. จำกัด มหาชน รัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ติดอันดับที่ 7 ในเดือน ม.ค. 2560 ใช้งบโฆษณา 133,113,000 บาท (ดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง) เมื่อปี 2558 สำนักข่าว ไทยพับลิก้า ได้รายงานเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบโฆษณาของสำนักปลัดเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สปน.) หน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ พบว่า ตั้งแต่ปี 2550-2557 (คาบเกี่ยวระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกญ จำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สปน. ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ไปทั้งสิ้น 282 โครงการ รวมมูลค่า 1,249,005,674 บาท โดยแบ่งเป็นงบประชาสัมพันธ์ประจำ คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามภารกิจประจำของ สปน. และหน่วยงานใต้สังกัด 18 หน่วยงาน และงบประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ เช่น โครงการค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล คสช. (1 โครงการ มูลค่า 24 ล้านบาท) หรือโครงการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ Modern Thailand ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์(2 โครงการ มูลค่ารวม 355 ล้านบาท) โดยพบว่า งบประชาสัมพันธ์ตามนโยบายที่มีทั้งหมด 48 โครงการ มีมูลค่ารวม 893.99 ล้านบาท สูงกว่างบประจำที่มี 234 โครงการ รวมมูลค่า 355.01 ล้านบาท ไทยพับลิก้า ยังได้ยกข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการคือ งบประชาสัมพันธ์ของ สปน. เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วย "วิธีพิเศษ" ถึง 161 โครงการจากทั้งหมด 282 โครงการ มูลค่ารวมคิดเป็น 90% ของโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ สปน. ในช่วงเวลา 8 ปีที่ตรวจสอบ โดยแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลระบุว่า ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพราะมีการดำเนินการที่รวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซ์้อจัดจ้างด้วยวิธีปรกติอื่นๆ "ส่วนจะเป็นการเปิดช่องเอื้อให้เกิดการใช้จ่ายงบอย่างไม่โปร่งใสหรือไม่ ในฐานะฝ่ายข้าราชการ หากทุกอย่างทำถูกต้องตามระเบียบก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน" แหล่งข่าวระบุ อำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างอิงจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ โครงสร้างสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่มา:เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี) โฆษณาในสิ่งพิมพ์ลดลง แต่ยังเป็นที่สองรองจากทีวี ทีวีดิจิทัลดาวรุ่งพุ่งแรงนีลเส็นพบว่า ในเดือน มิ.ย. มีมูลค่ารวมการใช้งบโฆษณาทั้งสิ้น 8,366 ล้านบาท ลดลงจากเดือน พ.ค. เล็กน้อย โดยเดือนพ.ค. มีการใช้งบโฆษณาทั้งสิ้น 8,802 ล้านบาท และลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 16.20% หากพิจารณาประเภทสื่อที่มีมูลค่างบโฆษณามากที่สุด จะพบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ทีวีอนาล็อก 3,230 ล้านบาท ตามมาด้วยทีวีดิจิทัล 1,856 ล้านบาท และหนังสือพิมพ์ 645 ล้านบาท สำหรับสื่ออื่นๆ ได้แก่ สื่อเคเบิล 315 ล้านบาท, สื่อวิทยุ 379 ล้านบาท, สื่อแมกกาซีน 136 ล้านบาท, สื่อในโรงภาพยนตร์ 697 ล้านบาท, สื่อนอกบ้าน 514 ล้านบาท, สื่อเคลื่อนที่ 399 ล้านบาท, สื่อ ณ จุดขาย 68 ล้านบาท และสื่ออินเทอร์เน็ต 126 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว ที่ใช้งบไป 153 ล้านบาท สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มสื่อทีวี ทั้งฟรีทีวีรายเดิม (อนาล็อก) ,ทีวีดิจิทัล และเคเบิล/ทีวีดาวเทียม ยังครองส่วนแบ่งงบโฆษณาสูงสุดรวม 66% อันดับสองคือหนังสือพิมพ์ จากเดิมครองสัดส่วนราว 10-12% แต่ลดลงจนเหลืออยู่ที่ราว 9% สวนทางกับสื่อดิจิทัล หรือออนไลน์ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2559 สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ประเมินเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล เติบโต 22% มีมูลค่า 9,972 ล้านบาท และยังขยายตัวต่อเนื่องทุกปีจากปัจจัยสัดส่วนประชากรไทยเข้าถึงและมีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ช่วง 5 ปีก่อนงบโฆษณาสื่อดิจิทัล มีสัดส่วนราว 1-2% ของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1 แสนล้านบาท ปี2559 สัดส่วนอยู่ที่ 8% และคาดการณ์ปี 2560 จะขยับเป็น 10% ก้าวขึ้นมาเป็นสื่อโฆษณาอันดับสอง รองจากสื่อทีวี ที่ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด หมายเหตุสำคัญของข้อมูลจากนีลเส็น: มีการรวมข้อมูลจากสื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่(transit) จาก JCDecaux (เจซีเดอโก) บริษัทบริการสื่อโฆษณานอกบ้าน สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2560 และข้อมูลของสื่อนอกบ้านและขนส่งเคลื่อนที่ จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โดยนีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit), ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2559 เป็นต้นมา อินเทอร์เน็ต - ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม สำหรับ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือสำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมด กรุณาอ้างอิงข้อมูลจาก DAAT (Digital Advertising Association (Thailand)) สื่อในห้าง – นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูลสื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ ข้อมูลของสื่อในห้างTesco Lotus และ Big C ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2558 ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น และตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่, และสื่อในห้าง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุพจน์ ไข่มุกด์ ย้ำ ก.ม.ไต่สวนคดีลับหลัง หวังกำจัดนักการเมืองโกง ไม่ได้รังแกคนดี Posted: 14 Jul 2017 02:35 AM PDT สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. แจงกรณีให้ศาลนักการเมืองพิจารณาคดีลับหลังได้ หวังกำจัดนักการเมืองโกง ไม่ได้รังแกคนดี 'ประวิตร' ปัดตอบปม 'ปิดบัญชีทักษิณ' บอกอย่าคิดไปไกล 'ยะใส' ชี้ใครคิดจะหนีศาลต้องหนีทั้งชีวิต สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 14 ก.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (13 ก.ค.60) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ 176 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ แก้ปัญหาจำเลยหลบหนี และให้ศาลมีอำนาจรื้อฟื้นคดีได้ตามสมควร ล่าสุดวันนี้ (14 ก.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวว่า เมื่อกฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะบังคับใช้กับคดีทุจริตของนักการเมืองที่ยังอยู่ในศาล หรือคดีที่จำหน่ายคดีชั่วคราวได้ทันที โดยสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ และไม่นับอายุความในกรณีที่นักการเมืองคนนั้นหลบหนีไป "ยืนยันว่าเป้าหมายคือการคืนความยุติธรรมให้กับคนในชาติ ไม่ได้ต้องการเช็คบิลใคร รวมทั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะกฎหมายนี้บังคับใช้กับนักการเมืองทุกคน เป็นไปตามหลักความยุติธรรม และกฎหมายลักษณะนี้มีใช้ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นไปตามหลักสากล เพราะต้องยอมรับว่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตของนักการเมืองนั้นมูลค่ามหาศาล กฎหมายนี้ป้องกันคนโกง ไม่ได้รังแกคนดี ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจ และกฎหมายนี้บังคับใช้กับนักการเมืองทุกคน ไม่ว่าใคร ถ้าโกงต้องโดนหมด" สุพจน์ กล่าว สุพจน์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายลักษณะนี้ หากไม่ผลักดันให้เกิดขึ้น เชื่อว่าเมื่อมีนักการเมืองจะไม่สามารถออกกฎหมายลักษณะนี้ได้ เพราะนักการเมืองคงไม่ยอม แต่หากนักการเมืองเข้ามาแล้วจะแก้ก็ไม่มีปัญหา หากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายประชาชนจะเห็นว่าทำเพื่อประโยชน์ของใคร 'ประวิตร' ปัดตอบปม 'ปิดบัญชีทักษิณ' บอกอย่าคิดไปไกลขณะที่ Voice TV รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ที่จะส่งผลต่อคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสามารถนำกลับมาไต่สวนได้ทันที ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดในข้อกฎหมายดังกล่าว ส่วนจะเป็นการปิดบัญชีดร.ทักษิณหรือไม่ ขอให้ไปถามสนช. ถามตนคงไม่ได้ เพราะสนช.ไม่ได้บอกกับตน แต่ถ้าหากกฎหมายดังกล่าวสร้างความขัดแย้งในอนาคต จะต้องระงับหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรเลย อย่าตั้งคำถาม อย่าคิดไปไกล อย่าเพิ่งวิจารณ์เยอะแยะ 'ยะใส' ชี้ใครคิดจะหนีศาลต้องหนีทั้งชีวิตสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "สุริยะใส กตะศิลา" ว่า ยาแรง นักการเมืองโปรดทราบ ใครคิดจะหนีศาลต้องหนีทั้งชีวิต ใครคิดว่าหลบไปสักระยะ รออายุความหมดค่อยกลับ ต้องเลิกคิดใครที่อยู่ระหว่างหลบหนี แต่อายุความยังไม่หมด จะถูกรื้อคดีไต่สวนลับหลังได้เลย และใครที่กำลังคิดหลบหลบหนี แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะจากนี้ไปอายุความ หรือแม้ตัวจำเลยไม่มาศาลก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เตรียมเปลี่ยนผู้ร้องเพลงชาติ พร้อมทำ MV ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย Posted: 14 Jul 2017 01:49 AM PDT ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเตรียมเปลี่ยนผู้ร้อง และทำนองของเพลงชาติไทย มอบหมายวิรัช อยู่ถาวร และนิติพงษ์ ห่อนาคทำเพลง และ MV ใหม่ หวังเพิ่มความหนักแน่และให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัย ชี้้มีศิลปินร่วมร้องเพลงใหม่ 6 ราย อาทิ กิต เดอะวอยซ์ ต้า มิสเตอร์ทีม คิว วงฟลัวร์ บี พีระวัํฒน์ เอ๊ะ จิรากร 14 ก.ค. 2560 ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำเพลงชาติไทย ครั้งที่ 1 เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบการเปลี่ยนคณะผู้ร้องเพลงชาติไทยและภาพประกอบเพลงใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย เบื้องต้นจะมีการเปลี่ยนตัวผู้ร้อง เพื่อให้เกิดความหนักแน่นรวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนภาพประกอบ หรือ วีดีทัศน์เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยด้วย โดยวิรัช อยู่ถาวร และนิติพงษ์ ห่อนาค มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับมอบหมายให้จัดทำเพลงชาติไทย โดยให้คงคำร้อง ส่วนทำนองและเสียงดนตรีให้พิจารณาจัดทำให้มีเสียงพลังที่หนักแน่น เช่นเดียวกับวิดีทัศน์ ประกอบเพลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับมอบหมายได้เตรียมการจัดทำเพลงชาติไทยไว้แล้ว โดยมีศิลปินนักร้องที่จะมาร่วมร้องเพลงชาติในรูปแบบใหม่ 6 ท่าน ประกอบด้วย กิตตินันท์ ชินสำราญ หรือ กิต เดอะวอยซ์ , สุรชัย วงษ์บัวขาว หรือ ต้า มิสเตอร์ทีม , นายสุวีระ บุญรอด หรือ คิว วงฟลัวร์ , พีระวัฒน์ เถรว่อง , จิรากร สมพิทักษ์ หรือ เอ๊ะ จิรากร และณัฐ ศักดาทร ออมสิน กล่าวด้วยว่า หลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มติอย่างไรจะนำเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าเตรียมจัดกิจกรรมในวันที่ 28 กันยายนนี้ เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย และไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ โดยในวันนั้น นายกรัฐมนตรีจะมีคำกล่าวปราศัย เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย , ผู้จัดการออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย: หากสังคมไทยยังเป็นสังคมอำนาจนิยม การรับน้องก็ไม่มีวันหมดไป Posted: 14 Jul 2017 01:16 AM PDT เวียนวนมาครบรอบทุกปี สำหรับข่าวคราวในรั้วมหาวิทยาลัย เช่นกรณีการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกนำมาเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย จนเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ถึงเรื่องความเหมาะสม แม้ว่าเรื่องราวของการรับน้องใหม่ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่รับรู้กันดีสำหรับกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมจากกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าการเกิดขึ้นของ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ANTI SOTUS มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ประเด็นเรื่องการรับน้องได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ประชาไท พูดคุยกับ เหน่อ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ว่าที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในทีมแอดมินเพจ ANTI SOTUS ถึงเจตนารมณ์ของการเริ่มต้นทำแฟนเพจเพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และรายงานเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรั้วมหาวิทยาลัย เขาระบุ 6-7 ปีของการทำงาน เจอทั้งการคุกคาม ข่มขู่ สะกดรอยตาม และบางคนในทีมเคยถูกทำร้ายร่างกาย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายโซตัส เริ่มไม่กล้าออกมาแสดงเหตุผลในที่สาธารณ เพราะจะกลายเป็นการประจานตัวเอง ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หนึ่งในแอดมินเพจ ANTI SOTUS เจตนารมณ์ครั้งแรกก่อนจะมาเป็น ANTI SOTUS ตัวผมเองเข้าไม่ทันตอนก่อตั้งแต่เข้าใจว่า กลุ่มนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มมีการพูดคุยกันเรื่องการรับน้องเริ่มต้นจากธรรมศาสตร์ และสุดท้ายก็จัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล จนกลายเป็นกลุ่ม ปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ ที่ใช้คำว่าแห่งชาติ เพราะเรามีเครือข่ายมหาลัยอยู่ทั่วประเทศ โดยเราเห็นปัญหาเรื่องโซตัสร่วมกันจึงมารวมกลุ่มกัน กลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นมาประมาณ 6-7 ปี อุปสรรคในการทำงานก็มีนะ มีเยอะ ทั้งการถูกล่าแม่มด การคุกคาม สะกดรอยตาม บางคนในกลุ่มก็ถึงขั้นโดนต่อย แต่พอมาช่วงหลังๆ ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเริ่มมีชื่อเสียง และฝ่ายโซตัสเริ่มไม่กล้าออกมาพูดต่อสาธารณะ การคุกคามก็เริ่มลดลง ถ้าอย่างนี้จะพูดว่าการคุกคามลดลงเพราะสังคมเริ่มเห็นด้วยและตระหนักถึงผลกระทบของการรับน้องถูกต้องหรือเปล่า สังคมภายในมหาวิทยาลัยไม่ตระหนัก สังคมไม่เคยตระหนักเรื่องการรับน้องเลย เพียงแต่ว่า เราดำเนินการจนฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องโซตัสไม่กล้าที่จะออกมาพูดสนับสนุนในที่สาธารณะ เพราะว่าพอการรับน้องเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น รายการต่างๆ ก็เชิญกลุ่มสนับสนุนไปพูดคุยจนเหตุผลในการสนับสนุนการรับน้องของคนเหล่านี้มันฟังไม่ขึ้น มันเลยเหมือนกลายเป็นการประจานตัวเอง พอมันยิ่งหลายรายการมากขึ้นมันจึงเกิดเป็นบทเรียนให้คนเหล่านี้คิด และไม่ค่อยกล้าออกมาพูดกับสาธารณะ เครือข่ายของกลุ่มมีกลุ่มไหนบ้าง มีเยอะมากนะ เยอะจนจำไม่ได้ สมัยก่อตั้งแรกๆ เรามีมหาวิทยาลัยด้วยกันเป็นเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ แต่มันจะมาดรอปลงช่วงรัฐประหารปี 57 เพราะหลายคนเลือกที่จะไปสู้กับรัฐประหารมากขึ้น ยิ่งคนที่ไปสู้และได้รับผลการทบจากการรัฐประหาร ก็ยิ่งจะใจจดใจจ่อกับการต่อต้านรัฐประหาร เครือข่ายที่พูดเรื่องการรับน้องจึงน้อยลง จากที่เคยตกลงกันว่าจะพูดกันทั้งปี ก็กลายเป็นว่าจะมาพูดกันแค่ช่วงเทศกาลรับน้อง หลังจากนั้นก็กลับไปมุ่งกิจกรรมด้านการเมืองต่อ เพราะต้องยอมรับว่า ช่วงรัฐประหารช่วงนั้นการเมืองไทยระอุจริงๆ ทำให้ช่วงนั้นเครือข่ายต่างๆ ก็เริ่มหายไปบ้าง แล้วเครือข่ายที่ว่านี้มีความสัมพันธ์เป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ของกลุ่มแอนตี้โซตัสกับเครือข่ายต่างๆ จะค่อนข้างอยู่กันแบบหลวมๆ โดยจะมีการพูดคุยกันประจำปีเพื่อถอดบทเรียนในปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเชิญนักวิชาการมาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการรับน้อง อย่างในภาคเหนือ ก็มีกลุ่มสมัชชาเสรี ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นหัวขบวนใหญ่ และก็มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาคอีสานก็มีกลุ่มดาวดิน กลุ่มแสงแห่งเสรี ภาคใต้มีกลุ่มรักมอ.ปัตตานี อะไรประมาณนี้ ถ้าอยากรู้ว่าเรามีเครือข่ายกับใครลองดูในเพจว่า แอนตี้โซตัสกดไลค์เพจไหนไปบ้าง แนวโน้มของกลุ่ม ANTI SOTUS เองจากเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะหรือไม่ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าช่วงหลังที่ผ่านมากลุ่มและเครือข่ายเริ่มไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน จากกลุ่มปฏิรูปการรับน้องจึงกลายมาอยู่ในรูปของแอดมินเพจมากกว่า เป็นกลุ่มคอยนำเสนอ โดยมีการเปิดรับแอดมินจากคนที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน คราวนี้ก็เริ่มที่จะเป็นระบบมากขึ้น คิดว่ากลุ่มนี้จะมีต่อไปเรื่อยๆ ไหม คิดว่ากลุ่มจะยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าที่การรับน้องยังมีอยู่ ถามว่าการรับน้องแบบผิดๆ จะหมดไปหรือไม่ ตอบชัดเจนเลยว่าไม่หมดแน่นอน เพราะถ้าสังคมไทยยังเป็นสังคมอำนาจนิยมแบบนี้ยังไงการรับน้องคงไม่หมดไปแน่นอน มีมุมมองอย่างไรต่อการที่ผู้บริหารหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาผลักดันการรับน้อง 2 ปีที่ผ่านมามันกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วนะ ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะประกาศเรื่องว่าการรับน้องจะต้องไม่ละเมิด จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพ สังเกตได้ว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมี ถ้าถามว่ามันเป็นผลพวงของการทำงานของแอนตี้โซตัสหรือไม่ มันก็ส่วนหนึ่งนะ แต่ในอีกด้านมันคือการป้องกันตัว เพราะถ้าไม่ประกาศอาจารย์และมหาวิทยาลัยซวยแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเรามักจะตั้งคำถามว่าเวลามีผลกระทบจากการรับน้องเกิดขึ้น อาจารย์ทำไรกันอยู่ เพราะถ้าพูดในระดับโครงสร้างอาจารย์คือกลุ่มคนที่ชอบโซตัส ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีงานอะไรที่ต้องการคนเยอะๆ อาจารย์จะเกณฑ์คนมาอย่างไร แน่นอนว่าก็ต้องไปบอกอาจารย์ ซึ่งสามารถสั่งการไปยังรุ่นพี่ให้บังคับรุ่นน้อง ให้มาเข้าร่วมงานที่วางไว้เท่านี้ก็ได้คนตามจำนวนที่ต้องการ โดยบางทีก็แลกกับการให้คะแนน พอมาส่วนนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณอีกว่าให้คะแนนง่ายๆ แบบนี้แลกกับการเข้าร่วมงานได้หรือ? กรณีที่มีการออกมาประกาศว่า การรับน้องที่รุนแรงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่งผลอะไรบ้างหรือไม่ เรียนตามตรงว่าตัวผมเองไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย แต่ผมสนใจกระบวนการยุติธรรมมากว่า เพราะไม่มีใครเคยโดนดำเนินคดีทางกฎหมายในกรณีรับน้องมาก่อน ยกเว้นถ้ามีการเสียชีวิตอันนี้มีแน่ แต่ขั้นตอนการรับน้องอื่นไม่เคยเห็นใครเคยได้รับบทลงโทษ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน ตอบได้เลยว่าอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น กรณีรับน้องที่จังหวัดน่าน พอมันเกิดปัญหาขึ้นผู้ปกครองก็พาน้องไปแจ้งความ เริ่มแรกมีการไกล่เกลี่ยที่มหาวิทยาลัยก่อน ต่อมาจึงไปไกล่เกลี่ยกันที่โรงพัก โดยน้องที่เป็นเหยื่อเล่าให้ฟังว่า ตำรวจพูดว่า ถ้าคุณแจ้งความคุณอยู่ลำบากนะ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากการแจ้งความของคุณอยู่จังหวัดน่านทั้งนั้น มันเลยดูเหมือนเป็นการไกล่เกลี่ยเชิงข่มขู่มากกว่า การรับน้องที่ผ่านมา มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มีอยู่บ้างแต่ต้องยอมรับว่าน้อย ซึ่งในอนาคตแม้มันจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแต่ผมมองว่ามันเป็นแค่เปลือกมากกว่า เพราะว่ามันเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และมันมีวาทกรรมใหม่ที่สร้างมาหลังจากนั้นคือ รับน้องสร้างสรรค์ เช่น มหาวิทยาลัยพาน้องไปปลูกป่า ไปดำนา แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น พอกลับเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็เอากิจกรรมแย่ๆ มารับน้องอีก ถ้าพูดง่ายๆ คือมันเป็นการเอาคำว่ารับน้องสร้างสรรค์มาครอบไว้ แต่กระบวนการในการรับน้องที่เป็นการบังคับยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับน้องจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น การที่มีเด็กเคยจมน้ำที่ม.เกษตร ศรีราชา ปีต่อมาการรับน้องก็เปลี่ยนไป แต่มันก็ยังเป็นการรับน้องแบบอำนาจนิยมเหมือนเดิม ที่เราพูดถึงความรุนแรงของการรับน้องทุกวันนี้เป็น Hazing มันคือการรับน้องแบบป่าเถื่อนจากประเทศอเมริกา แต่ SOTUS จริงๆ มันคือโครงสร้างเชิงอำนาจนิยมหรือการกดขี่ มันจะยิ่งชัดเจนและรัดตรึงมากขึ้น บางมหาวิทยาลัยปลุกให้น้องตื่นมาด้วยความกลัวและให้น้องหลับไปพร้อมความกลัว ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ วิธีคิดแบบประชาธิปไตยไม่เคยมีในการรับน้องเลย คือที่ผ่านมาเราจะเห็นแต่ความเป็นอำนาจนิยมอย่างเดียว เพราะการศึกษาของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นชั้นประถมหรือมัธยมศึกษาคุณจะรู้สึกว่าคุณอยู่ภายใต้อำนาจนิยมของครู และคุณคิดว่าเมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยจะมีอิสระมากขึ้นแต่เอาเข้าจริง คุณกลับโดนรุ่นพี่เข้ามาบังคับให้ทำสิ่งต่างๆตั้งแต่ยังไม่เริ่มเรียนเลยด้วยซ้ำ คนไทยที่ผ่านระบบการศึกษาไทยมาทั้งหมดจนกระทั้ง ป.ตรี หรือ ป.โท หรือ ป.เอก เพราะบางมหาลัยมีรับน้อง ป.โทกับ ป.เอกด้วยนะ คุณไม่มีทางหลุดพ้นวิธีคิดแบบ SOTUS ได้ เพราะเรายังไม่สามารถกะเทาะเปลือกความเป็น SOTUS ได้เลยด้วยซ้ำ รูปแบบของการรับน้องแบบนี้ก็จะมีไปเรื่อยๆ ถูกไหม ในกลุ่มก็คุยกันไม่ตกเกี่ยวกับประเด็นนี้ จริงๆ เรามองว่าการรับน้องไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ ถ้าตอบแบบสุดโต่งโดยส่วนตัวผมมองว่าไม่ควรมี แต่ยังไงแล้วมันต้องเป็นการประนีประนอม การรับน้องมันก็มีได้ โดยเริ่มจากการมีประชาธิปไตยในการรับน้องก่อนคือ ต้องให้น้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย ไม่ใช่เริ่มมาก็เกณฑ์คนไปปลูกป่า ดำนา ทุกคน แค่เริ่มมาเป็นแบบนี้ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะแบบนี้จึงต้องมี Anti Sotus พูดง่ายๆ คือ 1.ต้องไม่บังคับ 2.ต้องมีการพูดคุยร่วมกัน 3.ต้องไม่มีบทลงโทษ การจะเรียกว่าการรับน้องแบบประนีประนอมผมมองว่ามีแค่กิจกรรมสันทนาการก็พอแล้ว การจะทำให้คนมารู้จักกันมันมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก กิจกรรมง่ายๆ อย่างการชวนเล่นเกมออนไลน์ ก็ทำให้คนรู้จักกันได้แล้ว การจะมาพูดว่าต้องการรับน้องเพื่อสร้างความสามัคคีผมมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าคุณมองว่าสังคมมันมีความต่างนะ ยังไงความสามัคคีไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในระยะยาว แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้นเช่น ประเทศชาติเกิดสงคราม เพราะฉะนั้นคุณต้องมองสังคมในมุมมองของความเป็นจริงบ้าง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กกต. สมชัย เผย 4 ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.กกต. ขัด รธน. หรือไม่ Posted: 14 Jul 2017 12:10 AM PDT สมชัย ศรีสุทธิยากร เปิด 4 เส้นทางยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.กกต. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุใครก็ตามที่คิดว่ามีเพียง 2 ทาง โปรดรัฐธรรมนูญให้ลึกซึ้ง 14 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึง กรณี กกต. เตรียมพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (1) ที่บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย ดังนั้น แม้เป็นร่างกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจพิจารณาว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ สมชัย กล่าวว่า สำหรับกระบวนการนำเรื่องสู่คำวินิจฉัย สามารถกระทำได้ แบ่งได้เป็น 4 กรณี คือ 1. กรณีทั่วไป รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคสอง ระบุว่า การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัย นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ "แต่เนื่องด้วยขณะนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดังนั้น ต้องดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 วรรคสาม ที่ระบุว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาและการทำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" สมชัย กล่าว สมชัย กล่าวว่า 2. กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ระบุว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามมาตรา 81 และ มาตรา 148 (2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย สมชัย กล่าวว่า 3.กรณีการใช้ช่องทางฝ่ายนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (1) ส.ส. ส.ว. หรือ รวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ประธาน ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และ 4.กรณีการใช้ช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 ผู้ตรวจการอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้ (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีนี้ จะดำเนินการได้เมื่อเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น "สรุปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายหรือเป็นกฎหมายแล้วก็ตาม โดยมีช่องทางการเสนอเรื่องถึงศาลได้ 4 ช่องทาง ดังนั้น ใครที่กล่าวว่า มีเพียง 2 ช่องทาง โปรดอ่านรัฐธรรมนูญให้ลึกซึ้งด้วย" สมชัย กล่าว สมชัย กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค. นี้ กกต.จะมีความชัดเจน และสามารถเปิดเผยได้ถึงรายละเอียดของข้อกฎหมาย ที่จะใช้ดำเนินการยื่นต่อศาล โดยจะมีการชี้แจงให้กับสื่อทราบ ก่อนนำเสนอที่ประชุม กกต.เห็นชอบในวันที่ 18 ก.ค. นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
TCIJ School: นศ.กัมพูชาในไทยยังถูกเหยียด ชี้แบบเรียนรัฐเป็นเครื่องมือสร้างอคติ Posted: 14 Jul 2017 12:03 AM PDT หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นศ.กัมพูชาข้ามแดนมาศึกษาในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่คนไทยโดยเฉพาะนศ.ยังมีอคติกับนศ.กัมพูชา เผยผลวิจัยชี้แบบเรียนคือเครื่องมือในการสร้างอคติระหว่างสองชาติ ขณะที่นศ.กัมพูชายังเห็นความหวัง หากสองฝ่ายเรียนรู้และลดอคติ หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นศ.กัมพูชาข้ามแดนมาศึกษาในไทยเพิ่มมากขึ้น แต่คนไทยโดยเฉพาะนศ.ยังมีอคติกับนศ.กัมพูชา เผยผลวิจัยชี้แบบเรียนคือเครื่องมือในการสร้างอคติระหว่างสองชาติ ขณะที่นศ.กัมพูชายังเห็นความหวัง หากสองฝ่ายเรียนรู้และลดอคติ (ที่มาภาพ:ASEAN Watch) สถานการณ์การศึกษาข้ามชาติหลังเปิดประชาคมอาเซียนภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน (Asean Comunity) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน รวมถึงสามารถเคลื่อนย้ายการลงทุนและแรงงานฝีมือได้อย่างเสรีภายใต้กฎกติกาที่ตกลงกัน เมื่ออาเซียนคือการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ระบบคมนาคมของประเทศสมาชิกอาเซียนก็เริ่มเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบายและง่ายขึ้น ส่งผลให้การเข้ามาประเทศไทยของคนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม และมักปรากฏให้เห็นว่ามีการกระจายตัวทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งการเข้ามาของพวกเขาเหล่านั้นประกอบไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยว นักกีฬา ครู/อาจารย์ แรงงาน รวมไปถึงนักศึกษา การจัดการศึกษาในอาเซียน ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียน หลังการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเห็นว่ามีความร่วมมือในการเปิดเสรีด้านการศึกษา ซึ่งครอบคลุมการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งนี้ระบบการศึกษาไทยก็มีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย ที่เรียกกันติดปากว่า 'ปิดเทอมอาซียน' เมื่อระบบต่างๆ อำนวยให้การเดินทางข้ามไป-มาสะดวกขึ้น ทำให้ปริมาณนักศึกษาต่างชาติในประเทศอาเซียน เกิดการแลกเปลี่ยนจากเดิมที่มีจำนวนมากยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งกับประเทศไทยเอง เสียงสะท้อนของนักศึกษาข้ามแดนข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดเผยตัวเลขนักศึกษาที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาปีการศึกษาประจำปี 2556 พบว่า มีจำนวน 18,814 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยนักศึกษากัมพูชาจำนวน 1,018 คน ขณะที่จำนวนนักศึกษาจากอาเซียน ที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย พบว่ากัมพูชาอยู่ในลำดับที่ 4 รองจากพม่า 1,610 คน ลาว 1,372 คน และเวียดนาม 1,083 คน (อ่านเพิ่มเติมที่ 'จับตา: จำนวนนักศึกษาอาเซียนที่ศึกษาในประเทศไทย') บรรยากาศยามว่างของนักศึกษาชาวกัมพูชาและนักศึกษาไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เฉพาะนักศึกษากัมพูชาที่เข้ามาศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีจำนวน 23 คน แบ่งออกเป็นนักศึกษากัมพูชาในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 11 คน นักศึกษากัมพูชาในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จำนวน 12 คน นายเมือง ตราว นักศึกษาชาวกัมพูชา ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดศรีสะเกษ นายเมือง ตราว นักศึกษากัมพูชาที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สาขาสัตวศาสตร์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าถึงช่วงระยะเวลาแรกที่เข้ามาศึกษา ณ สถาบันแห่งนี้ว่า มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนคนไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ที่เพื่อนร่วมสถาบันมักจะอ้างว่าประเทศกัมพูชาเป็นฝ่ายปล้นเอาดินแดน 4 รัฐ ในช่วงที่ฝรั่งเศสครอบครองดินแดนไป รวมถึงแย่งชิงปราสาทเขาพระวิหารของคนไทยไปอีกด้วย "ตอนมาเรียนในไทย ช่วงแรกๆ ก็จะโดนคนไทยบอกว่า เขมรเอาเขาพระวิหารของไทยไปบ้าง เอาดินแดน 4 รัฐในยุคที่ฝรั่งเศสครอบครองอาณานิคมไปบ้าง เอาตัวอักษรไทยไปบ้าง" เมืองกล่าว เช่นเดียวกับนายปราบ (นามสมมติ) ซึ่งเล่าว่า"ตอนที่มาเรียนใหม่ๆ เพื่อนๆ ที่นี่เขาจะบอกอยู่บ่อยๆว่าพวกเราเอาเขาพระวิหารของคนไทยไป และก็เอาตัวหนังสือไทยไปด้วย" ปราบกล่าว เหล่านี้คือคำตอบต่อคำถามถึงปัญหาและอุปสรรคของนักศึกษากัมพูชาในการเข้ามาศึกษาในไทย นำมาสู่การตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดคนไทยจึงเกิดกระบวนการคิดและความรู้สึกจงเกลียดจงชังคนกัมพูชา และความคิดความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจำเพาะกับคนไทยหรือเปล่า ? ชี้ 'แบบเรียน' สร้างอคติและชาตินิยมอย่างไรก็ตาม หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ปลูกสร้างความเป็นชาติทั้งชาติไทยและกัมพูชา ก็คือแบบเรียนของรัฐที่บรรจุเนื้อหาต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งอาจทำขึ้นโดยความตั้งใจและมีความหมายแฝงตามกระบวนการสร้างชาติของรัฐไทย งานวิจัยของ เปรม จาบ ศึกษา ข้อพิพาทพรมแดนกัมพูชา-ไทย ปัญหาชาตินิยมและอำนาจ : ศึกษากรณีปราสาทพระวิหาร(เสียงสะท้อนจากกัมพูชา) มีข้อเสนอว่า ในการทำงานวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษาของกระทรวง ศึกษาธิการไทย พบว่าหลักสูตรมีลักษณะแสดงให้เห็นทัศนะและอคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในแบบเรียนประวัติศาสตร์ จะกล่าวถึงการเสียดินแดนให้กับประเทศเพื่อนบ้านในยุคอาณานิคม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกัมพูชา ขณะเดียวกันหนังสือ ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังได้กล่าวถึงแบบเรียนไทยที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่า มีแก่นเรื่องที่แน่นอนตายตัวคือ ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ตลอดมาด้วยการทำสงครามรักษาเอกราชเอาไว้ และไม่เคยตกอยู่ในอาณานิคมของใครตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อหันมาดูแบบเรียนรัฐทางฝั่งกัมพูชา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษา เยาวชนและกีฬา แบบเรียนของเขาเองก็ปรากฏว่ามีการสอดแทรกเนื้อหาให้ผู้เรียนเกิดทัศนะและอคติระหว่างกันเช่นกัน ดังเช่นในผลการวิจัย ของ ชาญชัย คงเพียรธรรม เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์บทอ่านในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 กล่าวถึงแบบเรียนกัมพูชาว่ามีเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในบทอ่านหรือหลักสูตรแฝง เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากเนื้อหาที่กระทรวงศึกษา เยาวชน และกีฬา กำหนดไว้ในหลักสูตรปกติ ตัวอย่างเช่นในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บทเรียนที่ 1 เรื่อง วีรชนเก่งกล้า เป็นการให้เรื่องราวของวีรวีรบุรุษท้องถิ่นชาวเขมร ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนี้คือการบอกว่าสยามเป็นศัตรูร้ายในสายตาของคนเขมร คอยกดขี่ย่ำยีเขมรอยู่ตลอดเวลา การกระทำและความโหดร้ายนี้ ทำให้คนเขมรพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกเขาเองสู้ไม่ได้ เพื่อปกป้องประเทศบ้านเกิด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง การเสนอแนวทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จากการวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษา ของ มัทนียา พงศ์สุวรรณ ยังพบว่าแบบเรียนทั้งในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาของประเทศไทยและกัมพูชา ปรากฏว่ามีเนื้อหาประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ด้านการสงครามมากที่สุด 'มายาคติ' แบ่งพรมแดนความสัมพันธ์เมื่อประชาชนของทั้งสองรัฐชาติต่างสร้างมายาคติต่อกัน ทั้งที่เกิดจากกระบวนการสร้างของรัฐทั้งสองประเทศและปัจจัยอื่น เช่น การมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ยังคงปรากฏและดำรงอยู่กับสังคมทั้งสองประเทศเช่นนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลังการรวมตัวเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียน มายาคติที่มีระหว่างกันของทั้งไทยและกัมพูชาเหล่านี้จะหายไปหรืออย่างน้อยที่สุด บาดแผลที่เคยมีจะสมานกันดีขึ้นกว่าเดิม ผศ.ชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสระเกษ กล่าวถึงอนาคตในห้วงเวลาที่ทั้งคู่เป็นสมาชิกอาเซียนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาว่า หากเราคิดว่าจะทำให้การมองของประชาชนไทยและกัมพูชาที่มีต่อกันเต็มไปด้วยการเข้าอกเข้าใจก็คงจะยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ภาพของชาวกัมพูชามักปรากฏในสื่อด้วยการถูกนำเสนอให้เห็นความยากจนเต็มไปด้วยผู้คนยากไร้ ประกอบอาชีพขอทาน รับจ้างต่าง ๆ ไม่ก็นำเสนอภาพของผู้คนที่ได้รับบาดแผลจากผลพวงสงครามสมัยเขมรแดง "ที่ผ่านมาสื่อไทยมักให้ภาพของประเทศกัมพูชาไปในลักษณะของพื้นที่ ที่ให้นักการเมืองไทยหรือผู้ร้ายไปหลบซ่อน โดยมีผลประโยชน์บางอย่างเคลือบแฝง ภาพของความล้าหลังปรากฏในวรรณกรรมเพื่อนบ้านที่ชวนให้เราสยดสยองกับคนที่ไปสมสู่กับงู เหล่านั้นหลอมรวมเป็นมายาคติที่ชวนให้เรายากที่จะมองกันและกันในแง่บวก แต่แปลก ที่หากภาพของประเทศหรือประชาชนชาวกัมพูชาได้รับการนำเสนอจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีนักแสดงชื่อดังเป็นสื่อบุคคล เรากลับให้ความสนใจต่อประเทศกัมพูชาในฐานะของพื้นที่ที่ควรใส่ใจดูแลมากกว่าการเหยียดหยาม" ผศ.ชานนท์ กล่าว ขณะเดียวกัน นายฮงลี ฮอง นักศึกษากัมพูชาซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กลับมองถึงความสัมพันธ์อนาคตในลักษณะค่อนข้างมั่นใจว่าทั้งสองประเทศ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะทั้งประเทศไทยและกัมพูชามีอาณาเขตและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันมาก "ไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันมาก แล้วเป็นประเทศอยู่ในประชาคมอาเซียนเดียวกันที่จะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่าประเทศทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เรามีทูตประจำประเทศถ้ามีปัญหาเราจะต่อสู้กันทางการทูต เราต้องเข้าใจกัน รับรู้กฎหมายนานาชาติ สร้างความสัมพันธ์โดยการประกวด กีฬา แลกเปลี่ยนการศึกษา วัฒนธรรม ต่างๆ และการนำออกนำเข้าสินค้า" นายฮงลี กล่าว จะเห็นได้ว่า การปลูกฝังและถ่ายทอดประวัติศาสตร์แห่งชาติผ่านแบบเรียนและระบบการศึกษาของรัฐ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ปลูกฝังให้คนในชาติไทยและกัมพูชาเองกลายเป็นศัตรูกัน ส่งผลให้คนในชาติเกิดความรู้สึกเหนือกว่าและด้อยกว่าซึ่งกันและกันเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ความหวังในการลบล้างอคติเหล่านี้ มีคำตอบอยู่ในสายลมหรือในแบบเรียนแห่งชาติกันแน่ ?
อ้างอิง นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2557). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน. เปรม จาบ. (2555). ศึกษาข้อพิพาทพรมแดนกัมพูชา-ไทย ปัญหาชาตินิยมและอำนาจ : ศึกษา กรณีปราสาทพระวิหาร(เสียงสะท้อนกับกัมพูชา). ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2555). การศึกษาวิเคราะห์บทอ่านในหนังสือเรียนภาษาเขมรระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6. มัทนียา พงศ์สุวรรณ. (2547). การเสนอแนวทางการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา จากการวิเคราะห์เนื้อหาประวัติศาสตร์ในหนังสือ แบบเรียนสังคมศึกษา.
*กานดา ประชุมวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กกต. ฉบับปรับแก้ กรรมาธิการเสียงข้างมากยัน เซ็ตซีโร่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ Posted: 13 Jul 2017 11:14 PM PDT สนช. ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กกต. ฉบับกรรมาธิการร่วมปรับแก้ ขณะที่ กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ย้ำการการเซตซีโร่ กกต.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรมตามที่ กกต. อ้าง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไป เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญตามมาตรา 267 วรรคห้าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติยืนตามร่างเดิมที่ผ่าน สนช.วาระ 3 สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วม ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่า ทั้ง 6 ประเด็นข้อโต้แย้งของ กกต. ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่ ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นในชั้นกรรมาธิการ พร้อมชี้แจง 6 ข้อโต้แย้งต่อที่ประชุมเป็นรายประเด็นว่า ข้อโต้แย้งประเด็นแรก มาตรา 11 วรรคสาม การกำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ให้มีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของ กกต. และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ และ ประเด็นที่ 2 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต. ที่กำหนดว่า ต้องไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ เป็นการเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนประเด็นที่ 3 มาตรา 26 เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ละคนในการสั่งระงับ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อวินิจฉัยนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพียงคนเดียวสามารถสั่งระงับยับยั้ง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ ประเด็นที่ 4 มาตรา 27 กำหนดให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ประเด็นที่ 5 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า กกต. มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงาน มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจ กกต. สืบสวนสอบสวนได้ และประเด็นที่ 6 มาตรา 70 ที่ให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ กกต. เห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหลักนิติธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้ง ยังไม่ทราบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอื่นๆ จะต้องถูกเซ็ตซีโร่เหมือน กกต.หรือไม่ "สนช.เป็นสภาศักดิ์สิทธิ์ บทบัญญัติใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมาชิก สนช.ควรไต่ตรองให้ดี โดยเฉพาะทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมหรือไม่ เพื่อให้การออกกฎหมายองค์กรอิสระอื่นเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ" ศุภชัย กล่าว ด้าน กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต. รวมทั้ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต. ที่กำหนดในร่างดังกล่าว เป็นการขยายความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณา ถือว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ละคนในการสั่งระงับ เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต และเสนอต่อที่ประชุม กกต. เพื่อวินิจฉัยนั้น กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ยืนยันว่า อำนาจและหน้าที่ของ กกต.คนเดียวยังคงมีอยู่ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด ในร่างดังกล่าวเพียงแค่ขยายความเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช.เขียนข้อสังเกตไว้แล้วว่า ให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้น กกต.จึงยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญทุกประการ สำหรับมาตรา 27 ที่ กกต.โต้แย้งนั้น กรรมาธิการน่วมเสียงข้างมาก ระบุว่า ร่างดังกล่าวบัญญัติว่า ให้อำนาจ กกต.สามารถมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่น ดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่ไม่ได้บังคับว่า กกต.จะต้องมอบอำนาจ ดังนั้น กกต.จะไม่มอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นก็ได้ หาก กกต.สามารถดำเนินการจัดได้เอง ขณะที่ อำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวนของ กกต.นั้น กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ย้ำว่า กกต.ยังมีอำนาจการสืบสวนสอบสวนอยู่ เพียงแต่เพิ่มการมอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงานของสำนักงานได้ เพื่อความสะดวกในการทำงาน ส่วนประเด็นการเซ็ตซีโร่ กกต. กรรมาธิการร่วมเสียงข้างมาก ย้ำว่า ได้พิจารณาด้วยจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ ปราศจากอคติ รวมทั้งพิจารณาจากโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของ กกต. เป็นหลัก ไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล และรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไป ดังนั้น การเซ็ตซีโร่ กกต.จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อหลักนิติธรรมตามที่ กกต. อ้าง จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 194 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง โดยขั้นตอนต่อไป สนช.จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สนช. ผ่านวาระ 3 พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง Posted: 13 Jul 2017 10:58 PM PDT ที่ประชุม สนช. ลงมติ 176 เสียง เห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ แก้ปัญหาจำเลยหลบหนี และให้ศาลมีอำนาจรื้อฟื้นคดีได้ตามสมควร เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 176 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 179 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยหลังจากนี้จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ สำหรับร่างกฎหมายลูกดังกล่าวตราขึ้น เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้ โดยในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลให้อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ขณะในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล แต่มีหลักฐานชัดว่ามีการออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล ส่วนกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย แต่หากไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความต่อสู้คดีแทนได้ และในกรณีเมื่อคดีตัดสินไปแล้วแต่จำเลยกลับมา หากจำเลยจะขอรื้อฟื้นคดีใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องยื่นเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า หลังจากที่ สนช. ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย สมาชิก สนช. หลายคนต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้แล้ว จะส่งผลให้คดีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจากทักษิณหลบหนีคดี เช่น คดีแปลงสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชินคอร์ปฯ คดีปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย คดีซุกหุ้นชินคอร์ปฯ โดยศาลสามารถนำคดีมาพิจารณาลับหลังทักษิณได้ ตามมาตรา 26-27 ซึ่งให้ศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยได้ และรวมไปถึงคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากมีการหลบหนีก็จะเข้าข่ายตามมาตรา 24/1 ซึ่งระบุว่า หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีคดีระหว่างพิจารณาคดีของศาล หรือกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โทษจำเลย แต่จำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษนั้น มิให้นำมาตรา 98 ในประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ เพื่อให้มีการหยุดนับอายุความไว้ชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาลงโทษ ด้าน สมชาย เเสวงการ โฆษกคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาบังคับใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะต้องบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยจะบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับ รวมทั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย โดยส่วนที่จะมีการพิจารณาลับหลังจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้หลบหนี และมีการออกหมายจับ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุจำเลยหลบหนีระหว่างพิจารณาคดี จะส่งผลให้ศาลจำเป็นต้องจำหน่ายคดีเป็นการชั่วคราว แต่ตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับใหม่นี้ จะช่วยให้ศาลฎีกาฯ สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บทเรียนความเหลื่อมล้ำระหว่าง Silicon Valley และ Central Valley สาเหตุจาก 'กองทัพ' และ 'รัฐบาลกลาง' Posted: 13 Jul 2017 06:57 PM PDT
ที่ซิลิกอน วัลเลย์ (Silicon Valley) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรคือ 83.7 ปี คนทั่วไปที่ไม่ใช่เศรษฐีเฉลี่ยแล้วมีรายได้ 55,215 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เยาวชนอายุ 3 ถึง 24 ปีประมาณ 85.6% มีชื่อในระบบของโรงเรียน และ 60% ของผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย แต่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกไม่ถึง 1 ร้อยไมล์ ที่เซ็นทรัล วัลเลย์ (Central Valley) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรคือ 78.4 ปี รายได้เฉลี่ยเพียง 20,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เยาวชนมีชื่อในโรงเรียนเพียง 73.5% และมีเพียง 8.3% ของผู้มีอายุ 25 ปีขึ้นไปที่จบปริญญาตรี และ 4 ใน 10 ของประชากรที่นี่ไม่จบมัธยมปลาย [1] ส่วนซิลิกอน วัลเลย์ เป็นชื่อเล่นของพื้นที่ที่อยู่ในเขตซานตา คลารา (Santa Clara) ในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก และคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอันใด - Steve Blank อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเพื่อการจัดการ (Management Science & Engineering) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ว่า แรงจูงใจในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ในการสร้าง startup ไม่ใช่การคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้เป็น unicorn (สตาร์ทอัพที่รวยกว่าพันล้านดอลลาร์) ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันเกี่ยวกับสงครามเย็น ผู้ประกอบการในช่วงนั้นต้องผลิตอาวุธ ไม่มีการร่วมลงทุนธุรกิจ (venture capital) อย่างที่เราเข้าใจกัน มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1956 เมื่อ Lockheed บริษัทผลิตเครื่องบินจากเมืองเบอร์แบงค์ในแคลิฟอร์เนีย ชนะการประมูลสัญญาจ้างผลิตเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ (จรวดหัวระเบิดที่ล็อคเป้าได้), หลังจากเริ่มต้นโครงการได้เพียง 4 ปี Lockheed จ้างงานได้ถึง 20,000 คน แต่บริษัท Hewlett-Packard ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของซิลิกอน วัลเลย์ ตั้งแต่ปี 1939 ในปี 1960 จ้างงานได้เพียง 3,000 คน [3] ทั้ง ๆ ที่ห่างกันไม่ถึง 100 ไมล์ ทำไมเซ็นทรัล วัลเลย์ ต้องเป็นแหล่งเกษตรกรรม? แม้ว่าบนพื้นที่น้อยกว่า 1% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดในสหรัฐฯ สามารถผลิตได้ประมาณ 8% ของผลผลิตทางเกษตรทั้งประเทศ ทำไมรายได้และความสามารถในการอยู่กับระบบการศึกษาถึงได้ต่างกันขนาดนี้? สาเหตุจากกองทัพและรัฐบาลกลาง สงครามเม็กซิโก-สหรัฐฯ (Mexican–American War) เป็นการสู้กันด้วยอาวุธระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกตั้งแต่ ค.ศ.1846-1848 หลังสหรัฐฯ ยึดครองเท็กซัสเมื่อปี 1845 ซึ่งเม็กซิโกถือว่าเป็นดินแดนของตน จากนั้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1846 John D. Sloat ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้อ้างสิทธ์ความเป็นเจ้าของแคลิฟอร์เนียว่าเป็นของสหรัฐฯ ปี 1847 เรือ USS Portsmouth ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตัน John S. Montgomery ได้บัญชาให้เรือ 70 ลำ พร้อมทหารกว่า 600 นาย เข้าเทียบท่าที่ Clark's Point บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก และยึดได้สำเร็จโดยไม่ต้องยิงปืนแม้แต่นัดเดียว นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการค้นพบแหล่งทองคำมากมายที่แคลิฟอร์เนีย ต่อมาได้เกิดการเจรจาเพื่อยุติสงครามนี้โดยมีการลงนามสนธิสัญญากัวดาลูป ฮิดัลโก (Treaty of Guadalupe Hidalgo) เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1848 ที่หมู่บ้าน Guadalupe Hidalgo ใกล้ ๆ กับเม็กซิโกซิตี้เมืองหลวงของเม็กซิโกในปัจจุบัน ซึ่งเม็กซิโกเรียกร้องให้สหรัฐฯจ่ายเงิน 18.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแก่เม็กซิโก จากนั้นเท็กซัส แคลิฟอร์เนีย และพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของรัฐนิวเม็กซิโก แอริโซนา เนวาด้า ยูทาห์ และบางส่วนของรัฐไวโอมิง โคโลราโด ก็ตกเป็นของสหรัฐฯ จากข่าวสารการค้นพบแหล่งทองคำ ภายในปี 1848 ผู้คนประมาณ 300,000 ชีวิตได้มาที่แคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองซานฟรานซิสโก ซานโฮเซ่ และซาคราเมนโต ทั้งจากรัฐอื่นๆและชาวต่างชาติ ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า 'California Gold Rush' (1848 - 1855) แล้วทองคำจำนวนมากได้ถูกขายออกไปทางทิศตะวันออก ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียมีอิทธิพลมากพอที่จะเลือกขอบเขตดินแดนที่กว้างขวางมาเป็นของตัวเอง เลือก ส.ส.และ ส.ว.ของตัวเองได้ เขียนรัฐธรรมนูญของตนเอง และได้รับการยอมรับให้เป็นรัฐอิสระในเครือสหรัฐฯ เมื่อปี 1850 โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาเรื่องสถานะแห่งดินแดนเหมือนรัฐเกิดใหม่อื่น ๆ [4] ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเซ็นทรัล วัลเลย์ เมืองที่อยู่ตรงกลาง ๆ ของแคลิฟอร์เนีย อาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นขึ้นในปี 1849 หลังจากค้นพบแหล่งทองคำ ผู้คนจึงหลั่งไหลกันเข้ามาในบริเวณที่มีชื่อว่า 'Sierra Nevada' ทำให้ประชากรบริเวณนี้เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารจึงมากขึ้น จึงเกิดเกษตรกรรมอันกว้างใหญ่ โดยระหว่างนั้นและย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจหลักของที่นี่คือการทำปศุสัตว์ ทว่าได้ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วง 1863-1864 ทำให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเศรษฐกิจในแคลิฟอร์เนียล้มตายไปเกือบทั้งหมด แถมยังเกิดน้ำท่วมอย่างหนักตามฤดูกาล [5] ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว พื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโกบริเวณอันเป็นที่ตั้งของซิลิกอน วัลเลย์ ในปัจจุบัน บริเวณชายฝั่งเคยเป็น hub หรือแหล่งรวมเรือพาณิชย์และเรือของกองทัพสหรัฐฯ [6] และยังเป็นพื้นที่หลัก ๆ ของเทคโนโลยีและการวิจัยของกองทัพเรือ [7] โดยในปี 1854 มีการก่อตั้งฐานทัพเรือแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า 'Mare Island Naval Shipyard' พื้นที่นี้เคยมีสถานที่ของกองทัพสหรัฐฯรวมกับสถานที่ของกองทัพที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันรวมกันแล้วมีถึง 39 แห่ง โดยแบ่งเป็นสถานที่ทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นก่อนจะมีการตั้งบริษัทอันเป็นต้นกำเนิด Silicon Valley ถึง 17 แห่ง [8] แม้ว่าขนาดของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก ถ้านึกถึงแผนที่ประเทศไทยก็จะเล็กกว่า จ.กาญจนบุรี ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของไทย แต่ใหญ่กว่า จ.ตาก ที่ใหญ่อันดับ 4 ของไทย (เมืองซานฟรานซิสโก เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของอ่าวซานฟรานซิสโก) ปี 1909 Charles Herrold ก่อตั้งสถานีวิทยุแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ต่อมามีผู้เรียนจบจากม.สแตนฟอร์ดชื่อ Cyril Elwell ได้ก่อตั้งบริษัทโทรเลขไร้สาย* Federal Telegraph Corporation ที่ Palo Alto และได้สร้างระบบวิทยุที่กระจายเสียงได้ทั่วโลกเป็นแห่งแรกของโลก และได้เซ็นสัญญารับงานจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี 1912 ปี 1933 สนามบินเอกชน Air Base Sunnyvale ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นสนามบินกองทัพเรือ ต่อมาช่วงระหว่างปี 1933-1947 มีการก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีบริเวณรอบ ๆ สนามบินเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพเรือ และยังมีการก่อตั้งองค์กรที่ปรึกษาเพื่อกิจการอวกาศแห่งชาติ (National Advisory Committee for Aeronautics: NACA) ซึ่งเป็นองค์กรต้นกำเนิดของ NASA โดยได้ซื้อบางส่วนของพื้นที่สนามบินนี้เพื่อเอาไว้ทำการวิจัยด้านอวกาศ โดยบริเวณใกล้เคียงในเวลาต่อมาก็มีการก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น Lockheed ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ชนะประมูลได้รับสัมปทานผลิตเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ (ล็อคเป้าได้) ในช่วงสงครามเย็น (อ้างอิงแล้วดูที่ [7]) ไม่ใช่แค่นั้น ในปี 1939 เช่นกัน ยังมีการก่อตั้ง Ames Research Center ศูนย์วิจัยหลักของ NASA ที่ Moffett Federal Airfield สถานที่ซึ่งขณะนั้นกองทัพใช้เป็นหน่วยบัญชาการฝึกบินทางตะวันตกในฐานะสำนักงานใหญ่สำหรับการฝึกบินและการฝึกลูกเรือ [11] ต่อมาที่นี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Silicon Valley ศูนย์วิจัยถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะห้องแล็บแห่งที่ 2 ขององค์กรที่ปรึกษาด้านอวกาศแห่งชาติ (NACA)* ปัจจุบัน Central Valley Project ถูกดำเนินการโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อ่างเก็บน้ำมี 22 แห่งพื้นที่รวมกันประมาณ 11 ล้านเอเคอร์ โครงการนี้ผันน้ำด้วยระบบชลประทานให้กับพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 3 ล้านเอเคอร์ และผลิตเป็นน้ำดื่มให้กับประชากรประมาณ 2 ล้านคน โดยมีสัญญาระยะยาวกับผู้รับเหมากว่า 250 ราย [13] ส่วนที่ซิลิกอน วัลเลย์ ในปัจจุบันคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณนอกจากความเหลื่อมล้ำตามตัวเลขที่ระบุในย่อหน้าแรก ประชาชนที่เซ็นทรัล วัลเลย์ มีแนวโน้มจะลำบากหนักขึ้นไปอีก โดยที่เฟรสโน (Fresno) เขตที่อยู่ทางใต้ของเซ็นทรัล วัลเลย์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 520,000 คน เนื่องจาก Institute for Spatial Economic Analysis คาดการณ์ว่าอาชีพการงานที่นั่นสามารถถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์สูงถึง 61.5% ภายใน 10 ถึง 20 ปี แม้ว่าค่าเฉลี่ยของทั้งสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 47% [14]
อ้างอิง หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ แฟนเพจ Make life save again ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น