โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เก็บตกเสวนาอีสานกลางกรุง “ตอนนี้ถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง”

Posted: 26 Jul 2017 09:45 AM PDT

"ตอนนี้ถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง"
กรชนก แสนประเสริฐ ขบวนการอีสานใหม่

ข้อสรุปคือ

1.สถานการณ์ "เลวลง" กว่าก่อนหน้านี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีมาก แต่หลายเรื่องอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา หลังรัฐประหารมีการออกคำสั่งหลายอย่างโดยไม่สนใจกระบวนการแก้ปัญหาก่อนหน้า เช่น  คำสั่งทวงคืนผืนป่า หรือกรณีเหมืองแร่โปแตช ชาวบ้านสู้มา 15 ปี หลังรัฐประหารทำได้หมดเหลือกระบวนการรับฟังความเห็นเวทีสุดท้าย

2.อะไรไม่เคยเกิดก็เกิดในภาคอีสาน เกิดการเร่งรัดพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น การขุดเจาะปิโตรเลียม อีสานถูกแบ่งเป็นสองซีก ตอนบนเป็นของบริษัทอเมริกัน ตอนใต้เป็นของบริษัทจากจีนได้ โครงการขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นโครงการที่ชาวบ้านค้านไม่ได้ ไม่มีผลทางกฎหมาย

3.อะไรที่เป็นสิทธิก็ถูกตัดไปโดยไม่ถามก่อน เช่น กรณีแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง)

4.ความบ้าอำนาจของรัฐเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านรวมตัวแทบเป็นไปไม่ได้ แม้จะผ่านมาถึง 3 ปีแล้วแต่ปีนี้ก็ยังถูกจับตา อิทธิพลมืดกร่างขึ้น ขณะที่ หัวหน้า คสช.ก็ใช้ ม. 44 ปลดล็อคได้ทุกอย่าง มีการจับกุมคนที่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช.อย่างต่อเนื่องในอีสาน

"จากคนที่ลังเลในปี 49 ว่าจะเชียร์ทหารดีหรือเปล่า ตอนนนี้บอกได้เลยชาวบ้านในอีสานเกลียดทหารมากกว่าที่ชอบ ถามว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไรกับรัฐประหาร ตอนนี้มันถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง ไม่ว่าสิทธิที่จะพูดอะไร ไม่ว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกปล้นตลอด นี่ไม่นับเรื่องเศรษฐกิจที่ตกต่ำและชาวบ้านเดือดร้อนมาก"

"สามปีผ่านมา ถามว่าดีขึ้นหรือแย่ลง คำตอบก็คือ ตอนนี้ถูกกดดันถึงขั้นต่ำสุดทุกเรื่อง"

สิทธิชุมชุน-ไม่เจตนาบุกรุกไม่เป็นที่รับฟังในศาลมากเท่าเดิม
ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานเป็นเครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนซึ่งเป็นปัญหามาเนิ่นนาน ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีแต่เพียงแนวนโยบายเบื้องต้นว่าระหว่างแก้ปัญหาไม่ให้คุกคามหรือสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตชาวบ้าน แต่มันก็ยังไม่ใช่กฎหมายที่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติทั้งหมด ยังคงมีการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

หลังการรัฐประหาร มีคำสั่งที่ 64/2557 อีก 2 วันก็ออกคำสั่งที่ 66/2557 จากนั้น กอ.รมน.กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จัดทำแผนแม่บทป่าไม้ บอกว่าพื้นที่ป่าในไทยลดน้อยลง ต้องการให้เพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 40% แบ่งเป้าหมายเป็น 3 อย่าง คือ 1.ทวงคืนจากผู้บุกรุก 2.บริหารจัดการป่าให้มีคุณภาพ 3.ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เป้าหมายที่ 1 และ 2 ต้องดำเนินการให้จบภายใน 1 ปี ทำให้เกิดการเร่งยึดพื้นที่ชาวบ้าน

ที่ผ่านมาคดีที่ถึงที่สุดโดยให้ราษฎรออกจากพื้นที่ตามคำพิพากษาของศาลแล้วแบ่งเป็น พื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ 8,000 กว่าไร่ เขตอุทยาน 2,000 พันกว่าไร่ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 1,000 กว่าไร่ ส่วนที่มีการแจ้งความแล้วแต่เรื่องยังไม่ถึงศาล เช่น กรณีมีการแจ้งความแต่ยังไม่พบตัวผู้กระทำความผิด พบว่าเป็นพื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ 6,000 กว่าไร่ กรมอุทยาน 700 กว่าไร่

กระบวนการก่อนการยึดพื้นที่คือ การพิสูจน์สิทธิว่าราษฎรอยู่ก่อนประกาศเขตป่าไหม ถ้าไม่ใช่ก็จะยึดมาฟื้นฟู เกณฑ์การจำแนกการบุกรุกมี 3 อย่าง กลุ่มที่อยู่ก่อนปี 2545 , หลังสี่ห้าแต่ก่อนออกคำสั่ง 64 และ 66/2557 และหลังออกคำสั่ง 64 และ 66/2557 กลุ่มแรกใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าพบว่าอยู่ก่อนก็จะได้รับการรับรองสิทธิ ถ้าอยู่หลังต้องออกจากพื้นที่ แต่แม้ถึงอยู่ก่อนแต่พื้นที่นั้นสำคัญต่อระบบนิเวศก็ต้องออกจากพื้นที่เช่นกัน โดยสภาพแล้วการพิสูจน์สิทธิที่พบมีจำนวนน้อยมากที่ชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่เดิมได้ กลุ่มที่สองก็ต้องพิสูจน์สิทธิเช่นกลุ่มแรก กลุ่มที่สามต้องออกจากพื้นที่เลย

อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศนั้นมีความไม่เหมาะสม เพราะชาวบ้านจำนวนมากเขาเข้าไปอยู่นานแล้วแต่เขารักษาป่าไว้เป็นป่าหัวไร่ปลายนา เมื่อดูตามแผนที่จะเห็นว่าเป็นป่าสมบูรณ์ แต่สภาพความจริงชาวบ้านเขาครอบครองอยู่

นอกจากนี้ยังมีหลายหมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความไว้ว่ามีการบุกรุกแต่ไม่พบตัวผู้กระทำความผิด หลังมีคำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ก็บอกชาวบ้านว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ ทำให้ชาวบ้านไปแสดงตัว โดยแบ่งแปลงต่างๆ ให้ลูกหลานด้วย สุดท้ายกลับถูกจับกุมดำเนินคดีกันทั้งบบ้าน นี่เป็นวิธีการหาตัวผู้กระทำความผิด

คดีป่าไม้ ที่ดินสาธารณะ การพิสูจน์ในคดีอาญานั้นฝ่ายเจ้านหน้าที่กล่าวอ้าง และจำเลยซึ่งเป็นชาวบ้านต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ หลักฐานที่ชาวบ้านมีสู้ได้ไหม เมื่อก่อนใช้หลักสิทธิชุมชนศาลยังพอรับฟัง มาภายหลังการรับฟังพยานเรื่องการขาดเจตนานั้นยากลำบาก ศาลมักมองว่าเนื่องจากมีราษฎรรุกป่ากันจำนวนมาก หากวินิจฉัยแบบเดิม ป่าจะยิ่งไม่เหลือ แนวทางการพิพากษาหลังๆ ชาวบ้านจึงแพ้คดีเกือบทั้งหมด โอกาสที่ชาวบ้านชนะมีน้อยมาก

พี่น้องอยากให้แก้ไขกฎหมายหลายๆ ฉบับ ให้อำนาจ อปท.กำหนดเขตอนุรักษ์ต่างๆ ระยะเวลาใกล้นี้มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีการพูดเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เนื้อแก้ก็ยังไม่อนุญาตให้ท้องถิ่นกำหนดเขตอนุรักษ์เองได้

หลังยุคทหาร ประชาชนต้องจัดการกับ พ.ร.บ.ชุมนุม
อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

จะประมวลว่า 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องเสรีภาพนั้นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในภาคอีสาน

ประเด็นที่ขับเคลื่อนในภาคอีสานมีสองระดับ คือ การเมืองระดับชาติ เช่น การต่อต้านรัฐประหาร การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ , ระดับท้องถิ่นหรือการเมืองเรื่องปากท้อง เช่น โครงการพัฒนาของภาครัฐ โครงการเอกชน

ความเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร ยกตัวอย่างจังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีการปิดวิทยุมชน, การเรียกแกนนำระดับท้องถิ่นพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมปรองดอง, การจับตาการจัดเสวนาวิชาการ, การติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม, ทหารเข้าไปมีบทบาทในชุมนที่มีข้อพิพาทด้านทรัพยากรกับเอกชน, การดำนินคดีผู้เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นประเด็นสาธารณะ

การสแดงออกในประเด็นการเมืองระดับชาติ ยกตัวอย่าง คดีเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพยายามปิดกั้นในหลายระดับ ทางมหาวิทยาลัยไม่ใช้ใช้พื้นที่ ตำรวจเอาประกาศของ สภ.ให้ยุติกิจกรรมมาแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะมีการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่ในกฎหมายยกเว้นสถานศึกษาเอาไว้ ท้ายที่สุดผู้จัดยังจัดกิจกรรมต่อไป สุดท้ายจึงมีคนถูกดำเนินคดีรวม 10 คน และกำลังจะยื่นฟ้องเร็วๆ นี้ สำหรับการณรงค์โหวตโนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีจังหวัดอุบลฯ จังหวัดชัยภูมิ มีการดำเนินคดีกับผู้รณรงค์โหวตโน ส่วนการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ของนปช.พบว่า หลายจังหวัดชาวบ้านถูกฟ้องคดีจำนวนมาก แต่มีส่วนน้อยที่ต่อสู้คดีเพราะยืนยันว่าไม่ผิด ส่วนใหญ่นั้นยอมรับสารภาพเพื่อให้คดีจบเร็วและโดนปรับ รอลงอาญา เนื่องจากชาวบ้านไม่มีต้นทุนในการสู้คดี

กรณีปัญหาปากท้อง คดีหม่นประมาทเกิดขึ้นเยอะ ถึงขนาดที่แม้ชาวบ้านแค่ไปยื่นหนังสือก็ยังโดนคดีหมิ่นประมาทเช่นเดียวกับคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุม เช่น กรณีชาวบ้านรวมกลุ่มเรียกร้องเรื่องย้าย บขส.ขอนแก่น กิจกรรม Walk for Rights เป็นต้น

"การเคลื่อนไหวมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ทิศทางต่อไปเราเห็นแล้วว่ามีปัญหามากในหลายภูมิภาค เป็นไปได้ไหมที่ต้องมีการพูดคุยกับประชาชนหลายๆ ภาค โดยเฉพาะเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุม ถ้าอนาคตมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับ 3/2558 ไปแล้ว มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว พ.ร.บ.ชุมนุมจะกลายเป็นเครื่องมือจำกัดการเคลื่อนไหวสำคัญ มันออกในปี 2558 เราน่าจะเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายนี้โดยให้ประชาชนมีโอกาสร่วมในการร่างกฎหมายนี้"

ความกลัว ความไม่วางใจ และความจริงที่พูดไม่หมด
ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เดอะ อีสาน เรคคอร์ด

เว็บไซต์ข่าวอีสานเรคคอร์ดติดตามประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และผลกระทบที่คนอีสานได้รับจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 อุปสรรคในการทำงานสื่อในพื้นที่นั้นหลังรัฐประหาร บรรยากาศการทำข่าวการเมืองเปลี่ยนแปลงมาก แหล่งข่าวกลัวและไม่กล้าพูดทั้งหมด มีความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น ก่อนรัฐประหารบรรยากาศเปิดมากกว่ามาก นอกจากนี้การทำข่าวในพื้นที่ยังถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเก็บภาพ เก็บข้อมูลชื่อ และถูกติดตามในบางช่วง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน

สำหรับการตื่นตัวทางการเมืองในภาคอีสานมีสูงขึ้นมาก คนกล้าที่จะพูดถึงสิทธิตัวเอง กล้านำเสนอปัญหาของตัวเองกับสื่อมากขึ้นด้วย

ความเข้าใจผิดเรื่องทุนสามานย์ และรัฐบาลแบบไหนก็ (ไม่เห็นหัวชาวบ้าน) เหมือนกัน
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งที่จะพูดในวันนี้คือ

1.เรื่องความเข้าใจผิดสองประเภท ที่เกี่ยวข้องกับระบอบผด็จการกับทุนสามานย์
2.จริงๆ แล้วชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร

ประเด็นที่หนึ่ง มีความเข้าใจผิดอย่างน้อย 2 ประเภทที่สร้างความหายนะให้วิถีชีวิตชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและขบวนการภาคประชาชน

ความเข้าใจผิดแรก คือ การล้มล้างระบอบทักษิณเป็นการล้มทุนนิยมสามานย์ มีแต่รัฐของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่กอบโกยเอาจากระบบทุนนิยมสามานย์

ความเชื่อประเภทนี้นำสู่ความเข้าใจผิดอีกสองประเภท คือ มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่เล่นการเมืองและกอบโกย แต่ทหารไม่ใช่นักการเมืองและไม่กอบโย ซึ่งนำสู่ความคิดที่ว่า การล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์เสรีนิยมใหม่ มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งการต่อสู้เรื่องนี้สำคัญกว่าการสู้กับระบอบเผด็จการ หลายคนคิดว่าได้รัฐบาลเผด็จการยังดีกว่าอยู่ภายใต้รัฐทุนนิยามสามานย์

ฐานคิดนี้มีเดิมพันที่สูงมาก เพราะเชื่อว่าการปิดประเทศ การล้มเลือกตั้ง สร้างสุญญากาศทางการเมืองได้แล้วจะเกิดปฏิรูปสังคม การเมือง เศรษฐกิจให้ปลอดพ้นทุนนิยามสามานย์ได้ ตอนนี้เราประสบแล้วกับสุญญากาศทางการเมือง

ความเข้าใจผิดประเภทสอง คนจำนวนหนึ่งอยู่แนวนี้ คือ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็สามานย์เหมือนกันหมด นักการเมืองหรือทหารก็ไม่ต่างกัน ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนกัน ดังนั้น ระบอบใดก็ได้เพียงแต่อย่ายุ่งกับผลประโยชน์ตนเอง

ความเชื่อสองประเภทวางบนความเข้าใจผิด ถ้าเรามองประวัติศาสตร์รัฐทหารทั่วโลก จะพบว่าไม่มีรัฐทหารไหนไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเผด็จการกับทุนนิยมใหม่จำนวนมากที่พบว่า เสรีนิยมใหม่ทำงานได้ดีกว่าในระบอบเผด็จการ ยิ่งรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไรยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนทุนนิยมสามานย์หนักมากเท่านั้น ชิลีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในสมัยปิโนเชต์

ความเชื่อประเภทสองนั้นอาจจะถูกแต่ก็ถูกครึ่งเดียว ทุกรัฐต่างก็ค้ำจุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กันทั้งสิ้น แต่รัฐไทยใต้ระบอบการเมืองที่ต่างกัน ใช้มรรควิธีทางการเมืองที่ต่างกันในการผลักดันให้ทุนนิยมเกิด ตลอด 17 ปีของชิลีในการผลักดันให้เกิดทุนนิยมเสรีเป็นสองทศวรรษที่เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการปราบจับประชาชนกว้างขวาง มีการทรมานและสังหารประชาชนจำนวนมาก รัฐในระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยที่สุดก็ยังเปิดให้มีกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุลคัดง้างได้ กลไกนี้ไม่เปิดโอกาสให้รัฐทุบทำลายประชาชนได้ง่ายนัก การอ้าปากแสดงออก การชุมนุมโดยสันติยังทำได้ อย่างน้อยจำนวนของประชาชนมีความสำคัญ จำนวนมากย่อมเสียงดัง แต่ในรัฐเผด็จการนั้นจำนวนไม่มีความหมาย ในรัฐที่ไม่เกาะเกี่ยวยึดโยงกับประชาชนเลยจะเห็นการผลักดันโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวางกว่ารัฐในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นที่สอง เหตุใดรัฐเผด็จการจึงสนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ทหารไม่ได้รับใช้ทุนนิยมและถูกนายทุนใช้เป็นเครื่องมือ แต่ทหารเองนั่นแหละเป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมสามานย์ ใช้กลไกของรัฐเพื่อสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับใช้ความมั่งคั่งชนชั้นตนเอง รัฐเผด็จการเป็นนักการเมืองประเภทหนึ่ง เขาสนับสนุนเสรีนิยมใหม่เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เพื่อครองอำนาจในระยะยาว สิ่งสำคัญสุดในระบอบทหารคือการผนึกรวมอำนาจให้ตัวเอง และจะทำได้ต้องสร้างฐานอำนาจที่มั่นคง แจกจ่ายผลประโยชน์ให้กลุ่มชนชั้นนำซึ่งเป็นพันธมิตรของตน สร้างความจงรักภักดีผ่านการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทน และลดแรงเสียดทานจากนานาชาติ พร้อมกับกดปราบทางการเมืองต่อกลุ่มที่เป็นภัยคุกคาม

ประเด็นสุดท้าย ถามว่าชาวบ้านกำลังสู้กับอะไร ชาวบ้านในแต่ละที่ไม่ได้กำลังสู้กับบริษัทเดียว นายทุนคนเดียว แต่สิ่งภาคประชาชนกำลังสู้คือ ระบบที่เอื้ออำนวยให้กับเอกชนหยิบฉวยผลประโยชน์อย่างเอาเปรียบ แม้เราต่อสู้ยึดที่ดินมาได้ แต่โครงสร้างอำนาจที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับชาวบ้านไม่เปลี่ยน ไม่ว่ารัฐไหนๆ ก็สนับสนุนทุนให้ยึดครองที่ดินเปลี่ยนทรัพยากรเป็นสินค้าทั้งสิ้น แต่กลไกมันต่างกันในระบอบการเมืองที่ต่างกัน คำถามคือ เวลาเราบอกเราต่อสู้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองของตัวเอง อำนาจต่อรองนั้นต้องเป็นไปเพื่อประเด็นที่ใหญ่กว่าประเด็นของตัวเอง เราต้องมีเครือข่าย ถ้าความทุกข์ยากที่เป็นอยู่เป็นรายกรณีเราก็ต้องทำให้มีระดับหรือมิติที่ใหญ่กว่านั้น เป็นความเดือดร้อนในระดับสาธารณะ เคลื่อนไหวใหญ่กว่าระดับประเด็น เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นความไร้ความเป็นธรรมในระดับโครงสร้าง ทำเช่นนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากรได้รับการเชื่อมต่อกับประเด็นอื่นๆ ที่ได้รับผลจากการกระทำของรัฐเผด็จการได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.ประชุมนัดสุดท้าย ส่งไม่ต่อประยุทธ์ ประธานประธานเชื่อมีประโยชน์ต่อประเทศมาก

Posted: 25 Jul 2017 12:44 PM PDT

ร.อ.ทินพันธุ์ ประธานสปท.ประชุมนัดสุดท้าย เชื่อสิ่งที่ทำจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก พร้อมส่งไม่ต่อประยุทธ์ ด้าน อดีต สปท. ชี้ 2 ปี คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสร้างเป็นราชการ ขณะที่ รอง หน. ปชป.ชี้ สปท. เป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจ รัฐประหาร

แฟ้มภาพ

25 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานการประชุม สปท.ครั้งที่ 31/2560 เป็นพิเศษ โดยเป็นการประชุมนัดสุดท้าย พร้อมกล่าวว่า ตนได้เรียนรู้การทำงานและขีดความสามารถของทุกคน และเชื่อว่าสิ่งที่ สปท.ช่วยกันทำจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยสังคมจะรับรู้ถึงสิ่งที่ สปท.ทำจากผลงานที่ปรากฏ ส่วนการส่งมอบงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 31 ก.ค. 60 นั้น คณะกรรมการที่มีผู้แทนจาเทพเนียบรัฐบาลและผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำกำหนดการไว้เรียบร้อยแล้ว และในวันนั้นตนจะรายงานการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และ นายกรัฐมนตรีจะพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนา และจะร่วมถ่ายภาพร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา  

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ สปท. 1 ปี 10 เดือนจะเป็นการวางหลักปักฐานให้ประเทศเกิดความยั่งยืน ถือเป็นความภูมิใจที่มีส่วนในการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่า ทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจคำว่าการปฏิรูปประเทศ พร้อมยืนยันว่า สปท.ได้ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ คุ้มค่า และเป็นการขับเคลื่อน วางรากฐานประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น และประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Thailand 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน

วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เผยว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ที่ได้ทำงานร่วมกับ สปท.ทุกคน เชื่อว่า ความพยายามในการทำหน้าที่ของ สปท.จะไม่สูญเปล่า จะมีคนนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปสานต่อ และหวังว่าจะมีโอกาสได้ทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

ขณะสมาชิก ได้หารือต่อที่ประชุมในหลายประเด็น โดยหนึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญคือ   การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่จากฝ่ายการเมือง ที่พยายามเสนอแนวคิด ความคิดเห็นว่า สปท.ไม่จำเป็นต้องมีหรือเป็นเพียงเกมส์ทางการเมือง ทำให้สาธารณะชน เข้าใจการทำหน้าที่ผิดไป จึงต้องการสร้างความเข้าใจว่า สปท.เข้ามาทำหน้าที่เสนอความเห็นและเสนอแนะไปยังรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ และขอให้เข้าใจด้วยว่า สปท.ทำงานด้วยความตั้งใจและปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับช่วงเย็นวันนี้ (25 ก.ค. 60) จะมีงานเลี้ยงอำลาสมาชิก สปท. ในเวลา 18.00 น. ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ โดย ประธาน สปท. จะมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสมาชิก สปท. ทุกคนด้วย

อดีต สปท. ชี้ 2 ปี คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสร้างเป็นราชการ

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป" ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนิกร จำนง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า โครงสร้างของ สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และผลงานส่วนใหญ่จะเป็นรายงานทั้งหมด ไม่มีอำนาจดำเนินการในรูปแบบอื่นได้ สปท.ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่นับเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงคาดหวัง สปท.ไม่ได้ ส่วนการทำงานของ สปท.นั้น ได้แบ่งคณะกรรมาธิการเป็นด้านต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท.หรือ วิป สปท. และคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูประบบการปลอดภัยทางถนน และคณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา  

นิกร กล่าวว่า สปท.มีเวลาทำงานอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งงานของ สปท.เป็นงานในเชิงปฏิรูปน้อยมาก ขณะที่นักการเมือง 9 คนที่เป็น สปท.ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนมักทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อยืนยันในวิธีคิดของฝ่ายการเมือง ส่วนกรณีการตั้งคำถามประชามติ ขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ สปท. แต่เมื่อ สปท.เสนอคำถามแล้วได้รับความเห็นชอบ หากมีอะไร ก็จะถูกโยนมาที่ สปท. ดังนั้น สปท.จึงกลายเป็นสภาหนังหน้าไฟ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตั้งคำถามตั้งแต่แรก และกลายเป็นหมากทางการเมืองที่สำคัญซึ่งมีประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายโยนหินถามทางให้รัฐบาล อย่างแนวทางการปฏิรูปสื่อที่ล้วนมาจาก สปท.

นิกร กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเองเพื่อเป็นความหวังของประชาชนในอนาคต ที่ผ่านมา ตนได้คัดค้านเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในตอนแรก และเสนอว่า ให้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ ไม่ต้องออกมาเป็นแผน ซึ่งล่าสุดก็มีการแก้ไขใหม่ว่า สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี ซึ่งตนก็เบาใจที่ยืดหยุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีปฏิรูป 11 ด้าน คนที่จะขับเคลื่อนต่อก็น่าจะเป็น สปท. ส่วนเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตนได้เสนอให้เริ่มปฏิรูปเรื่องนี้จากโรงเรียน และได้มีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแล้ว

รอง หน. ปชป.ชี้ สปท. เป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจ รัฐประหาร

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. มีมาเพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจไว้ เนื่องจากตอนรัฐประหารไม่ได้มีการเตรียมแผนในระยะยาว แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว หน้าที่สำคัญของ สปท. คือการวางรูปแบบของรัฐในอนาคต ที่ควรจะเป็นแนวทางให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่า ในอนาคตชีวิตทางการเมืองของตน จะไม่เห็นประชาธิปไตยเต็มใบอีกแล้ว ประชาธิปไตยเหมือนกับต้นไม้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นไม่ได้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นได้แต่ไม่งอกงาม ประเทศไทยอาจจะไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยก็ได้ ตนคิดว่า ประเทศไทยอาจจะเหมาะกับรัฐกึ่งประชาธิปไตยมากกว่ารัฐประชาธิปไตย 

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ถามว่า สิ่งที่ สปท.ทำมาจะได้ผลเท่ากับที่คาดหวังหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ สปท.ไม่ได้ทำคือ การปฏิรูปวัฒนธรรมประชาธิปไตย มนุษย์ทั่วไป เวลาพูดถึงคนอื่นไม่ดีแต่ก็ไม่ได้มองตัวเองว่าดีหรือไม่ ในอนาคตข้างหน้า จะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็น แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องยอมรับกติกานั้น รัฐไทยต้องเดินไปในรูปแบบรัฐกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งของคนยังมีอยู่ แต่ไม่ได้เอาออกมาแก้ปัญหา 

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะขับเคลื่อนด้วยนักการเมือง ไม่ใช่ระบบราชการ แต่หากจะมองว่า นักการเมืองไม่ดี นักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองเป็นเช่นนั้น คนจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่การใช้อำนาจ การบริหารพรรคการเมืองยากกว่าการบริหารบริษัทใหญ่ เพราะพรรคการเมืองหลากหลายและเป็นอิสระ ต้องบริหารคนที่จะไปบริหารประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้แก้ไขได้ใน 5 ปี ส่วนตัวมองว่า แก้ไขได้ยาก ดังนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคตคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ทันการ ปัญหาจะถูกกดทับ และประชาชนก็จะตั้งคำถามกลับมาอีกว่า ทำไมเลือกตั้งมาแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้ การปกครองทุกระบบของโลกมีมุมมืดทุกระบบ แม้ประชาธิปไตยจะมีมุมมืด แต่อย่ารังเกียจประชาธิปไตยจนไปหาระบบอื่น ทุกคนต้องช่วยกัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลกระทบนโยบายทวงคืนผืนป่า ครอบครัวยายวัย 72 จ.ชัยภูมิ กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน

Posted: 25 Jul 2017 12:27 PM PDT

เปิดกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า จากชาวบ้านซับหวาย จ.ชัยภูมิ วัย 72 ปี จากมีที่ดินแบ่งให้ลูกคนละ 10 ไร่ กลายเป็น ครอบครัวของยายก้อนกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ลูกทั้ง 3 คน ต้องดิ้นรนเข้ากรุงเทพเพื่อไปหาอาชีพทำ

ก้อน เหมือดไธสง ชาวบ้านซับหวาย วัย 72 ปี

"พวกมันจับมือบังคับให้เซ็น ฉันพยายามสะบักให้หลุดจากเงื้อมมือของพวกมัน ถ้าฉันยอมเซ็นคืนพื้นที่ แล้วที่ดินที่พวกฉันทำกินมาหลายสิบปี จะให้ไปทำกินที่ไหน" ก้อน เหมือดไธสง ชาวบ้านซับหวาย ต.วังตะเฒ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ อายุ 72 ปี เล่าถึงความรู้สึกอึดอั้นใจของเธอ ที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้แต่งชุดลายพราง กับแต่งชุดดำทั้งตัว(เข้าใจว่าเป็นทหารพราน) ประมาณกว่า 20 คน เข้ามาหาในไร่มันสำปะหลัง แล้วบอกว่าเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ห้ามทำการปลูกผลผลิตทุกชนิด และยายได้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ต้องเซ็นเอกสารยินยอมขอคืนพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะถูกจับดำเนินคดี ติดคุก

"ฉันก็ไม่ยอมเซ็น จะมาบอกว่าขอยึดพื้นที่คืนได้ยังไง จะมาบังคับจับมือ และข่มขู่ว่าหากไม่ออกจะถูกจับดำเนินคดี ฉันก็ไม่ยอมเซ็น เพราะเป็นที่ของฉันๆบุกรุกที่ไหน ทำกินที่ตรงนี้ตั้งแต่สาวๆ ทำกินมาจนผัวมาตายไปเมื่อปี 2532 โน้น"

เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนให้เห็นถึงความอดสูของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาใช้วิธีการบังคับ ข่มขู่ ให้ชาวบ้านยินยอมเซ็นเอกสารขอคืนพื้นที่เพื่อขานรับต่อนโยบายทวงคืนผืนป่า

แต่เมื่อขืนใจให้ยินยอมไม่ได้ เป้าหมายของเจ้าหน้าที่จึงตรงเข้าไปหาลูกชายของยายก้อน ที่ยืนอยู่ห่างกันไม่มากนัก หลังจากนั้นแฟ้มเอกสารก็ถูกเปิดทีละแผ่น ทีละแผ่น

ลูกชายของยายก้อน(คนใส่เสื้อเหลือง)บอกว่า "ผมจำใจยอมเซ็นทุกหน้ากระดาษที่เจ้าหน้าที่ชี้นิ้ว พร้อมกับกำชับให้ลงชื่อของแม่คือ ก้อน เหมือดไธสง"

จำนวนไร่มันสำปะหลัง 50 ไร่ ที่ยายก้อน แบ่งให้ลูกๆ ทั้ง 4 คน คนละ 10 ไร่ แต่หลังจากเหตุการณ์เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 ผ่านไป ครอบครัวของยายก้อนกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ลูกทั้ง 3 คน ต้องดิ้นรนเข้ากรุงเทพเพื่อไปหาประกอบอาชีพหารับจ้างทั่วไป

ส่วนลูกชายอีกคนหารับจ้างแถวบ้าน เพื่ออยู่ปรนนิบัติดูแลแม่ด้วย ขณะเดียวกันก็เข้าไปปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ทำกินเดิมจำนวน 8 ไร่ กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ้างผู้รับเหมาให้เอาตอไม้ไผ่มาปักเขตล้อมรอบแสดงความเจ้าของในการยึดคืน ยึดคืนไปในขณะที่ต้นมันสำปะหลังกำลังโตเต็มที่

ปัจจุบัน เพื่อนบ้านของยายก้อนถูกดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 15 คน และเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2560 อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องชาวบ้านจำนวน 15 ราย ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ ไปแล้ว โดยศาลจังหวัดชัยภูมินัดพร้อมอีกครั้ง ในวันที่ 23 ส.ค.2560 นี้

สำหรับ นโยบายทวงคืนผืนป่า มีการร้องเรียนถึงผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค หากจะกล่าวโดยเฉพาะชุมชนบ้านซับหวาย มีการข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ให้เซ็นยินยอมคืนพื้นที่ในลักษณะเดียวกันมาแล้วหลายราย ซึ่งชาวบ้านก็ต้องยอมเซ็นไปก่อน เนื่องจากกลัว เพราะเจ้าหน้าที่มากันหลายคน และประกบตัวต่อตัว คือเข้าไปหาตามไร่ของแต่ละคน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำความรู้จัก “ศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง” 

Posted: 25 Jul 2017 11:41 AM PDT

ขณะที่คดีจำนำข้าวงวดเข้าไปทุกที หลายคนอาจยังไม่เข้าใจระบบของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปิยบุตรอธิบายปรัชญาการก่อตั้ง กระบวนการพิจารณา พลวัตของศาลนี้ในทางสากลเปรียบเทียบกับไทย คำถามเรื่องความเป็นธรรมที่มีมากขึ้นในกฎหมายฉบับใหม่ รวมถึงการไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามจำเลยร้องขอทำได้หรือไม่

  

 แฟ้มภาพประชาไท

@ ที่มาที่ไปของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

 การพิจารณาคดีอาญาของนักการเมือง มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆ ระบบแรก ใช้ศาลปกติ เพราะมองว่ารัฐมนตรีกับประชาชนต้องเท่าเทียม ต้องขึ้นศาลในระบบเดียวกัน ไม่ต้องมีศาลพิเศษ มีเยอรมนี อังกฤษ ระบบที่สอง ใช้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าคดีอาญาของนักการเมืองไปคาบเกี่ยวอยู่กับรัฐธรรมนูญ ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น ออสเตรีย ระบบที่สาม ใช้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์โดยมีแผนกคดีอาญาของนักการเมืองแยกออกมาต่างหาก เช่น สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และระบบสุดท้ายตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเฉพาะ โดยมีนักการเมืองและผู้พิพากษาอาชีพร่วมนั่งเป็นองค์คณะพิจารณาคดีด้วยกันประเทศที่ใช้ก็มี ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ กรีซ ทั้ง 4 ระบบนี้ อาจแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ใช้ระบบปกติเหมือนบุคคลทั่วไป กับกลุ่มที่แยกระบบพิเศษออกมา กลุ่มแรก ให้เหตุผลจากหลักความเสมอภาค กลุ่มที่สอง ให้เหตุผลว่าคดีอาญาที่รัฐมนตรีกระทำผิดจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวอยู่กับเรื่องนโยบายทางการเมืองหากใช้ศาลอาชีพทั้งหมดจะเปิดโอกาสให้ศาลเข้ามาแทรกแซงในทางการเมืองได้ ดังนั้นจึงควรมีมิติของนักการเมืองเข้าไปผสมด้วย ผสมมากหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เข้าร่วมเป็นองค์คณะพิพากษา หรือ ผสมน้อยหน่อย ก็ให้ ส.ส. ส.ว.เป็นองค์กรผู้กล่าวหาริเริ่มคดี

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยอยู่ในกลุ่มที่สร้างระบบพิเศษเฉพาะให้กับนักการเมือง เริ่มมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเหตุผลของการตั้งศาลนี้ มีการอธิบายว่า นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันเยอะ เป็นผู้มีอิทธิพลจับไม่ได้ ลงโทษไม่ได้ จึงต้องสร้างระบบพิเศษให้กับคดีอาญาของนักการเมือง โดยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จะเริ่มยกร่างกัน อ.ประเวศ วะสี ได้มอบหมายให้อาจารย์ นักวิชาการ ไปเขียนวิจัยหลายชิ้น มีเล่มหนึ่งว่าด้วยคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้เขียน โดยนำความคิดมาจาก "la Cour justice de la Republique" หรือศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่มีหน้าที่พิจารณาคดีอาญาของรัฐมนตรี ในงานชิ้นนี้ อาจารย์บวรศักดิ์ได้อธิบายระบบของฝรั่งเศสไว้อย่างละเอียด พร้อมยังยกร่างกฎหมายเป็นตัวแบบไว้ให้ด้วย โดยอาจารย์บวรศักดิ์ให้ชื่อว่า "คณะตุลาการอาญาธร"

ต่อมา ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ร่างรัฐธรรมนูญแรกๆ กำหนดให้มี "คณะตุลาการคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 11 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน และสมาชิกวุฒิสภา 5 คน จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบนี้ผสมนักการเมืองกับผู้พิพากษาร่วมเป็นคณะตุลาการตามแบบของฝรั่งเศสเลย อย่างไรก็ตาม ในชั้นหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใหม่ โดยตัดสัดส่วนที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาออกไป กำหนดให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา องค์คณะมีผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คน เลือกเป็นรายคดี และให้เรียกชื่อว่า "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" และก็ใช้เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560  

เหตุที่ผมต้องเล่าย้อน เพราะว่า ที่มาของไทยมันย้อนแย้งลักลั่นกับของตะวันตก ถ้าต้องการมีระบบพิเศษของนักการเมืองก็ต้องนำส.ส.เข้ามาผสม แต่พอจะนำเข้ามาผสมก็เกิดอาการรังเกียจกลัวว่านักการเมืองจะช่วยกัน และไม่มีความรู้ในการตัดสินคดี จึงไปนำผู้พิพากษาศาลฎีกาอาชีพมาทั้งหมด ปัญหาก็คือว่าหากเชื่อว่า นักการเมืองตัดสินคดีไม่เป็น ต้องใช้ศาลอาชีพทั้งหมด แล้วแบบนี้ ทำไมถึงไม่กลับไปใช้ระบบศาลปกติ เราอธิบายกันว่า เหตุที่ไม่สามารถนำรัฐมนตรีเข้าคุกได้ซักคนเดียวในอดีตนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาล แต่เกิดขึ้นจากตำรวจ และอัยการ ถ้าคำอธิบายนี้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เราตั้ง "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" หรือป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่แทน คดีอาญาของนักการเมืองทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือของตำรวจแล้ว เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.เพื่อส่งไปให้อัยการสั่งฟ้องศาล ดังนั้น เมื่อปัญหาถูกแก้ไขแล้วทำไมถึงต้องมีแผนกคดีอาญานักการเมืองขึ้นมาอีก แล้วแผนกที่ว่าก็ไม่ได้เป็นระบบใหม่ องคาพยพใหม่ ก็คือศาลฎีกานั่นแหละ ถ้าแบบนี้ ทำไมไม่ใช้กระบวนการปกติ ให้ ป.ป.ช.ทำ แล้วขึ้นสู่ศาลตามระบบปกติเหมือนคดีอาญาของบุคคลทั่วไป 

ทุกวันนี้ของฝรั่งเศสที่เราไปลอกมา เขามีความพยายามที่จะยกเลิกอยู่ เพราะมองกันว่า ถ้ายังเป็นเช่นนี้นักการเมืองก็ได้เปรียบไม่เสมอภาคกับคนประชาชน โดยประธานาธิบดีคนก่อนนาย François Hollande พยายามยกเลิก มีการร่างกฎหมายเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้นำไปบังคับใช้ ล่าสุดนาย Emmanuel Macron ได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ 2 สภาว่าเขาจะยกเลิกศาลพิเศษนี้ นั่นจึงเท่ากับว่าประเทศต้นแบบที่เราไปนำมาใช้ ก็ไม่เอาแล้ว เพราะมันทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน ประชาชนมองว่านักการเมืองเอาเปรียบใช้ศาลพิเศษ ที่มี ส.ส. ส.ว.เข้ามานั่งเป็นคณะตุลาการ ส่วนนักการเมืองก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงต้องมาขึ้นศาลพิเศษด้วย บางคนถึงกับบอกว่าศาลปกติดีกว่า เพราะสู้ได้หลายชั้น ผมคิดว่าภายในวาระ 5 ปีของประธานาธิบดีคนใหม่ น่าจะยกเลิกระบบศาลพิเศษในคดีอาญาของรัฐมนตรีได้แน่นอน

โดยสรุป "เหตุผลพิเศษ" ที่เรานำมาใช้อ้างในการออกแบบระบบพิเศษให้กับคดีอาญานักการเมือง คือ นักการเมืองทุจริตมาก นักการเมืองมีอิทธิพล ต้องจับนักการเมืองทุจริตเข้าคุกให้ได้ ในขณะที่ "เหตุผลพิเศษ" ที่ต่างประเทศใช้ คือ คดีอาญานักการเมืองเกี่ยวพันกับการเมืองและนโยบาย ไม่ควรปล่อยให้ศาลทำกันเอง พอของเราใช้ "เหตุผลพิเศษ" แบบนี้ ก็เลยต้องออกแบบกลไกเพื่อที่จะจัดการนักการเมืองทุจริตให้ได้ นานวันเข้าความคิดที่เน้นไปที่ crime control ก็ขึ้นมาอยู่เหนือเรื่อง due process ในทางจิตวิทยา พอเราเอา "เหตุผลพิเศษ" แบบนี้เป็นตัวตั้ง การวัดความสำเร็จ ก็ไปอยู่ที่ตัดสินเสร็จกี่คดี ลงโทษได้กี่คดี มีนักการเมืองติดคุกบ้างหรือไม่ เราจึงเห็นทิศทางของไทยตั้งแต่ 40 จน 60 ในคดีอาญาของนักการเมือง เน้นไปที่ crime control มากขึ้นๆ

@วิธีพิจารณาคดีแบบ "ไต่สวน" ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับ สนช. 

ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาเรามีศาลในระบบกฎหมายมหาชนเยอะขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลคดีอาญานักการเมือง ศาลเหล่านี้ใช้วิธีพิจารณาคดีในระบบไต่สวน เรามักบอกกันว่า ประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรมาใช้ระบบกล่าวหา ที่การดำเนินกระบวนพิจารณาการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ดำเนินโดยคู่ความว่ากันเป็นหลัก ศาลอยู่ตรงกลาง แต่ระบบไต่สวน การดำเนินพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง ศาลเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก ดังนั้น ระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี 

ทั้ง 2 ระบบนี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสีย ระบบกล่าวหา ในด้านหนึ่งทำให้ศาลไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในตัวคดี โดยให้เป็นเรื่องของโจทก์และจำเลยที่ต้องต่อสู้กันให้ชนะ แต่ข้ออ่อนก็มีอยู่ เพราะมีการสืบพยานเยอะจนทำให้คดีมันช้า และหากคู่ความ 2 ฝ่ายมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ศาลไม่สามารถลงไปช่วยอีกฝ่ายให้เกิดความเท่าเทียมกันได้ จึงทำให้ระบบไต่สวนถูกนำเข้ามาใช้ อย่างน้อยที่สุดคู่ความจะถ่วงเวลาไม่ได้และ หากสิ่งใดไม่จำเป็นต่อคดีศาลสามารถสั่งให้ตัดทิ้งได้ สามารถเร่งรัดได้มากขึ้น ในกรณีที่คู่ความอยู่ในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ศาลสามารถใช้มาตรการเพื่อทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกันได้ เช่น คดีในศาลปกครอง ผู้ถูกฟ้อง คือ หน่วยงานราชการ ซึ่งมักครอบครองเอกสารราชการอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญไว้ หากผู้ถูกฟ้องไม่ยอมนำเอกสารเหล่านี้เข้ามาในคดี  เพราะเกรงว่าจะทำให้ตนแพ้ ศาลก็ใช้อำนาจเรียกเข้ามาได้

การดำเนินคดีอาญานักการเมือง มี ป.ป.ช. ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีและชี้มูลความผิด ทำสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเทียบกับของฝรั่งเศส ศาลคดีอาญารัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี แต่มีหน้าที่พิพากษาอย่างเดียว ระบบของฝรั่งเศสมี 3 ส่วนซ่อนอยู่ ส่วนแรก คือองค์คณะรับฟ้อง ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องและกลั่นกรอง หากรับฟ้องถึงจะไปส่วนที่สอง นั่นคือ องค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คนเป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จ ถ้ามีมูลถึงจะส่งไปที่องค์คณะ 15 คนที่ประกอบไปด้วย ส.ส. 6 ส.ว 6 และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก 3 เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคดีในสองประเด็น คือ มีความผิดหรือไม่ และลงโทษเท่าไร

กรณีของไทย ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีให้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย จากนั้นก็ชี้มูลความผิดและให้อัยการเป็นผู้เสนอฟ้องไปยังศาล จึงมีนักวิชาการและผู้พิพากษาจำนวนมาก มองว่าเช่นนี้ก็เท่ากับให้ป.ป.ช.เป็นทำหน้าที่เสมือนกึ่งตุลาการที่ทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดี ทำนองเดียวกับของฝรั่งเศส โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองไม่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ทำหน้าที่ชี้ขาดคดีเท่านั้น รัฐธรรมนูญกับกฎหมายคดีอาญานักการเมืองของเราจึงเขียนชัดเจนว่าให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก แต่ศาลอาจจะแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามสมควร นัยนี้ คือ การแบ่งแยกองค์กรแสวงหาข้อเท็จจริงออกจากองค์กรตัดสินคดี ป.ป.ช แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์ ส่วนศาลทำหน้าที่ตัดสินคดี การแสวงหาข้อเท็จจริงโดยศาลเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น

ตอนผมทำวิจัยเรื่องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2554-2555 ได้ไปค้นคว้าเอกสาร บทความต่างๆ  พบว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนมากและนักวิชาการ เห็นว่าป.ป.ช.ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้วก่อนส่งให้ศาล หากสำนวนสมบูรณ์แล้ว ศาลก็ดูแต่ข้อกฎหมาย และพิพากษาอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วางแนวเอาไว้ตอนปี 2546 ว่า ที่กฎหมายบอกให้ยึดสำนวนป.ป.ช. เป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าศาลทำอะไรไม่ได้เลย ศาลยึดตามสำนวน ป.ป.ช. แต่สามารถไต่สวนได้อีก


@เปิดช่องศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่ม 

ในมาตรา 6 ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคดีอาญานักการเมืองฉบับใหม่โดยเฉพาะในวรรคแรก เขียนเน้นมากขึ้นกว่าเดิม "ให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการรับฟังข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งพยานหลักฐานนั้นแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น" พอเขียนแบบนี้แล้วเท่ากับว่า ที่บอกให้ศาลยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักนั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะในท้ายที่สุดศาลก็ลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เต็มที่อยู่ดี ตกลงแล้ว เราต้องการให้ ป.ป.ช.เป็นอะไรกันแน่ ถ้าจะเอากันแบบนี้ จะมี ป.ป.ช. ไปทำไม ต่อไป ทำสำนวนหลวมๆ มา เอกสารไม่กี่ชิ้น พยานหลักฐานไม่มาก เสร็จแล้วมาถึงศาล ให้ศาลจัดการเอง แบบนี้หรือ?

ที่ผ่านมาศาลลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งศาลอ้างว่าเป็นระบบไต่สวน ศาลจึงมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้มาก อย่างไรก็ตาม ระบบไต่สวน ไม่ได้หมายความถึงระบบอะไรก็ได้ที่ศาลจะใช้ตามความต้องการ แต่อำนาจต่างๆ ตามระบบไต่สวนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานที่ให้หลักประกันสิทธิแก่คู่ความในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ได้แก่ หลักการต่อสู้โต้แย้ง หลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความ ดังนั้น ระบบไต่สวน จึงเป็นระบบที่ให้ศาลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการดำเนินกระบวนพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาและการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ต้องเคารพหลักการต่อสู้โต้แย้งและหลักความเสมอภาคระหว่างคู่ความด้วย

ในกรณีที่ศาลใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อเท็จจริงใดมา ก็ต้องเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้ง และการใช้มาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมของศาลนั้นก็ต้องไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ

วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศไทย รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเขียนไว้ชัดว่าให้ใช้ระบบไต่สวน แต่ยังเขียนด้วยว่า ในการพิจารณาคดี ให้ใช้สำนวน ป.ป.ช. เป็นหลัก นั่นหมายความว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงจนสมบูรณ์แล้ว ส่วนศาลมีหน้าที่ชี้ขาดพิพากษา หากศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก กฎหมายก็ยอมให้ทำได้ แต่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น หากศาลจะใช้ข้อยกเว้น ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระบบไต่สวน ก็ต้องไม่ทำให้ความเสมอภาคระหว่างโจทก์และจำเลยเสียไป หากรักษาดุลยภาพตรงนี้ไว้ไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่า ศาลลงไปช่วย ป.ป.ช. ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับจำเลย

ผมคิดว่า ป.ป.ช.ควรต้องทำหน้าที่นี้ หากเรายอมให้ ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงแบบไม่สมบูรณ์ แล้วก็ทำสำนวนให้เสร็จๆ ไปเพื่อชี้มูลความผิดไปก่อน แล้วเดี๋ยวให้ศาลฎีกาไปว่ากันเอง รับไปจัดการต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็กลายเป็นว่า ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นเดียวเป็นทั้งองค์กรผู้ไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง และเป็นทั้งองค์กรพิพากษาด้วย ลงไปหาทุกอย่างแล้วพิพากษาเอง เท่ากับไปรวมอำนาจอยู่ที่เดียว ไม่ได้ดุลยภาพ ศาลแบบนี้มีที่เดียว คือ ศาลไคฟงของเปาบุ้นจิ้น

ลองคิดเปรียบเทียบกับการดำเนินคดีอาญาตามระบบปกติดู ตำรวจ อัยการ ทำสำนวนมา ถ้าบรรยายฟ้องไม่ดี บรรยายไม่ครบองค์องค์ประกอบความผิด ข้อเท็จจริงอ่อนมาก ตัดสินลงโทษไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้องไป เราอาจเคยเห็นหลายคดีที่สะเทือนขวัญ ที่เป็นข่าวดังๆ สังคมคาใจมากว่าศาลยกฟ้องได้อย่างไร ก็อธิบายกันว่า สำนวนมันอ่อนมาแต่แรก พยานหลักฐานไม่สมบูรณ์มาแต่แรกแล้ว ศาลก็ต้องยกฟ้องไป แต่พอเป็นคดีอาญาของนักการเมือง บอกให้เอาสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก ถ้าสำนวนอ่อน ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะกระทบกับหลักความเสมอภาคของคู่ความ พอฝ่ายโจทก์ทำมาไม่ดี ศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มโดยอ้างอำนาจตามระบบไต่สวน แบบนี้จำเลยเขาก็ย่อมรู้สึกได้ว่าศาลต้องการเล่นงานเขาใช่หรือไม่ 

@ปลดล็อคพิจารณาคดีลับหลังจำเลย - ให้สิทธิในการตั้งทนายสู้ แต่การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอาจมีผลต่อการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน  

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเคร่งครัดกับเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก มีข้อยกเว้นให้ทำได้ไม่กี่เรื่องใน ป.วิอาญา มาตรา 172 ทวิเท่านั้น แนวของศาลไทยจึงไม่ยอมพิจารณาลับหลังจำเลยโดยเด็ดขาด เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม กรณีคดีอาญาของนักการเมืองกลับต่างออกไป เรายอมให้มีการดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ ตั้งแต่เริ่มใช้ระบบนี้ ในข้อกำหนดของศาลฎีกา 2543 ข้อ 10 เขียนไว้ชัดว่า ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้จำเลยมาปรากฏตัวในศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกเสียก่อน หากไม่มา ศาลจะพิจารณาคดีต่อไม่ได้ แต่ถ้ามานัดแรก แล้วนัดต่อๆ มา ไม่มา หรือหนีไป ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยได้ โดยศาลมองว่า การนำตัวจำเลยมานัดแรก แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมเข้าสู่อำนาจของศาลแล้ว หากต่อมาหลบหนีไป ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้

ที่ผ่านมา มีกรณีการพิจารณาลับหลังจำเลยเกิดขึ้นหลายกรณีแล้ว เช่น คดีกล้ายาง ซึ่งมีจำเลยหลายคน บางคนมา บางคนไม่มา รวมทั้งคดีที่ดินรัชดาด้วย แต่ก็มีอีกหลายคดีที่ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยต่อไปไม่ได้ เพราะจำเลยไม่มาศาลตั้งแต่นัดแรก ได้แก่ คดีที่คุณทักษิณถูกฟ้องหลายคดี

การพิจารณาคดีอาญานักการเมืองแบบลับหลังจำเลยนี้ ขัดหลักการต่อสู้โต้แย้ง และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ในขณะที่ระบบวิธีพิจารณาความอาญาปกติของไทย ยอมให้มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอย่างจำกัดมาก มีการอธิบายว่า วิธิพิจารณาความอาญานักการเมืองยอมให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ เพราะการพิจารณาคดียึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก เป็นการพิจารณาในทางเอกสารเป็นหลัก แม้จำเลยไม่อยู่ก็สามารถพิจารณาได้ เพราะศาลแทบไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเท่าไรแล้ว เนื่องจากใช้สำนวนของ ป.ป.ช. เหตุผลนี้ ก็พอรับฟังได้อยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า เกือบทุกคดี ศาลไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเสมอ เรียกบุคคล เรียกเอกสารใหม่มาสืบกันอยู่เสมอ เมื่อจำเลยไม่อยู่ ก็น่าคิดว่าการพิจารณาคดีต่อไปจะกระทบสิทธิในการต่อสู้หรือไม่

ร่างใหม่ที่ สนช.เพิ่งโหวตกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปลดล็อกหมดเลย ต่อจากนี้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทั้งหมด จากเดิมต้องเอาเขามาศาลให้ได้ครั้งหนึ่งก่อน แต่จากนี้แม้ว่าจะนำจำเลยมาศาลไม่ได้ ศาลก็ประทับรับฟ้องได้เลยแล้วออกหมายจับ ผ่านไปสามเดือนยังจับไม่ได้ ศาลก็พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทันที ตามที่ปรากฏในมาตรา 26, 27

กรธ.หลายท่านอ้างถึงกฎหมายฝรั่งเศส ที่จริงแล้วกฎหมายฝรั่งเศสมีปัญหาในตัวของมันอยู่หลายเรื่อง แต่ก่อนฝรั่งเศส อนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เรียกว่า "contumace" โดยระบบกฎหมายฝรั่งเศสมองว่าจำเลยสมัครใจที่จะสละสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพราะหนี ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายหากศาลอยากดำเนินคดีลับหลังก็ทำได้ โดยในการพิจารณาลับหลังนี้ พิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก ไม่มีการสืบพยานบุคคล ไม่มีการโต้แย้งทางวาจา ไม่มีลูกขุน และจำเลยที่หลบหนีไปจะตั้งทนายเข้ามาสู้คดีไม่ได้ 

ต่อมา ในปี 2001 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษฝรั่งเศส เพราะการดำเนินคดีลับหลังจำเลยที่ตัดสิทธิทนายจำเลยไม่ให้เข้าแก้ต่างในคดีนั้น ละเมิดต่อหลักการต่อสู้โต้แย้ง ขัดกับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรา6 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป จึงทำให้ฝรั่งเศสต้องแก้กฎหมายในปี 2004 เพื่อยกเลิก "contumace" และมาใช้วิธีพิจารณาลับหลังจำเลยในลักษณะที่ว่าถ้าหากจำเลยหนีไป แล้วอยากให้มีทนายมาสู้ก็ทำได้ แต่ถ้าจำเลยไม่มา ทนายก็ไม่มา ศาลมีทางเลือกว่าจะเลื่อนคดีออกไปหรือพิพากษาลับหลังไปเลยก็ได้ทำได้สองแบบ โดยจำเลยอุทธรณ์ไม่ได้ แต่ถ้าตามจับได้แล้วคดียังอยู่ในอายุความก็ต้องพิจารณาคดีใหม่อีกรอบหนึ่ง ทั้งหมดนี้ใช้กับคดีอาญาทั่วไป แต่ในส่วนคดีอาญาของนักการเมืองกฏหมายฝรั่งเศสยังกำหนดให้ดำเนินคดีแบบ  "contumace" ได้อยู่เฉพาะในความผิดอาญาที่มีโทษสูงระดับอุกฤษฏ์โทษ ซึ่งเป็นไปได้ว่ากฎหมายคดีอาญาทางการเมืองของฝรั่งเศสน่าจะขัดกับกฎหมายอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปอีกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหาในอนาคต เพราะระบบศาลพิเศษของฝรั่งเศสคงถูกยกเลิกไปเร็วๆ นี้

ที่ กรธ.อ้างว่าฝรั่งเศสก็ยอมให้ใช้ ก็มีส่วนถูก อีกประเทศที่มีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาก คืออิตาลี อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย หรือยอมให้มีแบบจำกัดจริงๆ ดังนั้น เรื่องแบบนี้จึงเป็นนิตินโยบายโดยแท้ ถ้าประเทศไหนยอมให้มีการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย แล้วจะขัดกับอนุสัญญายุโรป หรือ ICCPR หรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นเอา ซึ่งแนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาติตาม ICCPR ยอมรับให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ในฐานะเป็นข้อยกเว้น แต่ต้องมีมาตรการที่สร้างหลักประกันสิทธิในการต่อสู้โต้แย้งของจำเลยไว้ด้วย

ผมเห็นว่า หากเรายอมให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย อาจส่งผลถึงกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ได้ ในกรณีที่จำเลยหลบหนีไปต่างประเทศ ต่อมาศาลดำเนินคดีลับหลังจำเลย และพิพากษาลงโทษจำเลย จึงต้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จำเลยที่หลบหนีอยู่นั้น มักคัดค้านขอให้ประเทศที่ตนอยู่นั้นไม่ส่งกลับ โดยใช้ข้ออ้างว่า คดีของตนเกิดจากการพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ข้ออ้างนี้ใช้คัดค้านการส่งตัวกลับได้สำเร็จ

@จับตาคดี "ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์" หลัง ม.67 บทเฉพาะกาลมีผลย้อนหลัง

มาตรา 67 บทเฉพาะกาล ร่างแรกที่ทาง กรธ.เสนอ บอกว่าบทบัญญัติในกฎหมายประกอบฉบับใหม่นี้ไม่ให้ใช้แก่คดีก่อนหน้านั้น เว้นแต่เรื่องอุทธรณ์ นั่นเท่ากับว่าในสายตาของกรธ.มองว่า การอุทธรณ์เป็นคุณ จึงย้อนหลังได้ จำเลยมีสิทธิสู้คดีอีกชั้น ส่วนเรื่องอื่นเป็นโทษมีผลย้อนหลังไม่ได้ แต่เมื่อร่างไปถึง สนช.มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 67 อย่างมีนัยสำคัญ กฎหมายใหม่ให้ใช้กับคดีที่ฟ้องมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด เท่ากับว่าคดีของคุณทักษิณ กับคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องใช้ตามกฎหมายใหม่นี้ นั่นคือหากไม่ปรากฏตัวศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ระยะเวลาที่หลบหนีไม่นำมานับรวมเป็นอายุความ การหลบหนีไม่เป็นเหตุให้นำ ป.อาญา มาตรา 98 มาใช้ อย่างคดีที่ดินรัชดาที่คุณทักษิณโดนจำคุก 2 ปี หากผ่านไป 10 ปีนับจากวันพิพากษา ก็ไม่ต้องรับโทษแล้ว แต่กฎหมายใหม่ไม่ให้นำมาตรา 98 มาใช้ ดังนั้น จะผ่านไปกี่ปี โทษจำคุก 2 ปีนี้ก็ยังอยู่ แล้วก็คดีที่ฟ้องคุณทักษิณไว้ และศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวเพราะคุณทักษิณไม่มาศาลตั้งแต่แรก คดีพวกนี้ ศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้

ตามหลักแล้ว การใช้กฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายไม่สามารถทำได้ ความเห็นทั้งในทางตำราและคำพิพากษา บอกว่า "กฎหมายอาญา" ที่ห้ามใช้ย้อนหลังเป็นผลร้าย หมายถึง กฎหมายอาญาในส่วนสารบัญญัติเท่านั้น ได้แก่ การกำหนดฐานความผิด การกำหนดองค์ประกอบความผิด การกำหนดโทษ ส่วนกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ หรือกฎหมายวิธีพิจารณาความ ไม่อยู่ในความหมายนี้ ดังนั้น จึงใช้ย้อนหลังได้ กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติ ก็เช่น เขตอำนาจศาล การจัดองค์กรศาล เงื่อนไขการฟ้องคดี อายุความ พยานหลักฐาน เป็นต้น ดังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ เขตอำนาจศาล พยานหลักฐาน วิธีพิจารณาความ หากประสงค์ให้ใช้กับคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้า หรือการกระะทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็สามารถกำหนดลงไปให้ชัดเจนได้ในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่ คือ หากกฎหมายอาญาส่วนสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความที่ใช้ย้อนหลังนั้น มีอิทธิพลต่อกฎหมายอาญาส่วนสารบัญญัติ ส่งผลต่อความรุนแรงของโทษ อัตราโทษ ทำให้จำเลยต้องรับโทษเพิ่มขึ้น เช่นนี้ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอาญาส่วนสบัญญัตินั้นย้อนหลังได้

กรณีมาตรา 67 นี้ เขียนไว้แบบทั่วไป เพราะคงไม่มีใครกล้าเขียนกฎหมายเพื่อเจาะจงมาใช้กับคนใดคนหนึ่งแบบระบุชื่อลงไปแน่ จะมาเจาะจงเขียนว่ากฎหมายนี้ให้ใช้กับนายทักษิณ คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าดูบริบทแวดล้อมประกอบกัน ใครๆ ก็คงมองออกว่าการย้อนหลังนี้ต้องการใช้กับใคร คดีใด คุณคำนูณ คุณสุริยะใส ออกมาอธิบายเป็นฉากๆ ผู้สื่อข่าวเห็นแล้วก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ยังเอาไปสัมภาษณ์ผู้ร่างเลย

ผมเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทการเมืองไทยตั้งแต่ 2548 ประกอบด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายกรณีมีปัญหา มีข้อวิจารณ์จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ คดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พูดง่ายๆ คือ คดีที่พัวพันกับการเมืองอันเป็นผลมาจาก "ตุลาการภิวัตน์" มีคนจำนวนมากตั้งข้อสงสัย มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม คณะนิติราษฎร์จึงเคยเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แล้วเอาคดีพวกนี้มาเริ่มต้นใหม่ตามระบบปกติ พอมาวันนี้ มีการออกกฎหมายใหม่ย้อนหลังไปถึงคดีพวกนี้อีก แล้วคนออกเป็นใคร ก็เป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารทั้งนั้น ช่วงเวลาแห่งการออกคือตอนไหน ก็เป็นช่วงเวลาหลังรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลเลือกตั้งจากกลุ่มการเมืองกลุ่มเดิม ผมจึงเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรมเท่าไร โอเค อาจอธิบายจากหลักกฎหมายไปว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าเราพิจารณาตลอดสาย มันเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2549 ต่อเนื่องมาถึง 2557

@ระบบ "Concrete control" ของไทย หากคู่ความยื่นเรื่องตรวจสอบกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ศาลแห่งคดีต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเสมอ 

ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์ได้เสนอคำร้องต่อศาลฎีกาให้ส่งประเด็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ในกรณีที่ศาลจะนำกฎหมายมาใช้แก่คดี หากคู่ความเห็นว่า กฎหมายนั้นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ คู่ความอาจเสนอคำร้องให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ศาลแห่งคดีของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่ส่งประเด็นนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? คำตอบ คือ ไม่ได้ การตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม หรือ concrete control ในประเทศไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราใช้ระบบบังคับส่ง หมายความว่า เมื่อคู่ความโต้แย้งมา ศาลแห่งคดีต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ เพราะ มาตรา 212 ไม่มีส่วนที่ให้ศาลแห่งคดีใช้ดุลยพินิจไม่ส่งได้ เงื่อนไขเบื้องต้นของ 212 มีเพียงต้องเป็นประเด็นเรื่องกฎหมายที่จะใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ซึ่งกรณีที่เราพูดถึงอยู่นี้ เป็นกรณีที่โต้แย้งว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ขัดรัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน เพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 พึ่งประกาศใช้เอง

มาตรา 5 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ระบุว่า "การพิจารณาคดีให้ศาลยึดตามรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร" ฝ่ายคุณยิ่งลักษณ์โต้แย้งว่ามาตรานี้ขัดต่อมาตรา 235 วรรค 6 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า "การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาและเพื่อประโยชน์ต่อความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจในการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้"  ขณะที่ศาลได้นำมาตรา 5 มาใช้กับคดีแล้ว โดยศาลได้อนุญาตให้ป.ป.ช.นำพยานหลักฐานที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช.เพิ่มเข้ามา ทางจำเลยจึงโต้แย้งว่า นี่ไม่ได้อยู่ในสำนวนป.ป.ช. แต่ศาลอนุญาตให้นำเข้าโดยอ้างมาตรา 5 ว่า ศาลต้องยึดสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักก็จริง แต่ศาลอาจไต่สวนเพิ่มเติมได้ตามสมควร 

เท่าที่ผมตามความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว มีความเห็นเป็น 2 แบบ แบบแรกเห็นว่า มาตรา 5 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าถ้อยคำจะต่างกัน แต่เนื้อหาไม่ได้ต่างกัน และเป็นเอกลักษณ์ของระบบไต่สวนอยู่แล้วที่ให้อำนาจศาลแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ แบบสอง เห็นว่าขัด เพราะว่ามาตรา 5 บอกว่าศาลสามารถไต่สวนเพิ่มได้ตามสมควร คำว่า "ตามสมควร" เป็นดุลพินิจแท้ๆ ของศาล แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรรค 6 กำหนดว่า ศาลสามารถไต่สวนเพิ่มเติมได้ "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" เท่านั้น การไต่สวนของศาลนี้เป็นข้อยกเว้น ทำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งก็คือหลักประกันสิทธิของคู่ความทั้งหลาย เช่น การต่อสู้โต้แย้ง ความเสมอภาคระหว่างคู่ความ

มีข้อสังเกตน่าสนใจจากตัวร่างใหม่ที่สนช.โหวตผ่าน ในร่างแรกที่ กรธ.เสนอ มาตรา 6 เขียนเหมือนกับมาตรา 5 ของกฎหมายปัจจุบัน คือ "ตามสมควร" แต่พอถึงชั้น สนช. ได้แก้ไขมาตรา 6 ใหม่ โดยเขียนให้โดยมีนัยยะให้ล้อไปกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 6 โดยเพิ่มคำว่า"และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" เข้ามา นัยนี้หมายความว่า ถ้อยคำ "ตามสมควร" กับ "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม" นี้มีนัยต่างกันจริงๆ เพราะ ถ้ามีนัยไม่ต่างกัน สนช ก็ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนถ้อยคำนี้ให้ล้อตามรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อศาลฎีกาส่งประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลก็จะพิพากษาคดีจำนำข้าวไม่ได้ จึงมีคนคิดกันว่านี่คือการประวิงเวลาไว้ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีโอกาสถ่วงเวลา เพราะศาลแห่งคดีต้องหยุดกระบวนพิจารณาไว้เลย แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องมา 2560 เราได้แก้ปัญหานี้ไป โดยกำหนดว่า เมื่อศาลแห่งคดีส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลแห่งคดีสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ เพียงแต่ต้องรอการพิพากษาไว้ก่อน และในการตรวจสอบว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นาน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา พ.ร.ก. แรงงาน (1):เงื่อนไข ทางออกของกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม(น้อย)

Posted: 25 Jul 2017 09:37 AM PDT

ผู้แทนกระทรวงแรงงานเปิดแนวทางผ่อนปรนปัญหาหลัง พ.ร.ก. แรงงานผลักแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ อัด ค่าปรับถูกก็ไม่สะดุ้ง รัฐบาลไม่มีนโยบายจดทะเบียนใหม่ เปิดกระบวนการแจ้งขอพิสูจน์สัญชาติลูกจ้างทั่วประเทศ 15 วัน ย้ำไม่ใช่จดทะเบียนใหม่ ประชาสังคมชี้ เอกชนบ่นอุบทำตามกฎหมายไม่ได้ กระทรวงแรงงานต้องชัดเจนกันมือมืดหาประโยชน์บนความสับสน

 
เมื่อ 21 ก.ค. 2560 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ "นโยบายแรงงานต่างด้าว ตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 " ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
มีการเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน พิชิต นิลทองคำ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน นาวาเอกดรณ์ ทิพนันท์ จากกองทัพเรือ มาในฐานะผู้แทนจากหน่วยงานราชการอื่น  มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศใน มาในฐานะตัวแทนนายจ้าง ศ.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา และสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ตัวแทนภาคประชาสังคม ในงานมีป้ายตัวแทนลูกจ้างแต่ไม่มีใครมา มีผู้ให้ความสนใจเต็มห้องประชุม

ผู้แทนกระทรวงแรงงานอัด ค่าปรับถูกก็ไม่สะดุ้ง รัฐบาลไม่มีนโยบายจดทะเบียนใหม่

พิชิต นิลทองคำ
 
พิชิต กล่าวว่า แท้จริง พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เดิมก็มี พ.ร.บ. อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2521 และมี พ.ร.ก. การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปี 2559 บังคับอยู่แล้ว ในนั้นมีหลักเกณฑ์กำหนดการจ้างงานคนต่างด้าวอยู่แล้ว แต่ได้มีการรวมเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองมาเป็น พ.ร.ก. ฉบับใหม่ เนื้อหาส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ก็มาจากกฎหมายข้างต้น หลักเกณฑ์จริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่จะเพิ่มส่วนแก้ไขให้เป็นประโยชน์ทั้งกับนายจ้างและคนต่างด้าว รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมีโอกาสเข้ามาดูแลคนต่างด้าวที่ทำงานอยู่ กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองแรงงานต่างด้าวทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ช่างเทคนิค ช่างฝีมือต่างๆ อาจารย์ชาวต่างชาติที่มาทำงานในไทย ไม่ใช่เพียงแค่แรงงาน 3 สัญชาติ เมียนมาร์ เขมร ลาว เพียงแต่มามีการตื่นตระหนกเพราะอัตราค่าปรับใหม่สูงขึ้น แต่พอค่าปรับต่ำก็ใช้แรงงานผิดกฎหมายกันอยู่ดี
 
ก่อนที่จะมีการร่างกฎหมายมีการประชาสัมพันธ์แต่อาจจะทำไม่ทั่วถึง ก็ยอมรับว่าเป็นความผิดของกระทรวงแรงงาน แต่ก็ต้องอยู่ที่ความใส่ใจของผู้ที่จะใช้ด้วยเช่นกัน แต่พอกฎหมายออกมาแล้วก็มีผลกับเศรษฐกิจ เกิดความโกลาหล แรงงานต่างด้าวหลายคนตกใจและเดินทางกลับไป รัฐบาลก็ได้มีมาตรการให้ผ่อนคลายและให้ปรับตัว จึงมีการเลื่อนการบังคับใช้ในส่วนค่าปรับ แต่ตอนนี้ที่จ้างงานผิดกฎหมายก็ยังผิดอยู่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องเสีย โดยให้เวลา 6 เดือนไปดำเนินการให้ถูกต้อง แต่ที่มองวันนี้คือ คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่ในไทยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ จากข้อมูลกรมจัดหางานมียอดขออนุญาตทำงานทั้งสิ้น 2 ล้าน 6 แสนคน แต่จำนวนแรงงานต่างด้าวที่แท้จริงนั้นมีเท่าไหร่ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง ผลสำรวจบางสำนักก็คาดการณ์มากน้อยไม่เท่ากับขณะนี้มีคนมาอยู่ที่สมุทรสาครราว 2-3 ล้านคน แต่ที่สมุทรสาครมีคนขึ้นทะเบียนอยู่เดิม 4-5 แสนคน แปลว่าถ้าเดินชนคน 10 คน ก็คงเป็นคนต่างด้าวถึง 7 คน แต่ว่า 7 คนนั้นเป็นคนเถื่อนทั้งหมดหรือเปล่า แต่เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานนั้นทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อบางงานคนไทยไม่ทำ ลูกหลานเราไม่ทำ จึงมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามา แต่เราไม่อยากให้มีการใช้คนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะนั่นอาจจะนำไปสู่การบังคับแรงงาน ขัดหนี้แรงงาน กระทั่งไปสู่การค้ามนุษย์ การเข้ามาถูกต้องก็จะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ไปได้ แต่ ณ วันนี้ กฎหมายออกมาแล้วทำอย่างไร เมื่อมีปัญหา รัฐบาลก็มีมาตรการการผ่อนคลายซึ่งเน้นอยู่ที่คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ คือคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางรัฐบาลผ่อนผันให้นายจ้างนำคนต่างด้าวให้ไปดำเนินการให้ถูกต้องตาม กฎหมายภายในวันที่ 1 ม.ค. 2561 มาตรการดังกล่าวต้องการให้คนต่างด้าวไปทำเอกสารที่ประเทศต้นทางเสีย เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนคนต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้เปิดจดทะเบียนเพราะเปิดแล้วก็ไม่รู้จบ เรามีการเปิดจดทะเบียนครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ก็ยังมีการทะลักมาอย่างต่อเนื่อง 

เปิดกระบวนการแจ้งขอพิสูจน์สัญชาติลูกจ้างทั่วประเทศ 15 วัน เล็งประสานเมียนมาร์ - กัมพูชาตั้งศูนย์พิสูจน์ในไทย ย้ำไม่ใช่จดทะเบียนใหม่

พิชิตกล่าวว่า ในวันที่ 24-7 ก.ค. 2560 กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์รับแจ้งความต้องการของนายจ้าง เพื่อทราบข้อมูลว่านายจ้างมีคนอยู่ในมือเท่าไหร่ภายใน 15 วัน ถามว่าทำไมให้เวลาสั้นหนักหนา เพราะว่าถ้าหากนายจ้างมีคนอยู่ในมืออยู่แล้วก็แค่ให้ลูกจ้างกรอกเอกสารมายื่นให้ใช้เวลาวันเดียวก็น่าจะเสร็จแล้ว เราเปิดศูนย์ในการรับแจ้งทั่วประเทศในทุกจังหวัด ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างต่างด้าวอยู่ กรอกแบบฟอร์มจ้างคนต่างด้าวมายื่นให้ที่ศูนย์ฯ ภายใน 15 วัน เราจะได้รู้ว่ามีคนต่างด้าวที่ยังไม่จดทะเบียนเท่าไหร่ ใน กทม. คาดว่าจะมีจำนวนมาก จึงเปิด 10 ศูนย์ ประมาณจากยอดการจดทะเบียนครั้งล่าสุดของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มียอดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสูงสุดเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนคน ซึ่งเป็นการจดทะเบียนครั้งสุดท้ายของรัฐบาล กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา แรงงานเหล่านั้นก็ยังอนุญาตให้ทำงานอยู่ ครั้งสุดท้ายที่มีประกาศต่ออายุการทำงานในปี 2559 เหลือ 1 ล้าน 1 แสนคน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนนายจ้างหรือมีการเคลื่อนย้ายก็ว่ากันไป ครั้งนี้เราจึงเปิดรับแจ้งความต้องการสำหรับนายจ้างที่มีแรงงานทำงานอยู่แล้วเท่านั้น ยื่นเพื่อส่งตัวให้ลูกจ้างกลับไปขอรับเอกสารจากประเทศต้นทางแล้วกลับมาขออนุญาตทำงาน ตั้งแต่กระบวนการก่อนการส่งตัวต้องมีการคัดกรองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างก่อนหลังจากวันที่ 7 ส.ค. เมื่อปิดศูนย์ฯ เพื่อป้องกันการขนแรงงานเข้ามาใหม่ แล้วจึงจะให้ใบอนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางกลับทำเรื่องที่ประเทศต้นทาง 
 
ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้ประสานงานกับประเทศต้นทางไว้ ถ้าเมียนมาร์จะส่งเจ้าหน้าที่มาจัดตั้งศูนย์ตรวจสัญชาติและออกเอกสารให้คนของเขาในประเทศไทย ดังนั้นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ก็ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งขณะนี้เมียนมาร์เข้ามาดำเนินการให้กับแรงงานกลุ่มเดิมที่ถือบัตรชมพูในพื้นที่ 5 จังหวัด ที่สมุทรสาคร 2 แห่ง สมุทรปราการ 1 แห่ง ที่แม่สาย แม่สอด และระนองซึ่งเป็นชายแดน 3 แห่ง โดยศักยภาพการออกหนังสือให้อยู่ที่วันละ 500 คน รวมต่อวันสามารถทำได้วันละ 3,000 คน และทางเมียนมาร์จะส่งเจ้าหน้าที่มาเพิ่มเติมเพื่อออกหนังสือให้กับคนกลุ่มใหม่ด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการให้  ในส่วนกัมพูชา ได้มีการเจรจาให้กัมพูชาส่งทีมเข้ามาดำเนินการ โดยตั้งศูนย์อยู่ที่ระยอง แต่พร้อมกระจายคนออกไปในพื้นที่ที่มีคนทำงานเยอะเพื่อแรงงานจะได้ไม่ต้องเดินทาง หลังวันที่ 1 ม.ค. 2561 นายจ้างต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว บางท่านอาจจะบอกว่ายุ่งยาก แต่กฎหมายนี้เป็นการส่งเสริมการควบคุม ไม่ใช่กฎหมายในการส่งเสริมและให้บริการ เราอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามความจำเป็น มันก็ต้องมีกฎ กติกาที่ดูแลการเข้ามา มันต้องมีการดูแลจากประเทศต้นทาง ปลายทางเพราะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่นโยบายบริหารจัดการคนต่างด้าวต้องการจริงๆ คือ การขาดแคลนแรงงานเพราะคนไทยไม่ทำ แรงงานต่างด้าวก็เข้ามา เราไม่ได้ห้าม แต่ขอให้เข้ามาตามความจำเป็นและความเหมาะสม ให้สามารถควบคุมดูแลได้ไม่ให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวเป็นภาระของประเทศไทยที่ต้องมาช่วยดูแล ภาระขององค์กรภาคเอกชนที่ต้องเช้ามาช่วยเหลือเขา เกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างหรือกระบวนการที่พาเข้ามาก็ดี กฎหมายนี้มีกำหนดบทลงโทษทั้งนายจ้าง ผู้ลักลอบ และมีการเปิดช่องให้ผู้ประกอบธุรกิจการนำเข้าแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นคนกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้ และผ่อนผันในเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติในอดีตหลายๆ เรื่องให้มีประโยชน์มากขึ้น รวมถึงให้ทางภาคประชาสังคมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย
 
ในภาคการประมงที่เกี่ยวข้องที่มีปัญหาการขาดแคลนเพราะโดนกฎหมายหลายตัวบังคับ ทางภาครัฐก็พยายามช่วยดูแลในการเจรจากับประเทศต้นทางให้ส่งแรงงานเข้ามา ทั้งนี้ ประเทศต้นทางก็ยังรอดูท่าทีว่าไทยจะดูแลแรงงานของเขาได้ดีเพียงใด มีรายได้ สวัสดิการเหมาะสมหรือไม่เมื่อเทียบกับการทำงานบนบกที่สภาพการทำงานสะดวกสบายกว่า ภาครัฐก็ไปเจรจากับทางเมียนมาร์ กัมพูชา แต่ก็ยังมีคนที่ลักลอบเข้ามาทำงานอยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะดูแลอย่างไร ไม่ใช่กระทรวงแรงงานออกกฎหมายฉบับเดียวแล้วควบคุมได้หมดทุกเรื่อง ในด้านความมั่นคงพื้นที่ชายแดนก็ต้องช่วยกันดูแล เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาทำงานแล้วชุมชนก็มีปัญหาหลายเรื่องหลายอย่าง ก็ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับอื่น
 
พิชิตยังกล่าวในตอนท้ายงานเสวนาอีกว่า กฎหมายเมื่อออกมาแล้วก็เป็นนโยบายของรัฐ จะให้ยกเลิกนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะให้แก้ไขในส่วนที่มีข้อผิดพลาดคงมีความเป็นไปได้ กฎหมายลูกที่จะออกมาก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในประเด็นการผ่อนผันตามประกาศครั้งนี้ ทำให้คนที่ทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกี่วันก่อนมีประกาศให้กระทำการพิสูจน์ความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ใช่การจดทะเบียนแรงงานรอบใหม่ 
 
ผู้ตรวจการกรมจัดหางานกล่าวว่า ก่อนจะออก พ.ร.ก. ได้มีการเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามารับฟัง แต่การทำกฎหมายที่เร่งรีบ ทำให้การเชิญผู้มีส่วนได้เสียไม่ครอบคลุม มีการเชิญกลุ่มเอกชน กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ มีการจัดสัมมนา แต่อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด กฎหมายฉบับนี้ได้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักในการพิจารณา กระทรวงแรงงานไม่ได้คิดจะเพิ่มโทษให้สูงขนาดนี้ แต่ทางภาครัฐเห็นว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องที่ออกมาก่อน มีการกำหนดบทลงโทษไว้สูง เช่น พ.ร.ก. ประมง มีโทษปรับ 4 แสน - 8 แสนบาท และมีการลงโทษกับแรงงานต่างด้าว ก็เลยยกให้ พ.ร.ก. มีโทษในระดับเสมอกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมา รัฐบาลก็ย้อนกลับมาทบทวน โดยจะมีภาคประชาสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดูกันต่อไป ทางภาครัฐยอมรับทุกข้อคิดเห็นเมื่อมี พ.ร.ก. ออกมา ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีการพูดกัน  "แต่คนที่นั่งอยู่ในสภาก็มีการใช้คนต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านทำเอง แล้วท่านผลักดันเอง แล้วท่านไม่มีจิตสำนึกในการที่จะทำให้ถูกต้องหรืออย่างไร ให้เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องกับคนอื่น" ที่เขาจ้างได้เพราะเขาใช้อำนาจบารมีในการคุ้มครอง ไม่มีใครกล้าไปตรวจ แต่พอกฎหมายแรงขึ้นมาก็กลัว มาร้องโวยวาย โดยพิชิต กล่าวว่า ตนเองก็คิดว่าบทลงโทษที่ออกมานั้นแรงเกินไป แต่ต้องมองในอีกมุมว่าถ้าผู้คนมีจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ
 
ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บเงินกับชาวต่างด้าวที่เดินทางกลับนั้น พิชิตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับบุคคล องค์กร ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและรายงานเรื่องให้ภาครัฐทราบ

ประชาสังคมชี้ เอกชนบ่นอุบทำตามกฎหมายไม่ได้ กระทรวงแรงงานต้องชัดเจนกันมือมืดหาประโยชน์บนความสับสน

สมพงษ์ สระแก้ว

สมพงษ์ กล่าวว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่อง พ.ร.ก. ที่ออกมา ในส่วนธุรกิจส่วนหนึ่งก็บอกว่าควรยกเลิกแล้วเขียนใหม่ ส่วนคนที่เห็นด้วยก็คือภาครัฐที่จะมองในมิติความมั่นคงมากๆ ที่อยากจัดการเรื่องนี้ให้อยู่หมัด แต่การจัดการภาคประมงที่ทำให้อยู่หมัดมาแล้วก็ไม่เหมือนจัดการแรงงาน
 
เมื่อฟังจากผู้ประกอบการก็มักได้ยินว่า การปฏิบัติตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ ยิ่งเป็นการสร้างปัญหา เช่น กลุ่มที่มีเอกสารบัตรสีชมพูหรือหนังสือเดินทาง ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีอะไรเลย มีเงื่อนไขมากซึ่งไม่ถูกเขียนในกระดาษที่ว่า ถ้าจะเอาแรงงานที่ไม่มีอะไรเลยมาจ้างก็ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าทำงานกับผู้ประกอบการมาก่อน  6 เดือน แต่ปรากฎการณ์แห่เดินทางกลับที่เพิ่งเกิดจากผลการประกาศใช้กฎหมายและนโยบายต่างๆ ขึ้นก็ทำให้มีปัญหา แล้วถ้าแรงงานที่เพิ่งหาได้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า ในกรณีเหล่านี้จะยกหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจหรือไม่ ในเรื่องการจับกุม ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจ แต่ทหารกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็มีข่าวการเรียกรับสินบน ทางตำรวจก็บอกว่าไม่มีเอกสารก็กลับไม่ได้แม้รัฐบาลจะประกาศผ่อนปรนด้วย ม.44 ตรงนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานไม่สามารถที่จะอยู่แบบถูกต้องได้ เลยฟันธงว่า ถ้าช่วงนี้กระทรวงแรงงานไม่สามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบโดยตรงและชัดเจนให้ได้ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแรงงานในระบบมีจำนวนประมาณ 2 ล้าน 6 แสนคน ที่เหลือประมาณครึ่งคือทำงานผิดนายจ้างหรือทำงานผิดประเภท และมีอีกจำนวนมากที่ไม่ปรากฎในสารบบ ในสายตาผมคิดว่าคงประมาณ 2 ล้านคน ประมาณจากการผุดขึ้นมาของหอพัก โรงงานขึ้นมามากมายในสมุทรสาคร ก็ไม่รู้ว่าทั้งหมดจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรถ้าเจอเงื่อนไขลักษณะนี้ 
 
สุดท้ายกลุ่มเหล่านี้พอเจอเรื่องความตื่นตระหนก พากันกลับบ้าน ตอนนี้ก็ยังไหลกลับ แต่พอฟังความรู้สึกจากฝั่งพม่า ทางการพม่าก็คงรู้สึกคล้ายกับรัฐบาลไทยที่อยากให้การย้ายถิ่นเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่เมื่อเดินทางกลับไปแล้ว การจะกลับเข้ามาก็มีต้นทุนสูง แล้วจะต้องทำอย่างไร 
 
กลุ่มแรงงานที่ไม่มีอะไรจะต้องทำให้ง่ายและเงื่อนไขน้อย ถ้าเงื่อนไขเยอะจะเปิดช่องให้กับใคร เราก็ทราบกันอยู่ อยากให้มีมาตรการกับกลุ่มนี้เหมือนที่ทำตอนปี 2557 คือให้ขึ้นมาเลย แล้วรวมถึงกลุ่มผู้ติดตามที่กังวลกันว่าจะเป็นภาระ แต่เท่าที่ติดตามพบว่า กลุ่มดังกล่าวได้รับการศึกษา ฝึกทักษะ กลายเป็นแรงงานที่เป็นคุณภาพในสังคมไทย 
 
ขณะนี้เป็นช่วงที่งง เพราะนายจ้างรู้เรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก. และกระบวนการจดแจ้งน้อยมาก ตอนนี้แต่ละจังหวัดก็มีเรียกประชุมนายจ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าแต่ละจังหวัดพูดไม่เหมือนกัน เมื่อวานหลังประชุมเสร็จมีผู้ประกอบการมานั่งบ่นให้ฟังว่าทำไม่ได้ เพราะเจอเงื่อนไขการพิสูจน์ทราบความสัมพันธ์ ล่าสุดเมื่อวานทางเราไปช่วยเหลือแรงงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ แรงงานที่เข้ามากับนายหน้ามีแต่พาสปอร์ต แต่ไม่มีวีซ่าทำงาน โดยเงื่อนไขก็ต้องส่งกลับ แต่ถ้าส่งกลับไปแล้วทำอย่างไร ในเมื่อลงทุนมาแล้ว แล้วพอไปเจอขบวนการนายหน้าก็มาใหม่ ประเด็นนี้ต้องทบทวน ไม่เช่นนั้นจะสร้างปัญหาเรื้อรังแน่นอน
 
ในช่วงการวางเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ทางกระทรวงแรงงานบริหารจัดการให้ดี ต้องรับฟังผู้ประกอบการ ทางภาคประชาสังคมให้เยอะๆ เพราะพอผ่อนคลายแล้ว กระทรวงแรงงานเริ่มมีมาตรการออกมา เราได้รับการประชาสัมพันธ์เรื่อยๆ แล้วก็มีการเปลี่ยนเรื่อยๆ คนที่รู้เยอะกว่าคือพวกโบรคเกอร์ที่หากินกับเรื่องนี้ ทำให้ไม่รู้ว่าต้องเชื่อใครระหว่างภาครัฐกับโบรคเกอร์ที่คุยกันตลอด แล้วปัจจุบันส่วนที่กลับบ้านไป บางคนกลับไปแล้วก็ลักลอบกลับมาใหม่เพราะที่บ้านไม่มีอะไรทำ รอเวลาให้สถานการณ์ผ่อนคลาย แล้วกลุ่มนี้มาแล้วพอลงทะเบียนไม่ได้ ก็กลับไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายใหม่ ถ้าวางเงื่อนไขที่ไม่สามารถจัดการที่ดีได้ก็ไม่สำเร็จแน่นอน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรับฟ้องคดี 'ทนายประเวศ' รวม 13 กรรม ทั้ง ม.112 - ม.116 พ่วง พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 25 Jul 2017 06:48 AM PDT

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุวานนี้อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 'ทนายประเวศ' ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 10 กรรม และข้อหายุยงปลุกปั่น 3 กรรม และนำข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ประเวศ ประภานุกูล

25 ก.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทนายความของ ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ได้รับคำฟ้องในคดีที่ ประเวศ ตกเป็นจำเลยในคดีที่ตนโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 13 โพสต์ หลังจากศาลเบิกตัว ประเวศ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปฟังความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกเมื่อวานนี้

อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่าในระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-23 เม.ย. 2560 ประเวศได้กระทำความผิดรวมทั้งหมด 13 กรรม โดยเป็นการกระทำความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวม 10 กรรม และในข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) รวม 3 กรรม

นอกจากนั้นในการกระทำทั้ง 13 กรรมข้างต้น อัยการได้ฟ้องในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 รวมด้วย และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 พ.ศ.2549

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ประเวศ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เช้าวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมเพราะเหตุใด ก่อนจะพาตัวไปที่ มณฑลทหารบกที่ 11 เขาถูกสอบปากคำ และซักถามประวัติส่วนตัว ซึ่งประเวศให้ความร่วมมือ และยอมลงชื่อในเอกสาร เพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างนั้นเขาขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ให้ประกันคดีปาระเบิด แต่ฝากขัง 'แหวน' ต่อคดี 112–วาสนาได้ปล่อยแล้ว

Posted: 25 Jul 2017 04:18 AM PDT

ความคืบหน้า ตร.อายัดตัว 2 ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาหลังได้ประกันตัว วาสนาได้ปล่อยตัวแล้ว เหตุอายัดซ้ำซ้อนคดีเดิม ส่วนแหวนพยานปากเอกคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ศาลทหารอนุมัติฝากขังต่อคดี 112 ทนายชี้ ตร.แจ้งข้อหาไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนระหว่างถูกขังแต่ไม่ดำเนินการใดๆ เพิ่งขยับหลังประกันตัวได้

ภาพเหตุปาระเบิดศาลอาญา  7 มี.ค.58 (ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ)

25 ก.ค.2560 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า กรณีณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน และวาสนา บุษดี ผู้ต้องหา 2 คนที่ถูกอายัดตัวไปคุมขังต่อหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวในคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา (อ่านที่นี่) โดยวาสนานั้นได้รับการปล่อยตัวจาก สน.โชคชัยแล้วเนื่องจากอายัดตัวในคดีที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแล้วทั้ง 2 คดี ส่วนแหวนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามนำตัวฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพฯ บ่ายวันนี้ ทนายความได้คัดค้านการฝากขัง รวมทั้งยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี ศาลทหารพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาถูกจับตามหมายจับ ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต

ทั้งนี้ ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาแล้ว 2 ปี 4 เดือน จากเหตุการณ์ที่มีผู้ปาระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ลานจอดรถศาลอาญา เกิดขึ้นคืนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 ทำให้ลานจอดรถได้รับความเสียหายทำให้เศษปูนแตกกระจายทั่วบริเวณกว้างตประมาณ 5 เมตร (อ่านที่นี่) เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมชายผู้ก่อเหตุในที่เกิดเหตุได้ 2 คน จากนั้นได้จับกุมคนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้น 16 คน (อ่านที่นี่) ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหลายวันก่อนจะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝากขังยังเรือนจำ ช่วงสองเดือนแรกมีผู้ได้รับการประกันตัว 2 ราย จากนั้นผ่านไปอีกราว 2 ปีมีการสืบพยานโจทก์ไปแล้วหลายปาก จึงมีผู้ได้รับการประกันตัวเพิ่มอีก 4 ราย ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการประกันตัวเพิ่มอีก 4 ราย แต่ ณัฏฐธิดาและวาสนาถูกตำรวจอายัดตัว ขณะนี้ยังเหลือผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอีก 6 ราย รวมทั้งณัฎฐธิดาอีก 1 คน

สำหรับกรณีของณัฏฐธิดา วิญญัติกล่าวว่า คดีความผิดตามมาตรา 112 หลักฐานที่ใช้กล่าวหาคือการสนทนาในไลน์ซึ่งตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแหวนไว้ตั้งแต่เดือนมีนานคม 2558 ขณะที่แหวนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วยคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาโดยไม่ดำเนินการใด

"เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาตั้งแต่ปี 58 ที่เธอถูกควบคุมตัวในเรือนจำ หากเจ้าหน้าที่พบว่ามีมูลความผิดก็ควรจะดำเนินการสอบสวนและส่งฟ้องในช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวกว่า 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ไม่ใช่พอเขาประกันตัวจะได้รับอิสรภาพก็ค่อยมาอายัดตัวฝากขังอีก เหมือนการฝากขังซ้ำแล้วซ้ำเล่า" วิญญัติกล่าว

"คดีนี้มีการออกหมายจับไว้ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2558 เบื้องต้นทราบว่า พฤติการณ์ที่อ้างการกระทำความผิดจากการโพสต์ข้อความใน LINE เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังจากถูกควบคุมตัวโดยทหารแล้ว มือถือถูกยึดและขอรหัสการเข้าถึงไปตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2558" วิญญัติระบุ

กรณีของวาสนานั้น วิญญัติกล่าวว่า เนื่องจากคดีปาระเบิดฯ นั้นมีการส่งฟ้องแบ่งเป็น 2 คดี และวาสนาซึ่งมีพฤติการณ์อย่างเดียวในการรับจ้างโอนเงินโดยได้ค่าจ้าง 200 บาทนั้นถูกส่งฟ้องทั้ง 2 คดี อย่างไรก็ตาม ในการยื่นประกันตัวทนายความได้ยื่นประกันตัวในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยและศาลอนุญาต แต่ตำรวจ สน.โชคชัยยังคงมาอายัดตัวในคดีที่สองอาจเป็นเพราะยังไม่ทราบว่ามีการฟ้องศาลแล้ว จึงได้ประสานไปยังอัยการทหารให้แจ้งตำรวจว่าคดีที่สองนั้นก็ได้ส่งฟ้องศาลแล้ว และทนายความได้ยื่นประกันตัวไปแล้ว จนกระทั่งวาสนาได้รับการปล่อยตัวเมื่อบ่ายวันนี้

วิญญัติอธิบายเพิ่มเติมถึงการแยกฟ้องเป็น 2 คดีในศาลทหารว่า คดีแรกมีผู้ต้องหา 14 คน คดีที่สองมีผู้ต้องหา 6 คนซึ่งเป็นส่วนของผู้ที่เกี่ยวพันกับการโอนเงินจ้างวาน อย่างไรก็ตาม มี 2 คนที่โดนฟ้องทั้งสองคดี คือ วาสนา บุษดี และสุภาพร มิตรอารักษ์ ส่วนข้อหาของทั้งสองคดีนั้นแทบจะเหมือนกันคือเป็นความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร, ร่วมกันก่อการร้าย, มีวัตถุระเบิดในครอบครอง เพียงแต่ในคดีแรกได้เพิ่มเติมข้อหาพยายามฆ่า รปภ.ของศาลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเข้ามาด้วย สำหรับความคืบหน้าของทั้งสองคดีนั้น ผ่านมา 2 ปี 4 เดือน คดีแรกสืบพยานโจทก์ไปได้ราว 7 ปากและยังเหลืออีกเกือบร้อยปาก คดีที่สองสืบพยานโจทก์ไปได้ราว 4 ปากและยังเหลือเกือบร้อยปากเช่นกัน (อ่านที่นี่)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิ่นแก้ว ชี้ความเข้าใจผิดภาคประชาชน ทุนนิยมสามานย์ ≠ ระบอบทักษิณ

Posted: 25 Jul 2017 03:10 AM PDT

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อภิปรายความเข้าใจผิดที่ว่า 'ทุนนิยมสามานย์' เท่ากับ 'ระบอบทักษิณ' หรือความเชื่อที่ว่า 'รัฐบาลเผด็จการทหาร' หรือ 'เลือกตั้ง' ก็ไม่เห็นหัวชาวบ้านเหมือนๆ กัน พร้อมทั้งชี้ว่า จริงๆ แล้วชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร 

25 ก.ค. 2560 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เวทีเสวนา "สถานการณ์ประชาชนอีสาน ภายใต้การรัฐประหาร 3 ปีผ่านไปเกิดอะไรขึ้นบ้าง" ในอีสานกลางกรุง ครั้งที่ 2  "แถลงผลกระทบ 3 ปี ของประชาชน" นั้น รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึง 'ระบอบเผด็จการกับทุนนิยมสามานย์'

ความเชื่อผิดๆ ว่าด้วย ล้มล้างรัฐบาลทักษิณเท่ากับ ยุติระบอบทุนนิยมสามานย์

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กับระบอบการเมือง เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักในสังคมไทย ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะความเชื่อโดยนัยว่า ระบบเศรษฐกิจประเภทนี้หากไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปลอดพ้นจากการเมือง ก็เป็นผลผลิตเฉพาะของการเมืองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น การพยายามล้มล้างทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ภายใต้คำเรียก "ทุนนิยมสามานย์" ในความหมายที่คนไทยใช้กัน คือ การให้อำนาจกับตลาดในการควบคุมกำกับทุกอย่าง และคอรัปชั่นอันเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดระหว่างรัฐกับตลาด และการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ในทางรูปธรรม วิธีคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่ความเชื่อผิดๆ อย่างน้อย 2 ประเภท ที่ได้สร้างหายนะให้กับสังคม ทรัพยากร วิถีชีวิตของชุมชน และขบวนการภาคประชาชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเชื่อประเภทแรก ได้แก่ การล้มล้างรัฐบาลทักษิณ เท่ากับเป็นการยุติระบอบทุนนิยมสามานย์ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่ามีแต่รัฐที่มาจากนักการเมืองเท่านั้น ที่ผลิตสร้างระบอบทุนนิยมที่พล่าผลาญทรัพยากร แปรรูปทรัพย์สินส่วนร่วม นำกลไกตลาดเข้ามาบริหารจัดการสังคม และใช้เป้าหมายของตลาด เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศ
 
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ความเชื่อประเภทดังกล่าวนี้ ยังนำไปสู่ความคิดอีกสองประเภทที่มีปัญหาคือ มีแต่นักการเมืองเท่านั้น ที่เล่นการเมือง และที่กอบโกยผลประโยชน์จากทุนนิยมสามานย์ และทหารหรือรัฐทหาร ไม่ใช่นักการเมือง ระบอบทหารกับระบอบทุนนิยมสามานย์ เป็นสองระบอบที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน การล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทน จึงเป็นเรื่องเดียวกัน และมีความสำคัญมากกว่าการต่อสู้กับเผด็จการ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่า เผด็จการกับทุนนิยม ไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน หรือกล่าวให้ชัดคือ ได้รัฐเผด็จการมา ยังดีกว่าตกอยู่ใต้รัฐทุนนิยมสามานย์ หรือทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่น่าสนใจคือ เราพบความคิดประเภทนี้ ในหมู่ชนชั้นกลาง ที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน และในฝ่ายซ้าย ที่เคยผ่านการต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว รวมทั้งเอ็นจีโอ และภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง
 
ฐานคิดประเภทนี้ มีเดิมพันที่สูงมาก เพราะเชื่อว่าการปิดประเทศ ล้มเลือกตั้ง มอบอำนาจให้กับรัฐทหาร สร้างสุญญากาศทางการเมือง แล้วจะสามารถปฏิรูปสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ให้ปลอดพันจากทุนนิยมสามานย์ได้ และนั่นเป็นที่มาของข้อเสนอเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตอนนี้ เราก็ได้มาแล้วซึ่ง สุญญากาศทางการเมือง ที่ซึ่งหลักนิติธรรมทั้งหลาย ถูกแขวนไว้กลางอากาศ แต่ระบอบทุนนิยมสามานย์กลับยังทำงานเป็นปกติ และทำงานโดยไร้สิ่งกีดขวางเสียด้วย

ความเชื่อผิดๆ ที่ว่า รบ.นักการเมือง-ทหาร ต่างก็ไม่เห็นหัวประชาชนทั้งนั้น

สำหรับความเชื่อที่ผิดๆ ประเภทที่สอง รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่าคือ ความคิดที่ว่าไม่ว่ารัฐบาลประเภทใด ก็สามานย์เหมือนๆ กัน รัฐบาลนักการเมือง รัฐบาลทหาร ต่างก็ไม่เห็นหัวประชาชนทั้งนั้น ดังนั้น ระบอบการเมืองใดๆ ย่อมไม่สลักสำคัญ ผู้ที่เชื่อในความคิดประเภทนี้ วางตนเองอยู่นอกอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และสามารถทำงานกับรัฐทุกประเภท สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือ ขอเพียงรัฐ ไม่ว่ารัฐใด สามารถช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของพวกเขาก็เพียงพอแล้ว

สำหรับสาเหตุของความเชื่อทั้งสองประเภทนี้ วางอยู่บนความเข้าใจที่ผิดนั้น รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายว่า หากผู้ที่เชื่อในความคิดดังกล่าว มองออกไปในประวัติศาสตร์ของรัฐเผด็จการทั่วโลก ก็จะพบว่า แทบจะไม่มีรัฐทหารใด ที่ไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ งานศึกษาเกี่ยวกับระบอบเผด็จการกับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ได้ชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ทำงานได้ดีภายใต้ระบอบเผด็จการ มากเสียยิ่งกว่าภายใต้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเสียอีก 

ยิ่งรัฐทหารเผด็จการรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสริมทุนนิยมสามานย์หนักขึ้นเท่านั้น

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ในหลายๆ กรณี ยิ่งรัฐทหารเผด็จการรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนทุนนิยมสามานย์หนักขึ้นเท่านั้น รัฐบาลเผด็จการชิลี ภายใต้นายพลปิโนเชต์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารที่นำเอาทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาใช้เป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกา และถูกยกให้เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ ปิโนเชต์ปกครองชิลีอยู่ 17 ปี และทำทุกอย่างที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จะทำได้ แปรรูปกิจการรัฐ และรัฐวิสาหกิจ แปรรูปทรัพยากรสาธารณะและทรัพยากรชุมชนเป็นสินค้า นำที่ดินไปมอบแก่นายทุนเพื่อสร้างกำไร ตัดงบประมาณภาครัฐในการดูแลสวัสดิการของประชาชน ใช้กลไกตลาดในการบริหารจัดการประเทศ ทุบทำลายกิจการรายย่อย เปิดทางให้ทุนขนาดใหญ่เข้าแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ เป็นยุคที่เทคโนแครตเสรีนิยมใหม่เรืองอำนาจ ชนชั้นนำ และชนชั้นนายทุนร่ำรวยและกอบโกยผลประโยชน์ มีการอวดอ้างว่าเผด็จการชิลี ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติจากทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ในขณะที่คนจน ชาวชนบทกลับถูกเบียดขับออกจากที่ดินและทรัพยากรของตนอย่างกว้างขวาง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อให้เกิดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนอย่างหนัก แม้สิ้นสุดยุคของเผด็จการปิโนเชต์ในปี 2533 รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาแทนที่ ก็ยังรับทอดเอานโยบายทุนนิยมของเผด็จการมาใช้ต่อมา สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเผด็จการในลาตินอเมริกา ต่างก็กระสันอยากจะเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่กันทั้งนั้น และมองไปยังชิลีในฐานะต้นแบบ

การกล่าวเช่นนี้ ฟังดูเผินๆ อาจเข้าใจว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความเชื่อประเภทที่สอง ก็น่าจะถูก กล่าวคือ ไม่ว่ารัฐบาลประเภทไหน ก็เหมือนกัน ทุกๆ รัฐต่างก็เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ชนชั้นนำ ไม่ว่ารัฐเผด็จการ หรือรัฐประชาธิปไตย ต่างก็เป็นรัฐที่ค้ำจุนทุนนิยมสามานย์ที่ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนๆกัน ความเชื่อประเภทนี้ ถูกแค่ครึ่งเดียว แม้ว่ารัฐทุกรัฐ ไม่ว่าจะระบอบการเมืองใด เผด็จการ สังคมนิยม ประชาธิปไตย ต่างก็เป็นรัฐที่ค้ำจุนระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กันทั้งสิ้น แต่รัฐภายใต้ระบอบการเมืองที่ต่างกัน ใช้มรรควิธีทางการเมืองที่ต่างกันในการผลักดันทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่เผด็จการในชิลีผลักดันการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เป็นสองทศวรรษแห่งความรุนแรง กวาดจับและกดปราบประชาชน ที่ได้นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐในยุคหลังปิโนเชต์ รัฐในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุด ไม่สามารถทุบทำลายกลไกของการตรวจสอบ การถ่วงดุล การคัดง้างได้โดยง่าย รัฐทุกรัฐ ต่างมีแนวโน้มในการโอบรับเอาทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็นแนวทางเศรษฐกระแสหลัก นั่นคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ในรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกของประชาชน "จำนวน" ของประชาชน ย่อมมีน้ำหนักในการคัดง้างกับรัฐ และอย่างน้อยที่สุด การอ้าปากแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การชุมนุมโดยสันติ ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ ความแตกต่างในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในรัฐทหารที่ไม่มีความเกาะเกี่ยว หรือยึดโยงใดๆกับประชาชน ไม่ได้ถูกเลือกโดยประชาชน การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ การทำลายเศรษฐกิจรายย่อย เพื่อผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่ จึงสามารถดำเนินไปได้อย่างรุนแรง และกว้างขวางกว่าในรัฐที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เราจึงไม่แปลกใจ ที่เห็นว่า เพื่อจะเดินหน้าผลักดันทุนนิยมสามานย์ได้อย่างราบรื่น สิ่งที่รัฐเผด็จการทำคือ บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และโอกาสที่คนในสังคมจะสามารถออกมาขัดขวางการสมรู้ร่วมคิดระหว่างรัฐทหารกับทุน วาทกรรมจอมปลอมรายวัน อาทิ ธรรมาธิปไตยนั้น ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการฉาบหน้าระบอบอันฉ้อฉล ด้วยศีลธรรมที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ปฏิบัติภายใต้ระบอบทหาร

เหตุใดรัฐเผด็จการจึงสนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ทหารนั้นไม่ได้รับใช้ทุนนิยม หรือถูกนายทุนใช้เป็นเครื่องมือ แต่ตัวทหารเองนั่นแหละ เป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมสามานย์ ใช้กลไกของรัฐ เพื่อสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับใช้ความมั่งคั่งของชนชั้นตนเอง บนความทุกข์ยากของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐที่ประกอบไปด้วยนักการเมือง รัฐเผด็จการสนับสนุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง งานศึกษาเรื่อง "Military Regimes, Neoliberal Restructuring, and Economic Development: Reassessing the Chilean Case" โดย Glen Biglaiser (1999) ได้ชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐเผด็จการใช้ในการผนึกรวมอำนาจของตน เพื่อเป้าประสงค์ในการครองอำนาจในระยะยาว สิ่งที่รัฐทหารสนใจ จึงไม่ใช่เรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชน หากแต่เป็นคำถามที่ว่าจะสร้างฐานอำนาจของตนที่มั่นคงได้อย่างไร การเรียกใช้นักเศรษฐศาสตร์บริกร จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งนี้ ตัวเลือกของนโยบายเศรษฐกิจประเภทใด จะถูกนำมาใช้ ขึ้นอยู่กับว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในของกลุ่มทหารเป็นอย่างไร ในยุคของปิโนเชต์ การขายทอดกิจการรัฐให้เอกชน การลดการสนับสนุนสวัสดิการทางสังคมลง ดำเนินไปพร้อมๆกับการเพิ่มงบประมาณกองทัพ การแต่งตั้งให้ผู้นำเหล่าทัพต่างๆไปนั่งบริหารในกระทรวงและวิสาหกิจต่างๆ และการใช้เทคโนแครทเสรีนิยมใหม่ในการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจ ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ และคัดง้างกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ในรัฐเผด็จการที่สามารถรวบอำนาจอยู่ในตัวผู้นำคนเดียว การ "ปฏิรูปเศรษฐกิจ" จะดำเนินไปอย่างถอนรากถอนโคน ในขณะที่ในรัฐที่มี faction มาก การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจดำเนินไปท่ามกลางการคานอำนาจ และการแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความจงรักภักดีผ่านการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนและลดแรงเสียดทานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในชิลี อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ต่างก็มีหน้าตาที่แตกต่างกัน  ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครอง กับระบอบเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก น่าเสียดายที่จนเดี๋ยวนี้ เรายังไม่พบงานศึกษาประเภทนี้ในไทยเลย

ชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านย่อมไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่กับบริษัทเพียงบริษัทเดียว นายทุนคนเดียว โครงการเดียว หรือนโยบายใดนโยบายหนึ่ง หากแต่เป็นการต่อสู้กับ "ระบอบ" ที่เอื้ออำนวย และให้อภิสิทธิ์กับทุนอุตสาหกรรมในการเข้ายึดฉวยทรัพยากร การทำความเข้าใจกับโครงสร้างอำนาจที่ควบคุมกำกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับชาวบ้าน และโอกาสในการต่อรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้ระบอบการเมืองใด ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถพัฒนากลไกในการต่อรองได้ สามารถรวมกลุ่มในการแสดงออกได้ และสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้? หากพิจารณาจากมิตินี้ การต่อสู้กับทุนนิยมสามานย์ จึงเป็นสิ่งเดียวกับการต่อสู้เพื่อเพิ่มฐานอำนาจในการต่อรองให้ขบวนการของประชาชน และการจะทำเช่นนั้นได้ มีความจำเป็นต้องยกระดับความทุกข์ยากให้กว้างขวางกว่าเพียงความทุกข์ยากรายประเด็น เพราะสิ่งที่กลไกตลาดภายใต้รัฐเผด็จการกระทำต่อสังคมในปัจจุบัน ได้สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถร้อยรัดความทุกข์ยากเหล่านี้ให้เป็นความทุกข์ยากสาธารณะ และให้เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่สามารถสร้างแนวร่วมได้กว้างขวางระดับสังคมได้

การต่อสู้กับระบอบทุนนิยมสามานย์นั้น เป็นการต่อสู้ตลอดชีวิต คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองอย่างไร จึงจะเอื้ออำนวยต่อการต่อสู้ของชาวบ้านได้มากที่สุด จะต่อสู้อย่างไร จึงจะสามารถพัฒนากลไกพื้นฐานที่จะสามารถช่วยให้ชาวบ้านได้มีเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการต่อสู้ได้มากที่สุด และเมื่อเป็นเช่นนั้น การคิดทางลัด จึงเป็นส่ิงที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญที่สุด ไม่ใช่เพราะว่าเป็นระบอบที่สร้างทุนนิยมที่สามานย์น้อยหรือมากกว่าระบอบใด หากแต่เพราะเป็นระบอบที่ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างพันธมิตรเพื่อการต่อสู้ได้กว้างขวางที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดือน มิ.ย. ผู้ประกันตนว่างงาน 156,587 คน สูงสุดตั้งแต่ ม.ค. 2560

Posted: 25 Jul 2017 02:33 AM PDT

เดือน มิ.ย. 2560 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมว่างงาน 156,587 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.86% เมื่อเทียบกับปี 2559 และสูงที่สุดในปี 2560 นี้

 
25 ก.ค. 2560 สำนักเศรษฐกิจการแรงงานเปิดเผยตัวเลข เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน มิถุนายน 2560 การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,601,371 คน มีอัตราการขยายตัว 2.16% (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,377,038 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 224,333 คน สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม มีจำนวน 156,587 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 2.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.56% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวน 155,719 คนอัตราการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 1.48 อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,701 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ร้อยละ 0.23
 
ในด้านสถานการณ์การจ้างงานจากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,601,371 คน มีอัตราการขยายตัว 2.16% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนมิถุนายน 2559) ซึ่งมีจำนวน 10,377,038 คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนมิถุนายน 2560 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่าในเดือนมิถุนายน 2560 มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 2.16% ขยายตัวจากเดือนพฤษภาคม 2560 (YoY) ซึ่งอยู่ที่ 1.89% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ
 
 
 
ด้านสถานการณ์การว่างงาน จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 156,587 คน มีอัตราการขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 2.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนมิถุนายน 2559) ซึ่งมีจำนวน 152,240 คนและเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2560) พบว่ามีจำนวน 155,719 คน โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.56% (MoM) และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 1.48% มีอัตราคงที่เมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.48% เช่นเดียวกัน โดยอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ที่ 1.1 % (มิถุนายน 2560)
 
 
ด้านสถานการณ์การเลิกจ้างอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คิดจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ต่อจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือนมิถุนายน 2560 ผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,701 คน คิดเป็นร้อยละ 0.20 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ร้อยละ 0.23 และลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 0.27
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการสั่งฟ้อง '7 แม่หญิงเลย' เหตุขวาง 'สภา อบต.เขาหลวง' ต่ออายุเหมืองทองใช้ที่ป่า-ส.ป.ก.

Posted: 25 Jul 2017 02:04 AM PDT

อัยการสั่งฟ้อง '7 แม่หญิงเลย' ชุมนุมสาธารณะ เหตุขวางสภา อบต.เขาหลวงพิจารณาต่ออายุเหมืองทองใช้ที่ป่า-ส.ป.ก. ศาลนัดพร้อมในวันที่ 11 ส.ค.นี้

25 ก.ค. 2560 เฟซบุ๊กแนเพจ 'เหมืองแร่ เมืองเลย V2' โพสต์รายงานว่า วันนี้ (25 ก.ค.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้เดินทางมาให้กำลังแม่หญิงชาวบ้าน 7 คน ณ สำนักงานอัยการจังหวัดเลย เพื่อฟังว่าจะมีการสั่งฟ้องชาวบ้านหรือไม่ ในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก และรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ 

รายงานข่าวระบุว่าเมื่อเวลา 10.32 น. อัยการได้สั่งฟ้องแม่หญิงทั้ง 7 คน ประกอบด้วย วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ลำเพลิน เรืองฤทธิ์ มล คุณนา พรทิพย์ หงชัย ระนอง กองแสน บุญแรง ศรีทอง และสุพัฒน์ คุณนา และตำรวจนำทั้ง 7 คน มาทำเรื่องประกันตัวที่ศาลจังหวัดเลย

ต่อมาเวลา 14.40 น. ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ต้องหาต้องมาตามกำหนดนัดของศาล ซึ่งศาลนัดพร้อมในวันที่ 11 ส.ค.นี้

สำหรับ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 ชาวบ้านกว่า 150 คน ได้เข้าร่วมการประชุมสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามคำเชิญของสภา อบต. เพื่อติดตามการประชุมสภาฯ ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้เรียกร้องให้ถอนวาระดังกล่าวออกจากวาระการประชุม และนำไปสู่การยกเลิกการประชุมดังกล่าว

ต่อมา สมาชิก อบต. 16 คน ซึ่งเห็นด้วยกับการต่อหนังสืออนุญาตดังกล่าว ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบน 16 คน ให้กระทำหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน  จากนั้น เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2560 อัยการได้ร้องขอเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมให้แม่หญิงทั้ง 7 คน ในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามถึง สมช.และ กอ.รมน.1: พิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา แล้วไทยจะไปยังไงต่อ?

Posted: 25 Jul 2017 01:52 AM PDT

คำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม อาจได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่สามารถเอาผิดขบวนการค้ามนุษย์ที่มีลักษณะเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่มีจำเลยมากกว่าร้อยคน แต่ก็นั่นแหล่ะ ยังคงมีคำถามถึงการขยายผล การติดตามผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอีกกว่าครึ่งร้อย กระบวนการพิจารณาคดีที่ปิดลับ โดยเฉพาะเมื่อสืบถึงพลโทมนัส อีกหลายคำถามที่อาจมีคนสนใจหาคำตอบน้อยลงไปเรื่อยๆ นอกเหนือจากการอุทธรณ์ทางกฎหมายที่ยังต้องสู้กันต่อไป การสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาและความท้าทายที่ยังคงปรากฎอยู่ต่อหน้าพวกเรา อย่างน้อยมีเรื่องใหญ่ที่ควรได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างจริง รวมถึงการจัดการกับความท้าทายที่ยังคงรอเราให้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไข คือ หนึ่งการให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงจัดการกับการเคลื่อนย้ายของผู้ในพื้นที่ชายแดนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นนั้นมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ และสองการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายชาวโรฮิงญาเกือบสองร้อยคน ที่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน


ปัญหาของยุทธศาสตร์การจัดการคนเคลื่อนย้ายบนแนวคิดความมั่นคง

คำพิพากษาในคดีนี้ได้แสดงให้เห็นรายละเอียดของปรากฎการณ์การดำเนินนโยบายลับของหน่วยงานความมั่นคงภายใต้ข้ออ้างความมั่นคงของชาติที่สอดคล้องกับขบวนการนอกกฎหมายในพื้นชายแดน ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจกลับแสวงหาผลประโยชน์จากทั้งงบประมาณของรัฐ เงินสนับสนุนหน่วยงานจากเอกชน และการเรียกผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่แสวงหาการปกป้องคุ้มครองจากบ้านเกิด ยุทธศาสตร์การจัดการคนหลบหนีเข้าเมือง แผนพิทักษ์อันดามันคือความล้มเหลว ระบบการจัดการคนเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชายแดนที่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานความมั่นคงต้องได้รับการทบทวน การเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับปัญหาผู้อพยพทางทะเลโดยอาศัยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแสดงให้เห็นว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อต้องเผชิญกับการอพยพเคลื่อนย้ายที่แตกต่างไปจากอดีต แต่กระนั้นการใช้แนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้นก็ไม่ได้เพียงพอเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐ เช่นชาวโรฮิงญา ซึ่งมีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะ "ผู้ลี้ภัย" ที่ไทยยังไม่ระบบกฏหมายรองรับอยู่ในปัจจุบัน

การอพยพทางเรือของชาวโรฮิงญาจากพื้นที่ชายแดนเมียนมาและบังคลาเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ของไทยเริ่มพบกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อพยพทางเรือเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี 2549 สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในบังคลาเทศ ประเทศที่เคยเป็นพักพิงชั่วคราวเมื่อชาวโรฮิงญาต้องหนีออกมาจากบ้านเกิดในประเทศเมียนมาในปี 2458 กลุ่มมุสลิมนิยมความรุนแรงบังคลาเทศก่อเหตุวางระเบิดขึ้นทั่วประเทศทำให้รัฐบาลบังคลาเทศเพิ่มมาตรการความปลอดภัยและควบคุมชายแดนของตนมากขึ้นเลยส่งผลให้ชาวโรฮิงญาไม่อาจใช้เส้นทางเดิมได้ ประกอบกับความพยายามของชาวบังคลาเทศที่ต้องการไปทำงานในมาเลเซียแต่ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเดินทางได้ พวกเขาจึงเลือกใช้การลงเรือมุ่งสู่อ่าวเบงกอลเข้าสู่ทะเลอันดามันและขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย การอพยพในเส้นทางทะเลจึงเกิดขึ้นโดยผสมผสานทั้งการแสวงหาโอกาศทางเศรษฐกิจในมาเลเซียและการหนีความตายในบ้านเกิดของตนเอง

จนกระทั่งปี 2555 เกิดการปะทะระหว่างชาวโรฮิงญากับชาวพุทธในรัฐยะใข่และได้ขยายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในหลายพื้นที่ในประเทศเมียนมา ชาวโรฮิงญาและมุสลิมอื่นๆ กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในบ้านเกิดของตนเอง หลายแสนคนยังคงอยู่ภายในค่ายพักชั่วคราวที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ทรัพย์สินบ้านเรือนถูกทำลายหรือถูกยึดเอาไป หลายร้อยคนถูกฆ่า การอพยพหนีจากบ้านเกิดจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ความต้องการหนีออกจากบ้านของชาวโรฮิงญาและความต้องการไปหางานทำในมาเลเซียของชาวบังคลาเทศได้รับการตอบสนองจากขบวนการผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดนของไทยที่ช่วยเหลือนำพาคนข้ามแดนผิดกฎหมายอยู่แล้วในพื้นที่ จึงทำให้คนที่อพยพเข้ามาทางเรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ.2555 สำนักงานข้าลวงใหญ่ประเมินว่าจำนวนคนที่ออกมาจากชายฝั่งระหว่างมิถุนายน 2555 จนถึงสิ้นปี 2557 มีจำนวน 83,000 คน[1] และในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 มีคนเดินทางออกมาเพิ่มเป็น 31,000 คน[2] ในกลุ่มคนจำนวนนี้จึงมีทั้งชาวบังคลาเทศ, ชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศ และชาวโรฮิงญาจากเมียนมา พวกเขาขึ้นเรือออกมาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งเพื่อไปหางานทำ หรือไปหาญาติ หรืออนาคตในมาเลเซีย หรือหนีความรุนแรง ความอดอยากออกมาโดยไม่ได้มีการคิดวางแผนอะไร รวมถึงบางคนถูกหลอก ถูกบังคับให้ขึ้นเรือมาเพื่อจะเอาไปขายเป็นแรงงานต่อทั้งในไทยและมาเลเซีย การอพยพทางเรือในมหาสมุทรอินเดียจึงแตกต่างไปจากการอพยพในพื้นที่ชายแดนอื่นๆ ที่ไทยเคยพบมาก่อน แนวทางการจัดการที่อิงบนกรอบความมั่นคงและมองผู้อพยพกลุ่มนี้เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ไทยจะดำเนินการ "ให้ความช่วยเหลือและผลักดัน" ออกนอกราชอาณาจักรจึงกลายเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่เป็นการสนับสนุนกระบวนการผิดกฏหมายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่มีใครทราบ

การดำเนินการตามนโยบายในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ พ.ศ.2555 โดยเน้นการป้องกันการเข้ามาใหม่ที่นำไปสู่แนวทางปฏิบัติ "ช่วยเหลือให้ไปต่อ"ทั้งทางน้ำในช่วงก่อนปี 2555 และทางบกในช่วงหลังจากนั้นของหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้อำนาจนอกเหนือไปจากพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยมอบหมายให้ทั้งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) รวมถึงกองทัพโดยเฉพาะกองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการ

ภายในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ สภาความมั่นคงแห่งชาติจะรับผิดชอบการจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อยูในประเทศ และกองทัพไทยรับผิดชอบในการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้ามาใหม่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่และอำนาจตามกฎหมายที่แตกต่างจากการดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กองทัพไทยจึงกลายเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องเผชิญกับการหลบหนีเข้ามาทางทะเลของคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา ภายใต้แนวทางปฏิบัติของตนเองที่ไม่ได้อยู่ภายในกฎหมายคนเข้าเมือง คนไร้รัฐชาวโรฮิงญาได้เผชิญกับการ "ช่วยเหลือให้ไปต่อ หรือ Help on" ทั้งทางทะเลก่อนที่ชาวโรฮิงญาจะเข้ามาถึงชายฝั่ง และทางบกเมื่อพวกเขามาถึงชายฝั่งแล้ว

ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศศป.2 กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาคนต่างหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น"ศูนย์ประสานงานปฏิบัติการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา" หรือ ศปป.ร.ญ. เพื่อรับผิดชอบการดำเนินการเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนย่อย 1 (กอ.รมน. ภาค 4 สย.1 ) จังหวัดระนองเป็นหน่วยงานหลักในระดับพื้นที่ในการปฏิบัติการตามแผนพิทักษ์อันดามัน

การดำเนินการของ พลโทมนัส คงแป้น จึงเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีกอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และ พลโทมนัส คงแป้น เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่สำคัญคือจังหวัดระนองที่เป็นรอยต่อระหว่างไทยกับเมียนมา ฉะนั้นหากว่าพลโทมนัสจะเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่รับเงินจากขบวนการนอกกฎหมายก็ตาม แต่สิ่งที่พลโทมนัสจะดำเนินการก็ยังคงเป็นสิ่งเดียวกันที่ขบวนการนอกกฏหมายทำคือการนำพาผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามาทางทะเลจากชายฝั่งเมียนมาบังคลาเทศเพื่อไปยังประเทศมาเลเซียอยู่ดี และเมื่อการจับกุมได้จากหน่วยงานอื่นๆ กลุ่มผู้หลบหนีชาวโรฮิงญาก็จะต้องเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้ง และนั่นคือสิ่งที่ทำให้การดำเนินการของหน่วยงานความมั่นคงชายแดนถูกตั้งคำถาม และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ไม่ได่มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มที่ใช้กฏหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ แทนยุทธศาสตร์ฯ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอำนาจของ กอ.รมน.

การนำพาชาวโรฮิงญาจากชายฝั่งอันดามันไปชายแดนมาเลเซียเริ่มถูกจับกุมโดยหน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และบ้านพักเด็กและครอบครัวในหลายจังหวัดของภาคใต้ ต้องทำงานอย่างหนักในการดูแลกลุ่มชาวโรฮิงญาที่เป็นผู้หญิงและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อพบว่าหลายคนถูกนำพากลับมาเป็นครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่เริ่มสัมภาษณ์หาข้อเท็จจริง และเลือกที่จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สหวิชาชีพที่ประกอบด้วยนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าพนักงานสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เข้าร่วมการคัดแยกกลุ่มบุคคลที่สงสัยว่าตกเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์

การใช้กฎหมายที่แตกต่าง โดยหน่วยงานอื่นๆ ที่คำนึงถึงมิติความมั่นคงของมนุษย์แทนที่ความมั่นคงของรัฐเริ่มเปิดให้เห็นข้อเท็จจริงที่ปกปิดภายใต้นโยบายและแนวทางที่ถูกกำกับจากหน่วยงานความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทั้งผู้อพยพ และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็ได้ทำให้ญาติพี่น้องของชาวโรฮิงญามีความมั่นใจในกระบวนการกฎหมายของไทยมากขึ้น มีความกล้าในการเข้าไปให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เข้าถึงเบาะแสจนกระทั่งสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการลักลอบนำพาคนเข้าเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในที่สุด

นอกเหนือจากการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว การทบทวนแนวทางยุทธศาสตร์ฯ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงที่กำกับพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะ กอ.รมน.จำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างเร็วที่สุด การใช้อำนาจดำเนินการตามนโยบาลลับของ อดีตหัวหน้า กอ.รมน.ภาค4 สย.1 ระนองกลายเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือขบวนการค้ามนุษย์อย่างเช่นอดีตที่ผ่านมาเป็นภายความมั่นคงมากกว่าผู้อพยพชาวโรฮิงญา

เมื่อโครงสร้างการใช้อำนาจในพื้นที่ชายแดนที่ปราศจากการตรวจสอบของรัฐถูกบิดเบือน กว่าสังคมจะตระหนักความเสียหายก็มากเกินกว่าจะเยียวยา ชีวิตของผู้อพยพที่เสียไปภายใต้การถูกควบคุมในขบวนการ การคุกคามเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเมืองดีที่พยายามช่วยเหลือตามหน้าที่ของตน ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ และความเสียหายอื่นๆ เกิดขึ้นมากกว่าจะเยียวยาได้

สำหรับชีวิตที่รอดมาได้ ชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในประเทศไทยสมควรได้รับการพิจารณาภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ใหม่ทั้งหมด และทำให้สิทธิที่ได้รับการบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้จริง ทั้งการอยู่อาศัยชั่วคราวในระหว่างการฟื้นฟูแม้คดีจะสิ้นสุดลง การอนุญาตให้ทำงานเพื่อเตรียมพวกเขากลับคืนสู่ชุมชน สังคมปกติ และการประเมินทางเลือกในการส่งคืนกลับสู่ครอบครัว สังคมของพวกเขาภายใต้เงื่อนไขเฉพาะของการเป็น "คนไร้รัฐ" ชาวโรฮิงญา

 

เชิงอรรถ

[1] http://www.refworld.org/country,,UNHCR,,THA,,53f74c194,0.html

[2] อ้างแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีลังกา: การปราบจะนำมาซึ่งสันติภาพที่ยุติธรรมได้จริงหรือ?

Posted: 25 Jul 2017 12:54 AM PDT


 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้มีโอกาสไปเยือนศรีลังกาเพื่อร่วมการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในเอเชีย (Peacebuilding in Asia)[1] และไปศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและกลุ่ม LTTE (The Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งในขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วง "หลังความขัดแย้ง" (post-conflict)  มีบทเรียนหลายอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าในเรื่องภาคใต้  เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

กลุ่ม LTTE ได้ต่อสู้ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกของศรีลังกาซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อชาติ Tamil  ชาว Tamil ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศศรีลังกาเป็นเชื้อชาติ Sinhalese โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ชาว Tamil มีความรู้สึกถูกกดขี่ทั้งทางด้านภาษา การศึกษา การจ้างงานและเรื่องที่ดิน  ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของกลุ่มติดอาวุธ  นับตั้งแต่ปี 1983 ถึง 2009 กลุ่ม LTTE ได้ต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อตั้งประเทศใหม่ทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ[2]  ที่นั่นเคยมีกระบวนการสันติภาพในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในสมัยของประธานาธิบดีหญิง Chakdrika Kumaratunga  โดยมีประเทศนอรเวย์เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลาง แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลของ Mahinda Rajapaksa ในปี 2005 ประธานาธิบดีคนใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือมาใช้การทหารปราบพวก LTTE จนราบคาบ  การต่อสู้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ทางการทหารของกลุ่ม  LTTE  รัฐบาลศรีลังกาถููกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอย่างรุนแรงว่าคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย จนมีการกล่าวหาว่า Rajapaksa นั้นเป็น "อาชญากรสงคราม" (war criminals)  หลังการสู้รบจบใหม่ๆ การเข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกปราบปราบนั้นแทบจะกระทำมิได้


อนุสรณ์สถานที่สร้างโดยคนในท้องถิ่นในบริเวณที่เล่ากันว่ามีการสู้รบและมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในบริเวณนี้ั

เก้าปีหลังสงครามจบลง ศรีลังกายังคงแสวงหาหนทางจะ "ปรองดอง" และจัดการกับอดีต มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้งในช่วงต้นปี 2015 โดย Rajapaksa พ่ายแพ้การเลือกตั้ง Maithripala Sirisena ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน รัฐบาลภายใต้การนำของ Sirisena  มีท่าทีที่ประนีประนอมและรับฟังต่อเสียงเรียกร้องในเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประชาคมนานาชาติมากกว่า  รัฐบาลศรีลังกามีโครงการหลายๆ อย่างที่ดูเหมือนเป็นความพยายามจะจัดการกับผลของสงครามที่ยังไม่จบ เช่น การตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง  หน่วยงานดูแลด้านผู้สูญหายและการเยียวยา กลไกทางกฎหมายในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม  ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice 

แต่ข้อสงสัยของผู้เขียนก็คือเราจะสามารถใช้กลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหลังการจบลงของความขัดแย้งด้วยการปราบปรามทางการทหารได้หรือไม่ ในภาวะที่ฝ่ายที่เรียกว่า "กบฏ" ยังถูกคุมขังและไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี รัฐบาลศรีลังกาจะยอมให้มีการดำเนินคดีกับเหล่าทหารที่ปราบปรามกลุ่ม LTTE ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จริงหรือ ในสมัยของ Rajapaksa มีการห้ามแม้แต่การสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต   การสร้างสถานที่รำลึกเล็กๆ พึ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำได้ในสมัยรัฐบาลนี้ ในวันนี้แม้การสู้รบจะไม่มีแล้ว แต่นายทหารของศรีลังกาก็พูดถึงความหวาดเกรงการกลับมารวมตัวของกลุ่ม LTTE กองทัพศรีลังกาได้สร้างและขยายอาณาจักรอย่างกว้างขวางในช่วงสงคราม ปัญหาในตอนนี้คือการจะลดจำนวนนายทหารและการคืนที่ดินของชาวบ้านที่ถูกยึดครองโดยกองทัพในช่วงสงครามอย่างไร คนที่นั่นบอกว่าทหารยึดที่ดินชาวบ้านไปจำนวนมากในขณะที่พวกเขาลี้ภัยการสู้รบ มีการนำที่ดินมาทำการเกษตร เปิดร้านค้าต่างๆ ไม่แน่ใจว่ารายได้จากกิจการเหล่านี้ไปเข้ากระเป๋าใคร ทุกวันนี้กำลังมีการจัดการเพื่อคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน กองทัพมีโครงการคืนที่ดินซึ่งคืบหน้าไปช้ามากๆ  หน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านต่างก็ร้องเรียนเรื่องทหารไม่ยอมคืนที่ดิน 

ข้อมูลอีกอันที่น่าสนใจคือการเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างโคลัมโบไปจาฟนาซึ่งอยู่ทางตอนเหนือไม่มีสายการบินพาณิชย์ มีเพียงเครื่องบินทหารที่เปิดบริการประชาชนเท่านั้น  แน่นอนว่ามีการเก็บค่าบริการและค่าโดยสารก็สูงพอๆ หรืออาจจะมากกว่าสายการบินพาณิชย์  เพื่่อนชาวศรีลังกาที่เป็นนักสิทธิมนุษยชนและมาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้ทีมนักวิชาการต่างประเทศบอกว่าเขาบอยคอตการขึ้นสายการบินนี้เพราะไม่ต้องการสนับสนุนการกระทำของกองทัพ  รอบนี้พวกเราเดินทางด้วยรถบัสประมาณ 8 ชั่วโมงซึ่งค่อนข้างนานแต่ก็ได้ซึมซับบรรยากาศบ้านเมืองระหว่างทางอย่างเต็มอิ่ม


อนุสรณสถานแห่งชัยชนะสร้างโดยกองทัพของศรีลังกา Monument of the victors built by the Srilankan army.

ศรีลังกาเป็นกรณีความขัดแย้งที่จบลงด้วยการปราบปราบทางการทหาร  ไม่ใช่การแสวงหาทางออกด้วยกระบวนการสันติภาพ คำถามก็คือการยุติการสู้รบเช่นนี้จะสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมและความปรองดองได้อย่างไร  ความยุติธรรมที่รัฐบาลศรีลังกาหยิบยื่นให้เป็น victor's justice  เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะซึ่งยากที่นำมาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน

 

เชิงอรรถ

[1]  การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจาก  The London School of Economic and Political Science, University of York และ The Australian National University  โดยได้ร่วมกับองค์กรในศรีลังกาคือ  National Unity and Reconciliation และ Bandaranaike Centre for International Studies ผู้เขียนขอขอบคุณผู้ร่วมจัดมา ณ โอกาสนี้

[2] ดู Taylor Dibbert, Sri Lanka's slow dance on transitional justice, The Interpreter, 12 April 2017. 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: deepsouthwatch.org

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ขออีกหน่อยละกัน: CU A while longer

Posted: 25 Jul 2017 12:12 AM PDT

 

นี่ไม่ใช่บทความดราม่า และผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้ "สถาบันซึ่งเป็นที่เคารพ" ที่ถูกพาดพิงถึงเสื่อมเสียชื่อเสียง

เริ่มได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ จะมีอายุเก่าขนาดไหนนั้นขอละประเด็นไว้ ณ ที่นี้ ด้วยมีผู้เขียนถึงมากอยู่แล้ว แต่ในความทรงจำร่วมกันของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งมีเครือข่ายประชาคมอยู่กว้างขวางเหลือเกิน ความทรงจำบางอย่างประดิษฐ์ขึ้น ไอ้การเป็นวัฒนธรรมจำลองใหม่ไม่ใช่เรื่องร้ายกาจอะไร แต่ที่แย่คือการปฏิบัติต่อมันอย่างลืมเปลือก ๆ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แคมเปญรณรงค์การแต่งเครื่องแบบโดยสำนักบริหารกิจการนิสิตที่ปล่อยออกมา ไม่ได้สะท้อนว่ามีการทบทวนความเป็นมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่เพิ่งฉลองครบรอบร้อยปีไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นิสิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ

และต้องเทิดทูนไว้ด้วยศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ**

สำนักบริหารกิจการนิสิตสนับสนุนให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งกายถูกระเบียบ

เครื่องแบบที่ถูกต้องจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้สง่างาม ให้ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิจุฬาฯ[1]

 

ซึ่งก็ยังดีที่ไม่ได้บังคับขู่เข็ญกันเหมือนในหลายๆ มหาวิทยาลัย ปัญหาโลกแตกเกี่ยวกับความเหมาะสมของการแต่งกายไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาก็จะไม่กล่าวถึงในที่นี้เช่นเดียวกันกับเรื่องความเก่าแก่ แต่มันจะมีปัญหาแน่ เพราะหากเราเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยในข้อความที่ยกมาข้างต้นให้เป็นแหล่งอื่น เป็นมหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ดู มันจะสะท้อนถึงสภาพปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาสมัยนี้ที่มีร่วมๆ กันบางอย่างนั่นคือ การที่มีเจ้าหน้าที่/ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่รู้รากเหง้าหรือถ้ารู้ก็รู้อย่างปลอมๆ เปลือกๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากขึ้นแล้ว มันเป็นไปได้ที่หน่วยงานพวกนี้ โดยเฉพาะกิจการนิสิตนักศึกษาที่จะรับเอา "ใครก็ได้" มาทำงาน เพราะงานกิจการนิสิตมันเหนื่อย! มันจุกจิก ต้องยุ่งกับเด็ก ต้องลงทะเบียนอะไรมากมาย ดราม่ามันเยอะ ฯลฯ ในสายตาของผู้มีอำนาจก็คงจะคิดมั้งว่ามันจะไปยากอะไร ก็เปิดรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัยสักอัตราหนึ่ง ให้คุมเด็กให้อยู่ก็แล้วกัน ปฏิบัติงานให้ได้ก็แล้วกัน เอาแบบไม่ต้องมี Political correctness ไม่ใช่ว่าคนไม่ใช่ศิษย์เก่ามาทำงานในมหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้บริบทว่าเขาทำอะไรกัน ถ้าหน่วยงานไม่อยากให้อัตลักษณ์สถาบันเสียก็อย่าเอาคนที่มารู้เรื่องมาคุม เพราะถึงเวลาต้องจัดพิธีต่างๆ ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดมันจะไม่รู้เรื่อง เราก็รู้กันว่าจุฬาฯ (และที่อื่นก็กำลังจะเป็น) เป็นรัฐนาฏกรรม มันต้องมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โชว์สิทธิธรรมของผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามองแบบขวาๆ เลยมันก็เข้าใจได้แบบนี้ และผลของการทำให้ระบบมันรวนก็ทำให้พลังฝ่ายขวาไม่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าคนเขียนอยากให้ยกเลิกเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ (และในสถาบันอื่นๆ) แต่ถ้าจะมีก็ขอให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ให้ชุดความผิดที่ปฏิบัติต่อเครื่องแบบมันมีความทันสมัย และที่สำคัญ อย่าไปมโนเอาเองว่าเครื่องแบบที่เราเคยใส่ตามปกติทุกวันเป็นของสูงของล้ำ

พ.ร.ฎ.กำหนดเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2499 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงปลายๆ ของรัฐบาลจอมพลป พิบูลสงคราม ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย (ซึ่งเคยทำประโยชน์ให้มาก แต่ไม่ปรากฎอยู่ในชื่ออาคาร หอประชุม ชื่อสวน ฯลฯ แม้แต่น้อย) ประสบการณ์บริหารของท่านเดินมาคู่กันกับ พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วเคยดำรงตำแหน่งอะไรกันแน่ รองฯ ฝ่ายกิจการนิสิต? กรรมการสภามหาวิทยาลัย? ผู้ช่วยอธิการบดี? เพราะท่านอาจจะดำรงตำแหน่งทั้งหมดนี้พร้อมๆ กันก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ในฐานะเจ้ากรมยุวชนทหาร "ท่านประยูร" ได้มีบทบาทมากในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา การโฆษณาชวนเชื่อให้คนหนุ่มสาวเฮละโลกับความยิ่งใหญ่ของชาติไทย อีกมรดกที่คู่หูแปลก – ประยูรสร้างไว้คือเคยพยายามจะให้นิสิตต้องแต่งเครื่องแบบฝึกอย่างทหารมาเรียนทุกวัน หมวกก็ต้องใส่ ถ้าไม่ใส่ผ่านประตูไม่ได้[2] แบบอย่างของจอมพลป จะมีใครเป็นไอดอลของท่านเราก็ไม่ทราบ แต่ดูจากบริบทของยุคแล้ว การที่ให้เด็กๆ แต่งชุดพร้อมเพรียงมาเรียนนี่อาจลอกอย่างมุสโสลินีหรือฮิตเลอร์มากระมัง

ยังมีเรื่องให้ใจชื้นอยู่บ้าง สโมสรนิสิตจุฬาฯ ณ ตึกจักรพงศ์ในเวลานั้น[3] เลือกที่จะไม่ต้องการแต่งชุดนิสิตมาเรียนทุกวัน และพร้อมใจกำหนดเครื่องแบบของตัวเองขึ้นมา คือ เครื่องแบบจุฬา ฯ นิยม ในช่วงสงคราม นิสิตจุฬาฯ ไม่ต้องมีเครื่องแบบมาเรียนก็เรียนกันได้ดีทุกคน ต่อมาเครื่องแบบนี้จะเป็นต้นธารของเครื่องแบบนิสิตทั้งหมดในปัจจุบัน แม้เครื่องแบบที่เก่าที่สุดคือเครื่องแบบนิสิตพระราชพิธี (ภาษาปาก "ชุดราชปะแตน") ก็ไม่ได้เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 8 ผู้เขียนเคยได้ยินมิตรสหายเล่าถึงท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีท่านแรกของคณะครุศาสตร์ เมื่อมีคนไปถามว่าสมัยเรียนท่านมีเครื่องแบบยังไง ท่านก็บอกว่าสมัยท่านยังไม่มี ทุกคนก็แต่งตัวออกจะเรียบร้อยและผลการเรียนก็ออกมาดี ลูกๆ สมัยนี้มีเครื่องแบบก็แต่งให้มันดีๆ หน่อยแล้วก็ตั้งใจเรียนก็แล้วกัน[4] กลายเป็นว่าเราเห็นวิธีคิดของคนสองรุ่นเทียบกัน คนรุ่นเก่าไม่มีชุดใส่ จะให้มีก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอเป็นชุดที่ตัวเองเลือกก็แล้วกัน คนในยุคปัจจุบันเห็นอะไรที่มันดูเป็นเก่า ๆก็ รับตามโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่ไตร่ตรองอะไรเลย

กลับมาที่เรื่องของเรา "นิสิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ และต้องเทิดทูนไว้ด้วยศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ" ก็คงจะทำได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการแต่งเครื่องแบบนิสิต นิสิตจุฬาฯ คงต้องทำงานหนักมากกว่านั้นเพื่อรำลึกถึงล้นเกล้าฯ ผู้พระราชทานพระมหากรุณาประการต่างๆ ต่อมหาวิทยาลัยนี้ คนทำงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ถ้าพอจะตระหนักถึงความเป็นมาที่กล่าวไว้ข้างต้นอยู่บ้าง คงจะไม่ประดิษฐ์คำสวยแต่ขาดภูมิปัญญาออกมาแบบนี้

"เครื่องแบบที่ถูกต้องจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้สง่างาม ให้ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิจุฬาฯ" ซึ่งเผอิญว่าคำ "เกียรติภูมิจุฬาฯ" นั้นมาจากเพลงในชื่อเดียวกัน (ไม่ทราบปีแต่ง น่าจะแต่งในทศวรรษ 2480 - 2490) ถ้าบอกว่า  "เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชนจะกลายเป็นคำขวัญช่วงเดือนตุลาไปเลย จะยึดคำคำไหนก็ไม่สำคัญถ้าทำให้เราเป็นคนดี แต่ในเมื่อเครื่องแบบเป็นเครื่องมือของการผูกตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์สถาบัน จะแต่งให้ถูกก็สงสัยต้องคุยกันอีกมากว่าถูกของใคร เพราะพี่เชียร์คณะ กิจการนิสิตคณะ กิจการนิสิตกลาง พระราชกฤษฎีกาปี 2499 ข้อบังคับเรื่องเครื่องแบบนิสิตปี 2551 ลัทธิธรรมเนียมการแต่งเครื่องแบบของนักเรียนในพระราชสำนัก กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ พูดถึงชุดเครื่องแบบคนละชุดเดียวกันแน่ ๆ

จริงอยู่ คนทุกยุคทุกสมัยมีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะเลือกชุดที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ถ้ามหาวิทยาลัยนี้ (และมหาวิทยาลัยอื่นด้วย) จะเน้นว่าการแต่เครื่องแบบ = การระลึกย้อนรากเหง้าแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธว่าคนในปัจจุบันมีสิทธิ์เลือกว่าจะแต่งตัวอะไร เพราะเลือกมาให้แล้วว่าต้องแต่งแบบนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าอยากให้นิสิตนักศึกษาโดยทั่วๆ ไปยังแต่งเครื่องแบบอยู่ แน่จริงก็ให้คนรุ่นนี้เขาเลือกแบบเองสิว่าจะเอาแบบเก่าหรือแบบใหม่หรือจะวางกติกาอย่างไร ขอให้สวย ถูกใจ สุภาพเป็นใช้ได้ ถ้าต้องแต่งชุดที่คนอื่นเลือกให้แย่แล้ว ทำไมต้องแต่งอะไรที่มันดูแย่ล่ะ โชคดีที่เครื่องแบบนิสิตรุ่นแรกก็ถูกมองว่าสวย ก็เลยได้ใส่ต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้[5] ที่แน่ๆ ถึงอย่างไรเราก็หนีประวัติศาสตร์ไม่พ้น เพราะประวัติ เครื่องแบบ พิธีกรรม มันเป็นเรื่องเดียวกันในการสร้างอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยไทยสมัยนี้

โดยอุดมการณ์แล้วผู้เขียนสนับสนุนให้ยกเลิกการบังคับให้แต่งชุดเครื่องแบบมาเรียน คือใส่เฉพาะวันที่มันมีอะไรสำคัญจริงๆ แต่เห็นว่าถ้าจะมีก็ขอให้มีแบบผ่านการศึกษาค้นคว้ามาเสียหน่อย ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะที่ไม่รู้จะพูดที่ไหน เพราะไม่เคยเห็นว่ามีคนทำงานที่มีท่าทีเปิดรับต่อข้อเสนอแนะใดๆ แต่โครงการ CU a bit more รวมถึงกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยอีกมากที่เน้นให้นิสิตได้สำนึกรักอะไรต่อมิอะไรมากมาย เงินทองจุฬาฯ เรามีมากมาย เสียดายแต่เวลาที่เสียไป คนทำงานควรจะใช้เวลามากขึ้นอีกนิด (A while longer) ในการศึกษาหาความรู้ ตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยรอบคอบ เคารพรุ่นพี่ในอดีตให้มากว่าเขาเคยทำอะไรกัน รักสถาบันจริงหรือรักสักแต่ว่าพูดก็ดูกันตรงนี้นี่แหละ

 



เชิงอรรถ

[1] ดูแคมเปญรณรงค์ได้ที่ : https://web.facebook.com/media/set/?set=a.1254876971306230.1073741831.1212181505575777&type=3 อันที่จริงมีทุกปี และเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็มีเช่นกัน

[2] เต็มสิริ บุณยสิงห์, "ชิวิตนิสิตาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2481 – 2485" ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 66.

[3] ปัจจุบัน สโมสรนิสิตจุฬาฯ ตั้งอยู่ที่ตึกจุลจักรพงศ์ และไม่ใช่แค่ประเด็นเครื่องแบบ แต่เรื่องอื่นที่ควรจะเรียกร้องให้แก่นิสิตจุฬาฯ ก็แทบจะไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เป็นธรรมบ้างเลย ดังนั้น จะถือว่าไม่ได้สืบทอดอะไรเลยมาจากรุ่นพี่ก็อาจจะไม่ผิด (ทั้งในทางอุดมการณ์และในทางวัตถุ) เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคนก็ต้องเปลี่ยน มนุษย์เราถูกรังแกโดยสิ่งแวดล้อมเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่า คนเราสมัยนี้ก็ต้อง "อยู่เป็น"

[4] จากความทรงจำส่วนตัว แต่ก็มีหลักฐานอื่นอีกที่ยืนยันถึงสภาพที่เรียนกันได้โดยไม่ต้องมาทำอะไรกันให้วุ่นวาย เช่น เต็มสิริ บุณยสิงห์, "ชิวิตนิสิตาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2481 – 2485" ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต หน้า 66.

[5] ,พูนสิน ดิษฐบรรจง, "เรื่องของพูนสิน จากเด็กหญิงถึงคุณหญิง ตอน "นิสิตจุฬาฯ 2490 - 94" ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 94. และ สุจริต เพียรชอบ,  "อดีตเมื่อวันวานยังหวายอยู่," ใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 124.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ยันยืนหยัดพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ชี้เตรียมอายัดบัญชีเสมือนสร้างเงื่อนไขชี้นำคดี

Posted: 24 Jul 2017 11:59 PM PDT

ปมตัดสินคดีจำนำข้าว 'ยิ่งลักษณ์' ยันยืนหยัดพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ชี้เตรียมอายัดบัญชีเสมือนสร้างเงื่อนไขชี้นำคดี 'ประยุทธ์' เตือนคนปลุกระดมประชาชนทำประเทศเสียหาย ขณะที่ฝ่ายมั่นคงยันไม่เคยห้าม ปชช.มาให้กำลังใจ ด้าน'อภิสิทธิ์' ห่วงปลุกระดมคนให้กำลังใจ เอาคนจำนวนมากมาอยู่เหนือกฎหมาย

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' 

25 ก.ค. 2560 จากวานนี้ (24 ก.ค.60) รื่นวดี  สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังส่งรายการทรัพย์สิน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นบัญชีธนาคารจำนวน 12 บัญชี ให้กรมบังคับคดีดำเนินการว่า ในส่วนงานบังคับคดีจะดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอ โดยการบังคับคดีมีอายุความ 10 ปี ระหว่างนี้หากโจทก์สำรวจพบทรัพย์สินเพิ่มเติมก็สามารถส่งรายการทรัพย์สินให้กรมบังคับคดีอายัดเพิ่มได้ตลอด ส่วนรายละเอียดทรัพย์สินไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นรายละเอียดในสำนวนคดี

ยิ่งลักษณ์ยันพร้อมยืนหยัดพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ชี้เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี

ขณะที่วันนี้ (25 ก.ค.60) เมื่อเวลา 10.48 น. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' ว่า ตนอยากจะสะท้อนถึงความพยายามต่างๆ ในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว แต่ในที่สุดรัฐบาลก็เลือกที่จะทำเพราะคิดว่าตนมีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่รอคำสั่งศาลปกครองที่ตนได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้

"แม้วันนี้ ดิฉันจะถูกอายัดบัญชีธนาคาร และกำลังจะถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด จนต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลา คงได้แต่บอกว่าดิฉันยังเข้มแข็ง และพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่า "ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด" ผ่านการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลอย่างหมดใจ ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ค่ะ ซึ่งดิฉันก็จะทำอย่างดีที่สุด ดิฉันขอเปลี่ยนกำลังใจจากแฟนเพจและพี่น้องประชาชน มาเป็นพลังให้ดิฉันได้มีความเข้มแข็งและอดทนค่ะ" ยิ่งลักษณ์ โพสต์

ประยุทธ์เตือนคนปลุกระดมประชาชนทำประเทศเสียหาย

ขณะที่วานนี้ (24 ก.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญ จึงฝากเตือนไปยังผู้ที่กำลังปลุกระดมมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวในกรณีต่าง ๆ ขณะนี้ว่าอยากให้พิจารณาว่าหากระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหว ประเทศจะเกิดความเสียหายหรือไม่ ประชาชนทั้งประเทศรับได้หรือไม่ 

"การกระทำดังกล่าวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ทำให้กฎหมายเสียหาย ดังนั้น ฝากถึงผู้ที่ปลุกระดมมวลชนอยู่ในขณะนี้ ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งหากไม่ถูกดำเนินคดีขณะนี้ ก็ต้องถูกดำเนินคดีในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ฝ่ายมั่นคงยันไม่เคยห้าม ปชช.มาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุม ป.ย.ป. ถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า คสช. มีคำสั่งให้ทหารไปทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 25 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันพิพากษาคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้สั่งการและข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริงหลายเรื่อง แต่ต้องดูสถานการณ์ด้วย

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีนี้เช่นกันว่า ไม่เคยสั่งการให้ทหารไปทำความเข้าใจกับประชาชน และเมื่อช่วงเช้า(24 ก.ค.60) ในการประชุม คสช.ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาคสช.ไม่เคยห้ามประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ

"แต่ในวันที่ 25 ส.ค.นี้อาจจะมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก จึงต้องจัดระเบียบเพื่อความเรียบร้อยและเพื่อความปลอดภัย สิ่งที่เป็นห่วงคือการจัดการหรือการสนับสนุนที่ทำให้จำนวนคนมามาก  ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งผมไม่สามารถห้ามได้ แต่เป็นเรื่องที่จะขอร้องและขอความร่วมมือ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนจะมามาก มาน้อยอย่างไร หน้าที่ผมคืออำนวยความสะดวกให้เท่านั้นเอง แต่ถ้าขอร้องกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ ก็ติดตามอยู่ข้างนอกจะดีกว่า" ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว

เมื่อถามย้ำว่าการข่าวมีรายงานการปลุกระดมประชาชนหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีและยังมีเวลาอีกหนึ่งเดือนก่อนถึงวันพิพากษา ทั้งนี้ หากประชาชนเดินทางมาเองตามธรรมชาติสามารถทำได้ แต่หากจัดให้มาชุมนุมถือว่าผิดกฎหมายและการมากดดันศาล เป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ต้องพิจารณาให้ดี และไม่ว่าประชาชนจะเดินทางมามากหรือน้อย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินได้ ถ้าทุกคนมีความเป็นห่วงว่าหากมีประชาชนเดินทางมามาก จะทำให้เกิดความวุ่นวายก็ต้องช่วยกัน โดยเฉพาะสื่อมวลชนจะเป็นกลไกสำคัญจะทำให้บ้านเมืองนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ จึงอยากให้ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย

'อภิสิทธิ์' ห่วงปลุกระดมคนให้กำลังใจ เอาคนจำนวนมากมาอยู่เหนือกฎหมาย

ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดี ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ว่าตนหวังว่าจะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น แม้จะตัดสินพร้อมกับคดีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใน คดีประมูลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปลอม ซึ่งการให้กำลังใจหรือโต้ตอบทางการเมืองใดๆ คงไปห้ามไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้วิธีการแสดงออกไปนำไปสู่การกดดัน และกระทบการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามระบบ หากเอาการเมืองไปกดดันจะเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะที่ตนไม่สบายใจคือ กรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่าผู้พิพากษาไม่ได้มีแค่ 9 คน แต่มีสิบล้านคนพิพากษา อย่างนี้ไม่ได้เป็นการให้กำลังใจ แต่เป็นการข่มขู่หรือไม่ว่ามีมวลชนสนับสนุนอยู่ เพราะฉะนั้นทำผิดไม่ได้ ดังนั้นหากเป็นตนจะพยายามขอร้องผู้สนับสนุนขอให้แสดงออกด้วยวิธีการที่เหมาะสม อย่าแสดงอาการอะไรที่เป็นการถูกตีความว่ากดดันศาล เป็นการเอาคนจำนวนมากมาอยู่เหนือกฎหมาย

 

เรียบเรียงจาก คมชัดลึกออนไลน์, เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra', มติชน และสำนักข่าวไทย 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น