โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เลขาธิการยูเอ็นยินดีที่ รบ.ไทย แก้ไขวิกฤตการเมืองด้วยวิถีประชาธิปไตย

Posted: 17 Dec 2013 12:37 PM PST

บัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติแถลงข่าวในโอกาสสิ้นปี ตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในไทยโดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงความรุนแรง และยินดีที่รัฐบาลคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองด้วยกระบวนการประชาธิปไตย

บัน กีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

18 ธ.ค. 56 - เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายบัน กีมุนได้แถลงข่าวในโอกาสสิ้นปี 2013 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐอมริกา ข้อความตอนหนึ่งที่เขาแถลงกล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยระบุว่า "ข้าพเจ้าขอเรียกร้องทุกฝ่ายในประเทศไทยให้หลีกเลี่ยงความรุนแรง ข้าพเจ้ายินดีที่รัฐบาลตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองในประเทศด้วยกระบวนการประชาธิปไตย"

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวในโอกาสสิ้นปี เขายังกล่าวถึงสถานการณ์สำคัญในประเทศต่างๆ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในประเทศยูเครนมีความยับยั้งชั่งใจ และยึดหลักการประชาธิปไตยในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวอย่างสันติ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชจัดการเจรจาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของยูเครน

ทั้งนี้บัน กีมุน ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่นายจาง ซองแต็ก ผู้นำอันดับสองของเกาหลีเหนือและอาเขยของคิม จอง อึน ถูกทางการเกาหลีเหนือประหารชีวิต โดยเขาเรียกร้องฝ่ายที่เกี่ยวข้องของคาบสมุทรเกาหลี อย่าใช้ปฏิบัติการที่ไม่จำเป็นสำหรับเหตุการณ์นี้ และเขาเรียกร้องต่อผู้นำเกาหลีเหนือให้ใช้ความพยายามเพื่อผลักดันกระบวนการปลอดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีและปฏิบัติตามบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากล และในระยะเวลาอันใกล้นี้จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมนานาชาติ และต้องมุ่งปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศที่ประสบความลำบากมาอย่างยาวนาน และส่วนตัวเขาเองก็เตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมงานที่เกี่ยวข้องนี้ด้วย

เรียบเรียงบางส่วนจาก PRESS CONFERENCE BY SECRETARY-GENERAL BAN KI-MOON, UN, MONDAY, 16 DECEMBER 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขอให้เธอกล้าแกร่งทุกยาม ให้เธอได้ผลิบานตามวัย ให้การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนปลอดภัยสำหรับเธอ

Posted: 17 Dec 2013 10:37 AM PST

รำลึกวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธ.ค.56 เปิดข้อมูลอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในปี 56 ชี้ 5 นัยยะความสำคัญ พร้อมกับโจทย์ที่ท้าทายในการแก้ปัญหา

"ขอให้เธอกล้าแกร่งทุกยาม ให้เธอได้ผลิบานตามวัย" เป็นคำท้ายจบประโยคที่ฉันเพิ่งบอก "โย" ไปเมื่อสักครู่

"โย" สาวแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นจากเมืองพะอัน (Hpa-An) เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า มาทำงานในประเทศไทยเป็น "ลูกจ้างร้านตัดผม" ย่านรามคำแหงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วตั้งแต่อายุเพิ่งพ้น 15 ปีมาไม่กี่วัน และคำว่า "ไม่ถูกกฎหมาย" ก็ประทับตราเธอให้ใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆอยู่แต่ในร้านทำผมมาโดยตลอด สมัยที่รัฐบาลไทยยังมีมติคณะรัฐมนตรีรายปีที่ต่ออายุแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชาแบบปีต่อปี จนทุกวันนี้เปลี่ยนระบบมาเป็นการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง และแรงงานข้ามชาติหลายๆคนก็มีพาสปอร์ตยืนยันสถานะบุคคลของตนเอง

"โย" โทรศัพท์มาขอบคุณฉันที่เป็น "ครู" สอนภาษาไทยเธอมากว่า 4 ปี และแจ้งว่าเธอจะเดินทางกลับ
พะอันแล้ว ไปตั้งรกรากสร้างอาชีพที่นั่นกับคู่ชีวิตของเธอที่เป็นหนุ่มกะเหรี่ยงเช่นเดียวกัน คงไม่มีโอกาสมาหาและเยี่ยมเยียน "คนเป็นครู" ได้อีกต่อไป

ฉันยิ้มรับด้วยความปลาบปลื้มในวิถีของเธอ กว่า 15 ปี บนเมืองหลวงประเทศไทย ที่ให้โอกาสและฝึกเธอจนกล้าแกร่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญบนโลกเล็กๆใบนี้

หลังวางสายจาก "โย" ฉันอดนึกถึงเพื่อนๆแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อนๆจากพม่า ลาว กัมพูชา ที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย

แค่เพียงเฉพาะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ตัวเลขล่าสุดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่าในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการตั้งโรงงานในประเทศไทยรวม 4,260 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 24.56% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ที่มียอดตั้งโรงงานเพียง 3,420 แห่ง ทำให้มีการจ้างแรงงานใหม่เพิ่มขึ้น 106,724 คน ในกว่า 1 แสนคนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านกว่าหนึ่งหมื่นคนเลยทีเดียว

"เธอบอกฉันว่าจะข้ามไปเมืองไทย

เก็บเงินหางาน ส่งให้พ่อแม่

เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบาก เพื่อให้ที่บ้านมีอยู่มีกิน

ข่าวจากอีกฟากฝั่ง

เดินทางมาบอกฉันว่า

เพื่อนเราล้มตายขณะเดินทางไปทำงาน

ฉันยังเป็นห่วงเธอเสมอ หวังว่าเธอคงไม่ใช่ผู้โชคร้าย

ฉันรู้ ว่าฉันได้แต่หวัง

หวังว่าชีวิตเธอที่เมืองไทย

คงจะชุ่มเย็นสำหรับเธอนะ"

กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่พบว่าหลายคนต้องสูญเสียชีวิตระหว่างเดินทางเข้ามา ระหว่างทำงาน และระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของประเทศไทย

ฉันอดนึกถึงเหตุการณ์ 54 ศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่จังหวัดระนองขึ้นมาไม่ได้ บนรถตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นรถห้องเย็นบรรทุกอาหารทะเล ซึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 121 คน หลบซ่อนตัวมาในรถ เพื่อไปส่งที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต แต่เนื่องจากบนรถไม่มีอากาศหายใจ ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ต่างเบียดเสียดแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ จำนวน 54 คน ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศระหว่างที่รถแล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

รวมถึงจากโศกนาฏกรรมล่าสุด อุบัติเหตุการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวที่ไม่ถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 บนถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ที่ทำให้แรงงานเสียชีวิตถึง 19 คนทันทีและบาดเจ็บอีก 7 คน จากทั้งหมด 26 คน พวกเขาและเธอต่างนั่งเบียดอัดกันมาในรถกระบะ เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดยังประเทศลาว ผ่านทางด่านเขมราฐ จ.อุบลราชธานี แต่รถกระบะกลับเสียหลักพุ่งตกข้างทางและชนกับต้นไม้เสียก่อนที่พวกเขาจะกลับถึงบ้าน ภาพจากการรายงานข่าวยังติดตาฉันมาจนถึง ณ ตอนนี้

ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นถึง 12 ครั้ง มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตรวม 37 คน และบาดเจ็บรวม 172 คน ได้แก่

ครั้งที่ 1

7 มกราคม 2556 ที่ จ.สระแก้ว รถกระบะ ทะเบียน ถธ 9638 กรุงเทพมหานคร ที่รับแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาที่ไม่ถูกกฎหมาย 10 คน มาจากตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ เพื่อไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้าบริเวณ ถ.สุวรรณศร ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว แรงงานทั้ง 10 คนได้รับบาดเจ็บและถูกส่งกลับประเทศทันที

ครั้งที่ 2

24 เมษายน 2556 ที่ จ.ตาก รถทัวร์สองชั้น ไม่ประจำทาง ทะเบียน 30-7373 กรุงเทพมหานคร เสียหลักและพลิกคว่ำบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 แม่สอด-ตาก บริเวณดอยรวก เป็นเหตุให้มีแรงงานข้ามชาติซึ่งมีพาสปอร์ตถูกต้องตามกฎหมาย ขณะกำลังเดินทางกลับประเทศพม่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ บาดเจ็บ 50 คน และเสียชีวิตทันที 2 คน

ครั้งที่ 3

24 เมษายน 2556 ที่ จ.ชุมพร รถกระบะ ทะเบียน ฒญ 5565 กรุงเทพหานคร ขับหลบหนีตำรวจขณะเรียกให้หยุดตรวจบริเวณถนนสายเอเชีย หมู่ที่ 4 ต.นาโพธิ์ อ.สวี จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่จึงไล่จับกุม จนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ริมทางจนพลิกคว่ำ และทำให้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่หลบหนีเข้าเมือง บาดเจ็บสาหัส รวม 15 ราย ซึ่งเดินทางมาจาก จ.กาญจนบุรี เพื่อเดินทางไปทำงานที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ครั้งที่ 4

29 เมษายน 2556 รถยนต์กระบะ ทะเบียน บพ 2808 จ.ชุมพร พลิกคว่ำตกไหล่ทางบริเวณถนนบาสพาส ชะอำ-ปราณบุรี ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่า 18 คน ซึ่งเดินทางมาจาก จ.กาญจนบุรี เพื่อไปทำงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับบาดเจ็บรวม 10 ราย และมี 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส

ครั้งที่ 5

4 พฤษภาคม 2556 ที่ จ.สระแก้ว รถปิคอัพ ทะเบียน ปบ 6292 กรุงเทพมหานคร พลิกคว่ำตกในคูน้ำที่
ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ ทำให้แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจำนวน 12 คน ที่กำลังจะเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพได้รับบาดเจ็บ

ครั้งที่ 6

31 พฤษภาคม 2556 ที่ จ.ระนอง เกิดอุบัติเหตุเรือหางยาวล่ม ซึ่งเดินทางมาจาก จ .เกาะสอง ประเทศพม่า เพื่อมาทำงานที่ จ.ระนอง รวมประมาณ 45 คน ล่มกลางทะเล จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน

ครั้งที่ 7

7 กรกฎาคม 2556 ที่ จ.ปราจีนบุรี รถตู้โดยสารสาธารณะ 15-2634 กทม. วิ่งระหว่างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน-ม.รามคำแหง ที่รับแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวจำนวน 15 คน มาจากโรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง เขตวงเวียนใหญ่ กทม.เพื่อพาไปต่อหนังสือเดินทางที่ ตม.จังหวัดจันทร์บุรี เสียหลักชนต้นไม้และเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่บริเวณถนนหลวงสาย 359 เขาหินซ้อน-สระแก้ว ต.วังตะเคียน ทำให้แรงงานชาวลาวเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 14 ราย

ครั้งที่ 8

1 สิงหาคม 2556 รถตู้โดยสารทะเบียน 10-1211 อ่างทอง สายสุพรรณบุรี-กรุงเทพ ชนรถปิคอัพทะเบียน บย 6266 สุพรรณบุรี ซึ่งรับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาไม่ถูกกฎหมายจำนวน 5 คน ซึ่งเดินทางมาจากอ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เพื่อมาทำงานที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5 คน

ครั้งที่ 9

12 กันยายน 2556 ที่ จ.ระนอง เรือหางยาวขนส่งแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ว่าจ้างมาจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่าเพื่อไปส่งที่ ต.นางย่อน อ.คุระบุรี จ.พังงา ในราคาคนละ 500 บาท รวม 28 คน ล่มกลางทะเลบริเวณเกาะพยาม แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ทั้ง 28 คน หลังจากขึ้นฝั่งได้ ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ครั้งที่ 10

15 กันยายน ที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ทะเบียน 15-1079 กทม. พาแรงงานข้ามชาติพม่า มอญ และกะเหรี่ยง โดยทุกคนเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งทำงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ว่าจ้างให้ไปส่งที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อจะกลับบ้านที่ประเทศพม่า โดยเสียค่าเช่ารถคนละ 1,500 บาท แต่คนขับรถตู้หลับในจนรถเสียหลักพุ่งชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 70-3737 ประจวบคีรีขันธ์ ที่จอดริมทาง ทำให้แรงงานและคนขับรถตู้บาดเจ็บรวม 14 ราย และในนี้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ในที่นี้มีเด็กวัย 3 เดือน รวมอยู่ด้วย

ครั้งที่ 11 เมื่อ 8 ตุลาคม 2556 ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น

ครั้งที่ 12

15 ธันวาคม 2556 บนทางด่วนบูรพาวิถีขาเข้า หลักกิโลเมตรที่ 13 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ รถยนต์กระบะบรรทุกปลา ทะเบียน ณง 3074 กรุงเทพมหานคร ยางแตกและเสียหลักพุ่งชนกับรถกระบะบรรทุกแรงงานข้ามชาติ ทะเบียน ฒฐ 5498 กรุงเทพมหานคร จนไฟลุกไหม้ ทำให้แรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 12 คน

ตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเหล่านี้ มีนัยยะสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง ?

(1)     แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มหรือลด GDP ประเทศไทย การที่ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการทำงานของแรงงานข้ามชาติไปถึง 209 คน จึงส่งผลไม่มากก็น้อยต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องพึ่งพา/ไม่สามารถปฏิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้อยู่

(2)     ประเทศไทยปล่อยให้การสูญเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เป็นเรื่องของความเอื้อเฟื้อของนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเพียงเท่านั้น เพราะแรงงานกลุ่มนี้ คือ พวกลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารรับรอง จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องได้รับการดูแลเหมือนผู้ใช้แรงงานไทยกลุ่มอื่นๆหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ถูกกฎหมาย

(3)     ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีแรงงานที่ลักลอบผิดกฎหมายทำงานอยู่จำนวนมาก ระบบการพิสูจน์สัญชาติมิสามารถแก้ปัญหาได้กับแรงงานทุกคน ดังนั้นการขาดการสร้างนโยบายที่คุ้มครองแรงงานตั้งแต่เริ่มข้ามพรมแดนยิ่งสร้างให้เกิดกระบวนการฉวยโอกาสจากแรงงานราคาถูก โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาและเธอก็คือพลเมืองโลกคนหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ทั้งๆที่ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็กลับไม่ยอมรับในหลักการคุ้มครองแรงงานตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน ระหว่างทำงาน หรือหลังทำงาน จากการคุ้มครองจึงแปรเปลี่ยนเป็นไล่ล่าจับกุมปราบปรามโดยกระทรวงกลาโหมหรือมหาดไทยแทน กระทรวงแรงงานกลับเพิกเฉยและตั้งรับ นิ่งดูดาย หรือกระทั่งผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นๆแทน ขาดการตระหนักร่วมว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

(4)     ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงกระแสการปฏิรูปประเทศไทยกลับมาอีกครั้งหนึ่งตามวาระของการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะน่าอยู่ได้คงไม่ได้มีเพียงเฉพาะการคุ้มครองคนที่เป็นพลเมืองไทยเท่านั้น การพูดถึงแผ่นดินไทยที่อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องชีวิตทั้ง "คนไทย" และ "แรงงานข้ามชาติ" การสร้างสังคมที่ดูแลสิทธิมนุษยชนและชีวิตคนทุกคน แม้ว่าเขาหรือเธอจะเดินทางมาจากแผ่นดินอื่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้จากระบบคุ้มครองที่มีอยู่ปัจจุบัน

(5)     ความตายและการบาดเจ็บจากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงการจัดการกับวิกฤติเรื่อง ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางเพื่อเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จากเดิมอาจมองเป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุชั่วครั้งชั่วคราว ก็ยกระดับจากการแยกส่วนแยกหน่วยงาน มาเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อสร้าง/แสวงหาความสมดุลในการจ้างงานทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมกัน

เนื่องในวันพรุ่งนี้ 18 ธันวาคม 2556 เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrant Day) ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานอพยพในประเทศต่างๆได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และเป็นในฐานะแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากปรากฏการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็มักจะถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆอันเนื่องมาจากการเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม ขาดโอกาสในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทยแล้วก็มิแตกต่าง การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว และกัมพูชา ก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน แม้ว่าที่ผ่านมาปัญหาหลักของแรงงานกลุ่มนี้คือ ยังไม่ได้รับการคุ้มครองและมีกลไกเข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยได้เท่าที่ควร

แต่โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าสำหรับวันนี้และปีต่อๆไป คือ ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะสร้างกลไกให้แรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายได้มีโอกาสย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย

ฉันขอเรียกร้องให้ 12 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย และร่วมกันยอมรับความจริงอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถย้ายถิ่นเข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมายประเทศไทย อีกทั้งเราก็จะไม่ยอมหรี่ตาอีกต่อไปแล้ว และปล่อยให้การย้ายถิ่นจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง อยู่ในชะตากรรมของผู้นำพาหรือนายหน้าเพียงเท่านั้น

เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องราวที่ผ่านมา เพื่อลืมเลือนไปในที่สุด

แต่เราจะร่วมกันหาหนทางใหม่ๆในการจัดการปัญหาแบบนี้

เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่า วันนี้มีคนจำนวนมากเดินทางข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาหางานทำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเองที่บ้านเกิดในประเทศไทย อีกทั้งแรงงานจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้ามนุษย์ แต่เบื้องหลังการเดินทางนั้นหลายคนมีภาระหนี้สินผูกติดตัวมา การส่งกลับแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายจากการย้ายถิ่นที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงลักษณะดังกล่าว ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรของการค้ามนุษย์อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้นต่อไป

สุดท้ายแล้วเมื่อแรงงานข้ามชาติยังมีความสำคัญกับสังคมไทย ถึงเวลาหรือยังที่เราจำต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังเสียทีว่า ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมน่าอยู่ที่เป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์สำหรับคนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยมีหน้าตาอย่างไร และคนทุกคนซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย จะมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างสังคมไทยอย่างไร  

ถึงเวลาแล้วที่โจทย์คำถามที่ท้าทายนี้ ประเทศไทยคงต้องหยิบขึ้นมาทำให้เป็นจริงเป็นจังเสียที !!!!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อลงกรณ์หลุดเก้าอี้รอง หน.ปชป. วอนปฎิรูปพรรคต่อ-เป็นทางเดียวชนะใจ ปชช.

Posted: 17 Dec 2013 10:21 AM PST

ผลประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 56 อภิสิทธิ์ นั่งหัวหน้าพรรคต่อ มติไม่รับข้อเสนอ 'อลงกรณ์' และแพ้โหวตรองหัวหน้าพรรค เจ้าตัววอนวอนปฎิรูปพรรคต่อ ชี้เป็นทางเดียวกลับมาชนะใจปชช.

17 ธ.ค.2556  หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้หารือและรับรองข้อบังคับพรรคใหม่แล้วได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว แต่ต้องมีการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ได้รับการรับรองด้วยคะแนนร้อยละ 98 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอชื่อรองหัวหน้าพรรคโควตากลาง 5 คน คือ นายเกียรติ สิทธีอมร รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ด้านกิจการสภาและนโยบาย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ทำงานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำงานด้านท้องถิ่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำงานด้านการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ และเสนอนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งหมดได้รับเลือก ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ นายอัศวิน วิภูศิริ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ภาคกลาง นายสาธิต ปิตุเตชะ ภาคใต้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ กทม.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์

ทั้งนี้ในส่วนของรองหัวหน้าพรรค ภาคกลางนั้น เป็นการแข่งกันระหว่างนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคกับนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ซึ่งนายสาธิตชนะไป

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา นายอลงกรณ์ ได้ทวีตผ่าน @alongkornpb ว่า "แพ้ครับ" พร้อมทั้งกล่าวยอมรับมติพรรค และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคต่อไป โดยอลงกรณ์เห็นว่ามีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะชนะใจประชาชน พร้อมทวีตด้วยว่า "ชีวิตพลิกผันจริงๆเมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งไปแลกประสบการณ์การปฏิรูปพรรคกับ 3 พรรคการเมืองที่อังกฤษแถมซื้อพ็อกเก็ตบุ้คมาศึกษา 4 เล่มหวังมาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์" 

อลงกรณ์ทวีตกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปพรรค ที่ผ่านมาด้วยว่า นับแต่เปิดประเด็น "ปฎิรูปพรรคประชาธิปัตย์" เมื่อ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างแต่ก็พร้อมยอมรับชะตากรรม ถ้าไม่กล้าริเริ่มใครจะเริ่ม ดังนั้นการที่ผมแพ้เลือกตั้งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคกลางวันนี้ถือเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งผมให้ความเคารพและเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรัก ก่อน13 เม.ย. ผมคิดว่าประเทศของเราเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การศึกษาตกต่ำขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงสังคมเสื่อมเศรษฐกิจอ่อนแอแล้วจะแก้อย่างไร ไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศจะจบลงที่ตรงไหนโดยเฉพาะประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายมากขึ้น ผมเห็นว่าการเมืองคือต้นเหตุใหญ่ของปัญหาจึงต้องแก้ที่การเมือง

อลงกรณ์มองว่า "เราแก้ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งผมเป็นรองหัวหน้าโดยต้องปฏิรูปพรรคให้ก้าวหน้าทันสมัยยึดมั่นประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทำเพื่อส่วนรวมแข่งคิดเก่งแข่งบริหารเก่ง 9เดือนเต็มที่พวกเราฝ่าฟันผลักดันจนที่ประชุมใหญ่ในวันนี้เห็นชอบร่างข้อบังคับเปลึ่ยนแปลงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการใหม่ตามแนวทางปฏิรูปพรรค"

"ถึงจะไม่มีผมในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แต่ก็เป็นกำลังใจอย่าทิ้งการปฏิรูปพรรคเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีของประชาชนไม่ใช่ของกลุ่มใดคนใด พรุ่งนี้ผมจะขนของออกจากห้องทำงานเพื่อให้รองหัวหน้าคนใหม่เข้าทำงาน ขอบคุณสมาชิกพรรคทุกคนที่ร่วมงานกันตลอด 22 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรักและภักดีตลอดมา" อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ ทวีตทิ้งท้าย

 

ที่ประชุมพรรคชี้ข้อเสนออลงกรณ์สร้างความซ้ำซ้อน

ทั้งนี้มีรายงานว่า ข้อสนอปรับโครงสร้าง "คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ที่เสนอโดยอลงกรณ์นั้น เป็นการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของประธานสาขาเพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการเป็นเลขานุการ 3. ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4. ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5. ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าหากเพิ่มข้อ 6 ที่นายอลงกรณ์เสนอจะทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะมีสัดส่วนจากสาขาพรรคอยู่แล้ว

โดยผู้สื่อข่าว คม ชัด ลึก รายงานด้วยว่า ในการประชุมได้มีส.ส.หลายคนโต้แย้งนายอลงกรณ์ อาทิ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้วงขึ้นว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอก็จะทำให้มีการเสนอตัวแทนจากสัดส่วนอื่นไม่รู้จบ จนเกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ควรจะมีการลงมติได้แล้ว เนื่องจากเสียเวลาและพรรคได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอน จึงควรดำเนินการตามโครงสร้างที่มีการเสนอมา

ทั้งนี้นายอลงกรณ์ยังคงยืนยันที่จะเสนอโครงสร้าง ตามแนวทางใหม่ของตัวเอง ในขณะที่ประธานสาขาพรรค ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนแนวคิดของนายอลงกรณ์ เพื่อให้ประธานสาขาพรรคได้มีที่นั่งในการเป็นกรรมการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายอภิสิทธิ์ จึงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคมาก่อน หากจะให้มีการพิจารณาก็ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีการเสนอขอให้มีตัวแทนจากส.ส. จากพื้นที่มาเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบเดิมก็จะมีตัวแทนจากสาขาเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้านายอลงกรณ์ยังยืนยันที่จะให้พิจารณา ก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาเรื่องนี้

นางอวยพร พลบุตร ประธานสาขาพรรคเพชรบุรี เสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติตามแนวทางที่นายอลงกรณ์เสนอ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา จนนายอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางประนีประนอมว่า ให้มีการรับเป็นข้อสังเกตไว้แล้วไปพิจารณาเพิ่มเติมในครั้งหน้า แต่นายอลงกรณ์ ก็ยังไม่ยอมจะขอให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ตามที่นางอวยพรเสนอ โดยในระหว่างนั้นได้มีการโต้เถียงในหลักคิดเป็นระยะระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายอลงกรณ์

จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่อยากให้การแก้ไขข้อบังคับเลอะเทอะ จนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน เพราะองค์ประกอบในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีตัวแทนของสาขาพรรคอยู่แล้ว หากจะมีเพิ่มเป็นตัวแทนจากสาขาพรรคเข้ามา ก็จะมีคำถามว่าไม่มีตัวแทนจากส.ส. ถ้าส.ส.เสนอก็จะมีตัวแทนจากอดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตสาขาพรรค

นายชวน กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอยู่แล้ว จึงอยากให้สาขาพรรคเข้าใจด้วยว่าในปัจจุบันสาขาพรรค ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อบังคับสำเร็จได้ด้วยดีอย่าทำให้เลอะ เพิ่มเติมอะไรมาก เพราะยืนยันว่าองค์ประกอบที่มีอยู่มีสาขาพรรคเป็นตัวแทนอยู่แล้ว แม้นายอลงกรณ์จะมีความหวังดี แต่ตนคิดว่าจะทำให้ปัญหาไม่จบ จะมีคนเสนอตัวแทนเพิ่มเข้ามาใหม่จนข้อบังคับไปไม่ได้ จึงอยากให้รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่จะรับเป็นข้อสังเกตนำไปพิจารณาอย่าลงมติเพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็น

ในรายงานของ คม ชัด ลึก ระบุว่า การอภิปรายของนายชวน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ จึงได้ขอมติจากที่ประชุมเพื่อให้รับรองข้อบังคับพรรค ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีการโต้แย้งให้ใช้ข้อบังคับพรรคตามที่กรรมการบริหารพรรคเสนอมา โดยไม่มีการเพิ่มสัดส่วนสาขาพรรคในคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่นายอลงกรณ์พยายามผลักดัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรส.ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

Posted: 17 Dec 2013 10:02 AM PST

17 ธ.ค.2556 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม เสนอ 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

...........................

แถลงการณ์ในวันแรงงานข้ามชาติสากล

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)


ด้วยวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศรับรองให้เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศ ทุกฝ่าย ตระหนักถึงสิทธิ ของแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทาง ให้ได้การปฏิบัติที่ดีจาก รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ลัทธิความเชื่อ สีผิว และเพศสภาพ รวมทั้งการรณรงค์ให้เห็นถึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ด้วยการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ และแบ่งปัน ประสบการณ์และภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้มั่นใจในความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเสมอภาคกับแรงงงานท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พบการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ข้ามพรมแดนเกิดขึ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 เมื่อประเทศไทยเปิดตัวเองเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ในช่วงเวลานั้น มีการเคลื่อนย้าย ประชากรจากชนบทสู่เมือง แรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอื่นๆ เริ่มขาดแคลนแรงงาน เนื่องจาก ต้องสูญเสียแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สภาพปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของ ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง ลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เอื้ออำนวยต่อการข้ามแดน จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานในประเทศ ไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ มีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จากประเทศต่างๆ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอื่นๆ รวมประมาณกว่า 4 ล้านคน เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตทำงาน 1,972,504 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้เข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย 698,777 คน และเข้าประเทศผิดกฎหมาย 1,273,727 คน และคาดว่า ยังมีผู้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่า 2-3 ล้านคน

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพลังการผลิตและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ ประกอบการกลับยังคงพบการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน โดยมิคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน ข้ามชาติและการจ้างงานที่เป็นธรรม (Decent work) เช่น การกดราคาค่าจ้าง การทำงานในสภาวะที่ เสี่ยงต่ออันตรายและไม่ถูกสุขอนามัย การกักขังหน่วงเหนี่ยวเยี่ยงทาสและการค้ามนุษย์ การสร้างกระบวน การในการพิสูจน์สัญชาติที่มีความล่าช้าและมีความซับซ้อน สร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน แต่เอื้อต่อ การเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ เมื่อแรงงานต้องเข้าสู่เรื่องราวที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย พบว่าแม้ตัวแรงงานเป็นผู้เสียหาย แต่ด้วยยังอยู่ในฐานะของผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้ต้องมี การดำเนินคดีในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองกับแรงงานด้วย เป็นต้น ปัญหาของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จึงยังคง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง ขบวนการสหภาพแรงงานไทย และ แรงงานข้ามชาติเองเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติและเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในสายตานานาชาติซึ่งมีความละเอียดอ่อน

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN: Migrant Workers Right Network) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติสากล จึงตกลงร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมรณรงค์การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติให้เกิดความทัดเทียมกับแรงงานคนไทย ด้วยข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ให้ปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ลัทธิความเชื่อ สีผิว และเพศสภาพ อันเป็นหลักการที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลด้วยสิทธิมนุษยชน ดังเช่น แรงงานข้ามชาติ ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ และกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

2. ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมตามอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความรวมตัว เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และมีเวทีเจรจาพูดคุยกับนายจ้างในประเด็นของค่าจ้างและสวัสดิการ อันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติ สามารถใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่จากการจ้างงาน

3. กำหนดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยเฉพาะ การจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการบูรณาการ ร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้ทำงานที่สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ

4. ลดขั้นตอนในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการขอใช้แรงงาน ข้ามชาติของนายจ้าง โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน และป้องกันมิให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ

5. แรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเปลี่ยนนายจ้างได้

6. รัฐบาลควรกำหนดให้สถานประกอบของแรงงานข้ามชาติจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ

ด้วยความสมานฉันท์
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)
18 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอจี้ คพ.สู้คดีคลองด่าน หวั่นเสียค่าโง่หมื่นล้าน

Posted: 17 Dec 2013 09:49 AM PST

ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศและตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน แถลงเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยื่นฎีกาสู้คดีคลองด่านให้ถึงที่สุด หวั่นหากไม่สู้หรือแพ้อาจเสียค่าโง่หมื่นล้าน

17 ธ.ค.2556 มูลนิธิบูรณะนิเวศและตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน ร่วมกันแถลงข่าวที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกากรณีที่ดินบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ทั้งนี้ จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องคดีคลองด่านเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 มีผลทำให้บริษัทเอกชนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดินที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2547 พ้นผิด จากที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 ให้จำคุกบุคคลรายละ 3 ปี และนิติบุคคลสั่งปรับรายละ 6,000 บาท พร้อมกับยกฟ้องบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และดาวัลย์ จันทรหัสดี ตัวแทนชาวบ้านคลองด่าน มีความเห็นว่า  กรมควบคุมมลพิษ ควรรีบยื่นฎีกาโดยเร็วที่สุดเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ หากกรมควบคุมมลพิษชนะคดี จะสามารถนำผลของคดีไปฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากกลุ่มผู้รับเหมาเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท และที่ดินที่ปัจจุบันถูกเพิกถอนโฉนดแล้วจำนวน 4 แปลง ราว 1,300 ไร่ มูลค่ารวม 1,300 ล้านบาท จะกลับคืนสู่รัฐ แต่ถ้าหากไม่สามารถยื่นฎีกาได้ทันภายในกำหนด คือวันที่ 19 ธันวาคม 2556 ก็จะเป็นการสละสิทธิ์หรือแพ้คดี 

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า หากกรมควบคุมมลพิษสละสิทธิ์ฎีกาหรือแพ้คดี จะส่งผลกระทบต่อการฟ้องคดีคลองด่านที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเรื่องข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้กรมควบคุมมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่กลุ่มผู้รับเหมาโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวด้วยว่า ยินดีร่วมสนับสนุนการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและเงินภาษีของประชาชน และขอให้สาธารณชนร่วมติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้นักการเมืองและบริษัทเอกชนใช้อิทธิพลกดดันจนสามารถล้มคดีนี้ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพนัดชุมนุมใหญ่ 22 ธ.ค. - ไล่ยิ่งลักษณ์ออกจากรักษาการนายกฯ

Posted: 17 Dec 2013 07:18 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณระบุคำแถลงไม่ลาออกของนายกฯ เป็นการจงใจท้าทายประชาชน กปปส.จึงนัดไล่ยิ่งลักษณ์ 22 ธ.ค. จะเดินขบวนรอบกรุง 19 - 20 ธ.ค. ชวนคนมาร่วมชุมนุมใหญ่ และต่อจากนี้จะไม่ปราศรัยถึงน้องไปป์แล้ว เพราะถูกหาว่าขู่เด็ก ดังนั้นจะพูดถึงนายกฯ ตรงๆ ลูกผัวไม่เกี่ยว

การปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ที่มา: Blue Sky Channel)

 

ยิ่งลักษณ์ไม่ลาออก ถือเป็นการท้าทายประชาชน จึงต้องนัดหมายทั้งประเทศเพื่อขับไล่

17 ธ.ค. 2556 - เมื่อเวลาประมาณ 20.35 น. ในการปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันนี้นั้น ตอนหนึ่ง สุเทพกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดการปฏิรูปประเทศโดยสภาประชาชนว่า หนทางแรก หากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากรักษาการ เปิดทางให้มีการปฏิรูปการเมือง แล้วผู้ชุมนุมจะได้กลับบ้านไปฉลองปีใหม่ หนทางที่สอง ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่ยอมลาออก ก็จะบังคับใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนจัดการกับประเทศนี้ เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง

อย่างไรก็ตาม หนทางแรกถ้าจะยาก เพราะยิ่งลักษณ์บอกว่า 'ดิฉันไม่ออกมาเด็ดขาดค่ะ' (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) เป็นการท้าทายประชาชนทั้งประเทศ อย่างจงใจที่สุด "เรามาชุมนุมจากหมื่นเป็นแสน แสนเป็นล้าน แล้วเขาบอกว่าไม่ลาออก เป็นการท้าทาย เมื่อเขาท้า พวกกำนันอย่างเราต้องรับคำท้า"

"วันนี้คณะกรรมการ กปปส. ชุดใหญ่ประชุมกันเสร็จไม่กี่นาทีนี้ มาเรียนพี่น้องประชาชนว่า ต้องลุกขึ้นไล่ยิ่งลักษณ์ทั้งประเทศไทย"

 

นัดรอบใหม่ 22 ธ.ค. นี้ ให้แพ็คกระเป๋าเดินทาง ให้ อบจ.ภาคใต้เตรียมจุดอำนวยความสะดวก - ปะยาง

สุเทพกล่าวต่อไปว่า "เรามาตกลงกันใหม่ ต่อสู้ต่อไปนี้ ตรงไปตรงมา ไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง ออกไป ออกไป ออกไป ไล่ไม่หยุด ไล่ทุกวัน ไล่เป็นระลอก ไล่เป็นระลอก ถ้าไม่ลาออกก็ไล่ให้ขาดใจตายเลย กดดันเข้าไป"

"กปปส. ให้กระผมขึ้นมาเป็นตัวแทน กราบเรียนพี่น้องทั้งหลายว่า กำหนดนัดหมายไล่ยิ่งลักษณ์ครั้งต่อไป อาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. นี้ ได้ยินเสียงประกาศแล้ว จัดกระเป๋าได้ เตรียมตัวเดินทางได้ โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ มาชุมนุมสองครั้งที่แล้ว วันที่ 24 พ.ย. และวันที่ 9 ธ.ค. เดินทางด้วยความทุกข์ยากลำบาก เพราะตำรวจวางเรือใบ พี่น้องที่อยู่เส้นทางภาคใต้ และ กทม. ขอให้ อบจ.ทุกจังหวัดช่วยกันเป็นเจ้าภาพดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่ผ่านจังหวัดของท่านด้วย"

"ให้ อบจ.ทุกจังหวัดตั้งจุดบริการประชาชน หาข้าวหาน้ำให้กิน กรณีที่ถูกตำรวจยับยั้งเอาไว้ ให้ อบต. ให้เทศบาลมาตั้งเต๊นท์ตลอดเส้นทางถ่ายพฤติกรรมตำรวจที่มาวางเรือใบประชาชน เที่ยวนี้เราจะดำเนินคดีกับมันเสียที ให้หานักเรียนเทคนิคมาตั้งชุดปะยาง ถ้าเจอเรือใบก็ช่วยกันปะยางรถด้วย ระหว่างที่ประชาชนรอปะยาง ก็ช่วยเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ แล้วมาคิดเงินจากผมทีหลัง" สุเทพกล่าวด้วยว่า หากมีการกระทำของตำรวจที่มิชอบ ขอให้จดขึ้นบัญชีไว้ "แต่พี่น้องต้องมาทันขับไล่ยิ่งลักษณ์ 22 ธ.ค. นี้ เราต้องช่วยกัน"

 

นัดเดินขบวนในกรุงเทพ 19 และ 20 ธ.ค. ชวนชาวกรุงมาร่วมชุมนุมใหญ่ และขออภัยหากรถติด

นอกจากนี้ สุเทพได้ปราศรัยชวนประชาชนในกรุงเทพมหานครให้มาร่วมชุมนุมด้วย โดยจะมีการเดินขบวนในกรุงเทพก่อนการชุมนุมใหญ่ด้วย "เพื่อให้พี่น้องฮึกเหิม ให้พี่น้องไปเชิญชวนชาวกรุงเทพฯ จะจัดขบวนเดินวันที่ 19 และ 20 ธ.ค. นี้ เพราะว่าพี่น้องที่มาค้างแรมหน้าเวทีก็รู้สึกว่าเส้นสายมันยึด อยากออกเอ็กเซอร์ไซส์"

ทั้งนี้ในวันที่ 19 ธ.ค. จะมีการเดินขบวนไปย่านอโศกและสุขุมวิท "วันที่ 19 นี้ รับประทานอาหารเช้าเสร็จ ผมจะเดินนำพี่น้องไปผ่านฟ้า นครสวรรค์ นางเลิ้ง แล้วเข้าถนนเพชรบุรี ไปเลี้ยวขวาที่อโศก ทะลุถนนสุขุมวิท ดูบ้าน ดูเมือง ทานอาหารกลางวันที่อโศก แล้วเราก็เดินล่องถนนสุขุมวิทกลับมา ผ่านนานา เพลินจิต ชิดลม สนามกีฬา อุรุพงษ์ แล้วพักผ่อน ก่อนฟังปราศรัยที่ราชดำเนิน เหมือนเดิม"

"พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ที่เคารพขออภัย ขอโทษล่วงหน้า 19 ธ.ค. นี้รถจะติดมากที่เพชรบุรี และสุขุมวิท พวกผมจำเป็นต้องไปชวนคนไล่ยิ่งลักษณ์ครับ ขอโทษที เราเคยเดินขบวนไกลที่สุดมาแล้วจากศูนย์ราชการมาที่นี่ 20 กิโลเมตร ถ้าวันที่ 19 เดินแล้วไม่หายเส้นยึด 20 เดินใหม่อีกรอบครับ"

ส่วนวันที่ 20 ธ.ค. จะเดินทางไปที่ย่านสีลมและเยาวราช "วันที่ 20 เราจะออกเดินจากราชดำเนิน ผ่านฟ้า สะพานขาว หัวลำโพง พระราม 4 สีลม ไปเยี่ยมพี่น้องสีลมกันหน่อย พักทานอาหารกลางวันที่สีลม ที่ใกล้ๆ ถนนนราธิวาส ถ้าพี่น้องสีลมจะมีน้ำ ส้มสุกลูกไม้มาเลี้ยง ก็ขอขอบคุณล่วงหน้า จากนั้นจะเดินผ่านนราธิวาส สี่พระยา หัวลำโพง และเยี่ยมญาติที่เยาวราชสักหน่อยครับ แล้วมาทางสะพานเหล็ก วังบูรพา วัดสุทัศน์ ดินสอ กลับมาราชดำเนินปราศรัยกันเหมือนเดิมคืนนั้น"

"21 ธ.ค. ให้พักเต็มๆ ทั้งวัน 22 ธ.ค. วันดีเดย์ เอาจริง ไล่ยิ่งลักษณ์ มากันทุกคน มาดูกันว่าคราวนี้ได้กี่ล้าน ถ้ามันยังหน้าด้าน คราวหลังเอาอีก ไล่ไม่มีหยุด ไม่มีเหนื่อย เพราะเกิดมาเดินทั้งชีวิต ไล่มึงทั้งชีวิต รองเท้าสึก จะซื้อใหม่เดินต่อ มาดูว่าหน้ามัน กับส้นเท้าเราใครจะไปก่อน"

สุเทพกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาเดินขบวนก็หวังให้ข้าราชการเห็นใจ พร้อมเชิญชวนให้ข้าราชการออกมาร่วมชุมนุมมากๆ เพื่อให้ได้รับชัยชนะ และผู้ชุมนุมจะได้กลับบ้านได้ นอกจากนี้มีแผนที่จะจัดอาสาสมัครหญิงล้วนเพื่อเดินทางไปบ้านของนายกรัฐมนตรีเพื่อไปขอร้องให้ลาออกด้วย "ขออาสาสมัครผู้หญิงล้วนๆ ไปบ้านยิ่งลักษณ์เลย

ผู้หญิงเท่านั้น ถือดอกไม้ไปเลย ไปพูดภาษาผู้หญิง เปิดออกว่าเธอเอ๋ยออกไปได้แล้ว อย่าด้านอยู่เลย ถ้าเอาผู้ชายไปจะหาว่าทารุณ คุกคาม"

 

ต่อไปนี้จะไม่ปราศรัยถึงน้องไปป์ แล้ว เพราะถูกหาว่าขู่เด็ก ดังนั้นจะพูดถึงแม่ตรงๆ ลูกผัวไม่เกี่ยว

นอกจากนี้สุเทพได้ชี้แจงกรณีปราศรัยเมื่อ 2 คืนที่ผ่านมา และมีคนกล่าวหาว่าคุกคามลูกชายของนายกรัฐมนตรี โดยสุเทพกล่าวว่า "ขนาดสองคืนก่อน ผมพูดว่า คุณยิ่งลักษณ์ถ้าคุณด้านอยู่ไม่ออก คนจะเกลียดมากขึ้นๆ ในที่สุดจะอยู่ประเทศไทยไม่ได้ ลูกชายจะต้องไปอยู่ดูไบ เพราะฉะนั้นให้ครูมาสอนภาษาอาหรับลูกชายได้พลางๆ ผมพูดแค่นี้ มันเล่นผมใหญ่เลย ว่าข่มขู่เด็ก กูพูดกับแม่ของเด็ก ไม่ใช่เด็ก"

"ต่อไปนี้ไม่พูดแล้วเด็กเล็กเขาหาว่าข่มขู่เด็ก เราไม่พูดถึงเด็ก ฟาดแม่เด็กตรงๆ ดีกว่า เล็งกันตรงๆ เลย ไม่พูดถึงคนอื่น ลูกผัวไม่เกี่ยว ยิ่งลักษณ์ออกคนเดียว ลูกผัวก็ตามไปเป็นพรวน ประกาศไล่ยิ่งลักษณ์อย่างเป็นทางการ 22 ธ.ค. นี้ มาพร้อมใจกันไล่ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งทันที"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ธ.ค. 2556

Posted: 17 Dec 2013 03:16 AM PST

เศรษฐกิจไม่ดีทำ ป.ตรีเตะฝุ่นอื้อ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ชะลอตัว สถานประกอบการลดตำแหน่งงานในธุรกิจ ประกอบกับการมีแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานหางานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาใหม่และเข้าสู่ตลาดแรงงาน

สศช. ระบุว่า จำนวนผู้สมัครงานไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 102.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นเพียง 12.9% ขณะที่ไตรมาส 2พบว่ามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงาน 1.3 เท่า ผู้สมัครงาน 10 คน นายจ้างจะรับเข้าทำงาน 5 คน จากเดิมรับเข้าทำงาน 8 คน เพราะนายจ้างคัดเลือกคนมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบค่าแรง 300 บาท

"การชะลอตัวของเศรษฐกิจ กิจการมีการปรับลักษณะการจ้างงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการชะลอการขยายตำแหน่งงาน ส่งผลให้การว่างงานของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.6% หรือ 1.49 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.2% หรือ 1.56 แสนคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน" รายงานระบุ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้มีผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานมีจำนวน 1.34 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นกรณีลาออก 1.17 แสนคน เพิ่มขึ้น 11.4% และกรณีถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการและลดการจ้างพนักงาน 1.72 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 3.6%

ขณะที่นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานเอกชนที่เคยทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนลดลง 19.6% เนื่องจากสถานประกอบการปรับเปลี่ยนลักษณะการผลิต

สศช. รายงานว่า อัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 0.77% จาก 0.58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีผู้ว่างงาน 3.05 แสนคน แต่กลับพบว่าจำนวนกำลังแรงงานลดลง 0.9% หรือมีกำลังแรงงาน 39.5 ล้านคน เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร แรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าสู่ตลาดแรงงานช้า โดยกำลังแรงงานอายุ 15-24 ปี ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของคนไทยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าจากผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.39 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.37 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.3 หมื่นคน

ผู้ที่มีงานทำจะอยู่นอกภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 25 ล้านคน ทั้งด้านการผลิต ขนส่ง ค้าส่ง ค้าปลีก ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรมีประมาณ 12.8 ล้านคน

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ต.ค. 2.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.6% โดยเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นคน แต่ลดลงจากเดือน ก.ย. เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 8.3 หมื่นคน และภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด 0.8%

(โพสต์ทูเดย์, 10-10-2556)

กกจ.เผยอัตราว่างงานลดลง 8 หมื่นคน ระบุสาเหตุว่างงานมาจากนายจ้างปิดกิจการ

นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวโน้มการมีงานทำของแรงงานไทยในปี 2557 ว่า เบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด โดยกรรมการชุดแรกให้ดำเนินการวางมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และชุดที่สอง เพื่อศึกษาอัตราแรงงานที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาไปถึงการเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ในกลุ่มแรงงานระดับล่าง ซึ่งต้องเป็นอาชีพที่แรงงานไทยไม่ทำ
       
รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลกองวิจัยตลาดแรงงาน พบว่าอัตราการว่างงานจะสูงที่สุด และปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงปลายปี เนื่องจากโครงสร้าง การมีงานทำของแรงงานยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งช่วงต้นปีเป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร ทำให้มีผู้ว่างงานจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงปลายปีอัตราการว่างงานลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคเกษตรกรรม และสถานประกอบการจะเร่งผลิตสินค้าและบริการเพื่อจำหน่ายให้ทันในช่วงเทศกาล คริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นจำนวนผู้ว่างงานจึงลดต่ำลงกว่าช่วงต้นปีและ กลางปี
       
นายธนิช กล่าวด้วยว่า กรมการจัดหางานได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาทำการวิเคราะห์ในเชิงสถิติแล้ว เห็นว่าในเดือน ธ.ค.2556 จะมีผู้ว่างงานประมาณ 200,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงาน ซึ่งจำนวนผู้ว่างงานจะลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8 หมื่นคน และอัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.2 (จากร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 0.5)ในจำนวนผู้ว่างงานนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 6.5 หมื่นคน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.35 แสนคน โดยทำงานอยู่ในภาคบริการและการค้ามากที่สุดจำนวน 5.7 หมื่นคน รองลงมาอยู่ในภาคการผลิตจำนวน 5.1 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 2.7 หมื่นคน ตามลำดับ
       
"สาเหตุการเลิกจ้างงานมาจากนายจ้างปิดกิจการมากที่สุด รองลงมาได้แก่ นายจ้างลดจำนวนพนักงาน ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น สุขภาพไม่ดี หยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 19.84 ไม่ผ่านการประเมิน/ทดลองงาน คิดเป็นร้อยละ 3.71 มีความผิด คิดเป็นร้อยละ 1.18 นายจ้างใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย คิดเป็นร้อยละ 0.28 และสาเหตุการลาออกจากงานส่วนใหญ่มาจากความต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุด" นายธนิช กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-12-2556)

สปส.เพิ่มค่าฟื้นฟู-รักษา-อวัยวะเทียม แรงงานบาดเจ็บทำงานเริ่มใช้ต้นปี 57

(11 ธ.ค.)นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงานของแรงงานที่บาดเจ็บจากการทำงานซึ่งอยู่ในความดูแลของกอง ทุนเงินทดแทนโดยร่างประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ จากเดิมลูกจ้างที่บาดเจ็บเนื่องจากการทำงานได้รับเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้าน อาชีพและด้านการแพทย์ที่เป็นการฟื้นฟูร่างกาย รวมค่าฟื้นฟูทั้งสองด้านไม่เกินคนละ 2.4 หมื่นบาท ก็ให้แยกเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งสองด้านออกจากกันเป็นจ่ายด้านละ 2.4 หมื่นบาท ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ หากลูกจ้างที่บาดเจ็บเช่น แผลไฟไหม้ มีแผลเรื้อรังจากการบาดเจ็บ จะต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมก็สามารถจ่ายค่ารักษาฟื้นฟูเพิ่มให้ได้อีกไม่ เกินคนละ 4 หมื่นบาท และถ้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาฟื้นฟูในระดับสูงขึ้นไปอีกก็จ่ายค่ารักษา ฟื้นฟูเพิ่มให้ได้อีกสูงสุดไม่เกินคนละ 1.5 แสนบาท
      
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.ในคราวเดียวกันนี้ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยค่าอวัยวะเทียมและ อุปกรณ์เสริมของร่างกาย เช่น แขน ขาเทียม โดยจากเดิมให้เป็นไปตามอัตราที่กองทุนเงินทดแทนกำหนดไว้เป็นให้ยึดตามอัตรา ที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยรวมแล้วไม่เกินคนละ 1.6 แสนบาท เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงการคลัง
      
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่กองทุน เงินทดแทนจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วย ประสบอันตรายหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยจากเดิมกำหนดวงเงินจ่ายไม่เกิน 4.5 หมื่นบาทต่อคน หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเรื้อรังจ่ายสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน ก็ได้ปรับเพิ่มวงเงินเป็นจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคนและบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเรื้อรังจ่ายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน
      
"ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฉบับแก้ไขของกองทุนเงินทดแทนทั้ง 3 ฉบับนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื้อหาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผ่านความเห็นชอบแล้ว กระทรวงแรงงานจะประกาศใช้ต่อไปโดยร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงาน และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยค่าอวัยวะเทียมคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า หลังจากนั้นร่างกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแรงงาน ที่เจ็บป่วยบาดเจ็บจากการทำงานคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน มี.ค.โดยการพิจารณาจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ค่าอวัยวะเทียมและค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการทำงาน หากจำเป็นต้องจ่ายในอัตราที่สูงขึ้นไปเกินกว่าวงเงินขั้นต่ำที่กำหนด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการการ แพทย์ของกองทุนเงินทดแทนก่อน" รองเลขาธิการ สปส.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-12-2556)

ปลัดแรงงานหารือ ผอ.ไอเอ็มเจแปน ขอเพิ่มจำนวน-ขยายเวลาฝึกงานที่ญี่ปุ่น

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา นายเคียวอิ ยานากิซาว่า (Kyoei Yanagisawa) ผู้อำนวยการสมาคมแรงงานระดับนานาชาติ สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ประเทศญี่ปุ่น (Association for Manpower Development of Medium and Small Enterprise) ได้เข้าพบเพื่อหารือถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคชาวไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ในประเทศญี่ปุ่น หรือไอเอ็มเจแปน ซึ่งตนได้ขอความร่วมมือจากองค์กรไอเอ็มเจแปน ให้เพิ่มจำนวนผู้ฝึกปฏิบัติงานคนไทยที่ไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่นขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวน 700 คน และขอให้ขยายการฝึกปฏิบัติงานจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อคนไทยจะได้ไปฝึกปฏิบัติงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นมาก ขึ้น

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือนายเคียวอิ บอกว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีโครงการที่จะปรับปรุงการรับผู้ฝึกปฏิบัติงานจากต่าง ประเทศ กรณีที่ปลัดกระทรวงแรงงานขอให้ขยายระยะเวลาการฝึกปฏิบัติงานเพิ่มเป็น 5 ปีนั้นไม่ขัดข้อง และจะขยายประเภทอาชีพที่รับผู้ปฏิบัติงานเทคนิคเพิ่มเติม โดยอยากให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์โครงการไอเอ็มเจแปนให้กว้างขวางมาก ขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความตั้งใจจริงและกระตือรือร้นในการทำงาน ได้เข้ามาฝึกปฏิบัติงานกับญี่ปุ่น ซึ่งตนได้ให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปสำรวจข้อมูลสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรีและโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในประเทศไทย ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรภาษาญี่ปุ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษาเหล่านี้ได้มีโอกาสไปฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

(มติชน, 12-11-2556)

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์แรงงานจลาจลในสิงคโปร์

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีเหตุการณ์แรงงานจลาจลในสิงคโปร์

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์รายงานว่า เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ ได้มีกลุ่มชาวเอเชียใต้ก่อจลาจลบริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดีย หลังจากชาวอินเดียรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถประจำทางพุ่งเข้าชนในบริเวณ ดังกล่าวจนเสียชีวิต ส่งผลให้กลุ่มคนชาวเอเชียใต้ในพื้นที่ไม่พอใจและก่อจลาจล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ ๒๗ ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบว่ามีแรงงานไทยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้ง นี้แต่อย่างใด โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าวและจะจัดการกับผู้ที่ เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

(กระทรวงการต่างประเทศ, 12-11-2556)

กระทรวงแรงงานขยายโอกาสด้านอาชีพให้ 'ผู้สูงอายุ'

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 56 นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1/2556 ในที่ประชุมได้มีการพิจารณา (ร่าง) มาตรการ/แนวทางการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุในระบบ อาทิ การจูงใจในการจ้างงาน การฝึกอบรม และการเรียนรู้ ประสานงานเพื่อสร้างความเข้าใจ และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในภาครัฐและภาคเอกชน ผู้สูงอายุต้องมีการเตรียมพร้อมในการทำงาน การส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุนอกระบบ อาทิ การส่งเสริมศักยภาพการใช้ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การส่งเสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ และการสนับสนุนช่วยเหลือโดยภาครัฐ และมาตรการทั่วไปที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการจ้างงานผู้สูงอายุในระบบและนอกระบบ ได้แก่ การฝึกอบรมและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการออมและการรณรงค์ ส่งเสริม ให้เห็นความสำคัญในการออมและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ.

(ไทยรัฐ, 12-12-2556)

แรงงานไทยจ๋อย! อ่อนภาษา สอบตกความปลอดภัยเมืองลอดช่องเพียบ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ได้รับการร้องขอจากแรงงานไทย ภาคก่อสร้าง ให้หาทางช่วยเหลือคนงานที่สอบไม่ผ่านหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเป็น จำนวนมาก เพราะคนงานทุกชาติที่ทำงานในภาคก่อสร้างในประเทศสิงคโปร์ต้องสอบผ่านหลัก สูตรความปลอดภัยในการทำงาน ก่อนที่จะเข้าทำงานได้ โดยนายจ้างต้องส่งคนงานที่ไม่เคยมาทำงานในประเทศสิงคโปร์เข้าทดสอบภายใน 14 วัน นับจากคนงานเดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ ที่จะทำใบอนุญาตการทำงาน และสำหรับคนงานที่จะต่อใบอนุญาตการทำงาน ใบสอบผ่าน CSOC จะต้องมีอายุอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งก่อนการต่อใบอนุญาตการทำงาน กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ปรับมาตรฐานเพิ่มเนื้อหาและระยะเวลาการอบรมความ ปลอดภัยในการทำงานภาคก่อสร้างจากเดิม 1 วันเป็น 2 วัน โดยการฝึกอบรมและการทดสอบจะใช้ภาษาประจำชาติของคนงาน การเพิ่มเนื้อหาทำให้คนงานไทยที่อ่านหนังสือไม่คล่องสอบไม่ผ่าน บางรายนายจ้างส่งเข้าทดสอบมากกว่า 3 ครั้งแต่ยังสอบไม่ผ่าน จนในที่สุดต้องส่งกลับประเทศไทย
      
ปลัดกระทรวงเเรงงาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ได้ประสานแรงงานกระทรวงเเรงงานสิงคโปร์ เพื่อขออนุโลมสำหรับคนงานไทยที่มีการศึกษาน้อยแต่ทำงานในประเทศสิงคโปร์เป็น ระยะเวลานาน โดยให้มีการอ่านข้อสอบและให้คนงานใส่คำตอบในกระดาษคำตอบ แต่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แจ้งว่าอัตราการสอบไม่ผ่านของแรงงานไทยอยู่ที่ร้อย ละ 10-13 ซึ่งไม่แตกต่างกับแรงงานชาติอื่นๆ ทั้งนี้ คนงานไทยที่เข้าสอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2556 มีจำนวน 1,621 คน ซึ่งสอบไม่ผ่านจำนวน 191 คน ดังนั้น กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ไม่สนับสนุนการอ่านข้อสอบให้คนงาน แต่จะอนุโลมให้ใช้ และจะติดตามอัตราการสอบผ่านของแรงงานชาติต่างๆ อย่างใกล้ชิด และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหากมีความจำเป็นเพื่อรักษาคุณภาพการฝึกอบรมและการ ทดสอบหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงาน
      
"การช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทางการสิงคโปร์ส่งกลับประเทศเนื่องจากสอบไม่ ผ่านและต้องการเข้าทำงานในประเทศสิงคโปร์อีกนั้น จะให้เข้าทดสอบที่ประเทศไทยเพื่อจะได้ไม่ประสบปัญหาถูกส่งกลับก่อนได้ใบ อนุญาตการทำงาน ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดการทดสอบและค่าใช้จ่ายได้ที่ศูนย์สอบ เชียงใหม่ เลขที่ 143 ม.2 ถ.เชียงใหม่-สันกำแพง ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เดียวในปัจจุบันที่เปิดอบรมและทดสอบ CSOC โดยเสียค่าใช้จ่ายการสอบอยู่ระหว่าง 110-150 เหรียญสิงคโปร์ อายุบัตรสอบระหว่าง 2-4 ปี ขึ้นอยู่กับการทำงานในประเทศสิงคโปร์ หากคนงานทำงานในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 6 ปีขึ้นไป บัตร CSOC ก็จะมีอายุ 4 ปี" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-12-2556)

วิกฤตแรงงานไทยในอนาคต สำรวจพบตัวเลข 6% ว่างงานถึงปี′ 60

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย ทำการสำรวจภาพรวมตลาดแรงงานไทยในปี 2556 และแนวโน้มของตลาดแรงงานในปี 2557

 "ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์" ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทย และเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย บอกว่า เราทำการศึกษาพบจำนวนผู้ว่างงานในเดือนกันยายน 2556 มีทั้งสิ้น 264,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.7%

"ทั้งนั้น อาจมีผลจากการชะลอการจ้างงานใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 15,000 บาท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเงินเดือนตามไปด้วย ตรงนี้ส่งผลให้แรงงานใหม่ที่หางานไม่ได้ หรือต้องการอิสระหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลักเริ่มมีการพิจารณาการย้ายฐานการ ผลิตไปยังประเทศพม่าที่มีอัตราค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับต่ำ"

"ส่วนแรงงานฝีมือสำหรับอุตสาหกรรมไทย เริ่มมีการไหลมาจากมาเลเซีย และอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาวะว่างงานและสภาพตลาดการขาดแคลนแรงงานจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย"

"ธิดารัตน์" กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลปี 2556 ของบริษัทอเด็คโก้พบว่าสายงานที่มีการจ้างงาน และหาคนมากที่สุดในตลาดแรงงาน อันดับ 1 ถึง 5 คือสายงานวิศวกรรม, งานขาย, บัญชี, ธุรการ และไอที

"ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มองหาคนมาทำงานมากที่สุด คือกลุ่มยานยนต์, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่ตำแหน่งที่คนทำงานมองหามากที่สุด คือการตลาด, วิศวกรรม, ไอที, งานขาย และธุรการ"

ด้าน "เอียน กรันดี้" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อเด็คโก้เอเชีย กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในเอเชียปี 2556 ว่า อัตราการว่างงานในปี 2556 สูงเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าอัตราคนว่างงานจะมากถึง 6% ไปจนถึงปี 2560

"ส่วนอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของเอเชียสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ในปี 2556 ได้แก่งานขาย, วิศวกรรมทุกสาขา, บัญชีและการเงิน, นักวิจัย (R&D), พนักงานออฟฟิศ (ฝ่ายสนับสนุน)"

"ปัญหาสำคัญของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาบสมุทรแปซิฟิก คือการขาดแคลน

ผู้สมัครงาน (ข้อมูลของ Deloitte และ PWC) โดยพบว่า 3 ใน 10 ของนายจ้างในเอเชียหาบุคลากรไม่ได้ เพราะผู้สมัครงานมีความสามารถไม่ตรงตามต้องการ โดยเฉพาะญี่ปุ่นพบอุปสรรคในการหาบุคลากรมากที่สุด รองลงมาคือเวียดนาม, ไทย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน และจีนตามลำดับ"

ฉะนั้น จะเห็นว่าแนวโน้มต่อไปในอนาคตเรื่องของการขาดแคลนแรงงานในปี 2557 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560 คงยังเป็นวิกฤตปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ พึงตระหนัก ขณะที่แรงงานทักษะฝีมือ เริ่มมีประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มเข้ามาแข่งขัน

ประกอบกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทย กับประเทศในอาเซียนยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ คงต้องดิ้นหนีตายด้วยการจับมือกับภาคอาชีวศึกษา หรือแรงงานจังหวัด เพื่อควานหาแรงงานในส่วนที่ขาดมาช่วยเติมเต็ม

(ประชาชาติธุรกิจ, 13-12-2556)

ระนองเพิ่มมาตรการเข้มสกัดแรงงานต่างด้าวทะลักปีใหม่

14 ธ.ค.- พ.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 15 ธ.ค. 2556-15 ม.ค.2557 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นช่องว่างให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อไปทำงานยังจังหวัดชั้นใน จึงกำชับ จนท.ประจำด่านตรวจตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้าน จ.ระนอง-เกาะสอง ที่ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางเข้า-ออกประเทศของแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ให้เพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจสอบบุคคลที่เดินทางผ่านจุดตรวจทั้ง 8 จุดตรวจ รวมทั้งจุดตรวจในทะเล

นอกจากนี้ จะเสริม จนท.ในเส้นทางสายรองที่แรงงานต่างด้าวอาจใช้เป็นเส้นทางในการหลบหนีเข้ามา ยังประเทศไทย เพื่อสกัดกั้นการทะลักเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง

(สำนักข่าวไทย, 14-12-2556)

นอภ.โร่จับสาวลูกจ้างชี้สวมบัตรให้ต่างด้าวนับ 100 คน

นอภ.เมืองกาญจน์ สั่ง ปลัดแจ้งความจับสาวลูกจ้างฝ่ายทะเบียนราษฎร ลักลอบปลอมแปลงเอกสาร แก้ไขวัน เดือน ปีเกิด ให้ต่างด้าวสวมบัตรประชาชนจำนวน 9 ราย พร้อมสั่งให้ขยายผลสอบย้อนหลังเชื่อทำเป็นขบวนการใหญ่ คาดร่วมมือกับพวกสวมบัตรให้ต่างด้าวไปแล้วกว่า 100 คน ส่วนลูกจ้างสาวถูกเลิกจ้างทันที

สาวลูกจ้างชั่วคราวร่วมกับพวกสวมบัตรให้คนต่างด้าวรายนี้ เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. นายศรัทธา คชพลายุกต์ นอภ.เมืองกาญจนบุรี มอบหมายให้นายวรกร พัฒนวิบูลย์ ปลัดอำเภอเมืองกาญจนบุรี ฝ่ายความมั่นคง นำหลักฐานเข้าแจ้ง พ.ต.ต.สุคนธ์ รัสเอี่ยม พงส.สภ.เมืองกาญจนบุรีให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ศศิมา อาจสูงเนิน ลูกจ้างชั่วคราวของอำเภอเมืองกาญจนบุรี ฐานปลอมแปลงเอกสารโดยแอบแก้ไขรายการ วัน เดือน ปีเกิด ของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับ อนุญาตจากนายทะเบียนจำนวน 9 ราย

ต่อมานายศรัทธา คชพลายุกต์ นอภ.เมืองกาญจนบุรี ได้ให้รายละเอียดว่า เมื่อปี พ.ศ.2548-2549 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บุคคลไร้สถานะที่อยู่ในประเทศไทยก่อนเดือนตุลาคม 2542 สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสถานะทางทะเบียนได้ และทางอำเภอได้ตั้งศูนย์บริการประชาชนในห้างเทสโก้ โลตัส สาขากาญจนบุรี ต.ปากแพรก โดยมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปเพื่อป้องกันการทุจริต ล่าสุดได้สั่งให้สับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และได้รับแจ้งจากปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนราษฎรที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ชุดใหม่ ว่า พบเอกสารสำคัญถูกแก้ไขวัน เดือน ปีเกิดของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างผิด ปกติ และมีบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน นำเอกสาร วัน เดือน ปีเกิด รวมทั้งเลขประจำตัวประชาชนตรงกัน มายื่นที่อำเภอเพื่อขอเป็นบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนซ้ำกัน จำนวน 9 ราย ส่อไปในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์บริการภายในห้าง เทสโก้ โลตัส สาขากาญจนบุรี

นายศรัทธากล่าวต่อว่า หลังทราบเรื่องได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนพบว่า น.ส.ศศิมา อาจสูงเนิน ลูกจ้างชั่วคราวของอำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข พร้อมนำตัวมาสอบสวน น.ส.ศศิมายอมรับสารภาพว่าได้แก้ไขรายการ วัน เดือน ปีเกิดให้กับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ 9 รายจริง ส่วนผู้ที่มาแจ้งข้อมูลสวมบัตรคนอื่นทั้ง 9 คน มีความผิดฐานใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือกระทำการเพื่อให้ตนเองมีชื่อ หรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่น โดยมิชอบ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์หรือเอกสารทางราชการ และแจ้งให้พนักงานกระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือเอกสารราชการ ซึ่งมี วัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้อื่น

"การให้สัญชาติแก่ผู้ไม่มีสถานะถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่น คงของชาติจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในส่วนของการดำเนินการทางวินัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขยายผลย้อนหลังไป อีก เบื้องต้นจากการตรวจสอบเชื่อว่ามีผู้ที่สวมบัตรประชาชนของคนอื่นลักษณะนี้ อีกกว่า 100 คน และสั่งให้สืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการและผู้อยู่เบื้องหลังในการกระทำ ครั้งนี้ หากสอบขยายผลถึงใครต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ส่วน น.ส.ศศิมาได้สั่งให้เลิกจ้างทันที" นายศรัทธากล่าว

(ไทยรัฐ, 14-12-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจนจี้พรรคการเมืองทำสัตยาบันปฏิรูปประเทศหลังเลือกตั้ง

Posted: 17 Dec 2013 01:27 AM PST

สมัชชาคนจนเรียกร้องทุกพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้ง ทำสัตยาบันร่วมปฏิรูปประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

17 ธ.ค.2556 สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และประกาศสัตยาบันร่วมกันที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557

 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน
เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พรรคการเมืองต้องให้สัตยาบัน

ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  แต่ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2556 จึงทำให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และมีการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สมัชชาคนจน เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ปวงชนชาวไทยได้ใช้สิทธิในการคัดเลือกตัวแทนของตนอันเป็นวิถีทางปฏิบัติโดยพื้นฐานทั่วไปของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการกระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง และพรรคการเมืองควรจะต้องส่งผู้แทนลงรับสมัครการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่พรรคการเมืองนั้นมีเจตนาไม่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือฝักใฝ่การปกครองในระบอบอื่นๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันยังมีบุคคลหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะมีการปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นได้เนื่องจากไม่ไว้ใจพรรคการเมือง สมัชชาคนจนจึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองประกาศสัตยาบันร่วมกันว่าจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยโดยการมีส่วนร่วมของบุคคลทุกภาคส่วนในสังคม หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งของสังคมไทยต่อไป


สมานฉันท์
สมัชชาคนจน
17 ธันวาคม 2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำขวัญวันเด็กปี 57 “กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง”

Posted: 17 Dec 2013 01:08 AM PST

นายกรัฐมนตรีมอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2557 พร้อมเปิดห้องทำงานให้เยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ ถ่ายรูป

ภาพจากเฟซบุ๊ค Yingluck Shinawatra

17 ธ.ค.2556 นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2557 ว่า "กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง" ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมจัดกิจกรรมและเปิดห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้เยาวชนได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีถ่ายรูปด้วย

โดยวันเด็กแห่งชาติของทุกปีถูกกำหนดให้ตรงกับวันเสาร์ของสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งวันเด็กที่จะถึงนี้ตรงกับวันที่ 11 มกราคม 2557


ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ยื่น กสทช. ทบทวนร่างฯ คุมเนื้อหาสื่อ ชี้ขัด กม. หวั่นจำกัดสิทธิฯ-เปิดช่องแทรกแซง

Posted: 17 Dec 2013 12:18 AM PST

17 ธ.ค. 2556 คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... เสนอต่อประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานวุฒิสภา ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า ให้พิจารณาทบทวนการจัดทำร่างประกาศฯ เนื่องจากการออกประกาศฯ ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยบทบัญญัติในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ซึ่งกำหนดกรอบเนื้อหาของรายการที่ห้ามมิให้ออกอากาศ ไม่ได้กำหนดให้อำนาจ กสทช. กำหนดรายละเอียดหรือกรอบของรายการที่ห้ามไม่ให้ออกอากาศไว้ ซึ่งผิดกับมาตราอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติให้ กสทช. กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติไว้ชัดเจน

ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ อ้างบทบัญญัติตามมาตรา 37  พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ เป็นกรอบในการวางหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 37 มีลักษณะเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ดังนั้นในการตีความกฎหมายดังกล่าวจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติ และเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่ให้รัฐหรือหน่วยงานในองค์กรของรัฐใช้อำนาจในการออกกฎหมายที่จะเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

คปก.ได้พิจารณามาตรา 37 เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเพียงแต่กำหนดประเภทเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศ และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 บัญญัติไว้ โดยไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช.ในการออกประกาศใดเพิ่มเติม ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตราอื่นๆ ในพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงฯ เช่น มาตรา 33 มาตรา 34 จะมีข้อความระบุว่า "ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด" ดังนั้น จะเห็นได้ว่า มาตรา 37 ของพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้อำนาจ กสทช.ออกหลักเกณฑ์ใดเพิ่มเติม อีกทั้งการกำหนดเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามความในมาตรา 37 ครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว กสทช. จึงไม่มีอำนาจในการออกร่างประกาศฯ

ขณะเดียวกันการอ้างอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ที่กำหนดเป็นการทั่วไปว่า กสทช. สามารถออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ. นั้น  คปก.เห็นว่า ยังไม่สอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 37 เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การออกประกาศฯกำหนดรายละเอียดเนื้อหาสาระที่เป็นองค์ประกอบเกินกว่ากรอบกฎหมายแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหาของร่างประกาศฯ ข้อ 6 ถึงข้อ 11 ได้ขยายความเนื้อหาสาระของรายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศเกินเลยไปกว่ากรอบบทบัญญัติมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯซึ่งได้บัญญัติไว้ในทางเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 45 วรรค การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะต้องทำด้วยความจำเป็นและจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างแจ้งชัด กสทช. ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งทางด้านบริหาร จึงไม่มีอำนาจกำหนดให้เกินเลยไปกว่าบทบัญญัติตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ และรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้ คปก.มีความเห็นว่า ถ้อยคำตามร่างประกาศฯ ยังคลุมเครือ ขาดความชัดเจน ทั้งการออกอากาศใดจะขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ หรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง เนื้อหาความเป็นมา เจตนา สภาพแวดล้อมและบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมเป็นกรณีไป การกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ตายตัว อาจทำให้คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตีความและบังคับใช้กฎหมายในทางที่เป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนเกินสมควรแก่เหตุและไม่มีมาตรฐานที่สอดคล้องต้องกัน ก่อให้เกิดการใช้ดุลยพินิจบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงและจำกัดสิทธิและเสรีภาพประการต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เกินสมควรแก่กรณี ซึ่งอาจก่อประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มการเมือง กลุ่มผู้มีอำนาจ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ คปก.จึงเสนอให้ทบทวนการจัดทำร่างประกาศฯ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความเชื่อ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ชี้ กปปส.นำประเทศเดินถอยหลัง

Posted: 17 Dec 2013 12:03 AM PST

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้วิพากษ์ข้อเสนอ กปปส.ชี้ทำประเทศถอยหลัง เอื้อประโยชน์พรรคประชาธิปัตย์ และพร้อมสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ให้ประชาชน 48 ล้านคนตัดสิน

17 ธ.ค.2556 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์วิพากษ์แนวทางการปฏิรูปการเมืองของ กปปส.ที่เสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง และสภาประชาชน ว่าไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย และเป็นการนำพาประเทศเดินถอยหลัง

โดยในแถลงการณ์ของ สกต.ได้วิพากษ์และตั้งคำถามต่อข้อเสนอการปฏิรูปประเทศของ กปปส.ไว้ 4 ข้อ คือ

"1.ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือสภาประชาชน ล้วนเป็นข้อเสนอเพื่อสร้างพื้นที่ทางอำนาจให้กับชนชั้นนำ  สร้างป้อมค่ายที่จะใช้ต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำ "สภาประชาชน" แท้จริงก็คือสภาขุนนาง เพื่อเป็นฐานรองรับนายกคนกลางซึ่งสื่อมวลชนก็ วิเคราะห์ฟันธงออกมาแล้วว่าจะมาจากองคมนตรีคนใดคนหนึ่ง แล้วดอกผลอันใดเล่าที่จะตกถึงมือชนชั้นล่างของสังคมอย่างแท้จริง แม้แต่มวลชนที่ร่วมสู้กับ นายสุเทพฯ ก็ไม่ได้รับอะไร นอกจากความสะใจ

2. นายกฯ คนกลาง คือใคร มาจากไหน ก็รู้กันอยู่แล้ว ที่ผ่านๆมาก็ ล้วนมาจากการแต่งตั้งจากอำนาจเบื้องบน ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงไม่มีช่องทางในการตรวจสอบ ทั้งๆ ที่ กปปส. เน้นย้ำเรื่อง "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" ตรงนี้ก็ขัดแย้งในตัวเองมากๆ

3. การใช้มาตรการบังคับ กดดัน สร้างความเกลียดชัง ไม่ฟังเหตุผลใดๆ ทำตามอำเภอใจ จนเกินเลยไปสู่สภาวะอนาธิปไตย ในสังคม เพียงเพื่อบีบคั้นให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก หรือสร้างเงื่อนไขให้ทหารยึดอำนาจ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่สันติอหิงสา ตามที่นายสุเทพฯ โฆษณาชวนเชื่ออยู่ทุกครั้งที่ขึ้นเวที แนวทางการเคลื่อนไหวของ กปปส. จึงเข้าลักษณะ "กรรมส่อเจตนา" เจตนาที่ว่า คือ ต้องการให้ทหารทำการรัฐประหาร หรือให้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ เข้ามาแทรกแซงการบริหารของรัฐบาล

4. แนวทางของ กปปส. ที่นายสุเทพฯ ประกาศต่อสาธารณะนั้น ต้องการให้เว้นวรรคประชาธิปไตย 8- 14 เดือน ให้ "นายกฯ และครม. คนกลาง" รักษาการบริหารประเทศ โดยอ้างว่าต้องให้คนกลางเข้ามานำการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ให้เสร็จแล้วจึงจัดการเลือกตั้งในภายหลัง"

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า แนวทางของ กปปส.เป็นการนำประเทศเดินถอยหลัง และเอื้อประโยชน์ต่อพรรคประชาธิปัตย์

"เป็นการนำประเทศถอยหลังไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ และแก้ไขกฎกติกาต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคของมหาอำมาตย์ แต่พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตย มาตลอดระยะเวลา 21 ปี ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งปลายปี 2551 ก็เพราะกองทัพฯ ช่วยอุ้มชูขึ้นสู่ตำแหน่ง มิใช่เพราะชนะการเลือกตั้ง"

นอกจากนี้ แถลงการณ์ของ สกต.ยังสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งวันที่  2 กุมภาพันธ์ 2557 และให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายการปฏิรูปการเมืองตามความเชื่อของแต่ละพรรค

"ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแต่ละพรรคการเมืองและ องค์กรต่างๆ ในสังคมที่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง ก็สามารถเสนอนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ตามความเชื่อของตนเอง การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะชี้ขาดว่า 48 ล้านเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการระบบการเมืองแบบใด และอย่างไร เสียงข้างมากของประชาชนไทยจะชี้ขาด เพราะนี่คือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ย้ำลาออกไม่ได้ หนุนเลือกตั้ง รอรัฐบาลใหม่ปฏิรูปประเทศ

Posted: 16 Dec 2013 11:31 PM PST

รักษาการนายกรัฐมนตรีย้ำไม่สามารถลาออกเพราะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ขอหน่วยงานต่างๆ สนับสนุน กกต.จัดเลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม รอรัฐบาลใหม่ปฏิรูปการเมือง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างเดินทางตรวจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาพเป็นการพบปะประชาชนที่สนามบินสตึก จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2556 (ที่มา: เพจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

 

17 ธ.ค.2556 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันอีกครั้งในวันนี้ว่า ไม่สามารถลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีตามที่มีผู้เรียกร้องได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จากการเลือกตั้ง

รักษาการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว ถือเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนในการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเข้ามาทำงานและปฏิรูปประเทศ โดยที่การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ที่จะดำเนินการ จึงขอให้หน่วยงานต่างๆ อำนวยความสะดวกและประสานความร่วมมือกับ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส เพราะการเลือกตั้งถือเป็นขั้นตอนที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และขอเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย

รักษาการนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเวทีหาทางออกประเทศซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ว่า มีความคืบหน้าแม้จะยังไม่เป็นรูปธรรม แต่หลายเวทีมีการแสดงความเห็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงอยากให้มีการลงรายละเอียดเพื่อให้ได้กรอบการทำงาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูปให้เกิดขึ้น แต่ทังนี้ต้องเดินตามกรอบรัฐธรรมนูญและรอรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ

นอกจากนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรียังไม่ตอบรับว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 หรือไม่ เพราะยังมีเวลาในการที่พรรคเพื่อไทยจะพิจารณาเนื่องจากวันสมัครรับเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 23-27 ธันวาคมนี้

ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มวลมหาประชาชน

Posted: 16 Dec 2013 10:58 PM PST


(แฟ้มภาพ: ประชาไท 9 ธ.ค.2557)


ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล (มหาประชา) ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้างขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล (มหาประชา) ชน

ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้

บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล

เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้

และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคลยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ

สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ

ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้ ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด

จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี

เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร

ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง

เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ

ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง

การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา

ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้

นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน" อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป

ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก

"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"

น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล (มหาประชา) ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล (มหาประชา) ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล (มหาประชา) ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า

จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง

เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ

ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้

เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล (มหาประชา) ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส

ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล (มหาประชา) ชนชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่

เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้ หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า จะถูกมวล (มหาประชา) ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต

 


ที่มา: มติชนรายวัน 16 ธ.ค.2556
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธิปัตย์เลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย

Posted: 16 Dec 2013 10:43 PM PST

พรรคประชาธิปัตย์จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2556 โดยเพิ่มกรรมการบริหารพรรคจาก 25 คนเป็น 35 คน ขณะที่ข้อเสนอเพิ่มจำนวน "คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ที่เสนอโดยอลงกรณ์ไม่ได้รับความเห็นชอบ โดยที่ประชุมพรรคเสนอชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหัวหน้าพรรค และได้รับการลงมติรับรอง

ประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคประชาธิปัตย์  17 ธันวาคม 2556
(ที่มา: เพจ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับชมภาพทั้งหมดได้ที่นี่)

 

17 ธ.ค. 2556 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ วันนี้ (17 ธ.ค.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2556 ซึ่งการประชุมวันนี้มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ การพิจารณาแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับพรรค และการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่พรรคมีกรรมการบริหาร 25 คน เพิ่มเป็น 35 คน โดยมีสัดส่วนเป็น 1.หัวหน้าพรรค 1 คน / 2.รองหัวหน้าพรรค 10 คน โดยแบ่งเป็นรองหัวหน้าภาค 5 คน และรองหัวหน้าตามภารกิจที่หัวหน้าพรรคมอบหมาย 5 คน / 3.เลขาธิการพรรค / 4.รองเลขาธิการพรรค 5 คน / 5.นายทะเบียนพรรค / 6.เหรัญญิกพรรค / 7.โฆษกพรรค / 8.กรรมการบริหารพรรคทั่วไป 7 คน / 9.กรรมการบริหารพรรค ที่มาจากประธานสาขาพรรค 5 คน / และ 10.กรรมการบริหารพรรคจากผู้แทนท้องถิ่น 3 คน

โดยมีการออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ ใช้วิธีลงมติในหีบบัตร และมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ หลังการเลือกกรรมการบริหารพรรคแล้วเสร็จจะมีการเลือกคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการนโยบายพรรค และคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรคต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้าง "คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ให้มีการเพิ่มสัดส่วนของประธานสาขาเพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการเป็นเลขานุการ 3. ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4. ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5. ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน  อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่า หากเพิ่มข้อ 6 ที่นายอลงกรณ์เสนอจะทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะมีสัดส่วนจากสาขาพรรคอยู่แล้ว

โดยในการเสนอชื่อหัวหน้าพรรคนั้น บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคได้เสนอชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และไม่มีการเสนอชื่อผู้ใดอีก จากนั้นมีการลงคะแนนลับ โดยผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคนั้น ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า อภิสิทธิ์ได้รับการรับรองให้เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย

ล่าสุดมีรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว โดยที่ไม่มีชื่ออลงกรณ์เป็นรองหัวหน้าพรรคอีก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ประท้วงอิตาลีในภาพจูบหมวกตำรวจ ถูกฟ้องล่วงละเมิดทางเพศ

Posted: 16 Dec 2013 09:32 PM PST

ภาพของนักศึกษาสาวชาวอิตาลีกำลังจูบหมวกตำรวจปราบจลาจลในการประท้วงเมื่อเดือนที่ผ่านมาถูกนำมาแชร์ต่อและยกให้เป็นการแสดงออกอย่างสันติในการประท้วง แต่ผู้นำสหพันธ์ตำรวจกลับมองว่าในบริบทนั้นถือเป็นการลบหลู่เจ้าหน้าที่และได้ฟ้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

16 ธ.ค. 2556 นีน่า เดอ ชิฟเฟอ นักศึกษาชาวอิตาลี ถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากมีรูปถ่ายที่แสดงภาพเธอกำลังจูบหมวกนิรภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลขณะกำลังประท้วงแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ตเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา

รูปถ่ายของนีน่า นักศึกษาวัย 20 ปี กำลังจูบหมวกนิรภัยของเจ้าหน้าที่ชาย ซัลวาโตเร พิกซิโอเน กลายเป็นกระแสไวรัลในอินเทอร์เน็ตที่ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงอย่างสงบในอิตาลี รูปดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านแผนการสร้างรางรถไฟในเขตตอนเหนือของประเทศเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางจากเมืองมิลานไปยังปารีสจาก 7 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง

แต่องค์กร COISP ซึ่งเป็นองค์กรสหพันธ์ตำรวจของอิตาลีได้ยื่นคำร้องต่ออัยการในเมืองตูรินเพื่อฟ้องร้องนีน่าในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จากการให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการสหพันธ์ ฟรังโก แมคคารี

"ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนจูบเธอ คงเกิดเหตุระดับสงครามโลกครั้งที่สามแน่ๆ" ฟรังโกกล่าว "หรือถ้าหากผมแตะไหล่เธอจากข้างหลัง เธอจะรู้สึกโกรธไหม หรือถ้าเธอทำเช่นนั้นกับคนที่อยู่ในหน้าที่ ควรเป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดได้หรือไม่"

ฟรังโกกล่าวอีกว่าการจูบเป็นเรื่องในทางบวก แต่ในบริบทนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสองคนมันกลายเป็นการลบหลู่ ซึ่งในเวลาต่อมาสื่อต่างประเทศก้เปิดเผยว่านีน่าไม่เพียงแค่จูบแต่ยังเลียนิ้วมือของเธอและนำไปแตะที่ปากของเจ้าหน้าที่ด้วย

ทางด้านเจ้าหน้าที่ซิลวาโตเร พิคซิโอเน่ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ TheLocal ว่าในขณะที่เขากำลังสวมชุดเครื่องแบบเขากำลังเป็นตัวแทนของสถาบันตำรวจและมีหน้าที่ไม่โต้ตอบการยุยง สิ่งที่สำคัญคือขอให้การชุมนุมดำเนินไปได้โดยไม่เกิดเหตุวุ่นวาย

 


เรียบเรียงจาก

Kiss and yell: Italian protester charged with sexual assault after kissing riot police officer, The Independent, 16-12-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/kiss-and-yell-italian-protester-charged-with-sexual-assault-after-kissing-riot-police-officer-9007265.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น