โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุเทพเรียกร้องทหารไทยดูแล 'เขาพระวิหาร' - อย่าให้หายไปแม้ตารางนิ้วเดียว

Posted: 08 Nov 2013 11:18 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ เรียกร้องทหารไทยดูแลเขาพระวิหาร ย้ำไม่ต้องห่วงทางนี้ผู้ชุมนุมจะรับมือเอง และชี้แจง 'ศาลประชาชน' ที่จะตั้ง 11 พ.ย. นี้ หมายถึงการขอมติประชาชนว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และทักษิณ

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ประชาธิปัตย์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)

บรรยากาศการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อ 8 พ.ย. 2556 (ที่มา: เพจประชาไท)

 

'สุเทพ' ย้ำคำขาดให้ปัดตก กม.นิรโทษกรรม ภายใน 18.00 น. 11 พ.ย.

9 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) บนเวทีคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนินนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นปราศรัยว่า นายกรัฐมนตรีโยนความผิดให้ประชาชน หาว่าประชาชนไปเล่นงานเขา เอากฎหมายนิรโทษกรรมมา และทำเป็นมีน้ำใจว่าจะถอยทุกอย่าง และพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง วันนี้พิสูจน์แล้วว่าที่พูดว่าทุกอย่างจะจบจะให้วุฒิสภาทำให้เรียบร้อย นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิ ก็บอกว่าจะเรียบร้อย แต่ปรากฏว่าไม่เรียบร้อย กฎหมายชั่วร้ายฉบับนี้ยังมีชีวิตในสภายังไม่ตาย และชัดเจนแล้วว่าจนกระทั่งวันนี้ วุฒิสภาก็ยังไม่พิจารณากฎหมายฉบับนี้่ และจะนัดพิจารณากันในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.

ไม่ว่าผลการพิจารณาของวุฒิสภาจะเป็นประการใดก็ตาม กฎหมายชั่วร้ายฉบับนี้ไม่มีวันตายจากสภาก่อน 18.00 น. แน่นอน วันนี้มีทางทำได้ทางเดียว ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ที่เคยพูดในงานวันเกิดตัวเองว่าจะกระทืบพวกเขา ประธานสมศักดิ์ก็รีบนำไปให้นายกฯเซ็นรับรอง หากนายกฯจริงใจก็เซ็นไปเลยว่าไม่รับรอง แต่ต้องทำภายในวันที่ 11 พ.ย.ก่อน 18.00 น. ช้านาทีเดียวก็ไม่ยอม แล้วไม่ต้องมาต่อรอง นี่ไม่ใช่ข้อเสนอ นี่เป็นคำขาดของมวลมหาประชาชน

 

เรียกร้องทหารไทย ดูแลเขาพระวิหารอย่าให้หายไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

สุเทพ ยังเรียกร้องไปยังพี่น้องทหาร ว่าอย่าลืมความเจ็บปวดที่เคยถูกทำไว้ และอย่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทรราชย์ ขอให้ทุ่มเทสมาธิจิตใจไปดูแลเขาพระวิหารอย่าให้แผ่นดินเสียหายไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อย่ายอมให้เพื่อนแม้วได้ที่ดินไปแม้ศาลโลกจะตัดสินอย่างไร ให้ทำหน้าที่รบเพื่อชาติ ส่วนศัตรูทางนี้จะช่วยรับมือ และคนไทยทั้งประเทศเอาใจช่วยพี่น้องทหารด้วยความรัก ห่วงใย เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลอกลวงเรา ในขณะที่ลับหลังเราก็ไปเตรียมตำรวจมาสู้กับเรา เราจึงต้องเดินหน้าต่อสู้ต่อไป เราจะไม่ขอความเห็นใจจากนายกฯยิ่งลักษณ์อีก เพราะไปขอก็คงไม่ให้ จะไม่มีการร้องขออีกต่อไป แต่จะต่อสู้เอา แบบแบบอหิงสา ปราศจากอาวุธ

"การต่อสู้ของเราเพื่อสร้างชาติ จะต่อสู้ด้วยความสร้างสรรค์ เราจะไม่ทำลาย เราจะไม่เผา เราไม่ฆ่าใคร การต่อสู้ของเรา จะไม่ทำให้แม่คนไหนต้องหลั่งน้ำตา จะไม่ทำให้เมียคนไหนต้องเสียสามีอีกแล้ว เราร้องไห้กับแม่ทหาร กับเมียทหารมากพอแล้ว เราจะไม่ทำให้แม่คนไหน เมียคนไหนสูญเสียอีกแล้ว เพราะเราเป็นพลเมืองดี นี่คือการต่อสู้ของพลเมืองดี ให้โลกจารึก ประวัติศาสตร์จารึกว่าพลเมืองดีลุกขึ้นต่อสู้และเอาชนะอธรรม มือเปล่าๆ ของเราจะเอาชนะมารให้ได้"

 

ชี้แจงเรื่อง 'ศาลประชาชน' หมายถึงการถามมติประชาชนว่าจะจัดการอย่างไรกับ รบ.ยิ่งลักษณ์ - ทักษิณ

สุเทพปราศรัยด้วยว่า "วันนี้ได้ข่าวว่าพรรคเพื่อไทย ส่งคนไปแจ้งความให้ตำรวจมาจับผมไปดำเนินคดี หาว่าก่อกบฎ เพราะผมประกาศเมื่อคืนนี้ว่าจะตั้งศาลประชาชน ผมขออนุญาตอธิบายกับพี่น้อง ศาลประชาชนที่ผมพูดถึงนั้น หมายความว่าในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 18.00 น. ผมและคณะจะขึ้นมาถามมติมหาประชาชนชาวไทย ว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพี่ชายมัน ทักษิณ"

"พี่น้องทั้งหลาย ยังไม่ต้องตัดสินคืนนี้ ศาลยังไม่เปิด รอคืนวันจันทร์ก่อนครับ 18.00 น. ตรง ศาลไคฟงจะทำหน้าที่พิพากษาคดี ขอให้พี่น้องทั้งหลายทำใจให้เบิกบาน ให้ร่าเริง นั่งสู้อยู่ตรงนี้"

สุเทพกล่าวว่า จะให้ตำรวจจับโดยไม่ขัดขืน ขอให้ผู้ชุมนุมนั่งคล้องแขนกัน ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาจับกุม ไม่ต้องเอาอาวุธมาเพราะพวกเราไม่มีอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่อย่าปล่อยให้สมุนขี้ข้า หรือเสื้อแดงมาระราน รังควานเราเป็นอันขาด ทั้งนี้เราจะไม่สู้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่เรามีสิทธิรักษาชีวิตเรา แล้วบอกคำรณวิทย์ด้วยที่ไปฝึกฝนกำลังคนข้างนอก แล้วจะให้ปะปนมาในเครื่องแบบตำรวจ "ทำแบบนี้มันผิดกฎหมาย วันข้างหน้ากูจะเล่นงานมึง" สุเทพกล่าว

สุเทพกล่าวด้วยว่า "ผมเป็นห่วงพี่น้องนะครับ จะพยายามหาเสื้อกันฝนมาช่วย ทั้งเสื้อกันฝนทั้งร่ม เพราะเราอาจจะต้องเปียกไปจนถึงวันที่ 11 พ.ย."

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ปราสาทพระวิหารที่นายสุเทพอ้างถึงนั้น หมายถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 11 พ.ย. นี้ จากกรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ตีความคำพิพากษา พ.ศ. 2505 ในส่วนของชายแดนที่ทับซ้อนกันบริเวณปราสาทพระวิหาร ขณะที่เมื่อปี พ.ศ. 2505  ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียกร้องเพื่อนร่วมชาติกัมพูชาให้เป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับไทย และขอให้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดสองประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้กำลังพลที่อยู่ชายแดนหลีกเลี่ยงการสร้างความตึงเครียด ในช่วงที่ศาลโลกจะมีคำตัดสิน 11 พ.ย. นี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน.นัด 20 พ.ย. อ่านคำวินิจฉัย 'แก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.' ล้มล้างการปกครองหรือไม่

Posted: 08 Nov 2013 10:28 AM PST

ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนกรณีสมาชิกรัฐสภายื่นคำร้องว่า การแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง ขัดมาตรา 68 ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ โดยให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 7 วัน และจะนัดอ่านคำวินิจฉัย 20 พ.ย. นี้

9 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.)  สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนคู่กรณีตามคำร้องขอให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภา กรณีสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ กับพวก 312 คน เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ ตามที่มีสมาชิกรัฐสภาร้องให้วินิจฉัย มีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนใหม่ ที่เข้าถวายสัตย์เมื่อ 6 พ.ย. ออกนั่งบัลลังก์ด้วย

โดยพยานและผู้ร้องเดินทางมาให้ปากคำทั้งสิ้น 10 ปากประกอบด้วย 1.พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม วุฒิสมาชิก 2.นายวิรัตน์  กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 3.น.ส.รสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิก 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 5.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 6.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ วุฒิสมาชิก 7.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ 8.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ วุฒิสมาชิก 9.นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ 10.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ผู้ถูกร้อง คือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน ไม่ได้มาให้ปากคำ มีเพียงนายสุรเดช จิรัฐติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ผู้ถูกร้องลำดับที่ 293 ได้ส่งนายปฎิพล อากาศ ทนายความเข้าไต่สวน ส่วนบุคคลอื่น ไม่เข้าไต่สวน เนื่องจากไม่ได้ยื่นบัญชีพยานขอเข้ารับการไต่สวนในช่วงเวลาที่คณะตุลาการ รธน. กำหนดให้ยื่น

โดยศาลได้อนุญาตให้ผู้ที่เข้าเบิกความชี้แจงเพิ่มเติม จากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง ความเห็นของพยานบุคคล และเอกสารหลักฐานตามคำร้องที่ได้ยื่นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเนื้อหาที่สมาชิกสรรหา และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกขึ้นชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาของสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตัดสิทธิ์การอภิปรายของสมาชิก และรวบรัดการลงมติ รวมถึงได้นำคลิปภาพการประชุมในช่วงลงมติประกอบการชี้แจงยืนยันมีกระบวนการกดบัตรแทนกัน

ขณะที่นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางอัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการกลุ่มโสตนูปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะพยานที่ศาลเรียก ได้ชี้แจงยืนยันว่า ร่างที่พิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างเดียวกับที่ส่งไปพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ส่วนการเสียบบัตรแทนกัน ไม่ทราบว่ามีการใช้สิทธิเสียบแทนกัน แต่พอปรากฎเป็นข่าว ทางประธานรัฐสภา ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

หลังใช้เวลาไต่สวนกว่า 5 ชั่วโมง นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งให้ผู้ร้องและพยานได้รับทราบว่า ศาลพิจารณาพยานหลักฐานจากการไต่สวนแล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะมีคำวินิจฉัย จึงงดไต่สวนพยานที่เหลือ โดยให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วันนับจากวันนี้ หากไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าไม่ติดใจ คดีเป็นอันเสร็จสิ้นสุดการพิจารณา โดยศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กานดา นาคน้อย

Posted: 08 Nov 2013 10:26 AM PST

"ดิฉันเห็นด้วยว่าการคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรม แต่ดิฉันคิดว่าระบบความคิดที่ว่าคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรมที่สาหัสกว่าการฆาตกรรมเป็นระบบความคิดที่อำมหิตและป่าเถื่อน"

7 พ.ย.56, ใน ภาษีและศีลธรรม

แมคโดนัลชี้แจงจุดยืนทางการเมือง ย้ำเปิดกว้างและบริการทุกคน

Posted: 08 Nov 2013 08:48 AM PST

หลังมีผู้สอบถามจุดยืนทางการเมือง ทำให้ "แมคโดนัลด์" ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คว่าเปิดในไทยมา 28 ปีแล้ว มี 185 สาขาทั่วประเทศ โดยให้บริการทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

8 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) ในเฟซบุ๊คเพจ "แมคไทย" ของแมคโดนัลด์ ประเทศไทย มีการโพสต์สเตตัสชี้แจง ภายหลังจากมีผู้สอบถามจุดยืนทางการเมืองของแมคโดนัลด์ โดยมีการชี้แจงซึ่งมีการอธิบายถึงแมคโดนัลด์ สาขาอมรินทร์ด้วย ดังนี้

We refer to the many public inquiries regarding McDonald's Thailand political position. As a national chain restaurant that provides quality of food, service, cleanliness, value and convenience, we are open to all members of the public at anytime, anywhere. McDonald's Amarin has been opened for customers since 1985 or 28 years ago and we will continue to keep our business open for everyone and anyone. Today we have 185 outlets nationwide with 80 outlets that serve 24/7. We also take the well-beings of both our staffs & customers seriously. We thank you for all your comments and concerns.

Corporate Affairs Department, McThai Company Limited

(หมายเหตุ คำชี้แจงภาษาไทย แปลอย่างไม่เป็นทางการโดยประชาไท) ตามที่มีการสอบถามจุดยืนทางการเมืองของแมคโดนัลด์นั้น ในฐานะที่เป็นร้านอาหารซึ่งมีสาขาทั่วประเทศและบริการอาหารที่มีคุณภาพ การบริการ ความสะอาด คุ้มค่า และมีความสะดวกสบายนั้น เราเปิดบริการแก่ลูกค้าทุกๆ ท่าน ทุกที่ ทุกเวลา แมคโดนัลด์สาขาอมรินทร์ได้เปิดบริการลูกค้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 หรือ 28 ปีมาแล้ว และเรายังคงรักษาธุรกิจของเราให้เปิดกว้างสำหรับทุกคน และไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ในวันนี้เรามีสาขาทั้งหมด 185 แห่งทั่วประเทศ และมี 80 สาขาที่เปิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เรายังให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพที่ดีของพนักงานและลูกค้าของเราอย่างจริงจัง เราขอบคุณทุกๆ ความเห็นและความห่วงใยของคุณ

ฝ่ายสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ บริษัท แมคไทย จำกัด

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถือถุงแมคโดนัลด์ไปมอบให้กับสรยุทธ สุทัศนะจินดา ก่อนเริ่มรายการเจาะข่าวเด่น เมื่อ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้แมคโดนัลด์ สาขาอมรินทร์ มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่การชุมนุมแยกราชประสงค์ของ นปช. ในปี 2553 และหลังการสลายการชุมนุมปี 2553 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงได้นัดหมายกันทำกิจกรรมอยู่ที่บริเวณใกล้เคียง และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สมบัติ บุญงามอนงค์ได้ถือถุงแมคโดนัลด์ไปมอบให้กับสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ก่อนการสัมภาษณ์และอภิปรายกับวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในรายการเจาะข่าวเด่นทางช่อง 3 ด้วย

สำหรับกรณีของแมคโดนัลด์ ไม่ใช่เป็นกรณีแรกที่มีผู้เรียกร้องให้บริษัทต้องชี้แจงจุดยืนทางการเมืองต่อสาธารณะ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 ได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คเรียกร้องให้ IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์ข้ามชาติยักษ์ใหญ่แสดงความผิดชอบและลงโทษพนักงานชาวไทยที่ทำงานให้ IKEA ในประเทศเยอรมันเนื่องจากวิพากษ์แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยบริษัทได้ชี้แจงว่าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮุนเซนระบุไม่ว่าคำตัดสินศาลโลกเป็นอย่างไร ขอให้ชาวกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

Posted: 08 Nov 2013 05:18 AM PST

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียกร้องเพื่อนร่วมชาติกัมพูชาให้เป็นเพื่อนบ้านที่ดี ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดสองประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้กำลังพลที่อยู่ชายแดนหลีกเลี่ยงการสร้างความตึงเครียด ในช่วงที่ศาลโลกจะมีคำตัดสิน 11 พ.ย. นี้

8 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) สำนักข่าวแห่งกัมพูชา (AKP) รายงานคำแถลงของ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่เรียกร้องไปยังประชาชนกัมพูชาและทหารกัมพูชาให้รักษาความสงบและความเรียบร้อยตลอดแนวชายแดนไทย ไม่ว่าคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในวันที่ 11 พ.ย. นี้จะเป็นอย่างไร

"ผมใครขอร้องไปยังกำลังพลทุกนายซึ่งประจำการอยู่ที่ชายแดนขอให้อยู่ในความสงบ ยึดมันในความอดทน หลีกเลี่ยงการดำเนินการต่างๆ ที่อาจสร้างความตึงเครียด หรือเกิดการปะทะกันในที่สุด" ฮุน เซน กล่าวระหว่างอ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งแพร่ภาพในสถานีโทรทัศน์แห่งกัมพูชา (TVK)

นายกรัฐมนตรีกัมพูชายังเรียกร้องไปยังเพื่อนร่วมชาติกัมพูชา ให้ดำเนินความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความสามัคคี สงบสุข และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ และระหว่างประชาชนทั้งสองชาติ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุม ครม.กัมพูชา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองก็เรียกร้องให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างสองชายแดน และกล่าวว่าไม่ว่าผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นผลดีต่อกัมพูชาหรือไทยก็ตาม รัฐบาลทั้งสองชาติก็จะรักษาความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือ ระหว่างทั้งสองรัฐบาล สองกองทัพ และประชาชนของทั้งสองชาติ และจะให้คำมั่นว่าจะรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง และสันติภาพ ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

สำนักข่าวแห่งกัมพูชา รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งกัมพูชาและไทยต่างรอผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หลังจากทั้งสองฝ่ายให้ปากคำที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ระหว่างวันที่ 15 - 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจห้ามทัพ หลัง 'รักเชียงใหม่ 51' เผชิญหน้าผู้ชุมนุม 'ค้านนิรโทษกรรม'

Posted: 08 Nov 2013 04:05 AM PST

ผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ จ.เชียงใหม่ หวิดปะทะ 'รักเชียงใหม่ 51' ตำรวจเข้าห้ามทันก่อนเกิดเรื่อง ขณะที่ นปช.ในเชียงใหม่นัดชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่สถานีรถไฟช่วงเย็น

เมื่อเวลา 16.30 น. ผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใน จ.เชียงใหม่ ประมาณ 100 คนได้รวมตัวกันชุมนุมที่ข่วงประตูท่าแพ ปลาย ถ.ท่าแพตัดกับ ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการร้องเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น

ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียด หลังมีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง 'กลุ่มรักเชียงใหม่ 51' นำโดยวรวุฒิ รุจินาภินันท์ หรือ ดีเจแดง สองแคว ได้นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงมาเปิดการปราศรัยตอบโต้กลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่บริเวณตรงข้ามข่วงประตูท่าแพ ด้านร้านสตาร์บัคส์ ห่างออกไปราว 100 เมตร ทำให้กลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตัดสินใจสลายการชุมนุมเพื่อเลี่ยงเหตุเผชิญหน้า

คลิปเหตุการณ์เผชิญหน้าของผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับผู้ชุมนุมกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก่อนที่ตำรวจจะเข้ามาห้ามปราม ที่มา: youtube.com/user/tongtong cm บรรยากาศเพิ่มเติมคลิกที่นี่่

อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจำนวนหนึ่งได้เดินเข้ามาหาหารถกระจายเสียงของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เนื่องจากไม่พอใจคำปราศรัยของดีเจแดง สองแคว มีการเข้ามาต่อว่า และมีชายคนหนึ่งจากกลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าไปฉุดกระชากไมโครโฟนของดีเจแดง สองแคว ทำให้เกิดชุลมุนกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามาห้ามปราม ตรึงกำลังในพื้นที่ และมีการเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายแยกย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อช่วงเช้า สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่ามีผู้ชุมนุม นปช. เดินทางยื่นหนังสือสนับสนุนรัฐบาลที่ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ และจากรายงานของเอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่าในช่วงเย็นวันนี้ที่ลานหน้าสถานีรถไฟ จ.เชียงใหม่ จะมี นปช.กลุ่มต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ ตั้งเวทีชุมนุมเพื่อสนับสนุนรัฐบาล และคาดหมายว่าจะมี ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำ นปช. ที่ลงมติสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง เช่น วิภูแถลง พัฒนภูมิไท ก่อแก้ว พิกุลทอง สุนัย จุลพงศธร ฯลฯ มาปราศรัยด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อ 14 มิ.ย. ดีเจแดง สองแคว และแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เช่น อภิชาติ อินสอน หรือดีเจอ้วน ภูมิใจ ไชยา หรือดีเจต้อม เคยนำผู้สนับสนุนไปปะทะกับผู้ชุมนุมหน้ากากกายฟอว์กส์ หรือหน้ากากขาว ที่ ถ.นิมมานเหมินทร์มาแล้ว โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 8 เดือน รอลงอาญา คดีผอ.ประชาไท

Posted: 08 Nov 2013 02:34 AM PST

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีตัวกลางปล่อยให้มีการโพสต์หมิ่นในเว็บบอร์ด ยก 9 ข้อความ ลงโทษ 1 ข้อความเหตุปล่อยนานเกิน ศาลระบุหลัก 'แจ้งแล้วเอาออก' เป็นข้อยกเว้นเฉพาะคดีเอกชน เจ้าหน้าที่ควรเน้นการจับกุมผู้กระทำผิดจริงมากกว่าตัวกลาง พร้อมแนะแนวทางธำรงรักษาสถาบัน


 

8 พ.ย.56 ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์ผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 20 วัน

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 30 พ.ค.55 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ  30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาลดโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ด 1 ข้อความ และยกฟ้องข้อความอีก 9 ข้อความ เนื่องจากดำเนินการตรวจสอบปิดกั้นในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ มาตรา 15  ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดให้ผู้ให้บริการรับโทษเท่ากับผู้กระทำผิดนำเข้าข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ราว 40 นาที โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาเต็มห้องพิจารณาคดี รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษ

ยกฟ้อง 9 กรรม ลบข้อความในเวลาอันสมควร

โดยสรุป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุถึงคำนิยามของ "ผู้ให้บริการ" ตาม มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกอบกับประกาศไอซีทีเรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยเห็นว่าเว็บบอร์ดประชาไทนับเป็นกรณีของผู้ให้บริการที่เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น กระนั้นจะถือว่าจำเลยยินยอมให้มีการกระทำความผิดและต้องรับผิดทันทีหลังจากมีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบของตัวกลาง นับว่าไม่เป็นธรรมต่อตัวกลาง เนื่องจากลักษณะของเว็บบอร์ดเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยทันทีเมื่อมีผู้โพสต์ข้อความ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก่อนเหมือนข่าวสารทั่วไป ทำได้เพียงตรวจสอบเมื่อมีการโพสต์แล้ว จึงเห็นว่า หากจำเลยใส่ใจทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบแล้วจะสามารถนำข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ตามระยะอันสมควรที่พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะรู้ว่ามีข้อความที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องปรากฏว่าข้อความต่างๆ จำนวน 9 ข้อความ อยู่ในเว็บบอร์ดอันอยู่ในความควบคุมของจำเลยเป็นเวลา  11, 1, 3, 2, 2, 1, 3, 2, 1 วัน ตามลำดับ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าระยะเวลาดังกล่าวอยู่ภายในกรอบเวลาอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ด มิอาจฟังว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันจะถือว่าเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14  อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

ทางนำสืบจำเลยไม่มีน้ำหนัก เหตุปฏิเสธให้การชั้นสอบสวน

คำพิพากษาระบุว่า ส่วนอีกข้อความหนึ่งปรากฏในเว็บบอร์ดนาน 20 วัน จำเลยอ้างว่าเว็บบอร์ดมีจำเลยดูแลคนเดียว ระยะเริ่มแรกผู้ใช้บริการให้ความร่วมมือในการโพสต์ตามระเบียบ แต่หลังรัฐประหารมีผู้ใช้งานมากขึ้นเป็น 10 เท่า การโพสต์ในเว็บบอร์ดสะท้อนสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างหนักในทางการเมือง เนื้อหามีความหลากหลายและเข้มข้น มีทัศนะไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง มีผู้แลกเปลี่ยนวันละประมาณ 2800 ความเห็น จำเลยได้เพิ่มมาตรการมากขึ้นโดยผู้สามารถโพสต์ได้ต้องสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ด มีการเพิ่มอาสาสมัครตรวจสอบข้อมูล ทุกความเห็นมีป้ายแจ้งลบข้อความ และเมื่อดูจากข้อความตามฟ้องเป็นการแสดงความเห็นลำดับที่ล้านกว่า นับถึงเวลาดังกล่าวมีข้อความถูกปิดไปราวร้อยละ 3  ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่งปรากฏจากการนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณา แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยเพียงให้การปฏิเสธลอยๆ โดยอ้างขอไปให้การในชั้นศาล แม้จำเลยมีสิทธิเบิกความในชั้นศาล แต่ไม่ให้การในชั้นสอบสวนถึงรายละเอียดของข้อต่อสู้ที่สำคัญทั้งที่ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานกระทำการใดๆ โดยมิชอบอันเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะอ้างเพื่อไม่ให้การในชั้นสอบสวน อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมหลังจากเสร็จการสืบพยานโจทก์แล้วเกี่ยวกับสถิติการเข้าใช้เว็บบอร์ดประชาไท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำแสดงต่อศาลในการสืบพยานจำเลย ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาจึงไม่มีน้ำหนัก แม้หากยอมรับว่าเป็นความจริง มาตรการควบคุมดูแลดังกล่าวก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ของจำเลยแต่หาเพียงพอไม่

ปล่อยข้อความ 20 วัน ไม่ลบ นับว่า "ยินยอม"

คำพิพากษาระบุว่า นอกจากนี้ข้อความตามฟ้องปรากฏอยู่ในระยะเวลาราว 4 เดือนครึ่ง ซึ่งปรากฏการโพสต์หมิ่นฯ ถึง 9 ครั้ง และยังปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายอารี จิวรักษ์ เจ้าหน้าที่ไอซีทีว่า เคยตรวจพบข้อความหรือภาพดูหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ดประชาไทและคำสั่งศาลในการปิดกั้น 4 ครั้ง รวมทั้งไอซีทียังมีการส่งอีเมล์ขอความร่วมมือผู้บริหารเว็บต่างๆ ช่วยสกัดกั้นข้อความหรือภาพที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน แม้ในจดหมายจะไม่ได้ระบุURLของเว็บเพจประชาไท แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 41 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ประกอบอาชีพสื่อมวลชนตลอดมา เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของมูลนิธิ ควรตระหนักว่าสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติดังปรากฏในแถบสีของธงไตรรงค์ การไม่ไยดีต่อการดูหมิ่นสามสถาบันหลักนี้เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่อย่างยากจะยอมรับ หากจำเลยมีความใส่ใจอย่างจริงจังเชื่อว่าจะนำข้อความไม่เหมาะสมออกจากระบบได้ในระยะเวลาอันเหมาะสม ข้อความหมิ่นฯ ที่โพสต์ในเว็บบอร์ดนาน 20 วันนับว่าเลยเวลาอันควรที่จะตรวจสอบพบ กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยยินยอมให้มีข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของจำเลย จำเลยในฐานะผู้ดูแลย่อมมีความผิด แม้ศาลจะไม่พิจารณาเรื่องการตรวจพบภาพและข้อความพาดพิงสถาบันในฮาร์ดดิสก์ของจำเลยประกอบการวินิจฉัยถึงความรับรู้ของจำเลยด้วยแต่อย่างใด

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่ามีข้อความที่ปรากฏอยู่ 20 วันนั้นจนได้รับหมายเรียกไปให้ปากคำกับตำรวจ จึงได้ตรวจสอบและปิดกั้นข้อความดังกล่าว ซึ่งควรนับว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ใช้หลัก "แจ้งให้ทราบแล้วเอาออก" ศาลเห็นว่า อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะเปิดกว้างให้คนเข้าแลกเปลี่ยนเสรี การควบคุมการสื่อสารเป็นไปได้ยาก เป็นการสื่อสารแนวราบและเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยตรงเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ตก็เป็นเครื่องมือที่อาชญากรใช้ก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการของสังคมออนไลน์แต่เดิมมักเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ขณะสื่อหลักถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนหันมาใช้พื้นที่สาธารณะในอินเตอร์เน็ตในการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเนื้อหาของข้อมูลแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ข้อมูลที่อยู่บนฐานของเสรีภาพการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยโดยสุจริต กับข้อมูลหรือการแสดงความเห็นที่เป็นการกระทำความผิด ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคมไทยจนกระทั่งก้าวล่วงไปพาดพิงถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐในฐานะตัวแทนผู้ใช้อำนาจของประชาชนและมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม จำต้องกำหนดมาตรการทั้งในทางกฎหมายและทางเทคนิคเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ตหากเป็นกรณีของการแสดงความเห็นโดยสุจริตซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

ความสำคัญของสถาบันและแนวทางถวายความจงรักภักดี

คำพิพากษายังอธิบายถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในบริบทสังคมไทยด้วยว่า สำหรับบริบทของสังคมไทยนั้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญและคุณูปการอย่างยิ่งต่อชาติไทย ดำรงอยู่ในฐานะสถาบันหลักของชาตินับตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์ของไทยจนปัจจุบัน นำพาชาติไทยผ่านพ้นช่วงสำคัญซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติมาเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันแม้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนาการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในสังคมย่อมมีความแตกต่างทางความคิดและผลประโยชน์ เกิดความขัดแย้ง เสี่ยงต่อการแตกแยกล่มสลายของประเทศ การมีสถาบันหลักของชาติเป็นสิ่งยึดมั่นร่วมกันมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้สังคมดำรงความผูกพันไว้ไม่แบ่งแยก ทำให้มีโอกาสแสวงหาสิ่งที่ดีและแปรเป็นพลังสร้างสรรค์จากความแตกต่างและความขัดแย้งได้ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติราชกรณียกิจมากมาย บารมีที่พระองค์ทรงสร้างไม่ใช่การสืบทอดแต่เป็นพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะและความมุ่งมั่น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่เพียงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในอุดมคติด้วย ชาวไทยจึงควรตระหนักและเชื่อมั่นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบบการปกครองที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้การเทิดทูนธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นศูนย์รวมความผูกพันยึดโยงสถาบันต่างๆ ในชาติจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ เป็นจุดร่วมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งแม้อาจมีความแตกต่างกันบ้างทางความคิดและผลประโยชน์ แต่ควรมีปณิธานสมานฉันท์สามัคคีถวายความจงรักภักดีร่วมกัน ซึ่งอาจทำได้หลากหลายวิธี  เช่น 

หนึ่ง ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สอง สร้างความตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 

สาม จัดให้มีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ  

สี่ เฝ้าระวัง สร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำต่อสถาบัน เช่น การจาบจ้วง คือการกล่าวถึง-พูดถึงสถาบันในลักษณะไม่บังควร ไม่เคารพ , การล่วงละเมิดคือการวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบสถานะและพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะองค์พระประมุขสูงสุด, การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือการกระทำใดๆ ที่เป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย ก่อให้เกิดผลด้านลบใดๆ ต่อสถาบัน และการมุ่งร้าย คือการกระทำหรือการแสดงออกซึ่งเจตนาที่จะบั่นทอนพระเกียรติและการดำรงอยู่ของสถาบัน จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ต่างมีบทบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และน่าจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้ง เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจความรักและความสามัคคีของคนในชาติ ฉะนั้นการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมิใช่เพียงเพื่อการคงอยู่ของประโยชน์ของสถาบัน แต่หากเป็นการรักษาสถาบันหลักของชาติเพื่อเป็นศูนย์รวมของความผูกพันเป็นประโยชน์ของประชาชนในการเดินทางก้าวข้ามการเมืองการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืน

หลัก "แจ้งแล้วเอาออก" ใช้กับกรณีเอกชน

สำหรับเรื่องหลักการแจ้งให้ทราบแล้วเอาออกนั้น โดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องนี้อาจใช้เป็นข้อยกเว้นหากมีเอกชนเป็นผู้เสียหาย เช่น ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่ไม่อาจบังคับใช้ได้กับพฤติการณ์หรือการกระทำความผิดฐานยินยอมให้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาเรื่องที่อุทธรณ์ของโจทก์ขอให้ลงโทษให้หนักขึ้นนั้น คำพิพากษาระบุว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 ปี ปรับ 30,000 บาทและคำให้การของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีเป็นเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

รอลงอาญา แนวทางตามสหประชาชาติ

ปัญหาต่อมาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเป็นต้องรอการลงโทษหรือไม่ ศาลเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการลงโทษคือ การแก้แค้นทดแทน การข่มขู่ยับยั้ง การฟื้นฟูผู้กระทำความผิด การตัดผู้กระทำผิดออกจากสังคม การคุมขังผู้กระทำผิดนอกจากทำให้สิ้นอิสรภาพ ยังกระทบด้านเศรษฐกิจของตัวผู้กระทำผิดและครอบครัว รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องดูแลผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น มีผลกระทบทางสังคมเพราะการตัดขาดกับสังคมภายนอกเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับตัวของผู้กระทำความผิด ทำให้ไม่รู้ความเป็นไปของสังคมและรู้สึกหว่าเหว่ ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลกระทบต่อผู้ต้องโทษเองทำให้ลักษณะของบุคคลรวมถึงชื่อเสียงเสื่อมลง โดยเฉพาะความแออัดจะสร้างความตึงเครียดมากขึ้น ภายหลังปล่อยตัวเป็นอิสระก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก เป็นบุคคลอันตราย เป็นการยากต่อผู้ต้องโทษในการดำรงชีวิตภายหลังการจำคุก สำหรับกรณีการใช้อินเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดนี้ เห็นว่าผู้ที่สมควรได้รับการลงโทษเป็นลำดับต้นคือผู้ใช้บริการหรือผู้กระทำความผิด พนักงานตามกฎหมายควรมุ่งจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ยิ่งกว่าดำเนินคดีกับตัวกลางคือผู้ให้บริการอินเตอร์ และควรหันมามุ่งสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในการติดตามตัวผู้กระทำความผิด ประกอบกับปรากฏว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน การจำคุกเวลาสั้นเพียง 8 เดือนไม่น่าก่อผลดีในการแก้ไขปรับปรุงพฤตินิสัยของจำเลย สมควรให้โอกาสแก่จำเลยใช้ชีวิตนอกเรือนจำเพื่อปรับตัวเป็นพลเมืองดี สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานครซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่65 ได้ให้ความเห็นชอบข้อกำหนดดังกล่าวเมื่อธ.ค.53 อันเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในกระบวนทัศน์ใหม่

ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษแก่จำเลยนับว่าเหมาะสมกับความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเช่นกัน สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยนอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยมิได้มีน้ำหนักให้เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

ทนายชี้โดยทั่วไปห้ามฎีกา

ด้านธีรพันธ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลยในคดี กล่าวถึงกระบวนการต่อไปว่า หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยทั่วไป ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของคดี ยกเว้นจะขออนุญาตฏีกาหากเห็นว่ามีประเด็นอันสมควรที่ศาลสูงจะวินิจฉัย ตรงนี้เป็นกระบวนการคัดกรองไม่ให้คดีเข้าสู่ศาลสูงมากเกินไป อย่างไรก็ตามหากจำเลยจะฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่เคยพิจารณาคดี นี้ หรือหากอัยการจะฎีกาก็ต้องขออนุญาตจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำหรับจำเลยคงต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อีกครั้งว่าจะมีการขออนุญาต ยื่นฎีกาหรือไม่ต่อไปภายในระยะเวลา 1 เดือน

หากมีการฎีกาคดีนี้ก็เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานบางอย่าง ซึ่งสำหรับทนายที่ต่อสู้คดีมา เราเห็นว่ามาตรา 15 เป็นกรณีที่จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม ให้บุคคลอื่นนำขอมูลที่เป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำว่าจงใจโดยปกติแล้วในกฎหมายอาญาไม่ค่อยพบว่ามีการใช้ ส่วนใหญ่มีในกฎหมายแพ่งที่มีการละเมิด โดยการจงใจนั้นหมายถึงว่าเป็นการกระทำที่ผู้กระทำรู้สำนึกถึงความเสียหายที่ จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง การกระทำที่เกิดจากการผิดพลาด พลาดพลั้ง มันไม่ถือว่าเป็นการจงใจ ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับรู้ แล้วถึงการที่มีบุคคลอื่นเอาข้อความมาโพสไว้แล้วเราเพิกเฉย

ในข้อเท็จจริง 9 กระทงที่เขาฟ้องมา จะเห็นได้ชัดว่าทางจำเลยได้มีความพยายามตรวจสอบ กลั่นกรอง และลบภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแม้ว่าศาลจะพูดถึงกรณี นายอารีย์ จิวรรักษ์ พยานโจทก์ให้การต่อศาลว่าทางไอซีทีเคยไปขอหมายศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อ ความบางยูอาร์แอลของเว็บบอร์ดประชาไท แต่ความจริงแล้วระยะเวลาที่มีการไปขอหมายศาลทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น เป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินการลบข้อความเองไปแล้ว ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าทางปะชาไทเองก็มีความพยายามที่จะตรวจสอบกลั่นกรอง ส่วนการที่ศาลบอกว่ามีผู้มาโพสข้อความถึง 9 ครั้งนั้น ตรงนี้เป็นการที่มีบุคคลอื่นมาโพสข้อความ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถไปสกัดกั้นได้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเราได้รับทราบแล้วเราเพิกเฉยหรือมีการดำเนินการ ต่อ โดยใน 9 ครั้งแรกที่มีการฟ้องมาก็เห็นได้ชัดว่าทางประชาไทได้ดำเนินการในเวลาอันควร แล้ว ซึ่งศาลก็ได้วินิจฉัยแล้วในประเด็นนี้

ความผิดพลาด ไม่เท่ากับ การยินยอม

ในส่วนกระทงที่ 10 ซึ่งปรากฏอยู่เป็นระยะเวลา 20 วัน เราต้องคำนึงถึงว่า จากกระทู้จำนวนมาก และข้อความที่แลกเปลี่ยนเป็นแสนเป็นล้าน การที่มันมีความผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นสักกรณีแล้วจะถือเป็นความยินยอมได้ หรือไม่ และความผิดพลาดบกพร่องซึ่งตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้มันเป็นเรื่องที่กฎหมายเองก็ไม่ได้มุ่งที่จะลงโทษทัณฑ์ เพราะกฎหมายมาตรา 15 มุ่งลงโทษในกรณีที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอม ไม่ได้มุ่งลงโทษสิ่งที่เกิดจากความบกพร่อง ซึ่งกรณีนี้หากจะฟังว่าผิดพลาดก็เป็นเพียงการบกพร่องเท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ศาลสูงควรได้วินิจฉัย ส่วนว่าจะมีการฎีกาหรือไม่อันนี้เป็นเรื่องของจำเลยว่าจะเห็นควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่ศาลระบุว่าในชั้นตำรวจให้การปฏิเสธเพียงลอยๆ ทำให้ไม่มีน้ำหนักในการพิจารณาคดีของศาล ธีรพันธ์ ชี้แจงว่า ตรงนี้ความจริงเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรหรือไม่ให้ การเลยก็ได้ในชั้นตำรวจ ซึ่งในทางปฏิบัติในการต่อสู้คดีผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีอาญามักจะให้การ ปฏิเสธลอยไว้ก่อน อีกทั้งสำหรับคดีนี้ข้อกล่าวหามีถึง 10 กระทงและในแต่ละเรื่องมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นขณะที่ถูกจับกุมตัวจึงเป็นเรื่องไม่ทันตั้งตัวที่จะเตรียมเหตุผล หรือข้อมูลมาชี้แจง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้การปฏิเสธลอยไว้ก่อน ยกเว้นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน สามารถอ้างอิงถึงบุคคล สถานที่ได้ทันทีว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตามวันเวลานั้น

ตรงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐาน การให้น้ำหนักในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล คือข้อกล่าวอ้างอันไหน หากมีการกล่าวอ้างมาตั้งแต่ต้น มีพยานหลักฐานสนับสนุนมาตั้งแต่แรก ศาลจะให้ความเชื่อถือให้น้ำหนัก ส่วนข้อกล่าวอ้างที่มีการกล่าวอ้างขึ้นภายหลัง ศาลอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่คิดปั้นแต่งขึ้นมาในภายหลังได้

คำพิพากษาสื่อสารกับสาธารณชน

ทนายความยังตั้งข้อสังเกตถึงคำพิพากษาด้วยว่า เป็นคำพิพากษาที่ต้องการสื่อสารถึงสาธารณชน ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสำคัญในเรื่องตัวกลางที่ไม่จำเป็นต้องมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำผิด โดยกฎหมายมุ่งบังคับเพื่อให้ผู้ให้บริการให้ความร่วมมือกับทางหน่วยราชการ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง อีกทั้งระบุถึงมาตรการแจ้งให้ทราบเพื่อลบว่า ควรใช้ในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนในกรณีที่เป็นความผิดต่อรัฐผู้บริการควรลบโดยไม่ต้องรอให้มีการแจ้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.จี้รัฐบาลยุติร่างนิรโทษกรรม

Posted: 08 Nov 2013 02:13 AM PST

สนช.ออกแถงการณ์เรียกร้องรัฐทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษตายไป ไม่ใช่แค่สลบ แนะตั้งกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อปรองดองตามขั้นตอน



8 พ.ย. 2556 - เวลา 11.30 น. ชมรมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานชมรม ออกแถลงการณ์ เสนอทางออกในการแก้ปัฐหาความขัดแย้งจากการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า สนช.มีความห่วงต่อสถานการณ์การคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ขอใหัทุกฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงที่มีผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน

ทั้งนี้การยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขั้นตอนวุฒิสภา เป็นการหยุดอยู่กับที่ใน 180 วัน สามารถยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้หากรัฐบาลยุบสภาไปกฎหมายก็ยังค้างอยู่ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็สามมารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ภายใน 60 วัน การแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลต้องระดมคนในพรรคและนักกฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายนี้ตายไปไม่ใช่เพียงแค่สลบ

"รัฐบาลก็ต้องมาดูว่าข้อกฎหมายส่วนไหนที่เป็นไปไม่ได้เพราะทำไมถึงทำให้ตายไม่ได้ มนุษย์เขียนขึ้นเองก็ต้องรู้ ทางแก้อีกทางเขียนข้อบังคับใหม่ให้กฎหมายฉบับนี้มันตายได้"นายมีชัยกล่าว

นายมีชัยกล่าวอีกว่า รัฐบาลยิ่งจบเร็วอารมณ์ก็ยิ่งจบเร็ว ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว รัฐบาลต้องอยู่ด้วยความศรัทธาและน่าเชื่อถือ ไม่งั้นทำงานยากและต้องเจอกับปัญหาอุสรรค ส่วนเรื่องการยุบสภาหรือไม่นั้นรัฐบาลต้องตระหนักคิดและหาทางว่าควรจะตัดสินใจอย่างไรเพราะการชุมนุมประกอบด้วย 2 ส่วน1.จำนวน 2.อารมณ์ร่วม ฉะนั้นรัฐบาลต้องตัดสินปัญหาให้เร็วที่สุด

การสร้างความปรองดองควรทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ตามหลักความยุติธรรม เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ใช้ได้ผล คือต้องค้นหาความจริง โดยตั้งคณะกรรมการอิสระที่ปราศจากการฝักไฝ่ หรือจัดฉากจนประชาชนมีฉันทามติ เพื่อยุติความขัดแย้ง จะต้องเจรจาหาทางออกระหว่างคู่กรณี ทั้งนี้รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติชุดใหม่ขึ้นมา และต้องสนับสนุนปฎิบัติตามข้อเสนอ

ทั้งนี้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ยังระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะดูแลรักษาความสงบและฟังเสียงประชาชน ในการบริหารประเทศ ดังนั้นต้องรับฟังเสียงประชาชนที่ออกมาเรียกร้องและนำไปตัดสินใจ บนพื้นฐานของประโยชน์ของชาติ สิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ต้องชี้แจงกับประชาชนและอำนาจที่มีอยู่ไม่สามารถนำใช้ตอบโต้กับประชาชนได้ เพราะรัฐบาลจะอยู่ในฐานะลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดหาทางแห้ไขปัญหาเอง โดยไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย แต่รัฐบาลต้องอดทนอดกลั้น จึงจะสามารถผ่านอุปสรรคไปได้ และต้องรีบแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยนานไป อารมณ์ของผู้ชุมนุมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนเกิดสถานการณ์บานปลาย

สำหรับผู้ร่วมแถลงการณ์ ประกอบด้วย พล.อ.โชคชัย หงส์ทอง นายประเจิด สุขแก้ว นายประพันธ์ คูณมี นายธีรพจน์ จรูญศรี พล.อ.จรัญ กุลวาณิชย์ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ พล.อ.ปรีดี สามิภักดิ์ นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย นายสมัคร เชาวภานันท์ นายสุจิต บุญบงการ นายอภิชาติ จีระพันธุ์ นายอรรคพล สรสุชาติ นายอัศวิน ชินกำธรวงศ์ นายวริช ชวพงษ์ นายทรงพล นิมศาสตร์ นายพรเพชร วิจิตชลชัย พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย

ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

40 ส.ว. ลั่นไม่ร่วมถก กม.นิรโทษกรรม - ปธ.วุฒิสภาง้อไม่สำเร็จขอเลื่อนเป็น 11 พ.ย.

Posted: 08 Nov 2013 02:10 AM PST

รสนา โตสิตระกูล ระบุกลุ่ม '40 ส.ว.' จะไม่ร่วมประชุม เพราะไม่ต้องการเป็นเครื่องมือรัฐบาล ขณะที่การประชุมวุฒิสภาที่กำหนดมาตั้งแต่เวลา 14.00 น. ผ่านไปแล้วสามชั่วโมงยังประชุมไม่ได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม โดยกลุ่ม 40 ส.ว. รวมตัวกันอยู่ข้างนอกไม่ยอมเข้าประชุม

8 พ.ย. 2556 - ตามที่เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาได้เรียกประชุมเพื่อหารือ ส.ว.นอกรอบ เลื่อนการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากวันที่ 11 พ.ย. มาเป็นวันที่ 8 พ.ย. และกลุ่ม 40 ส.ว. คัดค้านและวิจารณ์ประธานวุฒิสภาว่ารับลูกรัฐบาล โดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหาถึงกับต่อว่าอย่างรุนแรงว่า ถ้าแบบนี้จะเรียกประชุมทำไม นายนิคมหมดความชอบธรรมที่จะเป็นประธานฯ ต่อไป (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ย.) มติชนออนไลน์ รายงานความเห็นของ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.เลือกตั้งจาก กทม. ที่กล่าวว่า 40 ส.ว. ยืนยันจะไม่เข้าร่วมประชุมเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการไม่ถูกต้องเพราะก่อนหน้านี้วิปวุฒิสภาเคยกำหนดให้ประชุมพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 11 พ.ย. แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา  กลับใช้อำนาจตัวเองเปลี่ยนแปลงกะทันหันให้เป็นความต้องการที่จะรับใช้รัฐบาล โดยแก้ปัญหาทางการเมืองให้ หวังจะให้วุฒิสภากอบกู้สถานการณ์ ใช้วุฒิสภาเป็นเหมือนเครื่องมือแต่งหน้าศพของรัฐบาล

ส.ว.กทม. กล่าวด้วยว่า มีความพยายามของสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งจะใช้วิธีผ่านสามวาระรวดและกลับไปใช้ร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หากทำอย่างนี้ก็เป็นการทำลายองค์กรวุฒิสภาทั้งสิ้น หากเดินหน้าประชุมได้ก็เท่ากับเป็นการสร้างราคาให้ตัวเอง ฉะนั้น กลุ่ม 40 ส.ว. จะให้กลับมาดำรงหลักการไม่ให้ทำงานภายใต้คำสั่งของใครหรือแรงกดดันทางการเมือง ทางกลุ่มจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของนายนิคม

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดประชุม จนถึงเวลา 15.00 น. ก็มี ส.ว.ลงชื่อเพียง 67 ราย จากจำนวน ส.ว. ทั้งสิ้น 149 ราย ไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือ 75 คน ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ พอถึงเวลา 16.30 น. มี ส.ว.เข้าร่วมประชุมเพียง 68 คน

ทั้งนี้กลุ่ม 40 ส.ว. ไม่ยอมเข้ามาประชุม แต่ได้ไปรวมกันอยู่ในอาคารวุฒิสภา และล็อคห้องอยู่ภายใน ทำให้สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา และนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เดินออกจากที่ประชุมสภาเพื่อไปเจรจา และมีการสั่งพักการประชุมตั้งแต่เมื่อเวลา 16.40 น.

อย่างไรก็ตามจนถึงเวลา 17.30 น. ก็ยังไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานสภาประกาศเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 11 พ.ย. ทำให้มี ส.ว. ที่มาประชุมไม่พอใจหลายราย มีการยกมืออภิปรายและตำหนิผู้ที่ไม่เข้ามาประชุม โดยมี ส.ว. รายหนึ่งได้อภิปรายตำหนิประธานวุฒิสภาว่า "จะชะลอทำพระแสงด้ามยาวอะไร" และกล่าวด้วยว่า ส.ว.หลายคนได้เลื่อนตั๋วเครื่องบินเพื่อรีบเดินทางมาประชุมวันนี้และรู้สึกผิดหวังที่มีการเลื่อนประชุมดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์: ปล่อยนักโทษการเมืองและท่าทีต่อการเคลื่อนไหวต้าน พ.ร.บ.เหมาเข่ง

Posted: 08 Nov 2013 02:04 AM PST

 

ขอเชิญประชาชนร่วมลงชื่อ
แถลงการณ์นักกิจกรรมทางสังคม "เพื่อให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และท่าทีต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

8 พฤศจิกายน 2556

ตามที่ประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ...." หรือ "พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" อย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศนั้น กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งมีความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย และเคารพการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างของทุกกลุ่มภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามรายชื่อของท้ายคำแถลงฉบับนี้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทางประชาธิปไตยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวของประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจและการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนครั้งนี้สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกคุมขัง และการสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน เราขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมือง เป็นหัวใจสำคัญของสังคมที่ยึดถือหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย ประชาชนย่อมคาดหวังได้ว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชน ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ดังนั้นจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงประทุษร้ายต่อประชาชนอีกในอนาคต

2) ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองอย่างเร่งด่วน แต่ไม่รวมถึงกับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีความผิดที่เกี่ยวกับคดีการทุจริตคอรัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง

3) ในระหว่างที่กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนยังไม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ได้รับสิทธิในการประกันตัวโดยทันที โดยควรครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้ภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา

4) การตื่นตัวของประชาชนในครั้งนี้ ควรนำไปสู่การสร้างกลไกการป้องกัน ตรวจสอบ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้มีอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง รวมทั้งการสร้างกระบวนการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้เสียงข้างมากลากไปในกรณีมาตรา 190 ตลอดจนกรณีการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั้งบวกและลบอย่างกว้างขวาง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเผด็จการรัฐสภาและป้องกัน มิให้เป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารและ/หรือการพึ่งพากลไกที่ถูกสร้างขึ้นจากรัฐประหารไปพร้อมๆกัน

5) ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซึ่งได้เริ่มต้นจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและอาจพัฒนาขยายไปเป็นข้อเรียกร้องอื่นนั้น มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน หรือเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกรูปแบบ และร่วมกันต่อต้านกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่อ้างสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งมีรายชื่อตามท้ายคำแถลงฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เรียนรู้และมีสติปัญญามากขึ้นจากบทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะก้าวผ่านความขัดแย้ง และการแตกต่างทางความคิดกันได้โดยกระบวนการที่วางอยู่บนการเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ การอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง ไปสู่การรังสรรค์สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแท้จริง


 

ผู้สนใจสามารถร่วมลงชื่อทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
แถลงการณ์นักกิจกรรมทางสังคม "เพื่อให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และท่าทีต่อการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซิป้าแถลงผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยโต 22% ในปี 2556

Posted: 08 Nov 2013 01:55 AM PST

8 พ.ย. 2556 - สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2555/2556และประมาณการปี 2557 (ICT Market 2012/2013& Outlook 2014)  ซึ่งนายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(SIPA) กล่าวว่า ในส่วนของ SIPA ในปีนี้ ได้ทำการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นปีที่สอง ซึ่งได้มีการปรับปรุงวิธีการศึกษา ขอบเขตการศึกษา และกรอบนิยามในตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว ให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่น่าเชื่อถือซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดจนได้มีการสำรวจบุคลากรด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายในองค์กร(in-house) เป็นปีแรกด้วย

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจว่าในปี 2555 ภาพรวมของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทย มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 31,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 24.0  โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิต 5,877 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 24.7 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิต 26,102 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 23.9 ขณะที่ ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว มีมูลค่าการผลิต 4,218 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 5.4

ส่วนในปี 2556 ประมาณการเบื้องต้นว่า ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะมีมูลค่าการผลิตในประเทศไทยกว่า 39,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 22.2  โดยจำแนกเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 7,962 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 35.5 และบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าการผลิตประมาณ 31,134 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 19.3 ทั้งนี้ การเติบโตที่ต่อเนื่องของตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยเป็นผลจาก สภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเติบโตในช่วงหลังจะชะลอตัวลงบ้าง และทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (ICT) เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นนอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วยังพบว่าในปี 2555 มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ภายในองค์กร (in-house) อีกอย่างน้อย 686.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 12.2

สำหรับตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น มีมูลค่าการผลิต 4,886.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 15.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในปี 2557 นั้น คาดการณ์เบื้องต้นว่า จะมีมูลค่าประมาณ 44,026 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 12.6  และสำหรับตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,864 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 20

ในด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นั้น ประเทศไทยยังคงมีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไม่มากนัก โดยในปี 2555 มูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยอยู่ที่817 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ทั้งหมด  โดยจำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 242 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 575 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวค่อนข้างมาก โดยในปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว 1,742 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.3 ของมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวทั้งหมด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ขึ้นป้ายเตือนผู้บริหารอย่าเหมาเข่ง มธ. ร่วมต้านนิรโทษ - เรียกทหาร

Posted: 08 Nov 2013 01:26 AM PST

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นป้ายสวนแนวทางผู้บริหารที่โถงอาคารเรียน มธ.รังสิต ชี้ผู้บริหารสถาบันไม่ควรนำธรรมศาสตร์ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจุดประสงค์ของตนเอง และภาพเรียกทหารทำให้สถาบันเสียชื่อเสียง




 

(ที่มาภาพจากเฟซบุ๊กของ Ratthapol Supasopon)


8 พ.ย.2556 - ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต มีการขึ้นป้ายคัดค้านการแสดงออกทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีนำชื่อสถานบันและออกหนังสือผลักดันให้สมาชิกในประชาคมร่วมสนับสนุนการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยป้ายดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสม

ป้ายดังกล่าวมีจำนวนราว 17 แผ่นเขียนด้วยลายมือ ติดอยู่ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่ผ่านไปผ่านมาอยู่พอสมควร

ตัวแทนของกลุ่ม LLTD ให้สัมภาษณ์ถึงวที่มาของการทำป้ายดังกล่าวว่า เนื่องจากการจัดกิจกรรมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ที่บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์และคปท. โดยมีผู้บริหารระดับสูงของมธ. ได้ร่วมขึ้นปราศรัยด้วย ถึงแม้ว่าตามกำหนดเดิมจะมีกิจกรรมที่จะเดินขบวนไปบริเวณนั้นอยู่แล้ว แต่การไปร่วมขึ้นเวทีกับของกลุ่มการเมืองเช่นนี้นับเป็นการเอาทั้งมหาวิทยาลัยไปเลือกข้างทางการเมืองมากเกินไป

นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มยังกล่าวว่า ในฐานะที่อธิการบดีเป็นผู้รับผิดชอบงานจัดชุมนุมเมื่อวานนี้ และภายในงานมีภาพของนักศึกษาถือป้ายที่แสดงการเรียกร้องทหารให้ออกมาทำรัฐประหาร เป็นการสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องการส่งข้อความไปว่าผู้บริหารไม่ควรเอาชื่อมหาวิทยาลัยเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการเมืองตามจุดประสงค์ของตนเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านกัมพูชาบุกไทยร้องกรรมการสิทธิ์-กรรมการปฏิรูปกฏหมาย ร้อง บ.น้ำตาลไทยละเมิดสิทธิ

Posted: 08 Nov 2013 01:04 AM PST

8 พ.ย. 2556 - ณ ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวบ้านจากจังหวัดเกาะกง โอดอร์เมียนเจย และกำปงสปือ ประเทศกัมพูชา ร่วมกับองค์กร Equitable Cambodia และ Inclusive Development International ซึ่งร่วมกันทำรายงาน  "ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ "ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์ (Everything But Arms) ของสหภาพยุโรป" ได้เปิดตัวรายงานและแถลงข่าวถึงปัญหาผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนได้รับจากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีการขายสินค้าโดยปลอดภาษีจากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปมานับตั้งแต่ปี 2544 ทั้งโครงการดังกล่าวกลับเอื้อให้เกิดการย้ายทุนจากต่างแดนเพื่อลงทุนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่และโรงงานตาลในกัมพูชา นำมาซึ่งปัญหาการแย่งที่ดินและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้มีบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศไทยเกี่ยวข้องด้วย
 
"โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการกระตุ้นการเติบโต ของภาคการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country: LDC) ในการส่งสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าไปขายในตลาดยุโรป ได้โดยปลอดภาษี ทว่า นโยบายถ้อยคำสวยหรูนี้ กลับกำลังก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามในประเทศกัมพูชา" เดวิด เพลด (David Pred) ผู้จัดการโครงการสากลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง (Managing Associate of Inclusive Development International) ผู้เขียนรายงานกล่าว และเสนอให้เห็นภาพปัญหาการเข้าครอบครองที่ดินสัมปทานของบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศหลายบริษัท"
 
"การลงทุนปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล เป็นสาเหตุของปัญหาการยึดแย่งที่ดินจากชาวบ้านที่เลวร้ายที่สุดในประเทศของเราและเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ชาวบ้านกลับโดนขับไล่และไล่ล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ฉันเองโดนจับติดคุก 8 เดือนหลังจากร่วมประท้วงบริษัท และต้องคลอดลูกในคุก" นางฮอย ไม (Hoy Mai)ตัวแทนชุมชนจากอำเภอ สำโรง (Samrong) จังหวัดโอดอร์เมียนเจยกล่าว และเสริมว่า "ดิฉันรู้สึกผิดหวังที่บริษัทไทยยังปฏิเสธที่จะพบพวกเราเพื่อพูดคุยกัน"
 
"คนกัมพูชาหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกินและประสบกับความยากจนอย่างสาหัส ลูกหลานของเราต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานจุนเจือครอบครัวโดยการเป็นคนงานในไร่อ้อยแทนและไม่มีหลักประกันในชีวิตใด ๆ" นายเตง กาว (Teng Kao)ตัวแทนชุมชนจากอำเภอสเรอัมบึล (Sre Ambel) จังหวัดเกาะกงผู้ได้รับผลกระทบเสริม
 
ทั้งนี้กลุ่มผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสานของไทยร่วมแถลงสนับสนุนการเรียกร้องของชาวบ้านกัมพูชาด้วย
 
"การละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และประชาชนในภูมิภาคไม่ควรยอมให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกต่อไป" อุบล อยู่หว้าจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าว
 
"ประชาชนไทยจำนวนมากเติบโตมากับการปลูกอ้อย แต่เรากลับไม่มีอะไรดีขึ้นตรงกันข้าม เรากลับต้องเสียที่ดินให้บริษัทเพราะตกอยู่ในวงจรหนี้และสุขภาพต้องเสื่อมโทรมจากการปลูกอ้อยด้วยสารเคมีมาชั่วนาตาปี โดยที่บริษัทไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของเราที่ทำงานกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า" นายพิชิตพล แสนโคตรจากเครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญากล่าว
 
ทั้งนี้ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายต่างยืนยันว่าการตรวจสอบบริษัทไทยเพื่อให้สังคมเข้าใจประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนสามารถทำได้และน่าจะเป็นประโยชน์กับความก้าวหน้าของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน
 
"พฤติกรรมของบริษัท พูดได้ว่าขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้และยังมีความผิดตามหลักกฎหมายสากลในหลายข้อและจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน" นายสมชาย หอมละออกล่าว
 
"ขอยืนยันว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบบริษัทไทยและเราทำร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในประเทศอาเซียนด้วย" นายแพทย์นิรันดร์กล่าวหลังการรับคำร้องจากประชาชนกัมพูชา
 
ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประชาชนและองค์กรในกัมพูชากำลังทำการยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบบริษัทน้ำตาลมิตรผลและบริษัทน้ำตาลขอนแก่นของไทยและเป็นกรณีที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสังคมออนไลน์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุไม่มีความจำเป็นต่อประเทศ

Posted: 08 Nov 2013 12:50 AM PST

บ้านสมเด็จโพลล์สำรวจความเห็นชาวสังคมออนไลน์คัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ระบุไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยร้อยละ 86.8



8 พ.ย. 2556 - ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของประชาชนผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network)  จำนวนทั้งสิ้น 1,116 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 4 - 7 พฤศจิกายน 2556 โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งผู้ที่สามารถเข้าถึงแบบสอบถามออนไลน์ผ่านการส่ง Link ของแบบสอบถามออนไลน์ไปยังผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) โดยตรงและการแชร์ (Share) ไปยังกลุ่มตัวอย่างจนครบตามจำนวน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane ซึ่งกำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

นายสิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ในเรื่องพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มต่างๆออกมาคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการนัดการรวมพลังในการคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอย่างต่อเนื่อง และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นอยู่ระหว่างการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา  

รายละเอียดของโครงการสำรวจความคิดเห็นกับเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของประชาชนผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) มีดังนี้

1.ท่านเห็นด้วยกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือไม่
เห็นด้วย            ร้อยละ    3.9
ไม่เห็นด้วย        ร้อยละ    94.0
ไม่แน่ใจ            ร้อยละ      2.1

2. ท่านทราบหรือไม่ว่าใน มาตรา 3 จะเป็นการยกเลิกความผิดของคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง รวมไปถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตต่าง ๆ และยกเลิกทุกคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ทราบ           ร้อยละ    87.5            
ไม่ทราบ       ร้อยละ    7.3
ไม่แน่ใจ       ร้อยละ    5.2

3. ท่านทราบหรือไม่ว่าใน พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เป็นการยกเลิกความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง และคดีทุจริตทั้งหมด และคดีที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการและที่มีคำพิพากษาของศาลไปแล้วด้วย
ทราบ            ร้อยละ    92.2
ไม่ทราบ        ร้อยละ    4.8
ไม่แน่ใจ        ร้อยละ    3.0

4.ท่านคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือไม่
ประชาชนได้รับประโยชน์    ร้อยละ    4.1
ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์    ร้อยละ    90.5
ไม่แน่ใจ            ร้อยละ    5.4

5.ท่านทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา
ทราบ            ร้อยละ    92.0
ไม่ทราบ        ร้อยละ    4.1
ไม่แน่ใจ         ร้อยละ    3.9

6.ท่านคิดว่าการต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของกลุ่มต่างๆในปัจจุบัน จะทำให้สมาชิกวุฒิสภา จะลงมติไม่เห็นด้วยกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือไม่
ใช่            ร้อยละ    30.3
ไม่ใช่        ร้อยละ    16.3
ไม่แน่ใจ    ร้อยละ    53.4

7. ท่านคาดหวังว่าสมาชิกวุฒิสภาจะไม่เห็นด้วยกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมใช่หรือไม่
ใช่            ร้อยละ    66.9
ไม่ใช่        ร้อยละ    11.9
ไม่แน่ใจ    ร้อยละ    21.1

8.ท่านคิดว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยหรือไม่
มีความจำเป็น  ร้อยละ    7.6            
ไม่มีความจำเป็น   ร้อยละ    86.8        
ไม่แน่ใจ   ร้อยละ    5.6
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาที่ปรึกษาเสนอแบ่งสัดส่วน ชาวนากับโรงสี 80:20

Posted: 08 Nov 2013 12:28 AM PST

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอรัฐบาลยิ่งลักษณ์แนวทางแก้ปัญหาข้าวทั้งระบบ เลียนแบบชาวไร่อ้อย แนะแบ่งปันสัดส่วนผลประโยชน์ชาวนากับโรงสี 80:20



8 พ.ย. 2556 - นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน"  ไปยังคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ข้อเสนอแนะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการโครงสร้างการแบ่งปันรายได้
 
นางภรณีฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการลดต้นทุนการผลิต การส่ง เสริมกลไกด้านการตลาดให้ดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการบริหารจัดการให้มีโครงสร้างการแบ่งปันรายได้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ หมายถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กลางน้ำ หมายถึง พ่อค้า โรงสี และปลายน้ำ หมายถึง ผู้ส่งออกและผู้บริโภค รัฐบาลควรดำเนินการตามหลักการ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สรุปก็คือ ด้านการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการโครงสร้างการแบ่งปันรายได้

ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจฯ กล่าวว่า การแบ่งปันรายได้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายอาจมีข้อกำหนดสัดส่วนรายได้ตามข้อตกลงของทุกฝ่ายที่เหมาะสม เช่น ปันส่วนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมด และปันส่วนให้กับผู้รวบรวมและโรงสีร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด โดยให้ตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องข้าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมและรักษาผลประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าว อาจจะอ้างอิงแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์มาจากพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527  น่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาข้าวทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและการจัดจำหน่าย การจะทำให้สำเร็จได้นั้น ควรใช้วิสาหกิจหรือระบบสหกรณ์เข้ามาขับเคลื่อนให้องค์กรของเกษตรกรมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น