โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รายงาน : คดีดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 เส้นแบ่งเวลาใหม่ของมาตรา 112

Posted: 21 Nov 2013 11:59 AM PST

 

มาตรา 112 เป็นที่โจษจันกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเว็บไซต์นิติราษฎร์เผยแพร่คำพิพากษาศาลฏีกาคดีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

คำพิพากษากรณีนี้น่าสนใจ เพราะเพิ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2556 (อ่านคำพิพากษาเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) เป็นคดีที่อยู่นอกการจับตาของนักวิชาการ นักกิจกรรม สื่อมวลชนที่ติดตามเรื่องนี้ คล้ายว่าจู่ๆ ก็ พลั๊วะ!! โผล่ขึ้นมาบนดิน ทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่ามีคดีที่เราไม่รู้อีกกี่มากน้อย สำคัญที่สุดคือ มันเป็นคดีที่ไปถึงชั้นฎีกา เป็นการวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งบรรทัดฐานในครั้งนี้คือ การหมิ่นกษัตริย์ในอดีตนับเป็นความผิดตามมาตรา 112

ที่ผ่านมาแม้การตีความของตำรวจ อัยการ ศาล ว่าอะไรหมิ่นหรือไม่ จะถูกตั้งคำถามว่าอาจตีขลุมและอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์เกินไป ทั้งคดีโยนธง พ่นสเปรย์ เขียนนิยาย ไม่ยืนในโรงหนัง แปลหนังสือต่างประเทศ ขายซีดีสารคดีต่างประเทศ เป็นต้น  แต่ก็ไม่เคยมีกรณีไหนที่การตีความนั้นเกี่ยวพันกับ "เวลา" เหมือนกรณีนี้

จำเลยในคดีนี้คือ นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สิ่งที่อัยการ โจทก์ฟ้องคือข้อความตอนหนึ่งที่เขาพูดออกอากาศทางวิทยุชุมชน คลื่น 93.25 MHz ชื่อรายการ "ช่วยกันคิดช่วยกันแก้" เรื่องราวเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อปี 2548   โดยจำเลยเท้าความถึงการแพ้การเลือกตั้งคราวก่อน

สิทธิพร วัชรกิติวณิช  ลูกชายของจำเลยซึ่งศึกษาด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้ง พ่อของเขาพูดในรายการวิทยุและถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ในรายการนั้นพ่อของเขาได้พูดถึงการเลือกตั้งครั้งก่อนที่พ่ายแพ้คู่แข่งว่ารู้สึกอย่างไร โดยเล่าถึงการถูกชักชวนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามแต่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการบริหารภายในกลุ่มนั้นมีการรวบอำนาจ สมาชิกไม่มีสิทธิออกเสียง

"พ่อก็พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พูดว่าไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรเพื่อประชาชน แต่อัยการโควทเฉพาะคำพูดตอน ร.4 เจตนานั้นพูดเรื่องการเมืองท้องถิ่นล้วนๆ ไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์หรือสถาบันกษัตริย์แม้แต่น้อย" สิทธิพรกล่าว

"....เมื่อสักครู่มีเบอร์โทรเข้ามาหลังไมค์ มาสอบถามเรื่องว่าทำไมคุณณัชกฤชสอบตกเพราะสาเหตุใด สาเหตุใดเราไม่ต้องพูดถึงหรอกครับ เอาว่าการที่เราสบตกนั้นเนี๊ยะ ทุกวันผมเดินด้วยความภาคภูมิใจอย่างสง่าาม จากในหน้าที่ตอบรับดีผมได้เจอะเจอทุกวันนี้มีแต่ความรู้สึกดีๆ ฉะนั้น เรามีความภูมิใจในตัวเรานะครับว่า เราคงยึดอุดมการณ์แล้วก็ศักดิ์ศรีของความป็นมนุษย์.....ผมเคยได้รับโอกาสนะครับ ชวนให้ไปเป็นสมาชิกเหมือนกับท่านที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ผมปฏิเสธ แต่ผมปฏิเสธครับท่านผู้ฟังครับ เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไป แล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านเมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้าง บางส่วนนะครับ บางส่วนยังมีอยู่บ้าง ก็คือ ความภาคภูมิใจในตัวผม คิดถึงทีไรเราก็มีความภาคภูมิใจตลอด" ข้อความที่ปรากฏตามฟ้อง

ลูกชายจำเลยยังเล่าถึงกระบวนการระหว่างพิจารณาคดีด้วยว่า จากการปรึกษาหารือกับทนาย มีการเทียบเคียงกับคดีทางการเมืองอย่างของนายวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อปี 2531 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน ทำให้เห็นพ้องกันว่าคดีลักษณะนี้คงมีหนทางเดียวคือ รับสารภาพ

คดีของวีระเป็นการกล่าวปราศรัยหาเสียงและถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปฟ้อง วีระพูดถึงการเลือกเกิดไม่ได้ หากเลือกได้คงเกิดเป็น "พระองค์เจ้าวีระ" ครั้งนั้นวีระซึ่งดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถูกศาลฏีกาพิพากษาจำคุก 4 ปี ติดคุกอยู่ราว  1 เดือนจึงขอพระราชทานอภัยโทษออกมาได้

"คุณพ่ออแถลงต่อศาลรับสารภาพว่า พูดถ้อยคำจริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นพระองค์ท่าน หากการพูดดังกล่าวได้ล่วงเกินหรือหมิ่นรัชกาลที่ 4   ขอลุแก่โทษต่อศาล แต่ศาลก็มองว่านี่คือการรับสารภาพแล้ว จึงพิพากษาคดีออกมาอย่างที่ทราบ"

วันที่ 3 พ.ค.2550 ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษ จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดลงให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี  

โดยเหตุผลในคำพิพากษานั้นระบุว่า "ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4  ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีตเปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัการที่ 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ"

ในชั้นสอบสวน จำเลยได้รับการประกันตัว ขณะที่ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่รอลงอาญา จำเลยจึงไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ

"โชคดีมากที่คดีเกิดก่อนจะมีกระแสมาตรา 112" สิทธิพรกล่าว

อาจเป็นจริงดังสิทธิพรว่า เพราะหลังการรัฐประหารปี 2549 ความคิดทางการเมืองขัดแย้งรุนแรง มีผู้ต้องคดี 112   เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีไม่กี่รายได้ที่รับการประกันตัว

หลังมีคำพิพากษา จำเลยในคดีนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยไม่อุทธรณ์ แต่อัยการอุทธรณ์เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรงที่ไม่ควรรอลงอาญา

ที่น่าสนใจคือ วันที่ 28 ก.ค.2552 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยระบุเหตุผลว่า กษัตริย์ตามบทบัญญัติมาตรา 112 หมายถึงกษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์ การดูหมิ่นกษัตริย์ในอดีตไม่เข้าองค์ประกอบความผิด คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย (รายละเอียดดูในล้อมกรอบ)

สิทธิพรเล่าว่า จากนั้นอัยการได้ฏีกา โดยเชื่อมโยงให้เห็นว่าการหมิ่นกษัตริย์ในอดีตนั้นกระทบต่อกษัตริย์ในปัจจุบัน และกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระองค์ไหนจึงจะเข้าข่ายความผิด จากนั้นศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันให้ชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า คดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นคดีความมั่นคง กษัตริย์ในอดีตเกี่ยวพันทางสายโลหิตกับกษัตริย์ปัจจุบัน ประชาชนยังคงสักการะบูชากษัตริย์ในอดีต การดูหมิ่นกษัตริย์ในอดีต ย่อมกระทบกับกษัตริย์ในปัจจุบันและกระทบกับความมั่นคงของชาติ พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น (รายละเอียดดูในล้อมกรอบ)

อย่างที่บอกว่าคำพิพากษาคดีนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันได้ขยับเส้นที่ห้ามก้าวผ่านไปอีกขั้นหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด แวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองที่มักอธิบายเหตุการณ์ในอดีตอย่างตรงไปตรงมา โดยเข้าใจว่ามีอิสระภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอาจจะต้องทบทวนกระทั่งรื้อความเข้าใจกันใหม่

สำหรับความคิดเห็นทางนิติศาสตร์ต่อคำพิพากษาฉบับนี้ แม้แต่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่คำพิพากษาเองก็ไม่มีข้อวิจารณ์ปรากฏ มีเพียงปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

"ตั้งแต่ศึกษากฎหมาย อยู่ในแวดวงกฎหมายมา การวิจารณ์คำพิพากษาที่ง่ายที่สุด คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๗๔/๒๕๕๖ (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก) เพียงนำคำพิพากษานี้ออกเผยแพร่ ก็แทบไม่ต้องวิจารณ์ใดๆ อีก เพราะคำพิพากษาฟ้องคุณภาพโดยตัวของมันเอง"

ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาไปโพสต์ถามความเห็นของ กิตติศักดิ์ ปกติ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ต่อกรณีนี้ในเฟซบุ๊ก เขาตอบว่า

"ช่วยอธิบายหน่อยว่า ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทตรงไหน ที่สำคัญการปกครองสมัยใดสมัยหนึ่งล้าสมัย เพราะยังมีทาส ก็เป็นข้อเท็จจริง ไม่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศตรงไหน เพราะพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ หรือการถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีทาสในสมัยนั้นหรือไม่ มีโจรผู้ร้ายหรือไม่ แต่อยู่ที่ทรงตั้งอยู่ในราชธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม และเป็นข้อเท็จจริงเช่นนั้น การนำมากล่าวก็ไม่ทำให้พระเกียรติยศลดลง ยิ่งถ้ากล่าวถึงความมั่นคงของรัฐ กฎหมายมุ่งคุ้มครองความมั่นคงในปัจจุบันไม่ใช่ในอดีต 

คำพิพากษานี้ว่าการปล่อยให้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ในอดีต จะเป็นช่องทางให้กระทบต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า กรณีนี้เป็นการดูหมิ่นอย่างไร กฎหมายห้ามหมิ่น ไม่ได้ห้ามการกระทำที่อาจเป็นช่องทางให้มีการกระทำอันเป็นการดูหมิ่นแต่อย่างใด ความผิดอาญานั้นจะเป็นความผิดได้อย่างน้อยต้องครบองค์ประกอบ ไม่ใช่ผิดเพราะจะเป็นช่องทางให้คนอื่นทำผิด เพราะการนำมากล่าวไว้ในคำพิพากษาก็อาจเป็นช่องให้มีคนคิดทำตามอย่าง หรือทำเพื่อประท้วง ดังนี้คำพิพากษาก็เป็นช่องทางให้คนทำผิดไปด้วย มิต้องเอาผู้กล่าวข้อความในคำพิพากษามาลงโทษด้วยหรือ ยิ่งถ้าจะกล่าวถึงการกระทำในแง่ที่อาจเปิดช่องให้กระทบความมั่นคง หากการกระทำใดยังไม่กระทบต่อความมั่นคง ก็ยังไม่เป็นผิดไปได้"

นอกเหนือจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์ของ 'อรชุน เจนธนุรวิทยา' ระบุว่า ข้อความตามฟ้องไม่มีตอนใดที่เป็นการ "ใส่ความ" องค์รัชกาลที่ 4 เป็นแต่เพียงการกล่าวเปรียบเทียบแก่ผู้ฟังโดยยกตัวอย่าง "ระบบการเมืองการปกครอง" ในสมัยนั้นซึ่งมีระบอบการปกครองที่แตกต่างจากสมัยปัจจุบัน คำวินิจฉัยของศาลนอกจากจะตีความหมายข้อความของจำเลยจนผิดเพี้ยนเกินเลยจากที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักวิชาองค์ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอีกด้วย

นอกจากนี้ตามหลัก "กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา" จะเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใส่ความหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงขาด "องค์ประกอบภายใน" ของการกระทำความผิด และโดยพื้นฐานแห่งหลักวิชาทางอาญา การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด คำพิพากษาดูเสมือนนำบทบัญญัติมาตรา 327 มาใช้เทียบเคียงเพียงบางส่วน ซึ่งหลักการพื้นฐานการใช้กฎหมายอาญาจะอาศัย "การเทียบเคียงกฎหมาย" ที่มีใจความใกล้เคียงมาลงโทษจำเลยไม่ได้

เหล่านี้คือข้อโต้แย้งบางประการที่มีต่อคำพิพากษาคดีนี้ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะคำพิพากษานี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่แข็งแกร่งอีกส่วนหนึ่งของมาตรา 112 หรือไม่ จะมีจำเลยเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะจากรั้วมหาวิทยาลัย

ไม่กี่ปีก่อน มีอาจารย์คณะอักษรศาสตร์สถาบันหนึ่งถูกเพื่อนอาจารย์ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยมาตรานี้ เนื่องจากออกข้อสอบให้นักเรียนวิเคราะห์บทบาทสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันคดีนั้นระงับไปแล้ว แต่ใครจะรับประกันได้ว่าข้อสอบอื่นๆ จะไม่เดินบนเส้นทางนี้

 

 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (บางส่วน)


ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท  ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี เห็นว่า คำว่า"พระมหากษัตริย์" ตามบทมาตราดังกล่าวหมายความถึง พระมหากษัตริย์ซึ่งยังทรงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิด แต่ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยได้ใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาา มาตรา 158(5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์  พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

นายเสถียร ศรีทองชัย

นายจักร อุตตโม

นายโสภณ บางยี่ขัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกา (บางส่วน)

บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังคงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำผิดหรือไม่ และมิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังครองราชย์อยู่ พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานศาลฏีกา พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตต่อกันมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

ฏีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ที่โจทก์ฏีกาขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำ จึงมีเหตุที่รอการลงโทษเพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายศิริชัย วัฒนโยธิน

นายทวีป ตันสวัสดิ์

นายพศวัจณ์ กนกนาก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาร์ค แซกเซอร์

Posted: 21 Nov 2013 11:02 AM PST

"ฝ่ายชนชั้นนำศักดินาได้พูดผ่านกระบอกเสียงของตัวเองโดยยื่นภาวะสงบศึกบนพื้นฐานของสถานภาพเดิมๆ ทักษิณยังคงปกครองต่อไปได้ด้วยอำนาจที่จำกัด แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเขตอำนาจออกไป ในทางการเมืองแล้ว นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะชะงักงันในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเพียงพอที่จะมีชัยเหนือความขัดแย้ง"

 

20 พ.ย. 2556, ผอ.มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย, เผยแพร่ในสเตตัสส่วนตัว อนุญาติให้ประชาไทเผยแพร่ต่อ

มติ ป.ป.ช.ตั้งชุดใหญ่สอบปม 'แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.'

Posted: 21 Nov 2013 09:46 AM PST

ป.ป.ช.รับเรื่องร้องให้ดำเนินคดีอาญา 308 ส.ส.-ส.ว.ร่วมลงชื่อเสนอแก้ รธน.พร้อมรวมเรื่องขอถอด 'สมศักดิ์-นิคม' ด้าน '40ส.ว.' ยื่นฟัน '312ส.ส.-ส.ว.' ด้วย
 
20 พ.ย.2556 เนชั่นทันข่าว รายงานว่า นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงถึงกรณีที่มีการกล่าวหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามมาตรา 66 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .... พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่อง กล่าวหาร้องเรียนและคำร้องขอให้ถอดถอน ออกจากตำแหน่งรวม 5 เรื่องประกอบด้วย
 
1.เรื่องกล่าวหาร้องเรียน ขอให้ ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง คือ 1.1 ส.ว.จำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 308 คน กรณี "ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย
 
1.2.มีผู้กล่าวร้องเรียนกรณีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตนเสียบเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่น
 
2.การยื่นคำร้องขอให้ ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จำนวน 3 เรื่อง คือ 2.1 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาให้ ออกจากตำแหน่ง 2.2 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกัน ลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
 
2.3 ส.ว.ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา โดยตามคำร้องข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ ให้ แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายภักดี โพธิศิริ ป.ป.ช.เป็น ประธานอนุกรรมการไต่สวน ส่วนคำร้องที่ 2.3 อยู่ ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา
 
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอดและคำกล่าวหาทั้ง 5 เรื่องแล้ว และได้มีมติ ให้นำคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหาทั้ง 5 เรื่อง มารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน ข้อเท็จจริง โดยมี นายวิชา มหาคุณ นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดขอบสำนวน
 
 
คปท. ยื่น ป.ป.ช.ถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว. พรุ่งนี้เตรียมแถลงท่าทียกระดับชุมนุม
 
ด้าน สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.รายงานวันนี้ (21 พ.ย.56) ว่า นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.  เปิดเผยกับว่า วันนี้จะเดินทางไปยื่นถอดถอน 312 ส.ส.และ ส.ว.ที่ได้ร่วมลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยชี้ว่าขัดมาตรา 68
 
ทั้งนี้ เตรียมประเด็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำที่มิชอบ ทั้งเรื่องขาดจริยธรรมและไม่มีความชอบธรรม เพราะความเป็น ส.ส.-ส.ว. จะต้องรับใช้ประชาชน แต่ 312 คน ดังกล่าว กลับสมรู้ร่วมคิดสภา ในการรับใช้ผลประโยชน์รัฐบาล ซึ่งทางกลุ่ม คปท. เชื่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวนี้ ส่อขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และควรพ้นสภาพการเป็น ส.ส.-ส.ว.ในทันที
 
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่ม คปท.น้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว.ขัดมาตรา 68 ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ คปท.เตรียมแถลงกำหนดท่าทียกระดับการชุมนุม พร้อมย้ำว่าจะขับเคลื่อนเดินหน้าไล่รัฐบาลต่อไป
 
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมของ คปท.ที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถ.ราชดำเนิน ล่าสุดเช้านี้บรรยากาศยังคงเงียบเหงา ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติภารกิจประจำวันส่วนตัวอยู่ในเต็นท์ที่พัก ด้านเวทีมีการเปิดเพลง เพื่อปลุกใจและสร้างบรรยากาศให้ผู้ชุมนุม ขณะที่เต็นท์ครัวได้ทยอยประกอบอาหาร เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ชุมนุมแล้ว
 
 
40 ส.ว.ยื่น ป.ป.ช.ฟัน 312 ส.ส.-ส.ว.

ส่วน คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น.นายวันชัย สอนศิริ พร้อมด้วยนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายวันชัย กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ กลุ่ม 40 ส.ว.จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการถอดถอน ส.ส.และส.ว.312 คนที่เสนอและเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าวถือว่ามีใบเสร็จ เป็นหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ส.ว.และ ส.ส. 312 คนได้กระทำความผิดแล้ว ทั้งประธานสภาฯ เลขาธิการสภาฯ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขดังกล่าว
 
ทั้งนี้เชื่อว่า ป.ป.ช.จะเร่งวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะมีพยานหลักฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนและผูกพันทุกองค์กร ต้องดำเนินคดีแบบสุดซอยและเหมาเข่งกับ ส.ส.และส.ว. 312 คน ส่วนการดำเนินคดีทางอาญานั้นจะดำเนินการในฐานะภาคประชาชน โดยเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รวมทั้งการใช้เอกสารเท็จด้วย
 
ด้านนายประสาร กล่าวว่า ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การล้างแค้นหรือคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องการรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม และต้องการให้เกิดความสำนึกและรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับด้วยคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237
 
 
ประธานรัฐสภายันศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ
 
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการที่ ป.ป.ช.รับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญว่า ตนเองจะเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายรัฐสภา หากมีการชี้แจงก็จะมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปชี้แจง เรื่องนี้ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม ไม่รู้จะกังวลทำไม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทั้งนี้ ยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ และยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับเรื่องนี้
 
ส่วนจะมีการเอาผิดกับข้าราชการที่ปลอมแปลงเอกสารหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การปลอมแปลงเอกสาร แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายธุรการที่ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำ เช่น มาตรา 11/1 เปลี่ยนเป็นมาตรา12 เนื้อหายังคงเดิม ไม่ได้เขียนถ้อยคำเพิ่ม แต่ปรับปรุงให้เหมาะสม ประเด็นนี้หารือกับฝ่ายกฎหมายรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำฟ้อง ตอนนี้ตนก็ยังรู้สึกมึนอยู่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร และหากศาลรัฐธรรมนูญ อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ก็อยากให้อ่านมาตรานี้ใหม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่มีอำนาจ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมรับ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องจะผูกพันทุกองค์กร แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เรื่องนี้ต้องฟังนักกฎหมายทั่วประเทศว่าเห็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากหากอ้างมาตรา 68 ก็ไม่เข้าข่ายอยู่แล้ว ทั้งนี้เหตุใดสื่อมวลชนไม่ถามศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจอะไร มาตราไหนพิจารณา ซึ่งต้องดูว่าศาลมีอำนาจจริงหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ผลพวงจากการล้มนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

Posted: 21 Nov 2013 09:41 AM PST

การผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่งด้วยวิธีการแปรญัตติสอดไส้นับเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ผลเสียหายที่เกิดขึ้นต่อขบวนประชาธิปไตยนั้นใหญ่หลวงนัก และจนกระทั่งบัดนี้ ผลของความผิดพลาดก็ยังคงคลี่คลายขยายตัวออกมาไม่หมด

ผลเฉพาะหน้าคือ การใช้เล่ห์เพทุบายทางสภายัดไส้กฎหมายได้ทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมในการผลักดันการนิรโทษกรรมในทุกรูปแบบไปจนหมดสิ้น ในทางตรงข้าม วิธีการเช่นนี้กลับโยนความชอบธรรมทางการเมืองไปให้ฝ่ายเผด็จการ ได้ฉวยโอกาสกระพือความโกรธเกลียดในหมู่คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมืองทั่วประเทศ ก่อเป็นกระแสการเคลื่อนไหวชุมนุมมวลชนขนาดใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล เป็นช่องทางนำไปสู่การล้มล้างระบบเลือกตั้ง แทนที่ด้วยระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยที่พวกนั้นหมายมุ่งมาตลอด

ในสถานการณ์คับขันนี้ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจำต้องทำการถอยหมดกระบวน ประสานให้วุฒิสภาคว่ำร่างพรบ.นิรโทษกรรมเพื่อส่งกลับสู่สภาผู้แทนราษฎร และพรรคร่วมรัฐบาลออกสัตยาบันว่า แม้ครบ 180 วัน ก็จะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก รวมทั้งยังได้ถอนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและปรองดองอีก 6 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรออกมาจนหมด

ผลระยะยาวก็คือ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลได้สูญเสียความชอบธรรมทั้งหมดที่จะผลักดันการนิรโทษกรรมใด ๆ อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นนิรโทษกรรมบางส่วนหรือเหมาเข่ง รวมไปถึงการออกเป็นพระราชกำหนดอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะไม่สามารถผลักดันการนิรโทษกรรมใด ๆ ได้อีกเลยตลอดอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อย่างแน่นอน

ประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ยังหลบหนีหมายจับ ที่อยู่ในขั้นตอนยุติธรรมทั้งที่ได้ประกันตัวและที่ถูกจำคุก รวมถึงผู้ที่ถูกพิพากษาเด็ดขาดให้จำคุกแล้ว ทั้งหมดนี้จะต้องทนทุกข์อยู่กับคดีความและการจำคุกต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด เป็นความเจ็บปวดของพวกเขา ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ นี่คือบาปเคราะห์และความรับผิดชอบที่พรรคเพื่อไทยได้ก่อไว้จากนิรโทษกรรมเหมาเข่งในครั้งนี้!

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังได้ให้บทเรียนสำคัญแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า ความพยายามที่จะประนีประนอม หย่าศึก หรือเกี้ยเซี้ยมีแต่จะล้มเหลว และ "สัญญาณบวก" ใด ๆ ล้วนหลอกลวง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของฝ่ายตรงข้ามคือ การ
ทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวอย่างถึงที่สุด นี่คือศึกแห่งความเป็นความตายของตระกูลชินวัตร หนทางข้างหน้าคือ พ.ต.ท.ทักษิณจะยอมแพ้ ยุติทุกสิ่งและใช้ชีวิตในต่างประเทศพร้อมคดีติดตัวตลอดไป หรือจะหันหน้าร่วมมือกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการจนได้ชัยชนะแล้วกลับสู่ประเทศไทยอย่างมีเกียรติ

พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะยังเชื่อว่า ข้อเสนอครั้งนี้ของตนที่ยินยอมถึงขั้นสลายมวลชนเสื้อแดงบางส่วนและออกกฎหมายล้างผิดทุกฝ่าย "ยังไม่ดีพอ" และจะยังตั้งหน้าค้นหาให้พบ "ข้อเสนอที่ดีกว่านี้และปฏิเสธไม่ได้" เพื่อประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามต่อไปอีก แต่หนทางนี้ก็รังแต่จะนำความเสียหายมาสู่ตัวพ.ต.ท.ทักษิณและตระกูลชินวัตรมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและชะตากรรมของครอบครัวในต่างประเทศ

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังได้สร้างความเสียหายสำคัญให้แก่ขบวนประชาธิปไตย เพราะเพื่อนร่วมเดินทางจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชนที่อยู่ข้างประชาธิปไตยจำนวนมากได้สูญเสียความเชื่อถือในพรรคเพื่อไทยและได้ถอยห่างออกไป แน่นอนว่า คนเหล่านี้ถึงอย่างไรก็จะไม่หันไปสนับสนุนเผด็จการ แต่พวกเขาก็จะไม่สนับสนุนและร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์แก่คนเหล่านี้ว่า นักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็มิได้แตกต่างไปจากนักการเมืองน้ำเน่าที่โกหกหลอกลวง หน้าไหว้หลังหลอก ที่มีอยู่ทั่วไปในระบบรัฐสภาไทย เพื่อนร่วมเดินทางเหล่านี้จะไม่ย้อนกลับมาร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยอีกหากพรรคเพื่อไทยไม่แสดงท่าทีรับผิดชอบอย่างจริงใจต่อการกระทำทั้งหมดของตน

แกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ประสบความเสียหาย กลุ่มแกนนำนปช.ส่วนใหญ่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุผลที่ต้องการได้เอกสิทธิ์คุ้มครอง เนื่องจากแต่ละคนมีคดีการเมืองติดตัว อีกทั้งยังอาจใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองนั้นเคลื่อนไหวปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ แกนนำนปช.เกือบทั้งหมดได้ยินยอมตามพ.ต.ท.ทักษิณ ในการผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพียงเพราะกลัวจะสูญเสียตำแหน่งสส.และอนาคตทางการเมือง จึงยอมแลกด้วยการนิรโทษกรรมให้กับมือเท้าเผด็จการ บางคนถึงกับออกหน้ามาประดิษฐ์เหตุผลและคำพูดสวยหรูเพื่อสนับสนุนนิรโทษกรรมเหมาเข่งกันอย่างน่าเกลียด เสมือนว่า มวลชนคนเสื้อแดงนั้นโง่และจะหลงเชื่อเหตุผลปัญญาอ่อนอะไรก็ได้ที่พวกตนยกขึ้นมาอ้าง แกนนำนปช.ส่วนนี้ได้สูญเสียสถานะความน่าเชื่อถือและศักดิ์ศรีของการเป็นแกนนำมวลชนไปแล้ว

พรรคเพื่อไทยมีฐานคะแนนเสียงจำนวนมากพอสมควรในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองและหัวเมืองใหญ่ แม้ไม่มากพอที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในกรุงเทพฯและหัวเมือง แต่ก็เป็นรวมเป็นคะแนนเสียงของพรรคในระดับชาติ ที่มากพอที่จะให้ได้สส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง ทว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทำให้พรรคเพื่อไทยสูญเสียฐานคะแนนเสียงส่วนนี้ไป หากมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในวันนี้ คะแนนเสียงบัญชีรายชื่อของพรรคจะลดหายไปอย่างมากจนอาจได้จำนวนสส.ไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคเพื่อไทยจะสามารถกอบกู้ฐานคะแนนเสียงส่วนนี้กลับคืนมาได้อีกหรือไม่ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่จนครบวาระในปี 2558 ก็ยังไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะต้องสรุปบทเรียนจากความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้อย่างเข้มงวด สิ่งที่เป็นเดิมพันข้างหน้ามิใช่เพียงแค่ชัยชนะของขบวนประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีชะตากรรมของแกนนำ มวลชนทั่วประเทศ ประชาชนที่ต้องคดีการเมืองและที่ถูกคุมขังอยู่ และที่สำคัญคือ ชะตากรรมและที่ยืนในประเทศไทยของตระกูลชินวัตรเอง

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความยืดหยุ่นและความไวต่อสถานการณ์มากพอที่จะยุติความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยและทำการถอยได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ ประกอบกับคำพิพากษาของศาลโลกในกรณีปราสาทพระวิหาร ที่มิได้เป็นโทษต่อประเทศไทยมากนัก ได้ทำให้กระแสการรุกของฝ่ายเผด็จการประสบภาวะชะงักงันและอ่อนตัวลง เป็นโอกาสให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ปรับขบวนรับมือได้ทัน หากฝ่ายเผด็จการรับรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและยอมยุติการรุกครั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะกลับคืนไปสู่สภาวะ "ยัน" กันต่อไป แต่ถ้าฝ่ายเผด็จการยังคงดื้อดึงที่จะแตกหักกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกลไกตุลาการในมืออีกต่อไป การนองเลือดครั้งใหม่ก็จะมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัยชนะแรงงาน คดีขโมยกระดาษ (ไปซีร็อกซ์เตรียมยื่นข้อเรียกร้องสหภาพฯ)

Posted: 21 Nov 2013 09:39 AM PST

ชัยชนะในคดีของ 'ฉัตรชัย-ชาตรี' ลูกจ้างบ.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส นับเป็นก้าวสำคัญของขบวนการแรงงาน เมื่อศาลฎีกาตัดสินให้ลูกจ้างชนะ หลังนำกระดาษไปถ่ายเอกสารเพื่อยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแล้วถูกนายจ้างฟ้องขโมยกระดาษ

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 โดยพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง ให้บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) รับลูกจ้างสองคนคือ ฉัตรชัย ไพยเสน และ ชาตรี จารุสุวรรณวงศ์ กลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าชดเชย

ที่มาของคดีนี้ เริ่มเมื่อปี 2547 นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสอง โดยมีผลเลิกจ้างในวันที่ 15 ธ.ค.2547 ต่อมา ลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่เป็นธรรม และ ครส.ได้มีคำสั่งให้รับลูกจ้างทั้งสองกลับเข้าทำงาน พร้อมจ่ายค่าเสียหายและให้ปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัส

ต่อมา นายจ้างร้องต่อศาลแรงงานกลาง ให้เพิกถอนคำสั่ง ครส. และให้ถือว่าการเลิกจ้างนั้นชอบแล้ว ด้วยเหตุผลว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2547 ฉัตรชัยใช้ให้ชาตรีเป็นผู้ลักกระดาษสำหรับถ่ายเอกสารแล้วนำไปใช้ในกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นความผิดอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะเลิกจ้างทั้งสอง นอกจากนี้ ยังระบุว่า ครส.ไม่มีอำนาจสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จ่ายค่าเสียหาย รวมทั้งไม่มีอำนาจสั่งให้ปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัสด้วย

อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ ศาลแรงงานได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากฟัง ครส. ได้ว่า ระหว่างเจรจาข้อเรียกร้องกับนายจ้าง ลูกจ้างทั้งสอง ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ได้ใช้กระดาษไปถ่ายเอกสารในกิจการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพต่อนายจ้าง ซึ่งถือเป็นการใช้ในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับนายจ้างเอง นอกจากนี้ การถ่ายเอกสารยังกระทำโดยเปิดเผย ทำให้นายจ้างทราบว่าทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพและเป็นแกนนำในการเรียกร้อง การนำกระดาษไปถ่ายเอกสารจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ขาดเจตนาลักทรัพย์นายจ้าง ส่วนสาเหตุที่เลิกจ้างก็เพราะนายจ้างไม่พอใจที่ลูกจ้างทั้งสองเป็นแกนนำยื่นข้อเรียกร้องและจัดตั้งสหภาพ การเลิกจ้างจึงไม่เป็นธรรม อีกทั้งเป็นการเลิกจ้างในระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ทั้งยังเป็นอำนาจของ ครส. ที่จะสั่งให้รับกลับ ชดเชย ปรับค่าจ้างและจ่ายโบนัส

ต่อมา นายจ้างอุทธรณ์ในชั้นฎีกา สองประเด็น คือ หนึ่ง การกระทำของลูกจ้างเป็นการลักทรัพย์นายจ้างซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง - ศาลเห็นว่า การเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยถือวิสาสะที่เข้าใจโดยสุจริตว่ากระทำได้นั้นไม่ถือว่ามีเจตนาทุจริต อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น 

สอง คำสั่ง ครส.ให้รับกลับรวมทั้งจ่ายค่าเสียหาย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ - ศาลเห็นว่า กฎหมายไม่ได้จำกัดว่า ครส.จะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงสามารถมีอำนาจใช้ดุลพินิจออกคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ส่วนที่อุทธรณ์แย้งว่าลูกจ้างทั้งสองไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิในการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีและโบนัสจึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ ดังนั้น คำสั่ง ครส. จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายืน

0000


"ประชาไท" พูดคุยกับ "ฉัตรชัย ไพยเสน" ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ซึ่งได้กลับเข้าทำงานตั้งแต่ปี 2549 แล้วหลังจากองค์กรแรงงานต่างๆ ได้ร่วมกดดันและรณรงค์ให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน โดยมีข้อตกลงกันว่านายจ้างจะถอนฟ้อง แต่สุดท้าย มีการสู้คดีต่อจนถึงฎีกา

จากคำพิพากษาของศาลฎีกาจะใช้เป็นประโยชน์กับคดีอย่างไรได้บ้าง
ประเด็นการถ่ายเอกสาร ใช้กระดาษ เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าถ้านายจ้างจะใช้วิธีนี้เล่นงานลูกจ้าง ก็มีคำพิพากษาฎีกาออกมาแล้ว จะมาเล่นลูกไม้แบบนี้ไม่ได้อีก

พบปัญหาอะไรบ้างระหว่างต่อสู้คดี
เท่าที่ทราบจาก คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) คดีนี้กลายเป็นคดีที่นานที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว นั่นหมายถึงขบวนการต่อสู้ของลูกจ้างหากโดนนายจ้างกลั่นแกล้ง ถ้าต้องต่อสู้คดี มันก็ลำบากที่จะยืนหยัดต่อสู้ขนาดนี้

แม้แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาก็จะเห็นว่ามีคำสั่งตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน กว่าจะอ่านก็เดือนพฤศจิกายน โอกาสที่ลูกจ้างจะยืนหยัดต่อสู้อย่างนี้ มันเป็นไปได้ยาก ดังคำกล่าว "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม" นี่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรม

ที่สำคัญที่สุดคือ กฎหมายมีข้อยกเว้นว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาและนายจ้างได้ปฏิบัติแล้ว โทษอาญาถือว่างดเว้นไป แม้ท้ายที่สุด ลูกจ้างชนะแต่เราก็ไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับนายจ้างได้เลย แม้ว่าความผิดเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ทำให้นายจ้างไม่กลัวและใช้วิธีการแบบเดิมกับลูกจ้างอีก

ดูแล้ว ยากมากสำหรับคนงานที่จะยืนระยะสู้ได้ ส่วนตัวมีปัจจัยอะไร
เรื่องของสหภาพแรงงาน กำลังใจจากเพื่อนสมาชิกผู้ใช้แรงงาน ช่วงที่ลำบากก็ช่วยเหลือ ไม่มีเงิน ทุกคนก็ลงขันช่วยกัน ทำให้ยืนหยัดต่อสู้ได้ ทั้งยังมีองค์กรแรงงานภายนอกเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น Industri ALL ประเทศไทย แล้วก็ครอบครัว สำคัญที่สุด ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่สามารถจะยืนอยู่ได้

แล้วภาครัฐอยู่ตรงไหน
กฎหมายอยู่ในมือภาครัฐ เขารู้ดีถึงช่องโหว่ของกฎหมาย แต่ยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้โดยไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข เหมือนรู้เห็นเป็นใจทำร้ายลูกจ้างด้วย เพราะเขาสามารถทำได้ดีกว่านี้ เช่น ทันทีที่มีคำสั่ง ต้องแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างทันที ถ้าไม่ปฏิบัติตาม

เสนอว่า ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับลูกจ้างในการต่อสู้ เช่น หลัง ครส. มีคำวินิจฉัยมาแล้วว่าลูกจ้างไม่ผิด ควรเยียวยาให้ลูกจ้างเพื่อที่จะยืนหยัดต่อสู้ได้ ควรมีมาตรการ เช่น ประสานกับประกันสังคม เอาเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างก่อน แล้วก็ค่อยไปไล่บี้เอากับนายจ้าง

บทเรียนจากคดีนี้
นายจ้างคิดผิดที่สู้ถึงฎีกา เพราะเราได้ตกลงกันแล้วว่าคุณจะถอน มาถึงตรงนี้ความไว้วางใจมันหายไปหมด กระทบกับระบบแรงงานสัมพันธ์ จุดเริ่มต้นของแรงงานสัมพันธ์ก็คือความไว้ใจ เราตกลงกันแล้วคุณไม่ทำตาม นี่คือปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่รู้ว่าคุณจะได้อะไรจากตรงนี้ คือถ้าฎีกาพลิกก็ได้เลิกจ้างอีกรอบ ฎีกาไม่พลิกก็จะถูกจารึกชื่อไปตลอดกาล ว่าได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมกับคนงาน เพราะเหตุไม่ชอบสหภาพแรงงาน ตรงนี้ก็จะอยู่กับคุณไปตลอด แก้ไขไม่ได้แล้ว ฝากถึงนายจ้างอื่นๆ ในการสู้กับลูกจ้างว่า คุณรับจ้างมาบริหาร วันหนึ่งคุณก็ต้องไป แต่ชื่อเสียงของบริษัทยังคงอยู่และคุณเป็นคนทำ ตรงนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

0000

 


-ศาลแรงงานมีเพียงสองศาล คือ ศาลแรงงานกลาง(ศาลชั้นต้น) และศาลฎีกา

-ระหว่างการเจรจาการไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือ โยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้น ต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวาง มิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร
ห้ามมิให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิก สหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่ง เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องสนับสนุน หรือก่อเหตุการนัดหยุดงาน
(มาตรา 31 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์)

-ห้ามนายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน (มาตรา 52 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์)

-นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
            (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
            (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
            (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
            (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
           หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
            (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
            (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(มาตรา 119 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน)

 

 

คำสั่งศาลฎีกา พิพากษายืน ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับทำงาน by Prachatai Online Newspaper

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ธิดา’ แจ้ง นปช.ยังไม่นัดชุมนุม 24 พ.ย.นี้ รอดูสถานการณ์ก่อน

Posted: 21 Nov 2013 09:14 AM PST

ประธาน นปช.โพสต์เฟซบุ๊กแจง ไม่มีการชุมนุม 24 พ.ย.นี้ เผยต้องดูสถานการณ์ก่อน ระบุหากนัดหมาย

21 พ.ย.2556 - เมื่อเวลา 21.50 น. ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ' ระบุไม่ไดันัดหมายให้มาชุมนุมใน วันที่ 24 พ.ย. นี้  เนื่อจากต้องรอดูสถานการณ์ก่อน พร้อมชี้แจงด้วยว่าการนัดหมายต้องมีการประกาศเป็นทางการ

เช่นเดียวกับ นพ.เหวง โตจิราการ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'นพ.เหวง โตจิราการ' ว่า นปช. ไม่มีการนัดหมายชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ตามที่สื่อหลายสำนักแพร่ข่าว พร้อมระบุด้วยว่า หากมีนัดหมายเมื่อไร อย่างไร เวลาใด นปช.จะแจ้งข่าวให้ทราบล่วงหน้าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สุเทพ’ โต้ ‘สุภรณ์’ ปัดจ้างทหารขนสไนเปอร์ ก่อการร้าย

Posted: 21 Nov 2013 08:28 AM PST

'สุภรณ์' นำทหารพราน 'เต้ย' แถลงพบขนอาวุธสงครามเข้าที่ชุมนุม ด้านแม่ทัพภาคที่ 4 ยัน ตรวจสอบไม่พบ อส.ทพ. ชื่อ 'เต้ย' ในสังกัด ขณะที่ก่อนหน้านี้สุเทพปูดมีคนจัดสไนเปอร์จ้องเก็บ

21 พ.ย.2556 เมื่อเวลา 21.30 น.  Voice TV รายงาน บรรยากาศการชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง คึกคักเป็นอย่างมาก โดยในอยู่ระหว่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นปราศรัยโจมตี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ออกมากล่าวหาตนโดยการนำทหารพรานนายหนึ่ง ออกมาแถลงข่าวในวันนี้ ในทำนองว่า ตนมีความพยายามก่อการร้าย สร้างสถานการณ์ในการชุมนุม โดยวิธีการข่มขู่ทหารพรานในภาคใต้คนดังกล่าว ให้เป็นผู้กระทำ เข้ามาก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร

โดย นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่า การกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมระบุว่าภายหลังที่ นายสุภรณ์ แถลงข่าวกล่าวหาเสร็จสิ้นนั้น ทาง แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีการตรวจสอบออกมาระบุชัดเจนว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีชื่ออยู่ในสารบบของทหารพราน ตามที่มีการกล่าวอ้าง

แม่ทัพภาคที่ 4 ยัน ตรวจสอบไม่พบ อส.ทพ. ชื่อ 'เต้ย' ในสังกัด

ขณะที่ก่อนหน้าที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงกรณีที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำตัวนายเต้ย จักราช อายุ 23 ปี อ้างว่าเป็น อาสาสมัครทหารพราน(อส.ทพ.) สังกัดกรมทหารพรานที่ 42 อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ร่วมแถลงข่าวการขนอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ว่า จากการตรวจสอบไปยังต้นสังกัดกรมทหารพรานที่ 42 ไม่พบว่า มีอาสาสมัครทหารพรานชื่อนายเต้ย หรือนายจักราช อยู่แต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการพูดกันไปเอง เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายต่อกองทัพ

"ขอยืนยันว่า นายเต้ยไม่ได้เป็นทหารพรานสังกัดกรมทหารพรานที่ 42 แน่นอน และไม่มีทหารจากกองทัพภาคที่ 4 คนใดนำอาวุธปืนเข้าไปในที่ชุมนุมเพื่อจะสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการพูดกันไปมา ผมไม่ทราบว่ามีใครต้องการจะดึงทหารไปเป็นเงื่อนไขอะไรหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ทหารมีกฎระเบียบวินัยในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยเฉพาะการยึดมั่นตามคำสั่งของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้กำลังพลปฏิบัติตามหน้าที่ โดยทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งขณะนี้ภารกิจของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นหนักอยู่แล้ว ยืนยันว่า ไม่มีทหารคนใดที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการในเรื่องแบบนี้" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

'สุภรณ์' นำทหารพราน 'เต้ย' แถลงพบขนอาวุธสงครามเข้าที่ชุมนุม

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำ นายเต้ย จักราช อส.ทพ. สังกัดกรมทหารพราน 42 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ้างว่ารู้เห็นการขนอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมของนักการเมือง "ส" มาร่วมแถลงข่าว

โดยนายสุภรณ์ กล่าวว่า ที่มาแถลงข่าวเพราะไม่ต้องการให้ถูกมองว่า กุข่าว หรือใส่ความนักการเมือง "ส"​ เพราะถ้าไม่เป็นจริง ก็ฟ้องร้องได้ แต่ถ้าไม่เปิดเผย รอจนเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาก่อน ตนจะถูกประณามได้ว่ารู้แล้วไม่ยอมแจ้ง ดังนั้น นักการเมืองคนดังกล่าว ต้องกล้าออกมายอมรับความจริงว่า ได้สั่งการให้กลุ่มนายทุน พ่อค้าสวนปาล์ม จ.ตรัง เข้าไปประชุมที่กองร้อยทหารพราน 42 จริงหรือไม่ และมีการสั่งให้มีการขนอาวุธมาให้จริงหรือไม่

ด้านนายเต้ย กล่าวว่า ตนเป็นคนยกลังสไนเปอร์เข้าไปในห้องประชุมด้วยตัวเอง มี 7 ลัง ลังละ 1 กระบอก มีความยาวประมาน 1.5–2 เมตร เป็นสไนเปอร์รุ่น Chey Tac M 200 ยืนยันว่า เรื่องที่ตนเจอมาและพบเห็นเป็นเรื่องจริงทุกอย่าง ไม่มีใครจ้าง ตนทำเพื่อประเทศชาติ เพราะไม่อยากเห็นใครตายอีกแล้ว อยากให้บ้านเมืองสงบ จึงยอมเสี่ยงออกมา และมั่นใจรัฐบาลจะให้ความปลอดภัยกับตนได้

สุเทพปูดมีคนจัดสไนเปอร์จ้องเก็บ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ดอทคอม รายงานว่า นายสุเทพ ในฐานะแกนนำเครือข่ายประชานที่ชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะตอบโต้การชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกรูปแบบทั้งปล่อยข่าวลือ การจัดคนมาต่อต้าน

"ผมทราบมาว่า จะมีการจัดสไนเปอร์มาจัดการกับผม แต่ถ้าผมเป็นอะไรไป ผู้ชุมนุมทุกคนก็สามารถเป็นแกนนำม็อบได้ขอบอกว่า จะสู้จนกว่าชนะ ถ้าไม่ชนะไม่เลิกแน่"นายสุเทพกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองกฎหมายบรรเทาสาธารณภัยฟิลิปปินส์ผ่านวิกฤติมหาวาตภัยไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน

Posted: 21 Nov 2013 07:33 AM PST

พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนได้ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ต่อมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศฟิลิปปินส์อย่างใหญ่หลวง เพราะลักษณะการพัดของพายุดังกล่าวได้พัดพาดผ่านเข้ามายังตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนต่างๆ พื้นที่ประกอบเกษตรกรรม พื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากภัยทางธรรมชาติในลักษณะต่างๆ ก็ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ในฟิลิปปินส์ เนื่องจากด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่หลายเกาะและสภาพภูมิอากาศที่มีโอกาสได้รับลมมรสุมเขตร้อน ส่งผลให้ประเทศฟิลิปปินส์มีภาวะความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายรูปแบบ เช่น ภูเขาไฟปะทุ อุทกภัย และวาตภัย เป็นต้น

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนมิใช่วิกฤติแรกที่ฟิลิปปินส์ได้เคยเผชิญหรือประสบวิกฤติมา หากแต่ในอดีตที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์ได้เคยเผชิญกับภัยทางธรรมชาติมาแล้วหลายครั้ง ที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงได้พยายามแสวงหาแนวทางและการวางกรอบมาตรการในการรับมือกับความเสี่ยงจากลักษณะภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งของฟิลิปปินส์และภูมิอากาศที่ฟิลิปปินส์ได้เผชิญตามธรรมชาติ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนที่ไม่เพียงแต่ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญอยู่เท่านั้น หากแต่ทุกประเทศในโลกก็ต่างวิตกกับปัญหาโลกร้อนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของโลก

ดังนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงได้ตรากฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติหรือกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการต่อสู้กับภัยพิบัติทางธรรมชาติของฟิลิปปินส์ โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่ สภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Council - NDRRMC) ในการเตรียมการป้องกันภัยทางธรรมชาติเอาไว้ล่วงหน้า ยามที่รัฐกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติ และยามที่รัฐได้ประสบกับหายนะจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ไปแล้ว เพื่อดำเนินบริการสาธารณะในการต่อสู้กับภัยและวิกฤติทางธรรมชาติ โดยสภาดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังเช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่จัดทำแผนจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Plan - NDRRMP) และจัดกองทุนสำหรับจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติ (National Disaster Risk Reduction and Management Fund – NDRRM Fund) เหตุที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดกรอบและวางแผนป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นตามความเสี่ยงของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเผชิญหรืออาจจะเผชิญได้ในอนาคตและเพื่อให้รัฐได้สามารถจัดหางบประมาณสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับแผนจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยแห่งชาติที่รัฐได้กำหนดเอาไว้ อันเป็นการเสริมความมั่นใจว่ารัฐจะมีกลไกทางงบประมาณและการคลังที่สนับสนุนในกรณีเกิดภัยทางธรรมชาติฉุกเฉิน อนึ่ง การจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยล่วงหน้าและการจัดงบประมาณหรือการกำหนดแหล่งงบประมาณที่สามารถสนับสนุนในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังจะประสบวิกฤติทางธรรมชาติหรือได้ประสบวิกฤติทางธรรมชาติ ก็ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณะภัย ที่ไม่เพียงจะถือเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนในประเทศแล้ว หากแต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ รวมไปถึงภาคการลงทุนต่างๆ อีกด้วย

กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ยังได้กำหนดให้รัฐกระจายอำนาจให้ภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อให้ภูมิภาคและท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่นของตน กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ภูมิภาคและท้องถิ่นก่อตั้ง สภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยภูมิภาค(Regional Disaster Risk Reduction and Management Council - RDRRMCs) และสภาจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยท้องถิ่น (Local Disaster Risk Reduction and Management Council - LDRRMCs) ขึ้นสำหรับรองรับการกระจายอำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากส่วนกลาง ซึ่งการกระจายอำนาจดังกล่าวอาจทำให้แต่ละภูมิภาคและท้องถิ่นสามารถวางแผน เตรียมการต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละท้องถิ่น เพราะภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นและประชาชนที่อยู่อาศัยในแต่ละท้องถิ่น ย่อมรู้สภาพทางกายภาพ สภาพภูมิศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจและสภาพสังคมในแต่ละชุมชนเป็นอย่างดี ซึ่งหากแต่ละท้องถิ่นเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสาธารณะภัยอันเร่งด่วนแล้ว ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นย่อมสามารถจัดการป้องกันหรือเยียวยาความเสียหายจากสาธารณะภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ รัฐต้องกำหนดและวางแนวทางให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกองทุนสำหรับจัดการและลดความเสี่ยงจากสาธารณะภัยท้องถิ่น (Local Disaster Risk Reduction and Management Fund – LDRRMF) เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นมีงบประมาณในการบรรเทาสาธารณะภัยของตนเอง อันจะทำให้ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้ในยามที่ท้องถิ่นเกิดภัยพิบัติได้ทันท่วงที

แม้ว่ากฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 จะวางหลักเกณฑ์ในเรื่องของการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยไว้เป็นอย่างดีและกำหนดหลักการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างเช่น การวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละชุมชน และหลักเกณฑ์ทางการคลังท้องถิ่นและงบประมาณว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในทางตรงกันข้าม การขาดการบังคับใช้กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 กับการขาดธรรมภิบาลในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ย่อมกลายมาเป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลร้ายต่อประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การขาดการวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่รัดกุม การยักยอกของเงินหรือของบริจาคของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง และการทุจริตงบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ย่อมไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งหลายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อร่างกายชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนด้วย การที่ภัยทางธรรมชาติเกิดขึ้นมานั้น ย่อมมีเหตุมาจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกสถานที่หรือเวลา หากแต่การรู้จักป้องกันภัยล่วงหน้าหรือป้องกันภัยไว้ก่อน ย่อมสามารถลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมไปถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจและเศรษฐกิจด้วย แต่ทว่าสิ่งที่สามารถซ้ำเติมต่อความสูญเสียที่ได้เกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นั้นก็คือ การทุจริตและขาดธรรมาภิบาลที่แท้จริงในการจัดการเยียวยากับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและสาธารณะภัยที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดีสักเพียงใดก็ตาม ดังเช่น กฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 ของประเทศฟิลิปปินส์ หากแต่การขาดธรรมาภิบาล การทุจริต การคอรัปชั่นและการที่รัฐฟิลิปปินส์ไม่ได้ใส่ใจกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเข้มงวดในการป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าและเยียวยาผลกระทบหลังจากที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ผลร้ายย่อมตกกับประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่จะต้องสูญเสียครอบครัว คนที่ตนรัก ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน รวมไปถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในท้องถิ่น

 

 

โปรดศึกษาเพิ่มเติมใน:
[1] National Disaster Risk Reduction and Management Plan, Implementing Rules and Regulation of REPUBLIC ACT No. 10121 (การนำกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121 และข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ), http://www.ndrrmc.gov.ph/attachments/095_IRR.pdf
[2] National Disaster Risk Reduction and Management Plan, REPUBLIC ACT No. 10121 (กฎหมายสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการจัดการและการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแห่งชาติหรือกฎหมาย REPUBLIC ACT No. 10121), http://www.ndrrmc.gov.ph/attachments/045_RA%2010121.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวภูมิซรอลให้กำลังใจ 'วีรชัย พลาศรัย' และทีมสู้คดีศาลโลก

Posted: 21 Nov 2013 07:16 AM PST

ประชาชนจาก อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษให้กำลังใจทูตประจำกรุงเฮก หลังต่อสู้คดีที่ศาลโลก โดยทูตย้ำว่าจะยึดหลักสันติวิธีและเจรจากรณีพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาที่อยู่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 

ประชาชนจากบ้านภูมิซรอล มอบดอกไม้ให้กำลังใจวีรชัย พลาศรัย เมื่อ 21 พ.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ (ที่มาของภาพ: ทวิตเตอร์ของกระทรวงการต่างประเทศ)

 

 

 

 

 

 

(ที่มาของภาพ: ทวิตเตอร์ของกระทรวงการต่างประเทศ)

 

21 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวไทย รายงานวันนี้ (21 พ.ย.) ว่า ประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำชาวบ้านจากหมู่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 100 คน เข้าขอบคุณณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประเทศไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการดำเนินการทางกฎหมาย คดีพระปราสาทพระวิหาร ที่ได้ต่อสู้คดีอย่างสุดกำลังความสามารถ

ด้านวีรชัย พลาศรัย  กล่าวว่า วันนี้รู้สึกตื่นเต้นกว่าอยู่ในศาลโลก และรู้สึกเป็นเกียรติที่ชาวบ้านมาให้กำลังใจถึงกระทรวง ดีใจที่คนในพื้นที่รับฟังคำตัดสินของศาลโลกอย่างเข้าใจ และว่า "เพราะสิ่งที่ผมแถลง ก็เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกับความเป็นจริง ไม่มีทางที่ผมจะนำความเท็จมาบอก ขอให้วางใจได้"

วีระยุทธ ดวงแก้ว กำนัน ต.เสาธงชัย ได้ถามวีระชัยว่า สิ่งเล็กๆ ที่อาจต้องเสียไป คืออะไร บริเวณไหน ต้องการให้ชี้ชัด เพราะเมื่อมีความชัดเจน ก็จะได้ทวงถามอีก ขณะเดียวกัน ก็จะได้ช่วยกันปกป้องในดินแดนที่เป็นของไทย ทำให้วีรชัยตอบว่า สิ่งที่เราได้ ขอพูดซ้ำอีกครั้งว่า เขาไม่สามารถอ้างภูมะเขือ จากคำตัดสินในปี 2505 ได้อีก เขาจะอ้างพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จากคำตัดสินปี 2505 ไม่ได้เช่นกัน และก็ไม่สามารถอ้างแผนที่ 1: 200,000 ยกเว้นพื้นที่ยอดเขาพระวิหาร ที่จะต้องเจรจากันต่อไป

"ส่วนสิ่งที่เราเสีย คือเส้นมติตาม ครม.ปี 2505 แต่ศาลโลกบอกให้ทั้ง 2 ประเทศไปทำร่วมกัน เจรจาด้วยกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถตอบคำถามกำนัน ต.เสาธงชัยได้ว่า คืออะไร แต่จะบอกให้ประชาชนทราบอย่างแน่นอน" วีรชัย กล่าว

กำนันวีระยุทธ ถามอีกว่า ประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป กรณีกัมพูชามีการตั้งหมู่บ้านในพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งศาลโลกได้ชี้ว่า ไม่ใช่พื้นที่ของกัมพูชา นายวีรชัย กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ แต่กัมพูชาจะอ้างคำตัดสิน ปี 2505 มาครอบครองภูมะเขือไม่ได้ ซึ่งไทยจะใช้วิธีการเจรจาและยึดหลักสันติวิธี

"ไม่มีใครต้องการใช้กำลังอย่างแน่นอน ขอให้ใจเย็นและอดกลั้น ไทยต้องทำอะไรแน่นอน ผมจะลงพื้นที่ไปดูด้วยตาตัวเอง ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะต้องใช้วิธีละมุนละม่อม คำนึงถึงความเป็นเพื่อนบ้าน และเพื่อนในอาเซียน" วีรชัย กล่าว

ทูตวีรชัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะทีมงานฝ่ายกฎหมายได้ศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ในประเด็นที่ศาลโลกบอกให้ไทยและกัมพูชาไปเจรจากัน  ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก และวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะเดินทางไปหารือกับคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ประชุมใหญ่ครั้งแรก 25 พ.ย. นี้

Posted: 21 Nov 2013 05:50 AM PST

หลังจากทะเบียนสหภาพผ่าน คนงาน บ.จอร์จี้ฯ เตรียมประชุมใหญ่ครั้งแรก 25 พ.ย. นี้ เลือกตั้งกรรมการบริหารสหภาพแรงงานและพิจารณาและลงมติเรื่องการจัดสวัสดิการของสหภาพแรงงาน

 

 

21 พ.ย. 2556 – หลังจากที่คนงานบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้รวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ (อทส.) และได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2556 แล้วนั้น

โดยทางสหภาพฯ ได้แจ้งว่าจะมีจัดการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ,พิจารณาและลงมติแต่งตั้งผู้ตรวจบัญชีของสหภาพแรงงานฯ, พิจารณาและลงมติเรื่องการยื่นข้อเรียกร้องประจำปี และพิจารณาและลงมติเรื่องการจัดสวัสดิการของสหภาพแรงงาน ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15.30 น. – 17.30 น. ณ บริเวณลานหน้าบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้จากการเจรจาเมื่อวันที่ 19 พ.ย.56 ที่ผ่านมานั้นซึ่งเป็นการเจรจาครั้งที่ 7 บริษัทยังคงส่งผู้ไม่มีอำนาจตัดสินใจลงมาเจรจา และเลื่อนการเจรจาครั้งต่อไปอีก 1 อาทิตย์ ( 26 พ.ย.56)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคสามัญชนหนุนเดินหน้า ร่างแก้ รธน. ม.291 วาระ 3

Posted: 21 Nov 2013 04:32 AM PST

กลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในชื่อพรรคสามัญชน ออกแถลงการณ์ 'เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน' หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
 
 
21 พ.ย.56 กลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในชื่อพรรคสามัญชน ออกแถลงการณ์ 'เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน' ภายหลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติต่อคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (คลิกอ่าน)
 
แถลงการณ์ระบุว่า พรรคสามัญชน มีความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิก้าวล่วง และศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างกฎหมายอื่นมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น
 
อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเดิม เพราะหากไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเดิมก็ย่อมไม่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ จึงเป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมืองเท่านั้นเอง
 
นอกจากนี้ พรรคสามัญชน เห็นด้วยกับแนวทางการเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระ 3 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่าประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 จริง จึงเสนอว่า หลังสภาผู้แทนพิจาณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปทำประชามติก่อนที่จะส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อให้วุฒิสภา
 
อนึ่งรายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้
 
 
แถลงการณ์ พรรคสามัญชน
เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน
 
ตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น พรรคสามัญชนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิก้าวล่วง พรรคสามัญชนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างกฎหมายอื่นมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
 
อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเดิม เพราะหากไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเดิมก็ย่อมไม่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ จึงเป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมืองเท่านั้นเอง
 
เพื่อยืนยันหลักการนี้ พรรคสามัญชนเห็นด้วยกับแนวทางการเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระ 3 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 จริง พรรคสามัญชนขอเสนอเพิ่มเติมว่า หลังจากสภาผู้แทนพิจาณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปทำประชามติก่อนที่จะส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อให้วุฒิสภา
 
อนึ่ง พรรคสามัญชนเป็นพรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็นองค์กรในการผลักดันสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของสามัญชน
เปลี่ยนแปลงสังคม โดยคนธรรมดา เพื่อสามัญชน
พรรคสามัญชน
21 พฤศจิกายน 2556
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านทัศนะสื่อต่างประเทศ หลังศาล รธน. วินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว. ขัดมาตรา 68

Posted: 21 Nov 2013 04:05 AM PST

สื่อต่างประเทศรายงานหลังคำวินิจฉัย ศาล รธน. 'นิวยอร์กไทมส์' ตั้งข้อสังเกต 3 ตุลาการ 'จรัญ - นุรักษ์ -สุพจน์' ยกร่าง รธน.50 มากับมือ - บีบีซีโดย 'โจนาธาน เฮด' ชี้ว่ามีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษาจะมีบทบาทคอยชี้ขาดและกำหนดชะตากรรมทางการเมือง

พาดหัวข่าว  "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators" ในนิวยอร์กไทมส์ ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (จากซ้ายไปขวา) จรัญ ภักดีธนากุล, นุรักษ์ มาประณีต และ สุพจน์ ไข่มุกด์  (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

 

21 พ.ย. 2556 - ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลงมติ 6 ต่อ 3 ว่าเนื้อหาการแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญ และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่ากระบวนการแก้ไขเช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ระยะเวลาการแปรญัตติ การลงคะแนนแทนกัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยกคำร้องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นิวยอร์กไทมส์พาดหัว "ศาลไทยบอกปัดความพยายามให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด"

โดยภายหลังจากมีคำวินิจฉัย มีการรายงานข่าวนี้โดยสื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนัก โดยรายงานของนิวยอร์กไทมส์ โดย โทมัส ฟุลเลอร์ พาดหัวข่าวว่า "Thai Court Rejects Bid for Direct Elections of All Senators" หรือ "ศาลไทยบอกปัดความพยายามให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด"

ทั้งนี้ ในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธนี้ (20 พ.ย.) ระบุว่าความริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากของพรรครัฐบาล ถือเป็นความพยายาม "ล้มล้าง" การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ เป็นการเพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลที่กำลังยุ่งเหยิงและเปราะบางอยู่ก่อนแล้วจากผู้ประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ชุมนุมมาหลายสัปดาห์

ศาลระบุว่าสมาชิกของพรรครัฐบาล ซึ่งอยู่ในอาณัติของมหาเศรษฐีผู้สร้างฝักฝ่าย อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร, ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ เมื่อพวกเขาพยายามทำให้วุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง นิวยอร์กไทม์อธิบายด้วยว่าภายในระบบปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งของวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และอีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้พิพากษาและข้าราชการระดับสูง

 

ลดทอนการครอบงำของทักษิณ รัฐประหาร 19 กันยา และ ส.ว.สรรหา

นิวยอร์กไทมส์ อธิบายว่า โดยมติ 5 ต่อ 4 ของศาลมุ่งไปยังหัวใจของการต่อสู้อันยืดเยื้อระหว่างพรรคการเมืองอันทรงอำนาจของทักษิณ ซึ่งชนะการเลือกตั้งทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 2001, และเหล่าชนชั้นนำของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังหาทางลดทอนการครอบงำของทักษิณ

เมื่อทักษิณ ชินวัตรถูกขับออกจากอำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2006 กองทัพไทยได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหารวมถึงเรื่องที่จะให้วุฒิสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต่อมาทักษิณก็ได้นี้ออกจากประเทศไปอีก ก่อนที่เขาจะถูกพิพากษาในความผิดฐานใช้อำนาจมิชอบ (หมายเหตุ - คดีประมูลซื้อที่ดินรัชดา) นอกจากนี้ยังมีคดีคอร์รัปชั่นอีกหลายคดีที่ต้องเผชิญหากเขาเดินทางกลับมา

ทั้งนี้พรรคการเมืองของเขาพยายามที่จะย้อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลับมา โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขผ่านการลงมติจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และอยู่ในขั้นตอนรอการลงพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ รายงานคำกล่าวของสุพจน์ ไข่มุกด์ หนึ่งในเก้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธว่า สิทธิของเสียงข้างน้อยกำลังถูกกดขี่ข่มเห่ง

"ในระบอบประชาธิปไตยของไทย แม้จะถือให้เอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" เขากล่าว "แต่หากใช้อำนาจตามอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผล สิ่งนี้จะทำให้เสียงข้างมากสูญเสียความชอบธรรม"

เขากล่าวด้วยว่าระบอบเช่นนี้จะถือว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตย" ได้อย่างไร เมื่อเสียงข้างมากกระทำเช่นนี้ "ผลของมันคือทรราชเสียงข้างมาก"

นิวยอร์กไทมส์ รายงานด้วยว่า สำหรับคนนอก เหตุผลของศาลอาจจะฟังดูแปลก การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยตรงน่าจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการประชาธิปไตย แต่ในประเทศที่ความไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองเป็นไปอย่างลึกซึ้ง และการซื้อเสียงเป็นเรื่องปกติ ศาลได้อภิปรายแย้งในเรื่องนี้ว่า ถ้าทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด "ชนชั้นนักการเมือง" ก็จะมี "อำนาจครอบงำอย่างสมบูรณ์" นิวยอร์กไทมส์วงเล็บและอธิบายว่า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจำนวนมากไม่เห็นด้วย และมีคนหนึ่งที่กล่าวทางโทรทัศน์ว่าการตัดสินของศาลเป็นเรื่องประหลาด

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ยังสัมภาษณ์ความเห็นของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงมหาดไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ซึ่งกล่าวว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะยิ่งทำให้ความแตกแยกในสังคมของเราเห็นชัดขึ้น"

"ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอำนาจมาจากประชาชนทั้งหมด อีกฝ่ายเชื่อว่าอำนาจควรมาจากคนไม่กี่คน นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"

ตอนหนึ่งนิวยอร์กไทมส์อธิบายมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่า อนุญาตให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความพยายามที่จะ "ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่ก็มีข้อที่ยังโต้เถียงกันอยู่ว่าการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องกระทำผ่านอัยการ แต่คำวินิจฉัยเมื่อวันพุธนี้ไม่ได้ผ่านช่องทางอัยการ

 

ตั้งข้อสังเกต 3 ตุลาการเคยเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550

นอกจากนี้ตอนหนึ่งในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ ยังมีคำถามในทางกฎหมายด้วย เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายคน ระบุว่ามีตุลาการ 3 คนในศาลรัฐธรรมนูญที่ควรถอนตัวจากคดีนี้ เนื่องจากพวกเขาเป็นสมาชิกขององค์กรที่กองทัพแต่งตั้งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549

สำหรับตุลาการทั้งสาม ที่นิวยอร์กไทมส์หมายถึง คือ จรัญ ภักดีธนากุล นุรักษ์ มาประณีต และสุพจน์ ไข่มุกด์

ทั้งนี้ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างที่มีการรอคอยคำวินิจฉัย ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหลายพันหรือคนเสื้อแดงได้ชุมนุมกันที่สนามกีฬาในกรุงเทพ อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพ นักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ได้นำผู้ชุมนุมหลายพันคนประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาวของทักษิณ

ตอนท้ายรายงานของนิวยอร์กไทมส์ อธิบายลักษณะของพรรคประชาธิปัตย์ไว้ว่า "พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ภายใต้ 'มนตรา' มาหลายปีว่าความขัดแย้งทางการเมืองต้องอยู่ในสภา มาในปีนี้ได้ลงสู่ท้องถนน โดยพรรคการเมืองนี้เพิ่งมีชัยชนะเมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อรัฐบาลยอมถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่มีผลปลดปล่อยให้ทักษิณสามารถกลับไทย

 

ล้อมกรอบบีบีซี 'โจนาธาน เฮด' ระบุมีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษากำหนดชะตากรรมทางการเมือง

ส่วนในรายงานของบีบีซี พาดหัวข่าวว่า "Thailand Constitutional Court rejects Senate amendments" หรือ "ศาลรัฐธรรมนูญไทยปฏิเสธการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว." โดยในข่าวล้อมกรอบทัศนะของ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ประจำกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า "มีไม่กี่ประเทศที่ผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งจะมีบทบาทคอยชี้ขาดและกำหนดชะตากรรมทางการเมือง อย่างตุลาการซึ่งทำหน้าที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย"

"ในปี 2001 พวกเขาปฏิเสธที่จะเพิกถอนทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง แม้จะมีหลักฐานที่หนักแน่นว่าเขาได้ละเมิดกฎหมายในการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน"

ในปี 2006 "... พวกเขาตัดสินให้การเลือกตั้งที่ทักษิณชนะเป็นครั้งที่ 3 เป็นโมฆะ ซึ่งคำตัดสินนี้นำมาซึ่งการรัฐประหารในที่สุด ในปี 2007 พวกเขาตัดสินยุบพรรคการเมืองของทักษิณ ในปี 2008 พวกเขาถอดถอนนายกรัฐมนตรี 2 คนที่เป็นพันธมิตรกับทักษิณ และยุบพรรคการเมืองอีกครั้ง"

วันนี้ พวกเขาได้ถอยกลับไปจากบทบาทนี้ ด้วยการยกคำร้องยุบพรรคการเมืองของทักษิณเป็นรอบที่สาม  ประเทศไทยได้รอดพ้นไปจากวิกฤตไปอีกครั้งหนึ่ง

แต่การแทรกแซงโดยตุลาการกำลังดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จรูญ อินทจาร ได้ใช้ถ้อยคำอันแสบร้อน ประณามบทบาทของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ที่พยายามแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิกผ่านกระบวนการทางรัฐสภา โดยได้เตือนรัฐบาลว่าไม่ควรใช้เสียงข้างมากไปในทางที่ผิด

โดยการอ้างมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ เขาได้ทำให้ความพยายามใดๆ โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างในสมัยรัฐบาลทหาร เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

 

ผอ.ฟรีดริค เอแบร์ท ชี้เป็นข้อเสนอ 'ภาวะสงบศึก' จากฝ่ายจารีต - รักษาสถานะเดิมไม่ให้ 'ทักษิณ' ขยายอำนาจ

นอกจากทัศนะของสื่อมวลชนต่างประเทศในไทยแล้ว มาร์ค แซกเซอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคบัญชีส่วนตัวของเขาแสดงทัศนะหลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า

"ฝ่ายชนชั้นนำศักดินาได้พูดผ่านกระบอกเสียงของตัวเองโดยยื่นภาวะสงบศึกบนพื้นฐานของสถานภาพเดิมๆ ทักษิณยังคงปกครองต่อไปได้ด้วยอำนาจที่จำกัด แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเขตอำนาจออกไป ในทางการเมืองแล้ว นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนภาวะชะงักงันในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจเพียงพอที่จะมีชัยเหนือความขัดแย้ง"

"ใช่ว่าจะมีใครคาดหวังให้คณะตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะทหารแถลงสิ่งอื่นใดออกมานอกจากสาส์นทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ตามคำพิพากษานี้จะเป็นปัญหาอย่างลึกซึ้ง กล่าวโดยสรุป คำพิพากษานี้บอกว่าไม่มีใครหน้าไหนสามารถแก้ไขรัฐธรรมนููญนี้ชั่วกาลนาน และประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยเนื้อแท้ของมันก่อให้เกิดการคอรัปชั่น และการปกครองโดยเสียงข้างมากมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ..."

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีน้ำ 3.5 แสนล้าน ‘คนร้อยเอ็ด’ ร้องปัญหาเก่าแก้ไม่เสร็จ เอาใหม่มาทับถม

Posted: 21 Nov 2013 03:44 AM PST

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมาล้มเหลวโดยเฉพาะโครงการโขงชีมูล ชี้ 3.5 แสนล้าน ไม่มีโครงการในร้อยเอ็ด แต่อาจกระทบจากโครงการในชัยภูมิ
 
 
21 พ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของประชาชนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2556 ที่ห้องพลาญชัย โรงแรมร้อยเอ็ดซิตี้ จ.ร้อยเอ็ดที่คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ดจัดขึ้น
 
สืบเนื่องจาก คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
 
เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ผู้เข้าร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นยืนรอลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุม ในการลงทะเบียนจะได้รับเอกสารรายละเอียดโครงการ ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนก็สามารถที่จะเข้าร่วมรับฟังก่อนได้ โดยผู้เข้าร่วมมีทั้ง พระสงฆ์ หน่วยงานราชการ นายก อบต. นายกเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ประมาณ 200 กว่าคน และมีชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพรกว่า 50 คนเข้าร่วมด้วย
 
กระทั่งเวลา 13.30 น.นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อมีโครงการพัฒนา ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะนำเสนอความคิดเห็นของประชาชนนำไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่เกิดขึ้นในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้รัฐบาลมีโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม จ.ร้อยเอ็ด ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจังหวัดที่ต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการที่มีอยู่ใน จ.ชัยภูมิที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะเป็นสายน้ำชีเดียวกัน แม้จะได้รับผลกระทบไม่มากก็ตาม แต่ต้องมารับฟังความคิดเห็นประชาชนและเพื่อให้รับรู้ รับทราบเพิ่มมากขึ้น
 
จากนั้นได้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยนางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร อ.ทุ่งเขาหลวง กล่าวว่า หลังจากดูวีดีทัศน์แล้ว ไม่เห็นว่าจะมีโครงการที่ จ.ร้อยเอ็ดเลย แล้วคนร้อยเอ็ดจะได้อะไรจากโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้าน มีแต่จะได้รับผลกระทบ
 
นางอมรรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในโครงการพัฒนาโดยเฉพาะโครงการโขง-ชี-มูล ที่มีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน ทำให้น้ำท่วม นาน 3-4 เดือน เป็นเวลา 12 ปี ข้าวนาปีไม่เคยได้กินตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนมา ไม่มีการเยี่ยวยาชดเชย ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหม่ก็จะเข้ามาทับถม เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ปัญหา วันนี้จึงขอยื่นหนังสือเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
 
หลังจากนั้น ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร อ.ทุ่งเขาหลวง ได้ยืนหนังสือคัดค้านเวทีการรับฟังความคิดเห็น ต่อนายพิทยา กุดหอม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด
 
 
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวถึงสังเกตต่อเวทีรับฟังความคิดเห็น ดังนี้ 1.ดูวีดีทัศน์แล้วไม่มีโครงการใน จ.ร้อยเอ็ด 2.อ่านเอกสารประกอบแล้ว ก็ไม่มีแผนโครงการใน จ.ร้อยเอ็ด 3.พื้นที่ จ.ร้อยเอ็ดได้อะไร?
 
นายสิริศักดิ์ กล่าวว่า ในภาคอีสานมีโครงการใน 2 จังหวัด คือ ชัยภูมิและสกลนคร ในส่วนของโครงการใน จ.ชัยภูมิ สิ่งที่คนร้อยเอ็ดจะได้คงเป็นสิ่งที่หลายคนวิตกมากกว่า คือ ประการแรก ถ้ามีการสร้างเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดีตามโมดูล B1, B2 จะทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากอาจจะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรนานกว่าเดิมทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย เนื่องจากบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ จ.สารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ช่วงกลางน้ำถึงท้ายน้ำเป็นพื้นที่ทาม น้ำท่วมถึง แต่ลักษณะน้ำท่วมจะท่วมไม่นาน 7-15 วันน้ำก็ลด แต่พอมาสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในลุ่มน้ำชีก็ทำให้น้ำท่วมผิดปกตินาน 3-4 เดือน ยิ่งถ้ามามีการสร้างเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดีตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านก็ยิ่งจะทำให้คนลุ่มน้ำชีต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมนานกว่าเดิมอีก
 
ประการที่สอง ในช่วงหน้าแล้ง หากมีการสร้างเขื่อนยางนาดีและเขื่อนชีบนกักน้ำในจังหวัดชัยภูมิ เขื่อนแต่ละเขื่อนจะมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำแล้งเพื่อรักษาตัวเขื่อนและเพื่อทำประโยชน์ตามที่เขื่อนได้กล่าวอ้างไว้แน่นอนก็จะทำให้น้ำอาจจะไหลมาหล่อเลี้ยงคนกลางน้ำและท้ายน้ำได้ไม่ปกติ หรือไม่สามารถไหลลงมาหล่อเลี้ยงคนลุ่มน้ำชีตอนล่างได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรในปัญหาการแย่งน้ำทำนา
 
นายสิริศักดิ์ยังกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนโครงการบริหารทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้าน มีเป้าหมายโครงการชัดเจนอยู่แล้ว จึงมีคำถามว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนวันนี้เป็นการประทับตราให้โครงการหรือไม่ ดังนั้น จึงขอคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และมีข้อเสนอต่อการบริหารจัดการน้ำคือ รัฐควรที่จะหันกลับไปแก้ไขปัญหาเก่าก่อน โดยเฉพาะโครงการโขงชีมูลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในลุ่มน้ำชี เช่น ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรนาน 3-4 เดือนทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย หลังจากมีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร มองว่ารัฐควรต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่ในระดับพื้นที่
 
และสุดท้าย ควรกระจายการบริหารจัดการลงสู่ชุมชนทั้งในระดับแผนงานละงบประมาณเพื่อให้ชุมชนได้จัดทำแผนในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน และเพื่อเสนอความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงและมีการจัดการน้ำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษียร เตชะพีระ

Posted: 21 Nov 2013 03:13 AM PST

"เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น"

20 พ.ย.56, ใน ผลทางการเมืองของมติศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อไทยแถลง 9 ข้อ ไม่รับอำนาจศาล รธน.วินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว.

Posted: 21 Nov 2013 03:03 AM PST

พรรคเพื่อไทยออกคำแถลงยืนยันอำนาจนิติบัญญัติ แจง 9 ข้อศาลรธน. ไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยและแก้ที่มา ส.ว.ไม่ขัดรธน. ชี้ศาลก้าวก่ายนิติบัญญัติ "ยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร"

21 พ.ย.2556 พรรคเพื่อไทย แถลง 9 ข้อ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

คำแถลงของพรรคเพื่อไทย
 
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้มีวุฒิสภาจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นั้น
 
พรรคเพื่อไทยขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ดังนี้
1. การที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ดังที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชน

2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ เท่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามทั้ง 2 ข้อ แต่อย่างใด ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ว่า "รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291"

3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะมาตรา 68 เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ แต่การตรากฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ได้

4. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในคำวินิจฉัยในลักษณะที่ต้องการตีความขยายความเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่นที่ได้เคยทำมาแล้วในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ด้วยการอ้างว่า "ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ... ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญว่าจะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ" คำวินิจฉัยทั้ง 2 ครั้งในปี 2555 และ 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาจากปวงชนเพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาที่ชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรม ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราไม่อาจกระทำได้เลย เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ด้วยการตีความรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง ไม่ยอมผูกพันตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5. การอ้างหลักนิติธรรม เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าตามหลักสากลเขาเป็นเช่นไร การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ถึง 269 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่ามีความหมายอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเติมขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ดูที่องค์กรของตนเองเลยว่า ได้กระทำการขัดต่อหลักที่ตนอ้างหรือไม่ เช่น ได้ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 และ มาตรา 201 บัญญัติหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ตุลาการ 3 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และ 1 ใน 3 คน เคยถูกคัดค้านประเด็นนี้ จนต้องถอนตัวในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 มาแล้ว แต่คราวนี้ไม่ถอนตัว และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3หรือ 4 คนดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม

6. การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขัดต่อมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญ นั้น นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 และมาตรา 6 จะอธิบายกันต่อไปอย่างไร เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดหลักนิติธรรม มาตรา 6 กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศ คำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่กฎหมายที่ออกโดยสภา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด

7. การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และมาตรา 89 ที่บัญญัติให้ "ประธานรัฐสภา ....ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นตามข้อบังคับ" ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 117 บัญญัติว่า "ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย ... ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเด็ดขาด" กับข้อ 45 ที่ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด ถ้ามีการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อ 116 ยังให้อำนาจที่ประชุมรัฐสภามีมติให้งดใช้ข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเช่นนี้ได้ ก็อาจมีการร้องกันว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับทั้งหลายเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ สภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย

8. เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้นเก้าสิบวัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ เพราะประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ประการที่สองเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการตรวจสอบว่า ร่างพระราชบัญญัติใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ตรวจสอบได้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีการทูลเกล้าฯแล้วย่อมจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 
9. การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงงานหรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้ ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับก่อนปี 2540 วางหลักไว้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร    

พรรคเพื่อไทย
21 พฤศจิกายน 2556  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น