โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คิดแบบนักวิทยาศาสตร์ชาวพุทธ คิดแบบสร้างความหวังและกำลังใจ

Posted: 30 May 2010 09:22 AM PDT

<!--break-->

วิธีคิดที่ครอบงำสังคมโลกมาโดยตลอดคือ “วิธีคิดที่ยึดถือคุณค่าของความจริง” รอบๆ ตัวเราทุกวันนี้ ศาสตร์ทุกศาสตร์จะมุ่งไปสู่คุณค่าของความจริง ศาสตร์ด้านจุลชีวะ ด้านฟิสิกส์ยึดถือความจริงที่อธิบายได้ในเชิงประจักษ์ นักสังคมศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ก็พยายามที่จะยึดถือคุณค่าของความจริงนี้อธิบายศาสตร์ของตนเอง ในขณะที่หลักของคุณวิทยาหรือ Axiology ซึ่งมีเรื่องของคุณค่าชนิดอื่นทั้งคุณค่าความดี คุณค่าความงาม และคุณค่าความจริงที่มนุษย์ควรจะยึดถือรวมเข้าอยู่ด้วย แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันมักเพ่งเล็งในเรื่องคุณค่าของความจริงเพียงอย่างเดียว

วิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกมักแยกหรือวิเคราะห์ทุกอย่างออกเป็น 2 ขั้วตรงข้ามกัน วิธีคิดแบบนี้ช่วงหลัง ๆ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์สูงมาก เพราะการแยกออกเป็นขั้วสองขั้วอยู่ตลอดนี้ทำให้ไม่ได้ภาพทั้งหมดของความเป็นจริงอาทิ การแยกระหว่าง “ส่วนตัว” กับ “สาธารณะ” หรือแม้แต่การมองธรรมชาติกับมนุษย์แยกออกจากกัน เป็นเหตุให้มนุษย์โยงความคิดจะเอาชนะธรรมชาติให้ได้ เพราะธรรมชาติไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา การคิดและวิเคราะห์ในลักษณะนี้ช่วงต่อมาเจอทางตัน เมื่อหาทางออกไม่ได้จึงหันมามองวิธีคิดแบบทางตะวันออกมากขึ้น

โลกตะวันออกมักมองสรรพสิ่งแบบผสมกลมกลืน กรณีสัญลักษณ์หยิน-หยาง (ชาย-หญิง , ร้อน-เย็น) ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองขั้ว แต่มองว่าถ้าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรจะต้องมีคุณสมบัติของหยิน-หยางในภาวะที่สมดุลย์กัน แม้แต่วิธีคิดแบบพระพุทธศาสนาก็ไม่มองธรรมชาติแยกออกไปจากมนุษย์ หรืออย่างฐานความคิดแบบ Macrobiotic ก็คือการมองว่ามนุษย์เราหรือตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

Macro หมายถึงใหญ่ Biotic เป็นเรื่องชีวิต Macrobiotic เป็นปรัชญาความเชื่อด้านอาหารผสมผสานกับแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาหารอย่างเดียว หากแต่รวมถึงสิ่งแวดล้อมและแนวปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการรับประทาน การหายใจ การดื่มน้ำ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แนวคิดพื้นฐานวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่มองว่าธรรมชาติแยกต่างหากออกไปจากตัวเรา เริ่มมีมาตั้งแต่เซอร์ไอแซก นิวตัน ราวสองศตวรรษมาแล้ว จนกระทั่งมาถึงยุคอัลเบิรต์ ไอน์สไตน์หรือนีลส์ บอร์ซึ่งพบว่าเราไม่สามารถที่จะอธิบายอีเล็คตรอนที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ จนในที่สุดต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีแนวคิดว่าหากเราจะรู้จักมันได้ก็ควรต้องรู้จักตัวเราเองเสียก่อน เป็นลักษณะจูงใจทำให้นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่สำคัญหลาย ๆ คนสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา

อันที่จริงหลักคิดอย่างวิทยาศาสตร์คิดจากหน่วยเล็กเข้าไปหาหน่วยใหญ่  ดูเหมือนจะต่างจากหลักคิดแบบนักปรัชญาหรือนักการศาสนาที่คิดจากหน่วยใหญ่แล้วแจกแจงอย่างแยบคายเข้าไปหาหน่วยเล็ก เมื่อเป็นเช่นนี้หากนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าเข้าใจธรรมชาติของเชื้อไวรัส เข้าใจธรรมชาติของสารกึ่งตัวนำ สารตัวนำยิ่งยวดฯลฯ พร้อมกับศึกษาทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนาจะยิ่งเป็นการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น เพราะอันที่จริงยังมีข้อถกเถียงกันว่าการคิดค้นระเบิดปรมณูของนักวิทยาศาสตร์ จนถึงปัจจุบันจะมองว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่ต่อโลกใบนี้

นักวิทยาศาสตร์ต้องผ่านทฤษฎี ผ่านสมมุติฐาน ผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เฉกเช่นวิถีประชาหรือประวัติศาสตร์ทางสังคมที่ต้องผ่านกระแสร้อนหนาว ผ่านผู้ปกครองชุดแล้วชุดเล่า ผ่านนโยบายและแผนพัฒนาฉบับต่างๆ

พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงคิดว่าการบำเพ็ญตบะทรมานตนเองให้ลำบากคือทางแก้ปัญหา ต่อมาพระองค์ทรง “ได้คิด” ทรงค้นพ้น “ความพอดีของแนวคิด” และปฏิบัติทางสายกลางในที่สุดก็ทรงแก้ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ เรียกว่า “บรรลุพระนิพพาน” ขนาดพระโพธิสัตย์ยังพลาดได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์ทึบหนาอย่างเราๆ

คนจำนวนมากเคยลิ้มรสความพ่ายแพ้มาก่อนที่จะลุกขึ้นมาดังอีกครั้ง ดังชีวิตอดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งซึ่งประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนี้ *

อายุ 21 ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ  
อายุ 22 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของรัฐ 
อายุ 24 ปี ล้มเหลวในการประกอบธุรกิจอีกครั้ง
อายุ 26 ปี คนรักของเขาตายจาก
อายุ 34 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อายุ 34 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก
อายุ 36 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อายุ 45 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภา
อายุ 47 ปี พยายามเป็นรองประธานาธิบดี แต่ไม่มีใครสนับสนุน
อายุ 49 ปี พ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาวุฒิสภาอีก
อายุ 52 ปี ชนะการเลือกตั้ง ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี ค.ศ. 1861

บุคคลผู้นี้คือ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา เขาจะไม่มีวันได้เป็นประธานาธิบดีหากไม่สร้างความหวังและกำลังใจปลุกตนเองให้ลุกขึ้นจากความล้มเหลว

มีเรื่องเล่าว่า โทมัส อันวา เอดิสัน เคยทดลองประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าถึง 9,999 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อคนหนึ่งถามเขาว่า จะทำการทดลองต่อไปหรือไม่ เอดิสันตอบว่า ยังจะทำการทดลองต่อไป ถ้าทดลองแล้วไม่สำเร็จก็จะคิดว่าได้ค้นพบวิธีไม่ต้องทำหลอดไฟฟ้า 10,000 วิธี เอดิสันคิดอย่างนี้จริงๆ เขาคิดว่า “แม้ล้มเหลวแต่ไม่พ่ายแพ้” เขาคิดอย่างมีหวังและสร้างกำลังให้ตนเองอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำให้ได้ ที่สุดเขาก็ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ในปลายปี ค.ศ. 1779

สุนทรภู่กวีเอกของประเทศไทย ผลงานที่ดีที่สุดของท่านเช่น นิราศภูเขาทอง ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ชีวิตท่านตกต่ำที่สุด ท่านประพันธ์ไว้ว่า

เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้              ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
 ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ      เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

คุณค่าและความหมายของความผิดพลาดในอดีตอยู่ทีเรากำหนดให้ในปัจจุบัน อดีตไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีหรือเลวร้ายในตัวเอง อดีตจะดีหรือเลวร้ายก็สุดแต่ว่าปัจจุบันเราเป็นเช่นไร ถ้าปัจจุบันออกมาดี อดีตก็พลอยดีไปด้วย

ความผิดพลาดล้มเหลวในอดีต จึงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากเราสามารถแปรความล้มเหลวให้เป็นบทเรียนและปรับปรุงตนเอง ความสำเร็จในปัจจุบันจะทำให้ความพ่ายแพ้ผิดพลาดในอดีตมีคุณค่า ขอเพียงมีโอกาสและสร้างความหวังกำลังให้กันและกัน จะประสบความสำเร็จสมปรารถนา ได้รังสรรค์ความงดงาม

ปรากฏการณ์ทางสังคมและวิธีคิดที่ยึดถือคุณค่าของความจริง จึงเป็นสิ่งท้าทายที่รอการค้นหา และท้าพิสูจน์

นักวิทยาศาสตร์ชาวพุทธ คนยุคใหม่หัวทันสมัย จะว่ากระไร ?..

* Robbins, A, Unlimited Powers, Fawcett Columbine, New York, 1986, P 73 
 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงชายแดนใต้ผูกคอตาย

Posted: 30 May 2010 07:17 AM PDT

<!--break-->

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจ๊ะแว แนซา อายุ 59 ปี อยู่ที่ 35 หมู่ 2 บ้านฮูแตมาแจ ต.กะดูนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเข้าสู่ขวนการซักถามว่า นายสุไลมาน แนแซ อายุ 25 ปี ลูกชาย ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เสียชีวิตลง อ้างว่าผูกคอตายในห้องพัก เมื่อเวลา 07.10 น. วันที่ 30 พฤษภาคม จึงขอให้มาร่วมชันสูตรศพและรับศพด้วย

ด้านนายเจ๊ะแวผู้เป็นพ่อ พร้อมด้วยญาติพี่น้องรวมกว่า 10 คน ต่างไม่เชื่อว่านายสุไลมานจะผูกคอตายจึงติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายหน่วย รวมทั้งตัวแทนเครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรมในพื้นที่ เข้าร่วมตรวจสอบ โดยมีตัวแทนทหารและอื่นๆ เข้าตรวจสอบที่บ้านพักอาร์ทรีสอร์ต (ศูนย์ซักถาม) ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อาทิ ตัวแทนกำลัง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐ์พันธ์ ผบก.ภ.จ.ปัตตานี, พ.ต.อ.ชัชชัย วงศ์สุนะ ผกก.สภ.หนองจิก, พ.อ.ชัยวัฒน์ นาควานิช ผอ.ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์, ตัวแทนฝ่ายปกครอง, แพทย์โรงพยาบาลหนองจิก และโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร, อัยการจังหวัด, สถาบันนิติเวชของตำรวจ, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตำรวจพิสูจน์หลักฐานปัตตานี เป็นต้น รวม 14 หน่วยงาน เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพ และให้พ่อ ญาติผู้เสียชีวิต และองค์กรตรวจสอบต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบด้วย ภายในห้องพักของนายสุไลมาน 

ภายในห้องพัก พบศพนายสุไลมานสภาพผูกคอตายด้วยผ้าขนหนูตรงบริเวณหน้าต่าง ลิ้นจุกปาก เสียชีวิตมากว่า 5 ชั่วโมงแล้ว จากนั้นแพทย์เข้าชันสูตรพลิกศพตรวจสอบร่างกายทั้งหมด ซึ่งไม่พบบาดแผลใดๆ ทั้งสิ้น และมีการถ่ายรูปทุกขั้นตอนของการตรวจสอบ โดยนายเจ๊ะแวผู้เป็นพ่อ ไม่ติดใจอะไร เพียงแต่สงสัยว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ญาติผู้ตายได้มาเยี่ยมนายสุไลมานพบว่ามีร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งทางทหารผู้ดูแลแจ้งว่าร่างกายปกติ นอกจากนั้น 2 วันที่ผ่านมาได้นำตัวนายสุไลมานไปที่บ้าน อ.สายบุรี เพื่อไปตรวจสอบที่บ้านก็ยังมีสภาพปกติ 

จากนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานของปัตตานี ตรวจสอบที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติมอีก

พ.ต.อ.ชัชชัย วงศ์สุนะ ผกก.สภ.หนองจิก ได้ทำความเข้าใจกับญาติผู้เสียชีวิตว่า หลังผ่านขั้นตอนต่างๆ ต่อไปพนักงานสอบสวนจะสอบสวนการเสียชีวิต โดยเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมให้การ

ต่อมานายเจ๊ะแวพ่อของผู้เสียชีวิต ได้แจ้งนำศพกลับไปที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมทั้งนำสิ่งของต่างๆ ของผู้ตายกลับไปเช่นกัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความจริง..คำพิพากษา..และไอ้ฟัก

Posted: 30 May 2010 06:57 AM PDT

<!--break-->

The dark nights have perhaps in some ways cost mankind less grief than the false dawns, the Prison Houses in which hope persists less grief than the Promised Land where hope expires.

(Louis Kronenberger)

 

สองวันที่ผ่านมา ผมหยิบหนังสือนวนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ของ ชาติ กอบจิตติ มาอ่านอีกรอบหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่าน “คำพิพากษา” เป็นเรื่องราวของ “ฟัก” ชายหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งซึ่งถูกผู้คนในหมู่บ้านตีตราว่าเอาเมียพ่อมาเป็นเมียตัวเอง ซึ่งเมียพ่อหรือ“ม่ายสมทรง” นั้นเป็นหญิงสาวที่ดูเหมือนว่าจะสติ      ไม่สมประกอบ ไม่อยู่ในกรอบจารีตของสังคมปกติ ฟักต้องอยู่กับความทรมานจากการถูกตีตราดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งความจริงต้องประจักษ์ขึ้นและชาวบ้านคงเข้าใจตน แต่ดูเหมือนชาวบ้านในหมู่บ้านจะไม่เข้าใจและไม่เคยคิดจะเข้าใจ ไม่เคยแม่แต่จะถามด้วยว่าอะไรคือความจริง ฟักหนีออกจากความทุกข์ใจด้วยการหันไปหาเหล้าเป็นที่พึ่ง ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงกว่าเดิม ฟักกลายเป็นคนขี้เหล้าที่ไม่มีใครยอมรับเชื่อถือ และนำไปสู่การถูกหักหลังโดยครูใหญ่ของโรงเรียนที่ฟักเคยเป็นภารโรงอยู่ด้วยการโกงเงินค่าแรงที่ฝากเคยไว้ เรื่องราวจบลงด้วยความตายของฟัก พร้อมๆ กับ “ความจริง” ที่สูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คนในหมู่บ้าน ซึ่งนั่นคือบทสรุปเรื่องราวที่ชาติ กอบจิตติ เรียกว่า “โศกนาฏกรรมสามัญ ที่มนุษย์กระทำและถูกกระทำอย่างเยือกเย็นในภาวะปกติ”

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2525 (ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่นัก) และถ้าผมจำไม่ผิด  ได้มีการนำนวนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์รวมทั้งภาพยนตร์หลายครั้งหลายเวอร์ชั่น..

ผมวางหนังสือลงเมื่ออ่านจบ..ความหดหู่เศร้าหมองได้เข้ามาแทรกซึมในหัวใจเมื่อได้หวนกลับมาคิดถึงปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้  และผมพบว่ามีสองสามประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน..

ความจริงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากสังคม

ความจริงบางอย่าง...ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยการให้ความหมายจากผู้คนในสังคม.. และโดยที่เราอาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว..เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพิพากษาผู้อื่น..ทั้งๆ ที่ “ความจริง” อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดว่ามันเป็น..และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวโหดร้ายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้..

ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของ นปช. รัฐบาลได้สร้างภาพความจริงขึ้นมาชุดหนึ่งผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักมาโดยตลอดว่า การชุมนุมของ นปช. นั้นมีผู้ก่อการร้ายแฝงตัว มีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย มีการสะสมอาวุธร้ายแรงจำนวนมาก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างจังหวัดซึ่งถูกหลอก ถูกจ้างมา หรือถูกล้างสมองโดยแกนนำ นปช. ซึ่งมีผู้บงการใหญ่คือ ทักษิณ ชินวัตร  และที่สำคัญคือเป็นการเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายล้มเจ้า” ที่เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐไทย

ผมคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า..มีความรุนแรงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากฝั่งของผู้ชุมนุม นปช. ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งสำหรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ได้เคลื่อนออกไปวิถีแห่งสันติวิธี..

และด้วยภาพความจริงชุดดังกล่าวนี้เอง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของ “ชนชั้นกลวง” ในเมืองหลวงจำนวนหนึ่งที่กดดันให้รัฐบาลรีบตัดสินใจจัดการใช้กำลังทหารและอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม ได้นำไปสู่ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ที่เวทีชุมนุมผ่านฟ้า และการดำเนินการ “กระชับวงล้อม” ภายใต้ “ปฏิบัติการราชประสงค์” ที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งจากการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและการเผาทำลายอาคารสถานที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการปฏิบัติการดังกล่าว

รัฐบาลและ สอฉ. ได้พยายามที่จะสร้างและควบคุม “ความจริง” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้อำนาจรัฐผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะด้วยการแถลงการณ์ของ สอฉ. ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบ การควบคุมเนื้อหาสาระของข่าวสารที่จะถูกนำเสนอ ตลอดจนการการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หรือสื่ออื่นๆ ที่พยายามจะแสดงให้เห็น “ความจริง” ในอีกด้านหนึ่ง

และเมื่อ “ความจริง” ที่รัฐบาลได้ประกอบสร้างขึ้น ได้กลายไปเป็น “ความจริง” ของสังคม จึงนำไปสู่การร่วมกันพิพากษาของบรรดาชนชั้นกลางส่วนใหญ่ว่า “การตาย” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งที่สมควรเกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว ซึ่งสำหรับผมแล้ว..นั่นเป็นสิ่งที่เลวร้ายและน่าเศร้าใจอย่างมากที่สุด

...ไม่มีใครในหมู่บ้านได้รู้หรือเห็นว่าไอ้ฟักได้เอาแม่เลี้ยงเป็นเมียจริงหรือไม่ แต่ทุกคนในหมู่บ้านก็พร้อมที่จะปักใจเชื่ออย่างนั้น..

ความเชื่อ..ที่อยู่เหนือเหตุผล

การคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติในสังคมประชาธิปไตย..เหมือนคนหนึ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อ่านเรื่อเดียวกันแต่อาจคิดไปได้หลายแบบ..บางคนมองว่าดีมาก..บางคนว่าไม่สนุก..ทัศนะวิจารณ์และ การถกเถียงจึงเป็นเรื่องที่ปกติและสังคมสมควรยอมรับให้ได้

แต่สิ่งที่ไม่ปกติ..มันคือสภาวะของการทนกันไม่ได้และยอมรับให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา..

เรามักเลือกฟังและเชื่อแต่คนที่เราคิดว่าเป็นคนดี..มีความรู้..มีเกียรติน่านับถือ..(อย่างหลวงพ่อหรือครูใหญ่)..และมักจะไม่เชื่อคนที่เรามองว่าการศึกษาต่ำ..คนที่ไม่มีเกียรติ..คนที่ยากจน..(อย่างไอ้ฟักหรือสัปเหร่อไข่) เพราะเรามีความหยิ่งทะนงในตัวว่าคนชั้นต่ำพวกนี้จะมารู้ดีกว่าเราได้อย่างไร

..บางครั้งความเชื่อก็อยู่เหนือเหตุผล..และนั่นคือความ absurd ของโลกใบนี้..

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ถูกมองว่าเป็นการชุมนุมของผู้คนที่มาจากต่างจังหวัด เป็นพวกชนชั้นล่างเป็นพวกที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา จึงถูกตีตราไว้ก่อนแล้วจาก “ชนชั้นกลวง” ในเมืองว่าคนพวกนี้จะไปรู้เรื่อง “ประชาธิปไตย” ได้ดีกว่าพวกเราชาวศิวิไลซ์ได้อย่างไร

กลุ่มคนเสื้อแดง จึงเป็นเพียงชาวบ้านที่ถูกหลอกมา ถูกจ้างมา ไม่ได้มาเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรทั้งสิ้น คนเหล่านี้มาเพราะรักทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น หรือร้ายไปกว่านั้น คือการมองด้วยสายตาดูถูก เหยียดหยาม ว่าคนพวกนี้เป็นไพร่สถุล เป็นควายแดง พวกก่อความวุ่นวาย รึเป็นอะไรอื่นๆ ที่ไม่ได้มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับพวกตน

ข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ ของ นปช. จึงถูกทำให้พร่าเลือนไป ทั้งที่การชุมนุมของ นปช. นั้นมีหลายประเด็นที่คนในสังคมสมควรจะต้องใส่ใจ เช่น ประเด็นเรื่องการต่อต้านรัฐประการ เรื่องความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ เรื่องการใช้อำนาจรัฐแบบสองมาตรฐาน เรื่องปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ การถูกเอารัดเปรียบ การเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคม ฯลฯ

บรรดา “ชนชั้นกลวง” ทั้งหลาย ได้ให้ความใส่ใจและทำความเข้าใจกับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะตัดสินว่าไม่สมควรยุบสภา ก่อนที่จะตัดสินว่าสมควรอย่างยิ่งแล้วที่จะต้องรีบยุติการชุมนุมเพื่อคืนความสงบสุขให้กับวิถีชีวิตของตนโดยเร็ว และส่งเสียงสนับสนุนให้รัฐบาลใช้กำลังทหารและอาวุธจริงในการเข้าปราบปรามและสลายการชุมนุม..

และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะชอบหรือรังเกียจ สังคมไม่ควรพิพากษาหรือผลักให้ใครก็ตามให้ตกไปในอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด..เพราะในจุดที่ต่ำที่สุดนั้นอาจส่งผลสะท้อนที่รุนแรงเกินกว่าจะคาดการณ์ได้..

..เหมือนอย่างที่ไอ้ฟักต้องทุกข์ทรมาน กลายเป็นคนติดเหล้า..และสะท้อนความคับแค้นใจที่ได้รับ...ด้วยการเอากระดูกของพ่อใส่ลังกระดาษไปร่วมทำบุญกระดูก..

และเมื่อถึงตอนนั้น คำว่า “เสียใจ” อาจไม่สามมารถชดเชยความพินาศและสูญเสียที่เกิดขึ้น

“ความจริง” จะต้องไม่ถูกปล่อยให้หายสาบสูญ..

ในห้วงเวลานี้ที่สังคมไทยกำลังเรียกร้องความปรองดอง สมานฉันท์ สามัคคี หรือภายใต้สโลแกนอะไรก็ตาม

ผมคิดว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องพึงตระหนักให้มากในขณะนี้ คือ ความตายของผู้คนนั้นเกิดขึ้นจริง มีผู้คนมากมายจำนวนต้องสูญเสียญาติพี่น้องไปจริงๆ ซึ่งเราไม่สมควรจะปล่อยให้มันผ่านเลยไปโดยปราศจากการตรวจสอบให้ “ความจริง” นั้นปรากฏ

..การตายของผู้บริสุทธิ์ จะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น..

การเยียวยาและฟื้นฟูสังคมเพื่อประสานความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งนี้ จึงต้องไม่ใช่แค่เพียงการร่วมกวาดถนนหรือร่วมทำบุญประเทศ แล้วพร่ำบอกว่าเรื่องมันผ่านไปแล้วก็ให้มันแล้วไป..ลืมมันไปซะเถอะ..แล้วจบเรื่องกันไปโดยไม่ต้องใส่ใจอะไร..

เรามีบทเรียนกับเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งเกินไปแล้ว..และเราไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีกในอนาคต..

การนำภาพคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อที่จะนำมายืนยัน “ความจริง” ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คลิปต่างๆ ย่อมผ่านกระบวนการ “เลือก” ว่าสิ่งนั้นที่นำเสนอนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตน นั่นจึงเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของ “ความจริง” ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุที่มาและภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้..

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจสอบ จึงได้แก่ การดำเนินการอย่างเป็นกลางและต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้าร่วมในกระบวนการด้วยอย่างกว้างขวาง โดยจะต้องเปิดพื้นที่ให้เสียงและคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร สื่อมวลชน ได้ถูกนำมาประกอบการพิจารณาและนำเสนอให้รับรู้ได้อย่างเท่าเทียมด้วย..

การทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งเรื่องของสาเหตุการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชน ทั้งเรื่องการเผาทำลายอาคารสถานที่ต่างๆ จึงต้องไม่ใช่เพียงแค่การนำเสนอข่าวสารข้อมูลจากฝั่งรัฐบาลเท่านั้น และในแง่นี้ หากการตรวจสอบเป็นไปโดยรัฐบาลฝ่ายเดียวหรือแม้กระทั่งโดยคณะกรรมการใดๆ ก็ตามที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งหลักจึงไม่อาจยอมรับได้อย่างแน่นอน...

อย่าลืม..ว่าตอนจบไม่มีชาวบ้านคนใดได้รู้ “ความจริง” ว่า “ครูใหญ่” ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในหมู่บ้านนั้น แท้ที่จริงเป็นคนเลวที่โกงเงินของไอ้ฟัก

”ความจริง” นั้นได้หายสาบสูญไปจากโลกพร้อมกับความตายของไอ้ฟักแล้ว..

..ซึ่งเราต้องไม่ยินยอมให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย..

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสันติวิธีเดินธรรมยาตรา หวังให้เกิดสันติสุขในบ้านเมือง

Posted: 30 May 2010 06:31 AM PDT

เครือข่ายสันติวิธีเดินขบวนเรียกร้องความสันติให้กับประเทศชาติ เพื่อเป็นกุศลสู่ขวัญ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย ตั้งแต่บริเวณราชประสงค์ถึงแยกคอกวัว 

<!--break-->

 
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊คเครือข่ายสันติวิธี

30 พ.ค. 53 - เครือข่ายสันติวิธีและองค์กรพันธมิตร ร่วมเดินธรรมยาตราด้วยความสงบ ตระหนักรับรู้ถึงความทุกข์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดสันติสุขสามัคคีในบ้านเมือง และต้องลบเลือนรอยเลือดและคราบน้ำตาด้วยความรักและเมตตาต่อกัน

เครือข่ายสันติวิธีและองค์กรพันธมิตร ร่วมเดินธรรมยาตรา หรือสันติยาตรา สู่สังคมสันติสุข โดยตั้งขบวนจากหน้าโรงพยาบาลตำรวจ แยกราชประสงค์ มีพระภิกษุและภิกษุณี นำขบวน เดินจากราชประสงค์ สู่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหนึ่งในองค์กรได้รับผลกระทบจากความไม่สงบของบ้านเมือง

พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา ได้กล่าวภาวนาขอให้บุญกุศลที่ได้ร่วมกันทำในวันนี้ ทำให้เกิดสันติสุขกับบ้านเมือง และขอให้ความสงบสันติ คืนสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ถนนราชประสงค์และถนนราชดำเนิน มีรอยเลือดและคราบน้ำตาที่ไม่อาจล้างด้วยน้ำ จากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วใช้น้ำล้างทำความสะอาด แต่ไม่อาจลบเลือน ถนนทั้งสองสายต้องลบเลือนด้วยความรักและความเมตตาต่อกัน กิจกรรมธรรมยาตราเป็นการเดินด้วยความสงบ เพื่อที่จะสร้างความตระหนักรับรู้ถึงความทุกข์ของทั้งสองฝ่ายให้หายจากความเศร้า และขอให้การเปล่งวาจาที่ทำร้ายจิตใจกันมีมานานก่อนหน้านี้ เป็นการเปล่งเสียงเพื่อความสามัคคีแทน เมื่อขบวนธรรมยาตราถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีกิจกรรม มีพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลสู่ขวัญแด่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย ถวายสังฆทาน ภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

ทั้งนี้ เครือข่ายสันติวิธี จะร่วมกันติดตามแผนปรองดองของรัฐบาล และนำเสนอความเห็นการปฏิรูปของประเทศไทย เน้นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาให้กับทุกฝ่าย

ด้านนางสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงทั้งหมดในช่วงที่มาชุมนุมในกรุงเทพฯ 68 วันโดยคณะกรรมการที่มาจากคนกลาง ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรง การก่อการร้าย ใครยิงใครและการเผาในที่ต่างๆมาอย่างไร ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายจะทำให้แก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้อย่างแน่นอน หากไม่มีการค้นหาข้อเท็จจริง แผนปรองดองที่นายกรัฐมนตรีต้องการทำให้สำเร็จคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การค้นหาความจริงไม่ใช่เพื่อทำเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงหรือเป็นวีรชนของชาติ เพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาในช่วง 4-5 ปีเป็นเรื่องความขัดแย้งที่สังคมไทยต้องก้าวข้ามไปให้ได้ มีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งค้นหาความจริงให้มากที่สุดเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับและเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น ฝ่าย นปช. คนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง คนเสื้อหลากสี และผู้อยู่เบื้องหลังทุกส่วน หลังจากนั้นจะเกิดความปรองดองได้อย่างแท้จริง เชื่อว่าสังคมยังมีความหวังในการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาและไม่กลับไปสู่ความรุนแรงอีกเพราะคนไทยทุกคนต่างเจ็บปวดกลับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมามากพอแล้ว ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งหาความจริงให้กับสังคมให้มากที่สุดและไม่ควรเอาความจริงแค่ครึ่งเดียวมาทำให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์, คมชัดลึก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จาตุรนต์" ชี้หาก "มาร์ค" ยังนั่งนายกไม่มีทางได้ กก.ที่เป็นอิสระสอบเหตุนองเลือด

Posted: 30 May 2010 06:13 AM PDT

<!--break-->

30 พ.ค. 53 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยกล่าวแสดงความเห็นต่อแนวทางการแก้ไขวิกฤตประเทศของรัฐบาลว่า  ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีจะใช้คารมโวหารแก้ปัญหาเอาตัวรอดไปวันๆ และมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้แผนปรองดองของรัฐบาลกลับเป็นเรื่องลม ๆ แลง ๆ ที่ไม่มีวันจะปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ แต่กลับจะทำให้บ้านเมืองยิ่งแตกแยกและวิกฤตยิ่งซึมลึกไปเรื่อยๆ

นายกฯได้อาศัยการชี้แจงต่อทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ  ที่เป็นการแก้ตัวอย่างน้ำขุ่นๆฟังไม่ขึ้น  ตอบไม่ตรงประเด็น  แต่กลับนำมาฟอกตัวเองโดยพูดแทนทูตทั้งหลายว่า ฟังแล้วเข้าใจดี ทั้งๆที่สังเกตจากคำถามก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคำถามใหญ่ๆที่ทูตหลายประเทศยังห่วงใยไม่สบายใจ  เช่น ที่ถามว่าจะขอโทษหรือไม่ ลาออกหรือไม่ จะเลือกตั้งตามกำหนดที่เคยพูดไว้หรือไม่ รวมทั้งการที่ทูตประเทศต่างๆย้ำว่า เห็นด้วยกับการปรองดอง แต่นายกฯกลับไม่สามารถชี้แจงให้เห็นได้เลยว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนายกรัฐมนตรีจะทึกทักเอาเองว่าทูตประเทศต่างๆเข้าใจดี นายกรัฐมนตรียังปิดหูปิดตาและปิดปากบรรดาทูตทั้งหลาย  ด้วยการขอบคุณที่ทูตไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย  ปิดกั้นแทรกแซงสื่อให้เสนอข่าวด้านเดียว ตำหนิทูตที่รับฟังข้อมูลความเห็นจากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ในการชี้แจงครั้งนี้นายกฯได้ฉวยโอกาสแก้ต่างแทนทหารว่าไม่ได้ยิงประชาชน แก้ตัวเกี่ยวกับการสั่งการให้ใช้ความรุนแรง

การชี้แจงในลักษณะนี้  มีแต่จะทำให้คนไม่ยอมรับหรือกระทั่งโกรธแค้น และยังสร้างปัญหาตามมาว่า เมื่อนายกฯยืนยันว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ผิดเลย แล้วยังจะตรวจสอบข้อเท็จจริงไปเพื่ออะไร

สำหรับการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด  หากเป็นในอดีตคงมีคนเรียกร้องให้มีการรัฐประหารไปแล้วนั้น  สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของประเทศร้ายแรงจริงๆ แต่ที่ไม่เกิดการรัฐประหาร  เพราะนายกฯและรัฐบาลสามารถร่วมมือกับทหารปราบปรามประชาชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน  ต่างตอบแทนของประโยชน์ซึ่งกันและกัน จนทำให้การปกครองบ้านเมืองอยู่ในลักษณะเผด็จการที่ร้ายแรงและซับซ้อนกว่ายุคสมัยใดๆ

สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรไปจากการรัฐประหารนั่นเอง มีการปราบปรามเข่นฆ่าแระชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และยังมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปิดกั้น ครอบงำแทรกแซงสื่อ เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม  สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในชาติ เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลและพรรคการเมืองเพียงบางพรรคเท่านั้น

หากจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น  คณะกรรมการฯชุดนี้ควรตรวจสอบ ศึกษาวิเคราะห์ถึงต้นเหตุวิกฤตของประเทศที่นำมาสู่การชุมนุมและเกิดความสูญเสียในที่สุด  ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใครทำผิดกฎหมายในเรื่องใด  ฝ่ายนปช. - คนเสื้อแดงผิดกฎหมายอะไร  รวมทั้งผิดฐานก่อการร้ายและล้มสถาบันจริงหรือไม่ ส่วนฝ่ายรัฐบาลกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมาย ขัดข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และควรวิเคราะห์ทางออกจากวิกฤต และการป้องกันไม่ให้วิกฤตบานปลายและยืดเยื้อไม่สิ้นสุดด้วย

การตั้งคณะกรรมการฯนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับของหลายๆฝ่ายและสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะทุกวันนี้หาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของหลายๆฝ่ายได้ยากมาก  นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาว่าใครจะเป็นคนตั้ง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นคู่กรณีโดยตรงและยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาเสียเองด้วย การให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการฯจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะได้คนที่เป็นที่ยอมรับ  ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ยังเป็นนายกฯและยังกำกับสั่งการทั้งตำรวจ , DSI และอีกหลายหน่วยงานที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาหรือเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในความเป็นกลาง ตราบนั้นจะหวังให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับไม่ได้เลย 

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นนั้น นับเป็นโอกาสเดียวในรอบ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชาชนจะมีโอกาสรับฟังข้อมูล  ความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่รัฐบาลเสนอมาแต่ฝ่ายเดียวโดยตลอด  แต่การอภิปรายในครั้งนี้จะคาดหวังผลมากนักก็คงไม่ได้เพราะรัฐบาลได้ครอบงำความคิดของสังคมไปมากจากการแทรกแซงสื่ออย่างได้ผล 

นอกจากนี้รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงท่าที่จะขัดขวาง ปิดกั้นการเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  โดยอ้างเหตุผลความเหมาะสมที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นผู้ตัดสิน โดยเฉพาะรูปภาพและคลิปวีดีโอที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้เห็นมาก่อน ก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอ

ส่วนการอภิปรายจะมีผลอย่างไร ทำให้เกิดการปรับครม.หรือไม่นั้น คิดว่าเป็นการบิดเบือนประเด็นของนายกรัฐมนตรี   การปรับครม.เป็นเพียงการจัดสรรผลประโยชน์กันใหม่ในครม. ที่พรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น จากการรับหน้าในการปราบปรามประชาชนโดยตรง  แต่การปรับครม.จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการแก้วิกฤตของประเทศเลย เพราะผู้สมควรโดนปรับออก คือ นายกรัฐมนตรีมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ 

หากนายกฯยังคงอยู่ในตำแหน่งย่อมไม่มีทางตั้งคณะกรรมการฯที่เป็นอิสระและเป็นที่ยอมรับได้ และไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการปรองดองได้จริง มีแต่จะทำให้สังคมไทยยิ่งแตกแยกมากขึ้น ไม่มีสิ้นสุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับ-ออกหมาย "แดงภูมิภาค" เพิ่มอีก "ไทกร" เผยเสื้อแดงจะแบ่งแยกอิสาน

Posted: 30 May 2010 05:33 AM PDT

เชียงใหม่จับเสื้อแดงเพิ่มอีกหนึ่งคน ขอนแก่นออกหมายเพิ่ม 87 ราย ผว.ศรีสะเกษเผยช่วงเคอร์ฟิวรวบผู้กระทำผิด 82 ราย ด้าน ไทกร" เผยเสื้อแดงจะแบ่งแยกอิสาน

<!--break-->

ตร.สภ.แม่ปิง เชียงใหม่ จับกุมเสื้อแดงที่เผายางรถยนต์หน้าบ้านพัก ปลัด จว.เชียงใหม่ และรถดับเพลิงได้อีก 1 คน
30 พ.ค. 53 - พ.ต.อ.อดุลเดชา อาชวะสมิตระกุล ผกก.สภ.แม่ปิง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัว นายสุจิตร อินทะชัย อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52/1 ม.1 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีที่ จ 225.2 / 24 พ.ค.53 ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์สินของทางราชการ นำตัวส่ง พ.ต.ท.วิศิษฐ์ สืบศรี พนักงานสอบสวน (สบ.2) สภ.แม่ปิง ดำเนินคดี ซึ่งในชั้นการจับกุม ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อหา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีการเผาบ้านพักปลัดจังหวัดเชียงใหม่ และรถดับเพลิงของเทศบาลนครเชียงใหม่ จนได้รับความเสียหาย 2 คัน จากนั้น มีการออกหมายจับผู้ต้องหาในพื้นที่ สภ.แม่ปิง 7 ราย รวมทั้งนายสุจิตร ซึ่งตกเป็น 1 ใน 7 ผู้ต้องหา ส่วนในพื้นที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ มีการออกหมายจับผู้ต้องหา 10 ราย โดยจับกุมตัวได้แล้ว 1 ราย

ขอนแก่นออกหมายเพิ่ม 87 ราย
ด้าน พ.ต.อ.ธวัชชัย นิลานุช รักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน คดีก่อเหตุวางเพลิงเผาศาลากลาง จว. สถานีโทรทัศน์ NBT และ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หลังการออกหมายจับพบผู้ต้องหาคดีดังกล่าวแล้ว สามารถติดตามผลจับกุม ผู้ต้องหา ได้ทั้งหมด 50 ราย โดยเป็นเหตุวางเพลิง 18 ราย ซึ่งทั้งหมดถูกนำไปขออนุญาตจากศาล นำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางขอนแก่น อีก 42 ราย เป็นการฝ่าฝืน ประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวส่งฟ้องศาลแขวงขอนแก่นแล้ว เช่นกัน พ.ต.อ.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพยาน และตรวจสอบกล้องวงจรปิด สามารถออกหมายจับได้ เพิ่มอีก 87 ราย อย่างไรก็ตาม หลังการยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิว เมื่อคืนที่ผ่านมา ทั่วทั้งจังหวัดขอนแก่น ยังคงเป็นไปตามปกติ

ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ เผย ช่วงเคอร์ฟิว รวบผู้กระทำผิด 82 ราย ด้าน ผบก.ภ.จว.ประเมินสถานการณ์โดยรวมยังปกติ สามารถควบคุมได้
ด้านนายกองเอก วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าสถานการณ์โดยทั่วไปจังหวัดศรีสะเกษยังคงปกติ ที่ผ่านมาจังหวัดได้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์เชิงบวกสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนต่อสถานการณ์
ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนก็ต้องขอขอบคุณชาวศรีสะเกษ ที่ไม่ออกมาสร้างความวุ่นวาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด รวมทั้งยังได้ช่วยกันดูแล ป้องกันบุคคลจากต่างถิ่นที่จะเข้ามาก่อความเดือนร้อนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย

นายกองเอก วิลาศ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ในห้วงของการประกาศเคอร์ฟิว ได้มีประชาชนทำผิดกฎหมายและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี 82 ราย เมื่อมีการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ก็ยังมั่นใจว่า จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะได้สร้างความเข้าใจแก่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ฝ่ายการเมือง และประชาชนทุกคน และที่มั่นใจที่สุด คือ เชื่อว่าคนศรีสะเกษรักความสงบไม่ทำลายจังหวัดของตัวเอง

ด้าน พล.ต.ต.กรกต สาริยา ผบก. ภ.จว.ศรีสะเกษ กล่าวถึง สถานการณ์โดยทั่วไปของจังหวัดศรีสะเกษ ภายหลังการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ว่า สถานการณ์ยังคงปกติ เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทุกอย่าง โดยในช่วงประกาศเคอร์ฟิวที่ผ่านมา จากการสืบสวนทางการข่าวพบว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังมวลชนแต่อย่างใด และจากการประเมินภาพรวมร่วมกันหลายภาคส่วน รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการฯ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ก็มีความเชื่อมั่นว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งสถานการณ์ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนถือว่า ขณะนี้สถานการณ์ปกติดีทุกอย่าง

"ไทกร" ปูดแผนแดงแยกแผ่นดินอีสาน
(30 พ.ค.) นายไทกร พลสุวรรณ ประธานชมรมไทยเป็นหนึ่งเดียว เปิดเผยว่า  กลุ่ม นปช. กำลังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน โดยมีการจัดเตรียมกำลังคน อาวุธ และงบประมาณ เพื่อทำงานในระยะเวลา 2 เดือนนับแต่นี้ไป นอกจากนี้ตนยังได้ข้อมูลมาว่า  กลุ่ม นปช. ได้อาศัยพื้นที่ จ.อะลองเว ประเทศกัมพูชา เป็นฐานฝึกและซ่องซุมกำลัง ก่อนเข้ามากบดานในพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.สกลนครและ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรอเวลาเดินทางไปปฏิบัติงานที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน
   
นายไทกร กล่าวอีกว่า  เป้าหมายของกลุ่ม นปช. ต้องการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ต่างๆให้ได้ โดยเฉพาะภาคอีสานตอนบน จะคัดเลือกสมาชิก นปช.เป็นแนวร่วมให้ที่พักพิง ให้เสบียง หรือช่วยปกปิดข่าวความเคลื่อนไหว  จากนั้นอีก 6 เดือน  กองกำลังติดอาวุธดังกล่าวจะประกาศเขตปลดปล่อยปกครองตนเองเหมือนกรณีพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตที่ผ่านมา หรือเหมือนบางพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีพื้นที่ปฏิบัติการในภาคอีสานตอนบน ร่วมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เน้นก่อวินาศกรรมเป็นหลัก
   
“รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาแบบรีบด่วน ให้ กอ.รมน.ดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และแยกมวลชนออกจากกองกำลังติดอาวุธ หรือ กองโจรให้ได้  นอกจากนี้ต้องโยกย้ายนายตำรวจระดับหัวหน้าโรงพัก หรือผู้กำกับการ สภ.ต่างๆที่ใส่เกียร์ว่าง ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล และพิจารณาโยกย้ายร่วมกับผู้บังคับบัญชาในเขตพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4”นายไทกร กล่าว
   
นายไทกร กล่าวอีกว่า ตนมีข้อมูลด้วยว่า มีนายตำรวจที่มีอำนาจโยกย้ายจัดโผของตำรวจภูธรภาค 4 ได้สนับสนุนกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยดูผลงานจากการออกหมายจับคดีเผาสถานที่ราชการ ที่ออกหมายได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ  ทั้งที่มีผู้กระทำผิดประมาณ 100 คน แต่ออกหมายได้ 8 คน ส่วนคดีก่อการจลาจลหน้าบ้าน นายประจักษ์  แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย อดีต รมช.คมนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำสำนวนอ่อน เพื่อเอื้อประโยชน์ในการต่อสู้คดีของผู้ชุมนุม  นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. จึงควรเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการจัดโผโยกย้ายตำรวจภูธรภาค 4 โดยด่วนเพื่อความเป็นธรรมและสงบสุขในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ไอเอ็นเอ็น, เดลินิวส์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผอ.ประชาไท ขึ้นศาลนัดแรก คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พรุ่งนี้

Posted: 30 May 2010 04:41 AM PDT

<!--break-->

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีหมายเลขดำที่ อ.1167/2553 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในฐานความผิด ตามมาตรา 14, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 จะมีการนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.53) ที่ศาลอาญา รัชดา เวลา 13.30น.

ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 พ.ค. เรียกร้องให้มีการถอนข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่าคดีนี้เป็นบทพิสูจน์สำคัญสำหรับรัฐบาล การตัดสินลงโทษผู้บริหารองค์กรสื่อคุณภาพจะเป็นการตีแสกหน้าเสรีภาพสื่อ ขณะที่การยกฟ้องจะส่งสัญญาณบวกต่อสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ต้องการทราบอย่างยิ่งว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย วิกฤตครั้งนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้จากเสรีภาพในการแสดงออกยังไม่ได้รับการเคารพ

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.52 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทที่สำนักงาน เนื่องจากพบว่ามีผู้โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท 1 ข้อความ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.52 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 ข้อหา โดยระบุถึง 9 ข้อความอันมีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งมีการโพสต์ระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค.52 อย่างไรก็ตาม ข้อความทั้ง 10 ข้อความถูกลบไปแล้วก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี จากนั้นวันที่ 1 มิ.ย.52 พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนไปยังอัยการ และพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจีรนุชเป็นจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.53 โดยจำเลยได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการของญาติเป็นหลักประกัน วงเงิน 300,000 บาท

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวนดุสิตโพลล์ระบุคนไทยเห็นด้วยอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อไทยเปิด 5 พยาน ยิงวัดปทุมฯ

Posted: 30 May 2010 02:59 AM PDT

<!--break-->

(30 พ.ค. 53) -สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ที่มีต่อการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ "รัฐบาล" จำนวนทั้งสิ้น 1,516 คน ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.53 สำหรับความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.02 เห็นด้วยที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการทำงาน ขณะที่ร้อยละ 32.43 ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในช่วงนี้ ชี้ควรให้เวลารัฐบาลแก้ไขฟื้นฟูบ้านเมืองก่อน ส่วนร้อยละ 15.55 ไม่แน่ใจ เพราะหลังจากการอภิปรายเสร็จ ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับคนที่ประชาชนอยากให้ฝ่ายค้านอภิปรายมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 42.13 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 2 ร้อยละ 35.53 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และอันดับ 3 ร้อยละ 12.69 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ส่วนผู้ที่ประชาชนอยากให้ทำหน้าที่เป็นผู้อภิปรายมากที่สุด คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มากถึงร้อยละ 74.56 ตามมาด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายสุนัย จุลพงศธร ตามลำดับ

ส่วนเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ในการอภิปรายครั้งนี้มากที่สุด ร้อยละ 61.20 ยกให้เรื่องการสลายการชุมนุม อันดับ 2 ร้อยละ 27.04 เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และร้อยละ 11.76 เรื่องการออกโฉนดและการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

สิ่งที่ประชาชนร้อยละ 42.79 เป็นห่วงและวิตกกังวลต่อการอภิปรายในภาพรวมคือ การกล่าวหากันไปมามากเกินไป เพราะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความแตกแยกเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม  ประชาชนร้อยละ 57.04 คาดหวังว่าจะได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงและชัดเจนมากขึ้นจากทั้ง 2 ฝ่าย อาจได้เห็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ ประชาชนยังเห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้การเมืองไทยเป็นเหมือนเดิมร้อยละ 60.81 ส่วนอีกร้อยละ 21.62 คาดว่าจะดีขึ้น เพราะทั้ง 2 ฝ่าย มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งเป็นการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง ส่วนร้อยละ 17.57 มองว่า อาจทำให้แย่ลง เพราะสถานการณ์ยิ่งบานปลายมากขึ้น เหมือนเป็นการขุดคุ้ยมากกว่า และต่างฝ่ายต่างยังคงมีทิฐิกันอยู่

ทางด้านสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรต่อการใช้จ่ายงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด จำนวน 1,137 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ค.พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.9 คิดว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ขณะที่ร้อยละ 26.1 คิดว่ารัฐบาลมีงบประมาณไม่จำกัด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.6 คิดว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณเข้าไปช่วยเหลือชดเชย  เมื่อเกิดการเผาทำลายสถานที่ราชการอาคารบ้านเรือนต่างๆ เมื่อถามถึงผลเสียจากการที่รัฐบาลช่วยเหลือชดเชยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ร้อยละ 71.8 คิดว่าจะทำให้งบประมาณรัฐบาลที่ใช้บริหารประเทศลดลง อย่างไรก็ตามร้อยละ 89.2 คิดว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากภัยธรรมชาติ

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรักกันพบว่า ร้อยละ 51.7 พร้อมช่วยรณรงค์และจะชักชวนคนอื่นให้รักกัน ขณะที่ร้อยละ 13.6 ไม่พร้อม และร้อยละ 10.4 ไม่พร้อม และจะบอกให้คนอื่นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.3 ไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ในการรับแจ้งเหตุร้าย ว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่ร้อยละ 42.7 เชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 73.1 คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังรักกัน และอยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ในขณะที่ร้อยละ 26.9 คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รักกันแล้ว แต่เมื่อวิเคราะห์ระดับความสุขมวลรวมของคนไทยทั้งประเทศ ประจำเดือน พ.ค. นี้พบว่า มีแนวโน้มลดลงจาก 7.15 ในเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ 6.46 ในเดือน พ.ค. นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.2 เห็นด้วยกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ร้อยละ 74.9 อยากเห็นการอภิปรายเชิงสร้างสรรค์หาทางออกของประเทศ แต่ร้อยละ 51.8 กังวลว่าการอภิปรายจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหม่

โฆษกเพื่อไทย แฉไอ้โม่งเป็นทหาร
30 พ.ค. 53 -  นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์  โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีการสลายการชุมนุมและภาพประชาชนที่ถูกยิงในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนำพยาน 5 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์มาร่วมแถลง ข่าวประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม พยานที่ถูกยิงที่ต้นขาซ้าย นางสายัณ สิงห์แม นายศักดิ์นรินทร์ สิงห์แม ชาวจังหวัดขอนแก่น  นายสุริยา สวัสดี ชาวจ.ชลบุรีและนางสุภาพร มนตรี ชาวจ.นครศรีธรรมราช พร้อมทั้งนำคลิปวีดีโอ รวมทั้งภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวัดปทุมช่วงเย็นภายหลังที่รัฐบาลสลายการชุมนุม กลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ มาประกอบการแถลงข่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาลชี้แจงกับคณะทูตานุทูตและสื่อต่างประเทศว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบปรามสลายการชุมนุม โดยอ้างว่ามีกลุ่มติดอาวุธหรือไอ้โม่งแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ตนอยากถามว่าทำไมรัฐบาลไม่เคยจับตัวไอ้โม่งได้เลยและเอาแต่ตั้งธงว่าไอ้โม่งเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง เหมารวมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งข้อกล่าวหานั้นตนมีข้อมูลทั้งรูปถ่ายและคลิปวีดีโอยืนยันว่าไอ้โม่งเป็นทหาร โดยมีภาพไอ้โม่งถือปืนเอ็ม 16 ยืนคู่กับทหาร ซึ่งภาพเหล่านี้พร้อมจะนำไปโชว์ในสภาด้วย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีภาพทหารอยู่เต็มพื้นที่บนดาดฟ้าตึกชาญอิสระพร้อมอาวุธครบมือ เป็นปืนไรเฟิลเป็นสไนเปอร์ที่มีใช้เฉพาะทหารหน่วยกองพันจู่โจม สังกัดรบพิเศษที่ขึ้นตรงกับผบ.ทบ.   โดยหน่วยนี้นอกจาก ผบ.ทบ.แล้วจะไม่มีใครสามารถเรียกใช้งานได้เพราะต้องใช้ลายเซ็นผบ.ทบ.เท่านั้น ซึ่งเป็นภาพก่อนการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก นอกจากนี้ยังมีภาพเหตุการณ์ที่ทหารจับกุมคนเสื้อแดงทั้งชายและหญิงมามัดมือมัดเท้าและปิดตา รวมทั้งคลิปที่ทหารจับชายคนหนึ่งมัดมือ มัดเท้าและให้นอนราบลงบริเวณข้างวัดปทุมฯ รวมทั้งภาพที่ทหารจับกุมตัวพระสงฆ์ไปคุมขังในเรือนจำแดนต่างๆ

“รัฐบาลชุดนี้ยังเป็นชาวพุทธอยู่หรือไม่  รัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุกคามละเมิดสิทธิ์ประชาชน บ้านเมืองถูกปกครองโดยรัฐบาลอภิทธิ์ชน ผมดูภาพดูคลิปแล้วต้องหลั่งน้ำตาที่คนไทยด้วยกันทำกันถึงขนาดนี้ ขอฝากกลอนไว้บทหนึ่งว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ชน ทำดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ คนเจ็บถูกใส่ร้าย คนตายถูกกล่าวหา คนสั่งฆ่ายังลอยหน้า คนฆ่าประชาชนยังลอยนวล” นายพร้อมพงศ์กล่าว

 

พร้อมพงศ์เรียกร้อง องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องว่านายอภิสิทธิ์ ควรจะให้องค์กรระหว่างประเทศที่มีความเป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะถ้ารัฐบาลตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการอิสระหรือว่าองค์ใดๆเข้ามาตรวจสอบจะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามาอาจจะไม่มีความเป็นกลางหรือเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน วันนี้ต้องยอมรับว่าคนกลางไม่มีแล้วในประเทศไทย เพราะว่าคนกลางกลายเป็นคนกลัว คนกลางกลายเป็นคนเลือกข้าง ดังนั้นจึงน่าจะให้องค์กรระหว่าสงประเทศเข้ามาตรวจสอบ ดังนั้นรัฐบาลควรจะพิสูจน์ว่ามีความจริงใจอย่างที่พูดจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายพร้อมพงศ์ได้นำภาพพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมและคลิปวิดีโอเหตุการณ์ภายในวัดปทุมฯช่วงเย็นวันที่ 19 พฤษภาคมโดยมีนายณรงค์ศักดิ์ พยานที่ถูกยิงที่ต้นขาอยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดยนายณรงค์ศักดิ์ได้อธิบายเหตุการณ์ในคลิปวีดีโอไปด้วยว่า ช่วงเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคมตนและประชาชนจำนวนมากได้เข้าไปหลบในวัดปทุมฯโดยคิดว่าน่าจะมีความปลอดภัยเนื่องจากเป็นเขตอภัยทานแต่ปรากฏว่าทหารยิงเข้าใส่ประชาชน ตนเองถูกยิงที่ต้นขาและยังมีคนเสียชีวิตภายในวัดอีกหลายคน

นายพร้อมพงศ์กล่าวเสริมว่า กรณีที่มีการเสนอข่าวคนตายภายในวัด 6 ศพความจริงมีมากกว่านั้น โดยนายศักดิ์นรินทร์ บุตรชายนายณรงค์ศักดิ์เห็นเหตุการณ์ว่ายังมีอีก 3 ศพที่ทหารแย่งเอาศพไป ซึ่งนายศักดิ์นรินทร์ กล่าวยอมรับว่าเหตุการณ์กล่าวเป็นความจริงตามที่นายพร้อมพงศ์กล่าว

 

เหยื่อสูญหาย 39 ราย
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ประชาชนที่ถูกมัดมือมัดเท้าและถูกทหารจับตัวไป และยังตามตัวไม่พบ จนมีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีจำนวนถึง 39 คนนั้น อยากถามว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน เสียชีวิตแล้วหรือยัง ขอให้รัฐบาลออกมาแถลงให้ชัดเจน เนื่องจากญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นมาร้องเรียนถามหาที่พรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ดูเหมือนจะถูกปิดข่าว พร้อมทั้งบอกปัดให้ไปแจ้งที่ดีเอสไอแทน

ด้านนางสุภาพร มนตรี ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช พยานในเหตุการณ์ยิงประชาชนในวัดปทุมฯ เปิดเผยว่า ภาพที่พรรคเพื่อไทยนำมาแถลง ที่มีชายแต่งชุดทหารเล็งปืนใส่ประชาชนในวัดปทุมฯเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ภาพตัดต่อ เพราะตนอยู่ในเหตุการณ์เห็นกับตาว่าประชาชนที่หลบกระสุนปืนเข้าไปอยู่ในวัดนั้น เป็นประชาชนมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ไม่มีปืนเอ็ม 79 นอกจากทหารเท่านั้นที่ถือปืน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนรู้สึกสะเทือนใจ โดยเฉพาะที่รัฐบาลกล่าวหาประชาชนว่ามีอาวุธนั้น ถือว่าโกหก

 

2 ส.ส.พท. ถอนตัวกก.ตรวจคลิป ฉุน "ชัย"ลอยตัวปล่อย 2 ฝ่ายชกนอกรอบ ปชป.ยันต้องส่งคลิปล่วงหน้า 3 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อตรวจสอบการนำคลิปวิดีโอและพยานหลักฐานมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนัดแรก โดยมีกรรมการที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายละ 3 คน รวม 9 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

นายวิรัตน์แถลงภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมมีมติจะไม่มีการตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการอภิปรายในเรื่องการทุจริต  แต่จะตรวจสอบหลักฐานทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคลิปเสียงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุม โดยผู้อภิปรายต้องส่งหลักฐานให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายฯ พิจารณาก่อนการอภิปราย 3 ชั่วโมง  ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ข้อมูล คลิปวิดีโอ และพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ 4 ข้อคือ

1. ต้องเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ  2. ต้องเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ 3. ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สภากำลังพิจารณา และ 4. ต้องเป็นข้อมูลที่เหมาะสมชัดเจน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ไม่พาดพิงถึงสถาบัน ไม่พาดพิงให้บุคคลภายนอกเสียหาย และไม่เป็นข้อมูลหรือภาพที่อุดจาดตา

“ในวันนี้ (วันที่ 30 พฤษภาคม) นายศิริโชค โสภา ส.ส. สงขลา ได้ส่งมอบคลิปในส่วนของรัฐบาลให้คณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคลิปของรัฐบาลที่ส่งมามีเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการเก็งข้อสอบของฝ่ายค้าน และยืนยันว่าทุกคลิปที่ใช้ไม่มีการตัดต่อแน่ แต่ในส่วนของฝ่ายค้านยังไม่ยอมส่งคลิปให้ตรวจสอบแม้แต่คลิปเดียว แต่แจ้งว่า จะส่งให้ได้ในเวลา 07.30 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม หากฝ่ายค้านไม่ส่งคลิปให้ตรวจ 3 ชั่วโมงก่อนอภิปราย ก็ไม่สามารถเปิดคลิปในสภาได้” นายวิรัตน์กล่าว

นายวิรัตน์กล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย กรรมการจากพรรคเพื่อไทย (พท.) 2 คนคือ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส. กทม. ในฐานะรองประธานกรรมการ 3 ฝ่ายฯ และนพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน ได้ยื่นใบลาออกจากการตำแหน่ง เพราะกังวลใจที่ต้องเป็นผู้ขึ้นอภิปรายด้วย แต่ตนไม่สามารถอนุมัติใบลาออกได้ เพราะเป็นอำนาจของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หากอนุมัติลาออก นายชัยก็จะต้องตั้งคนอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน  แต่ถ้าไม่อนุมัติ ทั้ง 2 คนก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตามการลาออกของทั้ง 2 คนเกิดขึ้นหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง และได้รับรองมติทุกข้อของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายฯ แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายวิรัตน์เปิดแถลงผลการประชุม นายวิชาญ และนพ. ชลน่านได้แยกตัวออกมายืนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณหน้าห้องประชุม โดยนายวิชาญกล่าวว่าว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการ 3 ฝ่ายฯ เพราะเห็นว่านายชัยจงใจผลักภาระให้คณะกรรมการชุดนี้ ทั้งๆ ที่การอนุญาตให้ใช้คลิปหรือไม่ เป็นดุลพินิจของประธาน โดยมีข้าราชการประจำพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการอภิปรายอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะให้รัฐบาลกับฝ่ายค้านมาชกกันนอกรอบ ก่อนชกกันอีกรอบในสภา นอกจากนี้บุคคลที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่ายยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการอภิปราย เนื่องจากข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายเป็นข้อมูลในลักษณะกล่าวหา หากต้องแบโจทย์ให้ดูหมดย่อมส่งผลต่อการหักล้างและชี้แจงข้อกล่าวหาของผู้ถูกอภิปราย ตรงนี้เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้สภา

นพ. ชลน่านกล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส. แพร่ พท. ไม่ลาออกจากการเป็นกรรมการด้วยนั้น เป็นเพราะกรรมการจากสำนักเลขาธิการสภา ชี้แจงในที่ประชุมว่าแม้ฝ่ายค้านจะไม่ส่งคลิปให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายตรวจสอบล่วงหน้า แต่พอถึงเวลารัฐบาลโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ขอเข้ามาดูคลิปก่อนอยู่ดี อย่างไรข้อสอบก็รั่วได้อยู่ดี

“ขอยืนยันว่าผม 2 คนไม่ได้รับรองมติที่ประชุมทั้งหมดก่อนที่จะยื่นใบลาออก เพราะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ 2 ข้อคือ 1. การเปิดเผยที่มาที่ไปของคลิปเพราะจะทำให้เจ้าของคลิปเดือดร้อน และ 2. การส่งคลิปให้ตรวจล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะจะทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลของฝ่ายค้าน” นพ. ชลน่านกล่าว

 

ชัยลั่น เปิดคลิปได้หรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการฯ
ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่นคลิปและเอกสารหลักฐานที่จะใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อคณะกรรมการตรวจสอบคลิปวิดีโอว่า เป็นสิทธิของส.ส.ที่จะเสนอคลิปมายังคณะกรรมการทั้ง 9 คนเมื่อใดก็ได้ ซึ่งอาจจะเสนอในวันอภิปรายก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ ในส่วนของระยะเวลาในการตรวจสอบคลิปคงต้องแล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณา ถ้ามีความเห็นอย่างไร ถ้าเสียงข้างมากให้ใช้ได้ ก็จะเสนอมายังตน และตนก็จะอนุญาตให้เปิดในห้องประชุมได้ ถ้าคณะกรรมการฯไม่อนุญาตให้เปิดตนก็ไม่สามารถอนุญาตให้เปิดได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่าก่อนการเปิดคลิปทุกครั้งต้องผ่านคณะกรรมการก่อน จะมาลักไก่ขอเปิดระหว่างการประชุมไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหากมีการยื่นคลิปดังกล่าวในเวลากระชั้นชิดจะอนุญาตเปิดได้หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า คงแล้วแต่คณะกรรมการฯว่าอนุญาตให้เปิดหรือไม่ หรือถ้าคณะกรรมการฯไม่มีความเห็น แต่ให้ประธานสภาฯชี้ขาดประธานสภาฯก็ไม่สามารถอนุญาตได้ หรือถ้ามีการยื่นระหว่างที่มีการอภิปรายก็ต้องรอให้คณะกรรมการฯตรวจสอบก่อน โดยอาจจะมีการพักการประชุมหนึ่งชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร ยืนยันว่าประธานในที่ประชุมต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่เอนซ้าย เอนขวา จะทำอะไรต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้การอภิปรายอยู่ในกรอบ ระเบียบ รวมทั้งให้คนไทยทั้งชาติให้มาดูและร่วมรับฟัง ไม่ใช่ให้มาดูคนทะเลาะกัน

 

จตุพร มีสิทธิอภิปรายเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบการอภิปรายทั้งสองวันจะใช้เวลาเท่าไหร่ นายชัย กล่าวว่า คงใช้เวลาประมาณ 26 ชั่วโมง ยืนยันว่าการอภิปรายใช้เวลาเพียงวันเดียวก็จบ เพราะไม่เห็นมีอะไรมากมาย ถามว่าทุจริตมันทุจริตอะไร ก็พูดกันไป มีเอกสารอ้างอิงหรือไม่ แต่ถ้าพูดใส่ไคร้ไม่มีหลักฐาน เขาก็สามารถดำเนินคดีฐานทำให้เขาเสียหาย อย่างไรก็ตามคนที่จะโกงเขาก็กลัวคุกหมือนกัน “โธ่..เอ้ย เรื่องเหล่านี้ เรื่องที่ใส่ไคร้กัน คนขนาดเป็นรัฐมนตรีถ้าโกงให้เขารู้และจับได้ก็โง่เต็มทนแล้ว” เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามีการโกงเกิดขึ้นจริง นายชัย กล่าวทีเล่นทีจริงว่า ก็เหมือนกับตัวเรา ถ้าโกงแล้วให้เขาจับได้ก็เหมือนกัน

ส่วนกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า เขามีสิทธิ์ในการอภิปรายเต็มที่ ซึ่งการพูดในสภาและนอกสภาคนละเรื่องกัน เพราะการพูดนอกสภาเป็นกฎเกณฑ์ของเขาเอง แต่ในสภาจะมีข้อบังคับ และประธานสภามีหน้าที่ควบคุม ซึ่งใครพูดวกวนพูดใส่ไคร้คนอื่นก็มีข้อบังคับ ไม่ให้พูดได้ เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยถูกเพ่งเล็งในการอภิปรายครั้งนี้ นายชัย กล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีเป็นแค่ประธานสภา ถ้าสภายุบเราก็ไป กรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยก็พูดเก่ง พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยเรียกไปติวนั้น นายชัย กล่าวว่า ไม่จริง เพราะนายเนวินไม่เกี่ยวข้องในสภา

 

ศอฉ.เตรียมข้อมูลให้"สุเทพ"ใช้สู้
แหล่งข่าวจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ว่า ส่วนของการเตรียมข้อมูลเพื่อรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ศอฉ.ประเมินว่า ส.ส.พท.จะมุ่งเป้าโจมตีในเรื่องการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ และกระชับวงล้อมผู้ชุมนุม ดังนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯและผู้อำนวยการ ศอฉ. และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยมอบหมายให้ทีมโฆษก ศอฉ. เตรียมข้อมูล หลักฐานร่วมกับหน่วยงานด้านการข่าวและหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อจัดทำเอกสารเรียงตามลำดับเหตุการณ์ตามวันและเวลา ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไปจนถึงคลิปภาพในเว็บไซต์ยูทิวบ์ ในวันที่มีการปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงการจัดทำข้อมูลทั้งเอกสารและวีซีดี เพื่อเตรียมแจกจ่าย ส.ส.และประชาชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย

 

ปชป.ตั้ง 2 ทีมจับตาฝ่ายค้าน
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) แบ่งทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 5 คน ออกเป็น 3 ทีมว่า น่าจะเป็นเพราะตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้าทีม จึงมีการกำหนดตัวผู้อภิปรายไว้ถึง 20 คน ซึ่งจำนวนคงไม่สำคัญเท่าเนื้อหา อยากให้ฝ่ายค้านกลับไปดูว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องใดเป็นประเด็นหลัก เพราะขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ประธาน ส.ส.พท. บอกว่า จะเน้นเรื่องการทุจริต แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และนายวิทยา บุรณศิริ ทีมงานในการอภิปราย กลับระบุว่าจะเน้นเรื่องเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม กรณีที่พรรค พท.โจมตีว่ารัฐบาลพยายามปิดปากฝ่ายค้าน โดยการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบหลักฐานนั้น อยากชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ใช่ความต้องการรัฐบาล แต่เป็นความต้องการของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องการให้ทุกอย่างชัดเจนก่อนการอภิปราย ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน หาก พท.ไม่ยอมรับคณะกรรมการดังกล่าว ก็ไม่ควรส่งตัวแทนมาร่วมแต่แรก

"ที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทย พยายามกุข่าวใส่ร้ายรัฐบาลตลอดเวลา โดยเฉพาะนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี ที่บอกว่า รัฐบาลจ้างคนมาป่วนเพื่อต่อเคอร์ฟิว และกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกเพื่อไทย อ้างว่ารัฐบาลต่อเคอร์ฟิวเพื่อขัดขวางการอภิปรายของฝ่ายค้านก็ไม่เป็นความจริง เพราะการประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อย หากทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้เคอร์ฟิวอีกต่อไป" นายเทพไทกล่าว

นายเทพไทกล่าวว่า พรรคยืนยันไม่จำเป็นต้องจัดตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่อาจจะต้องตั้งทีมขึ้นมาจับตาฝ่ายค้านใน 2 กรณี หนึ่ง ป้องกันการละเมิดข้อบังคับการประชุม และสอง ป้องกันการพาดพิงบุคคลที่สาม

 

ท้าพท.ยื่นฟ้องนายกฯ ปมสลายม็อบ
นายเทพไทกล่าวว่า กรณีที่นายจตุพรพยายามแถลงว่า การเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ฝีมือคนเสื้อแดง แต่เป็นฝีมือของมือที่สามมาสร้างสถานการณ์ เพราะห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ดีกับคนเสื้อแดงมาตลอด โดยการให้ใช้ห้องน้ำนั้น เท่าที่ตรวจสอบไปยังเจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้รับการชี้แจงว่าที่ยอมให้ใช้ห้องน้ำเพราะถูกข่มขู่และกลัวเหตุวุ่นวาย อยากถามว่าถ้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ดีกับคนเสื้อแดงแล้วยังจะถูกเผาหรือไม่ เหมือนโรงแรมเอราวัณที่ให้แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าไปพักและรับประทานอาหารบ่อยๆ จึงไม่ถูกเผา นายจตุพรเป็นคนที่เป็นจำเลยสังคม เป็นผู้ต้องของทางการ คำพูดของนายจตุพรจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทพไทยังนำภาพถ่ายมาแถลงตอบโต้พรรค พท.ที่สงสัยว่า เหตุใดผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตถึงไม่มีอาวุธสงคราม ทั้งที่ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อการร้าย โดยนายเทพไทกล่าวว่า เรื่องนี่ต้องแยก 2 ส่วน 1.ผู้เสียชีวิตที่ไม่มีอาวุธเพราะถูกกองกำลังติดอาวุธยิงกันเอง และ 2.ผู้เสียชีวิตบางส่วนมีอาวุธแน่นอน อย่างการ์ด นปช.ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการกระชับวงล้อม แล้วถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แล้วพบว่ามีระเบิดเอ็ม 26 อยู่ในกระเป๋าถึง 3 ลูก ทั้งนี้หากพรรค พท.มีพยานหลักฐานว่านายกฯกระทำผิด จะยื่นฟ้องต่อหน่วยงานใดก็สามารถทำได้ โดยนายกฯยืนยันว่าพร้อมต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในทุกกรณี

 

ยื่นคำขาดไม่ส่งคลิปให้ตรวจ"แห้ว"
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อตรวจสอบการนำคลิปวิดีโอและพยานหลักฐานมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะต้องนำภาพถ่ายและคลิปที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรวจสอบในที่ประชุมคณะกรรมการ วันที่ 30 พฤษภาคม หากไม่นำมาให้ตรวจสอบ ก็จะเอาไปใช้ในสภาไม่ได้ นี่คือข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกัน ยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะรัฐบาลก็จะต้องนำภาพถ่ายและคลิปที่จะใช้ชี้แจงมาตรวจสอบเช่นเดียวกัน

"ส่วนตัวเห็นว่าภาพถ่ายหรือคลิปใดที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก ไม่สมควรให้รับอนุญาตให้เปิดในสภา เพราะขณะนี้คนไทยกำลังต้องการเดินหน้าสร้างความสมานฉันท์ ไม่ควรทำอะไรที่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งอีก" นายศิริโชคกล่าว

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมการ 3 ฝ่าย กล่าวว่า หากการประชุมวันที่ 30 พฤษภาคม พท.ยังไม่ส่งอะไรมาให้ตรวจอีก ก็ถือว่าไม่มีสิทธิใช้ภาพถ่ายหรือคลิปใดๆ ในการอภิปรายแล้ว เนื่องจากการอนุญาตให้เปิดหรือไม่เป็นดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 61 และประธานสภาก็มอบหมายให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายเป็นผู้พิจารณาแทน

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ไทยรัฐ, มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ส. ประชาธิปัตย์จี้มูลนิธิกระจกเงาเผยรายชื่อคนหาย

Posted: 30 May 2010 01:47 AM PDT

<!--break-->

30 พ.ค. 53 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาออกมาเปิดเผยจำนวนผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ 19 พ.ค. ว่ามีผู้สูญหายจำนวน 34 ราย ว่า ถือเป็นความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ แต่อยากให้มูลนิธิฯเปิดเผยรายชื่อทั้งหมดว่าเป็นใครเพื่อทุกฝ่ายจะได้ช่วยกันตรวจสอบว่ามีใครถูกจับกุมไปบ้าง เช่นกรณี น.ส.ดาวธิดา ไม่ทราบนามสกุล เป็นคน จ.ระยอง  ทางญาติได้มาพบเจ้าหน้าที่แจ้งสูญหาย แต่ทางน.ส.ดาวธิดาได้ติดต่อมายังญาติแล้วบอกว่าอยู่ที่กรุงเทพ ไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวอันตราย  ดังนั้นหากมูลนิธิฯปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามวัตถุประสงค์ก็ถือเป็นความชอบธรรม แต่ตนคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองเพราะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่หยิบยกเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นการเมือง

นายสาธิต กล่าวถึง การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านจะนำคลิปขึ้นมาเปิดนั้น ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องมียางอาย และต้องปฏิบัติตามกติกาที่ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาในอดีตเคยมีการตัดต่อคลิปเสียงของนายฯ ซึ่งเป็นคำสั่งไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายนปี2552 แต่ไปถูกตัดต่อให้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมว่าสั่งให้ใช้ความรุนแรง  อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดงมักจะถามหาความรับผิดชอบของนายกฯในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ แต่จะชอบหรือไม่ก็ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ว่าใครผิดหรือถูก ซึ่งนายกฯก็พูดชัดเจนว่าถ้าคณะกรรมการชี้ว่าผิดก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ แต่ตนก็อยากจะถามความรับผิดชอบของส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการชุมนุมที่เกิดขึ้นจนมีเหตุให้ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็อยากจะถามว่าพรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช.จะรับผิดชอบอย่างไร และในวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ตนจะยื่นหนังสือ พร้อมด้วยรายชื่อส.ส.จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะส.ส.พรรคประชาธิปตย์ ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้พิจารณาถอดถอนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย นายวิเชียร์ ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี และ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.  โดยจะมีการยื่นก่อนที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มาร์ค" หวั่น อภิปรายไม่ไว้วางใจจะยิ่งสร้างความแตกแยก

Posted: 30 May 2010 01:06 AM PDT

<!--break-->

30 พ.ค.53 - เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 70 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้

ช่วงที่ 1   

การยกเลิกเคอร์ฟิวคืนแรกเหตุการณ์เรียบร้อยดี 

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ เมื่อคืนที่ผ่านมาก็เป็นคืนแรกที่ไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ  ซึ่งเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมาก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  อย่างไรก็ตามการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดนั้น ขณะนี้ก็ยังประกาศใช้อยู่  ซึ่งผมจะได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีความเหมาะสมจะได้มีการดำเนินการในการผ่อนคลายข้อกำหนดต่าง ๆ หรือยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินไปในที่สุด 

สำหรับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหลายนั้น เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสชี้แจงกับทางเอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนขององค์กรภาคธุรกิจต่างประเทศที่ทำเนียบรัฐบาล รวมไปถึงการได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางสื่อมวลชนต่างประเทศด้วย  ซึ่งในช่วงที่ 2 ของรายการนี้ จะได้มีการนำเอาการบันทึกการชี้แจง และการตอบข้อซักถามต่าง ๆ มาให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบด้วย 

3 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึงร้อยละ 12

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ก็คืองบประมาณที่เราจะใช้กันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม  ผมต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับหลักการกฎหมายงบประมาณ และจะมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ  ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป  ผมขอเรียนครับว่าในเรื่องของงบประมาณและเรื่องของเศรษฐกิจนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่าเศรษฐกิจของไทยนั้นขยายตัวถึงร้อยละ 12 เป็นการขยายตัวซึ่งถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อาจจะรองลงมาจากประเทศสิงคโปร์และอีกบางประเทศในภูมิภาคนี้  แต่ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่เข้มแข็งมาก  เพราะว่าปีที่แล้วระยะเวลาเดียวกันนั้น เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 7.1 การฟื้นตัวครั้งนี้ตัวเลขที่ปรากฏออกมา 3 เดือนแรกนั้นก็ปรากฏว่าการส่งออกก็เข้มแข็งมาก  ขยายตัวร้อยละ 30 กว่า ๆ การท่องเที่ยวก็ขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 30 การบริโภคภายในประเทศก็มีความเข้มแข็ง และที่สำคัญคือว่าแม้กระทั่งการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณไปในทางที่ดี  ซึ่งหมายความว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้  เป็นการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก  ซึ่งค่อนข้างที่จะสมดุลและรอบด้าน รายได้ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ล้วนแล้วแต่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านเลย 

อย่างไรก็ตามครับ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และเหตุการณ์ที่มีความวุ่นวายที่ผ่านมา ก็เป็นที่คาดการณ์ครับว่าในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนนี้และเดือนมิถุนายนนั้น ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็คงจะเป็นภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน  เพราะฉะนั้นแม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 3 เดือนจะอยู่ที่ร้อยละ 12 แต่ว่าประมาณการทั้งปี  ซึ่งถ้าหากว่าเป็นเหตุการณ์ปกติก็หมายความว่าเศรษฐกิจน่าจะโตได้ถึงเกือบ 6-7 เปอร์เซ็นต์ เราก็ยังคงประมาณการเอาไว้ว่าคงจะเป็นอยู่ในระหว่าง 35-45 เปอร์เซ็นต์สำหรับปีนี้  ซึ่งรัฐบาลก็จะได้เร่งในการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป 

1 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเข้มแข็งฟื้นตัวอย่างดี

เครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจก็คืองบประมาณครับ งบประมาณปีนี้รัฐบาลได้จัดไว้ที่ 2,700,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุลประมาณ 400,000 กว่าล้าน  ซึ่งงบประมาณนี้เป็นงบประมาณที่นำเอาเรื่องของการงบประมาณ หรือการเงินการคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน  ที่พูดเช่นนี้ก็มี 2 เหตุผลครับ เหตุผลแรกที่คือในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปีที่แล้ว รัฐบาลคิดว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินพิเศษเป็นกรณีพิเศษนั้นถึง 800,000 ล้านบาทเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่ว่าหลังจากที่การบริหารงานผ่านไปประมาณ 1 ปี ปรากฏว่าเศรษฐกิจเติบโตเข้มแข็งฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการที่จะกู้ยืมเงินพิเศษ 400,000 ล้านบาทหลัง  ซึ่งเดิมจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นั้นก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป  แต่โครงการที่จะมีการดำเนินการในการใช้เงินกู้ตรงนั้น  ซึ่งเป็นโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของถนนหนทาง แหล่งน้ำ โรงเรียน  โรงพยาบาล และเรื่องอื่น ๆ นั้น ยังเป็นความตั้งใจของ รัฐบาลที่จะลงทุนอยู่  โดยเดิมนั้นการใช้เงินกู้ก็จะใช้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า  

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือว่านำเอาการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท จากพ.ร.บ.กู้เงินนั้นกลับเข้ามาสู่ระบบงบประมาณ ก็หมายความว่าที่ได้มีการขาดดุลเพิ่มเติมนั้น  ก็มีการนำเอาโครงการตรงนั้นมา 100,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณอีก 2 ปีถัดไป งบประมาณปี 55 ปี 56 ก็จะสามารถเดินหน้าตามแผนของการลงทุนตามโครงการไทยเข้มแข็งได้  ต้องชี้แจงอย่างนี้ครับ เพราะว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่หลายพื้นที่จะทราบว่า มีอะไรบ้างอยู่ในแผนของการลงทุนไทยเข้มแข็ง แต่ขณะนี้อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในรายการงบประมาณปี 54 ก็ขอให้มีความมั่นใจว่าโครงการเหล่านั้นคือโครงการที่จัดลำดับความสำคัญไว้สูงสุดสำหรับการลงทุนในปี 55 และปี 56   

งบฯ ปี 54  เดินหน้าการดูแลสวัสดิการของประชาชนเป็นสำคัญ 

ผมขอเรียนครับว่าจากการที่เราดึงเอาการลงทุนเข้ามาในงบประมาณปี 54 นี้ก็ทำให้สัดส่วนงบประมาณในด้านการลงทุนของงบประมาณทั้งหมดปีนี้ขยับกลับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16  ซึ่งที่จริงแล้วเราอยากจะให้เกินร้อยละ 20 แต่ในช่วงวิกฤตนั้นก็ต้องมีการตัดการลงทุนลงมา เพราะว่าขาดรายได้จากภาษีอากร ปีที่แล้วลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 12 เพราะฉะนั้นงบประมาณนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงการย้อนกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปกติ อย่างไรก็ตามครับ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารายจ่ายประจำ ซึ่งขณะนี้สูงถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณทั้งหมด  จะเป็นงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่  ผมขอเรียนครับว่ารายจ่ายประจำในที่นี้ไม่ได้มีเฉพาะในเรื่องของเงินเดือน หรือการบริหารของราชการ แต่จะรวมรายจ่ายสำคัญตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลมุ่งที่จะสร้างสวัสดิการให้กับพี่น้องประชาชน  

เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จัดไว้สำหรับปี 54 นั้น ก็ยังเป็นงบประมาณที่จะดูแลในเรื่องของการเรียนฟรี 15  ปี จะเป็นงบประมาณที่ดูแลในเรื่องของเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุกับพี่น้องประชาชนกว่า 5 ล้านคน มีการจัดเบี้ยสำหรับคนพิการ 800,000 กว่าคน มีเรื่องของการเพิ่มงบประมาณต่อหัวในโครงการรักษาพยาบาลฟรี  ซึ่งเดิมเป็นโครงการ 30 บาทนั่นเอง มีการจัดงบประมาณไว้สำหรับการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งจะเพียงพอต่อการดูแลเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวนั้นสามารถที่จะดำเนินการในเรื่องของการประกันรายได้ได้ 2 รอบเช่นเดียวกัน  เพราะฉะนั้นงบประมาณทั้งหมดนี้  จะเป็นงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  นำในเรื่องของโครงสร้างทางการเงินการคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  มีการเดินหน้าในเรื่องของการดูแลสวัสดิการของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และดำเนินการในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น   

สำหรับการขาดดุลประมาณ 400,000 กว่าล้านนั้น ก็อยากจะขอเรียนว่าเป็นการขาดดุลซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศนั้น ยังอยู่ในระดับซึ่งควบคุมได้  จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเริ่มต้นวิกฤตมีการประมาณการกันว่าหนี้สาธารณะของประเทศพอสิ้นปีนี้อาจจะต้องเกินร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติหรือผลิตภัณฑ์มวลรวม ขณะนี้จะไม่ถึงร้อยละ 50 แล้ว และคาดว่าจะสามารถบริหารจัดการให้เริ่มลดลงได้ในระยะเวลาต่อไป  ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับหลายประเทศในโลกในขณะนี้  พี่น้องประชาชนที่ติดตามข่าวสารจะทราบว่าประเทศในยุโรปก็ดี  และอีกหลายประเทศก็ดี  ซึ่งดำเนินมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องหนี้สาธารณะ  ซึ่งเกินเลยไปถึงร้อยละ 70-80 ร้อยละ 100 หรือเกินร้อยละ 100 ก็ยังมี  ก็ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าสำหรับกรณีของประเทศนั้นไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน นั่นก็คือเรื่องของงบประมาณและเรื่องของเศรษฐกิจที่ได้มีการผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการงบประมาณที่ดำเนินการไปราบรื่นเช่นนี้ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของประชาคมโลกด้วย เพราะว่าเราเพิ่งผ่านเหตุการณ์วิกฤตที่ร้ายแรงมา   

สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์  ก็ขอเรียนครับว่ามีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความสูญเสีย ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกกลุ่มเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการดูแล และทุกกลุ่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของเงินตรา ทุนทรัพย์ แม้กระทั่งการที่ทรงเข้าไปดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรง  เช่น ชุมชนบ่อนไก่  รัฐบาลก็เช่นเดียวกันครับได้ดำเนินการในการช่วยเหลือสำหรับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บนั้น  ก็มีเกณฑ์ความช่วยเหลือ ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ได้มีการดำเนินการไปตามปกติ   

กระทรวงต่าง ๆ และกทม.เข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

เช่นเดียวกันครับการฟื้นฟูชุมชนต่าง ๆ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีการมอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  รวมไปถึงท้องถิ่น โดยเฉพาะก็คือกรุงเทพมหานครในการเข้าไปดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่บ่อนไก่ พื้นที่ดินแดง ฟื้นฟูในเรื่องของสาธารณูปโภค และให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูจิตใจของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ผมเองได้มีโอกาสไปเยี่ยมบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีทั้งในส่วนของทหาร อาสาสมัคร และพี่น้องประชาชน ก็ต้องขอชื่นชมในความเข้มแข็ง และในกำลังใจของทุก ๆ คนที่ผมได้มีโอกาสเยี่ยมในวันนั้น 

สำหรับในเรื่องของการช่วยเหลือผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ก็ขอเรียนครับว่าเดิมนั้นเรามีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มีท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้มีเป้าหมายก่อนหน้านี้ในการช่วยเหลือในเรื่องของบุคคลที่ตกงาน และเรื่องของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีปัญหาในการเสียค่าเช่า แต่ไม่สามารถประกอบกิจการได้  ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะว่ามีเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม  โดยเฉพาะที่ทำให้มีปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการช่วยเหลือ  ซึ่งงานของคณะกรรมการชุดนี้ก็ยังดำเนินการต่อไป  เบื้องต้นนั้นในส่วนของปัญหาการว่างงานก็ดี  ปัญหาการเสียค่าเช่าก็ดี หลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วก็คือว่าในส่วนของการดูแลในการจ้างงาน ก็คือกิจการใดซึ่งไม่สามารถประกอบกิจการได้ แต่ว่าไม่เลิกจ้างงาน รัฐบาลก็เข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของค่าจ้าง  ในส่วนของค่าเช่าก็เช่นเดียวกันครับ  จะมีหลักการว่าไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปเก็บค่าเช่าจากผู้ประกอบการรายย่อย  และรัฐบาลจะเข้าไปดูแลในการเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไป   

รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ตกงานและลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม

นอกจากนั้นครับสำหรับคนที่ตกงาน ผู้ที่มีสิทธิตามประกันสังคมอยู่แล้ว รัฐบาลก็จะสมทบให้อีก 7,500 บาท  และสำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเงินจำนวนเดียวกัน ก็จะมีการจ่ายให้ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างถ้าเป็นผลกระทบโดยตรงมาจากการชุมนุม  สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ ในวันที่ 19 พฤษภาคม  ซึ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ก็จะมีที่สยามสแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นเตอร์วัน มาตรการขณะนี้คือว่าเราได้เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนวันที่ 31 พฤษภาคม คือวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายที่จะมีการขึ้นทะเบียนสำหรับกลุ่มนี้  แต่ว่าได้มีมติในการช่วยเหลือชัดเจนแล้ว เบื้องต้นคือมีเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท เพื่อที่จะเป็นทุนในการดูแล ในการใช้ชีวิตในขณะที่ประสบกับปัญหาที่เกิดเพลิงไหม้ และอาจจะสูญเสียทั้งร้านค้าและสินค้าของตัวเอง  มีมติเช่นเดียวกันว่าให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือธนาคารเอสเอ็มอี ได้ให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินต้นในช่วง 1 ปีนี้  และไม่มีการคิดดอกเบี้ย และมีวงเงินให้อีก 700,000 บาท  รวมกันแล้วก็จะเป็น 1 ล้านบาท ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 หรือไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของทุนในการประกอบการ หรือเงินทุนหมุนเวียนต่อไป 

จัดงบฯ 90 ล้านให้จุฬาฯ จัดหาสถานที่ช่วยผู้ประกอบการที่ประสบเพลิงไหม้

สำหรับการจัดหาสถานที่ในการช่วยผู้ประกอบการซึ่งประสบเพลิงไหม้นั้น กรณีของสยามสแควร์ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้มีการจัดสถานที่ ทั้งลักษณะที่เป็นชั่วคราวก่อน และต่อมาก็จะมีการสร้างอาคารกึ่งชั่วคราวกึ่งถาวร ที่จะใช้บริเวณในสยามสแควร์นั่นเอง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถขายของในพื้นที่ดังกล่าวได้  รัฐบาลก็ได้จัดงบประมาณให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วประมาณ 90 ล้านบาท และการดำเนินการตรงนี้จะไม่คิดค่าเช่า คาดว่าจะเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี  ในขณะที่มีการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูอาคารที่ได้รับความเสียหายไป ส่วนกรณีของเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ข้อเสนอเบื้องต้นคือว่าผู้ประกอบการจะสามารถไปขายของได้ที่สาขาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เซ็นทรัลเวิลด์เสนอมาก็คืออาจจะเป็นที่เซ็นทรัลลาดพร้าว โดยจะต้องมีการเจรจาระหว่างทางกลุ่มบริษัทกับทางการรถไฟฯ เนื่องจากว่าเซ็นทรัลลาดพร้าวอยู่ในช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสัญญาการเช่า  ถ้าหากว่าเรียบร้อยก็จะดำเนินการไปตามแนวทางนี้ แต่ว่าถ้าหากว่าไม่เรียบร้อย รัฐบาลก็จะใช้แนวทางเดียวกับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำกับสยามสแควร์  เราก็จะพยายามหาที่ของรัฐหรือที่ของทรัพย์สิน  ในการที่จะดูว่าจะสามารถจัดให้มีการค้าขายชั่วคราว อาจจะเป็นระยะเวลาประมาณ 1ปี โดยรัฐบาลก็จะมีการออกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ ซึ่งจะรวมกับกลุ่มผู้ค้าในบริเวณเซ็นเตอร์วันเช่นเดียวกัน 

ขณะเดียวกันนะครับ วันศุกร์ วันเสาร์ คือเมื่อวานซืนและเมื่อวานที่ผ่านมานี้เอง ได้มีการจัดโครงการในการปิดถนนสีลม ในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถที่จะมาค้าขายได้  ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ซึ่งได้ไปอุดหนุน  ผมเข้าใจดีเลยว่า มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้ตัดสินใจไปซื้อของอุดหนุนผู้ประกอบการเหล่านี้  ก็เพราะว่ามีความเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ กิจกรรมลักษณะนี้ก็จะมีการดำเนินการอีกเป็นระยะ ๆ  ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของทางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราได้ประสานงานไปร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์  และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบรายย่อยด้วย  ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือและการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหมด  

สภาฯ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 31 พ.ค.-1 มิ.ย.

ผมขอเรียนครับว่าสำหรับวันพรุ่งนี้และวันมะรืนนี้ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผม และรัฐมนตรีอีก 4-5 ท่าน ซึ่งก็เป็นเรื่องของกระบวนการตามประชาธิปไตย  รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา  ผมก็หวังว่าการอภิปรายนั้นจะเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงและเหตุและผลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบ และทุกฝ่ายจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ไม่ให้เวทีนี้เป็นเวทีที่จะไปสร้างความแตกแยกเพิ่มเติม   

อย่างไรก็ตามนะครับผมขอเรียนว่าในส่วนของแผนการปรองดองนั้น ก็มีการเดินหน้าอย่างเต็มที่ ภายในสัปดาห์หน้าจะเร่งรัดในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระทั้งที่เข้ามาดูแลในเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปมปัญหาทางการเมือง เรื่องของการจัดทำสมัชชารับฟังความคิดเห็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือปฏิรูป ประเทศ  ซึ่งขณะนี้โครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว มีการใช้ความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้กระทั่งการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน การจัดการประชุม  การจัดสมัชชา และผมก็ขอเชิญชวนอีกครั้งหนึ่งครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกของรัฐต่าง ๆ  องค์กรภาคธุรกิจเอกชน ที่จะมาทำโครงการไม่เพียงแต่เฉพาะเพื่อหวังผลในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะเป็นกระบวนการที่ช่วยกันทำความเข้าใจ และรวมน้ำใจของพี่น้องประชาชนให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ผมจะได้รายงานให้กับพี่น้องประชาชนรับทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป พักกันสักครู่นะครับ ประเดี๋ยวกลับมาดูการบันทึกการชี้แจงที่ผมได้ดำเนินการต่อเอกอัครราชทูต องค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศ ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร สวัสดีค่ะวันนี้รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ พาคุณผู้ชมมาที่ทำเนียบรัฐบาลค่ะวันนี้ดิฉัน พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ ทำหน้าที่พิธีกรรับเชิญนะคะ ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ถือได้ว่าสวยงาม ร่มรื่นและกลับมาเป็นศูนย์บัญชาการบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งค่ะ หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองนั้นสงบลง วันนี้พาคุณผู้ชมมาที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามภารกิจของท่านนายกรัฐมนตรีนะคะ ที่เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับคณะทูตานุทูตและสื่อมวลชนจากต่างประเทศทั่วโลกเพื่อที่จะชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมไปถึงก้าวย่างของประเทศไทยที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคตค่ะ ช่วงนี้เชิญคุณผู้ชมไปติดตามบรรยากาศภายในทำเนียบรัฐบาลกันค่ะ

(นายกรัฐมนตรีกล่าวกับคณะทูตานุทูตและสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษ )

พิธีกร (คำแปลภาษาไทย) ในช่วงแรกนะคะท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณแขกผู้มีเกียรติไม่ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูต ประธานสภาหอการค้า และองค์กรระหว่างประเทศ ที่วันนี้ได้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบปะพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์บ้านเมืองค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่ารู้สึกขอขอบคุณที่วันนี้ในภาคส่วนต่าง ๆ เอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศรวมไปถึงแขกผู้มีเกียรติที่เป็นชาวต่างชาตินั้นได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสถานการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมาค่ะ

ก่อนที่จะเปิดเวทีให้มีการซักถามและพูดคุยกันในรายละเอียดท่านนายกรัฐมนตรีก็ขอใช้เวลาช่วงนี้ในการที่จะชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้นะคะ รวมไปถึงแผนการณ์ที่รัฐบาลจะดำเนินต่อไปข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องการทำนั่นก็คือเรื่องของการลดการเผชิญหน้าและไม่ใช้ความรุนแรง

ในช่วง 1 ปีครึ่งของการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเองก็จะต้องเผชิญกับหลาย ๆ เรื่อง มีการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ามาโดยตลอด ทางรัฐบาลโดยตัวท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ มีการพูดคุยเจรจากับทางแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือว่า นปช.ซึ่งออกมาเคลื่อนไหว

ซึ่งต่อมาก็พบว่าในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธเพื่อที่จะต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่ค่อนข้างจะยากลำบากของรัฐบาลที่จะต้องจัดการแก้ไขปัญหา หลังจากที่มีการพูดคุยเจรจากันซึ่งก็ใช้เวลาอยู่หลายสัปดาห์ ก็มีการลดในส่วนของเงื่อนไขของทั้งสองฝ่ายมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำหนดการวันเลือกตั้ง ที่ทางรัฐบาลก็ได้ลดทอนลงมา

การชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ได้กระทบกับการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน มีหลาย ๆ หลักฐานนะคะไม่ว่าจะเป็นภาพฟุทเทจที่หลาย ๆ คนก็คงจะได้เห็นกันไปแล้วว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมเองก็มีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในนั้นด้วย

ท่านนายกฯ ก็พูดทำความเข้าใจเรื่องของคำว่าผู้ก่อการร้าย ที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยนะคะ หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐบาลจึงเรียกกลุ่มคนก่อความไม่สงบนี้ว่ากลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงว่าเป็นคำนิยามตามข้อตัวบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการก่ออาชญากรรม ตามกฎบัตรของสหประชาชาติที่บัญญัติคำนี้ขึ้น หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ที่สหรัฐอเมริกาค่ะ

ท่านนายกฯ ได้พูดถึงมาตรการกระชับพื้นที่นะคะ เน้นย้ำว่ารัฐบาลทำภายใต้แนวคิดให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด มีการวางแนวกำลังเพื่อตรวจค้นและสกัดกั้นไม่ให้แนวร่วมนปช. นั้นเข้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นก็คือการยุติการชุมนุม ซึ่งมาตรการนี้ก็ได้ผล เพราะว่าถ้าดูจากจำนวนของกลุ่มผู้ชุมนุมจากเดิมที่อยู่ที่หลักหมื่นคนก็มีจำนวนลดลง เหลืออยู่ที่ราว ๆ 3,000 - 4,000 คนเท่านั้นที่บริเวณราชประสงค์ค่ะ

นายกรัฐมนตรีพูดถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนะคะว่า มีกลุ่มผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุม และมีการชุมนุมที่ทั้งบริเวณสวนลุมพินีและสารสินด้วย พยายามที่จะโจมตีนักข่าว กลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ ซึ่งระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจยึดอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมากค่ะ มาถึงวันที่เจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ก็มีการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการจะเดินทางกลับบ้าน และมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ก่อความไม่สงบ วางเพลิงเผาสถานที่ราชการห้างร้านต่าง ๆ แกนนำนปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมงนะคะ แต่ว่าจนถึงช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. หรือประมาณ 1 ทุ่ม ก็ยังมีเหตุการณ์ยิงกันเกิดขึ้นที่วัดปทุมวนารามค่ะ

นายกฯ พูดถึงแผนปรองดอง 5 ข้อด้วยนะคะว่าได้เสนอให้กลุ่มนปช. แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ขณะที่เรื่องของการเจรจาที่วุฒิสมาชิกเสนอว่าจะเป็นตัวกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าที่ไม่เลือกใช้ช่องทางนี้เพราะว่ามองว่าการเจรจานั้นอาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากประเมินสถานการณ์แล้วแกนนำนปช. ยังคงมีการระดมแนวร่วมเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทางรัฐบาลก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมนะคะ โดยทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

จนถึงขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีอำนาจบังคับใช้อยู่นะคะ แต่ว่าการประกาศเคอร์ฟิวนั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อคืนวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เห็นได้จากภาพของ Big Clean Day ที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครได้มาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อที่จะเดินหน้าให้กรุงเทพมหานครนั้นกลับไปสู่สภาวะปกติ ซึ่งภารกิจของรัฐบาลที่แยกราชประสงค์ก็นำไปสู่การใช้ชีวิตที่ปกติของประชาชนค่ะ

ส่วนเรื่องของการสอบสวนข้อเท็จจริงและคดีความต่าง ๆ ท่านนายกรัฐมนตรีระบุว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมพยานหลักฐาน เรื่องของมาตรการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองนะคะ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาครม. ได้มีการอนุมัติงบเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กองทุนชดเชยรายได้ที่จะให้กับผู้ประกอบการและลูกจ้าง บริเวณพื้นที่การชุมนุม ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็คือคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ค่ะ

นอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรียังพูดถึงการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้น และหาช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยนะคะ อย่างเช่น การจัดกิจกรรมถนนคนเดินที่ถนนสีลม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อมองไปข้างหน้านะคะ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแผนปรองดองและการฟื้นฟูประเทศไทย ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทุกระดับ ประชาชนทุกคนทั่วทั้งประเทศไทย รวมไปถึงองค์กรอื่น ๆ ด้วยนะคะอย่างเช่น เอ็นจีโอ ท่านนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะเปิดรับ จะสำเร็จได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุก ๆ คนและทุก ๆ ภาคส่วนค่ะ

นายกรัฐมนตรีพูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์และวันอังคารด้วยนะคะ นายกรัฐมนตรีมองว่าช่องทางของสภาฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนยังคงเดินไปในทิศทางเดียวกันก็คือจุดสุดท้ายที่ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ทุกคนยังมองเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นหลัก ท่านนายกฯ ยังคงเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รักความสงบสุขนะคะ ภารกิจหลักของรัฐบาลหลังจากนี้ ก็คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต่อคณะทูตานุทูตถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ท่านทูต รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยนะคะว่ารัฐบาลนั้นมีมาตรการที่จะดูแลอย่างเต็มที่ และได้เชิญชวนให้คณะทูตนั้นเป็นส่วนหนึ่ง มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศไทยนะคะ เน้นย้ำว่าความมีน้ำใจของคนไทยนั้นยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ในภาพรวมนะคะที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามกับคณะทูตานุทูต ประธานสภาหอการค้า รวมไปถึงองค์กรต่างประเทศนะคะ ช่วงต้นท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ ในการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศ บนพื้นฐานของการยึดหลักสันติสุขและความปรองดอง ท่านนายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงสถานการณ์ที่ผ่านมานะคะว่าในช่วงเหตุการณ์การชุมนุม ผู้ชุมนุมได้ปฏิเสธข้อเสนอหลายประการของทางรัฐบาล นอกจากนี้พูดถึงคำจำกัดความของคำว่าผู้ก่อการร้าย ที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยนะคะ ท่านนายกรัฐมนตรีอธิบายชี้แจงว่า เป็นคำที่มีบัญญัติอยู่ในกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งสอดคล้องกับคำจำกัดความของสหประชาติ

ท่านนายกรัฐมนตรียังได้พูดถึงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารด้วยนะคะ บอกว่าใช้ความอดทนอดกลั้นโดยตลอด เรื่องของการใช้อาวุธจะกระทำก็ต่อเมื่อยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ เพื่อป้องกันตัวเอง และประการสุดท้าย ยิงผู้ติดอาวุธเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน เรื่องของเหตุการณ์ที่มีการเผาตึกอาคารต่าง ๆ เป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้านะคะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอารมณ์โกรธแค้นเพียงอย่างเดียว ท่านนายกรัฐมนตรียังได้พูดถึงกิจกรรมหลังจากที่ทางรัฐบาลนำกรุงเทพมหานครกลับคืนสู่ประชาชนได้แล้ว มีการจัดกิจกรรม Big Clean Up Day ซึ่งมีชาวต่างชาติมาร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย และท้ายสุดนะคะนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดอง ทั้งคนในระดับหมู่บ้าน ประชาสังคม ส่วนมิตรในต่างประเทศนะคะท่านนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่าเห็นถึงศักยภาพของการเป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกันต่อไป และท่านนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของต่างชาติด้วยนะคะ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความปรองดองค่ะ

ช่วงถาม - ตอบ

ท่านแรกเป็นท่านทูตจากประเทศเยอรมันนีค่ะ ก็ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ข้อมูลและแสดงความเคารพต่อการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผยของรัฐบาลไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ คำถามแรกถามถึงเรื่องของการต่ออายุเคอร์ฟิว รวมไปถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ค่ะ
คำถามที่สองถามถึงความรู้สึกของคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ที่อาจจะไม่ค่อยพอใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย และอยากจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีตอบคำถามแรกถึงการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นะคะว่ายังมีอำนาจบังคับใช้อยู่ ในตอนนี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับทางศอฉ. ที่จะประเมินสถานการณ์ ส่วนเรื่องของเคอร์ฟิวนั้นก็ได้เสร็จสิ้นตั้งแต่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมาค่ะ คำถามที่สองท่านนายกรัฐมนตรีตอบคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทยนะคะ บอกว่าเป็นการเปลี่ยนผ่าน มีระบบของรัฐสภา ท่านนายกรัฐมนตรียกตัวอย่างรัฐบาลของสหราชอาณาจักร ที่ก็เป็นรัฐบาลผสมเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่ามาโดยวิธีนี้จะไม่ชอบธรรมนะคะ ส่วนในเรื่องของการเลือกตั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะต้องให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ก่อนวันเลือกตั้ง และจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศ กำหนดวันเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีบอกว่าอาจจะมีการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลหมดวาระก็เป็นไปได้ แม้ว่าทางกลุ่มนปช.จะเคยปฏิเสธข้อเสนอการลือกตั้ง ครั้งก่อนหน้านี้ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอเอาไว้คือ 14 พฤศจิกายน

หลาย ๆ คนอาจจะตั้งคำถามนะคะถึงข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางด้านของกลุ่มนปช. นั้นไม่ได้ตอบรับข้อเสนอในส่วนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ ความเป็นไปได้ในเรื่องของการเลือกตั้งก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระนั้นยังมีอยู่ค่ะ เรื่องของเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีบอกว่า จะสร้างความเจริญเติบโตได้ประมาณ 4 - 5 เปอร์เซ็นต์นะคะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกันค่ะ ถ้าหากว่ามีความคืบหน้าก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ทั้งหมดทั้งมวลที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร่วมกันสร้างบรรยากาศให้ดำเนินไปสู่วันเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ดีค่ะ

คำถามถัดมาเป็นของท่านทูตญี่ปุ่นนะคะ บอกว่ารู้สึกขอบคุณเช่นเดียวกับท่านทูตของเยอรมันนีค่ะ ที่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและซักถามข้อสงสัยในวันนี้ คำถามแรกถามถึงผลของคณะกรรมการอิสระต่อการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้นักข่าวญี่ปุ่นนั้นเสียชีวิต ก็หวังว่าการสอบสวนนั้นจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและก็รัดกุมถูกต้องตามข้อเท็จจริง อีกประเด็นหนึงที่พูดถึงนะคะก็คือเรื่องของการให้ความช่วยเหลือ เป็นมาตรการฟื้นฟูของทางรัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ท่านทูตญี่ปุ่นก็บอกว่าหวังว่าจะครอบคลุมทั่วถึงทุกมิตินะคะ และพูดถึงประเด็นเรื่องของเส้นตายที่ทางรัฐบาลกำหนดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยในส่วนของภาคเอกชนนั้น ไปยื่นเรื่องขอเยียวยา ท่านทูตญี่ปุ่นบอกว่าอยากจะให้ยืดหยุ่นในส่วนของเส้นตายตรงนี้ออกไปค่ะ

ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของช่างภาพญี่ปุ่นนะคะที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์การเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด ท่านนายกรัฐมนตรีก็ตอบถึงเรื่องของการช่วยเหลือภาคเอกชนและผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนะคะ บอกว่าจะพยายามดูให้ขยายระยะเวลาออกไปและครอบคลุมให้มากที่สุด และเส้นตายที่กำหนดเอาไว้นี้มีเอาไว้เพื่อที่จะระบุว่ามีกี่ธุรกิจมีกี่บริษัทที่ได้รับผลกระทบเพื่อที่จะได้กำหนดขอบเขตกรอบการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนของผู้ประกอบการทั้งที่เซ็นเตอร์วันและสยามสแควร์นะคะ ตอนนี้ก็กำลังจะหาสถานที่แห่งใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการนั้นได้ไปลงพื้นที่ค้าขายกันตามปกติ ในส่วนของประชาชนทั่ว ๆ ไปที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ รัฐบาลก็จะยืดหยุ่นที่สุด โดยภายใต้การดูแลของคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ความช่วยเหลือจะครอบคลุมไปถึงชาวต่างชาติด้วยนะคะ ส่วนเรื่องของคดีความนายกรัฐมนตรีได้พูดตอนต้นค่ะ กรณีช่างภาพชาวญี่ปุ่นบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ท่านนี้เป็นท่านทูตจากอิตาลีนะคะ กล่าวชมเชยท่านนายกรัฐมนตรีที่ในแง่ของคณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ว่าท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องของการหาความสมดุล ทั้งในแง่ของกำหนดเวลาและความละเอียดที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไป ก็ถามถึงกรณีช่างภาพอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตในเรื่องของความคืบหน้าทางคดีและการสืบสวนสอบสวนค่ะ นอกจากนี้ยังตอบรับข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้ต่างชาติ ช่วยประเทศไทย ที่จะช่วยกันมองไปข้างหน้าด้วยนะคะ มองว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย แล้วก็ถามถึงเรื่องของมาตรการที่จะหาความปรองดองจากทุกฝ่ายด้วยนะคะ

ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาลีค่ะ ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกรณีที่ท่านทูตอิตาลีนั้นพูดถึงภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่นักลงทุนนั้นก็ต้องมองมาถึงเรื่องของเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลด้วย ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าทราบดีในจุดนี้ และเข้าใจถึงความเป็นห่วงของนานาชาติต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรีระบุนะคะบอกว่าทราบดีว่าการแก้ปัญหาความแตกแยกในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ว่าหลายฝ่ายก็น่าจะเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่ามีวิธีที่จะทำให้ปราศจากความรุนแรงก็ได้ในการแก้ไขปัญหาความแตกแยกนะคะ อย่างเช่น ใช้ช่องทางในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร หรือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในกระบวนการสร้างความปรองดองรัฐบาลก็จะเน้นการบังคับใช้กฎหมายและยึดหลักนิติรัฐ และที่แน่นอนที่สุดก็คือรัฐบาลจะสนับสนุนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาอารยประเทศ ส่งเสริมเรื่องของการส่งออก และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนค่ะ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศด้วยนะคะ

เชื่อแน่ว่าการชี้แจงทำความเข้าใจและตอบข้อซักถามทั้งจากสื่อมวลชนต่างประเทศรวมไปถึงคณะทูตานุทูตในวันนี้ ที่ทุก ๆ ท่านวันนี้ได้รับชมจากปากของท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจในส่วนของสถานการณ์บ้านเมืองของเรา รวมไปถึงสร้างความมั่นใจว่าก้าวย่างที่จะเดินต่อไปในอนาคต การขับเคลื่อนของรัฐบาลจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ก็น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์บ้านเมืองนั้นเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงมากขึ้นค่ะ วันนี้หมดเวลาของรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์แล้วนะคะ ดิฉันพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ พร้อมกับทีมงานลาคุณผู้ชมไปก่อน สวัสดีค่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

RCSS สภาการเมืองกองทัพรัฐฉาน แถลงต้านเลือกตั้งพม่า-ไม่ยุ่งการเมืองไทย

Posted: 30 May 2010 12:38 AM PDT

<!--break-->

(SHAN 29 พ.ค. 53) - สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA นำโดย เจ้ายอดศึก ออกแถลงการณ์ในโอกาสก่อตั้งสภาฯ ครบ 10 ปี คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่า ทั้งยืนยัน เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ไม่ยุ่งการเมืองในไทย
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State-R.C.S.S.) องค์กรการเมืองของกองทัพรัฐฉาน Shan State Army - SSA ภายใต้การนำของ พล.ท. เจ้ายอดศึก ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสก่อตั้งสภาฯ ครบรอบ 10 ปี ว่า สภาฯ ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารพม่าที่ร่างขึ้นเมื่อ ปีค.ศ. 2008 และไม่สนับสนุนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
 
สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ยังยืนยันจะต่อต้านการกระทำของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ที่ยุติหรือปัดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเมืองโดยวิธีทางการเมือง ของกองกำลังหยุดยิงกลุ่มต่างๆ และจะต่อต้านการกระทำของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ที่บังคับให้กลุ่มหยุดยิงเปลี่ยนสถานภาพเป็นกองกำลังอาสาสมัครรักษาชายแดน (BGF = Border Guard Force) หรือหน่วยพิทักษ์พื้นที่ (HGF = Home Guard Force)
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ RCSS ได้เรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (Human rights organization of ASEAN) และสหประชาชาติ (UN) ทำการตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน (Shan State) และในสหภาพพม่า ของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าด้วย
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ยังได้ระบุด้วยว่า จะเคารพและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย มุ่งหวังปรารถนาให้คนไทยมีความสามัคคีกัน และทางสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ แถลงการณ์นี้มีขึ้นหลังจากกองทัพรัฐฉาน SSA ถูกพาดพิงว่ามีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงการประท้วงการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา  อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ คลิกที่นี่ ...
 

“ชาวปะหล่อง” วอนกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ปัดตั้งหน่วยพิทักษ์ดินแดน 
 
(SHAN 27 พ.ค. 53) - ผู้นำชุมชนชาวปะหล่อง เขตกลุ่มหยุดยิงกองพลน้อยที่ 1 ทัพรัฐฉานเหนือ รวมตัววอน ผบ. ปัดรับข้อเสนอพม่าตั้งหน่วยพิทักษ์ดินแดน BGF ชี้เหตุผล หวั่นมีชีวิตลำบากใต้อำนาจปกครองหน้าใหม่ ….
 
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนชาวปะหล่องหลายหมู่บ้าน ในอำเภอเมืองเกซี รัฐฉานภาคกลาง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่กลุ่มหยุดยิง กองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N รวมตัวกันเดินทางไปพบ พล.ต.ป่างฟ้า ผบ.กองพลน้อยที่ 1 ที่บ้านไฮ โดยเรียกร้องไม่ให้ พล.ต.ป่างฟ้า รับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า นำกำลังร่วมจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ดินแดน Border Guard Force – BGF
 
ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำชุมชนชาวปะหล่อง กล่าวว่า หากไม่มีกองพลน้อยที่ 1 พวกเขาจะไม่มีที่พึ่ง จะทำให้ชีวิตลำบาก ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มปิตูจี้ต (อาสาสมัคร) พร้อมกับได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีชาวบ้านในเขตปกครองของกองกำลังอาสาสมัครในพื้นที่อื่น มาเป็นลูกจ้างชาวปะหล่องด้วยว่า หากวันหนึ่งพื้นที่ของพวกเขาต้องไปอยู่ใต้อำนาจปกครองอำนาจหน้าใหม่ จะทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่แตกต่างไปจากนั้น
 
ขณะที่ พล.ต.ป่างฟ้า ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ขออย่าให้ประชาชนเป็นกังวลเรื่องนี้ เพราะตนจะไม่หักหลังประชาชน และจะนำกำลังพลอยู่เคียงข้างประชาชนตลอดไป
 
การรวมตัวเรียกร้องของชนชาวปะหล่องดังกล่าว มีขึ้นหลังจากทราบว่า กองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N ภายใต้การนำของ พล.ต.หลอยมาว ได้นำกำลังกองพลน้อยที่ 3 และ 7 รับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่า เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ดินแดน HGF เมื่อเดือนที่ผ่านมา
 
ในส่วนของกองพลน้อยที่ 1 มีรายงานว่า พล.ต.ป่างฟ้า ผู้บังคับบัญชา ยังคงยืนยันจุดยืนเดิมคือ ไม่เปลี่ยนสถานะแน่นอน ขณะเดียวกันเขาได้มีคำสั่งกำชับกำลังพลให้อยู่ในความพร้อมตลอดเวลา โดยชี้ว่า สถานการณ์ไม่นิ่ง ขออย่าให้ใครหลงไหลหวั่นไหวคำยุยง นอกจากนี้ เขาได้ขอทหารใต้บังคับบัญชาให้มีความกล้าหาญที่จะแสดงความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อประโยชน์ของกลุ่มด้วย
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ : เมื่อเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ถูกฆ่าหน้าต่อตา

Posted: 29 May 2010 11:59 PM PDT

<!--break-->

ไม่ว่าจะมองจากภูมิปัญญาใดในโลก เราย่อมเห็นความจริงว่า เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ และความเป็นสังคมอารยะ คือสิ่งดีงามที่สนับสนุนส่งเสริมกันและกัน

คานท์ (Immanuel Kant) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สองโลก” โลกหนึ่งคือโลกของสัญชาตญาณ และอารมณ์ความรู้สึก เมื่อมนุษย์ถูกกำกับชี้นำด้วยสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึก โลกของเขาก็ไม่ต่างจากโลกของสัตว์โดยทั่วไป อีกโลกหนึ่งคือโลกของเหตุผล เมื่อมนุษย์ถูกกำกับชี้นำโดยเหตุผล เขาจะมีเสรีภาพจากสัญชาตญาณและอารมณ์ความรู้สึก และด้วยการมีเสรีภาพดังกล่าวจึงทำให้เขาตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆอย่างมีศีลธรรม

ในทัศนะของรุสโซ (Jean-Jaques Rousseau) มนุษย์เกิดมามีเสรี หากเอาเสรีภาพของไปจากมนุษย์ เขาก็จะไม่สามารถที่จะมีการกระทำที่มีศีลธรรม และไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่เลย   นิทเช (Friedrich Wilhelm Nietzsche) เห็นว่า เสรีภาพหมายถึงการมีอำนาจในการกำหนดตัวเอง วาทะที่ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” หมายความว่า ไม่มีอำนาจอื่นใดที่จะมากำหนดชะตากรรมของมนุษย์ได้นอกเหนือจากอำนาจของมนุษย์เอง ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็เห็นว่า เสรีภาพคือ “แก่นสาร” (essence) ของความเป็นมนุษย์ ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่มีความกล้าหาญในการใช้เสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกต้องและพึงพอใจ

ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) อธิบายว่า เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็น คือพื้นฐานในการแสวงหาความจริง เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพดังกล่าวสังคมจะได้รับฟังแต่ “เสียงข้างเดียว” เมื่อมีแต่เสียงข้างเดียวก็ตัดสินถูก-ผิด จริง-เท็จ ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริง เหตุผล ฯลฯ จาก “เสียงที่แตกต่าง” ได้

ส่วนมาร์กซ์ (Karl Marx) เห็นว่า เสรีภาพหมายถึงเสรีภาพของสังคมที่สามารถปลดแอกตัวเองจากระบบกดขี่ต่างๆ เช่น ระบบชนชั้น ระบบการผลิตแบบนายทุน ทำให้สังคมมีอำนาจในการกำหนดตนเองให้เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ

พุทธศาสนาเองก็มองว่า เสรีภาพมีสองด้านคือ ด้านหนึ่งคือความเป็นอิสระจากพันธนาการภายใน หรือเป็นอิสระจากความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเกลียดชัง และความโง่เขลา อีกด้านหนึ่งคือความเป็นอิสระจากพันธนาการภายนอก เช่น ความยากจน ความเจ็บป่วย การถูกกดขี่เอาเปรียบในด้านต่างๆ

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากภูมิปัญญาใดๆก็ตาม เสรีภาพคือแก่นสารสำคัญสูงสุดที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่แท้ ทำให้สังคมเป็นสังคมอารยะ เป็นสังคมที่อยู่กันด้วยสัจจะ ศีลธรรม ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และอื่นๆ

แต่ถึงแม้มนุษย์จะประกาศ “คุณค่า” ของเสรีภาพดังกล่าวนั้นมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว สังคมไทยในยุคต้นศตวรรษที่ 21 ปี 2010 ยังอยู่ใน “ยุคโศกนาฏกรรมการเข่นฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์”

สังคมนี้ทนอยู่ได้อย่างไร กับการอยู่ในอำนาจต่อไปของ “รัฐบาล 86 ศพ” (ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ) เชื่อถือได้อย่างไรว่ารัฐบาลเช่นนี้จะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่ว่าประเทศนี้ไม่ต้องการความปรองดอง แต่เราจะเชื่อถือ “รัฐบาล 86 ศพ” ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำมันตรงกันข้ามกันตลอดมา

เขาปรองดองด้วยการ “ฆ่าเสรีภาพ” ใช้ พรก.ฉุกเฉินปิดสื่อที่เสนอความเห็นต่าง โดยอ้างว่าสื่อเหล่านั้นบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกเร้าความรุนแรง แต่ไม่ปิดสื่อฝ่ายที่สนับสนุนตนเองที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกเร้าความรุนแรงมานานยิ่งกว่า แถมยังยึด “สื่อของรัฐ” (ไม่ใช่ของรัฐบาล) เป็น “กระบอกเสียง” บิดเบือนข้อเท็จจริงและใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา

ฟรีทีวีหรือสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ก็กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล (หลังคนเสื้อแดงกลับบ้าน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้เห็นแต่ข่าวการพื้นฟูเยียวยาชาวกรุงเทพฯ และการจะเดินหน้าแผนปรองดอง แต่ไม่มีข่าวการเยียวยา การให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิต ญาติมิตร และชะตากรรมของคนเสื้อแดง เสมือนว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนใน “รัฐเดียวกัน”)

นี่คือปรากฏการณ์ของการฆ่าเสรีภาพทางการพูดและการแสดงความคิดเห็น และมันทำให้ “ความจริงตายแล้ว” ตั้งนานก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองi

ไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพที่จะมีอำนาจกำหนดชะตากรรมตัวเองของประชาชนที่ถูกทำลายไปแล้วตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เมื่อคนเสื้อแดงกลับมาทวงคืน ผลก็คือความตายของ 86 ชีวิต และบาดเจ็บอีกเกือบสองพันคน การเผาเมือง และความแตกแยกร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม!

คนกรุงเทพฯ ประทับใจกับ “ภาษา/วัฒนธรรมซาบซึ้ง” แบบดัดจริต เช่น “บ้านของพ่อ” (ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา แผ่นดินนี้เป็นของเราทุกคน) “ไล่พ่อออกจากบ้าน” “โจรเผาบ้าน” “ขบวนการก่อการร้าย” “ขบวนการล้มเจ้า” แต่ “เอ๋อเหรอ” กับภาษา/วัฒนธรรมซาบซึ้งที่สะท้อนข้อเท็จจริง เช่น “สู้เพื่อเสรีภาพ” “สู้เพื่อประชาธิปไตย” “สู้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ” “ไพร่ล้มอำมาตย์”

ไม่อนาทรร้อนใจกับการปิดสื่อ (ที่ไม่ใช่สื่อตัวแทนความเห็นของฝ่ายตน) กับการจับนักวิชาการที่สู้เพื่อเสรีภาพไปคุมขังในค่ายทหารโดยไม่ตั้งข้อหา ไม่ให้รับรู้ข่าวสาร ไม่ให้อ่านหนังสือ ฯลฯ

ตอนนี้ “วีรบุรุษประชาธิปไตยขวัญใจคนชั้นกลางในเมืองฯ” (สนธิ ลิ้มทองกุล) กำลังเรียกร้องให้ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และขอใช้เวลาอีก 3 ปี ในการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปตำรวจ นี่คือข้อเสนอเพื่อ “ฆ่าซ้ำ” เสรีภาพหรืออำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน!

คนต่างจังหวัด คนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาพบว่าเขามีเสรีภาพและอำนาจกำหนดชะตากรรมของตนเองเมื่อเขาลงคะแนนเลือกรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีนโยบายทำประโยชน์ให้พวกเขา

ก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยมีอำนาจในการกำหนดตัวเองที่ชัดเจน (แม้แต่อำนาจกำหนดตัวเองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการแจก สปก.4-01) แต่คนชั้นกลางในเมืองก็เรียกร้องรัฐประหารล้มรัฐบาลของพวกเขาด้วยข้ออ้างเรื่องคอร์รัปชัน ไม่จงรักภักดี เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการรัฐประหาร เขาจึงมาทวงอำนาจของเขาคืน แต่เขาต้องตาย ต้องบาดเจ็บ นี่คือความจริง เป็นความจริงของ “การฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของคนต่างจังหวัดและคนชนบท”

แต่ยิ่งฆ่า! เสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะยิ่งงอกงามและแข็งแกร่ง ขณะที่เสรีภาพ (จากสัญชาตญาณอย่างสัตว์) และความเป็นมนุษย์ของ “ผู้ฆ่า” และ “กองเชียร์ให้ฆ่า” นับวันจะเสื่อมทรุดและสูญสลาย!

 

ปล. สื่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ “ผู้มีอำนาจตัดสิน” ทั้งหลายครับ! ทำไมพวกท่านเฉยเมยต่อ “การฆ่าเสรีภาพและความเป็นมนุษย์” หน้าที่ของพวกท่านคือการปกป้อง “อะไร...” กันครับ?
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิพากษ์ข้อเสนอสมานฉันท์แรงงานไทย "อุดมการณ์กรรมกรสากลหายไปไหน"

Posted: 29 May 2010 11:54 PM PDT

<!--break-->

สวัสดีพี่น้องทุกท่าน

ต้องขอโทษเพื่อนและสหายในขบวนการแรงงานทุกคน ที่ต้องขอพูดตรงๆ ว่า จดหมายถึงนายกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฉบับนี้ ถือเป็นความอัปยศทางชนชั้นที่ร้ายแรงที่สุด  และไม่น่าเชื่อว่า ครสท. จะออกจดหมายฉบับแรกหลังการปราบปราบประชาชน ด้วยจดหมายนี้ ในนามกลุ่มขบวนการแรงงานที่ต้้งขึ้นมาเพื่อเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรอง และเพื่อประชาธิปไตย

น่าใจหายที่จดหมายฉบับนี้ไม่พูดถึงความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตของผู้คนในครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคประชาชนของประเทศไทย

ในขณะที่พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านจากชนบท คนจน คนงานในเมืองออกไปประท้วงเพื่อประชาธิปไตย แล้วถูกยิงทิ้งยังกะหมูกะหมากว่า 80 ชีวิต และอีกร่วม 2,000 ชีวิตได้รับบาดเจ็บและบางคนกลายเป็นคนพิกลพิการตลอดชีวิต คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นอกจากไม่มีแถลงการณ์ประนาณการกระทำของรัฐบาล  ยังส่งหนังสือถึงนายกเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง โดยมีนำพาเลยว่าตอนนี้สถานการณืของประเทศเป็นอย่างไร โดยไม่มีวิสัยทัศน์เลยว่าถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทุกครั้งที่ประชาชนลุกขึ้นพูด ก็เจอกับกระสุนปืนอย่างนี้ คนงานที่กำลังจะตกงานเป็นแสนคน เพราะทุนฉวยโอกาส และเพราะวิกฤติการเมือง จะสามารถลุกขึ้นสู้ได้อย่างไร เพราะขนาดชาวบ้านประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนยังกล้ายิง คนงานไม่กี่ร้อย กี่พันคนจะไม่ถูกจัดการแบบเดียวกันหรือ และถ้ากรรมกรไม่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิของชาวบ้านคนจนกลุ่มอื่น เวลากรรมกรโดนกระทำจากรัฐบ้าง คนจนและชาวบ้านจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิกรรมกรหรือ? อุดมการณ์กรรมกรสากลที่ว่า "กรรกรทั้งผองคือพี่น้องกัน ทำให้คนหนึ่งเจ็บ ก็เท่ากับว่าทำให้เราเจ็บด้วย" มันหายไปไหนหมดจากหัวใจของพี่น้องทุกท่านที่อยู่ใน ครสท.

แทนที่จะประนาม เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อการสังการในการนำมาซึ่งชีวิตคนหลายสิบชีวิต และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท้จจริงที่เกิดขึ้น ครสท. กลับไปยื่นหนังสือถึงนายกเพื่อให้ดูแลคนงาน (เฉพาะคนงานเท่านั้นนะ คนจน ชาวนา ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ไม่เกี่ยว)  นี่ไม่ยิ่งช่วยประทับตราความชอบธรรมให้กับนายกที่ขาดความชอบธรรมนับตั้งแต่วันสั่งให้ใช้กระสุนจริงยิงประชาชนหรอกหรือ

ทั้งนี้ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่มีใครมีสิทธิพิพากษาชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความผิด และเมืองนอกในหลายประเทศก็ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตไปแล้ว อภิสิทธิ์มีสิทธิอะไรอนุญาตให้ทหารใช้กระสุนจริงยิงผู้ประท้วง จับกุมแกนนำที่ร่วมทั้งนักกิจกรรมด้านแรงงาน โดยไม่มีกระบวนการไต่สวน  อภิสิทธิแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นหนึ่งในคนที่ควรถูกจับกุม ไต่สวน และจองจำเช่นเดียวกับแกนนำผู้ประท้วงคนอื่นๆ

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการกระทำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ขาดวิสัยทัศน์แห่งชนชั้น และไม่เข้าใจถึงรากเหง้าของความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้  ครสท. และพวกเราสามารถหยุดความรุนแรงได้ ถ้าพวกเราร่วมกันต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม อภิสิทธิ์ต้องลาออกเพื่อให้มีกลไกอิสระมาดำเนินการตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตอนนี้สิ่งที่สังคมต้องการมากทีสุดคือนำความยุติธรรมกลับคืนมา ผุ้เสียหายทั้งหมดจะต้องรู้สึกพอใจกับกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขามีสิทธิมีส่วนร่วมตรวจสอบ ตราบใดที่ชาวบ้านที่ประท้วง หรือร่วมรับรุ้ปัญหาไม่รู้สึกว่ามีความยุติธรรมในสังคมไทย ปัญหามันไม่มีทางยุติ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะอนุมัติทุกอย่างตามข้อเสนอของ ครสท. ก็ตาม

ถ้าจดหมายนี้ยังไม่ส่งถึงอภิสิทธิ ขอเรียกร้องให้ ครสท. ทบทวนการเขียนจดหมายและการเข้าพบอภิสิทธิ์

สันติภาพ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ประธานสหภาพคนทำงานต่างประเทศ

 

....................................

 

 

ที่ คสรท. ๕๘/๒๕๕๓

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง  ขอเสนอมาตรการในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

เรียน  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายย่อย ในเรื่องการจ้างแรงงาน การลดการจ้างงาน การปิดกิจการ และความเสียหายของกิจการที่เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานที่ผ่านมาวางอยู่บนความเสี่ยงของการจ้างแรงงานที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะรับรองคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ลักษณะการจ้างงานที่เป็นรายวัน แบบรับเหมาช่วง รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่างๆ ขึ้นผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ
 
ดังนั้นด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงานระดับชาติ อันประกอบด้วย สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ๒๘ องค์กร จึงมีข้อเสนอต่อ ฯพณฯ ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาต่อผู้ประสบปัญหาต่างๆ ดังนี้

๑. รัฐบาลต้องมีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายย่อย ในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และประสานงานในการส่งต่อให้ได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางาน , กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น

๒. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องสร้างกลไกการคุ้มครองแรงงานที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติทางการเมือง จะต้องตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเยียวและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างหรือผลกระทบอื่นๆ รวมไปถึงการป้องกันการเลิกจ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน  โดยจะต้องมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปเป็นกรรมการในระดับชาติ ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณากลไกการคุ้มครองแรงงานทุกระดับในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่งแท้จริง

๓. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบของการจ้างงานในภาะความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีหลักการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง  โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดสรรงบประมาณ ในการตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ โดยใช้เงินกองทุนนั้นซึ่งเป็นของกระทรวงแรงงานจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันทีเพื่อเป็นค่าชดเชย และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป

๔. เสนอให้ภาครัฐเป็นตัวกลางในการประสานให้มีการจัดเวทีหารือร่วมในการแก้ไขปัญหา ในรูปแบบเวทีสาธารณะ ซึ่งมีรูปแบบในการแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันเสนอทางออกในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม เช่น ลูกจ้างผู้ประสบปัญหาในสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ , ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ , องค์กรแรงงาน , องค์กรนายจ้าง และเจ้าของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

จึงเรียนท่านมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อเสนอในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ญาติตามหา "นปช. คนสุดท้าย"

Posted: 29 May 2010 11:29 PM PDT

ญาติยังตามหาตัว "พสดี นามขำ" สาวเสื้อแดงใจเด็ดที่นั่งถือธงอยู่หน้าเวทีราชประสงค์เป็นคนสุดท้าย ในครั้งที่ทหารบุกสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา  

<!--break-->

   

 

30 พ.ค. 53 - เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่าขณะนี้ญาติยังคงตามหาตัว น.ส.พสดี นามขำ สาวเสื้อแดงใจเด็ดที่นั่งถือธงอยู่หน้าเวทีราชประสงค์เป็นคนสุดท้าย และประกาศยอมตายไม่หนีไปไหน ขณะทหารยิงปืนเข้าใส่ช่วงบุกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายจากสื่อต่างประเทศ ยืนยันว่าเธอนั่งอยู่หน้าเวทีราชประสงค์จนทหารได้เคลื่อนกำลังมาถึงจุดที่เธอนั่ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น