โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

หากเขาสั่งให้ผมยิง!

Posted: 16 May 2010 02:06 PM PDT

เรื่องเล่าและความเห็นของ นักเรียนไทยที่ไปเรียนวิชาการทหารในเยอรมัน “ผมเป็นทหารเพื่อป้องกันประเทศชาติและประชาชนจากศัตรูภายนอก ผมไม่ได้เป็นทหารเพื่อรักษาอำนาจให้ผู้บังคับบัญชา ด้วยการฆ่าประชาชนที่ผมควรปกป้อง ความเป็นมนุษย์บอกผมว่า ผมไม่มีสิทธิคร่าชีวิตผู้อื่นที่ไม่มีทางต่อสู้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร”

<!--break-->

เมื่อครั้งที่ผมมาฝึกทหารที่เยอรมันใหม่ๆ ได้ไม่ถึงปี ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนชาวเยอรมันชื่อ Anke ผู้สนใจในประเทศไทยเป็นพิเศษ ถึงขนาดเข้าเรียนในคณะ "ไทยศึกษา" ที่มหาวิทยาลัยฮัมบรูก ซึ่งมีเพียงสองที่ในเยอรมัน Anke ได้เคยถามคำถามที่ยากที่สุดคำถามหนึ่งต่อผม แม้สิ่งที่เธอถามจะผ่านมาแล้วสิบปีเต็ม แต่ผมก็จำคำถามนั้นได้ดี

"หากเธอได้รับคำสั่งให้ไปปราบผู้ชุมนุมในสมัยพฤษภาทมิฬ และผู้บังคับบัญชาสั่งให้เธอยิงประชาชน เธอจะยิงไหม?"

ผมได้แต่นั่งอึ้งต่อคำถามของเธอ ตอบอะไรไม่ถูก อีกทั้งในตอนนั้น ผมเพิ่งผ่านระบบการฝึกทหารไทยมาใหม่ ๆ ทำให้ไม่มีอะไรที่เป็นหลักการไปตอบเธอได้เลย ผมได้แต่พูดติดตลกตอบเธอไปว่า

"ฉันเป็นทหารเรือ ไม่มีใครสั่งให้ฉันไปปราบม็อบหรอก !"

แต่คำถามนั้นก็อยู่ในใจผมเรื่อยมา ผมพยายามหาคำตอบให้กับตนเอง และได้แต่หวังว่าผมและเพื่อนร่วมอาชีพของผมคนอื่น ๆ ไม่ต้องเจอกับสถานณการณ์ ที่ตัดสินใจลำบากแสนลำบากอย่างนั้นอีก

เวลาผ่านไปสิบแปดปีเต็ม ไม่ขาดไม่เกิน แล้วสถาณการณ์เช่นนั้นก็หวนกลับมาอีกรอบ ตอนนี้ผมให้คำตอบกับตัวเองได้แล้ว ... 

ในระบบการฝึกทหารของเยอรมัน สิ่งแรก ๆ ที่ทหารต้องเรียนรู้พร้อม ๆ กับท่าซ้ายหัน ขวาหัน ก่อนจะไปจับปืน คือการเรียน "กฏหมายทหาร" เรียนเพื่อให้รู้ว่า เป็นทหารไปทำไม, ทหารมีสิทธิและไม่มีสิทธิอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุด ทหารจะปฏิบัติตามคำสั่งได้เมื่อไร ผมคงไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่โดยหลัก ๆ แล้ว ทหารจะปฏิบัติตามคำสั่งได้ก็ต่อเมื่อ

•           คำสั่งนั้นถูกต้องด้วยกฏหมาย (ของเยอรมัน)
•           คำสั่งนั้นไม่ผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
•           คำสั่งนั้นไม่ผิดต่อ กฏบัตร UN

ทหารนายใด ปฏิบัติคำสั่งที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว ทหารนายนั้นถือว่ามีความผิด

ผมยังพูดแซวกับเพื่อนทหารชาวเยอรมันตอนเรียนเลยว่า เป็นทหารเยอรมันนี่ยากนะ สั่งอะไรมาต้องคิดดูก่อนว่าทำได้หรือเปล่า ไม่เหมือนทหารไทย สั่งไรมา กูทำหมด

และเมื่อทหารเห็นว่า คำสั่งนั้นผิดต่อหลักดังกล่าว สิ่งที่ทหารต้องทำคือ ห้ามปฏิบัติตามคำสั่ง และแจ้งผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าผู้สั่งให้ทราบ เพื่อดำเนินการกับผู้สั่งตามกฏหมายต่อไป

สาเหตุที่ระบบคำสั่งของทหารเยอรมันค่อนข้างซับซ้อน เพราะเขาได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมา มีความบอบช้ำจากสงครามมากมาย มีความรู้สึกผิดต่อผู้เสียหายจากสงครามที่เกิดขึ้น จนตั้งสัตย์ปฏิญาณกับตัวเองว่า "Never Again" และผลที่ตามมาคือระบบกฏหมายที่รัดกุม รวมไปถึงกฏหมายทหารข้างต้น ซึ่งเป็นการป้องกันความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับปฏิบัติการ

นั่นคือคำตอบทางกฏหมายที่ผมได้ หากผมเป็นทหารเยอรมัน ผมมีสิทธิทิ้งปืน เดินไปแจ้งความกับคนสั่ง และไม่ต้องมีความลำบากใจ ที่จะต้องมานั่งคิดว่า จะทำตามคำสั่งด้วยการยิงประชาชนดีหรือไม่

แต่คำตอบที่ผมได้รับ ไม่ได้ช่วยอะไรผมได้มากนัก เพราะผมเป็นทหารไทย ผมไม่มีอะไรอย่างนั้นรองรับ

แต่ความเป็นทหารบอกผมว่า ผมเป็นทหารเพื่อป้องกันประเทศชาติและประชาชนจากศัตรูภายนอก ผมไม่ได้เป็นทหารเพื่อรักษาอำนาจให้ผู้บังคับบัญชา ด้วยการฆ่าประชาชนที่ผมควรปกป้อง ความเป็นมนุษย์บอกผมว่า ผมไม่มีสิทธิคร่าชีวิตผู้อื่นที่ไม่มีทางต่อสู้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร ความเป็นมนุษย์บอกผมว่า ผมไม่มีสิทธิคร่าชีวิตผู้อื่น เพียงเพราะคนคนนั้นมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากผม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศูนย์เอราวัณเผยยอดผู้เสียชีวิตพลเรือน 33 ราย เจ็บ 239 ราย (24.00)

Posted: 16 May 2010 01:50 PM PDT

<!--break-->

(17พ.ค.)
02.47น. เนชั่นทันข่าวรายงาน ทหารถูกยิงเสียชีวิต 1 นาย
รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงกลางดึกเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องบริเวณแยกศาลาแดงและถนนพระราม 4 ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ขณะที่มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ นั้นได้มีรถกระบะวีโก้ 4 ประตูวิ่งไปทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าสีลมแล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้นทำให้ทหารยิงใส่รถคันดังกล่าวจนรถเสียหลักพุ่งชนรถอีกคันหนึ่งบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ขณะที่มีรายงานว่ามีทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นายถูกนำส่ง รพ.กรุงเทพคริสเตียน โดยมีญาติของนายทหารดังกล่าวเดินทางไปยังโรงพยาบาลและมีรายงานทหาร 1 นายได้เสียชีวิตแล้ว

(16 พ.ค.)
24.00น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตั้งแต่วันที่ 14-16 พ.ค.53 โดยมีผู้เสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 239 ราย ทั้งนี้มีผู้พักรักษาตัวที่ห้อง ICU 12 ราย (ตรวจสอบรายชื่อผู้เสียชีวิตที่ http://www.ems.bangkok.go.th/report/total/day15may(3).pdf)

22.00น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตั้งแต่วันที่ 14-16 พ.ค.53 โดยรายงานเมื่อเวลา 22.00 น.ของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 31 คน บาดเจ็บจำนวน 230 คน สามารถกลับบ้านได้แล้ว 135 คน ส่วนที่เหลือกระจายรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพมหานคร 33 แห่ง

จำนวนนี้ต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู จำนวน 12 คน และมีชาวต่างชาติบาดเจ็บ 6 คน คือ ชาวแคนาดา โปแลนด์ อิตาลี นิวซีแลนด์ ไลบีเรีย และพม่าประเทศละ 1 คน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารนอกราชการแถลงใช้พลแม่นปืนยิงผู้ชุมนุมทำกองทัพเสื่อมเสีย ร้องหยุดฆ่า

Posted: 16 May 2010 01:16 PM PDT

<!--break-->

15 พฤษภาคม 2553 นายทหารนอกราชการ ร่วมกันลงชื่อออกแถลงท่าทีต่อการใช้อาวุธสงครามของกองทัพ ระบุ ข่าวการสังหารที่ถนนรางน้ำที่ถูกยิงโดยพลแม่นปืนหรือสไนเปอร์ สร้างเสื่อมเสียให้กองทัพเป็นอย่างยิ่ง
 

0 0 0

แถลงการณ์
นายทหารนอกราชการต่อการใช้อาวุธสงครามกับผู้ประท้วงเสื้อแดง
15 พฤษภาคม 2553 
 

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงเสื้อแดงที่นำโดยแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เริ่มมีแนวโน้มในทางที่ดีที่จะปรองดองกันได้ในช่วงสัปดาห์ แต่กลับเปลี่ยนมาสู่การเผชิญหน้าอย่างรุนแรงเมื่อรัฐบาลยกเลิกแผนการปรองดองและต้องการสลายการชุมนุมของเสื้อแดง

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง 2 ฝ่ายควรใช้การวิถีทางการเมืองเหมือนกับที่ท่านผู้บัญชาการทหารได้แถลงต่อหน้าสาธารณชน การเจรจาเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการนำไปการหาทางออกที่ไม่ต้องเผชิญหน้าและสูญเสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน

ความรุนแรงครั้งนี้สามารถนับได้ตั้งแต่การลอบสังหาร พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล จนถึงเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 30 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการสังหารที่ถนนรางน้ำจากเว็บไซต์หลายแห่งที่เชื่อถูกยิงจากพลแม่นปืนหรือสไนเปอร์ ซึ่งสร้างเสื่อมเสียให้กองทัพเป็นอย่างยิ่ง

ประกอบกับการประกาศของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่ให้ทหารประกอบอาวุธสงครามและสามารถใช้กระสุนจริงได้ย่อมนำมาสู่ข้อสงสัยต่อการใช้อาวุธสงครามของทหารในการสังหารผู้ชุมนุมครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พวกเราในฐานะนายทหารนอกราชการมีความห่วงใยอย่างต่อชื่อเสียงของสถาบันกองทัพที่หน้าที่อันมีเกียรติในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ไม่ใช่การหันกระบอกปืนมาหาพี่น้องร่วมชาติ ดังนั้น เราขอเรียกร้องต่อกองทัพ ดังนี้

1.ให้ปรับอาวุธสงครามมาเป็นอาวุธปราบจราจลเป็นหลักในแต่ละหน่วย
2.ให้แต่ละหน่วยมีอาวุธปืนที่สามารถป้องกันตัวด้วยการใช้กระสุนจริงเท่าที่จำเป็น
3.ห้ามอย่างเด็ดขาดในการใช้อาวุธในการสังหารประชาชน
 

                                                                          กลุ่มนายทหารนอกราชการ
 

พลเอก ฝังพัฒน์ บุญเลี้ยง พลโท นริศ ศรีเนตร
พลโท ชาญณรงค์ เจริญสุข
พลตรี สมศักดิ์ สกุลทอง
พลตรี ธีระ คล้ายอ่างทอง
พลตรี สมศักดิ์ ประสานสุข
พลตรี สกล พิธรัตน์
พลตรี น.พ.บัวจันทร์ สกุล ณ มรรคา
พลตรี ประจัน พิมพายน
พลอากาศโท ชุมพล ชูพันธ์
พลอากาศโท กัมพล ผลผดุง
พลอากาศตรี ดุษฎีสักดิ์ ดุสิต
พลอากาศตรี สุรัติ วงศ์ภาคำ
พลเรือตรี อุดร ภูมิศักดิ์ ร.น.
นาวาเอก วีรชาติ ศิริจันทพันธ์
ร.น. พันเอก สมคิด ศรีสังคม
พันเอก เสงี่ยม รัตนวิมาตร
พล.ต.ต.จิรัช ชูเวช
พ.ต.อ.ณัฐสักก์ เคนถาวร
พ.ต.ท.พรหม ดาทุมมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักศึกษา-แรงงาน ร้องยูเอ็นดูแลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนคนเสื้อแดง

Posted: 16 May 2010 12:42 PM PDT

เครือข่ายนักศึกษาและแรงงานรวมตัวที่หน้ายูเอ็น เรียกร้องเข้ามาดูแลสิทธิมนุษยชนในไทยจากกรณีปราบปรามประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมของ นปช. 

<!--break-->

เวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 17 พ.ค. 2553 นักศึกษาและแรงงานประกอบด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย , สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน, ประกายไฟ. กลุ่มทรายอาร์ม, กลุ่มเสรีปัญญาชน, กลุ่มนิสิต นักศึกษา สันติภาพเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มนักศึกษาSon Right รวมตัวกันที่หน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้สหประชาชาติร่วมกดดันรัฐบาลไทยให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม และ ประณามการกระทำของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์

กลุ่มนักศึกษาและแรงงานยังขอให้สหประชาชาติจับตามองการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการขอคืนพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ได้แต่งตั้งขึ้น เนื่องจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของไทยขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางโดยแท้จริง
นอกจากนี้ ยังคงเรียกร้องให้สหประชาชาติกดดันให้รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเอื้ออำนวยให้การใช้กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นไปโดยคล่อง ในกรณีที่มีการร้องเรียน รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลและฝ่ายที่มิใช่ภาครัฐ
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยขององค์การสหประชาชาติได้แจ้งกับนักศึกษาและแรงงานว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้เดินทางเข้ามาในวันดังกล่าว และให้ยื่นเรื่องไว้ โดยจะดำเนินการต่อไปในวันจันทร์ ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มฯ ระบุว่าติดต่อกับนายโฮมายุน อาลีนเด เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติไว้แล้ว และจะติดตามความคืบหน้าต่อไป
 
สำหรับบรรยากาศการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในวันดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน และได้รับความสนใจจากผู้ขับขี่ยวดยานที่ผ่านไปมา เนื่องจากกลุ่มฯ มีการจัดทำสติกเกอร์ “หยุดฆ่า” และ “Stop Kill” มาแจกจ่ายให้กับผู้ขับรถและประชาชนทั่วไป
 

จดหมายเปิดผนึก ต่อองค์กรสหประชาชาติ และประชาคมนานาชาติ
หยุดความรุนแรง หยุดการสั่งฆ่า รัฐบาลต้องหยุดปราบปรามประชาชน !!!
 
สืบเนื่องจากการปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ในบริเวณราชดำเนิน จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 15 พฤษภาคม ในบริเวณราชประสงค์และใกล้เคียง ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน ผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 300 ราย การกระทำดังกล่าวขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่รัฐบาลใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ดำเนินการชุมนุมมาอย่างสันติจนกระทั่งวันที่ 10 เม.ย. นอกจากนั้นยังถือเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และขัดต่อหลักการสลายการชุมนุมตามหลักสากลดังที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ทั้งสองเหตุการณ์ถือได้ว่าเป็นการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะจากรัฐบาลที่เป็นพลเรือน
 
จนถึงปัจจุบัน นอกจากรัฐบาลผู้สั่งการโดยอาศัยความร่วมมือจากกองทัพยังมิได้แสดงความรับผิดชอบใดๆต่อการกระทำดังกล่าว กลับยังรุกหน้าปราบปรามผู้ชุมนุม ตัดน้ำ ไฟฟ้า และสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายและบานปลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ พวกเรา กลุ่มนักศึกษา แรงงาน และประชาชน จึงมีข้อเรียกร้องต่อสหประชาชาติ ดังนี้
 
1. ขอให้สหประชาชาติร่วมกดดันรัฐบาลไทยให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม และ ประณามการกระทำของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ในการใช้อาวุธสงครามหนักปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ส่วนใหญ่มีเพียงมือเปล่าและอาวุธป้องกันตัวที่หาดาบหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในจำนวนนี้ยังมีเด็ก ผู้หญิง เยาวชน เจ้าหน้าที่กู้ภัย และสื่อมวลชนในประเทศและต่างประเทศถูกอาวุธสงครามจากฝ่ายทหาร แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดงตามหลักปฏิบัติสากลอย่างเห็นได้ชัด
 
2. ขอให้สหประชาชาติเร่งกดดันให้รัฐบาลไทยแสดงความรับผิดชอบต่อการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนอื่นๆที่รัฐบาลไทยเป็นภาคี โดยรัฐบาลต้องลาออกในทันที และให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
 
3. ขอให้สหประชาชาติจับตามองการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการขอคืนพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ได้แต่งตั้งขึ้น เนื่องจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของไทยขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางโดยแท้จริง
 
4. ในโอกาสที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) สหประชาชาติควรกดดันให้รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเอื้ออำนวยให้การใช้กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นไปโดยคล่อง ในกรณีที่มีการร้องเรียน รัฐบาลไทยต้องอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลและฝ่ายที่มิใช่ภาครัฐ
 
ลงชื่อ
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย , สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน, ประกายไฟ. กลุ่มทรายอาร์ม, กลุ่มเสรีปัญญาชน, กลุ่มนิสิต นักศึกษา สันติภาพเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มนักศึกษาSon Right

 

Open Letter to United Nations and International Community
Stop the violence; stop the killing, the government must stop the crackdown!!!
 
Since the operation "Ask back the protesting site" initiated by Thai government under Prime Minister Abhisit Vejjajiva from 10 April 2010 in Rajadamnern to latest development on 15 May 2010 in Rajaprasong area, there are at least 50 casualties and 300 injuries. The government has clearly violated the international procedure on how to disperse the protestors which the government itself has acknowledged.
 
Up until now, Thai government has not only abused its power through the army, but also has never at once accepted any responsibility of its actions. Furthermore, the government has systematically, violently, and inhumanely suppressed the protestors by trying to render all the communication in the protesting areas to be ineffective. These have led to an intensifying amount of violence on the situation. Therefore, we, the group of university student, labour, and people, would like to ask for help from the United Nation as follow;
 
1. We would to ask the United Nation to pressure Thai government to cease all the hostility and violent actions toward the protestors, and denounce the usage of heavy weaponry to suppress unarmed protestors by Thai government under the Prime-minister Abhisit. Thai government actions had led to high number of both casualties and injuries of children, underage persons, women, disaster relief personnel, local and international media correspondents. This explicitly demonstrates the failure of the government to comply with the international procedure on how to humanely disperse the protestors.
 
2. We would like to ask the United Nation to pressure Thai government to take responsibility for violently suppressing the Red Shirt protestors. The government's actions have undoubtedly violated the International Covenant on Civil and Political Rights, as well as other covenants which was ratified by Thai government. Thai government and its cabinet must immediately call parliament dissolution, and held a new election as soon as possible.
 
3. Due to the lack of independent and impartial judgment of Human Rights organizations in Thailand, We urge the United Nations to closely observe the Special Subcommittee appointed by National Human Rights Committee for investigation on the military crackdown on the 10th April 2010.
 
4. Upon the occasion that Thailand be a member of the United Nations Human Rights Council, The United Nations should pressure Thai government to exercise effective international human rights mechanism. In case of an appeal, Thai government must allow the Special Commissioner from United Nations High Commissioner of Human Rights (OHCHR) to investigate Human Rights violation issues, both on the governmental and non-governmental actors.
 
Signed by
Student Federation of Thailand, Student Federation of Northeast Thailand, ISKRA Group (Prakaifire),Try Arm Group, Thai Youth Democracy Organization (Seri Panyachon), Students for Peace Group, Son Right Student Group

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานการปะทะ 17 พ.ค.53 (02.45 น.)

Posted: 16 May 2010 12:05 PM PDT

<!--break-->

02.45 น. เกิดเหตุระเบิดที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาลำลูกกา จ.ปทุมธานี ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

02.00 น. รายงานเพิ่มเติมระบุว่า เพลิงไหม้ เกิดจากด้านในโรงแรมดุสิตธานี ชั้น 17 ขณะนี้เพลิงสงบลงแล้วโดยระบบน้ำของโรงแรม ก่อนหน้านี้มีการยิงระเบิดไปที่โรงแรมหลายลูก ส่งผลให้โรงแรมเสียหายหนัก ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่โรงแรมได้อพยพผู้พักอาศัยให้มาอยู่ชั้นล่างของอาคาร โดยมีนักข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุ 3-4 ราย

01.45 น. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้เกืดเพลิงไหม้ที่โรงแรมดุสิตธานี บริเวณแยกศาลาแดง ก่อนหน้านี้มีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง พร้อมกัเสียงปืนยิงจากอาคารสูงรอบทิศบริเวณนั้น ก่อนที่จะมีรายงานข่าวเพลิงไหม้นี้ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: ข้อเสนอขั้นต่ำที่มีทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้ทันทีต่อรัฐบาลและ นปช.

Posted: 16 May 2010 10:55 AM PDT

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. เสนอข้อเสนอขั้นต่ำที่ทำได้จริงสำหรับรัฐบาลและ นปช. เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียไปมากกว่านี้

<!--break-->

0000

ข้อเสนอขั้นต่ำที่มีทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้ทันทีต่อรัฐบาลและ นปช.
มีแต่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติอย่างต่ำตามนี้เท่านั้นจึงจะนำมาสงบกลับมาได้

รัฐบาล
1. ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดทันที
2. ยื่นข้อเสนอเลือกตั้ง 14 พ.ย. ให้กับ นปช.อีกครั้ง
3. ให้คำมั่นอีกครั้งตามที่เคยประกาศว่า จะให้มีกรรมการอิสระสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งวันที่ 10 เมษา และครั้งหลังสุดนี้ และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับทุกฝ่ายที่กระทำผิด รวมทั้งฝ่ายรัฐบาล
4. จะสนับสนุนให้ทางการตำรวจไม่คัดค้านการประกันตัวผู้นำ นปช.

นปช.
1. ยุติปฏิบัติการตอบโต้กับทหาร ยกเว้นแต่จะเป็นการป้องกันตัวที่เลี่ยงไม่ได้
2. ยอมรับข้อเสนอเลือกตั้ง 14 พย. และอื่นๆ ข้างต้น ถ้ารัฐบาลยอมเสนออีกครั้ง
3. ยุติการชุมนุมทันที

ฝ่ายรัฐบาล ต้องตระหนักว่า มีแต่ทำอย่างน้อยทั้งหมดนี้เท่านั้น ไม่สามารถน้อยกว่านี้ จึงจะทำให้สถานการณ์ยุติได้ ไม่มีทางอื่นใดอีก

ฝ่าย นปช. ต้องตระหนักว่า หากรัฐบาลยอมทำตามข้อเสนอข้างต้นนี้แล้ว นปช.ต้องยอมรับ เพราะไม่สามารถเรียกร้องสูงกว่านี้ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน หากต้องการจะรักษาชีวิตของมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ให้สูญเสียมากกว่านี้

ข้อเสนอข้างต้นนี้ หมายความว่า ทั้งสองฝ่าย ต้องยอม "ถอย" บางส่วน จากจุดยืนของตนในขณะนี้ ไม่มีใครได้ทั้งหมดตามที่ต้องการในขณะนี้

ในแง่ นปช. แน่นอน ข้อเสนอของรัฐบาลข้างต้น (ถ้ารัฐบาลยอมเสนอในขณะนี้) เมื่อเทียบกับข้อเรียกร้อง นปช.ในขณะนี้ (รัฐบาลลาออก ยุบสภาทันที) ย่อมน้อยกว่าที่ต้องการมาก แต่ นปช. ต้องตระหนักว่า เลือกตั้ง 14 พ.ย. ดีกว่า ไม่ได้เลือกตั้งเลยจนครบวาระรัฐบาล และยุติปฏิบัติการทางทหาร เท่ากับรักษาชีวิตของมวลชน ไม่ให้เสียมากขึ้นกว่านี้ ที่สำคัญ ในสถานการณ์ขณะนี้่ นปช. ไม่สามารถยืนยันข้อเรียกร้องที่สูงกว่านี้ โดยไม่เสี่ยงต่อการยืดเยื้อสถานการณ์ออกไป และมีคนตายเพิ่มขึ้นแน่นอน การรักษาชีวิตของมวลชนเป็นเรื่องที่ แกนนำ นปช. ที่เหลือ ควรถือเป็นเรืองสำคัญที่สุดในขณะนี้ และยอมอ่อนข้อเรื่องอื่นลงมา

ถึงผู้อ่าน โดยเฉพาะที่บอร์ดคนเหมือนกันที่เห็นอกเห็นใจเสื้อแดง
สูตรข้อเสนอสำหรับทั้งสองฝ่ายข้างต้น อาจจะรู้สึกว่า "น้อยเกินไป" เช่น ทำไมไม่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและยุบสภาทันที ตามข้อเสนอของแถลงการณ์ "กลุ่มสันติใต้" เป็นต้น (ซึ่งใกล้เคียงกับของ นปช. เอง)

เหตุผลง่ายๆ คือ ผมเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ realistic (คือ ไม่มีทางทำให้เกิดขึ้นได้จริง) ในสถานการณ์ขณะนี้ โดยที่ไม่ยืดเยื้อสถานการณ์การฆ่าออกไป (รัฐบาลปฏิเสธแน่นอน และการฆ่าจะดำเนินต่อไป) อันที่จริง แม้แต่ให้รัฐบาลรื้อฟื้นข้อเสนอเลือกตั้ง 14 พ.ย. ยังเป็นเรืองค่อนข้างยาก แต่อย่างน้อย ยังมีโอกาสมากกว่า ที่สำคัญ มีโอกาสที่จะสร้างกระแสสังคมกดดันให้รัฐบาลกลับมายื่นข้อเสนอนั้นใหม่ได้ และภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ก็อาจจะมีโอกาสให้หยุดการฆ่าได้

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บบอร์ดคนเหมือนกัน http://thailiberal.com/index.php?showtopic=48005
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมสื่อ ตปท.วอนเคารพสิทธิสื่อ ย้ำนาทีนี้ 'ข่าว' สำคัญมาก

Posted: 16 May 2010 10:25 AM PDT

(16 พ.ค.) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพในสิทธิของสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อการรายงานเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและผันผวนอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง ระบุการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในสถานการณ์เช่นนี้สำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

<!--break-->

แถลงการณ์สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
ความไม่สงบในกรุงเทพฯ ขณะนี้ได้ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตอย่างร้ายแรง นักข่าวและช่างภาพตกอยู่ในความเสี่ยง ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่นถูกสังหารเมื่อเดือนเมษายน และเมื่อเร็วๆ นี้มีสื่อบาดเจ็บสี่ราย เป็นชาวไทยสามรายและต่างชาติอีกหนึ่ง ผู้สังเกตการณ์ที่บริสุทธิ์ถูกทำร้าย รวมถึงอาจถูกฆ่า

สื่อคงจะรู้ว่า กระสุนจริงใช้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น และสถานการณ์เปราะบางและอันตรายอย่างยิ่ง
การแต่งกายด้วยสีเข้มไม่ควรกระทำในสถานการณ์ปัจจุบัน สมาคมผู้สื่อข่าวไทยก็ได้เตือนสมาชิกให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แยกราชประสงค์

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ขอแนะนำ รวมถึงขอใช้โอกาสนี้ย้ำถึงแถลงการณ์ภายหลังการเสียชีวิตของฮิโร มูราโมโตอีกครั้งว่า "เราหวังว่าทุกฝ่ายจะเคารพในสิทธิของสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อการรายงานเหตุการณ์ที่ซับซ้อนและผันผวนอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญและยุ่งยากสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศไทย การไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในตอนนี้จึงสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา"
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สืบทอดเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภา –เมษายน ‘ทุกคนเท่ากัน’

Posted: 16 May 2010 08:17 AM PDT

<!--break-->

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวันที่ 23 กุมพาพันธ์ 2534 ได้เขียนไว้ว่า มีการยึดอำนาจโดยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(รสช.) จากรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ(ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก หลังจากสิ้นสุดระบอบเปรมาธิปไตย ในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”) นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น

และนับเป็นเวลาร่วม 18 ปีแล้วที่ สังคมไทยได้สูญเสียวีรชนผู้หาญกล้าต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารสุจินดาส่วนเสี้ยวหนึ่งของระบอบอำมาตยาธิปไตย ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535

การต่อสู้และเจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภา ก็เพื่อ ต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และผลพวงจาการเสียสละเลือดเนื้อชีวิตของวีรชนทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดในสังคมไทย และทำให้สื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพมากขึ้น

การรัฐประหาร 2549 โดยเผด็จการคมช. เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ่มทองสกุล พิภพ ธงไชย จำลอง ศรีเมือง สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ สมศักดิ์ โกสัยสุข สุริยะใส ตักกะศิลา เป็นต้น (ล้วนเคยร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 )

มีองค์กรประชาสังคม ผู้ดีมีคุณธรรมต่างๆ เช่น ประเวศ วะสี อานันท์ ปันยารชุณ พลเดช ปิ่นประทีป ไพบูลย์ วัฒนธรรมศิริ สุลักษณ์ ศิวลักษ์ รสนา โตสิตระกูล สมชาย หอมละออ สุริชัย หวันแก้ว จรัส สุวรรณมาลา โคทม อารียา สมชาย แสวงการ และอีกหลายๆคนร่วมสนับสนุนทั้งทางตรงและไม่เปิดเผย ซึ่งหลายคนก็ได้ประโยชน์อำนาจตำแหน่งในสภานิติบัญญัตแห่งชาติ(สนช.) และสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ตลอดทั้งสื่อมวลชน เช่น ASTV ผู้จัดการ สื่อเครือเนชั่น เป็นต้น ที่ทำหน้าที่ใส่ร้ายป้ายสี แต่งเติมข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนอย่างเปิดเผยด้วยเช่นกัน

การต่อสู้และเจตนารมณ์ของวีรชนไพร่คนเสื้อแดง ก็เพื่อต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง โค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่มีอำนาจกองทัพเป็นฐานสำคัญทางกองกำลัง โดยมีหลักการสำคัญที่ไม่ต้องการให้อำนาจนอกระบบ เช่น องคมนตรี กองทัพ ศาล ฯลฯ แทรกแซงทางการเมือง

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชนเดือนพฤษภาคม นั้นถูกชนชั้นปกครองในช่วงนั้นกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายความชอบธรรมว่า เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ต้องการสภาเปชิเดี่ยม

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรชนคนเสื้อแดง ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ชนชั้นปกครองปัจจุบัน ใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายความชอบธรรมว่า เป็นพวกก่อการร้าย ล้มสถาบัน

กล่าวได้ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว เจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาและเจตนารมณ์ของวีรชนไพร่คนเสื้อแดง เป็นเจตนารมณ์เดียวกัน ก็เพื่อต้องการให้ประชาธิปไตยในสังคมไทยสมบูรณ์ ต้องการให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ต้องการให้เสียงประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ และต้องการบอกว่า ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกผู้บริหารผู้ปกครองประเทศ ที่มีกติกา มีวาระที่แน่นอน

ไม่ว่าพวกเขาไพร่หรือผู้ดีอำมาตย์ ไม่ว่าพวกเขาจบป.4 หรือดอกเตอร์ ไม่ว่าพวกเขาเป็นผู้หญิง ผู้ชายหรือเพศที่สาม ไม่ว่าพวกเขาเป็นเศรษฐีหรือยากจก ไม่ว่าพวกเขานายทุนหรือกรรมกรลูกจ้าง ไม่ว่าพวกเขาชาวนาหรือนายทุนเจ้าที่ดิน ฯลฯ

เพราะ………ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน

เจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาและเจตนารมณ์ของวีรชนไพร่คนเสื้อแดง เป็นเจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการให้สังคมไทย เป็นสังคมที่มี”ระบอบอภิสิทธิ์ชน” ไม่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคม”สองมาตรฐาน” ไม่ต้องการให้สังคมไทยล้าหลังค่ำครึ ไม่ต้องการให้สังคมไทยไร้อารยะ ไม่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไร้เสรีภาพ และไม่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่คนเพียงหยิบมือเดียวเอารัดเอาเปรียบกดขี่คนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน

เพราะ…… คนเราล้วนเท่าเทียมกัน

วีรชนเดือนพฤษภาและวีรชนไพร่คนเสื้อแดง พวกเขาจึงเลือกที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจอธรรม พวกเขาจึงยืนหยัดต่อสู้ ด้วยแนวทางสันติ อสิงหาและปราศจากอาวุธ ท่ามกลางนโยบายของรัฐ ที่ต้องการปราบปรามเข่นฆ่า คุกคาม ข่มขู่พวกเขาก็ตาม

พวกเขาสละได้แม้แต่ชีวิต เพื่ออนาคตของสังคมไทย เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อพวกเราทุกคน

ขอคารวะจิตใจกล้าสู้ กล้าเสียสละของวีรชนเดือนพฤษภา 35 และวีรชนไพร่คนเสื้อแดงเดือนเมษายน 53

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักสิทธิฯ เปิดผนึก รับละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง จี้เลิกฉุกเฉิน ถอนกำลัง

Posted: 16 May 2010 07:49 AM PDT

16 พ.ค.53 กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ระบุ การปฎิบัติการครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

<!--break-->

0 0 0

จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง รัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

 

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา ประกอบด้วย อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (บางส่วน) นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 โดยมีจุดยืนยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีกระชับวงล้อมเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยการปิดล้อม ตัดน้ำ ตัดไฟ และเสบียงอาหาร และกดดันผู้ชุมมนุมมนปช.ที่ราชประสงค์ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นั้นส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิตจำนวน 24 รายและบาดเจ็บจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษาได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและมีความคิดเห็นต่อการปฎิบัติการในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

1.การใช้ยุทธวิธีกระชับวงล้อมเพื่อขอคืนพื้นที่ โดยการปิดล้อม ตัดน้ำ ตัดไฟ และเสบียงอาหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามกติการะหว่างประเทศสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 5 (2) “จะต้องไม่มีการจำกัดหรือเลี่ยงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

2.วิธีการในการจัดการกับการชุมนุมของรัฐบาลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องนั้นมีหลากหลายวิธี แต่เมื่อรัฐบาลมองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเป็นผู้ก่อการจึงใช้ยุทธวิธีเช่นเดียวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ร้ายแรง เพราะการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิใช่เป็นทั้งปรปักษ์กับรัฐบาลและมิใช่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องต้องแก้ด้วยทางการเมืองนั้นถูกต้องแล้วเพียงแต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน

3.การประกาศใชัพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมในพื้นที่ 15 จังหวัดนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ต้องการข้อยกเว้นเพื่อมิต้องปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สะท้อนให้เห็นว่านายอภิสิทธิ เวชชา ชีวะ มิได้ตระหนักและยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินแต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 4 (1) “ห้ามมิให้รัฐละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย”

4.จากคำแถลงหลายครั้งของรัฐบาลทำให้ประชาชนเชื่อว่า รัฐบาลต้องการที่จะยึดหลักกฎหมายมาบังคับใช้เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง โดยที่รับรู้กันว่าคือหลักนิติรัฐ แต่ในการปฎิบัติหลายครั้งหลายหนปรากฎว่าไร้ซึ่งหลักนิติธรรมและขาดเมตตาธรรม

5.การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ข้อ 13 และ 14 (รับรองโดยองค์กรสหประประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฎิบัติต่อผู้กระทำความผิด) เนื่องจากถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ามิได้เป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้มีการก่อเหตุร้ายใดๆเจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กำลังบังคับ และถึงแม้ว่าจะมีการก่อเหตุร้ายเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ การใช้อาวุธต้องเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุด และไม่ว่ากรณีใดก็ตามการใช้อาวุธปืนในการยิงพึงกระทำโดยจำกัดอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อาวุธเกินความจำเป็น

6.การปฎิบัติการครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ดังนั้นกลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา เห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการปฎิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อไป จึงขอให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทบทวนการปฎิบัติและสั่งถอนกำลังกลับที่ตั้งโดยทันที .

                                                                                                       16 พฤษภาคม 2553

กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา
นายศราวุฒิ ประทุมราช
นายพิทักษ์ เกิดหอม
นายธนาวัชน์ แก้วพงษ์พันธ์
นางสาวเยาวลักษณ์ อนุพันธุ์
นายสุรพล สงฆ์รักษ์
นายประสาท ศรีเกิด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอยเตอร์ส: กรุงเทพฯ ลดระดับจากแหล่งธุรกิจ เป็นแดนสงคราม

Posted: 16 May 2010 07:20 AM PDT

<!--break-->

กรุงเทพฯ
วันเสาร์ที่ 15 พฤษภา 2010 เวลา 12:15 น EDT

(สำนักข่าวรอยเตอร์ส)- กลุ่มควันคละคลุ้งจากการเผายางครอบคลุมถนนสายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ถนนที่เคยคับคั่งด้วยการจราจรที่ติดขัด ขณะนี้ได้ถูกประดับด้วยลวดหนามเพื่อใช้เป็นที่ตรึงกำลังของทหาร และเป็นที่กำบังในการยิงปืนใส่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งดูไปก็เหมือนการเล่นเอาเถิดเอาล่อกันอยู่

เสียงประสานอันไม่เป็นส่ำ เป็นส่วนผสมจากไซเรนรถพยาบาลที่ดังบาดหู เสียงปืน และระเบิดอันกึกก้อง ลั่นไปทั่วท้อง ถนน จากที่เคยถูกขนาบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรมชั้นนำ มาบัดนี้ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า เหลือเพียงควันไฟพวยพุ่ง จากการเผายางของผู้ประท้วง ควันไฟนั้นแขวนตัวอยู่เสมือนเป็นเมฆดำ เหนืออาคารสูงเหล่านั้น

ขอต้อนรับสู่กรุงเทพมหานคร—เมืองที่เคยเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรม ไนท์คลับฉาว และในวันนี้—ฉากหนึ่งของ อนาธิปไตย ซึ่งดูไปก็ไม่ต่างจากตอนหนึ่งจากซีนมิคสัญญีในหนังฮอลลีวูด

ในวันเสาร์ ทหารนับพันนายได้ใช้ความพยามในการปิดล้อมพื้นที่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกลางย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ทหารเหล่านั้นต้องต่อสู้กับกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งมีระเบิดเพลิงทำเอง ก้อนหิน และตามที่รัฐบาลอ้าง ว่าอาจมี ปืน และระเบิดมือ

ความหวังอันริบหรี่ที่จะหยุดความรุนแรงได้เลือนหายไป เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนนับพันรวมตัวกันได้อีกครั้ง และได้เรียกพรรคพวกมาเพิ่มเติม เพื่อตั้งเวทีใหม่ในบริเวณที่พักของคนใช้แรงงานซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางทางธุรกิจนัก ในที่นี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มปราศัยบนรถกระบะ และเตรียมวางแผนการตั้งที่ชุมนุมระยะยาวต่อไป

ผู้มีอำนาจของรัฐได้ดำเนินการให้มีการขึ้นป้าย ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ในบริเวณย่านธุรกิจเพื่อเตือนให้ผู้เดินทางผ่านไปมาสำนึกถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเมื่อจะเข้ามาในบริเวณนี้ กองทหารและนักแม่นปืนระดมยิงใส่ผู้ประท้วง ซึ่งพยานผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า บางคนก็ไม่ได้มีอาวุธติดตัว

ช่างภาพชาวต่างชาติคนหนึ่งกล่าวหลังจากหลบกระสุนอยู่ในบ้านในบริเวณที่เกิดเหตุกว่าหกชั่วโมงว่า “เขา (ทหาร) ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหว”

เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยต้องสาละวนอยู่บนถนน เพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าของศูนย์แพทย์ผู้หนึ่งถูกยิง และอาจเป็นได้ว่าเสียชีวิตในที่สุด นับแต่คืนมิคสัญญี (วันพฤหัสบดี) ซึ่งคร่า 24 ชีวิต มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 179 คน และ 4 คนในจำนวนนี้คือสื่อมวลชน
 

ยังไม่ท่าทีว่าความรุนแรงจะยุติลงแต่อย่างใด

เฟร็ดเดอริค เดิร์คเซ่น นักธุรกิจชาวเบลเยี่ยมที่พำนักอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ กล่าวว่า “สิ่งที่เป็นอยู่ช่างน่าสะพรึงกลัวจริงๆ ผมประหลาดใจเหลือเกินว่าแต่ละฝ่ายยอมลงทุน และยอมสูญเสียได้มากถึงเพียงนั้น” เขากล่าวต่อไปว่า “เหตุการณ์ดำเนินมานานเกินไปแล้ว และยิ่งแย่ลงทุกขณะ”

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเสื้อแดง ซึ่งจำนวนไม่น้อยคือผู้หญิงและเด็ก ร่วมชุมนุมอย่างท้าท้ายและไม่เกรงกลัว พวกเขาปักหลักอยู่ในบริเวณที่เป็นทั้งพื้นที่ชุมนุมหลักและที่พำนักชั่วคราวมากว่าหกอาทิตย์ โดยรอบๆ พื้นที่นี้ผู้ชุมนุมได้สร้างกำแพงที่ทำจากยางรถยนต์ ไม้รวกเหลาแหลมและลวดหนามสุมรวมกัน ดูเหมือนว่าเหล่าผู้ชุมจะไม่สะทกสะท้านกับความเป็นไปได้ที่ว่ากองทหารอาจบุกฝ่าแนวกั้นรับนี้เข้ามาเมื่อไรก็ได้

“ให้มันมา” นายไพสิทธิ์ ผู้ชุมนุมกล่าวไปพร้อมการกวัดไกวหอกที่ทำจากไม้ไผ่ที่อยู่ในมือของเขา

“ดีใจที่คุณไป” (Happy you’re leaving)

“ผมดีใจเหลือเกินที่คุณออกไป” ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเมโทรโปลิแทน กล่าวกับแขกคนหนึ่งขณะกำลังเช็คเอาท์ หลังจากที่กองทหารได้เข้าตรึงกำลังบนถนนด้านหน้าโรงแรมเมื่อคืนก่อน

“เราส่งอีเมลบอกแขกที่จองห้องกับเราทุกคนไม่ให้มา” ผู้จัดการกล่าวเสริม

สหรัฐอเมริกายื่นข้อเสนอช่วยอพยพครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐและคนทำงานในสถานกงศุลออกไปยังที่ที่ปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็ได้ออกคำเตือนมิให้ประชาชนสหรัฐเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่มีความจำเป็น

ในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ (15 พ.ค.) โฆษกรัฐบาลชี้แจงว่า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ แต่ประชาชนทั่วไปกลับไม่เชื่อมั่นกับแถลงการณ์นั้น

“หูฉันยังอื้อจากเสียงปืนเมื่อคืนนี้” รัตนา วีรสวัสดิ์ เจ้าของร้านของชำซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือของสถานที่ชุมนุมกล่าว “สถานการณ์ตอนนี้แย่มาก และแย่ลงเรื่อยๆ หากออกไปได้ตอนนี้คงจะเป็นการดีที่สุด”

ผู้คนต้องจำทนเดินกลับบ้านในตอนกลางคืน ผ่านแดนสงครามที่อื้ออึงไปด้วยเสียงตะโกนร้องของทหาร เดินฝ่าแนวที่ทหารยิงเตือนผู้ประท้วง สลับกับเสียงระเบิดมือที่ประโคมอยู่เป็นระยะๆ หน่วยทหารอ้างว่าผู้ประท้วงเสื้อแดงบางคนเป็นผู้ยิงระเบิดเหล่านี้ออกมา

ภาพข่าวจากสื่อปรากฏ รูปอันน่าหดหู่ของผู้เสียชีวิต ร่างจมกองเลือด แน่นิ่งไม่ไหวติง อยู่หน้าบริเวณแนวกั้นรอบๆ พื้นที่ชุมนุมหลักในเขตธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ

สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นฉายให้เห็นเหตุการณ์กลุ่มผู้ประท้วงที่กำลังเดือดดาลรุมทุบตีทหาร ที่พลัดหลงจากหน่วยของตน ในช่วงอลหม่านจากการต่อสู้ที่ไม่มีแนวรบที่ชัดเจน ทหารผู้นั้นถูกชกและเตะโดยผู้ชุมนุม จนกระทั่งมีผู้เห็นเหตุการณ์เข้ามาช่วยเหลือและนำตัวส่งหน่วยกู้ภัย

“คงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าสถานการณ์นี้จะลงเอยเช่นไร” 

แปลจาก :Bangkok descends from bustling metropolis to war zonehttp://www.reuters.com/article/idUSTRE64E1JQ20100515
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขึ้นอีกเวทีบริเวณพรรคเพื่อไทย หัวลำโพง

Posted: 16 May 2010 07:09 AM PDT

<!--break-->

16 พ.ค.53 เวลาประมาณ 20.00 น. บริเวณใกล้พรรคเพื่อไทย ย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีพร้อมเครื่องเสียงขึ้นอีกแห่งหลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีเวทีการชุมนุมเกิดขึ้นที่สามแยกคลองเตย และที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยผู้ประสานงานการชุมนุม ให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมที่เข้าไปบริเวณราชประสงค์ไม่ได้ มาร่วมชุมนุมในจุดที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยังคงยืนยันหลักสันติอหิงสา และเป็นการปกป้องการชุมนุมและลดการปะทะที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บั้งไฟทำมือ ปะทะ สไนเปอร์ทหาร : จากแนวหน้าของการชุมนุม

Posted: 16 May 2010 06:44 AM PDT

<!--break-->

ชายผู้หนึ่งชื่ออาวุธ อวิทพันดี นอนหมอบอยู่หลังแนวกั้นที่ทำขึ้นมาลวกๆ จากยางรถยนต์ รถบรรทุก และรั้วลวดหนาม เขาคอยสอดส่องขึ้นไปบนดาดฟ้าของอาคารใกล้เคียงเพื่อหาว่า มีพลแม่นปืนระยะไกลหรือสไนเปอร์ของฝ่ายทหารอยู่หรือไม่

เขายังมีสิ่งหนึ่งที่คอยติดตัวอยู่ตลอดเวลาจนทำให้เป็นที่มาของชื่อเรียกหนึ่งใน "มนุษย์บั้งไฟ" (Rocket men) ซึ่งทำมาจากไม้ไผ่กับดินปืนที่ทำขึ้นมาเอง และท่อเหล็กที่เปรียบเสมือนบาซูก้ายุคโบราณ ขณะที่จรวดทำมือของเขาอาจสู้อะไรปืนสไนเปอร์ไม่ได้เลย แต่เขาก็หวังว่ามันจะช่วยเบี่ยงเบนเป้าหมายได้สักเล็กน้อยก็ยังดี

"(บั้งไฟ) มันไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บได้หรอก เว้นแต่จะโดนเข้าไปตรง ๆ" ชายอายุ 34 ปี กล่าว เขามี 'ผู้สอดส่อง' คอยถือกล้องส่องทางไกลคอยช่วยเหลือ "แต่มันก็เป็นความหวังของเราที่จะทำให้พวกสไนเปอร์หรือพวกเฮลิคอปเตอร์ทหารที่บินต่ำ ๆ เสียกำลังใจ อาจทำให้พวกเขากลัวได้เล็กน้อย"

อย่างไรก็ตาม การสังหารผู้คนรอบตัวเขาทำให้ทราบว่า พลแม่นปืนของทหารไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะเกิดกลัวขึ้นมาเลย ตรงกันข้าม พวกผู้ชุมนุมกลับจะถูกใส่ความว่า เป็นฝ่ายยกระดับความรุนแรงไปเสีย ฉากของเมืองหลวงไทยตอนนี้กลายเป็นสมรภูมิแทนที่จะเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความมั่งคั่งที่สุดในเอเชีย ศพของคนที่ถูกยิงหมอบอยู่ตามทางเท้า บางส่วนคลานหลบไปหาที่กำบัง รอยเลือดไหลลงสู่ท่อระบายน้ำใกล้ ๆ

วันเสาร์ (15) เป็นวันที่ 3 ที่กรุงเทพฯ เป็นสมรภูมิ มีผู้เสียชีวิต 22 ราย และบาดเจ็บ 172 ราย การปะทะเกิดขึ้นหลังจากทหารพยายามล้อมผู้ชุมนุมในย่านเศรษฐกิจหลักของกรุงเทพฯ

ภายในบริเวณ 500 หลา พื้นที่ซึ่งเป็นเสมือนป้อมปราการยุคกลาง (medieval) ของเสื้อแดง ถูกล้อมโดยรถฉีดน้ำของทหารและกองทัพในชุดเกราะ แต่ภายนอกจากนั้นไปชีวิตก็ดูปกติ นักท่องเที่ยวจากอังกฤษและจากที่อื่นยังคงหาซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ของเก๊ คุ้ยกอง DVDs ข้างถนนในแถบถนนสุขุมวิท ไม่ได้รับรู้อะไรกับความวุ่นวาย

แต่อีกหลายคนก็กำลังกลัวว่าหลังจากนี้ปัญหาก็อาจลุกลามเป็นวงกว้างขึ้นไปอีก การที่อภิสิทธิ์ พยายามปราบปรามผู้ชุมนุมอาจทำให้พวกเขาลดจำนวนไปได้สักพักหนึ่ง แต่การนองเลือดมันก็กลับเป็นการตอกย้ำความเคียดแค้นให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

"ผมเศร้ามาก โดยเฉพาะตอนที่ผมเห็น 'เพื่อน' ผมตาย" ผู้ชุมนุมคนหนึ่งกล่าว เขาคือ นายอินทรา ชาติชัย หรือ 'โจ' อายุ 42 ปี เขาเป็นเสื้อแดงผู้โชกโชน ใช้เวลาทั้ง 63 วันที่ผ่านมาหลับนอนบนเสื้อน้ำมันข้างถนนใต้กันสาด "ผมรู้สึกว่าในใจผมโกรธ ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกต่อรัฐบาลนี้อย่างไรดี มันแย่ แล้วตอนนี้ก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก นี้คือเหตุผลว่าทำไมนายกฯ ควรออกจากตำแหน่งได้แล้ว"

การปะทะกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ (13) ที่ผ่านมา เมื่อนายพลผู้มีสไตล์ของตัวเองอย่าง เสธ.แดง ถูกยิงเข้าที่หัวหลังจากหมดเส้นตายมาตรการปิดล้อมของกองทัพไม่กี่นาที เขาล้มลงต่อหน้าสื่อที่กำลังสัมภาษณ์เขา กระสุนตรงเข้าที่หน้าผากเขา แกนนำเสื้อแดงบอกว่า การเล็งที่แม่นยำขนาดนี้ต้องเป็นผลงานของสไนเปอร์กองทัพ แม้รัฐบาลจะออกมาปฏิเสธและสัญญาว่าจะสืบสวนเรื่องนี้

เหวง โตจิราการ บอกว่าลูกกระสุนที่ใช้เป็น ลูกชนิด.308 จากปืนสไนเปอร์ที่มีใช้แต่ในกองทัพเท่านั้น

"นี่คือแผนการลอบสังหารโดยรัฐบาลแน่นอน" เหวง บอกกับ เทเลกราฟในวันอาทิตย์ (16) "ถ้าหากเชื่อว่าเขา (เสธ.แดง) เป็น 'ผู้ก่อการร้าย' จริง พวกเขาก็ควรไปแจ้งที่ศาล แต่นี่กลับมาจุดชนวนสงครามกลางเมืองในประเทศ"

การสูญเสียชีวิตยิ่งทำให้ความตึงเครียดสูงขึ้นไปอีกภายใต้บรรยากาศถูกล้อมที่ชุมนุมเช่นนี้ ในที่ชุมนุมเปรียบเสมือนการผสมผสานกันระหว่างงานเทศกาลกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศ ผู้ชุมนุมหลับนอนบนเสื่อ กินข้าวแกงที่มีผู้หวังดีบริจาคมาให้ คอยฟังคำปราศรัยจากเวทีที่ไม่ได้บรรจงอะไรนัก แต่พวกเขาก็เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาอยู่ตลอดเวลา มีการเตรียมก้อนหิน ถุงปลาร้า และพริกแกง เตรียมขว้างปาใส่ทหารที่เคลื่อนทัพเข้ามาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีการเตรียมน้ำมันและถั่วเขียวเพื่อให้ถนนลื่น และ "มนุษย์บั้งไฟ" อย่าง อวิทพันดี ก็คอยเตรียมบั้งไฟที่ทำจากขี้เถ้า สารเคมี เป็นกรรมวิธีเดียวกับที่ใช้กับบั้งไฟในงานเฉลิมฉลอง

ในวันศุกร์ (14) มีร่างไร้ชีวิตของผู้ชุมนุมถูกคลุมด้วยผ้าสีขาวถูกแห่ไปรอบที่ชุมนุมเพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงความโหดร้ายของทหาร ความสูญเสียอื่นๆ ถูกเผยแพร่โดยภาพถ่ายสยดสยองในจุดหนึ่งของลานชุมนุม บางรูปแสดงภาพแผลเปิดบนร่างกายพวกเขา บางรูปแสดงให้เห็นสภาพศีรษะที่ถูกปืนไรเฟิลยิง

มีผู้ชุมนุมบางคนที่เป็นพวกฮาร์ดคอร์ อย่างอรุณ แปงเมือง หรือชาติ อายุ 48 ปี เขาเป็นชาวนายากจนจากภาคเหนือ มีเมียและลูกอีก 6 คนที่โตแล้ว เขาร่วมชุมนุมมาตั้งแต่วันแรกของบอกว่าจะอยู่จนถึงสิ้นสุดการชุมนุม

"ผมมาที่นี่และจะอยู่ไปจนจบเพราะพวกเราต้องการประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่รัฐบาล 2 มาตรฐานแบบนี้" ชาติกล่าว เขามีพระเครื่องห้อยอยู่สองรูปเพื่อปัดเป่าภยันตราย "พวกเขา (รัฐบาล) นั้นมือถือสากปากถือศีล พวกเขายิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างออกไปอีก"

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังไม่มีอะไรแน่ชัด มีแกนนำหลักของเสื้อแดงถอนตัวออกไป 4 ราย เนื่องจากเกรงเรื่องการนองเลือดบานปลาย ขณะที่แกนนำคนอื่นๆ บอกว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งภายในใดๆ ของแกนนำ ขณะที่ทักษิณ ที่ถูกกล่าวหาว่าจ้างผู้ชุมนุมมาเริ่มปรากฏตัวน้อยลง ขณะที่อภิสิทธิ์เมื่อคืนที่แล้ว (15) ยังคงยืนยันปราบปรามผู้ชุมนุมต่อไป  สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็บอกว่าจะใช้มาตรการขั้นสูงสุดในการรุกรานผู้ชุมนุม และถ้าหากพวกเขาทำ ก็จะมีคนที่พร้อมเสี่ยงชีวิตอีกหลายคน

"ถ้าทหารมาผมก็ไม่กลัวตาย" ชาติกล่าว "ผมเกิดมาครั้งเดียว และผมก็ตายครั้งเดียว"
 

ที่มา
Home made rockets vs army snipers: on the frontline of the Thai protests, Telegraph
http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/thailand/7729061/Home-made-rockets-vs-army-snipers-on-the-frontline-of-the-Thai-protests.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ณัฐวุฒิย้ำยุติการใช้อาวุธปืนคือยุติความรุนแรง ระบุทหารหยุดยิง-ถอนกำลัง พร้อมเจรจาทันที

Posted: 16 May 2010 06:44 AM PDT

 นปช.แถลงให้รัฐบาลสั่งทหารหยุดยิง และถอนกำลังจากพื้นที่ปะทะ ยุติการสูญเสียชีวิตของประชาชน จากนั้น นปช.ยินดีเดินหน้าสู่การเจรจาทันที ชี้การสั่งการของนายกสร้างความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์

<!--break-->

(16 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 17.10 น.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แถลงข้อเรียกร้องของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินต่อรัฐบาลว่า ให้รัฐบาลประกาศสั่งการเจ้าหน้าที่หยุดยิงเพื่อหยุดการสูญเสียชีวิตของประชาชน และถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ที่มีการเผชิญหน้าในทันที หากรัฐบาลดำเนินการตามนี้ นปช.ยินดีเดินหน้าสู่การเจรจาในทันที พร้อมเรียกร้องให้สหประชาชาติมาเป็นตัวกลางในการเจรจา ทั้งนี้เพราะไม่เห็นว่าในประเทศจะมีองค์กรใดมีมีท่าทีตรงไปตรงมา และจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น ให้ยุติการสูญเสียชีวิตของประชาชนทันที

เลขาธิการ นปช.กล่าวแสดงความห่วงใยและเสียใจอย่างยิ่งต่อบรรยากาศของบ้านเมืองในขณะนี้ที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ยุทธการทหาร จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธจริงกับประชาชน และขณะนี้สถานการณ์ยากที่รัฐบาลจะควบคุมได้

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผู้ชุมนุมจะสลายหรือไม่ แต่อยู่ที่กำลังทหาร การที่ทหารสกัดไม่ให้คนที่จะมาเข้าร่วมการชุมนุม ไม่สามารเข้ามาได้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้เกิดความไม่พอใจและเกิดการปะทะลุกลามถึงปัจจุบัน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ต้องการใช้กำลังสลายตามที่พูดจริง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งด่านปิดกั้นจนทำให้ทหารมีการใช้อาวุธเกิดการไล่ยิงไล่ฆ่าประชาชนบนท้องถนน

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อมาว่า ผู้ชุมนุมกำลังจะผ่าน 2-3 วันนี้ ด้วยความสูญเสีย มีคนตายเกือบ 30 คน เจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 คน ดังนั้นจึงไม่เห็นประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะอธิบายว่าต้องการทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด แต่ความสูญเสียกลับมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าการสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยไม่สามารถอธิบาย เพียงว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำ

ที่ผ่านมาการชุมนุมยาวนานกว่า 2 เดือน ประชาชนไม่มีการเสียชีวิต แต่ประชาชนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเพราะการที่รัฐบาลเคลื่อนกำลัง นับจากวันที่ 10, 22, 28 เมษายน และช่วง 2-3 วันนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การยุติการชุมนุมไม่ใช่การยุติความรุนแรง แต่การยุติการใช้อาวุธปืนคือยุติความรุนแรง

นายณัฐวุฒิ กล่าวเรียกร้องด้วยว่า ขอให้รัฐบาลยุติการใช้สื่อในการให้ข่าวสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารทำร้ายประชาชน เพราะที่ผ่านมาคนตายทั้งหมดกว่า 50 คน ทำไมไม่มีชื่อผู้ก่อการร้ายโดยมีหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจนเลย ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกทำสิ่งเหล่านี้

"เราไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียอีกไม่ว่าฝ่ายใด ไม่ต้องการให้กรุงเทพฯ มีแต่เสียงปืน" แกนนำ นปช.กล่าวและว่า หากรัฐบาลต้องการฆ่าประชาชน ไม่ทำการถอนทหารและทำการประกาศเคอร์ฟิว นปช.ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว โดยการประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางออกจากพื้นที่ชุมนุมกลับบ้านได้ และคนที่ต้องการอยู่ร่วมการชุมนุมหากมีลูกหลานก็ให้ไปอยู่ในเขตอภัยทานที่วัดปทุมวนาราม ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่จะชุมนุมโดยสงบเวทีแห่งนี้ เพื่อเตรียมรับทุกสิ่งทุกอย่าง

ทั้งนี้ นปช.จะไม่ยอมสยบต่อการใช้โดยอำนาจทำร้ายประชาชนโดยอำมหิตของนายอภิสิทธิ์ หากรัฐบาลไม่ตอบรับ ทางนปช.ก็จะเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยไม่ออกจากที่ชุมนุม

"หากรัฐบาลต้องการฆ่าให้ส่งสัญญาณมา พวกผมไม่ว่าเหลืออยู่เท่าไหร่ก็พร้อมจะอยู่รอรับการฆ่า" แกนนำ นปช.กล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า หากทหารถอนกำลังและหยุดยิงจะทำให้ไม่มีเหตุผลในการเผชิญหน้า และจะมีการยุติการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ แล้วมารวมกันที่นี่ เพื่อให้แกนนำสามารถควบคุมได้ และเข้าสู่การเจรจา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทาง นปช.ได้พยายามส่งคนออกไปแล้ว แต่ออกไม่ได้ถูกยิงร่วง อีกทั้งตอนนี้การสื่อสารระหว่างแกนนำและผู้ชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ทำได้ลำบาก โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกตัดสัญญาณเป็นระยะ แต่สำหรับรัฐบาลทำได้ง่ายกว่าโดยการสั่งการกับทหาร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ที่นี่มีสงครามกลางเมือง ด้วยฝีมือ “การก่อการร้ายโดยรัฐ”

Posted: 16 May 2010 06:17 AM PDT

<!--break-->

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ ศอฉ.(ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) ที่ได้รับมอบหมายตาม พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน ให้แก้ไขสถานการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. ต่างประสานเสียงกันอย่างเอางานเอาการว่า ประชาชนที่ชุมนุมอยู่โดยรอบแยกราชประสงค์เต็มไปด้วยการแฝงตัวของ “ผู้ก่อการร้ายที่มีอาวุธสงครามร้ายแรงไว้ในครอบครอง” การปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมในมาตรการ“กระชับพื้นที่” จะมีเพียงแค่การใช้กระสุนจริงยิงป้องกันตัว หากเจ้าหน้าที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อชีวิต

ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มีพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 24 ราย ประกอบด้วย อาสากู้ชีพของโรงพยาบาล สื่อมวลชน และประชาชนผู้อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีทหารเพียง 1 นายเท่านั้น ที่บาดเจ็บเล็กน้อยจากการหกล้ม นอกจากนี้ในอินเทอร์เน็ท ยังมีการแพร่หลายของคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารมีการใช้ปืนไรเฟิลติดลำกล้องสำหรับพลซุ่มยิง ในการปราบปรามผู้ชุมนุมอีกด้วย - ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้ใจกลางของกรุงเทพมหานคร สงครามกลางเมืองได้เริ่มขึ้นแล้ว ด้วยฝีมือของผู้ก่อการร้าย แต่เป็น “การก่อการร้ายโดยรัฐ” มิใช่จากฝ่ายของผู้ชุมนุม นปช.

“การก่อการร้าย”(terrorism) มีความหมายกว้างขวางมาก แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนคนทั่วไปจะรู้จักมันในความหมายของ “...การใช้กำลังเพื่อข่มขู่ และกระจายความหวาดกลัวออกไปเป็นวงกว้างในสังคม โดยไม่ใช่ความรุนแรงที่มาจากการกระทำของรัฐ(violence non-state actor)...” ในขณะที่ความเป็นจริง มันไม่ได้มีเพียงแค่กองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงเท่านั้นที่สามารถ “ข่มขู่และกระจายความหวาดกลัวออกไปเป็นวงกว้างในสังคม” รัฐเองก็สามารถทำสิ่งที่เรียกว่า “การก่อการร้ายโดยรัฐ”(state terrorism) ได้เช่นกัน

หากพิจารณาอย่างรอบคอบ จะพบว่าการก่อการร้ายโดยรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมไทย การที่รัฐบาลใช้องค์กรเครือข่ายในโครงสร้างของรัฐ เช่น สื่อในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพ เพื่อระดมสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน บิดเบือนข่าวสารสร้างภาพ “ปีศาจ” ขึ้นมาหลอกหลอน เพื่อหาความชอบธรรมและฉันทามติในการกำจัดปีศาจร้ายออกไปจากสังคมไทย (อันเปี่ยมไปด้วยสันติสุขและความรักใคร่ปรองดอง?) ด้วยกองกำลังทหารจากกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ แบบแผนการกระทำเช่นนี้ ล้วนเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ความทรงจำทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ช่วยทำให้เราระลึกว่า เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลา 2519 กำลังปรากฎขึ้นใหม่อีกครั้ง ผ่านตัวละครที่เปลี่ยนแปลงไป บนโครงสร้างของเรื่องแบบเดิม  - ความแตกต่างมีเพียงอย่างหนึ่ง คือแทนที่ผู้บงการโดยตรงจะเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” ดังเช่นในอดีต ครั้งนี้กลับเป็นการบงการของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเสียเอง

การสร้างมณฑลของความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น  เป็นมาตรการขั้นแรกที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของนปช. บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และถูกสร้างให้เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ จากม็อบเติมเงินที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม สู่กองกำลังที่แฝงผู้ก่อการร้ายต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศ ข้อกล่าวหาเก่าแก่ อย่างการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ศอฉ. เผยแพร่แผนผังที่ชี้ว่ามีการเคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายอย่างระเบียบแบบแผน จุดศูนย์กลางของแผนผังชี้ไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พ้นตำแหน่งจากการถูกรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 มณฑลของความหวาดกลัวเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการควบคุมข่าวสาร และปิดกั้นเว็บไซต์ จนทำให้มีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีกด้าน ในท้ายที่สุดก็เพียงพอที่จะทำคนเหล่านั้นให้เชื่อว่าภาพปีศาจที่รัฐสร้างขึ้นนั้น มีอยู่จริง

ในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการที่รัฐมีศักยภาพสูงมากในการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนไหวแทบจะเกือบทั้งหมดของข่าวสารอีกด้านเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ท นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองโดยรัฐเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ในอินเทอร์เน็ทเอง ภาพและคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุม ถูกเผยแพร่อยู่ในวงจำกัด เช่น เว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศ เว็บไซต์ Youtube และ เว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่าง Facebook เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือการใช้กำลังเพื่อข่มขู่กดทับพื้นที่ส่วนอื่น และปล่อยให้มณฑลแห่งความหวาดกลัวที่รัฐสร้างขึ้นกระจายออกไปในสังคม มันคือ “การก่อการร้ายผ่านข้อมูลข่าวสาร” ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ให้ปรากฎขึ้นในความรับรู้-ความคิด และเน้นย้ำการมีอยู่จริงของมันด้วยความหวาดกลัวของประชาชน

โดยปกติการสลายการชุมนุมตามหลักสากล จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกฝึกมาให้เหมาะสมต่อการควบคุมฝูงชน มีลำดับและขั้นตอนในการสลายการชุมนุมตั้งแต่มาตรการขั้นเบาอย่างการผลักดัน ไปจนถึงมาตรการขั้นหนักอย่างการใช้กระสุนยาง แล้วเหตุใด การสั่งให้สลายการชุมนุมของ นปช. โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ทั้ง 3 ครั้ง จึงใช้กำลังทหาร แม้แต่นายทหารผู้ซึ่งถูกรัฐสร้างให้เป็น “ปีศาจ” อยู่เบื้องหลังความรุนแรงหลายครั้ง อย่าง พล.ต ขัตติยะ สวัสดิผล ยังถูกลอบสังหารด้วยกระสุนจากพลแม่นปืน คำตอบโดยตรงจากนายอภิสิทธิ์นั้น อาจจะยากที่จะรู้ได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง และอาจทำให้เราตอบคำถามนี้ได้ ก็คือการที่รัฐพยายามทำให้ผู้ชุมนุมกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปเสียเอง

การที่การก่อการร้ายและตัวผู้ก่อการร้ายเองเป็นสถานะที่ก้ำกึ่งคลุมเครือ ปฏิเสธต่อคุณค่าและสัญญะต่างๆ ในสังคม ไม่มีนิยามโดยตัวมันเองที่แน่นอน ทำให้รัฐสามารถจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” ด้วยความรุนแรงแบบสมบูรณ์(soverreign violence) โดยไม่สนใจคุณค่าต่างๆ อย่างเช่น สิทธิมนุษยชน หรือหลักการประชาธิปไตย ได้โดยง่ายเช่นกัน – การที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องการยุบสภา จะถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้รัฐสามารถก้าวพ้นเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมประท้วง และการปราบปรามผู้ก่อการร้ายเพื่อสร้างความสันติภาพให้กับสังคม(preventive war)ได้

การสร้างเส้นแบ่งระหว่างประชาชนที่เคารพระเบียบกฎหมายบ้านเมือง(เด็กที่เชื่อง) และประชาชนที่ท้าทายอำนาจรัฐ(เด็กที่ไม่เชื่อง)ในการแถลงการณ์หลายครั้งของนายอภิสิทธิ์ ทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า “Every nation, in every region, now has a decision to make. Either you are with us or you are with the terrorists.” (ทุกประเทศจากทุกภูมิภาค ในขณะนี้ท่านจะต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกอยู่ข้างเรา หรืออยู่ข้างกับผู้ก่อการร้าย) ซึ่งเป็นคำกล่าวของประธานาธิบดียอร์ช ดับเบิลยู บุช ที่ถูกประกาศกร้าวขึ้นในที่ประชุมสภาคองเกรสหลังเหตุการณ์ 9/11 เพียง 9 วัน  - การสร้างเส้นแบ่งนี้อาจนับว่าโหดร้ายกว่าการแขวนป้ายเขตใช้กระสุนจริงเสียอีก เพราะนั่นหมายความว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ใครๆ ก็อาจจะถูกจัดให้เป็นผู้ก่อการร้ายได้หากสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมนปช. หรือทำให้การชุมนุมยืดยาวออกไป

ตัวอย่างที่เด่นชัดอันหนึ่ง คือการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีพวชิรพยาบาล ระหว่างการพยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะ ดูเป็นที่สิ่งที่น่าสงสัย สำหรับการที่สภากาชาด แพทยสภา และแพทย์ผู้เคยเคลื่อนไหวเป็นเดือดเป็นร้อนจากการบุกโรงพยาบาลจุฬาของ นปช. กลับนิ่งเฉยต่อการตายของบุคคลากรทางการแพทย์ระหว่างการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ – การเป็นผู้สนับสนุนกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” ให้มีชีวิตรอด จึงข้ามพ้นเส้นแบ่งของสิทธิในการรักษาพยาบาลและการปกป้องบุคคลากรทางการแพทย์ ไป กลายเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อมะเร็งร้ายที่จะต้องกำจัด – ไม่ใช่แค่อาสากู้ชีพเท่านั้น ที่อาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย รัฐบาลยังไม่รับรองความปลอดภัยของสื่อมวลชน ที่อาจจะนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

ไม่ว่ากี่ปีจะผ่านไป มีอีกกี่เหตุการณ์ให้ต้องจดจำ หรือต้องจัดงานระลึกถึง ดูเหมือนรัฐบาลบางประเภท(แน่นอนว่านี่ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์ทีเดียว)ยังคงมีวิธีคิดแบบเดิมๆ จากข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว มาเป็นการก่อการร้ายในวันนี้ แม้จะเกาะกระแสความหวาดกลัวของโลกเพื่อเร่งระดับความรุนแรง แต่มันน่าประหลาดใจที่รัฐบาล เรียกผู้ชุมนุมว่าผู้ก่อการร้าย(terrorists) ทุกวัน แต่กลับแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกอย่างหนึ่งว่า กองกำลังติดอาวุธ (armed forces) ดูเหมือนรัฐบาลจะกระหยิ่มใจที่จะสร้างความกลัวและปีศาจขึ้นมาหลอกหลอนประชาชนในรัฐของตนเองอย่างไม่เบื่อหน่าย พวกเขาปิดกัั้นการรับรู้จากต่างประเทศอย่างไม่สะทกสะท้าน จนคิดว่าชาวต่างชาติโง่จนไม่สามารถหาคนแปลภาษาไทยได้

ในอนาคต เมื่อภาพของปีศาจที่เคยหลอกหลอนพวกเราจะถูกกาลเวลากร่อนให้ลบเลือนไป แต่การดำรงอยู่ของมันอาจยาวนานกว่านั้น บางทีมันอาจจะปรากฎ และหลอกหลอนความผิดพลาดของพวกเราอีกครั้ง ถ้าหากเราเลือกที่จะสาปแช่ง ผลักดันความเป็นคนออกไปจากคนที่เห็นต่าง และลากเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเรา และความเป็นอื่นขึ้นอยู่เรี่อยไป

“การก่อการร้ายโดยรัฐ” เป็นบทสรุปที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสถานการณ์สงครามกลางเมืองในปัจจุบัน ถึงตอนนี้ อาจจะถึงเวลาที่ท่านต้องติดสินใจ ว่าจะเลือกอยู่ข้างเรา หรืออยู่ข้างของผู้ก่อการร้าย?

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

55 ส.ว.อัดรัฐ หยุดยิง ปชช. ทำผิดต้องเข้ายุติธรรม ไม่ใช่ยิง

Posted: 16 May 2010 06:05 AM PDT

16 พ.ค.53 มติชนออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ส.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงมาตรการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 20 ราย บาดเจ็บกว่า 200 ราย ว่า ส.ว. 55 คน ได้หารือกันทางโทรศัพท์ เห็นตรงกันว่า การใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตขนาดนี้มากเกินไปแล้ว ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายมาก ไม่รู้ว่าอีก 100 ปีจะฟื้นฟูกลับคืนมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ จึงมีมติว่า 1. รัฐบาลต้องพิจารณาการนำอาวุธสงครามออกมาใช้ให้รอบคอบกว่านี้ เพราะภาพที่ออกมาไม่ใช่การยิงระยะใกล้ หรือระยะกระชั้นชิดที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตกำลังพลอย่างที่รัฐบาลหรือศอฉ.ประกาศ แต่เป็นการเล็งยิงจากระยะไกลข้ามถนน ผู้บาดเจ็บและตายส่วนใหญ่ถูกยิงที่ศีรษะและหน้าอก 2. ส.ว.ขอให้รัฐบาลเน้นใช้วิธีปิดล้อม ตามที่บอกว่าใช้วิธีกระชับวงล้อมก็ทำไป ที่บอกว่าต้องบังคับใช้นิติรัฐส.ว.เห็นด้วย คนที่ทำผิดกฎหมายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการคุ้มครองชีวิตจากรัฐเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการสืบพยาน สอบสวน ไม่ใช่ใช้วิธียิงได้เลยแบบนี้

“การบอกว่ามีกลุ่มก่อการร้ายอยู่ในนั้น สามารถใช้กระสุนจริงยิงได้เลย ตายไม่เป็นไร แบบนี้คือนิติรัฐในความหมายของรัฐบาลหรือไม่ เพราะนิติรัฐคือการใช้กฎหมายให้สังคมเกิดความสงบสุข แต่การสูญเสียชีวิตขณะนี้มาจากความไม่รอบคอบในมาตรการของฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่เข้าใจว่าก่อนหน้านี้นายกฯประกาศว่าทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการภายในวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ทำไมอยู่ดีๆถึงออกมาขีดเส้นตายว่าทุกอย่างต้องจบภายในวันที่ 12 พฤษภาคม ตรงนี้ต้องบอกสังคมให้ได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเกิดความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลว่าอยากจะปรองดองจริงหรือไม่” นางนฤมล กล่าว 

นางนฤมล กล่าวว่า ผู้ชุมนุมก็มีความเห็นความต้องการที่หลากหลาย รัฐบาลต้องใช้ความอดทนให้เวลากับการเจรจา ที่ประชุมวุฒิสภาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางเจรจาปรองดองกัน เพื่อนำความสงบสันติกลับมาให้สังคม เพราะเชื่อว่าความรุนแรงไม่สามารถลบด้วยความรุนแรงได้ แต่ยิ่งทำให้ทุกอย่างลุกลามบานปลายขยายวงออกไปมากขึ้นอย่างไม่มีจบสิ้น จึงขอให้กลับมาเจรจากันใหม่โดยด่วนที่สุด ตอนนี้เหลือเพียงประเด็นจะให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เข้ารับข้อกล่าวหาหรือไม่เท่านั้น   แต่รู้สึกเสียใจที่นายกฯยังยืนยันให้เดินหน้าใช้มาตรการนี้ต่อไป ไม่เข้าใจว่าคนที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะมาจากประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่างอังกฤษ ทำไมถึงยอมรับได้กับการสูญเสียชีวิตได้มากขนาดนี้ ชีวิตคนสามารถเยียวยาคืนมาได้หรือ ส.ว.จึงรู้สึกอึดอัดกับสภาพแบบนี้

นางนฤมล กล่าวอีกว่า ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการสร้างความสูญเสียชีวิตประชาชนได้แล้ว ต้องคำนึงถึงผลเสียมากกว่าผลได้ ที่จริงเพื่อนส.ว.หลายคนพยายามร่วมกันคิดหาทางออก อาทิ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันกาลหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ประธานวุฒิสภามีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลสถานการณ์วิกฤติของประเทศแล้ว โดยมีตัวแทนจากทุกคณะกรรมาธิการ และองค์การภาคส่วนอื่น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเรียกประชุมกันเลย

เมื่อถามว่า ศอฉ.ยังคงยืนยันว่ามีกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม นางนฤมล กล่าวว่า น่าสงสัยว่าหากมีกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธอยู่ในนั้นจริง ทำไมคนบาดเจ็บล้มตายจึงมีแต่ประชาชน ไม่มีทหารบาดเจ็บล้มตายเลย สิ่งที่นายกฯดำเนินการมานี้ไม่ใช่สมาร์ทมูฟ หรือการเคลื่อนไหวที่สง่างามแล้ว 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์
 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น