โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

พธม.เคลื่อนไปลานพระรูป ก่อนกลับมาชุมนุมที่เดิม

Posted: 11 Feb 2011 10:47 AM PST

"สุุเทพ" ยังมั่นใจ ขอช่องจราจรคืนจาก พธม. ได้ "จิตตนาถ" ถาม "เปลว สีเงิน" พันธมิตรฯ รักชาติ "มันหนักหัวหรือไง" ส่วน "สนธิ" อัด "มาร์ค" เหมือนคนได้หลังลืมหน้า พร้อมถาม "นิธิ" เขียนบทความเรื่องซูสีไทเฮาทำไม

สุุเทพมั่นใจ ขอช่องจราจรคืนจาก พธม. ได้

เช้าวานนี้ (11 ก.พ.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเจรจาขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่า จะดูสถานการณ์วันเดียวกันนี้อีกหน่อย ตนมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินได้อย่างน้อยก็ต้องบางส่วนเพื่อให้การจราจรรื่นไหลได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำงานหนัก และต้องขออภัยพี่น้องประชาชนที่ยังแก้ปัญหาจราจรได้ไม่ทันออกทันใจ แต่ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแก้ไขได้

 

พันธมิตรเคลื่อนไปลานพระรูปฯ ลั่นปกป้องแผ่นดินก่อนเคลื่อนกลับ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อเวลา 9.30 น. ได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรปทรงม้า ตัวจากที่ชุมนุม

จากนั้น เวลาประมาณ 09.50 น. แกนนำพันธมิตรฯ นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายประพันธ์ คูณมี และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้นำผู้ชุมนุมถวายคำปฏิญาณต่อพระบรมรูปทรงม้า ว่าจะปกป้องแผ่นดิน พร้อมวางดอกกุหลาบแดง ก่อนประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนกลับสถานที่ชุมนุม

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำของกลุ่มแถลงว่า จะส่งตัวแทน  20 คนไปที่รัฐสภา เพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้านการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระที่ 3 จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางไปองค์การยูเนสโกเพื่อให้รับผิดชอบต่อเหตุปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา

 

จิตตนาถถามเปลว พันธมิตรฯ ไปปฏิญานว่ารักชาติ "มันหนักหัวหรือไง รักชาติมันผิดหรือ"

ส่วนบรรยากาศการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ช่วงเย็น นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม ได้ปราศรัยว่าวันนี้มีคนมาแขวะเราอีกแล้ว เจ้าเก่า ก็คือหมอดูประจำไทยโพสต์ คุณเปลว สีเงิน ไม่เข้าใจว่าแกเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรนักหนากับการที่พวกเราไปที่พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5 ไปปฏิญาณว่าเรารักชาติ โดยนายจิตตนาถถามเปลว สีเงินว่า "มันหนักหัวหรือไง รักชาติมันผิดหรือ"

 

สนธิอัดมาร์คเหมือนคนได้หลังลืมหน้า

ส่วนเมื่อเวลา 21.45 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยได้กล่าวถึงคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเป๋นผู้นำฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ซึ่งได้ด่าประณามรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ว่าทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย แล้วยังยัดเยียดความผิดให้อีก รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น และอยากเห็นรัฐบาลมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชนมากกว่านี้ ซึ่งน่าเสียดายที่นายอภิสิทธ์ความจำเสื่อม เหมือนคนได้หลังแล้วลืมหน้า

 

ถามนิธิทำไมเขียนเรื่องซูสีไทเฮา

หลังจากนั้นนายสนธิ ได้กล่าวถึงหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งได้ลงบทความของนายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ซึ่งลงบทความในมติชนสุดสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่องราชวงศ์ชิง สมัยพระนางซูสีไทเฮา โดยนายสนธิถามว่า เป็นการจงใจเปรียบเทียบอะไรกันแน่ เพราะมติชนสุดสัปดาห์ เคยนำเรื่องการล้มราชวงศ์เนปาลขึ้นปกและบอกว่าเป็นกรณีศึกษามาแล้ว

 

อัดนักการเมือง ไม่เคยเป็นเสาหลักให้สถาบันกษัตริย์

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ชาติบ้านเมืองกำลังมีอันตรายอย่างยิ่งใหญ่ การเสียอธิปไตยให้เขมรไม่ใช่แค่เรื่องเสียดินแดน แต่เป็นความอ่อนแอของสถาบันทหารที่ถูกการเมืองครอบงำ จนทหารบางคนแปรเปลี่ยนเป็นนักการเมือง ซึ่งสถาบันทางการเมืองไม่เคยเป็นเสาหลักให้สถาบันกษัตริย์ นอกจากเป็นตัวจัญไรแห่งชาติ ยกตัวอย่างเมื่อวันก่อน ซึ่งเป็นวันเกิดของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มีคนไปที่บ้านมากมาย ทั้งที่เป็นนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ และมีข้อครหาทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คนใกล้ชิดหากินกับการนำน้ำมันปาล์มไปทำไบโอดีเซล มีข้อครหาเรื่องเอางบจาก ปตท.ไปจัดแข่งเทนนิสที่โรงแรมของตัวเอง

 

ลั่นยอมไม่ได้หากเสียดินแดน เพราะสะท้อนว่าทหารอ่อนแอ

ดังนั้น สถาบันเกษัตริย์ต้องพึ่งทหาร ด้วยคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ทหารได้สาบานต่อธงชัยเฉลิมพลมีความลึกซึ้งอยู่ในใจ เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา การถวายสัตย์สาบานคือการท่องจำแค่นั้นเอง การเสียดินแดนเป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของทหาร ถ้าไม่อ่อนแอจะไม่ยอม แม้นายกฯ รองนายกฯ ไม่สั่ง แต่ทหารจะต้องตบเท้าไปบอกนายกฯ ว่าเรื่องนี้ผมยอมไม่ได้ แต่ไม่มีทหารคนไหนกล้าหาญพอ ทหารจึงเป็นเสาค้ำจุนสถาบันที่ง่อนแง่น เรื่องชายแดนจึงไม่ใช่เรื่องของนายฮุนเซน หรือเรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นความอ่อนแอของทหาร ที่จะส่งผลต่อราชบัลลังก์ต่อไป

นายสนธิ กล่าวต่อว่า นักการเมืองไม่มีวันที่ปกป้องสถาบัน เพราะเข้ามาเพื่อสูบทุกอย่างเข้ากระเป๋าตัวเอง บางคนมีเครื่องบินส่วนตัว ส่งลูกไปเรียนมเองนอกซื้อบ้านหลายร้อยล้านให้ลูกอยู่ นักการเมืองจึงเป็นสัตว์นรกทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ก็เป็นหัวหน้าแก๊งสัตว์นรก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าทุกอย่างต้องตกลงกันในสภา ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

 

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ [1], [2]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดูวิธีการห้ามนักศึกษาทำกิจกรรมแบบมาเลเซีย

Posted: 11 Feb 2011 10:07 AM PST

มาเลเซียกินี” เผยคลิปเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมลายา ในมาเลเซีย เข้าห้ามปรามนักศึกษาขณะพยายามจัดแถลงข่าวเรื่องการเลือกตั้งสภามหาวิทยาลัยที่ใกล้จะมาถึง โดยใช้มาตรการสารพัดทั้งเปิดไซเรนรบกวนการแถลงข่าว รวมถึงตรงเข้าไปใช้มือปิดปากนักศึกษา


 

ที่มา: Malaysiakini

 

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย – หนังสือพิมพ์ออนไลน์ “มาเลเซียกินี” ของมาเลเซีย รายงานเมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (11 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมลายา กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พยายามห้ามการจัดแถลงข่าวของนักศึกษากลุ่ม “สนับสนุนนักศึกษา” (the pro-mahasiswa หรือ pro-M) โดยเกิดความอลหม่านขึ้นเป็นเวลา 15 นาที โดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้เข้าห้ามปรามหลายวิธี รวมถึงการใช้มือปิดปากนักศึกษาซึ่งกำลังแถลงข่าว และเปิดเสียงไซเรนรบกวน

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ รปภ. ของมหาวิทยาลัยได้บอกให้นักศึกษาสลายตัว และเตือนให้ทุกคนสลายตัว

หนึ่งในนักศึกษากลุ่ม “pro-M” นายซาบรี จามาลุดดิน (Sabri Jamaluddin) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ รปภ. ได้ตรงเข้ามาและใช้มือปิดปากพวกเขา ขณะที่นักศึกษาจะพยายามกล่าวปราศรัย

เจ้าหน้าที่ รปภ. จดชื่อของนักศึกษากลุ่ม pro-M ที่ร่วมกิจกรรม พวกเราได้ให้ความร่วมมือกับเขาอย่างดี โดยมอบรายชื่อของพวกเรา” นักศึกษากลุ่ม pro-M ผู้นี้กล่าว และกล่าวด้วยว่าการแถลงข่าวในวันนี้ดำเนินไปโดนมีการรบกวนจากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมลายา

โดยเจ้าหน้าที่ รปภ. ของมหาวิทยาลัยได้เปิดไซเรนจากรถตรวจการณ์ เพื่อรบกวนการรวมกลุ่มของนักศึกษา อย่างไรก็ตามนักศึกษาได้เลี่ยงไปแถลงข่าวอีกด้านหนึ่ง โดยยังคงดำเนินการแถลงข่าวต่อไป โดยผู้ทำกิจกรรมได้พยายามตะโกนว่า “พลังนักศึกษา” และ “นักศึกษาจงลุกขึ้นสู้”

โดยคืนก่อนหน้านี้ หลังจากการหารือกันเกือบสองชั่วโมงของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมลายา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้ยอมให้นักศึกษากลุ่ม pro-M สามารถเสนอชื่อนักศึกษาที่จะลงเลือกตั้งสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้

รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมลายาศาสตราจารย์โกทฮ์ จัสมอน (Ghauth Jasmon) และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ศาสตราจารย์โรฮานา ยูโซฟ (Rohana Yusof) ได้ประชุมกับผู้แทนนักศึกษากลุ่ม pro-M จำนวน 6 คน เกี่ยวกับนโยบายการเลือกตั้ง

ประธานสมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งมหาวิทยาลัยมลายา (PMIUM) นายอาหมัด เซียสวาน มูฮัมหมัด ฮาซาน (Ahmad Syazwan Muhamad Hasan) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของนักศึกษากลุ่ม pro-M กล่าวถึงความพยายามในการห้ามปรามของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในวันนี้ว่า “เป็นความตายของประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย”

เขายังเปิดเผยเพิ่มเติมถึงผลการประชุมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเมื่อคืนวานนี้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยอมให้นโยบายบางส่วนที่นักศึกษากลุ่ม pro-M เสนอ สามารถใช้ในการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งสภานักศึกษาที่จะมาถึงนี้ได้

สำหรับข้อเรียกร้องของเรา 4 ข้อ เราได้รับอนุญาตให้ใช้หาเสียงได้ 2 ข้อ ส่วน 2 ข้อที่เหลือขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด พวกเรายังไม่ได้รับการตอบรับในข้อเสนอที่เหลือจากผู้บริหาร” นายเซียสวานกล่าว

นายเซียสวานยังกล่าวด้วยว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมลายาได้พยายามนำระบบการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เรียกว่า “e-penamaan” ซึ่งระบบที่ยังเป็นข้อถกเถียงนี้เคยถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งของสภานักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นเมื่อปีก่อน

มหาวิทยาลัยมลายาได้ทดสอบระบบเมื่อวันอังคาร จนถึงเวลา 15.00 น. ของเมื่อวันที่ 10 ก.พ. เพื่อให้นักศึกษาได้ “ล็อกอิน” เข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนนักศึกษากลุ่ม pro-M ได้ปฏิเสธการทดสอบดังกล่าว

นายเซียสวานกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าผู้บริหารได้ตัดสินใจแน่ชัดในเรื่องวิธีการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ รวมถึงข้อร้องเรียนของกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการให้ขยายเวลาหาเสียงจากเดิมให้เวลา 4 วัน เป็น 6 วัน นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษา pro-M ยังต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งเป็นวันที่ 23 ก.พ. ด้วย

สำหรับการเลือกตั้งสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยมาเลเซีย มักประกอบด้วยผู้สมัคร 2 กลุ่ม คือ ผู้สมัครกลุ่มที่สนับสนุนโดยผู้บริหารของมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า “Pro Aspirasi และผู้สมัครอีกกลุ่มที่รวมตัวกันเองเรียกว่า “Pro Mahasiswa” โดยการเลือกตั้งจะมีการจำกัดระยะเวลาในการหาเสียง และมีข้อบังคับจำนวนมาก เช่น ห้ามวิจารณ์นโยบายมหาวิทยาลัย ห้ามพูดเรื่องการเมือง ห้ามพูดถึงประเด็นเชื้อชาติในมาเลเซีย ซึ่งเอื้อให้นักศึกษากลุ่ม “Pro Aspiraci” ได้เปรียบในการเลือกตั้งมาโดยตลอด

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

UM cuba ganggu sidang media mahasiswa, Abdul Rahim Sabri, Malaysiakini, Feb 11, 2011 5:08 pm http://www.malaysiakini.com/news/155789

UM tries to disrupt students' press conference, Abdul Rahim Sabri, Malaysiakini, Feb 11, 2011 6:10pm http://www.malaysiakini.com/news/155794

http://www.malaysiakini.tv/video/20985/um-tries-to-disrupt-students-press-conference.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูบารัคลาออกแล้ว หลังอียิปต์ชุมนุมมาถึงวันที่ 18

Posted: 11 Feb 2011 09:51 AM PST

ฮอสนี มูบารัค” ประธานาธิบดีอียิปต์ลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยมอบอำนาจให้กับกองทัพรักษาการชั่วคราวแทน ขณะที่ผู้ชุมนุมขณะนี้ต่างตะโกนฉลองกัน โดยผู้นำฝ่ายค้านนายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ประเทศนี้ได้รับการปลดปล่อย ภายหลังจากทศวรรษแห่งการกดขี่”

บรรยากาศการฉลองในอียิปต์เมื่อคืนวันที่ 11 ก.พ. หลังนายฮอสนี บูมารัค ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ (ที่มา: อัลจาซีร่า)

จากการดำเนินการชุมนุมเพื่อขับไล่นายฮอสนี มูบารัค ประธานาธิบดีอียิปต์ มาอย่างยาวนานจนถึงวันที่ 18 ล่าสุดเมื่อคืนวานนี้ (11 ก.พ.) นายโอมา สุไลมาน (Omar Suleiman) รองประธานาธิบดีได้แถลงข่าวว่าประธานาธิบดีได้ยอมลงจากตำแหน่งแล้ว และมอบอำนาจการบริหารให้กับสภาสูงสุดของกองทัพ

โดยหลังการแถลงสั้นๆ ของสุไลมาน ทำให้ผู้ชุมนุมที่จัตุรัสทะห์รีตะโกนลั่น มีการฉลองและโบกธงโดยผู้ชุมนุมหลายแสนคนบริเวณนั้น ทั้งนี้ผู้ชุมนุมได้นัดหมายชุมนุมใหญ่กันในวันศุกร์นี

ผู้คนที่มาชุมนุมได้ตะโกนว่า “เราโค่นระบอบนี้ลงแล้ว” และผู้ชุมนุมหลายคนได้หลั่งน้ำตา ตะโกน และกอดซึ่งกันและกัน ผู้สื่อข่าวยังรายงานสดเพิ่มเติมด้วยว่า พวกเขาต่างกอดซึ่งกันและกัน และหอมแก้มกันและกันแม้พวกเขาจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

นายโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า “นี่เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของฉัน” ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอพี “ประเทศนี้ได้รับการปลดปล่อย ภายหลังจากทศวรรษแห่งการกดขี่”

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานอย่างบรรยายไม่ถูก ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนปักหลักอยู่ที่นั่น

ดีนา มักดี (Dina Magdi) ผู้นำการชุมนุมที่จัตุรัสทะห์รีกล่าวว่า “ฉันได้รอมานานแล้ว ฉันทำงานมาตลอดชีวิตวัยทำงานของฉันเพื่อที่จะได้เห็นอำนาจที่เป็นของประชาชน ฉันพูดไม่ออกจริงๆ”

ความทรงจำนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การลงจากอำนาจของมูบารัก แต่ยังเป็นอำนาจของประชาชนที่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ทุกอย่างเป็นไปได้”

นอกจากนี้ที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมืองอันดับสองของอียิปต์ ผู้ชุมนุมหลายแสนคนต่างฉลองบนท้องถนน โดยผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าเรียกว่าเป็น “ระเบิดอารมณ์

ก่อนหน้าที่นายมูบารัคจะแถลงลาออก ผู้ชุมนุมหลายพันคนพยายามไปชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลและพยายามบุกเข้าไป โดยสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน และรายงานข่าวประท้วงอย่างไม่ตรงไปตรงมา

โดยทหารได้ยืนเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมที่พยายามจะบุกเข้าไป โดยมีเพียงแนวลวดหนามขวางทหารกับผู้ชุมนุมไว้เท่านั้น โดยผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า ความไม่พอใจได้เกิดขึ้น แต่หลังจากที่เมื่อคืนวันพฤหัสบดีสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวนำเสนอเรื่องนายมูบารัคพยายามจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงเดือนกันยายนอย่างซ้ำไปซ้ำมา

 

ที่มา: แปลจาก Hosni Mubarak resigns as president, Aljazeera, Last Modified: 11 Feb 2011 16:39 GMT http://english.aljazeera.net/news/middleeast/2011/02/201121125158705862.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสูงเกาหลีใต้ตัดสินให้บริษัทฮุนไดยอมรับคนงานชั่วคราวเป็นคนงานประจำ

Posted: 11 Feb 2011 07:35 AM PST

 

ศาลสูงที่กรุงโซลตัดสินเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ..54) ที่ผ่านมา อดีตคนงานชั่วคราวที่รู้จักในนาม “ชอย” ผู้ที่ทำงานให้กับปริษัทฮุนได ในโรงงานอัลซัน มาเป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี ให้ถือว่าเป็นพนักงานประจำของบริษัทฮุนได

 

การตัดสินครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การลุกขึ้นทวงถามของคนงานชั่วคราวคนอื่นๆ รวมถึงคนงานกลุ่มใหญ่ของบริษัทฯ ที่ได้เคยนัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 25 วันซึ่งจบลงเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

 

การตัดสินครั้งนี้จะกระตุ้นให้คนงานที่ไม่ใช่คนงานประจำของบริษัทฮุนไดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทยอมรับให้คนงานชั่วคราวเป็นคนงานประจำ


ในขณะเดียวกัน บริษัทฮุนได กล่าวว่า “ คำพิพากษานี้จำกัดอยู่กับเฉพาะคนงานผู้ที่ฟ้องร้องเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้กับคนงานคนอื่นๆ ที่มีสภาพการทำงานและประเภทของงานต่างจากคนงานผู้ที่ฟ้องร้องได้” และบริษัทก็จะอุทธรณ์ไปคำตัดสินของศาลสูงและจะร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ บริษัทยังยืนยันว่า “ชอย” ไม่ถือเป็นคนงานประจำของบริษัทเพราะเขาถูกจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรง หรือเอเจนซี่

 

ชอย” เริ่มทำงานในโรงงานของบริษัทฮุนไดในปี 2002 และถูกเลิกจ้างในปี 2005 เนื่องจาก เขาเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน เขาฟ้องร้องบริษัทฮุนได แต่ไม่ได้ฟ้องบริษัทซับคอนแทรก โดยเขากล่าวว่า เขาได้เป็นคนงานประจำของบริษัทผุ้ผลิตรถยนต์แห่งนี้ในปี 2004 และเขาได้สู้คดีถึงสามชั้นศาล ซึ่งในที่สุดศาลสูงได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยให้บริษัทยอมรับเขาเป็นคนงานประจำ

 

ทั้งนี้ บริษัทฮุนไดจ้างคนงานชั่วคราวประมาณ 8,200 คน คิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนคนงานทั้งหมด ในการสำรวจเมื่อปี 2009 โดยกระทรวงการจ้างงานและแรงงานของเกาหลีใต้ พบว่า ร้อยละ 21.9 ของคนงานทั้งหมดเป็นคนงานชั่วคราว (สำรวจบริษัทจำนวน 939 แห่ง แต่ละแห่งมีการจ้างแรงงานมากกว่า 300 คน)

 

บริษัทในอุตสาหกรรมต่อเรือจ้างงานคนงานชั่วคราวมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 55 ส่วนคนงานในอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะมีคนงานชั่วคราวมากกว่าร้อยละ 41 และในบริษัทผุ้ผลิตรถยนต์มีคนงานชั่วคราวประมาณร้อยละ 14.5

 

 


แปลและเรียบเรียง จากหนังสือพิมพ์ koreatimes (10 ..54)

http://www.koreatimes.co.kr/www/news/biz/2011/02/123_81160.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลื่อนสืบพยานคดี ผอ.ประชาไท กรณี พ.ร.บ.คอมฯ เป็น ก.ย.-ต.ค.

Posted: 11 Feb 2011 05:02 AM PST

ศาลสั่งเลื่อนสืบพยาน คดีอัยการฟ้อง ผอ.ประชาไท ผิดมาตรา 14-15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปเป็นกันยายน-ตุลาคม ปีนี้

(11 ก.พ. 54) ที่ศาลอาญา รัชดา การสืบพยานคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ดำเนินมาเป็นวันที่ 5 โดยสามารถสืบพยานโจทก์ได้ 5 ปาก จากทั้งหมด 14 ปาก

ล่าสุด ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานวันที่ 15-17 ก.พ.54 โดยวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปคือ วันที่ 1, 2, 6, 7, 8, 9, 20, 21 ก.ย.54 และพยานจำเลย วันที่ 11, 12, 13, 14 ต.ค.54

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลแจ้งคู่ความว่า ในวันนัดสืบพยานวันต่อไป ผู้พิพากษาองค์คณะจะต้องปฏิบัติหน้าที่เวรฝากขังยาเสพติดในวันที่ 15 ก.พ. และเวรชี้และฝากขังทั่วไปในวันที่ 16 ก.พ. จึงไม่อาจขึ้นนั่งพิจารณาคดีทั้งสองวันได้

ด้านอัยการแถลงว่า เนื่องจากการสืบพยานคดีนี้มีข้อซักถามและซักค้านพยานจำนวนมาก ทำให้การสืบพยานล่าช้ากว่ากำหนด และหมดวันนัดสืบพยานโจทก์ไปแล้ว การติดตามพยานมาเบิกความตามวันนัดที่เหลือจึงประสบปัญหาเรื่องหมายเรียกของศาลที่เลยวันนัดและการลาราชการของพยาน ประกอบกับช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ข้าราชการต้องโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่ง โจทก์จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานทั้ง 3 นัดที่เหลือ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.52 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทที่สำนักงาน เนื่องจากพบว่ามีผู้อ่านโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท 1 ข้อความ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.52 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 ข้อหา โดยระบุถึง 9 ข้อความอันมีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งมีการโพสต์ระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค.52 อย่างไรก็ตาม ข้อความทั้ง 10 ข้อความถูกลบไปแล้วก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี

จากนั้นวันที่ 1 มิ.ย.52 พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนไปยังอัยการ จนกระทั่งวันที่ 31 มี.ค.53 พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจีรนุชเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในฐานความผิดเป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ อื่นและประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้ว่าเป็นข้อมูลที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 14, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ.2526 มาตรา 4
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: “กรรมการปฏิรูป” เยี่ยมผู้ชุมนุมหน้า อ.อ.ป.แจงข้อเสนอจัดสรรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม

Posted: 11 Feb 2011 03:52 AM PST

ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ชุมนุมหน้า อ.อ.ป.วันที่ 3 ร้องรัฐแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ทำเวทีการศึกษาภายในวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังรัฐประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 

วานนี้ (10 ก.พ.54) รายงานสถานการณ์การปักหลักชุมนุมที่หน้าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ของกลุ่มเกษตรผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกินจากภาคอีสาน อาทิ เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากกรณีพิพาทสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ สวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากกรณีป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านยังคงรวมตัวเรียกร้องการแก้ไขปัญหา

ในช่วงเวลา 8.00 น.ที่ชุมนุมมีการวิเคราะห์ประเด็นข่าว โดยวิทยากร คือ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความของชมรมนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน ได้กล่าวถึงเรื่องของกฎหมายว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างจากการที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้มีการละเมิดสิทธิของชุมชนในการปลูกต้นยูคาฯ ทับพื้นที่ทำกินของราษฎร และให้ความรู้รวมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ ที่รัฐได้ประกาศและมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกเครือข่ายผู้เดือดร้อนให้ความสนใจและร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เวลาประมาณ 10.00 น. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการหนึ่งในกรรมการปฏิรูป ได้มารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายเกษตรผู้เดือดร้อนจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินในพื้นที่ต่างๆ และร่วมแลกเปลี่ยนรวมทั้งให้กำลังใจในการต่อสู้

ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวกับผู้เดือดร้อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะแก้ไขได้ยากถ้าหากเราไม่มีการแสดงตัวตนออกมา หรือเกิดการรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาเพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เห็นเครือข่ายผู้เดือดร้อนได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องในสิทธิของตน ในการนี้ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม โดยให้นายทุนที่มีที่ดินหลายๆ ร้อยไร่ มีการจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อนไร้ที่ดินทำกิน และเสนอการออกมาตรการในการถือครองที่ดิน

จากนั้นในช่วงเย็น ทางเครือข่ายผู้เดือดร้อนได้เปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่มีผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและมีการวิเคราะห์ปัญหา

ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้ปักหลักชุมนุมกันที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาหลังจากได้ทำกิจกรรม “เดินเท้าทางไกล : ค้นหาความเป็นธรรม จากบ่อแก้วถึงกรุงเทพฯ” มาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.พ.54 และได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ปิยบุตร แสงกนกกุล: "การปล่อยให้เงียบมันกระเทือนจริยธรรมทางการเมือง"

Posted: 11 Feb 2011 12:28 AM PST

คำอธิบายโดยละเอียดกรณีศาลอาญาระหว่างประเทศว่ามีเขตอำนาจพิจารณาคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงหรือไม่ และโดยหลักสัญชาติ อภิสิทธิ์ตกเป็นจำเลยได้หรือไม่ "วันนี้ส่งเรื่องไปวันหน้าศาลอาจจะไต่สวนก็ได้ หรือไม่รับเลยก็ได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องพูดกันทุกวันๆ เพราะคนตายไปแล้วเขาพูดไม่ได้ แต่คนที่อยู่ต้องพูดแทนคนตาย ลืมไม่ได้เรื่องนี้"

ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นนักวิชาการคนแรกที่มีความเห็นต่อกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม แถลงถึงการดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลไทยต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเนื่องจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 3,000 ราย

เขาให้เหตุผลด้านจริยธรรมทางการเมือง ว่าไม่ว่าคดีนี้จะได้รับการพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่ แต่นี่คือหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่พลเมืองถูกไล่ฆ่าตามอำเภอใจและรัฐไทยก็ทำเฉยเสียเหมือนอย่างที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลนี้ ผลักให้นักกฎหมายมหาชนอย่างเขาต้องหันมาศึกษาตัวบทกฎหมายระหว่างประเทศและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ และรวมไปถึงประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้นมาพร้อมกันคือ หลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของนายกรัฐมนตรีไทย

000

 

ทำความเข้าใจ อะไรคือศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ใช่ศาลโลก (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ – ICJ) ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญากรุงโรม

ก่อนจะเข้าใจเรื่องอื่นๆ ผมว่าต้องดูเอกลักษณ์ก่อนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีลักษณะอะไรที่ไม่เหมือนศาลอื่นๆ

ประการแรกก็คือ เป็นศาลถาวร คือก่อนหน้านั้นก็มีลักษณะแบบนี้ แต่เป็นศาลชั่วคราว เฉพาะคดี คือหลักสงครามโลกก็มีกรณีศาลที่นูเร็มเบิร์ก ต่อมาก็มีกรณียูโกสลาเวีย ที่จับเอาอดีตประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิซ สหประชาชาติก็ตั้งศาลเฉพาะคดีอดีตยูโกสลาวัย หรือกรณีรวันดา แต่มันเฉพาะคดีนั้นคดีเดียว สุดท้ายก็มีศาลถาวร ก็คือศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่เฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง แต่ใช้เป็นการทั่วไปทั้งหมด

ประการที่สอง คือ เป็นศาลเสริม คือเสริมศาลภายใน หมายความว่าถ้าในประเทศเขามีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอยู่ หรือกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศรัฐภาคีนั้นไม่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการะบวนการยุติธรรมนั้น หรือไม่มีความสามารถเพียงพอ กรณีของอัมเตอร์ดัม เขาก็อ้างประเด็นนี้ว่ามีการดำเนินการล้าช้า

แต่ศาลจะตีความอย่างไร ช้าระดับไหน มีกรณีที่น่าสนใจคือที่อิรัก ตอนที่อเมริกาไปบุกอิรัก ประเทศที่ไม่พอใจอเมริกา ก็ยื่นเรื่องมาที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ประเทศที่ดำเนินการฟ้องเป็นรัฐภาคีทั้งหมด จึงไม่มีประเด็นเรื่องผู้มีสิทธิฟ้อง ไม่ลำบากเหมือนของเรา แต่เมื่ออัยการเขาไปตรวจดูแล้ว เขาบอกว่าหลักเรื่องดินแดน เรื่องพื้นที่ ใช้ไม่ได้ เพราะเรื่องเกิดที่อิรักเพราะอิรักไม่ได้เป็นรัฐภาคี ส่วนเรื่องหลักสัญชาติก็ใช้ไม่ได้ เพราะสหรัฐไม่ได้เป็นรัฐภาคี แต่ทีนี้มีทหารอังกฤษเข้าร่วมด้วย อัยการก็บอกว่าอาจจะเข้าหลักเขตอำนาจเหนือบุคคล แต่อัยการไม่รับเพราะว่ายังไม่ปรากฏให้เห็นชัดว่าอังกฤษจะไม่ดำเนินกระบวนการพิจารณา

ประการที่สาม เป็นศาลที่คนที่ถูกฟ้องหรือถูกกล่าวหา เป็นบุคคลธรรมดา เป็นปัจเจกบุคคลไม่ใช่รัฐ นี่คือสิ่งที่ต่างกับศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือรัฐฟ้องรัฐ เท่านั้น

กรณีศาลอาญาระหว่างประเทศคือฟ้องคน เอาคนมาติดคุก เป็นโทษทางอาญา ฉะนั้นกรณีที่คุณธาริต เพ็งดิษฐ์พูดว่าฟ้องปัจเจกบุคคลไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด

ประการที่สี่ คือเกิดจากใจสมัครของแต่ละรัฐ คือต้องลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 114 ประเทศ ประเทศล่าสุดที่เพิ่งลงนามก็คือบังคลาเทศ แล้วมี 34 ประเทศที่ลงนามแต่ยังไม่ให้สตยาบัน คืออิสราเอล รัสเซีย อิหร่าน มีบางประเทศลงนามไปแล้วขอถอนออกก็มี เช่น เซเนกัล จิบูตี ซึ่งได้เห็นตัวอย่างที่เกิดกับประเทศซูดาน ขณะที่สหรัฐเมริกาก็ลงนามในสมัยคลินตัน แล้วถอนออกสมัยบุช บางประเทศไม่ลงแต่แรกเลย คือ จีน อินเดีย

กรณีไทยคือ ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ให้สัตบาบัน เหมือนกรณีอิสราเอลและอิหร่าน

ประเทศที่ลงนามแล้วยังไม่ให้สัตยาบันมันมีผลผูกมัด มีพันธกรณีหรือไม่

แน่นอนว่ายังไม่กระทบเกิดสิทธิหรือหน้าที่แต่มีผลผูกมัดตามหลักสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือถ้าคุณลงนามไปแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ก็ต้องไม่ทำสิ่งที่ละเมิดวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญานั้น เช่นของไทย ลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน อยู่ดีๆ วันหนึ่งไทยกลัว ก็เลยออกกฎหมายภายในของตัวเองว่าทุกคดีห้ามไปศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างนี้ไม่ได้ เป็นการละเมิดวัตถุประสงค์ชัดเจน เพราะการลงนามนั้นคือเรายอมรับสนธิสัญญานี้อยู่นะ แต่ยังไม่ได้ผูกพัน เราประเมินและขอเวลาก่อนเท่านั้น

เงื่อนไขการรับคำร้อง

เงื่อนไขแรกคือ เขตอำนาจศาล

2.1 เขตอำนาจศาล แบ่งเป็นสามส่วน

หนึ่งคืออำนาจทางเวลา สองอำนาจทางเนื้อหา สามคืออำนาจทางพื้นที่และบุคคล       

เขตอำนาจทางเวลา

ธรรมนูญกรุงโรม มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 2002 ดังนั้น ความผิดที่เกิดขึ้นก่อนนี้ ไม่เกี่ยว สมมติว่าไทยให้สัตยาบันวันนี้ 3 ก.พ. ธรรมนูญนี้ก็ใช้กับความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ก.พ. เป็นต้นไป เว้นแต่ว่า พอให้สัตยาบันแล้ว ก็ขอยอมรับเขตอำนาจศาลให้รวมไปถึงความผิดที่เกิดขึ้นก่อน 3 ก.พ. จะย้อนไปให้ถึงกรณีตากใบ ฆ่าตัดตอนยาเสพติดก็ย้อนได้หมด แต่ต้องไม่ถอยไปถึงความผิดที่ก่อน 1 ก.ค. 2002 ฉะนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้ไทยจะให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ก็ยังไม่พอ แต่ต้องยอมรับเขตอำนาจศาลให้รวมไปถึง เม ย พ ค 53 ด้วย

เขตอำนาจทางเนื้อหา

มี 4 ความผิดเท่านั้นที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญนี้ ได้แก่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การรุกราน ตอนนี้ใช้แค่ 3 ความผิดแรก เพราะ มีนิยามไว้ชัดเจนแล้วในธรรมนูญ ส่วนเรื่องการรุกรานยังไม่มีการนิยามไว้ชัดเจน ระหว่างนี้จึงยังไม่ใช้

ความผิดฐานอื่นไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจนี้ ดังนั้นความผิดฐานก่อการร้าย ค้ายาเสพติด จึงไม่เกี่ยว

กรณีในคำฟ้องของอัมสเตอร์ดัม ระบุว่า เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามมาตรา 7 คือ เป็นการกระทำรุนแรงต่อพลเรือนโดยการโจมตีที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง สีผิว เชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา

เขตอำนาจทางพื้นที่และบุคคล

ความผิดเกิดในดินแดนของรัฐภาคี ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสัญชาติรัฐภาคี แต่ความผิดเกิดในรัฐภาคี ก็ได้

หรือ ผู้ถูกกล่าวหามีสัญชาติรัฐภาคี แม้ความผิดไม่ได้เกิดในรัฐภาคี แต่ผู้ถูกกล่าวหามีสัญชาติรัฐภาคี ก็ได้

อัมสเตอร์ดัม เห็นว่า กรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคนหนึ่ง คือ อภิสิทธิ์ มีสัญชาติรัฐภาคี ซึ่งอัมสเตอร์ดัมเขาไปสืบค้นมาได้ว่าคุณอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ

2.2 ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องมี 3 ส่วนคือ

- รัฐภาคี คือถ้ารัฐภาคียื่นเลยก็ง่ายมาก ศาลก็เปิดการสืบสวนสอบสวน

- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไปเคาะประตูศาลอาญาระหว่างประเทศได้เลย แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เกี่ยวกับรัฐภาคีก็ตาม ก็คือกรณีซูดาน

- อัยการ อาจเริ่มต้นไต่สวนเองก็ได้ โดยไปขอศาลแผนกก่อนพิจารณาคดี Pre-Trial Chamber

แล้วอัมสเตอร์ดัมไปช่องไหน

อัมสเตอร์ดัม เห็นว่า กรณีนี้ แม้ไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีให้สัตยาบัน แต่คณะมนตรีความมั่นคงน่าจะเสนอเรื่องให้อัยการเริ่มการไต่สวนได้ เหมือนกรณีซูดาน ลงนามแต่ไม่ให้สัตยาบัน ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงมีมติที่ 1593 วันที่ 31 มีนาคม 2005 ให้เสนอคำร้องต่ออัยการแห่งศาลไอซีซี ให้เปิดการไต่สวน

นอกจากนี้ เราอาจสงสัยว่า อัมสเตอร์ดัมเป็นเอกชน คนเสื้อแดงเป็นเอกชน ไปฟ้องได้ยังไง แน่นอนฟ้องไม่ได้ แต่เขาทำรายงาน คำร้องไปถึงอัยการ เพื่อให้อัยการใช้อำนาจริเริ่มไต่สวนด้วยตนเอง โดยอัยการอาจพิจารณาว่า กรณีนี้อยู่ในเขตอำนาจ เพราะ อภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ โดยคำร้องไปถึงอัยการนี้ เคยมีกรณีของเคนย่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2010

ตั้งแต่เปิดศาลอาญาระหว่างประเทศมี 5 คดีเท่านั้น อูกานดา คองโก อันฟริกากลาง ซูดาน และเคนยา ล่าสุด 3 กรณีแรกเป็นเรื่องรัฐภาคีฟ้องไป กรณีเคนยา อัยการไปขอเปิดการไต่สวน และอีกกรณีคือซูดาน ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงเป็นผู้ฟ้อง

สรุปคือ อัมสเตอร์ดัมใช้ สองช่องทาง คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และช่องทางอัยการ ซึ่งต้องพิสูจน์สัญชาติของคุณอภิสิทธิ์

ถ้าคนที่ถูกฟ้องไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐที่ให้สัตยาบัน จะลงโทษได้อย่างไร

หน้าที่ผูกพันของการร่วมมือกันระหว่างรัฐที่ไม่ได้สัตยาบัน อย่างน้อยรัฐที่ไม่ได้สัตยาบันก็ต้องร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในการตรวจสอบ หรือจับกุม

มีกรณีที่น่าศึกษาคือ กรณีซูดาน เหมือนไทย คือลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน ก็ไปจับตัวเล็กตัวน้อยสองสามคนแล้ว พอจะจับประธานาธิบดีของเขา อูมาร์ อัลบาซีร์ แอฟริกาหลายประเทศก็โวยวายขึ้นมาว่ามันจะเกินไปแล้ว เขาไม่ได้ให้สัตยาบันจะไปจับเขาได้อย่างไร ตัวอัลบาซีร์ของซูดานก็บอกว่าไม่มีทางยอมให้จับและขึ้นศาลหรอกเพราะเป็นศาลที่ผมไม่เคยลงนามให้สัตยาบัน แล้วเขาก็เดินทางไปอยู่ที่เคนยา ซึ่งเป็นรัฐภาคี แต่เคนยาก็ไม่ส่งตัวประธานาธิบดีของซูดานให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ฉะนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

2.3 ต้องเป็นกรณีตามมาตรา 17

แม้จะเข้าเงื่อนไขครบถ้วนหมด แต่ศาลอาจไม่รับคำร้องก็ได้ หากพิจารณาแล้ว ไม่เป็นเรื่องร้ายแรง หรือ ศาลแห่งรัฐภาคีดำเนินคดีอยู่ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับเฉพาะกรณีที่เห็นว่า รัฐภาคีไม่มีความตั้งใจหรือไม่มีความสามารถในการดำเนินคดีนั้น

ฉะนั้นถ้าเราดูรายงานของอัมสเตอร์ดัมเขาจะพูดในช่วงท้ายๆ ว่าจองไทยร้ายแรงเพราะที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรม 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 กระบวนการพิจารณาคดีช้า ดีเอสไอไม่เป็นกลาง ระบบศาลไม่เป็นอิสระ เขาเขียนแบบนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเข้าหลักมาตรา 17

2.4 ไม่เป็น นอน บิส อิน อีเด็ม หมายความว่าคนๆ เดียวกันจะไม่ถูกลงโทษสองหนโดยเรื่องเดียวกัน นี่เป็นหลักกฎหมาย หากผู้ถูกกล่าวหาถูกศาลอื่นพิพากษาลงโทษในความผิดเดียวกันนั้นแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ไม่รับ

 

ย้อนดูการพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน มี 5 คดีที่ศาลพิจารณาอยู่ ได้แก่ยูกานดา 2003, คองโก 2004, แอฟริกากลาง 2004, ซูดาน 2005 และเคนยา 2010

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีคำร้องเข้าไป เกือบ 3,000 คำร้อง เกี่ยวกับ 139 ประเทศ ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าประเทศที่เป็นภาคี (114 ประเทศ) ส่วนมากศาลไม่รับ เพราะ ชัดเจนว่าไม่มีเขตอำนาจ

กรณีกว่า ๓๐๐๐ คำร้องนี้ เป็นกรณีที่ปัจเจกชน องค์กรเอกชน บุคคลใด ยื่นคำร้องมายังอัยการ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

ลำดับแรก - ปัจเจกชน องค์กรเอกชน บุคคลใด ยืนคำร้อง (complaint, communication) -------------> อัยการ

ลำดับที่สอง - อัยการพิจารณาคำร้องใน ๓ ขั้นตอน  คือ

๑. ตรวจสอบเบื้องต้น (Initial Review) --------------> ๒. ทำรายงานเบื้องต้น (Basic Reporting)  -------------> ๓. วิเคราะห์แบบลึกซึ้ง (Intensive Analysis)

 

(ในขั้นตอน ตรวจสอบเบื้องต้น (Initial Review) อัยการจำหน่ายคำร้องออกไปจำนวนมาก จากสถิติที่ผ่านมา เกือบ ๓๐๐๐ คำร้อง ร้อยละ ๕ จำหน่ายเพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน ๑ กรกฎาคม ๒๐๐๒ ร้อยละ ๒๔ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นไม่เข้าความผิด ๔ ฐาน ร้อยละ ๑๓ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นไม่เข้าเขตอำนาจทางพื้นที่และบุคคล ร้อยละ ๓๘ จำหน่ายเพราะปรากฏอย่างชัดแจ้งว่ากรณีอยู่ในอำนาจขององค์กรอื่นๆหรือคำร้องไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอ มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่ผ่านไปถึงขั้นตอนทำรายงานเบื้องต้นและวิเคราะห์แบบลึกซึ้ง เช่น กรณีอัฟกานิสถาน, ชาด, โคลัมเบีย, ไอวอรี่โคสต์, เคนยา)

 

ลำดับที่สาม - อัยการขออนุญาตต่อศาลแผนกก่อนพิจารณาคดี (Pre-Trial Chamber) เพื่อเปิดการไต่สวน

คำร้องของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ในส่วนที่กล่าวอ้างว่าศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในกรณีการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. ๒๕๕๓ เพราะผู้ถูกกล่าวหา (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) มีสัญชาติของรัฐภาคี (บริติช) เป็นกรณียื่นคำร้องในช่องทางนี้

 

อย่างไรก็ตาม หากใช้ช่องทางอัยการก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียวคือคุณอภิสิทธิ์

ดังนั้นช่องทางอัมสเตอร์ดัมสองช่องทาง ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงรับ ก็ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งกรณี ซูดาน เสนอโดยคณะมนตรีความมั่นคง

กรณีเคนยาเสนอโดยอัยการเอง อัยการพิจารณาแล้วเห็นควร จึงไปขออนุญาตศาลไอซีซีเปิดไต่สวน

นอกจากนี้มีกรณีที่น่าสนใจคือไอวอรี่ โคสต์ ไม่เป็นรัฐภาคี ผู้ถูกกล่าวหา ก็เป็นไอวอรี่โคสต์ ความผิดก็เกิดบนไอวอรี่ โคสต์ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อไหนเลย แต่รัฐบาลไปยอมรับเขตอำนาจศาลไอซีซี ให้มีอำนาจเหนือคดีที่เกิดขึ้นนับแต่ 19 กันยายน 2002 เป็นการยอมรับเฉพาะเรื่อง แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง

อิรักก็น่าสนใจ อย่างที่ผมเล่าไป กรณีหาทางไปศาลโดยอาศัยสัญชาติของผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่เคยมีใครไปช่องนี้ได้สำเร็จนะ แต่ผมไปดูจากเว็บไซต์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ คือกรณีเคนยา อัยการขอเริ่ม Pre-Trial แล้วก็มีการพิจารณาวางหลักไว้เลยว่า หากเรื่องดินแดนไม่เข้าก็ให้พิจารณาเรื่องสัญชาติของบุคคลต่อ แล้วกรณีอิรัก ทุกคนต้องการเล่นงานสหรัฐ จะเล่นงานทหารสหรัฐก็ไมได้ จะอ้างว่าความผิดเกิดบนดินแดนภาคีก็ไม่ได้ ก็ต้องไปเล่นอังกฤษ อิตาลี สเปน แต่อัยการไม่รับเพราะพิจารณาแล้วไม่เข้ามาตรา 17 นั่นดูเหมือนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะให้ดูเรื่องสัญชาติ

อภิสิทธิ์กับสัญชาติอังกฤษ

สัญชาติโดยการเกิด มีสองแบบ คือหลักดินแดนกับหลักสายโลหิต

พ.ร.บ. สัญชาติอังกฤษ ๑๙๔๘ บอกว่า บุคคลที่เกิดในดินแดนสหราชอาณาจักรหรืออาณานิคม หากไม่ได้เป็นลูกทูตหรือลูกของชาติศัตรู บุคคลนั้นได้สัญชาติอังกฤษ

อภิสิทธิ์เกิดปี ๑๙๖๔ อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. นี้ จึงมีสัญชาติอังกฤษตามหลักดินแดน

ปัญหามีอยู่แค่ว่า หากคนๆ หนึ่งถือสองสัญชาติ เช่น กรณีฝรั่งเศส สมมติผมเป็นไทยบวกฝรั่งเศสแล้วผมไปเป็น ส.ส. เป็นนายก หรือทหารของไทย ฝรั่งเศสก็ขอให้ผมถอนสัญชาติออกได้ เพราะถือว่าผมฝักใฝ่ที่จะเป็นคนชาติไทยมากกว่า แต่ไม่ได้ถอนโดยอัตโนมัตินะ หลักกฎหมายของไทยก็เช่นเดียวกัน คือ พ.ร.บ. สัญชาติ 2508

แต่สัญชาติถ้าจะสละต้องชัดเจน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องแสดงให้ชัด เพราะถ้าปลดโดยอัตโนมัติ คนจะเสียสิทธิเต็มไปหมด

เรื่องการถือ 2 สัญชาตินั้นกฎหมายไทย ไม่เคยบอกว่าถ้าถือสัญชาติไทย แล้วต้องสละอีกสัญชาติหนึ่ง หรือว่าสละไปโดยปริยาย กฎหมาย อังกฤษ ก็เหมือนกัน จึงเป็นไปได้ว่า คนไทยอาจมีสัญชาติอังกฤษไปพร้อมๆกัน

เรื่องการถือสองสัญชาตินี้เรื่องปกติมาก พบเห็นได้ทั่วไป มีกรณีคนดังๆ จำนวนมากที่ถือสองสัญชาติ เช่น

อาร์โนลด์ ชวารซเนคเกอร์ ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาก็ถือสัญชาติออสเตรียด้วยตลอด จอหน์ เทอร์เนอร์ อดีตนายกแคนาดา เขาก็ถือแคนาดาและอังกฤษมาถึงวันนี้

ปัญหามีอยู่ว่า กฎหมายสัญชาติอังกฤษกำหนดไว้หรือไม่ว่า ถ้าคนที่มีสองสัญชาติ แล้วไปเป็น ส.ส. เป็นนายก เป็นทหารของประเทศอื่นที่ตัวมีสัญชาตินั้น เท่ากับว่ารัฐบาลอังกฤษต้องไปถอนสัญชาติอังกฤษออก

ไทยก็มี มาตรา 17 (2) มีหลักฐานว่าฝักใฝ่สัญชาติอื่น แต่ต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ถอนสัญชาติ ไม่ได้ถอนไปอัตโนมัติ แต่กฎหมายเรื่องนี้อังกฤษไม่มี

พรบ สัญชาติอังกฤษปี ๑๙๔๘ ในมาตรา ๑๙ กำหนดว่า คนที่มีสัญชาติอังกฤษ เมื่อบรรลุนิติภาวะ แล้วต้องการสละสัญชาติอังกฤษ ก็ทำได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า คุณอภิสิทธิ์สละสัญชาติอังกฤษแล้วหรือยัง

ปัญหาต่อมา มีคนเห็นว่า คุณอภิสิทธิ์จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติอังกฤษ ก็ต่อเมื่อมีสิทธิในสัญชาตินี้และใช้สิทธิในสัญชาตินี้ พูดง่ายๆ คือ มี แต่ยังไม่ใช้ ถือว่ายังไม่มีสถานะสัญชาติอังกฤษ

อันนี้อาจเห็นต่างกัน ผมเห็นว่า มีแล้ว เพียงแต่ว่ายังอาจไม่มีหลักฐานทางเอกสาร เช่น ผมไปเกิดที่อังกฤษ มีสัญชาติอังกฤษตามหลักดินแดน แต่ผมไม่เคยไปแจ้ง ไม่มีชื่อในทะเบียน ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีบัตรประชาชน อังกฤษ แต่ว่าถามว่าผมมีสัญชาติอังกฤษไหม คำตอบคือมี กฎหมายกำหนดชัดเจน เพียงแต่ผมไม่เคยไปจดแจ้งทางเอกสารให้มันชัดเท่านั้น สมมติผมเกิดที่อังกฤษ ต่อมาผมกลับมาไทย ทำงาน ยังไม่เคยสละสัญชาติอังกฤษ ต่อมา ผมลี้ภัยการเมืองไปจากไทย ไปอังกฤษ ผมก็ไปแจ้งทางการอังกฤษ พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ผมเกิดที่นี่ มีสัญชาติตามหลักดินแดน เขาก็ให้ผมเข้า

เอาล่ะ สมมติว่า เราคิดว่า มี แต่ไม่ใช้ ถือว่าไม่มี ตามแบบอาจารย์พันธุ์ทิพย์ก็ได้ ผมก็ตอบแทนอภิสิทธิ์ไม่ได้ ว่าเขาใช้สิทธิในสัญชาติอังกฤษหรือยัง เพราะ ผมไม่ใช่เขา ผมไม่รู้ อาจารย์พันธุ์ทิพย์ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ว่า เขามีพาสปอร์ตไหม มีทะเบียนบ้านไหม นอกจากเขาเอง แต่ปกติ คนที่เกิดในอังกฤษ หรืออเมริกา ก็ใช้สิทธิในสัญชาติทั้งนั้น เพราะได้สิทธิประโยชน์เยอะ เป็นหน้าที่ของคุณอภิสิทธิ์เองที่ต้องแสดงหลักฐานว่า ตัวเองมีสัญชาติอังกฤษหรือไม่ สละสัญชาติหรือยัง

คำฟ้องของอัมสเตอร์ดัมสำคัญอย่างไร ทำไมต้องลุ้น

ไม่มีใครรู้หรอก ว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ฉะนั้นความสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การที่รายงานนี้ออกมาทำให้ประเด็นการสลายการชุมนุมไปปรากฏต่อประชาคมโลก ต่อองค์กรระหว่าปงระเทศ ต่อนานาชาติ อีกประการหนึ่งอย่างน้อยทีมงานของเขาได้เข้ามารวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน หากพยานหลักฐานเหล่านั้นหายหมด แน่นอนว่าคนอาจจะบอกว่า ทนายเสื้อแดง ก็ทำหลักฐานเข้าข้างเสื้อแดง ก็ไม่เป็นไร รัฐบาลก็ทำของรัฐบาล แล้วใครน่าเชื่อถือกว่าก็เอามาชั่งน้ำหลักกัน

อีกประการคือความสำคัญทางสัญลักษณ์ ผมมองว่า กรณีอัมสเตอร์ดัมส่งสัญญาณทำให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ไอ้กระจอก ไม่ใช่วัวควาย ไอ้โง่ไอ้รากหญ้าที่ไหนที่จะมาปิดประตูตีแมว ไม่พอใจก็มายิงๆ ฆ่าๆ แล้วปิดประเทศ ปิดประตู ไม่ให้ใครมายุ่ง นี่เป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีที่ไปในทางระหว่างประเทศไอ้อยู่ ส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้รัฐบาลไหนก็ไม่มีทางอีกแล้วที่จะมาฆ่าพลเมืองเหมือนผักปลาอย่างที่เกิดขึ้น

กรณีอัมสเตอร์ดัมอาจจะสงสัยว่าทำไมผมมาเชียร์มาสนับสนุน ผมเห็นว่า กรณีนี้มันเป็นปัญหาทางจริยศาสตร์ทางการเมือง มีคนตายเป็นหลายร้อย มีคนเจ็บเป็นพันกลางกรุงเทพฯ โดนซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์แล้วมันไม่เกิดอะไรขึ้นเลย มันเป็นไปได้อย่างไร

กรณีอัมสเตอร์ดัมอาจเป็นกลไกที่ทำให้คนฆ่าคนส่งฆ่าได้รับโทษ ถ้าเราปล่อยให้เงียบไปหมดมันกระเทือนจริยธรรมทางการเมือง

ความสำคัญของเรื่องนี้ในทางสื่อหรือทางสังคมจะไปจับแค่ว่าศาลรับหรือไม่รับ หรืออภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษหือไม่ แต่อย่าลืมนะว่าเหตุการณ์ปี 53 ต้องไม่ลืมเลย วันนี้ส่งเรื่องไปวันหน้าศาลอาจจะไม่รับ อาจจะไต่สวนก็ได้ หรือไม่รับเลยก็ได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องพูดกันทุกวันๆ เพราะคนตายไปแล้วเขาพูดไม่ได้ แต่คนที่อยู่ต้องพูดแทนคนตาย ลืมไม่ได้เรื่องนี้

อย่างที่อัมสเตอร์ดัมพูดน่ะครับ ไม่มีนักข่าวที่ไหนในโลกหรอกที่จะดีใจว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่รับฟ้องขณะที่คนในประเทศถูกทหารฆ่าตายเป็นร้อย แทนที่จะหากระบวนการหาช่องทางทำให้ความจริงปรากฏ แต่นี่กลับมาเฮ ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ถ้าศาลอาญาไม่รับฟ้อง รัฐบาลดีใจนักข่าวดีใจ คนที่กลัวกระบวนการพิสูจน์ความจริงเหล่านี้ คือคนที่มีปัญหาไง ไปดูสิ สหรัฐ ไม่ลงนาม จีนไม่ลงนาม เพราะเขามีแผลไง ในเมื่อรัฐบาลพูดทุกวันว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้วจะกลัวอะไร

แล้วที่พูดกันว่า ไทยไม่ลงนาม คนส่วนใหญ่ไปพูดกันว่ามันเกี่ยวกับฆ่าตัดตอน เกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้ แต่ไปดูเหตุผลเลยที่กระทรวงการต่างประเทศระบุคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่คุ้มกันประมุขของรัฐ กรณีซูดานเป็นกรณีแรกที่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของรัฐถูกออกหมายจับ

ผมขอเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองด้วยว่า การหาเสียงครั้งหน้า โปรดรณรงค์ด้วยว่า ถ้าเป็นรัฐบาล จะให้สัตยาบัน และยอมรับเขตอำนาจศาลย้อนไปยังเหตุการณ์ เมษา พค 53

 

โปรดดู แผนผังช่วยทำความเข้าใจเงื่อนไขการรับคำฟ้องของศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/page/185

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น