ประชาไท | Prachatai3.info |
- สุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุพรุ่งนี้จะไม่กลับบ้านมือเปล่า จะมีการประกาศชัยชนะ
- ทูต 30 ประเทศตอบรับหลัง ศอ.รส.เชิญสังเกตม็อบนกหวีด พร้อมนักสิทธิฯ-สื่อ
- เมื่อเงาปิศาจเริ่มปรากฎ: บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในสายตาสื่อนอก
- นิทานสองนครา อีกแล้วหรือ?
- ทศพร เสรีรักษ์ : จดหมายถึง ‘สุเทพ’ และมวลมหาประชาชน เสนอ ‘ประชามติ คือทางออก
- สัมภาษณ์ หนุ่มชูเสื้อเอลวิส the king is dead
- ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการประท้วง
- นายกฯขอพระบรมราชานุญาต ถอนร่าง รธน.ที่มาส.ว.
- เอกนัฏ พร้อมพันธุ์
- กปปส. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทำประชามติ เพราะเป็นการดูถูกประชาชน
- ยิ่งลักษณ์แถลงยินดียุบสภา-ลาออก พร้อมหาทางออกประเทศ-เสนอทำประชามติ
- ญี่ปุ่นประท้วงรัฐบาลผ่านร่างกม.รักษาความลับของรัฐ
- มติ ปชป. ลาออก ส.ส. ทั้งพรรค อภิสิทธิ์เรียกร้องให้คืนอำนาจประชาชน
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน
- รายงาน: การตีความ ม.7 - รากความคิด 'สภาประชาชน' คนดีจัดการทุนสามานย์
สุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุพรุ่งนี้จะไม่กลับบ้านมือเปล่า จะมีการประกาศชัยชนะ Posted: 08 Dec 2013 01:30 PM PST เลขาธิการ ปกกส. ระบุจะเริ่มเดินขบวนจากศูนย์ราชการ 08.29 น. และขอให้ผู้ชุมนุมเตรียมปักหลักค้างคืนเพราะต้องสู้ให้จบ แนะยิ่งลักษณ์อยากคืนอำนาจให้ประชาชนให้รีบยุบสภาคืนนี้ และลาออกจาก รบ.รักษาการ ปล่อยให้'ประชาชน' เข้ามาจัดการประเทศ
สุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2556 (แฟ้มภาพ) 9 ธ.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เวลา 19.40 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ขึ้นปราศรัยบนเวทีตอนหนึ่งว่า มีคนกลัวว่าเราจะเดินขบวนแล้วก็จะกลับบ้านมือเปล่า แต่พรุ่งนี้ขอให้ลุกฮือทั้งประเทศ เดินขบวนทุกถนน เราก็จะไม่กลับบ้านมือเปล่า ซึ่งในนาทีที่เราได้อธิปไตยมาจากรัฐบาลระบอบทักษิณ สุเทพจะเป็นผู้ประกาศชัยชนะแทนประชาชนทุกคน ไม่มีการกลับบ้านมือเปล่าครับ คนที่จะกลับบ้านมือเปล่าวันพรุ่งนี้คือคนในระบอบทักษิณทั้งหมด หมดอำนาจแล้ว สุเทพระบุว่าในการเดินขบวนวันที่ 9 ธ.ค. ประชาชนจะออกมาหลายล้าน ทำลายสถิติโลก แต่ขอให้ทุกคนระลึกว่าการต่อสู้ครั้งนี้เพื่อทุกคนในประเทศ หากทำสำเร็จผลดีก็จะตกกับทุกคน รวมทั้งคนเสื้อแดงด้วย อย่างไรก็ตามขอประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าเราต่อสู้ด้วยหัวใจเสรีชน เพื่อประเทศ และจะไม่มีการใช้ความรุนแรง ดังนั้นขอให้การต่อสู้ครั้งนี้บริสุทธิ์ ไม่มีการสร้างความรุนแรงใดๆ ให้เป็นรอยด่างในการต่อสู้ และให้ทุกคนเป็นหูเป็นตา ระวังการหาเหตุเผาแล้วโยนความผิดให้ผู้ชุมนุมด้วย "วันพรุ่งนี้ขอให้ทุกคนเตรียมตัวค้างคืนกลางถนน เพราะเราต้องสู้ให้จบ ไม่จบไม่กลับบ้านแน่นอน หากรัฐบาลหรือสมุนลุแก่อำนาจฆ่าประชาชน คนที่อยู่ใกล้บ้านรัฐมนตรีในรัฐบาล ให้ไปล้อมบ้านเขาแล้วจับตัวฆาตกรให้ได้ เพื่อนำมาดำเนินคดีกับรัฐมนตรีทุกคนในข้อหาฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน" สุเทพประกาศว่า ขบวนผู้ชุมนุมจะเริ่มตั้งขบวนที่ ถ.แจ้งวัฒนะ ตัด ถ.วิภาวดีรังสิต ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จากนั้นเวลา 08.29 น. สุเทพจะประกาศนำขบวน โดยระบุว่า จะเดินไปเอาชัยชนะของประชาชน และจะอยู่ด้วยกันจนสามารถประกาศว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของประชาชนเบ็ดเสร็จแล้ว จึงจะถือว่าชนะ และหากรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จะประกาศมาตรการรับมือเป็นระยะ สุเทพแนะนำยิ่งลักษณ์ด้วยว่า "หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ลุกขึ้นบอกว่าขอคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน และขอล้างมือทางการเมืองแค่นั้นเรื่องนี้ก็จบ ขอแนะนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าควรยุบสภาคืนนี้ และลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ และปล่อยให้ประชาชนเข้ามาบริหารจัดการประเทศ"นายสุเทพ กล่าว" สุเทพได้กล่าวถึงสื่อมวลชนด้วยว่าเมื่อ 'มวลมหาประชาชน' ลุกขึ้นเป็นล้านๆ สมควรเสนอข่าวมวลมหาประชาชน เลิกรับใช้ระบอบทักษิณได้แล้ว ขอความกรุณาเมื่อเราจะแถลงข่าวสำคัญขอให้ทุกช่องเสนอข่าวให้ครบถ้วน ขอกราบความกรุณาด้วย ก่อนหน้านี้ใน เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มีการเผยแพร่เส้นทางการชุมนุม 9 เส้นทางหลัก และแกนนำการชุมนุมดังนี้ สาย 1 สุเทพ เทือกสุบรรณ ศูนย์ราชการฯ เลี้ยวขวาถ.วิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาเข้า ถ.พหลโยธิน เลี้ยวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่ง ถ.ราชวิถี ผ่าน รพ.รามาธิบดี เลี้ยวขวาเลียบคลองแยกเขาดิน แยกพระนคร ข้ามสะพาน มาที่ทำเนียบรัฐบาล สาย 2 ถาวร เสนเนียม หน้าอาคาร SCB รัชโยธิน ถ.รัชดาภิเษก มุ่งหน้าแยกฟอร์จูน เลี้ยวขวามุ่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าถ.พญาไท ถ.ศรีอยุธยา แยกวัดเบญฯ แยกพระนคร ทำเนียบรัฐบาล สายที่ 3 พุฒิพงศ์ ปุณณกันต์ หน้าเมเจอรฯ เอกมัย ผ่าน ถ.สุขุมวิท ผ่านแยกทองหล่อ ถึงแยกราชประสงค์ ผ่านหน้า สตช. เลี้ยวขวา ตรงหอศิลป์ กทม. ไปทางตัด ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เข้า ถ.เพชรบุรี แยกอุรุพงษ์ แยกยมราช ถ.พิษณุโลก ทำเนียบรัฐบาล สาย 4 นัฏฐพล ทีปสุวรรณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนฯ มุ่งหน้าสะพานสาทร เข้า ถ.เจริญกรุง ไปทางเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านโบ๊เบ๊ เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย แยกนางเลิ้ง ทำเนียบรัฐบาล สาย 5 วิทยา แก้วภราดัย สาธิต ปิตุเดชะ เริ่มต้นจากกระทรวงการคลัง ไปทาง ถ.พระราม6 แยกประดิพัทธ์ แยกเกียกกาย ผ่าน โรงเรียนราชินีบน รพ.วชิระฯ แยกเทเวศน์ ผ่าน กระทรวงศึกษาธิการ ทำเนียบรัฐบาล สาย 6 ถนอม อ่อนเกตุพล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางส่วน ไปทางแยกคอกวัว สะพานปิ่นเกล้า สะพานซังฮี้ เลี้ยวขวา ถ.สามเสน สามแยกเทเวศน์ เลี้ยวไปทำเนียบรัฐบาล สาย 7 สาธิต เซกัล เริ่มต้น ถ.สีลม เลี้ยวเข้า ถ.พระราม 4 ผ่านหน้าหัวลำโพง ผ่านวงเวียนโอเดียน เข้าถ.เยาวราช แยกวังบูรพา ผ่าน ถ.หลานหลวง สนามม้านางเลิ้ง เลี้ยวซ้าย ทำเนียบรัฐบาล สาย 8 อิสระ สมชัย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางส่วน ไป ถ.ประชาธิปไตย ผ่านหน้าโรงเรียนสตรีวิทยฯ แยกวังแดง คุรุสภา เลี้ยว ถ.พิษณุโลก ทำเนียบรัฐบาล สาย 9 สายพิเศษ ศรีวรา อิสสระ รวมพลหน้าพรรคเพื่อไทย เดินตรงมาที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการนัดรวมพลกลุ่มย่อยหลายพื้นที่ ทั้งเดินขบวนไปเองที่ทำเนียบ และรอสมทบขบวนใหญ่ เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. นัดหมายหน้า กฟผ. เชิงสะพานพระราม 7 กลุ่มพลังชาวเยาวราชและลูกจีนรักชาติ นัดหมายที่ วงเวียนโอเดียน สี่แยกราชวงศ์ แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน นัดรวมตัวที่ กม. 4 รามอินทรา (บริเวณใต้ทางด่วน) โดยจะใช้เส้นทาง ถ.พระราม 9 - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ทำเนียบ กลุ่มศิษย์เก่าธรรมศาสตร์นัดหมายรวมตัวที่หอประชุมใหญ่ มธ. ศิษย์เก่ามหิดล นัดหมายรวมตัวหน้าตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) กลุ่มศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นัดหมายรวมตัวที่อนุสาวรีย์ 2 กษัตริย์ เกษตรศาสตร์ นัดหมายรวมตัวที่หน้าหอประชุมใหญ่ มก. นิด้า นัดรวมตัวที่ลานพระบรมรูป ร.9 นิด้า มศว. นัดรวมตัวที่ลานตลาดนัด มศว. กลุ่มรวมพลังอาชีวะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ยัดรวมตัวที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ (ปทุมวัน) ศิษย์เก่า ม.ศิลปากร นัดหมายรวมตัวที่ ม.ศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นัดหมายรวมตัวเวลา 7.30 น. คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช นัดหมายรวมตัวบน ถ.สามเสน หน้าคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ฯลฯ นอกจากนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศเมื่อ 8 ธ.ค. ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ด้วยว่า พรุ่งนี้ต้องเป็นวันปิดฉากตระกูลชินวัตร จะเป็นอย่างไรก็ตามเราต้องออกมากันให้หมด มาให้กำลังใจกันมาร่วมสู้กัน และพวกเอเอสทีวีทั้งหมด เราจะตั้งขบวนที่เอเอสทีวีตอนประมาณ 8 โมงเช้าชุมนุมที่หน้าเอเอสทีวี และจะร่วมเดินเข้าไปเพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ทูต 30 ประเทศตอบรับหลัง ศอ.รส.เชิญสังเกตม็อบนกหวีด พร้อมนักสิทธิฯ-สื่อ Posted: 08 Dec 2013 10:30 AM PST ทูต 30 ประเทศตอบรับ หลัง ศอ.รส. ยืนยันไม่ใช้ความรุนแรง เชิญทูต องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมใหญ่วันพรุ่งนี้ พร้อมเตือนระวังมือที่ 3 ก่อเหตุรุนแรง ญาติชายไทยร้อง ตร.หลังถูกสุเทพอ้างเป็นเขมรมาเผาม็อบ 8 ธ.ค. 2556 เมื่อเวลา เวลา 12.00 น. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แถลงถึง กรณีที่ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะร่วมเดินขบวนจากที่ต่างๆ มุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) ว่า ทาง ศอ.รส.ยืนยันยังเน้นที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้ค่อยคลี่คลาย โดยเน้นการพูดคุยและหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กับผู้ชุมนุมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์เริ่มตึงเครียด มีกลุ่มมือที่ 3 สอดแทรกเข้ามาสร้างความวุ่นวายและมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 9 ธ.ค. ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศ ว่าจะเป็นวันชี้เป็นชี้ตาย จึงฝากเตือนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มให้มีความระมัดระวัง และ ศอ.รส. ก็จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยจะใช้วิธีการสันติไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากตระหนักดีว่าเป็นสิทธิของประชาชนตามกฎหมายที่จะร่วมชุมนุมอย่างสงบและสันติ โดยจะมีการเชิญ ทูต องค์กรอิสระ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศอ.รส. ด้วย สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 9 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จะแต่งเครื่องแบบให้เห็นอย่างชัดเจน หากผู้ร่วมชุมนุมจะเข้าสถานที่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสีย การใช้อาวุธจะทำเท่าที่จำเป็นและมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความเหมาะสม และขอเชิญสื่อมวลชนร่วมบันทึกภาพทำข่าว การปฏิบัติหน้าที่ ควบคุมการชุมนุม ตามจุดสูง หรือจะปะปนกับเจ้าหน้าที่ก็ได้ เพื่อเป็นสักขีพยานว่า ศอ.รส. ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการควบคุมม็อบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นการรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล และจะเปิดพื้นที่การชุมนุมให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการรักษาความปลอดภัยทั้งอาคารัฐสภา กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง ศอ.รส.จะลดระดับพื้นที่ที่รักษาความปลอดภัยเหลือเพียงเฉพาะพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น ส่วนบริเวณ ถนนราชดำเนินนอก ด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ บริเวณสะพานมัฆวาน สามารถชุมนุมได้ทั้งหมด ซึ่งตำรวจขอสงวนไว้เฉพาะถนนลูกหลวง บริเวณประตู 6 และถนนนครปฐม ซึ่งจะมีสิ่งกีดขวางเพื่อแสดงอาณาเขตพื้นที่หวงห้ามไว้ที่หัวถนนนครปฐม บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐษ์ สะพานอรทัยและบริเวณสะพานมัฆวานเท่านั้น จึงขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมให้อยู่บริเวณด้านนอกอย่าพยายามบุกรุกเข้าไปภายในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการเฝ้าระวังบุคคลไม่ทราบฝ่ายเหล่านี้ได้ก่อเหตุตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยกำหนดจุดสูงข่ม หรืออาคารสูง โดยรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 11 จุด โดยจะจัดกำลังตำรวจขึ้นไปประจำ ขณะเดียวกันประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานคร และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์ และหากเป็นไปได้จะขอความร่วมมือกลุ่มผู้ชุมนุมส่งการ์ดมาร่วมสังเกตการณ์ตามจุดสูงข่มเหล่านี้ด้วย มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือเชิญคณะทูตประจำประเทศไทยไปประมาณ 60 ประเทศ ได้ตอบรับคำเชิญแล้ว 30 ประเทศ โดยทั้งหมดจะเดินทางออกจากกระทรวงการต่างประเทศให้ถึงทำเนียบรัฐบาลในเวลา 08.00 น. หรือก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึง เว็บไซต์ครอบครัวข่าว 3 รายงานด้วยว่า ญาติของ นายสมภพ ขันทอง มาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทราบข่าวว่านายสมภพถูกกลุ่มผู้ชุมนุมจับกุม และถูกกล่าวหาเป็นสายลับเขมร วันนี้ จึงนำหลักฐานมายืนยันว่านายสมภพเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นสายลับตามที่ถูกกล่าวหา ปชป.ซัดใช้เล่ห์เชิญทูตเข้าทำเนียบฯ หวังให้เป็นตัวประกันบีบม็อบ วันเดียวกัน ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้องในการที่ให้ ศอ.รส.เชิญทูตประจำประเทศไทยทุกประเทศมาที่ทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. โดยอ้างว่าให้มาสังเกตการณ์การเตรียมการรับมือผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่รัฐบาลกลับยืนยันที่จะเชิญทูตมาทำเนียบรัฐบาลเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องเป็นการพยายามที่จะใช้เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลและเอาชีวิตและทรัพย์สินของทูตเจ้าหน้าที่มาสุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์ภายในประเทศของไทย ทั้งๆ ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนเหล่านี้ จึงขอถามว่าหากเอกอัครราชทูตเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลที่ประชาชนล้อมไว้ได้ รัฐบาลจะรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตนจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรยืมมือเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล เพราะมีข่าวปรากฏจำนวนมากว่าสถานทูตบางประเทศมีท่าทีสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะป็นเป้าหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อคนที่ถูกเชิญมา จึงอยากให้นายกทบทวนและหาทางระงับยับยั้งการเชิญเอกอัครราชทูตในเช้าวันจันทร์เพราะไม่เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองแต่อย่างใด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เมื่อเงาปิศาจเริ่มปรากฎ: บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในสายตาสื่อนอก Posted: 08 Dec 2013 10:05 AM PST เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมที่จะตาย ขณะที่อำนาจใหม่กำลังพยายามให้กำเนิด เมื่อนั้นฝูงปิศาจย่อมปรากฎ เหตุการณ์ความรุนที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยถูกเผยแพร่โดยสื่ออเมริกันจำนวนไม่น้อย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ ถามว่าอเมริกันให้ความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดในเมืองไทยมากน้อยขนาด ไหน คงต้องบอกจากการประเมินด้วยสายตาและประสบการณ์ของผมเองว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเมืองไทยน้อย เพราะยังมีเรื่องอื่นที่พวกเขาสนใจมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่ กระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 08 Dec 2013 09:43 AM PST ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอยได้บ่อยนัก แต่ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลับเล่นตลกร้ายของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันนี้ (3 ธันวาคม: ผู้แปล) เขาได้ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่องว่า การเมืองที่ดีที่สุดของไทยได้เริ่มตีฆ้องร้องป่าวขึ้นแล้วเมื่อสองสามวันก่อนที่ถนนราชดำเนิน เขาเรียกร้องให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ว่าจะปราศจากการเลือกตั้งก็ตาม แน่นอนว่ามีเหตุผลมากมายที่จะไม่เห็นด้วยหรืออย่างน้อยก็สงสัยต่อข้อเรียกร้องของเขา เป็นที่แจังชัดว่า "การปฏิวัติมวลชน" ของคุณสุเทพอันมีเป้าประสงค์เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณและแทนที่ด้วยรัฐบาลคุณธรรมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีทางเป็นสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยไปได้ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่น่ารำคาญที่สุดของเขา คือการใช้โวหารอันเกรี้ยวกราดและบ้าคลั่งว่าเป็นตัวแทน "เสียงของมวลมหาประชาชน" แต่กลับปฏิเสธกระบวนการการเลือกตั้งเสียเอง หมายเหตุ: ภาคิน นิมมานนรวงศ์ กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
AnekLaothamatas. 1995. Song NakaraPrachathiptai [A Tale of Two Democracies]. Bangkok: Matichon Press. ที่มา: บทความชิ้นนี้แปลจาก A tale of two cities, again? โดย PHAKIN NIMMANNORRAWONG
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ทศพร เสรีรักษ์ : จดหมายถึง ‘สุเทพ’ และมวลมหาประชาชน เสนอ ‘ประชามติ คือทางออก Posted: 08 Dec 2013 09:01 AM PST เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทศพร เสรีรักษ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง "การทำประชามติ เพื่อหาทางออกประเทศไทย" ต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และมวลมหาประชาชน ทศพร ระบุด้วยว่าประชาชนไทยทั้งมวลไม่ได้เห็นดีเห็นงามตามคุณสุเทพ และการอ้าง "มวลมหาประชาชน" ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนไทยทั่งมวล พร้อมชี้ด้วยว่าการตั้งรัฐบาลรักษาการและนายกฯมาตรา 7 นั้น เป็นข้อเสนอที่ขัดต่อพระราชกระแสดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เคยพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้นจึงเสนอทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.165 และ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับสุเทพหรือไม่ที่จะให้มีจัดตั้งสภาประชาชนแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรวมทั้งรัฐบาล หรือประชาชนจะยังมีมติเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะยังคงการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง แล้วสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป 00000 จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ ประเทศไทย เรื่อง การทำประชามติ เพื่อหาทางออกประเทศไทย เรียน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และมวลมหาประชาชน กว่า 1 เดือนที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส.และมวลมหาประชาชน ได้จัดการชุมนุม ยึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ แล้วบีบบังคับข่มขืนใจให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับข้อเสนอของท่านแต่ข้างเดียว ในการจัดตั้งสภาประชาชน และจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น มีข้อพึงต้องพิจารณาดังต่อไปนี้ 1.คุณสุเทพมักจะอ้างอยู่เสมอ ให้ข้าราชการฯเลือกว่า "จะอยู่ข้างประชาชนหรือข้างรัฐบาล" ต้องพิจารณาด้วยว่า ประชาชนไทยทั้งมวลไม่ได้เห็นดีเห็นงามตามคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ไปเสียทั้งหมด สถานการณ์นี้ต่างไปจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2553 ที่ประชาชนไทยรวมใจเป็นเอกฉันท์ฝ่ายหนึ่ง ในการขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย คือฝ่ายคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน กับประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ หากคุณสุเทพบังคับข่มขืนใจให้ประชาชนไทยที่สนับสนุนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทนยอมรับการบังคับกดดันของฝ่ายคุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน ก็น่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากไปในภายหน้า อาจนำไปสู่สถานการณ์แตกแยกรุนแรงเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับอียิปต์ หรือซีเรียได้ จึงพึงต้องตระหนักในข้อนี้ให้มาก 2.การอ้างจำนวนผู้ชุมนุมซึ่งคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ใช้คำเรียกว่า " มวลมหาประชาชน" นั้น ก็ไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั่งมวลได้ ซึ่งการอ้างว่ามียอดผู้ชุมนุมออกมามากที่สุดถึง 1 ล้านคนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศที่เป็นกลาง ทั้ง AP,REUTERS, BLOOMBERG ต่างรายงานตรงกันว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 1 แสนคนเท่านั้น (ตัวอย่างรายงานของ Reuters ) แต่ถึงแม้จะมีถึง 1 ล้านคนตามที่คุณสุเทพอ้าง ก็มิใช่จะอ้างได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งมีถึง 64 ล้านคนได้ 3.การเสนอตั้งรัฐบาลรักษาการ และนายกฯมาตรา 7 นั้น เป็นข้อเสนอที่ขัดต่อพระราชกระแสดำรัสที่เคยพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ว่า
นายสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน พึงระมัดระวังที่จะไม่กระทำการมิบังควรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท 4.ทั้งคุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ฝ่ายหนึ่งกับประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องฟังมติของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ 64 ล้านคนที่รักประเทศชาติ รักความสงบ ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไม่แอบอ้างว่า ฝ่ายตนเป็นเสียงข้างมาก เป็นเสียงของประชาชนทั้งประเทศบังคับให้อีกฝ่ายทำตาม เพื่อเป็นการแสวงหาทางออกของประเทศ จึงใคร่ขอเสนอแนะให้ทำประชามติ ถามประชาชนทั้งประเทศโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 และพระราชบัญญัติประชามติ เพื่อถามประชาชนว่า - เห็นด้วยกับแนวทางของนายสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน ที่จะให้คุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน จัดตั้งสภาประชาชนแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรวมทั้งรัฐบาล -เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลที่จะยังคงการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง แล้วสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ถ้าการลงประชามติฝ่ายคุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชนได้คะแนนเสียงมากกว่า คุณสุเทพ กปปส. และมวลมหาประชาชน ก็จะมีความชอบธรรมที่จัดตั้งสภาประชาชน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป แต่ถ้าผลออกมาในอีกทางหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนแนวทางตามรัฐธรรมนูญที่มีสภาฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้คะแนนเสียงมากกว่า ก็คงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้คุณสุเทพ กปปส.และมวลมหาประชาชน หยุดชุมนุมและคืนพื้นที่ สถานที่ราชการต่างๆที่ยึดไว้ ให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาแนวทางการทำประชามติหาทางออกให้ประเทศไทย อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สัมภาษณ์ หนุ่มชูเสื้อเอลวิส the king is dead Posted: 08 Dec 2013 07:32 AM PST หลังจากมีกรณีแชร์ภาพ หนุ่มชูเสื้อแดงสกรีนถ้อยคำ THE KING IS DEAD, THE KING OF ROCK 'N' ROLL เผยแพร่ในอินเตอร์เนต ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากภาพที่เผยแพร่มีความเบลอลงกว่าภาพจริง เห็นตัวอักษรไม่ชัดเจนบางบรรทัด และถูกระบุว่าเป็นภาพที่ถ่ายในสนามรัชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นจุดที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนที่แล้ว ล่าสุด ชายหนุ่มเจ้าตัวซึ่งเป็นบุคคลในภาพได้ให้สัมภาษณ์ชี้แจงที่มาของภาพต้นฉบับ มีตัวอักษรอะไร ถ่ายในโอกาสไหน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา บทสัมภาษณ์เปิดใจ จอม(นิธิวัต วรรณศิริ) นักร้องนำไฟเย็น ชายหนุ่มในภาพ พร้อมกับพอร์ท (Rishadan Port) วงทับทิมสยาม ที่มาช่วยชี้แจง -ช่วยอธิบายภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ จอม : ก็เป็นภาพที่ถูกนำมาใช้บิดเบือนใส่ร้าย โดยเป็นภาพเสื้อเกี่ยวกับ เอลวิส เพรสลีย์ KING OF ROCK 'N' ROLL ส่วน THE KING IS DEAD เป็นวลีฮิต ในต่างประเทศช่วงที่เอลวิส เพรสลีย์ เสียชีวิตลง -ภาพนี้ถ่ายเมื่อไหร่โอกาสอะไร จอม : ภาพนี้ ถ่ายตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2554 โดยดูได้จากต้นตอเฟซบุค วันที่ถ่ายภาพนี้เป็นวันชาติ 24 มิถุนายน ส่วนวันที่โพสต์ภาพ 25 มิ.ย. 2011 คื อ วันที่ 25 มิ.ย. 2554 สถานที่ที่ถนนราชดำเนิน นี่คืออยู่ตรงฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน แต่ที่ถูกนำไปแชร์บิดเบือนคือ มีคนอ้างว่า อยู่ที่ราชมังคลาฯ เขาเขียนว่า "แม่งมีขายที่สนามราชมังคลา... จัญไรดีแท้" ซึ่งอันนี้ เป็นโพสต์ของคุณบี... เอามาโพสต์แชร์ ซึ่งผมได้เข้าไปชี้แจงแล้ว เขาก็ออกมาขอโทษแล้ว แต่คนอื่นๆ ก็ยังแชร์กันอยู่ไม่ละเลิกสักที -คนขายเสื้อตัวนี้ นึกอย่างไรสกรีนเสื้อเอลวิสมาขาย ประโยค THE KING IS DEAD, THE KING OF ROCK 'N' ROLL ประโยคนี้ จริงๆ เป็นประโยคฮิตในต่างประเทศ อยู่นานพอสมควรแล้ว เมื่อครั้งที่ เอลวิส เพรสลีย์ เสียชีวิต หรือ ไมเคิล แจ๊คสัน ก็เป็น KING OF POP คือเป็นเรื่องปกติ ซึ่ง ที่มาของภาพที่ถูกแชร์ตอนนี้ เริ่มจากผมถูกแชร์ล่าแม่มดในเวบบอร์ดเสรีไทย ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2013 คือเมื่อต้นปี ก็ถูกกลุ่มในเสรีไทยเวบบอร์ดแชร์โพสต์เสียบประจาน แต่ว่าในภาพนี้ ใบหน้าเอลวิส และตัวอักษรบรรทัดล่างยังชัดอยู่ แต่ภาพที่ถูกแชร์ล่าสุด ถูกเบลอภาพและลดแสงลงหนึ่งสตอป แปลว่าเขาจงใจทำให้บิดเบือน เนื้อหาก็เปลี่ยน รูปภาพใบหน้าก็ถูกเปลี่ยนนี่คือความจงใจของเขา - ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างไหม ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ไม่ make sense ตรงที่ จะมากล่าวหาว่า ไอ้นี่มันหมิ่น เพราะมันเอารูปเอลวิสขึ้นมา ผมว่าเอลวิส ไม่ได้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรขนาดนั้น พอร์ท : ก็ตลกดี คือ กลายเป็นว่า โดนเข้าใจผิด โดนเพิ่มความเกลียดชังด้วยการบิดเบือน ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น จริงๆ ก็ไม่อยากให้ใครเกลียดกันถึงขั้นมาทะเลาะเรื่องนี้นะครับ ล่าสุดก็มีภาพยนตร์ชื่อนี้นะครับ The king is dead! Love thy neighbour ถามว่าจะโดนแชร์ไหม มันเป็นวลีฮิตทั้งโลก แต่ทำไมมาในไทยแล้วกลายเป็นแบบนี้ พอร์ท : มีวงดนตรีวง the decemberists ก็ใช้ชื่ออัลบั้ม the king is dead เขาก็ใช้กันปกติ คือผมก็งง บางคนจะชอบตีความไปอย่างนั้นหมด ไม่รู้จะซีเรียสกันเกินไปหรือเปล่า -ส่วนตัวชอบเอลวิสไหม จอม : ชอบครับ ผมชอบเอลวิส ผมก็ร้องเพลงของสมัยก่อน - เรื่องนี้อยากให้เป็นบทเรียนอย่างไร จอม : อยากให้คนกรองข่าว หรือดูที่มาที่ไปให้มันดีๆ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกัน สื่อทุกวันนี้ ในทุกฝ่ายก็มีการบิดเบือน ป้ายสีใส่เพื่อต้องการผลประโยชน์ทางการเมือง ผมคิดว่า คนเราควรจะมีวิจารณญาณมากกว่านี้ ซึ่ง ถ้ามีชี้แจงที่มาที่ไปแล้ว แต่คุณยังไปแชร์ต่อ เท่ากับ ไม่มีอะไรรับเข้าสมองหรือเปล่า อยากให้เลิกเอาเรื่องพวกนี้มาโหนมาใช้หากอน หรือทำลายคนคิดต่างทางการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง -ส่วนตัวร่วมชุมนุมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ จอม : ผมเป็นนักร้อง วงอยู่ฝั่งเสื้อแดง แต่ไปงานธรรมดาก็ไปได้ ใครไม่มีสี แต่เรียกให้ไปร้องก็ไปได้ -หลักๆ คือไปเล่นดนตรี พอร์ท : ใช่ เล่นดนตรีเป็นหลัก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการประท้วง Posted: 08 Dec 2013 07:08 AM PST
In chess, the pawns go first. แมคเนโต ใน X-Men: The Last Stand 1. Mob 3. Flash mob/smart mob
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นายกฯขอพระบรมราชานุญาต ถอนร่าง รธน.ที่มาส.ว. Posted: 08 Dec 2013 07:01 AM PST นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวีตผ่าน @teeratr ระบุว่า นายกรัฐมนตรีขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างรัฐธรรมนูญและขอพระราชทานอภัยหากการใดที่เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พร้อมระบุด้วยว่าได้กราบบังคมทูลขอถอนตั้งแต่ 2 ธันวาคมแล้ว
ทั้งนี้ เนชั่น รายงานด้วยว่านายธีรัตถ์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขที่มาส.ว ซึ่งสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.นั้น จึงทำให้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2556 กลับคืน โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้กราบบังคมทูลฯขอพระบรมราชานุญาตถอนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวทันที และได้ขอพระราชทานอภัยหากการใดที่เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการดังกล่าวแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยังมิได้ส่งคำพิพากษาอย่างเป็นทางการมายัง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 08 Dec 2013 06:31 AM PST | |
กปปส. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทำประชามติ เพราะเป็นการดูถูกประชาชน Posted: 08 Dec 2013 04:19 AM PST โฆษก กปปส. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทำประชามติของยิ่งลักษณ์ ชินวัจตร ระบุรัฐบาลสิ้นสภาพไปแล้วเพราะไม่รับอำนาจศาล รธน. ยืนยันเคลื่อนขบวน 9 ธ.ค. และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา-ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้เกิดสุญญากาศ จะได้ใช้มาตรา 3 ตั้งสภาประชาชน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวเมื่อเวลา 12.30 น. ประกาศว่าพร้อมยุบสภาหรือลาออก และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินหาทางออกโดยการทำประชามตินั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แถลงข่าวต่อกรณีข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่านายกรัฐมนตรี เลิกโยนความผิดให้กับประชาชน เพราะปัญหาทั้งหมดเป็นปัญหาที่ระบอบทักษิณสร้างไว้ และการแถลงของนายกฯ ไม่มีอะไรใหม่ เป็นการเล่นลิ้นตบตาประชาชน เพื่อให้ประชาชนตายใจ เพื่อรักษาอำนาจตัวเองเอาไว้ เป็นการซื้อเวลาเท่านั้น เพื่อรักษาอำนาจตัวเองไว้ เพราะที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยรับผิดชอบและขอโทษประชาชน หรือทำอะไรที่เป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำยังโกหกประชาชน เช่น การออกกฎหมายล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายตนเอง "วันนี้รัฐบาลและรัฐสภาสิ้นสภาพและหมดความชอบธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกฎหมาย เพราะไม่เคารพกฎหมายจากการปฏิเสธไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาหมดความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว ส่วนการทำประชามติเป็นการดูถูกประชาชน ไม่เข้าใจประชาชน เพราะสาเหตุที่ประชาชนออกมาต่อต้านระบอบทักษิณวันนี้ เพราะประชาชนต้องการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ไม่ต้องการเป็นทาสระบอบทักษิณและต้องการปฏิรูปประเทศ"นายเอกนัฏกล่าว ทั้งนี้โฆษก กปปส. ยังคงยืนยันที่จะชุมนุมในวันที่ 9 ธ.ค. จะเป็นการชุมนุมอย่างเปิดเผย อหิงสา ปราศจากอาวุธและเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเป็นสักขีพยานว่า และระบุว่า กปปส. ได้ก้าวข้ามการให้รัฐบาลยุบสภาหรือว่าลาออกไปแล้ว เพราะเราต้องการให้ประชาชนมาจัดการปัญหาด้วยตัวของประชาชนเอง โดยการตั้งสภาประชาชน นายเอกนัฏกล่าวด้วยว่า เสนอให้ นายกฯ จะต้องยุบสภาและลาออกจากการเป็นนายกฯ รักษาการด้วย เพื่อนำไปสู่สูญญากาศทางการเมือง จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมา
ชูวิทย์ประกาศไม่เห็นด้วยกับสุเทพทุกเรื่อง และคิดต่างไม่ได้หมายความว่าเป็นศัตรูกัน ขณะเดียวกันวันนี้ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรครักประเทศไทย ได้โพสต์บทความ "จุดยืนของชูวิทย์" ระบุว่า จุดยืนของผมชัดเจน เพราะไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผมจะแสดงว่าเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ผมอยู่ตรงนี้ และทำหน้าที่ของผม การที่ผมไม่แสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าผมไม่มีจุดยืน เพียงแต่ผมเบื่อที่จะต้องมาทะเลาะ และขัดแย้งกันอยู่ร่ำไป จริงอยู่ รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป และย่ามใจกับอำนาจ เพราะรัฐบาลคิดว่าระยะเวลาที่ผ่านมาสองปี การบริหารงานราบรื่น จึงนำเอากฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ทั้งยังเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน อย่างที่เขาบอก มีอำนาจมาก ก็ใช้อำนาจอย่างสิ้นเปลือง นี่ยังไม่พูดถึงบรรดาข้าราชการ ที่พยายามเอาใจรัฐบาลและเล่นการเมือง ทั้ง "มีวันนี้เพราะพี่ให้" และ "DSI คุณธาริต" ไม่มีสักครั้ง ที่ผมจะโหวตแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมโหวตตามพรรคประชาธิปัตย์ทุกครั้ง แม้ว่าผมไม่เคยได้ร่วมประชุมกับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่ครั้งเดียว นี่เป็นเพราะเสียงของผม มีสัดส่วนที่น้อยเกินไป พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงสู้รัฐบาลไม่ได้ มันเป็นคณิตศาสตร์ง่ายๆ ตัวเลขที่น้อยกว่า ย่อมแพ้ไปโดยปริยาย "น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ" แตกต่างจากพรรครัฐบาลที่ใครๆก็ต้องการเข้าร่วม ไม่ว่าคุณบรรหาร คุณสุวัจน์ หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองบางพรรคที่เป็นฝ่ายค้าน แต่ทำตัวเข้าข้างรัฐบาล ผมไม่ไว้ใจคุณทักษิณ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมไว้ใจคุณสุเทพ ผมอยู่ในสภาฯ ย่อมรู้อะไรลึกซึ้งกว่าประชาชนคนธรรมดา แต่ผมไม่โทษใคร เพราะการเมืองไม่มีผิดหรือถูก อยู่ที่ความคิด ความเชื่อของแต่ละคน พ่อผมเคยบอกว่า "จะเสียมารยาทมาก ถ้าเอาเรื่องการเมืองหรือเรื่องศาสนามาคุยกันบนโต๊ะอาหาร" ผมเป็นพวก "ไทยอดทน" ไม่ใช่ "ไทยเฉย" ผมรับฟังทั้งสองฝ่ายมามาก อดทนกับความขัดแย้งนี้มานาน และถ้าปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายผลัดกันขึ้นผลัดกันลงแบบนี้ มันจะเป็นแบบที่คุณเห็น ไม่จบไม่สิ้น ผมอดทนเงียบ และฟัง เป็นเพราะว่าเสียงของผมมันน้อยนิด ที่สำคัญ ผมไม่ชอบเล่นนอกกติกา ดังนั้น จุดยืนของผมชัดเจนมั่นคง ตรงไปตรงมา หากผมจะเข้ามาหาประโยชน์ ผมจะไม่ประกาศตัวเป็น "ฝ่ายค้าน" ตั้งแต่เลือกตั้ง ผมไม่ได้ต้องการมีอำนาจ แค่อยากมาทำงานให้บ้านเมือง ผมไม่จำเป็นจะต้องเข้าข้างฝ่ายใด หากคุณอยากให้ผมไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ขอให้เลือกพรรคฝั่งนั้นเลยดีกว่า ผมไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ ผมผิดด้วยหรือที่ไม่ได้เข้าข้างใคร? ผมเป็นหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคุณสุเทพ ที่ไปบุกโน่นปิดนี่ จัดตั้ง "สภาประชาชน" เพราะมันไม่ถูกต้องตามกติกา ผมต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรม แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งนายกฯมาตรา 7 ผมเห็นด้วยที่คุณสุเทพออกมาต่อสู้ข้างนอก มันเป็นความกล้าหาญ ประกาศตัวตนชัดเจน และเป็นสิทธิของคุณสุเทพ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับ "ทางลัด" ที่เริ่มก้าวออกห่างจากคำว่า "ประชาธิปไตย" กติกามันมีอยู่ว่า เมื่อบ้านเมืองเดินไม่ได้ นายกฯต้องลาออก หรือไม่ก็ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องใช้นโยบายมาต่อสู้ตอนหาเสียง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือก ตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่วิธีการของคุณสุเทพ เป็นการอ้างอำนาจของประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาล และนำอำนาจนั้นมาอยู่กับตัวเอง จัดตั้งสภาประชาชนด้วยตัวเอง แบบนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมมีอุดมการณ์ของผม ผมจึงตั้งพรรครักประเทศไทย ผมกับคุณอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณกับผมจะเป็นศัตรูกัน ล่าสุดมีรายงานช่วงเย็นวันที่ 8 ธ.ค. ว่าชูวิทย์ ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. แล้ว โดยเป็นการลาออกตามที่เคยระบุว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจะลาออกตาม ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ยิ่งลักษณ์แถลงยินดียุบสภา-ลาออก พร้อมหาทางออกประเทศ-เสนอทำประชามติ Posted: 08 Dec 2013 03:37 AM PST นายกรัฐมนตรีระบุข้อเสนอสภาประชาชน นายกรัฐมนตรี ม. 7 ไม่มีบทบัญญัติ รธน. รองรับ แต่รัฐบาลพร้อมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่หากมีผู้ไม่ยอมรับการเลือกตั้งก็จะเป็นการยืดเวลาขัดแย้งออกไป เหมือนปี 49 ที่เกิดภาวะสุญญากาศ และเกิดรัฐประหาร จึงเสนอให้หาข้อยุติด้วยการทำประชามติ ที่มาของภาพ: เพจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 8 ธ.ค. 2556 - เพจของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 ธ.ค. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงข่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วมเดือนเศษแล้ว ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น จนทำให้ประเทศตกอยู่ในขั้นวิกฤต รัฐบาลต้องขอแสดงความเสียใจ และขอโทษต่อเหตุการณ์ที่ทำให้พี่น้องประชาชน ต้องเดือดร้อนกังวลใจ และไม่สบายใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายาม อย่างยิ่งยวด ที่จะป้องกันเหตุรุนแรงต่างๆ รวมทั้งพร้อมที่จะเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอ ของผู้ชุมนุมอยู่ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสภาประชาชน หรือ การขอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 นั้น ไม่มีบทบัญญัติใดภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันรองรับ และยังไม่มีความชัดเจน ในทางปฏิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดรองรับในการกระทำ และยังมีการถกเถียงกันทางวิชาการ จนถึงปัจจุบันก็ ยังไม่ได้ได้ข้อสรุป อันเป็นที่ยอมรับของทุกๆฝ่าย ดิฉันขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลพร้อมที่จะยุบสภา หากเป็นความต้องการของ พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อยุบสภาแล้วก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 60 วัน ตามที่กฏหมายกำหนด และในกติกาที่เป็นธรรม แต่หากผู้ชุมนุมและพรรคการเมืองใหญ่ไม่ตอบรับ หรือไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง ก็จะเป็นเพียงการยืดเวลาของความขัดแย้งออกไป เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีพรรคการเมืองบอยคอตไม่ลงรับสมัครในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดภาวะสูญญากาศทางการเมือง อันนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึงเสนอให้ตั้งเวที หารือกันในข้อเสนอของผู้ชุมนุม หากยังขัดแย้งกันจนหาข้อยุติที่ตรงกันไม่ได้ ก็ขอเสนอให้ทำประชามติ เพื่อให้เสียงส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจ พร้อมทั้งสรุปแนวทางการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และเกิดฉันทามติของทุกพรรคการเมือง ผู้ชุมนุม และทุกภาคส่วน ให้ยอมรับผลการตัดสินใจของประชาชนตามกติกา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง พี่น้องประชาชนที่เคารพคะ ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งว่า ดิฉันไม่ติดยึดกับตำแหน่ง ยินดีที่จะยุบสภาฯ หรือลาออก เพียงแต่ขอให้มั่นใจว่าเป็นทางออกที่แท้จริง และสามารถทำให้ข้อขัดแย้งยุติ ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ โดยต้องมั่นใจว่า ข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอของเสียงส่วนใหญ่ ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ข้อเสนอของคุณสุเทพฯ ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่า ยุบสภาก็ไม่เอา นายกฯลาออกก็ไม่เอา แต่ต้องการให้คืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีข้อยุติว่า เป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประเทศชาติอย่างมาก หากจะเสนอให้ดำเนินการ น่าที่จะต้องถามความเห็นพี่น้องประชาชนว่า เป็นความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงหรือไม่ ซึ่งการทำประชามติ ถือเป็นวิธีที่มี การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สุดท้ายนี้ ดิฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เราทุกคนมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรักประเทศชาติไม่แพ้กัน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศชาติไม่ต้องบอบช้ำไปมากกว่านี้ ดิฉันอยากเห็นเราทุกคนหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา สำหรับในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ รัฐบาลยินดีจะรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุม มาพิจารณาและหาทางออกร่วมกัน ไม่มีใครแพ้แต่เราทุกคนรวมถึงประเทศชาติเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งหมด ขอบคุณค่ะ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ญี่ปุ่นประท้วงรัฐบาลผ่านร่างกม.รักษาความลับของรัฐ Posted: 08 Dec 2013 02:18 AM PST คนจากหลากหลายอาชีพในญี่ปุ่นรวมถึงผู้กำกับสตูดิโอจิบลิ ออกมาต่อต้านกฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐ บอกว่าเป็นกฎหมายอันตราย ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดว่าข้อมูลใดจะถูกห้ามเผยแพร่ โดยประเภทของข้อมูลครอบคลุมมากเกินไปจนอาจจะเข้าข่ายการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ 7 ธ.ค. 2556 ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) รัฐสภาของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐ (Bill on the Protection of State Secrets) ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชน สื่อ และนักวิชาการ ซึ่งกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กฎหมายฉบับนี้นำเสนอโดยรัฐบาลฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากพรรคแอลดีพีซึ่งได้รับมติผ่านร่างจากสภาสูงไม่กี่วันหลังจากมีการผ่านร่างจากสภาล่างแล้ว กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้รัฐมนตรีใช้อำนาจกำหนดได้ว่าข้อมูลใดถือเป็นข้อมูลลับของรัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม การทูต การต่อต้านการจารกรรมข้อมูล และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอาเบะกล่าวว่ามาตรการนี้จำเป็นในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลรัฐรั่วไหลและป้องกันไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวกรองประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ โดยกฎหมายฉบับนี้ยังระบุให้มีการจำคุกมากสุด 10 ปี สำหรับผู้ที่เปิดโปงข้อมูลลับของรัฐรวมถึงผู้ที่สามารถเข้าถึงความลับของรัฐด้วยวิธีการผิดกฎหมาย แต่นักวิจารณ์มองว่าประเภทของข้อมูลที่รัฐสามารถกำหนดตีความครอบคลุมได้แทบทุกประเภท โดยอาจรวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียแก่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและผู้เกื้อหนุนรัฐบาล ทำให้สามารถฉวยโอกาสปกปิดข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย นักวิจารณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีการระงับข่าวสารเรื่องเหตุการณ์วินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมาในปี 2554 และบอกอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีปฏิบัติการเบื้องหลังที่กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้มีการปกปิดข้อมูลมากขึ้น อากิ วากาบายาชิ ผู้อำนวยการองค์กรว่าด้วยความโปร่งใสสากลประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ระบุชัดเจนว่าเรื่องใดที่เป็นความลับ ...กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้รัฐบาลระงับการเผยแพร่ข้อมูลจนเป็นการทำลายประชาธิปไตยในประเทศญี่ปุ่น" โดยก่อนหน้านี้อากิเคยเป็นผู้เปิดโปงเรื่องงบประมาณลับที่รัฐบาลนำไปใช้ในการเดินทาง ในกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายนี้มีมากกว่า 250 คน มีทั้งดาราภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังจากสตูดิโอจิบลิอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ กับอิซาโอะ ทากาฮาตะ รวมถึงนักข่าว นักวิจัย ทนายความ และคนมีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในญี่ปุ่น เรียกร้องให้มีการต่อต้านกฎหมายนี้โดยบอกว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นเสรี ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นกฎหมายอันตราย มีผู้ชุมนุมราว 3,000 คน จากกลุ่มประชาสังคมพากันเดินขบวนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยมีผู้ชุมนุมบางคนตัดต่อภาพล้อเลียนนายกฯ อาเบะ เข้ากับภาพของอดีตผู้นำนาซีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากตัวแทนอิสระใดๆ ซึ่งทางนายกฯ อาเบะกล่าวว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถ่วงดุลในขั้นตอนการใช้อำนาจกำหนดว่าข้อมูลใดถือเป็นความลับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายและฝ่ายนักวิจารณ์กฎหมายนี้เกรงว่าคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจะไม่กล้าทำอะไรที่ขัดต่อรัฐบาลเอง สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่ากฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐในญี่ปุ่นเปรียบเสมือนกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2544 (PATRIOT Act) ของสหรัฐฯ และรัฐบาลของบารัค โอบามา ก็ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ โกลบอลโพสต์ระบุอีกว่าเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวนี้มีจุดที่เป็นการปิดกั้นประชาธิปไตยในแง่ของการห้ามไม่ให้มีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน การระบุให้การ 'ยัดเยียด' แนวคิดทางการเมืองหรือหลักการต่อรัฐหรือต่อผู้อื่นเป็น 'การก่อการร้าย' และมีความขัดแย้งกับกฎหมายเสรีภาพสื่อปี 2542 ของญี่ปุ่นที่ระบุให้พลเมืองมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลได้
เรียบเรียงจาก Diet passes controversial secrets law despite protests, Japan Today, 07-12-2013 Japan passes a democracy-muzzling Patriot Act, Globalpost, 06-12-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
มติ ปชป. ลาออก ส.ส. ทั้งพรรค อภิสิทธิ์เรียกร้องให้คืนอำนาจประชาชน Posted: 08 Dec 2013 01:53 AM PST ที่ประชุมประชาธิปัตย์มีมติให้ ส.ส.ทุกคนลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำหน้าที่ในสภาได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชน ระบุ "ยุบสภาก็ยังดีกว่านายกรัฐมนตรีไม่ทำอะไร" และพรุ่งนี้อดีต ส.ส. ทุกคนจะไปใช้สิทธิ์ 'พิทักษ์รัฐธรรมนูญ' แถลงข่าวของพรรคประชาธิปัตย์หลังมีมติลาออกจาก ส.ส. ทั้งพรรค เมื่อ 8 ธ.ค. 56 ที่มา: เพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 8 ธ.ค. 2556 - วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ส.ส.ทุกคนลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันนี้ (8 พ.ย.) โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำหน้าที่ในสภาได้ หลังการประชุมพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวระบุสาเหตุที่พรรคมีมติให้ ส.ส. ของพรรคลาออกว่า เพราะสภาหมดความชอบธรรม หากปล่อยไว้บ้านจะสูญเสียไปเรื่อยๆ จะรักษาอะไรไว้ไม่ได้เลย การตัดสินใจในวันนี้เพื่อรักษามาตรฐานความรับผิดชอบในระบบรัฐสภา เหลือแต่เสียงข้างมากและรัฐบาลที่ยังไม่รู้สำนึกถึงการกระทำความผิดโดยเอาสภามาแอบอ้าง การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจโดยยึดมั่นกติกา ระบบ มองประโยชน์ส่วนรวมประเทศ ไม่มีประโยชน์ส่วนตัว ผมให้ความมั่นใจว่าจะออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่เป็นไปตามกลไกปกติ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐสภา ผมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งในการแย่งชิงอำนาจ อันนี้กล่าวไว้เพื่อป้องกันการใส่ร้ายป้ายสี อภิสิทธิ์ระบุว่า ที่ประชุมได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงหารือ ไม่ได้ตัดสินด้วยกระแส แต่ตัดสินด้วยสำนึก ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงพร้อมใจกันลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันนี้ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ คืนอำนาจให้ประชาชน ทั้งนี้ยุบสภาเป็นทางหนึ่งของการคืนอำนาจประชาชน แต่การยุบสภาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ต้องปรึกษาหารือประชาชนเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการปฏิรูป อภิสิทธิ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า หลังจากลาออกแล้ว จะเป็นประชาชนคนไทย พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต่อสู้ให้มีการปฏิรูปประเทศ ยึดมั่นว่าทำทุกอย่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย พรุ่งนี้จะใช้สิทธิ์เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกจะไปใช้สิทธิกับประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แสดงออกว่าจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐบาลยุบสภาแล้วจะพอใจหรือไม่ อภิสิทธิ์ตอบว่า "ยุบสภาพอใจมากกว่านายกรัฐมนตรีไม่ทำอะไร" และยืนยันด้วยว่าการยื้อเวลาของรัฐบาลไม่เป็นประโยชน์ ทำให้วิกฤตของประเทศสะสม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรา 7 และนายกฯ พระราชทาน Posted: 07 Dec 2013 10:12 PM PST "มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้กลายมาเป็นข้อเสนอให้กับความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในการเคลื่อนไหวของ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทั้งนี้ข้อเสนอเรื่องมาตรา 7 ได้เคยปรากฏขึ้นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยในครั้งนั้นได้มีการเรียกร้องให้มีนายกฯ พระราชทานขึ้นในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลาดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
รายงาน: การตีความ ม.7 - รากความคิด 'สภาประชาชน' คนดีจัดการทุนสามานย์ Posted: 07 Dec 2013 09:10 PM PST
การประกาศตั้ง "สภาประชาชน" ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจทำให้ใครหลายคนงุนงงสงสัยว่าโมเดลนี้คืออะไร เป็นไปได้เพียงไหน หลายวันที่ผ่านไปหลังประกาศไอเดียนี้ ไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก นอกจากเป้าหมายหลักนั่นคือ ล้มล้าง "ระบอบทักษิณ" ซึ่งตามนิยามของสุเทพแล้วมันเป็นทุนสามานย์ที่ชั่วร้าย ฝังอยู่ในทุกอณูเนื้อของวิถีทางประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งซึ่งชนะด้วยการซื้อเสียง กระแสมาตรา 7 ครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษคอนเซ็ปท์หลักของสภาประชาชนนั้นพูดถึง "ประชาธิปไตยทางตรง" นั่นคือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้วจากการเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมและการไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ (=ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ) หลังจากนั้นอำนาจรัฐจึงต้องกลับสู่ประชาชน อ้างอิงตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการ "แต่งตั้ง" ตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ ประกอบกันเป็นสภาประชาชน คล้ายกับสภาสนามม้าที่ประชาชนหลายสาขาอาชีพมาช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 โดยสุเทพอ้างอิงช่องทางตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ "มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" กระแสเรียกร้อง นายกฯ คนกลาง หรือ นายกฯ พระราชทาน หรือ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นระลอกแรกเกิดในช่วงต้นปี 2549 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหอกในการนำเสนอ "ประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบ ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว คือวิถีทางตามมาตรา7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540....พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนรวมพลังร่วมแสดงตนขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมโดยพลัน" แถลงการณ์ฉบับที่ 6/2549 ของ พธม. (23 มี.ค.49) "ถ้าปล่อยให้ทักษิณเป็นผู้นำการปฏิรูปทางการเมืองก็ไมได้แก้ไขปัญหาเรื่องระบบทักษิณ และคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีตามาตรา 7 ก็คือการเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นกลาง แน่นอนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 7 ก็ต้องได้รับการวินิจฉัยจากพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองซึ่งคนทั่วไปก็เรียกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แต่หลังจากนั้น รัฐบาลที่เกิดจากมาตรา 7 หรือนายกรัฐมนตรีที่เกิดจากมาตรา 7 จะต้องทำก็คือการปฏิรูปการเมืองแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเพิ่มอำนาจภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ เพิ่มพื้นที่ภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญให้มากกว่าเดิม นั่นคืองานที่ทำต่อไป และการที่จะปฏิรูปการเมืองก็เพื่อจะขจัดระบบทักษิณ ระบบการใช้อำนาจของนายกฯ ทักษิณ ไม่ให้แข็งแรงถึงขั้นครอบงำสังคมไทย" พิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำ พธม.ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดนายกพระราชทาน แต่ครั้งนี้ การตีความมาตรา 7 นั้นแตกต่างออกไปโดยไม่อาศัยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อาจเพราะในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงปฏิเสธการตีความมาตรา 7 เช่นนั้นอย่างชัดเจน คราวนี้จึงเห็นนักวิชาการบิ๊กเนมหลายคนช่วยอธิบายช่องทางใหม่ของการใช้มาตรา 7 จำนวนไม่น้อย "หากถึงที่สุดแล้วพลังของฝ่ายประชาชนชนะ รัฐบาลยอมลาออก และแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะเกิดสุญญากาศ ขณะนี้มวลชนกำลังบี้ให้เกิดสุญญากาศ ยุบสภา ลาออก และไม่รักษาการต่อไป อำนาจอธิปไตยก็จะกลับมาสู่ประชาชน ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับไปสู่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (มาตรา 7) ไม่มีการไปรบกวนเองพระยุคคลบาท ไม่จำเป็นต้องมีนายกฯ พระราชทาน ประชาชนสามารถจัดการกันเองในฐานะเจ้าของอำนาจ" บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า "ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือรัฐบาลมีความจริงใจก็สามารถทำตามข้อเสนอของนายสุเทพได้โดยการยุบสภา ซึ่งถ้าเป็นไปตามขั้นตอนปกติครม.ต้องรักษาการระหว่างการจัดการเลือกตั้ง แต่ครม.ทั้งคณะสามารถกราบบังคมทูลขอไม่ทำหน้าที่แต่เนื่องจากประเทศไม่มีผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ซึ่งทำให้ต้องมีการแต่งตั้งบุคคลที่มาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและครม. ขณะเดียวกันเมื่อมีการยุบสภาทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานวุฒิสภาต้องนำรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนำรายชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีโดยให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้เสนอชื่อซึ่งเห็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.เพราะเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนในเรื่องการกราบบังคมทูลไม่ทำหน้าที่หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ของครม.ทั้งคณะนั้นคิดว่าสามารถทำได้โดยให้เปรียบเทียบกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลความผิดคณะรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติกรณีการยื่นถอดถอนหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิพากษาซึ่งต้องมีการแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลมาทำหน้าที่เช่นเดียวกัน..." ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหล่านี้เป็นคำอธิบายที่ตีความกฎหมายอย่างสอดคล้องกับแนวทางการเคลื่อนไหวในขณะนี้ พร้อมๆ กันนี้ก็ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่อธิบายความชอบธรรมของการเรียกร้องสภาประชาชน ผ่านมาตรา 3 และมาตรา 7 อาทิ กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ฯลฯ 'สภาประชาชน' หลายเวอร์ชั่น บนรากฐานแนวคิด 'คนดี'การเคลื่อนไหวในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ประกอบด้วยบุคคลสำคัญที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี หลังกปปปส.เคลื่อนไหวยึดสถานที่สำคัญและกดดันสื่อมวลชนไม่นานหนัก ก็มีการประกาศ ไม่เอายุบสภา ไม่เอาลาออก และข้อเรียกร้องคือ "สภาประชาชน" ตามแนวทางที่ประกาศไว้ สภาประชาชนของสุเทพจะทำหน้าที่กำหนดแนวนโยบาย ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลการตรากฎหมาย ต่อต้านการทุจริต และตรากฎหมายการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่สำคัญ สภาประชาชนของสุเทพจะเป็นผู้คัดเลือก "คนดี" ที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบกับตำแหน่งอื่นเป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลประชาชนจะเร่งรัดปฏิบัติงานตามแนวนโยบายสภาประชาชนให้เสร็จสิ้นในเวลาที่สั้นที่สุด ก่อนจะจัดการเลือกตั้งตามปกติต่อไป แนวทางสภาประชาชนของสุเทพ อาจกล่าวได้ว่าต่อยอดมาจากสิ่งที่ก่อตัวมาก่อนหน้านี้ไม่นาน นั่นคือ สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 56 ก่อนที่การชุนนุมนำโดยสุเทพจะเกิดขึ้น สปท ประกอบด้วยแนวร่วมประชาชนกว่า 45 องค์กรจากหลายสาขา อาทิ วิชาการ กฎหมาย กลุ่มวิชาชีพ นักธุรกิจและนักศึกษา มีโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย คณะกรรมการมาดำเนินการโดยที่ไม่มีผู้นำ ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางการเมือง และมุ่งขจัดนายทุนทางการเมืองแบบรวมศูนย์ผูกขาด กระจายอำนาจให้แก่ประชาชน ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปการเมืองเเละอำนาจรัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปการบริหารประเทศ 3.ปฏิรูปคุณธรรมจริยธรรมเเละยุติธรรม 4.ปฏิรูปการศึกษา 5.ปฏิรูปเศรษฐกิจที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับรายชื่อคณะกรรมการสปท.ชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 16 คน ได้แก่ 1.นายบรรเจิด สิงคะเนติ 2.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 3.นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว 4.นายคมสัน โพธิ์คง 5.นายสุริยะใส กตะศิลา 6.นายยรรยง เสรีรัตน์ 7.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 8.นายชัยพันธ์ ประภาสวัสดิ์ 9.นางอําภา สันติเมทนีดล 10.นายระวี มาศฉมาดล 11.นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ 12.นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 13.นายอัษฎายุทธ คุณวิเศษพงษ์ 14.นายอุทัย ยอดมณี 15.นายสมเกียรติ หอมละออ 16.นายสุพา ค้าสุจริต นอกจากนี้ยังมีที่ปรึกษากลุ่ม เช่น พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายพิภพ ธงไชย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ต่อมาวันที่ 12 พ.ย.56 กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กองทัพธรรม และภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เดินเท้าออกจากสถานที่ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ไปสำนักพระราชวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอทูลเกล้าฯ จัดตั้งสภาประชาชน และให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติบทบาท เป้าหมายของทั้ง สปท. และสภาประชาชนของสุเทพ ต้องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สุเทพยกตัวอย่างรูป เช่น การกระจายอำนาจการปกครอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไอเดียซึ่ง "ภาคประชาชน" นำเสนอมาแล้วพักใหญ่และพยายามเข้าไปมีบทบาทในการผลักดัน "ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบปกติ" โดยเฉพาะการกระจายอำนาจนั้น มีเจ้าภาพทำเรื่องนี้อยู่หลายเจ้า ประเวศ วะสี และองค์กรอย่าง สสส.เองก็ผลักดันเรื่องนี้อย่างหนัก ด้วยเชื่อว่าอำนาจรวมศูนย์ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง หรืออย่างไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เมื่อครั้งที่เคยเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ก็ผลักดัน พ.ร.บ.องค์กรชุมชนท้องถิ่น จนสำเร็จ โดยกำหนดให้มีบทบาทคล้ายสภาที่ปรึกษของแต่ละตำบล ปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ราว 4,317 แห่ง มีหน้าที่ตามกฎหมายคือ อนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ร่วมมือกับหลายสวนจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน, เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาและการพัฒนากับ อปท., ปรึกษาหารือกับประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม นั่นเป็นระดับของตำบล ในระดับของจังหวัดนั้น แนวคิด "จังหวัดจัดการตนเอง" ก็ริเริ่มดำเนินการแล้ว โดยมีโมเดล "เชียงใหม่มหานคร" เป็นต้นแบบ เอ็นจีโอหลายองค์กรร่วมกันล่าชื่อประชาชนเสนอกฎหมายฉบับนี้แล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ในกฎหมายดังกล่าวมีสิ่งที่คล้ายสภาประชาชนคือ "สภาพลเมือง" ในโมเดลนี้ จังหวัดสามารจัดการตนเองได้ทุกเรื่อง ยกเว้นหน้าที่ของส่วนกลาง 4 เรื่องคือ ความมั่นคง, การต่างประเทศ, ระบบเงินตรา, ระบบยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้โอนงบประมาณและหน้าที่ให้ท้องถิ่นทำทั้งหมด ทั้งนี้ นอกจากจะมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติแล้ว ยังมี "สภาพลเมือง" เข้าไปเป็นอีกลไกหนึ่ง ซึ่งจะทำงาน 2-3 เรื่องคือ 1.เสนอนโยบายการพัฒนา 2.ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร 3.สนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ ที่ผลักดันเรื่องทำนองนี้ก็ได้แถลงแนวทาง "สภาประชาชน" ตามแนวตนเอง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสสภาประชาชนของสุเทพที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง แนวทางของภาคส่วนนี้ไม่ "ฮาร์ดคอร์" เท่าของกำนันสุเทพ แต่มุ่งให้เกิดการปฏิรูปในระบบ มันจึงต่างจากสภาประชาชนของสุเทพในแง่ของการไม่ล้มโครงสร้างเดิม แต่เพิ่มโครงสร้างใหม่ของ "ประชาชน" เข้าไปในระบบ ผ่านการเลือกคนดีเข้าไป ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีกฎหมายรองรับ มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน อาจเพราะพิสูจน์แล้วว่านวัตกรรมในการสร้างพื้นที่ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาองค์กรชุมน ฯลฯ นั้นไม่เวิร์คสักเท่าไร แต่ถึงที่สุด โมเดลใหญ่ระดับประเทศและถอนรากถอนโคนแบบสุเทพนั้น ก็อาจเป็นความหวังให้ภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อยเช่นกัน หลายคนสนับสนุนสุดตัว หลายคนนิ่งๆ รอดูผลลัพธ์ มีน้อยคนนักที่จะคัดค้านแนวทางของสุเทพ เพราะทั้งหมดต่างก็มีจุดร่วมอยู่บนแนวทางของ "คนดี" และความต้องการถ่วงดุลกับทุนใหม่ที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐและผลักดันนโยบายการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เบ็ดเสร็จ แม้ยังไม่เห็นหนทางที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เรียกว่า "สภาประชาชน" จะเกิดขึ้นได้อย่างไร "สุญญากาศ" ที่ต้องการจะเกิดไหม เมื่อไร ทหารจะยอมเคลื่อนไหวอีกครั้งหรือไม่ แต่แนวคิดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางการเมืองลักษณะนี้นั้นมีรากฐานที่แน่นหนา ได้รับการสนับสนุนจากหลายด้าน อาจเป็นเจตนาดีที่ต้องการพัฒนาระบบการเมืองให้พัฒนาก้าวหน้า แต่เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นส่วนเสริมความสดุลในระบมาเป็นตัวล้ม ตั้ง และรันระบบเสียเอง มันเป็นการต่อสู้ในนามของคุณธรรมความดี ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ขณะเดียวกันก็ละเลยกติกาและอาจรวมถึงประชาชนอีกไม่น้อยที่สนับสนุนสิ่งที่เรียกว่าทุนสามานย์ คำถามพื้นฐานที่สุดคือจะนับเสียงของเขาไหม จะนับเขาเป็นประชาชนหรือไม่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น