โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รวมบทความชุด "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" [ไทยศึกษาครั้งที่ 13]

Posted: 16 Jul 2017 02:48 PM PDT

รวมบทความชุด "ล้านนาเก่า/ล้านนาใหม่: ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" (A New Look at Old Lanna: Challenging for a New Direction on Lanna Studies) โดยบทความต่อไปนี้นำเสนอเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ในหัวข้อ "A New Look at Old Lanna: Challenging for a New Direction on Lanna Studies"

โดยการนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 13 (13th ICTS) "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ (CMECC) โดยรายการนำเสนอมีดังต่อไปนี้

อ่านบทความได้ที่ https://goo.gl/4er6ML

ล้านนาเก่า/ล้านนาใหม่: บททบทวนเพื่อดิ้นรนออกจากวังวนท้องถิ่นศึกษา โดย อรพิน สร้อยญานะ

ความย้อนแย้ง ยอกย้อน สับสน ของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา โดย ชัยพงษ์ สำเนียง

ความเป็นล้านนาในวรรณกรรมของนักเขียนภาคเหนือ โดย สุนทร คำยอด

ครูบาคติใหม่: ภาพลักษณ์และการนำเสนอตัวเองในฐานะ "สินค้าทางความเชื่อ" โดย ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว

ตำแหน่งทางศาสนาในสังคมไทใหญ่กับการสร้างความหมายใหม่ในปัจจุบัน โดย ธรรศ ศรีรัตนบัลล์

ซอพื้นเมืองในการเล่าเรียนท้องถิ่น : การยื้อแย่งระหว่างความรู้ทางการและความรู้ (ที่ทำให้เป็น)ท้องถิ่น โดย ธนพงษ์ หมื่นแสน และ รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์

ดำเนินรายการโดย อาจารย์แสวง มาละแซม ร่วมแสดงความคิดเห็นโดย ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง และ ผศ.ชานนท์ ไชยทองดี

อ่านบทความได้ที่ https://goo.gl/4er6ML

AttachmentSize
ANewLookatOldLanna_ICTS13.pdf2.02 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ไม่ล่าแต่ท้าชน 'ชิโอริ' หญิงญี่ปุ่นผู้ยืนหยัดต่อสู้คดีข่มขืนจนสะเทือนถึงรัฐสภา

Posted: 16 Jul 2017 12:10 PM PDT

นักข่าวอิสระผู้พยายามดำเนินคดีกับนักข่าวที่มีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีโต้คลื่นสังคมที่ยังมองเรื่องคนถูกข่มขืนในแง่ไม่ดีโดยการเปิดหน้าสู้ทั้งฟ้องร้อง จัดแถลงข่าว และยังจะสู้ต่อไปแม้ว่าจะมีเสียงก่นด่าจากคนที่ซุ่มซ่อนตัวเองในอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกตั้งกระทู้ในสภาล่างของญี่ปุ่น

 
ชิโอริ ผู้สื่อข่าวที่เปิดโปงเรื่องที่ตนถูกข่มขืน (ที่มา: 4plebs.org)
 
17 ก.ค. 2560 สื่อญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องของชิโอริ ผู้สื่อข่าวที่ออกมาเปิดโปงเรื่องที่เธอถูกข่มขืนโดยโนริยูกิ ยามางุจิ นักข่าวช่องโทรทัศน์ทีบีเอสที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หลังจากที่เธอเปิดแถลงข่าวในเรื่องนี้เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาก็มีทั้งเสียงให้กำลังใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เธอตามมาในหลายรูปแบบ รวมถึงที่มีลักษณะแบบกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) ด้วย
 
ชิโอริเคยแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดไว้ว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2558 ยามางุจินัดเธอดื่มด้วยกันโดยอ้างว่าเพื่อคุยเรื่องงาน แต่หลังจากที่เธอร่วมดื่มกับเขาเธอก็ไม่สติอีกเลยจนกระทั่งรู้ตัวอีกทีก็ตื่นมาในร่างเปลือยเปล่าในโรงแรมพร้อมกับยามางุจิที่อยู่บนตัวเธอ ทำให้เธอตัดสินใจแจ้งความในเรื่องที่ยามางุจิมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้สติซึ่งถือเป็นการ "ข่มขืนกึ่งหนึ่ง" ในข้อกฎหมายของญี่ปุ่น
 
สื่อไมนิจิของญี่ปุ่นรายงานว่าทางตำรวจได้ออกหมายจับยามางุจิในเรื่องนี้ไว้แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ แม้ว่าจะมีการส่งเอกสารกล่าวหาเขาให้พนักงานอัยการแต่ก็มีการถอนฟ้องเมื่อเดือน มิ.ย. 2559 เรื่องนี้ทำให้ชิโอริไม่พอใจกับผลจึงยื่นขอให้มีการสืบสวนโดยคณะกรรมาธิการสืบสวนพิจารณาคดีของอัยการซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการบุคคลที่สามที่สามารถตัดสินว่าคดีควรฟ้องร้องได้หรือไม่ 
 
หลังจากนั้นเธอจึงจัดแถลงข่าวในวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ชิโอริบอกว่า "ฉันรู้สึกว่ามันจำเป็นต้องสื่อออกมาให้คนอื่นรู้ว่าการถูกข่มขืนมันย่ำแย่แค่ไหน และสร้างบาดแผลต่อชีวิตของเหยื่อร้ายแรงเพียงใด"
 
นอกจากนี้เธอยังพูดถึงกระบวนการที่สังคมปฏิบัติต่อเหยื่อที่ถูกข่มขืนย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่รักษาเธอแบบขอไปทีด้วยการแค่ให้ยาคุมกำเนิดโดยไม่ซักประวัติและไล่ไปกินนอกโรงพยาบาล หรือแม้แต่คำรวจก็พยายามขอให้เธอเจรจายอมความเป็นส่วนตัวนอกศาล มีตำรวจสองคนขอให้เธอเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำ มีแผนการจับกุมตัวผู้ต้องหาแต่ก็มีการยกเลิกโดยอ้างว่า "มีคำสั่งเบื้องบนของหน่วยงานตำรวจ" สั่งมา
 
ปัจจุบันชิโอริมีอายุได้ 28 ปี เธอทำงานเป็นนักข่าวอิสระ กรณีการออกมาเปิดโปงเรื่องการข่มขืนของเธอถือเป็นเรื่องสั่นสะเทือนสำหรับญี่ปุ่นมากเพราะน้อยครั้งจะมีคนที่เปิดเผยตัวเองออกมาพูดเรื่องที่ตนถูกข่มขืนต่อสาธารณะและกล้าสู้หน้ากล้อง โดยที่เธอยังปกปิดนามสกุลเพราะคำขอร้องของครอบครัว
 
เมื่อไม่นานมานี้ชิโอริยังให้สัมภาษณ์ต่อเจแปนไทม์ว่าเหยื่อที่ถูกก่ออาชญากรรมทางเพศมักจะต้องซ่อนจากสังคมเพราะถูกมองว่าเป็นอะไรที่มีมลทิน เสียงของพวกเขาก็ไม่มีใครรับฟัง ทำให้เธอต้องการท้าชนด้วยการแสดงตัวตนออกมาในฐานะเหยื่อถูกกระทำทางเพศให้สังคมได้เห็นว่าเธอก็เป็นมนุษย์ที่มีหน้าตา นอกจากนี้เธอยังต้องการแสดงออกโต้ตอบความคิดที่ว่าเหยื่อถูกข่มขืนต้องดูเศร้า ดูอ่อนแอ และต้องอับอายจากสถานการณ์ เธอคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น

กำลังใจและคำด่าทอจากโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม เจแปนไทม์ รายงานว่าหลังจากที่ชิโอริแถลงข่าวในเรื่องนี้เธอก็ถูกรุมว่ากล่าวโจมตีจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เปิดเผยใบหน้าจำนวนมากที่แสดงความคิดเห็นในเชิงทำร้ายจิตใจเธอ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าเธอเป็น "โสเภณี" เป็น "พวกเรียกร้องความสนใจ" หรือเป็น "คนที่กระทำการล่อลวงเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง" รวมไปถึงมีการใช้วาจาแบบโทษเหยื่อ (victim blaming) แม้กระทั่งตอนเธอแถลงข่าวก็หาว่าเธอ "สวมชุดสั้นเกินไป" 
 
แต่ถึงแม้ว่าจะมีเสียงก่นด่า แต่เธอก็ได้รับคำแสดงความชื่นชมจำนวนมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมความกล้าหาญของเธอ หรือบ้างก็ส่งคำแสดงการให้กำลังใจเธอ
 
ชิโอริยังเคยกล่าววิจารณ์การพยายามออกกฎหมายใหม่ของรัฐสภาญี่ปุ่นที่ถูกเรียกว่า "กฎหมายต่อต้านการสมคมคิด" เธอวิจารณ์ว่าสภาล่างของญี่ปุ่นดูจะมัวแต่ยุ่งอยู่กับเรื่องนี้มากแทนที่จะเอาเวลาไปปรับปรุงกฎหมายอาญาในเรื่องอาชญากรรมทางเพศ 

สะเทือนถึงสภา

เรื่องการให้กำลังใจและการด่าชิโอริกลายเป็นการแบ่งฝ่ายทางการเมืองไปเสีย เมื่อมีผู้ต่อต้านฝ่ายซ้ายอ้างว่าชิโอริเป็นคนที่ถูก ส.ส.ฝ่ายซ้ายส่งตัวมาเล่นละครเพื่อผลักดันวาระของตนเอง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาข่มขืนคือยามางุจิกับอาเบะ ในเรื่องที่เขาเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทำให้มีคนตั้งสมมุติฐานว่านี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ยามางุจิหลุดรอดจากการถูกจับได้
 
เรื่องกรณีของชิโอริส่งผลสะเทือนไปถึงสภาของญี่ปุ่นเช่นกัน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาในการประชุมสภาล่าง โยเซย์ อิเดะ จากพรรคเดโมเครติคของญี่ปุ่นตั้งกระทู้ถามจุน มัทสึโมโตะ ประธานกรรมการความมั่นคงของประชาชนว่าการไต่สวนดีนี้โดยตำรวจช่วงก่อนหน้านี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสมใช่หรือไม่ จากกรณีที่ตัดสินไม่ทำตามหมายจับยามางุจิ ซึ่งมัทสึโมโตะตอบว่ามัน "เป็นเรื่องปกติ" สำหรับหน่วยงานตำรวจประจำจังหวัดจะสั่งการเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้ทำตามความเหมาะสม
 
สื่อเจแปนไทม์สัมภาษณ์ยามางุจิในเรื่องนี้เช่นกัน แต่เขาก็ปฏิเสธไม่ยอมพูดอย่างชัดเจนว่าเขาได้มีเพศสัมพันธ์กับชิโอริหรือไม่ โดยอ้างว่าเขา "ไม่ได้ทำอะไรที่ละเมิดกฎหมาย" และไม่แสดงความคิดเห็นเพราะต้องการเน้นกระบวนการของคณะกรรมาธิการสืบสวนพิจารณาคดีของอัยการ อย่างไรก็ตามยามางุจิก็วิพากษ์วิจารณ์สื่อในเรื่องการนำเสนอข่าวของชิโอริว่าราวกับเรื่องที่เธอถูกกระทำอาชญากรรมทางเพศเป็นเรื่องจริงไปแล้วและตัวเขาเองถูกมองว่าเป็นอาชญากร
 
ฝ่ายชิโอริเองก็แสดงความไม่ชอบใจต่อเรื่องที่มีคนข่มเหงรังแกเธอผ่านข้อความทางอินเทอร์เน็ตเช่นกัน นอกจากคำวิจารณ์แล้ว เธอยังถูกขอให้เผยนามสกุลแม้ว่าเธอต้องการจะปิดไว้เป็นเรื่องส่วนตัว ถูกบีบให้ปิดอินสตาแกรมของเธอที่โพสต์แต่ภาพที่เกี่ยวข้องกับงาน แต่ก็มีไซเบอร์สตอล์คเกอร์ หรือผู้สะกดรอยทางอินเทอร์เน็ตไปค้นหารูปส่วนตัวของเธอแล้วแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ 
 
เรื่องนี้ทำให้เธอบอกว่าเธอได้เรียนรู้ถึงความน่ากลัวของอินเทอร์เน็ต คนที่ไม่เคยรู้จักเธอมาก่อน ไม่เคยพูดคุยกับเธอแต่พยายามทำร้ายจิตใจเธอและทำร้ายรวมไปถึงครอบครัวและเพื่อนของเธอด้วย แต่นั่นก็ไม่ทำให้เธอย่อท้อต่อการสู้คดีนี้ต่อไป โดยเธอมีแผนการฟ้องร้องทางแพ่งกับยามางุจิด้วย
 
"พวกเราต้องทำลายข้อห้ามนี้ พวกเราต้องสามารถพูดถึงมันได้ ... นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวคุณ ภรรยาคุณ แฟนสาวของคุณ ลูกชายคุณ กับทุกๆ คน แม้ทั่งกับแฟนหนุ่มของคุณหรือกับตัวคุณเองด้วย ฉันแค่อยากให้คนได้คิดถึงมันด้วยตัวเอง" ชิโอริกล่าว
 
เรียบเรียงจาก
 
After rape allegation against TV journalist, Shiori hopes to shed light on victims' plight, Japan Times, 13-07-2017
 
Alleged rape victim faces mixed reactions to news conference about handling of case, The Mainichi, 12-07-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #166 กลไกทางอุดมการของรัฐผ่านโรงเรียนและครอบครัว

Posted: 16 Jul 2017 06:02 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ แนะนำงานวิชาการของหลุยส์ อัลธูแซร์ "LOUIS ALTHUSSER อุดมการและกลไกทางอุดมการของรัฐ" ที่แปลโดยกาญจนา แก้วเทพ แสดงให้เห็นกลไกการควบคุมของรัฐ ที่นอกจากการใช้กลไกด้านการปราบปรามแล้ว ยังมี "กลไกทางด้านอุดมการณ์ของรัฐ" ที่ทำงานผ่านสถาบันทางสังคมและใกล้ชิดแบบที่เราไม่รู้ตัว แถมบางครั้งยังเป็นไปอย่างเต็มอกเต็มใจ เช่น โรงเรียน และครอบครัว

ในช่วงที่สองคำ ผกา ยังแนะนำหนังสือ "จดหมายนายแพทย์ถึงลูกสาว" เขียนโดยประยูร เวชพงศ์ โดยหนังสือซึ่งเหมือนเป็นตำราครองเรือนที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2476 เล่มนี้ ยังสะท้อนเป็นอย่างดีถึงต่อเรื่องสุขอนามัยในมุมมองแบบความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งมิติด้านกลไกทางอุดมการของรัฐอีกด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560

Posted: 16 Jul 2017 04:43 AM PDT

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ "พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์" โดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 / 2484 และ 2491 โดยในมาตรา 5 กำหนดให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

16 ก.ค. 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ในช่วงท้ายของ พระราชบัญญัติได้ระบุ เหตุผลในการประกาศใช้ ดังนี้โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วยจึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยรายละเอียดทั้งหมดของ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 มีดังนี้

พระราชบัญญัติ

จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

พ.ศ. 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

(2) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ 2) พุทธศักราช 2484

(3) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2491

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ทรัพย์สินส่วนพระองค์" หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย

"ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์

มาตรา 5 ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การใดที่มีผลทำให้สิ้นสุดการเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

มาตรา 6 การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อได้มีการประกาศตามวรรคสองแล้ว ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด อันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า "ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์" หรือ "ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

มาตรา 7 ให้มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย

มาตรา 8 ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

การพ้นจากตำแหน่งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการนี้ ให้มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกิจการและการบริหารงานบุคคลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนด และเป็นผู้แทนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำไปจ่ายหรือลงทุนได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9 ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 10 ให้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามพระราชบัญ ญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 11 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความผูกพัน และพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้








ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. เตรียมจ่ายเงินเยียวยา 'อสมท.-ทีโอที' หลังยึดความถี่คืน

Posted: 16 Jul 2017 03:52 AM PDT

กสทช.เตรียมกำหนดมาตรการเรียกคืนคลื่นความถี่จาก 'อสมท.-ทีโอที' เดือน ก.ย. นี้ พร้อมจ้าง 3 บริษัทที่ปรึกษาประเมินมูลค่าคลื่น

16 ก.ค. 2560 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ คาดว่า ร่างประกาศหลักเกณฑ์จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้  ซึ่งการเรียกคืนจะดำเนินการตามลำดับความเหมาะสม สำหรับคลื่นความถี่ที่อยู่ในความสนใจ คือ คลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ตช (บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน), คลื่น 2300 เมกกะเฮิร์ตช  (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), คลื่น 700 เมกกะเฮิร์ตช (ปัจจุบันใช้บริการกระจายเสียงและแพร่ภาพทีวีดิจิตอล) และคลื่น 1500 เมกกะเฮิร์ตช (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์ในการเรียกคืนคลื่นความถี่จะพิจารณาจะความเหมาะสมโดยดูจากคลื่นที่ไม่ได้ใช้งาน หรือนำมาใช้แต่ไม่คุ้มค่า โดยหลังจากประกาศหลักเกณฑ์แล้ว จะมีการประกาศตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดค่าเยียวยา ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ประกอบด้วยตัวแทน จาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ,ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ,สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงบประมาณ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม สำหรับการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ กสทช.จะให้บริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัทมาประเมินมูลค่าคลื่นให้เหมาะสม

การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวดำเนินการตามมาตรา 27 (12/1) พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทั้งนี้คณะทำงานต้องดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นกสทช.จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำเลยฉีกบัตรประชามติ เบิกความต่อศาล ไม่เห็นด้วยกับกับการจำกัดสิทธิรณรงค์ค้าน ร่าง รธน.

Posted: 16 Jul 2017 02:50 AM PDT

ปิยรัฐ จงเทพ จำเลยคดีฉีกบัตรลงเสียงประชามติ เบิกความต่อศาล ระบุเหตุที่ฉีกบัตรเพราะต้องการแสดงออกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นมีการละเมิดสิทธิผู้ที่ค้านร่าง รธน. ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนร่าง รธน. สามารถทำกิจกรรมรณรงค์ได้

ทรงธรรมน์ แก้วพันธุ์พฤกษ์, ปิยรัฐ จงเทพ และจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ แฟ้มภาพ Banrasdr Photo

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดสืบพยานคดีฉีกบัตรประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 พยานที่มาในวันนี้เป็นตัวจำเลยในคดีทั้ง 3 คน ได้แก่ปิยรัฐ จงเทพ จำเลยที่ 1 จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 ทรงธรรมน์ แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 จากการที่อัยการได้ฟ้อง นายปิยรัฐใน 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแแนน ตามพ.ร.บ.ประชามติ, ข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่จิรวัฒน์ และทรงธรรมแก้ว ซึ่งได้ติดตามถ่ายวีดีโอขณะที่ปิยรัฐทำการฉีกบัตร ก็ได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนด้วย

ปิยรัฐเบิกความตอบคำถามทนายว่าตนรู้จักกับจำเลยอีก 2 คนก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ โดยเช้าวันเกิดวันที่ 7ส.ค.2559เหตุปิยรัฐตนตั้งใจไปใช้สิทธิของตนที่หน่วยออกเสียงประชามติที่สำนักงานเขตบางนาเพราะตนมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธ์ แต่ตนที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมีพื้นที่ทำงานอยู่ในเขตบางนาจึงต้องใช้สิทธิออกเสียงนอกเขต ปิยรัฐยังเบิกความอีกว่าวันนั้นตนได้นัดจำเลยที่ 2และ3 มาพบเพื่อคุยงานเพราะเห็นว่าหลังไปใช้สิทธิแล้วจะมีเวลาว่าง

ปิยรัฐเดินทางไปถึงที่สำนักงานเขตในเวลาประมาณ11.00น. เมื่อไปถึงตนได้พบจำเลยที่ 2 อยู่ที่ลานจอดรถจึงเข้าไปพบปะพูดคุยก่อนที่ตนจะแยกไปที่เต๊นท์อำนวยการของหน่วยออกเสียงไปดูรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหน้าสำนักงานเขต หลังจากปิยรัฐตรวจสอบชื่อแล้วจึงเดินผ่านเต๊นท์หน่วยออกเสียงที่ 1 และ2 ไปที่หน่วยที่3

เมื่อเดินไปถึงหน่วยที่ 3 แล้วเห็นจำเลยที่3กำลังตรวจสอบรายชื่อของตนที่บอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหน้าหน่วยปิยรัฐก็ทักทายกันตามปกติ ส่วนก็ตรวจรายชื่อผู้มีสิทธิที่หน้าหน่วยก่อนไปรับบัตรออกเสียงเมื่อได้รับบัตรแล้วตนจึงเดินไปที่หีบใส่บัตรออกเสียงแล้วทำการฉีกบัตรพร้อมกับพูดว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ในตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2และ3อยู่ตรงไหน แต่เห็นครั้งสุดท้ายอยู่ที่หลังบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง

หลังจากฉีกแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยก็ทำการจับกุมและถามว่ารู้หรือไม่ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ปิยรัฐบอกว่ารู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา59พ.ร.บ.ประชามติฯ เพราะอ่านมาเนื้อหาของกฎหมายฉบบนี้มาบ้างและสมชาย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กว่าการฉีกบัตรเป็นความผิด

เมื่อตำรวจทำการจับกุมแล้วได้นำเก้าอี้มาให้นั่งรอแต่ในหน่วย แต่ปิยรัฐบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอออกไปนั่งข้างนอกหน่วยเพราะกลัวว่าจะกีดขวางคนอื่น ตำรวจจึงพาปิยรัฐออกไปข้างนอกหน่วยออกเสียง หลังจาากฉีกบัตรแล้วประชาชนคนอื่นๆ ก็ยังคงไปใช้สิทธิได้ตามปกติ

เมื่อปิยรัฐนำตัวออกไปข้างนอกหน่วยแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมตัว แต่มีจำเลยที่ 2 และ3 เข้ามาถ่ายภาพตอนที่ถูกจับกุม แต่ในขณะนั้นมีแค่ปิยรัฐที่ถูกควบคุมตัวอยู่คนเดียวเท่านั้น และตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวปิยรัฐ ไปสน.บางนาและเขาเข้าใจว่าตำรวจให้จำเลยที่ 2และ3 ไปเป็นพยาน

ปิยรัฐถูกนำตัวขึ้นรถกระบะของตำรวจไปคนเดียวแล้วถูกนำไปที่สน.บางนา เพื่อพบพนักงานสอบสวน แต่ระหว่างรอเขาถูกพาไปห้องประชุมที่มีกล้องวิดีโอและพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะให้การว่าอย่างไรหรืออยากพูดอะไรก็พูดได้เลยจะมีการถ่ายทอดสดให้กับทาง คสช. ดู

จากนั้นในตอนบ่ายพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 เพียงข้อหาเดียว

ภายหลังเวลาประมาณ 18.00น.พนักงานสอบสวนก็แจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการและทำให้เสียทรัพย์เพิ่มกับปิยรัฐ และเวลา19.00น.ยังแจ้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง ตามมาตรา 60พ.ร.บ.ประชามติเพิ่มร่วมกับจำเลยที่ 2และ3อีก1ข้อหา

ปิยรัฐให้เหตุผลที่ตนฉีกบัตรว่าเพราะสถานการณ์ในช่วงก่อนวันออกเสียงประชามติมีการละเมิดสิทธิของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกว่าไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งประกาศใช้ ทั้งมีการจับกุมเข้าค่ายทหาร ดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นอยู่ฝ่ายเดียว

ปิยรัฐยังเบิกความถึงการฉีบบัตรของตนด้วยว่าเขาทราบว่าการกระทำของเขาเป็นความผิดตามมาตรา 59 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และยังเป็นกฎหมายเฉพาะ อีกทั้งสมชาย สุทธิยากร ประธาน กกต. ยังกล่าวด้วยว่าเป็นความผิดตามมาตรา 59 เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมายทั่วไปเนื่องจากไม่ได้มีเจตนา

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้านปิยรัฐเบิกความว่าตอนที่ตนกำลังเข้าไปในที่ออกเสียงตนไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2และ3อยู่ตรงไหน แต่ได้ยินจำเลยที่ 2 บอกว่าขอถ่ายภาพเพื่อนแล้วก็ได้ยินเสียงผู้ชายพูดว่าตรงนี้ถ่ายภาพไม่ได้ ส่วนตนเองก็เดินไปที่หน้าหีบใส่บัตรแล้วก็ทำการฉีกบัตร ในตอนนี้เขาเห็นเพื่อนทั้ง 2คนอยู่ที่หลังบอร์ดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ส่วนตัวปิยรัฐตอนที่ฉีกบัตรยืนอยู่หน้าหีบใส่บัตรและอยู่ข้างหน้าป้ายบอกหมายเลขของที่ออกเสียงซึ่งอยู่ นอกแนวเส้นเหลืองของที่ออกเสียง แล้วตอนที่ตำรวจเอาเก้าอี้ให้นั่งเขาก็นั่งอยู่นอกแนวเส้นเหลือง แล้วที่ตนออกไปยืนฉีกตรงนั้นก็เป็นเพราะว่าหากยืนอยู่หลังป้ายก็เป็นทางแคบจะขวางทางคนอื่น ซึ่งสมชายเคยชี้แจงทางรายการโทรทัศน์ว่าจุดที่เป็นของที่ออกเสียงคือบริเวณในที่มีเส้นเหลืองกั้นเอาไว้เท่านั้น ซึ่งหน่วยที่ตนไปมีการกั้นเส้นเหลืองเป็นรูปตัว U

ปิยรัฐเบิกความตอบอัยการถึงเหตุการณ์ช่วงที่สน.บางนาว่า ตนได้ให้การปฏิเสธโดยตลอดตั้งแต่ถูกแจ้งข้อหาแรก และในส่วนที่ตนถูกพาไปห้องประชุมและมีการถ่ายทอดสดถึง คสช.นั้นทางเจ้าหน้าที่มีการต้องกล้องวิดีโอเอาไว้ แต่เป็นการสื่อสารทางเดียวและเขาทราบจากเจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นทหารแต่อยู่ในชุดนอกเครื่องแบบว่ามีการถ่ายทอดถึง คสช.

ในส่วนของจิรวัฒน์ จำเลยที่ 2 และทรงธรรม จำเลยที่ 3 เบิกความคล้ายกันว่า พวกตนเดินทางไปที่สำนักงานเขตบางนาเนื่องจากมีการนัดพูดคุยธุรกิจกับปิยรัฐต่อในตอนบ่ายจึงนัดเจอกันที่หน่วยออกเสียงจิรวัฒน์และทรงธรรมไปถึงที่สำนักงานเขตบางนาก่อนจำเลยที่ 1

จิรวัฒน์เบิกความว่าเมื่อตนไปถึงสำนักงานเขตบางนาก็ได้เจอกับจำเลยที่ 3แล้วจำเลยที่ 3 ก็แยกไปใช้สิทธิ ตนจึงเดินไปรอจำเลยที่1 บริเวณลานจอดรถ จนจำเลยที่ 1 เดินทางมาถึงสำนักงานเขตแล้วก็ได้ทักทายกันแล้วจำเลยที่ 1ก็แยกออกไปตรวจรายชื่อของตนที่เต๊นท์อำนวยการ จากนั้นจิรวัฒน์จึงเดินไปหาทรงธรรมที่ออกเสียงที่ 3 ตรงบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิ เมื่อไปถึงจิรวัฒน์ได้ถามกับคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงว่าสามารถถ่ายภาาพตรงไหนได้บ้าง แต่ถูกบอกให้ไปถามกับตำรวจ เขาได้ถามกับตำรวจ ตำรวจชี้บอกให้ไปที่ด้านนอกเต๊นท์ซึ่งก็เป็นจุดที่เขายืนถ่ายวิดีโออยู่ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังฉีกบัตร ซึ่งเป็นด้านหลังของบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งตอนนั้นจำเลยที่ 1ก็น่าจะกำลังเดินมาที่ออกเสียยงที่ 3 แล้ววเมื่อจำเลยที่ 1 เดินมาถึงแล้วก็ทำการฉีกบัตร จากนั้นตำรวจก็เอาเก้าอี้ให้จำเลยที่ 1 นั่งสักครู่ตำรวจก็นำตัวจำเลยที่ 1 ออกไปด้านข้างอาคารสำนักงานเขต เขาจึงเดินตามไปถ่ายภาพ ก็มีตำรวจเข้ามาถามประวัติของจำเลยที่ 1 กับเขาและตำรวจรู้ว่าจิรวัฒน์ถ่ายวิดีโอไว้จึงขอเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อขอไฟล์

จิรวัฒน์เบิกความต่อว่าหลังจากที่จำเลยที่ 1 ถูกตำรวจนำตัวไปแล้ว และเขากำลังกลับไปที่รถก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาแสดงตัวว่าเป็นตำรวจถามว่าเขาากำลังจะไปที่ไหน พอจิรวัฒน์ตอบว่ากำลังจะตามจำเลยที่ 1 ไปสน.บางนา ตำรวจทั้ง 2 นาย ก็ขอติดตามขึ้นรถมาด้วยโดยตำรวจให้เหตุผลว่ารถกระบะของตำรวจเต็มแล้ว เมื่อเดินทางไปสน.บางนาแล้วตำรวจทั้ง 2 นายก็หายไปแล้ว จิรวัฒน์กับทรงธรรมก็ไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด พวกเขารอจำเลยที่ 1 อยู่จนกระทั่งถึงตอนเย็น จึงมีตำรวจเดินมาบอกว่าพวกเขาทั้ง 2 คนว่าข้างนอกมีสื่อกับคนมาเยอะแล้วจึงเชิยไปที่ห้องรับรอง ในตอนนั้นพวกเขายังเดินออกไปไหนมาไหน ไปเข้าห้องน้ำเองได้อยู่

จนกระทั่ง 2 ทุ่ม ขณะที่จิรวัฒน์กำลังจะกลับไปที่รถของตนก็มีตำรวจ2 นายเดินเข้ามาแจ้งว่าตนกับทรงธรรมถูกตั้งข้อหา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อหาอะไรและพาตัวพวกเขาไปที่ชั้น 2 ของสถานี

จิรวัฒน์เบิกความว่าที่ตนถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเนื่องจากปกติเป็นคนชอบเล่นโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว เวลามีกิจกรรมอะไรก็ถ่ายลงโซเชียลมีเดีย ในวันนั้นตนเพียงแค่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ว่าจะมาขีดฆ่าชื่อของตัวเองออกเพราะก่อนหน้านั้นในวันออกเสียงมีคนเคยทำมาแล้ว แต่ตนไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะฉีกบัตรออกเสียง

หลังจากที่จำเลยที่ 1 ฉีกบัตรแล้วก็ยังมีประชาชนมาใช้สิทธิกันปกติ

จิรวัฒน์เบิกความตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ว่าเจ้าหน้าที่ในที่ออกเสียงการผลักดันจิรวัฒน์ออกไปนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะที่ตนกำลังยืนถ่ายอยู่ไม่ได้ถูกดันออก เขาได้ขออนุญาตก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ก็บอกให้ไปถามกับตำรวจแล้วตำรวจก็บอกว่าให้เขาไปถ่ายภาพข้างนอก แล้วเขาเองก็ไม่ได้เดินตามถ่ายภาพจำเลยที่ 1ด้วย

ทรงธรรม จำเลยที่ 3เบิกความว่าตนได้ทำเรื่องขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตเอาไว้ที่สำนักงานเขตบางนา เมื่อตนเดินทางมาถึงสำนักงานเขตแล้วจึงไปที่หน่วยออกเสียงเพื่อหาชื่อของตน ตอนแรกหาชื่อตัวเองไม่เจอเพราะมีคนมาใช้สิทธิเยอะ จึงออกมาจากที่ออกเสียงไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับมาที่ออกเสียงอีกครั้งตอนเวลาประมาณ9.00น. แล้วได้พบกับจิรวัฒน์จำเลยที่ 2เมื่อได้ทักทายกันแล้วก็ได้แยกตัวไปตรวจสอบรายชื่อของตนอีกครั้ง

จนเวลาประมาณเที่ยงทรงธรรมจึงได้พบกับจำเลยที่ 1 ขณะที่อยู่ที่ออกเสียงที่ 3 นั่งอยู่ตรงม้านั่งกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 เดินมาถึงก็ทักทายกันตามปกติแล้วก็เอากระเป๋ามาฝากเอาไว้ก่อนเดินเข้าไปใช้สิทธิ ทรงธรรมก็เลยจะถ่ายภาพเอาไว้ ทรงธรรมจึงเดินจากด้านหลังบอร์ดติดรายชื่อผู้มีสิทธิไปถามเจ้าหน้าที่ว่าถ่ายภาพได้หรือไม่ ในตอนที่ถ่ายจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเขาอยู่ที่ด้านหลังบอร์ดรายชื่อ แต่ตอนนั้นเขาไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1จะทำการฉีกบัตร

ทรงธรรมเบิกความอีกว่าตอนเกิดเหตุการณ์สถานการณ์ก็ยังเป็นปกติยังมีประชาชนคนอื่นๆ มาใช้สิทธิ เมื่อจำเลยที่ 1 ฉีกบัตรเสร็จแล้วก็ไม่ได้มีตำรวจเข้ามาควบคุมตัวทรงธรรม ตำรวจได้เอาเก้าอี้ให้จำเลยที่ 1 นั่ง จากนั้นสักครู่ก็พาจำเลยที่ 1 ไปด้านหลังอาคารสำนักงานเขต ทรงธรรมจึงเดินตามไปถ่ายภาพเอาไว้ ตำรวจก็ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้เพียงแต่มีการถามข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และขอเบอร์โทรศัพท์ของทรงธรรมไป และตตำรวจได้ส่งโทรศัพท์ของตัวเองให้กับทรงธรรมเพื่อคุยกับผู้บังคับบัญชาด้วย โดยเขาถูกถามข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1

ในตอนที่จำเลยที่ 1ถูกตำรวจนำตัวไปขึ้นรถ ทรงธรรมได้ติดตามไปถ่ายภาพด้วย ในตอนนั้นเขาก็ยังไม่ได้ถูกควบคุมตัว และตำรวจก็ยังไม่ได้แจ้งข้อหาอะไรกับเขา

ทรงธรรมเบิกความต่อว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ถูกนำตัวไปแล้ว เขาก็แยกไปห้องน้ำแล้วเดินกลับมาจึงเห็นว่ามีชาย 2 คนเดินตามจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังเดินไปที่รถ เขาจึงเดินตามไปห่างๆ เพราะกังวลว่าในช่วงหลังการรัฐประหารมีคนที่ถูกอุ้มไปโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อทั้ง 2 คนขึ้นไปบนรถของจำเลยที่ 2 แล้ว เขาจึงเปิดประตูขึ้นไปบนรถด้วยโดยไม่ได้บอกจำเลยที่ 2 ก่อน ต่อมาเขาทราบในภายหลังว่าชาย 2 คน เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาหรือสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรกับพวกเขาทั้ง 2 คน

เมื่อทรงธรรมเดินทางไปถึงสน.บางนา ประมาณบ่ายโมง ก็ไปตามหาจำเลยที่ 1 เพราะได้รับการติดต่อจากทนายความว่าให้แจ้งกับจำเลยที่ 1 ว่าอย่าเพิ่งให้การใดๆ จนกว่าจะได้พบทนายความ เขาได้เดินตามหาจนขึ้นไปบนชั้น 2 ของสถานี จึงพบจำเลยที่ 1อยู่ในห้องประชุมแต่เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบกันเอาไว้ไม่ให้เข้าไปในห้อง เขาจึงพยายามดันเข้าไปเพื่อแจ้งให้จำเลยที่ 1 ว่าอย่าเพิ่งให้การใดๆ นอกจากนั้นในห้องยังมีพล.ต.ต.สมประสง ไม่ทราบนามสกุล อยู่ในห้องด้วย เขาได้พยายามจะใช้โทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายภาพไว้ทำให้นายตำรวจคนดังกล่าวโกรธ และให้ผู้ใต้บังคับบัญชามายึดโทรศัพท์ของตนไป ทรงธรรมก็รออยู่หน้าห้องเกือบ 10นาที ตำรวจได้นำโทรศัพท์มาคืน และแจ้งว่าได้ลบภาพออกไปแล้ว ทั้งนี้เขายังไม่ได้ทันได้ถ่ายภาพก็ถูกยึดโทรศัพท์ไปก่อน

เมื่อทรงธรรมได้โทรศัพท์คืนแล้วจึงเดินกลับลงมาหาจำเลยที่ 2 แล้วรออยู่จนเกือบ 2ทุ่ม จนเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ของจำเลยที่ 1จวนจะเสร็จแล้วจึงกำลังจะกลับ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเขามาขวางและแจ้งว่าพวกตนถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียงด้วยการถ่ายภาพ เขาได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ทรงธรรมตอบในช่วงอัยการโจทก์ถามค้านว่าเหตุที่เขาไปใช้สิทธิที่สำนักงานเขตบางนาเพราะเห็นว่าจะได้สะดวกในการคุยเรื่องธุรกิจกับจำเลยที่ 1และ2 และที่เดินทางไปแต่เช้าก็เพื่อการใช้สิทธิออกเสียงเสร็จแล้วไปคุยกันต่อได้ แต่ที่ไปถึงแล้วไม่ได้ใช้สิทธิทันทีเพราะว่ามีคนมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก และวันนั้นก็เลยไม่ได้ใช้สิทธิด้วยเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1ถูกจับ ก็ติดตามจำเลยที่ 1 ไปเพราะเป็นห่วง

อัยการได้นำภาพจำลองเหตุการณ์ของพนักงานสอบสวนมาถามทรงธรรมว่าที่มีการผลักดันกันขณะเกิดเหตุนี้ ายทรงธรรมได้รู้จักใครในภาพหรือไม่ ทรงธรรมตอบอัยการว่าตนไม่เคยรู้จักกับคนในภาพถ่ายจำลองเหตุการณ์มาก่อน อัยการจึงได้ถามว่าในเมื่อไม่รู้จักเหตุใดคนเหล่านี้จจะต้องมาให้การปรักปรำแก่ตน ทรงธรรมตอบว่าเพราะบุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการและตนเองก็มีการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คสช. จึงอาจจะถูกกดดันให้ต้องกระทำตามที่พนักงานสอบสวนต้องการ

ทรงธรรมเบิกความตอบต่อคำถามของอัยการที่ว่าทราบหรือไม่ว่าการร่วมกันแบ่งหน้าที่กัน มีการฉีกบัตร มีการถ่ายวิดีโอไปโพสต์นั้นเป็นความผิด ทรงธรรมตอบว่าเขามั่นใจว่าการกระทำของพวกเขาไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย

ภายหลังการสืบพยานทั้ง 3 ปาก ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 8 ส.ค. 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธีร์ อันมัย: ก่อนฝนห่าใหญ่จะกระหน่ำลงมา

Posted: 15 Jul 2017 11:21 PM PDT

7 ปีที่แล้ว เขาถูกจับกุมตามภาพถ่ายของทางการในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศใช้โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ – เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 19 พฤษภาคม 2010 เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่า เขาไปช่วยนำคนที่ถูกยิงที่หน้าศาลากลางจังหวัดขึ้นรถไปส่งที่โรงพยาบาล

24 สิงหาคม 2011 ศาลชั้นต้นอ่านคำตัดสิน ความผิดของเขาต้องจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การอันเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 33 ปี 12 เดือน ดูเหมือนว่าศาลประเทศนี้จะคำนวณอายุเฉลี่ยตลอดชีวิตคนไว้ที่ 100 ปี

ก่อนหน้าคำตัดสินของศาลชั้นต้นนั้น มีชายร่างกำยำล่ำสัน เนื้อตัวเป็นมันผู้ร่วมชะตากรรมในข้อหาเดียวกันถูกหามส่งโรงพยาบาลหลังจากปากเบี้ยว แขนขาไร้เรี่ยวแรง หมอวินิจฉัยว่า เป็นอาการเส้นโลหิตในสมองอุดตัน นอนดูอาการในห้องผู้ป่วยรวมของโรงพยาบาล 3 -4 วัน พร้อมโซ่ตรวจของกรมราชทัณฑ์ที่คล้องขาอันไร้เรี่ยวแรงทั้งสองข้างไว้กับเตียงคนไข้ – เมื่ออาการเหมือนจะดีขึ้น หมอก็วินิจฉัยให้ชายคนนั้นกลับสู่เรือนจำ ขณะที่ศาลซึ่งรับเรื่องขอประกันตัวก็อ่านคำวินิจฉัยว่า เนื่องจากอัตราโทษหนัก พิเคราะห์แล้ว ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลง เขาถูกส่งกลับเข้าเรือนจำ และไม่กี่วันต่อมาชายคนเดิมก็ถูกส่งออกมาจากเรือนจำสู่เตียงนอกห้องผู้ป่วยรวมด้วยอาการเพียบแปล้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม เขานอนโอดครวญด้วยอาการปวดหัวบนเตียงคนไข้นอกห้องผู้ป่วยรวมของโรงพยาบาลใหญ่ โดยมีโซ่ตรวนรัดข้อเท้าเขาไว้ ขณะที่แพทย์เจ้าของไข้ไปต่างประเทศ ข้างๆเตียงมีเพียงเมียของเขานั่งพัดวีเช็ดตัวให้ ก่อนที่เขาจะสิ้นสติไปในอีกหลายวันต่อมา เขาจึงถูกส่งเข้าห้อง ICU และฟื้นขึ้นมาในอีกหลายวันพร้อมดวงตาที่มองไม่เห็น แขนขาอีกซีกที่ไม่อาจขยับเขยื้อนได้ – เขากลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตนับแต่นั้น – ฝ่ายทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวพร้อมคำรับรองจากนายแพทย์คนใหม่ ในที่สุดศาลก็วินิจฉัยให้ประกันตัวชายบึกบึนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้แม้แต่การมองเห็นแสงเจิดจ้า - 25 สิงหาคม 2011 ศาลอ่านคำพิพากษาว่าเขาไม่มีความผิด ขณะที่ดวงตาของเขามืดมิด แขนขาไร้เรี่ยวแรง

14 กรกฎาคม 2017 ในตอนเช้าเขารู้สึกเวียนหัวเหมือนที่เป็นมาหลายเดือนนับแต่ทราบข่าวลูกชายคนโตล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง เขารู้ดีว่า เวลาของลูกชายเหลือน้อย แต่หัวใจของเขาก็ถูกโบยตีนับครั้งไม่ถ้วนนับแต่ถูกจองจำตามคำตัดสินของศาลยุติธรรม – แม่จากไปก่อน จากนั้นก็พ่อ และแม่ยาย และเมื่อปลายมิถุนายน ลูกชายเขาก็จากไปโดยที่เขาไม่มีสิทธิได้ร่ำลา ความอ่อนล้าเพียบหนักในใจของเขาส่งต่อไปยังมือเท้าหมดเรี่ยวแรง ในที่สุดเจ้าหน้าที่พยาบาลก็ทำเรื่องขออนุญาตส่งตัวเขาออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป – หมอวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เส้นเลือดในสมองอุดตัน เพราะอาการปากเบี้ยว แขนขาไร้เรี่ยวแรง และค่ำวันนั้นจะต้องเอ็กซ์เรย์สมองของเขา กลางคืนมีภรรยาและหลานชายมานอนเฝ้าข้างเตียงและใต้เตียงคนไข้อายุรกรรมชาย

บนเตียงคนไข้ เขานอนหลับตา ขาถูกคล้องด้วยตรวนแน่นหนาไว้กับเตียง - อะไรมันกระหน่ำซ้ำเติมผมขนาดนี้ ผมไปช่วยคนถูกยิง ผมถูกจับเข้าคุก ในคุกผมช่วยดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บไข้ได้ป่วยช่วยพยาบาล ผมล้มป่วยแขนขาหมดเรี่ยวแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผมคิดถึงลูกชาย หัวใจผมหมดแรง

ผมบอกเขาและเมียของเขาว่า ลูกเขาหมดกรรมแล้ว ไม่ทรมานด้วยอาการเจ็บป่วยจากมะเร็งแล้ว คนที่อยู่ต้องยอมปล่อยให้เขาไปและทำให้ตัวเองแข็งแรง และต้องพยายามบอกหมอด้วยว่า เคยมีกรณีแบบนี้มาแล้ว หากรีบส่งกลับเรือนจำ ชะตากรรมจะไม่ต่างจากกัน

หมอผู้เคยผ่านงานด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่ ห้าวันผ่านไปจะต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง แม้จะไม่เหมือนเดิมแต่นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ แต่โซ่ตรวนของกรมราชทัณฑ์ที่ล็อคขาเขาไว้กับเตียงคนไข้ก็เป็นปัญหาสำหรับการรักษาและฟื้นฟู ดูแล้วผิดหลักทุกอย่าง

ผมเดินลงจากตึกคนไข้ชั้น 5 ลัดเลาะตามถนนในเมืองอุบลซึ่งฟุตปาธหลายจุดหดหายด้วยนโยบายที่ไม่เห็นใจคนเดินเท้า หลายจุดถูกจับจองและปิดกั้นด้วยกระดาน กระถาง ป้ายไวนิล ข้าวของสมบัติส่วนตัวของเจ้าของอาคารบ้านช่องจนคนเดินเท้าต้องถลันตัวเองไปเผชิญกับรถในถนน

ฟ้ามืดหม่นฝนตั้งเค้า อีกยาวนานกว่าฤดูฝนจะผ่านไป คิดถึงเรื่องราวของนักโทษทางความคิดนักโทษการเมืองหลายคน ไม่ใช่เคราะห์กรรมหรือผลกรรมหรอก แต่มันเป็นความอยุติธรรมล้วนๆ

ผมเดินข้ามสะพานเสรีประชาธิปไตยที่สร้างครั้งแรกในปี 1950 และสร้างใหม่ในปี 1972 ไม่นาน ฝนห่าใหญ่ก็กระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่ง

 

อ่านเพิมเติม และร่วมบริจาคช่วยเหลือนักโทษการเมือง จ.อุบลฯ ได้ที่ Fanpage Redfam Fund

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

Posted: 15 Jul 2017 10:57 PM PDT


 

วิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ผ่านบทความ "7 เรื่องจริงของ "เด็กรัฐศาสตร์" อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!"[1]

บทความนี้มุ่งเน้นชี้ให้เห็นถึงความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางส่วน เนื่องจากในสังคมทั่วไปแล้ว ผู้คนย่อมต้องมองว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์เป็นผู้ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง (Political Awareness) ในระดับที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้เป็นพลเมือง (Active Citizen) ที่จะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงอีกด้วย แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปในแนวทางนั้นโดยทั่วไปไม่ ข้าพเจ้าจะเริ่มด้วยการอาศัยการวิพากษ์ บทความเรื่อง "7 เรื่องจริงของ "เด็กรัฐศาสตร์" อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!" มาประกอบกับทรรศนะของผู้เขียนซึ่งมีต่อการศึกษาและประสบการณ์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยอาศัยการวิพากษ์อธิบาย ตั้งข้อสังเกต และข้อเสนอแนะความคิดเห็นผ่านมุมมองทางการเมือง ซึ่งจะขอกล่าวเริ่มด้วยทางเนื้อหา 7 ข้อ ซึ่งทางผู้เขียนขอคัดเลือกมา 4 ข้อ จากบทความดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

พินิจ ตั้งข้อสังเกต และความคิดเห็นต่อความน่าฉงน 4 ข้อ ที่มีการเขียนว่าเป็น "เรื่องจริง" ของเด็กคณะรัฐศาสตร์


1.บางคนที่เรียนก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง

ข้าพเจ้าคิดว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์บางคนที่ข้าพเจ้ารู้จักนั้นแลดูขาดความสนใจทางการเมืองอย่างยิ่งยวด แต่ข้าพเจ้าก็ขอตั้งข้อสังเกต โดยมองว่า การศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับนักรัฐศาสตร์ หากผู้เรียนรัฐศาสตร์ไม่ได้สนใจการเมืองเลย ก็อาจเกิดข้อกังขาถึงคุณภาพการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ผู้นั้น ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ระบบการเมืองแบบรัฐศาสตร์ ผ่านการศึกษาแนวทางหลายมุมมอง[2] โดยยกตัวอย่าง เช่น มุมมองการศึกษาแบบปรัชญาการเมือง เป็นมุมมองที่มุ่งเน้นการถามคำถามต่อมนุษย์โดยตรง การปกครองที่ดีเป็นอย่างไร คนเราจะมีเสรีภาพอย่างไรภายใต้การปกครอง อะไรคือสิ่งที่เป็นอยู่ (What is?) และอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น (What ought?) ซึ่งเป็นมุมมองในเชิงอุดมคติ มุมมองวิเคราะห์สถาบันการเมืองการปกครอง เป็นมุมมองที่อธิบายรูปแบบการปกครองของรัฐ บทบาทขององค์กรต่างๆของรัฐ ที่มาของอำนาจรัฐและการแบ่งแยกอำนาจรัฐอีกด้วย หรือมุมมองวิเคราะห์การเมืองเรื่องอำนาจ เป็นมุมมองที่ชี้ให้เห็นถึงการพยายามไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอำนาจ เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ ผู้ที่มีอำนาจย่อมสามารถตัดสินใจและบังคับให้ผลเป็นไปตามความต้องการของตนได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีอำนาจ ดังคำกล่าวที่ว่า "ถ้าหากว่าความมั่งคั่งเป็นหัวใจของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจฉันใด อำนาจก็เป็นหัวใจของปรากฏการณ์ทางการเมืองฉันนั้น" เป็นต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความสนใจทางการเมืองเป็นสิ่งที่สมควรมีอย่างยิ่งยวดสำหรับนักรัฐศาสตร์


2. เราไม่ได้หัวรุนแรงขนาดนั้น

ข้าพเจ้ามิได้มีความคิดเห็นขัดแย้งว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือร่วมเดินขบวนทางการเมือง (หรือแม้แต่การทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆนอกเหนือจากในบทความดังกล่าว) เป็นสิทธิการแสดงออกพื้นฐานทางการเมือง ตามวิถีการเมืองระบบประชาธิปไตย แต่เรื่องความ "หัวรุนแรง" นั้น ข้าพเจ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่พวก "หัวรุนแรง" เพราะเป็นการแสดงออกของผู้ที่มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมของสังคม (Social Injustice) ในฐานะที่เขาเป็นวิญญูชนที่เป็นพลเมืองผู้รู้ผิดชอบชั่วดีก็ย่อมต้อง "อินมาก" และต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) ในการออกมาชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องในสังคม และร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของสังคมดังกล่าว การจะเรียกผู้ที่ใช้สิทธิการแสดงออกพื้นฐานทางการเมือง ตามวิถีการเมืองระบบประชาธิปไตย ด้วยจิตวิญญาณวิญญูชน ว่าเป็นพวก "หัวรุนแรง" ก็คงเป็นอะไรที่กล่าวอ้างเกินจริงไปเสียบ้าง


3. คนส่วนมากมีแนวคิดของตัวเอง

ข้าพเจ้าก็เห็นว่าระบบการศึกษาภายในคณะรัฐศาสตร์ทำให้คนส่วนมากสามารถมีแนวคิดเป็นของตัวเองได้ แต่การแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่าจะกล้ากระทำหรือไม่ หรือกระทำออกมาอย่างถูกต้องเพียงใด ข้าพเจ้าเคยประสบกับเหตุการณ์ที่มีนิสิตจำนวนหนึ่งนิยมแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) ตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ (เพื่อความชัดเจนมากขึ้น คือ คนส่วนมากนี้นิยมแนวคิดของระบบคอมมิวนิสต์) มีการแสดงตนว่าต่อต้านระบบทุนนิยมและระบบชนชั้นที่สร้างโดยพวกนายทุน แต่ตนเองกลับไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงออกต่อต้านนายทุนในสังคมที่กำลังกระทำการไม่ชอบธรรมอย่างเปิดเผย ออกแนวเป็นชาวมาร์กซิสต์ตามกระแสเสียมากกว่า เมื่อมีการเรียนในระดับชั้นปีที่สูงขึ้น ข้าพเจ้าก็พบว่าคนที่เคยบอกข้าพเจ้าว่าเป็นชาวมาร์กซิสต์บางคนนั้นก็กลายเป็นชาวเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) ซึ่งก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าสนับสนุนระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ทำให้ข้าพเจ้าก็ยังกังขาว่าการศึกษาคณะนี้สอนให้เรามีแนวคิดเป็นของตนเอง หรือสอนให้เรามีแนวคิดตามที่อาจารย์สอนครั้งล่าสุด?


4. จบแล้วก็ทำงานได้หลากหลาย

ข้าพเจ้ายอมรับว่านิสิตผู้ที่เรียนจบคณะรัฐศาสตร์สามารถทำงานได้หลากหลายสายงานจริงตามที่บทความดังกล่าวได้เขียนไว้ แต่เกิดความฉงนและอยากให้ตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งที่ควรเป็น (What ought to be?) เพิ่มเติม โดยขอยกตัวอย่างในส่วนของ "อาชีพที่ตรงกับความชอบของตัวเอง" จากบทความดังกล่าวผู้เขียนบทความนั้นได้ยกตัวอย่างเพื่อนที่ประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น ล่ามในโรงพยาบาล หรือผู้ช่วยนักวิจัย เป็นต้นนั้น ก็อาจต้องมาลองพิจารณากันอีกทีว่าจำเป็นต้องเรียนคณะรัฐศาสตร์หรือไม่? หากเรียนในคณะอื่นจะมีองค์ความรู้ที่ตรงสายงานนั้นมากกว่าหรือไม่? ประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างผู้ที่จบคณะรัฐศาสตร์และผู้ที่จบในคณะอื่นๆนั้นจะเป็นอย่างไรหากเทียบกันในการประกอบอาชีพประเภทเดียวกันนั้น? ผู้ที่ตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้สมควรจะมาเรียนเพื่อศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และสามารถนำองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ไปใช้ในการทำงานหรือไม่? เขาตัดสินใจมาเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ได้อย่างถูกต้องแน่แล้วหรือ? ก็เป็นประเด็นที่ข้าพเจ้ามองว่าอาจแสดงถึงความไม่ประสาในการตัดสินใจเรียนของผู้เรียนรัฐศาสตร์พอสมควร โดยผู้เรียนรัฐศาสตร์อาจมิได้ตั้งใจที่จะเข้ามาศึกษาในคณะรัฐศาสตร์นี้เสียแต่แรกก็เป็นได้ ทั้งนี้เมื่อเขาไม่มีความต้องการในการประกอบอาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์แล้ว ก็อาจจะควรเลือกเรียนคณะที่องค์ความรู้ตรงสายงานและอาจไม่คาดหวังให้มีความตื่นตัวทางการเมืองระดับที่สูงเหมือนคณะรัฐศาสตร์

จากประเด็นทั้ง 4 ข้อ ที่ยกอ้างอิงจากบทความดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้ามองว่าเป็นการสร้างค่านิยมที่เฉื่อยชาทางการเมืองให้เกิดแก่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นนิสิตที่ควรจะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากกว่านิสิตคณะอื่นๆเป็นพิเศษ โดยข้าพเจ้าจะขอวิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองดั่งที่วิเคราะห์ได้จากเนื้อหา 4 ข้อ ของบทความข้างต้น ผ่านการวิเคราะห์นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางส่วน ดังต่อไปนี้


วิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรามักมีความคาดหวังว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์พึงต้องมีความตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูง แต่การณ์โดยทั่วไปก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราจะพบว่ามีวิชาเรียนและกิจกรรมของชมรมต่างๆที่สามารถส่งเสริมให้นิสิตสามารถมีความตื่นตัวทางการเมือง และกลายเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวสูงทางการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การเรียนและกิจกรรมคณะที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากนิสิตบางส่วน อันอาจมีแนวคิดที่มาในลักษณะเดียวกับกับบทความดังกล่าว ทำให้ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องสนใจการเมือง อาจมองว่าการมาเรียนเป็นเพียงการเก็บวิชาเรียนและหน่วยกิตให้ครบเพื่อให้เรียนจบและนำใบปริญญาไปสมัครงานประกอบอาชีพ แม้จะมีการเรียนในเรื่องที่ส่งเสริมความเป็นพลเมือง เช่น เรื่องความตระหนักในความเท่าเทียมในเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเรื่องที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนมีความเข้าใจกันสูงอยู่แล้ว แต่พวกเขากลับเรียนไปในลักษณะ "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม" ไม่มีการนำองค์ความรู้ที่เรียนไปทดสอบว่า "ปฏิบัติได้จริง (practical)" หรือไม่? โดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนอาจละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งในหลักของสิ่งที่เรียนมา และไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติดังกล่าว ทั้งๆที่ตนเองก็อาจเห็นความไม่ชอบธรรมในสังคมที่เกี่ยวกับปัญหานั้นๆเกิดขึ้น อาจไม่แม้แต่จะให้ความสนใจด้วยซ้ำ แม้ว่าคณะรัฐศาสตร์จะเป็นคณะที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) สูง แต่อาจเป็นเพราะปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา[3] อันมีผลมาจากวัฒนธรรมทางสังคมและค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมที่สืบทอดมาเป็นเวลานาน มักมีลักษณะที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการเมืองที่มาจากเผด็จการ ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย "ล้มลุกคลุกคลาน" ซึ่งอาจส่งผลให้นิสิตจำนวนมากนั้นยังมีความคุ้นชินอยู่กับวัฒนธรรมแบบเผด็จการ ทำให้ไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความตื่นตัวทางการเมือง แม้ว่าตนเองจะมีความรู้และเข้าใจถึงความไม่ชอบธรรมนั้นๆก็ตาม มองว่าตนมีความคุ้นชินและไม่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมในสังคม ใยตนจึงจะต้องไปสนใจสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันไม่กระทบกับตน จึงดำรงตนเป็นเพียงแต่ผู้สังเกตการณ์ (Observer) ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย[4]  ซึ่งประพันธ์โดย Martin Niemöller ผู้ต่อต้านนาซียุคเรืองอำนาจ โดยประพันธ์ว่า

"ครั้งแรก "เขา" มาจับพวกคาทอลิก
แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์, ฉันจึงเฉยเสีย
ต่อมา "เขา" มาจับคอมมิวนิสต์
แต่ฉันไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์, ฉันจึงไม่ได้ทำอะไร
ต่อมา "เขา" มาจับพวกสหภาพแรงงาน
แต่ฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น, ฉันจึงยังนิ่งอยู่
จากนั้น "เขา" มาจับคนยิว
แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว, ฉันจึงยังนิ่งเฉยดังเดิม
และเมื่อถึงเวลาที่ "เขา" มาจับฉัน
ก็ไม่เหลือใครสักคนที่คิดจะพูดหรือทำอะไร"

"They first came for the Catholics,
but I was a Protestant, so did nothing.
Then they came for the Communists,
but I wasn't a communist, so I did nothing.
Then they came for the trade unionists,
but I wasn't a trade unionist, so I did nothing.
Then they came for the Jews,
but I wasn't a Jew, so I did nothing.
By the time they came for me,
there was nobody to speak up."

และข้าพเจ้าก็สนใจที่จะยกคำพูดตัวละคร Steve Trevor จากภาพยนตร์ เรื่อง Wonder Woman [5] ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เนื้อเรื่องดำเนินไปในขณะที่โลกกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

"My father told me once, he said,
"If you see something wrong happening in the world,
you can either do nothing, or you can do something".
And I already tried nothing."

(ข้อความแปลเป็นภาษาไทยโดยข้าพเจ้าเอง)
"พ่อของผมเคยบอกกับผมครั้งหนึ่ง เขากล่าวว่า
ถ้าลูกเห็นสิ่งผิดปกติกำลังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้
ลูกสามารถเลือกได้ว่าจะไม่ทำอะไรเลย หรือลูกจะเลือกอะไรบางอย่าง
และผมก็เคยตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไรไปแล้ว"


บทสรุป

ในทรรศนะของข้าพเจ้านั้น สังคมไทยกำลังคาดหวังกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ในการร่วมแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนกลับเลือกเพิกเฉย หรือเลือกที่จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น โดยอาจลืมคำนึงไปว่าที่ความไม่ชอบธรรมในสังคมยังดำรงอยู่ได้ ก็เพราะว่าผู้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีที่มาจากการที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนมีความเฉื่อยชาทางการเมืองดั่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งข้าพเจ้าก็คาดหวังว่าสิ่งที่บทความนี้ได้นำเสนอผ่านการติชมโดยสุจริต จะก่อให้เกิดการพัฒนาด้านความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม และเพื่อพัฒนาประเทศชาติของพวกเราในฐานะนักรัฐศาสตร์ต่อไปในอนาคต

 


เชิงอรรถ

[1] อ้างอิงจากบทความ "7 เรื่องจริงของ "เด็กรัฐศาสตร์" อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!" - https://www.dek-d.com/admission/44906/

[2] อ้างอิงแนวคิดการวิเคราะห์การเมืองแนวต่างๆ - หนังสือ ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น (2556) พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., หน้า 1-12

[3] อ้างอิงแนวคิดจากบทความ "วัฒนธรรมทางการเมืองและการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย" เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิณ ในประเด็นวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratic political culture) และปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา – หนังสือ ครูการเมือง ความคิด ชีวิต และผลงาน ของศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิณ (2560) ประจักษ์ ก้องกีรติ วรรณภา ติระสังขะ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว กองบรรณาธิการ, หน้า 91-113

[4] อ้างอิงจากเว็บไซต์ที่กล่าวถึงบทประพันธ์ของ Martin Niemöller อันมีที่มาจากบทความ "First they came for the Socialists…" - http://moui.net/blog/2011/12/first-they-came-for-the-socialists/

[5] อ้างอิงจากคำพูดตัวละคร Steve Trevor ในภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman - http://www.imdb.com/title/tt0451279/quotes

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใช้ ม.44 คุมผู้ต้องหาฆ่ายกครัว 8 ศพในค่ายทหาร

Posted: 15 Jul 2017 10:04 PM PDT

16 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาฆ่านายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ และคนในครอบครัว รวม 8 ศพ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยของกองทัพภาคที่ 4 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการเข้าตรวจค้น และจะควบคุมตัวไว้ 7 วัน ที่กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน.1) อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เนื่องจากเป็นค่ายทหารเพียงหน่วยเดียวที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุด โดยตำรวจและทหารได้บูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนและ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหัวหน้าทีมสืบสวน ได้ต่อสายพูดคุยกันเป็นระยะ แต่ในรายละเอียดของคดี ต้องให้ตำรวจเป็นผู้ให้ข้อมูล พร้อมยืนยันว่าไม่มีทหารพัวพันในคดีนี้ ล่าสุดผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ที่ควบคุมตัวไว้ รับสารภาพแล้วว่า ร่วมกันสังหารนายวรยุทธและครอบครัว อย่างไรก็ตาม คดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีความมั่นคง ทางทหารจะส่งมอบตัวผู้ต้องหา พร้อมของกลางทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ใน ร.15 พัน.1 ทันทีที่ได้รับการประสานจากตำรวจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.หนุนพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขัง พบ 4.3 หมื่นคน ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก

Posted: 15 Jul 2017 09:35 PM PDT

สปสช. หนุน สธ. ยธ. ร่วมพัฒนา "ระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขัง" ช่วยผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่จำเป็นอย่างเหมาะสม จากผู้ต้องขัง 2.8 แสนคน พบ 4.3 หมื่นคน ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก รวมคนไทยและต่างชาติ ขณะที่ผู้ต้องขังร้อยละ 80 ถือสิทธิบัตรทอง เร่งปรับปรุงฐานข้อมูลผู้ต้องขังเพื่อพัฒนาระบบ

16 ก.ค. 2560 นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าจะส่งผลให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังมีประชากรกลุ่มเปราะบางที่ยังคงมีปัญหาการเข้าถึง ซึ่ง "ผู้ต้องขังในเรือนจำ" เป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบางนี้ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย นอกจากข้อจำกัดการบริการจากความจำเป็นในควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานที่รองรับกรณีที่การส่งตัวผู้ต้องขังเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีอุปสรรคทั้งในด้านสิทธิการรักษา ซึ่งผู้ต้องขังมีทั้งที่เป็นคนไทยมีเลข 13 หลัก ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ และคนต่างด้าว/คนต่างชาติ งบประมาณในการดูแลค่าใช้จ่าย รวมถึงการบูรณาการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานกลางและหน่วยบริการในพื้นที่

 
ขณะเดียวกันจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม คำนึงถึงสิทธิด้านมนุษยธรรมของผู้ต้องขัง นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ภาคีภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ สปสช.เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน และสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความคืบหน้าการจัดการข้อจำกัดและความร่วมมือหลายประการ เช่น การจัดการฐานข้อมูลผู้ต้องขัง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ร่วมกันในระดับจังหวัด การออกแบบกลไกการทำงานร่วมกัน การกำกับติดตามในระดับเขตเพื่อให้ทำงานเชื่อมต่อกับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ต้องขัง ณ เดือนมีนาคม 2560 มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 287,821 คนในเรือนจำทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังที่มีเลข 13 หลัก 244,745 คน คิดเป็นร้อยละ 85 ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก 43,076 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 29,360 คน และคนต่างชาติ 13,716 คน และเมื่อดูสิทธิการรักษาพยาบาล จากข้อมูล ณ ฐานทะเบียน ณ เดือนธันวาคม 2559 พบว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่าร้อยละ 80 รองลงมาเป็นสิทธิประกันสังคมร้อยละ 2.03 นอกนั้นเป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ อาทิ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลใดๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนสิทธิการรักษาผู้ต้องขังเพื่อให้มีความถูกต้องเพิ่มขึ้นเพื่อจัดระบบดูแล  
 
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี 2560-2564 ได้เน้นความครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยให้ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการพัฒนาจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง โดยมีการจัดบริการและชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่งานอนามัยแม่และเด็กสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนจองจำ บริการวัคซีนที่จำเป็น การคัดกรอง เฝ้าระวัง ค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาพ อาทิ วัณโรค เอดส์ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในผู้ต้องขังสูงอายุ รวมถึงจิตเวช เป็นต้น  
 
"สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากความร่วมมือในระดับประเทศที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อพัฒนารูปแบบการบริการเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา ที่ได้ร่วมกับ รพ.เดอะโกลเดนเกท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งได้มีการจัดพื้นที่ใน รพ.เพื่อรองรับผู้ป่วยในที่เป็นผู้ต้องขังเฉพาะ ซึ่งช่วยลดการตีตราผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง การจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในเรือนจำ จนเป็นรูปแบบการจัดระบบบริการรสุขภาพผู้ต้องขังอย่างเป็นรูปธรรม" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: ‘ส่องไฟในที่มืด’ มีอะไรในมหาสมุทร Dark Web

Posted: 15 Jul 2017 09:21 PM PDT

<--break- />เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบ บรรจุไว้ด้วยข้อมูลขนาดใหญ่เจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร เอกสารต่างๆ  โซเชียลมีเดีย มัลติมีเดีย หนังสือ เอกสาร ธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงบริการมากมายที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตจึงเป็นโลกอีกใบหนึ่งซึ่งมีดินแดนหรือเว็บไซต์อยู่มากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน แต่ในความเป็นจริงนั้น เว็บไซต์ที่เราใช้งานหรือพบเห็นอยู่ทุกวัน ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของอินเทอร์เน็ตทั้งมวล หรือเป็นแค่พื้นผิวมหาสมุทรที่เรามองเห็นเท่านั้นเอง

ทำความรู้จักมหาสมุทรอินเตอร์เน็ต

ภาพจำลองประเภทของเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต (ภาพจาก deepwebtech.com)

เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ หนึ่งคือ Surface Web หรือเว็บพื้นผิว ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ถูกจัดเข้าไปอยู่ในระบบดัชนีของการค้นหา กล่าวคือเว็บไซต์เหล่านี้สามารถถูกค้นหาได้จากเครื่องมือค้นหา (Search Engine) เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น 

ส่วนประเภทที่สองคือ Deep Web หรือเว็บส่วนลึก ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ไม่สามารถถูกค้นพบได้จากเครื่องมือค้นหามาตรฐานทั่วไป ส่วนมากจะเป็นเว็บไซต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เว็บไซต์ที่เป็นฐานข้อมูลชั้นความลับ เว็บไซต์ส่วนตัว หรือเว็บไซต์ที่เป็นคลังเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ของหน่วยราชการ รัฐบาล หรือธุรกิจระดับชาติหรือข้ามชาติ การจะเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นจำเป็นต้องมีที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL) จึงจะเข้าถึงได้  

การแบ่งประเภทของเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถเปรียบเทียบได้ว่าอินเทอร์เน็ตที่เราเห็นหรือใช้อยู่ทุกวัน ก็เหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ที่มีเพียงส่วนยอดโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา แต่ส่วนที่อยู่ลึกลงไปไม่สามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ ซึ่งมีจำนวนมหาศาลโดยประมาณกันว่ามีอยู่ถึง 96 % ของมวลมหาสมุทร

นอกจากนี้ ภายใต้มหาสมุทรนี้ก็ยังมีส่วนลึกของก้นบึ้งอีก ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปนั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป เว็บไซต์เหล่านี้ถูกเรียกว่า Dark Web หรือเว็บมืด ซึ่งหมายถึงบรรดาเว็บไซต์ที่ต้องใช้วิธีหรือเครื่องมือพิเศษในการเข้าถึง สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเว็บมืดก็คือ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเว็บส่วนลึก (Deep Web) แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของเว็บส่วนลึก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) สิ่งที่อยู่ในเว็บมืดนั้นมีความหลากหลายมาก แต่ภาพลักษณ์ของมันคือพื้นที่ที่เอาไว้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย

มีอะไรใน Dark Web

การที่ใครสักคนจะทำธุรกรรมหรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานต้องปกปิดตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้บริการก็ตาม เนื่องจากบริการในเว็บไซต์ทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงสูง เพราะว่ามีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ รวมทั้งสามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นคือใคร และสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้งของพวกเขาได้โดยง่าย แต่เว็บมืดไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าลักษณะโครงสร้างของเว็บมืดคือการปกปิดตัวตนของผู้ใช้อย่างแน่นหนา ผ่านเครือข่ายพิเศษที่ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานไม่สามารถถูกสอดส่องได้เลย ตัวตนจริงของพวกเขาจะไม่สามารถถูกรับรู้ได้โดยง่าย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสภาวะไร้ตัวตนบนอินเทอร์เน็ต

โดยปกติการเข้าถึงเว็บมืดนั้นสามารถทำได้โดยการใช้โปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ตที่มีชื่อว่า TOR Browser เพราะเว็บมืดนั้นซ่อนตัวอยู่บนเครือข่ายส่วนตัวที่ชื่อ TOR หรือ The Onion Router ซึ่งลักษณะทั่วไปของเว็บมืดที่อยู่บนเครือข่าย TOR คือจะมีชื่อโดเมนเป็น .onion หลักการทำงานอย่างง่ายของ TOR คือการสร้างเครือข่ายพิเศษขึ้นมาโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ของอาสาสมัครจำนวนมากทั่วโลก ส่งต่อข้อมูลไปมา หลายครั้ง ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เราเชื่อมต่ออยู่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมอะไร และตัว เว็บไซต์ที่เรากำลังเข้าชมก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรากำลังเข้าชมจากที่ไหน ทำให้ทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถติดตามได้ว่าเราทำอะไรบ้างในเว็บมืดเหล่านี้

บริการบนเว็บมืดนั้นมีหลากหลาย ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งการเกิดขึ้นของสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์ (Bit Coin) (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบิตคอยน์ได้ที่นี่) ทำให้การทำธุรกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ในเว็บมืดมีการเกิดขึ้นของบริการ และตลาดมืดต่าง ๆอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก รายงานพิเศษนี้จึงอยากชี้ให้เห็นว่ามีบริการอะไรอยู่ในเว็บมืดบ้าง มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และอันตรายในการใช้บริการเหล่านั้น

ตลาดยาเสพติด และสารเคมีผิดกฎหมาย (Drug Markets) ตลาดแลกเปลี่ยนยาเสพติดบนเว็บมืดนั้นมีขนาดใหญ่มาก จากการสำรวจรวบรวมของเว็บไซต์ Dark Web News นั้นพบว่ามีตลาดยาเสพติดบนเว็บมืดอย่างน้อย 43 เว็บ (บางส่วนปิดตัวไปแล้ว) โดยเว็บไซต์จำนวนหนึ่งมีชื่อเสียงในที่สาธารณะ และมีเงินหมุนเวียนมหาศาล ลักษณะของเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากเว็บ e-commerce อย่างอีเบย์ หรืออเมซอนเลย เพียงแต่สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นยาเสพติด สารเคมี บางเว็บมีบริการจัดส่งทั่วโลกอีกด้วย

ตลาดยาเสพติดบนเว็บมืดนั้นมีลักษณะของตลาดเสรีเต็มขั้น กล่าวคือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างตัวบุคคลโดยตรง บางเว็บอาจจะเปิดในลักษณะของร้านค้าที่มีผู้ขายเป็นเจ้าของเว็บไซต์ บางเว็บก็เป็นเพียงตัวกลางในการสร้างพื้นที่ตลาดให้ผู้อื่นเข้ามาใช้บริการซื้อขาย อีกทั้งยังมีการคัดกรองผู้ใช้ด้วยการใช้ระบบ "เชิญชวน" (invitation) สำหรับคนที่ต้องการเข้ามาใช้บริการ

สินค้าที่ขายในเว็บไซต์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเมทแอมเฟตามีน, แอมเฟตามีน, โคเคน, เฮโรอีน, กัญชา, เคตามีน, แอลเอสดี รวมทั้งสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาท ความน่าสนใจอยู่ที่บางเว็บนั้นผู้ขายอ้างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเภสัชกรรมและสารเคมีโดยตรง แต่จะจริงหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากการสังเกตเพียงอย่างเดียว การแลกเปลี่ยนในเว็บลักษณะนี้จึงต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการหลอกลวง

หนึ่งในเว็บไซต์ตลาดยาเสพติดที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก คือกรณีที่ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Silk Road ถูกจับดำเนินคดีได้ในปี 2013 หนึ่งในข้อหาที่เขาได้รับก็คือมีส่วนร่วมในการฆาตกรรมหนึ่งในทีมงานเว็บไซต์ แสดงให้เห็นว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยนัก

เว็บ Silk Road ก่อตั้งโดยชายชาวนิวยอร์คที่ชื่อว่า Ross Ulbricht  ในปี 2011 และถูกปิดนับตั้งแต่ที่ Ulbricht โดนจับดำเนินคดีในปี 2013 โดย Silk Road 2.0 กลับมาให้บริการอีกในปี 2014 และถูกปิดอีก ส่วนปัจจุบันเป็น Silk Road 3.0 ที่ยังให้บริการตามปกติ นอกจากยาเสพติดแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนของผิดกฎหมายชนิดอื่นด้วย

 

ภาพจากเว็บไซต์ Silk Road 3.0 สังเกตได้ว่าใช้บิตคอยน์ในการแลกเปลี่ยน

บริการซื้อขายหนังสือเดินทาง, วีซ่าและปลอมแปลงตัวตน (Fake ID and Citizenship) บริการนี้มีค่อนข้างมากในเว็บมืด เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถซื้อพาสปอร์ตของประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงสิทธิพลเมือง (ส่วนใหญ่จะเป็นสหรัฐอเมริกา) โดยเว็บเหล่านี้จะโฆษณาว่าสามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมได้จริง แต่ความน่าเชื่อถือจากเว็บเหล่านี้ก็ยังค่อนข้างต่ำและสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเสียเงินโดยไม่ได้อะไรกลับมา เพราะตรวจสอบได้ยากหากไม่ลองซื้อมาจริง ๆ

 

ภาพจากเว็บไซต์ Fake ID ซึ่งบริการขายพาสปอร์ตปลอมจากหลายประเทศ ในราคาที่ต่างกันไป

บริการฟอกเงินและบิตคอยน์ (Money Laundry Services) บริการฟอกเงินเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้บริการนำเงินที่ผิดกฎหมายไปเปลี่ยนเป็นเงินสะอาดได้ โดยเฉพาะสกุลเงินบิตคอยน์ โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนตัวเงินกัน ซึ่งจะทำให้การสืบย้อนไปยังบัญชีของเงินเหล่านี้ทำได้ยากมาก จากที่ยากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ภาพจาก Easy Coin เว็บบริการฟอกเงินและแลกเปลี่ยนบิตคอยน์

บริการลอบสังหาร, ฆาตกรรมและทำร้ายร่างกาย (Hit man and Assassination) บริการนี้เป็นการรับจ้างลอบสังหาร หรือทำร้ายร่างกายเป้าหมายที่ผู้ใช้บริการกำหนด โดยค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล และวิธีการ เช่น ลอบสังหารนักการเมืองราคาก็จะสูงกว่าคนธรรมดา หรือทำร้ายร่างกายก็จะราคาต่ำกว่า ตามแต่ความยากง่ายของภารกิจ

บริการนี้มีอยู่ทั่วไปในเว็บมืด แต่ความคิดเห็นจากนักท่องเว็บมืดล้วนลงความเห็นกันว่าเป็นเรื่องหลอกหลวง กล่าวคือพอจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดการลอบสังหารจริง ตัวอย่างที่โด่งดังคือกรณีการฉ้อโกงของเว็บ Besa Mafia ที่ออกมาคุกคามนักกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเขาได้พยายามเปิดโปงการหลอกลวงของเว็บไซต์นี้ สุดท้ายแล้วเว็บไซต์ของ Besa Mafia ก็ถูกแฮ็คเกอร์นิรนามเข้าไปเจาะระบบ จนต้องปิดบริการไปในที่สุด

หน้าเว็บไซต์ของ Besa Mafia หลังจากมีคนอ้างว่าสามารถเจาะระบบเข้าไปได้ ข้อความที่แสดงอยู่บอกไว้ว่าบริการของเว็บนี้เป็นเรื่องหลอกลวง และทำเงินไปได้ราว 100 บิทคอยน์

บริการซื้อขายบัญชีธนาคาร และบัตรเครดิต (Stolen Account and Credits) เป็นอีกหนึ่งบริการที่ค่อนข้างแพร่หลายในเว็บมืด มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ และยังเป็นบริการที่สามารถพบเห็นได้บนเว็บไซต์ทั่วไปด้วย บัญชีที่มักจะนำมาขายก็คือบัญชีจาก Pay pal หรือธนาคารออนไลน์อื่นๆ  รวมทั้งตัวบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมา แต่ข้อแตกต่างระหว่างเว็บไซต์เหล่านี้ที่อยู่ในเว็บมืดกับเว็บไซต์ทั่วไป ก็คือเว็บมืดจะมีความเป็นมืออาชีพสูงกว่า

หน้าเว็บไซต์ Clone Card Crew ที่เสนอขายบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมา

ตลาดอาวุธ (Weapon Markets) อาวุธเป็นอีกรายการที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างผิดกฎหมายในเว็บมืด เนื่องจากในโลกจริงนั้นการครอบครองอาวุธนั้นมีความยุ่งยาก และต้องดำเนินการทางกฎหมายหลายขั้นตอน รวมถึงมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมายที่ผู้ครอบครองต้องมี การซื้ออาวุธเถื่อนจึงเป็นอีกทางเลือกที่คนมักจะใช้เมื่อต้องการอาวุธมาไว้ในครอบครอง การซื้อขายอาวุธในเว็บมืดนั้นมีความหลากหลายของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นปืนชนิดต่างๆ กระสุน และอุปกรณ์เสริม

หน้าเว็บไซต์ Guns Dark Market ที่เสนอขายอาวุธและอุปกรณ์เสริม

อีเมล์ลวง (Phishing e-Mail) อีเมล์ลวง หรือฟิชชิ่ง เป็นระบบการหลอกลวงประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมากในหมู่แฮ็คเกอร์ที่ประสงค์ร้าย ลักษณะการทำงานของฟิชชิ่งคือการส่งอีเมล์ที่ปลอมเป็นหน่วยงานต่าง ๆ (ส่วนมากคือธนาคาร) โดยทำการล่อหลอกให้ผู้รับเมล์คลิกเข้าหน้าเว็บที่มีการปลอมแปลงขึ้นมาจนเหมือนกับเว็บของหน่วยงานนั้นจริง ๆ และเมื่อผู้ที่โดนหลอกหลงเชื่อ กรอกข้อมูลลงไป ข้อมูลของพวกเขาก็จะถูกขโมยไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่า ฟิชชิ่งเกิดขึ้นเป็นปกติบนเว็บไซต์ทั่วไป แต่ในเว็บมืดทำให้การหลอกลวงนั้นเป็นไปได้ง่ายกว่า จึงเป็นภัยที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง

การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) การค้ามนุษย์ในเว็บมืดนั้นมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกลวง เว็บที่เสนอขายสินค้าที่เป็นมนุษย์นั้นมีอยู่จริงในเว็บมืด แต่การพิสูจน์เรื่องดังกล่าวก็ทำได้ยาก เพราะว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ถ้าไม่ลองใช้บริการเสียก่อน จากความพยายามสำรวจของผู้ใช้เว็บมืดนั้น พบว่า เว็บไซต์ที่ชื่อว่า "Black Death"  เสนอขายสินค้าที่เป็นมนุษย์จริง ๆ มีการให้ข้อมูล และรูปถ่ายของสินค้า แต่จากการสืบค้นก็พบว่ารูปภาพดังกล่าวเอามาจากสื่อลามกอย่างหนังโป๊ ทำให้พอจะคาดเดา ได้ว่าเป็นเพียงแค่การหลอกลวงเท่านั้น โดยปัจจุบัน เว็บไซต์ Black Death ก็งดบริการอย่างไม่มีกำหนด  และยังไม่พบเว็บไซต์อื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน

ปัญหาสำคัญของบริการผิดกฎหมายในเว็บมืดก็คือ เราไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าบริการเหล่านั้นเป็น การหลอกลวงหรือไม่ นอกเสียจากว่าจะลองใช้บริการจริง ๆ และถึงจะเป็นเรื่องหลอกลวงก็ยังยากมากที่จะมีคนมาบอกว่าตัวเองโดนหลอก เว็บมืดจึงเป็นพื้นที่ที่คนไม่กล้าพูดความจริง เพราะจะสร้างภาพลักษณ์ที่ ไม่ดีให้กับพวกเขา รวมถึงอาจจะโดนดำเนินคดีทางกฎหมายได้ด้วย

นอกจากนี้จากการสอบถาม ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ยังไม่มีกรณีที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ในไทยที่เกี่ยวข้องกับเว็บมืดโดยตรง เนื่องจากสาเหตุหลักคือเหตุการณ์ต่างๆในเว็บมืด มักจะไม่ถูกเปิดเผยผ่านสาธารณะเลย

เสรีภาพและของดีในเว็บมืด

เว็บมืดถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่กฎหมายไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ดังนั้นแล้วข้อมูลผิดกฎหมายจึงมีจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่การแสดงออกเป็นไปได้อย่างเสรี จึงมีชุมชนมากมายที่เข้ามารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในเรื่องที่ไม่สามารถทำในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีอันตรายอีกหลายรูปแบบเช่น ไวรัส, มัลแวร์, หนังสือที่สอนเกี่ยวกับการใช้อาวุธ, ข้อมูลลับของรัฐบาลหรือเหล่าคนดัง, รหัสผ่านที่ได้มาจากการแฮ็ค, สื่อลามกเด็ก รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถเผยแพร่ในเว็บไซต์ทั่วไป

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการใช้เว็บมืดก็คือ การแสดงออกด้านอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น กรณีของเว็บไซต์ Silk Road ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แฝงอุดมการณ์ทางการเมืองเอาไว้ เนื่องจากผู้ก่อตั้งพยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองของเขาควบคู่ไปด้วย ลักษณะสำคัญที่ทำให้เว็บไซต์เหล่านี้แตกต่างจากร้านค้าออนไลน์ทั่วไปคือมีสิ่งที่เรียกว่า "กระดานสนทนา" ที่เอาไว้แลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์มากมายที่ใช้พื้นที่ของเว็บมืดในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะพวกแนวคิดอิสระนิยม (Libertarian) และกลุ่มอนาธิปไตย (Anarchism)

เว็บมืดยังเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ เอกสารที่มีประโยชน์ เช่น ห้องสมุดออนไลน์ที่รวบรวมหนังสือหายากไว้มากมาย คู่มือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สถานีวิทยุที่เน้นเปิดเพลงแปลก ๆ หายากที่อาจจะหาฟังไม่ได้ตามเว็บไซต์ทั่วไป  แหล่งข้อมูลความรู้เฉพาะทาง เอกสารหายาก หรือเก่าแก่ ชุมชนแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นแบบเฉพาะทาง บริการอีเมล์ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยขั้นสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในเว็บมืดปะปนไปกับบริการผิดกฎหมายที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่าให้เว็บมืดทำร้ายตัวเอง

สิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเว็บทั่วไปหรือเว็บมืด ก็คือการที่ผู้ใช้ต้องตระหนักรู้ถึงการหลอกลวงและภัยอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง และรู้วิธีป้องกันภัยเหล่านั้นด้วย

เมื่อใครก็ตามที่เข้าใช้เว็บมืดผ่านทางเครือข่าย TOR ย่อมถูกปกปิดตัวตนอย่างแน่นหนา และเป็นไปได้ยากที่จะถูกสอดส่องว่าคุณเป็นใครในโลกจริง ซึ่งแน่นอนว่าเราก็จะไม่มีทางรู้ว่าคนที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยในเว็บมืดนั้นเป็นใครมาจากไหน การจะทำธุรกรรมใด ๆ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงิน จะต้องมั่นใจว่าไม่ถูกหลอกลวง เพราะเราจะเอาผิดใครไม่ได้ และอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังคือ เราอาจจะได้รับไวรัสคอมพิวเตอร์ที่แฝงตัวอยู่บนเครือข่ายโดยไม่รู้ตัว

มัลแวร์ และสปายแวร์เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ควรระวังอย่างมากระหว่างการท่องเว็บมืด เนื่องจากมีมัลแวร์กระจัดกระจายอยู่มากมาย หนึ่งในประเภทมัลแวร์ที่โด่งดังและมีความอันตรายมากอย่าง "มัลแวร์เรียกค่าไถ่" (Ransomware) ก็ล้วนฝังตัวอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ในเว็บมืดเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว เว็บมืดก็เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายอยู่ในตัว คือมีทั้งส่วนที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และส่วนที่ผู้ใช้สามารถหาประโยชน์จากมัน โดยที่ไม่อาจจะหาได้จากเว็บไซต์พื้นผิว การใช้เว็บมืดจึงไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์เสมอไป แต่เมื่อเราสามารถเข้าถึงเว็บมืดได้แล้ว หมายความว่าเราก็มีโอกาสที่จะพบเจอหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ไปจนถึงภัยอันตรายที่เราอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว  ดังนั้น การรู้เท่าทันเว็บไซต์เหล่านี้จึงสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็น

 

*การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์  นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาชัยเชียงใหม่

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โรงเรียนเพื่อความยุติธรรม' โครงการปั้นอดีตเหยื่อค้ามนุษย์ให้เป็นทนายความ

Posted: 15 Jul 2017 08:43 PM PDT

ในอินเดียมีโครงการฝึกฝนให้ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อและรอดจากการค้ามนุษย์ตอนเป็นเด็กและเคยถูกบังคับให้ทำงานบริการทางเพศให้กลายมาเป็นทนายความผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับพวกเธอ

 
15 ก.ค. 2560 โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า "สคูลฟอร์จัสติส" หรือ "โรงเรียนเพื่อความยุติธรรม" (School for Justice) ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาโดยกลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ชื่อว่า "ฟรีอะเกิร์ล" (Free a Girl) กลุ่มสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่ให้ทุนสนับสนนผู้หญิงที่พ้นออกมาจากการค้ามนุษย์บังคับทำงานทางเพศโดยยังไม่ถึงวัยได้ โดยทุนสนับสนุนพวกเธอจะกลายไปเป็นทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อให้เรียนจบในระดับปริญญาตรีสาขาเกี่ยวกับกฎหมาย
 
เอวิลีน โฮลสเกิน ผู้ก่อตั้งฟรีอะเกิร์ลกล่าวว่าเป้าหมายของโครงการนี้เป็นไปเพื่อเสริมพลังให้กับอดีตคนถูกค้ามนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายของอินเดียให้เอื้อต่อการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ได้เพราะผู้ก่อเหตุมักจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้โครงการนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องการค้ามนุษย์ในเด็กมากขึ้นด้วย
 
พวกเขาเริ่มโครงการด้วยการส่งคนที่รอดพ้นจากการค้ามนุษย์มาได้ 19 คน ไปศึกษาต่อ และจะส่งไปอีก 15 คนในปีหน้า หนึ่งในผู้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์นามแฝงว่าซังกิตาเล่าว่า เธอต้องจากครอบครัวเพื่อไปทำงานตั้งแต่อายุ 9 ขวเพราะความยากจนโดยเธอไปเป็นคนทำงานบ้านในบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่ง รวมทั้งยังทำงานเป็นคนสวน ยามเฝ้าประตู กวาดถูบ้าน และที่นั่นก็มีผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศเธอ หลายปีต่อมาเธอก็ออกจากบ้านหลังนั้นแต่ก็กลับบ้านเกิดตัวเองไม่ได้เพราะไม่มีเงินหรือลู่ทางใดๆ เลย เธอขอความช่วยเหลือจากหญิงที่ขอทานริมถนนคนหนึ่งแต่หญิงคนนั้นก็พาเธอไปที่ซ่องแล้วก็ขายเธอตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 13 ปี
 
ซังกิตาบอกว่าที่เธอเข้าร่วมโครงการนี้เพาะต้องการต่อสู้กับการค้าประเวณีเด็กและช่วยเหลือคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับเธอ เธอรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลายเป็นทนาย คนที่ได้รับทุนนี้จะรวมรายจ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าการเดินทางเข้าไปด้วย
 
จากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่ามีผู้หญิงและเด็กในอินเดียหลายล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อขายบริการทางเพศ คนค้ามนุษย์มักจะล่อลวงพวกเธอด้วยโอกาสทางหน้าที่การงานหรือการแต่งงานแต่หลังจากนั้นก็จะบังคับให้พวกเธอค้าบริการทางเพศ ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่าอินเดียมีกฎหมายห้ามการค้ามนุษย์ระดับแรงๆ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้เสมอไปแม้ว่าจะมีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ถึงราว 3,000 กว่าคดีแต่ผู้ต้องหาค้ามนุษย์ร้อยละ 77 ก็ถูกตัดสินให้พ้นผิด
 
แนวคิดของโครงการฟรีอะเกิร์ลเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาติดต่อกับองค์กรด้านการสื่อสารในอัมสเตอร์ดัม เจ. วอลเตอร์ ธอมป์สัน เพื่อให้ทำโฆษณาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์บังคับเด็กทำงานบริการทางเพศในอินเดีย บาส คอร์สเตน ประธาน เจ. วอลเตอร์ ธอมป์สัน กล่าวว่าคน 19 คนอาจจะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนระบบได้ แต่ก็สามารถเป็นตัวแทนของประเด็นนี้ทำให้ประเด็นนี้มีการพูดถึงและสร้างการกดดันจากนานาชาติจนกลายเป็นการเปลี่ยนระบบได้
 
ปัญหาการถูกเหมารวมตีตรา
 
อย่างไรก็ตามปัญหาท้าทายใหญ่ๆ อย่างหนึ่งสำหรับโครงการสคูลฟอร์จัสติสคือเรื่องการตีตราผู้เคยถูกบังคับทำงานบริการทางเพศ หลังจากที่พวกเธอได้รับการช่วยเหลือออกจากซ่องแล้วครอบครัวของพวกเธอก็ไม่ยอมรับพวกเธอกลับบ้าน นอกจากนี้ในบางกรณีฝ่ายรัฐบาลอินเดียกลับไปจับกุมคนที่เป็นเหยื่อการถูกบังคับค้าบริการเสียเอง แทนที่จะให้ความช่วยเหลือพวกเธอ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศอินเดียเท่านั้น การเหยียบซ้ำเหยื่อที่ถูกบังคับค้าบริการเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นด้วย
 
ผู้ใช้นามสมมุติชื่อ กัลยานี หนึ่งในผู้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์บอกว่าสังคมบางส่วนทำเหมือนพวกเธอ "เป็นอื่น" ไม่ควรอยู่ในสังคมกระแสหลักหรืออาจจะถูกเหยียดต่ำเหมือนไม่ควรมีชีวิตอยู่ แม้แต่บ้านเธอเองก็ไม่ยอมรับ โฮลสเกินบอกว่าสังคมที่ดึงดันในอคติของตัวเองเหล่านี้ไม่ได้มองคนถูกบังคับเหล่านี้เป็นเหยื่อ แต่มองว่าเป็น "หญิงไม่ดี" หรือ "หญิงขี้เกียจหางานอย่างอื่นทำ"
 
อีกปัญหาหนึ่งคือการที่ผู้รอดจากการค้ามนุษย์เผชิญกับแผลใจของตัวเองจากช่วงที่ถูกบังคับค้าประเวณี เป็นสิ่งที่พวกเธอต้องพยายามฝ่าฟันเพื่อให้ผ่านการเรียนการสอนหลายปีจนเรียนจบได้รับปริญญา พวกเขายังพยายามขยายโครงการเช่นนี้ไปยังบราซิลและประเทศอื่นๆ ด้วย
 
โฮลสเกินเปิดเผยว่าโครงการสคูลฟอร์จัสติสต้องใช้จ่ายกับนักศึกษา 3,400 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี มีผู้บริจาคเป็นการส่วนตจากเนเธอร์แลนด์ทำให้พวกเขามีทุนพอใช้ไปอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว อย่างไรก็ตามพวกเขายังมีแผนการจะหาผู้บริจาคเพิ่มจากอินเดียและที่อื่นๆ เพื่อทำให้มีผู้รับทุนการศึกษาเพิ่มอีกในปี 2561 เป็นต้นไป
 
โฮลสเกินบอกอีกว่าเรื่องราวของเยาวชนหญิงเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญ พวกเธอถูกบีบบังคับจากการค้ามนุษย์ไม่ได้เลือกทำด้วยตัวเอง พวกเธอถึงเป็นคนกล้าหาญที่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ออกมา
 
 
เรียบเรียงจาก
 
This 'School For Justice' Trains Sex Trafficking Survivors To Be Lawyers, Huffington Post, 13-07-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น