โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สภาทนายความอัดนายกฯ ส.ส. ส.ว. ปฏิเสธพระราชอำนาจ มิบังควรเข้าเฝ้า 5 ธันวา

Posted: 03 Dec 2013 01:24 PM PST

'สภาทนายความ' จวกนายกฯ ส.ส. - ส.ว. ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาล รธน. 'มิบังควร' เข้าเฝ้าถวายพระพร 5 ธันวา เพราะ "ปฏิเสธพระราชอำนาจ" ในทางตุลาการ - แถมนายกรัฐมนตรียังไม่ขอทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน. กลับคืนหลังศาลวินิจฉัย ถือว่าผิดต่อ รธน. ชัดแจ้ง

 

4 ธ.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ "การปฏิบัติตนและการปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" เรียกร้องให้ ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี ที่ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่มา ส.ว. และนายกรัฐมนตรีที่ทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มิบังควรที่จะเข้าเฝ้าถวายพระพรในการออกมหาสมาคมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม โดยให้เหตุผลว่า "เพราะเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจในทางตุลาการ" และกระทำโดยที่ "ที่ผู้กระทำยังมิได้รู้สำนึก" โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

000

แถลงการณ์ของสภาทนายความ
เรื่อง การปฏิบัติตนและการปฏิบัติหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ตามที่ปรากฏความชัดเจนแล้วว่ามีคณะบุคคล ข้าราชการทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หัวหน้าพรรคการเมือง แสดงออกโดยชัดแจ้งถึงการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น สภาทนายความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนทั่วไปทราบถึงข้อกฎหมายและการบังคับใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.ผู้ที่มีหน้าที่และต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ความชัดเจนของบทบัญญัตินี้จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้ว่าจะมีองค์กรใด บุคคลหรือคณะบุคคลใดที่จะสามารถปฏิเสธหลักการถ่วงดุลย์ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล

2.หลักการถ่วงดุลย์นี้มีปรากฏตามพระบรมราชปณิธาณ ที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ มีความตอนหนึ่งอยู่ในวรรคสามว่า "...การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม" จึงเป็นการวางหลักการถ่วงดุลย์อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

3.หลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงใช้พระราชอำนาจทั้งทางบริหารผ่านรัฐบาล ทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา และทางตุลาการผ่านศาล นี้เป็นความสมดุลย์ที่สอดคล้องกัน การที่มีกลุ่มบุคคล สมาชิกพรรคการเมือง รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการไม่ชอบของการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา หรือรัฐมนตรีที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม การแสดงออกต่อสาธารณะถึงการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระราชอำนาจในทางตุลาการ ทั้งหากมีการกระทำดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่โดยที่ผู้กระทำยังมิได้รู้สำนึก รวมตลอดถึงนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่กราบบังคมทูลเกล้าขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วกลับคืน จึงเป็นการกระทำผิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง ไม่ชอบที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือบุคคลใดควรที่จะถือปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันที่เข้าเฝ้าถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมนี้ ผู้ที่ปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิบังควรที่จะเข้าเฝ้าถวายพระพรในขณะที่ตนเองยังดื้อรั้นปฏิเสธอำนาจตุลาการที่พระองค์ทรงใช้ผ่านทางศาล

จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

สภาทนายความ
3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลิขิต ธีรเวคิน - ไชยยันต์ รัชชกูล: สารถึงผู้ประกอบกิจกรรมทางการเมือง

Posted: 03 Dec 2013 11:34 AM PST

ท่ามกลางกิจกรรมทางการเมืองตามความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกันจนเกิดปรากฏการณ์ที่ล่อแหลมจนเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นร้ายแรงในช่วงนี้นั้น ผู้ร่วมประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ "การสร้างประชาธิปไตยและปัญหาความขัดแย้งในระดับชาติแลท้องถิ่น" ในระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2556 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 7 พรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยความห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ใคร่ขอเสนอต่อทุกๆ ฝ่ายในประเด็นดังต่อไปนี้

(1) ความขัดแย้งที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีจนปะทุขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นและขยายวงไปในภาคส่วนต่างๆ นั้น สมควรจะต้องจัดการแก้ไขในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญและตามหลักของกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยยึดทั้งหลักนิติธรรม ขันติธรรม เพื่อมิให้มีการใช้กลังอาวุธหรือวิถีทางใดๆ อันจะนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อและชีวิตอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีตโดยเด็ดขาด

(2) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้นั้น นอกจากจะไม่เบี่ยงเบนไปจากหลักการสันติวิธีแล้ว การยุติข้อขัดแย้งต้องยึดหลักกฎหมายเป็นบรรทัดฐานตามที่ระบุข้อแรก ทั้งยังสมควรต้องมาจากความพยายามในการหามาตรการที่คู่ขัดแย้งเห็นชอบร่วมกัน อันย่อมมิใช่เป็นเรื่องสุดวิสัย สำหรับสติปัญญาของผู้คนในสังคมไทย

(3) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ และมากมิตินั้นมีสาเหตุมาจากหลายๆ ต้นตอ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การปกครองที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวง จนถึงวิธีการแก้ไขนานาปัญหา จนเกิดเป็นความรู้สึกร่วมกันอย่างกว้างขวางว่าความไม่เป็นธรรมในสังคมทับถมทวีขึ้น การแก้ไขความขัดแย้งที่สั่งสมมานานนับทศวรรษนี้มิอาจจะดำเนินการให้สำเร็จโดยง่ายและภายในเวลาอันสั้น

จึงขอให้เหตุการณ์ที่ชวนน่าตระหนกนี้เป็นบทเรียนและโอกาสให้สังคมไทยได้พยายามระดมความคิดเห็น ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาหลังจากภาวการณ์อันสับสนได้สงบลง จนถือเป็นวาระแห่งชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมคิด ร่วมเสนอในกระบวนการแก้ไขที่เป็นรากของปัญหา

(ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน)
ราชบัณฑิต และประธานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

(รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล)
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 14

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ยุบสภาเป็นทางออก

Posted: 03 Dec 2013 10:49 AM PST

ผมได้เคยแสดงความเห็นไว้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ไม่นานหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีผลในการล้มล้างความผิดต่างๆ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และการคอรัปชั่น โดยเฉพาะประเด็นหลังที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาในวงกว้างจากผู้ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว โดยเสนอว่าขอให้รัฐบาลรีบเรียกศรัทธากลับคืนมาโดยกำหนดมาตรการต่อต้านคอรัปชั่นให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม และเตือนว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไร ปล่อยให้ความขัดแย้งขยายต่อไป ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ผมยังเสนอต่อไปว่า หากสถานการณ์ลุกลาม ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา ซึ่งเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งตามกระบวนการประชาธิปไตย

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงจนเริ่มมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนท่าทีของแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งต้องการยกระดับการเคลื่อนไหวให้สูงขึ้นจนสุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นทุกทีผมยิ่งเห็นว่า การยุบสภาเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้

จริงอยู่การยุบสภาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่มากว่า 10 ปีได้ แต่การยุบสภา ก็จะทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องกลับไปหาเสียงกับประชาชนอีกครั้งซึ่งจะช่วยยุติหรืออย่างน้อยลดความขัดแย้งบนท้องถนนไว้ชั่วคราวนอกจากนี้ การยุบสภาน่าจะช่วยปรับอารมณ์ของประชาชนให้กลับสู่ปรกติมากขึ้น แทนที่จะเผชิญหน้ากันอย่างเอาเป็นเอาตายว่าจะต้องแพ้ชนะกันในไม่กี่วัน

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่า การยุบสภาจะช่วยให้เราสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ โดยหลีกเลี่ยงการรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจนอกระบบอื่นๆ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการนองเลือด ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่สงครามกลางเมือง

เดิมผมเคยเสนอว่า ก่อนยุบสภา ฝ่ายต่างๆ ควรตกลงกันเพื่อให้มีกติกาในการแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่ทำลายระบบการเมืองและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่พอมาถึงจุดนี้ ผมสนับสนุนข้อเสนอของ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่อยากให้มีการยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพราะผมเห็นว่าสถานการณ์ได้ล่วงเลยเกินกว่าที่เราจะมีเวลามาตกลงในเรื่องใหญ่ๆ กันแล้ว

การยุบสภาเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งไม่มีในระบอบประธานาธิบดี ผมเคยศึกษาพบว่า มีการวิจัยทางรัฐศาสตร์ที่ชี้ว่า ในบรรดาประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประเทศในระบอบรัฐสภามีโอกาสอยู่รอดเป็นประชาธิปไตยต่อไปมากกว่าประเทศในระบอบประธานาธิบดี แต่นักรัฐศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปเหตุผลที่แน่ชัดของปรากฏการณ์ดังกล่าว ผมสันนิษฐานว่า ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากกลไกต่างๆในการลดความขัดแย้ง รวมทั้งการยุบสภา น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศในระบอบรัฐสภาสามารถรักษาความเป็นประชาธิปไตยต่อไปไว้ได้

ที่ผ่านมา คนไทยขัดแย้งกันมามาก เพราะความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตย ซึ่งเน้นการปกครองด้วยเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งและนิติรัฐ ซึ่งเน้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันที่จริง เราไม่น่าจะต้องถูกบังคับให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างประชาธิปไตย และนิติรัฐ เพราะทั้งสองอย่างต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันผมไม่เชื่อว่า เราจะสามารถสร้างประชาธิปไตยได้โดยไม่มีนิติรัฐ เช่นเดียวกับที่เราจะไม่สามารถสร้างนิติรัฐโดยไม่มีประชาธิปไตย แต่การจะตกลงกันในรูปธรรมว่า ควรมีกลไกในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ที่สามารถสร้างการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในบริบทของประเทศไทยน่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เราจะสามารถหาคำตอบได้ในไม่กี่วัน แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ของทุกฝ่ายในสังคมอีกพอสมควรการกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องแพ้ชนะกันในไม่กี่วัน จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นอันตรายมาก

สังคมไทยควรช่วยกันป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองพัฒนาไปสู่การนองเลือด หรือสงครามกลางเมือง ซึ่งจะสร้างบาดแผลให้ประเทศไทยมากกว่าและฟื้นฟูประเทศกลับมาได้ยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้น ผมเชื่อว่า การยุบสภาเป็นทางออกที่ตรงไปตรงมาที่สุดในเวลานี้ ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยและป้องกันการสูญเสียที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างคนไทยไปอีกนาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน : ข้อเท็จจริงเบื้องต้น และ เสียงญาติผู้เสียชีวิต นศ.ราม-เสื้อแดง

Posted: 03 Dec 2013 10:35 AM PST

ฟังเสียงญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะย่านรามคำแหง พร้อมข้อเท็จจริงเบื้องต้น สูญเสียทั้งสองฝ่าย เป็นความสูญเสียของสังคมไทย แต่กลับมีการปั่นความเกลียดชัง แชร์ว่อนเฟซบุ๊คผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายหนึ่งทั้งหมด และกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กระทำ 

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 30 พ.ย. ต่อเช้าวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงและราชมังคลากีฬาสถาน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 รายและผู้บาดเจ็บอีกจำนวนไม่น้อย เวลานั้นข่าวคราวต่างๆ เป็นไปอย่างสับสน ฝุ่นตลบ และจนถึงเวลานี้ข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่แชร์กันต่อเนื่องเป็นจำนวนมากยังคงรายงานว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นนักศึกษารามคำแหง บางส่วนมีการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังเคียดแค้นโดยการกล่าวว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต่างก็เป็นความสูญเสียของสังคมไทย ขณะเดียวกันหากดูการรายงานของสื่อมวลชนโดยทั่วไปก็ระบุถึงผู้เสียชีวิตเป็นเพียงตัวเลข และยกชื่อกรณีนักศึกษารามคำแหงเพียงคนเดียว ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้รับสารได้เช่นกัน

จากการตรวจสอบของประชาไทพบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เสียชีวิต มีจำนวน 1 คน  คือนายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นักศึกษาชั้นปี 1 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งยิงบริเวณชายโครงขวาจนเสียชีวิต ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น.ของวันที่ 30 พ.ย. ส่วนที่เหลืออีก 4 คน หากดูจาก

ผู้เสียชีวิต 4 คน แบ่งเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดง 3 คนซึ่งมาร่วมชุมนุมกับ นปช. ซึ่งขณะนั้นยังปักหลักชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปักหลักมาก่อนที่การก่อตัวของนักศึกรามฯ ซึ่งไม่พอใจการชุมนุมของนปช.จะเกิดขึ้น ส่วนอีก 1 คนที่พบเพียงโครงกระดูกในรถบัสที่ถูกเพลิงไหม้เหลือแต่ซาก ทราบภายหลังว่ารถดังกล่าวเป็นรถที่ขนเสื้อแดงมาจากต่างจังหวัด เนื่องจากวัน 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา Nation Channel รายงานด้วยว่า คนขับรถบัสคันดังกล่าวเข้าแจ้งความ พร้อมระบุได้ขับรถมาส่งคนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุม ก่อนถูกชายฉกรรจ์จี้บังคับจนมาประสบเหตุไฟไหม้ ศพบนรถดังกล่าวยังไม่สามารถระบุตัวตนผู้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวข่าว 3 รายงานเมือวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า นางนฤมล คำพยัคฆ์ ได้มาดูหลักฐานจากแหวน และหัวเข็มขัดยืนยันว่าเป็นศพนายสุรเดช คำแปงใจ อายุ 17 ปี ลูกชายของเธอ ตำรวจอยู่ระหว่างตรวจดีเอ็นเอเพื่อยืนยันความถูกต้อง ส่วน เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้รายงานเพิ่มเติมว่า นางนฤมลทราบข่าวจากเพื่อนบ้านที่ได้ชมรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อดูภาพข่าวเห็นซากเคสเครื่องโทรศัพท์ หัวเข็มขัด กุญแจบ้าน เมื่อมาดูหลักฐานก็พบว่าเป็นของลูกชายจริง นอกจากนี้ในที่เกิดเหตุยังพบแหวนหัวมังกรที่ลูกสวมไว้เป็นประจำจึงยิ่งมั่นใจ ด้านมติชนออนไลน์รายงานถึงปากคำนางนฤมลว่า ช่วงเช้าวันที่ 1 ธ.ค.นายสุรเดชโทรศัพท์มาบอกว่าจะออกไปกินข้าวกับเพื่อนก่อนจะหายตัวไป

สำหรับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย

- พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 22 ปี ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ หลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 เวลา 01.55 น. ของวันที่ 1 ธ.ค. มีกำหนดฌาปนกิจวันที่ 4 ธ.ค. นี้ ที่วัดยาง อ่อนนุช23 เวลา17.00น.

- นายวิโรจน์ เข็มนาค อายุ 43 ปี ชาวตำบลพิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี กลุ่มแดงพิมลราช ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านซ้าย บริเวณทางขึ้นประตู N สนามราชมังคลา เวลาประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 1 ธ.ค. มีกำหนดฌาปนกิจวันที่ 7 ธ.ค. นี้  ที่วัดท่ามะขาม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

- วิษณุ เภาพู่ อายุ 26 ปี ถูกยิงด้านหลังทะลุอกด้านซ้าย กระสุนตัดขั้วหัวใจ บริเวณหน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง (กกท.) ช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 ธ.ค. มีกำหนดฌาปนกิจวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ที่วัดลานบุญ ลาดกระบัง

คลิปขณะเสื้อแดงเข้าช่วยเหลือ วิโรจน์ เข็มนาค

สัมภาษณ์แม่เสื้อแดง เหยื่อกระสุนที่คนมองไม่เห็น

สุดารัตน์ เภาพู่ อายุ 50 ปี มารดาของ วิษณุ เภาพู่ ผู้ถูกยิงที่หน้า กกท.

สุดารัตน์เล่าว่า วิษณุอายุ 26 ปี เป็นช่างในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพิ่งแต่งงานเมื่อปีที่แล้ว โดยวันที่ 30 พ.ย.นั้น ตัวเธอพร้อมด้วยสามีและลูกชาย 2 คนคือ วิษณุ และน้องชายวิษณุอายุ 10 ขวบ มาร่วมชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน ครอบครัวของเธอมาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. เป็นครั้งแรก ต่างจากวิษณุที่เข้าร่วมชุมนุมและเคลื่อนไหวกับ นปช. ตั้งแต่ปี 2552 และมาร่วมชุมนุมที่ราชมังคลาฯ หลายวันแล้ว

"วิษณุเขาไปกับเพื่อนเขานอนอยู่กับเพื่อน ตอนตี 4 – 5 เขานอนอยู่ตรงประตูราชมังคลาฯ เมื่อตนตื่นมาก็ไม่เป็นวิษณุแล้ว เพราะเขาเดินออกไปข้างนอกแล้ว แต่ช่วงกลางคืนวันที่ 30 นั้น วิษณุไม่ได้ออกไปนอกสนามกีฬา แต่จะขึ้นไปดูด้านบนและเดินรอบๆ สนามด้านใน"

"แม่ตี 5 กลับบ้านได้แล้วนะ"  สุดารัตน์ เล่าถึงคำพูดสุดท้ายของลูกชายที่กล่าวกับเธอ โดยที่ขณะนั้นพ่อของวิษณุตอบไปว่ายังกลับไม่ได้เพราะออกไม่ได้ แกนนำไม่ให้ออกอ้างเรื่องความปลอดภัย ทำให้เธอและคนอื่นๆ นั่งรอไปจนถึง 6 โมงเช้า หลังจากนั้นมีน้องของเพื่อนวิษณุไปหาที่บ้านเพื่อจะแจ้งข่าววิษณุถูกยิง เพราะคิดว่าเธอกลับมาบ้านแล้ว

"พี่แต๋ว (สุดารัตน์) อยู่ที่ไหนนี่ รู้หรือเปล่าว่าไอ้เอ้ (วิษณุ) โดนยิง" เสียงโทรศัพท์จากอาของวิษณุที่อยู่บ้านโทรมาแจ้งเธอพร้อมบอกว่า ตอนนี้วิษณุนั้นกำลังถูกปั้มหัวใจอยู่ เธอไม่เชื่อจึงได้โทรศัพท์ไปยังเบอร์ของลูกชาย เพื่อนของลูกชายรับแทนและกล่าวยืนยัน  

"ตอนนั้นใจคิดว่าลูกคงไม่รอด" สุดารัตน์ เล่าถึงความรู้สึกหลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนลูกชาย เมื่อได้ยินข่าวจึงเดินไปที่รถเพื่อขอออก แต่กลับถูกปฏิเสธและให้รอออกพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ทำให้ตนเองต้องรอจนกระทั่ง 8 โมงกว่า จากนั้นมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลรามคำแหงเพื่อไปดูลูก ญาติที่ไปก่อนแจ้งว่าลูกชายเสียเลือดมาก หมอก็บอกว่าหลังจากปั้มหัวใจแล้วไม่ดีขึ้น คาดว่าเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาลแล้ว

ภาพสวดพระอภิธรรมศพวิษณุ ภาพโดยเฟซบุ๊ก Jittra Cotchadet

แม่ของวิษณุเล่าว่า เพื่อนลูกชายเล่าให้เธอฟังว่าวิษณุถูกยิงด้วยปืนจากด้านหลัง เนื่องจากรูกระสุนด้านหลังเล็ก แต่มันบานข้างหน้า บริเวณอกข้างซ้าย ตัดขั้วหัวใจ เกิดเหตุบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากเดินทางไปดูว่าเกิดอะไรในบริเวณนั้น โดยเดินไปกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงหลายคน วิษณุไม่ได้ใส่เสื้อแดงแต่ใส่เสื้อยีนส์แขนยาว

สุดารัตน์ ยืนยันว่าลูกชายของเธอไม่ได้เป็นการ์ดเสื้อแดง เป็นผู้ชุมนุมธรรมดาและต้องทำงานเป็นเสาหลักของครอบครัว

"เป็นอะไรก็เป็นกันในวันนี้ ถ้าตายก็ขอให้ตายในหน้าที่เสื้อแดงอย่างสมเกียรติ" สุดารัตน์กล่าวถึงสิ่งที่ลูกชายพูดกับเธอก่อนมาชุมนุมวันที่ 30 พ.ย.

"เอ้เป็นเด็กเรียกร้อย เด็กดีมาก ชอบช่วยเหลือเพื่อนฝูง รักครอบครัว แล้วก็ตอนนี้ก็ส่งบ้าน ส่งที่ดินที่พึ่งซื้อ เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว แถมยังมีน้อง 10 ขวบอีกที่เอ้ส่งเรียนหนังสือต่ อจากนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ"

 

"รู้สึกเสียใจและไม่คิดว่าจะเกิดกับลูกเรา  อยากให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินคดีกับผู้ที่ยิงลูกตนเองให้ได้" แม่วิษณุกล่าว

ภาพสวดพระอภิธรรมศพพลทหารธนสิทธิ์  ภาพโดยเฟซบุ๊ก ธิดา ถาวรเศรษฐ

พลทหารเสื้อแดง 

พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 22 ปี เสื้อแดงอีกคนที่ร่วมชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน ก่อนที่จะถูกยิงเสียชีวิต เมื่อเวลา 01.55 น.ของวันที่ 1 ธ.ค. บริเวณซอยรามคำแหง 24 แยก 14 โดยนิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมันรายงานว่า ขณะที่กลุ่มการ์ดเสื้อแดงเข้าสำรวจพื้นที่หลังเหตุปะทะระหว่างคนเสื้อแดงกับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน นปช. ยุติลง ได้มีเสียงปืนดังขึ้น 6 นัดและกลุ่มการ์ดเสื้อแดงได้แบกร่างของการ์ดคนหนึ่งที่ไม่ได้สติออกมาจากในซอย นำส่งขึ้นรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู  โดยชายเสื้อแดงไม่ทราบชื่อดังกล่าวมีบาดแผลจากการถูกกระสุนปืนยิงทะลุหมวกกันน็อคเป็นบาดแผลบริเวณศีรษะ

ต่อมา โพสต์ทูเดย์ดอทคอม รายงานว่าทราบชื่อจากแฟนสาวผู้เสียชีวิตที่อยู่ในอาการโศกเศร้าว่า ชายคนดังกล่าวชื่อ พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 23 ปี เป็นทหาร อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง และไม่ได้ทำหน้าที่การ์ดควบคุมการชุมนุมแต่อย่างใด ทั้งนี้ศพได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แล้ว

ผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์รายงานเพิ่มเติมจากการสอบถามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ร่วมเหตุการณ์ปะทะเปิดเผยว่า ฝ่ายตรงข้ามได้เดินมาบริเวณซอยรามคำแหง  24 แยก 14 ด้านหลังสนามราชมังคลาฯ โดยโห่ร้องและตะโกนด่าคนเสื้อเเดง จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนรวมถึงผู้เสียชีวิตจึงหยิบไม้และขวดแก้วเป็นอาวุธออกไปต่อสู้ในซอยดังกล่าว ปรากฏว่าฝ่ายตรงข้ามได้ใช้อาวุธปืนยิงสวนมายังพลทหารธนสิทธิ์ นัดแรกไม่โดน จากนั้นได้ยิงนัดที่สองเข้าศีรษะทะลุหมวกกันน็อคจนเสียชีวิตคาที่ ทำให้ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงแตกกระเจิง จากนั้นผ่านไปสักระยะทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้รีบไปนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา 

ข้อมูลคลาดเคลื่อน (บิดเบือน?) ในโซเชียลมีเดีย

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบในโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊ก พบว่า ผู้ใช้ชื่อ "โบว์ จ้า" ระบุว่าพลทหารธรรมสิทธิ์เสียชีวิตเพราะฝีมือกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมทั้งนำภาพเหตุการณ์ที่ไทยคม ซึ่งเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงกับเจ้าหน้าที่ทหาร (กรณีผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปภายในรั้วสถานีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเชื่อมสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีเพิล ชาแนล หรือ พีทีวี เมื่อวันที่ 9 เม.ย.53) มาโพสต์ประกอบคำอธบายการเสียชีวิตของพลทหารธรรมสิทธิ์ (ดูภาพเหตุการณ์วันที่ 9 เม.ย.53 ที่ ประมวลภาพเหตุการณ์ ปฏิบัติการสายฟ้าแล่บ "เสื้อแดง" ยึดสถานีดาวเทียมไทยคมใน 15 นาที !! (โดยเฉพาะภาพที่ 39) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270807997)

 

 

ที่สำคัญ ภาพดังกล่าวถูกแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ "โบว์ จ้า" ยังเผยแพร่ภาพสวดอภิธรรมศพพลทหารดังกล่าวนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเดียวกับภาพที่ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊ก ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ที่เข้าร่วมงานสวดอภิธรรมศพเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา 

 

 

 

อันที่จริงมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊คจำนวนไม่น้อยและได้รับการแชร์ต่อๆ กันหลายร้อยจนถึงหลายพันแชร์ เช่น การแชร์ภาพ 6 ศพวัดปทุมฯ (19 พ.ค.53) โดยระบุว่าเป็นภาพการเสียชีวิตของนักศึกษารามคำแหง ของเพจกองทัพนิรนาม ซึ่งเป็นเพจต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ต่อมาเจ้าของเพจได้ลบภาพดังกล่าวไป หรือการที่เพจชมรมค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพจ youlike south - คลิปใต้หรอยๆ ฯลฯ เผยแพร่รายชื่อของผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.โดยระบุว่าเป็นนักศึกษารามคำแหงทั้งหมด 4 ราย คือ นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว นายฉัตรชัย ดำประสงค์ นายเสน่ห์ จันเกิด และ นายจีระพงศ์ ครชาตรี

ภาพการโพสต์รูป 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ถูกยิงเมื่อ 19 พ.ค.53 ของเพจกองทัพนิรนาม เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา

 

 

การโพสต์ของเพจดังกล่าวส่งผลให้มีผู้กดไลค์และแชร์จำนวนมากทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเสียชีวิตหมดทั้ง 4 คน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเปรียบเทียบกับรายชื่อของศูนย์เอราวัณล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พบว่ารายชื่อที่ตรงกันว่าเสียชีวิตนั้นมีเพียง 1 ราย คือ นายทวีศักดิ์ ขณะที่ นายฉัตรชัย นั้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 11.00 น. ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น เนชั่น รายงานว่าได้เตินทางมากับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เพื่อมาร่วมตัวสอบกับสื่อมวลชนในที่เกิดเหตุ โดยนายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ตนเองพร้อมเพื่อนอีกสามคนพบเห็นผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ตนนั้นได้ถูกลูกหลง ถูกกระสุนยิงเข้าบริเวณขาขวา โดยกระสุนมาจากฝั่งตรงข้ามหลังรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเพื่อนของตนก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว

ขณะที่ นายเสน่ห์ จันเกิด และ นายจีระพงศ์ ครชาตรี ศูนย์เอราวัณ รายงานตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.แล้วว่าได้รับบาดเจ็บ โดยเสน่ห์ จันทร์เกิด ถูกกระสุนที่แขนขวา 1 นัด ส่วนนายจีระพงศ์ ครชาตรี ซึ่งศูนย์เอราวัณรายงานว่านามสกุล คลองชาตรีพงศ์ นั้น ถูกกระสุนที่ขาขวาเหนือเข่า 1 นัด

นี่เป็นเพียงเพจจำนวนหนึ่งที่เผยแพร่ข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน ความเร็วและง่ายของการแชร์ข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งผู้คนมักไม่ตรวจสอบ อาจสามารถเปลี่ยนเจตนาจากความต้องการเผยแพร่ความจริง ให้กลายเป็นการปลุกปั่นความเกลียดชังอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้นได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิ๊ก

 

พ่อแม่รับศพ นศ.รามฯ ลูกชายคนเดียวที่เสียชีวิต วอนอย่าให้เกิดซ้ำ

ขณะเดียวกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับศึกษารามคำแหงนั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานความรู้สึกของพ่อและแม่ของนายทวีศักดิ์ คือ นายนราเมศวร์และนางสุรีย์ ธีระรังสิกุล ว่า ครอบครัวยังรู้สึกเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องการให้นำกรณีการเสียชีวิตของบุตรชายมาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือหยิบยกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและขอให้บ้านเมืองสงบสุขโดยเร็ว ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา สบ10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เข้ามาพูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และนำหลักฐานที่พบในตัวนายทวีศักดิ์ คือลูกกระสุนขนาด 11 มม.ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตดู และรับปากว่าจะให้ความเป็นธรรม คลี่คลายปัญหา ขณะที่พ่อของผู้เสียชีวิตระบุว่า ที่ผ่านมาถูกกดดันให้เลือกข้าง แต่ขอยืนยันว่าผู้เสียชีวิตไม่มีฝ่าย ทั้งนี้ ทางญาติจะเคลื่อนศพของนายทวีศักดิ์ ไปยังวัดหัวว่าว จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิด

โพสต์ทูเดย์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนางสุรีย์ผู้เป็นแม่ว่า ทวีศักดิ์เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว ปกติเป็นคนสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองและพูดคุยกับพ่อแม่อยู่เสมอ โดยยึดหลักยืนอยู่ข้างความถูกต้องมาโดยตลอด และออกมาร่วมชุมนุมบ้างบางครั้งในระยะหลัง ทางครอบครัวให้อิสระทางความคิดกับลูกในการตัดสินใจว่าจะทำอะไร ซึ่งทวีศักดิ์นั้นอยู่หอบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะกลับบ้านเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนตัวเธอนั้นทำงานอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ หากมีอะไรก็จะโทรคุยกัน รวมทั้งกรณีจะไปร่วมชุมนุมหรือจะไปไหนก็จะโทรคุยกันด้วย

วันเกิดเหตุนั้นทวศักดิ์ไม่ได้โทรศัพท์มาบอกเธอว่าจะไปร่วมชุมนุม ประกอบกับวันดังกล่าวเธอเดินทางไป จ.อุบลราชธานี เมื่อทราบว่ามีการปะทะกันที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็รู้สึกใจคอไม่ดีเพราะผู้ตายอยู่แถวนั้น จึงโทรไปหาลูกตอนประมาณ 19.00 น. แต่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จนกระทั่งเกือบ 21.00 น. ก็ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว

ครอบครัวเห็นไปในทิศทางตรงกันว่าอันไหนถูกต้องและยืนยันต้องอยู่ข้างความถูกต้อง แม้จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ไม่ถึงกับสนับสนุนการออกไปชุมนุม เพราะให้อิสระทางความคิดซึ่งกันและกัน และเธอปลูกฝังเรื่องนี้มาโดยตลอดเพราะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องยึดถือความซื่อสัตย์ ที่ผ่านมาเพื่อนเคยมาชวนร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมเพราะต้องกลับจังหวัดกาฬสินธุ์

สุรีย์กล่าวด้วยว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ามาตรการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดการปะทะกันมีความหละหลวมมาก จึงอยากเรียกร้องไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าอย่าให้เรื่องนี้เกิดแล้วหายไป แต่ต้องหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่เช่นนั้นชีวิตก็จะสูญเปล่าไปเรื่อยๆ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทเรียนสันติภาพ :รัฐสภาไทยและสภาชูรอ BRN ต้องให้คนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเอง

Posted: 03 Dec 2013 10:12 AM PST

"ความยุติธรรมและความเจริญรุ่งเรือง หมายถึง เอกราชปาตานี (Patani merdeka)  คือ สันติภาพที่แท้จริง" คำชี้แจงและจุดยืน ของบีอาร์เอ็น ผ่านฮะซัน ตอยิบ อดีตคณะผู้แทนการเจรจาของบีอาร์เอ็น เมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคำชี้แจงและจุดยันเมื่อคืนที่ผ่านมาสามารถให้ความกระจ่างกับรัฐไทยและประชานหรือยังว่า สิทธิความเป็นเจ้าของอธิปไตย หมายถึงอะไร เพราะก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักและคณะผู้แทนการเจรจาของรัฐไทย มีความกังวลถึงความไม่ชัดเจนถึงคำดังกล่าวว่ามีความหมายว่าอย่างไร

จากคำชี้แจงและจุดยันดัวกล่าวนั้น ส่อเค้าว่าโต๊ะสานเสวนาสันติภาพได้ล่มแล้วการที่บีอาร์เอ็น ขอยุติการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ จนกว่ารัฐไทยจะยอมรับเงื่อนไขต่างๆที่ได้เสนอไป ผู้เขียนมองว่ามาจากสาเหตุ 2 ประการ กล่าวคือ

1.การพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นครั้งนี้บีอาร์เอ็นไม่สามารถทำให้ประชาชนปาตานีมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพได้
2.รัฐไทยไม่มีความจริงใจในการเจรจาเนื่องจากมิได้นำเรื่องการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับการรับรองจากรัฐสภา

ยิ่งในสภาวะที่รัฐไทยกำลังประสบกับวิกฤตความความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงอาจเกิดสูญญากาศทางการเมือง ทำให้ไม่มีหลักประกันใดๆแก่บีอาร์เอ็นที่จะต้องพูดคุยสันติภาพกับรัฐไทยต่อไป แต่กระนั้นการสานเสวนาสันติภาพครั้งนี้ ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของคนปาตานีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและยังเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในการสร้างสันติภาพในอนาคต จากบทเรียนในครั้งนี้หากจะมีการสานเสวนาเจรจาสันติภาพในอนาคต ผู้เขียนเห็นว่าควรมีแนวทางดังต่อไปนี้

หลังจากมีการเริ่มพูดคุยสันติภาพ แม้จะทราบว่าเป็นการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ผู้เขียนไม่ค่อยมีความกังวลต่อประเด็นนี้ว่าจะเป็นอุปสรรคในการให้ประชาชนปาตานีมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยมองว่า การพูดคุยดังกล่าวเป็นเพียงกระบวนการเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายยินยอมตกลงทำการเจรจาสันติภาพในภายหลัง อันเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่แยบยลของพรรคเพื่อไทยแต่ไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับพรรคนำเรื่องการพูดคุยกับบีอาร์เอน เป็นเงื่อนไขในการการเคลื่อนไหวทางการเพื่อล้มรัฐบาล อย่างที่เกิดการชุมนุมล้มรัฐบาลจากม็อบต่างๆ จากการที่รัฐบาลออกกฎหมาย พ.ร.บ .นิรโทษกรรมและพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดในขณะนี้

ที่สำคัญก็คือเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดทางกฎหมาย ในภาวะที่ไม่มีกระบวนการทางกฎหมายและทางการเมืองเพื่อคุ้มครองผู้ที่พูดคุยกับกลุ่มคนที่รัฐไทยอ้างว่าเป็น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือผู้ก่อการร้าย การพูดคุยสันติภาพจึงจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นการพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญ  เมื่อมีการตกลงพูดคุยจนทั้งสองฝ่ายมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้วแล้ว ทั้งบีอาร์เอ็นและรัฐไทย จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาของตนเพื่อรับฉันทามติจากสภาสูดสุดของทั้งสองฝ่าย ว่าตกลงจะทำการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการหรือไม่ ถ้ารัฐสภาของไทยหรือสภาชูรอของบีอาร์เอ็น ไม่เห็นด้วยการเจรจาก็ตกไป แต่หากเห็นด้วยกับการเจรจา ก็จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป

ก่อนเข้าสู่การเจรจานั้น ทางฝั่งรัฐไทยจะมีความยุ่งยากและความสับซ้อนในการจัดการทางการเมืองมากกว่าบีอาร์เอ็น เนื่องจากรัฐไทยมีฐานะเป็นรัฐที่เป็นทางการของกฎหมายระหว่างประเทศ  มีกฎหมายภายในที่เป็นอุปสรรในการเจรจาจึงอาจต้องสร้างกระบวนการทางการเมืองและข้อกฎหมายเป็นกรณีพิเศษเพื่อรองรับการเจรจา

อย่างไรก็ตาม ฉันทามติที่ได้จากสภาสูงสุดของแต่ละฝ่ายที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมทำการเจรจาจะเกิดขึ้นกรณีเดียว คือ ยินดีให้คนปาตานีกำหนดชะตากรรมด้วยตนเองประชาชนต้องการอะไร เพราะเป็นหลักการที่ยังคงรักษาสถานะของทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ หากเป็นหลักการอื่นนอกจากนี้ โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบ คงเป็นเรื่องยากที่อีกฝ่ายจะทำการเจรจาด้วย เช่น หากรัฐไทยกำหนดเงื่อนไขว่า การเจราจาจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย การเจรจาก็ไม่อาจเดินต่อไปได้เพราะอุดมการณ์ของบีอาร์เอ็น คือเอกราช หรือหากบีอาร์เอ็นกำหนดเงื่อนไขว่า การเจรจาจะต้องจะต้องได้เอกราชสถานเดียว การเจรจาก็ไม่อาจเดินต่อไปได้เช่นเดียวกัน เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย

การถามประชาชนปาตานีจึงเป็นสิ่งที่ยุติธรรมที่สุดแล้วแก่สองฝ่าย(WIN-WIN)   หลังจากได้รับฉันทามติจากอำนาจสูงสุดของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปสู่ การเจรจาสันติภาพ ซึ่งบีอาร์เอ็นและรัฐไทย ต้องทำการเจรจาตกลงโดยกำหนดเงื่อนไขและข้อตกลงฉบับใหม่ อันมีสาระสำคัญว่าให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเอง

ส่วนจะให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับทัศนะของผู้เขียนจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ติดตามบทความชิ้นต่อไป เรื่อง :บทเรียนจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น :รัฐสภาไทยและสภาชูรอของบีอาร์เอ็นต้องให้ประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมของตนเอง (ตอนที่ 2)

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บีอาร์เอ็น แถลงการเจรจาจะเกิดขึ้นเมื่อข้อเสนอผ่านรัฐสภาและเป็นวาระแห่งชาติ

Posted: 03 Dec 2013 09:20 AM PST

ช่วงค่ำของวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น ประกาศผ่านเว็บไซต์ยูทูบแสดงจุดยืนของขบวนการบีอาร์เอ็น ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกำลังสับสน

การออกมากล่าวคำชี้แจงและจุดยืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในครั้งนี้ เช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีการแชร์วิดีโอแถลงการณ์ของตัวแทนบีอาร์เอ็นอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้แปลตามเนื้อหาดังนี้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ

ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน

ข้าพเจ้าฮะซัน ตอยิบ อดีตคณะผู้แทนการเจรจาบีอาร์เอ็น

คำชี้แจงและจุดยืน

บีอาร์เอ็นคือขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานี จากอาณัติการปกครองของนักล่าอาณานิคมสยาม ในการที่จะสร้างความยุติธรรมและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวปาตานีทั้งมวล ตามประโยคที่ว่าเอกราชปาตานี (patani merdeka) นี่คือสันติภาพที่แท้จริง ไม่ใช่สันติภาพภายใต้ระบอบของนักล่าอาญานิคมสยาม เกี่ยวกับเรื่องการเจรจาต่อจากนี้ไป อาศัยมติที่ประชุมของสภาชูรอ/สภาเพื่อการปฏิวัติที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2013 ดังนี้

1. การเจรจาจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อนั้น ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาไทย และได้ดำเนินการอย่างสมบูรณ์
2. กระบวนการเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติและกล่าวประกาศโดยนายกรัฐมนตรีไทยเท่านั้น

ขอแสดงความเคารพ
เอกราช เอกราช เอกราช
 

ต้นฉบับภาษามลายู

PENJELASAN DAN PENEGASAN

Hasan Bin Thoib, mantan delegasi BRN
Assalamualaikum Wr..Wb..

B.R.N adalah suatu gerakan pembebasan bangsa Patani dari belenggu
penjajahan siam, dalam rangka untuk menjalankan keadilan dan kemakmuran
bangsa Patani. dalam erti Patani merdeka. inilah kedamaian yang
hakiki, bukan kedamaian dibawah peraturan penjajah siam.

Adapun dalam hal perundingan selanjutnya berdasarkan keputusan Majelis Thura/Dewan revolusi yang telah diistiharkan pada tgl 6 ags 2013
yaitu:-

1. Rundingan akan berlaku setelah 5 tuntutan awal disahkan melalui dewan negara siam dan melaksanakan dengan sempurna.
2. Proses rundingan damai pasti dijadikan agenda negara dan diistihar langsung oleh perdana mentri siam.

Wassalam
merdeka merdeka merdeka

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเบต ‘ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้’ ตอน 1

Posted: 03 Dec 2013 08:54 AM PST

Book Re:public จัดดีเบต "ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้" อาจารย์ มช.ไม่เชื่อทุนนิยมเป็นประโยชน์กับคนจน ส่วนอาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.จ.ธ.ชี้ทุนนิยมแก้ปัญหาจากภายในระบบเองได้ ผ่านกระบวนการด้านเศรษฐกิจ และการเมืองต่างๆ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดดีเบตในหัวข้อ "ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้"  โดยมีวิทยากรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กับ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนนักแปลอิสระ และ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภาพจากเพจ Book Re:public

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ กล่าวว่าถ้าพิจารณาทุนนิยมในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยมคือความสัมพันธ์ของการผลิต คือความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ในความสัมพันธ์ทางสังคมชุดหนึ่งที่แน่นอน ลักษณะที่สำคัญคือผู้ผลิตหรือแรงงานจะถูกแยกออกจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต จึงทำให้มีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้แรงงานตนเองในการผลิต แต่ไม่ได้มีปัจจัยการผลิต และมีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เรียกว่านายทุน
หลักการสำคัญที่ใช้ในการแยกนี้ คือแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล โดยอะไรที่คุณเป็นเจ้าของ แล้วคุณเอาไปลงทุน เมื่อผลิตได้ คนที่เป็นเจ้าของ ก็จะได้สิ่งๆ นั้นกลับไป ส่วนแรงงานเป็นเจ้าของแต่เพียงร่างกายหรือกำลังแรงงานของตนเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ลักษณะนี้จึงแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน

แต่ถ้าพูดถึงทุนนิยมในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ ระบบทุนนิยมพูดถึงการที่แรงงานยอมรับว่าตนเองเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ที่ขายในตลาดได้ มันต้องมีการผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อบางอย่างว่าการที่เราขายตัวเองเป็นสินค้าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว และมีคนจำนวนหนึ่งที่จะได้ผลผลิตจากกำลังแรงงานของเรา เช่น การผลิตความเชื่อในวัฒนธรรมของการแข่งขัน เชื่อว่าการแข่งขันนำมาซึ่งความก้าวหน้า และการพัฒนา

เก่งกิจอธิบายถึงความหมายของแรงงานของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ คือแรงงานที่เข้าไป
เร่ขายแรงงานของตน เพื่อเงินเดือน ซึ่งมาร์กซ์เรียกว่า "แรงงานที่มีชีวิต" (living labor) นอกจากนั้นทุนยังเป็นเจ้าของ "แรงงานที่ตายไปแล้ว" (dead labor) เช่น ที่ดิน เครื่องจักร ความรู้ ฯลฯ  โดยตามแนวคิดของมาร์กซ์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนใช้แรงงานของมนุษย์ในการผลิตขึ้นทั้งสิ้น แต่เรามักมองไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีแรงงานของมนุษย์สร้างขึ้น ในการผลิตสินค้าประเภทหนึ่งจึงต้องผสมระหว่างแรงงานที่ตายไปแล้วกับแรงงานที่มีชีวิต โดยทั้งสองอย่างมามีปฏิสัมพันธ์ในการผลิตในโรงงานหรือแหล่งผลิต

ส่วนที่มาของมูลค่านั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าของสองอย่างมันแลกเปลี่ยนกันได้ ทั้งที่มีความแตกต่างกันทางกายภาพ ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมได้ใช้เวลาในการทำงานเป็นตัววัด เช่น เวลา 8 ชั่วโมง ได้ค่าแรง 300 บาท นายทุนจะคำนวณจากต้นทุนในการผลิต นายทุนก็พยายามให้แรงงานใช้เวลา 8 ชั่วโมง แล้วผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยค่าแรง 300 เท่าเดิม มูลค่าจึงเกิดจากแรงงานของมนุษย์ และเราวัดมูลค่าได้ด้วยเวลาที่ใช้ในการทำงาน

ในสมการของทุนกับแรงงานนี้ ทั้งสองอย่างมีเป้าหมายแตกต่างกันสิ้นเชิง ทุนมีเป้าหมายจริงๆ คือการสร้างกำไรและการสะสมทุน คนที่เป็นเจ้าของทุนต้องการมากกว่าต้นทุนที่เขาลงไป นั่นก็คือกำไร เมื่อได้กำไร ก็เอามาลงทุนอีก เพื่อขยายกำไรหรือสะสมทุนไปเรื่อยๆ อันนี้คือแรงผลักของนายทุนทั้งหมด

สำหรับแรงงานนั้น ไม่ได้มีปัจจัยการผลิต แต่มีกำลังแรงงานของตัวเองในฐานะที่เป็นสินค้าในตลาด ขายแรงงานเพื่อแลกกับเงิน เมื่อได้เงินก็นำไปกินไปใช้ และมาขายแรงงานใหม่ เป้าหมายของแรงงานจึงไม่ใช่กำไร แต่คือการจะมีชีวิตอยู่ได้ในวันรุ่งขึ้น หรือการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของตนเอง (reproduction)

ฉะนั้นเป้าหมายของทุนและของแรงงานมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในความสัมพันธ์ชุดนี้ ทุนมีความจำเป็นต้องขูดรีดแรงงานให้ได้มากที่สุด กำไรจึงมาจากการบิดเอากำลังแรงงานมาจากร่างกาย จากสมองของแรงงานหรือมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่น้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "การขูดรีด" (exploitation)

พัฒนาการของระบบทุนนิยมโดยย่อๆ ในมุมมองของมาร์กซ์นั้น การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมมิใช่เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากแรงงานของมนุษย์ถูกแยกออกจากปัจจัยการผลิต ผ่านการบังคับหรือใช้กำลังข่มขู่เพื่อทำให้เกิดขึ้นเป็นแรงงาน เช่น ในอังกฤษมีการล้อมรั้วเพื่อไล่ชาวนาจากที่ดินที่เคยมี กลายเป็นแรงงานรุ่นแรกๆ ของระบบทุนนิยม

ส่วนทุนในยุคอุตสาหกรรม ทุนต้องบีบรีดเอากำลังแรงงานออกมาให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่จำกัด จึงมีการควบคุมกระบวนการผลิต เช่น เอาคนคุมงานไปควบคุมทุกๆ ส่วนของการผลิต และทุนนิยมยุคปัจจุบันเป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ งานของ Harvey ได้พูดถึงหัวใจของการสะสมทุน คือการสะสมทุนโดยปล้นชิง เมื่อทุนเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ ทุนก็จะปรับตัว โดยการขยายเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของทุน แล้วเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็นสินค้า เพื่อสร้างกำไรใหม่ จากวิกฤติปี 70 ทุนปรับตัวโดยการใช้แนวนโยบายหลายอย่าง ทั้งการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน (Privatization) กลไกการควบคุมแบบใหม่ เช่น การขูดรีดโดยการทำให้กลายเป็นหนี้ (Financialization) หรือการลดบทบาทของรัฐ (Deregulation) จากเดิมที่รัฐเคยเป็นกลไกที่เชื่อว่าจะแก้ไขความล้มเหลวของตลาด และการแปรสิ่งที่เป็นสมบัติส่วนรวมหรือเป็นของรัฐ เป็นบริการสาธารณะ ที่ไม่เคยเป็นสินค้ามาก่อน ล้วนแต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือพลังที่ผลักดันระบบทุนนิยมในปัจจุบัน

ถ้ามองวิกฤตของระบบทุนนิยมจากกรณีอเมริกา จะพบว่ารายได้ที่แท้จริงหรือค่าแรงของคนระดับล่างลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 1970 เป็นต้นมา แต่ระบบการผลิตยังคงอยู่ หมายความว่ากำไรที่นายทุนจะสะสมได้จะยิ่งเพิ่มขึ้น เอาส่วนที่เหลือไปเยอะขึ้น มันทำให้เกิดภาวะการสะสมทุนที่มากเกินไป (over-accumulation) โดยในสมการของทุน ยิ่งได้กำไรเยอะ ยิ่งทำให้เกิดวนกลับไปลงทุนใหม่มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสองประการ คือเกิดการผลิตที่ล้นเกิน และการไม่สามารถที่จะบริโภคได้ของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ

ส่วนแนวโน้มของการแก้ไขวิกฤติของระบบทุนนิยมทำได้สองอย่าง คือการจัดการพื้นที่ และการจัดการเวลา การจัดการพื้นที่ก็คือการขยายตลาด หาคนซื้อสินค้าของตนให้ได้ หรือถ้าค่าแรงสูง ทุนก็ขยายไปหาแรงงานราคาถูกในที่ต่างๆ ของโลก ส่วนการจัดการเวลา เช่น การทำให้เวลาการทำงานยืดหยุ่น อย่างการผลิตที่บ้าน การทำพาร์ตไทม์-ฟรีแลนซ์ หรือการจัดการเวลาในชีวิตมนุษย์ใหม่ เพื่อให้ทุนสามารถเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจได้ โดยสรุปการแก้ปัญหาของทุนนิยม คือการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เคยเป็นสินค้าให้กลายเป็นสินค้า

เก่งกิจถามคำถามทิ้งท้าย ว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยเราเป็นสังคมเกษตรหรือสังคมแรงงาน หากดูตัวเลขผู้ประกันตนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ล้าน (2554) สะท้อนว่าเราเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่กำลังแรงงานส่วนใหญ่ ถูกขูดรีดในระบบทุนนิยม และตนไม่เชื่อว่าระบบทุนนิยมจะเป็นประโยชน์กับผู้ยากไร้ ระบบอาจจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่ว่ามันก็ขูดรีดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ภาพแสดงโครงสร้างของระบบทุนนิยมของโลก

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ กล่าวว่าองค์ประกอบของทุนนิยมหลักๆ มีสามส่วน ได้แก่ หนึ่ง สินค้าเอกชน ทุนนิยมมีความสามารถในการแปลงสรรพสิ่งให้กลายเป็นสินค้าเอกชน สอง ก็คือการใช้กลไกตลาดหรือกลไกราคาในการจัดสรรสินค้า และสาม คือมันเป็นระบบที่เน้นการสะสมทุน และขยายเพิ่มมูลค่าของทุน องค์ประกอบทั้งสามไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง แต่ปัญหาของทุนนิยมเกิดจากการที่สามอย่างนี้มีลักษณะสุดโต่ง ในการนำไปใช้ภาคปฏิบัติ

ปัญหาประการแรก คือการทำให้เป็นทรัพย์สินเอกชนอย่างสุดโต่ง ในงานของ Michael Heller กล่าวถึงลักษณะอันสุดโต่งของกรรมสิทธิ์เอกชน โดยคุณสมบัติสำคัญของสินค้าเอกชน คือการกีดกันคนอื่นออกไป ทั้งที่สินค้าบางตัวควรจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ยา ความรู้ ฯลฯ เมื่อกลายเป็นสินค้าเอกชน สินค้าก็ต้องถูกจำกัดและกีดกันจากคนจำนวนมาก ทำให้คนเข้าไม่ถึงยา ทำให้เกิดเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่และผูกขาด นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนจึงเสนอเรื่องโศกนาฏกรรมของสินทรัพย์ส่วนรวม (tragedy of common) คือสินทรัพย์ประเภทนี้จะถูกใช้และพังทลายก่อนสินทรัพย์ประเภทอื่น

ปัญหาประการที่สอง คือระบบตลาดที่มันสุดโต่ง ในหนังสือของ Michael Sandel (2013) พูดถึงขีดจำกัดของตลาด เช่น กรณีอภิสิทธิ์ชนในคุก โดยนักโทษสามารถใช้เงินซื้อบริการที่ดีกว่าได้ หรือกรณีบริษัทใช้แรงงานคนงานหนักมาก แต่เลี่ยงความเสี่ยงโดยทำประกันชีวิตให้แรงงานด้วย แต่คนที่ได้ประโยชน์คือบริษัท คำถามคือเราจะยอมให้ตลาดทำถึงขั้นนั้นได้ไหม

ประการที่สาม คือการเน้นสะสมทุนและขยายมูลค่าเพิ่ม ทำงานอยู่บนฐานความรู้บางอย่าง คือการทำให้หน่วยผลิตมีต้นทุนต่ำสุด และมีกำไรสูงสุด การกดต้นทุนส่วนหนึ่งทำผ่านการกดค่าจ้างแรงงาน ภาษาฝ่ายซ้ายก็อาจเรียกว่าการขูดรีดแรงงาน มีทั้งการขูดรีดภายใน ผ่านการจ่ายค่าจ้างต่ำๆ และการขูดรีดภายนอกบริษัท ผ่านการสร้างตลาดแข่งขันแบบผูกขาด ทำลายคู่แข่งอื่นๆ ที่เป็นนายทุนด้วยกันด้วย เพื่อสร้างกำไรสูงสุด ทุนนิยมจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อทุนด้วยกันเองด้วย และไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้ แต่มันสร้างผู้ยากไร้ขึ้นมาเลยต่างหาก

เมื่อระบบแบบนี้บวกกับโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ ทำให้เกิดการผูกขาดข้ามชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทไม่กี่บริษัทครอบครองตลาดสินค้าทั้งหมด ทำให้แต่ละบริษัทมีลักษณะที่ใหญ่กว่ารัฐชาติด้วยซ้ำ การจัดการภายในบริษัทเหมือนระบบราชการโดยตัวมันเอง มีลำดับชั้นภายในต่างๆ

นอกจากนั้นเวลาพูดถึงทุนนิยม ไม่ใช่เรื่องในปริมณฑลของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีด้านของความเป็นการเมืองด้วย เมื่อพูดว่าทุนนิยมผูกขาดมันสร้างจำนวนผู้ยากไร้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ยากไร้เหล่านี้ยังเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในทางการเมือง มีส่วนกำหนดวาระทางการเมือง ในอุดมคติจะทำให้เกิดพรรคแรงงานในหลายประเทศ เพื่อควบคุมทุนอีกทีหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ กลับนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน การฮั้วกันระหว่างรัฐกับทุน ไม่ว่าพรรคฝ่ายซ้ายหรือขวาเป็นรัฐบาลก็ตาม ถึงที่สุดต้องยอมให้กับกระแสเสรีนิยมใหม่ ที่มีพลังมากผ่าน WTO

ปัญหาของทุนนิยมที่คนจำนวนมากพูดถึงเหล่านี้ หรือฝ่ายซ้ายตระหนักและต้องการก้าวข้ามไปสู่ระบบใหม่ ตัวนักเศรษฐศาสตร์ที่ยังเชื่อมั่นในทุนนิยมเอง ก็เห็นเช่นกัน แต่ความแตกต่างสำคัญคือเขาเชื่อว่ามันแก้ได้ และแก้ไขได้ภายในระบบทุนนิยมเอง

หลายคนชี้ให้เห็นว่าระบบทางเลือกเท่าที่มีอื่นๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาน้อยไปกว่ากัน ในงานของ Erik Wright กล่าวว่าเวลาพูดถึงระบบทางเลือกที่ไม่ใช่ทุนนิยมอื่นๆ สิ่งที่ต้องคิดสองเรื่อง คือเราจะไปถึงมันได้ไหม และจะสามารถรักษาระบบนั้นไว้ได้ไหม ปัญหาของระบบอื่นๆ คือแม้จะไปถึงได้ แต่ไม่สามารถรักษาลักษณะสำคัญของระบบนั้นๆ ไว้ให้ยืดยาวต่อไปได้

แบ๊งค์กล่าวว่าตนคิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาจากภายในระบบทุนนิยมเองได้ ผ่านกระบวนการด้านเศรษฐกิจ และการเมืองต่างๆ

ประการแรก การจำกัดระบอบกรรมสิทธิ์เอกชนและใคร่ครวญดีๆ ก่อนจะทำ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ การศึกษา ป่าไม้ หรือยา มันควรมีข้อจำกัดในการเอามาแปลงเป็นทรัพย์สินเอกชน

ประการที่สอง การมองตลาดก็ไม่ควรมองแบบหลงใหล ที่เชื่อว่าตลาดจะสามารถจัดการหรือแก้ไขตนเองได้ แต่ตลาดมีขีดจำกัดที่จัดการตนเองไม่ได้หลายประการ มีการเสนอเรื่องกลไกตลาดเสรีแบบจำกัด หรือการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด และการกระจายความมั่งคั่ง ก็เป็นการแทรกแซงตลาดลักษณะหนึ่ง เช่น การเก็บภาษีจากทุน จากที่ดิน

ประการที่สาม การสะสมทุนแบบจำกัด โดยไม่มุ่งทำการผลิตโดยกำหนดต้นทุนต่ำสุด หรือแสวงหากำไรสูงสุดอย่างเดียว เช่น แนวคิดผู้ประกอบทางสังคม (Social Enterprise) ที่ผู้ประกอบการไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด หรือการส่งเสริมให้เกิดการต่อรองกับนายจ้าง เช่น การตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งนำไปสู่การตั้งพรรคแรงงาน ที่มีบทบาทการกำหนดวาระทางการเมือง เพื่อควบคุมปัญหาของระบบทุนนิยม

ประการที่สี่ ในด้านการเมือง คือจะทำอย่างไรให้ผู้ยากไร้ได้มีพลังมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเล็กคนน้อยในแง่ของพลังการต่อรอง สามารถจะกำหนดวาระทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

แบ๊งค์เสนอว่าในการแก้ไขระบบทุนนิยม พื้นฐานที่สุดคือเราต้องเชื่อพลังของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงระบบ เมื่อไรที่เราเชื่อว่าตัวระบบเองจะไหลไปสู่ความเลวร้ายและพังทลายไปเอง มันก็เหมือนข้อวิจารณ์ต่อมาร์กซิสต์แบบคลาสสิก คือมันมีลักษณะชะตากำหนด เชื่อว่ามีลักษณะตายตัวของจุดจบ ที่เราไม่อาจจะควบคุมได้ แต่ถ้าเชื่อว่าทุกคนมีหัวใจที่จะต้านทานความเลวร้ายของตัวระบบ มันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงตัวทุนนิยมจากภายในระบบเองได้

(ติดตามข้ออภิปรายของวิทยากรอีกสองท่านและช่วงถกเถียงในตอนที่ 2)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์: ต่อต้านกบฏ ปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

Posted: 03 Dec 2013 08:38 AM PST

แถลงการณ์  ฉบับที่ 1/2556
"ต่อต้านกบฏ ปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตย ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ"

จากปรากฏการณ์การยกระดับ "ม๊อบฝนตกขี้หมูไหลฯ" ของพวกอันธพาลทางการเมือง "กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม" ภายใต้การชี้นำของ "เครือข่ายอำมาตย์"  ที่ได้จัดตั้งองค์กรสัปปะรังเคในนาม "คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.)  แสดงให้เห็นถึงการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อนำไปสู่อุดมการณ์สูงสุด คือ "รัฐบาลแห่งชาติ" (รัฐบาลพระราชทาน/ รัฐบาล ม.7) ที่จะมาจาก "คนดีมีศีลธรรม" ซึ่งเป็นแผนการรื้อฟื้น, สถาปนา "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ขึ้นมาใหม่

ดังนั้น  ทาง "สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย" (สปป.)  ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานงานองค์กร, เครือข่าย "กลุ่มพลังประชาธิปไตย" และประชาชน, เสรีชนผู้รักประชาธิปไตย ในขอบเขตทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "สร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง" ให้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ที่มีรายชื่อแนบท้ายนี้  จึงมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน  ดังนี้

ข้อเสนอต่อ นปช. และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย

1.  ให้รวมพลังกาย  พลังใจ  สามัคคีกัน เพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับพวก "กบฏ กปปส." โดยไม่ยอมจำนนอย่างถึงที่สุด
2. ให้เตรียมคน  เตรียมความคิด  เตรียมเสบียง  และเตรียมอุปกรณ์  เพื่อรองรับการต่อสู้ในระยะยาว
3. ให้ นปช. , พรรคเพื่อไทย (พท.) และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ร่วมกันจัดชุมนุมต่อต้านกบฏที่หน้า "ศาลากลางจังหวัด" ในทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว

ข้อเสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร

1.  ไม่เห็นด้วยกับการที่จะใช้วิธีการยุบสภา และลาออก โดยสิ้นเชิง 
2. ให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อพวก "กบฏ กปปส." อย่างเด็ดขาด 
3. ขอให้กำลังใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย (พท.)  ให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด

ขอประกาศจุดยืนของ สปป. และภาคีเครือข่าย ดังต่อไปนี้

1. จะต่อต้านพวกกบฏ  การรัฐประหาร  สภาประชาชน ทุกรูปแบบ
2. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ (รัฐบาลพระราชทาน/ รัฐบาลที่มาจาก ม.7)
3. ขอประณามแนวทางอันธพาลทางการเมือง ที่กำลังก่ออาชญากรรม กระทำพฤติกรรมเยี่ยงโจรของพวก "กบฏ

กปปส."  และจะต่อสู้เพื่อขจัดพวกกบฏลูกสมุนอำมาตย์ให้สิ้นซากไปจากสังคมไทยในทุกรูปแบบ
และจากนี้ไป  ทาง สปป. จะจัดเวทีชุมนุมในวันที่ 7 ธันวาคม 2556  ที่จังหวัดขอนแก่น  เพื่อให้ประชาชน, เสรีชนผู้รักประชาธิปไตยได้แสดงจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน

 
ประชาชน  เสรีชน  ผู้รักประชาธิปไตย  จงสามัคคีกัน !!!
"สหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย" (สปป.)
3  ธันวาคม  2556


รายชื่อกลุ่ม/ องค์กร สมาชิก
1. แนวร่วมแรงงานและเกษตรกรเพื่อประชาธิปไตย (นรกป.)
2. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) 
3. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
4. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.) จ.กาฬสินธุ์
5. กลุ่มต้นอ้อ จ.ขอนแก่น   
6. กลุ่มมิตรภาพ  จ.ขอนแก่น
7. กลุ่มศึกษาปัญหาสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ศสป.)
8. กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา (กภว.)  จ.ขอนแก่น 
9. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย  จ.ขอนแก่น
10. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา (กภพ.)  จ.สกลนคร 
11. กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง  จ.เลย
12. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำพรมตอนต้น  จ.ชัยภูมิ
13. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง  จ.ยโสธร
14. องค์กรอิสระเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
15. กลุ่มปุกฮัก  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. กลุ่มเพื่อนสังคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
17. กลุ่มเพื่อนปริญญาโทรักความเป็นธรรม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
18. ซุ้มเกี่ยวดาว  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
19. กลุ่มข้าวต้มมัด  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
20. คณะกรรมการรณรงค์การกระจายอำนาจภาคอีสาน
21. เครือข่ายอนุรักษ์ภูเก้า-ภูพานคำ  จ.หนองบัวลำภู
22. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)  จ.กาฬสินธุ์
23. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก  จ.สกลนคร
24. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง  จ.อุบลราชธานี 
25. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร  จ.ยโสธร
26. เครือข่ายคนรุ่นใหม่มหาสารคาม  จ.มหาสารคาม
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก  จ.ร้อยเอ็ด
28. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
29. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)
30. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 
31. สถาบันเพื่อพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.)
32. กลุ่มครูเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กคส.)
33. สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง (กอ.ปอ.)
34. สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)
35. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
36. กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน (กนป.)
37. สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน (สสร.)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทบาท “ผู้นำศาสนา” แก้ความขัดแย้งที่อูกันดา

Posted: 03 Dec 2013 08:27 AM PST

5 ตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งที่อูกันดา เผยขัดแย้ง 19 ปีตายกว่า 2 ล้าน แต่ปัญหาคลี่คลายด้วยการพูดคุยสันติภาพที่โดยผู้นำศาสนา

29 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา คณะจากภาคประชาสังคมชายแดนแดนใต้เดินทางเยือนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างปี 1987 -2005 ทางตอนเหนือของประเทศอูกันดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีปัญหาขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง

คณะที่เดินทางในครั้งนี้ เป็นตัวแทนจาก 5 องค์กรในประเทศไทย ได้แก่ พระมหานภันต์ สันติภัทโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ในฐานะ ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตที่ดีงาม นายไฟซอล ดาโอะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี และนางสาวคนึงนิจ มากชูชิต จากเครือข่ายชุมชนศรัทธา กับนายแวอิสมาแอ แนแซ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การเดินทางไปประเทศอูกันดาครั้งนี้ เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่อเนื่องจากการที่ภาคประชาสังคมในประเทศอูกันดา ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความรุนแรงของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ในครั้งนั้น ตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศอูกันดา ประกอบด้วย บาทหลวงของคริสตศาสนา อิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลาม ตัวแทนผู้หญิงที่นับถืออิสลาม รวมทั้งตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคมและตัวแทนเยาวชนจากประเทศอูกันดา ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้เดินทางไปแลกเปลี่ยนปัญหาของประเทศอูกันดาด้วย

คณะประชาสังคมชายแดนใต้เดินทางมาถึงประเทศอูกันดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 10.30 น.โดยประมาณตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 15.30 น. ตามเวลาประเทศไทยและมีกำหนดเรียนรู้ที่ประเทศอูกันดา เป็นระยะเวลา 6 วัน

ตารางกิจกรรมคร่าวๆที่ได้รับการชี้แจงคือ เดินทางจากเมืองหลวงกัมปาลาไปยังตอนเหนือของประเทศ เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่นั้น โดยจะมีวงแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายในประเทศอูกันดาประมาณ 40 คนที่สนใจประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

จากนั้นจะมีกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1987 - 2005 โดยปัญหาความรุนแรงดังกล่าวจบลงด้วยการสานเสวนาและประสานติดต่อให้เกิดความเข้าใจถึงความต้องการของฝ่ายต่อต้านรัฐในขณะนั้น

Despina Namwemba ผู้ประสานงานประจำภูมิภาคขององค์กร United Religions Initiative หรือ URI ประเทศอูกันดา ผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เล่าให้ฟังคร่าวๆว่า ที่ประเทศอูกันดา มีปัญหาขัดแย้งยาวนาน 19 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบถึงชีวิตประมาณ 2 ล้านกว่าคน และยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมอีกจำนวนมาก

"โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เคยเป็นทหารเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อปัญหาความรุนแรงยุติลงคนเหล่านี้ก็ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก เนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง"

Despina เปิดเผยว่า สำหรับองค์กร URI มีส่วนในการเข้าไปจัดเสวนาในพื้นที่ความขัดแย้งนี้โดยนำผู้นำศาสนาต่างๆมาคุยและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และออกมาทำความเข้าใจว่า การใช้ความรุนแรงโดยไม่สื่อสารความต้องการออกมา ทำให้ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนืองจากรัฐบาลต้องการจัดการอย่างเด็ดขาดโดยใช้ความรุนแรงเช่นกัน

Despina เปิดเผยต่อไปว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมีการต่อรองจากผู้นำศาสนา 4 คน เพื่อให้เกิดการพูดคุยเจรจากับขบวนการต่อต้านรัฐ จนมีข้อเสนอจากกลุ่มต่อต้านรัฐออกมา และต่อมาก็ไม่มีการจัดการด้วยความรุนแรง

Despina กล่าวว่า เหตุที่เลือกเป็นผู้นำศาสนาเนื่องจากผู้นำต่อต้านรัฐ ไม่ยอมใครกับใครเลย แต่ถ้าเป็นผู้นำศาสนาพวกเขาจะยอมคุยด้วย และมีข้อต่อรองออกมา

"ดิฉันเชื่อว่าการสร้างความเข้าใจเรื่องศาสนาที่ถูกต้องและให้ประชาชนที่นับถือต่างกันได้รับความเคารพในสิ่งที่เขาเลือกเชื่อและศรัทธา จะทำให้สันติภาพยั่งยืน" Despina กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพผุดพิมพ์เขียวสภาประชาชน-ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเลือกนายกฯ จากคนดี

Posted: 03 Dec 2013 08:19 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณระบุ รธน. มาตรา 3 และ 7 เปิดช่องตั้งสภาประชาชน จะเลือกคนดีๆ เป็นนายกฯ ตั้งรัฐบาล ปชช. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาล ปฏิรูปแล้วก็จะคืนอำนาจจัดเลือกตั้ง วอนผู้ชุมนุมอดทนเพราะการต่อสู้ต้องใช้เวลา ไม่เหมือนทหาร 3 ชั่วโมงก็จบแล้ว

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. ปราศรัยที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556

 

สุเทพแถลงเข้าควบคุม บช.น. และทำเนียบแล้ว แต่ถอนตัวออกมาเพราะทหารเป็นผู้ดูแลพื้นที่

3 ธ.ค. 2556 - เมื่อเวลา 19.30 น. ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ"คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. ได้แถลงข่าวตอนหนึ่งระบุว่า วันนี้มวลมหาประชาชนได้เข้าควบคุมพื้นที่ บช.น. ซึ่งเป็นกำลังหลักของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงมา 2 วัน และวันนี้ ประชาชนได้ควบคุม บช.น.เรียบร้อยแล้ว และประชาชนได้เข้าไปพื้นที่ทำเนียบฯ ซึ่งตำรวจของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยประกาศว่าไม่ยอมให้ประชาชนเข้าไปทำเนียบฯ

"แต่ในที่สุดกองทัพปประชาชนก็สามารถเข้าไปทำเนียบ แต่เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาทำเนียบ ไม่ใช่ตำรวจ จึงได้ถอนออกมาเพราะเคารพในเกียรติศักดิ์ศรีของทหารที่ได้วางตัวเป็นกลางในวิกฤติการครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังบริสุทธ์ของประชาชนสามารถเอาชนะผู้ถืออาวุธความรุนแรงได้อย่างชัดเจน"

สุเทพกล่าวว่าวันนี้เป็นชัยชนะระดับหนึ่งเท่านั้นโดยกล่าวว่า "แม้ประชาชนจะประสบชัยชนะ สามารถฉลองชัยชนะในระดับหนึ่งแต่ยังต้องร่วมแรงสามัคคีต่อสู้จนกว่าระบอบทักษิณจะหมดไปจากประเทศไทย"

 

ยันมีอำนาจตามมาตรา 3 และ 7 ตั้งสภาประชาชน ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

สุเทพกล่าวด้วยว่าเองข้าราชการก็ต้องพร้อมใจหยุดงาน ต่อไปต้องไม่ยอมเป็นเครื่องมือระบอบทักษิณ ฉะนั้นทุกส่วนราชการทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดต้องหยุดรับคำสั่งจากรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม ทั้งด้านกฎหมาย และด้านการเมืองอีกต่อไป เมื่อระบอบทักษิณหมดอำนาจ อำนาจก็จะคืนกลับสู่พี่น้องประชาชนเจ้าของประเทศตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะร่วมกันเลือกตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ ประกอบกันเป็นสภาประชาชน สภาประชาชนจะเป็นสภาที่กำหนดแนวนโยบายและทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลการตรากฎหมาย ต่อต้านการทุจริต และตรากฎหมายการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม สภาประชาชนจะเป็นผู้คัดเลือกคนดีที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 รัฐบาลประชาชนจะเร่งรัดปฏิบัติงาน ตามแนวนโยบายสภาประชาชนให้เสร็จสิ้นในเวลาที่สั้นที่สุดอาทิ การกระจายอำนาจการปกครอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ตำรวจเป็นตำรวจประชาชน เป็นต้น

"เมื่อทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ประเทศเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตยบริสุทธิ์ รัฐบาลประชาชน สภาประชาชนจะกลับบ้าน ทำหน้าที่เป็นประชาชนเจ้าของประเทศตามปกติ เพราะถือว่าจบภาระหน้าที่ของประชาชนแล้ว"

สุเทพกล่าวว่า ชัยชนะของประชาชนของประชาชนยังไม่บังเกิดขึ้นในวันนี้ โดยอ้างว่าเป็นเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังยื้อยุดพยายามที่จะคงอำนาจตนไว้ ทั้งที่หมดความชอบธรรมทุกประการ แต่ผู้ชุมนุมจะสู้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อจนกว่าจะได้ชัยชนะของประชาชน

 

เรียกร้องข้าราชการ ประชาชน เลือกข้างไม่อยู่กับระบอบทักษิณ

สุเทพกล่าวเรียกร้องว่า "กปปส. เรียกร้องข้าราชการทุกหมู่เหล่า ขรก.พลเรือน ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ ผู้ใช้แรงงานตัดสินใจอนาคตประเทศไทย เลือกข้างว่าท่านจะอยู่ระบอบทักษิณอีกต่อไป หรือจะไม่อยู่กับระบอบทักษิณ มาอยู่ข้างประชาชน เพื่อแก้ไขให้ประเทศเราดีขึ้นมีประชาธิปไตยสมบูรณ์ บริสุทธิ์ เหมือนนานาอารยะประเทศ"

พร้อมกันนี้ได้ขอให้ทุกเครือข่ายทุกจังหวัดจัดตั้งเป็น กปปส.จังหวัด เพื่อเป็นเครือข่ายต่อสู้ขจัดระบอบทักษิณให้หมดไปจากแผ่นดินไทย และเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา กปปส.จะจัดงานเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ราชดำเนิน กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการ ให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประชาชนจะมาร่วมกันเป็นล้านๆ คนถวายความจงรักภักดี

ประการสุดท้าย ขอให้คำยืนยันประชาชนทั้งประเทศว่าในการต่อสู้ของมวลมหาประชาชน กระผมในฐานะแกนนำ เพื่อนแกนนำ ได้ครุ่นคิดกำหนดแนวทางต่อสู้อย่างรอบคอบ ว่าการต่อสู้ครั้งนี้กระผมในฐานะแกนนำและเพื่อนแกนนำ ได้กำหนดเป้าหมายอย่างรอบคอบ ชัดเจน รับฟังความคิดจากพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า เชื่อว่าการตัดสินใจที่ยึดประโยชน์ของชาติ จะนำไปสู่ชัยชนะที่เด็ดขาดของมวลมหาประชาชนอย่างแน่นอน

 

พรุ่งนี้จะไป สตช. บอกอดุลย์คิดให้ดีถ้าจะอยู่กับระบอบทักษิณ

ทั้งนี้หลังการแถลงข่าว สุเทพได้ปราศรัยอีกครั้งหนึ่ง โดยชี้แจงว่าในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไปหา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.สตช. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และย้ำว่้า "ขอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ครุ่นคิดให้ดี จะตั้งใจขายชีวิตวิญญาณให้ระบอบทักษิณหรือจะมายืนอยู่กับประชาชนคนไทยร่วมกันแก้ไขปรับปรุงประเทศไทยให้รอดพ้นจากอำนาจเผด็จการประชาธิปไตยหุ่นเชิดที่มีคนชักใยจากต่างประเทศ" และย้ำว่าจะปฏิบัติการชุมนุมแต่เช้า และจะทำให้เสร็จตั้งแต่ช่วงบ่าย เพราะไม่ต้องการให้มีการปฏิบัติการในช่วงกลางคืน

สุเทพอธิบายด้วยว่าที่ประชาชนต่อสู้นั้นก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ "มาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ในทางปฏิบัติเราก็มอบอำนาจอธิปไตยด้านการออกกฎหมาย นิติบัญญัติให้สภาผู้แทนด้วยการเลือกผู้แทน อำนาจบริหารบ้านเมืองให้นายกรัฐมนตรี รัฐบาล มาบัดนนี้ปรากฏว่าทั้งรัฐบาลและสภา ทรยศประชาชน ไม่ทำงานตามอำนาจที่ประชาชนมอบหมาย ในการสร้างความดี ความถูกต้อง ความเจริญกับบ้านเมือง แต่เอาไปรับใช้ทักษิณ ชินวัตรทุจริต คอร์รัปชั่น โกงกินบ้านเมือง

 

อ้าง ม.68 และเป็นหน้าที่คนไทยพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พร้อมจวกรัฐบาลเป็นกบฎแล้ว แต่มาตั้งข้อหาคนอื่นเป็นกบฎ

สุเทพปราศรัยด้วยว่าที่ประชาชนขึ้นมาต่อสู้นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ "ก็เพราะรัฐบาลได้อำนาจประชาชนไปแล้วเหลิงอำนาจ อ้างว่าได้รับการมอบหมายจากประชาชน แล้วทำตนใหญ่โต ไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดาหน้าออกมาปฏิเสธไม่รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำตัวเป็นกบฎต่อรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย วันนี้ ทั้งรัฐบาล ทั้งสภา เป็นโมฆะหมดแล้ว เพราะได้ปฏิเสธไม่ยอมเคารพกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะฉะนั้นคนไทยจึงลุกขึ้นทวงอำนาจคืนเพื่อที่จะเอาอำนาจมาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่วิกฤต เพราะคนที่เอาอำนาจจากประชาชนมันทรยศ เราจึงต้องใช้ประชาธิปไตยทางตรง มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยว่าการกระทำของรัฐสภาเสียงข้างมาก ของวุฒิสภา ผิดบทบัญญัติมาตรา 68 จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่จะลุกขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญครับ"

"หนอยแน่ ตัวเองเป็นกบฎชัดๆ กลับมาตั้งข้อหากบฎ คนที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่เชื่อฟังกฎหมาย นี่มึงบ้ากันทั้งหมดแล้วหรือยังไงเนี่ยถ้าเราผิดกฎหมาย เราจะสู้กระบวนการยุติธรรม ไม่หนีไปไหน" สุเทพกล่าว

 

วอนผู้ชุมนุมเข้าใจต้องใช้เวลานาน ไม่เหมือนทหารที่ 3 ชั่วโมงก็จบแล้ว

สุเทพกล่าวด้วยว่าการต่อสู้ครั้งนี้กระทำโดยประชาชนจึงใช้เวลานานไม่เหมือนทหาร "ถ้าเป็นทหาร สามชั่วโมงก็จบแล้ว ขี้แตกแล้วไอ้พวกนี้ เอารถถังมายึดสี่แยก พวกนี้ก็ยอมสวามิภักด์จำนน แต่ทหารเขาไม่ต้องการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ ต้องชื่นชมทหาร ปรบมือให้เขาหน่อย วันนี้เป็นเรื่องของประชาชน มวลมหาประชาชนทั้งประเทศที่เป็นเจ้าของประเทศไทย เมื่อเห็นว่าคนที่เรามอบอำนาจไปทำการแทนเรา ทำให้บ้านเมืองวิบัติเสียหาย ไม่สำนึก เราต้องถอนอำนาจคืนมาจัดการเอง ให้บ้านเมืองสุข สงบ เจริญก้าวหน้าไปได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำ"

สุเทพกล่าวด้วยว่า "ส่วนพวกโลกสวย วิจารณ์มาก จุกจิก พี่น้องทั้งหลาย ภารกิจแรกของเราก็คือเราจะมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว จบหมดอำนาจ จะระดมหัวใจ แก้ไขปัญหาข้อมูลให้เรียบร้อย ด้วยใจที่บริสุทธิ์ของประชาน ไม่มีผลประโยชน์นักการเมืองมาเกี่ยวข้อง"

"ผมเป็นนักการเมืองอาชีพ 35 ปี สู้ในระบอบมาตลอด และตระหนักในความเป็นจริงแล้วว่า ถ้าตราบใดยังมีกลไกกระบวนการเลือกตั้ง มันก็ซื้อตำแหน่ง ส.ส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทำการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ประโยชน์ของตระกูลมันพรรคพวกมัน มันโกงทั้งโคตร โคตรโกงอย่างที่เราเห็น ถ้าไม่ลุกขึ้นต่อ วัฏจักรนี้จะดำเนินต่อไป ซื้อเสียง ซื้อตำแหน่ง ส.ส. รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เอาอำนาจรัฐ อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ฟังคนๆ เดียวสั่งการ เขาจึงเรียกว่าประชาธิปไตยหุ่นเชิด เหมือนหนังตะลุง ต้องให้คนชักปาก มันถึงจะพูดได้ พี่น้องชาวภาคใต้รู้ดี หนังตะลุงทุกตัวไม่มีสมอง มีปาก แต่ว่ามันจะพูดได้ จะเชิดได้จะเดินได้ เมื่อนายหนังเป็นคนเชิด คนชัก ที่ชื่อทักษิณชินวัตร คนเดียว"

สุเทพยืนยันด้วยว่าการตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชนนั้นสามารถทำได้ โดยเขาอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 7 "เราจะดำเนินการตามมาตรา 7 นี้เพื่อตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน เมื่อแก้ไขปัญหานี้เสร็จแล้วเราก็จะกลับบ้าน" โดยเขายืนยันว่าได้สอบถามอาจารย์ทางนิติศาสตร์มาแล้ว 30 คน โดยรูปแบบวิธีการตั้งสภาประชาชนนั้นสุเทพอธิบายว่า "ต้องเอาตัวแทนประชาชนที่ไม่มีผลประโยชน์ยืดยาว คิดคำนึงประโยชน์ชาติเท่านั้น ให้ทุกสาขาอาชีพลงทะเบียน เลือกกันเอง เอาตัวแทนมาประกอบกันเข้า เป็นสภาประชาชน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย แก้ไขกฎหมายที่จำเป็นเหมาสะมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยจะทำเพื่อส่วนรวม เพื่อชาติและประชาชน พอมีสภาประชาชนที่เป็นตัวแทนคนสาขาอาชีพต่างๆ อย่างแท้จริง" โดยสุเทพกล่าวว่ารูปแบบนี้จะเหมือนกับสภานิติบัญญัติหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่เขายืนยันว่า "จะทำให้ดีกว่านั้นอีก จะมีสภาประชาชนแท้จริง ทำงานให้ประชาชน ให้ประเทศนี้ ส่วนใครที่คิดไม่ออก ก็นั่งรอไปแล้วกัน ผมขี้เกียจอธิบาย" สุเทพกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเด็จพระเทพฯพระราชทานของเยี่ยมผู้บาดเจ็บทางการเมือง

Posted: 03 Dec 2013 07:12 AM PST

3 ธ.ค.2556 เมื่อเวลา 12.00  ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านผู้หญิงระวิจิตร สุวรรณบุปผา ผู้ช่วยราชเลขาธิการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะผู้แทนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เดินทางมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทั้งกรณีเหตุปะทะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นประจำทุกปี และการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล
 
ท่านผู้หญิงระวิจิตร กล่าวว่า ตนได้เดินทางมาเยี่ยมประชาชนและนำกระเช้าเครื่องดื่มมาเยี่ยมในนามตัวแทนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ได้รับสั่งให้มาติดตามอาการของผู้บาดเจ็บทั้งหมด พร้อมทั้งรับสั่งว่าให้ให้กำลังใจกับผู้บาดเจ็บทุกคน และหากเป็นผู้ที่มีเจตนาดีก็ขอพระราชทานพร ซึ่งหลังจากนี้ตนจะนำข้อมูลรายละเอียดของผู้บาดเจ็บทั้งหมดกลับไปกราบบังคมทูล โดยการรักษาผู้บาดเจ็บหากสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ครอบคลุมในเรื่องใด ก็ขอให้โรงพยาบาลแจ้งมา ก็จะให้ความช่วยเหลือรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ โดยเฉพาะรายที่ถูกยิงที่หน้าอกจนทะลุช่องท้องและเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความเป็นห่วง และทรงติดตามผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วนจะไม่สามารถกลับไปดำเนินอาชีพได้ตามปกติ ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความช่วยเหลือในระยะยาว
 
เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรัฐธรรมนูญกับหลักนิติธรรม

Posted: 03 Dec 2013 06:16 AM PST

อนุสนธิจากคำอภิปรายของ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ปราศรัยที่เวที "ม็อบนกหวีด" ถนนราชดำเนิน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556 ผู้ฟังมากหลายพัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.com/journal/2013/11/50025) ด้วยเห็นว่า การปราศรัยดังกล่าวมีคนฟังจำนวนมาก อาจจะทำให้สังคมเข้าใจในหลักนิติธรรมผิด และเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยผิด และเห็นว่าอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ มองปัญหาสังคมและการเมืองไทย เพี้ยนไปจากหลักการที่ชอบธรรมของหลักนิติธรรม จึงอยากจะแสดงความเห็นแย้ง และไม่เห็นด้วยกับสาระที่นายกิตติศักดิ์นำเสนอ ดังนี้

โดยภาพรวม รู้สึกเสียดาย ที่นายกิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นถึงอาจารย์ผู้ใหญ่สอนกฎหมาย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงจะมีลูกศิษย์เรียนด้วยจำนวนมาก แต่อาจารย์ยังพูดเรื่องหลักกฎหมาย ผิดๆถูกๆ และไม่ประสีประสาเรื่องอำนาจการปกครอง และเรื่องระบอบประชาธิปไตยเอาเลย นายกิตติศักดิ์ จะรู้หรือเปล่าหนอว่าสิ่งที่เขาพูดบรรยาย เขาเขียน เขาปราศรัยนั้น มันผิดหลักวิชาการรัฐศาสตร์ และให้ความหมายของหลักนิติธรรมผิดไป

ประการแรก เห็นว่านายกิตติศักดิ์เข้าใจผิด ระหว่างประชาธิปไตยและอนาธิปไตย ที่เขานำเสนอมันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมในลักษณะที่กล่าวถึงมันคืออนาธิปไตย ยิ่งปรากฏชัดในวันต่อๆ มา  หลักอำนาจของประชาชนนั้น ยึดถือเสียงข้างมาก แม้ให้ "เคารพเสียงข้างน้อย"  และให้ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม และการปกครองจากเลือกตั้ง ที่ถือเป็นหลักการใหญ่พื้นฐาน โดยเฉพาะหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนั้นสำคัญที่สุด แต่วิธีการตัดสินเขาให้ใช้เสียงข้างมากเป็นมติตัดสิน และไม่ได้แปลว่าพวกมากลากไปในทางลบ แม้ในทางเป็นจริงและในการปฏิบัติจริง จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องหลักการที่ต้องยอมรับกันให้ได้ 

คงเพราะนายกิตติศักดิ์ สอนกฎหมาย จึงย้ำว่าให้รัฐสภายึดระบอบ "ตุลาการธิปไตย" เป็นสรณะ ในการปกครอง ให้ถือเอาศาลเป็นอำนาจสูงสุด ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรืออำนาจปวงชนสูงสุด และนายกิตติศักดิ์ยังให้ยึดถือ "ลัทธิรัฐธรรมนูญ" เป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเขียนโดยใคร ตราอย่างไร จะเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ สาระกฎหมายใช่สาระของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม สภาจะต้องยึดถือโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ สรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้พูดไม่ใช่นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ไม่สามารถชี้แนะในทางอำนาจปกครองที่ชอบธรรมได้ 

นายกิตติศักดิ์เห็นว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมาจากโจร หรือจากใคร ถือว่าชอบและถูกทั้งหมด จึงทำให้น่าเป็นห่วงในการถ่ายทอด ของนายกิตติศักดิ์ ไปยังลูกศิษย์และบุคคลทั่วไป ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าเป็นการหลงทาง หลงวิชา หรืออวิชชา ในหมู่นักวิชาการ นักกฎหมายสอนในมหาวิทยาลัย จึงเห็นว่าการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยวันนี้ผิดพลาด ไม่เว้นแม้แต่คนสอนระดับปริญญาเอก มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ เป็นคณบดีนิติศาสตร์ หรือแม้แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ก็นำวิชานิติศาสตร์ไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อระบบการปกครอง และระบบความยุติธรรมในสังคม ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมการเมืองไทยในวันนี้

ผมอ่านคำอภิปรายของนายกิตติศักดิ์ แล้วทำให้รู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจมาก ด้วยเห็นว่าส่วนใหญ่ที่นายกิตติศักดิ์นำเสนอ เป็นความเห็นที่ผิดในทัศนะของผู้เขียน เกรงว่าถ้าปล่อยให้ขยายต่อไปก็จะไปกันใหญ่ จึงขอนำเสนอคำอธิบายหลักวิชาการเบื้องต้น เกี่ยวกับหลักรัฐศาสตร์ ประชาธิปไตย และหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม ที่แตกต่างและเห็นว่าสังคมควรเข้าใจตรงกัน

ประการที่สอง  อยากให้เข้าใจถึงหลักและทฤษฎีเบื้องต้นของการเป็นรัฐ อำนาจรัฐและกฎหมายเพื่อใช้ปกครองรัฐก่อน ในความจริงแท้ รัฐและอำนาจรัฐนั้นเกิดพร้อมกัน และอำนาจรัฐจะเกิดก่อนกฎหมายเสมอ อำนาจรัฐคือผู้บัญญัติกฎหมาย กฎหมายจึงเกิดทีหลังอำนาจเสมอ เมื่อมีรัฐก็มีอำนาจการปกครองรัฐ เรียกว่าระบอบการปกครองรัฐ จำแนกเป็นสองระบอบใหญ่ๆ คือระบอบอำนาจปวงชน และระบอบอำนาจบุคคล อำนาจปวงชนเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย อำนาจบุคคลเรียกว่าระบอบเผด็จการ "Authoritarian or Dictatorship" ซึ่งมีหลายแบบให้เรียก เช่นเรียกตามชื่อผู้ถืออำนาจนั้น เช่นระบอบฮิตเลอร์ แปลว่าฮิตเลอร์คือผู้ถืออำนาจ ในสมัยโบราณกษัตริย์คือผู้ถืออำนาจปกครอง ก็เรียกว่า ระบอบราชาธิปไตย

ในการปกครองสมัยใหม่ ในประเทศที่เจริญรุ่งเรืองส่วนใหญ่ ให้อำนาจรัฐเป็นของประชาชน แต่ไม่ว่าการปกครองระบอบใด จะแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของรัฐ ออกเป็น 3 สถาบัน คือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยแบ่งอำนาจ แบ่งหน้าที่กันด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหลักที่เรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ ไม่ให้สถาบันอำนาจใดใหญ่กว่ากัน ให้ถ่วงดุลกันได้

ในระบอบเผด็จการหรือราชาธิปไตย ทั้ง 3 สถาบันอำนาจถือโดยคนคนเดียว หรือรวมอยู่ในคณะบุคคล ที่เป็นคณะผู้ปกครองในระบอบนั้น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ใช่เจ้าของอำนาจ ส่วนในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของและผู้ถืออำนาจ โดยให้ผู้แทนปวงชนในรัฐสภาเป็นผู้ถือดุลอำนาจ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบระบบรัฐสภา โดยหลักรัฐศาสตร์การปกครอง เขาให้รัฐสภาเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ไม่ใช่ศาล ยังไม่มีประเทศใดที่ปกครองด้วยระบอบ "ตุลาการธิปไตย" หรือ "ตุลาการภิวัฒน์" อาจจะยกเว้นประเทศพิเศษนี้

ประการที่สาม สาระของหลักกฎหมายหรือนิติธรรม (Rule of Law) เรื่องของอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยหลักรัฐศาสตร์อำนาจรัฐสูงสุดเสมอในรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นระบอบใด ไม่ว่าระบอบจะเป็นประชาธิปไตยหรือราชาธิปไตย "อำนาจ" คือผู้ตรากฎหมาย อำนาจจึงใหญ่กว่ากฎหมายเสมอ กล่าวอย่างเป็นที่สุด "อำนาจ" จะเขียนหรือเปลี่ยนกฎหมาย อย่างไรก็ได้ แต่ต้องยึดหลัก คือให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมไม่ใช่กฎหมาย แต่มันหมายถึงหลักยุติธรรมสากล หลักความถูกต้อง ที่คนทั่วไปยอมรับ

ทุกระบอบล้วนต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกครองทั้งสิ้น ที่สำคัญ ระบอบประชาธิปไตย ถือว่ากฎหมายที่ชอบธรรมต้องเป็นกฎหมายที่มาจากความเห็นชอบและความยินยอมของประชาชน กฎหมายจะถูก หรือผิดประชาชนหรือตัวแทนเขาในรัฐสภาจะเป็นผู้ตราขึ้น และแก้ไขเอง ผู้แทนของประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจแทนประชาชน ต้องเป็นผู้ตรากฎหมาย จึงจะถือว่ากฎหมายนั้นมีความชอบธรรม รัฐสภาที่มาจากประชาชน จึงเป็นหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐของระบอบประชาธิปไตย

ต่อคำถามว่าประเทศไทย ปกครองด้วยระบอบอะไร ถ้าคำตอบคือระบอบประชาธิปไตย อ้างตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ แต่สิ่งที่น่าฉงนมากๆ คือ ทำไมวันนี้ศาลไทยยังต้องเอากฎหมายของคณะรัฐประหารมาใช้ พิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ ในทัศนะผู้เขียนปัญหาของไทยวันนี้ เกิดจากระบอบไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยเพียงในรูป แต่โดยสาระนั้นไม่ใช่ แถมยังมีองค์กรอื่นที่ใช้อำนาจรัฐซ้อนรัฐที่เรียกว่าองค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่น ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ดังนั้นรัฐสภาประชาธิปไตย จึงมีหน้าที่นิติบัญญัติ ออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเก่า ให้เป็นประชาธิปไตย ให้กฎหมายมีความชอบธรรม ถือเป็นหน้าที่ของรัฐสภา จึงเห็นว่าไม่ใช่กงการ หรือหน้าที่อะไรของศาล หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมาชี้ว่ารัฐสภาแก้กฎหมายอะไรได้ หรือกฎหมายอะไรไม่ได้ การตรากฎหมายไม่ใช่หน้าที่ศาล เป็นหน้าที่รัฐสภา

ในเรื่องหลักนิติธรรม ที่น่าเป็นห่วงคือ ที่นายกิตติศักดิ์แปลหลักนิติธรรมว่าคือ "หลักการปกครองที่ถือเอากฎหมายเป็นใหญ่"  ผมเห็นว่าเป็นคำแปลที่ผิดและเพี้ยนเอามากๆ ซึ่งแปลว่า ถ้าโจรออกกฎหมายย่อมเป็นกฎของโจร จะเป็นหลักนิติธรรมไปไม่ได้ ศาลจึงไม่ควรเอากฎหมายที่ไม่อยู่ในหลักนิติธรรมมาใช้ อาจารย์สอนกฎหมายไม่ควรสอนหลักนิติธรรมผิดๆถูกๆ เพราะเป็นเรื่องสำคัญกว่าตัวกฎหมายเสียอีก หลักนิติธรรมที่องค์การสหประชาชาติบัญญัติ และไทยลงนามเป็นภาคีนั้น อยู่ในหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไม่ได้มีความหมายอย่างที่นายกิตติศักดิ์กล่าวไว้เลย

ด้วยไม่อยากให้นักศึกษาและผู้ฟังจำนวนมากเข้าใจผิด จึงขออธิบายหลักนิติธรรม และให้ตัวอย่างที่เป็น รูปธรรมของหลักนิติธรรมหรือกฎหมายที่เป็นธรรม เช่นหลักการว่า ศาลต้องเป็นศาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยองค์อำนาจที่ชอบธรรมเท่านั้น และประกันความเป็นอิสระของคณะตุลาการ และตุลาการจะต้องเป็นกลางมีจรรยาบรรณ ตั้งอยู่ในหลักนิติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่รับสินบน เป็นต้น หากตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญไทยยุคนี้ ท่านผู้อ่านคงจะตอบได้เองว่า สถานะของศาลรัฐธรรมนูญไทยคืออย่างไร ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็น "ศาล" แต่ควรอยู่ในรูปของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ประการที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญกับหลักนิติธรรมในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรมของศาลใดๆ จะต้องอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ศาลจะต้องยึดโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชน ยึดถือหลักการและกฎหมายประชาธิปไตย หรือกฎหมายที่อยู่ในหลักนิติธรรมเท่านั้น โดยให้กฎหมายต้องมีผลไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่ให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ยกเว้นกำหนดให้ย้อนหลังได้ เช่นกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายต้องมีความมั่นคงและแน่นอน ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ กฎเกณฑ์และกระบวนการในการตรากฎหมายต้องชัดเจนแน่นอน รวมถึงมีหลักประกันกระบวนการในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมอีกด้วย

ในการพิจารณาให้ความยุติธรรม องค์กรตุลาการมิใช่มีอำนาจไม่จำกัด แม้อำนาจในการตัดสินให้ผูกพันองค์กรอื่นหรือบุคคลอื่น แต่คดีความที่พิจารณานั้นจะต้องอยู่ในเขตอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะต้องกำหนดโดยตราเป็นกฎหมาย และการลงโทษต่อความผิด จะทำได้เฉพาะความผิดและมีโทษเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ในกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีหลักประกันความยุติธรรมตามธรรมชาติ มีกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และการฟังความจากทุกฝ่าย ไม่ใช่การกระทำที่สุกเอาเผากิน ไม่ตัดสินตามอำเภอใจ และให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงองค์กรตุลาการได้โดยง่าย

ในระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาคดีไม่ควรมีระบบ "ใต้เท้า" โดยอ้างว่าตัดสินในพระปรมาภิไธย ห้ามวิจารณ์ ถ้าหากทำจะถูกศาลลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล ในกระบวนการยุติธรรมอาญา ไม่ให้ศาลใช้ดุลพินิจลงโทษตามอำเภอใจ หรือตามใบสั่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย "ที่ชอบธรรม" เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจได้

ข้อวิจารณ์ศาลไทย โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญของไทย ในกรณีที่เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น เป็นเรื่องหลักการที่ใหญ่ ด้วยเห็นว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐสภา จึงวิจารณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม โดยหลักนิติรัฐทั่วไป ศาลจะต้องไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร การรัฐประหารไม่ใช่หลักนิติรัฐหรือนิติธรรมแน่นอน อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญไทยยังได้ตัดสินลงโทษทางการเมืองบุคคลที่ไม่ได้ทำความผิด หลักกฎหมายให้ถือว่าคนไม่ได้ทำผิดจะต้องไม่ได้รับโทษ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ตัดสิทธิทางการเมืองคนไทยห้าปี จำนวนกว่าสองร้อยคน แม้ไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม ซึ่งสิทธิทางการเมืองถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ตามหลักและกฎหมายสากล ที่กระทำไม่ได้ เช่นเดียวกับการให้ยุบพรรคการเมืองได้ ถ้าพรรคการเมืองหมายความว่าการรวมตัวของประชาชนเพื่อให้มีอำนาจรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตย โดยนัยนี้ก็หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญถืออำนาจเหนืออำนาจประชาชน สามารถยุบอำนาจประชาชนได้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในลักษณะนี้ จึงไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรให้เป็นศาล ถึงเป็นศาลการเมือง ศาลก็ไม่ควรละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองเสียเอง ในความเป็นจริง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยความเห็นผู้เขียนควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปใหม่ ที่ผ่านมาศาลนี้ก็ได้ทำตัวเป็นเพียงเครื่องมือของระบอบเผด็จการ ของอำนาจที่ไม่ชอบธรรม การตัดสิทธิทางการเมือง การยุบพรรคการเมืองกระทำไม่ได้ ยิ่งโดยการใช้คำสั่งจากรัฐประหาร ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ขาดความเป็นธรรม ถือว่าศาลไม่ตั้งอยู่ในหลักนิติธรรม จึงขาดความชอบธรรม คำสั่งของศาลจึงทำให้คนรับไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดกลียุคและความวุ่นวายขึ้น และจะเกิดขึ้นต่อๆ ไป ด้วยเหตุที่ศาลขาดหลักนิติธรรม เมื่อประชาชนและอำนาจส่วนอื่นไม่ยอมรับอำนาจศาลย่อมเป็นปัญหาการเมืองการปกครองต่อไป

โดยหลักการดังกล่าวแล้ว ย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญไทย ไม่ควรให้เป็นศาล เพราะเป็นสถาบันอันตราย และเป็นตัวทำลายระบอบประชาธิปไตย ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ศาลนี้ได้ยุบพรรคการเมืองหลายพรรค ด้วยหลักฐานอันเป็นเท็จอีกด้วย โดยใช้เหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่การใช้หลักนิติธรรม อีกทั้งยังบังอาจทำการปลดนายกฯ ประมุขของอำนาจคู่ขนานที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอีก เพียงเพราะ "ทำกับข้าวออกทีวี" หรือการตีความเองว่ารับจ้างก็แล้วแต่ ถือว่าไม่ใช่เหตุผลสำหรับสังคมประชาธิปไตย การปลดรัฐมนตรีเพราะถูกหาว่า "อาจจะ" ทำให้เสียดินแดน หรือล่าสุดกรณี ไม่ให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญตามหน้าที่ ก็ล้วนไม่อยู่ในหลักนิติธรรมที่กล่าวถึงทั้งสิ้น

สังคมไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์ว่าตัดสินตามใบสั่งของอำนาจอื่นก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลมารองรับอย่างข้างๆคูๆ และด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ตราไว้ในกฎหมายอีกด้วย จึงเห็นว่าองค์กรนี้ได้ทำหน้าที่ผิดหลักการปกครอง ทำให้เกิดปัญหามากกว่าทำให้ปัญหายุติ และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย ถือว่าไม่ได้ใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง

โดยหลักแห่งอำนาจและหน้าที่ของสถาบันอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐแล้ว  รัฐสภาต่างหากที่มีอำนาจ สามารถตรากฎหมายให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญก็ได้  (1 ธ.ค. 13)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท้าให้ตอบข้อสอบ นศ.มธ. วัดประชาธิปไตยในตัวคุณ

Posted: 03 Dec 2013 04:31 AM PST

หมายเหตุ: 3 ธ.ค.2556 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สภาหน้าโดม และ New Culture จัดกิจกรรมชวนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คัดค้านการงดการเรียนและการสอบของ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. ด้วยการเข้าร่วมการสอบวัดความรู้ความเข้าใจ ประชาธิปไตยพื้นฐาน และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน โดยระบุว่าการงดเรียนงดสอบดังกล่าวปราศจากเหตุสมควร และส่อนัยแฝงทางการเมือง กิจกรรมดังกล่าว จัดที่โถงกลาง อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ SC มธ. ศูนย์รังสิต



                   นักศึกษานั่งทำข้อสอบ

 

ข้อสอบ


1. "เศรษฐกิจพอเพียง...จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน
ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้..."
เป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่เท่าไร
ก. วันที่ 4 ธันวาคม 2541
ข. วันที่ 4 ธันวาคม 2549
ค. วันที่ 5 พฤษภาคม 2531
ง. วันที่ 5 พฤษภาคม 2534
จ. วันที่ 9 มิถุนายน 2489

2. "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" เป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่เท่าไร
ก. 11 ธันวาคม 2512
ข. 6 ตุลาคม 2519
ค. 14 ตุลาคม 2516
ง. 19 กันยายน 2549
จ. 19 พฤษภาคม 2553

3. ประชาธิปไตยทางตรง หมายถึงอะไร
ก. ประชาธิปไตยที่มีการหาเสียงกันโดยเปิดเผย
ข. การที่นักการเมืองซื้อเสียง ทำให้ได้อำนาจมาจากประชาชน
ค. ประชาชนทุกคนสามารถไปออกเสียงแสดงความต้องการของตนโดยไม่ต้องผ่านผู้แทนราษฎร
ง. ประชาชนทุกคนสามารถเลือกผู้นำของประเทศได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านผู้แทนราษฎร
จ. ไม่มีข้อใดถูก




4. บุคคลตรงกลางภาพคือผู้ใด
ก. สุตสาย หัสดิน
ข. วสิษฐ เดชกุญชร
ค. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ง. วัชรินทร์ เนียมวณิชกุล
จ. พจน์ พหลโยธิน


5. หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตย คืออะไร
ก. การมีสมาชิกสภาแบบแต่งตั้งเพื่อถ่วงดุลกับเลือกตั้ง
ข. ประชาชนเป็นกลางทางการเมือง
ค. เสรีภาพสมบูรณ์
ง. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ผู้ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย
จ. สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค รัฐธรรมนูญ นิติรัฐ นิติธรรม



6. บุคคลในภาพคือใคร
ก. กุหลาบ สายประดิษฐ์
ข. อัศวพาหุ
ค. เทียนวรรณ
ง. ศรีบูรพา
จ. อัศนีย์ พลจันทร

 



7. ภาพเป็นเหตุการณ์ใด
ก. 14 ตุลาคม 2516
ข. 14 ตุลาคม 2514
ค. 16 ตุลาคม 2514
ง. 6 ตุลาคม 2516
จ. 6 ตุลาคม 2519


8. "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว"
บทบัญญัติดังกล่าวนั้นคือมาตราที่เท่าไรในรัฐธรรมนูญฉบับใด
ก. มาตรา 1 รธน. 2540
ข. มาตรา 2 รธน. 2549
ค. มาตรา 68 รธน. 2550
ง. มาตรา 190 รธน. 2550
จ. มาตรา 209 รธน. 2550

9. วันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์คือวันใด
ก. 5 ธันวาคม 2488
ข. 1 มกราม 2489
ค. 5 เมษายน 2489
ง. 9 มิถุนายน 2489
จ. 8 พฤศจิกายน 2490

10. นายกรัฐมนตรีคนใดดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด
ก. จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ข. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ค. พระยาพหลพลพยุหเสนา
ง. ปรีดี พนมยงค์
จ. เสนีย์ ปราโมช

11. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถือเป็นฉบับที่เท่าไร และมีกี่มาตรา
ก. ฉบับที่ 18 มี 309 มาตรา
ข. ฉบับที่ 17 มี 309 มาตรา
ค. ฉบับที่18 มี 190 มาตรา
ง. ฉบับที่ 19 มี 112 มาตรา
จ. ฉบับที่ 20 มี 319 มาตรา

12. มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 บัญญัติไว้ว่าอย่างไร
ก. ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข.  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
ค. อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
ง.  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
จ. ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

13. เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีเกิดขึ้นสมัยนายกรัฐมนตรีคนใด
ก. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ข. จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ค. ควง อภัยวงศ์
ง. ถนอม กิตติขจร
จ. พจน์ สารสิน

14. พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ ถูกเสนอเข้าสภานิติบัญญัติในสมัยนายกรัฐมนตรีคนใด
ก. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ข. จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ค. ควง อภัยวงศ์
ง. ถนอม กิตติขจร
จ. พจน์ สารสิน
 

15. บุคคลในภาพคือใคร
ก. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ข. วัชรินทร์ เนียมวนิชกุล
ค. วิโรจน์ ตั้งวานิชย์
ง. อภินันท์ บัวหภักดี
จ. เสกสรร ประเสริฐกุล


16. ผู้ใดไม่ได้เกิดในประเทศไทย(อ้างอิงอาณาเขตปัจจุบัน)
ก. ปรีดี พนมยงค์
ข. เสนีย์ ปราโมช
ค. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ง. ควง อภัยวงศ์
จ. เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท

17. ผู้ใดตายในประเทศไทย
ก. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ข. ปรีดี พนมยงค์
ค. พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ง. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
จ. จอมพล ป. พิบูลสงคราม

18.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" เมื่อวันที่เท่าไร
ก. วันที่ 24 มิถุนายน 2475
ข. วันที่ 27 มิถุนายน 2477
ค. วันที่ 9 มิถุนายน 2489
ง. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
จ. วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

19. ในหลวงเกิดที่ไหน
ก. สหรัฐอเมริกา
ข. สวิตเซอแลนด์
ค. ฝรั่งเศส
ง. ไทย
จ. อังกฤษ

20. หน่วยงานใดที่รับผิดชอบในการดูแลความสงบในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ณ ขณะนี้
ก. ศอ.รส.
ข. ศอ.บต.
ค. ศอฉ.
ง. กอ.รมน.
จ. กปปส.

21. อธิการบดีสมคิด เลิศไพฑูรย์มีชื่อเล่นว่าอะไร
ก. ตู่
ข. เต้น
ค. เล็ก
ง. ใหญ่
จ. ไม่มีชื่อเล่น

22. กปปส. ย่อมาจากอะไร
ก. คณะกรรมการประชาชนปฏิรูปประชาธิปไตยล้มล้างทุนสามานย์
ข. กองทัพประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ค. กองทัพประชาชนปฏิวัติประเทศไทย
ง. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จ. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

23. "ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น
จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย
ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู" เป็นคำร้องจากเพลงอะไร
ก. หนักแผ่นดิน
ข. เราสู้
ค. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ง. แองเตอร์นาซิอองนาล
จ. บางระจัน

24. "คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเช่นทาสของมัน คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย
ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง
ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู
เข้าทลายพลังไทยให้สลายทางสู้ เมื่อศัตรูโจมจู่เสียทีมัน คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ
เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา" คือเพลงอะไร
ก. หนักแผ่นดิน
ข. เราสู้
ค. ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ง. แองเตอร์นาซิอองนาล
จ. ถั่งโถมโหมแรงไฟ


25. ใครเป็นผู้เขียนหนังสือ "พระราชอำนาจ"
ก. ประมวล รุจนเสรี
ข. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
ค. บวร ยสินธร
ง. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
จ. อานันท์ ปันยารชุน

26. ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี ส.ส. และ ส.ว. อย่างละกี่คน
ก. 500+150
ข. 400+100
ค. 375+125
ง. 500+100
จ. ไม่มีข้อใดถูก

27. เหตุการณ์กบฏสันติภาพ เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีคนใด
ก. ปรีดี พนมยงค์
ข. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ค. จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ง. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
จ. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

28. หนังสือ king bhumibol adulyadej a life's work มีชื่อภาษาไทยว่าอะไร
ก. พระราชอำนาจ
ข. กลางใจราษฎร์ :หกทศวรรษแห่งการทรงงาน
ค. กงจักรปิศาจ
ง. กลางใจราษฎร์ :พระเจ้าอยู่หัวของราษฎรไทย
จ. พระราชกรณียกิจ

29. กบฏยังเติร์กเกิดในปีอะไร
ก. 2475
ข. 2500
ค. 2516
ง. 2519
จ. 2524

30. ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
ก. อานันท์ ปันยารชุน
ข. เปรม ติณสูลานนท์
ค. ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ง. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
จ. สัญญา ธรรมศักดิ์

31. อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของใคร
ก. มวลมหาประชาชนสุเทพ
ข. รัฐสภา
ค. ศาลรัฐธรรมนูญ
ง. ในหลวง
จ. วุฒิสภา

32. ถ้ารัฐบาลจะยุบสภาต้องประกาศเป็นกฎหมายชนิดใด
ก. พระราชบัญญัติ
ข. พระราชกฤษฎีกา
ค. พระราชกำหนด
ง. พระราชอำนาจ
จ. ไม่มีข้อใดถูก

33. ตามคำอธิบายของนิติราษฎร์ ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ก. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่ายื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านอัยการ
ข. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลมารับเรื่องโดยตรง
ค. ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ยื่นผ่านอัยการก่อน
ง. ไม่ได้ เพราะไม่มีข้อใดบัญญัติไว้ให้ประชาชนมีสิทธิ์ยื่นเรื่อง
จ. ไม่มีข้อใดถูก

34. กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่าอย่างไร
ก. ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ข. ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ค. ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ พระมหากษัตริย์องค์ก่อน พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ง. ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกยี่สิบปี
จ. ผู้ใดแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

35. ปัจจุบัน ผบ.ตร. ชื่ออะไร
ก. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
ข. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
ค. อํานวย นิ่มมะโน
ง. อดุลย์ แสงสิงแก้ว
จ. มืดแปดด้าน

36. ผู้ใดอยู่ในคณะนิติราษฎร์
ก. กิตติศักดิ์ ปรกติ
ข. ยุกติ มุกดาวิจิตร
ค. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ง. จันจิรา สมบัติพูนศิริ
จ. ปูนเทพ เทพกาญจนา

37. การประชุมสภาผู้แทนราษฏรครั้งแรกในประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อใดและที่ใด
ก. วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
ข. วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ค. วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ที่พระบรมมหาราชวัง
ง. วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่สนามม้านางเลิ้ง
จ. วันที่ 28 มิถุนายน 2475 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

38. วันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือวันที่เท่าไร
ก. 1 ธันวาคม
ข. 2 ธันวาคม
ค. 3 ธันวาคม
ง. 4 ธันวาคม
จ. 5 ธันวาคม

39. วันเสียงปืนแตกตรงกับวันที่เท่าไร
ก. 5 หรือ 6 สิงหาคม 2507
ข. 6 หรือ 7 สิงหาคม 2507
ค. 7 หรือ 8 สิงหาคม 2508
ง. 10 สิงหาคม 2508
จ. ไม่มีข้อใดถูก

40. อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของใคร
ก. ราษฎรทั้งหลาย
ข. ราษฎรทั้งหลาย
ค. ราษฎรทั้งหลาย
ง. ราษฎรทั้งหลาย
จ. ราษฎรทั้งหลาย
ฉ. ราษฎรทั้งหลาย
ช. ราษฎรทั้งหลาย
ซ. ราษฎรทั้งหลาย
ฌ. ราษฎรทั้งหลาย
ญ. ราษฎรทั้งหลาย
ฎ. ราษฎรทั้งหลาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกแถลง สถานการณ์คลี่คลายไปในทางดี จะจัดเวทีพูดคุยเรื่องปฏิรูปการเมือง

Posted: 03 Dec 2013 03:56 AM PST

นายกรัฐมนตรีแถลงสถานการณ์ยังไม่ปกติแต่คลี่คลายไปในทางดี ขอให้ จนท.หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า รบ.จะจัดเวทีให้ทุกฝ่ายมาระดมความเห็นปฏิรูปการเมือง และในโอกาส 5 ธ.ค. ขอให้คนไทยหันหน้ามาพูดคุยกันให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องที่เป็นความสุขในเดือนธันวาคมนี้ 

3 ธ.ค. 2556 - นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงข่าวทาง แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล) เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ว่า หลังจากได้ร่วมปฏิญาณฯตนเป็นข้าราชการที่ดี พร้อมกับข้าราชการจำนวนมาก วันนี้ก็ได้เดินทางไปที่พะราชวังไกลกังวล ที่อำเภอหัวหิน เพื่อร่วมฝึกซ้อมงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม โดยการซ้อมใหญ่เป็นไปด้วยดี

ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า แม้บ้านเมืองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็ได้คลี่คลายไปในทางบวก รัฐบาลได้ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าทหารหรือตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่อย่างละมุนลุม่อน ไม่ให้มีการเผชิญหน้า เพื่อไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อ โดยมุ่งหวังอยากแก้ปัญหาให้เกิดความสงบสุขในระยะยาว และเชื่อว่า คนไทยสามารถหาทางออกให้กับประเทศได้ นายกรัฐมนตรีได้ขอเชิญประชาชนทุกอาชีพ รวมถึงผู้ชุมนุมมาระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อัน มีกษัตริย์เป็นประมุข โดยจะเชิญทุกฝ่ายให้มาแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้คำตอบที่ตกผลึก และดีที่สุดสำหรับประเทศ

นอกจกนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นกลับคืนมา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้เอกชนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และนักลงทุน และกล่าวว่า อยากเห็นคนไทยหันหน้าหากันร่วมแก้ปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสนติและก้าวไปข้างหน้าได้ และมีความสุขและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ขอฝากให้สื่อทุกแขนง พิจารณานำเสนอเรื่องราวที่เป็นความสุข และเป็นสิริมงคล เช่น เรื่องกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และในระยะยาว "อยากเห็นสื่อเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่สร้างความจงเกลียดจงชังให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยกันเอง"

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารถึงผู้ประกอบกิจกรรมทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

Posted: 03 Dec 2013 02:56 AM PST

ท่ามกลางกิจกรรมทางการเมืองตามความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกันจนเกิดปรากฎการณ์ที่ล่อแหลมจนเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นร้ายแรงในช่วงนี้นั้น ผู้ร่วมประชุม รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ "การสร้างประชาธิปไตยและปัญหาความขัดแย้งในระดับชาติและท้องถิ่น" ในระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2556 ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 7 พรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยความห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ใคร่ขอเสนอต่อทุกๆฝ่าย ในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

(1)ความขัดแย้งที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีจนปะทุขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นและขยายวงไปในภาคส่วนต่างๆนั้น สมควรจะต้องจัดการแก้ไขในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญและตามหลักของกฎหมายอื่นๆที่มีอยู่ โดยยึดทั้งหลักนิติธรรมและขันติธรรม เพื่อมิให้มีการใช้กำลังอาวุธหรือวิถีทางใดๆอันจะนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อและชีวิตอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีตโดยเด็ดขาด

(2)การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้นั้น นอกจากจะไม่เบี่ยงเบนไปจากหลักการสันติวิธีแล้ว การยุติข้อขัดแย้ง ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นบรรทัดฐานตามที่ระบุข้อแรก ทั้งยังสมควรต้องมาจากความพยายามในการหามาตรการที่คู่ขัดแย้งเห็นชอบร่วมกัน อันย่อมมิใช่เป็นเรื่องสุดวิสัย สำหรับสติปัญญาของผู้คนในสังคมไทย

(3)ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆและมากมิตินั้นมีสาเหตุมาจากหลายๆต้นตอ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การปกครองที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวง จนถึง วิธีการแก้ไขนานาปัญหา ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกร่วมกันอย่างกว้างขวางว่าความไม่เป็นธรรมในสังคมทับถมทวีขึ้น การแก้ไขความขัดแย้งที่สั่งสมมานานนับปีนับทศวรรษนี้มิอาจจะดำเนินการให้สำเร็จได้โดยง่ายและภายในเวลาอันสั้น

จึงขอให้เหตุการณ์ที่ชวนให้น่าตระหนกนี้เป็นบทเรียนและโอกาสให้สังคมไทยได้พยายามระดมความคิดเห็น ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาหลังจากที่ภาวการณ์อันสับสนได้สงบลง จนถือเป็นวาระแห่งชาติที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมเสนอในกระบวนการแก้ไขที่เป็นรากของปัญหา

 

 

(ศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ธีรเวคิน)

ราชบัณฑิต และประธานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

(รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ รัชชกูล)

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 14

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น