โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ปากคำ: บันทึก... พฤษภาคม'53

Posted: 23 May 2010 02:31 PM PDT

...สภาพแต่ละคนตอนนี้ดำไปทั้งตัวจากเขม่าควัน และคราบขี้เถ้าที่เปื้อนตัวตอนหลบกระสุน เสื้อผ้าไม่ได้ใส่ เหลือแต่ดวงตาที่ยังเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้รอบดวงตาของพวกเค้าไม่ได้เป็นสีขาวอีกต่อไป แต่มันเจือไปด้วยคราบน้ำตาที่เอ่อล้น...

<!--break-->

 

ในช่วงเวลาแห่งความสับสนนั้น ผมเดินตรงดิ่งไปยังจุดเกิดเหตุทันทีก่อนจะถามผู้อยู่ในเหตุการณ์ใกล้ชิด

"พี่แน่ใจหรือเปล่า ว่าคนที่ถูกยิงเป็น เสธ.แดง!!"

"ก็ใช่น่ะสิ จะโกหกทำไม" การ์ด นปช.ในชุดสีดำตอบคำถามผมด้วยใบหน้าที่เหมือนจะไม่สบายแต่และเสียงที่สั่นเครือในช่วงเวลาวิกฤติ

 

วันนี้เป็นอีกครั้งที่ผมรีบเดินทางมาในจุดที่มีการชุมนุมทางการเมืองหลังได้ยินประกาศจากผู้กุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดเส้นทางเดินรถและเดินเรือโดยรอบ ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หยุดวิ่งรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน รวมถึงข่าวการจับตายแกนนำ

ตอนที่ไปถึงก็เป็นเวลาประมาณสี่โมงกว่า ระหว่างทางไปนอกจากรถที่ติดมากกว่าปกตินิดหน่อยแล้ว อย่างอื่นไม่มีอะไรมากกว่าที่เคยเป็น เริ่มจากจุดทางเข้าด้านอังรีดูนังต์ก่อนจะเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ทางสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ แยกสารสิน และออกไปทางด้านศาลาแดง ก่อนจะเดินออกไปส่งน้องที่มาด้วยกันขึ้นรถเนื่องจากทางบ้านเรียกตัวกลับด่วน ไปยืนรอรถอยู่บริเวณแยกศาลาแดงด้านหน้าแม็คโดนัลด์ รอเรียกรถนานเหลือเกิน ไม่มีแท็กซี่คันไหนรับขึ้นรถจนสุดท้ายได้นั่งสามล้อกลับบ้านไป ผมจึงเดินข้ามถนนกลับไปที่ฝั่งโรงพยาบาลจุฬาอีกครั้ง

ตั้งแต่มีข่าวกระทบกระทั่งกันที่โรงพยาบาลนี้ จุดทางเข้าออกของผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนด้านไปเข้าออกฝั่งสวนลุมฯ แทนเพียงด้านเดียวโดยทางเข้าออกนี้จะอยู่ติดกับประตูขึ้น-ลงของรถไฟใต้ดินพอดี 

ถ้าว่ากันจริงๆ ต้องถือว่าเดินเข้าออกสบายมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เนื่องจากเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิด ใหญ่ขนาดที่ว่ารถกระบะก็สามารถเข้าออกพื้นที่ทางด้านนี้ได้ ต่างจากเดิมที่จะเข้าออกแต่ละทีนั้นแสนลำบาก และถ้ามองจากด้านนอกเข้าไปนั้น แทบจะไม่สามารถมองอะไรเห็นได้เลยว่าข้างในเป็นอย่างไรบ้าง

ตรงจุดนี้เองที่แตกต่าง....

 

ทางเข้าออกของผู้ชุมนุมที่ย้ายมานี้ มองจากด้านนอกสามารถมองเห็นข้างในได้ค่อนข้างชัดเจน ผมเดินข้ามถนนมาเพื่อเข้าไปด้านในของพื้นที่ เดินอยู่ริมรั้วด้านนอกมองเข้าไปด้านในเห็น "เสธ.แดง" กำลังให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศอยู่ นึกในใจเหมือนกันว่าจะหยิบกล้องมาถ่าย แต่ก็เปล่าด้วยคิดว่าก็ถ่ายมาอยู่บ่อยครั้งแล้ว ไม่อย่างนั้นคงเป็นภาพของ เสธ.แดง ก่อนถูกลอบสังหารไม่กี่นาที

ด้านตรงข้ามของทางเข้าออกจะเป็นโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารอยู่ด้านในกันเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้เกิดความสงสัยได้ว่า ผู้ชุมนุมกำหนดทางเข้าออกได้ดีพอหรือเปล่า โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ ถือว่าประมาทเกินไปหรือไม่

จังหวะที่ผมเดินเข้ามาด้านในใกล้พระรูป ร.6 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มมอเตอร์ไซด์นับสิบคันเข้ามาจอดพอดี หลังจากนั้นพวกเขาจึงมาตั้งแถวอยู่บริเวณลานใกล้ทางเข้าออก เดินเข้าไปสอบถามจากคนที่ดูเหมือนเป็นหัวหน้าการ์ดชุดนี้ ได้ความว่าเพิ่งกลับมาจากการไปสักการะพระพรหมที่แยกราชประสงค์ ผมจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ใกล้กับพวกเค้า

แต่นั่งอยู่ได้ไม่นานในสถานการณ์ที่ดูปกติทุกอย่าง ผมนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้หนึ่งกับการ์ดที่ดูแลประตูเข้า-ออกด้านนี้อยู่ร่วม 30-40 คน พวกเค้าก็นั่งกันอยู่ที่พื้น ไร้ซึ่งความผิดปกติใดๆทั้งสิ้น มองออกไปเห็นกลุ่มคนกำลังหามผู้ได้รับบาดเจ็บอะไรสักอย่างผ่านหน้าไป แล้วก็มีคนตะโกนขึ้นมา

"เสธ.แดง ถูกยิง!!"

การ์ดทั้งหมดก็ได้ยินประโยคนี้พร้อมกันกับผม หัวหน้าการ์ดชุดนั้นยังผายมือแสดงสัญลักษณ์ให้การ์ดทั้งหมดนั่งอยู่กับที่ก่อน ผมตัดสินใจเดินเข้าไปจุดที่เห็น เสธ.แดง ครั้งสุดท้ายซึ่งห่างจากจุดที่ผมนั่งอยู่ไม่เกิน 20 เมตร

หลังจากสอบถามผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุแน่ชัด ไม่ทันจะได้เคลื่อนที่ไปไหน ไฟทุกจุดในบริเวณนั้นก็ถูกดับลงทั้งหมด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวต่อมาเป็นเวลานานต่อจากนั้น ผมไม่สามารถแยกออกว่าเกิดจากเสียงอะไรบ้าง แน่นอนว่าต้องมีทั้งพลุ ตะไล ประทัด

แม้จะได้ทราบข่าวภายหลังว่าในบรรดาเสียงเหล่านั้นมีเสียงของ M79 ที่ตกใส่เต็นท์ผู้ชุมนุมด้วยก็ตาม จนเสียงเหล่านั้นสิ้นสุดลง บรรยากาศทุกอย่างในพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน เงียบเสียจนได้ยินแม้เสียงลมหายใจของคนที่หมอบอยู่ข้างๆ

เสธ.แดง ถูกลอบสังหารโดยสไนเปอร์...

มวลชนที่อยู่ในจุดเกิดเหตุไม่สงสัยในข้อเท็จจริงนี้เลย ย้อนกลับไปในห้วงเวลานั้น อย่างที่บอกไป ทุกอย่างปกติ ไม่จริงที่สื่อมวลชนไทยรายงานว่าเกิดเสียงดังสนั่น 2-3 ครั้ง ก่อนจะลั่นไกเพื่อสังหาร เสธ.แดง ไม่จริงอีกเช่นกันที่หน้าหนึ่งบางฉบับรายงานว่ายิงกันจากภายในพื้นที่ชุมนุม เพราะจากจุดที่ผมอยู่นั้นเพียงแค่นิดเดียวจากที่ เสธ.แดง ยืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ 

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เสธ.แดง ถูกหลอกล่อให้มาที่จุดเกิดเหตุเพื่อลอบสังหาร แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ได้เห็น เสธ.แดง ในบริเวณนี้ บ่อยครั้งที่เดินเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมแล้วจะเจอ เสธ.แดง เดินไปมาเพื่อสั่งการการ์ด นปช. อยู่เป็นประจำ ทุกคนที่อยู่ในจุดนั้น ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงลั่นกระสุนไกจากปลายกระบอกปืนที่จะทำให้เราได้รู้ว่ารอบบริเวณเข้าสู่ห้วงเวลาอันตราย แม้แต่ตอนที่หาม เสธ.แดง ออกไปการ์ดที่นั่งอยู่ใกล้ผม ก็ยังไม่ระแคะระคายว่าได้มีเหตุที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น

อาจจะด้วยความประมาทหรือสาเหตุใดก็ตาม แต่หลังจากวินาทีที่กระสุนจากกระบอกปืน ลาปัว 308 ปฏิบัติการสำเร็จในภารกิจนี้ สภาพของที่ชุมนุมรอบแยกราชประสงค์ไม่เหมือนเดิมก็นับจากคืนนี้เป็นต้นไป

พร้อมกับการจากไปของ เสธ.แดง นั่นเอง...

 

 

15 พฤษภาคม 2553 

หลังจากพื้นที่รอบแยกราชประสงค์ถูกปิดกั้นโดยรอบ ได้มีมวลชนรวมตัวกันในจุดต่างๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลนอกพื้นที่ชุมนุม ในจำนวนนี้รวมทั้งบริเวณด้านแยกคลองเตย ใกล้ชุมชนบ่อนไก่ ผมตัดสินใจว่าจะเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่นี้ ตอนที่ไปถึงใต้ทางด่วนพระราม 4 เป็นเวลาประมาณห้าโมงเย็น ได้เจอชายคนหนึ่งเอาหมวกที่เป็นลักษณะของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่ดู 

เจ้าของหมวกใบนี้คือ มานะหรือเบิร์ด ลูกคนขายหมูในตลาดคลองเตยได้เข้ามาทำหน้าที่อาสาพยาบาล ในเวลาเกิดเหตุได้มีประชาชนคนหนึ่งถูกยิง มานะ จึงได้เข้าไปช่วยชีวิตเพื่อนำไปส่งโรงพยาบาล

แต่มานะก็ถูกยิงเข้าที่หัวทะลุหมวกนิรภัย ทั้งที่เค้าไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าเข้าไปช่วยชีวิตคนเจ็บ... มานะ เสียชีวิตทันที

ผมเดินเข้าไปในจุดปะทะ ที่ปากซอยสุวรรณสวัสดิ์ มีมวลชนอยู่กันจำนวนหนึ่งจับกลุ่มพูดคุยกัน เลยจากซอยนี้ไปไม่ไกลเป็นตึกลุมพินีทาวเวอร์ ม่านควันได้กลายเป็นที่อำพรางตาให้กับมวลชน เมื่อผมไปถึงหน้าตึก แนวหน้าจำนวนหลายคนกำลังพยายามสร้างบังเกอร์ยางในจุดนี้กันอยู่ด้วยความห้าวหาญ ผมแปลกใจว่าอะไรทำให้เค้าเหล่านั้นไม่กลัวตาย ทั้งที่รู้ว่าหลังม่านหมอกควันนั้นเองเป็นทหารที่พร้อมจะสาดกระสุนเข้าใส่อยู่ทุกเมื่อ พวกเค้าทำให้ผมนับถือหัวใจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่คอยลำเลียงยางเข้ามาสร้างบังเกอร์ แบกหม้อข้าวต้มมาให้ทาน รวมทั้งน้ำที่มาแบบไม่ขาดสาย 

และมวลชนหากจะตอบโต้ทหารบ้าง ก็ทำได้แค่ยิงบั้งไฟเล็กข้ามไปเท่านั้นเอง

ในตอนแรกที่ไปถึงดูสถานการณ์จะไม่เลวร้ายสักเท่าไหร่ แต่ไม่นานนั้นเองก็เริ่มมีเสียงทั้งกระสุนและระเบิดจากฝั่งทหารที่ยิงเข้ามาทางด้านผู้ชุมนุม พวกเราต่างต้องหลบกันจ้าละหวั่น แม้ ศอฉ.จะประกาศว่าจะใช้กระสุนจริงเฉพาะผู้มีอาวุธสงครามหรือผู้ที่เข้าใกล้เจ้าหน้าที่ก็ตาม 

ผมถอยมายืนอยู่บนตึกลุมพินีทาวเวอร์ เดินขึ้นบันไดมาที่หน้าตึก มองออกไปฝั่งตรงข้ามที่ปากซอยมีประชาชนออกมามุงดูกันไม่น้อย และด้วยความบังเอิญจึงได้ภาพของชายผู้นี้ ก่อนที่เค้าจะโดนยิงด้วยกระสุนจากฝั่งทหาร ทั้งสองรูปถ่ายมาห่างกัน 32 วินาทีเท่านั้น

คำถาม คือ เค้ามีอาวุธสงครามหรือ?

11

ประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน กวักมือเรียกเจ้าหน้าที่พยาบาลที่อยู่ด้านผมให้เข้าไปช่วย แต่มานะก็เพิ่งถูกยิงตายไปไม่นานนี้ พวกเค้าจึงต้องช่วยกันหามไปเอง ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ชายอีกคนหนึ่งที่ด้านฝั่งตรงข้ามก็ถูกกระสุนล้มลงอีกหนึ่งราย 

ด้วยสายตาของผมเองที่เห็น เค้าไม่ได้ดูเป็นผู้ก่อกายร้าย ไม่ได้มีอาวุธสงคราม เป็นแค่ประชาชน…

12

ด้านทหารยิงกันมาถี่เหลือเกิน ผมจึงวิ่งไปแอบหลังเสาตึก แค่ไม่นานก็รู้สึกว่าเสาที่ผมหลบอยู่เกิดเสียงดังสนั่น สักพักจนเสียงเริ่มซาลง ผมเดินออกมาจากเสาจึงพบว่า เสาที่หลบนี้เอง แม้จะเป็นเสาหินอ่อนก็ถูกยิงเข้าไปจนทะลุเลยทีเดียว

13

ผมเริ่มรับสถานการณ์ไม่ไหว จึงตัดสินจะเดินกลับไปที่ด้านใต้ทางด่วนพระราม 4 ระหว่างวิ่งกลับได้ไปหลบพักที่ปากซอยสุวรรณสวัสดิ์ แต่ก็ถูกมวลชนที่นั่น บอกให้ผมรีบหลบเข้าไปในซอย เนื่องจากคนที่ยืนปากซอยก็เพิ่งถูกยิงไปสองคนเช่นกันเมื่อไม่ถึงสองนาที หลังจากพักอยู่ได้สักครู่ ก็เริ่มวิ่งไปต่อแต่ระยะทางที่สั้นๆ นี้ดูเหมือนไกลมากในสถานการณ์ที่ตัวเองรู้สึกถึงความอันตราย

เมื่อฟ้ามืดลง ดูเหมือนทางด้านทหารเองก็จะหยุดปฏิบัติการด้วยเช่นกัน ผมจึงเดินออกไปทางด้านแยกคลองเตย เวทีของครูประทีป เริ่มมีการปราศรัยเกิดขึ้น มวลชนที่แยกนี้มีจำนวนอยู่พอสมควร ผมนึกในใจว่า ต่อให้รัฐสามารถจัดการพื้นที่แยกราชประสงค์ได้ แต่จะจัดการอย่างไรกับพื้นที่รอบนอกเหล่านี้..

ดึกคืนนั้นประมาณสี่ทุ่ม ผมนั่งมอเตอร์ไซด์เพื่อไปดูพื้นที่รอบแยกราชประสงค์ นั่งผ่านเข้าไปจากทางแยกราชเวที รถยนต์ไม่ต้องพูดถึงไม่มีสักคัน ส่วนคนเดินแทบไม่มีให้เห็นเลย ทุกพื้นที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความวังเวง

ที่เหมือนจะปกคลุมอีกชั้นด้วยความกลัว เมื่อผ่านแพลตตินั่มด้านขวามือเลยไปจะเจอสะพานที่มีหน้าด่านเพื่อเข้าพื้นที่ชุมนุม แต่วันนี้กลับสงัดไปด้วยความมืด ผ่านไปเรื่อยๆ จนเจอทางเข้าที่ปากซอยเพชรบุรี 30 ในจุดนี้มีการ์ดรวมตัวกันอยู่ประมาณ 15 คน

ลัดเลาะซอยเข้าไปจนถึงพื้นที่ด้านใน บอกได้ว่าบรรยากาศตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว นอกจากเสียงปราศรัยของคุณดารุณี บนเวทีแล้วแทบไม่มีเสียงอื่นให้ได้ยิน หน้าเวทีมีผู้ร่วมชุมนุมนั่งฟังอยู่ประมาณพันคน แต่พื้นที่ด้านหลังนั้นดับไฟมืดสนิท แม้มาตรการตัดเสบียงอาหารโดยการปิดพื้นที่รอบนอกจากเริ่มมาได้หลายวันแล้วก็ตาม จากการสำรวจพบว่ายังมีอาหารเหลืออยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ แม้ที่จุดหน้าเวทีก็ยังมีร้านขายขนมปังสังขยากันอยู่

รอบพื้นที่ชุมนุมทุกด้านล้วนปิดไฟมืดสนิท ไม่ว่าจะเป็นด่านสารสิน หรือเมื่อออกไปทางด่านศาลาแดง ผมสำรวจที่บริเวณฝั่งตรงข้ามตึก สก.ของโรงพยาบาลจุฬา ไม่มีเสียงจากเวทีต่อเสียงมาให้ฟังเหมือนเช่นเคย บรรยากาศนี้เป็นแบบเดียวกับหลังจากวินาทีที่ เสธ.แดง โดนยิงเมื่อวันก่อน แต่ตามด้านในเต็นท์ที่ผู้ชุมนุมนอนอยู่นั้น ยังแอบเห็นปลั๊กไฟที่ยังต่อไฟกันอยู่เพื่อเปิดพัดลม เนื่องจากพื้นที่ด้านหน้าเต็นท์ก็ต้องหาสแลนมาปิด ทำให้อากาศด้านในคงอบอ้าวอยู่พอควร 

ผมไม่กล้าเดินเข้าไปใกล้หน้าด่านมากกว่านี้อีก จนตัดสินใจกลับ ตอนเดินมาที่มอเตอร์ไซด์ กำลังจะก้าวขาขึ้นรถ ก็ได้ยินเสียงบางอย่างดังขึ้น พร้อมกันกับที่มวลชนที่ยังเฝ้าระวังยามดึกในบริเวณนั้นต่างอุทานกันด้วยความตกใจ

หมวกกันน็อกหล่น...

16 พฤษภาคม 2553

มีเหตุการณ์คือ คนที่ถูกยิงทั้งที่ยืนอยู่ไกลพื้นที่บริเวณต่างทางด่วนพระราม 4 จึงทำให้มีการสร้างบังเกอร์ยางในบริเวณนี้หนาแน่นมากขึ้น บรรยากาศโดยรอบวันนี้ดูน่ากลัวกว่าเดิม เหตุเพราะพอประชาชนโดนยิงในบริเวณนี้ได้ จากเดิมที่คิดว่าปลอดภัยจึงทำให้มวลชนถอยร่อนไปด้านหลัง วันนี้ผมเองหลังผ่านเหตุการณ์เมื่อวาน ยอมรับว่าใจคอไม่ค่อยดี จึงเข้าไปสังเกตการณ์แค่ก่อนถึงปากซอยสุวรรณสวัสดิ์เพียงเท่านั้น

14

จนถึงช่วงกลางคืนนั้นเอง ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โลตัสเอ็กเพรส ซึ่งอยู่ถัดไปจากตึกลุมพินีทาวเวอร์เพียงเล็กน้อย สอบถามจากมวลชนหน้าด่านในภายหลังได้ความว่า ยางที่จุดไว้บนถนนได้ลามเข้าไป แต่เมื่อพยายามจะดับไฟ ได้ถูกยิงสวนมาจากฝั่งทหาร จึงทำให้ไม่กล้ามีใครเข้าไปดับ รวมถึงรถดับเพลิงก็ไม่สามารถเข้าไปพื้นที่ได้เช่นกัน...

15

 

 

17 พฤษภาคม 2553

ศอฉ.ออกประกาศถี่ยิบให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ราชประสงค์ทันทีในเวลา 15.00 น. ผมจึงเดินทางไปที่บ่อนไก่เร็วกว่าปกติเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น วันนี้บรรยากาศดูผ่อนคลายกว่าวันก่อนหน้าพอควร เนื่องจากเราสามารถสร้างบังเกอร์ได้ค่อนข้างแน่นหนา ตอนที่เข้าไปอยู่ที่ใต้ทางด่วนพระราม 4 ที่หน้าด่านส่งคนมาบอกว่าเราสามารถควบคุมพื้นที่ไว้ได้ค่อนข้างดี จึงมาเรียกคนเข้าไปเพิ่มด้านใน 

ผู้ชุมนุมท่านหนึ่งเอากระสุนให้มวลชนด้วยกันดู ผมจึงไปขอถ่ายรูปด้วย ก่อนจะมีสื่อมวลชนอื่นๆพากันเข้าไปถ่ายตาม แต่ไม่รู้ว่าจะได้ออกสื่อไหม?

16

ผมก็เข้าไปด้านในกับมวลชนด้วย เดินเข้าไปเรื่อยๆ วันนี้มีการเคลียร์ทางค่อนข้างดี ที่ปากซอยสุวรรณสวัสดิ์เป็นที่รกร้างมีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็ม แนวหน้าเราได้ถางทางไว้เพื่อเป็นทางเดินเข้าไปด้านใน เดินทะลุทางรกร้างแล้วก็ปีนบันไดขึ้นที่ตึกหนึ่ง ก่อนจะมีบันไดพาดไว้สำหรับข้ามกำแพงเพื่อลงไปสู่ตึกลุมพินีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นตึกที่ผมเคยไปหลบกระสุนหลังเสาที่โดนยิงวันก่อน

วันนี้ด่านหน้าก็คงอยู่ได้ตรงนี้เหมือนเดิมหลังถอยร่นมาเมื่อวาน กลุ่มมวลชนรวมตัวกันส่องหาสไนเปอร์โดยการมองสะท้อนกระจก ถ้าให้ผมพูดตามตรงคือ ผมไม่แน่ใจ อาจจะใช่ก็ได้ หรืออาจเป็นผ้าใบอะไรสักอย่างที่ลมพัดเลยไหวไปมาก็ได้

19

ข่าวออกว่าเรามี M79 มีอาวุธหนักมากมาย ในพื้นที่จริงซึ่งไม่มีสื่อมวลชนไทยแม้แต่คนเดียว มวลชนมีอะไร?

ประทัด เช็งเม้ง

18

ปืนบุ้งกี๋

17

อาวุธเราก็มีแค่นี้แต่รัฐบาลตอบแทนเราด้วยกระสุนเข้าที่หัวของมวลชน สไนเปอร์ที่ส่องผ่านรูยางบังเกอร์... แม่นเหลือเกิน

ช่วงที่โดนยิงคือช่วงเวลาใกล้ๆ กับที่มีรถน้ำมันไปจอดอยู่บนถนน

ผู้ชุมนุมเป็นผู้กระทำงั้นหรือ??

คุณบ้าหรือเปล่า แค่หลบหลังบังเกอร์ยังโดนยิงหัวเลย พื้นที่เราสิ้นสุดแค่นี้ ปั้มน้ำมันเป็นพื้นที่ควบคุมของทหาร ใครกันล่ะจะสามารถกระทำได้โดยไม่ถูกทหารยิง หลังจากได้รับทราบข่าวผมจึงเดินไปที่หน้าแนวบังเกอร์ยางทันที ถามว่าเห็นรถน้ำมันกันบ้างหรือไม่ เค้าเหล่านั้นจึงบอกผมว่าเห็นเข็นกันออกมาประมาณยี่สิบนาทีที่ผ่านมา

คนเข็นใส่เสื้อยืด แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีการยิงต่อต้านจากทหาร ผมจะมองผ่านรูบังเกอร์ยางก็ไม่กล้า จึงเดินทางจากหน้าตึกลุมพินีทาวเวอร์โดยออกไปทางด้านหลัง เพื่อไปที่ปากซอยงามดูพลีที่มีแนวเราอยู่อีกจุดหนึ่งเลยตึกลุมพินีทาวเวอร์อีกหน่อย

แต่ที่แนวด้านนี้ก็มีลักษณะเหมือนซอยตันคือแนวบังเกอร์ที่ตั้งไว้ ทำได้แค่ไปวางที่ปากซอยเท่านั้นไม่ได้เอาไปวางบนผิวหน้าถนนใหญ่ มวลชนก็จะกระจุกตัวกันอยู่ในซอย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่มวลชนจะออกไปเข็นรถน้ำมันออกมาจากปั้มได้?

20

21

 

 

18 พฤษภาคม 2553 

ผมก็ยังไปที่บ่อนไก่เช่นเดิม สภาพวันนี้ดูปลอดภัยขึ้นมาก จากใต้ทางด่วนพระราม 4 มองออกไปจะเห็นบังเกอร์ยางตั้งไว้อย่างหนาแน่นที่สุดตั้งแต่เริ่มมาเลยทีเดียวมีหลายชั้น และแต่ละชั้นสูงจนพอหลบภัยได้ดี ที่หน้าตึกลุมพินีทาวเวอร์วันนี้ บังเกอร์สูงท่วมหัวไปแล้ว ผู้ชุมนุมในบริเวณจึงปลอดภัยกันดีทุกคน ต่างจากวันก่อนที่โดนยิงหัวก็จากแนวนี้เอง

22

แต่การจะเดินเข้าไปที่ด่านงามดูพลี ไม่ใช่เรื่องง่าย ตามปกติต้องเข้าไปที่หลังซอยแล้วอ้อมไปที่ปากซอยงามดูพลี แต่วันนี้น้องคนนี้ยืนยันว่าไปได้โดยที่เค้าจะเป็นคนคุ้มกันผมเข้าไปเอง ผมจึงตัดสินใจเข้าไปด้านใน ผ่านตึกโลตัส เอ็กเพรสที่ไฟไหม้วันก่อน

23

ที่ปากซอยงามดูพลี วันนี้บังเกอร์สามารถตั้งออกไปที่แนวถนนได้ ต่างจากทุกวันที่จะวางบังเกอร์ไว้เหมือนปิดปากซอย จุดที่ผมยืนคือบริเวณธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมวลชนจะยืนตรงนี้เพราะฝั่งตรงข้ามคือธนาคาร cimb จะมีสไนเปอร์ส่องยิงมาตลอด ลองดูรูๆทั้งหลายแล้วกัน รูกระสุนทั้งนั้นแหละครับ 

24

กระสุนพวกนี้มาจากไหน มวลชนพยายามส่องกันอยู่หลายวันที่ตึกในภาพนี้แหละครับ เค้าบอกว่าเค้าเห็น แต่ผมมองไม่เห็น ตอนนั้นส่องจากตึกลุมพินีทาวเวอร์มองจากกระจากสะท้อนไปที่ตึกนี้อีกที

วันนี้ที่ซอยงามดูพลี ลองส่องกันอีก ลองดูในภาพครับ ที่ผมวงไว้จุดผู้ชุมอยู่ไกลสุดคือตรงที่ผมยืนอยู่นี้ เลยจากนี้ไปเป็นแนวทหารทั้งหมด ใครไปหารูปดูจากที่อื่นก็ได้ที่ถ่ายจากฝั่งทหาร จะมีกั้นด้วยรถขยะ ตึกนี้จึงอยู่ในพื้นที่ควบคุมของทหารแน่นอน แล้วใครล่ะ จะขึ้นไปทำอะไรอยู่ข้างบน ท่ามกลางรูกระสุนนับไม่ถ้วนที่หวังปลิดชีวิตมวลชน

25

มวลชนแนวหน้าอยากให้สื่อมวลชนเข้าไปใจจะขาด ผมเข้าไปทีนี่ดีใจกันใหญ่ เค้าวิงวอนให้เสนอความจริงครับ เพราะหากเค้าจุดประทัดจากท่อน้ำขนาดเล็ก ข่าวก็รายงานว่ายิงปืนสวน หากเค้าจุดบั้งไฟก็รายงานยิง M79 จังหวะนั้นเห็นรถขยะไฟไหม้ ผมถ่ายจากรูยางที่บังเกอร์นี่เอง

26

27

28

29

วันนี้ผมคิดว่าจะไปสังเกตการณ์ที่ด้านดินแดง ก่อนไปจึงถ่ายภาพถนนพระราม 4 ไว้และนี่คือสภาพตอนนั้นครับ

30

ถึงดินแดงก็ค่ำมืดแล้ว เข้าไปทางฝั่งสามเหลี่ยมดินแดงไปได้จนหัวโค้งเห็นฝั่งตรงข้ามที่เป็นธนาคารนครหลวงไทยกำลังไฟไหม้อยู่ ที่ดินแดงนี่ผมไม่คุ้นเคยพื้นที่เท่าไหร่ ที่แยกใต้สะพานกลิ่นยางคละคลุ้งเป็นอย่างมาก ถ้าตรงไปที่แยกนี้ก็จะถึงอนุสาวรีย์ชัย แต่ผมไม่กล้าเดินจึงกลับทางเดิมแล้วนั่งรถอ้อมไปอนุสาวรีย์ชัยเพื่อเดินกลับเข้ามาอีกครั้ง ที่ด้านนี้มีคนปราศรัยอยู่บนรถที่ปากทางเข้า ใกล้กับตึกเซ็นเตอร์วัน ผมเดินเข้าไปเรื่อยๆ ถามคนในพื้นที่ทราบว่าตรงนี้ค่อนข้างปลอดภัยและมีมวลชนอยู่ซอยราชวิถี 1 

ในซอยตอนที่เดินเข้าไปมีคนอยู่พอสมควร เดินจนทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งของซอยจังหวะนั้นพอดีมีรถตำรวจและรถดับเพลิงรวม 4 คัน ขับเข้าไปในเขตพื้นที่ของทหาร เข้าใจว่าน่าจะขอผ่านทางเข้าไปเพื่อดับไฟที่ธนาคารนครหลวงไทย แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม รถทั้งหมดอีกสักพักจึงต้องขับกลับออกมาเหมือนเดิม จากนั้นผมเดินกลับเข้าไปข้างในซอยอีกครั้ง ที่ด้านในซอยนี้มวลชนจะอยู่ในตึกหลังหนึ่ง

คือตึกที่อยู่ก่อนถึงธนาคารเพียงนิดเดียว เลยจากนั้นเป็นพื้นที่ของทหาร แน่นอน... รวมถึงตึกชีวาทัย เพราะงั้นตามที่สื่อมวลชนรายงานว่า ตึกชีวาทัยที่คาดกันว่ามีสไนเปอร์อยู่บนตึกนี้อยู่ในแนวของมวลชนนั้น เป็นเรื่องไม่จริง แต่ตึกชีวาทัยที่มีสไนเปอร์อยู่นั้นอยู่ในแนวของทหารต่างหาก

มีผู้หญิงคนหนึ่งทำงานแบงก์เช่นกัน เข้ามาจนถึงที่ซุ่มอยู่ของมวลชน บอกว่านอนไม่หลับ ได้ข่าวว่าทหารจะเข้าสลายตอนตีห้า ไม่สบายใจเลยต้องออกมาให้กำลังใจ...

31

 

 

 

 

19 พฤษภาคม 2553 วันสลายการชุมนุม

ผมตื่นมาแต่เช้าก็รับทราบข่าวว่าทหารเข้าสลายการชุมนุมบริเวณราชประสงค์ ช่วงสายๆ ผมเดินทางไปที่บ่อนไก่เช่นเคย เนื่องจากคิดว่าเป็นพื้นที่ๆ ผมคุ้นเคยมากที่สุด 

ผมอยู่ที่บริเวณตึกลุมพินีทาวเวอร์ ช่วงเวลาประมาณเที่ยงๆ มวลชนเรียกกลุ่มที่อยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 ให้เดินเข้ามาสมทบเนื่องจากทางสะดวก แล้วรวมพลเดินเข้าซอยฝั่งตรงข้ามโดนหวังเข้าไปช่วยมวลชนที่ราชประสงค์ จนมวลชนมากันได้ 2-3 ร้อยคน จึงเดินเข้าไปในซอย

32

เดินเข้าไปในซอยได้แค่สัก 200 เมตร ไม่ทันไรเลยครับ เสียงปืนมาแล้ว หลบกันระนาวเลย จากวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผมต้องหลบกระสุนจากสไนเปอร์หนักๆ ก็มีครั้งนี้แหละครับที่เสียวสุดๆ เสียงปืนดังทุกครั้งที่มีคนขยับตัวไปเพื่อวิ่งหนีกลับหรือวิ่งหาที่หลบที่ปลอดภัยกว่าเดิม หลบกันอยู่ไม่นานก็มีผู้บาดเจ็บทยอยมาเรื่อยๆ หนึ่งคนโดนยิงที่ไหล่ และคนนี้ผมเข้าใจว่าโดนยิงบริเวณใกล้ๆอกทำนองนี้ โหดจริงๆครับ เค้าหนีกลับไปที่ตั้งยังยิงเลย

33

หลบด้านในอยู่นานกว่าจะออกมาได้ก็ช่วงประมาณบ่ายโมง ตอนนั้นยืนอยู่ใต้ทางด่วน ก็ได้ข่าวแกนนำยอมแพ้พอดี แรกที่กระแสข่าวยังดูสับสน มวลชนต่างไม่แน่ใจ จนสักพักหนึ่งเมื่อชัดเจนแล้ว ผมเห็นมวลชนบางคนมองไปที่เสาทางด่วนใต้พระราม 4

ข้อความนั้นถูกพ่นด้วยสเปรย์ว่า

"พ่อหนูอยู่ไหน"

เค้ามองที่ข้อความนี้แล้วก้มหน้าร้องไห้ น้ำตาจากลูกผู้ชาย หมดแรงที่จะยืนต้องนั่งที่ข้างฟุตบาทและแม้จะอายจนต้องก้มหลบหน้าคนอื่น แต่บรรยากาศแห่งความผิดหวังอบอวลในบริเวณนั้นเหลือเกิน 

ผมตัดสินใจเดินเข้าไปด้านในอีกครั้ง บริเวณแนวหน้าที่ผมคุ้นเคยกับมวลชนอยู่ทุกวัน เห็นหน้ากันประจำ ไม่ทันจะเดินเข้าไปดีเค้าเหล่านั้นก็เดินสวนกันออกมา สภาพที่แต่ละคนตอนนี้ดำไปทั้งตัวจากเขม่าควัน และคราบขี้เถ้าที่เปื้อนตัวตอนหลบกระสุน เสื้อผ้าไม่ได้ใส่ เหลือแต่ดวงตาที่ยังเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้รอบดวงตาของพวกเค้าไม่ได้เป็นสีขาวอีกต่อไป แต่มันเจือไปด้วยคราบน้ำตาที่เอ่อล้น ทั้งที่ชั่วโมงก่อนหน้าความหวังยังมีอยู่เต็มเปี่ยม 

เค้ามองมาที่ผม..

"ไปยอมแพ้มันทำไม สู้กันมาตั้งหลายปี"

ด้วยความผิดหวังในหัวใจ หลังจากที่แปรเปลี่ยนเป็นคราบน้ำตา ก็กลายเป็นความโกรธแค้นที่พุ่งพล่าน

เมื่อใครบางคนหยิบท่อนเหล็กขึ้นมาได้ พวกเค้าเริ่มทำลายธนาคารกรุงเทพที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ผมยืนอยู่ เตรียมจะไปเผา แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะสาขานี้อยู่ติดกับชุมชนพอดี จึงขยับไปรื้อทำลายตู้โทรศัพท์แทน แต่ละตู้ที่ค่อยๆ ล้มลง 

ผมเดินออกมาจากพวกเค้าเรื่อยๆ ถ้าใครคิดว่าการเผาต่างๆ นี้เป็นไปอย่างไตร่ตรองมาก่อน ถ้าถามผม... ผมคิดว่าไม่ 

ไม่เช่นนั้นเค้าคงไม่เผายางแทบทั้งหมดใต้ทางด่วนพระราม 4 ตอนนั้น

34

 

 

จากนี้ไป ผมไม่มีรูปให้คุณดู มีแค่คำพูดเล่าให้คุณฟัง...

และมันคือ..การเผา

จากใต้ทางด่วนพระราม 4 ควันเยอะอย่างมหาศาล เราก็ออกมาเรื่อยจนถึงการไฟฟ้านครหลวงคลองเตย ผมเห็นคนปาระเบิดขวดเข้าไปครั้งแรก ไฟลุกพรึบขึ้น โดยแทบไม่ต้องทำอะไรและไม่นานไปเกินกว่า 10 นาที ไฟลุกเผาทั้งตึกวอดวาย ออกมาเรื่อยๆ ร้านซีพี เฟรชมาร์ท ถูกทุบเข้าไป และหลังจากนั้นก็ตะโกนตรงกันไปยัง ช่อง 3 และเผา ก่อนจะกลับมาเผาต่อที่ตลาดหลักทรัพย์ เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วมาก และมาเป็นทอดๆ

ตอนแรกคิดว่าตลาดหลักทรัพย์จะไม่โดนเผา แต่สุดท้ายก็โดนจนได้หลังจากที่ช่อง 3 โดนเข้าไปแล้ว การเผาทุกที่ใช้คนไม่กี่คน และยางไม่กี่เส้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยห้ามปราม ตอนแรกเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณหลังทางขึ้นลงรถไฟใต้ดิน แต่พอมวลชนไปใกล้ๆ ก็ถอยหนี ที่อยู่ในศูนย์สิริกิติ์ก็เอารถออกไปหมด

หลังเผากันจนไฟจุดติดแล้ว ก็คุยกันต่อว่าจะไปที่ไหนกันต่อ บางคนเสนอให้ไปช่อง 9 ก็ดีหรือ ราบ 11 ก็ดี แต่จังหวะที่ไม่ทันฟังว่าไปที่ไหน รถมอไซด์เคลื่อนตัวกันไป ผมซ้อนมอไซด์มอไซด์ไปสักพักเห็นทำท่าจะข้ามไปด้านพระราม 3 ก็เลยคิดว่าไกลเกิน ไม่ได้ตามไป สุดท้ายแล้วจึงกลับ แต่คาดคะเนได้ว่ากลุ่มนี้นั่นเองที่ไปเผาต่อที่ธนาคารกรุงเทพอีกหลายสาขาที่ใกล้กับถนนพระราม 3

ที่ผมเขียน เพื่อจะบอกว่ามวลชนตอนนั้นไม่ได้มีใครนำใคร ได้แค่คุยๆ กันแล้วก็เฮโลไป ไม่ได้มุ่งหมายที่ใดเป็นพิเศษ จุดที่เผาก็เริ่มตั้งแต่แถวบ่อนไก่ ลากเป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆ บนถนนพระราม 4 ตามอารมณ์ โดยในจังหวะที่มีรถดับเพลิงมานั้น มวลชนก็ไล่ให้กลับไปไม่ให้เข้ามาดับเพลิง แต่ก็ด้วยเป็นไปในอารมณ์ และไม่มีการยิงปืนใส่รถดับเพลิงตามข่าวใดๆ ทั้งสิ้น เต็มที่ก็แค่ดีดหนังสติ๊กเข้าไปเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยปืน...

 

 

สุดท้ายขอจบด้วยรูปของซากปรักหักพังเหล่านี้

35-49

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เดินหน้า “ปรองดองแบบอภิสิทธิ์” (อย่าให้คนเสื้อแดงชนะเราด้วยการเลือกตั้ง!)

Posted: 23 May 2010 10:42 AM PDT

<!--break-->

“ผมไม่นึกไม่ฝันว่า เรามีรัฐที่ได้ทำร้ายประชาชนจนถึงขั้นเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสแล้ว เรายังมีรัฐที่พยายามยัดเยียดความผิดกลับไปให้ประชาชนอีก เป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้”

                                            (คำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้อง “ความรับผิดชอบ” 
                                            จากรัฐบาล นายสมชาย วงสวัสดิ์
                                            เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 – มติชน,24 พ.ค.53 หน้า 3)

 

ร่วม 80 ศพ กับบาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน อภิสิทธิ์รับผิดชอบอะไร? เขาแยกแยะให้เห็นหรือยังว่าใน 80 ศพ และในกว่า 1,000 คน ที่บาดเจ็บ มีผู้ก่อการร้ายกี่คน? ผู้บริสุทธิ์กี่คน? เขาเคยแม้แต่จะกล่าว “ขอโทษ” ญาติมิตรของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตหรือไม่? 

เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่นักการเมืองรุ่นใหม่ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เป็นนักการเมืองอาชีพ มีประสบการณ์มานาน จะแสดงออกต่อสาธารณะถึงความมี “อภิมหาสองมาตรฐาน” ใน “ความรัฐผิดชอบ” ของรัฐบาลอย่างไร้ยางอายเช่นนี้!

และยิ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อขึ้นไปอีก ที่ประชาชนในประเทศนี้ยังยินยอมให้อภิสิทธิ์เป็น “พระเอก” เดินหน้าต่อไปในการปราบผู้ก่อการร้าย ขบวนการล้มเจ้า และเป็นผู้นำในแผนปรองดอง 5 ข้อ หรือ “ปฏิรูปสื่อ” และ “ปฏิรูปประเทศไทย”

ทั้งที่เขา “อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม” กับประชาชนอีกหลายล้านคน ทั้งที่เขาปิดสื่อมากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร ทั้งที่เขาล้มเหลวในนโยบายสมานฉันท์ การแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธี และทั้งที่เขาเป็นผู้นำรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กองทัพแก้ปัญหาการเมือง จนทำให้ความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติ “ยกระดับ” เป็นสงครามกลางเมือง (โดยที่คาดการณ์ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วถึงแนวทางปฏิบัติของตนว่าจะนำไปสู่การ “ยกระดับ” ดังกล่าว)

ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดคือ เสียงเรียกร้องจาก ปัญญาชน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย (แม่งไม่อยากพูดถึงเลย!) สื่อมวลชนในไทย (สื่อต่างชาติยังมี “ท่าที” เรียกร้องมากกว่า) และภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ให้อภิสิทธิ์ลาออกหรือยุบสภากลับค่อยๆ แผ่วลงและเลือนหายไป!

เสมือนว่า “ชนชั้นนำทางปัญญา” ของประเทศนี้ต้องมนต์สะกดของ “เสธ.ไก่อู” ว่า ขบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้ยกระดับเป็น “ขบวนการก่อการร้าย” และเป็น “ขบวนการล้มเจ้า” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว! และคนเสื้อแดงที่ตายไปนั้นก็เพราะถูก “กองกำลังก่อการร้ายของคนเสื้อแดงยิงคนเสื้อแดงด้วยกันเอง” (เท่านั้น?)

และที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าความน่าอัศจรรย์ทั้งปวง คือ เป็นไปได้อย่างไรครับ ที่ความมั่นคงของรัฐบาลใน พ.ศ.นี้ จะอิงอยู่กับการ “ค้ำยัน” ของสถาบันกษัตริย์และกองทัพล้วนๆ?

ไหนพูดกันมาหลายสิบปีว่า ประเทศนี้ประชาธิปไตยก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองแบบตรวจสอบแบบมีส่วนร่วมเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว  ณ วันนี้พลังการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ หายไปไหน?

หรือว่า “ชนชั้นนำทางปัญญา” ในประเทศนี้ ก็แค่เอาแต่ “พูดแบบอภิสิทธิ์” (หมายถึง วิธีพูดที่ดูดีมีหลักการแต่ความเป็นจริงกับสิ่งที่พูดตรงข้ามกันราว “หน้ามือกับหลังตีน”) เท่านั้น!

ในสายตาของคนเสื้อแดงมีแต่คนที่ “พูดแบบอภิสิทธิ์” เท่านั้น ที่เต็มใจเข้าร่วม “แผนปรองดองแบบอภิสิทธิ์” แล้วก็ร่วม “ปฏิรูปสื่อ/ปฏิรูปประเทศแบบอภิสิทธิ์” คนเหล่านี้แสดง “เมตตาธรรมแบบอภิสิทธิ์” ต่อคนเสื้อแดงว่า พวกเขามาชุมนุมเพราะมีปัญหาความยากจน และเขายากจนเพราะสังคมมีความเหลื่อมล้ำมานาน แต่ความเหลื่อมล้ำมันเป็นข้อเท็จจริงของทุกสังคม ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง จะแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องใช้เวลาอีกนาน

แต่คนเสื้อแดงไม่ต้องการ “เมตตาธรรมแบบอภิสิทธิ์” ซึ่งไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร? คำตอบของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคืออะไร? เกือบค่อนร้อยปีของพรรคประชาธิปัตย์ เคยมีนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไหม? นอกจากโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่อง “บังคับใช้กฎหมาย” ด้วยการไล่คนจนออกจากที่ทำกิน (ไม่เคยไล่นายทุนบุกรุกป่าแม้แต่รายเดียว) แจก สปก.4-01 ให้คนรวย และด้วยการรักษา “นิติรัฐ” จนคนตายเป็นเบือ เกิดความแตกแยกร้าวลึกถึง “จิตวิญญาณ” ของคนระดับล่างอย่างไม่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!

คนเสื้อแดงไม่ได้มาร้องขอ “เมตตาธรรมแบบอภิสิทธิ์” เขามาทวงคืนอำนาจที่เท่าเทียม สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียม เขาต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด นั่นคือ “กระบวนการเลือกตั้ง” ที่เขาจะสามารถเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าเสนอนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และติดตามประเมินผลได้จากผลงานของรัฐบาลที่เขาเลือก

“เมตตาธรรมแบบอภิสิทธิ์” ที่แสดงออกด้วย “วิธีพูดแบบอภิสิทธิ์” เช่น “ขอคืนพื้นที่/กระชับพื้นที่/ปรองดอง สมานฉันท์” ด้วยการใช้ “กระสุนจริง” จนญาติพี่น้องมิตรสหายของเขาต้องตายเป็นเบือนั้น คนเสื้อแดงไม่ต้องการ!

เพราะจะให้พวกเขาเชื่อได้อย่างไรว่า เหล่าบรรดา “ผู้นำทางปัญญา” ของประเทศนี้ที่ล้วนแต่นิยมจริต “วิธีพูดแบบอภิสิทธิ์” ที่เข้าร่วมขบวนเมตตาธรรมและแผนปรองดองแบบอภิสิทธิ์นั้น ในที่สุดแล้วจะไม่ทำกันได้แค่ “ผสมพันทางความคิดแบบอภิสิทธิ์” แล้วก็คลอด “แผนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบอภิสิทธิ์” ที่ดูดีมีหลักการแต่ไร้ค่าในทางความเป็นจริง และทางการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม!

ผมไม่นึกไม่ฝันว่า ประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้ โดยเฉพาะเหล่าบรรดา “ผู้นำทางปัญญา” ของประเทศนี้ จะยังหลับหูหลับตารับรองความชอบธรรมของ “รัฐบาลแบบอภิสิทธิ์” (รัฐบาลที่เป็นศัตรูกับประชาชนที่ต้องการฟื้นศรัทธาต่อ “ระบบการเลือกตั้ง”) ส่งเสียงเชียร์ และร่วมเดินหน้าไปกับ “แผนปรองดองแบบอภิสิทธิ์” อย่างว่านอนสอนง่าย!

ในขณะที่คนเหล่านั้นต่างชายตามองความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดงอย่างรู้สึกโล่งอก แกมสมเพช หรืออาจสะใจ แต่ยังอุตส่าห์แสดง “เมตตาธรรมแบบอภิสิทธิ์” ออกมาว่า พวกเราควรเห็นใจคนจน ต้องปฏิรูประเทศ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ! (แต่อย่ารีบให้อำนาจคนเสื้อแดงเป็นอันขาด อย่าให้พวกเขาได้เลือกตั้งง่ายๆนะ “อย่าให้พวกเขาชนะเราด้วยการเลือกตั้ง!”)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมเถา สุจริตกุล : จดหมายเปิดผนึกถึงกลุ่มคนเสื้อแดง

Posted: 23 May 2010 10:16 AM PDT

<!--break-->

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงพวกคุณเพราะในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายครั้งที่ผมโกรธ บ่อยครั้งที่ผมผิดหวัง ฝันสลายและอึดอัดใจ แต่มีครั้งเดียวในห้วงเหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดทั้งหมดนี้ที่ทำให้ผมน้ำตาไหล นั่นคือเมื่อแกนนำของคุณ คุณวีระ มุสิกพงศ์ เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ และพูดเรื่องความฝัน ความผิดหวัง ความหวังที่ยังเหลืออยู่ของเขา

เมื่อควันจาง จะมีคนบอกคุณว่าพวกคุณถูกหลอก ถูกล่อลวง ถูกซื้อและถูกทรยศ ว่าคุณเป็นแค่เครื่องมือของพวกคนชั่วที่จริงๆ  แล้วไม่สนใจว่าคุณจะมีชะตากรรมยังไง ว่าคุณเป็นผู้ก่อการร้าย นักวางเพลิง พวกทำลายวัฒนธรรม พวกเกลียดเจ้า จะมีคนกล่าวว่าคุณทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติและขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ร้ายที่สุดคือเขาจะบอกว่าคุณทุกคนเป็นพวกไม่รู้เรื่องราวที่ใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองอย่างผิด ๆ เพราะคุณไม่เข้าใจประชาธิปไตย

ผมเกรงว่าคำพูดของคนเหล่านั้นเป็นจริงอยู่หลายกรณี การเกิดใหม่ชั่วข้ามคืนของประเทศเราที่คุณอยากเห็น กลายเป็นเพียงอรุณรุ่งอันจอมปลอม อาชญากรรมมากมายถูกก่อขึ้น และทั้งสองฝ่ายก็ซ่อนความจริงสำคัญหลายเรื่องไว้ใม่ให้อีกฝ่ายรู้

ถึงแม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นจริงในหลายกรณี ผมก็อยากให้พวกคุณรู้ว่ามันไม่ได้ลบล้างความจริงข้ออื่น ความจริงที่ฝังอยู่ในใจคุณ เมื่อคุณก้าวออกมาร้องทุกข์ด้วยการประท้วงอย่างสันติ

ประตูที่ควรเปิดรับคุณเมื่อหลายปีก่อน เมื่อประเทศนี้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย เปิดออกช้าเกินไป การศึกษาที่คุณต้องใช้เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม ถูกปิดกั้นไว้นานเกินไป เสียงที่พวกคุณมีมาโดยตลอดนั้นก็ถูกพบช้าเกินไป และเพราะว่าถูกเก็บกักไว้นานเช่นนั้น เมื่อแสดงออกได้มันจึงทำลายสิ่งต่าง ๆ จนพินาศ และความพินาศร้ายแรงที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับห้างสรรพสินค้าและธนาคารไม่กี่แห่ง แต่เป็นความพินาศที่คุณก่อขึ้นกับตัวเอง

แต่ผมอยากให้คุณรู้ว่าเมื่อพูดถึงการปลดปล่อยจิตวิญญาณของมนุษย์ ประวัติศาสตร์อยู่ข้างคุณ หนทางสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้อาจจะยากลำบาก แต่ไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งได้ คุณไม่ได้แพ้สงครามครั้งนี้ แต่ผมหวังว่าคุณจะได้เรียนรู้จากมัน คำถามคือไม่ใช่ว่าคุณจะชนะสงครามนี้ไหม แต่จะชนะอย่างไรต่างหาก จะด้วยความวุ่นวายและการนองเลือด หรือการเจรจาประนีประนอมอันยาวนานและเจ็บปวด ด้วยการพัฒนาทีละขั้นอันเป็นวิถีอารยะ

อาจยากที่คุณจะเชื่อ แต่หลายคนที่ถูกป้ายสีว่าเป็นศัตรู ล้วนมีความฝันสูงสุดร่วมกันกับคุณ ยกตัวอย่างเช่น ผมเชื่ออย่างจริงใจว่านายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เข้าใกล้ฝันเหล่านั้นในเชิงความคิดมากกว่าแกนนำจำนวนหนึ่งของคุณ หากเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถ้าเขามีกรอบความคิดเหมือนผู้นำเผด็จการทหารหลายคนที่เคยมีมาในอดีต ซากศพจากเหตุเมื่อสองสามวันก่อนคงมากมายเกินกว่าจะทำใจได้

ผมยังเชื่อว่าผู้นำหลาย ๆ คนของคุณ อย่างคุณวีระ มีความฝันและความหวังเช่นเดียวกับเหล่าคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคุณ เพราะที่สุดแล้วมันเป็นฝันและหวังของคนไทยทุกคน ที่จะได้อยู่อย่างสันติ ไม่ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างไร้จุดหมาย ได้มีโอกาสเหมือนคนอื่นที่จะบรรลุความฝันที่ตั้งใจเอาไว้และจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์

อาจเร็วเกินไปที่จะหวังเช่นนี้ เพราะความโกรธแค้นและไม่ไว้ใจของทั้งสองฝ่ายยังมีมากเกินไป ถ้าคุณวีระได้รับการพิพากษาว่ากระทำผิดจริง ก็ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม  เช่นเดียวกับคุณสุเทพ หากพบว่าเขาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก็ต้องถูกตัดสินลงโทษเช่นเดียวกัน แต่คงงดงามยิ่งหากได้เห็นนักอุดมคติอย่างคุณวีระได้มีบทบาทในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์สักชุด การประนีประนอมเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในอิตาลีเมื่อหลายสิบปีก่อน และมันช่วยให้ประเทศนั้นพ้นจากปัญหาความขัดแย้งภายในที่อาจนำไปสู่หายนะ

คุณเปลี่ยนเมืองไทยไปแล้วชั่วนิรันดร์ ด้วยการได้ค้นพบและแสดงให้พี่น้องประชาชนของคุณเห็นว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะคิด พูด และทำ ผมขอสนับสนุนให้คุณก้าวต่อไป คิดต่อไป แต่คิดเพื่อตัวคุณเอง อย่าคิดสิ่งที่ผู้อื่นบอกให้คุณคิด พูดในสิ่งที่คุณคิด ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อื่นบอกให้คุณพูด และทำด้วยสติเช่นเดียวกับด้วยหัวใจ เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน แม้แต่คนซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกับคุณ

ในเวลานี้ คงมีคนไม่เท่าไรในกรุงเทพฯที่จะนึกขอบคุณในสิ่งที่คุณทำ แต่ผมอยากจะขอบคุณจริงๆ สิ่งที่คุณทำลงไปนั้นสำคัญมาก แม้อาจไม่ใช่เพราะเหตุผลที่คุณคิด และผมก็อยากอธิบายว่าทำไม

เวลาคุณตัดถนน บางครั้งคุณอาจไปเจอภูเขา เพื่อจะให้ผ่านไปได้ คุณอาจต้องหาทางอ้อมมันไป คุณอาจต้องขุดอุโมงค์ลอดหรือระเบิดทำลายภูเขาทั้งลูกเสีย

เมืองไทยได้มาถึงภูเขาลูกนั้นแล้ว เป็นเวลาอย่างน้อยสองทศวรรษที่ไม่มีใครยอมอ้อมมันไป ขุดอุโมงค์หรือระเบิดภูเขานั่นแม้แต่คนเดียว แต่ทุกคนก็รู้ว่าเราต้องผ่านมันไป ภูเขามันขวางทางเราอยู่ รัฐบาลบางรัฐบาลที่ผ่านมา ขโมยเงินของคุณไป สร้างบอลลูนสีทองงดงามขึ้นมา เพื่อพาคนบางกลุ่มข้ามภูเขาไป โดยไม่สนใจว่าที่เหลือจะถูกทิ้งไว้เลย รัฐบาลอื่น ๆ ก็เอาแต่พูด พูด พูด แต่ภูเขาก็ยังไม่ได้ไปไหน ก็แน่อยู่แล้วว่าคุณต้องหมดความอดทน

คุณไม่ได้ระเบิดภูเขานั่นทิ้ง แต่โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้ทุกคนทราบว่า ได้เวลาแล้วที่เราจะต้องก้าวไปข้างหน้า คนของคุณและเหล่าทหาร ต่างไม่ได้ทนทุกข์และตายเปล่า แม้ดูเหมือนว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางความมืดและความวุ่นวาย วันนี้เราได้เข้าใกล้ประชาธิปไตยที่เต็มใบกว่าครั้งไหน ๆ ในยุคของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลต่อ ๆ มา สักวันหนึ่งผู้คนจะตระหนักว่าคุณได้เปิดตาพวกเขา ว่าพวกคุณมีส่วนอย่างยิ่งในการร่วมสร้างจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ไทย สุดท้ายแล้วคนอื่น ๆ ในประเทศก็จะเข้าใจและยอมรับมัน หรือกระทั่งอ้าแขนเพื่อโอบรับมันไว้ เพราะการโอบกอดผู้ที่เราคิดว่าเป็นศัตรูนั้น แท้จริงแล้วก็คือการโอบรับตัวตนของเราเอง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สิ่งที่ถูกเผาทำลายลงอย่างสิ้นเชิงจากเพลิงพิโรธของคนเสื้อแดง

Posted: 23 May 2010 09:49 AM PDT

<!--break-->

 

การ "เผาบ้านเผาเมือง" ของคนเสื้อแดง ได้สร้างความตระหนกแก่คนที่ข้าพเจ้ารู้จักหลายคน ไม่นับความเคียดแค้นและความรู้สึกเหยียดหยามที่เพิ่มขึ้น แต่ข้าพเจ้าอยากจะพูดเพียงว่า ไม่มีอะไรน่าตระหนกหรือคาดไม่ถึง หากเพียงที่ผ่านมาท่านจะได้พยายามทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพวกเขามากกว่านี้

ชาวบ้าน ไม่ใช่คนเชื่อเชื่อง พวกเขาเพียงใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อสื่อสารกับ "คนที่หนือกว่า" เท่านั้น พวกเขาไม่ได้ทำอย่างเดียวกันกับคนที่อยู่ในฐานะเดียวกัน

พวกเขาไม่ใช่ไม่รู้จักเคียดแค้น พวกเขาไม่ใช่ไม่มีความรู้คิด และพวกเขาไม่ใช่ไม่รู้สึกรู้สา พวกเขาไม่ใช่ไม่มีกิเลสโลภ และพวกเขาไม่ใช่นักสันติภาพ ความรุนแรงถึงฆ่าฟันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเมื่อเกิดความขัดแย้ง และมันเป็นการฆ่าฟันอย่างตรงไปตรงมา

คนบ้านนอกไม่ได้เป็นตัวแทนของสิ่งบริสุทธิ์สวยงามที่รอให้ไปเสพสมชมชื่น ไร่นาเรือกสวน นอกเหนือจากความเขียวขจี มันยังสพรั่งไปด้วยหนี้สินและความยากจน และพวกเขาก็ไม่ใช่จะไม่รู้เลยว่าความยากจนนั้นไม่ได้เป็นผลของความเกียจคร้าน บ้านนอกห่างไกลความเจริญของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าโลกภายนอกนั้นตัดขาดจากพวกเขา

ชาวบ้านไม่ได้น่ารักถูกต้องเสมอ แน่นอนพวกเขาผิดได้ และพวกเขาก็น่ารังเกียจในหลายครั้ง

ขณะที่หันไปมองคนดีๆ ในสังคมที่รับไม่ได้กับความเถื่อนถ่อยของหมู่คนชั้นต่ำเหล่านี้ กระทั่งว่าเรียกร้องให้รัฐใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาด ข้าพเจ้าลึกๆ แล้วสาแก่ใจที่ได้อ่านข้อความที่เปลือยหัวใจแท้จริงของคนที่ห่อหุ้มตัวเองด้วยความสุภาพ และมีเมตตา หลายคนในพวกเขาพร้อมเสมอสำหรับการอาสาเมื่อมีผู้ทุกข์ร้อน เอื้อเฟื้อแก่ผู้ยากไร้ และเจ็บแค้นแทนเมื่อเห็นคนถูกกระทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรม

แต่พวกเขากลับทนไม่ได้เมื่อคนยากคนจนที่น่าจะรอรับ "ทาน" อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน กลับลุกขึ้นมาทำตัว "ตีเสมอ" อ้างหลักการที่ไม่น่าเชือถือว่าคนเราจะเท่ากันได้เพียงแต่การกากบาท ทั้งโหยหาผู้นำที่ขาดไร้ซึ่งความสุจริต และเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกับที่พวกเขาพยายามเลี่ยงเช่นกัน

สำหรับพวกเขาแล้ว ชาวบ้านที่น่ารักก็คือชาวบ้านที่เชื่อง ไม่ต่อปากต่อคำ หรือหากชาวบ้านคนใดช่างพูด ก็จะได้รับการยอมรับต่อเมื่อ พูดได้ถูกต้องตามมาตรฐานที่พวกเขากำหนดไว้ และจัดประเภทให้เป็น ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นวิทยาศาสตร์แบบบ้านๆ

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก วิเคราะห์ว่าภาพของเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปลวไฟลุกขึ้นใจกลางย่านช็อปปิ้งระดับไฮเอนด์ ความมั่นใจในพื้นฐานที่เข้มแข็งของสังคมไทยที่มาจากความสงบเรียบร้อยรู้รักสามัคคีถูกสั่นคลอนไป

แต่ในความเป็นข่าว ภาพเพลิงเผาผลาญเพราะฝูงชนที่บ้าคลั่งซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งในการต่อสู้ทางการเมืองในมุมอื่นๆ ของโลก ไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจเท่ากับภาพประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศตกเป็นเชลยของทหารที่เข้าปฏิบัติการอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม และควบคุมตัวพวกเขาโดยการผูกตา มัดแขนไพล่หลัง รวมถึงการจับคนมา "ร้อยกันเป็นพวง" สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นในรัฐที่มีนิติรัฐและเป็นประชาธิปไตย

ภาพการเรียกร้องทางการเมืองของเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความชื่นชมต่อความสงบสันติของการเคลื่อนไหวที่ "ไม่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงอะไร" นั้น บัดนี้เปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อเห็นควันพวยพุ่งขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร ข้าพเจ้ารู้สึกได้รับการปลดปล่อย เมื่อภาพมายาบางอย่างถูกทำลายลงเสียที

การเผาทำลายอาคารหลายจุดด้วยเพลิงแค้นของคนเสื้อแดงนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องสูงค่ามากสำหรับสังคมไทย เพราะมันคือการเผาทำลายภาพมายาเกี่ยวกับความ "น่ารัก" ของคนไทยลงโดยสิ้นเชิง ภาพมายาที่ฉาบเคลือบความไม่เท่าเทียมกัน การดูถูกดูแคลน กดขี่ข่มเหง เหยียดหยาม สำนึกแห่งการใช้ความรุนแรงและการฆ่าฟัน ซึ่งเป็นสำนึกที่ถูกเก็บซ่อนไว้ยาวนานของสังคมไทย

พระเพลิงได้เผาทำลายภาพคนจนที่เชื่อง โง่ ซื่อใส น่าเอ็นดู ขณะที่ความสะใจในการฆ่าคนเสื้อแดงและการร่ำไห้ให้กับซากอิฐปูนก็ได้ทลายภาพ มากน้ำใจ เมตตาคนยากไร้ ของพวกผู้มีการศึกษาฐานะดีบางส่วนลงให้เห็นก้นบึ้งแห่งความคลั่งชาติ และอาฆาตมาดร้าย สำหรับพวกเขา คนจน ถ้ามันเชื่องก็เลี้ยงไว้ได้ แต่ถ้ามันไม่เชื่องก็ฆ่าทิ้งได้เหมือนหมาตัวหนึ่งเท่านั้น

ประเทศไทยได้เปลื้องภาพมายาของตัวเองออกมาแล้ว เพียงแต่มันจะถูกห่มคลุมให้มิดชิดอีกครั้งได้หรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ATNC ประณามการกระทำของรัฐบาลและการใช้กระสุนจริงต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ

Posted: 23 May 2010 09:48 AM PDT

<!--break-->

23 พ.ค. 53 - ATNC เครือข่ายองค์กรการตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติเอเชีย ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาลและการใช้กระสุนจริงต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ โดยมีเนื้อหาดังนี้..

เครือข่ายองค์กรการตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติเอเชีย รู้สึกตระหนกต่อพฤติกรรมที่ป่าเถือนของทหารของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ที่กระทำการปราบปรามอย่างไร้จิตสำนึกต่อประชาชน เพื่อผ่าทางตันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้ใช้กองกำลังของรัฐเพื่อผลักดันผู้ประท้วงออกจากพื้นที่ชุมนุม, การต่อสู้กันทั้งสอง ฝ่ายส่งผลให้มีมีคน 24 คนถูกฆ่าตาย และผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 800 คน ในระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม ตามรายงานของรัฐบาล อย่างน้อยมี 35 คนถูกฆ่าตาย ล้วนแต่เป็นพลเรือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 232 คน ในวันที่ 19 พฤษภาคม รัฐบาลโหมยุติการประท้วงด้วยรถถังและอาวุธสงครามครบมือ จนถึงปัจจุบันมีประชาชนกว่า 80 คนถูกสังหาร และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน มีทั้งพลเรือนและสื่อมวลชนต่างประเทศ

เราขอประณามการกระทำของรัฐบาลและการใช้กระสุนจริงต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ

ทั้งนี้โปรดอย่าลืมความกล้าหาญของคนไทย ที่นับตั้งแต่ปี 2516 ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, ความยุติธรรม และความเสมอภาคในชีวิต พวกเขาถูกบดขยี้อีกครั้งโดยชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจะเป็นมวลชนตัวแทน ของทักษิณ, สุนทรเวช หรือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งครอบงำการปกครองเสรีนิยมใหม่ ด้วยประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ในฐานะที่เป็นเครือข่ายองค์กรแรงงาน และสหภาพแรงงานในภูมิภาคนี้ที่ได้ต่อสู้กับกระแสเสรีนิยมใหม่ และการกดขี่ขูดรีดของนายทุน

พวกเรายืนหยัดสนับสนุนคนทำงานและผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทยให้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพื่อให้บรรลุถึงความยุติธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ สำหรับพวกเขาแล้วมันมากกว่า เล่ห์เหลี่ยมเพื่อผลประโยชน์ ของชนชั้นปกครอง

แม้จะมีความการแตกแยกและความตึงเครียดทางการเมือง, องค์กรภาคประชาสังคม, สหภาพแรงงาน และเอ็นจีโอใน ประเทศไทย ต่างก็ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับประชาชนและการต่อสู้ของพวกเขา เราสนับสนุนและขอนำข้อ เรียกร้องของพวกเขามายังประชาคมโลกว่า

แทนที่จะแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมอย่างแท้จริงของเศรษฐกิจไทย รัฐประหารในปี 2006 เป็นการกระทำนอกขอบเขตบนระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการการชุมนุมทางการเมืองและการแตกแยกอย่างรุนแรงในประเทศ และ

นอกเหนือไปจากความแตกต่างทางความคิดและความซับซ้อนของการเมือง การประท้วงของประชาชนทั้งในกรุงเทพ และในหลายจังหวัด คือการใช้สิทธิที่ชอบธรรมในการแสดงความไม่พอใจ และความคับข้องใจที่มีต่อรัฐสภาที่ถูกครอบงำเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง การกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ใช้กำลังทหารและกระสุนจริงต่อผู้ชุมนุมจำเป็นจะต้องถูกประนาม

เรามีความห่วงใยโดยเฉพาะการปิดกั้นเสรีภาพภาคของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และการเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งจะถูกปิดกั้นต่อไปหลังการปราบปรามในนามของ “การต่อต้านผู้ก่อการร้าย” เราขอกำชับรัฐบาลอภิสิทธิ์ อย่างหนักแน่นว่า

ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและคุ้มครองคนไทยทุกคนรวมทั้งผู้บาดเจ็บและผู้สูญเสียไปจากการปราบปรามอย่างรุนแรง

ให้ยกเลิก ประกาศ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และส่งเรื่องการกระทำทั้งหมด ของรัฐบาลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและให้เกิดการตรวจสอบ และเป็นกลาง

ให้หยุดการปิดกั้นสื่อ

แต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์โดยกองทัพไทย

เจรจาโดยสันติวิธีกับผู้ชุมนุมประท้วงไปในทางที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง

ปกป้องเสรีภาพของการชุมนุม, เสรีภาพทางการแสดงออก, เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง อันเป็นกติกาสากลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรม

เราขอกระตุ้นให้นานาชาติ, สหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานร่วมกันต่อสู้ของทำงานและชนชั้นแรงงานในประเทศไทย

ATNC เครือข่ายองค์กรการตรวจสอบบรรษัทข้ามชาติเอเชีย

20 พฤษภาคม 2010

www.atnc.org

 

The ATNC Monitoring Network is outraged by the blunt military crackdown of the Abhisit government against its people to end the political tie-up in Thailand. On April 10, the government used state forces to eject the protesters, instigating armed fighting by both sides and 24 were killed and more than 800 wounded. Between 13 and 17 May, according to the government at least 35 people were killed, all civilians, and at least 232 wounded. On May 19, the government stormed the barricades of the protesters with tanks and full weaponry. Until now more than 80 people have been killed and 2,000 injured, including civilians and international journalists.

We strongly condemn the government’s actions and use of live ammunitions against unarmed civilians.

One does not forget the bravery of the Thai people who since 1973 have been struggling for freedom, democracy, justice and equality with their lives. They are crushed once again by the ruling class, whether it is represented by the Thaksin, Sundaravej or Abhisit government, which masks its neo-liberal domination with parliamentary democracy. As a regional network of trade unions and labour organisations fighting against neo-liberalism and capitalist exploitation, we stand in support of all the working people and labourers in Thailand to fight for real democracy that will achieve political and economic justice for them rather than a ploy of the interests of the ruling class.

Despite the political divisions and tension, the civil society organisations, trade unions and NGOs in Thailand are struggling to give a voice for justice to the people and their struggle. We support their appeal telling the international community that:

Rather than amending the real social contradictions of the Thai economy, the military coup back in 2006 was an illegitimate curb on democracy in Thailand resulting in the aggravated political mobilisations that further divided the country; and

Beyond the political division and complications, the people’s demonstrations in Bangkok and other provinces are to express their legitimate frustration and grievances against the existing mode of parliamentary democracy dominated by the partisan interests of the ruling class; the Abhisit government’s use of military force and live ammunitions against the demonstrators is an outrage that must be condemned.

We are particularly concerned with the oppression against the civil society, freedom of speech and association that is likely to follow after the crackdown in the name of “anti-terrorism”. We strongly urge the Abhisit government to:

Immediately provide assistance and protection for all Thai people including those injured or bereaved due to the violent clashes

End the state of emergency and submit all government actions to the legal system and its checks and balances

Immediately end all restrictions of the media

Appoint an independent commission to investigate the murder of innocent civilians by Thai military forces

Peacefully negotiate with the protesters, towards effecting a government with an elected mandate.

Protect the freedom of assembly, freedom of collective action and collective bargaining as universally recognized fundamental parts of a free democracy and fair society.

We urge the international communities, trade unions and labour organisations to give solidarity to the struggle of the working people and labourers in Thailand.

ATNC Monitoring Network, May 20, 2010

www.atnc.org

Those who agree with the above are welcome to join ATNC Monitoring Network as signatories to the statement

We also wish to draw attention to the courage of Thai groups inside Thailand now who have also launched their own statements and appeals to call for peaceful and genuine resolution to the country’s political and economic problems. Among them is this statement, created by our partner in Thailand, Thai Labour Campaign:

http://www.petitiononline.com/10310/petition.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาก “ปีศาจ” ถึง “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” จวบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา

Posted: 23 May 2010 09:42 AM PDT

<!--break-->

ชื่อบทความเดิม : จาก “ปีศาจ” ถึง “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” จวบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในเดือนเมษา การเดินทางผ่านกาลเวลาของปีศาจตัวเดิม (ของศัตรูตัวใด?)

 บรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน   ทำให้ฉันนึกถึงนวนิยายไทยเก่าแก่สองเรื่องที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว  เรื่องหนึ่งคือ  ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์   อีกเรื่องคือ  ด้วยรักแห่งอุดมการณ์  ของ วัฒน์ วรรลยางกูร    บังเอิญเหลือเกินที่เป็นงานของนักเขียนรางวัลศรีบูรพาทั้งคู่    เสนีย์ เสาวพงศ์  ได้รับรางวัลศีรบูรพาเป็นคนแรก  ในปี 2531  ส่วนวัฒน์ วรรลยางกูร  เป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ 19 ปี 2550

นวนิยายทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวพันกันอยู่  อย่างน้อยที่สุดผู้เขียนเรื่องหลังก็เขียนให้ตัวละครเอกของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านนวนิยายเรื่องแรก และยึดถือเป็นต้นแบบของอุดมคติ   ซึ่งไม่ขัดกับคำอธิบายของ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวิจารณ์วรรณกรรมแห่งยุค  (อ้างจาก “ปีศาจ กับอาการผีเข้าผีออกของปัญญาชนไทย,” วารสารอ่าน เล่ม 2  (กรกฎาคม-กันยายน 2551) ที่ว่า

“นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์ สยามสมัย ในช่วงปี พ.ศ. 2496-2497 แต่ไม่เป็นที่กล่าวขานมากมายนักแต่อย่างใด  ‘ยกเว้นจดหมายชื่นชมสั้นๆ จากผู้อ่านสองสามฉบับแล้วปฏิกิริยาที่นวนิยายเรื่องนี้ได้รับก็คือความเงียบงัน ไม่มีนายทุนคนใดกล้าเสี่ยงจัดพิมพ์รวมเล่มตามธรรมเนียมที่มักปฏิบัติต่อเรื่องของนักเขียนชื่อดังซึ่งลงพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำ เพราะคิดว่าเรื่องนี้ขายไม่ได้’  ต่อเมื่อเวลาล่วงเลยไปจนถึงปี 2500 สำนักพิมพ์เกวียนทอง ของ คำสิงห์ ศรีนอก จึงได้นำมารวมพิมพ์เป็นเล่ม แต่ดังที่ทราบกันดี นวนิยายเรื่องนี้ยังมิทันได้สร้างผลสะเทือนใดๆ ก็ถูกทำให้เงียบหายไปอีกคำรบหนึ่ง เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2501  กว่าหนังสือเล่มนี้จะหวนกลับมาเป็นที่รับรู้ในหมู่นักศึกษาปัญญาชน ต้องใช้เวลานานถึงสิบกว่าปี เมื่อ วิทยากร เชียงกูล เขียนบทวิจารณ์ ‘ไม่มีข่าวจากเสนีย์ เสาวพงศ์’ ในปี 2513 และกลายเป็นหนึ่งในนิยายที่คนหนุ่มสาวต้องพกพาคู่กับคติพจน์เหมาเจ๋อตุงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516   นับจากนั้นมานวนิยายเล่มนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง  จวบจนถึงปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นหนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน”

การที่ปีศาจหวนกลับมาเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกครั้งนั้น  นักวิจารณ์แห่งยุคคนเดิมบอกว่า  เป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากขบวนการนักเรียนนักศึกษาในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม  

‘ผมว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคมเกิดขึ้น เรื่องเหล่านี้ก็คงจะไม่ฮือฮาขึ้นมา’”  (อ้างจากวารสาร อ่าน เล่ม 2) 
เสนีย์ เสาวพงศ์  มีชื่อเสียงปานใดนั้น  ฉันไม่อาจบอกได้ เพราะเขาโด่งดังก่อนฉันเกิดหลายสิบปี และฉันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแฟนหนังสือของเขา เพราะเคยอ่านงานของเขาเพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวจริงๆ (เหตุที่ไปหามาอ่านเพราะมันเป็นหนังสือบังคับอ่านในวิชาวรรณกรรมที่ลงทะเบียนเรียนตอนปีสี่)   แต่คำนำสำนักพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้อธิบายชื่อเสียงของเขาไว้ว่า

“ถ้าใครสามารถเอ่ยถึงยุคทองแห่งวรรณกรรมในสมัยก่อนสงครามสิ้นโดยไม่เอ่ยอ้างถึง เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็นับได้ว่าเก่งอย่างโง่เซอะ  ชื่อเสียงของเสนีย์ในขณะนั้นโด่งดังยิ่งกว่าพลุไฟ”

นั่นหมายความว่าเขามีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งกว่าพลุไฟในยุคก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคเดียวกับ อิศรา อมันตกุล  สุวัฒน์ วรดิลก  อุษณา เพลิงธรรม  และอิงอร

ปีศาจ เป็นเรื่องราวของ “สาย สีมา” ชายหนุ่มผู้มีคุณสมบัติธรรมดา  อย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน ดังที่ “รัชนี” หญิงคนรักผู้สูงศักดิ์ของเขา บรรยายถึงเขาไว้ว่า

“คู่รักของหล่อนเป็นผู้ชายธรรมดา รูปร่างของเขาไม่มีลักษณะอะไรดีเด่นเป็นพิเศษที่อาจจะมองเห็นได้ทันทีจากกลุ่มคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย และก็ไม่มีอะไรที่จะวิปริตผิดปกติที่จะสังเกตได้ง่าย ส่วนสูงต่ำก็อยู่ในขนาดผู้ชายไทยสันทัดธรรมดาทั่วไป พื้นเพทางวงศ์วานว่านเครือก็มาจากครอบครัวของคนสามัญ ที่ถ้าจะพูดตามอย่างที่ครอบครัวของหล่อนเรียก ก็จัดอยู่ในจำพวก...คนไม่มีสกุลรุนชาติ”

และรัชนีก็ได้พูดถึงตัวหล่อนเองว่า

“แต่หล่อน ในความเห็นพ้องของคนส่วนมาก เป็นผู้หญิงที่ไม่อยู่ในแถวหลังของผู้หญิงสวยทั้งหลาย แลเกิดมาในสกุลขุนนางศักดินา มีสายเลือดสูงของบรรพบุรุษที่สืบสาวขึ้นไปได้ถึงสมัยอยุธยา”

รักของหญิงสูงศักดิ์กับลูกชายชาวนาจึงถูกขวางกั้นด้วยกำแพงศักดินาอันหนาทึบและสูงล้ำ และรัชนีได้พูดถึงอุปสรรคแห่งรักของหล่อนเอาไว้ว่า

“ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกันนี้ได้มาพบกัน เป็นมิตรและรักกัน อันพ่อของหล่อนถือว่าเป็นความผิดอย่างให้อภัยไม่ได้ของระบอบชีวิตปัจจุบันที่ให้สิทธิอิสระแก่ผู้หญิงมากเกินไป”

ระบอบชีวิตปัจจุบันของรัชนีนั้น  ถึงวันนี้ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และสิทธิอิสระแก่ผู้หญิงที่มากเกินไปในความหมายของหล่อนก็เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรวมกับผู้ชาย และในจำนวนผู้ชายเหล่านั้น  ย่อมมีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ดีมีสกุลรวมอยู่ด้วย  และพ่อของหล่อนก็มองพวกไร้สกุลรุนชาติที่กระเสือกกระสนเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ด้วยความชิงชัง ทั้งยังว่ากล่าวอย่างดูแคลนว่า

“พวกนี้ไม่มีเหตุผลประการอื่นใด นอกจากความปรารถนาที่จะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดีกับเขาบ้างโดยวิธีลัด โดยการหลอกลวงเด็กสาวที่มาจากสกุลผู้ดีเก่า มีสายเลือดสกุลสูง และมีฐานะดีด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลร้อยแปดเท่านั้นเอง”
เมื่อสาย สีมา พบกับบุพการีของหญิงคนรักครั้งแรกนั้น ประโยคทักทายแรกที่เขาได้รับคือ

“เธอลูกใคร”

เขาตอบอย่างขลุกขลักในทีแรกด้วยถูกจู่โจมไม่ทันตั้งตัวว่า

“อ้า...พ่อผมเป็นชาวนาครับ”

รัชนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวความทุกข์ยากของชาวนาจากคนรักของหล่อน  และเธอยังคงดื้อรั้นรักกับลูกชาวนาต่อไป  ท่ามกลางคำทัดทานของครอบครัว   กระทั่งแม่ของหล่อนยังได้กล่าวประโยคที่น่าเศร้าเหลือเกินว่า

“คนเราไม่มีสกุลรุนชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไร มีใครอบรมสั่งสอน ความเป็นผู้ดีน่ะมันอยู่ในสายเลือด ถ้าเลือดไพร่แล้วถึงอย่างไรก็เป็นไพร่”

พ่อของหล่อนโกรธจัดเมื่อห้ามปรามลูกสาวไม่ได้ ถึงขั้นผรุสวาทออกมาว่า

“ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ ฉันไม่อยากเห็นหน้ามันจนนิดเดียว ทำไมแม่วาดไม่ห้ามยายเล็ก” 

วันหนึ่งปีศาจตนนี้ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่บ้านของหญิงสาวคนรัก  ไปเพื่อฟังประโยคที่ว่า

“ความเป็นผู้ดีนั้นมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็จะต้องเป็นหงส์อยู่ตลอดไป”

แล้วเขาก็ถูกพี่เขยของรัชนีไล่ออกจากบ้าน 

ไอ้ปีศาจจึงค่อยๆ ทรงตัวลุกขึ้นอย่างแช่มช้า แล้วกล่าวตอบโต้อย่างมีสติ  ถ้อยคำหนึ่งของเขากลายเป็นวรรคทองในเวลาต่อมา

“ผมมีความภูมิใจสูงสุดในวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพ่อผมจึงไม่ได้เป็นขุนนาง แต่ทว่าขุนนางนั้นมีอยู่จำนวนน้อย และคนที่เป็นชาวนานั้นมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า พ่อผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายข้างมาก ผมไม่มีเหตุผลประการใดเลยที่จะน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาที่มิได้เกิดในที่สูง ในสายเลือดของผู้ดีมีสกุล เพราะนั่นมันเป็นสิ่งหรือเงื่อนไขที่คนเราได้สร้างขึ้นและคิดสรรค์มันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มันไม่ยืนยงคงทนอะไร และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง......ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที   ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก...โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

แล้วเขาก็ก้าวเดินจากไปอย่างทระนง 

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความกดดันให้แก่รัชนีอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดหล่อนก็ตัดสินใจลุกขึ้น “ขบถ” ต่อตระกูลหงส์ของหล่อน ด้วยการติดตามคนรักของหล่อนไป

“หล่อนก้าวเดินออกไปท่ามกลางแสงสว่างสีเหลือง เป็นสีทองของตะวันที่กำลังฉายท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในยามอรุณเบิกฟ้า” 

คือประโยคจบของนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่นี้ 

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง  ฉันรู้สึกแปลกใจว่า  เหตุใดวรรณกรรมที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน   จึงเปิดเพดานสูงในการเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์  ชนิดที่นักเขียนยุคปัจจุบันอ้าปากค้างว่าทำได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างอยู่ในสังคมที่พรมแดนแห่งเสรีภาพถูกคุกคาม ทว่าเมื่อย้อนกลับไปศึกษาบริบททางสังคมและการเมืองในยุคนั้น ก็พอจะเข้าใจ
กล่าวได้ว่านวนิยายเรื่องปีศาจ เป็นผลิตผลของยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ในช่วงเวลาที่หน่อเนื้อของคณะราษฎรยังมีอำนาจ   แม้จากนั้นอีกไม่กี่ปีสถานการณ์จะพลิกกลับให้อำนาจเก่ากลับเข้ามาอีกครั้ง...(ผ่านร่างเงาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์)    จากนั้นยุคเผด็จการอันอับเฉาก็ดำเนินไปอย่างยาวนาน  เสรีภาพถูกจองจำอยู่ในคุกมืด   นักคิด นักเขียน ปัญญาชน ถูกทำให้ไร้ตัวตน  สร้างงานไม่ได้  ต้องกระเส็นกระสายไปในทิศทางอื่น   แน่นอนว่านวนิยายที่คอยเป็นหนามแหลมทิ่มแทงใจให้ผู้มีอำนาจในโลกเก่ากระวนกระวายนอนไม่หลับอย่างปีศาจ ย่อมถูกทำให้หลับไหลอยู่ในกาลเวลาไปด้วย 

กระทั่งประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอีกครั้งในยุคแสวงหาของคนหนุ่มสาว   ปีศาจตัวนั้นจึงฟื้นตื่นขึ้น
...........
“เราต่างเหมือนตายไปในวันแดดสีเลือด และเราต่างเหมือนเกิดใหม่ในคืนประดับดาวเหนือ ขอจงเป็นกำลังใจแก่กันในการก้าวไปสู่ชีวิตใหม่” 

คือคำโปรยปกนวนิยายเล่มเก่าคร่ำชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์”  ของ วัฒน์ วรรลยางกูร  ที่บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวในยุคแสวงหา

นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์มามากกว่าหนึ่งครั้งแน่ๆ เพราะเมื่อเกือบสิบปีก่อน  ครั้งแรกที่อ่านนิยายเรื่องนี้ ฉันไปขโมยอ่านในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแถวรามคำแหง   สั่งกาแฟเย็นแก้วเดียว นั่งอ่านทั้งวันจนจบ   เล่มที่ลักอ่านขโมยอ่านนั้นเพิ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ.นั้น  หน้าปกใหม่เอี่ยม  แต่เล่มที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในมือตอนนี้เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2524 โดยสำนักพิมพ์นกฮูก ราคาขายติดปกเล่มละ 22 บาท

วัฒน์ วรรลยางกูร  เป็นนักเขียนที่ว่ากันว่าได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงนักเขียนไทย (แม้ไม่เคยได้ซีไรต์เลยก็ตาม)   เขาสร้างงานหลากหลาย ทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  บทกวี  เขามีชื่อเสียงโด่งดังหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  เช่นเดียวกับรวี โดมพระจันทร์ สถาพร ศรีสัจจัง วิสา คัญทัพ ประเสริฐ จันดำ สุรชัย จันทิมาธร และอุดร ทองน้อย

ผลงานของเขาล้วนน่าประทับใจ  โดยเฉพาะนวนิยาย  ไม่ว่าจะเป็นจิ้งหรีดและดวงดาว คือรักและหวัง  บนเส้นลวด  มนต์รักทรานซิสเตอร์   หรือสิงห์สาโท

สำหรับด้วยรักแห่งอุดมการณ์   วัฒน์ วรรลยางกูร  เริ่มต้นเขียนในปี 2522  และเขียนเสร็จลงเมื่อเดือนเมษายน 2523  อันเป็นช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งในยุคนั้นเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขา    

“ขอโทษนะครับเพื่อนๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก มีกลอนบทหนึ่งที่เขียนสะท้อนบรรยากาศยุคมืดเผด็จการนี้ว่า เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจนเยี่ยวหด บรรจงตดเบาๆ อย่างเศร้าหมอง เห็นไหมครับว่าบ้านเมืองนี้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้จะทำอะไรจนต้องมานั่งฟังตดตัวเอง....อย่างนี้แหละครับ เราจึงต้องประท้วง เรียกร้องรัฐธรรมนูญ  ถูกจับไปแล้ว 13 คน ยังไม่หมดครับ ยังมีคนที่ 14-15-16 เป็นหมื่นเป็นแสนที่นั่งอยู่ที่นี่แหละครับ” 

คือถ้อยคำของพิน บางพูด ตัวเอกในนวนิยายเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนสร้างให้เขาเป็นคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้กับผู้นำทรราชในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

“การปราบปรามเริ่มขึ้นแล้ว หลายคนคว้าก้อนอิฐ ท่อนไม้ ตามแต่จะหาได้ พุ่งไปยังที่เกิดเหตุนั้น เหตุการณ์ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จากถนนหนึ่งสู่อีกถนนหนึ่ง จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ทันข้ามวันสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลที่เอาแต่โฆษณาบิดเบือนตลอดมาก็ถูกลงโทษด้วยระเบิดเพลิงที่ทำขึ้นเองง่ายๆ โดยใช้น้ำมันใส่ขวดจุดไฟขว้างเข้าไป รวมทั้งกองสลากที่มอมเมาให้ผู้คนหลงกับการเสี่ยงโชคก็ถูกเผาเป็นจุณไป เสียงปืนดังขึ้นที่โน่นที่นี่ รถถังอุ้มสนิมคลานอืดๆ มาจอดอยู่ตามสี่แยกอย่างวางอำนาจ ทหารใต้บงการของเผด็จการสวมหน้ากากกันควันพิษ สวมชุดปราบจลาจล ถือปืนเอ็มสิบหกดำมะเมื่อมราวกับงูเห่า แปรแถวเรียงรายตามถนนด้วยท่าทีคุกคาม กระสุนเอ็มสิบหกดังรัวเป็นชุด ในชนบทบ้านเกิด พินเคยเห็นแต่นักเลงขี้เมายิงกันในงานวัดเปรี้ยงๆ ปร้างๆ ไม่กี่นัด แต่นี่เขาถือปืนทันสมัยรัวใส่แถวขบวนคนที่มีแต่มือเปล่า เฮลิคอปเตอร์บินวนไปวนมาในอาการของอีเหยี่ยวโฉบลูกไก่ มันยิงกราดลงมาจากฟ้าเป็นชุดๆ พินเห็นถนัดตาว่า กระสุนจากเฮลิคอปเตอร์เจาะลงบนศีรษะของสามเณรรูปหนึ่งที่กำลังวิ่งข้ามถนนหนีลูกปืน ร่างในจีวรล้มกลิ้ง เลือดแดงจากศีรษะโล้นไหลนองพื้นถนนสีดำ พินมองดูเหตุการณ์ด้วยความปวดร้าว และไม่รู้จะทำอะไรได้มากกว่านั้น...

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พิน บางพูด ออกจากมหาวิทยาลัยไปทำงานหนังสือพิมพ์  ช่วงเวลานั้นเขามีความรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ที่สุดก็ต้องเลิกร้างกันไปตามวิถี

“เราควรจะขอร้องอะไรกันบ้างได้ไหม ในฐานะคนรัก”

“มันควรเป็นข้อแลกเปลี่ยน พินกำลังจะขอร้องให้เปิ้ลเลิกแต่งตัว เลิกเที่ยวเตร่ เลิกควงคนอื่น เลิกฟัง
เพลง ถ้าเปิ้ลจะขอร้องคุณบ้างได้ไหม ให้คุณเลิกอุดมคติอันเหลวไหล เลิกทำหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ภัยมาถึงตัว คุณทำได้ไหม?”

“แล้วเราก็ยังไม่เข้าใจกันอยู่ดี” เขาพูดอย่างเหนื่อยหน่าย “ถ้าการที่ผมทำหนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้คน
สนใจความเป็นจริงของสังคม เรียกร้องให้เห็นใจคนยากคนจน เรียกร้องให้ช่วยกันสร้างความดี เลิกเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องเหลวไหลรึ เปิ้ล ถ้าคุณคิดว่าการที่ผมอยากให้คุณฟังเพลงที่พูดถึงคนยากคนจนกลายเป็นการล้างสมอง ผมก็เสียใจ แต่ขอให้รู้เถิดว่าผมทำไปด้วยความรักด้วยความปรารถนาดี” 

นางเอกของเรื่องชื่อ “เด่นรวี” เป็นลูกสาวนายทุนร่ำรวย แรกทีเดียวเด่นรวีเป็นเพียงสาวสังคมธรรมดา  มีเพื่อนชายเป็นหนุ่มสังคมขับรถยนต์คันโก้ที่ชอบดูถูกคนอื่นอย่างร้ายกาจ  กระทั่งเด่นรวีมีโอกาสไปเก็บข้อมูลแถบภาคอีสานเพื่อนำมาจัดนิทรรศการอะไรสักอย่าง  เธอได้พบเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจของคนยากไร้ในชนบท  ที่แทบไม่น่าเชื่อว่ามันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้   กลับจากอีสานคราวนั้นเธอจึงเริ่มหัดอ่านนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์  และปฏิเสธหนุ่มสังคมที่ตามเทียวไล้เทียวขื่อชวนเธอไปเต้นรำตามคลับหรูๆ อย่างไร้เยื่อใย  จากนั้นหันไปสนิทสนมกับหนุ่มนักหนังสือพิมพ์  และทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างจริงจัง   กระทั่งเธอขัดแย้งกับครอบครัวเมื่อไปช่วยเหลือกรรมกรโรงงานทอผ้าที่ประท้วงต่อรองค่าแรงราคาแสนถูกกับเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของพ่อเธอเอง

“ด้วยความร่วมมือของคนงาน พิน เด่นรวี และนักศึกษาจากชมรมนักศึกษากฎหมายอีกสองคนจึงได้เข้าไปถึงสลัมที่พักคนงาน มีคำร้องทุกข์มากมายจากคนในสลัมนั้น นอกจากเรื่องมือขาดไม่ได้ค่าทดแทนแล้วยังมีเรื่องสวัสดิการยามเจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ทำงานสายไม่กี่นาทีถูกตัดค่าแรงทั้งวัน คนงานหญิงตั้งครรภ์ถูกไล่ออก เคยมีกรรมกรวิ่งเต้นขอตั้งสหภาพแรงงานก็ถูกกลั่นแกล้งออกจากงานไปแล้ว พินถ่ายรูปที่พักคนงานที่แออัดมืดสลัวทั้งวัน เก็บภาพชีวิตคนงานในแง่มุมต่างๆ แต่ไม่พ้นหูตาของหัวหน้าคนงาน พินและเพื่อนถูกผู้จัดการเชิญตัวไปพบที่ห้องแอร์...การสไตรก์ของกรรมกรโรงงานทอผ้ายังยืดยาวไปอีกเกือบ 1 เดือน ยังตกลงกันไม่ได้ เด่นระวีเทียวไปเทียวมาระหว่างโรงงานกับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันความรู้สึกห่วงบ้านน้อยลงไปทุกที จะห่วงทำไมในเมื่อแต่ละคนก็สบายดีแล้ว ไม่น่าห่วงเหมือนกรรมกรที่โรงงาน คิดอย่างนี้เธอจึงยิ่งห่างเหินทางบ้าน”

ความรักของเด่นรวีกับหนุ่มนักหนังสือพิมพ์ก่อตัวขึ้นในช่วงนี้เอง

“ในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต เรียนรู้โลกเรียนรู้ชีวิต เราแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่าง ชีวิตใหม่ในมหาวิทยาลัยเป็นโอกาสให้เราพบความหมายใหม่ของชีวิต ความหมายแห่งการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และเรายังพบอะไรมากกว่า เขา-ชายผู้เป็นภาพปฏิมาในดวงใจ ที่ชักนำให้เรารู้จักกับความรัก ความรักระหว่างหนุ่มสาวที่มีความหมายแผ่กว้างถึงสังคมด้วย มิใช่เพียงเธอกับฉันเท่านั้น เป็นความหมายงดงามที่ผู้คนแสวงหา ฉันกระโจนลงไปหามันด้วยคิดว่าจะได้สัมผัสสายธารอันเย็นฉ่ำที่ให้ความสดชื่นแก่ชีวิต ให้ความหมายแก่วัยอันสดใส หวังว่ามันจะเป็นพลังผลักดันไปสู่ความใฝ่ฝันแสนงาม หวังว่ามันจะติดปีกให้เราทั้งสองบินไปสู่สายรุ้งสีทองของชัยชนะ”

ขณะกรรมกรโรงงานทอผ้าปักหลักประท้วง จนถูกปราบปรามอย่างทารุณ

“กลางแดดเปรี้ยงของวันที่ตึงเครียด ตำรวจในชุดปราบจลาจล หรือที่ถูกกรรมกรเรียกอย่างโกรธแค้นว่า
พวกหัวปิงปอง ถือไม้กระบองดาหน้าบุกตะลุยเข้าไปในหมู่กรรมกรหญิง ซึ่งยืนเรียงแถวหน้ากระดานขัดขวางการคุกคามของเจ้าหน้าที่ เสียงกรรมกรตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าพวกตนต้องการค่าแรงที่เป็นธรรม แต่ไม่มีคำตอบจากหน่วยปราบจลาจล เหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เสียงหวีดร้อง  กรรมกรเรียกอย่างโกรธแค้นว่า พวกหัวปิงปอง ถือไม้กระบองดาหน้าบุกตะลุยเข้าไปในหมู่กรรมกรหญิง ซึ่งยืนเรียงแถวหน้ากระดานขัดขวางการคุกคามของเจ้าหน้าที่ เสียงกรรมกรตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าพวกตนต้องการค่าแรงที่เป็นธรรม แต่ไม่มีคำตอบจากหน่วยปราบจลาจล เหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เสียงหวีดร้องระงม เสียงด่าทออย่างแค้นเคืองดังเซ็งแซ่ ร่างใหญ่บึกบึนเต็มไปด้วยเครื่องป้องกันตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าโถมกระแทกเข้าใส่ร่างเล็กๆ ของกรรมกรหญิง กระบอกหนักและแข็งฟัดฟาดหนักหน่วงรุนแรง เลือดกระเซ็นจากศีรษะ เกือกหนังอันหนักและใหญ่เหยียบลงบนแขนขาของคนที่ล้มลงกับพื้นจนหักเดาะ กรรมกรหญิงคนหนึ่งถูกกระแทกด้วยศอกจนหงายหลังผึ่ง กรรมกรอีกคนกำหมัดขึ้นอย่างโกรธแค้น แล้วแขนของเธอก็ถูกตวัดด้วยกระบอกจนบวมปูด เจ้าของแขนหน้าบิดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวด ท้องน้อยของอีกคนถูกยันด้วยปลายเกือกหนังจนเจ็บจุกตัวงอลงกับพื้น แล้วบั้นเอวของเธอคนนั้นก็ถูกอัดด้วยเข่าของพวกเดียวกันที่ถูกเหวี่ยงล้มลง แม้ตัวเองลุกขึ้นไหว เธอก็อุตส่าห์ดันเพื่อนอีกคนให้ลุกขึ้นไปใหม่ ก่อนจะถูกยันกระเด็นกลับมาที่เก่า เสียงร่ำไห้ระงมแข่งกับเสียงขู่คำราม เด่นรวีและเพื่อนนักศึกษาพากรรมกรที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลด้วยน้ำตานองหน้า”

หลังเหตุการณ์นี้เด่นรวีตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตในชนบทเพื่อเรียนรู้ความทุกข์ยากของชาวไร่ชาวนา พิน บางพูด  จึงถูกครอบครัวของเด่นรวีเรียกไปพบ  และพวกเขาก็ออกคำสั่งให้ไปตามเธอกลับมา

“เสียใจครับ... ผมทำตามที่คุณต้องการไม่ได้ เพราะหนึ่ง...ผมไม่รู้จริงๆ ว่าเด่นไปอยู่แห่งหนตำบลใด สอง...ถึงแม้ตามไปจนพบ ผมก็ไม่คิดว่าเธอจะยอมกลับมา คุณ...น่าจะรู้จักน้องสาวของตัวเอง เมื่อเธอมั่นใจว่าทำถูกก็ไม่มีวันถอยหลังกลับ สาเหตุสุดท้ายคือ ผมไม่เห็นว่าเธอทำอะไรผิด เธอมีอายุ ประสบการณ์มากพอที่จะพิจารณาได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ผมเชื่อว่าสิ่งที่เด่นทำนั้นถูกต้อง ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไปขัดขวางเธอ”

เขาถูกพี่ชายของเด่นรวีไล่ออกจากบ้าน แน่นอน...ครอบครัวของหญิงคนรักชังน้ำหน้าเขาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  พวกเขาเข้าใจว่าชายหนุ่มนักหนังสือพิมพ์คือผู้ล้างสมองเด็กสาวที่เคยน่ารักและอ่อนต่อโลก   พิน บางพูดจึงบอกบางสิ่งแก่พวกเขา   ความตอนหนึ่งว่า

“ภูเขาทั้งลูกมีคนยกย้ายสำเร็จมาแล้ว แม่น้ำก็ถูกมือคนเปลี่ยนทางเดินมาแล้ว โลกที่โสมมกำลังถูกเปลี่ยนเป็นโลกที่สวยงาม เป็นโลกที่อบอุ่นโอบเอื้อแก่ทุกคนให้ได้มีชีวิตอย่างปกติสุข ทุกคนจะอยู่อย่างเป็นเพื่อนกัน เลิกแก่งแย่งแข่งขันกัน เลิกเป็นศัตรู เลิกเข่นฆ่ากันเสียที ความทุกข์ยากจะถูกทำลายไป มันจะเป็นจริงได้ก็ด้วยมือของเรา”
ไม่เพียงแต่เด่นรวีเท่านั้นที่เดินทางออกสู่ชนบท หากหนุ่มสาวในยุคนั้นต่างหลั่งไหลออกสู่ชนบทเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาชาวไร่ สลายความแตกต่างทางชนชั้นเสียสิ้น

ชีวิตในชนบททำให้หญิงสาวกล้าแกร่งหนักแน่น มือเรียวบางของเธอจับหางไถลุยโคลนในท้องนาอย่างเข้มแข็ง  
“ผิวหน้าและลำแขนที่เคยขาวผ่องของเด็กสาวคนนั้น บัดนี้กร้านคล้ำและยังมีรอยขีดข่วนของหนามไหน่ กางเกงขายาวสีดำเขรอะไปด้วยโคลนชุ่มด้วยน้ำ และเมื่อใครมองใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าเล็บของเธอมีคราบดินโคลนดำ ใครจะเชื่อบ้างว่านี่คือลูกสาวนายทุนจากกรุงเทพฯ”

หลังฤดูปักดำไม่นานก็มีข่าวจากกรุงเทพฯ ว่าหนึ่งในผู้มีอำนาจซึ่งถูกขับไล่ไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 อาศัยผ้าเหลืองบังหน้ากลับเข้ามาอีก   การต่อต้านจึงเริ่มขึ้น เด่นรวีกลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง  พิน บางพูด มารับเธอที่สถานีขนส่งสายใต้ แล้วทั้งสองก็เข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519   พิน บางพูด เขียนบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหนเมื่อถูกตอกอกด้วยลิ่มแหลม  คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหนเมื่อคุณถูกผูกคอลากไปกับพื้น   คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อยางไหม้ไฟร้อนเดือดหยดลงบนเนื้อสดของคุณ   คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อกระดูกคอถูกกระชากดึงรั้งจนแตกหัก   ถ้าจะเปรียบเทียบว่าเมื่อคุณตกลงไปในปล่องภูเขาไฟอันมืดมนแล้ว ภูเขาไฟก็ระเบิดออกมา มันก็ยังไม่เจ็บปวดเท่าความเป็นจริงที่หลายคนได้พบในวันนั้น”

เด่นรวีได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้  มีคนมาช่วยเธอไว้ทัน จากนั้นเธอถูกครอบครัวควบคุมตัวเข้มงวดตลอดเวลา   ส่วนพิน บางพูด ตัดสินใจหลบหนีเข้าป่า   เด่นรวีแอบหนีผู้คุมมาส่งเขา  ฉากอำลาระหว่างหนุ่มสาวทั้งสองเศร้ายิ่งนัก
“เขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะจับมืออำลา อย่างมากเพียงยิ้มให้กันเป็นกำลังใจยามจาก แม้จะเป็นยิ้มที่ฝืดเฝื่อนคับแค้นเต็มที เขาหวนคิดถึงความนุ่มนวลในดวงตาเมื่อเธอเงยหน้าขึ้นมองเขาอย่างขอบคุณที่เขาช่วยเช็ดน้ำจากแนวคิ้วและใบหน้าในเรือข้ามฟากไม่กี่วันก่อน ผิดกันแต่ว่า วันนี้เด่นไม่ได้สวมเสื้อชาวเลสีฟ้าที่เธอชอบ เพราะเสื้อตัวนั้นฉีกขาดด้วยคมกระสุนและเปื้อนเลือดหมดแล้ว”

วัฒน์ วรรลยางกูรไม่ได้บอกไว้ว่าพิน บางพูด และเด่นรวีได้พบกันอีกไหม เขาบรรยายไว้เพียงว่า

“ในสายลมหนาวเดือนตุลา กลางทุ่งอีสาน เมื่อพินห่มผ้าฝ้ายในกระท่อมไม้ไผ่ร่มตะแบก ก็เหมือนย้ำรอยประทับใจต่อผ้าห่มโปสเตอร์ผืนนั้น ภาพเด่นเอาผ้าโปสเตอร์ห่มให้มิตรสหาย...วิญญาณภาพงามสูงส่งเหมือนภาพเขียนบางภาพที่เขาเคยเห็น หญิงสาวในชุดขาวสะอาดละเอียดอ่อน ผิวของเธอสะอาดสะอ้านเหมือนยองใยบนกลีบดอกไม้ แต่ในอ้อมแขนของเธอมีเด็กน้อยผิวดำหน้าตาขมุกขมอม ทั่วร่างเด็กน้อยเต็มไปด้วยฝีหนองเน่า วิญญาณภาพเช่นนี้ย่อมประทับใจผู้พบเห็น ในความเป็นจริงที่ยิ่งกว่า สูงส่งกว่าภาพเขียน เมื่อเธอโถมร่างกายบอบางสะอาด โถมหัวใจบริสุทธิ์เข้าเผชิญความโหดร้ายทารุณ เผชิญความสกปรกจากโคลนตมการให้ร้ายป้ายสี และแม้กระทั่งคราบคาวเลือด” 

ฉันรู้สึกเศร้าหลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลงเมื่อหลายปีก่อน  รู้สึกเห็นใจหนุ่มสาวในยุคนั้นที่ต้องสละแม้แต่ความรักเพื่อสังคมส่วนรวม 

ทว่าเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งใน พ.ศ. นี้  และนำคำบรรยายในหลายฉากหลายตอนมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน  ฉันรู้สึกเศร้ายิ่งกว่า  ทั้งขมขื่นกับชะตากรรมของผู้คนในประเทศนี้ที่ย่ำวนอยู่ในวงจรเดิมๆ  เหมือนดูหนังม้วนเก่า

ใช่! ฉันเห็นปีศาจตัวนั้นปรากฏเงาร่างขึ้นอีกครั้งในสายลมร้อนของเดือนเมษา  ผ่านใบหน้าของทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน!

 ...กาลเวลาหวนกลับ   เรานั่งไทม์แมชีนเดินทางย้อนกลับ หรือแท้จริงเราไม่เคยได้ก้าวเดินไป

การปรากฏตัวขึ้นซ้ำๆ ของปีศาจตัวเดิม  ในองค์ประกอบฉากและห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป  ในเดือนปีที่โลกไม่เคยหยุดหมุน   ทำให้คำถามสำคัญที่ว่า  ปีศาจตัวนั้นแท้จริงคือใคร?  ยังคงต้องถามกันต่อไป  

มันคือปีศาจตัวเดิม   หรือไม่ใช่  หรือแท้จริงมันมีหลายตัวเช่นที่ผู้ประพันธ์กล่าวอ้าง   อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะสรุปได้แน่ชัดแล้วก็คือ  ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ปีศาจตัวนั้นก็ไม่ได้มีลักษณะใดๆ ก้าวล่วงไปจากความเป็นมนุษย์แน่ๆ   กล่าวคือ  ไม่ว่ามันจะเป็นปัญญาชน คนรุ่นใหม่ สามัญชน หรือแม้แต่คอมมิวนิสต์   ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น   ดังที่ เสนีย์ เสาวพงศ์  เองบอกไว้ว่า

“โลกนี้มีปีศาจหรือไม่ ตอบง่ายนิดเดียว เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคมืดของอวิชชาสมัยกลาง วิทยาศาสตร์แห่งเหตุผลบอกเราว่าภูตผีปีศาจนั้นหามีไม่  ก็ถ้าเช่นนั้นทำไมฉันจึงเขียนเรื่องปีศาจอันเป็นของเหลวไหล...ก็เพราะในสังคมที่เราอยู่นี้ สำหรับคนบางคน บางหมู่ และบางกลุ่ม ปีศาจเป็นของมีจริง และกำลังหลอกหลอนเขาอยู่ทุกวี่วัน เปล่า...มันไม่ใช่ปีศาจคนตายที่หลอกหลอนคนเป็น  ไม่ใช่ปีศาจที่ทำความเสียวสยองอย่างเคาน์แดรกคูล่าหรือฟรังเกนสไตน์ แต่เป็นปีศาจของกาลเวลา  และปีศาจคนเป็นๆ นี่แหละ ที่กำลังหลอกหลอนคนเป็นๆ ด้วยกันอยู่”

เมื่อเป็นเช่นนี้   ดูเหมือนจะมีอีกหลายคำถามที่ตอบได้ยากยิ่ง (กว่า) ในสังคมไทย  นั่นคือ  ในเมื่อปีศาจตัวนั้นไม่ได้มีลักษณะใดๆ ผิดแผกไปจากมนุษย์  แล้วใครกันที่มองเห็น (พวก) มันเป็นปีศาจ  ใครคนนั้นตั้งตัวเป็นศัตรูกับปีศาจตัวนั้นใช่หรือไม่   ศัตรูที่ว่านั้นคือใคร   และเหตุใด (พวก) เขาจึงเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นปีศาจ

...ในเมื่อโลกปัจจุบันต่างยอมรับกันเป็นสากลแล้วว่า...มนุษย์ย่อมต้องมองเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์.

 
 
  

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากโศกนาฎกรรมเดือนพฤษภาคม 1998 ประเทศอินโดนีเซียสู่พฤษภาอำมหิต 2010 ประเทศไทย

Posted: 23 May 2010 09:26 AM PDT

<!--break-->

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ผู้เขียนเรื่อง “บทบาทขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซีบกับการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต”

เมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “คนเสื้อแดง” จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เขียนคิดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 12 ปีมาแล้ว

วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นอย่างหนักหนาสาหัสกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ธนาคารต้องปิดตัวลงหลายแห่ง บริษัทหลายแห่งล้มละลาย คนงานจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งประเทศ และในปี 1997 มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งแม้ว่าพรรคกอลคาร์ของซูฮาร์โตจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากเช่นเคย แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนที่สั่งสมมานานประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นำไปสู่การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีจนนำไปสู่เหตุจลาจลทั่วทั้งประเทศ และในที่สุดซูฮาร์โตต้องยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998

เหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทางการเมืองในอินโดนีเซียที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ต้นปี 1998 คือเหตุการณ์วันที่ 12 พฤษภาคม 998 อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ทางกองทัพและหน่วยรักษาความปลอดภัย ได้ทำการควบคุมการชุมนุมดังกล่าวอย่างเข้มงวด ให้จำกัดอยู่เฉพาะภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยมีการวางกองกำลังควบคุมดูแลอยู่ที่ประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัย แต่บรรดานักศึกษามีความเห็นว่า หากการเคลื่อนไหวของพวกเขากระทำอยู่แต่เฉพาะภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น จะไม่สามารถดึงความสนใจไม่ว่าจะจากประชาชนหรือรัฐบาล ด้วยเหตุนี้จึงมีการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงอยู่เสมอ ๆ เมื่อนักศึกษาพยายามที่จะเดินขบวนออกนอกมหาวิทยาลัย 

ในวันที่ 12 พฤษภาคม นักศึกษาประมาณ 6,000 คน ทำการชุมนุมประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยตรีศักติ  [1] ที่ตั้งอยู่ในจาการ์ตาไม่ไกลจากรัฐสภามากนัก ขณะที่นักศึกษากำลังเคลื่อนย้ายออกจากมหาวิทยาลัย เมื่อเวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา เพื่อเดินขบวนมุ่งหน้าสู่รัฐสภา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ยับยั้งขบวนของนักศึกษา และได้มีการเจรจาระหว่างผู้นำนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งปรากฏว่านักศึกษาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินขบวนต่อไปได้  [2] ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา นักศึกษาตัดสินใจที่จะถอยและยกเลิกการเดินขบวนดังกล่าว หลังจากเวลา 17.00 ในขณะที่นักศึกษาทำการเดินขบวนเพื่อที่จะกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้มีเสียงปืนดังขึ้น และมีการปาแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา โดยกลุ่มตำรวจหน่วยกองพันเคลื่อนที่ยิงกลุ่มนักศึกษาจากที่สูงกว่าลงมา นักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติเสียชีวิตทันที 4 คนและบาดเจ็บอีกนับสิบ  [3]

เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวไม่สามารถระบุคนยิงได้ ผู้บังคับการตำรวจยืนยันว่าตำรวจของเขามีแค่ลูกกระสุนยางเท่านั้น แต่จากการพิสูจน์ศพพบว่านักศึกษาถูกยิงด้วยปืนไรเฟิล และถูกยิงเข้าที่ศรีษะและหน้าอก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ยิงมีความชำนาญในการใช้ปืนเป็นอย่างดี มีการออกมาแถลงข่าวว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยตรีศักติว่า ชุดเครื่องแบบของหน่วยกองพันเคลื่อนที่ได้ถูกขโมยไป แต่คนอินโดนีเซียสงสัยว่าหน่วยพิเศษโปรบาโว (Probawo)  [4] จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้โดยที่ตำรวจเป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น

นักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้แก่เฮอร์รี ฮาร์ทันโต (Heri Hartanto), เอลัง มูลยา (Elang Mulya), เฮนเดรียวัน เลสมานา (Hendriawan Lesmana) และฮาฟิดิน โรยัน (Hafidin Royan)  [5] และพวกเขาได้ถูกยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษของการปฏิรูป”  [6] ทันที และหลังจากเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยตรีศักตินี้ กระแสการต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาร์โตและรัฐบาลเข้าสู่จุดสูงสุด และในที่สุดนำอินโดนีเซียเข้าสู่ภาวะแห่งความสับสนวุ่นวายเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถจะควบคุมได้อีกต่อไป

เหตุการณ์การจลาจลวันที่ 12-15 พฤษภาคม 1998

วันที่ 13 พฤษภาคม 1998 ที่มหาวิทยาลัยตรีศักติได้เป็นศูนย์กลางของการแสดงความไว้อาลัยแก่บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติที่ถูกยิงเสียชีวิต มีผู้นำทางการเมืองอย่างนางเมกาวตี และอามีน ราอีส, ผู้นำทหาร, กลุ่มปัญญาชน เข้าร่วมในการแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ก็มีการไว้อาลัยให้แก่นักศึกษาทั้งสี่ทั่วกรุงจาการ์ตา มีการอ่านแถลงการณ์สมานฉันท์, ลดธงลงครึ่งเสา, ในมหาวิทยาลัยบางแห่งอธิการบดีสั่งให้หยุดพักการเรียนเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่นักศึกษาที่เสียชีวิตทั้งสี่ด้วย ปฏิกิริยาตอบสนองจากนานาประเทศต่อเหตุการณ์ตรีศักติที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนเป็นไปในทางลบอย่างมาก รองนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Tim Fisher และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกานาง Madeline Albright ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในภาคธุรกิจทั้งตลาดหุ้นและตลาดเงินก็ทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหลังจากที่ตกต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีนักลงทุนถอนตัวจากการลงทุนในอินโดนีเซียหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ตรีศักติ  [7]

พวกชนชั้นล่างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากการที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงและถูกกักตุนโดยพ่อค้าแม่ค้านั้น ได้ก่อการจลาจลขึ้น ในวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 ที่ถนนใหญ่สายบันดุง-จิเรอบน เมืองจาติวังงี่ (Jatiwangi) ในขณะที่มวลชนทำการชุมนุมพวกเขาได้ตะโกนคำว่า “ลดราคา!” พร้อม ๆ กับทำลายร้านค้าตั้งแต่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนถึงร้านขายสมุนไพร และตามด้วยการเผาทำลาย และเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในที่อื่น ๆ ด้วยเช่นที่ชวาตะวันตกได้แก่ ปามานูกัน (Pamanukan), เจียเซิม (Ciasem), เลอมาห์ อาบัง (Lemah Abang), เปรียงงัน (Priangan), เปิงงาเลิงงัน (Pengalengan), จิจาเลิงกา (Cicalengka), จิมินดี (Cimindi), ที่ชวากลางได้แก่ โลซารี (Losari), โบโตตซารี บันยูมัส (Bototsari Banyumas), ที่นูซา เติงการา บารัต คือที่ Lombok Tengah, ที่สุลาเวสีใต้ได้แก่ที่อูจุงปันดัง  [8] ด้วยภาวะเช่นนี้แม้ไม่ต้องมีการชี้นำหรือรอให้กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนนำการเคลื่อนไหว กลุ่มชนชั้นล่างก็พร้อมที่จะทำการเคลื่อนไหวเพื่อปากท้องของตัวเอง แม้แต่ในหมู่ของนักศึกษาเองมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน ตั้งแต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ราคาอุปกรณ์การเรียนที่เพิ่มขึ้น, รวมถึงค่าเล่าเรียนก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สุราบายานักศึกษาจำนวน 500 คนจากทั้งหมด 1,100 คนขอผัดผ่อนการจ่ายค่าหน่วยกิต  [9] สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทั่วไปแม้แต่ในเมืองใหญ่ ๆ ก็ไม่เว้น 

สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินไปด้วยความตึงเครียดอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การสังหารนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติ 4 คน จึงเป็นเหมือนสลักระเบิดที่ถูกดึงออก กระแสความต้องการให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งรุนแรงมากขึ้น จนขยายไปทั่วประเทศ ระเบิดขึ้นเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีประชาชนเข้าร่วมมากมายไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาเท่านั้น เกิดการจลาจล, ปล้นสดมภ์และเผาบ้านเรือน ห้างร้านต่างๆ ขึ้นทั่วจาการ์ตา ในย่านที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร้านค้าของที่เป็นของนักธุรกิจของชาวจีน มีผู้หญิงจีนเป็นจำนวนมากถูกกระทำทารุณกรรมและข่มขืนเกิดการปล้นฆ่านับร้อย คนจีนกลายเป็นเป้าของการฆ่า ปล้น และข่มขืน มีรายงานตัวเลขว่าผู้หญิงอย่างน้อย 50 กว่ารายถูกข่มขืนจากเหตุจลาจลดังกล่าว และที่ยังไม่กล้ามาแจ้งความอีกไม่ทราบจำนวน

ความโกรธแค้นที่มี่ต่อคนจีนในอินโดนีเซียนั้นมีรากเหง้ามายาวนาน เนื่องจากสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษ ทำให้คนจีนกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่อย่างอภิสิทธิ์ มีบ้านหลังใหญ่กลางใจเมือง จับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนจีนเพียงกลุ่มเดียวที่ร่ำรวยและมีชีวิตสะดวกสบาย หากแต่ว่ารูปลักษณ์กายภาพภายนอกของคนจีนนั้นบ่งบอกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนจากคนกลุ่มอื่นๆ จึงกลายเป็นเป้าของการก่อเหตุมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ 

คนในจาการ์ตาที่เป็นคนต่างชาติและคนจีนอพยพออกนอกจาการ์ตาประมาณ 150,000 คน ในจาการ์ตาพบศพ 250 ถูกเผา, ที่ตังเกอรัง (Tangerang) 119 ศพและที่เบอกาซี่ (Bekasi) 90 ศพ สิ่งก่อสร้างถูกเผาทำลายอย่างน้อยที่สุด 4,939 หลัง รถยนต์ถูกเผา 1,119 คน, รถโดยสารให้บริการถูกเผา 66 คัน และรถจักรยานยนต์ถกถูกเผาและทำลาย 821 คัน  [10] ก่อนที่การจลาจลจะยุติลงคนอินโดนีเซียเสียชีวิตกว่า 1,000 คน บ้านและร้านค้าถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับการเกิดการจลาจลดังกล่าวความรู้สึกต่อต้านซูฮาร์โตและกองทัพถูกแสดงออกอย่างรุนแรงโดยหมู่ชนที่คลุ้มคลั่ง ประชาชนร้องตะโกน “ต่อต้านซูฮาร์โต, ต่อต้านกองทัพ”  [11]
 
 แม้ว่าจะเกิดการจลาจลจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ แต่ซูฮาร์โตยังพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเชิญนักการเมือง, ผู้นำศาสนา, ปัญญาชน และกองทัพเข้าหารือ และสัญญากับประชาชนว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีให้ปลอดจากการคอรัปชั่นและเป็นคนที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนเอง 

แต่อย่างไรก็ตามหลังจากพยายามยื้อเวลาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้ให้นานที่สุด ซูฮาร์โตก็ต้านแรงกดดันและเรียกร้องให้ลาออกจากกลุ่มนักศึกษาและฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองอย่างหนักหน่วงไม่ได้ ในที่สุดซูฮาร์โตได้กล่าวแถลงการณ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ปิดฉากยุคระเบียบใหม่ที่ดำเนินมา 32 ปี 

โศกนาฏกรรมในอินโดนีเซียครั้งนั้นทำลายภาพ “เอกภาพท่ามกลางความหลากลาย” ซึ่งเป็นคำขวัญของประเทศอินโดนีเซีย ชาวจีนในอินโดนีเซียต้องอยู่อย่างอกสั่นขวัญแขวน ต้องระมัดระวังตัวและระแวงระวังเนื่องจากภาพการเผาบ้านเรือนและปล้น ฆ่า ข่มขืนคนจีนเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งสำหรับพวกเขา แม้ว่าเหตุการณ์ฝันร้ายเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว อินโดนีเซียได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยจนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ลึกๆ ในใจของคนจีนจำนวนหนึ่งยังไม่ลืมภาพเหตุการณ์โศกนาฏกรรมปี 1998 ซึ่งสายลมแห่งประวัติศาสตร์อาจกลับหวนกลับมาอีกเมื่อใดไม่มีใครรู้ หากว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังดำรงอยู่ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยังไม่ถูกถมให้มันแคบลงดังเช่นทุกวันนี้ กองน้ำมันที่ราดรดอยู่ทั่วไป อาจรอคอยเพียงแค่ไม้ขีดก้านเล็กๆ มาจุดมัน

........................

[1] มหาวิทยาลัยตรีศักตินั้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งและค่าหน่วยกิตนั้นถือว่าแพงที่สุด ดังนั้นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้จึงเป็นพวกลูกหลานของชนชั้นกลางถึงสูง
[2] Interview with Julianto Hendro Cahyono, Chairman of Student Senate Trisakti University 1997-1998, 28 October 2001 at Jakarta.
[3] Bangkok Post (13 May 1998).
[4] เป็นหน่วยทหารในการควบคุมของโปรบาโว ลูกเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในการลงชิงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมือปีที่แล้ว 2009 นางเมกาวตี ซูการ์โน บุตรี ได้เลือกให้โปรบาโว เป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งทำให้คนอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยคลางแคลงใจทั้งต่อตัวนางเมกาวตีเอง และกังขาต่อบทบาทของโปรบาโวในการสังหารนักศึกษาตรีศักติในปี 1998
[5] Soekisno Hadikoemoro and Pers Mahasiswa Universitas Trisakti, Tragedi Trisakti 12 Mei 1998 (โศกนาฎกรรมตรีศักติ 12 พฤษภาคม 1998) (Jakarta: Penerbit Universitas Trisakti, 1999), p. 191-198.
[6] “Students Honor ‘Reform Heroes’,” The Jakarta Post (14 May 1998).
[7] “A Lamentable Tragedy,” The Jakarta Post (15 May 1998).
[8] “Wabah Amuk dari Berbagai Daerah (ความโกรธแค้นจากท้องถิ่นต่าง ๆ),” Forum Keadilan (9 March 1998): 27-28.
[9] “Agar tidak Putus Kuliah, Ditempuh segala cara (เพื่อที่จะไม่ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย, ต้องฝ่าฟันทุกวิถีทาง),” Kompas (2 May 1998).
[10] “Mereka Ingin Reformasi Tapi Jakarta Dijilat Api (พวกเขาต้องการการปฏิรูปแต่จาการ์ตาลุกเป็นไฟ),” Gatra (23 May 1998): 25.
[11]  Forum Keadilan No. 5 (15 June 1998).

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทสัมภาษณ์ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ก่อนถูกล้อมบ้าน

Posted: 23 May 2010 08:28 AM PDT

<!--break-->

23 พ.ค. 53 - สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ Voice of Taksin และแกนนำกลุ่มแดงสยาม ให้สัมภาษณ์กับ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ทางโทรศัพท์ในขณะที่มีตัวรวจมาล้อมบ้านของเพื่อจะจับกุมสมยศในข้อหาทำผิดพรก.ฉุกเฉิน หลังจากที่เขาออกมาประกาศเรียกร้องให้คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมประท้วงนอกเขตที่มีการประกาศพรก.ฉุกเฉินเพือเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.ที่ทำให้มีคนตายถึง 16 คน

ประวิตร: คุณจะหนีหรือมอบตัว

สมยศ: มอบตัวครับ จะไปหนีทำไม ก็ไปสิบโมง (ของวันจันทร์) ที่กองปราบ ผมถามตำรวจ ตำรวจบอกว่า ถ้าเป็นทหารน่ะ จะลำบากกว่านี้ พี่ต้องรู้ว่าพูดกับใคร ในคุกปลอดภัยกว่า ผมไม่สะดวกหรอก เป็นเรื่องเล็กน้อย ที่เราทำมันเปิดเผย

ประวิตร: รู้สึกอย่างไรกับหมายจับนี้

สมยศ: รัฐบาลนี้ นำสังคมสู่ยุคมืดอย่างแน่นอน ใช้อำนาจอย่างมิชอบ อย่างชัดเจนที่สุดแล้ว เรากะจะเคลื่อนที่ราชบุรีวันที่ 30 พค. และชุมนุมที่สวนสาธารณะ มีแนวนี้ที่ต้องยุติ เขากลัวกัน 

ประวิตร: ได้ข่าวว่าบ้านถูกค้นวันนี้

สมยศ: ก็ไม่เจออะไร เขามีหมายจับมาเลย และหมายค้น หมายจับ (กล่าวหาว่า) ขัดพรก.ฉุกเฉิน ห้ามแถลงข่าว

ประวิตร: จะถูกขังจน พรก.หมดหรือ

สมยศ: คงอย่างนั้น ปล่อยออกมาก็ปกติ

ประวิตร: แล้วนิตยสาร Voice of Taksin นั้นอนาคตเป็นอย่างไร

สมยศ: มีแนวโน้มจะต้องยุติ เพราะถูก freeze เงิน

ประวิตร: รู้สึกอย่างไร

สมยศ: ก็ไม่เห็นเป็นไร เราอยู่ยุคมืด ก็สูญเสียอิสรภาพเพื่อรักษาความเป็นคนของเราดีกว่า แต่ก็ไม่แน่ เขาอาจจะปล่อยตัว

ประวิตร: มองขบวนการเสื้อแดงว่าเป็นอย่างไรบ้าง ณ เวลานี้ ถือว่าแพ้หรือไม่

สมยศ: ยัง ยัง คือสำนึกมันมีอยู่ไปหมดแล้ว และมีความแค้น ชิงชังมากขึ้น ก็จะไปแสดงออกตามสภาพของเขาแล้ว และเราพยายามเคลื่อนอย่างสันติและเปิดเผย (แต่ก็มาถูกหมายจับ) ก็แค่เรียกร้องสุเทพกับอภิสิทธิ์ควรแสดงความรับผิดชอบ แล้วคุณก็พูดฝ่ายเดียว แล้วคุณก็ไปจัดฉากหลังเคอร์ฟิว ไม่รู้คุณเข้าไปจัดฉากเอาอาวุธ (ยัด) หรือเปล่า

ประวิตร: เรื่องเผาหลายคนโทษเสื้อแดง คุณมองอย่างไร

สมยศ: คือหนึ่งนะครับ เรื่องนี้มันเกิดสภาพที่โกรธแค้นแล้ว หลังการสลายการชุมนุม และเกิดภาวะที่คนเสียชีวิตมากมาย ไล่ยิงคนล้มระเนระนาด ตำรวจและทหารไปยึดพื้นที่ตั้งแต่บ่ายโมงแล้ว ถ้าเขาอยากรักษาทรัพย์สิน เขาสั่งทหารไปคุมพื้นที่ได้ แต่เขายืนดูปล่อยปละละเลย ทหารบางคนบอกผมมา เพื่อการฆ่า ไม่ใช่การดูแลทรัพย์สิน 

พอสมยศพูดเสร็จ ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 21.00 ของวันอาทิตย์ที่ 23 พค. สมยศก็บอกว่า ตอนนี้มีตำรวจล้อมอยู่หน้าบ้านตนที่ดอนเมือง และกล่าวเพิ่มว่า “ถ้าเขาชาร์จตัวก็ไปเลย”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทบรรณาธิการ pub-law.net : “สงสารประเทศไทย”

Posted: 23 May 2010 08:04 AM PDT

<!--break-->

ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงเริ่มต้นของการ “สู้รบ” กันที่กรุงเทพมหานคร ภาพข่าวที่ได้เห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน !!! แผ่นป้ายเตือนผู้ชุมนุม “พื้นที่การใช้กระสุนจริง” ที่อุตส่าห์เขียนเตือนเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า “Life Firing Zone” นั้นสร้างความเศร้าใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ไปไหนเจอคนรู้จักก็จะถูกถามว่าทำไมบ้านเราถึงเป็นอย่างนี้ไปได้ เพื่อนหลายๆคนที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยและรักประเทศไทยต่างก็บ่น “เสียดาย” กับ “สิ่งดีๆ” ที่มีอยู่ในบ้านเรา เพราะในวันนี้ “สิ่งร้ายๆ” ที่เกิดขึ้นได้ลบภาพความสวยงามของประเทศไทยไปหมดแล้วครับ 

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจขึ้นไปอีก ขับรถผ่านไปทางไหนก็เจอแต่กองขยะเต็มไปหมด การจราจรในบางพื้นที่ถูกกีดขวางโดยลวดหนาม มีทหารถืออาวุธยืนทั่วกรุงเทพฯ ควันสีดำลอยเป็นหย่อมๆ ผู้คนหายไปไหนหมดก็ไม่ทราบ ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่า นี่คือกรุงเทพมหานครที่เรารู้จัก !!! อยู่กรุงเทพฯได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดการ “กระชับพื้นที่” ขึ้น ซึ่งก็นำมาสู่การยุติการชุมนุมโดยแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงขอมอบตัว จากนั้นก็เกิดความวิบัติขึ้นในกรุงเทพมหานคร นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของเราครับ

ผมมองดูเหตุการณ์ต่างๆผ่านสื่อเท่าที่พอจะดูได้ พยายามเข้าเว็บไซต์จำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้รับรู้จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐแต่เพียงด้านเดียว แต่จากข้อมูลด้านเดียวนี้เองที่ทำให้ผมคิดอะไรได้มากเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ก็คงต้องขอนำเอาสิ่งที่ผมได้รับฟังมาด้านเดียวแล้วก็นำไปวิเคราะห์เท่าที่สติปัญญาของตัวเองพอทำได้มาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ อ่านแล้วก็ไม่ต้องเชื่อหรือให้ความสำคัญอะไรมากมายนัก เพราะมาจากข้อมูลด้านเดียวบวกกับความคิดของคนๆ เดียวครับ ! 

คงต้องเริ่มจากวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้ “มาตรการกระชับพื้นที่” ของรัฐบาลก่อน ก็เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างมากที่รัฐบาลปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงทำผิดกฎหมายอยู่กลางถนนสาธารณะและกลางเมืองได้เป็นเวลา 2 เดือนโดยไม่ “รีบเร่ง” แก้ปัญหาให้กับชาวกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อพอจะทำ กลับเป็นการทำที่ “ไม่มีระบบ” รองรับเท่าที่ควรในขณะทำทั้งๆที่ได้มีการยื่นคำขาดให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ล่วงหน้ามาแล้วหลายครั้ง ลองดูจากภาพที่เราเห็นนะครับว่า การพังรั้วยางรถยนต์และไม้ไผ่บริเวณแยกสีลมที่ใช้รถยานเกราะขนาดเล็กที่กว่าจะทลายลงไปได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร ผมว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ทำได้ดีกว่านั้นและเร็วกว่านั้น เช่นการใช้น้ำแรงดันสูงฉีดหรือการใช้รถแทรกเตอร์เข้าไปทลาย เรื่องนี้ผมอาจคิดไปเองก็ได้ว่าไม่มีระบบเพราะผมไม่รู้จักยุทธวิธีทางการทหาร แต่ทหารเองคงคิดว่าเป็นระบบแล้ว เพราะข่าวที่ออกมาภายหลังจากวันที่ 20 พฤษภาคมก็คือ บริเวณนั้นมีอาวุธสงคราม มีระเบิด มีผู้ก่อการร้ายทั้งบนพื้นดินและอยู่บนตึกสูงคอยลอบยิง เรียกได้ว่ามีแต่ผู้ร้ายและอาวุธเต็มบริเวณไปหมด ข่าวลักษณะแบบนี้ยิ่งทำให้ผมสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทำไมทหารถึงไม่ใช้วิธีการส่งคนเข้าไปแทรกซึมหรือเข้าไปหาทางจัดการกับทั้งผู้ร้ายและอาวุธเหล่านั้นครับ ปล่อยให้เกิดการซ่องสุมผู้คนและอาวุธจำนวนมากกลางเมืองหลวงของประเทศตามข่าวที่ได้แจ้งให้กับประชาชนทราบได้อย่างไร และนอกจากนี้แล้ว เมื่อเกิดการกระชับพื้นที่ขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าในขณะทำนั้น ผู้ทำคิดถึงแต่เพียงมาตรการสลายการชุมนุมหรือคิดถึงมาตรการรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุม เช่น การควบคุมฝูงชนหรือการป้องกันวินาศกรรมเอาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะดูจากข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ทหารได้นำเอาเสียงของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่พูดต่างกรรมต่างวาระกันมาแสดงให้ประชาชนทราบว่า มีการเตรียมการที่จะเผากรุงเทพมหานครเอาไว้ล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น ทำไมถึงไม่มีการระดมรถดับเพลิงจากทั่วกรุงเทพมหานครมาไว้ในบริเวณใกล้เคียงครับ ปล่อยให้เกิดไฟไหม้กว่า 30 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร หากทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดการเผากรุงเทพมหานครเช่นที่ออกข่าวมาในภายหลัง การป้องกันก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้มาก เพียงแค่อาคารเซ็นทรัลเวิลด์เพียงอาคารเดียวซึ่งเข้าออกได้หลายทางมาก ทหารก็น่าจะเข้าไปเตรียมป้องกันหรือยึดเอาไว้ก่อนที่จะเกิดการกระชับพื้นที่แล้วนะครับ และนอกจากนี้แล้ว แม้มาตรการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลจะเกิดผลดีกับชาวกรุงเทพมหานครในภาพรวม แต่ถ้าหากวางแผนอย่างเป็นระบบ คงไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ อยู่ท่ามกลางสมรภูมิ ท่ามกลางควันจากการเผายางไม่สามารถเข้าออกบ้านตัวเองได้ ได้รับความลำบากเหมือนตกนรกทั้งเป็นก็ว่าได้ 

ที่ผมกล่าวไปข้างต้นก็คือสิ่งที่ผมคิดโดยมีฐานมาจากสิ่งที่ผมเห็นผ่านสื่อของรัฐในช่วงระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคมที่ผ่านมานะครับ 

สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ ความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ใครจะต้องรับผิดกันบ้าง ก็อย่างที่เราทราบกันอยู่นะครับว่า “กฎหมายพิเศษ” ที่ออกโดยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และก็ได้ถูกคัดค้านเป็นอย่างมากในขณะนั้น ใครคัดค้านก็ไปดูกันเอาเองนะครับ กลับไม่ได้รับการแก้ไขหรือยกเลิก แถมยังถูกนำเอามาใช้ในรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกหลายต่อหลายครั้ง ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เพราะฉะนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทรัพย์สินหรือชีวิต กฎหมายดังกล่าวยกเว้นโทษให้กับ “ภาครัฐ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้วครับ ก็เรียกได้ว่า รอดกันไปหมดทั้งผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติ แต่หากจะคิดลงไปให้ลึกกว่านี้ คงปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า แม้ในตัวบทกฎหมายจะกำหนดให้ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่การตัดสินใจและการดำเนินการจนเป็นเหตุให้มีคนเจ็บ คนตายจำนวนมาก เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินทั้งของรัฐและของเอกชนอย่างมากมาย ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติจะรู้สึกอย่างไรครับ ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูงของพวกท่านจะรู้สึกกันอย่างไรครับ !!! ความรับผิดชอบทางศีลธรรม และความรับผิดชอบทางการเมืองยังเป็นสิ่งที่ "มีตัวตน" อยู่นะครับ !!! 

อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายพิเศษจะยกเว้นโทษและความรับผิดทางกฎหมายเอาไว้ล่วงหน้า แต่เราก็คงต้องมาพิจารณาดูว่าใครจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนใครจะได้รับการยกเว้นโทษและความรับผิดตามกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยอำนาจหน้าที่ ศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรม และอื่นๆ คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่านี่คือความผิดประเภทหนึ่ง แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ต้องรับผิดเท่านั้นครับ 

ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรกก็คือ “แกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง” ที่พาคนมาชุมนุมอยู่บนทางสาธารณะ สร้างความลำบากเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ทำผิดกฎหมายหลายๆอย่างและมีส่วนทำให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเมื่อจะยุติการชุมนุมก็ทำอย่างรีบเร่ง ไม่มีการเตรียมแผนการรองรับและไม่มีแผนการป้องกันเหตุร้ายเอาไว้ทั้งๆที่รัฐบาลก็ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้น บรรดาแกนนำทั้งหลายจึงต้องรับผิดชอบ ผมไม่ได้คิดไปเอง เพราะในประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะนั้น ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องรับผิดชอบต่อการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมนั้นครับ ส่วนผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับต่อมาก็คือ “รัฐบาล” แน่นอนอยู่แล้วครับที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของตน เป็นไปได้อย่างไรที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมยึดถนนสาธารณะกีดขวางทางจราจรอยู่เป็นเวลา 2 เดือนต่อเนื่องกันโดยไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้คงต้องนำมาพูดกันต่อเพื่อมิให้เกิดการนำไปอ้างอิงในทางที่ผิดๆต่อไปในอนาคตว่า ทีรัฐบาลก่อนหน้านี้ยังทำอย่างนี้ได้เลย ทำไมรัฐบาลนี้จะทำไม่ได้ 

ในบรรดาความรับผิดของรัฐบาลนั้น ที่ได้ยินจากข่าวหลังวันที่ 19 พฤษภาคม ทำให้ผมรู้สึกว่ารัฐบาลพยายามปฏิเสธความรับผิดหลายๆอย่าง ทหารยิงประชาชนก็มีข่าวว่ามีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม บางข่าวก็ว่ามีกองกำลังติดอาวุธคอยสร้างสถานการณ์ ก็ไม่เป็นไรครับ นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยเราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ผมว่าในวันนี้หน้าที่ของรัฐบาลก็คือ ต้องทำให้ความจริงปรากฎ ต้องจับให้ได้ว่าใครคือผู้ก่อการร้าย ใครคือกองกำลังติดอาวุธ ใครคือ sniper ที่คอยลอบยิงประชาชน ต้องเอาตัวมาให้ดูให้ได้ เช่นเดียวกับ “แผนล้มเจ้า” ที่ได้นำเสนอออกไปเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดกันเล่นๆ ว่าแต่ว่าวันนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ !!! เวลาผ่านไปเกือบเดือนน่าจะต้องจับคนที่ปรากฎรายชื่อที่อยู่ในแผนผังที่นำมาแสดงให้หมดแล้วนะครับ ไม่ใช่ออกข่าวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ข่าวด้านเดียวมีมากเหลือเกิน มากจนทำให้คนบางคนเริ่มคิดแล้วว่า นี่คือการ “สร้าง” ความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการดำเนินการทั้งหมด และนี่คือการ “โยนความผิด” ไปให้อีกฝ่ายหนึ่งกับใครก็ไม่รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด 

หากเรามาวิเคราะห์กันให้ถึง "แก่น" รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้มีที่มาจากเรื่องเดียวก็คือ “ขบวนการไม่เอาทักษิณ” ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าคือใครและมีที่มาอย่างไร ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ขบวนการดังกล่าวก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้น เรื่องไม่ดีทั้งหลายในประเทศนี้มีที่มาจากที่เดียว คนเพียงคนเดียวอยู่เบื้องหลังทุกเรื่อง ทำอะไรก็ผิดไปหมดจนไม่รู้ว่าจะทำอะไรผิดมากไปกว่านี้ได้ไหม ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีด้วยความผิดที่มีคนอื่นทำผิดมากกว่าหลายสิบเท่าและก็ยังหนีอยู่เหมือนๆกัน แต่ก็ไม่ถูกตามล่าเช่นเดียวกับคุณทักษิณฯ รัฐมนตรีบางคนก็ทำตัวเหมือนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไล่ล่าทักษิณ ทำอยู่อย่างเดียวคือ ไล่ล่าคุณทักษิณฯ และคอยนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นผลดีต่อคุณทักษิณฯ เอาเป็นว่าที่ผ่านมาขบวนการไม่เอาทักษิณ “รุกหนัก” มากจนลืมไปว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ “เอาทักษิณ” มีคนที่รักและศรัทธาในตัว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคนที่พวกเขารักและศรัทธาถูกทำร้ายโดยรัฐและขบวนการไม่เอาทักษิณ ก็เป็นธรรมดาที่คนกลุ่มนี้จะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐและขบวนการไม่เอาทักษิณ ปัญหาจึงเกิดขึ้นในวันนี้และนับวันก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตัวผมเองได้เคยเสนอเอาไว้ในบทบรรณาธิการหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า รัฐบาลควรอยู่เฉยๆในเรื่อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หากจะดำเนินการใดๆ ด้านการต่างประเทศก็ควรจะทำแบบ “ไม่โฉ่งฉ่าง” ให้ข่าวไปทั่ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะปฏิบัติต่อกรณีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็คือต้องทำเหมือนกับว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีตัวตน ไม่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูด เมื่อไม่มีใครสนใจ นานวันเข้าก็คงจะ “เฉาตาย” กันไปเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะต้อนคนให้เข้ามุมอยู่ในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดสารพัดความผิดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ ที่พิสูจน์แล้วเช่นการยึดทรัพย์ก็ยังมีข้อโต้เถียงและยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ เพราะฉะนั้น หากคิดว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนทุกเรื่องจริง เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่มีการพูดกันว่า "ผู้ที่อยู่ต่างประเทศ" เป็นผู้บงการหรือให้การสนับสนุน ผมอยากจะถามว่าคุ้มกันไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปิดถนนสาธารณะ 2 เดือน และจากการที่กรุงเทพมหานครต้องกลายเป็น “ทะเลเพลิง” สร้างความสูญเสียในทุกๆด้านเป็นอย่างมาก ผมว่าไม่คุ้มเลยนะครับ เหมือนกับการ “เผานาฆ่าหนู” ที่ในที่สุดก็ฆ่าหนูไม่ได้ แต่นาก็วอดไปหมด เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่า ควรจะยุติเรื่องขบวนการไม่เอาทักษิณได้แล้ว ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ไม่กี่วันคนก็คงลืม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปเอง และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนลืม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปได้ก็คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องใช้เวลาทั้งหมดแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจังในทุกๆด้าน สร้างความสมานฉันท์ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาดีเหมือนก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ครับ ส่วนปัญหาต่อเนื่องที่เกิดจาก “ขบวนการไม่เอาทักษิณ” ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างมาตรฐานเดียวกัน ในสังคมเพื่อไม่ให้อีกฟากหนึ่งรู้สึกว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง โดยรัฐบาลคงต้องเลิกคิดว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” เป็นศัตรูทางการเมืองและ “กลุ่มคนเสื้อสีอื่น” เป็นพันธมิตรทางการเมืองก่อน การดำเนินคดีกับคนทุกกลุ่มต้องเป็นไปภายใต้กฎหมาย มาตรฐาน และระยะเวลาเดียวกัน รัฐบาลต้องยกเลิกการควบคุมสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ก็เข้าไปควบคุมสื่อของคนเสื้อสีอื่นๆให้เหมือนกับที่ควบคุมสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลต้องหยุดให้โฆษกของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนออกมาให้ข่าวที่สร้างความเกลียดชังกันเองในหมู่ประชาชนหรือไม่ก็ให้ข่าวในลักษณะ “โหมไฟ” ให้กับกลุ่มคนที่ชื่นชมอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้เกลียดชังรัฐบาลและประเทศไทยมากขึ้นไปอีก 

มองดูปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้แล้วรู้สึกว่าซับซ้อนมาก นับแต่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มชุมนุมมาจนกระทั่งแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามอบตัว มีความไม่ชัดเจนซ่อนอยู่ในทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ชัดเจนต่อท่าทีของทหาร-ตำรวจ-รัฐบาล ที่ทำให้ปัญหาบานปลายมาจนวันนี้ ผมยังไม่อยากเชื่อว่า รัฐบาลของเราปล่อยให้ใครก็ไม่รู้เข้ามายึดพื้นที่สาธารณะ ยึดพื้นที่จราจร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติของคนจำนวนมากเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย แก้ปัญหาอะไรก็ไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือ ออกข่าวรายวันสร้างความน่ากลัว สร้างความเกลียดชังให้กับ “อีกฝ่ายหนึ่ง” จนทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะเดียวกัน ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการหรือลูกจ้างของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจากรัฐบาล การที่ต้องปิดกิจการเกือบ 2 เดือนไม่ใช่เรื่องเล่นๆสำหรับผู้ประกอบกิจการประเภท “หาเช้ากินค่ำ” ที่ไม่ได้มี “ทุนหนา” !!! และนอกจากนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่ใส่ใจ” ของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนก็คือ การตัดน้ำตัดไฟ บริเวณที่มีการชุมนุม ซึ่งรวมไปถึงการตัดน้ำและไฟของประชาชนผู้อยู่อาศัยในละแวกดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากในการอยู่อาศัยและในการติดตามข่าวสารของการชุมนุมที่ส่งผลกระทบต่อตัวของพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ “ประเทศไทยตายแล้ว” ดังที่ผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 237 ครับ 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากข่าวที่ออกมา ผมมีความรู้สึกซึ่งอาจรู้สึกไปเองก็ได้ว่ารัฐมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู มีการกล่าวหาบุคคลดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ข่าวที่ออกมาสร้างภาพลบให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม แม้กระทั่งเมื่อ เสธ.แดง ถูกลอบยิง ข่าวที่ออกมายังทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นพวกเดียวกันทำกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์ ความไม่ยุติธรรมหลายๆอย่างที่รัฐหยิบยื่นให้กับผู้ชุมนุม แม้วันหนึ่งจะไม่มีการชุมนุมและเหตุการณ์สงบลง แต่ความสงบที่ว่าคงไม่มีใครปักใจเชื่อได้ว่าเป็นความสงบอย่างถาวร ไม่เชื่อก็ลองติดตามดูต่อไปครับ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยก็สร้างความโกรธแค้นและความอาฆาตแค้นให้กับคนจำนวนหนึ่ง สังคมไทยต่อจากนี้จะกลายเป็นสังคมที่น่ากลัว ไม่เหมือนเดิม ผู้คนจะหวาดระแวงกันและในบางกรณีก็จะถึงขนาดจ้องทำร้ายกัน เพราะเมื่อเรื่องจบ ตัวละครภาครัฐทั้งหมดก็จะรอดพ้นจากความผิดตามกฎหมายเพราะมีกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงว่าไม่ต้องรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา ในขณะที่ประชาชนผู้มาชุมนุมต้องรับผิดทุกทาง รวมทั้งมีบางคนต้องตายฟรีด้วย แล้วอย่างนี้ สังคมไทยของเราจะอยู่กันอย่างสงบสุขไปได้อย่างไร ตัวละครภาครัฐและครอบครัวจะเดินถนนอย่างปกติ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วๆไปได้อย่างไร วันนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครแล้วนะครับ !!! น่ากลัวมาก !!! 

จากนี้ต่อไป รัฐบาลจะทำอย่างไรผมคงไม่สามารถเดาได้ แต่ถ้าหากจะถามความคิดผม ผมก็ยังยืนยังเหมือนเดิมที่ได้กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 238 ก็คือ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือไม่สามารถดูแลรักษาชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ ปล่อยให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก แถมยังปล่อยให้มี “ผู้ก่อการร้าย” เดินเล่นอยู่เต็มเมือง มี “sniper” คอยลอบยิงประชาชนอย่างเมามัน นี่คือเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกครับ แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก ผมก็ได้เสนอไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 237 แล้วว่า พรรคภูมิใจไทยควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพไป ทั้งนี้ เนื่องมาจากพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมือง “ตัวแปร” ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครับ เมื่อเหตุการณ์สงบ นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็เปิดโอกาสให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรี “คนใหม่” ซึ่งก็อาจได้นายกรัฐมนตรี “คนเดิม” ก็ได้ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก ซึ่งตอนนั้น ทุกคนก็ต้องยอมรับเพราะเป็นมติของสภาผู้แทนราษฎรนะครับ !!!

บทเรียนสำคัญของชาวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาคือ ทุกคนต้องทนอยู่แบบ “รับสภาพ” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องรับเคราะห์รับกรรมจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นการกระทำทางการเมืองที่มิได้เกี่ยวข้องใดๆกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพมหานครเลย รัฐบาลและกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถ “ดูแล” และ “แก้ปัญหา” ให้กับชาวกรุงเทพมหานครได้ จริงๆแล้วอยากจะยุให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมที่ผ่านมาฟ้องศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองด้วยซ้ำไปว่า ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ปล่อยให้มีคนทำผิดกฎหมาย กีดขวางทางจราจร ซ่องสุมผู้คน ฯลฯ โดยไม่สามารถทำอะไรเลยเป็นเวลาถึง 2 เดือน ผู้เดือดร้อนเสียหายน่าจะลองฟ้องศาลดูนะครับ !!! นอกจากนี้แล้ว ชาวกรุงเทพมหานครเองก็ต้อง “เก็บ” เรื่องเหล่านี้ไว้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยครับ !!! 

ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ขอฝากไปยัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่า ในวันนี้ ประตูที่จะกลับมามีอำนาจในประเทศไทยนั้นถูกปิดไปแล้ว จริงๆแล้วด้วยสถานะทางการเงินระดับนั้น การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในต่างประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีพิพิธภัณฑ์มากมายที่น่าสนใจ มีหนังสือดีๆให้อ่านจำนวนมาก เพลงเพราะๆก็มีให้เลือกซื้อไปฟังได้ ใช้ชีวิตอย่างสงบ ชื่นชมกับศิลปะ ชื่นชมกับวัฒนธรรม ชื่นชมกับสถานที่ท่องเที่ยว ชื่นชมกับอาหาร น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด     “โอกาส” ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเร่งรัดสร้างได้นะครับ วันหนึ่งถ้าประชาชนคนไทย “ต้องการ” คุณทักษิณฯ วันนั้นก็เป็นโอกาสของคุณทักษิณฯ ที่จะได้กลับมารับใช้ประเทศอย่างเต็มภาคภูมิครับ "การเร่งสร้างโอกาส" มีแต่จะนำมาซึ่ง “ความเสื่อมถอย” และความเสื่อมถอยที่ว่านี้ก็จะย้อนกลับไป "ทำลายโอกาส" ที่จะได้กลับมาประเทศไทยครับ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ควร “หยุด” ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งหมดได้แล้วนะครับ !!!

ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “สภาวะสูญญากาศของการบังคับใช้กฎหมายในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” ที่เขียนโดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บทความที่สองเป็นบทความของ คุณธนัย เกตวงกต นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “บทบาทของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์” และบทความสุดท้าย คือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้เขียนเรื่อง “สหประชาชาติมีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในไทย” ส่งมาร่วมเผยแพร่กับเราครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามด้วยครับ
      
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2553
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: "Big Cleaning Day" ถนนพระราม 4

Posted: 23 May 2010 07:51 AM PDT

<!--break-->

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตั้งทีมล่าแกนนำ นปช. หนีหมายจับ ขู่ฟันแกนนำชุด 2

Posted: 23 May 2010 07:27 AM PDT

<!--break-->

วันนี้ ( 23 พ.ค.) เวลา 19.00 น. ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรมทหารราบที่ 11  รักษาพระองค์  พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.)  แถลงว่า วันนี้ศอฉ.  ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีเรื่องสำคัญ 2  เรื่องที่จะเรียนให้ประชาชนทราบ ดังนี้ 

1.กราบขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันแจ้งเบาะแสแหล่งซ่อนตัว แหล่งหลบหนี ของบรรดาแกนนำที่ถูกออกหมายจับ เจ้าหน้าที่จะเข้าทำการตรวจสอบในทุกจุดทุกพื้นที่ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่างจังหวัด ขอเรียนว่าสำนักตำรวจแห่งชาติ  โดยรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ได้สั่งการให้จัดชุดสืบสวนขึ้นมาเพื่องานนี้เป็นการเฉพาะ มีทีมที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ขณะนี้มีจำนวน 26 หมายจับที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ ประกอบกับต่างจังหวัดอีกจำนวนหนึ่ง ประชาชนที่ทราบเบาะแส กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้เคียงได้รับทราบ หรือแจ้งทางหมายเลข 191 เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่ถูกแจ้งจะรีบดำเนินการไปตรวจสอบทันที 

2. เริ่มมีความชัดเจนว่าขณะนี้กำลังมีคณะบุคคลพยายามที่ยกระดับ ปรับตัวเองขึ้นมา อ้างตัวเป็นแกนนำรุ่นใหม่ ขอเรียนว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ศาลแพ่งได้มีคำสั่งไว้ในคำวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีการพัฒนาก่อเกิดความวุ่นวายต่อๆ มา มีความรุนแรง มีความร้ายแรงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ของคนในสังคมโดยทั่วไป ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นแกนนำในชุดที่ 2 ขณะนี้ได้มีการลงมือทำการเชิญชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับมาชุมนุมใหม่   ซึ่งเท่ากับว่ากำลังมาก่อความวุ่นวาย กำลังกลับมาสร้างสถานการณ์ที่รุนแรงและร้ายแรงขึ้นอีก ในขณะนี้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลใช้บังคับอยู่  การกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ต้องด้วยมาตรา 11 อนุ 1 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวคือ  มีพฤติการณ์ที่ก่อความรุนแรง ร้ายแรงขึ้น และเจ้าหน้าที่จะมีการขออนุมัติหมายจับบุคคลที่กระทำการดังกล่าวทันที ขอแจ้งเตือนไว้ที่นี้ว่า บ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปสู่แผนปรองดอง กำลังจะสงบเรียบร้อยอยู่ระหว่างการเยียวยาแก้ปัญหาและพัฒนา เราคงไม่อยากกลับไปในเหตุการณ์เดิมอีก ฉะนั้นคนที่พยายามกำลังจะเชิญชวนให้มีการชุมนุม อาทิ เชิญชวนมาที่ท้องสนามหลวง  ซึ่งบางคนที่พยายามยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแกนนำศาลได้ออกหมายจับแล้ว   

ทั้งนี้ที่ พล.ต.ต.อำนวย ระบุว่าคนที่พยายามจะเชื้อเชิญคนมาที่ท้องสนามหลวง และบางคนนั้นได้ถูกศาลอนุมัติออกหมายจับแล้ว คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตัว ส่วนกรณีของนายสุรชัย แซ่ด่าน นั้น ยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่ถ้ามีการเรียกคนมาชุมนุมเมื่อใด ก็จะมีการออกหมายจับทันที
                   
รอง ผบช.น. กล่าวว่า เราจะขออนุมัติจับกุมทุกราย ศาลได้เขียนไว้ในคำพิพากษาในขณะที่มีคำพิพากษาเกี่ยวกับการชุมนุมที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งว่า "บ้านเมืองกำลังมีปัญหาในฐานะประชาชนจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา แต่ผู้ต้องหานี้นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วกลับมากระหน่ำซ้ำเติม" จึงอยากฝากขอเตือนไปยังคนที่กำลังจะยกระดับปรับตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำในการชุมนุม กำลังจะเรียกให้มีการชุมนุมใหม่ ให้คิดผิดคิดใหม่ อย่ากระหน่ำซ้ำเติม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุเทพ” เผยยังไม่รู้ว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อใด

Posted: 23 May 2010 06:20 AM PDT

<!--break-->

23 พ.ค. 53 - สำนักข่าวไทยว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เปิดเผยก่อนการประชุม ศอฉ.รอบเย็นว่า ที่ประชุม ศอฉ. รอบเช้าเห็นพ้องร่วมกันว่า จะย้ายศูนย์ไปตั้งที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เพราะตนและนายกรัฐมนตรี จะกลับไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล และเชื่อว่าสถานการณ์อยู่ในลักษณะที่สามารถควบคุมได้ แต่จะถึงขั้นยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือไม่ ต้องประเมินกันอีกหลายครั้ง โดยต้องดูทั้ง กทม.และปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดว่า คลี่คลายลงมาในระดับไหน และการเคลื่อนไหวของฝ่ายอื่นเป็นอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตระหนกตกใจให้ประชาชน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของเคอร์ฟิว วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม จะมีการประเมินว่าจะพิจารณาอย่างไร รัฐบาลเข้าใจว่าภาคธุรกิจเดือดร้อน แต่ต้องตัดสินเอาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก และเหตุการณ์ยังใหม่อยู่ ซึ่งการประกาศเคอร์ฟิวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่าย และดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ ซึ่งเคอร์ฟิวอาจยกเลิกได้เร็ว แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องพิจารณาก่อน

นายสุเทพ ยังขอร้องกลุ่มที่คิดจะเคลื่อนไหวใต้ดินว่า อย่าได้คิดเช่นนั้น และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะทำแล้วเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองและประชาชนโดยส่วนรวม ส่วนการประเมินสถานการณ์ว่า จะถึงขั้นไว้วางใจได้เมื่อใดนั้น คงตอบลำบาก แต่มีความตั้งใจทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อให้บ้านเมืองเป็นปกติสุข และสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ เดินทางตามแนวทางปรองดองของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อปฏิบัติได้ครบแล้วเชื่อว่า น่าจะได้รับความพึงพอใจ และเชื่อว่าระยะเวลาจะช่วยให้เรื่องต่างๆ เย็นลง

เมื่อถามว่า ระยะเวลา 4 เดือนพอเพียงต่อการปรองดองหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ง่ายเช่นนั้น และขออย่าคาดเดาเรื่องเวลา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลรีบทำทันที ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีพูดชัดตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม ว่า เมื่อกระบวนการเจรจาไม่ลงตัว แกนนำเสื้อแดง ไม่รับข้อเสนอของรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นต้องพูดอีก ดังนั้น เรื่องการกำหนดวันยุบสภาถือเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี

ส่วนที่มีการจับกุมชาวต่างชาติร่วมขบวนการกับคนเสื้อแดงนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า มีเพียงคนเดียว คือ ชาวกัมพูชา หลบหนีเข้าเมืองมาหลายปีแล้ว และเมื่อปี 2550 ได้ทำหนังสือเดินทางเข้ามาเพื่อทำงาน ซึ่งได้มาเคลื่อนไหวและอยู่ร่วมในช่วงที่มีการเผาธนาคารและร้านค้า ก็ต้องดำเนินคดีไปตามหลักฐาน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากที่มีประกาศว่าจะปิด ศอฉ. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บรรดาเจ้าหน้าที่ก็ได้ทยอยเก็บข้าวของ เพื่อเตรียมย้ายไปกองทัพบก และในช่วงเย็น จะมีออกร้านอาหาร ขอบคุณเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่มาทำงานร่วมกันด้วย.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ. ประกาศคืนถนน "เพชรบุรี-พญาไท-วิทยุ-ราชปรารภ-พระราม" 4 พรุ่งนี้ตี 4

Posted: 23 May 2010 05:37 AM PDT

<!--break-->

18.30 น. วันที่  23 พฤษภาคม ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ออกประกาศ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล) ดังนี้ ให้ยกเลิกการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะใดๆ ในเส้นทางต่อไปนี้

ก.ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่แยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ถึงสี่แยกราชเทวี
ข.ถนนพญาไท ตั้งแต่สี่แยกราชเทวี ถึงสี่แยกสามย่าน
ค.ถนนวิทยุ ตั้งแต่สี่แยกถนนวิทยุ ถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี
ง.ถนนภายในพื้นที่ห้ามตามข้อก.ถึงข้อค. จนถึงแนวถนนพระราม 4
จ.ถนนราชปรารภ ตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำ ถึงสี่แยกมักกะสัน
ฉ.ถนนพระราม 4 ตั้งแต่สี่แยกสามย่าน ถึงแยกปากซอยงามดูพลี

ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม เวลา 04.00 น.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิฯตั้งศูนย์คนหาย-เยียวยา ส่วน ปชป. ตั้งศูนย์ร้องค่าเสียหายจากการชุมนุม

Posted: 23 May 2010 05:06 AM PDT

องค์กรภาคประชาชนเปิดศูนย์รับร้องเรียกตามหาผู้สูญหาย บาดเจ็บ และผู้เดือดร้อน ด้าน ศอฉ. ไม่ทำศูนย์คนหายโยน พม.สานต่อ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ตั้งศูนย์เรียก้องค่าเสียหายจากการชุมนุม
<!--break-->

23 พ.ค. 53 - นายไพโรนจ์ พลเพชร ประธานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) แจ้งข่าวเปิดศูนย์รับร้องเรียนแห่งแรกที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีคนตาย สูญหาย ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุม และผู้เดือดร้อนเสียหายอื่นๆ โดยการให้คำปรึกษาเบื้องต้นและติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางราชการ และเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในการบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์ จากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา

โดย ศรส.จะมีบริการ เปิดรับเรื่องร้องเรียนทุก ระหว่างเวลา 09.00–17.00 น.ทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) โดยจะจัดให้มีอาสาสมัครนักกฎหมาย ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน ประจำศูนย์ฯ ศูนย์ละอย่างน้อย 5 คน และจะแจ้งก่อนหากจะมีการหยุดให้บริการ และจัดเบอร์ติดต่อประสานงานกลางเพื่อรับเรื่องหรือประสานความช่วยเหลือเร่งด่วน สองหมายเลขคือ 086-0808-767 และ 086-0808-477 แจกเอกสารแนะนำประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการร้องเรียนและการให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ศรส.จัดตั้งขึ้นและดำเนินการเป็นการเฉพาะกิจ จากความร่วมมือของ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ภายใต้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
 

มูลนิธิกระจกเงาจี้ตั้งศูนย์แจ้งคนหาย

ด้านนายเอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ถึงกรณีที่ยังไม่มีหน่วยงานใดตั้งศูนย์รับแจ้งคนหายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางเมืองว่า น่าจะมาจากต่างฝ่ายต่างเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากรัฐบาลตั้งศูนย์รับแจ้งคนหายขึ้น และถ้าไม่มีคนแจ้งเข้ามา ก็จะเป็นการอ้างได้ว่าไม่มีคนแจ้ง แต่หากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง และมีคนแจ้งเข้ามาจะกลายเป็นว่ามีคนถูกอุ้ม หรือถูกฆ่าตายไปมากจากเหตุการณ์นี้ ดังนั้นการตั้งรับแจ้งคนหายตอนนี้ทุกอย่างล้วนถูกเกี่ยวโยงหวังผลเรื่องการเมืองทั้งหมด

นายเอกลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจะจัดตั้งศูนย์หรือหน่วยงานรับแจ้งคนหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองขึ้นมาจริงๆ ต้องมีคณะกรรมการจากภาครัฐ คนเสื้อแดง องค์กรอิสระ เข้ามาร่วมทำด้วย ให้มีข้อเสนอแนะ มีการตรวจสอบ และติดตาม ที่สำคัญการรับแจ้งคนหาย ต้องมีหลักฐานแสดง มีการแจ้งความ มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากญาติแท้ๆ ของคนนั้น เพื่อไม่เป็นการหวังผลทางการเมืองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ศอฉ. ไม่ทำศูนย์คนหายโยน พม.สานต่อ

ด้านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แจ้งว่า จนถึงขณะนี้ ศอฉ.ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งบุคคลสูญหายกรณีการสลายการชุมนุม เบื้องต้นญาติผู้สูญหายสามารถเข้าแจ้งความได้ตาม สน. และจุดบริการร่วมเพื่อแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลตั้งขึ้นรวม 7 จุดรอบแยกราชประสงค์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ ศอฉ.หารือคร่าวๆ ว่า จะขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งบุคคลสูญหาย

ปชป. เตรียมเปิดศูนย์รับให้คำปรึกษา กรณีเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมของ นปช.

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจากกรณีที่มีเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองของกลุ่มนปช. พบว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นได้ว่าวานนี้มีผู้มาลงทะเบียนนับพันราย และมีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเป็นศูนย์รับให้คำปรึกษา กรณีเรียกค่าเสียหายต่อสถานการณ์ฯ เพื่อให้คำอธิบายในการใช้สิทธิของผู้เสียหายทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 กรณี 1. กรณีของผู้เสียหายในคดีอาญา หมายความถึงในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บ แต่หลักคือผู้เสียหายในคดีอาญาเหล่านี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย จึงจะสามารถที่จะไปยื่นเรียกค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำเลยในคดีอาญาได้ที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม

“ถ้าใครเป็นผู้เสียหาย เป็นคนเสียชีวิต เป็นผู้บาดเจ็บที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ช่องทางนี้ก็สามารถที่จะไปยื่นเพื่อรับค่าตอบแทนได้จากจำเลยในคดีอาญา โดยรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอย่างชัดเจน ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544”

2. กรณีผู้เสียหายที่เกิดจากการเผาบ้าน เผาเมืองของกลุ่ม นปช. โดยสามารถใช้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องต่อศาล เป็นการใช้สิทธิ์ตามการฟ้องคดีแพ่ง เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เป็นสิทธิตามมาตรา 44/1 โดยช่องทางนี้จะเป็นประโยชน์มากเพราะผู้เสียหายในส่วนนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

3. ผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะไปฟ้องเอง ในกรณีที่หลักฐานชัดเจนว่ามีผู้ถูกจับในคดีลอบวางเพลิง ผู้เสียหายก็สามารถใช้สิทธิ์ไปฟ้องความเสียหายในคดีแพ่งได้ที่ศาล

“พรรคฯ ได้ทำการเปิดศูนย์ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ โดยจะให้คำปรึกษาและชี้ช่องให้เดินไปสู่การใช้สิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านั้น โดยสามารถเริ่มติดต่อกับศูนย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. ในเวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป ที่ พรรคประชาธิปัตย์ 02 – 270-0036 ทนายราเมศ 086 – 666 – 6792 ทนายสัญญา 085 – 163 – 6677”

ต่อกรณีที่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อการควบคุมแกนนำนปช. นั้น นายสาธิตแสดงความเห็นว่ากรณีดังกล่าวดูเหมือนมีข้อสรุปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกคำพิพากษา และขาดความเชื่อถือ ความเชื่อมั่นในหมู่พี่น้องประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และในเรื่องความเป็นกลาง ตนเห็นว่าโอกาสตรงนี้เป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ใช้โอกาสนี้ในการฟื้นวิกฤติ ศรัทธา และกู้ศักดิ์ศรีของตำรวจกลับมา โดยนับแต่นี้ต่อไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเริ่มบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม กับทุกฝ่ายอย่างรวดเร็ว โดยไม่เกรงกลัวอำนาจทางการเมือง และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การฟ้องคดี หรือสั่งไม่ฟ้อง แยกผู้บริสุทธิ์ออกมาจากสถานการณ์ให้ได้ ที่สำคัญนั้นการดำเนินการในการรวบรวมพยานหลักฐานนั้น ต้องไม่เกรงกลัวอำนาจทางการเมือง หรือกลัวว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมามีอำนาจแล้วตัวเองจะมีปัญหา เพราะถ้าคิดเพียงแค่นั้น องค์กรตำรวจก็จะถูกประชาชนมองด้วยความรู้สึกนี้ตลอดไป” นายสาธิตกล่าว

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไอเอ็นเอ็น, มติชนออนไลน์, เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอ ระดมค้นบ้าน แกนนำ นปช. กทม. - ตจว. กว่า 10 จุด

Posted: 23 May 2010 04:01 AM PDT

<!--break-->

23 พ.ค. 53 - นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวว่า ได้ลงนามคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นบ้านของเครือข่าย แกนนำ นปช.ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด กว่า 10 จุด เบื้องต้นไม่พบอาวุธ และหลักฐานสำคัญ แต่พบข้อมูลความเชื่อมโยงทางคดีเพียงเล็กน้อย และได้อายัดของใช้บางส่วนมาตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติ่ม

นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีอายัดการทำธุรกรรมทางเงินบุคคลตามคำสั่ง ศอฉ. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งของมูลย้อน หลัง 9 เดือน จากธนาคารและสถาบันการเงิน ของบุคคลตามที่ศอฉ.ประกาศ ทำธุรกรรมก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 26 พ.ค. ทั้งนี้คำสั่งระงับการทำธุรกรรมจะมีผลจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำสั่ง ส่วนกรณีบุคคลตามคำสั่ง ศอฉ.ออกมาโวยวายตนยังไม่ได้รับรายงานว่าบุคคลดังกล่าวส่งเรื่องมายัง ศอฉ.ให้เบิกถอนคำสั่งอายัดการทำธุรกรรมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามระหว่างการสอบสวนดีเอสไอจะพยายามไม่ขยายเครือข่ายผู้ที่ต้องถูกระงับการทำธุรกรรมทางการเงินแบบเหวี่ยงแห แต่จะสั่งห้ามเฉพาะรายเพื่อให้กระทบสิทธิของผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังที่ดีเอสไอนำกำลังตรวจค้น ห้องพักคอนโดมิเนียม ซ.จรัญสนิทวงศ์ 70 ของนางศิวาพร เกตุสิงห์ แล้วพบเอกสารการโอนเงิน จากประเทศดูไบ ขณะนี้ดีเอสไอกำลังขยายผลเชิงลึกว่านางศิวาพร มีความเชื่อมโยงกกับบุคคลใดบ้าง โดยตรวจสอบเครือข่ายการโทรศัพท์ และฮาร์ดดิสต์ จากคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดได้

ที่มาข่าว: คม ชัด ลึก
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น