ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักศึกษาและนักกิจกรรมร่วมจัดดนตรีสันติภาพ ยุติศึกไทย-กัมพูชา
- ขบวนเกษตรกร-คนจน ระดมพลร่วม 5,000 คน ปักหลักชุมนุมยาวจี้รัฐแก้ปัญหาค้างคา
- สัมภาษณ์ สมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ ผู้บริหาร สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
- นิธิ เอียวศรีวงศ์:เบี้ยเดินหมาก
- ทีมวิจัยชมคณะกรรมการสิทธิบัตรไทย สกัดการขอจดสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันตาย
นักศึกษาและนักกิจกรรมร่วมจัดดนตรีสันติภาพ ยุติศึกไทย-กัมพูชา Posted: 16 Feb 2011 10:12 AM PST 16 ก.พ.54 เวลา 17.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมกันจัดงานดนตรี “สันติภาพไร้พรมแดน หยุดสงครามไทย-กัมพูชา” โดยกลุ่มดังกล่าวประกอบไปด้วย กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน, กลุ่มสลึง มหาวิทยาลัยมหิดล, ชมรมอนุรักษ์ฯ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, กลุ่มประกายไฟ, กลุ่ม FAN (Friend for Activist Network), สถาบันต้นกล้า, กลุ่มรองเท้าแตะ, กลุ่มไม่เอาสงคราม ต้องการสันติภาพ และมูลนิธิศักยภาพชุมชน กิจกรรมมีการจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบจากการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และการรณรงค์ยุติสงคราม มีการแสดงดนตรี ขับร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ สลับกับการพูดคุย การอ่านบทกวี และการแสดงละคร นายปราบ รักไฉไล จากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาครั้งนี้เป็นเกมการเมืองของชนชั้นนำ ซึ่งกัมพูชาต้องการทำให้เรื่องไปถึงศาลโลกขณะที่ไทยพยายามรั้งไว้ ความเลวร้ายจึงมาตกที่ประชาชนซึ่งอยู่อาศัยตามแนวชายแดน ต้องคอยหลบหนีระเบิดและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปรกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้ง 2 ฝ่ายควรหันมาร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า และผู้ที่สนับสนุนการทำสงครามควรถูกประณาม นายพันธุ์ภูมิ ผุดผ่อง จากกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน กล่าวว่า ไม่อยากให้มีสงคราม อยากให้ใช้วิธีทางการทูตในการแก้ปัญหา และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนตามแนวชายแดนได้กลับไปใช้ชีวิตแบบปรกติ และให้ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มการเจรจาโดยมีตัวกลางเช่น อาเซียน นายไตรรัตน์ ประไพ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งมาร่วมกิจกรรมกล่าวว่า สงครามเป็นสิ่งไม่ดีเพราะทำให้ประชาชนเสียเลือดเนื้อและชีวิต อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจแต่พอควร ใช้การปรองดองและการพูดคุยในการแก้ไขปัญหาจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ส่วนนางจรีกรณ์ อายุ 65 ปี ซึ่งมาร่วมกิจกรรมกล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดสงครามและคิดว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิด อยากให้ผู้มีอำนาจไตร่ตรองและเหลียวมาดูประชาชนและสังคมว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยฐานะกว่า หากเกิดสงครามแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ขบวนเกษตรกร-คนจน ระดมพลร่วม 5,000 คน ปักหลักชุมนุมยาวจี้รัฐแก้ปัญหาค้างคา Posted: 16 Feb 2011 01:57 AM PST สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล คปท. คปสม. และชาวสลัม ร่วม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” เดินทางเข้ากรุงฯ ชุมนุมใหญ่ หวังทวงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล วันนี้ (16 ก.พ.54) กลุ่มชาวบ้านกว่า 5,000 คน จาก “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล), และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ได้เดินทางจากจังหวัดต่างๆ เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และมีกำหนดปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเป็นไปอย่างคึกคักท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ โดยชาวบ้านในกรณีปัญหาต่างๆ รวมตัวกันอยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการแบ่งสรรกันไว้ สังเกตได้จากป้ายผ้าและแผ่นป้ายที่ระบุชื่อกลุ่มเครือข่าย และข้อเรียกร้องของแต่ละพื้นที่ ในส่วนการรักษาความปลอดภัยได้มีการกั้นพื้นที่การชุมนุมด้วยเชือกฟาง และทำทางเข้าโดยมีชาวบ้านที่รับหน้าที่การ์ดคอยดูแล จากนั้น เมื่อเวลา 11.00 น. ผู้ชุมนุมเปิดเวทีแถลงข่าว โดยนางนุชนารถ แท่นทอง แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค ทำหน้าที่อ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” เป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสิ้น 7 กลุ่มปัญหาหลัก ดังนี้ 1.ปัญหาด้านนโยบายที่ไม่สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายโฉนดชุมชน ที่หน่วยงานราชการ 5 กระทรวงหลักรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ยอมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำโฉนดชุมชน 2.ปัญหาคดีความคนจน ที่ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณา แก้ไขปัญหาและเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องกับผู้ถูกคดี ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาและไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนจน 3.ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนกับที่รัฐ 4.ปัญหาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค 5.ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และโรงโม่หิน 6.ปัญหาสัญชาติและชาติพันธุ์ 7.ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน นางนุชนารถ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีเร่งด่วนตามข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 31 กรณีปัญหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่กำลังจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ และกรณีเหมืองแคดเมี่ยม อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ชาวบ้านต้องเสียชีวิตมากกว่า 30 คน จากมลพิษของการทำเหมืองดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลยังไม่ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างใดเลย ในส่วนแนวทางการแก้ปัญหา นางนุชนารถ ระบุว่า ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งเปิดการเจรจากับตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมอย่างเป็นทางการโดยเร็ว ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้เข้ายื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลแล้วตั้งแต่ในวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามายาวนาน แต่ก็ยังไม่มีความคือหน้าใดๆ เมื่อเวลา 13.00 น.ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมารับจดหมายระบุข้อเรียกร้องในการให้เปิดเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยรับปากนำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาในการตอบรับใดๆ ได้ ส่วนเรื่องการตั้งเวทีเจรจาหรือคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องทั้งหมดคงเป็นไปได้ยากเพราะปัญหาประกอบด้วยหลายกรณี อีกทั้งในบางกรณีเรื่องก็ได้ผ่านการพิจารณาแล้ว เช่นกรณีปัญหาสัญชาติ หรือเรื่องโฉนดชุมชนที่รัฐบาลก็กำลังดำเนินการอยู่ ในส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้ตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกับทาง กทม.เพื่อจัดรถสุขา และน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคมาบริการแก่ชาวบ้านที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า นอกจากนี้ ได้มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลสนใจความเดือนร้อนของชาวบ้านที่เดินทางมาจากภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้ได้มาปักหลักชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณหน้าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ด้วย ผู้ร่วมชุมนุมสมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) คนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลได้ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดมาเป็นเวลา 1 เดือน กับ 3 วัน แล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ ทั้งที่กรณีเขื่อนปากมูลนี้มีมติคณะอนุกรรมการฯ แล้วว่าให้เปิดเขื่อน ชาวบ้านจึงเคลื่อนขบวนกันมาทั้งหมดเพื่อมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหา จะเหลืออยู่ที่บ้านก็เพียงคนเฒ่าคนแก่เพื่อคอยส่งเสบียง แต่บางคนที่ยังไหวเขาก็มากัน “การแก้ปัญหาประเด็นนี้รัฐบาลไม่ต้องลำบากใจที่จะพูดกับสังคม แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกล้าพอหรือเปล่า” ผู้ร่วมชุมนุมกล่าว ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) คือ ให้รัฐบาลนำมติคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เปิดเขื่อนปากมูลถาวร และจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลกว่า 3,000 คน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันนี้ขบวนชาวบ้านได้นัดหมายกันตั้งแต่ในช่วงเช้าที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเคลื่อนต่อไปยังรัฐสภา แต่ไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกันพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้ต้องปักหลักชุมนุมอยู่ตรงจุดเดิม แถลงการณ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฉบับที่ 2 “เปิดการเจรจา แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาคนจน” คนจนกับปัญหาคนจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” เป็นขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 6,000 คน ได้เดินทางจากภูมิลำเนา มารวมตัวกันปักหลักอยู่บริเวณหน้าลานพระรูปทรงม้า กรุงเทพมหานคร เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามายาวนาน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลแล้วตั้งแต่ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ณ รัฐสภา รวมทั้งสิ้น 7 กลุ่มปัญหาหลัก ดังนี้ 1.ปัญหาด้านนโยบายที่ไม่สำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายโฉนดชุมชน ที่หน่วยงานราชการ 5 กระทรวงหลักรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ยอมอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำโฉนดชุมชน 2.ปัญหาคดีความคนจน ที่ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการพิจารณา แก้ไขปัญหาและเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องกับผู้ถูกคดี ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาและไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนจน 3.ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนกับที่รัฐ 4.ปัญหาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค 5.ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และโรงโม่หิน 6.ปัญหาสัญชาติและชาติพันธุ์ 7.ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยมีกรณีเร่งด่วนตามข้อเรียกร้องทั้งหมด 31 กรณีปัญหา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่กำลังจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ และกรณีเหมืองแคดเมี่ยม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ชาวบ้านต้องเสียชีวิตมากว่า 30 คน จำนวนมากจากมลพิษของการทำเหมืองดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลยังไม่ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างใดเลย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมมีความเห็นว่า แนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งเปิดการเจรจากับตัวแทน ขปส. อย่างเป็นทางการ โดยเร็ว ด้วยความรักและสมานฉันท์ในหมู่พี่น้องคนจน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 16 กุมภาพันธ์ 2554 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัมภาษณ์ สมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ ผู้บริหาร สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ Posted: 16 Feb 2011 12:14 AM PST "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "สมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ" ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สนง.ทรัพย์สินฯ บนชั้น 4 ตึกใหม่ในรั้วแดง ถ.นครราชสีมา เขตดุสิต ในวาระที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 นี้จะครบรอบ 62 ปีแห่งการก่อตั้งองค์กร @ ภาพรวมการบริหารจัดการ ภารกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คือบริหารจัดการที่ดินต่างๆในกรุงเทพฯและภูมิภาค ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯมีผู้ใช้ประโยชน์ทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ในส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑลเราได้ค่าเช่าเชิงพาณิชย์จริง ๆ แค่ 7% อีก 93% เป็นผู้เช่าที่เป็นหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ตึกแถว หรือผู้มีรายได้น้อย เรามีชุมชนในพื้นที่ที่ต้องดูแลถึง 107 แห่ง การดำเนินงานส่วนหนึ่งเราจำเป็นต้องมีรายได้เข้ามาแต่ไม่ได้เป็นหลัก เรามุ่งเน้นดูแลผู้เช่าดังนั้นในส่วน 7% ที่ทำเชิงพาณิชย์จึงไม่คิดว่าจะต้องทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ พื้นที่ใช้ประโยชน์ 93% เป็นหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจนั้น เรามีมติ ครม.กำกับอยู่แล้วในฐานะหน่วยงานรัฐด้วยกัน ในส่วนของมูลนิธิสาธารณกุศล หรือชุมชนแออัด ก็จะมีค่าเช่าอัตราพิเศษค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการปรับค่าเช่าจากเดิมที่อัตราค่อนข้างต่ำจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป นี่คือภาพรวม @ รายได้มาจากค่าเช่าอย่างเดียว ? ไม่ใช่ เราได้พิจารณาว่าถ้าเป็นที่ดินที่ควรจะนำมาพัฒนา อาจจะเป็นพื้นที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก หรือพื้นที่ที่ควรปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น เราถึงจะนำมาพิจารณาว่าจะพัฒนาอย่างไร ซึ่งแนวทางการพัฒนายึดหลัก 4 ประการ คือ 1) การพัฒนานั้นสังคมต้องมีคุณภาพ เมืองต้องดีขึ้น 2) คนเข้ามาอยู่ต้องมีความสุข 3) ผู้พัฒนาจะต้องพอไปได้ ไม่ใช่เอาประโยชน์จากผู้เช่าช่วงมากมาย 4) ประโยชน์ที่ให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯเป็นธรรมหรือเปล่า ดังนั้นแต่ละปีพื้นที่ที่เรานำมาพัฒนาใหม่เลยค่อนข้างน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงสภาพเดิม รวมถึงการดูแลชุมชนไปด้วย อย่างที่บอกเรามีถึง 107 ชุมชน สมัยก่อนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเหล่านี้จะใช้ระบบ "แลนด์แชริ่ง" อย่างชุมชนเทพประทาน จะขอแบ่งพื้นที่บางส่วนพัฒนาเป็นแฟลต ให้เขาเช่าในอัตราค่อนข้างต่ำ @ ระบบแลนด์แชริ่ง คือ...? การนำที่ดินมาทำประโยชน์ให้เกิดรายได้เพื่อไปเลี้ยงดูส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมาแลนด์แชริ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะชุมชนที่ได้รับสิทธิให้อยู่ เขาอยู่ไม่นานก็จะเซ้งสิทธิต่อแล้วไปบุกรุกที่อื่นต่อ ซึ่งอาจเป็นเพราะอาชีพของเขาคือหาบเร่แผงลอย ต้องมีรถเข็น พอไปอยู่แฟลตชั้น 2 ชั้น 3 ก็ไม่สะดวก นั่นคือความที่เราไม่เข้าใจความต้องการของเขา ดังนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดมาเป็นขอความร่วมมือ พอช. (องค์การพัฒนาชุมชน-องค์การมหาชน) และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่ดินของเขาเอง ซึ่งเราทำโครงการนำร่องไป 39 ชุมชนใน กทม.เป็นปีที่ 9 แล้ว ประเมินผลแล้วค่อนข้างน่าพอใจ ชาวบ้านยังคงอยู่ในพื้นที่ดูแลกันในรูปแบบสหกรณ์ ชาวบ้านมีส่วนร่วมและรับผิดชอบชีวิตของพวกเขา ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถให้สัญญาเช่าระยะยาว 39 ชุมชน 30 ปี เช่น ชุมชนถนนรามคำแหง 39 และมีทั่วกรุงเทพฯในหลายๆเขต เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราเก็บค่าเช่าอย่างเดียวแต่เราพัฒนานำคนนำความรู้เข้าไปด้วย นอกจากนั้นยังจัดให้มีหน่วยงานด้านซีเอสอาร์ หลาย ๆ ชุมชนเราไปเปลี่ยนสายไฟ เปลี่ยนหลอดไฟให้ใหม่ อบรมดับเพลิง สนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน ก็ยังมีที่เหลืออีกประมาณ 70 ชุมชนที่จะค่อย ๆ พัฒนาต่อไป @ ขณะนี้มีทำเลไหนที่จะพัฒนาบ้าง ? ณ ปัจจุบันพื้นที่ในแผนที่จะพัฒนาก็มีบริเวณบางกอกบาซาร์ เป็นห้องแถว 200 กว่าห้องที่เกิดขึ้นมา 20-30 กว่าปีแล้ว คือถ้าดูจากสี่แยกราชประสงค์ เกษร พลาซ่า อโนมา บิ๊กซี มีแต่ที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯที่ดูไม่เรียบร้อย ซึ่งต้องพัฒนาใหม่ และเมื่อไรก็ตามที่จะเอาพื้นที่คืน ประการแรกสุดพัฒนาแล้วจะต้องให้สิทธิคนเก่าได้กลับมาอยู่ก่อน ประการต่อมาถ้าผู้เช่าไม่อยากกลับ เขาจะได้เงินช่วยเหลือไม่ถึงกับมากมาย เพราะค่าเช่าเดิมค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ในทุกพื้นที่ยืนยันได้เลยว่าถ้าหากนำเงินค่าเช่าย้อนหลัง 20-30 ปีที่เป็นค่าเช่าตลอดเวลาที่เราได้รับ กับเงินช่วยเหลือที่เขาจะได้รับจากเรา มันคล้าย ๆ กับเขาเอาเงินมาฝากเราไว้แล้วรับกลับเป็นก้อนบวกดอกเบี้ย แน่นอนว่าจำนวนจะแตกต่างกัน และแต่ละพื้นที่ได้รับเงินคืนไม่เท่ากัน เพราะค่าเช่าต่างกัน เช่น ห้องแถวแสมดำกับย่านพระรามที่ 4 ค่าเช่าจะต่างกัน เรียกว่าไม่มีเจ้าของที่ดินที่ไหนดูแลผู้เช่าขนาดนี้อีกแล้ว คือให้ทั้งเงินช่วยเหลือและให้สิทธิกลับเข้ามา @ โครงการพัฒนาย่านหลังสวน ทำเลหลังสวนเรามีที่ดินตั้งแต่ถนนหลังสวนถึงซอยต้นสนประมาณ 70 ไร่ พื้นที่บางส่วนพัฒนาแล้ว แต่อีกหลายส่วนยังเป็นผู้เช่ารายย่อยๆ เป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้าเล็กๆ เรามองเห็นว่าอายุการใช้งานของพื้นที่มันนานมากแล้วจึงจะขอพื้นที่กลับมา พัฒนาใหม่ โดยเราจะทำเอง เหตุผลเพราะต้องการดูแลผู้เช่าในการให้สิทธิกลับเข้ามาอยู่หลังการพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างค่าเช่าที่เราได้รับค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อกำหนดเป็นเงินช่วยเหลือ ตารางวาละ 24,500 บาท ถ้ามี 100 ตารางวาเขาได้เงินไปฟรี ๆ 2 ล้านกว่าบาท เขาอาจจะไปหาที่อยู่ใหม่ หรือหากเขาจะใช้สิทธิกลับเข้ามาอยู่ที่เดิมก็ได้ แต่ต้องเป็นค่าเช่าอัตราใหม่ แต่เราก็ให้สิทธิเขาก่อน @ โครงสร้างการบริหารงานของ สนง.ทรัพย์สินฯ อดีตเรามีทรัพย์สินดูแล 2 ประเภทคือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารให้เช่า กับเงินลงทุนในบริษัทต่าง ๆ สมัยปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเราจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างองค์กร พบว่าด้านการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่คล่องตัว ผู้เช่าของเราหลายรายประสบปัญหาวิกฤตที่น่าเห็นใจ แต่โครงสร้างองค์กรไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที จำเป็นจะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลที่พร้อม มีบุคลากรที่มีความรู้ สำนักงานทรัพย์สินฯขณะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้ง "บริษัทวังสินทรัพย์" ขึ้นมา เชิญผู้มีความรู้ รับมอบ รับโอนสินทรัพย์ไปบริหารจัดการให้คล่องตัว อีกส่วนคือเงินลงทุน ในอีดตมีบริษัทเอกชน รัฐบาลชักชวนให้ถือหุ้นมากมาย แม้ไม่ใช่เงินจำนวนเยอะ เพราะเขาเข้ามาเพราะความน่าเชื่อถือของสำนักงานทรัพย์สินฯ แต่เมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 พบว่าเงินทุนเหล่านี้จะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์ ส่วนไหนที่ไม่ต้องการจัดการให้เกิดประโยชน์ก็จะให้พาร์ตเนอร์ซื้อคืนกลับไป งานส่วนนี้มีการจัดตั้ง "บริษัททุนลดาวัลย์" ขึ้นมาดูแล @ พอร์ตทรัพย์สินของสำนักงาน พอร์ตในกรุงเทพฯมีประมาณ 2.1 หมื่นสัญญา กับที่ดินในต่างจังหวัดแต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะทำเกษตรมีอยู่ 6 จังหวัด 6 สำนักงานย่อย ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัด ซึ่งภาพภายนอกสำนักงานทรัพย์สินฯคนมองว่าพระเจ้าอยู่หัวมีที่ดินมากมายทำไมไม่เอามาแจกคนจน นั่นเป็นเพราะคนเข้าใจผิด ที่ดินในต่างจังหวัดจะมีเกษตรกรเช่าเป็นส่วนใหญ่ กับเป็นตลาดเล็ก ๆ ไม่กี่แห่ง @ คุณจิรายุ (อิศรางกูร ณ อยุธยา-ผู้อำนวยการ) เคยบอกว่า สำนักงานทรัพย์สินฯจะเป็นดีเวลอปเปอร์ ใช่ครับ แต่คำว่า "ดีเวลอปเปอร์" ไม่ใช่ในความหมายเราจะพัฒนาเอง แต่เราจะดูแลพร็อพเพอร์ตี้ของเราให้เกิดการพัฒนา นโยบายนี้ไม่ได้เป็นของใหม่ วิธีการอาจจะปรับให้เหมาะสม เช่น แลนด์แชริ่ง ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องทบทวนและพิจารณาหาวิธีการอื่น ๆ @ โครงการที่หน้าพระลาน โครงการนี้มีการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เรามีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะ ที่ได้ทำเสร็จไปแล้ว เช่น ย่านท่าพระอาทิตย์ ห้องแถว 9 ห้อง เป็นโครงการที่เราถือว่าเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยขั้นตอนจะเชิญที่ปรึกษา ผู้รู้ ออกแบบว่าจะใช้วัสดุยังไง ประตูเคยเป็นบานเฟี้ยมตอนนี้ประตูเหล็กก็ต้องกลับมาเหมือนเดิม พื้นที่หน้าพระลานคิดว่าไม่เกินสิ้นปีน่าจะเสร็จ กฎหมายปัจจุบันเราทำได้สูงสุด 30 ปี แต่ถามว่าทุกรายให้ 30 ปีไหม คงไม่ เรามีเกณฑ์ของเรา ดูว่าผู้เช่านำที่ดินไปทำประโยชน์อะไร ถ้าลงทุนเยอะก็ต้องให้ยาวหน่อย ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
นิธิ เอียวศรีวงศ์:เบี้ยเดินหมาก Posted: 15 Feb 2011 11:40 PM PST ผมไม่ทราบหรอกว่า เหตุใดจึงเกิดการปะทะกันกับกัมพูชาขึ้นที่ชายแดน ใครจะได้อะไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมก็เดาไม่ออก ใครในที่นี้รวมถึงฝ่ายกัมพูชาซึ่งดูเหมือนมีเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำกว่าไทย และฝ่ายไทยซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มอำนาจหลากหลาย เช่นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีหลายพรรค ไปจนถึงกองทัพ ซึ่งก็มีกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในกองทัพเองหลายกลุ่ม และไปจนถึงอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวอีกนั่นแหละ ผมเพียงแต่ค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่ว่าเหตุปะทะที่ชายแดนจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายกลุ่มอำนาจอันหลากหลายของไทย ต่างรู้ดีว่าการจุดชนวนปะทะกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนคลี่คลายไปทางหนึ่งทางใดได้ ทุกฝ่ายน่าจะรู้อยู่แล้วว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นจริงในปัจจุบันทำให้ไม่มีทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะสามารถตกลงข้อพิพาทเรื่องเขตแดนให้เป็นไปตามใจชอบของตนแต่ฝ่ายเดียวได้ แม้แต่การปลุกระดมให้ทำสงครามอย่างที่แกนนำพันธมิตร บางคนใช้ ก็รู้กันอยู่แล้ว แม้แต่แก่ตัวผู้ปลุกระดมเองว่า ไม่มีทางที่กัมพูชาหรือไทยจะชนะขาดได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นการปลุกระดมไปสู่สงคราม จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสงคราม แต่เพื่อการเมืองภายในของพันธมิตร เองมากกว่า กล่าวโดยสรุปก็คือ เหตุปะทะกันที่ชายแดน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรสักอย่างในการเมืองภายใน ไม่ของกัมพูชา ก็ของไทยเอง หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การเล่นการเมืองอย่างสุ่มเสี่ยงเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะ"บานปลาย"ได้ง่าย อีกทั้งน่ากลัวแก่ไทยเสียยิ่งกว่ากัมพูชาด้วย เพราะอย่างน้อยภาวะการนำของกัมพูชาในขณะนี้ดูจะเป็นเอกภาพ จะหยุดหรือเบี่ยงประเด็นไปเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ในเมืองไทยเป็นตรงกันข้าม คือขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ชนชั้นนำไทยจะแตกร้าวกันอย่างหนักเท่าเวลานี้ ไม่ว่าจะมองไปที่เครือข่ายชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, นักการเมือง, ทุน, นักวิชาการ, หรือแม้แต่คนชั้นกลางด้วยกันเอง ความไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำนั้นมีข้อดีในตัวเองด้วยนะครับ อย่างน้อยก็เกิดการถ่วงดุลอำนาจกันบ้าง แต่ในวิกฤตการณ์บางอย่าง ก็กลับกลายเป็นความอ่อนแอ ทั้งสังคมและชนชั้นนำจะตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดม (demagogue)ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ผมขออนุญาตมองโลกในแง่ดีว่า ภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลับมีความสุ่มเสี่ยงในเมืองไทยน้อยลง เพราะเกิดปัจจัยใหม่ในการเมืองไทย นั่นคือสังคมโดยรวมมีสติเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือการแย่งอำนาจกันด้วยเล่ห์กระเท่ห์ของชนชั้นนำอย่างหมดตัวเหมือนที่เคยเป็นมา (เช่นนักศึกษาไม่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสงคราม อย่างที่นักศึกษาเคยทำเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) ผมอยากวิเคราะห์ความมีสติของสังคมดังที่กล่าวนี้ว่ามาจากอะไรบ้าง เพื่อจะได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเอง 1/ การปลุกระดมด้วยลัทธิชาตินิยมแบบระรานของแกนนำพันธมิตร ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ฝูงชนที่ร่วมชุมนุมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนเองได้สะดวก อันที่จริงชาตินิยมแบบระรานนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ทหารใช้กันมานาน เพราะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรมของกองทัพ แต่เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดนี้ในครั้งนี้ จึงทำให้กลุ่มอำนาจในกองทัพบางกลุ่มไม่อาจใช้ชาตินิยมแบบระรานนี้ ไปยึดอำนาจทางการเมืองมาอยู่ในกลุ่มของตนได้ 2/ เหตุใดคนไทยจำนวนมากจึงไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดของลัทธิชาตินิยมแบบระราน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้แล้วว่า ความเข้มแข็งของชาตินั้นไม่ได้มาจากพื้นที่อันกว้างขวางของดินแดน บูรณภาพทางดินแดนมีความสำคัญก็จริง แต่ยืดหยุ่นได้มากกว่าหนึ่งตารางนิ้ว ในการประเมินความเข้มแข็งของชาติ จำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ เข้ามาบวกลบคูณหารด้วย เช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การรวมกลุ่มระหว่างประเทศ, สถานะของไทยในการเมืองโลก, และอนาคตอันยาวไกลของบ้านเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ และทหารก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของชาติมากกว่าคนกลุ่มอื่นแต่อย่างใด 3/ ถ้าคนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดอย่างที่ผมว่าไว้ในข้อสอง ก็หมายความว่ากองทัพต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนในสังคมไทยใหม่ ถ้ากองทัพยังอยากจะดำรงอยู่อย่างมีความสำคัญในสังคมอยู่บ้าง การปกป้องชาติอาจทำได้ด้วยกำลังทหาร แต่กำลังทหารอย่างเดียวไม่พอ และไม่สำคัญที่สุดด้วย มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งเราต้องใส่ใจมากกว่าความแข็งแกร่งของกองทัพ ถ้ากองทัพคิดว่าตัวจะมีบทบาทเหมือนเดิมตลอดไป ในไม่ช้ากองทัพเอง นั่นแหละจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่าเป็น"ส่วนเกิน"ของชาติ และหนักไปกว่านั้นคืออาจเห็นว่าเป็น"ตัวถ่วง"ก็ได้ 4/ สิ่งที่เคยเป็น "อาญาสิทธิ์" ทุกชนิดในสังคมไทย ถูกท้าทาย, ถูกตั้งคำถาม, ถูกตั้งข้อสงสัย, หรือถูกปฏิเสธ ไปหมดแล้ว ในสภาพเช่นนี้ ไม่มีชาติใดสามารถรบกับใครได้หรอกครับ อาจปะทะกันที่ชายแดนได้ แต่รบกับเขานานๆ ชนิดที่เรียกว่า "สงคราม" ไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่างจากรายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่ผมเพิ่งได้ยินในเชียงใหม่ เป็นรายการสนทนาที่โฆษกท่านหนึ่งพูดในวันที่มีการปะทะกันที่ชายแดน และมีทหารเสียชีวิตว่า ถึงจะเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวทหารท่านนั้น แต่คิดย้อนหลังไปไม่กี่เดือนก่อนหน้า ที่ทหารยิงประชาชนซึ่งไม่ได้ถืออาวุธล้มตายจำนวนมากแล้ว ก็มีความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้านหนึ่งก็คือเสียใจ, โกรธแค้นกัมพูชา เพราะอย่างน้อยก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงก็เป็นคนไทยด้วยกันเช่นเดียวกัน ความหมายของเขานั้นเข้าใจได้ไม่ยากนะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ไว้ก็คือ จะมีกองทัพใดในโลกนี้หรือครับที่สามารถทำสงครามสมัยใหม่ได้ หากประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างนี้กับทหาร สงครามสมัยใหม่นั้นเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) คือไม่ได้รบกันที่แนวหน้าอย่างเดียว แต่รบกันทั้งสังคม ไม่เหมือนสงครามสมัยโบราณ ที่มีแต่ทัพของอัศวินรบกัน โดยประชาชนทำมาหากินและหลบหลีกภัยสงครามไปตามเรื่อง ใครแพ้ใครชนะก็ไม่เกี่ยวกับตัว เพราะนายเก่าหรือนายใหม่ก็ไม่สู้จะต่างอะไรกันนัก 5/ ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากก็คือเสียงของคนชายแดนบ้านภูมิซรอล, บ้านภูมะเขือ, ฯลฯ ดังกว่าที่เสียงของคนชายแดนเคยดังมาในการปะทะกันด้วยอาวุธทุกครั้งของไทย ทีวีไทยเอาผู้ใหญ่บ้านจากหมู่บ้านแถวนั้น มานั่งสนทนากับนักวิชาการ ทีวีอีกหลายช่องไปถ่ายภาพความโกลาหลของประชาชนชายแดนที่ต้องอพยพหลบภัย มานอนกันเกลื่อนกล่นในที่ซึ่งราชการตั้งเป็นศูนย์อพยพ
มีน้ำตาของแม่ที่พลัดหลงกับลูก มีคำให้สัมภาษณ์ของคนที่ต้องทิ้งสมบัติข้าวของและวัวควายไว้โดยไม่มีคนดูแล มีอารมณ์ความรู้สึกของความสับสนวุ่นวายที่ต่างไม่สามารถจัดการกับชีวิตของตน ได้ และแน่นอนมีความเสียหายทางวัตถุและชีวิตซึ่งเกิดขึ้น เสียงของคนเล็กๆ ดังมากขึ้นในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว ทั้งจากเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, และการเคลื่อนไหวของพวกเขาเอง สงครามหรือปัญหาระหว่างประเทศเคยเป็นพื้นที่หวงห้ามที่ชนชั้นนำตัดสินใจกันเอง (อย่างมีเอกภาพ หรือไม่มีเอกภาพก็ตาม) แต่ครั้งนี้ไม่ใช่นะครับ มีเสียงของคนเล็กๆ สอดแทรกเข้ามา เช่นผู้ใหญ่บ้านท่านที่กล่าวแล้ว เสนอให้เปิดการเจรจากันโดยเร็วเพื่อยุติการใช้อาวุธเพื่อแก้ปัญหาความขัด แย้ง ท่านไม่สนใจหรอกครับว่าจะเปิดการเจรจาอย่างไรจึงจะเป็นผล นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไปหาทางเอาเอง ท่านไม่ได้เรียกร้องให้ใช้กำลังทหารเข้าไปยึดนครวัด เสียมราบ พระตะบอง เสียงเหล่านี้ดังเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรด้วย จะเพราะเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็ตามที แต่เป็นประเด็นหลักของการอภิปรายกระทู้ของฝ่ายค้านต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะอยู่กันต่อไปโดยปิดหูให้แก่เสียงของคนเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว และจะใช้วิธีศรีธนญชัยกับเสียงเหล่านี้ ก็คงไม่ได้ผลยั่งยืนอะไร 6/ คู่ขนานกันไปกับเสียงของคนเล็กๆ ผมคิดว่ามีเสียงของนักวิชาการซึ่งอาจไม่ดังเท่า แต่ก็ทำมาอย่างต่อเนื่องให้หันมาทบทวนกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนจากข้อมูลหลัก ฐานที่เป็นจริง และหาทางออกโดยสันติ ก่อนที่นักปลุกระดมจะฉวยเอาประเด็นเหล่านี้ไปเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ทางการ เมืองของตน แม้ว่าเสียงของนักวิชาการเหล่านี้อาจไม่จับใจสื่อ และไม่เป็นข่าว แต่ได้สร้างฐานความรู้บางอย่างที่คนเล็กๆ สามารถหยิบฉวยไปใช้ เพื่อยับยั้งการเลือกความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ และในความเป็นจริงเวลานี้ ผมก็ได้พบว่าคนเล็กๆ ที่มีสติดีที่สุดและไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรกับข้อพิพาทชายแดน ก็กำลังกระตือรือร้นที่จะหยิบเอาฐานความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการกำกับนโยบาย ของรัฐด้วย เช่นในการสัมมนาเรื่อง "สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร" ที่ มธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีชาวบ้านจากภูมิซรอลอุตส่าห์เดินทางมาร่วมการสัมมนาด้วยจำนวนหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเล็กๆไม่ได้ส่งเสียงเพราะตัวเองเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่กำลังเขยิบเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ด้วยสิทธิเสมอภาคกับสาวกของเวทีพันธมิตรที่ราชดำเนิน ในทุกที่ในโลกนี้ หากเบี้ยสามารถเดินหมากเอง สงครามจะเป็นตาอับตลอดไป แม้เรายังอาจมีข้อพิพาทและการปะทะกันด้วยอาวุธอยู่บ้าง แต่โลกนี้จะไม่มีสงคราม ที่มา:มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทีมวิจัยชมคณะกรรมการสิทธิบัตรไทย สกัดการขอจดสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันตาย Posted: 15 Feb 2011 09:16 PM PST ทีมนักวิจัย ชื่นชมคณะกรรมการสิทธิบัตร มีแนวทางชัดเจนไม่ให้สิทธิบัตรการใช้ ระบุ อาจเป็นคำขอสิทธิบัตรไม่มีวันตาย evergreening ที่มากที่สุดในขณะนี้ 15 ก.พ.54 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่า เป็นภาระงบประมาณประเทศและขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชน หลายฝ่ายจึงได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขอสิทธิบัตรที่มีลักษณะ Evergreening จากการสำรวจเบื้องต้น ทีมวิจัยพบว่า คำขอสิทธิบัตรในระยะหลังๆมีคำขอจำนวนมาก ที่เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์, กรรมวิธี หรือการใช้สารประกอบเพื่อผลิตเป็นยารักษาโรค (Use Claim) เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรา 9 (4) ใน พรบ.สิทธิบัตรของไทย ที่จะไม่ให้สิทธิบัตรแก่วิธีการบำบัดรักษา (Method of Treating) ซึ่งผลการวิจัยในเฟสที่ 2 ที่จะสำรวจกับคำขอสิทธิบัตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะให้ภาพนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า หากคำขอเหล่านี้ได้รับสิทธิบัตรไปจะเป็นเกิดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง “อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยต้องขอชื่นชม คณะกรรมการสิทธิบัตรที่มีนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานที่ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อต้นปี 2553 อย่างชัดเจนว่า การที่เนื้อหาของข้อถือสิทธิมีความเกี่ยวข้องกับการบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บป่วย ถือเป็นการขอในวิธีการบำบัดรักษา มิใช่เป็นการขอถือสิทธิในเภสัชภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นจากสารประกอบที่มีฤทธิ์ในการบำบัดรักษาสองชนิดร่วมกัน จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 (4) ทำให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถนำไปเป็นถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญได้ ทางทีมวิจัยเชื่อว่า จะลดผลกระทบการเข้าไม่ถึงยาจากการสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพไปได้มาก” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว โครงการวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย Evergreening เป็นคำนิยมใช้ในการอธิบายกลยุทธ์ของการจดสิทธิบัตรที่มีเจตนาในการขยายระยะเวลาผูกขาดสิทธิบัตรของยาชนิดเดิม เช่น โดยการอ้างข้อถือสิทธิใหม่ของยาเดิมว่าสมควรได้รับสิทธิบัตรใหม่เนื่องจากมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้ครอบครองสิทธิบัตรของยาเดิมขยายระยะเวลาผูกขาดและกีดกันยาชื่อสามัญไม่ให้เข้าสู่ตลาด “นี่เป็นโครงการแรกที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทีมวิจัยจากแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี-เภสัช ได้ทำงานร่วมกันพัฒนาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้สิทธิบัตรยาในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขอสิทธิบัตรที่มีลักษณะ Evergreening ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบการออกสิทธิบัตรให้มีคุณภาพได้อย่างเร่งด่วน ก็จะสามารถป้องกันปัญหาการผูกขาดตลาดยาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐและประชาชน รวมถึงการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย” ผศ.ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ ทีมวิจัยกล่าว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยและคณะผู้เชี่ยวชาญได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายต่อคู่มือในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรทางยาสำหรับประเทศไทย “จากนี้ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้นำคู่มือดังกล่าวไปทดสอบ พร้อมๆกับที่ทีมวิจัยจะใช้คู่มือดังกล่าวไปประเมินคำขอสิทธิบัตรที่ยื่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2553 เพื่อคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้สิทธิบัตรในรูปแบบ evengreening patent ทั้งผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศและผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ป่วยโดยตรง” สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น