โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กกต.เตรียมไทม์ไลน์เลือกตั้ง วางไว้ 19 ส.ค.61

Posted: 17 Jul 2017 11:36 AM PDT

กรอบเวลาเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ช่วงต้นเดือน เม.ย.61 รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ช่วงวันที่ 2-6 ก.ค. 61 จัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาดังกล่าววางไว้วันที่ 19 ส.ค. 61

17 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงาน กกต.ในการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดย ในที่ประชุมมีการนำเสนอการดำเนินงานเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง เช่น การจัดที่เลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ การรับสมัครเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต การรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจคือการรายงานการติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.มองว่าเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาในการเลือกตั้ง ส.ส. คือเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้ง  ซึ่งจะต้องรอดูว่า กรธ.จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอย่างไร

ส่วนกรอบเวลาในการเตรียมการในส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น  ได้มีการกำหนดคร่าว ๆ เพื่อใช้ในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยวางกรอบว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2561 จากนั้น กกต.จะมีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2561 หลังจากนั้นจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากนั้นช่วงวันที่ 9 มิ.ย. 2561 คาดว่า กกต.จะสามารถประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร วันเวลาและสถานที่ในการจับสลากของพรรคการเมือง การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงการยื่นบัญชีสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อนั้น วางกรอบไว้ในช่วงวันที่ 2-6 ก.ค. 2561 ขณะที่การจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาดังกล่าววางไว้ว่าให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 19 ส.ค. 2561 ทั้งนี้นอกจากการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วยังมีการวางกรอบเวลาในการสรรหา ส.ว.ว่าอาจจะแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. โดยวางกรอบว่าจะประกาศผลรายชื่อ ส.ว. 200 คน ในวันที่ 8 มิ.ย. 2561

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า แม้ กกต.ชุดนี้จะถูกเซ็ตซีโร่ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้คนที่มารับงานต่อจากเรา และจะมีการทำข้อสังเกตต่าง ๆ ส่งให้ กกต.ชุดใหม่พิจารณาด้วย ทั้งนี้ไม่รู้สึกกังวลแม้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกต.ชุดใหม่ เพราะผู้บริหาร กกต.มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งกว่า 19 ปี

ศุภชัย กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้ง การสรรหาและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่จะต้องจับสลากลงแต่ละจังหวัด ซึ่งอาจจะมีปัญหาว่าบางคนได้รับเลือกและได้แต่งตั้งแล้วแต่ไม่อยากไป รวมทั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมการให้ดี รวมถึงเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. 

"แม้ตอนนี้เรายังไม่เห็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่การเตรียมการตามร่างกฎหมาย ที่เราส่งให้ กรธ.พิจารณา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และหาก กรธ.มีการแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวในส่วนใด เราก็สามารถแก้ไขการเตรียมการเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายได้" ประธาน กกต. กล่าว

โดย ศุภชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า กรณีที่ประชุมเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งได้เสนอแผนการทำงานและระบุว่าถึงวันเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นตามโรดแมปของรัฐบาลว่าเป็นวันที่ 19 ส.ค. 2561 นั้น เป็นเพียงตารางการทำงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ยังไม่ได้กำหนด เพราะกฎหมายยังไม่ออก กกต.ต้องมีแผนไทม์ไลน์เพื่อกำหนดการทำงาน

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประธานศาลอุทธรณ์' เตรียมแถลงครั้งสุดท้ายก่อนลาออก 18 ก.ค.นี้

Posted: 17 Jul 2017 10:19 AM PDT

17 ก.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ได้เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ศาลอุทธรณ์ ตนจะขอแถลงข่าวเป็นครั้งสุดท้ายแล้วซึ่งจะแถลงถึงแนวทางการลาออกจากราชการ ก็จะกล่าวถึงเหตุผลต่างๆให้ทราบต่อไป

สำนักข่าวอิศรา รายงานด้วยว่า ศิริชัย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา สั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า ยอมรับว่าจะลาออกจริง เพราะอยู่ไม่ได้แล้ว

เมื่อถามว่า ปัจจุบันถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีบริหารงานในศาลอุทธรณ์อยู่ แม้ลาออกการสอบก็ยังมีผลอยู่ใช่หรือไม่ ศิริชัย กล่าวสั้น ๆ ว่า "จะสอบก็สอบไป ยังไงก็อยู่ไม่ได้แล้ว พรุ่งนี้จะพูดหมด ใครมีอะไรให้มาถาม"
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 13/2560 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้ง ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในวาระ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลทุกชั้นศาลได้กลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อประกอบการพิจารณา ที่ประชุม ก.ต. เห็นว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถในการบริหารงานศาลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลักอาวุโส ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายแต่งตั้งและการเลื่อนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2554 โดยที่ประชุม ก.ต. ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบในการแต่งตั้งให้ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ตาม
 
สำหรับ ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ก.ต.มีมติเอกฉันท์ 14-0 เห็นชอบให้ ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาอาวุโสลำดับสอง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44 ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘มหาชัย’ สะเทือน แรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทย

Posted: 17 Jul 2017 09:17 AM PDT

ชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ผลกระทบ ก.ม.แรงงานคนต่างด้าวใหม่ แรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ขอรัฐเสนอข่าวไม่ขัดแย้งกัน จะทำอะไรควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกัน

แฟ้มภาพ ประชาไท

17 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐบาลออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จนสร้างผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ ก่อนที่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 แทน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 ก.ค. พ.ศ. 2560 รายงานว่า สมพจน์ ยิ่งยวด ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ ไตรพล ตั้งมั่นคง ที่ปรึกษา ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การบังคับใช้ 4 มาตรา ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือมาตรา 101, 102, 119 และมาตรา 122 ซึ่งเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นนั้น ได้ก่อปัญหาให้กับขบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ทั้งยังปฏิบัติยาก เมื่อลูกจ้างกับนายจ้างเกิดความกลัว ก็เลยต้องกลับไปตั้งหลักที่ประเทศของตนก่อน จึงขอให้ภาครัฐเขียนกติกาที่ชัดเจน แล้วแจ้งให้ประชาชน-นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว ได้ทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการรับรู้ในทางเดียวกันและข่าวต้องไม่ขัดแย้งกัน จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐจะทำอะไรก็ตาม ควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกันตามสมควร

"สภาพขณะนี้ทางสมาชิกของชมรม ก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะแรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ประกอบกับขณะนี้เรือประมงก็ออกหาปลากันไม่ได้ สินค้าสัตว์นํ้าก็มีเข้ามาค้า-ขายในตลาดน้อยอยู่แล้วจึงถูกซํ้าด้วยปัญหาคนงานที่หายไปอีก" ประธานชมรมผู้ขายปลาฯ กล่าว

สมพจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ยากในทางปฏิบัติก็คือสภาพแรงงานต่างด้าวยังไม่นิ่ง ดังนั้นถ้าจะให้การจ้างงานสงบ ก็ควรอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ทั้งปี เหตุเพราะทั้งล้งและเรือประมง ต่างก็มีปัญหากันทั้งปี ดังนั้นเมื่อราชการปิดการจดทะเบียน แต่เกิดปัญหาการจ้างงานขึ้น นายจ้างก็ไม่สามารถขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้ในช่วงนั้น ทางชมรมจึงอยากเสนอให้มีการจดทะเบียนและการขออนุญาตใช้แรงงานได้ทั้งปี เหมือนการทำบัตรประชาชนหรือการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั่วไป เพราะสภาพลูกจ้างย้ายนายจ้าง หรือนายจ้างย้ายลูกจ้าง มีเกิดขึ้นทุกวัน จะได้สับเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ในช่วง 180 วันที่ทำการผ่อนผันจึงน่าจะทำเรื่องการจดทะเบียนขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างไม่ต้องมีการจำกัดเวลา โดยถือเป็นวาระแห่งชาติและให้เป็นวาระเร่ง ด่วน

"การผ่อนผันไป 180 วันก็อาจจะทำกันไม่ทัน เพราะเมื่อลูกจ้างเดินทางกลับประเทศของตนแล้วจะกลับมาอีกก็มีความยุ่งยากมากมาย ขณะนี้พวกที่เดินทางกลับประเทศของตนมีทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและพวกที่อยากกลับอยู่แล้ว" สมพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ กำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบ แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพที่เกิดขึ้นก็เพราะมีผู้ทำผิดกฎหมายเยอะและมีการทำให้คนเกิดความกลัว ซึ่งทางรัฐควรทำประชาคมให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลกระทบแล้วมาตามแก้ภายหลัง ซึ่งก็จะยุ่งยากและเกิดความเดือดร้อนต่างๆ ตามมา

"ทางด้านประมงนั้นได้รับผลกระทบมาเป็นปีแล้ว เนื่องจากเรือต้องจอดและไม่มีแรงงานลงเรือ ทางออกที่รัฐน่าจะทำคือ การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานทดแทนในระยะสั้น หรือการผ่อนผันชั่วคราวด้วยใบอนุญาตทดแทน เพื่อให้คนงานสามารถลงไปทำงานในเรือประมงได้ก่อน และเรือประมงจะได้ออกทะเลไปจับปลาได้ โดยไม่ต้องจอดรอค้างอยู่ จากนั้นก็ให้มีการขึ้นทะเบียนต่อไปเพื่อแรงงานจะได้มีใบอนุญาตถูกต้อง" นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว

ตรวจต่างด้าวแหล่งบันเทิงด่านนอก อ.สะเดา

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหลายพันคนมีใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งแม่บ้าน แต่ไปทำงานขายบริการในสถานบันเทิงในจังหวัดสงขลาว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลาได้ร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาและสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา เข้าตรวจสอบสถานบันเทิง ณ บริเวณบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา จำนวน 3 แห่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

วรานนท์  กล่าวอีกว่า โดยได้ตรวจสอบแรงงานตำแหน่งพนักงานเสริฟจำนวน 47 คน เป็นคนไทย 23 คน เมียนมา 13 คน และคนพื้นที่สูง 11 คน ซึ่งคนต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ทั้งนี้ ไม่พบแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ทำงานขายบริการแต่อย่างใด แต่เป็นกรุ๊ปทัวร์มาท่องเที่ยวและพักอาศัย ณ บริเวณบ้านด่านนอก (จังโหลน) โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก่นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

"จังหวัดสงขลามีแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 58,338 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 44,873 คน ลาว 2,752 คน โดยที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 13 (ชนกลุ่มน้อย , พื้นที่สูง เช่น เมียนมา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ จีน ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า เป็นต้น) จำนวน 407 คน นายจ้าง จำนวน 102 ราย เป็นตำแหน่งกรรมกร 221 คน ผู้รับใช้ในบ้าน 61 คน และพนักงานเสริฟ 125 คน" วรานนท์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรัญชัย ถามกลางเวทีเปิดร่างสัญญาประชาคม ทหารเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน

Posted: 17 Jul 2017 08:44 AM PDT

เปิดเนื้อหาฉบับเต็มร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แม่ทัพน้อยที่ 1 กล่าวเปิดงานหวังงานวันนี้จะราบรื่น ไร้ข้อโต้แย้ง และความขัดแย้ง ด้านวรัญชัย โชคชนะ เข้าร่วมงานยกมือถามเป็นคนแรก ทหารเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน และเมื่อไหร่จะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

17 ก.ค. 2560 13.00 น. ที่สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ได้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี พลโท กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธาณกล่าวเปิดงาน โดยงานครั้งนี้มีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง นักการเมือง รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมงานจำนวนมาก

พลโท กู้เกียรติ กล่าวว่า ทราบว่าประชาชนทุกภาคส่วนต้องการให้ประเทศมีความสามัคคีปรองดอง และเดินต่อไปข้างหน้าอย่างสันติ และหวังว่าการจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ราบรื่น ปราศจากข้อโต้แย้ง และความขัดแย้งใดๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองในอนาคต โดยจากการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ได้สะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชน ซึ่งส่งผลให้สัญญาประชาคมมีความสมบูรณ์ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป โดยที่ประชาชนทั่วไปมีความสามัคคีปรองดอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ต่อมาได้มีการจัดเวทีเสวนาชี้แจงการทำงานของคณะอนุกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีพลตรีอภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ อนุกรรมการพิจารณาการบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความปรองดอง และพลตรีชนาวุธ บุตรกินรี อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และพันเอกวินธัย สุวารี และ พันตรีหญิงนุสรา วรภัทราทร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

พลตรีอภิศักดิ์ ได้อธิบายถึงภาพรวมของการทำงานของคณะกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ภายใต้คณะกรรมการราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยเริ่มต้นจากการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2560 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

"ดังนั้นเราจะเห็นว่าจุดเข็มของคณะกรรมการชุดนี้คือ การที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ท่านได้เข้ามาเห็นข้อมูล และได้เข้ามาดูแลตั้งแต่ต้น หมายความว่าสิ่งตามที่เราทำกันมาได้รับฟังมาจากท่านๆ ก็จะได้นำส่งขึ้นไป"พลตรีอภิศักดิ์ กล่าว

พลตรีอภิศักดิ์ กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก โดยมีการแบ่งโครงสร้างคณะทำงานออกเป็น 4 คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ, คณะอนุกรรมพิจารณาการบูรณาการข้อคิดเห็น, คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯ และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ โดยผู้รับผิดชอบงานในแต่ละส่วนต่างก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพ

"ต้องเรียนกับท่านก่อน เพราะสิ่งแรกที่ผมโดนถามเสมอคือ มีแต่ทหารทั้งนั้นเลย คนก็รู้สึกว่าทหารพูดกันเอง ทำกันเอง และชมกันเองหรือเปล่า และสิ่งที่ประชาชนเสนอไปจะเป็นไปตามนั้นไหม หรือว่ามีธงอยู่แล้ว ผมได้ยินมาอย่างนั้นบ่อยมาก ต้องขอย้ำกับทุกท่านตรงนี้ด้วยความเป็นผู้ชายในเครื่องแบบ แมนๆ เลยครับว่า ไม่เคยมีใครมาสั่งให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ท่านเปิดกว้าง แล้วก็ให้น้องว่าไปเลย ได้ยินมาอย่างไร น้องทำไปเต็มที นอกจากนี้เราก็ยังมีคณาจารย์เข้ามาร่วมในคณะทำงาน ดังนั้นก็ยืนยันกับทุกท่านได้ว่า เราไม่ได้ปิดประตูนั่งทำกันเอง แล้วก็คิดกันเองไม่กี่คน แล้วก็มีคนรับรู้รับทราบตลอด" พลตรีอภิศักดิ์ กล่าว

สำหรับร่างสัญญาประชาคมที่ ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือบทนำ ความเห็นร่วมทั้ง 10 ข้อ บทสรุป โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาประชาคมไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. แต่ได้เสนอแนะให้มีการจัดทำภาคผนวกประกอบร่างสัญญาประชาคมด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาที่สั้นไป และอาจจะทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน โดยมีภาคผนวกทั้งหมด 15 ข้อ เพื่ออธิบาย ขยายความความเห็นร่วมทั้ง 10 ข้อ อย่างไรก็ตามภาคผนวกดังกล่าวยังไม่ได้มีการเผยแพร่ฉบับเต็มออกมาทั้งหมด ส่วนเนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมมีดังนี้

บทนำ

สังคมไทยในอดีต เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประพฤติปฏิบัติตามธรรมเนียมจารีตประเพณี ยึดถือหลักคำสอนของศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทำให้สังคมอยู่กันอย่างสุขสงบ อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาในด้านต่างๆ การเข้ามาของวัฒนธรรม และค่านิยมจากต่างชาติ ส่งผลให้สภาพสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีบางส่วนก่อให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย การขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายความเจริญที่ไม่สมดุล ซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท  การผูกขาดของกลุ่มทุนทำให้เศรษฐกิจรากฐานถูกทำลาย เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และยกระดับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต รวมทั้งมีการใช้ความรุนแรง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ปัญหาต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ทำให้ประเทศเดินเข้าสู่ทางตัน และอยู่ในลักษณะ "ติดกับดัก" ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคสังคม การเมือง และเศรษฐกิจโดยรวม

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพ และสิ่งดีงามอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยต้องหยุดชะงักและสูญเสียโอกาสในการพัฒนา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เกิดความสามัคคีปรองดอง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศไทยมีความสงบสุข สามารถก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี  มีความเจริญเติบโตทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไปในอนาคต

ความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ด้วยสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของพลเมืองไทยที่มีต่อประเทศชาติพวกเราทุกคนขอให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่า จะสามัคคีปรองดอง และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังในการนำพาประเทศก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง ไปสู่จุดหมายปลายทางที่พวกเราทุกคนมุ่งหวัง โดยยึดถือกรอบความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ดังต่อไปนี้

1.คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนพึ่งมีความรู้ความเข้าในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในกรอบของกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด และส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยกลไกในระบบรัฐสภา

2.คนไทยทุกคน พึงน้อมนำศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพอย่างสุจริต พึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีไมตรีต่อกัน และร่วมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของท้องถิ่น ตลอดจนเศรษฐกิจรากฐานที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ

3.คนไทยทุกคน พึงยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต มีความซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับ ปราศจากการคอร์รัปชัน

4.คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ยอมรับและเชื่อมั่นในกระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่สุจริตเป็นธรรม โดยที่คนไทยพึงมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

5.คนไทยทุกคน พึงให้การสนับสนุน ส่งเสริมดูแลคุณภาพชีวิต การสาธารณสุข ตลอดจนการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

6.คนไทยทุกคน พึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

7.คนไทยทุกคน พึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข่าวสารจากสท่อต่างๆ และร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบิดเบือน เผยแพร่ข่าวมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

8.คนไทยทุกคน พึงตระหนักในการส่งเสริมให้สังคมมีมาตราฐานสากลตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

9.คนไทยทุกคน พึงสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน

10.คนไทยทุกคน พึงเรียนรู้ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ในช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็น และตั้งคำถาม วรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายสมัย ได้แสดงความเห็นว่า ตนให้กำลังใจ และขอสนับสนุนเรื่องการสร้างความปรองดอง และหวังว่าการสร้างความปรองดองครั้งนี้จพประสบความสำเร็จ

วรัญชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องการเมืองต้องการให้มีความชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะมีการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน และในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากในสมัยหน้าตนไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ แล้วต้องการหาเสียงจนสามารถหาเสียงโดยออกนโยบายที่แตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ และหากทำและจะถูกจับติดคุก ดำเนินคดีหรือไม่

"คำถามสุดท้ายครับท่าน บทนำที่เขียนว่าให้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมคิดว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยพอสมควร มีมากด้วย แต่ผมอยากทราบว่าท่านน่ะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยขนาดไหน ท่านจะคืนประชาธิปไตยให้หรือไม่ และจะคืนให้เมื่อไหร่"วรัญชัย กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการชี้ ร่าง ก.ม.แรงงานสัมพันธ์ใหม่ เป็นฉบับ 'ปะผุ' มากกว่า 'ปรับวิธีคิด'

Posted: 17 Jul 2017 05:58 AM PDT

นักวิชาการด้านแรงงาน ชี้ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับใหม่ ใช้กรอบความมั่นคงมาจับ ไม่ใช้กรอบสิทธิฯ สู่ฐานที่ผิด แนะให้สัตยาบัน ILO 87 98 ไปก่อน แล้วค่อยว่ากันในเรื่องกฎหมาย 

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์สีลม กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ประเทศไทย (SC) จัดเสวนาเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับ 6 มีนาคม 2560: ก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กับที่" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย ณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน สนธยา เผ่าดี ผู้จัดการทั่วไป บ.นิสโตมาเท็กซ์ และสุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ดำเนินรายการโดย พรนารายณ์ ทุยยะค่าย หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสรท.

 

นักวิชาการชี้เป็นฉบับ 'ปะผุ' มากกว่า 'ปรับวิธีคิด'

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงานและที่ปรึกษาในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน กล่าวว่า ก้าวไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่กัยที่ พบว่า ก้าวไปนิดเดียว เพาะได้เติมนู่นนี่เข้ามา สำหรับตนคือเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการทำกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถ้าเทียบกับฝ่ายแรงงานทำ คือ การรื้อกรอบความคิด ถ้าภาษา ตุลา ปัจฉิมเวช คือ การปะผุมากกว่าไม่ได้ปรับวิธีคิด สร้างวิธีคิดใหม่ และถ้ามาดูในหลักการและเหตุผลที่เขียนว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ แต่เมื่อมาดูสาระ ไม่ได้แก้ไขปัญหาฉบับ 2518 ที่เราร่างในยุคสงครามเย็น เราใช้กรอบความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ กลัวแรงงานมาก มองเป็นแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานจีน มีการควบคุม มองแรงงานเป็นเรื่องการควบคุมทั้งๆ กรอบคิดเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม คือนายจ้าง นายทุน ลูกจ้าง ผลประโยชน์มันขัดกัน ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย ไม่ใช่การอยู่แบบใครได้ แต่จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ ออกกฎหมายให้อยู่กับร่องรอย ทำให้คนที่มีผลบประโยชน์ขัดแย้งกัน อยู่ด้วยกันได้

ใช้กรอบความมั่นคงมาจับ ไม่ใช้กรอบสิทธิฯ สู่ฐานที่ผิด

ศักดินา กล่าวว่า มาดูการแก้ไขที่ระบุในเหตุผล กำหนดไว้ใหญ่ แต่ในสาระน้อยมาก และยังไม่ตอบโจทย์อนุสัญญาฉบับที่ 87 รัฐยังเข้ามาแทรกแซงหลายเรื่องอยู่ ต้องขออธิบดีอนุญาต ทั้งๆ ที่ ILO 87 คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิ กฎหมายต้องส่งเสริม มาใช่การลิดรอนสิทธิยังลิดรอนหลายส่วน เรามีคนงาน 40 ล้านคน กลับถูกจำกัด แม้รัฐธรรมนูญรับรอง คนงานรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ต่อรองในการทำกิจกรรม ทำข้อตกลงร่วมกัน เป็น collective bargaining หรือ  การร่วมเจรจาต่อรอง ต้องกลับไปที่จุดจริงๆ ว่าเรามีกฎหมายแรงงสายสัมพันธ์ไปเพื่ออะไร เราควรไปดูประเทศที่มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เช่น ในยุโรป ในสแกนดีนีเวียน จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี สังคมที่ดี สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดี แต่ผมเข้าใจได้ว่า ใครร่างกฎหมายก็เป็นไปตามชนชั้นนั้น ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีส่วนร่วมน้อยทำให้ต้องฝ่าข้ามเรื่องนี้ การใช้กรอบความมั่นคงแห่งชาติมาจับ ไม่ได้ใช้กรอบสิทธิมนุษยชน เป็นการใช้ฐานที่ผิด

ตนสอนวิชาแรงงานสัมพันธ์มี 3 กรอบ คือ เชื่อในความอันหนึ่งอันเดียวกัน เชื่อในระบบอุปถัมภ์ เราติดกรอบนี้ ไม่สามารถสร้างแรงงานสัมพันธ์ได้ มองว่าให้ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ได้ประโยชน์ ต่อมากรอบมาร์กซิสม์ เชื่อในความขัดแย้งชนชั้น ลูกจ้างนายจ้างไม่สามารถประสานประโยชน์ได้ ต่อมาคือการสร้างประชาธิปไตยบในการทำงาน ให้อำนาจคนงาน codiordination ให้คนงานตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆของตนเอง ซึ่งร่างแรงงานก็ใช้กรอบนี้ ตัดสินใจร่วมกัน มองเรื่องการเจรจาต่อรอง ยอมรับเรื่องสหภาพแรงงานในการรวมตัว ส่วเสริมการรวมตัว จัดพื้นที่การพูดคุยกัน

แนะให้สัตาบัน ILO 87 98 ไปก่อน แล้วค่อยว่ากันในเรื่องกฎหมาย 

นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่มีการจัดพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลประกอบการเจรจาต่อรอง ข้อมูลในการพูดคุยไม่ตรงกัน รัฐมีอีกข้อมูลหนึ่ง ถ้าอยากให้กฎหมายฉบับนี้มันดีต้องทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล ตัดสินใจร่วมกัน ในยุโรป คณะกรรมการลูกจ้างมีบทบาทในการปรึกษาหารือมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทย ยังให้ความสำคัญน้อยอยู่ ถ้าจะให้กฎหมายนี้ไปได้ ตนมองว่าวางกฎหมายไว้ก่อน เหตุผลในการทำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า คือ การให้สัตาบันอนุสัญยา ILO 87 98 ไปก่อน แล้วค่อยว่ากันในเรื่องกฎหมาย มันสะท้อนเจตนารมณืเรื่องการมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี จะนำสังคมไปสู่ความเสมอภาคได้ เพราะกฎหมานมันตีความได้หลากหลาย ให้สัตาบันไปเลย และตรงไหนในตัวกฎหมายไม่ใช่ก็ปรับแก้ไขไป

สำหรับอนุสัญญา ILO 87 98 2 ฉบับนี้ ศักดินา กล่าวว่า ถึงเก่าแก่แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน เวลาถามว่าจะรับก่อนแล้วค่อยแก้ไขกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายก่อน ซึ่งเราเคยจัดเวทีหลายรอบแล้ว ก็พบว่า สามารถรับก่อนได้ ผู้อำนวยการ ILO ก็กล่าวเองว่า ให้ไปแล้วค่อยแก้ไขกฎมหายให้สอดรับก็ได้ การให้สัตยาบันคือ การเคารพและเชื่อมั่นสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การนำมาอ้างในร่างกฎหมายและหลักการเหตุผล ก็ควรทำให้ดำเนินไปตามหลักการอนุวัญญา กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง จารีตสำคัญมากกว่าในยุโรป ประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ เวลาเจรจาต่อรองไม่ได้เจรจาในระดับสถานประกอบการ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ประเทศประชาธิปไตยเจรจาระดับชาติ ระดับอุตสาหกรรมากกว่า ทางกระทรวงแรงงานจะดำเนินการเรื่องนี้ คือ ให้นายจ้างรวมกัน ลูกจ้างรวมกัน และเจรจาในระดับอุตสาหกรรมากกกว่า ส่งเสริมเจรจาในกรอบใหญ่ๆ เช่น เบลเยี่ยมมีแค่ 3 สหาภาพ ถ้าเราจัดแบบนี้จะลดความยุ่งเหยิงความแตกต่างหลากหลายได้ ทำให้เกิดมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน

ผอ.กลุ่มงานพัฒนา ก.ม. Timeline ร่าง พ.ร.บ.

ณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ดังกล่าว ว่า ที่ผ่านมาหลายคนคงได้รับฟังมาบ้างแล้ว ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง อีกทั้งยังได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ และยังสามารถรับฟังได้โดยตลอด เป็นไปตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งสามารถรับฟังได้จนถึงชั้นคระกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ของสภานิติบัญยัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนั้นทาง สนช.เอง โดยอนุแรงงานก็จัดไปแล้วเมื่อมีนาคม 2560

ผอ.กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กล่าวอีกว่า ทุกคนทราบดีว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 มีระยเวลา 40 ปี มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขโดยตลอด แต่ไม่สำเร็จ มีการผลักดันหลายๆฝ่ายทั้งทางนายจ้าง ลูกจ้าง แม้กระทั่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเอง สำหรับสถานะ ร่าง พ.ร.บ.ตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานฝ่ายกฎหมายในกระทรวงแรงงานอยู่ ซึ่งมีทางนายจ้างยื่นคัดค้านมาหลายมาตรา ทางกระทรวงแรงงาทำแสร็จ จะเข้ากฤษฎีกา ต่อด้วย คณะรัฐมนตรี ที่จะเข้าประมาณ ก.ย.นี้ และเข้าพร้อมกับร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจ 

กลไกใหม่และประเด็นก้าวหน้า

ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมาพิจารณาโครงสร้างกฎหมาย จะมี 3-4 ส่วน คือ รับรองการรวมตัวของนายจ้างลูกจ้างในรูปแบบต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก็รองรับไว้ในรูปแบบสหภาพแรงงานหรือรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ในส่วนที่ 2 คือ การวางหลักเกณฑ์ในการยื่นข้อเรียกร้อง ข้อตกลงสภาพการจ้าง เดินไปแล้วกระบวนการจะไปจบตรงไหน การใช้สิทธิปิดงาน การนัดหยุดงาน การเจรจาไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาท เรื่องที่ 3 การคุ้มครองสิทธิผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่านยลูกจ้าง แต่ก็คุม้ครองฝ่ายนายจ้างด้วย ในแง่นิติสัมพันธ์กฎหมายต้องคุ้มครองทุกฝ่าย แต่กฎหมายที่ออกมาทั่วโลกมักคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากว่า เรื่องที่ 4 คุ้มครองแล้ว มีกระบวยการคุ้มครองเยียวยาอย่างไร สามารถนำคดีจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สู่กระทรวงแรงงานได้ เรื่องที่ 5 มีกลไกในการจัดการคุ้มครอง เช่น คณะรัฐมนตรีสามารถการออกฎกติกาได้ มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ในการทำหน้าที่

ในส่วนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับนี้มีความก้าวหน้า ได้แก่ กระบวยการยื่นข้อเรียกร้อง มีการแก้ไข ปรับปรุง เช่น การกำหนดระยะเวลายื่นข้อเรียกร้องต้องใช้เวลากี่วัน, สมาชิกที่ถอนตัวระหว่างยื่นข้อเรียกร้องไม่ครบ 15% ก็ยังสามารถดำเนินการต่อได้, เรื่องระยะเวลามีความยืดหยุ่นยาวนานขึ้น จาก 3 วัน เป็น 5 วัน เป็นต้น เรื่องของที่ปรึกษาไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมแทรกแซง คุณสมบัติไม่ครบ เพราะที่ผ่านมาไม่มีบัตรที่ปรึกษามีโทษ, ในมาตรา 22 เพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาท เอาปัญหาในทางปฏิบัติมาเขียนไว้ในกฎหมาย เช่น เอาข้อตกลงที่ตกลงไม่ได้ เอาไปตกลงกันเองหรือให้พนักงานประนอมไปไกล่เกลี่ยหรือจะตั้งผู้ชี้ขาด หรือจะใช้สิทธิปิดงาน หยุดงาน เพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานที่เปิดกว้างขึ้น ต่อมาเมื่อใช้สิทธิปิดงานก็ต้องปิดทุกส่วน ไม่ใช่แค่บางส่วน ทำให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า มีคณะกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมา จากที่กฎหมายเดิมไม่มี โดยมีอำนาจหน้าที่เรื่องการส่งเสริมเรื่องการวางยุทธศาสตร์ การคัดเลือกผู้แทนไปประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO รวมถึงการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ไม่ได้ปรับปรุงมาก แต่แก้ไขในส่วนกระบวยนการพิจารณาคำวินิจัยมากกว่า เรื่องการกระทำไม่เป็นธรรม มีการปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่การจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อนายจ้างรู้มีการโยกย้ายหน้าที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ตั้งสหภาพแรงงานไม่กีดกันเรื่องสัญชาติแบบกฎหมายเดิม

ผอ.กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กล่าวอีกว่า สำหรับการปิดงานห้ามเลือกปฏิบัติ โดยเอาคำพิพากษาศาลฎีกาปี 59 สำหรับเรื่องการตั้งสหภาพแรงงานนั้น ไม่กีดกันเรื่องสัญชาติแบบกฎหมายเดิม การรับฟังความคิดเห็น 2 เวทีที่ผ่านมา ในประเด็นนี้นายจ้างไม่ค่อยเห็นด้วย รวมถึงบอร์ดบริหารก็ไม่ควรมี ซึ่งในร่างนายจ้างไม่เอาด้วย ถ้าเข้า สนช. ประเด็นนี้ก็ต้องมีการถกเถียงต่อไป กระบวนการยื่นข้อเรียกร้องได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น สัญญาจ้างสิ้นสุดตามระยะเวลาหรือเกษียณอายุ ยกเว้นว่านายจ้างไม่ต้องขออำนาจศาลเลิกจ้างแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องกลั่นแกล้งใดๆ เหล่านี้คือภาพรวมร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

ให้สัตาบัน อนุสัญญา ILO 87, 98 ยังมีหลายมุม

ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ในเรื่องกรให้สัตาบัน รัฐบาลไทยปีนี้ให้อนุสัญญา ILO ฉบับที่  111 แต่ในส่วน ฉบับที่ 87 และ 98 ต้องรอฝ่ายบริการพิจารณาอีกที ถามว่ากฎหมายฉบับนี้มันขัดหรือแย้งกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 หรือไม่ ก็เป็นมุมมมองที่จะถกเถียงกันได้ ถ้าดูในรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิเสรีภาพ หลักการในกฎหมายจะรองรับสิทธิเสรีภาพไว้เป็นหลักก่อน แล้วค่อยมาเขียนข้อยกเว้น ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายหนึ่ง และรักษาความสงบเรียบร้อยของอีกฝ่ายหนึ่งในภาพรวม แต่จะขอบเขตแค่ไหนอย่างไรก็ต้องตีความพิจารณาต่อไป มีการคุยกันว่า เป็นการแทรกแซงหรือไม่อย่างไร เช่น ที่ปรึกษาปัจจุบันต้องมีคุณสมบัติกำหนดไว้ มีอายุที่ปรึกษา 2 ปี ตัวอย่างเช่น การไปขึ้นทะเบีบนถือว่าแทรกแซงหรือไม่ เพราะคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องต้องมีความรู้ด้านแรงงานพอสมควร เพื่อให้กระบวนการเดินต่อไป ไม่ใช่การยุยงให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน เอาค่าทนาย ค่าที่ปรึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ ไม่ต้องกำหนด เพราะเขาไว้วางใจแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา ก็ต้องยอมรับเขา จะไปควบคุมกำกับกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร นี้ก็เป็นมุมมอง 2 ฝ่าย ที่มองต่างกัน เป็นต้น

ในเชิงกฎหมายประวัติศาสตร์ของกฎหมาย คือ ปี 2534 มีการปฏิวัติ มองว่าผู้นำแรงงานบางคนไปยุยงส่งเสริมให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน สร้างความวุ่นงาย ก่อม็อบ ไม่รู้จิตวิญญาณกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ รัฐก็มองแบบนั้น และออกคำสั่ง รสช. มาควบคุม เป็นต้น เหล่านี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แบบนี้เรียกว่าจะไปแทรกแซงหรือไม่ อย่างไร ดังนั้นเวลาอ่านอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ต้องอ่านควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงปฏิญญาต่างๆ เช่น ของทางยุโรปที่วางหลักการเรื่องสิทธิการรวมตัวไว้ ที่ผ่านมาการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบ อนุสัญญา ILO จึงเกิดขึ้นมา ซึ่งก็มีข้อยกเว้นกำหนดไว้ แต่เวลาเอามาใช้มองว่าต้องคุ้มครองทั้งหมด ซึ่งต้องดูข้อยกเว้นด้วย

ข้อยกเว้นพนักงานของรัฐและข้อห้ามยุ่งกิจกรรมการเมือง

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องมาตรา 4 มีเรื่องข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นลูกจ้าง พนักงานของ รัฐ หน่วยงานรัฐ ต้องไปออกกฎกติการับรองการรวมตัวของพนักงานไว้ เช่น ข้าราชการ ก็มีการร่างการรวมตัวไว้เป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ กำหนดว่าหน่วยงานต่างๆ ต้องไปออกกฎเกณฑ์การรวมตัว เช่น พยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เป็นพลเมืองชั้น 2 พยายามให้รัฐบาลบรรจุเป็นข้าราชการ ถ้าสัญญาจ้างแบบ 4 ปี ไม่มีงบจ้างก็จะตกงาน ส่วนราชการก็ต้องไปออกกฎกติกาภายใน 1 ปี เป็นต้น เรื่องของการรวมตัวนอกจากสหภาพ สหพันธ์ สภาองค์การลูกจ้าง ก็ยังรวมตัวในรูปแบบอื่นๆได้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น หรือไปร่วมกับกิจกรรมกลุ่มอื่นๆ ได้ ในรัฐธรรมนุญก็รับรองสิทธิเหล่านี้ไว้

แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังระบุเรื่องการห้ามทำกิจกรมทางการเมือง ในคณะทำงานก็มีการพิจารณาว่าขอบเขตขนาดไหนอย่างไร เช่น สหภาพแรงงานไปผลักดันเชิงนโยบาย ไปยื่นข้อรัยกร้องต่อรัฐบาล เป็นเรื่องการเมืองไหม ? เหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะ แต่ไม่ใช่สนับสนุนพรรคการเมือง สุดท้ายร่างนี้กระทรวงแรงงานมีกระบวนการrecheck ว่าสอดคล้องอนุสัญญาหรือไม่อย่างไร เรียนว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และจะส่งดราฟไปให้ ILO วิจารณ์ เพื่อตรจสอบในเรื่องนี้ ลำพังการให้ความเห็นจากฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ่าง มีมุมมองที่แตกต่างกันคนละข้าง คนที่จะให้น้ำหนัก คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยตรง

ผอ.กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย กล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้รวมลูกจ้างเหมาค่าแรงเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เดิมทีไปจำกัดกลุ่มนี้ ในปัจจุบันมีรับเหมาค่าแรงมากขึ้น ก็ยื่นข้อเรียกร้องได้

การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เป็นปัจจัยในการเคารพหลักการสากล 

สนธยา เผ่าดี ผู้จัดการทั่วไป บ.นิสโตมาเท็กซ์ กล่าวว่า วันนี้ตนถูกเชิญมาในฐานะตัวแทนฝ่ายในจ้าง ตนทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ในปีที่ 21 ตัว ก.ม.แรงงานมีการพยายามเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง มีการคุยกันหลายครั้ง ในช่วง 10 กว่าปีที่แล้วบริบทก็เปลี่ยนไป ถ้าจะตอบว่ามันกระทบอย่างไรบ้าง นายจ้างจะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานไทยกลุ่มหนึ่ง ใช้แรงงานข้าชาติกลุ่มหนึ่ง ตนมาจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เราเกิดความกังวลอะไรหรือไม่ ตนไม่กังวล แต่ในกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าว จะมีความกังวล ตนคิดว่าการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ เป็นปัจจัยในการเคารพหลักการสากล ถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นไหม มั่นคงไหม คงตอบไม่ได้ เพราะถ้าคุณจะขายของต่างชาติ คุณต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากลอยู่แล้ว เป็นความกังวลมากกว่า ถ้ารับให้รับเลย คือ เป็นผู้ได้รับผลระทบกฎหมาย แต่เมื่อออกมาแล้วก็ต้องยอมรับ ต้องหาวิธีการทำให้สอดคล้องกฎหมาย หาวืธีการจัดการเพื่อให้ธุรกิจไปได้ ต้องหาทางพูดคุยกับพนักงานอยู่แล้ว วันนี้แม้ไม่มีเรื่องการรวมตัวก็ต้องคุยกัยผู้ใช้แรงงานอยู่แล้ว

การรับหลักการ ILO 87 98 การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 การใช้เทคโนโลยีมาแทนนี้ เกิดผลกระทบมากกว่า เพราะคนงานมีวุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ ม.3 ม.6 จะปรับตัวอย่างไร การเปลี่ยนแปลงด้วยข้อกฎหมายแบบนี้กระทบธุรกิจน้อยกว่า ตนเคยคุยกับเพื่อน เราไปทำงานต่างประเทศ ประเทศที่เราไปทำงาน เราก็ไม่ได้รวมตัวแบบนี้ ทำไมประเทศไทยต้องรวมตัวในกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วย ทำให้ประเทศไทยต้องให้แรงงานข้ามชาติรวมตัว แต่ถ้ารับจริงๆ ก็ต้องทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันให้ได้มากกว่า

กรณีกรรมการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ กระบวนการคัดกรองกรรมการจะคัดกรองอย่างไร ให้ยอมรับร่วมกันได้ทุกฝ่าย ตัวแทนมันครอบคลุมไหม หลายกรรมการไม่ว่าฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง หลายคนก็ไม่ทราบปัญหา ไม่มีความรู้ที่แท้จริง มีองค์กรทั้งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง หลากหลายมาก เช่น นายจ้าง ก็มีฝั่งอาแป๊ะ อาเจ๊กจะไปยังไง ตนก็ทำงานกับกลุ่มลูกจ้าง ฝั่งแหมมฉบัง จะไปต่ออย่างไร ต้องไปดูสัดส่วน ภูมิภาค จะเชื่อมโยงกันอย่างไร จะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลุงทุน อยากฝากข้อเสนอนี้ไว้ มีกรรมการชุดนี้มาแล้ว ต้องใช้หลักสุจริตหรือไม่ อย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไรให้เกิดการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ทวิภาคี อยากให้เน้น เราไม่ได้มองฝั่งลูกจ้าง เรามองฝั่งนายจ้างด้วยว่า มันไปกำหนดด้วยไหม คนที่จะมาทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์ ควรชัดเจนแบบปัจจุบันมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ

ส่วนประเด็นในร่าง ก.ม.ใหม่ เปิดให้แรงงานสัญชาติอื่นสามารถรวมกลุ่มได้ แต่ต้องสามารถพูดภาษาไทยได้นั้น สนธยา มองว่า เรื่องพูดภาษาไทยได้ ก็ต้องทั้งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้างก็ต้องใช้ทุกฝ่าย แต่พูดไม่ได้ก็ยังใช้กลไกล่ามได้

ทำไมไม่รับรอง ILO 87 98 ไปเลย

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า อยากจะชมเชยว่าเมื่อเทียบกับปี 2558 ก็มีการทักท้วง มีปัญหาเยอะแยะ ให้ถอนออกไป ไปตั้งต้นใหม่ ก็มีการถอนออกไป แต่กระบวนการทำร่างฉบับนี้ แม้ไม่เข้มข้น เอาหลายเรื่องที่รับฟังความคิดเห็นไปแก้ไข แต่บางอย่างในมิติแรงงาน อาจไม่ใช่ข้อดีทั้งหมด แต่ชมในเรื่องการนำประเด็นในการรับฟังมาปรับใช้เป็นกระทรวงเดียวที่ท้วงไปแล้ว ถอนออกมา

อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มีเรื่องน่าเสียดายคือ พอทำแล้ว ทำไมไม่รับรอง ILO 87 98 ไปเลย ตนก็งงมาก ใครจะเปลี่ยนแปลง เหนื่อยกันไป เกมส์ยาวเกิน รับไปก่อนเลย มีอนุสัญญามากมายที่รับมาแล้ว เราก็ไม่ได้ออกกฎหมายเลิศหรือสมบูรณ์ มองว่าฝ่ายนายจ้างก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย ถ้าเรายกตัวอย่างกฎหมย คือ รวมคนทำงานทั้งหมดให้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน เพราะเรามีกฎหมายหลายฉบับมาก รุงรังมาก มันน่าเสียดายมาก แค่แรงงานสัมพันธ์ ยังแยกรัฐวิสาหกิจออกไปเลย ทั้งๆ ที่ควรอยู่ในมาตราเดียวกัน เช่น ไทยพีบีเอสก็ยังไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ หรือส่วนราชการ องค์กรอิสระก็ตั้งไม่ได้ เหล่านี้ก็ยังมีข้อยกเว้น แต่แรงานสัมพันธ์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวินัย นี้คือมาตราคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญที่ก็กำหนดไว้แล้ว ถ้าเจาะลึกในมาตรา 4 ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้ว ควรเอาร่างเอกชนและรัฐวิสาหกิจควรมารวมกัน

สุนี กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานควรเริ่มต้นใหม่ดีกว่า เข้า ครม. สนช. ในเดือน ก.ย.นี้ ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ออกมาเดือน เม.ย. ที่ระบุว่า รัฐก่อนออกกฎหมายทุกฉบับต้องรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง กระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

สำหรับกรณีคนไม่มีสัญชาติไทยในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ สุนี กล่าว่า ก็ไปกำหนดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องอยู่ 3 ปี แต่อยู่จริงได้ 4 ปี ก็จบเลย จะตั้งได้อย่างไร หรือการต้องอ่านเขียนภาษาไทยได้นั้นมันจำเป็นไหม ดังนั้นการเปิดช่องในการเจจาน่าจะสำคัญกว่า ถ้าแรงงานข้ามชาติไม่มีช่อง โอกาสตกหล่นก็มีอยู่สูง เพราะช่วยได้ไม่ได้หมด 

สุนี เสนอด้วยว่า ให้เอาประมวลกฎหมายแรงงาน ไปพิจาณาหรือเอากฎมหาย 2 ฉบับ คือ รัฐวิสาหกิจ กับ เอกชนมารวมกัน  แต่แบบที่ทำอยู่นี้มันคือการแก้แบบ ปะผุ รับไปก่อนมาแก้ใหม่ มันยากมาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนรักหลักประกัน' เตือน! ยิ่งรีบดันร่าง ก.ม.บัตรทอง รัฐบาลเสี่ยงทำผิดรัฐธรรมนูญ

Posted: 17 Jul 2017 04:01 AM PDT

17 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพติดตามการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างตัวแทนประชาชนในกรรมการหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และตัวแทนกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...

สารี อ๋องสมหวัง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวภายหลังที่ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) สธ.วันนี้ (17 ก.ค. 60) ว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับแจ้งว่าเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมในครั้งนี้ว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ในครั้งนี้ตั้งแต่แรก แต่ถ้า รมว.สธ.จะดำเนินการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ต้องแก้เฉพาะในประเด็นที่เป็นไปตามคำสั่ง มาตรา 44 ที่ 37/2559 และให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตามที่ได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอด 10 กว่าปีมานี้ได้เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นที่คณะกรรมการแก้ฯ เพิ่มเข้ามา กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ขอคัดค้าน ไม่ให้แก้จนกว่าจะจัดทำการศึกษาและมีข้อมูลวิชาการมาประกอบการพิจารณาก่อน รวมทั้งต้องดำเนินการจัดกระบวนการแก้ไข(ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ที่มีการเรียกประชุม โดย วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ได้มีการนำเอกสารไปยื่นให้ รมว.สธ. ซึ่งไม่รู้ว่ายื่นเอกสารอะไรบ้าง ทั้งนี้ หากจะมีข้อสรุปอะไร ต้องมีการส่งเอกสารเวียนให้กรรมการทุกคนได้ดูก่อน อันถือเป็นมารยาททั่วไปในการทำงานร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ยกเว้นสรุปการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น  

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ มีกระบวนการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดกับหลักการตามมาตรา 77 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจนว่า การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายต้องมีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รัฐบาลจึงไม่ควรที่จะดำเนินการพิจารณากฎหมายที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่ภาคประชาชนติดตามมาตลอดกลับพบว่า การดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายที่สะดวกและเข้าใจได้ง่ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น กฎหมายฉบับนี้ถือว่าสอบตก เพราะการเปิดเวทีรับฟังฯ ที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยให้กับประชาชน มีเฉพาะช่องทางออนไลน์ เปิดเวทีเพียง 4 ครั้งเฉพาะหัวเมืองใหญ่ และยิ่งแย่กว่านั้นยังไม่จัดทำผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แล้วแบบนี้จะให้ประชาชนยอมรับได้อย่างไร ส่วนการประชุมที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่น่าเสียดายที่เป็นการปิดห้องประชุมคุยกันเองแบบเป็นความลับ แม้จะมีภาคีที่เกี่ยวข้องไปร่วมหารือ หาก รมว.สธ.ต้องการสร้างกระบวนการรับฟังก็ควรที่จะต้องเปิดให้มีการคุยอย่างเปิดเผย และต้องขยายวงให้กว้างขึ้น" นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ เป็นที่สนใจและสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน และกลุ่มเครือข่ายประชาชนอย่างกว้างขวาง เกินกว่าการจับตามองของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ไปแล้ว และได้สร้างกระแสความไม่เห็นด้วย และความกังวลต่อการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ประชาชนมองว่าเป็นสมบัติเพียงชิ้นเดียวที่จะเป็นหลักประกันในการมีชีวิต ซึ่งทางกลุ่มคนรักหลักประกันฯ มองว่าหากดึงดันแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลยแบบนี้ ประชาชนที่ติดตามเหล่านี้คงลุกขึ้นมาคัดค้านทั่วประเทศอย่างแน่นอน

สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การดึงดันส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้า ครม.ในขณะที่มีข้อถกเถียงในประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่เป็นที่ยุติ รวมถึงกระบวนการของกรรมการพิจารณากฎหมาย แทบไม่ได้ใช้ข้อมูลวิชาการมาประกอบการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยกเลิกการจัดซื้อยารวมของ สปสช.ที่ระบุว่าจะสร้างกลไกใหม่มาบริหารจัดการภายใต้ สธ.แทนของเดิมจะยังประสิทธิภาพในการต่อรองราคายาและใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร โดยที่ผู้ป่วยยังเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งเรื่องบริหารจัดการงบกองทุนที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนของผู้ให้บริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ก็ไม่มีการนำข้อมูลวิชาการออกมาบอกได้ว่า การแยกหรือไม่แยกเงินเดือนจะมีผลหรือไม่มีผลกระทบต่อระบบอย่างไร ข้อท้วงติงทั้งจาก รพ.ชุมชน ประชาชน นักวิชาการ ที่มองว่าการแยกเงินเดือนอาจส่งผลต่อการกระจายบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากต่อคุณภาพการให้บริการต่อประชาชนในพื้นที่ไกลเมือง แต่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ กลับไม่มีหลักฐานวิชาการมาชี้แจงให้ประชาชนวางใจได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประกันสังคม' แจงขยายอายุสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ เป็น 60 ปี เพื่อโอกาสทำงานผู้สูงอายุ

Posted: 17 Jul 2017 03:37 AM PDT

'ประกันสังคม' ชี้แจงปมขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี นั้น เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขยายโอกาสทำงานสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ชี้ปี 68 ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ 

 

17 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า บรรณาธิการประชาไท ได้รับหนังสือจาก อำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง ชี้แจงข่าวขยายเงินชราภาพ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่อ้างถึง เว็บไซต์ประชาไท เสนอข่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ไม่เห็นด้วยกับการขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี นั้น

สำนักงานประกันสังคม ขอนำเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. การขยายอายุมีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี อย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นการขยายโอกาสทำงานสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุพึ่งตนเองได้ อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายการใช้เกณฑ์อายุใหม่ผู้ประกันตนที่มีอายุไม่ถึง 60 ปี จะมีสิทธิได้รับชดเชยจำนวนหนึ่ง

2. สำนักงานประกันสังคมได้มีการวิเคราะห์รูปแบบระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น แนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเพื่อเตรียมการวางแผนการบริหารกำลังแรงงานในอนาคต เช่น การขยายอายุมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ การขยายฐานค่าจ้างและการปรับวิธีคำนวณเงินบำนาญ เป็นต้น จะใช้เป็นคำถามในการสัมมนาประชาพิจารณ์ 4 ภาคเป็นอย่างน้อย (เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560) โดยเชิญผู้ประกันตน ตัวแทนสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยชี้แจงให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาว่าจะขยายอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ หากมีมติแล้วจึงจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมยืนยันแนวทางการขยายอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ขึ้นกับผลการประชาพิจารณ์ และให้ผู้ประกันตนยังคงมีสิทธิเลือกรับบำนาญชราภาพตามความประสงค์ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาสื่อสาธารณะ: ประจักษ์ ก้องกีรติ ‘สื่อสาธารณะท่ามกลางความแตกแยก’

Posted: 17 Jul 2017 03:01 AM PDT

'ประจักษ์' ชี้ โลกเข้าสู่ภาวะไร้ระเบียบ สังคมไทยผันผวนแตกแยก ไม่มีหลักยึดร่วม คาดหวังสื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ ไม่เลือกนำเสนอหรือเซ็นเซอร์ เสนอ สื่อสาธารณะต้องปรับตัว เพิ่มรูปแบบนำเสนอ จรรโลงประชาธิปไตย ย้ำ เนื้อหาที่ดีคนยังต้องการ

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ: ภาพจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

"ปี 1922 มีสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกคือ BBC ปี 1924 มี NHK สถานีโทรทัศน์สาธารณะของญี่ปุ่น ปี 2004 เรามีเฟซบุ๊กใช้ และตามมาติดๆ ในปี 2005 เรามียูทูบ สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อเกิดขึ้นตลอดเวลาและในปี 2008 ไทยเราจึงมีไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรก

รัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ตอนสถานีโทรทัศน์โดนปิดไม่มีใครเดือดร้อน แต่เมื่อเฟซบุ๊กล่ม ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมาความโกลาหลเกิดขึ้นในเฟซบุ๊กเต็มไปหมด สถานการณ์ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อม สังคม สิทธิมนุษยชน สื่อสังคม สื่อสาธารณะกำลังเปลี่ยนแปลงไป"

นี่คือการเกริ่นนำของโกวิท โพธิสาร ซึ่งดำเนินรายการคู่กับ หทัยรัตน์ พหลทัพ ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum "วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ภาพเกี่ยวกับสื่อที่เชื่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง เขากล่าวว่า ช่วงหลังนักคิดนักวิเคราะห์ได้บอกว่าเราเข้าสู่ New World Disorder คือโลกที่ไร้ระเบียบ มาพร้อมปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้ง Brexit กระแสความปั่นป่วนในยุโรป ความรุนแรงที่มาพร้อมการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ความปั่นป่วนทางสังคม เศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อสื่อ ภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันกระจัดกระจาย (fragmented)

ประการแรก เพราะการเปลี่ยนเทคโนโลยี การเกิดของสื่อใหม่ ทุกคนมีสื่อของตัวเองเป็น personal media และเข้าถึงสื่อในหลายรูปแบบ นักศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์ที่ประจักษ์สัมภาษณ์ไม่ดูทีวีและอ่านหนังสือพิมพ์ แต่มีช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่

ประการที่สอง เพราะความผันผวนและความแตกแยกทางสังคม หลีกเลี่ยงไม่ได้ สื่อได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันสื่อก็ทำหน้าที่ฟีดกลับไปให้เกิดความแตกแยกด้วย

ประจักษ์ตั้งคำถามว่า เวลาพูดถึง 'สาธารณะ' เราคิดถึงตรงกันไหม บทบาทของเราจะตอบสนองแก่สาธารณะอย่างไร สาธารณะในปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายสูง เห็นต่างกันได้ในทุกเรื่อง ในสภาพสังคมแบบนี้ สื่อสาธารณะอาจต้องตอบคำถามก่อนว่าจะสะท้อนเสียงของใคร

"วิกฤตในปัจจุบันเลยจากเรื่องการเมืองไปแล้ว การเมืองเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ใต้ฐานของมันมาถึงจุดที่ว่าสังคมไทยไม่ได้มีคุณค่าหรือหลักการที่ยึดถือร่วมกันอีกต่อไป เราอยู่ในภาวะนี้มาประมาณสิบปี และคงจะอยู่ต่อไปอีกหลายปี" ประจักษ์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ในสภาวะแบบนี้สื่อโดยเฉพาะสื่อสาธารณะอาจต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง จึงมีความคาดหวังสูง บทบาทของสื่อสาธารณะในปัจจุบันในสังคมที่แตกแยกแตกต่างหลากหลาย หน้าที่สำคัญคือทำอย่างไรให้สื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เสียงที่แตกต่างหลากหลายขัดแย้งกันได้มีพื้นที่มาเจอและมาคุยกัน สื่อสาธารณะไม่ควรมีการตัดสินไว้ล่วงหน้า ไม่ควรเซ็นเซอร์หรือเลือกนำเสนอ ถ้าเริ่มจากจุดที่เรามีคำตอบและต้องการเทศนาว่านี่คือสิ่งที่ดี อาจเป็นการวางบทบาทของสื่อสาธารณะผิดพลาดไป ต้องทำหน้าที่สะท้อน voice of the voiceless แต่ในปัจจุบันสิ่งนี้อาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะการที่บอกว่าใคร voiceless บ้างก็มีปัญหาแล้ว

ประจักษ์กล่าวว่า จากการสนทนา ถกเถียง ในระยะยาวอาจจะหล่อหลอมวิสัยทัศน์ใหม่ของสังคมไทยร่วมกันก็ได้ อย่างน้อยก็หวังว่ามันเปิดพื้นที่เสรีภาพของความแตกต่างหลากหลายให้มาเจอกัน

"สื่อสาธารณะยังต้องมีอยู่แต่ต้องปรับตัว เพราะแม้จะมีเนื้อหาสาระดีแต่คนไม่สนใจก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้าทำในสิ่งที่คนรู้อยู่แล้ว ตอกย้ำความเชื่อเดิม ในมุมมองใดมุมมองหนึ่ง อันนั้นหน้าที่สื่อสาธารณะอาจจะไม่จำเป็น ไม่ต้องทำก็ได้" ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์เสนอว่า อาจทำผ่านงานหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานข่าวอย่างเดียว จะเป็นหนังหรือสารคดีก็ได้ เพื่อให้คนมาสนใจในสมรภูมิการแข่งขันของสื่อที่มีมากมาย เพื่อท้ายสุดให้เขาได้มองเห็นปัญหาสังคมในมุมใหม่ๆ มีจินตนาการใหม่ๆ ตั้งคำถามใหม่ๆ กับเรื่องที่เขาอาจรู้สึกคุ้นเคยอยู่บ้าง

เขากล่าวว่าดังนั้นหนังสือจึงไม่ตายเพราะคนต้องการคอนเทนท์ดีๆ ตอนหลังหนังสือที่ขายดีในงานหนังสือคือหนังสือที่มีคอนเทนท์ดี คนต้องการคอนเทนท์ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ถึงจุดหนึ่งคนอยากกลับมาหาสิ่งที่เขาอ่านแล้วได้ความรู้ ได้มุมมองใหม่ๆ ได้ความหนักแน่น ในยุคที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นิวยอร์กไทม์หรือสื่อใหญ่ๆ คนกลับ subscribe มากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ามาอ่านจากสำนักข่าวแบบนี้ไม่เจอเฟคนิวส์ (fake news) แน่ หรือโทรทัศน์ช่องหลักคนกลับไปดูมากขึ้น

ประจักษ์เปรียบเทียบกับการสอนนักศึกษา ถ้าสอนสาระอย่างเดียวแล้วนักศึกษาหลับถือว่าล้มเหลว ไม่ได้หมายความว่าต้องตลกโปกฮากลายเป็นทอล์คโชว์ แต่ต้องกระตุ้น ต้อง engage ให้เขาเกิดความสนใจ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือทำให้เกิดการเรียนรู้ โจทย์ของสื่อกับการศึกษาก็คล้ายๆกัน คือสร้างการเรียนรู้สาธารณะ

สิ่งที่สื่อสาธารณะควรจะคิดคือ หนึ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ สองสร้างพลเมือง สามจรรโลงประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ นึกถึงตัวเองแบบที่ไกลออกไปจากแค่การบอกเล่าข่าวข้อเท็จจริงอย่างเดียว บทบาทหน้าที่ตัวเองที่กว้างไกลมากขึ้น และพอคิดถึงตัวเองที่เป็นสาธารณะ อาจเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับองค์กรอื่น ชุมชน มหาวิทยาลัย ในการสร้าง public space ที่ตอบโจทย์กระบวนการทั้งสามอัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

176 นักวิชาการไทย-ต่างประเทศเรียกร้อง คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ-คืนอำนาจอธิปไตย

Posted: 17 Jul 2017 02:40 AM PDT

"ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" ในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา 176 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ "ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย" เรียกร้องคืนเสรีภาพทางวิชาการ คืนอิสรภาพแก่นักโทษทางความคิด คืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน ปฏิรูปสถาบันสำคัญโดยเฉพาะศาลและกองทัพ

17 ก.ค. 2560 - ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่ มีการอ่านแถลงการณ์ของ "ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" ในการประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา "ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย" โดยมีรายชื่อนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 176 รายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ด้วย ทั้งนี้มีการอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษโดยไทเรล ฮาร์เบอคอร์น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยโดยประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในแถลงการณ์มีรายละเอียดและข้อเรียกร้องดังนี้

000

คลิปช่วงอ่านแถลงการณ์ "ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย"

แถลงการณ์ "ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" การประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา เรื่อง "ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย"

นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา สิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง และความรู้ของประชาชนไทยถูกปิดกั้นและบิดเบือนอย่างมาก ขณะที่ประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐจำนวนมากถูกข่มขู่ คุกคาม และจับกุมคุมขังอย่างผิดหลักการและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แม้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่อาจนับว่าเป็นเรื่องเฉพาะของคนภายในประเทศได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกซึ่งต่างยอมรับในหลักการพื้นฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความเห็น การเรียนรู้ รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง ชาติ กำเนิด หรือสถานะอื่นใด

"ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" ในการประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา (ตามรายชื่อแนบท้าย) ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาความรู้ด้วยการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ของบุคคล จึงเห็นว่าการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นกังวล เพราะจะส่งผลให้เกิดการถดถอยทางปัญญา เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงความจริงและแสวงหาความรู้ที่ก้าวหน้าไปกว่าเดิมได้ ยิ่งกว่านี้ การที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีความเห็นต่างยังสร้างความเสื่อมถอยด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในสังคมไทยและประชาคมโลก พวกเราจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. รัฐต้องเคารพเสรีภาพทางวิชาการ ด้วยการคืนพื้นที่ความรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่ถูกปิดกั้น ครอบงำ หรือบิดเบือน เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองไทย เป็นต้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นวัตถุดิบสำคัญของการสร้างความรู้ใหม่ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการพัฒนาสังคมและการเมืองไทยรวมถึงประชาคมโลก

2. รัฐต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน ด้วยการคืนอิสรภาพให้แก่นักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะพวกเขามีความคิดเห็นแตกต่างไปจากรัฐ เช่น ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และผู้ต้องโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ.2553 เป็นต้น

3. รัฐต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนตามหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน เช่น การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม  

4. รัฐต้องปฏิรูปสถาบันสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะศาลและกองทัพ ที่มักใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และมีส่วนให้สังคมและการเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะคับขันดังในปัจจุบัน  

"ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" ในการประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา เห็นว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ประการนี้เป็นอย่างน้อยเท่านั้นจึงจะสามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ และสันติ และเกิดการปฏิรูปสังคมไทยที่แท้จริงด้วยสติปัญญาและพลังความรู้ มิใช่การใช้อำนาจดิบหยาบปิดกั้นครอบงำพื้นที่ความรู้ดังเช่นทุกวันนี้

ด้วยความเชื่อมั่นในการเรียนรู้อย่างอิสระ

"ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ" ในการประชุมนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา
17 กรกฎาคม 2560
ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่

รายนามผู้ลงชื่อแนบท้ายจดหมาย/Signatories
1) Aim Sinpeng
2) Alexander Horstman
3) Andrew Alan Johnson ( Assistant Professor, Department of Anthropology, Princeton University)
4) Chris Baker
5) Coeli Barry
6) Diptendu Sarkar
7) Edoardo Siani
8) Erik Kuhonta
9) Hara Shintaro
10) Irene Stengs (Meertens Instituut Royal Netherlands Academy of Art and Sciences Amsterdam The Netherlands)
11) Jonathan Rigg NUS
12) Karin H. Zackari 
13) Katherine Bowie
14) Mark Heng (ISEAS, YUSOF ISHAK Institute, Singapore)
15) Mary Mostafanezhad (University of Hawaii)
16) Matthew Phillips
17) Megan Youdelis (York University)
18) Niabdulghafar Tohming
19) Noah Viernes 
20) Paul Chambers
21) Peter Jackson 
22) Peter Vandergeest
23) Philip Hirsch
24) Rachel Harrison
25) Rosenun Chesof (University of Malaya)
26) Sarah Bishop (ANU College of Law, Australian National University)
27) Shalmali Guttal  (Focus on the Global South)
28) Taylor Easum
29) Tyrell Haberkorn
30) Vanessa Lamb
31)  Walden Bello   ZState University of New York, Binghamton, USA)
32) กนกรัตน์ สถิตนิรามัย
33) กนกวรรณ มะโนรมย์
34) กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
35) กฤติธี ศรีเกตุ
36) กันต์ฌพัชญ์ อยู่อำไฟ
37) กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล
38) กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา
39) กิตติ วิสารกาญจน
40) กิตติกาญจน์ หาญกุล
41) กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
42) เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
43) เกรียงไกร เกิดศิริ
44) เกษม เพ็ญภินันท์
45) เกษียร เตชะพีระ 
46) เกียรติศักดิ์ บังเพลิง 
47) คารินา โชติรวี
48) เคท ครั้งพิบูลย์
49) งามศุกร์ รัตนเสถียร
50) จณิษฐ์ ฟื่องฟู
51) จักรกริช สังขมณี
52) จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
53) ชลัท ศานติวรางคณา
54) ชลิตา บัณฑุวงศ์
55) ชัยพงษ์ สำเนียง
56) ชัยพร สิงห์ดี
57) ชัยศิริ จิวะรังสรรค์
58) ชาญณรงค์ บุญหนุน
59) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
60) ชำนาญ จันทร์เรือง
61) เชษฐา พวงหัตถ์
62) ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
63) ไชยันต์ รัชชกูล
64) ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
65) ณรุจน์ วศินปิยมงคล 
66) ณีรนุช แมลงภู่
67) เดชรัต สุขกำเนิด
68) ตะวัน วรรณรัตน์
69) ถนอม ชาภักดี 
70) ทับทิม ทับทิม
71) เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
72) ธนศักดิ์ สายจำปา
73) ธนาวิ โชติประดิษฐ 
74) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
75) ธเนศวร์ เจริญเมือง
76) ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
77) ธีราภา ไพโรหกุล
78) นภาพร อติวานิชยพงศ์
79) นฤมล ทับจุมพล
80) นาตยา อยู่คง
81) นิติ ภวัครพันธุ์
82) นิธิ เอียวศรีวงศ์
83) บดินทร์ สายแสง
84) บัณฑิต ไกรวิจิตร
85) บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ
86) บารมี ชัยรัตน์
87) บุญเลิศ วิเศษปรีชา
88) บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
89) เบญจมาศ บุญฤทธิ์
90) เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว
91) ประจักษ์ ก้องกีรติ
92) ประภาส ปิ่นตบแต่ง
93) ประสิทธิ์ ลีปรีชา
94) ปรีดี หงษ์สต้น
95) ปวลักขิ์ สุรัสวดี
96) ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
97) ปิยะ เกิดลาภ
98) ผาสุก พงษ์ไพจิตร
99) พรพรรณ วรรณา
100) พฤกษพรรณ บรรเทาทุกข์
101) พวงทอง ภวัครพันธุ์
102) พศุตม์ ลาศุขะ
103) พสิษฐ์ วงษ์งามดี
104) พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
105) พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
106) พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
107) พิพัฒน์ สุยะ
108) พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
109) พีรพัฒน์ โกศลศักดิ์สกุล
110) ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ
111) ภัควดี วีระภาสพงษ์
112) ภัทรภร ภู่ทอง
113) ภาสกร อินทุมาร
114) ภูวิน บุณยะเวชชีวิน
115) มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
116) ยิ่งศิวัช ยมลยง
117) ยุกติ มุกดาวิจิตร 
118) รจเรข วัฒนพาณิชย์ 
119) รังสิมา กุลพัฒน์
120) รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ
121) ราม ประสานศักดิ์
122) รุ่งธิวา ขลิบเงิน
123) ลลิตา หาญวงษ์
124) วรรณภา ลีระศิริ
125) วสันต์ ปัญญาแก้ว
126) วัฒนา สุกัณศีล
127) วันรัก สุวรรณวัฒนา
128) วิเชียร อันประเสริฐ
129) วิริยะ สว่างโชติ
130) วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล
131) วีรบูรณ์ วิสารทสกุล
132) เวียงรัฐ เนติโพธิ์
133) ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
134) ศรัญญู เทพสงเคราะห์
135) ศรีสมภพ จิตติภิรมย์ศรี
136) ศักรินทร์ ณ น่าน
137) ศิริจิต สุนันต๊ะ
138) ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
139) สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
140) สมชาย ปรีชาศิลปกุล
141) สมฤทธิ์ ลือชัย
142) สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์
143) สร้อยมาศ รุ่งมณี
144) สันติชัย ปรีชาบุญฤทธิ์
145) สามชาย ศรีสันต์
146) สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
147) สุภัทรา นีลวัชระ วรรณพิณ
148) สุรัช คมพจน์
149) สุริชัย หวันแก้ว
150) เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
151) โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
152) หทยา อนันต์สุชาติกุล 
153) อนุสรณ์ อุณโณ
154) อภิชาต สถิตนิรามัย
155) อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
156) อภิญญา เวชยชัย
157) อมต จันทรังษี
158) อรทัย อาจอ่ำ
159) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
160) อรรถพล อนันตวรสกุล
161) อรศรี งามวิทยาพงศ์
162) อรอนงค์ ทิพย์พิมล
163) อรัญญา ศิริผล
164) อรุณี สัณฐิติวณิชย์
165) อัครพงษ์ ค่ำคูณ
166) อัจฉรา รักยุติธรรม
167) อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
168) อัญมณี บูรณกานนท์
169) อันธิฌา แสงชัย
170) อาจินต์ ทองอยู่คง
171) อานันท์ กาญจนพันธุ์
172) อิสระ ชูศรีสุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
173) อุเชนทร์ เชียงเสน
174) เอกพลณัฐ ณัฐพัทธ์นันท์
175) เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
176) เอกรินทร์ ต่วนศิริ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผุด 'ล่าชื่อ' ถอด 'แทค ภรัณยู' ออกจากละคร 'ล่า' หลังโพสต์เอาฮาปมข่มขืน

Posted: 17 Jul 2017 02:27 AM PDT

เปิดแคมเปญล่ารายชื่อใน change.org เรียกร้องให้ถอด 'แทค ภรัณยู' ออกจากนักแสดงละคร 'ล่า' ชี้ละครดังกล่าวสะท้อนปัญหาสังคม เพื่อชี้ให้เห็นความทุกข์ของผู้ที่โดนข่มขืน แต่นักแสดงชายกลับนำเรื่องดังกล่าวมาโพสต์ราวกับการโดนข่มขืนเป็นเรื่องน่าสนุก

แทค ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก

17 ก.ค. 2560 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสม หลังนักแสดง 'แทค ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม' ได้โพสต์ภาพกลุ่มนักแสดงชายที่รับบทเป็นนักโทษคดีข่มขืนในละครเรื่อง 'ล่า' พร้อมบรรยายใต้ภาพว่า 'พวกเราโดนคดีข่มขืน ใครอยากให้เราข่มขืนเลือกเลย' พลังจากนั้นมีการนำเอาการโพสต์ในอดีตของอดีต ภรัณยู ที่เคยโพสต์ในกรณี 'ข่มขืน = ประหาร' มาแล้ว ซึ่ง ภรัณยู เองนำมาโพสต์ต่อว่า ดราม่ากันใหญ่แล้ว นี่คือ ละครล่า ที่กลับมาทำใหม่ "ในชีวิตจริงผมก็ยังอยากให้ประหาร" ถือว่าช่วย กันโปรโมทละครขอบคุณมาก

แคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซต์ change.org 

ขณะที่ต่อมาเว็บไซต์ change.org ได้มีการจัดแคมเปญที่ชื่อว่า ถอด "แทค ภรัณยู" ออกจากนักแสดงละคร "ล่า" โดยผู้จัดตั้งแคมเปญที่ใช้ชื่อว่า Narissara Kaewvilai ได้ให้เหตุผลว่า ละครเรื่องดังกล่าวเป็นการสะท้อนปัญหาสังคม เพื่อชี้ให้เห็นความทุกข์ของผู้ที่โดนข่มขืน แต่นักแสดงชายในเรื่องกลับนำเรื่องดังกล่าวมาโพสต์ราวกับการโดนข่มขืนเป็นเรื่องน่าสนุก ดังนั้นเพื่อรักษาเจตนารมณ์ของละคร 'ล่า' ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้นต่อการถูกข่มขืน จึงได้เรียกร้องให้ถอดนักแสดงชาย ที่ไม่เข้าใจปัญหาดังกล่าวออกจากรายชื่อนักแสดง

แทค ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก

โดยในโพสต์ของ มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Chumaporn Waaddao' แสดงความเห็นด้วยว่า คือจริงแล้ว ทั้งการข่มขืนและการมีโทษประหารชีวิต คือสิ่งที่ควรต่อต้าน เพราะโทษประหารชีวิตไม่ใช่การการันตีว่าปัญหาการถูกข่มขืนจะหมดลง แต่คนที่สนับสนุนว่าการใช้โทษประหารชีวิตในคดีข่มขืน และวันหนึ่งก็เอา คำว่าข่มขืนมาเป็นเรื่องล้อเล่น 

"มันเป็นเพราะจริงๆ คุณไม่เคยเคารพหลักการ และชีวิตคนหรอก  มันเลยย้อนแย้งไปมาขนาดนี้ เราว่าทางออกอีกทางในเรื่องการยุติการข่มขืนคือ การออกมาบอกว่าการข่มขืนมันเป็นเรื่องผิด  แม้แต่หนังและ ละครที่พระเอกข่มขืนนางเอกก็ผิด ข่มขืนคือข่มขืน" Chumaporn กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพเรือ ยันทริปดูงานญี่ปุ่น อยู่ในกรอบงบฯ ที่ได้รับอนุมัติและเกิดประโยชน์สูงสุด

Posted: 17 Jul 2017 01:42 AM PDT

กรณีเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านแฉเสนาธิการทหารเรือ 77 จัดทริปออนเซ็น เล่นสกี กินปูยักษ์ ที่ญี่ปุ่น โฆษกกองทัพเรือยันเป็นกิจกรรมในการศึกษาหลักสูตร ร.ร.เสนาธิการทหารเรือ อยู่ภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติและให้การดูงานฯได้รับประโยชน์สูงสุด

17 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน' ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผย กรณีเสนาธิการทหารเรือ 77 จัดทริปออนเซ็น เล่นสกี กินปูยักษ์ ที่ญี่ปุ่น โดยระบุว่า การศึกษาดูงานของนักศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ 77 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 18 – 24 ก.พ. 2560 โดยเปิดเผยข้อมูลว่ามีการดูงาน 2 สาย ใช้เวลาสายละ 1 สัปดาห์ ซึ่งกิจกรรมส่วนเป็นการเที่ยวชมสถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานการดูงานของหน่วยงานราชการไทย และข้อมูลพบว่ามีเบี้ยเลี้ยงให้กับผู้เข้าร่วม วันละ 2,100 บาท และเปิดโอกาสให้สามารถพาผู้ติดตามไปร่วมด้วยได้ โดยจ่ายเพิ่มคนละกว่า 60,000 บาท ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาดูงานต่างประเทศของหน่วยงานราชการไทย เป็นการอ้างเรื่องประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคือการไปเที่ยว ที่ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ต่อมา (16 ก.ค.60) สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวว่า

1. การศึกษาดูกิจการและ ศึกษาภูมิประเทศ ต่างประเทศเป็นกิจกรรมในการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ โดยกองทัพเรือได้อนุมัติแผนและงบประมาณซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารการศึกษาของกรมยุทธศึกษาทหารเรือ

2. กิจกรรมการดูกิจการและ ศึกษาภูมิประเทศตามข้อ 1 โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือได้ฝึกนายทหารนักเรียนเสนาธิการทหารเรือ วางแผนดูงานกิจการด้านการทหารด้านความมั่นคงทางทะเล ด้านศิลปะวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยประสานงานกับผู้ช่วยทูตทหารเรือ ประจำประเทศที่จะไปดูงาน(ญี่ปุ่น) ในการกำกับดูแลของนายทหารที่ควบคุมหลักสูตร โดยทางหลักสูตรได้พิจารณาเลือก สถานที่ดูงาน การเดินทาง อาหารและโรงแรมที่พัก ภายในกรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ และให้การดูงานฯได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นแนวทางปฎิบัติที่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ยึดถือเป็นแนวทางมาโดยตลอด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอมงคล ถามกรมบัญชีกลาง ปมบัตรรักษา ขรก. ชี้ไร้ประโยชน์ แก้ทุจริตไม่ได้ เปลืองงบฯ

Posted: 17 Jul 2017 01:14 AM PDT

'หมอมงคล' นำทีมเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจี้อธิบดีกรมบัญชีกลางตอบ 9 ข้อ ประเด็นบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการ ชี้ไม่มีประโยชน์ แก้ปัญหาเวียนเทียนรับยา ทุจริตรักษาไม่ได้ แถมซ้ำซ้อน สร้างภาระให้ รพ. สิ้นเปลืองงบประเทศโดยใช่เหตุ

 
 
17 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) กล่าวภายหลังยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางเพื่อสอบถามปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการว่า ก่อนหน้านี้ คสร.ได้เคยยื่นหนังสือสอบถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 4 ข้อในประเด็นดังกล่าวมาแล้ว โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางได้ตอบคำถามมาแต่ยังไม่ตรงประเด็น ไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และขัดแย้งกันเอง ขณะเดียวกันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ก็ได้อนุมัติให้กรมบัญชีกลางทำโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วยวงเงิน 124 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มงบประมาณจากเดิมอีกกว่า 70 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัยมากขึ้น คสร.จึงขอสอบถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 9 ข้อ ดังนี้
 
1. บัตรที่ใช้จะเป็นบัตรอะไร แม่เหล็กหรือบัตรสมาร์ทการ์ดหรืออื่นๆ 2. เงิน 124 ล้านบาทจะใช้ดำเนินการอะไรบ้าง และหลังจากนี้จะมีการใช้งบประมาณเพิ่มอีกเท่าไหร่ เพื่อทำอะไรอีกบ้าง 3. บัตรนี้จะใช้แก้ปัญหางบประมาณที่บานปลายและปัญหาอื่น เช่น การเวียนเทียนรับยา การทุจริตเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้าง 4. คำตอบที่บอกว่าไม่ต้องรอการตรวจสอบค่าใช้จ่าย ธุรกรรมจะเสร็จภายในวันเดียวนั้น จะทำอย่างไรสำหรับคนไข้ในซึ่งใช้การเบิกจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group : DRG) ซึ่งต้องรอแพทย์สรุปผลการรักษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด
 
5. บัตรที่จะทำใหม่นี้จะเพิ่มภาระโรงพยาบาลที่ต้องตรวจสอบสิทธิทางออนไลน์หรือไม่ เช่น ยังคงมีสิทธิของข้าราชการหรือบุคคลในครอบครัวหรือไม่ หรือมีสิทธิอื่นที่จะต้องไปใช้ก่อนหรือไม่ ถ้ามีบัตรแล้วไม่สามารถลดภาระของโรงพยาบาลและของผู้มีสิทธิจะทำบัตรเพื่ออะไร 6. การมีบัตรที่เพิ่มความสะดวกในการรับบริการจากที่มีอยู่เดิม กรมบัญชีกลางจะยืนยันได้หรือไม่อย่างไรว่าจะไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายยิ่งขึ้น 7. ตามกฎเกณฑ์เดิมผู้ที่มีสิทธิอื่น เช่น ผู้ประสบภัยจากรถ คู่สมรสของข้าราชการที่มีสิทธิของครูเอกชน รัฐวิสาหกิจ สิทธิประกันสังคม เป็นต้น จะต้องใช้สิทธิดังกล่าวก่อน ดังนั้นบัตรที่จะทำใหม่นี้จะป้องกันและแก้ไขการละเมิดกฎเกณฑ์เดิมนี้ได้อย่างไร
 
8.การออกบัตรเพิ่มอีก 1 ใบ โดยใช้งบประมาณเบื้องต้นอีก 124 ล้านบาท เป็นการสวนทางกับนโยบายบัตรประชาชน 1 ใบที่ให้ใช้ติดต่อหน่วยงานรัฐได้ทุกที่รวมทั้งโรงพยาบาลหรือไม่ 9.กรณีข้าราชการไม่ได้นำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเมื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะให้บริการหรือไม่ ถ้าให้บริการไปก่อนแล้วเบิกตรงกับกรมบัญชีกลางจะได้หรือไม่ จะผิดเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางหรือไม่
 
"ขอให้อธิบดีกรมบัญชีกลางตอบให้ชัดเจนเพื่อจะอธิบายกับสังคมว่าโครงการบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการนี้จะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้สังคมมีความคลางแคลงใจว่าเป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์ ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศโดยไม่จำเป็น" นพ.มงคล กล่าว 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เศษอักษร

Posted: 16 Jul 2017 08:34 PM PDT

 

ในกองซากเศษกวีที่เกลื่อนกล่น
เห็นตัวตนติดตามความยอกย้อน
บทบังคับกับ กาพย์-ฉันท์ และ โคลง-กลอน
ตัวอักษรสื่อนิยามความเป็นตาย

บนกองซากเศษกวีที่หลงเหลือ
ทุกบทคงคลุมเคลือในความหมาย
เขียนบทชื่น บทชม บทงมงาย
ที่สืบสายเป็นนิยายใต้เมฆดำ

ขีดเขียนความตามคิดแล้วขีดเขียน
ต้องปรับเปลี่ยนแปลงความให้งามล้ำ
ทุกวลีรุ่มรวยด้วยน้ำคำ
ทุกประโยคเน้นย้ำเพื่อเยินยอ

เพียงความฝันอันอ่อนล้าใต้ฟ้าหมอง
ยังอึดอัดขัดข้องในห้องหอ
สิทธิความเป็นคนต้องทนรอ
อักขระรัดคอไร้สิ้นความ

บนกองซากเศษกวีที่หลงเหลือ
บอกความเชื่ออันชอกช้ำกับคำถาม
ยกปีศาจสู่สวรรค์อันแสนงาม
ส่งผ่านความเลวทรามสู่ผองชน

สิ้นไร้สิทธิ์สื่อความตามใจฝัน
ถูกบีบคั้นต้องกลั่นกรองสนองผล
ด้วยอาญาตอกย้ำให้จำนน
ต้องยืนบนกองซากบทกวี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความแปล: ความสัมพันธ์ 3 เส้าระหว่างจีน ฮ่องกงและไต้หวัน

Posted: 16 Jul 2017 08:29 PM PDT


หลักการปกครองของฮ่องกงซึ่งสามารถสรุปเป็นวลีที่ว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" แต่แรกได้รับการเสนอโดยจีนเพื่อกล่อมให้ไต้หวันยอมรับการปกครองจากแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงควรจะแสดงให้เห็นว่าหลักการอันสร้างสรรค์ดังกล่าวใช้ได้ผลในเชิงปฏิบัติ

แต่ภายหลัง 2 ทศวรรษ การทดลองก็ได้ถูกระงับในเชิงปฏิบัติ และในขณะที่จีนเริ่มรวบอำนาจยิ่งขึ้นเหนืออดีตอาณานิคมของอังกฤษ ประชาชนในฮ่องกงเห็นว่าตนนั้นแตกแยกจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ  บัดนี้ประชาชนที่คิดคล้ายกันแบบนี้ในไต้หวันก็รู้สึกแปลกแยกเหมือนกัน


เพื่อนยามยาก

วิธีการอันหนักมือของกรุงปักกิ่งก่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างฮ่องกงและไต้หวันในการต่อต้านจีน  ไม่ถึง 1 เดือนก่อนการฉลองครบรอบ 20 ปีของการส่งคืนเกาะฮ่องกงสู่จีน บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครติกโปรเกรสซิฟปาร์ตีและพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีขนาดเล็กคือพรรคนิวเพาเวอร์ ปาร์ตีได้ร่วมจัดการประชุมในการแลกเปลี่ยนความเห็นยิ่งขึ้นไปกับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในอาณาเขตของจีน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าง นาธาน ลอว์ คุน จุง , เรย์มอนด์ ชาน ชี เฉิน และเอดดี  จือ ฮอย ดิก เช่นเดียวกับนักกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างโจชัว หว่อง ชิ ฟุง และ อเล็กซ์ จ้าว ย่ง คังได้ปรากฏตัวในช่วงเริ่มต้นของการประชุมที่กรุงไทเปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคนิวเพาเวอร์ปาร์ตี คือซือ ยุ่งหมิงได้กล่าวกับนิกเคอิเอเชียน  รีวิวว่า สมาชิกรัฐสภาของไต้หวันซึ่งถูกตีตราว่าเป็นพวกสนับสนุนการแยกตัวจากจีนไม่สามารถทำวีซ่าเข้าฮ่องกงได้ เพราะกรุงปักกิ่งนั้นมีอิทธิพลเหนือนโยบายการเดินทางเข้าประเทศของฮ่องกง 

"ทั้งไต้หวันและฮ่องกงต่างพบกับการท้าทายภายนอกอันเกิดจากจีน และพวกเขายังพบกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจสังคมอันคล้ายคลึงกัน... พวกเราอาจจะสามารถร่วมกันแก้ไขในบางประเด็นทางสังคมร่วมกัน" นายซือกล่าวและยังเสริมว่าเรื่องการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันและเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมคือประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหารือกัน นายจือซึ่งเป็นตัวแทนของฮ่องกงได้สะท้อนถึงมุมมองนี้ "ถัดจากคุณคืออภิมหาอำนาจพร้อมด้วยพันกว่าล้าน [ประชากร] เราไม่สามารถจำกัดสมรภูมิได้เพียงที่ฮ่องกง" เขากล่าว 

กรุงปักกิ่งไม่ได้ปลื้มนัก นายหม่า เสี่ยวกวาง โฆษกของสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนกล่าวว่า การประชุมครั้งนั้นคือ "การซ่องสุมของพวกแบ่งแยกดินแดนไต้หวันและฮ่องกง" ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เขากล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเข้าไป "แทรกแซงการใช้หลักการ '1 ประเทศ 2 ระบบ' กับฮ่องกง และทำลายความมั่งคั่งกับเสถียรภาพของฮ่องกง"      

สูตรทางการเมืองซึ่งในที่สุดถูกนำมาปกครองฮ่องกงได้รับการนำเสนอโดยกรุงปักกิ่งในวันปีใหม่ของปี 1979 ในฐานะเป็นคำประกาศต่อชาวไต้หวัน  มันเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากที่    นายเติ้ง เสี่ยวผิงได้กลับมาครั้งสุดท้ายในฐานะผู้นำสูงสุดและนำประเทศไปบนทางของ "การปฏิรูปและการเปิดประเทศ" ในการประชุมครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนธันวาคมปี 1978  ปีต่อมา นายเติ้งสัญญาว่าไต้หวันสามารถคงไว้ซึ่งระบบทางสังคม เศรษฐกิจทุนนิยมและแม้แต่การทหาร เพียงถ้ามันยอมรับสถานะเป็นรัฐปกครองตัวเองภายใต้อำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีน     

นายเติ้งได้เสนอสูตรนี้อย่างเป็นทางการสำหรับฮ่องกงไปยังนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในสมัยนั้นคือนางมาร์การ์เรต แทตเชอร์ที่การประชุมเมื่อเดือนกันยายน ปี 1982    คำประกาศระหว่างจีนและอังกฤษได้รับการลงนามและทำให้แผนการของเขาเป็นรูปเป็นร่าง

ไต้หวันในเวลานั้นถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพรรคเดียวภายใต้ก๊กมินตังหรือพรรคชาตินิยม  แต่เกาะก็ได้พัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอันเป็นการสิ้นสุดกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม ปี 1987 และชาวไต้หวันก็ได้เลือกผู้นำสูงสุดเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 1996

อนึ่ง จีนกลับเดินไปอีกทางหนึ่งนั่นคือการปราบปรามประชาชนที่ไร้อาวุธจนเกิดการนองเลือดในจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1989 และยังยิงขีปนาวุธไปตกลงทะเลใกล้ไต้หวันในช่วงการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของเกาะอันเป็นความพยายามในการกำหนดผลการเลือกตั้ง เมื่อกรุงปักกิ่งได้ละเมิดสัญญาอยู่หลายครั้งต่อเกาะฮ่องกงตั้งแต่ปี 1997  ความหวาดระแวงของไต้หวันต่อเจตนาของจีนก็ได้ทวีขึ้น


เราคือเรา

ชาวไต้หวันนั้นเริ่มรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนบ้านข้ามช่องแคบขึ้นเรื่อยๆ การสำรวจประจำปีครั้งล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงชีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไต้หวันระบุว่ามีเพียงร้อยละ 3.4 ถือว่าตัวเองเป็นชาวจีน ในขณะที่ร้อยละ  58.2 ถือว่าตัวเองเป็น "ชาวไต้หวัน" ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เริ่มแสดงตนว่าเป็นชาวไต้หวันตั้งแต่ปี 1995 และช่องว่างก็ได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1997

ซยารุ เชอร์ลีย์ ลิน ศาสตราจารย์ของยูนิเวอร์ซีตีไชนิสออฟฮ่องกงและตัวเธอเองเป็นชาวไต้หวัน กล่าวว่าฮ่องกงภายหลังการกลับสู่จีน "ควรจะเป็นนครที่เจิดจรัสบนเชิงเขา แต่ว่าทุกอย่างได้จางหายไป ระบบ ' 1 ประเทศ 2 ระบบ' ไม่ได้มีเสน่ห์ต่อไต้หวันเลย" เธอกล่าว

การเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีนคือประเด็นซึ่งชาวไต้หวันรุ่นใหม่ตระหนักถึงเช่นกัน ไมเคิล เหลียว นักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ได้แสดงถึงความกลัวต่ออนาคตทางการเมืองของเกาะฮ่องกง "เป็นเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าจีนได้รวบอำนาจยิ่งขึ้นอย่างไร และชาวฮ่องกงได้รับการปฏิบัติโดยจีนอย่างไร ... จีนต้องการเข้าควบคุมฮ่องกงอย่างแท้จริงในวิถีที่เข้มงวดกว่าเดิมนั่นคือทางการเมือง" เหลียวกล่าว "ผมคิดว่าสิ่งที่ชาวฮ่องกงได้ประสบพบเมื่อหลายปีที่ผ่านมาสามารถให้บทเรียนแก่ไต้หวันได้อย่างดี"

นายกรัฐมนตรีของไต้หวันคือนายหลิน ชวนบอกกับนิกเคอิเอเชียนรีวิวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนว่า "เกาะฮ่องกงจะมีอนาคตสดใสถ้าจีนยอมให้ฮ่องกงสามารถดำรงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้าง"

เจ้านายของเขาคือประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินนั้นเป็นบุคคลสำคัญในการเขียนกฎหมายปัจจุบันซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับฮ่องกงและมาเก๊า ขณะที่เธอเป็นนักวิชาการเมื่อกลางทศวรรษที่ 90  กฎหมายดังกล่าวระบุว่าไต้หวันต้องให้ "การช่วยเหลือที่จำเป็น" ต่อผู้อยู่อาศัยในอาณาเขตของจีนทั้ง 2 เขต เมื่อความมั่นคงและเสรีภาพของพวกเขาอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างชัดเจนอันเกิดจาก "เหตุทางการเมือง"


 


หมายเหตุ: แปลจากบทความ Beijing's crackdown on Hong Kong is alienating Taiwan

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์: สิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง

Posted: 16 Jul 2017 08:00 PM PDT

ผมเพิ่งกลับจากการไปประชุมวิชาการของสมาคม International Association of Law and Mental Health หรือสมาคมนานาชาติว่าด้วยกฎหมายกับสุขภาพจิต การบรรยายในวันแรกเป็นเรื่องปรัชญาล้วนๆ และมีการบรรยายของ David Novak จากมหาวิทยาลัยโทรอนโท แคนาดา น่าสนใจมากๆ เลยอยากเอามาเล่ากันฟัง Novak เป็นอาจารย์ประจำสาขาศาสนศึกษา และสนใจเรื่องศาสนายิวเป็นพิเศษ แต่ในการบรรยายครั้งนี้เขาสวมหมวกเป็นนักปรัชญาและเสนอบทความที่มีชื่อเป็นประโยคคำถามว่า "To Whom Does My Body Belong?" คำตอบที่เขาเสนอก็คือว่า ผู้คนทั่วไปที่พูดถึงเรื่องสิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง หรือสิทธิในการให้แพทย์หยุดชีวิตให้ มักอ้างเหตุผลในทำนองว่า "ร่างกายนี้เป็นของตนเอง" ดังนั้นจะทำอย่างไรกับร่างกายนี้อย่างไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม Novak เสนอว่าการคิดแบบนี้มีปัญหา เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นอย่างมาก การอ้างว่าร่างกายนี้เป็นของตนเองอย่างเดียว จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เขาเสนอว่าแทนที่จะมาถกเถียงกันว่าร่างกายของตนเองเป็นของใครกันแน่ เขาเสนอว่าเราควรคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครที่เป็นผู้ดูแลผู้อื่นอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีใครที่มีแต่คนอื่นมาดูแลโดยไม่ดูแลคนอื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ภารกิจของสังคมจึงอยู่ที่การจัดสรรและประสานการดูแลและการได้รับการดูแลเช่นนี้มากกว่า

การเสนอเช่นนี้ทำให้เราอาจมองเห็นว่า โนแวคไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง แต่เมื่อฟังไปก็กลับกลายเป็นว่า ภายใต้เครือข่ายของการดูแลและความเอื้ออาทรที่มนุษย์มีต่อกันนั้น การใช้สิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง เป็นการกระทำอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนความอาทรนี้ออกมาด้วย ดังนั้นข้อเสนอของเขาก็คือว่า แทนที่จะคิดว่า ร่างกายนี้เป็นของเราคนเดียว เราจะทำอะไรกับร่างกายนี้ก็ได้ เขาเสนอว่าในกรณีที่มีการอ้างอิงถึงสิทธิที่เป็นตัวของตัวเอง ที่ตัวเองจะทำอะไรกับตัวเองก็ได้ เราควรหาอย่างอื่นมาคานการอ้างแบบนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นว่าสังคมก็มีบทบาทในการกำหนดว่าใครเป็นใคร และในการหล่อเลี้ยงสมาชิกของสังคมให้ดำรงตนอยู่ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีสิทธิในการหยุดชีวิตตนเองเมื่อเกิดความจำเป็น (เช่นในกรณีของการเจ็บป่วยหมดทางรักษา) เพราะภายใต้เครือข่ายของความเอื้ออาทร การหยุดชีวิตที่ทุกข์ทรมานอาจจะเป็นการแสดงความเอื้ออาทรอย่างสูงก็ได้ เนื่องจากร่างกายของเราไม่ใช่ของเราคนเดียว การตัดสินใจเกี่ยวกับว่าจะจัดการกับร่างกายของเราอย่างไร จึงเป็นเรื่องของสังคมที่จะพิจารณา แต่เขาก็เสนออีกว่า การให้อำนาจทั้งหมดแก่สังคมก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นระบบเผด็จการที่คนหมู่มากทำอะไรก็ได้แก่คนหนึ่งคน การเป็นเผด็จการเช่นนี้ก็เป็นการละเมิดหลักการของความผูกพันโยงใยกันของมนุษย์ทั้งหมดเช่นเดียวกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โนแวคไม่คัดค้านการอ้างสิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง หรือสิทธิในการร้องขอให้แพทย์ช่วยยุติชีวิตให้ หากการใช้สิทธินั้นเป็นการแสดงออกถึงการที่สังคมเอื้ออาทรแก่ผู้อ้าง หรือการที่สังคมเห็นว่าผลประโยชน์สูงสุดจะตกแก่ผู้อ้างสิทธินี้เนื่องจากชีวิตไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีอีกแล้ว ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตีความความหมายของคำว่า "อันตราย" (harm) อย่างไร หลักจริยธรรมข้อแรกของการแพทย์คือ "อย่าทำร้าย" (Do no harm) แต่ก็มีปัญหาว่า การยื้อชีวิตผู้ป่วยที่หมดทางรักษาจริงๆแล้ว เป็นการไม่ทำอันตรายหรือไม่ทำร้ายผู้ป่วย หรือเป็นตรงกันข้ามกันแน่

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น