โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ (อีกครั้ง) 10 ธ.ค.ที่อยุธยา ดูท่าที ‘สุเทพ’ 6 ธ.ค.นี้

Posted: 05 Dec 2013 11:27 AM PST

'เหวง' เผยเสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่เพื่อปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ลั่นไม่ยอมให้ 'สุเทพ' โค่นแล้วนำนายกฯ มาตรา 7 มาใช้แทน ขู่กลับห้ามบุกยึดสนามบินเด็ดขาด ด้านเพื่อไทยไม่เชื่อจะเผด็จศึกรัฐบาลได้ใน 6 ธ.ค.แค่สร้างราคา 'ปชป.'เย้ยรัฐ ซื้อเวลาต่ออำนาจ
 
<--break->
 
เสื้อแดงนัดชุมนุมใหญ่ (อีกครั้ง) 10 ธ.ค.ที่อยุธยา
 
5 ธ.ค.2556 มติชนออนไลน์รายงาน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนํา นปช.กล่าวว่า การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อ้างเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 เพื่อขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 เป็นการอ้างแบบวิปริต เพราะไม่สามารถนำเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เป็นรัฐบาลเผด็จการทำรัฐประหารตัวเองมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้
 
เหวงกล่าวต่อว่า ส่วนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นจะขอรอดูท่าทีของนายสุเทพที่ประกาศจะเผด็จศึกรัฐบาลในวันที่ 6 ธ.ค.ก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะปกป้องรัฐบาลถึงที่สุด ซึ่งในวันที่ 10 ธ.ค.คนเสื้อแดงจะจัดชุมนุมใหญ่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อประกาศปกป้องรัฐสภาและรัฐบาลชุดนี้ คาดว่าจะมีคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน
 
"เราไม่อยากชุมนุมในกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายให้เกิดการเผชิญหน้ากันอีก ที่ผ่านมาวิธีการของนายสุเทพเดินตามรอยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทุกอย่าง แต่ขณะนี้นายสุเทพจนแต้มแล้ว จึงขอเตือนว่าในวันที่ 6 ธ.ค.ที่บอกว่าจะเผด็จศึกรัฐบาลนั้น อย่าไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิเด็ดขาด" เหวงกล่าว
 
 
เพื่อไทยไม่เชื่อจะเผด็จศึกรัฐบาลได้ใน 6 ธ.ค.แค่สร้างราคา
 
5 ธ.ค.2556 ไทยรัฐออนไลน์รายงาน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ ทางพรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุม ส.ส.พรรคเป็นกรณีพิเศษ เพื่อหารือสถานการณ์การเมือง กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปลุกระดมมวลชนเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งข้อเสนอจัดตั้งสภาประชาชน และนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
 
การอ้างเรื่อง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ พระราชทาน ช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 นั้น ธรรมนูญการปกครองขณะนั้นไม่ได้ระบุว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดให้นายกฯ มาจาก ส.ส.เท่านั้น อย่าทำตัวเป็นศรีธนญชัยทางการเมือง หากจะให้มีนายกฯ มาตรา 7 พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291
 
ส่วนที่นายสุเทพประกาศเผด็จศึกรัฐบาล ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ เป็นแค่การดึงมวลชนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง สร้างราคาให้ตัวเอง ไม่เชื่อว่านายสุเทพจะล้มรัฐบาลได้ ก่อนหน้านี้ ก็ประกาศล้มรัฐบาล ภายในวันที่ 30 พ.ย. และประกาศยกระดับการชุมนุมหลายครั้ง ขอเรียกร้องผู้ชุมนุมอย่าตกเป็นเหยื่อ สุดท้ายนายสุเทพต้องตกม้าตาย
 
 
'ปชป.'เย้ยรัฐ ซื้อเวลาต่ออำนาจ
 
ในวันเดียวกัน (5 ธ.ค.2556) ไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป. กล่าวถึงการที่ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเขียนบทเฉพาะกาล ว่าในช่วงที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง ขอให้มีนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเฉพาะกาลที่มาจากคนนอก ว่า ขณะนี้การเสนอแนวทางต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย เป็นเพียงการซื้อเวลาให้รัฐบาล เพราะถ้ามีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องต่างๆ ก็คงไม่บานปลายจนถึงขนาดนี้ รวมทั้งเป็นการยื้อเวลาเพื่อรักษาอำนาจให้รัฐบาลเท่านั้น
 
ทั้งนี้ สิ่งแรกที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยเห็นนายกฯ จะรับผิดชอบอะไร
 
อย่างไรก็ตาม วันนี้ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่ต้องเสนอแนวทางอะไร เพียงแต่ให้แสดงความรับผิดชอบเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า นายกฯ จะไม่ตระบัดสัตย์กับประชาชนอีกแล้ว        
 
 
ผอ.ศูนย์สันติวิธีฯ ม.มหิดล พร้อมเป็นคนกลางหาทางออกชาติ
       
5 ธ.ค.2556 ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงาน นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะเสนอชื่อตนเป็นตัวกลางในการดำเนินการเปิดเวทีทางวิชาการ เพื่อพูดคุยทุกภาคส่วนในการหาทางออกให้กับประเทศ
 
ส่วนตัวหากสามารถช่วยอะไรที่จะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้โดยแนวทางสันติวิธีก็พร้อมที่จะช่วย แต่ขณะนี้เห็นว่ายังไม่ได้เริ่ม ซึ่งการจัดเวทีต้องเป็นเวทีที่เปิดกว้าง รับทุกความคิดเห็นเข้ามา เป็นเวทีที่ใครคับข้องใจสามารถมาพูดกันได้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้  ซึ่งปัญหาทางการเมืองขณะนี้ต้องใช้เวลาในการเยียวยา พูดคุยหลายรอบ หลายเวที และหลายฝ่าย  เพื่อให้เสียงดังจนสังคมสนใจ หากเสียงสอดคล้องกันก็จะเดินหน้าได้ แต่หากยังอึมครึมก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.รส.เล็งขอหมายจับผู้บริหารบลูสกาย ข้อหาสนับสนุนกบฏ

Posted: 05 Dec 2013 10:50 AM PST

ศอ.รส. เล็งขอหมายจับผู้บริหารบลูสกาย ข้อหาสนับสนุนการก่อกบฏ ยันไม่ปิดกั้นการออกอากาศ ด้าน กทม.-ผู้ว่าฯ อาจโดนด้วย ผอ.บลูสกาย ยันทำหน้าที่สื่อ รายงานความเคลื่อนไหวประชาชน พร้อมต่อสู้ตามกฎหมาย

5 ธ.ค.2556 ที่ ศอ.รส. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กำกับดูแล ศอ.รส. แถลงว่า นัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ หลังจากนายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์จัดทำแผนและประสานงาน มีตนเองเป็นประธาน มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ และ จารุพงศ์ เรืองสุวรณ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธาน นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการด้านกฎหมาย มี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน คณะกรรมการดูแลประชาชน มี รมว.มหาดไทยเป็นประธาน และคณะกรรมการด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ มี  รมว.ไอซีทีเป็นประธาน

สุรพงษ์กล่าวอีกว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ มีข้อสรุปหลายประเด็น การดำเนินการของคณะทำงานที่ปฏิบัติงานตั้งแต่ในตอนนี้ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก อย่างกรณี สุเทพเป็นผู้ต้องหากบฏ ดังนั้นผู้สนับสนุนสุเทพ จะถือว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนผู้ที่เป็นกบฏ ต้องมีความผิดแน่นอนตาม ม.114 ต้องใช้ข้อกฎมายให้ชัดเจน ซึ่งได้กำชับ ผบ.ตร.ออกหมายจับผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งทางดีเอสไอและ ผบ.ตร.คงทยอยออกหมายจับต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมผู้สนับสนุนรายใดบ้าง สุรพงษ์กล่าวว่า จากการหารือรายแรก คือ สถานีบลูสกาย แต่ไม่ใช่เป็นการปิดสถานี เพียงแต่ผู้บริหารบลูสกายนั้นชัดเจนว่าให้ความสนับสนุนนายสุเทพ ผิด ม.114 ดังนั้นบลูสกายจะต้องเจอหมายศาลอย่างแน่นอน ส่วนจะมีรายอื่นเข้ามาด้วยหรือไม่ คงต้องรอ จะมีการออกหมายจับเป็นระยะๆ โดยจะเน้นที่แกนนำก่อน สำหรับผู้ชุมนุมจะยังไม่พิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่จะเริ่มทยอยออกหมายจับ และเมื่อเราออกหมายศาลแล้วมามอบตัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มามอบตัวเมื่อทุกอย่างจบก็คงต้องติดคุกหัวโต เพราะคดีดังกล่าวมีโทษจำคุก 3-15 ปี ต่างกรรมต่างวาระกันไป

ต่อข้อถามว่านอกจากบลูสกาย ยังมีหน่วยงานอื่นที่จะออกหมายจับอีกหรือไม่ สุรพงษ์ กล่าวว่า มีแน่นอน เพราะกำชับดีเอสไอไปแล้ว จะออกหมายจับทั้งบริษัทและห้างร้านที่ให้การสนับสนุน เพียงแต่วันนี้เน้นบลูสกายเพราะชัดเจน

"นอกจากนี้ในส่วนของ กทม.ที่ให้การสนับสนุนกบฏ ถือว่าผิด ม.114 เช่นกัน อย่างเช่นนำส้วมไปให้ใช้ หรือรถน้ำไปให้ก็มีความผิด กทม.ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย วันนี้ได้กำชับกระทรวงมหาดไทยแล้ว ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปก่อน เพราะหลักฐานที่มีอยู่ชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลือกบฏ ต้องถูกจับกุมทั้งหมด ซึ่งไม่คิดว่าจะเพิ่มความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพราะเราว่ากันตามกฎหมาย แม้แต่ตัวผู้ว่าฯ กทม.ถ้ามีความผิดชัดเจนก็ต้องถูกดำเนินการเช่นกัน" รองนายกฯกล่าว

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าจะออกหมายศาลเพื่อจับกุมผู้ว่าฯ หากมีหลักฐานชัดเจนอย่างนั้นหรือ สุรพงษ์กล่าวว่า แน่นอน เพราะเรารู้ว่ามีการสนับสนุนก็ต้องโดนแน่ๆ ใครทำผิดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะทำในทุกๆ แนวทาง โดยเราจะไม่ปล่อยคนทำผิดกฎหมาย ซึ่ง รมว.ยุติธรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

 

ผอ.บลูสกายลั่นทำหน้าที่สื่อตาม กม.

ขณะ เถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ต่อกรณีดังกล่าวว่า การทำหน้าที่ของบลูสกายเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยรายงานเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หาก ศอ.รส.จะดำเนินการเอาผิด ก็ขอให้ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมตามกรอบกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลต้องใช้อำนาจไต่สวนข้อกล่าวหา โดยทางสถานีก็พร้อมให้ความร่วมมือชี้แจงต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ เถกิงระบุด้วยว่า แทนการตรวจสอบในประเด็นนี้ ควรตรวจสอบประเด็นที่สถานีบลูสกายถูกรบกวนสัญญาณมากกว่าว่าเป็นการดำเนินการจากฝ่ายใด พร้อมเตือนว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามปิดสถานีบลูสกาย ซึ่งหากวันใดสถานีเกิดจอดำขึ้นมา มวลชนที่เคยติดตามสถานการณ์ผ่านโทรทัศน์จะออกมาร่วมชุมนุมเพื่อดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง

 

ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด และโพสต์ทูเดย์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบผู้ใช้เว็บทั่วโลกรวมทั้งไทยถูกขโมยรหัสผ่านร่วม 2 ล้านรหัส

Posted: 05 Dec 2013 10:07 AM PST

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตพบว่า รหัสผ่านหรือพาสเวิร์ดของผู้ใช้เว็บไซต์ยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ ยาฮู ถูกขโมยร่วม 2 ล้านพาสเวิร์ดทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้ใช้ในไทยรวมอยู่ด้วย

5 ธ.ค.2556 สำนักข่าวไทย รายงานว่า คณะผู้เชี่ยวชาญในสไปเดอร์แลบส์ของบริษัททรัสต์เวฟในสหรัฐเผยว่า พบเรื่องนี้ระหว่างตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์ในเนเธอร์แลนด์ที่แก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ใช้ควบคุมเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ถูกเจาะระบบหรือที่รู้จักกันในชื่อ โพนีบอตเน็ต บริษัทได้แจ้งให้เว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 90,000 แห่งได้ทราบแล้ว

พาสเวิร์ดที่พบว่าถูกขโมยเป็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 326,000 บัญชี ของกูเกิล 60,000 บัญชี ของยาฮูกว่า 59,000 บัญชี และของทวิตเตอร์เกือบ 22,000 บัญชี เหยื่อมีทั้งผู้ใช้ในสหรัฐ เยอรมนี สิงคโปร์ ไทยและอีกหลายประเทศ ตัวแทนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชี้แจงว่า ได้ปรับพาสเวิร์ดของผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ส่วนกูเกิลและยาฮูยังไม่ชี้แจงใดๆ

สไปเดอร์แลบพบว่า พาสเวิร์ดที่ถูกขโมยมากที่สุดคือ 123456 มีผู้ใช้พาสเวิร์ดนี้ประมาณ 16,000 บัญชี รองลงมาคือการใช้คำว่า password admin 123 และ 1 นอกจากใช้พาสเวิร์ดที่ง่ายต่อการถูกขโมยแล้วหลายคนยังใช้พาสเวิร์ดเดียวกับบัญชีเว็บไซต์หลายบัญชีทั้งที่เสี่ยงถูกขโมยหมดทุกบัญชี

 

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพนำผู้ชุมนุม กปปส. สามเวที จุดเทียนชัยถวายพระพร

Posted: 05 Dec 2013 08:30 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ นำประชาชนที่ศูนย์ราชการ ถ.ราชดำเนิน กระทรวงการคลัง จุดเทียนชัยถวายพระพร พร้อมปฏิญาณว่าจะเป็นพลเมืองดีร่วมพิทักษ์ราชบัลลังก์และรัฐธรรมนูญ ซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักพอเพียง กตัญญูแผ่นดินไทย

ที่มาของภาพ: เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ

5 ธ.ค. 2556 - วันนี้ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ได้นำผู้ชุมนุมที่ศูนย์ราชการ และจุดชุมนุมอื่นๆ ได้แก่ ถ.ราชดำเนิน และกระทรวงการคลัง จุดเทียนชัยถวายพระพร ในวันเฉลิมพระนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยวันนี้ผู้ชุมนุม กปปส. งดการปราศรัยทางการเมือง 1 วัน

โดยสุเทพ ได้นำมวลชนกล่าวถวายพระพรว่า "ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ในนามของมวลมหาประชาชน ผู้มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยมวลมหาประชาชนผู้ยึดมั่นและมีอุดมการณ์ตรงกัน ทั้งที่มาร่วมชุมนุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นี้ และชุมนุมด้วยความจงรักภักดีอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เกิดมาภายใต้ร่มพระบารมีของผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อประเทศชาติและประชาชน"

"ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ประจักษ์แล้วว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ทรงทุ่มเทพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยมิหยุดหย่อน ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เพื่อประโยชน์อันจะเกิดแก่ประเทศชาติและพสกนิกร สมตามพระปฐมบรมราชโองการที่จะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่อาณาประชาราษฎร์จักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างสรรค์ผลงานและคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน"

"ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันมหาศาลนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณว่า จะรับใช้พระราชกิจเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ จะยึดมั่นและจรรโลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติธรรม ไม่ให้ถูกบิดเบือนไปในทางมิชอบ โดยผู้ไม่ประสงค์ดีต่อแผ่นดินและราชบัลลังก์"

"เนื่องในวโรกาสมหามงคล คล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2556 นี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลพร้อมกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดี เป็นพลังในการร่วมพิทักษ์ราชบัลลังก์และรัฐธรรมนูญ พร้อมกับขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญชวนมวลมหาประชาชน ตั้งจิตพร้อมน้อมอธิษฐาน ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย พระสยามเทวาธิราช และอำนาจแห่งสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก ได้โปรดบันดาลประทานชัยมงคลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ทรงพระเกษมสำราญพระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล สถิตสถาพรในไอศูรย์สิริราชสมบัติ เป็นพระมิ่งขวัญร่มฉัตรปกเกล้าเหล่าพสกนิกรตลอดกาลนาน"

นอกจากนี้ สุเทพ ยังนำผู้ชุมนุมถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยว่า "ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีเป็นพลังในการร่วมพิทักษ์ราชบัลลังก์และรัฐธรรมนูญ  จะทำหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกันเพื่อประโยชน์ของชาติ จะดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะยึดหลักความพอเพียง โดยยึดมั่นในกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อแผ่นดินไทย

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะรับใช้พระราชกิจในการดำรงไว้ซึ่งราชธรรมเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทจะยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพร้อมจะรวมพลังรวมใจ เพื่อร่วมพิทักษ์ราชบัลลังก์ และรัฐธรรมนูญในทุกวิถีทาง จวบจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพเจ้าเหล่ามวลมหาประชนชน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชดำรัส 5 ธันวา: บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ

Posted: 05 Dec 2013 04:44 AM PST

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสในการพระราชพิธีเสด็จออก ณ มหาสมาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ที่วังไกลกังวล หัวหิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในการพระราชพิธีเสด็จออก ณ มหาสมาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถวายพระพรชัยมงคล ด้านหลังคืออดีตนายกรัฐมนตรี (จากซ้ายไปขวา) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ช่วง 2523 - 2531 อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยระหว่างปี 2534 - 2535 และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 จนถึง 29 มกราคม 2551 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลถวายพระพร และขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยทหารทุกหน่วย ทุกเหล่าทัพ (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส แก่ผู้ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในการพระราชพิธีเสด็จออก ณ มหาสมาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ)

 

5 ธ.ค. 2556 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า วันนี้ (5 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากตำหนักเปี่ยมสุข ไปยังท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎล มหาเศวตฉัตร เจ้าพนักงานรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร เจ้าพนักงานชูพุ่มดอกไม้ทองให้สัญญาณ ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก ประโคมแตร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลง เพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะนั้น ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ 21 นัด พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพร ชัยมงคลตามลำดับ

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จออกหน้าพระที่นั่งพุตตานกาญจนสิงหาสน์ กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนพระบรมวงศานุวงศ์ ต่อจากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ,นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลพระกรุณา กล่าวนำทหารรักษาพระองค์ถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ทหารถวายคำสัตย์ปฏิญาณ  

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส แก่ผู้ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในการพระราชพิธีเสด็จออก ณ มหาสมาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล ความว่า

"ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญา ข้าพเจ้าขอแสดงสนองพรและไมตรีจิตนั้นด้วยใจจริง เช่นกัน บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้ สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มาก และตั้งใจประพฤติ ตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้มีแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป"

จากนั้น ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคมทั้งหมด ถวายความเคารพ ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

135 คณาจารย์ ชี้ 4 ข้อ ปัญหาท่าทีที่ประชุมอธิการบดี

Posted: 05 Dec 2013 12:08 AM PST

                   
5 ธ.ค.2556 คณาจารย์ 135 คน ร่วมลงนามใน 'จดหมายเปิดผนึกจากคณาจารย์กลุ่มหนึ่งต่อท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีในสถานการณ์วิกฤติการเมือง' ไม่เห็นด้วยต่อการแสดงท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในสถานการณ์วิกฤติการเมืองปัจจุบัน โดยระบุไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาคมทางวิชาการของประเทศ และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
 
จดหมายเปิดผนิดดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
 
 
 
จดหมายเปิดผนึกจากคณาจารย์กลุ่มหนึ่งต่อท่าทีของที่ประชุมอธิการบดีในสถานการณ์วิกฤติการเมือง
                         
เรียนที่ประชุมอธิการบดี
                         
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามดังต่อไปนี้ มีความเห็นว่าท่าทีของที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.)
ในสถานการณ์วิกฤติการเมืองในห้วงเวลานี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาคมทางวิชาการของประเทศ และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว ด้วยเหตุผลสี่ประการ
                         
                        1. ในการประชุมและการแถลงท่าทีของ ทปอ.ต่อสถานการณ์ทางการเมือง ทปอ.ได้จัดการประชุมกันเอง โดยไม่ได้จัดรับฟังความเห็นและข้อถกเถียงจากประชาคมมหาวิทยาลัยของตนเองเลย การบริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนั้นมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ซับซ้อนและคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะหลักการมีส่วนร่วมและพร้อมรับผิดชอบ (accountability) มิได้ปล่อยให้อธิการบดีเอาความเป็นสถาบัน และภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกไปใช้ในทางการเมืองโดยไม่ฟังเสียงประชาคมของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นิสิตนักศึกษา
                         
                        2. การนำเสนอความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองของ ทปอ.ในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเสนอทางออกต่อวิกฤติทางการเมืองโดยการนำเสนอเรื่องของรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลาง มีแนวโน้มที่จะขัดต่อหลักการและเจตจำนงของรัฐธรรมนูญเนื่องจากขาดการยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นหลักของความเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก อีกทั้งยังขัดต่อหลักนิติธรรมเองในแง่ของความถูกต้องทางกฎหมายและตามขั้นตอนของกฎหมาย การนำเสนอความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง กลับเปิดทางให้เกิดการตีความที่คลุมเครือและสุ่มเสี่ยงทีจะเกี่ยวพันกับเงื่อนไขนอกวิถีทางของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
                         
                        3. ข้อเสนอของ ทปอ.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อประโยชน์และความได้เปรียบทางการเมืองของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มอย่างชัดเจน ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้คือ นอกจากนำเอามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันสาธารณะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ทปอ. ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่ได้ปกป้องการทำหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย นั่นคือการให้บริการการเรียนการสอนต่อนิสิตนักศึกษาของตน เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นที่มีแนวโน้มหรือมีการใช้ความรุนแรงบนท้องถนน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาและที่ประชุม ทปอ.ควรแถลงเรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ จำกัดพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของประชาคมมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทำการเรียนการสอนดำเนินได้อย่างปกติ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรยืนหยัดต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว และเตือนสติขั้วขัดแย้งทางการเมืองให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นสำคัญ การประกาศงดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยต่อประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่ตามมาว่าการประกาศงดการเรียนการสอนในบางกรณีนั้นอาจกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้เช่นกัน
                         
                        4. ทปอ. ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและช่วยนำพาสังคมข้ามพ้นจากวิกฤติทางการเมืองในระยะยาว ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการของประชาคมของตน และของสังคมโดยรวม การที่ทปอ.นำมหาวิทยาลัยไปผูกอยู่กับจุดยืนทางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคน จึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศที่เชิดชูเสรีภาพและความหลากหลายทางความคิด และความอดทนอดกลั้นของประชาคมมหาวิทยาลัยและผู้คนในสังคม อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาสังคมข้ามพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะหน้า และจะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันสาธารณะที่รับผิดชอบต่อสังคมในระยะยาว
                         
                        รายชื่อคณาจารย์
 
  1. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. ไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  4. สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. นิติ ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  11. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  12. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  13. นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  14. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  15. ธนาพล ลิ่มอภิชาต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  16. เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  17. ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  18. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. ชลธิศ ธีระฐิติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  20. วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  21. ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  22. วรรณภา ตีระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  23. จันจิรา สมบัติพูนสิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  24. วสันต์ เหลืองประภัสสร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  25. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  26. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  27. ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  28. สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  29. ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  30. ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  31. กริช ภูญีญามา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  32. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  33. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  34. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  35. สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  36. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  37. สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  38. ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  39. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  40. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  41. วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  42. ปัทมาวดี โพชนุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  43. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  44. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  45. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  46. ธาริตา อินทนาม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  47. สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  48. อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  49. วันรัก สุวรรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  50. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  51. ประไพพิศ มุทิตาเจริญ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  52. พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  53. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  54. วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  55. วัฒนา สุกัณศีล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  56. อรัญญา ศิริผล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  57. พศุตม์ ลาศุขะ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  58. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  59. อิสราภรณ์ พิศสะอาด คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  60. อนุสรณ์ ติปยานนท์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  61. ศุภชัย ศุภผล คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  62. มาลินี คุ้มสุภา
  63. วัชรพล พุทธรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  64. จุฑามณี สามัคคีนิชย์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  65. วัชรพล ศุภจักรวัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  66. ทวีศักดิ์ เผือกสม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  67. เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  68. สิรักข์ แก้วจำนงค์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  69. พิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  70. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  71. ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี
  72. สุรัช คมพจน์ หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  73. ตฤณ ไอยะรา หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  74. อุเชนทร์ เชียงเสน หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  75. อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  76. ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล หลักสูตรภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  77. นฤมล กล้าทุกวัน หลักสูตรภูมิภาคศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  78. รจเรศ ณรงค์ราช สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  79. อันธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว.ปัตตานี
  80. อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว.ปัตตานี
  81. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  82. อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  83. หนึ่งกมล พิพิธภัณฑ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  84. ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  85. กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  86. สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  87. สุรัยยา สุไลมาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว.ปัตตานี
  88. อามีนี สะอีดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  89. ปิง วิชัยดิษฐ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  90. ฮาฟีส สาและ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  91. บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  92. พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  93. ณภัค เสรีรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  94. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  95. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  96. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  97. พุทธพล มงคลวรวรรณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  98. อภิชญา โออินทร์ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  99. อสมา มังกรชัย รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  100. เอกรินทร์ ต่วนศิริ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  101. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  102. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  103. ศุภวัชร์ มาลานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  104. พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  105. เนตรดาว เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  106. ธีรพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  107. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  108. บุญทิวา พ่วงกลัด คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  109. ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  110. กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  111. พิสมัย ศรีเนตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  112. ประเทือง ม่วงอ่อน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  113. จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  114. เฉลิมศักดิ์ ฉัตรดอกไม้ไพร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  115. ปุรินทร์ นาคสิงห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  116. มานิตา หนูสวัสดิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว.กำแพงแสน
  117. สุรินทร์ อ้นพรม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  118. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  119. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  120. ยุทธพร อิสรชัย สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  121. ธโสธร ตู้ทองคำ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  122. พิศาล มุกดารัศมี สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  123. ลาวัณย์ หอนพรัตน์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  124. ชลัท ศานติวรางคณา สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  125. งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  126. ชาญชัย ชัยสุขโกศล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  127. กรรณิการ์ ฉัตรดอกไม้ไพร พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน
  128. ธีระ ศิริธีรากุล คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  129. ปฤณ เทพนรินทร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  130. วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  131. อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  132. สุรดา จุนทะสุตธนกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
  133. ณฐิญาณ์ งามขำ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
  134. กตัญญู แก้วหานาม คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
  135. จิรภา พฤกษ์พาดี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวเอ็นบีซีวิเคราะห์ประท้วง'เซอร์เรียล'ที่ไม่ใช่ 'ปฏิวัติมวลมหาประชาชน'

Posted: 04 Dec 2013 09:45 PM PST

เอียน วิลเลียม นักข่าวเอ็นบีซี มองว่าสิ่งที่ผลักดันสถานการณ์การประท้วงในช่วงที่ผ่านมามีอิทธิพลจากการตกลงกันเบื้องหลังกับทหารหรือกลุ่มชนชั้นนำเก่าของไทย ซึ่งพยายามรักษาอำนาจด้วยวิธีการที่อันตรายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย


4 ธ.ค. 2556 เอียน วิลเลียม นักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ของสหรัฐฯ เขียนบทวิเคราะห์ข่าวพูดถึงการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการชุมนุมในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยบอกว่าการประท้วงในวันอังคาร (3 ธ.ค.) ที่ผ่านมามีความรู้สึก 'เซอร์เรียล' เล็กน้อย (เซอร์เรียล คือ น่าแปลกประหลาดราวอยู่ในภาวะเหนือจริง)

วิลเลียมเล่าว่า เหตุที่ทำให้รู้สึกเหนือจริงเพราะหลังจากมีการต่อสู้ปะทะกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมที่ขว้างปาก้อนหินกับฝ่ายตำรวจที่ยิงแก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ กระสุนยาง ตำรวจก็เปลี่ยนยุทธวิธีกระทันหัน โดยการนำแผงกั้นออกและให้ผู้ประท้วงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้ผู้ประท้วงประกาศชัยชนะทันที โดยที่รัฐบาลบอกว่า พวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงและลดความตึงเครียดของสถานการณ์

วิลเลียมแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาเห็นในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ "การปฏิวัติของมวลมหาประชาชน" แบบที่แกนนำสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวอ้าง โดยสุเทพได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และกลุ่มชนชั้นนำรอยัลลิสต์เก่า ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลยังคงได้รับการสนับสนุนจากคนที่อยู่นอกกรุงเทพฯ และยังคงชนะการเลือกตั้งได้ง่ายๆ

"คนที่มาเยือนเมืองหลวงกรุงเทพฯ ของไทยคงเห็นว่า มันดูเหมือนประดับประดาไปด้วยความทันสมัย แต่ในแง่การเมืองตอนนี้มันดูเหมือนอยู่ในยุคกลาง (medieval) และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เห็นกันแบบชัดๆ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเบื้องหลังซึ่งคอยชักนำเหตุการณ์" เอียน วิลเลียมกล่าว

บทความในเอ็นบีซีมีความเชื่อว่า คนอยู่เบื้องหลังการสร้างข้อตกลงในเหตุการณ์อาจเป็นราชสำนักและกองทัพ โดยมีสุเทพเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวเอ็นบีซีประเมินว่ากลุ่มคนในท้องถนนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีอยู่ราว 30,000 คน ซึ่งน้อยลงกว่าช่วงประท้วงเริ่มแรก

เอียน วิลเลียม ยังได้กล่าวถึงต้นตอของความขัดแย้งจากการที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร สามารถชนะการเลือกตั้งได้ในปี 2544 ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นนำที่มีความร่ำรวยผู้ใช้นโยบายประชานิยมในการสร้างฐานเสียงในภาคเหนือและอีสาน จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาจนถึงสมัยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่พรรคการเมืองของเขาก็ถูกขัดขวางหลายครั้งทั้งจากการรัฐประหารและจากกระบวนการศาล โดยที่ฝ่ายต่อต้านกล่าวหาทักษิณในเรื่องการคอร์รัปชั่นและนโยบายเกื้อหนุนคนจนอย่างไร้ประสิทธิผล แต่ในสายตาของกลุ่มชนชั้นนำเก่าแล้วพวกเขามองว่านโยบายประชานิยมของทักษิณเป็นการท้าทายอำนาจประมุขของประเทศ

เอียน วิลเลียม กล่าวถึงประเด็นอ่อนไหวในเรื่องการสืบสันตติวงศ์ โดยบอกว่าประเด็นนี้ในประเทศไทยยังคงพูดถึงอย่างเปิดเผยไม่ได้เพราะมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ และหลังจากมีการสืบสันตติวงศ์กลุ่มชนชั้นนำเก่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม วิลเลียมระบุว่า ผู้ที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่วิจารณ์ทักษิณคิดว่าจะไม่มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยในประเทศให้ดีขึ้นแทนการเรียกร้องให้ทหารหรือพระราชวังเข้าแทรกแซงทุกครั้งที่มีวิกฤติ

แม้ว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันกองทัพจะไม่ได้เข้าแทรกแซงอย่างเปิดเผย มีการยอมรับว่าการรัฐประหารในปี 2549 ล้มเหลว และบอกว่าจะไม่เลือกข้างในคราวนี้ แต่วิลเลียมบอกว่าทหารมีบทบาทอย่างมากในเบื้องหลังสถานการณ์ โดยฝ่ายแกนนำการประท้วงมีข้อเรียกร้องที่คลุมเครืออย่างการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็น "คนดี" ฟังดูคล้ายกับสิ่งที่กองทัพเคยพยายามทำเมื่อปี 2549 ที่ดูจะไม่ได้ผล

เอียน วิลเลียมบอกว่าชนชั้นนำเก่าของไทยดูจะโหยหาอดีตที่ชาวนาในภาคเหนือและภาคอีสานของไทยดูว่านอนสอนง่าย อยู่เป็นชนชั้นล่างสุดภายใต้ระบอบอุปถัมภ์พ่อปกครองลูก ชนชั้นนำเก่าคิดว่าปัญหาในปัจจุบันจะสามารถแก้ไขได้จากการลิดรอนสิทธิในการเลือกตั้งและอ้างว่าประชาชนลงคะแนนเสียงอย่างผิดๆ

"ซึ่งแนวคิดความต้องการแบบนี้เอง เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด" วิลเลียมกล่าว
 


เรียบเรียงจาก
Analysis: Thailand's 'people's revolt' is not quite as billed
http://worldnews.nbcnews.com/_news/2013/12/03/21735288-analysis-thailands-peoples-revolt-is-not-quite-as-billed?lite
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิทย์–สุภิญญา ชง กสทช. ถกวาระเร่งด่วน ชี้แจงผลกระทบการสื่อสารจากการชุมนุม

Posted: 04 Dec 2013 09:12 PM PST

สุภิญญา – ประวิทย์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพฯ ชงวาระเข้าที่ประชุม กสทช. 11 ธ.ค.นี้ เสนอถึงเลขากสทช. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การสื่อสาร ทั้งโทรคมนาคม และการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา

5 ธ.ค.2556 วานนี้ (4 ธ.ค.) สุภิญญา กลางณรงค์ และ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ทำบันทึกข้อความถึง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เรื่อง ขอให้จัดทำวาระเร่งด่วนเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม กสทช. เพื่อหารือผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ที่ได้มีเหตุการณ์ต่างๆ เป็นปัญหาอุปสรรคในการสื่อสารของประชาชนตามที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ

เช่น ปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะในสถานที่ชุมนุม เหตุการณ์การตัดไฟฟ้าในอาคารศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เขตบางรัก ที่ส่งผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ต ตลอดจนเหตุการณ์ที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) นำมวลชนไปยังสถานีโทรทัศน์ เพื่อกดดันให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวและคำแถลงของ กปปส. รวมถึงการที่สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้งดเว้นการรบกวนคลื่นและการออกอากาศของโทรทัศน์ดาวเทียม อันเนื่องมาจากสมาชิกของสมาคมถูกละเมิดสิทธิการทำหน้าที่ตามกฎหมาย จนล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตัวแทน กปปส. ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่สื่อของรัฐสองแห่ง ได้แก่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ โดยขอให้ กสทช. สั่งการให้สื่อของรัฐปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
         
ประวิทย์ กล่าวว่า การทำบันทึกเสนอถึง ลสทช. ครั้งนี้ เพื่อประสงค์ให้สำนักงานรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคม อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา โดยจัดทำเป็นวาระเพื่อการพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 11 ธันวาคม นี้ เพื่อได้ข้อสรุปในการชี้แจงต่อสาธารณชน รวมถึงตอบหนังสือ กปปส. ตลอดจนหาแนวทางป้องกันสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ อุณโณ : ระบอบ “ขาใหญ่”

Posted: 04 Dec 2013 07:36 PM PST

นักมานุษยวิทยาชื่อ Hansen และ Stepputat เสนอว่าขณะที่ประเพณีการศึกษาสถาบันกษัตริย์ในทางมานุษยวิทยาไม่สามารถช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างพระราชอาชญา (Royal Sovereignty) กับรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ได้ การ "บั่นเศียรพระราชาในทางสังคมศาสตร์" ของ Foucault ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเหตุใดกฎหมายที่วางอยู่บนความคิดเรื่องรัฐในฐานะศูนย์กลางของสังคมจึงยังคงแพร่หลายหากว่าอำนาจกระจัดกระจายอย่างที่ Foucault กล่าวไว้จริง พวกเขาเห็นว่าแนวคิดอำนาจสูงสุด (Sovereign Power) ของ Agamben สามารถช่วยให้ฝ่าสภาวะชะงักงันทางทฤษฎีดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายความสนใจจากการพิจารณาอำนาจสูงสุดในฐานะแหล่งสถิตย์ของอำนาจมาเป็นรูปแบบของสิทธิอำนาจที่ก่อตัวขึ้นบนความรุนแรง นอกจากนี้ พวกเขาเสนอแนวคิดอำนาจสูงสุดในทางปฏิบัติ (De Facto Sovereignty) หรือความสามารถในการสังหาร ลงทัณฑ์ และจัดระเบียบวินัยโดยไม่ต้องรับผิด ซึ่งมีหลากชนิดและมักแข่งขันช่วงชิงกันในอาณาบริเวณจำพวกเขตอาณานิคม สังคมหลังอาณานิคม และประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม อันเป็นอาณาบริเวณที่รัฐไม่ได้เป็นแหล่งสถิตย์ของอำนาจเหนือชีวิตแต่ผู้เดียวอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าเหนือชีวิต (Sovereign) ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาชญากรรม ขบวนการทางการเมือง เจ้าพ่อ หรือบรรดา "ขาใหญ่" ที่ต่างพยายามบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของตนลงในพื้นที่และบนชีวิตของผู้คนผ่านการใช้ความรุนแรง 
 
แม้สังคมไทยไม่ได้เติบโตมาอย่างสังคมตะวันตกและประเทศไทยก็ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการเหมือนเช่นประเทศแถบละตินอเมริกา เอเชียใต้ และแอฟริกา อันเป็นที่มาของบรรดาแนวคิดข้างต้น แต่ด้วยเงื่อนไขจำเพาะบางประการสังคมไทยไม่เพียงแต่อุดมไปด้วย "ขาใหญ่" หากแต่ "ขาใหญ่" ยังเป็นช่องทางที่คนในสังคม นิยมพึ่งพาอาศัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งส่วยให้นักเลงหรือ "คนมีสี" สำหรับการประกอบธุรกิจ การจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่เวลาติดต่อราชการ การให้ของกำนัลผู้หลักผู้ใหญ่ในการฝากฝังบุตรหลานเข้าทำงาน หรือแม้กระทั่งการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จสมหวัง เพราะทั้งหมดนี้คือการอาศัยอำนาจของ "ขาใหญ่" ในการทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์ปกติไม่ถูกบังคับใช้กับเรา เป็นการอาศัยอำนาจของ "ขาใหญ่" ในการช่วยให้เราบรรลุสิ่งที่เราต้องการในสภาวการณ์ที่เราคิดว่ากติกาหรือวิธีการปกติไม่สามารถช่วยให้เราบรรลุได้ 
 
ฉะนั้น การเรียกร้องให้แก้ปัญหาทางการเมืองด้วย "วิธีพิเศษ" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทยเพราะเป็นการอาศัยอำนาจของ "ขาใหญ่" ในการช่วยให้บรรลุสิ่งที่ต้องการในสภาวการณ์ที่ไม่สามารถอาศัยกติกาหรือว่าวิธีการปกติได้ การเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารก็ดี การขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ก็ดี รวมถึงข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนก็ดี ล้วนอยู่ในครรลองของระบอบ "ขาใหญ่" ทั้งสิ้น แต่ปัญหาข้อฉกรรจ์ของระบอบ "ขาใหญ่" ก็คือว่า แม้มันจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะตัวหรือแม้กระทั่งอย่างหลอกๆ แต่การวินิจฉัยและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับจริยธรรมของ "ขาใหญ่" เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตรวจสอบหรือคัดคานได้ จึงไม่มีหลักประกันว่าจริยธรรมของ "ขาใหญ่" จะเที่ยงธรรมแค่ไหน และจะแก้ปัญหากันอย่างไรหากจริยธรรมของ "ขาใหญ่" เกิดไม่คงเส้นคงวาขึ้นมา อันนี้ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดา "ขาใหญ่" ต่างก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนในปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น 
 
ประสบการณ์จากประเทศแถบละตินอเมริกา เอเชียใต้ และแอฟริกาชี้ให้เห็นว่าระบอบ "ขาใหญ่" ไม่สามารถพาประเทศและสังคมให้รอดได้ในระยะยาวเพราะเปิดโอกาสให้กับการฉ้อฉล การกดขี่ขูดรีด การปล้นสะดม การใช้อำนาจบาตรใหญ่ และการใช้ความรุนแรงโดยไม่มีใครสามารถห้ามปรามหรือเอาผิดได้ ขบวนการชาตินิยมฮินดูสังหารชาวมุสลิมอย่างโหดเหี้ยมในนามชุมชนทางศีลธรรมโดยไม่มีใครต้องรับผิด ผู้พิพากษาประจำ "ศาลประชาชน" ในแอฟริกาใต้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่รัดกุมพอ ขณะที่หลายประเทศในละตินอเมริกาผู้คนต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาว่าจะโดนหางเลขจากกลุ่มและขบวนการต่างๆ เมื่อใด 
 
ระบอบ "ขาใหญ่" จึงไม่น่าจะเป็นทางเลือกหรือว่าทางออกให้กับปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ แต่ถ้าใครอยากเห็นแผ่นดินลุกเป็นไฟและสร้างบาปกรรมไว้ให้ลูกหลานก็เชิญตามสบายครับ
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น