โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แบบจำลองการลำดับความสำคัญ: ความพยายามอธิบายความขัดแย้งรอบใหม่

Posted: 06 Dec 2013 08:42 AM PST

จากการสังเกตความเป็นไปทางการเมืองของสังคมไทย ถ้านับตั้งแต่การชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองในปี 48 เป็นต้นมา ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวิกฤติและเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายครั้งหลายครา และจากวาทะกรรมทางการเมืองและข้ออ้างข้อเสนอข้อโจมตีจากฝ่ายต่าง ๆ

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งจึงอยากจะเสนอแบบจำลองการลำดับความสำคัญของคนไทยในความคิดเห็นทางการเมือง โดยเสนอว่านับตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา คนไทยสับสนในการลำดับความสำคัญในสามประเด็นเป็นหลัก คือ

1. พระมหากษัตริย์
2. กติกาประชาธิปไตย
3. การทุจริตคอรัปชั่น

พระมหากษัตริย์ อันนี้ไม่อยากขยายความแต่เกี่ยวโยงแน่นอนกับการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีการโหนเพื่ออ้างความชอบธรรมทางการเมือง

กติกาประชาธิปไตย อันนี้หมายถึงการยอมรับความเสมอภาคของคนในชาติ อย่างน้อยก็ในการเลือกตั้ง โดยถือว่าทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ผลออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายควรยอมรับเพราะนั่นเป็นเสียงของประชาชน

การทุจริตคอรัปชั่น อันนี้หมายถึงในการเลือกตั้งเป็นหลักที่เอามาโจมตีลดความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม แต่บางคนอาจเลยเถิดไปถึงการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ธุรกิจ และทุกอณูของสังคมไทย

สิ่งที่คนไทยทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้คือแต่ละคนพยายามบอกว่าการลำดับความสำคัญของตนถูกต้องที่สุด

หากให้สิ่งที่ขึ้นก่อนหรืออยู่ซ้ายมือสำคัญกว่าสิ่งที่อยู่ถัดมาหรืออยู่ขวามือ เราอาจจัดลำดับความสำคัญได้เป็น 6 แบบ คือ

1. พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น
2. พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย
3. การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย
4. การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์
5. กติกาประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น
6. กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์

หากนำเอาแบบจำลองนี้มาอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ก็พอจะสรุปได้ว่า

พวกเสื้อเหลืองที่ออกมาประท้วงในปี 48 และในยุครัฐบาลสมัครและสมชายเป็นพวกที่ลำดับความสำคัญตามข้อ 2 และ 3 เป็นส่วนใหญ่ คือไม่ พระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น กติกาประชาธิปไตย ก็จะเป็น การทุจริตคอรัปชั่น พระมหากษัตริย์ กติกาประชาธิปไตย

ส่วนทหารนั้นโดยวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงมีกรอบแนวคิดการลำดับความสำคัญไม่แบบข้อ 2 ก็แบบข้อ 1 เท่านั้น โดยเฉพาะทหารรักษาพระองค์แล้ว ได้ปฏิญาณว่าจักยอมตาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า... ดังนั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ส่วนทหารที่ออกมาปฏิวัติในปี 49 และที่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่ออกสื่อ คือทหารที่อ้างการลำดับความสำคัญตามข้อ 3 เพื่อไม่ให้น่าเกลียดและดูจะมีความชอบธรรมหน่อย

ส่วนในสถานการณ์ความขัดแย้งรอบใหม่ล่าสุดนี้ ทหารเพียงแต่มองว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอที่จะเปลืองตัว
จะออกมาก็ต่อเมื่อเลือดตกยางออกพอสมควร และการออกมารอบใหม่นี้ แม้ในใจจะคิดอย่างไร แต่สิ่งที่จะอ้างหรือแสดงออกต่อสาธารณะ จะเป็นการลำดับความสำคัญตามข้อ 5 โดยจะอ้างว่าทหารยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ แต่เนื่องจากสถานการณ์เกิดความรุนแรงจนไม่อาจนิ่งเฉยได้ เสร็จแล้วก็จะกระทำตามข้อ 2 หรือ 1 ต่อ ซึ่งจะต่างจากการรัฐประหารปี 49 ที่ใช้ ข้อ 3 นำ

ส่วนพวกเสื้อแดง นปช. และกลุ่มแนวคิดประชาธิปไตยทั้งหลาย คงหนีไม่พ้นจัดลำดับความสำคัญตามข้อ 5 หรือ 6 เป็นหลัก

ถ้าจะนำแบบจำลองนี้มาอธิบายความขัดแย้งล่าสุดก็พอจะกล่าวได้ว่า การออกมาแสดงพลังของคนจำนวนมากจนถึงวันที่ 24 พ.ย. นั้น คือ มีคนที่ลำดับความสำคัญทั้ง 6 แบบ ปะปนกันไป โดยอาจจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ลำดับความสำคัญตามข้อ 3 และ 4 มากที่สุด แต่หลังวันที่ 24 พ.ย. ไปแล้ว ไม่เหลือกลุ่มข้อ 5 และ 6 อยู่เลย ส่วนกลุ่มข้อ 4 ลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือน้อยมาก ถ้าวิเคราะห์จากเนื้อหาที่แกนนำขึ้นปราศรัย จะพบว่าคนกลุ่มข้อ 1 คงจะเหลือน้อยเต็มทน ที่เหลืออยู่คือคนกลุ่มข้อ 2 และข้อ 3 แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเสียเปรียบ รัฐบาลยอมถอยไม่ใช้ความรุนแรง ชาติมหาอำนาจเริ่มออกมารับรองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ม็อบ "มวลมหาประชาชน" เหลือให้ทำก็คงเป็นสูตรเดิม คือลำดับความสำคัญตามข้อ 2  ปลุกคนกลุ่มข้อ 2 ให้ออกมามากขึ้น และหวังว่าจะมีตัวช่วยหรืออำนาจ "มืด" ขี้มาสีดำมาช่วยในที่สุด

สุดท้าย อยากจะบอกว่าความจริงไม่น่านำพระมหากษัตริย์มาอยู่ในการจัดลำดับความสำคัญนี้ เพราะถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกตัวอักษร พระองค์เป็นเพียงประชาชนคนที่หนึ่งที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น

หากไม่นำพระมหากษัตริย์มาอยู่ในการจัดลำดับความสำคัญก็จะเหลือแต่ กติกาประชาธิปไตย และการทุจริตคอรัปชั่น ว่าอะไรจะสำคัญกว่ากัน

ผมอยากจะบอกว่าทุกรัฐบาลไทยมีการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงในทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัยด้วยเช่นกัน
มันเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ จะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ โดยใคร แล้วป้ายไปที่ใครก็ได้ แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สงบสุขและสันติ คือการเคารพความเสมอภาคในสังคม การไม่หยามเกียรติผู้อื่น หรือไม่ลดค่าความเป็นคนของผู้อื่น ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และเป็นความเสมอภาคขั้นต่ำสุดในสังคม คือ 1 สิทธิ์ 1 เสียง นั่นเอง

ไม่อยากจะบอกเลยว่าคอมมอนเซ้นซ์ของการลำดับความสำคัญคือ

กติกาประชาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่น

รักษา 1 สิทธิ์ 1 เสียง ไว้ก่อน ส่วนจะทุจริตเลือกตั้งหรือทุจริตอื่น ๆ ก็ใช้กฎหมาย กฎกติกาอื่น ๆ หรือกระแสสังคมกดดัน หรือยกระดับพัฒนาการศึกษาของคนในชาติก็ว่าไป เพราะมันเป็นของที่ต้องใช้เวลา จะคิดว่าพรุ่งนี้ตื่นมาแล้วมันจะหมดไปจากสังคมไทย ถ้าไม่บ้าก็เป็นจิตวิทยาหมู่ที่คนไทยบางส่วนถนัดทำดีนัก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพนัด 9 ธ.ค. 09.39 น. ลุกฮือทั่วประเทศ-ทวงอำนาจคืนจากระบอบทักษิณ

Posted: 06 Dec 2013 08:19 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ นัด 9 ธ.ค. เคลื่อนขบวนทุกจุดมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล 'เป่านกหวีดครั้งสุดท้าย' ขอวัดใจประชาชนไทยและกองทัพ ใครไม่ต้องการร่วมต่อสู้ขอให้นอนอยู่บ้าน จะเดินขบวนบนถนนทุกสาย และถ้าจะต้องปิดไปทั้งเมืองก็ช่วยไม่ได้ หากแพ้ 9 แกนนำจะยอมรับโทษ

 

6 ธ.ค. 56 - ตามที่ในช่วงบ่ายวันนี้ (6 ธ.ค.) สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คแฟนเพจของเขานัดหมายผู้ชุมนุมว่า "เย็นนี้ผมจะนัดหมาย กำหนดการ ปฎิบัติการทวงคืนประเทศไทย ครั้งนี้เราจะทำกันอย่างเข้มแข็ง เต็มกำลัง แต่ยังคงยึดหลักสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธครับ ขอให้ค่อยรับฟังกันครับ" นั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 20.30 น. ที่เวทีชุมนุมศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สุเทพได้ขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งสุเทพ ได้ประกาศแนวทางการต่อสู้ว่า "ได้ตัดสินใจแล้วครับ เราเดินทางมาอย่างนี้ สู้มาอย่างนี้ เราตั้งใจของเราแน่วแน่ ทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง วิธีการของเราบริสุทธิ์ ยึดแนวอหิงสา สันติ ไม่มีอาวุธ ไม่รุนแรง แต่เราก็ไม่สามารถทนเห็นญาติพี่น้องของเราบาดเจ็บ ถูกยิง ถูกขว้างระเบิด ถูกแก๊สน้ำตา การต่อสู้ที่ทำด้วยวิธีการสันติ ไม่รุนแรง ไม่มีอาวุธสำคัญข้อเดียวคือ จำนวนคนต้องมากมายมหาศาลถึงจะชนะเขาได้ ไม่อย่างนั้นชนะไม่ได้ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. พี่น้องประชาชนแสดงพลังกันเป็นล้านคน ท่านก็เห็นครับว่ามีพี่น้องประชาชนนับล้านคน ที่ต้องการทวงอำนาจคืน ไม่ต้องการให้พวกโจรเอาอำนาจไปใช้ในทางที่ผิด ไปฉ้อโกงคอร์รัปชั่นจนวิบัติ ออกมาแสดงตนด้วยความกล้าหาญนับล้านคน แต่พวกมันกอดอำนาจแน่น นี่คือความหน้าด้านของมัน"

"วันที่พวกผมตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. เพื่อมาร่วมกับพี่น้องทั้งหลาย เพราะพวกเราได้สัมผัสกับพี่น้อง ได้หยั่งรู้ถึงความคิดจิตใจของพี่น้องว่าพี่น้องทนเจ็บปวดขมขื่นกับระบอบทักษิณมาสิบกว่าปีแล้ว เห็นชาติวิบัติย่อยยับลงต่อหน้าต่อตา ทนไม่ได้แล้ว อยากขึ้นมาต่อสู้ เพียงแต่ยังไม่มีใครมาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการ พวกผมทั้ง 9 คนจึงตัดสินใจลาออกจากผู้แทนราษฎรมาร่วมต่อสู้กับพี่น้อง และทำให้องค์กรเครือข่ายประชาชนอื่นๆ ที่สู้อยู่ก่อนมีกำลังใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) กองทัพธรรม นักธุรกิจสีลม นักธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อเห็นพวกเราสู้กันปึกแผ่น ทุกฝ่ายจึงมาร่วมกันเป็น กปปส. เป็นรูปร่าง เป็นขบวนการ ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย"

สุเทพกล่าวว่า "ในชีวิตพวกเราทุกคนไม่เคยเห็นปรากฏการณ์นี้มาก่อน ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่จะมีคนไทยลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องชาติ เหมือนกับที่พี่น้องมาต่อสู้ครั้งนี้ นี่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หลายคนพูดว่า 'กำนันสุเทพ ถ้าทำไม่สำเร็จจะน่าเสียดายมาก เพราะว่าทำให้เสียของ คนอุตส่าห์มาเป็นล้านๆ แล้วไม่สามารถทำให้ชนะได้' พี่น้องครับ พวกผมไม่ใช่พวกเพ้อเจ้อ เป็นพวกที่เคารพความเป็นจริง ผมกราบเรียนพี่น้องว่า ชีวิตพวกเราทุกคน วางเป็นเดิมพัน ทุุ่มเทหมดหน้าตัดในการต่อสู้ครั้งนี้ พี่น้องประจักษ์ชัดว่าพวกผมทุ่มจริงๆ และเคียงข้างพี่น้องตลอด ไม่คิดเป็นห่วงอนาคตตัวเอง ประกาศชัดว่าสู้ครั้งเดียว แพ้ชนะต้องยอมรับ แต่จะสู้สุดกำลัง ทำเต็มที่ ทุ่มเททุกอย่างความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดิน แต่จะไม่ละความพยายามเด็ดขาด"

"แต่ผมกราบเรียนตามความเป็นจริง ถ้าพี่น้องประชาชนมีจำนวนเพียงแค่นี้ แม้จะมีหัวใจห้าวหาญอย่างไร กอดคอเหนียวแน่นอย่างไร สู้ต่อไปด้วยความมั่นคงอย่างไร จะต้องมีคนเจ็บ คนตาย เพราะไอ้พวกผู้ร้าย โจรห้าร้อยไม่เคยปราณีประชาชน มันถึงทำกับนักศึกษารามคำแหง คอกวัว กระทรวงการคลัง และจะทำต่อในวันข้างหน้า"

"ผมรู้ว่าพี่น้องก้าวพ้นความกลัวแล้ว ไม่กลัวมัน ผมก็ไม่กลัวมัน ผมยินดีที่จะสู้จนตาย แต่ชัยชนะของเรามันไม่ได้วัดที่จำนวนคนเจ็บ ที่คนตาย มันวัดที่จำนวนคนที่ลุกขึ้นมากอดคอต่อสู้ ผมถึงบอกว่าการต่อสู้เรื่องนี้ต้องกำหนดวันจบได้แล้ว และผมกำหนดแล้ว"

"วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม เรื่องนี้ต้องจบครับพี่น้อง" สุเทพกล่าว โดยผู้ชุมนุมได้โห่ร้องอย่างฮึกเหิม

สุเทพกล่าวต่อว่า "ไม่มีประโยชน์ที่เราจะต่อสู้ยืดเยื้อถึงปี 2557, 2558 เราต้องกลับไปทำมาหากิน รัฐบาลเขาก็รู้ เขาถึงใช้เล่ห์เหลี่ยม ต่อรองกับเรา ตั้งใจซื้อเวลาให้เราหมดแรง ให้เราเบื่อไปเอง กูก็รู้เท่ามึง ในขณะเดียวกัน มีพี่้้น้องประชาชนจำนวนมาก ไม่อยากเห็นความรุนแรง อยากเห็นบ้านเมืองสงบ จะเป็นขี้ข้าทั้งชาติได้ไม่เป็นไร มีพี่น้องไม่อยากตากแดด ถูกฝน นอนเชียร์ในหน้าจอที่บ้าน แล้วจะให้แนวหน้าตรากตรำทั้งปีทั้งชาติ ก็เป็นหวัดหมดแล้ว โดนแก๊สหมดแล้ว ผมถึงบอกว่า ไม่ต้องยืดเยื้อ ไม่ต้องให้ยาวนานกว่านี้ เอาให้จบเลยดีกว่า ประกาศไปเลยคราวหน้า จะเป็นจะตาย จะแพ้จะชนะ ให้รู้กันวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคมนี้"

"คณะกรรมการ กปปส. ทุกคน แกนนำทุกคน ทุกเครือข่าย ปรึกษากันเรียบร้อยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศกับพี่น้องว่า วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคมต้องทำให้การต่อสู้คราวนี้จบลงให้ได้ ต่อสู้จนมันต้องยอมแพ้จริงๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนในประเทศไทยต้องตัดสินใจเลือกข้าง เกิดมาจนป่านนี้ ต้องตัดสินใจให้เลือกข้าง ถ้าตัดสินใจเป็นเสรีชน ปกปักรักษาบ้านเมือง รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต้องออกมา"

หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ออกมา ออกมา ออกมา" อย่างกึกก้อง

สุเทพปราศรัยว่า "แต่ถ้าทำใจได้ว่าชาตินี้ ชาตินี้จะยอมตัวเป็นขี้ข้าระบอบทักษิณก็นอนเสพสุขที่บ้าน ไม่ต้องมา ไม่เสียใจกัน ไม่โกรธเคืองกัน ไม่ต้องฆ่ากัน ถ้าพวกคุณยอมออกมา เพราะคุณเลือกข้างถูก เลือกข้างประเทศไทย เลือกข้างประชาชนส่วนใหญ่ เลือกลูกหลาน เราชนะโดยไม่มีคนเจ็บ คนตาย เราชนะตลอดไป"

เลขาธิการ กปปส. ยังเชิญชวนให้ข้าราชการว่า "ถ้าเห็นแก่อนาคตของประเทศไทย เห็นแก่อนาคตลูกหลานเรา หยุดทำงานไม่ต้องไปทำงาน ให้มาร่วมกับประชาชน" สุเทพระบุว่าได้ข่าวว่ารัฐบาลจะเกณฑ์ข้าราชการแต่งชุดสีกากี เกณฑ์เด็กนักเรียน มาเดินอ้อนวอนให้เลิกชุมนุม เพื่อให้บ้านเมืองสงบ และถ้าไม่เลิกชุมนุม ทักษิณสั่งไว้ให้ปราบปรามรุนแรงแบบไม่ให้เหลือผู้ชุมนุมและแกนนำ

"ผมจึงประกาศเลย เอาเลย วันที่ 9 ให้เห็นดำเห็นแดงกันเลย" สุเทพลั่นวาจา และกล่าวว่า "พี่น้องข้าราชการถ้าจะแต่งเครื่องแบบก็แต่งได้ แต่มาแล้วต้องอยู่ข้างเดียวกับประชาชน เอาอย่างนี้ครับ นัดหมายเลย คืนนี้เลย จะได้เตรียมตัวล่วงหน้า นอนให้เต็มอิ่ม พักผ่อนให้เต็มตา วันจันทร์ 09.39 น. ลุกฮือทั้งประเทศ ทวงอำนาจอธิปไตยคืน ลุกขึ้นให้พร้อมกันทั่วประเทศ คนอยู่ต่างจังหวัดเดินขบวนในอำเภอ มุ่งหน้าไปศาลากลาง ไม่ต้องบุกรุกเข้าไป ปิดทางเข้าไม่ให้มันเข้าไปทำงาน วันที่ 9 ธ.ค. นี้แหละ นิสิต นักศึกษา นักเรียนทุกแห่ง ลุกขึ้นพร้อมกัน 9.39 น. ปฏิเสธไม่รับรัฐบาลนี้ ไม่รับระบอบทักษิณ เอาอำนาจเราคืนมา

สุเทพนัดหมายผู้ชุมนุมใน กทม. ว่า ในช่วงหยุดยาวนี้ "ให้พาครอบครัวไปเที่ยว วันอาทิตย์ที่ 8 รีบกลับบ้าน นอนแต่หัวค่ำ วันที่ 9 ลงถนนทุกคน ใครนอนบ้านถือว่าทรยศต่อประเทศไทย ทานข้าวเช้าเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 9 เอาน้ำขวด เอาข้าวห่อใส่เป้ ใส่ถุง และเดินขบวนไปบนถนนทุกสายในกรุงเทพฯ เดินขบวนครั้งใหญ่ให้โลกจารึก ให้คนกรุงเทพฯ ทุกคน เดินขบวนพร้อมกัน 09.39 น. ฤกษ์ดีของประชาชน ออกมาทุกคน เดินขบวนบนถนนทุกสาย ไม่ใช่ล้านเดียว เอาทุกล้าน ออกมาหมด ทุกคนทุกคน"

"ถ้าพี่น้องออกมาทุกคน โลกทั้งโลกจะเห็น ไม่มีใครปฏิเสธมวลมหาประชาชนหลายล้านคนได้แล้ว มากันกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. เรามากลางคืน แต่วันที่ 9 ธ.ค. เรามากลางวัน ให้รู้ว่าเราทวงอำนาจเราคืน"

"พี่น้องทั้งหลายได้ต่อสู้กันมาเดือนกว่าแล้ว หลายคนตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ยังไม่ได้กลับบ้านเลย หลายคนมีภรรยา สามีมีพี่น้องมาเปลี่ยน แต่พรุ่งนี้ มะรืนนี้ คนที่อยู่ต่างจังหวัดที่ได้กลับบ้าน ให้กลับมาราชดำเนินได้แล้ว มาศูนย์ราชการได้แล้ว มาใหม่ ยกสุดท้ายแล้ว พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ก็เตรียมตัว รวมพลังกันครั้งสุดท้าย ชนะเขาได้ ก็เป็นไท แพ้เขาก็ก้มหน้าก้มตาเป็นขี้ข้าเขาชาตินี้ ไม่ต้องร้องไห้"

สุเทพระบุว่ามติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการพูดคุยกับแกนนำ กปปส. "ผมตัดสินใจแล้วพี่น้องครับ พูดกับพี่ๆ น้องๆ แกนนำ กปปส. จะไม่ให้พี่น้องทุกข์ยากทรมานกว่านี้ แพ้เป็นแพ้ ชนะเป็นชนะ ถ้าพี่น้องมาหลายล้าน เราจะประกาศว่าอำนาจอธิปไตยได้กลับมาถึงมือประชาชนแล้ว เราจะจัดการบริหารประเทศ จนประเทศไทยเดินหน้าได้แบบอารยะประเทศ มีกฎหมายรองรับทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 ดังนั้นขออย่ามาบิดเบือน โดยเราจะเดินตามนี้ เราจะไม่ยึดอำนาจ เราใช้อำนาจของเราพิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

"ทั้งนี้ผู้ชุมนุมจะไม่มีอาวุธอื่น นอกจากหัวใจที่รักชาติ มากันให้พร้อม ถ้าพี่น้องไม่มา พี่น้องที่สู้ทั้งหมดนี้ก็พร้อมจะยอมรับความพ่ายแพ้ ชีวิตจะร้องไห้ครั้งนี้มากที่สุดจะยินดี จะไม่เสียใจอีก เพราะถือว่าชาตินี้ได้สู้อย่างเต็มที่แล้ว ผมขอประกาศว่านี่คือเป่านกหวีดครั้งสุดท้าย ถ้าพี่น้องประชาชนทั้งหลาย ข้าราชการทั้งหลาย ถ้าไม่เลือกข้าง พวกผมยอม ถ้าประชาชนไม่ออกมา ผมจะไปเข้าคุก ไม่สู้กับมันแล้ว จะได้ไม่ต้องทรมาน ถ้าชาตินี้จะชนะให้ได้ต้องวันที่ 9 ธ.ค. ถ้าไม่ชนะก็ไม่ต้องฝันเป็นอย่างอื่นแล้ว ยอมมันไปเลย ผมและพี่ๆ น้องๆ ปรึกษากันแล้ว ยอมติดคุกข้อหากบฎ จะเอาโทษถึงประหารชีวิตก็ได้ เพราะเป็นชีวิตพวกผม 9 คน ดีกว่าเอาชีวิตพี่น้องไปเสี่ยงกับผู้คนที่เป็นฆาตกรในรัฐบาล จึงกำหนดวันชีชะตาคือวันที่ 9 ธ.ค. นี้"

"เรามาดูใจพี่น้องชาวไทย สายเลือดเดียวกับเราในวันที่ 9 ธ.ค. ว่าใจใครมันจะใหญ่กว่าใคร มาพิสูจน์กัน จะได้จบเสียที ประเทศชาติจะได้ไม่เสียหายไปมากกว่านี้ และจะได้ไม่มีเหตุที่เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประะชาชน เอาอย่างนี้นะครับพี่น้อง ตกลงไหมครับ" โดยผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ตกลง" หลังจากสุเทพระบุว่าผู้ชุมนุมที่ศูนย์ราชการจะยังคงปักหลักอยู่จนถึงคืนวันอาทิตย์ "และคืนวันอาทิตย์นอนแต่หัวค่ำเก็บข้าวทุบหม้อข้าวเลย ตื่นเช้าวันจันทร์ เดินทางไกลครั้งสุดท้าย ผมจะเดินนำหน้าพี่น้องไปทำเนียบรัฐบาล และจะไม่กลับมาที่นี่อีก ไปตัดสินผลแพ้ชนะที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่เข้าไปในทำเนียบ เพราะจะให้เกียรติทหาร แต่จะดูใจทหารในเช้าวันที่ 9 ธ.ค. เหมือนกัน"

"เพราะฉะนั้น พี่น้องที่สะดวกไปราชดำเนิน ไปสมทบกระทรวงการคลัง ใครมาจากต่างจังหวัดจะมาค้างคืนที่นี่ศูนย์ราชการ แล้วเดินไปด้วยกัน ขอกราบเรียนพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ใครที่ไม่ต้องการมาต่อสู้ร่วมกับเรา นอนอยู่ที่บ้าน เพราะถ้าท่านออกมานอกบ้านรถจะติด เพราะเราเดินทุกถนน ถ้าท่านจะโกรธเราก็ยอม ถ้าจะต้องปิดไปทั้งเมืองก็ช่วยไม่ได้ เพราะชีวิตนี้เราจะยอมแล้ว"

พี่น้องถ้าเห็นว่าสมุนทรราชย์ระบอบทักษิณใช้ความรุนแรง ท่านจะจอดรถกั้นตรงไหนตามใจชอบ ทุกคนมีเสรีภาพ ในการเดินขบวนทางไกลจากที่นี่ไปทำเนียบ 17-18 กม. คนหนุ่ม คนสาว มีเรี่ยว มีแรง เดินไป คนที่เดินแล้วเหนื่อย จะมีรถมารับขึ้น เชียร์เพื่อนไป ไม่เป็นไร เราไปด้วยกัน แล้วบอกพี่น้องจากแจ้งวัฒนะ วิภาวดี ขาเข้า ขาออก วันนั้นอย่าคิดใช้ถนน เราเดินหมดทุกเลน พี่น้องที่สุขุมวิทให้เดินทางบ้านตัวเอง เดินไปสุขุมวิท เป้าหมายคือทำเนียบรัฐบาล พี่น้องสีลม ประตูน้ำ บึงกุุ่ม ฝั่งธน เดินมาจากจุดนั้นเป็นเสรีชนเอาอำนาจคืนมา วันเดียว ขอวันเดียวถูกต้องนะครับ แล้วก็พิสูจน์อนาคตประเทศไทยกันเลย ว่าจะเป็นประเทศไทยที่เป็นฟ้าสีทองหรีอไม่ ผมไม่ต้องการเอาความทุกข์ยากพี่น้องไปลงทุนแล้ว ผมเห็นใจ ผมยอมมอบตัวข้อหากบฎให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย ถ้าแพ้มันเป็นข้าทาสในสังคม หรือติดคุกก็เหมือนกัน ดังนั้นนัดเลยนะครับ 9.39 น. วันจันทร์ที่ 9 รู้กัน ตัดสินกันวันนั้นเลยครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายน้อยจากพ่อ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 2556

Posted: 06 Dec 2013 07:52 AM PST

5  ธันวาคม 2556


ถึงลูกของพ่อ

 

ในวันนี้ที่ใครใครเขาเรียกกันว่าวันพ่อ พ่อเองซึ่งมีเอ็งเป็นลูกคนหนึ่งอยากจะพูดอะไรบางอย่างกับลูกในวันพ่อวันนี้(ส่วนเรื่องที่จะพูดกับพ่อของพ่อ คือปู่ของเอ็งนั้นพ่อได้จุดธูปแล้วคุยเป็นการส่วนตัวกับปู่ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอ็งไม่ควรจะรู้)
เมื่อ 40 ปีก่อนในวันที่ 14 ตุลา 2516 พ่อก็เป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ที่ไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และต่อด้วยขับไล่ถนอม ประภาส ณรงค์ จนเชื่อว่าได้รับชัยชนะ เพราะถนอม ประภาส ณรงค์ หนีออกนอกประเทศไป หลังจากนั้น "มวลมหาประชาชน" ได้รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์   "มวลมหาประชาชน" ชนะและเชื่อว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้า โดยไม่ถอยหลังกลับ  หลังจากนั้น

1. เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้นำชาวนาชาวไร่  ผู้นำนิสิตนักศึกษา ผู้นำกรรมกร

2. เกิดเหตุการณ์กรณีนองเลือดพลับพลาชัย

3. เราได้รัฐบาลคึกฤทธิ์  ปราโมช (คนดี)

4. เราได้รัฐบาล เสนีย์ ปราโมช (คนดีและพรรคประชาธิปัตย์)
เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหดอำมหิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยนิสิตนักศึกษาประชาชนถูกฆ่า  แขวนคอ  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง 

5. เกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่

6. เราได้รัฐบาลนายธานินทร์  กรัยวิเชียร (คนดี)

7. เกิดการรัฐประหารโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

8. รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์   ต่อมาถูกไล่ออก

9. เราได้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (คนดี)

10. เราได้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (คนดี) อีก 10 ปี

11. เราได้รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ต่อมาถูกรัฐประหาร

12. เกิดการรัฐประหารโดย  คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์

13. เราได้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (คนดีและเป็นผู้ดีด้วย)

14. เราได้รัฐบาลพลเอกสุจินดา  คราประยูร (ระยะเวลาสั้นจนไม่มีคำนิยาม)

15. เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535 โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง  นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ นายปริญญา  เทวานฤมิตรกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ฯลฯ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับพลเอกสุจินดา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

16. เราได้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (คนดีและผู้ดี)

17. จากนี้ไปพ่อเริ่มสับสนว่ามันมีรัฐบาลอีกหลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่รู้ว่าใครมาก่อนใคร แล้วใครเป็นยังไง แล้วถูกใครไล่ กล่าวคือนายบรรหาร ศิลปะอาชา พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ นายชวน  หลีกภัย (คนดี) ซึ่งลูกต้องไปดูเองจากแสตมป์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่เขาพึ่งออกแสตมป์อดีตนายกรัฐมนตรีทุกสมัย

18. จากนายชวน หลีกภัย (คนดี) เราได้ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

19. ปี 2548 ถึง 2549 กลุ่มนายสนธิ พลตรีจำลอง นายพิภพ นายสมศักดิ์ นายสุริยะใส ฯลฯ เรียกตัวเองว่า "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ชุมนุมขับไล่พันตำรวจโททักษิณ และขอให้ในหลวงพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7

20. เกิดรัฐประหาร 2549โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งภายหลังลงสมัครรับเลือกตั้งและอุตส่าห์ได้รับเลือกตั้ง

21. เกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีนาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริเป็นประธานคณะกรรมการร่าง และมีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ (คนดี) เป็นกรรมการและเลขานุการยกร่างด้วย

22. เลือกตั้งพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช (ผู้กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่เคยมีคนตาย และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร) ได้เป็นนายก ต่อมาถูกไล่ออกเพราะไปจัดรายการทีวีเรื่องการกินข้าวกินปลาตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างเถียงไม่ได้ในความเห็นของอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ

23. เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยการนำของนายสนธิ พลตรีจำลอง นายพิภพ  นายสุริยะใส ฯลฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสนามบินดอนเมืองสุวรรณภูมิ

24. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขยพันตำรวจโททักษิณ) เป็นนายกรัฐมนตรี  ต่อมาถูกไล่ออกเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างเถียงไม่ได้ในความเห็นของอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ (ภายหลังได้รับการอวยยศให้เป็นพระยานิติวิบัติดำน้ำลึก)

25. เราได้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ (คนดี หล่อ พูดภาษาอังกฤษเก่งที่สุด และไม่เคยทำอะไรผิด) ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญผสมกับพรรคภูมิใจไทยของนายเนวิน ชิดชอบ ทั้งนี้โดยพรรคร่วมรัฐบาลได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลความมั่นคง

26. เกิดเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ของคนเสื้อแดงในปี 2552 ถึง 2553 ถูกขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากรัฐบาลอภิสิทธิ์โดยใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต 99 คน มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน)

27. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

28. พรรคเพื่อไทย (ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร) ชนะการเลือกตั้งท่วมท้น (อีกแล้ว) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

29. พรรคประชาธิปัตย์ (คนดี) เป็นฝ่ายค้าน (อีกแล้ว)

30.  ปลายปี พ.ศ. 2556 ที่พ่อเขียนจดหมายถึงลูกฉบับนี้    ลูกคงรู้ว่ามีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตรพรรคเพื่อไทย (ของพันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร) โดยกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ(คนดี คนรักประชาธิปไตย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศอฉ.ในเหตุการณ์ปี 2553)   ซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่มอะไรที่มีชื่อยาวๆซึ่งพ่อก็จำไม่ได้ โดยเรียกร้องให้ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยเหลือพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร (อันนี้ท่าจะจริง) และกรณีที่รัฐบาลแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยหาว่าการที่พรรครัฐบาลแก้ไขให้มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกทั้งหมดแทนการลากตั้งนั้นเป็นการทำลายประชาธิปไตย (อันนี้พ่อสงสัยว่ามันมั่ว)  เกิดการเดินขบวนซึ่งนำโดยอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (คนดีผู้ยึดมั่นในระบบรัฐสภา) เข้ายึดสถานที่ราชการ  และสถานีโทรทัศน์หลายแห่งโดยใช้ความสงบ (แค่เป่านกหวีด) สันติ อหิงสา (ซึ่งพ่อยังสงสัยว่าจะมีใครเชื่อ)

31. นายสุเทพ เทือกสุบรรณประกาศในฐานะผู้นำของ"มวลมหาประชาชน" (ซึ่งไม่รวมพ่อ) ว่าจะจัดตั้งสภาประชาชนที่มาจากทุกสาชาอาชีพ (แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ เพราะมันไม่ดีพอ) และจัดตั้งรัฐบาลประชาชนที่ดี (ไม่รู้เป็นยังไง ? และเป็นใคร? และมาจากไหน?)  และจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปตามแนวทางที่ดีเลิศ (ไม่รู้เป็นยังไง? ทำยังไง ? ใช้เงินเท่าไหร่? เถียงได้มั้ย ? ค้านได้มั้ย? ฯลฯ)

เรื่องที่เล่าเหตุการณ์เรียบเรียงมาทั้งหมด เพียงเพื่อจะบอกลูกว่าเราคงต้องเดินทางกันอีกยาวนานกว่าที่จะได้ประเทศไทยที่รุ่งเรืองไพบูลย์ นักการเมืองทั้งในสภาและนอกสภาล้วนมาแล้วก็ไป  แย่งชิงอำนาจกันบนเลือดเนื้อของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งแท้จริงมีชะตากรรมเดียวกันทั้งหมด

มันเป็นเรื่องน่าขำที่  "มวลมหาประชาชน" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เปล่งคำขวัญเป็นคำกลอนว่า "ไมมีอำนาจใดในโลกหล้า  ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน  ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป  เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่  ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่  เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ  ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" (ซึ่งแต่งโดยวิสา  คัญทัพ  ปัจจุบันเป็น คนเสื้อแดง เป็นแกนนำ นปช. ซึ่งถ้ามวลมหาประชาชนที่เปล่งคำขวัญนี้รู้ว่าใครแต่ง  พ่อก็ไม่รู้ว่ายังจะชูคำขวัญนี้กันอีกหรือไม่)  ยิ่งไปกว่านั้น มวลมหาประชาชนเหล่านี้รู้ไหมว่า สิ่งที่นายสุเทพและผู้นำของเขาต้องการคือสภาประชาชนที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง  รัฐบาลประชาชนที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งมา  พ่อคิดว่าเค้าคงไม่เข้าใจเพราะไม่ได้ฟัง  มัวแต่เป่านกหวีด ซึ่งถ้าเค้ารู้และเข้าใจอย่างจริงจัง ภายหลังจากเปล่งคำขวัญว่า "ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" แล้ว นอกจากขับไล่รัฐบาล คงจะขับไล่ผู้นำม้อบของตนด้วย

หลังจากนี้คงจะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่ว่า  กงล้อประวัติศาสตร์คงทำหน้าที่ของมัน โดยหมุนเดินไปข้างหน้าอย่างที่ไม่มีใครจะหยุดได้  ใครที่ปลิ้นปล้อนตอแหล หลอกลวงประชาชน  ทำเพื่ออำนาจของตนและพรรคพวกโดยไม่คำนึงถึงประชาชน คงจะถูกบดขยี้พินาศไป

พ่ออยากให้ลูกคิดเยอะๆ ศึกษาและวิเคราะห์สังคมไทยที่เป็นอยู่และจะเป็นไป  ศึกษาผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ดี  ดูอดีต ศึกษาความคิดในอดีตของเขา ดูการกระทำในอดีตและปัจจุบันของเขาโดยใช้กฎทางวิทยาศาสตร์สังคม  อย่าให้ใครหรืออารมณ์ของเราเองชักจูงพาไปดังเช่นวัวควาย พ่อคิดว่าเพียงเท่านี้ลูกก็จะสามารถเข้าใจและครองตนในสังคมนี้ต่อไปอย่างมีประโยชน์


ด้วยรัก
จากพ่อ

 

หมายเหตุ: ผู้เผยแพร่ไม่ใช่ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ ตัวผู้เขียนคือนายกฤษฎางค์ นุตจรัส นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ รหัส 18
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาด รวี: ศีลธรรมของผม และศีลธรรมของเธอ

Posted: 06 Dec 2013 06:25 AM PST

จนป่านนี้ผมยังจำเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ เกี่ยวกับการลุกให้นั่งบนรถเมล์ที่เกิดขึ้นตอนยังเด็กได้

เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตอนอยู่ประถม จำเวลาแน่นอนไม่ได้ ผมขึ้นรถเมล์ไปกับน้าสาว บนรถเมล์คนแน่น และมีหญิงสาวคนหนึ่งในชุดนักศึกษาลุกให้ผมนั่ง ผมจำได้ว่าตัวเองรู้สึกอายมาก แต่ในที่สุดผมก็ยอมนั่งทั้งที่ไม่อยากนั่ง ก่อนลงจากรถผมยกมือไหว้นักศึกษาสาวคนนั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตอนผมเริ่มเข้าวัยรุ่นแล้ว น่าจะประมาณมัธยมต้นหรือปลาย ผมจำไม่ได้แน่ แต่ที่แน่ ๆ คือตอนนั้นร่างกายผมน่าจะโตแล้ว ไม่ใช่เด็กตัวเล็ก ๆ

คราวนี้ผมเป็นฝ่ายลุกให้หญิงชราชาวต่างชาติคนหนึ่งนั่ง รถเมล์แน่นพอสมควร ผมนั่งอยู่ไม่ห่างจากประตู พอเห็นหญิงชราชาวตะวันตกคนหนึ่งเดินขึ้นมาผมก็ลุกและเสนอที่นั่งให้ทันที แต่ปรากฏว่าหญิงชาวตะวันตกคนนั้นมองผมด้วยสีหน้างุนงง ไม่เข้าใจ และพูดเสียงดังเป็นคำถาม วาย วาย วาย? ผมพยายามยิ้มและบอกให้เธอนั่งที่ของผม แต่เธอยังไม่ยอมนั่ง และมองผมด้วยน้ำเสียงและสีหน้าไม่เข้าใจ ทุกคนบนรถเมล์มองมาที่เราสองคน ในที่สุดหญิงชราก็ยอมนั่งทั้งที่ยังคงไม่พอใจ ส่วนผมพอรถเมล์จอดป้ายหน้าก็รีบลงไปด้วยความอับอาย

นอกจากความอายแล้วผมจำไม่ได้ว่าได้อธิบายเหตุการณ์นี้กับตัวเองอย่างไร ผมคิดถึงเหตุการณ์ทั้งสองในช่วงเวลาต่างกันบ้างเมื่อมีอะไรมากระตุ้นความทรงจำ เมื่อโตขึ้น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ก็คงจะมีความเข้าใจ และคำอธิบายให้กับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งผมก็จำไม่ได้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผมมาเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งจริง ๆ ก็หลังจากเกิดวิกฤตการเมืองแล้วและผมเริ่มศึกษางานนักของนักคิดตะวันตกในศตวรรษที่ 18 อย่างจริงจังในท่ามกลางเหตุการณ์ที่ดำเนินไป

สิ่งที่เกิดขึ้นบนรถเมล์ในวัยเด็กไม่ใช่เรื่องของยัยแก่หยิ่งยะโส หรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน ดังคำอธิบายที่พบทั่วไป หรือคำอธิบายที่ผมอาจจะเคยใช้บอกตัวเอง แต่มันเป็นเรื่องของศีลธรรมในระดับสามัญสำนึกซึ่งอยู่ในระนาบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

พฤติกรรมของหญิงชราอาจดูประหลาด และการกระทำของผมอาจดู "ปรกติ" ในสังคมที่ศีลธรรมคือ "ความเห็นอกเห็นใจ" แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะ "กลับกัน" ในทันที สำหรับสังคมที่ ศีลธรรมคือการเชื่อว่ามนุษย์มีเสรีภาพอย่างแท้จริง

ผมทราบว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบาย และผมคงไม่เข้าใจมันถ่องแท้จริง ๆ หากไม่ได้ศึกษามันท่ามกลางวิกฤตการเมือง

สำหรับอิมมานูเอล คานท์ อิสรภาพที่จะเลือกมาก่อนสิ่งอื่นใด และศีลธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากมัน และโดยพื้นฐานความเชื่อเรื่องอิสรภาพนี้นี่เองที่คานต์ต่อต้านระบอบ "พ่อปกครองลูก" และเห็นว่ามันคือทรราชในรูปแบบหนึ่ง มนุษย์ต้องบรรลุถึงซึ่งวุฒิภาวะที่จะกำหนดตัวเองว่าควรทำอะไร ไม่ว่าจะเลวหรือดี โดยไม่พึ่งพิงการใช้อาญาสิทธ์ หรือการกำกับควบคุมของสิ่งใด หากมิเช่นนั้น เขาก็คือคนเถื่อน ไร้อารยธรรม ซึ่งเปรียบได้กับเด็กที่ยังไม่โต

อารยธรรมคือการที่มนุษย์สามารถดูแลตัวเอง บรรลุภาวะในการกำหนดตัวเอง เป็นอิสระจากสิ่งอื่นที่เราควบคุมไม่ได้ คนที่ต้อง "พึ่งพิง" หรือ "ขึ้นอยู่กับ" คนอื่น นั้น ไม่ใช่คนที่บรรลุภาวะความเป็นมนุษย์สำหรับคานท์ หากว่าคุณค่าทางศีลธรรมของมนุษย์ไปผูกพันกับสิ่งอื่นนอกตัวเขาเสียแล้ว โดยที่เขากำหนดไม่ได้เสียแล้ว ย่อมเท่ากับว่า เหตุแห่งพฤติกรรมของเขา ไม่ได้มาจากภายในตัวตนของเขาเอง หากเป็นเช่นนี้ เขาจะ "ไม่สามารถรับผิดชอบ" ต่อการกระทำของตน และนั่นไม่ใช่ศีลธรรมสำหรับคานท์

ถ้าเลือกไม่ได้ หรือไม่มีอิสระที่จะเลือก ศีลธรรมก็จะเกิดไม่ได้ คนต้องมี "อิสระ" ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำเสียก่อน จึงจะสามารถมองดูศีลธรรมของเขาได้ สิ่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสังคมที่เห็นว่า เพียงแสดงน้ำใจ เสียสละ มีความเห็นอกเห็นใจ หรือทำบุญทำทาน ก็สามารถนับว่ามีศีลธรรมได้แล้ว

วิธีคิดของคานท์แบบนี้ไม่เพียงกลายเป็น "สามัญสำนึก" ของคนตะวันตก แต่มันยังกลายเป็นทั้ง "กระดูกสันหลัง" และ "เลือดเนื้อ" ของสังคมสมัยใหม่

และเพราะเหตุนี้เอง ผมจึงไม่เคยนับตัวเองเป็น "ฝ่ายเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง" และไม่ยอมรับคนที่แสดงออกทางการเมืองด้วยการ "เห็นอกเห็นใจ" (sympathy) ไม่เพียงคนเสื้อแดง แต่รวมไปถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเห็นใจ เด็ก สตรี หรือ "คนชรา"

ผมไม่ได้ออกมาต่อต้านทหารและรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะ "เห็นใจ" คนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ผมออกมาก็เพราะเห็นว่า "มันไม่ถูก" และสิ่งที่พวกเขากระทำต่อคนเสื้อแดงนั้น เป็น "การละเมิดสิทธิ์" ของผมด้วย

ผมไม่ได้ต่อต้านการรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับคดีทักษิณ เพราะผม "รัก" หรือ "นิยม" ทักษิณ แต่ต่อต้านเพราะว่ามัน "ไม่ถูกต้อง" และมันทำลายสิทธิ์ของผมด้วย

ไม่ว่าผมจะเกลียดทักษิณเพียงใด ผมก็จะต่อสู้ให้กับสิทธิ์ที่จะได้รับการดำเนินคดีในกระบวนการที่ถูกต้องยุติธรรมของเขา

ไม่ว่าผมจะรักในหลวงเพียงใด แต่ถ้าหากว่าในหลวงทำผิดรัฐธรรมนูญ ผมก็จะต่อต้านพระองค์

ที่กล่าวมานี้คือตัวอย่างของศีลธรรมทางการเมืองที่แท้จริง ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ถ้าสังคมไม่มีสามัญสำนึกแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่จะ "เติบโต" ไม่มีทางมีประชาธิปไตย มีอารยธรรม หรือความเจริญ และคงวนเวียนอยู่กับความเป็นเด็กไม่ที่ยอมโต ไม่ต้องเอ่ยถึงการคิดอะไรใหญ่โตเช่นการปฏิรูปปฏิวัติการเมือง ฝันถึงระบอบระบบที่สมบูรณ์แบบ เพราะแม้แต่ "เจตจำนง" ของตนก็ขาดไร้ซึ่งอิสรภาพ ฝากความดีงามไว้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลำพังเพียง "ความรับผิดชอบ" ต่อศีลธรรมของตนเองก็ยังไม่มี

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจ

Posted: 06 Dec 2013 06:19 AM PST

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยการปรับโครงสร้างทางอำนาจที่รวมศูนย์รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน



6 ธ.ค. 2556 - สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้




แถลงการณ์ ฉบับที่ 2
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
เรื่อง ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย



ตามที่ได้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มประชาชนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. และเครือข่ายจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำทางการเมืองและการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยรัฐสภานั้น ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นำไปสู่การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภาไม่มีความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป แม้จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้ด้วยดี

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงครั้งนี้ทุกคนและขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายมีความอดกลั้น จนนำไปสู่การยุติการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงเพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยตามหลักสิทธิมนุษยชน และขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

ประการแรก เสียงข้างมากเด็ดขาดทางรัฐสภาอาจไม่ใช่วิถีทางแห่งสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง

ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเนื่องมาจากประชาชนผู้คัดค้านเห็นว่ารัฐบาลมีการคอรัปชั่นทางนโยบายจากงบประมาณแผ่นดินเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการลงมติในรัฐสภา โดยไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงต้องออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล นั้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า เสียงข้างมากเด็ดขาดที่จะถือว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น หมายถึงกรณีที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ดึงดันในการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ฟังเสียงโต้แย้งของสังคมหรือสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างน้อย เช่น กรณีรัฐบาลมุ่งมั่นจะเสนอให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ กฎหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในความเชื่อ มโนธรรมและศาสนา หากมีการผ่านร่างกฎหมายนี้ให้บังคับใช้ย่อมจะเป็นปัญหาของคนในชาติหลายกลุ่มที่มิได้ถือศาสนาของชาติ เป็นต้น หากรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดใช้อำนาจในการลงมติเห็นชอบให้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว หรือในกรณีการที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การละเมิดสิทธิในชีวิตดังที่ผ่านมา ย่อมถือเป็นเผด็จการรัฐสภา เพราะการนิรโทษกรรมให้แก่การละเมิดสิทธิในชีวิตซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีใครสามารถพรากชีวิตไปจากเจ้าของชีวิต

ประการที่สอง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย

การที่มีหลายฝ่ายมีข้อเสนอให้มีการคืนอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ โดยอาศัยมาตรา 3 และมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 นั้น ข้อเสนอดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตย กล่าวคือ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ในการกำหนดที่มาของอำนาจอธิปไตยและหลักการแบ่งแยกอำนาจว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล โดยสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเท่านั้น มาตรา 3 มิได้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจที่ได้รับมาจากประชาชนตามพระราชอัธยาศัย หรือมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ก็มีเจตนารมณ์เพื่อมิให้เกิดช่องว่างในตัวรัฐธรรมนูญที่หากไม่มีบทบัญญัติใดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมือง ก็ให้ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาบังคับใช้ได้ ซึ่งมิได้หมายความว่าประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะสามารถคืนอำนาจอธิปไตยของตนเอง มอบให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลแห่งชาติได้ตามพระราชอัธยาศัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจพระมหากษัตริย์สามารถดำเนินการทางการเมืองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น คือ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา อันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถือเป็นประเพณีการปกครองของชาติไทยมาตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

ดังนั้นเพื่อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้ชุมนุมและรัฐบาลตกลงกันใช้วิถีทางประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยทั้งสองฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่นำมวลชนเข้าเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล  ทั้งนี้รัฐบาลควรแสดงความกล้าหาญทางทางจริยธรรมและการพร้อมรับผิด (accountability)ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยการยุบสภาหรือลาออกเพื่อให้สังคมยังสามารถดำรงความเชื่อมั่นในวิถีทางแบบรัฐสภา

2. ทุกฝ่ายต้องไม่สร้างความสับสนให้แก่สังคมด้วยการตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย

3. ให้มีการปรับโครงสร้างทางอำนาจที่รวมศูนย์รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนทุกภาคส่วนในการจัดทำกรอบกติกาของการปกครองประเทศ การสร้างความสมดุลในการเคารพความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยในรัฐสภา การพัฒนาสถาบันทางการเมืองและสถาบันของอำนาจอธิปไตยโดยการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและวิถีทางประชาธิปไตย

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหวังว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน สอดคล้องกับประเพณีการปกครองของประเทศและวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติสืบไป

เชื่อมั่นในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
วันที่ 6 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจพบผู้เสียชีวิตบนรถบัสหน้าราม ถูกเพื่อนชวนมาก่อเหตุแล้วถูกไฟคลอก

Posted: 06 Dec 2013 05:02 AM PST

ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอและพยานหลักฐาน ระบุผู้เสียชีวิตในรถบัสหน้ารามคำแหงเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ถูกเพื่อนชักชวนขึ้นไปก่อเหตุเผาเบาะรถบัส แต่ลงจากรถไม่ทันถูกไฟคลอก

6 ธ.ค. 2556 - จากเหตุความรุนแรงที่ย่านรามคำแหงในวันที่ 30 พ.ย. และ 1 ธ.ค. นั้น ล่าสุด สำนักงานข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา สบ. 10 ได้กล่าวยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอผู้เสียชีวิตบนรถบัสหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มีเหตุปะทะกัน คือนายสุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี ที่มารดาสงสัยว่าเสียชีวิตบนรถบัส ซึ่งผลดีเอ็นเอตรงกับมารดาอย่างชัดเจน ประกอบกับหลักฐานที่ได้ในจุดเกิดเหตุเป็นแหวน กุญแจบ้าน ไอโฟน หัวเข็มขัดซึ่งตรงกับที่มารดาเป็นคนให้ข้อมูล และจากการสอบปากคำพยานระบุว่า ผู้ตายพักอยู่ย่านเอกมัย ซ้อนท้ายจักรยานยนต์รับจ้างมาซื้อยาแก้ไอในย่านใกล้เคียง และไปดูเหตุการณ์ปะทะกัน ถูกชักชวนให้ร่วมก่อเหตุความวุ่นวาย โดยพยานให้การว่าผู้ตายขึ้นไปบนรถบัสเพื่อกรีดเบาะและทุบกระจกจนไฟเกิดลุกไหม้จากหน้ารถลามรวดเร็วจนผู้ตายลงมาไม่ทัน เนื่องจากประตูด้านล่างล็อกทำให้ผู้ตายถูกไฟคลอกเสียชีวิต และไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดงหรือนักศึกษารามคำแหง

นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์หัวกระสุนปืนผู้เสียชีวิตรายอื่นก็ไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากกระสุนปืนที่มาจากสไนเปอร์ตามที่มีกระแสข่าว ซึ่งผู้เสียชีวิตมีบาดแผลถูกยิงระดับอก อีกทั้งปลอกกระสุน 34 ปลอก หัวกระสุน 12 หัว กระสุน 2 นัด มาจากปืน 7 ชนิด ซึ่งกองพิสูจน์หลักฐานเก็บได้จากที่เกิดเหตุ ไม่พบปลอกกระสุนที่มาจากปืนสไนเปอร์ อีกทั้งคำให้การของพยานในที่เกิดเหตุก็สอดคล้องกับผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอชี้ไทยต้องพัฒนาประเทศโดยการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยี

Posted: 06 Dec 2013 02:47 AM PST

6 ธ.ค. 2556 - สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ถือได้ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยประเทศไทยสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก มาสู่การใช้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นพลังขับเคลื่อนแทน  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทย ในการเข้าร่วมในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการกระจายการส่งออกในหลายสินค้าไปหลายประเทศ แต่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสูงได้มากพอ  หากอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากพอในอนาคต ก็คงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ได้ และเราจะมีปัญหาในการรับมือกับสังคมสูงอายุ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมาก

ด้วยเหตุนี้ บทความเรื่อง "สู่การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมการผลิต" โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู และคุณณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงนำเสนอแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยโดย 3 กระบวนการหลัก คือการยกระดับกระบวนการผลิต (process upgrading) การยกระดับผลิตภัณฑ์ (product upgrading) และการยกระดับสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (functional upgrading)

แนวทางการยกระดับผลิตภาพที่ง่ายที่สุดและได้ผลตอบแทนเร็วที่สุด ก็คือการยกระดับกระบวนการผลิต โดยใช้ระบบการผลิตแบบลีน (lean manufacturing) เพื่อกำจัดความสูญเปล่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต  จากกรณีศึกษาของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย คณะผู้วิจัยพบว่า การผลิตแบบลีนช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีของไทย ได้มีการนำระบบการผลิตแบบลีนมาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น Kaizen ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด การฝึกพนักงานให้มีทักษะที่หลากหลาย และการปรับเปลี่ยนให้พนักงานยืนแทนการนั่งเย็บ ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณร้อยละ 40 ลดพื้นที่และเวลาในการผลิต รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตได้มากขึ้น  นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยพบว่า หากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยใช้ระบบการผลิตแบบลีนอย่างเต็มที่ จะสามารถลดต้นทุนค่าแรงได้ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของค่าจ้างแรงงานในปี 2554

การลดการใช้พลังงานเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้แล้ว ยังมีผลดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง  ในทางปฏิบัติ วิธีการที่ใช้ลดพลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตมีหลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ การปรับระบบการผลิตโดยใช้วัสดุทดแทนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดทำโครงการบริหารพลังงาน เป็นต้น

ตัวอย่างของกรณีศึกษาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงาน จนทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก คือบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ (SCG Paper) โดยมีตัวอย่างโครงการที่สามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็วของบริษัท ฟินิกซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม โดยเป็นการลงทุน 50 ล้านบาทในการติดตั้งอุปกรณ์อบแห้งเชื้อเพลิงชีวมวล (biomass dryer) ซึ่งทำให้เชื้อเพลิงชีวมวลมีความแห้งมากขึ้น สามารถลดการใช้น้ำมันเตาลงปีละประมาณ 4 ล้านลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง 43 ล้านบาทต่อปี หรือสามารถคืนทุนได้ในเวลา 1 ปีเศษ  

คณะผู้วิจัยพบว่า หากภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยหันมาเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน จนทำให้ประเทศไทยมีระดับประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซีย ก็จะช่วยลดต้นทุนได้ 1.43 แสนล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 20 ล้านตันในปี 2555

อย่างไรก็ตาม ลำพังการยกระดับกระบวนการผลิตนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจะถูกผู้ว่าจ้างผลิตหรือผู้ประกอบการอื่นในห่วงโซ่คุณค่าดูดซับไปหมด จากการกดราคารับซื้อ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับผลิตภัณฑ์ และยกระดับไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การกระจายสินค้า การสร้างแบรนด์ และการทำการตลาด ควบคู่ไปด้วย  

แม้ว่าการทำวิจัยและพัฒนาเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างยิ่งในการยกระดับผลิตภาพ แต่บริษัทไทยยังคงมีการทำวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนที่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ที่มีการทำวิจัยและพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่บริษัทที่มีแบรนด์สินค้าของตนเอง (OBM) ที่ทำวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 และบริษัทที่มีการออกแบบ (ODM) ที่ทำวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16

จากกรณีศึกษาของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย คณะผู้วิจัยพบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา จะสามารถยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าการผลิตในห่วงโซ่คุณค่าได้  ทั้งนี้ ตัวอย่างกรณีศึกษาบริษัทไทยที่มีการทำวิจัยและพัฒนาจนสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น

- บริษัท เอสซีจี วัสดุก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น ซึ่งมีการทำกิจกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า และได้มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง จนทำให้มีกำไรสูงกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ 20

- บริษัท ซัยโจ เด็นกิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศที่ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าแบบรับจ้างผลิตเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ของตนเอง โดยสินค้าเกรดสูงและใช้แบรนด์ของตนเองมีกำไรสูงกว่าสินค้าที่รับจ้างผลิตถึงร้อยละ 24

- บริษัท ซิลิคอน คราฟท์เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบไมโครชิปที่มีระบบระบุวัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification: RFID) ที่เน้นด้านการวิจัยและพัฒนา และการออกแบบ จนสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ และมีสินค้าเด่น เช่น ไมโครชิป RFID ที่ติดตัวสัตว์เลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์ บางรุ่นมีขีดความสามารถสูงกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Texas Instrument

- บริษัท พี.ซี.เอส. พรีซิชั่น เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จนมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในระดับสูง โดยเป็นผู้ประกอบการไทยเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี เช่น ระบบ common rail ของเครื่องยนต์ดีเซล แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้

- บริษัท ช.ทวีดอลลาเซียน จำกัด ซึ่งพัฒนารถลำเลียงอาหารสำหรับเครื่องบิน (catering truck) ให้เครื่องบิน Airbus โดยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในโลกในรุ่น A380

ทั้งนี้ ความสามารถในการยกระดับผลิตภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น และได้รับการหนุนเสริมจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย รัฐบาลจึงควรเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการเร่งเพิ่มจำนวนบุคลากรการวิจัยและพัฒนา และการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบวิจัยและพัฒนาของประเทศให้สูงขึ้น โดยการจัดทำระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการจูงใจด้านภาษีและมาตรการอื่นๆ ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้นในภาคเอกชน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการสร้างความต้องการสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยใช้มาก่อน เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการจูงใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี

สำหรับการแปลงแนวความคิดข้างต้นสู่การปฏิบัติ รัฐบาลควรประกาศให้ทศวรรษต่อไปนี้เป็น "ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพ" เพื่อสร้างความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กำหนดโครงการช่วยเหลืออุตสาหกรรมในการเพิ่มผลิตภาพ และกำหนดเป้าหมายการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องตามระดับการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อจูงใจให้นายจ้างและแรงงานร่วมกันยกระดับผลิตภาพของกิจการของตน ในขณะที่ภาคเอกชนก็ควรรวมตัวจัดตั้ง "ภาคีพัฒนาผลิตภาพ" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภาพระหว่างกัน และนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายแก่ภาครัฐ.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธิปัตย์ - เพื่อไทย ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมทั้ง 8 เขต

Posted: 06 Dec 2013 02:43 AM PST

'ประชาธิปัตย์' ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมทั้ง 8 เขต เช่นเดียวกับ 'เพื่อไทย' ที่เห็นว่า ปชป. อยากจะทำอะไรก็ทำไปเลย ขณะที่สิ้นสุดการรับสมัครมีแต่พรรคเล็กลงสมัคร ขณะที่มี 3 เขตที่ไม่มีผู้สมัครเลย โดย กกต. เล็งขยายเวลารับสมัคร 

6 ธ.ค. 2556 - วันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ทั้งหมด 8 เขตที่ว่างลง หลังจากสุเทพ เทือกสุบรรณ นำ ส.ส. ประชาธิปัตย์ลาออกมาเป็นแกนนำ กปปส. นั้น ล่าสุดวันนี้ มติชนออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทั้ง 8 เขตว่า คณะกรรมการบริหารพรรควิเคราะห์แล้วเห็นว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ไม่เหมาะที่จะส่งผู้สมัคร เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของประเทศ สิ่งที่รอดูคือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออกหรือไม่ ถ้าไม่ยุบสภา ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น พรรคก็มีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้หารือกันและมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทั้ง 8 เขต "เราจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพวกที่ลาออกจากการเป็น ส.ส.มาทำตัวเป็นม็อบข้างถนน เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน เราขอบอยคอตและจะไม่ให้ความร่วมมือกับการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์อยากจะทำอะไร อยากจะเล่นอะไรก็ทำไปเลยฝ่ายเดียว เราไม่สนใจ"

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 8 เขต ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครจากพรรคเล็ก โดยมี 5 เขตที่มีผู้สมัครเลือกตั้งแล้ว และมีอีก 3 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัครเลยได้แก่ หนึ่ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ตรัง สอง เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สุราษฎร์ธานี และสาม เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท ให้สัมภาษณ์ในไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่าอาจจะแก้ปัญหาด้วยการขยายเวลารับสมัครออกไป โดยขณะนี้ในสภาผู้แทนราษฎรยังมี ส.ส. มากพอที่จะทำงานได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขา สปสช.เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บเหตุชุมนุม เผยดูแลค่ารักษาให้ทุกราย

Posted: 06 Dec 2013 02:33 AM PST

เลขาธิการ สปสช.เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดี และ ทุกรายอาการปลอดภัย ผู้บาดเจ็บไม่ต้องเสียค่ารักษา สปสช.รับผิดชอบตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาล ไม่เลือกสีเลือกข้าง ดูแลประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน



6 ธ.ค. 2556 - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 3 ราย โดยได้มอบกระเช้าเยี่ยมและพูดคุยให้กำลังใจ

นพ.วินัย กล่าวว่า วันนี้มาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกัน ผู้บาดเจ็บทุกรายมีอาการปลอดภัย และอยู่ในความดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ซึ่งผู้บาดเจ็บทุกรายนั้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา รัฐบาลโดยสปสช.ดูแลตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ทั่วถึงทุกคน ซึ่งในกรณีเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมือง มีการชุมนุม และอาจจะมีการปะทะกันนั้น แม้ไม่ใช่อาการฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต แต่ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้ตามสิทธิดังกล่าวได้  ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สปสช.ดูแลประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมไม่เลือกข้าง ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานครพบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บสะสมจนถึงวันนี้รวม 289 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 25 ราย เสียชีวิต 4 ราย

"ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม หรือโดนแก๊สน้ำตาไม่ว่าได้รับบาดเจ็บมากหรือน้อย จะหนักหนาสาหัส เจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ทันทีไม่มีปัญหา เอาความปลอดภัยไว้ก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นไม่ต้องกังวล สปสช.พร้อมจ่ายให้กับทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว" นพ.วินัยกล่าวและว่า กรณีของโรงพยาบาลเอกชนที่อาจมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนั้น เลขาธิการสปสช. ได้สั่งการไปที่ผอ.สปสช. เขต 13 และออกจดหมายเวียนไปยังสำนักอนามัยกรุงเทพฯ โรงพยาบาลทุกแห่งในกรุงเทพ เพื่อขอความร่วมมือว่าหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นขอให้เรียกเก็บจากสปสช. ดังนั้นประชาชนหรือผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ รายนามผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่นอนในรักษาตัวในโรงพยาบาลรามาธิบดี มีจำนวน 3 ราย ดังนี้ 1.นายนพดล จันทร์เทวี อายุ 17 ปี 2.นายณรงค์ศักดิ์ เนียมแก้วอายุ 58 ปี 3.นายมะนีรัตน์ เมืองแก้ว อายุ 30 ปี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายทุนแห่ขอสัมปทานเหมืองแร่โปแตชอีสาน

Posted: 06 Dec 2013 02:04 AM PST

ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เผยบริษัทต่างๆ ยื่นขอสัมปทานเหมืองแร่โปแตชเกินครึ่งภาคอีสานรวมกว่า 1.7 ล้านไร่ ล่าสุดขยายที่กาฬสินธุ์ 3 แสนไร่ บึงกาฬ 6 หมื่นไร่



เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.56 นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ติดตามข้อมูลนโยบายการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าขณะนี้กำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ ประเมินศักยภาพแหล่งแร่โปแตช เพื่อทำการผลิตในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มเติมอีก จำนวน 5 แปลง เนื้อที่ 300,000 ไร่ ได้แก่ ต.เชียงเครือ ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง, ต.โคกสมบูรณ์ ต.หลักเมือง ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และต.ร่องคำ อ.ร่องคำ ซึ่งขยายจากเดิมที่เคยยื่นขอเมื่อปีที่แล้ว จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 200,000 ไร่ รวมแล้วเฉพาะในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ กำลังมีการขอสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตช จำนวน 500,000 ไร่ โดยบริษัท แปซิฟิก มิลเดอรัล จำกัด

นอกจากนี้ยังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจเพิ่มเติม ในจังหวัดใหม่ ได้แก่ พื้นที่ ต.หนองหัวช้าง อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 60,000 ไร่ โดยบริษัท ฮัท ซุน โฮฮัง จำกัด นายทุนจากประเทศจีน

ตามขั้นตอนผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แล้วส่งต่อไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำเรื่องเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช ได้

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่าขณะนี้ทั้งสองจังหวัด (กาฬสินธุ์และบึงกาฬ) นายทุนผู้ขอสัมปทาน กำลังลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจหาแหล่งแร่ตามขั้นตอนขออาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า และก็จะดำเนินการต่อในขั้นตอนขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองเลยทันที

"จากการติดตามข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน พบว่ามีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่ และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่โปแตช ไปแล้ว 11 จังหวัด 16 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.มหาสารคาม จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ และจ.บึงกาฬ คิดเป็นเนื้อที่รวมกว่า 1,700,000 ไร่ ซึ่งหากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อคนอีสานทั้งภาคอย่างแน่นอน" นายสุวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ จ.อุดรธานี อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประทานบัตร ทำเหมือง ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ในขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้าน แต่ติดอยู่ที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาร่วมกันทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามขั้นตอนประทานบัตร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] นักวิชาการ มธ.บรรยายสาธารณะ ไม่เห็นด้วยอธิการบดีสั่งหยุดสอน

Posted: 06 Dec 2013 12:47 AM PST

3 ธ.ค. 2556 ที่โถงอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต คณะอาจารย์ มธ. บางส่วน ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยุกติ มุกดาวิจิตร ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล และอื่นๆ ได้จัดอภิปราย "ห้องเรียนประชาธิปไตย" แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสั่งปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 2, 3 และ 4 ในทุกวิทยาเขต โดยชี้ว่า เป็นการออกคำสั่งโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งหมด และอาจแสดงให้เห็นว่า มธ. ได้เลือกข้างทางการเมือง จากการหยุดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการนัดหยุดงานของแกนนำ กปปส. สุเทพ เทือกสุบรรณ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: สงครามกลางเมืองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

Posted: 06 Dec 2013 12:39 AM PST

ฝ่ายจารีตนิยมได้ก่อการรุกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีมานี้ โดยระดมองคาพยพทั้งหมดของตนออกมาล้อมกรอบขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยกระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

การใช้เล่ห์เพทุบายทางสภาผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยพรรคเพื่อไทยได้สร้างความโกรธอย่างรุนแรงทั้งในหมู่มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและในหมู่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯที่มีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคเพื่อไทยอยู่ก่อนแล้ว พวกจารีตนิยมได้ฉวยโอกาสที่พรรคเพื่อไทยตกในสถานะโดดเดี่ยวจากมวลชนของตนและจากความโกรธของชนชั้นกลาง ก่อกระแสคลื่นการเคลื่อนไหวมวลชนขนาดใหญ่ขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโดยอ้างวาทกรรม "ต่อต้านนิรโทษกรรมคนโกง" มีเป้าหมายที่จะโค่นล้มนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำลายล้างตระกูลชินวัตรและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดในคราวเดียว

นี่เป็น "สงครามเผด็จศึกครั้งใหญ่" ของพวกจารีตนิยม พวกเขาจึงระดมสรรพกำลังออกมาอย่างเป็นระบบ ทั้งอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ โรงพยาบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนและลูกจ้าง ไปจนถึงข้าราชการในกระทรวงทบวงกรม และสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหมด จนกลายเป็นกระแสการรุกที่มีลักษณะชนชั้นและลักษณะปฏิกิริยาถอยหลังอย่างชัดเจน

การปะทะกันทางการเมืองครั้งนี้มีลักษณะทางชนชั้นอย่างเด่นชัด พลังมวลชนที่เป็นหลักของฝ่ายจารีตนิยมก็คือ คนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการขับไล่นายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูรเมื่อพฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พวกจารีตนิยมตระหนักถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ และนับแต่นั้นมา ก็ได้ดำเนินการอย่างแยบยลเข้าครอบงำและแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบทั้งในมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนกระแสหลัก และองค์กรธุรกิจใหญ่ ทำให้คนชั้นกลางเหล่านี้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบอบการปกครองและการพัฒนาเศรษฐกิจนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

แต่การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535 ก็ทำให้ประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทได้เข้าสู่ระบบตลาดของทุนนิยมอย่างเต็มตัว สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้น ประกอบกับการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย ทำให้พวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยจนสามารถเข้ามากำหนดผลของการเลือกตั้งและกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลในกรุงเทพฯได้อย่างเด็ดขาด แบ่งปันอำนาจบริหาร ทรัพยากรและงบประมาณไปพัฒนาเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทได้เป็นครั้งแรก บางคนจึงเรียกประชาชนเหล่านี้ว่า ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกลางเก่าที่กลายเป็นหางเครื่องของศักดินาและจารีตนิยม

การปรากฏขึ้นของประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทในฐานที่เป็นพลังการเมืองแบบใหม่ เข้ามาท้าทายและแบ่งปันอำนาจในระบบการเมืองแบบเลือกตั้งนี้เองที่ได้สร้างความตกใจอย่างมากในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองที่ไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจ สถานะ ผลประโยชน์ ทรัพยากรและงบประมาณกับคนชนชั้นล่างเหล่านี้

ความขัดแย้งทางการเมืองนับแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยืดเยื้อระหว่างประชาชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท (หรือ "ชนชั้นกลางใหม่") ฝ่ายหนึ่งซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนและมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ กับกลุ่มเผด็จการจารีตนิยม กลุ่มทุนเก่าที่เกาะกินอยู่กับจารีตนิยมมานับร้อยปี และประชาชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและหัวเมือง (หรือ "ชนชั้นกลางเก่า") อีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีกลไกรัฐ ทั้งกองทัพ ศาล ตุลาการ ข้าราชการ และพรรคประชาธิปัตย์เป็นเครื่องมือ

กระแสการรุกของฝ่ายเผด็จการครั้งนี้ยังมีลักษณะปฏิกิริยาถอยหลัง เพราะนอกจากจะมุ่งทำลายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและขบวนประชาธิปไตยทั้งหมดแล้ว พวกเขายังจะทำลายระบบการเลือกตั้งและระบอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ของพวกเขาเองอีกด้วย แทนที่ด้วยระบอบการปกครองที่ให้ "คนดีมาปกครองบ้านเมือง" ที่เป็นเผด็จการของพวกจารีตนิยมอย่างเต็มรูปแบบ เป็นการฝืนกระแสประชาธิปไตยและกระแสเสรีนิยมอันเป็นที่ต้องการของประชาชนไทยส่วนใหญ่ที่สุดและที่กำลังเป็นกระแสสะพัดไปทั่วโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน การปะทะกันในปัจจุบันจึงเป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างประชาธิปไตยเสรีนิยมแห่งโลกาภิวัฒน์ กับเผด็จการจารีตนิยมที่ล้าหลังเข้าคลองอีกด้วย

การต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางนี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จึงนับเป็นสงครามกลางเมืองอย่างแท้จริงเมื่อประเทศแตกแยกออกเป็นสองค่ายที่ฝ่ายหนึ่งมีมวลชนทั้งประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีกลไกรัฐและพลังทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ยังเป็น "สงครามกลางเมืองที่ไม่หลั่งเลือด" เพราะถึงแม้จะมีการปะทะใหญ่ด้วยกำลังแล้วสองครั้งคือ กรณีสงกรานต์เลือด 2552 และการสังหารหมู่ประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553 แต่รูปแบบหลักของการต่อสู้ถึงปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นการใช้กลไกทางการเมืองที่ไม่รุนแรงคือ การเลือกตั้ง การระดมมวลชน พรรคการเมือง และตุลาการ

ในการปะทะครั้งล่าสุดนี้ ฝ่ายจารีตนิยมกำลังผลักดันความขัดแย้งให้คลี่คลายขยายตัวไปสู่ "สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือด" อย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวคนชั้นกลางในเมืองออกมาขับไล่รัฐบาล การให้สื่อมวลชนกระแสหลักเร่งปั่นกระแสอนาธิปไตยและจลาจล การติดอาวุธให้กลุ่มมวลชนที่บ้าคลั่งเข้ายึดสถานที่ราชการ ทำร้ายบุคคลและประชาชนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย การใช้ตุลาการเข้ามาบิดเบือนหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญที่พวกตนร่างขึ้นมาเอง ตลอดจนการใช้อันธพาลติดอาวุธก่อกวนและทำร้ายประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และท้ายสุดคือ การใช้กองทัพเข้ามาโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยได้เติบใหญ่เข้มแข็ง มีฐานมวลประชาชนอยู่ทั่วประเทศจะไม่ยินยอมให้ดำเนินไปได้โดยง่ายอีกต่อไป หนทางข้างหน้าจึงเป็นการปะทะแตกหักระหว่างสองชนชั้นและสองแนวทางอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ประสบการณ์ในประเทศที่เป็นอารยะและเป็นประชาธิปไตยแล้วคือบทเรียนที่เราจะต้องศึกษา ประเทศไทยไม่ได้แปลกพิเศษและไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด การได้มาซึ่งประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก ที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ล้วนผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางที่ยืดเยื้อ รุนแรง และนองเลือดมาแล้วทั้งสิ้น ระหว่างประชาชนส่วนข้างมากที่ต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมือง กับอีกฝ่ายที่เป็นคนส่วนข้างน้อยที่ต้องการผูกขาดอำนาจ สถานะอันเป็นอภิสิทธิ์ และโภคทรัพย์ไว้ในมือตน ฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนมากกับสองมือเปล่า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมีจำนวนคนน้อย แต่สองมือเต็มไปด้วยอาวุธร้ายแรง

ปัจจัยชี้ขาดว่า ความขัดแย้งจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดหรือไม่นั้น ถูกกำหนดโดยผู้ปกครองที่มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ หากเขาไม่ยินยอมให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่ประชาชนส่วนใหญ่ แล้วมิหนำ ยังใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน กดหัวให้ยอมจำนนแล้ว เมื่อนั้น สงครามกลางเมืองที่หลั่งเลือดก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้
 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“สุรพงษ์”แทน”ประชา” : การตัดสินใจผิดอีกครั้งของทักษิณ

Posted: 06 Dec 2013 12:22 AM PST

ในวันนี้ ทักษิณกำลังตัดสินใจเสี่ยงและผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง   และการเสี่ยงครั้งนี้ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทั้งในส่วนของบ้านเมือง ,พรรคเพื่อไทย และ รัฐบาล เลวลง  และจังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลก็จะเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นไปอีก   

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติทักษิณได้ตัดสินใจผิดพลาดอย่างมากในการดันให้ลูกน้องฝ่ายของตนในพรรคเพื่อไทยเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง"  จนทำให้เกมส์การเมืองเปลี่ยนแปลงสวิงไปในอีกด้านหนึ่งอย่างสุดขั้ว  อันส่งผลให้โอกาสการกลับเข้าประเทศของตนเองแทบจะปิดตายไปแล้ว 

ความพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำอย่างหนักของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจากการตัดสินใจครั้งแรกได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการมองปัญหาและมีความแตกแยกของกลุ่มการเมืองในพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน  ปีกของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์พยายามที่จะแสวงหาแนวทางการแก้ไขการเมืองด้วยการเมืองแบบประนีประนอมเพื่อพยุงสถานะของตนเอง  ไม่ว่าการถอยจนสุดซอย  การยอมรับไปเจรจา รวมทั้งการออกมาพูดสดโดยไม่มีโพย ( ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน) 

นายกรัฐมนตรี (และกลุ่มของตนในพรรคเพื่อไทย ) พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการแสดงให้เห็นชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย และพร้อมที่จะไม่เป็นปัญหาต่อบ้านเมือง  พร้อมกับย้ำจุดอ่อนของข้อเสนอสุเทพว่าเป็นไปไม่ได้ในทางกฏหมายรัฐธรรมนูญ  การตอกย้ำความเหลวไหลของข้อเสนออีกฝ่ายหนึ่งเช่นนี้เริ่มทำให้สังคมมองเห็นว่าการเดินตามสุเทพไปเรื่อยๆจะนำไปสู่ความยุ่งยากที่มากขึ้นไปอีก

ซึ่งต้องถือได้ว่าการเดินเกมส์ของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้เป็นการตีตื้นทางการเมืองขึ้นมาได้บ้าง  แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการปรับสถานการณ์นัก  เพราะนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้บอกถึงเจนตนารมณ์ตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีว่าตนเองมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดินแนวทางการเมืองประนีประนอม  ความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งกลับขัดแย้งกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกนั่น ก็คือการเปลี่ยนตัวผู้ควบคุมดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ( ศอ.รส.) จากพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก มากเป็นนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

การเปลี่ยนแปลงตัวหลักในการควบคุมกำลังปฏิบัติการตอบโต้ม็อบนี้เป็นการตัดสินใจของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ  เพราะต้องการใช้ " สายเหยี่ยว" เพื่อบังคับใช้กฏหมายและกำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด  การที่ทักษิณเลือกใช้สุรพงษ์ก็เพราะสุรพงษคือคนที่ทักษิณใช้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  เนื่องจากว่าสุรพงษ์เป็นนักการเมืองที่ไม่มีเครือข่ายของตนเองในพรรคเพื่อไทย  ( รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย )  อนาคตทางการเมืองของสุรพงษ์ฝากไว้ที่ทักษิณคนเดียวเท่านั้น  ดังนั้น  ไม่ว่าทักษิณอยากจะได้อะไร  อยากจะให้ทำอะไร สุรพงษ์ก็ต้องตอบสนองให้เต็มที่  จะเห็นได้จากการได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็เป็นไปเพราะทักษิณต้องการใช้สุรพงษ์ทำตามที่ตนเองต้องการ

หลังจากที่เปลี่ยนตัวจากประชามาสู่สุรพงษ์แล้ว  บทบาทอย่างเป็นทางการของ ศอ.รส. ก็ออกมาเป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น  และแสดงว่าพร้อมจะใช้กำลังอย่างเต็มที่    การแถลงข่าวแต่ละครั้งของสรุพงษก็เห็นได้ชัดว่าไม่ยอมประนีประนอม  เริ่มต้นก็เป็นการใช้กฏหมายให้การกระทำของสุเทพเป็น "กบฏในราชอาณาจักร"   และที่จะใช้กลไกอำนาจของ ศอ.รส.ในอีกหลายด้านเพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวของสุเทพ  เช่น การประกาศจะจัดการกับผู้สนับสนุนนายสุเทพ โดยถือว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนผู้ที่เป็นกบฏ ( ผู้ชุมนุมยังไม่พิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่จะเริ่มทยอยออกหมายจับ  ส่วนของ กทม.ที่ให้การสนับสนุนกบฏ ก็ถือว่าผิด ม.๑๑๔ เช่นกัน อย่างเช่น  กทมนำส้วมไปให้ใช้ หรือรถน้ำไปให้ก็มีความผิด )

ที่สำคัญ  นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่านายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์จะไม่เจรจากับนายสุเทพที่เป็นกบฏ  เพราะถ้าเจรจาก็จะมีความผิดในกบฏไปด้วย (  ผู้จัดการ 5 ธันวาคม 2556  แค่ความคิดเห็นนี้ก็เปลี่ยนตัวได้แล้ว ฮา  )

การที่ทักษิณตัดสินใจเปลี่ยนตัวให้ลูกน้องคนสนิท (ที่ไม่มีทางไปนอกจากต้องพึ่งตนเอง) มาทำงานตามที่ตนเองปรารถนาเช่นนี้  กลับจะส่งผลเสียหายให้แก่ตนเองมากขึ้นไปอีก  เพราะการประกาศที่เป็นสายเหยี่ยวเช่นนี้นอกจากจะทำให้การต่อต้านรุนแรงมากขึ้น  ยังกลับทำให้ความพยายามของปีกนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในการหาทางออกที่พยุงสถานะของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ผลอะไรขึ้นมา  ซึ่งก็จะทำให้เกิดคำถามกลับมาที่ทักษิณเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการใช้ลูกน้องอย่างนายสุรพงษ์นี้จะประกันได้ว่านายสุรพงษ์จะทำทุกอย่างที่ตนเองต้องการ  แต่ทักษิณคงลืมนึกไปว่าลูกน้องของตนคนนี้ไม่มีเครือข่ายอะไรในพรรคเพื่อไทย    และไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับข้าราชการทหาร/ตำรวจ ตลอดจนนักการเมืองอื่นๆ การทำงานแบบ "สู้ตายเพื่อนายอย่างเดียว" ที่เกิดขึ้นและจะดำเนินต่อไปกลับจะยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นในคณะ ศอ.รส.และคนทุกกลุ่มที่ต้องประสานงานกับ ศอ.รส. ด้วย

การที่ต้องเลือกใช้ลูกน้องที่ต้องทำตามได้อย่างเดียวเช่นนี้  ก็เพราะว่าทักษิณเริ่มไม่มีความไว้วางใจในสมาชิกพรรคคนอื่นๆว่าจะทำตามที่ตนเองต้องการ (ทั้งหมด) หรือเปล่า   แต่น่าเสียดายที่การตัดสินใจนี้กลับจะทำให้สถานะของตนเองเลวร้ายลงไปอีก   คงต้องบอกว่าลูกน้องที่ต้องเอาใจนายอย่างเดียวจะก่อปัญหาให้ทักษิณมากขึ้นๆ

ผมคิดว่าหากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ต้องการจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองและพยุงสถานะทางการเมืองของตนเอง ,รัฐบาลและ พรรคเพื่อไทย  ก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของสุรพงษ์  ไม่ว่าหาคนมีคุมสุรพงษ์อีกชั้นหนึ่ง หรือ เปลี่ยนตัวไปเลย เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว  ทางออกที่นากยกรัฐมนตรีและกลุ่มของตนขบคิดขึ้นก็จะสูญเปล่า 

ปัญหา คือ นายกรัฐมนตรีจะกล้าต่อรองกับพี่ชายมากขึ้นหรือไม่เท่านั้น

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อย่าบิดเบือนเรื่องคนนอกสามารถเป็น ”นายกฯ พระราชทาน”

Posted: 05 Dec 2013 06:46 PM PST

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวปราศรัยเมื่อค่ำวันที่ 4 ธันวาคม 2556 ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออก รองประธานวุฒิสภาในยุคนั้นได้นำความบังคมทูลโปรดเกล้าแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรีพระราชทานทำได้ ทำมาแล้ว  นัยหนึ่ง เป็นธรรมเนียมที่เคยมีมา ข้ออ้างของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สอดรับกับความเห็นของนักวิชาการกฎหมายบางคนอย่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่เสนอว่า  สามารถใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 7  ที่มีความว่า  "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"  การอ้างครั้งนี้ของนายสุเทพชัดเจนกว่าการอ้างของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตรงที่ให้ข้อมูลว่า นายกฯ พระราชทาน มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ  อนึ่ง ในการอ้างครั้งนี้ยังอ้างเพิ่มตรงมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550   (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล) อีกด้วย

ดูเผินๆ ทำให้คิดว่า ข้อเสนอให้มีนายกฯ พระราชทานต่างจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 7  ปีที่แล้วเมื่อปี 2549 ( เวลานั้นอ้างมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 7 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระราชดำรัสชี้แจงแล้วว่า  ทรงกระทำมิได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ  และได้ทรงชี้ให้ดูข้อเท็จจริงกรณีนั้นให้ถูกต้อง 

เนื่องจากข้ออ้างการขอนายกฯ พระราชทานอยู่บนฐานของเหตุการณ์ปี 2516 ที่ผ่านมานานถึง 40 ปีมาแล้ว เพื่อความกระจ่าง ในที่นี้  จึงขอเสนอให้พิจารณาทบทวน ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งเกี่ยวกับกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศเมื่อช่วง 14 ตุลาคม 2516 สมัยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงขณะนั้น ประเทศไทยใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 อันเป็นผลจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514  ซึ่งยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511  ทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515  ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

เนื่องจากธรรมนูญการปกครองดังกล่าวเป็นผลจากการทำรัฐประหาร หัวหน้าคณะปฏิวัติคือจอมพลถนอม เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหาร และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองดังกล่าวเอง  ตัวธรรมนูญการปกครองจึงไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้   อย่างไรก็ดี  ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ดังกล่าวก็ได้ระบุในมาตรา 22 (จากทั้งหมดมีเพียง 23 มาตรา) ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย..."  อันเป็นใจความลักษณะเดียวกันกับมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั่นเอง  โดยในยุคนั้นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ยังคงอ้างคำว่า "ประชาธิปไตย"  อยู่ในธรรมนูญ ฯ มาตรา 22  ทั้งมีสภาในเชิงรูปแบบ โดยมาจากการแต่งตั้ง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และจอมพลถนอม ได้กราบบังคมทูลฯ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกนอกประเทศ   เมื่อธรรมนูญการปกครองไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้  เวลานั้น นาย ทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พลตรี ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ติดราชการไปประชุมสหภาพรัฐสภายังต่างประเทศ) ได้เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์   คำถามที่พึงพิจารณาในที่นี้คือ การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  ซึ่งเป็น  "คนนอก" หรือเป็น "นายกฯ พระราชทาน"  ตามความหมายที่มีการอ้างนั้น สามารถนำมาปรับเข้ากับกรณีปัจจุบันได้หรือไม่  หรือสามารถอ้างเงื่อนไขมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำนองเดียวกันกับการอ้างมาตรา 22  ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ได้หรือไม่

หากไม่กลับไปดูบริบทข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน  อาจจะเห็นคล้อยตามนายสุเทพและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เนื่องจากการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบใจความมาตรา 7  (รัฐธรรมนูญ ปี 2550) และมาตรา 22 (ธรรมนูญฯ  ปี 2515)  ตรงกัน 

ความจริงง่ายๆ ตรงๆ ที่ต้องย้ำคือ ธรรมนูญฯ ปี  2515 ไม่ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้  แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจน  

จริงอยู่ สามารถอ้างได้ว่า การเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์  เป็นไปตามมาตรา 22 ของธรรมนูญฯ ปี 2515  โดยจากหลักที่ว่า ในการปกครองประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงกระทำอะไรตามพระทัยอย่างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  หากจะต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ หรือนัยหนึ่ง จากหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำผิดได้ (The King can do no wrong.)  และจากหลักหรือธรรมเนียมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของรัฐสภา เมื่อธรรมนูญปี 2515 ไม่ได้บัญญัติที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ (แต่ใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" ในมาตรา 22)  เมื่อเกิดภาวะที่จอมพลถนอมลาออก  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเวลานั้น (เนื่องจากประธานสภาฯไปต่างประเทศ) จึงสามารถเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 171, 172 ) ด้วยเหตุนี้  ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงต่างจากธรรมนูญการปกครองปี 2515 จึงไม่อาจอ้างมาตรา 7  ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้เลย

สำหรับการอ้างมาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยนั้น หลักการในระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึง พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นตัวแทนแห่งรัฐหรือประชาชนทั้งมวลของชาติ อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของพระมหากษัตริย์ดั่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  การระบุว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ไมได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนแล้ว  คำว่าทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายถึง  ในการกระทำในนามตัวแทนแห่งรัฐนั้น  ต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ


"มวลมหาประชาชน" ในขณะนี้ จึงควรพิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้น อย่าได้อาศัยเพียงศรัทธา ความเชื่อโดยไม่พิจารณา ตรวจสอบ

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศ 'เนลสัน แมนเดลา' เสียชีวิตแล้ว

Posted: 05 Dec 2013 04:48 PM PST

เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 95 ปี โดยเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในแอฟริกาใต้ ต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว ถูกจองจำนานถึง 27 ปี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวและชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้

 

เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 12 ก.พ. 2533 หลังถูกจองจำมานานกว่า 27 ปี (ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Weekly Mail, February 12 1990)

 

เนลสัน แมนเดลา ในปี 2551 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

 

6 ธ.ค. 2556 - เมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นของแอฟริกา ประธานาธิบดียาค็อป ซูมา แห่งแอฟริกาได้ ได้ประกาศว่าอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาเนลสัน แมนเดลา เสียชีวิตแล้ว ที่บ้านพักของเขาในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก สิริอายุ 95 ปี ทั้งนี้ อัลจาซีรารายงานว่า อดีตประธานาธิบดีแมนเดลาต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 3 เดือน เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในปอด

 

นักเรียนกฎหมายวัยหนุ่มและการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในแอฟริกาใต้

แมนเดลาเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการการต่อต้านนโยบาย Apartheid หรือนโยบายแบ่งแยกสีผิว ทั้งนี้เขาเกิดเมื่อปี 2461 ที่เมืออุมตาตู ในครอบครัวของผู้ปกครองเผ่าเทมบู ในแคว้นทรานสไก แมนเดลาได้รับการศึกษาด้านกฎหมายจากที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ (Fort Hare University) และมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ (University of Witwatersrand) ที่โจฮันเนสเบิร์ก และที่เมืองนี้เอง ทำให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแนวต่อต้านอาณานิคมร่วมกับขบวนการสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา หรือ ANC และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนของ ANC

อย่างไรก็ตามภายหลังที่พรรคชาตินิยมชนะการเลือกตั้งในปี 2491 และเริ่มนโยบายแบ่งแยกสีผิว แมนเดลาเป็นผู้นำสำคัญในแคมเปญของ ANC เพื่อต่อต้านนโยบายดังกล่าว และในปี 2495 ได้รับเลือกเป็นประธานสาขาของ ANC ที่ทรานสวาล (Transvaal) และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนเมื่อปี 2498

ทั้งนี้ แมนเดลากับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้เปิดสำนักกฎหมาย "Mandela and Tambo" ขึ้น เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชาวแอฟริกันผิวสีในราคาต่ำหรือไม่คิดมูลค่า อย่างไรก็ตามเขามักจะถูกจับในข้อหาปลุกปั่น ทั้งนี้แม้ว่า แมนเดลา จะบอกว่าเขานั้นได้รับอิทธิพลการต่อสู้ในเชิงสันติอหิงสาจากมหาตมะ คานธี และพยายามผูกมิตรกับเหล่านักการเมืองเชื้อชาติอื่นทั้งคนผิวขาวและคนผิวสี

อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์สังหารที่ชาร์ปเพวิลล์ (The Sharpeville massacre) ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 69 คนจากการประท้วงที่สถานีตำรวจของเมือง ในเดือนมีนาคมปี 2503 ทำให้ ANC ตัดสินใจต่อต้านนโยบาบแบ่งแยกสีผิวด้วยการใช้กำลังอาวุธ โดยในปี 2504 แมนเดลาก่อตั้งและขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม "Umkhonto we Sizwe" หรือ "หอกแห่งชาติ" ซึ่งเป็นฝ่ายติดอาวุธของกลุ่ม ANC เพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวด้วยการใช้กำลังอาวุธ "คนของพวกเราเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพที่ถูกฝึกมาอย่างดี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย" เนลสันกล่าวไว้ในแถลงการณ์เมื่อปี 2513 ว่า

"พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การปกครองโดยคนหมู่มาก เพื่อสิทธิของชาวแอฟริกันที่จะได้ปกครองแอฟริกา พวกเรากำลังต่อสู้เพื่อแอฟริกาใต้ อันจะนำมาซึ่งความสงบสุข ปรองดอง และให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน"

ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2505 เขาและแกนนำคนอื่นๆ ถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาก่อวินาศกรรมและโค่นล้มรัฐบาลด้วยการใช้กำลัง ทั้งนี้เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 27 ปี

อย่างไรก็ตามมีการรณรงค์ในต่างประเทศกดดันให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ในขณะนั้นปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลาและผู้ถูกจับกุม และมีรัฐบาลหลายประเทศที่คว่ำบาตรนโยบายเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ โดยเหตุการณ์รณรงค์ที่สำคัญครั้งหนึ่งคือการจัดคอนเสิร์ตที่สนามเวมบลีย์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ 11 มิถุนายน 2531 ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 70 ปีของแมนเดลาในวันที่ 18 กรกฎาคม และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแมนเดลาและเพื่อน โดยมีการถ่ายทอดสดไป 67 ประเทศทั่วโลก มีผู้ชม 600 ล้านคน อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกา สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ได้เซ็นเซอร์บางช่วงของคอนเสิร์ตที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

ได้รับการปล่อยตัว และการปรองดองแห่งชาติ

กระทั่งในปี 2533 หลังแอฟริกาใต้มีการเปลี่ยนประธานาธิบดีคนเก่าซึ่งป่วยหนัก มาเป็น เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก นโยบายเหยียดผิวในแอฟริกาใต้เริ่มผ่อนปรน โดยเดอ เคลิร์ก ได้ประกาศปล่อยตัวแมนเดลาเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ 2533

ทั้งนี้เดอ เคลิร์ก และแมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 2536 จากบทบาทสำคัญของทั้งสองในการยุติยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

และภายหลังได้รับการปล่อยตัว แมนเดลากลับมามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยสำหรับทุกเชื้อชาติในแอฟริกาใต้ และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไป 27 เมษายน 2537 และเขาได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยมีเดอ เคลิร์ก และทาโบ อึบแบกีเป็นรองประธานาธิบดี ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดสีผิว และได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน หรือ (RDP) เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนหลังสิ้นสุดยุคแบ่งแยกสีผิว

หลังจากนั้นอีก 5 ปีเขาได้ลงจากอำนาจ แต่ยังมีบทบาทสำคัญอื่นๆ อาทิเป็นผู้รณรงค์ต่อสู้ในประเด็นเรื่องโรคเอดส์ และสนับสนุนให้แอฟริกาได้สิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2553 นอกจากนี้ยังคงมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา

ทั้งนี้ แมนเดลาอำลาการเมืองในปี 2547 ด้วยวัย 85 ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและเพื่อน โดยไม่ค่อยออกงานสังคมมากนัก ยกเว้นการปรากฏตัวของเขาในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ในปี 2553

อนึ่งมีรายงานครึกโครมในสื่อมวลชนไทยด้วยว่าในปี 2553 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเดินทางไปเยี่ยมคารวะเนลสัน แมนเดลาด้วย และทางสำนักงานของแมนเดลา ระบุว่าเป็นการขอเข้าพบส่วนตัว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Nelson Mandela dies in company of his family, Aljazeera, 05 Dec 2013 21:53

Nelson Mandela: A nation's father, Aljazeera, 05 Dec 2013 22:06

Nelson Mandela, Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Nelson_Mandela

Nelson Mandela 70th Birthday Tribute, Wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/Nelson_Mandela_70th_Birthday_Tribute

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น