โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชาวบ้านบ่อแก้วถึง กทม.แล้ว ตั้งเต็นท์ชุมนุมหน้า อ.อ.ป.-กรรมการปฏิรูปเข้ารับฟังปัญหา

Posted: 09 Feb 2011 11:16 AM PST

เกษตรผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกินจากภาคอีสานแห่เข้ากรุงฯ ชุมนุมจี้รัฐบาลแก้ปัญหาข้อพิพาท พร้อมเสนอยุบ อ.อ.ป.ทิ้ง ช่วงบ่ายจัดพิธีกรรมส่งวิญญาณ อ.อ.ป.-ช่วงเย็นกรรมการปฏิรูปเข้ารับฟังกรณีความเดือดร้อน

 
 
 
 
 
วันนี้ (9 ก.พ.54) ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อน จากกรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกิน พร้อมกลุ่มผู้ประสบความปัญหาที่ดินทำกินจากจังหวัดในภาคอีสาน อาทิ ชัยภูมิ, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ยโสธร และบุรีรัมย์ ราว 200 คน ได้ปักหลักชุมนุมกันที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หลังจากได้ทำกิจกรรม “เดินเท้าทางไกล : ค้นหาความเป็นธรรม จากบ่อแก้วถึงกรุงเทพฯ” มาตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.พ.54 และได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา
 
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ กลุ่มผู้เดือดร้อนจากกรณีสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ และกรณีสวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้ร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาจากการที่ อ.อ.ป.ประกาศพื้นที่สวนป่าปลูกต้นยูคาลิปตัสทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านโดยด่วน เนื่องจากในขณะนี้ชาวบ้านกำลังจะถูกศาลบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถทำอยู่ทำกินในพื้นที่ ขณะที่ตัวแทนจากชาวบ้านผู้เดือนร้อนอีกส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมประชุมว่าด้วยเรื่องการจัดทำโฉนดชุมชนที่รัฐสภา เพื่อเสนอให้นำพื้นที่กรณีพิพาทสวนป่าคอนสาร 1,500 ไร่มาจัดสรรให้ชาวบ้านทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
ส่วนที่บริเวณหน้าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้ทำการประกอบพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณ อ.อ.ป. โดยมีการอ่านประวัติของ อ.อ.ป. ระบุไม่เคยประกอบคุณงามความดีอะไรเลย มีแต่สิ่งชั่วร้าย และได้พยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จากนั้นได้ทำการฝังกลบดวงวิญญาณ ไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด ทั้งนี้ ขณะทำพิธีกรรมผู้ชุมนุมได้ร่วมกันส่งเสียงโห่ร้องเป็นระยะ
 
นอกจากนั้น ยังมีการอ่านคำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาและมีความกล้าหาญในการตัดสินใจยุบ อ.อ.ป.ด้วยเหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นต่อสังคมไทยอีกต่อไป เพราะการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อตัดขายของ อ.อ.ป.ไม่สามารถสร้างก่อให้เกิดรายได้ให้กับรัฐ ตรงข้ามกลับทำให้รัฐประสบภาวะขาดทุน และต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อโอบอุ้มปีละหลายพันล้านบาท อีกทั้งการส่งเสริมให้ปลูยูคาลิปตัสของ อ.อ.ป.ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ยืนยันจะเคลื่อนไหวทุกวิถีทาง เพื่อให้ยุบ อ.อ.ป.และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชุมชนภายใต้รูปแบบโฉนดชุมชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูป ระบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการสมัชชาปฏิรูป เดินทางมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ชุมนุม อีกทั้งยังมีเครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย หรือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ที่ชุมนุมอยู่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย
 
ทั้งนี้ นอกจากกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินกับ อ.อ.ป.แล้ว กลุ่มผู้ชุมชุมนุมยังประกอบด้วยชาวบ้านจากหลากหลายกรณีปัญหา เช่น การปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสทับที่ดินทำกิน, ที่สาธารณะทับที่ทำกิน และสวนป่าหมดสัญญาเช่า ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมกลุ่มต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับถูกหน่วยงานของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่
 
000
 
 
บันทึกการเดินเท้าทางไกลจากชุมชนบ่อแก้ว – อ.อ.ป.
วันที่  ๓ – ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
 
สืบเนื่องจากผู้เดือดร้อนจากกรณีพิพาทสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิและสวนป่าพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกเดินเท้าทางไกลเพื่อตามหาความเป็นธรรม ตั้งแต่ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔จนถึงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งได้ออกเดินทางผ่านอำเภอชุมแพ ไปที่จังหวัดชัยภูมิโดยมีเครือข่ายพี่น้องชาวอำเภอจัตุรัสมาต้อนรับและส่งกำลังใจในการเดินทางโดยการสมทบข้าวสารและอาหารแห้งต่างๆ
 
หลังจากนั้นได้เดินทางไปปักหลักพักที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ คืน ในการนี้ทางเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากสวนป่าพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากกรณีพิพาทป่าดงใหญ่ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางมาร่วมสมบทประมาณ ๑๐๐ คน
 
ในตอนเช้าของวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้มีการรณรงค์รอบเมืองและหน้าสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งมีการประกอบพิธีฌาปนกิจองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้โดยการเผาโลงศพ และหุ่นฟางเพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
 
จากนั้นเดินทางไปที่จังหวัดสระบุรีโดยมีเครือข่าวพี่น้องชาวจังหวัดสระบุรีให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นซึ่งตลอดเส้นทางที่ได้เดินทางผ่านพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้มีการเดินรณรงค์เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการปราศรัย และกระแสตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดี โดยมีการบริจาคเงิน สิ่งของ และอาหารต่างๆ ในการเดินทางด้วย
 
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เครือข่ายผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนขบวนมาถึงกรุงเทพมหานคร เวลา ประมาณ ๑๕.๐๐ น. โดยมีการปักหลักที่หน้าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) โดยมีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยและเครือข่ายสลัม ๔ ภาค รอให้การต้อนรับ
 
ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ พี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเดินทางมาสมทบอีกจำนวนหนึ่ง และในบ่ายวันเดียวกันจะมีการประกอบพิธีกรรมและมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วย
 
 
 
 
คำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
 
นับเวลากว่า ๖๔ ปี ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้กำเนิดขึ้นในสังคมภายหลังการสิ้นอายุการสัมปทาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่หลักในการทำไม้ในเขตสัมปทาน การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งการปลูกสร้างสวนป่า
 
การดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะการปลูกสร้างสวนป่า ที่ดำเนินการในพื้นที่ชาวบ้าน โดยขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ในการจับกุมดำเนินคดี เพื่อยึดที่ดินปลูกยูคาลิปตัส รวมทั้งทำลายป่าธรรมชาติ การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านไร้ที่ดินทำกิน บ้านแตก สาแหรกขาด วิถีชุมชนล่มสลาย ต้องอพยพแรงงานต่างถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
 
ด้านระบบนิเวศ ยูคาลิปตัสที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้นำมาปลูกได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้ชุมชนขาดความมั่นคงทางอาหารซึ่งปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดปัญหาภัยพิบัติเช่น น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ชายฝั่งถูกกัดเซาะ เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือทรัพยากรป่าไม้เหลือน้อย ในขณะที่สังคมกำลังรณรงค์การปลูกและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ เครือข่ายฯ จึงมีความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาดำเนินการอีกต่อไป
 
นอกจากนี้การเข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าเพื่อตัดขายขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไม่สามารถสร้างก่อให้เกิดรายได้ให้กับรัฐ ตรงข้ามกลับทำให้รัฐประสบภาวะขาดทุน และต้องนำเงินภาษีของประชาชน มาใช้เพื่อโอบอุ้มหน่วยงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ปีละหลายพันล้านบาท
 
ดังนั้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาและมีความกล้าหาญในการตัดสินใจยุบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพราะไม่มีความจำเป็นต่อสังคมไทยอีกต่อไป เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยยืนยันจะเคลื่อนไหวทุกวิถีทาง เพื่อให้ยุบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชุมชนภายใต้รูปแบบโฉนดชุมชนต่อไป
 
ด้วยจิตคารวะ
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยคดีคนงานไทยไป ตปท. ปี 52 ยังไม่จบ

Posted: 09 Feb 2011 09:38 AM PST

เผยคดีคนงานไทยไป ตปท. ปี 52 ยังไม่จบ คนงานไทยสวีเดน-สเปน อยู่ในระหว่างการสอบพยานและไกล่เกลี่ย ส่วนกรณีโปแลนด์ บ.จัดหางานยังยื่นอุทธรณ์
 
8 .. 54 – โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เผยความคืบหน้ากรณีคนงานไทยที่ประสบปัญหาจากการไปทำงานต่างประเทศเมื่อปี 2552 ซึ่งทางคนงานได้ทำการดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางาน (กรณีสวีเดน-สเปน) ส่วนกรณีโปแลนด์ บ.จัดหางานยังยื่นอุทธรณ์
 
สรุปกรณีการดำเนินการด้านกฎหมาย กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่สวีเดนและสเปน ปี 2552
 
กรณีคนงานไทยถูกหลอกไปสวีเดน (ปี 2552)
 
กลางเดือนกรกฎาคม 2552 มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่สวีเดน ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การผ่านบริษัทจัดหางาน การเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้พบว่าคนงานจำนวนหนึ่งต้องพบกับปัญหาเรื่องเนื่องจากพบว่าผลไม้ป่ามีปริมาณน้อย และรายได้จากการเก็บผลไม้ป่ายังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่เป็นไปตามที่บริษัทจัดหางานได้ให้ข้อมูลแก่คนงาน โดยคนงานต้องเสียค่าบริการในการจัดส่งแรงงานเหล่านี้ให้กับบริษัทต่างๆ เป็นเงิน 75,000-120,000 บาท ด้วยความเชื่อที่ได้รับจากการประชาสัมพันธ์ทั้งจากสาย จากบริษัทว่าพวกเขาจะได้รับเงินกลับบ้าน (หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าบริการแล้ว) คนละ 100,000-300,000 กว่าบาท
 
โดยในเดือนกันยายน 2552 คนงานที่ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 400 คน ได้กลับมายังประเทศไทยและได้ดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมดังนี้
 
1. คนงานบางส่วนได้ไปร้องกับพนักงานตรวจแรงงาน โดยพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง แต่นายจ้างได้ไปฟ้องเพิกถอนคำสั่งและฟ้องคดีอาญากับคนงาน กล่าวหาว่าคนงานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานทำให้พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยผิดพลาด แต่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและทีมทนายความได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อมีการสอบข้อเท็จจริงไปได้ระดับหนึ่ง ฝ่ายบริษัทจึงขอไกล่เกลี่ยยอมความ ถอนฟ้องคดีอาญาคนงาน (คดีนี้สิ้นสุดไปแล้ว)
 
2. คนงานบางส่วนได้มาร้องเรียนกับโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย แล้วได้มีการดำเนินคดีเป็นคดีแรงงาน (ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน) โดยในกรณีนี้พบว่าขออนุญาตพาแรงงานไปได้ขออนุญาตกับกระทรวงแรงงานว่าเป็นกรณีที่นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปทำงาน มีการทำสัญญากับคนงาน (ดูระเบียบว่าด้วยการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศวิธีที่ 4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน ในภาคผนวก)  ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถเก็บค่านายหน้า ไม่สามารถเก็บค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายจากคนงานได้ แต่การดำเนินการจริงๆ ของบริษัทกลับมีการเก็บค่าหัวคิวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
 
คนงานได้ฟ้องกับบริษัทจัดหางานเมื่อวัน 3 มีนาคม 2553 แบ่งออกเป็น 2 บริษัท
 
·         คนงาน 43 คน ยื่นฟ้องคดีแรงงาน เรียกร้องให้บริษัท สยาม โรยัล เซอร์เซส กรุ๊ป จำกัดและกรรมการนายชัยยุทธ ชดใช้เงินค่าบริการในการเดินทางไปกลับประเทศสวีเดน ค่าที่พัก ค่าอาหาร   ค่าเช่ารถ  ค่าน้ำมันรถ  ค่าอุปกรณ์ในการเก็บผลไม้เป็นต้น และค่าจ้างเบี้ยเลี้ยง   รวม 43 คน จำนวน 8,229,090 บาท  (คดีแรงงาน หมายเลขคดีดำที่1019-1061/2553 ของศาลแรงงานกลาง)
·         คนงาน 44 คน ยื่นฟ้องคดีแรงงาน เรียกร้องให้บริษัทสินซันชาย จำกัด และนายพรชัย กรรมการบริษัท ชดใช้เงินค่าบริการในการเดินทางไปกลับประเทศสวีเดน ค่าที่พัก ค่าอาหาร   ค่าเช่ารถ  ค่าน้ำมันรถ  ค่าอุปกรณ์ในการเก็บผลไม้เป็นต้น และค่าจ้างเบี้ยเลี้ยง   รวม 44 คน จำนวน 7,889,427บาท  (คดีแรงงาน หมายเลขคดีดำที่ 1189-1191/2553 ของศาลแรงงานกลาง )
 
โดยทั้ง 2 คดีนี้ ปัจจุบัน (มกราคม 2554) กำลังอยู่ในขั้นสืบพยานฝ่ายโจทย์ (คนงาน) รวมถึงการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายคนง่านและบริษัทฯ ควบคู่กันไปด้วย
 
อ่านเพิ่มเติมกรณีสวีเดน:
แรงงานถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่านัดรับเงินชดเชยนัดแรก มึนสัญญา ดูถูก-เอาเปรียบคืนเงิน ฉีกสัญญาทิ้ง
บริษัทนายหน้ายอมจ่ายค่าเสียหายให้แรงงานที่ถูกหลอกไปสวีเดนแล้ว
แรงงานเก็บผลไม้ยื่นหนังสือถึงสถานทูตสวีเดน กระทรวงแรงงานเรียก 4 บริษัทเจรจาหาข้อยุติ
คนงานที่ถูกหลอกไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน ปักหลักหน้าทำเนียบฯ ขอพบนายกฯ หลังการแก้ปัญหาไม่คืบ
 
กรณีคนงานไทยถูกหลอกไปสเปน (ปี 2552)
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานในต่างประเทศ (ภายใต้โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย) ได้รับแจ้งข้อมูลทางโทรศัพท์เกี่ยวกับสถานการณ์ของ คนงานไทย 19 คน ซึ่งทำงานในไร่มะเขือเทศที่สเปน หลังจากทำงานครบสัญญาจ้าง 1 ปี (สัญญาจ้างเริ่มเดือนมิถุนายน 2551 โดยสัญญาจ้างระบุว่าจะมีงานให้ทำ 5 ปี) คนงานไทยทั้ง 19 คนก็ได้อยู่ต่อในสเปนเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว โดยไม่มีงานทำ และไม่มีเงิน โดยในจดหมายที่ร้องเรียน หนึ่งในคนงานกลุ่มนี้ได้ระบุถึงวิธีการการสมัครงานมาทำงานที่สเปนดังนี้
 
“สมัครงานที่บริษัท อุดร เอ็นที ยูเนี่ยน จำกัด โดยบริษัทบอกว่าที่ประเทศสเปนงานดี เงินเดือนดี เงินเดือนขั้นต้น 60,000 – 70,000 บาท” ไม่รวมโอที และสัญญาจ้างมีระยะเวลา 5 ปี บริษัทฯ อธิบายว่า จะได้รับค่าแรงเป็นรายชั่วโมง โดยคนงานระบุว่าได้จ่ายค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ เรียกรับไป 580,000 บาท โดยมีการกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่าย”
 
ทางคนงานจึงได้ทำการดำเนินคดีกับบริษัทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 โดยคนงาน 2 คน ได้ยื่นฟ้องคนงาน บริษัท จัดหางาน อุดรเอ็นทียูเนี่ยน จำกัด กับนางนิภาพร ธนภัทรโรดม กรรมการบริษัท และ บริษัทจัดหางาน เค.เอส.แมนเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด กับ นางสุจิตราภรณ์ กรรมการบริษัท ให้คืนใช้ค่าใช้จ่ายและค่าบริการ 2 คน รวม 2,360,000 บาท (หมายเลขคดี 2071-2072/2553 ศาลแรงงานกลาง)
 
โดยในกรณีนี้บริษัทฯ ได้ให้คนงานแจ้งเดินทางไปเอง (ดูระเบียบว่าด้วยการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศวิธีที่ 3.เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง ในภาคผนวก) แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทเป็นคนติดต่อไว้แล้วมีการเก็บค่าหัวคิวและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน คุ้มครองคนหางาน ที่ระบุบไว้ว่ากรณีที่คนงานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศด้วยตนเอง จะต้องไม่มีบริษัทจัดหางานมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้
 
ทั้งนี้ในการต่อสู้ของบริษัทฯ ขั้นต้นให้การปฏิเสธต่อศาลว่าไม่ได้เป็นการจัดส่งไปโดยบริษัท แต่เมื่อมีการสืบหาข้อเท็จจริงและมีการไกล่เกลี่ย บริษัทฯ จึงยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าบริษัทได้จัดส่งไป แต่ไม่ยอมรับว่าได้รับเงินจากคนงานในจำนวน 580,000 บาท โดยในขณะนี้อ้างว่าได้รับเงินจากคนงานเพียง 540,000 บาท เท่านั้น โดยในขณะนี้ (กุมภาพันธ์ 2554) ยังอยู่ในช่วงการสืบพยานและเจรจาไกล่เกลี่ย (ศาลนัดครั้งต่อไป 17 .. 2554)
 
กรณีโปแลนด์
 
ต้นปี 2553 คนงานส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง) ถูกทางการโปแลนด์ยกเลิกวีซ่าทำงาน เนื่องจากบริษัทนายหน้าได้พาคนงานออกไปทำงานเขตที่กำหนดไว้ โดยได้นำไปทำงานในเขตที่ติดกับชายแดนของประเทศรัสเซีย ให้ทำงานวันละ 13 ชั่วโมงและต้องจ่ายค่าอาหารเองทำให้คนงานไม่มีเงินพอจะซื้ออาหาร โดยลักษณะงานเป็นการทำงานในฟาร์ม และได้ค่าแรงต่ำกว่าสัญญาที่ระบุไว้ 650 ดอลลาร์ต่อเดือน เพราะคนงานต้องไปทำงานตามฟาร์มต่างๆ แล้วแต่จะมีคนเหมาค่าแรงผ่านบริษัทที่โปแลนด์ ซึ่งก่อนไปทำงานที่โปแลนด์นั้นคนงานหญิงเหล่านี้ต้องไปกูเงินกับนายทุน เงินกู้นอกระบบ โดยส่วนใหญ่แล้วมีหนี้สินจากการไปทำงานที่โปแลนด์นี้มากกว่า 250,000 บาทต่อราย ทางด้านผู้บริหาร บริษัท กิตติบาร์เดอร์ กล่าวในเบื้องต้นว่าจะจ่ายเงินเดือนค้างจ่าย 2 เดือนคืนคนงาน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องรอการพิจารณาอีกครั้งเมื่อแรงงานทั้งหมดกลับมา ซึ่งทำให้คนงานที่กลับมาแล้วนั้น ต้องการให้บริษัทนายหน้าที่จัดส่งพวกตนไปจ่ายคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมเกือบ 400,000 บาท
 
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยคนงานจึงได้ร้องต่อกองตรวจแรงงานเพื่อเอาผิดและให้บริษัทจัดหางาน กิตติ บราเดอร์ ชดใช้ค่าเสียหายแก่คนงาน โดยกองตรวจได้มีคำสั่งให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายแก่คนงาน แต่ในขณะนี้ (กุมภาพันธ์ 2554) บริษัทฯ กำลังยื่นอุทธรณ์ต่อศาล
 
อ่านเพิ่มเติมกรณีโปแลนด์:
แรงงานบุกกระทรวงแรงงาน จี้ รมว.เร่งสั่งจ่ายค่าเสียหายถูกหลอกทำงานต่างประเทศ
สหภาพคนทำงาน ตปท. ร้องสถานทูตโปแลนด์หลังคนงานไทยถูกเอาเปรียบ
คนงานไทยในโปแลนด์เดินทางกลับแล้ว ร้องนายหน้าจ่ายค่าเสียหาย
ญาติคนงานไทยในโปแลนด์ เตรียมเข้าพบนายก เรียกร้องช่วยคนงานถูกจับในโปแลนด์
โปแลนด์จับคนงานไทยเพิ่มเติม เตรียมผลักดันกลับ 7 มี.ค. นี้
ญาติคนทำงานโปแลนด์วอนสหภาพคนทำงาน ตปท. ช่วยเหลือหลังโดนจับ
 
กระบวนการทางกฎหมายจะสิ้นสุดตรงไหน
 
คนงานสามารถเจรจายอมความได้ค่าเสียหายที่พึงพอใจ หรือไปจนสุดให้มีคำพิพากษา เมื่อนายจ้างยอมจ่ายหรือศาลสั่งให้จ่ายแล้ว อยู่ที่เงื่อนไขการตกลงของทั้งสองฝ่ายว่าจะมีการจ่ายค่าเสียหายทันทีหรือตามระยะเวลาที่ตกลงกันได้ หากบริษัทไม่ยอมจ่ายก็จะมีการยึดทรัพย์เพื่อมาจ่ายคนงาน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้บางทีต้องใช้ระยะเวลายาวในการที่คนงานจะได้รับการชดเชย
 
อุปสรรค
 
·         ประเด็นความเข้าใจเรื่องการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง (ประชาชนทั่วไป, แรงงาน หรือแม้แต่ศาลแรงงาน )โดย ตัวแรงงานเองไม่เข้าใจเรื่องระบบการจัดหางาน รู้แต่ว่าการจะไปทำงานต่างประเทศต้องเสียค่าหัวเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าวีการที่บริษัทนำคนงานไปสวีเดนนี้ตามกฎหมายไม่สามารถเสียค่าหัวได้ แต่คนงานจ่ายไปด้วยความเคยชิน ทำให้บริษัทสามารถปกปิดข้อเท็จจริงและหลอกลวงแรงงาน ทั้งนี้ประเด็นนี้ทำให้ทีมทนายมีความยากลำบากในการปรับทัศนะคติกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (สาธารณะชน, ตัวแรงงานเอง หรือแม้แต่ศาล)
·         ปัญหาความร่วมมือจากแรงงาน เนื่องจากแรงงานมีฐานะยากจน มีหนี้สินจากการถูกหลอกลวง ทำให้ไม่มีเวลามาดำเนินการเรื่องการฟ้องร้อง
·         ขาดหน่วยงานให้ความเข้าใจเรื่องสิทธิของคนงานและอำนวยความสะดวกแก่คนงานในการดำเนินการทางด้านกฎหมาย (ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, การเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นศาล, การเตรียมพยาน เป็นต้น)  ซึ่งส่งผลทำให้คนงานไม่สามารถได้รับค่าชดเชยจากความเสียหายที่เกิด หรือได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ
·         ไม่สามารถฟ้องร้องในกรณีค้ามนุษย์ได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายขององค์ประกอบในการเรื่องการบังคับใช้แรงงาน เมื่อถึงประเทศปลายทางเพราะลักษณะการทำงานเป็นตามความสมัครใจ (ต้องมีการบังคับใช้แรงงานถึงจะเข้าข้อกฎหมายการค้ามนุษย์ของไทย)
 
 
ภาคผนวก
 
 
ระเบียบว่าด้วยการจัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ
 
ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน นั้นมันมี 5 ช่องทาง (1. กรมการจัดหางานส่งไป (ไม่เสียค่านายหน้า) 2.เดินทางไปกับบริษัทจัดหางาน (เสียค่านายหน้า) 3. เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง (ไม่เสียค่านายหน้า) 4.นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปทำงาน (ไม่เสียค่านายหน้า) 5.นายจ้างในประเทศไทยพาคนงานไปฝึกงาน (ไม่เสียค่านายหน้า)  โดยมีรายละเอียดดังนี้ ..
 
1. กรมการจัดหางานจัดส่ง
 
เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าภาษี สนามบิน ค่าสมาชิกกองทุนฯ ค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง กรมการจัดหางานจะคัดเลือกคนหางานจาก ศูนย์ทะเบียนคนหางาน เว้นแต่ไม่มีผู้ลงทะเบียน ตามที่นายจ้างต้องการ หรือมีแต่ไม่เพียงพอ จึงจะประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป
 
2. บริษัทจัดหางานจัดส่ง
 
- ต้องแสดงใบอนุญาตการจดทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นชัด ณ สำนักงานที่ได้รับอนุญาต
- ต้องจดทะเบียนลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานที่ทำงานให้บริษัทไม่ใช้สายหรือเป็นนายหน้าเถื่อน
- เรียกเก็บค่าหัวตามกฎหมายและออกใบเสร็จรับเงินให้คนหางานไว้เป็นหลักฐาน
- เรียกเก็บเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง ถ้าไม่ส่งไปทำงานตามกำหนด ต้องคืนเงินให้ทันที
- ต้องส่งคนงานไปตรวจโรค ณ สถานพยาบาลตามที่กรมการจักหางานประกาศรายชื่อไว้
- ต้องส่งคนหางานไปทดสอบฝีมือ ณ สถานทดสอบฝีมือตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานอนุญาต
- ต้องพาคนงานเข้ารับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานก่อนเดินทาง
- ต้องพาคนหางานเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมการจัดหางาน
 
3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง
 
คนหางานติดต่อนายจ้างต่างประเทศด้วยตนเองหรือคนงานที่ทำงานครบสัญญาจ้างแล้วได้ต่อสัญญาจ้าง เมื่อเดินทางกลับมาพักผ่อน ในประเทศไทยและจะเดินทางกลับไปทำงานอีก ต้องแจ้งต่อกรมการจัดหางานก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยจะต้องมี สำเนาหลักฐานการติดต่อกับนายจ้างในต่างประเทศ, สำเนาสัญญาจ้าง (ผ่านการรับรองของสำนักงานแรงงานหรือสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ) และต้องมีหลักฐานอื่นๆ ไว้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการแจ้งการเดินทางของคนหางานอาจมีบริษัทจัดหางานหรือเรื่องการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการเก็บค่าบริการมาเกี่ยวข้อง
 
4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
 
นายจ้างในประเทศไทยที่มีบริษัทในเครืออยู่ในต่างประเทศ หรือประมูลงานในต่างประเทศได้ ส่งลูกจ้างที่อยู่ในประเทศไทย ไปทำงานต้องขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน  ซึ่งนายจ้างที่จะพาไปนั้นต้องมี
 
1. คำขออนุญาต (แบบ จง.23) ซึ่งกรอกข้อความให้ครบถ้วน และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามครบตามหนังสือรับรองนิติบุคคล
2. หนังสือรับรองนิติบุคคลของบริษัทฯ รับรองไม่เกิน 6 เดือน
3. รายละเอียดผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) รับรองไม่เกิน 6 เดือน
4. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
5. สัญญาหรือเอกสารแสดงการได้งาน เช่น สัญญาที่นายจ้างประมูลงานในต่างประเทศ ฯลฯ
6. หลักฐานแสดงว่าลูกจ้างเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ใช้ ภงด.1 หรือหลักฐานการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม
7. หลักฐานแสดงการอนุญาตให้นำคนงานเข้าประเทศ เช่น วีซ่า เอ็น โอ ซี ฯลฯ
8. สัญญาจ้างงาน ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนไขดังนี้ (5 ชุด)
8.1 ระยะเวลาการทำงาน
8.2 สวัสดิการอาหาร ที่พัก
8.3 ค่าโดยสารเครื่องบิน
8.4 ค่ารักษาพยาบาล
8.5 ค่าจ้าง (ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กรมการจัดหางานกำหนด)
8.6 การประกันชีวิตให้ลูกจ้างขณะส่งไปทำงานในต่างประเทศ
9. บัญชีรายชื่อลูกจ้างที่ไปทำงาน ระบุตำแหน่ง/สาขาที่ไปทำงาน
10. บัญชีรายชื่อลูกจ้างที่ได้รับอนุญาตให้นายจ้างพาไปทำงาน ( 5 ชุด )
11. หนังสือมอบอำนาจของนายจ้างมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้ดำเนินการยื่นคำขอแทน (ติดอากรแสตมป์ 30 บาท)
12. หนังสือขอส่งพนักงานเข้ารับการปฐมนิเทศ
 
5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน
 
กรณีฝึกงานไม่เกิน 45 วัน นายจ้างต้องแจ้งการเดินทางต่อกรมการจัดหางาน โดยยื่นแบบแจ้งการส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศไม่เกิน 45 วัน (แบบ จง.46)
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อธิการ ม.อ.เรียกคุยทีม PR ท่าเรือปากบารา แนะควรเปลี่ยนวิธีการ เน้นเข้าหากลุ่มค้าน

Posted: 09 Feb 2011 09:32 AM PST

อธิการ ม.อ.เรียกคุยทีมPRท่าเรือปากบารา หลังชาวบ้านบุกจี้ให้เลิกรับงาน แนะควรเปลี่ยนวิธีการ เน้นเข้าหากลุ่มค้าน เหตุชาวบ้านเชื่อ EIA บกพร่องเยอะ ทำให้ทำงานยาก

ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์(PR)การมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ระยะที่ 1 เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ ตนจะเข้าหารือกับอธิการบดีและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ตนและทีมงานจะทบทวนกระบวนการประชาสัมพันธ์อย่างไร หลังจากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เดินทางมาเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอให้ทบทวนโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1

โครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชนระยะก่อนการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ระยะที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงนามรับจ้างจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม งบประมาณ 14.8 ล้านบาท จึงต้องหารือกับทางมหาวิทยาลัยก่อน ส่วนจะเข้าหารือกับกรมเจ้าท่าหรือไม่นั้น จะหารือกันอีกทีหนึ่ง

ผศ.ดร.ธนิยา กล่าวว่า การที่กรมเจ้าท่าจ้าง ม.อ. เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของม.อ.ในการประสานชาวบ้านที่คัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา นอกจากนี้ บทบาทของอาจารย์ไม่ใช่แค่การสอนนักศึกษา หรือทำงานวิจัยเชิงวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีบริการเชิงวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชน จึงต้องรับงานนี้

ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยด้วยว่า สำหรับวิธีการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ เริ่มจากการตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์และการที่ส่วนร่วมของประชาชนก่อนการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ระยะที่ 1 ที่อำเภอละงู มีการทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการแจกให้ผู้ที่เดินทางมาที่ศูนย์

มีการส่งนักศึกษาลงพื้นที่แจกแบบสอบถามเบื้องต้นให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลปากน้ำ ตำบลแหลมสน ตำบลละงู อำเภอละงูแล้ว จำนวน 30 ชุด จากนั้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2554 จะแจกแบบสอบถามจริง 300 ชุด แจกให้ชาวบ้านพื้นที่เป้าหมายทั้ง 3 ตำบลอีกครั้ง นอกจากนี้ มีการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและทางสถานวิทยุในพื้นที่

ที่ผ่านมาจะจัดเวทีประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียนบ้านตะโละใสและโรงเรียนบ้านปากบาง อำเภอละงู แต่กรมเจ้าท่ายังไม่ให้จัดเวทีในช่วงนี้ เนื่องจากชาวบ้านยังมีท่าทีในการคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราสูง

รศ.ดร.บุญสม บำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ตนจะนัดประชุมกับ ผศ.ดร.ธนิยาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 นี้

รศ.ดร.บุญสม กล่าวว่า ทางออกเบื้องต้นคือ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการในการประชาสัมพันธ์ใหม่ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการยอมรับของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ ซึ่งเชื่อว่ารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารามีข้อบกพร่องหลายประเด็น ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านยอมรับจึงเป็นไปได้ยาก

รศ.ดร.บุญสม เปิดเผยต่ออีกว่า ตนจะสอบถามทีมประชาสัมพันธ์โครงการนี้ว่า การประชาสัมพันธ์เป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ และมีความเห็นอย่างไร เพื่อหาเหตุผลมาหักล้างกับการที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือให้ยุติการประชาสัมพันธ์ เพราะการประชาสัมพันธ์ที่แท้จริงนั้น ต้องเข้าหากลุ่มคนที่คัดค้าน ซึ่งไม่ควรหนีชาวบ้านกลุ่มนี้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนั่น ชูสกุล: ราษีไศล คนจนไม่พ้นคุก

Posted: 09 Feb 2011 09:18 AM PST

“สนั่น ชูสกุล” เขียนถึง “สมเกียรติ เจือจาน (ศิระสิงหบัญชร)” คดีสมัชชาคนจนชุมนุมที่เขื่อนราษีไศล (๒๕๔๓) ศาลฎีกาสั่งจำคุก ๑ ปี ไม่รอลงอาญา (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔)

สมเกียรติเป็นชาวบ้านเพียมาต ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลคนหนึ่ง เข้าร่วมต่อสู้เรียกร้องกับสมัชชาคนจนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ สมเกียรติมีบทบาทเป็นแกนนำคนหนึ่ง และในหมู่บ้านเขาก็เป็นผู้นำชุมชนคนสำคัญ ล่าสุด ขณะที่เขาถูกสั่งจำคุกนี้ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแค และได้รับเลือกเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแค

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลฎีกาสั่งลงโทษจำคุกสมเกียรติ ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหา “บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อเสรีภาพ”กรณีสมัชชาคนจนบุกเข้าชุมนุมที่หัวงานเขื่อนราษีไศลเมื่อ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ และมีผลให้สมเกียรติต้องถูกจำคุกที่เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ ทันที

เหตุการณ์(ที่ศาลไม่ได้ไต่สวน)ในขณะนั้นคือ หลังจากที่สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยที่ดินและการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จ่ายค่าชดเชยให้ผู้เดือดร้อนประมาณ ๘๐๐ คนในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ และอีกเดือนหนึ่งต่อมารัฐบาลก็ลาออก มีพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อ ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักในช่วงนั้นทำให้นักการเมืองนำเรื่องการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศลมาเป็นเครื่องมือโจมตีกันทางการเมืองกันอย่างเกรียวกราวหลายระลอก(โดยเฉพาะช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและก่อนการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนประท้วงรัฐบาลกรณีต่างๆ) โดยกล่าวหาว่ามีนักการเมืองพรรคความหวังใหม่ทุจริตเงินค่าชดเชย และพาดพิงชาวบ้านว่าร่วมกันทุจริต กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานฟ้องแพ่งชาวบ้านจำนวน ๔๑๕ รายเพื่อเรียกเงินคืน นายตำรวจใหญ่พลตำรวจโทเสรี เตมียเวส ออกมาให้สัมภาษณ์กล่าวหาชาวบ้านราษีไศลอย่างหนักหน่วง หน่วยงานราชการใช้เงินจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์โครงการละ ๕ ล้านเพื่อกระพือข่าวนี้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนออกมาประท้วงจนมีการฟ้องหมิ่นประมาทกันไปกันมาหลายคดีระหว่างปี ๒๕๔๑-๒๕๔๓

ชาวบ้านสมัชชาคนจนราษีไศลเมื่อผ่านจากการต่อสู้ยาวนานเพื่อสิทธิ์ จึงลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งเพื่อ “ศักดิ์ศรี” เพราะถูกกล่าวหาและถูกดูถูกอย่างหนัก จึงเปิดการชุมนุมต่อมาอีกหลายครั้งเพื่อท้าพิสูจน์ แต่ก็เป็นไปได้เพียงทำนอง “ตีนช้างเหยียบปากนก” เสียงของผู้มีอำนาจเบื้องบนไม่มีทีท่าจะคำนึงถึงคนยากคนจนว่าจะเกิดความคับแค้นต่อการกระทำดังกล่าวสักเพียงใด

จนถึงต้นปี ๒๕๔๓ สมัชชาคนจนราษีไศลปักหลักชุมนุมอยู่ในพื้นที่ป่าทามท้องอ่างเก็บน้ำบริเวณบ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศลมาเป็นเวลาหลายเดือน เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ผู้เดือดร้อนทั้งที่รับค่าชดเชยไปแล้วแต่ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินหลวงและสมาชิกอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล แต่ไม่มีท่าทีจากรัฐบาลว่าจะรับฟังเสียงเรียกร้องหรือตอบสนองแต่อย่างใด

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลขณะนั้นแย่เอามากๆ นายประสิทธ์ หวานเสร็จ นายช่างหัวหน้าเขื่อนเป็นคนแข็งกร้าว กราดเกรี้ยวกับชาวบ้าน และยังมีนายอำเภอชื่อ นายกรีศักดิ์ ไพบูลย์ ที่ตามขู่ปรามและออกหน้าปลุกระดมจัดตั้งชาวบ้านนอกพื้นที่มาต่อต้านกลุ่มผู้เรียกร้องแบบ “ม็อบชนม็อบ”หลายครั้ง และกล่าวกับชาวบ้านว่า “ถ้ารัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ให้เอามีดมาปาดคอผม”

คืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ชาวบ้านสมัชชาคนจนเคลื่อนพลเข้าไปชุมนุมที่หัวงานเขื่อนราษีไศล และชุมนุมต่อเนื่องมาอีกระยะหนึ่ง จนรัฐบาล ชวน หลีกภัย มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ให้เปิดบานประตูเขื่อนราษีไศลทั้ง ๗ บาน จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ผู้เดือดร้อน และมีการศึกษาผลกระทบทางสังคมโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วเสร็จ

เหตุการณ์คืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นั้น เป็นที่มาของการออกหมายจับแกนนำ ๑๒ คน ทั้งแกนนำชาวบ้านและที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กระทั่ง ในปี ๒๕๔๗ จึงเริ่มมีการจับกุม “ไพจิตร  ศิลารักษ์” ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก ๒ ปี ฐานความผิดทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ สั่งจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนฎีกา

ฝ่ายสมเกียรติ เจือจาน เป็นคนที่ ๒ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ ศาลชั้นต้นตัดสินไปตามแนวทางเดียวกันกับไพจิตร คือสั่งจำคุก ๒ ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

และเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ศาลฎีกาก็สั่งจำคุกสมเกียรติ ๑ ปี ไม่รอลงอาญา

เขาต้องเดินเข้าคุกทันที เมื่อปีก่อนตอนศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก เขาก็ติดคุกจริงๆอยู่ ๗ วันก่อนได้รับประกันตัว ออกมาอยู่บ้านกับลูกเมียและญาติพี่น้อง ทำงานเป็นประธานสภา อบต. และต่อสู้ร่วมกับสมัชชาคนจนต่อไป แต่คราวนี้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไปเป็นปี และเสียสิทธิ์เสียคุณสมบัติที่จะอยู่ในตำแหน่งที่เคยทำงาน-ตลอดไปเพราะ”เคย”ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา เสียโอกาสที่จะทำมาหากินเช่นปกติ ลูกคนหนึ่งกับหลาน ๒ คน เคว้งคว้าง

อนาคตที่พึงควรมีของสมเกียรติถูกทำลายพังยับเยินลงแล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาเป็นคนรักความเป็นธรรม ไม่ยอมจำนนและลุกขึ้นปกป้องสิทธิ์ของตน ต่อต้านอำนาจรัฐที่กดขี่ ในสังคมที่ขาดความเป็นธรรม

ช่วยเขา ช่วยลูกเมียและญาติพี่น้องเขา

แล้วช่วยกันทำให้สังคมไทยน่าอยู่กว่านี้เถิด ต้องทำอย่างไรกันบ้าง เรารู้กันอยู่ดี ถ้าอคติไม่บังตา.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาตินิยม: ชีวิตของชาวบ้านตาดำๆ กับวาระซ่อนเร้นของการเมืองภายในประเทศ

Posted: 09 Feb 2011 08:53 AM PST

สืบเนื่องจากการปะทะกันของทหารไทยและทหารกัพูชาบริเวณพื้นที่พิพาทชายแดนเมื่อวันศุกร์ที่แล้วทั้งผู้นำไทยและผู้นำกัมพูชา ก็ต่างสาดโคลนใส่กันโดนการกล่าวหาอีกฝ่ายว่า เป็นฝ่ายรุกล้ำหรือเริ่มยิงก่อน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกหกเป็นแน่แท้ การปะทะดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม นี้ไม่ใช่เวลาที่คนไทยมารวมใจเป็นหนึ่งสนับสนุนผู้นำของตนในการสาดโคลนใส่อีกฝ่ายอย่างไร้การตั้งคำถามหากนี้เป็นเวลาที่ประชาชนของทั้งสองประเทศควรจะตั้งสติให้มั่นตั้งคำถามกับคำพูดและการกระทำของผู้นำของตนตรวจสอบเรื่องราวและข้อเท็จจริงของสงครามการปะทะพร้อมทั้งประณามสงครามอย่างแข็งกร้าว

การปะทะครั้งนี้ ได้ทำให้หลายชีวิตต้องไม่มีที่อยู่อาศัย บาดเจ็บและล้มตายไปเป็นจำนวนไม่น้อยแล้วและคนเหล่านี้หาใช่นักการเมืองและนักการทูตปากเก่งที่กรุงเทพฯ และพนมเปญรวมทั้งไม่ใช่กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่ออกมาร้องหาสงครามอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่เป็นชาวบ้านตาดำๆ และพลทหารเล็กๆ ของทั้งสองประเทศ

นี้จึงควรเป็นเวลาที่เราได้ตระหนักเห็นถึงความเลวร้ายของลัทธิชาตินิยมซึ่งทำให้คนตาบอดต่อเหตุผล และนำไปสู่การอาฆาตเกลียดชังทำลายล้างกันของมนุษย์

ขณะที่สื่อไทยนั้นกระตือรือร้นเสียเหลือเกินในการรายงานยอดตัวเลขคนไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตและยังให้น้ำหนักกับคำพูดของผู้นำฝ่ายตนอย่างไม่ตั้งคำถามสื่อกัมพูชาก็คงกำลังประพฤติมิตนไม่ต่างกัน

คนไทยคลั่งชาติจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้ทำลายวัดพุทธที่สร้างขึ้นโดยชาวกัมพูชาในบริเวณพื้นที่พิพาทราวกับว่าไม่มีอะไรผิดตรงไหน ที่จะเรียกร้องแบบนั้นแม้ว่าพวกเขาเป็นชาวพุทธคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากเป็นสถานการณ์กลับกันที่มีวัดพุทธสร้างโดยชาวไทยตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทบ้างชาวไทยพุทธจำนวนมากคงออกมาประณามชาวกัมพูชาที่เรียกร้องเช่นนั้นว่าเป็นพวก "ไอ้ชาวพุทธจอมปลอม"

ในใบปลิวหนึ่งของกลุ่มคนไทยรักชาติ ซึ่งนำโดยนายวีระ สมความคิด มีเนื้อหาที่มุ่งย้ำเตือนให้คนอ่านเห็นว่า "ดินแดนของประเทศสยาม"นั้นถูกเฉือนไปให้กับสองประเทศอาณานิคมใหญ่อย่างอังกฤษและฝรั่งเศสหลายครั้งหลายคราหากทว่าใบปลิวนี้หาได้มีการพูดถึงเมื่อครั้งประเทศสยามไปรุกรานประเทศเพื่อนบ้านจนไปยึดครองพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นของตนซึ่งหากไม่มีการรุกรานครั้งนั้นเพื่อนบ้านของไทยก็น่าจะเป็นเจ้าของแผ่นดินผืนนั้นในทุกวันนี้

ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่บริเวณอีสานตอนล่าง ซึ่งคนท้องถิ่นส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่เป็นชายแดนไทย-กัมพูชานั้นเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายเขมรและคนส่วนใหญ่ในแถบนั้นก็ยังคงพูดภาษาเขมรอยู่

กลับไปที่เหล่านักการเมืองและนายพลระดับสูง แน่นอนว่าไม่ผู้นำไทยก็ผู้นำกัมพูชาต้องโกหก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายเปิดฉากการปะทะก่อน แต่คุณจะเชื่อจะเชื่ออภิสิทธิ์เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนไทยเหมือนคุณและคนกัมพูชาก็เชื่อฮุนเซ็นเพราะเป็นคนกัมพูชาเหมือนกันด้วยเหตุผลเพียงเพราะผู้นำคนนั้นเป็นคนชาติเดียวกับคุณอย่างนั้นหรือ

การเชื่อตามผู้นำง่ายๆ เช่นนี้ย่อมนำมาสู่ปัญหา แทนที่ฟังแล้วเชื่อเลยสิ่งแรกที่ต้องถามคือ ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์หากมีการปะทะเกิดขึ้นเราควรจะถามด้วยว่า ทำไมปัญหานี้จึงแก้ด้วยสันติวิธีไม่ได้เสียที

ลองมาคิดเล่นๆ ดูว่ากองทัพไทยหรือกองทัพกัมพูชาจะได้งบประมาณจัดซื้ออาวุธเพิ่มเติมถ้าหากเกิดสงครามขึ้นหรือไม่?ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงงบประมาณดังกล่าวก็ก็แลกมาด้วยเงินภาษีของประชาชนความเดือนร้อนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ชายแดนรวมถึงชีวิตของพลทหารและชาวบ้านที่ต้องตายไป และเป็นไปได้ไหมว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมีคนต้องการสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายเพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

เหตุการณ์ทั้งหมดดูไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง เริ่มตั้งแต่ที่อยู่ดีๆกลุ่มของนายวีระก็เดินทางไปที่พื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาจนเกิดการจับกุมตัวของคนไทยทั้งเจ็ดคนจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตเป็นเหตุให้กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติออกมาประท้วงพักค้างแรมหน้าทำเนียบตามด้วยการประท้วงของพันธมิตรฯซึ่งเรียกร้องให้ใช้กำลังทหารในการจัดการกับปัญหาชายแดนเกิดเป็นแรงกดดันไปที่ชายแดนมีการเสริมกำลังทหารไปตรึงที่ชายแดนทั้งสองฝ่ายและต่อมาก็เกิดการปะทะในวันศุกร์ที่ผ่านมา

ผู้เขียนนั้นไม่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชามีวาระซ่อนเร้นหรือจะได้ประโยชน์อันใดจากการปะทะครั้งนี้หรือไม่ แต่ท้ายสุดแล้วทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาก็ควรพินิจพิจารณาคำพูดและการกระทำของผู้นำของประเทศตนอย่างรอบคอบอย่าตกเป็นเหยื่อของวาระซ่อนเร้นทางการเมืองภายในประเทศรวมทั้งอย่าได้ให้มีชีวิตไหนต้องมาและกับผลประโยชน์ของนักการเมืองและนายทหารบางคนอีกเลย

เมื่อเราเห็นความยิ่งใหญ่ของพิรามิดกิซ่าที่อียิปต์ ทัชมาฮาลที่อินเดียและนครวัดที่กัมพูชา เราไม่ควรแค่ตะลึงในความยิ่งใหญ่ของมันหากควรพึงระลึกไว้ด้วยว่ากว่าจะได้มาซึ่งความยิ่งใหญ่ของสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตและหยาดเหงื่อแรงงานของทาสจำนวนนับหมื่นนับแสน

ฉันใดก็ฉันนั้น ลัทธิชาตินิยก็มีด้านที่น่ารังเกียจอยู่พอๆ กัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ เชื่อรัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุมเพื่อเอาใจ “ฮุนเซน”

Posted: 09 Feb 2011 08:25 AM PST

ปานเทพ” ผิดหวังมาร์คเคยหนุน พธม. - ค้านสลายชุมนุม แต่วันนี้กลับใช้มาตรการเดียวกัน “จำลอง” ลั่นวันใดสลาย มวลชนเข้าร่วมมากมาย ส่วน “ประพันธ์ คูณมี” ชี้เรื่องขอคืนช่องทางจราจร เป็นการอ้างความเดือดร้อนเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชน แต่เมินแก้ปัญหาใหญ่ เชื่อฮุนเซนไม่พอใจถูก พธม.โจมตี รัฐบาลจึงรับปากมาสลายการชุมนุมเพื่อเอาใจ

ช่วงบ่ายวันนี้ (9 ก.พ.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรฯ และ นายประพันธ์ คูณมี โฆษกการชุมนุมของพันธมิตรฯ ร่วมแถลงข่าวประจำวันต่อสื่อมวลชน

 

ปานเทพชี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือทวงคืนที่กัมพูชา

โดยนายปานเทพ ได้กล่าวถึงข่าวการขอพื้นที่คืนของทางเจ้าหน้าที่ ว่า ทางแกนนำพันธมิตรฯ และคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ยังไม่มีผู้ใดได้รับการติดต่อจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ความชัดเจนในการขอพื้นที่คืน เป็นความประสงค์ของผู้ใด และอ้างอิงอำนาจกฎหมายฉบับใด ที่ผ่านมา มีเพียงการเจรจาปากเปล่า พูดลอยๆ ซึ่งหากจะมีการกระทำใดๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทำหนังสือให้ชัดเจนมาถึงคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และผู้ชุมนุมด้วย เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้ขึ้นอยู่อาณัติของคณะกรรมการ ทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้ทราบว่าได้รับมอบหมายจากใคร และผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย ไม่ใช่พูดปากเปล่าตามที่ทำอยู่

นายปานเทพ กล่าวว่า คณะกรรมการ และพันธมิตรฯ เห็นตรงกันว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำในขณะนี้ คือ การทวงคืนดินแดนที่กัมพูชา ใช้เป็นฐานทัพโจมตีราษฎรไทย จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า การขอคืนพื้นที่ชุมนุมที่นี่ ขอย้ำว่า ที่เราอยู่บริเวณนี้ไม่มีการปิดสถานที่ราชการ ข้าราชการสามารถเข้าทำงานได้ การที่จะมายึดพื้นที่ตรงนี้ต้องตอบให้ได้ว่า เหตุใดรัฐบาลจึงเลือกปฏิบัติ ระหว่างคนไทยกับทหารกัมพูชา เพราะทหารกัมพูชาติดอาวุธสงครามอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และปล่อยให้ยิงราษฎรไทย แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งออกมาชุมนุมเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย แทนที่รัฐบาลจะมาร่วมรวมพลัง กลับมีความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชนเหล่านี้

 

ผิดหวังมาร์คเคยหนุน พธม. - ค้านสลายชุมนุม แต่วันนี้กลับใช้มาตรการเดียวกัน

น่าผิดหวังที่นายกฯอภิสิทธิ์ เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯในการต่อต้านรัฐบาลในระบอบทักษิณ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเวลานั้น นายกฯอภิสิทธิ์ มีความเห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลใช้สลายผู้ชุมนุมนั้นไม่ชอบธรรม ในวันนี้พอมาเป็นนายกฯกลับใช้มาตรการเดียวกัน จึงพิสูจน์แล้วว่า นายอภิสิทธิ์ ก็ไม่ต่างจาก นายสมัคร หรือ นายสมชาย” นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ในกรณีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งคณะรัฐมนตรีในการ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และจำกัดพื้นที่กระทบความมั่นคงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พันธมิตรฯได้ศึกษาข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า จะยังไม่มีการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองตามที่ได้ประกาศไว้ แต่จะรอมาตรการที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอะไรกับประชาชน เมื่อเช่นนั้นเกิดความเสียหายใดๆก็จะยื่นต่อศาลปกครองทันที

 

ลั่นหากรัฐบาลทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหาย จะยื่นคำร้องศาลปกครอง

ขณะนี้การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆ ออกมาจากภาครัฐ ทันทีที่รัฐบาลประกาศหรือเริ่มมาตรการใดๆ ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหาย จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองทันที” นายปานเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุที่ไม่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการประกาศใช้ถูกต้องใช่หรือไม่ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวตอบว่า กระบวนการประกาศบังคับใช้กฎหมายมีข้อสงสัยอยู่แล้วว่าผิดพลาด เพราะการอ้างเหตุความมั่นคงของรัฐ ต้องเกิดขึ้นเพราะผู้ชุมนุมมีเจตนาหรือเป้าหมายที่ทำให้รัฐเสียหาย แต่พันธมิตรฯ มาเพื่อพิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติ เพียงแต่ถึงชั่วโมงนี้ รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดมาตรการที่ชัดเจน โดยในแง่ของข้อกฎหมายการยื่นศาลปกครองต้องมีผู้เสียหายแล้ว

เหตุในการชุมนุมของเราจะไปเทียบกับคนเสื้อแดงไม่ได้ การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนาจทางการเมือง และการฉีกรัฐธรรมนูญ ต่างจากการชุมนุมของพันธมิตรฯที่ชุมนุมภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องหน้าที่ของพลเมืองไทยในการรักษาแผ่นดินเป็นหลัก รัฐบาลจะใช้อำนาจใดมาสลายการชุมนุม หรือขอพื้นที่คืน กล้ากับคนไม่มีอาวุธ แต่กับกัมพูชาที่ทำร้ายราษฎรไทยกลับไม่กล้า” โฆษกพันธมิตรฯ กล่าว

 

ไม่เชื่อชาญวิทย์เพราะฝักใฝ่เสื้อแดง-รับจ้างกระทรวงการต่างประเทศ

และจากกรณีที่มีนักวิชาการกลุ่มนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ออกมาโจมตีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่าเพื่อให้เกิดสงคราม นายปานเทพ กล่าวว่า ต้องดูว่า คนที่พูดเป็นใคร เพราะกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเงิน 7.1 ล้านบาท เราจึงขนานนามว่านักวิชาการ 7.1 ล้าน ซึ่งเขาต้องพูดแบบนี้อยู่แล้ว เพราะกลุ่มที่ฝักใฝ่คนเสื้อแดง และมีทัศนคติต่อต้านพันธมิตรฯ ตนไม่เห็นนักวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์คนไหนออกมากล่าวเช่นนี้ ทั้ง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล หรือ ศ.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ก็ไม่เห็นพูดเช่นนั้น

เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของตำรวจภายในทำเนียบรัฐบาล ที่นำกำลังราว 500 นาย มาออกกำลังกายบริเวณประตูใกล้กับกลุ่มพันธมิตรฯ นายปานเทพ กล่าวว่า น่าจะไปทำที่ชายแดน ไปจับกุมคนกัมพูชาที่เข้ามาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ไปขับไล่ทหารกัมพูชา เพื่อสำแดงแสนยานุภาพทางการทหาร มาทำในทำเนียบรัฐบาลเสียแรงเปล่า เพราะไม่มีทหารกัมพูชาอยู่

 

จำลองลั่นวันใดสลายชุมนุม มวลชนจะเข้าร่วมมากมาย

ทางด้าน พล.ต.จำลอง กล่าวเสริมว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแวะเวียนมาพูดคุยกับตน โดยมีการร้องขอให้คืนพื้นที่เปิดการจราจร ซึ่งตนก็ได้ปฏิเสธไปด้วยไมตรีว่า เรามีความจำเป็นที่ต้องอยู่ที่นี่ เรามาชุมนุมเพื่อปกป้องแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในช่วง 1-2 วันนี้ รัฐบาลมีมาตรการกดดันมากๆ พันธมิตรฯ จะปรับแผนที่กำหนดไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าไปเป็นสถานที่อื่นหรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ต้องมีการหารือกัน โดยการเคลื่อนไหวใดๆ ต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ แต่คิดว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเหลือเวลาไม่มาก วันใดที่มีการขอพื้นที่คืนโดยใช้กำลัง ในวันรุ่งขึ้นจะมีมวลชนเข้ามาร่วมอีกมากมาย

 

ประพันธ์เชื่อ ฮุนเซนไม่พอใจโดน พธม. โจมตี รัฐบาลจึงไปรับปากสลายการชุมนุม

ขณะที่ นายประพันธ์ กล่าวว่า การขอพื้นที่คืนเป็นเพียงกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนเพียงกดดันผู้ชุมนุมเท่า นั้นเอง ซึ่งจริงๆ ไม่มีความจำเป็น เพียงแค่เจ้าหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่จราจรที่เปิดอยู่ให้ดี ก็จะไม่มีปัญหาการจราจรติดขัดมาก เพราะฉะนั้นการแหย่ขอพื้นที่บางส่วนคืนเป็นกลยุทธ์แบบได้คืบเอาศอก โดยอ้างความเดือดร้อนเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชน ทั้งที่ไม่ยอมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

โฆษกการชุมนุม กล่าวต่อว่า อยากถามรัฐบาลว่าได้ตกลงผลประโยชน์ใดกับนายฮุนเซน ทั้งนายสุเทพ และ พล.อ.ประวิตร ที่ต่อสายตรงกับ นายฮุนเซน จึงพยายามมากดดันผลักดันพี่น้องประชาชนไทย โดย นายฮุนเซน ไม่พอใจที่เวทีพันธมิตรฯกล่าวโจมตีตัวเองโดยตลอด จึงกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยรู้กันกับพันธมิตรฯ รัฐบาลจึงต้องไปรับปากมาสลายการชุมนุมโดยอ้างมาตรการทางกฎหมาย เพื่อหวังเอาใจนายฮุนเซน

 

ที่มา: เรียบเรียงจากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาสังคมไทย-กัมพูชาเรียกร้องทั้งสองรัฐบาลใช้สันติวิธี

Posted: 09 Feb 2011 06:46 AM PST

คณะกรรมการร่วมเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประชาชนกัมพูชาและไทย หรือ KTPR ออกข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย-กัมพูชา ให้ทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี เชื่อความขัดแย้งไม่สามารถจบลงได้ด้วยปืน พร้อมจัดงานที่ FCCT เพื่อสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาชนสองชาติในวันที่ 10 นี้ 

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประชาชนกัมพูชาและไทย (Joint Committee for Khmer & Thai Relationship Building – JC) หรือ KTPR ได้ออกข้อเสนอต่อรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย โดยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี เชื่อความขัดแย้งไม่สามารถจบลงได้ด้วยปืน

นอกจากนี้เครือข่าย KTPR เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 10 ก.พ. เวลา 18.30 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ถ.เพลินจิต มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation – PEF) จากประเทศไทย และ Buddhist Khmer Society Network (BKSN) จากประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็น 2 องค์กรหลักในคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อความสัมพันธ์ประชาชนไทย-กัมพูชา จะจัดกิจกรรม “ความสัมพันธ์ประชาชนกัมพูชา-ไทย ความเป็นเพื่อนบ้าน รัก และ สันติภาพโดยปราศจากปืน” (“Cambodian-Thai People Relationship: Neighborhood Love and Peace without Guns”) ร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยจะมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้ เพื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองฝากฝั่งให้เข้มแข็ง, เพื่อส่งเสริมให้สังคมรับฟังเสียงของประชาชนคนธรรมดา และเพื่อเรียกร้องสันติภาพและความสงบสุขให้กลับคืนมาในพื้นที่ชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ

สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์โดยเครือข่าย KTPR มีดังนี้

000

 

คณะกรรมการร่วมเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประชาชนกัมพูชาและไทย
(Joint Committee for Khmer& Thai Relationship Building - JC/KTPR)

ข้อเสนอต่อรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย

คณะกรรมการร่วมเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างประชาชนกัมพูชาและไทย เป็นความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการอันประกอบด้วยกลุ่มพุทธศาสนิกชนกัมพูชา องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่องค์กรทางศาสนา และองค์กรพัฒนาเอกชนไทย บุคคล นักวิชาการ และประชาชนที่เป็นห่วงใยต่อความสมานฉันท์ และสันติภาพระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เราเฝ้าสังเกตบริเวณชายแดนกัมพูชา ไทยอย่างวิตกกังวลในการเพิ่มขึ้นของความรุนแรง และขอเสนอความเห็น ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั้งสองประเทศดังนี้

1) หยุดการสู้รบที่ชายแดนและขอให้พิจารณาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี และเคารพในตัวบทกฎหมาย เพราะว่าความขัดแย้งทั้งปวงไม่สามารถจบลงได้ด้วยปืน ดังนั้นเราจึงขอให้ปัญหาความขัดแย้งยืนอยู่บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศและคุณธรรม

2) ให้เคารพสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของประชาชนท้องถิ่นทั้งสองประเทศ

3) ให้สนับสนุนความสมานฉันท์ สันติภาพและการพัฒนา บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศโดยให้รับฟัง เสียงของประชาชน ในพื้นที่

4) ให้ปฏิบัติตามนโยบายของอาเซียน

เราหวังว่าทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะยินดีรับข้อเรียกร้องและพิจารณาข้อเสนอของเรา

(ลงชื่อ)

อุบาสิกา โสทา โรส ตัวแทนของสมาชิกกัมพูชาคณะกรรมการร่วมฯ
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ตัวแทนสมาชิกไทยคณะกรรมการร่วม ฯ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แนะให้ชะลอตัดสินใจสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง

Posted: 09 Feb 2011 06:18 AM PST

คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา เชิญประธาน จนท.บริหาร เอ็มอาร์ซี ให้ข้อมูล เผยรายงานประเมินสิ่งแวดล้อม ชี้ 12 เขื่อนกั้นน้ำโขงสร้างผลกระทบมาก แนะชะลอการตัดสินใจอีก 10 ปี

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต  และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากร น้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดเสวนาประชาชน เรื่อง “โครงการไฟฟ้าพลังน้ำกับการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการและภาคประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก

นายเจเรมี เบริ์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) กล่าวว่าผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับพลังงานน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก ฉบับสมบูรณ์ ที่เพิ่ง ทำแล้วเสร็จในเดือนต.ค.53 หลังจากใช้เวลาถึง 16 เดือนเต็มว่า แผนพัฒนาเขื่อน 12 แห่งพบว่า 96% ของความต้องการพลังงานในปี 2568 มาจากไทยและเวียดนาม และเขื่อนจะผลิตไฟฟ้ามากถึง 14,697 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็น 23-28% ของศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานระดับชาติของ 4 ชาติในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ขณะเดียวกันยังง ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล ถ้าเทียบกับความสูญเสียจากผลกระทบอื่นๆโดยเฉพาะประมงความมั่นคงทางอาหาร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำโขง เที่ยบเท่ากับสูญเสียระดับโลก และความเสี่ยงต่อการลุ่มสลายของชุมชนในลำน้ำโขง เป็นต้น

เจเรมี กล่าวอีกว่า จากรายงานดังกล่าว ได้เสนอ 4 แนวทางเลือกดังนี้ 1.ควรให้ชะลอการตัดสินใจการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายหลักออกไป 10 ปี โดยอาจทบทวนทุกๆ 3 ปี  2.เป้าหมายในระหว่างการชะลอการตัดสินใจ คือการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการกั้นลำน้ำบางส่วน หรือการกั้นลำน้ำเพื่อให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน หรือระบบนวัตกรรมการสร้างเขื่อนอย่างอื่น โดยอาจไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนกั้นตลอดความกว้างของแม่น้ำ 3.ในช่วงชะลอการตัดสินใจควรต้องประเมินอย่างละเอียดแทนที่จะผลักดันโครงการ พัฒนาพลังงานน้ำในลำน้ำสาขาที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ไว้แล้ว และ4.ควรต้องเผยแพร่รายงานการประเมินชิ้นนี้ในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่าง เป็นระบบ เพราะเห็นว่าแม่น้ำโขงไม่ควรถูกใช้เป็นสนามทดลองในการปรับปรุงเทคโนโลยีการ สร้างเขื่อนพลังงานน้ำอย่างเต็มรูปแบบ

"ยอมรับว่าเอ็มอาร์ซี  ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจว่าต้องสร้าง หรือไม่สร้างเขื่อนในน้ำโขง แต่ข้อมูลการรประเมินชิ้นนี้ จะถูกส่งให้ประเทศสมาชิกใช้ข้อมูลตัดสินใจเท่านั้น"นายเจเรมี เบริ์ด ระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การประเมินสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในภาวะสงครามกับกัมพูชา

Posted: 09 Feb 2011 05:59 AM PST

หากความขัดแย้งตามแนวชายแดนในปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็นสงคราม อัตราความเสี่ยงของประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก  ปัญหาความขัดแย้งนี้จึงควรจบลงโดยเร็วหรือให้จำกัดวงความขัดแย้งเฉพาะบนโต๊ะเจรจา หรือใช้แนวทางสันติเป็นทางออก ทั้งนี้เนื่องจากทั่วโลกมีความขัดแย้งตามพรมแดนมากมาย แต่แทบจะไม่มีการใช้กำลังในปัจจุบัน

ในกรณีที่มีการยกระดับเป็นสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า มีพื้นฐานความมั่งคั่งมากกว่า มูลค่าการสูญเสียจึงจะมีเป็นจำนวนมาก เช่น:

1. อสังหาริมทรัพย์ตามแนวชายแดน ใน AREA แถลง ฉบับที่ 2/2554 เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทยและกัมพูชามีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท  <1>  หากสงครามยืดเยื้อ การค้าก็จะหดตัวลง และอาจหดตัวลงในระยะยาวเพราะการที่กัมพูชาหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น  นอกจากนี้ตลาดค้าขายชายแดนที่มีขนาดประมาณ 5,000 - 20,000 ตารางเมตร ก็จะด้อยค่าลงเพราะผลจากความซบเซาของการค้าขายแดน  กรณีนี้ยังจะส่งผลต่อประชาชนตามแนวชายแดนโดยตรง และหากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมและปัญหาอาชญากรรมด้วย

2. แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของนานาชาติในภาคตะวันออก เช่น พัทยา ระยอง จันทบุรีและตราดก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย พัทยาตั้งอยู่ห่างจากด่านชายแดนกัมพูชาเพียง 250 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง (เดินทัพ) เพียง 4 ชั่วโมง  กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่นี้ก็อาจรู้สึกไม่มั่นคงและย้ายฐานออกไป ทำให้ที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศรวมมูลค่านับแสนล้านมีมูลค่าลดลงอย่างชัดเจน

3. แหล่งอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของไทยคือมาบตาพุด ก็อาจได้รับความเสียหายร้ายแรง นักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนใหญ่จากประเทศรายอื่น ก็อาจถอนตัวออกไป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

4. สถานที่พักผ่อนตากอากาศอื่น เช่น ภูเก็ต สมุย หัวหินและอื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบเพราะอัตราความเสี่ยงของประเทศสูงขึ้น  ส่งผลให้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ลดลง  และหากสถานที่ตากอากาศของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ เช่น ลังกาวี ปีนัง บาตัม สิงคโปร์ บาหลี ฯลฯ พัฒนาขึ้น โอกาสที่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจะกลับมาใหม่จะน้อยลงอีก

5. แม้แต่อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครก็จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อันได้แก่อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัยหรูหราที่ให้ชาวต่างชาติซื้อหรือเช่าอยู่อาศัย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงของประเทศเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

จะสังเกตได้ว่าในประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามหลายแห่งทั่วโลก แม้มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย แต่ก็มีนักท่องเที่ยวน้อยมาก  แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นอินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีปัญหาความไม่สงบภายในประเทศเมื่อ 14 ปีก่อน ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเพียง 6.3 ล้านคนน้อยกว่าประเทศไทย (14.2 ล้านคน) สิงคโปร์ (7.5 ล้านคน) และมาเลเซีย (23.6 ล้านคน) เสียอีก <2>

จากการเปรียบเทียบอัตราความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนล่าสุดพบว่า ประเทศสิงคโปร์มีอัตราเสียงรวม (Total risk premium) ต่ำสุดคือ 5% ในขณะที่อัตราความเสี่ยงประเทศ (Country risk) อยู่ที่ 0%  ในขณะที่ไทย มีอัตราความเสี่ยงรวม และอัตราความเสี่ยงประเทศ อยู่ที่ 7.25% และ 2.25% ตามลำดับ  สำหรับกัมพูชาอยู่ในระดับต่ำสุดคือ มีอัตราความเสี่ยงรวม และอัตราความเสี่ยงประเทศ อยู่ที่ 12.5% และ 7.5% ตามลำดับ

การจัดอันดับประเทศและความเสี่ยง <3>

                        ประเทศ                 เครดิต         อัตราเสี่ยงรวม   อัตราเสี่ยงประเทศ

                        สิงคโปร์                    Aaa                   5.00%   0.00%

                       มาเลเซีย                      A3                   6.73%   1.73%

                              ไทย                  Baa1                   7.25%   2.25%

                    อินโดนีเซีย                    Ba2                   9.13%   4.13%

                       ฟิลิปปินส์                    Ba3                   9.88%   4.88%

                      เวียดนาม                      B1                 11.00%   6.00%

                         กัมพูชา                      B2                 12.50%   7.50%

 

หากประเทศไทยขยับอัตราความเสี่ยงประเทศจาก 2.25% เป็น 4% เพราะการยกระดับความขัดแย้งตามแนวชายแดนเป็นสงคราม ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ก็จะทำให้อัตราความเสี่ยงประเทศเพิ่มขึ้นจาก 7.25% เป็น 9% ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงประมาณ 19% [{(1/9%) / (1/7.25%)} -1]

ในโลกทุกวันนี้ยังมีปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนมากมาย รวมเกือบ 40 บริเวณ เกี่ยวข้องกับประเทศเป็นจำนวนมาก <4>  แต่มักแก้ไขด้วยสันติวิธี เช่น

1. Hans Island (ใกล้เกาะกรีนแลนด์) ระหว่าง Canada และเดนมาร์ก

2. หมู่เกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งทะเลแคริเบียน ระหว่างคิวบา สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

3. พื้นที่หลายบริเวณระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

4. พื้นที่ยุโรประหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี ฝรั่งเศสกับสเปน สเปนกับโปรตุเกส

5. พื้นที่เอเชียเช่นระหว่างอินเดียกับบังคลาเทศ บังคลาเทศกับพม่า กัมพูชากับเวียดนาม สิงคโปร์กับมาเลเซียและอินโดนีเซีย มาเลเซียกับอินโดนีเซีย

ดังนั้นการใช้สงครามแก้ไขปัญหาย่อมจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่หนทางที่ดี และมีแต่จะสร้างบาดแผลให้แก่ทุกภาคส่วน

การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธต้องหยุดลงในทันที

 

<1> โปรดดู www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement172.htm

<2> โปรดดู www.unwto.org/facts/eng/pdf/highlights/UNWTO_Highlights10_en_LR.pdf

<3> โปรดดู http://pages.stern.nyu.edu/~adamodar/New_Home_Page/datafile/ctryprem.html

<4> โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_territorial_disputes

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิตะเพิด “เจิมศักดิ์”: เมื่อเข้าประชาธิปัตย์ได้ แล้วได้สัมปทาน ก็เชิญไปอยู่ที่นั่นเลย

Posted: 09 Feb 2011 05:47 AM PST

สนธิโต้ข่าวรับเงิน “ทักษิณ” ชี้เป็นการปล่อยข่าวทำลายพันธมิตรฯ อัด “เนชั่น” ลงข่าวแบบนี้ได้เพราะเนชั่นเปลี่ยนไป เผยเสียใจ “เจิมศักดิ์” เอาข่าวไปอ่านซ้ำ ทั้งที่จัดรายการในเอเอสทีวีโดยไม่คิดค่าเช่าสักบาท ก่อนออกปากไล่ไปอยู่ประชาธิปัตย์ ลั่นถ้ายังไม่หยุดปล่อยข่าวจะขุด ปชป. มาแฉ

สนธิปฏิเสธไม่ได้ไปพบทักษิณที่คูเวต

สำหรับข่าวลือที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ว่า “มิสเตอร์ เอส.” เดินทางไปรับเงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศคูเวต เพื่อนำมาใช้เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ล่าสุด เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อคืนวานนี้ (8 ก.พ.) ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานฯ ช่วงหัวค่ำ โดยได้กล่าวถึงการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุกิจด้วย โดยนายสนธิกล่าวว่าเป็นวิธีการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่จะทำลายการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เหมือนกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในอดีตที่เคยทำลายชื่อเสียงของตนตั้งแต่จัดรายการเมืองไทยราย สัปดาห์สัญจร ด้วยการทำซีดีและหนังสือพิมพ์ออกมาแจก ซึ่งตนก็เฉย ถือว่าการศึกสงคราม หรือการสาดน้ำใส่กันก็มีเปียกกันบ้าง แต่นึกไม่ถึงว่ารัฐบาลหน้าขาวๆ แบบนี้จะใช้ความเลวทรามต่ำช้าทำแบบทักษิณมาทำลายชื่อเสียงคนอื่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณมีการจัดทีมมาด่าตนในเว็บไซต์ ทุกวันนี้ก็มีการจัดทีมงานมาปกป้องนายอภิสิทธิ์ในเว็บไซต์เช่นกัน

โดยนายสนธิได้แสดงภาพหนังสือเดินทาง และชี้ให้ดูตราประทับของ ตม.ไทย ตอนที่กลับเข้าประเทศ ซึ่งไม่ใช่ KU 0411 อย่างที่ข่าวบอก แต่เป็น CX712 และว่า ตนเดินทางไปจีนบ่อย จึงมีหนังสือที่เรียกว่าแทรเวลพาส ที่ทางการจีนออกให้ เพื่อให้สามารถเข้าช่องพิเศษในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งตนจะถือเข้าไปพร้อมหนังสือเดินทาง และไม่มีตรงไหนที่มีระบุว่าตนเดินทางกลับด้วยเที่ยวบิน KU 0411 นอกจากนี้ยังมีจดหมายจากผู้จัดการโรงแรมเพนนินซูล่า แสดงความขอบคุณที่ตนไปใช้บริการ ยืนยันว่า ตนอยู่ฮ่องกงตลอดช่วงวันที่ 22-24 ม.ค.

 

ข่าวแบบนี้ลงเนชั่นได้ เพราะเนชั่นเปลี่ยนไป

นายสนธิกล่าวต่อว่า ข่าวนี้ไปปรากฏในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเครือเนชั่น เพราะขณะนี้หนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่นเปลี่ยนไป เพราะหวังสินจ้างที่เครือเนชั่นได้ประโยชน์จากรัฐบาลประชาธิปัตย์มากที่สุด ด้วยการได้สัมปทานเวลาในสถานีโทรทัศน์หลายชั่วโมงต่อวัน มีการทำมาหารับประทานโดยละทิ้งอุดมการณ์ของสื่อมวลชนไป

เมื่อก่อนเจ้าของเครือเนชั่นคือสะใภ้ของตระกูลจึงรุ่งรืองกิจ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่นจะมีรายการสัมภาษณ์ที่เข้า ข้างทักษิณ ชินวัตร ตามความต้องการของเจ้าของ แต่ต่อมาพวกจึงรุ่งเรืองกิจออกไปเพราะเห็นว่าทักษิณคงไม่ได้กลับมาแล้ว จึงขายหุ้นให้นายเสริมสิน สมะลาภา ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ เครือเนชั่นจึงเปลี่ยนไป

นายสนธิกล่าวต่อว่า หากมีข้อมูลจากทำเนียบรัฐบาลนั้น สามารถตรวจสอบได้ทันที ไม่ใช่เรื่องยาก มีการกล่าวหาว่าตนรีบกลับในวันที่ 24 ม.ค.เพื่อให้ทันกับการชุมนุมวันที่ 25 ม.ค.โดยเดินทางจากคูเวตมาเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง เช่นเดียวกับนายชานนท์ ซึ่งเป็นการโกหกที่ไม่แนบเนียน เพราะสายการบินของคูเวตที่บินตรงไปฮ่องกงไม่มี นอกจากนี้ยังมีการใส่หมายเลขประจำตัว ตม.ปลอม เพื่อที่จะอ้างว่าตนมาพร้อมเที่ยวบิน KU 0411 ทั้งที่ ตม.มีแค่พันกว่าคน แต่ใส่หมายเลข 5 หมื่นกว่า

 

เผยเสียใจเจิมศักดิ์เอาข่าวไปอ่านซ้ำ ทั้งที่จัดรายการในเอเอสทีวีโดยไม่คิดค่าเช่าสักบาท

นายสนธิกล่าวอีกว่า ที่ตนเสียใจคือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เอาเรื่องจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ไปอ่านทางวิทยุ 92.25 ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นพวกของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว และอยากได้ทีพีไอคืน จึงไม่กล้าตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายเจิมศักดิ์จัดรายการคู่กับนายจิตรกร บุษบา ที่แดกดันพันธมิตรฯ อยู่ตลอด แล้วนำเรื่องดังกล่าวไปพูดแบบกำกวม

ที่เสียใจคือ คุณเจิมศักดิ์เป็นพันธมิตรฯ ของผมเขาจะใช้เวลารายการรู้ทันประเทศไทยในเอเอสทีวีเพื่อปกป้องพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไม่ว่าอะไร คุณเจิมศักดิ์ก็ได้เวลาในสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่ต่างจากเนชั่น และมีรายการในเอเอสทีวี 3 รายการ โดยที่เราไม่คิดค่าเวลาเลยแม้แต่ 1 บาท เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนร่วมรบ ส่วนรายได้จากรายการก็เข้ากระเป๋าคุณเจิมศักดิ์หมด เราสู้กับทักษิณแล้วประชาธิปัตย์มาเหยียบศพพวกเราเข้าไปมีอำนาจแล้วมาแกล้งเรา

ผมจึงจำเป็นเป็นต้องพูดถึงคุณเจิมศักดิ์ ทั้งที่ผมไม่เคยพูดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมไม่เคยขออะไรเขา อยากพูดอะไรก็พูดไป เป็นสิทธิเสรีภาพของคุณ ผมไม่เคยพูด เพราะว่าผมเห็นใจคุณที่ภรรยาคุณเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุณจึงทิ้งหลักการที่จะทำเพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อเอาใจนายกษิต ภิรมย์ เผื่อภรรยาของคุณจะได้เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ”

 

บอกเทพไท ศิริโชค ทีหลังทำให้เนียนหน่อย

นายสนธิกล่าวต่อว่า หากนายเจิมศักดิ์พูดสักคำหนึ่งว่าเรื่องนี้ยังไม่เชื่อ ถ้ามีโอกาสได้คุยกับนายสนธิแล้วจะเอาข้อมูลมาบอกอีกครั้ง ถ้านายเจิมศักดิ์พูดอย่างนี้จะไม่ว่าสักคำ แต่เรื่องนี้ ตนเชื่อว่าเป็นขบวนการ ซึ่งตนยังไม่รู้ว่าใครทำ อยากถามนายเทพไท เสนพงศ์ และนายศิริโชค โสภา ว่าพอจะรู้หรือไม่ว่าวิธีการที่สถุนแบบนี้ใครเป็นคนทำ

ทีหลังถ้าจะทำก็ให้มันเนียนหน่อย อย่าหลวมให้คนจับได้ นายเทพไทชอบตอบโต้นายจตุพร แต่เขาเหนือกว่านายจตุพรแค่หน้าตาดีกว่าเท่านั้น แต่ข้างในก็เหมือนๆ กัน เป็นคนนครศรีธรรมราชเหมือนกัน คนนครฯ ถ้าดีก็ดีจริงๆ รักชาติบ้านเมือง แต่ถ้าเลวก็เลวจริงๆ”

นายสนธิกล่าวอีกว่า นายเทพไทนั้นเคยเป็นหน้าห้องรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยมาก่อน เคยมีเรื่องอื้อฉาวกรณีการซื้อลูกถ้วยฉนวนสายไฟฟ้า ซึ่งถือว่าซื้อมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้ 20 ปีก็ไม่หมด เมื่อก่อนนายเทพไททำหน้าที่ปกป้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนนี้เลื่อนชั้นมาปกป้องนายกฯ

 

เรียกร้องให้อภิสิทธิ์รับผิดชอบ ก่อนอัดเรื่องพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาปรีดีในโรงหนัง

เด็กที่กรุงเทพธุรกิจ มันก็หลุดปากออกมา คุณไม่ต้องห่วง ผมเป็นซือแป๋ในวงการ ลูกศิษย์ผมมีอยู่ทุกฉบับ เขาบอกว่าพี่ลองไปถามนายเทพไทดู ผมไม่ติดใจ แต่พี่น้องรู้นัยไหมว่ามันต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของการชุมนุม เขาคงคิดแบบโง่ๆ ตามประสาลูกถ้วย คงคิดว่าจะแสดงให้เห็นว่าทักษิณกับสนธิจับมือกัน การยกระดับการชุมนุมเป็นไล่รัฐบาลนั้น เป็นเพราะเราจับมือกับทักษิณเพื่อไล่อภิสิทธิ์ ทำไมคิดโง่ๆ อย่างนี้”

นายสนธิกล่าวต่อว่า นายอภิสิทธิ์จะบอกว่าไม่รู้เรื่องนี้ไม่ได้ ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไปหาตัวการที่ทำร้ายทำลายคนอื่นแบบนี้มาให้ได้ เชื้อชั่วพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยตาย ไม่ว่าเรื่องจ้างคนตะโกนในโรงหนังเพื่อใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ไล่มาจนกล่าวหาว่า พล.ต.จำลองพาคนไปตาย ล่าสุดหาว่าตนรับเงินทักษิณ 3 รุ่นมาแล้วเชื้อชั่วไม่เคยตาย ผสมกับมีนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีอุดมการณ์เห็นแก่ประโยชน์จากสัมปทานเวลา ก็ปกป้องประชาธิปัตย์เพื่อจะได้สิทธิพิเศษ คิดโง่ๆ แบบนี้ ไม่เห็นชาติบ้านเมืองอยู่ในสายตา

 

เชิญเจิมศักดิ์ไปอยู่ประชาธิปัตย์ ลั่นถ้าไม่หยุดจะขุด ปชป. มาแฉ

นายสนธิย้ำว่า ที่เสียใจที่สุดคือกรณีนายเจิมศักดิ์ ซึ่งตนก็เงียบเรื่องของเขามาตลอด แต่พอเอาเรื่องนี้มาพูด ก็ต้องชี้แจงให้ฟังเพื่อความเข้าใจอันดี เราไม่คิดค่าเวลารายการทั้ง 3 รายการมา 4 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะฉะนั้นแล้ว วันนี้ในเมื่อนายเจิมศักดิ์เข้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ แล้วได้สัมปทาน ก็เชิญไปอยู่ที่นั่นเลย นายสนธิเหมือนพี่น้องที่นี่ คือชัดเจน รักเป็นรัก เกลียดเป็นเกลียด เอายังไงก็ได้ทั้งนั้น

นายสนธิกล่าวต่อว่า ถ้ายังไม่หยุด ตนจะขุดเอาเรื่องเก่าๆ แต่ละเรื่องๆ ออกมา เพราะตนมีเพื่อนที่นครศรีธรรมราชจำนวนมาก และรู้ว่านักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรไว้บ้าง

ต่อไปคุณกับผมต้องเจอกัน จนกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะตายไปก่อน ผมไม่มีวันลืม ผมไม่ได้อาฆาตแค้นอะไร แต่ผมคิดด่าคุณเป็นคนใช้ไม่ได้ เพราะคุณทำลายคนโดยไม่มีพื้นฐาน ทำลายพี่น้องพันธมิตรฯ ที่มาด้วยใจบริสุทธิ์ ไปหาว่าการยกระดับการชุมนุมไล่เจ้านายคุณเพราะสนธิไปรับเงินทักษิณมา มันไม่ได้ดูถูกผมอย่างเดียว แต่ดูถูกพี่น้องทุกคนที่มาที่นี้ด้วย”

 

เผยไปฮ่องกงเพื่อไปงานแต่งงานลูกเพื่อน พร้อมได้เงินมาจ่ายค่าเช่าดาวเทียม

นายสนธิได้กล่าวถึงการเดินทางไปฮ่องกงว่า เป็นการเดินทางที่ต่อเนื่องจากที่เคยไปเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนธันวาคม โดยได้รับเชิญให้ไปงานแต่งงานลูกชายชาวจีนชื่อ จาง กว๋อ ลี่ ที่ตนเคยช่วยเหลือไว้เมื่อครั้งที่เรียนปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการลอจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในเขตตอนใต้แม่น้ำแยงซี เกียง มีรถบรรทุก 5,000 คัน วิ่งทั่วประเทศจีน โดยก่อนกลับได้ให้ลูกชายนำของขวัญคริสต์มาสมาให้ตน 1 กระเป๋า เป็นเงินดอลลาร์ที่ตนนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา

นายสนธิกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.นายจาง กว๋อ ลี่ ได้โทรศัพท์มาชวนตนไปรับประทานอาหารที่ฮ่องกงด้วยกันในระหว่างที่ไปซื้อของ เตรียมงานตรุษจีน ตนจึงเดินทางไปพักที่โรงแรมเพนนินซูล่า และได้รับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งตนได้ขอยืมเงินมาจ่ายค่าดาวเทียมที่ค้างอยู่ 4 เดือน จึงได้เงินไปจ่ายค่าดาวเทียมที่ฮ่องกง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย

นายสนธิกล่าวว่า ถ้าต้องการเงินจากทักษิณ ตนคงรับไปแล้ว เพราะทักษิณเสนอให้มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 500 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ผ่านวาณิชธนกิจคนหนึ่งเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท

แต่ผมรับไม่ได้ที่จะให้ลูกชายผมอยู่แล้วมีคนมาชี้หน้าด่าลูกผมว่า พ่อมึงขายตัว แต่คุณเทพไท พวกคุณไม่รู้เอาเงินทองมาจากไหน มาทำสื่อกันเยอะเหลือเกิน อยากซื้ออุปกรณ์อะไรก็ซื้อ ของผมกว่าจะได้แทบตาย ได้พี่น้องช่วยมา ก็ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อความถูกต้อง เพื่อบ้านเมืองเท่านั้น ถ้าพวกคุณรักชาติบ้านเมือง บอกพวกคุณให้รับประทานน้อยลงหน่อย แล้วที่ฮุนเซนเอารองเท้าตบหน้านายกฯ ทุกวัน คุณรู้สึกอะไรไหม” นายสนธิกล่าว

 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร “พยานโจทก์” เชื่อจำเลยไม่เกี่ยวเหตุเผา

Posted: 09 Feb 2011 05:16 AM PST

คดีเผาศาลากลางมุกดาหารสืบพยานโจทก์นัดที่ 2 หัวหน้าฝ่ายรักษาความสงบฯ เทศบาล เบิกความ คนมาชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้เจตนามุ่งร้าย เพียงทำสัญลักษณ์ เชื่อจำเลยที่ถูกจับในที่เกิดเหตุไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ส่วนหัวหน้าชุดจับกุมรับ หลักฐานภาพถ่ายที่ใช้นำจับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยจุดไฟเผา 

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดมุกดาหารนัดสืบพยานโจทก์ในคดีเผาศาลากลางเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งพยานที่อัยการนัดมาให้การในวันนี้เป็นเจ้าหน้าที่เทศบาล 1 ปาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 4 ปาก โดยมีทนายจำเลย ทั้งจาก ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) และจากพรรคเพื่อไทย ทำการซักค้าน

 
จำเลยที่ 3 กับครอบครัวที่มารอรับขณะลงจากศาล

ป้องกันฯ เทศบาลมุกดาหารเชื่อผู้ก่อเหตุไม่ใช่จำเลยที่ถูกจับกุม

นายอดุลย์ ศิริมันต์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ เทศบาลเมืองมุกดาหาร เป็นพยานที่ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก โดยให้การว่า ในวันเกิดเหตุ (19 พ.ค. 53) ได้รับคำสั่งให้นำรถน้ำดับเพลิงและรถน้ำไปจอดเตรียมพร้อมไว้ข้างอาคารศาลากลาง พยานเห็นผู้ชุมนุมกองยางและจุดไฟเผาอยู่หน้าประตูรั้ว ดูแล้วไม่มีเจตนามุ่งร้าย เพียงแต่ทำเป็นสัญลักษณ์ ต่อมา ผู้ชุมนุมลำเลียงยางเข้ามาหน้าอาคารศาลากลางหลังเก่าโดยไม่มีท่าทีก้าวร้าวต่อเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมด้วยกัน รวมทั้งแกนนำได้ห้ามปรามไม่ให้จุดไฟเผา ผู้ชุมนุมก็ฟังแต่โดยดี เมื่อมีการมาปล่อยน้ำ ปล่อยยางรถดับเพลิง พยานเข้าไปห้าม ผู้ชุมนุมก็ฟัง แต่ภายหลัง มีผู้ชุมนุมจำนวนมากฮือเข้ามา พยานห้ามไม่ไหว รถดับเพลิงและรถน้ำจึงถูกปล่อยน้ำ ปล่อยลมยางจนหมด และใช้การไม่ได้ เมื่อไฟลุกไหม้อาคาร ได้มีการขอกำลังรถดับเพลิงจากหน่วยงานอื่นเข้ามา แต่รถไม่สามารถเข้าในบริเวณอาคารได้เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปดับไฟ และกลิ้งยางติดไฟออกมาเพื่อไม่ให้ไฟไหม้อาคาร พยานคิดว่าผู้ที่ก่อเหตุน่าจะเป็นคนที่ใช้ผ้าปิดหน้า ซึ่งเมื่ออาคารลุกไหม้แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้หนีออกไป เมื่อมีการสลายการชุมนุม จึงเชื่อว่าคนที่ถูกจับไม่ใช่ผู้ที่ก่อเหตุ

 

ตำรวจยันตอนเผาคนเสื้อแดงช่วยดับไฟ แต่คนสุมยางปิดหน้า ส่วนที่จับเพราะเห็นเป็นวัยรุ่น

พยานที่ขึ้นเบิกความคนที่ 2 คือ ด.ต.ธีรพงศ์ กนึกรัตน์ ประจำอยู่ สภ.ต.ป่าไร่ อ.ดอนตาล ในวันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้มาดูแลการชุมนุม พยานจำไม่ได้ว่าใครจุดไฟเผา เมื่อสลายการชุมนุมตอนประมาณ 15.00 น. พยานไม่ได้วิ่งไล่จับผู้ชุมนุมเนื่องจากขาเจ็บ แต่ได้ตามไปควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งตำรวจคนอื่นจับได้แล้ว พยานจึงไม่รู้ว่าจำเลยถูกจับได้ที่ไหน ไม่รู้ด้วยว่าเป็นผู้มาชุมนุมหรือผู้สังเกตการณ์ แต่ขณะที่พยานเข้าควบคุมตัว จำเลยไม่ได้ปิดหน้า หรือมีอุปกรณ์ในการเผาทำลาย

ด.ต.ภาคภูมิ หมื่นราชา จาก สภ.อ.นิคมคำสร้อย ขึ้นเบิกความคนที่ 3 พยานได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนในวันเกิดเหตุ ตั้งแต่เช้า การชุมนุมเป็นไปโดยปกติไม่มีเหตุรุนแรง แต่ตำรวจเริ่มควบคุมไม่ได้เมื่อมีข่าวการปราบที่ราชประสงค์ ประมาณเที่ยง พยานเห็นผู้ชุมนุมกลิ้งยางใส่น้ำมันเข้าในอาคารศาลากลางหลังที่ 1 แต่ จำหน้าไม่ได้เพราะมีการปิดหน้า แล้วก็มีผู้ชุมนุมที่ใส่เสื้อสีแดงและสีอื่นๆ ช่วยดับไฟ เมื่อมีคำสั่งให้สลายผู้ชุมนุมประมาณบ่ายสาม พยานและเพื่อนตำรวจได้วิ่งไล่ผู้ชุมนุมออกมา และมาจับได้ที่นอกรั้วศาลากลาง 3 คน พยานรับว่าคนที่พยานจับได้พยานไม่เห็นว่าเป็นคนเผา แต่จับเพราะเห็นเป็นวัยรุ่น

 

ตำรวจรับที่จับเพราะเห็นบางคนมาส่งยาง แต่ไม่มีรูปว่าจำเลยเผา

พยานปากที่ 4 พ.ต.ท.สัญญา แสงทอง หัวหน้าชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธร จ.มุกดาหาร ในวันเกิดเหตุมีหน้าที่บันทึกภาพ และหาข่าว พยานเห็นสามล้อเครื่องบรรทุกยางเก่ามากองไว้ที่หน้าศาลากลาง จำหน้าคนขับได้ 2 คน เนื่องจากรู้จักกัน แต่เห็นว่ามาส่งยางรอบเดียวก็กลับไป ไม่ได้ร่วมชุมนุม ขณะไฟลุกไหม้และสลายการชุมนุมก็ไม่พบว่าทั้งสองอยู่ด้วย ต่อมา หลังเหตุการณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดในการเข้าจับกุมผู้ต้องหาตามที่มีการออกหมายจับ ได้ทำการจับกุมคนทั้งสอง รวมทั้งจำเลยอื่นๆ อีก รวม 8 คน พยานรับว่า จำเลยที่ถูกจับมา พยานไม่เห็นว่าเป็นคนเผา เพียงแต่ดูจากภาพนิ่งที่ถ่ายไว้ และภาพดังกล่าวก็ไม่ได้ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดจุดไฟเผา

พ.ต.ท.ธีรพล มนต์ดี สวป.สภ.เมืองมุกดาหาร ขึ้นเบิกความเป็นปากสุดท้าย ให้การว่า วันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่ามีคนเสื้อแดงมาชุมนุมและเผายางหน้าศาลากลาง จึงมาสังเกตการณ์ในชุดนอกเครื่องแบบ เห็นผู้ชุมนุมกลิ้งยางมากองไว้ที่หน้ามุขของอาคาร พยานเห็นจำเลยคนหนึ่งในที่เกิดเหตุด้วย แต่ไม่เห็นทำอะไร นอกจากเดินไปเดินมา และพยานไม่เห็นว่าใครจุดไฟเผา เนื่องจากออกมาทานอาหารในขณะที่อาคารเกิดไฟลุกไหม้

เวลา 16.30 น. พยานทั้ง 5 ปากเบิกความเสร็จสิ้นลง ศาลมีคำสั่งนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554

ในการสืบพยานในครั้งนี้ ทนายจาก ศปช.ได้ร้องขอให้ญาติเข้ารับฟังด้วย โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตตามที่ทนายร้องขอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หวัดนกกระทบหนักผู้เลี้ยงไก่ในรัฐอาระกัน

Posted: 09 Feb 2011 04:55 AM PST

ทางการพม่ายังคงเร่งกำจัดสัตว์ปีกในพื้นที่ที่มีการระบาดไข้หวัดนก ในรัฐอาระกันอย่างต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เลี้ยงไก่ในพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นหมดตัว ขณะที่รัฐบาลพม่ายังไม่เข้ามาช่วยเหลือและจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแต่อย่างใด

“ไก่ของผมทั้งหมด 4 พันตัว มูลค่ากว่า 10 ล้านจั๊ต (ราว 3,759,398 บาท) ถูกทางการนำไปกำจัด จนถึงตอนนี้ ผมยังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆจากรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผมที่จะกลับไปตั้งต้นเลี้ยงไก่อีกครั้ง” เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุขและเทศบาลท้องถิ่นได้เริ่มกำจัดไก่ในพื้นที่ นับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา หลังพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองชิตต่วย ขณะที่ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอีกรายเปิดเผยว่า

“ฟาร์มของผมอยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่มีเชื้อไข้หวัดนกระบาด ดังนั้นจึงทำให้ไก่ในฟาร์มของผมถูกกำจัดไปด้วย ถึงแม้ว่าไก่จะไม่ได้ติดเชื้อด้วยก็ตาม เช่นเดียวกับฟาร์มอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ระบาดก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีไก่ที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อถูกกำจัดไปแล้ว 5 หมื่นตัว” เขากล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดอาจยิ่งประสบกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีรายงานว่า นอกจากจะไม่จ่ายเงินชดเชยแล้ว ทางการพม่าดูเหมือนจะไม่ยอมให้เงินกู้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกยังต้องจ่ายเงินค่าน้ำยาฆ่าเชื้อไข้หวัดนกที่ทางการนำมาพ่นในฟาร์ม รวมไปถึงยังต้องค่าแรงให้กับเจ้าหน้าที่ในการนำไก่ไปกำจัดอีกด้วย

ขณะที่ล่าสุด ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่ได้แล้ว แต่ยังคงเฝ้าจับตาระวังการระบาดระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด (Narinjara 9 ก.พ.54)

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบพยานโจทก์วันสุดท้าย คดีนปช.ยูเอสเอ

Posted: 09 Feb 2011 04:36 AM PST

วันที่ 9 ก.พ. 54 ในการสืบพยานโจกท์คดีฟ้องนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอ ว่ากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14,15 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าที่ พ.ต.ท.รัชพล ถิระอมรบุญ พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ปอท.) มาเบิกความเป็นพยานโจทก์

พยานโจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีนี้เบิกความว่า จากข้อมูลที่พนักงานสืบสวนให้ไว้ทำให้ทราบได้ว่าเซิรฟเวอร์ของเว็บไซต์นปช.ยูเอสเออยู่ต่างประเทศ คือที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ในส่วนของการกระทำที่เป็นความผิดตามคดีนี้ซึ่งปรากฏวันที่โพสต์เมื่อ 1 และ 13 มีนาคม 2553 นั้น เจ้าหน้าที่สืบสวนมิได้ตรวจสอบว่า มาจากหมายเลขไอพีใด และในการตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2553 ของจำเลยนั้น ปรากฏการใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านบริการหลายลักษณะ อาทิ HTTP และ FTP ซึ่งพยานโจทก์แจ้งว่ารู้จักการใช้งานระบบ HTTP แต่ไม่รู้จักระบบ FTP และไม่ทราบว่าใช้งานอย่างไร และในวันจับกุมตัวนั้น พยานโจทก์ได้ให้จำเลยลองเข้าสู่ระบบ (Log In) ให้ดูต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อใส่รหัสแล้วเข้าสู่ระบบไม่สำเร็จ

พยานโจทก์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวลูกชายวัย 10 ขวบของนายธันย์ฐวุฒิมาที่สถานีตำรวจด้วย การสอบเกิดขึ้นติดต่อกันสองวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 เม.ย. 2553 เวลาราว 19.00 น.ซึ่งสอบสวนจนกระทั่งเวลา 22.00 น. และสอบสวนต่อในเช้าวันเสาร์ที่ 2 เม.ย. 54 เวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่ให้จำเลยติดต่อคนมารับลูกชายแต่ไม่สามารถติดต่อใครได้ จำเลยและลูกชายจึงพักอยู่ที่สถานีตำรวจตลอดทั้งคืน

พยานกล่าวด้วยว่า ในระหว่างการสอบสวนยังพบว่ามีรายชื่อนามแฝงอื่นๆ ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปอท.ยังมีผังที่ได้รับมาจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งคนเหล่านั้นทั้งหมดอยู่ต่างประเทศ โดยจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า เว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอมีคนดูแลมาแล้วก่อนหน้า จำเลยมีหน้าที่ตกแต่งให้เว็บไซต์สวยงามขึ้น โดยได้รับรหัสล็อกอินและรหัสผ่านจากบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการสอบพยานโจทก์ในวันนี้ ‘น้องเว็บ’ วัย 10 ปี บุตรชายของนายธันย์ฐวุฒิ ได้เข้าฟังการสืบพยานด้วย โดยนายธันย์ฐวุฒิได้โอบกอดลูกชายด้วยน้ำตานองหน้าก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้น เนื่องจากถูกจำคุกมากกว่า 10 เดือนโดยไม่ได้พบบุตรชาย ส่วนในวันพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) จะเป็นการสอบพยานจำเลย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มีผู้ลอบยิงป้อมตำรวจพม่าในรัฐฉาน บาดเจ็บหลายราย

Posted: 09 Feb 2011 03:06 AM PST

กองกำลังไม่ทราบฝ่ายกราดยิงป้อมตำรวจของพม่า ที่เมืองกุ๋นฮิง รัฐฉานตอนใต้ ผลตำรวจเจ็บ 3-4 ราย เผยเป็นป้อมที่สร้างหลังจากทหารพม่าพยายามตั้งฐานบริเวณดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ตำรวจประจำป้อมเรียกเก็บเงินยานพาหนะที่ผ่านไป-มา อ้างนำไปบำรุงเทศบาล-ตำรวจ ขณะที่ในพื้นที่ทหารพม่ายังปะทะกับทหาร SSA อย่างต่อเนื่อง

มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันอาทิตย์ (6 ก.พ.) ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบฝ่ายและจำนวนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนยิงถล่มเข้าใส่ป้อมตำรวจพม่าแห่งหนึ่งในตำบลกาลิ เขตเมืองกุ๋นฮิง ในรัฐฉานตอนใต้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ที่ป้อมได้รับบาดเจ็บ 3-4 ราย

ทั้งนี้ ขณะเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ที่ป้อมซึ่งมีอยู่ราว 10 – 20 นาย ก็ได้ระดมยิงตอบโต้เช่นกัน โดยใช้เวลานานกว่า 30 นาที ผลจากการยิงตอบโต้จากฝ่ายตำรวจพม่าส่งผลให้บ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความหายหลายหลัง ขณะที่คนร้ายสามารถหลบหนีไปได้

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุเป็นใคร ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งเผยว่า คนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มผู้ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตั้งป้อมตรวจทางเข้าออกหมู่บ้านและเรียกเก็บเงินผู้เดินทางผ่านไปมาบ่อยครั้ง ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มเชื่อว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นทหารกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SSA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เพื่อหวังก่อกวนการก่อตั้งกองทัพภาคใหม่ของกองทัพพม่า ซึ่งเมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมา ในพื้นที่นี้เคยเกิดเหตุกองกำลังไทใหญ่ SSA บุกถล่มฐานทหารพม่าแล้วครั้งหนึ่ง

สำหรับป้อมตำรวจดังกล่าวถูกตั้งขึ้นหลังจากทางกองทัพพม่าเริ่มเข้าไปจัดตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ในพื้นที่ตำบลกาลิ เขตเมืองกุ๋นฮิง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกองทัพภาคแห่งใหม่นี้เรียกว่า "กองทัพภาคตะวันออกกลาง"

ด้านเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า นับตั้งแต่โครงการตั้งกองทัพแห่งใหม่เริ่มขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเรียกเก็บเงินยานพาหนะที่ผ่านไปมาอย่างน้อยคันละ 3,000 จั๊ต (ประมาณ 100 บาท) ขณะที่ร้านค้าในพื้นที่ก็ถูกเรียกเก็บเงินตั้งแต่ 1 แสนจั๊ต (ราว 3,500 บาท) ถึง 4 แสนจั๊ต (ราว 14,000 บาท) โดยเจ้าหน้าที่ระบุจะนำไปสนับสนุนหน่วยงานเทศบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุในช่วงเช้าของวันต่อมา ทางผู้บังคับบัญชาทหารพม่าประจำเมืองกุ๋นฮิง ได้ลงตรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุ พร้อมกับมีคำสั่งกำชับใช้กำลังพลรวมถึงกองกำลังอาสาสมัครให้มีการเข้มงวดและ อยู่อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นับตั้งแต่กองทัพรัฐบาลทหารพม่าเริ่มเข้ามาเริ่มโครงการก่อตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ ในพื้นที่ตำบลกาลิ เขตเมืองกุ๋นฮิง กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SSA กลุ่ม พล.ท.เจ้ายอดศึก ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ได้ซุ่มโจมตีทหารพม่าและทั้งสองฝ่ายได้เกิดการ ปะทะกันอย่างต่อเนื่อง โดยการปะทะเกิดขึ้นอาทิตย์ละอย่างน้อย 2-3 ครั้ง

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายละเอียดการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 7 เขต ทั่วกทม.

Posted: 09 Feb 2011 02:34 AM PST

อ่านรายละเอียดการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีระหว่าง 9 – 23 ก.พ. 54 ในพื้นที่ 7 เขตของ กทม. พร้อมออกประกาศ 3 ฉบับ ออกข้อกำหนด 5 ข้อ ตาม ม.18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พร้อมให้อำนาจเจ้าพนักงานใช้กฎหมาย 18 ฉบับ 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 7 เขตของ กทม. ระหว่างวันที่ 9 ถึง 23 ก.พ. 2554 โดยมีการออกประกาศทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ หนึ่ง “ประกาศเรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” สอง “ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551”

และสาม “ประกาศ เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย” โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งสิ้น 18 ฉบับ โดยคำสั่งทั้ง 3 ฉบับที่นายอภิสิทธิ์ประกาศ มีรายละเอียดดังนี้

 

ประกาศ
เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ด้วยสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่จัดชุมนุมอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดความเดือดร้อน มีการปิดกั้นการจราจร และประกาศจะยกระดับการชุมนุม โดยอาจมีการเคลื่อนไหวตามเส้นทาง รวมทั้งขู่ปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง รวมถึงมีบางกลุ่มที่ประกาศว่าจะจัดชุมนุมใหญ่ในพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ประกอบกับการชุมนุมของกลุ่มพลังต่าง ๆ ดังกล่าว มีเจตนาดำเนินการในลักษณะยืดเยื้อ และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกัน หรือกับประชาชนผู้สุจริต และอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มก่อเหตุระหว่างการชุมนุม ขยายลุกลามจนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิส่วนบุคคล หากไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเหมาะสม จะเกิดผลเสียหายต่อการปฏิบัติราชการแผ่นดินของรัฐบาล เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ของชาติโดยรวม

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความสงบและความปลอดภัยมีเอกภาพและเป็นไป ด้วยความเรียบร้อย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขมิให้ สถานการณ์ขยายตัวลุกลาม เป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบหรือหากเกิดสถานการณ์ขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ดังต่อไปนี้

 1. ในเขตพื้นที่ เขตพระนคร เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

 2. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงาน ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ

 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

 ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

 

 (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

 นายกรัฐมนตรี

 

 

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ตามที่ได้ประกาศให้เขตพื้นที่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการนั้น

เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราช อาณาจักรดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราช อาณาจักร โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ออกข้อกำหนดดังนี้

1. ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่าง หนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2. ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

3. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

4. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด

5. ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

ในการนี้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่ เหตุได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

 

 (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

 นายกรัฐมนตรี

 

 

ประกาศ
เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราช อาณาจักรในเขตพื้นที่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตวัฒนา และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการนั้น 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจดำเนินการในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับ การอนุญาต อนุมัติสั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการ ประกาศพื้นที่ และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 

2. พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 

3. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

4. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

5. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 

6. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 

7. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 

8. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 

9. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 

10. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

11. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 

12. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 

13. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 

14. พระราชบัญญัติวิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498 

15. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 

16. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม 

17. ประมวลกฎหมายอาญา

18. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ให้มีอำนาจดำเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น โดยการใช้กฎหมายดังกล่าวให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความ เดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ในการนี้ การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไป ซึ่งยังครอบคลุมหน้าที่ตามปกติ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

 

(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

นายกรัฐมนตรี

 

 

ที่มา: รวบรวมจาก ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

[1] ประกาศ พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 8/2/2011 

[2] ข้อกำหนดเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 8/2/2011

[3] การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 8/2/2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น