โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักข่าวพลเมือง: พีมูฟ ทำพิธี “สะเดาะโซ่ตรวน” ผู้ถูกคดี ยืนยันร่วมติดตามการแก้ปัญหาทุกกรณี

Posted: 26 Feb 2011 11:09 AM PST

ภาคประชาชนจัดพิธีกรรมสะเดาะโซ่ตรวน หวังช่วยผู้ต้องหา 309 คน จาก 88 คดีที่ถูกดำเนินคดีให้พ้นโทษ

วานนี้ (26 กพ.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P Move) ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ทำพิธีกรรม “สะเดาะโซ่ตรวนที่จองจำพี่น้องที่รักษาแห่งอาหารและฐานทรัพยากร” และมีการอ่านคำประกาศ กรณีจำเลยกระบวนการยุติธรรม ณ บริเวณที่ชุมนุม โดยคำประกาศระบุเนื้อหาดังนี้

“พวกเราขอประกาศให้ทราบว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการประกาศเขตป่า เขตอุทยาน เขตอนุรักษ์ หรือโครงการสวนป่ายุคาลิปตัสทับซ้อนกับชุมชนดั้งเดิม กว่า 900,000 ไร่ ใน 508 ชุมชน มีผู้เดือดร้อนกว่า 58,000 ครัวเรือน มีคดีคนจนเกี่ยวกับเรื่องที่ดินและทรัพยากรกว่า 1,000 ราย มีการออกเอกสารสิทธิมิชอบทับที่ดินของชุมชน โดยน้ำมือของกรมที่ดิน
 
มีข้อพิพาทจากการให้สัมปทานเหมืองแร่ 17 เหมือง ครอบคลุม 304 หมู่บ้าน พิพาทเรื่องที่ดินจากการให้สัมปทานเหมืองถึง 500,000 ไร่ มีผู้ป่วยจากเหมืองแร่ด้วยสารแคดเมี่ยมกว่า 800 คนและมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 120 คน
 
คนชายขอบทั้งคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้านและชนเผ่าพื้นเมือง ที่ถูกละเลยและถูกละเมิดสิทธิมายาวนาน ทั้งกลุ่มชาวเล กลุ่มชนเผ่าบนที่ราบสูง กลุ่มไทยพลัดถิ่น กลุ่มลาวอพยพ ไม่ต่ำกว่า 54,000 คน ที่สำหรับคนไร้สัญชาติ ไม่มีสิทธิ์แจ้งเกิด ไม่มีสิทธิ์แจ้งตาย ไม่มีสิทธิ์แจ้งความแม้จะถูกทำร้าย เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประเภท รวมถึงเด็กที่พ่อแม่ไร้สัญชาติแต่เกิดในประเทศไทยด้วย
ในขณะที่พวกเราจัดชุมชน ยังมีพี่น้องของพวกเราถูกศาลตัดสินให้จำคุก 2 คนคือ กรณีที่ดินลำพูน กรณีการสร้างเขื่อน รวมทั้งยังมีอีกหลายกรณี ที่รอบการบังคับคดี เช่น สวนป่าคอนสาร สวนหลวง ร.9
วันนี้พวกเราในนาม "ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม" ขอยืนยันว่าจะร่วมกันติดตามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในทุกกรณี… ทั้งนี้ เพื่อร่วมกัน... ปลดโซ่ตรวนพันธนาการนี้... ออกไปจากพี่น้องคนจนทุกคน”
 
"รัฐต้องขจัดความจน ไม่ใช่ขจัดคนจน"
"อย่าเหยียบย่ำคนจน ด้วยคำพิพากษา"
บางถ้อยความจากจำเลย 309 คน จาก 88 คดี ในฐานผู้ผลิตอาหารและรักษาฐานทรัพยากร

 
นอกจากนี้ยังมีการรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสุแก้ว ฟุงฟู หนึ่งในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เกษตรบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ถูกศาลอุทธรณ์ จ.ลำพูน พิพากษาจำคุก 1 ปี ด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินเอกชน โดยขณะนี้ถูกกุมขัง ณ เรือนจำจังหวัดลำพูน อย่างไรก็ตามมีข้อมูลระบุว่าออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวออกโดยมิชอบ และที่ดินถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าทำให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธาริตระบุกระสุนอาก้าสังหารนักข่าวญี่ปุ่นแกนเสื้อแดงท้าแสดงหลักฐาน

Posted: 26 Feb 2011 10:55 AM PST

พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ  ผู้เชี่ยวชาญด้านบาดแผลกระสุนปืน เป็นผู้ตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผลและวิถีกระสุน  โดยมีข้อสรุปว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงคราม ชนิดอาร์ก้า

26 กุมภาพันธ์ 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิต นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 10 เมษายน2553 ในระหว่างการที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกคอกวัวและบริเวณโรงเรียนสตรีวิทย์ว่าจากการตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผล และวิถีกระสุน มีข้อสรุปว่า นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงครามชนิดอาก้า ซึ่งอาวุธดังกล่าวนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ใช้เป็นอาวุธ

จากนั้นได้มีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ DSI เตรียมส่งข้อมูลการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ให้ตำรวจนครบาลนำไปประกอบสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นข้อมูลใหม่ โดยระบุว่า พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ  ผู้เชี่ยวชาญด้านบาดแผลกระสุนปืน เป็นผู้ตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผลและวิถีกระสุน  โดยมีข้อสรุปว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงคราม ชนิดอาร์ก้า ซึ่งอาวุธดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่มีใช้เป็นอาวุธประจำกายซึ่งผลสรุปดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะทำให้รูปคดีมีความเปลี่ยนแปลง เพราะก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้สรุปความเห็นเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่นอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ วิถีกระสุนอาจมาจากแนวของทหาร และการสอบพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ

ในส่วนของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หลักฐานนั้นชัดเจนว่านักข่าวชาวญี่ปุ่นนั้นถูกยิงอยู่ในฝั่งของคนเสื้อแดง ดังนั้นกระสุนน่าจะมาจากฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับคนเสื้อแดง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พูดความจริงไม่หมด เพราะเรื่องของรายละเอียดหลักฐานต่างๆ นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น อาวุธที่ใช้ยิงเป็นอะไร ชนิดไหน ขอให้ดีเอสไอชี้แจงมา ถ้าคิดว่าไม่ใช่อาวุธของฝ่ายทหาร

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ขณะที่ช่างภาพของญี่ปุ่นเสียชีวิตอยู่ในฝั่งของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง มีพยานให้การว่าเห็นแสงไฟมาจากปากกระบอกปืน ซึ่งน่าจะมาจากด้านหน้าแล้วก็เสียชีวิต ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่นักข่าวคนดังกล่าวถูกยิงโดยใคร ไม่ใช่ว่าถูกยิงด้วยอาวุธชนิดไหน แต่คนที่สามารถจัดสรรอาวุธทุกชนิดได้ในประเทศไทยนั้น คือหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องไปหาคนที่ยิงมาให้ได้ ไม่ใช่มาพูดกันว่าถูกยิงจากอาวุธชนิดไหนกันแน่
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ยถากรรม5จังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 26 Feb 2011 01:25 AM PST

เวทีมนุษย์-สังคมเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปฏิรูปสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ณ อาคารรัตนเลิศ(บ้านทรงจีน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

  

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาความไม่สงบในปัตตานี,ยะลาและนราธิวาส เพียงเท่านั้น ทว่ามีพื้นที่อีก 2 จังหวัดที่มีปัญหาคุกรุ่นอยู่เช่นกันจากแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ คือพื้นที่จังหวัดสตูลและสงขลา อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะนะ, สะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูลฯลฯ
 
เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเวทีมนุษย์-สังคมเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปฏิรูปสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม ตามโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ณ อาคารรัตนเลิศ(บ้านทรงจีน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 

 
รศ.ดร.ไพบูรณ์ ดวงจันทร์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเปิดงาน ความว่า สังคมไทยในรอบ4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดการการใช้กำลังและอาวุธเข้าหั่นจนถึงขั้นจลาจล จากการสรุปบทเรียนได้ว่ามาจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยสูง
 
นำเสวนาโดย ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรและน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และ รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์สาขาวิชาตะวันออกหลักสูตรมาลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พิธีกรดำเนินเสวนาโดย ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีคณาจารย์ บุคลากร นิสิตและผู้สนใจ ประมาณ 50 คน
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันนี้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม แยกออกเป็น 2 พื้นที่จังหวัดคือ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี,ยะลาและนราธิวาส ส่วนพื้นที่จังหวัดสตูลและสงขลา มีปัญหาเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา,ท่าเรือน้ำลึกสวนกง และสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล)ฯลฯ ที่จะต้องมาเสวนาแลกเปลี่ยน
 
รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์สาขาวิชาตะวันออกหลักสูตรมาลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เปิดเผยว่า ที่ดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไปดูที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากชาวบ้านในพื้นที่ไปยังคนนอกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ที่ดินแถวอำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มีคนนอกพื้นที่ฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของ
 
รศ.ดร.รัตติยา กล่าวว่า คำถามว่าวันนี้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่ากลัวจริงหรือ ซื้อที่ดินไปทำไมทั้งที่เป็นที่ดินตาบอด ชาวบ้านบางคนถูกบีบบังคับให้ขายที่ดิน เพื่อโก่งราคาเมื่อรู้ว่าบริเวณไหนที่มีถนนตัดผ่าน โดยกว้านซื้อจากชาวบ้านในราคาถูก ใครไม่ยอมขายจะถูกข่มขู่ไล่ล่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากที่ดินทำกินเช่นกัน
 
ม.ร.ว.อคิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพลเมืองไทยถึง 90% ถือครองที่ดินแค่ 10% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ส่วนกลุ่มคนแค่ 10% ถือครองที่ดินถึง 90% ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งที่ดินทำกินเป็นปัญหารากเหง้าของสังคมไทย ในการเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่าเทียมกัน มาจากระบบศักดินา สู่ระบบธุรกิจนักการเมืองในปัจจุบัน ที่มักจะร่วมมือกับนายทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน ทำสัญญาเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา นำมาสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน
 
“เพื่อขจัดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน คณะกรรมการปฏิรูปได้ทำข้อเสนอการถือครองที่ดินได้เพียงคนละ 50 ไร่ ให้รัฐกว้านซื้อที่ดินจากคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ จัดตั้งเป็นธนาคารที่ดิน เพื่อขายแบ่งปันให้กับคนที่ไร้ที่ดินทำกิน อาจใช้เป็นวิธีการผ่อนชำระเป็นเดือนๆ” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถาม ม.ร.ว.อคิน ว่า ปัญหาแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ กับสถานการณ์ความขัดแย้ง กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่ล่าสุดมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปรับงานประชาสัมพันธ์กับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมหรือไม่ ควรวางบทบาทของอาจารย์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยอย่างไร
 
ม.ร.ว.อคิน เปิดเผยว่า ตอนที่ตนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเพื่อนอาจารย์คนหนี่งรับงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทาบทามตนให้ร่วมคณะทำรายงานศึกษาประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนแห่งหนึ่ง แต่ตนได้ตอบปฏิเสธ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า เมื่อก่อนมีอำนาจนักการเมืองกับนายทุน ปัจจุบันมีอำนาจนักวิชาการเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันผลาญทรัพยากรของชาติ รังแกชาวบ้าน มีการทำมวลชนให้ขัดแย้งกันเองในชุมชน นักวิชการมารับงานแบบนี้กันเยอะมาก ความจริงนักวิชาการควรมีจริยธรรมและเป็นกลาง
 
“นักวิชาการส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ไปตั้งบริษัทรับทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รับทำงานประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐ โดยมีกรมหรือหน่วยงานภาครัฐมาจ้างโดยมีเงื่อนไขว่าต้องอิงข้อมูลเข้าข้างกรมหรือหน่วยงานภาครัฐ” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
รศ.ดร.รัตติยา เปิดเผยว่า เคยมีเพื่อนซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวชาวมาเลเซียถามตนว่ารู้หรือไม่ว่าตอนนี้ตนกำลังอยู่บนแผ่นดินไทย ขณะที่ตนอยู่ริมชายหาดประเทศสิงคโปร์ เพื่อนบอกกับตนว่าดินที่ถมทะเลเหล่านี้นำมาจากจังหวัดสตูล ขุดหน้าดินแปรรูปเป็นอิฐบล็อกลำเลียงผ่านด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนทรายขนถ่ายทางเรือในตอนดึกๆลำเลียงไปขายยังประเทศมาเลเซีย เพื่อถมทะเล
 
“เพื่อนอธิบายว่าสิงคโปร์มีสูตรวิทยาศาสตร์ในการสร้างอิฐบล็อกที่มีคุณสมบัติคงทนต่อการถมขยายพื้นที่ในทะเล มีนักวิชาการที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เห็นช่องทางตรงนี้ทำธุรกิจวิชาการ” รศ.ดร.รัตติยา กล่าว
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถามในเวทีเสวนาว่า ระบบหลักสูตรการศึกษา ตลอดถึงอาจารย์ นักวิชาการและมหาวิทยาลัยควรมีการปฏิรูปด้วยหรือไม่ อย่างไร
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเป็นจำนวนมากออกมาโดยง่ายๆ ทำให้คุณค่าของใบปริญญาหมดไป ความจริงควรเน้นการพัฒนาด้านอาชีวะศึกษามากกว่า เพราะในตลาดแรงงานต้องการช่างฝีมือในแขนงต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่นักศึกษาเรียนเพื่ออยากได้ปริญญา ไม่ใช่เรียนเพื่ออยากได้ความรู้ บัณฑิตเลยไม่มีคุณภาพ ตกงาน
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถามในเวทีเสวนาว่า ประชาชนสามารถฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างกับภาครัฐให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยสามารถทำข้อเสนอต่อภาครัฐได้ แต่ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาชนด้วย รวมถึงผู้สื่อข่าวที่นำความเดือดร้อนของชาวบ้านนำเสนอให้เป็นกระแส กระทุ้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ทั้งนั้นแรงขับเคลื่อนทึ่ดีที่สุดคือพลังจากประชาชนในการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง ซึ่งจะเดินไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งไม่ได้ ดังเช่น แนวคิดปฏิรูปประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งทำจากข้างบนลงมาข้างล่าง คือแนวทางการปฏิรูปกำหนดมาจากภาครัฐ แต่ครั้งนี้จากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน เป็นข้อเสนอจากภาคประชาชนสู่ภาครัฐ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวอีกว่า จากการเรียกร้องต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นำไปสู่เหตุการณ์จลาจล การที่รัฐบาลอ่อนแอ ถือเป็นโอกาสดีของเครือข่ายภาคประชาชนขึ้นมาเรียกร้องอำนาจของประชาชนจากภาครัฐ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างกลุ่มชาวไทยพลัดถิ่นเดินธรรมยาตราจากจังหวัดในประจวบคีรีขันท์ถึงรัฐสภาที่กรุงเทพฯ จนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รับเรื่องที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติสัญชาติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็วๆ นี้
 
“ มีแนวทางการตั้งสภาประชาชน จากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนหลายๆ เครือข่ายทั่วประเทศไทย เป็นสภาคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนต่อรัฐบาล เพื่อคาน ถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน นอกจากนี้แล้วควรลดอำนาจรัฐส่วนกลาง และเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นและชาวบ้านมากขึ้น การที่รัฐจะดำเนินการอะไรต้องได้รับการอนุมัติจากท้องถิ่นเท่านั้น” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ็องปะโอน โตวตะเซร จุมคะเนีย: พี่น้องผองเพื่อนเรามาเขียนกันเถอะ

Posted: 26 Feb 2011 12:58 AM PST

แดดบ่ายจัดฉายฉานจากด้านหลังตัวปราสาทศีขรภูมิ หรืออีกชื่อเรียก ปราสาทระแงง ซึ่ง ‘ครูธี ธีรภาพ โลหิตกุล’ บอก เล่าว่า เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 เพื่อบูชาพระศิวะ มีลักษณะปนกันระหว่างศิลปะขอมแบบปาปวนและแบบนครวัด ต่อมามีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ในราว พุทธศตวรรษที่ 22 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ครูธีลงจากรถตู้โดยสารได้ก็เดินดุ่มๆ เวียนรอบตัวปราสาท มาหยุดยืนนิ่งหันหลังให้ตะวัน แล้วจารึกภาพอย่างช่างผู้ชำนาญการ ข้าพเจ้าเวียนอีกด้านหนึ่งด้วยความประสงค์อยากถ่ายภาพเงาปราสาทในคูน้ำ จนเดินวนมาถึงจุดที่ครูเคยนั่งส่องกล้องอย่างเอาจริงเอาจังก็ต้องร้อง อ้อ..ถึงว่า ครูธีตรงดิ่งมามุมนี้ จึงนั่งกดชัดเตอร์เอาภาพกิ่งก้านอ้อนแอ้นของต้นสำโรงเป็นฉากหน้าปราสาทอย่าง เอาจริงเอาจังเช่นกัน ก่อนถูกเรียกไปฟังไกด์กิตติมศักดิ์ หรือครูธี ให้การศึกษาเรื่องปราสาทศีขรภูมิอย่างออกรส และได้ความรู้ว่า ปราสาทศีขรภูมิมีศิลาทับหลัง และภาพสลักอัปสราตรงหน้าเสากรอบประตูที่สวยและสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นภาพสลักนกแก้วบนบ่าของนางอัปสรา ยังมีอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในบรรดาปราสาทขอมในเวิ้งเวียนอุษาคเนย์

เมื่อมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวจากผู้รู้เรื่องขอมโบราณดี จึงทำให้ประวัติศาสตร์โบราณสถานอีสานใต้ ซึ่งข้าพเจ้าอ่านผ่านไม่มาก และจดจำยุคสมัยไม่เคยได้ และไปเห็นมาด้วยตาไม่ครบทุกปราสาท กลับกลายเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวาและน่าสนใจขึ้นมาก

ก่อนมาถึงปราสาทศีขรภูมิในยามแดดโรยแล้ว ก่อนนั้นคณะเราได้มีโอกาสเยี่ยมชม “สุรินทร์สโมสร” หรือคลับที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สามัญชนคนสุรินทร์ ผ่านภาพถ่าย, วารสารและหนังสือเล่มไว้อย่างน่าสนใจ ต่อด้วย “พิพิธภัณฑ์สุรินทร์” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก และ ‘ครูสมปอง ดวงไสว’ วิทยากรอีกท่านบอกว่า เป็นความต่อเนื่องลงตัวดี ที่มีโอกาสได้รับรู้ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน สู่เรื่องเล่าเก่าก่อนของเหล่ากษัตริย์เจ้าชีวิต ผู้สามารถขีดเส้นเป็นตายให้อนาประชาราษฎร์

จากนั้น ‘มน’ เพื่อนจากสุรินทร์สโมสรได้พาเราลงพื้นที่บ้านดงมัน ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ ดินแดนอันเป็นถิ่นเกิดของ ‘น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์’ ศิลปิน พื้นบ้านผู้โด่งดังในแถบถิ่นอีสานใต้ ทั้งยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ศิลปะดนตรีกันตรึมพื้นบ้าน เห็นได้จากมีบ้านครูเพลงอีกหลายท่าน อาทิ ‘ครูธงชัย สามสี’ นอกจากจะเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรี เป็นครูผู้มีผลงานการแสดง และได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในต่างประเทศหลายครั้ง ยังเป็นลูกศิษย์ ‘ครูพูน สามสี’ ครูเพลงกันตรึมและมโหรีเขมรที่มีความสามารถเป็นเลิศ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีลูกศิษย์ลูกหากว่า 200 คน แต่น่าเสียดายที่ ‘ครูพูน สามสี’ ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงจากผู้ที่รักและศรัทธาครูเพลงว่า ศิลปะกันตรึมโบราณจะขาดไร้ผู้สืบทอด และเลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คน รวมทั้งเราผู้เพิ่งมีโอกาสได้มารู้จัก และมาเยี่ยมเยียนครูพูน สามสี ก็ช้าไปเสียแล้ว จึงมีโอกาสรับฟังแค่เรื่องราวที่ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วเท่านั้น

พอลงจากรถตู้ครูสมปอง เห็นลูกศิษย์ครูธงชัยสลักเสลากองกันตรึม หรือสก็วรกันตรึม อยู่ในโรงไม้ข้างบ้าน ก็เดินตรงดิ่งไปขอสัมภาษณ์อย่างกระตือรือร้น ด้วยความที่เพิ่งเคยเห็นคนทำกองกันตรึมเป็นครั้งแรกในชีวิต บวกความเร่งรีบจากเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด และย้ำกับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการในภายหลังว่า “พวกคุณอยู่กับของมีค่า อยู่กับวัตถุดิบที่สามารถนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวได้หมด ต่างจากพวกผมที่อยู่กรุงเทพ เรื่องราวของท้องถิ่นที่น่าสนใจแบบนี้ ต้องออกไปแสวงหาเอง” ในวาระของการจัดทำโครงการแบบนี้ แล้วมีโอกาสได้มาลงพื้นที่อย่างบ้านดงมัน ชุมชนที่ร่ำรวยศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือแหล่งกำเนิดอันเป็นต้นทางกันตรึมโบราณ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีของพวกเราทุกคน

กล่าวถึงโครงการบ็องปะโอน โตวตะเซร จุมคะเนีย หรือ พี่น้องผองเพื่อนเรามาเขียนกันเถอะ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สถาบันชุมชนเกษตรธรรมชาติ ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เกิดขึ้นจากความร่วมไม้ร่วมมือของหลายองค์กรพัฒนาสังคมในสุรินทร์ ซึ่งกลุ่มผู้ผลักดันหลักๆ เป็นหนุ่มสาวที่กระจายอยู่แต่ละองค์กร มีศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นสุรินทร์เป็นคีย์หลัก และแหล่งงบประมานส่วนหนึ่ง มีมูลนิธิชุมชนอีสาน, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, สกว.ท้องถิ่นสุรินทร์ และโครงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างบูรณาการจังหวัดสุรินทร์ หรือ สสส.บูรณาการสุรินทร์ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลัก มีหนุ่มสาวที่สนใจงานคิดงานเขียน งานถ่ายภาพสารคดี เข้าร่วมโครงการกันอุ่นหนาฝาคั่งกว่า 35 คน

วันแรกของการจัดงานมีการให้แนวคิดทฤษฏี ทักษะวิธีการเบื้องหลังหลักการเขียนสารคดี การถ่ายภาพสารคดี มีครูธีรภาพ โลหิตกุล, ครูสมปอง ดวงไสว, พี่เกน กิติมาภรณ์ จิตราทร และพี่แขก ภคมาศ วิเชียรศรี มาเป็นทีมวิทยากร ก่อนปล่อยน้องๆ ลงพื้นที่ที่บ้านโคกสวาย ต.ท่าสว่าง อ.เมือง และชุมชนศรีบัวราย ในตัวเมืองสุรินทร์ เพื่อหาวัตถุดิบมาเขียนสารคดีกันสดๆ ถือเป็นปฏิบัติการทดลองเขียนจากแหล่งข้อมูลตรงในพื้นที่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่พี่น้องเราทำงานอยู่

ในช่วงที่น้องๆ ลงพื้นที่ และกุมขมับเพื่อผลิตงานไม่เกิน 3 หน้ากระดาษนั้น ทีมวิทยากรจึงขอโอกาสท่องเที่ยวแบบเอาเรื่องตามแหล่งโบราณสถานสำคัญไม่ไกล จากตัวเมืองสุรินทร์นัก เพื่อหาวัตถุดิบในการผลิตงานของตนต่อเนื่องเช่นกัน ก่อนกลับมานำวิจารณ์ชี้แนะภาพถ่าย และงานเขียนของน้องๆ กันในอีกวันที่เหลือ

พอได้รับคำวิจารณ์แบบเพิ่มกำลังใจไฟฝัน โดยการกดรัว Like เมื่อถูกใจตามแนวที่กำลังนิยมในเฟซบุ๊กให้ผลิตผลงานต่อเนื่อง ‘น้องยุทธฺ ยงยุทธ พงสาลี’ จากสถาบันชุมชนอีสาน หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับ Like หลายที เล่าว่า “อยากมาเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรก พอมาร่วมก็ดีมากครับ ได้หลักการเขียนสารคดี การถ่ายภาพ ทำให้คิดว่าเราเองก็น่าจะเขียนได้ และถ่ายภาพแต่ละครั้งให้มีเรื่องราวมากขึ้นได้ มาครั้งนี้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่สนใจงานเขียนเหมือนกัน ได้รับฟังคำวิจารณ์งานเขียน ทำให้รู้ว่าจะปรับแก้ตรงไหนอย่างไร ใช้คำแบบไหนไม่ฟุ่มเฟือย จากเวทีทำให้สรุปได้ว่าสถานที่ไหนๆ ก็มีเรื่องราว เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่ และนำเสนอออกมามุมไหนเท่านั้นเองครับ”

อีกเสียงจาก ‘นุช ณัฐกานต์ สิทธิสังข์’ จากมูลนิธิพัฒนาอีสาน ผู้ส่งผลงานเรื่อง “หมอตำแย...หมอแท้แห่งจิตวิญญาณ” ให้ทีมวิทยากรช่วยชี้แนะ แล้วได้รับโหวตให้เป็นหนึ่งเรื่องตัวอย่างดีเด่น ได้รับหนังสือเรื่อง “ด้วยแรงแห่งรัก..โพธาราม” จากครูธีรภาพ เป็นรางวัล เล่าว่า “ปกติไม่มีความมั่นใจว่าตนเองจะเขียนบทความหรือสารคดีได้ แต่เมื่อได้ไปอบรม ได้รับแนวคิด หลักการเขียน แล้วลงพื้นที่ค้นหาประเด็นและพัฒนางานจากพื้นที่ขึ้นมา แล้วได้รับรางวัล 1 ใน 5 เรื่องจากวิทยากร แม้จะรู้สึกงงนิดๆ แต่ลึกๆ ก็ทำให้เรามีแรงและกำลังใจในการพัฒนางานเขียนให้ดีขึ้น ที่สำคัญทำให้รู้ว่า การนำเสนองานในพื้นที่ให้น่าสนใจนั้น ไม่จำเป็นต้องเขียนงานวิชาการเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วสนุก แต่มีสาระเพราะอิงข้อมูลจริงจากพื้นที่ก็ได้คะ”

จากความมุ่งหมายเบื้องต้นของทีมผู้จัด คือ อยากจุดประกายความฝัน และสร้างบรรยากาศการคิดการเขียน หรือยกระดับการสื่อสารของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำงานพัฒนาสังคมในท้องถิ่นสุรินทร์ให้มีพลัง ทั้งยังเพื่อกระชับความสัมพันธ์ หรือให้รู้จักมักคุ้นกันข้ามองค์กร ข้ามเครือข่ายการทำงานมากขึ้นนั้น พอนับได้ว่าบรรลุเป้าหมาย นอกจากผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละท่านจะเกิดแรงบันดาลใจ ทีมวิทยากรยังหนุนเต็มที่เรื่องการรวมเล่มจนน้องๆ ตั้งตัวไม่ทันว่า เราได้กลายมาเป็นนักเขียนไปแล้วหรือนี่? มิหนำซ้ำยังได้รวมเล่มกับนักเขียนสารคดีมีชื่ออีกต่างหาก(ฮ่าไฮ้) นอกเหนือจากนั้น เราหลายคนยังได้กลายมาเป็นกองบรรณาธิการจำเป็นที่มีโอกาสได้ฝึกหัดการทำหนังสืออีกด้วย

นอกจากจะ(แอบ)หนักใจปนยินดีที่มีโอกาสได้รวมเล่ม และทีมวิทยากรยังเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาและเป็นบรรณาธิการใหญ่ให้ น้องๆ คนหนุ่มสาวสุรินทร์ยังมีกิจกรรมร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการคิดการเขียนในท้องถิ่นให้เฟื่องฟูยิ่งขึ้น เบื้องแรกเชิญทุกท่านแอด “คนหนุ่มสาวสุรินทร์” ได้ที่เฟซบุ๊ก เพื่อแบ่งปันงานเขียน ภาพถ่าย แจ้งข่าวสาร และสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน นอกเหนือจากนั้นอาจมีวาระการลงเยี่ยมเยียนเพื่อนมิตร มีวงแลกเปลี่ยน มีนัดดูหนัง มีทริปถ่ายภาพ และมีนัดนำเสนอผลงานกัน เมื่อถึงวาระของงาน “ศิลป์ในสวน-ได้สำแดง” ซึ่ง ทีมคุณเต่า หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯเขาจัดกันอยู่แล้วทุกเดือน ณ สวนเฉลิมพระเกียรติเมืองสุรินทร์ ขอเชิญชวนพี่น้องบ็องปะโอนทุกท่าน มาโตวตะเซรจุมคะเนียกัน เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สื่อ และสร้างเสริมความมุ่งมั่นเรื่องการเขียน การถ่ายภาพ หรือการผลิตผลงานศิลปะไม่จำกัดแขนงของศิลปินหนุ่มสาวแต่ละท่านให้ต่อเนื่อง ยาวนานด้วยเถิด....เพราะอย่างน้อยๆ เมื่อหนุ่มสาวเหล่านี้รู้จักรักการเขียนอ่าน ย่อมดีกว่ากระหายการเข่นฆ่ากันกับเพื่อนบ้านให้เลือดทาแผ่นดิน..สาธุ!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง:บ้านเลขที่ ๑๑๒

Posted: 26 Feb 2011 12:39 AM PST

 

ข้างรั้วบ้านเลขที่ ๑๑๒

ใครใคร่ตื่นไตร่ตรองความแตกต่าง

ช่องว่างความเป็นใหญ่-ความไร้ยาง

หัวใจใครบอบบางในขณะนี้

 

หรือท่านกักขังเสรีภาพ ?

เพียงให้เมืองรับทราบการกดขี่

ยิ่งสูงสุดยิ่งสับปลับยิ่งอัปรีย์

เมืองนี้ไม่มีดีแล้วปรารถนา

 

หรือท่านกักขังสิทธิมนุษยชน ?

เพียงเพื่อบำเรอเปรอปรนรักบอดบ้า

สั่งสมความกำหนัดเต็มอัตตา

ให้คลั่งลัทธิบูชาให้ชื่นชม

 

หรือท่านกักขังความเสมอภาคทางความคิด ?

ออกกฎหมายจับคนผิด  ---ไม่คิดก้ม

แล้วเชื้อเชิญความมักง่ายอันโง่งม

ให้สมยอมเสพสมหลุมหล่มรัก

 

เพียงเท่านั้น---ไม่อาจปลดพันธนาการความรู้สึก

มหานครร้าวลึกในรอยหยัก

จริยธรรม คุณธรรม --- ยิ่งสำลัก

มหานครย่ำจมปลักกับกลียุค ..


............................................

ที่มา:บ้านเลขที่ ๑๑๒

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:เป็นไพร่ต้องรู้จักพอเพียง

Posted: 26 Feb 2011 12:19 AM PST

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้จัดแถลงข่าว เรื่อง “ข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร” จำนวน 5 ข้อ โดยนอกจากการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร ข้อเสนอสำคัญอีกข้อคือการจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกินครัว เรือนละ 50 ไร่ ทั้งนี้เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและเพื่อกระจายที่ดินให้แก่ เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินเป็นสำคัญ   

แม้จะฟังดูดี แต่ข้อเสนอดังกล่าวชวนให้เข้าใจปัญหาด้านการเกษตร ชนบท และที่ดินในประเทศไทยไขว้เขว เพราะแม้การขาดแคลนที่ดินจะเป็นหนึ่งในปัญหาการเกษตร แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่เกษตรกรโดยเฉลี่ยเห็นว่ารุนแรงหรือว่าเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาต้นทุนการผลิตจำพวกปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาด้านราคาและตลาดที่ผันผวนและมักสวนทางกับต้นทุนการผลิต ในระยะเฉพาะหน้าเกษตรกรโดยเฉลี่ยเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือในสองกรณีหลัง มากกว่า แต่รัฐบาลก็ดูเหมือนจะไม่มีมาตรการรองรับมากนัก ขณะเดียวกันเกษตรกรกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านที่ดินทำกิน (รวมทั้งที่อยู่อาศัย) รุนแรงมักเป็นกลุ่มที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกรม ป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องจะเคลื่อนไหวเรียกร้องในปัญหานี้มาอย่าง ต่อเนื่องยาวนานรวมทั้งมีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ แต่คณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้กล่าวถึงปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของเกษตรกรรวมทั้งชาวประมงเหล่านี้ในข้อเสนอ 5 ข้อ แต่กลับแยกไปกล่าวต่างหากและกล่าวเฉพาะในส่วนของการดำเนินคดีเท่านั้น ไม่มีในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด (แม้หลายคนในคณะกรรมการปฏิรูปจะมีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือก็ตาม)

นอกจากนี้ ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อไม่ได้แยกแยะระหว่างความเป็นเจ้าของกับความสามารถในการเข้าถึงที่ดินของ เกษตรกรดังที่งานศึกษาสังคมชนบทจำนวนหนึ่งชี้ไว้ กล่าวคือ เกษตรกรจำนวนมากมีช่องทางในการเข้าถึงการใช้ที่ดินการเกษตรโดยไม่จำเป็นต้อง เป็นเจ้าของ เช่น การใช้ที่ดินของบิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าหรืออาจมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ระหว่างเจ้าของกับเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์ การไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันงานศึกษาเหล่านี้ก็ชี้การเช่าที่ดินอาจไม่ได้เป็นสิ่งเลว ร้ายอย่างที่คณะกรรมการปฏิรูปวาดภาพ (นายอานันท์กล่าวว่าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อต้องการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดิน เพราะที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตได้กลายเป็นสินค้าในตลาดที่มีการเก็งกำไร และกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร) เพราะการที่ที่ดินกลายเป็นสินค้าในระบบตลาดในแง่หนึ่งส่งผลให้เกิดการแข่ง ขันกันในด้านค่าเช่าระหว่างเจ้าของที่ดิน ยิ่งมีที่ดินการเกษตรถูกปล่อยทิ้งมากค่าเช่าก็จะลดลงตามลำดับ สิ่งที่เกษตรกรในพื้นที่ศึกษาเห็นว่าเป็นปัญหาหลักในการทำเกษตรจึงไม่ใช่ค่า เช่า หากแต่เป็นราคาผลผลิตรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า ปัญหาที่ดินกลายเป็นสินค้าและการเช่าที่ดินการเกษตรจึงมีความสลับซับซ้อน เกินกว่าจะเข้าใจด้วยตรรกะขาวดำของคณะกรรมการปฏิรูป    

ขณะเดียวกันสังคมชนบทร่วมสมัยไม่ได้มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมดัง ที่คณะกรรมการปฏิรูปชวนให้เชื่อ งานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรเพียงร้อยละ 20 ที่มีรายได้จากภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังไม่ได้เป็นรายได้จากการเกษตรแบบดั้งเดิมอีกต่อไป ขณะที่รายได้ในเขตชนบทส่วนใหญ่มาจากนอกภาคเกษตร เนื่องจากสมาชิกครัวเรือนต่างปรับตัวออกนอกภาคเกษตรแม้จะยังอาศัยในหมู่บ้าน (รวมถึงกรณีที่ทำงานและพำนักอยู่นอกหมู่บ้านแต่ส่งเงินมาจุนเจือครอบครัว) การแตกตัวในภาคการเกษตรและการออกนอกภาคเกษตรส่งผลให้ที่ดินไม่ได้เป็นปัจจัย หลักของการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งของครัวเรือนในชนบท หากแต่เป็นโอกาสทางการศึกษาและช่องทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรต่างหากที่จะช่วย ให้ครัวเรือนชนบทสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งปันประโยชน์จากการขยายตัวของระบบ เศรษฐกิจแบบทุนและตลาดได้ การที่คณะกรรมการปฏิรูปจับการกระจายที่ดินการเกษตรเป็นหัวใจในการแก้ปัญหา ชนบทจึงไม่สามารถช่วยเหลือครัวเรือนชนบทส่วนใหญ่ได้มากนัก

นอกจากนี้ ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินไม่ได้เกิดเฉพาะในเขตชนบท หากแต่เกิดในเขตเมืองอย่างสำคัญ เช่น ประมาณการว่าที่ดิน 1 ใน 3 ในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (สำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินภายใต้การดูแลประมาณ 32,500 ไร่ ภายใต้สัญญาประมาณ 37,000 ฉบับ โดยสัญญาประมาณ 25,000 ฉบับเป็นที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) โดยในแต่ละปีสำนักงานทรัพย์สินฯ มีรายได้จำนวนมากจากการให้เอกชน หน่วยงานราชการ และองค์กรต่างๆ เช่าที่ดิน ไม่ต่างอะไรจาก “นายทุน” แสวงหากำไรจากการให้ชาวนาเช่าที่นา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปจะครอบคลุมการถือครองที่ดิน ที่กระจุกตัวอยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้หรือไม่ เพราะแม้คณะกรรมการปฏิรูปจะระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องนำที่ดินมาจัดสรรใหม่คือส่วนราชการที่ถือครอง ที่ดินไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่การที่สำนักงานทรัพย์สินฯ (ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนสถานภาพจากส่วนราชการเป็นนิติบุคคล) ให้เอกชน หน่วยราชการ และองค์กรต่างๆ เช่าที่ดินอาจนับเป็นการ “ใช้ประโยชน์” ให้สำนักงานทรัพย์สินฯ หลุดรอดไปจากการปฏิรูปที่ดินฉบับคณะกรรมการปฏิรูปได้

ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลขานรับข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินของคณะกรรมการปฏิรูป (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม) แต่โอกาสที่จะผลักดันให้ข้อเสนอเป็นจริงในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก กล่าวในส่วนของหน่วยงานราชการ นอกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ (ซึ่งมีสถานะค่อนข้างกำกวม) มีหน่วยงานราชการอีกจำนวนมากที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในด้านการผลิต หรือไม่ก็ให้ผู้นอื่นเช่าใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกรมธนารักษ์ การรถไฟ หรือแม้กระทั่งกองทัพ ซึ่งการถือครองที่ดินของหน่วยราชการเหล่านี้มักมีกฎหมายรองรับและไม่จำเป็น ต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิต จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้หน่วยงานราชการเหล่านี้ “คาย” ที่ดินออกมาเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรขาดแคลนที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราบเท่าที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ที่หน่วยราชการไทยมีพันธะ กรณีหรือขึ้นต่อ ขณะที่ในส่วนของเอกชนและนักการเมือง (ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูป) รายที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและตลาดเสรีรวมทั้ง ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากคณะกรรมการปฏิรูปและรัฐบาลจะตรากฎหมายรีดที่ดินจากบริษัทและบุคคลเหล่า นี้อย่างดุ้นๆ ก็เห็นจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครองของประเทศเป็นอย่าง อื่นเสียด้วย การจะทำให้ระบบทุนมีความเป็นศีลธรรมต้องไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจดิบหยาบอย่างนี้

นอกจากนี้ การจำกัดการถือครองที่ดินการเกษตรไม่เกินครัวเรือนละ 50 ไร่เป็นการ “ตอน” ระบบเศรษฐกิจการเกษตรไม่ให้ขยายตัว หรือเป็นการ “แช่แข็ง” เกษตรกรไม่ให้เติบโตไปกว่า “เกษตรกรรายย่อย” เพราะนอกจากบางครัวเรือนจะประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมากซึ่งส่งผลให้จำนวนที่ดิน ถือครองสูงตามไปด้วย เกษตรกรจำนวนไม่น้อยทำการเกษตรในที่ดินเกินกว่าเพดานดังกล่าว หรือบางรายอาจต้องการขยายกำลังการผลิตแต่ก็จะไม่สามารถทำได้หากข้อเสนอดัง กล่าวกลายเป็นกฎหมาย ประการสำคัญการที่คณะกรรมการปฏิรูปอ้างว่าเพดานดังกล่าวเคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 จึงไม่เห็นว่ามีอะไรจะต้องตื่นเต้นหรือตกใจ ก็ฟังคล้ายคณะกรรมการปฏิรูปกำลังบอกว่าการกลับไปเป็นไพร่ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะในสมัยอยุธยากฎหมายก็เขียนไว้อย่างนั้น และที่สำคัญการเป็นไพร่นั้นต้องรู้จักคำว่าพอเพียง   

 

บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น