โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ส่ง"สุวิทย์"ล็อบบี้ คกก.มรดกโลก เบรกกัมพูชาทำแผนพัฒนา พ.ท.รอบปราสาท

Posted: 15 Feb 2011 11:47 AM PST

นายกฯ ส่ง"สุวิทย์"ล็อบบี้ คกก.มรดกโลก เบรกกัมพูชาทำแผนพัฒนาพื้นที่รอบปราสาท จนกว่าเจบีซีปักปันเขดแดนเสร็จ "สรรเสริญ"เผยช่วงเช้ากัมพูชาขว้างบึมใส่ทหารไทย สาหัส 1 นาย ยันปะทะเล็กไม่กระทบ ปชช.ชายแดน "พธม."ปูดฝ่ายการเมืองผลประโยชน์ทับซ้อนในกัมพูชา "ยูเอ็น"ปัดส่งกองกำลัง ชี้ให้อาเซียนไกล่เกลี่ย "กษิต"แขวะแผนกัมพูชา เทียบบรอดเวย์

"สรรเสริญ" เผยกัมพูชาขว้างบึมใส่ทหารไทย สาหัส 1 นาย
ยันปะทะเล็กไม่กระทบ ปชช.ชายแดน

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ที่ บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ทางกัมพูชาได้ส่งชุดลาดตระเวนเข้ามาใกล้กับแนวกำลังของทหารไทยที่วางไว้ และทางกัมพูชาได้มีการขว้างระเบิดมือ และยิงปืนเล็กเข้ามาทางฝั่งไทย เราจึงใช้ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ตอบโต้กลับไปตามความเหมาะสม ทำให้ทางกัมพูชาล่าถอยกลับไป โดยการตอบโต้ใช้ระยะเวลาไม่นาน

จากเหตุดังกล่าวส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 1 นาย คือ ส.ท.รัชพล ยศปัญญา จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โดยเท่าที่ทราบขณะนี้ อาการของส.ท.รัชพล ค่อนข้างสาหัส ทั้งนี้เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะจุดเล็กๆ ที่แนวหน้าเท่านั้น ซึ่งห่างจากพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใดต่อประชาชน ตามแนวชายแดน

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เราต้องระมัดระวังเรื่องการวางกำลังของเรา และต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือในความพยายามยั่วยุให้เกิดการปะทะขึ้นอีก เราต้องจำกัดวงให้แคบที่สุด ตอบโต้ไปให้เหมาะสม และต้องไม่พยายามขยายวงให้การปะทะบานปลายออกไป ทั้งนี้เราดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้การเจรจาในระดับทวิภาคี ระมัดระวังไม่ให้เหตุบานปลาย ด้วยการอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด และเราจะมีการตอบโต้กลับไปในเฉพาะจุดที่เขาได้โต้มาเท่านั้น
 

 

นายกฯ ส่ง"สุวิทย์"ล็อบบี้คณะกรรมการมรดกโลก เบรกกัมพูชาทำแผนพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารจนกว่าเจบีซีจะปักปันเขตแดนเสร็จ
ไทยรัฐออนไลน์
รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แจ้งให้ ครม.ทราบถึงผลการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งนายกฯ ยืนยันว่า ไทยพร้อมเดินหน้าเจรจาสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาตามกรอบทวิภาคี

นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ ไปทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขอให้ชะลอการทำแผนพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารไว้ก่อน จนกว่าคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) จะปักปันเขตแดนเสร็จ ซึ่งขณะนี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปประสานทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลกหลายประเทศในเรื่องดังกล่าวแล้ว

นายปณิธานกล่าวว่า ส่วนกรณีองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)จะส่งเจ้าทูตพิเศษชาวญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้น หากเป็นการมาพบเพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ก็ไม่มีปัญหา แต่หากต้องการเข้าไปในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เรายังไม่พร้อมให้เข้าไป เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย

ส่วนกรณีเหตุปะทะล่าสุดระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ภูมะเขือ ภายหลังที่ยูเอ็นเอสซีมีมติให้ใช้ไทย-กัมพูชาใช้เวทีเจรจาแก้ปัญหานั้น ถือเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่ยังมีกองกำลังอยู่ อาจเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่นั้นๆ ได้ ถ้าไม่ระวัง ขณะนี้กำลังตรวจสอบเหตุในพื้นที่อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าคงไม่ทำให้สถานการณ์เกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีก และสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ แต่คงต้องให้เวลารัฐบาลกัมพูชาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะชาวกัมพูชาหวังไว้มากว่า จะมีการลงมติให้กองกำลังนานาชาติเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่


พธม.ปูดฝ่ายการเมืองผลประโยชน์ทับซ้อนในกัมพูชา

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อเวลา 17.00 น. นายปานเทพ พัวพงศ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย(พธม.) แถลงข่าวรอบเย็นที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันขณะนี้ประเทศไทยยังเสียเปรียบกัมพูชา ที่ไม่โต้แย้งในแผนที่ระวางดงรัก ซึ่งทางกัมพูชาได้ยื่นซ้ำไปในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) ล่าสุด นายฮุน เซน นายก กัมพูชา ระบุว่า จะไม่ให้การปะทะบานปลายไปถึงบ่อนปอยเปต พันธมิตรฯสงสัยว่า มีการตกลงกันกับฝ่ายการเมืองของไทยหรือไม่

"พันธมิตรฯ เห็นว่า มติของยูเอ็นเอสซี ยังไม่ถือว่าเป็นการหยุดยิงถาวร เพราะยังมีทหารกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งการเจรจาในกรอบของอาเซียน ที่จะให้มีการจ้างบริษัท ถ่ายภาพดาวเทียม และจ้างช่างเทคนิคเข้ามาค้นหา หลักเขตแดน ยังไม่ใช่คำตอบ เพราะภาพถ่ายดาวเทียมไม่สามารถชี้ในพื้นที่ที่แตกต่างได้ คือ พื้นที่สันเขาและที่ราบ ทำให้ไทยต้องมาเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด” โฆษกพันธมิตรฯ กล่าว

นายปานเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศระบุว่า อาจชะลอการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย.ออกไปนั้นว่า การเลื่อนหรือไม่เลื่อน อยู่ที่ผลของที่ประชุม เดิมที พันธมิตรฯ มีความสบายใจแล้วในระดับหนึ่งว่า ถ้ามีการปะทะแล้ว พื้นที่มรดกโลกจะเป็นพื้นที่อันตราย ซึ่งมีข้อต่อสู้อยู่ในเวทีมรดกโลก แต่พอเห็นพฤติการณ์ของยูเนสโกที่ส่งผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นมา ซึ่งเป็นผู้แทนที่เคยอนุมัติ และสมรู้ร่วมคิดในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ประเด็นนี้ พันธมิตรฯ ไม่สบายใจ นอกจากนี้เมื่อยูเอ็นเอสซีมีข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง ส่งผลให้เงื่อนไขของพื้นที่อันตรายหายไป กลายเป็นพื้นที่สันติภาพถาวรทันที ซึ่งอาจทำให้กัมพูชานำข้ออ้างนี้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และพื้นที่อื่นๆ ของไทยไปเป็นมรดกโลกด้วย นี่คือเหตุผลที่พันธมิตรฯ เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อพร้อมกัน

"การชุมนุมของพันธมิตรฯ ครั้งนี้ต้องมีเดิมพัน ถ้าพิสูจน์แล้วว่า พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจและนักการเมืองต้องเตรียมตัวที่จะถูกฟ้องกลับด้วยเช่นเดียวกัน” นายปานเทพ กล่าว

 

ยูเอ็นปัดส่งกองกำลัง ชี้ให้อาเซียนไกล่เกลี่ย
เช้าวันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานว่า เอเอฟพีรายงานว่า ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) สมาชิก 15 ชาติ ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นการประชุมแบบปิดนั้น นางมาเรีย ลุยซา ริเบโร วิออตติ ประธานในที่ประชุม กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชา หยุดยิงอย่างถาวรบริเวณชายแดนของสองประเทศ และปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างเคร่งครัด โดยระบุว่า สมาชิกคณะมนตรีวิตกมากต่อเหตุการณ์การปะทะที่เพิ่งเกิดขึ้น

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ที่ประชุมไม่มีทีท่าโน้มเอียงว่าจะใช้กองกำลังสันติภาพจากยูเอ็นตามที่กัมพูชาเสนอ เพียงขอให้สองฝ่ายอดกลั้นในระดับสูงสุด และหยุดยิงถาวร โดยสนับสนุนให้ปัญหากันทั้งในระดับทวิภาวี และในระดับภูมิภาค ให้อาเซียนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย

หลังการประชุม นายฮอร์ นัมฮัง รมว.ต่างประเทศกัมพูชาให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ล้มเลิกการขอให้ยูเอ็นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านคุ้มกันความมั่นคง ในเมื่อคณะมนตรีฯ ไม่ส่งกองกำลังสันติภาพมาชายแดน ก็ควรส่งผู้สังเกตการณ์หรือทีมค้นหาความจริงมาในพื้นที่

ด้านมาร์ตี เนตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะชาติประธานอาเซียน กล่าวว่า ข้อตกลงหยุดยิงของสองฝ่ายมีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้เป็นที่เคารพปฏิบัติตามมากขึ้น


กษิตแขวะแผนกัมพูชา เทียบบรอดเวย์
ส่วนทางการไทย กระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยแพร่ถ้อยแถลงของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ต่อยูเอ็นเอสซี ชี้แจงกรณีการปะทะกันระหว่างกองทัพไทยกับกัมพูชาตามแนวชายแดนเมื่อวันที่ 4-7 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า เนื้อความแบ่งเป็น 5 ช่วง

หนึ่ง วางเรื่องที่อยู่เฉพาะหน้าเรานี้ให้อยู่ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสม
สอง แจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ณ บริเวณหนึ่งของชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งมีความยาว 800 กิโลเมตร
สาม เปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สี่ ให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ และลบล้างนิยายเรื่องเล่าที่ทางกัมพูชาได้กระพืออยู่
และ สุดท้าย ชี้แจงถึงแนวทางที่ประเทศไทยและอาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป

ข้อความตอนหนึ่ง นายกษิตกล่าวว่า "สิ่งที่กัมพูชาพูดไปยังเหตุจูงใจเบื้องหลังของการรุกรานที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อนล่วงหน้านี้ เช่นเดียวกับละครบรอดเวย์ การรู้เค้าโครงของเรื่องเป็นสิ่งสำคัญเค้าโครงของเรื่องก็คือ สำหรับกัมพูชาแล้ว กัมพูชาต้องการสร้างสถานการณ์บริเวณชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับยุทธศาสตร์การเมืองที่จะเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีที่กำลังดำเนินอยู่"

ในตอนท้าย นายกษิตกล่าวว่า ไทยยินดีต่อการเยือนกัมพูชาและไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน เพื่อปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ตามลำดับ เราเห็นพ้องกับข้อสังเกตของประธานอาเซียนว่า ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชาโดยสาระแล้วเป็นประเด็นทวิภาคี และทั้งสองประเทศควรแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีผ่านกลไกการหารือทวิภาคี โดยที่ภูมิภาคสามารถให้การสนับสนุนและกำลังใจได้ตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับกัมพูชา เราได้เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ทิศทางอนาคต “เหมืองแร่ไทย” เปลี่ยนน้ำตาเป็นรอยยิ้ม

Posted: 15 Feb 2011 11:00 AM PST

 

วานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554) เวลาประมาณ 8.30 น. ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ชั้น 8 มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบการจากทำเหมืองทั่วประเทศไทย 15 พื้นที่ กว่า 80 คนเข้าร่วมใน “เวทีเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ครั้งที่ 2” โดยมีจุดหมายเพื่อมาฟังแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งหารือปรึกษาถึงการขับเคลื่อนต่อสู้ต่อไปในอนาคต

ในช่วงเช้า เป็นการเล่าสู่กันฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบคือพื้นที่โครงการที่เปิดดำเนินกิจการทำเหมืองแล้ว หรือกำลังจะได้รับผลกระทบคือโครงการอยู่ในระหว่างคำขออนุญาตประทานบัตร (สัมปทาน) หรืออาชญาบัตร (สำรวจ) โดย สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ได้สรุปถึงเหตุความเดือดร้อนและชี้แจงข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมได้ว่า

“การมีเหมืองทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าทางทรัพยากรเปลี่ยนไป จากที่ชาวบ้านเข้าไปปลูกพืชในเขตป่าก็ถูกจับแต่ทำไมนายทุนเข้าไปทำเหมืองในเขตป่าถึงไม่ถูกจับ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็สูญหาย เช่น ในพื้นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ มีการขุดเจอซากดึกดำบรรพ์(ฟอลซิล)ของหอยขมน้ำจืดแหล่งใหญ่หลายสิบไร่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการขุดนำถ่านหินมาใช้ต่อได้ จากพื้นที่โซน C (culture) แหล่งวัฒนธรรมแหล่งประวัติศาสตร์ ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นโซน E (economic) แหล่งเศรษฐกิจได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งกรณีพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A สามารถกลายเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1B ได้

“ทำไมไม่เปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรมมาเป็นการท่องเที่ยว เพราะในหลายพื้นที่ที่ทำเหมืองหรือจะมีโครงการเหมืองเกิดขึ้นในอนาคตล้วนแต่เป็นพื้นที่ที่สวยงาม อย่างเช่น พื้นที่โครงการเหมืองทองคำในเขตทิวเขาหินปูนในเขต 4 ตำบลของอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอดีต หรือพื้นที่เหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

“การทำเหมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะตามปกติธรรมชาติของสายแร่นั้นมักจะมีแร่หลายเกิดขึ้นควบคู่กันอยู่แล้ว เมื่อเราไม่ไปรบกวนแร่เหล่านั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ แต่เมื่อเราไปขุดมันขึ้นมาแร่หลายชนิดที่เราไม่ต้องการและอันตรายก็จะกลายเป็นผลพลอยได้นั่นเอง เช่น สายแร่ทองคำและดีบุกมักจะมีสารหนูต้นเหตุโรคมะเร็ง สายแร่สังกะสีมีสารแคดเมียมต้นเหตุของโรคอิไต-อิไต

“หรือแม้แต่ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงก็มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เพราะเมื่อถ่านหินถูกเผาก็จะปล่อยก๊าซกำมะถันออกมา ซ้ำร้ายเมื่อไปสัมผัสกับน้ำจะรวมตัวกลายเป็นกรดซัลฟูริกหรือฝนกรดที่ทำลายสังกะสีมุงบ้านและพืชพรรณต้นไม้ แม้ว่าโครงการเหมืองแม่เมาะจะลงทุนสูงสร้างระบบควบคุมและป้องกันแล้วอย่างดีก็ตามแต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหานี้

“การฟื้นฟูเหมืองเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการถลุงหรือแต่งแร่ หรือแม้แต่ตะกอนของแร่ที่เป็นพิษนั้น การกำจัดที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการนำไปฝังกลบในบ่อขยะที่มีความปลอดภัยสูงซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2 ที่ คือ สระบุรีและระยอง แต่การขนส่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงตันละ 5,000 บาท แล้วจะมีนายทุนที่ไหนมาเสียเงินมากมายกับขยะพิษเหล่านี้

“การมีเหมืองเราจะต้องมองให้ครบทุกมิติ มีเหมืองแร่ทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศลดลงรึเปล่า เราจะต้องรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงไหนสามารถที่จะจัดการมันได้รึเปล่า มองทั้งผลดีและผลเสียว่าเราจะยืนคู่กับเหมืองได้หรือไม่ พวกนายทุนเขาจะดูแลเราดีจริงๆหรือ ”

 

ภาคบ่ายชาวบ้านได้ระดมความเห็นเสนอแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายต่อไปในอนาคต ซึ่งสรุปได้คือ
1. ผลักดันให้โครงการเหมืองทุกโครงการเป็นโครงการรุนแรง ตามของประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่ระบุว่าโครงการรุนแรงจะต้องผ่านขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งต้องได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสียก่อน

2. ปรับปรุงและแก้ไขนโยบายและข้อกฎหมายที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยกับนายทุนจนกลายเป็นการรังแกชาวบ้าน

3. การมีส่วนร่วมของชุมชนที่สามารถเข้าไปร่วมในการตัดสินใจที่จะมีโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนของตนหรือไม่

4. กำหนดขอบเขตระยะปลอดภัยของการทำเหมืองให้มากกว่าเดิม คือ 20 กิโลเมตร ด้วยระยะเดิมเพียง 5 กิโลเมตรนั้นไม่เพียงอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งค่าชดเชยความเสียหายก็ต้องชัดเจน

5. อยากให้มีการหนุนเสริมความรู้ในด้านข้อมูล ทั้งข้อมูลการดำเนินการอนุญาตทำเหมือง ข้อผลเสียผลกระทบจากการทำเหมือง รวมถึงร้องขอนายทุนให้ชี้แจ้งข้อมูลที่เป็นจริงทั้งผลดีและผลเสียให้กับประชาชน รวมไปถึงการอบรมในเรื่องข้อกฎหมาย
6. หนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อน และส่งข่าวสารข้อมูลให้รู้ถึงกันภายในเครือข่ายอย่างรวดเร็ว

ทั้งตอนท้ายของเวที เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูป ให้แนวคิดถึงแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายว่า “เหมืองแร่ เราจะฝ่าฟันไปได้อย่างไรนั้นต้องลองคิดกัน ไม่ใช่ว่าเอะอะก็ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมันเป็นไปได้ยาก เราต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง ผมยังคิดว่าเราต้องพึ่งองค์กรภาคประชาชนของเราเองซึ่งมันยังอ่อน เราต้องสร้างความเข็มแข็งให้มากขึ้นกว่านี้ อีกทั้งต้องมีมิติทางด้านการศึกษาและวิเคราะห์ให้มากขึ้นเพื่อจะได้รู้ว่าดีไม่ดีอย่างไร

“กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้เป็นที่พึ่ง อย่างเช่น กรณีแม่เมาะ เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าเราได้รับผลกระทบจริงๆ เป็นเรื่องยากในศาลเพราะศาลใช้ระบบกล่าวหาในการไต่สวน การวิเคราะห์ การตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญ เราจึงต้องกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในอนาคตว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะแร่มันไม่ใช่ผักใช่ปลาที่จะเน่าเสียกันในวันสองวันนี้ เราจำเป็นที่จะต้องขุดแร่มาใช้จริงๆ หรือ และต้องสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ สร้างบุคลากรให้เข้าไปป้องกัน ควบคุม และตรวจสอบในอนาคต

“ถ้ากระบวนการตัดสินใจวางรากฐานจากความต้องการของประชาชน แม้ว่ามีปัญหาเราก็สามารถที่จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างแน่นอน”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สนธิ” ชี้พันธมิตรฯ เหมือนทหารพระเจ้าตาก สู้ด้วยคุณธรรมเพื่อกู้ชาติคืนมา

Posted: 15 Feb 2011 10:01 AM PST

เผยได้รับ จม.จากแพทย์จิตเวช วิเคราะห์อภิสิทธิ์เกิดอังกฤษโดนเจ้าของประเทศดูถูก จึงไม่กล้าสู้คน เปรยทุกวันต้องจับตาอภิสิทธิ์โกหกอะไร และจับตาสื่อกระแสหลักที่โง่แล้วออกความเห็นอย่าง “เปลว สีเงิน” ลั่นถึงเวลานี้ ไม่ต้องเกรงใจใคร ต้องรบสิบทิศ คนโง่รุมอย่าไปเกรงใจ ลั่นพันธมิตรฯ ชุมนุมไม่ใช่เพื่อปกป้องดินแดน แต่ยังต้องช่วยเพื่อนร่วมชาติให้หายโง่

 


(แฟ้มภาพ ประชาไท/ 25 ม.ค.54)
 

สนธิชี้อภิสิทธิ์กราบสังขารตาบัวคือสร้างภาพ ลั่นเคยไปกราบมาแล้วตอนที่ไม่ละสังขาร
เมื่อเวลา 20.50 น.วานนี้ (15 ก.พ.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยกล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่เดินทางไปกราบสรีระสังขารของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่จังหวัดอุดรธานีว่า ตอนที่หลวงตายังมีชีวิตอยู่นายอภิสิทธิ์ไม่เคยไปกราบเลย เพราะเป็นคนไม่สนใจธรรมะ ไม่สนใจเรื่องพระเรื่องเจ้า แต่ที่ไปตอนนี้ เพราะมีประชาชนไปกราบกันมาก จึงต้องไปเพื่อแผนการตลาด เพราะในสมองของนายอภิสิทธิ์ไม่เคยคิดเรื่องอะไรนอกจากสร้างภาพอย่างเดียว

นายสนธิ กล่าวต่อว่า เมื่อครั้งที่หลวงตาป่วยและยังพูดได้ ตนได้ไปกราบท่านที่โรงพยาบาล และหลวงตาได้บอกว่า ตนทำถูกแล้วที่ทำงานเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน เพื่อปกป้องดินแดนไทย เป็นหน้าที่ของคนไทย หลวงตาช่วยชาติมาตลอดชีวิตด้วยการหาทองคำมาเข้าคลังหลวง พวกเราก็ช่วยกันปกป้องดินแดนไทย เสียดายที่นายอภิสิทธิ์ไม่มีบุญได้ฟังคำของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตอนนั้น


อ้าง จม.จิตแพทย์ วิเคราะห์มาร์คเกิดอังกฤษ โดนดูถูก จึงไม่กล้าสู้คน

ต่อมา นายสนธิ ได้อ้างถึงจดหมาย ซึ่งได้รับจากแพทย์ด้านจิตเวชท่านหนึ่ง ซึ่งมีสามีเป็นทหาร จปร.12 แต่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจดหมายดังกล่าวได้วิเคราะห์นักการเมืองแต่ละคนตามแนวทางจิตวิทยา เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้บ้านเมืองตกต่ำจนทุกวันนี้ เพราะเขาสามารถทำให้เห็นว่าทำชั่วแล้วได้ดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงมีการกอบโกยกันในทุกกระทรวง ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงกลาโหม ส่วนนายฮุนเซน นายกฯ กัมพูชานั้น เกิดมาต่ำต้อย แต่ต้องถีบตัวเองให้ขึ้นสูง แม้จะต้องชักนำเอาเวียดนามเข้ามาก็ยอม และเป็นจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ ใช้เอ็มโอยู 2543 เป็นพุ่มไม้บดบังกายเพื่อแอบยึดดินแดนไทย โดยที่กระจงน้อยอย่างนายอภิสิทธิ์ไม่รู้เรื่อง

ด้านนายอภิสิทธิ์นั้น เกิดที่อังกฤษเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ก็เหมือนคนจีนที่เกิดในไทยที่โดนเจ้าของประเทศดูถูก นายอภิสิทธิ์จึงเก็บกดและกลายเป็นคนขี้ขลาด ไม่กล้าสู้คน แต่อีกแง่หนึ่งก็พยายามเป็นเด็กดีของอังกฤษเพื่อให้เขารัก ทำตัวเป็นคนยึดหลักการ เป็นคนดีในสายตาคนทั่วไป เวลาทำดีก็จะเสนอตัวให้คนเห็น เช่น ไปงานเปิดงาน เล็กเชอร์ ใครจะเข้าพบก็ให้เข้าพบง่าย แต่เวลาทำชั่วก็แอบอยู่ในกระดอง ลืมตัว ไม่รู้ว่าตัวเองโกหก เพราะไม่รู้ตัวว่าทำชั่ว เวลาภัยมาก็แอบมุดเข้ากระดอง

ตอนสู้กับทักษิณ ชุมนุม 193 วัน ก็แอบอยู่หลังพันธมิตรฯ หน้าฉากก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรที่ออกมาประท้วงตามท้องถนน ให้ไปใช้กลไกรัฐสภาดีกว่า ทั้งที่ตัวเองเคยอภิปรายรัฐบาลนายสมัครในสภาแล้วแต่ก็ไล่ไม่สำเร็จ การประท้วงต่างหากที่คว่ำรัฐบาลลงได้ แล้วนายอภิสิทธิ์ก็ไปกอดกับนายเนวินร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ไม่เห็นบอกว่า ผมไม่เป็นหรอกนายกฯ เพราะใช้การเมืองข้างถนนคว่ำรัฐบาล

ชี้พันธมิตรฯ เหมือนทหารพระเจ้าตากรวมพลได้ 500 แล้วเพิ่มกำลังคนกู้ชาติกลับมา
ตอนที่คนไทย 7 คน ถูกจับ ตอนแรกก็สร้างภาพ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ให้ไปขึ้นศาลกัมพูชา แต่พอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ออกมาบอกว่า ทั้ง 7 คนถูกจับในกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ก็หดหัว ตอนที่เสื้อแดงชุมนุมยึดจุดสำคัญของกรุงเทพฯ เอาไว้ แล้วคนชุดดำทำให้ทหารตาย นายอภิสิทธิ์กลับยังวางเฉย แต่พอพันธมิตรฯ ชุมนุม นายอภิสิทธิ์มองว่าเป็นลูกแกะ ไม่มีอันตราย นายอภิสิทธิ์จึงเปลี่ยนจากกระจงมาสวมหัวใจเสือคำรามใส่พันธมิตรฯ ทุกวัน

วิธีแก้ปัญหาต้องส่งนักจิตแพทย์ไปขุดคุ้ยความจริงในใจของนายอภิสิทธิ์ออกมา ซึ่งต้องใช้เวลา พันธมิตรฯ เป็นเหมือนทหารของพระเจ้าตากที่รวมพลกัน 500 คนก่อน แล้วค่อยเพิ่งกำลังคนขึ้นเรื่อยๆ และต่อสู้ด้วยคุณธรรม เพื่อกู้ชาติกลับคืนมา


บอกถึงเวลานี้ไม่ต้องเกรงใจใคร ต้องรบสิบทิศ คนโง่รุมอย่าไปเกรงใจ อย่าคิดว่าทำลายแนวร่วม

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ทุกๆ เช้าตนจะคุยกับทีมงานในรูปแบบของสภากาแฟ ซึ่งเรื่องหลักๆ ที่คุยกันจะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.นายอภิสิทธิ์โกหกอะไรบ้าง และ 2.พูดถึงสื่อ ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ สื่อกระแสหลักที่โง่แล้วอยากออกความเห็น เช่น เปลว สีเงิน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากไทยรัฐ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าสื่อจากไทยรัฐนั้นผิวเผิน ไม่ลึกซึ้ง ไม่มีจุดยืน วันหนึ่งด่า วันหนึ่งชม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีทิศทาง

นายสนธิ กล่าวว่า ได้บอกกับทีมงานว่า ถึงเวลานี้ เราไม่ต้องเกรงใจใคร เราต้องรบสิบทิศ โดนคนโง่รุมก็อย่าไปเกรงใจ ไม่ต้องคิดเหมือนเดิมที่ว่าอย่าทำลายแนวร่วม


ลั่นไม่มีเวลาเอาใจแนวร่วม ทำตามที่จิตแพทย์แนะนำว่าพวกเราเหมือนทหารพระเจ้าตาก

ขณะนี้เราไม่มีเวลาเอาใจแนวร่วมอีกต่อไป เหมือนจิตแพทย์ที่เขียนจดหมายมาบอกว่า พวกเราเหมือนทหารพระเจ้าตากที่มีอยู่ 500 คน แล้วค่อยๆ รวมพลต่อสู้เพื่อเพิ่มกำลังคนขึ้นมา ถ้าจิตใจเราแน่วแน่ว่าเราทำเพื่อความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อส่วนรวม เราสู้ในทางที่ถูกถ้าจะตายก็ให้ตายไปทั้งหมด

ส่วนสื่ออีกกลุ่มคือ สื่อสีน้ำเงินที่รับเงินจากนายเนวิน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ เว็บไซต์ เช่น เว็บประชาทรรศน์ของนายพิธาน คลี่ขจาย ซึ่งวิธีสู้กับคนพวกนี้ ต้องมีสติ แสดงธรรมให้ฟัง ถ้ามันมีสำนึกมันก็จะรู้สึกตัวมันเอง เรามาที่นี่ไม่ใช่เพื่อปกป้องดินแดนเท่านั้น แต่ยังต้องช่วยเพื่อนร่วมชาติให้หายโง่ การมาฟังปราศรัยที่นี่ พี่น้องมาฟังความจริง และใช้สติปัญญาวิเคราะห์ได้ และเห็นว่านายกฯ โกหกอย่างไร นายอภิสิทธิ์กลัวพวกเรา เพราะเรารู้ทันทุกเม็ด เมื่อเขาเจอคนที่รู้ทันมีปัญญาและเอาธรรมนำหน้า นายอภิสิทธิ์จึงกลัวยิ่งกว่ากลัว และกลัวแม้กระทั่งเงาตัวเอง
 

ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฏร์ ฉบับที่ 14: กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับกรณีการใช้กำลังทางทหารไทย-กัมพูชา

Posted: 15 Feb 2011 09:31 AM PST

บทนำ

หลังจากที่ความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหารได้ประทุขึ้นประมาณ 4 ปีที่ผ่านมาจนในท้ายที่สุดได้นำไปสู่การใช้กำลังทางทหารของทั้งสองประเทศและมีการบาดเจ็บล้มตายทั้งฝ่ายพลรบและพลเรือนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้มีความพยายามที่จะระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นแนวทางทวิภาคี (ตามแนวทางของไทย) หรือพหุภาคี (ตามแนวทางของกัมพูชา) กรณีการใช้กำลังทางทหารครั้งนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวถึงในมุมมองของกฎหมาย ระหว่างประเทศ ดังนี้...

1. การใช้กำลังทางทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ถือว่าเป็นการทำสงคราม

แม้นายฮุนเซ็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาจะได้บอกนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติว่า การใช้กำลังทางทหารครั้งนี้เป็นสงครามที่แท้จริง ไม่ใช่การปะทะของทหารอย่างที่เลขาธิการสหประชาชาติเข้าใจ แต่ตามกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้ การทำสงครามไม่อาจกระทำได้อีกต่อไป การทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ได้ยอมรับหลักกฎหมายพื้นฐานคือ หลักการห้ามการใช้กำลังทางทหาร

โดยกฎบัตรสหประชาชาติได้ยอมรับข้อยกเว้นของการใช้กำลังได้เพียงสองกรณี เท่านั้น คือกรณีการป้องกันตนเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการโจมตีด้วยอาวุธเกิดขึ้นก่อน (Armed attack occurred) ตามมาตรา 51 และกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงใช้อำนาจตามหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติเท่านั้น การใช้กำลังทางทหารนอกเหนือจากสองกรณีนี้ถือว่าขัดกับกฎบัตรสหประชาชาติ

นอกจากนี้แล้ว การร่างกฎบัตรสหประชาชาติได้เกิดขึ้นในบริบทของการผ่านความโหดร้ายทารุณของ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ดังนั้น ตลอดทั้งกฎบัตรสหประชาชาติรวมถึงอนุสัญญาอื่น ๆ อย่างอนุสัญญาเจนีวาจะไม่ใช้คำว่า “สงคราม” (war) เพราะหลังจากที่กฎบัตรสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ การทำสงครามเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่มีการเสนอให้ใช้คำว่า “การขัดกันด้วยอาวุธ” แทน

ดังนั้น การที่นายกฮุนเซ็นใช้คำว่า “การใช้กำลังทางทหารครั้งนี้เป็นสงครามที่แท้จริง” มิ ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการใช้ถ้อยคำที่ฟังดูแล้วให้เกิดความรู้สึกว่า การใช้กำลังทางทหารครั้งนี้เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงและต้องการสื่อไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่า ฝ่ายไทยเป็นผู้ก่อสงคราม


2. การขัดกันด้วยอาวุธคืออะไร

คำถามมีต่อไปว่า หากการใช้กำลังทางทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่ใช่เป็นการทำสงครามแล้วจะเป็นอะไร คำตอบก็คือ เป็นการขัดกันด้วยอาวุธที่มีลักษณะระหว่างประเทศ (International armed conflict) ซึ่งเป็นกรณีที่มีการใช้กำลังทางทหารไม่ว่าจะด้วยอาวุธประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าการใช้กำลังทางทหารจะกินเวลาสั้นยาวเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีผู้บาดเจ็บล้มตายมากน้อยเพียงใดก็ตาม และไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการหรือยื่นคำขาด (Ultimatum) แก่อีกฝ่ายหนึ่งหรือมก็ตาม การใช้กำลังทางทหารถือว่าเข้าข่ายการขัดกันด้วยอาวุธแล้ว และทันทีที่มีการขัดกันด้วยอาวุธเกิดขึ้น กฎเกณฑ์ของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎเกณฑ์ที่มีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ อย่าง “หลักการแยกแยะพลรบออกจากพลเรือน” (the Principle of Distinction) หรือหลักการใช้กำลังทางทหารจะต้องได้สัดส่วน (Proportionality) ก็จะมีผลใช้บังคับทันทีโดยไม่คำนึงว่า รัฐคู่พิพาทจะเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวาหรือไม่ก็ตาม

จากข่าวที่รายงานว่า ฝ่ายกัมพูชาได้ยิงระเบิดตกใส่บ้านประชาชนและโรงเรียนจนมีพลเรือนตายและบาดเจ็บนั้นเป็นการละเมิด “หลักการแยกแยะพลรบออกจากพลเรือน” ซึ่งเป็นหลักกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดหลักหนึ่งของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ


3. การคุ้มครองปราสาทพระวิหารในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในยามขัดกันด้วยอาวุธ

ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในยามการขัดกันด้วยอาวุธ ค.ศ. 1954 (Convention for the Protection of Cultural Property in the Event of Armed Conflict) ได้วางหลักการสำคัญของอนุสัญญานี้คือ รัฐภาคีจะต้องให้การเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Respect for cultural property) ซึ่งหลักการให้ความเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรมนี้ได้มีความหมายอยู่สี่ประการ คือ ประการแรกรัฐภาคีมีและจะต้องไม่ใช้ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จะก่อให้เกิดการถูกทำลายหรือทำให้เสียหาย ประการที่สอง รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องไม่โจมตีทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ประการที่สาม รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะป้องกันมิให้มีการปล้นสดมภ์ หรือลักพาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและประการสุดท้าย รัฐภาคีห้ามมิให้มีการโต้ตอบด้วยการแก้แค้นต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี พันธกรณีในการให้ความเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรมนี้มิใช่เป็นหลักเด็ดขาดที่ ไม่มีข้อยกเว้น ข้อยกเว้นที่รัฐอาจโจมตีทรัพย์สินทางวัฒนธรรมได้หากว่า ความจำเป็นทางทหารในเชิงบังคับเรียกร้องให้มีการสละการเคารพเช่นว่านั้น ซึ่งข้อยกเว้นนี้นักวิชาการและผู้แทนของรัฐสมาชิกหลายท่านเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของอนุสัญญานี้เนื่องจากขาดคำนิยามที่ชัดเจนแน่นอนว่า ความจำเป็นทางทหาร (military necessity) มีความหมายแคบกว้างเพียงใด การที่มิได้ให้ความหมายของคำนี้อย่างชัดเจนเป็นการเปิดช่องให้รัฐตีความ กันเองซึ่งอาจนำไปสู่การใช้ดุลพินิจของรัฐโดยไม่ชอบได้

หากพิจารณาจากหลักการเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรมตามอนุสัญญาเฮกซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาเป็นภาคีของอนุสัญญาเฮกนี้แล้ว ฝ่ายไทยมีพันธกรณีที่จะต้องไม่โจมตีหรือกระทำการอันเป็นปฎิปักษ์ต่อปราสาทพระวิหารและฝ่ายกัมพูชามีพันธกรณีที่จะไม่ใช้ปราสาทพระวิหารเป็นสถานที่ในการปฎิบัติการทหารด้วย

ส่วนกรณีที่นายฮอร์ นำฮงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้มีหนังสือไปยังประธานคณะมนตรีความมั่นคงโดยอ้างว่า การปฎิบัติการทหารของไทยนั้นทำให้บางส่วนของปราสาทพระวิหารเสียหายนั้น เป็นประเด็นสำคัญมากเพราะกัมพูชากำลังกล่าวหาไทยว่า ไทยในฐานะสมาชิกอนุสัญญาเฮกได้ละเมิดหลักการเคารพทรัพย์สินทางวัฒนธรรมซึ่ง ฝ่ายไทยก็ได้ชี้แจงและกล่าวหากัมพูชาว่าเป็นฝ่ายที่ละเมิดหลักการเคารพ ทรัพย์สินวัฒนธรรมด้วยการวางกองกำลังทางทหารที่ในตัวปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหาร

ประเด็นที่ว่า ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายใช้กำลังทางทหารก่อนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่สำคัญมาก การจะตอบว่าฝ่ายใดละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 (4) ที่ห้ามมิให้มีการขู่ (threat) หรือใช้กำลังทางทหารต่อบูรภาพของดินแดน และอนุสัญญาเฮก ค.ศ. 1954 นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องมีการพิสูจน์ให้ยุติเสียก่อนจึงจะตอบได้ ว่าฝ่ายใดละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

4. ประเด็นเรื่องสายลับ

ตามที่รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่ายไทยได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยชาวกัมพูชาจำนวน 6 คนซึ่งสงสัยว่าจะทำหน้าที่หาข่าวให้กับรัฐบาลกัมพูชาซึ่งฝ่ายไทยได้มีการสืบสวนสอบสวนที่กองกำลังสุรนารีนั้น มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานะของสายลับตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศดังนี้

สายลับ คือ ผู้ที่ปฏิบัติการในทางลับ (Clandestinely) หรือโดยการปลอมตัว (false pretenses) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลในดินแดนของฝ่ายศัตรูแล้วจะติดต่อสื่อสารกับฝ่ายตน โดยปกติแล้ว เมื่อสายลับถูกจับจะตกอยู่ภายใต้กฎหมายของฝ่ายศัตรู ส่วนพลรบที่ทำหน้าที่เป็นสายลับนั้นที่มิได้ปลอมตัวเข้าไปในดินแดนอันเป็นพื้นที่ของการปฏิบัติการทางทหารของข้าศึกหากถูกจับจะไม่ถือว่าเป็นสายลับ นอกจากนี้ ตามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ค.ศ. 1977 ของอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ได้รับรองว่าสายลับเมื่อขณะถูกจับได้เกี่ยวข้องกับการทำจารกรรม (Espionage) จะมิได้มีสถานะเป็นเชลยศึก แต่จะถูกปฏิบัติในฐานะเป็นสายลับ ยกเว้นแต่จะมิได้อยู่ในดินแดนที่ถูกยึดครองและผู้นั้นไม่ได้ถูกจับก่อนที่จะกลับเข้าไปเข้าร่วมกับกองกำลังของตน กรณีนี้ ผู้นั้นได้รับสถานะเป็นนักโทษสงคราม สำหรับเรื่องสายลับนั้นประมวลกฎหมายอาญาทหารก็รับรองไว้เหมือนกัน แต่ใช้คำว่า “ลักลอบสอดแนม” โดยหากผู้ลักลอบสอดแนมถูกจับได้จะได้รับโทษสถานหนักคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต


บทส่งท้าย

กฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (3) กำหนดว่ารัฐสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ดังที่คณะมนตรีความมั่นคงเสนอให้มีการหยุดยิงและให้มีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยหวังว่าเวทีของอาเซียนจะมีบทบาทในการช่วยเหลือความขัดแย้งนี้

อย่างไรก็ตาม ลึกๆ ผู้เขียนเห็นว่า ปมความขัดแย้งนี้ไม่ง่ายที่จะยุติโดยดีเพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องที่ ละเอียดอ่อนไม่มีใครยอมใคร ซ้ำยังมีปมความไม่ชอบกันในทางประวัติศาสตร์อีก บางทีอนุชนรุ่นหลังอีก 20 -30 ปี อาจจะต้องมานั่งแก้ไขปัญหาปราสาทพระวิหารและพื้นที่ 4.6 อีกก็เป็นได้.

 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.enlightened-jurists.com/blog/21

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.อนุมัติ "งบลับ" 6-7 พันล้าน ให้ "ทัพอากาศ" ซ่อมฝูง F16

Posted: 15 Feb 2011 07:29 AM PST

ครม.อนุมัติงบลับประมาณ 6-7 พันล้านบาท ให้กองทัพอากาศนำไปซ่อมแซมและติดตั้งอุปกรณ์เสริมเครื่องบินเอฟ 16 เอดีเอฟ 6 ลำ ด้าน ทอ.แจงรัฐบาลให้งบเมื่อต้นปี 53 แต่เพิ่งผ่านวันนี้

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มติชนออนไลน์รายงานว่า รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอข้อเสนอของกองบัญชาการกองทัพอากาศ เพื่อขออนุมัติงบลับนำไปซ่อมแซมและติดตั้งอุปกรณ์เสริมเครื่องบินเอฟ 16 เอดีเอฟ จำนวน 6 ลำ โดยทำสัญญากับบริษัทจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งอนุมัติให้สร้างอาคารซ่อมแซมเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ได้ขออนุมัติงบลับเพื่อใช้ในการดำเนินการเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเงินบาทประมาณ 6-7 พันล้านบาท

โดย ครม.ใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 5 นาที ก่อนที่จะอนุมัติตามที่ ทอ.เสนอ ทั้งนี้ ภายหลังการพิจารณาวาระดังกล่าว พล.อ.ประวิตร สรุปอุบัติเหตุเครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 2 ลำ ตกระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ ว่า เป็นเครื่องบินเอฟ 16 เอดีเอฟ ซื้อมาตั้งแต่ปี 2545 สาเหตุที่ตกเกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการฝึกบินคอบร้าโกลด์ แต่สาเหตุหลักอยู่ระหว่างการตรวจสอบ


ทอ.แจงรัฐบาลให้งบเมื่อต้นปี 53 แต่เพิ่งผ่านวันนี้

ด้าน พล.อ.ต.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) ชี้แจงว่า งบประมาณนี้เป็นงบฯที่ ครม.ได้อนุมัติตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2553 ดังนั้น ทอ. จึงได้เสนอ ครม.ตามโครงการ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งทาง ครม.ได้อนุมัติงบฯตามที่ร้องขอให้สามารถก่อนี้งบฯผูกพันงบประมาณได้

พล.อ.ต.มณฑลกล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทอ.ได้ดำเนินการเจรจากับกองทัพอากาศสหรัฐเพื่อดำเนินการปรับปรุงเอฟ 16 ด้วยระบบการจัดซื้อขายอาวุธระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลสหรัฐด้วยระบบ (FOREIGN MILITARY SALES) หรือเอฟเอ็มเอส เพื่อปรับปรุงเครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 3 ช่วง ครั้งละ 6 ลำ โดยช่วงที่ 1 ใช้งบประมาณ 6,900 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการดังกล่าว ทอ.ต้องการปรับปรุงเครื่องบินเอฟ 16 ทั้งฝูงบิน 403 ที่กองบิน 4 จ.นครสวรรค์ จำนวน 18 ลำ แต่เนื่องจากงบประมาณปรับปรุงมีมูลค่าเงินที่สูง ทอ.จึงได้แบ่งการปรับปรุงเครื่องบินเอฟ 16 เป็น 3 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ดำเนินการ ระยะเวลาปี 2554-2556 /ช่วงที่ 2 ในปี 2556-2558/ช่วงที่ 3 ในปี 2558-2560

 

ที่มา มติชนออนไลน์ 1, 2

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.ออกหมายเรียก 10 แกนนำ พธม. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคง ด้าน "ไชยวัฒน์" ฟ้องศาลปค.สูงสุดขอไต่สวนฉุกเฉิน

Posted: 15 Feb 2011 06:57 AM PST

ตร.ออกหมายเรียก 10 แกนนำพันธมิตรฯ และแกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง ขีดเส้น 22 ก.พ.ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่นครบาล ด้าน “ไชยวัฒน์” ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด ขอไต่สวนฉุกเฉิน ยกเลิกมติ ครม.ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง

(15 ก.พ. 54) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวตนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า หลังจากศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) พยายามใช้การเจรจากับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อให้เปิดพื้นผิวการจราจร เมื่อเจรจาไม่เป็นผลจึงต้องเป็นขั้นตอนของกฎหมาย ความผิดที่ชัดเจน คือมาตรา 18 ห้ามเข้าพื้นที่หรือออกจากเขตความผิดตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักรพุทธศักราช 2551 ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

โดยทาง ศอ.รส.ได้ประกาศไว้ว่าพื้นที่การชุมนุมดังกล่าวเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง ตำรวจจึงจำเป็นต้องออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาในเบื้องต้นวันนี้ประมาณ 10 คน ทางเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจนครบาล (บก.น.1) ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ให้เวลา 7 วัน หากต้องการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนได้ หลังออกหมายเรียกแล้วยังไม่มาก็ต้องดูว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ ก็ต้องดูตามเหตุผลต่อไป

รายชื่อแกนนำ 10 คน ประกอบด้วย
1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล
3.นายประพันธ์ คูณมี
4.นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์
5.นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือ สมณะโพธิรักษ์ โพธิรกฺขิโต
6.นายสุริยะใส กตะศิลา
7.นายเทิดภูมิ ใจดี
8.นายพิภพ ธงไชย
9.นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ รัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี
10.นายทศพล แก้วทิมา

ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวว่า หลังจากที่ ศอ.รส.ออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯทั้ง 10 คนแล้ว แต่หากไม่ยินยอมเข้ามารายงานตัวตามหมายเรียก ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกหมายเรียกอีกครั้ง โดยอาจใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน จากนั้นถ้ายังปฏิเสธที่จะเข้ามารับทราบข้อกล่าวอีก เจ้าหน้าที่จะขออำนาจศาลเพื่ออนุมัติหมายจับกุมต่อไป นอกจากนี้ ทาง บช.น.ยังเตรียมประสานแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เพื่อขอเข้าไปร่วมตรวจสอบอาวุธและตรวจค้นบริเวณจุดผ่านเข้าออกพื้นที่การชุมนุม แต่ยังอยู่ระหว่างการประสานงานและยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ทางแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น ซึ่งจะมีการเชิญสื่อมวลชนเข้าไปร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ชุมนุมยังสามารถชุมนุมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลได้อยู่หรือไม่ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า ถ้าตามกฎหมายผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการออกประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ชุมนุมทุกคนก็ถือว่าเป็นการอนุโลมให้ ส่วนในกรณีที่แกนนำและผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ในขณะที่ออกหมายเรียกแล้วนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะระบุในบันทึกข้อความไว้ในสำนวนการสอบสวน เพราะถือเป็นการกระทำผิดที่ต่างกรรมต่างวาระ ส่วนการเจรจาขอคืนพื้นที่บริเวณรอบทำเนียบนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีสัญญาณที่ดีว่าผู้ชุมนุมอาจยอมเปิดพื้นที่บางส่วนในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้

 
“ไชยวัฒน์” ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด ขอไต่สวนฉุกเฉิน ยกเลิกมติ ครม.ใช้ กม.มั่นคง

วันเดียวกัน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และสมาชิกเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ และ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชน ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่อง กระทำการโดยมิชอบ ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ใช้ใน 7 พื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตป้อมปราบ เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และ เขตดุสิต โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ.54 เพื่อดูแลสถานการณ์และการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่คาดว่าอาจจะขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม

โดยนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ได้ยื่นฟ้อง ครม.ทั้งคณะ ซึ่งรวมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วย ในฐานะประธานการประชุม ขณะที่คำขอท้ายฟ้อง ขอให้ 1.ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษา เพิกถอน มติ ครม.ที่ได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ในการเริ่มใช้มาตรการจัดการประชาชน ผู้ชุมนุมประท้วง ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9-23 ก.พ.นี้

2.เพิกถอนประกาศที่ออกโดย ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ทั้งหมด 3 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 7 เขตพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ประกอบด้วย เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตป้อมปราบ เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และ เขตดุสิต

นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การประกาศข้อกำหนด ข้อที่สอง ตามมาตรา 18 ที่ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน. นอกจากนี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ ครม.ดังกล่าว เพราะการประกาศให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ครม.ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง จะกระทบต่อการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งส่อว่าจะทำให้เกิดการละเมิดอำนาจอธิปไตย

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้รับคดีไว้พิจารณาเป็นหมายเลขดำ ฟ.11/2554 โดยจะมีคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ต่อไป และจะไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำสั่งทุเลาการบังคับมติ ครม. หรือไม่ต่อไป

 

ที่มา: มติชนออนไลน์ และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1, 2
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ว.สรรหา เริ่มลาออก เล็งเข้ารับสรรหาใหม่

Posted: 15 Feb 2011 06:18 AM PST

ส.ว.สรรหาที่จะครบวาระในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ทยอยลาออก ส่วนใหญ่เตรียมเข้ารับการสรรหาใหม่อีกครั้ง

(15 ก.พ. 54) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ว่า จากกรณีที่ ส.ว.สรรหาจะครบวาระในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ารับการสรรหาใหม่อีกครั้งนั้น นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ว.แล้ว ทั้งนี้ จะมี ส.ว.สรรหาจำนวนหนึ่งทยอยยื่นหนังสือลาออกก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันทำการสุดสัปดาห์ ได้แก่ พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำ นายสมชาย แสวงการ รวมถึง น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ด้วย

ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หลังจากที่ ส.ว.สรรหาลาออกจะทำให้เหลือ ส.ว.ที่ทำหน้าที่ไม่ครบ 150 คน ซึ่งตามกฎหมาย ส.ว.ที่เหลืออยู่ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่กฎหมายสำคัญบางฉบับที่ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาได้ เพราะอาจถูกมองว่าไม่สง่างาม

วานนี้ (14 ก.พ.54) ในการพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติได้เกิดปัญหา เมื่อในขั้นตอนของการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จำนวน 27 คน โดยในสัดส่วนกมธ.ของวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจำนวน 24 คนได้ทยอยกันขอถอนตัวจากการเป็นกมธ.หลายคน อาทิ นายถาววร ลีนุตพงษ์ ส.ว.สรรหา นายวิทวัส บุญสถิตยิ์ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา โดยให้เหตุผลว่า ส.ว.สรรหากำลังจะหมดวาระในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ทำให้เกรงว่าหากอยู่ในตำแหน่งต่อไปอาจขัดคุณสมบัติต่อการเข้ารับการสรรหา เป็น ส.ว.ได้ ที่สุด ที่ประชุมได้มีการถอนการตั้ง กมธ. จำนวน 27 คนออกไปและเสนอให้ตั้งกมธ.จำนวน 15 คนขึ้นมาแทนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี ส.ว. 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 76 คน (จังหวัดละ 1 คน) และ มาจากการสรรหา 74 คน คณะกรรมการสรรหา มี 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย ขณะที่เดิมรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มี ส.ว. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง

 

ที่มาข่าว:  มติชนออนไลน์  และ Asian Thai NEWS Network
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ถอดบทเรียน “กรณีลักพาตัวเด็ก” ในประเทศ

Posted: 15 Feb 2011 04:46 AM PST

 

 

ทุกครั้งที่มีข่าวการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย เรื่องที่น่าแปลกใจประการหนึ่ง คือ การกล่าวย้ำในทางสังคมเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ ว่า การลักพาตัวเด็ก เป็นเรื่องเดียวกับ “แก๊งรถตู้จับเด็ก” เรามักได้ยินการกล่าวอ้างข้อมูลลอยๆ แบบนี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง แม้กระทั่งจากปากของรัฐมนตรีที่ดูแลปัญหาทางสังคม ซ้ำร้ายบทสรุปหรือการคาดการณ์ของเรื่องมักลงเอยว่า เด็กถูกแก๊งรถตู้จับไป เพื่อตัดแขนตัดขา และบังคับให้ขอทาน!!!

เรื่องที่น่าแปลกใจประการที่สองคือ เราไม่สามารถหาองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการลักพาตัวเด็ก แผนประทุษกรรมของคนร้าย ข้อมูลคนร้ายที่เคยก่อเหตุ แม้กระทั่งสถิติเด็กถูกลักพาตัว ได้จากหน่วยงานของรัฐแม้ว่า ประเทศของเราจะมีหน่วยงานรัฐที่ทำงานเรื่องเด็กและการค้ามนุษย์จำนวนมากก็ตาม


ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย

ข้อเท็จจริงจากการดำเนินงานติดตามคนหาย มูลนิธิกระจกเงา นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิกระจกเงา ได้รับแจ้งเหตุเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 46 ราย เป็นเด็กชาย 22 คน และเป็นเด็กหญิง 24 คน เฉลี่ยมีเด็กถูกลักพาตัวประมาณปีละ 7 ราย ในจำนวนนี้พบตัวแล้ว 28 ราย และยังอยู่ในระหว่างการติดตามหาอีก 18 ราย อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวอยู่ที่ 7 ขวบ
 

ใครคือผู้ก่อเหตุ
วาทกรรมเรื่อง “แก๊งรถตู้” มักอยู่คู่กับการหายตัวไปของเด็กเสมอ ประชาชนจำนวนมากถูกทำให้เข้าใจผิดว่ามีแก๊งรถตู้อยู่จริงในประเทศไทย แต่จากการดำเนินงานติดตามเด็กหายของมูลนิธิกระจกเงาเกือบทศวรรษ ไม่เคยปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กอยู่จริงในประเทศไทย

เด็กที่เคยถูกลักพาตัว ซึ่งได้กลับบ้านแล้วกว่า 28 ราย ไม่มีรายใดถูกลักพาตัวไปโดยแก๊งรถตู้แม้สักกรณีเดียว แม้ว่าตอนที่ถูกลักพาตัวไปแรกๆ จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกแก๊งรถตู้ลักพาตัวไปก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงได้ปรากฏภายหลังจากการช่วยเหลือติดตามเด็กกลับมาได้แล้วว่า เด็กที่ถูกลักพาตัวไปในกรณีของประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดมักเข้าข่ายบุคคล ดังต่อไปนี้

1. ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะก่อเหตุเพียงลำพัง เพราะง่ายต่อการดำเนินการ และยังสะดวกในการเดินทาง เพื่อเคลื่อนย้ายเด็กไปยังสถานที่ที่ตนเองต้องการ

2. มีอาการทางสุขภาพจิต ทั้งผู้ก่อเหตุที่เป็นหญิงและชาย และอาจเคยเป็นผู้ก่อเหตุในลักษณะนี้มาก่อน ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุเพศชายที่มีอาการทางจิต มักมีรสนิยมรักร่วมเพศ หรือรสนิยมการร่วมเพศกับเด็ก

3. เป็นบุคคลใกล้ชิดกับครอบครัวของเด็ก อาทิเช่น พี่เลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้อง ที่รู้สึกผูกพันกับเด็ก จนเกิดความเสน่หา ต้องจะนำตัวเด็กไปดูแลเอง

4.บุคคลที่ประสงค์จะมีลูก แต่ไม่สามารถมีลูกด้วยตัวเองได้ จึงตระเวนออกหาเด็กตามสถานที่ต่างๆ เพื่อลักพาตัวมาเลี้ยงดูเป็นลูกของตัวเอง

พื้นที่เสี่ยงในการถูกลักพาตัว
สุภาษิตโบราณที่ว่า “ที่ปลอดภัยที่สุด มักเป็นที่อันตรายที่สุด” อาจนำมาใช้ได้กับกรณีการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย เพราะพบว่า การก่อเหตุลักพาตัวเด็ก มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังอาจเป็นบริเวณที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าเป็นสถานที่คุ้นชินและปลอดภัยสำหรับบุตรหลาน
พื้นที่เสี่ยงที่ผู้กระทำความผิดมักก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ได้แก่

1. บ้าน ทั้งบริเวณหน้าบ้าน และภายในบ้านของเด็กเอง
2. วัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีงานวัด
3. โรงพยาบาล
4. สวนสาธารณะ
5. ห้างสรรพสินค้า
6. บริเวณใกล้ที่ทำงานของผู้ปกครองเด็ก
 

เด็กคนไหนที่อาจถูกลักพาตัว
จากจำนวนการรับแจ้งเหตุเด็กถูกลักพาตัวในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 46 ราย เป็นเด็กชาย 22 คน และเป็นเด็กหญิง 24 คน นั่นหมายถึงไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง อาจจะมีแนวโน้มในการถูกลักพาตัวไม่แพ้กัน เฉลี่ยมีเด็กถูกลักพาตัวประมาณปีละ 7 ราย อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวอยู่ที่ 7 ขวบ กระนั้นก็ตามเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ถูกลักพาตัวมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี

เด็กที่ถูกลักพาตัวมักเป็นเด็กที่มีบุคคลิกหน้าตาดี เชื่อคนง่าย ส่วนใหญ่เด็กไม่มีทักษะในการป้องกันตัวเอง หรือการขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก เด็กที่ถูกลักพาตัวมักไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากผู้ก่อเหตุมักข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายเด็ก หรือหากเด็กหลบหนีไปได้จะตามไปทำร้ายครอบครัวเด็กที่บ้าน


วิธีการลักพาตัวเด็ก

การลักพาตัวเด็กทุกกรณี ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย ไม่มีการฉุดกระชาก ไม่มีการมัดมือมัดเท้า ไม่มีการปิดตาปิดปาก เหมือนที่ทางการมักให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนบ่อยๆ เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ก่อเหตุมักใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่านั้น กล่าวคือ กรณีที่เป็นเด็กทารกหรือเด็กเล็ก พบว่ามิจฉาชีพมักทำทีตีสนิทกับครอบครัว มีการขออุ้มเด็ก หรือแม้กระทั่งปลอมตัวเข้ามาสมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หรือกรณีล่าสุดที่จังหวัดขอนแก่น ที่ผู้กระทำผิดปลอมตัวเป็นญาติของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อให้ทุกคนตายใจ จากนั้นจะอุ้มเด็กออกไปเสมือนหนึ่งว่าเป็นแม่หรือเป็นญาติของเด็ก โดยไม่มีใครสงสัย

ส่วนกรณีเด็กโตนั้น มักถูกล่อหลอกด้วยสิ่งจูงใจ 4 อย่าง ได้แก่ 1.เงิน 2.ขนม 3.ของเล่น 4.เกมส์ โดยผู้กระทำผิดมักจะนำสิ่งล่อใจมาชักชวนเด็กในการให้เดินออกจากบริเวณที่เด็กอยู่ เพื่อตามผู้กระทำความผิดออกไป เช่น หลอกล่อว่ามีของเล่นอยู่ที่บ้านผู้กระทำผิด ถ้าเด็กอยากได้ให้ตามไปเอา เด็กมักหลงเชื่อเพราะอยากได้ของเล่น จากนั้นจะยอมเดินตามผู้กระทำความผิดไป โดยเสมือนหนึ่งญาติที่รู้จักกัน เพราะไม่มีการใช้กำลังบังคับ จึงทำให้บุคคลอื่นไม่สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ

นอกจากนี้สำหรับการลักพาตัวเด็กโต ผู้กระทำความผิดยังมีการใช้หลักจิตวิทยาให้เด็กเกรงกลัว เช่น การสวมรอยเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งมีกรณีหนึ่ง เด็กยอมเดินตามผู้กระทำผิดไปตามคำชักชวน เพราะคิดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจริงๆ

ผู้กระทำความผิดทั้งหมดไม่มีรายใดเป็นรูปแบบขบวนการหรือกลุ่มแก๊ง การก่อเหตุมักกระทำโดยลำพังเพียงคนเดียว

ลักพาตัวเด็กไปทำอะไร?
ข้อมูลจากเด็ก 28 รายที่ได้ตัวคืนกลับมา สามารถวิเคราะห์การนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ได้ ดังนี้
1.การนำตัวไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ กรณีนี้มีแนวโน้มสูงที่สุด โดยจะเกิดเฉพาะกับการลักพาตัวเด็กโตเท่านั้น โดยผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์การนี้มักเป็นผู้ชายอาจมีอาการผิดปกติทางจิต หรือ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก

2.การนำตัวไปเพื่อเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง เนื่องจากมีความรัก ผูกพัน หรือถูกชะตากับเด็ก

3.การนำเด็กแสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการนำเด็กนั่งขอทาน หรือ ขายดอกไม้ หรือขายสินค้าตามตลาดนัด ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิด ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ใหญ่โต แต่มักก่อเหตุโดยลำพังเพียงคนเดียว การบังคับให้เด็กไปขอทานหรือขายสินค้า ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการนำเด็กมาหาประโยชน์แบบเป็นเรื่องเป็นราว แต่มักจะให้เด็กไปขอทานหรือขายสินค้า เพื่อนำเงินที่ได้ใช้เป็นค่าอาหารและค่าเดินทางไปวันๆ เท่านั้น

4.มีการคาดการณ์ว่า อาจจะการนำเด็กไปขายให้กับชาวมาเลเชีย เชื้อสายจีนที่อยากมีบุตร เนื่องจากมีขบวนการซื้อขายเด็กทารกอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยจริง แต่การสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแสวงหาคำตอบที่ชัดแจ้งจนถึงปลายทางได้
 

ก่อนจะมีเด็กถูกลักพาตัวคนต่อไป
ความเชื่อและข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็กไปตัดแขนตัดขา ควรจะได้รับการลบทิ้งไปจากผู้เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้น การทำงานเชิงป้องกัน และการสืบสวนติดตามเด็กถูกลักพาตัวจะมุ่งไปผิดทาง ในขณะที่หน่วยงานตำรวจที่ดูเหมือนจะต้องมีบทบาทในการสืบสวนปราบปรามเรื่องนี้ ควรจะได้มีการถอดบทเรียน รวบรวมความรู้ กรณีศึกษา แผนประทุษกรรม และจัดระบบข้อมูลผู้กระทำความผิด เพื่อทำงานเชิงป้องกันและช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐ จะต้องลุกมาเจ้าภาพในการตั้งศูนย์ติดตามคนหายแห่งชาติ และลบทิ้งวาทกรรม “แก๊งรถตู้จับเด็กไปตัดแขนตัดขาได้แล้ว...”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอาญาสั่งปล่อยแรงงานพม่าเหยื่ออุบัติเหตุ พร้อมจ่ายค่าเสียหายหลังถูกควบคุมตัว 16 วัน

Posted: 15 Feb 2011 03:31 AM PST

ศาลอาญาสั่ง สตม. ปล่อยแรงงานพม่าเหยื่ออุบัติเหตุที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายทันที พร้อมจ่ายค่าเสียหายหลังถูกควบคุมตัว 16 วัน

 


"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และส่งไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยถูกโซ่ล่ามไว้นั้น ล่าสุดได้รับการประสานให้ปลดโซ่แล้ว ล่าสุดเมื่อ 10 ก.พ. นายชาลียังคงถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานแล้วว่าใบอนุญาตทำงานของเขา ไม่หมดอายุ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา) 

วันนี้ (15 ก.พ. 54) เวลา 15.00น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ทนายผู้ร้องคดีและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายชาลี ดีอยู่ ในฐานะพยาน ร้องต่อศาลให้มีคำสั่งปล่อยตัวนายชาลีทันที และเรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2554 โดยศาลได้สั่งให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลีทันที และจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท

นายชาลี ดีอยู่ อายุ 33ปี แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานจนบาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกมาแขวนไว้นอกช่องท้อง และกระดูกสะโพกขวาหัก และนายจ้างทอดทิ้ง นายชาลีถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานีแจ้งจับและถูกนำไปควบคุมที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า มสพ. จึงร้องขอ สตม.จึง ได้ส่งตัวนายชาลีไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่นายชาลียังคงถูกควบคุมตัวไว้ในห้องคนไข้ที่เป็นห้องขัง ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียง จนองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)นายชาลีจึงได้รับการปลดโซ่ จากนั้น มสพ. ได้ตรวจสอบพบว่าใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ มสพ. จึงส่งหนังสือขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ถอนอายัดตัวนายชาลี แต่ไม่เป็นผล มสพ. ใน ฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายชาลี จึงร้องเรียนไปยังสภาทนายความ ต่อมาจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อมีคำสั่งปล่อยตัวดังกล่าว

นายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า "กรณีของชาลีแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บางคน ยังใช้อำนาจโดยมิชอบระหว่างการจับกุมและกักขัง โดยเฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ เสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนไทย หรือคนต่างชาติ เจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันให้ถี่ถ้วน”

นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า "กรณีนี้แสดงให้เห็นความบกพร่องของระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะระบบคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การรักษา และระบบกองทุนเงินทดแทน แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานยังไม่ได้รับการคุ้มครอง และตกหล่นจากระบบคุ้มครองของรัฐกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ที่โดยหลักแล้วต้องคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทย รัฐบาลยังปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน แม้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติเรื่องแรงงานข้ามชาติ และผู้รายงานพิเศษเรื่องการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยได้ทักท้วงมาตลอด”

ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่ง ประเทศไทย (WEPT) ได้ริเริ่มตั้งกองทุน เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลนายชาลี จำนวน 70,000 บาท นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าวว่า "ใน เมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข กองทุนเงินทดแทน ของกระทรวงแรงงาน และนายจ้าง ยังไม่มีใครรับผิดชอบค่ารักษาของนายชาลี กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานไม่อาจดูดายได้ จึงพยายามรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือนายชาลีต่อไป”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่บ้านอีสานบุกกรมคุ้มครองสิทธิฯ ร้อง 9 เดือนแล้ว ลูก-ผัวเสื้อแดงยังไม่ได้ประกันตัว

Posted: 15 Feb 2011 02:39 AM PST

 
15 ก.พ.54 ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายญาติผู้ต้องขังเสื้อแดงราว 50 คน พร้อมด้วยนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เข้ายื่นหนังสือและร้องเรียนกรณีที่ญาติพี่น้อง-สามี-ลูก ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงยังถูกคุมขังอยู่ตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาสารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น เชียงใหม่ โดยไม่สามารถประกันตัวได้
 
ทั้งนี้ นายสมชาติ เอี่ยมอนุพงษ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิได้ลงมารับหนังสือ ซึ่งในหนังสือร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.53 ครม.มีมติยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการช่วยเหลือประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังคดีชุมนุมทางการเมือง 104  คน ตามที่คณะกรรมการที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธานเสนอมา แต่ถึงปัจจุบันกว่า 9 เดือนแล้วแต่ญาติพี่น้องของพวกเขาก็อยู่ในเรือนจำ จึงขอเรียกร้องให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ประสานงานตามศาลจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ญาติได้ประกันตัว พร้อมช่วยเหลือหลักทรัพย์ และขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้ต้องหาที่ถูกขังในเรือนจำทั่วประเทศในคดีการเมืองด้วย
 
จากนั้นได้มีการเชิญชาวบ้านทั้งหมดไปร่วมหารือร่วมกับรองอธิบดีและ นางนงกรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ
 
นางนงกรณ์ ชี้แจงว่า ได้ลงไปสำรวจในเรือนจำทั่วประเทศ พบว่า ณ เดือนตุลาคม 2553 ยังมีผู้ต้องขังเสื้อแดง 180 คน มี 151 คนที่ขอความช่วยเหลือ บางส่วนขอทนายความซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ จะเป็นผู้จัดหาให้ อีก 48 รายขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว ซึ่งกองทุนยุติธรรมอนุมัติให้ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเงิน 28 ล้านไปให้ยุติธรรมจังหวัดเพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวที่ศาล แต่การให้หรือไม่ให้ประกันเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ช่วยยื่นประกันตัวไปหลายรายแต่ส่วนใหญ่แล้วศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงผู้ต้องขังจะหลบหนี
 
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ชาวบ้านเข้าใจว่ามติครม.ให้ประกัน 104 รายตามที่นายคณิต ณ นคร เสนอนั้น อันที่จริงแล้วมติครม.ระบุให้ดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปหาหลักเกณฑ์และแนวทางในการประกันตัวมา แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ จะทำหนังสือทวงถามให้
 
นางวาสนา ลิลา
 
ด้านญาติของผู้ต้องขังระบุว่า ขณะนี้เรือนจำจังหวัดอุดรธานี ยังมีผู้ต้องขังประกันตัวไม่ได้ 27 คน อุบลราชธานี 21 คน มุกดาหาร 12 คน มหาสารคาม 9 คน ขอนแก่น 4 คน เชียงใหม่ 4 คน  ซึ่งเกือบทั้งหมดยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการลงไปช่วยเหลือของกรมคุ้มครองสิทธิฯ นั้น หลายครั้งไปโดยไม่ประสานงานกับญาติและทนาย ไม่ทราบข้อมูล ทำให้การยื่นประกันได้รับการปฏิเสธ
 
นางศิรินารถ จันทะคัต ตัวแทนญาติจากจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างที่พูด โดยยกตัวอย่างความยากลำบากของครอบครัวจันปัญญา หลังจากนายสุชล จันปัญญา นักศึกษาเทคนิคชั้น ปวส.1 ถูกคุมขัง ทำให้พ่อที่เป็นอัมพาตและมารดาที่อายุมากอยู่อย่างยากลำบาก เพราะปกตินายสุชลจะเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวและทำงานเป็นลูกจ้างร้านถ่ายเอกสารส่งเสียตัวเองเรียน ในวันเกิดเหตุนายสุชลเข้าไปยืนดู ตำรวจใช้ภาพถ่ายที่เป็นเพียงการยืนมุงเป็นหลักฐาน โดยที่ขวดน้ำมันที่กล่าวอ้างว่าเป็นของนายสุชลก็ไม่มีการพิสูจน์ลายนิ้วมือ
 
ส่วนนางวาสนา ลิลา จากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า สามีถูกคุมขังมานานหลายเดือนจะมีอาการเครียด เกรงว่าจะคิดสั้นในเรือนจำ สามีโดนข้อหาร่วมกันวางเพลิง ทั้งที่ในวันเกิดเหตุเขาไปซื้ออะไหล่รถและแวะมาดูลูกคนเล็กที่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อผ่านจุดเกิดเหตุจึงแวะดู ต่อมาตำรวจนำภาพถ่ายมาให้เซ็นชื่อโดยบอกว่าหากลงชื่อวันรุ่งขึ้นก็สามารถประกันตัวได้ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกคุมขังมาจนปัจจุบันไม่สามารถประกันตัวได้ ทำให้ตนลำบากมากเพราะต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก 2 คนเพียงลำพัง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทัพพม่าส่งรถถังชิดพื้นที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" เพิ่ม

Posted: 15 Feb 2011 02:37 AM PST

กองทัพพม่าส่งรถถังเข้าประชิดพื้นที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ต่อเนื่อง ล่าสุดพบมีแล้ว 16 คัน เชื่อเตรียมกวาดล้างเร็วๆ นี้

(15 ก.พ. 54) "คนเครือไท" ศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน รายงานว่า รายงานข่าวแจ้งว่า กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งรถถังอีก 5 คัน จากเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน เข้าไปที่เมืองหนอง รัฐฉานตอนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อหน้าพื้นที่เคลื่อนไหวกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" โดยรถถังจำนวนดังกล่าวซึ่งไม่ทราบชนิด ถูกบรรทุกไปกับรถบรรทุกรถถังเข้าไปถึงเมืองหนอง เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน มีผู้พบเห็นรถถังของกองทัพรัฐบาลทหารพม่าขับผ่านเมืองโขหลำ มุ่งหน้าไปทางเมืองหนอง อีก 5 คัน ซึ่งเชื่อว่าจะเข้าไปสมทบกำลังในพื้นที่เพื่อกดดันหรือปราบปรามกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" Shan State Army 'North' ซึ่งเป็นอดีตกลุ่มหยุดยิงและปฏิเสธรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าในการแปรสภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF

ทั้งนี้ กองทัพรัฐบาลทหารพม่าได้เสริมกำลังทหารเข้าไปใกล้พื้นที่กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ที่เมืองหนองอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เสริมกำลังทหารราว 200 นาย เดินทางด้วยรถบรรทุก 6 คัน พร้อมด้วยรถถัง 6 คัน จากเมืองตองจีเข้าไปในพื้นที่เมืองหนอง โดยขณะนี้ในพื้นที่เมืองหนองมีรถถังของกองทัพพม่าแล้วรวม 16 คัน

/////////////////

 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความอัลจาซีรา: วิธีปฏิวัติให้สำเร็จ: 5 บทเรียนสำหรับอียิปต์

Posted: 15 Feb 2011 01:56 AM PST

 

 

14 ก.พ. 2554 - อัลจาซีราลงบทความเรื่อง "อะไรที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จ" เขียนโดย Roxane Farmanfarmaian ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 กับการประท้วงใหญ่ในอียิปต์ครั้งล่าสุด ว่าแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีอยู่ 5 บทเรียนที่อียิปต์เรียนรู้จากการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979

Roxane Farmanfarmaian เป็นอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นักวิชาการของศูนย์ตะวันออกกลางมหาวิทยาลัยยูทาห์ เขามีชีวิตอยู่ในอิหร่านในช่วงที่เกิดการปฏิวัติและเกิดวิกฤติตัวประกัน (ช่วงปี 1979- 1981 ที่มีชาวสหรัฐฯ หลายสิบคนถูกจับเป็นตัวประกัน 444 วัน จากความขัดแย้งทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน)

เนื้อหาของบทความมีดังนี้
---

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เมื่อ 32 ปีที่แล้วชาวอิหร่านได้ประกาศความสำเร็จในการปฏิวัติ พระราชาอิหร่าน (ชาห์) ลงจากอำนาจถูกทำลายย่อยยับ ยุคสมัยใหม่คืบคลานเข้ามา

แม้ว่าสิ่งที่ตามมาจะแตกต่างจากสิ่งที่ชาวอียิปต์คาดหวังไว้มาก แต่อิหร่านก็ถือเป็นการปฏิวัติที่ประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับยุคศตวรรษที่ 20 และชาวอียิปต์ก็คงได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้ในการโค่นล้มอำนาจรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิ

ในตอนนี้เป็นฝ่ายทหารอียิปต์ที่เข้ามามีอำนาจ โดยสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หมายความว่าผู้ชุมนุมจะเชื่อถือกองทัพแล้วกลับบ้านได้ล่ะหรือ อียิปต์กับอิหร่านต่างกันมาก ทั้งแรงดลใจของพวกเขาและเรื่องสื่อที่ห่างกันหลายปีแสง และด้วยความหวังว่าโครงสร้างของอียิปต์จะมีความเป็นประชาธิปไตยและปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการชัยชนะที่มาจากคะแนนเสียงประชาชน

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวลุ่มน้ำไนล์ที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน การปฏิวัติของอิหร่านได้ให้บทเรียนสำคัญบางอย่างไว้
 

ทเรียนที่ 1: การปฏิวัติต้องใช้เวลา
จากวันที่คนทั่วไปคิดว่าเกิดการปฏิวัติอิหร่านขึ้นแล้ว โดยเริ่มปะทุจากเหตุการณ์ประชาชนกว่า 400 รายเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้โรงละครในอบาดาน เมืองน้ำมันของอิหร่าน จนกระทั่งถึงการประกาศชัยชนะในวันที่ 12 ก.พ. 1979 ซึ่งกินเวลาหลายเดือน หลายปี

การประท้วงเกิดขึ้นทั้งในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะ และช่วงฤดูร้อนที่อบอ้าว มีประชาชนถูกยิง เกิดการลุกฮือหลังจากเรื่องราวของพวกเขาที่ควรเป็นข่าวไม่ได้รับการนำเสนอในสื่อต่างชาติ แต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไปและใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนยังคงสู้ต่อไป และความสูญเสียที่เกิดขึ้นผลักดันให้พวกเขาล้มล้างระบอบทหาร

ในอียิปต์ พวกเรายังมองเห็นความต้องการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่มีจุดมุ่งหมายในการประท้วงแน่ชัดแล้ว คือเพื่อล้มล้างระบอบ ไม่เพียงแค่ล้มล้างผู้นำหลายคนในนั้น การลาออกของมูบารัคและการเปลี่ยนขั้วอำนาจไปสู่กองทัพอาจเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนระบอบต้องอาศัยกระบวนการยาวนาน ต้องมีวิสัยทัศน์และการจัดการ รวมถึงสิ่งที่ค้นพบในการประท้วงของอิหร่านคือ ความดื้อดึง

บทเรียนที่ 2: ระบอบที่หยั่งรากไม่จากไปอย่างเงียบๆ
3 สัปดาห์หลังจากการเปลี่ยนแปลง ตัวมูบารัคจะหมดอำนาจอย่างแท้จริงหรือไม่ก็ไม่อาจทราบ ที่สำคัญกว่าคือเขายังคงอยู่ในอียิปต์ ประธานาธิบดีที่ลงจากตำแหน่งเช่น เบน อาลี ของตูนีเซียจะยังไม่พ้นจากอำนาจจนกว่าพวกเขาจะถูกเนรเทศ แม้แต่ชาห์ก็ยังคงอยู่ต่อถึงปีหนึ่งแม้จะมีผู้คนยังคงเปล่งคำขวัญร่วมกันว่า "ชาห์จงตายไปเสีย" ในวันสุดท้ายของชาห์ก็เช่นเดียวกับมูบารัคคือมีความพยายามเปลี่ยนผ่านรัฐบาลโดยยังคงอาศัยระบอบเดิมที่มีอยู่ เปลี่ยนจากนายกรัฐมนตรีของเขาเป็นคนหน้าใหม่ที่เขาไว้ใจ

ในความจริงแล้วชาห์ผ่านช่วงนายกรัฐมนตรี 3 คน คนแรกมาจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย จากนั้นจึงเป็นนายพล สุดท้ายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชนเผ่าใหญ่ของอิหร่านและเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านพรรคเนชันแนลฟรอนท์

ประชาชนบนท้องถนนไม่ยอมรับนายกฯ คนใดเลย เช่นเดียวกับที่ชาวอียิปต์รู้สึกต่อรองประธานาธิบดี โอมาร์ สุไลมาน ผู้นำจากการคัดเลือกของชาห์มีความยินยอมเพียงเล็กน้อยแต่มาพร้อมกับคำขู่อย่างเช่น ประชาชนควรจะกลับบ้านได้แล้ว, ทหารอยู่ควบคุมอยู่และกำลังจะเริ่มหมดความอดทน, ประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับชาวตะวันออกกลาง

สำหรับชาวอิหร่านก็เช่นเดียวกับอียิปต์ เป้าหมายสำคัญคือการกำจัดชนชั้นนำ ระบอบที่ฉ้อฉล รวมถึงใครก็ตามที่สวมหัวด้วยสิ่งเหล่านี้ ทำให้การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปแม้หลังจากชาห์หนีไปแล้ว ยังคงมีมรดกหลงเหลือจนกระทั่งถูกขจัดทิ้งไปหมดในที่สุด


บทเรียนที่ 3 กองทัพไว้ใจอะไรไม่ได้

ต่างจากที่อียิปต์จนถึงตอนนี้ กองทัพอิหร่านในช่วงนั้นถือเป็นกองทัพที่ทรงอำนาจเป็นอันดับที่ 5 ของโลก แล้วก็ไม่ยอมละเว้นการทำร้ายประชาชนชาวอิหร่าน

เหตุการณ์ "สังหารหมู่วันศุกร์" ในเดือนตุลาคม 1978 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทหารยิงกระสุนจริงเข้าไปในฝูงชน และแม้ในวันเวลานี้กองทัพอียิปต์จะเลิกการโจมตีอย่างตรงไปตรงมาแบบนั้นแล้ว ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงต่อเนื่องกับประชาชนบนท้องถนน

กองทัพอียิปต์ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ควบคุมรัฐบาลอยู่เรียกร้องอย่างหนักแน่นให้เกิดเสถียรภาพ โดยบอกว่าเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายหากการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป แต่แม้จะมีถ้อยแถลงคล้ายๆ กันมาจากกองทัพอิหร่าน การชุมนุมก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการนองเลือด ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ปฏิเสธไม่ยอมอ่อนข้อต่อกองทัพ จนในที่สุดพวกเขาก็ทำให้ทหารอ่อนแรงลง

มีการเสียบดอกไม้ที่ปลายปืน ครอบครัว มิตรสหายและเพื่อนบ้าน ต่างเข้ากอดและพูดคุยกับทหารขณะที่พวกเขาเดินขบวนไปตามท้องถนน เอาป้ายประท้วงไปแขวนไว้ที่รถถังที่จอดอยู่ริมทางเท้า ฉีดสเปรย์เป็นคำขวัญข้างรถถัง บ้างก็วางโปสเตอร์ไว้ข้างๆ

สำหรับชาวอียิปต์แล้ว นี่เป็นบทเรียนที่สำคัญ กองทัพสะสมกำลังอาวุธไว้แล้ว และในวันนี้ก็ให้สัญญาณหลายอย่างปนกันซึ่งเป็นช่วงที่อันตราย มีรายงานว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในกองทัพเข้าร่วมการชุมนุม การปักหลักชุมนุมอย่างสงบต่อหน้ากำลังทหารน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่ผู้ชุมนุมมีอยู่ และก็อย่างได้ใช้มันอย่างเปลืองเปล่า

บทเรียนที่ 4: การนัดหยุดงานเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ
ในอียิปต์ สิ่งที่ทำให้รูปเกมเปลี่ยนไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการประท้วงหยุดงานในหลายๆ ที่ตามเมืองต่างๆ โดยคนงานโรงงานที่เรียกร้องค่าแรงที่ดีกว่า

ในอิหร่าน การประท้วงหยุดงานที่เริ่มต้นจากคนงานบ่อน้ำมันต่อมาได้ลามไปทั่วประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบอบล่มลง การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันก๊าซ (ซึ่งบ้านเรือนชาวอิหร่านต้องใช้ในการสร้างความอบอุ่นช่วงฤดูหนาวที่ทารุณกว่าอียิปต์) ทำให้มีคนต่อคิวเติมน้ำมันในปั๊มยาวเหยียดบางคนต้องรอถึง 48 ชั่วโมง

ผู้ใช้รถรวมถึงผู้ใช้จักรยานยนต์นั่งคอยอย่างอดทนในรถผ่านค่ำคืน แม้รัฐบาลจะบอกว่าชาวอิหร่านไม่ใยดีกับการประท้วงรูปแบบนี้ แต่มีเพียงชนชั้นนำและกองทัพเท่านั้นที่ได้ใช้น้ำมัน พวกเขาขับขี่ยวดยานอย่างโอ่อ่าบนถนนที่แทบโล่ง การประท้วงรูปแบบนี้จึงเป็นการต่อต้านพวกเขา

การนัดหยุดงานแม้จะไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็มีการกระจายตัวไปตามโรงงาน ตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และที่สำคัญคือโรงไฟฟ้า ซึ่งทำการตัดไฟทุกๆ 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไปตัดไฟตรงกับช่วงที่มีข่าวจากโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกครั้ง ซึ่งถือเป็นยุทธวิธีมี่ดี ชาวอิหร่านกินอาหารเย็นใต้แสงเทียนและอาศัยฟังข่าวจากวิทยุ ส่วนใหญ่จากบีบีซี

การนัดหยุดงานถือเป็นกระดูกสันหลังของการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันก็เอื้อให้คนหยุดงานมาร่วมชุมนุม มันส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและในเชิงจิตวิทยา และชาวอิหร่านก็เช่นเดียวกับชาวอียิปต์ที่แสดงความยินยอมในการมีชีวิตอย่างลำบากเพื่อให้รัฐบาลออกจากตำแหน่งไป


บทเรียนที่ 5: การเบี่ยงเบนสื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐเป็นความสำเร็จสำคัญ

การลุกฮือในอียิปต์ได้สะท้อนถึงยุคสมัยเมื่อการประท้วงเริ่มต้นจากการใช้บล็อกและทวิตเตอร์ รวมถึงมีแรงสะสมจากรายการโทรทัศน์บนอินทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือ แม้ว่ามูบารัคจะสั่งตัดอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีก็ยังคงมีอยู่

เป็นธรรมดาที่อิหร่านในยุคนั้นจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเบี่ยงเบนสื่อของรัฐถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเหตุการณ์ หนังสือพิมพ์ Kayhan และ Etela'at ของอิหร่านเป็นเสมือน al-Ahram ของอียิปต์ คือเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาล ขณะที่ในช่วงแรกๆ Kayhan และ Etela'at แสดงให้เห็นว่าประชาชนบนท้องถนนเผาทำลายรูปของชาห์ซึ่งมีอยู่ไปทุกที่ ติดอยู่ในทุกที่ทำงานและทุกครัวเรือน ก็ถึงจุดที่รัฐทราบดีว่ามีอะไรรั่วจากภายในแล้ว

สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับ al-Ahram ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เสนอข่าวอย่างไม่เอียงข้างมากขึ้น สำหรับชาวอียิปต์แล้วนี่ถือเป็นหลักไมล์สำคัญสำหรับการมีเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง สำหรับสิทธิหลายอย่างที่พวกเขาเรียกร้อง มีเรื่องเสรีภาพสื่อกับเสรีภาพในการชุมนุมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างแรกๆ

ปรากฏการณ์ "เดอะ ไนล์ เวฟ" อาจดูเหมือนได้รับชัยชนะ แต่จนถึงตอนนี้มีสิ่งที่ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงด้านชีวิตความเป็นอยู่ชาวอียิปต์น้อยมาก แม้จะมีความน่ายินดี แต่นายทหารหน้าเก่าๆ ก็ยังคงอยู่ หากการเคลื่อนไหวในครั้งนี้คิดว่าได้รับผลตอบแทนแล้ว เรื่องราวในอดีตของอิหร่านอาจช่วยให้เห็นความเป็นจริงในปัจจุบัน และหากโชคดีก็จะช่วยทำให้อนาคตของอียิปต์สดใสขึ้น แม้ตัวอิหร่านเองก็ยังคงอยู่ใต้เงามืดก็ตาม

 

แปลและเรียบเรียงจาก

What makes a revolution succeed? , Roxane Farmanfarmaian, Aljazeera
http://english.aljazeera.net/indepth/opinion/2011/02/201121393446561799.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: เสรีภาพที่จะ(ไม่)รัก

Posted: 15 Feb 2011 12:39 AM PST

เพิ่งได้นั่งเขียนถึงวันแห่งความรักใน “คืนเสียตัว” คงไม่สายเกินไป โดยเฉพาะประเด็นที่จะเขียน

วันวาเลนไทน์กลายเป็น “คืนเสียตัว” ในสายตาของผู้เคร่งศีลธรรมจริยธรรมทั้งหลาย อันที่จริง ถ้าเด็กมันจะเสียตัว ก็เสียได้ทุกคืน จันทร์ถึงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ แม้แต่วันลอยกระทงตามประเพณีไทย ก็กลายเป็นวันลงกระทอยกันเยอะแยะ ฉะนั้นอย่าไปตื่นตูมกันเฉพาะวันนี้เลย

สมัยผมเป็นวัยรุ่นไม่มีวันวาเลนไทน์ เพราะอยู่ๆ วันที่ 14 กุมภา ก็โผล่มาจากไหนไม่ทราบ แล้วก็บูม! กลายเป็นวันยอดฮิตของคนหนุ่มสาว เข้าใจว่าจะเป็นช่วงทศวรรษ 2520 ในทางสากลสิ้นสุดยุคแสวงหา สิ้นสุดสงครามเวียดนาม เข้าสู่ยุคของโรนัลด์ รีแกน และมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ในเมืองไทยก็หมดยุคขบวนการนักศึกษา เข้าสู่ยุคนิยายรักศุภักษร ซูโม่สำอาง และวัฒนธรรมบริโภค ทุนนิยมขยายตัวอย่างก้าวกระโดด นั่นแหละคือช่วงที่วันดอกกุหลาบบาน

กระแสนิยมในวันต่างๆ ก็เกี่ยวกับยุคสมัยเหมือนกันนะครับ อย่างเช่นวันที่ 5 ธันวา ผมถามหลายคนว่านอกจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วยังเป็นวันอะไร “วันพ่อ” แล้ววันอะไรอีก นึกไม่ออก อ้าว! ก็วันชาติไง

สมัยผมเด็กๆ วันที่ 5 ธันวา เขาเฉลิมฉลองในฐานะที่เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา กับวันชาติ แต่ไม่ค่อยมีใครพาพ่อไปเที่ยวพาพ่อไปกินข้าวนอกบ้านอย่างสมัยนี้ น่าจะเป็นเพราะค่านิยมของสังคม ที่การต่อสู้แข่งขันในชีวิตประจำวันมันตึงเครียดขึ้น คนชั้นกลางก็หวนหาให้คุณค่ากับครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งหวนหาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รกรากทางวัฒนธรรม ท่ามกลางโลกยุคไซเบอร์ เราจึงมีจิตรา ก่อนันทเกียรติ มาช่วยอัพเกรดวันตรุษจีน อัพเกรดวัฒนธรรมจีน จากที่เคยถูกมองว่าเผากระดาษไร้สาระ ให้ดูมีคุณค่าประทับใจคนรุ่นใหม่

ความรักมีชนชั้น

ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล แต่ความลึกล้ำซับซ้อนของอารมณ์ ทำให้ความรักมีมนต์ขลัง

ความรักดูเหมือนไม่มีกฎเกณฑ์ แต่ความจริงมี เพียงแต่มันซับซ้อนเสียจนกำหนดเป็นกฎตายตัวไม่ได้ กระนั้นมันก็มีหลักใหญ่ๆ เช่น ลูกผู้หญิงที่รักพ่อมาก มักจะรักผู้ชายที่มีบางอย่างเหมือนพ่อ คนจะรักกัน ต้องมีด้านที่เหมือนกันและต่างกัน ด้านที่เหมือนทำให้สื่อสารเข้าใจซึ่งกันและกัน แบบตามองตาก็รู้ใจ ด้านที่ต่างทำให้เกิดความประทับใจและเป็นแรงผลักดัน

ถ้าไม่มีด้านที่ต่าง ถ้าไม่มีด้านที่ขัดแย้ง มันก็ไม่ทำให้ชีวิตคู่พัฒนา แรงดึงดูดของความรักจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมเคยยกประสบการณ์ส่วนตัวเป็นอุทาหรณ์สอนน้องๆ ผู้หญิง ก่อนจะมาเจอภรรยา ผมเคยมีแฟน ที่เขาคล้อยตามผมทุกเรื่อง ไม่เคยขัดใจ นัดไปดูหนังรอบเที่ยง ผมไปถึงบ่ายโมง ก็ยังยืนรออยู่ ทรหดอดทน ไม่บ่นไม่ว่า แต่พอมาเจอภรรยา นัดดูหนังรอบเที่ยง ไปเที่ยงสิบห้า เธอกลับบ้านไปแล้ว ต้องตามไปง้องอน ยืนเคาะประตูบ้าน ยืนเฝ้าป้ายรถเมล์ปากซอย ฯลฯ ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมผู้ชายต้องเกรงใจภรรยา (ฮา)

คนจะรักกัน ไม่ใช่เรื่องของบุพเพสันนิวาส แต่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สังคม การที่เราจะรักใครสักคนหนึ่ง มีที่มาจากพื้นเพ จากพ่อแม่ การศึกษา เลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต รสนิยม ความคิด ความชอบ ไม่ชอบ สั่งสมอยู่ในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก พอพบหน้าคนที่ใช่ เราจึงรู้สึก “ปิ๊ง” ราวกับเจอกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน (ซึ่งไม่มีหรอก ถ้าผมตาย ผมก็ประกาศได้ว่าจะไม่กลับมาเกิดอีก ตลอดอนันตกาล เพราะกลายเป็นปุ๋ยไปเรียบร้อย)

ความรักจึงมีชนชั้น แม้มีข้อยกเว้น ก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่คนเราชอบอะไรที่เป็นข้อยกเว้น จึงเอามาแต่งเพลง รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา (ความจริงมี เพราะถ้าคุณไปชอบสาวมุสลิมก็ต้องเข้าศาสนา)

ความรักมีชนชั้น เพราะชนชั้นกำหนดรูปการจิตสำนึก รสนิยม ความชอบ แม้อาจมีช่องยกเว้น ยกตัวอย่าง สาวฉันทนากับลูกอาเสี่ย ถ้าเป็นสมัยก่อน เรียนโรงเรียนประชาบาลด้วยกัน อาจรักกันได้ ไอ้คล้าวกับสาวทองกวาว ฐานะแตกต่างกันแต่อยู่ในวิถีชีวิตชาวทุ่งเหมือนกันก็รักกันได้ แต่ถ้าสมัยนี้ สาวฉันทนาจบ ป.6 โรงเรียนบ้านหนองอีแหนบ กับลูกอาเสี่ยเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไม่มีทางรักกันได้ เพราะความคิด จิตใจ ความชอบ ไม่ชอบ การแสดงออก การสื่อภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษากาย ดวงตา ภาษาใจ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจนไม่สามารถสื่อกันได้

ผมเข้าใจเรื่องนี้ตอนที่ใช้ชีวิตอยู่กับมวลชน ชาวนา ชาวเขา หนุ่มสาวชาวนาแต่ละคู่พอเจอกันเขาปิ๊งกันง่ายๆ ใสซื่อ ไม่มีจริต ชาวเขายิ่งง่ายกว่า เพราะม้งไม่ถือสาเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ไอ้พวกเราคนชั้นกลางนี่สิ ซับซ้อน อ่อนไหว แปรปรวน เอาใจยาก เข้าใจยาก ยิ่งพวกอารมณ์ศิลปินยิ่งสลับซับซ้อนเข้าไปใหญ่ ตามองตา มองกันอยู่นั่นแหละ ไม่พูดซักที เห็นแต่ขี้ตา (ฮา)

ความรักจึงเกี่ยวกับวิถีชีวิต และเกี่ยวกับยุคสมัย ที่กำหนดรูปการจิตสำนึก เวลาที่เราดูหนังดรามาย้อนยุค แล้วบอกว่าคนสมัยสองพันปีก่อนมีความรักดูดดื่มลึกซึ้งเหมือนคนรุ่นเรา ก็ต้องเข้าใจว่าหนังจับเอาความคิดคนยุคเราใส่เข้าไป เพราะมันไม่จริง ไม่ใช่ว่าคนโบราณไม่มีความรัก แต่ความรักของคนรุ่นสองพันปีก่อนเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และความรักก็ถูกจำกัดไว้ด้วยวิถีชีวิต ในสังคมทาส ในสังคมเกษตร ในสังคมศักดินาหรือยุคฟิวดัล คนมีพันธะหน้าที่ต่อมูลนาย ต่อครอบครัว ต่อการทำมาหากิน ตลอดจนต่อศาสนา ต่อขนบธรรมเนียมประเพณี คนยุคนั้นจึงถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชน ซึ่งเขาก็ยอมรับได้ ไม่เลือกมาก เพราะรูปการจิตสำนึกไม่ได้ซับซ้อนอ่อนไหวอย่างคนรุ่นเรา

หรือถ้าเป็นประชาชนชาวไพร่ วิถีชีวิตของพวกเขาก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับการพลัดพราก ถูกเรียกไปทำศึกสงคราม ถูกกวาดต้อน หรือถูกเกณฑ์แรงงาน อย่างไอ้มากที่ต้องพลัดพรากจากแม่นาค พระโขนง ไปตลอดกาล

ความรักคือประชาธิปไตย

ความรักเริ่มมีบทบาทความสำคัญก็เมื่อสังคมเปลี่ยน เกิดชนชั้นกระฎุมพี ในปลายยุคกลาง ที่เรียกร้องต้องการสิทธิเสรีภาพ ทั้งในด้านการเมือง การทำมาค้าขาย ไปจนวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา และความรัก โลกจึงเกิดวิลเลียม เช็กสเปียร์ กับโรมีโอ & จูเลียต เช่นเดียวกับโลกตะวันออกที่เกิดวรรณกรรมอมตะ ความฝันในหอแดง ซึ่งมีความหมายท้าทายม่านประเพณี เรียกหาสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเหมือนๆ กัน

วรรณกรรมเหล่านี้ จิตสำนึกเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มันมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ที่ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยทุนนิยม การพัฒนาทางการผลิตทำให้เกิดอิสระชน ปัจเจกชน ที่อยากจะมีวิถีชีวิตของตัวเอง และมีอารมณ์ความรู้สึกที่ “โรแมนติก” กว่าคนรุ่นก่อนๆ

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่จะรัก กล่าวได้ว่าเป็นอาวุธชิ้นแรกๆ ที่ทรงพลังที่สุดของวัฒนธรรมประชาธิปไตย ในการเอาชนะวัฒนธรรมประเพณีศักดินา ให้พังทลายลงก่อนที่ระบอบราชาธิปไตยจะพ่ายแพ้ด้วยซ้ำ เสรีภาพที่จะรัก ยังเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเผด็จการและความคิดเก่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นในยุคแสวงหา ยุคต่อต้านสงครามเวียดนาม ก็ชูความรักเป็นอาวุธ กระทั่งพังทลายความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมลงอีกครั้งหนึ่ง (ฟรังโก เชฟฟิเรลลี ก็ทำหนัง Romeo & Juliet ออกมาตอนนั้นพอดี)

เสรีภาพที่จะรัก-หรือไม่รัก จึงเป็นสิทธิสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเสรีภาพในความเชื่อ ในการที่จะเคารพ ศรัทธา ยกย่องใคร ในการนับถือศาสนา รักไม่ใช่ความผิด ไม่รักก็ไม่ใช่ความผิด เพราะเป็นสิทธิที่เลือกได้หลากหลาย

แต่ในสังคมไทยที่แม้ดูเหมือนจะเปิดกว้าง มีเสรีภาพทางวัฒนธรรม มีเสรีภาพในวิถีการดำรงชีวิต ก็ยังมีหลายอย่างปิดกั้นด้วยความคิดจารีต สังคมไทยปล่อยให้มีเสรีในการรับเอาวัฒนธรรมบริโภค จะสนุกสนานร่าเริงเถิดเทิงกันอย่างไรก็แล้วแต่ ตรุษจีนตรุษไทยตรุษฝรั่ง วันไหนๆ พี่ไทยก็เมา แต่เรื่องบางเรื่องเรามีขีดจำกัด ห้ามไม่ให้มีเสรี โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อถือศรัทธา

ยกตัวอย่างตลกๆ เช่น ประเทศไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เราอยู่ร่วมกันได้ทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์ แต่ใครลองบอกว่า “ไม่มีศาสนา” ดูสิ จะกลายเป็นตัวประหลาด ถึงตำรวจไม่จับ แต่ไปทางไหนก็ถูกซุบซิบกังขา

ทั้งที่การไม่นับถือศาสนาก็เป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างหนึ่ง

เช่นเดียวกับเสรีภาพที่จะไม่รัก ก็เป็นเสรีภาพในความรักอย่างหนึ่ง

แต่สังคมไทยชอบตีกรอบให้คนทำข้อสอบช้อยซ์ (ความล้มเหลวของระบอบการศึกษา ไม่รู้จักทำข้อสอบอัตนัย) มีให้เลือกสองข้อ รัก/ไม่รัก ถ้าไม่รัก=เกลียด จ้องทำลาย ฯลฯ อะไรไปโน่น ทั้งที่ความจริง มันมีตั้งแต่รักมาก รักน้อย รักมั่งไม่รักมั่ง ชอบมั่งไม่ชอบมั่ง หรือไม่รักแต่เฉยๆ ต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน

เหล่านี้คือเสรีภาพที่มีหลากเฉดสี แต่คนที่ไม่ยอมรับเสรีภาพ กลับบังคับว่าต้องรัก รักอย่างเดียวไม่พอต้องรักมากด้วย ที่เหลือเท่ากับเกลียด คิดแบบนี้ก็จะมองเห็นแต่คนเกลียด ถ้าเชื่อในหลักธรรม คิดเสียว่าเป็นธรรมดาที่ต้องมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ ไม่บังคับคน ความกดดันนั้นก็จะคลายไปเอง

ถ้าเราอยู่ร่วมกันอย่างมีเสรี คนที่รักก็ต้องยอมรับเสรีภาพของคนที่ไม่รัก คนที่ไม่รักก็ต้องยอมรับเสรีภาพของคนที่รัก และให้ความเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่บีบคั้นหรือลบหลู่ นั่นคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุผล เปิดพื้นที่ให้อารมณ์ความรู้สึก เพราะรักไม่รักเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เหมือนสิทธิในการเลือกตั้ง บางคนเขาบอกว่าชอบคนนี้เพราะหล่อดี ก็เป็นสิทธิของเขา จะทำไม แต่เหตุผลก็จะมาจากเสียงส่วนใหญ่เอง

เหมือนผมขับรถผ่านถนนราชพฤกษ์มีวันหนึ่งเห็นรถติดสติกเกอร์ “เรารักกุ้งหลวงไคโตซาน” (ก็ปูแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่นั่นแหละ เขาไปตั้งบริษัทใหม่ ไม่เห็นจะเอาผิดได้) เห็นแล้วก็ขำดี แต่เป็นสิทธิเสรีของเขา และคงไม่มีใครเอาตามอย่างหรอก จริงไหม
 

ใบตองแห้ง
15 ก.พ.54

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: อียิปต์แค่ “หยิบ” ชัยชนะ

Posted: 15 Feb 2011 12:08 AM PST


ที่มาภาพ: Muhammad Ghafari (CC BY 2.0)

อียิปต์ หยิบได้ – ชัยชนะ
แค่ “หยิบ” เท่านั้นนะ..จะบอกให้
ยังจะต้อง.. “ไขว่คว้า” ต้องหาชัย
สำเร็จ เสร็จเมื่อไร ยังไม่รู้
ไทยหยิบ สิบสี่ตุลา นึกว่าได้
ย้อนบทเรียนไป.. ไกลสุดกู่
วันนี้ชัดว่าชัยได้เชิดชู
อำนาจจริงนั้นอยู่ในมือใคร
ไทยยัง “คว้าไขว่” ไม่สำเร็จ
สิ้นเสร็จแน่นั้นในวันไหน
เห็นอียิปต์ หยิบได้ ก็ดีใจ
ทางเดินต่อไป ดูให้ดี
ผ่าน “หยิบ” แล้วมา สู่ “คว้าไขว่”
ล้มตายเท่าไรแล้วน้องพี่
ประชาธิปไตย.. ยังไม่มี
อียิปต์-ไทย ต่อจากนี้ ทำอย่างไร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พ.ร.บ.คุ้มครองฯ-การฟ้องแพทย์ และวิกฤติการแพทย์ไทย

Posted: 14 Feb 2011 11:34 PM PST

 


ที่มาภาพ: ReSurge International (CC BY-NC-ND 2.0)
 

การฟ้องแพทย์ทำให้เกิดวิกฤติทางการแพทย์ได้อย่างไร?

ระยะ 2-3 ปีมานี้ มีข่าวการฟ้องแพทย์หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ข้อดีของการฟ้องแพทย์คือ ทำให้แพทย์ต้องพิถีพิถันในการตรวจรักษามากขึ้น มาตรฐานการรักษาสูงขึ้น แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ทรัพยากรมีจำกัด สมควรหรือที่รัฐจะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อรักษามาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูงส่ง ขณะที่ปล่อยให้ประชาชนบางคน ขาดแคลนอาหาร, ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องกันหนาวอย่างหนัก ถ้ารัฐยังไม่ตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้อย่างเอาจริงเอาจังแล้ว การแพทย์ไทยจะวิกฤติแน่ๆ ในอีกไม่นาน เนื่องจาก

1.แพทย์ ต้องใช้เวลาตรวจผู้ป่วยนานมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เหลือต้องรอนานมากขึ้น บางคนอาจต้องรอเป็นวันๆ หรือหลายวัน นอกจากนั้น แพทย์ยังต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาด และถ้ามีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจใดๆ แม้แต่เพียงนิดเดียว ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะเสี่ยงทำการรักษาเอง

2.ผู้ป่วย แม้จะไม่ต้องเสียค่ารักษาเพราะมีหลักประกัน แต่ก็ต้องเสียเวลารอตรวจ รอผ่าตัดนานขึ้น ต้องถูกเจาะเลือดตรวจมากขึ้น ได้รับรังสีมากขึ้น ถูกแพทย์นัดมาตรวจบ่อยขึ้น อาจต้องถูกส่องกล้อง ใส่สาย ฯลฯ มากขึ้น เจ็บปวด ทุกข์ทรมานมากขึ้น อาจต้องถูกส่งตัวไปรักษากับผู้เชี่ยวชาญยังที่ไกลๆ โดยไม่จำเป็น ทำให้เสียค่าเดินทาง, ขาดรายได้, เป็นภาระญาติ ฯลฯ

3.โรงพยาบาลเอกชน คิดค่าความเสี่ยงมากขึ้น ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ชนชั้นกลางซึ่งรับภาระไม่ไหว ก็จะถูกผลักไประบบรัฐ ทำให้โรงพยาบาลรัฐ รับภาระหนักขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น

4.รัฐ ต้องใช้เงินมหาศาลในการรักษาฟรีอยู่แล้ว และจะต้องทุ่มเงินอีกจำนวนมากเพื่อรักษามาตรฐานให้เท่ากับยุโรป-อเมริกา เพื่อแพทย์จะไม่ต้องถูกฟ้อง อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือ สมมติรัฐตั้งกองทุน "เกิดเป็นไทย ไม่มีอด" รับประกันว่าคนไทยทุกคน จะไม่อด จะมีอาหารกินอย่างเพียงพอ ก็น่าจะดีพอแล้ว แต่ถ้าถึงขนาดว่า ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนต้องได้รับสิทธินี้เท่าเทียมกัน, อาหารต้องมีคุณภาพดี ครบ 5 หมู่, รสชาติอร่อย, ถ้ากินแล้วเกิดท้องเดิน หรือปวดท้อง รัฐจะชดเชยค่าเสียหายให้ด้วย แบบนี้จะเหมาะสม และเป็นธรรมหรือ?
 

วิธีแก้ไขปัญหาฟ้องแพทย์จะทำได้อย่างไร?

การฟ้องร้องแพทย์คงจะต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสิทธิเบื้องต้นของผู้ป่วย แต่ต้องเป็นกรณีที่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎทั่วไปทางการแพทย์ หรือกรณีขาดความรับผิดชอบ ไม่เอาใจใส่ผู้ป่วยเท่าที่ควรเท่านั้น การฟ้องว่า การ "ใช้ดุลยพินิจของแพทย์" ไม่เหมาะสม โดยอ้างมาตรฐานยุโรป-อเมริกา, อ้างตำราเพียงเล่มเดียว, หรืออ้างแนวปฏิบัติที่มิได้ยึดถือเป็นการทั่วไป ไม่ควรอนุญาตให้ทำได้


พรบ.คุ้มครองฯ ช่วยลดการฟ้องแพทย์ได้หรือไม่?

แทนที่จะลด พรบ.คุ้มครองฯจะเพิ่มการฟ้องแพทย์ เพราะ
1.เป็นการส่งสัญญาณว่าเมื่อมีเหตุนอกเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล ต้องได้รับเงินชดเชย เมื่อประชาชนถูกทำให้เชื่อเช่นนี้แล้ว เมื่อใดที่ไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าความคาดหวัง ก็จะต้องหาทางฟ้อง หรือมีผู้ชักชวนให้ฟ้อง

2.ที่มาของกองทุนมาจากวงการแพทย์ ทำให้เข้าใจว่าผลกระทบล้วนเกิดจากความผิดพลาดของกระบวนการรักษา ทั้งๆ ที่ผลอันไม่พึงประสงค์(adverse effect)และโรคแทรกซ้อน(complication) ส่วนมากเกิดจากปัจจัยจากโรคของผู้ป่วยเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาล เช่นแพ้ยาทำให้ผิวหนังลอกหลุดหรือ,ตาบอด หรือเสียชีวิต น้ำคร่ำหลุดเข้าหลอดเลือดทำให้เสียชีวิต, พังผืดรัดลำไส้หลังผ่าตัด เป็นต้น จริงอยู่ว่าผู้ได้รับผลกระทบฯ เป็นผู้น่าเห็นใจ แต่การชดเชยเบื้องต้น ควรมาจากรัฐ เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยจากไฟไหม้, น้ำท่วม, แผ่นดินไหวฯลฯ ส่วนการชดเชย "อย่างเหมาะสมกับความเสียหาย" จากหน่วยงานด้านการแพทย์ ควรจ่ายเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงเท่านั้น

3.การชดเชยโดยกองทุนส่งผลเสียต่อวงการแพทย์ เพราะเมื่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้ใดทำให้เกิดความเสียหายโดยประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือประกอบวิชาชีพโดยขาดความรับผิดชอบ ขาดจริยธรรม แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นควรต้องได้รับโทษเอง การกลบเกลื่อนโดยการใช้กองทุนไปชดเชย จะทำให้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำทุรเวชปฏิบัติรอดตัว และสามารถเป็นปลาเน่าอยู่ในข้องได้ต่อไป

หน่วยงานหรือองค์กรใดบ้าง ที่จะช่วยให้ปัญหาการฟ้องแพทย์บรรเทาลงได้

1.แพทยสภา
1.1 ต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากขึ้น เช่นมีผู้พูดถึงแพทยสภาบ่อยๆ ว่า มาจากการเลือกตั้งของแพทย์ การทำงานจึงต้องปกป้องแพทย์เพื่อรักษาคะแนนเสียง ความจริงแล้ว กรรมการแพทยสภาครึ่งหนึ่ง เป็นโดยตำแหน่งของภาครัฐ เช่นปลัดกระทรวง, อธิบดี, คณบดีคณะแพทย์ทุกแห่ง, เจ้ากรมแพทย์ของทุกเหล่าทัพ ฯลฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีเพียงครึ่งเดียว และกรรมการแพทยสภาที่มาจากแพทย์ภาคเอกชน ยิ่งน้อยมาก เรื่องพวกนี้ โฆษกแพทยสภา ไม่ได้ออกมาชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจแต่อย่างใด หรือการลงโทษแพทย์ ก็แทบไม่ได้ยินจากแพทยสภาเลย เสมือนว่าแพทยสภาเข้าข้าง และไม่เคยลงโทษแพทย์เลย

1.2 ต้องสอบสวนและตัดสินโดยเร็ว ส่วนหนึ่งของการฟ้องศาล เนื่องจากกระบวนการของแพทยสภาช้าเกินไป แม้แพทยสภาจะมีปัญหาและข้อจำกัดมากมายในการที่จะตัดสินโดยเร็ว แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ ไม่เพียงแต่เพื่อป้องกันการนำคดีขึ้นสู่ศาลเท่านั้น แต่เพื่อความยุติธรรมต่อผู้เสียหายด้วย เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็เท่ากับไม่ยุติธรรม

1.3 ต้องกระตุ้นให้แพทย์ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัย แพทยสภาเคยพยายามบังคับให้ทำการศึกษาต่อเนื่อง(CME) แต่ล้มเหลว เพราะมุ่งการลงโทษ "แพทย์ทุกคน" ถูกบังคับให้ทำ CME เพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพฯ จึงถูกต่อต้านมาก ถ้าใช้วิธีจูงใจ เช่นใครทำ CME ให้ใบประกาศนียบัตร ไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าจะขอเปิดหรือขอดำเนินการสถานพยาบาล ขอเข้ารับราชการ ขอสอบวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรฯลฯ ต้องมีใบประกาศฯ แพทย์ที่ทำงานด้านบริหาร, ด้านระบาดวิทยา, ด้านเวชกรรมป้องกัน หรือทำธุรกิจอื่นอยู่ ไม่ได้ทำเวชปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ CME แต่ถ้าเกษียณแล้ว อยากเปิดคลินิก หรืออยากกลับมาทำเวชปฏิบัติ ก็ค่อยกลับมาทำ CME เพื่อเอาใบประกาศฯ ก็ได้ แบบนี้ แรงต่อต้านก็จะน้อยลง

2.ศาล
2.1 ต้องตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีทางการแพทย์ เนื่องจากมีความซับซ้อนยิ่งกว่าคดีทางแรงงาน, ทางภาษี, ทางเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ ซึ่งคดีเหล่านั้น ล้วนมีศาลพิเศษทั้งสิ้น

2.2 ศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหา ผู้เสียหายต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าแพทย์ทำการประมาทหรือผิดพลาดอย่างไร ซึ่งเป็นการยากที่ผู้ป่วยจะสามารถหาหลักฐาน หรือจะมีองค์ความรู้พอที่จะกล่าวหาแพทย์ได้ ศาลสำหรับคดีทางการแพทย์ จึงควรเป็นระบบไต่สวน

2.3 ผู้พิพากษาควรต้องมีความรู้ทางการแพทย์ในระดับหนึ่ง เพราะ
2.3.1 หลักฐานทางการแพทย์มีระดับความน่าเชื่อถือ หรือระดับความน่าจะเป็นต่างกันหลายระดับตั้งแต่เชื่อถือได้มากที่สุด, มาก, ปานกลาง, น้อย, น้อยที่สุดจนถึงเชื่อถือไม่ได้เลย

2.3.2 เอกสารทางการแพทย์ที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปปีสองปี อาจกลายเป็นเอกสารที่ไม่มีแพทย์ผู้ใดยอมรับเลยก็ได้

2.3.3 วิธีรักษาในแต่ละสถาบัน มีความเชื่อ และวิธีปฏิบัติต่างๆ กัน

2.3.4 ความรู้ทางการแพทย์ส่วนใหญ่แม้จะนำมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่การนำมาใช้ ต้องใช้ดุลยพินิจ เช่นเด็กมีไข้และชัก การจะให้ยาต้านเชื้อไวรัสหรือไม่ ต้องใช้ดุลยพินิจว่าอันไหนจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่ากัน ซึ่งต้องพิจารณาจากการแสดงทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ แพทย์แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีดุลยพินิจเหมือนกัน แพทย์คนเดียวกันอาจมีดุลยพินิจสำหรับคนไข้คนละคน ไม่เหมือนกันก็ได้ การลงโทษโดยอ้างว่าแพทย์ใช้ดุลยพินิจไม่ตรงกับหลักฐานที่โจทก์อ้าง ย่อมไม่ถูกต้อง

2.3.5 การผ่าตัดบางอย่างเช่นผ่าตัดต่อมไธรอยด์ มีงานวิจัยระบุว่า ถ้าการผ่าตัดทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูง ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียงแหบถาวรประมาณ 2% แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์น้อย โอกาสเสียงแหบถาวร จะเพิ่มขึ้นเป็น 8% ถ้าแพทย์ผ่าตัดแล้ว เกิดเสียงแหบเพียงคนแรกก็ถูกฟ้องเสียแล้ว เราจะมีแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูงได้อย่างไร

2.3.6 วงการแพทย์ โดยเฉพาะสาขาย่อย ย่อมรู้จักเป็นอาจารย์-ศิษย์, รุ่นพี่-รุ่นน้อง, หรือเรียนสถาบันเดียวกัน การใช้ตรรกะว่ารู้จักกัน คำให้การมีน้ำหนักน้อย ทำให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่แท้จริง ถูกกีดกันออกไปจากการพิจารณาไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริงได้

ถ้าผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย อาจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าหลักฐานอันไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน อันไหนเป็นความรู้ที่เป็นปัจจุบัน อันไหนล้าสมัยแล้ว วิธีไหนที่ควรกำหนดเป็นมาตรฐาน คำตัดสินของศาลที่ผ่านมา กลายเป็นบรรทัดฐานทางการแพทย์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหมู่แพทย์ แต่ไม่สามารถเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพราะถูกปิดปากด้วยกฎหมายหมิ่นศาล และแพทย์ก็จำต้องยอมปฏิบัติตามมาตรฐานของศาลอย่างจำใจ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น อาจถูกพิพากษาให้จำคุก

3.รัฐ
ต้องจัดระบบการรักษาให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ และภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์มากเกินไป เช่นมีระบบ Co-payment, ระบบขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล, ระบบแพทย์ทั่วไป (GP) หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นต้น ระบบปัจจุบันทำให้เกิดการใช้บริการทางการแพทย์มากเกินความจำเป็น เนื่องจากฟรีทุกอย่าง และเข้าถึงได้ง่ายเกินไป เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียว ก็สามารถรักษาทุกโรคได้ทุกที่ และฟรีทุกอย่าง

ผมหวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย คงจะรีบเร่งปรับปรุงระบบการแพทย์ไทย เพื่อลดการฟ้องแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่ระบบการแพทย์ไทยจะถลำลึก กลายเป็นระบบที่สิ้นเปลืองมหาศาล ตามรอยประเทศยักษ์ใหญ่แบบอเมริกา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น