โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผลเจรจารอบ 3 คนงานสิ่งทอสันกำแพง "จอร์จี้ แอนด์ ลู" คืบหน้า

Posted: 02 Nov 2013 02:13 PM PDT

คนงานสิ่งทอที่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ชุมนุมรอฟังผลเจรจานายจ้างรอบ 3 โดยคืบหน้าไปมาก นายจ้าง-พนักงานเห็นชอบร่วมกันหลายข้อยอมยกเลิกการปรับเงินชิ้นละ 20 บาท - คงสวัสดิการที่เคยได้รับ ส่วนค่าจ้างวันละ 310 บาท และโบนัสยังตกลงไม่ได้ รอเจรจารอบใหม่พุธนี้

3 พ.ย. 2556 เมื่อเย็นวานนี้ (2 พ.ย.) พนักงานโรงงานจอร์จี้ แอนด์ ลู ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ได้ชุมนุมด้านหน้าโรงงานเพื่อรอฟังผลการเจรจาเพื่อปรับสภาพการจ้างระหว่างผู้แทนเจรจาของพนักงาน กับตัวแทนของฝ่ายบริหาร โดยการเจรจาในวันนี้เป็นการเจรจาในรอบที่สาม หลังจากก่อนหน้านี้มีการเจรจาเมื่อ 18 ต.ค. และ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับการเรียกร้องของพนักงานในโรงงานจอร์จี้ แอนด์ ลูนั้น เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. หลังมีพนักงานประท้วงในโรงงานเพราะไม่พอใจที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น เปลี่ยนวิธีการจ้างพนักงานประจำแบบจ่ายเงินรายวัน มาเป็นจ้างรายชิ้น การปรับลดสวัสดิการและรายได้จากการทำงานอื่นๆ ของพนักงาน ซึ่งได้สร้างความยากลำบากในการทำงานให้กับคนงาน รวมทั้งการที่บริษัทได้ลดขั้นตอนการผลิตให้พนักงานฝ่ายผลิตตรวจสอบผลงานกันเอง หากพบชิ้นงานเสียจะต้องทำการชดใช้เงินเอง ทำให้พนักงานเกิดความกดดัน และต่อมาพนักงานได้ร่วมกันลงลายมือชื่อ ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างรวม 8 ข้อ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตามมาด้วยการเจรจา 2 นัดก่อนหน้านี้ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า

 

ต่อมาในเวลาประมาณ 19.30 น. ตัวแทนพนักงานที่เข้าไปเจรจากับผู้บริหารได้ออกมาชี้แจงผลการเจรจา โดยการเจรจารอบนี้มีความคืบหน้าไปมาก

โดยข้อ 1 บริษัทยอมยกเลิกการปรับเงินพนักงานในขั้นตอนการผลิตชิ้นละ 20 บาท กลับไปใช้ขั้นตอนการผลิตเดิมที่มีบุคคลตรวจสอบคุณภาพงานหรือ QC

ข้อ 2 คนงานเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรายเดือนขั้นต่ำเดือนละ 10,000 บาทนั้น ทางบริษัทไม่สามารถตกลงได้ โดยระบุว่าพนักงานได้ค่าจ้างมากกว่านั้นอยู่แล้ว โดยทางโรงงานขอคัดเอกสารของพนักงานรายวัน รายเดือน และรายชิ้นมาคำนวณแล้วนำมาแจ้งพนักงาน ถ้าพนักงานสงสัยว่ามีข้อผิดพลาดให้ไปถามที่แผนกบุคคล

ข้อ 3 บริษัทยังไม่ตกลงให้กับพนักงานรายชิ้นตามที่ทำได้จริง ไม่ต่ำกว่าวันละ 310 บาท โดยเสนอบริษัทเสนอมาที่ 307 บาท ทำให้ทั้งสองฝ่ายจะนำข้อนี้มาหารือในการเจรจาครั้งต่อไป

ข้อ 4 บริษัทเห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาจ้างงานที่ให้พนักงานรายเดือนเป็นพนักงานรายวัน โดยให้เป็นพนักงานรายเดือนเช่นเดิม

ข้อ 5 บริษัทตกลงให้ยกเลิกสัญญาการจ้างงานฉบับใหม่ที่ให้พนักงานลงลายมือชื่อเมื่อ 11 ต.ค. 2556 โดยพนักงานที่ต้องการยกเลิกสัญญาจ้างนี้สามารถไปแจ้งที่ฝ่ายบุคคลได้

ข้อ 6 บริษัทยังไม่ตกลงในเรียกร้องของพนักงานที่ขอให้จ่ายโบนัสประจำปีให้กับพนักงานไม่ต่ำกว่าสองเท่าของรายได้ แต่บริษัทเสนอว่าจะให้รางวัลกับพนักงานที่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ 8 ชั่วโมงต่อวัน

ข้อ 7 บริษัทเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ว่าให้บริษัทยกเลิกระเบียบการลงโทษพนักงานที่ทำงานไม่ได้ตามเป้าเงินที่วางไว้คือ ไม่น้อยกว่าสองร้อยบาทต่อวัน ซึ่งหากทำไม่ได้ภายในหนึ่งเดือนจะถูกเลิกจ้าง

ข้อ 8 บริษัทเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ว่า สิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างงานอื่นใดที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนอกจากข้อเรียกร้องนี้ให้บริษัทปฏิบัติไว้คงเดิม

ทั้งนี้ผลการเจรจาในวันดังกล่าวมีความคืบหน้าหลายข้อ โดยข้อเรียกร้องข้อ 3 และ 6 ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้นั้น จะมีการนำมาเจรจาอีกรอบในวันที่ 6 พ.ย. นี้

สำหรับบริษัท จอร์จี้แอนด์ลู  ตามข้อมูลการลงทุนนั้นเป็นบริษัทสัญชาติฮ่องกง ลงทุน 100% จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 24 ล้านบาท เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าให้กับยี่ห้อ Neon Buddha ซึ่งมีสโลแกนว่า "นีออนบุดดา" เริ่มจากความคิดการผลิตเสื้อผ้าเพื่อวิถีชีวิตที่หลากหลายทั้ง ชุดสำหรับการเดินทาง  ชุดอยู่กับบ้านชุดทำงาน ชุดโยคะ และชุดของคุณ ทุกชุดออกแบบโดยชานอน พาสเซโร มีการจ้างงานพนักงานราว 500 คน ทั้งนี้บริษัทระบุด้วยว่าจะบริจาค 1% ของทุกการขายสินค้าทุกชิ้น ให้กับโครงการต่างๆ เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิ์ของคนพูดไทยไม่ชัด...?

Posted: 02 Nov 2013 09:53 AM PDT

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ "ดูเหมือนเล็กน้อย" หากแทรกซึมในทุกอณูในความรู้สึกนึกคิด ปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่ว่านี้ส่งผลต่อสิ่งที่เรียกว่าการเจรจาด้วยเหตุผลตามความเชื่อในยุคแสงสว่างทางปัญญาว่า ยุคที่เราเชื่อว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งหรือเกิดความเข้าใจที่มากขึ้น ผมคิดว่าปัญหาที่ดูเล็กน้อยแต่สร้างภาระและกับดักใหญ่หลวงนั่นคือ อคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์

บ่อยครั้งที่เดียวที่อคติดังกล่าวทำงานอย่างเข้มข้นในสังคมไทย สามจังหวัดภาคใต้มีปัญหากับคำว่าแขกและความเป็นแขกที่คนนอกยัดเยียดให้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ปัญหาเรื่องอคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ก็ปรากฏในในภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด ภาพลักษณ์ตามลักษณ์ของความบ้านนอก เชย เปิ่น และล้าหลัง ก็ยังคงปรากฏอยู่ดุจดั่งภาพประทับอันถาวร แต่แน่นอน เรื่องพวกนี้มิได้เกิดขึ้นในลักษณะคู่ตรงข้าม ระหว่างศูนย์กลางอำนาจรัฐกับภูมิภาค เท่านั้น หากผู้คนในภูมิภาคเองต่างก็มีปัญหาด้านอคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์อยู่ภายในตลอดเวลา บางครั้ง ก็รับเอาอุดมการณ์ของรัฐมาสิงสู่ตัวเองเพื่อเล่นงานกลุ่มคนที่ตนเองมีอคติด้วย

แน่นอน ผมกำลังหมายถึงปัญหาของการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่มและขุนวางที่จ.เชียงใหม่ที่ผ่านมา เวทีรับฟังความคิดเห็นถูกจัดขึ้นตามชื่อ ทว่า ปัญหาเรื่องคติทางชาติพันธุ์พลันบังเกิดขึ้นระหว่างคนสนับสนุนเขื่อนและฝ่ายคัดค้าน เท่าที่ผมติดตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีการร้องไล่ให้แกนนำที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอให้กลับไปพูดภาษาไทยให้ชัดแล้วค่อยมาค้านเขื่อนบ้าง บ้างก็ว่าถูกเอ็นจีโอเสี้ยมสอน บ้างไม่เชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้จะสามารถเขียนป้ายผ้าเองได้ (ภาษาไทย) นอกจากนี้ผมยังได้ยินมากับหูตัวเองในร้านอาหารแห่งหนึ่งว่า "พวกแมงนี้ไม่มีสัญชาติแล้วจะมาเรียกร้องอะไร...เป็นคนไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้..." รวมความแล้วก็คือ อคติทางชาติพันธุ์ได้ถูกดึงเข้ามาเป็นความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น และจะมีสิทธิด้านไหนเล่าจะเด่นชัดเท่ากับ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะด้วยภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษากาย นี่คือ สิทธิเบื้องต้นของการยืนยันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน

ดังนั้น การนำเอา "ความเป็นไทยที่คับแคบ" ของฝ่ายสนับสนุนเขื่อน โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงชัด/ไม่ชัด พูดไทยคล่อง/ไม่คล่อง มากำหนดความมากน้อยของสิทธิ จึงเป็นเรื่องที่น่าอับอายและสะท้อนปมอัปลักษณ์ที่เป็นปัญหาของกลุ่มผู้พูดเองเสียยิ่งกว่า

เท่าที่ผมผูกชีวิตกับภาคเหนือมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี มีเรื่องเล่าอยู่สองเรื่องที่ผมจดจำไว้อย่างแม่นยำ และสองเรื่องนี้สะท้อนทัศนะในการมองตัวเองบางด้านของคนเมืองได้เป็นอย่างดี เรื่องแรก คนเฒ่าคนแก่และกลุ่มบุคคลวัยกลางคนขึ้นไปมักเล่าถึงบรรยากาศการ "ถูกปรับตังค์" ในโรงเรียนกรณีที่ใช้ภาษาท้องถิ่น (อู้กำเมือง) เนื่องจากการสร้างความเป็นไทยจากศูนย์กลางนั้นแผ่ขยายอำนาจเข้ามาถึงขั้นบงการการใช้ภาษา ปัญหาในเรื่องนี้เป็นปมที่ซ่อนภายในของการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาในปัจจุบัน โดยมีธงนำคือ ภาษา ปมดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความเจ็บปวดที่วัฒนธรรมตนเองถูกกดเอาไว้ ดังนั้น การ "อู้ไทยปะแล๊ด" หรือ พูดภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ ของคนเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่เสียหายในปัจจุบัน อย่างมากก็เป็นเรื่องขำขันกันเองในชีวิตประจำวัน อย่างแรงก็คือการถูกเหยียดให้อายในเวทีทางการ (ซึ่งไม่แน่ใจว่า ในปัจจุบันการเหยียดมีมากน้อยแค่ไหน สำหรับกลุ่มชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ - ในทางกลับกันการพูดไทยในสำเนียงถิ่นก็เริ่มกลายเป็นต้นทุนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ดังที่จะเห็นได้จากบรรดาค่ายเพลงลูกทุ่งที่ต้องมีนักร้องกลิ่นอายภาษาสำเนียงถิ่นมากมาย)

เรื่องที่สอง ผมตะลึงกับคำว่า "แมง" ในภาษาคำเมือง แมงในความหมายนี้ก็คือ แมลงที่เป็นสัตว์ตัวเล็กๆ นั่นแหละ แต่คนเมืองมักใช้คำว่า "แมง" นำหน้ายามเรียกคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีนัยความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่ำกว่าด้วย อาทิ "แมงแข่" (เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ อาข่า และคนจีน) "แมงยาง" (ปกาเกอญอ) แมงแม้ว-แมงดอย (ม้ง) ในเรื่องสั้นของนักเขียนอย่าง ส.ธรรมยศ  ยังปรากฏคำว่า "แมงแดง" (หมายถึงผู้หญิงขายบริการ) คำพวกนี้ดูผิวเผิน ช่างคล้ายกับการ "อู้เล่นบ่าดาย...บ่ดีกึ้ดนัก" (พูดเล่นๆเฉยๆ ไม่ต้องคิดมากหรอก) แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันมีส่วนสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ออกมาอย่างลึกซึ้ง ปมปัญหาเช่นนี้ มิได้อยู่ในระดับสามัญสำนึกที่สามารถกำหนดและควบคุมได้ หากอคติทางชาติพันธุ์ล้วนเป็นปมในจิตใต้สำนึก คล้ายกับปุ่มที่มองไม่เห็น และมันสามารถถูกกดให้ออกมาได้ทุกเมื่อ "แมง..." ก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีในความหมายของความต่ำต้อย ความเป็นอื่น ก็จะมีในลักษณะของความสกปรก ล้าหลัง และต่ำต้อยกว่าตนเอง

พลันที่ผมได้ยินคำผรุสวาทของฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ผมอดคิดไม่ได้ทันทีว่าเรื่องเขื่อนนี้ไม่สามารถจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นหรือถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาและข้อเสนอการจัดการน้ำที่หลากหลายและยั่งยืน เนื่องจากปัญหาอคติทางชาติพันธุ์เข้ามาสวมทับและลดสิทธิกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เกิดการทบทวนนโยบาย มองในแง่นี้ ภาษาไทยที่ไม่ชัดของกลุ่มผู้คัดค้านชาวชาติพันธุ์จึงเป็นประหนึ่งเสียงรบกวนของผู้สนับสนุน แต่ในทางกลับกัน กลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งส่วนหนึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น "คนเมือง" ก็เท่ากับกลืนเลือดและความเจ็บปวดทางวัฒนธรรมของตัวเองและบ้วนทิ้งใส่คนอื่น อันที่จริง เราควรกล่าวเสียด้วยซ้ำว่า พวกเขาเหล่านั้นยังคงวิ่งวนอยู่ภายใต้ "อาณานิคมภายใน" ที่รัฐสยามในอดีตเป็นผู้บ่มเพาะขึ้น ครั้นในปัจจุบัน ความเป็นคนเมืองที่ฉวยใช้อคติทางชาติพันธุ์มาโจมตีผู้เห็นต่างจากตัวเอง จึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับความเป็นไทยที่กดทับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิภาคในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เวทีที่รับฟังความคิดเห็นจึงมีลักษณะดราม่าน้ำเน่าในสังคมประชาธิปไตย คือแสร้งเปิดพื้นที่ทางการเมือง ทว่า แฝงด้วยการกีดกันสิทธิ แม้กระทั่งสิทธิที่จะพูดและแสดงความเห็นในสำเนียงที่แตกต่าง สำหรับผม การควบคุมคำพูดและความคิดให้เหมือนกัน รวมไปถึงการควบคุมสำเนียงให้ถูกต้องมาตราฐาน นั่นคือ ลักษณะของอำนาจเผด็จการอันเบ็ดเสร็จที่ไม่ควรพึงมีในสังคมของเรา

ไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใด กรณีของเขื่อนแม่แจ่ม ขุนวาง และนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้ จึงแทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลในแง่มุมต่างๆอย่างรอบด้าน ไม่มีการพูดคุยกับความเห็นที่แตกต่าง หรือใส่ใจกับสิทธิและเสียงของผู้คัดค้าน

นั่นเพราะ มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขื่อนเพียงอย่างเดียว หากแทรกซ้อนด้วยปัญหาเชิงวัฒนธรรมและอคติทางชาติพันธุ์

สำหรับผม สำเนียงที่พูดไทยไม่ชัดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเรียกร้องสิทธิต่างหาก คือ การเริ่มต้นนิยามประชาธิปไตยในความหมายที่หลากหลาย เป็นทั้งการทิ่มแทงวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก และตักเตือน "คนเมืองบางกลุ่ม" ที่ลืมอดีตอันเคยเจ็บปวดของตัวเอง




 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการหาดใหญ่-แฟตเรดิโอ ร่วมวงค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 02 Nov 2013 09:51 AM PDT

2 พ.ย. 2556 - กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่ได้เผยแพร่แถลงการณ์กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่ ฉบับที่ 1 ต่อสื่อมวลชนโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แถลงการณ์กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่ ฉบับที่ 1

ตามที่พฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่ทาหน้าที่ในรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย lilสร้างมติอัปยศในสภา เพื่อผ่านร่างพรบ.นิรโทษกรรม วาระ 3 แล้วด้วยมติ 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งขัดต่อความจริงที่ปรากฎ และความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะการระบุ ในร่างพรบ.ว่า ให้บรรดาการกระทาทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทาความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดาเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทาจะได้กระทาในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทา หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทานั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทาพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่ จึงขอออกแถลงการณ์ ไม่ยอมรับการทาหน้าที่ของนักการเมืองและขอเรียกร้องให้ยกเลิกการเสนอ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าวนี้ และขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนร่วมแสดงออกไม่ยอมรับ พรบ. นิรโทษกรรม

แถลง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่

 



นอกจากนี้เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 2 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา เพจ "แฟตเรดิโอ" รายการวิทยุขวัญใจเด็กแนว ได้เปลี่ยน cover ในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความ "แฟต เรดิโอ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

สำหรับแฟตเรดิโอ ก่อตั้งโดย ยุทธนา บุญอ้อม เป็นคลื่นที่เปิดเพลงนอกกระแส เดิมอยู่ที่คลื่น FM 104.5 ก่อนจะย้ายไป FM 98 และล่าสุด ยุติการออกอากาศทางวิทยุเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังออกอากาศมานาน 13 ปี โดยสามารถเข้าเว็บไซต์และแฟนเพจของแฟตเรดิโอได้ที่ http://www.vr1media.com/ และ https://www.facebook.com/fatradio

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีเดียมอนิเตอร์เผยผลวิเคราะห์เสรีภาพสื่อมวลชนในการเสนอประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

Posted: 02 Nov 2013 09:38 AM PDT

2 พ.ย. 2556 - สืบเนื่องจาก คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา พบปรากฏการณ์ทางสื่อในบางประการ ที่สะท้อนว่าสื่ออาจอยู่ในภาวะถูกแทรกแซง คุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือมีเดียมอนิเตอร์ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังบทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อต่อสังคม ทำการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าข้อสังเกตข้างต้น มีความเป็นจริง หรือไม่ อย่างไร

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวิชาการโครงการครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีเดียมอนิเตอร์ดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาขอความร่วมมือมา ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์กล่าวว่า ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ที่ว่าสื่ออาจอยู่ในภาวะถูกแทรกแซง คุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สื่อไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะสามารถสะท้อนทั้งสถานะด้านเสรีภาพของสื่อมวลชน และ สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการตรวจสอบภาครัฐ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชน ข้อสังเกตดังกล่าว สอดคล้องกับความสนใจของโครงการ ซึ่งมีเดียมอนิเตอร์ได้ศึกษาการทำงานของสื่อโทรทัศน์ในเหตุการณ์การเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ "จากป่าสู่เมือง Stop EHIA เขื่อนแม่วงก์" นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ ในช่วงวันสุดท้ายของการเดิน เมื่อ 22 กันยายน 2556 ที่มีกลุ่มคนจำนวนร่วมสองพันคน เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเส้นทาง พหลโยธิน-วิภาวดี-หมอชิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และในตอนเย็นขบวนได้สมทบกับประชาชนจำนวนหลายพันคน ที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ผลการศึกษาการนำเสนอข่าวภาคค่ำและข่าวภาคดึกของฟรีทีวี และ ช่องข่าวทีวีดาวเทียม คือ เนชั่นแชนแนล สปริงนิวส์ และ TNN24 ในวันที่ 22 กันยายน 2556 มีเดียมอนิเตอร์

พบว่าสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากที่สุดคือ ไทยพีบีเอสและสปริงนิวส์ ซึ่งมีการนำเสนอข่าวนี้โดยเฉลี่ย 10 นาที และพบว่ามีเนื้อหาที่ครบถ้วนรอบด้าน ในขณะที่ ช่อง 3 , 5 , 7 , 9 , 11 และ TNN24 ให้พื้นที่ในการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวในสัดส่วนที่น้อย

ทั้งนี้ ในส่วนของ ช่อง 3 ไม่มีการรายงานข่าวนี้ในช่วงข่าวภาคค่ำ แต่พบการรายงานในช่วงข่าวภาคดึก ซึ่งเป็นการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวจากมุมมองของฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนเป็นหลัก (ความยาว 3.50 นาที)

ในขณะที่ช่อง 5 ไม่พบการรายงานข่าวนี้ ทั้งในช่วงข่าวภาคค่ำและภาคดึก โดยให้พื้นที่ส่วนใหญ่กับข่าวสถานการณ์น้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกองทัพและรัฐบาล

สำหรับช่อง 7 พบการรายงานข่าวการเดินและรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพียงสั้น ๆ ในข่าวภาคค่ำ (ความยาว 1.26 นาที) แต่ไม่พบในข่าวภาคดึก ที่ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวน้ำท่วม

เช่นเดียวกับช่อง 9 และช่อง 11 ที่ไม่พบการรายงานข่าวการเดินคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ในวันสุดท้ายที่กรุงเทพฯ แต่ให้ความสำคัญกับการรายสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐ

สำหรับ ไทยพีบีเอส ให้พื้นที่ข่าวนี้ทั้งในข่าวภาคค่ำและภาคดึก (ความยาวรวม 9.31นาที) โดยในข่าวภาคค่ำ เสนอการให้สัมภาษณ์ของ นายศศิน เฉลิมลาภ และ นายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ความยาว 3.38 นาที) และรายงานพิเศษ ซึ่งเสนอบรรยากาศการเดินเท้าและการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม และการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน (ความยาว 3.06 นาที) สำหรับข่าวภาคดึก เป็นการเสนอข่าวนายศศิน เฉลิมลาภ พร้อมผู้สนับสนุนอ่านแถลงการณ์คัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ (ความยาว 2.47 นาที)

ในส่วนสถานีข่าวโทรทัศน์ดาวเทียม พบว่า ในช่วงข่าวภาคค่ำ เนชั่นแชนแนล เสนอการลำดับเหตุการณ์กิจกรรมการเดินเท้าเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2556 โดยเริ่มจากป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จนมาถึงกรุงเทพฯ ที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ โดยมีการอ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือต่อนายอุดม ไกรวัตนุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (ความยาว 2.19 นาที) และข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ระบุว่าการสร้างเขื่อนจะสามารถรับน้ำในปริมาณมากได้ แต่ก็พร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง (ความยาว 1 นาที)

ด้านช่อง TNN24 พบว่า ในข่าวภาคค่ำ เน้นการรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมเป็นหลัก ไม่พบการรายงานข่าวเดินเท้าคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ข่าวภาคดึก เสนอการลำดับเหตุการณ์เดินเท้าจาก จ.นครสวรรค์เป็นเวลา 13 วัน ระยะทางรวม 388 กม. ถึงจุดสุดท้ายที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ความยาว 1.55 นาที)

สำหรับช่อง สปริงนิวส์ ในข่าวภาคค่ำพบรายงานบรรยากาศการเดินเท้าคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์จากนครสวรรค์ ถึงหอศิลปวัฒนธรรมฯ พร้อมกิจกรรมเวทีปราศรัยให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน และการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และยื่นหนังสือต่อ นายอุดม ไกลวัฒนานุสรณ์ (ความยาว 5.01 นาที) ตามด้วยการรายงานข่าว นายปลอดประสพ สุรัสวดี ยืนยันเขื่อนแม่วงก์แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ (ความยาว 2.10 นาที) ในขณะที่ข่าวภาคดึกเป็นการรายงานสรุปกิจกรรมการเดินเท้าจากป่าสู่เมืองเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรม ฯ พร้อมอ่านแถลงการณ์และการยื่นหนังสือต่อ นายอุดม ไกลวัฒนานุสรณ์ (ความยาว 2.42 นาที) ตามด้วยข่าวนายปลอดประสพ สุรัสวดี ยืนยันเขื่อนแม่วงก์แก้น้ำท่วมได้ (ความยาว 2.10 นาที)

ส่วนการดำเนินการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตามที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ขอความร่วมมือมานั้น มีเดียมอนิเตอร์จะติดตามการทำงานของสื่อโทรทัศน์ เช่น การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ต่อรัฐบาล การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ การรายงานเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การรายงานเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ทั้งนี้คาดว่า โครงการจะดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และอาจนำเสนอผลการศึกษาได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

’ธรรมศาสตร์เสรี’ จี้นิรโทษกรรมเหยียบคนตายกลับบ้าน

Posted: 02 Nov 2013 06:30 AM PDT

นศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม "เหยียบคนตายกลับบ้าน ผ่านงานศิลปะ" หน้าพรรคเพื่อไทย ติดรายชื่อคนตายปี 53 ไว้ที่บันได จำลองสถานการณ์ความรุนแรง กลุ่ม B Floor ร่วมแสดงละครด้วย

 
2 พฤศจิกายน 2556 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.30 น. นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้รวมตัวกันที่หน้าสำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทยเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนที่กลุ่มมีต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีมติแก้ไขเนื้อหาไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยมีนายรัฐพล ศุภโสภณเป็นตัวแทนกลุ่ม อ่านแถลงการณ์และยื่นจดหมายเปิดผนึกให้นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย
 
จากนั้นกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อนนักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "เหยียบคนตาย กลับบ้าน ผ่านงานศิลปะ" โดยนำชื่อของประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองไปติดที่ขั้นบันไดหน้าสำหนักงานพรรคเพื่อไทย และจำลองภาพประชาชนที่เสียชีวิตจากความรุนแรงดังกล่าวโดยนอนลงกับพื้น ใช้สีขาววาดโครงร่างของผู้เสียชีวิต และใช้สีแดงเทพื้นแทนเลือด
 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
 
อั้ม เนโกะ นักศึกษาที่มาร่วมจัดกิจกรรมอธิบายว่า ตนและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยต้องการให้กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้เตือนพรรคเพื่อไทยว่า คนเสื้อแดงใช้แรงกายและชีวิตต่อสู้ผลักดันเพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล เพื่อให้ช่วยพิทักษ์สิทธิของประชาชน แต่พรรคเพื่อไทยกลับทรยศหักหลังคนเสื้อแดง เหยียบย่ำเลือดของประชาชนเพื่อไปสู่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำ โดยผลักดันให้ผู้ที่สั่งการฆ่าประชาชนได้รับการนิรโทษกรรม ซ้ำรอยประวัติศาสตร์และไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจและการเมืองในประเทศไทย การกระทำนี้จึงไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของศัตรูของประชาชนเลย
 
นอกจากนี้อั้ม เนโกะยังกล่าวอีกด้วยว่า สีที่ใช้เทแทนเลือดนั้นล้างออกได้ แต่เลือดของประชาชนที่หลั่งเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยนั้นล้างอย่างก็ไม่ออก
 
ด้านตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยกล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมว่า ต้องการบอกให้พรรคเพื่อไทยรู้ว่า กลุ่มไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้แกนนำกลุ่มการเมืองและผู้ที่สั่งการฆ่าประชาชนได้รับการนริโทษ เพราะพรรคเพื่อไทยกำลังใช้เสียงของประชาชนทำในสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดลงมติวาระที่ 3 เวลา 04.00 น. นั้นแสดงถึงความไม่จริงใจ ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง พรรคเพื่อไทยชอบอ้างถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพ แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่ในวันนี้เป็นการตอกย้ำประเพณีให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารและผู้ที่สังการใช้ความรุนแรงกับประชาชนไม่ต้องรับโทษทางกฏหมาย ทำให้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง
 
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อนนักศึกษาจึงจัดแสดงดนตรี ละครเวที และการปราศรัยโดยใช้พื้นที่บนบาทวิถีหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย
 
ตัวแทนจากคณะละคร B Floor กล่าวถึงละครที่เล่นในกิจกรรมนี้ว่า ต้องการสื่อให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยถูกฆ่าตายแล้วตายอีกก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะเสียชีวิตไปแล้วก็ยังตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมอยู่ดี
 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
 
คณะละคร B Floor ริเริ่มขึ้นโดยคณะธีรวัฒน์ มุลวิไล เป็นศิลปะการแสดงแนว physical theatre คือใช้ร่างกายมนุษย์และองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แสงและเสียง ในการสื่อความ โดยใช้บทพูดให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย
 
หลังจากนี้กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยระบุว่าจะเคลื่อนไหวโดยร่วมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น วันอาทิตย์สีแดง ต่อไปในอนาคต
 
 
 
แถลงการณ์ร่วม กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
รื่อง การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย
 
ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีมติในการประชุมพิจารณาวาระที่สองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2556 ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติให้มีผลกับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะทำให้มีผลครอบคลุมไปถึงผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารที่มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุม และแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงทุกฝ่ายด้วย และในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการประชุมวาระที่สาม เป็นคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 314 คน รับร่างพระราชบัญญัติแล้วนั้น
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นการบิดเบือนหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย เพราะในสังคมที่ยึดถือไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ประชาชนย่อมคาดหวังว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชนก็ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ถ้าหากว่าการนิรโทษกรรมเปิดช่องให้แกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการของภาครัฐได้หลุดพ้นจากความผิดและข้อกล่าวหาทั้งปวงด้วยแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดที่ต้องมาเหลียวแลต่อความเสียหายของประชาชนอีก คนที่ตายก็ตายเปล่า คนที่เจ็บก็เจ็บฟรี คนที่ยังอยู่ก็ต้องอยู่อย่างหัวหด ไม่กล้ามีปากเสียงเพราะไม่มีหลักประกันว่าตัวเองจะไม่ตายเปล่าหรือเจ็บฟรี สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจยอมรับสภาพเช่นนี้ได้ และยิ่งเมื่อการกระทำดังว่านี้เป็นฝีมือของผู้แทนของประชาชนที่เคยรับปากไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย และยังเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างบิดเบือนด้วยแล้ว ยิ่งยอมรับไม่ได้
 
กว่าแปดสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างแห่งระบอบประชาธิปไตยให้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศาลและองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากมายเต็มไปหมด มีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังนั่นคือวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุด การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ประเทศไทยจึงยังคงมีผู้ก่อรัฐประหารที่สามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในแวดวงการเมืองได้ ยังคงมีคนเรียกร้องให้ทหารปกครองประเทศแทนพลเรือน ยังคงมีนักการเมืองที่ลืมคำสัญญาที่ให้กับประชาชนอย่างง่ายดาย ยังคงมีพรรคการเมืองที่เป็นเพียงเครื่องมือพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้นำพรรคเหนือผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งพรรค และยังคงมีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการเพื่อเป็นทางออกสำหรับชนชั้นนำด้วยกันเองโดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้เสียหายอยู่ตราบจนทุกวันนี้ วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยขาดไม่ได้ และหนึ่งในวัฒนธรรมที่สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องคำนึงถึง คือ การไม่ยอมให้ผู้ใดที่บงการให้เกิดการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประทุษร้ายต่อประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองสามารถลบล้างความผิดที่ตนมีและโทษที่ตนต้องรับได้
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยฉบับนี้เด็ดขาด ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาหลังจากนี้หยุดยั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้จงได้ และขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยผู้ริเริ่มการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยในครั้งนี้ ทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชน หากมีโอกาสได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งจะต้องไม่กระทำการซ้ำรอยเดิม และยุติความพยายามใดๆ ที่จะนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอีก
 
ทั้งนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเคยแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองไว้ว่า จะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพราะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของมวลชนและผู้ใต้บังคับบัญชาจึงต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องนิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เพราะมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง จะต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรง จะต้องดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเร่งด่วนที่สุด และจะต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อิสรภาพ และทางทำมาหาได้ และในวันนี้เรายังคงยืนยันในจุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
 
ขอให้ทุกท่านอย่ามองแต่เพียงว่าเราเรียกในครั้งนี้เพื่อแก้แค้นหรือเป็นการจองล้างจองผลาญอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง และการสร้างบรรทัดฐานแห่งสังคมประชาธิปไตยที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดบงการประทุษร้ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แล้วหาทางนิรโทษกรรมตัวเองในภายหลังอยู่เรื่อยไป เพื่อให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่า หากการเรียกร้องในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นการยืนยันถึงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน และจะเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงสืบต่อไป
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
1 พฤศจิกายน 2556
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท. จันทร์นี้ เตรียมผ่านร่างประกาศคุมเนื้อหาทีวี

Posted: 02 Nov 2013 03:46 AM PDT

กสท.เตรียมผ่านร่างประกาศฯ คุมเนื้อหาวิทยุโทรทัศน์ รื้อหมวด 2 "มาตรการในการออกอากาศรายการ" ออก เพิ่มหมวด1 "เนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ"แทน ด้านสุภิญญาฯ ค้าน ชี้ยก – ย้ายหมวดไม่ใช่ทางแก้ปัญหา หากละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อและการแสดงออก หวั่นถูกโยงการเมืองเป็นเครื่องมือปิดกั้นสื่อ

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันจันทร์ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการ ได้ถอนวาระ "การพิจารณาร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ..."  หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางวิทยุ – โทรทัศน์ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอเนื้อหาหลัก ได้แก่ 1.เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2.เนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.เนื้อหาที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร และ 4.เนื้อหาที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการที่สามารถสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไข หรือพักใช้ใบอนุญาตได้) ออกไปจากการพิจารณา และจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม กสท.อีกครั้ง วันจันทร์นี้ (4 พ.ย.56) ภายหลังมีการปรับแก้ไขร่างฯประกาศ

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ไม่น่าเชื่อว่า ร่างประกาศฯฉบับดังกล่าวจะถูกนำกลับเข้ามาอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ที่แม้จะตัดหมวด 2 "มาตรการในการออกอากาศรายการ" ออกไป ตามที่เคยถูกคัดค้านอย่างหนักมาตลอด แต่ปรากฎว่าได้นำบางข้อสำคัญไปไว้ในหมวด 1 "เนื้อหารายการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ" แทน  ซึ่งมองว่า ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะจะกลายเป็นการมีสภาพบังคับเนื้อหาที่ต้องห้ามมากกว่าการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามแนวทางการส่งเสริมให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อสารมวลชน จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมและกำกับควบคุมกันเองภาย ภายใต้มาตฐานจริยธรรม ตามมาตรา 39 เพราะเชื่อว่าหากนำมาเป็นกฎต้องห้ามเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจเกิดแรงต้านมากกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมา นักกฎหมายบางคนได้แนะนำ การออกประกาศตามาตรา 37 ฉบับนี้ ขีดเส้นต่ำสุดที่ไม่อนุญาตให้ใครกระโดดข้ามเส้นที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะนี่เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่เรื่องใดยังเป็นข้อถกเถียง ต้องปล่อยให้ถกเถียง เพราะเมื่อไรที่เราเลือกขีดเส้นแล้ว กสทช.จะกลายเป็นคนชี้ถูกชี้ผิด

สุภิญญา กล่าวว่า ส่วนตัวเสียใจที่การถอยของ กสท.คราวที่แล้ว น่าที่จะนำกลับไปทบทวนให้รอบคอบมากขึ้น กลับกลายเป็นการถอยที่ซ้ำเติมการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ตามหลักการรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การเมืองเข้มข้นขณะนี้ หวั่นว่าร่างประกาศฉบับนี้จะถูกโยงการเมืองเป็นเครื่องมือปิดกั้นสื่อของฝ่าย ทั้งนี้ จะคัดค้านอย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจการแสดงออกทางความคิดเห็น ร่วมจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตระเวน 13 สน. แจ้งจับละคร 'เจ้าสาวหมาป่า' งานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา อ้างหมิ่นเบื้องสูง

Posted: 02 Nov 2013 02:38 AM PDT


เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายพฤฒิ เมาลานนท์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/116 ซ.วิภาวดีรังสิต 39 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ พร้อมคณะรวม 6 คน ได้เข้าพบ ร.ต.อ.อำพล วันดี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษและให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันต่อคณะแสดงละคร "ประกายไฟการละคร" ที่ทำการแสดงละครเรื่อง "เจ้าสาวกับหมาป่า" ซึ่งมีเนื้อหาตลอดท้องเรื่องทำนองจาบจ้วง ล้อเลียนเบื้องสูงและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
       
โดยการแสดงดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ประชาธิปไตย ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม.และล่าสุดยังพบอีกว่าคณะละครดังกล่าวได้นำผลงานอัปยศชิ้นนี้เผยแพร่ผ่านทางโลกออนไลน์อีกด้วย
       
นางสุจิลาภา วสุวัต อายุ 60 ปี ชาวบางเขน เขตจตุจักร กทม.หนึ่งในผู้ร่วมแจ้งความ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการกระทำดังกล่าวถูกเมินเฉยจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรัฐบาล ทั้งที่เป็นการจาบจ้วงต่อสถาบันเบื้องสูงอย่างเปิดเผย และยังมีการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชน เช่น การแสดงท่าทางล้อเลียนลักษณะเฉพาะของพระองค์ ทั้งคำพูดและท่าทางที่แสดงออก
       
รวมทั้งยังนำชื่อโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริและทฤษฎีของในหลวงมากล่าวเป็นคำล้อเลียน ทั้งที่เป็นโครงการสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชน ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะเป็นการทำลายสถาบันและทำให้ผู้อื่นเข้าใจในพระองค์ผิด จึงชักชวนกันเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว
       
ด้านนายพฤฒิ เมาลานนท์ กล่าวว่า การเข้าแจ้งความในครั้งนี้ได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้จัดให้มีการแสดง และผู้ที่ร่วมแสดง รวมทั้งเจ้าของสถานที่ที่จัดให้มีการแสดง ขณะเดียวกันเนื้อหาในการแสดงตลอดท้องเรื่องยังไม่เห็นว่ามีส่วนใดที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการแสดงออกในการลำลึกถึงวีระชน ในระบอบประชาธิปไตย ตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด


อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2556 เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ ได้สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้เดินทางไป แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการแสดงละคร เรื่องเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นต่อพระเจ้าอยู่ ทั้งผู้เขียนบท ผู้แสดง ผู้สนับสนุน ให้มีการจัดงาน โดยล่าสุด ได้มีสมาชิกไปแจ้งความแล้ว จำนวน 13 สถานีตำรวจ ประกอบด้วย

1.สน.คันนายาว กทม.
2.สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
3.สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
4.สภ.บางบาล จ.อยุธยา
5.สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา
6.สภ.เมือง จ.นครปฐม
7.สภ.เมือง จ.ราชบุรี
8.สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
9.สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร
10.สภ.เมือง จ.พิษณุโลก
11.สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
12.สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
13.สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา


ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์  และ เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงเสรีชนอิสระเชียงใหม่-ลำพูน ยื่นหนังสือค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 02 Nov 2013 02:10 AM PDT

คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน ในนาม "แดงเสรีชนอิสระ" บุกศาลากลางเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุออกกฎหมายไม่เป็นธรรม-ใช้อำนาจเสียงข้างมากลบล้างความผิดพวกเดียวกัน ดอดออกกฎหมายเช่นนี้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตเมื่อปี 53 เท่ากับตายฟรี ด้านผู้ว่าฯ ยันสถานการณ์ปกติไม่ห่วงม็อบต้าน พ.ร.บ. พร้อมแจงไม่มีหนังสือสั่งทำป้ายเชียร์ตามข่าว



เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าคนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน ในนาม "แดงเสรีชนอิสระ" บุกศาลากลางเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุออกกฎหมายไม่เป็นธรรม-ใช้อำนาจเสียงข้างมากลบล้างความผิดพวกเดียวกัน ดอดออกกฎหมายเช่นนี้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตเมื่อปี 53 เท่ากับตายฟรี ด้านผู้ว่าฯ ยันสถานการณ์ปกติไม่ห่วงม็อบต้าน พ.ร.บ. พร้อมแจงไม่มีหนังสือสั่งทำป้ายเชียร์ตามข่าว
       
กลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มแดงเสรีชนอิสระ เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อนายวิเชียร พุฒิวิญญู โดยระบุว่าการออกกฎหมายดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการปราบปรามการชุมนุมในปี 2553 ต้องตายเปล่า
       
คนเสื้อแดงกลุ่มดังกล่าวซึ่งมาจากพื้นที่อำเภอสันกำแพง และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน นำโดยนายวินัย เหลืองเจริญ หรือดีเจแหล่ เดินทางมาถึงศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งนำแผ่นป้ายที่มีข้อความคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมามาแสดง ก่อนที่ทั้งหมดจะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
       
นายวินัยในฐานะตัวแทนกลุ่มระบุว่า กลุ่มแดงเสรีชนอิสระต้องการยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังรัฐบาล เพื่อแสดงออกว่าคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยต่อการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีอำนาจบงการสั่งฆ่าประชาชน และทำให้พี่น้องคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการเดินทางไปร่วมการชุมนุมในปี 2553 ต้องเสียชีวิตไปเปล่าๆ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่นักการเมืองอาศัยอภิสิทธิ์ในการหลบเลี่ยงความผิด หรือใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายลบล้างความผิดให้กับตนเองและพวกพ้อง
       
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งกับกลุ่มแดงเสรีชนอิสระ ภายหลังรับหนังสือจากทางกลุ่มว่าจะเร่งดำเนินการส่งหนังสือดังกล่าวไปยังทางรัฐบาลต่อไป ขณะที่ทางกลุ่มแดงเสรีชนอิสระได้ขออนุญาตทำการปราศรัยเป็นเวลาสั้นๆ ภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับ
       
นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนี้เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งต้องขอขอบคุณกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รอเวลาให้กิจกรรมรณรงค์ป้องกันหมอกควันไฟป่าของจังหวัดแล้วเสร็จแล้วจึงเดินทางเข้ามา สำหรับหนังสือที่ทางกลุ่มยื่นต่อตนนั้นจะได้ประสานและส่งต่อให้กับทางรัฐบาลตามความประสงค์ของทางกลุ่มโดยด่วนต่อไป
       
นายวิเชียรกล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมการรับสถานการณ์การเคลื่อนไหวขอบกลุ่มผู้คัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น ในขณะนี้ยังคงมีการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัดตามปกติ โดยไม่ได้มีการเพิ่มมาตรการพิเศษใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากหากจะมีการเคลื่อนไหวของผู้ที่ไมเห็นด้วยก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่การแสดงออกหรือเคลื่อนไหวเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับกฎหมาย
       
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ปฏิเสธกระแสข่าวการออกหนังสือคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ที่ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีข้อความสนับสนุนการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยระบุว่าไม่มีการสั่งการใดๆ ในเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษหรือมีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยตามที่เป็นข่าวส่งมาที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายปกป้องแผ่นดินฯ เดินสายรณรงค์ชาวบ้านไม่รับคำตัดสินศาลโลก

Posted: 01 Nov 2013 11:45 PM PDT

กลุ่มเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทยอีสานใต้-ตะวันออก รณรงค์ให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวไม่รับคำตัดสินของศาลโลกไปรอบเทศบาลเมืองสุรินทร์



เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 18.30 น.ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีกลุ่มเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทยอีสานใต้-ตะวันออกกว่า 100 คน โดยมี นายวีรพล โสภา นางสำเนียง สุวรรณภพ กรรมการเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทยอีสานใต้-ตะวันออก และนายวีรพันธ์ มาลัยพันธ์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร เป็นแกนนำ ได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ และรถปิ๊กอัพ รวม 8 คัน ติดตั้งเครื่องขยายเสียงรณรงค์ให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว ไม่รับคำตัดสินของศาลโลกไปรอบเทศบาลเมืองสุรินทร์

โดยได้อ่านแถลงการณ์สภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ เส้นฟากแตกหัก ปลุกระดมประชาชนหมดที่พึ่งหมดหวังจากนักการเมืองและข้าราชการที่อ่อนแอ พร้อมประกาศรวมตัวเพื่อกอบกู้บ้านเมืองปกปักรักษาแผ่นดิน และเอกราชของชาติกลับคืนมา โดยใช้นโยบาย 66/23 ขั้นตอน 2 เป็นแนวสันติ และเชิญชวนชาวไทยทุกคน รวมแสดงพลังครั้งสำคัญยิ่ง ในวันที่ 9 พ.ย.56 เวลา 09.00 น.ที่หน้าศาลหลักเมืองกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อปฏิบัติภารกิจศักดิ์สิทธิ์ แสดงพลังมหาประชาชน ประชามติ ก่อนศาลโลกตัดสิน อย่างสันติ อหิสา และเปิดเผย

นายวีรพล โสภา กรรมการเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทยอีสานใต้-ตะวันออก กล่าวว่า นี้คือขบวนของพี่น้องประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และจ.สระแก้ว เดินทางมาเพื่อจะบอกกล่าวให้พี่น้องชาวไทยทุกคน ได้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ศาลโลกจะมีการตัดสินคดีปราสามพระวิหาร ในวันที่ 11 พ.ย.56 ที่จะถึงนี้ ว่าจะยกแผ่นดินไทยให้ประเทศกัมพูชาหรือไม่  ไทยเสียข้อต่อให้กับทางกัมพูชา พื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร 3,000 ไร่ เพราะจะไม่เสียแค่ 3,000 ไร่ ปีหน้าจะจะเสียดินแดนเพิ่มอีกเพราะประเทศไทยต้องปฏิบัติตามแผนที่ 1:200,000 ซึ่งลากยาวตั้งแต่จ.อุบลราชธานีไปจนถึงจ.ตราด และลงไปยังพื้นที่ท้องทะเลไทยด้วย ก่อนถึงวันที่ 11 พ.ย.56 พวกตนจะเดินทางไปที่สถานทูตกัมพูชา เพราะคำบอกกล่าวขอรัฐบาลไทยและกระทรวงต่างประเทศ บอกว่าขอให้สังคมไทย คนไทยยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก เพราะจะทำให้เกิดสันติภาพระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งจะร่วมมือกันในการสร้างประชาคมอาเซียน นำไปสู่ความมั่งคั่งรวมกัน คำพิพากษาของศาลโลกไม่ใช่ชันะของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะเป็นชัยชนะของสันติภาพ ทหารกัมพูชาบนปราสาทพระวิหารต้องถอยออกไปถึงจะเกิดสันติภาพ

ด้านนายวีรพันธ์ มาลัยพันธ์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร กล่าวว่าเมื่อวานนี้ตนได้เดินทางไปฟ้อง ปปช.และได้รับคำแนะนำจากอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา พบว่าความผิดที่รัฐบาลนี้กระทำไปแล้วเป็นความผิดสำเร็จคือ ปล่อยให้ทหารกัมพูชานำธงชาติกัมพูชาปักบนปราสาทพระวิหาร และมีชาวกัมพูชาเข้ามาอาศัย   ถึงยังไม่คำตัดสินมา ก็เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียดินแดน สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปในเวลานี้ คือเร่งรัดให้ ปปช.ดำเนินคดีกับคณะผู้บริหารประเทศโดยด่วนที่สุด และแม้ว่าคำพิพากษาของศาลโลกจะออกมาอย่างไร สิ่งที่เราเห็นว่ารัฐบาลนี้ เราทนไม่ได้คือไม่ได้มีความคิดที่จะต่อสู้อยู่ในหัวสมอง  ทั้งๆที่มีวิธีการต่อสู้ทางข้อกฎหมายหลายวิธีด้วยกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอว็อทช์ไว้อาลัย ม. 190 รัฐสภาและประชาธิปไตยไทย

Posted: 01 Nov 2013 11:18 PM PDT

เอฟทีเอว็อทช์และเครือข่ายจะจัดทำศิลปะจัดวางไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย ชี้การแก้ ม.190 เป็นการลดทอนความโปร่งใสและเบียดขับประชาชน หลักการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้ในระบอบประชาธิปไตย



2 พ.ย. 2556 - เอฟทีเอว็อทช์และเครือข่ายจะจัดทำศิลปะจัดวางไว้อาลัยแด่มาตรา 190 ระบบรัฐสภา และประชาธิปไตยไทย โดยได้มีการอ่านคำไว้อาลัยดังต่อไปนี้

ตามที่การประชุมของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 โดยเสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไปสู่ทิศทางที่ทำลายเจตนารมณ์ของมาตรานี้ พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศ ขอประกาศคำไว้อาลัยแด่มาตรา 190 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไว้ ณ ที่นี้

ขอไว้อาลัยแด่ หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แต่เดิมหนังสือสัญญาเหล่านี้ต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่บัดนี้ถูก...ตัดทิ้งไป

ขอไว้อาลัยแด่ กระบวนการเสนอ "กรอบเจรจา" ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่รัฐไทย และทำให้คณะเจรจาต้องดำเนินการเจรจาอย่างมีคุณภาพและรอบคอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ถือปฏิบัติ แต่บัดนี้ถูก...ตัดทิ้งไป

ขอไว้อาลัยแด่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และเป็นกลไกที่ช่วยการเจรจามีความรอบคอบ ช่วยให้ผลการเจรจามีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศสูงสุด แต่บัดนี้ถูก...ตัดทิ้งไป

ขอไว้อาลัยแด่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และช่วยสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญา แต่บัดนี้ถูก...ตัดทิ้งไป

ขอไว้อาลัยแด่กระบวนการศึกษาวิจัยผลกระทบที่เป็นอิสระ เพื่อช่วยทำให้การเจรจามีความรอบคอบและรอบด้าน และมีความรู้ ข้อมูลเท่าทันกับคู่เจรจา แต่บัดนี้ถูก...ตัดทิ้งไป
ท้ายที่สุดนี้ ขอไว้อาลัยแด่ความล้มเหลวของระบบรัฐสภาไทยที่มุ่งเป้าหมายเพียงการเอาชนะทางการเมือง  โดยอ้างเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม ไม่ได้ยึดถือข้อมูล เหตุผล หรือเห็นหัวประชาชน ไม่ได้สำเหนียกถึงสถานการณ์ปัญหา ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการเร่งทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศอย่างขาดสติ
การแก้ไขมาตรา 190 เพื่อละเว้นการปฏิบัติตามกฎกติกาเพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาในครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างฝ่ายการเมืองที่หวังเพียงการกุมอำนาจให้ยาวนานสุด กลุ่มทุนครอบชาติที่หวังเพียงกอบโกย และฝ่ายข้าราชการประจำบางส่วนที่เห็นประชาชนเป็นเพียงเบี้ยไพร่ที่ไม่สมควรมีที่ยืนในกระบวนการทางนโยบายใดๆ

เครือข่ายประชาชนไม่เคยคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแต่ขอต่อต้านและประนามการกระทำใดๆ อันเป็นการลดทอนความโปร่งใสและเบียดขับประชาชน หลักการตรวจสอบถ่วงดุลเป็นสิ่งที่พึงรักษาไว้ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเป็นเพียงผู้หย่อนบัตรหรือปกปักษ์กลุ่มการเมืองที่สังกัดจนมืดบอดต่อการตรวจสอบถ่วงดุล เมื่อนั้นระบอบทรราชย์ก็จะปรากฎตัวขึ้น

ขอไว้อาลัยแด่มาตรา 190 และระบบรัฐสภาไทย

ประกาศ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 2 พ.ย. 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (อัพเดท 1 พ.ย. 2556)

Posted: 01 Nov 2013 09:16 PM PDT

หลายกลุ่มออกแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก คัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย



กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที (1 พ.ย. 2556)

แถลงการณ์กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ในวาระที่สามเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และมีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา ๓ ความบางส่วนว่า

"..หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งภาย หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง.."

ซึ่งพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว แปลความหมายได้ว่ามีเจตนาและความมุ่งหมายที่จะลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตต่าง ๆ และให้คดีที่ยังค้างคาเป็นอันต้องยุติไป ให้ผู้กระทำความผิดในคดีทุจริต ทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ พ้นจากความรับผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงนั้น

พวกเราในฐานะ กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที เห็นว่าการผ่านพรบ.ดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันในประเทศไทยและทำลายกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ถ้อยคำในร่างมาตรา ๓ เป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริต ส่งผลให้ผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมิอาจประมาณความสูญเสียได้

2. การล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง สังคมไทยและโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ จะมีค่านิยมใหม่ว่าโกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วล้วนได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้

3. ถ้อยคำในร่างกฎหมายดังกล่าวส่งผลเสียโดยตรงและอย่างรุนแรงต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากถูกตัดโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึง ที่สุด หมดโอกาสที่จะได้ใช้ความจริงพิสูจน์ข้อกล่าวหาและลบล้างความระแวงแคลงใจของคนในสังคม ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อในคำตัดสิน และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมาย เพื่อชดใช้และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อแผ่นดินและคนไทยทั้งประเทศได้

4. ถ้อยคำในร่างมาตรา ๓ ดังกล่าว เกี่ยวพันกับประเด็นสาธารณะนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นล้างผิด ทำลายหลักสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่พวกเราล้วนยึดถือเป็นหลักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พวกเราในฐานะครูบาอาจารย์ที่สังคมให้การยอมรับนับถือ ได้สังเกตเห็นปรากฎการณ์ทางสังคมเหล่านี้มาระยะเวลาหนึ่ง มองเห็นความสั่นคลอนทางสังคมในหมู่ลูกศิษย์ของพวกเรา ที่ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มสีใด แม้จะมีความเห็นทางการเมืองต่างกัน แต่ก็ล้วนลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านประเด็นสาธารณะนี้ร่วมกันด้วยหัวใจบริสุทธิ์ พวกเราไม่สามารถปล่อยให้อนาคตของชาติเหล่านี้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวได้ พวกเราเห็นควรแสดงจุดยืนและตอกย้ำน้ำหนักให้ลูกศิษย์เหล่านั้นสามารถเชื่อมั่น ในหลักการเหล่านี้อย่างเต็มภาคภูมิ เชื่อมั่นในเราในฐานะอาจารย์ เชื่อมั่นว่าประเทศชาติจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ร่วมกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอทีจึงขอยืนยัน คัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และเน้นย้ำจุดยืนว่าบรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชันและคดีอาญาทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมในสังคม

ลงชื่อกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการในวิชาชีพไอที ดังต่อไปนี้

1. รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ สถาบันไอเอ็มซี
2. ผศ.ดร เกริก ภิรมย์โสภา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ผศ.ดร.ธนารัตน์ ชลิดาพงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. อ.เชษฐ พัฒโนทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. ผศ.นครทิพย์ พร้อมพูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. ผศ.ดร. จารุโลจน์ จงสถิตย์วัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. รศ.ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
10. ผศ.ดร.เขมะฑัต วิภาตะวนิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11. รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
12. ดร.ธนาวินท์ รักธรรมานนท์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
13. ดร.พีระ ลิ่วลม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
14. รศ.ดร.อุศนา ตัณฑุลเวศม์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
15. ดร.มนต์ชัย โศภิษฐกมล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
16. รศ.ยืน ภู่วรวรรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
17. อ.กรวิทย์ ออกผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
18. ผศ.ดร.ชวลิต ศรีสถาพรพัฒน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19. ดร.วาธิส ลีลาภัทร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
20. ดร.กรชวัล ชายผา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
21. ดร.วิชชา เฟื่องจันทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
22. ผศ.บุญฤทธิ์ กู้เกียรติกูล มหาวิทยาลัยขอนแก่น
23. อ.อภิศักดิ์ พัฒนจักร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
24. รศ.ดร.ตรัสพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
25. ดร.นราธิป เที่ยงแท้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
26. รศ.ดร.สรรพวรรธน์ กันตะบุตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
27. ดร.ศรัญญา กันตะบุตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
28. ดร.สุดสงวน งามสุริยโรจน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
29. ดร.จักริน สุขสวัสดิ์ชน มหาวิทยาลัยบูรพา
30. ดร.อุรีรัฐ สุขสวัสดิ์ชน มหาวิทยาลัยบูรพา
31. ดร.เอกสิทธิ์ เทียมแก้ว มหาวิทยาลัยนเรศวร
32. อ.พรพจน์ หันหาบุญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี
33. ดร.ปกป้อง ส่องเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
34. ผศ.วิรัตน์ จารีวงศ์ไพบูลย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
35. ดร.วนิดา พฤทธิวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
36. รศ. ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
37. ดร.ภิญโญ แท้ประสาทสิทธิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
38. อ.โอภาส วงษ์ทวีทรัพย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
39. อ.สุธน แซ่ว่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
40. ดร.ฐิติมา ศรีวัฒนกุล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
41. อ.อารยา ฟลอเรนซ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
42. ดร.ประสิทธิ์ นครราช มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
43. ผศ.ดร.มงคล ปุษยตานนท์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
44. ผศ.ดร.บงกช สุขอนันต์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
45. อ.ชยพล เหมาะเหม็ง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
46. รศ.ธีรวัฒน์ ประกอบผล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
47. ดร.รุ่งรัตน์ เวียงศรีพนาวัลย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
48. ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
49. นายเจษฎา จงสุขวรากุล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
50. อ.จินดาพร หมวกหมื่นไวย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
51. อ.ทัศนีย์ กรองทอง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
52. อ.พรพิมล ตั้งชัยสิน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
53. อ.จีระพร สังขเวทัย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
54. อ.นิรมิษ เพียรประเสริฐ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
55. อ.พนมยงค์ แก้วประชุม สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
56. อ.สุทธิพงษ์ พงษ์วร สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
57. อ.สุชิรา มีอาษา โรงเรียนนครนายกวิทยาคม จ.นครนายก
58. อ.สุนันทา พุฒพันธ์ โรงเรียนบ้านน้ำอ้อม จ.ยโสธร
59. อ.เสาวลักษณ์ เจ่าสกุล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
60. อ.วรวุฒิ วงศ์วีระขันธ์ โรงเรียนบ้านมูลนาค จ.ขอนแก่น
61. อ.สิริศักดิ์ สีนวล โรงเรียนปิยะจิต กรุงเทพฯ
 

ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (1 พ.ย. 2556)

ในสถานการณ์ที่การเมือง สังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม ในขณะนี้

ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายคัดค้าน และล่าสุด สภาผู้แทน ฯ ได้ลงมติเห็นชอบในวาระ ๓ ไปแล้ว โดยต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการของวุฒิสภา

สถานการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดความตรึงเครียดของคนในสังคม ซึ่งกังวลว่า ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าว จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) จึงขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยต่อการผลักดัน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าว จึงได้ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนในครั้งนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
เชื่อมั่นในพลังประชาชน
 

บก.ลายจุด (1 พ.ย. 2556)

"จม ถึงคุณทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย"

ผมไม่สามารถกล่าวแสดงความยินดีกับคุณทักษิณได้

แต่อยากให้กำลังใจคุณทักษิณทำสิ่งที่ยากลำบากนี้ให้สำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้และมองไม่เห็นประโยชน์รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขดังที่คุณทักษิณกล่าว แต่ผมตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งที่ผมเห็นเบื้องหน้าในขณะนี้นั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณทักษิณมองไม่ออก นี่คือสิ่งที่คุณทักษิณและพทได้คำนวนอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะต้องเผชิญกับต้นทุนและความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่นั่นไม่ทำให้ความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน พรบ นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้หยุดลง นั่นเพราะคุณเห็นว่านี่คือหนทางเดียวและไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจึงยืนยันเช่นนั้น

ภาพรวมที่ผมเห็นและที่คุณทักษิณเห็นไม่เท่ากัน และอาจให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านั้นแตกต่างกัน ต่อจากนี้พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณซึ่งเป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น และต้องประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองให้ไปถึงการลดความขัดแย้งและการเริ่มต้นใหม่ดังที่ได้ประกาศไว้ให้จงได้ หรือไม่ก็ใกล้เคียง

ไม่ต้องห่วงว่าเสื้อแดงที่เห็นต่างจะล้มรัฐบาลที่เราเลือกมากับมือ แต่ก็ไม่มีหลักประกันหรือข้อผูกพันใด ๆ ที่พวกเราจะต้องเลือกคุณเป็นรัฐบาลในทุกครั้งไป

บก.ลายจุด
แดงเพื่อประชาธิปไตย
 

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่ (1 พ.ย. 2556)

แถลงการณ์ร่วม กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่

เรื่อง การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย

ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีมติในการประชุมพิจารณาวาระที่สองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2556 ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติให้มีผลกับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะทำให้มีผลครอบคลุมไปถึงผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารที่มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุม และแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงทุกฝ่ายด้วย และในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการประชุมวาระที่สาม เป็นคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 314 คน รับร่างพระราชบัญญัติแล้วนั้น

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นการบิดเบือนหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย เพราะในสังคมที่ยึดถือไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ประชาชนย่อมคาดหวังว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชนก็ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ถ้าหากว่าการนิรโทษกรรมเปิดช่องให้แกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการของภาครัฐได้หลุดพ้นจากความผิดและข้อกล่าวหาทั้งปวงด้วยแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดที่ต้องมาเหลียวแลต่อความเสียหายของประชาชนอีก คนที่ตายก็ตายเปล่า คนที่เจ็บก็เจ็บฟรี คนที่ยังอยู่ก็ต้องอยู่อย่างหัวหด ไม่กล้ามีปากเสียงเพราะไม่มีหลักประกันว่าตัวเองจะไม่ตายเปล่าหรือเจ็บฟรี สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจยอมรับสภาพเช่นนี้ได้ และยิ่งเมื่อการกระทำดังว่านี้เป็นฝีมือของผู้แทนของประชาชนที่เคยรับปากไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย และยังเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างบิดเบือนด้วยแล้ว ยิ่งยอมรับไม่ได้

กว่าแปดสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างแห่งระบอบประชาธิปไตยให้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศาลและองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากมายเต็มไปหมด มีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังนั่นคือวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุด การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ประเทศไทยจึงยังคงมีผู้ก่อรัฐประหารที่สามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในแวดวงการเมืองได้ ยังคงมีคนเรียกร้องให้ทหารปกครองประเทศแทนพลเรือน ยังคงมีนักการเมืองที่ลืมคำสัญญาที่ให้กับประชาชนอย่างง่ายดาย ยังคงมีพรรคการเมืองที่เป็นเพียงเครื่องมือพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้นำพรรคเหนือผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งพรรค และยังคงมีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการเพื่อเป็นทางออกสำหรับชนชั้นนำด้วยกันเองโดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้เสียหายอยู่ตราบจนทุกวันนี้ วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยขาดไม่ได้ และหนึ่งในวัฒนธรรมที่สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องคำนึงถึง คือ การไม่ยอมให้ผู้ใดที่บงการให้เกิดการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประทุษร้ายต่อประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองสามารถลบล้างความผิดที่ตนมีและโทษที่ตนต้องรับได้

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยฉบับนี้เด็ดขาด ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาหลังจากนี้หยุดยั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้จงได้ และขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยผู้ริเริ่มการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยในครั้งนี้ ทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชน หากมีโอกาสได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งจะต้องไม่กระทำการซ้ำรอยเดิม และยุติความพยายามใดๆ ที่จะนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอีก

ทั้งนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเคยแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองไว้ว่า จะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพราะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของมวลชนและผู้ใต้บังคับบัญชาจึงต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องนิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เพราะมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง จะต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรง จะต้องดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเร่งด่วนที่สุด และจะต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อิสรภาพ และทางทำมาหาได้ และในวันนี้เรายังคงยืนยันในจุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

ขอให้ทุกท่านอย่ามองแต่เพียงว่าเราเรียกในครั้งนี้เพื่อแก้แค้นหรือเป็นการจองล้างจองผลาญอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง และการสร้างบรรทัดฐานแห่งสังคมประชาธิปไตยที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดบงการประทุษร้ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แล้วหาทางนิรโทษกรรมตัวเองในภายหลังอยู่เรื่อยไป เพื่อให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่า หากการเรียกร้องในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นการยืนยันถึงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน และจะเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงสืบต่อไป
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่

1 พฤศจิกายน 2556


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (31 ต.ค. 2556)

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภา ตามจดหมายเปิดผนึก  ดังนี้

จดหมายเปิดผนึก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง

ด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการซึ่งนานาประเทศต่างให้การคุ้มครองรับรองว่า สำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่จะดำรงตนด้วยความปลอดภัย อิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ยังได้ยืนยันโดยปรารภไว้ว่า เป็นการจำเป็นที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

นายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตยเราไม่สามารถและต้องไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และต้องสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตยด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งประชาธิปไตยยังไม่ใช่เพียงเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้อำนาจในวิถีทางที่เคารพต่อเสียงส่วนน้อยด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในราชอาณาจักรไทย ณ ปัจจุบัน อยู่ในสภาวะที่ละเอียดอ่อน ประชาชนอันเป็นองคาพยพที่สำคัญยิ่งของรัฐยังมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะนับแต่ได้มีความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรง และการละเมิดต่อกฎหมายอันเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐซึ่งสำคัญยิ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการโต้แย้งในการตรากฎหมาย และเนื้อหาแห่งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. .... ในกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาเนื่องด้วยมีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้านของประชาชนในสังคมและมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคง การดำรงอยู่ของหลักนิติรัฐหลักนิติธรรมหลัก  ธรรมาภิบาล อันเป็นสาระสำคัญยิ่งในการดำรงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่น การลบล้างความผิดร้ายแรงซึ่งได้กระทำโดยเจตนาล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย อาจนำไปสู่การเป็นเยี่ยงอย่างให้มีการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนซ้ำอีกในอนาคต

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้

๑) การพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา จะต้องยึดถือหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมหลักธรรมาภิบาล และหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)และที่ปรากฏในหลักการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยการต่อต้านการไม่ต้องรับผิดของผู้ทำผิด (Set of Principles for the Protection and Promotion of Human Rights Through Action to Combat Impunity --- สหประชาชาติรับรองเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๕) ดังนั้น การตรากฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนสมควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

๒) ควรเร่งรีบพิจารณาถึงสวัสดิภาพของประชาชนที่มิใช่ผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองไปในทิศทางใด แต่ได้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การถูกจับกุม การถูกกักขัง การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือการถูกจำคุกด้วยเหตุที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง เพื่อให้เกิดผลเห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ จึงเห็นสมควรเสนอเจตจำนงมายังท่านเพื่อร่วมกันยึดมั่นในหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมหลักธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สำคัญอย่างยิ่งจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในการแก้ไขปัญหา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (31 ต.ค. 2556)

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกำลังสร้างวิกฤติที่อาจจะนำหายนะมาสู่สังคมไทย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการทั่วประเทศ ที่ได้ช่วยเสนอทางออกให้แก่สังคมมาในวิกฤติต่างๆ มาหลายครั้งแล้ว ได้วิเคราะห์ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เห็นว่าสังคมไทยทุกภาคส่วนควรจะต้องร่วมกันแก้ไขวิกฤติดังกล่าว ดังนี้

หนึ่ง รัฐบาลคือเจ้าภาพหลักที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ ด้วยเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและวิสัยทางการเมืองการปกครอง อีกทั้งรัฐบาลนี้ก็ได้นำเสนอเป็นนโยบายมาตั้งแต่ที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง ร่วมกับที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา นั่นก็คือนโยบายที่จะสร้างความปรองดอง แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้ กลับปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภา ที่ความจริงรัฐบาลก็คุมเสียงข้างมาก แต่ก็ได้ปล่อยให้ปัญหาได้สั่งสมมาถึงขนาดนี้ รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ไขให้ปัญหานี้ยุติโดยเร็ว เช่น ขอให้ ส.ส.ของรัฐบาลถอน พ.ร.บ.นี้เสียก่อน แล้วไปเริ่มกระบวนการสร้างความปรองดองทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดึงมาสู่การสร้างความปรองดองทางการเมืองต่อไป

สอง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่แตกแยกกันอยู่ ที่ต่างก็มีมวลชนเป็นแนวร่วมจำนวนมาก ต้องไม่นำมวลชนออกมาเผชิญหน้ากัน การชุมนุมต้องเป็นไปอย่างสงบสันติ สร้างความรู้ ใช้เหตุผล และมองอนาคตของชาติร่วมกัน รวมทั้งมวลชนของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็ควรจะมีวิจารณญาณแยกแยะผลประโยชน์ของชาติออกจากผลประโยชน์ของนักการเมือง ไม่สนับสนุนกับการเอาแพ้เอาชนะของนักการเมืองที่ใช้ประชาชนและความหายนะของชาติเป็นสะพานทอดไปเสวยสุขซึ่งอำนาจและความมั่งคั่ง รวมทั้งการอยู่เหนือกฎหมายโดยใช้เสียงข้างมาก

สาม ภาคเศรษฐกิจและสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกับท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และกลุ่มองค์กรประชาชน จะต้องเตรียมพร้อมหากรัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบเข้าแก้ไขปัญหา ทั้งนักการเมืองและรัฐสภาก็ไม่สนใจที่จะคลี่คลายวิกฤติ  กระทั่งสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบรัฐสภาและรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะโดยกลุ่มอำนาจหรือกลุ่มมวลชน องค์กรในภาคส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องยับยั้งและต่อต้านการกระทำการดังกล่าวในแนวทางสันติ ได้แก่ การไม่ยอมรับและป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเช่นนั้นบังเกิดขึ้น

ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี แม้ว่าจะมีวิกฤติทางการเมืองมาหลายครั้ง ก็ยังสามารถกลับฟื้นและพัฒนาประเทศมาได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยานุภาพที่สำคัญประการหนึ่งก็คือความรัก ความสามัคคี และความเอื้ออาทร ที่เรามีต่อกันมาอย่างยั่งยืน การนิรโทษกรรมโดยการฝืนความรู้สึกของคนจำนวนมาก รังแต่จะทำให้ความแตกแยกในบ้านเมืองจะเพิ่มขึ้น การดับวิกฤติครั้งนี้จึงควรทำที่ต้นตอคือต้องถอนหรือยับยั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสียก่อน แล้วไปเริ่มต้นกระบวนการสร้างความปรองดองด้วยปัจจัยานุภาพที่มีอยู่ในสังคมไทยนั้นต่อไป


ชมรมแพทย์ชนบท (31 ต.ค. 2556)

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 1 วันที่ 31 ตุลาคม 2556

ขอให้รัฐบาลยุติการผลักดันร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในทันที

สืบเนื่องจาก ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมที่มีการแปรญัตติวาระสองในชั้นกรรมาธิการที่เปลี่ยนหลักการจากการนิรโทษกรรมเฉพาะชาวบ้านผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง มาเป็นการนิรโทษโทษกรรมสุดซอยให้กลับทุกกลุ่มคนอย่างเหมาเข่ง ดังที่ปรากฏในร่างมาตรา 3 ที่ว่า "ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

ชมรมแพทย์ชนบทได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในสามสี่วันนี้ที่มีความน่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะเป็นการประลองใจประลองกำลังครั้งสำคัญภายใต้การผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งของรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้รับการคัดค้านทั่วสารทิศ ที่แม้แต่พี่น้องเสื้อแดงก็ยังคัดค้านการนิรโทษแบบสุดซอยเหมาเข่ง ที่ปล่อยคนผิดทุกกรณียกเว้น ม.112 ให้พ้นผิด และขายฝันว่า พรบ.ฉบับนี้เป็นการ set zero หรือเริ่มต้นกันใหม่ เพื่อให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าได้ แต่แท้จริงกลับจะยิ่งสร้างความแตกแยกร้าวลึก เกิดผลข้างเคียงจากการนิรโทษกรรมที่อาจตีความล้างผิดอย่างกว้างขวางเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้คนธรรมดาที่เสียชีวิตจากการชุมนุมต้องตายฟรี คนสั่งฆ่าหรือคนโกงกินคนที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดกลับสามารถเดินยิ้มลอยนวลในสังคมได้ เป็นบาดแผลและเป็นชนวนสู่ความแตกแยกอีกยาวนาน

สถานการณ์การชุมนุมที่กรุงเทพในหลายพื้นที่ทั้งอุรุพงษ์ สวนลุม สามเสน สีลมหรืออนุสาวรีย์ จะมีความครุกกรุ่นและสุ่มเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนสูง และในต่างจังหวัดกำลังจะมีการชุมนุมด้วยในหลายจังหวัดใหญ่ๆ ตำรวจเริ่มตรวจแหลกตั้งด่านสกัดไม่ให้ผู้คนเข้ากรุงเทพมาร่วมการชุมนุม รัฐบาลคงเพิ่มพื้นที่ที่จะประกาศ พรบ.ความมั่นคงเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมคงไม่สนและยืนยันจะชุมนุมท้าทายอำนาจรัฐ อีกทั้งด้วยการสื่อสารในยุคโซเชียลมีเดียที่มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย จะทำให้สถานการณ์ในช่วงนี้มีความยากในการกุมสภาพ มีความไม่แน่นอนสูง มือที่หนึ่งสองสามต่างชิงไหวชิงพริบ ตามทฤษฎีไร้ระเบียบ ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่สถานะที่ยุ่งเหยิงจนไม่อาจทำนายอนาคตได้

ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อสมาชิกและรัฐบาลดังนี้

1. ขอให้สมาชิกชมรมแพทย์ชนบท พี่น้องชาวโรงพยาบาลชุมชน พี่น้องชาวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พี่น้องชาวกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งชาวไทยผูั้รักประเทศชาติทุกท่าน ทุกท่านต่างมีวิจารณญาณของตนเองต่อ พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ใครใคร่ทำอะไรก็รีบทำ เพราะเราก็คือประชาชนเจ้าของประเทศคนหนึ่ง ประเทศชาติก็เป็นของเราด้วย อย่างน้อยก็ให้ความเห็น แชร์ความคิด เขียนป้ายบอกทัศนะและจุดยืนติดหน้าบ้านหน้าโรงพยาบาล แม้แต่ถ่ายรูปพร้อมป้ายจุดยืนส่วนบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ตามแต่ การกดดัน สส.ในพื้นที่ การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ หรือแม้แต่ร่วมการชุมนุม ด้วยความหวังว่า พลังมติมหาชนไม่เอานิรโทษกรรมเหมาเข่งจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลยอมถอย ถอยก่อนที่จะเป็นชนวนไปสู่ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ไม่อาจหวลกลับ

2.     ขอให้รัฐบาลยกเลิกการผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ในทันที แล้วกลับไปตั้งต้นที่ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทั่วไปที่กระทำความผิดจากการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งแก่ระดับแกนนำ ดังที่เสียงของประชาชนทุกกลุ่มเรียกร้อง

ด้วยความเป็นแพทย์ ชมรมแพทย์ชนบทไม่อยากให้ต้องมีการสูญเสียใดๆอีกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ขอให้ทุกฝ่ายเคลื่อนไหวอย่างมีสติ เดินหน้าสู่เป้าหมายด้วยสันติวิธี

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

ประธานชมรมแพทย์ชนบท

31 ตุลาคม 2556


นิติราษฎร์ (31 ต.ค. 2556)

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่ "บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น" จากถ้อยคำดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...." แล้ว ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

2) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆ การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ

3) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

4) ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรมก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

5) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2547 จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. 2547 อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

6) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้

ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

1) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

2) ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้

3) สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่

คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
31 ตุลาคม พ.ศ. 2556


คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (31 ต.ค. 2556)

แถลงการณ์คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เรื่อง การคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี

การที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่มีการแก้ไขมาตรา 3 ความว่า ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง หรือกล่าวโดยง่ายว่าเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบยกเว้นความรับผิดในทุกกรณี ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556 นั้น

คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตามรายนามที่แนบ ขอคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำให้บุคคลพ้นจากความรับผิดในทุกกรณี ทั้งนี้ พวกเราเห็นว่าผู้มีความผิดกรณีทุจริต และคอร์รัปชั่นซึ่งคือความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรม และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ไม่ควรได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ มิฉะนั้นแล้วจะทำให้การทุจริต คอร์รัปชั่น กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคม

แม้ว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในการใช้อำนาจดังกล่าวควรพิจารณาผลที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะกระทบต่อความยั่งยืนของฐานรากสังคม

31 ต.ค. 56

1.รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์
2.รศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์
3.รศ.ดร.ระวีวรรณ เอื้อพันธ์วิริยะกุล
4.รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
5.รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
6.ดร.จุฑารัตน์ ชมพันธุ์
7.ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต
พร้อมทั้งคณาจารย์และบุคลากรที่ลงนาม รวมจำนวนทั้งสิ้น 491 คน
 

สื่อเครือมติชน (31 ต.ค. 2556)

หมายเหตุมติชน : หยุดเพื่อส่วนรวม

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... หรือเรียกย่อๆ ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เดิมมีหลักการตามที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และพวกเสนอ คือให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทุกสีเสื้อที่กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยหลักการดังกล่าวมีการตอกย้ำหลายครั้ง ทั้งที่เป็นมติของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นคำอภิปรายในการพิจารณาวาระ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตรา 3 ขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงผู้สั่งการ และแกนนำการชุมนุม ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกกันว่า "สุดซอย" หรือ "เหมาเข่ง" ซึ่งอาจมีแกนนำพรรคได้รับประโยชน์ด้วยและแตกต่างจากเนื้อหาเดิมที่เสนอต่อสภา จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเบื้องแรก คือนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ไม่รวมผู้สั่งการและแกนนำ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการนิรโทษกรรมผู้สั่งการและแกนนำด้วย สังคมและสาธารณชน ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้เตรียมความคิดมาก่อน ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ จึงเกิดปฏิกิริยาและคำถาม ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งควรจะเป็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่ความปรองดอง กลับกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุการณ์ตึงเครียด กระทั่งน่าหวาดวิตกว่า จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำรอยเดิม

"มติชน" มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดจากความเห็นต่าง และผลกระทบ ที่จะเกิดจากร่าง พร.บ.นี้ โดยเฉพาะคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง บางคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ และบางคดีกำลังเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ผลการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแต่ละคดีจะออกมาเช่นไรย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรตีตนไปก่อนไข้หรือคาดการณ์ในเชิงลบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง ปฏิเสธกระบวนการนี้

สังคมไทยผ่านความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาการฟื้นฟูความบอบช้ำ เสียหายในด้านต่างๆ ไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างเงื่อนไข ผลักมิตรเป็นศัตรู เพิ่มบรรยากาศของความเป็นปฏิปักษ์

"มติชน" จึงขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทบทวน ยุติ ระงับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในแนวทางที่เป็นปัญหานี้ทันที และกลับคืนสู่แนวทางอันเป็นที่ยอมรับ หรือแนวทางที่สภารับหลักการในวาระที่ 1 โดยคำนึงถึงเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น และยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแท้จริงในการสร้างสังคมไทยให้กลับคืนสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง

มติชน 31 ต.ค.2556


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (30 ต.ค. 2556)

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เรื่อง หยุดการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย

การแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังบังเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยนับว่าเป็นการกระทำที่ "บิดเบือน" ต่อหลักการสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้มีการนำเสนอไว้ในวาระแรกอย่างแจ้งชัด ความเร่งรีบต่อการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษอันบิดเบี้ยวฉบับนี้อย่างไม่อาจปฏิเสธ

กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ประเด็นสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับกันได้อย่างกว้างขวางในชั้นต้นก็คือ การนิรโทษกรรมให้แก่บรรดามวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือสีใดก็ตาม ซึ่งก็ได้เป็นส่วนสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอในวาระแรกโดย ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยเอง รวมทั้งการยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาผู้นำ ผู้สั่งการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงต่อการทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมาสู่การพิจารณาในวาระที่สอง พรรคเพื่อไทยก็ได้ปฏิบัติการ "ตระบัดสัตย์" ต่อหลักการที่นำเสนอมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ประการแรก การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งซึ่งทำให้บุคคลทุกฝ่ายพ้นไปจากความผิด จะเป็นการกระทำที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยถูกซุกเข้าไปอยู่ใต้พรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากจะทำให้บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามสามารถลอยนวลไปจากความผิดแล้ว สังคมไทยจะไม่ได้เรียนรู้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาบังเกิดขึ้นได้อย่างไร และโดยกระบวนการอย่างไร และใครบ้างที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ อันจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการทำความเข้าใจและนำไปสู่การพยายามป้องกันไม่ให้ความรุนแรงได้บังเกิดซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ประการที่สอง แม้กฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในอำนาจทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม แต่การใช้อำนาจในทางการเมืองก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะติดตามมาจากการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งกรณีการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรมโดยพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่ากำลังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงการไม่เห็นด้วยในหมู่ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ บรรดาแกนนำหรือนักการเมืองฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ต่างพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจาณาคดีเพื่อให้ความจริงปรากฏ ความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทยจึงไม่อาจถูกมองไปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากการมุ่งรับใช้ "นายใหญ่" แบบไม่ลืมหูลืมหา กระทั่งไม่สนใจว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะสร้างผลเสียเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ประการที่สาม แม้ว่าฝ่ายเสื้อแดงจำนวนหนึ่งอาจไม่อยากแสดงความขัดแย้งต่อพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายตนเองมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ต้องพึงตระหนักว่าการจะสัมพันธ์กับพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดๆ ก็ตาม พรรคการเมืองก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของบุคคลผู้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค หากพรรคการเมืองใดตัดสินใจดำเนินนโยบายของตนไปโดยเห็นแก่ผู้มีอำนาจภายในพรรคและไม่เห็นหัวฐานเสียงของพรรค ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องให้การสนับสนุนพรรคดังกล่าวต่อไป

มวลชนคนเสื้อแดงควรต้องตระหนักว่าพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่ในภาวะเฉกเช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ หากยังคงดำเนินการไปในลักษณะที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเสียงเรียกร้องที่ได้บังเกิดขึ้น ทั้งต้องตระหนักว่าการปกป้องระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกป้องพรรคเพื่อไทย หากมวลชนคนเสื้อแดงไม่สามารถกดดันให้พรรคเพื่อไทยทำการแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมได้ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะทิ้งกลุ่มที่เป็นมวลชนของพรรคไปได้อย่างง่ายดายเช่นกัน พรรคการเมืองเช่นนี้ย่อมไม่สามารถฝากความหวังต่อการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไปได้อย่างแน่นอน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ตระหนักถึงความจำเป็นของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ร่วมกันกดดันและปฏิบัติการเพื่อยุติการบิดเบือนกฎหมายนิรโทษกรรมและการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย ด้วยการแสดงความเห็นคัดค้านและถอนตัวจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการแสดงถึง "อำนาจ" ของประชาชนในการกำกับนโยบายและทิศทางของพรรคการเมือง ทั้งนี้จะไม่เพียงเป็นการสั่งสอนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากยังจะเป็นบทเรียนให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้ตระหนักต่อไปถึงความสำคัญของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองต่อไปในวันข้างหน้า

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

30 ตุลาคม 2556


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และภาคีภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน (28 ต.ค. 2556)

แถลงการณ์
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และภาคีภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน คัดค้านล้างผิดคดีโกง

ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ความบาง ส่วนว่า "..หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง.." ซึ่งมองได้ว่ามีเจตนาและความมุ่งหมายที่จะลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตต่าง ๆ และให้คดีที่ยังค้างคาเป็นอันต้องยุติไป ให้ผู้กระทำความผิดในคดีทุจริต ทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ พ้นจากความรับผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงนั้น

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสมาชิกองค์กรภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมนัก วิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นว่ามติดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันที่ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน เอกชน รวมถึงภาครัฐที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นแกนหลัก ได้พยายามขับเคลื่อนร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เป็นที่ทราบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น ในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ตัวเลขจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างมาก

2. ถ้อยคำแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา ๓ เป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริต ส่งผลให้ผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมิอาจประมาณความสูญเสียได้

3. การล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง สังคม ไทยและโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ จะมีค่านิยมใหม่ว่าโกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วล้วนได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้

4. มติแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งผลเสียโดยตรงและอย่างรุนแรงต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากถูกตัดโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด หมดโอกาสที่จะได้ใช้ความจริงพิสูจน์ข้อกล่าวหาและลบล้างความระแวงแคลงใจของคนในสังคม ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อในคำตัดสิน และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมาย เพื่อชดใช้และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อแผ่นดินและคนไทยทั้งประเทศได้

5. รัฐบาลได้เคยแสดงความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านคอร์รัปชัน โดยนำส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ให้คำมั่นว่าการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นภารกิจหน้าที่ และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและข้าราชการทุกคน ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ พร้อมกับได้วางยุทธศาสตร์ มาตรการต่างๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ทว่า การแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งส่งจะผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่ควรเกิดขึ้น

6. รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 แต่ทว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ กรณีนี้อาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสมาชิกองค์กรภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุนดังรายนามข้างต้น จึงขอยืนยันคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 เพื่อล้างผิดคดีทุจริต และเน้นย้ำจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชันทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมในสังคม และเพื่อให้การปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอให้คำมั่นว่าเราจะทำทุกอย่างที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสังคม และขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้ต้องการเห็นสังคมไทยปราศจากคอร์รัปชันร่วมสนันสนุน ในการคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ครั้งนี้

เราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้ด้วยพลังของสังคม

28 ตุลาคม 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ทางแยก

Posted: 01 Nov 2013 09:01 PM PDT

<--break->

                           
ลมตุลาฯหวิวว้างกลางทางแยก          ผู้คนแตกแถวตามความฝันใฝ่
บางขบวนขานขับรอรับใคร               ปลุกเร้าให้เร่งรุดเข้าสุดซอย
ไอฝนปลิวพลิ้วหว่านคำหวานหู          กลับคืนสู่สุขสงบกลบมูลฝอย
ซุกเลือดใต้พรมทองลบร่องรอย       ฆาตกรร้ายพลอยเดินลอยนวล

บ้างกัดฟันเดินหน้าฝ่าหมอกจัด         ยังยืนหยัดแม้หนามไหน่ไม่คิดหวน
แน่วแน่มุ่งหมุดหมายไม่เรรวน           จัดขบวนทัพสู้สู่เสรี
ใบอนุญาตเข่นฆ่าในอนาคต              จักต้องหมดสิ้นค่าสง่าศรี
เผด็จการแลทหารทรพี                     ต้องไม่มีอีกต่อไปในชีวิต

หนาวลมเดือนตุลาฟ้ามืดดำ               ดินพลิกคว่ำคำลวงบาดดวงจิต
ขบวนศพเคลื่อนคนถนนชีวิต             พบทางแพร่งต่างทิศให้คิดตรอง
คือเรื่องเล่าคราวนั้นคืนวันหนึ่ง           ห้วงคำนึงแจ่มชัดอกกลัดหนอง
หัวขบวนชูป้ายหมายปรองดอง           ทิ้งศพเพื่อนเกลื่อนกองนองน้ำตา

กอดคอร้องเพลงกันฝันชื่นมื่น           หลับตาพักสักกี่ตื่นใต้ผืนฟ้า
สมานฉันท์หยามหยันมิตรปิดดวงตา   ลืมหมดสิ้นใครสั่งฆ่าประชาชน
ก้มลงกราบคราบมารเมื่อกาลเปลี่ยน  ลับลวงเนียนแนบแน่นวางแผนปล้น
ยุทธการแหกตาประชาชน                 กุมเป้าเดินตามก้นคนสั่งฆ่า

มิตรร่วมรบอยู่ในคุกนั้นทุกข์หนัก       ครอบครัวไร้เสาหลักหวาดผวา
ทอดทิ้งให้ตายทั้งเป็นอย่างเย็นชา      กี่ศพไหว้ผีฟ้า...เซ่นซาตาน
เจรจาว่าไรกันท่านนายใหญ่               จึงถอดใจถอนทัพเตรียมกลับบ้าน
กระดูกกองก็มองเห็นเป็นสะพาน       ที่ทอดผ่านดั่งรุ้งสายพริบพรายพราว

ลมตุลาฯหวิวว้างกลางทางแยก           เฉือนชำแรกคมหนามท่ามความหนาว
พบจุดนั้นวันหนึ่งเมื่อถึงคราว              ทัพจะแยกแตกร้าวต้องก้าวไป
ยกมือโบกธงส่ายสหายเหวย               สหายเคยร่วมฝ่าฟันสู่วันใหม่
วันนี้ต่างความคิดต่างจิตใจ                 บทเรียนจะสอนให้เราจดจำ  
( วันนี้ต่างแยกทางเดินกันไป             ยินแต่เสียงร้องโหยไห้ระหว่างทาง )

 

 

   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น