โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ในสถานการณ์ : หนีตายในประเทศไทย

Posted: 20 May 2010 02:23 PM PDT

<!--break-->

แปลจาก
Eyewitness : Under fire in Thailand
The Independent
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/eyewitness-under-fire-in-thailand-1977647.html
By Andrew Buncombe in Bangkok
Thursday, 20 May 2010

  

พอกระสุนลิ่วเข้ามา พวกเราก็ต้องหาที่ซุกตัวหลบซ่อน ผู้คนแถวนั้นล้มตัวลงกับพื้นด้วยอาการหวาดหวั่น บางคนหลบหลังรถยนต์ พยายามบีบกายให้เล็กพอดีกับขนาดฝาครอบล้อรถ คนอื่นๆ กระโจนหลบกันจ้าละหวั่น เข้าไปอยู่หลังรถยนต์บ้าง รถกระบะบ้าง หลบหลังต้นไม้หรือแม้แต่กระถางต้นไม้ก็ยังมี

ผมกำลังอยู่ตรงทางเข้าวัดแห่งหนึ่ง วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิมีไว้สำหรับสวดมนต์ จึงควรจะใช้เป็นที่หลบภัยได้ แต่พอได้ยินเสียงลั่นไกปืนประกอบเสียงปังๆ ของลูกปืน ลิ่วเข้ามาแถวร้านขายของที่ระลึกของวัด พวกเราต่างก็ตระหนักว่า แม้แต่วัดแห่งนี้เองก็ไม่ปลอดภัย

ผู้บาดเจ็บถูกหามบ้างลากบ้างเข้าไปในวัด พวกเขาเลือดไหลอาบตัวส่งเสียงกรีดร้อง นอนบนเสื่อบ้าง ผ้าห่มบ้าง อะไรก็ได้ที่วางอยู่แถวนั้น อาสาสมัครเสื้อแดงผู้กล้าหาญพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเท่าที่ทำได้ ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ ห้ามเลือดจากรอยแผลกระสุนระหว่างที่ผู้บาดเจ็บรอคนนำตัวไปส่งโรงพยาบาล พวกอาสาสมัครช่วยเหลือไม่มีเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ใช้ไปมากกว่านี้

วัดแห่งนี้ติดป้ายข้างหน้าว่าเป็น “เขตอภัยทาน” หมายความว่าเป็นพื้นที่ปลอดการฆ่าล้าง

ช่วงบ่ายวานนี้ ในขณะที่ตึกใหญ่หลายแห่งในกรุงเทพฯ กำลังลุกเป็นไฟ ทำให้ควันดำปกคลุมไปทั่วท้องถนน รอบข้างวัดเก่าแก่อายุ 150 ปีแห่งนี้ได้กลายสภาพเป็นสมรภูมิรบอันน่าสยดสยองไปด้วย ผู้คนติดอยู่ในวัดออกมาไม่ได้

หลายคนที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้นอนตายอยู่นอกรั้ววัดนั่นเอง และยังมีผู้บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน พวกที่เข้ามาหลบอยู่ในวัดก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ภายในวัดมีศพเจ็ดร่างวางเรียงกันอยู่

เช้าวานนี้ คนเสื้อแดงหลายพันได้หลบหนีจากแยกราชประสงค์ อันเป็นบริเวณที่พวกเขาไปปักหลักประท้วงอยู่นานกว่าสองเดือน หลังจากที่ทหารบุกทะลายแนวรั้วกั้นเข้าไปได้ และหลังจากที่แกนนำประกาศให้ยุติการชุมนุม พวกเขาก็วิ่งหนีเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม บรรยากาศภายในวัดทั้งตึงเครียด ทั้งหวาดหวั่น แต่ผู้คนในนั้นเชื่อว่า ทหารจะไม่ทำให้ภายในบริเวณวัดกลายเป็น สมรภูมิฆ่าพวกเขาสวดมนต์แสดงความเชื่อความหวังอย่างนั้น

“พอแกนนำบอกให้พวกเรากลับบ้าน ก็เลยมานี่ แกนนำบอกว่า จบแล้ว” หญิงเสื้อแดงคนหนึ่งที่หลบอยู่ในวัดเล่าให้ฟัง อีกคนหนึ่งคุณมาลี หงวนสง่า [Malee NguanSanga] พูดขึ้นมาว่า “ในชีวิตไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนชั่วเท่าชุดนี้”

บรรยากาศเปลี่ยนไปอย่างกระทันหัน พวกเราได้ยินเสียงปืนดังลั่นเข้ามาทางทิศตะวันตก ผู้สื่อข่าวบางคนที่เพิ่งเข้ามาในวัดบอกว่า มีเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ กำลังตอบโต้ด้วยหนังสติ๊ก ปืนพก และระเบิดเพลิงตากล้องผู้หนึ่งบอกว่า เห็นชายคนหนึ่งโดนยิงขณะวิ่งหนีแนวทหาร โดนกระสุนสองลูกเข้าทางหลัง ดูเหมือนว่าลูกหนึ่งจะทะลุออกทางหน้าอก ภาพถ่ายที่ตากล้องผู้นี้ให้ผมดูนั้นน่ากลัวทีเดียว

จู่ๆ เสียงกระหน่ำยิงก็ดังขึ้น และดูเหมือนจะใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เสียงปังๆ ถี่ขึ้น เสียงปืนแก๊ปฟังแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถเด็ดชีวิตผู้คนได้

ชายหนุ่มคนหนึ่งวิ่งเข้ามาในวัด เขาไม่ใส่เสื้อ จึงมองเห็นว่า แผ่นหลังด้านล่างของเขามีรอยแผลเป็นรูใหญ่ ไม่รู้ว่าโดนยิงขณะกำลังวิ่งอยู่ในบริเวณวัด หรือบาดเจ็บมาก่อนหน้านั้นแล้ว บรรยากาศโกลาหลเกินกว่าจะถามเช็คกับใครได้ พอเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลทีมหนึ่งเห็นรอยแผลของเขาก็วิ่งเข้าไปช่วยเหลือทันที

พวกเขาลากชายผู้นี้เข้าไปอยู่ในมุมที่ดูน่าจะปลอดภัย จับร่างของเขาพลิกหงาย แล้วใช้ผ้าเช็ดตัวกับผ้าพันแผลกดซับเลือด ในทีมปฐมพยาบาลนั้นมีหญิงคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ราวกับว่าไม่รู้จักความกลัว

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีผู้หามคนบาดเจ็บอีกคนหนึ่งเข้ามาในวัด ดูเป็นชายมีอายุ ท่าทางไม่ค่อยแข็งแรง เข้าใจว่าโดนยิงตรงหัวไหล่ ทีมอาสาสมัครปฐมพยาบาลรีบเข้าไปช่วยเหลือเขาทันที ชายผู้นี้ส่งเสียงครวญครางแผ่วเบาประสานเสียงปังๆ ของปืน

ตอนนั้นผมเป็นนักข่าวเพียงไม่กี่คนที่หลงเหลืออยู่ภายในวัด และช่วงนั้นเองผมได้รับบาดเจ็บตรงขาด้านนอกตอนแรกนึกว่าโดนสะเก็ดระเบิดสองสามชิ้น แต่ภายหลังเห็นว่า เป็นชิ้นส่วนกระสุนที่ฝังตัวลงลึกในเนื้อโคนขา ลึกถึงสามนิ้วได้ เดาไม่ออกว่ากระสุนนี้ยิงมาจากทิศไหน ไม่แน่ใจว่า ทหารจงใจยิงนักข่าวแล้วหรืออย่างไร หรือว่าไม่สนใจแล้วว่าใครเป็นใคร เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลรีบวิ่ง

มาช่วยทันที ราดน้ำเย็นใส่แผลซึ่งกำลังไหม้แล้วกดทับด้วยผ้าพันแผล กระสุนเข้าเนื้อเฉยๆ จึงอาการไม่ร้ายแรงนัก แต่ก็ปวดแสบปวดร้อนเอาการ รอบข้างผมนั้นเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บ บรรดาอาสาสมัครที่เปิดคลินิกฉุกเฉินและแจกยากันตรงนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้มากกว่าที่ทำอยู่

ระบุไม่ได้จริงๆ ว่ากระสุนที่โดนขาผมนั้นยิงมาจากตรงไหน และไม่สามารถตอบได้ว่า ทหารยิงกราดไปทั่วอย่างไร้บันยะบันยังด้วยเหตุผลอันใด ลูกปืนที่กราดเข้ามานั้นยิงจากสไนเปอร์หรือพลทหารธรรมดา? ที่ค่อนข้างแน่ใจทีเดียวก็คือว่า กระสุนมาจากฝั่งทหารคงไม่สามารถตอบได้ว่าใครเป็นคนสั่งให้ทหารยิงไม่เลือกหน้า ทั้งๆ ที่อยู่ในระยะใกล้ผู้คนจำนวนมาก ผู้คนซึ่งเกือบทั้งหมดไม่พกอาวุธ ไม่ได้ทำตัวเป็นอันตราย และได้ออกจากพื้นที่ชุมนุมตามคำขอของทางการแล้ว หากพวกเขามีโอกาสที่จะออกจากตรงนี้ไปได้อย่างปลอดภัย ก็ทำอย่างนั้นไปแล้ว ทุกคนทราบดีว่า นี่เป็นจุดจบของการต่อสู้ อย่างน้อยก็เป็นจุดจบของขั้นตอนนี้ของการต่อสู้ บรรดาผู้นำระดับสูงสุด ต้องตอบคำถามสำคัญเร่งด่วนหลายประการทีเดียวในกรณีนี้

วัดปทุมวนารามสร้างขึ้นช่วงรัชกาลที่ 4 ในยุคที่บริเวณรอบข้างยังคงเป็นคูคลองอยู่ ไม่เหมือนปัจจุบันที่ละแวกนี้เต็มไปด้วยตึกสูงกับห้างสรรพสินค้า บริเวณวัดได้กลายเป็นค่ายอพยพกึ่งโรงพยาบาลไปแล้ว พระกำลังสวดมนต์ ผู้คนปูเสื่อหาที่ซุกหัวนอน บางคนพยายามหาของกิน คนส่วนใหญ่ที่หลบอยู่ในนั้นแทบจะไม่มีอะไรติดตัวมาเลย หลายคนมีเสื้อผ้าชุดเดียวก็ต้องซักตากกันตรงนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น ไม่มีใครตอบได้ว่า จะต้องอยู่ในนั้นกันอีกนานเท่าไหร่

ที่ตลกร้ายก็คือว่า โรงพยาบาลตำรวจตั้งอยู่ใกล้ประตูทางเข้าวัดเพียงนิดเดียวเท่านั้นเป็นโรงพยาบาลที่ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการยามเกิดเหตุเช่นนี้มานานเป็นเดือนแล้ว ไม่มีใครกล้าหามผู้บาดเจ็บข้ามถนนไปส่งโรงพยาบาลเพราะถนนได้กลายเป็นสนามยิงปืนไปแล้ว

มันน่าประหลาดใจจริงๆ ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ คนเสื้อแดงบางคนบอกว่า ยังมีกลุ่มพกอาวุธยิงตอบโต้ทหารอยู่ จึงหวั่นเกรงว่าทหารจะใช้อาวุธหนักยิงสวนเข้ามาอย่างที่ทำมาทั้งวันแล้ว ผู้คนกลัวมากจึงไม่ยอมลุกไปไหน พอผ่านเคอร์ฟิวสองทุ่มไป พวกเราจึงไม่มีทางเลือกอื่นต้องนอนรอกันไป บนเก้าอี้พับบ้าง เปลหามบ้าง หรือบนเสื่อ บางคนนั่งนิ่งๆ บางคนร้องครวญคราง ต่างคนต่างตระหนักดีว่า หมดหนทางที่จะช่วยตัวเองแล้ว

ในที่สุดก็ดูเหมือนว่า แถวนั้นตกลงหยุดยิงกันได้ หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บุคคลที่ผู้ชุมนุมพยายามขับไล่ให้พ้นตำแหน่งอย่างสุดกำลัง ได้เข้าไปติดต่อประสานงานไม่ทราบเหมือนกันว่า หากไม่มีผู้บาดเจ็บเป็นนักข่าวต่างประเทศรวมอยู่ด้วยแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวคนหนึ่งที่มีเพื่อนร่วมงานชาวแคนาดากับล่ามวิ่งเต้นอย่างเต็มที่ให้นำตัวเขาออกมาให้ได้ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า หากไม่มีเขาแล้ว หน่วยงานระดับสูงของประเทศจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างนี้หรือเปล่า?อาจจะไม่ก็ได้

อย่างไรก็ดีในที่สุดกาชาดก็สามารถส่งขบวนรถพยาบาลเข้ามาในวัด เพื่อนำตัวผู้บาดเจ็บสาหัสส่งโรงพยาบาลไปก่อน แล้วจะกลับมารับหญิงที่บาดเจ็บกับพวกเด็กๆ

พนักงานกู้ภัยนำตัวผู้ที่บาดเจ็บมากที่สุดออกไปก่อน

คนแรกที่หามออกไปคือชายหนุ่มที่โดนยิงตรงหลัง คนที่สองเป็นชายอีกคนหนึ่งถูกยิงตรงขา เขาร้องครวญครางตลอดเวลาที่เจ้าหน้าที่หามเขาลงเปลไปขึ้นรถ และพนมมือราวกับกำลังสวดมนต์ให้ตัวเองและประเทศชาติ

ตัวผมกับชายอีกคนหนึ่งที่โดนยิงตรงน่องออกไปด่้วยกันในรถพยาบาลคันสุดท้าย เขาชื่อณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม่ [Narongsak Singmae] เป็นคนอิสานอายุ 49ปี ขณะนอนรอ เขาพูดกับผมว่า “ไม่อยากจะเชื่อว่าพวกมันยิงคนในวัด”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สงครามกลางเมืองอย่างจำเป็น?

Posted: 20 May 2010 02:03 PM PDT

นักปรัชญาชายขอบ : ราคาที่ต้องจ่ายของการตัดสินใจอย่างไร้ภาวะผู้นำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ อำนาจที่อยู่เบื้องหลัง และกองเชียร์ที่จิตใจอำมหิต คือสงครามกลางเมือง

<!--break-->

หากมองเฉพาะประเด็นการต่อรองเรื่องเงื่อนเวลาในการยุบสภา แผนปรองดอง และเงื่อนไขการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของแกนนำ นปช.และฝ่ายรัฐบาล ก็อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้

แต่ถ้ามองให้เห็นว่าการต่อรองในเรื่องดังกล่าวอยู่บนสภาวะที่เป็นจริงของความขัดแย้งเช่นไร อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่าสงครามกลางเมืองครั้งนี้ยากอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ

1. สังคมไทยตกอยู่ในสภาวะแยกแย้งขึงตึงมากว่า 4 ปี ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามลากดึงให้ก้าวไปข้างหน้า แต่อีกฝ่ายพยายามฉุดดึงให้ถอยหลัง ทว่าความซับซ้อนคือ ฝ่ายที่น่าจะดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้ากลับฉุดดึงให้ถอยหลัง ฝ่ายที่สังคมเคยเชื่อกันตลอดมาว่าอยู่ข้างหลังกลับเป็นฝ่ายพยายามลากดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า

ฝ่ายคนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง และคนรากหญ้า คือฝ่ายที่พยามลากดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยระบบตัวแทนที่พ้นไปจากอิทธิพลของอำมาตย์ และยึดมั่นในระบบการเลือกตั้งที่ยึดหลักความเสมอภาคของ  “1 คน = 1เสียง”

2. ความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก คือ แนวร่วมของฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าคือกลุ่มทุนใหม่และพรรคการเมืองที่ทั้งร่วมอุดมการณ์เดียวกันและคอยฉกฉวยประโยชน์ ขณะที่แนวร่วมของอีกฝ่ายคือกลุ่มอำนาจจารีต พรรคการเมือง และกลุ่มทุนที่ทั้งสนับสนุนเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจล้าหลัง อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์เฉพาะหน้าอื่นๆ

3. ฝ่ายที่ฉุดดึงสังคมให้ถอยหลัง เป็นฝ่ายที่ไม่ศรัทธาและสร้างความเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตยระบบตัวแทน ดังที่มักเย้ยหยันระบบการเลือกตั้งเสมอๆว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” และมักตัดสินฝ่ายเสื้อแดงว่ารับเงินซื้อเสียง เป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง

4. คำดัดสินดังกล่าวนั้นอยู่บนทัศนะที่ว่า คนจน คนไร้การศึกษา ไม่อาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองได้ ดังที่พวกเขาแยกแยะมวลชนเสื้อแดงโดยเฉพาะที่มาจากชนบทว่า 1) มาเพราะรักทักษิณ 2) มาเพราะถูกจ้าง 3) มาเพราะมีปัญหาความยากจนต้องการให้รัฐบาลช่วย ไไม่มีกลุ่มที่มาด้วย “อุดมการณ์” เลย (ถ้ามี ก็อาจจะมีเพียงจำนวนน้อยที่แฝงอยู่ในผู้ชุมนุม อาจจะน้อยกว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ?)

ปัญหาคือ ถ้าอุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนมีคุณค่า และอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้ออกมาต่อสู้และการต่อสู้ของเขามีคุณค่า และน่าเคารพ เมื่อคนชั้นกลางระดับล่างที่พอมีการศึกษา คนจน คนไร้การศึกษา คนชนบทถูกตัดสินว่า ไม่ใช่คนที่สามารถจะมีอุดมการณ์ได้เฉกเช่นคนมีการศึกษาหรือปัญญาชน ก็เท่ากับพวกเขาถูกมองว่าเป็นคนไม่มีคุณค่าพอสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเขาจึเป็นได้เพียง “เครื่องมือ” ของนักการเมืองโกงเท่านั้น ฉะนั้น การยอมสูญเสียชีวิตของคนเหล่านั้น ที่ไม่ใช่เสรีชนผู้มีอุดมการณ์ จึงเป็นความจำเป็นที่ยอมรับได้ (ดังเสียงเรียกร้องไม่ให้ยุบสภา ให้ทหารใช้กฎอัยการศึกกับคนเสื้อแดง หรือให้ทหารรีบขจัด “ขยะสังคม” ให้มันจบเร็วๆ เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่มีค่าเหนือชีวิต)

5. การตัดสินคนเสื้อแดง (ส่วนใหญ่) ว่าไม่สามารถมีอุดมการณ์ได้ โง่ ไร้การศึกษา ไม่รู้จักประชาธิปไตย ถูกซื้อด้วยเงิน ฯลฯ คือวาทกรรมที่ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลากว่า 4 ปีมานี้

ในแง่หนึ่งมันทำให้ฝ่ายผู้ตัดสินประเมินค่าความเป็นคนของคนเสื้อแดงต่ำกว่าคุณค่าความเป็นคนของฝ่ายตน (ซึ่งเปี่ยมด้วยอุดมการณ์รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ทำให้เห็นว่า “ความตาย” ของคนเสื้อแดงเป็นความจำเป็นและสมควร

ในแง่หนึ่งการถูกกดข่มเช่นนั้น (เช่น ประณามว่าเป็นพวก “กเฬวราก” ฯลฯ) อย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้คนเสื้อแดงสั่งสมความโกรธแค้นที่รอเวลาระเบิด!

แล้วก็มาถึงจุดระเบิด เมื่อคนเสื้อแดงถูกปิดสื่อ (หลังจากพื้นที่สื่อกระแสหลักปิดตายมานานแล้ว การปรากฏเรื่องราวคนเสื้อแดงบนสื่อกระแสหลัก เป็นเรื่องราวที่ “ถูกเล่า” โดย “คนอื่น” ที่มักเป็นฝ่ายพิพากษาคนเสื้อแดงจากมุมมองและอคติของฝ่ายตน) ถูกสลายการชุมนุมจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ความกล้าวิ่งเข้าหาความตายและความรุนแรงกลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นที่คนเสื้อแดงต้องการจะบอกสังคมนี้ว่า พวกเขามาด้วยอุดมการณ์ ยอมตายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (แต่แน่นอนว่าโดยสัญชาตญาณพวกเขาย่อมไม่ยอมถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว)

6. ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา การใช้ความรุนแรงของคนเสื้อแดงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง (แม้เมื่อต้องต้านอำนาจรัฐที่ให้กองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจของความรุนแรงมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้) แต่สังคมควรเข้าใจว่า คนเสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรงตลอดมาด้วยวาทกรรม (ความเคยชินหรือวัฒนาธรรม) ตัดสินว่าพวกเขาไม่อาจเป็นเสรีชนที่มีอุดมการณ์ มีคุณค่าความเป็นคนต่ำกว่า และถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดขี่เอาเปรียบมาอย่างยาวนาน

แต่กระนั้น สงครามกลางเมืองอาจไม่จำเป็นต้องเกิด หากรัฐบาลอภิสิทธิและอำนาจที่อยู่เบื้องหลังไม่ประเมินคนเสื้อแดงต่ำเกินความเป็นจริงมากเกินไป ลุแก่อำนาจจนเกินไป กลัวทักษิณเกินไป ไร้มนุษยธรรมมากเกินไป

น่าเสียดาย แทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะแสดงวุฒิภาวะที่เหนือกว่า ด้วยการแสดงสปิริตประชาธิปไตย ไม่ปิดสื่อ และเปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้กับฝ่ายตรงข้าม และชิงประกาศยุบสภาโดยเร็ว (ทั้งที่มีโอกาสจะตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลานี้!) แต่กลับใช้กำลังทหารมาแก้ปัญหาการเมือง

ราคาที่ต้องจ่ายของการตัดสินใจอย่างไร้ภาวะผู้นำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ อำนาจที่อยู่เบื้องหลัง และกองเชียร์ที่จิตใจอำมหิต คือสงครามกลางเมือง หายนะของประเทศ และความมืดมิดของอนาคตสังคมไทย!
 

ปล. แต่ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าจะชนะในระยะยาว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทม์ออนไลน์ : เสื้อแดงคนสุดท้าย “ฉันสัญญาว่าจะอยู่ จนกว่าทหารจะมายิงฉัน”

Posted: 20 May 2010 01:58 PM PDT

<!--break-->

ชื่อเดิม : ฉันสัญญาว่าฉันจะอยู่ จนกว่าทหารจะมายิงฉัน
แปลจาก ‘I promised. So I’ll stay until the soldiers come and shoot me’
Times online
http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article7131331.ece
Richard Lloyd Parry

 

ผู้หญิงที่โดดเดี่ยวที่สุดในประเทศไทย นั่งอยู่หน้าเวทีประท้วงของเสื้อแดงกลางกรุงเทพฯ เธอสวมเสื้อยืดสีแดงและผ้ามัดหัวสีแดง ในมือยังมีธงแดงอยู่

ผุสดี นากคำ อยู่ที่นี่มา 43 วันแล้ว เธอนอนอยู่บนเสื่อผืนบางๆ ขณะที่มีสรรพเสียงของเมืองอยู่รายล้อม มีชีวิตอยู่ด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและสุขาที่ยากจะอธิบายสภาพมัน มีอยู่อย่างเดียวที่เปลี่ยนไปคือ ตอนนี้เธออยู่คนเดียวแล้ว

สองชั่วโมงที่แล้ว ในจุดนี้มีการร้องเพลงสลับปราศรัยกันอย่างว้าวุ่น กับการแสดงความโกรธต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นความโกรธที่ชอบธรรม (righteous anger) มันยังคงเป็นสถานที่ที่มีความกลัว รถหุ้มเกราะและทหารจากกองทัพไทยมุ่งตรงเข้าหาเสื้อแดง ห่างออกไปไม่กี่ไมล์

คนไทยหลายคนคาดว่าคงมีการสังหารหมู่ (massacre) ที่ร้ายแรงกว่าที่เกิดขึ้นในเดือนที่แล้ว (เม.ย.) ที่มีผู้เสียชีวิต 25 ราย หรือไม่เช่นนั้น กองทัพก็อาจจะแค่เคลื่อนขบวนไปหยุดใกล้ที่ชุมนุมเพื่อกดดันณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเจรจา

มีอยู่ไม่กี่คนหรืออาจไม่มีเลยที่คิดว่า บนเวทีหลังจากนั้นจะมีการแถลงว่า แกนนำได้มอบตัว และการชุมนุมตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจบลง

"ทันทีที่แกนนำบอกพวกเขาให้ออกจากพื้นที่ พวกเขาก็ออกไปหมดภายใน 10 นาที" ผุสดีกล่าว เธอเป็นนางพยาบาลอายุ 45 ปีที่ยังไม่ได้แต่งงาน "มันไม่ถูกเลย เพราะพวกเราสู้เพื่อประชาธิปไตย"

ขณะที่ผู้ชุมนุมอื่นๆ อีกหลายพันคนหลอมรวมตัวเองไปตามฝูงชนในเมือง หรือไม่ก็หลบภัยอยู่ในวัดใกล้ๆ ผุสดี กลายเป็น 'เสื้อแดงคนสุดท้าย' (the Last of the Red Shirts)

"ฉันทำตามสัญญา ฉันสัญญาว่าจะไม่ออกจากพื้นที่ไปจนกว่าพวกเขาจะยุบสภา แล้วพวกเราก็จะได้มีการเลือกตั้ง" เธอกล่าว ท่ามกลางสิ่งรายล้อมคือเก้าอี้ เสื่อ ลำโพงและเครื่องครัวที่ถูกคนทิ้งร้างไว้

"ถ้าพวกเขาไม่ยุบสภา ฉันก็จะยังไม่ออกไป ไม่มีประเทศไหนหรอกที่จะได้รับประชาธิปไตยมาเพียงแค่จากการร้องขอ พวกคุณต้องสู้เพื่อให้ได้มันมา" แล้วเธอจะอยู่ที่นี่นานแค่ไหน? "จนกว่าทหารจะเข้ามาที่นี่" เธอตอบ "และยิงฉัน"

ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดที่ชวนให้เห็นพ้องเท่าไหร่ เพราะตลอดเช้าที่ผ่านมา กองทัพทหารไทยยิงประชาชนทุกคนที่ขวางทาง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ พอถึงช่วงเย็นวันนั้น เสื้อแดง ผู้ที่ตอนนี้เปรียบเสมือนฮูลิแกนผู้โกรธแค้นและไร้ผู้นำก็เริ่มจุดไฟเผาอาคาร แสดงภาพให้เห็นว่า รัฐไทยมีการใช้กำลังต่อหน้าสายตาชาวโลก แต่จนกระทั่งก่อนถึงช่วงเที่ยงในวันเดียวกันนั้น ก็เหมือนเช่น 4 วันก่อนหน้านี้คือ มีทหารติดอาวุธปืนกลสังหารและทำร้ายผู้คนที่มีอาวุธ ซึ่งอาวุธที่ว่าส่วนใหญ่แล้วคือไม้, ก้อนหิน, ระเบิดขวด และประทัด เท่านั้น

มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่ผมเจอเมื่อวันอาทิตย์ (16) ปีนขึ้นไปบนรถหุ้มเกราะซึ่งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมากในเขตเสื้อแดง พยายามโชว์ให้ผมเห็นถึงสิ่งที่เขาจะใช้ต่อสู้ เป็นลูกธนูทำมือ 3 ดอก ทำจากไม้ไผ่เหลาและปลายธนูที่เป็นขนนก แต่ปัญหาคือ เขาไม่มีคันธนูจะยิ่งมัน

แต่เขากลับต้องการใช้มันยิงใส่ หากขบวนเจ้าหน้าที่ที่มีชุดเกราะเคลื่อนเข้ามา ด้วยเครื่องยิงขนาดเล็ก (small catapult) นี่คือคนที่รัฐบาลตราหน้าว่าเป็น 'ผู้ก่อการร้าย' แม้ว่าพวกเขาจะหน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนเรื่อง 'แบช สตรีท คิดส์' [1] มากกว่า โอซามา บิน ลาเดน ก็ตาม

มีผู้ต้านรัฐบาลบางกลุ่มที่ที่มีอาวุธ พวกเขาถูกเรียกว่า 'เสื้อดำ' ทหารฮาร์ดคอร์ผู้พยายามหลบเลี่ยงสายตาผู้สื่อข่าวต่างชาติ หรือหลบกระทั่งเสื้อแดง ในช่วงเที่ยงวานนี้ (19) พวกเขามาตรึงกำลังอยู่ที่สถานีรถไฟลอยฟ้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ผมเห็นว่า พวกเขามีปืนกลลำหนึ่ง เพื่อนผมบอกว่ามีสอง รวมถึงมีปืนพกด้วย คนที่เหมือนนินจาพวกนี้ยังได้วิ่งไปพร้อมกับของในห่อที่อาจจะเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดหรือไม่ใช่ก็ได้

สิ่งนี้อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ใช้สังหารนายทหารระดับสูงที่นำขบวนโจมตีเสื้อแดงหรือไม่ก็ได้ แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ อิทธิพลของทหารกองโจรดูมีความสำคัญขึ้นมา ตั้งแต่การเริ่มปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่วันพฤหัสบดีสัปดาห์ก่อน (13) มีทหารรายเดียวเท่านั้นที่ถูกสังหาร คือเจ้าหน้าที่ทหารอากาศที่ถูกยิงโดยเพื่อนทหารอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ผู้เสียชีวิตที่เหลือ ราว 50 ราย รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบทั้งหมด เป็นพลเรือน

มีบางคนที่เป็น 'เสื้อดำ' ที่วิ่งเข้ายิงทหารหลังแผงกั้นอย่างไม่กลัวตาย แต่คนอื่น ๆ ก็เป็นประชาชนคนไทยทั่วไปแบบผมนี่แหละ เป็นคนที่คอยหลบอยุ่ตามท้องถนนอย่างเป็นกังวลต่อกระสุนที่ถูกยิงมา ไม่สามารถแม้แต่มองเห็นทหารที่กำลังยิงปืนกลเนื่องจากมีควันจากแนวกั้นลอยบังอยู่

บนท้องถนนนั้น เดาทางไม่ได้เลยว่า กระสุนจะมาจากทางไหน เหยื่อที่ถูกยิงถูกหามออกไปในทุก ๆ ชั่วโมง โดยหน่วยพยาบาลผู้กล้าที่รถพยาบาลส่งเสียงไซเรนกรีดร้องแล่นเข้าแล่นออกสมรภูมิสังหาร

ในทุก ๆ เช้า คนก็ต้องคอยจินตนาการกันไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นเวลาที่เขาไปถึงเวทีหลัก ที่มีผุสดีและเพื่อนของเธอคอยอยู่ แม้จะสั่น ๆ บ้าง แต่ถือว่าได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ปราศรัยอย่างณัฐวุฒิ เน้นย้ำถึงความสูงส่งของข้อเรียกร้องของพวกเขา และให้ความสำคัญจนต้องปกป้องด้วยชีวิต ข้อเรียกร้องก็ตรงไปตรงมา คือการที่ให้อภิสิทธิ์ผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ และเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีการทางอ้อมจากการรัฐประหาร ออกจากตำแหน่งและมีการเลือกตั้งใหม่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผุสดีรู้สึกว่าเธอโดนหลอก "ทุกคนพร้อมจะสละชีวิตอยู่แล้ว" ผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ พร บอกกับผมขณะหลบภัยอยู่ในวัด "แกนนำเลือกสละเสรีภาพของตัวเองเพื่อรักษาชีวิตของพวกเราไว้"

และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ส่วนหนึ่งของเสื้อแดงที่ยังอายุไม่มาก มีความเป็นนักเลงกว่าก็พากันวิ่งไปเผาธนาคาร ตลาดหุ้น และสถานีโทรทัศน์ที่พวกเขาบอกว่าอยู่ข้างรัฐบาล การทำลายล้างเช่นนี้ไม่สามารถหาอะไรมาอ้างได้ แต่ว่าความขัดแย้งนี้ก็ไม่เคยมีอะไรถูกหรือผิดชัดเจน

บางทีแล้ว เราอาจต้องยินดีด้วยซ้ำที่มันไม่ได้นองเลือดเลวร้ายไปกว่านี้ และอย่างเลวที่สุดที่ผุสดีได้เจอ คือความรู้สึกผิดหวัง สำหรับอภิสิทธิ์ ที่ดูเป็นคนสุภาพแล้วนี่คือชัยชนะ แต่ก็เป็นชัยชนะที่คนอย่างเขาต้องรู้สึกอับอาย

 
 

...........................
[1] - Bash Street Kids เป็นการ์ตูนชุดของอังกฤษที่มีตัวละครหน้าตาทะเล้น ๆ
http://www.paulmorris.co.uk/beano/strips/bashstreetkids.htm

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ และ นิโคลัส ฟาเรลลี : กรุงเทพถึงทางตัน?

Posted: 20 May 2010 01:39 PM PDT

<!--break-->

แปลจาก
http://inside.org.au/bangkok-how-did-it-come-to-this/
Bangkok: how did it come to this?
Andrew Walker and Nicholas Farrelly

ความล้มเหลวในการตอบรับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ชี้ให้ความเสื่อมศรัทธาที่ลงท้ายด้วยหายนะแห่งชีวิต

อัพเดท เย็นวันพุธที่ 19 พฤษภาคม
เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงเข้าเมืองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม หลายคนเชื่อว่า การชุมนุมนั้นคงจบลงในเวลาไม่กี่วัน หรืออย่างมากคงสลายตัวลงในเวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ในการประท้วงครั้งนั้นมีมวลชนเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ของการชุมนุมที่ชาวกรุงเทพฯเคยประจักษ์

อย่างไรก็ดีการชุมนุมนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นเท่าที่ควรเป็น ทั้งนี้เพราะความมั่นใจที่สูงเกินไปของแกนนำที่ทำนายว่าจะมีชาวต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาร่วมถึงหนึ่งล้านคน หลังความอัปยศเดือนเมษา 2552/2009 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงบุกเข้าไปกลางงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ได้กลายเป็นการปะทะกันบนท้องถนนและการถอนตัวซมซานออกจากกรุงเทพฯ  หลายคนคิดหรือหวังว่า กลุ่มเสื้อแดงจะพอใจกับการได้แสดงแสนยานุภาพในเวลาอันสั้นถึงจำนวนผู้สนับสนุนของตน

การณ์กลับไม่เป็นดั่งที่คิด เมื่อผู้ประท้วงเสื้อแดงแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและความยืดหยุ่นอย่างสูงในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การประท้วงครั้งนี้ทำให้กรุงเทพฯเป็นอัมพาตมากว่าสองเดือน  ราวปลายมีนาคม ผู้ประท้วงสามารถกดดันให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าสู่การเจรจา แต่การเจรจานี้เป็นอันต้องยุติไปเมื่อผู้ประท้วงมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเมื่อเห็นว่านายกรัฐมนตรีเริ่มอ่อนข้อ 

เป็นที่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ประท้วงสามารถต้านทานการล้อมปราบในวันที่ 10 เมษายน ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 21 ราย โดยผู้เสียชีวิตเหล่านี้บางคนถูกยิงที่ศรีษะจนถึงแก่ความตายโดยพลซุ่มยิงที่ไม่ใครเห็นตัว สำหรับฝ่ายกองทัพนั้น ทหารสี่คนเสียชีวิตจากระเบิดที่ดูเหมือนว่า เป้าหมายสำคัญของการทำร้ายก็คือ นายทหารอาวุโส ที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารเสื้อพระราชินีของประเทศ วันรุ่งขึ้น ปรากฏภาพแปลกตาของผู้ประท้วงที่กำลังแยกชิ้นส่วนของรถหุ้มเกราะที่ถูกทิ้งไว้โดยกองทหารอ่อนประสบการณ์

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน กระตุ้นให้กลุ่มเสื้อแดงรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้การรณรงค์ต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลายเป็นเรื่องส่วนตัวยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา พื้นที่ประท้วงหลักได้ถูกย้ายมายังใจกลางกรุงเทพฯ ผู้ประท้วงมาปักหลักอยู่ท่ามกลางความตระการตาของศูนย์การค้าสมัยใหม่ อาคารสำนักงาน สถานทูต และโรงพยาบาล จำนวนมวลชนเริ่มมีมากล้นหลาม บรรยากาศที่ชุมนุมปกคลุมไปด้วยเสียงเพลง คำปราศรัยปลุกใจเน้นย้ำถึงจุดหมายสำคัญที่ผู้ประท้วงมีร่วมกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวงล้อมของกำแพงยางรถยนต์ที่สอดด้วยไม้รวก ซึ่งผู้ประท้วงทำขึ้นมา และที่ขาดไม่ได้ตามแบบวิถีไทยก็คือ การมีร้านรวงรถเข็น ที่เข้ามาขายอาหาร ขายของที่ระลึกจากการชุมนุม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดรอบๆ บริเวณ โดยไม่มีใครยี่หระกับคำเตือนของรัฐบาล

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มเสื้อแดงในการเคลื่อนมวลชนจากส่วนภูมิภาคมายังเวทีการเมืองระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีกลุ่มเสื้อแดงนี้ยังไม่สามารถปรับตัวเรื่องการถอนกำลังได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกรายล้อมด้วยกำลังทหาร จุดนี้ถือเป็นจุดบกพร่องที่ร้ายแรงถึงตาย

ในวันที่ 3 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นข้อเสนอสุดท้าย ได้แก่ แผนความปรองดองแห่งชาติ ประเด็นหลักของข้อเสนอนี้ คือการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553/2010 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการปกติถึงหนึ่งปี ดูเหมือนว่า เวลาสองสามวันในช่วงนั้นจะมีบรรยากาศของทางออกร่วมกันและสันติภาพ กลุ่มเสื้อแดงใช้เวลาเต็มที่ในการไตร่ตรองข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ความล่าช้าในการตัดสินใจและตอบข้อเสนอของกลุ่มเสื้อแดงนั้นไม่ได้มาจากความไม่ต้องการยอมแพ้ แต่เป็นผลมาจากความต้องการจะลงจากอำนาจของกลุ่มแกนนำเอง

แต่แล้วการเจรจาก็มาถึงทางตัน เมื่อกลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องให้รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงประเทศ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้รับผิดชอบกับการเสียชีวิตของผู้คนที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน โดยกลุ่มเสื้อแดงต้องการให้นายสุเทพเข้ามอบตัวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของนายสุเทพเอง  นอกจากนี้เหล่าแกนนำยังมีความกังวลว่า เรื่องข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้การก่อการร้ายจากทางรัฐบาล ข้อกล่าวหานี้ถือว่ามีความร้ายแรงมาก หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลยทีเดียว

เมื่อกลุ่มเสื้อปฎิเสธที่จะอ่อนข้อ และปราศัยเป็นนัยยะถึงความต้องการระดมมวลชนเพิ่มเติมจากต่างจังหวัด สถานการณ์ได้เริ่มถดถอยลงอย่างรวดเร็ว นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ถอนข้อเสนอเรื่องการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน และยื่นคำขาดให้กวาดล้างพื้นที่ชุมนุม โดยการส่งทหารเข้าไปในวันที่ 13 พฤษภาคม และซ้ำอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 พฤษภาคม

ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าการล้อมปราบของกองทหารจะทำให้แกนนำผู้ประท้วงยอมมอบตัว รายงานจากแหล่งที่น่าเชื่อถือแจ้งว่า มีพลซุ่มยิงของทหารคอยลอบยิงผู้ประท้วง ผู้ประท้วงตอบโต้ด้วยประทัดยักษ์ ระเบิดเพลิงทำเอง และการเผายางรถยนต์อย่างต่อเนื่อง กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำหน้าที่เป็นหน่วยต่อสู้เคลื่อนที่ของเสื้อแดง ในช่วงหนึ่งสามารถจัดตั้งฐานที่มั่นใหม่ในการก่อเหตุโดยการสร้างแนวกั้นที่ทำจากยางรถยนต์ที่กำลังลุกไหม้ เพื่อก่อกวนกลุ่มทหารในลักษณะสงครามจรยุทธ์กลางเมือง นับเป็นการต่อสู้ที่ไร้แนวรบอันชัดเจน ท่ามกลางผู้ประท้วงทั่วไป ปรากฏมีกลุ่มติดอาวุธลักษณะคล้ายทหารที่มีอาวุธประจำกายเป็นปืนสั้นและเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79

ที่มาของกลุ่มติดอาวุธนี้ยังเป็นปริศนา แต่มีสมมุติฐานว่ากลุ่มนี้อาจเป็นทหารแตกแถวที่อยู่ในกองทัพ หรือกลุ่มนิยมเสื้อแดงที่เป็นส่วนหนึ่งกองกำลังจัดตั้งที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบของประเทศมาก่อน

แม้กลุ่มเสื้อแดงจะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการต้านทานการใช้กำลังของรัฐ แต่การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ ณ ขณะนี้ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดคือ ผู้ประท้วง ชาวบ้านที่ถูกลูกหลง และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ยอดผู้เสียชีวิตมีที่ทีท่าว่าจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่ ส่วนอื่นๆ ของประเทศก็ตกอยู่ภายใต้วิกฤตสงครามระหว่างผู้ร่วมชาติเดียวกัน หลายคนเริ่มสงสัยว่า รายงานยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

เพราะเหตุใดกลุ่มเสื้อแดงจึงไม่ยอมรับเงื่อนไขเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553/2010 ที่นายอภิสิทธิ์เสนอในการเจรจา ในเมื่อสัญญานทุกอย่างบ่งชี้ไปถึงชัยชนะในที่จะได้รับจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ของพรรคเพื่อไทยพันธมิตรสำคัญของกลุ่มเสื้อแดง

ด้วยเหตุอันใดที่ทำให้กลุ่มเสื้อแดงไม่สามารถอดทนรอไปอีกสองสามเดือนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตน เป็นการรอที่จะรักษาชีวิตไว้ได้อีกหลายชีวิต

ในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้าจะเกิดข้อเขียนจำนวนมากที่วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มแกนนำผู้ประท้วงในช่วงระหว่างอาทิตย์ต้นเดือนพฤษภาคม 2553/2010

มีสัญญาณที่ส่อให้เห็นเค้าความแตกแยกระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มปกติ โดยรัฐบาลพยายามชี้ให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในการมีส่วนล่มแผนเจรจา ผู้ประท้วงจำนวนไม่น้อยยังมีความจงรักภักดีต่อทักษิณอย่างไม่เสื่อมคลาย และไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้ในการระดมมวลชนจากส่วนภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้มาเข้าร่วมการชุมนุมอันยืดเยื้อ บ้างเชื่อว่า ทักษิณ ต้องการก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศ บ้างก็คิดว่า การที่พรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหลังการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนน่าจะเป็นประโยชน์กับในทางการเมืองกับทักษิณมากยิ่งกว่า แต่ที่แน่ๆ หลายเรื่องยังคงปริศนาต่อไป และการหาความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงยกความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดให้กับนายอภิสิทธิ์ ก็คงจะต้องรอไปจนกว่าควันจากสงครามครั้งนี้จะจางลง

หากจะมีเหตุผลสำคัญใดที่สามารถอธิบายถึงการที่กลุ่มเสื้อแดงปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุมและสังเวยข้อโรดแม็ปเพื่อความปรองดองของนายอภิสิทธิ์ให้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหตุผลนั้นก็คือ การที่ชาวไทยสิ้นศรัทธากับกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนของนายอภิสิทธิ์ ดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่สมเหตุสมผล หรือดูแทบจะเป็นความเอื้อเฟื้อในสายตาของบางคน ทว่าข้อเสนอนี้ก็แทบไม่มีความหมายในประเทศที่ความเคารพต่อการตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตยสามารถระเหิดระเหยไปในอากาศ กลุ่มเสื้อแดงไม่จำเป็นจะต้องมีความจำยาวมากจนไม่รู้ว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์นั้นมีเปราะบางเพียงใด เพราะเมื่อสี่ปีที่เพิ่งผ่านมา ในเดือนมีนาคม 2549/2006 หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศให้มีการเลือกตั้งกระทันหัน หลังต้องเผชิญการประท้วงต่อต้าน พรรคประชาธิปัตย์ได้คว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะรู้ถึงความปราชัยที่จะได้รับ สุดท้าย พรรคของนายทักษิณ ชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 60 ของผู้มาเลือกตั้ง แต่แล้วผลการเลือกตั้งก็มีอันถูกประกาศให้เป็นโมฆะโดยศาล ด้วยเหตุผลทางเทคนิคอันน่าคลางแคลงใจ

ชัยชนะอีกครั้งของทักษิณ ชินวัตร คือการเลือกตั้งซ้ำที่จัดให้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2549/2006 ที่เป็นเหตุให้เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549/2006 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อผลักดันรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยเคยพบออกจากอำนาจในการบริหารประเทศ แม้ว่านายอภิสิทธิ์จะกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่พรรคการเมืองที่นายอภิสิทธิ์เป็นสมาชิกอยู่นั้น ถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการโค่นอำนาจรัฐบาลทักษิณในครั้งนั้น แต่ถึงกระนั้นนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่สามารถหาหนทางชนะการเลือกตั้งได้ โดยหลังรัฐประหารได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2550/2007 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพันธมิตรของนายทักษิณ ชนะการเลือกตั้ง แต่ขาดจำนวนเสียงอีกเพียงเล็กน้อยที่จะเป็นเสียงข้างมากในสภา

กลุ่มชนชั้นสูงจำนวนมากในกรุงเทพฯไม่สามารถทนยอมรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ กลุ่มเสื้อเหลืองผู้ต่อต้านทักษิณได้เริ่มออกมาประท้วงรัฐบาลใหม่ที่มีอายุได้ไม่กี่เดือน กลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนั้นได้บุกไปถึงรัฐสภา และลงเอยด้วยการเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ การชุมนุมเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในครั้งนั้นได้รับการหนุนหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์นั่นเอง

ท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็สมปรารถนา เมื่อพรรครัฐบาลขณะนั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสั่งให้ต้องยุบพรรค และด้วยความช่วยเหลือจากอำนาจทางอ้อมของกองทัพ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลผสมที่มีเสียงข้างมากในสภา

เมื่อพิจารณาถึงที่มาในการขึ้นสู่อำนาจของนายอภิสิทธิ์แล้ว คงเป็นการยากที่จะให้ฝ่ายเสื้อแดงศรัทธากับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์ บุคคลผู้มีอำนาจในรัฐบาลต่างไม่เต็มใจที่จะยอมรับการตัดสินใจที่เป็นผลมาจากการเลือกตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น คงเป็นการยากที่จะให้แกนนำสร้างความมั่นใจกับผู้ประท้วงเสื้อแดงว่า ข้อเสนอในโรดแม็พจะเป็นจริง กอรปกับการแสดงความเป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผยของกลุ่มเสื้อเหลืองที่มีต่อข้อเสนอ จะให้กลุ่มเสื้อแดงเชื่อได้อย่างไรว่ากลุ่มเสื้อเหลืองจะไม่หาหนทางเข้ามาแทรกแซง?

และถึงแม้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในที่สุด ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสดๆ ร้อนๆ ย้ำเตือนให้เห็นถึงการแทรกแซงในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงบนท้องถนน หรือจากระบบตุลาการ เพื่อใช้ล้มกระดานการเลือกตั้ง แล้วจะให้กลุ่มเสื้อแดงที่ถูกตราหน้าว่า เป็นมวลชนรับจ้างวางใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีผู้มากล่าวหาว่า คะแนนเสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกซื้อด้วยเงินหรือการเมือง จะให้หวังพึ่งราชสำนักมาเป็นผู้รักษาคุณธรรมปกปักษ์กระบวนการเลือกตั้งได้ไหม? แน่ละว่าคงไม่ได้

กลุ่มเสื้อแดงอาจก้าวพลาดอย่างร้ายแรงที่ไม่ยอมรับข้อเสนอเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่การตัดสินใจพลาดของกลุ่มเสื้อแดง เป็นเพียงมิติหนึ่งของปัญหาใหญ่ที่ใหญ่กว่า นั่นคือปัญหาร้ายของแรงของความเสื่อมศรัทธาที่ประเทศไทยมีต่อกระบวนการเลือกตั้ง จึงเป็นช่องให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงหยิบยื่นทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยกำลัง

ยังมีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งและการนองเลือดจะดำเนินต่อไป แม้กระทั่งหลังจากการมอบตัวของแกนนำผู้ประท้วงในวันที่ 19 พฤษภาคม การก่อวินาศกรรม การโต้ตอบแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน และประท้วงรายย่อยผุดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของประเทศ ความรุนแรงไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดนั้นควรได้รับการประณาม แต่อย่าลืมว่าใครก็ตามที่ดูถูกดูแคลนกลุ่มเสื้อแดงว่าเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ผู้นั้นก็คือผู้ที่ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับการแสดงออกอย่างสันติของกลุ่มเสื้อแดงในวันเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า
 

 

…………………………..
*แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ และนิโคลัส ฟาเรลลี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำอยู่ที่ College of Asia and the Pacific ณ  Australian National University ในปี 2549/2006 ทั้งสองร่วมก่อทำตั้งเว็บไซท์ News Mandala ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Invictus - ประสานรอยร้าวของคนในชาติด้วยเกมรักบี้

Posted: 20 May 2010 01:17 PM PDT

ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังจะจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ในอีกไม่ช้านี้ เป็นประเทศที่เคยมีความขัดแย้งด้านสีผิวและชาติพันธุ์สูงมาก บางทีการเรียนแอฟริกาใต้ เป็นเรื่องที่ควรจะมีในบ้านเมืองขณะนี้

<!--break-->

ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังจะจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ในอีกไม่ช้านี้ เป็นประเทศที่เคยมีความขัดแย้งด้านสีผิวและชาติพันธุ์สูงมาก

แอฟริกาใต้มีโครงสร้างทางสังคมใกล้เคียงกับอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษในทวีปแอฟริกา นั่นคือคนผิวสีซึ่งเป็นประชากรหมู่มากของประเทศ ถูกปกครองด้วยคนขาวที่มีจำนวนเพียงหยิบมือ เพียงแต่ระดับของการแบ่งสีผิวของแอฟริกาใต้กลับเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะชัยชนะของพรรคชาตินิยมผิวขาวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้เกิดกฎหมายส่งเสริมการเหยียดสีผิวอย่างเข้มข้นเป็นจำนวนมาก

คนผิวสีในแอฟริกาใต้ช่วงนั้น ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่สามารถใช้สาธารณูปโภค เช่น รถเมล์ โรงเรียน ชายหาด หรือแม้กระทั่งม้านั่งในสวนสาธารณะ ร่วมกับคนผิวขาวได้ คนผิวสีถูกจำกัดเขตที่อยู่อาศัย และถึงขนาดต้องมีสมุดประจำตัวเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่พบหน้า

การกดขี่ทางสีผิวที่ร้ายแรง ส่งผลให้เกิดปฏิกริยาโต้กลับของคนผิวสีเช่นกัน คนผิวสีจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นสู้ แต่ก็ไม่สามารถต่อต้านกับอำนาจรัฐของคนขาวได้ และมักลงท้ายด้วยการถูกจับขังคุก โดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่มักถูกนำตัวไปไว้บนเกาะร็อบเบน เกาะเรือนจำนอกชายฝั่งเมืองเคปทาวน์ (คล้ายกับนักโทษการเมืองบนเกาะตะรุเตาของบ้านเรา) หนึ่งในนักโทษเหล่านั้นมีเนลสัน แมนเดลา แกนนำคนสำคัญของคนผิวสี ซึ่งถูกขังลืมถึง 27 ปี

อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกระหว่างคนในชาติไม่ว่าเรื่องใด ไม่เคยนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง ยิ่งกลุ่มผู้ปกครองผิวขาวเพิ่มมาตรการกดขี่มากเท่าไร ชาวผิวสียิ่งตอบโต้รุนแรงเท่านั้น แอฟริกาใต้พบกับปัญหาจราจล นัดหยุดงานทั่วประเทศ การก่อวินาศกรรม ไปจนถึงกลุ่มติดอาวุธและกองโจร เมื่อรวมกับแรงกดดันจากนานาชาติ ทำให้รัฐบาลผิวขาวต้องยอมผ่อนปรน ปล่อยนักโทษทางการเมือง และยกเลิกมาตรการกดขี่คนผิวสีหลายอย่าง
 

 
เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ของคนผิวสีในปี 1976 ที่เมือง Soweto ผู้เสียชีวิตจากการปราบประมาณ 500 คน

 

ในปี 1990 แมนเดลาออกมาจากคุกที่คุมขัง การเจรจาเริ่มขึ้น แม้ว่าจะล้มเหลวหลายครั้งเพราะความโกรธแค้นของคนผิวสีที่สะสมมาตลอด และความกลัวของคนผิวขาวที่กังวลว่าวิถีชีวิต ความสะดวกสบายของพวกตนที่ดำเนินมายาวนาน จะถูกคนผิวสีมาแย่งชิงมันไป แต่สุดท้ายแล้ว ชาวแอฟริกาใต้ก็ร่วมกันประคับประคองประเทศให้รอดพ้นสถานะรัฐล้มเหลว (failed state) มาได้ การเลือกตั้งครั้งแรกที่ประชากรทุกคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเกิดขึ้นในปี 1994 โดยเนลสัน แมนเดลา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แม้ว่าแมนเดลาจะสามารถชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก เขากลับมีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่รออยู่ นั่นคือประสานรอยร้าวของคนในชาติ ลดความโกรธแค้นและเกลียดชังของคนผิวสี ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเชื่อมั่นต่อคนผิวขาว ซึ่งกุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการปกครองประเทศ

แมนเดลาทำงานนี้ได้สำเร็จ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กุศโลบายที่ใช้ เขาใช้กีฬารักบี้ กีฬายอดนิยมของคนขาว และโอกาสที่แอฟริกาใต้ได้จัดรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 1995 เป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ
 

 
โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์ Invictus

ภาพยนตร์เรื่อง Invictus เริ่มต้นในปี 1994 หนึ่งปีเต็มก่อนรักบี้ชิงแชมป์โลก ทีมชาติแอฟริกาใต้ฉายา “Springboks” ซึ่งใช้ผู้เล่นผิวขาวล้วน และได้สิทธิ์เข้ารอบสุดท้ายอัตโนมัติเพราะเป็นเจ้าภาพ กลับเป็นทีมไร้ฝีมือที่ล้มเหลวในสนามแข่ง ในขณะเดียวกันก็เผชิญกับการคุกคามของคนผิวสีที่เพิ่งได้สิทธิ์ปกครองประเทศ ที่ต้องการเปลี่ยนชื่อและอัตลักษณ์ Springboks ซึ่งเป็นตัวแทนของคนผิวขาวที่พวกเขาเกลียดชัง ให้เป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่คนผิวสีเป็นผู้กำหนดเอง

เรื่องนี้ควรจะเป็นแค่ประเด็นเล็กๆ ในสายตาของ เนลสัน แมนเดลา (แสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน ดาราผิวสีมากฝีมือ) ผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดูสำคัญกว่ามาก แต่เรื่องนี้กลับอยู่ในความสนใจของแมนเดลา เพราะเขามองว่ารักบี้เป็นกีฬาที่คนผิวขาวรักมาก และการเปลี่ยนชื่อ Springboks ถือเป็นการคุกคามคนผิวขาวในเชิงสัญลักษณ์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาเคยมีกำลังจะหายไป

แมนเดลาใช้สิทธิ์ประธานาธิบดียับยั้งการเปลี่ยนชื่อทีม Springboks ได้สำเร็จ ในอีกด้าน เขาเข้าหาและซื้อใจ ฟรังซัวร์ ปีนาร์ (Francois Pienaar) กัปตันรักบี้ทีมชาติ (นำแสดงโดยแมตต์ เดมอน พระเอกจากหนังชุดเจสัน บอร์น) ให้รับรู้ถึงความสำคัญของตัวเองว่า ไม่ใช่แค่นักกีฬารักบี้ กีฬายอดนิยมของคนขาว แต่เป็นตัวแทนความหวังของคนแอฟริกาใต้ทั้งชาติ

Invictus ฉายภาพความขัดแย้งในแอฟริกาใต้ช่วงนั้นให้เราเห็นอย่างชัดเจน ความขัดแย้งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นริมถนนที่เด็กผิวขาวฝึกรักบี้ในสนามหญ้าสวย ตรงข้ามกับลานดินสำหรับเตะฟุตบอลของเด็กผิวสี ไปจนถึงทำเนียบประธานาธิบดีที่ข้าราชการผิวขาวเก็บของย้ายออก ในวันที่ประธานาธิบดีผิวสีเข้าทำงานเป็นวันแรก

แมนเดลาเองนั้นเคยเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของขบวนการผิวสีมาก่อน แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายในห้องขังอันคับแคบ สอนให้เขาเรียนรู้ว่า มีเพียงการรับฟังความต้องการของทุกฝ่าย ที่จะนำพาประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แมนเดลาเริ่มจากการแก้ปัญหาความไม่เชื่อใจกันของเจ้าหน้าที่คุ้มครองประธานาธิบดีฝ่ายผิวสีและผิวขาว ตามมาด้วยกุศโลบายผลักดันให้ทีมรักบี้ผิวขาวไปสัมผัสกับความยากจนข้นแค้นของคนผิวสี (ซึ่งอาศัยอยู่ในสลัมเฉพาะตัว เรียกว่า township คล้ายกับที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง District 9) และสุดท้ายใช้เกมกีฬาระดับโลกเป็น “จุดร่วม” ให้กับคนทั้งชาติ

ทีมรักบี้แอฟริกาใต้ สามารถเอาชนะคู่แข่งที่แสนแข็งแกร่งอย่างนิวซีแลนด์ ก้าวเป็นแชมป์รักบี้โลกในบ้านตัวเอง ยามที่ต้องการชัยชนะอย่างยิ่งยวดได้สำเร็จ จอห์น คาลิน ผู้ประพันธ์ Invictus ฉบับนิยาย ถึงกับเรียกการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศนี้ว่าเป็น “การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอนาคตของชาติ” (Game That Changed a Nation)

 
ภาพประวัติศาสตร์: แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวสี ในชุดทีมชาติ มอบถ้วยรางวัลชนะเลิศให้ ปีนาร์ กัปตันทีมผิวขาว
ถือเป็นการยุติความขัดแย้งอันยาวนานกว่า 50 ปีของแอฟริกาใต้

 

ฟรังซัวร์ ปีนาร์ ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศว่า กำลังใจของพวกเขาไม่ได้มาจากผู้ชมจำนวน 62,000 คนในสนาม Ellis Park Stadium ที่โจฮันเนสเบิร์ก แต่เป็นกำลังใจจากประชากรทั้งหมดของแอฟริกาใต้ 43,000,000 คนต่างหาก

ประสบการณ์ของแมนเดลาและแอฟริกาใต้ อาจสอนบทเรียนบางอย่างให้กับประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในภาวะ “โกรธแค้นและหวาดกลัว” ได้ไม่มากก็น้อย บางที Invictus อาจเป็นภาพยนตร์ที่ควรหามารับชมมากที่สุดในเวลานี้

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ประสบการณ์สร้างความสมานฉันท์ของประเทศแอฟริกาใต้ในโครงการ Mont Fleur Scenario – กระบวนการสร้างความปรองดองของแอฟริกาใต้ ยามที่ประเทศอยู่บนขอบเหว

ทัวร์เกาะร็อบเบน (Robben Island) ตามรอยประวัติศาสตร์การแบ่งแยกผิวสีของแอฟริกาใต้ – พาทัวร์สถานที่จริง เกาะร็อบเบน ที่คุมขังของเนลสัน แมนเดลา

Invictus – จิตวิญญาณผู้ไม่แพ้ โดยคุณ Tinuviel

ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลภาพยนตร์ Invictus จากวิกิพีเดีย
ข้อมูลภาพยนตร์ Invictus จาก IMDB
เว็บไซต์ของทีมรักบี้แอฟริกาใต้ หรือ Springboks
หนังสือ Long Walk to Freedom – อัตชีวประวัติของเนลสัน แมนเดลา
หนังสือ วิถีแมนเดลา (Mandela’s Way) 15 บทเรียนแห่งชีวิต ความรัก และความกล้าหาญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ. โชว์อาวุธ กระสุน-ปืน-ระเบิด อ้างยึดจากสวนลุม-วัดปทุมฯ

Posted: 20 May 2010 12:07 PM PDT

<!--break-->

20 พฤษภาคม เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11 รอ.) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.อ.ทรงพล วัฒนะชัย โฆษกบช.น. และรองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจนครบาล และพ.ต.อ.วิสูตร ฉัตรชัยเดช รองผู้บังคับการจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมบุคคลต้องสงสัย และอาวุธของกลางที่ทาง บช.น. และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ. 1) ตรวจยึดได้ที่สวนลุมพินี วัดปทุมวนาราม และด่านจุดตรวจสกัดต่างๆ ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามบุคคลใดออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม ถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการนำของกลางมาจัดแสดงต่อสื่อมวลชนด้วย อาทิ ปืนเอ็ม 16 ปืนอาก้า เครื่องยิงลูกระสุนปืนต่างๆ ระเบิดเพลิง ระเบิดพริกป่น ถังน้ำมันขนาดต่างๆ ไม้หลาวแหลม ฯลฯ

พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ทหารและตำรวจตรวจพบอุปกรณ์จำนวนมาก น่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้ผลิตอุปกรณ์ก่อเหตุ โดยพบลูกระเบิดทุกรูปแบบที่ประกอบเอง มีสารเคมี 3 แกลลอนใหญ่ผสมกับน้ำมันตกผลึกแล้ว ซึ่งใช้ทำระเบิดได้ ยังพบเอกสารและรูปถ่ายที่เกี่ยวโยงกับคนที่ถูกจับไปแล้ว อีกทั้งการเข้าตรวจพื้นที่ชุมนุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ พบกระสุนปืนเอ็ม 16 ระเบิดเพลิงที่ใส่ตะปูเรือใบ และระเบิดเพลิงที่ใส่สะเก็ดระเบิด บริเวณเตนท์ที่การ์ดเสื้อแดงอยู่

พ.ต.อ.ทรงพลกล่าวว่า บช.น.ตรวจค้นสวนลุมพินีตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่ายของวันที่ 20 พฤษภาคม พบอาวุธปืน เครื่องยิงลูกระสุน หัวกระสุนที่ยังไม่ได้ยิง 18 ลูก เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 18 นัด เครื่องยิงกระสุนเอ็ม 16 จำนวน 259 นัด เครื่องยิงกระสุนปืนเอชเค 47 จำนวน 2 นัด นำส่งไปที่สน. ลุมพินีแล้ว

ในส่วนของสน.ปทุมวันจับกุมผู้ต้องหาร่วมกันปล้นทรัพย์ และฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินได้ 9 ราย พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ เครื่องวิดีโอ สุรา วิทยุ ฯลฯ และจับกุมผู้ต้องหาร่วมกันลักทรัพย์ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าไปลักทรัพย์ร้านจำหน่ายเพชรพลอย ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ และยังจับกุมผู้ฝ่าฝืนก่อเหตุวุ่นวายบริเวณรอบพื้นที่ได้จำนวน 24 รายและได้ส่งตัวไปยังสน.ปทุมวันแล้ว จึงขอให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์มาดูของกลางได้ที่สน.ปทุมวัน

ด้าน พ.ต.อ.วิสูตรกล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ. 1) สภ.บางใหญ่ จ. นนทบุรี ตั้งจุดตรวจบริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ขาเข้า เวลา 01.30 น. พบนายสมนึก แซ่เฮง ขับรถแท็กซี่สีส้มทะเบียน ทย 991 กท. พร้อมมีชาย 2 คนอยู่ในลักษณะมีพิรุธตรวจค้น โดยพบระเบิดรวม 19 ลูก พีบอมบ์ หน้าไม้ ลูกดอก มีดพับ กล้องส่องทางไกล พร้อมผ้าพันคอสีแดง ผ้าโพกศีรษะสีแดงที่มีข้อความว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์ออกไป” ผ้าพันคอสีดำมีข้อความว่า “นักรบ PUCHIDO การ์ดนปช. 53” และของกลางอื่นๆ รวม 17 รายการ จึงจับกุมทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้ง 3 รับสารภาพ ตามข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ปฏิเสธข้อหาอื่นๆ

พ.ต.อ. วิสูตรกล่าวว่าสภ. สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ ตั้งจุดตรวจพบกลุ่มวัยรุ่นใช้รถจักรยานยนต์ มีหน้ากากปิดหน้า และปิดป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ 4 คันใช้ระเบิดเพลิงขว้างเข้าไปที่ หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสำโรงเหนือ ตามจับกุมได้ 1 ราย ให้การสารภาพ ส่วนที่เหลือจะสืบสวนตามจบักมุต่อไป

ก่อนหน้านี้ เวลา 10.30น. วันที่ 20 พ.ค. พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะเข้าตรวจพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามฯ จำนวน 6 ศพ แยกเป็นชาย 5 ศพ หญิง 1 ศพ ทราบชื่อ 1.นายวิชัย มั่นแพ อายุ 61 ปี ชาว จ.นครพนม 2. นายมงคล เข็มทอง อายุ 37 ปี อาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ๋ง 3.นายอัฐชัย ชุมจันทา อายุ 29 ปี ชาวจ.ร้อยเอ็ด 4.นายปลั๊ก (ไม่ทราบชื่อ สกุลจริง ) ผู้ช่วยพยาบาล สวมเสื้อตรากาชาด 5. ผู้ช่วยพยาบาลหญิงชื่อเล่นเกตุ สวมเสื้อตรากาชาด และ6.ชายไม่ทราบชื่อ

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตอยู่ในเต๊นท์แพทย์และพยาบาลถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายยิงใส่ บาดแผลทั้ง 6 ศพไม่ได้เสียชีวิตจากอาวุธชนิดเดียวกันทั้งหมด เพราะ 2 ศพมีรูขนาด 2 เซนติเมตรและไม่ทะลุ ที่เหลือถูกยิงเป็นรูเล็กๆ คล้ายๆ ปืนเอ็ม 16 แต่ยังตอบไม่ได้ ขณะที่อีกศพมีรอยเขม่าที่ท้อง

 

 

.................
ที่มา : มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โจนาธาน สตีล : ทางเลือกประชาธิปไตยไทย

Posted: 20 May 2010 11:07 AM PDT

<!--break-->

 

แปลจาก
What kind of democracy does Thailand want to be?
http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2010/may/17/redshirts-talks-democracy-thailand-monarchy
Jonathan Steele
guardian.co.uk, Monday 17 May 2010 23.00 BST

ทุกบ่ายวันอาทิตย์ ผู้คนจำนวนมากจะมารวมตัวกันนานนับชั่วโมงอยู่ในสวนลุมพินีฯ สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อมาออกกำลังกายเข้าจังหวะกับเสียงเพลงที่กระหึ่มออกมาทางลำโพง หนึ่งนาทีก่อนหกนาฬิกา ร่างชุ่มเหงื่อเหล่านั้นหยุดชะงักลงเหมือนต้องมนต์ คู่หนุ่มสาวที่พลอดรัก ต่างผุดออกมาจากสุมทุมพุ่มไม้ ครอบครัวที่กำลังเล่นฟุตบอลเรียกให้ลูกเตรียมพร้อมตั้งแถว เพราะจากนั้นเพลงชาติไทยที่ดังขึ้นจะสะกดทุกอย่างให้ตกอยู่ภายใต้ภวังค์แห่งความเงียบงัน 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมเห็นภาพเช่นนี้  แต่เมื่อใดที่เห็นก็ยังอดรู้สึกทึ่งกับภาพสัญลักษณ์ของสังคมที่แฝงอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ทันสมัยตระการตาและความรุ่งเรืองทางธุรกิจ แต่โหยหาให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่มีใครหยุดเคารพเพลงชาติที่สวนลุมฯอีกแล้ว และรวมไปถึงเมื่ออาทิตย์ก่อนด้วย สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมืองถูกทิ้งจนเกือบร้าง เพราะอยู่ใกล้กับจุดปะทะระหว่างกองทหารของรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบ

วิกฤตปัจจุบันของประเทศไทยเป็นผลประกอบมาจากหลายด้าน ด้านหนึ่งคือสงครามชนชั้นระหว่างชาวนาจากทางเหนือและอีสานผู้ยากไร้ ซึ่งหวั่นเกรงจะต้องสูญเสียที่ทำกินของตนให้กับธุรกิจการตัดไม้และธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ อีกด้านหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างระบบการเมืองสองแบบ แบบหนึ่งคือระบบการเมืองแบบรวมศูนย์ที่หนุนหลังด้วยกองทัพ บริหารด้วยกลุ่มชนชั้นสูงที่เป็นรอยัลลิสต์ ที่อาศัยมีระบบราชการแบบเก่าเป็นเกราะอ่อนห่อหุ้มเอาไว้ ระบบการเมืองนี้ไม่เคยถูกท้าทายแต่อย่างใดมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ กับคู่ปรปักษ์สำคัญ ได้แก่การเมืองแบบระบบทุนนิยมข้ามชาติ นำโดยอภิมหาเศรษฐีอย่างเช่น ทักษิณ ชินวัตร ผู้เชี่ยวชาญการสร้างความได้เปรียบจากการใช้สื่อโทรทัศน์ที่ตนเป็นเจ้าของ สร้างให้ของประชาชนตื่นตัวในสิทธิขั้นพื้นฐาน และส่งผลทำให้เกิดการรวมตัวของมวลชน

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสลัมกลางเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น อาจดูไม่เห็นชัดเจนเท่าที่เป็นในอินเดีย หรืออินโดนีเซีย หากพิจารณาให้ดีจะสังเกตเห็นแหล่งเสื่อมโทรมและที่พักชั่วคราวของคนยากจนเร่ร่อนที่มีอยู่ทั่วไปกลางเมือง แฝงตัวอยู่อย่างสงบภายใต้ทางด่วนยกระดับอันทันสมัยที่ถักทอปกคลุมใจกลางกรุงเทพมหานคร ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้นอาจดูไม่เห็นเด่นชัด เนื่องจากความยากจนที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่ตามส่วนภูมิภาคของประเทศ แม้มีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมือง แต่สองในสามของของชาวไทยยังคงอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด เกือบครึ่งเป็นผู้มีฐานะยากจน 

ต่างจากการคาดการณ์ของนักวิชาการหลายคน ชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่ในเมืองก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หากชนชั้นกลางเหล่านั้นกลับแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลในการต่อต้านหนทางการปฏิรูปการเมือง ดังจะเห็นได้จากการประท้วงที่เกิดตามท้องถนนที่ผ่านมาไม่นานนี้

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน ณ เวลานี้ คือต้องยอมรับข้อเสนอหยุดยิง และเข้าสู่การเจรจากับกลุ่มเสื้อแดง จริงอยู่ข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่นายกรัฐมนตรีหยิบยื่นให้กับผู้ประท้วงก่อนหน้านี้ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากแกนนำเลือดร้อนปฏิเสธที่จะยกเลิกแนวกั้นรอบพื้นที่ชุมนุม อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ไม่ควรถอนข้อเสนอ และส่งกองทหารเข้าล้อมปราบผู้ชุมนุม นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีแสดงนัยยะสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่า กองทัพยังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการปกครองประเทศ ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถรักษาสัญญาไม่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เพื่อรับมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะรามือ

(กอง บก. ขออนุญาตตัดทอนบางข้อความ) แม้ว่าข้าราชบริพารทั้งหลายจะสร้างภาพว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือการเมืองใดๆ แต่ในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมาในการครองราชย์ของพระองค์ พระเจ้าแผ่นดินให้การรับรองการรัฐประหารที่ทำโดยกองทัพทุกครั้งที่เกิดขึ้น คนไทยน้อยคนนักที่จะกล้าพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย มีการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นฯที่เข้มงวด ทำให้เว็บและบล็อกจำนวนมากมายต้องปิดตัวลง ผู้ที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการนี้ต้องถูกจับกุม บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเดินเข้าสู่ระบบการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตยรัฐสภา

พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่โรงพยาบาลตั้งแต่กันยายนที่ผ่านมา การไม่ได้ปรากฏพระองค์บ่อยครั้ง ทำให้เกิดสูญญากาศที่ควรมีการเติมเต็มด้วยการเตรียมการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่มีรัฐบาลสมานฉันท์มาเป็นผู้ควบคุมกระบวนการ ขณะเดียวกันควรจัดให้มีคณะกรรมาธิการดูแลลดทอนบทบาทราชวงศ์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ สาละวนกับการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตนานาชาติวางมือจากการพยายามเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศไทย ท้ายที่สุดแล้วก็คือรัฐมนตรีผู้นี้นี่เอง ที่ได้ทำให้คำพูดที่คนไทยหลายคนได้เคยพูดกันแบบลับๆ มาเป็นคำชี้แจงอย่างเป็นทางการในการแสดงสุนทรพจน์ที่ The School of Advanced International Studies ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่เมืองบัลติมอร์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายกษิต ภิรมย์ แถลงว่า “การที่บุคคลทั่วไปพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางบวกของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่เมื่อ สิบห้าหรือยี่สิบปีก่อน ที่นักการเมืองจะมาจากกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองมืออาชีพ หรือนักการทหารมืออาชีพบางกลุ่ม”

นายกษิต กล่าวต่อไปว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ และบรรลุถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างระบบที่มีตัวแทนโดยตรง คล้ายคลึงที่ใช้ในประเทศลิคเทนไสตน์หรือสวิสเซอร์แลนด์ กับระบบรัฐสภาแบบสหราชอาณาจักร”

และแล้วนายกษิต ภิรมย์ ก็ปล่อยไม้ตาย โดยปราศรัยต่อไปว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า เราควรแสดงความกล้าที่จะก้าวผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไป แม้แต่การพูดถึงเรื่องต้องห้ามอย่างเช่น สถาบันกษัตริย์...พวกเราควรอภิปราย : ว่าประชาธิปไตยแบบใดกันแน่ที่เราต้องการ?” พูดได้ดี พูดได้ดี คุณกษิต เริ่มด้วยการเปลี่ยนเรื่องจากเหตุหลั่งเลือดชะโลมกรุง ไปถึงให้ชาวไทยหยุดเคลื่อนไหว ถือขันติ และทำตัวเป็นใบ้ ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนถึงจุดจบของวันอาทิตย์ ที่สวนลุมพินีฯ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดันแคน แม็คคาร์โก : พระราชดำรัส อาจไม่พอ

Posted: 20 May 2010 10:49 AM PDT

<!--break-->

แปลจาก
Thailand protests may prove royal words are no longer be enough
Duncan McCargo
http://www.guardian.co.uk/world/2010/may/17/analysis-thai-king-redshirt-protest
guardian.co.uk
 

ในปี 1992/2535 บทบาทของพระเจ้าแผ่นดินในการไกล่เกลี่ยความแตกแยก มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในวันนี้ วันที่ที่ต่างฝ่ายไม่มีจุดหมายร่วมกันดังเช่นเมื่อ 18 ก่อน สถานการณ์คงต่างกันออกไป

ผู้สังเกตการณ์การเมืองไทยหลายคน เชื่อว่ารูปแบบการเมืองไทยถูกกำหนดโดยสองบุคคลผู้ทรงอิทธิพล ที่ถูกมองภาพผิดๆ อย่าง สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และจำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เมื่อเข้าเฝ้าในปี 1992/2535 ทั้งสองต้องนั่งบนพื้นต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงแนะนำให้นายพลทั้งสองยุติความขัดแย้งฉันมิตร โดยก่อนหน้าที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าแทรกแซงนั้น ประชาชนหลายสิบ ซึ่งส่วนมากคือผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธได้ถูกฆ่าระหว่างการประท้วงกลางท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่คนจำนวนมากเห็นว่าไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศ สี่วันต่อมาหลังการเข้าเฝ้า พลเอกสุจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 1991/2534 ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งคล้ายพยากรณ์ว่า “จะมีแต่ผู้แพ้” อนาคตในอาชีพของสุจินดาก็เป็นอันปิดฉากลง ผมเห็นสุจินดา สองสามปีหลังจากนั้น ดูคล้ายคนหมดอาลัยตายอยาก ใส่สูทยับยู่ยี่ กำลังขึ้นเครื่องการบินไทยไปลอนดอน ส่วนสำหรับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือ จำลอง ผู้เป็นเหมือนครึ่งฆราวาสครึ่งฤาษี ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูง มาบัดนี้หนทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาก็ได้ถูกตอกตะปูปิดตายอย่างถาวร

ยอดผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงไม่แพ้ยอดผู้ตายเมื่อเดือนพฤษภาคม 1992/2535 แล้วเหตุไฉนพระเจ้าอยู่หัวจึงยังไม่ทรงเข้าแทรกแซง?

ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่พระเจ้าอยู่หัวจะออกมาตำหนิผู้คนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ การออกมาให้คำตักเตือนของพระเจ้าอยู่หัวถือเป็นไม้สุดท้าย โดยผู้ได้รับการตักเตือนนั้นจำต้องก้มหน้ารับด้วยความนอบน้อม และกลับออกไปโดยไม่มีข้อบิดพลิ้ว ทว่าการตักเตือนเช่นนั้นกำลังหมดความหมายลงไปพร้อมๆ กับความสำคัญของสถาบันฯเอง สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสเสี่ยงสูงมาก ณ วันนี้ คงยังตอบไม่ได้ว่า แกนนำผู้ประท้วงเสื้อแดงจะมีปฏิกริยาอย่างไรหากถูกเรียกให้เข้าเฝ้า

ในทางปฎิบัติ การแทรกแซงของราชวงศ์มักเกิดขึ้นอยู่หลังฉาก และการแทรกแซงจะเป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายของราชวงศ์ แต่มิใช่โดยพระบรมวงศานุวงศ์ เครือข่ายราชวงศ์นี้ประกอบผู้คนหลายฝ่ายซึ่งมีทั้งข้าราชบริพาร สถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน และผู้ที่ทำงานอิสระ คนเหล่านี้ไม่มีสายด่วนต่อตรงถึงสำนักพระราชวัง แต่ก็เป็นกลุ่มที่คนที่เชื่อว่า (หรือตนเองเชื่อว่า) การกระทำใดๆ ที่ได้ดำเนินการไป ล้วนเพื่อผลประโยชน์ของราชวงศ์ทั้งสิ้น เมื่อเดือนเมษายน 2006/2549 พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ทรงเข้าแทรกแซงการเมืองโดยตรง แต่กลับมีกระแสรับสั่งสนับสนุนให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองแทน

จากวันนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ตุลาการภิวัฒน์ ที่ฝ่ายตุลาการเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างชัดแจ้ง ศาลสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ยุบพรรคการเมือง และสั่งห้ามนักการเมืองกว่าร้อยคนออกจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลาถึงห้าปี

ทางเลือกอีกทางนอกจากการเข้าแทรกแซงการเมืองของฝ่ายตุลาการ ก็คือรัฐประหารปี 2006/2549 ทางนี้ได้นำความหายนะมาสู่การเมืองไทย ทั้งการรัฐประหารก็มิได้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก นั่นคือความพยามในการลดทอนความนิยมอย่างยิ่งยวดของประชาชนที่มีต่อ ทักษิณ ชินวัตร  

ในทางกลับกัน รัฐประหารครั้งนี้กลับสร้างความร้าวฉาน และความแตกแยกแบ่งพรรค แบ่งสี ระหว่างกลุ่มผู้นิยมทักษิณ และกลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณ  ในปัจจุบันการไกล่เกลี่ยได้ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ขององค์ประกอบอื่นๆ ของรัฐ  ขณะที่เมื่อปี 1992/2535 พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวดูจะสอดคล้องกับความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ว่า สุจินดาต้องไป—และ จำลองทำเกินไปแล้ว—18 ปีให้หลัง ไม่มีจุดยืนร่วมกันเช่นนั้นอีกต่อไป แผลเป็นรอยใหญ่ บากลึกคั่นกลางสังคมของกลุ่มเสื้อแดงผู้สนับสนุนทักษิณ และกลุ่มเสื้อเหลืองที่เชิดชูสถาบันฯ พระราชดำรัสใดก็คงไม่สามารถใช้เป็นโอสถวิเศษ เยียวยาแผลเป็นรอยนี้ ให้หายได้โดยง่าย

 

 

................................................
ดันแคน แมคคาร์โก เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชีย ประจำอยู่ ณ University of Leeds และเป็นผู้แต่งหนังสือ Tearing Apart the Land: Islam Legitimacy in Southern Thailand (Cornell University Press) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล the inaugural 2009 Bernard Schwartz prize จาก the Asia Society.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปากคำ : นักข่าวออสเตรเลียหลบภัยอยู่ในวัดกลางกรุงเทพฯ

Posted: 20 May 2010 09:37 AM PDT

<!--break-->

เมื่อคืนนี้ (19 พ.ค. 2553) สตีฟ ทิคเนอร์ ช่างภาพออสเตรเลีย ได้หลบภัยเข้าไปอยู่ในวัดที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางการปะทะกลางใจกลางเมืองระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารไปประมาณ 100 เมตร (วัดปทุมวนารามฯ)

ทิคเนอร์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน เมื่อคืน ท่ามกลางเสียงปืนและเสียงระเบิดว่า "คลื่นคนตายและผู้บาดเจ็บ" พยายามหาทางเข้าสู่วัด ที่เขาหลบภัยร่วมกับผู้ประท้วงเสื้อแดง และนักข่าวชาวอังกฤษ

ทิคเนอร์ยังบอกอีกว่า ส่วนมากที่เข้าหลบภัยเป็นผู้หญิง และยังมีนักข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามอีกคนถูกสะเก็ดระเบิดที่บริเวณบั้นท้าย

เขายังบอกว่า "เสื้อแดงที่มาที่นี่โดยส่วนมากไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์"

ทิคเนอร์เป็นนักข่าวจาก ‘นิวคาสเซิล’ ที่อยู่ทางค่อนไปทางเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้เดินทางไปกรุงเทพจากติมอร์ตะวันออกเมื่อวันอาทิตย์เพื่อทำข่าวการชุมนุม

เขาบอกว่าเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เขาเห็นผู้ชายคนหนึ่งโดนยิงจากทหารแค่ไม่กี่เมตรจากวัด

"ผมเห็นกระสุนพุ่งทะลุร่างคนนั้นออกมาจากหน้าอกและคนนั้นก็ล้มลง"

เมื่อเขาและพระพยายามจะเข้าไปช่วย พวกเขาก็ถูกยิงใส่ "พวกนั้นรู้ว่าผมเป็นนักข่าวต่างประเทศ จากกล้องของผม" เขากล่าว 

"พวกเราเป็นห่วงว่าคนที่ถูกยิงที่นอนอยู่บนฟุตบาทจะตายจากการเสียเลือด เราจะทิ้งเขาไว้เฉยๆ ไม่ได้"

ทิคเนอร์กล่าวต่อไปว่า เขากับพระได้ช่วยผู้ชายคนนั้นเข้าไปในวัด แต่สุดท้ายก็ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้

"อย่างน้อยมีคนตายแล้ว 6 คนในวัด" เขากล่าว

"คนถูกยิงเรื่อยๆ และเสียงระเบิดก็ดังไม่หยุด"

ทิคเนอร์ยังกล่าวว่า ความรู้สึกคนในวันนั้นเศร้ามาก ทุกคน "กระวนกระวาย กลัว และประสาทเสีย"

เขาเองก็กลัวว่าจะโดนยิงทันทีถ้าเขาออกไปพ้นบริเวณวัด

"มีทั้งรถถัง และพลซุ่มยิงอยู่ที่นั้น ทุกอย่างสับสนและบ้าคลั่งไปหมด"

กองทัพไทยได้ประกาศเมื่อคืนว่า สถานการณ์สามารถควบคุมไว้ได้แล้ว และปฏิบัติการทางทหารได้ยุติลง

แต่ทิคเนอร์บอกว่า เขาไม่แน่ใจว่าวันนี้จะหยุดยิง

เขาบอกว่า ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ประชาชนหลายกลุ่มจะไม่มี น้ำ และไฟฟ้าใช้ รวมถึงจะไม่มีอาหารกินด้วย

 

.........................
แปลจาก :
http://www.theaustralian.com.au/news/world/australian-reporter-hides-out-in-bangkok-temple/story-e6frg6so-1225868915779ai 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมาพันธ์ ศรีเทพ’ เสี้ยวหนึ่งของความทรงจำกับความฝันในวัยเยาว์

Posted: 20 May 2010 08:52 AM PDT

เขียนรำลึก 'สมาพันธ์ ศรีเทพ' อายุ 17 ปี ผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงที่ราชปรารภ

<!--break-->

ผมไม่ได้รู้จักกับสมาพันธ์ ศรีเทพเป็นการส่วนตัวเราเคยคุยกันไม่กี่ครั้งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษาปีสี่ที่ฝันคุกรุ่น แต่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ วัยเพียง 14 ปี หลายท่านที่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว อาจจะบอกว่าเด็กคนนี้ไม่เหมือนเด็ก 14 ทั่วไป แน่นอนล่ะเขาอยู่กับผู้ใหญ่ ถกเถียงกับผู้ใหญ่ การคิดการวางตัวของเขาดูจะเกินเด็กไป แต่สำหรับผมแล้วเขาคือเด็กอายุ 14 ที่ปกติที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จักมา ต้องวัยเท่าไรที่เราจะตั้งคำถามกับโลก อายุเท่าไรถึงสมควรที่จะถกเถียงกับตรรกะของยุคสมัยก่อนหน้านั้น ถ้าไม่ใช่วัยสิบสี่ปี....ผมศรัทธาในการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่เสมอ ศรัทธาในกบฏตัวน้อยๆ ที่หาญกล้าเปลี่ยนโลก คงเป็นเหตุผลหนึ่งหลังได้ตราประทับปริญญาว่าเป็นสุนัขชั้นดี ผมเลือกอาชีพแรกที่จะเป็นครู

ย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ผมและรุ่นน้องกลุ่มกิจกรรมในคณะจัดค่ายไปเรียนรู้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน มีเด็กมัธยมปลายเป็นลูกค่าย ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง เฌอไม่ได้เป็นลูกค่าย...เขามากับพ่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ที่ค่ายนี้ก็เหมือนกับค่ายอาสาพัฒนาทั่วไป เราแลกเปลี่ยนความทรงจำในอดีต และสัญญาจะมีความทรงจำในอนาคตร่วมกัน ที่นั่นมันได้จุดไฟฝันให้หลายคน “เขื่อนสาละวิน”เขื่อนยักษ์ที่จะกลืนกินทุกอย่าง เป็นภาพสะท้อนการพัฒนาจากส่วนกลางที่ละเลยปัญหาจากส่วนอื่น แน่นอนละเราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องเขื่อน แต่มันขยายรวมถึงการตั้งคำถามต่อทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา...ในวัย 22 ที่กำลังจะเผชิญกับโลกทุนนิยมที่เปราะบางในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นับถึงวันนี้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ผมรู้สึกใกล้เคียงที่สุดว่า “เราสามารถเปลี่ยนโลก”ได้

ผ่านจากวันนั้นมาราวสามปีแล้ว นานพอที่จะทำให้เชื่อว่าค่ายสาละวินไม่ใช่เพียงแค่ค่ายหลอกเด็กปลุกระดมตามที่คนนอกมอง หากแต่มันปวดร้าวที่ว่ามันเป็นค่ายหลอกตัวเองของผู้จัดด้วย ในวัยยี่สิบห้าหลังจากเริ่มอาชีพเป็นครูที่โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง ในสถานที่เดิมปัจจุบันผมกลายเป็นคนรับจ้างสอนในบริษัทการศึกษา แม้จะทำงานเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ภาระในชีวิตที่มีหลังเรียนจบ ทำให้สนิมชนชั้นกลางเริ่มเกาะรอบกาย ผมขายวิญญาณตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอดในโลกทุนนิยม เพื่อรับเศษเงินของนายทุนมาประทังชีพ คืนเนื้อหนังมังสาให้ตัวเองออกไปรับใช้ระบบทุนนิยมต่อไป

ในที่ทำงานแห่งนี้ผมเคยเจออดีตนักกิจกรรมที่เคยทำงานร่วมกันมาเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน เราคุยกันถึงเรื่องวันวานกันอย่างออกรสชาติ แต่ครั้นผมถามเธอว่าทำไมถึงเลิกทำ ทำไมถึงหายไปเสีย เธอยิ้มแห้งๆ ก่อนจะบอกไปว่า “เราเหนื่อย...เหนื่อยที่จะเฝ้ารอว่าโลกพรุ่งนี้จะดีขึ้นกว่าวันนี้” เธอพูดได้ถูกทีเดียว...แม้เราอาจไม่ต้องลงแรงหามรุ่งหามค่ำแบบอดีต พคท. แต่แค่เฝ้ารอมันก็เหนื่อยเหลือเกิน ด้วยวัยขนาดนี้ ผมเริ่มรู้สึกว่า เราต้องเริ่มจัดลำดับความฝันว่าอะไรเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ความเจ็บปวดของคนวัยเท่านี้เห็นจะไม่พ้นการที่พบว่า ความฝันตั้งแต่ช่วงอายุ 18-25 ปี ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็นไปได้เลย

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ผมคงไม่สามารถพูดได้ว่าผมเป็นกลางทางการเมือง เรามีสติที่จะแยกแยะว่าเกิดอะไรขึ้น ในยุคสมัยที่นักสันติวิธีทั้งหลายทำตัวอย่างน่าอัปยศ อาจารย์มหาวิทยาลัยทรยศอุดมการณ์อย่างน่าละอาย พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน ผมเห็นเฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ ในโทรทัศน์และภาพข่าวบ่อยครั้ง เขาไม่ได้เป็นแกนนำบนเวที เขาเป็นมวลชนคนหนึ่งที่อยู่แถวหน้า เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเฌอมีข้อถกเถียงกับครอบครัวเรื่องการเมือง สาเหตุหนึ่งในการเข้าร่วมชุมนุมคือเขาอยากใกล้ชิดชนชั้นรากหญ้า แม้จะเติบโตมาในครอบครัวนักกิจกรรมและคนรอบกายก็มีแต่นักกิจกรรม เขายังเลือกที่จะเดินทางออกแสวงหาบางอย่างที่มากกว่าแค่ทฤษฎี และเรื่องราวจากประสบการณ์ของยุคสมัยก่อนหน้าเขา

ผมทำงานกับเยาวชนมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน หลายคนมีแววตาที่เป็นประกายและพร้อมที่จะตั้งคำถามกับทุกความอยุติธรรมในโลก แต่ไม่นานนักระบบทุนนิยมและการแข่งขันก็ซัดกลืนพวกเขาราวกับสึนามิ เมื่อเกลียวคลื่นคลายผมก็มักจะเห็นเพียงแค่สุนัขพันธุ์ดีพร้อมปลอกคอสวย สายจูงที่จะลากพวกเขาไปทางใดก็ได้ สังคมชนชั้นกลางโดยมากพร่ำสอนแต่เรื่องการแข่งขันและการนึกถึงแต่ตัวเอง การเหยียบหัวชาวบ้านขึ้นไปป่าวประกาศชัยชนะของตัวเอง...หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ราชปรารภ...เฌอ จะเป็นตัวอย่างที่ผมจะยกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อผมต้องสอนคนรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ที่คิดแต่เรื่องกระเป๋าหลุยส์ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ซัมเมอร์ที่อังกฤษ และการเอ็นทรานซ์เข้าคณะในฝันที่งานสบายและเงินเยอะ

นับจากวันที่สิบเมษา การตายของมวลชนเสื้อแดงแทบจะเป็นเรื่องปกติ จะว่าไปการตายของคนจนในประเทศที่มีแต่การกดขี่เหลื่อมล้ำก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ซ้ำร้ายกว่านั้น กระแสเสื้อแดงสมควรตาย หรือดิ้นรนมาตายเองก็แพร่ระบาดในสำนึกของชนชั้นกลางที่เปราะบาง คนเหล่านี้หมกมุ่นแต่กับวิถีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นกลาง คลิปวิดีโอผู้ดีสีลมกระทืบมวลชนเสื้อแดงเพราะทำให้รถติดเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกมาหลายวัน ว่าคนเราสามารถฆ่าแกงกันได้เพราะแค่รถติดกับห้างปิด เท่านั้นเองหรือ

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึง กรณีเขื่อนสาละวิน....เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถามพ่อใหญ่จากบ้านสบเมยว่า หากสร้างเขื่อนแล้วจะมีผลเสียคิดเป็นมูลค่าเท่าไร...ทางรัฐจะชดเชยให้ วันนั้นพ่อใหญ่งงเป็นไก่ตาแตก พ่อใหญ่ไม่เคยนั่งคำนวณ ว่าสายน้ำที่จะหายไปมีมูลค่าเท่าไร ฝูงปลาที่หมู่บ้านจับกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษนี่มันมูลค่าเท่าไร เรือกสวนไร่นาที่ไม่เคยมีนายทุนที่ไหนมากว้านซื้อมีมูลค่าเท่าไร..พ่อใหญ่ไม่เคยคิด และคงไม่เคยคิดว่าจะมีคนมานั่งคิด ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้มันสามารถตีค่าได้ด้วยหรือ? เช่นเดียวกัน ถนน ตลาดหุ้น ห้างสรรพสินค้า พ่วงด้วยกระสุนปืน มันมีค่าแก่การทวงคืนเทียบเท่ากับ ความฝันและชีวิตที่ค้างเติ่ง ของเฌอ ได้หรือไม่....

ความตายไม่ใช่เรื่องโรแมนติก ยิ่งใหญ่หรือสวยงามเลย คำบอกเล่าภาพเหตุการณ์การเสียชีวิตของเฌอ ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกในหัวของผมราวกับเห็นมาด้วยตา สำหรับวัย17ปีของเฌอคงมีโลกหลายใบของเขาอยู่ในความคิดของเขา...โลกที่สันติ เท่าเทียม ปราศจากความรุนแรง โลกที่ใส่ใจกับรากหญ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศ....ที่สำคัญมันไม่ใช่โลกใบผุๆ ที่เราอยู่กันในวันนี้ โลกแห่งความเห็นแก่ตัว แก่งแย่ง และดูถูกดูแคลนชนชั้นล่าง

เสียงปืนยังคงดังต่อเนื่อง อีกหลายชีวิตที่ปลิดปลิว พร้อมกระแสสดุดีจากชนชั้นกลางอำมหิตและไร้ความคิด ผมเลิกงาน หอบชีวิต และความฝันที่ผุกร่อนตามกาลเวลากลับบ้าน คิดถึงความฝันในวัยเยาว์ของตัวเอง ของเฌอ และของหลายคน ที่จางหายไปกับสังคมที่หยามหมิ่นจิตวิญญาณของพวกเรา

ปล.กลอนนี้แต่งให้แก่ค่ายสาละวิน พื้นที่สุญญากาศแห่งอำนาจอธิปไตย เมื่อปี 2550 อุทิศแด่ เฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ จากพี่ๆ ชาวค่ายทุกคน 

“ลองคิดดูง่ายง่ายสหายเรา
พรุ่งนี้เจ้าตื่นมาเจอโลกใหม่
โลกพรุ่งนี้ไม่มีประเทศไทย
ลาวพม่าไทยใหญ่ก็ไม่มี
ไร้ประเทศขอบขันธสีมา
โขงธาราทิวเขาตะนาวศรี
เขาบรรทัดสันกาลาคีรี
ก็ล้วนผืนธรณีดินเดียวกัน
ไม่ต้องพลีชีพเราเพื่อชาติไหน
ไม่ต้องฆ่าใครใครเพื่อชาติฉัน
สิ้นสยบรบราและฆ่าฟัน
สิ้นสงครามหยามหยันจิตวิญญาณ
โลกพรุ่งนี้ไม่มีศาสนา
ศาสดาคือตัวเราที่ขับขาน
ไร้ภพหน้าพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน
ไร้ตำนานปลอมแปลกให้แตกไป
เราจะสร้างสวรรค์สันติภาพ
ไร้ซึ่งความหยามหยาบและเหลวไหล
ไร้ซึ่งความแตกต่างและห่างไกล
จะรวมใจดังพี่น้องร่วมท้องมา
เธออาจมองว่าฉันดูฝันเฟื่อง
ให้เป็นเรื่องนักฝันอย่าถือสา
โลกใบใหม่ง่ายๆ ธรรมดา
ขอเพียงเธอเมตตาลองคิดดู”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาพันธ์ ศรีเทพ เสี้ยวหนึ่งของความทรงจำกับความฝันในวัยเยาว์

Posted: 20 May 2010 08:48 AM PDT

<!--break-->

 

ผมไม่ได้รู้จักกับสมาพันธ์ ศรีเทพเป็นการส่วนตัวเราเคยคุยกันไม่กี่ครั้งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษาปีสี่ที่ฝันคุกรุ่น แต่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ วัยเพียง 14 ปี หลายท่านที่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว อาจจะบอกว่าเด็กคนนี้ไม่เหมือนเด็ก 14 ทั่วไป แน่นอนล่ะเขาอยู่กับผู้ใหญ่ ถกเถียงกับผู้ใหญ่ การคิดการวางตัวของเขาดูจะเกินเด็กไป แต่สำหรับผมแล้วเขาคือเด็กอายุ 14 ที่ปกติที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จักมา ต้องวัยเท่าไรที่เราจะตั้งคำถามกับโลก อายุเท่าไรถึงสมควรที่จะถกเถียงกับตรรกะของยุคสมัยก่อนหน้านั้น ถ้าไม่ใช่วัยสิบสี่ปี....ผมศรัทธาในการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่เสมอ ศรัทธาในกบฏตัวน้อยๆ ที่หาญกล้าเปลี่ยนโลก คงเป็นเหตุผลหนึ่งหลังได้ตราประทับปริญญาว่าเป็นสุนัขชั้นดี ผมเลือกอาชีพแรกที่จะเป็นครู

ย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้ว ผมและรุ่นน้องกลุ่มกิจกรรมในคณะจัดค่ายไปเรียนรู้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน มีเด็กมัธยมปลายเป็นลูกค่าย ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง เฌอไม่ได้เป็นลูกค่าย...เขามากับพ่อซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ที่ค่ายนี้ก็เหมือนกับค่ายอาสาพัฒนาทั่วไป เราแลกเปลี่ยนความทรงจำในอดีต และสัญญาจะมีความทรงจำในอนาคตร่วมกัน ที่นั่นมันได้จุดไฟฝันให้หลายคน “เขื่อนสาละวิน”เขื่อนยักษ์ที่จะกลืนกินทุกอย่าง เป็นภาพสะท้อนการพัฒนาจากส่วนกลางที่ละเลยปัญหาจากส่วนอื่น แน่นอนละเราไม่ได้คุยกันแค่เรื่องเขื่อน แต่มันขยายรวมถึงการตั้งคำถามต่อทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา...ในวัย 22 ที่กำลังจะเผชิญกับโลกทุนนิยมที่เปราะบางในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นับถึงวันนี้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ผมรู้สึกใกล้เคียงที่สุดว่า “เราสามารถเปลี่ยนโลก”ได้

ผ่านจากวันนั้นมาราวสามปีแล้ว นานพอที่จะทำให้เชื่อว่าค่ายสาละวินไม่ใช่เพียงแค่ค่ายหลอกเด็กปลุกระดมตามที่คนนอกมอง หากแต่มันปวดร้าวที่ว่ามันเป็นค่ายหลอกตัวเองของผู้จัดด้วย ในวัยยี่สิบห้าหลังจากเริ่มอาชีพเป็นครูที่โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง ในสถานที่เดิมปัจจุบันผมกลายเป็นคนรับจ้างสอนในบริษัทการศึกษา แม้จะทำงานเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ภาระในชีวิตที่มีหลังเรียนจบ ทำให้สนิมชนชั้นกลางเริ่มเกาะรอบกาย ผมขายวิญญาณตัวเองเพื่อให้มีชีวิตรอดในโลกทุนนิยม เพื่อรับเศษเงินของนายทุนมาประทังชีพ คืนเนื้อหนังมังสาให้ตัวเองออกไปรับใช้ระบบทุนนิยมต่อไป

ในที่ทำงานแห่งนี้ผมเคยเจออดีตนักกิจกรรมที่เคยทำงานร่วมกันมาเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน เราคุยกันถึงเรื่องวันวานกันอย่างออกรสชาติ แต่ครั้นผมถามเธอว่าทำไมถึงเลิกทำ ทำไมถึงหายไปเสีย เธอยิ้มแห้งๆ ก่อนจะบอกไปว่า “เราเหนื่อย...เหนื่อยที่จะเฝ้ารอว่าโลกพรุ่งนี้จะดีขึ้นกว่าวันนี้” เธอพูดได้ถูกทีเดียว...แม้เราอาจไม่ต้องลงแรงหามรุ่งหามค่ำแบบอดีต พคท. แต่แค่เฝ้ารอมันก็เหนื่อยเหลือเกิน ด้วยวัยขนาดนี้ ผมเริ่มรู้สึกว่า เราต้องเริ่มจัดลำดับความฝันว่าอะไรเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ความเจ็บปวดของคนวัยเท่านี้เห็นจะไม่พ้นการที่พบว่า ความฝันตั้งแต่ช่วงอายุ 18-25 ปี ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็นไปได้เลย

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ผมคงไม่สามารถพูดได้ว่าผมเป็นกลางทางการเมือง เรามีสติที่จะแยกแยะว่าเกิดอะไรขึ้น ในยุคสมัยที่นักสันติวิธีทั้งหลายทำตัวอย่างน่าอัปยศ อาจารย์มหาวิทยาลัยทรยศอุดมการณ์อย่างน่าละอาย พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน ผมเห็นเฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ ในโทรทัศน์และภาพข่าวบ่อยครั้ง เขาไม่ได้เป็นแกนนำบนเวที เขาเป็นมวลชนคนหนึ่งที่อยู่แถวหน้า เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเฌอมีข้อถกเถียงกับครอบครัวเรื่องการเมือง สาเหตุหนึ่งในการเข้าร่วมชุมนุมคือเขาอยากใกล้ชิดชนชั้นรากหญ้า แม้จะเติบโตมาในครอบครัวนักกิจกรรมและคนรอบกายก็มีแต่นักกิจกรรม เขายังเลือกที่จะเดินทางออกแสวงหาบางอย่างที่มากกว่าแค่ทฤษฎี และเรื่องราวจากประสบการณ์ของยุคสมัยก่อนหน้าเขา

ผมทำงานกับเยาวชนมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน หลายคนมีแววตาที่เป็นประกายและพร้อมที่จะตั้งคำถามกับทุกความอยุติธรรมในโลก แต่ไม่นานนักระบบทุนนิยมและการแข่งขันก็ซัดกลืนพวกเขาราวกับสึนามิ เมื่อเกลียวคลื่นคลายผมก็มักจะเห็นเพียงแค่สุนัขพันธุ์ดีพร้อมปลอกคอสวย สายจูงที่จะลากพวกเขาไปทางใดก็ได้ สังคมชนชั้นกลางโดยมากพร่ำสอนแต่เรื่องการแข่งขันและการนึกถึงแต่ตัวเอง การเหยียบหัวชาวบ้านขึ้นไปป่าวประกาศชัยชนะของตัวเอง...หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ราชปรารภ...เฌอ จะเป็นตัวอย่างที่ผมจะยกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อผมต้องสอนคนรุ่นราวคราวเดียวกับเขา ที่คิดแต่เรื่องกระเป๋าหลุยส์ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ซัมเมอร์ที่อังกฤษ และการเอ็นทรานซ์เข้าคณะในฝันที่งานสบายและเงินเยอะ

นับจากวันที่สิบเมษา การตายของมวลชนเสื้อแดงแทบจะเป็นเรื่องปกติ จะว่าไปการตายของคนจนในประเทศที่มีแต่การกดขี่เหลื่อมล้ำก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ซ้ำร้ายกว่านั้น กระแสเสื้อแดงสมควรตาย หรือดิ้นรนมาตายเองก็แพร่ระบาดในสำนึกของชนชั้นกลางที่เปราะบาง คนเหล่านี้หมกมุ่นแต่กับวิถีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นกลาง คลิปวิดีโอผู้ดีสีลมกระทืบมวลชนเสื้อแดงเพราะทำให้รถติดเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกมาหลายวัน ว่าคนเราสามารถฆ่าแกงกันได้เพราะแค่รถติดกับห้างปิด เท่านั้นเองหรือ

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึง กรณีเขื่อนสาละวิน....เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถามพ่อใหญ่จากบ้านสบเมยว่า หากสร้างเขื่อนแล้วจะมีผลเสียคิดเป็นมูลค่าเท่าไร...ทางรัฐจะชดเชยให้ วันนั้นพ่อใหญ่งงเป็นไก่ตาแตก พ่อใหญ่ไม่เคยนั่งคำนวณ ว่าสายน้ำที่จะหายไปมีมูลค่าเท่าไร ฝูงปลาที่หมู่บ้านจับกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษนี่มันมูลค่าเท่าไร เรือกสวนไร่นาที่ไม่เคยมีนายทุนที่ไหนมากว้านซื้อมีมูลค่าเท่าไร..พ่อใหญ่ไม่เคยคิด และคงไม่เคยคิดว่าจะมีคนมานั่งคิด ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้มันสามารถตีค่าได้ด้วยหรือ? เช่นเดียวกัน ถนน ตลาดหุ้น ห้างสรรพสินค้า พ่วงด้วยกระสุนปืน มันมีค่าแก่การทวงคืนเทียบเท่ากับ ความฝันและชีวิตที่ค้างเติ่ง ของเฌอ ได้หรือไม่....

ความตายไม่ใช่เรื่องโรแมนติก ยิ่งใหญ่หรือสวยงามเลย คำบอกเล่าภาพเหตุการณ์การเสียชีวิตของเฌอ ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกในหัวของผมราวกับเห็นมาด้วยตา สำหรับวัย17ปีของเฌอคงมีโลกหลายใบของเขาอยู่ในความคิดของเขา...โลกที่สันติ เท่าเทียม ปราศจากความรุนแรง โลกที่ใส่ใจกับรากหญ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศ....ที่สำคัญมันไม่ใช่โลกใบผุๆ ที่เราอยู่กันในวันนี้ โลกแห่งความเห็นแก่ตัว แก่งแย่ง และดูถูกดูแคลนชนชั้นล่าง

เสียงปืนยังคงดังต่อเนื่อง อีกหลายชีวิตที่ปลิดปลิว พร้อมกระแสสดุดีจากชนชั้นกลางอำมหิตและไร้ความคิด ผมเลิกงาน หอบชีวิต และความฝันที่ผุกร่อนตามกาลเวลากลับบ้าน คิดถึงความฝันในวัยเยาว์ของตัวเอง ของเฌอ และของหลายคน ที่จางหายไปกับสังคมที่หยามหมิ่นจิตวิญญาณของพวกเรา

ปล.กลอนนี้แต่งให้แก่ค่ายสาละวิน พื้นที่สุญญากาศแห่งอำนาจอธิปไตย เมื่อปี 2550 อุทิศแด่ เฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ จากพี่ๆ ชาวค่ายทุกคน

“ลองคิดดูง่ายง่ายสหายเรา      พรุ่งนี้เจ้าตื่นมาเจอโลกใหม่
โลกพรุ่งนี้ไม่มีประเทศไทย      ลาวพม่าไทยใหญ่ก็ไม่มี
ไร้ประเทศขอบขันธสีมา          โขงธาราทิวเขาตะนาวศรี
เขาบรรทัดสันกาลาคีรี             ก็ล้วนผืนธรณีดินเดียวกัน
ไม่ต้องพลีชีพเราเพื่อชาติไหน ไม่ต้องฆ่าใครใครเพื่อชาติฉัน
สิ้นสยบรบราและฆ่าฟัน           สิ้นสงครามหยามหยันจิตวิญญาณ
โลกพรุ่งนี้ไม่มีศาสนา               ศาสดาคือตัวเราที่ขับขาน
ไร้ภพหน้าพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน    ไร้ตำนานปลอมแปลกให้แตกไป
เราจะสร้างสวรรค์สันติภาพ      ไร้ซึ่งความหยามหยาบและเหลวไหล
ไร้ซึ่งความแตกต่างและห่างไกล จะรวมใจดังพี่น้องร่วมท้องมา
เธออาจมองว่าฉันดูฝันเฟื่อง     ให้เป็นเรื่องนักฝันอย่าถือสา
โลกใบใหม่ง่ายๆ ธรรมดา         ขอเพียงเธอเมตตาลองคิดดู”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เราเห็น เราได้ยิน เราร่ำไห้กับท่าน

Posted: 20 May 2010 08:41 AM PDT

<!--break-->

ถึงพี่น้องคนไทยเสื้อแดง

จากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้สั่งการสลายการชุมนุมหรือยึดพื้นที่คืน โดยใช้ทหาร รถหุ้มเกราะ และอาวุธสงคราม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 60 ราย และบาดเจ็บมากกว่าหนึ่งพันคน การสูญเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และญาติมิตรของคนไทยเสื้อแดงในครั้งนี้เป็นความสูญเสียครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เราเข้าใจความคับแค้นใจและความสูญเสียของท่านที่มากมายจนไม่สามารถคิดคำนวนเป็นตัวเลขได้

พวกเราต้องการประกาศให้ท่านพี่น้องคนไทยเสื้อแดงให้ทราบว่า ยังมีคนไทยอีกมากมายที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศที่ได้ยินการเรียกร้องและได้เห็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของท่านอย่างเต็มที่ แม้ว่าเราจะมีความคิดความเห็นแตกต่างกันในอุดมการณ์การเมือง อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับวีธีการดำเนินการประท้วงของแกนนำเสื้อแดงที่ผ่านมา แต่พวกเราขอไว้อาลัยและร่ำไห้ไปพร้อมกับท่าน และขอประณามการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธ์ที่ได้สั่งการทำร้ายทำลายชีวิตประชาชนคนไทยด้วยกันอย่างไร้หลักสิทธิมนุษยชน

แม้พี่น้องคนไทยเสื้อแดงจะพ่ายแพ้ในวันนี้ แต่ขอให้เก็บแรงไว้สู้ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าจะดีกว่า อย่าได้เสียแรงและทำการจลาจลในเขตกรุงเทพและพื้นที่ต่างจังหวัดอีกเลย เพราะมันไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติและประชาชนเลย พี่น้องคนไทยเสื้อแดงได้แสดงให้เราคนไทยอีกมากมายได้เห็นแล้วว่าการเรียกร้องและปกป้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของท่านในครั้งนี้ไม่เสียเปล่า

เราเห็น เราได้ยิน เราร่ำไห้กับท่าน

                                                                                   ระพีพรรณ จั่นดี
                                                                                   New York, USA
                                                                                   20 พฤษภาคม 2553

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สันติประชาธรรม-สิทธิมนุษยชนศึกษา จี้ รบ.ปฎิบัติต่อผู้ถูกจับกุมตามมาตรฐานสากล

Posted: 20 May 2010 08:30 AM PDT

<!--break-->

หลังแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุม และยินยอมเข้ามอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีผู้ถูกจับกุมอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา และกลุ่มสันติประชาธรรม ร่วมออกแถลงการณ์ ขอให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมตามมาตรฐานสากลว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ห้ามการซ้อม ทรมาน ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม ในขณะถูกจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน รวมถึงมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี และมีสิทธิมีทนายความ

นอกจากนี้แล้ว แถลงการณ์ยังขอให้รัฐบาลประกาศต่อสาธารณะว่าผู้ถูกจับกุม ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด เพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที

ทั้งนี้ ท้ายแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวได้แนบภาพของผู้ถูกจับกุมมาด้วย


แถลงการณ์
เรื่อง ขอให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมตามมาตรฐานสากล
ว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา



ตามที่รัฐบาลได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตตามรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ไม่น้อยกว่า 15 คน เป็นพลเรือนทั้งหมดและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทำให้แกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติการชุมนุม และยินยอมเข้ามอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจับกุม โดยไม่ทราบจำนวนและสถานที่คุมขังอีกจำนวนหนึ่ง

องค์กรและบุคคลท้ายจดหมายนี้ขอแสดงความเสียใจต่อญาติมิตรของผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนเจ้าของทรัพย์สินและอาคารที่เสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งนี้ เรามีความห่วงใยต่อผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมในลักษณะที่อาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน...ตามที่ปรากฎในภาพที่แนบท้ายมานี้ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาลต้องถือว่าผู้ถูกจับกุมทุกคน (ปรากฏตามภาพถ่ายท้ายแถลงการณ์) เป็น “ผู้มีความคิดเห็นทางการเมือง” แตกต่างจากรัฐ อันความหมายว่า เป็นนักโทษทางการเมือง และต้องได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) โดยเฉพาะมีสิทธิได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้

ข้อ 4 การห้ามการซ้อม ทรมาน
ข้อ 9 อนุ ข้อ 2 ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม ในขณะถูกจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน
อนุ ข้อ 3 มีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี
ข้อ 14 มีสิทธิมีทนายความ ที่ตนเลือกเอง หากไม่มี รัฐต้องจัดหาให้ ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด และมีสิทธิให้การหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจหรือไม่ให้การด้วยความสมัครใจ ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย รวดเร็ว โดยสื่อมวลชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้

2. ขอให้รัฐบาลประกาศต่อสาธารณะว่าผู้ถูกจับกุม ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด เพื่อให้ญาติและทนายความสามารถติดต่อได้ทันที เพื่อป้องกันข้อครหาว่า รัฐบาลซ้อมทรมานผู้ถูกจับ และหากผู้ถูกจับเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษา พยาบาลอย่างเหมาะสม

ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2553
กลุ่มสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education Group)
กลุ่มสันติประชาธรรม (The Network of Peace and Justice for Siam)

ภาพผู้ถูกจับ
บางส่วนจาก http://www.boston.com/bigpicture/2010/05/crackdown_in_bangkok.html
 



สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สงครามกลางเมืองอย่างจำเป็น?

Posted: 20 May 2010 08:16 AM PDT

<!--break-->

หากมองเฉพาะประเด็นการต่อรองเรื่องเงื่อนเวลาในการยุบสภา แผนปรองดอง และเงื่อนไขการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของแกนนำ นปช.และฝ่ายรัฐบาล ก็อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้

แต่ถ้ามองให้เห็นว่าการต่อรองในเรื่องดังกล่าวอยู่บนสภาวะที่เป็นจริงของความขัดแย้งเช่นไร อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่าสงครามกลางเมืองครั้งนี้ยากอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ

1. สังคมไทยตกอยู่ในสภาวะแยกแย้งขึงตึงมากว่า 4 ปี ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามลากดึงให้ก้าวไปข้างหน้า แต่อีกฝ่ายพยายามฉุดดึงให้ถอยหลัง ทว่าความซับซ้อนคือ ฝ่ายที่น่าจะดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้ากลับฉุดดึงให้ถอยหลัง ฝ่ายที่สังคมเคยเชื่อกันตลอดมาว่าอยู่ข้างหลังกลับเป็นฝ่ายพยายามลากดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า

ฝ่ายคนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่าง และคนรากหญ้า คือฝ่ายที่พยามลากดึงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยระบบตัวแทนที่พ้นไปจากอิทธิพลของอำมาตย์ และยึดมั่นในระบบการเลือกตั้งที่ยึดหลักความเสมอภาคของ  “1 คน = 1เสียง” แต่คนชั้นกลางที่มีการศึกษา ที่สามารถส่งเสียงดังผ่านสื่อกระแสหลักได้มากกว่า มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆมากกว่า กลับเป็นฝ่ายฉุดรั้งสังคมให้ถอยหลังสู่ความเป็นประชาธิปไตยในกำกับของอำมาตย์และทหารมากขึ้น

2. ความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก คือ แนวร่วมของฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าคือกลุ่มทุนใหม่และพรรคการเมืองที่ทั้งร่วมอุดมการณ์เดียวกันและคอยฉกฉวยประโยชน์ ขณะที่แนวร่วมของอีกฝ่ายคือกลุ่มอำนาจจารีต พรรคการเมือง และกลุ่มทุนที่ทั้งสนับสนุนเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจล้าหลัง อำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์เฉพาะหน้าอื่นๆ

3. ฝ่ายที่ฉุดดึงสังคมให้ถอยหลัง เป็นฝ่ายที่ไม่ศรัทธาและสร้างความเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตยระบบตัวแทน ดังที่มักเย้ยหยันระบบการเลือกตั้งเสมอๆว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” และมักตัดสินฝ่ายเสื้อแดงว่ารับเงินซื้อเสียง เป็นเครื่องมือของนักการเมืองโกง

4. คำดัดสินดังกล่าวนั้นอยู่บนทัศนะที่ว่า คนจน คนไร้การศึกษา ไม่อาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองได้ ดังที่พวกเขาแยกแยะมวลชนเสื้อแดงโดยเฉพาะที่มาจากชนบทว่า 1) มาเพราะรักทักษิณ 2) มาเพราะถูกจ้าง 3) มาเพราะมีปัญหาความยากจนต้องการให้รัฐบาลช่วย ไไม่มีกลุ่มที่มาด้วย “อุดมการณ์” เลย (ถ้ามี ก็อาจจะมีเพียงจำนวนน้อยที่แฝงอยู่ในผู้ชุมนุม อาจจะน้อยกว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ?)

ปัญหาคือ ถ้าอุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนมีคุณค่า และอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้ออกมาต่อสู้และการต่อสู้ของเขามีคุณค่า และน่าเคารพ เมื่อคนชั้นกลางระดับล่างที่พอมีการศึกษา คนจน คนไร้การศึกษา คนชนบทถูกตัดสินว่า ไม่ใช่คนที่สามารถจะมีอุดมการณ์ได้เฉกเช่นคนมีการศึกษาหรือปัญญาชน ก็เท่ากับพวกเขาถูกมองว่าเป็นคนไม่มีคุณค่าพอสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเขาจึเป็นได้เพียง “เครื่องมือ” ของนักการเมืองโกงเท่านั้น ฉะนั้น การยอมสูญเสียชีวิตของคนเหล่านั้น ที่ไม่ใช่เสรีชนผู้มีอุดมการณ์ จึงเป็นความจำเป็นที่ยอมรับได้ (ดังเสียงเรียกร้องไม่ให้ยุบสภา ให้ทหารใช้กฎอัยการศึกกับคนเสื้อแดง หรือให้ทหารรีบขจัด “ขยะสังคม” ให้มันจบเร็วๆ เพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่มีค่าเหนือชีวิต)

5. การตัดสินคนเสื้อแดง (ส่วนใหญ่) ว่าไม่สามารถมีอุดมการณ์ได้ โง่ ไร้การศึกษา ไม่รู้จักประชาธิปไตย ถูกซื้อด้วยเงิน ฯลฯ คือวาทกรรมที่ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเวลากว่า 4 ปีมานี้

ในแง่หนึ่งมันทำให้ฝ่ายผู้ตัดสินประเมินค่าความเป็นคนของคนเสื้อแดงต่ำกว่าคุณค่าความเป็นคนของฝ่ายตน (ซึ่งเปี่ยมด้วยอุดมการณ์รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์) ทำให้เห็นว่า “ความตาย” ของคนเสื้อแดงเป็นความจำเป็นและสมควร

ในแง่หนึ่งการถูกกดข่มเช่นนั้น (เช่น ประณามว่าเป็นพวก “กเฬวราก” ฯลฯ) อย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้คนเสื้อแดงสั่งสมความโกรธแค้นที่รอเวลาระเบิด!

แล้วก็มาถึงจุดระเบิด เมื่อคนเสื้อแดงถูกปิดสื่อ (หลังจากพื้นที่สื่อกระแสหลักปิดตายมานานแล้ว การปรากฏเรื่องราวคนเสื้อแดงบนสื่อกระแสหลัก เป็นเรื่องราวที่ “ถูกเล่า” โดย “คนอื่น” ที่มักเป็นฝ่ายพิพากษาคนเสื้อแดงจากมุมมองและอคติของฝ่ายตน) ถูกสลายการชุมนุมจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ความกล้าวิ่งเข้าหาความตายและความรุนแรงกลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นที่คนเสื้อแดงต้องการจะบอกสังคมนี้ว่า พวกเขามาด้วยอุดมการณ์ ยอมตายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (แต่แน่นอนว่าโดยสัญชาตญาณพวกเขาย่อมไม่ยอมถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว)

6. ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา การใช้ความรุนแรงของคนเสื้อแดงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง (แม้เมื่อต้องต้านอำนาจรัฐที่ให้กองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจของความรุนแรงมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้) แต่สังคมควรเข้าใจว่า คนเสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรงตลอดมาด้วยวาทกรรม (ความเคยชินหรือวัฒนาธรรม) ตัดสินว่าพวกเขาไม่อาจเป็นเสรีชนที่มีอุดมการณ์ มีคุณค่าความเป็นคนต่ำกว่า และถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดขี่เอาเปรียบมาอย่างยาวนาน

แต่กระนั้น สงครามกลางเมืองอาจไม่จำเป็นต้องเกิด หากรัฐบาลอภิสิทธิและอำนาจที่อยู่เบื้องหลังไม่ประเมินคนเสื้อแดงต่ำเกินความเป็นจริงมากเกินไป ลุแก่อำนาจจนเกินไป กลัวทักษิณเกินไป ไร้มนุษยธรรมมากเกินไป

น่าเสียดาย แทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะแสดงวุฒิภาวะที่เหนือกว่า ด้วยการแสดงสปิริตประชาธิปไตย ไม่ปิดสื่อ และเปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้กับฝ่ายตรงข้าม และชิงประกาศยุบสภาโดยเร็ว (ทั้งที่มีโอกาสจะตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลานี้!) แต่กลับใช้กำลังทหารมาแก้ปัญหาการเมือง

ราคาที่ต้องจ่ายของการตัดสินใจอย่างไร้ภาวะผู้นำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ อำนาจที่อยู่เบื้องหลัง และกองเชียร์ที่จิตใจอำมหิต คือสงครามกลางเมือง หายนะของประเทศ และความมืดมิดของอนาคตสังคมไทย!

ปล. แต่ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าจะชนะในระยะยาว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพลิงไหม้ตึกกลาง ซ.ราชวิถี 1 ทะลุรางน้ำ ดับเพลิงไม่กล้าเข้า ชาวบ้านไม่กล้าออกหวั่นโดนยิง รอประสานทหารเข้ารับตัว

Posted: 20 May 2010 08:07 AM PDT

<!--break-->

20 พ.ค.53 เวลาประมาณ 21.30 น. มีรายงานข่าวว่า เกิดเพลิงไหม้ที่ซอยราชวิถี1 ซึ่งเป็นซอยที่ทะลุซอยรางน้ำ ใกล้สามเหลี่ยมดินแดง โดยเพลิงได้ลุกไหม้ตึกแถวบริเวณกลางซอยมากว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ชาวบ้านในซอยดังกล่าวแจ้งว่า เพลิงที่ไหม้ธนาคารนครหลวงซึ่งถูกเผาเมื่อวานได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งและลามถึงอาคารข้างเคียง ชาวบ้านได้แจ้งหน่วยดับเพลิงรวมถึงหน่วยอื่นๆ หลายหน่วย แต่ทุกหน่วยงานปฏิเสธที่จะเข้ามาเพราะเป็นพื้นที่อันตราย ในเบื้องต้นชาวบ้านพยายามช่วยกันดับไฟ แม้ไฟเริ่มเบาลงแต่ก็ยังไม่สงบจนถึงขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับจุดที่เพลิงไหม้ไม่กล้าหนีออกมาจากบ้าน เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการซุ่มยิง ขณะนี้กำลังรอการประสานระหว่างศูนย์เอราวัณและทหารเพื่อเข้าไปรับชาวบ้านในซอยดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น