ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสื้อแดงเชียงใหม่สอบถาม มช. - เรยีนา กรณีมีผู้ใช้ชื่อสถาบันเคลื่อนไหวการเมือง
- เจ้าหน้าที่ NSA เสนอไม่เอาผิดสโนว์เดน แลกกับการคืนเอกสารทางการ
- สุเทพ เทือกสุบรรณเสนอแผน 1 ปี 5 ปฏิรูป แล้วจัดเลือกตั้ง
- แกนนำปชป. ชี้ต้องปฏิรูปพรรคเพื่อชัยชนะ
- กานดา นาคน้อย: ประชาชนชอบสิทธิ์ มหาประชาชนชอบอภิสิทธิ์
- กสท.เคาะวันประมูลทีวีดิจิตอล 26-27 ธ.ค.นี้
- ข้อเสนอว่าด้วยการ ‘เปิดทาง’ ปฏิรูปประเทศ
- กองทัพในวันที่ใกล้บรรลุวุฒิภาวะ
- พีมูฟแถลงจุดยืน หนุนเลือกตั้ง ควบคู่เริ่มปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
- 5 เครือข่ายปฏิรูปประเทศฯ เสนอใช้มาตรา 7 หานายกฯ คนกลาง
- ถามสถานะ “สันติวิธี” อุดมการณ์หรืออาวุธทางการเมือง
- TDRI เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
- อัยการเลื่อนนัด 'สุเทพ' ส่งฟ้องศาลคดีสลายชุมนุมปี 53 ไป 8 ม.ค. 57
- ผู้นำญี่ปุ่นหาแนวร่วมในอาเซียน แถลงส่งเสริมเสรีภาพการบิน
- รัฐบาลจัดเวทีปฏิรูป: ปลัดกลาโหมยืนยันกองทัพหนุนจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
เสื้อแดงเชียงใหม่สอบถาม มช. - เรยีนา กรณีมีผู้ใช้ชื่อสถาบันเคลื่อนไหวการเมือง Posted: 16 Dec 2013 01:21 PM PST เสื้อแดงกลุ่มย่อยยื่นแถลงการณ์ถึงผู้บริหาร มช. และ ร.ร.เรยีนาเชลี กรณีมีผู้ใช้ชื่อสถาบันการศึกษาเคลื่อนไหวการเมือง และชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี หวั่นเกิดเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว ขณะที่นายกสมาคมนักเรียนเก่าเรยีนา ระบุโรงเรียนไม่ทราบเรื่อง อาจเป็นศิษย์เก่าดำเนินการเองโดยไม่แจ้งให้ทราบ 17 ธ.ค. 56 - สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 ธ.ค. 56) ว่าคนเสื้อแดงกลุ่มอิสระใน จ.เชียงใหม่ นำโดย นายอภิชาต อินสอน หรือดีเจอ้วน และนายภูมิใจ ไชยยา หรือดีเจ แหล่ รวมตัวกันที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ พร้อมแถลงการณ์กรณีที่สถาบันการศึกษา 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย มีบุคลากรเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ชื่อสถาบันการศึกษา และเผยแพร่รูปถ่ายผ่านเฟสบุ๊ค ข้อความต่อต้านโจมตีขับไล่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มคนเสื้อแดงดังกล่าวระบุว่า จะยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรณีที่ปล่อยปละละเลยให้บุคลากรใช้สถาบันแสดงออกเกี่ยวข้องกับการเมือง และระบุว่า หากอธิการบดีของสถานศึกษาต้องการแสดงออกทางการเมือง ก็ควรลาออกไปสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจะดีกว่า และไม่ควรเหมือนกรณีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่สร้างกระแสเกลียดชังระหว่างกัน และให้หยุดเอาสถาบันการศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทางกลุ่มยืนยันสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และขอให้เข้าสู่ระบบเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ชี้แจงกรณีให้บุคลากรใช้สถานที่แสดงออกทางการเมืองโจมตีรัฐบาล ขอทราบแนวทางในอนาคตของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ทางคนเสื้อแดงกลุ่มดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือต่อ รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และต่อมารายงานจากเนชั่นทันข่าว รายงานว่าคนเสื้อแดงกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่โรงเรียนเรยีนา เชลีวิทยาลัยด้วย โดย อำภาพร จันทร์กระจ่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวนี้ทางโรงเรียนไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่จะขอรับเรื่องไว้เพื่อทำการตรวจสอบและจะชี้แจงกลับให้ทราบภายหลัง โดยจะทำการหารือกับทางนายกสมาคมนักเรียนเก่าเรยีนาฯ ก่อน ส่วน ชไมพันธ์ โบ๊ด นายกสมาคมนักเรียนเก่าเรยีนาเชลีวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้น ทางโรงเรียนไม่ทราบเรื่องแต่อาจจะเป็นกลุ่มนักเรียนเก่าของทางโรงเรียนดำเนินการโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อน ในนามของทางสมาคมต้องกล่าวขอโทษกับการกระทำในครั้งนี้ ทั้งนี้เข้าใจว่าแต่ละคนต่างมีแนวคิดที่แตกต่างกัน รักชอบไม่เหมือนกัน ครั้งนี้จะขอรับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อปรึกษาถึงแนวทางมาตรการในการป้องกันและแจ้งให้ทราบต่อไป อนึ่ง การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงกลุ่มนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ในกรุงเทพฯ ที่หน้าศาลาธรรม ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีฝ่าย กปปส. เข้ามาจัดการชุมนุม โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนระบุว่าเป็นศิษย์เก่าของเรยีนาเชลีวิทยาลัย สถานศึกษาในสมัยมัธยมศึกษาตอนต้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย เป็นเหตุให้มีการยื่นหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยดังกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เจ้าหน้าที่ NSA เสนอไม่เอาผิดสโนว์เดน แลกกับการคืนเอกสารทางการ Posted: 16 Dec 2013 09:30 AM PST จนท.คนสำคัญของ NSA เผย จะมีการพิจารณานิรโทษกรรมเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ หากเขายอมคืนเอกสารของหน่วยงานที่เขานำออกไปเพื่อเปิดโปง แต่ฝ่ายต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ NSA บางรายไม่เห็นด้วย 16 ธ.ค. 2556 เจ้าหน้าที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เปิดเผยว่าพวกเขากำลังพิจารณานิรโทษกรรมให้กับเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานหน่วยข่าวกรองผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ ผ่านทางสื่อ แต่ NSA ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมนิรโทษกรรมก็ต่อเมื่อสโนว์เดนยอมนำเอกสารที่เขานำไปเปิดโปงคืนแก่หน่วยงานทั้งหมด ริชาร์ด เลดเกท หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของ NSA ผู้ตรวจสอบความเสียหายที่ได้รับจากการเปิดโปงของสโนว์เดน ให้สัมภาษณ์ต่อรายการข่าวช่อง CBS ว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่าการนิรโทษกรรมสโนว์เดนเป็นเรื่องพูดคุยตกลงกันได้ แต่เขาก็ต้องการให้รับประกันว่าจะมีการส่งคืนข้อมูลทั้งหมด และการรับประกันในเรื่องนี้ควรมีมากกว่าคำยืนยัน โดยหลังจากที่สโนว์เดนได้หลบหนีออกจากสหรัฐฯ เพื่อเริ่มปฏิบัติการเปิดโปงแผนการสอดแนม ทางการรัสเซียก็ให้ที่พำนักลี้ภัยในประเทศตนเป็นเวลา 1 ปี ขณะที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้ยื่นคำร้องตั้งข้อกล่าวหาต่อสโนว์เดนเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาในข้อหาโจรกรรมทรัพย์สินของรัฐบาล, เปิดเผยข้อมูลด้านกลาโหมของประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อหา "จงใจสื่อสารข้อมูลข่าวกรองลับให้แก่บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต" แต่สโนว์เดนก้ยังไม่ถูกฟ้องร้องในคดีเหล่านี้อย่างเป็นทางการ ในสหรัฐฯ กระบวนการนิรโทษกรรมจะต้องได้รับการพิจารณาจากกระทรวงยุติธรรม โดยในตอนนี้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ยังไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ต่อเรื่องข้อเสนอแลกเปลี่ยนเพื่อนิรโทษกรรมให้สโนว์เดน ส่วนโฆษกกระทรวงต่างประเทศมารี ฮาร์ฟ กล่าวว่า สิ่งที่เลดเกทกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของเขาเท่านั้น และจุดยืนของพวกเขายังคงเดิมคือให้สโนว์เดนกลับมาในสหรัฐฯ เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมาย อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการของ NSA นายพลคีธ อเล็กซานเดอร์ ก็กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อ CBS ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการยื่นข้อเสนอต่อสโนว์เดนซึ่งจะกลายเป็นการ "ให้รางวัล" ผู้ที่ทำความลับรั่วไหลและสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้อีก อย่างไรก็ตามเดอะ การ์เดียนระบุว่า อเล็กซานเดอร์จะเกษียณอายุในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค. - พ.ค.) รวมถึงรองผู้อำนวยการ จอห์น อิงกลิส และมีข่าวลือว่าเลดเกทมีโอกาสสูงที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งแทนอิงกลิส เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ NSA ยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าพวกเขาไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสโนว์เดนนำเอกสารขององค์กรออกไปมากเท่าใด โดยที่เลดเจทแสดงความกังวลถึงเอกสารที่เหลืออีกส่วนใหญ่ที่ยังไม่ถูกนำมาเปิดโปงผ่านสื่อ ทางด้านข้อถกเถียงเรื่องความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัวก็มีการพิจารณาเรื่องนี้โดยทางการสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากการที่กลุ่มตรวจสอบที่แต่งตั้งโดยทำเนียบขาวได้มอบรายงานข้อเสนอแนะปฏิรูปกฏหมายการสอดแนม 40 ข้อต่อ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเคทลิน เฮย์เดน โฆษก NSA บอกว่าจะมีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณะภายในเดือน ม.ค. 2557 นอกจากกลุ่มตรวจสอบของทำเนียบขาวแล้ว ยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความเป็นส่วนตัวในสภาคองเกรสพยายามผลักดันกฏหมายเสรีภาพสหรัฐอเมริกา (USA Freedom Act) ซึ่งมีการห้ามไม่ให้รัฐบาลดักเก็บช้อมูลโทรศัพท์มือถือหรือข้อมูลอื่นๆ โดยไม่มีคำสั่งศาลและบุคคลนั้นๆ ไม่ได้เข้าข่ายผู้ต้องสงสัย แต่ร่างกฏหมายดังกล่าวยังคงไม่มีการรับรองจากสภาใดๆ เรียบเรียงจาก NSA officials consider Edward Snowden amnesty in return for documents, The Guardian, 15-12-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุเทพ เทือกสุบรรณเสนอแผน 1 ปี 5 ปฏิรูป แล้วจัดเลือกตั้ง Posted: 16 Dec 2013 09:02 AM PST เลขาธิการ กปปส. อธิบาย 5 ปฏิรูป เลือกตั้งยุติธรรม-ปราบทุจริต-ประชาธิปไตยยึดโยงประชาชน-แก้เหลื่อมล้ำ-ปฏิรูปตำรวจ ใช้เวลา 1 ปีไม่เกินปีครึ่งก่อนเลือกตั้ง พร้อมขอโทษตระกูลชินวัตรหากถูกพาดพิง ขอตีวงเฉพาะทักษิณ-เยาวภา-ยิ่งลักษณ์ ที่ตะโกน 'ออกไป' หมายถึงออกจากรักษาการนายกฯ ไม่ได้เนรเทศ เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ส่วนทักษิณนั้นหนีไปเอง สุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 (ที่มา: Blue Sky Channel) 16 ธ.ค. 2556 - เมื่อเวลา 22.00 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขึ้นปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวกับว่า วันนี้ฝ่ายของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังยื้อยุดอำนาจอยู่ ไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน ใช้เงินภาษีอากรของประชาชนจัดกิจกรรมตอบโต้กระบวนการของพี่น้องประชาชน ทำลายความน่าเชื่อถือของพี่น้องที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ สื่อมวลชน ใช้ข้าราชการที่ประจบสอพลอ ทั้งหมดเพื่อค้ำจุนอำนาจในระบอบทักษิณให้อยู่ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้ต่อไป มีการพูดกันมากว่าสิ่งที่กำนันสุเทพพูดเรื่องปฏิรูปเป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีความเป็นไปได้จริง เพราะการปฏิรูปต้องใช้เวลา 20-30 ปี ที่บอกว่าปฎิรูปประเทศเป็นแผนการ แต่ขอให้จำเพื่อไปบอกคนอื่นว่าเราไม่ได้งี่เง่าเบาปัญญา รู้ว่าสิ่งที่ต้องปฏิรูปประเทศมีมากมายและต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่เราคิดว่าใช้เวลาสั้นๆ ทำปีเดียว มี 4-5 เรื่อง คือสิ่งที่เราต้องพูดกัน เรื่องแรก ที่ต้องปฏิรูปให้ได้ คือกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่มาของส.ส.ดีๆ รัฐบาลดีๆ คำว่ากระบวนการเลือกตั้ง ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งสภาประชาชนต้องไปช่วยกันคิด เอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาแล้วแก้ไขให้หมด ผมถึงบอกว่ามีหลายเรื่องในกระบวนการเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องแก้ไข ไม่ต้องมาชวนเราไปเลือกตั้ง และเรื่องนี้ทำได้อย่างรวดเร็ว เรารู้กันมาหมดแล้ว เข้าใจปัญหากันมาหมดแล้วแต่ถ้าสภาเป็นสภาของนักซื้อเสียง เป็นสภาของนักโกงเลือกตั้ง ไม่มีวันที่จะมาแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้ซื้อเสียงได้ สอง การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ประเทศเราร่อแร่แล้ว จะไปไม่รอดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องหยุดเรื่องคอรัปชั่นให้ได้ หยุดนักการเมืองที่คอรัปชั่นก่อน แก้กฎหมายเกี่ยวกับการคอรัปชั่นทั้งกระบวนการ เช่น ต่อไปนี้เมื่อมีทุจริตคอรัปชั่น ถือว่าคนไทยเสียหายเป็นโจทก์ฟ้องได้เลย เพราะถ้ารอให้ตำรวจ หรือให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแบบธาริตสอบ เผลอๆไม่สอบเพราะเป็นขี้ข้าเขา หรือให้อัยการฟ้องแล้วอัยการไม่ฟ้อง มันก็เสียหาย เหมือนอย่างที่เรียนว่าถ้านักการเมืองคนไหนมีคดีคอรัปชั่น ต้องไม่มีวันหมดอายุความ หนีไปอยู่ต่างประเทศกลับมาก็ต้องติดคุก กฎหมายอย่างนี้ไม่ต้องใช้เวลา 20-30 ปีอย่างที่เขาโจมตี ทำ 3 เดือนก็เสร็จ สาม ระบอบประชาธิปไตยต่อไปนี้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่อำนาจต้องอยู่ในมือนักการเมืองตลอดไป แต่ต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชน เช่น ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการและนักการเมืองมากขึ้น กฎหมายที่เขียนไว้ให้เข้าชื่อถอดถอน 2 หมื่นรายชื่อ เรายื่นไปแสนกว่ารายชื่อ แต่ประธานวุฒิสภาบอกยังตรวจสอบรายชื่อไม่เสร็จ การถอดถอนเริ่มไม่ได้ ดังนั้นต้องแก้กฎหมายกำหนดให้กระบวนการถอดถอนนักการเมืองให้จบได้ภายใน 6 เดือน 1 ปี ให้บทลงโทษทันตาเห็นสาสมกับสิ่งที่นักการเมืองทำกับประชาชน และต้องคืนอำนาจประชาชนเสียที อำนาจปกครองบ้านเมืองหลายอย่างที่รวบไว้ที่รัฐบาลกลาง กรุงเทพฯ คณะรัฐมนตรี ต้องคืนให้ประชาชนต่างจังหวัด ให้ประชาชนทุกจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็ไม่ดูแลเขา ผู้ว่าราชการจังหวัดจากการเลือกตั้ง จะได้มีความรับผิดชอบ และพัฒนาจังหวัด งบประมาณก็ไม่ต้องรวมในส่วนกลางแล้วก็ไม่ยอมให้เขา เช่น ถ้าคนภูเก็ตไม่เลือกเขา หอประชุมก็ไม่สร้างให้ ดังนั้น อย่าให้คำว่ากระจายอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชน เขาไปเลือกของเขาเอง มึงไม่ต้องเสือกตั้งให้เขา ซึ่งร่างกฎหมายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น จรัส สุวรรณมาลาได้ร่างไว้แล้ว ทั้งนี้ผู้ใหญ่บอกผมว่าอย่าไปใช้คำว่ากระจายอำนาจ เพราะถ้าพูดอย่างนั้นเดี๋ยวรัฐบาลจะเถียงว่าก็กระจายอำนาจให้แล้ว เลยเปลี่ยนมาใช้คำว่าคืนอำนาจให้ประชาชน เดี๋ยวเขาก็ไปเลือกของเขาเอง สี่ นอกจากนี้จะต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม การดูแลคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ ให้เขามีโอกาสบนแผ่นดินนี้เหมือนคนอื่น ให้มีโอกาสประกอบอาชีพ ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับการศึกษา ปีเดียวก็ทำได้ ต้องเลิกประชานิยมเด็ดขาด หลอกคนจนไม่มีอีกแล้ว และเรื่องที่ห้า คือปรับโครงสร้างตำรวจ เพราะตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน ตำรวจเป็นนายประชาชนไม่ได้แล้ว ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องการทำ ตำรวจจะได้ไม่ต้องส่งส่วยให้ผู้ใหญ่ผู้โต นี่คือความเป็นจริงที่ต้องแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้บ้านเมืองยุ่งเหยิงไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องการทำห้าเรื่องนี้ ใช้เวลาปีเดียว ไม่เกินปีครึ่ง เมื่อทำได้แล้ว และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการปฏิรูป ก็กลับไปเลือกตั้ง เชิญพรรคการเมืองทั้งหลายมาแข่งเลือกตั้งด้วยความยุติธรรม ไม่ซื้อเสียง ประชาธิปไตยเดินตามครรลอง พวกเราก็กลับบ้านไปทำมาหากิน ไม่ไปแข่งกับใคร ที่ต้องพูดแบบนี้เพราะฝ่ายยิ่งลักษณ์โจมตีว่าเราต่อต้านการเลือกตั้ง ผมจะบอกให้เราต้องการเลือกตั้ง แต่ไม่ต้องการการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่โกงได้ ซื้อได้ เราไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้ง เราต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้ง และเราพร้อมจะไปเลือกตั้งเมื่อมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมแล้ว และยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้ง แต่ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่มีกฎหมายประกันว่ากระบวนการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้คนดีมาทำหน้าที่แทนประชาชน ทั้งนิติบัญญัติและบริหาร แล้วประกาศเลยว่าพวกเราทั้งหลายที่อยู่ที่นี่ และอยู่ที่บ้าน มวลมหาประชาชนผู้รักชาติไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 นี้ และเราจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อแสดงจุดยืนของเราว่าเราไม่เอาการเลือกตั้งที่เลวทรามเหมือนเดิมเหล่านี้ เพราะอะไร เพราะเราได้ประกาศยืนหยัดที่จะขจัดระบอบทักษิณให้หมดไปจากประเทศไทย เพราะระบอบทักษิณเป็นระบอบที่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ ถืออำนาจตามอำเภอใจ ไม่เคารพประชาชนและกฎหมาย ระบอบทักษิณถือว่าเงินสำคัญที่สุด มันใช้เงินซื้อคะแนน ผู้แทน พรรคการเมือง ซื้อข้าราชการและองค์กรอิสระ มันถึงเป็นต้นเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่น เราถึงไม่เอา เราต้องการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรม ที่เราเขียนขึ้นใหม่ ไม่มีมนุษยธรรม ไม่มีจรรยา ไปด่าเขาทั้งโคตร ทั้งตระกูล เขาเดือดร้อน ผมขอโทษแทนประชาชน ขอโทษคนในตระกูลชินวัตรที่เป็นคนดี ผมขอกราบขอโทษ ผมหมายถึงคนไม่กี่คนเท่านั้น เช่น ทักษิณ คุณนายแดง ยิ่งลักษณ์ ขอให้พี่น้องตระกูลชินวัตรเข้าใจ เหมือนคนในตระกูล ณ ระนองมาขึ้นเวทีด่ากิตติรัตน์ ณ ระนอง คนตระกูลชินวัตรมาขึ้นเวทีด่าทักษิณบ้างก็ได้ และผมขอโทษด้วยความจริงใจที่พูดไปทั้งหมด อาจทำให้คนตระกูลชินวัตรดีๆ ได้รับความกระทบกระเทือน ต่อไปนี้จะระบุเป็นคนๆ เช่น ทักษิณ คุณนายแดง ยิ่งลักษณ์ แล้วก็ยืนยันอีกครั้งครับ ที่ส่งเสียงว่า 'ออกไปๆๆ' อธิบายหลายหนแล้วว่าไม่ได้หมายความว่าไล่คนในตระกูลชินวัตรพ้นประเทศไทย พูดหลายครั้งแล้ว เรารู้ ว่าคนไทยด้วยกัน เกิดในแผ่นดินนี้ ไม่สามารถเนรเทศไปต่างประเทศได้ เราไม่คิดเนรเทศคุณยิ่งลักษณ์ไปต่างประเทศ เหมือนคนไทยไม่ได้เนรเทศทักษิณ ทักษิณ มันออกไปเอง อย่าด่าคนไทยว่าไปไล่ออกต่างประเทศ เหมือนคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ตั้งใครรักษาการ บอกประชาชนดีๆ ว่าขอทำความดีให้ประเทศด้วยการลาออกจากตำแหน่งรักษาการ เท่านี้ก็อยู่กันได้ในประเทศไทย ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ทำตัวให้หลุดพ้นอำนาจบงการทักษิณ ทำความดีให้ประชาชนเห็น ซื้อใจด้วยหัวใจสิครับ คนไทยก็จะปฏิบัติต่อคุณแบบทำให้คุณร้องไห้ก็แล้วกัน ว่าถ้ารู้อย่างนี้ทำดีให้ประเทศนานแล้ว แต่ถ้าคุณยังรักษาระบอบทักษิณ ให้มีอิทธิพลเหนือคนไทย คุณจะต้องร้องไห้น้ำตาเป็นปี๊บ เพราะคนไทยจะเกลียดคุณทุกคน มีผู้ใหญ่บอกผมว่าคุณยิ่งลักษณ์ไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นคนไม่รู้เรื่อง และไม่พยายามเรียนรู้ให้รู้เรื่อง ผมเชื่อผู้ใหญ่ คุณยิ่งลักษณ์ถ้ายังมีสติ และมีปัญญา ขอให้ได้ศึกษาสิ่งทีเกิดในประเทศไทยขณะนี้ และให้รู้สักทีว่าคุณเป็นนายกรัฐมนตรีที่คนออกมาขับไล่มากที่สุดในประเทศนี้ เป็นล้านๆ คน และคุณก็ไปซื้อกับข้าวไม่ได้ ไปสระผมก็ไม่ได้ กอดเงินแสนล้านก็ไม่มีความสุข ลูกชายคุณจะไม่มีเพื่อน เพราะลูกของประชาชนจะถามทุกวันว่า ทำไมแม่ถึงดื้อด้านทำร้ายประเทศหนักถึงขนาดนั้น ในที่สุด ทั้งตัวคุณ และลูกคุณ ก็จะไม่สามารถบากหน้าไปอยู่ประเทศได้ ผมถึงบอกว่าถ้าคุณดื้อด้านอยู่ก็หาคนมาสอนภาษาอาหรับ ภาษาแขกได้แล้ว เพราะอนาคตคือดูไบแน่นอน บนเวทีนี้บางทีเราก็พูดเต็มที่ มีอารมณ์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น มันก็อาจจะเฉไฉ เลพาเลพาท ไปถูกหลายคน ผมก็ถูกต่อว่ามามาก โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ที่บ้าน ไม่ได้ออกมาเดินขบวนด้วย เขาก็่บ่นเสียใจ น้อยใจไม่ชอบใจ ว่าทำพวกผมไปด่าว่าเขาเป็นไทยนิ่ง ไทยเฉย อ.เจิมศักดิ์ไปฟาดเต็มที่ท่าน ผบ.ทบ. ไปว่าท่านเป็นไทยเฉย ผมก็เป็นกำนันจึงขอโทษท่านทั้งหลายด้วยถ้าโดนด่าไป พี่น้องทั้งหลายครับขอกราบเรียนว่า พี่น้องที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยความองอาจ กล้าหาญ แสดงตนเปิดเผยแสดงตนให้เขาถ่ายออกทีวี ยอมมากินกลางดินกลางถนน ผมเคารพ ยกย่อง เทิดทูน ถือว่าสุดยอดคนไทยอยู่แล้ว ผมต้องยกย่อง ผมไม่ถึงขนาดรังเกียจเดียดฉันท์ แบ่งฝ่ายกับคนที่ไม่ได้มา ผมก็เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้มาเดินขบวนกับเรา อยู่ที่บ้าน ท่านก็อาจจะคิดเหมือนเรา ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ อยากเห็นการปฏิรูปประเทศไทย ผมได้แต่กราบขอโทษหากทำให้ท่านไม่สบายใจ จะไม่ด่าท่านว่าไทยเฉย พูดคืนนี้คืนเดียว แต่ผมอยากกราบเรียกร้องไปถึง ท่านที่ได้ดูทีวีบลูสกาย ทีนิวส์ ผมขอกราบขอโทษแทนมวลมหาประชาชน ถ้าท่านไม่ออกมาต่อสู้ตามถนน ขอให้ทำประการใดประการหนึ่งเพื่อขจัดระบอบทักษิณ และร่วมปฏิรูปการเมืองก่อนไปเลือกตั้งด้วยครับ ที่ท่านไม่ได้มาเดินขบวนด้วย อยู่ที่บ้าน ผมขอฝากว่าท่านช่วยคิดเถิดครับ ทำอะไรได้ช่วยทำเลยครับ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ก็ได้ครับ ช่วยเพิ่มพลังประชาชน ขอพลังความสามัคคีประชาชนในชาติทุกฝ่าย อยู่ที่บ้านก็ได้ เป็นกำลังให้พวกเราด้วย ขอบคุณครับ โดยหลังจากสุเทพกล่าวคำว่าขอบคุณ มีการเปิดเพลง 'สู้ไม่ถอย' และมวลชนลุกขึ้นปรบมือ อย่างไรก็ตาม สุเทพยังปราศรัยไม่จบ โดยได้พูดชี้แจงว่า "40-50 คืน มันต้องผิดคิวกันบ้างครับ ขอโทษครับ" จากนั้นสุเทพได้ปราศรัยต่อว่า ที่มีคนเสื้อแดงเสื้อดำมาก่อการร้าย นั้นเป็นส่วนน้อย ที่ต้องถูกดำเนินคดี ที่เห็นในรูปต้องดำเนินคดี อภัยไม่ได้ เขาทำผิดกฎหมายเขารับจ้างทักษิณมาต้องถูกดำเนินคดี แต่มวลชนคนเสื้อแดงหรือคนที่มีความคิดเป็นแดง คนที่แม้แต่เป็นชมพู ผมอยากพูดแทนมวลมหาประชาชนว่าอยากสามัคคีกับท่าน ถ้าท่านรักแผ่นดินไทย รักประเทศไทย รักความยุติธรรม รักประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ขอเชิญท่านมาร่วมกับเรา ผมพูดจริง ผมพูดตรง ไม่อ้อมค้อม ต้องการให้มวลชนคนเสื้อแดงคนดี แดงที่ไม่ใช่แดงทักษิณ ไม่ใช่แดงล้มเจ้า มาร่วมกับเรา คนเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ นักวิชาการเสื้อแดงถ้าคิดว่าสู้เพื่อคนจน สู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม มีจุดยืนเดียวกับเรา มาร่วมกับเรา ขอเชิญมา ให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันปฏิรูปประเทศไทย อย่าให้ระบอบทักษิณมาทำร้ายคนไทยอีกต่อไป นี่คือคำเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการจากมวลมหาประชาชน แล้ววันนี้ขออนุญาตพูดกับพี่น้องทั้งหลาย เรื่องผมสักเล็กน้อย เพราะในขณะนี้ เขากำลังระบายสีตีไข่ ฝ่ายรัฐบาลบอกว่ากำนันสุเทพ ประวัติไม่ดี อันธพาล คนบ้า สารพัด ผมอยากเรียนตรงไปตรงมาว่า ในอดีตภาพพจน์ผมไม่สวยสดงดงาม นั่นคือกรรมของผม พี่น้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นเอง ผมไม่แก้ตัว ให้ความจริงปรากฏแก่พี่น้องทั้งหลาย แต่วันที่ผมตัดสินใจมาทำงานให้พี่น้องคราวนี้ เหมือนคนสละเพศฆราวาส มาถือบวชถือศีล ผมก็จะถือศีล ศีลไม่ขาดแน่นอน ผมตั้งใจทำงานให้ประชาชน ยืนหยัดต่อสู้กับพี่น้องประชาชน และผมสู้สุดชีวิต ผมเทหมดหน้าตัก นี่คือผมที่อยากให้พี่น้องมั่นใจ สำหรับพวกรัฐบาลที่ใส่ร้ายว่าผมเป็นคนบ้า สติไม่ดี ผมบอกพี่น้องทั้งหลายทั่วประเทศ ว่าผมอยู่กับประชาชนเป็นล้าน 40-50 วันนี้ เขารับรองว่ากำนันสุเทพ ไม่ได้บ้าแน่นอน แต่ตั้งใจว่าเรื่องนี้ งานนี้ต้องทำให้สำเร็จเพราะไม่มีวันถอย ที่ไม่ถอยเพราะไม่ใช่บ้าเลือด เพราะถอยไม่ได้ นี่คือโอกาสเดียวที่ประเทศนี้จะดีขึ้นได้ด้วยมือประชาชน ที่ประกาศว่าการต่อสู้นี้ไม่มีการเจรจา ประนีประนอม แล้วมันไปขยายความว่าผมบ้า ดันทุรัง ผมขอชี้แจงว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องระหว่างความดีความชั่ว ประนีประนอมไม่ได้ ผมไม่ประนีประนอมกับคนในระบอบทักษิณที่พยายามเจรจาและถ่วงเวลาให้ระบอบทักษิณมีอิทธิฤทธิ์เหนือชีวิตคนไทย แบบนี้ผมไม่เจรจาด้วย ผมยืนยัน นั่งยัน แต่กับคนฝ่ายอื่น คนดีๆ หวังดีต่อชาติบ้านเมือง แม้จะคิดไม่เหมือนผม ผมพร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำ แต่ไม่ใช่ยอมแพ้ระบอบทักษิณ นอกนั้นผมฟังทุกคน เชื่อทุกคน แนะนำมาเถิดครับ ผมถึงนำพี่ๆ น้องๆ ไปหาภาคเอกชนไงครับ ไปคุยกับพ่อค้านักธุรกิจ ไปฟังเขา พูดความจริงกับเขา ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเขา และพร้อมรับคำแนะนำ ผมถึงพาน้องๆ ไปกองทัพไทย ไปพบ ผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพ ไปเล่าให้เขาฟังและฟังเหตุผลข้างเขาด้วย เราใช้วิธีนี้คือเดินสาย และพร้อมใช้วิธีนี้ต่อไป พี่น้องครับ เราเสียเปรียบเรื่องต่างประเทศ เพราะสื่อต่างประเทศรับข้อมูลจากรัฐบาล จากล็อบบี้ยิสต์ เรามาเป็นล้าน แล้วโฆษณาว่าเรามาแค่แสน นี่คือข้อเท็จจริง หลายประเทศออกแถลงการณ์มาพูดจามาในลักษณะไม่เข้าใจมวลมหาประชาชนเลยผมพยายามแก้ไข จะเชิญทูตทั้งหลายมาดูเลย ไม่ต้องเชื่อไอ้ปลื้ม มาเวทีนี้เลย ผมเชิญแล้ว 18 ธ.ค. 5 โมงเย็นมาที่นี่ แล้วจะพาเดินเยี่ยมพี่น้อง เขาจะได้เลิกคิดว่าเราเป็นพวกไม่มีการศึกษา พวกบ้าเลือด ไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตย ขอให้มาดูของจริง และจะได้เห็นด้วยตาตนเองว่ามวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมานี้เป็นพลเมืองดี มือเปล่า ไม่เหมือนพวกที่ลุกขึ้นมาก่อการร้ายในประเทศไทย แล้วคุณยังเชียร์อยู่ รัฐบาลเขาพยายามใส่ร้ายว่าผมเป็นนักเลงอันธพาล ไม่ใช่คนที่ประชาชนชวนเชื่อ ผมขอบอกรัฐบาลว่าผมเป็นนักเลง ตามภาษาพื้นบ้าน ชาวบ้านเขารู้จัก คือใจถึง พึ่งได้ พูดคำไหนคำนั้น แต่ผมไม่ใช่อันธพาล ผมไม่ระราน ไม่ข่มเหงใคร ไม่รังแกใคร ไม่ฉ้อโกงใคร ไม่เอาเปรียบใคร ผมทำงานเพื่อประชาชนที่รักและศรัทธา เพื่อแผ่นดินที่หวงแหนเท่านั้น ผมทำเรื่องนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้น ทำเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน ไม่มีประโยชน์ส่วนตัว ทำเสร็จแล้วล้างมือ ไม่เป็นนักการเมือง กลับบ้านพร้อมพี่น้องประชาชน เมื่อเราชนะ มีการโจมตีความคิดที่เราจะตั้งสภาประชาชน ว่าพวกเราเป็นคอมมิวนิสต์ ผมจะบอกให้รู้ที่ผมพูดคำว่า สภาประชาชน ไม่มีอะไรเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์เลย ผมตั้งใจให้หมายถึง สภาที่มีประชาชนล้วนๆ ไม่มีนักการเมืองมามีอิทธิพลในสภานี้ ที่ให้เป็นสภาของประชาชนล้วนๆ เพราะสัจจะธรรมคือ ผลประโยชน์ประชาชน และพรรคการเมือง มันขัดกัน แล้วเราจะได้เห็นในไม่ช้านี้ ผมเป็นนักการเมืองมาก่อน เป็นมา 35 ปี ผมเข้าใจ พรรคการเมืองคิดตามเรื่องพรรคการเมือง วันนี้ผมเป็นประชาชน ผมคิดตามแนวทางที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน นี่คือเส้นแบ่งที่ต้องขีดแล้ว ขอกราบเรียนว่า ไม่ว่าจะเจอคลื่นลม อุปสรรค เราต้องกอดกันให้มั่น มีศรัทธาในสิ่งที่เราทำ ว่าเราทำเพื่อประโยชน์ของชาติและลูกหลาน ไม่วอกแวกครับ ตายเป็นตาย สู้ให้ชนะเที่ยวนี้ และผมกราบเรียนพี่น้องทั้งหลาย ทางเลือกของประเทศมีสองทาง หนึ่ง ละมุนละม่อม ราบเรียบ นายกรัฐมนตรี ครม. ลาออกจากรักษาการ เปิดโอกาสให้คนกลางเป็น ครม. ตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ปีเดียว ไม่เกินปีครึ่ง กลับไปเลือกตั้งเหมือนเดิม สอง ถ้าวิธีนี้เดินไปไม่ได้ ประชาชนไม่มีทางเลือก ขอดีๆ พูดดีๆ ไม่ยอมต้องบังคับเอา เราจะใช้อำนาจประชาชนเต็มที่ นี่ช่วยไม่ได้แล้ว เราก็ได้พยายามต่อสู้ด้วยความระมัดระวัง ด้วยความอดทน ผมเรียนกับพี่น้องแล้วว่าไม่เคยมีชาติไหนทำได้แบบนี้ที่ว่าคนเป็นล้าน สันติ สงบ ไม่มีรุนแรงเลย เราจะสู้แนวนี้ตลอดไป ขอให้มั่นใจครับว่า มวลมหาประชาชนมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน คนเข้าใจเรามากขึ้น เห็นด้วยมากขึ้น เรามีแต่จะชนะ งานนี้ไม่มีแพ้ ให้พี่น้องสบายใจ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แกนนำปชป. ชี้ต้องปฏิรูปพรรคเพื่อชัยชนะ Posted: 16 Dec 2013 07:56 AM PST อลงกรณ์ พลบุตร ย้ำพรรคจะกลับมามีคะแนนนิยมสูงได้จะต้องปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ ส่วนจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 2 ก.พ. หรือไม่ กรรมการบริหารชุดใหม่จะเป็นผู้ตัดสินใจ 16 ธ.ค. 2556 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานคำพูดของ นายอลงกรณ์ พลบุตร แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวระหว่างการประชุม "โครงสร้างใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์" ประธานสาขาพรรคฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ว่า หนทางเดียวที่ประชาธิปัตย์จะกลับมามีคะแนนนิยมสูงได้ จะต้องมีการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้าง, ระบบบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กร และวิธีคิดต่างๆและเป้าหมายของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะปฏิรูปเพื่อนำไปสู่ชัยชนะ โดยต่อไปนี้พรรคประชาธิปัตย์จะต้องไม่แพ้อีกต่อไป นายอลงกรณ์ กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปพรรค เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรมีสถาบันประชาธิปัตย์ที่ทำหน้าที่เป็นสถาบันทางการเมือง คอยฝึกอบรมสมาชิก นายอลงกรณ์ กล่าวย้ำว่า การปฏิรูปพรรคจะต้องปรับปรุงระบบบริหารจัดการ การเลือกตั้ง และนโยบาย กำหนดโครงสร้างใหม่ ให้มีกรรมการกลางพรรค ให้มีกรรมการปฏิบัติการในพื้นที่ครอบคุลม 375 เขตเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจให้กรรมการบริหารพรรค ซึ่งเชื่อว่าที่ประชุมใหญ่พรรคในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค.) จะเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปพรรค ซึ่งหากมีการปฏิรูปพรรคแล้วเชื่อมั่นว่าพรรคมีโอกาสได้รับชัยชนะและเป็นรัฐบาล นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีหน้า (2557) ว่าขึ้นอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะตัดสินใจว่าจะส่งผู้สมัครหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงไม่ขอแสดงความเห็นส่วนตัว แต่เชื่อว่าการตัดสินใจลงเลือกตั้งหรือไม่ จะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศส่วนรวม โดยพรรคต้องอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจต่อสังคมได้ และที่สำคัญการจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการปฏิรูปประเทศ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กานดา นาคน้อย: ประชาชนชอบสิทธิ์ มหาประชาชนชอบอภิสิทธิ์ Posted: 16 Dec 2013 06:52 AM PST
ในยุคนั้นผู้พิพากษาและนายอำเภอเข้าร่วมขบวนการ"เคเคเค"เพื่อข่มขู่ไม่ให้คนดำซึ่งเป็นลูกหลานอดีตทาสเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ผู้นำม็อบนกหวีดเรียกประชาชนที่สนับสนุนตนว่าเป็น"มหาประชาชน" และแกนนำบางคนชี้นำว่าผู้เข้าร่วมม็อบนกหวีดคือประชาชนที่มีคุณภาพเหนือกว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนเหนือประชาชน รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุด ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการปฎิรูปก่อนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์คือการฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุด ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการฉีกรัฐธรรมนูญคือการล้มล้างการปกครองในมาตรฐานอารยประเทศ ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรโต้ตอบผลงานวิจัยที่พบว่าการซื้อเสียงไม่มีบทบาทในการตัดสินผลการเลือกตั้งระดับชาติในประเทศไทยด้วยผลงานวิจัยที่อุดมด้วยสถิติ ความไม่โปร่งใสคือรากฐานปัญหาทุจริต ในสหรัฐฯความโปร่งใสเป็นมาตรฐานที่ใช้กับผู้ใช้ภาษีทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง อาจารย์ อธิการบดี อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ กฎหมายบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ภารโรงยันอธิการบดีต้องเปิดเผยรายได้ต่อผู้เสียภาษี ข้อมูลรายได้ดังกล่าวหาได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รายได้ข้าราชการทั้งในระดับมลรัฐและระดับประเทศก็เปิดเผยต่อผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน อัยการสูงสุดระดับมลรัฐมาจากการเลือกตั้ง ในบางมลรัฐผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งด้วย อัยการสูงสุดของประเทศและผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญโดนตรวจสอบโดยรัฐสภา ข้อมูลการพิพากษาคดีเป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้เสียภาษีเข้าถึงและถกเถียงได้โดยไม่ต้องกลัวข้อหาหมิ่นศาล การปลูกฝังค่านิยมด้านความโปร่งใสก็ต้องทำกันทุกระดับ นักศึกษาอเมริกันให้แต้มอาจารย์เพื่อประเมินผลอย่างโปร่งใสเหมือนร้านอาหารและโรงแรมไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้น้อยหรือศาสตราจารย์รางวัลโนเบล เช่น พอล ครูกแมนได้แต้ม3.2 ดาวจากแต้มสูงสุด 5 ดาว (ที่มา http://www.ratemyprofessors.com/ShowRatings.jsp?tid=243005) คนไข้ให้แต้มหมอเพื่อประเมินผลเหมือนผู้จำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ(ตัวอย่าง http://www.healthgrades.com/provider-search-directory/search?q=Cardiology&search.type=Specialty&loc=New+York%2c+NY) ทุกอาชีพโดนประเมินผลเหมือนกัน ไม่มีอาชีพใดมีอภิสิทธิ์เหนืออาชีพอื่น ในกรณีของไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณเรียกร้องให้ปฎิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง แล้วทำไมไม่มีการประเมินผลว่าคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยในยุคที่นายสุเทพเป็นรองนายกฯได้แต้มกี่ดาว?การเสนอแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญก่อนวันเลือกตั้งน่าจะโปร่งใสกว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อปฎิรูปโดยบุคคลที่ไม่รู้ว่ามีผลงานกี่ดาว สื่อมวลชนก็ต้องโปร่งใส ข่าวจากสื่อมวลชนตะวันตกตีพิมพ์ด้วยชื่อผู้รายงานข่าวชัดเจน ทำให้ผู้รายงานข่าวต้องระมัดระวัง ต้องตรวจสอบความจริงและรับผิดชอบผลงานของตน สื่อมวลชนไทยใช้มาตรฐานนี้เวลารายงานข่าวภาษาอังกฤษเพื่อให้ดูทัดเทียมกับมาตรฐานสากล แต่ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันเวลารายงานข่าวภาษาไทย สื่อมวลชนไทยควรปฎิรูปตัวเองเพื่อให้โปร่งใสขึ้น หนังสือพิมพ์ควรลงชื่อนักข่าวที่เขียนข่าว อย่ามัวแต่เรียกร้องความโปร่งใสจากอาชีพอื่น ประชาชนชอบเลือกตั้ง มหาประชาชนชอบแต่งตั้ง ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์เดียวกันร่วมกันปฎิเสธระบอบมหาประชาชนด้วยการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เสียงเดียวฟังดูน้อยอาจทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าจากการเดินทางไปลงคะแนน แต่ถ้าคนอเมริกันทุกคนคิดแบบนั้นสหรัฐฯจะไม่ใช่ประเทศที่คนไทยมาศึกษาแล้วกลับไทยไปเป็นอธิการบดี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสท.เคาะวันประมูลทีวีดิจิตอล 26-27 ธ.ค.นี้ Posted: 16 Dec 2013 06:44 AM PST
และในวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2556 รอบที่ 1 เวลา 08.00-14.00 น. หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต รอบที่ 2 เวลา 14.00-20.00 น. หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต รวมทั้งสิ้น 24 ใบอนุญาต จากนั้น ภายใน 15 วันนับจากการประมูลแล้วเสร็จ จะรับรองผลผู้ชนะการประมูล คาดว่าจะรับรองผลได้ในวันที่ 6 ม.ค.2557 ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถออกอากาศในระบบดิจิตอลได้ในเดือน ก.พ.2557 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นับเป็นการประมูลครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สื่อโทรทัศน์ของไทยรอบ 58 ปี เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ในระบบดิจิตอลและการคืนคลื่นอะนาล็อกเดิมภายใน 4-5 ปีจากนี้ หวังว่าจะเป็นการค่อยๆ ปฏิรูปโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อฟรีทีวีของรัฐจากระบบสัมปทานเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ฟรีทีวีจะมีอิสรภาพและทางเลือกหลากหลายให้คนดูมากขึ้น จากนั้นในเชิงยกระดับคุณภาพ ทุกภาคส่วนคงต้องช่วยกันพัฒนาอุตสหกรรมการผลิตเนื้อหาและยืนหยัดยกระดับการกำกับดูแลตนเอง/กันเอง ตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพที่เข้มขึ้นมากขึ้นต่อไป ตามแนวที่เราได้พยายามวางกันเอาไว้ ไม่ง่ายแต่ก็ต้องทำงานร่วมกันใกล้ชิดทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ ผู้บริโภค และ กสทช.
ทั้งนี้ จากผลสรุปการพิจารณาการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในรอบปี 2555-2556 รวม 6,115 สถานี พบว่ายังคงมีผู้ยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ยื่นเอกสารประกอบคำขอไม่ครบถ้วนอีกจำนวน 2,637 ราย ซึ่งที่ประชุม กสท. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้สถานีผู้ยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่เอกสารไม่ครบถ้วน ดำเนินการยื่นเอกสารให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับตั้งแต่วันได้รับหนังสือ โดยให้สามารถออกอากาศไปพลางจนกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง และหากไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนดระยะเวลา 45 วันดังกล่าว จะถือว่าไม่ประสงค์จะทดลองประกอบกิจการอีกต่อไป และให้สำนักงาน กสทช. สรุปรายชื่อสถานีที่มิได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาเสนอที่ประชุม กสท. เพื่อดำเนินกระบวนการตามประกาศฯต่อไป โดยกำหนดระยะเวลาการทดลองประกอบกิจการของผู้ยื่นคำขอที่ยื่นเอกสารหลักฐานประกอบคำขอครบถ้วนภายใน 45 วัน ให้มีระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ข้อเสนอว่าด้วยการ ‘เปิดทาง’ ปฏิรูปประเทศ Posted: 16 Dec 2013 04:33 AM PST การปฏิรูปประเทศที่แท้จริงไม่อาจทำสำเร็จใน 1-2 ปี แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจริงจังเป็นเวลายาวนาน และไม่อาจปฏิรูปเฉพาะด้านกฎหมายหรือโครงสร้างสถาบันอำนาจ แต่ต้องปฏิรูปกระบวนการความคิด ทัศนคติ และวัฒนธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วย การเริ่มต้นการปฏิรูปที่แท้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ไม่มีฝ่ายใดถูกบีบบังคับให้ต้องดำเนินการตามความประสงค์ของอีกฝ่าย ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกบีบบังคับในเบื้องต้น ก็คือการอาศัยกติกาสูงสุดของประเทศ อันได้แก่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการ "เปิดทาง" ปฏิรูปประเทศ ซึ่งเริ่มต้นได้ทันทีก่อน ระหว่าง และ หลัง การเลือกตั้ง โดยแบ่งได้เป็นสามระยะ 1. การเปิดทางปฏิรูประยะเฉพาะหน้า (ภายใน 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง) - ให้ทุกพรรคการเมืองให้สัตยาบันลงแข่งขันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2556 โดยงดเว้นการนำเสนอนโยบายเลือกตั้งแบบทั่วไปเชิงประชานิยม แต่จะเน้นนำเสนอเฉพาะนโยบายการเริ่มต้นกลไกกระบวนการปฏิรูปประเทศที่ไม่ยึดติดกับอายุของรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร เช่นรูปแบบ สภาประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลไกเพื่อการปฏิรูปอื่นเพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนและนำไปสู่ "รัฐบาลปฏิรูป" ซึ่งเป็นรัฐบาลกึ่งเฉพาะกิจที่จะยุบสภาภายใน 2 ปี หลังได้ดำเนินการขับเคลื่อนและเริ่มต้นกลไกการปฏิรูปประเทศตามที่หาเสียงไว้ โดยมีกลไกปฏิรูปทำหน้าที่ต่อไป 2. การเปิดทางปฏิรูประยะกลาง (ภายใน 1-2 ปี ช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน) - ให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจัดตั้ง "รัฐบาลปฏิรูป" โดยเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชนเข้ามาร่วมดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเริ่มต้นการปฏิรูปโปร่งใสและมีส่วนร่วม และยุบสภาภายในไม่เกิน 2 ปี 3. การเปิดทางปฏิรูประยะยาว (ภายใน 2 ปี หลังจาก "รัฐบาลปฏิรูป" ได้ทำการยุบสภา) - มีการยุบสภาก่อนปี 2560 และเลือกตั้งใหม่ เพื่อเข้าสู่เดินกลไกปฏิรูประยะยาวที่ต่อเนื่องและผูกมัดทุกรัฐบาล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กองทัพในวันที่ใกล้บรรลุวุฒิภาวะ Posted: 16 Dec 2013 04:24 AM PST ในประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว กองทัพจะแยกออกจากการเมืองแทบจะเด็ดขาด ซึ่งพบได้ในประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป หรือประเทศนอกยุโรป อย่างเช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงอินเดีย เป็นต้น อินเดียนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาสูงมาก แต่อินเดียไม่เคยมีรัฐประหารเลย ทำให้เกิดความคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยอมรับว่าประเทศไทยมีความเป็นพหุสังคมไม่แพ้ประเทศอินเดีย ซึ่งความเป็นกลางของกองทัพสำคัญต่อความเป็นปึกแผ่นและความอยู่รอดของประเทศ ส่วนในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนา เราจะเห็นกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเสมอ ซึ่งพบได้ในประเทศพม่า เกาหลีเหนือ กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแอฟริกา รวมถึงไทยเรา และประเทศไทยวันนี้กำลังจะไปไกลกว่าประเทศในกลุ่มนี้โดยมีความพยายามสร้างกระแสเพื่อบอกว่าการรัฐประหารเป็นประเพณีทางการเมืองปกติของไทยที่สังคมไทยควรยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบที่สมบูรณ์ในประเทศไทยยังอีกยาวนาน โดยจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของกองทัพไทยนั่นเอง มาวันนี้กองทัพไทยได้แสดงแล้วว่ากองทัพได้กลับมาเป็นตัวของตัวเอง ได้ปฏิเสธใบสั่ง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดในระยะยาว คำถามคือมีอะไรที่ดลใจให้กองทัพเลือกที่จะเป็นกลางมากที่สุดในสถานการณ์วันนี้และควรจะเป็นในวันต่อๆ ไป ประเด็นที่พอจะวิเคราะห์ได้คือการรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อีกต่อไปในสถานการณ์ที่คนไทยมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแบบ 2 ขั้วในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่การรัฐประหารอาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือแม้สำเร็จก็ยากลำบากในการรักษาความสงบของประเทศ อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นไปได้คือความผิดพลาดด้านนโยบายที่ส่งผลให้ศักยภาพของกองทัพในภารกิจป้องกันประเทศ (ศัตรูนอกประเทศ) ถดถอยลง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้กลายเป็นภารกิจหลักของกองทัพ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันเองกำลังจะกลายเป็นงานหลักของกองทัพ ในขณะที่กองทัพถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับศัตรูนอกประเทศ แต่ภัยคุกคามจากนอกประเทศดูจะลดลงทุกขณะ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยิ่งทำให้การหาศัตรูเพื่ออ้างเหตุผลคงกองทัพให้มีขนาดใหญ่และมียุทโธปกรณ์ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาจึงกลายเป็นคำถาม นอกจากนี้ การรักษาความสงบเรียบร้อยโดยการต่อสู้กับคนไทยด้วยกันย่อมไม่สร้างความภาคภูมิใจให้หมู่ทหารระดับล่าง และการสั่งฆ่าประชาชนอาจเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย ผิดมโนสำนึก ที่ทหารระดับล่างอาจปฏิเสธได้ ซึ่งต่างจากการหันหลังให้อริราชศัตรู โดยเฉพาะในกรณี worst case scenario ที่กองทัพต้องออกไปรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคโดยการกระจายกำลังเป็นหน่วยทหารขนาดเล็กไปตามจุดต่างๆ ที่ห่างไกลกรุงเทพ ทหารระดับล่างที่ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว อาจปฏิเสธคำสั่งและหันไปเข้าร่วมกับพี่น้องของตนในพื้นที่โดยนำอาวุธที่ติดตัวไปด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ซึ่งภาพแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคการล้มสลายของยูโกสลาเวีย ดังนั้นการใช้การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศมาเป็นภารกิจหลักสำคัญและเป็นข้ออ้างในการคงขนาดและงบประมาณของกองทัพจึงเป็นข้ออ้างที่ผิดพลาดเพราะไม่สามารถทำได้จริง เช่น การจะจับหรือสังหารคนไทยด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีกฎหมายที่ซับซ้อนมารองรับ และการปราบปรามประชาชนย่อมทำให้ผู้ที่ถูกปราบมองว่าทหารเป็นศัตรูของตนอยู่วันยังค่ำ เหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้จึงเป็นบทเรียนสำคัญ ดังนั้นจะปล่อยให้กองทัพคงกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากโดยอ้างภารกิจหลักที่ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติจึงเป็นคำถามที่คนไทยผู้เสียภาษีทุกคนควรตั้งคำถาม แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ การคงสภาพเดิม (คน+งบประมาณ) ของกองทัพไว้เพื่อแลกกับความเป็นกลางและการบรรลุวุฒิภาวะของกองทัพจึงยังคุ้มค่าอยู่สำหรับชาวไทยผู้เสียภาษีทุกคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พีมูฟแถลงจุดยืน หนุนเลือกตั้ง ควบคู่เริ่มปฏิรูปเชิงโครงสร้าง Posted: 16 Dec 2013 02:03 AM PST ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หนุนเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 รวมถึงสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลา 16 ธ.ค.2556 ที่อาคารศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ แถลงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดย อัมพร จำปาทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ระบุ ขปส.สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ พร้อมระบุด้วยว่า การปฏิรูปคงไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ในช่วงเวลา 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะการปฏิรูปจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ขัดแย้งต่อระบอบระชาธิปไตย และกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการปฏิรูปอาจนำไปสู่การปรับปรุงกติกาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปด้วย ไพจิต ศิลารักษ์ ขปส. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมติว่าจะจัดเวทีประชาชนพบพรรคการเมืองปลายเดือน ม.ค.นี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ควรมีเหตุผลหรือความชอบธรรมใด ที่จะทำให้ไม่เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ส่วนกรณีการปฏิรูปนั้น ไพจิต ระบุว่า ต้องทำควบคู่กัน เพราะต้องสร้างหน่วยและองค์ประกอบที่จะปฏิรูปก่อน ต้องให้ความมั่นใจกับสังคมว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนไม่ได้สิ้นสุดอำนาจลง แต่ต้องมีหลักประกันว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมกับสังคมในการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ ต้องเดินหน้าโดยเริ่มจากคิดค้นองค์กร รูปแบบ และกระบวนการที่นำสู่การปฏิรูปประเทศ ปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เสนอว่า กลไกกลางในการปฏิรูปประเทศไทยควรจะมาจากทุกภาคส่วน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูป แล้วให้ประชาชนได้กำหนดว่า แนวทางปฏิรูปควรผ่านนโยบายของพรรคการเมืองไหน เพื่อจะได้ไม่เกิดความแคลงใจต่ออำนาจในการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นจะเป็นแกนในการปฏิรูปเท่านั้น แต่อาจเป็นผู้ประสานงานในการรับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ ปราโมทย์ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้อาจจะใช้เวลายาวนาน เพราะมีบางเรื่องซึ่งยึดโยงกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องการปฏิรูปที่ดิน ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้กุมอำนาจเชิงโครงสร้าง นักการเมืองและทุนที่ครอบครองทรัพยากรของประเทศ เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องวางจังหวะคุยกันให้ถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปครั้งนี้จะไม่ทำให้ประชาชนไทยจัดการอำนาจและเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรมอย่างแท้จริง และท้ายที่สุด จะเป็นวังวนของการใช้วาทะการปฏิรูป มาชี้ชวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาขัดแย้งกัน แต่เนื้อแท้ของการปฏิรูป ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมของสังคมได้ อนึ่ง ขปส. ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.), เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.), สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.), เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา, เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 00000
แถลงการณ์ฉบับที่ 41 ตามที่สถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ในสภาพวิกฤติแล้วในขณะนี้ โดยมีสาเหตุหลักคือความไม่เชื่อมั่นต่อพฤติกรรมของนักการเมือง และระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ นั้น ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
5 เครือข่ายปฏิรูปประเทศฯ เสนอใช้มาตรา 7 หานายกฯ คนกลาง Posted: 16 Dec 2013 01:52 AM PST เครือข่ายปฏิรูปประเทศ อาทิ เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศ เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ออกแถลงการณ์ขอให้นายกฯ ถอยเพื่อประเทศ และเรียกร้องให้ใช้ม. 7 หานายกฯ คนกลางและตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 ธันวาคม ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคนรักสุขภาพ เครือข่ายคนรักประเทศไทย เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจพลเมือง ร่วมแถลงข่าวออกแถลงการณ์ "ขอให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจถอยเพื่อประเทศ" เพื่อเปิดทางให้ปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง โดยมีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 1,000 คน ซึ่งภายในงานนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรท์ ได้อ่านบทกวีเรียกร้องถึงรัฐบาลด้วย
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ถามสถานะ “สันติวิธี” อุดมการณ์หรืออาวุธทางการเมือง Posted: 16 Dec 2013 01:28 AM PST เสวนาเรื่องสันติวิธีทางเลือก กับนักวิชาการนักกิจกรรมรุ่นใหม่และผู้คลุกวงในสันติวิธี แลกเปลี่ยนนิยาม ถึงที่ทางของถ้อยคำที่ถูกใช้มากที่สุดในยุคนี้ 15 ธ.ค.2556 ที่ Reading Room มีการเสวนาเรื่อง "สันติวิธีทางเลือกในสังคมไทย" โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เรื่องอารมณ์ขันกับการต่อสู้สันติวิธีในเซอร์เบีย, กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สถาบันต้นกล้า ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้ฉุกคิดในประเด็นทางสังคมอย่างสร้างสรรค์, วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา,ชาญชัย ชัยสุโกศล จาก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และทำวิจัยเรื่อง hate speech กับการเมืองไทย
เวลาพูดถึงการเมือง คือ การพูดเรื่องอำนาจในความขัดแย้ง การศึกษาสันติวิธีส่วนใหญ่ศึกษาในส่วนของผู้ไร้อำนาจ ในแวดวงการศึกษาสันติวิธีที่เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นการต่อสู้กันในเชิงความรู้ เพราะมองว่ารัฐศาสตร์กระแสหลักนั้นมีลักษณะเป็นก้อนเดียว เป็นการใช้อำนาจแบบบนลงล่าง เน้นการศึกษาเรื่องกองทัพ ระบบราชการ แต่สายสันติวิธีจะศึกษาว่าอำนาจมีหลายก้อนและใช้ได้หลายทิศทาง บางสายที่พยายามเปิดหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้คนเคยชินในชีวิตประจำวันด้วย เมื่อพูดถึงสันติวิธีหลายคนคิดว่ามันทำงานอย่างอัตโนมัติ การชุมนุมด้วยจำนวนคนเยอะๆ ไม่ได้ทำให้เกิดอำนาจ นำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ทันที การศึกษาสันติวิธีทางการเมืองจึงเน้นย้ำยุทธศาสตร์ การวางแผน เพราะสันติวิธีไม่ใช่เวทมนต์ ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่ใช้สันติวิธีแล้วไม่ประสบผล นอกจากนี้สิ่งที่หลายกลุ่มลืมคือ การฝึกฝนเพื่อไม่ให้เราหลุดจากหลักการสันติวิธี เพราะนัยของสันติวิธีเป็นการสู้กันเรื่องความชอบธรรม หลายคนอาจเลือกทางนี้เพราะมิติด้านศีลธรรมของมัน แต่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อให้ภาพที่ออกไปมีความชอบธรรมมากกว่าคนที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันทำให้สนใจจะเขียนเปเปอร์ว่าด้วยเรื่องเมื่อใดที่ขบวนการสันติวิธีไร้ความชอบธรรม หากรัฐบาลเข้าใจตรรกะเดียวกันและไม่ใช้ความรุนแรง จะเกิดอะไรขึ้นกับขบวนการสันติวิธี ผู้ดำเนินรายการ ถามว่า รูปแบบสันติวิธีหากถูกใช้เพื่อเป้าหมายอันไม่เป็นประชาธิปไตย ยังถือว่ามีความชอบธรรมอยู่หรือไม่ จันจิรากล่าวว่า หลายที่เริ่มเจอสถานการณ์อย่างนี้ เช่น เวเนซุอาลา มีงานที่เริ่มถกเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยที่อายุเยอะ ( aging democracy) ทั้งในอเมริกาและยุโรป เราพูดราวกับว่าประชาธิปไตยเป็นจุดหมายอันดีงามสูงสุด สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่หยั่งรากพบว่า ประชาธิปไตยเอื้อต่อกลุ่มทุน คนที่ออกมาต่อสู้พยายามสู้กับนิยามของประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่ได้มีรูปแบบเดียว การชุมนุมประท้วงก็นับเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและปรึกษาหารือ
จันจิรากล่าวว่า วิกฤตการณ์ประชาธิปไตยของสังคมไทยตอนนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาธิปไตยที่ไม่เคยสุกงอมในประเทศไทย กับการโหยหาประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เกิดในอเมริกาและยุโรป ที่กล่าวว่าที่ไม่สุกงอมคือ เราแทบไม่เคยมีรัฐบาลที่อยู่ครบเทอม มีการรัฐประหารหลายสิบครั้ง มีกลุ่มอนุรักษ์นิยม ขณะที่ในยุโรปเราเห็นประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มั่นคงก่อนแล้วจึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวก็ไม่อยากดูแคลนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ซึ่งมีความพยายามจะหาโมเดลของการตรวจสอบที่ไปไกลกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเช่นกัน ผู้เข้าร่วมเสวนา ถามว่า การใช้สันติวิธีนับเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ชุมนุมได้หรือไม่ เช่นในกรณีของสถานการณ์ปัจจุบัน และในระดับโลกมีการศึกษาเรื่องนี้หรือไม่? จันจิราตอบว่า มีแคมเปญสันติวิธีอันไหนบ้างที่ไม่พรอพพากันดา ทั้งนี้เพราะผู้ใช้สันติวิธีสนใจภาพลักษณ์ของขบวนการจึงเลือกใช้วิธีนี้ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายของคู่ขัดแย้งในการเมืองไทย มีฝ่ายกองกำลังของตนเอง ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้สายที่ใช้สันติวิธีเบียดขับกลุ่มติดอาวุธ ไม่ให้กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเป็นกุนซือ กำหนดยุทธศาสตร์หรือกลยุทธกลุ่ม อันที่จริงเกือบทุกกลุ่มสันติวิธีในโลกก็ไม่ได้ใช้สันติวิธี 100% กิตติชัย นำเสนอ 3 ประเด็น คือ 1.เราวุ่นวายกับการนิยามคำว่าสันติวิธีมากเกินไป 2.ทำไมสันติวิธีของไทยที่มีอยู่จึงมาได้แค่นี้ 3.การขาดแคลนเครื่องมือ
คนที่สนใจสันติวิธีในปัจจุบันค่อนข้างเน้นไปทางการนิยามว่าตัวเองเป็นคนกลางที่อยู่เหนือความขัดแย้ง ในขณะที่คนที่สนใจปฏิบัติการไร้ความรุนแรงต่อคู่กรณีนั้นมีน้อยเกินไป ทำให้ในที่สุดสันติวิธีกลายเป็นเรื่องอยู่เหนือการทะเลาะกัน อยู่เหนือความขัดแย้ง หรือแบบรอเขาตีกันเสร็จแล้วค่อยเข้ามาเยียวยา ประเด็นสุดท้าย คือหลังจากทำการอบรมหลายครั้งพบว่ายากมากที่ปัจเจกจะออกมาปฏิบัติการ เพียงแค่การพ่นสีตามที่สาธารณะคนก็กลัวมาก กลัวผิดกฎหมาย กลัวทำลายความสะอาดของบ้านเมือง การที่เราไปชุมนุมแล้วมีแกนนำ ส่วนใหญ่ความรับผิดชอบอยู่ที่แกนนำ แต่ปฏิบัติการแบบพ่นสีความรับผิดชอบอยู่ที่ "ฉัน" เอง จึงมีคำอธิบายมากมายที่ทำให้ไม่กล้าปฏิบัติการ นอกจากนี้หลายคนรู้จักคำใหญ่ๆ มากมายแล้ว เช่น ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือ ขาดเครื่องมือ คนคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี ทำอย่างไรจะคิดเครื่องมือและขยายออกไปในสังคม เพื่อลดความสำคัญของแกนนำ ข้อเสนอเบื้องต้นคือ เราควรใช้เวลาคิดค้นปฏิบัติการดีกว่า แล้วเดี๋ยวนักวิชาการจะมานิยามให้เองว่ามันเป็นหรือไม่ วิจักขณ์ กล่าวว่า สันติวิธีในเมืองไทยดูเหมือนจะเป็น "ฝั่งที่ 3" ในระหว่างคู่ขัดแย้ง เหตุการณ์ปัจจุบันกรณี กปปส. ก็พยายามหา "คนกลาง" ในการเจรจา ฝั่งที่สามมีอำนาจมากในสังคมไทย ออกพื้นที่สื่อ พูดคุยและนิยามทุกอย่างได้เยอะมาก ขณะที่สันติวิธีในต่างประเทศจะมีท่าทีของการต่อต้านอำนาจบางอย่าง กรณีเมืองไทยการต่อต้านอำนาจมีหลายมุม กปปส.ต่อต้านทักษิณ เสื้อแดงก็ต่อต้านอำนาจที่กระเถิบขึ้นไปอีก เป็นการมองโครงสร้างของความรุนแรงโดยที่แต่ละฝ่ายอาจมองเห็นไม่เหมือนกัน ประเด็นคือ ฝ่ายที่สามหรือฝ่ายสันติวิธี ไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย พยายามเกลื่อนประเด็นที่ทำให้สุดท้ายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เมื่อย้อนดูว่าความเป็นสันติวิธีฝั่งที่สามว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะพบว่าประเด็นสำคัญคือ ศาสนา ในโลกตะวันตกมันเป็นสันติวิธีแบบการเมือง แบบฆราวาส แต่สันติวิธีในเมืองไทยเป็นสันติวิธีศาสนา มีเรื่องความเป็นคนดีเข้ามาเกี่ยวข้องสูงมาก มากไปกว่านั้น มันกำหนดสถานะของสันติวิธีด้วย บ้านเรายังไม่แยกรัฐกับศาสนาออกจากกันอย่างชัดเจน สถานะของศาสนายังมีความเป็นรัฐ มีอำนาจของของมันอยู่ สันติวิธีจึงเป็นฝั่งที่สามที่แอบอิงอยู่กับรัฐ ในเหตุการณ์ ปี 2553 มีสันติวิธีอาสาสักขีพยานเกิดขึ้นโดยมีอาสาสมัครเยอะมากติดตามม็อบเสื้อแดง คราวนี้ก็มีเหมือนกันแต่ปริมาณและความเข้มข้นต่างกันโดยสิ้นเชิง มันบ่งบอกปัญหาบางอย่างที่มากกว่าเรื่องความรุนแรง ที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดความรุนแรงนั้นกิจกรรมของกลุ่มสันติวิธีคือ ให้อาสาสมัครใส่เสื้อสกรีนคำว่า "สันติ" ไปขึ้นรถไฟฟ้า จุดเทียนในระหว่างเริ่มมีการปะทะ มีกลุ่มเพื่อนภาวนารวมตัวที่สวนเบญจสิริ มีกลุ่มเพื่อนรับฟัง เริ่มตั้งแต่ก่อนสลายการชุมนุม แต่เน้นหนักกิจกรรมหลังสลายการชุมนุม ทำหน้าที่ไปฟังทหาร ฟังผู้ชุมนุม จริงๆ เรื่องการรับฟังนี้เป็นไอเดียที่ดีมาก แต่ปัญหาคือ เมื่อฟังแล้วพบว่ามีเรื่องราวเยอะแยะไปหมด เขาพยายามบันทึกสิ่งเหล่านี้ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่ไม่มีการสรุป ตัดสิน เป็นคนดีที่แขวนคำตัดสินเอาไว้ จึงทำให้ไม่มีพลังในการขับเคลื่อน ไม่มีข้อสรุปเช่น ทหารต้องเข้ากรมกอง ฯลฯ หลังจากนั้นมีกิจกรรมเดินสันติปัตตานี ทั้งที่ความรุนแรงเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แต่ไม่ได้เริ่มเดินที่ราชประสงค์ เป็นการเดินจากศาลายาไปปัตตานี
ผู้ร่วมเสวนาที่เคยทำเครือข่ายสันติวิธี แลกเปลี่ยนว่า นอกจากคำว่าสันติวิธีจะถูกปล้น คำว่าคนกลางก็ถูกปล้นไปแล้ว แม้แต่นายกพระราชทานก็ใช้คำว่า คนกลาง ในประเด็นอาสาสักขีพยานนั้นไม่ได้หมายความว่าอาสาสมัครเหล่านั้นไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องเข้าใจว่านักสันติวิธีที่ทำงานปี 2553 ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีวิธีคิด มีความเข้าใจทางการเมืองหลากหลายมาก แต่พอรู้ตัวว่าเขาเริ่มเอียงเขาก็ถอยออกมา ตอนนั้นการก่อตัวเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาแบบฉุกละหุกมาก ไม่มีการวางแผน และไม่ใช่ว่าอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ จะชอบหรือเห็นด้วยกับทุกอย่างที่เครือข่ายทำ มันมีความหลากหลายอยู่ในนั้น เวลาพูดสันติอาสาสักขีพยานกับกิจกรรมอื่นๆ มันแยกขาดจากการโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ ต้องถามว่าคนที่เป็นนักสันติวิธีจำเป็นต้องมีข้อเสนอทางการเมืองไหม ในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ข่าวบอกว่ามันน่ากลัว เป็นไปในทิศทางนั้นทั้งหมด แต่เมื่อเราเข้าที่ชุมนุม มันไม่ได้น่ากลัวอย่างนั้น ชาวบ้านไม่ได้น่ารังเกียจอย่างที่ข่าวบอก กลุ่มที่เข้าไปทำงานเป็นกลุ่มเฉพาะกิจที่ตั้งมาเพราะรู้สึกว่าความจริงคือสิ่งแรกที่มันถูกทำลายไปเมื่อเกิดความรุนแรง แต่ปัญหาก็มีมากในการทำงานโดยเฉพาะจำนวนอาสาสมัครที่มีเพียง 5-10 คนขณะที่การชุมนุมใหญ่มาก คนเท่านี้ทำอะไรได้ไม่เยอะพวกเขาก็ยอมรับ จันจิรา กล่าวเสริมว่า มันต้องมีคนที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดเพื่อความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องมีคนที่จะช่วยประคองให้มันลงก่อนจะไปสู่สงครามกลางเมือง กรณีที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วดำเนินไปเรื่อยๆ จนมีแนวโน้มจะไปสู่ความรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องมีกลไกที่จะคลี่คลายมันลง ข้อดีของคนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งคือ เขามีระยะห่าง ไม่ใช่ไม่เข้าข้าง แต่ไม่อินเท่าคู่ขัดแย้ง ชาญชัย กล่าวเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า สันติวิธีได้รับการยอมรับ(treat)ในเมืองไทยนั้น ดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ความสูงส่งทางศีลธรรมกว่าอย่างอื่น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะบุคลิกของผู้ใหญ่หัวขบวนหรือสื่อต่างๆ ไปอวยเรื่องนี้เอง ส่วนวิธีที่พูดถึงสันติวิธี เรามักใช้สันติวิธีเป็นไม้บรรทัดไปวัด ไปวิพากษ์คนอื่นๆ ว่าเป็นหรือไม่เป็น เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนจาก สันติวิธีที่วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหว(critical definition) มา เป็น สันติวิธีในลักษณะที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะสันติวิธี (constructive definition )คือ เห็นว่าตรงไหนเป็นสันติวิธีแล้ว และควรเพิ่มสันติวิธีที่จุดไหน แต่ที่ผ่านมาเรามักไปจับตรงส่วนน้อยของขบวนการที่ไม่เป็นสันติวิธีแล้วปฏิเสธขบวนการทั้งหมด ประเด็นต่อมา สันติวิธีนั้นเป็นเครื่องมือที่ใครใช้ก็ได้ อุดมการณ์ไหนก็ใช้ได้ จะเป็นฟาสซิสม์แบบสันติวิธีก็ได้ เป็นคอนเซอร์เวทีฟแบบสันติวิธีก็ได้ เพราะมันเป็นวิธีการ ทั้งนี้ สันติวิธีแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ คือ สันติวิธีขั้นต่ำกับสันติวิธีขั้นสูง เข้าใจว่าสังคมไทยถูกชักชวนให้เห็นสันติวิธีขั้นสูงมาเป็นเวลานาน แบบคานธี แบบมาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่สิ่งสำคัญคือ สันติวิธีมีขั้นต่ำที่ห้ามตกต่ำไปกว่านี้นั่นคือ ไม่ทำร้ายคน ไม่ใช้ความรุนแรงในเชิงกายภาพ และไม่ใช่คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง ในแง่หนึ่ง สันติวิธีคล้ายกับชุดอุดมการณ์สำเร็จรูป(packaging) เหมือนกัน คือไม่ใช้ความรุนแรงกับใคร แต่ใครจะสมาทานอุดมการณ์อื่นๆมาบวกด้วยแค่ไหน อย่างไรก็แล้วแต่คน จุดเริ่มต้นของสันติวิธี คือ การต่อสู้กับอำนาจ แล้วปลายทางของมันคืออะไร? เอาอำนาจ เอาเผด็จการลงหรือเปล่า? การศึกษาสันติวิธีกระแสหลักบอกว่า จุดมุ่งหมายหนึ่งของสันติวิธีคือเพื่อทำให้สุดท้ายแล้วคนยังอยู่ด้วยกันได้แม้จะเห็นต่างกัน มีอุดมการณ์แตกต่างมากก็ตาม แต่ดูเหมือนขบวนการสันติวิธีไทยตอนนี้ powerful มากจนจะไปปฏิเสธคนอีกครึ่งประเทศ แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร ?
หากเห็นว่าสันติวิธีกระแสหลักมีอำนาจมาก เป็นไปได้ไหมที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาให้เข้ากันโดยการสนทนากับพวกเขา เพราะการยอมรับหรือการต่อต้านสันติวิธีกระแสหลัก โดยนัยคือการยอมรับว่าเขามีอำนาจเหนือกกว่าเรา แต่การใช้วิธีคุยกับเขาแสดงว่าไม่ได้มีใครอยู่เหนือกว่ากัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
TDRI เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง Posted: 16 Dec 2013 01:12 AM PST สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ มองข้อเสนอปฏิรูปขณะนี้ไม่ได้มาจากประชาชนเท่าที่ควร เสนอตั้งสภาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปจนถึงหลังเลือกตั้ง ก่อนส่งต่อข้อเสนอให้ตั้งสสร. เพื่อปฏิรูปประเทศ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อัยการเลื่อนนัด 'สุเทพ' ส่งฟ้องศาลคดีสลายชุมนุมปี 53 ไป 8 ม.ค. 57 Posted: 15 Dec 2013 11:24 PM PST เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยภายหลังทนายความนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่มประชาชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เข้าพบเพื่อรับทราบวันนัดส่งตัวฟ้องคดีร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่า เหตุมีคำสั่ง ศอฉ. ขอคืนพื้นที่การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 ว่า ภายหลังทนายความยื่นหนังสือขออัยการเลื่อนนัดส่งตัวคดีดังกล่าววันที่ 12 ธันวาคม อ้างเหตุติดภารกิจการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอเลื่อนมาพบอัยการ วันที่ 16 มกราคม 2557 นั้น ทางคณะทำงานอัยการได้พิจารณาแล้วโดยให้ทนายความยื่นเอกสารเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ถูกต้องเพิ่มเติม และมาพบอัยการเพื่อรับทราบนัดในวันนี้ ปรากฏว่าทนายความของนายสุเทพ ได้เข้าพบตนและยื่นเอกสารมอบอำนาจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ตนและคณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบการพิจารณาเลื่อนนัด สามารถอนุญาตให้เลื่อนออกไปได้ 30 วัน ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ทนายความ นำตัวนายสุเทพ มาพบเพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลอาญา วันที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. "ทนายความรับทราบและรับปากว่าจะพาตัวนายสุเทพมาส่งฟ้องตามนัด ขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ น่าจะคลี่คลายแล้ว อย่างไรก็ดีหลังจากที่อัยการคดีพิเศษ ยื่นฟ้องนายสุเทพแล้ว ก็จะไปขอรวมสำนวนกับนายอภิสิทธิ์ต่อไป" ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้นำญี่ปุ่นหาแนวร่วมในอาเซียน แถลงส่งเสริมเสรีภาพการบิน Posted: 15 Dec 2013 10:02 PM PST มีการเรียกร้องให้เปิดเสรีภาพทางการเดินเรือและการบิน และความปลอดภัยทางอากาศยานพลเรือน รวมถึงสัญญาให้เงินหนุน 20,000 ล้านแก่อาเซียน ซึ่งสื่อต่างชาติมองว่าญี่ปุ่นกำลังหาพวกสนับสนุนในการต้านการประกาศเขตน่านฟ้าของจีน 15 ธ.ค. 2556 ญี่ปุ่นและประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้เปิดเสรีภาพทางการเดินเรือและการบิน เพื่อต่อต้านการประกาศขยายเขตป้องกันทางน้ำและทางอากาศของจีน ซึ่งยังคงเป็นข้อพิพาทอยู่ในตอนนี้ มีการประชุมสุดยอดระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กับกลุ่มผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในฐานะครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันซึ่งมีเนื้อหาระบุว่าจะมีการ "ส่งเสริมความร่วมมือด้านการรักษาเสรีภาพทางการบินและความปลอดภัยในทางการอากาศของพลเรือน" และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อพิพาทด้วยวิธีการสันติด้วย ชินโซ อาเบะกล่าวในที่ประชุมว่าญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีการส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นเพื่อให้ภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้หลักนิติธรรมและความเคารพต่อกัน นายกฯ ญี่ปุ่นยังได้สัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือและเงินกู้ 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 600,000 ล้านบาท) แก่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสื่อต่างประเทศมองว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการที่ญี่ปุ่นพยายามเรียกเสียงสนับสนุนประเทศตนในเหตุข้อพิพาทพรมแดนกับจีน ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน พ.ย. ประเทศจีนได้ประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) เหนื่อท่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก ซึ่งไปทับซ้อนกับอาณาเขตเขตของประเทศเกาหลีใต้, ไต้หวัน และญี่ปุ่น รวมไปถึงเขตหมู่เกาะเซนกากุของญี่ปุ่นที่จีนอ้างว่าชื่อหมู่เกาะเตียวหยู คำประกาศของจีนระบุให้อากาศยานที่ผ่านน่านฟ้าดังกล่าวต้องเสนอแผนการบินและปฏิบัติตามคพสั่งของทางการจีน คำประกาศนี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ "พวกเราที่ร่วมมือกับอาเซียน เราจะสร้างอนาคตของเอเชียด้วยกฏหมายและกฏเกณฑ์แทนที่จะใช้กำลัง ผู้คนที่ทำงานอย่างหนักจะต้องได้รับการตอบแทน อันจะนำมาซึ่งสังคมที่มั่งคั่งและมีการเคารพซึ่งกันและกัน" อาเบะกล่าวต่อสมาชิกอาเซียน โดยอาเบะยังได้แถลงข่าวประณามการประกาศเขตแสดงตนฯ ของจีนว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพด้านการบินเหนือน่านน้ำอย่างไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้ทางการจีนยกเลิกคำประกาศ หง เล่ย โฆษกการต่างประเทศของจีนตอบโต้การแถลงข่าวของอาเบะโดบกล่าวปกป้องการประกาศอาณาเขตของตน อีกทั้งยังแสดงความไม่พอใจที่ผู้นำญี่ปุ่นใช้งานประชุมนานาชาติในการกล่าวให้ร้ายจีน ฟง เล่ย อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยูอยู่ในเขตแดนจีนและการครอบครองหมู่เกาะดังกล่าวของญี่ปุ่นเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ผู้สังเกตการณ์ในประเด็นนี้กล่าวว่าญี่ปุ่นมีโอกาสได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอย่างน้อย 4 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เคยมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตกับจีนมาก่อนเช่นกัน ขณะที่ประเทศกัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, พม่า สิงคโปร์ และไทย คงจะพยายามไม่ล้ำเส้นที่จะทำให้จีนไม่พอใจ เนื่องจากจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคนี้มาก เรียบเรียงจาก Japan, ASEAN call for freedom of the skies, Japantoday, 15-12-2013 Japan and ASEAN call for free seas and skies, Aljazeera, 14-12-2013 China bitterly attacks Japanese prime minister over air zone remarks, The Guardian, 15-12-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รัฐบาลจัดเวทีปฏิรูป: ปลัดกลาโหมยืนยันกองทัพหนุนจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 Posted: 15 Dec 2013 03:31 PM PST เวที "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน" หลายฝ่ายเข้าร่วม แต่ไร้เงา ปชป. และ กปปส. โดยมีทั้งเสียงหนุนเลือกตั้งก่อน หรือปฏิรูปก่อน ด้านปลัดกระทรวงกลาโหมยืนยันบทบาทกองทัพจะปฏิบัติตาม รธน. สนับสนุนเลือกตั้ง และพร้อมร่วมมือทำให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม 16 ธ.ค. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน" ที่รัฐบาลเป็นจ้าภาพ โดยเริ่มเวลา 09.30 น. โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ นักวิชาการอิสระ กลุ่มการเมือง และพรรคการเมือง แต่ไม่มีตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส.เข้าร่วม โดยธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเริ่มเปิดประเด็นคำถามว่า "ควรมีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ ปฏิรูปประเทศแล้วจัดการเลือกตั้ง ตามข้อเสนอของ กปปส." ทั้งนี้มีผู้แสดงความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างหลากหลาย โดยวีระพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ยุทธพร อิสระชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอนุสรณ์ ธรรมใจ ตัวแทนสถาบันปรีดีพนมยงค์ เห็นว่า ควรจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และให้พรรคการเมืองทำสัตยาบรรณร่วมกันว่า จะเคารพผลเลือกตั้งเพราะเป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อปฏิรูปประเทศ และตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 1 ชุด แก้ไขวิกฤติการเมือง หรืออาจแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากต้องการให้การเลือกตั้งโปร่งใส สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอให้มีสภาประชาชน ตามที่ กปปส.อ้าง โดยอาศัยกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง มาตรา 25 ให้บุคคลส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง ด้านฝ่ายที่เห็นว่า ควรปฏิรูปประเทศให้ก่อนจัดการเลือกตั้ง อาทิ เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี และเจษฎ์ โทณวนิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เห็นว่า รัฐบาลควรเลื่อนการเลือกตั้งไปก่อน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียม และการปฏิรูปต้องปรับโครงสร้างทุกด้าน ด้านความเห็นของกลุ่ม นปช. เห็นว่า ก่อนการปฏิรูปประเทศ ควรเริ่มต้นด้วยการรักษากฏหมาย และจำเป็นต้องมีนักการเมืองเข้าร่วมวงปฏิรูป เพราะเป็นตัวแปรสำคัญของการปฏิรูปประเทศ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานด้วยว่า พล.อ นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ยืนยันบทบาทของกองทัพ และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย โดยสนับสนุนให้เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และพร้อมร่วมมือทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส ยุติธรรม ขณะที่ณรงค์ ศศิธร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน มองว่า ความมั่นคงทางการเมืองของไทย มีความจำเป็นต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไทยมีผลต่อความเติบโตของภูมิภาค ขณะเดียวกัน ผู้ร่วมเสวนายังมองว่า นักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญของความขัดแย้ง อาทิ ทรงศักดิ์ ทองศรี พรรคภูมิใจไทย และประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม เห็นว่า วิกฤติที่เกิดขึ้น มาจากนักการเมืองไม่ใช่ประชาชน ดังนั้น นักการเมืองต้องทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ด้วยการยอมรับกติกา ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และถอยคนละก้าว เพื่อเปิดโอกาสไปสู่การเลือกตั้ง แล้วความขัดแย้งจะยุติลง ด้านนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมด เผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดทำรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีในลักษณะนี้อีก เพราะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้ปฏิรูปประเทศไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น