โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

‘กมนเกด อัคฮาด’: เบื้องหน้าความตาย เบื้องหลังชีวิต พยาบาลอาสาในวัดปทุมฯ

Posted: 25 May 2010 12:53 PM PDT

<!--break-->

 
 
กมนเกด อัคฮาด ดำเนินชีวิตมาได้ 25 ปีกับอีก 1 เดือน ชื่อเล่นที่เพื่อนๆ เรียกคือเกด แต่สำหรับครอบครัวแล้วเรียกว่า “หมู” เธอมีรูปร่างอ้วนท้วมสมบูรณ์ แม่ของเธอบอกว่าสาเหตุหลักมาจากการกินแหลกนั่นเอง

เกดเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานปากกัดตีนถีบ แม่ขายข้าวแกง ก่อนจะมาขายดอกไม้ พวงมาลัย ในตลาดใกล้บ้าน พ่อเป็นลูกจ้างอยู่ที่การไฟฟ้าแห่งหนึ่ง แต่ครอบครัวของเธออบอุ่น เกดและน้องชายอีก 2 คน คนหนึ่งอายุ 18 ปี อีกคนหนึ่งอายุ 21 ปี สนิทกันมาก วิ่งไล่แกล้งกันตั้งแต่เล็กจนโต และจนกระทั่งปัจจุบัน

น้องๆ และแม่เล่าว่า เกดเป็นคนโวยวาย โผงผาง อารมณ์ดี ปากร้าย พูดจาตรงๆ แต่ใครๆ ก็รัก เพื่อนเพียบ สมัยช่วยแม่ขายของที่ตลาดใครก็รู้จักเกดกันทั้งบาง วันไหนไม่ไป น้องๆ นุ่งๆ แถวนั้นเป็นอันหมดสนุก น้องชายของเกดบอกว่า เสียงหัวเราะของเธอได้ยินไกลลั่นทุ่ง ไม่ต้องเห็นตัวก็รู้ว่าเกดมาแล้ว

อันที่จริงแม้ใครไม่เคยได้เห็นเกดตอนมีชีวิต ถ้าได้คุยกับแม่ของเกดก็พอเดาได้ว่าอารมณ์ลุยๆ ห้าวๆ นั้นเธอได้มาจากใคร ก็โบราณเขาว่าดูนางให้ดูแม่ ในขณะที่พ่อเป็นคนค่อนข้างเงียบ เรียบร้อย และดูใจเย็น

เกดเป็นคนดื้อ ดื้อมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิต สมัยเรียนมัธยม เกดมักโดดเรียนเป็นประจำเพื่อหนีไปกับเพื่อน เพื่อนก๊วนเกดเป็นอาสาสมัครปอเต๊กตึ๊ง และมักชวนกันออกตระเวนช่วยเหลือคนเจ็บคนตายด้วยกันเสมอ แม่ยืนยันเกดไม่เคยกลัวอะไร และชอบงานท้าทายที่ได้ช่วยชีวิตคนแบบนี้มาก ห้ามไม่ได้ก็เลยปล่อย เช่นเดียวกับการอาสาไปดูแลคนเสื้อแดงคราวนี้

จบจากมัธยม เรียนพาณิชย์ได้ไม่เท่าไรก็ต้องลาออกมาเรียน กศน. จากนั้นจึงไปเรียนต่อศึกษาบริบาล ระหว่างเรียนก็ฝึกงานตามโรงพยาบาล ทั้งแผนกอุบัติเหตุ จนถึงนิติเวช ก่อนจะออกมาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลการุณพิทักษ์แผนกอุบัติเหตุ แม่บอกว่าเกดมีทักษะด้านนี้ บางทีนักเรียนแพทย์ผ่าเส้นเอ็นอะไรไม่เป็นก็มาให้เกดช่วยสอน หรือแผนกแต่งศพไม่มีคนก็มาเรียกเกดเพราะเธอทำได้ทุกอย่าง

แม่เล่าว่า ครั้งหนึ่งในแผนกอุบัติเหตุที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีคนงานถูกเครื่องจักรบดนิ้ว หมอบอกว่าอาจต้องตัดนิ้วทิ้งสามสี่นิ้ว แต่เกดเห็นแล้วหวังว่ายังพอต่อได้ และคนงานไม่มีนิ้วก็เท่ากับแทบไม่เหลือโอกาสทำมาหากิน เกดจึงบอกให้คนไข้คนนั้นอดทนหน่อยเพื่อรอหมอมือฉมังที่สุดที่กำลังมาสับเวร กระทั่งหมอมาและตัดสินใจผ่าตัด ดาม ต่อให้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียนิ้ว

ทำอยู่สองสามปีจนโรงพยาบาลปิดตัวลง เกดจึงได้ออกมาช่วยแม่ค้าขาย กระทั่งได้ทำงานชั่วคราวกับญาติก่อนที่จะโดดงานอีกครั้งเพื่อไปเป็นอาสาสมัครในที่ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง แรกๆ ก็ไปหลังเลิกงาน แต่ช่วงหลังดูเหมือนเธอไปอย่างเต็มตัว และทิ้งที่บ้านไว้เบื้องหลัง เกดบอกแม่ว่าประชาชนมีคนเฒ่าคนแก่และเด็กเยอะ อยู่กันยาวๆ มีเจ็บป่วยกันแยะ แม้มีอาสาสมัครหลายคนที่มาช่วยแต่ก็ยังไม่ได้สัดส่วนกับผู้ชุมนุม

ความใฝ่ฝันของเกดต้องการไปสอบเป็นผู้ช่วยพยาบาลในกองทัพบก และประกาศเจตนาแน่วแน่กับแม่ว่า “ถ้าสอบได้ หนูจะลงใต้”  แม่รู้ดีว่ายากจะห้ามปราม แต่ก็ได้ทักท้วงให้สอบปีหน้า เพราะปีนี้คาดว่าคงลดน้ำหนักไม่ทัน  

หลังจากไปร่วมกับอาสาสมัครอื่นๆ คอยปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเต็มตัว เกดก็ไม่ค่อยรับโทรศัพท์ที่บ้านเพราะกลัวโดนตามตัวกลับ กระทั่งวันที่เธอเสียชีวิต เธอรับโทรศัพท์แม่ก่อนเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมง มันเป็นเสียงสุดท้ายที่ผู้เป็นแม่ได้ยินขณะทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคนอื่นๆ  เธอถูกยิงขณะทำหน้าที่นั้น ในชุดคลุมสัญลักษณ์หน่วยแพทย์ หมอบอกเพียงว่า เธอโดนยิง 2 นัดกระสุนทำลายสมอง ขณะที่เพื่อนๆ ที่ไปรับศพเธอคาดว่ามีมากกว่าสองนัด
 

น้องชายคนกลางเล่าว่า หลังรู้ข่าวบ้านทั้งบ้านมีแต่เสียงร้องไห้ระงม ไม่มีใครได้สติ กระทั่งแม่เริ่มยอมรับสภาพได้ และเริ่มต้นจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อลูกสาว ขณะที่พ่อยังคงไม่กินข้าวกินปลา น้องชายคนเล็กดูคลิปครอบครัวเก่าๆ แล้วร้องไห้ทั้งคืน

ความตั้งใจที่แต่เดิมจะเก็บไว้ร้อยวันเป็นอันยุติลงเนื่องจากต้องการให้คนที่บ้าน โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อพ้นจากความโศกเศร้าตรอมใจ

งานสวดอภิธรรมมีคนที่รู้ข่าวปากต่อปากหลั่งไหลมากันแน่นศาลา ส่วนงานฌาปนกิจศพของเกดจะมีขึ้นในวันนี้ เวลา 17.00 น. ที่วัดปากบึง ร่มเกล้า  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิประกาศใครได้รับความเสียหายจากการชุมนุมให้มาแจ้ง เพื่อให้ไปฟ้องศาลแทนได้

Posted: 25 May 2010 12:45 PM PDT

พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัต ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ประกาศว่า ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุม สามารถใช้สิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนได้

<!--break-->

 

เมื่อวานนี้ (25 พ.ค.) พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัต ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้เผยแพร่คำแถลง "คำแถลงของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม" มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

000

คำแถลงของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
 

ตามที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เพื่อแจ้งให้สาธารณชนทั่วไปทราบว่า หากประชาชนผู้ใด มีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก็ขอให้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการตรวจสอบในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น

บัดนี้ สถานการณ์ชุมนุมดังกล่าวได้ยุติลง และคาดหวังว่า ความสงบเรียบร้อยของสังคมกำลังก้าวกลับคืนสู่ภาวะปกติในเร็ววัน แต่อย่างไรก็ดีผลจากเหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินจำนวนมากทั้งของภาคราชการและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด นอกเหนือจากความเสียทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของชาติจำนวนมากมายมหาศาล ดังปรากฎเห็นชัดตามคำแถลงของรัฐบาล และตามที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้เสนอข่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งความเสียหายเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล รักษา  เยียวยาอย่างเหมาะสม ทั้งจากภาครัฐ และจากผู้กระทำผิดที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์และเคราะห์ร้ายเหล่านั้น ได้กลับคืนสู่สภาพเดิมมากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว อันเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   มีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 257 (4) ได้บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มีอำนาจหน้าที่ ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหาย และเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม

ดังนั้น  เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น  และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้เคราะห์ร้ายดังกล่าว  คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม  ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จึงเรียนขอแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า  ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น  สามารถใช้สิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนได้  ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต่อไป โดยขอให้แจ้งข้อเท็จจริง พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และความเสียหายที่ได้รับ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

(1) ตู้ ปณ. 123 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
(2) โทรศัพท์สายด่วน 1377
(3) จดหมายอิเล็กทรอนิคส์ (E-mail)
12march@nhrc.or.th

พลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด
ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
25 พฤษภาคม 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายถึงคุณสมเถา

Posted: 25 May 2010 12:30 PM PDT

<!--break-->

เรียน คุณสมเถา
โดย Cod [1]
เพื่อตอบจดหมายฉบับนี้ http://www.somtow.org/2010/05/open-letter-to-red-shirts.html

ผมได้มีโอกาสอ่านจดหมายของคุณ [2]  รวมถึงคำกล่าวสรรเสริญและถ้อยคำอันแสดงความเมตตาต่อกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งได้สูญเสียชีวิตไปเพียงไม่กี่วันก่อนที่คุณจะแสดงความเห็นนี้ คุณช่างน่านับถือและมีใจกรุณาเสียเหลือเกินที่ได้มอบคำสอนอันสุนทรีย์ เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าถึงที่สุดแล้วพวกเขาจะได้รับการปลดปล่อยอย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเราเป็นคนร่วมเชื้อชาติ ผมขอเรียกท่าทีแบบคุณว่า “ภารกิจของผู้มีอันจะกิน” [3]

แม้ว่ามีบางประเด็นที่เรามิได้เห็นแย้งกัน เช่นที่ว่า ผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้รับการชี้นำผิดๆ พวกเขาผิดที่ใช้ความรุนแรง วางเพลิง รวมถึงทำลายสถานที่ราชการและเอกชน แต่ในขณะที่คุณนั่งปลาบปลื้มกับตัวเองอยู่นั้น คุณจะช่วยกรุณายอมรับออกมาซักคำได้ไหมว่าส่วนใหญ่ของเลือดเนื้อที่สูญเสียมาจากผู้ที่สวมเสื้อแดง?

เกี่ยวกับอุปมา “ภูเขา” ของคุณ แม้ว่ามันจะสวยงามและจับใจ แต่คนอย่างพวกคุณนี่แหละที่ทำให้ความแตกแยกในประเทศนี้หยั่งลึกลงไปเรื่อยๆ  ตัวอย่างกรณี พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งภาคภูมิใจกับการเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ คำถามมีอยู่ว่า ตลอดระยะเวลาของการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองนี้ มีช่วงเวลาไหนบ้างที่พรรคได้มีความพยายามที่จะเข้าถึง “ผู้ไร้การศึกษา” อันเป็นประเด็นที่ทุกๆ คนกำลังไม่พอใจอยู่ในตอนนี้ คุณคาดหวังให้คนที่เพิ่งถูกว่ากล่าว ดูถูก และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หันมาตอบรับการปรองดองอย่างทันทีทันใดได้อย่างไร? คนเราจะสามารถยอมรับความคิดที่ถูกยัดเยียดให้กลืนกินลงไปได้อย่างไร คุณไม่สามารถสร้างสังคมที่สงบสุขบนพื้นฐานของความรุนแรงได้

บางทีคุณควรจะเขียนจดหมายถึงกลุ่มผู้สนับสนุนของคุณเอง กลุ่มคนที่ยึดมั่นกับทุกคำพูดของคุณ บางทีคุณควรจะแสดงให้กลุ่มคนที่สนับสนุนการสังหารหมู่คนที่ถูกเรียกขานว่าเป็นควาย ได้เห็นถึงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ปัญหาของประเทศนี้ไม่ใช่การที่ผู้ด้อยการศึกษาถูกชี้นำไปในทางที่ผิด หากแต่อยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำที่คอยแต่จะชี้นำคนเหล่านั้นอย่างผิดๆ ต่างหาก คุณจะคาดหวังถึงการปลดปล่อยและความรู้ได้อย่างไรในเมื่อสื่อสารมวลชนถูกควบคุม ข้อมูลถูกบิดเบือน และรัฐบาลมีอำนาจอย่างล้นเหลือในการที่จะสั่งให้สื่อสารมวลชนชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิดได้ตามใจ?

ผมเห็นด้วยว่า จำเป็นต้องมีกระบวนการไต่สวนที่เป็นอิสระ แต่คุณคิดว่ากระบวนการนี้จะคงความอิสระและความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน เรายังต้องรอดูกันต่อไป แต่ในฐานะนักศึกษาด้านประวัติศาสตร์ (มิใช่ทางดนตรี) ผมยังคงสงสัยและเคลือบแคลง ผมขอเตือนความจำคุณถึงคดีสังหารที่ Mahmudiyah (http://en.wikipedia.org/wiki/Mahmudiyah_killings) ซึ่ง “ชาวอเมริกัน” ถูกดำเนินคดีและได้รับการพิพากษาว่ามีความผิดในกรณีการเสียชีวิตของพลเรือนในประเทศอิรัก ยังมีประจักษ์พยานมากพอ และอีกหลายคนไม่ใช่เพียง แดน ริเวอร์ส หรือ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่เห็นว่าทหารใช้อาวุธอย่างไม่จำกัด ผมขอพูดเป็นคนแรกเลยว่า ในวันที่ 19 ได้มีการควบคุมการใช้กำลังอยู่มาก แต่ “มาก” ไม่ได้หมายถึง “เพียงพอ” เราไม่ควรจะต้องตกอยู่ในสถานะที่ขาดแคลนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเรือน ไม่มีความชอบธรรมในการใช้อาวุธร้ายแรงใดๆ ทั้งสิ้น

สุดท้ายนี้ เพื่อที่จะให้ประเทศนี้เดินหน้าต่อไป กฎเกณฑ์ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับการเคารพ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ถือได้ว่าถูกต้องตามกฎหมายตามนัยของกฎหมาย แต่เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามาถึงและแน่นอนว่าชัยชนะจะเป็นของฝ่ายตรงข้าม คุณจะรับประกันอย่างบริสุทธิ์ใจได้ไหมว่า พวกตัวตลกกลุ่มเดิม (มิใช่กลุ่มผู้ก่อการร้าย) ผู้ซึ่งทำการปิดสนามบิน จะไม่ออกมากล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลตัวแทน ฯลฯ ถ้าคุณสามารถทำได้อย่างนั้น ผมก็จะกัดฟันยอมจับมือกับคุณ แต่ถ้าไม่มีการไต่สวนที่เป็นอิสระและไม่มีการรับประกันว่าผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รับการเคารพ การปรองดองก็ย่อมจะเป็นหนทางอันยากลำบากอย่างแน่นอน

ด้วยความนับถือ
Cod Satrusayang
 

หมายเหตุ
[1] ที่มา http://codsbeenhere.com/Cod/?p=89
[2] ฉบับภาษาไทย http://www.somtow.org/2010/05/blog-post.html
[3] หมายเหตุผู้แปล: ล้อเลียนวลี “ภารกิจของคนขาว” (“The White Man’s Burden” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความชอบธรรมให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมโดยอ้างคุณธรรมในการเข้าครอบครองดินแดนอาณานิคม ดู  http://en.wikipedia.org/wiki/The_White_Man's_Burden)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลายกลุ่มร้องรัฐฯ จัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงทางการเมือง

Posted: 25 May 2010 12:11 PM PDT

สมชาย หอมละออ นำหลายเครือข่ายร้องรัฐ ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หวั่นถ้าปรองดองไม่จริง จะสร้างกระแสความหวาดผวา คับแค้น โกรธเกลียดในหมู่ประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช. ด้าน "หมอตุลย์" ลงชื่อด้วย

<!--break-->

หลายองค์กรนำโดยนายสมชาย หอมละออ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง โดยมีรายละเอียดแนบท้ายนี้

000

 

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาสังคม, เครือข่ายเยาวชน, เครือข่ายธุรกิจ และเครือข่ายชุมชน
เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้ง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง

จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ได้กลายเป็นความรุนแรงทางการเมือง จนมีผู้เสียชีวิตรวม 88 ราย บาดเจ็บ 1,885 ราย (ตามตัวเลขล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข) และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก รวมทั้งมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการประกอบอาชีพและรายได้จากความรุนแรงดังกล่าว

แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะคลี่ คลายลง แต่ในความเป็นจริงความแตกแยกภาย ในสังคมยังมิได้ยุติลง เนื่องด้วยความระแวงและความโกรธแค้นเกลียดชังยังคงดำรงอยู่ และมีโอกาสอย่างมากที่จะนำไปสู่การทำลายล้างกันด้วยความรุนแรงทั้งในที่ลับและในที่แจ้งอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป เพราะความเข้าใจต่อเหตุการณ์ความ รุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการอธิบายเหตุแห่งความรุนแรงและการขยายผลความรุนแรงของคู่กรณีที่ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อลดทอนหรือทำลายความความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงกันข้าม และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตนเอง

ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงเห็นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ในการพิสูจน์ความ จริงให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย กระบวนการพิสูจน์ความจริงของ เหตุการณ์ความรุนแรงในครั้ง นี้ที่มีมาตรฐานและเป็นที่ ยอมรับร่วมกันทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก อันเป็นหนทางหนึ่งในการจัดการกับความจริง เพื่อสร้างความเข้าใจความจริงร่วมกันของสังคมไทย

การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระต้อง มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1.คณะกรรมการอิสระ ควรประกอบด้วยบุคคลจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม และต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงความรุนแรงทางการเมือง

2.คณะกรรมการอิสระ ต้องสืบค้นแสวงหา ความถูกต้อง ทั้งทางนิติรัฐ ทางคุณธรรม จริยธรรมในการปกครอง เพื่อที่จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทุกปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เป็นปฏิบัติการที่มีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่

3.คณะกรรมการอิสระต้องมีอำนาจใน การเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทุกระดับชั้น ผู้ชุมนุมสื่อมวลชน และประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์มาให้ข้อเท็จจริง

4.คณะกรรมการอิสระต้องนำผลการตรวจ สอบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งสาเหตุการบาดเจ็บและเสีย ชีวิต จากแพทย์ผู้เกี่ยวข้องเปิดเผยต่อ สาธารณะเป็นระยะ

5.คณะกรรมการอิสระต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อความโปร่งใส ในจังหวะและเวลาอันควร

6.คณะกรรมการอิสระต้องมีมาตรการ ปกป้องคุ้มครองพยานผู้มาให้ถ้อยคำทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด

7.รัฐบาลต้องนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระ เพื่อดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองโดยเน้นการสร้างความยุติธรรมลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความ รุนแรง และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น ในชาติ

8.รัฐบาลต้องสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณให้เพียงพอกับ การทำหน้าที่เป็นอิสระของคณะกรรมการอิสระ

9.รัฐบาลจะต้องแยกแยะคดีการเมือง กับคดีอาชญากรรม รวมทั้งแยกแยะความหนักเบาของคดีตามข้อเท็จจริง ระหว่าง (1) คดีก่อการร้าย ก่อจลาจล ครอบครองอาวุธ การวางเพลิง กับ (2) การเข้าร่วมชุมนุมในสถานการณ์ฉุก เฉิน และ การฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ออกจากกัน กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องแยกแยะระหว่าง (1) ผู้ที่ก่อเหตุด้วยอารมณ์โกรธแค้น เฉพาะหน้า กับ (2) ผู้ที่จงใจวางแผนก่อเหตุวินาศกรรมและมีเจตนาใช้ความรุนแรง เพราะหากไม่คำนึงถึงหลักเมตตาธรรม มีการออกหมายจับคนจำนวนมากโดยไม่แยกแยะระหว่างผู้ตั้งใจก่ออาชญากรรม กับ ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง การไปสู่ความปรองดองดังที่นายกรัฐมนตรีต้องการก็จะไม่สามารถปรากฏเป็นจริงได้ ในทางกลับกันมีแต่จะสร้างกระแสความหวาดผวา คับแค้น โกรธเกลียดในหมู่ประชาชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช.ซึ่งมีอีกเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรทำให้การเยียวยาอย่าง เป็นธรรมและทั่วถึงแก่ทุก ฝ่าย ทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ บุคคลอื่นๆผู้ได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงความจริงใจและพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลมีความเป็นกลางหรือเป็นรัฐบาลของทุกคนในชาติมิได้แบ่งแยก เพื่อลดอคติของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้บรรเทาเบาบางลง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาลงนาม

ด้วยความเคารพอย่างสูง
นายสมชาย หอมลออ
นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน
และภาคีเครือข่ายผู้ร่วมลงนาม

รายชื่อบุคคลและองค์กรผู้ร่วมลงนามแถลงการณ์

ก. องค์กร
1. มูลนิธิชุมชนไท นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิ
2. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
3. เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว นายนิธิกาญจน์ รัตนสิทธิ์
4. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสื่อเพื่อ เด็ก ภาคเหนือ นายวรรณพร เพชรประดับ
5. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสื่อเพื่อ เด็ก ภาคอีสาน นายอัมพร วาภพ
6. ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสื่อเพื่อ เด็ก ภาคตะวันออก นายณัฐพงษ์ ศุขศิริ
7. ขบวนการตาสับปะรด นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ
8. สภาเครือข่ายครูอีสาน นายกฤษดา มังคะตา
9. เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัด สงขลา นายชาคริต โภชะเรือง
10. มูลนิธิชุมชนสงขลา นายชิต สง่ากุลพงศ์
11. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่ทิ้งประเทศ ชาติ นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร
12. กลุ่มแนวร่วมนักเรียนนักศึกษา ไทยในประเทศและต่างแดน World Thai Students Alliance (WTSA)
13. เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม (SVN) นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง
14. กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง

ข.บุคคล
1. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ศูนย์สันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า
2. นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร เลขาธิการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
3. นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
4. นายเชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
5. นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล (วุฒิสภา)
6. นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อดีตกรรมการสมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย
7. น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8. ดร.ไสว บุญมา
9. นายไมตรี จังไทรจักร์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
10. นายธนธรณ์ ธำรงเจริญกุล รองประธานกลุ่มปลาดาว สมาชิกเครือข่ายเยาวชนโลก
11. นายชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
12. นายพงศ์พร สุดบรรทัด เครือข่ายพลเมืองเปลี่ยนกรุงเทพ
13. นายวีรวัฒน์ สุขุมาลชาติสมบัติ สมาชิกสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร
14. นายประเสริฐ เหลืองเจริญกุล กลุ่มเสียงไทย ผู้ผลิตรายการวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัวfm105
15. นาย ทศพล แก้วจันทิมา ประธานเครือข่ายสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ราชบุรี
16. นางรุจิรา ทองแสนช่าง เครือข่ายคนบ้านโป่งรักชาติ จังหวัดราชบุรี
17. นายบุญส่ง ณรงค์ สมัชชาประชาธิปไตย จังหวัดราชบุรี
18. ผู้ใหญ่สงัด คงสุวรรณ ผู้ประสานงานคนราชบุรีรักชาติ
19. นางสาวง่ายงาม ประจวบวัน ประธานกลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี
20. นายภานุวิท พราหมสำราญ สินเชื่อเขตประจวบคีรีขันธ์ ธนาคารกรุงไทย
21. นายวิเชียร เจษฎากานต์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
22. นางสาวพรรณชนก วณิชแสงโสภณ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
23. นายสุธัมมะ ธรรมศักดิ์
24. นายสมเกียรติ ภู่ธรรมศิริ ประชาคม จ.สระแก้ว
25. น.ส.ทิพรัตน์ ธิรินทอง
26. นางแน่งน้อย สุทธิพงศ์เกียรติ์
27. นายอิศราวุฒิ ล้ำเลิศกิจ
28. นายบรรพต ศิริณัฏสมบูรณ์
29. นายชเนษฎ์ ศรีสุโข นักศึกษาแพทย์
30. นางสาวบุญทวี เทียมวัน
31. นายอัธกฤตย์ เทพมงคล นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย NUS สิงคโปร์
32. นายคณิน หงษ์สมาทิพย์ นิสิตเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่4
33. นาย ศุภณัฐ จิตรรัตนพงษ์
34. นายจิรานุวัฒน์ สวัสดิ์นะที Ph.D., Mainland China studies, National Sun Yat-Sen University, Taiwan.
35. นายณัฐพล จงธนพิพัฒน์ นักศึกษาปริญญาโท เศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
36. นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์
37. นาย ณัฐดนัย เอี่ยมวัฒนเสรี นิสิตปริญญาโทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
38. นางสาวอรุชิตา อุตมโภคิน
39. นายพัชรวีร์ พรหมวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
40. นายชนวิท ธัมมะอาสา
41. น.อ.ประจักษ์ วังกานนท์ ร.น. เลขาธิการชมรมสีเขียว
42. นายจิรายุ เเสงเล็ก ผู้ดำเนินรายการส้วมการเมือง FM 98.25
43. นายศตวรรษ อินทรายุธ ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา
44. นายศุถฤกษ์ เอมโอช ผู้ประสานงานกลุ่มกล้าธรรมม์
45. นางสาวอภิรดา มีเดช กองบรรณาธิการ นิตยสาร way
46. นางสาวคีรีบูน วงษ์ชื่น เลขานุการ กองบรรณาธิการ นิตยสาร way
47. นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ กองบรรณาธิการ วารสารกฎหมายใหม่
48. นางสาวกฤติยา ทองมโนกูร นักศึกษา
49. นายอิศราวุฒิ ล้ำเลิศกิจ
50. นายเสฏฐพงศ์ ภาคเสมา
51. น.ส.ธัญญลักษณ์ วินะยานุวัติคุณ
52. นายมงคล สาระคำ โครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์
53. นายณภัสกรณ์ ลักขณาศิริกุล
54. นายจิราพัชร นิลแย้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
55. ผศ.ดร.นัฐพงษ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
56. นางสาวคะนึงนิจ มากชูชิต เครือข่ายชุมชนศรัทธาจังหวัดชายแดนใต้
57. นายภควินท์ แสงคง เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย
58. นายสุพัฒน์ นุ่นขาว เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
59. นายศักดา พรรณรังสี เครือข่ายชุมนุมจังหวัดพังงา
60. นายสุรศักดิ์ อินทรประสิทธิ์ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ เขตจตุจักร
61. นางพรรณี มานหมัด เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ เขตคลองสามวา
62. นายเรืองศักดิ์ เจริญผล เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนปฏิรูปการศึกษา
63. นายอำนวย วรญาณกุล

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

54 ส.ว.ยื่นญัตติ จี้ "รัฐบาล" แจง 10 ข้อ กรณีสลายคนเสื้อแดงแถมเลี่ยงเจรจา

Posted: 25 May 2010 10:45 AM PDT

สมาชิกวุฒิสภา 54 คน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้รัฐบาลชี้แจง 10 ประเด็นกรณีข้อเท็จจริงกรณีการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พร้อมตั้งประเด็นทำไมรัฐบาลจึงเลี่ยงแนวทางเจรจาตามที่ ส.ว. เสนอ

<!--break-->

เมื่อ 25 พ.ค. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 54 คนได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลชี้แจง 10 ประเด็นกรณีข้อเท็จจริงกรณีการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนมีมีประชาชนบาดเจ็บ เสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายจาก การจลาจลจำนวนมาก มีรายละเอียดดังนี้

จากปัญหาการชุมนุมในกรุงเทพโดยคนเสื้อแดงที่เข้ามาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเลือกตั้งทั่วไป โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลได้อำนาจมาโดยไม่ชอบ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการใช้กำลังทหารเข้าสลาย การชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนทั้ง ที่เป็นผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าว พนักงานพยาบาล และกู้ชีพ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้อง เสียชีวิตหลายสิบคน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของราชการและเอกชน จากการลอบวางเพลิงหลังจากที่รัฐบาลเข้าสลายการชุมนุม อันส่งผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์ สินดังกล่าวหลายหมื่นล้านบาท และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอีก นับแสนล้านบาท นั้น

ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม จึงขอใช้สิทธิเข้าชื่อยื่น ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลได้อำนาจมาโดยไม่ชอบอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

2. การสลายการชุมนุมบริเวณราชประสงค์ รัฐบาลได้ใช้วิธีการใดจึงทำให้มีคนถูกยิงตายหลายสิบคนและบาด เจ็บจำนวนมาก

3. ความสูญเสียในทรัพย์สินของเอกชนซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเข้าสลายการชุมนุมนั้น รัฐบาลจะชดใช้เงินหรือทรัพย์สินให้เอกชนอย่างไรบ้าง

4. คนที่ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร

5. ทำไมรัฐบาลจึงหลีกเลี่ยงแนวทางที่สมาชิกวุฒิสภากว่า 60 คนเสนอด้วยการให้มีการเจรจาแทนการเข้าสลายการชุมุนม รัฐบาลเล็งเห็นผลหรือไม่ว่าจะมีการบาดเจ็บและตาย รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการลอบวางเพลิงเผาทรัพย์

6. รัฐบาลใช้แผนการใดในการเข้าสลายการชุมุนม มีการใช้กองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานใด ใช้งบประมาณในการดำเนินการไปเท่าใด

7. รัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบในทาง การเมืองต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างไร และในทางกฎหมายจะดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลในทางใดบ้าง

8. การชุมนุมดังกล่าวเกิดความสูญเสียต่อสื่อมวลชนในวงกว้าง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล และใช้สื่อที่เข้าข้างรัฐบาลออ กมาให้ข้อมูลที่บิดเบือนข่าว สาร รัฐบาลจะชี้แจงอย่างไร และจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาการปิดกั้นสื่ออย่างไร

9. กรณีที่เกิดขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วยหรือไม่ และจะร่วมรับผิดชอบต่อความรู้สึกและความสูญเสียจำนวนมากของประชาชนอย่างไร

10. ปัญหาและข้อเท็จจริงอื่น (ถ้ามี)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวอินโดนีเซียประท้วงหน้าสถานทูตไทย - ชาวออสเตรเลียถูกจับหลังปราศรัยเวทีเสื้อแดง

Posted: 25 May 2010 10:18 AM PDT

ชาวอินโดนีเซียชุมนุมประณามรัฐบาลไทยใช้ทหารสลายการชุมนุม ประณามลัทธิทหารนิยม เรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่ แดงฝรั่งเศสชุมนุมด้วย ด้านสื่อออสเตรเลียรายงานมีพลเมืองถูกจับหลังปราศรัยเวทีคนเสื้อแดงแยกราชประสงค์ โดยถูกตั้งข้อหาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

<!--break-->

ชาวออสเตรเลียถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง
นสพ. The Age ของออสเตรเลีย รายงานเมื่อ 26 พ.ค. ว่า คอเนอร์ เดวิด เพอร์เซลล์ (Conor David Purcell) ชาวเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ถูกจับกุมในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และยุยงให้เกิดความรุนแรง ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 2 ปี

เพอร์เซลล์ บอกว่าเขาน่าจะถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ แต่ปฏิเสธว่าสิ่งที่เขาพูดกับกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่การยุยงให้เกิดความรุนแรง โดยเพอร์เซลล์ถูกตำรวจติดอาวุธ 6 รายเข้าจับกุม โดยเขายอมให้ควบคุมตัวอย่างสงบไม่มีการขัดขืนใดๆ

เพอร์เซลล์บอกว่า เขายังรู้สึกปลอดภัย เขามีเพื่อนและคนที่สื่อสารกันได้ แต่เขาปฏิเสธไม่ใส่ชุดนักโทษทั่วไปและไม่ยอมรับการปฏิบัติแบบนักโทษ ทั่วไปเนื่องจากเขาเป็นนักโทษทางการเมือง

ก่อนหน้านี้หลังการสลายการชุมนุม 10 เม.ย. นายเพอร์เซลล์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมแยกราชประสงค์ ซึ่งเขาพูดเป็นภาษาอังกฤษและมีนพ.เหวง โตจิราการ เป็นผู้แปลข้อความ เขากล่าวในการปราศรัยว่ารัฐบาลไทยกำลังทำให้ประชาชนหวาดกลัว รัฐบาลสั่งให้คนในเครื่องแบบสังหารประชาชนคนไทยด้วยกัน และสิ่งนี้จะยังคงติดอยู่ในสำนึกของพวกเขาไปตลอดชีวิต และบอกอีกว่าไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการสังหารหมู่ในครั้งนี้ก็ขอให้ ผู้ชุมนุมตั้งอยู่ในกฏระเบียบ

ประชาชนอินโดนีเซียประท้วงหน้าสถานทูตไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อ 25 พ.ค. ประชาชนชาวอินโดนีเซียหลายองค์กรนำโดยสมาคมแรงงาน PRP ได้จัดชุมนุมหน้าสถานทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประท้วงรัฐบาลไทยและกองทัพ ที่สั่งการให้ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ผู้ประท้วงยังประณามการขยายตัวของลัทธิทหารนิยม (militarism) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรียกร้องให้ไทยรีบจัดการเลือกตั้งด้วย

สำหรับองค์กรแรงงาน กลุ่มนักศึกษา และพรรคการเมืองที่ร่วมจัดการชุมนุมครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมแรงงาน (Working People Association - PRP) พรรคประชาธิปไตยประชาชน (People’s Democratic Party - PRD) สมาพันธ์พันธมิตรสหภาพแรงงานอินโดนีเซีย (Confederation Congress of Indonesia Union Alliance - Konfederasi KASBI) แนวร่วมแห่งชาติอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ของแรงงาน (Indonesian Nasional Front for Labour Struggle - FNPBI) สันนิบาตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (National Student League for Democracy - LMND) สหภาพคนจนอินโดนีเซีย (Indonesian Poor People Union - SRMI) สมาพันธ์คนงานเขตหมู่เกาะ (Confederation of Nusantara Syndicalist - KSN)  คณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย (Student Committee of University of Indonesia - KM-UI)

นอกจากนี้เมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา คนเสื้อแดงฝรั่งเศส ได้ชุมนุมกันที่หน้าหอไอเฟล กรุงปารีส ประท้วงการสลายการชุมนุมของรัฐบาลไทยด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก: Australian jailed over red-shirt protest , Ben Doherty, The Age, 26 May 2010, http://www.theage.com.au/national/australian-jailed-over-redshirt-protest-20100525-wb1r.html
และ http://picasaweb.google.com/prp.internasional/DemocracyAndHumanityForThePeopleOfThailand

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐมนตรีวัฒนธรรมจำชื่อหนัง "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ไม่ได้

Posted: 25 May 2010 10:06 AM PDT

นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม ยินดีด้วยกับ "อภิชาติพงศ์" คว้ารางวัลเมืองคานส์ แต่จำชื่อหนังไม่ได้พร้อมตั้งชื่อให้ใหม่เป็น "ลุงบุญมีกลับชาติมาเกิด"

<!--break-->

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (25 พ.ค.) นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมขอแสดงความยินดีกับ นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่คว้ารางวัลสูงสุดได้จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก จากการที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้พบว่า ภาพยนตร์เรื่องลุงบุญมีกลับชาติมาเกิด ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งภาพโปสเตอร์จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของภาพในโบรชัวร์โฆษณาของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย

การได้รับรางวัลของนายอภิชาติพงศ์ นับว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า จุดด้อยของภาพยนตร์แนวนอกกระแสหรือแนวอินดี้ มักจะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทำเงิน มักจะได้แต่รางวัล อย่างไรก็แล้วแต่กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมจะสนับสนุนในการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ในประเทศ และในเร็วๆนี้จะมีการจัดแถลงข่าวแสดงความยินดีอีกครั้ง

สำหรับชื่อภาพยนต์ของนายอภิชาติพงศ์ ที่ได้รางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ในงานเทศกาลภาพยนต์นานาชาิติที่เมืองคานส์ คือ "ลุงบุญมีระลึกชาติ" (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) แต่นายธีระจำผิด และเรียกว่า "ลุงบุญมีกลับชาติมาเกิด"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.อ้างเหตุปลุกระดม ปิดแล้ว 1,150 เว็บ

Posted: 25 May 2010 08:32 AM PDT

ศอฉ.ปิดแล้ว 1,150 เว็บ จากสัปดาห์ก่อน 770 เว็บ ยันบางเว็บไม่ได้ปิดตามคำสั่ง ศอฉ. แต่เกิดจากมีผู้ใช้งานมากจึงเข้าไม่ได้เตรียมสั่งไอเอสพีอย่าลิ้งมาที่ ศอฉ. เพราะจะทำให้เข้าใจผิดว่า ศอฉ. สั่งปิด

<!--break-->

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้น ศอฉ. มีคำสั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายปลุกระดมและปิดแล้ว 1,150 เว็บไซต์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีเพียง 770 เว็บไซต์

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สาเหตุที่เว็บปลุกระดมเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อทางอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่าช่องทางอื่น อีกทั้ง ยังมีปัญหาจากการที่ปิด เพราะจะมีพวกที่ยุยงปลุกปั่นให้โจมตีรัฐบาลหรือให้ออกมาสู้กันต่อ ส่วนการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน นั้นรัฐบาลคงต้องพิจารณาอีกครั้ง ยังคงมีระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนี้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลประเมินสถานการณ์ก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงยังไม่กล้ายกเลิกตรงนี้ต้องดูกันไปก่อน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ศอฉ.ยังมีคณะกรรมการดูแล ตวจสอบเว็บอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็มีบางเว็บที่เข้าไม่ได้ และมีประกาศพื้นที่สีขาวตัวอักษรสีแดงขึ้นว่าเป็นคำสั่งปิดของศอฉ.นั้น ความจริงไม่ได้เป็นคำสั่งของศอฉ. แต่น่าจะมามากมีผู้ใช้งานจำนวนมากจึงเข้าไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสั่งไปยังไอเอสพีว่าอย่าให้ลิงค์มาจุดนี้ เพราะจะเกิดความเข้าใจผิดว่า ศอฉ.เป็นผู้สั่งการปิด เช่น เว็บทวิตเตอร์ ถ้ามีคนใช้จำนวนมากก็จะเข้าไม่ได้ แล้วลิงค์มาว่าเป็นคำสั่งปิดของศอฉ. เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบและแก้ไข นอกจากนี้ ยังยอมรับว่าช่วงนี้ ศอฉ.ดำเนินการ เพราะคนส่วนใหญ่หันมาใช้อินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการรับมือ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่ม อ.จุฬาฯ จี้ปล่อยตัว "สุธาชัย" ชี้จับไม่มีหลักฐาน

Posted: 25 May 2010 01:40 AM PDT

คณาจารย์จากจุฬาฯ แถลงข่าวเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" ระบุ ตร. ไม่มีและไม่เคยแสดงหลักฐานตามข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาและสาธารณะ นับเป็นการคุกคามเสรีภาพบุคคล เตือนใช้อำนาจไม่แยกแยะ ไม่อาจสร้างความปรองดองได้

<!--break-->

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามหมายจับในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11(1) และนำตัวไปควบคุมที่ศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร จ.สระบุรี เมื่อวานนี้

ล่าสุด วันนี้ (25 พ.ค.) กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย อาทิ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์, สุวิมล รุ่งเจริญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์, สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีฯ, นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าว ที่ห้องประชุมเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีฉลองเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ทั้งนี้ระบุว่า ไม่ใช่การกระทำในนามของจุฬาฯ แต่เป็นในนาม "กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย"

โดยกลุ่มคณาจารย์ฯ แสดงความกังวลต่อการใช้ข้อหาดังกล่าวในการออกหมายจับและควบคุมตัวนายสุธาชัย 2 ประการ คือ หนึ่ง แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจดำเนินการตามพระราชกำหนด แต่ก็เป็นที่ปรากฎชัดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่มีและไม่เคยเปิดเผยหลักฐานชัดเจนหนักแน่นใดๆ อันเป็นองค์ประกอบของฐานความผิดดังกล่าว ให้ผู้ถูกกล่าวหาและสาธารณชนได้รับรู้ นับเป็นการลิดรอนคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะในกรณีของนายสุธาชัยยังเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอีกด้วย

สอง แม้การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.จะเป็นไปเพื่อระงับสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของบ้านเมือง และนำสังคมไทยกลับสู่สภาวะปกติ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวอย่างครอบคลุมไม่แยกแยะ ปราศจากหลักฐานความผิดที่หนักแน่นชัดเจน ทั้งในกรณีของนายสุธาชัยและกรณีอื่นๆ มิอาจสร้างสังคมแห่งการปรองดองสมานฉันท์ดังที่รัฐบาลและ ศอฉ. มุ่งหวัง และยังอาจเพิ่มความหวาดระแวง ความกลัว ความเกลียดชัง และความโกรธแค้นในสังคมไทยให้ขยายตัว ทวีความเข้มข้นแหลมคมมากขึ้น อันยืนยันได้จากประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองของไทยเองในช่วงทศวรรษ 2500-2520

ทั้งนี้ คณาจารย์และนักวิชาการผู้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพของนายสุธาชัยเห็นว่า ทั้งในกรณีของนายสุธาชัยและกรณีอื่นๆ ที่ไม่ปรากฎหลักฐานชัดแจ้ง สมควรที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปล่อยตัวคืนเสรีภาพให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยเร็ว

จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่อละเมิดสิทธิเกินขอบเขต
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงรัฐบาลและ ศอฉ. ให้เร่งพิจารณายกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งล่อแหลมต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินขอบเขต เพื่อให้การจัดการต่อผู้กระทำผิดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นวลน้อย ตรีรัตน์ ระบุว่า เมื่อสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว หากจะประเทศกลับไปสู่ความสมานฉันท์โดยเร็ว ก็จะต้องยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว หรือหากจะมีการใช้ต่อก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า การอ้างอิงอำนาจที่มีลักษณะกว้างขวางและมีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะครอบจักรวาล ทั้งที่บริบทคลี่คลายแล้ว เป็นการกระทำที่สวนทางกับเจตจำนงที่จะสร้างบรรยากาศปรองดองในสังคม ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ ต้องเปิดพื้นที่ให้สังคมได้พูดเรื่องที่เดือดร้อน เรื่องที่เป็นปัญหา

สุริชัย กล่าวว่า นายกฯ จะรู้หรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่สำคัญก็คือ การปิดพื้นที่ กดดันให้คนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางวิชาการปกติไปใช้พื้นที่ลับๆ ไม่เป็นการดีเลยกับอนาคตที่จะสร้างความหวังร่วมกัน

ด้านนฤมล ทับจุมพล กล่าวเสริมว่า นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ในกรณีนายสุธาชัยยังมีเหตุผลส่วนตัวคือ บิดาของภรรยาของนายสุธาชัยเพิ่งเสียชีวิต หากคุมตัวนายสุธาชัยไว้ถึง 7 วัน พิธีกรรมต่างๆ ก็คงจะเสร็จสิ้นพอดี

"นอกจากข้อกล่าวหาไม่ชัดเจนแล้ว ต้องคำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวอย่างไร จึงอยากวิงวอน ศอฉ.และตำรวจ ให้พิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว" นฤมลกล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โจทย์ที่ “ทีวีไทย” ต้องตอบ

Posted: 25 May 2010 01:02 AM PDT

<!--break-->

“ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” (หรือ Thai PBS เดิม) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็น “ฟรีทีวีทางเลือก” ของประชาชน นอกเหนือจากฟรีทีวีหลักๆ ที่มีอยู่ และที่มีกันอยู่ไม่กี่ช่องนั้นก็มีรูปแบบรายการซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ปัญญาอ่อน ละครน้ำเน่า รายการเล่าข่าวที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน หรือมีสำนักข่าวเดียวกันส่งคนของตัวเองเข้าไปจัดรายการคล้ายๆ กันในหลายช่อง

ฉะนั้น ทีวีไทยจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็น “ทางเลือก” ที่แตกต่างแก่ประชาชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนในการบริหารจัดการ

วัตถุประสงค์ของทีวีไทยมีทั้งหมด 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือเพื่อ “ส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ในการสร้างสังคมระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรม มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ”

แต่ถามว่า ทีวีไทยต่างจากฟรีทีวีช่องอื่นๆ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหาจริงหรือไม่? หรือเติมเต็มในส่วนที่สังคมยังขาดอยู่เพียงใด? เกี่ยวกับการจัดทำรายการข่าว รายการวิเคราะห์ข่าว รายการข่าวแบบเจาะลึก รายการสนทนา/ถกเถียงเชิงวิเคราะห์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจการเมือง หรือรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาของคนชั้นล่าง คนชายขอบ หรือคนส่วนใหญ่ของสังคมแต่พวกเขาแทบไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยในการ “ส่งเสียง” ผ่านสื่อ และการกำหนดประเด็นสาธารณะต่างๆ

ในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระยะใกล้นี้ การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงตั้งแต่ 14 มีนาคมถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา การรายงานข่าวของทีวีไทยแทบไม่ต่างจาก “ช่องหอยม่วง” มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอข่าวของฟากรัฐบาล คนที่ดูทีวีไทยจะได้รับทราบคำแถลงของนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ ศอฉ. เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่าคำแถลง และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำ นปช.

แม้แต่การรายงานข่าวภาคสนาม มีการนำเสนอภาพการไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเสื้อแดงจากภาคอีสานที่มาร่วมชุมนุมที่พูดเหมือนท่องจำคำพูดของแกนนำ นำภาพเดิมๆ นั้นมาออกอากาศซ้ำๆ แล้วก็สรุปเหมือนที่รัฐบาลสรุปว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งมาชุมนุมเพราะมีปัญหาความยากจน ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา คนเหล่านี้ควรได้รับความเห็นใจจากสังคม และรัฐบาล

แต่ไม่มีการทำข่าวแบบเจาะลึกเพื่ออธิบายให้เห็นพัฒนาการทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณของมวลชนเสื้อแดง โดยลงพื้นที่ไปยังภาคเหนือ ภาคอิสาน เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าคนเสื้อแดงในภาคเหนือ ภาคอิสานเขามีความคิดทางการเมืองอย่างไร ทำไมคนชนบทหลายหมู่บ้านเขาจึงจัดผ้าป่าบริจาคเงิน ข้าวสารอาหารแห้งสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงในหมู่บ้านให้มาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ (น้าของผมอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู อายุ 50 กว่าปีแล้ว แต่ก่อนผมไม่เคยเห็นแกพูดคุยเรื่องการเมืองเลย คราวนี้แกจัดผ้าป่าถึง 3 ครั้งสนับสนุนคนเสื้อแดง)

มีโจทย์หลายโจทย์ที่ทีวีไทยซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชน น่าจะต้องหาคำตอบ เช่น

1. คนเสื้อแดงโดยเฉพาะคนชนบท คนชั้นล่างในสังคมเมือง พวกเขามี “ความคิดทางการเมือง” อย่างไร จริงหรือไม่ที่ว่าพวกเขามาชุมนุม ถ้าไม่มาเพราะรักทักษิณ ก็มาเพราะถูกจ้าง หรือเพราะมีปัญหาความยากจน พวกเขาไม่มีความคิดทางการเมืองของตัวเอง หรือมี “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของตัวเองเลยหรือ? คนไม่มีอุดมการณ์เลยทำไมจึงกล้าเผชิญหน้ากับการล้อมปราบของกองกำลังทหารอย่างไม่กลัวความตาย? ทำไมพวกเขาจึงร้องไห้ โกรธ ผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อเห็นแกนนำประกาศให้ยุติการชุมนุม?

2. สมมติว่าพวกเขารักทักษิณ รับเงินทักษิณมาต่อสู้เพื่อทักษิณ แทนที่ทีวีไทยจะทำเสมือนยอมรับคำอธิบายของฟากเสื้อเหลือง หรือคนชั้นกลางในเมืองว่า นั่นเป็นความโง่ของชาวบ้าน นั่นเป็นความผิดของชาวบ้าน เพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง ฯลฯ

ทีวีไทยน่าจะแสวงหาเหตุผลหรือคำอธิบายจากชาวบ้านว่า ทำไมเขารักทักษิณ เขามีความต้องการ ความคาดหวังทางการเมืองอย่างไรในการต่อสู้เพื่อช่วยทักษิณ และ “ทำไมการต่อสู้เพื่อช่วยทักษิณจึงไปด้วยกันไม่ได้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย?”

แต่จะเห็นว่า ในกรณีนี้ทีวีไทยก็ทำได้แค่อธิบายคนเสื้อแดงตาม “มุมมองแบบคนชั้นกลางในเมือง” (ซึ่งเป็นมุมมองของคนที่อ่านน้อย ขี้เกียจหาข้อมูลเชิงลึกและรอบด้าน เอาแต่ตัดสินคนอื่นไปทั่ว โดยไม่ใช้ความรู้ ข้อมูล และสติปัญญาอย่างรอบคอบ) ฉะนั้น ภาพของคนเสื้อแดงที่เสนอผ่านทีวีไทย ก็ไม่ต่างมากนักกับที่เสนอผ่าน “ช่องหอยม่วง” และสื่อตัวแทนคนชั้นกลางในเมืองทั่วๆ ไป

3. หลังจากเปลวเพลิงที่ราชประสงค์ดับมอดลง ทีวีไทยก็ทำหน้าที่เหมือนกับฟรีทีวีช่องอื่นๆ คือรายงานความเห็นของฟากรัฐบาล และคนกรุงเทพฯโดยทั่วไป และที่ได้รับผลกระทบ กับแนวทางการเยียวยาของรัฐบาลต่อกลุ่มธุรกิจและผู้ที่ประสบความเสียหาย

แต่ไม่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับชะตากรรมของคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บและเสียชีวิตว่า พวกเขาได้รับการเยียวยาอย่างไร ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร คนเหล่านั้นเขาคิดอย่างไร คิดจะทำอะไรต่อไปหลังจากต้องพกพาความพ่ายแพ้กลับบ้านในชนบท

4. ทำไมทีวีไทยจึงไม่ “ซีเรียส” กับการตอบโจทย์สำคัญ เช่น รัฐบาลที่ใช้กองกำลังทหารแก้ปัญหาการเมือง จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากขนาดนี้ ยังมี “ความชอบธรรม” ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่?

5. เรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” ทีวีไทยก็ไม่ได้เจาะลึก เพียงแค่รายงานข่าวตามที่ ศอฉ.แถลงเท่านั้น ไม่ค้นหาความจริงว่าในผังขบวนการล้มเจ้านั้นใครตัวจริง ใครตัวปลอม ตัวจริงอย่าง อาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ ที่ประกาศว่า “ผมไม่เอาเจ้า แล้วไง?” ทีวีไทยก็ไม่มีความกล้าหาญพอจะไปทำข่าวให้สาธารณะรับรู้ว่า “แล้วไง...?” ของอาจารย์ใจนั้นมีรายละเอียดอย่างไร?

นอกจากนี้นักวิชาการที่อยู่ในผังขบวนการล้มเจ้าอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือกระทั่งนักกิจกรรมอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ทีวีไทยก็ไม่สนใจจะนำเสนอ “ความคิด”ของคนเหล่านี้อย่างละเอียดเพียงพอ (ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นสื่อแห่ตามการ “เล่นละครข่าว” ของ “ชูวิทย์ กมลวิสิทธิ์” ทั้งที่แทบไม่เห็นมีประโยชน์อะไรต่อสาธารณะ แต่ชูวิทย์ก็ใช้สื่อเป็น “เครื่องมือ” สร้างกระแสนิยมในกลุ่มคนกรุงเทพฯได้มากเกินคาด ส่วนประเด็น “ล้มเจ้า” ความจริงคืออะไร? การหาความจริงเรื่องนี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า แต่สื่อกระแสหลักและทีวีไทยก็ไม่สนใจหรือไม่มี “กึ๋น” ที่จะ “หาความจริง”) 

ฉะนั้น วัตถุประสงค์ที่ว่า “มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง” จึงยังไม่เป็นจริง!

กล่าวโดยสรุป หาก “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” เป็น “ทีวีของประชาชน” จริง มีมโนธรรมสำนึกรับผิดชอบในการใช้ “เงินภาษี” ของประชาชนจริง ทีวีไทยต้องหยุดทำตัวเป็นแค่ “กระบอกเสียง” ของรัฐบาลและคนชั้นกลางในเมืองเหมือนสื่อกระแสหลักอื่นๆ ทำกัน แต่ต้องทำข่าวเชิงเจาะลึก และให้ความเป็นธรรมกับคนชั้นล่างที่ถูกกดขี่เอาเปรียบมากขึ้น ต้องอธิบาย “ตัวตน” และ “อุดมการณ์” ทางการเมืองของพวกเขาให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงตามความเป็นจริงมากกว่านี้!

และต้องเอาจริงเอาจังกับการตอบ “โจทย์” ที่สำคัญมากที่สุด เช่น ทำไมรัฐบาลที่ใช้กำลังทหารแก้ปัญหาการเมือง จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้ จึงมีความชอบธรรมอยู่ในอำนาจต่อไป?

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมยศ พฤกษาเกษมสุข:ผมยอมสูญเสียอิสรภาพแต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน

Posted: 24 May 2010 07:12 PM PDT

<!--break-->

บันทึกความในใจก่อนการมอบตัว
ผมยอมสูญเสียอิสรภาพแต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน

( 23.5.53) วันนี้ผมได้รับแจ้งว่า ตำรวจกองปราบปรามโดยพลตำรวจตรีจักรทิพย์ ไชยจินดา ได้เข้ามาค้นบ้านพักผมย่านดอนเมือง พร้อมกับหมายจับกรณีทำผิดต่อพรก.ฉุกเฉิน สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา ผมและอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในนามของกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย ได้จัดการแถลงข่าว ที่หน้าบ้านเลขที่ 111 พร้อมออกแถลงการณ์ เรียกร้อง 5 ข้อ คือ

1.ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศอฉ.ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลทันทีเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

2.ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกการจัดตั้ง ศอฉ. การประกาศเคอร์ฟิว และถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่

3.ยุติการคุกคามสื่อสารมวลชนทุกประเภท

4.ให้ปฏิบัติต่อแกนนำ นปช.ที่ถูกจับกุมในฐานะที่เป็นนักโทษการเมืองแต่ไม่ใช่ในฐานะอาชญากร และ

5.เปิดเผยความจริงการใช้กำลังทหารปราบปรามและจำนวนผู้เสียชีวิตบาดเจ็บที่ แท้จริง โดยมีตัวแทน นปช.เข้าไปร่วมตรวจสอบ

พร้อมทั้งประกาศว่า จะดำเนินการจัดตั้งสมัชชาประชาธิปไตย เพื่อจัดการชุมนุมขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ที่จังหวัดราชบุรี และจะจัดงาน ถามหาวันชาติไทย ทวงคืนประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ที่สนามหลวง

เมื่อผมมาถึงสำนักงานบ้านเลขที่ 111 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ตำรวจห้ามไม่ให้ใช้สถานที่แถลงข่าว และในเวลา 12.30 น. พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.นางเลิ้ง ได้อ้างคำสั่งศอฉ.ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มูลนิธิฯ แถลงข่าว โดยให้เหตุผลว่า ขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคำสั่ง ศอฉ.ที่ห้ามมีการชุมนุมทางการเมือง ผมและอาจารย์สุธาชัย จึงมาแถลงกันที่ริมฟุตบาธข้างถนนแทน
การแถลงข่าวของผมและและอ.สุธาชัย นั้นเป็นไปอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เพราะผมเห็นแล้วว่าฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นได้เข่นฆ่าประชาชนที่พบร่างไร้วิญญาณมากกว่า 80 ศพแล้วและอีกเท่าไรที่อาจถูกทำลายทิ้งหลักฐานศพไป และยัง มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 1500 คน น่าจะมีมโนธรรมสำนึก อีกทั้งพวกเราชาวไทยนับถือพุทธศาสนา พวกเรามีความเชื่อว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป เป็นความเลวร้ายที่สุด จึงเป็นศีลข้อที่1ในบรรดาศีล 5 ข้อหลักสำคัญของพุทธศาสนา พวกเราชาวพุทธถูกพร่ำสอนและปลูกฝังในเรื่องความรัก ความเมตตาที่ควรมีต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ผมจึงต้องออกทำหน้าที่เรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น และภายหลังการปราบปรามสิ้นสุดลง รัฐบาลยังใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินกวาดล้างคนเสื้อแดงจำนวนมากมาย ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำให้เกิดความขัดแย้งร้าวฉานในสังคมไทยไม่มีที่สิ้นสุด

ผมต้องการความสงบสันติเหมือนกับทุกคน ผมจึงเห็นว่าหนทางแรกที่สุดก็คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ควรพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน แต่กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ทั้งสองคนนั้นกำลังมัวเมาในอำนาจการเมือง เสพสุขบนกองทุกข์ของผู้อื่น มีอำนาจอยู่บนซากศพและความหายนะของคนจำนวนมาก

ผมเป็นคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง ที่ต้องนำเสนอความจริง นำเสนอข่าวสารเพื่อปกป้องความถูกต้อง ปกป้องศีลธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ผมทำหน้าที่นำเสนอความคิดด้วยบทวิเคราะห์ทางการเมืองด้วยความห่วงใยต่อชะตากรรมของประเทศไทยที่ผมเติบโตขึ้นมา แต่ผมและนิตยสาร Voice of Taksin ก็ถูกกล่าวหา ถูกให้ร้ายป้ายสี ถูกกดดัน กระทั่งถูกคุกคามหมายปองถึงชีวิต กระทั่งในที่สุดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ใช้อำนาจศอฉ.ให้ผมไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ทั้งๆที่ผมมีเงินรายได้เพียงเดือนละไม่เกิน 30000 บาทจากการทำงานด้านสื่อสารมวลชน

ทางรัฐบาลอาจเข้าใจว่านิตยสารVoice of Taksin เป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงชื่อหนังสือทางการค้า เพราะคนเสื้อแดงซึ่งศรัทธาในผลงานของ  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมเสียสละเงินทุนเพื่อร่วมกันจัดทำนิตยสารฉบับนี้ออกมา ผมใช้เงินทุนส่วนตัวจำนวนหนึ่งบุกเบิกออกมา ผมขอยืนยันเลยว่า ผมพบคุณทักษิณเพียงครั้งเดียวในปี 2548 ที่กระทรวงแรงงานก่อนวันแรงงานแห่งชาติ ด้วยเวลาไม่ถึง3 นาทีนอกจากนั้นแล้ว ผมไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียอะไรทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามหากมีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องผมก็เคยท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยมาโดยตลอด

เมื่อเกิดการรัฐประหาร19กันยายน 2549 ผมเห็นว่า เป็นการปล้นบ้านกินเมือง ผมต้องออกมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร ผมต่อสู้ด้วยความคิด สติปัญญา ด้วยการนำเสนอความจริง เผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่มและสิ่งตีพิมพ์ จนกระทั่งกลายมาเป็นแกนนำคนเสื้อแดง หลังจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติหรือนปก.ถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อนำประชาชนไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ผมทำหน้าที่เป็นแกนนำนปช.ตามปกติสุข ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จนผมถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทหลายคดีด้วยกัน แต่ผมไม่เคยท้อถอย ผมยึดมั่นวิถีทางการต่อสู้ด้วยความรู้ ความจริง ด้วยการถกเถียง ด้วยการโต้แย้งที่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ผมยุติการเป็นแกนนำคนเสื้อแดงเพื่อจัดทำนิตยสาร Voice of Taksin เต็มตัว และจัดทำรายการโทรทัศน์ดาวเทียมกับอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จึงไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแกนนำนปช. อีกต่อไป แม้กระทั่งเมื่อมีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นมา ผมไปทำหน้าที่เพียงการถ่ายภาพ รวบรวมข้อเท็จจริงมานำเสนอผ่านนิตยสาร Voice of Taksin เท่านั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับแกนนำ เพียงแต่คอยเอาใจช่วยด้วยความห่วงใยและได้แต่สวดมนต์แผ่เมตตาเพื่อให้พวกเขาไม่ต้องถูกปราบปรามเข่นฆ่าเท่านั้น

ผมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อปกป้องสิทธิคนยากไร้ ผู้ใช้แรงงานมาหลายสิบปี ผมเป็นคนหนึ่งถ้ามีโอกาสนำเสนอข้อเรียกร้องต่อสังคมนั้น ผมอยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกร ชาวนาให้ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผมมาต่อสู้ร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะว่า สังคมไทยไมมีประชาธิปไตย ยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม มีการเลือกปฏิบัติที่เป็นสองมาตรฐานที่รุนแรงมากที่สุดเกิดขึ้นกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ สำหรับคนเสื้อแดงพวกเขาคือประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง พวกเขารู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้ กระทั่งพวกนปช.เรียกกันว่าเป็นไพร่ เป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

การชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า และราชประสงค์มีข้อเรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ได้รับคือเลือด น้ำตาและความตายที่รุนแรงที่สุดในรอบ 78ปีของการเมืองไทย ความผิดของแกนนำนปช.ที่นำการต่อสู้ครั้งนี้จนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ก็คือ พวกเขาประมินความเป็นคนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผิดไปเท่านั้น พวกเขายังไม่รู้ถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตของอาชญากรทางการเมืองที่มีอำนาจต่อเนื่องมายาวนาน ผมเคยได้ยินจากพวกเขาว่า พวกทหารหรือตำรวจไม่กล้าฆ่าแกงพวกเราหรอก ไม่พ้นยุคสมัยแห่งความป่าเถื่อนไปแล้ว

แต่ความจริงวันนี้ รัฐบาลสั่งทหารฆ่าคนตายกลางถนนได้โดยไม่มีความผิด และทุกครั้งของการสังหารหมู่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 คนที่ผิดถูกดำเนินคดีคือพวกประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน และเป็นพวกที่ถูกเข่นฆ่าตายกลางถนน เช่นเดียวกันกับกรณีคนเสื้อแดงที่ถูกสังหารหมู่ ตายเป็นใบไม้ร่วงไปแล้วแต่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสมือนฆาตกรกลับใช้อำนาจที่เหนือกว่าโยนความผิด “ผู้ก่อการร้าย”มาให้ ดังนั้นสำหรับการนำอาวุธสงครามมาเข่นฆ่าประชาชนกลับไม่มีความผิด ด้วยเหตุผลง่ายๆไร้ยางอายว่าพวกเขากำลังมาทวงพื้นที่คืนด้วยการกระชับวงล้อม

ผมเห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ กำลังนำสังคมไทยสู่ยุคมืดแล้ว พวกเขากลายเป็นรัฐบาลโหดเหี้ยมอำมหิตไร้ศีลธรรม เป็นรัฐบาลเผด็จการฟัสซิสต์เต็มรูปแบบ เพียงเพื่อรักษาระบอบอำมาตย์และปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอภิสิทธิชนในสังคมไทยเท่านั้น
แต่สำหรับผม ผมไม่ต้องการตอบโต้ใดๆด้วยความรุนแรง ผมหวังว่ายังมีความเป็นธรรมหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมไทย ผมเชื่อว่ายังมีหลายคนที่มีมโนธรรมสำนึก มีความรัก ความเมตตาในฐานะที่เป็นชาวพุทธด้วยกัน ย่อมปฏิบัติต่อกันด้วยความเอื้ออาทร ผมจึงตัดสินใจเข้ามอบตัวต่อศอฉ.ตามหมายจับซึ่งอนุมัติโดยศาลอาญา

ผมยอมสูญเสียอิสรภาพและ ยอมใช้ชีวิตที่จะยากลำบาก อยู่ในคุกตะรางในยุคมืดยุคนี้ แต่ผมจะไม่ยอมสูญเสียมโนธรรมสำนึกความเป็นคนและความรักความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ของสังคมไม่ว่าผมจะอยู่ในประเทศไทยหรือในประเทศอื่นใดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า

ผมหวังว่าคนเสื้อแดงทุกคนจะมีจิตใจที่เข้มแข็ง อย่าท้อถอย จงยืนหยัดต่อสู้ต่อไปด้วยสติปัญหา ด้วยความรัก และเมตตา และด้วยจิตใจกล้าหาญหนักแน่น ต่อสู้จนกว่าพวกเราจะได้สังคมใหม่ที่ดีงาม กว่าเดิม เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียม เสมอภาค เสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริง

หวังว่าทุกคนจะได้สรุปบทเรียน สรุปประสบการณ์การต่อสู้ครั้งนี้ร่วมกัน ขอคารวะแด่ทุกดวงวิญญาณที่จากไป การตายของพวกเขาหนักแน่นยิ่งกว่าภูผาใด พวกเขาคือวีรชนที่สถิตย์ในใจของผมและคนทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

หากผมได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกจับเข้าคุกตะราง หรือหากถูกปล่อยตัวกลับมา ผมจะกลับมาทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องและร่วมต่อสู้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัญชะลีไม่พอใจเพลง"ขอความสุขคืนกลับมา"ของ"ดี้ นิติพงษ์"เหตุพ้องกับคำขวัญเสื้อแดง

Posted: 24 May 2010 02:52 PM PDT

"อัญชะลี"เผยผ่าน"เคาะข่าวริมโขง"ไม่พอใจเพลงของ "ดี้-นิติพงษ์" เพราะพ้องคำขวัญเสื้อแดงเชียงใหม่ "เราต้องการนายกฯ กลับมากู้วิกฤต นำความสุขของเราคืนมา" เชื่อทักษิณจะบวชเข้าไทยเป็นชนวนการชุมนุมรอบใหม่ "ชัชวาลย์" ชี้เป็นเพราะเจ้าของแกรมมี่สนิททักษิณ ด้าน"โสภณ"บอกเสื้อแดงเตรียมโจมตีวัดพระแก้ว

<!--break-->

เมื่อเวลา 18.30 น. วานนี้ (24 พ.ค.) ในรายการ "เคาะข่าวริมโขง" ทางสถานีโทรทัศน์ "อีสานทีวี" ในเครือเอเอสทีวี มี น.ส.วรรษมน ช่างปรีชา เป็นผู้ดำเนินรายการ มีแขกรับเชิญได้แก่ น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก นายโสภณ องค์การณ์ และนายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย มาร่วมพูดคุยในรายการ

น.ส.อัญชะลี กล่าวว่า อยากฝากให้ทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลเนื้อหาการจัดรายการ วิทยุชุมชนในแถบภาคอีสาน หลังได้รับข้อมูลมาว่ามีวิทยุชุมชนกว่า 4,000 แห่งที่กำลังระบาดอย่างหนัก เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันและให้ร้ายผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อปลุกปั่นชาวบ้าน

น.ส.อัญชะลี ยังกล่าวถึงข่าวในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ในหน้าภูมิภาค ที่รายงานข่าวตำรวจเชียงใหม่ไปยึดวิทยุของฝ่ายเสื้อแดง และเจ้าของออกมากล่าวว่าเจ้าหน้าที่สองมาตรฐาน ทำไมไม่ไปยึดสถานีวิทยุวิหกเรดิโอบ้าง ตำรวจจึงดำเนินการยึดด้วย ดังนั้น จึงมีทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงที่ถูกดำเนินการ น.ส.อัญชะลีกล่าวต่อไปว่า แต่ประเด็นสำคัญพอเข้าไปดูภาพเจอแผ่นป้ายของวิทยุเสื้อแดง พ.ต.ท.ทักษิณ นั่งยิ้มแป้นอยู่ โดยมีข้อความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือนายกฯ ที่เราเลือก เราต้องการนายกฯ กลับมากู้วิกฤต นำความสุขของเราคืนมา สอดคล้องกับดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค ที่แต่งเพลงนำขอความสุขคืนกลับมา

น.ส.วรรษมนกล่าวว่า ตร.เชียงใหม่ให้สัมภาษณ์ว่าทั้งหมดจำเป็นต้องยึดสถานีตาม พ.ร.ก.ฉุนเฉิน เจ้าหน้าที่ไม่ได้สองมาตรฐานแต่อย่างใด

ส่วนนายชัชวาลย์กล่าวว่า เจ้าของแกรมมี่สนิทกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะให้ศิลปินแต่งเพลงที่มาของปัญหาประเทศไทย และความขี้โกงของอดีตนายกฯ

น.ส.อัญชะลีกล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณว่า วันนี้กำลังพบเจอกับความยากลำบากในการเดินทาง โดยมีรายงานข่าวว่าติดต่อวัดราชบพิธฯ เตรียมตัวจะบวช

นายโสภณกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังตั้งเงื่อนไขเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อยุเสื้อเหลืองและเสื้อแดงให้ออกมาปะทะกัน เพื่อเปิดทางทหารเข้ามาจัดการ ซึ่งตนได้ทราบข้อมูลมาว่าทหารรับราชการอยู่ได้ไปคุยกับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่ จ.มุกดาหาร ได้ข้อมูลมาว่า เดือน มิ.ย.จะมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวง จากนั้นจะบุกตีวัดพระแก้ว

น.ส.อัญชะลีกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการใช้แผนบวชเพื่อเป็นชนวนการชุมนุมรอบใหม่ และจะมีการเผาเมืองรอบสอง นอกจากนี้ จะมีการโจมตีบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น