ประชาไท | Prachatai3.info |
- กองบิน 5 รำลึก 72 ปีเหตุการณ์ต่อต้านญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก
- ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ: ‘สภาประชาชน’ เวอร์ชั่นภาคประชาสังคม การปฏิรูปการเมืองที่แตกต่าง(?)
- กปปส.ชุมนุมต่อ 3 วัน -สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ภายใน 24 ชม.
- นายกฯ สิงคโปร์ ประกาศดำเนินคดีผู้ก่อเหตุจลาจลอย่างถึงที่สุด
- คณิต ณ นคร: เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
- สุดท้ายการพูดคุยสันติภาพ 28กุมภาก็ล่ม เพราะวิกฤติการเมืองไทยที่กรุงเทพ
- การทำให้สภาประชาชนของ กปปส.ไม่ขัดหลักการประชาธิปไตยจนเกินไปและพอจะยอมรับได้
- ประมวลภาพ: ระหว่างทางขบวนมวลมหาประชาชน ‘ไทย 9’ มุ่งหน้าทำเนียบ
- ในหลวงโปรดเกล้า พรฎ.ยุบสภาแล้ว เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
- เผย 29 บริษัทผ่านคุณสมบัติประมูลทีวีดิจิตอล
- สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศขอคืนอำนาจอธิปไตย เพื่อทำการ 'ประชาภิวัฒน์'
- กสทช.ส่งรถหาคลื่นกวนสัญญาณดาวเทียมไทยคม ชี้โทษถึงประหาร
- สภาทนายความชี้นายกฯ ยุบสภาอาจไม่ชอบธรรม
- ม.เที่ยงคืน ขอสังคมร่วมปฏิรูปการเมืองใต้กลไกรัฐสภา-ตามกรอบรัฐธรรมนูญ
- กลุ่มส.ว.อิสระ ขอ "กปปส." เข้าสู่กติกาลงเลือกตั้ง
กองบิน 5 รำลึก 72 ปีเหตุการณ์ต่อต้านญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก Posted: 09 Dec 2013 12:52 PM PST กองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ทำพิธีวางพวงมาลารำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก 8 ธันวาคม 2484 ครบรอบปีที่ 72 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่บริเวณอนุสาวรีย์วีรชน กองบิน 5 อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้วางพวงมาลารำลึกถึงกล้าหาญของเหล่าวีรชนทหารผู้กล้า รวมทั้งตำรวจและประชาชน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยอมสละชีวิตรักษาชาติ สู้รบกับผู้รุกรานในเหตุการณ์ 8 ธันวาคม 2484 ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้งานรำลึกดังกล่าวมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการประกอบพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วย นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, น.อ.พิทูร เจริญยิ่ง ผู้บังคับการกองบิน 5 และอดีตวีรชน กองบิน 5 ผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ไทยทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น ผู้แทนจากส่วนราชการและเอกชน กลุ่มมวลชน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ สำหรับวันนี้ เมื่อ 72 ปีก่อนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะกำลังต่อสู้กันในภาคพื้นยุโรป ญี่ปุ่นได้ถือโอกาสประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เปิดฉากรุกรานประเทศในแถบเอเชีย และแปซิฟิก โดยถือเอาวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เปิดฉากสงครามรุกคืบหน้าพร้อมกัน ทั่วทั้งภูมิภาค สำหรับประเทศไทย ด้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังทหารญี่ปุ่น 1 กรมผสม เดินทางโดยเรือรบทอดสมอหลบอยู่ด้านหลังเขาล้อมหมวก เพื่อเตรียมยกพลขึ้นบกยึด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และกองบินน้อยที่ 5 เพื่อเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านเข้าประเทศพม่าทางช่องทางด่านสิงขร ภายหลังการสู้รบ ฝ่ายทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 217 คน ในขณะที่ฝ่ายไทยเสียชีวิต 42 คน ซึ่งประกอบด้วยทหารอากาศ 38 คน ยุวชนทหาร 1 คน ตำรวจ 1 คน และ ครอบครัว 2 คน เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติในวีรกรรมการต่อสู้กองทัพอากาศจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ " วีรชน 8 ธันวาคม 2484 " บริเวณที่เกิดการสู้รบ ณ กองบิน 5 ทั้งนี้กำลังพลที่กองบิน 5 ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 14.00 น. เนื่องจากคำสั่งหยุดยิงจากรัฐบาลมาถึงล่าช้ากว่าจุดอื่นๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ: ‘สภาประชาชน’ เวอร์ชั่นภาคประชาสังคม การปฏิรูปการเมืองที่แตกต่าง(?) Posted: 09 Dec 2013 11:07 AM PST อีกหนึ่งนิยาม 'สภาประชาชน' นำเสนอโดยภาคประชาสังคม ความต่างและความเหมือนกับเวอร์ชั่นสุเทพ รูปธรรมจากจังหวัดจัดการตนเอง และการวิเคราะห์หนทางข้างหน้า ที่มา: เฟซบุ๊กเพจเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ห้วงจังหวะเวลาเดียวกับที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศแนวคิด 'สภาประชาชน' เทหมดหน้าตักปฏิรูปการเมืองหลังนำการชุมนุมต่อเนื่องมานานนับเดือน เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2556 ในส่วนเครือข่ายภาคประชาสังคมและและเครือข่ายองค์กรชุมชน 17 เครือข่าย ก็ได้ร่วมกันแถลงเสนอทางออกประเทศไทย เรื่อง 'การปฏิรูปประเทศไทยที่มีทิศทางในการคืนอำนาจให้กับประชาชน' โดยนำเสนอความคิดจัดตั้ง 'สภาประชาชน' เช่นเดียวกัน ก่อเกิดคำถามว่าการปฏิรูปประเทศไทย โดย 'สภาประชาชน' ของภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชนนั้นเหมือนหรือต่างอย่างไรกับ 'สภาประชาชน' ของมวลมหาประชาชนที่จะเข้ามาจัดการประเทศเสียก่อน แล้วจึงจะยอมให้มีการกลับไปสู่การเลือกตั้งตามกติกา ตามข้อเสนอของสุเทพ ขณะหน้าตาหรือรูปแบบ 'สภาประชาชน' ของฟากฝั่งการเมืองยังไม่ชัดเจน ประชาไทสัมภาษณ์ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) หนึ่งในผู้ร่วมแถลงข้อเสนอ 'สภาประชาชน' ของภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อทำความเข้าใจกับข้อเสนอและเบื้องหลังความคิด ที่มาภาพ: http://cymthaivolunteer.wordpress.com/ รูปแบบ 'สภาประชาชน' ที่เสนอเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ที่เราคุยกันเป็นคนในวงสมัชชาปฏิรูป ซึ่งเรามองทำนองว่า 'สภาประชาชน' น่าจะเป็นอีกอำนาจหนึ่งที่มากู้ประชาธิปไตยตัวแทน มาคู่กับประชาธิปไตยทางตรง ถ้าสมมติเราล้อจากเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง จะมีการเลือกตั้งฝ่ายบริหาร มีฝ่ายนิติบัญญัติ และมีสภาประชาชน เพิ่มอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลให้เข้มแข็งขึ้น ที่ผ่านมาประชาชนเลือกตั้งเสร็จก็จบ ประชาชนก็ไปอยู่ข้างนอกไป ไม่มีพื้นที่หรือกลไกที่เข้มแข็งในการตรวจสอบ เราเลยเพิ่ม เราเรียกว่า 3 เส้า อันนี้ระดับท้องถิ่น ถ้าขึ้นถึงระดับประเทศ สิ่งที่เราทำ นอกจากจะมีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการแล้ว เราอยากให้มี 'สภาพลเมือง' หรือ 'สภาประชาชน' เข้าไปเป็นอีกกลไกหนึ่ง ซึ่งจะทำงาน 2-3 เรื่องคือ 1.เสนอนโยบายการพัฒนา 2.ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร 3.สนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชน เราอยากเห็นกลไกเหล่านี้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว เพิ่มเข้าไปให้มีกลไกภาคประชาชนที่ชัดเจนขึ้น เป็นโมเดลที่เราเคยเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว เราเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เป็นไอเดียว่าประชาธิปไตยตัวแทนยังมีช่องโหว่อยู่ เลยเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ภาคพลเมืองที่จะเข้าไปมีบทบาทอย่างชัดเจนมากขึ้น เราทำมาก่อนแล้ว ที่มาของสภาประชาชน ของภาคประชาสังคมมาจากไหน อย่างไร สภาประชาชน มีการพูดกันมานานแล้ว มีเรื่องสภาองค์กรชุมชนเป็นกฎหมายออกมาแล้วในระดับตำบล แล้วก็ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ที่เสนอเข้าไป มีคำว่า 'สภาพลเมือง' โมเดลของเชียงใหม่ก็คือ มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ และมีสภาพลเมือง แต่เรายังไม่เคยเสนอในระดับที่สูงกว่านี้ คนที่อยู่ในสภาพลเมือง ก็ระบุในกฎหมายค่อนข้างชัด 1.สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล 2.กลุ่มสาขาอาชีพ 3.ภาคประชาสังคม 4.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อันนี้หมายถึง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครที่เข้าสภาไปแล้ว เป็นการรับฟังจากพี่น้องชาวบ้านแถวเชียงใหม่ใน 25 อำเภอและเครือข่ายทุกเครือข่ายในเชียงใหม่ สิ่งที่พวกเราเสนอในจังหวัดจัดการตนเอง และเสนอการแก้ไขความขัดแย้งในระดับส่วนกลางด้วยนั้น เพราะเรามองว่าถึงขณะนี้โครงสร้างอำนาจที่ผ่านมาทั้งหมด มีลักษณะรวมศูนย์ไว้ที่ตรงกลาง กำหนดนโยบาย ปฏิบัติการ งบประมาณ ทั้งหมดเลย ทำให้มีอำนาจมาก กำหนดนโยบายจากจุดเดียวทั้งประเทศ กำหนดงบประมาณก็ทั้งประเทศ เราวิเคราะห์ว่าปัญหาความขัดแย้งเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจมาก กำหนดจากจุดเดียวสามารถกินรวบได้ทั้งประเทศ ตัดสินใจเชิงนโยบายได้ทั้งประเทศ เลยทำให้มีอำนาจที่มากเกิน เกิดภาวะที่เรียกว่า ความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจ เพราะประโยชน์มันเยอะ ฉะนั้น ข้อเสนอของเราก็คือการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเองหรือจังหวัดจัดการตนเองเสีย ซึ่งเราก็เสนอโมเดลว่ามีสภาจังหวัดและสภาพลเมือง ขณะที่การปกครองท้องถิ่นเราเสนอให้ยกระดับเป็นเทศบาลทั้งหมด เป็นสภาเทศบาล มีสภาพลเมืองในระดับย่อยนั้นด้วย ถ้ากระจายอำนาจมาก งบประมาณถูกกระจายออกมา อยู่ในท้องถิ่นมากขึ้น แล้วท้องถิ่นสามารจัดการทุกเรื่อง ยกเว้นหน้าที่ของส่วนกลาง 4 เรื่องคือ 1.เรื่องความมั่นคง 2.เรื่องการต่างประเทศ 3.เรื่องระบบเงินตรา 4.เรื่องระบบยุติธรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ท้องถิ่นทำทั้งหมด เราเสนอว่างบประมาณ 70% น่าจะไปใช้ในจังหวัด แล้วภาษีเราส่งให้ส่วนกลาง 30% กรณีของคุณสุเทพมีการประกาศเรื่องสภาประชาชน ตรงนี้เหมือนหรือต่างกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม อันนี้ยังไม่ค่อยแน่ใจ ยังไม่เห็นพูดในรายละเอียดที่ชัดเจน เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ นี่เป็นข้อเสนอที่มีมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วแล้ว เรื่องสภาประชาชน ความหมายยังไม่แน่ใจ ระดับใหญ่สุดเหมือนจะมีอำนาจบริหารประเทศเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต่างกัน เพราะที่พวกเราเสนอนั้นยังมีการเลือกผู้แทนฯ แล้วมีพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรง มีกลไกของภาคประชาชนที่คู่ขนานกันไป แต่เรายังไม่เคยเสนอถึงขั้นว่าประชาธิปไตยทางตรงจะมีอำนาจบริหารประเทศ เรายังไม่เคยคิดขนาดนั้น ที่คิดนี้เป็นเพียงประชาธิปไตยทางตรงที่เติมช่องโหว่ของประชาธิปไตยตัวแทน เพราะที่ผ่านมา พอประชาชนเลือกเสร็จแล้วก็เหมือนไปเป็นผู้ดู ไม่มีที่ทางเท่าไร ที่ทางที่มีส่วนมากจะเป็นท้องถนน เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ในระบบน่าจะทำให้กระบวนการต่างๆ เช่น เสนอทิศทางการพัฒนาประเทศน่าจะตรงความต้องการประชาชนมากขึ้น การตรวจสอบถ่วงดุลน่าจะชัดเจนขึ้น เป็นกลไกที่เวิร์กโดยตัวมันเลยไม่ต้องพึ่งกลไกอื่น และที่สำคัญ บทบาทจะไปเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วย ให้เขาได้มีข้อมูล มีการเข้าถึงสิทธิของตนเอง สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ด้วยตัวเอง เช่น เรื่องป่าชุมชน ก็ไม่ต้องรอตัวแทนแต่สามารถเข้าไปดูแลได้เลย ในข้อเสนอของคุณสุเทพยังไม่ชัดเจนเรื่องที่มา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่คุณสุเทพเสนอมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ในส่วนของเราเองเสนอว่าที่มาที่ไปมันต้องเป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ต้องยึดโยงกับรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ณ ตอนนี้ แต่ถ้าจะเกิดขึ้นโดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็น่าจะโอเค ถ้าพูดถึงคอนเซ็ปต์ว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นพื้นที่ประชาธิปไตยทางตรงของภาคประชาชนมากขึ้น ในส่วนของเราซึ่งทำงานในเรื่องนี้มานานเราก็เห็นด้วย แต่ต้องไปผ่านกระบวนการกติกาประชาธิปไตย หรือการแก้รัฐธรรมนูญด้วย มองความเป็นไปได้ของสภาประชาชนในรูปแบบของคุณสุเทพอย่างไร ถ้าเป็นไปแบบคุณสุเทพเลยตรงๆ ที่จะตั้งสภาประชาชนขึ้นเลย โดยไม่ผ่านกระบวนการ ไม่ไปยึดโยงกับรัฐธรรมนูญก็คงยาก คิดว่าน่าจะยาก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผมคือควรมีการเจรจาและประกาศกระบวนการที่จะมายึดโยงกับรัฐธรรมนูญก่อน เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่วมกันอธิบายหรือตีความว่ามันอยู่ตรงไหนอย่างไร ถ้ามีความชัดเจนก็ค่อยดำเนินการ หากมันเกิดขึ้นบนความสงสัย บนความไม่เข้าใจ บนคำถามมากมาย ไม่ชัด มันก็คงไม่เวิร์กหรอกใช่ไหม หากชัดว่าที่มาคืออย่างไร แล้วยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ หรือถ้ามันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมันอาจจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน อันนี้ก็ต้องดำเนินการไป จะสามารถเชื่อมโมเดลของภาคประชาสังคมและข้อเสนอของฝ่ายการเมืองได้ไหม ตอนนี้เรากำลังพยายามเตรียม จะพยายามนำเสนอ เราเสนอไป 2-3 ข้อ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา สิ่งที่เราเสนอเช่น หนึ่ง ให้มีการคุยกันก่อน เราจะพูดเรื่องนี้ไปก่อนหน้าคงยากเพราะว่ามันจะต้องมีการคุยกันก่อน ทุกฝ่ายต้องคุยกันก่อน ต้องให้สัตยาบันกันก่อนว่าหากจะมีการปฏิรูปประเทศ หรือจะมีการจัดตั้งสภาประชาชน ข้อแรกขอให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย แต่ว่าต้องมีการตกลงกันก่อน จากนั้นเราอาจเสนอให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แล้วหลังจากนั้นทุกพรรคทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านที่ได้ให้สัตยาบันกันก็จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย หรือมีการจัดตั้งสภาประชาชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญ สภาประชาชนยึดโยงกับประชาชนที่หลากหลาย การบอกว่าเป็นตัวแทนประชาชนจะเชื่อมโยงได้อย่างไรว่าเป็นตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างแท้จริง หนึ่ง คือการเสนอให้มีทุกระดับ เช่น มาจากสภาองค์กรชุมชน ในระดับจังหวัดก็มีสภาประชาชนในระดับจังหวัดและมีเลือกกันขึ้นมาให้ครอบคลุม เรียกว่ามีมิติตัวแทนพื้นที่ สอง มีมิติวิชาชีพ ซึ่งมีผลประโยชน์แตกต่างกัน เราเรียกว่ากลุ่มผลประโยชน์ที่มีความแตกต่างหลากหลายก็ควรมีให้ครบ ที่เหลืออาจเป็นภาคประชาสังคมที่มีการทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีบทบาทตรงในการเป็นพลเมืองที่ขับเคลื่อนประเด็น หรืออาจรวมทั้งผู้มีคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ เป็นต้น คงต้องให้ครอบคลุมทั้งมิติพื้นที่ และมิติที่เราเรียกว่ากลุ่มผลประโยชน์หรือวิชาชีพต่างๆ สภาประชาชนที่ภาคประชาสังคมเสนอนี้ ใครอยู่สูงที่สุดของระบอบ อันนี้จำลองมาจากระดับจังหวัด ถ้าของระดับจังหวัดเราเสนอบทบาทเท่ากัน สมมติผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สภานิติบัญญัติมาจากประชาชนเหมือนกัน สภาประชาชนก็เป็นกระบวนการเลือกตั้งเหมือนกันแต่อาจซับซ้อนกว่า เช่น มาจากสภาองค์กรชุมชน สภาวิชาชีพ มาจากภาคประชาสังคม แล้วก็มีกระบวนการเลือกตั้งขึ้นมา เป็น 3 เส้า อันนี้ยังไม่ได้มีการคิดค้นที่ชัดเจนว่าระดับประเทศจะเป็นอย่างไร แต่ก็มีการเสนอกันคร่าวๆ ว่า นอกจากอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการแล้ว สภาประชาชนจะเข้าไปเป็นอีกหนึ่งกลไกได้ไหม ตอนนี้ยังอยู่ในระดับการแลกเปลี่ยนกันอยู่ในหมู่คนทำงานเรื่องนี้ จะอยู่ในระบอบรัฐสภาตามปกติ ใช่ มีการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เหมือนเดิม เรายังไม่ได้คิดถึงขั้นเสนอสภาพลเมืองในระดับประเทศ ข้อเสนอนี้เพราะไม่มีความมั่นใจในการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาเดิมใช่หรือไม่ อันนั้นก็เป็นระบบตัวแทน แนวคิดหลักคือ ประชาธิปไตยตัวแทนควบคู่กับประชาธิปไตยทางตรง ถ้าดูของเราระบบตัวแทนยังมีปัญหาอยู่ พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล เอาไปเอามาในสภากับรัฐบาลก็ไปด้วยกัน ไม่ได้มีบทบาทที่ถ่วงดุลกันจริงเท่าไร ตรงนี้เป็นปัญหาของพรรคใหญ่ที่รวบอำนาจในสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่พรรคเล็ก มันก็มีอาการแบบนี้มาโดยตลอด เอาไปเอามาในส่วนตัวแทนนั้น การตัดสินใจมักจะไปอยู่ที่ระบบพรรค ไม่ค่อยฟังประชาชน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสม ถ้าพรรคคุยกันจบก็จบ เขาไม่ได้มาปรึกษาประชาชน ยิ่งเป็นพรรคใหญ่ก็ยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น ฉะนั้น เราอยากจะเห็นว่าประชาธิปไตยคงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแล้วจบ ประชาชนนั้นควรจะมีส่วนมากขึ้น ยกตัวอย่าง สภาพัฒน์วางแผนประชาชนก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แผนพัฒนาจังหวัดประชาชนก็ไม่ได้ร่วม มีแต่สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมกับข้าราชการ พื้นที่ของประชาชนไม่มี มันไม่ใช่แค่เลือกตั้งเสร็จแล้วปล่อยให้ตัวแทนไปทำทุกอย่าง เราเริ่มมีข้อสรุปว่ามันไม่ได้ แล้วบทบาทของฝ่ายค้านอยู่ตรงไหน อย่างที่เราเห็นตัวอย่างที่ผ่านไป ฝ่ายค้านก็เป็นเสียงข้างน้อย ถ้ามีเสียงข้างมากก็ผ่านไปได้หมด ประชาชนหรือภาคประชาชนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลได้ด้วย ถ้าปล่อยให้เป็นธรรมชาติแบบเดิมก็กลายเป็นเหมือนปัจเจก ไม่รู้จะมีกลไกอะไรที่จะทำให้ประชาชนมีที่ทางและบทบาทที่ชัดเจน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตรงนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน ผมมองอย่างนี้ว่า 1.เราต้องยอมรับว่าประชาชนตื่นตัวสูงมาก ดูแล้วไม่ว่าฝั่งไหน ฝั่งแดง ฝั่งม็อบราชดำเนินตอนนี้มีความพร้อมที่จะใช้สิทธิของตนเองในการติดตาม ตรวจสอบ และถ่วงดุลนักการเมือง หรือการบริหารประเทศพอสมควร เราเห็นภาพความเติบโตอันนี้เกิดขึ้น การเติบโตของภาคประชาชนชนิดนี้เกิดจากทุกฝั่ง ทีนี้โครงสร้างเดิม การเลือกตั้ง หรือการเมืองแบบเดิม โครงสร้างแบบเดิมมันจะต้องเปิดที่ทางให้อยู่แล้ว คืออย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจ จะต้องปฏิรูปโครงสร้างให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ หรือมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนา บริหารประเทศแน่นอน หากดูแนวโน้มการตื่นตัวของประชาชนแล้ว แนวทางนี้อย่างไรก็ต้องทำ แต่จะทำได้สำเร็จเมื่อไร อันนั้นไม่รู้ ทีนี้ถ้าความขัดแย้งครั้งนี้สามารถทำให้ไปได้ไกลขนาดนั้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ไม่ใช่ขั้วนี้เป็นรัฐบาลก็ล้มเอาขั้วนี้ขึ้น ขั้วนี้ล้มก็เอาขั้วนี้ขึ้นคงไม่ใช่ แต่ผมอยากเห็นว่า ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่ มันน่าจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ มีส่วนร่วมในการจัดการบริหารประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้ามองในปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต อย่างไรทิศทางนี้มันต้องไปแน่ๆ แต่จะออกมาในรูปไหน หรือจะสำเร็จเมื่อไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป สังเกตดูขณะนี้ทุกพรรคคงต้องพูดเรื่องการปฏิรูปกันแล้ว ทุกพรรคต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแน่นอน แต่ว่ามันคงต้องผ่านความขัดแย้งครั้งนี้ไปก่อน ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะยืดเยื้อแค่ไหน ถ้ายืดเยื้อก็คงต้องใช้เวลาอีก สภาประชาชนของภาคประชาสังคมจะต้องมีกฎหมายรองรับหรือไม่ อย่างไร สภาประชาชนที่เสนอกันมันมีรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว เพราะประชาชนมีสิทธิจะรวมตัวกันในรูปของสมาพันธ์ สมัชชา ฯลฯ ได้อยู่แล้ว แต่มันจะเป็นเหมือนกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการที่จะทำงานพัฒนา การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันยังไม่เคยขึ้นไปยึดโยงกับสภาที่บริหารประเทศเลย จากข้อเสนอดูเหมือนว่าต้องการจะมีเสาหลักขึ้นมาอีกเสาหนึ่งเข้ามาร่วมในการบริหารประเทศ ตรงนี้ต้องมีการผลักดันกฎหมายขึ้นมารองรับหรือไม่ มันมี 2 ทางขณะนี้เท่าที่ดู 1.มีความพยายามตีความรัฐธรรมนูญว่ามีส่วนไหนที่จะทำได้ หากไม่ได้หรือไม่ชัดก็มาสู่วิธีที่ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มตรงนี้เข้าไป แต่ถ้าไปดูในส่วนที่ผมทำงานด้วย ในภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนเราเสนอให้เป็นเหมือนอำนาจที่ 4 ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุล ตรงนี้อาจต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกมาเป็นกฎหมาย แสดงว่าจะดำเนินการได้ต้องเป็นภายหลังจากที่การเมืองมีเสถียรภาพ เสนอว่าควรจะมีการตกลงกัน เพราะว่าเวลาเกิดขึ้นและบังคับใช้มันก็จะใช้กับคนทั้งประเทศ ใช้สำหรับคนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงควรต้องมีข้อตกลง และสมมติว่าเห็นดีเห็นงามว่าประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น จะตั้งขึ้น ก็เหมือนกับเป็นการยอมรับของทุกฝ่าย แล้วหลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการ เช่น ออกพระราชกำหนด ซึ่งก็มีคนเสนอออกพระราชกำหนดตั้งสภาประชาชน หรือเหมือนที่เคยตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย กรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์ ปันยารชุนก็ใช้วิธีนี้ แต่ว่ามันก็ต้องมาผ่านตัวรัฐ หรือสองอาจให้สัตยาบันกันไว้ก่อนว่าจะทำเรื่องนี้ร่วมกัน ก่อนที่จะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ทุกฝ่ายทุกพรรคจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง หรือสามคือตั้งสภาประชาชนรอแล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์การเมืองไม่นิ่งทำไมจึงเสนอให้มีสภาประชาชน ตรงนี้เราทำกันมา 3-4 ปี แล้ว อย่างเชียงใหม่ เราสรุปกันว่า เราจะคัดค้านโครงการหรือนโยบายที่ลงมากระทบกับเราแล้วเราไม่เห็นด้วยอีกกี่ชาติ มาทีไรก็ตัดสินใจอยู่กรุงเทพฯ แล้ว (โครงการพัฒนาที่สร้างปัญหา) ก็ไปโผล่ที่เชียงใหม่ ที่สะเอียบ หรือที่แม่แจ่ม โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เราจะคัดค้านไปอีกกี่ชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าจะทำให้ทิศทางการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้อย่างไร นั่นหมายความว่าตัวแทนที่เลือกไปไม่ได้คิดนโยบายที่สอดคล้องกับประชาชนทุกเรื่อง บางเรื่องก็โอเค แต่บางเรื่องไม่ตรง อันนี้ก็ต้องยอมรับ เพราะหากตรงทุกเรื่องก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการคัดค้าน หรือการประท้วง มีม็อบกันเต็มไปหมด คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่า เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งกับรัฐหรือกับนโยบายของรัฐ ทำอย่างไรที่เราจะไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนท้องถนน ไปอยู่กันเป็นเดือน สองเดือน สามเดือน ทุกทีไป มันยากลำบากมาก เราจะมีโครงสร้างอะไรใหม่ที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือจะมีกลไกอะไรที่จะไปตรวจสอบถ่วงดุลให้นโยบายต่างๆ สอดคล้องกับประชาชนมากขึ้น นี่คือที่มาที่ไปของการเสนอเรื่องสภาในระดับต่างๆ สภาประชาชนหรือที่เราเรียกว่าสภาพลเมืองไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด มาจากตรงนี้ ซึ่งเราทำมานานแล้ว อย่างผมก็คัดค้านอะไรพวกนี้มา 30 ปี จนแก่แล้ว เราก็เสนอมาตลอดและทำงานของเรามาต่อเนื่องว่า เราเห็นว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจตรงนี้ใหม่ จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ใหม่ ให้มีที่ทางของประชาชนที่ชัดเจนขึ้นและกระจายอำนาจมากขึ้น ตรงนี้เราคิดกันมานานแล้ว คิดว่าในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งเข้มข้นทางการเมืองถือเป็นจังหวะและโอกาสที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ก็เป็นไปได้ ประเด็นคือมันเริ่มมีกระแสปฏิรูปการเมืองถูกไหม และที่ผ่านมาก็มีเวทีปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปในรัฐบาลชุดก่อน สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน มีสมัชชาปฏิรูป มีสมัชชาสุขภาพ คือมันมีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดเลยที่พยายามผลักดัน แต่เข้าใจว่าบทบาทอำนาจหน้าที่ของสภาเหล่านี้ยังไม่มีพลังพอ ก็เหมือนกับว่าเที่ยวนี้ถ้าสามารถปฏิรูป ที่เราเรียกว่าปฏิรูปประเทศไทยในช่วงนี้ได้ ให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ให้พื้นที่ของภาคประชาชนมากขึ้นก็เป็นประโยชน์แน่นอน เข้าใจว่าทั้งฝั่งรัฐบาลซึ่งก็มีคณะกรรมการปฏิรูปอยู่ หรือฝั่งผู้ชุมนุมก็เสนอเรื่องสภาประชาชน จริงๆ แล้วถ้าประเด็นมันตรงกันว่าจะให้สิทธิและอำนาจประชาชนมากขึ้น ตรงนี้น่าสนใจ ถ้ามีความร่วมมือกันในการที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมันก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน มันไม่ได้เป็นเรื่องของขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้นำคนใดคนหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เข้าใจว่า จังหวะนี้ก็คงเป็นเหมือนกระแสปฏิรูปได้เปิดแล้ว เพราะฉะนั้นใครที่คิดอยากปฏิรูปอะไรในเชิงโครงสร้าง ทุกคนก็คงออกมาเสนอกัน เหมือนกับว่าวิกฤติก็เป็นโอกาสได้ ใช่ๆ แต่ว่าเราก็อยากเห็นมันจบด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยสันติ แล้วทุกฝ่ายมาคุยกัน หันหน้ามาคุยกันเรื่องนี้ว่า ถ้าเห็นว่าควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง และให้ประชาชนมีบทบาท มีอำนาจ มีสิทธิมากขึ้น ก็น่าจะพูดคุยกัน ลงสัตยาบัน แล้วร่วมมือกันผลักดัน อันนี้ประชาชนน่าจะยินดีทุกฝ่าย สภาประชาชนของภาคประชาสังคมจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ไหม อย่างไร 1.ความขัดแย้งตอนนี้ที่เราก็เห็นภาพ นโยบายหลายเรื่องมีผลกระทบต่อชีวิต คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น นโยบายที่ลงมาหลายเรื่องที่มีผลกระทบ เรื่องเขื่อน เรื่องโครงการพัฒนาต่างๆ เป็นการตัดสินใจจากส่วนกลาง ซึ่งหลายครั้งเราพบว่าไม่ได้เคยปรึกษาประชาชนเลย ประชาชนได้รับรู้ภายหลัง อันนี้คือความขัดแย้งจากโครงการพัฒนาที่ไม่ได้สอดคล้องกับประชาชนและตัดสินใจโดยตรงกลาง ตรงนี้มีปัญหามาโดยตลอด ตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานทับที่ สร้างเขื่อน โครงการพัฒนา เมกะโปรเจกต์ ซึ่งภาคประชาชนมีการคัดค้านมาตลอด ซึ่งก็มักจะไม่ค่อยไหว ต้องรวมตัวกันประท้วงแล้วประท้วงอีก ยกตัวอย่าง เชียงใหม่เมื่อประมาณ 3 ปี ที่แล้ว ประท้วงกันประมาณ 66 ครั้งต่อปี เรียกว่าสัปดาห์ละครั้งเศษ มีเรื่องประท้วงเยอะมาก มันสะท้อนว่ามีช่องว่างระหว่างการกำหนดนโยบายการตัดสินใจของรัฐที่อยู่ตรงกลางกับประชาชน หากมีสภาประชาชน มันก็จะมีบทบาทในการเสนอทิศทางที่สอดคล้องกับประชาชนได้มากขึ้น 2.การตรวจสอบถ่วงดุล สมมติถ้าเราเริ่มมีปัญหาที่ไม่ชอบมาพากล หรือมีปัญหาความไม่ถูกต้อง ก็จะมีกระบวนการที่คล้ายการไต่สวน มีการซักถาม หรือมีการเสนอ มีการคัดค้านได้ทันที มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะถูกจัดการได้ก่อน ไม่ต้องรอให้สะสมเป็นปัญหาใหญ่ๆ ไม่ต้องรอให้ประเด็นปัญหาสุกงอม ฝีแตก หากมีปัญหาก็สามารถจัดการได้ทันทีทันใด คิดว่ามันก็จะช่วย ผมคิดว่าในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หากมีสภาประชาชนยืนอยู่ด้วย ประชาชนที่ทุกฝ่ายอ้างถึงยืนอยู่ด้วยก็คิดว่าน่าจะทำให้เกิดความเกรงใจพอสมควร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะถูกอ้างอยู่เรื่อยว่าทำเพื่อประชาชน ทุกฝ่ายทำเพื่อประชาชนหมด แล้วก็ทะเลาะกัน แต่ถ้าประชาชนยืนอยู่ด้วยตรงนั้นมันก็จะทำให้สามารถคุยกันได้ มีตัวแทนประชาชนพูดแทนได้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรถูกอะไรไม่ถูกตามครรลอง คิดว่ามันน่าจะช่วยลดความขัดแย้ง และที่สำคัญเมื่อเรากระจายอำนาจไปผลประโยชน์ตรงกลางมันเหลือนิดเดียว เพราะทุกเรื่องทำเกือบเสร็จแล้วในท้องถิ่น เรื่องป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องสาธารณสุข การศึกษา ยกตัวอย่าง การศึกษา ส่วนกลางกำหนดหลักสูตรมาแล้วให้ชนเผ่าเรียน ชนเผ่าก็อยากมีหลักสูตรเป็นของตัวเองก็ทำไม่ได้ ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ถ้ากระจายอำนาจ ทุกส่วนมันก็คลาย หลายเรื่องก็จะคลายไป ปัญหาก็จะลดลง หน่วยของความขัดแย้งก็จะเล็กลง โดยภาพรวมๆ แล้วในสถานการณ์ความขัดแย้งช่วงฝีแตกนี้ สภาประชาชนจะมาช่วยอะไรได้ไหม ณ ตอนนี้ มันเป็นความขัดแย้งที่อยู่ในโครงสร้างเดิม เราอาจจะเรียกว่ากลุ่มทุนเก่ากลุ่มทุนใหม่ กลุ่มผู้นำเก่ากลุ่มผู้นำใหม่ซัดกันอยู่ แล้วแต่ละฝ่ายก็มีมวลชนของตนเอง คิดว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ตอนนี้ มันจะต้องมีกระบวนการพูดคุยและหาทางออก เพื่อที่จะปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ หรือปรับกติกาใหม่ เช่น จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน อาจจะมีข้อตกลงได้ว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ จะมีสภาประชาชนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันคงต้องไปเป็นตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญก่อน ขณะนี้คงเป็นข้อถกเถียงเท่านั้นว่าจะลงตัวอย่างไร เช่น เราเห็นว่าตอนนี้มีปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง มีปัญหาความขัดแย้งในทางโครงสร้างทางการเมือง เพราะฉะนั้นเราจะมาร่วมกันปรับโครงสร้างไปอย่างไรให้มันลงตัว ซึ่งผมก็ยังมองว่าถ้าเราสามารถปรับโครงสร้างใหม่ให้มันมีลักษณะที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งก็คงจำเป็นเรื่องการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย และก็มีกลไกของการเมืองภาคประชาชน การเมืองภาคพลเมืองด้วย สำหรับอนาคตน่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ แต่สำหรับปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ก็คงต้องคุยกันให้ลง ให้จบก่อน แล้วค่อยมาว่ากันตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ตามกติกาของประชาธิปไตย เพราะว่าการจะเปลี่ยนอะไรใหม่มันคงต้องผ่านกติกาประชาธิปไตยกับเรื่องการไขรัฐธรรมนูญ สภาประชาชนจะเป็นที่รวมของคนทั้งสองขั้วได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับข้อตกลงว่าเห็นด้วยกันไหม อย่างที่เสนอในตอนแรก ถ้าเห็นด้วยกัน เช่น คณะของคุณสุเทพมาคุยกับคณะของคุณพงษ์เทพ (พงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี) ไหม หาข้อตกลงกันได้ไหมว่าโอเคจะให้บทบาทประชาชนมากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองมากขึ้น ถ้าตกลงกันได้มันก็จะมีกระบวนการของมัน จะไปดูในรัฐธรรมนูญ ดูในกฎหมาย หรือว่าจะถึงขั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ค่อยว่ากันไป ดูท่าจะยาก หากมองว่าเป้าหลักของทั้งสองกลุ่มคือเอาและไม่เอาทักษิณ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อันนี้เราคงต้องเลยเรื่องนี้ไป คือสถานการณ์ขณะนี้อย่างที่บอก การเมืองขณะนี้ ความขัดแย้งขณะนี้ คิดว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องการเปลี่ยนขั้ว โค่นคนนี้ขึ้น โค่นคนนี้ล้ม เป็นวังวน แต่มันต้องไปไกลกว่านั้น เราจะปล่อยให้ความขัดแย้งเป็นอย่างนี้ตลอดไปหรือ ประชาชนคงไม่มีความสุข ไม่มีความพึงพอใจหรอก สิ่งที่เข้าใจก็คือว่า กระบวนการจากนี้ไปมันจะมีการผลักดันให้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนขั้ว แต่ให้มันไกลกว่านั้น ให้มันเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง ให้มันเป็นการปฏิรูปที่ให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจ มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ ในการบริหารจัดการบ้านเมือง เข้าใจว่าคนจะอยู่ในความรู้สึกอย่างนี้นะ คืออยากให้ไปไกล มองไปสู่สังคมอนาคตที่มีทางออก มีความยั่งยืน แล้วความขัดแย้งก็ไม่วนไปวนมาแบบนี้อีก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ประชาชนทุกกลุ่ม หรือเสียงที่เงียบๆ อยู่ทั้งหมดออกมาช่วยกันในเรื่องนี้ ผลักดันเรื่องนี้ว่าจริงๆ แล้วเรื่องประเทศชาติมันไม่ได้เป็นเรื่องของแกนนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสองกลุ่ม แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ต้องผลักดันไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์ ก็อยากให้มาร่วมกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กปปส.ชุมนุมต่อ 3 วัน -สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ภายใน 24 ชม. Posted: 09 Dec 2013 09:48 AM PST "คำสั่ง กปปส. ฉบับที่ 1/2556" ระบุรัฐบาลยังยื้ออำนาจ จึงประกาศว่าภายใน 24 ชม. ให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ และไม่ให้แต่งตั้งบุคคลอื่นมารักษาการ และให้ผู้ชุมนุมช่วยชุมนุมต่ออีก 3 วัน เพื่อเตรียมปฏิบัติการอื่นๆ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และผู้สนับสนุน ขณะเดินขบวน 9 สาย ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ข้างหน้าของสุเทพคือสมศักดิ์ โกศัยสุข (ที่มา: ประชาไท) (ชมภาพที่นี่) 10 ธ.ค. 2556 - ภายหลังจากการประกาศขอคืนอำนาจอธิปไตยที่เวทีแยกนางเลิ้งเมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (9 ธ.ค.) นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ต่อมาเมื่อเวลา 22.30 น. วันที่ 9 ธ.ค. ที่เวทีชุมนุมของ กปปส. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้อ่าน "คำสั่งคณะกรรมการ กปปส.ฉบับที่ 1/2556" แถลงว่า "เมื่อได้ประกาศเป็นที่ทราบทั่วกันว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปอำนาจอธิปไตยได้กลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยแล้ว กปปส.ก็จะได้มีคำสั่งในการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยออกมาให้ฝ่ายต่างๆปฏิบัติเป็นลำดับๆไป คณะกรรมการกปปส.ประชุมปรึกษาหารือกัน มีคำสั่งฉบับที่ 1 ออกมาซึ่งต้องประกาศให้ทุกฝ่ายได้ทราบและปฏิบัติตาม" คำสั่งคณะกรรมการ กปปส.ฉบับที่ 1 /2556 เรื่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการภายใน 24 ชั่วโมง ตามที่คณะกรรมการ กปปส.ได้เรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินจากกลุ่มการเมืองดังกล่าวคืนสู่ประชาชนและได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วนั้น คณะกรรมการกปปส.ขอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีและครม.ไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการและไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นรักษาการ ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป 2.ขอให้มวลมหาประชาชนได้อยู่ร่วมแสดงพลังกับปฏิบัติการประชาภิวัฒน์ครั้งนี้ต่อไปอีก 3 วันเพื่อให้ปฏิบัติการอื่นๆลุล่วงไปได้ด้วยดี สุเทพกล่าวด้วยว่า "ขอชี้แจงเพิ่มเติมให้เข้าใจว่าที่ต้องออกคำสั่งนี้เพราะเมื่อ กปปส.ประกาศในนามมวลมหาประชาชนเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินจากกลุ่มการเมือง ปรากฎว่ารัฐบาลนี้ยังแข็งขืน ยื้ออำนาจเราจึงประกาศเป็นคำสั่ง ให้นายกรัฐมนตรีและครม.ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาการอีกต่อไป และไม่ต้องแต่งตั้งบุคคลอื่นๆ มารักษาการ ทั้งนี้รัฐบาลต้องปฏิบัติให้เสร็จเรียบร้อยตามคำสั่งภายใน 24 ชั่วโมงนี้ เนื่องจากอำนาจของเราเป็นอำนาจของปวงชนชาวไทยจึงจำเป็นต้องขอให้มวลมหาประชาชนอยู่ร่วมกับเราอีก 3 วัน เพื่อให้ปฎิบัติการประชาภิวัฒน์ลุล่วงไปได้ด้วยดี และถ้ามีปัญหาขัดข้องในทางปฏิบัติ เช่น รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผมและคณะกรรมการ กปปส. ก็จะมาประกาศให้พี่น้องทราบว่าคำสั่งต่อไปที่มวลมหาประชาชนจัดการกับรัฐบาลนี้จะทำอย่างไรต่อไป" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกฯ สิงคโปร์ ประกาศดำเนินคดีผู้ก่อเหตุจลาจลอย่างถึงที่สุด Posted: 09 Dec 2013 09:11 AM PST นายกฯ สิงคโปร์เผย รัฐบาลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดเหตุจลาจลเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการทำลายยานพาหนะและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยกู้ภัย หลังจากที่คนงานอพยพในย่านลิตเติ้ลอินเดียไม่พอใจที่เพื่อนของพวกเขาเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารชน 9 ธ.ค. 2556 นายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ประกาศว่าจะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการจลาจลเมื่อช่วงกลางคืนที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 18 คน นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) ของสิงคโปร์กล่าวว่า ทางรัฐบาลจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการระบุตัวผู้กระทำผิด และจะดำเนินคดีตามกฏหมายอย่างเต็มอัตราต่อผู้กระทำผิดดังกล่าว "ไม่ว่าสิ่งที่จุดชนวนให้เกิดการจลาจลจะมาจากเหตุการณ์ใดก็ตาม แต่ไม่มีข้ออ้างสำหรับการใช้ความรุนแรง ทำลายสิ่งของ และพฤติกรรมผิดกฏหมาย" ลี เซียนลุง กล่าว เมื่อช่วงคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ของสิงคโปร์ เหตุเกิดจากการที่ชายวัย 33 ปีคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุถูกชนรถโดยสารของเอกชนในย่านลิตเติ้ลอินเดีย ทำให้กลุ่มแรงงานอพยพกว่า 400 คนไม่พอใจพากันออกมาบนท้องถนนและมีการจุดไฟเผารถตำรวจและรถพยาบาล ภาพจากโซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งยังได้แสดงให้เห็นยานพาหนะส่วนบุคคลหลายคันได้รับความเสียหาย อธิบดีตำรวจของสิงคโปร์กล่าวประณามผู้ก่อเหตุว่ากลุ่มคนงานได้ก่อเหตุรุนแรงตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจทนได้และไม่เป็นไปตามแนวทางแบบสิงคโปร์ สำนักข่าวบีบีซีระบุว่าเหตุการความวุ่นวายในสิงคโปร์มักจะมีการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐ ขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ก็ต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติอย่างมาก โดยมีกลุ่มแรงงานอพยพจากประเทศแถบภูมิภาคเอเชียใต้ส่วนใหญ่ทำงานในสายงานก่อสร้าง กองกำลังป้องกันพลเรือน (SCDF) ของสิงคโปร์แถลงว่าหน่วยกู้ภัยได้รับแจ้งอุบัติเหตุดังกล่าวในเวลา 21:25 น. ตามเวลาของสิงคโปร์ เมื่อทีมผู้ภัยเข้าไปถึงที่เกิดเหตุก็พบร่างชายอายุ 33 ปีติดอยู่ใต้รถโดยสารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันก็มีคนขว้างปาสิ่งของเข้าใส่หน่วยกู้ภัยที่พยายามกู้ร่างของผู้เสียชีวิตจากตัวรถโดยสาร และมียานพาหนะของ SCDF 9 คันได้รับความเสียหาย ใน 18 คนที่ได้รับบาดเจ็บมีตำรวจ 10 นาย เจ้าหน้าที่กองกำลัง SCDF 4 นาย ที่เหลือเป็นคนขับรถโดยสารและผู้ก่อเหตุ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังหน่วยกุรข่า ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ 27 ราย ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า หลังเกิดเหตุ 12 ชั่วโมงถัดมาสถานการณ์ก็คลี่คลายลง มีนักท่องเที่ยว คนจับจ่ายซื้อหาสินค้า และคนงานก่อสร้าง ปฏิบัติกิจวัตรของตัวเองตามปกติ ขณะที่ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนเดินตรวจตราอยู่ พนักงานร้านอาหารในย่านที่เกิดเหตุเปิดเผยว่าขณะเกิดเหตุพวกเขาต้องปิดร้านอาหารและอยู่แต่ข้างในอาคารพร้อมกับลูกค้าในร้าน ซึ่งต่างก็อยู่ในความหวาดกลัวและไม่สามารถออกไปได้จนถึงช่วงเวลา 23.00 น. ตามเวลาของสิงคโปร์ ขณะที่เจ้าของร้านอีกรายหนึ่งบอกว่าพวกเขาได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น เห็นคนขว้างปาขวด ผลักรถโดยสารให้ล้มลง ขณะที่รถของเขาเองก็ได้รับความเสียหายด้วย ย่านลิตเติ้ลอินเดียเป็นเขตที่มีอยู่อาศัยของผู้อพยพจากประเทศแถบ อินเดีย, บังกลาเทศ, ปากีสถาน เนปาล และศร๊ลังกา โดยมีร้านอาหาร และร้านค้าที่มาจากคนของประเทศดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อปีที่แล้วก็เคยเกิดเหตุการประท้วงของคนขับรถโดยสารชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่บอกว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาวสิงคโปร์ และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก แต่ก็ถูกจับกุมโดยทางการสิงคโปร์
เรียบเรียงจาก Singapore bus death triggers riot, BBC, 09-12-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-25294918 Singapore PM sounds warning after riot, Aljazeera, 09-12-2013 http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2013/12/singapore-pm-sounds-warning-after-riot-2013129489132684.html ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คณิต ณ นคร: เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง Posted: 09 Dec 2013 07:45 AM PST ความเห็นทางวิชาการต่อความเข้าใจเรื่องการจับและการออกหมายจับในอดีต ความเข้าใจเรื่อง "ข้อหา" และ "การแจ้งข้อหา" การจับและการออกหมายจับในปัจจุบัน สูตรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทย และการวิเคราะห์การออกหมายจับผู้ชุมนุมทางการเมือง ขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษากฎหมายอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น ผู้เขียนได้ติดต่อกับเพื่อนคนหนึ่งโดยตลอด เมื่อบ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์อะไรในระหว่างนั้นผู้เขียนก็ได้รับทราบข่าวจากเพื่อนผู้นี้ เขายังบอกผู้เขียนเลยว่าให้รีบจบเร็ว ๆ แล้วกลับมาเสียที และเขายังบอกด้วยว่า "ในกรุงเทพขณะนี้มีตึกโชคชัยซึ่งสูงมากชั้นบนสุดมีภัตตาคารด้วย คุณกลับมาเมื่อไหร่ ผมจะพาคุณไปกินข้าวที่ตึกนี้" แต่ครั้นเมื่อผู้เขียนสำเร็จการศึกษากลับมาเมื่อต้นปี 2520 ตึกโชคชัยกลายเป็นตึกเตี้ยไปเสียแล้ว เราจึงไปกินข้าวด้วยกันที่ห้องอาหารของโรงแรมรอยัล เหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญที่เกิดขึ้นที่ผู้เขียนได้รับทราบจากเขาก็คือว่าเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำการรัฐประหารตัวเอง แล้วต่อมาก็เกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองจนจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องเดินทางออกนอกประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้นอกจากผู้เขียนได้รับทราบจากเพื่อนผู้นี้แล้วยังได้รับทราบจากสื่อมวลชนเยอรมันด้วย และที่สำคัญผู้เขียนยังได้รับหนังสือรวมคำสั่งของคณะปฏิวัติที่คณะรัฐประหารอันมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าที่ได้ออกมาในการทำรัฐประหารตัวเองครั้งนี้ เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทีเดียว กล่าวคือ ได้มีการจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ออกแจกใบปลิวจำนวน 11 คน ในข้อหามั่วสุมประชุมกันเกิน 5 คนอันเป็นความผิดต่อคำสั่งของคณะปฏิวัติ ผู้เขียนเข้าใจว่ากรณีคงมีการจับเพราะเหตุที่ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คนได้กระทำความผิดซึ่งหน้า อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็ได้มีผู้เข้ามอบตัวเพิ่มเติมอีก 2 คน แล้วก็ต่อมาได้มีการยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด พนักงานสอบสวนอนุญาตแล้ว แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมออกจากที่คุมขัง และแล้วก็มีการตั้งข้อหาว่า "เป็นกบฏ" ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายสิ่งแรกที่ผู้เขียนต้องพิจารณาก็คือการจับในข้อหาขัดคำสั่งคณะปฏิวัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อหาคำตอบผู้เขียนจึงได้เปิดดูคำสั่งของคณะปฏิวัติในหนังสือที่เพื่อนของผู้เขียนได้กรุณาส่งไปให้ก็พบว่าระวางโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวคือจำคุกไม่เกินหกเดือน ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราในขณะนั้นการที่จะจับหรือออกหมายจับบุคคลใดได้จะต้องเป็นกรณีของความผิดที่ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ในเบื้องต้นกรณีจึงเป็นเรื่องที่จะจับหรือออกหมายจับไม่ได้เลย แต่ก็ได้มีการจับกันแล้ว ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่ากรณีเกี่ยวกับการจับที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องมั่วสุมเกิน 5 คน และเมื่อเห็นว่าพลาดจึงได้มีการตั้งข้อหา "เป็นกบฏ" นี้เอง ที่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง แม้จะมิใช่เหตุทั้งหมดแต่ก็เป็นเหตุที่สำคัญเหตุหนึ่งอย่างแน่นอน บัดนี้ เท่าที่ผู้เขียนสดับตรับฟังการตั้งข้อหาก็เริ่มด้วยความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แล้วก็มีการตั้งข้อหาในความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 กรณีจึงเป็นทำนองเดียวกับเมื่อครั้งเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 แต่คราวนี้ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนดำเนินการเองไม่ได้เพราะการจับต้องขออำนาจศาล กล่าวคือ ตามกฎหมายปัจจุบันศาลเท่านั้นที่มีอำนาจออกหมายจับบุคคลที่ชุมนุมกันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและใช้สิทธิชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้บานปลายเป็นการต่อต้านระบอบทักษิณ เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการขอให้ศาลออกหมายจับตามกฎหมายของเราในปัจจุบัน คือ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ในทางวิชาการเรียกกันว่า Political Officer กล่าวคือ เป็นเจ้าพนักงานที่ถูกอิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงได้ง่าย ส่วนเจ้าพนักงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนี้นั้น ก็ถูกสังคมบางส่วนกล่าวหาว่าเป็น Political Officer อยู่เช่นกัน ในเบื้องต้นผู้เขียนจึงรู้สึกว่าการขอให้ศาลออกหมายในครั้งนี้ยังมีปัญหาอยู่อันเนื่องจากการเป็น Political Officer ดังกล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้นเมื่อได้รับหมายจับจากศาลแล้วเจ้าพนักงานของรัฐก็ได้เอาคำสั่งออกหมายจับของศาลไปทำเป็นเอกสารเกี่ยวกับการออกหมายจับของศาลแล้วได้นำไปโปรยเป็นใบปลิวอีกด้วยจนศาลต้องเรียกพนักงานสอบสวนมาตักเดือน กรณีจึงทำให้ผู้เขียนมีความเป็นห่วงว่าเรื่องจะบานปลายทำนองเดียวกับเหตุการณ์ของเดือนตุลาคม 2516 และมีข่าวอีกว่าหากเจ้าพนักงานมีการดำเนินการตามหมายจับผู้ต้องหาในความผิดฐานเป็นกบฏผู้ชุมนุมก็จะไม่ยอมให้เจ้าพนักงานกระทำตามหมายจับได้แต่โดยดี ผู้เขียนจึงเห็นสมควรจะได้วิเคราะห์เรื่องนี้ และจะวิเคราะห์ในทางวิชาการเท่านั้น
1. ความเข้าใจเรื่องการจับและการออกหมายจับในอดีตในเบื้องแรกนี้ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจเรื่องการจับและการออกหมายจับกันก่อน ในอดีตความเข้าใจเรื่องการจับและการออกหมายจับของนักกฎหมายของเรานั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ กล่าวคือ นักกฎหมายเราเข้าใจว่าการจับกับการออกหมายจับเป็นคนละเรื่องกัน ในการที่จะจับบุคคลใดได้หรือไม่นั้น นักกฎหมายก็จะดูกันที่เหตุที่จะจับได้หรือไม่ เช่น มีหมายจับหรือไม่ เป็นกรณีที่จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือไม่ [1] ส่วนการที่จะออกหมายจับได้หรือไม่นั้น นักกฎหมายเราก็จะไปดูบทบัญญัติว่าด้วยเหตุที่จะออกหมายจับ [2] ซึ่งนักกฎหมายเราเห็นกันว่าเป็นเรื่องต่างหากจากการจับ แท้จริงแล้วการจับคือ "การที่จะเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ" การออกหมายจับก็คือการที่จะเอาตัวบุคลไว้ในอำนาจรัฐ การควบคุมและการขังก็คือการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ การปล่อยชั่วคราวก็คือการผ่อนปรนในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ รวมความก็คือว่าการจับก็ดี การออกหมายจับก็ดี การควบคุมและการขังก็ดี รวมตลอดถึงการปล่อยชั่วคราวก็ดีเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นเรื่องของ "การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ" จากความเข้าใจว่าการจับกับการออกหมายจับอย่างแยกส่วนนี้เองจึงไม่แปลกที่ได้มีการจับบุคคลกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้ง 11 คนในความผิดซึ่งหน้าและในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของคณะปฏิวัติที่มีระวางจำคุกไม่เกินหกเดือนซึ่งเป็นระวางโทษไม่อาจที่จะเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้แต่อย่างใด เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 (2) เดิม บัญญัติว่า
อย่างไรก็ตาม เหตุที่จะออกหมายจับในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดย "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เมื่อปี 2540 ที่ได้มีการทำให้เหตุที่จะออกหมายจับกับเหตุที่จะออกหมายขังเป็นเหตุหรือเรื่องเดียวกัน [3] กล่าวคือ การจับก็ดี เหตุออกหมายจับก็ดี การขังก็ดี และเหตุที่จะออกหมายขังก็ดี ตลอดถึงการปล่อยชั่วคราวก็ดี เหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน คือเป็นเรื่อง "การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ" ดังกล่าวมาแล้ว หลักการของ "การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ" ตามนัยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปนี้แท้จริงมิใช่หลักการใหม่แต่อย่างใด ตามกฎหมายเดิมผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่เนื่องจากการเรียนการสอนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยเรายังขาดทฤษฎีอยู่อย่างมากทำให้ทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เบี่ยงเบนไป ทำให้ "หลักกฎหมายกับทางปฏิบัติที่ไม่ตรงกัน" เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เกิดขึ้น [4] การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้โดย "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เมื่อปี 2540 แท้จริงแล้วเป็นเพียงการสร้างหรือย้ำความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางวิชาการเท่านั้น ดังนั้น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของความประสงค์ที่จะแก้ไขทางปฏิบัติในอดีตที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและตามหลักวิชาการเท่านั้น เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้น การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐได้ถือปฏิบัติกันอย่างแยกส่วน ความเข้าใจเรื่อง "การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ" อย่างแยกส่วนดังกล่าวนี้เองที่เป็นเหตุที่สำคัญที่ได้ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมากตลอดมา [5] [6] อนึ่ง ผู้เขียนเห็นสมควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการจับนั้น เพิ่งจะได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นไปตามบทบัญญัติของ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เมื่อปี 2547 นี้เอง โดยได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 และพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2547 กรณีจึงเป็นการสมควรที่ผู้เขียนต้องขอกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยดังนี้ (1) ในประเทศไทยเราเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลจะต้องมาอย่างล่าช้าเสมอ เพราะทุกภาคส่วนหรือทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายการเมือง ไม่ได้ให้ความสนใจกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเลยแม้แต่น้อย แต่ได้ปล่อยให้ล่วงเลยเวลาตามบทเฉพาะกาลของ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" จนเป็นปัญหาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องวินิจฉัยว่าเมื่อครบเวลา 5 ปีตามบทเฉพาะกาล บทบัญญัติใน "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ที่ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะออกหมายจับได้มีผลใช้บังคับแล้วหรือไม่ และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยมีผลใช้บังคับแล้ว (2) เกี่ยวกับเรื่องที่ให้ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะออกหมายจับหลังจากครบเวลา 5 ปีตามบทเฉพาะกาล และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติใน "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" จนเป็นการถาวรเมื่อปี 2547 แล้วนั้น ต้องถือว่าเป็นบุญหรือเป็นความโชคดีของประชาชนที่อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างมากทีเดียว เพราะต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็ได้เกิดการยึดอำนาจการปกครองประเทศขึ้นและทำให้ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ถูกยกเลิกไป แต่การถูกยกเลิกไปได้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการจับและการออกหมายจับจนมั่นคงแล้ว หาไม่แล้วใครต่อใครที่ถูกศาลออกหมายจับในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ก็จะตกอยู่ในภาวะไม่ต่างกับอดีตผู้ต้องหาในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 กล่าวคือ เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำได้เองโดยไม่ผ่านศาลหรือผู้พิพากษา
2. ความเข้าใจเรื่อง "ข้อหา" และ "การแจ้งข้อหา"เหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 นั้น ตามรายงานข่าวที่ผู้เขียนได้รับทราบกล่าว ต่อไปว่า หลังจากผู้ต้องหาทั้ง 14 คนถูกควบคุมอยู่ที่กรมตำรวจ ต่อมาได้มีผู้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ยอมออกจากที่คุมขัง ในที่สุดจึงได้มีการตั้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาทั้งหมดว่า "กระทำความผิดฐานเป็นกบฏ" เหตุการณ์ก็เลยลุกลามกลายเป็นความไม่สงบในชาติ "การตั้งข้อหา" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรากระทำกันโดยไม่ถูกหลักวิชาการมาตลอด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 บัญญัติว่า
คำว่า "ข้อหา" ในมาตรา 134 เดิมนี้ในทางปฏิบัตินักกฎหมายของเราเข้าใจกันว่าคือ "ฐานความผิด" ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ต้องหาสามารถโต้แย้งคัดค้านได้อันเป็นไปตาม "หลักฟังความทุกฝ่าย" (Grundsatz "audiatur et altera pars" หรือ principle of "audi allteram partem") [7] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า
บทบัญญัตินี้ก็เป็นเรื่องของ "หลักฟังความทุกฝ่าย" แต่การบรรยายฟ้องในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่แต่เดิมหรือแม้ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ก็หาได้เป็นการบรรยายการกระทำที่ได้ความตามการสอบสวนไม่ หากแต่เป็นเพียงการบรรยายให้ครบองค์ประกอบของฐานความผิดที่ฟ้องเท่านั้น ในทางปฏิบัติจึงบ่อยครั้งที่ศาลตำหนิว่าฟ้องของโจทก์เป็น "ฟ้องเคลือบคลุมจำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาได้ดี" แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการบรรยายฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่า ดังนั้น หากได้มีการบรรยายฟ้องให้ถูกต้องตามกฎหมายคือบรรยายการกระทำแล้วจำเลยก็ย่อมจะเข้าใจข้อหาได้ดีเสมอ การเป็นฟ้องเคลือบคลุมก็จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย [8] หากจะมีก็มีแต่การกระทำที่ได้บรรยายมาในฟ้องนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ในปัจจุบันซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 บัญญัติในวรรคหนึ่งเสียใหม่ว่า
แม้บทบัญญัติของกฎหมายจะได้กล่าวถึง "ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำผิด" ซึ่งทำท่าว่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการในเรื่องข้อหา แต่ก็ยังสร้างความสับสนอยู่ต่อไปอีก เพราะตอนท้ายได้กล่าวว่า "แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ" อันแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินี้ก็ได้บัญญัติขึ้นด้วยความไม่เข้าใจในเรื่อง "ข้อหา" อยู่นั่นเอง แต่จะบัญญัติอย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า การแจ้งข้อหาก็คือ "การแจ้งเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ผู้ต้องหาได้ก่อขึ้นและต้องยืนยันให้ผู้ต้องหาทราบด้วยว่าการกระทำของผู้ต้องหานั้นเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานใด" [9] ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง การแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 134 ดังกล่าวนี้ที่ได้กระทำเมื่อปี 2547 นั้น ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ในทางหลักวิชาการอยู่นั่นเอง ดังนั้น แม้การแก้ไขเพิ่มเติมนี้จะไม่ถึงกับสูญเปล่า แต่ผู้เขียนก็ต้องกล่าวว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เสียทั้งเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณของแผ่นดินด้วย เพราะบทบัญญัติเดิมก็ดีอยู่แล้วหากนักกฎหมายมีความเข้าใจหลักกฎหมายในเรื่องนี้ นี่ก็เกิดจากการเรียนการสอนกฎหมายหาใช่เกิดจากตัวบทกฎหมายไม่
3. การจับและการออกหมายจับในปัจจุบันในปัจจุบันการจับหรือการออกหมายจับนอกจากจะเป็นกระบวนการเดียวกันแล้วยังเป็นอำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาอีกด้วย การที่ต้องมีการจับบุคคลก็เพื่อเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ การจับบุคคลจึงมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่สำคัญสองประการดังนี้ คือ (1) เพื่อให้การดำเนินคดีได้เป็นไปโดยเรียบร้อย และ (2) เพื่อประกันการมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในการดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐไม่ใช่การเอาตัวบุคคลไว้เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหรือศาล แต่ต้องเป็นการเอาตัวบุคคลไว้เพราะความจำเป็นเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์สองประการดังกล่าว หาใช่เพื่อความสะดวกในการทำงานขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ ความจำเป็นที่ต้องเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐนั้น แท้จริงก็คือเหตุแห่งการออกหมายจับนั่นเอง [10] ซึ่งเหตุแห่งการออกหมายจับนั้น จะประกอบด้วยเนื้อหาสองประการ คือ (1) การมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลน่าจะได้กระทำความผิด และ (2) การมีเหตุที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ซึ่งเหตุที่เป็นการเฉพาะเจาะจงมีอยู่ 4 เหตุ คือเหตุอันเนื่องจากความร้ายแรงของความผิด เหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี เหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเหตุอันควรเชื่อว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น และเหตุอันเป็นเนื้อหาในส่วนที่สองนั้น มีทั้ง "เหตุที่เป็นเหตุหลัก" และ "เหตุที่เป็นเหตุรอง" [11] "เหตุที่เป็นเหตุหลัก" คือ เหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี เหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่ออันตรายประการอื่น ส่วน "เหตุที่เป็นเหตุรอง" คือ เหตุแห่งความร้ายแรงของความผิด เมื่อกรณีใดมี "เหตุที่เป็นเหตุหลัก" แล้ว การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐย่อมมีความจำเป็นเสมอ เพราะจะทำให้การดำเนินคดีไม่อาจเป็นไปได้โดยเรียบร้อยและขัดขวางต่อการมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในการดำเนินคดี ส่วนกรณีใดมี "เหตุที่เป็นเหตุรอง" กรณีนั้นย่อมไม่แน่เสมอไปว่าการดำเนินคดีจะไม่อาจเป็นไปได้โดยเรียบร้อยและขัดขวางต่อการมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในการดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติดูเหมือนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ของรัฐจะไม่มีการแยกแยะความเป็นเหตุหลักและเหตุรองดังกล่าวมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็นในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐนั่นเอง ทางปฏิบัตินี้จึงเป็นการคุกคามสิทธิของผู้ที่จะต้องถูกจับเสมอมา
4. สูตรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทยเมื่อได้มีการวิเคราะห์หลักกฎหมายกับทางปฏิบัติที่ไม่ตรงกันมาข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นสมควรจะได้กล่าวถึงสูตรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทยเราในมุมมองของผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งด้วย ในการอภิปรายของผู้เขียนในการสัมมนาทางวิชาการรำลึกถึงศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ในหัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า หลักและปัญหาการดำเนินคดีอาญาของไทย" ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนได้กล่าว เปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมไทยเรากับการเล่นฟุตบอลว่า ในการเล่นฟุตบอลเขามีสูตรในการเล่น เช่น สูตร 2 – 4 – 4 กล่าวคือ เป็นการเล่นโดยมีกองหน้า 2 คน กองกลาง 4 คน และกองหลัง 4 คน และผู้เขียนได้กล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเราก็มีสูตรเช่นกัน คือ สูตร 3 – 3 – 3 แต่เป็นสูตรที่ไม่ดีไม่สมควรเกิดขึ้นหรือควรขจัดออกไป และสูตร 3 – 3 – 3 อธิบายได้ดังนี้ คือ สามแรก คือ พฤติกรรมของคนส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของไทยเราที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีอยู่สามประการ คือ (1) ทำงานกันตามสบาย ขอไปที ไม่มีความเป็นภาวะวิสัย (2) ทำงานกันอย่างมีความกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลัวอิทธิพลการเมืองหรือกลัวอิทธิพลของนักการเมือง และ (3) ทำงานกันอย่างมีการประจบประแจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประจบประแจงการเมืองหรือประจบประแจงนักการเมือง สามที่สอง คือ ความแย่ของกระบวนการยุติธรรมของเราซึ่งมีอยู่สามประการ คือ (1) ประสิทธิภาพแย่ (2) คุกคามสิทธิเยอะ และ (3) ค่าใช้จ่ายสูงมาก กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมของไทยเรานั้น ไม่ได้แพงธรรมดา แต่ "แพงหูฉี่" สามที่สุดท้าย คือ กฎหมาย นักกฎหมาย และการศึกษากฎหมาย ข้อสามสุดท้ายนี้ผู้เขียนขอยืนยันว่ากฎหมายของไทยเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปัจจุบันมีความทันสมัยไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่นักกฎหมายของเราบางส่วนหรือบางคนยังมีความรู้ในหลักกฎหมายวิธีสบัญญัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ดีพอ แล้วถามว่านักกฎหมายบางส่วนหรือบางคนที่ยังมีความรู้ในหลักกฎหมายไม่ดีพอนั้นมาจากไหน คำตอบก็คือมาจากสถาบันการศึกษากฎหมายทั้งหลายทั้งในทางวิชาการและในทางวิชาชีพทั้งสิ้น เมื่อเช่นนี้จึงสมควรที่สถาบันการศึกษากฎหมายต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการเรียนการสอนของตน [12] อนึ่ง ในรายงาน คอป. นั้น ก็ได้มีการกล่าวว่าปัญหาหลายประการในกระบวนการยุติธรรมไทยเกิดขึ้นจากการเรียนการสอนกฎหมายที่ทำให้ผู้ศึกษากฎหมายขาดความเข้าใจในหลักทฤษฎี เนื่องจากการศึกษากฎหมายในระดับมหาวิทยาลัยและเนติบัณฑิตในปัจจุบันเน้นการศึกษาด้านวิธีปฏิบัติและการท่องจำตัวบทกฎหมายมากกว่าการศึกษาด้านปรัชญาหรือทฤษฎีทางกฎหมาย คอป. จึงได้เสนอแนะให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากฎหมายให้พัฒนาการศึกษากฎมายและคุณภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาและทฤษฎีทางกฎหมายและหลักความยุติธรรมอย่างลึกซึ้ง โดยให้ความสำคัญต่อการเคารพหลักนิติธรรมและการอบรมจริยธรรมของนักกฎหมาย นอกจากนี้ควรพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษากฎหมายมีความรู้ความเข้าใจบริบทของสังคมและสภาพปัญหาทางสังคม เพื่อให้มีการพัฒนาแนวคิดทางกฎหมายและปรับใช้กฎหมายได้อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่แท้จริง [13]
5. วิเคราะห์การออกหมายจับผู้ชุมนุมทางการเมืองการขอให้ออกหมายจับตามกฎหมายของไทยเราในปัจจุบัน พนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษสามารถกระทำได้โดยไม่ผ่านพนักงานอัยการเพื่อให้มีความเห็นก่อน กล่าวคือ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะไปยื่นคำร้องขอให้ออกหมายจับต่อศาลหรือผู้พิพากษาโดยตรงเลยทีเดียว ข้อนี้จึงแตกต่างจากประเทศอื่นทั้งหลายที่พนักงานสอบสวนต้องพบพนักงานอัยการก่อน หรือให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำขอให้ออกหมายจับ หรือพนักงานอัยการเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยื่น เพราะในประเทศทั้งหลายโดยเฉพาะในประเทศระบบ Civil Law นั้น การสอบสวนฟ้องร้องเป็นอำนาจเดียวและอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานอัยการ อย่างไรก็ตาม ในการสอบสวนคดีพิเศษที่ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษต้องมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วยนั้น แท้จริงแล้วผู้เขียนเห็นว่าการขอให้ศาลออกหมายจับก็ต้องผ่านพนักงานอัยการก่อนอยู่แล้ว เพราะในคดีพิเศษนั้น ในทางหลักการแสดงให้เห็นถึงการเป็นอำนาจเดียวของการสอบสวนฟ้องร้อง เมื่อเช่นนี้จึงมีหลักว่า (1) ในการสอบสวนไม่ว่าคดีพิเศษคดีใดพนักงานอัยการจักต้องเข้าไปรับผิดชอบในการสอบสวนอย่างจริงจังและต้องมีการทำงานอย่างมีความเป็นภาวะวิสัยอย่างแท้จริง และ (2) พนักงานอัยการจักต้องเป็นเกราะป้องกันมิให้อำนาจภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของฝ่ายการเมือง เข้ามาข้องแวะกับการทำงานของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ด้วย เพราะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ภารกิจของพนักงานอัยการที่สำคัญยิ่งมีสองประการ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ย่อมรวมถึงการที่พนักงานอัยการจะต้องดูแลถึงความจำเป็นในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐด้วย หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประสงค์จะขอให้ศาลจับบุคคลใดแล้วพนักงานอัยการก็จะต้องดูแลให้การขอให้ศาลหรือผู้พิพากษาออกหมายจับของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม เหตุนี้แม้จะมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดอันเป็นเงื่อนไขในการที่จะให้ออกหมายจับได้ แต่พนักงานอัยการก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสมควรจะให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียกก่อนหรือไม่ หากไม่มี "เหตุที่เป็นเหตุหลัก" ในการขอให้ออกหมายจับ กล่าวคือ เหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี เหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่ออันตรายประการอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างแล้ว ก็ชอบที่พนักงานอัยการจะให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษกระทำโดยการออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน คดีอาญาเป็นเรื่องของการตรวจสอบความจริงซึ่งมีอยู่สองชั้น คือ การตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงชั้นศาล การตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงานก็คือ "การสอบสวน" ซึ่ง "การสอบสวน" [14] นั้น มีเนื้อหา 2 ประการ คือ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการใช้มาตรการบังคับ [15] ในหลักการแล้วการสอบสวนต้องเริ่มด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างมีความเป็นภาวะวิสัยก่อน ส่วนการใช้มาตรการบังคับจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น กล่าวคือ เมื่อได้รวบรวมพยานหลักฐานจนเห็นว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดจริงที่จะนำไปสู่การฟ้องคดี แต่เพื่อให้เป็นไปตาม "หลักฟังความทุกฝ่าย" กรณีจึงต้องได้ตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้แก้ตัวก่อนการฟ้องคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า
หัวใจของบทบัญญัติมาตรานี้คือการสอบสวนปากคำผู้ต้องหา ซึ่งจำเป็นต้องกระทำเมื่อจะต้องฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป แต่หากไม่มีการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไปแล้ว กรณีก็ไม่มีความจำเป็นต้องสอบสวนปากคำผู้ต้องหา [16] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และกรณีมีเพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นเท่านั้นเจ้าพนักงานก็จะพยายามใช้มาตรการบังคับแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงเป็นช่องทางให้พนักงานสอบสวนใช้อำนาจโดยมิชอบได้ เช่น กระทำการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 135 โดยพยายามเค้นหาความจริงจากผู้ต้องหา กรณีจึงทำให้ผู้ต้องหาตกเป็น "กรรมในคดี" (procedural object) ไป แทนที่ผู้ต้องหาจะเป็น "ประธานในคดี" (procedural subject) อันเป็นหัวใจของการดำเนินคดีอาญาใน "ระบบกล่าวหา" (Akkusationsprozess หรือ accusatorial system) [17] สำหรับกรณีการขอให้มีการออกหมายจับผู้ชุมนุมทางการเมืองและแสดงสิทธิชุมนุมทางเมืองในครั้งนี้นั้น ด้วยความเคารพ เท่าที่ผู้เขียนติดตามข่าวสารผู้เขียนเห็นว่าการปรับบทความผิดในการขอออกหมายจับดูจะยังเป็นปัญหาอยู่มากทีเดียวว่าการกระทำของผู้ที่ถูกออกหมายจับเป็นการกระทำความผิดในฐานที่ขอให้ออกหมายจับหรือไม่ ทั้งในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และความผิดฐานเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 นั้น เมื่อครั้งที่ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127" ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้น เรียกว่า "ความผิดฐานก่อการจลาจล" และคำว่า "ก่อการจลาจล" ในขณะเมื่อใช้ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127" นั้น ได้มีผู้เอาไปใช้ปะปนกับความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร ซึ่งก็คือ "ความผิดฐานเป็นกบฏ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ในปัจจุบัน ซึ่งความจริงความผิดฐานก่อการจลาจลไม่ใช่ความผิดร้ายแรงแต่อย่างใด [18] กรณีจึงเป็นเหตุการออกหมายจับที่ "เป็นเหตุรอง" โดยแท้ สำหรับการขอให้ออกหมายจับในความผิดฐานเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 นั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวสารและที่ผู้เขียนรับรู้นั้น ดูจะยังเป็นปัญหาอยู่มาก เพราะการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองและใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ความผิดฐานเป็นกบฏตามมาตรา 113 นั้น มีสองฐานความผิด คือ "ความผิดฐานเป็นกบฎรัฐธรรมนูญ" และ "ความผิดฐานเป็นกบฏดินแดน" [19] (1) ความผิดฐานกบฏดินแดน ซึ่งมี "ความคงอยู่ของดินแดนหรือความเป็นเอกภาพของดินแดน" เป็น "คุณธรรมทางกฎหมาย" (Rechtsgut หรือ legal interest) คือ การแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 (3) ซึ่งกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำของผู้ชุมนุมและใช้สิทธิชุมนุมไม่ใช่การแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักรอย่างแน่นอน (2) ความผิดฐานเป็นกบฏรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี "กติกาของรัฐธรรมนูญ" เป็น "คุณธรรมทางกฎหมาย" การกระทำของความผิดฐานเป็นกบฏรัฐธรรมนูญนี้ คือ การกระทำใด ๆ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ แต่ตามข่าวสารที่ผู้เขียนรับรู้ ด้วยความเคารพ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักวิชาการและเป็นผู้สอนกฎหมายอาญาภาคความผิดและได้เขียนตำรา "กฎหมายอาญาภาความผิด" ด้วย ผู้เขียนยังมองไม่เห็นและนึกไม่ออกว่าการชุมนุมทางการเมืองและการในสิทธิชุมนุมที่กำลังดำเนินการอยู่นี้เป็นการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้อย่างไร เท่าที่ผู้เขียนรับรู้เป็นเพียงการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันมิใช่หรือ นี่หรือคือการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อศาลได้ออกหมายจับให้ตามที่ขอแล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองยังใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์นำสำเนาหมายของศาลไปโปรยเป็นใบปลิวในที่ชุมนุมอีกด้วยจนศาลอาญาต้องเรียกพนักงานสอบสวนมาตักเตือนตามที่ปรากฏในข่าว การกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองหรือพนักงานสอบสวนจึงดูจะเป็นการข่มขู่เพื่อหวังผลในทางการเมืองเสียแหละมาก แม้จะวิเคราะห์ว่าเป็นการกระทำด้วยเจตนาดีที่จะให้บ้านเมืองมีความสงบสุข แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของความพอดีหรือฝ่าฝืน "หลักความพอสมควรแก่เหตุ" (Proportionality principle) การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของบุคคลและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมจึงดูจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่ "นิ่ง" พอที่จะสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้กับประชาชนและผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง [20]
สรุปและเสนอแนะก่อนที่ผู้เขียนจะสรุปและเสนอแนะเกี่ยวกับการออกหมายจับผู้ชุมนุมทางการเมืองและใช้สิทธิชุมนุมตามที่ได้วิเคราะห์มาในบทความนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อเสนอแนะของ คอป. เกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุมดังที่ปรากฎอยู่ในส่วนที่ 5 ของรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ในข้อ 5.10 มากล่าวในที่นี้ด้วย โดยข้อเสนอแนะของ คอป. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ "5.10 ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม ในยามที่ประเทศชาติเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง ได้มีการเดินขบวนและรวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิและกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองที่มิได้เป็นไปโดยสงบ มีการใช้อาวุธ และยั่วยุให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังและใช้ความรุนแรง อีกทั้งรัฐได้ใช้อำนาจในการปราบปรามเพื่อให้เกิดความสงบโดยเกินขอบเขตและให้ทหารมีบทบาทในการสลายการชุมนุม ทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสียขึ้น คอป. จึงมีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 5.10.1 เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิทางการเมืองที่ต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองจากรัฐ อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพของผู้ชุมนุมมิใช่ว่าจะกระทำได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด (Non-Absolute Right) แต่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทย มาตรา 63 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของการชุมนุมว่าต้องกระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ กล่าวคือ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ คือ การชุมนุมที่มีเจตจำนงและพฤติการณ์ที่สงบ สันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ยั่วยุ ชี้นำ หรือส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงทั้งในทางกายภาพและทางจิตวิทยา ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการคุมคามความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสาธารณะ หรือทำให้ผู้อื่นหวาดกลัวว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ไม่สงบของปัจเจกบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมเพียงบางคนไม่เป็นเหตุให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ เว้นแต่การแสดงเจตจำนงของผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยส่วนรวมหรือผู้นำในการชุมนุมยอมรับพฤติกรรมที่ไม่สงบดังกล่าว หรือไม่คัดค้านหรือห้ามบุคคลที่ใช้ความรุนแรงหรือพกพาอาวุธเข้าร่วมชุมนุมโดยทันที หรือไม่ใช้ความพยายามตามสมควรในการป้องกัน คัดค้าน ระงับเหตุ แก้ไข หรือหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นนี้ย่อมมิใช่การชุมนุมโดยสงบ คอป. ขอเรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมยึดมั่นในหลักการดังกล่าวและใช้เสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธซึ่งรวมถึงการใช้สิ่งของใดๆ เยี่ยงอาวุธ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ ที่มิได้เข้าร่วมในการชุมนุม ทั้งนี้ตามมาตรา 28 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานด้านมนุษยธรรมและประโยชน์สาธารณะ เช่น หน่วยแพทย์พยาบาล หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานด้านการปกครองท้องถิ่นในการดูแลการชุมนุม การอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการใช้พื้นที่สาธารณะและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่อสื่อมวลชนและหน่วยงานด้านมนุษยธรรมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นอิสระ 5.10.2 คอป. เห็นว่าผู้นำการชุมนุมต้องมีความรับผิดชอบและควรสร้างความเข้าใจแก่ผู้ร่วมชุมนุมเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กรอบของกฎหมาย และ คอป. ขอเรียกร้องให้ผู้นำและผู้ร่วมชุมนุมยึดมั่นในวิถีทางของสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเคร่งครัด งดเว้นพฤติกรรมหรือการใช้ถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรง หรือสร้างความหวาดวิตกต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินในหมู่ประชาชนและผู้ชุมนุม รวมถึงพฤติกรรมที่ท้าทาย ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือยั่วยุให้เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุมใช้ความรุนแรงเพื่อผลักดันให้ความขัดแย้งขยายผลไปสู่ความรุนแรง เพื่อให้เกิดผลในการต่อสู้ทางการเมืองว่าฝ่ายใดที่ใช้กำลังก่อนเป็นฝ่ายที่แพ้ นอกจากนี้ คอป. เห็นว่า ผู้นำการชุมนุมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่มีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยละเมิดกฎหมายและมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย 5.10.3 คอป. ตระหนักดีว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อและยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มิได้เข้าร่วมชุมนุม คอป. ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามครรลองของการระบอบประชาธิปไตยเพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนและข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาล และตามธรรมชาติของการชุมนุมแล้ว ผู้ชุมนุมย่อมต้องการเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคม จึงมีการปราศรัยอย่างต่อเนื่องและเดินขบวนเรียกร้องในสถานที่สำคัญต่างๆ คอป. ขอให้ประชาชนที่มิได้ร่วมใน การชุมนุมมีความอดทนอดกลั้น (tolerance) ต่อการใช้เสรีภาพดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมด้วยการแสดงความไม่พอใจหรือต่อต้านการใช้เสรีภาพโดยการปะทะระหว่างกัน อันอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นได้ คอป. ขอให้ประชาชนตระหนักว่า ในระหว่างที่ประเทศชาติเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้ สังคมไทยต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมของสังคมที่มีความอดทนอดกลั้น (Tolerant Society) ที่บุคคลซึ่งมีความแตกต่างทางมุมมองและความคิดเห็นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขโดยเคารพสิทธิและเสรีภาพระหว่างกัน 5.10.4 รัฐต้องรับรองและประกันเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน โดยนอกจากจะไม่กีดกันและแทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าวแล้ว รัฐยังต้องคุ้มครอง ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมจากการก่อกวน แทรกแซง หรือประทุษร้ายโดยบุคคลที่สามที่เป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านการชุมนุมที่ดำเนินไปโดยสงบ ตลอดจนมีหน้าที่ในการจัดสรรการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น การจัดการจราจร การให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม เป็นต้น 5.10.5 การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งนี้ มาตรา 63 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้ง การจำกัดเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะต้องไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นๆ ด้วย ตามมาตรา 29 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1969 (International Covenant on Civil and Political Rights, 1969) ซึ่งต้องกระทำโดยเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ขัดต่อหลัก ความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ (Proportionality) และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมโดยคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการประกันเสรีภาพในการชุมนุมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม 5.10.6 คอป. มีความห่วงใยต่อการนำกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้เพื่อควบคุมการชุมนุม เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้มีเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะในกรณีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงหรือมีการก่อการร้ายซึ่งมุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่การชุมนุมนั้นเป็นไปเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือความเป็นธรรม นอกจากนี้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามพระราชกำหนดไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ตาม มาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ซึ่งแม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่เมื่อมีการนำมาตรการตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาใช้ในการควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองก็ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนในการตีความคำว่า "สมควรแก่เหตุ" หรือ "กรณีจำเป็น" คอป. จึงขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาจัดการสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สอดคล้องกับหลักของความได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้ 5.10.7 คอป. เห็นว่ารัฐบาลต้องไม่สั่งการให้ทหารซึ่งถูกฝึกฝนให้ต่อสู้กับอริราชศัตรูของประเทศเข้ามามีบทบาทในการควบคุมฝูงชนหรือยุติการชุมนุมของประชาชนซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการสะท้อนความต้องการไปยังรัฐบาลหรือสังคม เพราะการให้ทหารมาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ที่ออกมาสู่สาธารณชนเป็นภาพที่มีความรุนแรง อาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้ง่ายและอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างมากดังเช่นวิกฤตการณ์ความรุนแรงในอดีตที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน คอป. เห็นว่า ในการควบคุมการชุมนุมใดๆ รัฐบาลควรกำหนดให้เป็นบทบาทและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่มีการกำหนดสายการบังคับบัญชา หน้าที่ความรับผิดชอบ และขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมการควบคุมฝูงชนมาเป็นการเฉพาะและมีการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ต้องรับมือกับเเรงกดดันเเละการโต้ตอบจากผู้ชุมนุม ทั้งในทางกายภาพและจิตวิทยา 5.10.8 ในกรณีที่มีบุคคลที่ติดอาวุธแอบแฝงอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อใช้ความรุนแรง รัฐจะต้องดำเนินมาตรการพิเศษ โดยเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นการเฉพาะจะต้องแบ่งแยกเป้าหมายอย่างแม่นยำและปฏิบัติการต่อเป้าหมายซึ่งใช้ความรุนแรงเพียงเท่าที่จำเป็นตามหลักความพอสมควรเเก่เหตุเพื่อป้องกันภัยที่เป็นประจักษ์หรือใกล้จะถึง และเพื่อยับยั้งการกระทำที่เป็นภัยดังกล่าวเท่านั้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยทั้งของเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม ผู้ก่อเหตุ และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ประเมินเเล้วว่าการปฏิบัติการจะส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นจะต้องหยุดการปฏิบัติการทันที 5.10.9 รัฐบาลต้องเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ในการยุติการชุมนุมที่เหมาะสม ปลอดภัย มีคุณภาพ และเพียงพอ รัฐต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบในการควบคุมฝูงชนให้เตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติภารกิจในการยุติการชุมนุมหรือควบคุมฝูงชนตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด และให้มีทักษะความชำนาญอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยห้ามสลายการชุมนุมด้วยมาตรการที่รุนแรงไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์หรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนการใช้กำลังและอาวุธซึ่งต้องเริ่มจากระดับเบาไปหาหนักโดยใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเพื่อลดความสูญเสียและบาดเจ็บ และมีมาตรการที่เหมาะสมแก่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นเด็ก เยาวชน สตรี หรือผู้สูงอายุ เพื่อความมีประสิทธิภาพในการจัดการการชุมนุม 5.10.10 รัฐบาลควรออกแบบจัดทำแผนปฏิบัติการยุติการชุมนุมและมาตรการในการควบคุมฝูงชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violent Measures) และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วย เช่น การอบรมจิตวิทยาในการควบคุมการชุมนุมและฝึกฝนทักษะในการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ รัฐบาลต้องฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจถึงบทบาทและการอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บรรเทาสาธารณภัย และสื่อมวลชน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งต้องประเมินความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ เเละทักษะที่จำเป็นต่อการควบคุมและสลายการชุมนุม ทั้งก่อนเเละหลังการปฏิบัติ ไม่ควรให้เจ้าหน้าที่ที่เผชิญหน้าเเละปะทะกับผู้ชุมนุมกลับไปปฏิบัติการโดยไม่ผ่านการประเมิน ฟื้นฟู และเตรียมพร้อมสภาพจิตใจก่อนจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อีก 5.10.11 หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการในการควบคุมฝูงชนหรือในพื้นที่ที่มีการชุมนุมจะต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุหรือกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุม ต้องดำเนินการโดยสอดคล้องกับหลักการสากล และเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือละเมิดหลักการสากลในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุม รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริง เยียวยาฟื้นฟูและอำนวยความยุติธรรมแก่เหยื่อและผู้ที่ได้รับผลกระทบ และนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบเข้าสู่กระบวน การยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลและผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ ผู้ควบคุมสถานการณ์จะต้องแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นและมีการใช้มาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ 5.10.12 รัฐควรส่งเสริมให้เกิดบรรทัดฐานของการชุมนุมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปราศจากการใช้ความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจเริ่มจากการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นและกำหนดกติกาในการชุมนุมร่วมกัน และส่งเสริมให้กติกาดังกล่าวกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดระเบียบการชุมนุมโดยกำหนดเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมในอนาคต ทั้งนี้ การจัดระเบียบการชุมนุมต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรง และป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุม โดยไม่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน 5.10.13 คอป. เห็นว่าการกำหนดกติกา ระเบียบ หรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะอาจส่งผลให้มีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน จึงต้องกระทำโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐต้องสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐต้องคำนึงถึงประเภทและลักษณะของการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากการชุมนุมสาธารณะในภาวะปกติดังเช่นการชุมนุมอันสืบเนื่องจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สังคม หรือแรงงาน ย่อมแตกต่างจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากในภาวะที่ไม่ปกติและมีความขัดแย้งสูง รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำลายพื้นที่สำหรับสะท้อนความทุกข์ร้อนและความต้องการของประชาชนไปยังรัฐบาลและสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลควรศึกษาและนำตัวอย่างในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสม เช่น ประเทศอังกฤษซึ่งมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และรายละเอียดในการจัดการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวน (Public Order Act 1986)" และก่อนที่ผู้เขียนจะสรุปและเสนอแนะต่อไป ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าการชุมนุมทุกครั้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราและได้เกิดความรุนแรงขึ้นนั้น ต่างก็เกิดขึ้นและเชื่อมโยงกับกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศทั้งสิ้น นับตั้งแต่เหตุการณ์ตุลาคม 2516 การออกหมายจับบุคคลในการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีความเป็นห่วงสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะดูจะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรม เป็น "เครื่องมือ" ในทางการเมืองอยู่ การใช้หรือพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเป็น "เครื่องมือ" ในทางการเมืองเกิดขึ้นเสมอ ๆ ในบ้านเมืองเรา จนครั้งหนึ่งผู้เขียนต้องเขียนบทความเรื่อง กระบวนการยุติธรรมต้อง "นิ่ง" เพื่อปรารภสู่กันฟังและเพื่อเป็นการเตือนสติสังคม บทความเรื่องดังกล่าวนี้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันพุธที่ 19 เมษายน 2549 และต่อมาได้ลงพิมพ์อีกครั้งใน คณิต ณ นคร ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม ในหน้า 117 ในบทความนี้ตอนหนึ่งผู้เขียนได้กล่าวว่า
ดังกล่าวมาแล้วว่าความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 นั้น เมื่อครั้งที่ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127" ยังมีผลใช้บังคับอยู่เรียกว่า "ความผิดฐานก่อการจลาจล" และคำว่า "ก่อการจลาจล" ในขณะนั้น ได้มีผู้เอาไปใช้ปะปนกับความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร ซึ่งก็คือ "ความผิดฐานเป็นกบถ" ตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน ซึ่งความจริงความผิดฐานก่อการจลาจลไม่ใช่ความผิดร้ายแรงแต่อย่างใด กรณีเป็นเหตุออกหมายจับที่ "เป็นเหตุรอง" โดยแท้ ประการสำคัญที่สุดก็คือ การหาจุดแบ่งแยกระหว่าง "การกระทำอันเกี่ยวกับการชุมนุมและสิทธิของผู้ชุมนุม" ตามที่ คอป. ได้กล่าวถึงดังกล่าวมาข้างต้น กับ "การกระทำที่เป็นความผิดอาญาฐานเป็นกบฏที่ได้มีการออกหมายจับ" เป็นเรื่องที่ยากมาก กรณีย่อมเป็นทำนองเดียวกับการหาเส้นแบ่งระหว่างความผิดฐานก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ที่กฎหมายได้บัญญัติในวรรคสามว่า
ซึ่งในส่วนของเรื่องการก่อการร้ายนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทสรุปของบทความของผู้เขียนเรื่อง "การก่อการร้าย" ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือ ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม ในหน้า 115 ว่า
ดังนั้น ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอแนะว่า หากจะได้มีการทบทวนการออกหมายจับในครั้งนี้กันได้ ไม่ว่าจะโดยองค์กรใดในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม กรณีก็จะเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เช่น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนคำร้องเดิมของตน อนึ่ง ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการใคร่ขอให้นักกฎหมายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือพนักงานสอบสวนสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทราบด้วยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2547 หลังจากได้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดย "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ได้บัญญัติใหม่ดังนี้
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้มีที่มาจากหลัก habeas corpus ของอังกฤษ และบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ได้เพิ่ม "พนักงานสอบสวน" เข้าไปด้วย และเมื่อกล่าวถึงพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ย่อมหมายถึงพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ บทบัญญัติใหม่นี้เหนือสิ่งอื่นใดผู้เขียนเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่เรียกร้องความเป็นเสรีนิยมจากพนักงานสอบสวนทีเดียว และนี่แหละคือความทันสมัยของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราอย่างหนึ่งหลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดย "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุดท้ายการพูดคุยสันติภาพ 28กุมภาก็ล่ม เพราะวิกฤติการเมืองไทยที่กรุงเทพ Posted: 09 Dec 2013 06:44 AM PST
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
การทำให้สภาประชาชนของ กปปส.ไม่ขัดหลักการประชาธิปไตยจนเกินไปและพอจะยอมรับได้ Posted: 09 Dec 2013 06:25 AM PST
-รัฐบาลเจรจากับ กปปส. ให้ยอมรับวิธีนี้และยุติชุมนุม และแต่ละฝ่ายตั้งสภาประชาชนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนลงประชามติแข่งกัน อย่างไรก็ตาม วิธีที่เสนอมามีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่พยายามจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นทางออกของปัญหา แต่ก็เปิดช่องให้ทุกฝ่ายสามารถเสนอสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน ซึ่งสองสิ่งนี้ขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น สามารถเสนอได้ว่านายกรัฐมนตรี สมาชิกสภา ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือใครจะเสนอให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ย่อมได้ และหากข้อเสนอเหล่านี้ประชาชนให้ความเห็นชอบก็สามารถบังคับใช้ได้ แต่วิธีนี้มีจุดแข็งที่สุดตรงที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายซึ่งต่างอ้างประชาชน สามารถตรวจสอบนับจำนวนได้อย่างแท้จริงว่ามีประชาชนสนับสนุนอยู่จำนวนเท่าไหร่ ไม่ต้องอ้างประชาชนลอยๆ อีกต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประมวลภาพ: ระหว่างทางขบวนมวลมหาประชาชน ‘ไทย 9’ มุ่งหน้าทำเนียบ Posted: 09 Dec 2013 05:58 AM PST 9 ธ.ค.2556 ขบวนของมวลชนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนขบวน 9 เส้นทาง สู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเผด็จศึกในการชุมนุม ขบวนดังกล่าว แบ่งเป็น 1.นายถาวร เสนเนียม กับนายอิสระ สมชัย ตั้งขบวนที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารัชโยธิน ไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตั้งขบวนที่แยกเอกมัย ผ่านราชประสงค์ และ สตช. 3.นายวิทยา แก้วภราดัย ตั้งขบวนที่ กระทรวงการคลัง ไปทางถนนพระรามที่ 6 และศรีย่าน 4.นายสาธิต เซกัล (นักธุรกิจสีลม) ตั้งขบวนที่สีลม ผ่านราชดำริ และเข้าเพชรบุรีตัดใหม่ 5.นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ตั้งขบวนที่ทางด่วนเอกมัย - รามอินทรา ผ่านซอยวัชรพล ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 6.นางศรีวรา อิสสระ ตั้งขบวนที่ตึกชาญ อิสสระ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ผ่านพรรคเพื่อไทย 7.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับ นายชุมพล จุลใส ตั้งขบวนที่ศูนย์ราชการ ออกถนนวิภาวดีรังสิต ผ่าน 5 แยกลาดพร้าว และ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ตั้งขบวนที่วงเวียนใหญ่ ข้ามสะพานตากสิน และ 9.นายถนอม อ่อนเกตุพล ตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทุกขบวนเริ่มเคลื่อนพร้อมกันเวลา 09.39 นาที เว้นขบวนของนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. ที่เริ่มเคลื่อนเวลา 08.29 นาที เพราะอยู่ไกลที่สุด โดยมวลชนทุกคนต่างพกนกหวีด มือตบ รวมถึง ผ้าเช็ดหน้า ขวดน้ำ แว่นกันแก๊สน้ำตาและหมวกกันน็อก เพื่อป้องกันตัวหากมีการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขบวนจากธรรมศาสตร์ ผู้ชุมนุมบน ถ.เพชรบุรี ขบวนจากรามคำแหงมุ่งหน ขบวนจากศูนย์ราชการเคลื่อนเข้าสู่เส้นทางรถไฟฟ้าบริเวณสถานีหมอชิต ผ่านรถไฟฟ้าสถานีอารีย์ บรรยากาศที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้ สุเทพ เลขาธิการ กปปส.ถึงอนุสาวรย์ชัยฯ คนต้อนรับคับคั่ง พระพุทธอิสระร่วมขบวน จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล มวลชนที่ย่านแยกเทวกรรม ผู้ชุมนุมจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) บนนถนนจรัญสนิทวงศ์ บางพลัด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ในหลวงโปรดเกล้า พรฎ.ยุบสภาแล้ว เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 Posted: 09 Dec 2013 04:27 AM PST 9 ธ.ค.2556 หลังจากเมื่อเวลา 08.55 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่าได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาเพื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น. นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวีตผ่าน @teeratr ระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ลงมาเรียบร้อยแล้ว อีกสักครู่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา"
โดยล่าสุดจากการตรวจสอบเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 แล้ว และมีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 ก.พ. 2557 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เผย 29 บริษัทผ่านคุณสมบัติประมูลทีวีดิจิตอล Posted: 09 Dec 2013 04:24 AM PST บอร์ด กสท.เห็นชอบผู้ยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอลทุกราย รวม 29 บริษัท ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล กำหนดวันประมูลไม่เกิน 11 ม.ค. 9 ธ.ค. 2556 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าการประชุม บอร์ด กสท. วันนี้ (9 ธ.ค.) ได้พิจารณาผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นซองประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ที่สำนักงาน กสทช. ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ บอร์ด กสท. เห็นชอบให้ผู้ยื่นซองประมูลทีวีดิจิตอล ทุกราย รวม 29 บริษัท จำนวน 41 ซอง ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอล โดยสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติทั้ง 29 รายในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ หลังจากประกาศรายชื่อดังกล่าวแล้ว ตามประกาศ กสทช. จะต้องจัดให้มีการประมูลภายใน 30 วัน หรือกำหนดประมูลวันสุดท้ายไม่เกินวันที่ 11 ม.ค. 2557 โดยในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ กสทช.จะประกาศ เวลา วัน ลำดับ และสถานที่ การประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง 4 ประเภท คือ เอชดี, วาไรตี้ เอสดี, ข่าว และเด็ก ทั้งนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา วันและลำดับการประมูล 3 รูปแบบ คือ ประมูล 1 วัน 4 ประเภท, ประมูล 2 วัน วันละ 2 ประเภท และประมูล 4 วัน วันละประเภท หลังจาก กสทช.กำหนดวันประมูลทีวีดิจิตอล ผู้เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลทุกราย จะต้องส่งรายชื่อผู้เข้าประมูล ไม่เกิน 5 คน ในแต่ละประเภทที่เข้าประมูลให้ กสทช. ภายใน 7 วัน ก่อนวันประมูล นอกจากนี้ได้กำหนดวันทดลองประมูล (pre mock auction) 2 ครั้ง คือในวันที่ 12-13 ธ.ค. และ 19-20 ธ.ค.นี้ ที่ กสท โทรคมนาคม บางรัก อย่างไรก็ตามคาดว่าการประมูลจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ หรือ ต้น ม.ค.ปีหน้า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุเทพ เทือกสุบรรณประกาศขอคืนอำนาจอธิปไตย เพื่อทำการ 'ประชาภิวัฒน์' Posted: 09 Dec 2013 03:43 AM PST หลังเคลื่อนขบวนชุมนุม 9 สาย เลขาธิการ กปปส. ประกาศขอคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชน ละจะทำการ 'ประชาอภิวัฒน์' เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ กปปส. จะยึดมั่นพันธะกรณีระหว่างประเทศ รักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศทุกประการ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขณะเดินขบวน 9 สาย ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ข้างหน้าของสุเทพคือสมศักดิ์ โกศัยสุข (ที่มา: ประชาไท) ผู้ชุมนุม กปปส. ขณะกำลังเดินขบวนใหญ่มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (ที่มา: ประชาไท) ช่วงที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อ่านแถลงการณ์และปราศรัยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (ที่มา: Blue Sky Channel) 9 ธ.ค. 2556 - ในการชุมนุมของ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. วันนี้ ซึ่งมีการเดินขบวนใหญ่ 9 สาย และมีการตั้งเวทีใหญ่ที่แยกนางเลิ้งในช่วงบ่ายนั้น ต่อมาเมื่อเวลา 17.50 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ขึ้นเวทีแถลงข่าว โดยมีการเปิดเพลง แสงสุดท้าย ของบอดี้แสลม และเพลงเจ้าตาก ของแอ๊ด คาราบาว และเพลงสู้ไม่ถอย ของกรรมาชน ฯลฯ ก่อนการแถลง ในเวลา 18.04 น. สุเทพ เริ่มอ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำมีการใช้อำนาจภายใต้การครอบงำ สั่งการโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีอาญาหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ใช้อำนาจเหนือรัฐบาล และรัฐสภา ด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักการปกครองหลายประการ มีการใช้อำนาจโดยเสียงข้างมากของ ส.ส. และวุฒิสภา เป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย บิดเบือนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศไม่เป็นไปตามวิถีรัฐธรรมนูญ ทั้งสิ้น 5 ประการ รวมทั้งเรื่องผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หมวดที่มา ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลซึ่งเป็นการล้มล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้รัฐบาลกลับนำร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าไม่นำพาต่อรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกระทบกระเทือนพระราชอำนาจ และระคายเคืองเบื้องพระยุคคลบาท เพราะนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ สุเทพระบุในตอนท้ายว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ประกอบด้วย มวลมหาประชาชน ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ไม่อาจยินยอมให้เผด็จการเสียงข้างมาก ใช้ระบบเผด็จการรัฐสภาหักหลังความไว้วางใจของประชาชน ทำลายดุลยภาพประชาธิปไตยกระทำการให้ได้การปกครองของประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลทรยศอำนาจที่ได้รับความไว้วางใจ กลับทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวและบริวาร ถือเป็นการทำลายสัญญาประชาคม ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้อำนาจอีกต่อไป อาศัยอำนาจของประชาชนตามมาตรา 3 ของ รัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงขอประกาศว่ามวลมหาประชาชน ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ได้แสดงพลังร่วมกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มีความจำเป็นต้องพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหาสิทธิ์ ใช้สิทธิมวลมหาประชาชนเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินกลับคืนมายังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด อันเป็นการประชาภิวัฒน์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ขจัดภยันตรายจากการทุจริต คอรัปชั่นให้หมดไป ดำเนินการทางการเมืองให้เกิดความเป็นธรรม อย่างแท้จริงทุกภาคส่วน คณะกรรมการ กปปส. ขอประกาศยืนยันแทนมวลมหาประชาชนว่าพวกเราทั้งหลาย ปวงชนชาวไทยทั้งหลายมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะร่วมพิทักษ์ราชบัลลังก์ด้วยชีวิต สุเทพระบุด้วยว่า "อนึ่งคณะกรรมการ กปปส. จะยึดมั่นในพันธะกรณีระหว่างประเทศ จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศทุกประการ แถลงมาให้ทราบทั่วกันขอให้ประชาชนสร้างอนาคตที่เป็นธรรม ผาสุก สงบ สันติ ให้ลูกหลานอนุชนรุ่นหลังต่อไป ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ลงชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส."
ลั่นอ่านประกาศแล้วกลายเป็นกบฎขอให้มาจับได้ จะเดินหน้าไม่มีการถอยหลัง ภายหลังการแถลง ต่อมา สุเทพได้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมว่าสิ่งที่ประกาศแถลงการณ์สักครู่แปลว่าอะไร และเราต้องทำอะไรต่อไป พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย คำแถลงที่ออกไปเมื่อสักครู่นั้น มีความหมายชัดเจนว่า ต่อไปนี้นับตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป มวลมหาประชาชน ปวงชนชาวไทยทั้งหลายเอาอำนาจคืนมาเป็นของประชาชนแล้ว อำนาจนี้เป็นของเรา รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย บังเอิญคนไทยโชคร้ายมอบอำนาจให้คนชั่วเอาไปใช้ในสภา และรัฐบาล คนชั่วเหล่านี้เอาอำนาจไปใช้เพื่อประโยชน์ของทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวและบริวาร หลังจากอ่านประกาศแล้วทำให้เป็นกบฎแล้วขอให้มาจับได้ และเดินหน้าไม่มีการถอยหลัง ไม่ประนีประนอม เพราะเรื่องของชาติไม่ใช่เรื่องต่อรองประนีประนอมกัน แพ้กับชนะเท่านั้น ถ้าแพ้มันก็จะก้มหน้าก้มตาเป็นขี้ข้าจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ร้องไห้แม้แต่หยดเดียว เพราะสู้แล้ว แผ่นดินนี้จะสูงขึ้น ลูกหลานจะปลอดภัย เป็นเสรีชน
เรียกร้องประชาชนเลือกข้าง และจะตั้งสภาประชาชน ตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลประชาชน "นี่คือเดิมพันครั้งสำคัญสำหรับประเทศไทย ใครจะถือหางข้างระบอบทักษิณ เชิญ! ใครจะถือหางข้างประชาชน มา! ไม่มีคนกลาง ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความดีและความชั่ว วันนี้ประชาชนหลายล้านคนเลือกแล้วว่านี่คือข้างที่ถูกต้อง พี่น้องประชาชนถามผมเมื่อสักครู่หน้าเวทีก็ถามผมแล้วยังไงต่อไปคุณสุเทพ ผมก็บอกว่าวันนี้เมื่อผมได้แถลงการณ์ของมวลมหาประชาชนว่าอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน นั่นคือประชาชนพวกเราจะเป็นคนจัดการบริหารประเทศเอง นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ สภาประชาชนพวกเราจะแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลของประชาชน ต่อจากนี้เราจะจัดให้มีสภาประชาชนทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนพวกทรยศหักหลังเรา" สุเทพกล่าวด้วยว่า "พี่น้องทั้งหลาย มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก ไอ้พวกชั่วมันคงคิดสู้แล้ว เอาปรมาจารย์กฎหมายขี้ข้าสุมหัวทั้งคืนว่าพรุ่งนี้จะจัดการอย่างไร คนชั่วช้าเลวทรามไม่เห็นพี่น้องหรอก มันเชื่อเฉพาะอำนาจ วันนี้เราได้ประกาศปฏิรูปเพื่อความสุขของมวลมหาประชาชนทั้งแผ่นดิน ไม่เลือกสี ไม่เลือกข้าง สำหรับทุกคนจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ เราใช้คำใหม่ที่พี่น้องได้ยินวันนี้คือคำว่า 'ประชาภิวัฒน์' พี่น้องจำคำนี้เอาไว้ ไม่ต้องการให้คนไปใส่ร้ายเข้าใจเราผิด คนบางคนมันจะไปกล่าวหาว่าเราเป็นกบฎ ไปยึดอำนาจ ไม่ชิงอำนาจ แต่เราบอกว่า ไม่ใช่ อำนาจเป็นของเรา กูผิดเองที่เป็นยกให้พวกมึง วันนี้กูเอาคืน เท่านั้น"
ไม่เชื่อยิ่งลักษณ์จัดเลือกตั้ง เพราะระบอบทักษิณจะกลับมาเหมือนเดิม "ที่สำคัญคือ พวกมันเอาอำนาจประชาชนไปใช้บำรุงบำเรอทักษิณและคนในครอบครัว พวกพ้อง ใช้อำนาจประชาชนเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยของคนเดียว ตระกูลเดียว แต่พวกเราเอาอำนาจประชาชนมาทำบ้านเมืองให้ดี ให้เป็นประโยชน์ให้ทุกคนเป็นเจ้าของแผ่นดินไทย พี่น้องทั้งหลายจึงมาถึงคำตอบว่าวันนี้ ยิ่งลักษณ์ ละล่ำละลักยุบสภา แล้วอ้างว่ารัฐบาลถอยให้แล้ว คืนอำนาจให้แล้ว ประชาชนควรจะเลิกได้แล้ว กลับบ้านได้แล้ว พี่น้องว่ายังไงครับ คุณยิ่งลักษณ์ถ้าคุณดูรายการนี้อยู่ แปลว่าคุณตอแหล" สุเทพกล่าวด้วยว่า และผมก็เห็นด้วยกับพี่น้องประชาชนว่ามันตอแหลจริงๆ ที่ผมว่ามันตอแหล เพราะมันบอกว่าคืนอำนาจประชาชนให้ประชาชนไปเลือกตั้งใหม่ ประชาชนไม่ได้โง่เหมือนมึง มึงมันคิดอะไรเองไม่เป็นต้องให้พี่คิดให้ แต่ประชาชนคิดเป็น ให้ประชาชนเลือกตั้ง แต่มีกติกาเดิม กกต. เดิม มีข้าราชการประจบสอพลอ มีตำรวจเหมือนเดิม มีการโกงเลือกตั้ง มึงก็กลับมาเหมือนเดิม ผมไม่กลัวเลือกตั้ง ไม่กลัวเลือกตั้งแพ้ เพราะผมประกาศกับพี่น้องว่าผมไม่ลงเลือกตั้งแล้ว แต่ผมไม่ต้องการให้ใครมาหลอกลวงให้พี่น้องฝันลมๆ แล้งๆ ว่าเลือกตั้งแล้วมันจะแพ้ คนดีจะมาบริหารบ้านเมือง คนดีสู้เงินและอำนาจไม่ได้ครับ
จะจัดเลือกตั้งได้ต้องแก้ไขกติกา และเสนอปฏิรูปกระจายอำนาจ ปฏิรูปตำรวจ จะไปเลือกตั้งได้เหมือนกัน แต่ต้องเขียนเลือกตั้งใหม่ ต้องจัดองค์กรตรวจสอบเลือกตั้งใหม่ ปฏิรูปพรรคการเมืองใหม่ ไม่ให้พรรคการเมืองถูกบงการโดยคนชั่วอย่างทักษิณ ให้เวลาสภาประชาชน รัฐบาลประชาชนจัดการเรื่องนี้ เร็วที่สุด 8 เดือน 12 เดือน 15 เดือนเร็วที่สุด แล้วจัดการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ให้คนชั่วเข้ามามีอำนาจ ต้องจัดการคอร์รัปชั่นที่มันกล้าโกง กล้าคอร์รัปชั่นเพราะวันนี้มันมีตัวอย่างโกง 46,000 ล้าน ถูกศาลลงโทษจำคุก 2 ปี หนีไปดูไบ ยังมีอิทธิพลเหนือประเทศไทย เพราะยังมีขี้ข้าช่วยเหลือ และมันหวังว่าอยู่เมืองนอกไม่กี่ปี มันก็ได้กลับมาเมืองไทย เพราะคงมีขี้ข้าเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้ หรืออยู่จนหมดอายุความก็จะได้กลับมาใช้เงินที่เหลือ เพราะฉะนั้นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ให้ใครเขียนกฎหมายล้างผิดได้ จนตายก็ต้องไม่หมดอายุความ สุเทพประกาศด้วยว่าจะให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และจะปฏิรูประบบตำรวจ
เสนออีกวิธีให้รัฐบาลรักษาการลาออกเปิดทางนายกรัฐมนตรีคนกลาง สุเทพเสนออีกทางเลือกด้วยว่า ให้คณะรัฐมนตรีไปลาออกเพื่อไม่ให้มีรัฐมนตรีรักษาการ จะได้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง "ลาออกพรุ่งนี้ตอนเช้า ตอนเย็นทำหนังสือกราบบังคมทูลลาออกรักษาการด้วย ให้ไม่มีรัฐบาลเลย แล้วจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่คนกลางคนหนึ่ง ทำให้ประเทศได้นับหนึ่งได้ใหม่ แม้ไม่ใช่วิธีที่พวกเราสู้อยู่ แบบนี้เราพอรับได้" แต่หลอกกูวันละนิดวันหน่อย ขอบอกว่าพวกกูคิดเป็น
ขอให้ผู้ชุมนุมอดทนเพราะไม่มีรถถังเสนอให้ ขรก. ปฏิเสธระบอบทักษิณ พร้อมตั้งอาสาสมัครตามชุมชน สุเทพประกาศด้วยว่า รัฐบาลสิ้นสภาพแล้ว ถ้าจะสั่งราชการได้ ต้องมาแย่งชิงอำนาจได้ใหม่ เอากำลังมาชิงเลย เรารออยู่ จะสู้ด้วยมือเปล่า สู้ด้วยมือเปล่า ไม่รับร้อน อีกสักห้าวัน สิบวันไม่เป็นไร แต่ต้องรักษาอำนาจของเราเอาไว้ให้ได้ พวกผมจะไปกำหนดขั้นตอนที่เหมาะสม ตามลำดับ คือพูดให้พี่น้องเข้าใจ ถ้าเป็นคณะปฏิวัติ จอมผิณ จอมพล ป. จอมถนอม พล.อ.สนธิ ถ้าเขาประกาศว่าอำนาจเป็นแบบนี้แปลว่า เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่งตั้งคนเป็นนายกรัฐมนตรี เรียกข้าราชการมารายงานตัว นั่นคือความเป็นจริง แต่นักปฏิวัติเหล่านั้นเขามีรถถัง มีปืนกล มีกำลัง เรามันมือเปล่า กับหัวใจโตๆ เพราะฉะนั้นเราจะให้โอกาสกับทุกฝ่าย ให้โอกาสข้าราชการทั้งหลายรู้สึกรู้สมกันบ้างหรือไม่ที่ประชาชนสี่ห้าล้านคนแสดงตนทั้งประเทศอย่างกล้าหาญ ปฏิเสธเป็นขี้ข้าระบอบทักษิณ คิดเองได้แล้วหรือยัง ประชาชนเขาถาม พวกเราเจ้าของประเทศจะนอนรอกลางถนนด้วยความอดทน ใครมาถือว่าอยู่ข้างอำนาจประชาชน ใครไม่มาถือว่าอยู่ข้างยิ่งลักษณ์ ทักษิณ ตอนท้าย สุเทพเรียกร้องให้มีการตั้ง กองกำลังอาสาสมัครรักษาความสงบเรียบร้อยประชาชนด้วย โดยปราศรัยว่า "คณะกรรมการ กปปส. ทุกหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล ร่วมมือกัน จัดตั้งกองกำลังอาสารักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ชีวิตทรัพย์สิน เนื่องจากตำรวจมึนหัว ลังเล ช่วยกันนะครับ กองกำลังอาสารักษาความสงบนี้ จะเป็นกำลังสำคัญของการต่อสู้ประชาชนต่อไป ตั้งแต่วันนี้ปรึกษากันและเตรียมการกันทำได้ พี่น้องทำได้ ต้องการหัวใจใหญ่ๆ เท่านั้น" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช.ส่งรถหาคลื่นกวนสัญญาณดาวเทียมไทยคม ชี้โทษถึงประหาร Posted: 09 Dec 2013 03:32 AM PST เลขาธิการ กสทช. สั่งการสำนักงาน กสทช. เขตทั้ง 14 เขตทั่วประเทศ ส่งรถตรวจสอบและหาทิศทางสัญญาณรบกวน 20 คันออกตรวจคลื่นรบกวนช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม พร้อมประกาศให้ผู้ดำเนินการรบกวนยุติการส่งสัญญาณรบกวนทันที ฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดโทษถึงประหารชีวิต 9 ธ.ค.556 สำนักงาน กสทช. ส่งใบแถลงข่าวระบุ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เผยผลการประชุมร่วมกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กรณีมีผู้ดำเนินการส่งคลื่นรบกวนช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รายงานถึงรายละเอียดของการรบกวนว่า การรบกวนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. 2556 มีการส่งสัญญาณคลื่นรบกวนช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งให้เช่าช่องสัญญาณเพื่อให้บริการออกอากาศและแพร่ภาพแก่โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกือบ 20 ช่อง อาทิ Asia Update Blue Sky รวมถึงฟรีทีวีที่ออกอากาศให้รับชมผ่าน Set Top Box ในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (ช่อง 3, 5, 7, 9, ThaiPBS) โดยช่วงแรกของการรบกวน เป็นการส่งคลื่นสั้นๆ ขึ้นลงตลอด เมื่อตรวจสอบการรบกวนดังกล่าวพบว่าไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน เนื่องจากคลื่นที่กวนมีลักษณะแตกต่างกัน โดยพบว่าการส่งสัญญาณรบกวนจะมีมากในช่วงหัวค่ำ ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่มีกิจกรรมการปราศรัย หรือแถลงทางการเมือง ฐากร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ก็ได้มีการประสานและรายงานเรื่องการรบกวนของสัญญาณดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. มาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. และสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสอบการส่งสัญญาณรบกวนดังกล่าวพร้อมทั้งสั่งการบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการตรวจสอบพร้อมทั้งรายงานการรบกวนให้สำนักงานทราบอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าการรบกวนดังกล่าวยังคงมีอยู่ สำนักงานฯ จึงได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. เขตทั้ง 14 เขต ทั่วประเทศส่งรถตรวจสอบและหาทิศทางสัญญาณรบกวน 20 คันออกตรวจคลื่นรบกวนช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมจนกว่าจะมีคำสั่งให้หยุดดำเนินการ และขอแจ้งไปยังผู้ดำเนินการส่งคลื่นรบกวนรบกวนให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจสอบพบจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด "ในสถานการณ์ขณะนี้ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเกิดการเข้าใจผิดในสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ และหากการกระทำนั้น กระทำเพื่อสร้างความปั่นป่วน ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ย่อมเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ที่บัญญัติให้ผู้ซึ่งกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบโทรคมนาคม หากการกระทำดังกล่าวมีเจตนาเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย จะต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท นอกจากความผิดที่มีอยู่แล้วตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ที่กำหนดให้การกระทำดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งหากการกระทำเช่นว่านั้นได้มี การนำเข้าหรือใช้เครื่องวิทยุคมนาคมหรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยแล้ว ย่อมมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันด้วยอีกกระทงหนึ่ง" ฐากร กล่าว ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาในเรื่องคุณภาพการบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการรับชม รับฟังข้อมูลข่าวสาร สามารถแจ้ง และร้องเรียนมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 ได้ทันที ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สภาทนายความชี้นายกฯ ยุบสภาอาจไม่ชอบธรรม Posted: 09 Dec 2013 02:19 AM PST 9 ธ.ค. 2556 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการณ์ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาเมื่อเช้านี้ โดยระบุว่า การแถลงประกาศยุบสภา ยังไม่มีความชัดเจนสมบูรณ์ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรคหนึ่ง และวรรคสองของรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นายกฯ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและชัดเจน โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 นั้น สภาทนายความเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนสมบูรณ์ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ 1. มาตรา 108 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ 2. มาตรา 108 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้น ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร กรณีจึงเป็นปัญหาว่า การที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภานั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเป็นแต่หลอกให้หลงทางอย่างที่นายกรัฐมนตรียิ้มเป็นนัยๆ ตอนกล่าวจบ สภาทนายความจึงขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและชัดเจน จึงแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 9 ธันวาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ม.เที่ยงคืน ขอสังคมร่วมปฏิรูปการเมืองใต้กลไกรัฐสภา-ตามกรอบรัฐธรรมนูญ Posted: 09 Dec 2013 01:29 AM PST 9 ธ.ค.2556 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง หยุดการเคลื่อนไหวที่ทำลายระบบประชาธิปไตย ระบุข้อเรียกร้อง กปปส. ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยต้องการให้มีการแต่งตั้งนายกฯ พระราชทานนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปราศจากความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการยุบสภาและการลาออกของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ในข้อเสนอเรื่องการตั้งสภาประชาชนที่จะดำเนินการติดตามมาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะเช่นใด ใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างไร หรือเป็นอำนาจของบรรดาผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแนะว่า หากกลุ่มแกนนำ กปปส. มีความต้องการที่จะให้เกิดการปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สามารถทำการผลักดันและเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองตามปกติ เช่น การเผยแพร่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขของตนเองอย่างชัดเจนให้แก่สาธารณชนและแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่คอยติดตามตรวจสอบในประเด็นที่ตนเองตระหนักว่าเป็นปัญหาซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข หรือแม้กระทั่งการปรับแก้ไขโครงสร้างของระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ระบบการตรวจสอบ ซึ่งได้มีกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับก็สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายนั้นๆ พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบอบการเมืองของไทยภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและบนกระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และร่วมกันปฏิเสธการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญทุกประการในการแทรกแซงและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเมืองที่ไม่ได้เคารพต่อหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ 00000 แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง หยุดการเคลื่อนไหวที่ทำลายระบบประชาธิปไตย ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาเมื่อเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2556 อันมีผลให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งพ้นไปจากตำแหน่งทั้งหมด และมีผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน การยุบสภาเป็นกระบวนการในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองประการหนึ่งตามระบบรัฐสภาและเป็นกระบวนการที่ได้มีการรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นการคืนอำนาจกลับไปสู่ประชาชนทุกคนภายในสังคมให้ร่วมกันตัดสินใจต่อปัญหาต่างๆ ที่ได้บังเกิดขึ้น บนพื้นฐานของการยอมรับความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างบุคคลทุกคนผ่านระบบการเลือกตั้ง แม้การยุบสภาอาจมิใช่เป็นเป้าหมายของบรรดาแกนนำ กปปส. ที่ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ แต่ความพยายามในการเคลื่อนไหวที่ต้องการให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ด้วยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่ง โดยต้องการให้มีการแต่งตั้งนายกฯ พระราชทานตามแนวทางของทางกลุ่มเคลื่อนไหวนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปราศจากความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการยุบสภาและการลาออกของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ในข้อเสนอเรื่องการตั้งสภาประชาชนที่จะดำเนินการติดตามมาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะเช่นใด ใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือมีกระบวนการในการคัดเลือกอย่างไร หรือเป็นอำนาจของบรรดาผู้นำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ความไม่ชัดเจนในข้อเสนอเรื่องสภาประชาชนย่อมทำให้ประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างออกไปอาจกลายเป็นผู้ไร้สิทธิ ซึ่งแนวทางดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก และอาจเกิดความยุ่งยากติดตามมาหากผู้ซึ่งมีความเห็นต่างจัดการชุมนุมและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการอ้างอิงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนเช่นเดียวกัน ทั้งหมดก็ย่อมจะนำไปสู่ภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพอนาธิปไตย หากกลุ่มแกนนำ กปปส. มีความต้องการที่จะให้เกิดการปฏิรูปการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นก็สามารถทำการผลักดันและเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองตามปกติ เช่น การเผยแพร่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขของตนเองอย่างชัดเจนให้แก่สาธารณชนและแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรอิสระที่คอยติดตามตรวจสอบในประเด็นที่ตนเองตระหนักว่าเป็นปัญหาซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข หรือแม้กระทั่งการปรับแก้ไขโครงสร้างของระบบการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ระบบการตรวจสอบ ซึ่งได้มีกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลายฉบับก็สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายนั้นๆ การตั้งเป้าหมายถึงระบบการเมืองที่มีคุณภาพมากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนภายใต้การชี้นำของคนดีเพียงบางกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายอันชอบธรรมรองรับ ไม่เพียงแต่จะเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีขึ้นเท่านั้น หากยังจะสามารถนำไปสู่ความรุนแรงในทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ให้บังเกิดขึ้นมากกว่าเดิม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบอบการเมืองของไทยภายใต้กลไกของระบบรัฐสภาและบนกระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และร่วมกันปฏิเสธการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญทุกประการในการแทรกแซงและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเมืองที่ไม่ได้เคารพต่อหลักการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ การรักษาระบบและการเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นมีความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในอนาคต แต่ถ้าหากมุ่งสู่การล้มระบบที่เป็นอยู่ก็จะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างยากจะที่จะยุติลงได้ ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนทุกๆ กลุ่มในสังคมไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่มส.ว.อิสระ ขอ "กปปส." เข้าสู่กติกาลงเลือกตั้ง Posted: 09 Dec 2013 01:12 AM PST 9 ธ.ค. 2556 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ที่รัฐสภา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา แกนนำส.ว.กลุ่มอิสระเพื่อแก้วิกฤติชาติ 56 กล่าวถึงการประกาศยุบสภาของนายกฯว่า กปปส.พูดชัดเจนแล้วว่ายุบสภา ลาออกยังไม่พอ เขาต้องการให้เกิดสุญญากาศการบริหารราชการคือไม่มีรัฐบาลนำไปสู่การขอพระราชทานมาตรา 7 บีบสถานการณ์ให้เป็นแบบนั้น แต่มันติดที่ปัญหาข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งและเป็น ส.ส. ดังนั้นต้องมีการพิจารณาในประเด็นนี้ให้รอบคอบ ดังนั้นหากถามว่าวันนี้เราอยากให้บ้านเมืองสงบหรือมีปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ตนมองว่าคนที่กำลังเรียกร้องให้คนอื่นเคารพกติกา เคารพรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่เคารพเสียเองแล้วบ้านเมืองจะไปอย่างไร นายวิชาญกล่าวว่า เมื่อนายกฯยุบสภาก็ไปสู่การเลือกตั้ง แต่กปปส.ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะมองว่าเลือกตั้งก็ซื้อเสียง แล้วจะมีกกต.ไว้ทำไม หมายถึงเราไม่เคารพอำนาจของประชาชน ที่อ้างมาตรา 3 กำลังจะบอกว่าปวงชนเฉพาะของ กปปส. เท่านั้น แล้วประชาชนส่วนใหญ่ที่รอใช้สิทธิ์อยู่จะทำอย่างไร และขอเรียกร้องให้ กปปส.หยุด กลับบ้านไปสู่การเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกมา ตรงไหนมีการทุจริต ก็แจ้ง กกต.มีกฎหมายดำเนินการ ไม่เช่นนั้นถือว่ากปปส.ไม่เคารพรัฐธรรมนูญเสียเอง ทางเว็บไซต์แนวหน้า รายงานเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มส.ว.กลุ่มอิสระเพื่อแก้วิกฤติชาติ 56 ได้เรียกร้องรัฐบาลดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง และดำเนินการกับประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในสถานที่ต่างๆโดยยึดหลักมนุษยธรรม 2.ขอให้ประชาชนชาวไทย ช่วยกันดูแลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นให้เกิดความบริสุทธิ์และยุติธรรม มิให้มีการซื้อสิทธิ์และขายเสียง ดังที่สังคมมีความกังวล 3.ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอบุคคลที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถเข้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีของประชาชนและเป็นผู้แทนที่ดีของประชาชนในการทำหน้าที่ในรัฐสภาต่อไป 4.ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 235 และเข้มงวดในการป้องกันมิให้มีการซื้อสิทธิ์และขายเสียงโดยเด็ดขาด และ5.ขอให้สถาบันการศึกษาและทุกภาคส่วนของสังคมไทย นำข้อเสนอต่างๆของประชาชนไปสู่การสานเสวนาและหาข้อยุติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการนำเสนอไปสู่การปฏิรูปประเทศในอนาคตโดยเร็ว ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า นายกฯประกาศยุบสภาช้าไปแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมเขาต้องการปฏิรูปการเมือง ไม่ให้วังวนเดิมกลับมา ส่วนแนวทางปฏิรูปประชาชนควรเป็นขอรอดูภาคประชาชน แต่ยุบสภาตอนนี้ไม่ถูกเวลา เพราะทำเมื่อจวนตัว วันนี้มวลชนมาเยอะข้าราชการก็ไม่เอาด้วย เพราะนายกฯยังรักษาการอยู่ อ้างแต่การเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นการยุบสภาเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกปัญหาแต่เมื่อกติกากำหนดให้หลังยุบสภาต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 -60 วันนั้นแล้ว ตนมองว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวถ้าจะให้มีการปฏิรูปคงไม่เพียงพอเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง อาจต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อทำกติกาใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและร่วมตรวจสอบ โดยจะต้องไม่ให้เสียงข้างมากมาสัมปทานประเทศได้แบบเดิม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องประกาศฉันทามติไม่ลงสู่การเลือกตั้งและประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน หลังการประกาศยุบสภา เหมือนอย่างที่สภาฯมีข้อกำหนดให้มีการงดเว้นข้อบังคับบางข้อ เพื่อให้มีกระบวนการนำไปสู่การปฏิรูป ส่วนกรณีที่ให้นายกฯ ลาออกจากการรักษาการนั้น ตนมองว่านายกฯ อาจจะต้องลาออก และให้รองนายกฯ คนอื่นขึ้นมารักษาการนายกฯ แทน "ถ้าวิธีนี้ไม่เอา รัฐธรรมนูญอาจจะถูกฉีกโดยคณะปฏิรูปคณะอื่น และหากมีการเสนอรัฐถาธิปัตย์ใหม่จะทำอย่างไร ซึ่งผมไม่อยากเห็นแบบนั้น" นายสมชาย กล่าว ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด, นสพ.แนวหน้า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น