โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมาคมรัฐศาสตร์ มก.เตรียมเดินสายจัดเวที “ต้านเขื่อนแม่วงก์” ในรั้วมหา’ลัย

Posted: 17 Aug 2012 01:32 PM PDT

สมาคมรัฐศาสตร์ มก.แถลงจุดยืนค้านเขื่อนแม่วงก์ พร้อมไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ไทย ชี้หลัง ครม.ออกมติกว่า 4 เดือน การแสดงออกเหยาะแหยะ เผยเตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว มุ่งจัดเวทีในรั้วมหา’ลัย-ยื่นหนังสือพรรคการเมือง

 
ภาพจาก: Public Seminars Project
 
วันที่ 17 ส.ค.55 สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สร.มก.) แถลงการณ์ เรื่อง “โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์” ลงนามนายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีความสำคัญเพื่อแลกกับเขื่อน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือบรรเทาปัญหาอุทกภัย
 
อีกทั้งยังไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ของประเทศไทย ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน ที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะปกป้องผืนป่า โดยการแสดงออกเท่าที่ปรากฏ อย่างน้อยตลอด 4 เดือนเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถฝากความหวังได้ ทั้งที่การดำเนินการของภาครัฐในการผลักดันโครงการเป็นไปอย่างหละหลวม มีช่องโหว่จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ภายหลังจากการสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้ สมาคมฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้กว้างขวาง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้อีก ตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น
 
รวมถึงเข้าพบและยื่นหนังสือต่อทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงในรัฐสภา ในโอกาสการแถลงผลการบริหารงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลต่อรัฐสภา และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นในสมัยการประชุมนี้
 
ภาพจาก: Public Seminars Project
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าว เผยแพร่ในการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "เขื่อนแม่วงก์: ได้ (กี่) อย่าง ก็ต้อง (?) เสีย (กี่) อย่าง" ณ ห้องปฏิบัติการทางรัฐศาสตร์ ชั้น 7 อาคารศรีรัศมิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผอ.สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล ประเทศไทย นายชัชวาล พิศดำขำ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสัมมนา
 
นายชัชวาล กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณของเสือในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพิ่มกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังฟื้นตัวกลับมา แต่การสร้างเขื่อนในพื้นที่จะทำให้แหล่งอาหารของเสือหมดลง เพราะบริเวณที่สร้างเขื่อนเป็นที่ราบลุ่มผืนสุดท้ายของอุทยานฯ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
 
ส่วนการที่รัฐบาลมีมาตรการลดผลกระทบของสัตว์ป่า โดยนำสัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงไปปล่อยกลับคืนสู่ป่านั้น เปรียบเสมือนการส่งสัตว์ไปตาย เพราะสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพในพื้นที่ได้ทัน และไม่มีสัญชาตญาณในการหาอาหารได้ด้วยตนเอง
 
“การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็เปรียบเสมือนการตัดหัวใจที่สำคัญต่อป่า และสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” นายชัชวาลกล่าว
 
ขณะที่ ผศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อการอนุรักษ์ลดน้อยลง ต่างจากกรณีเขื่อนน้ำโจนที่มีกระแสการต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จนรัฐบาลล้มเลิกโครงการเขื่อนน้ำโจน ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ส่วนกรณีเขื่อนแม่วงก์ปราศจากผู้อยู่อาศัย ถึงสร้างเขื่อนเสร็จก็แทบไม่มีประชาชนออกมาคัดค้าน เพราะพื้นที่ป่าแม่วงก์ไม่มีผู้อยู่อาศัย ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เหมือนการสร้างเขื่อนอื่นๆ
 
ผศ.ดร.ประภาส กล่าวฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า อยากให้มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ออกมามีส่วนร่วมรวมพลังคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง “โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์”
 
สืบเนื่องจากการงุบงิบมีมติอย่างรวบรัด ปราศจากการมีส่วนร่วม หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันอังคารที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา อนุมัติให้ดำเนินการสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ในพื้นที่ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
 
สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่ง ในการส่งเสริมการเรียนรู้ วิจัย รวมถึงกระบวนการการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมฯ โดยคณะกรรมการดำเนินงาน จึงขอแถลงเพื่อแสดงจุดยืน และเรียกร้องไปยังภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
 
1. สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ป่าระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย รวมถึง ดร.อนรรฆ พัฒนพิบูลย์ และคุณชัชวาล พิศดำขำ วิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ ย้ำนักย้ำหนาว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการการดำรงชีพของสัตว์ป่า เพื่อแลกกับเขื่อน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจน หรือคงเส้นคงวาแต่ประการใด ว่าจะสามารถก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือบรรเทาปัญหาอุทกภัย ก็ตามที คุ้มค่ากับสิ่งที่เราจะต้องสูญเสียไป ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะต้องเสีย
 
2. สมาคมฯ ขอไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ของประเทศไทย ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน ที่ไม่สามารถแม้แต่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ที่จะปกป้องผืนป่า ที่ปากก็พร่ำพูดว่ามีความสำคัญ การแสดงออกเท่าที่ปรากฏ อย่างน้อยที่สุด ตลอด 4 เดือนเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติ ก็เป็นไปอย่างเหยาะแหยะ ฝากความหวังอะไรไม่ได้ ทั้งที่การดำเนินการของภาครัฐในการผลักดันโครงการ ก็เป็นไปอย่างหละหลวม มีช่องโหว่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ
 
3. ภายหลังจากการสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้ สมาคมฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้กว้างขวาง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้อีก ตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น รวมถึงเข้าพบและยื่นหนังสือต่อทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงในรัฐสภา ในโอกาสการแถลงผลการบริหารงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลต่อรัฐสภา และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นในสมัยการประชุมนี้
 
แถลง ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2555
ในการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “เขื่อนแม่วงก์: ได้ (กี่) อย่าง ก็ต้อง (?) เสีย (กี่) อย่าง”
 
โดย นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมฯ
 
 
  
 
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก: ข่าวสดออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม: เครือข่าย ปชช.จี้รัฐทบทวน 7 โครงการพลังงานภาคเหนือ–แผนพีดีพี 2010

Posted: 17 Aug 2012 12:24 PM PDT

คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ เรียกร้องรัฐฯ ทบทวนโครงการและแผนพีดีพี 2555-2573 เตรียมชงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าสะอาด-ประหยัด-เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

 
16 ส.ค.55 เวลา 10.00 น.คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แสดงเจตนารมณ์เรียกร้องรัฐบาลทบทวนโครงการและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่3 โดยมีตัวแทนชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าร่วมแถลงข่าว ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จ.เชียงใหม่
 
นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) กล่าวว่า ในนามคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ ได้จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าต่างๆ และการแสวงหาทางออกทางด้านไฟฟ้าของประเทศ ที่สามารถตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องการเรียกร้องให้ กฟผ.และรัฐบาล ทบทวนโครงการพัฒนาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2555-2573 ทั้งนี้ต้องคืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาทุกๆด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามาตรา 57 และ 67
 
นายมนตรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีโครงการพลังงานไฟฟ้าภาคเหนือ 7 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ใน สปป.ลาวผ่านเข้ามาทาง จ.น่าน 2.โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า ผ่านเข้ามายัง จ.ตาก 3.โครงการเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทางอ.แม่อาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่งไปยัง จ.ลำปาง 4.โครงการสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทาง จ.เชียงราย 5.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 6.โครงการทำเหมืองลิกไนต์ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และ 7.โครงการสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนน้ำอุใน สปป.ลาวผ่านเข้ามาทางอ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน
 
"โครงการทั้งหมดสะท้อนภาพเก่าของปัญหาเชิงระดับรายโครงการ อาทิ การปฏิบัติตามกฎหมาย การดูแลรับผิดชอบผลกระทบจากเจ้าของโครงการ ขณะที่ระดับโครงสร้างอย่างแผนพีดีพีก็มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่ามีเราพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงมาโดยตลอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบกระบวนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และการร่วมกำหนดแผนพีดีพี ซึ่งจากเดิมจำกัดอยู่ในวงของหน่วยงานรัฐและ กฟผ.เท่านั้น เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายมนตรี กล่าว
 
พ่อหลวงนุ ชำนาญไพร ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า พี่น้องที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำสาละวินมีความกังวลต่อ เรื่องผลกระทบวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมที่จะถูกทำลาย อีกทั้งเขื่อนฮัตจีไม่ใช่สร้างผลกระทบจากพี่น้องฝั่งไทยเพียงฝั่งเดียว แต่มีพี่น้องจากฝั่งพม่าอีกด้วยที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ
 
ตัวแทนชาวบ้าน อ.แม่สะเรียง กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมาทาง กฟผ. พูดว่าสามารถรองรับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ได้ หากมีการอพยพ แต่ความเป็นจริงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพื้นที่อพยพไม่เพียงพออย่างแน่นอน ส่วนพี่น้องฝั่งพม่าคงยากลำบากที่จะสามารถจัดการพื้นที่อพยพให้พวกเขา ตลอดระยะเวลา 4-5 พี่น้องทั้งสองฝั่งได้พูดคุยกันถึงโครงการสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนต่างๆ เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีมากมายมหาศาล"
 
ด้านนายโอฬาร อ่องฬะ ตัวแทนคณะทำงานศึกษาผลกระทบฯ กรณี อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้ลงพื้นที่เวียงแหงตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 พยายามสำรวจถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหงเพื่อป้อนพลังงานเข้าสู่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งหากพิจารณาตามแผนพีดีพีของรัฐบาลฉบับล่าสุด จะพบว่าได้กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่ที่แม่เมาะอีก 4 โรง แม้ว่า กฟผ.จะพยายามทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่คนในชุมชนก็รวมต่อสู้เพื่อให้ กฟผ.ยกเลิกโครงการเช่นกัน
 
"สำหรับกรณีส่วนเขื่อนท่าซางที่จะเกิดขึ้นนั้น แม้จะเป็นโครงการในประเทศพม่าแต่ก็กระทบกับประเทศไทย คือจะมีการลากส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ เชื่อมเข้ามาในประเทศผ่านพื้นที่เวียงแหง เข้าสู่ อ.เชียงดาว ซึ่งชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลจากโครงการเกี่ยวกับกระบวนการเดินสายไฟดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีที่ จ.น่าน ปัจจุบันชาวบ้านได้ตั้งเป็นเครือข่ายติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และยื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบลงพื้นที่ และต่อจากนี้ต้องติดตามเรียกร้องกับรัฐบาลต่อไป" นายโอฬาร กล่าว
 
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อปี 2549 ทราบข่าวว่าจะมีการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์และจะมีการขนส่งเข้ามายัง จ.เชียงราย บริเวณ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลังจากนั้นปี 2551 มีโครงการทำถนนจากบริเวณชายแดนไทย-พม่า ในจุดที่เป็นป่าประมาณ 5-6 กิโลเมตร ผ่านมาทางบ้านม้งเก้าหลัง ระหว่างปี 2552-2553 ทางเครือข่ายคณะทำงานยุติการขนส่งถ่านหินผ่าน จ.เชียงรายร่วมกับเครือข่ายของ จ.เชียงใหม่ ร่วมกันคัดค้านการขนส่งถ่านหิน และปี 2554 ได้รับทราบข่าวว่าจะไม่มีการทำถนนและขนถ่านหินผ่านทางเขตชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวน
 
นางจุฑามาศ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ของโครงการมายกกถือว่าเป็นอันตราย เนื่องจากว่าเหมืองอยู่ทางต้นน้ำแม่กก หากมีการเปิดเหมืองอย่างเต็มรูปแบบ สารเคมีที่ไหลลงมาจากต้นน้ำแม่กก จะไหลสู่เชียงรายและคนเชียงรายก็ใช้แม่น้ำนั้นด้วย ล่าสุดทราบว่ามีการขุดพบสายแหล่งทองคำ บริเวณตัวเหมือง และมีแนวโน้มว่าจะมีการเปิดเป็นเหมืองทองคำแทน ซึ่งจะทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น"
 
ทั้งนี้คณะทำงานศึกษาผลกระทบฯได้จัดทำเอกสารแถลงเจตนารมณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาพลังงาน พร้อมยื่นข้อเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่สมเหตุผล สะอาดและประหยัดต่อรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
 
"รัฐบาลต้องทบทวนโครงการและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3"
 
ในนาม "คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ" ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาทบทวน โครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือจำนวน 7 โครงการภายใต้การดำเนินการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยต้องคืนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาทุกๆด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57, 58 และ 67 ได้รับรองไว้
 
โครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือจำนวน 7 โครงการภายใต้การดำเนินการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่
 
1.โครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในประเทศ สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,473 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ผ่านเข้ามาทาง อ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
2.โครงการเขื่อนฮัตจี กำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า และโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดย กฟผ. ไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนฮัตจีผ่าน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
 
3.โครงการเขื่อนท่าซางบนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า กำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ และโครงการสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ผ่านมายังประเทศไทยด้าน อ.แม่อาย, อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไปเชื่อมระบบสายส่งที่ จ.ลำปาง โดย กฟผ. ไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนท่าซางผ่าน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
 
4.โครงการสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า มีกำลังการผลิต 405 เมกะวัตต์ ในรัฐฉาน ประเทศพม่า จะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย ด้าน อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาเชื่อมกับสถานีไฟฟ้าเชียงราย
 
5.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
6.โครงการทำเหมืองลิกไนต์ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อขนส่งถ่านหินไปใช้ที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
 
7.โครงการสายส่งไฟฟ้า จากเขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนน้ำอู ในประเทศสปป.ลาว จะผ่านเข้ามาทาง   อ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปเชื่อมต่อกับระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
 
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1.ในระดับโครงการนั้น ทุกโครงการจะสร้างปัญหาผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและต่อชุมชน ทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน ซึ่ง กฟผ. มิได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส บนหลักการธรรมาภิบาลที่ดี  และอาจข้ามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ อาทิเช่น
 
- โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศนั้น ชุมชนที่อยู่ในแนวสายส่งไม่มีโอกาสรับทราบข้อมูล (เช่น ภาพรวมของโครงการ, แนวสายส่งไฟฟ้า, ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยตามแนวสายส่งไฟฟ้าในระยะยาว) และมีกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อโครงการทั้งหมดในภาพรวมได้ ชุมชนจะรับทราบก็ต่อเมื่อได้มีการตกลงซื้อขายไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยชุมชนไม่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสิทธิแสดงความเห็นต่อโครงการ ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 57, 58 แต่ประการใด  นอกจากนั้นการผูกพันการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าในสัญญานั้น ยังเป็นการดำเนินการที่ข้ามขั้นตอนของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้โครงการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จก่อนการดำเนินโครงการด้วยเช่นกัน
 
- โครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า จะสร้างปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศในประเทศไทยด้วยเช่นกันนั้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าว และได้แจ้งมตินี้ต่อรัฐบาลในปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงประกาศจะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนฮัตจี โดยมิได้ใส่ใจต่อมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่ประการใด
 
- โครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการนั้น โครงการนี้ได้สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในชุมชน และจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ที่ดิน, แหล่งน้ำ และคุณภาพอากาศของชุมชนเวียงแหงตลอดระยะเวลาการทำเหมืองอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งปริมาณถ่านหินสำรองทั้งหมดที่อำเภอเวียงแหง เทียบได้กับการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพียง 1 ปีเท่านั้น
 
- โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในยาวนานออกไปอีก
 
 
2.    ในระดับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 นั้น ได้กำหนดเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวม 6,572 เมกะวัตต์ ซึ่งแยกได้ดังนี้
 
- ระหว่างปี 2555 ถึง 2562 มีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศแล้วรวม 3,572 เมกะวัตต์
 
- ระหว่างปี 2564 ถึง 2573 กำหนดในแผนว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศปีละ 300 เมกะวัตต์ รวม 3,000 เมกะวัตต์
 
ดังนั้นการที่ กฟผ.ระบุว่าจะพัฒนาโครงการเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซางในเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 6,260 เมกะวัตต์นั้น เป็นจำนวนที่มากกว่าการรับซื้อที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ากว่าสองเท่าตัว ซึ่งเป็นแผนฯที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 จึงเป็นความขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนให้เห็นว่าแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ไม่ได้ถูกตั้งบนพื้นฐานของความต้องการไฟฟ้าที่แท้จริง และในกรณีของเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซาง กฟผ. จะมีภาพลักษณ์ของผลประโยชน์ทับซ้อนในการไปร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนในประเทศพม่าด้วย โดยสามารถผลักภาระต้นทุนของการมีไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
 
นอกจากนี้ในปี 2563 กฟผ.จะมีกำลังผลิตติดตั้งที่พึ่งได้สูงถึง 44,089 เมกะวัตต์  ดังนั้นหาก กฟผ.เลือกลงทุนในการเพิ่มประสิทธิการใช้พลังงานให้ได้ 1 % ต่อปี และต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดแผนในปี 2573 แล้ว เท่ากับการได้กำลังการผลิตไฟฟ้ากลับคืนมาประมาณ 440 เมกะวัตต์ต่อปี การเลือกลงทุนในวิธีนี้เท่ากับ ประเทศไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกต่อไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564
 
3. การพัฒนาแผนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยพัฒนาจากข้อบกพร่องของการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมา (ได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกินความเป็นจริง, การประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง และเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด), การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ที่สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของรัฐบาล, การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน, การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (Cogeneration), การเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนร่วม, การขยายอายุโรงไฟฟ้าบางแห่งจาก 20-25 ปี เป็น 30 ปี ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ข้อเสนอ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012*)"
 
แผนพีดีพี 2012 จะส่งผลให้กำลังผลิตทั้งหมดจนถึงสิ้นปี 2573 นั้น เท่ากับ 35,579 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับกำลังผลิตพึ่งได้ในปีนี้อยู่ที่ 30,608 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าใน 18 ปีข้างหน้า ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงเพิ่มขึ้นเพียง 4,971 เมกะวัตต์ หรือปีละ 276 เมกะวัตต์เท่านั้น
 
และหากเทียบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(2555-2573) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 กำหนดให้ปี 2573 มีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้เท่ากับ 60,680 เมกะวัตต์แล้ว หมายถึงใน 18 ปีข้างหน้า ประเทศต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ถึงปีละ 1,760 เมกะวัตต์
 
แผนพีดีพี 2012 นอกจากจะไม่ต้องดำเนินการใน 7 โครงการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมากไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอีกต่อไป ผลประโยชน์ที่จะได้จากแผนพีดีพี 2012 ได้แก่
 
- ลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดได้ 13,198 เมกะวัตต์
 
- ไม่จำเป็นต้องนำเข้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานนิวเคลียร์หรือพลังน้ำเพิ่มเติม ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเพียงพอ และมียังโครงการที่มีแผนจะดำเนินงาน สามารถรักษาปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ 15% ไว้จนถึงปี 2560
 
- หลีกเลี่ยงไม่ต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาท
 
- ค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคจะลดลง 12% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573
 
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหัวประชากรในอัตรา 7.7% ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 แต่ถ้าดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 จะมีการเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อหัวประชากรขึ้นถึง 75%
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งสามประการนั้น "คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ" ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี
 
1.ได้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับความโป่รงใส หลักการธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้รับรองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาในทุกๆด้าน
 
2.ต้องไม่ให้มายาคติ "ความมั่นคงด้านพลังงาน" ถูกนำมาใช้เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่มีที่สิ้นสุด โดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เกิดผลประโยชน์ใดๆต่อประชาชน ในทางกลับกันจะสร้างภาระให้กับประชาชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามากกว่า สองแสนล้านบาท ในอีก 18 ปีข้างหน้า
 
3.ได้มีบัญชาสั่งการให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. นำ แผนพีดีพี 2012 มาใช้
 
 
ขอแสดงความนับถือ
 
คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือ
 
16 สิงหาคม 2555
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: เสรีไทย สงครามโลก ชนชั้นนำ และความน่าเสียดายบางประการ

Posted: 17 Aug 2012 11:49 AM PDT

เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ และมุมมองต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จุดเปลี่ยนของไทยแบบไม่เหมือนประเทศอื่นที่สูญเสียชนชั้นนำจากผลของสงคราม
 
 
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์ภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง “การหลอมความหลากหลายเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันของขบวนการเสรีไทย” ในงานครบรอบ 67 ปี วันสันติภาพไทย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.55 ถึงประวัติศาสตร์เสรีไทย และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
 
ธเนศ กล่าวว่า จากที่ส่วนตัวทั้งเรียนและสอนประวัติศาสตร์ แต่ไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะโดยส่วนใหญ่นักประวัติศาสตร์มักให้ความสำคัญกับหลักฐานในอดีตอย่างละเอียด ซึ่งก็ยอมรับในแง่ที่เป็นความรู้ แต่โดยส่วนตัวในทางปฏิบัติสิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่านั่นคือปัจจุบัน
 
“ในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ที่มีความหมาย คือประวัติศาสตร์ที่สามารถถ่ายทอด รับรู้ เข้าใจ โดยคนปัจจุบันได้ ก็คนในอดีตเขาตายหมดแล้ว จะให้เขาเข้าใจอะไร ไม่ต้องแล้ว ไม่ต้องไปเขียนให้เขาเข้าใจ ปัญหามันอยู่ที่ว่าคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป เมื่ออ่านประวัติศาสตร์แล้ว คนรุ่นเดียวกัน รุ่นปัจจุบันนี้รับรู้ไหม ตีความได้ไหม เข้าใจไหม และเอาไปต่อยอดมันได้ไหม” ธเนศกล่าวถึงทฤษฎีที่ตัวเขาเองตั้งขึ้น
 
เมื่อพูดเรื่องเสรีไทย ธเนศเปิดประเด็นซึ่งมีนักวิชาการรุ่นใหม่ได้ทำไว้ จากวิทยานิพนธ์เรื่องขบวนการเสรีไทยของ สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ อาจารย์ประจำกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเสนอข้อคิดใหม่ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นส่วนใหญ่เราจะพูดในเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่น การรักษาเอกราช แต่อีกด้านที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การเกิดการต่อสู้ของขบวนการการเมืองภายในประเทศเอง ทั้งก่อนและหลังการเกิดขบวนการเสรีไทย
 
ธเนศ กล่าวว่า ตรงนี้ช่วยตอบประเด็นที่ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้ร่วมเวทีเสวนาที่ทิ้งไว้ว่า “ทำไมจนถึงบัดนี้ ประวัติศาสตร์เสรีไทย รวมถึงตัวตนของเสรีไทยจึงหายไป” ซึ่งคำตอบคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ
 
เขาขยายความว่า หลังยุติสงครามไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยนั่นคือสิ่งที่ทำให้อนุสาวรีย์ของเสรีไทยจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ช่วงเวลา 7-8 ปี หลังจากที่สงครามยุติ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2490 ประวัติศาสตร์ได้ถูกเปลี่ยนหน้า โดยเป็นการเริ่มต้นของจุดสุดท้ายของขบวนการเสรีไทยในประวัติศาสตร์ และบทบาททางการเมืองไทย
 
 
ขบวนการเสรีไทยกับพลัง “กลุ่มการเมืองในประเทศ”
 
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ดังที่รู้กันว่าขบวนการเสรีไทยประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ คือสายอเมริกา สายยุโรป โดยสายในประเทศมีทั้งฝ่ายของ ปรีดี พนมยงค์ และสายนักการเมือง กลุ่มผู้นำท้องถิ่น ซึ่งในที่สุดแล้วอยู่ภายใต้ขบวนการใหญ่ที่มีปรีดีเป็นศูนย์กลาง แต่ความจริงแล้วพัฒนาการของกลุ่มการเมืองในประเทศนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นทางการ และกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้นำในภาคอีสาน ที่เรารู้จักกันคืออดีต 4 รัฐมนตรีอีสาน (เตียง ศิริขันธ์, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และถวิล อุดล) ซึ่งเคลื่อนไหวรวมตัว มีบทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
 
หากโยงกลับไป ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 ผู้นำการเมืองที่ผ่านการรับเลือกตั้งและเข้ามามีบทบาทในรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยขณะนั้น โดยเฉพาะหลังปี 2477 บทบาทของ ส.ส.ในการควบคุม ดำเนินนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีครบถ้วน จนเรียกได้ว่าข้อกล่าวหาที่มีในปัจจุบันซึ่งได้ยินกันมาตลอดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เรื่องนักการเมืองคอรัปชั่น นักการเมืองไร้ศีลธรรม ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่สามารถนำมาพูดกับนักการเมืองในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เลย
 
ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่างธเนศ สภาผู้แทนราษฎรสยามในขณะนั้น ถือว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพ ที่ติดอันดับถ้าเทียบได้ แต่ก็เทียบยากเพราะในตอนนั้นประเทศแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นอาณานิคม มีแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่มีเอกราชเต็มที่สุด ซึ่งต้องถือว่าเราเป็นประเทศที่โดดเด่นมาก ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติสงครามโลกขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มการเมืองที่มีฐานของการเคลื่อนไหวและมีบทบาทอยู่แล้ว คือกลุ่มนักการเมืองอีสาน จึงรวมตัวกันขึ้น และเกิด “คณะกู้ชาติ” ขึ้น ก่อนที่จะมารวมกับเสรีไทย
 
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยในปัจจุบันที่เราจะต้องมาอธิบายกันว่ามันจะต้องยึดโยงกับประชาชน การเลือกตั้งต้องนำมาสู่ประชาชน ไม่ใช่การสรรหา หรือการแต่งตั้ง ซึ่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราก็ยังวนเวียนอยู่กับปัญหานี้ แต่ว่าหลัง 24 มิ.ย.2475 จนถึงสงครามโลกนั้นปัญหานี้มันคลี่คลาย คือเรามีทั้งรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร์ในช่วงแรก และมีการเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดทั้ง 2 ส่วนมีความโยงใยในฐานะเป็นตัวแทนของราษฎรที่ค่อนข้างชัดเจนมาก
 
“ผมคิดว่าความหลากหลาย คุณภาพ ความสามารถต่างๆ นั้น ของกลุ่มการเมืองที่ประกอบกันขึ้นในช่วงเสรีไทย เป็นพลังซึ่งถ้าจะเรียกรวมๆ ไป ก็คือพลังการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย”
 
 
สงครามโลกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง แต่นั่นไม่ใช่ในแผ่นดินสยาม 
 
เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเสรีไทย ธเนศ กล่าวว่าเป็นไปตามบริบทโลกที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สงครามโลกนั้นนำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางการเมือง มาสู่แทบทุกประเทศ
 
ยกตัวอย่างในยุโรป มีการศึกษาว่าสงครามโลก 1 เป็นสงครามที่ลูกหลานชนชั้นนำในยุโรปเข้าสู่สมรภูมิและล้มตายเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นประวัติการณ์ ส่วนตัวเห็นว่าตรงนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ยุโรปมีการเปลี่ยนโครงสร้าง มีการเปลี่ยนชนชั้นใหม่ โดยขึ้นมาจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เหลืออยู่ การเมือง ประชาธิปไตยของยุโรป สังเกตดูหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้นนำมาสู่ความเท่าเทียมกันเสมอ มากๆ ขึ้น
 
แต่จากตัวอย่าง หากนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสยาม กับเมืองไทยของเรา มันจะอธิบายได้เลยว่า ผลกระเทือนทางสงครามที่ประเทศอื่นๆ ได้ ในการไปเปลี่ยนโครงสร้าง ของเก่าจะถูกทำลายไปด้วยธรรมชาติ ด้วยสงคราม ด้วยอะไรต่างๆ นั้นไม่เกิดขึ้นกับสังคมและโครงสร้างของสยามมากเท่ากับที่อื่น ตรงกันข้าม ชนชั้นนำของสยามยังคงอยู่เกือบครบถ้วน และกลับมีความมั่นคงมากขึ้นประเทศอื่น
 
ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้เอกราช ยกตัวอย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีการประกาศเอกราช รวมทั้งมีการต่อสู้เพื่อเอกราชและล้มตายไป แต่ละประเทศไม่มีความเป็นเอกภาพ ศูนย์กลางของแต่ละประเทศไม่มี แต่สยามศูนย์กลางยังแข็งอยู่ และคนที่เข้าสู่ศูนย์กลางก็ยังเป็นคนในกลุ่มอีลีต (ชนชั้นนำ) ที่มาตั้งแต่ก่อน 24 มิ.ย.2475 ตัวอย่างพระยาศรีวิสารวาจาที่อยู่กับรัชกาลที่ 7 จนมาหลังสงครามก็ขึ้นมาอีก เป็นการสืบทอดของกลุ่มอีลีตที่ยาวนานมาก
 
“พลังอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยนั้นเข้มข้น แน่นเหนียว ยืดยาว ยาวเหยียด ยั่งยืน กว่าที่อื่นในโลก” ธเนศ ให้ข้อสรุป
 
ธเนศ กล่าวขยายความว่า มีข้อสังเกตจากรายชื่อรัฐมนตรีในแต่ละยุคหลังสงครามลงมา ซึ่งมีแต่พระยา มีแต่คนอายุมาก ซึ่งในประเทศอื่นๆ จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา โดยในคณะราษฎรเองก็มีแต่คนรุ่นใหม่ๆ อายุ 30 ต้นๆ
 
เขากล่าวด้วยว่า ตรงนี้เป็นพลังอันหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 จึงเกิดขึ้นได้ง่ายและประสบความสำเร็จ รวมทั้งสามารถพลิกประวัติศาสตร์ โดยรัฐประหารครั้งดังกล่าวเป็นการ counter revolution ของ 24 มิ.ย.2475 ซึ่งมีการตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน สถานการณ์ตอนนั้นอำนาจราชาธิปไตยกับอำนาจประชาธิปไตยยังขับเคี่ยวกันอยู่ แม้ฝ่ายคณะราษฎร์ยึดอำนาจได้แต่ก็ต้องประนีประนอมเพราะไม่ใช่การโค่นอำนาจ เป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการนองเลือด ทุกอย่างยังอยู่คงเดิม
 
จนมาหลังยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) จึงสามารถสถาปนาประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงไม่เคยใช้ในตอนนั้น คือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ “พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”   
 
แต่หลังรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 และมีรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2492 ระบอบประชาธิปไตยได้เปลี่ยนกลับมาใช้ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และสถานะของกษัตริย์ก็ถูกดึงกลับขึ้นมา รวมทั้งมีการตั้งสภาองคมนตรีมาถึงปัจจุบันนี้ ตรงนี้เป็นการรื้อฟื้นกลับไปสู่ระบอบราชาธิปไตย
 
ธเนศ ให้ความเห็นว่า ช่วงที่เปลี่ยนผ่านหลังสงครามเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะในตอนนั้นฝ่ายเสรีไทยมีทั้งกำลัง มีทั้งคน รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ดังที่อาจารย์ปรีดีเสนอให้รัฐบาลขณะนั้นซึ่งนำโดยควง อภัยวงศ์ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2489 เพื่อที่จะอนุวัตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โดยเลิกบทที่ว่าห้ามเชื้อพระวงศ์เล่นการเมือง ห้ามกีดกัน เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ รวมทั้งให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทน และสภาสูง ซึ่งทั้ง 2 สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2489 ถูกใช้ในเวลาเพียง 2 เดือน ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ
 
“ถ้ารัฐธรรมนูญ 2489 ใช้ต่อมา ก็แสดงว่าประชาธิปไตยไทยก็จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2489 มาถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการตีกัน ทะเลาะกันแบบที่เราเจอกันตอนนี้น่าจะไม่มี และรัฐประหารอีก 10 ครั้งก็น่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะกองทัพจะไม่มีบทบาท ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าสู่สิ่งที่พูดง่ายๆ ว่ามาตรฐานสากล”
 
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพราะว่าหลังสงครามโลกเป็นต้นมา พลังประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่มีพลัง คือออร์กาไนซ์กันไม่ได้ เพราะว่าฐานมวลชนยังไม่เข้มแข็ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคมยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง พูดง่ายๆ ว่าความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญยังไม่กว้างขวาง แน่ชัดเหมือนในปัจจุบัน
 
“หากเราทำได้ในปี 2489 ผมคิดว่าประเทศสยามจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่จะมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงที่สุด และถ้าเป็นอย่างนั้นก็หวังว่าระบอบเศรษฐกิจของเราก็น่าจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้”
 
 
เสียงของ ส.ส.เป็นสิทธิราษฎร ซึ่งรัฐบาลต้องเคารพราษฎร
 
ธเนศ กล่าวต่อมาว่า อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัญหาการบริหารบ้านเมืองและระบบการเมืองในปัจจุบันนั้น เนื่องจากการควบคุมจากท้องถิ่นและประชาชนทำไม่ได้อย่างเต็มที่ แม้เราจะมีการกระจายอำนาจในปัจจุบัน แต่อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลุ่ม ส.ส.อีสานในอดีต ที่มีการรวมตัวตั้ง “พรรคสหชีพ” หลังสงครามโลกสงบลง ได้เสนอทุกอย่างที่เราพูดกันในปัจจุบัน คือ ต้องมีการกระจายอำนาจ ราษฎรต้องเป็นคนควบคุมรัฐบาล รัฐบาลต้องมาจากประชาชน ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยไม่รู้ คนที่พูดบอกว่าประชาชนเลือกผิดๆ ควรไปอ่านประวัติศาสตร์ก่อน ไปดูของจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย
 
จากรายงานการประชุมสภาฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา ถูก ส.ส.อีสานโหวตไม่ไววางใจ 2 ครั้ง จึงลาออก โดยบอกว่า รัฐบาลนี้ต้องออก เพราะว่าเสียงของ ส.ส.เป็นสิทธิราษฎร ซึ่งรัฐบาลต้องเคารพราษฎร โดยรัฐบาลเป็นตัวแทนอำนาจของรัฐ คือต้องรักษาความมั่นคงซึ่งเป็นปัญหาในตอนนั้น ไม่สามารถจะทำเรื่องที่เป็นของราษฎรได้ทั้งหมด ตอนนั้นไม่ได้มีการใช้คำว่าประชาธิปไตยอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่พระยาพหลพูดตรงๆ ตามหลักการว่านั่นคือเสียงของราษฎร คือผลประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลต้องทำตาม รัฐบาลจะอยู่ทำไมถ้าประชาชนเขาไม่ไว้วางใจ
 
“ถ้าใครบอกว่าประชาชนไทยไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนักการเมือง ถ้าพูดอย่างนั้นแล้ว ผมคิดว่าเป็นนักการเมืองที่ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยจริงๆ มันแปลว่าอะไร”
 
 
“แบ่งแยกดินแดน” วาทะกรรมที่ถูกยัดเยียด จากถิ่นอีสาน สู่ชายแดนใต้
 
ธเนศ กล่าวต่อมาถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในภาคใต้ว่า ไฟความขัดแย้งในภาคใต้โหมแรงขึ้นหลังปี 2490 มีการจับตัว “หะยีสุหลง” ในข้อหากบฏ แต่ต้องเปลี่ยนเป็นดูถูกรัฐบาลไทยเพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ ทั้งนี้ในขณะนั้นไม่มีการตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดน แต่กลุ่มการเมืองที่โดนข้อหาแบ่งแยกดินแดนคือนักการเมืองอีสาน จากการร่วมกับกลุ่มลาวอิสระ ลาวรักชาติ ต่อสู้กับฝรั่งเศส และมีความคิดถึงขั้นช่วยปลดปล่อยลาวแล้วรวมลาวเข้ากับอีสาน แต่เมื่อถูกจับกลับถูกฟ้องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตรงนี้กลายเป็นเรื่องตลกเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความคิดรวมดินแดนไม่ใช่แบ่งแยก
 
“ที่มันตลกต่อมาก็คือ พอภาคใต้เกิดเป็นเรื่องขึ้นมา ไอ้ป้ายยี่ห้อแบ่งแยกดินแดนก็ถูกย้ายลงไปให้กับพวกภาคใต้ แล้วจากนั้นมา เราก็เรียกกลุ่มเคลื่อนไหวภาคใต้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด”
 
ธเนศ กล่าวว่า จากหลักฐานที่ได้จากการพูดคุยกับคนมลายูมุสลิมทั่วไปที่พอรู้เรื่องราวต่างๆ ถึงคำศัพท์ภาษายาวีที่ตรงกับคำว่า “แบ่งแยกดินแดน” เขาบอกว่าไม่มี เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่าแบ่งแยกดินแดน และไม่เคยมีศัพท์ว่าแบ่งแยกดินแดน เขาจะต่อสู้เพื่อดารุสสลาม หรือเพื่อสิ่งต่างๆ แต่ไม่ได้สู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
 
ทั้งนี้ ผู้ที่จุดเพลิงตรงนี้ให้เกิดขึ้นไม่ใช้จอมพล ป. แต่คือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในสมัยที่ควง อภัยวงศ์ เป็นนายก ได้ส่งรัฐมนตรีไปจับหะยีสุหลง เมื่อต้นปี 2491 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ของเราถูกบิดโดยไม่ตั้งใจ จากกระแสของอำนาจที่ไปตีความให้เข้ากับความต้องการ ความสะดวก แล้วก็ผลประโยชน์ของกลุ่มที่อยู่เท่านั้น
 
 
พลังอนุรักษ์นิยมเข้มข้น ตัวฉุดการเมืองไทยถอยหลัง
 
ธเนศ กล่าวว่า จากตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะเสรีไทยเท่านั้นที่ไม่มีที่อยู่ ขบวนการ การเคลื่อนไหวของประชนก็รวมอยู่ด้วย ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นหากเขาได้ทำต่อไป ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ มันเกิดแล้ว ไม่ต้องมากระจายอำนาจเหมือนในตอนนี้ ที่กระจายยังไงก็กระจายไม่ออก
 
“ในตอนนั้น นักการเมืองท้องถิ่นทุกที่เขาพร้อมจะทำงานและก็ทำอยู่แล้วด้วย แต่ว่าบรรดาพลังแน่นเหนียว พลังอนุรักษ์ พลังเก่าทั้งหลาย พลังที่ที่อื่นเขาถูกกวาดไปด้วยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง แต่ของเราไม่ได้ถูกกวาดไปไหน อันนั้นแหละคือตัวที่ทำให้การเมืองไทยถอยหลังยืดยาวกลับไปสู่อดีตที่ไม่มีอนาคต”
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กรมเจ้าท่า’ เตรียมลุยขุดลำพะเนียง ชาวบ้านเบรก ชี้ ‘ฤดูทำนา’ หวั่นข้าวเสียหาย

Posted: 17 Aug 2012 11:11 AM PDT

ชาวบ้านแจงปฏิเสธเข้าร่วมประชุมกรมเจ้าท่า เหตุประสานก่อนงานแค่วันเดียว พร้อมทำหนังสือแจ้งให้ชะลอการดำเนินการ เผยมีการนำรถรถแบ็คโฮลงพื้นที่แล้วแต่ถูกขวางเพราะเกรงขุดลอกกระทบนาข้าวที่เพิ่งหว่าน-ดำ

 
 
วานนี้ (17 ส.ค. 55) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่บ้านธาตุหาญเทาว์ หมู่ 2 ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภูว่า กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี หรือ กรมเจ้าท่า มีแผนจะดำเนินโครงการขุดลอกลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู และจะลงพื้นที่เพื่อทำการประชุมประชาคมชาวบ้านและชี้แจงโครงการก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียง แต่ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าได้รับการประสานงานอย่างกระชั้นชิด อีกทั้งเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับนาข้าวภายหลังจากการขุดลอก
 
นายบานเย็น จันดำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านธาตุหาญเทาว์ หมู่ 2 ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีการนำรถแบ็คโฮเข้ามาจอดในหมู่บ้านและเตรียมที่จะเข้าไปขุดลอกพื้นที่บริเวณลำน้ำพะเนียง แต่กลุ่มชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับลำน้ำไม่ให้มีการนำเครื่องจักรหรือรถแบ็คโฮเข้าไป เพราะเกรงว่าจะเหยียบย่ำนาข้าวที่ดำนาเสร็จแล้วและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
 
 
นายบานเย็น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ส.ค.55 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่าประสานผ่านทางโทรศัพท์ ว่าจะขอเข้ามาดำเนินการประชุมประชาคมชาวบ้านเพื่อดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียงในวันที่ 17 ส.ค.55 โดยไม่มีหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งระยะเวลาในการแจ้งประสานงานเพียง 1 วัน โดยตามหลักแล้วหากจะมีการประชุมใด ๆ ในหมู่บ้านต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และตอนนี้ชาวบ้านเองยังไม่รู้ข้อมูลใด ๆเลยเกี่ยวกับโครงการ
 
“ชาวบ้านได้หารือกันแล้วว่าถ้าจะเข้ามาประชุมและดำเนินการขุดลอกระยะเวลานี้ไม่เป็นการเหมาะสม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูการผลิตการทำนาข้าว หากมีการดำเนินการขุดลอกโดยเครื่องจักรขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อนาข้าวที่อยู่ข้างเคียงลำน้ำพะเนียง จึงปฏิเสธที่จะให้มีการประชุม พร้อมทั้งทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่าให้ชะลอการดำเนินการขุดลอกลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ออกไปก่อน” นายบานเย็นกล่าว
 
 
ทั้งนี้ ลำน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู เคยมีการขุดลอกขยายมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยการดำเนินการของกรมชลประทาน ภายหลังจากการขุดลอกได้เกิดผลกระทบตามมา อาทิ ที่ดินที่นาหายไปกับการขุดลอก ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้เนื่องจากถูกคันถนนที่ถูกสร้างขึ้นขวางทางน้ำ ระบบนิเวศที่เคยมีสูญหายและลดลง
 
ที่ผ่านมา ชาวบ้านฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเป็นคดีความกว่า 140 คดี โดยคำพิพากษาศาลตัดสินให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี และกรมชลประทานต้องทยอยชดเชยค่าเสียหายในทุกๆ คดีที่คำพิพากษาสิ้นสุดลง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: กสทช. กับบทบาท “ผู้จัดฮั้ว” ประมูลคลื่น 3G

Posted: 17 Aug 2012 11:02 AM PDT

เหตุผลอะไรที่ทำให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองการประมูลที่จะเกิดขึ้นว่าเป็น “ตลกระดับชาติ” และมั่นใจว่าจะเกิดการฮั้วประมูล สร้างความเสียหายแก่ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างค่อนข้างแน่นอน

 กสทช. ได้เตรียมการประมูลคลื่นความถี่โทรศัพท์ 3G โดยแบ่งคลื่นความถี่ที่มีอยู่ 45 MHz ออกเป็น 9 ชิ้น (หรือ 9 สล็อต) ชิ้นละ 5 MHz โดยกำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ที่ชิ้นละ 4,500 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการกำหนดปริมาณคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะสามารถประมูลได้ ไม่ให้เกิน 4 ชิ้นหรือ 20 MHz ซึ่งหมายความว่า โอเปอเรเตอร์ที่เข้าประมูลอาจได้คลื่น 20, 15, 10 หรือ 5 MHz แล้วแต่ผลการประมูล ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้นัก เพราะไม่แน่ใจว่า ลำพังความแตกต่างของปริมาณคลื่นที่ได้จะสามารถป้องกันการ “ฮั้ว” ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยและสำคัญที่สุดในการประมูล แต่ก็พอยอมรับได้ หากมีการกำหนดราคาประมูลตั้งต้นที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายในกรณีที่มีการฮั้วกันเกิดขึ้น

นอกจากจะไม่ปรับราคาประมูลตั้งต้นให้สูงขึ้นแล้ว ในช่วงหลัง ท่าทีของ กสทช. โดยเฉพาะ ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ก็กลับเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม โดยมีแนวโน้มว่าจะลดปริมาณคลื่นสูงสุดที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะสามารถประมูลได้ให้เหลือไม่เกิน 15 MHz ท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มโอเปอเรเตอร์ที่จะเข้าประมูล ซึ่งอ้างว่า ควรลดปริมาณคลื่นสูงสุดของแต่ละรายลงเหลือ 15 MHz เพื่อให้ทุกรายได้คลื่นเท่ากันคือ 15 MHz จะได้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาประมูลสูงเกินไปจนเป็นภาระแก่ผู้บริโภค

ผู้เขียนเห็นว่า หาก กสทช. ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว การประมูลที่จะมีขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องตลกระดับชาติทันที เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะแบ่งคลื่นออกเป็นชิ้น ชิ้นละ 5 MHz เนื่องจากไม่ว่าจะแบ่งหรือไม่แบ่งอย่างไร ก็จะทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้คลื่นเท่ากันคือ รายละ 15 MHz อยู่ดี ที่สำคัญ จะเกิดการฮั้วกันในการประมูลค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ประชาชนทุกคนในฐานะผู้เสียภาษี เพราะราคาประมูลจะใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น ทำให้รัฐมีรายได้จากการประมูลน้อยลงเมื่อเทียบกับการประมูลที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง

ความพยายามในการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช. จะไม่ประสบความสำเร็จ หากประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อข้อเท็จจริงที่สำคัญ 2 ประการ คือ การประมูลไม่สร้างภาระแก่ผู้บริโภค และราคาประมูลตั้งต้นที่ กสทช. กำหนดไว้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นมาก

 

การประมูลไม่สร้างภาระแก่ผู้บริโภค

ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อมาใช้ให้บริการโทรคมนาคมจะไม่สร้างภาระแก่ผู้บริโภค เพราะราคาประมูลไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ ก็จะไม่กระทบต่ออัตราค่าบริการของผู้บริโภค เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่เป็นส่วนที่หักจากกำไรส่วนเกิน (economic rent) ของผู้ประกอบการที่จะได้รับจากการใช้คลื่นความถี่ในการทำธุรกิจ ไม่ใช่เป็นต้นทุนที่จะสามารถผลักไปยังผู้บริโภคได้ ดังที่ผู้เขียนเคยอธิบายในบทความเรื่อง “จริงหรือ ถ้าค่าประมูลคลื่น 3G แพงแล้ว ผู้บริโภคจะเดือดร้อน?” (ผู้สนใจสามารถสืบค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต)

มีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่ยืนยันว่า การประมูลไม่สร้างภาระแก่ผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น การวิจัยของ Minsoo Park และคณะเมื่อปี 2010 ซึ่งศึกษาตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใน 21 ประเทศ ทั้งประเทศที่ใช้การประมูลคลื่น และประเทศที่ใช้แนวทางอื่นในการจัดสรรคลื่น การศึกษาดังกล่าวพบว่า ประเทศที่มีการประมูลคลื่นไม่ได้มีอัตราค่าบริการที่แพงกว่าประเทศที่ใช้แนวทางอื่นในการจัดสรรคลื่น นอกจากนี้ การประมูลยังไม่มีผลทำให้ผู้ประกอบการลงทุนวางโครงข่ายช้าลง และไม่มีผลในการลดการแข่งขันในตลาดจนเกิดการกระจุกตัวแต่อย่างใด การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาหนึ่งในหลายๆ ชิ้นที่ยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การประมูลไม่ได้สร้างภาระแก่ผู้บริโภค ดังที่โอเปอเรเตอร์ในประเทศไทยพยายามทำให้เราเข้าใจผิด

สาเหตุสำคัญที่การประมูลไม่ทำให้อัตราค่าบริการของผู้บริโภคแพงขึ้น ก็เพราะปัจจัยที่กำหนดอัตราค่าบริการก็คือ ความสามารถในการจ่ายของผู้บริโภค (อุปสงค์) และสภาพการแข่งขันในตลาด (อุปทาน) โดยหากตลาดไม่มีการแข่งขัน ในขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังจ่ายมาก แม้โอเปอเรเตอร์จะได้คลื่นความถี่มาฟรี ก็จะไม่ทำให้ค่าบริการลดลงแต่อย่างใด เพราะโอเปอเรเตอร์ย่อมจะเก็บค่าบริการที่ทำให้ตนมีกำไรมากที่สุดอยู่นั่นเอง

อนึ่ง มีนักวิชาการไทยบางคนที่อ้างว่า มีผลการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) ที่ชี้ไปในทางตรงกันข้าม โดยให้เหตุผลที่สามารถสรุปเป็นขั้นๆ ดังนี้ หนึ่ง ราคาประมูลคลื่นเหมือนกับราคาบุฟเฟต์ที่ถูกกำหนดตายตัวและไม่สามารถเอาคืนได้ ไม่ว่าเราจะรับประทานอาหารมากหรือน้อย สอง บุฟเฟต์มักทำให้เรารับประทานอาหารมากขึ้นกว่าปรกติ สาม การรับประทานอาหารมากขึ้นเปรียบเหมือนการเก็บค่าบริการโทรศัพท์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาประมูลคลื่นความถี่ที่สูงขึ้นก็อาจทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นได้

การเปรียบเทียบดังกล่าวมีความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์ 3G ต้องแข่งขันกันในตลาด จึงอยู่ภายใต้กฎอุปสงค์และอุปทานของตลาดดังกล่าวข้างต้น และไม่สามารถเก็บค่าบริการสูงสุดตามที่ต้องการได้ ในขณะที่ผู้รับประทานบุฟเฟต์ไม่ถูกควบคุมใดๆ จากอุปสงค์และอุปทานของตลาด จึงมักรับประทานมากเกินไป ข้อโต้แย้งที่ว่า การประมูลคลื่นจะสร้างภาระแก่ผู้บริโภคนั้น จึงไม่เป็นความจริง

 

ราคาประมูลตั้งต้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก

ราคาประมูลตั้งต้นซึ่ง กสทช. กำหนดไว้ที่ชิ้นละ 4,500 ล้านบาทนั้น ต่ำกว่ามูลค่าจริงที่มีการประมาณการไว้มาก การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ว่าจ้างเอง ชี้ว่า มูลค่าของคลื่นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 6,440 ล้านบาท ราคาประมูลตั้งต้นของ กสทช. จึงต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้ถึงร้อยละ 30 และจะยิ่งต่ำกว่าความเป็นจริงมากขึ้น หากเราคิดรวมเอาประโยชน์ที่โอเปอเรเตอร์จะได้รับจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐเข้าไปด้วย ทั้งนี้ เฉพาะในปี 2011 ที่ผ่านมาปีเดียว ค่าสัมปทานดังกล่าวมีมูลค่าถึง 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ลำพังการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ก็แทบจะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถถอนทุนจากการประมูลคลื่นได้ภายในปีเดียว ราคาประมูลตั้งต้นที่ กสทช. กำหนดไว้จึงต่ำแสนต่ำ

ราคาประมูลตั้งต้นที่ต่ำดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากในการประมูลที่จะมีขึ้น มีการแข่งขันอย่างเต็มที่ระหว่างโอเปอเรเตอร์ เพราะราคาที่ประมูลได้จะขยับขึ้นไปเองตามการแข่งขัน ทั้งนี้ เหตุผลที่อาจจะพอทำให้มีการแข่งขันในการประมูลในสภาพที่มีการออกใบอนุญาต 3 ใบให้แก่โอเปอเรเตอร์ 3 รายก็คือ แต่ละรายอาจได้คลื่นความถี่ไม่เท่ากันนั่นเอง

ดังนั้น หาก กสทช. ลดปริมาณคลื่นสูงสุดที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายจะสามารถประมูลได้ลงเหลือ 15 MHz การประมูลที่จะเกิดขึ้น ก็แทบจะไม่มีเรื่องที่ต้องแข่งขันกันอีกเลย เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต่างจะได้คลื่นไปเท่ากันคือ 15 MHz เหลือเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่อาจทำให้มีการแข่งขันกันได้บ้างก็คือ ย่านความถี่ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้รับจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าปริมาณคลื่นความถี่มาก เพราะย่านความถี่ทั้งหมดล้วนอยู่ใกล้กันมาก

ลำพังต่อให้มีการออกแบบประมูลที่ดี โอเปอเรเตอร์ก็ยังพยายามจะฮั้วกันอยู่ แต่ความพยายามฮั้วกันก็มีความเสี่ยงคือ อาจจะมีบางราย “เบี้ยว” หันไปประมูลคลื่นให้ได้ปริมาณ 20 MHz เพื่อให้ตนได้เปรียบคู่แข่ง จนทำให้ ”ฮั้วแตก” ซึ่งทำให้ทุกรายต้องจ่ายค่าประมูลสูงขึ้น ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายจะพร้อมใจกันเรียกร้องให้ กสทช. ลดปริมาณคลื่นสูงสุดที่แต่ละรายจะประมูลได้ให้เหลือเพียง 15 MHz หาก กสทช. ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว กสทช. ก็จะมีบทบาทเป็นเสมือน “ผู้จัดฮั้ว” (cartel leader) ให้แก่โอเปอเรเตอร์ทั้งสาม โดยเป็นผู้รับประกันว่า จะไม่มีการ “เบี้ยว” กัน เพราะแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้แข่งขันกันในการประมูล

ผู้เขียนจึงอยากเตือนให้ กสทช. เลิกแนวคิดที่จะดำเนินการดังกล่าวเสีย เพราะจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภค และผู้เสียภาษีเลย แต่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้โอเปอเรเตอร์อย่างโจ่งแจ้ง ที่สำคัญ กสทช. เองก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีอาญา หรือถูกประชาชนเข้าชื่อกันเพื่อยื่นให้วุฒิสภาถอดถอนจากตำแหน่งได้

จึงขอเตือนมาด้วยความหวังดีว่า อย่าทำเช่นนั้นเลย.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: โครงการรับจำนำข้าว ใครได้ประโยชน์?

Posted: 17 Aug 2012 10:19 AM PDT

“ถ้าถามว่า มีหนทางอื่นหรือไม่ที่รัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนาโดยไม่ต้องเข้าแทรกแซงตลาดในลักษณะดังกล่าว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและปราศจากการทุจริต คำตอบคือ มีหนทางอยู่ ซึ่งก็คือ การปฏิรูปตลาดข้าวไทย ทำลายการรวมหัวผูกขาดของกลุ่มทุนเก่าที่หากินบนหลังชาวนาไทยมาหลายชั่วคน”

 

โครงการรับจำนำข้าวนับเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากเกษตรกร และถูกโจมตีมากที่สุดจากนักวิชาการ สื่อมวลชนกระแสหลัก และพ่อค้าข้าว

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้เรียงหน้ากันออกมาวิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นการทำลายตลาดค้าข้าวและการส่งออกข้าวของประเทศ เกิดทุจริตคอรัปชั่นมโหฬาร รัฐขาดทุนหลายแสนล้านบาท และชาวนาไม่ได้ประโยชน์ มี

แต่ความเลวร้าย ประสานกับเสียงต่อต้านจากบรรดาพ่อค้าผู้ส่งออกข้าว

แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้กลับไปสนับสนุนโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ก็มีข้อครหาเรื่องทุจริตในการลงทะเบียนชาวนาและพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งสูญเสียงบประมาณไปถึงห้าหมื่นล้านบาท!

สาเหตุคือ โครงการประกันรายได้ชาวนาเป็นประโยชน์ต่อพ่อค้าและผู้ส่งออกข้าว เพราะรัฐบาลตั้งราคาประกันขั้นสูงไว้ ขณะที่พ่อค้าสามารถกดราคาข้าวจากชาวนาได้เต็มที่ โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายเงินชดเชย “ส่วนต่าง” ให้ ยิ่งพ่อค้ารับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาต่ำเท่าไร รัฐบาลก็ต้องควักเงินมาจ่ายชดเชยให้เท่านั้น ฉะนั้น พ่อค้าผู้ส่งออกได้ประโยชน์เต็มที่ สามารถซื้อข้าวได้ในราคาถูก ข้าวในตลาดเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของพวกเขา สามารถส่งออกไปตลาดโลก กินกำไรส่วนต่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โครงสร้างตลาดข้าวของประเทศไทยที่พวกนักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางค่ายอ้างว่า “เป็นตลาดเสรี รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง” นั้น ความจริงเป็นตลาดผูกขาดที่สุดตลาดหนึ่งของประเทศไทย มีอำนาจกระจุกอยู่ที่ผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย รวมหัวกันผูกขาดการส่งออกข้าวทั้งหมดของประเทศ โดยเอาราคาส่งออกเป็นตัวตั้ง แล้วกดราคาในประเทคลดหลั่นกันลงมาผ่านพ่อค้าไปถึงชาวนา

โครงการประกันรายได้ยังเป็นการทำลายแรงจูงใจในการผลิตของชาวนา เพราะรัฐบาลกำหนดผลผลิตต่อไร่สูงสุดไว้ตายตัวแตกต่างไปตามพื้นที่ (เช่น ข้าวเปลือก 400 กก.ต่อไร่ในจังหวัดสุรินทร์) และชาวนาแต่ละครัวเรือนจะลงทะเบียนจำนวนพื้นที่เพาะปลูกไว้คงที่ (เช่น นายเขียวเพาะปลูก 50 ไร่) ผลก็คือ ชาวนาไม่มีแรงจูงใจปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะถึงจะผลิตได้มากกว่า 400 กก.ต่อไร่ ก็ไม่ได้อะไรตอบแทนเพิ่ม ในทางตรงข้าม ถ้าชาวนาผลิตได้น้อยกว่าหรือปลูกไม่เต็มพื้นที่ ก็ยังได้รับชดเชยตามเกณฑ์ที่กำหนดเหมือนเดิม

ปัญหาอีกประการหนึ่งของโครงการประกันรายได้ชาวนาคือ ชาวนาไม่เคยได้รับตามราคาประกันจริง สาเหตุคือ รัฐบาลไม่มีทางรู้ได้ว่า ชาวนาขายข้าวให้กับพ่อค้าในราคาจริงเท่าไร เนื่องจากราคาขายจริงนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว ระยะทางไปถึงตลาด และช่วงเวลาที่ชาวนาขายข้าว ทางออกของรัฐบาลขณะนั้นคือ กำหนด “ราคาอ้างอิง” เพื่อใช้แทนราคาขายจริงของชาวนา แต่ปรากฏว่า ราคาอ้างอิงของทางการกลับสูงกว่าราคาขายจริง เช่น ประกันราคาไว้ที่ตันละ 15,000 บาท ชาวนาขายได้จริงตันละ 10,000  บาท ก็ควรจะได้รับชดเชยตันละ 5,000 บาท  แต่ราคาอ้างอิงทางการอยู่ที่ 13,000 บาท ผลก็คือ ชาวนาได้รับชดเชยจริงแค่ตันละ 2,000 บาท รวมเป็นราคาที่ชาวนาได้รับจริงตันละ 12,000 บาท ไม่ใช่ตันละ 15,000 บาทตามที่รัฐบาลประกันไว้

ยิ่งกว่านั้น ราคาประกันของทางการกลับกลายเป็น “ราคาเพดาน” ที่คอยกดราคาตลาดในประเทศไว้อีกด้วย เพราะพ่อค้าจะไม่รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาเกินกว่าราคาประกัน แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะขึ้นสูงไปสักเท่าใด

พวกนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ “อีแอบ” ที่หากินกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาทุกยุคสมัยและได้ประโยชน์จากรัฐประหาร 2549 พวกนี้ทำเป็นลืมไปว่า ในปลายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีชาวนาออกมาประท้วงปิดถนนกันทั่วไป เรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำข้าวแทนการประกันรายได้ ก็เพราะสาเหตุดังกล่าวนี่เอง รัฐบาลขณะนั้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเอา “มาตรการรับจำนำข้าว” กลับมาใช้เป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ยอมเลิกโครงการประกันรายได้เพราะกลัวเสียหน้า ผลท้ายสุดคือ รัฐบาลทำทั้งสองอย่าง ทั้งประกันรายได้ ทั้งรับจำนำ เป็นที่สับสนต่อชาวนาและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโดยรัฐที่ใหญ่ที่สุด เพราะรัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดในราคาที่กำหนด (ข้าว 100% ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท ปรับลดด้วยความชื้น) ในทางปฏิบัติ รัฐบาลได้กลายเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ พ่อค้าผู้ส่งออกเสียประโยชน์เพราะรัฐบาลมาแข่งรับซื้อข้าวในราคาสูง ถ้าพ่อค้าต้องการข้าวไปส่งออก ก็ต้องซื้อในราคาสูงด้วย ทำให้ส่งออกได้กำไรลดลง ที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ “อีแอบ” พวกนี้อ้างว่า รัฐบาลกำลังทำลายตลาดข้าวไทยนั้น ที่แท้จริงคือ รัฐบาลทำให้พ่อค้าผู้ส่งออก “อิ่มหมีพีมัน” น้อยลงนั่นเอง



ส่วนตัวเลขที่โจมตีว่า รัฐบาลจะขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาทนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างข้อนี้สอบตกวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ต้องรับจำนำข้าวหมดทั้งประเทศ เพราะเมื่อข้าวตกอยู่ในมือของรัฐบาลมากขึ้น ตลาดเอกชนก็จะมีข้าวน้อยลง ทำให้ราคาตลาดเอกชนสูงขึ้นไปเอง ชาวนาทั่วไปก็จะขายข้าวในตลาดเอกชนได้ราคาสูงตามไปด้วยโดยไม่ต้องเข้าโครงการจำนำของรัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ว่า แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณรับจำนำข้าว 25 ล้านตันไว้ถึงกว่าสี่แสนล้านบาทสำหรับฤดูเพาะปลูก 2554/55 แต่มีข้าวจำนำจริงเพียง 7 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด รัฐจึงใช้งบประมาณไปเพียง 140,000 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนรัฐบาลจะขาดทุนเท่าไรนั้นสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ คือ ข้าวเปลือกจำนำ 7 ล้านตันแปรเป็นข้าวสาร 4.6 ล้านตัน ข้าวขาว 100% ราคาปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 580 ดอลลาร์ (ราว 18,000 บาท) ฉะนั้นข้าวสาร 4.6 ล้านตันคิดเป็น 83,000 ล้านบาท รัฐบาลจะขาดทุนทั้งสิ้นหกหมื่นล้านบาท และจะขาดทุนมากกว่านี้ถ้ารัฐบาลระบายข้าวด้วยการขายราคาต่ำเพื่อให้เอกชนไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง แต่รัฐบาลก็อาจขาดทุนน้อยกว่านี้ถ้าราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นสูง


จึงไม่น่าแปลกใจถ้าประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้น้อยลงในปีนี้ เพราะการที่รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงทำให้พ่อค้าผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งตัดราคากับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำได้ เช่น อินเดียและเวียดนาม ที่ผ่านมา การไปแข่งตัดราคากับอินเดียและเวียดนามนี่แหละที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่สูงเท่าที่ควร เป็นผลสะท้อนกลับมาถึงราคาข้าวต่ำของชาวนาไทย การไปช่วงชิงตำแหน่ง “ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง” จึงไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจ หากแต่เป็นเรื่องหลอกลวงของพวกพ่อค้า สื่อมวลชนและนักวิชาการเท่านั้น

หนทางที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ใช่ตั้งหน้าส่งออกข้าวคุณภาพต่ำราคาถูกไปขายแข่งกับประเทศอื่น แต่เป็นการปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งออก ทั้งเมล็ดพันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ การบรรจุหีบห่อ ให้ปลอดสารเคมีตกค้างและปลอมปน มุ่งขายในตลาดข้าวคุณภาพสูงที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้ว ให้เป็นประเทคที่ขายข้าวได้ราคาดีที่สุด ไม่ใช่ส่งออกได้จำนวนตันสูงสุด

สิ่งที่รัฐบาลต้องสนใจอย่างจริงจังคือ การทุจริตในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับจำนำ ปริมาณและคุณภาพของสต็อกข้าว และการระบายให้เอกชนไปส่งออก ซึ่งแม้จะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถลดหรือปรามได้ โดยให้รั่วไหลน้อยที่สุด

ถ้าถามว่า มีหนทางอื่นหรือไม่ที่รัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนาโดยไม่ต้องเข้าแทรกแซงตลาดในลักษณะดังกล่าว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและปราศจากการทุจริต คำตอบคือ มีหนทางอยู่ ซึ่งก็คือ การปฏิรูปตลาดข้าวไทย ทำลายการรวมหัวผูกขาดของกลุ่มทุนเก่าที่หากินบนหลังชาวนาไทยมาหลายชั่วคน เปิดเสรีการส่งออกข้าว ให้ข้าวกระจายไปยังผู้ส่งออกจำนวนมาก โดยรัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดในขอบเขตจำกัดเพื่อลดลักษณะขึ้นลงตามฤดูกาลของราคาข้าว แต่จะกระทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องทำลายอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนเก่าไปพร้อมกันด้วย

 


ที่มา: “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งสำนักนายกฯ ชดเชยสองเยาวชนถูกทหารซ้อม 2 แสน

Posted: 17 Aug 2012 10:04 AM PDT

16 ส.ค.55 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกใบแถลงข่าวเพื่อชี้แจงว่าศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555  ให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายมะเซาฟี แขวงบู อายุ  20 ปี และเด็กชายอาดิล  สาแม  อายุ  14  ปี  สองเยาวชนที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในระหว่างการลาดตระเวนและตรวจค้นตัวโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  เหตุเกิดเมื่อวันที่11 พ.ค. 52  บริเวณถนนริมแม่น้ำปัตตานี  ตำบลสะเตง อำเภอเมือง  จังหวัดยะลา

ศาลได้พิพากษาว่า  แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ  แต่ในระหว่างตรวจค้นได้มีการทำร้ายเยาวชนทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บ  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิด  เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี  สำนักนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดให้นายมะเซาฟีเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและประโยชน์จากการทำงาน ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดยะลา วันละ 250 บาท และแพทย์มีความเห็นให้หยุดพัก 5 วัน จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1,200 บาท ส่วนเด็กชายอาดิล  สาแม  กำลังศึกษาอยู่ จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ 

นอกจากนี้ศาลยังได้สั่งให้จ่ายค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายและจิตใจของบุคคลทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เพื่อเยียวยาความเสียหายตามวรรค 5 จึงกำหนดให้คนละ 100,000 บาท

ใบแถลงระบุว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552  เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายมะเซาฟี และด.ช.อาดิล โดยการเตะ ตบ ใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ และตบที่กกหู และท้ายทอย  จนทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ  โดยต่อมาพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายจนทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  และวันที่ 26 เมษายน 2553 จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา  ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้บังคับโทษปรับ  คดีอาญาดังกล่าวเป็นอันถึงที่สุด  และนำมาสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดในคดีนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบศพปริศนา คาดป่วนใต้วางระเบิดพลาด ร่างเละ

Posted: 17 Aug 2012 09:57 AM PDT

พบศพร่างเละจากแรงระเบิดที่ปะนาเระ คาดเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ พลาดระเบิดก่อนนำไปวาง หน่วยนิติวิทย์ฯเก็บดีเอ็นดีพิสูจน์บุคคล ส่วนที่สะบ้าย้อย กู้ทันจักรยานยนต์บอมบ์

 


ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอานวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) รายงานว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 44 (ฉก.ทพ.44) อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ว่า เมื่อเวลา 18.30 น. ของวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงระเบิดในพื้นที่บ้านคลอง หมู่ที่ 2 ต.ดอน อ.ปะนาเระ กองร้อย ทพ.4411 จึงจัดกำลังเข้าพิสูจน์ทราบ แต่เนื่องจากเป็นเวลามืดมีทัศนะวิสัยจำกัดจึงไม่สามารถเข้าตรวจสอบทุกพื้นที่ได้ หน่วยจึงได้จัดกำลังซุ่มเฝ้าตรวจไว้

ต่อมาเวลา 07.00 น. วันที่ 17 สิงหาคม 2555 จึงจัดกำลังเข้าพิสูจน์ทราบพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง ตรวจพบศพชายไม่ทราบชื่อ และที่อยู่ สภาพศพถูกแรงระเบิดร่างกายแหลกมีชิ้นส่วนศพกระจายอยู่ทั่วบริเวณที่เกิดเหตุ คาดว่าเป็นศพของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ประกอบวัตถุระเบิดผิดพลาด และได้เกิดการระเบิดขึ้น จึงได้ประสานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) ชุดรวบรวมหลักฐานด้านการข่าว ชุดพิสูจน์หลักฐานจังหวัดปัตตานี และชุดนิติวิทยาศาสตร์ ศขก.จชต. เข้าตรวจเก็บสารพันธุกรรม DNA พิสูจน์ทราบตัวบุคคล เพื่อขยายผลการปฏิบัติต่อไป

ล่าสุด เมื่อเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่หน่วยฉก.ทพ.44 ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ตายคือใคร

ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังแจ้งด้วยว่า ฉก.ทพ.๔๒ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2555 เมื่อเวลา 15.30 น. ชาวบ้านพบเห็นชายต้องสงสัย ขับขี่รถจักรยานยนต์ฮอนด้าเวฟ 125 สีดำไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มาจอดไว้บริเวณร้านจิ๋มกาแฟสด ถนนราษฎร์บารุง เขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แล้วลงจากรถเดินไปขึ้นรถจักรยานยนต์ซูซุกิ สวิง สีน้าเงิน ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ซึ่งชายต้องสงสัยอีกคนได้ติดเครื่องจอดรอก่อนขับขี่ออกไป ชาวบ้านจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าทาการตรวจสอบรถคันดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังน้ายาเคมีดับเพลิง น้ำหนักบรรจุน้ำยาเคมีขนาด 5 กิโลกรัมจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะรถที่ได้ดัดแปลง เจ้าหน้าที่ชุด EOD จึงเก็บกู้ไว้ได้ และนำวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง ส่งให้สถานีตำรวจภูธร (สภ.)สะบ้าย้อย ตรวจสอบและตรวจเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อขยายผลการปฏิบัติต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาที่ปรึกษาฯ เตรียมชง ครม. แก้ปัญหาอันตรายแร่ใยหินในวัสดุก่อสร้าง

Posted: 17 Aug 2012 09:51 AM PDT

17 ส.ค.55 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง "การติดตามความก้าวหน้าความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค" เนื่องจากวัสดุก่อสร้างบางชนิดที่ประกอบมาจากวัสดุที่เป็นใยหิน ซึ่งเมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่ง จะเกิดการเสื่อมสภาพและทำให้เส้นใยหินที่ผสมอยู่ในวัสดุประเภทต่างๆ ลอยกระจายฟุ้งไปในอากาศ ซึ่งใครก็ตามที่สูดดมเข้าไปก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ ขณะนี้ข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินมีความชัดเจน ในเรื่องของโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ รวมถึงการยกเลิกการใช้ในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ยังไม่ได้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการจัดการเรื่องดังกล่าวเลย สภาที่ปรึกษาฯ จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น

นางสาวทรงศิริ จุมพล นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึง การสร้างมาตรการที่จะทำให้ผู้บริโภครับรู้ประกาศ และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรประชาสัมพันธ์กับช่างก่อสร้าง หรือผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ คำเตือน ให้ตระหนักในความสำคัญ และอันตรายจากแร่ใยหิน เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายเดชา เมฆวิลัย ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานพัสดุและทางวิชาการนิติการ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึง
การกำหนดการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและการจัดจ้างของรัฐเกี่ยวกับสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ว่า มติ ครม. กำหนดให้สินค้าและบริการที่ทางราชการจะต้องจัดซื้อจัดจ้างหรือรับบริการทุกประเภท/รายการ ต้องผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับฉลากเขียว หรือได้รับใบไม้เขียว แต่เป็นการกำหนดเป้าหมายระดับหนึ่งเพื่อให้มีการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกณฑ์ข้อกำหนดฯ ดังกล่าวจะไม่เป็นการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติกับผู้เสนอขายสินค้าและบริการ โดยสินค้าและบริการที่เข้าเกณฑ์ข้อกำหนดจะต้องมีผู้ผลิต/จำหน่ายในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๓ ราย จึงจะถือว่าสมบูรณ์ ซึ่งในระเบียบไม่มีข้อจำกัดว่าอะไรซื้อได้ซื้อไม่ได้ จึงควรขอความร่วมมือจากภาครัฐให้ออกมาตรการควบคุมการซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพราะการออกมาตรการควบคุมเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ และการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ

ผศ.พญ.ดร.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า อันตรายของ
แร่ใยหินก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและปอดอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก ในเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามการใช้แร่ใยหินไปเลย

ในส่วนของประเด็น การพัฒนาการผลิตสินค้าไร้แร่ใยหินของภาคเอกชน ผู้ผลิตกระเบื้อง ผู้ผลิตเบรก คลัช
ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ควรเลิกการผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายให้เลิกใช้ดีกว่า เพราะส่งผลดีทั้งทางด้านสุขภาพ และทางด้านธุรกิจด้วย เนื่องจากประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลกก็ได้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว เราก็จะสามารถส่งออกสินค้าของเราเข้าไปยังประเทศเหล่านั้นได้ด้วย ในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน ควรให้ข้อมูลผู้บริโภค ถึงคุณสมบัติที่ดีของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินผ่านการสื่อสารที่หลากหลายช่องทาง และประทับตรา “ปลอดภัย ไม่มีใยหิน” บนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคทราบ

ในเวทีสัมมนามีข้อเสนอเพื่อให้มาตรการบรรลุผล ดังนี้

- ในส่วนการรื้อถอน และทำลาย ภาครัฐควรออกกฎหมาย และข้อปฏิบัติ ที่ชัดเจน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

- ควรทำการศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงแนวปฏิบัติเพื่อดูแลการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินด้วย

- ภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และการให้คำแนะนำผู้ที่เข้าไปรื้อถอนและทำลายสิ่งปลูกสร้างที่มีแร่ใยหิน

            - มีการดูแลด้านสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะคนงานที่เข้าไปรื้อถอน และทำลาย
ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายในการให้ความรู้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบ

            - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจ โดยมองด้านสุขภาพเป็นสำคัญ

            - หน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างทั่วถึง

คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคไทใหญ๋ ‘SNLD-หัวเสือ’ ฟื้นคืนชีพ เปิดสำนักงานกรุงย่างกุ้ง

Posted: 17 Aug 2012 08:11 AM PDT

 

 

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.55  พรรคสันนิบาตรแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy - SNLD) หรือ พรรคหัวเสือ ภายใต้การนำของ เจ้าขุนทุนอู อดีตนักโทษการเมืองในพม่า ทำพิธีเปิดสำนักงานพรรคประจำกรุงย่างกุ้ง อย่างเป็นทางการ มีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ กว่า 20 พรรค รวมถึงพรรค NLD ของนางซูจี และตัวแทนองค์กร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมนับร้อยคน

จายเล็ก โฆษกพรรค SNLD เปิดเผยว่า ระหว่างพิธีเปิดสำนักงานพรรค เจ้าขุนทุนอู ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ 3 เรื่อง เกี่ยวกับสถานการณ์เมืองในพม่า การยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าจากชาติตะวันตก และ สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ โดยระบุว่า การที่กลุ่มชาติพันธุ์สนองนโยบายสร้างสันติภาพกับรัฐบาลประธานาธิบดี เต็งเส่ง ซึ่งกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มมีการลงนามหยุดยิงนั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการแยกแผ่นดินหรือต้องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อตัวเอง หากแต่เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยวิธีการทางการเมืองและเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตนเอง

เจ้าขุนทุนอู ได้กล่าวถึงกรณีชาติตะวันตกผ่อนคลายการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าด้วยว่า ควรยกเลิกมาตรคว่ำบาตร แต่อยากให้พิจารณาตามความเหมาะสมไม่ใช่ยกเลิกหมดในทันที หากการเมืองมีการปฏิรูป รัฐบาลและประชาชนมีความร่วมมือกันชัดเจน มาตรการคว่ำบาตรจึงควรยกเลิกทั้งหมด ขณะเดียวกัน เขาได้กล่าวถึงสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิไม่มาก รัฐบาลยังคงคุมอำนาจส่วนใหญ่อยู่ เพื่อให้แต่ละรัฐแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเองนั้น ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ทุกรัฐควรได้รับสิทธิมากกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับพรรค SNLD หรือ "พรรคหัวเสือ" เป็นพรรคการเมืองไทใหญ่ที่เคยชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับสองรองจากพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่รัฐบาลพม่าขณะนั้นไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กระทั่งเมื่อปี 2548 เจ้าขุนทุนอู และผู้นำคนสำคัญของพรรค พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวการเมืองไทใหญ่คนอื่นๆ รวม 9 คน ถูกทางการพม่าจับกุม และเมื่อปี 2553 พรรค SNLD ได้ถูกยุบเนื่องจากไม่ยอมลงทะเบียนเข้าร่วมการเลือกตั้งเช่นเดียวกับพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยเผด็จการทหารพม่า

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรค SNLD ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 ได้ปรึกษาหารือกับสมาชิกพรรคยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ และเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พรรค SNLD ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการเลือกตั้งให้เป็นพรรคการเมืองถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง โดยพรรค SNLD มีกำหนดจะเข้าร่วมลงชิงชัยในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปี 2558

ปัจจุบัน พรรค SNLD มีคณะกรรมการกลาง 11 คน มีเจ้าขุนทุนอู เป็นประธานพรรค นายจายอ่อง เป็นรองประธานพรรค จายนุท เป็นเลขาธิการพรรค นายจายเล็ก เป็นโฆษกพรรค จายฟ้า เป็นฝ่ายประสานงาน ปัจจุบันพรรคมีสมาชิกรวมกว่า 1 พันคน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ยันไม่จ่าย 30 บาท ชี้ขัดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ

Posted: 17 Aug 2012 07:55 AM PDT

แถลงจุดยืนไม่ประสงค์จ่ายค่าบริการ 30 บาท แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ ระบุการเก็บค่าบริการ 30 บาท ขัดกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ เพราะจะกระทบต่อคนจน-คนจนที่สุด และแม้จะยกเว้นคนบางกลุ่ม แต่ก็ทำให้คนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ต่างกัน

(17 ส.ค.55) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงข่าวยืนยันว่าไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท หลังกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นนโยบายให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ร่วมจ่ายสมทบในการใช้บริการ โดยจะร่วมกันเคลื่อนไหวต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมร่วมกันยื่นบัตร “ไม่ประสงค์จะร่วมจ่าย 30 บาท แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ”

สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียม ร่วมจ่ายที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ครั้งละ 30 บาทนั้น ถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ” เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจนถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนที่มีรายได้ประจำ ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่มประชาชนที่ยากจน และประชาชนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติก็ตาม จุดนี้ทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ต่างกัน เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจนหรือเป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ

โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยืนยันว่า หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนไทย ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี ที่เท่าเทียมกัน ขอยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทตามวงเล็บ 21 แต่พร้อมบริจาคโดยสมัครใจ โดยให้ตั้งกล่องบริจาคไว้ที่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานบริการ

กชนุช แสงแถลง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพฯ กล่าวว่า รัฐบาลอ้างว่าการเก็บค่าบริการจะช่วยพัฒนาหน่วยบริการและลดการไปใช้บริการเกินจำเป็น แต่ข้อเท็จจริงคือ การเก็บ 30 บาทไม่ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง จากข้อมูลเมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30 บาท รวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดที่รัฐต้องจัดสรรเข้าระบบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพสถานบริการ การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น

“สำหรับประเด็นการไปใช้บริการแบบฟุ่มเฟือยที่ภาครัฐกล่าวอ้างนั้น ก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่เป็นความจริง คือ จากสถิติการมาใช้ผู้บริการระหว่างปีที่ร่วมจ่าย 30 บาทต่อครั้ง กับปี 2550 เป็นต้นมาที่ไม่มีการร่วมจ่าย ก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้น เพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้นตามภาวะความเจ็บป่วยที่สูงขึ้น นอกจากนี้การจะไปโรงพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายเอง เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียรายได้อื่นๆ"

นายชโลม เกตุจินดา ผู้ประสานงานภาคใต้ กล่าวถึงผลการจัดสมัชชารับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการในเขตภาคใต้ ว่าไม่เห็นด้วยกับการกลับมาเก็บ 30 บาท และความกังวลที่ชัดเจนที่สุดของประชาชน คือความขัดแย้งกันระหว่างผู้ให้บริการกับประชาชนที่จะเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้น หรือกลุ่มที่ต้องร่วมจ่าย

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะร่วมกันเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ พร้อมรวบรวมรายชื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคเหนือ และกลุ่มคนอิสานรักหลักประกันสุขภาพจะเคลื่อนไหวในวันที่ 22 ส.ค.นี้

อนึ่ง ประกาศดังกล่าว แบ่งกลุ่มบุคคลที่ยกเว้นไม่ต้องจ่าย 30 บาทได้ 5 หมวดใหญ่ๆ คือ 1.ผู้มีรายได้น้อย 2.กลุ่มวัย อายุ สภาพร่างกาย ใจ จิต มีจำนวน 5 ประเภท เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เด็กที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น เป็นต้น 3.กลุ่มคนที่ทำประโยชน์ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่นๆ จำนวน 12 ประเภท เช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหารผ่านศึก ฯลฯ 4.กลุ่มเฉพาะ/พื้นที่เฉพาะ จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักบวชในพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม รวมถึงครอบครัว แลประชาชนในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ระนอง กระบี่ พังงาและภูเก็ต 5.กลุ่มที่นอกเหนือจากข้อยกเว้นอื่นๆ จำนวน 1 ประเภท ได้แก่ บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: อาเซียนร่วมสมัย: พรมแดนใหม่ในยุคไซเบอร์

Posted: 17 Aug 2012 06:03 AM PDT

อาเซียนวีคลีย์สัปดาห์นี้ เปลี่ยนบรรยากาศมาฟังการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อ "อาเซียนร่วมสมัย: พรมแดนใหม่ในยุคไซเบอร์" โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาฟังการเปรียบเทียบลักษณะของรากเหง้าและความเชื่อมโยงกันของคนในอุษาคเนย์ครั้งอดีตกาลกับปัจจุบันและความแตกต่างระหว่างยุคสมัยที่เป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน

ฟังมุมมองจากการติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในโลกออนไลน์และปฏิกิริยาจากรัฐในประเทศสมาชิกอาเซียน ฟังการวิเคราะห์ความพยายามของรัฐต่างๆ ในอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว โดยละเลยประเด็นปัญหาพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากมาย

หัวข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายสาธารณะ "วิพากษ์วัฒนธรรมจากร่วมรากสู่ร่วมสมัย" ในเทศกาล "ASEAN FESTIVAL" ในวันที่ 16 ส.ค.2555 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการด้านภาษีเสนอจำกัดภาษี 'บีโอไอ' เพิ่มเงินอุดหนุนแก้ปัญหาความยากจน

Posted: 17 Aug 2012 04:07 AM PDT

ในงานเสนองานวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ เพื่อการปฏิรูป นักวิชาการจากกระทรวงการคลังเสนอจำกัดภาษีส่งเสริมการลงทุน ชี้นำภาษีประชาชนไปหนุนกลุ่มนายทุนโดยอาจไม่คุ้มกับผลกำไร พร้อมเสนอแก้ปัญหาความยากจนด้วย "เงินโอน แก้จน คนขยัน" 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 55 ราว 11.00 น. ในงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย (ร่าง) "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" โดยศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสนองานวิจัยเรื่อง "การปฏิรูประบบภาษี" โดยดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยปัณณ์เสนอว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเก็บภาษี โดยหากมีการปรับปรุงระบบภาษี จะทำให้ไทยสามารถเก็บได้เพิ่มอีกราวร้อยละ 5 ของจีดีพี คิดเป็นราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนรายจ่ายด้านสวัสดิการ เช่นการศึกษา และสาธารณสุขได้ 

ชี้ภาษีส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้เป็นแรงจูงใจหลักแก่นักลงทุน

เขาเสนอว่า ไทยควรยกเลิกภาษีส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เนื่องจากเป็นการนำภาษีประชาชนเพื่อไปธุรกิจรายใหญ่โดยไม่ได้คำนึงอย่างแท้จริงว่า ผลกำไรที่ได้คุ้มกับต้นทุนที่เสียไปหรือไม่ และยังเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบกิจการรายย่อยในประเทศด้วย 

"เรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุน งานวิจัยของสภาพัฒน์บอกว่า กลุ่มทุนอุตสาหกรรมมีอำนาจต่อรองสูงมาก ทำให้ลักษณะการเจริญเติบโตเอื้อต่อเจ้าของทุนมากกว่าเจ้าของแรงงาน"

"พอไปดูแชร์ในช่วงที่ผ่นมา การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์ สมมุติเรามีค่าตอบแทนสี่อย่าง ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร ตัวที่เป็นค่าจ้าง จะอยู่ที่เป็น 40% ส่วนตัวที่มองไม่เห็นเป็น unearned income ที่ไม่ได้ออกแรง คือ 60% ปรากฎว่าเจ้าของทุนเอาไป 60 เจ้าของแรงงานเอาไป 40 โดยประมาณ"  

โดยภาษีส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน ประกอบด้วยการยกเว้นภาษีนิติบุคคลและเว้นเงินปันผล 3-8 ปี การลดหย่อนเงินได้ภาษีบุคคลอีกสูงสุด 5 ปี การลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยแบ่งตามโซนต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายการลงทุนตามภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปัณณ์ชี้ว่า ในความเป็นจริง ภาษีส่งเสริมการลงทุนไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้มากนัก 

"ส่วนนโยบายเรื่องส่งเสริมการลงทุนให้กระจายสู่ภูมิภาค แต่ในความเป็นจริงการลงทุนกระจายอยู่ใน 5 จังหวัด ซึงเชื่อมโยงกับเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มี infrastructure ดีกว่า นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนมากชี้ว่า ส่วนใหญ่ที่นักลงทุนมาลงทุนจะดูที่อินฟาสรัคเจอร์ เรื่องตลาด และคุณภาพแรงงานเป็นหลัก ไม่ใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษี"

"นโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ปีหน้าจะลดภาษีเหลือ 20 มันคล้ายกับการสร้างเขื่อนเพื่อไปกั้นน้ำ คนที่อยู่วงนอก น้ำจะสูง ในขณะที่คนได้รับการยกเว้นภาษีที่อยู่วงใน มันจะค่อยๆ ขยายมากขึ้น ทำให้ภาระตกอยู่กับคนนอก ทั้งๆ ที่คนที่อยู่ภายใน เราให้ประมาณ 1000 โครงการต่อปี แต่คนที่อยู่วงนอก เรามีนิติบุคคล 3.7 แสนนิติบุคคล มันก็จะมีคำถามเรื่องความเป็นธรรมตามมา" 

โดยปัณณ์เสนอว่า การปรับลดภาษีนิติบุคคลที่รัฐบาลเสนอ ควรทำควบคู่ไปกับการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการส่งเสริมการลงทุน ว่ากำไรคุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ และชี้ว่าควรต้องจำกัดการให้สิทธิการลงทุนให้แคบลง โดยดูจากอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มากขึ้น

"ประเทศอื่นๆ ก็พยายามยกเลิกการยกเว้นภาษีนิติบุคคลหมดแล้ว และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยนั้นใจดีเกินไป และประสบการณ์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ใช่ปัจจัยในการดึงดูดเงินลงทุน ประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกตรงนี้หมดแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังยกเลิก"  

เสนอจำกัดการลดหย่อนภาษี เพิ่ม "เงินโอน แก้จน คนขยัน" 

ปัณณ์อภิปรายว่า การลดหย่อนภาษีในโครงสร้างภาษีไทยในปัจจุบัน ทั้ง LTF (Long Term Equity Fund - กองทุนรวมหุ้นระยะยาว), RMF (Retirement Mutual Fund - กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ), ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย, ประกันชีวิตและอื่นๆ อีกกว่า 20 รายการ ทำให้การเก็บภาษีมีความซับซ้อนมากขึ้นและนำไปสู่ความไม่เป็นธรรม ถึงแม้การเว้นการเก็บภาษีเช่นนี้จะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจในบางภาคส่วน แต่หากมาดูจริงๆ จะพบว่าทำให้การเก็บภาษีไม่มีอัตราก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น และคนรวยกลับได้ประโยชน์จากการลดหย่อนสูงมากกว่า เนื่องจากสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ทั้งนี้ เขาเสนอให้จำกัดแนวทางเงินค่าลดหย่อนภาษี ควบคู่ไปกับการจำกัดการใช้สิทธิลดหย่อนเป็นรายกรณี

นอกจากนี้ ในการแก้ปัญหาความยากจน เขายังเสนอให้เพิ่ม "เงินโอน แก้จน คนขยัน" (Earned income tax credit) ในลักษณะ negative tax income เพื่อหนุนกลุ่มคนยากจนลดหลั่นตามรายได้ และเป็นแรงจูงใจให้คนอยากทำงานและยื่นแบบภาษีมากขึ้น เพราะจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ปัณณ์อธิบายว่า การจัดสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินเบี้ยคนชรา พบว่า คนจนได้ประโยชน์จากสวัสดิการน้อยกว่าคนไม่จน และทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากเกินจำเป็น เพราะไม่ทราบสถิติคนจนที่แน่นอนและจำกัดเส้นความยากจนไว้ค่อนข้างต่ำ

ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ยังเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งโดยรัฐบาลกลาง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการผลักดันการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน่าจะเกิดได้ยาก จึงอาจจะเริ่มจากครัวเรือนที่มีทรัพย์สิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.65 ของครัวเรือนทั้งหมดในประเทศ หากสามารถเก็บได้ อาจจะเก็บรายได้ราว 30,000 ล้านบาท  

ซึ่งในข้อเสนอนี้ ผู้วิจารณ์ รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่าควรจำกัดให้ชัดเจนว่าภาษีมั่งคั่งคืออะไร เก็บจากทรัพย์สินชนิดไหนได้บ้างเพื่อความชัดเจน เนื่องจากเป็นฐานภาษีที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บมากกว่าเพื่อใช้ในการพัฒนาบริการต่างๆ ในท้องถิ่น

นวลน้อย ยังเสนอด้วยว่า ควรยกเลิกการเก็บภาษี LTF เพราะไม่มีจุดประสงค์ใดอื่นนอกจากสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น โดยหากตลาดหลักทรัพย์มีแรงจูงใจมากเพียงพอนักลงทุนก็จะไปลงทุนเอง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุสลิมหลายประเทศเตรียมแล่นเรือมอบสิ่งของช่วยโรฮิงยา

Posted: 17 Aug 2012 02:36 AM PDT

สัมภาษณ์อาจารย์อามีน มันยามีน จากคณะกรรมการอุลามะห์แห่งเอเชีย (SHURA) และ Mohd Azmi Abdul Hamid ชาวมาเลเซีย ประธานโครงการ Humanitarian Flotilla to Arakan

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ประชาไท สัมภาษณ์อาจารย์อามีน มันยามีน จากคณะกรรมการอุลามะห์แห่งเอเชีย (SHURA) และ Mohd Azmi Abdul Hamid ชาวมาเลเซีย ประธานโครงการ Humanitarian Flotilla to Arakan ซึ่งเปิดเผยว่าหลายองค์กรในมาเลเซียได้ระดมความช่วยเหลือประกอบด้วยอาหาร ยา และเต็นท์ น้ำหนักราว 400 ตัน เพื่อส่งมอบให้กับชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกันผ่านทางท่าเรือเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ผ่านทะเลอันดามัน ไปยังท่าเรือเมืองซิตตะเหว่เมืองหลวงของรัฐอาระกัน ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวเคยติดต่อทางการพม่าเพื่อส่งสิ่งของช่วยเหลือโดยเส้นทางบกแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุญาต ทางกลุ่มจึงตัดสินใจใช้เส้นทางเรือแทน

โดยจะแล่นเรือออกจากปีนังในเดือนกันยายนนี้ และจะใช้เวลาไป-กลับทั้งสิ้นประมาณ 10 วัน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกับคณะบรรเทาทุกข์ประมาณ 200 คน โดยสารไปกับเรือลำนี้ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางการพม่ายังไม่อนุญาตให้คณะดังกล่าวเข้าไปสังเกตการณ์ภายในรัฐอาระกัน โดยเบื้องต้นคณะทำงาน "Humanitarian Flotilla to Arakan" จะใช้วิธีขนถ่ายสิ่งของช่วยเหลือลงไปที่ท่าเรือเมืองซิตตะเหว่ก่อน แล้วให้อาสาสมัครในรัฐอาระกันกระจายสิ่งของช่วยเหลือ

นอกจากเรียกร้องให้ยุติการเข่นฆ่าแล้ว Mohd Azmi Abdul Hamid ยังเปิดเผยด้วยว่า และรัฐบาลพม่าควรอนุญาตให้องค์กรต่างประเทศเข้าไปพื้นที่รัฐอาระกัน เพื่อสังเกตการณ์และสืบสวนข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้นำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข่นฆ่าจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้เกิดการจลาจลระหว่างชาวยะไข่และชาวโรฮิงยา ในพื้นที่รัฐอาระกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำให้มีทั้งชาวยะไข่และชาวโรฮิงยาเสียชีวิตรวมกันกว่า 90 คนจากตัวเลขของทางการ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศเชื่อว่าน่าจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น ขณะที่มีผู้อพยพภายในประเทศแล้วหลายแสนคน

ขณะที่ล่าสุด องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ IOC ซึ่งมีสมาชิก 57 ชาติ ได้มีมติเมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ประณามการใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกัน ที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อย ชาวมุสลิมโรฮิงยา และการปฏิเสธไม่ยอมรับในสิทธิความเป็นพลเมือง และให้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อพิจารณา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เหวง”จี้ รมว.ยุติธรรมส่งคำประกาศรับ ICC ให้นายกฯ แดงย่อยเห็นต่างให้สัตยาบันชัวร์กว่า

Posted: 17 Aug 2012 02:15 AM PDT

หวังนำ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ขึ้นศาลโลกสั่งฆ่าประชาชน ซัด ปชป.สร้างฉากดันรัฐลงสัตยาบัน ดันแกนนำพรรครอดคดี ขณะที่แดงกลุ่มย่อยยื่นรายชื่อต่อรัฐสภาให้สัตยาบันฯ ชี้แม้ อภิสิทธิ์รอด แต่ทั้งนี้ชัวร์และป้องกันเหตุในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 55  สำนักข่าวไทย รายงานว่า  นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ส่งมอบคำประกาศ “ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลาง กทม. ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 53” ให้แก่นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ

นพ.เหวง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเคยยื่นเรื่องนี้ผ่านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ทราบว่าต้องยื่นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อขอให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อผลักดันเรื่องนี้ในรูปแบบของรัฐบาล หากมีการส่งเรื่องนี้ไปที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็จะต้องเป็นไปตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อ 12 ข้อย่อย 3 ว่า รัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาลต้องร่วมมือกับศาลโลกโดยไม่ชักช้า หรือไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นอีกในอนาคต

นพ.เหวง กล่าวว่า ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้รัฐบาลลงนามในสัตยาบันรับเขตอำนาจศาลโลกเพื่อเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีฆ่าตัดตอนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 190 และเป็นคนละเรื่อง เพราะหากมีการลงนามในสัตยาบันก็จะไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ จึงเป็นเพียงเรื่องการสร้างฉากของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อที่จะให้ไม่สามารถเอาผิดต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในคดีสังหารประชาชนได้ แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ จริงก็สามารถยื่นหนังสือในลักษณะเดียวกับพวกตน โดยระบุเป็นกรณีของการฆ่าตัดตอน และยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งต่อรัฐบาลได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์รู้เรื่องนี้ดี แต่ไม่ทำ ขอท้าให้พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องได้เลย เพราะนายสุรพงษ์ พร้อมรับเรื่องอยู่แล้ว

ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูช่องทางการดำเนินการ หากพบว่าเป็นไปตามระเบียบจะเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป.-สำนักข่าวไทย

แดงกลุ่มย่อยยื่นรายชื่อรัฐสภาให้สัตยาบัน ชี้เป็นไปได้กว่าและป้องกันเหตุในอนาคต แม้อภิสิทธิ์จะรอด
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 55 สหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน(Union for People’s Democracy) ได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นจดหมายและรายชื่อประชาชน 6,000 กว่ารายที่เข้าชื่อต่อรัฐสภาเพื่อให้ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court หรือ ICC) โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 มารับ โดยทาง สหภาพฯ ย้ำว่าทำเพื่อทุกกลุ่มไม่ว่าสีใดเพื่อป้องกันการปราบปรามประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะไม่สามารถนำนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาลงโทษจากกรณีการสลายการชุมนุม เมษา-พ.ค. 53 ก็ตาม โดยทางรองประธานสภาฯแจ้งว่ากับทางผู้เข้ายื่นรายชื่อว่าตามกระบวนการจะต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนเพื่อตรวจสอบรายชื่อ โดยในระหว่างนี้ทาง สหภาพฯ จะมีการล่ารายชื่อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ

 

นายวิสุทธิ์ ​ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รับรายชื่อและจดหมาย ภาพโดย ม้าเร็ว สปีดฮอสทีวี

 

ผศ.ดร.ศิลป์ ราศรี ที่ปรึกษาสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตามที่ได้ศึกษาการที่จะเอานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นศาลมันทำไม่ได้เลย การที่จะให้รัฐบาลลงนามฝ่ายเดียว รับเขตอำนาจศาล ICC นั้น ทำไม่ได้ เพราะ กฎของศาล ICC มีอยู่ว่าถ้าศาลภายในประเทศยังทำงานได้อยู่เขาจะไม่เข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าศาลภายในประเทศไม่ทำงานหรือไม่ตั้งใจทำงาน ศาล ICC ถึงจะเข้ามาแทรกแซงได้ และปัญหามีอยู่ว่าเขามีความกังวลว่าศาลไทยทำงานในนามพระปรมาภิไธย ถ้าหากไปให้ศาล ICC เข้ามาแทรก มันจะเป็นการดูไม่บังควร เพราะฉะนั้นทางเราจึงเห็นว่ามีทางเดียวคือการให้รัฐบาลไปลงสัตยาบัน เป็นรัฐภาคี เพื่อป้องกันเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคต ลูกหลานเราจะได้ไม่ถูกเข่นฆ่าอีกต่อไป แม้ว่าเรื่องนายอภิสิทธิ์จะทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

สำหรับเหตุที่ได้รายชื่อเพียง 6,000 กว่ารายชื่อนั้น ผศ.ดร.ศิลป์ กล่าวว่าเนื่องจากมีการรวบรวมเพียงแค่อาทิตย์เดียว โดยในระหว่างที่ทางสภาตรวจสอบรายชื่อ 3 เดือนนี้ทาง สหภาพฯ จะดำเนินการล่ารายชื่อต่อไปเพื่อให้ครบ 1 หมื่น รายชื่อ โดยมีจุดรับรายชื่อที่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 ที่สถานี People Channel

 

 

เอกสารเปรียบเทียบความต่างระหว่างการให้สัตยาบันฯ กับการยอมรับเขตอำนาจศาล ICC

ของทางสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน

นางกรรณิการ์ นีลเซ่น ผู้แทนสหภาพเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงความกังวลจากสมาชิกของสหภาพฯ ในการให้ข่าวก่อนหน้ากับ ประชาไท (link ข่าว http://prachatai.com/journal/2012/08/41934 )ที่มีคำพูดของตนเองถึงกิจกรรมดังกล่าวก่อนหน้าว่า “เป็นคนเสื้อแดงแต่พี่ทำเพื่อคนทุกคน ทุกสี ทุกชาติ ทุกศาสนา ถึงจะเป็นสีเหลืองสีแดงสีเขียว จะเป็นสลิ่มสิงคโปร์ลอดช่อง พี่ทำเพื่อทุกคน..” นั้นจะทำให้คนกลุ่มอื่นรู้สึกต่อต้านพวกตน จึงกล่าวย้ำถึงเจตนาในการทำกิจกรรมนี้ทำเพื่อทุกคนทุกสี จึงของอภัยในการใช้คำดังกล่าวมาด้วย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น