โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผบ.สส.ย้ำเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น สุเทพกลัวไม่โปร่งใสขอให้ตั้งกรรมการ

Posted: 14 Dec 2013 12:56 PM PST

ผบ.สส. แถลงข่าวหลังจัดเวทีเชิญแกนนำ กปปส. อภิปราย ระบุเวทีเปิดกว้างทางออกประเทศไม่ล็อคสเป็ค จะยอมรับข้อเสนอ  กปปส. หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่เชื่อจะไม่เกิดสงครามกลางเมืองเพราะพูดรู้เรื่อง แนะสุเทพถ้ากลัวเลือกตั้งไม่โปร่งใส ขอให้ตั้งกรรมการกลางทำให้โปร่งใส เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา

บรรยากาศ "เวทีสาธารณะเพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 56 ที่มา: เพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

 

15 ธ.ค. 2556 - ในการเสวนา "เวทีสาธารณะเพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย" ซึ่งจัดที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (14 ธ.ค.) นั้น มีผู้นำเหล่าทัพ แกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ผู้แทนองค์กร นักวิชาการ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก

สำหรับฝ่ายกองทัพ ผู้มาร่วมเสวนาประกอบด้วย พล.อ.ธนศักดิ์ ผู้บัญชการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะเกรงว่าอาจมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้ส่ง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. เป็นผู้แทนฝ่ายตำรวจมาร่วมรับฟัง

ทั้งนี้ไม่มีการอนุญาตให้สื่อเข้าไปร่วมรับฟังในห้องเสวนา แต่เปิดห้องรับรองพร้อมถ่ายทอดสดรายละเอียดการเสวนาแทน

โดย หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานว่า บุคคลที่ขึ้นไปร่วมเสวนาบนเวที ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว. และนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ วิชัย อัศรัสกร ประธานสภาหอการค้าไทย และปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เข้าร่วม

ทั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวเปิดเวทีเสวนาตอนหนึ่งว่า วันนี้ทุกคนที่มามีจิตใจเหมือนกันคือ จิตใจรักชาติเท่ากัน แนวคิดอาจจะต่างกัน แต่สุดท้ายมีเส้นเดียวกันคือรักชาติ บรรยากาศวันนี้ขอให้เป็นแบบครอบครัวพี่น้อง "ผมมั่นใจว่าทุกคนรักประเทศไทยไม่มีใครคิดทำร้ายชาติ ผมมีกำลังพล 2.4 แสนคน ถืออาวุธ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสู้รบกับอริราชศัตรูนี่คือภารกิจหลัก หากไม่ควบคุมไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเหมือนกองโจรขนาดใหญ่ ดังนั้นเราต้องอยู่ในกฎกติกามีเหตุผล เราปกป้องในชีวิตพี่น้องประชาชน ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อปราบประชาชน สรุปว่าทุกคนรักชาติเหมือนกัน การเสวนาในวันนี้เป็นการนำแนวคิดจะไม่มีอคติ เพื่อให้ประเทศชาติเดินไปได้ ที่สำคัญคือความสงบ อยากให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน อย่ากลับมาสู่วงจรเดิมๆ"

ตอนหนึ่ง สุเทพกล่าวว่า เดิมความตั้งใจของ กปปส. จะขอมาพบ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ชี้แจงความเคลื่อนไหวของ กปปส. และแนะนำว่าวิธีดีที่สุดสั้นที่คือต้องจัดการให้คนที่รักษาการนายกรัฐมนตรีลาออก หนทางที่สองถ้าเป็นเมื่อก่อนบ้านเมืองเลวร้ายขนาดนี้ทหารก็ปฏิวัติไปแล้ว แต่วันนี้ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพเป็นทหารสมัยใหม่ ประชาชนไม่ต้องการให้ทหารทำแบบนั้น แต่ว่าทหารเลือกได้ วันนี้ประชาชนลุกขึ้นมาแล้วบอกว่ารัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยการเมือง วันนี้ถ้าข้าราชการยืนข้างประชาชน เรื่องจบทันที นี่ไม่ได้บีบบังคับ แต่ถ้าทหารตัดสินใจได้เร็วก็เป็นวีรบุรุษของประชาชน

ด้านปริญญา เทวานฤมิตรกุลเสนอให้ใช้แนวคิดแบบที่ยุโรปใช้คือเมื่อถึงวันเลือกตั้งให้ทำประชามติร่วมกัน ทำให้รัฐบาลผูกพันมติของประชาชน เช่น ทำประชามติ ในข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศ 5 ข้อ หรือมีคำถามมากกว่า 1 ข้อก็ได้

ภายหลัง เวลา 17.30 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ ร่วมแถลงข่าวภายหลังมีการเสวนาสาธารณะดังกล่าว โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวถึงการเสวนาว่า การจัดเสวนาวันนี้เพื่อเป็นเวทีมาพูดคุย เราเปิดกว้างไม่ได้ล็อคสเป็ค เราต้องการทางเลือกที่ดีให้กับประเทศไทย ส่วนข้อเสนอของ กปปส. ยอมรับได้หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ระบุว่า ตอนนี้ตอบไม่ได้ แต่อยากเรียนว่าหน้าที่เรารักษาอธิปไตยความมั่นคงของชาติ รักษาชีวิตทรัพย์ของประชาชน ความขัดแย้ง หรือ ความเห็นต่าง ก็รักชาติเหมือนกัน อย่างที่พูดกันในเสวนา ถ้าทุกคนหาสิ่งที่ดีจะเป็นประโยชน์กับประขาขน ทางที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกัน และเลือกหนทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องมีการแลกเปลี่ยนกันอย่าเอาแต่หลังชนฝากัน ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดสงครามกลางเมือง เพราะทุกคนพูดกันรู้เรื่อง

"ปัญหาของประเทศจะต้องถามว่าเห็นของประชาชนว่าคิดอย่างไร ทั้ง 60 ล้านคน เพราะเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎกติกา ทั้งนี้ทุกๆ คนอยากให้ประเทศชาติดีขึ้นทั้งนั้น ซึ่งทางทหารยืนยันว่าเราจะทำตามหน้าที่และเราอยากให้ทุกคนมาพูดคุยกันประสานกัน ส่วนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ผมได้พูดไปแล้วว่าต้องเกิดขึ้น ถ้านายนายสุเทพ กังวลว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ก็ให้หากรรมการกลางขึ้นมา อยากให้คิดว่าทำอย่างไรให้โปร่งใส เพื่อให้มีการเลือกตั้งไปตามพระราชกฤษฎีกา แต่นายสุเทพก็ยืนยันว่าจะปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง" พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าว

โดยภายหลังเวทีเสวนาดังกล่าว สุเทพได้นำบรรยากาศจากการร่วมเสวนาไปปราศรัยเมื่อคืนนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย แต่เขาย้ำกับผู้ชุมนุมว่าจะไม่มีวันให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เกิดขึ้นแน่นอนเด็ดขาด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ที่มาบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติธร ล้ำเหลือ มีแผนนำผู้ชุมนุม คปท. บุกสถานทูตสหรัฐ

Posted: 14 Dec 2013 12:05 PM PST

แกนนำ คปท. เตือนสหรัฐอเมริกาถ้ายังเลือกปฏิบัติวิจารณ์การชุมนุมในไทย จะพาผู้ชุมนุมไปเหยียบสถานทูต พร้อมเตือนกองทัพถ้าไม่เลือกข้าง จะไปยึด บก.ทบ. และ บก.สูงสุด โดยจะไปสอนการปฏิรูป-การรักชาติ เมื่อกำหนดวัน-เวลาแล้วจะเคลื่อนทันที

นิติธร ล้ำเหลือ แกนนำ คปท.

15 ธ.ค. 2556 - ในการปราศรัยของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ซึ่งเป็นแนวร่วมกับ กปปส. ตั้งเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อคืนวานนี้ (14 ธ.ค.ฉ นั้น นิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. และทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยเมื่อหัวค่ำวันที่ 14 ธันวาคม ตอนหนึ่ง นิติธร กล่าวว่าจะสืบสาแหรกตระกูลชินวัตร เพราะจะไม่ให้เล่นการเมืองอีก และบอกนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าอยู่เชียงใหม่อยู่ไป อยู่จังหวัดไหนอยู่ไป แต่อย่ากลับเข้ามาในกรุงทพฯ ถ้ากลับมากรุงเทพฯ ผู้ชุมนุม คปท. จะไปตามบี้ตลอด

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกาว่า "ฟังไว้นะครับ ผมเป็นนักกฎหมายผมทราบดี ถ้าเข้าไปในพื้นที่คุณใช้กฎหมายคุณ ดินแดนคุณ แต่ถ้าคุณมีการเลือกปฏิบัติกับคนไทย ประเทศไทย คุณบอกว่าประชาชนวันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมไม่เลือกตั้ง แต่เกิดแบบเดียวกันอีกประเทศหนึ่งมันบอกประชาชนทำถูกต้อง เดี๋ยวจะเข้าไปเหยียบในดินแดนสถานทูตอเมริกา ไปเหยียบมันหน่อย"

"เอาชัดๆ นะครับ สถานทูตอเมริกา ฟังไว้นะครับ ผมจะบุกเข้าไปยึดสถานทูตคุณครับ อ้างนักหนาหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย วันนี้ไม่แหกตาดู รัฐบาลเป็นเผด็จการ สภาเป็นทรราช ไปสนับสนุนอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้นวันนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนคนไทย ไม่ใช่ห่วงแค่ตั้งฐานทัพ หรือเอาก๊าซเอาน้ำมันจากคนไทย เป็นเพราะคุณนั่นแหละ รัฐบาลชั่วนี้ถึงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้"

ช่วงหนึ่งนิติธร กล่าวกับกองทัพด้วยว่า สิ่งที่ท่านทำดีมากแจกผ้าห่ม ช่วยพี่น้องน้ำท่วม แต่วันนี้ถ้าเป็นทหารไทยอยู่ภายใต้จอมทัพไทยของพระเจ้าอยู่หัว ท่านต้องเลือกข้าง ไม่ต้องเลือกข้างผม แต่ต้องเลือกข้างความถูกต้อง และก่อนจะบุกไปสถานทูตอเมริกา ขอให้พี่น้องทหารฟังชัดๆ คราวที่แล้วไป บก.ทบ. เข้าแล้วออก เพราะให้เกียรติ แต่หลังจากนี้พี่น้องรอวัน ว. และ เวลา น. "ยึดกองทัพบกไม่ต้องออกชุมนุมข้างใน" และนอกจากกองทัพบกแล้วจะเข้าไปยึด สอนเรื่องการปฏิรูป การรักประเทศ การเสียสละประเทศชาติ กำหนดวัน ว. เวลา น. แล้วเริ่มทันที

ทั้งนี้มีการเผยแพร่คำปราศรัยของนิติธร เมื่อคืนวันที่ 14 ธ.ค. ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วย

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เจน ซากี ได้ออกแถลงการณ์ "ความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศไทย" โดยระบุว่า "สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในสถาบันประชาธิปไตยและกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและพันธมิตรของเรามายาวนาน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งเพื่อเป็นแนวทางการก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองและการชุมนุมประท้วงที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เราขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขความแตกต่างทางการเมืองโดยสันติตามระบอบประชาธิปไตย ในวิถีทางที่สะท้อนความประสงค์ของประชาชนชาวไทยและส่งเสริมหลักนิติธรรม"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพ เทือกสุบรรณกล่าวว่าไม่มีวันให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เกิดขึ้นเด็ดขาด

Posted: 14 Dec 2013 10:31 AM PST

เลขาธิการ กปปส. เล่าบรรยากาศไปร่วมเสวนากับกองทัพ ย้ำต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ถ้ายุบสภาแล้วเลือกตั้ง ผู้ชุมนุมไม่ไปเลือกตั้งแน่นอนและจะไม่ยอมให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น ย้ำรัฐบาลต้องลาออกจากรักษาการเพื่อให้เกิดสุญญากาศ และจะรอคำตอบจากกองทัพ โดยจะให้เวลาตัดสินใจ

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

15 ธ.ค. 2556 - เมื่อ 21.05 น. วานนี้ (14 ธ.ค.) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ปราศรัยกับผู้ชุมนุม เริ่มต้นเล่าถึงภารกิจประจำวันว่าเป็นวันที่ยาวนาน เพราะตื่นไปหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเช้าเพื่อร่วมประชุมการปฏิรูปของ กปปส. และตอนเที่ยงก็ไปพบกับ ผบ.สส.

ตอนหนึ่งสุเทพได้ยกคำพูดของ บรรเจิด สิงคเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่กล่าวว่ายังสร้างไม่เสร็จจะรีบทาสีไปได้อย่างไร ถ้ายังปฏิรูปประเทศไทยไม่เรียบร้อย เลือกตั้งไปก็ไม่มีประโยชน์เหมือนเอาสีมาทาบ้านที่ยังไม่เสร็จ สุเทพปราศรัยด้วยว่าฝากเรียน ประธานชมรมแพทย์ชนบทให้ประสานกลุ่มต่างๆ ตั้งเป็น กปปส. จังหวัด ทั้งนี้ทิศทางของเวที กปปส. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คือทุกคนมาในทางเดียวกันคือต้องปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง

สุเทพเล่าถึงการไปร่วมเสวนา "เสวนาสาธารณะเพื่อความสงบสุขและประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย " ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการสันติภาพ บก.กองทัพไทย ถ.แจ้งวัฒนะว่า "เท่มากสำหรับกำนันบ้านนอกอย่างผม ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านต้อนรับขับสู้อย่างดี ผมหัวใจพองโตเพราะเวลาเจอผมท่านเรียกผม "พี่กำนัน" ผมว่ากำนันอย่างเรา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเรียกพี่กำนันก็ใช้ได้เหมือนกัน" โดยมีแกนนำ กปปส. เดินทางไปร่วมเวทีเสวนา 30 คน

สุเทพกล่าวต่อไปว่า เดิมนั้นต้องการไปแจ้ง ผบ.สส. ว่า "ต้องการนำความปรารถนาดีของมวลมหาประชาชนไปอธิบายให้บรรดาผู้นำเหล่าทัพได้เข้าใจ" อย่างไรก็ตามคงมีความจำเป็น จึงเปลี่ยนเป็นการจัดเสวนา โดยสุเทพเล่าว่า ได้กราบเรียนกับผบ.สส. กับ ผบ.เหล่าทัพ ตรงไปตรงมาบอกว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และต้องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

"ผมได้ยกตัวอย่างว่าเรื่องที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องที่ต้องแก้ไข ต้องปฏิรูป ต้องจัดการก่อน เช่น กฎหมายเลือกตั้ง ต้องให้กฎหมายเลือกตั้งมีความศักดิ์สิทธิ์แข็งแรง ป้องกันการโกงเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงต้องทำไม่ได้ เพราะทำให้ระบบประชาธิปไตยบิดเบี้ยว การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรมที่จะไปสู่อำนาจในรัฐบาล ต้นตอความเลวร้ายอยู่ตรงนี้ และได้เรียนต่อไปว่า กม.พรรคการเมืองก็ต้องยกเครื่องปฏิรูปกันใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้คนคนเดียวครอบงำพรรคการเมืองทั้งพรรค คิดเองไม่เป็นต้องฟังเสียงสั่งอย่างเดียว"

สุเทพเสนอด้วยว่า ให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วย  กกต. ออกกฎหมายแก้ไขป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ผลให้ได้ คดีทุจริตต้องถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหาย เพราะฉะนั้นประชาชนมีสิทธิ์นำเรื่องไปฟ้องศาลดำเนินคดีเองได้ ไม่ต้องรอให้ตำรวจหรืออัยการไปดำเนินการ และผู้ต้องหาคดีคอรัปชัน ต้องเป็นคดีประเภทไม่มีอายุความ หนีไปต่างประเทศกลับมาต้องขึ้นศาล ต้องติดคุก

สุเทพกล่าวด้วยว่า "ต้องทำวาระแห่งชาติเรื่องการดูแลพี่น้องประชาชนคนจน โดยมีข้อห้ามเด็ดขาดว่าห้ามเอาโครงการประชานิยมมาหลอกคนจนอีกเป็นอันขาด เพราะโครงการประชานิยมทั้งหลายทำให้ชาติล่มจม ยกตัวอย่าง โครงการจำนำข้าวเสียหายไปหลายแสนล้านบาทแล้ว ชาวนาไม่รวยขึ้นแต่คนในรัฐบาลรวยเพราะโกง จนเขาลือกันว่าโกงทั้งโคตร โคตรโกง"

นอกจากนี้ยังพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะตำรวจไม่ใช่ทหารไม่ต้องมีสายบังคับบัญชาที่เด็ดขาด แต่มีหน้าที่ดุแลความปลอดภัยของประชาชน เพราะฉะนั้นให้ขึ้นกับคนคนเดียวไม่ได้ เพราะคนๆ นั้นยังไปขึ้นกับคนที่อยู่ในต่างประเทศ อย่างนี้ประชาชนเดือดร้อน สุเทพกล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะปฎิรูปประเทศไทยนี้ไม่มีวันทำได้เลยถ้าไม่ขจัดระบอบทักษิณให้หมดไปจากแแผ่นดินไทยก่อน และอธิบายในที่ประชุมว่า ระบอบทักษิณ คือ การปกครองบริหารบ้านเมืองโดยไม่เคารพกฏหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ เช่น นโยบายยาเสพติด อุ้มฆ่า 2 พันคน กรณีภาคใต้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 พันคน รวมทั้งกรณีที่ตากใบ กรือเซะ คือตัวอย่างของการใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยไม่เคารพกฎหมายของระบอบทักษิณ ที่เลวร้ายที่สุดคือการทุจริตคอรัปชั่นขนานใหญ่ จนประเทศล่มจม

นอกจากนี้ระบอบทักษิณหมายถึงการทำลายระบบคุณธรรมของระบบราชการ เอาระบบเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปถัมภ์มาใช้ ข้าราชการดีๆไม่เติบโต  นี่เป็นภัยต่อชาติที่เสียหายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ประชาชนอดทนมานานแล้ว วันนี้เขาทนไม่ไหวอีกต่อไปจึงลุกขึ้นมาบอกว่าต้องขจัดระบอบทักษิณให้หมดประเทศไทย

สุเทพได้ชี้แจงนการเสวนาว่า "ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล ไม่มีรัฐสภา เพราะทั้งสองอย่างหมดไปแล้ว" เพราะรัฐสภาได้กระทำการทรยศหักหลังประชาชนชาวไทยที่มอบอำนาจนิติบัญญัติให้ แต่กลับเอาอำนาจไปออกกฎหมายเพื่อพวกพ้อง เพื่อยึดอำนาจการปกครองบ้านเมือง ที่เลวร้ายที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรวบอำนาจ ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนููญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

"แต่รัฐบาล คือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รัฐสภาคือ ประธานสภา รองประธานสภาปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คือไม่เคารพศาลรธน. ทำตัวเหนือรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ต่อไป" สุเทพกล่าวด้วยว่าได้บอกกับผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า รัฐบาลอยู่ใต้บงการของคนหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ การแต่งตั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจก็ขึ้นกับคนต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ยอมให้คนที่อยู่ในต่างประเทศมาบงการสั่งรัฐบาลได้ เลยสรุปว่าทั้งรัฐบาลและรัฐสภาหมดความชอบธรรมในทางกฎหมายไปแล้ว เมื่อประชาชนลุกขึ้นปฏิเสธรัฐบาล นั่นหมายความว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมทางการเมืองลงแล้ว

"สถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้มีทางเลือก 2 ทางเท่านั้น ผมพูดอย่างนี้ชัดเจน หนึ่ง คนที่รักษาการนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออกจากรักษาการ และไม่มีการตั้งใครขึ้นมารักษาการแทน เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองที่สมบูรณ์ และเป็นแค่วันสองวัน จากนั้นจะได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตั้งรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขบ้านเมือง โดยจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ราบรื่น ละมุนละม่อมที่สุด"

"สอง คือประชาชนบังคับเอา วันที่ 9 ธ.ค. มวลมหาประชาชนลุกขึ้นมาทวงคืนอำนาจอธิปไตย และประกาศแล้วว่าจะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยมือของประชาชนเอง และผมได้ย้ำให้ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ฟังให้ชัดว่าการลุกขึ้นของพี่น้องประชาชนครั้งนี้ยึดแนวทางอหิงสา สันติ สงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุรุนแรง ผมค่อนข้างพูดจาแข็งแรงไปนิดหน่อย"

ส่วนข้อเสนอให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งนั้น สุเทพกล่าวกับ ผบ.สส. และ ผบ.สามเหล่าทัพว่าจะไม่กลับไปเลือกตั้ง และจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

"ที่บอกว่ายุบสภาแล้วให้กลับไปเลือกตั้ง พวกเรามวลมหาประชาชนไม่กลับไปเลือกตั้งแน่นอน จนกว่าจะปฏิรูปประเทศไทยเสร็จก่อน และถ้าใครแข็งขืนดึงดันที่จะให้มีการเลือกตั้ง ผมขอบอกแทนประชาชนว่า ไม่มีวันที่จะให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นแน่นอนเด็ดขาด และได้บอก ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ว่าพวกเราประชาชนรู้ดีว่าทั้งหมดที่รัฐบาลทำอยู่คือถ่วงเวลา พูดกันแบบลูกผู้ชาย เรื่องนี้ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรองทั้งสิ้น ประชาชนลุกขึ้นมาแล้ว เหนื่อยยากมากแล้ว ผมบอกเขาด้วยว่าให้ไปดูว่าประชาชนที่ลุกมา 90% ไม่เคยเดินขบวนกับใครมาก่อนเลย ครั้งนี้ ครั้งแรกในชีวิตที่ต้องมาทุกข์ยาก เพราะเหลืออดเหลือทนกับระบอบทักษิณ ต้องการทำให้ประเทศไทยวันนี้ดีขึ้นเสียที ถึงมากัน เพราะเขาทำเพื่อประเทศไทยและแผ่นดินไทย"

สุเทพย้ำด้วยว่า ผู้ชุมนุมจะไม่ถอยอีกแล้ว ที่หัวเราะเยาะ คิดว่าประชาชนไม่มีน้ำยา ขอบอกว่าคิดผิดถ้าใครคิดอย่างนั้นเพราะตั้งแต่ต่อสู้กันมาจำนวนเพิ่มขึ้นทุกครั้งๆ "ผมบอกด้วยว่าอย่าคิดว่าวันที่ 9 ธ.ค.มากสุด ถ้าจำเป็นอาจมีเป็นสิบล้านที่จะต้องลุกขึ้นมาทั่วประเทศคราวนี้ และบอกว่าอย่ามาคิดถ่วงเวลา อย่าคิดว่าเดี๋ยวหมดแรง กลับบ้านไปเอง มวลชนที่ลุกขึ้นมาคราวนี้ไม่มีหมดแรง และสู้ได้เป็นปี วันนี้พูดกับเขาชัดเจนมาก" 

สุเทพอ้างว่าคนที่มาร่วมประชุมในห้องเป็นคนสำคัญ และคนประมาณ 100 คน เห็นด้วยเกิน 80 คน

"ผมยังบอกกับ ผบ.สส. เลยว่า แม้แต่ที่บ้านท่านถ้าท่านไปโหวตกันเอง รับรองว่าเขาโหวตเข้าข้างประชาชนทั้งนั้น ยืนข้างประชาชนเลือกข้างแล้ว ผมได้เรียนกับ ผบ.สส. ว่าที่มาพูดวันนี้ไม่ต้องการกดดันอะไร เข้าใจดีที่ทหารได้ประกาศว่าจะยืนอยู่ข้างประเทศไทยเพราะการประกาศอย่างนั้น ประกาศยืนข้างเดียวกัน เพราะประชาชนก็ประกาศยืนข้างประเทศไทยเหมือนกัน และผมได้เรียนย้ำว่าเรื่องนี้ต่อรองกันไม่ได้ ต้องเลือกเอา ต้องเลือกข้างแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบทักษิณกับประชาชนคนไทย เพราะฉะนั้นทั้งทหารและข้าราชการต้องเลือกข้างว่าจะเลือกข้างระบอบทักษิณหรือเลือกข้างประชาชนคนไทย ผมเรียนให้ทราบเท่านี้ ไม่ได้กดดันอะไร พวกผมจะรอคำตอบจากท่าน"

ตอนท้ายสุเทพระบุว่า "ผมก็เห็นหน้าตาท่าน ผบ.สส. ยิ้มแย้มดี ท่านก็ชื่นชมในที่ประชุมเลยว่า มวลมหาประชาชนมาชุมนุมกันคราวนี้ สงบ เรียบร้อยจริงๆ ผมก็ได้โอกาสก็เลยบอกกับ ผบ.สส. ว่าท่านช่วยบอกให้ตำรวจกลับบ้านไปเถอะ เพราะอยู่ไปก็เหนื่อยเปล่าๆ สงสารตำรวจชั้นผู้น้อย ข้าวที่เอามาเลี้ยงไม่ค่อยดี กินไม่ค่อยอิ่ม ไม่รู้ใครอมเบี้ยเลี้ยงตำรวจ ให้เขากลับบ้านไปดีกว่า ถ้าเป็นห่วงสถานที่ราชการก็เอาทหารมาเฝ้า ไม่ต้องมาเป็นร้อยเป็นพัน เอามาแค่ 5-6 คนพอทีเหลือประชาชนยืนเป็นเพื่อนทหารเฝ้าให้ เพราะประชาชนที่มาวันนี้พลเมืองดีทั้งนั้น ช่วยเหลือราชการได้อยู่แล้ว เอาตำรวจกลับไปและประเภทซ้อมชิงตัว ซ้อมจู่โจม ไม่มีกลัวเลย และผมก็คุยโตว่าที่เอาตำรวจมาเฝ้าสถานที่ราชการไม่มีความหมายอะไร พวกผมจะบุกวันไหน ยึดได้ทุกแห่ง"

สุเทพกล่าวว่า ได้ฟังความเห็นจากผู้ร่วมเวทีทุกคน ทั้ง วิชัย อัศรัสกร ประธานสภาหอการค้าไทย เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.และนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้ฟังความเห็นจากปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เนื่องจากเดินทางกลับก่อน

"เราไม่รู้หรอกครับว่า ผบ.สส. ผบ. เหล่าทัพ จะตัดสินใจอย่างไร แต่ที่บอกว่าทำสำเร็จเพราะบอกกับเขาปากต่อปาก มองตากันระหว่างกำนันกับขุนทหาร จ้องกันแล้ววันนี้และได้ถ่ายทอดความคิดจิตวิญญาณของประชาชนให้บรรดาผู้นำกองทัพให้เขาเข้าใจ เขาปฎิเสธไม่ได้แล้วว่าไม่รู้เราคิดอะไร ไม่รู้เราจะทำอะไร รู้แล้วตอนนี้เหลือแต่ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร นั่นต่างหากที่เราต้องรออยู่ แต่เรายินดีที่จะรอ และให้เกียรติให้ท่านได้มีโอกาสทบทวนตัดสินใจ ผมได้กล่าวโดยข้อสรุปว่ามวลมหาประชาชนประสงค์ให้บ้านเมืองนี้ผ่านสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ไปให้ได้อย่างละมุนละม่อม ราบรื่น แต่เชื่อว่าฝ่ายยิ่งลักษณ์ไม่ยอม จะยื้ออำนาจเอาไว้ให้ได้ ถ้าไม่ยอมก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องบังคับเอา ผมบอกให้ชัด ก็ไปพบ พูดจา ทำหน้าที่แทนพี่น้องเรียบร้อย และนั่งรถกลับมาที่ราชดำเนินโดยปลอดภัยไม่เจอตำรวจแม้แต่คนเดียว เพราะฉะนั้นก็ตัดสินใจถูกแล้วว่าที่บอกว่าไม่ต้องไปส่งผมถึงที่โน่น รอผมที่นี่่ เห็นไหมครับว่ากำนันตัดสินใจไม่ผิด และทำให้ท่าน ผบ.สส. สบายใจด้วย ไม่กดดันเพราะเราไม่ได้พวกไปกดดันที่นั่น  และผมเชื่อว่าที่มีการจัดเสวนาวันนี้คงทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอนไม่หลับและท้องผูกแน่พรุ่งนี้เช้า"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อแอฟริกาใต้ระบุ 'ล่ามปลอม' ในพิธีรำลึก 'แมนเดลา' เคยต้องคดีฆาตกรรม

Posted: 14 Dec 2013 08:47 AM PST

แทมซันคา เจนกิ ล่ามภาษามือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น 'ล่ามปลอม' ในงานพิธีรำลึกเนลสัน แมนเดลา เคยต้องคดีหลายคดี จากการสืบค้นโดยสำนักข่าว eNCA ของแอฟริกาใต้ แต่ทว่าสำนวนคดีในข้อหาฆาตกรรมปี 2546 ของเขาหายไปอย่างลึกลับ

14 ธ.ค. 2556 สื่อ eNCA ของประเทศแอฟริกาใต้รายงานว่าแทมซันคา เจนกิ ล่ามภาษามือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น 'ล่ามปลอม' ในงานพิธีรำลึกเนลสัน แมนเดลา เคยต้องคดีฆาตกรรมมาก่อนในปี 2546 แต่ไม่สามารถรู้ผลการตัดสินได้เพราะสำนวนคดีดังกล่าวหายไปอย่างลึกลับ

ชายผู้นี้เป็นล่ามภาษามือในงานพิธีรำลึกอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ ทำให้เขาได้ทำหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้นำหลายประเทศรวมถึง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีจาคอบ ซูมา ของแอฟริกาใต้ รวมถึงผู้นำจีน อินเดีย คิวบา และบราซิล ซึ่งได้ขึ้นเวทีในพิธีการด้วย

จากการสืบสวนโดยสำนักข่าว eNCA พบว่า แทมซันคา เจนกิ  ผู้ที่บอกว่าตนเองกำลังเข้ารับการรักษาโรคจิตเภท (schizophrenia) เคยต้องข้อกล่าวหาในหลายคดี เช่น คดีข่มขืนในปี 2537 คดีลักขโมยในปี 2538 บุกรุกบ้านผู้อื่นในปี 2540 ทำลายทรัพย์สินในปี 2541 คดีฆาตกรรมผู้อื่น พยายามฆ่า และลักพาตัวในปี 2546 แต่ข้อกล่าวหาจำนวนมากก็ถูกยกฟ้อง เนื่องจากจันเจียอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่สามารถให้การในการดำเนินคดีได้

เจนกิ ถูกตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาข่มขืน ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานลักขโมยซึ่งต้องโทษจำคุก 3 ปีแต่ไม่อาจทราบได้ว่าเขาได้จำคุกจริงหรือไม่ ส่วนข้อหาฆาตกรรม พยายามฆ่า และลักพาตัวทาง eNCA ระบุว่า มีการตัดสินคดีนี้ในปี 2549 แต่เอกสารสำนวนคดีนี้หายไปอย่างลึกลับ

สำนักข่าวต่างประเทศพยายามสัมภาษณ์เจนกิในเรื่องที่เขาต้องคดี แต่เจนกิก็เดินหันหลังพยายามหนีไปโดยไม่ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นใดๆ ขณะที่สำนักงานอัยการแห่งชาติแอฟริกาใต้กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าคดีของเจนกิมีอยู่จริงหรือไม่

หลังจากกรณีที่เจนกิถูกกล่าวหาว่าเป็นล่ามปลอมเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะก็ทำให้มีการตั้งคำถามด้านความปลอดภัยในพิธีการสำคัญเช่นนี้ โดยหลังจากเหตุการณ์ พอล มาชาไทล์ รัฐมนตรีกระทรวงศิลปะและวัฒนธรรมของแอฟริกาได้กล่าวขอโทษต่อกลุ่มชุมชนคนหูหนวกและประชาชนคนอื่นๆ ในกรณีของเจนกิและบอกว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

 


เรียบเรียงจาก

Mandela memorial interpreter 'faced murder charge', The Guardian, 13-12-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/dec/13/mandela-memorial-interpreter-reported-murder-charge-south-africa

EXCLUSIVE: Mandela deaf interpreter accused of murder, eNCA, 13-12-2013
http://www.enca.com/south-africa/interpreter

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นิด้าโพลล์' เผยคนส่วนใหญ่ยก 'ช่อง7' เสนอข่าวเป็นกลางมากสุด

Posted: 14 Dec 2013 06:35 AM PST

คนส่วนใหญ่ยังก้ำกึ่งเชื่อและไม่เชื่อสื่อฟรีทีวีรายงานข่าวเป็นกลาง ชี้ช่อง 7 เป็นกลางมากสุด ตามด้วยช่อง 3 ส่วนช่อง 11 อยู่อันดับบ๊วย

14 ธ.ค. 2556 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลล์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,251  หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เรื่อง "ความเป็นกลางของสื่อฟรีทีวีในการรายงานข่าว" มีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกิน 1.4 เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อความเป็นกลางในการรายงานข่าวของสื่อฟรีทีวี ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ Thai PBS พบว่า ประชาชน ร้อยละ 38.13 เชื่อว่า ไม่เป็นกลางในการรายงานข่าว ขณะที่ร้อยละ 38.05 เชื่อว่า รายงานข่าวอย่างเป็นกลาง และร้อยละ 23.82 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อช่องฟรีทีวี ที่มีความเป็นกลางในการรายงานข่าวมากที่สุด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 22.06 ระบุว่า เป็นช่อง 7 รองลงมา ร้อยละ 16.39 ระบุว่า เป็นช่อง 3 ร้อยละ 13.75 ระบุว่า เป็นช่อง Thai PBS ร้อยละ 12.15 ระบุว่า ไม่มีช่องใดที่รายงานข่าวอย่างเป็นกลาง ร้อยละ 9.35 ระบุว่า รายงานข่าวอย่างเป็นกลางทุกๆ ช่อง ร้อยละ 2.96 ระบุว่า เป็นช่อง 9 ร้อยละ 2.32 ระบุว่า เป็นช่อง 5 ร้อยละ 1.20 ระบุว่า เป็นช่อง 11 และร้อยละ 19.82 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ผช.ศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องความเป็นกลางกับไม่เป็นกลางของข่าวฟรีทีวีนั้น คะแนนที่ออกมาใกล้เคียงและก้ำกึ่งกันมาก ถึงแม้ความเชื่อว่าไม่เป็นกลางจะสูงกว่า แต่ไม่ถึงกับมีนัยสำคัญ เพราะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงว่าข้อถกเถียงเรื่องรายงานข่าวฟรีทีวี มีปัญหายังไม่เด่นชัดอย่างที่บางฝ่ายเป็นกังวลกัน

ส่วนในประเด็นความเป็นกลางของฟรีทีวีทั้งหมด ประชาชนทั่วประเทศเชื่อว่า ช่อง 7 และช่อง 3 รายงานข่าวอย่างเป็นกลางมากที่สุด ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการเปลี่ยนนโยบายและปรับแนวทางการทำงาน ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมมวลมหาประชาชนร้องขอพื้นที่ข่าว พร้อมเคลื่อนขบวนมาเยี่ยมถึงสถานี ขณะเดียวกันทั้ง 2 ช่อง ยังมีอิสระและยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีผู้ติดตามชมเป็นประจำมากอยู่แล้ว

ขณะที่อันดับ 3 คือ Thai PBS แม้จะมีผู้ชมทั่วประเทศไม่มากเท่า แต่ผลสำรวจความเป็นกลางถือว่าสูงพอสมควร ทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อฟรีทีวีที่เหลือ คือ ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 ซึ่งบริหารงานโดยรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการ.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จิตรา-ประแสง’เปิดพรรคใหม่ ชูรัฐสวัสดิการ ต้านคอรัปชั่น กระจายอำนาจ

Posted: 14 Dec 2013 05:55 AM PST

เสื้อแดงเปิดตัวพรรคพลังประชาธิปไตย ประแสงยันไม่ใช่พรรคสำรองพรรคใหญ่ เผย กกต.ไม่รับจดชื่อพรรค 'คนเสื้อแดง' และคำว่า"แห่งชาติ" จิตราชี้สร้างพรรคมวลชนไม่ใช่พรรคของบางคน ดันนโยบายแรงงาน

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ของคนเสื้อแดงชื่อ "พรรคพลังประชาธิปไตย" (Democratic Force Party – DFP)ที่โรงแรม เค รีสอร์ท เลียบทางด่วนรามอินทรา นำโดย ประแสง มงคลศิริ ประธานที่ปรึกษาพรรค จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาพรรค และ สุรชาติ เวชกามา แกนนำ นปช.ยโสธร ในฐานะหัวหน้าพรรค ชู 4 นโยบายเบื้องต้น คือ สร้างรัฐสวัสดิการ ต่อต้านคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น จัดสรรทรัพยากรของประเทศใหม่และการกระจายอำนาจการปกครอง โดยสร้างพรรคให้เป็นพรรคมวลชน มีการจัดเก็บค่าบำรงสมาชิกในอัตราก้าวหน้าตามรายได้ พร้อมลงเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้

ประแสง มงคลศิริ 

ประแสงยันไม่ใช่พรรคสำรองพรรคใหญ่

ประแสง มงคลศิริ กล่าวว่า พรรคที่ตั้งนี้ไม่ใช่พรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากเขามีพรรคสำรองอยู่แล้ว คือ พรรคเพื่อธรรม โดยพรรคมี 4 กรอบนโยบายเบื้องต้นคือ จะสร้างรัฐสวัสดิการที่แท้จริงให้กับประเทศนี้ จะต่อต้านการคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น จะจัดสรรทรัพยากรของประเทศใหม่และจะกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นต้น

เผย กกต.ไม่รับจดทะเบียนชื่อพรรค "คนเสื้อแดง" และคำว่า "แห่งชาติ"

ประแสงกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ตนกับหัวหน้าพรรคที่เป็นแกนนำ นปช.ยโสธร ได้คุยกันแล้วต้องการมีพรรคที่เป็นของมวลชนจริงๆ โดยแกนนำนปช.ยโสธรไปตั้ง "พรรคพลังคนเสื้อแดง" ขณะที่ตนเองไปตั้ง "พรรคคนเสื้อแดง" แต่ถูกปฏิเสธจาก กกต. ไม่ให้จัดตั้ง โดยแจ้งว่าเมื่อ ปี 2554 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอจัดตั้งพรรคชื่อ "พันธมิตร" แต่ กกต.มีมติไม่อนุญาต จึงเปลี่ยนเป็นพรรคการเมืองใหม่ ทำให้ต้องนำมาตรฐานนั้นมาใช้กับฝ่ายเสื้อแดงด้วย จึงต้องเปลี่ยนชื่อ

ประแสง กล่าวในครั้งแรกจะเปลี่ยนมาตั้งชื่อ "พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ" แต่กลับถูก กกต.ปฏิเสธไม่ให้ใช้คำว่า "แห่งชาติ" โดยอ้างว่าขัดกับระเบียบของ กกต. จึงได้ตัดคำดังกล่าวออกไป

ประแสงกล่าวด้วยว่า ตนเองยอมรับสิ่งที่นำเสนอวันนี้อาจมีขอบเขตแนวทางที่อยู่ในพื้นที่จำกัด และพร้อมที่จะรับข้อเสนอใหม่ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวกับแนวนโยบายของพรรค

จิตรา คชเดช

จิตรา ชี้สร้างพรรคมวลชนไม่ใช่พรรคของบางคน

จิตรา คชเดช กล่าวถึงความสำคัญของระบบรัฐสภาว่าปัจจุบันการต่อสู้เรียกร้องสู้เรียกร้องต่างๆนั้นมาก็ต้องเข้ามาสู่การระบบรัฐสภาและการตรากฏหมาย แต่เวลาผู้สมัคร ส.ส. มาหาเสียงกับคนงานกับชาวบ้านนั้นจะเห็นข้อเสนอมากมาย หลังจากเลือกตั้งแล้วเมื่อมีปัญหาจริงๆนั้นกลับพบกับ ส.ส. ยาก เพราะประชาชนถูกทำให้ไม่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และ ส.ส. มักอ้างเรื่องให้ฟังมติพรรค แต่พรรคเองก็ไม่ฟังสมาชิกกลับฟังเจ้าของพรรคที่เป้นนายทุนพรรคเป็นหลัก จึงเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่าง ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนกับมติพรรคที่เป็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พรรคที่จะสร้างจึงต้องการให้เป็นพรรคของมวลชน

เก็บค่าสมาชิกในอัตราก้าวหน้า

จิตรา คชเดช นักสหาพแรงงาน กล่าวว่า 4 แนวนโยบายข้างต้นเป็นเพียงเค้าโครงเท่านั้น แต่พรรคจะสร้างนโยบายออกมาจากสมาชิกพรรคที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของพรรคอีกครั้ง รวมถึงจะมีการจัดระบบให้สมาชิกมีความเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง เช่น การระดมทุนร่วมกัน  

จิตรายกตัวอย่างระบบสหภาพแรงงานที่ใช้การจ่ายค่าสมาชิกเป็นรายเดือน โดยมีระบบการการจ่ายค่าบำรุงในอัตราก้าวหน้าเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ต่อเงินเดือน ทำให้ไม่มีเจ้าของพรรคหรือสหภาพเพียงลำพังคนเดียว

เธอกล่าวว่า ระบบรัฐสภาไทยที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายกลุ่มเสนอร่างกฏหมายไป แต่กลับถูก ส.ส.ปัดตก เช่น คนงานเสนอ ร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม หรือคนรักเรื่องเสรีภาพเสนอ แก้ ม.112 ก็ถูกสภาปัดตกไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพรรคพลังประชาธิปไตยจะเน้นการฟังเสียงคนจากล่างสู่บน ไม่ใช่จากบนลงล่าง รวมทั้งจะสร้างระบบการโหวตตัวแทนลงเลือกตั้งและระบบที่สามารถโหวต ส.ส. หรือตัวแทน ที่ไม่ทำตามความต้องการของสมาชิกออกจากตำแหน่งด้วย

อย่ากลัวแบ่งเสียงพรรคใหญ่ เพราะประชาชนไม่ใช่ของใคร

จิตรากล่าวถึงข้อกังวลของฝ่ายประชาธิปไตยและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่มองว่าการตั้งพรรคใหม่จะเป็นการแบ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า ต้องถามประชาชนว่าจะถูกแย่งคะแนนหรือไม่ เพราะเราเสนอให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกพรรค และแสดงตัวชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร คนที่เลือกเราเขามองเห็นว่าจะเลือกอะไร การมองว่าประชาชนถูกแบ่งคะแนนได้นั้น ไม่ต่างจากความคิดอีกฝ่ายที่มองว่าประชาชนถูกซื้อเสียงได้ การมองแบบนี้นเป็นการมองประชาชนไม่มีตัวตน เป็นการมองว่าประชาชนเป็นของของใครคนใดคนหนึ่ง  

ดันนโยบานแรงงาน รับรองอนุสัญญา ILO 87,98 เลือกตั้งในสถานประกอบการ

จิตรา กล่าวถึงนโยบายส่วนตัวที่จะผลักดันในพรรค คือนโยบายแรงงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่เข้ามาทำพรรคการเมืองนี้ ทั้งคนงานในแรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งคนงานในภาคเกษตรกรรมที่ยังไม่มีการรวมตัว ด้วยเหตุนี้จึงจะส่งเสริมให้มีการรวมตัวต่อรองของคนงาน และให้พรรคมีนโยบายรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม หรือ ILO 89, 98

นอกจากนี้จะผลักดันให้มีนโยบายการเลือกตั้งในสถานประกอบการ เนื่องจากทุกวันนี้คนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานย้านถิ่น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ต้องกลับไปเลือกตั้งในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส.ได้  รวมทั้งในพื้นที่ทำงานและหอพักในเมืองก็ไม่สามารถมีอำนาจต่อกับ ส.ส.ในพื้นที่นั้นได้ เพราะไม่ใช่ฐานเสียงโดนตรง จิตราเสนอว่าอาจใช้อ้างอิงสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีในระบบประกันสังคมเพื่อให้คนงานเหล่านั้นมีสิทธิในการเลือกตั้งที่แท้จริงในที่ที่เขาอยู่ ไม่ใช่ให้เป็นเพียงพลเมืองที่ไม่มีตัวตนเท่านั้น รวมทั้งจะผลักดันให้มีนโยบานขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรค์ในการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกจะเสนอเข้ามาต่อไปด้วย

การตั้งพรรคเพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการการเลือกตั้ง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่ม กปปส. ผลักดันเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ จิตรากล่าว่า การที่เรามีพรรคการเมืองมันจะนำไปสู่การพูดเรื่องสิทธิการเลือกตั้งได้มากกว่าคนธรรดา ดังนั้นการตั้งพรรคนี้ขึ้นมาสิ่งหนึ่งก็เพื่อส่งเสียงว่าพวกเราต้องให้มีการเลือกตั้งด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติ ภวัครพันธุ์: ยิ่งเหยียดหยามกัน ยิ่งต้องสู้เพื่อความยุติธรรม

Posted: 14 Dec 2013 03:31 AM PST

3 แสนเสียงใน กทม. แต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงใน ตจว. แต่ไร้คุณภาพ


นี่คือเสียงที่คนไทยได้ยินได้รับรู้กันมากในช่วงนี้ และดูเหมือนว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยหรือคล้อยตามกับทัศนะดังกล่าว จริงๆ แล้วผมไม่แปลกใจเลยกับคำพูดประเภทนี้ คำดูหมิ่นเหยียดหยามคนต่างจังหวัดเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อยๆ สองสามปีก่อนก็มีคำพูดโด่งดังที่ว่า "คนอีสานเป็นได้แค่คนรับใช้กับเด็กปั้ม" จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว สร้างความโกรธเคืองในหมู่คนอีสานจำนวนมากมาย
 

นี่ไม่ใช่เพิ่งเกิด
นักวิชาการอเมริกันนาม ชาร์ลส์ คายส์ เคยเสนอความเห็นไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้วว่าคนอีสานรู้สึกว่าพวกตนถูกดูแคลนว่ายากจน เป็นชนชั้นที่ต่ำกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะในสายตาของคนกรุงเทพฯ (ซึ่งเราอาจสรุปได้ว่าการเหยียดหยามเช่นนี้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขด้านชนชั้นหรือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) นอกจากนี้คนอีสานยังรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะถูกสงสัยโดยรัฐบาลไทยว่าเกี่ยวพันกับผู้ก่อการร้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นอีกด้วย (ซึ่งก็อาจตีความได้ว่านี่คืออคติทางการเมืองในอดีต)

คำถามสำคัญประการหนึ่งที่คณะวิจัยของเรา (ดูรายละเอียดในงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว – อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และ นิติ ภวัครพันธุ์, ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2556)) พยายามทำความเข้าใจและอธิบายคือความคับข้องใจ ความอัดอั้นตันใจ ของคนอีสานที่เรียกตนเองว่า "คนเสื้อแดง" ที่ถูกระบายออกมาจากความรู้สึกว่า

• ตนถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะ (คนในเมืองเห็นว่า) ตนมีฐานะยากจน (มี) ความรู้น้อย
• สังคมมีการแบ่งชนชั้น
• ไม่มีความยุติธรรมในสังคม เพราะ "(คน) เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด" โดยยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางเข้าไปร่วมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กรุงเทพฯ ว่า "ไปม็อบ (ตนเอง) นั่งพื้นก็ผิด" คนเสื้อแดง "เฮ็ดหยังก็ผิด" จนทำให้ตนรู้สึกคับแค้นใจ ยิ่งรู้สึกว่าตนต้องต่อสู้ ต้องเข้ามาร่วมในการประท้วงของคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อ " ขอ (ทวง) สิทธิเราคืน" (ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่)
• "เมื่อก่อนไปกรุงเทพฯ ไม่กล้าพูดภาษาอีสาน เพราะกลัวคนกรุงจะดูถูก"
 

นัยของความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
เราจะอธิบายความรู้สึก "น้อยเนื้อต่ำใจ" ที่คนเสื้อแดงอีสานใช้ในการแสดงความโกรธ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจของพวกเขาได้อย่างไร? นักสังคมวิทยาที่ศึกษาอารมณ์ (emotions) ของผู้คนในสังคม ได้เสนอความเห็นไว้ว่าในความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันและเกี่ยวกับอำนาจ เราจะพบว่ามีอารมณ์หรือความรู้สึกที่ผู้คนมีร่วมกันหลายลักษณะ แต่ที่น่าสนใจและอาจใช้วิเคราะห์ได้ในที่นี้คือ "Resentment" และ "Vengeance, vengefulness"

"Resentment" หมายถึงอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะคนเราคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม (ซึ่งมีความหมายแทนคำว่า "ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม" อันเป็นคำพูดของชาวบ้านที่ใช้ระบายความรู้สึกของพวกเขา) ความรู้สึกไม่พอใจของคนเรานี้เป็นอารมณ์ที่ประสานหรือเชื่อมโยงไปสู่อารมณ์ประเภทอื่น เช่น ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance หรือ vengefulness) อารมณ์ที่เกิดจากความโกรธหรือการไม่มีความสุขเพราะผู้คนคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคมนี้ เป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีบนฐานแห่งความชอบธรรม ("moral" emotion) ในแง่ที่ว่าปัจเจกชนรู้สึกโกรธหรือไม่มีความสุขเพราะตนเห็นผู้อื่นได้มาซึ่งอำนาจหรือความร่ำรวยทางวัตถุ ทั้งๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานและความคาดหวังทางวัฒนธรรม ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมอาจเป็นความรู้สึกที่เราตระหนักหรืออยู่ในจิตสำนึก แต่ก็เป็นไปได้ที่มันอาจมีอิทธิพลต่อความคิดของเราและมีผลต่อการกระทำของเราโดยที่เรามิได้สำนึกก็ได้ ทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องการกระจายของทรัพยากร ซึ่งมักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อคนเราเห็นว่าผู้อื่นได้รับทรัพยากรอะไรก็ตามที่คนๆ นั้นไม่ควรได้ คนก็มักเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม ยิ่งหากเป็นประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องประสบกับการสูญเสีย ในขณะที่ประชากรอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกนี้มิได้เกิดขึ้นระหว่างคนต่างชนชั้นทางสังคมเท่านั้น หากยังอาจเกิดขึ้นในบางส่วนหรือบางกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็ได้ หากคนกลุ่มนั้นเห็นว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ควรได้ทรัพยากรแต่กลับได้รับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางชนชั้นหรือระหว่างกลุ่มคนในชนชั้นเดียวกันก็อาจเกิดความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมขึ้นได้ หากมีคนเห็นว่าการแบ่งปันทรัพยากรนั้นไม่เท่าเทียมกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนั้นสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม (vengeance, vengefulness) ซึ่งในที่นี้มิได้มีความหมายเชิงจิตวิทยาที่เน้นความรู้สึกเคียดแค้นหรือต้องการล้างแค้นในระดับปัจเจกชนเท่านั้น หากมีนัยทางสังคมเพราะเป็นอารมณ์ที่เคลื่อนไหวไปกับอำนาจ ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีอำนาจเมื่อคนกลุ่มนี้รู้สึกว่า "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ของตนถูกปฏิเสธหรือละเมิดโดยผู้มีอำนาจ สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นคำที่มีความหมายเชิงปรัชญาสังคม อันมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในที่นี้หมายถึงสิทธิที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม และความร่วมมืออย่างมีความหมายกับผู้อื่น ซึ่งผูกพันกับประเด็นเรื่องสถานภาพและบทบาท กล่าวคือเมื่อสิทธิที่นำมาซึ่งสถานภาพทางสังคมของปัจเจกชนและบทบาทที่จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างมีความหมายกับผู้อื่นของพวกเขาถูกปฏิเสธ นั่นก็เท่ากับว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนเหล่านั้นถูกปฏิเสธ เมื่อสิทธิที่ว่านี้ถูกละเมิด ผู้ที่ถูกละเมิดจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะยืนยันในสิทธิของพวกเขา และพวกเขาก็อาจเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจรังแกพวกเขา ดังนั้นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานจึงอาจกระตุ้นให้เกิดได้ทั้งความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม

ทว่าต้นเหตุของอารมณ์ทั้งสองนี้แตกต่างกัน ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากการรับรู้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่สามใช้อำนาจปฏิเสธที่จะให้สถานะในความสัมพันธ์ทางสังคมแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงผลักดันให้คนกลุ่มนั้นลุกขึ้นมากู้สถานะของตน พร้อมๆ กับลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจในการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ตรงกันข้ามความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่าผู้อื่นได้รับสถานภาพมากกว่าที่ผู้นั้นควรจะได้รับ (ซึ่งมีนัยว่าบุคคลผู้นั้น/กลุ่มนั้นจะได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์มากกว่าที่ควรจะได้ ในขณะที่ผู้อื่น/กลุ่มอื่นที่ควรได้รับทรัพยากรหรือผลประโยชน์กลับต้องได้รับน้อยกว่าหรือไม่ได้เลย) ตามกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือบ่อยครั้งที่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมนำไปสู่ความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม เมื่อผู้คนรับรู้ว่าผู้มีอำนาจทำผิดจริยธรรมของตน

ผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่ามักจะไม่ได้รับสิทธิในการได้มาซึ่งสถานะและบทบาทที่มีความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้คนเหล่านี้เกิดความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรม และอาจออกมาเคลื่อนไหวร่วมกัน อารมณ์หรือความรู้สึกเช่นนี้จะถูกผันแปรเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าคนเหล่านี้อาจขาดทรัพยากรทางการเมืองหรือทางวัตถุก็ตาม นอกจากนี้ยิ่งสังคมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็จะมีตำแหน่งหรือสถานะและบทบาทใหม่ๆ ที่ปัจเจกชนอาจเห็นว่าตนอ้างสิทธิเป็นของตนได้ จริงๆ แล้วผู้คนอาจอ้างสิทธิในสถานะต่างๆ ที่คนในอดีตอาจคิดว่าไม่สำคัญเลยก็ได้ ดังนั้นความหลากหลาย (differentiation) และการแตกกระจาย (fragmentation) ของโครงสร้างสังคม (เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม) จึงเปิดโอกาสให้เกิดอ้างสิทธิในการอ้างสถานะใหม่ๆ ในสังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมเมื่อผู้คนบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อการกระจายความร่ำรวยทางวัตถุและอำนาจได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโอกาสที่ปัจเจกชนจะได้รับสถานภาพและบทบาทต่างๆ ทั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจและความร่ำรวยทางวัตถุอาจใช้ทรัพยากรที่ตนมีในการเข้าครอบครองตำแหน่งและบทบาทที่จะช่วยให้ตนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้อื่นไม่อาจเข้าถึงได้ หรือบางคนที่ไม่ควรได้สถานะหรือตำแหน่งเหล่านี้ก็กลับได้ ในแง่นี้ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ความหลากหลายทางโครงสร้างสังคม ทั้งนี้เพราะผู้คนกล้าที่จะแสดงออกและเรียกร้องในสิทธิที่พวกเขาคิดว่าตนควรได้รับ

ความทุกข์ใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมและความคับแค้นใจเพราะสังคมไร้ความยุติธรรมจึงมีนัยสำคัญทางสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กับการกระจายทรัพยากรระหว่างผู้คนต่างกลุ่มในสังคม และกับการได้รับสถานภาพและบทบาท (ซึ่งก็คือผลตอบแทน) ที่ผู้คนในสังคมเห็นว่าเหมาะสม ผู้ใดควรได้และผู้ใดไม่ควรได้ หากเราเข้าใจนัยเหล่านี้ก็จะไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยเห็นชาวบ้านจำนวนมหาศาลเรียกร้องสิทธิทางการเมือง สนับสนุนการเลือกตั้ง ต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรมที่พวกตนควรได้รับ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองแนะวิธีกระจายอำนาจ

Posted: 14 Dec 2013 03:05 AM PST

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองวอนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐในอนาคตกระทำสัตยาบันจะผลักดัน ร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ....... ซึ่งได้ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ทันที



14 ธ.ค. 2556 - ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองส่งจดหมายเปิดผนึกถึง องค์กร/หน่วยงาน/และผู้มีแนวคิดปฏิรูปการกระจายอำนาจ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาเรื่องข้อเสนอและแนวทางปฏิบัติปฏิรูปการกระจายอำนาจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ด้วยทราบว่าองค์กร/หน่วยงานตลอดถึงกลุ่มบุคคลทั้งที่ดำเนินการโดยรัฐบาล และไม่ใช่รัฐบาลหลายคณะหลายองค์กรกำลังเริ่มดำเนินการผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยตามเสียงเรียกร้องของประชาชนซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่สังคมไทยจะได้ใช้โอกาสนี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลก่อเกิดประโยชน์ต่อชาติและประชาชนโดยรวมต่อไป

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง เป็นองค์กรเครือข่ายประชาชนที่ได้ผลักดันแนวทางปฏิรูปการกระจายอำนาจมานานกว่า 4 ปีในนามของ "จังหวัดจัดการตนเอง" และเพิ่งจะยกร่าง "พรบ.เชียงใหม่มหานคร พ.ศ....." แล้วเสร็จ โดยมีแนวคิดหลักคือกระจายอำนาจการปกครองของส่วนกลางที่ปรากฏผ่านการบริหารราชการส่วนภูมิภาคมาสู่องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่เพื่อให้การบริหารจัดการและการบริการของรัฐใกล้ชิดและตอบสนองต่อประชาชนมากที่สุด นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับเครือข่ายผลักดันจังหวัดจัดการตนเองในพื้นที่ต่างๆ มาโดยตลอด ขอสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจในระดับโครงสร้างให้เป็นจริง และพร้อมจะสนับสนุนองค์กร/หน่วยงานของท่านในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองขอเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อการปฏิรูปการกระจายอำนาจ ที่มีการดำเนินการไว้แล้วเพื่อข้อมูลประกอบการตัดสินใจผลักดันการปฏิรูปการกระจายอำนาจให้เกิดเป็นผลปฏิบัติจริงได้โดยเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ  ดังนี้

1. ขอให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐในอนาคตกระทำสัตยาบันจะผลักดัน ร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ....... ซึ่งได้ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแล้วเสร็จสามารถใช้งานได้ทันที โดยขอให้เร่งรัดจากผ่านการพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการแลกเปลี่ยนสังเคราะห์จากตัวแทนเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองมาแล้วอย่างกว้างขวาง กฎหมายนี้จะเป็นเหมือนแม่บทใหญ่ในการกระจายอำนาจให้กับจังหวัดต่างๆ ที่พร้อม หากจังหวัดไหนพร้อมให้ทำประชามติเพื่อขอยกฐานะเป็นจังหวัดปกครองตนเองและสามารถประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ทันที  จะสามารถลดขั้นตอนการศึกษาและการยกร่างก่อประโยชน์ให้กับประชาชนได้รวดเร็ว

2. กรณีของการกระจายอำนาจสู่จังหวัดเชียงใหม่  ขอให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐในอนาคตกระทำสัตยาบันจะผลักดัน "ร่างพรบ.เชียงใหม่มหานคร พ.ศ......." ที่ได้จัดทำแล้วเสร็จ ผ่านการลงชื่อสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนในจังหวัดเกิน 1 หมื่นรายชื่อและได้ยื่นไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบรายชื่อ โดยขอให้พิจารณาผลักดันเร่งรัดผ่านการอนุมัติของรัฐสภาเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

3. ขอให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐในอนาคตลงมือกระทำ หรือกระทำสัตยาบันจะผลักดันแต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่จังหวัดปกครองตนเอง" ขึ้นมาคณะหนึ่งโดยอาศัยอำนาจนายกรัฐมนตรี โดยมีกรอบหน้าที่เพื่อเตรียมการกระจายอำนาจของการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปยังจังหวัดต่างๆ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญของประเทศ และให้จัดทำแผนและขั้นตอนปฏิบัติในการกระจายถ่ายโอนอำนาจสู่ระดับจังหวัดขึ้นมา 1 ฉบับ

4. ขอให้รัฐบาลปัจจุบัน หรือพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐในอนาคต นำข้อเสนอแนะแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด "จังหวัดปกครองตนเอง" ที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้รวบรวมเป็นแนวทางไว้แล้ว ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว

5. ขอให้ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กร/หน่วยงานตลอดถึงกลุ่มบุคคลทั้งที่ดำเนินการโดยรัฐบาล และไม่ใช่รัฐบาลทุกคณะได้โปรดสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วไปได้ทราบว่า แนวคิดการผลักดันการปฏิรูปกระจายอำนาจไม่ได้เป็นผลงานของพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองหรือคณะขบวนการใดๆ โดยเฉพาะ เพราะว่าการผลักดันการกระจายอำนาจได้เริ่มดำเนินการโดยประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่องในระยะหลายปีมานี้จนก่อให้เกิดแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองกระจายไปอย่างกว้างขวาง ให้ถือว่าการผลักดันการปฏิรูปกระจายอำนาจเป็นผลงานร่วมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่สังกัดกลุ่มค่ายพรรคหรือสีเสื้อใด ความรู้สึกเช่นนี้จะทำให้การผลักดันการกระจายอำนาจจะต่อเนื่องยั่งยืนไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของพรรคใดคณะใดเข้ามาในอนาคต

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองเชื่อว่าการผลักดันการปฏิรูปกระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน  ถ่ายโอนอำนาจบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรจากการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่นจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนของประเทศไทยร่วมกัน ทั้งยังจะเป็นทางออกในการแก้วิกฤตปัญหาขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ได้ ทั้งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้านบวกต่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราทุกคนต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท. เตรียมพร้อมประมูลทีวีดิจิตอลและเดินหน้าต่อ 'วิทยุดิจิตอล'

Posted: 14 Dec 2013 02:48 AM PST

จับตาวาระ กสท. จันทร์ 16 ธ.ค.นี้ เตรียมพร้อมการประมูลทีวีดิจิตอลประเทศไทยครั้งแรก พร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือทดลองระบบส่งสัญญาณวิทยุในระบบดิจิตอล



14 ธ.ค. 2556 - การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 46 ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. นี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า กสท.เตรียมกำหนดวัน เวลา สถานที่ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หลังจากมีมติเห็นชอบรายงานผลการตรวจคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตฯ และสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อสรุปสารสนเทศการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานได้จัดทดสอบระบบและรูปแบบการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ณ อาคารโทรคมนาคม บริษัท กสท โทรคมนาคม สาขาบางรัก

นางสาวสุภิญญาฯ กล่าวว่า "วันจันทร์นี้จะมีความชัดเจนทั้งในเรื่อง วันเวลา สถานที่ และการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนรูปแบบการถือครองคลื่นความถี่จากระบบสัมปทาน เป็นระบบใบอนุญาต รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนหน้าจอฟรีทีวี และเนื้อหารายการที่หลากหลายมากขึ้นที่เราจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าไม่มีอะไรสะดุด กสทช. คงจัดประมูลได้ทันก่อนสิ้นปีนี้ ในปีหน้าจะได้เริ่มศักราชใหม่ของฟรีทีวีประเทศไทย รับกระแสการเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมืองไทยที่สื่อต้องมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ มืออาชีพ รับผิดชอบ และมีจรรยาบรรณ"

นอกจากนี้มีวาระน่าติดตามได้แก่ การจัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความสามารถในการติดตั้งเครื่องรับวิทยุในระบบดิจิตอล ซึ่งในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 10/2556 วันที่ 16 ต.ค.56 ที่ประชุมเสียงข้างมากได้เห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 ส่วนตนและกสทช.รวม 3 ท่าน ได้แก่ นายประวิทย์ และนายธวัชชัย ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติม และเห็นต่างในบางประเด็น ซึ่งตนเห็นว่า "การขออนุมัติตั้งโครงการทดลองทดสอบระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเป็นโครงการที่มีงบประมาณสูงถึง 167,120,000 บาท แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการดำเนินการ ดังนั้น สำนักงานฯควรจัดทำโครงการย่อยเสนอเข้าสู่การกระชุม กสท. เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้การวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ต้องมีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย และการติดตามตรวจสอบที่จริงจังสำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบันด้วย เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้สะท้อนปัญหาในปัจจุบันที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การกำกับดูแลโฆษณาที่ผิดกฎหมาย กระบวนการทดลองประกอบกิจการและการกำกับดูแล การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าภายหลังการประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จสิ้น ภารกิจหนึ่งของกสท.ที่สำคัญในปีหน้านี้ คือการเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุเป็นระบบดิจิตอล ผลการประชุมทั้งหมดเป็นอย่างไรต้องจับตา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมัชชาคนจน' แถลง เลือกตั้งก่อน แล้วค่อยปฏิรูปประเทศ-แก้ รธน.

Posted: 14 Dec 2013 02:39 AM PST


 

14 ธ.ค.2556 สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ระบุการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ควรเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและเคารพกติกาที่มีอยู่ โดยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 จากนั้นจึงค่อยปฏิรูปประเทศและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทเรียนจากอดีตแล้วว่า การปฏิรูปอย่างเร่งรีบไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ ย้ำจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือและการรับฟังและระดมความคิดความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม จึงจะไปสู่การปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างการยอมรับและความเป็นธรรมในสังคมไทยได้

รายละเอียดมีดังนี้ 

 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน
เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน ภายใต้การนำของ กปปส. ที่ยาวนากว่า 30 วัน มีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมือง ในขณะที่รัฐบาลเองไม่ตอบรับแนวคิดดังกล่าว จึงนำมาสู่การตัดใจยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นกับหาข้อยุติมิได้นั้น

สมัชชาคนจน เห็นว่า แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นไปตามครรลองของหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเคารพในกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเป็นต้นทางในการแก้ไขวิกฤตขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและยังคงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้

ในส่วนการปฏิรูปประเทศไทยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเทศไทยเคยมีบทเรียนที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศอย่างเร่งรีบ กระทั่งนำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังปรากฏในปัจจุบันนี้ได้ และเป็นสาเหตุอันสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในครั้งสังคมใหม่ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรดำเนินการภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เสร็จสิ้นไปแล้ว เนื่องการปฏิรูปประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือและการรับฟังและระดมความคิดความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่ควรใช้กำหนดกรอบระยะเวลามาเป็นข้อจำกัดในการปฏิรูปประเทศไทย

เมื่อคนในสังคมได้ระดมความคิดความเห็นและรับฟังซึ่งกันและกัน กระทั่งตกผนึกทางความคิดความเห็นร่วมกัน จึงจะสามารถนำไปสู่การปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างการยอมรับและความเป็นธรรมในสังคมไทยได้


สมานฉันท์
สมัชชาคนจน
14 ธันวาคม 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่าวิกฤตการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย: TDRI เสนอตั้ง ส.ส.ร.ที่ยึดโยง ปชช.

Posted: 14 Dec 2013 02:38 AM PST

เสวนาข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย นักวิชาการ TDRI เสนอทางออก ตั้ง ส.ส.ร. ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แก้ รธน.โดยยึดโยง ปชช. 'เกษม' แนะสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เร่งด่วน ชี้มาตรฐานทางศีลธรรมของคนดี ไม่ใช่คุณธรรมทางการเมือง
 
 
ระหว่างเส้นทางสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขณะที่ กปปส.ยังยืนยันนำเสนอการเลือกตั้งสภาประชาชนและขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 โดยดูเหมือนจะไม่ต้องการให้การเลือกตั้งมาถึงในเร็ววัน แม้จะเริ่มมีประกายความหวังจากการเปิดโต๊ะเจรจา แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะไปสิ้นสุดที่จุดไหน และไม่มีใครรับประกันได้ว่าความรุนแรงที่หวั่นวิตกจะไม่เกิดขึ้น
 
12 ธ.ค.2556 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติวิธี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา 'ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย' ที่ห้องจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
 
 
 
 
'วิโรจน์' ชี้ปัญหาใหญ่ คือความรู้สึกถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของทุกฝ่าย
 
วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวแสดงความเห็นว่าประเด็นที่เรามีการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายขณะนี้ หลายอย่างไม่ใช่ประเด็นจริงๆ แต่เป็นม่านควันที่เพิ่งถูกสร้าง เช่น การพูดถึงนายกคนกลาง สภาประชาชน จากที่ได้พูดคุยกับคนในฝั่งประชาธิปัตย์บางคนเมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาบอกว่าเพิ่งได้ยินข้อเสนอเหล่านี้จากคุณสุเทพในที่ชุมนุมพร้อมๆ กับคนทั่วไป ไม่ได้มีการคุยกันในประชาธิปัตย์มาก่อน แสดงให้เห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้ถูกใส่มาเพราะสถานการณ์ ไม่ได้มีมาแต่เดิม
 
ยกตัวอย่าง การเสนอเรื่องนายกคนกลาง มีการให้เหตุผลว่าไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้รักษาการได้ แต่พูดกันจริงๆ เรามีอีกกว่า 50 วันเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง นายกรักษาการขณะนี้ถูกมัดมือมัดเท้า เรามี กกต.มาดูแลการเลือกตั้ง และประเด็นเรื่องการโกงการเลือกตั้งมีความสำคัญน้อยลงมาก เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคจับตาการเลือกตั้งได้ดี เหมือนกลายเป็นเรื่องตลกว่า 3 เดือนก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะจบเร็วขณะนี้ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้กลับบอกว่าปล่อยให้รักษาการอีกไม่ได้แล้ว และหากถามต่อไป เข้าใจว่าหลายท่านได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า สาเหตุจริงๆ ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลนี้รักษาการก็เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบที่มากกว่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังไปสู่การเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยไม่เลือกตั้งในเร็วๆ นี้
 
วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การที่แต่ละฝ่ายงัดวิธีการนอกระบบออกมาใช้เป็นอาการไม่ใช่ตัวโรคจริง และมีความเชื่อของฝ่ายที่จะล้มรัฐบาลว่าหากเกิดความรุนแรงรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีแนวความคิดบางแนวที่อำมหิตพอจะใช้ชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องสังเวย เพื่อชัยชนะในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
 
นอกจากนี้ ยังมีการต่อสู้เรื่องเทคนิค ข้อกฎหมาย โดยผ่านตุลาการ หรือ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตรงนี้อาจมีผลให้เกิดชัยชนะได้จริง แต่จะไม่ทำให้ปัญหาจบเพราะในที่สุดจะมีคนจำนวนมากไม่ยินยอมพร้อมใจ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ 2 นครา ไม่ใช่แค่เมืองต่อสู้กับชนบท ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นมานานแล้ว
 
วิโรจน์ กล่าวต่อมาถึงมวลมหาประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลขณะนี้ ซึ่งมีการรายงานจำนวนจากนักข่าวต่างประเทศอยู่ที่ราว 1-1.5 แสนคน หรือข้อมูลในกลุ่มผู้ชุมนุมที่บอกว่ามีราว 5 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขประวัติศาสตร์การชุมนุมที่มากมาย แต่มวลมหาประชาชนไม่ได้มีอยู่กลุ่มเดียว ยกตัวอย่างมวลมหาประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่มาคลิกไลค์เพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยในเฟซบุ๊ก ใช้เวลา 2 วัน มีผู้คลิกไลค์ 1.7 แสนไลค์ ตามจำนวนไอดี ซึ่งเป็นมวลมหาประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้
 
ดังนั้น ไม่ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน เชื่ออะไร ทางออกหรือข้อเสนอที่จะนำไปใช้ต้องเป็นสิ่งที่อย่างน้อยตัวละครหลักทั้ง 2 ฝ่ายพอรับได้ ไม่ใช่ความพยายามเอาชนะทางเทคนิคหรือกระทั่งการรัฐประหาร
 
"ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมามันคือความรู้สึกถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน อนาคตที่เราควบคุมไม่ได้ แล้วที่น่าสนใจคือว่าทั้ง 2 ฝ่ายหลักๆ มีความรู้สึกที่คล้ายกันด้วย"  วิโรจน์ กล่าว
 
วิโรจน์ ยกตัวอย่างการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายระแวงว่าผลจะออกมาในแบบที่ตัวเองไม่ต้องการ แม้ในช่วงหลังแพทเทิร์นจะออกมาในรูปแบบที่ทำนายได้ ในส่วนฝ่ายเหลือง หลากสี หรือฝ่ายคุณธรรม ก็หวาดระแวงว่าเมื่อไหร่รัฐบาลหรือสภาจะอ้างเสียงข้างมากลากไปสุดซอยหรือลากไปลงคลอง จะคอร์รัปชั่น ผลาญเงินภาษี หรือสร้างระบบที่กินรวบทางธุรกิจ ส่วนฝ่ายแดงหรือฝ่ายที่บอกว่าเคารพหลักการประชาธิปไตยก็รู้สึกไม่แน่นอน เพราะไม่รู้เมื่อไหร่ทหารจะรัฐประหาร แทรกแซง หรือกดดัน ส่วนตุลาการหรือองค์กรอิสระจะเล่นงานฝ่ายตนเองโดยใช้ 2 มาตรฐานหรือไม่ รวมไปถึงคดี 112 ด้วย ทุกฝ่ายมีความกังวล ไม่รู้ว่าระบบจะเป็นอย่างไร
 
 
เสนอทางออก ตั้ง ส.ส.ร. ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แก้ รธน.โดยยึดโยง ปชช.
 
วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และโดยส่วนตัวไม่มีคิดว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นยาวิเศษจะแก้ปัญหา แต่ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายมีปัญหา หากไม่แก้ตรงนี้ปัญหาจะกลับมา โดยประเด็นที่ถกกัน คือ 1.ระบอบการเมืองที่ทำจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนในความเป็นจริงมากกว่าตามตัวอักษร
 
2.ใครมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไทยมีปัญหาเรื่องที่มาและความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 50 คน ที่คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับและมาด้วยคำขวัญรับก่อนแก้ทีหลัง และใครมีอำนาจตัดสินว่าผิดรัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่ปรากฏคือ ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตัวเอง ขณะนี่คนบางกลุ่มบอกว่าเป็นระดับที่ยอมรับได้ แต่คำถามคือแค่ไหนเป็นการขยายอำนาจที่ยอมรับได้และใครเป็นผู้ตัดสิน อีกทั้งปัญหาของบทบาทตุลาการภิวัฒน์ซึ่งไปทางอนุรักษ์นิยม ทำให้หลายคนไม่ไว้ใจ
 
ต่อคำถามว่าจะทำอย่างไร วิโรจน์ กล่าวว่า โดยหลักการมี 3 ข้อ คือ 1.ทำให้ที่มารัฐธรรมนูญสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย 2.ทำให้เสียงข้างมากรับฟังและสนใจเสียงข้างน้อย และ 3.ทำให้เสียงข้างน้อยไม่กลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดแทนเสียงข้างมาก
 
วิโรจน์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ 20-30 ปีที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไปจำนวนมากไม่ไว้ใจนักการเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญจึงอยากได้ ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาโดยวิธีการอื่นที่ปลอดจากการเมือง และ ส.ส.ร.40 ก็พยายามทำเช่นนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถดันรัฐธรรมนูญ 40 ผ่านออกมาได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติที่ผลักดันพรรคการเมืองให้โหวตรับรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันคนที่ร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นศูนย์เสียการยอมรับในความเป็นกลางไปแล้ว จึงกลับไปทำวิธีแบบเดิมได้ยาก
 
ดังนั้นข้อเสนอ คือ 1.ให้พรรคการเมืองเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญในช่วงหาเสียง  2.ในรัฐสภาเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร.ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ให้ ส.ส.ร.ยึดโยงกับเสียงที่ประชาชนเป็นคนเลือกมา ให้พรรคการเมืองเป็นคนเสนอตั้ง ส.ส.ร.ในโคตาของแต่ละพรรคเข้ามาเพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถและพูดได้ว่ายึดโยงกับการเลือกตั้งของประชาชน
 
ทั้งนี้ เพื่อการที่พรรคใดพรรคหนึ่งได้รับเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากมีพรรคที่ได้คะแนนเกินครึ่ง พรรคนั้นจะได้โคตาตั้ง ส.ส.ร.ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการทำให้เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อย ทำได้โดยเพิ่มน้ำหนักเสียงข้างน้อยใน ส.ส.ร.ด้วยการระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ส.ส.ร.ได้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ร.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนการทำประชามติใช้กระบวนการปกติคือเสียงข้างมาก
 
ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะมีสิทธิ์แก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่ต้องผลักดันคือหากจะให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่เป็นแบบพวกมากลากไป เสนอให้รัฐธรรมนูญแก้ได้เมื่อสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ให้เสียงข้างน้อยเห็นด้วย หากตั้งไว้เช่นนี้สภาจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการแก้รัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่มีสิทธิ์แก้ คงต้องคิดหนักขึ้น
 
ข้อสุดท้าย ตามข้อเสนอของอาจารย์อัมมาร (อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI) ที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อยชี้ขาดเสียงข้างมากได้ มีข้อเสนอคือในการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส.ร.ใช้เวลาแก้ไม่เกิน 2 ปี หากครบ 2 ปี ส.ส.ร.ยังไม่ยอมผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้เลือกรัฐธรรมนูญเก่าฉบับหนึ่งที่ไม่มีผู้เล่นหลักฝั่งไหนชอบมาใช้ โดยนำมาปรับปรุงในหัวข้อเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญแก้ได้ง่ายหรือแก้ไม่ได้เลย
 
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 50 อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจระบุว่าวิธีการนี้เป็นการได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งไม่ได้หมายถึงขัดกับระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้สามารถถกเถียงได้ว่า ส.ส.ร.ไม่ได้เป็นร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีอำนาจในการปกครอง รวมทั้งกระบวนการนี้ผูกโยงกับผู้มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่แรก และเป็นวาระสำคัญในการหาเสียงตั้งแต่แรกก็จะทำให้สภาอยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองกับศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าในปัจจุบัน 
 
วิโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ คือทำให้สังคมเห็นว่ามีคนจำนวนมากพร้อมที่จะยึดหลัก ไม่ใช่เห็นแต่ทางที่เสนอโดยผู้รู้ ถ้าปล่อยให้มีแต่ความเห็นฝ่ายเดียวจะทำให้สังคมรูสึกว่าคนเขาคิดกันแบบนี้ กรณี สปป.ที่มีคนแสดงตัวสนับสนุนจำนวนมากและรวดเร็วสะท้อนถึงความคับข้องใจต่อข้อเสนอของผู้รู้ การที่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นถือเป็นการเตือนให้คนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ที่ต้องการเอาชนะด้วยเทคนิค เป็นการคานอำนาจ
 
 
'สมชัย' แจงข้อเสนอเลือกตั้งพร้อมทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญในคราวเดียว  
 
สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวเสริมว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายที่ออกมาชุมนุมเห็นว่าอำนาจต่อรองในสังคมของเขาหายไป เริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เขารู้สึกว่าอำนาจการต่อรองในสังคมไม่เคยมี การมีส่วนร่วมการเมืองยิ่งไม่มี เป็นความรู้สึกที่อัดอั้นมานานเมื่อมีคนให้โอกาสแต่ถูกแย่งชิงเอาไปด้วยการรัฐประหารจึงมีการปะทุขึ้น ส่วนคนอีกฝั่งที่ชุมนุมขณะนี้เขาก็รู้สึกว่าอำนาจต่อรองหายไปเช่นกัน โดยชนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไปอำนาจมีมาอยู่แล้วในสังคมแต่รู้สึกว่ามันกำลังจะหายไป ขณะที่คนชั้นกลางบางส่วนก็รู้สึกว่าอำนาจที่จะควบคุมตรวจสอบรัฐบาลหายไป ผ่านระบอบที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก หรือระบอบทักษิณ
 
ดังนั้น หากจะตอบโจทย์สังคม ข้อเสนอจึงเป็นการคืนอำนาจต่อรองให้ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่คืนในรูปแบบไหน เราใช้โจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยถูกร่างใหม่หลายครั้งและหลายคนไม่ศรัทธากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเริ่มมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญมากขึ้น จากที่เคยไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไร จนวันนี้คนทั่วไปเริ่มรู้ จากกระบวนการดึงอำนาจต่อรองคืนมา โดยดูว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเอื้อหรือรับรองอำนาจต่อรองของเขาหรือไม่ อีกทั้ง เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเริ่มตอบโจทย์ได้มากขึ้น และเป็นกระบวนการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอำนาจต่อรองในนั้น
 
สำหรับข้อเสนอที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ส.ส.ร.ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เนื่องจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาซึ่งสุดท้ายต้องถอนคืนมานั้น ผ่านด้วยเสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำหรับกฎหมายใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้บังคับกับคน 60 ล้านคน ควรเป็นเสียงข้างมากจริงๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อกฎมายออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างในสหรัฐการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 4 ใน 5 ส่วนการเสนอแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ทั้งนี้หากเสียง  51 เปอร์เซ็นต์บอกผ่าน ขณะที่ 49 เปอร์เซ็นต์ไม่เอาด้วย คนตรงนี้เป็นจำนวนไม่น้อยและพร้อมที่จะออกสู่ท้องถนนได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงต้องเป็นเสียงข้างมากจริงๆ
 
ยกตัวอย่าง ข้อเสนอ 6 ข้อ ที่คุณสุเทพยกขึ้นมาและจะเอาไปใส่ในสภาประชาชน อาจมีบางข้อดี ถูกใจคนส่วนใหญ่ เช่น เลือกตั้งผู้ว่า หรือประเด็นปฏิรูปต่างๆ เรื่องเหล่านี้สามารถนำเข้าสู่การเมืองในระบบ เอาไปถกใน ส.ส.ร.ได้ โดยเป็นการถกเถียงวงกว้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยทั่วไป และมีผู้รู้ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมาช่วยปรับแต่งเพื่อไม่ให้รกรุงรังจนเกินไป อาจทำออกมาในรูปกฎหมายลูกที่ระบุเจตนารมณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
ทั้งนี้ ฝากผู้รู้ว่ากฎหมายลูกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการออกกฎหมายจริง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีการออกกฎหมายลูกในหลายฉบับ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำให้คนไม่พอใจออกมาเดินบนถนน เช่น ในรัฐธรรมนูญ 50 ให้ออกกฎหมายการเงินการคลังใน 2 ปี แต่ถึงขณะนี้กฎหมายยังไม่ออก โดยกฎหมายข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันประชานิยม
 
สมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในข้อเสนอที่ให้พรรคการเมืองทำสัตยาบรรณจะหาเสียงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ต้องการแน่ใจว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งถูกเลือกเพราะคนต้องการให้เป็นตัวแทนในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยแยกกับการเลือกพรรคการเมืองที่ต้องการให้มาบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์ จึงเสนอว่าในการลงคะแนนเลือกตั้งในจากระบบเดิมที่กาครั้งแรกเลือก ส.ส. กาครั้งที่ 2 เลือกพรรค เพิ่มกาครั้งที่ 3 เลือกพรรคที่ต้องการให้เป็นตัวแทนแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคนสามารถเลือกพรรคต่างกันมาทำหน้าที่ได้
 
นอกจากนั้นในแง่กฎหมาย จากที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องลงประชามติก่อน ตรงนี้อาจมีช่องไม่ขอทำประชามติ กับการกาเลือกพรรคต่างๆ ให้นับเป็นจำนวนรวมว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติ หากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ถือว่าผ่านประชามติ ตรงนี้เป็นการใช้กระบวนการเลือกตั้งที่ตอบโจทย์หลายๆ โจทย์พร้อมกัน โดยรวมการประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญไปด้วย ไม่ต้องยื่นเงื่อนเวลาออกไป
 
 
'เกษม' แนะสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เร่งด่วน
 
เกษม เพ็ญพินันท์ กล่าวว่าในระยะสั้น กระแสสังคมต้องตอบรับว่าเราพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องคัดเลือกคน สิ่งเหล่านี้จะกดดันอำนาจความต้องการนอกระบบ ในระยะสั้นสิ่งสำคัญคือทำให้การเลือกตั้งเกิดมาให้ได้ ทำให้รู้ว่าเราพร้อมที่จะอยู่ในระบอบนี้
 
เกษม กล่าวนำเสนอใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เราอยู่ช่วงวิถีประชาธิปไตยที่มีความพยายามเสนอระบบอื่นขึ้นมาปกครองประเทศโดยยังไม่มีความชัดเจนว่าคืออะไร สำหรับคนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าเรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบอบนี้ ถือเป็นรูปธรรมเร่งด่วนที่สุดเพื่อทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยมีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร โดยการทำความเข้าใจตรงนี้แตกเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้
 
ข้อแรกการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปในสังคมไทย และสถาบันการเมืองและสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งที่ผลิตองค์ความรู้กลับไม่ได้เผยแพร่องค์ความรู้อย่างต่อเนื่องต่อสังคม แม้แต่หลักสูตรพื้นฐานการศึกษาก็ไม่ได้ทำให้คนเข้าใจหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การเผยแพร่ความรู้ตรงนี้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
 
ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้มาด้วยกัน ในส่วนพรรคการเมืองซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของปัญหาการเมืองขณะนี้ ปัญหาของพรรคการเมืองโยงกับ 2 เรื่องที่สำคัญคือ คอรัปชั่นและตัวแทนพรรคการเมืองหลุดลอยจากฐานประชาชน ไม่ว่าเอกสิทธิ์ ส.ส.ในการแสดงความคิดเห็น การลงมติต่างๆ หรือมติพรรค ปัญหาตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เราจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นสบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนได้จริง
 
เกษม เสนอว่า ในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้งซึ่งแต่ละพรรคยังไม่มีตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองควรให้สมาชิกพรรคทำในสิ่งที่เรียกว่าไพรมารี่โหวต เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในส่วนปาร์ตี้ลิสต์หรือ ส.ส.เขต ก่อนการลงสมัคร ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ส.ส.ยึดโยงกับฐานเสียงมวลชนผู้สนับสนุนในพรรค ก่อนที่จะเปิดให้ทุกคนเลือก ตรงนี้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้คนมั่นใจคุณภาพของนักการเมืองที่จะได้รับเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่บริหารประเทศ หรือเป็น ส.ส.ที่ทำงานในกระบวนการตรวจสอบ ร่างกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ
 
นอกจากนั้น ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองแต่ละพรรคควรเสนอนโยบายว่าจะมีการทำอะไร ประกาศจุดยืนทางการเมืองในแต่ละเรื่องที่สำคัญของพรรค เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อที่จะเลือกพรรค อย่างน้อยที่สุดหากเราเลือกใครเป็นตัวแทนของเรา เรามอบอำนาจบางอย่างให้เขาทำหน้าที่แทนเราตามเจตจำนงของเรา เราควรเคารพสิทธิ์ตรงส่วนนี้ที่เรามอบให้เขา และเขาเองควรเคารพสิทธิ์เรา ตรงนี้ควรเป็นการทำสัญญาประชาคมโดยตรงระหว่างพรรคการเมือง ตัวแทนพรรค และประชาชนที่เลือกพรรคนั้น
 
ส่วนการเลือกตั้ง เกษม กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความน่าสนใจตรงที่จะมีกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้น ไม่ว่า กกต. องค์กรกลาง หรือใครก็ตามที่คนสนใจเป็นอาสาสมัครมาร่วมจับตาการเลือกตัง การที่คนหันมาสนใจเรื่องธรรมาภิบาลจะเป็นการยกระดับการเลือกตั้ง ดังนั้นมายาคติต่างๆ เช่น การใช้เงิน จำนวนการซื้อเสียงเลือกตั้งจะเคลียร์คัดมากขึ้น และมายาคติบางอย่างจะหมดไป เช่นกรณีที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง
 
เกษม กล่าวต่อมาถึงรัฐธรรมนูญว่า เป็นอีกหนึ่งใจกลางของปัญหา ซึ่งด้านหนึ่งคือกฎหมายสูงสุด แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญสำคัญกว่ากฎหมายสูงสุด เพราะเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบลักษณะของรัฐ สถาบันการเมือง และรูปแบบการปกครอง ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่มาอยู่ร่วมกัน ตัวรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่การตอบโจทย์ในเชิงเทคนิค หากมี ส.ส.ร.ขึ้นมา สัดส่วนของ ส.ส.ร.40 และ 50 ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ นักกฎหมายอาจช่วยเหลือเรื่องเทคนิคในการร่างกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญที่ดีคือควรเปิดกว้างมากที่สุด ยึดโยงหลักการ ส่วนรายละเอียดอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 
 
นอกจากนี้อีก 2 สิ่งที่ต้องออกแบบคือ องค์กรอิสระซึ่งเป็นอิสระจากประชาชนและปัญหาที่เกิดขึ้นคือกลไกอิสระนี้มีปัญหาไม่ได้ยึดโยงกับหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่กลับมีอำนาจเหนือกว่าในการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตรงนี้ต้องกลับมาออกแบบองค์กรอิสระใหม่ให้เป็นเพียงองค์กรประกอบ ไม่มีบทบาทมาตัดสินเช่นกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ขยายอำนาจของตัวเองมาซ้อนทับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ของการไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยและรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด   
 
โยงไปถึงเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งมีวัฒนธรรมทางการเมืองจำนวนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นพร้อมองคาพยพของระบบการเมือง แต่มี่ผ่านมาถูกตัดตอนตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ สามารถบ่มเพาะเป็นจารีตที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน เช่น ตัวอย่างสภาผัวเมีย ในบางสังคมมีวัฒนธรรมการเมืองที่คนในเครือญาติไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่ได้เขียนไว้รัฐธรรมนูญเพราะเคารพโดยมารยาทต่อกัน ทำให้เป็นเรื่องวัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่เป็นปัญหาต่อระบบการเมืองเอง
 
 
ชี้คุณธรรมทางการเมือง ไม่ใช่มาตรฐานทางศีลธรรมของคนดี
 
เกษม นำเสนอประเด็นที่ 2 เรื่องศีลธรรมซึ่งเป็นหนึ่งใน Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ทางการเมืองว่า ทุกวันนี้ประชาธิปไตยกำลังปะทะกับวาทะกรรรมคนดี สิ่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นข้อผิดพลาดของสังคมไทยคือการโยนเรื่องของคนดีเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการเมือง เราต้องเข้าใจว่าความดีหรือคนดีเป็นลักษณะของคุณค่าอันหนึ่งในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล แต่ไม่ใช่ชุดคุณธรรมของสังคมการเมือง
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้คือ ถ้าเราเอาคุณธรรมความดีซึ่งเป็นทัศนคติหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ทางการเมือง เป็นการโยนทัศนคติทางการเมืองอันหนึ่งเข้าไปทางกลางทัศนคติหรือคุณค่าอื่นๆ ที่มีอยู่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดหรือความเข้าเรื่องคนดี ความดีด้านหนึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายใช้ในการอ้างอิงทัศนะบางอย่างเพื่อเป็นมาตรฐานในการตัดสิน
 
ในขณะที่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ชุดคุณค่าที่สำคัญคือเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือคุณค่าพื้นฐานที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองที่เคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคต่อกัน พร้อมกับการให้ความยุติธรรมหรือสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตรงนี้ออกแบบผ่านกลไกประชาธิปไตย
 
"การเลือกตั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าแต่ละคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง ซึ่งพยายามยืนยันในพื้นฐานในแง่ทุกคนเท่ากัน แต่การเลือกตั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละคนเห็นว่า ตนเองมีสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาคต่อกันด้วย" เกษมกล่าวถึงหลักการพื้นฐาน ประกอบกับการเลือกตั้งซึ่งอีกด้านหนึ่งคือการเกิดชอยส์ มีทางเลือก มีข้อเสนอต่างๆ ที่สามารถวิวาทะหรือสามารถโน้มน้าวให้แต่ละฝ่ายสนับสนุน ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่แต่ละคนสามารถ exercise ชุดของคุณธรรม
 
อย่างไรก็ตาม ชุดคุณธรรมนี้ไม่ใช่เรื่องการมีมาตรฐานทางศีลธรรมที่สูงกว่า แต่คือการที่เรารู้ว่าจะปฏิบัติตนเป็นสมาชิกของสังคมอย่างไร บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคต่อกัน ภายใต้กติกาที่มีอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะพูดในนามสัญญาประชาคม ประชามติ หรือกฎหมาย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และความเข้าใจผิดที่โยงเรื่องคุณธรรมความดีเข้ามาอยู่ในพื้นที่การเมือง มันได้สร้างปัญหาให้กับการเมือง ระบบสังคมการเมือง และตัวคุณธรรมศีลธรรมเอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องมาตรวจสอบ
 
"ไม่ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ทุกคนบอกเอาคนดีมา คนดีแล้วไง มาตรฐานคืออะไร คุณก็ตอบไม่ได้ แค่ฉันรู้ตัวว่าดีแล้วกัน ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบในสังคมการเมือง ไม่ใช่ลักษณะที่เราต้องการในสังคมการเมือง และภายใต้สิ่งเหล่านี้ในสังคมการเมืองได้ออกแบบการตรวจสอบแล้ว ผ่านในแง่ของการทำงาน การปฏิบัติตน มันมีกลไกที่ทำงานควบคู่ไปในระบอบประชาธิปไตย" เกษมกล่าว
 
เกษม กล่าวต่อมาในประเด็นที่ 3 ทุนนิยมสามานย์ว่า เป็นอีกหนึ่งข้อโจมตีที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องเข้าใจว่าในความเป็นจริงปัจจุบันประชาธิปไตยกับทุนนิยมอยู่ด้วยกัน แต่มันทำงานต่างกันและเราไม่สามารถเอา 2 เรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งทุกวันนี้มีการเอามาผูกโยงกัน สิ่งที่น่าสนใจคือมีความพยายามจัดการประชาธิปไตยแต่กลับไม่จัดการทุนนิยม
 
ทั้งนี้ เรื่องที่สำคัญสำหรับทุนนิยมไทยที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันคือ 1.กฎหมายการผูกขาด ซึ่งมีความสำคัญในการไม่ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งใช้ความได้เปรียบในพื้นที่เศรษฐกิจไปขยายขอบเขตพื้นที่สังคม วัฒนธรรม แลการเมือง แต่กฎหมายดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะช่วยแก้ปัญหาโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงสร้างภาษี กรรมสิทธิ์ที่ดิน มรดก ฯลฯ ซึ่งเป็นฉนวนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผูกอยู่กับระบบทุนนิยม หากมีการแก้ไขจะลดความร้อนแรงต่อประเด็นทางการเมือง
 
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทุนที่เข้ามาอยู่ในการเมืองต้องทำมี 2 เรื่อง คือ 1.ความโปร่งใสของที่มาของทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงบัญชีการใช้จ่ายจริงของพรรคการเมืองว่ามีค่าใช้จ่ายและการสนับสนุนเท่าไร รายงานต่อสาธารณะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตรงนี้จะช่วยลดการคุกคามของทุนนิยมต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพรรคการเมืองใช้เงินมหาศาลในการเลือกตั้ง และยังคงต้องให้เงินในการดำเนินกิจกรรมของพรรค
 
"อย่ารังเกียจทุน แต่ทำอย่างไรให้ทุนโปร่งใส ทำอย่างไรให้ทุนได้รับการตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับการเมืองได้รับการตรวจสอบได้ เราจะแก้ปัญหาได้" เกษมกล่าว

 

หมายเหตุ: ติดตามคลิปบันทึกการเสวนา 'ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย' เร็วๆ นี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบันกาล

Posted: 14 Dec 2013 01:26 AM PST

Democracy is the government of the people, by someone, for someone else.
Anonymous

      ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยใครบางคนและก็เพื่อบางคน

นิรนาม


         
ศัพท์เหล่านี้ในหลายข้อ ผู้เขียนได้นำมาผสมกันเองเพื่ออธิบาย เหตุการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะ

 

1.Mob coup d'état- การทำรัฐประหารโดยม็อบ

หมายถึงการพยายามโค่นล้มรัฐบาลโดยกลุ่มบุคคลจำนวนมากที่รวมตัวกันและมีพฤติกรรมเป็นม็อบเพื่อโค่นระบอบเก่า และสถาปนาระบอบใหม่ (ในขวดเก่า) ซึ่งไม่รู้ว่าจะฉ้อฉลและเผด็จการน้อยกว่าระบอบที่รัฐบาลรักษาการกำลังถูกกล่าวหาอยู่หรือไม่ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอใช้คำว่ารัฐประหารหรือ coup d'état ไม่ใช่การปฏิวัติ หรือ revolution

2.Political dementia-สมองเสื่อมทางการเมือง

หมายถึงอาการของนักวิชาการกลุ่มต้านทักษิณที่โดยมากก็เป็นลิ่วล้อ (minion) ให้กับกลุ่มอำนาจที่เคยเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารในปี 2549 และรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเช่นอดีตอธิการบดีของบางมหาวิทยาลัยที่สมองเสื่อมถึงขั้นเสนอแนะให้สามารถล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเคยช่วยเขียนมากับมือ อาการเช่นนี้เป็นผลมาจากเรื่องผลประโยชน์การเมืองล้วนๆ

3.Self-hating –เกลียดตัวเอง

เมื่อใดที่ผู้นำม็อบคือสุเทพ เทือกสุบรรณได้กล่าวโจมตีทักษิณและนักการเมืองอย่างรุนแรง คำด่าทอนั้นก็คงจะได้สะท้อนกลับมาโดนตัวคุณสุเทพเองและอดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์คนอื่นไม่มากก็น้อย  ในฐานะนักการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับระบอบทักษิณ (แต่ไม่ได้สังกัดค่ายทักษิณ) นัยว่าการด่าทอบนเวทีนอกจากจะเป็นกลยุทธทางการเมืองแล้วยังมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นคือนายสุเทพได้ระบายความรู้สึกเกลียดชังตัวเองและพรรคการเมืองของตนออกมาด้วย

4. Invisible actors -ตัวละครล่องหน

ยังมีตัวละครอีกหลายตัวที่สื่อไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอว่าเกี่ยวข้องกับฉากทางการเมืองไทยอย่างมากมาย การเมืองไทยจึงมีปัญหาที่แก้กันไม่ตกเหมือนกับพายเรืออยู่ในอ่างอย่างเช่นปัจจุบันเพราะสื่อซึ่งเป็นตัวนำไปสู่การถกเถียงเสวนาของสาธารณชนมักจะไม่ยอมกล่าวถึงตัวละครล่องหนหรือนิรนามเหล่านี้

5. Closeted dissidents –ศัตรูอีแอบ

ด้วยวิกฤตทางการเมืองเช่นนี้ก็ได้มีผู้ใหญ่ที่น่าเคารพหรือผู้อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรซึ่งควรจะเป็นกลางแต่ก็ได้ออกมาเสนอแนวคิดโดยอ้างว่าเกิดจากความปรารถนาดีเพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากทางตันแต่บางอย่างซ้อนเร้นภายในนั้นคือเป็นทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้รัฐบาลหมดจากอำนาจอย่างสิ้นเชิงอันเป็นการตอบรับกับแรงบีบจากม็อบพอดี  คนเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นศัตรูอีแอบ

6. Buffalo-ization -กระบวนการทำให้เป็นควาย

แนวคิดของบุคคลบางกลุ่มโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่คิดว่าตนเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยและศีลธรรมดีกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเช่นอดีตอธิการบดีของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่คิดว่าคะแนนเสียงของชนชั้นกลางควรจะมีความหมายหรือสำคัญกว่าคะแนนเสียงของชาวบ้านหรือชนรากหญ้า  แน่นอนว่าความเห็นของอดีตอธิการบดีท่านนั้นย่อมบอกเป็นนัยว่าเห็นคนไทยรากหญ้าว่าไม่ฉลาดจนไปถึงโง่เหมือนควาย (ความจริงอยากจะพูดตรงๆ ใจจะขาด แต่ไม่กล้าเพราะกลัวจะถูกโจมตี )

ในขณะเดียวกันคนไทยรากหญ้าจำนวนมากก็คงจะมองอดีตอธิการบดีท่านนั้นและนักวิชาการฝั่งอำมาตย์ในรูปแบบเดียวกัน คือเป็นควายที่อยู่บนหอคอยงาช้างหรือควายที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าควายทั้งหลายแต่ขาดความเข้าใจประชาธิปไตยที่พูดถึงอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะในความคิดของท่าน ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยกลุ่มคนฉลาดกลุ่มหนึ่งและเพื่อคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น (ส่วนคนส่วนใหญ่ก็รับเศษกระดูกไป)   สาเหตุอีกประการหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรือเมืองพุทธที่สอนให้มนุษย์เลิกละอัตตาคือการทำให้อีกฝ่ายเป็นควายหรือการไม่อดทนหรือเคารพความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ของอีกฝ่าย

7.Thai exceptionalism- ลัทธิที่เชื่อว่าการเมืองหรือสังคมไทยมีความพิเศษไม่เหมือนใคร

แนวคิดนี้จึงมักจะเปรียบได้กับหลุมดำที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มอำนาจเดิมมักใช้ดูดซับหรือตอบโต้ข้อโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามว่าประเทศไทยมีสภาพโดดเด่นเป็นของตัวเองไม่เหมือนใคร ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกมักไม่สามารถนำมาใช้กับการเมืองไทยได้ เหตุก็เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ดังเช่นเดียวกับการอ้างความเป็นไทยหรือ Thai-ness ซึ่งความจริงก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองและสังคมซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ

เป็นความจริงที่ว่าประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีสภาพไม่เหมือนกันเพราะบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมย่อมแตกต่างกัน แต่ความโดดเด่นพิเศษของไทยอาจจะไม่ได้หมายความตามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกกลุ่มอำนาจเดิมอ้างอยู่เสมอเหมือนข้อ 4 ก็ได้

8. Self-delusion -โรคหลงตัวเอง

เป็นอาการประเภทหนึ่งของผู้นำประท้วงเช่นนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มักคิดว่าตนเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ คิดอะไร ทำอะไรแม้จะดูไม่น่าไว้ใจและขัดกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะสภาประชาชน แต่ก็อ้างเป็นเสียงของมวลมหาประชาชน ดังนั้นคำว่า "ชัยชนะ" หรือ "เสียงประชาชน" จึงเป็นคำที่ถูกพูดพร่ำเพรื่อ (ad nauseam)  เพื่อสะกดให้มวลชนเกิดขวัญและกำลังใจในการประกอบกิจกรรมประท้วงต่อไปถึงแม้จะไม่มีความหมายเท่าไรนัก ถึงแม้คนประท้วงจำนวนมากจะมีความปรารถนาดีต่อชาติและต้องการเห็นประเทศปลอดการฉ้อราษฏรบังหลวงและเป็นประชาธิปไตยตามแบบของตน แต่ก็ถูกชักจูงให้มาช่วยหล่อเลี้ยง Self-delusion ของกลุ่มผู้นำโดยไม่รู้ตัว

9. Military charming-กองทัพผู้ทรงเสน่ห์

คำนี้ผู้เขียนแปลงมาจากคำว่า Prince charming หรือเจ้าชายรูปหล่อที่ขี่ม้ามาช่วยเจ้าหญิงซึ่งถูกขังไว้บนหอคอย    ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลหรือผู้ประท้วงก็คาดหวังต่อกองทัพในรูปแบบที่แตกต่างกัน รัฐบาลหวังว่ากองทัพจะสนับสนุนตัวเองหรืออย่างน้อยก็เป็นกลาง หรือผู้ประท้วงก็คาดหวังให้กองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลเพื่อว่าจะได้ปิดเกม  อันสะท้อนถึงสภาพของประเทศโลกที่ 3 ที่กองทัพยังคงมีบทบาทต่อการเมืองอย่างสูง ม็อบปัจจุบันจึงมีการกระทำที่ขัดแย้งในตัวเอง (irony) คือปากหนึ่งต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ก็คงไฝ่หาองค์กรที่เคยบั่นทอนประชาธิปไตยเสมอมา

ผู้เขียนเข้าใจดีว่าหลายคนมองว่ากองทัพเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย  (Democracy protector)  แต่ถ้าได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำรัฐประหารมักไม่ได้มาจากน้ำใสใจจริงของกองทัพเช่นมีการตอบรับสัญญาณอย่างดีกับกลุ่มที่สร้างความวุ่นวายและไม่ใช่การกลับไปสู่กรมกองอย่างง่ายดายภายหลังจากนั้น แต่เป็นการที่กองทัพสานผลประโยชน์กับกลุ่มอำนาจอื่น ที่สำคัญยังเป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของกองทัพไปเรื่อยๆ  ตัวอย่างเช่นกองทัพของอียิปต์ โปรดจำไว้ว่าไม่มีการทำรัฐประหารใดในโลกที่ "ฟรี" (There is no free lunch)

10. Election phobia -โรคกลัวการเลือกตั้ง

อาการนี้มักเกิดขึ้นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองได้อย่างดีเลิศและรู้ดีกว่าหากมีการเลือกตั้งกันจริงๆ แล้วตัวเองต้องแพ้แน่นอนจึงต้องโหนทั้งม็อบบนถนน ทั้งรองเท้าบู๊ท ทั้งอำนาจมืดเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล จนกลายเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล (hypocrisy) ที่ยกย่องประชาธิปไตยแต่โจมตีการเลือกตั้ง  อย่างไรก็ตามอาการก็คงจะหายถ้าการเลือกตั้งช่วยทำให้ตัวเองได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลในวันใดวันหนึ่ง

11. Lese majeste law –กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่ารัฐบาลรักษาการณ์ชุดนี้ก็ได้พยายามตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายฉบับนี้ที่ใครหลายเห็นว่าควรจะได้รับการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาเล่นงานกลุ่มม็อบเช่นเดียวกับรัฐบาลในฝันของอำมาตย์กับกลุ่มเสื้อแดง อันสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของนักการเมืองไม่ว่าปีกไหนตามคำศัพท์ที่นักวิชาการบางคนเคยให้ไว้ว่าเป็นรัฐบาลแบบงั้นๆ  (Mediocre government) คือไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรแน่ชัดนอกจากปรับตัวไปตามสถานการณ์ (แต่อย่างไรก็ยังคงความเป็นรัฐตำรวจเอาไว้)

12. CIV หรือ Constitutional immunodeficiency virus-ภูมิคุ้มกันรัฐธรรมนูญบกพร่อง

เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายคน หรือแม้แต่แมว สามารถบกพร่องดังเช่น HIV และ FIV ได้แล้ว รัฐธรรมนูญไทยก็สามารถมีสภาพคล้ายคลึงอีกเช่นกัน เช่นการทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ร่างก็ได้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสะกัดแนวคิดพรรคการเมืองใหญ่ของทักษิณแฝงเข้าไปด้วย ดังนั้นบางมาตราจึงคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน เพื่อเปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีอำนาจในการตีความอย่างเต็มที่และทำให้เกิดการต่อต้านจากลุ่มไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งย่อมส่งผลให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์และต้องเฉาตายในที่สุดคล้ายกับคนเป็นเอดส์ตาย ต่อให้มีการเขียนใหม่ไปเรื่อยๆ เช่นจนถึงปี 2600 ไทยอาจจะมีรัฐธรรมนูญถึง 30 ฉบับ รัฐธรรมนูญก็ยังถือว่า  "ตาย" อยู่ดี เพราะขาดยาต้านไวรัสและการรักษาที่ดี

เรื่องที่น่าเศร้าคือวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาคือวันรัฐธรรมนูญ สื่อกระแสหลักของไทยเอาแต่พร่ำสรรเสริญถึงพระคุณของรัชกาลที่ 7 แทนที่จะกล่าวถึงบุญคุณของคณะราษฎรผู้ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยถูกล้างสมองให้เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กำหนดจากข้างบน ไม่ใช่จากเจตจำนงตัวเอง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชนมากกว่าเครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบหรือควบคุมรัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทักษิณหรืออำมาตย์


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น