โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นิติราษฎร์แถลง: กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว.

Posted: 23 Nov 2013 01:11 PM PST

การอภิปรายโดยวรเจตน์ ภาคีรีตน์ ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย 2556

 

การอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย. 2556

การอภิปรายโดยจันทจิรา เปี่ยมมยุรา ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย. 2556 นอกจากนี้เป็นการอภิปรายสรุปและตั้งข้อสังเกตโดยปิยบุตร แสงกนกกุล และวรเจตน์ ภาคีรัตน์

ลงทะเบียนรับข่าวสารที่ http://youtube.com/user/PrachataiTV หรือ http://youtube.com/user/Prachatai

 

24 พ.ย. 2556 - เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์จัดงานแถลงข่าวเพื่อเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ ต่อกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยคณะนิติราษฎร์เห็นว่า "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่กลับสถาปนาอำนาจดังกล่าวขึ้นมาเอง จึงเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด"

"แม้คณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ก็ตาม แต่โดยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงทัศนคติทางการเมืองผ่าน "คำวินิจฉัย" ต่อสาธารณชน ซึ่งเนื้อหาใน "คำวินิจฉัย" อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจนส่งผลร้ายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ จึงจำเป็นที่คณะนิติราษฎร์ต้องจัดแถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการต่อ "คำวินิจฉัย" ดังกล่าว" ส่วนหนึ่งของประกาศจากคณะนิติราษฎร์ระบุ

ทั้งนี้ในการแถลงข่าว วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์กล่าวในการแถลงว่า ผลของการวินิจฉัยมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการสถาปนาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง มีการตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ชอบด้วยหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ชอบด้วยหลักการจัดโครงสร้างรัฐ ถ้าปล่อยให้การตีความมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมเป็นแบบนี้ก็เป็นการปล่อยให้เขตอำนาจขยายไปเรื่อย เชื่อว่าจะมีคนมาร้องศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา เพราะมีคนพร้อมจะทำเช่นนั้นอยู่แล้วในทุกเรื่อง ศาลจะมีอำนาจในการรับคดีต่างๆ มาพิจารณาคดีเต็มไปหมด กลายเป็น "ซูเปอร์องค์กร" เป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรทั้งปวง และศาลนั้นแม้จะเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่โดยผลของการใช้กฎหมายแบบนี้จะกลับเป็นคนที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเอง มันจะเกิดสภาพวิปลาส ผิดเพี้ยนไปหมด มีผลรุนแรงทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด โดยความร้ายแรงแบบนี้เองที่ทำให้เราต้องยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมาย

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้วิจารณ์ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลในเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยศาลชี้ว่าจะทำให้เกิดการไม่สมดุล เป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัวหรือสภาผัวเมียทำให้สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้กับสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา

"ศาลเข้ามาใช้อำนาจชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมืองเป็นกรณีที่ศาลกระทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลและการมีวุฒิสภาในประเทศอื่นในโลกที่เป็นประชาธิปไตยก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งการที่ศาลอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย"

"ส่วนการมีเจตจำนงให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งเป็นการถาวรตลอดไปก็ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 291"

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า การพยายามมาแตะเรื่องเนื้อหาเพราะว่าการแก้ไข ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางหลักไว้ว่าจะไม่มีใครสามารถมาเสนอเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายแดนของบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตามรธน.มีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นที่แก้ไม่ได้ คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรื่องรูปของรัฐ

ถ้าเห็นด้วยกับ ส.ว. แต่งตั้งก็ไปร่วมรณรงค์กับเสียงข้างน้อยเพื่อโน้มน้าวให้เสียงข้างมากเห็นด้วย ไม่ใช่เอาทัศนคติตัวเองไปลงไว้ในคำวินิจฉัย ซึ่งปิยบุตรย้ำอีกครั้งส่า ส.ว. แต่งตั้งเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหาร

ทั้งนี้วรเจตน์ปิดท้ายการแถลงข่าวโดยสรุปว่า หลังจากนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า แม้คำวินิจฉัยจะมีปัญหาร้ายแรงตามที่วิพากษ์วิจารณ์มา แต่หากไม่ทำตาม ไม่ยอมรับ บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อไม่มีแป จะทำอย่างไรกันต่อไป

"เราจะยอมถูกกดขี่โดยคำวินิจฉัยไปชั่วกัลปาวสานหรือ นี่มันไม่ใช่หลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย" วรเจตน์กล่าวพร้อมระบว่าอาจมีคนอ้างมาตรา 206 วรรค 5 ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แต่วรเจตน์เห็นว่ากรณีนี้โมฆะ เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอง ในทางกฎหมายต้องถือเป็นโมฆะ บังคับองค์กรของรัฐไม่ได้ แต่ถามว่าจะเกิดวิกฤตไหม เกิดวิกฤตแน่นอน

ในส่วนของผลทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไร ระหว่างนี้มีคนบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญ นี้ตกไปแล้ว แต่ถามว่าตกไปจากไหน ตอบไม่ได้ กระบวนการขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ได้บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ตกไป เพราะเขาไม่มีอำนาจจะบอกได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย จะสั่งกษัตริย์ให้ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ไม่ได้ มาตรา 68 ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ดังนั้นขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และหากกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าไม่ทรงวงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาก็ต้องมาปรึกษากัน ถ้าลงมติยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ตกไป แต่ถ้าลงคะแนนถึง 2 ใน 3 ก็ต้องยืนยันทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และครั้งนี้หากพ้น 60 วันก็ประกาศเป็นกฎหมายต่อไปได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การตรวจสอบอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย

Posted: 23 Nov 2013 10:05 AM PST

 

ปรากฏการณ์การออกโรงต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษา คือ ตัวของอธิการบดี ซึ่งออกมาแสดงเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในแง่ของการไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเนื่องจากผลของพ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนี้จะทำให้มีการปล่อยตัว "คนกระทำผิด" จากการคอรัปชั่นให้ลอยนวล โดยเฉพาะ "คนกระทำผิด" ซึ่งเป็นนักการเมือง  อาชีพที่โดนข้อกล่าวหาจากบรรดาอาจารย์ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยในเรื่องการคอรัปชั่นมากที่สุด

น่าสนใจว่าในอเมริกาเองก็มีการกฎหมายตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองอเมริกันเช่นเดียวกันกับกฎหมายของไทย มีการดำเนินการกันก่อนที่กฎหมายการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในเมืองไทยจะเกิดเสียอีก โดยนักการเมืองอเมริกันจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน รายรับ รายจ่าย เพื่อรายงานให้สาธารณะทราบอย่างเปิดเผย

ไม่ต่างจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูง ที่ทำงานในหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีหน้าที่แจ้งทรัพย์สิน หรือไม่ก็บัญชีรายรับ-รายจ่ายให้รัฐและสาธารณะทราบเช่นกัน

รวมถึงองค์กรที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย (University, College) ที่กฎหมายของรัฐกำหนดให้มีการเปิดเผยรายรับ-รายจ่าย ทั้งในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถาบันการศึกษาและตัวสถาบันการศึกษาเอง

หมายความว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น อธิการบดี  คณบดี รวมถึงลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ต้องรายงานหรือแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายต่อรัฐ นอกเหนือไปจากสถาบันหรือมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องทำรายงานรายรับ-รายจ่ายเรื่องนี้เพื่อส่งให้กับรัฐ และกฎหมายบังคับด้วยว่า "ต้องรายงานต่อสาธารณะ"

ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย(UC- University of California) ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างมากกว่า 191,000  คน UC มีการจัดทำรายงานที่ เรียกว่า รายงานค่าใช้จ่ายประจำปี (Annual Report on Employee Compensation) โดยมหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส (Annually discloses employee payroll information as part of its commitment to transparency and public accountability.)  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา (ดูใน  : https://ucannualwage.ucop.edu/wage/)

ความโปร่งใสด้านการเงินของมหาวิทยาลัยในอเมริกา โยงไปถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยจากภายนอก คือ ยิ่งมหาวิทยาลัยมีความโปร่งใสมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น

ความโปร่งใสดังกล่าว รวมถึงความโปร่งใสในการกำหนดรายได้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างเช่น อธิการบดี คณบดี หรือตำแหน่งบริหารระดับสูงอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยในอเมริกามีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องดำเนินการจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย(Public Sector Salary Disclosure Act.)

ทั้งนี้ การรายงานสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่อรัฐบาลท้องถิ่น กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในรัฐโอเรกอน มหาวิทยาลัย ต้องเสนอรายงานรายได้ของพนักงานของมหาวิทยาลัย  เช่น ผู้บริหาร อาจารย์ และลูกจ้างต่อสำนักบริหารของรัฐโอเรกอน คือ DAS (Oregon Department of Administrative Services) โดยต้องรายงานแม้กระทั่งรายได้นอกเหนือจากที่พนักงานของมหาวิทยาลัยได้รับจากมหาวิทยาลัย โดยตรง ซึ่งก็คือ รายได้จากข้างนอก หรือรายได้เสริมของอาจารย์/พนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น ไปรับงานสอนพิเศษ งานไปดูงาน หรืองานวิจัยที่อื่นๆ 

ขณะเดียวกันรัฐโอเรกอนยังกำหนดให้มีการนำเสนอรายงานด้านการเงิน (รายรับ-รายจ่าย) ดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะ  เช่น ลงในเว็บไซต์ เป็นต้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

ความจริงการทำรายงานเกี่ยวกับการเงินของมหาวิทยาลัย เช่น รายได้ของคณาจารย์ พนักงาน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการปฏิบัติเป็นการทั่วไปในอเมริกาเหนือ เพราะเป็นแรงส่งต่อความนิยม หรือศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการบริจาคและการสนับสนุนสถาบันการศึกษาจากองค์กร และบุคคลจากข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัย

ที่แคนาดามหาวิทยาลัย New Brunswick ต้องรายงานและเปิดเผย รายได้ที่สถาบันต้องจ่ายให้กับอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด การเปิดเผยดังกล่าว อาจารย์และพนักงานที่มีรายได้เกิน 60,000 ดอลาร์ ต่อปี ต้องเปิดเผยรายได้ต่อสาธาณะ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยจ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของผู้บริหารระดับสูง (members of the university's senior staff) มหาวิทยาลัยต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ก่อนรายงานต่อสาธารณะ

การรายงานด้านการเงินต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยในอเมริกา เชื่อมโยงกับระบบความโปร่งใสด้านบริหารจัดการ (Voluntary System of Accountability –VSA) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว  ซึ่งระบบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแสดงให้สาธารณะเห็นว่าประสิทธิภาพ (performing) ในการบริหาร จัดการด้านการศึกษาของในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

ระบบที่ว่านี้ คือ ทางมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนต่อสาธารณะ เช่น วิธีปฏิบัติการเรียนการสอน ผลการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน  เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนทั่วมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเรียนในสถาบันนั้นๆ นอกเหนือไปจากการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเผยข้อมูลการเรียนการสอนดังกล่าว เพราะประชาชนสามารถเลือกตัดสินใจว่าจะเรียนกับสถาบันการศึกษาไหน ที่จะเหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องการสถาบันที่มีคุณภาพ

ในส่วนของเมืองไทย ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในรูปแบบ มาตรฐานสากลด้วยแล้ว นับว่าระบบการศึกษาโดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนของไทยสมควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าเราต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เข้าสู่ระบบสากล หาไม่เช่นนั้นการขวนขวายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร?

บรรยากาศของการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยความกลัว ขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นในการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย อย่างเช่น ผู้เรียนควรเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล กลับไม่ได้เป็นไปแบบนี้เท่าที่ควรจะเป็น, ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวครอบงำปราศจากความกล้าหาญทางวิชาการอย่างน่าหดหู่ใจ

การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก จึงเป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมีความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อย โดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ ยิ่งสถาบันการศึกษาใดอยู่ในแนวทางจารีตนิยม ความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็น จนเกิดความอึมครึมในสถาบันย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น 

กรณีที่อาจารย์ผู้สอนมีความเชื่อทางการเมือง และประกาศตนอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อ ทางการเมืองอย่างนั้นๆ  เช่น ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การประกาศความเชื่อหรือความไม่เห็นด้วย ดังกล่าวอาจส่งผลถึงตัวนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์คนนั้น คือ นักศึกษาอาจต้องแสดงการเห็นด้วยกับ อาจารย์มากกว่าจะกล้านำเสนอความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของตน เช่น นักศึกษาอาจไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ แต่ต้องแสดงออกว่า เห็นด้วยกับอาจารย์ เพื่อเอาใจอาจารย์ผู้สอน หากไม่เช่นนั้น ก็อาจทำให้ได้คะแนนหรือเกรดในวิชาที่อาจารย์ผู้นั้นสอนออกมาไม่ดี

เป็นไปตามธรรมเนียมไทยๆ ที่ว่า จะเรียนให้ได้คะแนนหรือเกรดดีๆ นักศึกษาจะต้องเข้าใจและรู้จริตของอาจารย์ผู้สอน
นี่คือ การศึกษาแบบไทยๆ โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ ที่อาจารย์ส่วนหนึ่ง(น่าจะจำนวนมากด้วย) ไม่เปิดให้นักศึกษาวิพากษ์แสดงความเห็น

จะเห็นได้ว่า พอสาวลึกลงไปหลายปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาไทยก็โผล่ขึ้นมา ไล่ตั้งแต่ "การเปิดเผย" ข้อมูลด้านการเงินของผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัย  "การเปิดเผย"ทัศนคติส่วนตนเพื่อวิพากษ์ในวิชาเรียนของนักศึกษา  "การเปิดเผย" วิธีจัดการเรียนการสอน "การเปิดเผย" ผลการเรียนการสอน และ "การเปิดเผย" วิธีการประเมินและผลการประเมินการเรียนการสอน

จึงอาจถือได้ว่า ระบบการจัดการศึกษาไทย ยังคงเป็นระบบปิดอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก หากเทียบกับระบบสากล เมื่อเป็นอย่างนี้จะพูดเรื่องการคอรัปชั่นและด้านตรงกันข้ามคือ ความโปร่งใส ก็น่าจะลำบาก.

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์นิติราษฎร์ เรื่องคำวินิจฉัยศาลรธน.กรณีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.

Posted: 23 Nov 2013 07:00 AM PST

แถลงนิติราษฎร์ชี้ ศาลรธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉัย วิพากษ์ลายละเอียดของคำวินิจฉัยละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่อิงหลักกฎหมาย ขยายเขตอำนาจตามอำเภอใจ อ้างหลักนิติธรรมเลื่อนลอย

 

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์
เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

 

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ กรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ มาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔ ซึ่งเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และมีผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนี้

 

- ๑. -

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นองค์กรของรัฐที่จัดอยู่ในหมวดศาล ซึ่งหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเหมือนกับศาลอื่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอานาจหน้าที่ในเรื่องใดนั้นย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถก่อตั้งอำนาจของตนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในการพิจารณาพิพากษาคดีศาลรัฐธรรมนูญต้องสำรวจตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อนว่าคดีที่มีผู้ร้องมานั้นอยู่ในเขตอำนาจที่ตนจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น หากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเช่นนั้น ย่อมจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเสียก่อน หลักการดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดการดุลและคานอำนาจตามหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ศาลรัฐธรรมนูญหาได้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตนไปตามหลักการข้างต้นไม่ แต่กลับอ้างอิงหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง และใช้การอ้างอิงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวนั้นไปเชื่อมโยงกับ "หลักนิติธรรม" ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ซึ่งไม่ใช่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า สาระสาคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน การแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นการใช้อำนาจโดยตรง การใช้อำนาจโดยผู้แทน และการใช้อำนาจผ่านองค์กรของรัฐซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากซึ่งมีเจตจำนงทางการเมืองและความคิดเห็นตลอดจนผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป การค้นหาเจตจำนงของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติโดยความเห็นพ้องต้องกันของทุกคนโดยเอกฉันท์ในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องคิดค้นวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อยุติ นั่นคือ การถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย เพื่อให้ข้อยุติที่ได้จากเสียงข้างมากนั้นเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล ทั้งนี้ การคุ้มครองเสียงข้างน้อยหมายถึงการเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็นโน้มน้าวใจให้บุคคลอื่นเห็นด้วยกับตน เพื่อที่ความเห็นของเสียงข้างน้อยที่มีเหตุมีผลจะได้มีโอกาสในการเป็นเสียงข้างมากในวันใดวันหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากจะต้องยอมตามเสียงข้างน้อยตลอดเวลา

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งที่สร้างหลักประกันให้เสียงข้างน้อยได้ใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบเสียงข้างมาก แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องช่วยสนับสนุนให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการเสมอ ตามหลักของการจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีฐานะเป็น "ผู้แทน" ของเสียงข้างน้อย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็น "คนกลาง" ซึ่งมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเจตจำนงของเสียงข้างมากและประกันเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติมอบอำนาจไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยนี้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้พรรณนาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบถ่วงดุล และการคุ้มครองเสียงน้อยอย่างยืดยาว และสรุปอย่างง่าย ๆ โดยนัยว่าเสียงข้างน้อย "ไม่มีที่อยู่ที่ยืน" โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนว่าในขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเสียงข้างมากหรือไม่คุ้มครองเสียงข้างน้อยจน "ไม่มีที่อยู่ที่ยืน" อย่างไร กล่าวโดยจำเพาะเจาะจงกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ หากเสียงข้างมากได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งแล้วเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วย เสียงข้างน้อยก็ยังคงมีโอกาสในการรณรงค์ในการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเป็นเสียงข้างมากและกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของตนที่ต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่บังคับว่าสมาชิกวุฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งในรูปแบบที่ฝ่ายเสียงข้างมากได้ดำเนินการแก้ไขไปตลอดกาล

นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสมควรต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างของสถาบันการเมืองว่าจะมีลักษณะอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย หาใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองให้เป็นไปตามทัศนะของตนไม่

ในคำวินิจฉัยนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง "หลักนิติธรรม" อย่างเลื่อนลอยเพื่อสร้างอำนาจให้ตนเองเข้าควบคุมขัดขวางเสียงข้างมากจนทาให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผล จึงมิใช่การปรับใช้ "หลักนิติธรรม" เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เป็นการช่วยเหลือเสียงข้างน้อย จนมีผลทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก รังแกเสียงข้างมาก เบียดขับให้เสียงข้างมาก "ไม่มีที่อยู่ที่ยืน" และสถาปนา "เผด็จการของเสียงข้างน้อย" ขึ้นในที่สุด

 

- ๒. -

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง "หลักนิติธรรม" ตามมาตรา ๓ วรรคสองเพื่อสถาปนาอำนาจของตนเองในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา ๖๘ นั้น หากพิจารณาจากถ้อยคำของบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แล้ว เห็นได้ว่า มาตรา ๖๘ เป็นกรณีที่มีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ทราบเรื่องดังกล่าว ผู้นั้นสามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ จึงต้องเป็นกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้เป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่กรณีที่ "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ใช้ "สิทธิและเสรีภาพ" ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘ วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่า บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ไม่ได้มีการยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่เป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องไว้พิจารณาทั้ง ๆ ที่ตามข้อเท็จจริง ผู้ร้องไม่ได้เสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ในคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตำหนิว่า รัฐสภาได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการขั้นตอน แต่เมื่อพิจารณาการรับคำร้องในคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นศาลรัฐธรรมนูญเองต่างหากที่ไม่เคารพกระบวนการขั้นตอนก่อนการยื่นคำร้องดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๖๘ อีกทั้งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพกระทาการของบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งคดีตามบทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แต่ประการใด

ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญสถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีอานาจรับคำร้องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการขยายแดนอำนาจออกไปจนศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทาลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง ก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอานาจสูงสุดเด็ดขาด ความร้ายแรงดังกล่าวย่อมส่งผลให้คาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลใด ๆ ในทางกฎหมาย

 

- ๓. -

นอกจากจะปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว ในการดำเนินกระบวนพิจารณายังปรากฏความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะของตุลาการผู้พิจารณาคดีอีกด้วย กล่าวคือ ในชั้นของการรับคำร้องไว้พิจารณานั้น นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการผู้หนึ่งที่นั่งพิจารณาคดียังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมต้องถือว่านายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องคดีนี้ไว้พิจารณา เมื่อนายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องไว้ จึงย่อมไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ได้เริ่มต้นไปแล้วก่อนที่ตนจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ การออกเสียงลงในคะแนนในประเด็นแห่งคดีของนายทวีเกียรติจึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยอมให้ตุลาการที่ไม่ได้เป็นองค์คณะในชั้นรับคำร้องไว้พิจารณา ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในชั้นวินิจฉัยคดี กรณีอาจส่งผลให้มติในคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

นอกจากจะปรากฏปัญหาความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะที่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ยังปรากฏว่าตุลาการอีกสามคน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ ภักดีธนากุล เคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้เคยอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๓๐/๒๕๕๐ (เป็นพิเศษ) วันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการสรรหา และแสดงทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่อการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงถือได้ว่า นายจรัญ ภักดีธนากุลมีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นกลาง นายจรัญ ภักดีธนากุลจึงไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคดีนี้ได้ โดยสามัญสานึกของความเป็นตุลาการ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ นายจรัญ ภักดีธนากุลย่อมต้องถอนตัวออกจากการเข้าร่วมเป็นองค์คณะ ดังที่ได้กระทำมาแล้วในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๒/๒๕๕๕

โดยเหตุที่นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ลงมติเป็นเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ เสียงในประเด็นที่ว่าเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๖๘ วรรค ๑ ดังนั้น หาก ๕ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ได้จึงย่อมทำให้มติเสียงข้างมากดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเสียงข้างน้อยคือ ๓ ต่อ ๔ เสียง

 

- ๔. -

ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำเนินการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง เพราะเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอนั้น ไม่ใช่ร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ แต่เป็นร่างที่จัดทำขึ้นใหม่โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๖ วรรคสอง และมาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง จนมีผลให้ผู้เคยดารงตาแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้อีกโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา ๒ ปี ซึ่งถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ขัดกับหลักการของร่างเดิม จึงจำเป็นต้องมีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเสนอมาเป็นร่างใหม่ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในกรณีนี้ไม่มีการเสนอมาเป็นร่างใหม่ ย่อมส่งผลให้การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ วรรคหนึ่ง นั้น

ตามกระบวนการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีผู้ยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในชั้นนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ และเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ หลังจากที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาแล้วไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขหลังจากนั้นอีกแต่อย่างใด ทั้งนี้ประธานรัฐสภาได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนและสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นฐานในการพิจารณาลงมติวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่นนอกจากฉบับที่ประธานรัฐสภาได้ส่งไปให้ในการพิจารณาลงมติ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นฐานในการพิจารณานั้นไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนร่วมเสนอ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้มีความบกพร่อง

 

- ๕. -

ประเด็นการกำหนดวันในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาภายหลังการรับหลักการในวาระที่ ๑ นั้น เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ได้กาหนดให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้สมาชิกผู้นั้นเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อ ๖ ประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

กรณีตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๖ ได้มีการลงมติให้ใช้กำหนดเวลาในการเสนอคำแปรญัตติภายใน ๑๕ วันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้มีการลงมติให้กาหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติจึงเป็นไปตามที่ข้อบังคับการประชุมได้กาหนดเอาไว้ คือ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ โดยระยะเวลาสิ้นสุดนั้นเป็นไปตามผลของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาให้มีการนับเวลาย้อนหลังตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแต่อย่างใด นอกจากนี้สิทธิในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภานั้นได้เริ่มขึ้นทันทีนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการโดยผลแห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติได้ตลอดเวลาจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๕ วัน ไม่ใช่มีเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง ๑ วันดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ ทั้งตามข้อเท็จจริงยังปรากฏชัดเจนว่ามีสมาชิกรัฐสภาได้เสนอคำแปรญัตติเป็นจานวน ๒๐๒ คน อันแสดงให้เห็นว่าการนับระยะเวลาดังกล่าวนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาแต่อย่างใด การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาจึงเป็นการดำเนินกิจการไปตามข้อบังคับ ซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ แล้ว

สำหรับการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นในการอภิปรายวาระที่ ๒ เป็นจำนวน ๕๗ คนนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำเสนอแปรญัตติของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกตัดสิทธินั้นเห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ ๑ มาแล้ว จึงเป็นการเสนอคำแปรญัตติที่ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรค ๓ การไม่ให้สิทธิแก่สมาชิกจานวน ๕๗ คนในกรณีนี้จึงมิใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

สมควรกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาคาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ พบว่ามีปัญหาในการหยิบยกข้อเท็จจริงและอ้างข้อกฎหมายอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า "การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง ๑ วัน เป็นการดำเนินที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๕ วรรค ๑ และวรรค ๒ ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรค ๒ ด้วย" โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายว่าข้อบังคับการประชุมฯข้อใดที่กำหนดว่าการนับระยะเวลาในการแปรญัตติต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป ตรงกันข้าม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๙๖ วรรคแรก บัญญัติว่า "การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ๗ เพิ่มเติมขั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใดเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการภายในกำหนดเวลาสิบห้ำวันนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น" กรณีนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐสภาได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐสภาขัดกับข้อบังคับดังกล่าว โดยที่ไม่ปรากฏข้อบังคับข้อใดเลยกำหนดให้นับระยะเวลาตามแบบที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง คำวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงปราศจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง มีผลให้คำวินิจฉัยนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๔ เท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามอำเภอใจ ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาลตามมาตรา ๑๙๗ วรรคแรก

 

- ๖. -

ในประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวว่ามติของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่มีการสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องว่ามีสมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งได้แสดงตนและลงมติในที่ประชุมรัฐสภามากกว่าหนึ่งครั้ง โดยเป็นการใช้สิทธิลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ดังนั้นจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขัดต่อหลักการที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ สาหรับคำวินิจฉัยในส่วนนี้ สมควรชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นฐานในการพิจารณานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากผู้ร้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยที่ไม่ได้มีการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกร้องปฏิเสธอานาจในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ จึงไม่ได้เข้ามาในกระบวนพิจารณา ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลฟังเป็นยุติดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผ่านการโต้แย้ง หรือถูกหักล้างจากผู้ถูกร้อง และอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้จริง คือ มีการแสดงตนและเสียบบัตรแทนกันโดยสมาชิกรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าบุคคลที่ไม่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ณ ขณะนั้นและให้ผู้อื่นลงมติแทนโดยการเสียบบัตรเป็นบุคคลใด และมีจำนวนเท่าใด ซึ่งย่อมทำให้การลงมติเฉพาะในนามของบุคคลนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลงมติแทนผู้อื่นก็ย่อมต้องมีความรับผิดเป็นส่วนตัวตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาเพียงบางคนย่อมไม่สามารถทำลายการแสดงเจตนาลงมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ๆ ที่ได้กระทำการไปในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทย จนถึงขนาดทำให้กระบวนการลงมติของรัฐสภาในกรณีนี้กลายเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาจำนวนเพียงเล็กน้อยมีผลเป็นการทำลายการลงมติของสมาชิก ๘ รัฐสภาส่วนใหญ่ที่กระทำการโดยชอบเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลเป็นการทำลายการปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๒ ลงในที่สุด

 

- ๗. -

ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเรื่องที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น

เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตย การออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจขององค์กรผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ประชาชน ในแง่นี้ ประชาชนย่อมเป็นผู้แสดงเจตจำนงกำหนดที่มา คุณสมบัติ และลักษณะของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งประชาชนอาจใช้อำนาจนั้นโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติ หรือผ่านผู้แทน เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจใด ๆ ในการเข้ามาชี้นำหรือกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยเฉพาะกับกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในการกำหนดบังคับไว้ในคำวินิจฉัยว่าประเทศไทยควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือหากมีวุฒิสภา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปด้วยวิธีการใด

การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีเจตจำนงให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหานั้น แม้ขณะนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีฐานะเป็นองค์กรผู้จัดทารัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดให้ที่มาของบุคคลผู้จะได้ชื่อว่า "เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย" มาจากการแต่งตั้งนั้น โดยรากฐานย่อมขัดแย้งกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือว่าการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเป็นสาระสาคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลจึงทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้เข้ามาแก้ไขโดยกาหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกำหนดไว้เช่นนี้เป็นเจตนารมณ์สาคัญของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งส่งผลให้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีฐานของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับ เนื่องจากหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจานวนหนึ่งไปตลอดกาล ก็ต้องบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนวิธีการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แล้วจะเห็นได้ว่า มาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง ห้ามมิให้มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐเท่านั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่อาจกระทาได้เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกาหนดข้อห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเองตามอำเภอใจ หากปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปได้ ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องใดสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และบทบัญญัติในเรื่องใดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

ถึงแม้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจะเห็นว่า ควรคงรูปแบบของวุฒิสภาคงเดิมไว้คือ ให้มีสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมีที่มาจากการสรรหา ก็เป็นความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตุลาการผู้นั้น ซึ่งอาจโต้แย้งถกเถียงกันได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมจะเอาความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตน เข้าแทนที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้วนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตนมิได้ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องรูปแบบที่เป็นอยู่ของวุฒิสภา ก็ต้องละทิ้งสถานะความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและไปรณรงค์ร่วมกับฝ่ายเสียงข้างน้อยตามวิถีทางประชาธิปไตย

นอกจากนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยห้ามมิให้เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมืองและพรรคการเมือง และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ การที่สมาชิกรัฐสภาตามคำร้องในคดีนี้แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตัดลักษณะต้องห้ามดังกล่าวออกไป เป็นการทำให้วุฒิสภากลับกลายไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัว หรือสภาผัวเมีย สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ทำลายสาระสาคัญของการมีสองสภา เปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการซึ่งถูกร้องในคดีนี้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น เห็นว่าประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิใช่หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอันจะแก้ไขมิได้เหมือนกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐหรือระบอบการปกครองของประเทศซึ่งต้องห้ามตามมาตรา ๒๙๑ (๑) วรรคสอง นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนเหตุผลข้างต้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นแน่นอนเสมอไป เพราะวุฒิสภาก็เป็นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกต่างสภาหรือสภาเดียวกันลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ก็ได้ และเมื่อการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่ประชาชนชาวไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยการให้เหตุผลเช่นนี้มาเป็นฐานในการวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้จินตนาการเรื่องราวที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าข้อเท็จจริงแห่งคดี นอกจากนี้ยังเป็นการคาดเดาล่วงหน้าว่าประชาชนจะเลือกบุคคลใดเป็นสมาชิกวุฒิสภาและดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนว่าไม่มีความรู้ความสามารถและวิจารณญาณในการเลือกบุคคลมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่าการที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้กระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภา ๑๐ ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ให้ดาเนินการประกาศใช้บังคับต่อไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบเสียก่อน เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการถ่วงดุลและคานอำนาจ ทำให้ฝ่ายการเมืองออกกฎหมายได้ตามชอบใจ

เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนี้เป็นคำวินิจฉัยที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการที่รัฐสภาซึ่งทรงอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจดังกล่าวกำหนดกฎเกณฑ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ย่อมถือเป็นดุลพินิจของรัฐสภาผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นการวินิจฉัยในประเด็นนี้ก็เป็นการวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนได้เสียโดยตรงอีกด้วย เพราะเป็นการวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเอง

 

- ๘. -

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๖ วรรค ๕ ซึ่งกำหนดให้คาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐนั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการต้องพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๗ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือได้ว่ามีผลเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรอื่นของรัฐนั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ได้ตัดสินไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกาหนด ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือตามอาเภอใจ เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องและทำการตัดสินไปโดยที่ไม่มีฐานอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นการใช้อำนาจซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติตามมาตราที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อกล่าวอ้างสร้าง "ความศักดิ์สิทธิ์" ให้แก่การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

โดยเหตุที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี คำวินิจฉัยนี้จึงเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐแต่อย่างใด

ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และในขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยโดยปราศจาอำนาจว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราและเนื้อหา ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงสถานะของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น ๙๐ วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมาพิจารณาใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน ๓๐ วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

สมควรกล่าวด้วยว่า แม้คำวินิจฉัยนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้อ่าน "คำวินิจฉัย" ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ออกสู่สาธารณะแล้ว บรรดากลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทางการเมืองย่อมฉวยโอกาสนาคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด ไปใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตนต้องการได้

หากองค์กรของรัฐทั้งหลายยอมรับให้คำวินิจฉัยนี้มีผลในทางกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจอย่างมีดุลยภาพ ทำให้รัฐสภาไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้ ประการสาคัญ ย่อมมีผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และประเทศไทยจะกลายเป็น "รัฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ในที่สุด

คณะนิติราษฎร์เห็นว่า การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ นอกจากจะไม่มีผลเป็นการช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในสังคมแล้ว ยังเป็นชนวนก่อให้เกิดวิกฤติในทางรัฐธรรมนูญ อันนามาซึ่งความปั่นป่วนวุ่นวายต่อระบบกฎหมายและสถาบันทางการเมือง จนยากแก่การเยียวยาให้กลับฟื้นคืนดีได้ในอนาคต

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖.

 

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ที่มา: http://www.enlightened-jurists.com/blog/86

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 23 Nov 2013 06:55 AM PST

"..มันไม่มีหลักนิติธรรมที่ไหนในโลกนี้ ที่บอกว่าศาลต้องเอาเสียงข้างน้อยบรรลุผลให้ได้ แล้วขัดขวางเสียงข้างมาก มันไม่มี การทำอย่างนี้ในสุดท้ายจึงมีผลช่วยเสียงข้างน้อยทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก รังแกเสียงข้างมาก และทำให้เสียงข้างมากต่างหากไม่มีที่อยู่ที่ยืน การกระทำแบบนี้ต่างหากที่ในที่สุดจะมีผลเป็นการสถาปนาเผด็จการของเสียงข้างน้อยในที่สุด.."
 
23 พ.ย.56, ตัวแทนกลุ่มนิติราษฎร์แถลงวิพากษ์คำวินิจฉัยของศาล รธน.กรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ประเด็นที่มาของ ส.ว.

เสวนา: การปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

Posted: 23 Nov 2013 06:44 AM PST

เสวนาครบรอบ 40 ปี สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กุลลดา เกดบุญชู มี้ด มองย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ชนชั้นนำยังมีอำนาจมากในโครงสร้างสังคม ในขณะที่ประจักษ์ ก้องกีรติเสนอปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง เพื่อสร้างกติกาอยู่ร่วมกันและหลีกเลี่ยงความรุนแรง 
 
23 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14.00 น. ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้มีการจัดงานรำลึกและงานอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อ "การปฏิรูปทางการเมืองและทิศทางประชาธิปไตยไทยในอนาคต ก้าวหน้าหรือถอยหลัง" โดยมีวิทยากรได้แก่ กุลลดา เกษบุญชู มีด จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาฯ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอเนก นาคะบุตร นักพัฒนาสังคมและประธานติดตามผลการดำเนินงานของกสทช.
 
 
กุลลดา เกษบุญชู มีด เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่ต่อมานำไปสู่การลาออกของรัฐบาลทหารถนอม-ประภาส มีปัจจัยและพลังอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากพลังของนศ.ประชาชนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ที่สำคัญ คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำเองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
 
กุลลดากล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงก่อน 14 ตุลาว่า ก่อนช่วงสงครามเย็น สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจน้อยมาก แต่เมื่อถึงช่วงสงครามเย็น ด้วยกระแสต้านภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้สถาบันกษัตริย์และกองทัพมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก โดยได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เสถียรภาพทางของผู้นำทางการเมืองเปลี่ยนไปด้วยในแต่ละช่วง และในช่วง 14 ต.ค. นี้เอง ที่เริ่มเกิดการก่อตัวของผู้นำทหารที่ไม่พอใจการนำของจอมพลถนอมและประภาส 
 
เอกสารทางการทูตของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้เปิดเผยว่า ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ต.ค. เกิดขึ้นมาจากการออกคำสั่งของกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นฝ่ายทหารที่อยู่คนละฝั่งกับจอมพลถนอมและประภาส เพื่อสร้างความรุนแรงและเป็นเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล จึงจะเห็นว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. ถูกขับเคลื่อนด้วยการรวมตัวกันชั่วคราวของกลุ่มพลังที่มีความไม่พอใจต่อถนอม-ประภาส และจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะพลังประชาธิปไตยจากนศ. ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะความขัดเเย้งทางชนชั้นนำและผู้นำทางการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญ 
 
"แม้แต่พวกนักศึกษาเองยังแปลกใจว่า ทำไมถึงกับเปลี่ยนรัฐบาลได้ มาก็มามือเปล่า ไม่ได้มีอาวุธอะไร" กุลลดากล่าว  
 
เธอได้เปรียบเทียบกับการเมืองในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างอำนาจในสังคม ยังคงตกอยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง แต่มิได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
เช่นเดียวกับฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ซึ่งมองว่า การชุมนุมของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ ที่ผ่านมา คนที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นผู้ตัดสิน คือต้องมี "กำลังภายใน" บางอย่างที่จะเป็นจุดเปลี่ยนได้
 
เขาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่ผ่านมาที่สำคัญๆ ได้แก่ 1. สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงสงครามเย็น ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐ ซึ่งต้องการป้องกันประเทศไทยให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน  2. กระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ชนชั้นนำของไทยปฏิเสธกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงได้ยาก 3. พลังของการกระจายตัว ที่ทำให้การผูกขาดอำนาจเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและคมนาคมที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น รวมถึงการเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ก็ทำให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องปัญหาสังคมการเมืองมากขึ้น 
 
ฐิตินันท์ยังมองว่า ในตอนนี้ การรัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นได้ยากแล้ว ถึงแม้ว่าจะทำก็คงทำด้วยภาวะสองจิตสองใจมากขึ้น เขาเล่าว่า หลังการรัฐประหารในปี 49 หนึ่งถึงสองปี มีทหารได้มาปรึกษากับตนว่าหากทำรัฐประหารไปแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้างโดยเฉพาะปฏิกิริยาจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายทหารเองก็กลัวผลทางด้านลบจากต่างประเทศและทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 
 
เขาสรุปว่า ปัญหาที่ยังใหญ่ที่สุดในสังคมไทย คือทัศนคติที่มองว่าความเป็นคนยังไม่เท่ากัน ยังมีความคิดที่ว่าหากคนมีการศึกษาน้อยกว่า เป็นชาวนา หรือกรรมกร ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนที่เรียนมาสูงกว่า ซึ่งเขามองว่า สำหรับประเทศไทย คงจะใช้เวลาอีกสิบกว่าปีจนกว่าจะไปถึงจุดที่คนมองว่าคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 
 
ในขณะที่อเนก นาคะบุตร นักพัฒนาด้านสิทธิชุมชน และประธานคณะผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานของกสทช. มองว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะเห็นจากการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านโลกาภิวัฒน์หรือกระแสทุนนิยม และชูเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชนและการปกครองตนเอง การจัดการสิทธิประชาธิปไตยของตนเอง ซึ่งจะเป็นทางออกและข้อเสนอต่อไปอีกสิบปีข้างหน้า ผ่านการตั้งมหาวิทยาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งตอนนี้จัดตั้งได้ 80 ห้องเรียนทั่วประเทศ 
 
เขายังเสนอเรื่องของการกระจายอำนาจ ที่ผลักดันผ่านพ.ร.บ. การปกครองตนเอง เพื่อลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลางและการผูกขาดจากกลุ่มทุน โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวสามภาคแล้ว ได้แก่ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ
 
ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่า ในขณะที่สังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน หมายถึงช่วงที่ระเบียบอำนาจเก่าค่อยๆ หมดไป และระเบียบอำนาจใหม่ขึ้นมา แม้ระเบียบอำนาจใหม่จะยังไม่ชัดเจนนัก สังคมไทยจำเป็นต้องหากติการ่วมกันที่จะสามารถให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้โดยหลีกเลี่ยงความรุนแรง โดยนอกเหนือไปจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงมวลชนแล้ว ผู้ที่เป็นผู้วางกรอบกติกาตรงกลาง ก็จำเป็นต้องรักษากติกาให้เป็นธรรมด้วย เช่น คำตัดสินของศาลเมื่อสัปดาห์ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายค้านรัฐบาลไปแล้ว 
 
ในทางรูปธรรม เขาเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง คล้ายกับในช่วงปี 2540 ที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อร่วมสร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน และต้องไม่ใช่การปฏิรูปที่ทำจากรัฐบาลซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมก็เป็นไปอย่างจำกัดเท่านั้น 
 
"ในที่สุดแล้ว ชนชั้นนำก็ต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะใช้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เพราะคุณไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญที่มีคนถึง 12-13 ล้านคนไม่ยอมรับได้" เขากล่าว และเสริมว่า เช่นเดียวกับการพยายามผ่านร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทย ที่มีคนจำนวนมากคัดค้าน ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด
 
ประจักษ์มองว่า แม้การเลือกตั้ง หรือระบบวุฒิสภา จะมีปัญหาอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเรื่องของการซื้อเสียง เรื่องสภาผัวเมีย แต่แทนที่จะยุบทิ้งไม่เอาการเลือกตั้ง หรือให้ตัวแทนในสภามาจากการแต่งตั้ง ควรจะมองเรื่องการพัฒนาระบบและปรับปรุงให้กระบวนการเป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่เสนอให้กลับไปสู่สิ่งที่ล้าหลังกว่าที่เป็นอยู่ 
 
เช่นในเรื่องของการแก้ไขที่มาของส.ว. แทนที่จะกำหนดให้ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง อาจสามารถปรับปรุงได้ด้วยการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศว่า มีการกำหนดเขตเลือกตั้งส.ว. อย่างไร ที่สามารถสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ต่างออกไปจากฐานเสียงของส.ส. ซึ่งน่าจะเป็นการพัฒนาที่ตัวระบบและโครงสร้าง มากกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการมองที่กลุ่มบุคคลเพียงอย่างเดียว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห่วงผู้ป่วยข้างถนนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน

Posted: 23 Nov 2013 03:18 AM PST



23 พ.ย. 2556 - มูลนิธิอิสรชนและสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนออกแถลงการณ์ "ขอแสดงความห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมบนถนนราชดำเนินในกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน" ระบุเป่านกหวีดกว่า 1,000 ตัว อาจส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดในกลุ่มของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนเร่ร่อนที่เป็นผู้ป่วยข้างถนนที่มีอาการทางจิต

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

แถลงการณ์  เรื่อง ขอแสดงความห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมบนถนนราชดำเนินในกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน

สืบเนื่องจากการชุมนุมแสดงความเห็นทางการเมืองบนถนนราชดำเนินตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน2556 เป็นต้นมาด้วยสภาพพื้นฐานของสถานที่ที่มีการชุมนุมที่มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและมีการเป่านกหวีดมากกว่า1,000 ตัว ในเวลาเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดในกลุ่มของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คนเร่ร่อนที่เป็นผู้ป่วยข้างถนน ที่มีอาการทางจิต ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่การชุมนุมมาก่อน และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 มีหญิงเร่ร่อน ผู้ป่วยข้างถนนรายหนึ่ง ก่อเหตุฆ่าเด็กผู้หญิงวัย 8 ขวบเสียชีวิต ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ ไม่ห่างจากจุดชุมนุมทางการเมืองมากนักล่าสุดวันนี้ 19 พฤศจิกายน 2556 ชายเร่ร่อนผู้ป่วยข้างถนน อีกรายเกิดอาการคุ้มคลั่ง ไล่ทำร้ายคนในที่ชุมนุม ภายในระยะเวลา 10วัน เกิดเหตุแล้ว 2 ราย และยังมีผู้ป่วยข้างถนนในพื้นที่ดังกล่าว ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดภาวะความเครียดจากจำนวนคนและเสียงนกหวีดอีกไม่น้อยกว่า10 ราย  

จากสถานการณ์ดังกล่าว มูลนิธิอิสรชน สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนในฐานะที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา10 ปีขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และขอเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวและข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตในพื้นที่การชุมนุมโดยเร็ว

มูลนิธิอิสรชน (องค์กรสาธารณประโยชน์)
สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน(องค์กรสาธารณประโยชน์)
20 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติราษฎร์ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลทางกฎหมาย ร่างแก้ไข รธน.ยังสมบูรณ์

Posted: 23 Nov 2013 02:28 AM PST

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มของนิติราษฎร์ เรื่องคำวินิจฉัยศาลรธน.กรณีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.

23 พ.ย.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนิติราษฎร์จัดแถลงข่าววิพากษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ที่มีคำวินิจฉัยไปเมื่อ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา  การแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลขนและประชาชนเป็นจำนวนมาก (คลิกที่นี่เพื่อชมคลิปการแถลงข่าว)

ช่วยเสียงข้างน้อยทำลายเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เริ่มการแถลงข่าว ระบุว่า นิติราษฎร์เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความผิดพลาดร้ายแรงในแง่ของเขตอำนาจของศาลตลอดจนความบกพร่องในการวินิจฉัย ซึ่งศาลชี้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีความบกพร่องทั้งในแง่เทคนิค คือ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน รวมถึงกรณีความบกพร่องทางเนื้อหา

สำหรับเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น วรเจตน์ชี้ว่า นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ถ้าทำให้ความเข้าใจถ่องแล้วก็ไม่ต้องวิเคราะห์เรื่องอื่นต่อไปอีก

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นมาเองด้วยตัวเอง ไม่ได้เกิดจากกฎหมายธรรมชาติหรือเทศบัญญัติหรือกฎหมายอื่นใด ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญก่อตั้งศาลขึ้นมาก็กำหนดอำนาจหน้าที่ขึ้นมา

บุคคลที่ทรงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานหรือตัดสินคดีไม่สามารถตัดสินคดีได้ตามอำเภอใจ เช่นมีคนฆ่าคนตาย ฝ่ายของคนที่ถูกฆ่าตายก็ไปร้องให้ศาลวินิจฉัยโดยเชื่อว่าศาลจะทรงความยุติธรรมเหนือกว่าศาลอื่นใด ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรับตัดสินก็ไม่มีผลทางกฎหมาย

ศาลมีเขตอำนาจจำกัดตามที่รธน. และการดูเรื่องขอบเขตอำนาจเป็นเรื่องต้องทำก่อนการวินิจฉัยคดี

สิ่งที่ทำเมื่อวันที่ 20 พ.ย. คือศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าตัวเองมีอำนาจวินิจฉัย แต่ไปอ้างหลักการเสียงข้างน้อยมาใช้ ฟังดูอาจจะเคลิ้มแต่ถ้าเราคิดและตรึกตรองดูให้ดีแล้วจะพบว่าการอ้างหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยมีความคลาดเคลื่อนหลายประการ

นิติราษฎร์เห็นว่าสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือเสียงของประชาชน และประชาชนนั้นมีจำนานมาก และมีความคิดความเห็นต่างกัน หากต้องหาเจตจำนงของประชาชนให้ยุติโดยความเห็นพ้องอย่างเอกฉันท์นั้นเป็นไปไม่ได้ จึงต้องใช้หลักเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องมีหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยเพื่อให้ข้อยุติจากเสียงข้างมากเป็นไปอย่างมีเหตุผล แต่การคุ้มครองเสียงข้างน้อยไม่ใช่การยอมทำตามเสียงข้างน้อย แต่เปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็น เพื่อโน้มน้าวให้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อจะเป็นเสียงข้างมากในวันหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่เป็นหลักการที่สำคัญ

ศาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ในการทำให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมาย เพราะศาลรธน. ไม่ใช่ผู้แทนของเสียงข้างน้อย ผู้แทนของเสียงข้างน้อยคือฝ่ายค้านในสภา แต่ศาลรธน.เป็นคนกลางที่ทำหน้าที่วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญสรุปลงอย่างง่ายๆ ว่าเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืน แต่ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่สนับสนุนว่าเสียงข้างน้อยในประเทศนี้ไม่มีที่อยู่ที่ยืนอย่างไร ไม่มีที่บอกว่าทุกวันนี้ไม่มีกลไกการตรวจสอบเสียงข้างมาก ตราบที่มีศาลรัฐธรรมนูญมันยังมีกลไกตรวจสอบ ยังมีมติสาธารณะ มีคอลัมนิสต์มีการแสดงความเห็นที่ทำให้เห็นว่าเสียงข้างน้อยมีที่อยู่ที่ยืน

สำหรับการแก้ไขที่มา ส.ว.เสียงข้างน้อยที่ไมเห็นด้วยกับเสียงข้างมากที่ลงคะแนนไปแล้วก็ควรจะไปรณรงค์ใช้เหตุผลโน้มน้าวใจคนอื่นให้เห็นด้วย ไม่ใช่การบังคับข่มขืนใจคนอื่นให้เห็นด้วยได้

ศาลรธน. สมควรต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างการเมืองว่าควรอย่างไร เป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองคือ รัฐสภา เพราะบุคคลเหล่านี้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนร่วมกับองค์กรทางการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างหลักนิติธรรมขึ้นในหลายแห่งของคำวินิจฉัย ฟังดูดีแต่พอดูรายละเอียดจะพบว่าเป็นการอ้างที่เลื่อนลอย การอ้างอย่างนี้โดยผลของคำวินิจฉัยนี้ก็คือการควบคุมขัดขวางเสียงข้างมากเพื่อให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผล การทำอย่างนี้สุดท้ายเป็นการช่วยให้เสียงข้างน้อยทำลายเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก และทำให้เสียงข้างมากต่างหากที่ไม่มีที่อยู่ที่ยืน เป็นการสนับสนุนเผด็จการเสียงข้างน้อยในที่สุด

ตัดสินไม่มีผลทางกฎหมาย

วรเจตน์กล่าวว่า อารัมภบทที่ศาลรธน. พูดมายืดยาว ไม่เข้าข้อกฎหมาย เมื่อพิจารณาตามมาตรา 68 ทุกคนก็เห็นว่าไม่ค่อยมีที่ใช้โดยปกติ เว้นแต่ปัจเจกบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการเข้าองค์ประกอบ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้น

ตัวบทของมาตรา 68 พูดเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" ว่าบุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางล้มล้างการปกครองหรือให้ได้มาซึ่งอำนาจอันไม่เป็นไปถามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้  จะไปแปลว่าเป็นเรื่อง "อำนาจ" ได้อย่างไร เรื่องทีเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบุคคลหรือพรรคการเมืองด้วย แต่เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีอำนาจ  แต่คำวินิจฉัยของศาลนั้นปะปนกันไปหมดระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพกับการใช้อำนาจหน้าที่ และนักกฎหมายหลายคนก็ออกมาพูดว่าสิทธิเสรีภาพก็คืออำนาจ

"เดี๋ยวนี้คนเขามีสติปัญญาที่จะคิดได้ว่าที่คุณพูดมามันมั่ว"

นอกจากนี้วรเจตน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในคำวินิจฉัยนั้นศาลอ้างเรื่องการไปตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอื่นๆ แต่กลับไม่มีการถ่วงดุลตัวเอง

"ศาลถ่วงดุลคนอื่นหมดเลย แล้วใครถ่วงดุลท่าน" วรเจตน์ตั้งคำถาม

คนที่ไม่ทำตามขั้นตอนที่รธน.กำหนดไว้แน่ๆ ก็คือศาลรธน.เอง เพราะรธน.กำหนดให้ไปยื่นเรื่องที่อัยการสูงสุดก่อนเพื่อกลั่นกรอง แต่นี่เสียงข้างน้อยที่โหวตแพ้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรธน.โดยตรงและศาลก็รับไว้พิจารณา เป็นการไม่เคารพขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องเรียนกฎหมายก็รู้ 

ผลของการวินิจฉัยมาตรา 68 เป็นการสถาปนาอำนาจของศาลรธน.ขึ้นมาเอง ตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ชอบด้วยหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ชอบด้วยหลักการจัดโครงสร้างรัฐ ถ้าปล่อยให้การตีความมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมเป็นแบบนี้ก็เป็นการปล่อยให้เขตอำนาจขยายไปเรื่อย เชื่อว่าจะมีคนมาร้องศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา เพราะมีคนพร้อมจะทำเช่นนั้นอยู่แล้วในทุกเรื่อง ศาลจะมีอำนาจในการรับคดีต่างๆ มาพิจารณาคดีเต็มไปหมด กลายเป็น "ซูเปอร์องค์กร" เป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรทั้งปวง และศาลนั้นแม้จะเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่โดยผลของการใช้กฎหมายแบบนี้จะกลับเป็นคนที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเอง มันจะเกิดสภาพวิปลาส ผิดเพี้ยนไปหมด มีผลรุนแรงทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด โดยความร้ายแรงแบบนี้เองที่ทำให้เราต้องยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมาย

 

 

เวลาจะล้มเรื่องใหญ่ๆ มักอ้างกระบวนการไม่ชอบ

ปิยบุตร แสงกนกกุล วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรธน.ที่วินิจฉัยข้อบกพร่องในกระบวนการ โดยอธิบายว่าเวลาเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ต้องเอาประเด็นมาวาง เอาหลักกฎหมายมาวางแล้วเอาข้อเท็จจริงมาวินิจฉัย แล้วปรับใช้ แต่จากคำวินิจฉัยของศาลนั้นไม่ใช่การอ้างหลักกฎหมาย เป็นการพรรณนาความไปเรื่อยๆ แล้วพอจะลากเข้าหาเขตอำนาจ ก็ไปอ้างเอาหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรธน.เพื่อจะบอกว่ากำลังทำตามรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งจริงๆ รธน.กำหนดให้ทุกองค์กรทำไปตามหลักนิติธรรมซึ่งต้องรวมตัวศาลรัฐธรรมนูญด้วย

"ท่านเทศนา สั่งสอนประณามฝ่ายการเมืองลงไปในคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะเอามาตัดสินคดี ในระบบกฎหมายเขียนแบบนี้ไม่ได้ ไม่ใช่การใช้เหตุผลในทางกฎหมาย"

องค์คณะมีปัญหา

ประเด็นองค์คณะ นิติราษฎร์ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้ และเมื่อมาพิจารณาในแง่องค์คณะ เวลาที่รับคำร้อง ไม่มีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและโปรดเกล้าฯ ภายหลัง แต่ท้ายสุดกลับมาลงคะแนนเสียงในการวินิจฉัย ซึ่งตามหลักแล้วทำไม่ได้ สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ คู่ความต้องรู้ล่วงหน้าว่าใครจะมีตัดสินคดีเขา ถ้าไม่ไว้วางใจ คู่กรณีจะได้มีโอกาสในการร้องคัดค้านองค์คณะ

ประเด็นต่อมาคือ ถ้าองค์คณะรับฟ้องมี 7 คนแล้วมาตัดสิน 9 คน ถ้ามีการเปิดโอกาสแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะเปิดโอกาสให้เติม-ลดองค์คณะได้เรื่อยๆ  ซึ่งมีผลต่อการนับเสียงในการวินิจฉัย โดยปิยบุตรย้ำว่าองค์คณะที่รับเรื่องไปจนตัดสินวินิจฉัยต้องเป็นองค์คณะเดิมเป็นจำนวนเดิมและเป็นคนเดียวกัน เว้นแต่กรณีตาย หรือถูกร้องค้าน

ประเด็นถัดมา องค์คณะต้องเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่ทัศนคติของนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งได้เคยแสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแบบเลือกตั้งแล้วในอดีต ในการอภิปรายเรื่องส.ว.สรรหา ในสสร.50 หากให้นายจรัญวินิจฉัยคดีนี้ก็ชัดเจนว่าเขาจะไม่สนับสนุน ส.ว. เลือกตั้ง  ปิยบุตรเห็นว่านี่เป็นกรณีที่นายจรัญต้องถอนตัว

ทำไมเราต้องใส่ใจคำวินิจฉัยนี้ คำตอบคือเพราะศาลได้อ่านออกสาธารณะจนทำให้สาธารณชนได้เข้าใจว่าเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง เพราะสภาก็ทำผิดจริง แม้ว่าศาลจะไม่มีอำนาจ ปิยบุตรโต้แย้งว่ากระบวนการต่างๆ ที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบนั้น ไม่จริงเลย ทั้งประเด็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมเป็นคนละร่างกับร่างฯ ที่เสนอ ประเด็นการนับวันในการเสนอคำแปรญัตติซึ่งศาลเห็นว่าให้เวลาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเสนอคำแปรญัตติแค่ 1 วัน ซึ่งน้อยเกินไป รวมไปถึงประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน

กระบวนการไม่ชอบจริงหรือ

ประเด็นแรก เรื่องร่างฯ วันที่ยื่นกับร่างฯ วันที่แก้ เป็นคนละร่างฯ กันนั้นเป็นความจริง แต่ไม่ส่งผลเสียหายใดๆ ตามกระบวนการขั้นตอนเพราะวันที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้โอกาสในการพิจารณาร่างฯ ฉบับที่มีการแก้ไขในวันนั้นเหมือนๆ กัน สมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่ได้รับแจกร่างฯ ที่มีการแก้ไขแล้วทั้งหมด นี่ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะส่งผลร้ายถึงกับจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีความบกพร่อง

ประเด็นนับวันเสนอการแปรญัตติ ที่ศาลเห็นว่าเหลือเวลา 1 วันเท่านั้นศาลชี้ว่าขัดข้อบังคับ ปรากฏว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2553 ข้อ 96 กำหนดให้แปรญัตติภายใน15 วันนับจากวันรับหลักการในวาระ 1 เว้นแต่รัฐสภาเห็นเป็นอย่างอื่น ซึ่งต้องลงมติว่าจะเปลี่ยนจาก 15 เป็นกี่วัน ข้อเท็จจริงคือประธานรัฐสภาถาม ก็มีคนเสนอขอ 60 วัน แต่ปรากฏว่าเมื่อจะโหวตองค์ประชุมกลับไม่ครบ จึงกลับไปสู่หลักเดิมคือ 15 วัน

"ปัญหาคือ 14 วันก่อนหน้านั้นทำไมท่านไม่มาเสนอคำแปรญัตติ พอมาเหลือ 1 วัน ท่านมาขอขยายเวลาเป็น 60 วัน"

ความร้ายแรงของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าการนับเวลาย้อนหลังไปจะทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1 วันขัดข้อบังคับการประชุมและขัดกับหลักนิติธรรม แต่กลับไม่มีข้อบังคับข้อไหนเลยที่ศาลจะนำมาอ้าง เพราะไม่มีข้อบังคับไหนกำหนดให้นับวันแบบศาลรัฐธรรมนูญบอก หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้โดยไม่มีกฎหมาย คนที่เป็นศาลจะต้องตัดสินคดีด้วยความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ไม่ใช่ตัดสินตามความรู้สึก ไม่ใช่สร้างกฎหมายขึ้นมาเอง โดยเขายกเอารธน. มาตรา 197 มาอ้าง

ประเด็นต่อมา คือ การตัดไม่ให้สมาชิกอภิปรายในวาระ 2 ซึ่งมีคนแปรญัตติ 57 คน ถูกตัดสิทธิอภิปรายเพราะทำผิดข้อบังคับเนื่องจากเหลือวันอภิปรายเพียง 1 วัน แต่ศาลได้วินิจฉัยว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ปิยบุตรชี้ว่าประเด็นนี้ศาลได้ทิ้งเชื้อไว้ ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติในประเทศไทยมีปัญหาในอนาคต ต่อไปกฎหมายฉบับที่สำคัญๆ พรรคฝ่ายค้านจะขอแปรญัตติเป็นร้อยๆ คนเมื่อใกล้กำหนดเวลา และหากจะโดนตัดสิทธิอภิปรายก็จะหยิบยกคำวินิจฉัยนี้ขึ้นมาอ้าง

ประเด็นต่อมาคือเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ศาลมีอำนาจในการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเองตามคำร้อง มีการเสียบบัตร 8 ใบ ต่อให้จริง มติเห็นชอบในการแก้ไขรธน.นั้นกระทบกระเทือนหรือไม ข้อเท็จจริงคือมันไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงมติตอนจบ จะเอาเรื่องเสียบบัตรแทนมาล้มมติไม่ได้ และถ้ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องก็ต้องไปลงโทษคนที่เสียบบัตรแทนกัน ไม่ใช่มาล้มร่างฯ ฉบับนี้ เพราะถ้าจะใช้วิธีนี้ก็จะเกิดการกลั่นแกล้งกันต่อไป เช่น ต่อไปฝ่ายข้างน้อยก็อาจจะใช้การเสียบบัตรแทนกันเพื่อทำลายมติในตอนหลัง อย่างไรก็ตาม หากประเด็นเสียบบัตรแทนจะมีผลล้มมติ ต้องเป็นการเสียบบัตรจำนวนมากๆ ต่างกับกรณีนายทวีเกียรติเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีองค์คณะจำนวนน้อย

"เวลาศาลจะล้มเรื่องใหญ่ๆ ศาลจะใช้เรื่องกระบวนการ" ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตโดยยกกรณีการเพิกถอนการเลือกตั้งเพราะหันคูหาออก ซึ่งเขาชี้ว่ากระบวนการนั้นเป็นเรื่องผิดพลาดได้ในการทำงาน หากจะมีผลต่อผลลัพธ์ต้องเป็นกรณีที่หากบกพร่องแล้วผลลัพธ์จะเปลี่ยน

ชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของศาล

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา วิจารณ์ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลในเนื้อหาของร่างแก้ไขรธน.โดยศาลชี้ว่าจะทำให้เกิดการไม่สมดุล เป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัวหรือสภาผัวเมียทำให้สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้กับสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา

ศาลเข้ามาใช้อำนาจชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมืองเป็นกรณีที่ศาลกระทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลและการมีวุฒิสภาในประเทศอื่นในโลกที่เป็นประชาธิปไตยก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งการที่ศาลอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย

ส่วนการมีเจตจำนงให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งเป็นการถาวรตลอดไปก็ต้องเขียนไวในรัฐธรรมนูญมาตรา 291

ปิยบุตรกล่าวเสริมว่า การพยายามมาแตะเรื่องเนื้อหาเพราะว่าการแก้ไขส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางหลักไว้ว่าจะไม่มีใครสามารถมาเสนอเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายแดนของบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตามรธน.มีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นที่แก้ไม่ได้ คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรื่องรูปของรัฐ

ถ้าเห็นด้วยกับ ส.ว. แต่งตั้งก็ไปร่วมรณรงค์กับเสียงข้างน้อยเพื่อโน้มน้าวให้เสียงข้างมากเห็นด้วย ไม่ใช่เอาทัศนคติตัวเองไปลงไว้ในคำวินิจฉัย ซึ่งปิยบุตรย้ำอีกครั้งส่า ส.ว. แต่งตั้งเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหาร

ถ้ายอมรับคำวินิจฉัย ต้องอยู่กับ รธน. 2550 ชั่วกัลปาวสาน

วรเจตน์ ปิดท้ายการแถลงข่าวโดยสรุปว่า หลังจากนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า แม้คำวินิจฉัยจะมีปัญหาร้ายแรงตามที่วิพากษ์วิจารณ์มา แต่หากไม่ทำตาม ไม่ยอมรับ บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อไม่มีแป จะทำอย่างไรกันต่อไป

"เราจะยอมถูกกดขี่โดยคำวินิจฉัยไปชั่วกัลปาวสานหรือ นี่มันไม่ใช่หลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย" วรเจตน์กล่าวพร้อมระบว่าอาจมีคนอ้างมาตรา 206 วรรค 5 ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรธน. ให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แต่วรเจตน์เห็นว่ากรณีนี้โมฆะ เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอง ในทางกฎหมายต้องถือเป็นโมฆะ บังคับองค์กรของรัฐไม่ได้ แต่ถามว่าจะเกิดวิกฤตไหม เกิดวิกฤตแน่นอน

ในส่วนของผลทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไร ระหว่างนี้มีคนบอกว่าร่างรธน. นี้ตกไปแล้ว แต่ถามว่าตกไปจากไหน ตอบไม่ได้ กระบวนการขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ได้บอกว่าร่างรธน.นี้ตกไป เพราะเขาไม่มีอำนาจจะบอกได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย จะสั่งกษัตริย์ให้ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ไม่ได้ มาตรา 68 ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ

ดังนั้นขณะนี้ร่างรธน. ยังมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และหากกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าไม่ทรงวงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาก็ต้องมาปรึกษากัน ถ้าลงมติยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ตกไป แต่ถ้าลงคะแนนถึง 2 ใน 3 ก็ต้องยืนยันทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และครั้งนี้หากพ้น 60 วันก็ประกาศเป็นกฎหมายต่อไปได้

"ไม่มีหลักกฎหมายที่บอกให้นายถอนร่างฯ ดังกล่าวออกหลังจากที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว"

ผลทางการเมืองของคำวินิจฉัย ปัญหาตอนนี้ถ้าองค์กรที่เกี่ยวข้องหงอ ยอม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง ผลคือสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย กระทบกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ รัฐสภาจะไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนได้อีก และจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปตลอดกัลปาวสาน และศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นองค์กรที่ีอำนาจสูงสุด ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ายังคงยอมรับผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เขาชี้ว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่มีผลในทางแก้วิกฤตความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ซ้ำยังสร้างวิกฤตของหลักนิติรัฐด้วย

วรเจตน์ชี้ว่าหลังจากนี้สภาต้องประชุมกันลงมติว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่มีผลผูกพันสภา จึงจะเป็นทางออกได้ บีบให้เกิดการปะทะกันของขั้วทางสังคม และหากมีปัญหาต่อไปภายภาคหน้า ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบต่อคำวินิจฉัยวันที่ 20 พ.ย. 2556

"ผมพูดจากใจให้รัฐบาลไทยไปให้สัตยาบันในอนุสัญญาศาลอาญาระหว่างประเทศได้แล้ว เพราะถ้าวันข้างหน้าการพูดจากันทำไม่ได้อีกแล้วในสังคมนี้ อย่างน้อยการใช้กำลังทหารมาทำความรุนแรงกับประชาชนจะได้ไปในระดับระหว่างประเทศ คนที่จะเอาทหารออกมาจะได้คิด แล้วนี่น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำในระยะเวลาอันไม่ช้าไม่นานมานี้"

ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในประเทศ

ธีระ สุธีวรางกูร สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์แสดงความเห็นส่วนตัวในช่วงท้ายของการแถลงข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในประเทศไทย เพราะเริ่มมีสถานะเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และตามคำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2556 ศาลกำลังวางเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในอันตราย ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะปกปักรักษาโครงสร้างของระบบการเมืองแบบเดิมๆ เอาไว้ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนผ่าน อีกประการหนึ่งจากที่ศาลบอกว่ารัฐสภาไม่สามารถไปแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจการตรวจสอบของตัว เป็นการแสดงให้เห็นงว่าศาลไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตัวเอง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลไม่ยอมให้แก้ไขยุบองค์กรของตัวเอง

เขากล่าวว่าความเข้าใจของนายถาวร เสนเนียม ที่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดจากหลักการ แต่ถูกต้องในความเป็นจริง

อันตรายอยู่ตรงที่ว่าเมื่อสังคมไทยต้องการเปลี่ยนแปลงในระบบปกติ เมื่อระบบปติทำไม่ได้ประชาชนจะใช้วิธีการที่ไม่ปกติ และการเปลี่ยนผ่านจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจึงเปลี่ยนได้ยาก โดยท้ายที่สุดเขาได้เรียกร้องความรับผิดชอบจากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมไทยต่อการใช้อำนาจบาทใหญ่ในสังคมมากขึ้นทุกวันของศาลรัฐธรรมนูญ

"ถ้าท่านไม่สู้ ผมก็จะอยู่บ้านเลี้ยงลุก แต่ถ้าท่านสู้ ผมก็จะสู้ร่วมกับท่าน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานฯ ค้าน บ.จอร์จี้ ออกระเบียบ ‘กองทุนชื่นชม’ ระบุละเมิดสิทธิคนงาน

Posted: 23 Nov 2013 12:24 AM PST

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ส่งจดหมายถึงนายจ้างค้านประกาศเรื่องกองทุนชื่นชมมาติดที่บอร์ดของบริษัทฯ ระบุละเมิดสิทธิคนงานในการลาออกด้วยโดยกำหนดว่าคนงานต้องลาออกจากงานล่วงหน้ามากกว่าที่กฎหมายกำหนด

 

23 พ.ย. 2556 - สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ได้เปิดเผยว่าทางสหภาพแรงงานฯ ได้ทำจดหมายถึงผู้บริหารบริษัทจอร์จี้ แอนดฺ ลู คือ Mr.Sebastian Sirios และ Mr.Steve Falkiner (และทำสำเนาถึง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่)

โดยระบุว่าเนื่องด้วยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ทางบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้นำประกาศเรื่องกองทุนชื่นชมมาติดที่บอร์ดของบริษัทฯ โดยมีข้อความสำคัญคือ ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยทางบริษัทจะไม่มีการจ่ายเงินกองทุนชื่นชม และทางบริษัทจะไม่จ่ายกองทุนชื่นชม ในกรณีที่พนักงานได้รับใบเตือนมากกว่า 2 ครั้ง ในช่วง 6 เดือนย้อนหลัง

ซึ่งสหภาพแรงงานขอคัดค้านประกาศดังกล่าว ในประเด็นดังนี้ 1. ประกาศฉบับนี้นำมาติดประกาศในบอร์ดของบริษัทเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 นี้เอง ดังนั้นถึงแม้ในประกาศ จะบอกว่า ออกมาเมื่อเดือนกันยายนปี 2553 ก็ไม่สามารถรับฟังได้ว่าเป็นประกาศที่ออกมาก่อน และประกาศฉบับนี้ไม่มีคนลงลายมือชื่อเป็นตัวแทนของบริษัทฯ เลย ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นประกาศของบริษัทฯ 2. กองทุนชื่นชมที่ผ่านมาเมื่อคนงานใช้สิทธิไม่เคยมีเงื่อนไขเหล่านี้ ดังนั้นการที่ประกาศฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขดังที่กล่าวมาจึงเป็นการละเมิดสิทธิคนงาน มาสามารถใช้ได้

3. กองทุนชื่นชมนั้น คนงานทุกคนได้มาจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขของบริษัทฯ คือ ไม่ขาด ลา มาสาย ตลอดทั้งเดือน ดังนั้นจึงถือว่ากองทุนนี้เป็นเงินที่คนงานได้ทำงานทุ่มเทให้กับบริษัทฯ ตลอดทั้งเดือน จึงได้เงินนี้มา เพียงแต่บริษัทฯ ยังไม่จ่ายให้คนงานเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นคนของคนงานแล้ว ดังนั้นเมื่อคนงานลาออก หรือบริษัทฯ เลิกจ้าง บริษัทฯ ก็ต้องจ่ายให้กับคนงานทุกคนที่ได้รับกองทุนชื่นชม และ 4. ประกาศฉบับนี้มีการละเมิดสิทธิคนงานในการลาออกด้วยโดยกำหนดว่าคนงานต้องลาออกจากงานล่วงหน้ามากกว่าที่กฎหมายกำหนด

โดยสหภาพแรงงานฯ จึงขอให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศฉบับนี้ และจ่ายเงินกองทุนให้กับคนงานทุกคนที่ลาออก หรือถูกเลิกจ้างโดยได้รับเงินชดเชย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสื่อ 24-26 พ.ย. ห่วงความปลอดภัยนักข่าว

Posted: 22 Nov 2013 11:42 PM PST

23 พ.ย. 2556 - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าเนื่องด้วยวันที่ 24-26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จะมีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้เตรียมมาตรการในการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยนั้น

นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวแม้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ แต่อนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ (กสส.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือกันแล้วเห็นว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนรับข่าวสารอย่างครบถ้วน ด้วยความห่วงใยจึงจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชน ในการรายงานข่าวดังนี้

1.เปิดให้อาคารสมาคมนักข่าวฯ ถนนสามเสน (ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ) เป็นศูนย์ประสานงานสื่อระหว่างการชุมนุม (Press Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ตั้งแต่วันที่ 24 – 26 พ.ย. 2556 โดยได้จัดห้องทำงาน ที่พัก และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวก

2.สมาคมนักข่าวฯ ได้ตระหนักว่าความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่หากสื่อมวลชนได้รับอันตรายจะส่งผลกระทบต่อการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้นขอให้นักข่าว ช่างภาพ และผู้ปฏิบัติการสื่อภาคสนามคำนึงถึงความปลอดภัย โดยให้ยึดตามหลักปฏิบัติการรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง คือ 1.หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง 2.พึงระมัดระวังการตกเป็นเครื่องมือในการรายงานข่าวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดของประชาชน 3.ควรมีการเตรียมพร้อมในทุกสถานการณ์ เช่น ควรแต่งกายให้เหมาะสม สำรวมในการสื่อสาร ไม่แสดงความก้าวร้าว และแสดงท่าทีที่เป็นมิตร 4.แสดงตัวให้ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน  นอกจากนี้ควรศึกษากลุ่มผู้ชุมนุมและสภาพพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเข้าใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่มุ่งนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

32 องค์กรออกแถลงการณ์ค้านรัฐบาลแห่งชาติ เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

Posted: 22 Nov 2013 11:31 PM PST



23 พ.ย. 2556 - 32 องค์กรประชาชนนำโดยกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)  ออกแถลงการณ์ "ต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ ปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" วอน "คนเสื้อแดง" และ "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" ให้สามัคคีกันมากขึ้น และให้มั่นคงในจุดยืนที่อยู่เคียงข้างฝ่ายที่ถูกต้องคือฝ่ายประชาธิปไตยตลอดกาล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 


แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2556

"ต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ ปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ"



ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน  ความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม" กับ "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" ยังไม่จบสิ้น ดังจะเห็นได้จาก การปลุกระดมทุกรูปแบบของ "กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม"(เครือข่ายอำมาตย์) จนเกิดปรากฎการณ์ "ม๊อบฝนตกขี้หมูไหลฯ" ไม่ว่าจะเป็นม๊อบของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.), เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) และพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ฯลฯ  ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนอยู่ใน "เครือข่ายอำมาตย์" ทั้งสิ้น และมี "เป้าหมายร่วม" เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

แน่นอนที่สุด  เครือข่ายอำมาตย์ได้ "ออกแบบวางแผน" โดยได้ใช้ประเด็นคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม "สุดซอย" เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นมาสร้างกระแสต่อต้านจนม๊อบจุดติดในเบื้องต้น   และในขั้นตอนต่อมาก็คือ การใช้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ตลก.) และองค์กรอิสระ ปปช. ในการจัดการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ซึ่งถือว่าเป็นการทำ "รัฐประหาร" อีกรูปแบบหนึ่ง  ทั้งนี้ เพื่อจะนำไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" (รัฐบาลจารีตพระราชทาน/ รัฐบาล ม.7  อันเป็น "อุดมการณ์" สูงสุดของเครือข่ายอำมาตย์) ที่มาจาก "คนดีมีศีลธรรม" ซึ่งก็คือ แผนการรื้อฟื้น, สถาปนา "ระบอบอำมาตยาธิปไตย"  ขึ้นมาใหม่นั่นเอง

ดังนั้น ทางกลุ่ม/องค์กรฝ่ายประชาธิปไตยที่มีรายชื่อแนบท้ายนี้  จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. ขอเรียกร้องให้ประชาชน/กลุ่ม/องค์กรฝ่ายประชาธิปไตย ลุกขึ้นมาต่อต้านแผนการจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ของเครือข่ายอำมาตย์/กลุ่มพลังอนุกรักษ์นิยมทุกรูปแบบทั่วประเทศ

2. ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล  ให้เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระ 3 ในทันที เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งฉบับ  และจัดทำ "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่"  ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง

3. ขอเรียกร้องไปยังประชาชน "คนเสื้อแดง" และ "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" ทั้งหลายขอให้สามัคคีกันมากขึ้น และให้มั่นคงในจุดยืนที่อยู่เคียงข้างฝ่ายที่ถูกต้องคือฝ่ายประชาธิปไตยตลอดกาล

"อำมาตย์จงพินาศ ประชาชนจงเจริญ!!!"

23 พฤศจิกายน  2556

1. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)                  
2. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
3. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.) จ.กาฬสินธุ์
4. กลุ่มต้นอ้อ จ.ขอนแก่น                                                     
5. กลุ่มมิตรภาพ  จ.ขอนแก่น
6. กลุ่มศึกษาปัญหาสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ศสป.)
7. กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา (กภว.)  จ.ขอนแก่น                
8. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย  จ.ขอนแก่น
9. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา (กภพ.)  จ.สกลนคร                
10. กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง  จ.เลย
11. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำพรมตอนต้น  จ.ชัยภูมิ         
12. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง  จ.ยโสธร
13. องค์กรอิสระเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม          
14. กลุ่มปุกฮัก  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
15. กลุ่มเพื่อนสังคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. กลุ่มเพื่อนปริญญาโทรักความเป็นธรรม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
17. ซุ้มเกี่ยวดาว  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
18. กลุ่มข้าวต้มมัด  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
19. คณะกรรมการรณรงค์การกระจายอำนาจการภาคอีสาน
20. เครือข่ายอนุรักษ์ภูเก้า-ภูพานคำ  จ.หนองบัวลำภู
21. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)  จ.กาฬสินธุ์               
22. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก  จ.สกลนคร
23. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง  จ.อุบลราชธานี                              
24. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร  จ.ยโสธร
25. เครือข่ายคนรุ่นใหม่มหาสารคาม  จ.มหาสารคาม         
26. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก  จ.ร้อยเอ็ด
27. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
28. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)                    
29. สถาบันเพื่อพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.)
30. สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอ.ปอ.)            
31. สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)
32. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น