โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม '10,000 UP'

Posted: 10 Nov 2013 11:50 AM PST

วันที่ 10 พ.ย.2556 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จัดกิจกรรม '10,000 UP' นัดหมายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งสุดซอย ให้ออกมารวมตัวและทำกิจกรรมร่วมกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ อันเป็นพื้นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553 และถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ทั้งนี้ บก.ลายจุด เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งจนเป็นเหตุของวิกฤตการเมืองในขณะนี้ และเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาขอโทษต่อประชาชนที่มีคำสั่งสังหารคนเสื้อแดงในปี 2553 เรียกร้องให้สมาชิกวูฒิสภาเข้าประชุมพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม  และเรียกร้องตุลาการให้ความเป็นธรรมโดยการให้ประกันตัวนักโทษการเมืองคดี 112 เพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง รวมถึงเรียกร้องนักสันติวิธีและนักวิชาการออกมาทำหน้าที่ก่อนที่จะเกืดการนองเลือด

ฟังความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม '10,000 UP' และชมภาพบรรยากาศของงาน รวมถึงข้อเรียกร้องของแกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บ กต. เผยแพร่คลิปเตรียมรับคำตัดสินศาลโลก ชวนคนไทยมองอนาคตร่วมกับกัมพูชา

Posted: 10 Nov 2013 10:44 AM PST

บัวแก้วแพร่คลิป หลากทัศนะ ชักชวนคนไทยมองอนาคตร่วมกัมพูชา เคารพคำตัดสินศาลโลก ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียกร้องประชาชนเคารพคำตัดสินและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อไทย

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2556 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่คลิปเกี่ยวกับคดีพิพาทเขาพระวิหาร ผลิตโดยบริษัทพาโนรามา ในชื่อชุด สารคดี ศรีสิขเรศวร-ปราสาทพระวิหาร ภาค 2 ซึ่งตอนนี้เป็นการประมวลภาพรวมของคดีที่ศาลโลกจะทำการตัดสินในวันนี้ (11 พ.ย.) และจะมีการถ่ายทอดสดการอ่านคำพิพากษาตั้งแต่เวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

ในคลิปดังกล่าว นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชี้ว่าคำตัดสินศาลโลกมีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง

แนวทางที่ 1 คือตัดสินว่าศาลไม่มีอำนาจ ไม่มีประเด็นให้ตีความ เพราะที่ผ่านมาทางไทยพยายามชี้ให้ศาลเห็นว่าทางกัมพูชาฟ้องในเรื่องที่นอกประเด็น นอกขอบเขตของคดีเดิม

แนวทางที่ 2 คือ ศาลอาจจะพิจารณาว่ามีความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีในการทำความใจคำพิพากษาปี 2505 หรือไม่ แล้วตัดสินไปตามที่กัมพูชาขอ ว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทต้องมีบริเวณตามที่กำหนดในพื้นที่ 1:200,000

แนวทางที่ 3 คือศาลตัดสินตามที่ไทยชี้แจงต่อศาลคือ บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทควรเป็นไปตามมติค.ร.ม. 2505 ของไทย โดยไทยอธิบายว่าเส้นนี้ใกล้เคียงมากกับพื้นที่ที่กัมพูชาเรียกร้องในคดีเดิม

แนวทางที่ 4 เป็นแนวทางที่จะไม่กำหนดพื้นที่หรือเส้นแต่เจะกำหนดหลักการ หรือให้ความกระจ่างว่าคำพิพากษาปี 2505 กล่าวว่าอย่างไร เช่น สถานะแผนที่ 1:200000 เป็นอย่างไรจากนั้นให้คู่กรณีไปเจรจากันเอาเอง

ในช่วงท้าย สารคดีดังกล่าวระบุว่าคำตัดสินศาลโลกคงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ชัยชนะบนแผนที่จะมีความหมายอะไร หากในโลกความจริง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่เราควรมาร่วมกันเอาชนะให้ได้น่าจะเป็นความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างสองประเทศมากกว่า นั่นต่างหากคือชัยชนะที่แท้จริง

โดยสารคดีดังกล่าวได้รวบรวมความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างไทยกับพูชา เช่น

อิทธิ์ ธีรรัฐ ประธานฝ่ายวิชาการองค์การบริหารนิสิต "การที่ประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศมันก็ส่งผลเสียต่อทั้งสองประเทศ เราต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ว่าอย่างไรคนไทยและกัมพูชาก็ต้องเป็นประเทศเพื่อนบ้านกันต่อไป"

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตจเรทหารทั่วไป สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา: "แต่เมื่อเราเป็นสมาชิกของสหประชาชาติและเราได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว คำพิพากษาที่ออกมาซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่าเป็นคำพิพากษาที่เป็นธรรมจากท่านผู้พิพากษาทั้ง 17 คน เราก็ต้องยอมรับ ต้องเตรียมยอมรับกับคำพิพากษานั้น"

จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ.: "ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เราบอกว่าเราได้เราเสียอะไรต่างๆ ผมว่าเป็นเรื่องรอง ที่ยิ่งใหญ่ก็คือเราเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ แล้วก็ทำให้วิกฤตนั้นกลับมาเป็นโอกาสต่อประเทศในส่วนรวมได้"

พลเอกวิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก: "เรามีความสัมพันธ์กันมาเป็นพันๆ เป็นร้อยๆ ปี ความเป็นพี่เป็นน้อง เราช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันมาโดยตลอด กัมพูชาก็พึ่งเรา เราก็พึ่งกัมพูชาในหลายๆ ด้าน

พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา: "เมื่อก่อนก่อนที่จะมีแผนที่ เราก็เป็นเพื่อนบ้านอยู่ด้วยกัน วัฒนธรรมใกล้เคียงกันเราก็แชร์ด้วยกัน เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครมาแต่ไหนมาก่อน เหมือนพี่น้องกัน เพราฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราไม่ควรจะลืม"

นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า หากคำตัดสินออกมาไทยแพ้ เขาคิดว่าต้องมีน้ำใจนักกีฬา เพราะความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชานั้นจะกระทบต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในภาพรวม ซึ่งไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางและควรจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากกว่าประเทศอื่นๆ หากไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

ขณะที่นายประทีบ กีรติเลขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ระบุว่ามีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดศรีสะเกษ กับอุดรมีไชย จังหวัดพระวิหาร และเสียมเรียบของกัมพูชา เป็นความร่วมมือระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันในด้านการค้าขาย วัฒนธรรม การศึกษา และสาธารณสุข "เราย้ายหนีไม่ได้ เพราะบ้านเราอยู่ตรงนี้"

สารคดีดังกล่าวยังระบุด้วยว่า คดีนี้ไม่ใช่บทสรุปทั้งหมดของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ คำถามสำคัญก็คือทั้งสองประเทศจะไปต่อกันอย่างไร จะปล่อยให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ข้อพิพาทของสองประเทศแบบนี้หรือจะเปลี่ยนให้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการมองให้ไกลเกินผลแพ้ชนะ ไปสู่ความร่วมมือของทั้งไทยและกัมพูชาเพื่อพัฒนาประโยชน์ของสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่คลิปอินโฟกราฟิกสรุปเกี่ยวกับคดีเขาพระวิหารเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับท่าทีของทางกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่เรียกร้องไปยังประชาชนกัมพูชาและทหารกัมพูชาให้รักษาความสงบและความเรียบร้อยตลอดแนวชายแดนไทย ไม่ว่าคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในวันที่ 11 พ.ย. นี้จะเป็นอย่างไร

"ผมใครขอร้องไปยังกำลังพลทุกนายซึ่งประจำการอยู่ที่ชายแดนขอให้อยู่ในความสงบ ยึดมันในความอดทน หลีกเลี่ยงการดำเนินการต่างๆ ที่อาจสร้างความตึงเครียด หรือเกิดการปะทะกันในที่สุด" ฮุน เซน กล่าวระหว่างอ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งแพร่ภาพในสถานีโทรทัศน์แห่งกัมพูชา (TVK)

นายกรัฐมนตรีกัมพูชายังเรียกร้องไปยังเพื่อนร่วมชาติกัมพูชา ให้ดำเนินความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความสามัคคี สงบสุข และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ และระหว่างประชาชนทั้งสองชาติ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุม ครม.กัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็เรียกร้องให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างสองชายแดน และกล่าวว่าไม่ว่าผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นผลดีต่อกัมพูชาหรือไทยก็ตาม รัฐบาลทั้งสองชาติก็จะรักษาความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือ ระหว่างทั้งสองรัฐบาล สองกองทัพ และประชาชนของทั้งสองชาติ และจะให้คำมั่นว่าจะรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง และสันติภาพ ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

สำนักข่าวแห่งกัมพูชา รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งกัมพูชาและไทยต่างรอผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หลังจากทั้งสองฝ่ายให้ปากคำที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ระหว่างวันที่ 15 - 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505

สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามถ่ายทอดสดการอ่านคำพิพากษาของศาลโลกคดีพิพาทเขาพระวิหาร โดยการถ่ายทอดจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย มีช่องทางดังต่อไปนี้
(1) โทรทัศน์
- สถานีโทรทัศน์ อสมท (ช่อง 9) (สามารถเลือกฟังเป็นภาษาไทย/อังกฤษ)
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) (ภาษาไทย)
(2) วิทยุ
- สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 และ AM 891 (ภาษาไทย)
- สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 88 (ภาษาอังกฤษ)
- สถานีวิทยุ อสมท FM 100.5 (ภาษาไทย)
- สถานีวิทยุสราญรมย์ AM 1575 (ภาษาไทย)
(3) เว็บไซต์
- www.phraviharn.org (สามารถเลือกฟังเป็นภาษาไทย/อังกฤษ/ภาษาที่ใช้จริงในศาลฯ)
- saranrom.mfa.go.th (ภาษาไทย)
(4) สำหรับผู้ที่ใช้ smart phone สามารถรับชมได้ทาง mobile application ของ อสมท คือ MCOT App
 

http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จำลอง ศรีเมือง' ระบุจะแถลงข่าวร่วมกับ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' จันทร์นี้

Posted: 10 Nov 2013 08:52 AM PST

จำลอง ศรีเมืองปราศรัยกับผู้ชุมนุม 'กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ' ให้รอดูการแถลงท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ จันทร์นี้ และใครที่เคยบอกว่าถ้าลุงสนธิ ลุงจำลองมาจะมาร่วม ก็ขอให้ทำตามนั้น ด้าน 'สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์' ระบุจะเคลื่อนกดดันให้นายกรัฐมนตรี-ประธานสภา-ประธานวุฒิสภาลาออก แต่ไม่ขอแจ้งรายละเอียด

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

10 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 18.00 น. วันนี้ เอเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวบนเวทีปราศรัยของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กับกลุ่มผู้ชุมนุมประกอบด้วย แนวร่วม กปท. และกองทัพธรรมมูลนิธิ สันติอโศก และเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย  (คปท.) กว่า 1,000 คนบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินนอก (ชมคลิป) ว่า ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.30 น. ตนพร้อม นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ คนสำคัญจะแถลงท่าทีครั้งใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บ้านพระอาทิตย์ จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่รอการออกมาร่วมชุมนุมของตนและนายสนธิเตรียมออกมาชุมนุมตั้งแต่เช้าวันที่ 11 พ.ย.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในคลิปการปราศรัยของ พล.ต.จำลอง มีการนำผู้ชุมนุมร้องเพลงด้วยว่า "เหนื่อยเราก็ไม่เหนื่อย เมื่อยเราก็ไม่เมื่อย เราไล่ไปเรื่อยๆ เราไม่เมื่อย เราไม่เหนื่อย"

"บางคนบอกว่าเมื่อไหร่ลุงจำลองจะออกมาสักทีหนึ่ง พรุ่งนี้เลยดีไหม บอกไปครับใครที่พูดปากหวานนักหนาว่าที่ยังไม่ออก เพราะลุงจำลอง ลุงสนธิไม่ยอมออก บอกเขาไปเลยว่ามาได้แล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ บอกพี่น้องเราที่เป็นคนปากหวานที่ไม่ออกมาเต็มที่ บอกเขาเลยว่าแกพูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้นนะ เพราะลุงพรุ่งนี้จะออกมาแล้ว ขอกระซิบกันเบาๆ อย่าบอกใครเขา เดี๋ยวเขาตกใจกันหมด พรุ่งนี้เวลา 10.30 น. ลุงสนธิ และลุงจำลองจะให้สัมภาษณ์แถลงการณ์ใหญ่โตที่บ้านพระอาทิตย์พรุ่งนี้ 10.30 น."

ขณะที่ พล.ท.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ปราศรัยด้วยว่าพรุ่งนี้จะถือเป็นวันดีเดย์ของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)

ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. กองทัพธรรม ร่วมกับ กปท.และเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด จะเคลื่อนขบวนไล่รัฐบาล กดดันนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังไม่ขอแจ้งสถานที่

ทั้งนี้ ในเวลา 09.00น. วันที่ 11 พ.ย. อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งหมด มีกำหนดจะนัดหารือทิศทางและแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง บนห้องประชุม ชั้น 2 บ้านพระอาทิตย์ จากนั้นเวลา 10.30น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง จะแถลงท่าทีต่อสถานการณ์บ้านเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อสิทธิมนุษยชนอยู่เหนือนิรโทษเหมาเข่ง: กรณีละตินอเมริกา

Posted: 10 Nov 2013 08:39 AM PST

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ศาลฎีกาในอาร์เจนตินา อุรุกวัย รวมถึงศาลสิทธิระหว่างรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ เนื่องจากมองว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ให้ผู้สังหารประชาชนถูกนำตัวมาดำเนินคดีได้หลังจากรอคอยมากว่าสามทศวรรษ 

 
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังดุเดือดเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจ "ถอย" การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแก้ไขของส.ส.วรชัย เหมะ รวมถึงร่างนิรโทษกรรมและปรองดองอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ในสภา 6 ฉบับ แม้การถอยครั้งนี้จะเป็นสัญญานที่ดีที่แสดงว่ารัฐบาลยอมรับฟังเสียงคัดค้านของประชาชน แต่การชุมนุมของฝ่ายค้านยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววันนี้
 
ปรากฎการณ์การคัดค้านดังกล่าว ไม่ต่างกันมากนักกับในหลายๆ ประเทศที่ภายหลังความขัดแย้ง มีความพยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ที่ผ่านการสูญเสียมากมายจากการปราบปรามของรัฐบาลต่อกลุ่มฝ่ายซ้ายในช่วงสงครามเย็น เมื่อรัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่ หรือรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และลบล้างความผิดให้กับทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มติดอาวุธที่เคยสังหารพลเรือนไปจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่พอใจ และแรงกดดันจากกลุ่มญาติ และภาคประชาสังคม ที่ยังคอยเรียกร้องให้รัฐบาลลุกขึ้นมาค้นหาความจริงและความยุติธรรมเรื่อยมา 
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ศาลสูงสุดในหลายประเทศเช่น อาร์เจนตีน่า อุรุกวัย เปรู ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้เป็นโมฆะ เนื่องจากพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว ศาลพบว่ากฎหมายนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยา นอกจากนี้ ยังเป็นการปล่อยให้ผู้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องรับความผิดที่เคยกระทำไว้ด้วย 
 
สงครามสกปรกในอาร์เจนตินาที่ยังรอคอยวันชำระ
 
ในประเทศอาร์เจนตินา การขึ้นมาของรัฐบาลเผด็จการทหาร นำโดย Jorge Rafael Videla นำมาสู่ "สงครามสกปรก" ในช่วง 1975-1983 รัฐบาลใช้กองกำลังทหารปราบปรามกลุ่มฝ่ายซัายติดอาวุธ รวมถึงผู้ที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว ชาวนา อาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ถูกสังหารไปไม่น้อย  มีการประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คนในช่วงนั้น
 
เมื่อหมดยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งที่ขึ้นมาใหม่คือ Raul Alfoncin ได้พยายามดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับสงครามสกปรก แต่ก็มีอุปสรรคจากกองทัพที่พยายามขัดขวางและกดดันรัฐบาลพลเรือนอยู่เสมอ แม้สามารถเอานายทหาร 9 คนมาลงโทษจำคุกได้จากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลและกองทัพ แต่ภายหลังรัฐบาล Alfoncin ก็ตรากฎหมายสองฉบับที่เสมือนกับนิรโทษกรรมออกมา คือ กฎหมาย Full stop law และ Law of Due Obedience ที่มีอำนาจยุติการสอบสวนคดีต่างๆ ต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการ เนื่องจากกองทัพขู่ว่าจะทำการรัฐประหาร ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อีก ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีคนถัดมา Carlos Menem ได้ให้อภัยโทษแก่ทหารเหล่านี้ ทำให้ทหารที่ติดคุกอยู่ 9 คนให้ออกมาได้ 
 
ด้วยแรงกดดันจากกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตที่ชื่อว่า Mothers of Plaza de Mayor หรือ กลุ่มแม่แห่งจตุรัสมายอร์ ทำให้ในปี 2006 ศาลฎีกาของสเปน ตัดสินว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยผ่านออกมา ขัดกับรัฐธรรมนูญและให้เป็นโมฆะ ทำให้เปิดการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดขึ้นมาใหม่ และในเดือนธันวาคม 2010 นี่เอง อดีตประธานาธิบดี Jorge Rafael Videla ที่มีบทบาทสำคัญในการสังหารช่วงสงครามสกปรก ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในคุกไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา และยังสามารถดำเนินคดีแก่นายทหารระดับสูงได้อีกหลายคน 
 
ศาลอุรุกวัยที่มีหลักการสวนกระแสสังคม
 
ในปี 2010 เดียวกันกับที่อดีตประธานาธิบดีเวเนซูเอลาถูกจำคุกตลอดชีวิตนั่นเอง ศาลฎีกาของอุรุกวัย ก็ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมของอุรุกวัย ที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 1985 เพื่อนิรโทษความผิดให้ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงรัฐบาลกึ่งพลเรือนกึ่งทหารช่วง 1973-1985 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ โดยได้อ้างหลักเกณฑ์จากศาลฎีกาของอาร์เจนตินาที่ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ และยังได้อ้างหลักคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาด้วย 
 
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอุรุกวัยเคยมีการจัดประชามติสองครั้งในปี 1989 และ 2009 ว่าด้วยการนิรโทษกรรมให้ทหาร ว่าสมควรจะยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ประกาศไปแล้วหรือไม่ ปรากฎว่าราวร้อยละ 60% ของคนที่มาลงคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วยว่าต้องยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรม และเห็นว่าควรคงเอาไว้ แสดงให้เห็นว่าการที่ศาลฎีกาตัดสินแบบนี้ หมายถึง ศาลได้ยึดในหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่ากระแสสังคมจะไปทางใด 
 
สงครามในเปรูที่ยืดเยื้อยาวนาน
 
ในช่วง 1980 จนถึงราว 2000 เกิดความขัดแย้งในเปรูระหว่างกลุ่มเหมาอิสต์ติดอาวุธที่ชื่อ Shining Path และ กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติ Tupac Amaru ซึ่งใช้วิธีการต่อสู้แบบกองโจร เข้าโจมตีรัฐบาลเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม ซึ่งรัฐบาลตอบโต้อย่างหนักด้วยการใช้กำลังทหารและตำรวจเปรูเข้าปราบปราม นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และเมื่อปี 1995 ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ก็ได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนิรโทษความผิดทุกประเภทที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1982-1995 
 
อย่างไรก็ตามในปี 2001 ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) ได้ตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐอเมริกา และขัดต่อสิทธิของเหยื่อในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา ศาลฎีกาในประเทศจึงได้ประกาศให้คำตัดสินของศาลมีผลกับทุกคดีในเปรูด้วย 
 
คำตัดสินดังกล่าว ส่งผลให้ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ถูกดำเนินคดีในปี 2008 และหนึ่งปีถัดมา ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 25 ปี เป็นประธานาธิบดีคนแรกของละตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกดำเนินคดี และถูกตัดสินจำคุกด้วยศาลในประเทศจากคดีอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 
 
วัฒนธรรมลบล้างความผิดที่บ่มเพาะความรุนแรง 
 
ส่วนในชิลี ยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมชัดเจน แต่ในหลายคดี ผู้พิพากษาได้ระบุว่า ในคดีที่มีการละเมิดหลักสิทธิมนุษชน ไม่สามารถเอากฎหมายนิรโทษกรรมมาใช้ได้ เพราะขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
มีการวิเคราะห์ว่าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาซึ่งเป็นองค์กรในระดับภูมิภาค ได้วิจารณ์ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อ ซึ่งหลักการนี้ได้ค่อยๆ กลายเป็นบรรทัดฐานของหลักสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคละตินอเมริกา 
 
มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่า ประเทศในละตินอเมริกาที่ยังมีวัฒนธรรมลบล้างความผิด หรือยังมีกฎหมายนิรโทษกรรมบังคับใช้อยู่ อย่างในกัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ หรือ ฮอนดูรัส ได้กลายเป็นประเทศที่ความรุนแรงในสังคมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแก๊งมาเฟีย แก๊งค้ายาเสพติด ซึ่งตั้งตนเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย เป็นผลมาจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมคนผิดไม่ได้รับผิด และส่งเสริมการใช้ความรุนแรงในสังคม 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Prachatai Eyes View: เสื้อแดงชุมนุม “10,000 อัพ เราไม่ลืม” ที่ราชประสงค์

Posted: 10 Nov 2013 08:26 AM PST

Prachatai Eyes View: เสื้อแดงชุมนุม "10,000 อัพ เราไม่ลืม" ที่ราชประสงค์

ประมวลภาพการชุมนุม "10,000 อัพ เราไม่ลืม" คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย พร้อมประกาศไม่ลืมเหตุสลายชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 นำโดย 'บก.ลายจุด' หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์  จุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ ตัดกับ ถ.พระราม 1

การชุมนุมลากยาวตั้งแต่เวลา 12.00 น.ไปจน 17.00 น.โดยเริ่มต้นจากการอ่านกลอนและแถลงการณ์เพื่อประกาศว่ายังไม่ลืมฆาตกรและแสดงจุดยืนคัดค้านพ.ร.บ.นิโทษกรรม จากนั้นผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้ทยอยเดินทางขึ้นรถเพื่อไปชุมนุมที่เมืองทอง ขณะที่กิจกรรมยังดำเนินต่อไป โดยมีทั้งการร่วมถ่ายภาพนับจำนวนผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งมีประมาณ 6,000 คน การแสดงดนตรีของวงไฟเย็น การจัดกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมนักเรียน นิสิต นักศึกษา คัดค้าน พรบ นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ภายใต้ธีมงาน "ใครตาย...?" ตาม "แยกราชประสงค์"

ต่อด้วย กิจกรรมผูกตาข่ายผ้าแดงข้ามระหว่างสกายวอล์ค 4 แยกราชประสงค์ยาวไปถึงสะพานลอยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 2553

นอกจากนี้ยัง มีการบันทึกเทปรายการประชาชน 3.0 ซึ่งถูกปลดจากผังช่องเอเชียอัพเดท เป็นครั้งสุดท้ายของ บก.ลายจุด ที่บริเวณหน้าป้ายราชประสงค์ เกี่ยวกับพรรคการเมืองทางเลือกของคนเสื้อแดง โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชน นักศึกษาเข้าร่วมฟังจำนวนมาก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการทำกิจกรรมนอนตายของผู้มาเข้าร่วมชุมนุม เพื่อตอกย้ำถึงการไม่ลืมว่าเคยมีคนตายที่ราชประสงค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ชุมนุมราชประสงค์ บก.ลายจุดเรียกร้องยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ขอโทษประชาชน

 

สุเทพระดมใหญ่จันทร์นี้ 18.00 น. - โฆษกรัฐบาลปฏิเสธข่าวสไนเปอร์ดักสุเทพ-อภิสิทธิ์

Posted: 10 Nov 2013 08:13 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศระดมพลใหญ่ 11 พ.ย. 18.00 น. ลั่นจะโชว์พลังยิ่งใหญ่ของคนหัวใจรักชาติให้ทรราชเห็น ขณะที่โฆษกรัฐบาลแถลงข่าวรัฐบาลส่งสไนเปอร์ที่สุเทพปราศรัยนั้นไม่เป็นความจริง  และทุกฝ่ายต้องการเห็นสุเทพ-อภิสิทธิ์ขึ้นศาลในคดีสลายชุมนุม 53

สุเทพ เทือกสุบรรณ (แฟ้มภาพ/เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)

 

สุเทพนัดหมายจันทร์นี้ 18.00 น. แนะ "ตระกูลชินวัตร" เปิดทีวีรอดูได้เลย

10 พ.ย. 2556 - ในการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนินนั้น เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. วันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำการชุมนุมได้ปราศรัยตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่มีท่าทีรู้สึกผิดว่าคนไทยทั้งประเทศต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม และกล่าวว่าแกนนำ นปช. อย่างธิดา ถาวรเศรษฐ ที่จัดการชุมนุม นปช. อยู่ที่เมืองทองธานีนั้นสำคัญตนผิด เพราะเมื่อปี 2552 และ 2553 เป็นกลุ่มคนที่จับคน กทม. เป็นตัวประกันและฆ่าคนกลางเมืองหลวงโดยคิดว่าเป็นวีรกรรม วันนี้ นปช.ชุมนุมที่เมืองทองธานี แต่คนที่นี่ไม่กลัวพวกมึง เพราะรักชาติมากกว่ากลัว ขอให้เเกนนำ นปช.รับรู้ว่าวันที่ 11 พ.ย. จะมีคนมาที่นี่มากกว่านี้หลายเท่า จะได้เห็นว่าความอดทนของคนไทยมาถึงที่สุดเเล้ว

วิธีการที่คนเสื้อเเดงทำในอดีตและวันนี้คือวิธีโจร เเละใช้วิธีหลอกพวกเดียวกันว่า ตัวเขานั้นจะนำผู้ชุมนุมไปปิดทำเนียบ แต่เขาจะไม่ทำอย่างนั้น แต่จะใช้วิธีต่อสู้ของพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยคือสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เคารพกฎหมาย มหาประชาชนชนะมารได้ด้วยวิธีเเบบนี้ การต่อสู้ครั้งนี้ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก

นายสุเทพ กล่าวว่า ขอให้แกนนำ นปช. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คอยดูวิธีต่อสู้ของพลเมืองดี โดยในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 18.00 น. ทรราชตระกูลชินวัตรเปิดทีวีรอฟังผมได้เลย ขอบอก ผบ.ตร. เเละ ผบ.ชน. ว่าเงินเดือนตำรวจมาจากภาษีประชาชน หากประชาชนที่นี่บาดเจ็บล้มตาย เขาจะไปถอดยศของทั้งสองคนโดยจะนำนักเรียนช่างกลทุกเเห่งมาปกป้องประชาชน พวกเราไม่เคยทำสิ่งผิดกฎหมายเเล้วจะมาสลายไม่ได้เพราะทำไมยังปล่อยให้ นปช. ชุมนุม

สุเทพกล่าวด้วยว่าเกิดมาจนอายุ 64 ปี มีโอกาสครั้งนี้ครั้งเดียวที่ได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนที่รักษาบ้านรักษาเมืองอย่างพลเมืองดี เป็นเจ้าของประเทศ พี่น้องที่อยู่ที่บ้านมีโอกาสเดียวในชีวิต อย่าพลาดโอกาสสำคัญในชีวิต ออกมาร่วมกอดคอต่อสู้กับเรา มาโชว์พลังที่ยิ่งใหญ่ของคนที่หัวใจรักชาติ ให้ทรราชมันเห็นสักที พวกเราชาวราชดำเนิน รอท่านทั้งหลายอยู่ที่นี่ ไม่ว่าอยู่จังหวัดไหนสะดวกเดินทางมาได้มาเลยครับ ถ้าไม่สะดวกไปที่ศาลากลางทุกจังหวัดและเตรียมพร้อม 100% รอฟังสัญญาณจากราชดำเนิน วันที่ 11 พ.ย. เวลา 18.00 น. โดยหลังการปราศรัยมีผู้ชุมนุมโห่ร้องขานรับนายสุเทพอย่างกึกก้อง

 

โฆษกรัฐบาลระบุที่สุเทพปราศรัยว่าจะมีการส่งสไนเปอร์นั้นไม่เป็นความจริง

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ เนชั่นทันข่าว รายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลขอปฏิเสธข่าวที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เเกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ารัฐบาลจะส่งสไนเปอร์มายิงสองนี้ และกล่าวว่าขณะนี้ทุกฝ่ายต้องการเห็นนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ เดินขึ้นศาลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า จากการสั่งการให้ใช้อาวุธเกินความจำเป็นในการสลายการชุมนุมปี 2553 จนมีคนตายนับร้อยศพ และบาดเจ็บนับพันราย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่รัฐบาลจะต้องไปทำร้ายแกนนำพรรคประชาธิปัตย์

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า เพราะเรื่องความเห็นต่างทางการเมือง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยที่ย่อมคิดไม่เหมือนกันได้ แต่ไม่ถึงกับต้องฆ่าแกงหรือเอาชีวิตกัน หากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติจนถึงที่สุดก็แค่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินเท่านั้นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กัมพูชาฉลอง 60 ปี ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส

Posted: 10 Nov 2013 05:41 AM PST

เหล่าผู้นำกัมพูชา นักการทูต และนักศึกษา เข้าร่วมพิธีฉลองวันประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2496 กษัตริย์นโรดม สีหมุนี เรียกร้องให้เกิดความกลมเกลียวในชาติ หลังจากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม

ส่วนหนึ่งของพิธีฉลองครบรอบ 60 ปี การประกาศเอกราชของกัมพูชาจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 56 ที่มา: TVK/youtube.com

สุนทรพจน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 56 ที่มา: TVK/youtube.com

10 พ.ย. 2556 - เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2556 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชามีการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส โดยสำนักข่าวแห่งกัมพูชารายงานว่ามีประชาชนชาวกัมพูชาหลากหลายสถานะเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองที่หน้าพระบรมมหาราชวังของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี โดยในงานพิธีมีการเรียกร้องให้เกิดความกลมเกลียวในชาติ เพื่อให้ประเทศมีสันติภาพและการพัฒนา

ในพิธีการยังมีผู้เข้าร่วมคือเฮง สำริน ประธานสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชา, นายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซน, เสชุม (Say Chhum) รองประธานวุฒิสภาหมายเลขหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ, กลุ่มทูตจากต่างประเทศ, กลุ่มทหาร และนักศึกษารวมแล้วทั้งหมด 20,000 คน

สำนักข่าวแห่งกัมพูชากล่าวถึงงานเฉลิมฉลองโดยใช้คำว่าเป็นงานพิธีมงคล โดยกษัตริย์กัมพูชาได้กล่าวเรียกร้องให้มีความกลมเกลียวในชาติภายใต้กฏหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องประเทศและช่วยสร้างเสริมประเทศในทุกส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจขณะที่ประเทศยังมีสันติและเสถียรภาพทางการเมือง

ทางด้านสำนักข่าวซินหัวเปิดเผยว่ากษัตริย์ของกัมพูชายังได้วางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์อิสรภาพ หรือ "วิเมียนเอกเรียด" ก่อนจะมีการจุดคบเพลิงที่อนุสาวรีย์ ซึ่งคบเพลิงนี้จะปล่อยให้มีไฟอยู่เป็นเวลา 3 วัน

กษัตริย์สีหมุนียังได้กล่าวแสดงความรู้สึกสำนักในบุญคุณของพระบิดาคือสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ผู้เรียกร้องให้มีเอกราช โดยนายกฯ ฮุนเซนก็ได้กล่าวไปในทางเดียวกันโดยบอกว่าประชาชนชาวกัมพูชาไม่เคยลืมสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ผู้สละแรงกายแรงใจให้ประเทศมีเอกราช

สำนักข่าวซินหัวกล่าวว่าก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง จากการที่ฮุนเซนชนะการเลือกตั้งแต่ฝ่ายค้านปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและมีการบอยคอตต์สภาที่มาจากการจัดตั้งโดยรัฐบาล

ทางด้านสำนักข่าวแห่งกัมพูชาระบุว่ามีผู้นำต่างชาติจำนวนมากรวมถึงบารัก โอบาม่า ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีต่อเหล่าผู้นำกัมพูชา ในฐานะครบรอบ 60 ปีการประกาศเอกราช

โดย ปธน. โอบาม่า ได้กล่าวแสดงความยินดีผ่านจดหมายถึงกษัตริย์สีหมุนี เนื้อความในจดหมายระบุอีกว่าโอบาม่าหวังให้กัมพูชาจะเดินหน้าไปสู่อนาคตที่มีความมั่งคั่งและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งยังแสดงถึงความเป้นมิตรและกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากประเทศอื่นๆ เช่น จากประเทศบรูไน, เวียดนาม, จีน, พม่า, รัสเซีย, ตุรกี ฯลฯ ร่วมแสดงความยินดีต่อผู้นำกัมพูชา

ประเทศกัมพูชาเคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลา 90 ปี ก่อนที่จะได้รับเอกราชในวันที่ 9 พ.ย. 2496

 

เรียบเรียงจาก

Cambodia marks 60th anniversary of independence from French rule, Xinhua, 09-10-2013 http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-11/09/c_132873321.htm

Cambodia Marks 60th Anniversary of Independence Day, AKP, 09-10-2013  http://www.akp.gov.kh/?p=38533

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงอิสระเชียงใหม่-ลำพูน หนุน 10000 up เตรียมยื่นหนังสือ ม.เชียงใหม่

Posted: 10 Nov 2013 04:53 AM PST

10 พ.ย. 2556 เวลาประมาณ 12.00น. ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ส สาขาประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่  กลุ่มแดงอิสระเชียงใหม่-ลำพูน  นำโดยอภิชาติ อินสอน  หรือดีเจอ้วน และภูมิใจ ไชยา หรือดีเจต้อม ได้นัดรวมตัวกันเพื่อแสดงพลังต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง โดยกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสนับสนุนกิจกรรม "10000 up" ที่ริเริ่มโดยสมบัติ บุญงามมอนงค์ หรือบก.ลายจุด ที่จัดที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ส สี่แยกราชประสงค์ในวันเดียวกัน

กิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คนประกอบด้วยคนเสื้อแดง  และเยาวชนนักศึกษา  ได้ถ่ายภาพร่วมกันพร้อมกับป้ายสัญลักษณ์ที่เตรียมมา  ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วต่างก็แยกย้ายกันไป  โดยทางกลุ่มได้แจ้งข่าวว่าจะนัดกันไปยื่นหนังสือคัดค้านต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่ 12 พ.ย.นี้

"ที่อาจารย์มช. นำสถาบันการศึกษาไปสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่จะล้มล้างรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จริงๆ พรรคประชาธิปัตย์ต้องถอนตัวแล้วเพราะรัฐบาลได้ถอนกฎหมายออกมาแล้ว  ตอนนี้มันแปรสภาพจากการประท้วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลายเป็นล้มรัฐบาลแล้ว  คนเสื้อแดงเราจะปกป้องรัฐบาลของเราจากพวกที่คิดล้มล้างทุกรูปแบบ" ดีเจต้อมกล่าว

ต่อคำถามว่าจะระมัดระวังไม่ให้ซ้ำรอยเกิดการปะทะกันด้วยความรุนแรงระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลกับคนเสื้อแดงอย่างไร  ดีเจต้อมตอบว่า "ความเห็นคนละกลุ่มเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น  การชุมนุมที่ไหนก็ตามจะมีฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  จะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง  จะหนักจะเบาก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชุมนุมจะทำอย่างไร  ถ้าจะแรงก็ต้องถอยออกมาหนึ่งก้าว  ปกติเราจะพูดกับชาวบ้านตลอดว่าเราจะไม่ใช้ความรุนแรง  เราไม่ปะทะด้วย"

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท.: เตรียมผ่านร่างฯ คุมเนื้อหาสื่อทีวี

Posted: 10 Nov 2013 02:34 AM PST

จันทร์นี้ บอร์ด กสท. เตรียม ผ่านร่างฯ ประกาศกำกับเนื้อหารายการวิทยุโทรทัศน์ หลังสำนักงานปรับแก้อีกรอบก่อนขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป ด้านประมูลดิจิตอล เตรียมออกร่างฯ กำกับการแข่งขันป้องกันการผูกขาด 2 ฉบับ และ ร่างฯ ป้องกันการครอบงำ-ครองสิทธิข้ามสื่อ

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.  เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ 11 พ.ย. 2556  เตรียมผ่าน (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางโทรทัศน์วิทยุ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการที่สามารถสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไข หรือพักใช้ใบอนุญาตได้) ภายหลังจากครั้งที่แล้ว เสียงส่วนใหญ่มีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างไปปรับแก้ไข ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. อีกครั้ง และจะเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อรับทราบและขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกรอบ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภค

สุภิญญา ระบุว่า แม้จะมีการปรับเนื้อหาในร่างประกาศบางส่วนแล้วก็ตาม แต่พบความกังวลว่าอาจจะขยายอำนาจการใช้ดุลยพินิจของบอร์ด กสท. ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่อาจขัดต่อความเป็นจริง และอาจเกิดการเลือกปฏิบัติได้ เพราะที่ผ่านมาการออกอากาศเนื้อหาที่บิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ว่าจะในละคร ข่าว หรือรายการต่างๆ สื่อและสังคมจะช่วยตรวจสอบเองตามหลักการประชาธิปไตย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มาตรา 39 และ 40 ได้กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือวิชาชีพมีหน้าที่กำกับดูแลตนเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมทางวิชาชีพ ซึ่งหากการออกอากาศกระทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เรามีกระบวนการยุติธรรมรองรับตรงนี้ แต่ไม่น่าจะเป็นการให้ กสท. พิจารณาว่าความถูกต้องทั้งหมด

สุภิญญา กล่าวต่อว่า ดูเหมือนว่าร่างฯ ฉบับนี้ มีหลายเรื่องเป็นหลักการที่ดี แต่ยังเป็นเรื่องของจรรยาบรรณที่ควรจะออกมาเป็นแนวทางในการตักเตือนกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งไม่ควรนำมาบรรจุไว้ใน "หมวด 1 เนื้อหารายการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ" เพราะขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้รองรับสิทธิเสรีภาพตรงนี้ไว้ หากสื่อไม่ได้บิดเบือนหรือไปกระทบสถาบันที่สำคัญอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ระบุว่า เร็วๆ นี้ ตนเองจะนำเสนอแนวคิดร่างฯ ทางเลือกในการกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 แบบที่ไม่ขัดเจตนารมณ์กฎหมายและหลักสิทธิเสรีภาพ

นอกจากนี้มีวาระน่าสนใจติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน พ.ศ. ... และร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาและมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดลักษณะและมาตรการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดโดยการควบรวมกิจการ การครองสิทธิข้ามสื่อ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... 
               

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ คาดยอดคนตายเกินหมื่นคน

Posted: 10 Nov 2013 02:15 AM PST

ทางการฟิลิปปินส์คาดผู้เสียชีวิตถึงหมื่นคนจากกรณีพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ เมืองที่ถูกถล่มเสียหายหนักที่สุดคือเมืองตาโคลบัน บนเกาะเลเต้

11 พ.ย. 2556 บีบีซีรายงานอ้างแหล่งข่าวทางการของฟิลิปปินส์ว่า เมืองตาโคลบันซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นมากที่สุดอาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10,000 คน ขณะที่เกาะซามาร์ที่อยู่ใกล้เคียงมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 300 ราย สูญหายอีก 2,000 คน

สำหรับตัวเลขผู้ประสบภัยที่สหประชาชาติรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต1,200 คน โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนราว 4.3 ล้านคน ใน 36 จังหวัด

ปัญหาหลักขณะนี้คือ ผู้ประสบภัยไม่มีอาหารและน้ำสะอาด เครื่องนุ่งห่มและที่พัก เนื่องจากไต้ฝุ่นได้พัดทำลายบ้านเรือนจำนวนมาก

องค์กรยูนิเซฟได้เตรียมยา และเวชภัณฑ์เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 60 ตัน โดยประมาณการว่าจะมีผู้ประสบภัยที่เป็นเด็กอยู่ราว 1.7 ล้านคน

ทั้งนี้ คาดว่าไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนจะพัดเข้าสู่ประเทศเวียดนามในช่วงเช้ามืดของวันจันทร์ ซึ่งขณะนี้มีการอพยพประชาชนบริเวณตอนเหนือของประเทศแล้วราว 600,000 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมนุมราชประสงค์ บก.ลายจุดเรียกร้องยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ขอโทษประชาชน

Posted: 09 Nov 2013 11:35 PM PST

ชุมนุม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" ประกาศไม่ลืมคนตาย ไม่ลืมเหตุสลายชุมนุมปี 2553 และค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย 'บก.ลายจุด' เรียกร้องยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ขอโทษประชาชน ระบุเคารพผู้ร่วมชุมนุมเป่านกหวีด แต่เตือนระวังหลงคารม 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' เพราะเพิ่งถูกอัยการฟ้องข้อหาทำให้คนตาย

10 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (10 พ.ย.) ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้มารวมตัวกันบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ ตัดกับ ถ.พระราม 1 เพื่อร่วมกิจกรรม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" ตามที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงนัดหมาย โดยผู้ชุมนุมที่มาถึงก่อนเวลานัดหมายได้ไปรวมกันในร้านแมคโดนัลด์ บ้างก็รอร่วมกิจกรรมบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า

บก.ลายจุดระบุชุมนุมราชประสงค์เพราะไม่ลืมเหตุการณ์ปี 53

ทั้งนี้ สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า "เรามาวันนี้เพื่อจะมายืนในจุดที่เราเคยยืน เรามาแสดงจุดยืนว่าเรานั้นไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เรียกว่าเหมาเข่งสุดซอย อะไรก็ว่าไป แล้วไปนิรโทษกรรมให้ฆาตรกรที่สังหารประชาชนแบบที่อย่างเรียกว่า หน้าด้านๆ เอิกเริก ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ แล้วดูเหมือนคนในกรุงเทพฯ จะแกล้งลืมไปแล้ว เราจึงมายืนที่เดิมเพื่อบอกว่า เราไม่ลืมฆาตรกร และที่นี่คือทุ่งสังหาร"

"ดังนั้น คนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ และคนที่ไปเป่านกหวีด ผมก็เคารพว่าเขาก็ไม่เห็นด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเช่นกัน ดังนั้นผมไม่คัดค้านคนเป่านกหวีด เขาก็มีความชอบธรรมที่จะเป่านกหวีด แต่ผมอยากบอกคนที่เป่านกหวีดว่า คุณจะต้องเข้าใจมากกว่าสิ่งที่คนบนเวทีพรรคประชาธิปัตย์พูด คนบนเวทีพรรคประชาธิปัตย์เขาถูกข้อหาฆ่าคนตาย ดังนั้นเวลาคุณไปหลงคารมคนพวกนี้คุณต้องระวัง ผมจะช่วยบอกว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่บอกคือเรื่องอะไร"

 

เรียกร้องคำขอโทษจากยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์

"ส่วนสิ่งที่ผมจะส่งสารไปถึงรัฐบาลก็คือรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ คือคุณต้องขอโทษ คุณต้องขอโทษประชาชน และที่สำคัญต้องขอโทษคนเสื้อแดงเพราะคนเสื้อแดงเลือกคุณมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณต้องขอโทษ นี่เป็นขั้นต่ำ เป็นอย่างน้อยที่สุดที่คุณต้องทำสิ่งนี้ และผมหวังว่าคุณยิ่งลักษณ์จะมีความกล้าหาญเหนือคุณอภิสิทธิ์ โดยการออกมาเป็นผู้ริเริ่มและกล่าวคำนี้ ทำไมนายกรัฐมนตรีกล่าวคำขอโทษมันยากหรือ มันไม่ยากหรอก ไม่อย่างนั้นคนที่เขาไม่พอใจต่อสิ่งนี้ คุณจะทำอย่างนี้ได้ไง ใส่ พ.ร.บ.เหมาเข่งเข้าไปแบบนี้ พอเห็นว่าไม่รอดก็ถอย ทำอย่างนี้แล้วจบกัน ไม่ได้ ไม่ได้ เป็นนักการเมืองทำแบบนี้ไม่ได้ผมไม่ยอม"

ส่วนกรณีที่นักการเมืองแต่ละพรรคลงนามในสัตยาบรรณว่าจะไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น สมบัติกล่าวว่า นั่นนั่นเป็นการสร้างความมั่นใจ แต่ไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบ เป็นการแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลจะถอนร่าง จะไม่ดันทุรังทำสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ผมพูดคือเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าได้เท่าทุนแล้วจบ คุณต้องขอโทษ

มีผู้ถามว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นเรื่องสภา สมบัติตอบว่า สังคมรู้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนมาจากผู้นำของพรรค ดังนั้นพรรคจะมาอ้างว่าเป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ "ผมว่ายิ่งพูดยิ่งมีเรื่อง อย่าพูดแบบนี้ คุณรับเถอะ ทำผิดคุณก็ยอมรับ ก้มหัวให้ต่ำเหมือนนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ก้มได้เท่าไหร่คุณต้องก้มให้ได้มากเท่านั้น แล้วสังคมจะให้อภัยคุณ แต่ถ้าคุณไม่แสดงออกมา ผมขอถามว่าสังคมจะให้อภัยคุณได้อย่างไร"

"ขอเรียกร้องให้ทั้งสองรัฐบาลขอโทษ และอย่าคิดว่าผมลืมนะคุณอภิสิทธิ์ ฆ่าคนอื่นตายแล้วมาเล่นบทพระเอก แต่ในข้อเท็จจริงคุณอภิสิทธิ์ถูกอัยการฟ้องว่าทำคนอื่นตาย นี่เป็นทักษะของอภิสิทธิ์ แต่หลอกคนเสื้อแดงไม่ได้" สมบัติกล่าว

 

เคลื่อนไปรวมตัวที่แยกราชประสงค์ ตะโกน "ที่นี่มีคนตาย"

ต่อมาในเวลา 12.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยมากันมากขึ้น โดยเริ่มรวมตัวกันบริเวณหน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ และบริเวณถนนราชดำริ ใกล้กับเกษรพลาซ่า ก่อนที่ในเวลานัดหมาย ผู้ชุมนุมหลายพันคนได้ลงไปสมทบกันที่แยกราชประสงค์ และบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS มีการตะโกนว่า "ที่นี่มีคนตาย" และ "อภิสิทธิ์ ฆาตกร สุเทพ ฆาตกร" โดยสมบัติ ปราศรัยเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำขอโทษจากการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวคำขอโทษจากเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 และเรียกร้องให้ ส.ว. ปลดล็อกความขัดแย้ง ทั้งนี้สมบัติยังประณามทั้งอภิสิทธิ์ และสุเทพ ที่มีบทบาทสลายการชุมนุมในปี 2553 แล้วในวันนี้ไปปราศรัยบนเวทีที่ ถ.ราชดำเนินด้วยว่าไม่มีมาตรฐานทางการเมือง

ตอนหนึ่งสมบัติยังกล่าวถึงกลุ่มตุลาการที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยว่า ถ้าคุณออกมาเป่านกหวีดได้ ขอเรียกร้องให้ช่วยนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 และขอสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมือง

สมบัติยังเรียกร้องให้คนเสื้อแดง ให้มีความตื่นตัว ช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หากมีผู้ใช้มวลชนล้มล้างรัฐบาลเพื่อเข้าสู่อำนาจ และยังเตือนรัฐบาลว่า หากรัฐบาลนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือบิดพลิ้วแบบนี้อีก เขาจะนำมวลชนมาต่อต้านรัฐบาล

นอกจากนี้โดยรอบแยกราชประสงค์ยังมีคนเสื้อแดงกลุ่มย่อย และกลุ่มทางสังคมต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ในเวลาประมาณ 14.00 น. เริ่มมีผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ยังชุมนุมอยู่ได้รอเข้าร่วมกิจกรรมผูกผ้าแดงที่แยกราชประสงค์ในเวลา 15.00 น. และการปราศรัย "ประชาชน 3.0" ที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ใกล้ห้างเกษรพลาซ่า

 

ผู้ร่วมชุมนุมระบุไม่เห็นด้วยกับเหมาเข่ง และต้องการให้ปล่อยนักโทษการเมือง

สำหรับความเห็นของผู้ร่วมกิจกรรม "หมื่นอัพ เราไม่ลืม" นั้น ปกรณ์ ปาการเสรี นักสิ่งแวดล้อม อายุ 70 ปีกล่าวว่า เขารู้สึกโกรธมากกับพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งออกมา ประกอบกับการที่รายการในช่องเอเชียอัพเดทถูกถอด อย่างไรก็ตามที่มาวันนี้ เพราะต้องการแสดงว่าคนเสื้อแดงยังออกมาเพื่อปกป้องรัฐบาลจากความพยายามโค่นล้มรัฐบาลจากฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังคงชุมนุมต่อไปไม่เลิก แม้รัฐบาลจะได้ออกมาถอนร่างดังกล่าวแล้ว เพราะต้องการจะยื้อให้ถึงวันที่ตัดสินคดีเขาพระวิหาร และรอให้เกิดเงื่อนไขเพิ่มขึ้นไปอีก

"เห็นเขาดีกันแล้วก็ดีใจด้วย ถ้าแตกกันก็ไม่ชนะ จะแพ้เขาทั้งหมด" ปกรณ์กล่าว

เขากล่าวว่า แม้จะรู้สึกโกรธกับเพื่อไทยที่พยายามผลักดันเหมาเข่ง แต่คราวหน้าก็คงจะยังเลือกพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะเลือกประชาธิปัตย์ไม่ลง หากว่ามีพรรคทางเลือก ก็ต้องดูก่อนว่ามีแนวโน้มน่าจะชนะแค่ไหน ถ้าไม่มีก็ต้องเลือกพรรคที่เลือกทางเดียวกับเรา

ส่วนสมชาย (ขอสงวนนามสกุล) อาชีพค้าขาย อายุ 55 ปี กล่าวว่า จำเป็นต้องออกมาชุมนุม เพื่อปกป้องรัฐบาลนี้ที่เลือกมากับมือ แม้ว่ารัฐบาลแสดงจุดประสงค์ว่าจะถอยแล้ว แต่กลุ่ม 40 ส.ว. ยังไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในการถอนร่างดังกล่าว และถึงแม้คนเสื้อแดงจะไม่พอใจกับพรรคเพื่อไทย แต่เขาเองก็เข้าใจเหตุผลที่รัฐบาลต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากว่าเป็นการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ก็ไม่พอใจกับการให้อภัยโทษทุกฝ่ายๆ เท่าๆ กัน เพราะรัฐบาลต้องค้นหาความจริงให้ปรากฎก่อน แล้วค่อยมายกโทษให้กันได้

ด้านสุรพงษ์ กุลบุตร วัย 59 ปี อาชีพนักดนตรี กล่าวว่าเห็นด้วยกับพ.ร.บ. นิรโทษกรรมร่างของวรชัย เหมะ มากที่สุด เนื่องจากจำเป็นต้องให้นักโทษที่ติดอยู่ในคุกออกมาก่อน มาเหมารวมคนที่สั่งฆ่าประชาชนไปด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แม้อาจจะสามารถส่งคดีเข้าสู่ศาลโลกได้ภายหลัง แต่รัฐบาลก็ควรจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีสอบสวนให้เรียบร้อยก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายสันติวิธีวอนแกนนำกำหนดข้อเรียกร้องให้ชัด รัฐไม่ใช่ความรุนแรง

Posted: 09 Nov 2013 10:36 PM PST

10 พ.ย.2556 เครือข่ายสันติวิธี และองค์กรแนวร่วม โพสต์แถลงการณ์ต่อสถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ "ขอวิงวอนให้ใช้ความอดกลั้นระวังไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตทั้งในการชุมนุมและการควบคุมดูแลการชุมนุม" ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุข้อเรียกร้องต่อแกนนำการเคลื่อนไหวให้ประกาศเป้าหมายและข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ดูแลการชุมนุมให้สงบปราศจากอาวุธ ตำรวจไม่ใช้ความรุนแรงหรืออาวุธที่เป็นภัยต่อชีวิต กำหนดช่องทางสื่อสารการเคลื่อนไหวทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนเพื่แป้องกันความเข้าใจผิด รวมไปถึงการยุยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างผู้เห็นต่าง รวมทั้งรัฐต้องไม่ระดมหรือส่งเสริมให้เกิดการเผชิญหน้า สื่อมวลเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ตลอดจนควบคุมและเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวสารที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

แถลงการณ์

ขอวิงวอนให้ใช้ความอดกลั้นระวังไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิต

ทั้งในการชุมนุมและการควบคุมดูแลการชุมนุม

 

บุคคลและหน่วยงานด้านสันติวิธีขอวิงวอนผู้นำการชุมนุมและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมและรัฐบาล ให้กระทำการทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถ เพื่อป้องกันมิให้มีการประทุษร้ายต่อชีวิตระหว่างกัน โดยถือว่าชีวิตเป็นสิ่งประเสริฐที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากปลิดปลงลงแล้ว จะเป็นการสูญเสียต่อครอบครัวและสังคมอันมิอาจประมาณได้ เราจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

1)         ขอให้ผู้นำการชุมนุมประกาศเป้าหมายและข้อเรียกร้องที่ชัดเจน และขอให้ผู้นำควบคุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ

2)         ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลการชุมนุมว่า จะไม่มีการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะต้องไม่ใช้อาวุธใด ๆ ที่อาจเป็นภัยต่อชีวิตเป็นอันขาด

3)         ขอให้มีการกำหนดช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วในทุกระดับ อาทิ ระดับการ์ดของการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ระดับผู้นำการชุมนุมกับผู้นำฝ่ายตำรวจ และระดับผู้นำการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อสื่อสารให้ทราบการเคลื่อนไหวซึ่งกันและกันอันจะช่วยป้องกันความเข้าใจผิด เพื่อป้องกัน/ระงับความรุนแรงอันเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และเพื่อป้องกันการกระทำของฝ่ายที่ต้องการยุยงหรือจุดชนวนความรุนแรงเพื่อประโยชน์ของตนด้วย

4)         ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีลักษณะยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง หรือเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจะต้องไม่ระดมหรือส่งเสริมกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลให้เผชิญหน้ากับกลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล

5)         ขอให้สื่อสารมวลชนเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน ตลอดจนควบคุมและเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวสารที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

บุคคลและหน่วยงานด้านสันติวิธีหวังว่าจะมีการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ ด้วยการรับฟังซึ่งกันและกัน และมีการไตร่ตรองทางเลือกต่าง ๆ ด้วยเหตุผล โดยคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการใช้สันติวิธีและการเคารพสิทธิในชีวิตเหนือสิ่งอื่นใด

1. เครือข่ายสันติวิธี

2. องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย

3. กป. อพช

4. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

5. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

6. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค

7. มูลนิธิเพื่อนหญิง

8. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

9. ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

10. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

11. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

12. น.พ. วันชัย วัฒนศัพท์ ที่ปรึกษา เครือข่าย นักสันติวิธีเพื่อประเทศไทย

13. นายโคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

14. นางสาวงามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

15. นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

16. นายเอกพันธุ์ ปิณฑวนิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

17. นางสาววนิดา เจียมรัมย์ แอดมินเพจเครือข่ายสันติวิธี

18. นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ นักปฏิบัติการสันติวิธี

19. นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการอิสระ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานบ.จอร์จี้ ประกาศตั้งสหภาพ หลังเจรจารอบที่ 5 นายจ้างยันคำเดิม

Posted: 09 Nov 2013 09:34 PM PST

สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าวานนี้ (9 พ.ย.56) เวลา 14.00 น. ตัวแทนลูกจ้างบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ.เชียงใหม่เข้าเจรจากับตัวแทนนายจ้างครั้งที่ 5โดยผลปรากฏว่า บริษัทยังยืนยันคำเดิม โดยรับข้อเสนอทั้งหกข้อก่อนหน้านี้  แต่ประเด็นข้อเรียกร้องเรื่อง การจ่ายเงินให้พนักงานรายชิ้นที่ทำได้จริงไม่ต่ำกว่า 310 บาท บริษัทยังคงยืนยันที่จะไม่พิจารณาในปีนี้ แต่จะพิจารณาในปีหน้า รวมถึงไม่สามารถยกเลิกใบลาออกของพนักงานตามที่ฝ่ายตัวแทนลูกจ้างเสนอมาในการเจรจาครั้งที่แล้วได้

ส่วนเรื่องโบนัส บริษัทยังยืนยันที่จะพิจารณาเรื่องโบนัสให้ในปีหน้าเช่นกัน โดยปีนี้จะจัดให้มีโครงการเงินรางวัล โดยมีเงื่อนไขตามที่ฝ่ายลูกจ้างเสนอไปแล้ว

อรวรรณ ไชยวงศ์ ตัวแทนลูกจ้าง กล่าวว่า  ผลการเจรจาวันนี้ ทำให้พวกตนได้ยื่นข้อเสนอไปว่าจะเจรจาข้อเสนอที่ยังลงตัวใหม่ โดยอยากให้มีผู้มีอำนาจในการเจรจามาตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งตัวแทนนายจ้างได้นัดเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 14 พย. ส่วนเรื่องโครงการเงินรางวัล เป็นโครงการเข้างาน 8 ชั่วโมงเต็ม คนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รางวัลเป็นโบนัสหนึ่งเดือน โดยหนึ่งสัปดาห์ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ขาด ลา นอกกฎระเบียบ หรือมาสายเท่านั้น ในระยะสองเดือนนี้ถ้าใครเข้าร่วมจะได้รางวัล

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เวลาประมาณ 17.00 น. หลังการเจรจาคนงานได้รวมตัวชุมนุมประกาศตั้ง "สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์" ซึ่งนับเป็นสหภาพแรงงานแห่งที่ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจาก "สหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์" ที่ลุกขึ้นมาจดทะเบียนสหภาพเพื่อคัดค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปอยู่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

ต่อจากนั้นได้มีการเสวนาจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกับคนงาน เรื่อง สหภาพแรงงาน โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย รศ.ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ สุกานตา สุขไผ่ตา  ตัวแทนคนงานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน และมีภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ที่มา: ประชาธรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Posted: 09 Nov 2013 07:23 PM PST

หากอันตรายเกิดขึ้นกับพี่น้องที่มาร่วมชุมนุมแม้แต่คนเดียว ก็อย่าหวังว่าโคตรตระกูลนี้จะได้อยู่ในแผ่นดินนี้ได้อีกต่อไป ทั้งโคตรไม่ต้องเอ่ยชื่อว่าโคตรไหน

9 พ.ย.56 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัย ณ การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น