ประชาไท | Prachatai3.info |
- พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง
- ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก 10 ปี อดีตตำรวจคูคต ครอบครองกระสุน M79 ปี 53
- กกต.ชี้ช่องเลื่อนวันเลือกตั้ง แนะรัฐบาลคุย กปปส.
- สุเทพระบุเดินรอบกรุง 2 วันเหมือนแจกการ์ดเชิญถึงบ้านให้มาร่วมชุมนุม 22 ธ.ค.
- ปูตินหนุนโครงการสอดแนมสหรัฐฯ แจงใช้ต้านก่อการร้าย แต่ต้องมี กม. ควบคุม
- ศาลอาญายกฟ้อง 'จตุพร' คดีแถลงข่าวปี 53 หมิ่น 'รสนา'
- เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ร้องผู้ว่าฯ เร่งสร้างนโยบายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
- ผู้ชุมนุม คปท. เตรียมเสาธงไปเองเพื่อชักธงชาติไทยหน้าสถานทูตสหรัฐ
- เกษม เพ็ญภินันท์: มายาคนดีในการเมืองไทย
- กปปส.รุดแจง คสรท.แนวทางปฏิรูปประเทศ แนะอย่าเป็นบันไดให้พรรคการเมือง
- นักปรัชญาชายขอบ: ต้องคัดค้าน ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’
- เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วไง(อีกที)
- 3 องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
- สุภิญญา แนะวางแผนเปลี่ยนผ่านการรับส่งวิทยุดิจิตอลให้ชัด
Posted: 19 Dec 2013 09:23 AM PST "ไม่มีใครอยากเห็นเผด็จการรัฐสภาหรอกครับ ผมอยากเห็นเหมือนในหลายประเทศที่ฝ่ายค้านเข้มแข็งและมีเสียงใกล้เคียงกับพรรครัฐบาล เหมือนในตลาด ผมไม่อยากเห็นใครผูกขาด เพราะถ้ามีคู่แข่งหลายราย สินค้าและบริการราคาจะถูกลง และคุณภาพจะดีขึ้น แต่ทำอย่างไรได้ ในสนามการเมืองหรือในระบบตลาด เราทำได้แค่เรียกร้องให้กำหนดกติกา และดูแลให้มีการบังคับใช้กติกา เพื่อประกันว่าทุกฝ่ายมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแข่งขัน เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องเสนอสินค้าและบริการที่ราคาถูกกว่าและมีคุณภาพดีกว่า ไม่ใช่พอขายของสู้เขาไม่ได้ ก็มาเรียกร้องให้ปิดตลาด ห้ามใครขายสินค้าและบริการ มันไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคครับ" 19 ธ.ค.56 |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เอาเลือกตั้ง ไม่เอาเทือกตั้ง Posted: 19 Dec 2013 09:18 AM PST สถานการณ์หลังการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏว่า การชุมนุมของม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยังไม่ยุติ ด้วยข้ออ้างว่าการชุมนุมของตนมีความชอบธรรมเพราะได้รับการสนับสนุนจาก"มวลมหาประชาชน" และ ทิศทางการเคลื่อนไหวของม็อบสุเทพและกลุ่มนักวิชาการผู้สนับสนุนในขณะนี้มีธงชัดเจนว่า ต้องการที่จะล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ดังนั้น จึงได้เสนอในเชิงหลักการว่า จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง โดยให้เลื่อนการเลือกตั้งไปก่อน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข 21 ธันวาคม 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก 10 ปี อดีตตำรวจคูคต ครอบครองกระสุน M79 ปี 53 Posted: 19 Dec 2013 08:10 AM PST 19 ธ.ค. 2556 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จ่าสิบตำรวจปริญญา มณีโคตม์ อดีตผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรคูคต จังหวัดปทุมธานี เป็นจำเลย ในความผิดฐาน มีกระสุน เครื่องกระสุน และอาวุธสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จากกรณีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 จำเลยมีลูกระเบิดยิงขนาด 40 ม.ม. แบบเอ็ม 79 ชนิดระเบิดเจาะเกราะ และชนวนแบบเอ็ม 403 สภาพพร้อมใช้งาน รวม 62 นัด ไว้เพื่อจำหน่ายราคาลูกละ 1,200 บาท เหตุเกิดที่แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธโดยตลอด คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 10 ปี ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมพร้อมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเป็นตำรวจ 2 ปาก และทหาร เบิกความสอดคล้องกัน โดยพยานจดจำใบหน้าของจำเลยได้ ขณะขับรถฝ่าด่านตรวจ และจำเลยได้ทำถุงพลาสติกตกลงพื้น เจ้าหน้าที่จึงตรวจดูพบกระเป๋าสตางค์มีบัตรประชาชนระบุชื่อจำเลย รวมทั้ง พบกระสุนปืนของกลางด้วย และเมื่อนำหมวกกันน็อกไปตรวจหาสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เปรียบเทียบกับจำเลยผลตรวจพิสูจน์ก็ออกมาตรงกัน แต่จำเลยให้การต่อสู้ว่า สาเหตุที่จำเลยต้องไปบริเวณด่านตรวจนั้น เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้เข้าไปแฝงตัวกับกลุ่ม นปช. แต่จำเลยไม่ได้นำคำสั่งของผู้บังคับบัญชามาแสดงให้ทราบ พยานหลักฐานและคำเบิกความของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนให้จำคุกจำเลย 10 ปี ด้านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รายงานว่า จ.ส.ต.ปริญญา ซึ่งถูกคุมขังอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ กล่าวว่า จะปรึกษากับทนายความก่อนว่าจะดำเนินการยื่นฎีกาต่อไปหรือไม่ โดยขณะนี้ถูกจำคุกมาแล้ว 3 ปีเศษ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กกต.ชี้ช่องเลื่อนวันเลือกตั้ง แนะรัฐบาลคุย กปปส. Posted: 19 Dec 2013 08:00 AM PST กกต.เสนอฝ่ายการเมืองหาข้อตกลงเลื่อนวันเลือกตั้ง ย้ำหากให้มีการเลือกตั้งต่อไปก็ยังคงมีความวุ่นวาย ด้านยิ่งลักษณ์ขอหารือกฤษฎีกาก่อน ส่วนอภิสิทธิ์หนุน กกต. คุยหาทางออกก่อนเลือกตั้ง 19 ธ.ค.2556 สำนักข่าวไทย รายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กตต. นายสมชัย ศรีสิทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม แถลงหลังการประชุม พร้อมออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและ กปปส. พูดคุยร่วมกัน โดยไม่ต้องยึดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นข้อจำกัด แต่หากตกลงกันไม่ได้ กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กกต.เป็นห่วงบ้านเมืองในขณะนี้ จึงได้หารือว่าการเมืองในปัจจุบันหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งกลายเป็นประเด็นนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างรุนแรง ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการรักษาการและจัดการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรรักษาการ ควรมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ เลื่อนการเลือกตั้ง 6-8 เดือน ตั้งสภาประชาชนแก้กฎหมาย และค่อยมีการเลือกตั้ง หากปล่อยให้ขัดแย้งจนเกิดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 อาจเกิดความไม่สงบ จนถึงการไม่รับผลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการศึกษาข้อกฎหมายเราเห็นว่ามีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการได้ ถ้าฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันที่ไม่เหมาะสม "ข้อเสนอของ กกต.วันนี้ เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราสะท้อนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อเราสะท้อนแล้วท่านที่อยู่ในฐานะผู้มีหน้าที่ มีกลไกทางกฎหมายที่ทำได้ ก็ต้องไปพิจราณา ซึ่งเรายืนยันว่า มีช่องทางกฎหมายที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ ส่วนช่องทางจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีหน้าที่จะพิจารณา ซึ่งผมขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเกิดภัยพิบัติ เราสามารถเลื่อนการเลือกตั้งในบางหน่วยบางแห่งได้ แต่ขณะนี้มีปรากฏการณ์ทางสังคม แล้วมันจะเลือกตั้งไม่ได้เลย มันก็เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหมดได้ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ กกต.ต้องเดินจัดการเลือกตั้ง" นายสมชัยกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้วประธาน กกต.พยายามตัดบทไม่ให้มีการซักถาม แต่เมื่อถามว่า การเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าฝ่ายการเมืองไม่มีการเลือกตั้งจะทำอย่างไร นายศุภชัยกล่าวว่า กกต.ไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ กกต.มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม เราเพียงสะท้อนสถานกาณ์ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และ กกต.ไม่มีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 229 ได้กำหนดลักษณะพิเศษต้องวางตัวให้เป็นกลาง เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราเสนอให้กลับไปคิด นายธีรวัฒน์กล่าวว่า ที่ กกต.มาแถลงเพราะเรามีจุดยืนที่ห่วงใยบ้านเมือง ถ้าเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ ของ กกต.โดยตรงเราชี้ขาดไปแล้ว แต่กฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.ทำเองได้ เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ นายธีรวัฒน์กล่าวว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม คิดว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจ ประเด็นนี้อย่าถาม กกต.เพราะเราไม่อยากถูกดึงไปยังวังวนทางการเมือง และเมื่อถามว่า กกต.อึดอัดใจใช่หรือไม่ นายธีรวัฒน์ระบุว่าเราห่วงใยประเทศ และอยากให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
"รัฐบาลไม่แน่ใจว่า ตัวเองมีอำนาจตรงไหน ก็ต้องหารือกับทางกฤษฎีกา เพราะเมื่อพระราชกฤษฏีกาประกาศใช้ออกมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการเลือกตั้ง ดังนั้นการที่จะส่งคืนมาให้รัฐบาลอีก เราก็ไม่รู้ว่า เรามีอำนาจหน้าที่ตรงไหน ปัญหาอยู่ที่ตรงจุดนี้มากกว่า วันนี้เรามีหน้าที่ทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ให้นำเรื่องกราบบังคมทูลฯ เป็นที่เรียบร้อยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. วันนี้ดิฉันคงต้องถามนักกฏหมาย โดยทางคณะกรรมการกฤฏีษกาให้คำตอบที่ดีกว่า โดยรัฐบาลเองยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องหารือกับฝ่ายกฏหมายก่อนเพราะเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย " น.ส.ยิ่งลักษณ์ และว่า ถ้าหากไม่มีกติกาประเทศชาติจะเดินต่อไปได้อย่างไร วันนี้ประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญ เพื่อออกกติกาให้คนทั้งประเทศได้ปฏิบัติ ดังนั้นถ้าเราไม่ยึดกติกาอะไรเลย ยกเลิกทั้งหมดแล้วเราจะตอบคำถามต่างประเทศได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เป็นคำถาม วันนี้ไม่ใช่จะมาตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งที่ควรถามคือเราจะนำกฏหมายอะไรมายึดเป็นหลักและใช้สำหรับประเทศ วันนี้เราต้องหารือกันเพื่อหาทางออก เราเข้าใจข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ต้องขอกรุณา ว่า ต้องอยู่บนหลักที่เราสามารถปฏิบัติได้ ก็คือข้อกฏหมายเวทีขอฝ่ายวิชาการเองก็หารือ ก็อยากให้เวลากับเวทีดังกล่าวด้วย เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอว่า ให้ทุกพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. เพื่อจะได้มีเวลาให้ กกต.มีอำนาจในการขยายวันเลือกตั้งออกไปนั้น ก็คงต้องไปถามทางพรรคการเมือง เพราะตามหลักเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีพระราชกฤษฏีกาการเลือกตั้งทุกคนก็ต้องไปเลือกตั้ง ถ้าทุกคนไม่ไปเลือกตั้ง แสดงว่าทุกคนไม่ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นนั้น ก็คงต้องถามหาความชอบธรรมว่ามีการยึดตามหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นหากนักการเมืองทุกคนไม่ปฏิเสธความจริง ก็น่าจะหันมาสนับสนุนแถลงการณ์ของ กกต. โดยขอให้ถอดหมวกของการเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน และไม่กล้ายืนยันว่า การเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 แล้วทุกอย่างจะเดินหน้า ก็ควรมาคุยกัน มาช่วยป้องกัน เพราะ กกต.ชี้ให้เห็นถึงปัญหาแล้วว่าถ้าพวกเราในฐานะนักการเมืองถ้าเห็นตรงกันก็เปรียบเหมือนเป็นฉันทามติ จะทำให้รัฐบาลและกกต.รับฟังเหตุผลและพิจารณาต่อไปว่าสมควรจะทำอย่างไร ถ้าเห็นพ้องแล้วก็ต้องช่วยกันในวิธีการและรายละเอียด อย่าเอาอะไรมาเป็นตัวตั้งว่าทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น จะทำให้ชาติไปสู่ความเสียหาย นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ส่ง แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะไม่ราบรื่น จึงควรคุยกันว่าจะเดินอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปสู่จุดไม่พึงประสงค์ ซึ่งการทำให้เกิดฉันทามติทำได้หลายรูปแบบ แต่อย่างน้อยพรรคการเมืองที่มีอดีต ส.ส.จะต้องแสดงเจตจำนงก่อน ซึ่งขอพูดแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเห็นคล้ายกับพรรคภูมิใจไทยว่าควรจะแสดงจุดยืนในการแก้ปัญหาก่อน โดยได้คุยกับพรรคภูมิใจไทยแล้วเมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นพรรคอื่นก็ควรออกมาแสดงเจตนารมณ์เร็วที่สุด ควรจะทำก่อนวันที่ 23 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนที่พรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าส่งผู้สมัครนั้น ก็ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย เพราะล่าสุดได้มีอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยบางคน ยอมรับว่าจะเกิดปัญหาจนอาจจะไม่ลงเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุเทพระบุเดินรอบกรุง 2 วันเหมือนแจกการ์ดเชิญถึงบ้านให้มาร่วมชุมนุม 22 ธ.ค. Posted: 19 Dec 2013 07:49 AM PST เลขาธิการ กปปส. เชื่อเดินรอบกรุง 2 วัน ผลตอบรับดี เหมือนแจกการ์ดเชิญถึงบ้าน-สนง. ให้มาร่วมชุมนุมใหญ่ 22 ธ.ค. พรุ่งนี้เยือนสีลม เยาวราช ขณะที่สาทิตย์-ขวัญสรวงกางแปลน 22 ธ.ค. ตั้ง 10 เวทีย่อย 5 เวทีใหญ่ อนุสาวรีย์ชัยฯ หอศิลป์ กทม. ราชประสงค์ อโศก สวนลุมฯ หวังรับรองผู้ชุมนุม 2.4 ล้านคน บรรยากาศการชุมนุมช่วงที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 56 (ที่มา: Blue Sky Channel) เมื่อเวลา 20.30 น. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ขึ้นปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากในช่วงกลางวันได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปตาม ถ.เพชรุบรี แยกอโศก และเดินขบวนผ่าน ถ.สุขุมวิท และกลับมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ โดยเริ่มต้นการปราศรัย สุเทพได้นัดหมายกับผู้ชุมนุมในการเดินขบวนย่อยในวันที่ 20 ธ.ค. ว่า ขอนัดหมายตั้งแต่เวลา 9.00 น. จะมีการเดินขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งไปทาง ถ.พระราม 4 เพื่อไปสีลม สี่พระยา สาทร วกกลับมาเยาวราช แล้วก็กลับมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 13-14 กม. "ถือโอกาสกราบเรียนพี่น้องที่ไม่ได้ไปร่วมเดินวันนี้ วันนี้อากาศที่กรุงเทพฯ ดีมาก คนที่เดินมาด้วยกันไม่มีใครเป็นลมเลยสักคน คึกคักกันมากเดินเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำเวลาได้ดีมาก" นอกจากนี้สุเทพ ได้ตอบโต้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมในวันที่ 21 ธ.ค. ว่า ขอเรียนให้เลขา สมช. เข้าใจว่าเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์และมวลมหาประชาชนที่นี่เป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองย่อมมีสิทธิตัดสินใจตามที่พรรคเห็นสมควร เป็นเรื่องของพรรค และมวลมหาประชาชนจะตัดสินใจอะไรก็เป็นเรื่องของมวลมหาประชาชน ไม่ต้องคำนึงถึงพรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น เราต่างเคารพในการตัดสินใจแต่ละฝ่ายไม่ก้าวก่ายกัน คุณภราดรเข้าใจด้วย แถมคุณภราดรยังพูดอีกว่าการนัดชุมนุม 22 ธ.ค. คนคงไม่เยอะเท่า 9 ธ.ค. เพราะขณะนี้มีเวทีปฏิรูปขึ้นมากมาย คุณภราดรจะรู้ได้อย่างไรว่าวันที่ 22 ธ.ค. คนจะไม่เยอะ อยากให้ซื้อปิ๊บไว้หนึ่งใบ เอาไว้คลุมหัว เพราะวันที่ 22 ธ.ค.มวลชนจะออกมามากกว่าที่คิดอีกเยอะ เพราะวันนี้เราไปเดินเชิญชวนมาเอง เขาเรียกว่าเรียกแขก ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย เกี่ยวกับเราจะไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เรื่องนี้เท่านั้น การที่เราออกไปเดินเชื้อเชิญด้วยตัวเอง เขาก็สามารถจะตัดสินได้ และเราก็พบความจริงว่าน้ำใจของพี่น้องกรุงเทพฯเหลือเฟือ มากล้นจริงๆ สุเทพกล่าวด้วยว่าในการเดินขบวนวันนี้ มีประชาชนจากทุกสาขาวิชาชีพเอาข้าวเอาน้ำมาเลี้ยงจำนวนมาก และประกาศว่าจะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 22 ธ.ค. มีคนยืนข้างทางส่งเสียงเชียร์ให้ขับไล่ยิ่งลักษณ์ให้สำเร็จ โดยวันนี้ได้เงินบริจาค 543,830 บาท มีพี่น้องชุมชนอโศก บริจาคผ่านทางคุณสมเกียรติ หอมละออ ที่ไปตั้งรับบริจาคค่าข้าวได้ทั้งหมด 348,510 บาท นอกจากนั้นยื่นให้ผมกับมือได้อีกกว่า 1 แสนบาท "เหตุผลที่เราไปเดิน 2 วันเหมือนส่งการ์ดเชิญพี่น้องประชาชนคนไทย ที่แต่ละท่านมีภารกิจอาจไม่ได้ฟังปราศรัยเวทีนี้ ไม่รู้ว่าเรานัดหมายกันอย่างไร ก็เป็นข้อตกลงกันว่าวันที่ 22 ธ.ค.ต้องมาร่วมกันเพราะเราไปเชิญถึงบ้าน เชิญถึงสำนักงาน" สุเทพกล่าวด้วยว่าในวันที่ 22 ธ.ค. มีการนัดหมายกันหลายสถาบันอุดมศึกษาแล้ว เช่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการนัดรวมตัวในเวลา 12.30 น.ที่หน้าอนุสาวรีย์ 2 รัชกาล ให้ใส่เสื้อสีชมพู และจะมีการเดินขบวนไปที่สยามแสควร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย นัดหมายเวลา 11.30 น. ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเชื่อว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆ จะมีการทยอยนัดหมายศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน และเชื่อว่าจะมีผู้ชุมนุมออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้เขาย้ำว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตรควรทำความดีด้วยการลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีลาออกให้หมด ไม่มีการตั้งรักษาการนายกรัฐมตรี เพื่อที่คนดีๆ จะได้ตั้งนายกรัฐมนตรีมาแก้วิกฤตชาติ หลังจากนั้น ขวัญสรวง อติโพธิ และสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. ได้ขึ้นมาชี้แจงจุดนัดหมายชุมนุมในวันที่ 22 ธ.ค. โดยระบุว่าจะมีการชุมนุมรอบกรุงเทพมหานครต่อเนื่องกันกินพื้นที่ 6 แสนตารางกิโลเมตร โดยอ้างว่าจะมีผู้ชุมนุม 1.8 - 2.4 ล้านคน หรืออาจถึง 5 ล้านคน ทั้งนี้มีการเตรียม 10 จุดชุมนุมย่อย และ 5 เวทีใหญ่ตามสี่แยกสำคัญ ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หอศิลป์ กทม. ราชประสงค์ อโศก สวนลุมพินี และจะตั้งจอฉายถ่ายทอดสดเชื่อมโยงกับเวทีชุมนุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย ทั้งสาทิตย์ประกาศว่า จะเริ่มเวทีในวันที่ 22 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เวลา 14.00 น. จะมีผู้ชุมนุมมาสมทบมากขึ้นๆ แต่ละเวทีจะมีกิจกรรม จากนั้นเวลา 18.00 น. ทุกเวทีจะถ่ายทอดจากเวที ถ.ราชดำเนิน "มีการเคารพธงชาติพร้อมกัน เสียงกระหึ่มไปทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัด สุเทพ เทือกสุบรรณ จะปราศรัยครั้งสำคัญในวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 18.40 น. เมื่อปราศรัยเสร็จ สามารถมาสมทบที่เวทีราชดำเนิน เพราะจะมีกิจกรรมค้างคืน" สาทิตย์ระบุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปูตินหนุนโครงการสอดแนมสหรัฐฯ แจงใช้ต้านก่อการร้าย แต่ต้องมี กม. ควบคุม Posted: 19 Dec 2013 07:27 AM PST ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุโครงการสอดแนมมีความจำเป็นเพื่อต่อต้านก่อการร้าย ขณะเดียวกัน ควรออกกฎควบคุมการทำงานของหน่วยงานสอดแนม ทั้งนี้ยังกล่าวปฏิเสธด้วยว่าทางการรัสเซียไม่ได้ควบคุมตัวหรือทำงานร่วมกับสโนว์เดนแต่อย่างใด 19 ธ.ค. 2556 ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวประจำปีว่า เขาสนับสนุนโครงการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เนื่องจากมีความจำเป็นในการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ตั้งกฎข้อกำจัดการสอดแนมให้ชัดเจนเพื่อ "จำกัดความทะเยอทะยาน" ขององค์กรข่าวกรอง การกล่าวถึงเรื่องโครงการสอดแนมโดยประธานาธิบดีรัสเซีย มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทไอทีต่างพากันเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ปฏิรูปโครงการสอดแนม และเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา จอห์น เคอร์รี่ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า เขาจะทำงานร่วมกับประธานาธิบดีโอบามา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมจากองค์กร NSA อีก หลังจากที่เกิดกรณีสหรัฐฯ ถูกเปิดโปงเรื่องดักฟังโทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ประธานาธิบดีปูติน ผู้เคยทำงานเป็นสายลับเคจีบีและเป็นหัวหน้าหน่วยงานจารกรรมของรัสเซียกล่าวว่า โครงการของ NSA "ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสำนึกผิด" เพราะเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อการต่อสู้กับการก่อการร้าย ปูตินกล่าวอีกว่าโครงการสอดแนมจำเป็นต่อการตรวจสอบประชาชน เพื่อเผยให้ทราบถึงการติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้ก่อการร้าย แต่ในระดับการเมืองแล้วก็มีความจำเป็นที่ต้องจำกัดความทะเยอทะยานของหน่วยงานพิเศษของรัฐด้วยกฎข้อบังคับบางอย่าง เมื่อมีคนถามถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานข่าวกรองผู้เปิดโปงข้อมูลโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันได้รับอนุญาตให้พำนักลี้ภัยทางการเมืองในรัสเซีย ปูตินยืนยันว่าทางการรัสเซียไม่ได้เป็นผู้ควบคุมสโนว์เดน ตัวเขาเองไม่เคยพบปะกับสโนว์เดนและหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซียก็ไม่ได้ทำงานร่วมกับสโนว์เดนหรือสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการของ NSA ที่เป็นการต่อต้านรัสเซียแต่อย่างใด ปูตินกล่าวว่า สิ่งที่สโนว์เดนเปิดโปงเป็นข้อมูลที่เขาได้รับมาตั้งแต่ก่อนหน้าเดินทางเข้าไปในรัสเซีย และยังย้ำว่าทางการรัสเซียให้ที่อยู่แก่สโนว์เดนภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเขาจะไม่กระทำสิ่งที่ "ต่อต้านอเมริกา" มากไปกว่านี้
President Putin backs NSA surveillance as 'necessary' to fight terrorism, The Independent, 19-12-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอาญายกฟ้อง 'จตุพร' คดีแถลงข่าวปี 53 หมิ่น 'รสนา' Posted: 19 Dec 2013 07:18 AM PST ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง จตุพร พรหมพันธุ์ คดีหมิ่นประมาท กรณีระบุรสนา โตสิตระกูล พยายามโยกคดียึดสนามบินของ พธม.ไปอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ 19 ธ.ค.2556 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.3982/2553 ที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 กรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 จำเลยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทำนองว่า มีความพยายามจะให้คดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งบุกยึดท่าอากาศสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยโจทก์เป็นตัวตั้งตัวตี ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรค ซึ่งถ้อยคำที่กล่าวใช้คำว่าพยายาม ซึ่งไม่ใช่การยืนยันว่ามีการโอนคดีไปแล้วแต่อย่างใด และไม่ได้ระบุว่าความพยายามนั้นมีวิธีการอย่างไร ลักษณะเป็นการตั้งคำถาม โดยยังปรากฏตามรายงานด้วยว่า คณะกรรมาธิการ ส.ว.ก็ได้มีการเชิญ ผบ.ตร. และ ผช.ผบ.ตร.พูดคุยนอกรอบ แต่ไม่ได้เดินทางมาคงมีตัวแทนมา ส่วนที่จำเลยระบุว่า พบนายธาริต อธิบดีดีเอสไอ นั่งอยู่ในห้องด้วยนั้น ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่า โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการแทรกแซงข้าราชการ ใช้อำนาจไม่ชอบ หรือรับคำสั่งรัฐบาลที่จะผลักดันทำให้คดี กลุ่ม พธม.ไปอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทางปฏิบัติ ส.ว.ไม่อาจสั่งโยกคดีใดๆ ไปอยู่ในความดูแลของดีเอสไอได้ ประกอบกับโจทก์ยังยอมรับว่าช่วงที่กลุ่ม พธม.ชุมนุมได้เชิญโจทก์ไปยังเวทีปราศรัย ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์กับกลุ่ม พธม.เป็นพวกเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงพิพากษายกฟ้อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ร้องผู้ว่าฯ เร่งสร้างนโยบายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ Posted: 19 Dec 2013 06:42 AM PST 19 ธ.ค.2556 เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค.ของทุกปี เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สำเนาถึง สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า ในฐานะที่เชียงใหม่มีชายแดนติดกับพม่า และมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยและทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
อนึ่ง เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (Shan Youth Power) เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ชุมนุม คปท. เตรียมเสาธงไปเองเพื่อชักธงชาติไทยหน้าสถานทูตสหรัฐ Posted: 19 Dec 2013 05:34 AM PST นิติธร ล้ำเหลือ นำผู้ชุมนุม คปท. แยกจากขบวน กปปส. ไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐ ปราศรัยขับไล่ทูตคริสตี้ เคนนีย์ เพราะไม่เป็นกลาง จากนั้นได้ร้องเพลงชาติ ชักธงชาติไทยขึ้นเสาธงที่เตรียมมาเอง และระบุว่าถ้ายังหนุน รบ.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาใหม่และจะเผาธงสหรัฐ ภาพจากคลิปของเอเอสทีวีช่วงที่ผู้ชุมนุม คปท. ชักธงชาติไทยและร้องเพลงชาติ หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ถ.วิทยุ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 ที่มา: สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
19 ธ.ค. 2556 - ตามที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นัดผู้ชุมนุมหลายพันคนเคลื่อนขบวนจาก ถ.ราชดำเนิน มุ่งหน้า ถ.เพชรบุรี และแยกอโศก ถ.สุขุมวิทวันนี้เพื่อเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 22 ธ.ค. นั้น ต่อมาในเวลา 13.00 น. หลังพักรับประทานอาหารกลางวันที่แยกอโศก ผู้ชุมนุม กปปส. ได้เคลื่อนขบวนไปตาม ถ.สุขุมวิท มุ่งหน้าไปแยกราชประสงค์ เข้าสู่ ถ.พระราม 1 เพื่อกลับไปยังที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมจากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนิติธร ล้ำเหลือ ได้เลี้ยวซ้ายจาก ถ.สุขุมวิท เข้าสู่ ถ.วิทยุ มุ่งหน้าไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ในการชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีด้วยนั้น มีรายงานว่า แกนนำผู้ชุมนุม คปท. ได้สลับกันขึ้นปราศรัย มีการตะโกนคำขวัญต่อต้านสหรัฐอมริกา โจมตีว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาแสวงหาทรัพยากร และมีการปราศรัยด้วยว่าทูตสหรัฐอเมริกา คริสตี้ เคนนี่ย์ มีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง โดยเรียกร้องให้ทูตสหรัฐอเมริกาต้องเคารพกฎกติกามารยาทบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่ของระบอบทุนนิยมสามานย์ทักษิณจากประเทศไทย และต้องมีการแถลงว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้มีการเตรียมยื่นแถลงการณ์ประท้วงสถานทูตสหรัฐอมริกาด้วย แต่ทางสถานทูตไม่ยอมส่งตัวแทนออกมารับจดหมาย ต่อมาในเวลาประมาณ 14.30 น. ผู้ชุมนุมได้ทำพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา โดยเตรียมเสาธงมาเอง และมีการร้องเพลงชาติ จากนั้น นิติธร ได้ขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งระบุว่าประเทศไทยตั้งมาแล้ว 700 ปี สหรัฐอเมริกาตั้งมาได้แค่ 200 ปี การชุมนุมที่ประเทศไทยเป็นไปอย่างสันติอหิงสา อยากให้ทูตคริสตี้ เคนนี่ย์ ไปเยี่ยมชมการชุมนุมบ้าง ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า แม้พื้นที่ของสถานทูตเป็นของสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงนั้เป็นดินแดนของไทย และท่านต้องทำความเข้าใจวัฒนธรมไทย ที่เคารพประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นิติธรประกาศด้วยว่าจะคัดค้านข้อตกลงตั้งฐานทัพเรือสหรัฐอย่างถึงที่สุด หากมีการเดินหน้าต่อจะมีการรณรงค์ให้คนไทยขับไล่ทูตสหรัฐอเมริกาออกนอกประเทศ นิติธรอ้างด้วยว่าเขานั้นเคยไปดูงานด้านสิทธิมนุษยชนและการปกครองที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว และวันนี้จะขอนำความรู้มาอบรมให้กับสถานทูต "วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีสถานะเป็นทรราช สภาไทยเป็นเผด็จการ ผู้ชุมนุมเองพร้อมรับการเลือกตั้งแต่ต้องไม่ใช่การเลือกตั้งที่มีโจรเป็นผู้กำหนดกติกา ไทยไม่ต้องการความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยจากสหรัฐอมริกา คปท. ขอแจ้งว่าสถานทูตสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เป้าหมายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสถานทูตอังกฤษ นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ซึ่งคอร์รัปชั่น เราก็พร้อมทะเลาะด้วย สุดท้ายอย่างให้ประธานาธิบดีโอบามา ย้ายทูตคนนี้ออกจากประเทศไปโดยเร็ว" ทั้งนี้ คปท. ได้ยุติกิจกรรมไปในเวลา 15.00 น. โดยประกาศด้วยว่าหากยังให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้จะกลับมาใหม่และจะมีการเผาธงชาติสหรัฐอเมริกา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกษม เพ็ญภินันท์: มายาคนดีในการเมืองไทย Posted: 19 Dec 2013 05:03 AM PST กลับไปอ่าน เมื่อ 'ความดี' และ 'คนดี' ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง (ตอน 1) คุณจิรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็ปไซท์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท นำบทสัมภาษณ์ของผมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว "คุยกับนักปรัชญา: เมื่อ 'ความดี' และ 'คนดี' ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง" สัมภาษณ์โดยคุณพิณผกา งามสม ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2549 หนึ่งเดือนหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาโพสต์บนหน้า Facebook และเขียนข้อความว่า "อ่านซ้ำอีก ประชาไทคุยกับเกษม เพ็ญภินันท์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว" . . . ------------------------------------------- ความเข้าใจในเรื่องคนดีถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองในสังคมไทย ก็เพราะว่า ความปรารถนาที่อยากได้คนดีมาเป็นนักการเมือง ผู้บริหารหรือผู้ปกครองประเทศ ในสภาวการณ์ที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น การประพฤติมิชอบในอำนาจหน้าที่ ผลพวงของระบอบทักษิณและการผลิตซ้ำของ "ชุดวาทกรรมนักการเมืองมันชั่ว มันเลว มันโกงกินบ้านเมือง"
หมายเหตุ: เกษม เพ็ญภินันท์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กปปส.รุดแจง คสรท.แนวทางปฏิรูปประเทศ แนะอย่าเป็นบันไดให้พรรคการเมือง Posted: 19 Dec 2013 04:46 AM PST สมานฉันท์แรงงานไทยจัดเวทีแสดงความเห็น "การปฏิรูปประเทศไทย" ตัวแทน กปปส.แจงการเมืองภาคประชาชนตื่นตัวต้านนักการเมืองฉ้อฉลจนยกระดับเป็นการปฏิรูปประเทศไทย เห็นว่าพลังกรรมกรเป็นหลักในการต่อสู้เพื่อสังคมมาในอดีต วันนี้แม้รัฐบาลขึ้นค่าแรงแต่ชีวิตแรงงานก็ยังไม่ดีขึ้น จึงต้องเข้าร่วมปฏิรูปประเทศไทย ขณะแรงงานเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบเอาใจนายทุนทำให้นายทุนเข้ามาครอบงำการเมืองเพื่อหาประโยชน์ พรรคการเมืองต่างๆ ไม่เคยสนใจปัญหาแรงงาน รัฐบาลนี้ก็ไม่รับกฎหมายของแรงงาน ทำผิดข้อตกลงกับแรงงานจึงต้องเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศ แต่มีบางส่วนที่ยังต้องการความชัดเจนเรื่อง ม.3 กับการตั้งสภาประชาชน โดยเห็นว่าแรงงานก็แตกแยกกันมากเรื่องปัญหาการเมืองจึงควรรับฟังความเห็นต่างในจุดยืนของแรงงาน และครั้งนี้ถ้าถูกหลอกอีกต่อไปก็ไม่ต้องมาชวนเข้าร่วม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดเวทีแสดงความเห็นเรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย" เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 ที่ห้องประชุมศุภชัยศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน โดยเชิญตัวแทนจาก "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท มาร่วมชี้แจงแนวทางของ กปปส.ต่อสมาชิก คสรท.พื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 40 คน พร้อมขอการสนับสนุนจากแรงงาน โดยตัวแทน กปปส.กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นการเมืองภาคประชาชนที่เริ่มจากคนหลายกลุ่มออกมาร่วมกันต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แล้วยกระดับเป็นการโค่นล้มระบอบทักษิณที่เข้าไปรวบอำนาจการเมือง ครอบงำระบบราชการและธุรกิจแล้วทุจริตคอร์รัปชันโกงกินประเทศ จึงต้องมีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ อีก และเห็นว่าพลังของแรงงานเคยเป็นกำลังหลัก 3 ประสานในการต่อสู้เพื่อสังคม แต่วันนี้ถูกแบ่งแยกทำลายจนอ่อนแอ กฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมก็ยังไม่ถูกแก้ จึงอยากให้แรงงานเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศมากๆ ต่อไปก็ต้องทำงานกับพรรคการเมือง แต่อย่าเป็นบันไดให้พรรคการเมือง ขณะที่เสียงสะท้อนจากแรงงานเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบเอาใจนายทุนทำให้นายทุนเข้าไปควบคุมครอบครองพรรคการเมืองต่างๆ แล้วออกกฎหมายออกนโยบายที่เอื้อต่อนายทุน ขณะที่กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ปัญหาแรงงานจึงไม่เคยได้รับความสนใจจากทุกพรรคการเมือง จึงเห็นด้วยว่าต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยการปฏิรูปประเทศ โดยข้อเสนอของแรงงานเพื่อการปฏิรูปประเทศก็เช่น อยากใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่ทำงาน มีระบบค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีตามมาตรฐานสากล รับรองสิทธิการรวมตัวและเสนอกฎหมายของแรงงาน ปฏิรูประบบยุติธรรมด้านแรงงาน รวมทั้งยังมีผู้เสนอเรื่องการเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการสังคมลดความเหลื่อมล้ำ และเสนอยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจและยึดคืนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน แต่การเข้าร่วมกับ กปปส.ก็มีปัญหามากในองค์กรแรงงาน เพราะแรงงานก็แบ่งฝ่ายในเรื่องการเมือง มีความคิดเรื่องประชาธิปไตยกันคนละแบบ การชวนให้สมาชิกสหภาพเข้าร่วมก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป หลายแห่งต้องเข้าร่วมกับ กปปส.แบบส่วนตัว แต่ก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพื่อตน และครั้งนี้หากถูกหลอกอีก คราวหลังก็อย่ามาขอให้เข้าร่วม ขณะที่เสียงเรียกร้องที่ให้แรงงานเข้าร่วมกับ กปปส.บอกว่าถ้าใครไม่มั่นใจก็ไม่ต้องเข้ามา ใครอยากได้ก็ต้องออกมาร่วมอย่านั่งเป็นนักวิชาการ แต่ก็มีผู้เห็นว่าไม่ควรตัดสิทธิข้อเสนอของคนที่ไม่เข้าร่วมชุมนุมเพราะอาจยังต้องการทำความเข้าใจกับแนวทางประชาธิปไตยของ กปปส.ว่าใครได้ประโยชน์ ซึ่งตัวแทนของ กปปส.ก็กล่าวว่าการต่อสู้ต้องสร้างแนวร่วม ไม่สร้างศัตรู อย่างคนเสื้อแดงที่ไม่ใช่แกนนำก็มาร่วมได้ และตอบคำถามเรื่องมาตรา 3 กับสภาประชาชนว่า ยังไม่ชัดและไม่ควรชัด ยังไม่มีพิมพ์เขียวเพราะมีหลายฝ่ายอาจมีการตกหล่น บอกได้เพียงว่า ประชาชนต้องการอำนาจคืนและเป็นประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ เฉพาะหน้าจึงต้องสู้กับรัฐบาลก่อน นายชาลีกล่าวสรุปว่า ให้ยึดระบบประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความเห็นต่าง แต่เสียงส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และต้องเสนอประเด็นของแรงงานเข้าไปด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักปรัชญาชายขอบ: ต้องคัดค้าน ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ Posted: 19 Dec 2013 04:46 AM PST ข้อเสนอของ กปปส.ที่ว่า "ต้องปฏิรูประเทศก่อนการเลือกตั้ง " โดยให้นายกฯและคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกเพื่อให้เกิด "สุญญากาศทางอำนาจรัฐ" ซึ่ง กปปส.ตีความว่าเป็นการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 แล้วตั้งสภาประชาชนที่เลือกตั้งจากตัวแทนสาขาวิชาชีพต่างๆ 300 คน และ กปปส.สรรหาอีก 100 คน แล้วเลือก "คนดี" มาเป็นนายกฯ เพื่อตั้งรัฐบาลคนกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 แต่มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) และนักวิชาการอื่นๆ จำนวนมากว่า ตามกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้ นายกฯและรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะไม่ได้ และการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ก็เป็นการตีความเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของ กปปส.อย่างขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้นิวยอร์คไทม์ยังวิเคราะห์ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของ กปปส.เป็นการเรียกร้อง "ประชาธิปไตยที่น้อยลง" เนื่องจากปฏิเสธการเลือกตั้งผู้แทนปวงชนตามกติกาประชาธิปไตย เพื่อตั้งสภาประชาชนที่เป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพและมาจากการสรรหา (ถ้าบอกว่าสื่อไทยเลือกข้างจึงไม่น่าเชื่อถือ ถามว่ามีสื่อต่างชาติสนับสนุนข้อเรียกร้องของ กปปส.หรือไม่?) ถามว่าการปฏิรูปประเทศมีความจำเป็นหรือไม่? ตอบว่ามีความจำเป็นมากที่สุด แต่ข้อเสนอปฏิรูประเทศของ กปปส.ที่ต้องการล้างระบอบทักษิณ ปฏิรูปองค์กรตำรวจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นต้นนั้น ยังไม่ครอบคลุม "ปัญหาระดับรากฐาน" ของความเป็นประชาธิปไตย หากจะแก้ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ ต้องปฏิรูปการเมือง สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาลหรือระบบยุติธรรมทั้งระบบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น การรวบรัดเพื่อยึดนาจรัฐไปทำการปฏิรูปประเทศตามโมเดลของ กปปส.เอง ย่อมทำให้ประชาชนทั้งประเทศเสียโอกาสในการเลือกโมเดลอื่นๆ ที่ดีกว่า แนวทางที่เป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายจึงควรปฏิรูปประเทศหลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้เสนอแนวคิดและโมเดลปฏิรูปประเทศแก่ประชาชน จากนั้นจึงจัดให้มีการลงประชามติ เสียงข้างมากเลือกอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น เมื่อมองในแง่เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ, การมีแนวคิดหรือโมเดลที่เป็นตัวเลือกที่หลากหลาย และความแฟร์ต่อการมีสิทธิร่วมตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ การรวบรัดเพื่อยึดอำนาจรัฐไปปฎิรูปประเทศของ กปปส.จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่อาจยอมรับได้ ลองพิจารณาข้ออ้างต่างๆ ที่ต้องปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งของ กปปส. เช่น 1. อ้างว่า "สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ จะใช้วิธีการปกติมาแก้ปัญหาไม่ได้" แต่ความเป็นจริงคือ การที่รัฐบาลกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องจนมีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ แล้วรัฐบาลใช้วิธียุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งใหม่ ย่อมเป็นสถานการณ์ปกติของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก การแก้ปัญหาด้วย "วิธีนอกระบบ" ต่างหากที่เป็น "ความไม่ปกติ" ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบรรดาภิสิทธิชนในสังคมไทยที่ประกอบด้วยอำนาจนอกระบบ เครือข่ายอำมาตย์ กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ ราชนิกูล นายทุน ผู้บริหาร, อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วน คนชั้นกลางการศึกษาดีบางส่วน ที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และสวมเสื้อคลุมคุณธรรมจริยธรรม อ้างความเป็น "คนดี" เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของ "เสียงที่ดังกว่า" ของคนส่วนน้อย บรรดาอภิสิทธิชนเสียงข้างน้อยทำสิ่งที่ "ผิดปกติ" จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยๆ ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกมาโดยตลอดมิใช่หรือ 2. อ้างว่า "การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง" คำถามคือ มีหลักประกันอะไรให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่า แนวทางการรวบรัดยึดอำนาจรัฐมาจัดการปฏิรูปประเทศของ กปสส.จะเป็นทางออกของความขัดแย้งได้จริง ในเมื่ออีกฝ่ายก็ประกาศแล้วว่า หาก กปปส.ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จพวกเขาก็จะออกมาชุมนุมต่อต้าน 3. อ้างว่า "ระบบการเลือกตั้งแบบปัจจุบันไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการทุจริตซื้อเสียง ทำให้ได้นักการเมืองพรรคเดิมๆ หน้าเดิมๆ เข้ามาโกงชาติอีก" คำถามคือ แม้เจตนาจะขจัดทุจริตเป็นเรื่องดี แต่มีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าหลังปฏิรูปประเทศแล้ว จะไม่มีพรรคการเมืองเดิมๆ นักการเมืองหน้าเดิมๆ ซื้อเสียง หรือทุจริตเลือกตั้งได้อีก การอ้างเพียงว่าจะปฏิรูปกติกาให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม นั่นเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่แน่ว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ กปปส.มีความชอบธรรมอะไรที่จะยัดเยียดจินตนาการของพวกตนให้ประชาชนทั้งประเทศต้องยอมรับโดย "วิธียึดอำนาจรัฐ" หรือปฏิเสธสิทธิที่จะเลือกของประชาชน (โดยการลงประชามติก่อน เป็นต้น) 4. อ้างว่าต้องมี "นายกฯคนกลาง หรือรัฐบาลคนกลาง และสภาประชาชนที่เป็นกลาง" มาจัดการปฏิรูปประเทศ ถามว่า นายกฯ, รัฐบาล และสภาประชาชนที่มาจากการผลักดันของ กปปส.ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาล (และประชาชนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดๆ อีกจำนวนมากที่เขาอาจไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการรวบรัดยึดอำนาจรัฐ ของ กปปส.) จะมีคุณสมบัติเป็น "นายกฯคนกลาง หรือรัฐบาลคนกลาง และสภาประชาชนที่เป็นกลาง" ได้อย่างไร (ยกเว้นจะผูกขาดการนิยามว่า "เป็นกลาง หมายถึงต้องเป็นไปตามความต้องการของ กปปส.เท่านั้น") และที่ชอบพูดๆ กันว่า ในเมื่อเวลานี้ "จุดร่วม" ของทุกฝ่ายคือ "การปฏิรูปประเทศ" ทำไมจึงไม่ปฏิรูประเทศก่อนจึงเลือกตั้ง ถามว่าแล้วเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศคือ "ความเป็นประชาธิปไตย" ใช่หรือไม่ ฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยจึงเป็น "จุดร่วมหลัก" ที่สำคัญที่สุด แต่ความเป็นประชาธิปไตยจะได้มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ เมื่อจุดร่วมหลักคือความเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูประเทศเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยจึงต้องเดินตามกติกาประชาธิปไตยที่เรามีอยู่ก่อน แม้กติกานั้นยังบกพร่อง แต่มันไม่ถึงกับทำลายความเป็นประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง การยึดอำนารัฐโดย กปปส.ต่างหากที่ทำลายความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกที่อ้างว่ากลุ่มตนจะเข้ามาใช้อำนาจรัฐปฏิรูปประเทศในนามประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติก่อนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เมื่อวิธีการเป็นเผด็จการ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป้าหมายที่บอกว่าเพื่อสร้าง "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" นั้น จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นหรือเป็นประชาธิปไตยที่น้อยลง ดังที่นิวยอร์คไทม์ตั้งข้อสังเกต ฉะนั้น ในเมื่อแนวทางของ กปปส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ ปล้นสิทธิในการเลือกของประชาชนทั้งประเทศ และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะก่อให้เกิดประชาธิปไตยได้ (ซึ่งสังคมเรามีบทเรียนการปฏิรูปโดยวิธียึดอำนาจของอภิสิทธิชนมามากเกินพอแล้ว) ประชาชนทุกคน และเครือข่ายที่รักประชาธิปไตยทุกเครือข่าย จึงต้องร่วมกันคัดค้านการยึดอำนาจรัฐมาจัดการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งอย่างถึงที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วไง(อีกที) Posted: 19 Dec 2013 04:36 AM PST ผลพวงของการชี้มูลทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอของ ปปช.และข่าวลือเรื่องการใช้เงินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านนักการเมืองที่กระหน่ำประโคมข่าวกันถี่ยิบในช่วงหลัง ทำให้กระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกด้วยเหตุที่ว่าไหนๆตอนนี้ตำแหน่งดังกล่าวก็ผูกพันกับการเมืองอยู่แล้ว เรามาเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปว่าควรหรือไม่ควร เรามาดูนานาอารยประเทศทั้งหลายว่ามีรูปแบบการปกครองกันอย่างไรบ้าง ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ ประเทศไทยถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วหรือยัง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 ตุลาคม 2553
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
3 องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง Posted: 19 Dec 2013 04:23 AM PST 19 ธ.ค.2556 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรสื่อต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเรียกร้องต่อรัฐบาลรักษาการ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติและไม่ใช้กลไกรัฐไปซ้ำเติมความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น ขณะ กปปส. ต้องยึดมั่นและรักษาแนวทางการชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ สันติอหิงสา ปราศจากอาวุธ พร้อมเสนอว่าแนวทางพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ นอกจากนี้ แถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้ปฏิบัติงานข่าวในองค์กรสื่อต่างๆ ด้วยว่า ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับสื่อของรัฐ ผู้มีอำนาจสั่งการจะต้องไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงกองบรรณาธิการ และควรให้พื้นที่ในการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
แถลงการณ์ร่วมองค์กรสื่อต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจในอนาคตของประเทศ แต่บรรยากาศความขัดแย้งยังไม่มีการผ่อนคลายลงเลย และก่อความวิตกกังวลร่วมในสังคมของเรา องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 1.องค์กรวิชาชีพสื่อตระหนักดีถึงความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมือง หรือวิกฤติของประเทศก็เป็นวิถีทางปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง และยังมีความแตกแยกในสังคมอย่างกว้างขวาง เต็มไปด้วยแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้งได้ องค์กรวิชาชีพสื่อ มีความเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งในบรรยากาศดังกล่าว อาจจะไม่ช่วยนำพาประเทศออกจากความขัดแย้งตามที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ ในทางกลับกันจะทำให้เกิดเป็นวิกฤติของประเทศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรง ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้งนำประเทศออกจากความขัดแย้งให้ได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ผ่านกลไกการหารือและตัดสินใจร่วมกันเพื่อร่วมสร้างกติกาการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายร่วมคือหาทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ เพื่อไม่ความขัดแย้งที่รุนแรงกลับมาอยู่ในวังวนเดิมอีก อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี วิกฤติของประเทศในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นวิกฤติที่เป็นโอกาสของประเทศไทย ที่กำลังก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างหลักประกันที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศของเราสามารถปลดเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้อะไรที่จำเป็นต้องปฏิรูปทันทีก็ต้องลงมือทำเช่นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และควรเร่งดำเนินการปรึกษาหารือเพื่อให้การเลือกตั้งที่ทุกภาคส่วนในสังคมพอใจเกิดขึ้นโดยเร็ว 2. รัฐบาลรักษาการ มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติและต้องไม่ใช้กลไกรัฐไปซ้ำเติมความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องยึดมั่นในการดำเนินการใดๆ ต่อการชุมนุมให้เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรงในทุกกรณี ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ต้องไม่ดำเนินการ หรือสั่งการใดๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมที่จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียโดยเฉพาะการนำมวลชนมาเผชิญหน้ากัน 3. สำหรับ กปปส. ต้องยึดมั่นและรักษาแนวทางการชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ สันติอหิงสา ปราศจากอาวุธ ให้เป็นแนวทางที่มั่นคงต่อไป การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้จำนวนมหาประชาชนจำนวนมากชุมนุมกดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองก็เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ แต่องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าแนวทางพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ เราเชื่อมั่นว่าพลเมืองไทยจำนวนมหาศาลต้องการเดินไปด้วยกันบนเส้นทางปฏิรูปประเทศ พลังของพลเมืองไทยต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อคนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความอบอุ่น 4.ผู้ปฏิบัติงานข่าวในองค์กรสื่อต่างๆ ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับสื่อของรัฐ ผู้มีอำนาจสั่งการจะต้องไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงกองบรรณาธิการนำเสนอข่าวหรือเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกในสังคม และควรให้พื้นที่ในการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันทางด้านผู้ประกอบธุรกิจสื่อต้องตระหนักถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ องค์กรสื่อจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ทั้งสวัสดิภาพของนักข่าว ช่างภาพ ผู้ปฏิบัติงานในสนามข่าวทุกคน และการปฏิบัติหน้าที่ของกองบรรณาธิการ ทั้งนี้สื่อต้องไม่เป็นเป้าหมายการคุกคาม กดดันของฝ่ายใด เพราะการข่มขู่ คุกคาม กดดันสื่อ ด้วยการหวังผลใดๆ ก็ตามจะกระทบต่อข้อเท็จจริงที่สังคมควรได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปรกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุภิญญา แนะวางแผนเปลี่ยนผ่านการรับส่งวิทยุดิจิตอลให้ชัด Posted: 19 Dec 2013 04:16 AM PST 19 ธ.ค.2556 สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. หนึ่งในกรรมการ กสท. ระบุว่า ภายหลังมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบวาระ บันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความสามารถในการติดตั้งเครื่องรับวิทยุในระบบดิจิตอล ตนเองมีความเห็นแตกต่างจากกรรมการเสียงข้างมาก เนื่องจากการดำเนินโครงการจัดทำความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ควรดำเนินการหลังจากที่ กสทช.มีแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลอย่างเป็นทางการ และมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะหากดำเนินโครงการจัดทำความร่วมมือซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแผนการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลก่อนโดยมิได้ประกาศแผนที่ชัดเจนต่อสาธารณะ อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการยอมรับของสาธารณะ ตลอดจนลำดับขั้นตอนกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎหมาย เนื่องจากเป็นกรณีที่ผลกระทบต่อสาธารณะไม่แตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งในรายละเอียดของโครงการฯ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากหลายภาคส่วนมีส่วนร่วม อาทิ สถาบันการศึกษา หน่วยงานเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ตลอดจนผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยมีการจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกที่โปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะ "การดำเนินการวิทยุดิจิตอลเป็นเรื่องใหม่ เรื่องใหญ่ที่ซับซ้อน เพราะเกี่ยวพันกับการให้สิทธิหน่วยงานรัฐเดิมก่อน ควรมีความชัดเจนและเป็นธรรมกับรายเล็กด้วย รวมทั้งการทำวิทยุระบบดิจิตอลจะเป็นการขยายพื้นที่ภาคธุรกิจ หรือแก้ปัญหาเดิมของวิทยุเอฟเอ็มในภาคธุรกิจ ต้องตอบสังคมและให้ข้อมูลด้วย สำคัญที่สุด สำนักงานควรจัดทำบทวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายดิจิตอล ผลดี – ผลเสีย การจัดทำ Road Map การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ และกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน แม้จะเป็นเพิ่งเป็นปีแรกของการเริ่มต้นก็ตาม" สุภิญญา กล่าวว่า ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น