โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

บทกวีจาก “ป้าอุ๊” ถึง “อากง SMS”

Posted: 23 Apr 2012 10:34 AM PDT

หมายเหตุ - บทกวีจากนางรสมาลิน (ป้าอุ๊) ภรรยานายอำพล หรือ อากง SMS ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากข้อกล่าวหาในการส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังมือถือเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2555                 เราอยู่ด้วยกันมาถึงปีที่ 44

รวมความสุขทั้งความทุกข์ที่มามี       แล้ววันนี้มีเปลี่ยนเปลี่ยนไป

มวลมรสุมทุ่มเข้ามาผวาสุดสุด          ร่างกองทรุดสุดหวั่นไหว

แต่เรายังมีเราร่วมหัวใจ                   จะยืนให้ได้ในชะตากรรม

หากวันนี้ฉันมีคาถาเสกเป่าได้           และถ้าได้ตาฝันที่ฉันขอ

ให้ทุกสิ่งเป็นจริงเหมือนเฝ้ารอ          เพียงขอเธอให้ได้กลับคืน

บนทางเดินในเส้นนี้มีขวากหนาม       จะพยายามไม่ยอมแพ้แม้ร้องไห้

จะฝืนยืนสู้ซมซานไป                     ใจไม่เคยท้อเพราะรอเธอ

ถึงวันนี้ยังลางเลือนเหมือนว่างเปล่า   แต่พวกเราคงหวังยังมีวันใหม่

วันพรุ่งนี้คงมีทางวิ่งกลิ้งเข้าเส้นชัย     มาเริ่มต้นกันใหม่ในวัยชรา

จนตายจากกัน

 

เพื่อเธอ

ป้าอุ๊

ครบรอบ 44 ปีของเธอและฉัน ครบรอบ 478 วันของเธอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

22 เม.ย. “วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดอะไร ใครเสียชีวิต”

Posted: 23 Apr 2012 10:07 AM PDT

หมายเหตุ ประชาไทนำเสนอซีรี่ส์ “วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดอะไร ใครเสียชีวิต” นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 (หลังเหตุการณ์ 10 เมษา) โดยจะทยอยนำเสนอความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อเป็นการรำลึกและย้ำเตือนถึงบาดแผลความรุนแรงที่อีกสองปีให้หลังสังคมไทยก็ยังไม่มีทางออกว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

วันนี้ (22 เม.ย.) เกิดเหตุยิงเอ็ม 79 เข้าใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงและบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ น.ส.ธัญญานัน แถบทอง อายุ 50 ปี  และได้รับบาดเจ็บราว 75 ราย

สื่อมวลชนรายงานว่า ในวันนั้นกลุ่มประชาคมสีลม กลุ่มคนเสื้อหลากสี และชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย นับพันคนได้มาชุมนุมริมฟุตบาท หน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ถนนสีลม เพื่อแสดงพลังต่อต้านการยุบสภาและเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ด้านสวนลุมพินี หลังเกิดเหตุความรุนแรงก็มีการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ด้าน น.ส.ภาวิณี แซ่เล้า อายุ 29 ปี ลูกสาวผู้ตายระบุว่า มารดามีอาชีพขายอาหารย่านสีลม และเดินทางมาบริเวณชุมนุมเป็นครั้งที่สอง ก็เคยเตือนให้ระวังตัวไม่อยากให้ชุมนุม แต่ผู้ตายมีอคติกับคนเสื้อแดงที่ขับรถผ่านหน้าร้านขายแสดงความก้าวร้าว เมื่อมีการชุมนุมจึงเข้าร่วม โดยเอาน้ำและดอกไม้ไปมอบให้ทหาร และยืนสังเกตการณ์เท่านั้น พร้อมทั้งเชื่อว่าเหตุที่แม่เสียชีวิตเพราะกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนพยายามขัดขวางการส่งตัวสู่โรงพยาบาล

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผอ.ศอฉ. รวมถึง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นไม่เชื่อว่าระเบิดจะยิงมาจากอาคารสูง แต่น่าจะยิงมาจากหลังพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี  ขณะที่มีพยานบางคนอ้างว่าเห็นไฟเปิด-ปิดอยู่บริเวณชั้น 5 โรงพยาบาลจุฬาฯ และสักครู่ก็มีคนกระโดดออกจากหน้าต่างมายืนริมระเบียง จากนั้นก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นลูกสุดท้าย ที่บริเวณหน้าธนาคารกรุงศรียุธยา สีลม โดยเอ็ม 79 ได้แฉลบต้นไม้ก่อนจะลงมาที่ด้านหน้าธนาคาร

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์คมชัดลึก,เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(3)

Posted: 23 Apr 2012 10:00 AM PDT

นักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่งในสำนัก Egalitarisme liberale เช่น Ronald Dworkin ได้พัฒนาทฤษฎีการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่ง แนวความคิดเขาค่อนไปทาง John Rawls คือเน้นเรื่องการกระจายทรัพยากรภายนอกให้เท่าเทียมกันเป็นหลักทั้งนี้รวมถึงโชคชะตาและความสามารถส่วนบุคคลด้วย อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับรอว์ เขาคิดว่าปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบต่อความชอบ รสนิยมส่วนตัว และความทะเยอทะยานด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นเสมอไปที่ทุกคนจะต้องได้ในสิ่งที่อยากได้ต้องได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ปัจเจกบุคคลต้องพยายามทำมันขึ้นมาโดยรัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรพื้นฐานเพื่อช่วยให้ปัจเจกชนทำในสิ่งที่ตนทะเยอทะยานไว้ เช่น ถ้าปัจเจกชนอยากเป็นนักดนตรีชื่อดัง หน้าที่ของรัฐคืออำนวยสะดวกด้านอุปกรณ์และการสอน แต่ปัจจเจกชนจะบรรลุประสงค์ได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพยายามซ้อมด้วยเช่นกัน

ดร์อวกินยังเชื่ออีกว่าความยุติธรรมกับเสรีภาพมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นปฎิปักษ์กัน และสามารถดำเนินสนับสนุนไปด้วยกันได้ สำหรับกลไกตลาดเสรีนั้น เขาเชื่อว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมตามมา ขั้นแรกเขาเริ่มต้นโดยให้ทุกคนได้รับรัพยากรเริ่มต้นที่เป็นปัจจัยในการผลิตเท่าๆกัน เมื่อได้ทรัพยากรแล้วทุกๆคนจะเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างอิสระเพื่อทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนไม่ต้องการกับคนอื่นแล้วได้สิ่งที่ตนต้องการกลับคืนมา กลไกนี้จะเข้าสู่สมดุล และทุกๆคนได้สิ่งที่ตนพึงปราถนาตามรสนิยม และไม่เกิดการอิจฉาริษยาต่อกัน (envy free) ซึ่งหมายถึงว่าสังคมจะเข้าสู่ความยุติธรรม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน สมมติให้รัฐบาลแจกแจงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันทุกๆคนโดยเป็น แหวนเพชรและทับทิม โดยที่แหวนเพชรและทับทิมนั้นสมมติว่าไม่มีความแตกต่างกัน การจะเห็นคุณค่าและทำการเก็บรักษาแหวนเพชรเป็นของตัวเองต่อไปโดยไม่ขายแหวนเพชรไปนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน เช่น นาย ก เห็นว่าสำหรับเขาแล้วแหวนเพชรไม่มีประโยชน์อะไร และอยากได้ทับทิมมากกว่า แต่ว่าเขากลับได้แหวนเพชรสองวงจากรัฐบาลและรู้สึกอิจฉา นาย ข ที่ได้ทับทิมสองเม็ดมาจากรัฐบาล ในขณะที่ นาย ข ที่ครอบครองทับทิมนั้นกลับชอบแหวนเพชรมากกว่าและรู้สึกอิจฉา นาย ก ที่มีแหวนเพชรถึงสองวง ดังน้นทั้งสองคนจึงแสวงหาการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นาย ก แลกแหวนเพชรกับ ทับทิมของนาย ข แล้วเขาทั้งสองได้ของที่พึงพอใจกับรสนิยมเขา และความอิจฉาริษยาก็หายไป

อย่างไรก็ตามถ้า สมมติให้ นาย ก และ นาย ข ไม่มีความขวนขวายในการเสาะหาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว ทั้งสองต้องทนอยู่กับการครอบครองสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ทั้งสองคนก็ต้องทนรับสภาพไป เพราะรสนิยมเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเอง ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบขวนขวายได้มาสิ่งที่ต้องตามรสนิยมเอง และถ้านาย ก และ นาย ข ไม่เคยเจอและเปรียบเทียบทรัพยากรที่มีระหว่างกัน ความอิจฉาริษยาย่อมไม่เกิดขึ้นมาและไม่เกิดการแลกเปลี่ยสินค้าด้วยเช่นกัน

นอกจากทรัพยากรภายนอกที่ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดร์อวกินคิดว่าความสามารถและโชคของคนก็ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันด้วย โชคและความสามารถส่วนบุคคลมีการกระจายแบบสุ่มในสังคมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นสิ่งที่สังคมต้องรับผิดชอบ บางคนเกิดมามีความสามารถมากกว่าอีกคนหรือโชคดีกว่าอีกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ คนที่มีความสามารถมากกว่าต้องกระจายไปให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า คนที่มีความสามารถเท่ากันควรมีทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาคือ ความสามารถเป็นสินค้าที่ไม่สามารถแบ่งได้แล้วจะทำอย่างไรเพื่อแบ่งความสามารถคนที่มากกว่าให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า ดังนั้นเราจึงต้องใช้ตัวกลางที่เป็นสินค้าที่สามารถแบ่งได้ เช่นทรัพยากรอื่นที่แบ่งได้ หรือเงิน โดยเราจะพบว่าเงินเป็นตัวกลางที่ใช้ง่ายที่สุดเพราะ สามารถแบ่งได้และมีค่าชัดเจน และทุกคนต่างมีความชอบไม่ต่างกันคือ ทุกคนชอบครอบครองเงินจำนวนมากมากกว่าเงินจำนวนน้อยกว่า

สมมติให้คนที่มีความสามรถมากกว่า ผลิตสินค้าได้มากกว่า และสินค้าตีค่าออกมาเป็นเงินได้มากกว่า ในขณะที่อีกคนเป็นคนพิการมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้น้อยกว่า และตีค่าออกมาเป็นเงินได้น้อยกว่า ถ้าตามแนวความคิดของดร์อวกินแล้ว สังคมต้องมีการกระจายความสามารถจากคนที่มากกว่าให้คนที่น้อยกว่า และวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการโอนเงินหรือเก็บภาษีจากคนที่มีความสามารถมากกว่าไปให้คนพิการเป็นต้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีกับพวกที่มีความสามารถมากเป็นจำนวนมากกว่าพวกที่มีความสามารถน้อยอาจส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่ดร์อวกินเรียกว่า ความเป็นทาสของพวกที่มีความสามารถ (l'esclavage des talentueux) ซึ่งหมายถึงสองกรณีดังต่อไปนี้คือ การที่พวกที่มีความสามาถต้องทำงานหนักเพื่อนำรายได้ไปให้พวกที่มีความสามารถน้อยกว่า หรือกรณีที่สองคือ พวกที่มีความสามารถแสร้งทำตัวไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีไป ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ความสามารถของคนไม่ได้ถูกใช้ไปเต็มที่ ระบบทุนทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อขจัดปัญหานี้ดร์อวกินเสนอระบบการเก็บภาษีที่กระตุ้นการใช้ความสามารถของคนอย่างมีประสิทธิภาพ เขาเสนอว่าการเก็บภาษีเสมือนกับการเก็บเบี้ยประกันอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าสมมตินาย ก และ นาย ข มีความสามารถเท่าเทียมกัน แต่นาย ก มีรสนิยมที่ต้องการสินค้าราคาแพงกว่า นาย ข ผลที่ตามมาคือ นาย ก ต้องทำงานหนักกว่า นาย ข เพื่อให้ได้เงินมาซื้อสินค้าราคาแพง แต่ทว่าระบบภาษีไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของนาย ก เพราะว่าถึงแม้นาย ก ทำงานหนักกว่านาย ข เพียงใด รายได้หลังหักภาษีก็เท่ากับ นาย ข ซึ่งมีความสามารถเท่ากันแต่แสร้งทำเป็นไม่ทำงานหรือทำเป็นไม่มีความสามารถ ดังนั้นระบบภาษีต้องเอื้ออำนวยให้นาย ก ได้รับผลประโยชน์จากการที่เขาทำงานหนักมากขึ้น มิใช่เก็บภาษีจนหมดจนไม่มีความแตกต่างกันของรายได้หลังหักภาษีของ นาย ก และ นาย ข แนวความคิดนี้แปลงสภาพเป็นนโยบายและเห็นภาพชัดเจนมากในประเทศเสรีทุนนิยมอเมริกา ที่มีลักษณะดังนี้คือ แรกเริ่มแต่ละคนมีทรัพยากรเริ่มต้นเท่าๆกัน แล้วทุกคนเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อทำการผลิตแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเสรีโดยไม่มีการแทรกแซงเพื่อให้ทุนและความสามารถถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และพอหลังจากแลกเปลี่ยนผลิตสินค้ากันเสร็จจึงค่อยเกิดการเก็บภาษีกระจายรายได้เพื่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เห็นเศรษฐีอเมริกัน อย่าง บัฟเฟต ยังคงทำงานหนักทุกวันทั้งๆที่มีเงินมากชนิดใช้ร้อยชาติไม่จบก็ตาม ค่านิยมของอเมริกันคือ ค่าของคนขึ้นอยู่กับงานผลสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเลขรายได้ที่เข้ามา แต่หลังจากทำงานประสบความสำเร็จแล้วสิ่งที่ต้องตามมาคือการรับผิดชอบต่อสังคม จ่ายภาษีนำรายได้กลับไปกระจายคืนกลับให้สังคมอีกครั้ง

ดว์อรกินเชื่อว่า สังคมก็ต้องกระจายโชคให้เท่าเทียมด้วยเช่นกัน เขาแบ่งโชคออกเป็นสองลักษณะคือ option luck และ brut luck สำหรับ option luck คือโชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน เช่นการเล่นการพนันเป็นต้น ส่วน brut luck คือ โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ดว์อรกินให้ความเห็นว่า เฉพาะ brut luck เท่านั้นที่สังคมต้องรับผิดชอบในการกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ option luck เช่น การที่ปัจเจกชนเลือกที่จะซื้อหวยโดยทราบอัตราการถูกหวยแน่ชัดแล้วยังยินดีที่จะเสี่ยงโชคนั้นก็เป็นเรื่องที่ปัจเจกชนเองต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงและผลเสียที่ตามมา

ยกตัวอย่าง brut luck ชัดเจนเช่นกรณีเกิดมหันตภัย น้ำท่วมหรือสึนามิ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร หรือควบคุมไม่ให้เกิดได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งประชากรที่ประสบอุทกภัยนั้นมีความโชคร้ายมากกว่าคนที่ไม่โดนและได้รีบความเสียหายแล้ว รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายเพื่อโอนความโชคดีให้กับคนที่โชคร้ายกว่า ซึ่งการโอนด้วยวิธีให้เงินเป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกที่สุด และโอนจากคนที่ไม่ประสบภัยให้กับคนที่ประสบภัย ดว์อรกินแนะนำวิธีการเปลี่ยนจาก brut luck เป็น option luck โดยการสร้างระบบประกันภัยสมบูรณ์ที่สมาชิกทุกคนได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์ทุกอย่างไม่ว่าเป็นความเสี่ยงผลที่ตามมา งบประมาณ ภายในการแข่งขันตลาดประกันภัยสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบประกันสุขภาพสมบูรณ์ที่ทุกคนได้ข้อมูลความเสี่ยงการเกิดโรค รับทราบข้อมูลการรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ผลการรักษาที่ตามมา และผู้ป่วยมีเสรีในการเลือกประกันภัยภายใต้งบประมาณที่จำกัดและในตลาดการแข่งขันเสรีที่มีบริษัทประกันจำนวนมาก

เชิงอรรถ

  1. DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  2. FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  3. ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานข้ามชาติร้องเรียนโรงถลุงแร่ที่ราชบุรียังไม่ปรับสวัสดิการ-แถมตำรวจขู่ซ้ำ

Posted: 23 Apr 2012 09:09 AM PDT

พนักงานชาวกะเหรี่ยงและพม่า ในโรงงานถลุงแร่ควอช ที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี ร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกพบและขอร้องไม่ให้เรียกร้องสวัสดิการอีก พร้อมขู่ "จะไม่ได้อยู่ดีแน่" ทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งไม่มาทำงานเนื่องจากเกรงไม่ปลอดภัย ขณะที่ผลเจรจากับโรงงานยังไม่มีความคืบหน้า โดยตัวแทนคนงานหวังเจรจากับเจ้าของโรงงานตัวจริง 

แฟ้มภาพแรงงานชาวกะเหรี่ยงและพม่า ชุมนุมเมื่อ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้โรงงานจีเอสเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นโรงถลุงแร่ควอช ปรับสวัสดิการให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ จ.ราชบุรี ที่เพิ่งประกาศออกมาใหม่ (ที่มา: มติชนออนไลน์)

ตามที่มีข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา พนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า และแรงงานชาวกะเหรี่ยง ของบริษัทจีเอสเอ็นเนอร์จี จํากัด ซึ่งเป็นโรงงานถลุงแร่ควอช เพื่อใช้ทําผงเซลิก้า ประกอบเป็นชิ้นส่วนทําแผงโซลาร์เซล และทําสีนํ้าทุกชนิด ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ผู้บริหารปรับค่าจ้างรายวันจากอัตราเดิมวันละ 190 บาท เป็นวันละ 251 บาท ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. นอกจากนี้คนงานยังขอให้บริษัทปรับสวัสดิการอื่นให้เท่ากับที่เคยจ่ายเดิม ได้แก่ เงินรายเดือนให้จ่าย 1,500 บาท หลังบริษัทปรับลงมาเหลือ 1,400 บาท เงินค่าความร้อนให้จ่าย 80 บาท จากที่ลดลงมาเหลือ 70 บาท และเบี้ยขยันขอให้บริษัทจ่ายวันละ 90 บาท หลังจากที่ผ่านมามีการปรับลงมาเหลือ 39 บาทนั้น

สถานการณ์ล่าสุดจนถึงวันนี้ (23 เม.ย) ฝ่ายผู้บริหารโรงงานยังไม่ยอมปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการตามที่พนักงานร้องขอ ขณะที่เกิดเหตุข่มขู่พนักงานที่เรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการด้วย โดยนายเอ (ขอสงวนนาม) พนักงานบริษัทดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) เวลาประมาณ 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 3 นาย นัดให้ตัวแทนพนักงานมาพบตำรวจที่หน้านิคมอุตสาหกรรม เมื่อมาถึงได้ถ่ายรูปพนักงานที่มาพบ และข่มขู่ในทำนองว่าไม่ให้ชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการกับบริษัทอีก และว่า "ไม่ต้องยุ่ง ถ้ายุ่งจะไม่ได้อยู่ดีแน่" และยังกล่าวด้วยว่าหากมีคนเคลื่อนไหวเรื่องนี้อีก "จะหายไปแน่"

โดยขณะนี้มีพนักงานในโรงงานประมาณ 20 คน ไม่ยอมมาทำงานแล้ว เนื่องจากเกรงสภาพความปลอดภัย โดยบางคนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงได้กลับภูมิลำเนาที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

นายเอ กล่าวด้วยว่า พนักงานที่เรียกร้องให้โรงงานปรับเงินค่าจ้างและสวัสดิการ ไม่กล้าชุมนุมในช่วงนี้หลังจากที่ตำรวจมาที่โรงงาน อย่างไรก็ตามพนักงานในโรงงานจะขอรอพบกับเจ้าของโรงงานจริงๆ เพื่อร้องเรียนสิ่งที่เกิดขึ้น และเจรจาเรื่องสวัสดิการ ไม่ใช่คุยกับผู้จัดการ หรือหัวหน้าแผนกบุคคล ซึ่งไม่ใช่เจ้าของจริงๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โรงงานดังกล่าวเคยประสบอุบัติเหตุเตาหลอมโลหะระเบิดกลางดึก ทำให้มีคนงานเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บประมาณ 15 คน ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 2 คน โดยรายหนึ่งยังรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการติดเชื้อ ขณะที่อีกรายหนึ่งอยู่ในสภาพทุพลภาพ ต้องลาออกจากงานเนื่องจากไม่สามารถทำงานต่อได้ โดยหลังประสบอุบัติเหตุ คนงานที่ได้รับบาดเจ็บรายนี้ได้รับเงินเดือนช่วยเหลือจากทางโรงงานอีก 3 เดือน และหลังจากนั้นไม่ได้รับเงินเดือนอีก

ทั้งนี้โรงงานดังกล่าว เดินเครื่องจักรทำงานตลอดเวลา 7 วัน ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี โดยพนักงานที่ทำงานกับเตาหลอม ต้องทนทำงานในสภาพอุณหภูมิสูงตลอดเวลา โดยโรงงานแบ่งพนักงานทำงานเป็น 3 กะๆ ละ 8 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ โดยก่อนหน้านี้พนักงานได้ร้องเรียนสื่อมวลชนด้วยว่า ทางโรงงานได้ให้พนักงานเข้ามาทำงานในวันอาทิตย์ และวันหยุดเทศกาลด้วย แม้จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาแต่ไม่ยอมให้พนักงานลาเด็ดขาด โดยที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โรงงานดังกล่าวก็ยังเปิดทำการตามปกติ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุนัย จุลพงศธร: กรณีศึกษาปทุมธานี "โชคดีที่แพ้ก่อน"

Posted: 23 Apr 2012 08:50 AM PDT

บทวิเคราะห์ว่าด้วยขบวนการประชาธิปไตย ในกระแสการแพ้ที่ปทุมฯ สื่อสารถึง คนเสื้อแดง ส.ส. และผู้บริหารพรรคเพื่อไทย

การแพ้การเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.และนายก อบจ.ที่สังกัดพรรคเพื่อไทยในจังหวัดปทุมธานีเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่จะยกระดับการเรียนรู้ถึงพัฒนาการทางการเมืองไทยของ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และยกระดับการเรียนรู้ของขบวนการคนเสื้อแดงว่าการเมืองไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว และการเมืองไทยได้เข้าสู่กระบวนการแห่งเนื้อหาของประชาธิปไตยแล้วที่จะต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และจะต้องนับถือประชาชนเป็นพระเจ้าที่เดินดินแทนพระเจ้าที่อยู่บนฟ้า 

ผมจึงขอนำเหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษา (Case Study) และขอบอกกับเพื่อนๆ ว่า “เป็นเรื่องโชคดีที่แพ้ก่อน” และสิ่งนี้คือความล้ำเลิศของระบอบประชาธิปไตย โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
 
1.ต้องยอมรับการตัดสินใจของพี่น้องปทุมธานี
ก่อนอื่นต้องยอมรับการตัดสินใจของพี่น้องชาวปทุมธานีก่อนว่า เขาพึงพอใจเช่นนั้น อย่าใช้ทัศนะของพรรคประชาธิปัตย์ หรือทัศนะพวกอำมาตย์ที่ไม่เคารพประชาชน 
 
จะเห็นได้ว่า หากทุกครั้งที่พวกเขาแพ้เลือกตั้ง พวกเขาจะบอกว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามที่ชนะเกิดจากการซื้อเสียงแล้วนำไปสู่การให้ร้ายระบอบประชาธิปไตยทุกครั้งว่า เป็นธุรกิจการเมือง และจบลงที่รัฐประหารยึดอำนาจแล้วเริ่มต้นใหม่
 
การยอมรับนี้ มิใช่เป็นการเสแสร้ง แต่เป็นการยอมรับด้วยความจริงใจ และน้อมรับผลการตัดสินใจมาศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการของพรรคและของขบวนการคนเสื้อแดง       
 
2.ใช้ท่าทีศึกษาที่ถนอมรักกันในหมู่มิตรสหาย
เมื่อเกิดความพ่ายแพ้ ก็เป็นธรรมชาติของปุถุชนที่จะเสียใจ ดังนั้น จึงเกิดภาวการณ์ทางความคิดสุดโต่ง 2 ด้านคือ 
 
พวกหนึ่งจะเกิดความเสียใจอย่างรุนแรง เลยเถิดไปถึงเกิดความหดหู่ใจ แล้วตัดสินใจละทิ้งขบวนการ จนเลิกที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป รวมถึงไปปลุกปั่นคนใกล้ชิดให้หดหู่ใจและละทิ้งแนวทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย 
 
ส่วนอีกพวกหนึ่งจะเกิดความโกรธแค้นพวกเดียวกัน แล้วด่าทออย่างไม่ถนอมน้ำใจ โดยขาดการศึกษาข้อมูลว่าอะไรเป็นอะไรอย่างมีเหตุผล
 
แต่อย่างไรก็ตามต้องถือว่า “มวลชนด่าว่า เพราะมวลชนรัก”
 
เมื่อรักมากห่วงมากจึงด่ามาก ส.ส.เพื่อไทยก็ต้องน้อมรับฟัง ก็คิดเสียว่า ในเมื่อประชาธิปัตย์ด่าว่าในสภายังอดทนนั่งฟังได้ เมื่อมวลชนด่าว่าด้วยความรัก ก็ต้องทนฟังได้
 
ปกติผมไม่ชอบที่จะรับรองใคร แต่ในที่นี้ผมขอยืนยันว่า คุณสุเมธ ฤทธาคนี  เป็นส.ส.ที่ดีและมีความคิดกล้าต่อสู้คนหนึ่งในพรรคเพื่อไทย ที่ได้เคยแสดงบทบาทร่วมกับคนเสื้อแดงต่อต้านการบุกยึดสถานีถ่ายทอดดาวเทียมของอำนาจเผด็จการทหารในรัฐบาลอภิสิทธิ์ – สุเทพ 
 
เพียงแต่เป็นการก้าวพลาดครั้งสำคัญต่อการประเมินมวลชน และไม่ยอมรับฟังการทัดทานของผู้นำพรรคฯที่ห้ามไม่ให้ลาออก และผลจากการตัดสินใจผิดพลาดของคุณสุเมธนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง และจะเป็นผลร้ายต่อตัวคุณสุเมธอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นบทลงโทษจากการประเมินมวลชนผิดพลาด
 
ประชาชนเปรียบดุจดังท้องทะเล หากชาวประมงผู้ใดประเมินทะเลผิด ก็อาจจะสูญเสียชีวิตในพายุใหญ่ท่ามกลางความเงียบสงบของท้องทะเล
 
3.นักการเมืองต้องเห็นหัว(ใจ)มวลชน
คำว่าเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางกินความลึกซึ่งมาก ถ้าจะพูดอย่างภาษาชาวบ้านคือ “ต้องเห็นหัว (ใจ) มวลชน”
 
เมื่อชนะเลือกตั้งยกเขตจังหวัดปทุมธานีในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา อย่าได้คิดว่า “มวลชนเป็นของเรา” ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของมวลชน มีแต่ความถูกต้องเป็นเจ้าของมวลชน มีแต่นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของมวลชน
 
มวลชนเป็นผู้มีเหตุผล และเหตุผลของมวลชนมีภาวะผันแปรตลอดเวลา
 
มวลชนจึงไม่ต่างจากพระเจ้าตัวจริงที่เดินดิน และใครที่อ้างว่าเป็นเจ้าของมวลชนและทำอะไรตามใจตัวเองโดยปล่อยให้มวลชนอดอยากและหลอกลวงมวลชนไปวันๆ วันหนึ่งเขาจะรู้ความจริง ดังคำกล่าวข้างต้นว่า มวลชนคือพระเจ้าและไม่มีใครเป็นเจ้าของพระเจ้าได้นอกจากตัวพระเจ้าเอง
 
คำถามที่คุณสุเมธผู้ที่ลาออกจาก ส.ส.ไปสมัครนายกฯ อบจ.แก้ไม่ตกคือ “ พวกผมเลือกคุณมาแล้วคุณลาออกทำไม ? ”
 
นักการเมืองทั้งหลายต้องรู้ว่า ธรรมชาติแห่งมวลชนในระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งซ่อม ทุกครั้งโดยปกติ รัฐบาลเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะทัศนะคติของมวลชนคนเมือง (Voter) ที่มิได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลพึ่งพิง ส.ส.และลัทธิบูชาตัวบุคคล จะมีความเห็นเป็นปกติว่า ก็รัฐบาลมีเสียงข้างมากแล้วทำไมพวกเขาจะต้องไปเพิ่มเสียงให้อีก ดังนั้น แนวโน้มของการเลือกตั้งซ่อม ประชาชนมักจะเลือก ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อถ่วงดุล ยิ่งเป็นการลาออกด้วยจงใจเพื่อไปสมัครนายก อบจ. ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามีผลประโยชน์จากการถือเงินบริหารมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่ถูกเหตุผลในทางร้ายถมทับอย่างแก้ไม่ตก
 
ลักษณะตัดสินใจเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นตัวตั้งและหลงตัวเองว่า “ประชาชนนิยมฉัน!” เป็นภาวะทั่วไปของ ส.ส.ไทย ไม่ว่าพรรคไหน เพราะกรอบความคิดของ ส.ส.ไทยมักจะมองมวลชนเป็นเพียงพรรคพวกของหัวคะแนนที่ตนสามารถควบคุมได้
 
เพื่อน ส.ส.เพื่อไทยอีกหลายคนขอให้เปลี่ยนทัศนะเสียเถิด อย่ามองข้ามเหตุผลของพระเจ้าผู้เดินดินเลย
 
เพื่อนเสื้อแดงทั้งหลาย ขอให้ทราบเถิดครับว่า ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยเขาห้ามแล้ว และผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ผมรู้มา เขาเหนื่อยกับ ส.ส.ผู้ดื้อรั้นอย่างไร้เหตุผลทางการเมือง แต่เขาพูดไม่ออก และขณะนี้ท่านจะเห็นความดื้อรั้นและภาวะสายตาสั้นของนักการเมืองผู้หลงตัวเองในการเลือกตั้งนายก อบจ.อีกหลายจังหวัดที่กำลังเกิดขึ้น
 
ด้วยเหตุนี้ การพ่ายแพ้ที่ปทุมธานี จึงเป็นเรื่องโชคดีที่แพ้ก่อน เพราะมีเหตุผลมากขึ้นที่ผู้ใหญ่ในพรรคจะต้องเร่งยกเครื่อง ระบบ Primary Vote หรือการประเมิน ส.ส.ที่จะลงเลือกตั้งครั้งต่อไปได้เร็วขึ้นและเป็นจริงมากขึ้น และนี่คือการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีตัวชี้วัดคือ “มวลชน” ของจริงจะต้องเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเหตุการณ์ที่ปทุมฯ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคนที่จะต้องรู้จัก “เห็นหัวประชาชน” กันบ้าง
 
4.ขอให้เข้าใจความเป็นจริงเรื่องน้ำท่วมน้ำขังรอบกรุงเทพฯที่ยาวนาน
การโจมตี ส.ส.ปทุมธานีของพรรคเพื่อไทย ที่ปล่อยให้น้ำท่วมขังรอบกรุงเทพฯยาวนาน และนำความเจ็บปวดโกรธแค้นมาสู่มวลชนนั้น เป็นข้อวิจารณ์กันอย่างมากของพี่น้องเสื้อแดงที่ต้องแยกแยะ 
 
กล่าวคือ ส่วนหนึ่ง เกิดจากความไม่รู้โดยสุจริตใจของพี่น้องเสื้อแดง 
 
อีกส่วนหนึ่ง เป็นคำวิจารณ์ให้ร้ายของศัตรูที่ฉวยโอกาสแอบแฝงเป็นคนเสื้อแดงทั้ง ๆที่รู้อยู่แก่ใจว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดจากอะไร
 
ในที่นี้ผมไม่ได้แก้ตัว แต่ต้นเหตุเป็นเรื่องที่ “แม้ตายก็บอกไม่ได้” แต่ทุกคนต้องรับเคราะห์
 
ผมขอตั้งข้อสังเกตหน่อยเถิดว่า “ทำไมน้ำท่วมเอ่อล้น 2 ฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ ถึงปทุมธานี แต่ทำไมไม่เอ่อล้นท่วม 2 ฝั่งเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร? ”
 
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระแม่คงคาไม่อาจจะผ่านเข้ากรุงเทพฯ ได้ ท่านจึงต้องทะลักเข้าสู่ที่ดอน แม้แต่ “ดอนเมือง” ซึ่งไม่เคยมีน้ำท่วมก็ยังไม่เว้น
 
ความผิดปกติทางธรรมชาตินี้ถ้าไปถามหม่อมบางท่านก็น่าจะรู้ความจริง
 
บทสรุป
ได้เวลายกระดับความคิดครั้งใหญ่ของ ส.ส.และคนเสื้อแดงแล้ว
 
จงใช้วิกฤติเป็นโอกาส ใช้กรณีพ่ายแพ้ที่ปทุมธานีเป็นกรณีศึกษา ภายใต้คำขวัญว่า “โชคดีที่แพ้ก่อน” เพื่อจะสืบต่อชัยชนะต่อไป และสะสมชัยชนะให้เติบใหญ่ขึ้น
 
(1) ความเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย
ฝ่ายบริหารพรรคฯ ต้องเร่งแก่ไขทัศนะดื้อรั้นที่ผิดพลาดของ ส.ส.พรรคฯที่เอาผลประโยชน์เฉพาะตน กล่าวแอบอ้างว่าเป็นประโยชน์ของพรรคฯ และ ส.ส.พรรคฯ ที่ชอบแต่แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยกล่าวแอบอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ระยะยาวโดยใช้มติลงโทษ ส.ส.ผู้ไม่ฟังการตัดสินใจของกรรมการบริหาร
 
(2) ความเร่งด่วนของขบวนคนเสื้อแดง
ต้องเร่งยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนคนเสื้อแดงที่มีความจริงใจต่อการต่อสู้ แต่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง โดยขอให้ นปช. ที่มีภารกิจทางประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ขณะนี้ ปรับขบวนการการแสดงออกบนเวทีที่ต้องเน้นเนื้อหาความคิดและการเรียนรู้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีมากขึ้น และขอให้แกนนำ นปช.บางคน อย่าได้ผูกขาดว่า เสื้อแดงคือหัวคะแนนผู้อยู่ในโอวาทของตัวเองที่จะแสดงอะไรก็ได้บนเวที รวมถึงแสดงความคับแคบที่กีดกันแนวร่วมที่ไม่ใกล้ชิดตัวเองและการไร้วินัยที่กินเหล้าเมาก่อนขึ้นปราศรัยต่อหน้ามวลชน อันเป็นการไม่เคารพมวลชนอย่างยิ่ง เพราะการชุมนุมมวลชนแต่ละครั้งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อระหว่างระบอบอำมาตย์กับประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้ขับเคี่ยวกันอยู่ในขณะนี้
 
ในรายละเอียดยังมีอีกมาก ขอให้ถนอมรักกันอภัยกันและช่วยกันคิดแก้ไข ยังไม่สายเกินไปหรอกครับ
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดปม “คำพิพากษา” คดีฟ้องเพิกถอนประทานบัตรเหมืองทองอัคราฯ

Posted: 23 Apr 2012 08:25 AM PDT

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ วิเคราะห์กระบวนการสู่คำพิพากษาศาลปกครอง กรณีชาวบ้านเขาหม้อฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ในประเด็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับหน่วยงานรัฐในการทำคำชี้แจง และผลจากคำตัดสินคดี

 
 
 

 
 
 
 
000
 
 
 
จากกรณีที่ศาลปกครองพิษณุโลกออกนั่งพิพากษาคดีระหว่างนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ – ๕ ตามลำดับ และบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา
 
โดยมีคำพิพากษาว่า “ให้เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก”[1]
 
ในกระบวนการไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนการพิจารณาคดีและคำพิพากษามีการยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลโดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐ ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลในเวลาต่อมา
 
คดีนี้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
 
๑. เพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘
 
๒. เพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
 
๓. เพิกถอนคำสั่งกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส ๑๖๐๒.๔/๑๓๙๖ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑
 
๔. ขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง ๕ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว
 
ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เข้ามาเป็นคู่กรณีในฐานะผู้ร้องสอดโดยนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดีมีคำขอมาพร้อมคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยขอให้สั่งระงับการดำเนินการใด ๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราว และมีคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ดังนี้
 
๑. ให้ระงับการดำเนินการใดในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาท
 
๒. ให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้
 
๓. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองและเสียงที่เกินมาตรฐานรบกวน ก่อความรำคาญต่อชาวบ้านและชุมชน อีกทั้งกำหนดไม่ให้ทำให้เกิดสารพิษเจือปนในน้ำใต้ดินและลำคลองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างร้ายแรง
 
ผู้ร้องสอดคือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และหน่วยงานราชการของรัฐได้ทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาล โดยมี ๖ ประเด็นสำคัญที่ชวนให้สาธารณชนพิเคราะห์พิจารณาร่วมกัน ดังนี้
 
ประเด็นแรก – สถานะบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ? 
 
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ผู้ร้องสอดจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด ประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ ๔๙ ของทุนจดทะเบียน[2]  
 
ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ แจ้งว่า ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยกับสัญชาติออสเตรเลียมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นร้อยละ ๕๒ ต่อ ๔๘ ซึ่งถ้าหากพิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นก็จะเห็นได้ว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีการถือครองหุ้นโดยฝ่ายไทยมากกว่าฝ่ายออสเตรเลีย เป็นไปตามเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๐๗๑/๒๕๔๔ ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ออกให้แก่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นบัตรส่งเสริมในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[3] ที่มีเงื่อนไขว่าในปีที่ ๕ ของการให้บัตรส่งเสริม บริษัทฯ จะต้องแปลงสภาพให้มีผู้ถือหุ้นไทยจำนวนร้อยละ ๕๑
 
แต่เมื่อพิจารณาระหว่างสัดส่วนการถือหุ้นกับการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนจะทำให้เกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทยหรือไม่ เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเป็นผู้ถือเอาไว้นั้น ได้แจ้งเอาไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ว่าได้ชำระเงินแล้วเพียง ๒.๕๐ บาทต่อหุ้นเท่านั้น จากราคาเต็มหุ้นละ ๑๐ บาท คิดเป็นจำนวนเงินเพียง ๖๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงิน ๕๐ บาท ที่ชำระหุ้นสามัญ ๕ หุ้นของบุคคลสัญชาติไทยได้เท่ากับ ๖๖,๗๕๐,๐๕๐ บาท ยังเหลือค่าหุ้นบุริมสิทธิของผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยส่วนที่ยังไม่ได้ชำระอีก ๒๐๐,๒๕๐,๐๐๐ บาท ในส่วนหุ้นสามัญของฝ่ายออสเตรเลียได้ชำระเงินเต็มตามจำนวนราคาหุ้นทั้งหมดที่ถือไว้คือ ๒๔๔,๙๙๙,๙๕๐ บาท จากหลักฐานในส่วนนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสัดส่วนการถือหุ้นกับการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน ถึงแม้ฝ่ายไทยจะถือครองจำนวนหุ้นมากกว่าฝ่ายออสเตรเลียแต่เงินที่ชำระหุ้นแล้วกลับน้อยกว่าฝ่ายออสเตรเลีย จะถือว่าเป็นการถือหุ้นที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน ซึ่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความสำคัญในเรื่องของการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนมากกว่าสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งถ้าดูในมุมมองนี้แล้วจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายออสเตรเลียเป็นร้อยละ ๒๑.๕ ต่อ ๗๘.๕ ทันที นั่นก็แสดงว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทต่างด้าวสัญชาติออสเตรเลียมากกว่าสัญชาติไทย
 
เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวออกไปสู่สาธารณชน (โปรดดูบทความ ‘นอมินี’ ในโครงสร้างและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงการถือหุ้นของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ?) ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยรายใหญ่ที่สุด คือ บริษัท สินภูมิ จำกัด ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ทำการชำระหุ้นเต็มจำนวนแล้วเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓[4] แต่อย่างไรก็ตามมีข้อที่ต้องใคร่ครวญพิจารณาต่อสถานะความเป็นบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อยู่ ๓ ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง-บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่ สอง-ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือไม่ และสาม-ผลประโยชน์จากรายได้ที่ได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ตกอยู่กับฝ่ายไทยหรือฝ่ายออสเตรเลียมากกว่ากัน
 
เมื่อผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยในบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ดำเนินการชำระหุ้นเต็มจำนวนเพื่อทำให้ข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นนอมินีให้กับผู้ถือหุ้นสัญชาติออสเตรเลียหมดไป แต่สถานะความเป็นบริษัทสัญชาติไทยของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ก็ยังคลุมเครืออยู่เช่นเดิม เหตุก็เพราะว่าผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเลือกถือหุ้นบุริมสิทธิเป็นส่วนใหญ่ มีเพียง ๕ หุ้นที่เป็นหุ้นสามัญเท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงเจตนาบางอย่างในกระบวนการถือหุ้นที่มีลักษณะสมยอมและยินยอมต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่สัญชาติออสเตรเลีย คือ บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด โดยสมยอมและยินยอมให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สัญชาติออสเตรเลียเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนและกุมอำนาจในการเป็นเจ้าของและบริหารงานบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มกำลัง โดยผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเลือกที่จะงดการมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ขอเพียงแค่รอรับเงินปันผลจากการถือหุ้นบุริมสิทธิก็พอใจแล้ว
 
ในส่วนของรายได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ถึงแม้จะยังไม่มีตัวเลขมาแสดงให้เห็นในวันนี้ว่าตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยหรือฝ่ายออสเตรเลียมากกว่ากัน แต่มีข้อสงสัยว่านอกจากเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นแล้ว รายได้ส่วนที่เหลืออีกเป็นจำนวนมากผู้บริหารภายใต้อาณัติของผู้ถือหุ้นสัญชาติออสเตรเลียนำไปเก็บไว้ที่ไหน หรือนำไปใช้อะไรบ้าง
 
ประเด็นที่สอง – อีไอเอไม่สอดคล้องกับรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมือง
 
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอดได้ทำคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ผู้ร้องสอดได้จัดทำเอกสารประกอบคำขอ คือ รายงานธรณีวิทยาแหล่งแร่ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ รายงานลักษณะธรณีซึ่ง กพร. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ แผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่ง กพร. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๐[5]
 
รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่เป็นเอกสารสำคัญที่จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่ตั้งโครงการและลักษณะภูมิประเทศ โดยต้องประกอบไปด้วยตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดของพื้นที่โครงการ ประเภทของพื้นที่พร้อมรายละเอียด เช่น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือที่ดินของรัฐ เป็นต้น ลักษณะภูมิประเทศต้องระบุสภาพภูมิประเทศของพื้นที่โครงการ แสดงจุดที่ตั้งโครงการโดยใช้แผนที่ลักษณะภูมิประเทศ มาตรา ๑:๕๐,๐๐๐ เป็นอย่างต่ำ แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง และแสดงเส้นทางการคมนาคมเข้าสู่พื้นที่โครงการโดยละเอียด ในด้านลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกำเนิดของแหล่งแร่ การวางตัวของแหล่งแร่สัมพันธ์กับชั้นหินข้างเคียง ความหนาของชั้นดิน ชั้นหิน รูปร่างและขนาดของแหล่งแร่ คุณสมบัติของแร่ เช่น ความหนาแน่นของแร่ในพื้นที่โครงการ คุณสมบัติทางเคมี การนำไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น และข้อมูลอื่นที่มีความสำคัญของแหล่งแร่ ซึ่งมีผลต่อการออกแบบการทำเหมืองและเป็นไปตามหลักวิชาการทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ต้องประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่และความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ มูลค่าแหล่งแร่ พร้อมแผนที่ลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ของพื้นที่โครงการ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ หรือใหญ่กว่า และต้องแสดงภาพขอบเขตและภาพตัดขวางแหล่งแร่โดยละเอียด นอกจากนี้ยังต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความแข็งแรงทางกลศาสตร์ของโครงสร้างธรณีวิทยาแหล่งแร่และหินข้างเคียง การจัดคุณภาพหินและค่าเฉพาะต่าง ๆ ของชั้นดิน ชั้นหินและชั้นแร่ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการออกแบบการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
 
ในส่วนของแผนผังโครงการทำเหมืองจะต้องมีรายละเอียดที่ระบุถึงลักษณะโครงการและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก ๕ เรื่องด้วยกัน คือ
 
หนึ่ง-การวางแผนและออกแบบเหมืองจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของพื้นที่โครงการโดยระบุตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ และการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน โรงแต่งแร่ พื้นที่เก็บกองแร่ พื้นที่เก็บกองเปลือกดิน เศษหิน บ่อดักตะกอน อาคารเก็บวัตถุระเบิด เป็นต้น พร้อมแผนที่รายละเอียดการวางรูปแบบเหมือง การกำหนดอัตราการผลิตแร่ การออกแบบเหมือง ระยะเวลาการทำเหมือง ความลาดเอียงรวมของหน้าเหมือง การออกแบบการทำเหมืองเพื่อการประเมินปริมาณสำรองแหล่งแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ การประเมินปริมาตรเปลือกดินและเศษหินที่เกิดจากการทำเหมือง มูลค่าแหล่งแร่จากการทำเหมือง
 
สอง-การทำเหมือง จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการทำเหมือง โดยระบุแผนงานการพัฒนาหน้าเหมือง การเปิดเปลือกดินและหิน การผลิตแร่ การควบคุมคุณภาพแร่ กรณีที่มีการใช้วัตถุระเบิดให้ระบุรายละเอียดการใช้และเก็บวัตถุระเบิด ได้แก่ การออกแบบการเจาะรูระเบิด เช่น ขนาดรูเจาะระเบิด ระยะระหว่างรู ระยะระหว่างแถว ความลึกรูเจาะ ชนิดของวัตถุระเบิด ปริมาณการใช้ต่อรูเจาะระเบิดและต่อจังหวะถ่วง เป็นต้น รวมถึงรายละเอียดการออกแบบอาคารเก็บวัตถุระเบิด การรักษาความปลอดภัยในการใช้และเก็บวัตถุระเบิด การขนส่งวัตถุระเบิด เป็นต้น ต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาตรและการจัดการเปลือกดิน เศษหินและมูลดินทรายที่เกิดจากการทำเหมือง โดยระบุการเก็บกองและการดูแลรักษาที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลาย การแก้ไขปัญหาสภาพความเป็นกรดด่างและการปนเปื้อนของโลหะหนักสู่พื้นที่ภายนอก กรณีที่มีการใช้น้ำในการทำเหมือง ต้องระบุการใช้น้ำสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ และการป้องกันและรักษาคุณภาพน้ำในพื้นที่โครงการ เช่น การระบายน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ การกักเก็บน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนการระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น ในส่วนของเครื่องจักระและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเหมือง ต้องระบุขนาดและจำนวนของเครื่องจักรแต่ละชนิดที่สัมพันธ์กับแผนการทำเหมือง การบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน
 
สาม-การแต่งแร่ ต้องแสดงรายละเอียดกรรมวิธีในการแต่งแร่ โดยต้องระบุการทำงานต่าง ๆ แต่ละขั้นตอนในกระบวนการแต่งแร่พร้อมแผนภูมิในการทำงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการแต่งแร่ต้องระบุขนาดและจำนวนของเครื่องจักรแต่ละชนิด การจัดการแร่และหางแร่โดยระบุการเก็บแร่และหางแร่ที่ได้จากกระบวนการแต่งแร่ เช่น พื้นที่ที่ใช้ในการเก็บกอง ปริมาตรการเก็บกอง การดูแลรักษาก่อนการจำหน่าย เป็นต้น การจัดการของเสียจากการแต่งแร่ เช่น ฝุ่น น้ำเสีย กาก ตะกอน ต้องระบุวิธีการจัดการ การออกแบบพื้นที่กักเก็บ ปริมาตรของเสียที่เกิดจากกระบวนการแต่งแร่ การกำจัดของเสียจากพื้นที่กักเก็บ และมาตรการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของของเสียสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่โครงการและพื้นที่ข้างเคียง
 
สี่-การประเมินมูลค่าโครงการเหมืองแร่โดยให้แสดงรายละเอียดการวิเคราะห์การลงทุน เช่น ผลตอบแทนการลงทุน ระยะเวลาการคืนทุน ผลกำไร เป็นต้น
 
ห้า-มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมือง ต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน ดังนี้
 
(๑) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดจากการทำเหมือง การแต่งแร่ และกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ เช่น สภาพภูมิทัศน์ ข้อมูลผลกระทบจากการใช้วัตถุระเบิด ฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน น้ำเสีย เป็นต้น
 
(๒) แผนการฟื้นฟูสภาพเหมืองและพื้นที่โครงการควบคู่ไปกับการทำเหมืองและแผนจัดการในการปิดเหมือง
 
(๓) เงื่อนไขและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดไว้เพื่อให้เจ้าของโครงการเหมืองแร่ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
 
จะเห็นได้ว่าเนื้อหารายละเอียดที่จำเป็นจะต้องมีหรือปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองก็คือเนื้อหาที่จำเป็นจะต้องมีหรือปรากฏอยู่ในอีไอเอหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เนื่องจากว่าหลักการทำอีไอเอจะต้องทำอีไอเอตามแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ในพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบให้ทำเหมืองและโรงแต่งแร่ ซึ่งในที่นี้คือประทานบัตร เพื่อจะได้ทำการประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องและไม่คลาดเคลื่อนไปจากพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร แต่ความเป็นจริงกลับปรากฏว่ารายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองไม่ได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของอีไอเอ มีการจัดทำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวแยกออกไปจากการทำอีไอเอ มิหนำซ้ำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวยังได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้อนุญาตสัมปทานเท่านั้น นั่นคือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แต่ไม่ได้ผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับ ดูแลหรือวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แต่อย่างใด และยังเป็นการได้รับความเห็นชอบภายหลังจากที่อีไอเอผ่านความเห็นชอบไปแล้วอีกด้วย กล่าวคือรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ได้รับความเห็นชอบจาก กพร. และกรมทรัพยากรธรณีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ตามลำดับ ส่วนแผนผังโครงการทำเหมือง กพร. ให้ความเห็นชอบสองครั้งเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ แต่อีไอเอ สผ. และ คชก. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ และทำหนังสือแจ้งความเห็นชอบต่อผู้ร้องสอดและ กพร. เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๐
 
ซึ่งตามหลักการที่ถูกต้องแล้วเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอเพื่อจะได้นำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวเอามาประกอบใส่ไว้ในอีไอเอด้วย ที่น่าแปลกก็คือ สผ. และ คชก. ไม่มีรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอ เพราะเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวได้รับความเห็นชอบหลังจากอีไอเอผ่านความเห็นชอบไปแล้ว  
 
ประเด็นที่สาม – การบิดเบือนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ ของกฎหมายแร่
 
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้พรรณนาว่า องค์กรของตนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายถูกต้องครบถ้วน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและให้ความเห็นชอบก่อนได้รับอนุญาตประทานบัตรพิพาท รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐[6]ซึ่งเป็นถ้อยคำที่บิดเบือนทั้งสิ้น
 
มาตรา ๘๘/๗ ระบุว่าเมื่ออีไอเอของผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้วให้รัฐมนตรีประมวลข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น ข้อมูลโครงการที่ยื่นประกอบคำขอประทานบัตร และเนื้อหาในอีไอเอประกอบกับความเห็นของผู้พิจารณารายงาน เป็นต้น เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการกำหนดเงื่อนไขอันจำเป็นในประทานบัตรต่อไป แต่เมื่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยกมาตรา ๘๘/๗ ในส่วนของหมวด ๔/๑ การทำเหมืองใต้ดิน ขึ้นมาอ้างความรับผิดชอบในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ก็ต้องนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตราอื่นของหมวดการทำเหมืองใต้ดิน แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขึ้นมาใช้เป็นแนวปฏิบัติด้วย
 
ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในมาตราอื่นของหมวดการทำเหมืองใต้ดินระบุว่าคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนจะต้องคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียจากผู้มีสิทธิในที่ดินหรืออยู่อาศัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตัวแทนองค์กรเอกชนในท้องที่ที่ประสงค์จะขอประทานบัตรทำเหมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และก่อนมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจะต้องจัดส่งรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลโครงการที่ยื่นประกอบคำขอประทานบัตร และเนื้อหาในอีไอเอประกอบกับความเห็นของผู้พิจารณารายงาน ให้ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาล่วงหน้าก่อนการประชุมด้วย แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูลทั้งหมดแล้วไม่พบว่ามีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด
 
ดังนั้น การที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ โดยเป็นการจัดเวทีตามลำพังตนเอง ไม่ใช่การจัดเวทีจากคณะกรรมการร่วม จึงไม่ถือว่าเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ ที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกล่างอ้างที่บิดเบือนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ส่งผลต่อการขาดความรับผิดชอบของสังคมและธรรมาภิบาลที่พึงมีของผู้ประกอบการเหมืองแร่
 
มีประเด็นที่น่าสนใจในลำดับต่อไปก็คือเหตุใดการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินชนิดแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จึงอ้างกระบวนการรังฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายแร่ในส่วนของหมวดการทำเหมืองใต้ดิน สาเหตุก็เพราะว่า หมวด ๔/๑ การทำเหมืองใต้ดิน เกิดขึ้นจากการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในครั้งที่ ๕ โดยเริ่มเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ จนมาสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ มีบทบัญญัติทั้งหมด ๑๓ มาตรา คือ มาตรา ๘๘/๑ – มาตรา ๘๘/๓ เนื้อหาในบทบัญญัติทั้ง ๑๓ มาตราดังกล่าวมีความแตกต่างกับบทบัญญัติในส่วนอื่นทั้งหมดของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ตรงที่ได้บัญญัติวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียไว้เป็นการเฉพาะ รูปแบบและเนื้อหาของการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่บัญญัติเอาไว้ในหมวดของการทำเหมืองใต้ดินมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เริ่มจากการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ การรับฟังความคิดเห็นหลังจากที่อีไอเอผ่านความเห็นชอบแล้ว ตามมาตรา ๘๘/๗ การคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินตามมาตรา ๘๘/๑๑ และการคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อบริหารกองทุนสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๑๐ ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาของการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้ง ๔ เรื่องดังกล่าว จะต้องเริ่มต้นที่การคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๙ ให้ได้เสียก่อน ดังนั้น หากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ได้มีกระบวนการคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียที่กำหนดไว้ตาม ๘๘/๙ ก็ไม่สามารถอ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๘๘/๗ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่บริษัทฯ จัดขึ้นอาจจะเป็นการเกณฑ์ประชาชนที่ไม่มีความเห็นขัดแย้งกับบริษัทฯ เข้าไปร่วมเวทีแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และการอ้างการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๘๘/๗ เพียงประการเดียว โดยไม่จัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านอื่น ๆ ตามมาตรา ๘๘/๙ มาตรา ๘๘/๑๐ และมาตรา ๘๘/๑๑ ตามที่กล่าวมา ก็ไม่สามารถสร้างภาพความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทฯ ให้ดูดีขึ้นมาได้   
 
ประเด็นที่สี่ – บุกรุก ปิดกั้น ทำลายทางสาธารณประโยชน์จนทำให้เสื่อมสภาพ
 
บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ทำการขุดทำลายทางสาธารณประโยชน์หลายเส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ประทานบัตร เพื่อนำแร่ทองคำและเงินใต้ถนนมาเป็นประโยชน์ของบริษัท และได้ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หรือผู้ฟ้องคดี ร้องขอไต่สวนฉุกเฉินให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวเพื่อขอให้เปิดทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ แต่คำชี้แจงและการให้ถ้อยคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอด และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กลับไม่ยอมรับผิดในผลของการกระทำของตน
 
เบื้องแรกบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด โต้แย้งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า การทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด โดยมิได้ทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะภายในระยะ ๕๐ เมตร หรือหากจำเป็นจะต้องทำเหมืองแร่ใกล้ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะก็ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง[7] ส่วน กพร. ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ว่ากรณีการใช้ประโยชน์ทางสาธารณะผู้ร้องสอดได้หารือเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต ซึ่งกรมที่ดินมีความเห็นว่าหากผู้ร้องสอดไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตร ไม่ว่าจะใช้เพื่อการทำเหมืองแร่หรือใช้ในลักษณะผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว กรณีนี้จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด[8]
 
ประเด็นที่ต้องพิจารณาในเบื้องแรกสุดก็คือ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในเขตคำขอประทานบัตรหรือไม่ และหากมีความประสงค์จะใช้แล้วจะทำให้ทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกปิดกั้นหรือทำลายจนเป็นเหตุให้ต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำระหว่างบรรทัดในเบื้องแรกก็เข้าใจว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่แต่อย่างใด แต่พอพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนในภายหลังก็ได้ความจริงว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่ขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรแล้ว เหตุก็เพราะว่าในแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ระบุถึงความประสงค์ในการปิดกั้น ขุดควักทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ในเขตคำขอประทานบัตรไว้ชัดเจน และโดยสามัญสำนึกถึงแม้ไม่นำเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวมาอ้าง โดยบริษัทฯ และ กพร. อาจจะให้เหตุผลว่าเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นมาภายหลัง ไม่เห็นเจตนาในการปิดกั้นหรือทำลายทางสาธารณประโยชน์ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรก็ตาม อย่างไรเสียการทำเหมืองแร่แบบเปิดหน้าดินย่อมทำให้สภาพของทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกทำลายหรือสูญหายไปจากการขุดควักเอาสินแร่ใต้ดินอยู่เสมอ แทบไม่มีการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินแห่งใดในโลกจะละเว้นทางสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ถูกทำลายได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้บริษัทฯ และ กพร. รับรู้มาตั้งแต่ต้น คำถามจึงมีอยู่ว่ามีการรับรู้มาตั้งแต่ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ประสงค์จะใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อประโยชน์อื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่แล้วเหตุใดหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจึงไม่สั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน
 
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในข้อต่อไปว่า ในช่วงเวลาต่อมาบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้อ้างมติที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ เห็นชอบให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ใด ๆ โดยสามารถปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ภายในเขตคำขอประทานบัตร[9] ได้นั้นเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือการที่บริษัทฯ ขอให้ที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเห็นชอบให้แก่บริษัทฯ ในประเด็นดังกล่าวนั่นย่อมเป็นการยอมรับว่าบริษัทฯ จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในเขตคำขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่อย่างแน่นอน ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำในตอนต้นของบริษัทฯ และ กพร. ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเหมืองแร่แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วสิ่งที่ประชุมของสภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะต้องทำก็คือมีมติให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจัดประชุมชี้แจงและขอความเห็นชอบจากประชาชนในชุมชนที่ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์เพื่อการสัญจรไปมาและกิจกรรมอื่น ๆ หากชุมชนมีมติเห็นชอบก็ให้นำเสนอต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุญาตในขั้นตอนต่อไปและท้ายที่สุดเสียก่อน แต่ไม่ใช่มีมติเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ให้ใช้ทางสาธารณประโยชน์ได้โดยกระโดดข้ามลัดขั้นตอน ซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้
 
ดังนั้น มตินี้จึงเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการกระโดดข้ามลัดขั้นตอนความถูกต้องของกฎหมาย เป็นผลให้ประชาชนในหมู่บ้านเขาหม้อและชุมชนใกล้เคียงต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการใช้ทางสาธารณประโยชน์สัญจรไปมาระหว่างชุมชนและใช้ประโยชน์อื่นตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกอื่น ๆ นอกจากนี้ การสูญเสียประโยชน์ดังกล่าวยังส่งผลถึงอนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้าอีกด้วย เนื่องจากเส้นทางสาธารณประโยชน์ได้สูญเสียสภาพ ถูกขุดควักทำลายไปจากการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจนไม่สามารถรื้อฟื้นกลับคืนได้เหมือนเก่า เมื่อประทานบัตรพิพาทสิ้นอายุลงในปี ๒๕๗๑ แต่ชุมชนเขาหม้อและชุมชนใกล้เคียงยังไม่ล่มสลายไปก็จะไม่มีเส้นทางสาธารณประโยชน์ใช้สัญจรไปมาระหว่างชุมชนได้อีกแล้ว  
 
เหตุยังไม่จบเพียงแค่นั้น มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่ได้ดำเนินการขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินในขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตร แต่มาขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ภายหลังขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรผ่านความเห็นชอบไปแล้ว กล่าวคือที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ใด ๆ โดยสามารถปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ภายในเขตคำขอประทานบัตร และ กพร. ได้ให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ไปแล้ว เป็นการกระทำซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่ต้องพิจารณาในประเด็นนี้เริ่มจากที่ กพร. ได้ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัทฯ ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในย่อหน้าก่อน ๆ แต่หลังจากที่บริษัทฯ ได้ผ่านการดำเนินการขอประทานบัตรในขั้นตอนต้น ๆ ตามที่กล่าวไปแล้ว บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอปิดกั้นหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ในเขตประทานบัตรตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑ แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อได้คัดค้านการขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ และที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก มีมติเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ไม่เห็นชอบให้ใช้เส้นทางตามที่ขอดังกล่าว จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ อำเภอทับคล้อจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอดังกล่าว โดยบริษัทฯ มีหนังสือลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒ หลังจากที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรไปแล้วหนึ่งปีกว่า (ประทานบัตรได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑) เพื่อขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยโต้แย้งว่ามติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นมติที่ไม่ชอบเนื่องจาก อบต. เขาเจ็ดลูก ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ ยืนยันมติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก ที่เห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิจิตรแล้ว อำเภอทับคล้อได้มีคำสั่ง ที่ ๒๒๕/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ามติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรยืนยันตามคำสั่งเดิม ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าคำอุทธรณ์ของบริษัทฯ ไม่อาจรับฟังได้ เพราะว่าการประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่มีมติเห็นชอบให้ผู้ร้องสอดปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมแก่ทางสาธารณประโยชน์และทางน้ำอื่น ๆ มิได้มีการยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มติที่ประชุมสภาทั้งสองครั้งจึงมิได้ขัดหรือแย้งกัน
 
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กพร. ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทฯ ต่อไปโดยออกใบอนุญาตปิดกั้น ทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางสาธารณประโยชน์แก่บริษัทฯ ตามประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรผ่านมาได้หนึ่งปีกว่าแล้ว โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๖๓ ของพระราชบัญญัติแร่ ๒๕๑๐ แทนอำนาจตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดิน
 
ประเด็นจึงมีว่าทำไม กพร. ได้ให้ข้อมูลเท็จต่อศาลในทางที่เป็นคุณต่อบริษัทฯ ว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์จะใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ภายในบริเวณที่ขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่หรือเพื่อการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมืองแร่แต่อย่างใดตั้งแต่ขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตร ทั้ง ๆ ที่ กพร. รู้อยู่แก่ใจว่าบริษัทฯ จะทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินโดยจะต้องทำลายหรือขุดควักเส้นทางสาธารณประโยชน์ให้สูญเสียสภาพไปหลายเส้นทางอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามเอกสารที่ระบุไว้ในแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ หรือถึงแม้จะไม่อ้างถึงเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าว โดย กพร. อาจจะให้เหตุผลว่าเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าวจัดทำขึ้นมาภายหลัง ไม่เห็นเจตนาในการปิดกั้นหรือทำลายทางสาธารณประโยชน์ในช่วงเวลาของขั้นตอนต้น ๆ ของการดำเนินการขอประทานบัตรก็ตาม แต่โดยสามัญสำนึกแล้วอย่างไรเสียการทำเหมืองแร่แบบเปิดหน้าดินย่อมทำให้สภาพของทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ ถูกทำลายหรือสูญหายไปจากการขุดควักเอาสินแร่ใต้ดินอยู่เสมอ แทบไม่มีการทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินแห่งใดในโลกจะละเว้นทางสาธารณประโยชน์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ถูกทำลายได้ และทำไมต่อมาภายหลังจากที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีมติไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กพร. ยังไม่ละความพยายามช่วยเหลือบริษัทฯ โดยอนุญาตให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๖๓ ของกฎหมายแร่ได้โดยที่ไม่ผ่านการขอความเห็นชอบตามมาตรา ๙ ของประมวลกฎหมายที่ดินมาก่อนอีกด้วย
 
ดังนั้น การกระทำซึ่งไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้เป็นการกระทำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มี กพร. เป็นผู้มีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะ กพร. ที่มีเจตนาจงใจบิดเบือนข้อมูลต่อศาลเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ มีพฤติกรรมแก้ต่างที่ขาดธรรมาภิบาลเพื่อการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มุ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ ในการขุดควักเอาสินแร่ใต้ทางสาธารณประโยชน์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตประทานบัตรพิพาทแต่อย่างใด
 
ประเด็นที่ห้า – ปัญหาความไม่ชอบมาพากลของมติที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘
 
ตามที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงดังกล่าวไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด โดยอ้างถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่มีมติเห็นชอบกับคำขอประทานบัตรดังกล่าว ที่ให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางสาธารณประโยชน์[10]ประเด็นสำคัญก็คือมติดังกล่าวได้นำ ๓ เรื่องมาพัวพันกัน คือ เรื่องแรก-การให้ความเห็นชอบคำขอประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง เรื่องที่สอง-การให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และเรื่องที่สาม-การให้ความเห็นชอบให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่เรื่องทั้งสามต้องแยกออกจากกัน ไม่สมควรนำมาพิจารณาในวาระเดียวกันได้ เนื่องจากว่าการที่ที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะมีมติเห็นชอบให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ได้จะต้องมีฐานข้อมูลจากแผนผังโครงการทำเหมืองและรายงานลักษณะทางธรณีวิทยาแหล่งแร่รองรับ แต่ข้อเท็จจริงก็คือแผนผังโครงการทำเหมืองได้รับความเห็นชอบจาก กพร. สองครั้งเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ส่วนรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ได้รับความเห็นชอบจาก กพร. และกรมทรัพยากรธรณีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ทั้งสิ้น
 
เหตุผลต่อเนื่องในประเด็นนี้ก็คือการที่สภา อบต. เขาเจ็ดลูก จะให้ความเห็นชอบในเรื่องการให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และให้ปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ได้จะต้องไม่มีข้อพิพาทแล้วเท่านั้น แต่หากยังมีข้อพิพาทหรือขัดแย้งกันอยู่ สภา อบต. เขาเจ็ดลูก ก็ไม่สมควรมีมติในเรื่องดังกล่าวได้ และยิ่งเห็นปัญหาของมติดังกล่าวชัดเจนขึ้นอีกจากการที่ประชุมสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่ยอมนำรายงานการประชุมของชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อที่คัดค้านประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงเสนอต่อที่ประชุม รวมทั้งไม่ยอมสอบถามความเห็นของกรรมการหมู่บ้านเขาหม้อที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ โดยรับฟังคำชี้แจงจากตัวแทนบริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ในเรื่องของการปิดกั้น ทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อที่ผ่านมา สำหรับในส่วนของการให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ มีข้อพิพาทระหว่างกรมป่าไม้กับเจ้าของที่ดินมาตั้งแต่ที่ดินที่ถือครองกรรมสิทธิ์ยังอยู่ในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตร จนบริษัทฯ ได้รับอนุญาตประทานบัตรแล้วข้อพิพาทก็ยังคงอยู่ ในคดีอาญาฐานความผิดต่อกฎหมายป่าไม้ของศาลจังหวัดพิจิตร ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์คือกรมป่าไม้เพราะจำเลยคือชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อมีสิทธิการครอบครอบที่ดินพิพาท ในคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๙/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๑๓๖/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ อีกเช่นกัน
 
ดังนั้น การมีมติสภา อบต. เขาเจ็ดลูก เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๘ ที่ให้ความเห็นชอบพัวพันกันทั้ง ๓ เรื่อง คือ เรื่องแรก-การให้ความเห็นชอบคำขอประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง เรื่องที่สอง-การให้ความเห็นชอบเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และเรื่องที่สาม-การให้ความเห็นชอบให้ปิดกั้น ทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ทางสาธารณประโยชน์ โดยไม่มีฐานข้อมูลจากแผนผังโครงการทำเหมือง รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ และรายงานการประชุมของชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อที่คัดค้านประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงมาประกอบการตัดสินใจ จึงเป็นมติที่รวบรัดตัดตอนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
 
ข้อพิจารณาต่อเนื่องในท้ายที่สุดของประเด็นนี้ก็คือ นอกจากอีไอเอไม่สอดคล้องกับรายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมืองแล้ว เพราะอีไอเอได้รับความเห็นชอบก่อนเอกสารทั้ง ๒ ชิ้นดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อต้น ๆ ของบทความชิ้นนี้ อีไอเอก็ไม่สอดคล้องกับการให้อนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในเขตพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงด้วย ก็เพราะหลังจากที่อีไอเอได้รับความเห็นชอบจาก คชก. เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ แล้ว ข้อพิพาทขัดแย้งในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายปัญหา จึงเชื่อได้ว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอของ สผ. และ คชก. ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลงแต่อย่างใด
 
ประเด็นที่หก – ผลประโยชน์เอกชน ผลประโยชน์รัฐ ผลประโยชน์สาธารณะ
 
ในชั้นของการไต่สวนเพื่อพิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ ทำคำชี้แจงต่อศาลกรณีหากศาลมีคำสั่งให้ปิดกิจการจะทำให้เกิดผลเสียหายอย่างไรบ้าง เฉพาะประทานบัตรเลขที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ จะเกิดความเสียหายในด้านใดบ้าง ยื่นต่อศาลภายในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๓
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมตามคำสั่งศาลว่า หากปิดกิจการเหมืองแร่จะเกิดความเสียหายโดยตรงด้านแรงงาน ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานประมาณ ๘๐๐ คน เจ้าหน้าที่รายเดือนจะได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ด้านภาษีค่าภาคหลวง ค่าธรรมเนียม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้ร้องสอดได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน ๒๘๐,๒๙๕,๘๘๘.๐๕ บาท เสียภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๑๗๙,๕๑๖,๓๙๒.๓๙ บาท เสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน ๖๑,๖๖๒,๘๒๐.๕๖ บาท ชำระค่าภาคหลวงแร่เป็นเงิน ๓๘๑,๖๘๘,๕๖๖ บาท ซึ่งรัฐจัดสรรคืนลงสู่พื้นที่และท้องถิ่น ๖๐ % หากปิดกิจการทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ความเสียหายโดยอ้อม ครอบครัว บุตร ภรรยาของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างประมาณ ๓,๐๐๐ คน จะได้รับความเดือดร้อนโอกาสหางานใหม่มีน้อย ในจังหวัดไม่มีโรงงานขนาดใหญ่รองรับ แผนธุรกิจของบริษัทเสียหาย สัญญาที่ผูกพันไว้ล่วงหน้าต้องยกเลิกสัญญาและชำระค่าปรับผิดสัญญา เศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศเสียหาย ธุรกิจของผู้ร้องสอดเป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจต่างประเทศหากถูกปิดกิจการจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าลงทุนกับประเทศไทยอีก กระทบต่อภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจไทย[11] 
 
ส่วนบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในฐานะผู้ร้องสอดได้ยื่นชี้แจงเพิ่มเติมตามคำสั่งศาลว่า หากปิดกิจการเหมืองแร่ไม่ว่าจะเป็นเฉพาะประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ หรือประทานบัตรอื่น โครงการจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทั้งโครงการ เนื่องจากเชื่อมต่อแปลงประทานบัตรทุกแปลงจำนวน ๕ ประทานบัตร หากต้องปิดกิจการหรือถูกระงับลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกจ้าง พนักงานและคนงานประมาณ ๑,๓๐๐ คน โดยร้อยละ ๖๗ เป็นการจ้างงานในท้องถิ่น กระทบต่อครอบครัว การศึกษาของบุตรหลานที่มีจำนวนกว่า ๓,๕๐๐ คน เสียหายต่อคู่สัญญาและคู่ค้าของผู้ร้องสอดซึ่งคำนวณเป็นค่าขาดรายได้กว่า ๒,๓๐๐ ล้านบาทต่อปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงแร่เป็นจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท รวมทั้งจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ความเสียหายต่อภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาตำบลเป็นจำนวน ๕ ล้านบาทต่อกองทุนต่อปี โครงการเพื่อการศึกษาประมาณ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการกีฬาประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการสาธารณสุขชุมชนประมาณ ๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประมาณ ๗๘๐,๐๐๐ บาท โครงการเพื่อการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโครงการเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาประมาณ ๘๕๐,๐๐๐ บาท ความเสียหายต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ ตลอดจนตัวเลขเงินรายได้ที่ได้จากการขายทองคำในตลาดต่างประเทศและการนำเงินรายได้เข้ามาในประเทศในแต่ละปี ความสนใจในการลงทุนและความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ และกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนรายอื่นที่อาจมีความต้องการที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่[12]
 
ตามความเป็นจริงแล้ว การปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแผนการทำเหมืองของบริษัทฯ เลย เนื่องจากว่ายังมีประทานบัตรอีก ๔ แปลง มาทดแทนการทำเหมืองได้ โดยประทานบัตร ๔ แปลงดังกล่าวเป็นประทานบัตรที่อยู่ติดกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง รวมเป็นทั้งหมด ๙ แปลง เรียกรวมกันว่าแหล่งแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยใช้สันปันน้ำของเขาหม้อซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรพิพาทเพียงแค่ ๕ แปลง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรก็เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของเขตอำนาจศาลและเขตการเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ของตนเองจะข้ามไปที่ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ไม่นำประทานบัตรอีก ๔ แปลง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เดียวกันคือแหล่งทองคำชาตรีเหนือ อยู่ในอีไอเอฉบับเดียวกันและได้รับประทานบัตรพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มารวมไว้ในคำฟ้องด้วย
 
น่าเสียดายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ ทำคำชี้แจงตามที่ศาลสั่งเพียงแค่ชี้แจงตัวเลขความเสียหายของภาครัฐและส่วนอื่น ๆ ในสังคมไทยเฉพาะที่ได้ประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ แต่ไม่ได้ทำคำชี้แจงในส่วนความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งคำชี้แจงนั้นน่าจะให้ครอบคลุมตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่โดยรอบแปลงประทานบัตรพิพาทด้วย เพื่อจะได้นำตัวเลขความเสียหายต่าง ๆ มาเปรียบเทียบชั่งระหว่างผลประโยชน์บริษัทฯ ผลประโยชน์รัฐและผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจให้ปิดกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในแปลงประทานบัตรพิพาทที่ละเอียดรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น ดังเช่นคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในเรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในปี ๒๕๕๒ ที่บริษัทฯ เสียภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเงิน ๑๗๙,๕๑๖,๓๙๒.๓๙ บาท ส่วนคำชี้แจงของบริษัทฯ ระบุเพียงว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน แต่ไม่ระบุตัวเลข แต่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรและบริษัทฯ กลับไม่กล่าวถึงผลประโยชน์ที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับจากการได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แต่อย่างใดเลย โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ๘ ปี หลังจากนั้นจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๕๐ อีก ๕ ปี รวมเป็นเงินของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประชาชนคนไทยควรจะได้รับมาใช้พัฒนาประเทศ แต่ได้รับการยกเว้นตลอดอายุบัตรส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ๓,๘๓๙,๗๖๙,๐๐๐ บาท รวมทั้งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นระยะเวลา ๘ ปีอีกด้วย ตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๙๗๘(๒)/๒๕๕๓ 
 
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำรายงานการศึกษานโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ตีพิมพ์ในเดือนมกราคม ๒๕๕๒ โดยระบุว่าถึงแม้ กพร. จะได้มีการปรับอัตราค่าภาคหลวงแร่ทองคำใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาทองคำที่ขึ้นสูงในช่วงเวลานั้น โดยจัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า ทำให้อัตราการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๐ ถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียและยุโรป ก็มิได้หมายความว่าการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไป อีกทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ตามประทานบัตรทั้ง ๔ แปลง ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งเป็นประทานบัตรติดต่อกันกับประทานบัตรทั้ง ๙ แปลง ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือตามที่กล่าวไปแล้ว ก็ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเช่นกัน โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาเท่ากันกับบัตรส่งเสริมของโครงการชาตรีเหนือ ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ ๓๐ ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงินที่รัฐควรจะได้รับมีประมาณ ๙๙๙.๑๔ ล้านบาท[13]
 
ในเรื่องของค่าภาคหลวงแร่กับกองทุนพัฒนาตำบลที่ยกขึ้นมาอ้างถึงความเสียหายของรัฐและประชาชนไทยหากต้องถูกศาลสั่งปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาท เรื่องของตัวเลขที่ประชาชนและรัฐไทยควรจะได้รับก็มีความสำคัญว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องขุดขึ้นมาขายได้เพียงครั้งเดียวแบบใช้แล้วหมดไปไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาใหม่ได้นั้นควรมีมูลค่าและส่วนแบ่งอย่างไรถึงจะยุติธรรม แต่ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกับเม็ดเงินที่ได้รับจากค่าภาคหลวงแร่และกองทุนพัฒนาตำบลก็คือค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐส่วนกลางและท้องถิ่นได้ไปนอกจากจะไม่เคยตกถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โดยตรงแล้ว ในด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความคุ้มค่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปอีกด้วย และไม่สามารถนำค่าภาคหลวงแร่ที่ได้รับมาชดเชย ชดใช้ ฟื้นฟู เยียวยาใด ๆ ได้เลย เนื่องจากวิธีการจัดสรรค่าภาคหลวงตลอดอายุการทำเหมืองในประเทศไทย จะจัดสรรให้แก่รัฐบาลกลาง ๔๐% องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเขตพื้นที่ประทานบัตร ๒๐% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเขตพื้นที่ประทานบัตร ๒๐% อปท. นอกเขตประทานบัตรทั้งหมดของจังหวัดที่เป็นพื้นที่ประทานบัตร ๑๐% และ อปท. อื่นๆ ทั่วประเทศซึ่งอยู่นอกเขตจังหวัดประทานบัตรอีก ๑๐% ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือค่าภาคหลวงแร่ที่รัฐส่วนกลางและท้องถิ่นได้รับนั้นจะต้องเอาไปรวมเข้ากับรายได้ส่วนอื่น ๆ ที่จัดเก็บได้ในรอบปี และนำเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ทั้งหมดไปวางแผนพัฒนาประเทศหรือท้องถิ่นในภาพรวม แต่ไม่เคยมีการนำเงินรายได้ที่จัดเก็บได้มาวางแผนชดใช้ ชดเชย ฟื้นฟู หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่เลย
 
นี่คือปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตก้าวหน้าสู่ความทันสมัยแต่ไม่ได้สนใจใยดีประชาชนผู้ที่ต้องเสียสละแต่แบกรับผลกระทบ จึงมักพบเห็นอยู่เสมอว่าผู้มีอำนาจในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นไม่ยินยอมที่จะบรรจุแผนการชดใช้และฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองเอาไว้ในแผนพัฒนาประเทศและท้องถิ่นในภาพรวม เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นจะทำให้รายได้ที่กลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นได้รับลดลง เกิดเป็นปัญหาความไม่พอใจหรือรุนแรงถึงขั้นแตกแยกทางการเมืองจนทำให้ผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมหรือรักษาความนิยมทางการเมืองได้อีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริหารประเทศ หรือพรรคการเมืองของผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นไม่สามารถกลับมาเป็นผู้บริหารในสมัยการเลือกตั้งครั้งหน้าได้
 
ดังเช่นที่ อบต. เขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ได้รับค่าภาคหลวงแร่ทองคำปีละประมาณ ๑๒ ล้านบาท และได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาตำบลจากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ปีละ ๕ ล้านบาท รวมทั้งภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียม ภาษีอากรอื่น ๆ อีกหลายรายการ แต่ไม่สามารถนำเงินที่ได้รับจากบริษัทฯ มาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำได้เลย เพราะสมาชิก อบต. ของหมู่บ้านอื่นอีก ๑๐ กว่าหมู่บ้าน ไม่ยินยอมให้นำเงินที่ได้รับจากบริษัทฯ มาทุ่มให้กับหมู่บ้านเขาหม้อเพียงหมู่บ้านเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินที่ได้รับจากการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดถูกเฉลี่ยไปให้กับการพัฒนาหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในเขตตำบลเขาเจ็ดลูก โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในหมู่บ้านเขาหม้อเลย ซึ่งหมู่บ้านเกินครึ่งไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด แต่อย่างใด
 
แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดศาลพิจารณาคำขอที่ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า เมื่อประมวลข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ทางไต่สวนเกี่ยวกับการปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำ การรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายของประชาชนในชุมชนบ้านเขาหม้อ การปิดกั้นและการทำให้ทางสาธารณประโยชน์เสื่อมสภาพ รวมทั้งเหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงและฝุ่นละอองที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ของผู้ร้องสอดแล้ว เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ศาลจำเป็นต้องมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี[14]
 
 
000
 
 
 
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอในเรื่องการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีแล้ว ศาลได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปโดยมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดี และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เรียกเอกสาร ตรวจสอบสถานที่การทำเหมืองและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ตั้งคณะกรรมการพยานผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ การชี้แจงและให้ถ้อยคำส่วนใหญ่ในชั้นนี้ยังคงถกเถียงวนเวียนอยู่ในประเด็นเดิม ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่ ๑ แล้ว แต่ก็มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามา ดังนี้  
 
ประเด็นแรก – กพร. ให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขโดยลำพังตนฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สผ. และ คชก.
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้การเพิ่มว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้พิจารณาแผนผังโครงการทำเหมืองแร่ที่ได้แก้ไขแล้วเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงแผนผังโครงการทำเหมืองมีความเหมาะสม ไม่กระทบกับข้อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดและความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้ถือปฏิบัติแล้ว[15]
 
มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[16] และโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ มีเนื้อหาในส่วนที่ระบุถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขเหมือนกัน คือ หากผู้ถือประทานบัตรมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมือง หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมชนิดแร่ หรือการดำเนินงานที่แตกต่างจากที่เสนอไว้ในรายงานฯ จะต้องเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำเหมืองและการดำเนินงานในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประกอบกับมาตรการป้องกันผลกระทบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน[17]
 
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแผนผังโครงการทำเหมืองย่อมส่งผลกระทบต่อข้อกำหนดในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดและความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้ได้ บ้านเมืองจึงได้สร้างดุลอำนาจทางกฎหมายขึ้นมา ดังที่ปรากฏสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๖๗ และอีกหลายมาตราที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับ ดูแลหรือวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ทำการตรวจสอบเอกสารที่สำคัญร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือดีที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง วิธีการทำเหมือง เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมชนิดแร่ หรือการดำเนินงานอื่นใดที่แตกต่างจากที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ประเมินหรือคาดการณ์ไว้ขึ้นมาในภายหลัง
 
แต่ กพร. กลับใช้อำนาจโดยพลการ ไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ ทั้งที่อีไอเอ และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ สผ. และ คชก. กำหนดเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนเพื่ออนุมัติให้ความเห็นชอบอีไอเอนั้น ล้วนเป็นเงื่อนไขบังคับให้ กพร. หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาสั่งอนุญาตประทานบัตร หรือต่อใบอนุญาตอื่นใดต้องปฏิบัติตาม โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย แต่ กพร. กลับไม่นำแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่งให้กับ สผ. ให้ความเห็นชอบก่อน ตามที่ระบุไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
 
ประเด็นที่สอง – การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ให้การเพิ่มว่า กรณีการทำประชาคมหมู่บ้านตามที่ผู้ฟ้องคดี กล่าวอ้างนั้น เป็นการชี้แจงรายละเอียดโครงการของผู้ร้องสอดให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงผลดีหรือผลเสียและแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งความเห็นดังกล่าวจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ มิใช่การขอความเห็นชอบหรือการทำประชามติ แม้ว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยมีเสียงข้างมากก็เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นเท่านั้น และการให้ความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ก็เป็นเพียงความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เช่นกัน ไม่มีผลผูกพันให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่นำความเห็นดังกล่าวมาประกอบเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น[18]
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ให้การเพิ่มเติมในทำนองเดียวกันอีกว่า การประกาศคำขอประทานบัตรตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ การจัดทำประชาคมหมู่บ้านหรือการรับฟังความคิดเห็น การขอความเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม มิใช่ว่าหากประชาชนเสียงข้างมากเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องถือตามแต่อย่างใด เนื่องจากการอนุญาตหรือไม่ต้องพิจารณาตามกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ นำความเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาส่วนหนึ่งเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ กำกับดูแลการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จึงมีเหตุอันสมควรที่จะออกประทานบัตรได้[19]
 
จากคำให้การของ กพร. ได้ทำให้เห็นทัศนคติที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐหน่วยงานหนึ่งว่ามีมุมมองต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นไร นั่นคือเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนมีสถานะเป็นเพียงความเห็นที่นำมากำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่เท่านั้น ซึ่งเป็นการให้บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงแค่ร่วมมือกับโครงการที่อยู่ระหว่างการให้ความเห็นชอบหรือได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัติในส่วนของกิจการเหมืองแร่ กพร. จะนำความเห็นของประชาชนไปกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่เอาไว้ในเงื่อนไขในการให้อนุญาตประทานบัตร และในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอีไอเอ เนื่องจาก กพร. มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ด้วย แต่หลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ปรากฏสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา ๖๗ และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจะต้องประกอบด้วย ๕ ข้อเป็นอย่างน้อย คือ (๑) การให้ข้อมูลข่าวสาร (๒) การรับฟังความคิดเห็น (๓) ความเกี่ยวข้อง โดยให้ประชาชนร่วมเสนอแนะแนวทางที่นำไปสู่การตัดสินใจ (๔) ความร่วมมือ โดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนกับรัฐในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และ (๕) การเสริมอำนาจแก่ประชาชน โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
 
สิ่งที่น่าแปลกใจต่อท่าทีของ กพร. ที่เห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแค่ความเห็นประกอบเงื่อนไขอนุญาตให้ประทานบัตร และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่บรรจุอยู่ในอีไอเอที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็คือ กพร. ให้การต่อศาลว่าได้นำความเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือวิธีการแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่ทำไม กพร. จึงให้ความเห็นชอบกับแผนผังโครงการทำเหมืองที่ถูกแก้ไขโดยพลการฝ่ายเดียวได้โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความเห็นของประชาชนที่ กพร. นำมากำหนดไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ข้อหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองต้องได้รับความเห็นชอบจาก สผ. ด้วย
 
ประเด็นความสงสัยจึงมาจบอยู่ตรงที่ว่า แท้จริงแล้ว กพร. ให้ความสำคัญต่อความเห็นของประชาชนในขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตรงไหนบ้างหรือไม่ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือในเมื่อขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีสถานะเป็นกฎหมาย หรือเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย ดังที่ได้ปรากฏสะท้อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา ๖๗ และมาตราอื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อ กพร. เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแค่ความเห็นประกอบเงื่อนไขอนุญาตให้ประทานบัตร และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่บรรจุอยู่ในอีไอเอที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว เท่านั้น จึงเท่ากับว่า กพร. ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการมีส่วนร่วมให้ถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่
 
ประเด็นที่สาม – โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งในส่วนเหมืองแร่และโรงถลุงแร่
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ให้การเพิ่มเติมต่อศาลว่า กรณีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่เปิดเผยว่าโครงการของผู้ร้องสอดติด ๑ ใน ๑๐ ของโครงการที่เข้าข่ายที่มีผลกระทบต่อชุมชนนั้น เป็นความจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เห็นว่า โครงการหรือกิจการที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งโครงการของผู้ร้องสอดมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศดังกล่าว แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตัน ต่อวัน ขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศดังกล่าวที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแจ้งให้ผู้ร้องสอดดำเนินการตามประกาศดังกล่าวแล้ว[20]
 
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ หรือ อธิบดี กพร. ยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อศาลในทำนองเดียวกันอีกว่า ส่วนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้น โครงการหรือกิจการที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องพิจารณาตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าว โครงการทำเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดไม่เข้าข่ายเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่ต้องจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตและโลหะทองคำ เพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลำดับที่ ๕.๓ ของประกาศดังกล่าวซึ่งผู้ร้องสอดได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้วและจะจัดทำรายงานสรุปความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชน พร้อมทั้งคำชี้แจงและนำเสนอขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทราบและเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน และในปัจจุบันยังมิได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมแต่อย่างใด[21]
 
จะเห็นได้ว่า กพร. ทุ่มเททำงานหนักมากเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่มีความเห็นใดเลยของ กพร. ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย และไม่มีความเห็นใดของ กพร. อีกเช่นกัน ที่แสดงความห่วงใย เอื้ออาทรต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง แม้สักนิดเดียว โดยเฉพาะประเด็นนี้จะเห็นการบิดเบือนข้อมูลอย่างรุนแรงหลายประการประกอบกัน 
 
ในเบื้องแรก กพร. ให้ความช่วยเหลือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างเต็มที่โดยให้การต่อศาลว่าโครงการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง รวมอยู่ด้วย ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ไม่เข้าข่ายเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ออกตามความมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่ต้องจัดทำรายงาน EHIA แต่อย่างใด
 
แต่ในประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ระบุไว้ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตทองคำมีรายละเอียดอยู่ในข้อ ๒.๒ ว่า การทำเหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ (associated mineral) และข้อ ๕.๓ ว่า อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำหรือสังกะสี
 
ดังนั้น เมื่อดูรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าโครงการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง รวมอยู่ด้วย ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ที่ต้องจัดทำ EHIA ด้วยเหตุว่าในคำพิพากษาฉบับเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยื่นคำชี้แจงและให้ถ้อยคำว่า แหล่งแร่ทองคำของผู้ร้องสอดมีการกำเนิดแบบสายแร่อุณหภูมิต่ำ โดยแร่ทองคำจะเกิดร่วมกับสายแร่ควอร์ต-อาดูลาเรีย แร่คาร์บอเนต และมีแร่กำมะถันเกิดร่วมในปริมาณต่ำ ๆ และเกิดใต้ระดับผิวดินหรือดินลูกรัง สายแร่ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งในส่วนที่เป็นเม็ดแร่ทองคำอิสระ และที่เป็นเม็ดแร่ทองคำผสมอยู่กับแร่เงิน และฝังตัวอยู่ในเม็ดแร่ควอร์ตและแร่คาร์บอเนต นอกจากนี้ยังพบโลหะอื่น ๆ เช่น โครเมียม แบเรียม พลวง สังกะสี โมลิบดินัม สารหนู ซึ่งโลหะดังกล่าวมีสูงกว่าเปลือกโลกเล็กน้อยถึงปานกลาง มูลหินที่มีสายแร่ดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ กลุ่มมูลหินที่มีศักยภาพในการก่อฤทธิ์ให้เป็นกรดจะมีปริมาณกำมะถันมากกว่าคาร์บอเนต และกลุ่มมูลหินที่ไม่มีศักยภาพในการก่อฤทธิ์ให้เป็นกรดจะมีปริมาณคาร์บอเนตมากกว่ากำมะถัน โดยกรดในมูลหินอาจรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมจากการเปิดหน้าดินและหรือเกิดจากการชะล้างของกรดในกองมูลหินลงสู่ผิวดิน และอาจทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ในมูลหินรั่วซึมหรือชะล้างเข้าสู่สิ่งแวดล้อม[22]
 
และจากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินและการประเมินปริมาณธาตุโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ว่าจ้างภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กพร. ตามลำดับ นำมามอบให้ศาลนั้นระบุไว้ว่า จากข้อมูลคุณภาพน้ำผิวดินพบว่าปริมาณของซัลเฟตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะช่วงที่เกิดฝนตกทั้งนี้น่าจะเกิดจากการที่ฝนชะละลายซัลเฟอร์จากหินที่กองอยู่อยู่ในพื้นที่บริเวณรอบเหมืองลงสู่แหล่งน้ำผิวดินและบ่อน้ำใต้ดินระดับตื้นได้ จากข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินสันนิษฐานว่าบ่อเก็บกักกากแร่น่าจะเป็นแหล่งของมลสารเนื่องจากพบว่ามลสารที่ตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์บริเวณด้านท้ายของบ่อเก็บกากแร่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับมลสารที่ตรวจพบในบ่อที่อยู่ด้านเหนือของบ่อเก็บกักกากแร่ นอกจากนี้พบว่าปริมาณของสารหนู (As) ที่ตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์ไม่เกินมาตรฐานน้ำดื่ม (๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อลิตร) ยกเว้นบ่อที่ใกล้กับบ่อกักเก็บกากแร่ที่มีค่าใกล้เคียงค่ามาตรฐานน้ำดื่มและมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดช่วงการวัด (พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๑) ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่น่าจะเกิดจากการปนเปื้อนจากบริเวณอื่นของพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นการปนเปื้อนเฉพาะพื้นที่และอาจเกิดจากการ oxidation ของแร่อาซีโนไพไรต์ (Arsenopyrite) ที่ส่งผลให้การเพิ่มขึ้นของปริมาณของ As ในบ่อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง[23]
 
ข้อมูลที่ได้จากรายงานดังกล่าวก็เป็นที่แน่ชัดว่าแหล่งแร่ทองคำและเงินของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มีอาร์เซโนไพไรต์เป็นแร่ประกอบ ความจริงแล้วสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในข้อ ๒.๒ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวไม่สมควรวิเคราะห์เพียงว่าแหล่งแร่ทองคำหรือแร่โลหะอื่นมีอาร์เซโนไพไรต์เป็นแร่ประกอบหรือไม่ สาระสำคัญน่าจะอยู่ที่พิษของสารหนูในสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมืองมากกว่า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสารหนู (Arsenic) ในรูปของธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างเสรีในธรรมชาติ หรือรูปของแร่ประกอบอาร์เซโนไพไรต์ (Arsenopyrite) ที่มีธาตุเหล็ก สารหนูและซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ตามสูตรเคมี FeAsS ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับพิษของสารหนูจากทั้ง ๒ รูปแบบ จึงทำให้ย้อนคิดไปตั้งแต่ช่วงก่อนประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวจะถูกประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าทำไมถึงต้องทำให้ข้อความใน ๒.๒ ตามประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว มีความสลับซับซ้อนจนทำให้ยากต่อความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปด้วย ก็เพราะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนจงใจที่จะหลีกเลี่ยงพิษของสารหนูในรูปของธาตุอิสระ (As) ที่มีรายงานพบอยู่มากมายตามธรรมชาติบริเวณแหล่งแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ส่วนอาร์เซโนไพไรต์เท่าที่สำรวจดูเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการสำรวจแร่ทองคำบริเวณแหล่งแร่ทองคำชาตรีและชาตรีเหนือ รวมทั้งตามชายขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำบริเวณเดียวกันไม่พบการกล่าวถึงอาร์เซโนไพไรต์เลย นี่ก็เป็นการเล่นแร่แปรธาตุรูปแบบหนึ่งของผู้มีความรู้ทางด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ และพวกวิศวกรรมเหมืองแร่ทั้งหลาย   
 
จะเห็นได้ว่าประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวมีเจตนาให้จัดทำรายงาน EHIA ทั้งในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำ ดังรายละเอียดในข้อ ๒.๒ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว และส่วนของโรงงานถลุงแร่ทองคำ ดังรายละเอียดที่ปรากฏในข้อ ๕.๓ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ดังนั้นเอง บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด จะต้องจัดทำรายงาน EHIA สองฉบับ คือ รายงาน EHIA ในส่วนกิจการเหมืองแร่ฉบับหนึ่งและส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายอีกฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนกิจการเหมืองแร่ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ตามเหตุผลที่ได้กล่าไป ต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามประทานบัตรรวมทั้งหมด ๙ แปล ไม่ใช่ทำรายงาน EHIA เฉพาะประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องขอให้เพิกถอนประทานบัตรในคดีนี้ แต่ต้องรวมอีก ๔ แปลง ฝั่งเพชรบูรณ์ที่ไม่ถูกนำมาฟ้องขอให้เพิกถอนประทานบัตรร่วมกับคดีนี้ด้วย ก็เพราะเป็นประทานบัตรชุดเดียวกันจากแหล่งแร่เดียวกัน ไม่ใช่จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่กำลังขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพียงฉบับเดียวตามคำให้การที่บิดเบือนต่อศาลของ กพร.
 
ข้อบิดเบือนที่เป็นประเด็นต่อเนื่องกันอยู่ตรงข้อความที่ กพร. ให้การต่อศาลว่าปัจจุบันผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำ เพื่อให้มีกำลังการผลิต ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามข้อ ๕.๓ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น แท้จริงแล้วโรงงานถลุงแร่ทองคำหรือโรงประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำมีกำลังการผลิตเกิน ๑,๐๐๐ ตันต่อวัน มาตั้งแต่ดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำและผลิตโลหะทองคำตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่อีไอเอได้รับความเห็นชอบมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ และได้รับอนุญาตประทานบัตรมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แล้ว โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มกำลังผลิตเป็น ๘,๐๐๐ ตันต่อวันมาได้สามสี่ปีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กพร. ให้การเท็จต่อศาล สิ่งที่ กพร. ควรกระตือรือล้นทำตั้งแต่ที่ประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ คือสั่งให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน มาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่มาสั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการจัดทำ EHIA ตาม ๖๗ วรรคสองในช่วงที่บริษัทฯ ขอขยายโรงงานประกอบโลหกรรมเพื่อผลิตโลหะทองคำจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวันในช่วงนี้ เสมือนเป็นการสร้างภาพต่อศาลว่าได้กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อย่างใกล้ชิดเป็นอย่างดีมาตลอด ไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ จากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น
 
ประเด็นต่อเนื่องเพิ่มเติมอยู่ตรงที่ กพร. และ สผ. หรือ คชก. ยังมิได้อนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตโลหะทองคำ จากกำลังการผลิต ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน แต่อย่างใด แต่ทำไมบริษัทฯ ถึงได้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำจาก ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน ได้ โดยขณะนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยคาดว่าขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำร่างรายงาน EHIA เสนอให้กับ สผ. และ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้ ซึ่งตามหลักการแล้วการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังโครงการทำเหมืองหรือกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเป็นเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญที่จะต้องปรากฏอยู่ในรายงานอีไอเอ หรือกรณีโครงการอาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ก็ต้องเป็นการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมจะได้ประเมิน วิเคราะห์หรือคาดการณ์และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างรอบคอบครบถ้วน ไม่ใช่จัดทำรายงานอีไอเอ หรือ EHIA โดยไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังโครงการทำเหมืองหรือกรรมวิธีประกอบโลหกรรมปรากฏอยู่ด้วย
 
และยิ่งเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน เกือบเสร็จหมดแล้ว โดยติดตั้งอุปกรณ์พร้อมใช้งานได้ รอเพียงการเปิดระบบเท่านั้น แต่กำลังจัดทำรายงาน EHIA เพื่อขอความเห็นชอบ และขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานตามหลัง โดยมี กพร.วางเฉยต่อพฤติกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมายของบริษัทฯ
 
 
000
 
 
 
ศาลปกครองพิษณุโลกได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี รวมทั้งบทกฎหมายและกฎที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วจึงได้ออกนั่งพิจารณาคดี เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๕ โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และรับฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของตุลาการผู้แถลงคดีด้วยแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงที่รับฟังได้จากการออกนั่งพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว มีประเด็นสำคัญหลายประการควรค่าแก่การศึกษาของสาธารณชน
 
ศาลได้พิเคราะห์ว่าคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดี หรือ นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ฟ้องรวมมาสองข้อหา คือ ข้อหาที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ออกประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ (ประทานบัตรพิพาท) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เมื่อผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ได้รับประทานบัตรพิพาทแล้วได้ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ 
 
ในข้อหาที่หนึ่ง ศาลได้พิเคราะห์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้ดุลพินิจตามหลักปฏิบัติราชการเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม และตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกประทานบัตรพิพาทขณะนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ โดยลำดับที่ ๒.๒ ของตารางในเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดให้เหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตทุกขนาด เป็นโครงการหรือกิจการที่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมายให้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดระบุว่าต้องใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รู้หรือควรรู้ว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำของผู้ร้องสอดเป็นโครงการหรือกิจการตามประกาศดังกล่าวซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เพื่อให้การออกประทานบัตรพิพาทเป็นไปโดยชอบตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงชอบที่จะแก้ไขคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทเดิมโดยให้ผู้ร้องสอดจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพของโครงการเหมืองทองคำเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือว่าคำสั่งอนุญาตคำขอประทานบัตรพิพาทไม่เป็นตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[24]
 
ดูเหมือนว่าบทพิเคราะห์ของศาลตามย่อหน้าที่กล่าวมาดูดีที่พิเคราะห์ว่าคำสั่งอนุญาตประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด และถือว่าประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลก็ได้พิเคราะห์ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับข้อหาที่สองว่า ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ความไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นประทานบัตรพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายจนกว่าจะถูกเพิกถอน ศาลจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามคำฟ้องข้อแรกว่า การที่ผู้ร้องสอดผู้ถือประทานบัตรพิพาท หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด กระทำการปิดกั้นและขุดทำลายทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในพื้นที่ประทานบัตรเพื่อนำแร่ทองคำและเงินใต้ถนนมาเป็นประโยชน์ของตน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรได้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิเคราะห์ว่า บทบัญญัติตามมาตรา ๖๓[25] และ มาตรา ๑๓๘[26] ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ มิได้ห้ามผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด ผู้ถือประทานบัตรสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตปิดกั้นทางสาธารณะจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ได้ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือผู้ร้องสอดได้ทำการปิดกั้น หรือทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะในเขตประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๐/๑๕๓๖๕ (หนึ่งในประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี[27]) และที่ ๑๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ (หนึ่งในประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่อยู่ในคำฟ้องคดีนี้) โดยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตรได้เปรียบเทียบปรับตามมาตรา ๑๓๘ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๓ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดพิจิตร ได้ออกใบอนุญาตปิดกั้น ทำลายหรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะให้ผู้ร้องสอดตามเลขที่ประทานบัตรที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งยังได้ออกใบอนุญาตทำเหมืองใกล้ทางหลวงหรือทางสาธารณะให้แก่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ อีกด้วย และแม้จะถูกร้องเรียนจากชาวบ้านต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ หรือ อบต. เขาเจ็ดลูก ว่าผู้ร้องสอดได้ล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นและทำให้เสื่อมสภาพทางสาธารณประโยชน์ และ อบต. เขาเจ็ดลูกมีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ เปิดเส้นทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว แต่เมื่อประมวลพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงประกอบแล้ว เห็นว่า กรณียังไม่ถึงขนาดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท
 
ศาลได้พิจารณาปัญหาตามคำฟ้องข้อต่อไปว่า การที่ผู้ร้องสอด หรือบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้สารพิษจากโลหะหนัก เช่น สารหนู และแมงกานีส ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินในระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ฟ้องคดีและชุมชนชาวบ้านเขาหม้อที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นการทำเหมืองและการแต่งแร่อันน่าจะเป็นเหตุให้แร่ที่มีพิษหรือสิ่งอื่นที่มีพิษก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืชหรือทรัพย์สิน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเข้าข่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องเพิกถอนประทานบัตรหรือไม่ ซึ่งศาลได้พิจารณาปัญหานี้โดยคำนึงถึงความร้ายแรงตามพฤติการณ์แห่งกรณีและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทฯ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเป็นสำคัญ ศาลจึงพิเคราะห์ว่า แม้การปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีสและปรอทในแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินอาจมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองหรือการแต่งแร่ของผู้ร้องสอดก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขั้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาท ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดสามารถแก้ไขเยียวยาได้ โดยปรากฏว่าผู้ร้องสอดได้ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาความเสียหายตามคำแนะนำของคณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ๒ ไม่เพิกถอนประทานบัตรพิพาทจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว และไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอีกด้วย[28]
 
จึงมีปัญหาให้ศาลได้พิจารณาในข้อสุดท้ายว่า แม้ประทานบัตรพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่คำสั่งทางปกครองย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเพียงเหตุให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเท่านั้น และโดยที่เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประทานบัตรพิพาทเป็นเพียงการไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดไว้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยดำเนินการให้ครบถ้วนในภายหลัง ประกอบกับความเสียหายจากการที่ผู้ร้องสอดทำเหมืองหรือแต่งแร่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย แม้อาจเป็นเหตุให้สารไซยาไนด์ และโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส และปรอทปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำใต้ดินก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินอย่างรุนแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องใช้ดุลพินิจเพิกถอนประทานบัตรพิพาทดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้หากศาลจะเพิกถอนประทานบัตรพิพาทโดยให้มีผลทันที แล้วให้ผู้ร้องสอดกลับไปดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ครบถ้วนก่อน ย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่เพียงแต่ผู้ร้องสอด พนักงาน ลูกจ้างและคนงานของผู้ร้องสอดเท่านั้นที่ต้องรับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมาก แต่ยังกระทบต่อประโยชน์เกี่ยวข้องที่ชุมชนชาวบ้านใกล้เคียงเคยได้รับไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของผู้ร้องสอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อรายได้ที่รัฐต้องได้รับจากการประกอบกิจการของผู้ร้องสอดอีกด้วย[29]  
 
ในท้ายที่สุดศาลจึงได้มีคำพิพากษา ดังนี้ “พิพากษาเพิกถอนประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔, ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕, ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖, ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ และ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก”[30]
 
ผลของคำพิพากษาในทางปฏิบัติจึงมีว่าหากปล่อยให้มีการทำเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในขณะที่ศาลสั่งให้มีการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ภายในกำหนดหนึ่งปี หรือหากผู้ฟ้องคดีตัดสินใจอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองกลาง ก็จะส่งผลให้การทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ยังคงดำเนินต่อไปได้จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด นั่นย่อมทำให้สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ร่อยหรอหรือหมดลงไปได้ ซึ่งถ้าหากบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด มิสามารถจัดทำรายงาน EHIA ให้เสร็จสิ้นหรือไม่ได้รับความเห็นชอบภายในหนึ่งปีตามที่ศาลปกครองพิษณุโลกกำหนด หรือในกรณีที่ชาวบ้านเขาหม้อฟ้องอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองกลางแล้วคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ออกมาว่าให้เพิกถอนประทานบัตรโดยไม่มีเงื่อนไข แต่การทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ได้ดำเนินไปจนทำให้สินแร่ร่อยหรอหรือหมดลงไป เมื่อนั้นศาลจะต้องมีคำสั่งให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในเขตประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง คำถามคือใครจะเป็นผู้ชดใช้ความเสียหาย ทั้งในแง่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ สุขภาพอนามัยของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่เสียหายถูกทำลายไป ใครจะเป็นผู้ไล่เบี้ยยึดคืนสินแร่ทองคำและเงินที่บริษัทฯ ดำเนินการขุดเอาไปในระหว่างจัดทำรายงาน EHIA หรือในระหว่างดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง 
 
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การปิดกิจการเหมืองแร่ในแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อแผนการทำเหมืองของบริษัทฯ เลย เนื่องจากว่ายังมีประทานบัตรอีก ๔ แปลง มาทดแทนการทำเหมืองได้ โดยประทานบัตร ๔ แปลงดังกล่าวเป็นประทานบัตรที่อยู่ติดกันหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง รวมเป็นทั้งหมด ๙ แปลง เรียกรวมกันว่าแหล่งแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ โดยใช้สันปันน้ำของเขาหม้อซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องให้เพิกถอนประทานบัตรพิพาทเพียงแค่ ๕ แปลง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรก็เพราะไม่มั่นใจในเรื่องของเขตอำนาจศาลและเขตการเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ของตนเองจะข้ามไปที่ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ไม่นำประทานบัตรอีก ๔ แปลง ซึ่งเป็นแหล่งแร่เดียวกันคือแหล่งทองคำชาตรีเหนือ อยู่ในอีไอเอฉบับเดียวกันและได้รับประทานบัตรพร้อมกันเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มารวมไว้ในคำฟ้องด้วย แต่ถ้าไม่มีมาตรการสั่งให้หยุดการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ในระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือระหว่างรอคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลาง อาจมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทฯ จะปรับแผนการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินโดยมุ่งทำเหมืองในส่วนของแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลงก่อน เพื่อต้องการให้ผลของคำพิพากษาไม่เกิดผลในทางปฏิบัติใด ๆ เนื่องจากว่ากว่าที่การจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ หรือผลพิพากษาชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองกลางจะแล้วเสร็จ สินแร่ทองคำและเงินในแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ก็ร่อยหรอหรือหมดสิ้นลงไปแล้ว  
 
ในส่วนของความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการของรัฐต่อบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ที่เตรียมการไว้แล้วหากว่าชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อตัดสินใจไม่ยื่นฟ้องคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางต่อไป คาดว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ อีก จะดำเนินการช่วยเหลือบริษัทฯ โดยทำหนังสือยื่นชี้แจงต่อศาลปกครองพิษณุโลกและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามคำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลกแต่อย่างใด เนื่องจากว่าในส่วนของการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินของบริษัทฯ ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วยนั้นไม่ได้ใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิต ตามข้อ ๒.๒ “เหมืองแร่ตะกั่ว เหมืองแร่สังกะสี หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่ใช้ไซยาไนด์หรือปรอทหรือตะกั่วไนเตรต ในกระบวนการผลิต หรือเหมืองแร่โลหะอื่นที่มีอาร์เซโนไพไรต์ (arsenopyrite) เป็นแร่ประกอบ associated mineral)”  ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ อย่างที่ศาลเข้าใจแต่อย่างใด แต่การใช้สารไซยาไนด์จะใช้เฉพาะในกระบวนการแต่งแร่หรือถลุงแร่ในโรงงานประกอบโลหกรรมเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามข้อ ๕.๓ “อุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี” ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายที่มีกำลังการผลิตทองคำ ๘,๐๐๐ ตันต่อวันในปัจจุบัน เป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน อยู่ในขณะนี้ โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ โดยคาดว่าขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำร่างรายงาน EHIA เสนอให้กับ สผ. และ คชก. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็ววันนี้
 
สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯ ที่ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ว่า “บริษัทอัคราฯได้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แม้จะเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศดังกล่าวแล้วก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทอัคราฯ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วพอสมควรคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกำหนด”[31] และสอดคล้องกับคำให้การตามฟ้องคดีนี้ของ กพร. ต่อศาลที่ระบุว่า “โครงการของผู้ร้องสอดมิใช่โครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามประกาศดังกล่าว แต่ปัจจุบันผู้ร้องสอดได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มแผนผังและกรรมวิธีประกอบโลหกรรมเพื่อขยายกำลังการผลิตโลหะทองคำเพื่อให้มีกำลังการผลิตตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ตัน ต่อวัน ขึ้นไป ซึ่งการขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามประกาศดังกล่าวที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรแจ้งให้ผู้ร้องสอดดำเนินการตามประกาศดังกล่าวแล้ว”[32]
 
ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสหรือสวมอีไอเอที่แนบเนียนมาก โดยเอารายงาน EHIA ในส่วนของการขยายโรงประกอบโลหกรรมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำและเงินเป็น ๓๒,๐๐๐ ตัน ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ที่ใกล้จะเสร็จแล้วมาสวมในส่วนของการทำเหมืองแร่ตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่มีแปลงประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องคดีนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ต้องการให้จัดทำรายงาน EHIA ในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตทองคำสองฉบับด้วยกัน คือทั้งในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำฉบับหนึ่งและโรงถลุงแร่หรือแต่งแร่ทองคำอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากเห็นพิษภัยรุนแรงจากอุตสาหกรรมผลิตแร่ทองคำที่ใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตและอาจทำให้สารหนูและโลหะหนักชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ในสภาพธรรมชาติเกิดความเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ขึ้นได้จากผลการระเบิดเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมือง (โปรดดูรายละเอียดในประเด็นนี้ในบทความตอนที่ ๒)   
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า กพร. หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ จะช่วยเหลือบริษัทฯ โดยการฉวยโอกาสนำอีไอเอในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน มาสวมใส่ในส่วนของกิจการทำเหมืองแร่ทองคำตามโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือที่มีแปลงประทานบัตรพิพาททั้ง ๕ แปลง ที่ถูกฟ้องในคดีนี้รวมอยู่ด้วยหรือไม่ ชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองระมานและหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกับหมู่บ้านเขาหม้อก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกอีกหนึ่งคดีแล้ว กรณีที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อสร้างโรงงานดังกล่าวใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้วแต่มาดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA และขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามหลัง ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลหรือการขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขอผลิตทองคำจากกำลังการผลิตปัจจุบันที่ ๘,๐๐๐ ตันต่อวัน มาเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้ทำการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายเกือบเสร็จหมดแล้ว รอเปิดระบบเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เรื่อยมาโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น เข้าทำนองก่อสร้างไว้ก่อนขอใบอนุญาตตามหลัง หรือเปรียบได้กับการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ใบอนุญาตที่จะต้องได้รับก่อนเพื่อนำมาขอก่อสร้างโรงงานส่วนขยายมีสองรายการ คือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ และใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานจากกรมโรงงาน แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทั้งสอง นั่นหมายความว่าขณะนี้บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานส่วนขยายโดยไม่ได้รับอนุญาต 
 
การกระทำของบริษัทฯ ได้สร้างความสับสนเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการดำเนินการที่สลับกลับหัวกัน ก็คือขณะนี้บริษัทฯ กำลังดำเนินการจัดทำรายงาน EHIA ตามมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ในส่วนของโรงงานประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อขยายกำลังการผลิตทองคำเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน โดยได้จัดเวที Public Scoping หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ Public Review หรือเวทีรับฟังความคิดเห็นการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม และ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาตามลำดับ ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะปรับปรุงร่างรายงาน EHIA ให้สมบูรณ์และนำส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ต่อไป เพื่อจะได้นำรายงาน EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบมาอ้างความชอบธรรมในภายหลัง แต่สิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันกับการจัดทำรายงาน EHIA ก็คือปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนประเภท ๒.๒ กิจการทำเหมืองแร่หรือแต่งแร่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ ตามบัตรส่งเสริมเลขที่ ๑๙๗๘(๒)/๒๕๕๓ ทั้ง ๆ ที่มีความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานผลการตรวจสอบที่ ๖๗/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาข้อ ๔.๔ ว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณางดการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทต่างชาติในกิจการเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ดำเนินการในประเทศไทย ภายในเวลา ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้ แต่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอตอบข้อซักถามนี้เมื่อคราวที่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเรียกมาชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่าไม่ได้ออกบัตรส่งเสริมในส่วนของ ‘การทำเหมือง/เหมืองแร่’ แต่ออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของ ‘โรงงานถลุงแร่’ หรือโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อผลิตทองคำเพิ่มเป็น ๓๒,๐๐๐ ตันต่อวัน เท่านั้น
 
แต่ประเด็นที่จับเท็จได้ก็คือในเงื่อนไขบัตรส่งเสริม ระบุว่าบริษัทฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ในด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใน ๖ เดือน นับแต่ออกบัตรส่งเสริม จึงทำให้บริษัทฯ นำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ (EIA ชาตรีเหนือ) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สผ. และคชก. เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ มาสวมหรือเป็นข้ออ้างต่อบีโอไอเพื่อบิดเบือนออกบัตรส่งเสริม ให้แก่บริษัทดังกล่าว กล่าวคือรายงาน EIA ชาตรีเหนือฉบับนี้เป็นรายงาน EIA ในส่วนของการขอขยาย 'การทำเหมือง/เหมืองแร่' เพื่อรวมการทำเหมืองแร่ทองคำจากแหล่งชาตรีกับแหล่งชาตรีเหนือเข้าด้วยกัน ไม่ใช่รายงาน EIA หรือ EHIA ในส่วนของการขอขยาย 'โรงงานถลุงแร่ทองคำ' หรือโรงงานประกอบโลหกรรมแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนออกบัตรส่งเสริมแบบผิดฝาผิดตัว 
 
สิ่งที่บีโอไอผิดพลาดก็คือถึงแม้จะอ้างว่าออกบัตรส่งเสริม ให้ในส่วนของโรงงานถลุงแร่ก็ตามก็ไม่พ้นที่จะต้องนำสินแร่จากส่วนของการทำเหมืองแร่มาป้อนแก่ส่วนโรงงานอยู่ดี แต่บีโอไอไม่สนใจว่าจะนำสินแร่มาจากที่ใดหรือจะเกิดปัญหาหรือผลกระทบอย่างไรต่อประชาชนจากการที่ต้องทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเพื่อป้อนสินแร่เข้าสู่โรงงาน เพราะบีโอไอบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องคำนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อน่าห่วงกังวลก็คือการก่อสร้างโรงงานส่วนขยายจะส่งผลให้ต้องทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาคือต้องใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณสินแร่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปป้อนโรงงานถลุงแร่ และเมื่อใช้วัตถุระเบิดเพิ่มขึ้นแรงสั่นสะเทือน เสียง ฝุ่นละออง มลพิษจากการระเบิด การขนส่งสินแร่ป้อนโรงงาน การใช้ไซยาไนด์แยกแร่ สารหนูตามสภาพธรรมชาติถูกกระตุ้นจากการระเบิดเปิดหน้าดินส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายขึ้นมาบนผิวดินและแหล่งน้ำในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว 
 
เนื่องจากแร่ทองคำเป็นชนิดแร่ที่มีอยู่จำนวนน้อยมากในประเทศไทยหากไม่กำกับดูแลหรือวางนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ดีจะทำให้ประชาชนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใดเลย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านหนองระมานและเขาดินยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เพราะหวั่นเกรงว่าหากบริษัทฯ สร้างโรงประกอบโลหกรรมส่วนขยายเพื่อเพิ่มกำลังผลิตทองคำสูงจากปัจจุบันอีกสามเท่าตัว ผลกระทบด้านต่าง ๆ จะลุกลามจากหมู่บ้านเขาหม้อมาที่หมู่บ้านของพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ
 
และคาดว่าคงจะมีคดีปกครองเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำและโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นคดีที่สาม สี่ ห้า เรื่อยไป จากอีกหลายหมู่บ้านโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรพิพาทที่อยู่ใกล้เคียงรายรอบหมู่บ้านเขาหม้อตามออกมาอีกอย่างแน่นอนในเร็ว ๆ นี้
 
 


[1] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๘๕ (หน้าสุดท้าย) ย่อหน้าสุดท้าย
[2] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๕ บรรทัดที่ ๑ – ๓ ของย่อหน้าสุดท้าย
[3] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓  ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง ที่เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑  โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย – ผู้เขียน
[4] สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด คัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๓
[5] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๖ บรรทัดที่ ๙ – ๑๕
[6] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๖ บรรทัดที่ ๒๐ – ๒๗
[7] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗ บรรทัดที่ ๗ – ๑๐ ของย่อหน้าแรก
[8] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๑๐ สองบรรทัดสุดท้าย และ หน้า ๑๑ บรรทัดที่ ๑ – ๒
[9] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๙ บรรทัดที่ ๑๖ – ๑๘ ของย่อหน้าแรก
[10] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒ บรรทัดที่ ๑๔ – ๑๕
[11] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๑๙ ย่อหน้าสุดท้าย – หน้า ๒๐ บรรทัดที่ ๑ – ๗
[12] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. ย่อหน้าแรกทั้งหมดของหน้า ๒๐
[13] รายงานการศึกษานโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มกราคม ๒๕๕๒. หน้า ๖๑
[14] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๑ ย่อหน้าสุดท้าย
[15] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๓ บรรทัดที่ ๕ – ๑๑ ของย่อหน้าแรก
[16] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓  ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑  โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ผู้ฟ้องคดี หรือนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย – ผู้เขียน
[17] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โครงการเหมืองแร่ทองคำ “ชาตรีเหนือ” ของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด  คำขอประทานบัตรที่ ๑/๒๕๔๖, ๔ข๖/๒๕๔๖ และ ๑/๒๕๔๗ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และ คำขอประทานบัตรที่ ๑-๔/๒๕๔๗ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์. เล่มที่ ๑ : รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. จัดทำโดย บริษัท เอส.พี.เอส. คอนซัลติ้งเซอร์วิส จำกัด. ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙, บทที่ ๕ มาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบ
[18] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๒๔ ย่อหน้าแรก
 
[19] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๔ ย่อหน้าสุดท้าย – หน้า ๓๕ บรรทัดที่ ๑ – ๖
[20] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๖ ย่อหน้าสุดท้าย – หน้า ๓๗ บรรทัดที่ ๑ และ ๒
[21] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๔๑ บรรทัดที่ ๑๗ ถึง ๒๗ – หน้า ๔๒ บรรทัดที่ ๑ ถึง ๙
[22] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๔๒ ย่อหน้าแรก
[23] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๕๑ ย่อหน้าที่สอง – หน้า ๕๒ บรรทัดแรกถึงบรรทัดที่ ๔
[24] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก – หน้า ๘๐ บรรทัดแรกถึงที่ ๑๐
[25] มาตรา ๖๓  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  “ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรปิดกั้น ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดให้เป็นการเสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางน้ำสาธารณะ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตนั้น”
[26] มาตรา ๑๓๘  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐  “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ มาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๔ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๕๙ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๗ มาตรา ๖๘ หรือมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้”
[27] โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ประกอบด้วยประทานบัตรทั้งหมด ๔ แปลง ได้รับอนุญาตประทานบัตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๓  ต่อมาบริษัทฯ ได้ขอประทานบัตรเพิ่มเติมอีก ๙ แปลง เรียกว่าโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ซึ่งได้รับอนุญาตประทานบัตรเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑  โดยประทานบัตรทั้งโครงการชาตรีและชาตรีเหนือเป็นประทานบัตรที่มีเขตติดต่อกัน ขอร่วมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกัน ซึ่งประทานบัตรพิพาท ๕ แปลง ที่ผู้ฟ้องคดี หรือนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่บ้านเขาหม้อได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในบทความนี้เป็นประทานบัตร ๕ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ส่วนประทานบัตรอีก ๔ แปลง ที่อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือไม่ได้นำมาร่วมฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกในครั้งนี้ด้วย – ผู้เขียน
[28] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก – หน้า ๘๓ ย่อหน้าสุดท้าย – หน้า ๘๔ บรรทัดแรกถึงบรรทัดที่ ๖
[29] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๗๙ ย่อหน้าแรก – หน้า ๘๔ ย่อหน้าแรก – หน้า ๘๕ บรรทัดแรก
[30] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๘๕ (หน้าสุดท้าย) ย่อหน้าสุดท้าย
[31] ศาลปค.ชี้อัคราฯไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม. โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 มีนาคม 2555 19:50. สืบค้นข้อมูลออนไลน์จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20120327/444022/ศาลปค.ชี้อัคราฯไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม.html  คัดลอกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕
[32] คำพิพากษาศาลปกครองพิษณุโลก  คดีหมายเลขดำที่ ๒๒๘/๒๕๕๓  คดีหมายหมายเลขแดงที่ ๑๖๓/๒๕๕๕  วันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕. หน้า ๓๖ ย่อหน้าสุดท้าย – หน้า ๓๗ บรรทัดที่ ๑ และ ๒
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้รัฐเร่งสอบเหตุการตายของ 2 แรงงานพม่าที่เสียชีวิตระหว่างถูกส่งกลับประเทศ

Posted: 23 Apr 2012 07:54 AM PDT

(22 เม.ย.55) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับอนุภูมิภาคขององค์กรที่ทำงานด้านการย้ายถิ่น 39 องค์กรในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ออกแถลงการณ์กรณีมีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าสองคนเสียชีวิต ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไทย ระหว่างการส่งกลับประเทศ โดยเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต ตลอดจนเรื่องค่าชดเชย และทบทวนกระบวนการจับ การกักขัง และการส่งกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้ย้ายถิ่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รายละเอียดมีดังนี้


การเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไทย
จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบ

วันที่ 17 เมษายน ขณะที่ประชาชนในประเทศไทยกำลังสนุกสนานกับวันหยุดยาวต่อเนื่องในวันปีใหม่ไทยและเทศกาลสงกรานต์ แรงงานชาวพม่าสองคนถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่ภายในยานพาหนะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองใช้ในการส่งกลับ นายเมืองโซ อายุ 25 ปี และ นางมีลา อายุ 36 ปี คือผู้เสียชีวิตสองคนในจำนวนแรงงานทั้งหมด 62 คน ที่ถูกส่งกลับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทย ไปยังประเทศพม่าผ่านด่านพรมแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะเดียวกันสื่อมวลชนได้รายงานว่าแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตเนื่องมากจากสภาพที่แออัดภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตนั้นยังไม่มีการยืนยันหรือพิสูจน์หลักฐาน

การตรวจสอบในภายหลังโดยเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด และสถานีตำรวจภูธรแม่สอดได้รับการยืนยันว่ายานพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับได้เดินทางออกจากด่านสะเดา จังหวัดสงขลาวันที่ 16 เมษายน และมาถึงยังด่านแม่สอดในวันถัดมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนหรือสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ควบคุมการส่งกลับในครั้งนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรายงานอีกว่าศพของผู้เสียชีวิตทั้งสองและแรงงานข้ามชาติคนอื่น รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิตถูกส่งกลับออกนอกประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เครือข่ายฯ MMN มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตอย่างน่าสลดและการดำเนินการต่อมาของเจ้าหน้าที่ไทย การเสียชีวิตครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการปฏิบัติต่อผู้ย้ายถิ่นในกระบวนการส่งกลับประเทศของไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2548 และ 2551 เครือข่ายฯ MMN ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการจับ การกักขัง และการส่งกลับในหกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จากการศึกษาเราพบว่าผู้ย้ายถิ่นมักจะถูกควบคุมเป็นระยะเวลานานเกินไปกว่าที่ควรในพาหนะที่ใช้ในกระบวนการส่งกลับและโดยทั่วไปพวกเขาได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างจำกัดมาก

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักขัง โดยยังรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) นอกจากนี้ ตามหลักการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวหรือนักโทษของสหประชาชาติ ที่ว่า “ทุกคนที่อยู่ภายใต้การกักขังหรือการจำคุกทุกรูปแบบจะต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 เครือข่ายฯ MMN ได้เป็นตัวแทนแรงงานนำเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อผู้แทนของสหประชาชาติด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ผู้นำเสนอรายงานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ ให้ความสนใจเฉพาะต่อเหตุการณ์หลัก 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างวาระกัน โดยส่งผลทำให้ผู้ย้ายถิ่นที่มีความเปราะบาง/เสี่ยงภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และสูญเสียชีวิตในห้องกักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือระหว่างที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทย จนกระทั่งถึงบัดนี้เครือข่ายฯ MMN ไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบว่ามีการดำเนินการขั้นตอนหรือมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเหตุการณ์ที่น่าสลดใจครั้งนั้น

เพื่อตอบสนองต่อโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ เครือข่ายฯ MMN ขอเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลไทย:

1. ดำเนินการสืบสวนอย่างทันที เป็นกลางและยุติธรรมต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รวมถึงสถานการณ์ของการกักขังผู้ย้ายถิ่นก่อนการดำเนินการส่งกลับประเทศ, การดูแลด้านสุขภาพและการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติระหว่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่ต่อมาเสียชีวิต รวมทั้งสภาพของพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับและสภาวะอื่นๆ ตลอดกระบวนทั้งการกักขังและส่งกลับ

2. สนับสนุนการชันสูตรศพของแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตทั้งสองคนอย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

3. ดำเนินการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่ครอบครัวของเหยื่อที่เสียชีวิต ตลอดจนเรื่องค่าชดเชย

4. จัดหาให้มีการตรวจสุขภาพ การรักษาและดูแล รวมถึงการเข้าถึงการให้คำปรึกษาอย่างสมัครใจแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคนที่อยู่ในพาหนะที่ใช้ในการส่งกลับดังกล่าวและคนที่อาจจะป่วยและ/หรือได้รับความบอบช้ำด้านจิตใจเพราะต้องเดินทางกับเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ต่อมาพบว่าเสียชีวิต

5. ต้องมั่นใจว่าทุกคนที่ได้กระทำการปฏิบัติ หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นสาเหตุหรือก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ย้ายถิ่นทั้งสองคนได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

6. ทบทวนกระบวนการจับ การกักขัง และการส่งกลับ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้ย้ายถิ่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา รัฐต้องดำเนินการอย่างทันทีเพื่อให้มั่นใจว่าการส่งกลับผู้ย้ายถิ่นดำเนินการภายใต้กฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โรงเรียนพ(ล)บค่ำ3: การต่อต้านเชิงสร้างสรรค์-วัฒนธรรม...นักรณรงค์ต้องอ่าน !

Posted: 23 Apr 2012 05:31 AM PDT

 

ขอบคุณภาพจาก The Reading Room


เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ Emily Hong

The Reading Room และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้จัดการบรรยายหัวข้อ “Cultural Resistance หรือ Creative Resistance การต่อต้านเชิงสร้างสรรค์/การต่อต้านเชิงวัฒนธรรม” เมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ The Reading Room สีลม ซอย 19  โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยายภาษาไทย และ Emily Hong นักกิจกรรม เทรนเนอร์ และนักเขียน เป็นผู้บรรยายภาษาอังกฤษ

เนื้อหาการบรรยายกล่าวถึงการประยุกต์ศิลปะและวัฒนธรรมมาเพิ่มอำนาจการสื่อสารประเด็นต่างๆ ของขบวนการทางสังคมทั่วโลกเพื่อให้ประสบผลในการเคลื่อนไหว รวมทั้งแนะนำแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง สำรวจตัวอย่างวิธีการต่อต้านการคอรัปชั่น บริษัทข้ามชาติ และอำนาจเผด็จการต่างๆ ของประเทศต่างๆทั่วโลก

หลังจบการบรรยายมีกิจกรรม workshop โดยให้ผู้เข้าฟังได้ฝึกนำเทคนิคต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคม กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “โรงเรียนพ(ล)บค่ำ” ซึ่งจัดโดย The Reading Room และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยโดยเฉพาะสื่อใหม่และขบวนการทางสังคม โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3  

แล้วไอ้การต่อต้านอย่างสร้างสรรค์นี้มันเป็นยังไง?
 

Creative/Cultural Resistance

แปลความหมายได้อย่างกว้างที่สุดคือ การควบคุม/ใช้อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นในการประท้วงหรือการรณรงค์ต่างๆ โดยมีแนวคิดพื้นฐานอยู่ 3 เรื่อง คือ  1.สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” หรือ “Direct action” 2.ศิลปะ และ 3.วัฒนธรรม และหลักการสำคัญที่สุดของ Creative Cultural Resistance จะเป็นการผสานแนวคิดทั้ง 3 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน


1.ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct action)


งานเขียนเกี่ยวกับ Direct action ของคนไทยที่สำคัญคืองานของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ โดยได้แปลคำว่า Direct action ไว้ว่า “ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า” ขณะที่ David Graeber นักวิชาการทางด้านอนาธิปัตย์นิยม (Anarchism) คนสำคัญที่เขียนบทความเกี่ยวกับ Direct action ในเชิงวิชาการได้ให้ความหมายของ Direct action ไว้ว่า การปฏิเสธการเมืองที่ต้องร้องขอรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ แต่สนับสนุนการท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง

“การเมือง” ที่เรากำลังพูดถึงก็คือ การเมืองที่ต้องพึ่งพาอำนาจนักการเมืองหรือภาครัฐบาลเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ Direct action ปฏิเสธการเมืองแบบนั้น แต่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการด้วยตัวเราเองโดยไม่ผ่านตัวกลาง คือนักการเมือง หรือข้าราชการ

หัวใจสำคัญของ Direct action คือ ข้อแรก การทำด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง ไม่ผ่านผู้มีอำนาจ เรามักจะเชื่อว่าถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร เราจะต้องไปหาคนที่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจที่ว่านี้มีหลายกลุ่ม เช่น คนที่ได้อำนาจของเราผ่านการเมืองคือ นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอำนาจเช่นนักธุรกิจ แต่ Direct action จะปฏิเสธการไปหาคนเหล่านี้เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อว่าทุกคนมีอำนาจในตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้อำนาจของเราเองทำอะไรบางอย่าง รวมทั้งไม่เชื่อในวิธีการไปโน้มน้าวผู้ที่มีอำนาจ และจะไม่ใช้วิธีพึ่งพากับตัวกลางทางการเมือง หรือข้าราชการ

2.ศิลปะ

อำนาจหรือพลังของศิลปะที่เป็นพื้นฐานที่สุด คือ ศิลปะมันเชิญชวนหรือโน้มน้าวให้คนคิดอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้บอกให้เขาคิดอะไร ซึ่งต่างจากอำนาจของการเมือง การเมืองต้องมีข้อความที่ชัดเจนเพื่อบอกให้คุณคิดอะไร แต่ศิลปะมีอำนาจในการเล่นกับจินตนาการ มันเชิญชวนให้คนมาคิด แต่ไม่ได้บอกว่าต้องคิดแบบไหน

ตัวอย่างที่สำคัญของการใช้ศิลปะอย่างหนึ่งคือ เรื่องของการใช้เพลง เช่น “Singing Revolution” หรือการปฏิวัติด้วยการร้องเพลงในเอสโตเนีย หรือการใช้เพลงในการรวมพลของขบวนการสิทธิพลเมืองในอเมริกาช่วงปี 70 เช่นเพลง We Shall Overcome

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการใช้งานศิลปะสองมิติ เช่นภาพเขียน มีกรณีที่น่าสนใจคือ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีภาพเขียนผลงานปิกัสโซขนาดใหญ่ชื่อ “Guernica” ประดับบนผนัง เป็นภาพที่ปิกัสโซเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความโหดร้ายรุนแรงของสงครามกลางเมืองในสเปน ในปี 2003 ประธานาธิบดี Bush ประกาศจะบุกอิรักโดยได้ส่ง Colin Powell ไปที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อพูดสุนทรพจน์โน้มน้าวให้แต่ละประเทศยอมรับสงครามของอเมริกาในอิรัก ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ถึงกับนำม่านสีฟ้ามาปิดภาพ Guernica เอาไว้ชั่วคราวเพื่อไม่ให้ภาพนี้ปรากฏเป็นฉากหลังขณะที่ Colin Powell กล่าวเรื่องสงครามออกกล้อง เนื่องจากภาพนี้มีสารเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามที่ทรงพลังมาก

 

Guernica, 1937 by Pablo Picasso (http://www.pablopicasso.org/guernica.jsp)

 

เมื่อศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการณรงค์หรือการต่อต้าน ความท้าทายหรือปัญหาใหญ่คือ เนื่องจากศิลปะพยายามที่จะเชิญชวนหรือเล่นกับจินตนาการผู้เสพ ศิลปินจึงต้องการพื้นที่ในการสร้างสรรค์สิ่งที่เล่นกับจินตนาการ แต่การรณรงค์ในทางการเมืองนั้นจำเป็นต้องมีข้อความที่ชัดเจนว่าเรากำลังพูดถึงอะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร จะทำอย่างไร ฉะนั้นความท้าทายของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวโดยใช้ศิลปะคือ เราจะหาความสมดุลระหว่างพื้นที่ที่เปิดให้ใช้จินตนาการ กับความชัดเจนของการสื่อสารอย่างไร หลักการพื้นฐานที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยใช้ศิลปะคือ เราจำเป็นต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของศิลปะ และธรรมชาติของการรณรงค์

ในมุมกลับกัน แม้จะมีความท้าทาย แต่การใช้ศิลปะในการรณรงค์ต่างๆ ก็มีข้อดี คือศิลปะทำให้ผู้ที่เห็นสามารถนำประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปผูกโยงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าการรณรงค์นี้คืออะไร หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ นี่คือจุดแข็งของศิลปะจุดหนึ่งซึ่งเราจะต้องเอามาใช้ในการรณรงค์ นักกิจกรรมสามารถเรียนรู้จากศิลปินหรืองานศิลปะได้ว่า ในการออกแบบงานรณรงค์ เราต้องเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้สาธารณะเข้ามามีส่วนร่วม แล้วเอาความคิดของตัวเองเข้ามามีความสัมพันธ์กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้การรณรงค์ประสบผล ไม่ใช่แค่การชูป้ายประท้วง หรือออกไปตะโกนสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น

3.วัฒนธรรม

หลักการใหญ่ 2 ข้อของเรื่องวัฒนธรรมคือ ข้อแรก เราจำเป็นต้องรู้จัก อาณาบริเวณหรือลักษณะของวัฒนธรรมในสังคมเรา (Cultural terrain) ถ้าจะเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมยก็คือ เหมือนกับเราเป็นกองโจร ต้องรู้จักภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ เพื่อที่จะใช้ในการสร้างความได้เปรียบให้กับเราในการสู้รบ

คนที่ทำงานรณรงค์ ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง มักจะเป็นคนส่วนน้อย และมักคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของตนซึ่งเป็นคนส่วนน้อย แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ แล้วต้องเข้าใจวัฒนธรรมกระแสหลักของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้รู้ว่าเราจะหยิบวัฒนธรรมนั้นมาใช้ประโยชน์ในการโน้มน้าวผู้คนอย่างไร เราสามารถเรียนรู้จากนักการตลาดที่มีความฉลาดในการใช้ “ความฝัน” หรือ “ฝันร้าย” ของคนให้เป็นประโยชน์ เช่น โฆษณาโรลออนที่ทำให้รักแร้ขาว นักการตลาดใช้ความใฝ่ฝันของผู้หญิงไทยเวลาใส่เสื้อแขนกุดขึ้นบีทีเอสแล้วเป็นที่ต้องการของผู้ชายรอบๆ เพราะเห็นรักแร้ขาว นี่คือตัวอย่างการใช้วัฒนธรรมกระแสหลักในการโน้มน้าวคน

ข้อที่สองคือ เมื่อเราเข้าใจอาณาบริเวณหรือลักษณะวัฒนธรรมในสังคม (Cultural terrain) แล้ว เราจะสามารถเข้าไปหยิบค่านิยมหรือโลกทัศน์ของสังคมมาใช้ประโยชน์ในการรณรงค์ได้ เราอาจจูงใจคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกับเราตั้งแต่ต้นให้เข้ามาเห็นด้วยกับเราได้ ยกตัวอย่าง การรณรงค์แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่รณรงค์เรื่องนี้มักจะถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มที่ไม่รักสถาบันฯ หรือไม่เอาเจ้า การรณรงค์อาจพยายามหาจุดร่วมโดยไม่ให้จุดยืนของเราไปทำตัวขัดแย้งกับวัฒนธรรมกระแสหลัก เราอาจพูดถึงกลุ่มคนที่รักสถาบันฯรักในหลวง แต่ว่าไม่ได้ต่อต้านการรณรงค์แก้ไข ม. 112 หรือคนที่รักในหลวง แต่ก็รักเสรีภาพด้วย นี่เป็นการพยายามหาจุดตรงกลางจากวัฒนธรรมหลักในสังคม

ลองยกตัวอย่างของอเมริกาซึ่งใช้ Pop culture ในการรณรงค์การต่อต้านสงคราม ถ้าคนที่เข้าใจ Pop culture ก็จะรู้ว่าหมายถึงอะไร เป็นการโยงแหวนที่ Bush ใส่กับหนัง The Lord of the Rings ซึ่งพูดถึงความกระหายอำนาจ เราสามารถเอาประสบการณ์หรือความเข้าใจใน Pop culture เข้าไปโยงกับ message ทางด้านการเมืองได้

 

http://www.lowbird.com/all/view/2008/06/bush-ring-of-power

 

หลักการ Dilemma action

หลักการที่สำคัญที่สุดของ Creative/Cultural Resistance หรือ การควบคุมหรือใช้อำนาจของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เกิดจากการนำแนวคิดพื้นฐานในกิจกรรมการรณรงค์ทั้ง 3 ข้อคือ ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ศิลปะ และ วัฒนธรรม มารวมกัน นั่นคือหลักการที่เรียกว่า Dilemma action

เราทำกิจกรรมรณรงค์หรือประท้วงต่างๆ กันบ่อย แต่มักไม่เกิดผลเท่าไร เพราะว่าเราเองมักจะมีประเด็นที่เน้นข้อความในด้านการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงประเด็นอื่น หลักการนี้คิดขึ้นมาโดยคนที่รู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่พอใจที่การรณรงค์ที่เป็นอยู่มันไม่ไปไกลหรือไม่บรรลุผลที่ต้องการ

Dilemma action เป็นศัพท์ที่ George Lakey เป็นผู้คิด ความหมายคือ ปฏิบัติการที่ทำให้เป้าหมาย (Target) ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตัดสินใจลำบาก ตัวอย่างเช่น อองซาน ซูจีที่เพิ่งประกาศว่าจะเดินสายในต่างประเทศ บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นการตัดสินชั่ววูบ แต่ที่จริงอองซาน ซูจีคิดเรื่องนี้มานานแล้ว และนี่คือ Dilemma action เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะยอมให้อองซาน ซูจีเดินทางไปแล้วกลับโดยดี หรือออกไปแล้วไม่ให้กลับ ก็จะเป็นประโยชน์ต่ออองซาน ซูจี แล้วเป็นการตัดสินใจที่ยากของรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ให้กลับก็จะเป็นการเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วพม่ายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงกับที่ต่างชาติกล่าวหา แต่ถ้ายอมให้กลับมา อองซาน ซูจีจะสามารถเดินทางไปต่างประเทศ รับรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการ และทำให้สถานะของตัวเองในแง่ของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสูงขึ้นมา นี่คือรูปแบบ Action อย่างหนึ่งที่ทำให้เป้าหมายต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ตัวอย่างของ Dilemma action ที่นักเคลื่อนไหวในเซอร์เบียใช้ คือการสร้างความตลกขบขันให้อีกฝ่าย ประชาชนพยายามไล่ผู้นำเผด็จการ มิโลเซวิช โดยเอาถังเปล่าใบใหญ่ไปวางไว้ที่ถนน และเขียนถ้อยคำว่า -- ผู้นำของเราอยากเกษียณ แต่เกษียณไม่ได้เพราะมีเงินไม่พอ กรุณาช่วยกันบริจาคเงินให้มิโลเซวิชโดยการโยนเหรียญเข้าไปในถัง แต่ถ้าไม่มีเหรียญให้ตีถังนี้แทน – เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้คนยากจน จึงไม่มีใครโยนเหรียญแต่ตีถังแทน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจำนวนมากลงมายังท้องถนนและตีถังจนตำรวจจับ พอตำรวจมาจับถังขึ้นรถไป นักรณรงค์กลุ่มนี้ก็ถ่ายภาพตำรวจอุ้มถังขึ้นรถ และทำเป็นข่าว ทำให้ตำรวจกลายเป็นคนที่ดูตลกขบขันไป แต่ถ้าตำรวจไม่มาจับถัง การรณรงค์ก็จะมีต่อไป ตีถังกันต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Dilemma) วิธีนี้มีผลทำให้กลุ่มตำรวจรู้สึกว่าตนเองสูญเสียความน่าเชื่อถือบางอย่างในระบอบนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมในบริบทนี้ด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในวิธี Dilemma action  http://www.youtube.com/watch?v=vc1CcxHwypE

 

กลวิธีในการรณรงค์ (Tactics)

การรณรงค์ต่างๆสิ่งสำคัญคือ ต้องจับต้องได้ และต้องสื่อสารไปถึงเป้าหมาย (communicative) สิ่งเหล่านี้คือกลวิธีหลากหลายที่ช่วยเพิ่มความสนใจในการรณรงค์ต่างๆ ได้

แจกใบปลิวให้น่าสนใจ (Advance Leafleting)

กลวิธีที่ง่ายที่สุด พื้นฐานที่สุด ที่นักกิจกรรมหรือนักรรณรงค์ใช้กันอยู่แล้ว คือการแจกใบปลิว การแจกใบปลิวถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ช่วยให้เราให้ข้อมูลกับคนอื่นได้ว่าเรากำลังทำอะไร ปัญหาคือเรื่องอะไร แต่การแจกใบปลิวแม้ว่าจะสำคัญแต่มักไม่ค่อยได้ผล เพราะว่ามันน่าเบื่อ น่ารำคาญ ถ้าเรานึกถึงตัวเองเวลามีคนมาแจกใบปลิว มันมีไม่กี่ครั้งที่เราจะรับมาแล้วอ่าน แต่มักเขวี้ยงทิ้งลงถัง การแจกใบปลิวแบบที่เราทำกันแบบปกติถือเป็นการสูญเสียทรัพยากร สูญเสียเวลา ไม่ได้ผล ทำมาแจก คนก็ไม่อ่าน ไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่การแจกใบปลิวแบบแปลกใหม่หรือที่เรียกว่า Advance Leafleting คือการพยายามนำศิลปะกับวัฒนธรรมเข้ามาช่วยให้การแจกใบปลิวไม่เสียเปล่า หลักการง่ายๆ คือทำให้มันสนุก ทำให้แปลก และทำให้เป็นที่จดจำ มีการทดสอบขององค์กรในต่างประเทศที่แสดงว่า เมื่อเอาหุ่นยนต์ไปแจกใบปลิว คนเลือกที่จะรับใบปลิวจากหุ่นยนต์มากกว่าจากคนด้วยกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ดูตลก แต่จริงๆ มันสะท้อนว่าการแจกใบปลิวถ้าทำให้แปลกและทำให้คนอื่นสนุก มันจะได้ประโยชน์ เราสามารถใช้ละครเข้ามาเล่นกับการแจกใบปลิว หรือใช้การแต่งกายแบบแปลกๆ เข้ามาเล่น

เคยมีการณรงค์หนึ่งเกี่ยวกับสงครามในอเมริกา ซึ่งเอาคนใส่ชุดบ๋อยเสิร์ฟอาหาร ถือถาด ถือเมนูเดินไปตามท้องถนน และถามผู้คนว่า “คุณได้สั่งสงครามหรือเปล่า” (Do you order war?) พอคนบอกว่าไม่ได้สั่ง บ๋อยก็ส่งใบเสร็จให้และบอกว่าต้นทุนของสงครามที่เราแต่ละคนต้องจ่ายคือเท่าไร ปรากฏว่านี่เป็นการรณรงค์ที่ชาญฉลาดมาก เพราะเป็นการแจกใบปลิวแบบหนึ่ง ให้ข้อมูลคนแบบหนึ่ง แต่ทำคนสนใจ ไม่ใช่การแจกใบปลิวแบบทั่วไปที่เต็มไปด้วยข้อความบอกว่าสงครามมีผลเสียอย่างไร ซึ่งคนอาจจะไม่อ่านก็ได้ นี่คือวีธีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปประยุกต์

เวลาประท้วง อย่าแต่งตัวเหมือนนักประท้วง

ส่วนใหญ่เวลาที่นักกิจกรรมรณรงค์อะไร เรามักจะไปเดินประท้วงหรือชูป้าย แต่สิ่งที่พึงระวังคือ เรามักจะแต่งเหมือนนักประท้วงออกไป เมื่อเราแต่งตัวเหมือนนักประท้วง เรามักจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนทั่วไปไม่ได้ชอบนักประท้วงสักเท่าไร คนเห็นแล้วรู้สึกเบื่อหน่าย และถ้าเราถูกตำรวจจับ คนก็ไม่รู้สึกเห็นใจ  หลักการข้อนี้แนะนำให้แต่งกายแบบที่ไม่ปกติ มีตัวอย่างของคนขับเครื่องบินที่ประท้วงการบินในอเมริกา การไม่แต่งตัวแบบนักประท้วงไปประท้วงนั้นช่วยดึงดูดสื่อและเป็นที่สนใจ นี่เป็นบทเรียนข้อหนึ่งสำหรับนักกิจกรรมว่า ถ้าเราแต่งตัวไม่เหมือนนักประท้วง เราจะได้รับความสนใจและอาจเป็นข่าว

 

 

http://independentnewshub.com/?p=45494

 

คนที่ติดตามการประท้วงในซีเอทเทิลจะเห็นว่ามีกลุ่มประท้วงแบบปฏิบัติการซึ่งหน้า (Direct action) หลายกลุ่มที่แต่งตัวประหลาดๆ ไม่ใช่เพื่อดึงความสนใจสื่ออย่างเดียว แต่เพื่อปกป้องตัวเองไปด้วย อย่างเช่น กลุ่มที่แต่งตัวเป็นเต่าออกไปเรียกร้องเรื่องเต่าทะเลที่กำลังจะสูญพันธ์ ชุดเต่าช่วยปกป้องจากการถูกตำรวจทุบตี และยังแฝงความหมายว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืนและรักสันติ

 

http://seaturtles.org/article.php?id=1154

ดัดแปลงวิธียื่นรายชื่อหรือ petition (Creative petition delivery)

นักรณรงค์ทำ online petition ตลอดเวลา online petition มีข้อดีคือสามารถให้ข้อมูลผู้อื่นและแพร่กระจายได้เร็วเพราะคนสามารถแชร์ต่อๆ กันได้ แต่ online petition  มีข้อเสียตรงที่หน่วยงานเป้าหมายของการเข้าชื่อมักไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าชื่อไม่ว่าจำนวนชื่อจะมากแค่ไหนก็ตาม เป้าหมายมักจะละเลย แต่มีวิธีการที่จะทำให้การยื่นรายชื่อเมื่อได้รายชื่อครบแล้ว ให้เป้าหมายของเราไม่สามารถเพิกเฉยได้ หลักการง่ายๆ ก็คือทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นมันเห็นชัด มีหลายกลุ่มที่ทำ online petition อย่างเว็บไซต์ Avaaz.org เวลาที่ส่งมอบรายชื่อ เขาจะแปลงตัวเลขจำนวนคนให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น การล่ารายชื่อรณรงค์เรื่องฟาร์มเลี้ยงหมู ก็ทำหมูจำลองตัวใหญ่ๆ โดยหมู 1 ตัวแทนรายชื่อ 1,000 รายชื่อ ถ้าแสนรายชื่อจะต้องเอาหมูไปเท่าไรก็ลองนึกดู เวลาเราไปออฟฟิศของหน่วยงานที่เราจะยื่นรายชื่อ ก็จะมีสิ่งที่จับต้องได้มาสร้างความสนใจ และทำให้เป็นข่าว อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กลุ่มกรีนพีซ ที่รณรงค์เกี่ยวกับการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยให้คนแต่งตัวเป็นลิงเข้าไปในออฟฟิศขององค์กรแต่ละท้องที่เพื่อยื่นรายชื่อ ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวและถูกพูดถึงในหน้าสื่อ

 

ใช้ภาพให้มีศิลปะ (Artistic Imagery)

การแขวนป้ายข้อความ (Banner Hangs) และข้อความมนุษย์ (Human Banner)

ตัวอย่างที่คลาสสิคมากและยังพูดถึงกันอยู่ก็คือการแขวนป้ายข้อความที่ซีแอทเทิล ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม WTO ก็ ถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง Battle in Seattle ก็เห็นมีการจำลองฉากนี้ในหนังด้วย สารก็คือ WTO ทำสิ่งที่สวนทางกับประชาธิปไตย การแขวนป้ายก่อนที่จะมีการประชุมมีผลคือ สร้างบรรยากาศให้พื้นที่นั้นเข้าใจว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น และประเด็นที่นักกิจกรรมกำลังจะเริ่มรณรงค์คืออะไร การแขวนป้ายนั้นช่วยส่งสารของนักกิจกรรมก่อนจะมี event เกิดขึ้น สมมติว่าจะมีการประชุมอาเซียนในเมืองไทย การแขวนป้ายก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้สื่อสารประเด็นต่างๆ ได้ แต่ว่าการแขวนป้ายแบบในภาพนั้นต้องใช้ทักษะมากคือต้องมีนักห้อยโหน และเสี่ยงที่จะถูกจับ เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุ ดังนี้จึงมีป้ายข้อความมนุษย์ (Human Banner) เกิดขึ้น

Human Banner  ก็คือการใช้มนุษย์ไปทำเป็นข้อความ ต้องใช้คนจำนวนมากแต่มีข้อดีคือ ความเสี่ยงน้อย อันตรายน้อย สามารถเป็นข่าวได้ เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง

 

 

http://www.revolutionbythebook.akpress.org/n30-looking-back-on-a-decade-of-activism-against-global-capital/

 

http://www.oyalbankofscotland.com/

 

 

การฉายภาพตามตึก (Guerilla projection)

เป็นเทคนิคที่คล้ายกับการแขวนป้ายข้อความ แต่ใช้อุปกรณ์ฉายแสงกำลังสูงไปตามผนังตึก เช่นตัวอย่างของ Occupy Wall Street ที่ยิงข้อความต่างๆไปบนตึก อย่างตึก Wall Street หรือตึกที่เป็นเป้าหมายของตน ข้อดีของการใช้ การฉายภาพคือ ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับมีน้อย ต้นทุนต่ำกว่าการใช้คนไปห้อยตัวตามป้ายแบนเนอร์เพราะต้องใช้เครนใช้อุปกรณ์ต่างๆ และที่สำคัญคือการฉายภาพสามารถเล่นโต้ตอบได้ เคลื่อนไหวได้ หมุนได้ เปลี่ยนข้อความได้ เล่นกับคนได้

 

http://www.en-derin.com/artworks/occupy-the-art-world-21-ows-inspired-designs

 

การป่วนทางวัฒนธรรม (Culture Jamming)

เทคนิคนี้หลายคนที่เป็นศิลปินจะสนใจมาก คือการเอา Pop Culture มาบิด ใช้วัฒนธรรมที่คนรู้จักมักคุ้นกันดี แบบเห็นภาพก็รู้ว่าพูดถึงอะไร มาบิดให้สารกลับหัวกลับหาง แสดงความหมายตรงกันข้ามกับความหมายที่คนคุ้นเคย เทคนิคนี้ภาษาฝรั่งเศสเรียก Détournement ซึ่งเกิดขึ้นจากนักวิชาการชื่อ Guy Debord ผู้เขียนเรื่อง "สังคมมหรสพ" (La société du spectacle) ตัวอย่างเช่น สิ่งที่คุ้นเคยในสังคมอย่างเช่น โค้ก หรือไนกี้ เวลาคนเห็นโลโกก็รู้ได้ทันที แต่เทคนิคนี้จะเอาโลโก้โค้กหรือไนกี้มาปรับแต่งใหม่ในโปสเตอร์ ทำให้มีความหมายต่อต้านบริโภคนิยม เป็นเล่นกับวัฒนธรรม โดยกลับทิศกับสิ่งที่สัญลักษณ์เหล่านี้เคยสื่อความหมาย

ตัวอย่างที่พูดถึงกันมาก คือภาพที่เรียกว่า “Pepper spraying cop” ตำรวจในภาพชื่อ John Pike ซึ่งเป็นประเด็นจากภาพข่าวตำรวจฉีดสเปรย์พริกไทยใส่นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมสนับสนุนกลุ่ม Occupy Wall Street ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส เมื่อปี 2011 ในอินเตอร์เน็ตมีการตัดต่อภาพล้อเลียนตำรวจคนนี้โดยให้ไปฉีดสเปรย์ใส่คนอื่นไปทั่ว พอคนเห็นภาพตำรวจนี้ก็รู้ได้ทันทีว่ามีความหมายเสียดสีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง เป็นการหยิบเอาภาพที่เราคุ้นเคย เข้าใจความหมายอยู่แล้วมาบิด หรือทำให้เปลี่ยนความหมายไป

 

http://badgasgoodwind.blogspot.com/2011/11/blog-post_22.html

 

http://www.theatlantic.com/national/archive/2011/11/why-i-feel-bad-for-the-pepper-spraying-policeman-lt-john-pike/248772/

 

แสดงละคร (Theatrical)

โรงละครที่มองไม่เห็น (Invisible theatre)

หลักการง่ายๆ คือสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้นโดยมีนักแสดง เข้าไปอยู่ปะปนกับคนทั่วไป มักใช้สำหรับการรณรงค์เกี่ยวประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ อย่างเช่นเรื่องเพศ หรือเชื้อชาติ ที่ไม่สามารถคุยในเนื้อหากันได้ตรงๆ การณรงค์ด้วยเทคนิค Invisible theatre นับว่าดีมาก เพราะทำให้คนถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหว โดยที่เราไม่ต้องเป็นผู้เริ่มเปิดประเด็นพูดโดยตรง

ตัวอย่างที่เคยเกิดคือ การแสดงละครในร้านอาหาร คู่เลสเบี้ยนกับเด็กสองคน และพนักงานเสิร์ฟเป็นตัวละครที่สมมติขึ้น คนในร้านที่เหลือเป็นคนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้อง ตัวละครคือพนักงานเสิร์ฟจะเดินมาหาคู่เลสเบี้ยน และพูดเสียงดังให้ทุกคนได้ยินเช่น “ครอบครัวนี้เลี้ยงลูกได้ยังไงเนี่ย คุณทำให้ทุกคนในร้านสะอิดสะเอียน...” โดยมีการแอบถ่ายวิดีโอเก็บไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนรอบข้างที่อยู่ในร้านจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละคร โดยเริ่มถกเถียงเรื่องครอบครัวที่เป็นเพศที่สาม มีการถกเถียงที่น่าสนใจที่มักไม่เกิดขึ้นหากเป็นการรณรงค์ลักษณะอื่น

 

การขัดจังหวะอย่างสร้างสรรค์ (Creative disruption)

วิธีนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก แต่ต้องมีการวางแผนพอสมควรก่อนที่จะเริ่มต้น มักจะใช้เมื่อเป้าหมายของการรณรงค์มีสถานะที่สูง มีอภิสิทธิ์ หรือมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สูงกว่าเรามาก อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในวันสตรีสากลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการชูป้าย “ดีแต่พูด” ของคุณจิตรา คชเดช ต่อหน้านายกฯอภิสิทธิ์

หลักการของ Creative disruption คือ จะมีประโยชน์ในกรณีที่เรามีสถานะต่างจากเป้าหมายของเรามาก ยากที่เราจะเข้าประชิดตัวและสื่อสารในสิ่งที่ต้องการ แต่ความท้าทายคือ เมื่อเราไปขัดขวางการพูดของคนคนหนึ่งซึ่งมีสิทธิที่จะพูด มักเกิดคำถามตามมาว่า จุดใดคือความพอดี ที่ทำให้การรณรงค์ไม่ละเมิดสิทธิในการแสดงออกของคนที่เป็นเป้าหมาย แต่กรณีของคุณจิตราก็แก้ปัญหาประเด็นนี้ได้ เพราะนายกฯอภิสิทธิ์เลือกที่จะพูดต่อโดยที่ไม่ได้ถูกขัดขวางหรือริดรอนสิทธิในการพูด แต่ความสนใจทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกฯอีกต่อไป แต่ถูกดึงมาที่ผู้รณรงค์ซึ่งไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการชูป้าย ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือขัดขวางการพูด ไม่ได้ตัดไฟฟ้า ไม่ได้ตัดไมค์ แต่ทำให้ความสนใจย้ายมาอีกจุดหนึ่ง

 

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_5542.html

 

การหลอกลวง (Hoax)

หัวใจหลักของกลวิธีนี้คือการหลอกลวงต้มตุ๋น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่า “Yes Men” มักจะปลอมตัวเป็นคนอื่นเพื่อสร้างข่าว เทคนิคง่ายๆ ของ Yes Men คือเริ่มจากการทำเว็บหลอก ประสัมพันธ์หลอกๆ และแสดงตัวเป็นคนอื่นให้เนียน BBC เคยเชิญ Andy Bichlbaum ซึ่งที่จริงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Yes Men มาสัมภาษณ์ในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์สารพิษรั่วในเมือง Bhopal อินเดีย เพราะนักข่าวถูกหลอกว่า Andy คือตัวแทนของบริษัท Dow Chemical ที่มีส่วนรับผิดชอบเรื่องการปล่อยสารพิษเมื่อ 20 ปีก่อน Andy ได้ให้สัมภาษณ์ BBC ว่าบริษัทจะรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินจำนวนมหาศาล ประเด็นที่ Yes Men สื่อในการหลอกครั้งนี้คือเรื่องจริยธรรมของบริษัท และถือว่าประสบความสำเร็จเพราะว่าทำให้คนเชื่อว่าบริษัทนี้ต้องการจ่ายเงินชดเชยกับผู้เสียหายจริงๆ ทั้งที่ไม่ใช่นโยบายของบริษัท และเกิดการถกเถียงในหน้าสื่อตามมา
 

 

http://bombsite.com/issues/107/articles/3263

อีกกลุ่มหนึ่งที่คนรู้จักกันดีคือกลุ่ม Billionaires for Bush เป็นกลุ่มที่ต่อต้านนโยบายของ Bush ที่สนับสนุนคนรวย สมาชิกลุ่มที่เป็นผู้ชายมักแต่งกายชุดทักซิโด้ ผู้หญิงแต่งชุดราตรี พยายามใช้ข้อความพุ่งเป้าไปที่ Bush และนโยบายของ Bush แต่ข้อความมักจะเกินจริง เป็นการเสียดสี Billionaires for Bush ประสบความสำเร็จมากในการทำให้สิ่งที่ตนพูดปรากฏตามหน้าสื่อ การประท้วงโดยทั่วไปแทบทุกครั้งจะมีคนจำนวนมากถูกจับ แต่กลุ่ม Billionaires for Bush ไม่เคยถูกตำรวจจับเลย เพราะการที่เขาแต่งตัวแบบนี้นั่นเอง ตำรวจในนิวยอร์คไม่เคยไล่จับคนที่ใส่ทักซิโด้เลย ตรงกับหลักการว่า “เวลาประท้วง อย่าแต่งตัวเหมือนนักประท้วง”

 

 

http://billionairesforbush.com/photos.php


การบุกตรวจค้นอย่างสันติ (Nonviolent Raid)

กลวิธีสุดท้าย เป็นเทคนิคที่ดีมากสำหรับการโจมตีหน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชนที่ปกปิดเอกสาร ตัวอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นใน Quebec แคนาดา ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม SalAMI โดยต้องการขอดูร่างข้อตกลงการค้าเสรีในอเมริกาเหนือ (FTAA) ของแคนาดาซึ่งปกปิดเป็นความลับ ใครๆก็ดูไม่ได้แม้แต่นักการเมืองหรือวุฒิสมาชิก กลุ่ม SalAMI ได้ออกข่าวประกาศว่าพวกตนจะไปขอตรวจเอกสารซึ่งถูกเก็บเป็นความลับในฐานะที่ตนเองเป็นพลเมือง เมื่อถึงวันที่ประกาศก็พากันไปโดยแบกกุญแจยักษ์ไปด้วยพร้อมประกาศว่า ตนเป็นพลเมืองของประเทศ จึงขอเข้าไปในสำนักงานดูเอกสารในฐานะที่เป็นเอกสารราชการ ปรากฏว่าทุกคนถูกจับหมด แต่หลังจากการรณรงค์นี้ เอกสารก็ถูกเปิดเผย เพราะกลายเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่อ

 

 

สามารถดู presentation ประกอบการบรรยายได้ที่ http://prezi.com/mws0ngutcdfr/creative-cultural-resistance/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ข้อคิดเห็นเบื้องต้นต่อแนวคิดการประมูลคลื่น 3G สูตรใหม่ของ กสทช.

Posted: 23 Apr 2012 04:52 AM PDT

กสทช. กำลังอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งใหม่หลังจากที่การประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งก่อนไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากคำสั่งของศาลปกครอง ในการประมูลคลื่นครั้งใหม่นี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แสดงความคิดเห็น ซึ่งน่าจะเป็นความเห็นส่วนตัวว่า จะยกเลิกเงื่อนไขการประมูลแบบลดจำนวนใบอนุญาตให้น้อยกว่าผู้ประกอบการที่เข้าประมูล 1 ใบ เพื่อเก็บไว้จัดสรรภายหลังใน 3-6 เดือน หรือที่เรียกว่า การประมูลแบบ N-1 ที่ กทช. ชุดก่อนเคยกำหนดไว้

พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังแสดงความเห็นว่า ควรแบ่งคลื่น 3G ที่มีอยู่ 45 MHZ ออกเป็น 9 สลอต สลอตละ 5 MHz แทนการประมูลใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15 MHz ตามแนวคิดใหม่นี้ ผู้เข้าประมูลจะสามารถประมูลคลื่นโดยเลือกจำนวนสลอตที่ต้องการได้ เช่น หากประมูล 4 สลอตก็จะได้คลื่น 20 MHz แต่ถ้าประมูลเพียง 2 สลอตก็จะได้คลื่น 10 MHz เป็นต้น

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียของแนวคิดใหม่ดังกล่าว ผู้เขียนขอทบทวนประเด็นที่มีความสำคัญในการประมูลคลื่นความถี่ แต่มักถูก (แกล้ง) ลืมไป 3 ประเด็นคือ

หนึ่ง การประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้ทำให้อัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงขึ้น เพราะเม็ดเงินในการประมูลของผู้ประกอบการเป็นส่วนที่เอามาจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการประกอบการ ไม่ใช่มาจากส่วนของต้นทุนที่จะมาคิดเป็นค่าบริการ (ผู้เขียนได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดแล้วในบทความชื่อ “จริงหรือ ถ้าค่าประมูลคลื่น 3G แพงแล้ว ผู้บริโภคจะเดือดร้อน” ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านได้ตามลิงค์) ประชาชนจึงไม่ต้องเป็นห่วงหากผู้ประกอบการต้องประมูลคลื่นในราคาสูงๆ แต่ควรดีใจเพราะจะได้เงินเข้ารัฐเอาไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน ต่อให้ผู้ประกอบการได้คลื่น 3G ไปประกอบการฟรีๆ ก็อย่าหวังว่า ราคาค่าบริการจะถูกลง เพราะผู้ประกอบการจะคิดค่าบริการเท่าไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันในตลาด ถ้าตลาดไม่แข่งขัน ค่าบริการก็จะสูง แต่ถ้าตลาดแข่งขันกัน ค่าบริการก็จะอยู่ในระดับที่เหมาะสม

สอง หัวใจของการประมูลใดๆ รวมทั้งประมูลคลื่นความถี่คือ การแข่งขันในการประมูล หากไม่มีการแข่งขันเพราะผู้ประกอบการสามารถสมคบหรือ “ฮั้ว” กันได้ การประมูลก็จะหมดความหมาย ผลก็คือรัฐเอาทรัพยากรสาธารณะมูลค่ามหาศาลไปขายถูกๆ ให้เอกชนทำกำไร การออกแบบการประมูลใดๆ จึงต้องเน้นให้เกิดการแข่งขันในการประมูลมากที่สุด

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในกรณีของประเทศไทย เพราะประเทศไทยไม่เคยเปิดเสรีโทรคมนาคมอย่างแท้จริงเหมือนหลายประเทศ ทำให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่สามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริงเพียง 3 ราย และหากจะออกใบอนุญาต 3G จำนวน 3 ใบที่เหมือนกันหมด ก็จะไม่เกิดการแข่งขันในการประมูล เหมือนกับเราไม่สามารถเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีคน 3 คน และเก้าอี้ 3 ตัวได้

สาม การประมูลควรทำให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิผลในตลาด นั่นก็คือ ผู้ได้รับใบอนุญาตแต่ละรายควรมีโอกาสในการแข่งขันกันอย่างทัดเทียมกันที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับราคาค่าบริการและคุณภาพที่ดีที่สุด

จากแนวคิดข้างต้น เราจะเห็นว่า วิธีประมูลแบบ N-1 และวิธีประมูลสูตรใหม่ มีความเหมือนกันตรงที่พยายามทำให้ใบอนุญาตแต่ละใบมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างให้เกิดการแข่งขันในการประมูล ส่วนที่ทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันก็คือ วิธีประมูลแบบ N-1 ทำให้ผู้ประกอบการได้สิทธิในการประกอบการเร็วหรือช้าต่างกัน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตใบสุดท้ายจะได้ประกอบการช้ากว่ารายอื่น 3-6 เดือน แต่ทุกรายได้คลื่นเท่ากัน ในขณะที่การประมูลแบบสล็อต อาจทำให้ผู้ประกอบการได้คลื่นความถี่ปริมาณแตกต่างกัน เช่น อาจทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายได้คลื่น 20 MHz, 15 MHz และ 10 MHz ตามลำดับ แต่ทุกรายได้ประกอบการพร้อมกัน

จากมุมมองดังกล่าว เราสามารถประเมินข้อดีและข้อเสียของการประมูลทั้งสองวิธีได้ดังนี้คือ

วิธี N-1 มีข้อดีคือ สามารถป้องกันการฮั้วกันได้ค่อนข้างดี หากระยะเวลาในการออกใบอนุญาตใบสุดท้ายเกิดขึ้นหลังจากการประมูลนานพอสมควร เช่น 6 เดือน เพราะผู้ประกอบการย่อมต้องการความได้เปรียบในการเข้าสู่ตลาดก่อน (first mover advantage) อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือ ในช่วงแรก การแข่งขันจะไม่เกิดขึ้นเต็มที่เพราะมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย นอกจากนี้ วิธีนี้ต้องพยายามป้องกันไม่ให้มีผู้ประกอบการ “ตัวปลอม” แฝงตัวมา เพื่อหลอกให้ กสทช. ออกใบอนุญาตทั้งสามใบ การประมูลที่เกือบเกิดขึ้นครั้งก่อน ก็มีกรณีที่สงสัยได้ว่าอาจมีผู้ประกอบการ “ตัวปลอม” เข้ามาสมัครด้วย เพราะไม่เคยประกอบกิจการโทรคมนาคมเลย

วิธีการประมูลแบบสลอตละ 5 MHz มีข้อดีคือ สร้างการแข่งขันมากขึ้น และไม่ต้องห่วงว่าจะมีผู้ประกอบการตัวปลอมแฝงตัวเข้ามา แต่ก็มีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นใน 2 สถานการณ์คือ หนึ่ง ไม่มีหลักประกันในการป้องกันการฮั้ว โดยผู้ประกอบการอาจสมคบกันเพื่อตกลงว่าจะประมูลคลื่นความถี่ปริมาณเท่ากันคือ รายละ 15 MHz (3 สล็อต) ทำให้ไม่มีการแข่งขัน และ สอง อาจเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายได้คลื่นแตกต่างกันมาก เช่น 2 รายได้คลื่นไปรายละ 20 MHz ส่วนรายสุดท้ายเหลือคลื่นเพียง 5 MHz ซึ่งไม่พอที่จะสร้างการแข่งขันเพราะคุณภาพบริการของรายสุดท้ายจะแย่กว่ารายอื่น โดยผลกระทบด้านลบดังกล่าวจะคงอยู่นาน 15 ปีจนหมดอายุใบอนุญาต

จะเห็นว่า ทั้งสองวิธีมีจุดดีและจุดด้อยทั้งคู่ ไม่ได้มีวิธีใดที่ดีกว่าอีกวิธีหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดเจน โชคดีที่มีอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดความเป็นห่วงในการฮั้วประมูลโดยไม่กระทบการแข่งขัน และไม่เพิ่มภาระให้ผู้บริโภค กลไกที่ว่านั้นก็คือ การกำหนดราคาประมูลตั้งต้นให้สูง

ที่ผ่านมา กทช. ได้กำหนดราคาประมูลตั้งต้นของคลื่น 3G ปริมาณ 15 MHz ไว้ที่ 1.28 หมื่นล้านบาท ในความเห็นของผู้เขียน ราคาตั้งต้นดังกล่าวค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในปี 2554 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสามรายจ่ายค่าสัมปทานในการให้บริการ 2G แก่รัฐรวมกันถึง 4.8 หมื่นล้านบาท การได้คลื่น 3G นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถให้บริการใหม่ๆ โดยเฉพาะบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจากความแพร่หลายของสมาร์ทโฟน และแทบเล็ตต่างๆ แล้ว ใบอนุญาต 3G ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถโอนถ่ายลูกค้าจากบริการ 2G ซึ่งต้องจ่ายค่าสัมปทาน 4.8 หมื่นล้านบาทต่อปี มายังบริการ 3G โดยจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ครั้งเดียว และค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราที่ไม่สูง ทั้งนี้ หากประมูลได้ที่ราคาตั้งต้น เนื่องจากการฮั้วกัน มูลค่าดังกล่าวจะอยู่ที่เพียง 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินคุ้มตั้งแต่ปีแรกเลย

ราคาค่าประมูลตั้งต้นดังกล่าวจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ ทั้งที่ ผู้ประกอบการเองก็ให้ข่าวว่า พร้อมที่จะจ่ายค่าคลื่นความถี่สูงขึ้น เช่น DTAC เชื่อว่าราคาประมูลที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วน AIS เชื่อว่าผู้ให้บริการแต่ละรายน่าจะใช้เงินประมูลรายละ 1.7 หมื่นล้านบาทและตนพร้อมสู้ทุกราคา กสทช. บางคนกลับแสดงท่าทีเหมือนต้องการที่จะลดราคาประมูลลงมาอีก ซึ่งไม่น่าจะเป็นการรักษาประโยชน์สาธารณะตามหน้าที่ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งจะเข้าประมูลมากกว่า

นอกจากราคาประมูลตั้งต้นแล้ว ยังมีอีกสองเรื่องซึ่ง กสทช. ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนการประมูลคลื่น 3G เรื่องแรกคือ การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาบริการ 3G ระหว่าง CAT และกลุ่ม TRUE ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งว่า การแข่งขันให้บริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นจะมีความเสมอภาคหรือไม่ เรื่องที่สองคือ การแก้ไขประกาศการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ไม่ให้มีบทบัญญัติที่กีดกันการแข่งขัน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันระหว่างผู้ประกอบการ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานยื่น คปก.ปฏิรูปยุติธรรมแรงงาน เสนอออกข้อกำหนดศาลพิจารณาคดีพิเศษ

Posted: 23 Apr 2012 04:35 AM PDT

คปก.รับลูก เตรียมพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ในวันที่ 24 เมษายนนี้  

23 เมษายน  2555 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย – เมื่อวันที่ 23 เมษายน  เครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กลุ่มสหภาพแรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านปู่เจ้าสมิงพราย กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานต่อนางสุนี ไชยรส ประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมและนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษากรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม

ทั้งนี้เครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานได้เข้าหารือกับ คปก.เพื่อชี้แจงประเด็นปัญหาในระบบและกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีแรงงานมีความเหมาะสมหรือมีความเป็นธรรมหรือไม่ ขณะที่ระบบการพิจารณาคดีแรงงาน พบปัญหาทั้งเรื่องเวลาการพิจารณาคดีที่ล่าช้า เนื่องจากมีพยานเป็นจำนวนมาก รวมถึงภาระการพิสูจน์บางอย่างยังพิสูจน์ได้ยากซึ่งศาลไม่ใช้ระบบไต่สวน จึงมีข้อเสนอจากเครือข่ายฯให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานให้มีหลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเนื่องจากเรื่องนายจ้างไม่ใช่เรื่องทางแพ่งแต่เป็นเรื่องของการผลิตและความมั่นคงของมนุษย์และสังคม

การดำเนินการในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแรงงานควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองลูกจ้างที่จัดตั้ง รวมตัว หรือเป็นกรรมการตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดหรือลูกจ้างที่เข้าร่วมในองค์กรหรือการเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมาย

เครือข่ายฯมีข้อเสนอว่าควรออกข้อกำหนดศาลแรงงานในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะพิเศษ เช่นคดีแรงงานที่เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติร้ายแรงงาน คดีแรงงานที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือการได้รับสารเคมีจากการทำงาน  ขณะเดียวกันควรออกข้อกำหนดศาลแรงงานเกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลฎีกา เช่น ในแต่ละชั้นไม่ควรเกิน 1 ปี เว้นแต่คดีมีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้มีกรอบเวลาการพิจารณาคดีที่เหมาะสมเป็นธรรม ประกอบกับการพัฒนาแรงงานให้เป็นศาลทีมีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการพิเศษ

อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีหลายมาตราในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ที่ให้อำนาจศาลแรงงานแต่ในทางปฏิบัติมักจะไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นดุลพินิจของศาล ไม่ใช่บทบังคับศาลประเด็นปัญหานี้จึงควรจะมีมาตรการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นหน้าที่หลักของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีแรงงาน 

ล่าสุด คปก.ได้รับข้อเสนอดังกล่าว โดยจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ในวันที่ 24 เมษายนนี้  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลเลือกตั้ง ปธน.ฝรั่งเศสรอบแรก ผู้สมัครพรรคสังคมนิยมคะแนนนำ "ซาร์โกซี"

Posted: 23 Apr 2012 12:22 AM PDT

โดยเลือกตั้งรอบสุดท้าย 6 พ.ค. ชิงดำระหว่าง "ฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์" จากพรรคสังคมนิยม และ "นิโคลา ซาร์โกซี" จากพรรคอูแอมเป โดยจะมีการดีเบตสดทางโทรทัศน์ 2 พ.ค. นี้ และนับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีคะแนนตามหลังผู้สมัครพรรคอื่น ในการเลือกตั้งรอบแรก

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ซึ่งมีการเปิดลงคะแนนเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่าร้อยละ 80 นั้น ผลการเลือกตั้งรอบแรกปรากฎว่า ผู้มีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง คือนายฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์ จากพรรคสังคมนิยม (Parti Socialiste) ได้คะแนนร้อยละ 28 ส่วนนายนิโคลา ซาร์โกซี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ผู้สมัครจากพรรคสหภาพเพื่อการเคลื่อนไหวของปวงชน หรือ อูแอมเป (Union pour un mouvement populaire ขUMP) ได้คะแนนมาเป็นอันดับสองที่ร้อยละ 27 ส่วนอันดับสามได้แก่ นางมารีน เลอ เปน จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Le Front national - FN) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดได้คะแนนร้อยละ 18 อันดับสี่ได้แก่ นายชอง - ลุก เมลังชง จากพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย (Front de gauche) ได้คะแนนร้อยละ 11 ที่เหลือเป็นคะแนนของผู้สมัครรายอื่น

ทำให้ในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายในวันที่ 6 พ.ค. นี้ จะเป็นการชิงชัยกันระหว่างสองผู้สมัคร คือนายฮอลลองด์จากพรรคสังคมนิยม และนายซาร์โกซี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคอูแอมเป ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีของฝรั่งเศสที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันมีคะแนนตามหลังผู้สมัครจากพรรคอื่นในการเลือกตั้งรอบแรก ส่วนนายฮอลลองด์ หากชนะเลือกตั้งก็จะเป็นผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ที่ได้เป็นประธานาธิบดี หลังจากที่นายฟร็องซัวส์ มิแตรอง (François Mitterrand) จากพรรคเดียวกัน ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2531

ขณะที่สื่อต่างประเทศมองว่า ผลชี้ขาดของคะแนนในการเลือกตั้งวันที่ 6 พ.ค. จะอยู่ที่ฐานเสียงทั้งหมดของฝรั่งเศสระหว่างปีกซ้าย และปีกขวา ฝ่ายไหนจะระดมผู้สนับสนุนไปลงคะแนนได้มากกว่ากัน

ด้านนางมารีน เลอ เปน ซึ่งได้คะแนนสนับสนุนร้อยละ 18 มากกว่าสมัยที่บิดาของเธอ นายชอง มารี เลอ เปน จากพรรคเดียวกันทำได้ในปี 2545 นั้น ได้ทำให้พรรคฝ่ายขวาของฝรั่งเศสขยายพื้นที่มากขึ้น โดยเธอกล่าวว่า "ศึกแห่งฝรั่งเศสกำลังจะเริ่มขึ้น และจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว" โดยคาดว่าเธอจะประกาศให้ผู้สนับสนุนเธอ หันไปเทคะแนนให้กับนายซาร์โกซี ขณะที่นายเมลังชง จากพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย ให้หันไปสนับสนุนนายฮอลลองด์ จากพรรคสังคมนิยม

โดยผู้ท้าชิงทั้งสองคือนายซาร์โกซี และนายฮอลลองด์ ซึ่งมีอายุ 57 ปีเท่ากัน จะอภิปรายสดทางโทรทัศน์ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 พ.ค. นี้

สำหรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนเมื่อปี 2550 นายนิโคลา ซาร์โกซี ได้ 18.98 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 53.06 ชนะคู่แข่งจากพรรคสังคมนิยม นางเซโกลีน รอยาลที่ได้ 16.79 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 49.94 โดยในการเลือกตั้งรอบแรกนายซาร์โกซีทได้ 11.45 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 31.18 ส่วนนางรอยาล ได้ 9.5 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 25.87

 

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจากการ์เดี้ยน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ASEAN Weekly: จรวดเกาหลีเหนือ บรูไน และกษัตริย์ในอุษาคเนย์

Posted: 22 Apr 2012 11:39 PM PDT

อาเซียนวีคลี่ย์สัปดาห์นี้ ช่วงแรก ดูข่าวใหญ่ที่สื่อมวลชนในประเทศในอาเซียนต่างให้ความสนใจ คือ ข่าวความล้มเหลวของเกาหลีเหนือในการปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ มาฟังการวิเคราะห์ศักยภาพทางการทหารของเกาหลีเหนือที่แข็งแกร่ง ว่าจะมีผลหรือไม่อย่างไรต่อความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคอาเซียน

เรื่องที่สอง มาติดตามความคืบหน้าการเมืองมาเลเซียก่อนเลือกตั้งเดือน พ.ค.55 นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ยกเลิกกฎหมายจำกัดเสรีภาพทางการเมืองหลายฉบับ และเตรียมยกเลิกกฎหมายความมั่นคง หรือ ISA ที่บังคับใช้มานานกว่า 50 ปี ซึ่งต้องติดตามว่าจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรครัฐบาลมาเลเซียได้หรือไม่

ช่วงที่ 2 มาทำความรู้จักกับบรูไน ประเทศที่ปกครองระบอบกษัตริย์ มีสุลต่านดำรงตำแหน่งสูงสุดทั้งเป็นประมุขของรัฐ และเป็นผู้นำทางการเมือง-ทางการทหาร ติดอันดับประเทศร่ำรวยอันดับ 5 ของโลกจากการจัดลำดับของนิตยสารฟอร์บส์ มาทำความรู้จักกับทหารกูรข่า ทหารรับจ้างจากเทือกเขาหิมาลัยมาเป็นทหารรักษาพระองค์สุลต่าน มารู้จักการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม และความเป็นรัฐสวัสดิการของบรูไน และมุมมองเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ในประเทศในอาเซียนว่ามีบทบาทเหมือนหรือแตกต่างจากบรูไนอย่างไร

เก็บตกข่าวความขัดแย้งครั้งล่าสุดในทะเลจีนใต้ ทะเลซึ่งมีหลายชาติในอาเซียน รวมถึงมหาอำนาจอย่างจีน อ้างสิทธิ์ครอบครอง คราวนี้คู่พิพาทเป็นจีนและฟิลิปปินส์ เมื่อเรือประมงจีนถูกกองทัพฟิลิปปินส์จับกุมที่บริเวณเกาะสการ์โบโรห์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: "ถามหัวใจของเราดูเถิด...เพื่อนเอ๋ย"

Posted: 22 Apr 2012 11:11 PM PDT

กลางเปลวไฟไหม้แดง 
หยาดเลือดไม่เคยแห้งเหือด 
เพื่อนเราตายจมกองเลือด 
เสียงปืนเดือดกลางถนน
ถามหัวใจของเราเถิดว่า 
เขาคิดราคาความเป็นคน 
ชีวิตประชาชน พลเมือง “ถูก” หรือ “แพง”

ไม่มีใครสู้เพื่อตาย 
ในประเทศประชาธิปไตย 
แต่เพื่อนเราสู้แล้วตาย 
เดินทางไกลอีกกี่ล้านปีแสง
ใช้เนื้อหนังเท่าไหร่ 
ตอกลงไปเป็นเส้นสายลายแทง 
(อย่า) ใช้เลือดคนเสื้อแดง 
เขียนสัญญาแห่งการ “ปรองดอง"

โลกไม่ได้หมุนกลับ 
แต่เป็นเราเองที่เดินกลับไป 
ไม่สร้างอะไรใหม่ 
อยู่กันไปขาดขาดพร่องพร่อง 
บอกสหายให้ลืม 
หรือคุณลืมได้ว่ากี่ศพกอง 
Let it be ผิดท่วงทำนอง 
กรรแสงก้องร่ำร้องระงม

ปรองดองเพื่อเริ่มนับหนึ่ง 
ถึงร้อยแล้วให้เขาฆ่าเราใหม่ 
เสียสละและอภัย 
อยู่กันไปในโลกขมขม
นั่งมองพระจันทร์ด้านเดียว 
รักเพื่อนร่วมชาติอย่างเกลียวกลม 
ผรุสวาทกับสายลม 
กูขื่นขมกับรักลวงลวง

อย่าบอกให้ลืมแผลเก่า 
แต่โปรดบอกเราจะรักษาอย่างไร 
ปลายมีดคมเขาโถมใส่ 
เกิดรอยแผลใหม่ไม่เคยขาดช่วง
ฝนเลือดเดือนเมษา 
ดาวพฤษภาลับไปกี่ดวง 
คนตายไม่กลับมาทวง 
คำสัญญาที่เคยมีร่วมกัน

ถามหัวใจของเราเถิดเพื่อน 
หมู่ดาวเถื่อนยังคอยคำตอบ 
เดินกลับไปใต้กะลาครอบ 
ละทิ้งระบอบที่เราใฝ่ฝัน
ยัดเยียดให้คนธรรมดา 
เป็นผู้เสียสละตลอดกาล 
ท่องคำ “ไม่ลืม” ไปวันวัน 
(หรือ) เพื่อเยียวยา...อาการ “ลืม”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น