โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สาระ+ภาพ: เส้นทางวิบาก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับลักหลับ

Posted: 07 Nov 2013 12:31 PM PST

ว่ากันด้วยกระบวนการตามกฎหมายหลังจากนี้ ที่อาจจะมีเกิดขึ้นได้ ถ้า ร่างฯ นี้ยังเดินต่อไป จะมีกระบวนการเข้ามาตรวจสอบทั้งหมด 3 ด่าน คือ วุฒิสภาพิจารณา 3 วาระ, ศาลรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 และพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

 

นอกจากนี้การปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์นำโดย กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำให้ประชาชนเข้าใจผิด โดย เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้เขียนบันทึกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. เรื่อง "วิจารณ์ Facebook fanpage Korn Chatikavanij Nov 7th2013 16.00pm" ระบุว่า:

 

000

"บันทึกนี้ผมวิจารณ์อย่างเปิดเผย ถึง การเขียน statusของ สส กรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 7 พย 2556 เวลา 16.00 น. โดยประมาณ ว่า

"ส่วนที่สภาถอนร่างกฎหมายปรองดอง-นิรโทษไป 6 ฉบับ และนายกบอกว่าจบนั้น ... ข้อเท็จจริงคือกฎหมายนิรโทษกรรมตัวที่เป็นปัญหาหรือที่ประชาชนเรียกกันว่า "ร่างสุดซอย-ร่างลักหลับ-ร่างยานแม่" นั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ได้ถอน ยังไม่รู้อีกหรือว่า ประชาชนเขารู้ทันคุณหมดแล้ว"

ท่าน ส.ส. ได้เขียน status นี้พร้อมรูปท่านเป่านกหวีดที่แยกอโศกมนตรี

ผมวิจารณ์ในทางกฎหมาย (เท่านั้น) ดังนี้ครับ

ถ้าเปิดไปที่ http://www.senate.go.th/th_senate/Thai/powerandduties.pdf แผนผังกระบวนการตรา พ.ร.บ ที่จัดทำโดยวุฒิสภา

จะเห็นได้จากแผนผังว่า เมื่อ ร่าง พรบ ได้ผ่านการลงมติของสภาผู้แทน ราษฎร ในวาระ 3 ตามมาตรา 146 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติใจความโดยสรุปว่า

เมื่อสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบแล้ว ให้เสนอต่อวุฒิสภา และกำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาภายใน 60 วัน และในมาตรา 147 ที่ระบุอำนาจของวุฒิสภา ที่

(1) เห็นชอบ
(3) ไม่เห็นชอบ และยับยั้งร่าง พ.ร.บ. นั้นไว้ก่อนและส่งกลับไปยังสภาผู้แทน
(3) แก้ไขเพิ่มเติม ...

โดยใน (2) ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ มาตรา 148 บังคับให้ สภาผู้แทนราษฎร ต้องรอไม่น้อยกว่า 180 วันถึงจะพิจารณาใหม่ได้

จากการวิเคราะห์ของผม เห็นว่า สิ่งที่ ส.ส. กรณ์ พูดนั้น เรียกว่า "พูดจริงไม่หมด" เพราะว่า ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับ ให้ ร่าง พรบ.นั้น ต้องส่งให้วุฒิสภา อย่างเดียวเท่านั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำการเป็นอย่างอื่นได้ (ไม่ว่า นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา หรือ ประธานวุฒิสภา จะต้องการ ไม่รับพิจารณาก็ตาม)

ดังนั้น วุฒิสภามีหน้าที่ และอำนาจ แต่เพียงผู้เดียวครับ ที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร กับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยนี้

(ส่วนร่าง พ.ร.บ ทั้ง 6 ฉบับ ที่ค้างอยู่ในรัฐสภานั้น วันนี้สภาผู้แทนได้ลงมติ ถอนทั้ง 6 ร่างไปเรียบร้อยแล้ว) http://bit.ly/1gtLXN5

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพประกาศ 11 พ.ย. ตั้งศาลประชาชนตัดสิน 'ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ'

Posted: 07 Nov 2013 11:48 AM PST

สุเทพ ลั่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องหายไปมิเช่นนั้นจะตั้งศาลประชาชน - อภิสิทธิ์อัดยิ่งลักษณ์ออก กม.นิรโทษกรรมไม่ได้ช่วยแค่พี่ชายแต่ช่วยตัวพ้นผิดคดีจำนำข้าวด้วย แนะทักษิณช่วยชาติได้ด้วยการติดคุก - 'ชูวิทย์' ชี้ชุมนุมเริ่มไปไกลแนะ 'สุเทพ' รีบกลับบ้าน - สมชาย แสวงการนำ '40 ส.ว.' ขวางไม่ให้ ปธ.วุฒิ สั่งประชุม 8 พ.ย. และจะไม่เข้าประชุมด้วย

ที่มาของภาพ: เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ/แฟ้มภาพ

 

สุเทพประกาศ 11 พ.ย. ตั้งศาลประชาชนตัดสิน 'ทักษิณ ยิ่งลักษณ์'

7 พ.ย. 2556 - ในการชุมนุมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นั้น ในเวลา 18.30 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำการชุมนุม ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า "เราได้บอกไว้แล้วว่าสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกว่ากฎหมายต้องออกเพื่อความปรองดอง ไม่มีตรงไหนไปช่วยพี่ชาย ประชาชนคิดเอาเอง เราบอกว่านายกฯ เอ๋ยเขารู้ว่าเขารู้กันทั้งประเทศ ทั้งโลก ที่แกล้งไม่รู้อยู่คนเดียวคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์เท่านั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นพิษร้าย และต้องทำให้หายไปจากสภาโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน กฎหมายนี้จะต้องหมดไปภายใน 18.00 น. ของวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. โดยจะไม่มีการต่อรองเด็ดขาด" นายสุเทพกล่าว

สุเทพปราศรัยด้วยว่า ในวันที่ 11 พ.ย.เวลา 18.00 น. หากรัฐบาลไม่ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้พ้นจากสารบบ จะตั้งศาลประชาชนขึ้นกลางถนนราชดำเนิน เพื่อให้ประชาชนพิจารณาพฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมทั้งคนในตระกูลชินวัตร ที่กระทำต่อประเทศไทย ว่าสิ่งที่ได้ทำมานั้นผิดหรือถูกอย่างไร

"ให้ประชาชนทั้งประเทศได้เป็นผู้ตัดสินว่าประชาชนคนไทยจะดำเนินการอย่างไรกับพ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์"

สุเทพกล่าวอีกว่า ประเทศนี้ประชาชนต้องเป็นใหญ่ เสียงประชาชนต้องมีความหมาย ทุกฝ่ายต้องเคารพ คณะกรรมการแกนนำทุกคนจะปฏิบัติตามเสียงประชาชน ตามคำตัดสินของศาลประชาชน ถ้าประชาชนมีความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ สมควรจะปล่อยตัวไปก็กลับบ้าน แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นเป็นอย่างอื่น ก็สุดแล้วแต่ ซึ่งแกนนำจะทำตามเสียงของประชาชน โดยหลังจากนี้แกนนำทั้งหลายจะจัดเตรียมสถานที่ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับประชาชนที่จะมาชุมนุม

 

อภิสิทธิ์แนะทักษิณช่วยชาติได้ด้วยการกลับมาติดคุก

ต่อมาในเวลา 21.00 น. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ได้ปราศรัยว่า วันนี้ประชาชนจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐที่พยายามบิดเบือน เป็นประชาชนที่ฉลาดรู้เท่าทันเล่ห์กลรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงขอให้ประชาชนทุกคนปรบมือให้กับทุกกลุ่ม ทุกองค์กรที่ร่วมเคลื่อนไหว วันนี้รัฐบาลโหมประชาสัมพันธ์ว่าตัวเองถอยแล้ว ในภาวะที่คนทั้งประเทศลุกขึ้นมาต้านกฎหมายสุดอัปยศ พวกตนทำได้เพียงตั้งกระทู้ถามในสภาฯ ลำพังนายกฯ พูดอยู่คนเดียวทางทีวี เราไม่มีทางรู้ว่านายกฯ คิดอย่างไร จึงต้องถามให้ตอบกับสดๆ เฉพาะเรื่องนี้ แต่ประธานสภาฯ บอกว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาประชุม

"โคลนนิ่งกันทั้งพี่น้องกลัวสภาฯ กลัวการตรวจสอบ ประชาชนจะไม่ให้ใครมาโกหกหลอกลวงซ้ำซากอีกต่อไป" อภิสิทธิ์กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั้นนอกจากออกมาเพื่อช่วยพี่ชายแล้วยังช่วยตัวเองอีก เพราะวันนี้ยอมรับแล้วว่ามีการทุจริตคอรัปชันในโครงการรับจำนำข้าว โครงการน้ำอะไรต่างๆ ฉะนั้นรัฐบาลเขาจะบอกอะไรต่อจากนี้ การที่นายกฯ บอกว่า จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ตนเห็นด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณสามารถทำประโยชน์ให้ชาติได้ คือการกลับมาติดคุก เพื่อแสดงให้นานาชาติได้เห็นว่าประเทศไทยยังมีหลักนิติรัฐนิติธรรม

 

'ชูวิทย์' แนะชุมนุมเริ่มไปไกล แนะสุเทพรีบกลับบ้าน

ขณะที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรครักประเทศไทย ได้โพสต์บทความในเฟซบุ๊ค ตอนหนึ่งระบุว่า "ทุกทีคุณยิ่งลักษณ์บอกว่า "ฝ่ายบริหารไม่สามารถไปก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ" แล้วรีบ "บินนอก" ออกไปแบบเนียนๆ แต่คราวนี้ เมื่อ "เรือใกล้จะล่ม" นายกฯ ออกมาแถลงข่าวทีเดียว สภาฯ "รับลูก" ถอนกราวรูดอย่างรวดเร็ว"

และกล่าวต่อไปถึงกรณ์ศาลประชาชนของสุเทพว่า "คุณสุเทพแกจะจัดตั้ง "ศาลประชาชน" ไปแข่งกับ "ศาลไทย" ไม่รู้ว่าผู้พิพากษาเป็นใคร? ผ่านการสอบมาหรือเปล่า? มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับที่จะไปตัดสินใคร จะเอาความรู้กฎหมายจากที่ไหนมา? จะเป็นผู้พิพากษามันต้องสอบเอานะครับ จะว่าไปคุณสุเทพแกก็หน้าคล้าย "เปาบุ้นจิ้น" สงสัยจะเอา "ศาลไคฟง" เป็นแบบอย่าง"

"ดูเหมือนประชาธิปัตย์ไม่มีเหตุผลที่จะ "รั้ง" ม็อบให้อยู่ต่อ เพราะประกาศกร้าวไว้แค่ "หยุดกฎหมายนิรโทษกรรม" แต่ประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน เชี่ยวชาญการคิดในเชิงลบ ตอนนี้คุณสุเทพคงต้องการจะยื้อให้ถึงวันจันทร์ที่ 11 เพราะ "ศาลโลก" จะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับ "คดีเขาพระวิหาร" หากไทยแพ้เสียดินแดน เลือดรักชาติมันพุ่งพล่าน ไฟที่มอดลงจะกลับมาลุกโชนอีกครั้ง รุนแรงหนักกว่าเก่า คราวนี้ประชาธิปัตย์ "ได้ทีขี่แพะไล่" อย่างที่ผมบอกไว้ตอนแรก บางครั้งเราต้องการอะไรที่มัน "สร้างสรรค์" เราจึงไม่สามารถที่จะให้คน "ถนัดคิดในแง่ลบ" มาคิดเรื่องสร้างสรรค์ได้ ผมมันคนไม่มีพวก และชอบพูดตรงๆ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่จะเอาประชาชนมาเป็น "เกราะกำบัง" ใครๆมันก็อ้างประชาชนกันทั้งนั้น ถ้าเป็นสมัย "นายกฯ เปรม" ท่านชอบพูดว่า "กลับบ้านเถอะลูก มันดึกแล้ว"" ชูวิทย์ระบุในบทความ

 

'40 ส.ว.' สมชาย แสวงการขวางไม่ให้ประธานวุฒิสภาสั่งประชุม 8 พ.ย.

ส่วนความเคลื่อนไหวในวุฒิสภานั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาได้เรียกประชุมเพื่อหารือ ส.ว.นอกรอบ มีดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรีเป็นประธาน แต่กลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, สมชาย แสวงการ, ประสาร มฤคพิทักษ์, วันชัย สอนศิริ คัดค้านว่าทำไมประธานวุฒิสภาเป็นคนเรียกประชุมเอง แต่อยู่ร่วมประชุม ดังนั้นพวกตนจะไม่ร่วมประชุม ทำให้นิคม ต้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกับแจ้งว่า จะใช้อำนาจประธานวุฒิสภา ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา นัดประชุมวุฒิสภาเป็นพิเศษ วันที่ 8 พ.ย. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

หลังจากนั้น พล.อ.สมเจตน์ ได้ต่อว่าเสียงดังว่า ถ้าแบบนี้จะเรียกประชุมทำไม นายนิคมหมดความชอบธรรมที่จะเป็นประธานฯ ต่อไป เพราะรับลูกจากรัฐบาลตลอด โดยมี สมชาย แสวงการ ช่วยตะโกนว่า "ออกไปๆ"

ด้านมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้ใช้กำปั้นทุบไปบนโต๊ะ และว่าถ้าจะใช้อำนาจอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาหารือ และสมัคร เชาวภานันท์ ส.ว.สรรหา ท้วงติงว่า หากวันที่ 8 พ.ย.องค์ประชุมไม่ครบ ใครจะรับผิดชอบ ภาระหนัก จะตกอยู่ที่ประธาน นอกจากนี้สมชาย กล่าวด้วยว่า ส.ว.สรรหาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่ามีคนมาล็อบบี้ให้เลื่อนวันประชุม

ด้วยเหตุนี้ นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ได้ตอบโต้ว่า เธอเป็นคนเสนอให้เลื่อนวันประชุม และไม่อยากให้กล่าวหากันแบบนี้ เหมือนกรณีปล่อยข่าวซื้อตำแหน่งประธานวุฒิสภา ด้วยรถเบนซ์ จนถึงวันนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า ไม่มี ทำให้

หลังจากนั้น สมชาย แสวงการ ถึงกับชักสีหน้า พยายามตะโกนบอกให้ นางนฤมล หยุดพูด แต่ที่ประชุม ยังคงมีการถกเถียงและคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่ม 40 ส.ว. โดยไม่ยอมฟังคำชี้แจงจาก ประธานวุฒิสภา ทำให้ประธานวุฒิสภาตัดบทว่ายืนยันจะใช้อำนาจตามข้อบังคับ และขณะนี้ได้เซ็นหนังสือเรียกประชุมในวันที่ 8 พ.ย.แล้ว ทำให้กลุ่ม 40 ส.ว. ตะโกนสวนกลับว่า อย่างนั้นพวกตนก็ไม่ขอร่วมสังฆกรรม ทำให้ประธานวุฒิสภาตอบโต้กลับว่า ไม่เป็นไร เมื่อเรียกมาหารือแล้ว เป็นแบบนี้ ก็ไม่หารือด้วยแล้ว พร้อมกับลุกออกไปจากห้องทันที

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวยืนยันว่า เขาจะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 8 พ.ย. นี้ แต่เชื่อว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ เพราะจะมี ส.ว.บางส่วน ตั้งใจไม่เข้าร่วมประชุม จึงอาจต้องเลื่อนไปประชุมวันที่ 11 พ.ย.อีกครั้ง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

AI เรียกร้องเวียดนามยุติการปราบปราม-จับกุม ผู้เห็นต่างทางการเมือง

Posted: 07 Nov 2013 07:20 AM PST

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เผยมีนักโทษทางความคิด 75 คนในเวียดนาม ชี้หลายคนถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้ายมาเป็นเวลาหลายปี เรียกร้องรัฐบาลยุติการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยทันที 

 
 
7 พ.ย.2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการเวียดนามให้ยุติการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยทันที เพื่อคุ้มครองนักเคลื่อนไหวไม่ให้ถูกคุกคามและถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนอีกต่อไป
 
ในรายงานฉบับใหม่เรื่อง "เสียงที่ถูกปราบปราม: นักโทษทางความคิดในเวียดนาม" (Silenced Voices: Prisoners of Conscience in Viet Nam) วิเคราะห์การใช้กฎหมายและพระราชกฤษฎีกาเพื่อเอาผิดกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งทางอินเตอร์เน็ตและในระหว่างการประท้วง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษด้านความคิด 75 คนในเวียดนาม ซึ่งหลายคนได้ถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้ายมาเป็นเวลาหลายปี
 
รูเปิร์ต แอบบ็อต (Rupert Abbott) นักวิจัยประเทศเวียดนาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เวียดนามกำลังกลายเป็นที่คุมขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างเสรีของประชาชนโดยรัฐบาลต้องยุติลง
 
"ในปีนี้ เวียดนามมีการถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขใหม่ และพยายามหาเสียงเพื่อให้มีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลกำลังบอกต่อโลกว่า ตนเองเคารพหลักนิติธรรม แต่การปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นการทำลายพันธกิจที่เวียดนามให้ไว้กับประชาคมนานาชาติว่าจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออก" รูเปิร์ตกล่าว
 
ทางการได้จับกุม ตั้งข้อหา ควบคุมตัว หรือคุมขังผู้ที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐหลายร้อยคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดทำเว็บบล็อก นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิที่ดิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอย่างสงบ ทั้งยังมีเป้าหมายการคุกคามสมาชิกกลุ่มทางศาสนาด้วย
 
นับแต่ต้นปี 2555 ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลานานกับนักเคลื่อนไหวอย่างสงบอย่างน้อย 65 คนรวมกันกว่า 20 คดี เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
 
นักโทษทางความคิดมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน ไม่อนุญาตให้ครอบครัวและทนายความเข้าเยี่ยม การพิจารณาคดีมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมักกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และไม่ยึดมั่นตามหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
 
กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับการพิจารณาคดีผู้จัดทำเว็บบล็อกสำคัญ 3 คนเมื่อเดือนมกราคม 2555 โดยผู้พิพากษารับฟังการไต่สวนเพียง 15 นาที ก่อนจะกลับมาอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มโดยใช้เวลาในการอ่าน 45 นาที แสดงให้เห็นว่าต้องมีการเตรียมคำพิพากษาไว้ล่วงหน้า
 
ในระหว่างถูกคุมขัง นักโทษด้านความคิดต้องอยู่ในสภาพที่เลวร้าย บางครั้งถูกขังเดี่ยวหรือแยกจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ บางคนยังถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม
 
ในบรรดานักโทษเหล่านี้ได้แก่ โดทิมินฮันห์ (Do Thi Minh Hanh) อายุ 28 ปี เขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานซึ่งถูกสั่งคุมขังเป็นเวลาเจ็ดปีเมื่อปี 2553 ในข้อหาแจกจ่ายใบปลิวสนับสนุนให้คนงานเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น เมื่ออยู่ในเรือนจำเธอต้องทนทุกข์ทรมานมาก ถูกเพื่อนนักโทษซ้อมหลายครั้ง โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่ได้เข้ามาห้าม
 
"โดทิมินฮันห์และนักโทษทางความคิดคนอื่นๆ เพียงแค่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบ ต้องมีการปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข" รูเปิร์ตกล่าว
 
"รายงานของแอมเนสเตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นข้อมูลนักโทษ 75 คนซึ่งในความจริงไม่ควรจะถูกจับกุมเลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยังมีนักโทษอีกหลายสิบคนที่อาจถือได้ว่าเป็นนักโทษด้านความคิด และยังมีนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวอีกเป็นจำนวนมากซึ่งถูกซ้อม ถูกคุกคาม ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี หรือถูกกักบริเวณในบ้าน"
 
แม้โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญของเวียดนามจะประกันเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายและพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับเพื่อควบคุมสิทธิดังกล่าว
 
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2542 อนุญาตให้ทางการคุมขังผู้ที่มีเจตจำนง "โค่นล้ม" หรือ "โฆษณาชวนเชื่อ" เพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งมักเป็นข้อหาที่ใช้เพื่อลงโทษผู้ที่แสดงความเห็นแตกต่างจากรัฐอย่างสงบ
 
ในวันที่ 1 กันยายนปีนี้ รัฐบาลได้ใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่เพื่อควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งานอินเตอร์เน็ต มีการกำหนดโทษอย่างรุนแรงต่อการเผยแพร่รายงานข่าวทางเว็บบล็อกและสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่ออินเตอร์เน็ตอื่น ๆ ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ
 
ในช่วงปีที่ผ่านมา คนเวียดนามถกเถียงกันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขใหม่ โดยคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมปัจจุบันในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ในปีนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการ "ปรึกษาหารือกับประชาชน" เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
 
แต่จากการวิเคราะห์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ยังคงมีช่องโหว่ในข้อบัญญัติซึ่งปล่อยให้รัฐบาลสามารถจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป
 
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีปัญหาในขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับร่างฉบับก่อนๆ และจะไม่มีส่วนช่วยคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ที่เสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมาของทางการ ทั้งการใช้กฎหมายและพระราชกฤษฎีกาเพื่อปราบปราม"
 
"รัฐธรรมนูญควรคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และควรมีที่มาจากข้อบัญญัติในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งเวียดนามเป็นรัฐภาคีด้วย บัดนี้เป็นโอกาสที่เวียดนามจะปฏิบัติเช่นนั้น และดูแลให้มีการบังคับใช้ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ" รูเปิร์ต กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กานดา นาคน้อย: ภาษีและศีลธรรม

Posted: 07 Nov 2013 06:38 AM PST

การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งในสภาผู้แทนราษฎรทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหลายเหตุผล ที่สำคัญที่สุดดิฉันคิดว่าทั้งอดีตนายกฯทักษิณและอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐฆาตกรรมประชาชน กล่าวคือ กรณีฆาตกรรมหมู่ที่ตากใบในปี 2547 และกรณีฆาตกรรมหมู่ที่ราชประสงค์ในปี 2553 เนื่องจากการฆาตกรรมเป็นอาชญากรรมหนักตามกฎหมายอาญาในอารยประเทศ

แต่คนจำนวนมากต่อต้านด้วยประเด็นที่ว่าอดีตนายกฯทักษิณจะหลุดจากคดีทุจริต ดิฉันเห็นด้วยว่าการคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรม แต่ดิฉันคิดว่าระบบความคิดที่ว่าคอร์รัปชันผลาญภาษีเป็นอาชญากรรมที่สาหัสกว่าการฆาตกรรมเป็นระบบความคิดที่อำมหิตและป่าเถื่อน ดิฉันขอแยกคนกลุ่มนี้ด้วยสถานะผู้เสียภาษีดังต่อไปนี้

1) นักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์จ่ายภาษีเงินได้ จ่ายแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภคสินค้าและบริการ
2) ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แน่นอนว่ากลุ่มนี้ก็จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภคสินค้าบริการด้วยเช่นกัน
3) ผู้เสียภาษีธุรกิจ
4) องค์กรที่ได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณรัฐ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่อธิการบดีประกาศต่อต้านในนามของมหาวิทยาลัย

เมื่ออ้างอิงด้วยภาระภาษี กลุ่มที่ 2 และ 3 คือกลุ่มที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า"โดนโกงภาษี" แม้นักเรียนนักศึกษาจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตผ่านการบริโภค ผู้แบกภาระภาษีให้นักเรียนนักศึกษาคือผู้ปกครอง

โปรดสังเกตว่าไม่ชัดเจนว่าดาราและศิลปินจัดอยู่ในประเภทไหน ถ้าดาราและศิลปินจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีด้วยอัตราเดียวกันกับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็พูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่า "โดนโกงภาษี" ส่วนกลุ่มที่ 4 ได้ประโยชน์ในฐานะผู้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณรัฐ ไม่สามารถอ้างอิงว่า "โดนโกงภาษี" ดังนั้นกลุ่มนี้จึงหันไปอ้างอิงว่าต่อต้านร่างพ.ร.บ.เพื่อจรรโลงคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมไทย
 

คุณธรรมและจริยธรรมของสังคมไทย
ก่อนสยามประเทศจะมีนักการเมือง อาชีพขุนนาง ขุนศึกและพ่อค้าไม่รู้จักการคอร์รัปชันผลาญภาษีจนกระทั่งนักการเมืองถือกำเนิดเมื่อปี 2475 อย่างนั้นหรือ? สังคมไทยไม่ได้เพิ่งศีลธรรมตกต่ำหลังปี 2475 ที่จริงการคอร์รัปชันผลาญภาษีอยู่ใน DNA ของวัฒนธรรมไทย

เราปฏิเสธได้หรือว่าเครือญาติหรือแม้แต่ตัวเราเองไม่เคยติดสินบนตำรวจ ไม่เคยจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ไม่เคยกินเปอร์เซ็นต์การจัดซื้อหรือสร้างตึกด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการหรืออธิบดีหรือปลัดกระทรวง ไม่เคยไปสัมมนาที่บริษัทยาออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่เคยนั่งรถประจำตำแหน่งโก้หรู ไม่เคยใช้น้ำมันฟรี ไม่เคยได้ตั๋วเครื่องบินฟรี ไม่เคยใช้บ้านหลวง ไม่เคยมีทหารร้บใช้ ไม่เคยหนีภาษี ฯลฯ

นักการเมืองทุจริตนั้นมีจริง แต่มีอีกมากมายหลายอาชีพที่คอร์รัปชันผลาญภาษีไม่ต่างจากนักการเมืองหรือยิ่งกว่านักการเมือง แล้วทำไมคนจำนวนมากถึงมองไม่เห็น? ทำไมมาตรฐานศีลธรรมของคนจำนวนมากเห็นว่าการทุจริตเลวกว่าฆาตกรรม?

ถ้าคุณเห็นว่านักการเมืองเลวกว่าฆาตกรด้วยเหตุผลที่ว่านักการเมืองโกงภาษีที่คุณจ่าย จงยอมรับเสียเถิดว่าคุณเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านักการเมืองที่คุณประณาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักปรัชญาชายขอบ: เมื่ออำนาจใหม่บังอาจเจริญรอยตามนิรโทษกรรมแบบอำนาจเก่า

Posted: 07 Nov 2013 06:11 AM PST

 
ในสถานการณ์บ้านเมืองสับสน โลกโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่งที่เราได้ระบาย และถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้บางครั้งจะกระทบกระทั่งกันหนักบ้างเบาบ้าง ก็ไม่ว่ากัน เป็นธรรมดาใน "ยุคสมัยวิกฤตภูมิปัญญา" ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่โดยรวมแล้วหากตัดส่วนเล็กน้อยที่เกี่ยวกับลีลาท่าทีหรืออารมณ์ออกไป เราก็อาจได้สิ่งที่เกิดประโยชน์มากว่า แม้แต่คนที่ด่าเรา หากการด่านั้นมี "เหตุผล" ก็ถือว่ามีประโยชน์
 
ขอยกเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์จากการวิเคราะห์ของ Pathai Pudha's status. (ซึ่ง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริแชร์มาอีกที) บางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
 
การนิรโทษ
เป็นสนามช่วงชิงแดนกัน
ระหว่างอำนาจเก่า อำนาจใหม่
+ + + + + 

ในอาณาอำนาจเก่า ที่ผ่านมา
อำนาจเก่า เคยออก พ.ร.บ.นิรโทษมาหลายครั้งแล้วก็จริง
แต่เป็นนิรโทษให้แก่พวกตัวเอง พวกลูกน้องของตนเอง
อำนาจใหม่ จะทำในสิ่งเดียวกัน ก็เป็นการชิงแดนอำนาจ

เพราะอำนาจเก่าเขาเป็นผู้จับ/จองจำ/ทำโทษ พวกของอำนาจใหม่
ถึงขั้นขอแลกตัวประกันด้วยคำว่า "นิรโทษทุกสีเสื้อ"
มันก็ยังเป็นข้อต่อรองที่ไร้ค่า ฟังน่าขันสำหรับอำนาจเก่า
เพราะพวกเสื้อเหลืองที่ยึดทำเนียบยึดสนามบิน 
ไม่ได้ถูกจับ/จองจำ/คุมขัง…

 
หากย้อนประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕ ที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามบาดเจ็บล้มตายกันเป็นเบือ "อำนาจเก่า" ก็นิรโทษกรรมแก่พวกตนเองทั้งนั้น
 
เพราะอำนาจเก่า "ทำอะไรไม่ผิด" มาตลอดจึงทำให้เกิดเอกลักษณ์ของรัฐไทยดังที่เบเนดิก แอนเดอร์สันเรียกว่า "ฆาตกรรมทางการเมืองด้วยน้ำมือกลุ่มผู้ปกครองเป็นบุคลิกปกติของเมืองไทย"
 
และกลุ่มผู้ปกครองก็ทำ "ฆาตกรรมกลางเมือง" บนฐานคิดที่ต้องการรักษาอำนาจของพวกตนไว้โดยไม่สนใจว่าประชาชนต้องตายกันเท่าไร ดังข้อสังเกตของป๋วย อึ้งภากรณ์
 
... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในตุลาคม ๒๔๑๖ เมื่อมีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่าถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน ๒๕๑๙ ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า "สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์" และกิตติวุฑโฒนวพลภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป" ถึงแม้ในกันยายน-ตุลาคม ๒๕๑๙ เองก็ยังมีผู้กล่าวว่า การฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก ๓๐,๐๐๐ คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก
 
ความพ่ายแพ้ของทักษิณและพรรคเพื่อไทยวันนี้อาจไม่เกิด หากดำเนินการไปตามร่าง พ.ร.บ.ของวรชัย เหมะ ที่พวกตนยกมาโต้ข้อกล่าวหา "ล้างผิดคนโกง" มาโดยตลอด แต่พอลักไก่ไปนิรโทษกรรม "(ไม่)เหมาเข่ง" (ที่ไม่มีคดี 112 อยู่ในเข่ง) ทำให้ข้อกล่าวหา "ล้างผิดคนโกง" เป็นจริงขึ้นมาทันที
 
ข้อโจมตีมาตลอดที่ว่า "ทักษิณไว้ใจไม่ได้" ของฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นจริงอย่างเถียงไม่ได้ ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นมันทำให้ความไม่มั่นใจว่าทักษิณและเพื่อไทยจะเป็นที่ไว้วางใจได้ของมวลชนเสื้อแดงที่ต้องการประชาธิปไตย มันชัดแจ้งแดงแจ๋ว่าทักษิณและเพื่อไทยไว้ใจไม่ได้จริงๆ และไม่รู้ว่าจะให้พวกเขาเชื่อถืออีกต่อไปได้อย่างไร
 
การเดินตามรอยนิรโทษกรรมแบบอำนาจเก่าทำไว้ รัฐบาลประชาธิปไตยต้องไม่ทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อคุณปฏิเสธ "รัฐประหาร" คุณจะเดินรอยตามความไม่ถูกต้องที่รัฐประหารทำไว้ได้อย่างไร ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตเลือดเนื้อและอิสรภาพของประชาชน ยิ่งต้องสร้างบรรทัดฐานให้ความยุติธรรมกับพวกเขาตามครรลองประชาธิปไตยและหลักมนุษยธรรม
 
นอกจากไม่ชอบธรรม ยังแสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงอำนาจใหม่ไม่มีทางจะ "ทาบรอย" ทำตามอำนาจเก่าได้เลย ที่แย่กว่านั้นคือการประกาศ "ถอย" ของพรรคเพื่อไทย ที่สั่งให้ ส.ส.ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทุกร่าง โดยไม่มีทางออกว่าจะช่วยให้นักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกได้รับอิสรภาพอย่างไร ยิ่งแสดงถึงการ "ไม่รับผิดชอบ" และ "ขาดมนุษยธรรม" ของพรรคเพื่อไทยอย่างไม่น่าเชื่อ
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม การ "เป่านกหวีด" ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียกรวมพลปัญญาชนเดินขบวนต้าน "(ไม่) เหมาเข่ง" แต่กลับเน้นวาทกรรม "ต้านการล้างผิดคนโกง" เป็นด้านหลัก (ตามพรรคประชาธิปัตย์) โดยแทบจะไม่พูดถึงปัญหาการปล่อย "ฆาตกร" สังหารประชาชนให้ลอยนวล และไม่เรียกร้องความยุติธรรมแก่ "นักโทษการเมือง 112" เลย ก็ไม่ได้สะท้อนเสียงแห่ง "มโนธรรมทางสังคม" ที่เที่ยงตรงเลย
 
มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ในอดีตผู้บริหารเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกมาต้านรัฐประหาร นอกจากไม่ต้านรัฐประหารแล้ว ยังมีบางคนไปเป็น "เนติบริกร" ให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอีก อีกทั้งในอดีตมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่เคยเป่านกหวีดต้านการนิรโทษกรรมให้พวกเดียวกันของกลุ่มอำนาจเก่าเลย
 
จึงยังยากจะเชื่อมั่นได้ว่า หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" เป่านกหวีดต้านรัฐประหารแบบที่ทำกันในขณะนี้หรือไม่
 
ที่พูดนี้ไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยกับการต้าน "(ไม่) เหมาเข่ง" เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ แต่ว่า ควรสื่อสารออกมาอย่างมี "มโนธรรมทางสังคม" ที่เที่ยงตรง ให้สาธารณะรับรู้ว่ามหาวิทยาลัยต้าน "ทุกฝ่าย" ทั้งฝ่ายนักการเมืองและอำมาตย์หรือใครก็ตามที่ทำผิดหลักการประชาธิปไตย
 
การถอยของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า การเมืองของนักการเมืองนั้นแม้จะเลวร้ายสักเพียงใด ก็ยังอยู่ในการตรวจสอบควบคุมได้ของประชาชน แต่ "การเมืองที่มองไม่เห็น" นั้นยากที่จะควบคุม
 
ถ้าสังคมเรายังมี "การเมืองที่มองเห็น" ที่ตรวจสอบควบคุมได้ กับ "การเมืองที่มองไม่เห็น"  หรือมีอำนาจใหม่ อำนาจเก่าคู่ขนานกันไปอยู่แบบนี้ โดยอำนาจใหม่ไม่สามารถเป็น "อำนาจนำ" ในทางประชาธิปไตยได้ นึกไม่ออกว่าปัญหาขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไร
 
ยิ่งถ้าใน "ระยะเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน" เช่นนี้ หากอำนาจใหม่ไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง และทุ่มสุดตัวจริงๆ ที่จะสร้างระบบสังคมการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ยากที่สังคมจะอยู่ในครรลองของการแก้ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ด้วยสันติวิธีตามวิถีทางประชาธิปไตยได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บก.ลายจุดหวังเมืองไทยมีพรรคทางเลือก เสื้อแดง-เสื้อขาว

Posted: 07 Nov 2013 05:58 AM PST

สมบัติ บุญงามอนงค์ ระบุการผ่านร่างนิรโทษกรรม ทำให้เสื้อแดงเห็นว่านักการเมืองแย่จริงอย่างที่เสื้อเหลืองพูด และหากยังเป็นเช่นนี้ไม่เชื่อว่า พท. จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะเสื้อแดงส่วนหนึ่งและสวิงโหวตจะไม่เลือก พท. อีก และ 'ไทยเฉย' จะโหวตสั่งสอน พร้อมแปลกใจที่นักการเมืองปราศรัยกันว่าทักษิณโกง แต่ขอถามว่าพวกเขาเองไม่โกงหรอกหรือ

7 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (7 พ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT มีการเสวนาหัวข้อ "Thailand's Red Shirts a a turning point?" โดยยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จากกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง อย่างไรก็ตาม จตุพร พรหมพันธุ์ และธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ได้แจ้งยกเลิกการมาร่วมเสวนา โดยผู้จัดงานให้เหตุผลด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.00 น. มีการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ที่หน้าห้างอัมรินทร์พลาซา ใกล้กับแยกราชประสงค์ ไม่ไกลจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ สมบัติ หรือ บก.ลายจุด เริ่มต้นอภิปรายว่า "เราอยากมีนักการเมืองที่เป็นนักประชาธิปไตย แต่เมืองไทยมันไม่มี แต่สิ่งที่เรามีคือเอาคนพวกนี้มาใช้ก่อนชั่วคราว แต่เราต้องพยายามหานักการเมืองที่เป็นนักประชาธิปไตยด้วย"

"เวลาคนเสื้อแดงอธิบายว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเสื้อเหลืองเป็นอนุรักษนิยม ผมไม่ค่อยแน่ใจ คือมีทั้งคนที่อยากได้ประชาธิปไตยที่ดีขึ้น และมีคนที่ต้องการเอาประโยชน์จากมันทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่าพวกที่มาเป่านกหวีดอยู่ตอนนี้ มีความชอบธรรมที่จะบอกว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม และสะท้อนว่าคนที่ออกมาเขารู้สึกว่าประเทศนี้ อำนาจเป็นของเขา แต่สิ่งที่ผมรู้สึกแน่ที่สุดในพวกเสื้อเหลืองคือการชอบอ้างเรื่องตัวบุคคล โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เกี่ยวเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย และทำให้คนพวกนี้ดูล้าหลัง"

"ส่วนเสื้อแดงเขาเริ่มจากพื้นฐานมากๆ คือพูดถึงว่าช่วยนับพวกเขาเป็นหนึ่งคนและหนึ่งเสียง เขารู้สึกถึงความเป็นประชาธิปไตยจากการที่เขาใช้บัตรประชาชนไปโหวตรัฐบาล เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีอำนาจ และการรัฐประหารปี 2549 เป็นการดูถูกการมีอยู่ของเขา การรัฐประหารเป็นการปฏิเสธเสียงพวกเขา ทำให้มันไม่มีค่าอะไรเลย ผมอยากจะบอกว่าประชาชนทุกกลุ่ม สังคมไทยกำลังเคลื่อนเป็นสังคมประชาธิปไตยทั้งหมด แต่มาจากละทิศทาง ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายเกิดจากการยึดติดตัวบุคคล"

แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการยึดติดตัวบุคคล คือเสื้อเหลืองยึดติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเป็นพระเจ้า ขณะที่เสื้อแดงก็ยึดติดกับทักษิณเหมือนเป็นพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อไทยกับเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เป็นครั้งแรกที่เห็นว่าเสื้อแดงส่วนใหญ่รู้สึกโกรธและไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยมันเป็นปรากฏการณ์ที่เหลือเชื่อ เป็นตัวชี้วัดว่าเสื้อแดงเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นนายนักการเมือง และปรากฏการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่นักการเมืองทำให้เห็นว่าพวกเขานั้นแย่จริงอย่างที่เสื้อเหลืองพูด แต่ในฐานะที่เสื้อแดงเป็นคนสร้างรัฐบาลนี้ ดังนั้นเสื้อแดงก็จะทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลจากการถูกขับไล่

สมบัติกล่าวถึงการแถลงข่าวของ นปช. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) เมื่อวานนี้ว่า เป็นการชี้ให้เห็นรอยร้าวครั้งใหญ่ระหว่าง นปช. กับพรรคเพื่อไทยและอาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองซึ่งตัวเขาเห็นด้วยที่จะมีพรรคเสื้อแดง แต่เมื่อเย็น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ไปที่พรรคเพื่อไทย มีการพบยิ่งลักษณ์และแถลงข่าว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเขาคิดว่าควรจะมีพรรคเสื้อแดงได้แล้ว และเห็นว่าการรอมชอมที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นเพราะสถานการณ์เฉพาะหน้า และไม่คิดว่าความสัมพันธ์แบบเดิมจะเดินต่อไปได้ แต่ตัวเขาเห็นด้วยที่จะจับมือกันในช่วงสถานการณ์เฉพาะหน้า และชี้ว่าหากมีการยุบสภา ไม่เชื่อว่าเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะ หนึ่ง เสียงของประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยห่างกันแค่สามล้านเสียง สอง เสื้อแดงส่วนหนึ่งจะไม่เลือกเพื่อไทย สาม สวิงโหวตที่เคยโหวตให้เพื่อไทยก็จะไม่โหวตให้เพื่อไทยอีก และสี่พวกไทยเฉยกว่า 17 ล้านคนที่ไม่ไปโหวต ปรากฏการณ์ครั้งนี้ ไทยเฉยจะไปสั่งสอนเพื่อไทยผ่านการโหวตแน่ๆ

ทั้งนี้ สมบัติกล่าวว่า เราต้องการพรรคการเมืองทางเลือกสองพรรค คือหนึ่ง พรรคเสื้อแดง และสอง พรรคเสื้อขาว

สำหรับประเด็นคอร์รัปชั่นที่นำมาโจมตีทักษิณนั้น มันมีอยู่ในวัฒนธรรมไทย ดูเหมือนว่าคนไทยเอาความเกลียดคอร์รัปชั่นไปลงที่ทักษิณคนเดียว และรู้สึกแปลกใจว่านักการเมืองที่ปราศรัยต่อมวลชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าทักษิณโกง ทักษิณโกง นั้น พวกเขาเองไม่โกงหรอกหรือ

สมบัติกล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะถอยการผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งแล้ว แต่กิจกรรม "หมื่นอัพ" จะยังคงเดินหน้าต่อไป เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงยังคงมีความไม่พอใจต่อพรรคเพื่อไทยในการพยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ดังกล่าว โดยกล่าวว่า กิจกรรมที่จะทำคือการให้ทุกคนถ่ายรูปบัตรประชาชนและขู่เพื่อไทยว่าคนก็ยังออกมาคัดค้านอยู่
 
"ต้องให้บทเรียนแก่พรรคจะได้ไม่ลืม เป็นโอกาสและจังหวะดีจะได้จะสั่งสอนและให้บทเรียนแก่พรรคเพื่อไทย" สมบัติกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่ายังคงแค้นกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ทำต่อคนเสื้อแดงสามปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการระบายความแค้นกับทั้งสองพรรคการเมือง ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ เขาระบุว่าคนเสื้อแดงยังจำเป็นต้องรวมตัวกันให้มากที่สุดในตอนนี้ เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เพราะเสื้อเหลืองและประชาธิปัตย์อาจจะใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาล เสื้อแดงจึงต้องรวมกันเพื่อประลองกำลัง
 
"ในตอนแรกไม่แน่ใจว่าคนจะถึงหมื่นไหม แต่พอรายการตัวเองถูกถอดจากเอเชียอัพเดท มั่นใจมากว่าน่าจะออกมาเยอะ เพราะคนไม่พอใจ และคนต้องออกมาถึงหมื่นแน่นอน"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกมนิรโทษกรรม เกมที่ไม่ขำของประชาชน

Posted: 07 Nov 2013 05:52 AM PST

กฎหมายต่างๆ ที่ประกาศใช้ในอารยประเทศมักเป็นผลลัพธ์ที่สืบเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการต่อรองกันผ่านกระบวนการทางการเมืองไม่ว่า จะเป็น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลาย องค์กรภาคประชาชนต่างๆ รวมถึงประชาชนเอง เพราะฉะนั้น การที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ทักษิณ ผู้นำการชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลืองนั้นเป็นเรื่องปกติ การที่อดีตนายกทักษิณจะได้กลับหรือไม่ได้กลับ ได้เงินคืนหรือไม่ได้เงินคืนก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการต่อรองกันกับทุกๆ ฝ่าย (คดีความของทักษิณทั้งที่ตัดสินแล้วและยังไม่ได้ตัดสินยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายอยู่มากเนื่องจากคดีความส่วนใหญ่นั้นมี คตส.ที่ถูกตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นโต้โผ) แต่ที่ไม่ปกติและไม่มีประเทศใดในโลกทำกัน ก็คือการที่รัฐบาลพยายามจะยำความผิดทุกอย่่างของทุกฝ่ายมารวมไปถึงการยกเว้นโทษของความผิดที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม เพื่อแลกกับการยกเว้นความผิดของอดีตนายกทักษิณ

เกมการเมืองที่ผ่านมาตลอด 7 ปีนี้ มีการใช้ชีวิตคนเป็นเดิมพันในเกมนี้ทุกครั้ง การชุมนุมเหล่านี้ ผู้นำการชุมนุมทุกครั้งหวังผลให้มีการกระทบกระทั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มมวลชนเพื่อให้มีผู้เสียชีวิต เพื่อจะหวังให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ซึ่งก็มีทั้งการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตและไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมไล่ทักษิณของเสื้อเหลืองในปี 2548 การเริ่มก่อตั้งมวลชนเพื่อสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในปี 2549 จนกลายเป็นมวลชนเสื้อแดงในปี 2552 จะเป็นการออกมาแสดงพลังของเสื้อเหลืองต่อรัฐบาลสมัครสุนทรเวชในปี 2551 (ผู้เสียชีวิต 8 ศพ) การชุมนุมของเสื้อแดงเมษายนปี 2552 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ไม่มีผู้เสียชีวิต) การชุมนุมของเสื้อแดงปี 2553 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ผู้เสียชีวิต 91 ศพ)

และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ด้วยความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทำให้ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดที่ผ่านมา 7 ปีเป็นอันสิ้นผลไป หากดูเผินๆ อาจดูเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของทุกฝ่าย (Set Zero) น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่เราเหลืออยู่อาจไม่ใช่ศูนย์ มันคือเกมการเมืองที่มี score เป็นศูนย์บวกกับกฎใหม่ของเกมคือ การนิรโทษกรรมสามารถทำได้

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ใช่ครั้งแรกของการมีนิรโทษกรรม จากบทความของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เห็นด้วย - ไม่เห็นด้วย"

การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองมีอยู่ 3 ฉบับ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ผู้เสียชีวิต 77 ศพ) : พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ผู้เสียชีวิต 46 ศพ) : พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (ผู้เสียชีวิต 52 ศพ) : พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2535

และเป็นกฎหมาย 3 ฉบับนี้ที่กำหนดมาตรฐานการเมืองไทยไว้ คือ ชุมนุมได้ คนตายได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องรับผิด (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้นำการชุมนุม) และถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมาได้สำเร็จจะเป็นการย้ำชัดๆ ว่า กฎเกณฑ์ของเกมในเมืองไทยคือ เกมการเมืองระบบประชาธิปไตยไทยๆ บวกกับการนิรโทษกรรม

การชุมนุมเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายกันคือ ฝั่งผู้นำการชุมนุมจะชุมนุมบนถนน มีการเข้าปิดสถานที่ราชการ เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือแสดงพลังกดดันเพื่อให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ส่วนฝั่งรัฐบาลจะต้องเลือกระหว่างการสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลังหรือการจัดการผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธี

บทความนี้จะอธิบายถึง ผลกระทบของพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ แสดงเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงไม่ควรออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยทฤษฎีเกมอย่างง่ายๆ ด้วย ตาราง Matrix 2X2

ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่คุ้นเคยกับ ทฤษฎีเกม (Game Theory) อาจไม่เห็นว่า ตารางสี่เหลี่ยม สองคูณสอง ทำไมถึงเอาไปวิเคราะห์เกมการเมืองระดับประเทศที่มีความซับซ้อนมีปัจจัยต่างๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตัดสินใจ สิ่งที่เราวิเคราะห์จากทฤษฎีเกมนั้นไม่อาจอธิบายทุกสิ่งได้หมด แต่สิ่งที่เราได้จากกล่องส่ีเหลี่ยมนี้คือ ถ้าผู้เล่นมีผลตอบแทนตามตารางดังกล่าว ผู้เล่นย่อมเลือกที่จะทำตามตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด นอกจากนี้เรายังสามารถกำหนดสถานการณ์สมมติในกรณีมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผลตอบแทนของผู้เล่นตามตารางผลตอบแทน (payoff matrix) เปลี่ยนไป การกระทำของผู้เล่นก็ย่อมจะเปลี่ยนไปด้วย และในที่นี้ เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนให้ผลตอบแทนของเมตริกซ์เปลี่ยนไป


สถานการณ์ที่กำหนดขึ้นมีสมมติฐานดังนี้

1. แกนนำผู้ชุมนุม (Protester) เป็น ผู้เล่นที่ตัดสินใจแทนผู้ชุมนุมทั้งหมด
แกนนำรัฐบาล (Government) เป็น ผู้เล่นที่ตัดสินใจแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด

2. ผู้เล่นจะเลือกการกระทำที่ให้ผลตอบแทน (Pay-off หรือ Utility) ที่มากกว่าเสมอ เช่น ตัวเลือก A ให้ผลตอบแทน 5 มากกว่าตัวเลือก B ที่ให้ผลตอบแทน 0 กรณีนี้ผู้เล่นจะเลือก ตัวเลือก A เสมอ

3. ผู้เล่นมีข้อมูลในการตัดสินใจครบ รู้ผลตอบแทนของตนเองและของฝั่งตรงข้าม (Complete information)

4. การใช้ความรุนแรงของทั้งฝั่งผู้ชุมนุม และรัฐบาล ทำให้บรรลุเป้าหมายของฝั่งตนเองได้ง่ายกว่า ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า (ในกรณีฝ่ายไม่ใช้กำลัง)

5. ระบบกฎหมายในเกมที่ 2 มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกัน (Deter) ไม่ให้ผู้เล่นกระทำความผิดได้ (สามารถลดผลตอบแทนได้มากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เล่นได้)


วิธีการเล่น

1. ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเลือกการกระทำของตนเองพร้อมกัน

2. แกนนำผู้ชุมนุมมีทางเลือกสองทางระหว่าง "การชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย" กล่าวคือ มีการใช้ความรุนแรง ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ มีการใช้อาวุธ (ในตารางแทนด้วย "Force") กับ "การชุมนุมโดยสงบ" อย่างสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง (ในตารางแทนด้วย "Peace")

รัฐบาลมีสองทางเลือก ระหว่าง "สลายการชุมนุม" ด้วยความรุนแรง กล่าวคือ สลายการชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วน ใช้ทหารที่ไม่ได้ผ่านการฝึกการควบคุมฝูงชน ใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม (ในตารางแทนด้วย "Force") และ "ดูแลการชุมนุม" ด้วยวิธีการที่สันติ ได้สัดส่วน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด (ในตารางแทนด้วย "Peace")

3. เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของแกนนำผู้ชุมุนุมคือ "รัฐบาลล้ม" นั่นหมายถึง ผลตอบแทนจะสูงที่สุดหากไล่รัฐบาลสำเร็จ โดยไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย

เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของแกนนำรัฐบาล คือ "รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป" นั่นหมายถึง ผลตอบแทนจะสูงที่สุด หากอยู่ในอำนาจได้ โดยไม่มีการประท้วง และไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย


เกมที่ 1
สถานการณ์ปัจจุบันของเมืองไทย เกมที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย (กรณี พ.ร.บ. นิรโทษกรรม)

Protester \ Government Force Peace
Force 3,3 7,0
Peace 0,7 5,5

กรณีเห็นได้ชัดว่า เกมนี้เป็นเกมในรูปแบบของ Prisoner dilemma

การที่สองฝั่งเลือกที่จะใช้กำลัง (Force, Force)
คือให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คนละ 3 หน่วยเนื่องจากความสูญเสียที่สองฝ่ายจะได้รับ กล่าวคือมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อทั้่งสองฝั่งใช้กำลัง และเมื่อทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงก็ไม่มีความแน่ชัดว่าใครจะชนะ เพราะฉะนั้น โอกาสที่รัฐบาลจะล้มจึงมี แต่ไม่แน่นอน

ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลือกที่จะใช้กำลัง แต่อีกฝั่งเลือกสันติวิธี {(Force, Peace) หรือ (Peace, Force)}
ฝั่งที่ใช้กำลังจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือ 7 หน่วย
7 หน่วย ในที่นี้สำหรับฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมคือ รัฐบาลล้ม และสำหรับฝั่งรัฐบาลคือ สลายการชุมนุมสำเร็จ ได้อยู่ในอำนาจต่อไป
ฝั่งที่เลือกสันติวิธี จะผลตอบแทนต่ำที่สุดคือ 0 หน่วย สำหรับฝั่งแกนนำผู้ชุมนุม คือ โดนสลายการชุมนุม ไม่ได้แสดงออกทางความคิดเห็น สำหรับทางฝั่งรัฐบาล คืิอ รัฐบาลล้ม

ทั้งสองฝ่ายเลือกสันติวิธี (Peace, Peace)
กรณีนี้ได้ผลตอบแทนคนละ 5 หน่วย กล่าวคือทั้งสองฝ่ายจะต้องทนๆ กันไป คือผู้ประท้วงก็ต้องทนรัฐบาลที่ไม่ล้ม (ผลตอบแทนคือ 5 น้อยกว่า 7 กรณีใช้ Force แล้วรัฐบาลล้ม) แต่ก็ยังดีกว่าการที่จะต้องสูญเสียอย่างมาก (5 มากกว่า 3 กรณีเลือก Force ทั้งคู่) รัฐบาลก็ต้องอดทนที่จะใช้วิธีการชุมนุมอย่างสันติ เช่น มีการเจรจาต่อรอง ใช้วิธีการดูแลการชุมนุมแบบได้สัดส่วน ซึ่งผลที่ได้มักจะช้า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วเหมือนการใช้กำลัง รัฐบาลต้องทนให้คนวิพากษ์วิจารณ์ (ผลตอบแทนคือ 5 น้อยกว่า 7 กรณีที่รัฐบาลล้ม) ซึ่งกรณีนี้ก็ยังดีกว่าการที่จะต้องสูญเสียอย่างมาก (5 มากกว่า 3 กรณีเลือก Force ทั้งคู่) กรณีนี้ได้ผลตอบแทนคนละ 5 หน่วย


Nash Equilibrium คำตอบของเกม
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสิ่งที่สังคมต้องการตัวเลือกสุดท้ายที่ ทั้งคู่ใช้่สันติวิธี ผลตอบแทนรวมของทั้งสองฝ่าย(5+5) คือ 10 หน่วยซึ่งมากที่สุดในเกมนี้ แต่อย่างไรก็ดี กรณีนี้เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายล้วนมีตัวเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า (Profit deviation)

ตัวอย่าง ถ้ากรณีอยู่ที่ช่องสุดท้าย (Peace, Peace)
คือ ทั้งสองฝั่งเลือก peace ฝั่งรัฐบาลจะเปลี่ยนจาก Peace เป็น Force เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่าคือ 7 หน่วยซึ่งมากกว่า 5 หน่วย
พอมาดูฝั่งแกนนำ แกนนำการชุมนุมก็จะเปลี่ยนไปเลือก Force เช่นกัน

ตัวอย่าง {(Force, Peace) หรือ (Peace, Force)}
ก็ไม่ทางเป็นคำตอบของเกมเช่นกัน
กรณีที่ฝั่งหนึ่งเลือก peace อีกฝั่งหนึ่งเลือก Force ฝั่งที่เลือก Peace จะเปลี่ยนไปเลือก Force เท่านั้น เนื่องจากผลตอบแทนที่มากขึ้นจาก 0 หน่วยเป็น 3 หน่วย

แต่สำหรับจุดดุลยภาพคือ คำตอบที่ดีที่สุดที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไปเลือกคำตอบอื่น จะเห็นได้ชัดว่า คือ (Force, Force)
ตัวอย่างแรก แกนนำผู้ชุมนุมรู้แล้วว่า ถ้ารัฐบาลเลือก Force แกนนำผู้ชุมนุมก็เลือก Force เพราะยังไงก็ยังมีโอกาสที่จะชนะคือ ไปวัดดวงเอา (ถ้าจะมีคนเสียชีวิต ผลตอบแทนลดลง แต่ก็ไม่ได้แย่กว่า การที่จะเลือก Peace) ถึงแม้รัฐเกิดไม่เล่นตามเกมคือถ้ารัฐบาลเลือก Peace ผู้ชุมนุมก็จะเลือก Force เพราะเท่ากับชนะเลย

ส่วนรัฐบาลก็เช่นกัน ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมจะเลือก Force แล้วรัฐบาลเลือก Peace รัฐบาลจะล้มทันที เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็จะเลือก Forceเช่นกัน

ซึ่งท้ายที่สุด เราจะเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะจบลงที่การเลือก Force ทั้งคู่ และนั่นก็คือสถานการณ์ปกติของการเมืองไทย คือมีการนองเลือด แกนนำมักจะปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ออกมาชุมนุมทุกครั้ง การชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็มักจะมีการสลายการชุมนุมเมื่อสถานการณ์สุกงอมเกือบทุกครั้ง


สิ่งที่เราสามารถวิเคราะได้จากตารางนี้คือ ดุลยภาพของแนช (Nash Equilibrium)
ในเกมแรก เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ดุลยภาพของเกมนี้คือ แกนนำผู้ชุมนุมเลือก Force และ รัฐบาลเลือก force ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในมุมมองของรัฐบาลนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลือก Peace เลย เนื่องจาก รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าเมื่อตนเลือก Force จะไม่ถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะรู้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของตน แต่ผลตอบแทนก็ไม่ต่ำพอที่จะหยุดไม่ให้รัฐบาลเลือก Force ได้

ทางฝั่งผู้ชุมนุมก็เช่นกันแม้จะรู้อยู่แล้ว ว่ามีโอกาสเสียหาย และจะเกิดความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตจากการที่ตนเองจะเลือก Force และรัฐบาลจะเลือก Force แต่อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนนั้นไม่ต่ำพอ จะให้แกนนำผู้ชุมนุมคำนึงถึงผู้เสียชีวิตจากเลือกการกระทำของบรรดากลุ่มแกนนำ


เกมที่สอง
สถานการณ์ในอุดมคติ กรณีไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม และมีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

Protester \ Government Force Peace
Force -2,-2 2,0
Peace 0,2 5,5

สถานการณ์นี้ เป็นโลกที่เราต้องการ คือ ผู้ที่ใช้กำลังต้องรับโทษตามกฎหมาย

ในโลกใบนี้ เราจะลดผลตอบแทน (Pay-off) ของฝั่งที่ใช้ความรุนแรงลง 5 หน่วย กล่าวคือเมื่อมีการใช้ความรุนแรง (ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลือก Force) เมื่อมีผู้เสียชีวิต ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งในกรณีที่ระบบกฎหมายแข็งแกร่งไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นจะทำให้ผู้เล่นในเกมต้องพิจารณาเพิ่มต้นทุนของตนเอง (Internalize the cost) ในกรณีที่จะต้องใช้ความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิต

ซึ่งกรณี้จะเห็นได้ชัดว่า Nash equilibrium ของเกมนี้อยู่ (Peace, Peace) เนื่องจากมีกฎหมายที่ใช้ลงโทษฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง

สังเกตได้ว่า ตัวเลือก Peace นั้นกลายเป็น Dominant strategy (ตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเสมอ) ของทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้แล้ว {(Peace, Peace)} ยังเป็นจุดดุลยภาพของแนชในเกมที่สองอีกด้วย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่่า ในการที่จะเปลี่ยนไปเลือกการกรกระทำอื่น กล่าวคือ ระบบกฎหมายที่ไม่มีการนิรโทษกรรมนั้นสามารถลดแรงจูงใจ (Disincentive) ที่จะใช้กำลังของทั้งสองฝ่ายได้


โดยสรุป
สถานการณ์ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้น คล้ายกับเกมที่ 1 มาก ถึงแม้ว่า โมเดลของผู้เขียนไม่อาจสรุปปัจจัยต่างๆ ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการเมืองไทยได้ทั้งหมด แต่จากตารางที่ผู้เขียนเสนอนั้น น่าจะพอทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า การที่เรามี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในสังคมไทยนั้นทำให้ผู้เล่นทางการเมืองใช้ความรุนแรงอยู่เรื่อยไปในเกมแห่งอำนาจเกมนี้ หากเราต้องการประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แน่นอนว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบบประชาธิปไตย แต่การประท้วงนั้นต้องเป็นไปในลักษณะสันติวิธี ซึ่งเราสามารถทำให้เป็นจริงได้ หากเราทำให้ผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายเรียนรู้ว่า ชีวิตคนมีคุณค่า ไม่ใช่เป็นเพียงผักปลาหรือเบี้ยที่ให้ขุนเอาไปแลกกันเท่านั้น หากเราไม่ต้องการความสูญเสียนั้นเอง ประชาชนต้องให้บทเรียนกับพวกเขา ต้องไม่มีการยกโทษให้กับการฆ่าคน หรือการพาคนไปตายอีก เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมา 3 ฉบับแล้ว และก็เกิดพฤษภาเลือดปี 53 อีก 91 ศพ ถ้าวันนี้เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก ดุลยภาพของในเกมหน้าก็คือ (Force, Force) อีก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

 

ภาคผนวก

วิธีอ่านตาราง และวิธีอ่านstrategy
การกระทำ(Action)ของฝ่ายผู้ชุมนุมอ่านทางแนวตั้ง
การกระทำของฝ่ายรัฐบาลอ่านทางแนวนอน
ตัวเลขในวงเล็บคือผลตอบแทนของทั้งสองฝั่ง
ตัวเลขที่อยู่วงเล็บทางซ้ายคือผลตอบแทนของฝ่ายผู้ชุมนุม
ตัวเลขอยู่วงเล็บทางซ้ายคือผลตอบแทนของรัฐบาล


- ตัวอย่าง
จากตารางแรก เมื่อแกนนำเลือก force รัฐบาลเลือก peace เราจะเห็นว่า ผลตอบแทนคือ (10,0)
นั่นหมายถึง 10 หน่วยคือผลตอบแทนของฝ่ายผู้ชุมนุม ส่วน 0 หน่วยผลตอบแทนของรัฐบาล

Strategy ที่เขียนในวงเล็บ หมายถึง ถ้าคำแรกนั้นหมายถึง การกระทำของฝั่งผู้ชุมนุม
ส่วนคำที่สองหมายถึง การกระทำของฝั่งรัฐบาล
 

เกิดอะไรขึ้นบ้างในเกม
เกมที่ 1 มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้ใช้ความรุนแรงไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย

1. (Force, Force)
มีการปะทะกัน สูญเสียมากทั้งคู่

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 3 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และแกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม แต่ไม่แน่นอน (50%)

ฝั่งรัฐบาลได้ 3 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม แต่ไม่แน่นอน (50%) สลายผู้ชุมนุมได้

2. (Force, Peace)
ผู้ชุมนุมล้มรัฐบาลสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 7 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และแกนนำไม่ต้่องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) และ รัฐบาลล้ม
ฝั่งรัฐบาลได้ 0 หน่วย มีผู้เสียชีิวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย(เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลล้ม สลายผู้ชุมนุมไม่ได้

3. (Peace, Force)
รัฐบาลสลายการชุมนุมสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย(เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลไม่ล้ม
ฝั่งรัฐบาลได้ 7 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) และรัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมได้

4. (Peace, Peace)
ล้มรัฐบาลไม่สำเร็จ ประท้วงมีต่อไป
ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 5 หน่วย หมายถึง ไม่มีผู้เสียชีวิต และแกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย(เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) แต่รัฐบาลไม่ล้ม
ฝั่งรัฐบาลได้ 5 หน่วย หมายถึง ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย(เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมไม่ได้
 

เกมที่สอง
1. (Force, Force)
มีการปะทะกัน สูญเสียมากทั้งคู่ รับโทษตามกฎหมายทั้งคู่
ฝั่งผู้ชุมนุมได้ -2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และ แกนนำต่้องรับโทษทางกฎหมาย มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม (50%)
ฝั่งรัฐบาลได้ -2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้สั่งสลายการชุมนุมต้องรับโทษทางกฎหมาย มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม (50%)

2. (Force, Peace)
ผู้ชุมนุมล้มรัฐบาลสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง
แกนนำรับโทษตามกฎหมาย
ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง แกนนำต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลล้ม

ฝั่งรัฐบาลได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำรัฐบาลไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลล้ม

3. (Peace, Force)
รัฐบาลสลายการชุมนุมสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง
รัฐบาลรับโทษตามกฎหมายจากการใช้กำลัง
ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลไม่ล้ม
ฝั่งรัฐบาลได้ 2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมได้

4. (Peace, Peace)
กรณีนี้เหมือนกับเกมแรก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนสะเอียบทำพิธีเผาหุ่นปลอดประสพ-บรรหาร ค้านสร้างเขื่อนในพื้นที่

Posted: 07 Nov 2013 05:10 AM PST

จัดพิธีเผาหุ่นฟางปลอดประสพ-บรรหาร ชี้เป็นผู้สนับสนุนเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมอ่านคำประกาศยืนยันจะคัดค้านเขื่อนสืบต่อไป ชั่วลูกหลาน เหมือนที่คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี
 
 
 
7 พ.ย.56 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกับชาวบ้านใน ต.สะเอียบ รวมตัวกันที่ศาลเจ้าพ่อหอแดงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบล หน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเอียบ จัดกิจกรรมเผาหุ่นฟางที่มีรูปภาพของ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา โดยระบุว่าเป็นผู้สนับสนุนเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น
 
กิจกรรม มีการอ่านคำประกาศ คัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นประกอบพิธีสงฆ์แล้วเผาหุ่น ก่อนจะสลายตัวไป
 
 
ต่อเนื่องจาก การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2556 ซึ่งมีนายปลอดประสพ เดินทางมาร่วมและกล่าวว่าเขื่อนทั้งสองไม่สร้างผลกระทบกับชาวสะเอียบ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวสะเอียบ จนทำให้การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกิดความวุ่นวายขึ้น
 
 
คำประกาศ คัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น
 
พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนยมบน(อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน) โครงการเขื่อนยมล่าง (อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม) ซึ่งคือเขื่อนแก่งเสือเต้นแบ่งออกเป็น 2 เขื่อน ขอประกาศยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด
 
เขื่อนยมล่าง สูง 54.5 เมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม หากเกิดแผ่นดินไหวเขื่อนแตกมาคงตายกันทั้งเมืองแพร่ น้ำท่วมยาวเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแม่ยมรวม 34.5 กิโลเมตร กักเก็บน้ำ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ท่วมพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ป่าสักทอง รวมทั้งที่ทำกินของชาวสะเอียบ รวมกว่า 20,000 ไร่ ใหญ่กว่าเขื่อนแม่วงก์เกือบ 2 เท่า แต่ กบอ. เรียกว่าอ่าง
 
เขื่อนยมบน สูง 40 เมตร ท่วมบ้านแม่เต้น และป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ยาวไปจนถึงอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งอีก 11 หมู่บ้านจะได้รับผลกระทบเรื่องที่ทำกินเช่นกัน แต่ชาวเชียงม่วนยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลเลย ความยาวของอ่างเก็บน้ำยาวไปถึง 40 กิโลเมตร กักเก็บน้ำที่ 258 เมตร รทก. จุน้ำ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร แตกมาคงตายกันทั้งอำเภอสอง จังหวัดแพร่
 
พวกเราได้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี และยืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง สืบต่อไป ทั้งนี้พวกเราได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 แนวทาง เสนอไปหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่นำไปพิจารณา พวกเราสนับสนุนการจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งหากพัฒนาลำน้ำสาขา เราจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำกระจายอยู่ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม และสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า อีกทั้งยังทำลายป่าและชุมชน น้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่อีกด้วย เพียงข้อเสนอเดียวนี้ก็สมควรแก่การยกเลิกเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ได้แล้ว
 
พวกเราคัดค้านด้วยเหตุด้วยผล พร้อมเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา 12 แนวทาง หากรัฐบาล กบอ. ดึงดันที่จะผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ต่อไป พวกเราก็ขอใช้สิทธิ์ของพวกเราในการคัดค้านเขื่อนเหล่านี้ต่อไป ชั่วลูกชั่วหลาน เหมือนดั่งที่เราคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายาวนานกว่า 20 ปี
 
ด้วยจิตรคารวะ
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
หยุดทำลายป่าสักทอง หยุดทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยม หยุดทำร้ายชุมชน หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน
หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น
 
 
ภาพ: ชาวบ้านใน ต.สะเอียบ หลายร้อยคน ร่วมเวทีรับฟังฯ และมีการถือป้ายผ้า คัดค้านการก่อสร้าง เขื่อนแก่งเสือต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.สะเอียบ ที่เดินทางมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ก็ได้กันยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และเขื่อนแก่งเสือเต้น ต่อประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดย หนังสือดังกล่าว ระบุเหตุผล 8 ประการ ที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง อีกทั้งระบุแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้  
 
 
 

เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง

            1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
 
            2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
 
            3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง
 
            4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
 
            5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่นๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง
 
            6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
 
            7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม
 
            8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
 

แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย
 
2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
 
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
 
4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
 
5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
 
7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ไช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
 
8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
 
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
 
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
 
 
ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ตามแผนโมดูล  A1 มีผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน  โดยตามแผน จังหวัดแพร่ จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่แลง ต.เวียงต้า อ.ลอง อ่างเก็บน้ำแม่น้ำยมตอนบน ต.สะเอียบ อ.สอง และอ่างเก็บน้ำแม่น้ำยม ต.เตาปูน อ.สอง
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย หงส์กังวาน : ข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 07 Nov 2013 05:05 AM PST

ปัจจุบันรัฐบาลซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีวรชัย เหมะ (แกนนำ นปช.และส.ส.เพื่อไทย) เป็นผู้นำเสนอ โดยในชั้นแรกมีเป้าหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาทางการเมืองทุกเสื้อสี ยกเว้นแกนนำการชุมนุมและผู้สั่งสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไปสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.นี้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนมีผลเป็นการนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ยังผลให้เกิดความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางแม้แต่ในกลุ่มคนเสื้อแดง

พรรคเพื่อไทยอ้างว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3  แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อ้างเช่นเดียวกันว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 จนทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจต้องเดินทางมาถึง "ทางตัน" ซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดเลย

ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง มาตรา 112 ที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ได้รับการประกันตัว จึงอยากเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขสาระสำคัญ มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนี้

"มาตรา 3  พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ครอบคลุมเฉพาะบรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ โดยการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

การกระทำตามวรรคหนึ่ง หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกเกิน 2 ปี ให้ลดโทษเหลือ 2 ปี

(อธิบาย:  วรรคนี้จะมีผลให้ผู้ต้องหาทางการเมืองทุกเสื้อสีที่คดีถึงที่สุดไม่เกิน 2 ปี ได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด ส่วนผู้ต้องหาทางการเมืองทุกเสื้อสีที่คดีถึงที่สุดเกิน 2 ปี จะได้รับการลดโทษเหลือเพียง 2 ปี ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ถูกคุมขังมาเกินกว่า 2 ปีแล้วจึงได้รับการปล่อยตัวทันที รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษก ก็ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย)

การกระทำตามวรรคหนึ่ง หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ผู้กระทำได้รับการประกันตัวในทุกชั้นศาล ไม่ว่าจะถูกฟ้องกี่กรรมหรือกี่คดีก็ตาม

(อธิบาย: วรรคนี้จะมีผลให้ผู้ต้องหาทางการเมืองทุกเสื้อสีที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยเฉพาะผู้ต้องหามาตรา 112 ได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ นปช. สามารถต่อสู้คดีได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี)

ผู้ต้องหาตามวรรคสาม หากต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุก ให้ปรับใช้วรรคสองของมาตรานี้โดยอนุโลม"

(อธิบาย: วรรคนี้จะมีผลให้ผู้ต้องหาทางการเมืองทุกเสื้อสีที่ได้รับการประกันตัวและต่อสู้คดีจนถึงที่สุด โดยหากถูกพิพากษาจำคุกได้รับการนิรโทษกรรมหรือลดโทษเช่นเดียวกับผู้ต้องหาทางการเมืองที่คดีถึงที่สุดก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยถูกคุมขังเกินกว่า 2 ปี จึงไม่ต้องถูกดำเนินคดีหรือจำคุกอีก)

เหตุผลที่ผมนำเสนอร่างเช่นนี้ เพราะหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสู่รัฐสภาเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ซึ่งมีผลให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเสื้อเหลืองได้รับประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะผู้สั่งการสลายการชุมนุม ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากนำเสนอการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ต้องหาทางการเมืองที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาทางการเมืองที่คดียังไม่ถึงที่สุดจะได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากแม้ในเวลาต่อมาคดีของพวกเขา ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก พวกเขาก็จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือลดโทษเหลือ 2 ปี ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ถูกคุมขังเกินกว่า 2 ปี จึงไม่ต้องถูกคุมขังอีก ส่วนผู้ต้องหาทางการเมืองที่ยังไม่เคยถูกคุมขังหรือถูกคุมขังต่ำกว่า 2 ปี ก็จะถูกคุมขังเพียง 2 ปี เท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพื่อไทยประชุม ส.ส. - โฆษกระบุ พรรคและแกนนำ นปช. ทำความเข้าใจกันแล้ว

Posted: 07 Nov 2013 04:26 AM PST

แกนนำ นปช. - พรรคเพื่อไทยกลับมาหารือกัน 'จ่าประสิทธิ์' ยอมขอโทษกรณีปราศรัยว่าจะนำ กม.นิรโทษกรรมกลับมาอีก ระบุเป็นการพูดก่อนพรรคมีมติ - ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทยแถลงสภาผู้แทนฯ ถอนกม.นิรโทษกรรมหมดแล้ว พรรคและแกนนำ นปช. เข้าใจกันแล้ว และจะปราศรัย 10 จุดทั่วประเทศ

การประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 7 พ.ย. 2556 (ทีมา: เพจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

 

7 พ.ย. 2556 - เมื่อเวลา 15.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางมาร่วมประชุม ส.ส. เพื่อไทย โดยมีแกนนำ นปช. เช่น วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมประชุมด้วย และได้นั่งแถวหน้าคู่กับยิ่งลักษณ์

สำหรับแกนนำพรรคที่มาประชุมคนอื่นๆ อาทิ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พ.อ อภิวันท์ วิริยชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานในการประชุม นอกจากนี้มีพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ฯลฯ

มีรายงานด้วยว่า ทันทีที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาถึงที่ทำการพรรค จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ หรือจ่าประสิทธิ์ ได้เดินเข้าไปยกมือไหว้และพูดว่า "ผมขอโทษนะครับ" นายกรัฐมนตรีตอบมาว่า "มีอะไรให้บอกสื่อเลย" ทำให้ จ่าประสิทธิ์พูดขึ้นว่า "ผมเตรียมแถลงอยู่แล้วครับ" ทั้งนี้ จ่าประสิทธิ์ตอบนายกรัฐมนตรีด้วยว่าจะทำตามมติพรรค

ทั้งนี้จ่าประสิทธิ์ ได้แถลงว่า ขอยอมรับมติพรรคเพื่อไทยในการถอยสุดซอยถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 6 ฉบับ และยอมรับว่าที่ขึ้นเวที ภปช. ปราศรัยเรื่องเตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมกลับมาอีกนั้นเป็นความเห็นสวนตัว และพูดก่อนที่พรรคจะมีมติ

"หากพรรคจะลงโทษผมก็พร้อมรับการลงโทษ อย่างไรก็ตาม ผมเป็นแค่ปลายแถว อย่ามาโทษผม ถ้าจะโทษไปโทษหัวแถวคนที่เสนอร่างนี้จะดีกว่า ผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง อย่ามาเอาอะไรกับผมเลย" จ่าประสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่ง

มีรายงานด้วยว่า จ่าประสิทธิ์ได้ยกมือขอโทษ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย น้องสาวของทักษิณ ชินวัตรด้วย

ทั้งนี้ในเวลา 16.00 น. เศษพร้อมพงศ์ ได้แถลงข่าวว่า พรรคได้มีการหารือกันในเรื่องที่ได้ถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้ายกันทั้ง 6 ฉบับ และจะมีการขอให้ ส.ส. ลงพื้นที่ ชี้แจงประชาชนให้เข้าใจตรงกันในเรื่องการถอดถอนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 ฉบับ

พร้อมพงศ์กล่าวด้วยว่าวันนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้ให้สมาชิกถอนร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรม ที่มีอยู่ทั้ง 6 ฉบับออกหมดแล้ว และกล่าวหาว่าจะมีขบวนการล้มล้างรัฐบาล มีการใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในการเป็นเครื่องมือการปลุกระดมมวลชน

โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุด้วยว่า จะมีการตั้งเวทีชุมนุมเพื่อชี้แจงให้พี่น้องประชาชนเข้าใจตรงกัน ทั้งหมด 10 จุด จะมีแกนนำไปปราศรัยเช่น ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รมช.พาณิชย์ จตุพร พรมพันธ์ แกนนำ นปช. ใช้ชื่อเวทีว่า "นปช.เพื่อไทย ปกป้องประชาธิปไตย" โดย 5 เวทีแรกจะจัดระหว่างวันที่ 10 - 14 พ.ย. ได้แก่ กทม., ขอนแก่น, เชียงใหม่, อุดรธานี, ชลบุรี และจะมี ส.ส. และแกนนำ นปช. มาร่วมปราศรัยด้วย

พร้อมพงศ์อ้างด้วยว่า แกนนำ นปช. และพรรคได้ทำความเข้าใจกันแล้ว และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนพรรคช่วยกันคัดค้านกระบวนการล้มรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขบวนการเสื้อแดงจะไปทางไหน?

Posted: 07 Nov 2013 03:12 AM PST

สิ่งที่น่าสนใจมากในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านวุฒิสภา หรือไม่ เพราะเรื่องนี้คงถูกพับเก็บไว้อีกนาน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ขบวนการคนเสื้อแดงจะไปทางไหน นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง-สุดซอย" ได้ก่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดกลุ่มแยกแยะสมาชิกในขบวนการ กลุ่มแดงก้าวหน้าผิดหวังกับเพื่อไทยและทักษิณ เช่นเดียวกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ในกลุ่มนี้รวมถึงมวลชนและแกนนำ นปช. (ธิดา ถาวรเศรษฐ และจตุพร พรหมพันธุ์) กรณียอมนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งฆ่า

ขณะที่กลุ่มแดงรักทักษิณยังคงยืนยันสนับสนุนให้แลก "คนสองคนกับผู้นำสูงสุด" ซึ่งหมายถึงแลกทักษิณ กับอภิสิทธิ์ สุเทพ ในกลุ่มนี้รวมมวลชนระดับรากหญ้า และกลุ่มเสื้อแดงสายพรรค (กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล) แต่ไม่ว่าเป็นกลุ่มใด อาจแบ่งเสื้อแดงเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่คัดค้าน นิรโทษกรรมสุดซอย กับกลุ่มที่ยอมรับนิรโทษกรรมเพื่อให้ทักษิณกลับบ้าน

แต่ไม่ว่าจะเป็นแดงกลุ่มใดต่างก็เผชิญหน้ากับความแตกร้าวในขบวนการ "โดนเพื่อไทย และทักษิณหลอก" และถูกย้ำด้วยวาทกรรม "เป็นควายเลิกกินหญ้า" ขณะเดียวกันทั้งสองกลุ่มก็เผชิญหน้ากันเองค่อนข้างรุนแรง

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ให้ความเห็นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 56 ไว้ว่า
"นอกจากประเด็นนิรโทษให้ "คนสั่งฆ่า" ที่สร้างความไม่พอใจแก่มวลชนตัวเองอย่างมาก ใช้วิธีการผิดๆ ของการผลักดันกฎหมายในสภา (แปรญัตติเกิน, ลงมติตี 4 ไม่ให้แม่แต่ ส.ส.ตัวเองอภิปรายแปรญัตติ ฯลฯ) ซึ่งทำลายความชอบธรรมของเสียงข้างมากในกระบวนการสภา ที่ตัวเองเคยมีมาตลอด"

การทำลายความชอบธรรมของเสียงข้างมาก เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากขบวนการเสื้อแดงอ้างประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเสมอภาคมาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับขบวนการฝ่ายตรงข้ามที่มักอ้าง คนดี มีศีลธรรมมาปกครองบ้านเมือง ไม่เอาเสียงส่วนใหญ่ที่ด้อยคุณภาพ

ดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวมาจนถึงวันนี้จึงขาดความชอบธรรมลงในทันที นิรโทษกรรรมเหมาเข่ง กลายเป็นเครื่องชี้ชัดทำลายความชอบธรรม เรื่องประชาธิปไตยเสียงข้างมาก มวลชนผู้ตื่นรู้ ลงอย่างสิ้นเชิง

มวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม เคลื่อนไหว ไม่เอากฎหมายนิรโทษกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงปัจเจกบุคคลผู้เคยเข้าร่วมขบวนการเสื้อเหลือง แดง แต่กลายเป็นคนหนุ่มสาวหน้าใหม่ ตลอดจนองค์กร และกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเข้าร่วมด้วยเหตุผลใดที่แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกกลุ่มโกรธแค้นทักษิณ และเพื่อไทย ซึ่งเป็นสิ่งชี้ได้ว่าโอกาสของคุณทักษิณ ลดน้อยถอยลงทุกทีสำหรับการกลับมาประเทศไทย

พื้นที่ในสังคมการเมืองของคนเสื้อแดงจึงน้อยลงทุกที และถูกผลักให้กลายเป็นกองกำลังของทักษิณ และเพื่อไทยแทน เว้นแต่ว่า...

การประกาศของจตุพร พรหมพันธุ์ ธิดา ถาวรเศรษฐ ถึงการตั้งสถานีโทรทัศน์คนเสื้อแดงขึ้นใหม่ ยืนยันในจุดเดิมของการเรียกร้องประชาธิปไตย การออกมาประกาศรวมตัวคนเสื้อแดงของ บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) 10,000 UP ในวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. โดยมี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิกนิติราษฎร์ ออกมาเชิญชวนพี่น้องประชาชน ให้เข้าร่วมการชุมนุมที่ราชประสงค์ "นัดใหญ่ วันที่ 10 เดือน 11 เวลา 12 นาฬิกา" ทั้งยังทราบว่าภายในพรรคเพื่อไทยเอง มี ส.ส. และรัฐมนตรีบางกลุ่ม ที่เชื่อในประชาธิปไตย ก็ไม่พอใจระบบการบริหารประเทศแบบสายตระกูล เพียงแต่รอจังหวะที่จะไปให้พ้นอิทธิพลของทักษิณ ความเคลื่อนไหวนี้จึงนับว่าสำคัญมากเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ ที่กำลังจะก้าวพ้นทักษิณ

และหากการเคลื่อนไหวไม่เอานิรโทษกรรม นำไปสู่การยุบสภาฯ พรรคเพื่อไทยจะอ่อนแอลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ มีโอกาสมากขึ้นที่จะชนะการเลือกตั้ง และหากเกิดพรรคการเมือง และตัวบุคคลที่เป็นทางเลือกและความหวังในช่วงจังหวะเวลานี้ ระบอบรัฐสภาก็จะสามารถเดินต่อไปได้ และจะพ้นไปจากระบอบทักษิณในที่สุด

นี่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภาวะ "กำลังจะเกิด/กำลังจะเป็น" (in-between) ของขบวนการภาคประชาชน และพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่จะไปให้พ้นจากระบอบทักษิณ เป็นความหวังว่าการเปลี่ยนแปลง ของการเมืองที่กลับมาสู่พรรคการเมือง ประชาชน นักเคลื่อนไหว และวิชาการสายก้าวหน้า แทนที่จะเป็นม็อบ ทหาร และพระบรมราชานุญาต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่า

ประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับตัวบุคคล และคนในวงศ์ตระกูล มันไปไม่ได้สำหรับประเทศไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' นำคณะ ส.ส.ให้กำลังใจผู้ชุมนุมต้านนิรโทษกรรมที่ราชประสงค์

Posted: 07 Nov 2013 02:39 AM PST

คณะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรณ์ จาติกวณิชมาให้กำลังใจการชุมนุมที่ราชประสงค์ โดยกรณ์ระบุว่าตราบใดที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังอยู่ในสารบบ ประชาชนจะไม่ยอม  และสัญญาณที่ชัดเจนคือประชาชนไม่เชื่อคำพูดนายกรัฐมนตรีแล้ว

7 พ.ย. 2556 - เวลา 17.20 น. วันนี้ ในการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราวพันกว่าคนนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา และคณะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุมด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตกไปทุกฉบับโดยเร็วที่สุด อนึ่งในการถ่ายทอดสดของวิทยุออนไลน์ BlueSky ได้มีการเผยแพร่เสียงที่ผู้ชุมนุมได้ตะโกนให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์และคณะ พร้อมให้กำลังใจว่าจะรอท่านกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ตราบที่กฎหมายยังคงอยู่ในระบบ ประชาชนจะไม่ยอม กรณ์กล่าวด้วยว่า การถอน 6 ร่าง เป็นการหลอกประชาชนว่าแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ประชาชนไม่โง่ ประชาชนต้องการส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้ ต้องกำจัดกฎหมายฉบับนี้ออกไปจากสภาจริงๆ ประชาชนถึงจะหยุด สัญญาณที่ชัดเจนคือประชาชนไม่เชื่อคำพูดของนายกรัฐมนตรี และใครก็แล้วแต่จากพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ผู้ชุมนุมและตัวแทนภาคสังคมต่างๆ ได้ปราศรัยประกาศจุดยืนค้านการนิรโทษกรรม โดยใช้บันไดหน้าห้างอัมรินทร์พลาซ่าเป็นเวทีปราศรัยชั่วคราว มีการตะโกนว่า "ออกไป ออกไป" "ต้านคอรัปชั่น" จากนั้นมีผู้นำตะโกนว่าประชาชนมีพ่อเพียงคนเดียว เราไม่ต้องการพ่อหน้าเหลี่ยม และมีผู้สนับสนุนร่วมกันตะโกนว่า "ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ"

โดยในเวลา 17.40 น. ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: " อี ลำ ย อง....อี ส า ร เ ล ว ! "

Posted: 07 Nov 2013 01:57 AM PST


กูจำขึ้นใจ..!
วันมึงมอบดอกไม้ให้ชู้นั่น
มึงแอบหยามหน้ากู สมสู่กัน
กูสะอื้นยืนสั่น กูกลั้นใจ

ทนดูมึงเพลิดเพลินเจริญเล่น
ข้ามหัวกูมองมิเห็น ขึ้นเป็นใหญ่
จับเอาชู้อัปรีย์ ขัดขี้ไคล
มีหน้าบอก 'ประเทศไทยเราโชคดี'

แล้วชู้มึงเป็นไง อีใจหมา !
เข่นฆ่า ประชาชน ตายป่นปี้
ยัดข้อหาโหดซ้ำ เข้าย่ำยี
ถาม..แม่งมียางไหม?...หรือไร้ยาง?

ที่สุดโดนเฉดหัว ด้วยชั่วชาติ
เมื่อมิตรญาติน้าอา ตาสว่าง
เรื่องยอมมึงย่ำยี..มิมีทาง
วันนี้ มึงอ้างว้าง หรืออย่างไร ?

เมื่อยอดชู้ โฉดนรก พาตกยาก
เที่ยวแหกปากโสมม ถ่มอยู่ได้
ก็มึงชอบของต่ำ ต้องทำใจ
เมื่อเลวได้ ต้องรับได้ จมให้ลง

มึงรักชู้ ก็รักไป ใครเขาว่า ?
เมื่อมึงปลื้มอีกา ว่าสูงส่ง
มึงเทใจให้หวัง กูยังงง
หมายว่าหงส์ แท้อัปรีย์ โถ อีกา !

ทำใจเถอะ อีลำยอง !
มึงดอกทอง! แรดร่าน!  มึงด้านหนา!
หยุดเพ้อเจ้อ เพ้อพร่ำ บีบน้ำตา
มึงเลวเอง อีชาติหมา ..อีสารเลว !!!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: ธนพร ศรียากูล - พรรคของคนสามัญที่ยืนยันการแก้ ม.112

Posted: 07 Nov 2013 01:56 AM PST

ในช่วงกระแสที่การเมืองร้อนแรง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งผิดหวังและอาจมองหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ธนพร ศรียากูล หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 109 อดีตรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ผู้มีประสบการณ์ทำงานการเมืองใกล้ชิดกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ พรทิวา นาคาศัย ตังแต่ปี 2544 จนถูกตัดสิทธิในปี 2551

ระหว่างการถูกตัดสิทธิ เขาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และนายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาประกาศจัดตั้งพรรคซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน พร้อมประกาศชูนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นโยบายจัดตั้งเขตปกครองพิเศษสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีกำไรในตลาดหุ้น ประชาไทได้คุยกับธนพรถึงพรรคที่ฟังดูเหมือนความฝันพรรคนี้ ที่เขาบอกว่า แม้ไม่มีทุนเงิน แต่มีทุนทางปัญญา

 

000

ประชาไท: พรรคที่จะตั้งนี้มีชื่อแล้วหรือยัง และชื่อว่าอะไร?

ธนพร: กำลังอยู่ในระหว่างการตั้งชื่อพรรค ชื่อพรรคจะเกี่ยวกับคนในสังคมที่เป็นคนธรรมดา ที่ทุกคนไม่มีใครดีไปกว่ากัน และจะสะท้อนหลักการของพรรคที่ว่า สังคมไทยต้องอยู่ในกติกาสากล อาจใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Common People Party และมีตัวย่อว่า CPP (พรรคคนสามัญ – แปลโดยประชาไท)

 

ทำไมถึงต้องเป็นคนธรรมดา

ธนพร: การมองว่าใครเหนือกว่า หรือด้อยกว่า ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันในสังคม การมองว่ามีใครสูงกว่า หรือต่ำกว่า นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ซึ่งนับวันประเด็นนี้ยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย

 

ทำไมถึงชูนโยบายแก้มาตรา 112?

ธนพร: ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 จะเห็นสถิติคดี 112 ว่ามีจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้น เพราะกฎหมายนี้ถูกนำไปใช้ทางการเมือง โดยที่ตัวสถาบันไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้ เรามักจะเห็นการอ้างสถาบัน เมื่อประชาชนจะใช้สิทธิเสรีภาพ เช่น การอ้างเรื่องเขตพระราชฐาน ทำให้คนรู้สึกว่า มีความไม่ใช่คนธรรมดาเกิดขึ้น คือนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการจำกัดความเป็นคนธรรมดา ซึ่งเรามองว่า ถ้าปล่อยภาวะนี้ไว้เรื่อยๆ จะเกิดเป็นปัญหาเรื่อยรัง เราทุกคนรู้กันดีว่า สถาบันอยู่ในสถานะที่ทุกคนเคารพสักการะ แต่สถาบันไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบโต้อะไรได้ การปล่อยให้ฝ่ายใดก็ตามหยิบยืมเรื่องสถาบันมาใช้ย่อมเป็นอันตราย

 

แนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคนั้นเป็นอย่างไร

ธนพร: การยกเลิกมาตรา 112 ไปเลยก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ไข อีกทางเลือกหนึ่งคือการสร้างเกณฑ์ในการฟ้องคดีให้ชัดขึ้น เช่น ให้มีองค์กรเฉพาะ เช่น สำนักพระราชวัง มาทำหน้าที่แจ้งความเท่านั้น แทนที่จะเป็นใครก็ได้แจ้งความได้ นอกจากนี้ควรแยกความผิดต่อสถาบันออกจากความผิดต่อรัฐให้มันชัดเจน และแยกความมั่นคงของสถาบันออกจากความมั่นคงของรัฐ

หลังจากนั้นความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์อาจถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ในฐานะที่กษัตริย์นั้นเป็นประมุขของประเทศ ก็อาจมีบทลงโทษรุนแรงกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

 

กลุ่มเป้าหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของพรรคคือใคร

ธนพร: สีไหนนั้นไม่สำคัญ เอาเป็นว่า ใครก็ตามที่อยากเห็นประชาธิปไตยแบบสากล อยากให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ อยากให้การเมืองในสภาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง อยากให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อยากให้มีพระราชบัญญัติบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อให้การรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเป็นไปอย่างโปร่งใส อยากให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อยากให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อให้ทุกฝ่ายทำธุรกิจและแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดโดยกลุ่มทุน

 

ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องร้อนแรงในสังคมไทยมาก คิดว่าการชูนโยบายนี้จะเป็นการจำกัดฐานเสียงหรือแนวร่วมของพรรคหรือไม่

ธนพร: เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งแรกที่เราเห็นว่าควรต้องได้รับการแก้ไข และเป็นนโยบายที่เราจะรณรงค์เป็นเรื่องแรก การแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดหลักของพรรคเรื่องคนธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าใครมีความเห็นไม่สอดคล้องในเรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร ผมไม่สนใจ อย่างน้อยพรรคนี้ผมก็ภูมิใจได้ว่า เริ่มเอา 112 มาพูดกันบนโต๊ะ บนเวทีเป็นพรรคแรก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกพูดโดยนักวิชาการข้างเวทีมาเป็นเวลานาน แต่นักการเมืองไทยที่ผ่านมาทำราวกับว่า เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

 

หลายครั้งที่ผู้ต้องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกล้มเจ้า คุณกลัวจะโดนครหาเช่นนั้นบ้างหรือไม่

ธนพร: จะกล่าวหาก็กล่าวหาไป การกระทำของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งผมไม่เห็นว่า การแก้ไขมาตรา 112 จะเกี่ยวกับการล้มสถาบันตรงไหน เพราะสถาบันกษัตริย์ก็อยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้วและคงจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

 

พรรคนี้มีจุดยืนอย่างไรต่อการนิรโทษกรรม

ธนพร: เราเห็นว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และนำทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการการพิสูจน์ความจริงตามปกติ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนทักษิณนั้นก็เข้าข่ายมาตรา 309 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องการล้างผิดให้ทักษิณ แต่เราต้องการให้ทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ เป็นการ set zero (เริ่มนับศูนย์ใหม่) ให้ทุกฝ่ายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียบในกระบวนการยุติธรรม

 

แล้วนโยบายเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ ที่ประกาศว่า จะปฏิรูปการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษนั้นเป็นอย่างไร

ธนพร: ก็พิสูจน์มาเป็น 10 ปีแล้วว่า การแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้แบบเดิมๆ นั้นไม่ทำให้ดีขึ้น มีแต่สูญเสีย นโยบายของเราคือการยอมรับความแตกต่าง สมัครใจที่จะอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งจะขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ให้การจัดการแบ่งสรรทรัพยากรต่างๆ เป็นเรื่องของคนข้างใน แต่เรื่องใหญ่ๆ เช่นการต่างประเทศ การทหารเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง ถ้าให้เปรียบก็คล้ายกับเกาะฮ่องกงของประเทศจีน

 

คุณคิดจะตั้งพรรคมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เลือกจังหวะที่มีความแตกแยกจาก ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมหรือเปล่า

ธนพร: ผมคิดตั้งพรรคมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ผมมองว่า มันเป็นเรื่องความลงตัวของเวลามากกว่า

 

คุณคิดว่า พรรคเล็กอย่างคุณจะสามารถสู้กับพรรคใหญ่ที่มีทุนเยอะกว่ามากได้อย่างไร

ธนพร: พรรคเรามีทุนทางปัญญา ซึ่งก็นำมาซึ่งการสนับสนุนได้เหมือนกัน ผมไม่คิดว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นเท่าปัญญา ผมคิดว่า จุดเด่นของพรรคตอนนี้คือ ความกล้าที่จะชูนโยบายต่างจากพรรคอื่น เป็นทุนทางปัญญาอย่างแท้จริง 

 

ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก: คมชัดลึก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอแบคโพลล์ เผยคนพอใจหลักประกันสุขภาพฯ เพิ่มขึ้น บุคลากร สธ.แนะจัดคน-งานตามงบ

Posted: 07 Nov 2013 01:50 AM PST

ผลสำรวจเอแบคโพลล์ ประชาชน-ผู้ให้บริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 56 พบประชาชนให้คะแนนพึงพอใจ 8.43 เพิ่มจากปีที่แล้ว ส่วนผู้ให้บริการพึงพอใจ 7.01 จากคะแนนเต็มสิบ ยังกังวลเรื่องความคาดหวัง กำลังคน และงบประมาณ
 
7 พ.ย.2556 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้ให้บริการต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2556 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ
 
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดำเนินโครงการสำรวจวิจัยเรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชน และผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (พ.ศ.2556)" โดยสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วน จำนวน 2,730 ตัวอย่าง และกลุ่มผู้ให้บริการได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขและตัวแทน จำนวนทั้งสิ้น 1,349 ตัวอย่าง
 
ทั้งนี้ ผลการสำรวจกลุ่มประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้คะแนนความพึงพอใจ (จาก 1-10 คะแนน) เฉลี่ยเท่ากับ 8.43 คะแนน ซึ่งคนที่เคยใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมีความพึงพอใจสูงมากกว่าคนทั่วไป โดยพบว่าผู้ที่เคยใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีค่าคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 8.62 และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.6 รับทราบว่าคนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากสิทธิ์อื่น จะเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
สำหรับ สถานพยาบาลที่ตั้งใจจะไปเมื่อเจ็บป่วย คือ สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิสูงที่สุดคือ ร้อยละ 71 โดยให้เหตุผลว่าเพราะเดินทางสะดวกใกล้บ้าน/ที่ทำงาน  อย่างไรก็ตามโดยผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนให้ความพึงพอใจในคุณภาพการรักษาพยาบาล 8.67 รองลงมาคือคุณภาพด้านยา 8.53 และผลของการรักษา 8.52
 
นพ.วินัยกล่าวต่อว่า ข้อสังเกตจากการศึกษากลุ่มประชาชนพบว่า ปี 2556 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงกว่าปีที่ผ่านมา นับจากที่เคยมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พบว่า ปี 2550 เป็นปีที่มีความพึงพอใจต่ำสุด คือ 7.73 คะแนน หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2551-2554 เวลา 4 ปีติดต่อกัน คะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นตลอด มาเป็น 8.52 คะแนน ในปี 2554 จากนั้นในปี 2555 ลดลงมาอยู่ที่ 8.29 คะแนน และในปี 2556 เพิ่มเป็น 8.43
 
เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงผลการสำรวจกลุ่มผู้ให้บริการว่า ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7.01 คะแนน ซึ่งผู้ให้บริการเล็งเห็นประโยชน์ความพอใจในผลที่เกิดกับประชาชนมากกว่าผลที่เกิดกับตนเอง ขณะที่ ผลสำรวจการให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้ป่วยมากที่สุด 8.49 คะแนน รองลงมาคือ ความเพียงพอของงบประมาณดำเนินการ และการตรวจสอบสิทธิตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าให้ความสำคัญกับประชาชนสูง
 
อีกทั้งมีความเห็นว่าจุดเน้นที่ควรปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ คือ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อลดช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความสามารถในการตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม การจัดระบบกำลังคนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน และจัดระบบงบประมาณให้เพียงพอ ทั่วถึง และรวดเร็ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น