โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คณาจารย์รัฐศาสตร์ มช.ฯ เรียกร้อง ส.ว. ยับยั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 05 Nov 2013 11:34 AM PST

คณาจารย์รัฐศาสตร์ มช.ฯ ระบุ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เพราะในอนาคตทั้งผู้สั่งการ-ผู้กระทำรุนแรงทางการเมืองจะคาดหมายได้ว่าไม่ต้องรับผิดใดๆ แนะออก กม.นิรโทษกรรมต้องฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวาง ลงท้ายด้วยประชามติ

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

6 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดี และรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และจันทนา สุทธิจารี หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ฯลฯ ร่วมประกาศแถลงการณ์ในนามของคณาจารย์แสดงจุดยืนและความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดนมีเนื้อหาและข้อเสนอดังนี้

 

000

แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 โดยมีสาระสำคัญ ให้นิรโทษกรรมแก่ การกระทำของบุคคล กลุ่มบุคคล คณะบุคคล องค์กร และประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง และความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 โดยครอบคลุมทั้งผู้กระทำการหลักในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และครอบคลุมทั้งการกระทำในทางการเมือง และการกระทำความผิดในลักษณะการทุจริต คอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นดังนี้

1. ด้วยเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และอาจทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสถาบันนิติบัญญัติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของประเทศไทย เนื่องจากมีการกล่าวอ้างถึง ระบบเสียงข้างมากในกระบวนการนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร โดยละเลยที่จะให้ความสำคัญกับ หลักนิติธรรม และเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ต้องเป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่สังคมอย่างแท้จริง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

2. แม้ว่าเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะกล่าวถึงการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสิทธิของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมไปถึงผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่อยู่ในข่ายของการเป็นผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบในผลของการสั่งการหรือผลของการกระทำที่เกิดขึ้น จึงอาจเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องที่ถูกนำไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปในอนาคต เนื่องจากแม้เป็นผู้สั่งการ หรือกระทำการให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อการกระทำดังกล่าว โดยอ้างบรรทัดฐานจากกรณีกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ การณ์ดังนี้จึงกระทบต่อหลักนิติธรรม และจริยธรรมในการออกกฏหมาย

3. ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดทบทวนถึงความชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องตามหลักนิติธรรมของการออกกฏหมายที่มีลักษณะละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับกว้างขวางเช่นนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐานทางกฏหมายที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการเฉพาะ แม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จะให้อำนาจสถาบันรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฏหมายโดยใช้หลักเสียงข้างมากในรัฐสภา หากทว่า ระบอบประชาธิปไตยก็ต้องการให้เสียงข้างมากที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ละเลยเสียงข้างน้อยที่มีเหตุผล และประการสำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นสำคัญ

4. ในส่วนของอำนาจบริหาร คือรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฏหมาย ควรที่จะทบทวนถึงความเหมาะสม ถูกต้อง ชอบธรรมของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าวให้ถ่องแท้ และใช้บทบาทของอำนาจบริหารในการตรวจสอบและถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อหยุดยั้งความขัดแย้ง และวิกฤติศรัทธาของสังคมอันจะเกิดจากการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ ซึ่งย่อมกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย

5. บทบาทของวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ กลั่นกรองกฏหมายเพื่อความรอบคอบและให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ ได้โปรดทบทวนถึงความถูกต้องตามหลักนิติธรรมของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การทบทวนแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

6. ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อใช้อำนาจในการตีความร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ว่าขัดแย้งกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

7. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง บนพื้นฐานของการแสดงเหตุผล และเป็นไปอย่างสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้สถาบันรัฐสภา ทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจในฐานะผู้แทนของประชาชน ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

8. พระราชบัญญัติกฏหมายนิรโทษกรรมเป็นกฏหมายที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยต่อไป จึงควรเป็นกฏหมายที่ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วม

ในกระบวนการนิติบัญญัติด้วยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายโดยการออกเสียงลงประชามติ

คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชุมนุมไม่เลิก จนกว่า กม.นิรโทษกรรมจะหายไปจากสภา

Posted: 05 Nov 2013 10:56 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ อัดท่าทียิ่งลักษณ์หน้าไม่อาย ลั่นประชาชนรู้ดีว่าต้องการลบความผิดให้ 'ทักษิณ ชินวัตร' - ที่ประธานวุฒิสภาแถลงคว่ำร่างนิรโทษกรรมก็เป็นการสับขาหลอก และประกาศจะชุมนุมไม่เลิก จะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะเด็ดขาด

โฆษกผู้ชุมนุม ปชป. พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุว่าท่าทียิ่งลักษณ์เป็นแค่การโยนเผือกร้อน

6 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ระหว่างการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคประชาธิปัตย์ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกผู้ชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้แถลงท่าทีของแกนนำต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า ผู้ชุมนุมและแกนนำรู้สึกผิดหวังกับแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีความชัดเจน และยังแสดงท่าทีสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อีกทั้งมองว่า นายกรัฐมนตรีได้โยนเผือกร้อนให้วุฒิสภา โดยปัดความรับผิดชอบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และรู้สึกไม่พอใจนายกรัฐมนตรีกล่าวหาผู้ชุมนุม ว่ามาชุมนุมเพื่อมาต่อต้านล้มล้างรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย

'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ประกาศจะชุมนุมไม่เลิก จนกว่า กม.นิรโทษกรรมจะหายไปจากสภา

ต่อมาเวลาประมาณ 19.45 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปปัตย์ ในฐานะแกนนำ จะขึ้นเวทีปราศรัยแถลงมติแกนนำ และตอบโต้ต่อแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวตอนหนึ่งอ้างว่ามีผู้ร่วมอุดมการณ์การชุมนุมจากเวทีสามเสนมาถึงเวทีที่ ถ.ราชดำเนินแล้วเป็นล้านคน

สุเทพกล่าวด้วยว่า มีความชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ยอมรับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เพื่อล้างผิดให้คนคอร์รัปชั่น และแทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะรู้สำนึก แต่กลับออกมาพูดแถลงการณ์ ตีหน้าเศร้าบอกความต้องการว่าอยากจะให้คนสามัคคี ซึ่งนอกจากจะไม่สำนึกแล้วยังโยนความผิดให้ประชาชนที่ต่อต้านนิรโทษกรรม ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง และอ้างว่าเป็นเรื่องของวุฒิสภา อยากเรียนกับนายกรัฐมนตรีว่าหน้าไม่อายจริงๆ ทำอะไรรู้อยู่แก่ใจ โยนความผิดให้ผู้อื่นทั้งนั้น พี่น้องประชาชนรู้ดีว่านายกรัฐมนตรีต้องการลบความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ยังปฏิเสธหน้าไม่อาย บอกว่าประชาชนคิดไปเองว่ากฎหมายนี้ล้างผิดให้พี่ชาย อยากทราบว่านายกฯ โง่จริงหรือแกล้งโง่

สุเทพ กล่าวอีกว่า นายกฯ ต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ผลักดันกฎหมายนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ประธานวุฒิสภาออกมารับลูกว่า จะคว่ำกฎหมาย ซึ่งประธานคนนี้ทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ ซึ่งกำลังจะหลอกให้ประชาชนตายใจ สับขาหลอกประชาชน ตนสัญญาว่าจะไม่ยอมให้คนพวกนี้หลอกประชาชนอีกต่อไป ทั้งนี้แกนนำทุกคนได้ติดตามการแถลงการณ์ของนายกฯ ประธานวุฒิสภา และลิ่วล้อพรรคเพื่อไทยทุกคน จึงจะขอยืนยันมติแกนนำว่าการต่อสู้ของพวกเราไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ การต่อสู้ของเรายังไม่จบสิ้น เราจะสู้ต่อไปจนชัยชนะเป็นของประชาชน และการสู้ครั้งนี้ไม่มีต่อรอง ไม่ใช่หยุดกฎหมาย หรือชะลอกฎหมาย แต่ต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ทันที ต้องไม่มีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ในสภาอีกต่อไป โดยเด็ดขาด นายกฯ สร้างปัญหาเองต้องแก้ไขให้ได้ เพราะไม่ใช่ความรับผิดชอบของประชาชนว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้ได้อย่างไร เพราะกรรมนี้เป็นกรรมที่นายกฯ ก่อขึ้น ต้องเลิกให้ได้ ถ้านายกฯ เลิกไม่ได้ประชาชนจะเลิกคุณเอง

สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "จะต่อสู้จนชัยชนะเป็นของประชาชนโดยเด็ดขาด แกนนำทุกคนจะยืนหยัดต่อสู้กับประชาชนจนกว่าจะได้รับชัยชนะที่สมบูรณ์เด็ดขาด ขอให้ประชาชนสามัคคีและมารวมพลังกับเราเพื่อชัยชนะที่เด็ดขาดของประชาชน เราจะต่อสู้ด้วยชีวิตกับสิ่งที่เราได้ปฏิญาณไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลบังกลาเทศ ลงโทษอาญา 300 ทหาร คดีกบฏนองเลือด 4 ปีก่อน

Posted: 05 Nov 2013 10:40 AM PST

กรณีทหารก่อกบฏจนมีผู้เสียชีวิต 74 รายในปี 2552 ศาลของบังกลาเทศได้ตัดสินให้จำเลยซึ่งเป็นทหารราว 300 นายจำคุกตลอดชีวิตและอีกส่วนหนึ่งต้องโทษประหาร โดยนี่ถือเป็นหนึ่งในคดีประวัติศาสตร์ของโลกที่มีพยานฝ่ายโจทก์มากถึง 654 คน

5 พ.ย. 2556 ศาลบังกลาเทศได้ตัดสินประหารชีวิตทหาร 152 นาย จากกรณีเหตุการก่อกบฏนองเลือดเมื่อปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีอีก 157 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิทักษ์ชายแดนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และมีพลเรือนอีก 23 คนต้องโทษฐานสมรู้ร่วมคิด ส่วนทหารอีก 200 นายถูกตัดสินให้พ้นผิด

ผู้พิพากษา โมฮัมหมัด อัคตารุสซามาน กล่าวว่า คดีนี้มีความโหดร้ายมากถึงขั้นละเมิดสิทธิในศพของผู้ตาย

มีทหารราว 823 นายถูกต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับเหตุจลาจลดังกล่าว โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นที่กองบัญชาการพลทหารปืนยาวในเมืองหลวงของบังกลาเทศ เมื่อนายทหารจำนวนหนึ่งไม่พอใจเรื่องค่าตอบแทนและเรื่องอื่นๆ ทำให้มีการสังหารหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยการขโมยอาวุธราว 2,500 ชิ้น แล้วบุกเข้าโจมตีการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจึงนำร่างฝังไว้ในหลุมหรือในท่อประปา

หลังจากนั้นการก่อกบฏก็ขยายไปทั่วประเทศเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ก่อนที่จะสงบลงโดยฝ่ายผู้ก่อการกบฏยอมจำนน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 74 ราย โดยมีจำนวน 57 รายเป็นเจ้าหน้าที่

ทหารซึ่งเป็นผู้ต้องหาจำนวนมากเข้ารับฟังการพิจารณาคดีในวันที่ 5 พ.ย. ที่ศาลพิเศษพลเรือนในกรุงธากา พวกเขาถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม, ทรมาน, สมรู้ร่วมคิด และข้อหาอื่นๆ โดยมีทหารราว 6,000 นายถูกศาลทหารสั่งจำคุกไปแล้วก่อนหน้านี้

หลังคำตัดสินมีผู้ต้องหาจำนวนมากตะโกนแสดงความไม่พอใจ โดยบางคนกล่าวว่าพวกเขาบริสุทธิ์ ขณะที่อีกคนหนึ่งตะโกนว่าเขาไม่ต้องการถูกจำคุกตลอดชีวิตและขอให้แขวนคอเขาเสีย

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษา อัคตารุสซามาน แสดงความคิดเห็นต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาคิดว่าทหารควรได้รับค่าจ้างมากขึ้นจริง และควรได้รับสิทธิในการผ่อนคลายความตึงเครียด โดยเล่าถึงสภาพว่าทหารในบังกลาเทศไม่มีเงินพอแม้แต่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนของกองทัพ

บาฮารูล อิสลาม หัวหน้าพนักงานอัยการกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเมื่อเทียบกับคดีรูปแบบเดียวกัน โดยมีพยานฝ่ายโจทก์มากถึง 654 คน

คดีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับกองทัพบังกลาเทศซึ่งมีอำนาจมาก โดยที่กองทัพรู้สึกไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา ตัดสินใจใช้วิธีการเจรจากับผู้ก่อกบฏแทนการอนุญาตให้ทหารเข้าโจมตี

 

เรียบเรียงจาก

Bangladesh mutiny death sentences, BBC, 05-11-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-24817887

Bangladesh convicts hundreds in mutiny case, Aljazeera, 05-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/asia/2013/11/bangladesh-mutiny-verdict-due-201311561736760822.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจญี่ปุ่นสอบถามดีเอสไอความคืบหน้าคดีของ 'ฮิโรยูกิ มูราโมโต'

Posted: 05 Nov 2013 09:31 AM PST

ผบ.ตำรวจสืบสวนระหว่างประเทศของญี่ปุ่นพบดีเอสไอ ตามคดี 'ฮิโรยูกิ' เสียชีวิต พร้อมสอบถาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีผลกับคดีหรือไม่ และกรณีที่อัยการสั่งฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ เกี่ยวพันกับคดีนี้อย่างไร

6 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) ว่า นายโนะบุยุกิ คะวะอิ ผู้บัญชาการและผู้อำนวยการกองปฏิบัติการสืบสวนระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประเทศญี่ปุ่น เข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบถามความคืบหน้าคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553

โดย พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ตำรวจญี่ปุ่นได้ติดตามความคืบหน้าคดีเป็นประจำ และมีการพบกันในระดับเจ้าหน้าที่หลายครั้งรวม 7 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งนี้ผู้บัญชาการกองปฏิบัติการสืบสวนฯ ของญี่ปุ่นได้สอบถามถึงผลการชันสูตรการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ และสอบถามถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่าจะมีผลอย่างไรกับคดีบ้าง ซึ่งพนักงานสอบสวนชี้แจงว่า กฎหมายในขั้นตอนดำเนินการ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าท้ายที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีเนื้ออย่างไร และจะส่งผลอย่างใดต่อคดี โดยดีเอสไอได้อธิบายให้ตำรวจญี่ปุ่นทราบขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งต้องเรียกสอบทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดมีจำนวนเป็นพันนาย

พ.ต.ท.บรรณฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้สอบปากคำทหารที่เกี่ยวข้องไปได้หลายร้อยนายแล้ว และนัดทหารสอบปากคำทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่ให้การในแนวทางเดียวกัน คือปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่ละครั้งไม่ทราบคำสั่งการล่วงหน้า สำหรับคดีนายฮิโรยูกินั้น ดีเอสไอต้องรอศาลสั่งคดีชันสูตรก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไต่สวน  ซึ่งญี่ปุ่นก็คาดหวังให้ดีเอสไอหาตัวผู้ยิงนักข่าวญี่ปุ่นให้ได้ รวมถึงสอบถามความเกี่ยวพันของคดีนายฮิโรยูกิกับกรณีที่อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้สั่งการก่อนหน้านี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงต้านนิรโทษฯ ชี้คนผิดไม่สำนึก คดีชาวบ้านไม่เคยเว้นโทษ

Posted: 05 Nov 2013 08:45 AM PST

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ออกแถลงการณ์ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ทำลายกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาคนผิดนิรโทษตัวเอง ไม่สำนึก ชาวบ้านใช้สิทธิปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต ไม่เคยได้รับเว้นโทษ

5 พ.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมระบุ ที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรมมาแล้ว 23 ครั้ง คนได้รับนิรโทษไม่เคยสำนึก ยังทำผิดในระบบการเมืองไทยต่อเนื่อง ซ้ำซาก สาเหตุจากผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก เมื่อทำผิดก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง

ในแถลงการณ์ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา จะทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง และกระทบต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ในขณะที่ที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และผู้ต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะจำนวนมาก กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและคุมขังโดยไม่เป็นธรรม และไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือยกโทษจากรัฐบาลชุดใดๆ

"ดังนั้น เราซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเป็นผู้รับผลกระทบจากคดีความต่างๆ ที่ได้มาจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ทำลายกระบวนการยุติธรรมฉบับนี้ทั้งฉบับ"

...................

 

แถลงการณ์ ค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (ฉบับที่ 1)

ในนามกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ประชาชนชาวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรม โดยการใช้ประชาธิปไตยทางตรง ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้รับคดีความมากมายที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับการยกโทษหรือการอภัยจากรัฐบาลชุดใดๆ

กลุ่มการชุมนุมเรียกร้องต่างๆ ที่ผ่านมา มากมายหลายกลุ่ม หลายกรณี ทั้งเรื่องปากท้อง อาชีพ ทรัพยากรรวมถึงเรื่องการเมืองทุกกลุ่มการชุมนุม อาจมีที่มาแตกต่างกัน แต่ต้นเหตุของการชุมนุมเรียกร้องอาจไม่แตกต่างกันนักโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง และผลกระทบสิทธิขั้นพื้นฐาน

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มิใช่ครั้งแรกที่มีการบัญญัติ แต่มีการประกาศใช้มาแล้วถึง 23 ฉบับ และจะเห็นได้ว่าผู้ที่เคยได้รับการนิรโทษกรรมบางคนก็ยังมิได้มีจิตสำนึก ยังมีการทำผิดซ้ำซากวนเวียนอยู่ในระบบการเมืองไทยมาต่อเนื่อง เพียงเพราะอำนาจ ผลประโยชน์ตนเอง วงตระกูล พรรคพวก เพราะคนจำพวกนี้มั่นใจว่า เมื่อทำผิดก็สามารถพ้นผิดได้โดยการออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

และตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว โดยต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภา ทำให้สถานการณ์ในประเทศสุ่มเสี่ยง มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคง การดำรงอยู่ของหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม

ที่ผ่านมาในการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมใดๆ อาจมีวิธีการที่คล้ายกัน ถูกคดีความผิดคล้ายกัน แต่ได้รับการนิรโทษกรรมไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค และไม่มีการดำรงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่มีผลต่อผู้คนในสังคมโดยรวมของประเทศ ยังมีผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อสู้เพื่อสาธารณะอีกมากมายที่ต้องถูกจองจำโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเหลียวแลใส่ใจ เพียงเพราะว่าเขาเหล่านั้นไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองต่อท่านและพวกพ้อง

ดังนั้นเราซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และเป็นผู้รับผลกระทบจากคดีความต่างๆ ที่ได้มาจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ทำลายกระบวนการยุติธรรมฉบับนี้ทั้งฉบับ

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
3 พฤศจิกายน 2556
 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหิดลประกาศงดการสอนพรุ่งนี้ ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 05 Nov 2013 08:27 AM PST

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลออกประกาศงดการเรียนการสอน นศ.ป.ตรี ให้ นศ.แสดงพลังค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ วอนวุฒิสภาการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติ เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมไทย

5 พ.ย.2556  ศ.รัชดะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ออกประกาศ งดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (ศาลายา) ในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะเริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 8.30 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จะเดินนำขบวนผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา จากศูนย์การเรียนรู้มหิดล ไปยังประตู 6 ผ่านตลาดศาลายา และเข้าทางประตู 3 เดินกลับไปยังศูนย์การเรียนรู้มหิดล จากนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลจะกล่าวแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมยืนแสดงเจตนารมณ์ 1 นาที หลังจากนั้น ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จะร้องเพลงเทิดพระนามมหิดลโดยพร้อมเพรียงกัน

ประกาศงดการเรียนการสอน เผยแพร่ใน  เฟซบุ๊กแฟนเพจเนชั่นสุดสัปดาห์ 

โดยในวันนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แถลงข่าวภายหลังจากการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล วาระพิเศษเพื่อหารือถึงการแสดงจุดยืนทางการเมือง เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่ประชุมได้มีมติขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ และขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณ ในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติขณะนี้ โดยการไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมไทย และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ไขปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยให้อิสระแก่นักศึกษา และบุคลากรในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

ภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยมหิดล

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับที่ 1

ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... โดยแก้ไขเพิ่มเติมความมาตรา 3 ความบางส่วนว่า "..รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลัง การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุนผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง.." การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะไม่เพียงแค่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษ ให้แก่การกระทำทางการเมืองเท่านั้น แต่จะเป็นผลลบล้างคำพิพากษาของคดีทุจริตคอรัปชั่น และให้คดีที่เกี่ยวกับการกระทำ ในลักษณะดังกล่าวที่อยู่ระหว่างกระบวนการต้องยุติลงด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาที่เป็นการสร้างมาตรฐานที่ ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม ทั้งนี้จะทำให้การต่อต้านปัญหาคอรัปชั่นในสังคมไทย ไม่ประสบผลสำเร็จและจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ให้กับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น

มหาวิทยาลัยมหิดลมีพันธกิจที่สำคัญในการสร้างบัณฑิตไทยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ ควบคู่กับการมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปลูกฝังค่านิยมของมหาวิทยาลัยให้แก่บัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น ร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงขัดกับหลักธรรมาภิบาล ที่มหาวิทยาลัยมหิดลยึดเป็นหลักในการดำเนินงานและปลูกฝังค่านิยมต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์เพื่อความยึดมั่นความมั่นคงในคุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม และได้ร่วมจัดโครงการ "บัณฑิตไทย ไม่โกง" ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดลจึงขอคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ และขอให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติขณะนี้ โดยการไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นการจรรโลงคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย และขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ไขปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่โดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยให้อิสระแก่นักศึกษา และบุคลากรในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

 

มหาวิทยาลัยมหิดล

5 พฤศจิกายน 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.ส. อังกฤษร้องสอบการงดจ่ายภาษีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

Posted: 05 Nov 2013 08:22 AM PST

คณะกรรมการส.ส. ด้านตรวจสอบบัญชีสาธารณะ เรียกร้องกรมคลังและสาธารณะตรวจสอบลักษณะการเว้นภาษีธุรกิจของดยุคแห่งคอร์นวอลล์ ชี้ให้ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งธุรกิจ

 
5 พฤศจิกายน 2556 เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า คณะกรรมาธิการ ส.ส.ด้านการตรวจสอบบัญชีสาธารณะของอังกฤษ ได้เรียกร้อให้กรมคลังตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อประเมินว่าดยุคแห่งคอร์นวอลล์ หรือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ "ทำการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาด" หรือไม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยจากสาธารณะและสื่อมวลชนอย่างเดอะ การ์เดียน ที่ก่อนหน้านี้เคยรายงานว่าดยุคแห่งคอร์นวอลล์ หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจากธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนต่างๆ 
 
คณะกรรมาธิการดังกล่าว กล่าวหาว่ากรมคลังล้มเหลวในการตรวจสอบบัญชีการเงินของดยุคแห่งคอร์นวอลล์ เนื่องจากทำงานโดยอาศัยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของดยุคแห่งคอร์นวอลล์ แทนที่จะทำการตรวจสอบอย่างอิสระด้วยตนเอง 
 
ส.ส.พรรคแรงงาน มาร์กาเร็ต ฮอดจ์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า รายละเอียดการซื้อขายและการทำธุรกิจต่างๆ ของดยุคในระยะรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5 แสนปอนด์ ไม่เคยถูกเปิดเผย และเรียกร้องให้มีความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่ 
 
"ดยุคได้ใช้ประโยชน์จากการงดเว้นการจ่ายภาษี แม้จะได้ประโยชน์จากทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ก็ตาม การงดเว้นภาษีนี้ อาจให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งอื่นๆ ที่ต้องจ่ายภาษีรายได้ กรมคลังควรจะตรวจสอบว่าการงดเว้นภาษีของดยุคนั้นทำให้เกิดการค้าในสนามการตลาดที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่" ฮอดจ์กล่าว
 
ทั้งนี้ ดยุคแห่งคอร์นวอลล์ ครอบครองที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ทั้งในชนบท และการเคหะในทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีซูเปอร์มาร์เดตต์เวทโรส ในเมืองมิลตัน เคนส์ และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ในเมืองคอร์นวอลล์ โดยในรอบปีที่ผ่านมา ตำแหน่งดยุคได้รับรายได้ทั้งหมด 28.8 ล้านปอนด์ ทำให้เจ้าชายชาร์ลส์ได้รับรายได้ 19 ล้านปอนด์ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4 เงินจำนวนดังกล่าว ถูกใข้ในพระราชกรณียกิจของพระองค์และราชวงค์ รวมถึงให้การกุศลต่างๆ 
 
โดยคณะกรรมาธิการดังกล่าวระบุว่า ในปีที่แล้ว เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ได้จ่ายภาษีหลังจากหักรายจ่ายต่างๆ แล้ว โดยสมัครใจเป็นจำนวน 9.2 ล้านปอนด์
 
มีเพียงสมาชิกในราชวงศ์ ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและภาษีของพระองค์เท่านั้นที่ทราบว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้รับรายได้จำนวนเท่าใด ก่อนที่จะหักภาษีจากรายได้ 19 ล้านปอนด์จากตำแหน่งดยุคออฟคอร์นวอลล์ 
 
ด้านโฆษกของดยุคออฟคอร์นวอลล์ ปฏิเสธว่ามีการได้รับสิทธิประโยชน์เหนือคู่แข่งในด้านภาษี โดยระบุว่า รายได้ของดยุคจะถูกเก็บภาษีตามอัตราภาษีรายได้ทั่วไป และเนื่องจากไม่มีสถานะเป็นบรรษัทจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีธุรกิจแบบเดียวกับบรรษัททั่วไป 
 
 
ที่มา: Duchy of Cornwall's tax exemptions 'may give unfair advantage over rivals'
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคเพื่อไทยยอมถอน 'สุดซอย' - พร้อมเคารพวุฒิสภาตัดสินใจ

Posted: 05 Nov 2013 08:17 AM PST

เลขาธิการพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะเคารพการตัดสินใจของวุฒิสภากรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่ต้องการให้สังคมเกิดความวุ่นวาย พร้อมถอยเพื่อให้คุยกันได้ โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

5 พ.ย. 2556 - ตามที่ในวันนี้ (5 พ.ย.) พรรคเพื่อไทยมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคนั้น ล่าสุด เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค ระบุว่าพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามติดตามรับฟังวันนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการเป็นแนวนโยบายฟังให้เยอะคิดให้มาก การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ เราอยากเห็นความขัดแย้งให้ยุติลง อยากให้ประเทศเดินหน้าไปได้ สังคมไทยมุ่งหวังจากผู้คนต่างๆ อยากเห็นประเทศเดินหน้าเป็นเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค หลังผ่านวาระที่ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร ความต้องการอยากเห็นประเทศเดินหน้า แต่ข่าวสารที่ได้มีการพูดจาทำความเข้าใจประชาชนก็คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เช่น เนื้อหาสาระไม่ได้ตรงความเป็นจริงสับสน ทำให้ข้อขัดแย้งไม่ยุติ

ภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสื่อเมื่อเช้านี้ รัฐบาลอยากเห็นปรองดองเกิดขึ้น โดยพรรคได้ปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวุฒิสภา เราเคารพการตัดสินใจวุฒิสภา และยุติความขัดแย้งต่างๆ เรายอมรับผลการตัดสินทั้งหมดที่วุฒิสภาจะพิจารณา กลับไปสู่ภาวะปกติ ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนอยากเห็น ใครสร้างความเสียหาย กระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการ โดยจะยอมรับการตัดสินวุฒิสภาที่จะเกิดขึ้นจากนี้ต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นความงดงามในประชาธิปไตย ทั้งนี้ เชิญชวนประชาชนสร้างความสงบสุข สร้างความถูกต้อง

เมื่อถามว่า วุฒิตีกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันร่างแรกอยู่หรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า เราอยากเห็นบ้านเมืองเข้าสู่โหมดปรองดองในขณะนี้ ส่วนจะไม่ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไปอีกหรือไม่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ไม่ต้องการให้สังคมเกิดความวุ่นวาย โดยพรรคพร้อมถอยให้คุยกันได้ อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิของวุฒิสภาหากจะไม่ผ่านร่างดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้

Posted: 05 Nov 2013 08:04 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้

นักศึกษา มช. ค้านเซ็ตซีโร่ เรียกร้องวุฒิสภาใช้อำนาจยับยั้ง

Posted: 05 Nov 2013 05:06 AM PST

กลุ่ม "นักศึกษา มช. คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ค้านเหมาเข่ง เพราะผู้สั่งสลายชุมนุม-จนท.รัฐ-นักการเมืองคดีทุจริตได้ประโยชน์ และก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เรียกร้องวุฒิสภาใช้อำนาจยับยั้ง แนะให้ยึดฉบับวรชัย เหมะ และเสนอนิรโทษกรรมผู้ถูกฟ้อง ม.112 ด้วย

5 พ.ย. 2556 - วันนี้ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษากลุ่ม "นักศึกษา มช. คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ได้ออกแถลงการณ์ "นักศึกษา มช. คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง-สุดซอย" โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์มีใจความดังนี้

"ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และได้ลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ วาระที่ 3 จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 314 คน ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แล้วนั้น ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีสาระสำคัญอยู่ว่า ให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมตลอดถึงองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ทั้งที่กระทำในฐานะตัวการ ผู้ใช้  ผู้สนับสนุน หรือผู้ถูกใช้ ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ซึ่งการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯในวาระที่ 3 นี้ กลุ่มนักศึกษา มช. คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ได้จัดให้มีการประชุมลงมติ และได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่ผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 ที่ยกเว้นความผิดในทุกกรณี เนื่องจากทางกลุ่มมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นี้ ทำให้กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ครอบคลุมไปถึงผู้สั่งการ (ผู้ใช้ให้กระทำ) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ผู้ถูกใช้) จนนำไปสู่ความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการขยายระยะเวลาของการนิรโทษกรรมออกไปจนทำให้นักการเมืองที่สมควรถูกพิจารณาภายใต้กระบวนการยุติธรรมในข้อหาทุจริตคอรัปชั่นได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯฉบับดังกล่าว ดังนั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในสังคม

2. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ วาระที่ 1 ของนายวรชัย เหมะ เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เหมะ ที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่ 1 นั้น จากบทบัญญัติในมาตรา 3 ที่กล่าวว่า "บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อ ต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น" จะเห็นได้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการโดยมุ่งนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นนั้น โดยมิได้นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม และทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด

3.ไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสั่งการ แกนนำผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม และผู้สั่งการ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ยุยง หรือสั่งการ ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเกินกว่าเหตุ โดยต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตามกระบวนการยุติธรรม หากปล่อยให้ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสั่งการกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายรวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญนั้น รอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีต นอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง แล้วยังขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม นอกจากนี้ในส่วนของแกนนำผู้ชุมนุมทางการเมือง มีส่วนยุยง ส่งเสริม สนับสนุน และปลุกระดม ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในเบื้องต้น อันนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเช่นกัน

4. ไม่นิรโทษกรรมกรณีคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง  และการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบในระหว่างการดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ วาระ3  ที่ได้แก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของมาตรา 3  โดยขยายการนิรโทษกรรม  ครอบคลุมไปถึง "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการ ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"  ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นั้นมุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง  การแสดงออกทางการเมือง  หรือความขัดแย้งทางการเมือง  ในร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ วาระ3นั้น  อาจมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการนิรโทษกรรมโดยการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าว  ที่สามารถตีความไปในทางมิชอบได้

5. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ  ที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 นั้น  ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง  การแสดงออกทางการเมือง  หรือความขัดแย้งทางการเมือง  ดังที่บัญญัติตามมาตรา 3  วรรคแรกนั้น ได้มีการกำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112  ในมาตรา 3 วรรค 2 ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง  การแสดงออกทางการเมือง  หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30  ดังนั้นควรนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นเดียวกับบุคคลหรือประชาชนทั่วไปด้วย

กลุ่มนักศึกษา มช.คัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม ขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งร่างกฎหมาย ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าว และส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ทั้งนี้ทางกลุ่มนักศึกษา มช. คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังคงเชื่อมั่นต่อกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน หวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา จะไม่ทำลายความหวังและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายนี้ทางกลุ่มจะติดตามสถานการณ์และขอสนับสนุนการดำเนินการพิจารณา พรบ.นี้อย่างถี่ถ้วนในระบบรัฐสภาต่อไป

กลุ่มนักศึกษา มช.คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
5 พฤศจิกายน 2556"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุลาการออกแถลงการณ์ค้านนิรโทษฯ

Posted: 05 Nov 2013 04:35 AM PST

'กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน' ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุเว้นโทษคนผิดอาญาร้ายแรง และคดีทุจริตเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ

5 พ.ย.56 กลุ่มผู้พิพากษาออกแถลงการณ์ในนาม 'กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน' คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัว ร่วมลงชื่อกว่า 60 คน

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การเปลี่ยนแปลงหลักการของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการแก้ไข จนมีผลนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำความผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม และการที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เว้นโทษให้กับคดีทุจริตไมว่าจะเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือคดีอยู่ในชั้นสอบสวนนั้น เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ และเป็นการทำลายนิติรัฐ

"ซ้ำร้ายกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีผลครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรืออยู่ในชั้นสอบสวนก็ดี ทั้งที่ความผิดลักษณะดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ เป็นที่น่ารังเกียจในสังคมโลก สมควรได้รับการพิจารณาตามกระบวนการพิสูจน์ความผิดหรือได้รับการปฏิบัติตามโทษานุโทษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับกำหนดยกเว้นกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ โดยอ้างว่าเป็นเหตุอันมีที่มาจากการเมือง ทั้งที่ประจักษ์ชัดโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องของสังคมไทยต่อไปในอนาคต"

................................


แถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการแก้ไขถึงขนาดเปลี่ยนแปลงหลักการตามร่างในชั้นกรรมาธิการ โดยให้มีผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดอาญาร้ายแรง โดยอ้างว่าเป็นมูลเหตุจากวิถีทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชน ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โดยมิได้คำนึงถึงผู้เสียหายที่ถูกกระทำไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใด ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งมีเป้าประสงค์สูงสุดเพื่อปกป้องสุจริตชนและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ซ้ำร้ายกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีผลครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรืออยู่ในชั้นสอบสวนก็ดี ทั้งที่ความผิดลักษณะดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ เป็นที่น่ารังเกียจในสังคมโลก สมควรได้รับการพิจารณาตามกระบวนการพิสูจน์ความผิดหรือได้รับการปฏิบัติตามโทษานุโทษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับกำหนดยกเว้นกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ โดยอ้างว่าเป็นเหตุอันมีที่มาจากการเมือง ทั้งที่ประจักษ์ชัดโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ข้าพเจ้า ซึ่งต่างสำนึกตลอดมาว่ามีหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องเป็นธรรมบนแผ่นดินนี้ จึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของวุฒิสภาดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้น เพื่อมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน อันจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและแผ่นดิน จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจทบทวนหรือยับยั้งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด.

กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน

5 พฤศจิกายน 2556

รายชื่อผู้พิพากษากลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน

1. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
2. นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา
3. นายพิชัย เพ็งผ่อง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
4. นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิช ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค ๑
5. นายมานิตย์ สุขอนันต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 2
6. นายอนุรักษ์. สง่าอารีย์กูล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
7. นางวราภรณ์ สุระพัฒน์พิชัย ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓
8. นายอุเทน วิภาณุรัตน์ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๗
9. นางอรพันท์ เพ็ญตระการ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
10. นางสาวมาลี เตชะจันตะ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
11. นายสมนึก เมืองคำสกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
12. นางสกุลรัตน์ อยู่เปนสุข ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
13. น.ส.สุณิสา สมประสงค์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
14. นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ ผู้ช่วยพิพากษาศาลฎีกา
15. นางอภิญญา จันทรเศรษฐ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖
16. น.ส.ศิณีนาถ เกียรติกังวาฬไกล ผู้ช่วยพิพากษาศาลฎีกา
17. นางสาวจรีรัตน์ โรจนาจิณ ผู้ช่วยพิพากษาศาลฎีกา
18. นายเกียรติคุณ แม้นเลขา ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
19. นางเศรณี ศิริมังคละ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒
20. นายธนิต รัตนะผล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
21. นายภีม ธงสันติ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนง
22. นางรัชดาพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
23. นายวิรัตน์ เกษมทรัพย์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
24. นายโกสินทร์ ฤทธิรงค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
25. นายชาติชาย เหลืองอ่อน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
26. น.ส.นิสากร บุญศิริ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
27. นายสมพร ศรีกฤษณ์ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี
28. นายพรเทพ สุทิน ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต
29. นายสรพงค์ ไกรสุวรรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยอง
30. นายสมพร ฮี้เกษม ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร
31. นายวินัย ศักดาไกร ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี
32. นายบุญลอง นรจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
33. นางจันทร์กระพ้อ ต่อสุวรรณ สินธวถาวร ผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
34. น.ส.รังสิมา ลัธธนันท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยอง
35. น.ส.ศรัญวรรณ โชตินิมิตรคุณ ผู้พิพากษาศาลอาญา
36. นายสรวิทย์ จันทโสภณพร ผู้พิพากษาศาลแขวงสมุทรปราการ
37. นางสาวนฤภร จันทรักษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี
38. นายรพี แพ่งสภา ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
39. นายไพศาล ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
40. นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสมุทรปราการ
41. นายเสกสันติ์. เทพหนู ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต
42. นางพินสิริ. นามสีฐาน. เพ็งงาน ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานี.
43. น.ส.อังคณา หรูวรนันท์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครสวรรค์
44. นายชัยรัตน์ ชุมพล ผู้พิพากษารองหัวหน้าศาลจังหวัดระยอง
45. นายเอนก ศรีมุกข์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต
46. นายคนองเดช สวัสดิ์วงศ์วิชา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชัยนาท
47. นางวราทิพย์ จตุวรพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลศาลจังหวัดชัยนาท
48. นางสุชาดา ยิ่งสกุล ผู้พิพากษาศาลแขวงธนบุรี
49. นางปัทมาพร นาคเรืองศรี ผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
50. นางราณี เหล่าพัฒนา ผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี
51. นางนันทวัน เจริญศักดิ์ เกษมสมพร ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี
52. นางชนัญชิตา ณ ระนอง ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ
53. นายดำรงค์ศักดิ์ ใจฐิติวิทย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครสวรรค์
54. นางจรัสวรรณ ใจฐิติวิทย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครสวรรค์
55. นายอายุกร บุญอากาศ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทยา
56. นายเชิดพันธุ์ วิลาวรรณ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
57. นางปิยนันท์ พันธ์ุชนะวานิช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
58. นายพรศักดิ์ เชาวลิต ผู้พิพากษาศาลจังหวัดราชบุรี
59. นางมะลิวรรณ วิภาดาพรพงษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
60. นายไกรพิชญ์ ปิยสิรานนท์ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยอง
61. นายดุลประภัสสร์ มุลพรม ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์
62. นายรัฐพล โลนา ผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี
63. สุวรรณา นาคะรัศมี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ฮือเดินขบวนต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 05 Nov 2013 03:39 AM PST

คณาจารย์-นิสิต-ศิษย์เก่าจุฬา เดินขบวนมาที่หอศิลป์ กทม. ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ชัชชาติ" ชี้ประชาธิปไตยหนึ่งเสียงเท่ากัน-เห็นต่างกันได้ หากมีคนหน้าเหมือนร่วมเดินขบวนด้วย ก็คือพี่ชายผมเอง

เอื้อเฟื้อภาพโดยปกป้อง เลาวัณย์ศิริ

 

จุฬาฯ เดินขบวนมาหอศิลป์ กทม. ต้านนิรโทษกรรม

5 พ.ย. 56 - เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ กลุ่มศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินขบวนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสู่ถนนพญาไท และมาชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ก่อนหน้านี้ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในวันที่ 5 พ.ย. กลุ่มศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะเริ่มรวมตัวที่บริเวณลานพระบรมรูป 2 รัชกาล และในเวลา 16.00 น. จากนั้นจะถวายสักการะพระบรมรูป ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้เส้นถนนพญาไท ผ่านหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยคาดว่ากิจกรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเวลา 18.00 น.

 

"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" หากวันนี้เห็นคนหน้าเหมือนคือพี่ชาย
ชี้ประชาธิปไตยหนึ่งเสียงเท่ากัน-เห็นต่างกันได้

นอกจากนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊คด้วยว่า "วันนี้ ได้รับ line เชิญชวนให้ชาวจุฬามาเดินเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ได้ข่าวว่า พี่ชายฝาแฝดของผมที่เป็นหมอจะไปเดินด้วย (ถ้าใครเห็นคนหน้าเหมือนผมเดินอยู่ ก็น่าจะเป็นพี่ชายผมนะครับ)"

"ผมว่านี่คือหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทุกคนไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรี คุณหมอ อธิการบดี เจ้าหน้าที่ นักการ ภารโรง ก็มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากันหมด ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร และ ทุกคนเห็นต่างกันได้ ขนาดผมกับพี่ชาย หน้าเหมือนกัน ถูกเลี้ยงมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก มีหลายเรื่องเราคิดเหมือนกันและก็มีบางเรื่องที่เราคิดต่างกัน แต่เราก็ไม่ได้โกรธหรือเกลียดกัน ยังรักกันเหมือนเดิม และ ต่างคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด"

"เห็นต่างกันได้ครับ แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย แต่อย่าถึงกับโกรธกัน เกลียดกัน จะเอาเป็นเอาตายกันเลย ทุกอย่างยังมีขั้นตอนของมันอยู่อีกหลายขั้นตอนครับ" รมว.คมนาคมระบุในสเตตัส

ทั้งนี้ รมว.คมนาคม มีพี่ชายฝาแฝดอีกคนหนึ่งก็คือ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นิสิตจุฬาเตรียมอภิปรายสาธารณะเรื่องนิรโทษกรรมศุกร์นี้

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดการอภิปราย "รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1 เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. นี้ เวลา 16.00 น. ที่ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชัย รัตตกุล

Posted: 05 Nov 2013 03:12 AM PST

"พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ไม่มีใครคัดค้านเลย ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนบริสุทธิ์ ที่ต้องถูกพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ไปนั่งฟังการปราศรัย แต่ก็ถูกใช้ความรุนแรงถึงกับล้มตายเป็นร้อย พวกที่ไม่ถึงแก่ชีวิตก็ต้องถูกจับคุมขัง จนบัดนี้ประชาชนเหล่านี้ต่างหากที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม"

5 พ.ย.56, อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวใน จม.ลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการปฎิรูปการเมือง ต่อนายกรัฐมนตรี

ประธานวุฒิสภาแถลงไม่รับร่างนิรโทษกรรม เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

Posted: 05 Nov 2013 02:37 AM PST

ประธานวุฒิสภาและกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง แถลงคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยพรุ่งนี้จะหารือวิปวุฒิสภาอีกครั้ง ย้ำไม่ได้ทำตามที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณ

นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

5 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวไทย รายงานวันนี้ (5 พ.ย.) ว่านายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา และประธานวุฒิสภา พร้อม ส.ว.เลือกตั้ง ได้แถลงจุดยืนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่บรรจุระเบียบวาระในวันที่ 11 พ.ย.นี้ โดยระบุว่า ส.ว.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ยึดประโยชน์ของประชาชน และช่วยให้บรรยากาศของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยจากการหารือกับกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้งและสรรหา ก็มีความเห็นตรงกันที่จะไม่ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในวาระแรก และตามขั้นตอนต้องส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ทำตามที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณ แต่ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมวิปวุฒิสภา และจะแถลงจุดยืนกันอีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอต้านนิรโทษฯ คึกคัก เอ็นจีโอร่อน จม.ร้อง สว.ยับยั้ง

Posted: 05 Nov 2013 01:53 AM PST

เครือข่ายหมอล่าชื่อต้านนิรโทษฯ ชมรมแพทย์ชนบทใต้ชวนติดป้ายและธงชาติ ด้านเอ็นจีโอร่อนจดหมายถึงวุฒิสภาเรียกร้องให้ยับยั้งกฎหมาย ด้านคณาจารย์ ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ ม.อุบลค้านนิรโทษฯ เจ้าที่รัฐ-คนสั่งฆ่า

5 พ.ย.56 เครือข่ายแพทย์ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมล่ารายชื่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 2,600 คน ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนออกแถลงการณ์คัดค้าน พรบ.นิรโทษเหมาเข่งอย่างถึงที่สุด ทางด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ส่งจดหมายถึงวุฒิสมาชิกขอให้ยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าว

เครือข่ายแพทย์ ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมล่ารายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ รวม 2,580 คน โดยในแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องให้มีการค้นหาความจริง ผู้ที่กระทำผิดควรยอมรับผิดแล้วผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม โดยเรียกร้องให้รักษาระบบนิติรัฐ และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชั่น และคดีอาญา

"เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่ควรจะใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายเพื่อทำหลายหลักการของนิติรัฐ ส่งเสริมให้มีการกระทำผิดซ้ำซาก ให้มีการโกงคอรัปชั่นมากขึ้น ไม่ควรออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ บุคคลหนึ่ง บุคคลใด"

ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย แพทย์จากจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎรธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยเช่นกัน โดยประกาศคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งอย่างถึงที่สุด และเชิญชวนให้ทุกโรงพยาบาลรวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดำเนินการคัดค้านอย่างเป็นรูปธรรม โดยการประดับธงชาติเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอิสรภาพจากการเป็นทาสและเผด็จการรัฐสภา และขึ้นป้ายคัดค้านที่หน้าสถานบริการในพื้นที่ที่โดดเด่นที่สุด เพื่อท้าทายคำสั่งห้ามการติดป้ายในพื้นที่โรงพยาบาล ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข

ทางด้านองค์กรพัฒนาเอกชน โดย กป.อพช.ส่งจดหมายถึงสมาชิกวุฒิสภาเรียกร้องให้ระงับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุเหตุผลว่า

1. การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ทำลายสิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิสูงสุดของมนุษย์ที่มิอาจล่วงละเมิดได้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้
2. การนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่กระทำการทุจริตต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตลอดจนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เป็นการสร้างบรรทัดฐานว่า คนโกงไม่ต้องรับผิด ซึ่งจะเป็นการทำลายหลักศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม ทั้งยังส่งผลให้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ
3. การพิจารณาผ่านร่างกฎหมายทำอย่างรวบรัด ไม่เคารพความเห็นที่แตกต่าง และเพิกเฉยต่อกระแสคัดค้านจากประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีแถลงการณ์ที่ระบุว่าออกโดยคณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวด้วย โดยคัดค้านการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต และคัดค้านการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจสั่งการจนทำให้ประชาชนเสียชีวิต

ในแถลงการณ์ระบุข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ให้ยุติการผลักดันร่างกฎหมาย และเรียกร้องให้วุฒิสภาปฏิเสธที่จะรับร่างกฎหมายดังกล่าวไว้พิจารณา ในตอนท้ายของแถลงการณ์กล่าวว่า คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่มีแนวคิดหรือนโยบายในการรวมตัวออกไปคัดค้านการชุมนุมของกลุ่มใด แต่สนับสนุนให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นและแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพ โดยทั้งนี้ทางกลุ่มจะพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการต่อไป หากรัฐบาลไม่กระทำตามข้อคัดค้านของกลุ่ม

AttachmentSize
อาจารย์แพทย์บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัว.docx129.68 KB
7 จ.ใต้บน 6 พย 56.doc30.5 KB
กป อพช ยื่นวุฒิสมาชิก.doc963 KB
รัฐศาสตร์ ม.อุบล ฉบับที่ 1.jpg1.81 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น