โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กลุ่มไม่เอาสงครามฯ เรียกร้องสันติภาพในวันแห่งความรัก

Posted: 14 Feb 2011 12:39 PM PST

วันนี้ (14 ก.พ.54) เวลา 18.00 น. กลุ่ม “ไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ” จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านสงครามที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชายุติการสู้รบบริเวณชายแดน

กิจกรรมมีการนำผ้าสีขาวขนาดใหญ่ปูบนพื้นเพื่อให้ร่วมกันเขียนข้อความต่อต้านสงคราม มีการชูป้ายข้อความเรียกร้องสันติภาพ และแจกใบปลิวเชิญชวนผู้ที่สัญจรไปมาเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งมีการแจกดอกกุหลาบสีแดงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำมาวางเรียงเป็นรูปวงกลมสัญลักษณ์ของสันติภาพ
 
กิจกรรมครั้งนี้มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้ามาสนทนาและร่วมในการรณรงค์ดังกล่าวนี้ด้วย กิจกรรมยุติลงในเวลาประมาณ 19.30 น.
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานหลักพันเดินเท้าเข้ากรุงฯ จี้ รัฐฯ แก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน

Posted: 14 Feb 2011 12:13 PM PST

คนงานร่วมสองพันคนจากบริษัทแม็กซิสฯ-บริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์-บริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล เดินเท้าต่อไป ก.แรงงาน หลังตั้งต้นเดินเท้าจากระยองมากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.หวังให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน พ้อยื่นหนังสือมาหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ภาพบางส่วนจาก: Photos Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History

เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ. 54 คนงานเกือบสองพันคนจากบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตยางรถยนต์ ที่จ.ระยอง พนักงานของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และพนักงานของบริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล จำกัด ผู้ผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศ ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มเดินเท้าจากระยองตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ออกเดินทางจากที่ปักหลักชุมนุมที่โรงงานไม้อัดไทย ถ.สรรพาวุธ โดยใช้เส้นทาง แยกบางนา-สุขุมวิท-ราชประสงค์-ราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

สำหรับสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2553 โดยอ้างเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องปิดซ่อมแซม แต่กลับมีการนำแรงงานข้ามชาติและแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา มีการลดสวัสดิการของพนักงานลงเรื่อยๆ ทั้งที่บริษัทมีกำไรมากขึ้นมหาศาลจากปีก่อน

ธนชัย ที่รักษ์ รองประธานสหภาพแม็กซิส ประเทศไทย เล่าว่าวันที่อ้างว่าเครื่องจักรเสียนั้น มีการจ้างชายชุดดำมาปิดทางเข้าและกั้นรั้วสังกะสี ทำให้พวกตนต้องไปชุมนุมในบริเวณอื่น โดยที่ผ่านมา ได้เรียกร้องไปยังแรงงานจังหวัดแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เห็นใจพวกตนบ้าง เพราะสิ่งที่ต้องการคือได้กลับเข้าทำงานเท่านั้น พร้อมตัดพ้อด้วยว่าทั้งที่พวกตนก็เสียภาษี แต่ไม่เคยได้รับการดูแลเลย

สำหรับสหภาพแรงงาน ฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย ถูกนายจ้างประกาศปิดงานหลังไม่สามารถตกลงเรื่องข้อเรียกร้องได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 มีหมายศาลให้ตัวแทนทั้ง 15 คนขึ้นศาลโดยอ้างว่าพาพวกปิดถนนหน้าบริษัท ศาลมีคำสั่งกักขังตัวแทนทั้ง 15 คน ตั้งแต่วันที่ 9-16 ก.พ. โดยล่าสุดได้ประกันตัวตัวแทนผู้หญิง 2 รายซึ่งถูกฝากขัง 2 วัน แต่ตัวแทนชายอีก 13 คนยังไม่ได้รับการประกันตัวและอยู่ในชั้นอุทธรณ์

ชรัมภ์ บุญสังข์ สมาชิกสหภาพแรงงานฟูจิตสึฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลขบวนของคนงานฟูจิตสึในครั้งนี้ กล่าวว่า การกระทำของนายจ้างนั้นขัดแย้งกัน ทั้งที่เมื่อตกลงเรื่องข้อเรียกร้องไม่ได้ นายจ้างเป็นฝ่ายปิดงานก่อน ลูกจ้างจึงมีมตินัดหยุดงาน แต่นายจ้างได้อ้างต่อศาลว่าจะฟ้องร้องแกนนำที่ทำให้กิจการได้รับความเสียหาย  

นอกจากนี้ ชรัมภ์กล่าวถึงสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ด้วยว่าขณะที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน แต่กลับไม่เคยตรวจสอบเลยว่าคนงานซึ่งทำงานอย่างเหนื่อยยากได้อะไรตอบแทนบ้าง 

ส่วนบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด หลังบริษัทเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 75% จนกว่าบริษัทฯจะปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จ และเปิดทำการใหม่ภายในเดือน ธ.ค. 2553 แต่การจ่ายค่าจ้างกลับผิดนัดมาตลอด และวันที่ 21 ม.ค.2554 บริษัทฯ ก็ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานทุกคน แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 

ตัวแทนพนักงานบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด อายุงาน 14 ปีกล่าวว่า นายจ้างได้ยื่นข้อเสนอจ่ายเงิน 6 ล้านบาทให้พนักงาน 500 กว่าคน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเมื่อคำนวณค่าชดเชยบวกกับค่าค้างจ่ายต่างๆ แล้ว พวกตนควรจะได้รับเงินทั้งสิ้นประมาณ 61 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย พวกตนก็พร้อมเจรจาลดหย่อน โดยที่ผ่านมาเคยขอเป็น 20 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ 1 ครั้งและกระทรวงแรงงาน 2 ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ตัวแทนของพนักงานบริษัทพีซีบี เซ็นต์เตอร์ ระบุด้วยว่า พนักงานแต่ละคนที่ถูกลอยแพนั้น อายุงาน 10 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ละคนอายุ 35-44 ปี หางานใหม่ก็คงจะยาก สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพอื่นๆ บริจาคเงินช่วยเหลือด้วย 

ตลอดเส้นทาง มีการแจกเอกสารและประกาศชี้แจงกับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นระยะๆ ถึงสาเหตุของการเดินขบวนครั้งนี้โดยแถลงการณ์ร่วมของลูกจ้างทั้งสามบริษัทระบุ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.  กรณีของบริษัทแม็กซิสฯและฟูจิตสึฯ ให้หาข้อยุติในข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นเพื่อให้พนักงานได้กลับไปทำงานทุกคน และให้นายจ้างยอมรับการรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง

2. กรณีบริษัทพีซีบีฯให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน2541กรณี ปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างกรณีเกิดเพลิงไหม้มีผู้เสียชีวิตและกรณีนายจ้างค้าง จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย

3. ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนกรณีที่นายทุนต่างชาติมาลงทุนแต่ไม่ ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานและนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่ แรงงานไทยก็ไม่ได้ขาดแคลนตามที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายทุนรับแรงงานข้ามชาติ มาทำงานแทนแรงงานไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของคนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่ดูแลลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิอย่าปล่อยให้นายทุนข้ามชาติที่ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมมาเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานไทย ซึ่งขัดกับนโยบายที่รัฐให้ไว้กับประชาชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เตรียมเข้ากรุงฯ ชุมนุมใหญ่16 ก.พ.นี้

Posted: 14 Feb 2011 11:32 AM PST

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับแรกรับวาเลนไทน์ “ทวงสัญญาความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาของคนจน” จวกรัฐบาลดองปัญหา มัวตั้งคณะกรรมการแต่ไม่ยอมลงมือแก้

แถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

 
แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 1
“ทวงสัญญาความเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาของคนจน”
 
ผลการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาของคนจนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผ่านกระบวนการตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานจำนวนหลายชุด ขณะนี้ยังคาราคาซัง ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงและสัมฤทธิ์ผลได้ ปัญหาคนจนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายรัฐ ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีความคืบหน้า ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดคดีคนจน ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนคดีความใหม่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น การถูกกีดกันสิทธิในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ อีกทั้งปัญหาที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ส่งผลในทางลบกับวิถีชีวิตของชุมชน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ และไม่มีแนวทางแก้ไขจากรัฐบาล
 
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” อันประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล), และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาของคนจนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ที่แนบในหนังสือ ที่ ขปส.1/2554 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554
 
ปัญหาและข้อเสนอเหล่านี้ ประกอบด้วย ข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลสั่งการอย่างเร่งด่วน 28 กรณี และข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด 7 กลุ่มกรณี อันประกอบไปด้วย ปัญหาด้านนโยบายที่ไม่สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายโฉนดชุมชน ที่หน่วยงานราชการ 5 กระทรวงหลักและกรุงเทพมหานคร ไม่ยอมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำโฉนดชุมชน ปัญหาคดีความคุกคามคนจน ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนกับที่รัฐ ปัญหาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าและโรงโม่หิน ปัญหาสัญชาติ และปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
 
ณ วันนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากรัฐบาล ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อผลักดันให้รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาประชาชน ให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงขอแจ้งมายังรัฐบาลและพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านว่า ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ที่จะถึงนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจากทั่วประเทศ จะเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อปักหลักทวงถาม ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาคนจน จนกว่าจะได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ
 
ด้วยความรักและสมานฉันท์ในหมู่พี่น้องคนจน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
14 กุมภาพันธ์ 2554
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช: ความเป็นจริงจากมุมมองของสหภาพยุโรป

Posted: 14 Feb 2011 11:11 AM PST

“มูลนิธิชีววิถี” เผยข้อมูลวิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทยที่ชี้ถึงนโยบายและมาตรการความปลอดภัย “สองมาตรฐาน” ระหว่างพืชผักที่บริโภคในไทยกับที่ส่งไปขายยังสหภาพยุโรป รวมถึงรากเหง้าของปัญหาที่ถูกระงับการนำเข้าซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนสูงมากเท่านั้น

เอกสารเรื่อง “วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช: ความเป็นจริงจากมุมมองของสหภาพยุโรป” ยังสะท้อนปัญหาแท้จริงที่ดำรงอยู่คู่สังคมไทยที่ว่า เราไม่เคยมีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเลย ทั้งๆ ที่สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว
 
มากกว่านี้เอกสารชิ้นนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกำกับควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนับหมื่นรายการที่จะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ด้วย
 
000
 
จากมาตรการแบนตัวเองในการส่งออกพืชผัก 16 ชนิดไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมาตรการตรวจเช็คคุณภาพผักและผลไม้ส่งออก 100% ของกรมวิชาการเกษตร ในช่วงต้นปี 2554 ได้บ่งชี้ถึงวิกฤตเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินค่ามาตรฐาน (MRLs) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกผักผลไม้ของไทยไปยังสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่ากว่า 58 ล้านยูโร (2,785 ล้านบาท) ต่อปี [1] อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น
 
 
วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นได้ถูกส่งสัญญาณจากสหภาพยุโรปตลอดหลายปีที่ผ่านมา เฉพาะอย่างยิ่งหากวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของระบบเตือนภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) ที่มีการบันทึกข้อมูลการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักที่ส่งมายังสหภาพยุโรป พบว่า ปัญหาสารเคมีการเกษตรตกค้างในผักและผลไม้ของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจำนวนการแจ้งเตือนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปี 2553 ได้เพิ่มสูงกว่าสถิติในปี 2552 เกือบ 3 เท่าตัว แซงหน้าจำนวนการแจ้งเตือนของสหภาพยุโรปต่อประเทศตุรกี และประเทศไทยได้กลายเป็นแชมป์ผู้ส่งออกผักผลไม้ที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป
 
 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าประเทศไทยมีการส่งออกพืชผักและผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปในปริมาณน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการส่งออกของประเทศอื่นๆที่มีความรุนแรงของปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ใกล้เคียงหรือน้อยกว่า เช่น ในปี 2552 ไทยมีปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ประมาณ 27,000 ตัน ในขณะที่ตุรกีส่งออกสูงถึง 1,249,000 ตัน (มากกว่าไทยถึง 46 เท่า) แต่มีการตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างมากกว่าไทยเพียง 11 ครั้ง ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูงต่อปี ได้มีการตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างเพียง 1 ครั้งในปี 2552 และ 2 ครั้งในปี 2553 แม้ว่ามีการส่งออกผักผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 800,000 ตันต่อปี [2]
 
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกตรวจพบจากพืชผักส่งออกของไทยในปี 2553 มีถึง 23 ชนิด โดยสารเคมีที่พบมากที่สุดคือ omethoate ที่มีการพบถึง 9 ครั้ง รองลงมาคือ dimethoate และ indoxacarb 6 ครั้ง ส่วน carbofuran และdicrotophos ซึ่งมีพิษร้ายแรงนั้นถูกตรวจพบมากถึง 5 ครั้ง และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ในปี 2552 ยังมีการตรวจพบสาร EPN ที่ไม่เคยมีการอนุญาตให้จดทะเบียนในสหภาพยุโรปเลยถึง 7 ครั้ง
 
 
รายงานของสหภาพยุโรป สะท้อนปัญหาระบบการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทย
 
การพบการตกค้างของสารเคมีเกษตรในปริมาณมากของผักและผลไม้ส่งออกของไทย ทำให้หน่วยงาน Food and Veterinary Office ของสหภาพยุโรป จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่มายังประเทศไทย เพื่อประเมินมาตรการการจัดการและควบคุมปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยมีการเดินมายังประเทศไทยครั้งแรกในช่วงต้นปี 2549 และได้ระบุไว้ในรายงาน DG (SANCO)/8002/2006–MR Final ถึงการควบคุมการตลาดและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยว่า ยังขาดความเข้มงวด ไม่มีระบบการจดบันทึก และไม่มีการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง
 
ในรายงานดังกล่าว ยังได้กล่าวถึงความหละหลวมในการควบคุมระบบการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งในปี 2549 มีจำนวนกว่า 16,900 ทะเบียนจากสารออกฤทธิ์ประมาณ 400 ชนิด และอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใหม่ประมาณ 2,500-4,850 ครั้งต่อปี นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา [3]
 
คณะทำงานดังกล่าวยังได้วิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของกรมวิชาการเกษตรที่ขาดแผนการที่ชัดเจนและเพียงพอในการควบคุมการตลาดและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะได้รับคำอธิบาย [4] แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่มีอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะทำให้คณะทำงานดังกล่าวมั่นใจต่อมาตรการและการแก้ปัญหาจากฝ่ายไทย
 
ในส่วนของผู้ค้าปลีกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น ส่วนใหญ่พึ่งพาข้อมูลจากแผ่นพับโฆษณาสินค้าของบริษัทขายสารเคมีในการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่อเกษตรกรมากกว่าจากการฝึกอบรมโดยหน่วยงานรัฐ ในกรณีที่มีการทำผิดกฎระเบียบ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะรายงานต่อหัวหน้าของตน แต่มิได้มีระบบการจดบันทึกใดๆ การจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยจึงไม่มีการควบคุมที่ชัดเจนแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่มีการตรวจพบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน ณ จุดนำเข้า เท่านั้น ที่ผู้ประกอบการจะถูกยึดใบอนุญาตการนำเข้า
 
ข้อสรุปสำคัญจากการประเมินผลของคณะทำงานจากสหภาพยุโรปคือ การที่ประเทศไทยมีระบบตรวจสอบหาสารตกค้างในพืชผักที่จำกัด มีการตรวจสอบเพียงพืชเศรษฐกิจบางรายการ และวิเคราะห์หาสารเคมีเกษตรตกค้างไม่กี่ชนิด อีกทั้งยังมีช่องโหว่ในกลไกการควบคุมทั้งการให้ข้อมูลต่อเกษตรกร การค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่หละหลวม ส่งผลให้มีการขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก
 
สำหรับการเดินทางเข้ามาประเมินระบบการควบคุมปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างของคณะทำงานของสหภาพยุโรปครั้งที่สองในช่วงต้นปี 2551 นั้น คณะทำงานเห็นความก้าว หน้าบางส่วน เช่น การจัดฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (stakeholders) และการพัฒนาและเพิ่มระบบการควบคุมเกษตรกรผู้ใช้ โรงบรรจุผักส่งออก และผู้ส่งออก [5] แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวก็มิได้ทำให้ทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดลงแต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาที่คณะผู้ตรวจจากสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบในครั้งแรกจนถึงครั้งที่สอง มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างถึง 24 ครั้ง โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบนั้น ล้วนแล้วแต่มีพิษภัยร้ายแรงแทบทั้งสิ้น
 
แม้ว่าจะมีการระบุถึงปัญหาด้านทะเบียนสารเคมีเกษตรในรายงานครั้งก่อน แต่คณะทำงานของสหภาพยุโรปยังพบว่า กรมวิชาการเกษตรยังคงปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น 3,400 ทะเบียน รวมเป็นจำนวนสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดเป็น 19,300 ทะเบียนในปี 2551
 
ยิ่งไปกว่านั้น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจพบในผักส่งออกจากประเทศไทย ยังมีการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ได้ห้ามใช้ในประเทศหรือห้ามใช้ในพืชบางชนิด และยังไม่มีการกำหนดค่า MRLs สำหรับการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างให้ครอบคลุมพืชผักหลากชนิดในตลาดภายในประเทศ
 
ความอ่อนแอของระบบการควบคุมการขึ้นทะเบียน การควบคุมผู้จัดจำหน่าย และการขาดการให้ความรู้และข้อมูลที่เพียงพอต่อเกษตรกร ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่การประเมินระบบการควบคุมปัญหาของไทยโดยคณะทำงานของสหภาพยุโรปครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2553 ยังคงพบช่องโหว่และความหละหลวมในระบบการควบคุม [6] ซึ่งทางคณะผู้ประเมินจากสหภาพยุโรปได้ระบุอย่างชัดเจนว่ากรมวิชาการเกษตรและโรงบรรจุผักส่งออกให้ข้อมูลต่อเกษตรกรไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินค่า EU MRLs
 
 
บทสรุป
 
ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากตัวเลขการแจ้งเตือนผักและผลไม้ปนเปื้อนสารเคมีของสหภาพยุโรปที่พบว่าสินค้าจากประเทศไทยมีจำนวนสูงที่สุดในโลก ทั้งๆที่มีปริมาณ การส่งออกผักผลไม้ที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
 
ปัญหาของสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ส่งออกยุโรปเป็นเพียงสัญญาณเตือนภัยของวิกฤตเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคคนไทย
 
สังคมไทยควรแปรคำเตือนและมุมมองของสหภาพยุโรปเพื่อนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูประบบการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การทำงานของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ผู้ค้าปลีก รวมถึงเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างตลอดสาย
 
ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกเท่านั้น แต่เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทุกคน
 
 
............................................................................
 
[1] ข้อมูลปี 2552 จาก EUROSTAT/COMEXT เมื่อ 15 มิถุนายน 2553
[2] EUROSTAT/COMEXT เมื่อ 15 มิถุนายน 2553
[3] ปัจจุบัน ไทยมีทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารออกฤทธิ์รวมกว่า 27,000 รายการ
[4] กรมวิชาการเกษตรได้ให้คำตอบในประเด็นนี้โดยชี้ถึง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ให้มีการตรวจร้านค้าสารเคมีเกษตรอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี และการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามกฎหมาย
[5] DS(SANCO) 2008-7840 – MR Final
[6] DS(SANCO) 2010-8575 – MR Final
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จม.จาก “นศ.-ประชาชนจ.อุบลฯ” ถึง “กรรมการสิทธิฯ” ชี้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Posted: 14 Feb 2011 08:34 AM PST

13 องค์กร-เครือข่ายคนอุบลฯ ยื่นจดหมายร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด จี้ระงับการก่อสร้างโดยด่วน ให้คนในพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง ไม่ให้ กฟผ.หรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 เครือข่ายไม่เอานิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ประกอบด้วย นักศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรชุมชน และภาคประชาชน ยื่นจดหมายร้องเรียนต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ อาคารกาญจนาภิเษก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พร้อมทำสำนำส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
 
สืบเนื่องจาก ข่าวการเสนอให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดลำดับแรกสุดในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2010 ที่บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5,000 เมกกะวัตต์ และความคืบหน้าล่าสุดจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ ทำให้ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีที่ติดตามข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เกิดความห่วงใยต่อการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยว่าอาจกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
 
จดหมายดังกล่าวระบุเหตุผลการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า 1.กระบวนการประชาสัมพันธ์ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง 2.ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้ กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 2538 เป็นหลักฐานยืนยันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้นจัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
3) การคัดเลือกพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากมีข่าวระบุว่า เหตุผลที่เลือกจังหวัดอุบลราชธานีเนื่องจากมีประชาชนคัดค้านน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่กลับละเลยความไม่เหมาะสมหลายด้าน เช่นความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ การเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเขตชายแดน รวมทั้งการขนส่งและการกำจัดกากนิวเคลียร์ เป็นต้น
 
“ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีระงับและยับยั้งการก่อสร้างโดยด่วน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกในการสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเองในฐานะเจ้าของพื้นที่แทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน” จดหมายระบุ
 
จดหมายดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
จดหมายร้องเรียน
 
เรื่อง ร้องเรียนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
 
เรียน ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร (นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ)
 
สิ่งทีส่งมาด้วย สำเนาจดหมายร้องเรียนนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จำนวน 1 ฉบับ
 
ตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2010 ให้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5,000 เมกกะวัตต์ และได้มีข่าวการเสนอให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดลำดับแรกสุดในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยจะดำเนินการในเขตอำเภอสิรินธร ดังจะเห็นได้จากการจัดเวทีประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งมีการสำรวจพื้นที่ การทำงานมวลชนสัมพันธ์มาโดยตลอด จนกระทั่งมีความคืบหน้าว่าจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ นั้น       
 
เมื่อประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็ได้มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงใยต่อการดำเนินโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การที่ประชาชนชนคนอุบลราชธานีรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะควรได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีประเด็นที่จะขอร้องเรียนดังต่อไปนี้
 
1) ที่ผ่านมา มีการจัดสรรงบประมาณในด้านแผนงานด้านการสื่อสารสาธารณะและการยอมรับของประชาชน จำนวน 205 ล้านบาท แต่การประชาสัมพันธ์นั้นมุ่งเน้นให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และเลือกให้ข้อมูลกับประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งกระบวนการประชาสัมพันธ์เหล่านั้นไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
 
2) ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของรัสเซียที่มีการคาดการณ์ว่าประชาชนประมาณ 1 ล้านคนเสียชีวิตอันเป็นผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุครั้งนั้น แม้ในปัจจุบันเมืองพรีเพียต (Prypiat) อันเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ยังตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างและยังไม่สามารถควบคุมการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปแล้วถึง 25 ปีแล้ว นอกจากนี้จากการศึกษาค้นคว้า ยังพบอีกว่า แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่ข่าวคราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้าเคลียร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก เช่น ในเดือนธันวาคม 2538 ก็คือ กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุด ทั้งของญี่ปุ่นและของโลก หลังจากเปิดเดินเครื่องมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ก็เกิดอุบัติเหตุสำคัญจนต้องปิดโรงงานไม่มีกำหนด 3 ปี ความผิดพลาดในระบบระบายความร้อนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวทำให้โซเดียมเหลวรั่วไหลออกมาถึง 3 ตัน ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากเมื่อมันกระทบกับอากาศจะมีฤทธิ์ระเบิดรุนแรง หลังจากนั้นไม่นานก็มีอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งของญี่ปุ่น จนต้องปิดกะทันหัน โดยที่ก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่นๆ อีก โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นชนิดเดียวกับของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้อุบัติเหตุเกือบทุกชนิดที่เกิดกับญี่ปุ่น ก็เคยเกิดในสหรัฐอเมริกามาแล้ว (และมีแนวโน้มว่าจะเกิดต่อไป)
 
กรณีโรงไฟฟ้ามอนจูเป็นหลักฐานยืนยันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบล่าสุดยังไม่ใช่ข้อยืนยันว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยและวินัยของคนงานญี่ปุ่นนั้นจัดว่าเข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
3) การคัดเลือกพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากมีข่าวระบุว่า เหตุผลที่เลือกจังหวัดอุบลราชธานีเนื่องจากมีประชาชนคัดค้านน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่กลับละเลยความไม่เหมาะสมหลายด้านของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเขตชายแดน รวมทั้งการขนส่งและการกำจัดกากนิวเคลียร์ เป็นต้น ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงไม่น่าจะมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่กลับมีการเสนอว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด
 
ดังนั้น ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีระงับและยับยั้งการก่อสร้างโดยด่วน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกในการสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีมีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเองในฐานะเจ้าของพื้นที่แทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
1.นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
2.คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
3.นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
4.คณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
5.สภาองค์กรประชาชน
6.กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
7.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คป.สม.)
8.เครือข่ายคนฮักน้ำของ
9.กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
10.กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
11.กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
12.ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ
13.พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ เผยต้องการใช้สื่อของรัฐชี้แจง เพื่อให้ความรู้ประชาชน

Posted: 14 Feb 2011 06:14 AM PST

โฆษกพันธมิตรฯ อ้างมี “นายทหาร” ในทัพภาค 2 ได้นั่งตำแหน่งสำคัญเพราะ “ฮุนเซน” ผลักดัน จี้ให้ “ประยุทธ์” ตรวจสอบ เผยต้องการใช้สื่อของรัฐชี้แจงข้อมูล ด้าน “จำลอง” ฟ้องกลับตำรวจที่ทำคดีพันธมิตรฯ ก่อการร้ายเรียกค่าเสียหาย 220 ล้าน

วันนี้ (14 ก.พ.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนโดยฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีต่างๆ รวมทั้งการที่ฝ่ายการเมืองมีผลประโยชน์ในเรื่องพลังงานน้ำมันกับกัมพูชาจริงว่าหรือไม่
 
ปานเทพอัด “บิ๊กทหาร” ทัพภาค 2 ขึ้นตำแหน่งสำคัญเพราะ “ฮุนเซน”
นายปานเทพยังกล่าวว่า มีนายทหารคนหนึ่งในกองทัพภาคที่ 2 ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งสำคัญได้ เนื่องจากนายฮุนเซนผลักดันผ่านฝ่ายการเมืองไทย โดยนายทหารที่ว่านี้มีผลประโยชน์ตามแนวชายแดนทั้งบ่อนการพนัน น้ำมัน ไม้เถื่อน และรับเหมาก่อสร้าง ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่มีการเก็บส่วยราย เดือนไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างถนนขึ้นภูมะเขือที่กัมพูชาใช้เป็นฐานทัพ ยิงราษฎรไทย โดยใช้ผู้รับเหมาเป็นของนายทหารคนนี้
 
นายปานเทพยังกล่าวว่า “นายทหารคนนี้ยังได้ส่งข้าวสาร กุนเชียง หัวไชโป๊ว เสมือนเป็นส่วยให้แก่ผู้บังคับบัญชากัมพูชาทุกระดับ โดยเฉพาะกุนเชียงบุรีรัมย์เดือนละ 60 กล่อง ปัจจุบันนายทหารคนนี้หย่าขาดจากภรรยาแล้ว โดยมีเมียน้อย 4 คน คนหนึ่งเป็นชาวกัมพูชาทำหน้าที่ค้าขายน้ำมันกับฝั่งกัมพูชา รวมถึงแรงงานเถื่อนจากกัมพูชา” นายปานเทพกล่าว
 
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งทุกครั้งนายทหารกลุ่มนี้จะใช้กำลังทหารปิดหมู่บ้านเพื่อซื้อเสียงประชาชนให้แก่นักการเมืองคนหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่า มือปืนคนหนึ่งที่หนีคดียิงนายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลบหนีอยู่ที่กัมพูชา แต่สามารถเข้าและออกประเทศไทยได้ เนื่องจากนายทหารคนนี้เป็นผู้ดูแลอยู่ โดยมือปืนคนนี้ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของนายฮุนเซน และมีความสนิทสนมอย่างยิ่งกับนักการเมืองและฝ่ายทหาร
 
“พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. ต้องตรวจสอบว่า เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเหตุให้กองทัพอ่อนแอผิดปกติ จนไม่กล้าผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญตอบโต้ทหารกัมพูชาที่ยึดครองแผ่นดินไทย ทำร้ายราษฎรไทย” นายปานเทพกล่าว
 
 
เผยพันธมิตรฯ ต้องการใช้สื่อของรัฐชี้แจง
ต่อกรณีที่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเสนอตัวเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่าง พันธมิตรฯ กับรัฐบาล นายปานเทพกล่าวว่า ได้มีการประสานงานมาแล้ว ซึ่งตนยืนยันไปว่าในส่วนของการเจรจาเลยเวลาในการพูดคุยกันแล้ว ที่สำคัญที่ผ่านมามีการเจรจาหลายครั้งล้มเหลวทุกครั้ง ไม่เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้น หากสมาคมฯ มีความหวังดีและต้องการให้เกิดประโยชน์ในขณะที่มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่นั้น ควรเปิดเวทีให้ภาคประชาชนชี้แจงผ่านสื่อของรัฐ ชี้แจงกลับบ้างเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่ใช่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว
 
 
จำลองฟ้องกลับ-เรียกค่าเสียหาย 220 ล้าน ตำรวจทำคดี พธม.ฐานก่อการร้าย
นอกจากนี้ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินคดีที่กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 220 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
โดยโจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.53 จำเลยออกหมายเรียกโจทก์ และบุคคลอื่นอีกหลายคน และตั้งข้อกล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้ก่อการร้าย กรณีที่นายกมล น้อยทองเล็ก รับมอบอำนาจจาก ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานี ตำรวจราชาเทวะ ว่ามีกลุ่มพันธมิตรฯ 3,000 คนเดินทางเข้ามาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยังเข้าไปในอาคารผู้โดยสารชั้น 4 เป็นการฝ่าฝืนประกาศของท่าอากาศยานฯ และเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ของท่าอากาศยานฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 นอกจากนี้จำเลยได้แถลงข่าวยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหาผู้ก่อการ ร้าย และให้สัมภาษณ์ข่มขู่โจทก์ว่าหากไม่มาตามหมายเรียกจะออกหมายจับโจทก์ในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งการตั้งข้อหาร้ายแรงกว่าพฤติการณ์แห่งคดีเพราะโจทก์ไม่ได้ใช้กำลัง ประทุษร้าย หรือกระทำการอันใดให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
 
ท้ายคำฟ้องยังระบุด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ จงใจฝ่าฝืนทำให้โจทก์เสียหายหลายครั้ง จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 220 ล้านบาท และให้ลงโฆษณาในหนังสือทุกฉบับเป็นเวลา 30 วัน โดยศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 496/2554 โดยศาลชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นนำสืบและวันสืบพยานในวันที่ 25 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
 
โดยพล.ต.จำลอง กล่าวว่า มีความตั้งใจยื่นฟ้องนานแล้วตั้งแต่ที่ถูกออกหมายเรียก แต่ทนายความมีภารกิจมากจึงเพิ่งจะนำคดีมาฟ้อง พร้อมยืนยันการยื่นฟ้องศาลแพ่งไม่ใช่การแก้แค้นที่ถูก พล.ต.ท.สมยศ ออกหมายเรียกหลายคดี แต่กรณีวันที่ 8 ก.ค.53 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกคดีก่อการร้าย และระบุว่าชื่อตนกับพวก ทำให้ตนได้รับความเสื่อมเสียเป็นอันมาก เพราะทำให้สาธารณชนเข้าใจตนเป็นหัวหน้าก่อการร้าย และหัวหน้าซ่องโจร ซึ่งการเรียกค่าเสีย 220 ล้านจึงไม่มากเกินไปเพราะได้พิจารณาจากส่วนที่เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ และประวัติการทำงานของตนที่ผ่านมา รวมทั้งความศรัทธาของประชาชนจำนวนมากที่มีต่อตน
 
“ส่วนที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ออกหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ก.พ.นี้ กรณีละเมิดคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่หวงห้าม หากมีการออกหมายเรียกจริงก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่แกนนำพันธมิตรยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ทราบว่าจะเป็นคดีด้านความ มั่นคงหรือไม่ อย่างไรก็ดีแกนนำพันธมิตร ฯ และคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน พร้อมจะให้ความร่วมมือทุกขั้นตอน โดยจะไม่มีมวลชนเข้าไปกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่” พล.ต.จำลอง กล่าว
 
ที่มา: เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ [1], [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่ากดดันกลุ่มหยุดยิงเมืองลา ห้ามรถสินค้าเข้า-ออกพื้นที่อีกรอบ

Posted: 14 Feb 2011 05:48 AM PST

ทหารพม่าห้ามรถบรรทุกสินค้าทุกชนิดผ่านเข้า-ออกเขตพื้นที่กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA อีกรอบ พร้อมทั้งสั่งห้ามรถทัวร์จากไทยข้ามไปยังเมืองเชียงตุง ส่วนนักท่องเที่ยวยังสามารถไปได้ตามปกติ

 
14 ก.พ.2554 มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารพม่าประจำด่านตรวจท่าปิง สะพานข้ามแม่น้ำหลวย บนเส้นทางสายเชียงตุง - เมืองลา (เมืองที่ตั้ง บก.กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA) ได้ปิดห้ามรถยนต์บรรทุกสินค้าตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปผ่านไปมา การสั่งห้ามได้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีเพียงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์เท่านั้นที่ได้รับ อนุญาตผ่านไปมาได้
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา กองทัพภาคสามเหลี่ยมของพม่า ที่มีบก.อยู่ที่เมืองเชียงตุง ในรัฐฉานภาคตะวันออก ได้มีคำสั่งปิดด่านตรวจท่าปิงโดยห้ามรถบรรทุกสินค้าทุกชนิดผ่านเข้าออกเขตพื้นที่กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) แล้วครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นานได้เปิดอนุญาตให้รถบรรทุกขนาดเล็กไม่เกิน 4 ล้อ ผ่านไปมาได้ โดยการปิดห้ามรถบรรทุกสินค้าบนเส้นทางสายดังกล่าวของเจ้าหน้าที่พม่า หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นมาตรการกดดันกองกำลังเมืองลา (NDAA) ที่ปฏิเสธจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ตามข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่า
 
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ขณะนี้ทางการพม่าได้มีคำสั่งห้ามรถทัวร์จากประเทศไทยที่เดินทางข้ามจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปเมืองเชียงตุงด้วย แต่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองเชียงตุงยังสามารถเดินทางไปได้ตามปกติ
 
รัฐบาลทหารพม่าเริ่มปฏิบัติการกดดันกองกำลังหยุดยิงในรัฐฉานอีกครั้งด้วยวิธีปิดเส้นทางหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา กองบัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยมของพม่า มีคำสั่งห้ามรถยนต์ทุกชนิดผ่านสะพานท่าเปิม สะพานข้ามแม่น้ำหลวย (อยู่ด้านเหนือสะพานท่าปิง) เส้นทางผ่านอีกทางที่เข้าสู่พื้นที่กองกำลังว้า (UWSA) และกลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) ขณะเดียวกันได้มีคำสั่งปิดเส้นทางสายระหว่างเมืองเกซี – เมืองสู้ อันเป็นเส้นทางรถยนต์เข้าสู่บ้านไฮ ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเกซีด้วย
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
 
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเคลื่อนไหวพม่าเรียกร้อง รบ.อินเดียปล่อยนักโทษชนกลุ่มน้อย

Posted: 14 Feb 2011 05:40 AM PST

กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวพม่าออกมาประท้วงในกรุงนิวเดลี จี้ให้รัฐบาลอินเดียปล่อยตัวนักโทษชาวอาระกัน-กะเหรี่ยง 34 คนทันที ย้ำได้รับการยืนยันเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังถูกขังมานาน 13 ปี

 
เมื่อวันศุกร์ (11 ก.พ.54) ที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวพม่าได้ออกมาประท้วงในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียรีบปล่อยตัวนักโทษที่มีทั้งชาวอาระกันและชาวกะเหรี่ยงจำนวน 34  คนทันที หลังจากที่ทั้งหมดได้รับการยืนยันว่าบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาของทางการอินเดียตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า จะมีการประท้วงพร้อมกันทั้งในอังกฤษและบังกลาเทศเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทั้ง 34 คน
 
ทั้งนี้ นักโทษทั้งหมดถูกกุมขังมาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว โดยยังคงถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำ ในเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก
 
“ศาลได้ตัดสินพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ในนิวเดลี ได้ออกใบรับรองชั่วคราวให้แก่พวกเขาแล้วด้วย แต่ทำไมพวกเขาถึงยังต้องถูกกุมขังอยู่” นักเคลื่อนไหวจากพม่ากล่าว
 
ตามข้อมูลของนักเคลื่อนไหวระบุว่า นักโทษทั้ง 34 คน มาจากกลุ่มพรรคสหภาพแห่งชาติคะเรนนี (National United Party of Arakan - NUPA) และจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู โดยนักโทษทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอินเดียหลอกว่า จะจัดหาอาวุธและหาฐานที่มั่นในอินเดียแก่พวกเขา เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า แต่ท้ายสุดทั้งหมดถูกจับที่บริเวณหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ในน่านน้ำของอินเดีย เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2541
 
ดอกเตอร์ทินฉ่วย หนึ่งในรัฐมนตรีจากกลุ่มรัฐบาลผสมแห่งชาติสหภาพพม่า (National Coalition Government of Union of Burma - NCGUB) ได้เคยส่งหนังสือไปยังนายมานโมฮัน ซิงห์ ให้ปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด และมอบสถานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในอินเดียให้กับนักโทษเหล่านี้ เพื่อให้ยูเอ็นยอมรับนักโทษในฐานะผู้ลี้ภัย แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากรัฐบาลอินเดียจนถึงขณะนี้ (Mizzima 14 ก.พ. 54)
 
.........................................................................................................................................................
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อแคนาดารายงานพระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นผู้นำรวยที่สุดในโลก

Posted: 14 Feb 2011 02:59 AM PST

เว็บไซต์แวนคูเวอร์ซัน สื่อสายอนุรักษ์นิยมของแคนาดารายงานพระมหากษัตริย์ไทยครองอันดับหนึ่งผู้นำที่รวยที่สุดในโลก ระบุทรงถือครองที่ดินจำนวนมหาศาล รวมถึงที่ดินในกรุงเทพฯ กว่า 3,500 เอเคอร์

แวนคูเวอร์ซันรายงานโดยจัดอันดับผู้นำที่รวยที่สุดในโลกพร้อมประมาณการทรัพย์สินดังนี้

อันดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทย 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก พระชนมายุ 82 พรรษา ทรงเป็นผู้นำที่รวยที่สุดด้วยเช่นกัน ทรัพย์สินของพระองค์นั้นประกอบด้วยการถือครองที่ดินอย่างมหาศาลรวมไปถึงที่ดินประมาณ 3,500 เอเคอร์ในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยโต้แย้งการจัดอันดับให้พระองค์เป็นผู้นำที่รวยที่สุดในโลก โดยให้เหตุผลว่าทรัพย์สินหลายรายการนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์

อันดับที่ 2 สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของบรูไนเป็นปัจจัยที่ทำให้สุลต่านของบรูไนเป็นผู้นำที่รวยติดอันดับโลก และก็ใช้เงินไปกับรถยนต์หรู การจ้างไมเคิล แจ็กสันให้เปิดการแสดงเป็นการส่วนพระองค์เพื่อฉลองวันพระราชสมภพ 50 พรรษา ในปี รายงานของศาลแสดงให้เห็นว่าทรงจ่ายเงินค่าจ้างโค้ชแบดมินตันราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐ อีก 2 ล้านปอนด์สำหรับค่าฝังเข็มและนวด และค่าจ้างคนทำงานบ้านอีกประมาณคนละ 11 ล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับที่ 3. ชีกห์คาลิฟา บิน ซาเอด อัล นาห์ยัน ประมาณ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเป็นประเทศที่ถือครองน้ำมันมากติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก ชีค กาลิฟาห์ทรงจ่ายเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการสร้างศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการว่าจ้างแฟรงก์ เกอร์รี่ ผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์

อันดับที่ 4  พระราชาอับดุลลาห์ บิน อาบูล อาซิซ ของซาอุดิ อาระเบีย ประมาณ 21,000 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 5 ชีกห์มูฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มักทูม แห่งดูไบ ประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 6 ฮอสนี มูบารัก ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 7 ซิลวิโอ เบลุสโคนี่ ประมาณ 9,000 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 8 ฮาน อดัมส์ ที่สอง แห่งลิกเตนสไตน์ ประมาณ 3,500 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 9 เอมิร์ แห่งการ์ตาร์ ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญ

อันดับที่ 10 อาซิฟ อาลี ซาดารี ประธานาธิบดีแห่งปากีสถาน ประมาณ 1,900 ล้านเหรียญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนอีสานย้ำไม่เอาเขื่อนน้ำโขง-เขื่อนไซยะบุรี ชี้แค่เขื่อนในจีนก็ย่ำแย่แล้ว

Posted: 14 Feb 2011 02:16 AM PST

วันที่ 12 ก.พ.2554 กรมทรัพยากรน้ำจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้าน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในเขตจังหวัดนครพนม เครือข่ายชาวบ้าน จำนวนมากกว่า 100 คน เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ โดยเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่ใช้กระบวนการนี้และจะเป็นบรรทัดฐานแก่เขื่อนอื่นๆบนแม่น้ำโขงตอนล่างอีก11 แห่ง

นายประจักษ์ อภิวาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ไม่ควรจะเป็นการรับฟังความเห็นของชาวบ้าน แต่เป็นเพียงการให้ข้อมูล และไม่ใช่เวทีตัดสินใจ ควรจะมีเวทีอีกหลายครั้ง สำหรับจังหวัดที่ติดอยู่เขตแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดความรอบด้านของข้อมูลและความเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจต่อโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสังเกตว่า โครงการนี้ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะเรื่องประมงและปริมาณน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและระบบน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนที่อยู่ริมน้ำโขงเป็นจำนวนมาก
 
นายสุริยา โคตะมี ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำสงคราม กล่าวว่า เราคงไม่ยอมรับกระบวนการและรายงานการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน พวกเราซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำสงคราม เพียงแค่น้ำโขงแห้ง น้ำในลำน้ำสาขาก็แห้งตามไป ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ก็ยังไม่ตอบเราไม่ชัด และไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงดังกล่าว รวมไปถึงเวทีนี้ ไม่มีเจ้าของโครงการเช่น ช.การช่างและ กฟผ.รัฐบาลไทยมาชี้แจงโครงการ ข้อมูลก็ไม่ชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่ยอมรับเวทนี้ และเสนอว่า การสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชนชาวอีสาน
 
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการ ม.มหาสารคาม กล่าวว่า เสนอให้มีการขยายเวลาในกระบวนการรับฟังความเห็นของโครงการเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน เนื่องจากไม่มีข้อมูลการตัดสินใจที่เพียงพอ และขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และขอให้มีการแปลเอกสารทุกภาษา และให้มีคณะกรรมการร่วมในการแปลเอกสารดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน เพราะรายงานที่กล่าวว่า 8 เล่ม แต่ประชาชนยังไม่เห็นสักเล่ม สไลด์ของดร.วิเทศ ศรีเนศ ที่อธิบายเพียง 2-3 แผ่นของโครงการก็ยังไม่น่าเชื่อถือ
 
ประชาชนที่เข้าร่วมคำถามมากมายกว่า 84 ประเด็นต่อความกังวลใจในเรื่องเขื่อนไซยะบุรีดังกล่าว ซึ่งต่างก็ยืนยันชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนน้ำโขงทั้ง 12 แห่ง พร้อมกับเสนอว่า จะจัดเวทีภาคประชาชนในวันที่ 19 ก.พ.ที่จะถึงนี้ เพื่อแสดงจุดยืนและยืนข้อเรียกร้องต่อเอ็มอาร์ซี และกำหนดท่าทีต่อรัฐบาลไทย กฟผ.และบริษัท ช.การช่าง พร้อมขู่อาจจะบุกสถานทูตลาวเพื่อเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวโครงการไซยะบุรี และยืนยันว่า เสียงของประชาชนไทยทั้ง 3 เวที มีน้ำหนักพอที่จะให้เลื่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็นอีกครั้งหนึ่งให้กับประชาชนในลุ่มน้ำโขงได้รับทราบทุกจังหวัด 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัดสินจำคุก 3 ปี 15 วัน ช่างซ่อมรองเท้าขู่บึ้มศิริราช

Posted: 14 Feb 2011 02:07 AM PST

 
14 ก.พ.54 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 713 ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำที่ อ.4209/2553 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสุริยันต์ กกเปือย อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยจำเลยยอมรับสารภาพตามฟ้อง กระทั่งเวลาประมาณ 14.40 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ม.112 ลงโทษจำคุก 6 ปี และมีความผิดตาม ม.392 ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความตกใจ โกลาหล เป็นความผิดลหุโทษ จำคุกอีก 1 เดือน จำเลยรับสารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 3 ปี 15 วัน
 
รายงานข่าวแจ้งว่า สุริยันต์มีอาชีพเป็นลูกมือช่วยพ่อซ่อมรองเท้าอยู่ย่านสนามเป้ามานับสิบปี ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ด้านพ่อและแม่ของสุริยันต์เดินทางมาให้กำลังใจลูกชายด้วยในวันนี้ พร้อมทั้งระบุว่าครอบครัวมีฐานะยากจน หลังจากโดนจับก็ไม่สามารถหาเงินมาประกันลูกได้ ตอนแรกกลัวว่าลูกอาจถูกจำคุกเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม มารดาของสุริยันต์ยืนยันว่า ลูกชายไม่ใช่คนสนใจการเมือง และแทบไม่เคยไปร่วมชุมนุม มีเพียงพ่อของสุริยันต์เท่านั้นที่ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเป็นครั้งคราว
 
ทั้งนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.53 เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าผู้ต้องหาได้โดยสารรถประจำทาง สาย 108 มาลงที่ป้ายจอดประจำทางบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ตรงข้ามรพ.พญาไท 4 ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.  เมื่อลงจากรถเวลา  08.07 น.ผู้ต้องหาได้เดินไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหมายเลขตู้ 01-เอ็มบี 1-4933  หมายเลขโทรศัพท์ 02-271-0312 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทีโอที) แล้วโทรไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุผ่านฟ้า (191) แล้วพูดโดยมีใจความข่มขู่จะวางระเบิดโรงพยาบาลศิริราช และมีถ้อยคำบางช่วงบางตอน แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพคนเสื้อแดงชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 13 ก.พ. 54

Posted: 13 Feb 2011 05:06 PM PST

ประมวลภาพผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณถนนราชดำเนินเมื่อช่วงค่ำวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงบ่ายผู้ชุมนุม นปช. ได้เดินทางไปชุมนุมหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีการอ่านจดหมายของแกนนำ นปช. ที่ถูกจำคุกในเรือนจำเพื่อปรับทุกข์กับผู้พิพากษา จากนั้นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. ได้ร่วมกันวางดอกกุหลาบสีแดงหน้าป้ายศาลอาญา ก่อนจะนำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสนอ ผกก.Insect in the Backyard ฟ้องศาล รธน. ตีความห้ามฉายหนังขัด รธน.?

Posted: 13 Feb 2011 11:07 AM PST

(13 ก.พ. 54) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการจัดเสวนา "ภาพยนตร์กับการเซ็นเซอร์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน 'ฝังความทรงจำ' โดยธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Insects In The Backyard เล่าถึงหนังที่ถูกห้ามฉายของเธอว่า ขณะที่หนังเข้าสู่ของการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่นั้น มีการถกเถียงกันหลายเรื่อง โดยในเรื่องที่ว่าด้วยศีลธรรมอันดี นั้นเป็นอันตกไปหมด เพราะเป็นการขอเรท 20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมีการอ้างว่า หนังเรื่องนี้ผิดกฎหมาย เพราะมีฉากที่มีหนังโป๊อยู่ 3-5 วินาที ซึ่งได้ตั้งคำถามต่อคณะกรรมการว่าเหตุใดจึงตัดสินหนังทั้งเรื่องจากจุดๆ เดียว โดยไม่ดูเจตนาองค์รวม ก็ไม่มีใครตอบ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมบอกกับเธอด้วยว่าลูกชายวัย 20 กว่าปีดูแล้วยังไม่ดูต่อเลย คนขับรถดูแล้วก็ไปอาเจียน ทำให้เห็นว่า ขณะที่มีการอ้างเหตุผลเรื่องผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่สื่อออกมาคือ "ผิดเพศ" ไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่เคยมีการพูดออกมาตรงๆ

ธัญญ์วารินกล่าวว่าไม่ได้รู้สึกโทษคณะกรรมการเซ็นเซอร์หรือมองว่าเขาผิด เพราะเข้าใจว่าด้วยระบบวิธีคิดของเขาทำให้เขาเชื่อแบบนั้น แต่ก็น่าจะให้ตนเองมีสิทธิเสนอความคิด และควรให้คนมีสิทธิเลือกที่จะไม่ดูด้วย ทั้งนี้ ล่าสุด มีตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่าให้ตัดฉาก 3-5 วินาทีนั้นออก ซึ่งเธอยังยืนยันว่าจะไม่ตัดฉากดังกล่าว

สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ที่บังคับใช้อยู่ว่ามีความสับสนในทางหลักการ โดยที่มักโฆษณาว่าไม่มีการเซ็นเซอร์แล้วนั้นไม่จริง เพราะมีการจัดเรทติ้งประเภทห้ามฉายอยู่ด้วย โดยกฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวกับสื่อมีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ให้อำนาจรัฐใช้มาตรการเร่งด่วนในการเซ็นเซอร์ นั่นคือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งพ.ร.บ.ภาพยนตร์จะแย่กว่าตรงที่เป็นการเซ็นเซอร์ก่อนฉาย ขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีมาตรา 20 ที่ขอปิดกั้นหลังจากมีการเผยแพร่แล้ว

นอกจากด้านหลักการแล้ว สาวตรีระบุว่า ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนของถ้อยคำของกฎหมาย โดยพบว่าในคู่มือการตรวจพิจารณาภาพยนตร์มีการอธิบายอย่างละเอียดถึงการจัดเรทแต่ละประเภท แต่พอถึงเรทที่ 7 ที่ว่าด้วยการห้ามฉายภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและความมั่นคงกลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ทั้งที่ปกติแล้วกฎหมายที่มีผลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องบัญญัติให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าอะไรทำได้ไม่ได้

อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ซึ่งของไทยมาจากการแต่งตั้ง โดยแบ่งเป็นมาจากภาครัฐอย่างน้อย 4 คน เอกชนที่แต่งตั้งโดยภาครัฐ 3 คน เปรียบเทียบกับองค์กรพิจาร ณาภาพยนตร์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน เรียกย่อๆ ว่า FSK ว่า องค์กรนี้มีตัวแทน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง โดยแต่เดิมมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่ควบคู่ไปด้วย แต่ภายหลัง รัฐได้ยุบองค์กรของตัวเองไปแล้วส่งคนมานั่งใน FSK บ้างเพราะมองว่าเอกชนทำได้ดีกว่า โดยองค์กร FSK นี้มีเป้าหมายในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยพิจารณาสื่อ เกม และทีวี

สาวตรีเล่าถึงขั้นตอนการพิจารณาว่ามีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ซึ่งคณะกรรมการในแต่ละขั้นตอนจะเป็นชุดใหม่ทั้งหมด ขั้นแรก มีกรรมการ 7 คนประกอบด้วยตัวแทนจากแวดวงผู้ประกอบการ 3 คน ประชาชนทั่วไปที่มีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับเด็ก 4 คน หากผู้ยื่นไม่พอใจผลการตัดสิน สามารถยื่นใหม่ โดยมีคณะกรรมการ 9 คนประกอบด้วยตัวแทนจากแวดวงธุรกิจ 4 คนและประชาชนทั่วไป 5 คนเป็นผู้พิจารณา และหากยังไม่พอใจผลการตัดสิน สามารถอุทธรณ์ได้ โดยมีคณะกรรมการ 7 คนประกอบด้วยประธาน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฝ่ายปกครอง 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก 2 คนและจากสำนักงานคุ้มครองเยาวชน 4 คน ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐเข้ามาเมื่อพิจารณา โดยเอกชน 2 ครั้งแล้วยังมีปัญหา ขณะที่ในไทย คณะกรรมการชุดใหญ่มาจากภาครัฐ 14 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน ซึ่งเป็นสัดส่วน 4:3 อยู่ตลอด

ทั้งนี้ สาวตรีแนะนำว่า กรณีการห้ามฉายหนังนั้น ผู้กำกับในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายโดยตรงสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยผ่านช่องทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน และหากทั้งสองหน่วยงานยังไม่ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ซึ่งหากสามารถยกเลิกกฎหมายได้ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว

ด้านธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เสนอว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นไม่ได้อยู่ที่หนัง หรืออยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่โครงสร้างที่ล็อคด้วยพระพุทธศาสนาที่อยู่เหนือกฎหมายขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันแก้ด้วยกฎหมายได้ เพราะมันต้องเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนตัวของสังคม เมื่อใดที่บรรยากาศและวิธีคิดของสังคมเปลี่ยน กฎหมายก็จะต้องปรับตามไปเอง เราจึงยังต้องพูดถึงปัญหานี้ต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องทัศนะต่อเพศที่สาม หากจะแก้ก็คงต้องทำให้เพศที่สามบวชได้เสียก่อน

สำหรับงาน "ฝังความทรงจำ" จัดโดย Siam Inception Art & Culture Club (SIACC) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของศิลปิน คนทำหนัง คนทำละคร และนักวิจารณ์สังคมรุ่นใหม่ เพื่อตรวจสอบที่ว่างทางสังคม และความทรงจำของเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2554 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ มีกิจกรรมประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์ การแสดงละคร การอ่านบทกวี การแสดงดนตรี และงานเสวนา ดูรายละเอียดได้ที่ http://siaminception.blogspot.com/
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รวบการ์ด พธม. พกประทัด - ศอ.รส. เส้นตาย พธม. เปิดพื้นที่ 15 ก.พ.

Posted: 13 Feb 2011 09:12 AM PST

ตำรวจนครบาลจับ 2 ชายพกประทัดรวม 63 ลูกใกล้ม็อบพันธมิตรฯ รับสารภาพเตรียมไว้ปาใส่ตำรวจ หากเข้าสลายชุมนุม / ศอ.รส. เส้นตาย พธม.เปิดทาง 15 ก.พ. "จำลอง" กล่าวหา "ชาวกัมพูชา" เข้ามาก่อกวนการชุมนุม

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ได้แถลงการจับกุม นายวุฒิชัย สร้อยระย้า อายุ 24 ปี ชาวต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง พ่อครัวร้านอาหารภายในห้างแห่งหนึ่ง และนาย เอ (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี ชาว ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาชีพทำความสะอาดรถไฟ พร้อมประทัดแบบกลมหุ้มด้วยพลาสติกขนาด 1 นิ้ว 63 ลูก ได้ที่ริมคลองวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ถนนผดุงกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. ใกล้กับพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

พล.ต.ต.วิชัยแถลงว่า การ์ดของกลุ่ม พธม. ได้ประสานมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีกลุ่มก่อกวนเข้ามาจุดประทัดเสียงดังภาย ในพื้นที่ชุมนุม โดยเมื่อเวลา 2.00น.-3.00น.ของวันที่ 13 ก.พ. ได้มีผู้จุดประทัดเสียงดังด้านหลังเวทีปราศรัย ทำให้ผู้ชุมนุมแตกตื่นคิดว่าจะมีการสลายการชุมนุม จึงให้เจ้าหน้าที่เข้าสืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในที่สุด

ทั้งนี้ผู้ต้องหารับสารภาพว่า เป็นการ์ดของกลุ่มพธม. และทำด้วยใจไม่ได้ถูกรับจ้าง โดยต้องการมากู้ชาติเท่านั้น ส่วนประทัดซื้อมาจากภูเขาทอง เพื่อนำมาจุดขับไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจหากมีการเข้าสลายการชุมนุม เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปตรวจค้นห้องพัก ก่อนสอบสวนขยายผลและแจ้งข้อหาต่อไป

ศอ.รส.ฮึ่ม!! พธม.ให้เปิดเส้นทาง ขีดเส้นตาย 15 ก.พ.นี้ หากไม่ทำตามเตรียมแผน"ขอคืนพื้นที่"แน่

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รอง ผบช.สทส.) ในฐานะโฆษก ศอ.รส. แถลงว่า ศอ.รส.มีมติให้พนักงานสอบสวน ซึ่งมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เป็นหัวหน้า พิจารณารวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกแกนนำกลุ่ม พธม. ที่ยังคงปักหลักยืดเยื้อและไม่ยอมเปิดทางการจราจร ซึ่งถือว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนด ศอ.รส.ที่ได้รับทราบแล้ว ซึ่งถือว่ามีความผิดตามมาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดย ศอ.รส.ให้เวลา ขีดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หากยังไม่ปฏิบัติตามประกาศ ศอ.รส. ที่ให้ออกจากพื้นที่ พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการออกหมายเรียกก่อน หากไม่มาจะให้โอกาสออกหมายเรียก 2 ครั้ง ก่อนจะออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ จะไม่เข้าไปจับกุมท่ามกลางการชุมนุมแน่นอนเพราะจะเกิดความวุ่นวาย

พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า ระหว่างนี้ตำรวจยังคงเจรจากับกุมพันธมิตรเพื่อขอเปิดพื้นที่ ทั้งนี้ หากยังไม่ยอมปฏิบัติตามประกาศนอกจากแกนนำที่มีความผิดแล้ว ศอ.รส.จะต้องดำเนินการทำประวัติผู้ร่วมชุมนุมที่ถือว่าร่วมกันละเมิดข้อห้าม ศอ.รส. อย่างไรก็ตาม ใน 1-2 วันนี้ ตำรวจต้องดูสถานการณ์ ปฏิกิริยาของผู้ชุมนุม ซึ่งหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ศอ.รส.ก็อาจมีการดำเนินการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เปิดพื้นที่ โดยตำรวจเตรียมความพร้อมปฏิบัติทุกสถานการณ์ มีการเตรียมกำลัง และอุปกรณ์พร้อม โดยตำรวจมีเพียงโล่ กระบอง สนับเข่า เสื้อเกราะ ยืนยันว่าไม่มีปืน แม้แต่หากต้องใช้แก๊สน้ำตา เราก็ใช้แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง ทำงานระบบฟู่ ไม่มีเสียงดังปัง ไม่อันตรายทำลายอวัยวะฉีกขาดแน่นอน เป็นอุปกรณ์ได้มาตรฐานและอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ขึ้นทะเบียนของกองพลาธิการของ ตร.ทุกชิ้น หากนอกเหนือจากนี้ก็ไม่ใช่ของตำรวจ ทั้งนี้ หากตำรรวจจะทำอะไรจะชี้แจงให้ประชาชนทราบผ่านสื่อทุกขั้นตอนเพื่อความโปร่ง ใส ตรวจสอบได้

โฆษก ศอ.รส.กล่าวว่า อีกประเด็น คือการนำการชุมนุมของผู้นำการชุมนุมทุกกลุ่ม ศอ.รส.ความร่วมมือจากทาง ศอ.รส. ขอให้ใช้ดุลพินิจในการควบคุมนำการชุมนุม แม้เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำการชุมนุมหรือจัดการชุมนุม ต้องใช้ดุลพินิจทั้งในเรื่องการนัดหมาย การเคลื่อนตัว การรวมคน เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยไม่เกิดปัญหา เช่น จำนวนผู้ชุมนุมถ้ามากเกิน การควบคุมและทำให้เกิดความเดือดร้อน กระทบกระทั่งกับบุคคลรอบข้าง หรือมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ อย่างกรณีที่มีข่าวพบชาวกัมพูชาเข้าไปแทรกตัวในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาอยากให้แกนนำทุกกลุ่มประสานเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้ช่วยเข้า ไปดูแลความสงบเรียบร้อยให้ และให้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกับเจ้าหน้าที่ดังที่ นปช.ปฏิบัติในวันนี้ ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการชุมนุมได้แกนนำก็ต้องรับผิดชอบ

ขณะที่มีรายงานว่า หลังจากพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อม ยึดทำเนียบรัฐบาล เมื่อครั้งก่อน ได้สรุปสำนวนแล้วมีความเห็นส่งฟ้องต่ออัยการให้ออกหมายเรียกแกนนำพันธมิตร กว่า 20 คน อาทิ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุขนายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ

โฆษก กอ.รมน. อ้างคำสั่ง รบ. หากขอคืนพื้นที่จาก พธม.ไม่ได้เท่ากับบกพร่องในหน้าที่

วันที่ 13 ก.พ.2554 พล.ต.ดิษฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ถึง แนวโน้มที่จะมีการขยาย พรบ.ความมั่นคง ในการดูแลสถานการณ์การชุมนุม ว่า ในส่วนการของขยาย พรบ.ความมั่นคงนั้น คงเป็นช่วงต่อไป แต่ในขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะพูดคุยให้ผู้ชุมนุมเกิดความเข้า ใจ เพราะในแต่ละวันมีผู้ที่มาชุมนุมไม่มากนัก ยกเว้นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ อาจจะมีมากเพราะเป็นวันหยุดงาน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่พยายามจะใช้ความนุ่มนวลต่อรองพูดคุยเป็นลำดับ จะไม่พยายามหักหาญใช้กฎหมาย
      
เมื่อถามว่า สถานการณ์การชุมนุมเสื้อเหลือง-แดง มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ พล.ต.ดิษฐพร กล่าวว่า นี่คือความจำเป็นที่เราต้องประกาศ พรบ.ความมั่นคงเป็นเขต เพราะเราไม่ได้ดูแลแค่ม็อบกลุ่มเดียว แต่ต้องดูแลทุกกลุ่มที่เข้ามาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ซึ่งทางด้านการข่าวได้ระบุไว้ว่าในวันนี้(13 ก.พ.) กลุ่ม นปช.ก็จะเข้ามา และช่วงที่ผ่านมาก็มีม็อบเกษตรกร ดังนั้นเจ้าหน้าต้องมีอำนาจให้มากพอเพื่อป้องกันการเผชิญหน้าของกลุ่มต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เพราะบางครั้งการพูดคุยและเกิดความไม่เข้าใจกันก็อาจจะทำให้เกิดความรุนแรง ขึ้นได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน และในขณะเดียวกันก็ดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่มไปพร้อมๆกัน
      
เมื่อถามว่า จะมีเหตุการณ์เผชิญหน้ากันหรือไม่ พล.ต.ดิษฐพร กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มนปช. อยู่กันคนละพื้นที่ และกลุ่ม นปช. เขามีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็คงอะลุ่มอะหล่วย ดูแลให้เป็นไปตามห้วงเวลา และต้องตกลงกับแกนนำว่าสามารถทำอะไรได้แค่ไหนในพื้นที่ ส่วนการปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้มีการจราจร ก็ไม่ควรที่จะทำ ซึ่งทางตำรวจก็พยายามติดต่อชี้แจงอยู่ ส่วนการขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เรามีการบันทึกภาพถ่ายการปฏิบัติไว้ตลอด สามารถเอามาดำเนินการตามกฎหมายออกหมายจับได้หากมีใครละเมิดกฎหมายในระหว่าง การชุมนุม อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ชุมนุมทุกคนอยู่ในกรอบ ไม่อยากให้ทำผิดกฎหมาย และในขณะเดียวกันไม่ควรรบ
      
เมื่อถามว่า หลังประกาศ พรบ.ความมั่นคงไปแล้ว แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ระบุว่าจะชุมนุมยืดเยื้อ จะมีการดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติม พล.ต.ดิษฐพร เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการอยู่ แต่คงเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งตนได้มีการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเขาก็ยืนยันว่า เขาจะลดพื้นที่การชุมนุมลง เพื่อความสะดวกของประชาชนที่ใช้พื้นที่ด้วย และถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ถือว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบกพร่องในการทำหน้าที่เหมือนกัน ในเมื่อทางรัฐบาลได้ประกาศให้อำนาจไปแล้ว อย่างไรก็ตามตนคิดว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีที่จะดำเนินการ

จำลอง" กล่าวหา "ชาวกัมพูชา" เข้ามาก่อกวนการชุมนุม

การ์ด พธม. ตรวจบัตรประชาชนบุคคลที่ผ่านเข้าออกที่ชุมนุม "จำลอง" อ้างถูกชาวกัมพูชาสร้างความปั่นป่วนในการชุมนุม ทำให้ข้าวของสูญหาย ขณะที่การ์ดพันธมิตรฯ ต้องตรึงกำลังที่หลังเวทีเชิงสะพานมัฆวานฯ หลังเสื้อแดงชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วทะลักมาถึงแยก จปร. จำลองต้องใช้กล้องส่องทางไกลเป็นระยะ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ วานนี้ (13 ก.พ.) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวให้สัมภาษณ์ลงใน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ว่าขณะนี้มีการจ้างแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาก่อกวนในพื้นที่ชุมนุม ทำให้ข้าวของเกิดการสูญหาย จึงวางมาตรการป้องกันด้วยการขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชนกับบุคคลที่จะผ่าน เข้าออกพื้นที่การชุมนุม

นอกจากนี้มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เป็นไปด้วยความตึงเครียดเนื่องจาก ผู้ชุมนุม นปช.ได้ทยอยกันมารวมตัวกันที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยจนล้นมาถึงแยก จปร. ทำให้การ์ดพันธมิตรต้องมีการเสริมกำลังรักษาปลอดภัยบริเวณหลังเวทีเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ อย่างแน่นหนา

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. ต้องเดินตรวจตราบริเวณแนวกั้นของพันธมิตรด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นระยะ

มติชนออนไลน์ ยังรายงานพ้องกับรายงานของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า ขณะเดียวกันมีข่าวลือสะพัดในกลุ่มของการ์ดพันธมิตรว่าจะมีชาวกัมพูชาแฝงตัว เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในที่ชุมนุมทำให้การ์ดทุกจุดตรวจตราบุคคลที่เข้า ออกอย่างเข้มงวดถึงกับมีการตรวจบัตรประชาชนทุกคน

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์, มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น