โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #164 เส้นทางผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือสู่แผ่นดินไทย

Posted: 02 Jul 2017 06:21 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดถึงเส้นทางอพยพของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งไม่สามารถอพยพทางตรงเข้าสู่เกาหลีใต้ได้ แต่ต้องเดินทางไกลมาถึงไทย และประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก่อนที่จะเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในเกาหลีใต้

ชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ ไม่เพียงประสบความลำบากในช่วงเดินทางออกจากเกาหลีเหนือแล้วต้องรอนแรมอีกหลายพันกิโลเมตรเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขาไปใช้ชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ ก็ยังต้องปรับตัวทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หลายคนประสบปัญหาถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอีกด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai

หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรยง พงษ์พานิช: วิกฤติต้มยำกุ้ง2540 ยี่สิบปีแล้ว เราเรียนรู้อะไรกับมันบ้างนะ

Posted: 02 Jul 2017 06:14 AM PDT


 

ในวันนี้เมื่อยี่สิบปีก่อน ....2 กรกฎาคม 2540 ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกประชุมนายธนาคารทุกแห่งในเวลาเช้าตรู่ 7.00 น. แล้วประกาศว่า ประเทศไทยจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบลอยตัว ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งหมายความว่า ธปท.จะไม่เป็นผู้กำหนดและจะไม่แทรกแซงขนาดหนักอย่างที่เคยทำมา (ซึ่งทุกคนก็รู้โดยทันทีเลยว่า ธปท.สารภาพว่าเงินทุนสำรองหมดเก๊ะแล้ว ไม่มีเค้าจะแทรกแซงได้อีก) ...และนั่นก็เท่ากับการประกาศจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ"วิกฤติเศรษฐกิจ"ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี ที่เราเรียกกันว่า"วิกฤติต้มยำกุ้ง" ซึ่งในที่สุดก็ลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค มีKimchi Crisisของเกาหลี Abodo Crisisของฟิลิปปินส์ Gado Gado Crisisของอินโดนีเชีย และNasi Lemak Crisisของมาเลเซีย ทยอยตามมาติดๆ

ผมว่าการที่ใช้อาหารประจำชาติมาตั้งฉายาให้วิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะมากทีเดียว เพราะการลุกลามนั้นไม่ใช่เป็นการติดเชื้อโรคเท่านั้น แต่เพราะสาเหตุที่แท้จริงนั้นมันเป็นเพราะต่างก็กินอาหารแสลงเหมือนๆกัน นั่นก็คือการลงทุนที่ผิดพลาด (ลงในสิ่งที่มีผลตอบแทนไม่คุ้มค่า) และใช้แหล่งเงินทุนที่ผิดพลาด (เอาเงินกู้ระยะสั้นสกุลต่างประเทศมาลงทุนระยะยาว)

สาเหตุ ความเป็นไป วิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องจากวิกฤติครั้งนั้น ผมได้เคยเขียนบรรยายรายละเอียดไว้แล้วในบทความยาว 8 ตอน ที่เขียนเมื่อ 2 กค. 2556 - 18 กค.2556 ใครสนใจไปหาอ่านได้ใน ThaiPublica นะครับ ....วันนี้จะพูดถึงบทเรียนที่ได้ กับผลจากการแก้ปัญหา และอุทธาหรณ์อื่นๆ

การแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนั้นของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ต่างก็ขอเข้ารับความช่วยเหลือจากIMF ขอเงินกู้ ($ 17, $42 และ $58 พันล้าน ตามลำดับ) โดยยอมตัวเข้าผูกพันตามโครงการปฏิรูปภายใต้บันทึกข้อตกลง(LOI) ขณะที่ฟิลิปปินส์มีปัญหาไม่มากนัก เงินสำรองมีมากและดุลการค้าก็ได้เปรียบ ถึงแม้ค่าเงินจะลดลงมาก แต่ศก.ก็ถดถอยเพียงเล็กน้อย(ตำ่กว่า5% ขณะที่ประเทศอื่นๆมากกว่า10%) ฟิลิปปินส์จึงใช้แค่Technical Assistance คำปรึกษาจากIMFโดยไม่ต้องขอกู้ ...ส่วนมาเลเซียของคุณพี่มหาเด่ร์นั้นไปอีกแนว ประกาศไม่เอาIMFแถมด่ารายวัน(แหะๆ...จริงๆไม่ใช่รายวันแบบแถวทำเนียบเรานะครับ เป็นแค่ประมาณเดือนละครั้ง) แล้วก็มีการควบคุมการไหลเข้าออกของทุน(Capital Control) แถมกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว(Fixed Exchange Rate) กึ่งๆปิดประเทศบางส่วน อาศัยว่ามีเงินทุนสำรองค่อนข้างมาก กับราคานำ้มันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักอันหนึ่งปรับตัวดีขึ้นก็เลยรอดตัวพัฒนามาได้

วันนี้วิกฤติผ่านมายี่สิบปีเต็ม ต้องบอกว่าทุกประเทศต่างก็ผ่านวิกฤติมาได้ หลังจากต่างก็ชะงักงันเศรษฐกิจติดลบไปแค่ปีสองปี ในที่สุดก็ตั้งหลักเดินต่อกันได้ ซึ่งแทบทุกประเทศกลับมามีอัตราเติบโตได้ดีซึ่งถ้านับจากปี คศ.2000 ที่ต่างก็ตั้งหลักกันได้จนถึง คศ.2016 ส่วนใหญ่สามารถกลับมาเติบโตในอัตราที่น่าพอใจ ...ฟิลิปปินส์ เติบโตได้เฉลี่ย 4.95%ต่อปี ...ขณะที่อินโดนีเซีย ก็พัฒนาได้ดี เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยได้สูงถึง 5.3%ต่อปีแถมประชาธิปไตยเบ่งบาน เผด็จการถูกโค่นล้ม ธรรมาภิบาลก็พัฒนา คนโกงโดนลงโทษ ดัชนีคอร์รัปชั่นปรับขึ้นจาก17คะแนน มาเป็น37คะแนน อันดับพุ่งพรวดจาก 140 มาเป็นที่ 90 ของโลก ...ด้านมาเลเซียที่ก่อนวิกฤติทำท่าจะโดนพี่ไทยแซงหน้าแต่พอหลังวิกฤติกลับเติบโตได้แข็งแรงเฉลี่ยปีละถึง 5.07%จนค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วเสือตัวที่ห้าแห่งเอเชียภายในปี2520นี้เป็นแน่ ...ข้างเกาหลีใต้นั้น แทบไม่ต้องพูดถึง แม้จะโดนวิกฤติอ่วมต้องพึ่งเงินช่วยจากIMFตั้งครึ่งแสนล้านเหรียญ แต่หลังแก้ไข กัดลูกปืนปฏิรูปหลายด้านจนยังเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึง 4.19% นับว่าโตมากที่สุดประเทศหนึ่งในเหล่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย จนมีรายได้ต่อคนต่อปีเกือบ $28,000 รำ่รวยเป็นอันดับที่ 25 ของโลก

สรุปว่ามีเพียงประเทศเดียวที่แป้กยาว คือประเทศไทยแลนด์ของเรานี่เอง ที่ 2000-2016 เศรษฐกิจเติบโตแบบตำ่เตี้ย เฉลี่ยแค่ 3.95%ต่อปี โดยที่หกปีหลัง(2010-2016)นี่โตแค่เฉลี่ยปีละ2.98% ที่ไม่ใช่จะแค่ตำ่สุดในเหล่าประเทศที่โดนวิกฤติเท่านั้น แต่นับว่าตำ่สุดแห่งหนึ่งในโลกในเหล่าประเทศกำลังพัฒนา(Emerging Market)เลยทีเดียว ซึ่งถ้าเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า9%ในช่วงสิบปี(1986-1996)ก่อนเกิดวิกฤติแล้ว นับว่าเป็นฟ้ากะเหวเลยทีเดียว

ผมเลยอยากชวนวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมวิกฤติเมื่อยี่สิบปีก่อน ถึงได้เปลี่ยนสถานะเราจากหน้ามือกลายมาเป็นหลังตีน จากประเทศดาวรุ่งคั่วตำแหน่งเสือตัวใหม่กลายมาเป็นประเทศติดกับดักฉายา"คนป่วยแห่งเอเชีย"ได้ขนาดนี้ ซึ่งผมขอตั้งประเด็นเป็นข้อๆเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วิจัยกันต่อนะครับ

1. ในวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยนั้น เป็นวิกฤติในภาคเอกชน ที่ลงทุนเกินตัว โดยใช้แหล่งเงินผิดประเภท คือไปกู้ระยะสั้นมาจากต่างประเทศ พอเราถูกบังคับให้ลดค่าเงิน ผู้กู้ก็ล้มระเนระนาด แต่ก็เป็นเพียงพวกพ่อค้าคนรวยส่วนใหญ่ คนทั่วไปถึงจะเดือดร้อนจากการที่ศก.หดตัวรุนแรง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น แถมลักษณะสังคมไทยที่ใครเดือดร้อนตกงานก็ยังโอบอุ้มช่วยเหลือ ไม่มีใครอดตาย ทำให้เราไม่มีวิกฤติสังคมไม่มีSocial Unrest ...พอเราลดค่าเงินลงมาก สินค้าเกษตรก็ราคาพุ่งขึ้น เกษตรกรกลายเป็นดีขึ้นมาก สินค้าส่งออกอื่นๆก็พุ่งขึ้นอย่างมากเพราะมีexternal price adjustment(ลดค่าเงิน)ขนานใหญ่ มีการลงทุนมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มมาก คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์

2. ประเทศไทยมีวินัยการคลังต่อเนื่องกันมายาวนาน เราจึงมีระดับหนี้สาธารณะที่ตำ่ รัฐบาลจึงมีทางเลือกทางนโยบายที่จะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นศก.ได้ค่อนข้างมาก นอกจากนั้นจากการที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เน้นการกระจายอำนาจและทรัพยากร กับการให้รัฐบาลมีอำนาจบริหารมากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมประชานิยม ที่เอาทรัพยากรส่วนกลางไปใช้จ่ายแจกได้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการขยายตัวของบทบาทและขนาดของรัฐอย่างมากผ่านรัฐวิสาหกิจ และนโยบายแทรกแซงตลาดแบบต่างๆ(เช่น การคำ้ประกันราคาพืชผล) ทำให้ในระยะสั้น ยังทำให้เศรษฐกิจพอจะขยายตัวไปได้

3. จากสองข้อข้างต้น ทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้โดยค่อนข้างง่าย ไม่มีแรงกดดันให้ต้องปฏิรูปขนานใหญ่ใดๆ เอกชนมีการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพน้อย เพราะไม่มีความจำเป็น สังเกตได้จากTotal Factor Productivityของภาคอุตสาหกรรมที่แทบไม่เพิ่มเลย การลงทุนเพื่อupgrade productivityมีน้อย แถมการขยายตัวอย่างมากของรัฐ เท่ากับว่าเอาทรัพยากรจำนวนมากไปอยู่ในภาคที่ประสิทธิภาพ และผลิตภาพตำ่ และส่งเสริมให้การคอร์รัปชั่นขยายตัวเต็มที่

4. พอเสถียรภาพค่าเงินกลับมา มีการเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงินต่อเนื่อง ค่าเงินย่อมถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้น ความได้เปรียบด้านราคาย่อมหมดไป แถมประเทศเกิดใหม่รุ่นใหม่อื่นๆเริ่มมีประสิทธิภาพการแข่งขัน มีผลิตภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมส่งออกเราก็เลยเริ่มมีปัญหา ไม่สามารถแข่งขันได้ ในขณะที่หนี้สาธารณะทั้งที่อยู่ในระบบ และที่แอบแฝงอยู่(เช่น ขาดทุนจำนำข้าว ขาดทุนธนาคารรัฐฯลฯ) ก็เริ่มที่จะมีเพดานข้อจำกัด การขยายตัวแบบ"รัฐแอบอัด"ก็เริ่มจะถึงทางตัน

โดยสรุป ....ผมคิดว่า เราเรียนรู้จากวิกฤติ"ต้มยำกุ้ง"น้อยมาก เราแทบไม่ได้ใช้โอกาสจากวิกฤติในการปฏิรูปใดๆเลย สิ่งที่ทำ ก็ดูเหมือนจะเป็นแค่สร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กับสถาบันการเงิน (แต่ก็ด้วยต้นทุนที่สูงลิ่ว) แต่ผลิตภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจดูจะมีเพิ่มน้อยมาก พอปัจจัยต่างๆเริ่มจำกัด เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ(แรงงานเริ่มจำกัด) เพดานหนี้เริ่มปริ่มทั้งหนี้รัฐ หนี้เอกชน หนี้ครัวเรือน ฯลฯ เราก็เลยติดกับดักลึกลงไปทุกที

ยี่สิบปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ...แน่นอนครับ เรามีโอกาสน้อยมากที่จะเจอวิกฤติแบบเดิมอีก แต่สิ่งที่น่าจะเจอมากกว่า จะกลายเป็นความหนืด ความอืด ที่เศรษฐกิจจะไม่เติบโต หรือโตช้า ซึ่งหลายคนบอกว่า นั่นอาจจะเป็นเครื่องป้องกันวิกฤติที่ดีได้อย่างหนึ่ง (วิกฤติมักจะตามการเติบโตที่ร้อนแรง) แต่ที่ผมกลัวมากกว่าก็คือ ประวัติศาสตร์สอนว่า ในยามที่ศก.โตช้าความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวี (เรื่องนี้ Thomas Picketty ดูจะเขียนไว้ชัดในหนังสือ Capital in 21st century ของเขา ว่า ระบบ Capitalism ใน Low growth economy จะค่อยๆถ่ายโอนสมบัติจากคนจนไปสู่คนรวย ทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม) ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจก็อาจมีวิกฤติสังคม ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างรุนแรง ก็อาจจะล้มล้างระบบไปเลยอย่างที่เคยเกิดในรัสเซีย จีน เวียตนาม กัมพูชา

ซึ่งถ้าเกิดวิกฤติสังคม เกิดสงครามชนชั้น มีสงครามกลางเมืองขึ้นมาจริง เราคงไม่ได้ฟื้นง่ายๆเหมือนตอนปี 2540 หรอกครับ คงต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์แนะใช้ ม.44 ชะลอบังคับใช้ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว

Posted: 02 Jul 2017 05:00 AM PDT

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเสนอแนะให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้ออกเป็นพระราชบัญญัติแทนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

 
2 ก.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การผ่านพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในการจัดระเบียบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเนื่องจากมีจำนวนเกือบสี่ล้านคนและในจำนวนนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน การจัดระเบียบนี้จะช่วยก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว การบริหารระบบแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดูแลสวัสดิการแรงงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวได้ดีขึ้น จัดการระบบกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสลงได้ ควบคุมดูแลโรคติดต่อ การจัดการศึกษาให้กับลูกของคนงานต่างด้าวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การจัดการในมิติความมั่นคงมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยไม่ได้ให้ระยะเวลาการปรับตัวและเตรียมการน้อยเกินไป ประกอบกับ มีแรงงานจำนวนมากเกือบหนึ่งล้านคนที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย สะท้อนว่า ไทยมีภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่างขั้นรุนแรง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหา 
 
สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและการปิดดำเนินงานชั่วคราวของกิจการต่างๆที่อาศัยแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการบรรเทาลงหากมีการใช้มาตรา 44 ในการชะลอการบังคับใช้ พรก แรงงานต่างด้าวไปก่อน ส่วนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และ มีแรงงานจำนวนมากได้กลับประเทศและส่วนหนึ่งคงจะไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทย การกลับมาทำงานอาจมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงานบางส่วน ภาระนี้อาจเกิดขึ้นกับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานจากตลาดแรงงานในไทยได้ คาดว่า ผลกระทบ พรก แรงงานต่างด้าวน่าจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสามชะลอตัวลง อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ในไตรมาสสาม เกิดการชะงักงันในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด 
 
ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายออกมาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน มีโทษสูงและขึ้นอยู่กับอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจึงอาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างแพร่หลายและเป็นการยากที่จะควบคุม ในระยะยาวแล้ว พรก แรงงานต่างด้าวจะทำให้แรงงานต้องขึ้นทะเบียนและเข้ามาอยู่ในระบบ จะลดปัญหาการทุจริตติดสินบนได้อย่างเป็นระบบ แต่ พรก แรงงานต่างด้าวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาทุจริตติดสินบนในตลาดแรงงานเมื่อทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีต้นทุนต่ำกว่าการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ หากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีขั้นตอนความยุ่งยาก ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 
 
อย่างไรก็ตาม จะเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรมและงานบางลักษณะ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะ กรรมกรก่อสร้าง ช่างประเภทต่างๆและวิศวกร อุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว พนักงานบริการในร้านอาหารและโรงแรม คนขายของตามตลาดสด อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ งานแม่บ้านและกิจการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น มีแรงงานไทยจำนวนมากขึ้นตามลำดับที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ การไหลออกของแรงงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคต่างๆทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทักษะต่ำไม่สามารถทดแทนได้ เกิดความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน การปรับค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานฝีมือแรงงานจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาแรงงานทักษะและช่างเทคนิคให้ทำงานในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป 
ภาวะ การเลิกจ้าง ยังคงมีอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น กิจการบริการสถานบันเทิงมีการเลิกจ้างสูงในช่วงที่ผ่านมา กิจการก่อสร้างขนาดเล็ก กิจการสื่อสารมวลชน (กระทบหนัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัลและธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม) กิจการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง การเลิกจ้างน่าจะมีแนวโน้มลดลงแม้นอัตราว่างงานจะสูงที่สุดในรอบ 7 ปีแต่อัตราการว่างงานยังคงต่ำกว่า 2% และตลาดแรงงานยังค่อนข้างตึงตัวในหลายส่วน และแรงงานในบางประเภทยังคงขาดแคลน รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีการเปิดกว้างอนุญาตให้แรงงานบางประเภทเข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้นหรือพิจารณาให้มีการเปิดเสรีตลาดแรงงานในส่วนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้มีข้อเสนอเจ็ดข้อต่อรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบจาก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว และ ปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ดังนี้
 
ข้อหนึ่ง เสนอแนะให้ใช้ มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และให้มีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและขอใบอนุญาตทำงานตามสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้กลับไปที่ชายแดน ส่วนพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและต้องพิสูจน์สัญชาติจึงให้ไปขึ้นทะเบียนที่ชายแดน 
 
ข้อสอง เสนอให้ออกเป็น พระราชบัญญัติการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ. 2561 แทน พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และให้เกิดการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึง มิติของแรงงานวิชาชีพชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆชาวต่างชาติ มิติทางด้านการศึกษาวิจัยและ การถ่ายทอดเทคโนโลยี มิติด้านสวัสดิการและความเป็นธรรมในการจ้างงาน มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง มิติด้านสาธารณสุขและสุขอนามัย มิติด้านการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส มิติด้านโครงสร้างประชากร, สังคมสูงวัยและกระบวนการให้สัญชาติไทย มิติด้านความสมดุลการเปิดเสรีตลาดแรงงานและการปกป้องตลาดแรงงานของคนไทยหรือการสงวนอาชีพ มิติความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต มิติภาระทางการคลัง เป็นต้น 
 
ข้อสาม เนื้อหาของพระราชบัญญัติการปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน เตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน 
 
ข้อสี่ รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย และ แรงงานต่างชาติในไทยควรได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกันอันเป็นมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ 
 
ข้อหก รัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก นำเทคโนโลยี Automation และ หุ่นยนต์มาทำงานแทนสำหรับการผลิตแบบซ้ำๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายกลับประเทศในอนาคตของแรงงานต่างด้าว
 
ข้อเจ็ด รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานเพื่อให้ แรงงานรวมทั้งครอบครัว เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง เป็น พลเมืองต่างชาติที่มีคุณภาพ ในสังคมไทย อันนำไปสู่ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อยที่สุด ควรให้การศึกษาเรื่องภาษาไทย ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายพื้นฐานของไทย 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สายน้ำและเพลงขลุ่ย

Posted: 02 Jul 2017 04:07 AM PDT


 

อยู่เป็นและดูเป็น
คือความเห็นของบางคน
ตัวอย่างอันน่ายล
ในยุคทองผ่องอำไพ

"แม่น้ำคด น้ำไม่คด"
คติพจน์ประจำใจ
เป็นน้ำที่ลื่นไหล
ตลิ่งคดก็ช่างมัน

ตลิ่งเบนไปทิศไหน
กรากตามไปไม่แปรผัน
บ้านพังกี่หมื่นพัน
สายน้ำไหลได้แต่ดู

ดูเป็น เป็นอย่างไร
จึงเรียกได้ว่าชั้นครู
ดูจักรที่เขาชู
เป็นดอกบัว อย่างนั้นหรือ

แกนขลุ่ยนั้นกลวงเปล่า
ยอมคนเป่าไม่ฮึหือ
วันใดขลุ่ยหลุดมือ
จะรอดู คนอยู่เป็น...

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อองซานซูจี สั่งห้ามไม่ให้วีซ่าคณะสืบสวนยูเอ็นเข้าตรวจสอบกรณีกองทัพละเมิดสิทธิฯ โรฮิงยา

Posted: 02 Jul 2017 03:29 AM PDT

รัฐบาลเมียนมาร์นำโดยอองซานซูจีประกาศว่าพวกเขาจะปฏิเสธไม่ให้วีซ่ากับทีมสืบสวนจากสหประชาชาติที่ต้องการสืบสวนเรื่องเกี่ยวกับกรณีโรฮิงยา โดยทีมดังกล่าวมีแผนการเข้าไปสืบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก่อเหตุการสังหาร ข่มขืน และทารุณกรรม ชาวโรฮิงยา

 
2 ก.ค. 2560 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเปิดเผยว่าอองซานซูจีจะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะสืบสวนของยูเอ็น โดยบอกว่าจะสั่งสถานทูตเมียนมาร์ไม่ออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการค้นหาความจริงของยูเอ็น
 
ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. 2560 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้มีปฏิบัติการสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระในกรณีที่กองทัพเมียนมาร์ต้องสงสัยละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะต่อชาวโรฮิงยาในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ 
 
ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมายูเอ็นได้แต่งตั้งทีมสืบสวนได้แก่ ทนายความชาวอินเดีย อินดิรา ใจสิง และอดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชนศรีลังกา ราติกา กุมารัสวามี และนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนชาวออสเตรเลีย คริสโตเฟอร์ โดมินิค สิดอติ และกำหนดให้ต้องมีร่างรายงานการสืบสวนภายในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้
 
เมื่อเดือน ต.ค. 2559 มีการก่อเหตุโจมตีจากขบวนการติดอาวุธชาวโรฮิงยาที่โจมตีด่านตรวจคนข้ามแดนจนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 ราย หลังจากนั้นกองทัพเมียนมาร์จึงทำการกวาดล้างชาวโรฮิงยาจนมีผู้เสียชีวิต 1,000 ราย และมัผู้พลัดถิ่น 90,000 ราย 
 
ทางยูเอ็นเผยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการข่มขืน ทารุณกรรม และฆาตกรรมพลเรือนโดยกองทัพเมียนมาร์ในช่วงที่มีการกวาดล้างเป็นเวลา 4 เดือน จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา แต่รัฐบาลเมียนมาร์ก็กล่าวปกป้องกองทัพว่าข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง
 
หัวหน้าพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีบอกว่าพวกเขาไม่สนใจ "การรายงานที่ไม่เป็นธรรม" จากยูเอ็น ส่วนอองซานซูจีปฏิเสธทีมสืบสวนของยูเอ็นมาโดยตลอดแต่ขออนุโลมให้ใช้คณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ทำงานแทนซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวนี้นำโดย โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น และแต่งตั้งโดยสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของอองซานซูจี อย่างไรก็ตามคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ไม่รายงานเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ในเดือน เม.ย. มีกลุ่มสิทธิมนุษยชน 23 กลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความร่วมมือกับคณะทำงานของยูเอ็น
 
อองซานซูจีเข้าสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมาในฐานะ "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" ช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการปกครองโดยทหารมาเป็นการปกครองที่ฝ่ายบริหารส่วนหนึ่งเป็นพลเรือน แต่อองซานซูจีก็ถูกวิจารณ์ว่าเธอเมินเฉยต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงยาพลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Suu Kyi orders visa ban on UN investigators, Coconuts Yangon, 30-06-2017
 
Myanmar refuses visas to UN team investigating abuse of Rohingya Muslims, The Guardian, 30-06-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WHO ยอมรับไทยจัดการมะเร็งได้ดีที่สุด

Posted: 02 Jul 2017 01:47 AM PDT

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เผยองค์การอนามัยโลกยกย่อง 'ไทย' จัดการมะเร็งได้ดีที่สุด ชี้ปัจจัยความสำเร็จคือกลไกการต่อรองราคายา

 
2 ก.ค. 2560 ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง กล่าวว่า หลักการของแพทย์ทุกคนก็คือต้องการรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด ส่วนตัวเป็นแพทย์รักษาโรคมะเร็งที่สามารถทำตามเป้าหมายนั้นได้ แต่ก็ยังมีแพทย์อีกบางส่วนที่ต้องการรักษาคนไข้ให้หายเช่นกัน แต่สาเหตุที่ทำไม่สำเร็จเนื่องจากโรงพยาบาลมีข้อจำกัด
 
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า คำถามก็คือแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกันหมด ยกตัวอย่างในอดีตยามะเร็งในเด็กที่ราคาแพงมาก หากมีเงินจ่าย 3 แสนบาท ผู้ป่วยจะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ถึง 80% แต่ถามต่อว่าชาวบ้านจะมีเงินจ่ายหรือไม่ จนกระทั่งมีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมา มีระบบการส่งต่อและตามจ่ายก็พบว่าเกิดปัญหาโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่ยอมส่งต่อ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลแพงถึงหัวละ 3 แสนบาท
 
"ถ้าจะรักษาด้วยวงเงิน 1 แสนบาท อัตราการรอดชีวิตจะอยู่เพียง 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด นั่นคือความไม่คุ้มค่า จนกระทั่งมาถึงปี 2551 มีการขายไอเดียเรื่องมะเร็งเด็กให้กับ สปสช. เพื่อสร้างมาตรฐานการรักษาให้เหมือนกันทุกโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลใดรักษาตามเกณฑ์นี้ก็จะได้เงินจาก สปสช. นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กไทยได้รับการรักษาเหมือนกันหมด" ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว      
 
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า ในส่วนของมะเร็งผู้ใหญ่ เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งมีมากถึงหลายร้อยโรค ซึ่งทั้งหมดรักษาไม่เหมือนกันและโอกาสหายจากโรคก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นในการดูแลมะเร็งจึงให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการรักษา ส่วนตัวได้คุยกับ สปสช.ว่าเราไม่ได้รักษาทุกโรคเพราะนั่นเป็นการหาเสียงของรัฐบาลยุคนั้น แต่เราต้องมีหลักประกันให้กับทุกคน อะไรที่รักษาได้ก็รักษา อะไรที่รักษาไม่ได้ก็ไม่ต้องรักษา เพราะต้องยอมรับว่ามีโรคที่ถึงจะจ่ายหนึ่งแสน หรือหนึ่งล้าน ก็ต้องตายอยู่ดี โดยโรคใดที่รักษาได้หรือรักษาไม่ได้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน ภายใต้หลักการคือทุกคนต้องมีหลักประกันและเข้าถึงบริการ  
 
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นประเทศที่จัดการโรคมะเร็งได้ดีที่สุด สำหรับเหตุผลที่ WHO ชื่นชม ประกอบด้วย 1.ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษามะเร็งทั้งหมด 2.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำมาก 3.ประชาชนเข้าถึงยารักษาได้อย่างแท้จริง โดยความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะเรามีสถิติและข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่แข็งแรง มากไปกว่านั้นก็คือมีแนวทางและมาตรฐานการรักษาว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ WHO ให้ความสนใจกับการได้มาซึ่งยา
 
"เรามีระบบการต่อรองราคายารวม ซึ่งทำให้ราคายาลดลงมาได้จำนวนมาก โดยเฉพาะยาราคาแพงที่พบว่าประเทศที่เข้าถึงได้คือประเทศที่มีความสามารถในการต่อรองราคายาเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศยังไม่กล้าทำ ประชาชนของเขาจึงเข้าไม่ถึงยา" ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: ‘ขุมทรัพย์วัด’ ผลประโยชน์ที่แก้ด้วยกฎหมายได้จริงหรือ?

Posted: 02 Jul 2017 01:43 AM PDT

<--break- />

รอบเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาสังคมไทยกลับมาจับจ้องเรื่องผลประโยชน์ในวัดอีกครั้ง และยังดูเหมือนเป็นขุมทรัพย์ลึกลับเสมอมา ลองดูข้อเสนอ 'การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา' และ 'การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัด' ของ สปช. และ สปท. ว่าจะเป็นทางออกของปัญหาได้จริงหรือ? ที่มาภาพประกอบ: เฟสบุ๊ก วัดวังตะวันตก จ.นครศรีธรรมราช

จากข่าวฆ่าโบกปูนสามเณรที่วัดวังตะวันตก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นวัดมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในภาคใต้ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม: คาดปมผลประโยชน์ฆ่าโบกปูนเณรในวัด จ.นครศรีธรรมราช) กรณีนี้ได้กระตุ้นให้สังคมออกมาตั้งคำถามถึงผลประโยชน์มหาศาลของวัดอีกครั้ง ซึ่งปกติแล้วรายได้หลัก ๆ ของวัดในประเทศไทยนั้นมาจากเงินทำบุญเข้าวัด การปล่อยเช่าแผงร้านค้า ค่าจอดรถรายวัน บริการต่าง ๆ และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของวัด เป็นต้น ซึ่งหลายต่อหลายวัด ที่มาเงินรายได้เหล่านี้กลับไม่เคยปรากฏในสถานะทางบัญชีของวัดเลย (อ่านเพิ่มเติม: เจาะเงินฝากวัด 3 แสนล้าน 'เจ้าอาวาสคุม-ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล' , แกะรอย 'ตู้บริจาคเงินวัด' จากศรัทธาสู่ผลประโยชน์ที่ไม่ต้องตรวจสอบ?)

ในรายงานพิเศษชิ้นนี้จะขอเล่าย้อนไปถึงประเด็นที่มาของรายได้วัด ผู้มีส่วนได้ผลประโยชน์ รวมทั้งตั้งคำถามต่อข้อเสนอ 'การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน' และ 'การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา' ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้จริงหรือ ?

ที่มาของรายได้วัด-พื้นที่ธรณีสงฆ์ พื้นที่ผลประโยชน์?

จาก คู่มือการดูแลรักษาศาสนสถาน ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2559  ที่จัดทำโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อธิบายถึงที่มาของรายได้วัด โดยส่วนใหญ่วัดจะมีรายได้มาจากการตั้งซุ้มจำหน่าย และขายสินค้าของวัด เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร วัตถุมงคล หนังสือธรรมะ หรือของที่ระลึกอื่น ๆ กับรายได้จากการจัดผลประโยชน์ทรัพย์สิน ที่เป็นรายได้จากการที่วัดให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และยังรวมถึงรายได้จากการให้บริการสถานที่สำหรับประชาชนหรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศาลา อาคารอเนกประสงค์ หรือห้องประชุม เป็นต้น ส่วนรายได้อื่น ๆ ก็จะได้มาจากเงินบริจาค ค่าจอดรถ หรือค่าบริการห้องน้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ พื้นที่ธรณีสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นแหล่งทำรายได้สำคัญของวัดอีกแหล่งหนึ่ง โดยตามบทบัญญัติของ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 พื้นที่ธรณีสงฆ์ หมายถึง ที่ดินที่เป็นสมบัติของวัด ซึ่งเหลือจากการจัดแบ่งเขตสำคัญคือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ โดยที่ดินของวัดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และที่ราชพัสดุ ซึ่งไม่สามารถซื้อขาย หรือโอนเปลี่ยนมือได้ แต่วัดสามารถนำพื้นที่ธรณีสงฆ์ปล่อยให้เช่าได้ โดยเจ้าอาวาสของวัด ซึ่งอาจจะมอบหมายให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดการผลประโยชน์ของวัดเป็นผู้ดูแล

ตาม มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 25/2546 มติที่ 459/2546 ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดประโยชน์ที่ดินศาสนสมบัติว่า "หลักเกณฑ์การคิดค่าตอบแทนในการจัดประโยชน์ที่ดินศาสนสมบัติ จะใช้ราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินในปัจจุบันที่เช่าเป็นหลัก ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ เงินบำรุงศาสนสมบัติ และอัตราค่าเช่า ค่าเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์ คิดตามราคาประเมินที่ดิน และประเภทการเช่าของธุรกิจแต่ละประเภท ตามบัญชีกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินอาคารประเภทต่าง ๆ ของกรมการศาสนา"

ที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งอนุญาตให้จัดการประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ จึงกลายมาเป็นพื้นที่ในการหารายได้ และผลประโยชน์ขนานใหญ่ ในกรณีของวัดวังตะวันตกที่กำลังจุดกระแสความสนใจจากสังคมอยู่นั้น พบว่ามีการยักยอกเงินวัด หาผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลภายในวัด จากการจัดสรรที่ดินเพื่อทำลานจอดรถ แผงเช่าพระ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์รอบ ๆ วัด และอาคารพาณิชย์ นอกจากวัดจะเก็บค่าเช่าได้แล้ว ยังสามารถเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะรายปีที่ผู้เช่าต้องบริจาคให้วัดได้อีกด้วย  อีกทั้งการจัดการที่ดินศาสนสมบัตินั้นก็ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดเก็บค่าเช่าที่ดิน เห็นได้จาก คำให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวไทย ของนายจรัญ มารัตน์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับกรณีผลประโยชน์จากการให้เช่าที่ดินของวัดกับสำนักข่าวไทยไว้ว่า

"ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชมีวัดรวม 619 แห่ง เฉพาะวัดที่มีที่ดินให้เช่าในตัวเมืองนครฯ หากมีการจัดการผลประโยชน์เข้าวัดอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา แต่ละปีจะมีเงินบำรุงพระพุทธศาสนาปีละนับร้อยล้านบาท เพราะที่ดินตั้งอยู่ย่านการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ" (อ่านเพิ่มเติม: จากวัดวังตะวันตก สู่ตรวจสอบผลประโยชน์วัดทั่วนครศรีฯ)

กลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์

พบว่าผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในเกมผลประโยชน์ของวัด ไม่ใช่แค่ผู้ที่อยู่ในสังกัดวัดนั้น ๆ อย่างกรรมการวัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ภายนอกวัดอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ อีกด้วย

กรรมการวัด จาก 'งานการศึกษาวิจัยเรื่องมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับกรรมการวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505' ของพระสุชีพ เทศน์ดี, รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. ประทีป ทับอัตตานนท์ และรองศาสตราจารย์สุวิทย์ นิ่มน้อย ได้ให้ข้อพิจารณาในทางกฎหมายว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้วัดเป็นนิติบุคคล และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด โดยเจ้าอาวาสมีหน้าที่ในการบำรุงรักษา และจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ในส่วนของการจัดการศาสนสมบัติของวัดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 ได้กำหนดวิธีจัดการทรัพย์สินโดยให้เจ้าอาวาสตั้งไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า 'กรรมการวัด' เป็นผู้ดูแลจัดการในเรื่องการเช่าที่ดิน หรืออาคาร รับผิดชอบการทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการจัดการเงินการกุศลเพื่อใช้ในการบริหารวัด

ซึ่งเมื่อพิจารณาการแต่งตั้งผู้จัดประโยชน์ของวัดก็พบว่า กฎหมายทั้งสองฉบับมิได้กำหนดวิธีการแต่งตั้งหรือกำหนดคุณสมบัติตลอดจนอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุม เจ้าอาวาสจึงสามารถแต่งตั้งบุคคลที่ตนเห็นว่าสมควร (หลายกรณีจึงเป็นการแต่งตั้งเครือญาติหรือผู้ใหล้ชิด) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกรรมการวัดได้ นำมาซึ่งปัญหาการยักยอกเงิน หรือการมีผล ประโยชน์ในกิจการงานของวัด ตลอดจนความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติกับหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของกรรมการบริหารในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าต่างประเทศมีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการบริหารไว้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในรายงานการศึกษาฯ ยังชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาดำรงอยู่ในตำแหน่งของกรรมการวัด ทำให้กรรมการวัดบางคนอยู่ในตำแหน่ง 15 ปี หรือ 30 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนา มีการยึดติดกับตำแหน่ง หรือผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จจนกลายเป็นตำแหน่งที่มีไว้เฉพาะกลุ่มบุคคลหนึ่งเท่านั้น และเมื่ออยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานานจะเอื้อให้เกิดอิทธิพล และการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนหรือพวกพ้อง และยังปิดโอกาสมิให้บุคคลอื่นเข้ามาพัฒนาอีกด้วย และในด้านการควบคุมการทำหน้าที่นั้น มีการกำหนดโทษทางอาญาของเจ้าอาวาส และไวยาวัจกร ไว้โดยเฉพาะ แต่ในกรณีของกรรมการวัดกฎหมายมิได้ควบคุม จึงทำให้โทษทางอาญามีลักษณะที่ต่างกันเมื่อได้กระทำความผิดอย่างเดียวกัน ซึ่งได้กลายมาเป็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาในกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดของกรรมการวัด

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวงใด แต่มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐระดับกรม ขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2545 มีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษา จัดการศาสนาสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากรทางศาสนา

ในด้านอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯนั้น สามารถดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ รวมไปถึงเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นต้น ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดการผลประโยชน์วัดของสำนักงานพุทธฯ นั้นเป็นไปตาม ระเบียบมหาเถรสมาคมที่ว่าด้วยการจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด พ.ศ.2557 ข้อ 5 ระบุว่า "เงินผลประโยชน์ของวัด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ (1) เงินผลประโยชน์ส่วนกลาง ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ในเขต กทม. ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์แทน (2) เงินผลประโยชน์ในส่วนของภูมิภาค ได้แก่ เงินของวัดต่าง ๆ ที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดประโยชน์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มอบให้จังหวัดจัดประโยชน์แทน" และในข้อ 6 ระบุว่า "การจ่ายเงินผลประโยชน์ของวัด ต้องอยู่ในกิจการหรือความจำเป็นของวัด และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีหน้าที่พิจารณาตามที่ระบุไว้ในระเบียบนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจแล้วแต่กรณี สั่งจ่ายตามจำนวนที่ได้รับอนุมัตินั้น"

จะเห็นได้ว่าตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ แม้จะระบุไว้ว่า "เป็นไปเพื่อดูแล สนับสนุนส่งเสริม คุ้มครองวัดและพระพุทธศาสนา ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า เพื่อเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยั่งยืน และสังคมมีความสุขด้วยหลักพุทธธรรม" แต่จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของคนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เอง เช่น ข่าว ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.สงขลา ที่เรียกรับเงินจากวัดเป็นจำนวน 3.2 ล้านบาท เมื่อปี 2558 (อ่านเพิ่มเติม : หลักฐานไม่พอ! อัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงินวัด 3.2 ล., ไขปริศนา? ทำไมอัยการไม่ฟ้อง ผอ.สำนักพุทธฯสงขลาเรียกรับเงิน 3.2 ล.) หรือจะในกรณีการทุจริตเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด หรือที่เรียกกันว่า 'เงินทอน' ของข้าราชการระดับสูงในสังกัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ  ที่เริ่มเป็นข่าวอีกครั้งมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2560 ว่ามีวัดร่วมทุจริตกว่า 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 60.5 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม: ผอ.พศ. แฉ!! ทุจริตเงินอุดหนุนวัด "เงินทอน" 75%) และล่าสุดคือที่เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก จ.ชุมพร ได้ออกมาแสดงหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ โอนเงินเข้าบัญชี 2 ล้านบาท บังคับให้เซ็นรับเงิน 4 แสนบาทเป็นเงินทอน และถูกขู่ฆ่าหากไม่ให้ความร่วมมือ (อ่านเพิ่มเติม: "เจ้าวัดดังชุมพร" แฉถูกขู่ฆ่า สู้เพื่อศาสนาไม่รับเงินทอน) รวมทั้งข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับปมการทุจริตที่พัวพันกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ทำให้เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าตัวสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์จากวัดเช่นนี้ จะสามารถทำตามวิสัยทัศน์พันธกิจในการก่อตั้งได้เช่นไร? เพราะจากกรณีการทุจริตของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ที่ผ่านมาส่อให้เห็นว่าเงินผลประโยชน์ของวัด รวมทั้งเงินผลประโยชน์ส่วนกลาง และเงินผลประโยชน์ในส่วนของภูมิภาคที่มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ จัดประโยชน์นั้น กลับกลายเป็นช่องทางในการยักยอกเงินผลประโยชน์ของวัด และหาผลประโยชน์เข้าส่วนตนของคนอีกกลุ่ม กลายเป็นปัญหาที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านการตรวจสอบและจัดการผลประโยชน์ของวัดกระทั่งถึงปัจจุบัน

สตง.พบทุจริต 'เงินทอน' วัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท

ที่มาภาพ: รายงานพิเศษ 'สตง.พบทุจริตเงินทอนวัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท' สำนักข่าวไทย, 23 มิ.ย. 2560

ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่าได้รับเบาะแสการทุจริตและตรวจสอบพบความผิดปกติในเส้นทางการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจพบปมทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 โดยมีการเบิกจ่าย 33 วัด พบวัดที่เข้าข่ายทุจริต 12 วัด ในพื้นที่ภาคเหนือ 6 วัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 วัด, ภาคกลาง 2 วัด, และภาคใต้ 1 วัด มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท 

ใน รายงานพิเศษ 'สตง.พบทุจริตเงินทอนวัดชายแดนใต้ ร่วม 100 ล้านบาท' ของสำนักข่าวไทย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ระบุว่าสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริตการเรียกรับเงินคืนจากงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังพบเบาะแสครั้งแรกที่ จ.สงขลาเมื่อตั้งแต่เดือน  ส.ค. 2558 ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุว่าผลการตรวจสอบย้อนหลังปีงบประมาณ 2557-2558 พบมีการทุจริตหลายโครงการทั้งโครงการบุรณะปฏิสังขรณ์, โครงการครอบครัวอบอุ่นด้านการปฏิบัติธรรม และงบประมาณส่งเสริมความมั่นคงสถาบันพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยพบเจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาฯ และผู้ร่วมกระทำผิดมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเรียกคืนจากวัดเป็นเงินทอนเริ่มต้นร่วม 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 218 ล้านบาท และเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า 80 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"วัดส่วนใหญ่จะตกเป็นเครื่องมือในการที่จะไปหาผลประโยชน์ตรงนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้ วัดไหนที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเหมือนแบบนี้ ก็อยากให้แจ้งข้อมูลมายังสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน"  นายมิตร สุวรรณรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุ

วัดคงคาสวัสดิ์ ใน อ.เทพา จ.สงขลา เป็นหนึ่งในวัดที่ถูกสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเรียกเงินคืนหลังได้รับงบประมาณบุรณะปฏิสังขรณ์วัด 2 ครั้ง ในปี 2558 ได้รับงบประมาณสูงถึง  3,800,000 บาท  แต่มีการจ่ายให้วัดจริงเพียง 1,000,000บาท เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ เลขาธิการเจ้าคณะ อ.เทพา ระบุว่า ในพื้นที่ อ.เทพา มีวัดที่ถูกเรียกเก็บเงินคืน 4 วัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักพระพุทธศาสนาเข้ามาติดต่อและดำเนินการให้ จนอนุมัติงบประมาณและมีเงื่อนไข ให้วัดจ่ายเงินกลับคืนให้บางส่วนโดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินไปช่วยเหลือวัดอื่น ๆ ต่อไป 

"ทางสำนักพุทธอยู่ ๆ ก็บอกว่าอันนี้งบประมาณเอามาให้แต่ว่าจะเอากลับไปด้วยในส่วนหนึ่ง อาตมาก็เคยทักท้วงว่าทำไมต้องเอากลับคืนไป เขาบอกว่าเอาไปให้วัดอื่น ด้วยให้มาแปดแสนเอากลับไปหกแสน เราก็นึกเราก็บ้านนอกก็นึกถึงวัดอื่นที่เดือดร้อนเหมือนกันก็ไม่เป็นไร วัดทุกวัดอาตมาเชื่อได้เลยว่าไม่มีวัดไหนสงสัยหรอก" เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ ระบุ

การตรวจสอบพบทุจริตเรียกรับเงินทอนจากวัดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนี้ เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์มองว่าเป็นการกระทำความผิดของบุคคลในหน่วยงานของรัฐไม่ใช่ทั้งหมด เช่นเดียวกับวัดที่ตกเป็นเครื่องมือด้วยความไม่รู้ขั้นตอนกระบวนการและความเชื่อใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการบูรณาการการทำงานให้รัดกุมเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายผลกระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชนรวมทั้งขวัญกำลังใจของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอาจถูกมองว่ามีส่วนร่วมในการทุจริตในครั้งนี้ด้วย

 

'ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา' และ 'การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัด' ทางออกของปัญหา?

ความพยายามที่จะปฏิรูปวัดไทยปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ อย่างล่าสุดเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายบวรเวท รุ่งขจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แถลงถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินของวัดต่อสาธารณชนว่า มติที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบรายงานเรื่อง 'การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน' ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ ทั้งนี้ให้มหาเถรสมาคม (มส.) หรือ สำนักพระพุทธศาสนาฯ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งรูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้ง ให้สำนักพระพุทธศาสนาฯนำเสนอมหาเถรสมาคม เรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505, กฎกระทรวงปี 2511, กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ ให้ทันสมัยบังคับใช้ได้จริง อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคม นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาฯ เก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบและไม่เคยมีบทลงโทษ

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการผลักดันเรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนาผ่าน 'ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ' โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 4 ด้าน คือ 1. เงิน ทรัพย์สินของวัด พระ ไม่มีการตรวจสอบหรือเปิดเผยทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสของวัด 2. การตีความพระธรรมวินัย ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเรื่องคำสอนให้ยึดในอัตตา หรือมีเรื่องข้อครหาต่าง ๆ ในตำแหน่งของพระชั้นต่าง ๆ 3. การปกครองคณะสงฆ์ เป็นลักษณะผูกขาด แค่กลุ่มเดียวราว 100 กว่ารูปแต่ควบคุมพระกว่า 2-3 แสนรูป และ 4. ภาครัฐต้องสนับสนุน ปกป้องคุ้มครอง กิจการของฝ่ายศาสนจักรโดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว

นายไพบูลย์เคยระบุกับสื่อมวลชนไว้ว่า การเข้ามาดำเนินการในครั้งนี้จะช่วยให้การแยกทรัพย์สินของวัดและพระมีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องมีการแยกบัญชีและมีการลงบัญชีทรัพย์สิน และต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการฟอกเงินผ่านวัด จากเดิมที่ไม่มีเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลของทั้งวัดและพระ จะมีการดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ที่มีเจ้าอาวาส พระลูกวัด อุบาสก อุบาสิกาเข้ามาร่วมกันเป็นกรรมการ การตัดสินใจต้องเป็นไปตามมติคณะกรรมการ โดยมีภาครัฐเข้ามาดูแล หากเกิดข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงเรื่องอำนาจของเจ้าอาวาส ที่จะไม่ได้ถือครองความเป็นนิติบุคคลเพียงคนเดียวอีกต่อไป ร่างกฎหมายนี้รายได้ทั้งหมดเป็นของวัด เจ้าอาวาสสามารถใช้จ่ายได้ในกิจของสงฆ์ มีการรายงานให้คณะกรรมการวัดทราบ ส่วนเงินของพระภิกษุในระหว่างบวช นับเป็นเงินของวัด ถือได้แต่ต้องแจ้งยอด และจะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์ (อ่านเพิ่มเติม: จับตาร่างกฎหมายจัดการทรัพย์สินวัด-พระ บีบ "ธรรมกาย" อ่อนแอ-สกัดใช้วัดฟอกเงิน!)

แม้แนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของ สปท. และ สปช. ดังที่กล่าวไปนั้นจะให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของวัด สามารถตรวจสอบได้และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อที่จะลดหรือป้องกันการทุจริต ยักยอก และหาผลประโยชน์จากวัดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอที่อาจจะแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ภายในวัดได้

แต่กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์มหาศาลของวัดที่มีในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการปฏิรูปในเร็ววันนี้ย่อมจะมีแรงต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย อันมีให้เห็นดังตัวอย่างอันใกล้ในกรณีที่รัฐบาล คสช. พยายามจะเล่นงาน 'วัดพระธรรมกาย' ก็มีกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยคอยขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่ตลอดเวลา

รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของทั้งพระสงฆ์และประชาชนในวงกว้าง เช่น การร่วมกันจัดทำข้อเสนอสู่การทำประชามติทั้งประเทศ เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริง แต่ในการจัดทำข้อเสนอของ สปท. และ สปช. นั้นกลับดูเหมือนว่าเป็นข้อเสนอของคนกลุ่มเล็กๆ ในช่วงที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็น ย่อมทำให้ข้อเสนอทั้งสองนั้น ขาดความชอบธรรมและแรงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วยเช่นกัน

 

*กนกวรรณ ธัญญานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มโต๊ะไม้เพื่อเสรีภาพเรียกร้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์

Posted: 02 Jul 2017 01:32 AM PDT

'กลุ่มโต๊ะไม้เพื่อเสรีภาพ' ออกแถลงการณ์เรียกร้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ จากกรณีที่เกิดการตอบโต้กันทางสื่อออนไลน์จากบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ในหนังสือ 'แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ'

 
 
2 ก.ค. 2560 'กลุ่มโต๊ะไม้เพื่อเสรีภาพ' ออกแถลงการณ์เรียกร้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยระบุว่าจากกรณีที่เกิดการตอบโต้กันทางสื่อออนไลน์จากบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อบทสัมภาษณ์ "เอ็นจีโอและภาคประชาสังคม" จากหนังสือ "แผ่นดินจึงดาล : การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ" ที่วิพากษ์วิจารณ์การทางานของภาคประชาสังคม มีการนาข้อความบางส่วนไปประกอบรูปภาพแล้วเผยแพร่ จนนาไปสู่การโพสต์ข้อความที่มีลักษณะข่มขู่ คุกคาม มีการใช้ถ้อยคารุนแรงในท้ายที่สุด
 
การแสดงความเห็นดังกล่าวไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาคาตอบที่มีความสมเหตุสมผล พิจารณาและประเมินเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อสืบค้นความจริง นาไปสู่แนวทางการแก้ไขและพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาการทางานของภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบการทางานของภาครัฐและมีส่วนผลักดันส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้น มีลักษณะการทางานร่วมกันกับนักวิชาการ การวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นส่วนสาคัญอย่างยิ่งของการทางานทางสังคม การนาเอาอารมณ์และโจมตีด้วยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
 
"กลุ่มโต๊ะไม้เพื่อเสรีภาพ" เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เฝ้าดูการทางานของภาคประชาสังคม คาดหวังการทางานของภาคประชาสังคมให้พัฒนา ยกระดับการทางานที่เท่าทันต่อพลวัตทางสังคม เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้ใช้การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ทั้งนี้ยังหวังจะเห็นคนทางานได้นาเอาแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไปใช้ในชีวิตประจาวันอีกด้วย ไม่ใช่แค่การงานที่ได้ชื่อว่าเป็นการทางานในประเด็นสิทธิมนุษยชนเพียงเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสรท. ค้านขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 เป็น 60 ปี

Posted: 02 Jul 2017 01:23 AM PDT

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าวคัดค้านการขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตน จากอายุ 55 เป็น 60 ปี ระบุเป็นการลิดรอนสิทธิ ในมติแรงงานสัมพันธ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ

 
 
ที่มาภาพ: voicelabour.org
 
2 ก.ค. 2560 voicelabour.org รายงานว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้จัดแถลงข่าวคัดค้านการขยายอายุรับเงินชราภาพของผู้ประกันตน โดยนายสาวิทธิ์ แก้วหวาน ประธานคสรท.ได้แถลงว่า การประกันสังคมในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการผลักดันของขบวนการแรงงานก่อนปี 2530 ซึ่งผลของการรณรงค์ผลักดันทำให้มีการตราพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 2 กันยายน 2533 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกันตนทั้งระบบประมาณ 13 ล้านคน มีเงินสมทบที่ร่วมกันจ่ายระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล(จ่ายน้อย ค้างจ่าย ไม่จ่ายสมทบกรณีชราภาพ)ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท โดยผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆในอัตราตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สำหรับกรณีการรับเงินจากกองทุนชราภาพเงื่อนไขที่กำหนดไว้คือจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (เท่ากับ 15 ปี) ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และ ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 
 
ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) จะถูกหักเงิน 5% ของค่าจ้างไปสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยกำหนดฐานค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000บาท แม้ว่าลูกจ้างจะมีเงินได้ต่อเดือนมากกว่านั้นก็ตาม ก็จะถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 750 บาท เงินจำนวนนี้ถูกกระจายไปสมทบไว้เป็นสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณี โดย 1.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 225 บาท สำหรับกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย+กรณีคลอดบุตร+กรณีทุพพลภาพ+กรณีเสียชีวิต อีก 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาท สำหรับกรณีว่างงาน ขณะที่ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาท สำหรับกรณีชราภาพ และตามกฎหมายนายจ้างสมทบต้องจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งในอัตราที่เท่ากันกับลูกจ้าง นอกจากนี้แล้วรัฐบาลได้ร่วมจ่ายสมทบน้อยกว่าจำนวนเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่าย (ยกเว้นกรณีชราภาพ รัฐไม่จ่ายสมทบ) สำหรับกรณีชราภาพเริ่มมีการสมทบมาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2541 ดังนั้นบำนาญชราภาพจะเริ่มทยอยจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป
 
กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้พยายามชี้นำสังคมและผู้ประกันตนเสมอมาว่า หากมีการจ่ายเงินจากกองทุนชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในหลักเกณฑ์เสียใหม่ก็จะทำให้เงินทั้งหมดในกองทุนประกันสังคมทุกกองทุน(1.6 ล้านล้านบาท)หมดไปในปี พ.ศ.2587 จึงเป็นที่มาของแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบันพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล โดยการแถลงของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมนพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ว่า "ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงานและเมื่อต้องออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงมีนโยบายที่จะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปีและในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เห็นชอบ และสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป"
 
หลายปีมาแล้วที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ได้พยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประกันสังคมทั้งระบบเพราะเห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการ รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน โดยเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารจัดการ และการขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในกองทุนต่างๆ ดังนั้นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเลขาธิการประกันสังคมกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ประกันตน เป็นนโยบายที่คิดกันเองโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและองค์การของแรงงาน 
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)โดยองค์กรสมาชิกได้ประชุมกันและ "มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์ชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี" โดยมีเหตุผลดังนี้คือ
 
1.สิทธิการรับเงินชราภาพเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นและรับรู้กันนับตั้งแต่วันเข้าสู่ระบบประกันสังคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนสิทธิ หากมองในมติแรงงานสัมพันธ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณ
 
2.คำกล่าวที่ว่าจะสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี และในอนาคตผู้ประกันตนจะสามารถอยู่ในระบบได้จนถึงอายุ 60 นั้น เป็นประเด็นที่ต่างกัน คือ เมื่อสิทธิเกิดก็ต้องได้รับเงินชราภาพตามสิทธิเมื่ออายุครบ 55 ปี ส่วนการจะทำงานต่อไปจนอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้นเป็นเรื่องที่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน หรือจะเป็นการแก้กฎหมายให้เกษียณอายุ 60 และให้อยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
3.การกล่าวอ้างว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขจะทำให้กองทุนประกันสังคมหมดไปนั้น สะท้อนถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ของการบริหารจัดการ ขาดการวางแผนงานที่ดี ซึ่งคนเข้ามาบริหารก็ย่อมทราบดีว่ารายรับ รายจ่ายของระบบประกันสังคมจะเป็นอย่างไรซึ่งควรวิเคราะห์และกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่ต้นไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลงในตอนนี้
 
และเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนต่อการปฏิรูประบบประกันสังคมทั้งระบบ ซึ่งได้เคยนำเสนอต่อรัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมไปแล้วหลายครั้งและล่าสุดเมื่อ "วันกรรมกรสากล ปี 2560" คือ
 
1.ให้มีการปฏิรูปประกันสังคมทั้งระบบโดยให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ปฏิรูปโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารจัดการ โดยให้ผู้ประกันตนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดและเลือกผู้แทนของตนเอง รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะชราภาพจากจำนวนเงินที่ได้รับตามหลักเกณฑ์(3,000 บาทต่อเดือน)ไม่พอต่อการดำรงชีพ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำก็กว่า 9,000 บาท
 
2.ให้แก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้รัฐจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในอัตราส่วนที่เท่ากันกับนายจ้างและลูกจ้าง
 
3.ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบที่ค้างจ่ายอยู่ให้เต็มตามจำนวน เพราะการไม่จ่ายทำให้กองทุนประกันสังคมเสียโอกาส ในการนำเงินจำนวนมหาศาลนั้นไปหาประโยชน์เข้ากองทุน
 
4.ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าจ้างต่ำสุดและสูงสุดในการคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมรายเดือนเพื่อพัฒนาให้กองทุนโตและมั่นคง ยั่งยืน
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) องค์กรสมาชิกและเครือข่ายผู้ประกันตน จึงขอให้รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยุติการดำเนินการขยายการรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนชราภาพจากอายุ 55 เป็น 60 ปี และนำข้อเสนอต่างๆไปพิจารณาโดยให้ผู้ประกันตนและภาคส่วนต่างๆได้มีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล ที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประกาศเป็นพันธสัญญาต่อสาธารณะ
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนและสื่อมวลชนทั้งหลายร่วมกันตรวจสอบติดตามการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งร่วมกันผลักดันข้อเสนอให้เป็นจริง เพราะเงินประกันสังคมเป็นเงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงาน จากรายได้จากการขายแรงของพี่น้องแรงงานทุกคน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลิดรอนสิทธิ กระทำการใดๆไปเพียงลำพังแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังเสียงของผู้ประกันตน และต้องร่วมกันแสดงทัศนะ จุดยืนในโอกาสต่อไป หากการดำเนินการยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังเสียงของผู้ประกันตน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี: วิกฤตแรงงานข้ามชาติกับความล้มเหลวของรัฐราชการ

Posted: 02 Jul 2017 12:18 AM PDT




ในบรรดาประเทศที่ล้มเหลวในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั่วโลก ไทยน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง จากความล้มเหลว น่าจะกำลังกลายเป็นหายนะอยู่ในขณะนี้ เมื่อแรงงานชาติต่างๆ ต่างพากันแห่ข้ามพรมแดนกลับบ้าน จาก พ.ร.ก.ประหลาดฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกมาใหม่ ความแปลกประหลาดของตรรกะรัฐในการบริหารแรงงานที่ไม่ใช่ไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่น่าจะเป็นครั้งที่สร้างความเดือดร้อน ล่มจม ให้กับผู้คนตั้งแต่ระดับครัวเรือนที่มีลูกจ้างทำงานบ้าน เลี้ยงดูเด็ก ไปจนกระทั่งธุรกิจขนาดใหญ่

รัฐไทยน่าจะเป็นรัฐที่ไม่มีทางพาตนเองให้พ้นจากอุดมการณ์สมัยสงครามเย็นได้ จนแล้วจนรอด ทั้งที่ประกาศตนเป็นประเทศ 4.0 และพยายามจะ neo-liberalize ในทางสำนวนโวหารในตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าแปลกที่ในโลกยุคโลกาภิวัตร ที่ประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลาย ต่างพากันพยายามถีบตนเองทางเศรษฐกิจ หันมาคิดคำนวณว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างตลาดที่จะสามารถขูดรีดแรงงานให้เป็นสินค้าที่สร้างกำไรได้มากที่สุด แต่รัฐอย่างไทย วันๆได้แต่นั่งคิดว่า จะผลิตบัตรและเอกสารประเภทไหน จึงจะควบคุมแรงงานที่ไม่ใช่ไทย ไม่ให้เดินทาง ไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ให้ย้ายงาน ไม่ให้ทำอย่างอื่นนอกจากรับจ้างกับเป็นคนใช้ ไม่ให้ผันตัวไปขายของหรือประกอบการ ฯลฯ

ชายแดนจึงไม่ต่างไปจาก concentration camp ที่มีไว้กักกันนักโทษแรงงาน ให้ทำงานตามข้อกำหนดของรัฐเอกสารเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับกลไกของตลาด และธรรมชาติของการไหลเวียนของแรงงานในโลกทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับการใช้รัฐราชการในการบริหารเศรษฐกิจและกิจการทุกประเภท ความล้มเหลวไม่ได้เพียงเกิดจากการขาดสติปัญญาในการเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป และสังคมมนุษย์ที่มีพลวัตเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการขัดกันเองในหน่วยงานราชการ ความไร้ประสิทธิภาพ และการแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการคอรัปชั่น

ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ในทุกๆสองหรือสามปี แรงงานข้ามชาติจะถูกบังคับให้ต้องลงทะเบียนด้วยระบบเอกสารประเภทใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสีชมพู พาสปอร์ตสีม่วง พาสปอร์ตสีน้ำเงิน พาสปอร์ตสีแดง ใบอนุญาตตาม ม.14 ฯลฯ มิหนำซ้ำ กลไกในการควบคุมกำกับแรงงาน ก็ยังย้ายไปมา หรือแข่งกันเอง ระหว่างมหาดไทย กับกระทรวงแรงงาน

ในตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ผลผลิตจากการใช้ตรรกะแบบสงครามเย็นในการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐราชการไทย จึงได้แก่ ความสิ้นเปลืองและ inflation ของเอกสาร กับระบบส่วยที่สร้างความร่ำรวยให้กับรัฐชายแดนที่รีดไถแรงงานผ่านวัตถุเอกสาร ในขณะเดียวกัน รัฐกลับไม่เคยสามารถสร้างระบบทะเบียนเพื่อควบคุมกำกับแรงงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือมีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของตน/หรือของชาติตามที่มักอ้างได้ ในอำเภอชายแดนเช่นแม่สอด ตัวเลขแรงงานที่รัฐเพียรพยายามลงทะเบียนผ่านระบบบัตรสีชมพู ลดลงจาก 40,000 คนในปี 2557 เหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 58 และ 59 ทั้งที่จำนวนแรงงานข้ามชายแดนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

การใช้รัฐราชการและกลไกเอกสารอันล้าหลังในการควบคุมจำกัดแรงงาน ทำให้ไทยน่าจะเป็นประเทศที่ทั้งแรงงานและนายทุน ต้องจ่ายเงินเพื่อลงทะเบียนในเอกสารใหม่ๆ ตลอดเวลา และจ่ายส่วยจากกระบวนการเอกสาร และช่องว่างจากระเบียบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดิฉันคิดว่า ไม่น่าจะมีเมืองชายแดนที่ไหนในโลก ที่แรงงานต้องพิสูจน์อัตลักษณ์ของตนเองอยู่ตลอดเวลาผ่านเอกสาร ที่บ่อยและถี่ที่สุด และถูกรีดไถจากตำรวจมากที่สุดเท่าในไทย ในถนนแคบๆไม่กี่สายกลางเมืองแม่สอด มีตำรวจที่มักมาตั้งด่านตรวจจับเพื่อตรวจบัตรและรีดไถ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบกว่าจุด ไม่นับด่านนอกเมืองอีกหลายด่าน ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนธุรกิจในเมืองชายแดนของไทย ก็เป็นธุรกิจในพื้นที่ที่มีต้นทุนสูงมากจากการต้องจ่ายส่วยเอกสารแรงงานให้กับรัฐในระดับต่างๆ นั่นอธิบายว่า เหตุใดค่าแรงในชายแดน จึงไม่เคยเหยียบอัตราขั้นต่ำ และเหตุใดการพยายามกดบังคับไม่ให้แรงงานไหลเข้าชั้นในเพื่อแสวงหางานที่มีค่าจ้างสูงกว่า จึงล้มเหลวมาโดยตลอด

เมื่อสองสามปีก่อน สมัยที่ดิฉันทำวิจัยอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในฝั่งลาว ซึ่งนักธุรกิจจีนบริหารอยู่ พบว่ามีแรงงานพม่าไม่น้อยกว่า 10,000 คนทำงานอยู่ในเขตดังกล่าว แรงงานหลายราย อพยพมาจากไทย เมื่อถามว่าทำไม พวกเขาตอบว่า ถึงแม้ที่นี่จะทำงานหนักกว่ามาก หัวหน้างานชาวจีนกดขี่หนักกว่าคนไทย และค่าแรงจะไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่อยู่ที่นี่แล้วสบายใจกว่า ไม่มีตำรวจมารีดไถเรื่องบัตรให้ต้องคอยเสียส่วย หรือต้องคอยหลบหนีพวก ตม.มาคอยกวดจับเพื่อส่งกลับประเทศ

ในเขตดังกล่าว ไม่มีบัตรสารพัดสีให้ต้องไปต่อลงทะเบียนและจ่ายเงิน ที่นั่นรัฐแทบไม่ได้เข้ามายุ่มย่ามกับแรงงานข้ามชาติ การเป็น หรือไม่เป็นพลเมือง ไม่มีความสำคัญสำหรับตลาดเสรีนิยมใหม่ที่นั่น และที่น่าสนใจคือ แม้ว่าจะเป็นเขตที่มีแรงงานข้ามเข้ามาทำงานอยู่ตลอดเวลา กลับไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ในพรมแดนชาติที่ยุติบทบาทและหน้าที่ด้านความมั่นคง (แม้ว่าจะชั่วคราวก็ตามที) และบทบาทของรัฐถูกแทนที่ด้วยกลไกตลาดเสรี เส้นแบ่งระหว่างบนดินและใต้ดิน หรือถูกกม. ผิดกม. กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย หรือไม่ทำเงินอีกต่อไป

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในชายแดนตะวันตกของไทยนั้น คงยังต้องเผชิญกับหายนะจากการใช้รัฐราชการที่ล้าหลัง และขาดสติปัญญาในการควบคุมชายแดนและแรงงานต่อไปอีกยาวนาน เสรีนิยมใหม่ภายใต้ระบอบทหารนี่ น่าจะพากันเจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น