โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

'มาร์ค' ลั่นจะปรองดองหรือไม่ ให้รีบตอบ-ห้ามต่อรอง จี้เสื้อแดงกลับบ้านพรุ่งนี้

Posted: 11 May 2010 11:02 AM PDT

อภิสิทธิ์ลั่นจะปรองดองต้องเลิกชุมนุม ห้ามต่อรอง พรุ่งนี้ให้ตอบ 'รับ' หรือ 'ไม่รับ' ลั่นถ้าไม่รับจะมีมาตรการ "ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และที่ทำงาน" ลั่นรัฐชอบธรรมที่จะทำให้เกิดความมั่นคง-ปกติ บอกผู้ชุมนุมพรุ่งนี้กลับบ้านก่อน เรื่องอื่นพูดกันทีหลัง

<!--break-->

ที่มา: ศูนย์สื่อทำ้นียบรัฐบาล

 

มาร์คลั่นห้ามต่อรองแผนปรองดอง จะคืนทีวีต่อเมื่อมีกลไกที่ชัดเจน

วันนี้ (11 พ.ค.) เวลา 20.10 น. ที่รัฐสภา  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เเกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุไม่ยอมสลายการชุมนุมจนกว่านายกรัฐมนตรี  และนายสุเทพ เทือก สุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมอบตัวในฐานะผู้ต้องหาว่า ขอเรียนย้ำว่าตั้งแต่ที่ตนประกาศแผนปรองดอง 5 ข้อ มานั้น ได้พูดตั้งแต่ต้นว่าไม่มีเรื่องเจรจาต่อรองใดๆ หลาย เรื่องที่ผู้ชุมนุมพูดมานั้นมันเป็นเรื่องที่มีคำตอบอยู่ในแผนอยู่แล้ว เช่น การเรียกร้องให้คืนสัญญาณพีเพิลชาแนลนั้น ตนบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าในแผนนั้นชัดเจนแล้วว่าต้องมีกลไกเข้ามาดูแลก่อนว่าเรื่องการใช้สื่อในลักษณะที่กระทบกับความปรองดองและสร้างความเกลียดชังปลุกระดมนั้น ต้องมีกลไกที่ชัดก่อนจึงจะดำเนินการให้ฝ่ายต่างๆ  ดำเนินการต่อไปได้  เป็นต้น

 

ลั่นเรียกร้องให้สุเทพไปมอบตัวไม่ได้ เพราะไม่มีหมายเรียกหมายจับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพราะฉะนั้นเรื่องที่แกนนำ นปช.พูดเรื่องเงื่อนไขที่ตนและนายสุเทพต้องไปมอบตัวนั้น มันไม่ใช่เรื่อง เพราะตนบอกแล้วว่าในเหตุการณ์ต่างๆ  นั้นจะมีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์  แต่เช้าวันนี้ กรณีที่นายสุเทพเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น นายสุเทพไม่ได้ไปมอบตัว แต่นายสุเทพต้องการไปแสดงเจตนาว่ารัฐบาลพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้แกนนำ นปช.จะมาเรียกร้องให้นายสุเทพ ไปมอบตัวนั้นมันมอบตัวไม่ได้ เพราะไม่มีหมายเรียกและหมายจับใดๆ

 

จะปรองดองต้องเลิกชุมนุม จี้ให้ตอบรับหรือไม่รับ

เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ตนคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นแต่ ประเด็นคือหากผู้ชุมนุมอยากจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แต่จะบอกว่าตอบรับและเข้าสู่กระบวนการเงื่อนไขวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน เท่านั้นไม่ได้ เพราะต้องยกเลิกการชุมนุม  หากนำประเด็นเล็กประเด็นน้อยขึ้นมามันก็ไม่เลิกชุมนุม เพราะรัฐบาลไม่มีการต่อรอง รับก็รับ ไม่รับก็ไม่รับ และ ขอให้ตอบด้วยว่ารับหรือไม่รับ เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนมากพอ แล้วความอดทนของประชาชนกลุ่มอื่นๆ  ก็ลดลงมาก ความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกพื้นที่ชุมนุมนั้นก็มีมากทุกวัน ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลยที่จะมายื้อเวลาในลักษณะแบบนี้ ซึ่งตนคิดว่าหากไม่ตอบรับก็บอกมาเลยว่าไม่ตอบรับ

 

ถ้าไม่ตอบรับ จะมีมาตรการซึ่งอาจกระทบประชาชนในพื้นที่บ้างไม่เฉพาะผู้ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแกนนำ นปช. ใช้วิธีการที่ว่าตอบรับแต่ยื้อเวลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่มีแล้ว ตนถือว่าการไม่ยุติการชุมนุมถือว่าไม่ตอบรับ และวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็รับทราบสถานการณ์และทราบความจำเป็นของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดำเนินมาตรการต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่ รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนว่าอาจต้องได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ  และจำเป็นที่ต้องเตือนทุกฝ่ายว่า สิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำเพื่อคืนความเป็นปกติให้สังคมนั้นต้องทำอย่างเร่งด่วน

 

พรุ่งนี้ให้กลับบ้าน ถ้ายังไม่ยุติ รัฐมีความชอบธรรมที่จะทำให้เกิดความปกติ

“เพราะฉะนั้นอยากให้ผู้ชุมนุมแสดงออกเลยพรุ่งนี้ แล้วก็กลับบ้านเลย เรื่องอื่นๆ  พูดกันทีหลังหากมีความจริงใจกับการปรองดอง เพราะแผนการปรองดองนั้น  ผมเดินหน้าทุกเรื่อง วันนี้ ครม.อนุมัติ เรื่องการจัดทำสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่มีการอนุมัติงบประมาณโดยให้สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ในนามมูลนิธิเข้าไปอำนวยการ ส่วนแผนเรื่องสื่อนั้น  ผมจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  ส่วนแผนการ เมืองนั้นผมจะขอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามามีบทบาททุกเรื่อง เดินไปข้างหน้าทั้งสิ้น  ฉะนั้นยุติการชุมนุมเสีย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า  แสดงว่าหากการชุมนุมยังไม่ยุติ ภาครัฐจะตัดสินใจเข้าไปจัดการ พื้นที่การชุมนุม นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ตนถือว่าตอนนี้ภาครัฐมีความชอบธรรมทุกประการที่จะดำเนินการตามความจำเป็นให้เกิดความมั่นคงและความเป็นปกติ

 

ปัดตอบวิธีสลายการชุมนุม แต่มีหลายมาตรการ ศอฉ. จะเป็นผู้แถลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า  ประชาชนในพื้นที่ราชประสงค์อาจได้รับความเดือดร้อนช่วงสั้นๆ  หมายความว่าจะสลายการชุมนุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันคงจะเริ่มจากมาตรการที่จะไปกระทบกับพื้นที่ คือ การใช้ชีวิตข้างใน ไม่ใช่รอบๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะไล่คุมพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปเพิ่ม นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จะมีมาตรการหลายอย่างโดยศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะเป็นผู้แถลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า  มั่นใจการเข้าไปคุมพื้นที่เพียงใด  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ฝ่ายความมั่นคงเตรียมการมาตลอด  แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้เวลามากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วในการที่จะตอบรับกับแผนการปรองดอง  ตนถือว่าแผนนี้ต้องเดินหน้าต่อ  แต่เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบมันกระทบกับการเลือกตั้ง  เพราะฉะนั้นควรกลับบ้านในพรุ่งนี้

 

สุเทพประชุม ศอฉ. เล็งกดดันเสื้อแดงหลัง 12 พ.ค. เนื่องจากจะเปิดเทอมแล้ว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ ร.11 รอ. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นประธานการประชุม ศอฉ.ในเวลา 17.00 น. โดยมี พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งที่ประชุม ศอฉ. ได้มีการสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราช ประสงค์ โดยเฉพาะการประเมินท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศเสนอแนวทางออกของประเทศด้วยการประกาศการปรองดองแห่งชาติ หรือ โรดแม็ป ไปตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง ศอฉ.จะรอดูท่าทีของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) อีก 1 วันเท่านั้น หากยังไม่มีการยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ทาง ศอฉ. ก็คงจะใช้มาตรการกดดันให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด เนื่องจากสัปดาห์หน้าโรงเรียนในพื้นที่เขต กทม. จะเปิดภาคเรียนหมดแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น

 

แจงไปพบอธิบดีเอสไอ เป็นนโยบายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ตามเสื้อแดง

นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ศอฉ. ถึงกรณีที่เดินทางไปรับทราบการร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีการขอพื้นที่คืนจาก กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยยืนยันว่า ไม่ได้เดินทางไปตามเงื่อนไขของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีการเรียกร้อง แต่การที่ตนเดินทางไปพบ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น เป็นไปตามนโยบายของ นายอภิสิทธิ์ ที่ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งจบลง และให้เกิดความสมานฉันท์ของบุคคลทั้งสองฝ่าย

 

การปฏิบัติงานของ ศอฉ. เป็นไปตาม พรก.ฉุกเฉินจึงไม่ผิดทั้งแพ่ง อาญา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานของ ศอฉ. เป็นไปตามการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในการดูแลความสงบเรียบร้อยของ ประเทศ จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามความคดีอาญา และ คดีแพ่ง แต่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ หรือ ที่สี่แยกคอกวัว ผิดวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดไว้ เนื่องจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงสร้างปัญหา และทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะการทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

สั่ง 'ปทีป' รับมือ แกนนำ นปช. 24 คนจะไปมอบตัวกองปราบ

มีรายงานด้วยว่า นายสุเทพ สั่งการให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จัดกำลังตำรวจดูแลแกนนำ นปช. 24 คน ที่จะเข้าไปมอบตัวที่กองปราบปรามในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เนื่องจากเกรงว่า จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปให้กำลังใจกับแกนนำที่กองปราบปรามเป็นจำนวนมากจะสร้างความวุ่นวาย

ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ขณะนี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มฮาร์คอร์ นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทำให้เวลานี้แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงไม่สามารถตกลงกันได้ จึงพยายามเยื้อเวลาออกไปเพื่อต้องการชุมนุมต่อ


ที่มา: เรียบเรียงจาก
นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐมีความชอบธรรมที่จะขอคืนพื้นที่ให้เข้าสู่ภาวะปกติ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 11/5/2010
http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=44567

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.ปิดไปแล้ว 612 เว็บ แต่หนักใจเปิดใหม่ได้ใน 5 นาที

Posted: 11 May 2010 09:02 AM PDT

สั่ง 'ไอซีที' ปิดเว็บที่ ศอฉ. เห็นว่า "เข้าข่ายปลุกระดม" แล้ว 612 เว็บ จากอาทิตย์ก่อนปิดไป 420 เว็บ ส่วนใหญ่เป็นเว็บถ่ายทอดชุมนุมเสื้อแดง แต่หนักใจปิดแล้วสามารถเปิดใหม่ได้ในเวลาไม่เกิน 5 นาที

<!--break-->

เว็บไซต์ที่ถูก ศอฉ. บล็อก จะรีไดเร็กมาที่ http://58.97.5.29/www.capothai.org/

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ศอฉ. มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปิดเว็บไซต์ที่ ศอฉ. เรียกว่า "เข้าข่ายปลุกระดม" ไปแล้ว 612 เว็บไซต์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดไป 420 เว็บ

ไทยรัฐออนไลน์ระบุว่า เว็บที่ปิดส่วนใหญ่เป็นเว็บถ่ายทอดสดการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่ง ศอฉ. เห็นว่า "เข้าข่ายยั่วยุและปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง"

ไทยรัฐรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจาก ศอฉ. ต่อไปว่า ปัญหาที่น่าหนักใจของ ศอฉ. คือ จำนวนเว็บไซต์ปลุกระดมที่เพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่ยอดปิดเว็บเพิ่มขึ้นนั้น เพราะเว็บที่สั่งปิดไปแล้วไป สามารถเปิดใหม่ได้โดยเปลี่ยนเป็นใช้ชื่ออื่นภายในไม่เกิน 5 นาที อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และ รอคำสั่งจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยเฉพาะการเปิดให้ใช้เว็บไซต์ได้ หากยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ภารกิจช่วยฉลามวาฬเกยตื้นที่บางสะพาน

Posted: 11 May 2010 05:57 AM PDT

ไปดูกลุ่มอาสาสมัครช่วยฉลามวาฬที่ติดอวนของชาวประมง ที่หาดดอนสำราญ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหาดดังกล่าวเป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬ โดย “วิฑูรย์ บัวโรย” เล็งเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

<!--break-->

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังฉลามวาฬช่วยฉลามวาฬที่ติดอวนของชาวประมง และนำปล่อยลงทะเล เมื่อ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา

 

จุดชมฉลามวาฬที่หาดดอนสำราญ ถือเป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬมาเนิ่นนานแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วฉลามวาฬได้เข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งมากจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม โดยสามารถมองเห็นปลาวาฬที่อยู่ห่างฝั่งไม่เกิน 20 เมตร โดยเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร นายอำเภอบางสะพาน กับกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้เปิดตัวจุดชมฉลามวาฬดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

และเมื่อวานนี้ (10 พ.ค. 53) ที่จุดชมฉลามวาฬ หาดดอนสำราญ ชาวประมงแจ้งว่ามีฉลามวาฬขนาดความยาวประมาณ 4-5 เมตร ว่ายมาติดอวน จึงมีการแจ้งขอความช่วยเหลือไปที่นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังฉลามวาฬ ซึ่งทางกลุ่มอาสาสมัครดูแลฉลามวาฬได้ส่งคนมาช่วยเหลือฉลามวาฬดังกล่าว โดยการตัดอวนที่พันร่างของฉลามวาฬ และปล่อยฉลามวาฬลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย

นายวิฑูรย์ บัวโรย กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่ฉลามวาฬติดอวนเช่นนี้หากกลุ่มอาสาสมัครไม่รีบช่วยฉลามวาฬออกจากอวน อาจทำให้ฉลามวาฬตัวนี้ตายได้เพราะตอนที่เราช่วยเขาก็มีท่าทีอ่อนเพลียแล้ว และขอให้พี่น้องชาวประมงคอยระมัดระวังด้วย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งหากินของฉลามวาฬ ที่จะเข้ามาหากินแพลงตอนที่นี่เป็นประจำทุกปี”

"อยากฝากทุกท่านที่ต้องการมาชมฉลามวาฬด้วยว่าควรชมอย่างระมัดระวังไม่ควรเข้าใกล้เกินไป ทุกคนควรรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาด รวมถึงรักษาป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแพลงตอนพืช ที่เป็นอาหารที่สำคัญของฉลามวาฬ ปลาทู และสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ และที่ป่าพรุแม่ลำพึงยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และทางชุมชนกำลังจะเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอให้พิจารณาเป็นพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซ่าร์ไซด์ (Ramsar site) ต่อไป” นายวิฑูรย์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:เพียงแต่ยังไม่ได้ทาสี

Posted: 11 May 2010 12:28 AM PDT

<!--break-->

บางอย่างบนเส้นทาง
ผมเดินไปเห็น บางสิ่งบนถนน
อะไรสักอย่าง ผมไม่เข้าใจ
ผมไม่เคยพบเห็น
มันดูประหลาดมาก
ผมพลันหวนคิด วันในวัยเยาว์
บางสิ่งที่ดูเหมือนจะเคยเกิด
แต่มันช่างรางเลือน
เหมือนสิ่งที่กำลังจะเกิด
และเคยเกิด
แต่ผมประกันได้เลย
ผมไม่รู้จักไอ้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้านั่น
อยู่อยู่ความปวดร้าวจู่โจมผม
ท้ายทอยของผมเหมือนมีระฆังพันใบ
ระรัวเสียงที่สวรรค์และนรกไม่เคยรังสรรค์
ผมจะบอกอย่างไรดี ผมอธิบายมันไม่ได้
เสียงก้องทำให้หัวผมแทบระเบิด
เหมือนระดับของเหลวในหูผมไหลทะลัก
ผมรู้สึกหัวของผมโตขึ้นโตขึ้นจนบดบังทัศนวิสัย
และกีดขวางการจราจรในบัดนั้น
อะไรบางอย่างที่เห็นกำลังหยั่งรากบนผิวถนน
ขณะเดียวกันก็เห็นผู้คนต่างจ้องมองมายังผม
สายตาทั้งหลายมีความตื่นตระหนกอย่างเหลือร้าย
ผมเห็นผมในดวงตาเหล่านั้น
มันกำลังหัวร่อสิ่งแปลกปลอม
แล้วลำตัวผมอุบัติด้วยกิ่งใบ
ชูช่อเสียดฟ้าทะมึนที่กำลังตั้งเค้าพายุ
บางคนอุทานว่า ต้นไม้ยักษ์!
ที่นี้ ผมจะทำอย่างไรดี มันช่างละอาย
ร่างกายผมกำลังประจานท่ามกลางการจราจร
ผมหนาว ผมสั่น ผมหนาว ผมสั่น
ผมอยากได้ผ้านวมมาคลุมกาย
พลเมืองผู้ภักดีทะยอยไปเปิดฝากระโปรงรถ
พลันเสียงเลื่อยไฟฟ้านับร้อยแผดคำราม
กลิ่นเบนซินชวนผมคลื่นไส้
ผมอยากหนีไปจากที่ตรงนั้น
แต่รากของผมลึกเกินกว่าจะผละไป
พวกเขาละล้าละลังและหวาดหวั่นที่จะสัมผัสผิวหนังผม
แต่พวกเขาก็ทำ
ผมพยายามกรีดร้องแต่เสียงผมไม่หลุดจากปาก
ผมอยากร้องไห้แต่น้ำตากลับไหลย้อนซึมเข้าสู่กิ่งก้าน
กระดูกแตกราวผนังกระจกถูกอัดด้วยแรงฟุตบอลของวัยหนุ่ม
เปลือกผมเละยุ่ย อย่างกับโจ๊กมื้อเช้า
สายพานคมเลื่อยชำแรกเข้าที่ข้อเท้าของผม
เลือดสีขาวไหลเป็นทางบนถนนที่จะนำผมกลับบ้าน
ผมนึกถึงวันแรกที่ผมมาเยือนโลก
ต่างกันเพียงดวงตามากมายกำลังปรีดิ์เปรม
ขณะที่ร่างของผมกำลังโงนเงน
ดูพวกเขาช่างหนักแน่นและแน่วแน่
ร่างผมโค่น กระแทกลงกลางถนน!
งานฉลองใหญ่เกิดขึ้นทั่วเมือง
พลุแตกเต็มฟ้ากลางราตรี
ดวงตาพวกเขาช่างอิ่มเอม
ขณะที่เพื่อนผู้มาก่อนผมได้รับอาภรณ์เป็นดวงไฟระยิบ
ร่างของผมถูกลิดกิ่งและใบออก
ลำต้นของผมถูกตัดและซอยเป็นซี่ซี่
พวกเขาบางกลุ่มต่อรองกันว่า จะเอาท่อนแขน หรือท่อนขาดี
อีกบางกลุ่มกระโดดไปบนหลังคารถ พลางชูกำปั้น
กร้าวประกาศว่า มันน่าจะเป็นเมรุอันวิจิตรตระการ
อีกบางกลุ่มแย้งว่า แต่ทั้งหมดนี้ คืออนาคตมหาราชวังสิบหลัง
แด่ราชโอรสผู้ทรงพิสมัยเสด็จประพาสทางไกล
และพึงพระราชหฤทัยในการดื่มฤดูกาล
นับแต่นั้นมาเรื่องราวของผมถูกเล่าขาน
กลายเป็นเทพองค์หนึ่งซึ่งศักดิ์สิทธิ์
เรื่องของผมอยู่ในชามเบรกฟัสต์
ละลายอยู่ในแก้วเอสเพรสโซ
อยู่ในหน้าโซไซตี้บางกอกโพสต์
อยู่ในฝ้ายถุงเท้าปิแอร์การ์แดง
อยู่ในเน็กไทยับยู่ยี่ลายช้างเผือก
อยู่ในเบสต์เซลเลอร์ ผมจะเป็นคนดี
อยู่ในช่อการะเกดฉบับเทียบเชิญ
อยู่ในฟ้าเดียวกันฉบับข้อมูลใหม่
อยู่ในมิชลินสี่ล้อรถประจำตำแหน่ง
อยู่ในพวงมาลัยทำมือของเด็กน้อย
อยู่ในบิลบอร์ดไทยเข้มแข็งข้างทางด่วน
อยู่ในพานพุ่มหน้าทางเข้าสำนักงานใหญ่
อยู่ในกรอบไม้สักทองอันเป็นที่สักการะ!

 

                               ซะการีย์ยา อมตยา

จากรวมเล่มบทกวี ‘ไม่มีหญิงสาวในบทกวี’ สำนักพิมพ์หนึ่ง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: นิติรัฐที่ไร้นิติธรรม

Posted: 11 May 2010 12:12 AM PDT

<!--break-->

 

ดูราวกับคำว่า "นิติรัฐ" จะได้รับการเน้นย้ำในฐานะเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการนำสังคมไทยกลับ สู่ความเป็นปกติ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนต่างก็อ้างอิงถึงถ้อยคำนี้ว่า เป็นเงื่อนไขที่ต้องได้รับการปกป้องมากกว่าสิ่งอื่นใด

นิติรัฐ (Legal State) อันหมายถึงรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมาย เป็นแนวความคิดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมการกระทำของรัฐมิให้ดำเนินไปตาม อำเภอใจของผู้มีอำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจของรัฐต้องอยู่ใต้กรอบของกฎหมายที่ได้วางไว้ล่วงหน้า บนพื้นฐานความเชื่อว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวนี้จะช่วยสามารถปกป้องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนให้ดำรงได้อย่างมั่นคง มากกว่ารัฐตำรวจอันมีความหมายถึงรัฐที่มุ่งเน้นการใช้อำนาจเป็นด้านหลัก

แนวความคิดเรื่องนิติรัฐเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับและนำไปปฏิบัติอย่าง แพร่หลายในโลกปัจจุบัน ถือเป็นแนวความคิดสำคัญของระบอบเสรีประชาธิปไตยซึ่งมีความเชื่อในระบอบของ กฎหมายมากกว่าตัวบุคคล

แม้นิติรัฐจะเป็นหลักการที่มีความสำคัญอันหนึ่งสำหรับสังคม ประชาธิปไตย แต่พึงต้องระวังไว้อย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกันว่าลำพังเพียงแค่การใช้อำนาจของ รัฐ แม้ดำเนินไปภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติไว้ล่วงหน้าก็อาจเป็นการ กระทำที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรงได้ หากมิได้พิจารณาถึงความชอบธรรมที่ดำรงอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมาย หรือลักษณะการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเข้ามาประกอบ

ในประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐหลายแห่งก็เป็นการ กระทำที่มีกฎหมายรองรับ แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกโต้แย้งหรือปฏิเสธอย่างรุนแรง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการใช้อำนาจของรัฐบาลเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์ มีการออกกฎหมายจำนวนมากที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การริบทรัพย์สินของบุคคลที่มีเชื้อชาติยิว การให้อำนาจแก่ตำรวจลับในการจับกุมและลงโทษบุคคลที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้อง ผ่านกระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างรุนแรงกับบุคคลที่ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์กับ รัฐบาล เป็นต้น

การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเยอรมันในห้วงเวลาดังกล่าวตามที่ กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นการใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับไว้โดยมิใช่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่การใช้อำนาจนี้ก็ถูกโต้แย้งในด้านของความชอบธรรมอย่างรุนแรง

ในสังคมไทย การใช้อำนาจของรัฐบาลในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี การกระทำหลายอย่างซึ่งถูกกล่าวหาในภายหลังดังเช่นการขายหุ้นให้กับบริษัท ต่างชาติก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเดิมมีข้อจำกัดจำนวนถือหุ้นของบริษัทต่างชาติเอาไว้

หรือกับรัฐบาลในห้วงเวลาที่คุณชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการแจกที่ดินในโครงการปฏิรูปที่ดินให้กับบุคคลจำนวนมากที่แม้มิได้เป็น เกษตรกร คุณชวนก็ได้ให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้จะถูกโต้แย้งจากสังคมอย่างรุนแรงแต่คุณชวนก็ยืนยันว่า "แม้ไม่อาจทำให้คนรวยได้เท่ากัน แต่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน"

ถ้านิยามความหมายของนิติรัฐไว้อย่างคับแคบ การกระทำของทั้งฮิตเลอร์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณชวน ในฐานะของผู้นำแห่งนิติรัฐก็ควรได้รับการเคารพมากกว่าการตำหนิติเตียนที่ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมิใช่หรือ

เพราะฉะนั้น นิติรัฐจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายที่จะสร้างความยอมรับหรือความ เป็นธรรมให้เกิดขึ้น และยังมีอีกส่วนซึ่งหมายถึงความชอบธรรมหรือความเป็นธรรมซึ่งควรจะต้องปรากฏ อยู่ในนิติรัฐด้วย หรืออาจเรียกว่าเป็นนิติธรรมของนิติรัฐ

การให้ความหมายของนิติรัฐเพียงแค่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่ วางอยู่บนกรอบของกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นการโฆษณาทางการเมืองที่ไม่ได้มีความหมายถึงความถูกต้องเสมอไป ยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันก็ดูเหมือนความหมายของนิติรัฐมีจำกัดอยู่เพียงการทำ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เท่านั้น จึงเป็นความหมายของนิติรัฐที่ตื้นเขินอย่างยิ่ง

มีอย่างน้อยสองด้านที่จำเป็นต้องถูกตระหนักถึงไปพร้อมกัน หากจะมีการกล่าวอ้างนิติรัฐเป็นเป้าหมายของการนำสังคมไทยคืนสู่สันติสุข

 

ประการแรก ความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมาย

กฎหมายจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างไพศาลแก่รัฐโดยปราศจากการตรวจสอบ และความรับผิด เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็เป็นกฎหมายที่ถูกโต้แย้งอย่างมากในเนื้อหาว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับการใช้ อำนาจของรัฐในระบอบประชาธิปไตย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความเห็น คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางการคัดค้านที่มีอย่างกว้างขวาง

 

ประการที่สอง ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย

เฉพาะกับบุคคลที่ยืนอยู่คนละฝ่ายกับอำนาจรัฐ แต่หากเป็นการกระทำของบุคคลที่สนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้านทางด้านผู้ชุมนุมก็ จะไม่มีการนำกฎหมายมาใช้บังคับ เช่น เมื่อมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมไม่ว่าของบุคคลฝ่ายใดหรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็ล้วนเป็นสิ่ง ที่ผิดต่อกฎหมายทั้งสิ้น

ความหมายของการนำนิติรัฐกลับมาสู่สังคมไทย จึงมิใช่การที่จะมุ่งบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น หากยังต้องตระหนักถึงนิติธรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดหายออกไปได้

ถ้ามีเพียงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านิติธรรมดำรงอยู่ก็อาจทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งหมด เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่ได้มุ่งหวังนำสันติสุขกลับคืนมาแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกคำร้องถอนหมายจับ 16 แกนนำ นปช. ศาลชี้หมายจับชอบตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว

Posted: 10 May 2010 09:53 PM PDT

ศาลอาญายกคำร้องถอนหมายจับ 16 แกนนำ นปช. เหตุการชุมนุม 7 เม.ย. มีการบุกรุกรัฐสภา ทหารตำรวจไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลจึงมีเหตุผลในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การออกหมายจับชอบด้วยกฎหมายแล้ว ด้าน 'พล.อ.อนุพงษ์' ชี้เรื่องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลกับ ศอฉ. เป็นผู้กำหนด

<!--break-->

ศาลยกคำร้องถอนหมายจับ 16 แกนนำ นปช.

เวลา 9.30 น. วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีที่นายคารม พลทะกลาง ทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ นายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกที่เป็นแกนนำและพวกรวม 16 คน

โดยเมื่อ 6 พ.ค. ศาลได้ไต่สวนพยานผู้ร้องไปจำนวน 4 ปาก คือนายคารม พลทะกลาง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้อง และนายสุวิทย์ ทองนวล ผู้ช่วยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี

วันนี้ศาลพิเคราะห์คำเบิกความพยานผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยลงมาว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นถือว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ยังคงมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าสถานการณ์การชุมนุมยังไม่ร้ายแรง ที่จะทำให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ตามที่สื่อมวลชนได้ลงข่าวเมื่อวันที่ 7 เม.ย.นั้น เหตุการณ์ปรากฎหลักฐานชัดว่ามีผู้ชุมนุม นปช.จำนวนมากบุกรุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลสามารถประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ร้องไม่ได้นำตัวผู้ที่ถูกออกหมายจับ มาเบิกความและชี้ให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร การออกหมายจับแกนนำ นปช.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เห็นควรให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

ภายหลังนายคารม พลทะกลาง กล่าวว่า ศาลยกคำร้อง เนื่องจากต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ไม่สามารถนำตัวแกนนำที่ถูกกออกหมายจับมาศาลได้ เพราะเกรงว่าจะถูกตำรวจจับกุม ทำให้พยานหลักฐานและคำเบิกความมีน้ำหนักน้อยลงไปด้วย แต่ไม่เสียใจเพราะพยายามช่วยเหลือแกนนำ นปช.เต็มที่

ส่วนกรณีที่แกนนำนปช.จะเข้ามอบตัวในวันที่ 15 พ.ค. หรือไม่นั้น นายคารมกล่าวว่า ยังไม่แน่ว่าแกนนำ นปช.ทั้งหมดจะเข้ามอบตัวตามกำหนดเดิมหรือไม่ แต่ได้ให้คำแนะนำไปว่าไม่ควรเข้ามอบตัว เนื่องจากถูกออกหมายจับตามอำนาจ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้ประกันตัว และถูกนำตัวควบคุมยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ

ล่าสุดเวลา 11.50 น. วันนี้ (11 พ.ค.) มีรายงานว่า ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เผยว่าแกนนำเสื้อแดงติดต่อขอมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระราม 1 เวลา 14.00 น. โดยตำรวจตั้งทีมรอบสอบปากคำแล้ว

 

ป๊อกบอกคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนานแค่ไหนเป็นเรื่องของรัฐบาลและ ศอฉ.

ขณะเดียวกัน เช้าวันนี้ (11 พ.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางพร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.อนุพงษ์ ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการคง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้นานแค่ไหนนั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ผู้ที่กำหนดกรอบในการใช้คือรัฐบาล และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นเรื่องของการเมืองเป็นผู้กำหนด

ส่วนคำถามที่ว่า ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ ผอ.ศอฉ.เคยพูดไปชัดเจน ทั้งนี้ ศอฉ.มีความจำเป็นที่จะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้จนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย เช่น การอำนวยความสะดวกของกลุ่มผู้ชุมนุม หรือการเข้าเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: จากเฟซบุ๊คถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลากกิจกรรมรำลึก 10 เมษา

Posted: 10 May 2010 09:28 PM PDT

หากใครจะสบประมาทว่าคนในโลกไซเบอร์เป็นได้เพียง ‘นักรบจิ้มแป้น’ งานนี้อาจผิดไปสักหน่อยเนื่องจากกิจกรรมในค่ำคืนนั้นมีขึ้นอย่างคึกคัก มีผู้สนใจเข้าร่วมงานอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่มีเงียบเหงา ทุ่มครึ่งไปจนถึงสี่ทุ่ม ทั้งการอ่านบทกวี แสดงละคร ร้องเพลง กล่าวสดุดี รวมไปถึงการเชิญญาติผู้เสียชีวิตกล่าวคำไว้อาลัย และร่วมกันจุดเทียนรำลึกการสูญเสียครั้งนี้

<!--break-->

 

 

"พลเรือนที่เจ็บและตายในวันที่ 10 เมษา คือคนที่ไม่ควรเจ็บไม่ควรตาย เขาไม่ได้ทำอะไรผิดถึงขั้นทำให้รัฐมีเหตุทำร้ายชีวิต พวกเขาคิดต่างจากนายกและรัฐบาล พวกเขาชุมนุมในเวลาที่นายกออกกฎหมายว่าการชุมนุมเป็นความผิด แต่ไม่มีรัฐบาลอารยะไหนที่ใช้กองกำลังของรัฐทำร้ายพลเรือนในลักษณะนี้

ในขณะที่รอยเลือดของผู้ตายยังไม่จางหาย รัฐบาลผูกขาดประโคมข่าวผ่านสื่อทุกชนิดว่าผู้เจ็บผู้ตายคือ ผู้กระทำผิดหลายข้อ ตั้งแต่ก่อการร้าย ใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือล้มล้างสถาบัน ผลก็คือคนตายกลายเป็นคนผิด คนเจ็บกลายเป็นคนร้าย ผู้สั่งสลายปราศจากความผิด ขณะที่ผู้ปราบกลายเป็นวีรชน การกลับผิดเป็นถูกแบบนี้เกิดขึ้น พร้อมกับการลอยตัวเหนือความรับผิดชอบจากเหตุการณ์นี้ การลดทอนความหมายของคนเจ็บคนตายเป็นเรื่องเดียวกับการบอกปัดความรับผิดทางการเมืองของรัฐบาลโดยตรง”

นี่น่าจะเป็นข้อความเกริ่นนำ เพื่อการเชิญชวนอย่างเป็นทางการของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในบรรดาต้นคิดที่จะจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษา มันตั้งต้นขึ้นในเครือข่ายทางสังคมอย่าง เฟซบุ๊ก เพียงไม่กี่วันก่อนวันที่ 10 พ.ค. ในรูปแบบกฐิน ผ้าป่าตามกำลังและศรัทธา

หากใครจะสบประมาทว่าคนในโลกไซเบอร์เป็นได้เพียง ‘นักรบจิ้มแป้น’ งานนี้อาจผิดไปสักหน่อยเนื่องจากกิจกรรมในค่ำคืนนั้นมีขึ้นอย่างคึกคักและมีผู้สนใจเข้าร่วมงานนั่งเรียงกันหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยชนิดอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่มีเงียบเหงา เริ่มตั้งแต่ราวทุ่มครึ่งไปจนถึงสี่ทุ่ม ทั้งการอ่านบทกวี การแสดงละคร ร้องเพลง กล่าวสดุดี รวมไปถึงการเชิญญาติผู้เสียชีวิตกล่าวคำไว้อาลัย และร่วมกันจุดเทียนรำลึก

บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้น หลากหลาย แม้ตัวหนังสือไม่อาจบรรยายรายละเอียดได้ แต่ความยาวของคิวกิจกรรมอาจพอบอกอะไรได้บ้าง

1. อ่านบทกวีโดย ประกาย ปรัชญา และเดือนวาด พิมวนา  2.อ่านบทกวี ประกอบการถือ “กรอบรูปไม้สัก” โดย ซะการียา อมาตยา  3. อ่านบทกวี โดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที  4.กล่าวปราศรัยโดย อังครพงษ์ กำแพงทอง นักศึกษาจากกลุ่มเสรีปัญญาชน 5. กล่าวปราศรัยโดย ชัยรัตน์ ตระกาลรัตน์สันติ จากสมัชชาสังคมก้าวหน้า

6. กล่าวปราศรัยโดย วิภา ดาวมณี 7.   ดนตรีโดย ฮาเมอร์ ซาลวาลา 8.กล่าวไว้อาลัยโดย สุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ญาติของ เทิดศักดิ์ ฟ้งกลิ่นจันทร์ ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. 9. กล่าวไว้อาลัยโดย 'กลิ่น' พี่เขยของ วสัต์ ภู่ทอง ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. “ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะอนุสาวรีย์ไม่ได้มีไว้ใส่กองกระดูกวีรชน” 10. กล่าวไว้อาลัยโดยจุราลัย นพคุณ ญาติของสยาม วัฒนะนุกูล ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. “เราขอแค่ยุบสภา ไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน”

11. เล่นดนตรีร้องเพลง โดยเครือข่ายสันติวิธี 12. กล่าวไว้อาลัยโดย ลัดดาวัลย์ เมฆงามฟ้า หลานของ ทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. 13. กล่าวไ้ว้อาลัยโดยเจริญ ชัยกลาง ภรรยาของ วันชัย แซ่จอง 14. อ่านบทกวี “ความสงสัย” โดยชายชรา 15. อ่านบทกวีโดย กฤช เหลือลมัย

16. กล่าวปราศรัยโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย กลุ่มประกายไฟ 17. การแสดงบูโต (Butoh) หรือระบำแห่งความมืด โดยกลุ่ม Zero One 18. อ่านบทกวี โดย วรพจน์ พันธ์พงศ์ 19. อ่านบทกวีโดย ธิติ มีแต้ม แด่ อำพล ตติยรัตน์ ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. ซึ่งกำลังจะเรียนจบคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม 20. รุ่งโรจน์ วรรณศูทร อ่านเนื้อเพลงแปลไทยของวงพั้งก์ร็อคอเมริกา Anti-Flag
“You can kill the protester but you can not kill the protest”

21. อ่านบทกวี “แดงชาติ” โดย วัฒน์ วรรลยางกูร 22. กล่าวปราศรัยโดย จิตรา คชเดช (Try Arm) 23. กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษโดย ป้าอ้อย อุษา แสงจันทร์ 24. อ่านบทกวีโดย เครือข่ายนิสิตนักศึกษาเพื่อความถูกต้อง (ก่อตั้งในเฟซบุ๊ค) 25. อ่านบทกวี “จำนวนผืนธงที่ถูกชักลงมาห่มคลุมอินทรีย์วัตถุ” ของพิพัฒน์ ใจบุญ โดย วาดรวี

26. อ่านบทกวี “ข่มขืน” ประกอบผ้าเช็ดหน้าสีขาว โดยเอกวัฒน์ 27. อ่านบทกวี โดย เสกสรรค์ อานันทศิริเกียติ “แด่..คนึง ฉัตรเท” ผู้เสียชีวิต 10 เม.ย. 28. กล่าวปราศรัยโดย อนุธีร์ เดชเทวพร เลขาฯ สนนท.

"ทุกชีวิตมีค่าหมดไม่ควรมีใครมาตาย จะไม่มีงานรำลึกถ้าไม่มีคนตาย ที่ผ่านมาพวกเราก็มีงานรำลึกตั้งหลายงานแล้ว ทำยังงัยให้มีงานนี้เป็นงานสุดท้ายจริงๆ เห็นทุกคนที่มาร่วมงานอยากบอกว่าเราต้องไม่ตายอีก" จิตรา คชเดช นักกิจกรรมแรงงานจากกลุ่ม Try Arm กล่าวผ่านเฟซบุคของเธอหลังกลับจากการร่วมกิจกรรม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานต์ ณ กานท์: ปณิธาน "ไพร่"

Posted: 10 May 2010 09:10 PM PDT

<!--break-->

กานต์ ณ กานท์
10 พฤษภาคม 2553

เกิดอย่างไพร่ - เราจึงตายอย่างไพร่?  
ตายบนแดนศิวิไลซ์อันขื่นขม
เกิด บนดิน - ตายบนดินทุกข์ระทม      
ทับถมอยู่กับดินทั้งวิญญาณ

เกิดอย่างไพร่จึงเข้าใจใดคือทุกข์      
ใดคือสุขใครสร้างไว้ - ใครล้างผลาญ
ใครสู้พลีตัวเป็นงัวงาน          
สร้างทิพย์วิมานเปรอปรนใคร

เกิด อย่างไพร่ - เป็นไพร่ทั้งโคตรเหง้า      
หาค่ำกินเช้ามายาไส้
หา เดือนชนเดือนตะบันไป          
ยังต้องหาเลี้ยงนายอีกหลายคน

เกิด เป็นไพร่ - ไม่ได้เกิดเป็นข้า      
ลงแรงหาเลี้ยงมาจนปี้ป่น
ก้มหัวกลัวเกรงมากี่ชั่วคน          
เหลือ จะทุกข์เหลือจะทนให้หยามใจ

เกิดเป็นไพร่ - ไม่ได้เกิดเป็นทาส  
เพียง สองมือจึงประกาศความฝันใฝ่
เพียงสองตีนจึงทวงหาอธิปไตย      
กลับ คืนเป็นของไพร่ทั้งยากดี

เกิดเป็นไพร่ - ไม่ได้เกิดเป็นทาส  
จะทายท้าทุกอำนาจเคยกดขี่
กี่ กระบอกปืนมาจะต่อตี          
จะพลิกดินผืนนี้ให้ไพร่เดิน

เกิด เป็นไพร่ - จะขอตายอย่างไพร่
ไม่ร้องขอเกียรติ-ยศใดมาสรรเสริญ
เกิด อย่างไพร่ - ตายให้ไพร่ได้ก้าวเดิน  
เป็นเชิงเทินทัพหน้าประชาชน

เกิดอย่างไพร่ - พี่น้องจึงตายเพื่อไพร่  
อีกแสนล้านอสงไขยทุกแห่งหน
ตายปลุกไพร่ ขึ้นเป็นไททุกผู้คน          
ลุกราวีอภิชนทุกชั้นไป

ขอ เดินตามปณิธานวีรชน      
จะราวีอภิชนทุกชาติไป!

ปณิธาน “ไพร่”
กานต์ ณ กานท์
10 พฤษภาคม 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: คนเสื้อแดงได้อะไรจากการต่อสู้?

Posted: 10 May 2010 07:17 PM PDT

<!--break-->

จุดจบของการต่อสู้รอบนี้ ซึ่งเริ่มในเดือนมีนาคม เป็นการประนีประนอมระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับรัฐบาลของอำมาตย์ หลายคนคงจะผิดหวัง แต่เราควรใช้เวลาพิจารณาสถานการณ์และกำหนดแนวทางในการต่อสู้ต่อไป เรื่องมันยังไม่จบจนกว่าอำมาตย์จะถูกโค่นล้ม ดังนั้นอย่าไปเสียเวลากับอาการ “อกหัก” อย่าไปท้อ อย่าไปเดินออกจากเวทีการต่อสู้ด้วยความน้อยใจ

 

ขอย้ำในสิ่งที่เขียนก่อนหน้านี้.... จุดเด่นเราคืออะไร? จุดเด่นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปมีหลายข้อคือ

- คนเสื้อแดงได้พิสูจน์ว่าเป็นขบวนการของประชาชนชั้นล่างในการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเรื่องปากท้องและเพื่อประชาธิปไตยพร้อมกัน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมาก มากจนเป็นประวัติศาสตร์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา การต่อสู้ของ พ.ค.ท. และการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 35

- การต่อสู้ที่ยาวนาน ท่ามกลางกระสุนปืน หมอกควัน และข่าวที่ถูกบิดเบือนปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประชาชนจำนวนมาก เขาได้เรียนรู้วิธีจัดตั้งตนเอง วิธีเข้าถึงข้อมูล และวิธีกระจายข่าว ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ทำให้เขากลายเป็นผู้นำเอง มีความมั่นใจในการท้าทายอำนาจอำมาตย์ที่กดทับชีวิตประชาชนมานาน เราอาจพูดได้ว่าเกือบจะไม่มีใครในขบวนการเสื้อแดงที่ยังคิดแบบเดิม ไม่มีใครเป็นทาสทางความคิดของลัทธิอำมาตย์

- การต่อสู้ที่เข้มแข็งของคนเสื้อแดงนี้ บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง เช่นตำรวจและทหารเกณฑ์ เริ่มคิดหนัก หลายคนไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และอาจมีหลายคนที่คิดกบฏ แต่ยังไม่ทำอะไรให้เห็นชัด นี่คืออาการของวิกฤตในการปกครองของรัฐอำมาตย์ เราอาจพูดได้ว่ารัฐอำมาตย์อยู่ได้ก็ด้วยการปราบปราม ขู่เขน และการปิดกั้นข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความชอบธรรมเลยในสายตาประชาชนนับล้าน และในสายตาสื่อต่างประเทศและชาวโลกที่สนใจประเทศไทย

- เราบังคับให้รัฐบาลอำมาตย์เลื่อนการเลือกตั้งมาข้างหน้า 3 เดือน

 

ข้อที่น่ากังวล

การประนีประนอมครั้งนี้ทิ้งปัญหาสำคัญๆ ไว้มากมาย เพราะไม่มีการแก้ไขการเซ็นเซอร์สื่อและอินเตอร์เน็ต ไม่มีคำมั่นสัญญาว่าจะเปิดสื่ออย่างเช่น ประชาไท หรือวิทยุชุมชน ไม่มีการพูดถึงนักโทษทางการเมืองในคดีหมิ่นเดชานุภาพฯ และคดีที่มาจากการปิดถนนท่ามกลางการประท้วง คนเหล่านี้ยังติดคุกอยู่ ในประเด็นเหล่านี้พวกเราชาวเสื้อแดงคงต้องสู้ต่อไปในรูปแบบกรณีเฉพาะ ตามจุดและชุมชนต่างๆ ไม่ใช่ยอมจำนนหรือรอการเลือกตั้ง

 

จุดอ่อนที่ทำให้คนเสื้อแดงชุมนุมต่อไม่ได้

เราต้องดูจุดอ่อนของขบวนการ เพราะจุดอ่อนเหล่านี้ทำให้มันยากที่จะสู้ต่อไปโดยไม่มียุทธวิธีใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลทำให้มีการประนีประนอมในที่สุด ดังนั้นเพื่อให้ฝ่ายเราไปปรับแก้และพัฒนาการต่อสู้ในอนาคต เราต้องคิดหนักตรงนี้ เพราะการสู้กับอำมาตย์จะไม่จบง่ายๆ

- ขบวนการเสื้อแดงยังไม่จัดตั้งในหมู่คนงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในโรงงาน หรือพนักงานในออฟฟิส ฯลฯ เพราะถ้าลูกจ้างที่เป็นเสื้อแดงจัดตั้งกันในสหภาพแรงงาน เราสามารถใช้พลังการนัดหยุดงานมากดดันอำมาตย์ และพลังนี้มีประสิทธิภาพสูง ปราบด้วยกองกำลังได้ยากอีกด้วย มันเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจ

- การนำในขบวนการเสื้อแดงควรขยายให้สะท้อนความยิ่งใหญ่ของขบวนการ กลุ่มเสื้อแดงจากชุมชนต่างๆ ที่เราเห็นชัดในรูปแบบซุ้มหรือกลุ่มคนที่เดินทางมาด้วยกัน ควรเลือกผู้แทนของตนเองหนึ่งคน และให้ผู้แทนเหล่านี้ประชุมหารือกับแกนนำตลอดเวลา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคนเสื้อแดงรากหญ้ากับแกนนำอย่างเป็นระบบ การตัดสินใจอะไรก็ควรตัดสินใจร่วมกันแบบนี้ ซึ่งจะทำให้ขบวนการเสื้อแดงเข้มแข็งยิ่งขึ้น แกนนำจะมีโอกาสผิดพลาดน้อยลง และรากหญ้าจะร่วมรับผิดชอบในการนำด้วย โดยที่จะสร้างความสามัคคีมากขึ้น นอกจากนี้แกนนำเสื้อแดงในทุกระดับควรมีผู้หญิง เพื่อสะท้อนความจริงเกี่ยวกับขบวนการของเรา

- คนเสื้อแดงต้องทำการบ้านหนักขึ้นในการต่อสายกับทหารเกณฑ์ เพื่อขยายการจัดตั้งของเสื้อแดงเข้าไปในกองทัพ ทหารแตงโมที่จะน่าไว้ใจและมีประสิทธิภาพสูงสุดคือทหารเกณฑ์ที่เป็นเสื้อแดง และในยามวิกฤตเราจะได้สนับสนุนให้เขาฝืนคำสั่งของพวกนายพลที่ต้องการฆ่าประชาชน

- เมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้ง พรรคของคนเสื้อแดงต้อง “คิดใหม่ทำใหม่” รอบสอง เพื่อครองใจประชาชนต่อไป ควรมีการเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการ นโยบายที่จะช่วยคนงานและเสริมค่าจ้าง นโยบายสร้างสันติภาพในภาคใต้ และนโยบายเพื่อปฏิรูประบบยุติธรรมและระบบสื่อมวลชน ฯลฯ เราต้องเป็นพรรคของไพร่และพรรคของเสรีภาพและต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดง ทั้งในระดับชาติ และระดับชุมชน มีบทบาทหลักในพรรค ไม่ใช่ปล่อยให้นักการเมืองเก่าๆ ที่ไม่ทำอะไร มาหากินกับการต่อสู้ของประชาชน

 
เรามีภารกิจในการปลดแอกพลเมืองประเทศนี้จากอำนาจเผด็จการของอำมาตย์ ถ้าเราไม่นำ “กำไร” ที่เราได้มาจากการต่อสู้ในสองเดือนที่ผ่านมา มาเสริมและพัฒนาแนวทางของเราให้ยกระดับสูงขึ้น การเสียสละของคนเสื้อแดงจะละลายไปกับน้ำ เราต้องไม่พลาดตรงนี้ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมืองไทยจะกลับไปเป็นแบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีปิดเว็บประชาไท

Posted: 10 May 2010 07:00 PM PDT

<!--break-->

 
 

ชื่อบทความมเดิม: บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 (คดีปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไท)

 
 
 
            เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 ในคดีที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนเจ้าของเว็บไซต์ข่าวประชาไทได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไท (www.prachatai.com) และเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45  
 
            ศาลแพ่งใช้เวลาพิจารณาคดีนี้ประมาณ 5 ชั่วโมง และได้มีคำพิพากษาในเย็นวันที่ 23 เมษายน 2553วันเดียวกับที่ยื่นฟ้อง โดยพิพากษายกฟ้องและไม่สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาจนพิพากษาคดี ศาลไม่ได้ดำเนินการไต่สวนพยานโจทก์ตามที่โจทก์ร้องขอ และไม่ได้ส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้ง 5 บทความนี้ผู้เขียนประสงค์จะวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลแพ่ง  โดยใช้หลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ คือ หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย เป็นฐานในการวิเคราะห์ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีปกครองที่แม้จะถูกบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง แต่เมื่อเป็นคดีปกครองหลักในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายก็ต้องเป็นการตรวจสอบตาม หลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย
 
1. สรุปคำฟ้องและคำพิพากษา
            เพื่อให้เข้าใจประเด็นในคำพิพากษาอย่างครบถ้วนผู้เขียนขอสรุปประเด็นในคำฟ้องไว้เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาประกอบคำพิพากษา ดังนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.prachatai.info/journal/2010/04/29095)
           
1.1 สรุปคำฟ้อง
            โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของจำเลยที่ 1 ถึง 4 ในการปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์เป็นสามประเด็นคือ
 
1)    การใช้อำนาจปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของเป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วย
กฎหมายเพื่อลิดรอน จำกัด หรือละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชนของโจทก์อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีความสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมือง และการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 19 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อสารมวลชน
 
            2) การสั่งให้ปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทเป็นคำสั่งที่มิได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไข ที่กฎหมายให้อำนาจไว้   เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
            3) การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของโจทก์ โดยปิดการเข้าถึงซึ่งระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเว็บไซต์ของโจทก์ได้ย่อมถือเป็นการปิดกิจการสื่อสารมวลชนของโจทก์โดยปริยาย  อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสาม
 
            นอกจากประเด็นทั้งสามประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วโจทก์ยังได้บรรยายถึงประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบอำนาจปกครองตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2550 ไว้ดังนี้
 
            4) โดยเนื้อหาแล้วคดีนี้เป็นคดีปกครองซึ่งควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 16 ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้องยังศาลยุติธรรม ซึ่งโดยหลักการแล้วศาลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำของจำเลยว่าการใช้อำนาจหน้าที่ออกคำสั่งให้ปิดเว็บไซต์ข่าวประชาไทของโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ไว้หรือไม่ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลไม่เข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 2 ก็จะส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนชาวไทย
 
            1.2 สรุปคำพิพากษา
            คำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1812/2553 มีความยาวเพียงสองหน้าครึ่ง  ซึ่งสามารถย่อได้ดังนี้
 
            “การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้อำนวยการศูนย์การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินก็โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรค 3 วรรค 5 และวรรค 6 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 2/2553 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดที่จะใช้มาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคสี่ ที่ว่าการห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือด้วยการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 45 วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการปิดกั้นเว็บไซต์ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้อำนาจไว้ตามประกาศมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ”
 
 
2. วิเคราะห์คำพิพากษา
 
            2.1) ความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐของคำพิพากษา
            เมื่ออ่านคำพิพากษาจะเห็นได้ว่าในคดีนี้ศาลได้จำกัดบทบาทของตน  โดยทำหน้าที่ตรวจสอบแต่เพียงว่า มีกฎหมายให้อำนาจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 สั่งปิดเว็บไซต์ของโจทก์หรือไม่ เมื่อเห็นว่ามีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 9 (2)(3)  ให้อำนาจจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่จะปิดเว็บไซต์ของโจทก์ได้ ศาลก็สรุปว่า “การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้” ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบพยานหลักฐานที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจของจำเลยว่าเกิดขึ้นภายในเงื่อนไขหรือข้อเท็จจริงใด ส่งผลให้ไม่มีการตรวจสอบต่อไปว่าพฤติกรรมการใช้อำนาจของจำเลยขัดหรือแย้งต่อกฎหมายทั้งต่อพระราชกำหนดมาตรา 9 (3) และรัฐธรรมนูญหรือไม่  
 
             คำถามจึงมีว่าศาลวินิจฉัยได้อย่างไรว่า “กระทำของจำเลยทั้งสองอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้”   ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ   ปรากฏในสำนวนของศาลเลย มีเพียงคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น 
 
เมื่อพิจารณาคำพิพากษาประกอบกับหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายซึ่งประกอบด้วยหลักการย่อย 2 หลักการ คือ 1) หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ ซึ่งเรียกร้องว่า การใช้อำนาจมหาชนที่จะไปมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจฝ่ายปกครองไว้อย่างชัดเจนฝ่ายปกครองจึงจะใช้อำนาจนั้นได้ 2) หลักการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรียกร้องว่าแม้จะมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพพของประชาชนได้ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวของฝ่ายปกครองต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายทั้งกฎหมายอันเป็นที่มาแห่งอำนาจและกฎหมายอื่น ๆ   ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของจำเลยไม่ครบถ้วนตามหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลตรวจสอบแต่เพียงว่ามีกฎหมายให้อำนาจจำเลย สั่งปิดเว็บไซต์โจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ตรวจสอบต่อไปว่าการใช้อำนาจสั่งปิดเว็บไซต์เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ทั้งๆที่โดยหลักแล้วศาลต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนทั้งสองหลักการจึงจะสามารถสรุปได้ว่าการใช้อำนาจของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่   แต่ศาลกลับไม่ดำเนินการตรวจสอบตามหลักการว่าด้วยการกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้ไม่มีการตรวจสอบในเนื้อหาของการกระทำของจำเลยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 (3) บัญญัติไว้หรือไม่ ตลอดจนเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอื่นรวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
 
            จากที่กล่าวมผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลที่ให้ไว้ในคำพิพากษาฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ เพราะหลักนิติรัฐเรียกร้องว่าการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลซึ่งถูกออกแบบให้เป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ทั้งว่า “มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองหรือไม่” และ “การใช้อำนาจของฝ่ายปกครองขัดต่อฎหมายหรือไม่”  แต่ศาลในคดีนี้กลับจำกัดตนเองไว้เพียงการตรวจสอบว่า “มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองหรือไม่” เท่านั้นแต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า “การใช้อำนาขของฝ่ายปกครองขัดต่อกฎหมายหรือไม่”   
 
            2.2 ความสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
 เหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจของศาลเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบในปริมณฑลของกฎหมายมหาชน อย่างไรก็ตามแม้ในระบบศาลยุติธรรมเอง ศาลฎีกาก็ได้เคยพิพากษาเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครองไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 646-647/2510 ว่า “ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ว่าคำวินิจฉัยนี้ถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ศาลย่อมไม่รื้อฟื้นข้อเท็จจริงหรือดุลพินิจที่เจ้าหน้าที่รับฟังหรือวินิจฉัยมา โดยถือว่าการใช้ดุลพินิจก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การจะรับฟังหรือใช้ดุลพินิจไปในทางใดจะถือว่าเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ เว้นแต่การรับฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจนั้นไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต อันถือได้ว่าการวินิจฉัยเช่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
 
จากเหตุผลในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ศาลฎีกาจะวางหลักไว้ว่าศาลจะไม่รื้อฟื้นข้อเท็จจริงหรือดุลพินิจที่เจ้าหน้าที่รับฟังหรือวินิจฉัยมา แต่ถ้าการรับฟังข้อเท็จจจริงหรือการใช้ดุลพินิจไม่มีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือมิได้เป็นไปโดยสุจริต คำวินิจฉัยของฝ่ายปกครองก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมหมายความว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบได้ว่าการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองเป็นไปโดยมีการับฟังข้อเท็จจริงหรือการใช้ดุลพินิจมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ได้  แต่ในคดีนี้ศาลกลับไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของจำเลยมีหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอหรือไม่และศาลก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอว่าเหตุใดจึงไม่เดินตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
 
ผู้เขียนจึงเห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนี้ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 646-647/2553 เพราะศาลไม่ได้ตรวจสอบแม้เพียงว่าในการใช้อำนาจดำเนินการปิดเว็บไซต์ของโจทก์เป็นไปโดยมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนที่เพียงพอที่จะใช้อำนาจดังกล่าวหรือไม่และไม่มีการให้เหตุผลที่จะหักล้างแนวคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 646-647/2510 แต่อย่างใด
 
2.3 ความสอดคล้องกับหลักเหตุผล
ท้ายที่สุดเมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผล ผู้เขียนพบกว่าคำพิพากษาฉบับนี้ขัดกับหลักเหตุผล เพราะการที่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9(3) บัญญัติให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ไว้ว่ามีอำนาจ ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าในผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร” ย่อมหมายความว่ากฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขในการที่จะใช้อำนาจไว้ในพระราชกำหนด ว่าต้องเป็นกรณีการเสนอข่าวสารที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 สามารถใช้อำนาจห้ามเสนอข่าวสารอย่างไรก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัด เพราะหากกฎหมายประสงค์เช่นนั้นก็คงบัญญัติในทำนองว่า “ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนายกรัฐมนตรีมีอำนาจห้ามการเสนอข่าวสาร การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ  อย่างไรก็ได้ตามที่นายกเห็นสมควร” ซึ่งหากบัญญัติเช่นนี้ย่อมเป็นเสมือนการเขียนเช็คเปล่าให้ฝ่ายบริหารไปกรอกตัวเลขเอง ซึ่งย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 9(3) ก็มิได้บัญญัติเช่นนั้น  แต่ได้บัญญัติเงื่อนไขแห่งการใช้อำนาจไว้ด้วย  ดังนั้นในการตรวจสอบว่าการใช้อำนาจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงจำต้องพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้อำนาจเกิดขึ้นแล้วหรือไม่  มิใช่พิจารณาแต่เพียงว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่ตามที่ปรกากฏในคำพิพากษา มิเช่นนั้นแล้วฝ่ายปกครองย่อมอ้างอำนาจตามกฎหมายไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งผู้บัญญัติกฎหมายย่อมไม่บัญญัติกฎหมายที่จะมีผลเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุผลเช่นนั้น
 
ผู้เขียนจึงเห็นว่าแม้เมื่อพิจารณาตามหลักเหตุผล คำพิพากษาฉบับนี้ก็ขัดกับหลักเหตุผลและน่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายที่ต้องการกำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองมิให้เป็นไปตามอำเภอใจ อันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติรัฐที่ฝ่ายปกครองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน
 
 
3.บทสรุป
 
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 1821/2553 แต่ด้วยหลักวิชาการ และเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนเห็นว่าคำพิพากษาฉบับนี้เป็นคำพิพากษาที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ ไม่สอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา และไม่สอดคล้องกับหลักเหตุผล นอกจากนี้ผู้เขียนยังเห็นว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งยังมีผลเป็นการรับรองและขยายอำนาจของฝ่ายบริหารตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันส่งผลให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อใด ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขตโดยไม่ถูกตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ ซึ่งสภาพเช่นนี้ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ เพราะแท้ที่จริงแล้วประเทศไทยของเรากำลังตกอยู่ภายใต้รัฐตำรวจที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจไม่จำกัดและไม่อยู่ภายใต้กฎหมายอีกต่อไป 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อหลากสีลั่นต้องแก้ม็อบแดงให้จบ ขีดเส้นรัฐบาลถึงสิ้นมิ.ย.

Posted: 10 May 2010 06:42 PM PDT

<!--break-->

10 พ.ค.53 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือกลุ่มคนเสื้อหลากสี นำโดยนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างการร่วมชุมนุม ได้มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทางกลุ่มคนเสื้อหลากสีได้พร้อมใจกันนั่งบนฟุตบาทรอรับเสด็จ พร้อมตะโกนคำว่าทรงพระเจริญ ดังสนั่นทั่วบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นการปราศัยยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อหลากสียังปักหลักชุมนุมจนกว่าคนเสื้อแดงจะยุติการชุมนุม ส่วนกรณีผู้ชุมนุมลดน้อยลง เป็นเพราะผู้ไม่หวังดีและสื่อบางแห่งให้ข่าวว่า กลุ่มคนเสื้อหลากสีจะไปรวมตัวกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยเรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเรามีเจตนารมณ์ดั้งเดิมว่า ทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง โดยจะให้เวลารัฐบาลเป็นเวลา 2 เดือน หากสิ้นสุดเดือนมิถุนายนเมื่อไหร่ รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนปรองดอง ถึงวันนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบายก็ได้
แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดเรื่องโรดแม็ปแผนปรองดอง คงเป็นเพราะมีปัญหาเรื่องการออกคำสั่ง ข้าราชการบางคนไม่อยากทำงาน จึงอยากเสนอให้นายกรัฐมนตรี หาคนที่ตั้งใจทำงานมาทำหน้าที่ดีกว่า
นอกจากนี้ประเด็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิด หัวเด็ดตีนขาด กลุ่มคนเสื้อหลากสีไม่ยอมแน่ รวมทั้งนักการเมืองที่ชอบโกงการเลือกตั้ง ควรออกกฎหมายให้เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จะได้หมดปัญหาเรื่องยุบพรรคเสียที ส่วนวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะมีการชุมนุมต่อที่อนุสาวรีย์ชัยฯเหมือนเดิม
 
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาสังคมฟังความคิดเห็น4ภาค มิ.ย.นี้ เอฟทีเออียู-ไทยควรเจรจาหรือไม่

Posted: 10 May 2010 06:18 PM PDT

<!--break-->

10 พ.ค.53 - น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ในส่วนของภาคประชาสังคมนั้น การรับฟังความคิดเห็นจะจัด 4 ภาค คือ ภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก(จัดที่กรุงเทพฯ) ในวันที่ 13 มิ.ย., ภาคเหนือ (เชียงใหม่) 16 มิ.ย., ภาคอีสาน (ขอนแก่น) 18 มิ.ย. และ ภาคใต้ (สงขลา) 30 มิ.ย. ก่อนที่จะมาจัดรวบรวมความเห็นครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กรกฎาคม
 
“คณะอนุฯได้ตัดสินใจใช้รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระผู้บริโภค โดยได้ให้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯจัดเตรียมเอกสารข้อเรียกร้องของทางสหภาพยุโรปที่มีกับอาเซียนและประเทศอื่นๆ, ท่าทีของฝ่ายไทย และ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมที่เกาะติดในประเด็นการเจรจาต่างๆ ก็จัดทำบทวิเคราะห์ประกอบ ซึ่งเอกสารทั้งหมดจะจัดส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อทำการศึกษาก่อนหน้าการให้ความเห็น 10 วันเพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและมีความหมายอย่างแท้จริง”
 
ขณะนี้ ภาคประชาสังคมในภาคส่วนต่างๆ กำลังเชิญกลุ่มต่างๆทั้งเครือข่ายผู้บริโภค ผู้ป่วย เกษตรกร แรงงาน เครือข่ายทรัพยากรและพลังงาน รวมทั้งนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
 
“หน้าที่ของคณะอนุฯ คือ จัดรับฟังความเห็น รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานภาคประชาสังคมทั้งในด้านประโยชน์ที่จะได้รับและข้อกังวลต่างๆ เหตุผลและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมเจรจาและไม่เข้าร่วมเจรจา รวมทั้งข้อเสนอแนะ มาตรการรองรับ หากมีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และประมวลความเห็นที่ได้รับรายงานต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งทางคณะอนุฯภาคประชาสังคมได้แจ้งต่อคณะกรรมการที่มีนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง เป็นประธานรับทราบแล้วว่า การดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการเจรจากับสหภาพยุโปร ควรรอผลการรับฟังความคิดเห็นซึ่งคาดว่าจะสามารถประมวลให้เสร็จสิ้นได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ กระบวนการที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า การรับฟังคิดเห็นและการเตรียมการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 190”
 
สำหรับข้อห่วงใยในเบื้องต้นต่อการเจรจากับสหภาพยุโรปนั้น อาทิ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีการบริการ การเปิดเสรีสินค้าภาคเกษตร การลดภาษีเหล้า และผลกระทบที่จะมีต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะในอนาคต
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จวก ‘สุเทพ’ เล่นเกมการเมืองเข้าพบ ‘DSI’ รับทราบข้อกล่าวหา หลังแกนนำแดงจี้มอบตัว ถึงเลิกชุมนุม

Posted: 10 May 2010 03:59 PM PDT

‘ณัฐวุฒิ’ แถลงระบุแกนนำยอมรับเลือกตั้ง 14 พ.ย.พร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ ‘มาร์ค-สุเทพ’ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย ชี้ยุติการชุมนุมในวันที่ ‘สุเทพ’ มอบตัว ตร.คดีสั่งฆ่าประชาชน ด้าน ‘ปณิธาน’ เผย ‘สุเทพ’ เตรียมเข้าพบ ‘ดีเอสไอ’ รับข้อกล่าวหา 11พ.ค.นี้ แกนนำแดงจวกเล่นเกมการเมือง ทำตัวไม่สง่างาม

<!--break-->

เสื้อแดงลั่นยุติชุมนุมทันทีถ้า ‘สุเทพ’ มอบตัวตำรวจเหตุสั่งสลายม็อบ 10 เม.ย.
วันที่ 10 พ.ค.53 เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น.ที่เวทีแยกราชประสงค์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อาทิ นายจตุพร พรหมพันธ์ุ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนาภูมิไทย ฯลฯ ร่วมกันแถลงข่าวบนเวทีถึงท่าที่และการดำเนินการต่อไปของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อโรดแมพสร้างความปรองดองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

นายณัฐวุฒิ ในฐานะเลขาธิการ นปช.กล่าวว่า มติอย่างเป็นเอกฉันท์ นปช. ขอประกาศยอมรับการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย.2553 ตามที่นายอภิสิทธิ์เสนอ และยินดีตอบรับการยุบสภาระหว่างวันที่ 15-30 ก.ย.โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้นอีก แต่ประเด็นการต่อสู้เรื่องระบบความยุติธรรมที่มี 2 มาตรฐานของ นปช.ทำให้ไม่อาจยอมรับความยุติธรรม 2 มาตรฐานของรัฐในทุกกรณี นั่นหมายความว่า การดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ ยืนยันว่าไม่ประสงค์การนิรโทษกรรมใดๆ และยินดีต่อสู้ตามสิทธิของประชาชนตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐบาลต้องปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกัน

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อถึงกรณีการกล่าวหาว่าแกนนำเป็นผู้ก่อการร้ายว่า ที่มาของข้อหาดังกล่าวเกิดจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.แกนนำเสื้อแดงถูกกล่าวหาภายใต้วาทะกรรมของรัฐ จากนั้นได้ถูกออกหมายจับโดยดีเอสไอ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยังไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกรณีสั่งฆ่าประชาชน ทั้งที่ได้ทำการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้วหลายกรรม หลายคดี

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า เมื่อแกนนำตอบรับการปรองดองแล้ว นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็ต้องเดินหน้าสู่กระบวนการยุติกรรมจากเหตุการณ์ 10 เม.ย. และทางแกนนำยินดีจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในข้อหาก่อการร้าย แม้โทษสูงสุดจะถึงขั้นประหารชีวิต ซึ่งในส่วนนี้ทั้งนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ก็ต้องยินดีจะรับโทษสูงสุดโดยการประหารชีวิตเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ในฐาน ส.ส.เนื่องจากอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา จึงมีเอกสิทธิคุ้มครองเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในส่วนนายสุเทพนั้นได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.แล้ว (จ.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์) จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการออกหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหาสั่งฆ่าประชาชน และเรียกร้องให้นายสุเทพเดินทางไปม็อบตัวตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่

เลขาธิการ นปช.กล่าวต่อมาว่า จากเหตุการณ์ในอดีต ทั้งเหตุการณ์เดือนตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดนั้นไม่ได้รับโทษ มีการนิรโทษกรรม งดเว้นโทษให้ แต่กรณีวันที่ 10, 22, 28 เม.ย.จะต้องมีผู้มีอำนาจได้รับโทษตามกฎหมาย นี่ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่สั่งการให้ฆ่าประชาชน เพื่อเป็นเครื่องเยียวยาให้กับวีรชนที่จากไปทุกชีวิต

“หากนายสุเทพ เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมอบตัวเมื่อไหร่ คนเสื้อแดงก็จะเดินทางกลับบ้านเมื่อนั้น หรือหากนายสุเทพ ทำตัวยิ่งใหญ่ปฏิเสธการมอบตัว เราก็จะไม่ยุติการชุมนุม แต่ถ้านายสุเทพ มอบตัวในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนเมื่อไรเราก็จะกลับบ้านวันนั้น และทางแกนนำที่โดนข้อหาต่างๆ ก็พร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นกัน” แกนนำ นปช.กล่าว

ต่อคำถามถึงการยุติการชุมนุม นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันที่จะประกาศวันยุติการชุมนุม เดินหน้าสู่การปองดอง คือวันเดียวกับที่นายสุเทพเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ทั้งนี้ นปช.พร้อมยุติการชุมนุม เดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.แต่สถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลต้องสามารถออกอากาศได้ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาลในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และหลังจากนี้หากจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับเนื้อหา-รูปแบบรายการเพื่อไม่ให้เกิดการยั่วยุปลุกระดม ป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง พีเพิลชาแนลพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวพร้อมเอเอสทีวี และหากจะต้องทำอะไรก็ยินดีทำเช่นเดียวกับเอเอสทีวี

นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยว่า ถ้า รัฐบาลยังคงประกาศใช้ พ.ร.ก.เพื่อกดขี่ข่มเหงคนเสื้อแดงอยู่ต่อไป หลังยุติการชุมนุมแล้วก็ถือเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาล ต่อประชาชน ภาคธุรกิจและนักลงทุน ทั้งนี้ยิ่งคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นาน ยิ่งจะทำให้ประชาชนกดดันรัฐบาล หลังจากนี้ นปช.จะมีแนวทางปรองดอง ขึ้นมา เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดที่จะตั้งขึ้นเพื่อสร้างความปรองดอง สร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ นำพาประเทศไทยตามแนวทางประชาธิปไตยต่อไป และยืนยันว่าจะต้องการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์รุนแรงทุกครั้งในการชุมนุมนี้ ที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ การตัดสินใจยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งของรัฐบาล จะไม่ถือว่าเป็นชัยชนะของคนเสื้อแดง และการยุติการชุมนุมของคนเสื้อแดง รัฐบาลก็ไม่ควรนำเอาไปชัยชนะเช่นเดียวกัน

“นปช.ขอน้อมคารวะ กราบขออภัย และขอความเห็นใจว่า ถ้าหากไม่ถูกกดขี่จนเกินทน ถ้าหากไม่ไร้ความยุติธรรมจนรับไม่ได้ ถ้าหากบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย เราก็ไม่ออกมาต่อสู้ การต่อสู้นี้ หากได้รับความสำเร็จ ก็จะเป็นความสำเร็จร่วมกันของ ปชช.ทั้ง ปท.และขอมอบความสำเร็จนี้เป็นการคารวะแด่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศเช่นเดียวกัน” นายณัฐวุฒิกล่าวถึงประชาชนเจ้าของธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในตอนท้าย

 

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตาย 21 คดี และข้อหาพยายามฆ่าร่วม 1,000 กว่าคดี คดีที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องออกหมายเรียก แต่สามารถขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับได้ทันที ถ้านายสุเทพผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายไปมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าตำรวจไม่ให้การประกันตัว ขังนายสุเทพ ก็ไม่ต้องให้ประกันตัวกับแกนนำเช่นเดียวกัน

"วันที่ 21 พ.ค. อีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาปิดสมัยประชุม นายอภิสิทธิ์ก็นัดหมายกับผมเลยว่า นายอภิสิทธิ์จะไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ข้อหาสั่งฆ่าประชาชนวันไหน ผมก็จะไปมอบตัวคดีก่อการร้ายในวันนั้น ถ้าไม่ให้ประกันตัวนายอภิสิทธิ ก็ไม่ต้องให้ประกันตัวกับผม เท่าเทียมกัน" แกนนำ นปช.กล่าว

 

โฆษกสำนักนายกฯ เผย ‘สุเทพ’ ยอมรับข้อกล่าวหา สั่งสลายเสื้อแดง
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า ประเด็นการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยที่ประชุมรับทราบถึงการกล่าวหานายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือกันแล้ว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รองนายกรัฐมนตรีตัดสินใจที่จะไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วงบ่ายของวันที่ 11 พ.ค.นี้ ตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนทางรัฐสภาก่อน ทั้งนี้การตัดสินใจเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ นปช.จะแถลงเรียกร้องให้นายสุเทพเข้ามอบตัว

 

‘นายธาริต’ ชี้ ‘สุเทพ’ รายงานตัว ปล่อยได้ไม่ต้องมีประกัน
คมชัดลึก รายงาน ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณี นายสุเทพจะเข้ามอบตัวกับดีเอสไอว่า ได้รับการประสานว่า นายสุเทพจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้า เวลา 08.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกถ้อยคำของนายสุเทพ เบื้องต้น ก่อนปล่อยตัวไป สาเหตุที่ไม่ต้องมีการประกันตัว เนื่องจากนายสุเทพไม่ได้ถูกควบคุมตนคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะทุกอย่างจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่วางใจดีเอสไอ เพราะนายธาริต เป็นกรรมการ ศอฉ.นายธาริต กล่าวว่า ถ้าไม่มอบตัวกับดีเอสไอแล้วจะไปมอบกับใคร เพราะเรื่องถูกโอนมายังดีเอสไอหมดแล้ว

นายธาริต กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้รับการประสาน แต่ตามกฎหมายต้องมีหนังสือจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา ทั้งนี้หากนายรัฐมนตรีเดินทางมา ดีเอสไอก็พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา

 

 

‘ณัฐวุฒิ’ ชี้ ‘สุเทพ’ รายงานตัวดีเอสไอ เป็นการเล่นเกมการเมือง ไม่มีความสง่างาม
ขณะที่ข่าวสดรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังนายปณิธานระบุ นายสุเทพจะไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อดีเอสไอ วันที่ 11 พ.ค.ว่า การอ้างว่าจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนายสุเทพ ต่อดีเอสไอไม่มีความสง่างาม เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เป็น 1 ในกรรมการ ศอฉ.ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หากคดีนี้ดำเนินต่อไป นายธาริต ในฐานะ 1 ในกรรมการ ศอฉ.ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย จึงขอเรียกร้องว่าขอให้ดำเนินการอย่างสง่างามมีมาตรฐานเท่ากัน เพราะคดีสั่งฆ่าประชาชนนี้มีการไปร้องเรียนที่ดีเอสไอและตำรวจหลายคดี แต่ก็ดองเรื่องเอาไว้ จนเมื่อ นปช. แถลงมติในเรื่องนี้ นายสุเทพกลับเอามาใช้เป็นเกมการเมืองเพื่อผลประโยชน์

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าขอเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีคนไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ให้ลงมาทำคดีนี้ด้วยการออกหมายเรียกให้นายสุเทพมารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหา

“ขอเพียงนายสุเทพประกาศจะไป นปช.ก็พร้อมจะยุติการชุมนุมทันทีเช่นกัน เรื่องแค่นี้อย่ามาตีกินหรือค้ากำไรเกินควรเลย เพราะเรายังมีเรื่องใหญ่ที่ต้องทำมากกว่านี้อีก” นายณัฐวุฒิกล่าว

 

นปช.พร้อมยุติการชุมนุม-แกนนำมอบตัวทันที
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หากนายสุเทพไปรับทราบข้อกล่าวหากับตำรวจ ทางกลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันว่าจะยกเลิกการชุมนุม แต่หากมีการบิดพลิ้ว คนเสื้อแดงจะกลับมา ซึ่งแผนการสร้างความปรองดองนั้น ทาง นปช.ยืนยันว่ามีการดำเนินการมากกว่าแนวทางที่รัฐบาลเสนอมา

ส่วนกำหนดการเดิมที่แกนนำจะเดินทางไปมอบตัวในวันที่ 15 พ.ค.นี้ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถ้าเรื่องทั้งหมดจบก่อนวันที่ 15 พ.ค. หมายถึงนายสุเทพ มอบตัวก่อนนั้น ก็พร้อมจะยุติการชุมนุม แล้วไปมอบตัวทันที ถ้าเรียบร้อยในวันที่ 12 พ.ค.หรือ 13 พ.ค.ก็ไปวันนั้นเลย แต่หากยังไม่เรียบร้อยก็จะไม่ไปมอบตัวและไม่ยุติการชุมนุม แม้จะถึงวันนัดในวันที่ 15 พ.ค.ก็ตาม

เมื่อถามว่าเหตุใดในการแถลงจุดยืน ของนปช. จึงไม่มีนายวีระ เข้าร่วม และยังมีกระแสข่าวว่านายวีระ เดินทางออกจากที่ชุมนุมเพื่อไปเจรจากับคนบางกลุ่ม นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่มีการไปเจรจาอะไร เพียงแต่นายวีระ อาจอ่อนเพลีย เนื่องจากชุมนุมกันมาเกือบ 2 เดือนแล้ว และอาจมีธุระอะไรบ้าง แต่ช่วงค่ำๆ ก็จะมาที่เวที

 

‘จตุพร’ จวก ‘สุเทพเทือก’ หลอกต้มคนเสื้อแดงทั่วประเทศ
มติชนออนไลน์ ระบุเมื่อ เวลา 22.00 น. วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ปราศรัยว่า กรณีนายสุเทพจะไปพบอธิบดีดีเอสไอวันที่ 11 พฤษภาคม ถือเป็นการหลอกต้มคนเสื้อแดงทั่วประเทศ เนื่องจากคดีสั่งฆ่าประชาชนนั้นยังไม่มีการรับเป็นคดีพิเศษ การไปของนายสุเทพจึงเป็นการไปนั่งกินกาแฟกับนายธาริตมากกว่า นายสุเทพต้องไปมอบตัวต่อตำรวจกองปราบปรามสถานเดียว

 

กร้าวไม่เลิกม็อบเด็ดขาด ถ้าไม่ดำเนินคดี ‘มาร์ค-สุเทพ’ สั่งสลายม็อบ
ก่อนหน้านี้ เวลา 15.30 น. ที่บริเวณด้านหลังเวทีชุมนุม ระหว่างที่แกนนำ นปช.ประชุมเพื่อหาข้อสรุป นายจตุพร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าผลการประชุมของแกนนำจะออกมาอย่างไร แผนปรองดองจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร แต่โดยส่วนตัวมีความเห็นชัดแจนว่า หากวันนี้ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตาย 21 คดี เท่ากับจำนวนผู้ชุมนุมตายเมื่อวันที่ 10 เม.ย.และข้อหาพยายามฆ่าอีก 1 พันกว่าคดี เท่ากับจำนวนผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ ตนยืนยันว่าจะต่อสู้ต่อไป การชุมนุมจะไม่ยุติ และตนจะไม่เดินออกไปจากเวทีชุมนุมอย่างแน่นอน เพราะถือว่าไม่รับผิดชอบ เพราะมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก

“ขณะนี้รัฐบาลพยายามพูดเรื่องการปรองดอง และมีการระบุถึงวันเลือกตั้งใหม่ แต่ตนมองว่า เป็นเพียงการพูดเพื่อให้ภาพสวยงาม แต่ในทางตรงกันข้าม มีความพยายามที่จะกดดันผู้ชุมนุมเสื้อแดงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวผู้ชุมนุมไปสอบสวนโดยใช้วิธีการป่าเถื่อน เช่น เอาไฟฟ้าชอร์ต ซ้อม จับกดน้ำ และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการออกหมายจับแกนนำที่ต่างจังหวัด ในขณะที่แกนนำในส่วนกลางก็ถูกตั้งข้อหาคดีก่อการร้าย ล้มเจ้า แต่ในส่วนเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.ที่มีการสั่งสลายการชุมนุม กลับไม่เคยมีใครพูดถึงความรับผิดชอบส่วนนี้” นายจตุพรกล่าว
 
“ผมยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่จบแน่นอน ใครจะจบก็จบไป แต่ถ้านายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ไม่ถูกดำเนินคดี ผมจะสู้ต่อไปแน่นอน ซึ่งนอกเหนือจากนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์แล้ว ในส่วนของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขานายกรัฐมนตรี และนายธาริต เพ็งดิษ์ ผู้อำนวยการดีเอสไอ ก็ต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้มีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะนายกอร์ปศักดิ์ ที่ระบุว่า สามารถสั่งให้ทหารหยุดยิงได้ภายใน 5 วินาที หมายความว่า สามารถสั่งให้ทหารใช้กำลังได้เช่นกัน” นายจตุพรกล่าว

 

 

บชน.-ดีเอสไอ วางแนวทางรับตัวแกนนำ นปช.สู้คดี
ส่วนกรุงเทพธุรกิจ พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมหากกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ยุติการชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม และถ้าแกนนำนปช.เข้ามอบตัว จะต้องดำเนินการเช่นใดบ้าง เนื่องจากแต่ละคนมีคดีความแตกต่างกัน ทั้งคดีตามผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และความผิดตามคดีอาญาหลายข้อกล่าวหา ซึ่งบางคนต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 กรณี

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ต้องหาไม่เข้ามอบตัวจะทำอย่างไร พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ตำรวจเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาได้พยายามจับกุมหลายครั้ง แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้ ส่วนกรณีที่หากดำเนินการจับกุมตัวแล้วจะมีการให้ประกันตัวหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาและยังต้องขึ้นอยู่กับการประกาศยกเลิกพรก.ฉุก เฉินอีกด้วย ทั้งนี้หากแกนนำนปช.เข้ามอบตัวที่ไหน ตำรวจก็พร้อมรับมอบตัวทุกสถานที่ และจะนำตัวไปควบคุมยังสถานที่เตรียมไว้ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้ง 6 แห่ง

นายธาริต กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยนำญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม 10 เม.ย. เข้าร้องเรียน พร้อมกล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รวมทั้งกรรมการศอฉ.ทุกคน เกี่ยวกับความไม่ชอบในการสั่งสลายการชุมนุมนั้น ยืนยันว่าจะมีดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน จะไม่มีการเก็บหรือดองเรื่องแม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้บริหารระดับสูง

สำหรับคดีกล่าวโทษนายกฯ กับสถานีตำรวจต่างๆ นั้น สำนวนที่สอบปากคำผู้เสียหายเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 157 ส่วนคดีที่ยังค้างอยูที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามจะโอนมารวมที่ดีเอสไอทั้งหมด
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงการควบคุมตัวนายเมธี อมรวุฒิกุล แนวร่วม นปช. นายธาริต กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวนายเมธีต่อไป เนื่องจากถือเป็นผู้ต้องหาที่มีอาวุธร้ายแรงอยู่ในการครอบครอง ตลอดจนมีประเด็นที่ต้องสอบสวนเพื่อขยายผลอีกหลายประเด็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะดำเนินการอย่างไรกับคดีก่อการร้าย นายธาริต กล่าวว่า หากมีการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินดีเอสไอก็ไม่สามารถจับกุมหรือแจ้งข้อหาก่อ การร้ายแก่ผู้ต้องหาทั้ง 9 คนได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งให้ดีเอสไออำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม เติมหลังการจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น