โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แคนาดายกเลิกคว่ำบาตรพม่า ด้านอาเซียนยินดีอียูเลิกคว่ำบาตร

Posted: 25 Apr 2012 11:44 AM PDT

รมว.ต่างประเทศแคนาดาเผยจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจพม่า ด้านอาเซียนยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าของอียู ระบุเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
25 เม.ย. 55 - นายจอห์น  แบร์ด  รมว.ต่างประเทศแคนาดาเปิดเผยว่า  ทางการแคนาดายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า เช่นการนำเข้า-ส่งออก และธุรกรรมทางการเงิน  เนื่องจากพม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นเพียงวันเดียว ภายหลังสหภาพยุโรป(อียู)ระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าเป็นเวลา 1 ปี  นายแบร์ดบอกว่า  การยกเลิกคว่ำบาตรพม่ามีผลทันที ทำให้แคนาดาสามารถส่งออกและนำเข้า รวมทั้งเข้าไปลงทุนในพม่า แต่ยังคงคว่ำบาตรด้านอาวุธเหมือนเดิม
 
 
การระงับมาตรการคว่ำบาตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปในพม่า และการเลือกตั้งซ่อมเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้นางอองซาน ซูจี  ผู้นำฝ่ายค้านได้เข้าไปนั่งในสภาเป็นครั้งแรก  รวมทั้งมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน อย่างไรก็ตาม แคนาดาต้องการเห็นพม่าดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ผู้คนจากหลากหลายอาชีพมีโอกาสได้ร่วมการปฏิรูป   แต่แคนาดาจะไม่รีรอที่จะกลับมาคว่ำบาตรพม่าอีก  หากสถานการณ์ในพม่ากลับมาเลวร้ายอีก   ซึ่งเรามีความหวังและมองในแง่ดีอย่างมาก  พร้อมกับจะติดตามดูพม่าอย่างใกล้ชิด ร่วมกับประชาคมโลก
 
ด้านสมาคมประชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแสดงความยินดีในวันนี้ต่อการที่อาเซียนได้ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในแถลงการณ์ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ว่าทุกประเทศสมาชิกในอาเซียน ยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ที่ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
 
นายวิชัย นัมเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษเกี่ยวกับพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ เผยเมื่อวาน ก่อนที่นายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติจะเยือนพม่าสุดสัปดาห์นี้ว่า หลังผ่านพ้นช่วงเวลากว่า 20 ปีที่พม่าโดดเดี่ยวตัวเอง เวลานี้พม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว มีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และรัฐสภา
 
ทั้งนี้ นายนัมเบียร์ ระบุว่า การพบกันระหว่างประธานาธิบดีเต็ง เส่งและนางอองซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเกมนี้ พร้อมกับกล่าวชื่นชมภาวะผู้นำของเต็ง เส่ง และการตัดสินใจของนางซูจี ที่ยอมเข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เมื่อต้นเดือนนี้ และอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การตัดสินใจของอาเซียนที่เลือกพม่าเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปี 2557 นอกจากนี้การระงับมาตรการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐและสหภาพยุโรปก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญ
 
สถิติล่าสุด ระบุว่า พม่า มีประชากรเมื่อปี 2553 จำนวน 50 ล้าน 3 แสนคน และอยู่ในอันดับ ที่ 149 จากทั้งหมด 185 ประเทศของดัชนีวัดคุณภาพชีวิต
 
นายนัมเบียร์ บอกว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งพัฒนาพม่า และพม่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการเงินการปฏิรูปสกุลเงิน วางแผนบริหารจัดการเงินทุนและความช่วยเหลือที่จะไหลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมศักยภาพของหน่วยราชการ วางแผนพัฒนาภาคเอกชน และสิ่งแรกที่ยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือ คือ การจัดลำดับความสำคัญของแผนการพัฒนาประเทศ
 
นายนัมเบียร์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลพม่า เริ่มดึงบุคลากรที่มีความสามารถที่อยู่ในต่างประเทศกลับพม่า แต่ก็ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอย่างมาก ซึ่งหากพม่าจัดการกับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้ เละขาเชื่อว่า มีแนวโน้มอย่างมากที่พม่าจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กรุงเทพธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมยศ” ชวนฟังสืบพยานดีเอสไอพรุ่งนี้ - ศาลอาญาส่งคำร้องศาลรธน.ตีความ 112 หลังสืบเสร็จ

Posted: 25 Apr 2012 10:18 AM PDT

 

25 เม.ย.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการสืบพยานในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา112  ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin จะมีการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.55) คือ พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายสมยศได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เป็นปากสำคัญที่อยากเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสืบพยานปากนี้ด้วย

ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ประกอบด้วยพยาน 3 ปาก ซึ่งเป็นบรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติทั้งหมด โดยหนึ่งในพยานคือ นางสาวสุภาณี สุขอาบใจ บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ เบิกความว่า การจัดพิมพ์หนังสือหรือนิตยสารใดๆก็ตาม ต้องได้รับอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์จากหอสมุดแห่งชาติก่อน เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจความครบถ้วนของเอกสาร แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของสิ่งพิมพ์นั้น ส่วนตนได้อ่านบทความในนิตยสาร Voice of taksin ที่ถูกฟ้องร้องเพราะดีเอสไอนำมาให้ เมื่ออ่านแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาหมิ่น ผู้เขียนเจตนาทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย เมื่อทนายจำเลยถามว่าหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์จะทำได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ ทนายจึงอ่านพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแสดงไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ว่าการวิจารณ์พระองค์สามารถทำได้ สุภาณีตอบว่าตนไม่เคยได้ยินหรือได้อ่านพระราชดำรัสนี้มาก่อน

ส่วนที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามาตรา112ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น หลังจากศาลอ่านรายงานพิจารณาคดีก็ได้วินิจฉัยว่า จะส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันสืบพยานวันสุดท้ายคือ 4 พ.ค. 55

ด้านนายสมยศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวและผู้ที่มาให้กำลังใจว่า แม้ศาลอาญาจะส่งคำร้องไปช้าก็คงไม่เป็นอะไร ตนอยู่ในคุกมานานจนชิน ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแล้ว ก็ไม่ได้ หากออกไปไม่รู้จะหาทางกลับบ้านถูกหรือไม่ 

                                                   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดฟังคำพิพากษาคนงานถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 25 พ.ค.นี้

Posted: 25 Apr 2012 09:22 AM PDT

เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดยคดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการส่งอีเมลหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งที่สุด หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย นายจ้างได้ยอมความโดยถอนฟ้องไป แต่ยังคงเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อไป

โดยในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำสืบพยาน 6 ปากได้แก่ นางปาริชาต พนักงานบริษัท 3 คน ผู้แปลเอกสาร 1 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบเพียงจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 พ.ค.55 เวลา 10.00น.

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย กล่าวว่า ในประเด็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยจะก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ได้นำสืบโดยชี้ว่า ไม่น่าจะผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เพราะฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลในอีเมลดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแม้จะมีพยานคนกลางในที่เกิดเหตุ 1 คนแต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการนำสืบ ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำสืบว่า เมื่อสงครามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้วก็ส่งแฟกซ์ให้กรรมการสหภาพแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งสงครามไม่รู้ว่าจะมีการเผยแพร่ไหม เพราะเขาเองไม่ได้ใช้อีเมล ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าอีเมลที่ได้รับนั้นใครเป็นผู้ส่ง เพียงแค่คิดว่าเมื่อสงครามเป็นเจ้าของจดหมายก็น่าจะเป็นผู้ส่งหรือให้ใครส่งให้

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชื่อ "เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย ปี พ.ศ. 2554" ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.55 ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาท หากแต่มีโทษจำคุกสูงกว่า และยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน โดยในปี 2554 เป็นปีแรกที่มีบันทึกว่า มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาใช้ฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีด้วยกันที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้แก่ คดีของนายสงคราม ฉิมเฉิด คดีของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งถูกฟ้องโดยแพทย์ว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อันได้แก่ข้อมูลคนไข้ที่เสียชีวิตและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งนางปรียนันท์ใช้ในการรณรงค์เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย และกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์ @NotMallikaBoon ที่ล้อเลียนทวิตเตอร์ @MallikaBoon ของเธอ ว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ในอนาคต เนื่องจากประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมการรณรงค์ทางการเมือง รณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาษาและสำเนียงท้องถิ่น : สินค้าวัฒนธรรมเทียม ๆ ปลอม ๆ ในสื่อบันเทิงไทย

Posted: 25 Apr 2012 08:59 AM PDT

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Home ของคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น 3 องก์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องความรักและความทรงจำ โดยมีพื้นเรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตัวละครส่วนใหญ่จึงอู้คำเมืองกันเกือบทั้งเรื่อง ใครฟังไม่รู้เรื่องก็มีซับไตเติลภาษากลางให้ได้อ่าน ผู้เขียนเองใช้ชีวิตอยู่ภาคเหนือมานานจนสามารถพูดและฟังคำเมืองได้อย่างสบาย ๆ ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พบว่าสำเนียงการพูดการจาของตัวละครไม่มีติดขัดให้รู้สึก “เจ็บแอวขนาด” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบของคนเหนือเวลาได้ยินคำพูดเหนือผสมกลางกลายเป็นสำเนียงประหลาดว่าฟังแล้วเจ็บเอวเหลือเกิน เรื่องนี้ต้องขอบคุณคุณมะเดี่ยวในฐานะผู้กำกับชาวเหนือที่ติวเข้มนักแสดงเป็นอย่างดี

ใช่ว่าหนังเรื่อง Home คือสื่อบันเทิงเรื่องแรกที่เลือกใช้ภาษาเหนือเป็นภาษาในการสื่อสารของตัวละครในเรื่อง หากย้อนกลับไปมองแวดวงบันเทิงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีละครทีวีไทยไม่น้อยที่เลือกให้พระเอกนางเอกเป็นคนต่างจังหวัดแล้วพูดภาษาถิ่น บ้างก็ให้นางเอกเป็นสาวไฮโซปลอมตัวมาเป็นคนใช้ชาวอีสาน บ้างก็ให้เป็นครีเอทีฟสาวที่มีเบื้องหลังเป็นเด็กดอย เวลาอยู่กับเพื่อนสนิทก็จะพูดภาษาเหนือกัน และหลาย ๆ เรื่องยกระดับให้ถึงกับพูดกันทั้งเรื่อง อาทิเรื่องรอยไหม ที่ตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องใช้ภาษาเหนือในการสื่อสารสนทนากัน

กลายเป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อยที่ผู้จัดละครจำนวนมากสนใจสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครที่พูดสำเนียงท้องถิ่น ทั้งที่ในอดีตภาษาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเหนือ อีสานและใต้ รวมถึงสำเนียงเฉพาะของท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น คำลงท้ายว่าฮิ มักถูกใช้ในทำนองเสริมสร้างความตกลงขบขันจากการถูกนิยามว่าเป็นสำเนียงของพวกบ้านนอกที่ถูกพูดผ่านตัวละครจำพวกคนใช้ คนขับรถ โดยเฉพาะภาษาอีสานโดนหนักกว่าใครเพื่อน ทำเอาคนอีสานจำนวนไม่น้อยพลอยเกิดความอายที่จะพูดภาษาถิ่น

ความตั้งใจของคนทำละครทีวีคงต้องการเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างกลุ่มฐานคนดู ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์ พอมองเห็นเป็นสองแนวทางคือ ประการแรก ได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่พูดด้วยภาษาถิ่นในเรื่อง ประการที่สองคือ กลุ่มคนภาคกลางที่แม้ฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็รู้สึกว่าสำเนียงเหล่านี้เป็นของแปลกใหม่ น่าชวนติดตามและเรียนรู้ภาษาไปในตัว ดังนั้นสำเนียงภาษาถิ่นจึงกลายเป็นหนึ่งเครื่องมือบุกทะลวงเปิดตลาด กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนทำ(คิดว่า)สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจและประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับชมได้

ทว่าแท้ที่จริงแล้วคนดูที่เป็นคนท้องถิ่น พูดและฟังสำเนียงภาษานั้นมาแต่เกิดเขาชื่นชอบจริงหรือ

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่หงุดหงิดทุกทียามได้ดูและได้ยินหนังละครที่พูดภาษาเหนือกันแบบมั่วไปหมด สื่อบันเทิงเหล่านี้โดยมากใช้นักแสดงผู้มีสำเนียงกลางเป็นภาษาแม่ดำเนินเรื่อง ดังนั้นเขาและเธอย่อมไม่สะดวกปากแน่ยามต้องพูดสำเนียงท้องถิ่นออกมา และตัวผู้กำกับเองก็คงไม่ได้เคี่ยวเข็ญอะไร อาจจะเนื่องด้วยตัวผู้กำกับเองซึ่งเป็นคนภาคกลางก็คงไม่ทราบว่าจริง ๆ เขาพูดกันอย่างไร สิ่งที่เราเห็นและได้ยินในละคร สำเนียงภาษาถิ่นเหล่านี้จึงมีแต่เพียงการหยิบเอาคำบางคำ สำเนียงบางสำเนียงมาผสมรวมกับภาษากลาง อาทิ ในภาษาเหนือหญิงสาวพูดคำว่า ‘เจ้า’ ต่อท้ายประโยคก็เป็นอันเพียงพอว่านี่คือภาษาเหนือแล้ว หรือการใช้สรรพนาม ข่อย ข้าเจ้า ฯลฯ ผสมปนเปกันไปจนงงว่าจะพูดภาษาเหนือหรือภาษากลางกันแน่

เอาเข้าจริงนี่เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงการไม่ทำการบ้านของผู้กำกับและทีมงาน โดยปกติแล้วนักแสดงที่ดีจะเล่นให้เข้าถึงบทบาทและทำให้คนเชื่อว่าตัวเขาเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ นั้น สำเนียงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะสำเนียงเป็นตัวบอกท้องถิ่น เห็นได้บ่อยครั้งในบรรดาบทสัมภาษณ์นักแสดงต่างประเทศที่ต้องเล่นหนังในบริบทอื่น (เช่นนักแสดงอเมริกันแสดงเป็นชาวอังกฤษ) หากเป็นนักแสดงที่ดีและพยายามเล่นให้เข้าถึงบทบาท เขาจะต้องพยายามฝึกอย่างหนักเพื่อให้ตนสามารถพูดสำเนียง ‘ซ่งติงติดคอ’ ได้เหมือนสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ทว่าเมื่อดูสื่อบันเทิงไทยมีน้อยรายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ดังนั้นภาษาถิ่นที่ปรากฎในสื่อบันเทิงไทยโดยมากจึงมีสถานะเป็นเหมือนสินค้าที่พยายามสร้างความแปลกใหม่และความหลากหลายให้แก่วงการ เหมือนเป็นการหยิบเอาวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เคยใช้กันมาจนปรุแล้วมาผสมกันใหม่กลายเป็นสูตรที่คิดว่าน่าขายได้ ทว่าภาษาถิ่นที่นำมาเสนอกับกลายเป็นบิดเบือนไปจากพื้นฐานความจริง ไม่มีใครในพื้นที่นั้นที่พูดด้วยสำเนียงแบบนั้น คนภาคกลางที่หัดเริ่มพูดภาษาเหนือแล้วมี ‘สำเนียงปะแล็ด’ ก็ไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ คนอีสานทั้งภูมิภาคก็ไม่มีใครพูดแบบน้องไฮโซผู้ปลอมตัวมาเป็นคนใช้ที่ใช้คำว่า ‘เด้อหล้า’ ติดปากตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อไม่มีใครบนโลกความจริงพูดด้วยสำเนียงนี้ แล้วเราจะเรียกสำเนียงของบรรดานักแสดงทางสื่อบันเทิงเหล่านี้ว่าอะไรนอกเสียจากมันคือวัฒนธรรมเทียมอันจอมปลอม

คนที่ดูแล้วชื่นชมหนังและละครที่ใช้สำเนียงภาษาวัฒนธรรมเทียมนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากพวกที่ปลาบปลื้มยากไปเที่ยวบนเขาบนดอยแล้วเห็นชาวเขาใส่ชุดชนเผ่ามาขายของที่ระลึกพร้อมระลึกว่า โอ้ว พวกเขายังรักษาขนบธรรมเนียมดั่งเดิมไว้ ในหมู่บ้านของเขาคงอุดมไปวัฒนธรรมอันงดงามที่คงไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเป็นแน่ หารู้ไม่ว่าวิถีชีวิตของชาวเขาเหล่านั้นก็เปลี่ยนผันไปมิได้คงเดิม ชุดชนเผ่าก็หาได้ใส่ในชีวิตประจำวันทุกวันไม่

ดูแล้วกระแสวัฒนธรรมเทียมจำพวกสำเนียงท้องถิ่นปลอม ๆ คงได้รับความนิยมไปอีกไม่น้อย มีหลายคนแย้งผู้เขียนว่าสื่อบันเทิงเหล่านี้กำลังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมให้คนต่างถิ่นได้รู้จักความงดงามของภาษาท้องถิ่น ทว่าการที่สื่อนำเสนอแบบผิด ๆ นั้นย่อมเท่ากับการผลิตซ้ำความเทียมและจอมปลอมซ้ำไปซ้ำมา ในไม่ช้าคนในวัฒนธรรมภาษากลางย่อมเข้าใจสำเนียงท้องถิ่นอย่างคลาดเคลื่อน เนื่องด้วยเข้าใจว่าสิ่งที่ตนได้ยินจากในทีวีและจอเงินนั้นคือของจริง ทั้งที่ไม่มีใครเลยที่พูดด้วยสำเนียงนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง ฉะนั้นแล้วนี่เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของต่างถิ่นจริงหรือ

ผู้เขียนว่าไม่น่ามีปัญหาที่จะฝึกให้นักแสดงพูดด้วยสำเนียงที่ถูกต้อง (มะเดี่ยวทำได้มาแล้ว อย่างน้อย ๆ มะเดี่ยวก็รู้ว่าเขาควรเลือกคนที่มีพื้นเพท้องถิ่นนั้นมาเล่น เพื่อลดปัญหาสำเนียงแบบ ‘เจ็บแอว’ ของนักแสดง) แต่ก็คงมีข้ออ้างของคนทำอีกล้านแปดที่จะไม่สนใจ เช่น เรื่องการขาดเวลาและบุคลากรในการฝึกเอย ความไม่พร้อมของนักแสดงเอย ฯลฯ พูดบ่นไปก็เหมือนสีซอ

การแก้วัฒนธรรมเทียมประเด็นนี้ไม่ได้ยากอะไรเลยเพียงแต่ให้นักแสดงพูดภาษากลางไปนั่นแหละ คนดูรู้และรับได้มาเกือบสามทศวรรษแล้วที่ตัวละครเป็นคนภาคอื่นและเกิดเหตุการณ์ในภาคต่าง ๆ ของประเทศแต่กลับพูดภาษากลาง ทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดนี่แหละ ไม่ต้องไป ‘สลิด’ อยากเสนอนู้นนี่โดยที่ปราศจากความละเอียดในการทำงาน หากเพิกเฉยทำต่อไปเช่นนี้ก็มีแต่ผลิตวัฒนธรรมปลอม ๆ ให้คนดูได้เสพกันอย่างลอยหน้าลอยตาไม่รู้ในความผิดตัวเองอยู่ต่อไป

แล้วต่อไปวัฒนธรรมเทียมเหล่านี้ก็คงพัดทะลักหน้าจอต่อไปอีกเป็นแน่ถ้าเรายอมและเพิกเฉยต่อมัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเลือกตั้งปทุมธานี ไม่ใช่แค่ปัญหาบุคคลและท้องถิ่น

Posted: 25 Apr 2012 08:03 AM PDT

                ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และนายก อบจ. ปทุมธานี ได้มีความเห็นจากคนของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นความผิดพลาดของตัวบุคคล เรื่องนี้จึงกำลังถูกทำให้พ้นตัวพรรคเพื่อไทย ทำให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และทำให้เป็นปัญหาท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงหรือไม่

ใครควรรับผิดชอบ
                ความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ ควรเป็นของ นายสุเมธ ฤทธาคนี และ ส.ส.ปทุมธานีเท่านั้นหรือไม่ ประการแรกคือ นายชาญ พวงเพ็ชร เป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะพยายามขจัดทิ้ง ประการต่อมา การลาออกจาก ส.ส. ของนายสุเมธ ต้องรับทราบโดยกรรมการพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน และไม่เคยปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทยต่อการลาออกก่อนหน้านี้ ประการที่สาม การลาออกควรจะมีการหารือของ ส.ส.ปทุมธานี จึงมีการหาผู้สมัครคนใหม่ นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ สามีของพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.เพื่อไทยปทุมธานี เขต 4

                จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ กรรมการพรรคเพื่อไทยรับทราบทุกขั้นตอน ดังนั้น ไม่ควรโยนความผิดให้กับนายสุเมธ และ ส.ส.ปทุมธานีเท่านั้น

เพราะน้ำท่วมอย่างเดียวหรือไม่
                การสั่งสอนพรรคเพื่อไทยครั้งนี้เป็นเพราะน้ำท่วมอย่างเดียวหรือไม่ แน่นอนน้ำท่วมมีผลกระทบต่อการตัดสินเฉพาะกลุ่มที่เบื่อการทำงานพรรคประชาธิปัตย์แล้วหันมาเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่คะแนนที่หายไปจำนวนมากขนาดนี้ย่อมมาจากมวลชนเสื้อแดงด้วย

เมื่อดูได้จากช่วงน้ำท่วม เสียงของเสื้อแดงยังคงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าเป็นเพราะฝีมืออำมาตย์ เหมือนกับที่บทความของสุนัย จุลพงศธร เขียนไว้ แม้กระทั่งการเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มวลชนยังคงต้อนรับอย่างอบอุ่น

                ถึงแม้ว่า ในช่วงน้ำท่วมผู้รับเหมารายย่อยจากย่านอื่นที่ไปติดน้ำท่วมที่ลำลูกกาเล่าว่า เสื้อแดง (ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย) จัดกำลังดูแลพื้นที่น้ำท่วมอย่างดียิ่ง แต่มวลชนเสื้อแดงที่จัดการดูแลตัวเองเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.เพื่อไทยอย่างกระท่อนกระแท่น รวมถึงในพื้นที่ปทุมธานีด้วย

ขณะที่ ทัศนคติของเสื้อแดงนนทบุรีฝั่งตะวันตก ซึ่งน่าจะสะท้อนทัศนคติเสื้อแดงปทุมธานีได้ คือน้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหญ่หลวงจนเปลี่ยนไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้ว่าจะหงุดหงิดพฤติกรรมของ ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยก็ตาม

                แต่สิ่งที่สุนัย ไม่ได้กล่าวถึงเสื้อแดงปทุมธานีเลย คือผลกระทบจากช่วงการชุมนุมเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2553 เสื้อแดงปทุมธานีได้แสดงบทบาทสนับสนุนการชุมนุมราชประสงค์ มีผู้บาดเจ็บหลายราย เช่น การชุมนุมที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง การเผชิญหน้าที่ ขวัญชัย ไพรพนา หลบหนีกลับราชประสงค์ ทิ้งให้มวลชนเสื้อแดงเผชิญหน้ากับทหารเพียงลำพัง

                เมื่อพรรคเพื่อไทยหันหน้าไปปรองดอง และเอาตัวเสื้อแดงที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน ทิ้งให้ไร้อิสรภาพมาเกือบสองปี โดยเก้าเดือนอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พวกเขาเลือกมากับมือ แล้วพวกเขาจะพอใจได้อย่างไร

                ในเฟซบุ๊ก ข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเสื้อแดงที่ติดคุก มีคนคลิก “Like” และโพสต์ความเห็นสนับสนุนมากมาย ดังนั้น สุนัย รวมถึงพรรคเพื่อไทย ไม่ควรมองข้ามความรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยกำลังหักหลังพวกเขา

น้ำท่วมเพราะอำมาตย์หรือ
                ในเมื่อสุนัยได้พูดถึงเรื่องน้ำท่วม ก็ขอฝากข้อสงสัยเรื่องน้ำท่วมบางใหญ่และบางบัวทองเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่สองอำเภออยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่าสิบกิโลเมตร พื้นที่ใกล้ที่สุดประมาณห้ากิโลเมตร

                พื้นที่นี้ได้รับน้ำทุ่งจากปทุมธานีหรือไม่ คำตอบคือ ได้รับ ซึ่งมาถึงตั้งแต่ 10 ต.ค. และน้ำท่วมเฉพาะบริเวณคันกั้นน้ำไม่แข็งแรงและพังลงมา เช่น โรงพยาบาลบางบัวทอง และน้ำก็ยังไหลไปแม่น้ำท่าจีน ผ่านลำคลองต่างๆ พอคืนวันที่ 18 ต.ค. น้ำห็ท่วมอำเภอบางบัวทองในพื้นที่เทศบาล เนื่องจากเขื่อนริมคลองบางบัวทองและประตูน้ำพิมลราชพัง จึงท่วมทันที พื้นที่ไกลออกไป เช่น บริเวณถนนกาญจนาภิเษก น้ำท่วมเริ่มมาจากด้านปลายคลองแต่ละสาย หมายความว่าน้ำไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนได้อีกแล้ว เพราะในรายงานกรมชลประทาน แม่น้ำท่าจีนที่ประตูน้ำพลเทพเต็มตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.

                วันที่ 27 ต.ค. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ความเห็นว่า แม่น้ำท่าจีนถูกใช้งานมากเกินไป และประตูน้ำท่วมพลเทพได้ปิดลงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์ในนนทบุรีฝั่งตะวันตกดีขึ้นตามลำดับ พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งประมาณกลางเดือนธันวาคม น้ำควรลดลงจนแห้งในปลายเดือนธันวาคม ถึงไม่มีการชุมนุมของคนจังหวัดนนทบุรี

                คำถามจึงมีว่า เป็นเพราะอำมาตย์ปล่อยน้ำ หรือเป็นเพราะการบริหารน้ำด้วย

ไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนบุคคลและท้องถิ่น
                การโยนความผิดเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายและทำบ่อย คนติดคุกเพราะฝ่าฝืน พรก. ที่ถูกจับรอบราชประสงค์เกือบร้อยคนไม่เคยมี ส.ส.เพื่อไทยไปเยี่ยม ตามรายงานมีแค่ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่ไปเยี่ยมเกือบครบ แม้แต่ ธิดา ถาวรเศรษฐ ไปเรือนจำทุกวัน แต่ไม่เคยเยี่ยมผู้ต้องขังเสื้อแดงคนอื่น ยกเว้นแกนนำ นปช. การโยนความผิดให้กับ ส.ส.ปทุมธานี จึงเป็นเรื่องธรรมดา

                การจะโยนปัญหาให้พ้นพรรคเพื่อไทย อาจจะมีความจำเป็นแบบไทยเพื่อรักษาหน้าตัวเอง ทั้งที่พรรคต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

                การเลือกตั้งปทุมธานี ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนที่ให้พรรคเพื่อไทยกลับไปทบทวนกลไกพรรคและทิศทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ว่า “เห็นหัวมวลชนเสื้อแดง” ไหม ไม่ใช่แค่ ส.ส.เป็นรายบุคคล แต่เป็นทั้งพรรคที่ต้องทบทวนตัวเอง ที่สำคัญคือต้องทบทวนความพยายามปรองดองโดยเอานักโทษการเมืองเสื้อแดงเป็นตัวประกัน 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะนิติราษฎร์

Posted: 25 Apr 2012 07:54 AM PDT

ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ประกาศคณะนิติราษฎร์ ฉบับที่ 34, 25 เม.ย. 55

ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่จะหามือระเบิดพลีชีพสักคน

Posted: 25 Apr 2012 07:47 AM PDT

 

“หนึ่งทศวรรษหลัง 9/11 เรื่องที่เป็นปริศนาไม่ใช่ว่าทำไมมุสลิมจำนวนมากจึงหันสู่การก่อการร้าย แต่กลับเป็นว่าทำไมเป็นส่วนน้อยต่างหากที่เข้าร่วมญิฮาดของอัลกออิดะห์”

รถเช่าคันนั้นเลี้ยวเข้าสู่ทางเดินด้านหลังสำนักทะเบียนและเล่นไปช้าๆ บนถนนอิฐที่ทอดผ่านโรงอาหารและภาควิชาภาษาอังกฤษ ห่างเพียงไม่กี่ก้าวจากที่ทำงานของผม เพลง “Beyond Time” เพลงแดนช์อัพบีตเยอรมัน เป็นเพลงที่เปิดในเครื่องเสียงรถยนต์ คนขับคือ โมฮัมเหม็ด ตาฮรี-อซาร์ (Mohammed Taheri-Azar) เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโลไลนาแห่งนี้เมื่อสามเดือนก่อน ดังนั้นเขาจึงคุ้นเคยกับสถานที่เป็นอย่างดี พ้นไปจากโรงอาหารจะเป็นลานกว้างที่เรียกกันว่า เดอะพิต (the Pit) ที่นักศึกษาจะมานั่งเล่นกันในตอนเที่ยงในวันอากาศอบอุ่นในฤดูหนาวของต้นปี 2006 ตาฮรี-อซาร์วางแผนว่าจะฆ่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เขาไม่มีอาวุธอะไรเลยนอกจากมี สเปรย์พริกไทยและรถ SUV ขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่เขาเช่ามาเพื่อพุ่งชนคนแล้วร่างที่ถูกชนจะไม่ติดกับตัวรถ  เมื่อขับถึงเดอะพิต ตาฮรี-อซาร์ เร่งความเร็วและหักเลี้ยวชนคนที่อยู่กระจัดกระจาย นักศึกษาถูกชนล้มลงบ้างถูกเกี่ยวติดบังโคลนในขณะที่จำนวนมากถูกชนจนลอยม้วนจากฝากระโปรงและร่วงตกลงมาจากกระจกหน้า ตาฮรี-อซาร์เลี้ยวไปทางซ้ายจนสุดลานกว้างชนนักศึกษาอีกสองคนที่หน้าหอสมุดจากนั้นจึงเร่งเครื่องออกจากมหาวิทยาลัยตรงบริเวณที่ทำงานผม

ตาฮรี-อซาร์ขับรถลงจากเนินอันเป็นที่มาของวิทยาเขตชาเปล ฮิลล์ (Chapel Hill) จนถึงย่านที่พักอาศัยอันเงียบสงบ เขาจอดรถและกด 911 จากโทรศัพท์มือถือของเขา “ผมเพิ่งขับรถชนคนหลายคนมาครับ” เขาพูดกับโอเปอเรเตอร์ “ผมไม่มีอาวุธหรืออะไรทั้งสิ้น คุณสามารถมาจับตัวผมได้เลยตอนนี้”

โอเปอเรเตอร์ถามว่าเขาทำไปทำไม เขาตอบว่า “ที่ผมทำลงไปเป็นการลงโทษรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกขณะนี้” ดังนั้นคุณทำสิ่งนี้เพื่อลงโทษรัฐบาล? “ใช่ครับ” เขาปฏิบัติตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ วางโทรศัพท์ที่กระโปรงหน้ารถยนต์และเอามือทั้งสองวางบนศีรษะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาถึง

ก่อนออกจากอพาร์ตเมนต์ในเช้าวันนั้น ตาฮรี-อซาร์ทิ้งจดหมายไว้หนึ่งฉบับบนเตียงนอนเพื่ออธิบายสิ่งที่เขาทำอย่างละเอียด ความว่า:

“เนื่องจากการเข่นฆ่าชายหญิงผู้ศรัทธาภายใต้การบงการของรัฐบาลสหรัฐฯ ผมได้ตัดสินใจใช้ข้อได้เปรียบที่ผมอยู่บนแผ่นดินสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2006 ผมจะเอาชีวิตชาวอเมริกันและผู้สมรู้ร่วมคิดให้ได้มากที่สุดที่ผมจะสามารถทำได้เพื่อเป็นการลงโทษสหรัฐฯ สำหรับการกระทำที่ไร้ศีลธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในอัลกุรอ่าน อัลเลาะห์ทรงอนุญาตให้ชายและหญิงผู้มีศรัทธาฆ่าใครก็ตามที่รับผิดชอบต่อการฆ่าชายหญิงผู้ศรัทธาคนอื่น ผมรู้ว่าอัลกุรอ่านเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แท้จริงและชอบธรรมเพราะได้รับการตรวจสอบอย่างครบถ้วนจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และยังได้รับการถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ด้วยหมายเลข 19 ที่อยู่เหนือความสามารถของมนุษย์  หลังจากได้ทำสมาธิและไตร่ตรองอย่างเต็มที่แล้ว ผมได้ตัดสินใจที่จะใช้สิทธิในการตอบโต้ด้วยความรุนแรง ที่อัลเลาะห์ทรงมอบให้อย่างเต็มที่เท่าที่ผมจะสามารถจะกระทำได้ในปัจจุบัน

ผมได้เลือกสถานที่เป็นการเจาะจงไว้แล้ว มหาวิทยาลัยจะเป็นเป้าหมายของผมเพราะผมรู้ดีว่าที่นั่นมีโอกาสสูงที่ผมจะฆ่าคนได้หลายคนก่อนที่ผมจะฆ่าตัวตายหรือถูกจับกุมคุมขังตามแต่อัลเลาะห์ประสงค์ พระบัญชาจากองค์อัลเลาะห์ไม่เคยเป็นที่กังขาและพระบัญชาของพระองค์ต้องปฏิบัติตาม”

ในวันนั้นมีคนกระดูกหักและบาดเจ็บอื่นๆรวม9 ราย โชคดีที่ ตาฮรี-อซาร์ ไม่ได้ฆ่าใครตาย เดิมที ตาฮรี-อซาร์มีแผนที่จะเข้าร่วมต่อสู้ในอัฟกานิสถานหรืออิรัก แต่เขาเปลี่ยนใจเพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับวีซ่าท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ จากนั้นเขาจึงสนใจที่จะเข้าสมัครเป็นทหารและจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่วอชิงตัน ดี.ซี. แต่นึกขึ้นได้ว่าเขาสายตาสั้นเกินกว่าที่ทางกองทัพจะยอมรับให้เป็นนักบิน เขาจึงมองมาใกล้ตัวมากขึ้น อย่างการยิงกราดใส่ฝูงชนในมหาวิทยาลัย จดหมายจากเรือนจำของเขาระบุว่าเขาเคยคิดแผนการที่จะยิงกราดในโรงอาหาร ซึ่งผมไปกินข้าวเที่ยงที่นั่นเป็นประจำ

หลายสัปดาห์ก่อนหน้าการโจมตี ตาฮรี-อซาร์ซ้อมยิงปืนแบบมีที่ชี้เป้าเลเซอร์ ที่สนามยิงปืนใกล้ๆ บ้านแต่เขาพบว่าเขาไม่สามารถซื้อปืนได้โดยที่ไม่มีใบอนุญาต ที่จริงตาฮรี-อซาร์สามารถซื้อไรเฟิลได้เลยเพียงแค่กรอกแบบฟอร์มของรัฐบาลกลาง แต่เขาตั้งใจจะซื้อปืนกล็อก ต่อมาที่อพาร์ตเมนต์ เขาเริ่มกรอกแบบฟอร์มขอใบอนุญาต แต่ก็เปลี่ยนใจเมื่อพบว่าเขาจะต้องหาเพื่อนสามคนมาเซ็นรับรองว่ามีความประพฤติดี เขาบ่นไว้ในจดหมายที่ทิ้งไว้บนเตียงว่า “กระบวนการในการขอใบอนุญาตครอบครองปืนของเมืองนี้มีความเข้มงวดมากและผมไม่สามารถเข้าถึงมันได้ในตอนนี้” หนึ่งเดือนต่อมา ในคุก เขาได้เหตุผลต่อการตัดสินใจของเขาคือ “บางทีปืนอาจเกิดขัดข้องและการมีปืนสักกระบอกอาจจะทำให้ผมเป็นที่เพ่งเล็งจากพวก FBI ซึ่งจะทำให้แผนการโจมตีของผมล้มเหลว” ตาฮรี-อซาร์อาจเป็นผู้ก่อการร้ายเพียงรายเดียวในโลกที่มีปัญหากับกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

ความไร้ความสามารถของตาฮรี-อซาร์ในฐานะผู้ก่อการร้ายอาจจะเป็นเรื่องชวนหัว แน่นอนว่าคนๆหนึ่งที่ต้องการที่ฆ่าและตายด้วยเป้าหมายบางอย่าง ใช้เวลาหลายเดือนในการไตร่ตรองคิดแผนโจมตีควรจะพบวิธีฆ่าคนที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้   ทำไมเขาถึงไม่สามารถหาอาวุธปืนหรือประดิษฐ์ระเบิดหรือลองใช้วิธีการสังหารนับร้อยที่เรารู้กันผ่านภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต นี่ไม่ต้องพูดถึงจากข่าวต่างๆ แต่ตาฮรี-อซาร์เลือกที่จะขับรถชนคน ทำไมเขาถึงเลือกสถานที่ที่ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะเร่งความเร็วได้?

ที่น่าฉงนไปกว่านั้นคือเราไม่เห็นการก่อการร้ายแบบนี้เท่าไรนัก ในรอบทศวรรษของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโลก” ที่ก่อโดยสหรัฐฯ ที่เป็นการตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ถ้ารถยนต์ทุกคันสามารถเป็นอาวุธได้ ทำไมเราจึงไม่ค่อยพบการโจมตีด้วยรถยนต์มากกว่านี้? คาร์บอมบ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในทศวรรษ 1920 โดยคันแรกระเบิดที่วอลล์สตรีท แต่การจะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ทักษะขั้นสูง ในทางกลับกัน การฆ่าโดยขับรถพุ่งชน  อาศัยทักษะความชำนาญเพียงน้อยนิด การฆ่าคนด้วยรถยนต์มีมาตั้งแต่รถยนต์ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาและการโจมตีด้วยรถยนต์เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองเป็นที่รู้จักผ่านภาพยนตร์ดังเมื่อปี 1966 เรื่อง The Battle of Algiers ที่นักปฏิวัติอัลเจียเรีย 2 คนขับรถพุ่งเข้าชนป้ายรถโดยสารประจำทางที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสที่ยืนรอรถเมล์อยู่ กระนั้นมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เลือกใช้วิธีการนี้เป็นการก่อการร้าย ในจำนวนมุสลิมหลายล้านคนในสหรัฐฯ มีเพียงตาฮรี-อซาร์เป็นคนแรกที่พยายามใช้วิธีการโจมตีแบบนี้ และอาจเป็นได้ว่ามีอีก 2 รายที่ลอกเลียนวิธีการนี้ อันนำไปสู่การเสียชีวิตของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 1 ราย (ในการไต่สวน โอมีด โปปาล ผู้สังหารคนเดินถนนหนึ่งรายนั้น ถูกเลื่อนออกมาหลายปีเพราะต้องพิสูจน์สภาพจิตของผู้ต้องหาว่ามีความพร้อมที่จะได้รับการไต่สวนหรือไม่) นอกจากรถยนต์แล้ว มีอาวุธในการก่อการร้ายอื่นๆ จำนวนมากมายที่สามารถหาได้อย่างง่ายดาย คู่มือสำหรับผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมฉบับหนึ่ง ที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2006 ให้รายชื่อ “อุปกรณ์พื้นฐาน” 14 อย่างที่ “ใช้และหาได้ง่ายสำหรับทุกคนที่ต้องการต่อสู้กับศัตรูที่มายึดครอง” หนึ่งในนั้น คือ “ขับรถยนต์พุ่งชนบุคคลอื่น” (หมายเลขที่ 14) และ “วางเพลิงเผาบ้านหรือห้องขณะที่ทุกคนนอนหลับ” (หมายเลขที่ 10)

ถ้าวิธีการก่อการร้ายต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้อย่างง่ายๆ อย่างการใช้รถยนต์ ทำไมจึงมีผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมเพียงน้อยนิดเท่านั้น? ท่ามกลางความตายและการทำลายล้างที่ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ก่อ คำถามนี้ออกจะไร้สาระ  แต่ถ้าคิดดูดีๆ ว่าโลกเรามีมุสลิมมากกว่าพันล้านคน พวกเขาจำนวนมากน่าจะเกลียดชังตะวันตกและปรารถนาจะพลีชีพ  ทำไมเราจึงไม่เห็นการโจมตีก่อการร้ายในทุกหนทุกแห่งและทุกๆ วัน?

ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมก็ถามคำถามนี้เช่นกัน ในมุมมองของพวกเขาตะวันตกได้รุกรานโจมตีสังคมมุสลิมมาอย่างยาวนาน ก่อนหน้า 9/11 มานานนัก การรุกรานนี้ทั้งได้แก่การโจมตีทางทหาร การครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจ และความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรม และพวกเขาเชื่อว่าการคุกคามเหล่านี้นับวันจะยิ่งหนักหน่วงยิ่งขึ้น อิสลามนิยมเสนอทางออก คือ การสถาปนาการปกครองแบบอิสลาม อิสลามนิยมแบบปฏิวัติเสนอยุทธศาสตร์ในการสถาปนารัฐอิสลามได้แก่ การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ นักปฏิวัติแบบก่อการร้ายเสนอกลยุทธ์ในการปลุกระดมให้เกิดการลุกฮือด้วย การโจมตีพลเรือน เพราะเชื่อว่าการโจมตีจะทำลายขวัญกำลังใจของศัตรู ปลุกจิตใจชาวมุสลิมให้ฮึกเหิม และทำให้ความขัดแย้งแหลมคมยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชาวมุสลิมสู่การตระหนักว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นวิถีทางเดียวในการปกป้องอิสลาม

แต่ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมกำลังเป็นวิตกว่ามันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังเอาไว้ การก่อการร้ายไม่ได้นำชาวมุสลิมสู่การปฏิวัติ ผู้ก่อการร้ายชั้นนำคร่ำครวญเสมอว่า ทำไมชาวมุสลิมจึงไม่ออกมาต่อต้านตะวันตกมากกว่านี้? ต้องทำอะไรมุสลิมจึงจะออกมาจับอาวุธต่อสู้?

อุซามะฮ์ บิน ลาเดนผู้ล่วงลับก็เคยกล่าวในทำนองนี้เป็นประจำ “แต่ละวัน ฝูงแกะหวังว่าหมาป่าจะหยุดฆ่าพวกเขา แต่บทสวดอ้อนวอนเหล่านี้กลับหาได้รับคำตอบไม่” เขาประกาศเอาไว้เมื่อปี 2008 “ใครก็ตามที่มีเหตุมีผลย่อมมองเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกชักจูงให้หวังลมแล้งๆ เรื่องเหล่านี้แหละคือภารกิจของเรา” บิน ลาเดนและอัยมัน อัซเซาะวาฮิรี  ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำของอัลกออิดะห์ ได้แสดงถ้อยแถลงด้วยน้ำเสียงแห่งชัยชนะและแรงบันดาลใจ แต่ความไม่พอใจต่อสถานการณ์กลับถูกเผยให้เห็นตลอดถ้อยแถลง “ไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับคนที่ยังหลบอยู่ข้างหลังการต่อสู้นี้” อัซเซาะวาฮิรีบรรยายในวิดีโอที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2007 “พวกเรายังคงเป็นนักโทษ ที่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนขององค์การ [อิสลามกระแสหลัก] และมูลนิธิต่างๆ ไม่ให้กระโจนเข้าสู่สนามรบ เราจำต้องทำลายห่วงโซ่ที่พันธนาการกีดขวางเรากับการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตนของเราให้จงได้”

วิดีโอปลุกระดมจัดตั้งของอัลกออิดะห์เมื่อปี 2008 ถามว่า “พี่น้อง บอกข้าทีสิว่า เมื่อไหร่พวกคุณจะโกรธ? ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเราถูกละเมิด สิ่งก่อสร้างของเราถูกทำลาย และคุณยังไม่โกรธ ถ้านักรบของเราถูกฆ่า ศักดิ์ศรีถูกหยามหมิ่นและโลกของเรามาถึงจุดจบ แล้วคุณยังไม่โกรธ บอกข้าทีสิ เมื่อไหร่ที่คุณจะโกรธ?” วิดีโอสรุปว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีความเป็นชายพอที่จะเข้าร่วมญีฮาด “ดังนั้นจงอยู่อย่างกระต่ายและตายอย่างกระต่าย”

ผู้ก่อการร้ายอื่นๆ ใช้ข้อความเสียดแทงใจเหมือนๆ กันนี้เพื่อชักจูงให้มุสลิมเข้าร่วมกิจกรรมปฏิวัติ “เกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติมุสลิม?” กลุ่มสู้รบชาวปากีสถานฮาร์กัต อุลมูจาฮิดิน (Harkat ul-Mujahideen) กล่าวไว้ในเวปไซต์ของพวกเขา “เมื่อกาฟีร์เอามือมาแตะต้องลูกสาวของพวกเขา ชาวมุสลิมไม่แม้กระทั่งจะขยับนิ้วเพื่อปกป้อง” อาบู มูซาบ อัล-ซูริ นักยุทธศาสตร์ของการปฏิวัติอิสลามชื่อดัง กล่าวว่ามันเป็นเรื่อง “น่าละอาย” (regrettable) ที่มีมุสลิมเพียงน้อยนิด เพียงหนึ่งในล้านคนที่เข้าร่วมญีฮาดในอัฟกานิสถาน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ผู้สนับสนุนญีฮาดแบบใช้ความรุนแรงได้ประณามและพูดให้เพื่อนมุสลิมรู้สึกผิดมานานหลายทศวรรษแล้ว ซัยยิด กุฎบฺนักฟื้นฟูอิสลามชาวอียิปต์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่ขบวนการอิสลามหลายต่อหลายรุ่น ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ว่า “ความเป็น ประชาชาติมุสลิมได้สูญสิ้นมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว” มีเพียงการปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐอิสลามเท่านั้นจึงจะทำให้ชาวมุสลิมสามารถได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ศรัทธา”

กุฎบฺเสนอว่าญีฮาดปฏิวัติเป็นหน้าที่รวมหมู่ของมุสลิม ในทศวรรษ 1980 อิสลามนิยมสู้รบทำให้การตัดสินทางศาสนามีความชัดเจนขึ้นว่า “ทุกวันนี้ ญีฮาดเป็นหน้าที่ส่วนตัวที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ” เขียนโดยมูฮัมหมัด อับดุล อัลซาลาม ฟาราจ (Muhammed abd al-Salam Faraj) ผู้นำความคิดของกลุ่มที่ลอบสังหารประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์เมื่อปี 1981 ระบุว่าหน้าที่ดังกล่าวจะถือว่าได้ปฏิบัติแล้วก็ต่อเมื่อ “เผชิญหน้าและเลือด” เท่านั้น อับดุลลาห์ อัซซาม (Abdullah Azzam) หนึ่งในจัดตั้งใหญ่ของขบวนการแนวร่วมญีฮาดต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 เรียกร้องให้มุสลิมเข้าร่วมกับการต่อสู้ ไม่ใช่เพียงการบริจาคเงินสนับสนุน แต่เป็นหน้าที่ส่วนบุคคล “ที่มุสลิมทุกคนบนโลกใบนี้ต้องทำ ตราบจนภารกิจนี้จะสำเร็จ รัสเซียและคอมมิวนิสต์จะถูกขับไล่ออกไปจากอัฟกานิสถาน ไม่เช่นนั้นบาปจะยังคงแขวนติดอยู่ที่คอของพวกเราอยู่” เมื่อปี 1998 บิน ลาเดนและผองเพื่อนใช้ภาษาแบบเดียวกันนี้ประกาศสงครามกับสหรัฐ “ประกาศให้สังหารชาวอเมริกันและพันธมิตร ทั้งพลเรือนและทหาร เป็นหน้าที่ส่วนบุคคลที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติในทุกประเทศที่สามารถจะกระทำได้”

เป็นเวลาหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมได้เรียกร้องให้มุสลิมปฏิบัติหน้าที่ญีฮาดติดอาวุธต่อต้านผู้ปกครองของตนเอง ต่อต้านโซเวียตและต่อมาคือต่อต้านอเมริกัน คนหลายหมื่นคนปฏิบัติตามคำเรียกร้องเหล่านั้น หรือจากการประเมินของกระทรวงความมั่นคงสหรัฐฯ ที่อาจจะมีจำนวนถึงแสนคนในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา จำนวนดังกล่าวนี้คือนักรบที่มีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง แม้ว่าจำนวนมากจะไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังและต่อมาจะออกจากขบวนการก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันมุสลิมมากกว่าพันล้านคน หรือมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ปฏิบัติการ แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องปรกติสำหรับขบวนการปฏิวัติทุกประเภท ที่มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าร่วมขบวนการ ขบวนการก่อการร้ายฝ่ายซ้ายอย่างเวเธอร์แมน (Weatherman) ในสหรัฐฯ กองทัพแดงในเยอรมนีตะวันตก กองทัพแดง (the Red Brigades) ในอิตาลีดูจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ ที่มีจำนวนนักรบไม่มากไปกว่าพันคนในช่วงกระแสสูงในทศวรรษ 1970 และ 1980 การจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าดูเหมือนจะเป็นขบวนการที่สัมพันธ์กับดินแดนอย่าง IRA หรือ ETA (the Basque Homeland and Freedom Group) และกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ที่ได้รับการประเมินว่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากในช่วงยึดครองฉนวนกาซาในปี 2007 คือมีจำนวนสมาชิกในอัตราประมาณ 1 คนต่อประชากร 100 คน ซึ่งจากการประเมินของผม ขบวนการก่อการร้ายอิสลามนิยมระดับโลกสามารถจัดตั้งสมาชิกได้น้อยกว่า 1 คนต่อประชากรมุสลิม 15,000 คนในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาและน้อยกว่า 1 ต่อ 100,000 คนหลังกรณี 9/11

ความยากลำบากในการจัดตั้งได้สร้างปัญหาคอขวดสำหรับกลยุทธที่เป็นเอกลักษณ์ของการก่อการร้ายอิสลามนิยม คือ ระเบิดฆ่าตัวตาย องค์กรเหล่านี้มักอ้างว่าตนมีรายชื่ออาสาสมัครที่ต้องการจะพลีชีพ ซึ่งถ้ามีจริงคงเป็นรายชื่อที่ไม่ยาวนัก จัดตั้งของอัลกออิดะห์ นาม คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด (Khalid Sheikh Mohammed) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2002 หลายเดือนก่อนที่เขาจะถูกจับกุม อย่างมั่นใจถึงความสามารถในการจัดตั้งอาสาสมัครสำหรับ “ภารกิจพลีชีพ” ซึ่งเป็นการเรียก ระเบิดฆ่าตัวตายของชาวก่อการร้ายอิสลามนิยม “เราไม่เคยขาดผู้ผลีชีพที่มีประสิทธิภาพ แน่นอนเรามีแผนกๆ หนึ่งเรียกว่า แผนกพลีชีพ”

“มันยังคงอยู่ใช่มั้ย” โยสรี โฟดา (Yosri Fouda) นักข่าวอัลจาซีร่า ผู้ถูกปิดตาขอให้พาไปสัมภาษณ์ที่อพาร์ทเมนท์ของโมฮัมเหม็ดในการาจี ปากีสถาน ถาม “ใช่แล้ว และยังคงอยู่ตราบที่เรายังคงญีฮาดต่อต้านพวกนอกรีตและไซออนนิสต์ เรามีรายชื่ออาสาสมัคร ปัญหาเดียวที่เรามีในเวลานี้คือการเลือกคนที่เหมาะสม ซึ่งต้องเป็นคนที่คุ้นเคยกับตะวันตก” จำนวนรายชื่อในที่นี้ ไม่ใช่หลักหลักร้อย และเกือบทั้งหมดไม่เหมาะที่จะปฏิบัติภารกิจก่อการร้ายในตะวันตก หลังจากโมฮัมเหม็ด  ถูกจับกุมและได้รับ “การสอบสวนอย่างเข้มข้น” จาก CIA ที่ใช้วิธีการที่รัฐบาลสหรัฐฯประณามมาเป็นทศวรรษว่าเป็นการทรมาน รัฐบาลกลางก็แถลงผลการสอบสวนว่านายโมฮัมเหม็ดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตาย 39 ครั้งและหนึ่งในนั้นคือ การโจมตี 9/11 ที่มีผู้ก่อการจี้เครื่องบินจำนวน 19 คน “เพราะเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะหาได้และสามารถส่งมายังสหรัฐฯ ได้ก่อน 9/11” จากข้อมูลต่อต้านก่อการร้ายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว แผนการเดิมของ 9/11 จะมีการโจมตีพร้อมกันที่ฝั่งตะวันตกด้วย แต่อัลกออิดะห์ไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ได้ บางทีที่โมฮัมเหม็ด อ้างว่าอัลกออิดะห์“ ไม่เคยขาดผู้พลีชีที่มีศักยภาพ” นั้นอาจเป็นเพียงแค่ราคาคุย

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทเรียนสันติภาพจากอาเจะห์สู่ปาตานี: จาก GAM สู่ Partai Aceh ภายใต้ Autonomy

Posted: 25 Apr 2012 07:35 AM PDT

 

การต่อสู้ของปาตานีไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวโลกเท่าที่ควร จึงไม่มีการสนับสนุนจากนานาประเทศเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนคนปาตานี อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ของปาตานียังไม่ได้เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในระดับสากล หากเปรียบเทียบกับอาเจะห์ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งคล้ายๆ ปาตานีแล้ว หลังจากเกิดสึนามิในปี 2004 จึงได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ ทำให้อาเจะห์ได้เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันอาเจะห์ถือว่าได้รับสันติภาพกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

การเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียเมื่อตอนต้นปีของผู้เขียนพร้อมกับทีมงานที่เป็นผู้เข้าร่วม 7 คน เป็นตัวแทนจากกลุ่มสื่อ 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านเยาวชน 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิง 2 คน และทำงานด้านสันติวิธี 1 คน ทั้งหมดคือตัวแทนจากคนทำงานภาคประชาสังคมที่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับเลือกเพื่อไปศึกษาดูการทำงานของเอ็นจีโออินโดนีเซีย และไปดูการทำงานของเอ็นจีโออาเจะห์ เพื่อนำบทเรียนกลับมาใช้เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้หลังจากได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่นั่น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน กลุ่มชาติพันธ์กว่า 1,128 กลุ่ม มีเกาะ 17,508 เกาะ และ (ยังมีอีก 9,634 เกาะที่ยังไม่มีชื่อ) มีทั้งหมด 756 ภาษาที่เป็นภาษาพื้นเมือง ปัจจุบันมี 33 จังหวัด และ 491 อำเภอ หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากฮอลแลนด์ในปี ค.ศ. 1945 ประเทศอินโดนีเซียได้มีอธิปไตยเป็นของตนเองภายใต้การปกครองของประธานธิบดีซูการ์โน โดยได้ยึดหลักซุมเปาะห์เปอมือดอ (Youth Declaration) ปี ค.ศ.1928 คือ “One Nation, One Language, One Homeland” ซึ่งเป็นคำประกาศที่เป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับดัชต์ เป็นวิธีการสร้างจุดร่วมในการต่อสู้ของชาวอินโดนีเซียเพื่อรวมกันเป็นหนึ่งในหลากหลายชาติพันธ์เพื่อต่อสู้ขับไล่กับศัตรูในยุคล่าอาณานิคม

หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราชไม่นาน การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยภายในประเทศอินโดนีเซียก็เกิดขึ้น พอถึงปี ค.ศ.1998 กลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้ประกอบไปด้วยชาวอาเจะห์ ชาวมาลุกู ชาวโปโซ  ชาวกะลิมันตันบารัต ชาวปาปัวนิวกีนี  และชาวติมอร์บารัต ซึ่งปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว หลังจากที่ติมอร์เลสเตได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ.1999 และอาเจะห์ได้กลายเป็นจังหวัดที่มีการปกครองพิเศษของอินโดนีเซียเมื่อปี 2005

ทั้งนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเปรียบเทียบกระบวนการการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์ ช่วงก่อนระหว่างและหลังสันติภาพของเจะห์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงปี 1976-1979 ในช่วงก่อตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีชื่อว่า GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ก่อตั้งโดย ฮาซัน ติโร (Hasan Tiro) และเพื่อน ช่วงนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งเยาวชนเพื่อไปฝึกยังต่างประเทศในแถบตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ประเทศลิเบีย จะมีการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์และการโจมตีขนาดเล็กซึ่งไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงของอินโดนีเซียมากนัก ถือว่าเป็นช่วงการเตรียมพร้อมของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์

ช่วงปี 1979 -1989 กลุ่มผู้นำต่างๆ ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศได้กลับมายังมาตุภูมิเพื่อจัดตั้งและฝึกอาวุธ พร้อมทั้งเน้นการขยายฐานและจัดตั้งมวลชนภายในอาเจะห์ตามหมู่บ้านต่างๆ การจัดตั้งลักษณะนี้เรียกว่า DOM หรือ (Daerah Operasi Militar) เป็นการขยายเขตเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดตั้งของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์หรือเป็นการสร้างฐานที่มั่นนั้นอง ในขณะเดียวกันก็ส่งออกเยาวชนเพื่อฝึกฝนการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ในช่วงนี้พวกเขาจึงจะไม่เน้นการก่อเหตุ อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเวลาที่ขบวนการต่อสู้เองก็ไม่ได้เปิดเผยตัวตน ถือว่าเป็นยุคของการปิดตัวและไม่สามารถขยายงานการเมืองในระดับชาติและสากล ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัจจัยภายในประเทศที่บรรยากาศทางการเมืองยังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งเป็นเผด็จการที่ไม่เปิดรับการทำงานของภาคประชาสังคม เพราะยังไม่เป็นประชาธิปไตย

กลุ่มขบวนการของอาเจะห์ในช่วงนี้ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกขานว่า Kumpulan Kacau Keamanan หรือแปลว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ

ช่วงปี 1989-2003 เป็นช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ บรรยากาศประชาธิปไตยเริ่มเปิด การเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม สื่อต่างๆ เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ เริ่มขยายพื้นที่ทางการเมืองของตัวเอง โดยส่วนหนึ่งได้ขยายงานการเมืองด้านการทำงานภาคประชาชน ขยายกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในจาการ์ตาหรือภายในประเทศ อีกบางส่วนจะถูกขยายไปยังคนอาเจะห์ที่อยู่ต่างประเทศ เช่น ฮอลันดา ยุโรป สวีเดน และอังกฤษ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลจาการ์ตาต้องคิดหนักเป็นสองเท่าเมื่อต้องการวางกำลังเข้าปราบปรามกลุ่ม GAM หรือขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์เพื่อเอกราช กล่าวคือ รัฐบาลจำต้องคิดหาเหตุผลเพิ่มว่าจะตอบคำถามชาวโลกอย่างไรด้วย  

เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ได้มีความพยามของทั้งสองฝ่ายที่จะเจรจาเพื่อหาทางออก ได้มีการนัดเจรจาในประเทศที่สาม คือ ประเทศญี่ปุน โดยจัดเจรจาที่กรุงโตเกียว ทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งตัวแทนและให้หลักประกันความปลอดภัยกับตัวแทนของ GAM ที่จะไปเจรจา ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียกลับเบี้ยวและมีการจับกุมตัวแทนฝ่าย GAM ที่ไปเจรจา ณ สนามบินขาออกที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ

การจับกุมครั้งนั้นสามารถคุมตัวไว้ทั้งหมด 5 คน ในขณะที่ตัวแทนอีก 3 คน ที่เป็นตัวแทนเจรจาในครั้งนั้นสามารถเล็ดลอดผ่านไปยังประเทศญี่ปุนได้ หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงอายุ 21 ปี ทำให้เวทีเจรจาดำเนินไปยังตึงเครียดและไม่มีความไว้วางใจจากตัวแทนฝ่าย GAM จนในที่สุดการเจรจาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในข้อเสนอของรัฐบาลคือการให้การปกครองพิเศษที่ทางอาเจะห์ได้รับอยู่แล้วและไม่มีข้อเสนอใหม่ๆ อีกทั้งยังต่อรองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเหนือให้รับข้อเสนอเดิมตามเอกสารที่ตัวแทนรัฐบาลอินโดนีเซียเขียนมาจากจาการ์ตา หลังจากนั้นทาง GAM ได้ประกาศสงครามและใช้กำลังโจมตีต่อสู้กับผู้รุกรานที่มาจากจากการ์ตาอีกครั้งหนึ่ง

ช่วงปี 2005 อาเจะห์ได้รับสันติภาพหลังจากเหตุการณ์สึนามิได้คร่าชีวิตประชาชนชาวอาเจะห์ไปประมาณ 3 แสนกว่าคน ชาวโลกได้หันมาเห็นอกเห็นใจคนอาเจะห์ที่สูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้งประชาชนชาวอินโดนีเซียไม่สามารถที่จะยอมรับในทางมนุษยธรรมที่จะเห็นรัฐบาลของตนได้เข้าไปรบและฆ่าคนอาเจะห์ได้อีก จึงได้มีการเสนอจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อที่จะเจรจากับฝ่าย GAM เพื่อยุติการสู้รบและหาทางออกทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาอาเจะห์

การเจรจาได้บรรลุและประสบผลสำเร็จโดยอาเจะห์ได้รับการปกครองพิเศษที่แตกต่างจากเดิมเพื่อจัดการตัวเอง โดยมีเงื่อนไขจะต้องสลายพรรค GAM  ที่ใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียและวางอาวุธที่มีอยู่ทั้งหมด พรรค GAM ถูกสลายกลายเป็นพรรคการเมืองปัจจุบันที่เรียกว่าพรรคอาเจะห์ (Partai Aceh) และได้รับการคัดเลือกเข้ามาบริหารอาเจะห์ ในระบบรัฐสภา พรรคอาเจะห์ชนะการเลือกตั้งโดยมีตัวแทนเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารในรัฐบาลท้องถิ่นของเจะห์

จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของปาตานีจะมีส่วนคล้ายคลึงกันกับอาเจะห์ในช่วงต้น ขบวนการจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนและไม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน จนกระทั่งบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิด เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น ในช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ ทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ได้ประกาศตนเองแก่ชาวโลก พร้อมกับมีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน

ถ้าเปรียบเทียบกับการต่อสู้ของขบวนการไม่สงบที่ปาตานีในปัจจุบัน อาจเห็นได้ว่าอยู่ในช่วงการต่อสู้ที่ยังไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นฝีมือของขบวนการไหน และมีข้อเสนออะไรทางการเมืองที่ชัดเจน ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงยังมีข้อถกเถียงจากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการและเอนจีโอในอินโดนีเซียอีกมากมายว่าการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์นั้น จริงๆ แล้วได้รับอานิสงส์จากภัยธรรมชาติคือสึนามิ แต่บางกลุ่มกลับระบุว่า ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกไม่ใช่แค่เพราะสึนามิอย่างเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ สันติภาพที่เรียกว่า Autonomy  หรือการปกครองพิเศษในปัจจุบันนั้น จริงๆ แล้วเป็นสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่? ประชาชนคนอาเจะห์มองสันติภาพในครั้งนี้ว่าอย่างไร? และปาตานีจะได้บทเรียนอะไรจากสันติภาพในอาเจะห์ครั้งนี้ ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยังมีเหตุรุนแรงในซีเรีย แม้คณะผู้ตรวจการเยือนประเทศแล้ว

Posted: 25 Apr 2012 07:24 AM PDT

โอบาม่าประกาศคว่ำบาตรผู้ที่เอื้อให้ซีเรียและอิหร่านใช้เทคโนโลยีในการติดตามตัวและปราบปรามประชาชน

24 เม.ย. 2012 - นักกิจกรรมรายงานว่ากองทัพซีเรียสังหารประชาชนหลายสิบคนในเมืองฮามา ในขณะเดียวกับที่คณะผู้ตรวจการของสหประชาชาติเยือนสถานที่ชุมนุมประท้วงใกล้กับกรุงดามากัส ด้านสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ 

กลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียเปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ (23) ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้าโจมตีย่านอาบีนด้วยปืนกลหนักและปืนกลเบา ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 28 ราย

กลุ่มนักกิจกรรมยังได้โพสต์วิดีโอแสดงให้เห็นภาพกลุ่มควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังการระเบิดของกระสุนปืนครกที่ตกลงมาในพื้นที่ บ้างก็รายงานว่ามีการยิงถล่มด้วยปืนครกก่อนที่กองทัพจะเข้ามา

มูวซับ นักกิจกรรมในพื้นที่บอกว่า มีรถถังกับปืนใหญ่เปิดฉากโจมตีในตอนเช้า มีบ้านหลายหลังไฟลุกไหม้ จากนั้นกองทัพทหารก็เข้ามาแล้วก็ไล่ยิงผู้คนบนถนน

ตอนนี้ซีเรียยังคงมีการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของสื่อต่างชาติ ทำให้สื่อไม่สามารถระบุต้นตอความรุนแรงได้แน่ชัด

การหยุดยิง "ยังไม่สมบูรณ์"
จากความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์รุนแรง บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติก็ได้อนุมัติให้มีการส่งคณะผู้ตรวจการการหยุดยิงในซีเรีย 300 คน ในสัปดาห์หน้า 

บันคีมูน กล่าวย้ำว่า ขอให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียให้การคุ้มกันคณะผู้ตรวจการซึ่งไม่ระบุชื่อ และให้พวกเขาเดินทางได้โดยเสรี

อย่างไรก็ตาม ลิน ปาสเค หัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของบังคีมูน กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า อัสซาดยังไม่ได้ทำตามข้อตกลงหยุดยิงโดยสมบูรณ์

คณะผู้ตรวจการจากยูเอ็นได้ไปเยือนแหล่งชุมนุมประท้วงหลายแห่งใกล้กับเมืองหลวงและพบปะกับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านหลายพันคนที่เรียกร้องให้มีรัฐบาลถูกโค่นล้ม

ทางคณะผู้ตรวจการยังได้เยือนเมืองซาบาดานีที่มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านอยู่หลายระลอกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ภาพวีดิโอของนักกิจกรรมเผยให้เห็นคณะผู้ตรวจการเดินผ่านรถถังบนท้องถนน แม้ว่าหนึ่งในแผนการสันติภาพของโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาฯ ยูเอ็น จะมีการเรียกร้องให้นำรถหุ้มเกราะออกจากพื้นที่ชุมชนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม รักษาการ รมต. ต่างประเทศของซีเรียก็ย้ำว่า รัฐบาลปฏิบัติตามแผนการของอันนันอย่างเต็มที่ แต่ฝ่าย "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งพวกเขาใช้กล่าวถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังไม่ยอมรับแผนการดังกล่าว

นาบิล อราบี ประธานสันนิบาตชาติอาหรับเรียกร้องให้มีการใช้กระบวนการทางการเมืองในการแก้วิกฤติความรุนแรงในซีเรีย

โอบาม่าบอกรัฐบาลซีเรียและอิหร่าน "ใช้เทคโนโลยีไปในทางอันตราย"
สมาชิกสองรายของคณะผู้ตรวจการ ได้ปักหลักอยู่ที่เมืองฮอมในวันอาทิตย์ (22) ที่ผ่านมา ด้านสื่อรัฐบาลซีเรียรายงานว่ามีการส่งตัวคณะผู้ตรวจการทหารเดินทางเยือนย่าน อัล-เวร์ ของเมืองฮอม 

นักกิจกรรมต่างรู้สึกสงสัยในภารกิจเยือนซีเรียของยูเอ็น พวกเขาบอกว่ารัฐบาลเพียงแค่ซื้อเวลาไว้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการหยุดยิง พวกเขาบอกอีกว่า แม้ในเขตที่คณะผู้ตรวจการไปเยือนจะมีการหยุดการต่อสู้กันแล้ว แต่ยังคงเกิดความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ เช่นกรุงดามากัส, ฮามา และเดรา

ทางสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ โดยสั่งห้ามการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย และจำกัดการขายสินค้าที่อาจนำมาใช้ปราบปรามประชาชนได้

ประธานาธิบดีโอบาม่า ของสหรัฐฯ ก็ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่เมื่อวันจันทร์ (23) ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายคือผู้ที่ช่วยให้รัฐบาลซีเรียและอิหร่าน ติดตามตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์

โอบาม่ากล่าวว่า สองชาตินี้ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้านแรงผ่านทางการใช้เทคโนโลยีติดตามตัว และ "ใช้เทคโนโลยีไปในทางที่เป็นอันตราย" โดยการใช้ตรวจตราสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อวางแผนโจมตีกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

"เทคโนโลยีเหล่านี้ควรใช้ในการส่งเสริมประชาชน ไม่ใช่ใช้ปราบปรามประชาชน" โอบาม่ากล่าว การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในครั้งนี้คือการอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่าบริษัทของอิหร่านและซีเรีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาในการใช้วางแผนปราบประชาชน

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียกล่าวประณามการคว่ำบาตรในครั้งนี้ว่า "เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ หากมองในมุมของกฏหมายสากล"

 

 

ที่มา
Syrian troops 'kill dozens' in Hama, Aljazeera, 24-04-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/04/20124244145281848.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ณัฐวุฒิ" ยันไม่ไปรดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม พรุ่งนี้

Posted: 25 Apr 2012 07:20 AM PDT

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์ "มติชนออนไลน์" ยืนยันพรุ่งนี้ไม่ไปบ้านสี่เสาฯ นายกฯ กับรองนายกฯ จะเป็นคนไป วอนให้กำลังใจนายกฯ นำประเทศสู่สันติภาพ เชื่อปรองดองไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องมารักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หมายถึงอยู่กันได้ภายใต้ความแตกต่างทางความคิดไม่ต้องใช้ความรุนแรงทำลายล้างกัน ยืนยันยังคงไม่ยอมรับแนวทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม

วันนี้ (25 เม.ย.) "มติชนออนไลน์" เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ แกนนำ นปช. กล่าวถึง การไม่ได้ร่วมคณะกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รดน้ำขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในโปรแกรมดังกล่าว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีจะนำรองนายกรัฐมนตรี 3-4 ท่าน เข้าไปรดน้ำ พล.อ.เปรม ส่วนตนเองและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรม จะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในวันนั้น

นายณัฐวุฒิกล่าวกับผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ด้วยว่าถ้าจะตีความเป็นนัยยะทางการเมืองทุกเรื่อง มันตีความได้หมด แต่ถ้าหาก เราคิดว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น มันมีเหตุผล มีมิติ มีที่มา เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการนำพาประเทศสู่สันติภาพ

"ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องหันมาผู้สมัครรักใคร่กลมเกลียวกัน แต่หมายถึง เราสามารถอยู่กันได้  ภายใต้ความแตกต่างในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพื่อทำลายล้างกัน หรือเพื่อรักษาอำนาจกันอีกต่อไป เรายังคงไม่ยอมรับแนวทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม เรายังคงปฏิเสธอุดมการณ์ทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็ยังเป็นเช่นนั้น การต่อสู้หักล้างทางความคิดยังคงดำรงอยู่ แต่จะต้องลดความสุ่มเสี่ยง ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และสูญเสีย นี่คือความหมายของการปรองดองในความคิดของตน" นายณัฐวุฒิกล่าว (อ่านรายงานของมติชนที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ

Posted: 25 Apr 2012 05:25 AM PDT

25 เม.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของบริษัทบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ยี่ห้อบริดจสโตน ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน
 
โดยสาเหตุของการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้
       
ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
       
เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารได้สั่งปิดประตูโรงงาน พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำให้บรรดาพนักงานต้องไปรวมกันที่หน้าโรงงาน แต่โรงงานกลับส่ง SMS ชักชวนพนักงานให้กลับไปทำงานตามเดิม จนทำให้มีพนักงานบางส่วนยินยอมกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้คนงานได้ทำการประท้วงหน้าโรงงาน รวมถึงได้ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และทางสหภาพฯ ยังได้ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานในข้อหา “ปิดโรงงานโดยไม่ชอบ” โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งยังลอยแพพนักงาน
 
ล่าสุดในวันที่ 23 เม.ย.  พนักงานที่ได้เดินทางมาหลายร้อยคนเพื่อเป็นกำลังให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานนั้น ได้ร่วมกันกดดันให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการโรงงาน มารับข้อกล่าวหาที่ปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)

Posted: 25 Apr 2012 04:09 AM PDT

ในบทความตอนที่แล้วดิฉันอธิบายความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ในตอนนี้ดิฉันขอเขียนถึงธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง

ใครใหญ่กว่ากัน: ไอทีวี vs. ททบ.5 + ช่อง7สี + ทีวีพูล?

ก่อนรัฐประหารปี 2549 สื่อมวลชนและนักวิชาการบางกลุ่มนำเสนอว่าอดีตนายกฯทักษิณมีพฤติกรรม“เผด็จการ”โดยแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยเฉพาะไอทีวีหลังจากที่ชินคอร์ปเข้าไปถือหุ้นไอทีวี วาทกรรมดังกล่าวพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารและการยกเลิกสัมปทานไอทีวี ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพบกเป็นเจ้าของฟรีทีวี 2 ช่องมา 55 ปีและแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูล ถ้าเรานิยามว่า“เผด็จการ”คือผู้นำทางการเมืองที่ถือหุ้นฟรีทีวีและแทรกแซงฟรีทีวี กองทัพบกก็เป็น“เผด็จการ”มา 55 ปี ดังนั้นถ้าเปรียบเผด็จการว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงทีวีมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงทีวีมา 7 ปี

ฟรีทีวีคือธุรกิจสำคัญของกองทัพบก

ในปีพศ.2500 ธนาคารทหารไทยเริ่มเปิดทำการด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปีเดียวกันกองทัพบกก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.)เพื่อทำธุรกิจฟรีทีวีซึ่งมีรายได้จากการให้เช่าเวลาแก่ผู้ผลิตรายการและผู้โฆษณาสินค้า รายได้จากธุรกิจฟรีทีวีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทและททบ.ที่กองทัพบกบริหารเองโดยตรงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% [1] ททบ.มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แตกต่างจากธนาคารทหารไทย กล่าวคือ กองทัพบกเป็นเหล่าทัพเดียวที่ถือหุ้นททบ. แต่กองทัพเรือและกองทัพอากาศถือหุ้นธนาคารทหารไทยร่วมกับกองทัพบก แม้ปัจจุบันเอกชนและกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้นธนาคารทหารไทยด้วย กองทัพบกก็ยังถือกรรมสิทธิ์ททบ. 5 เพียงผู้เดียวเนื่องจากโครงการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของททบ.5 ไปให้บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่ชื่ออาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดโดนระงับไปเมื่อ 2 ปีก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม

ททบ.ในยุคแรกรู้จักกันทั่วไปว่าททบ.7 เนื่องจากถ่ายทอดรายการผ่านช่อง7 ททบ.7เป็นฟรีทีวีช่องที่2ในไทย ฟรีทีวีช่องแรกคือสถานีไทยทีวีช่อง4ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม (ภายหลังกลายเป็นช่อง9 อสมท.และโมเดิร์นไนน์ทีวีในปัจจุบัน) ไทยทีวีช่อง4เป็นธุรกิจของบริษัทไทยโทรทัศน์ซึ่งถือหุ้นโดยหน่วยราชการหลายแห่งรวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีช่อง 4 เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปีพศ. 2498 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลจอมพลป. รวมทั้งถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาและงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จอมพลสฤษดิ์จึงผลักดันให้กองทัพบกก่อตั้งททบ.เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพบ้าง ททบ.7เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปี 2501 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป. หน้าที่ของททบ.7คือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพ พระราชกรณียกิจ และพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อเรียกเรตติ้งททบ.7ยุคแรกนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์จากต่างประเทศและรายการวาไรตี้ที่จัดโดยนายทหารจากกองทัพบก [2] [3]

สัมปทานฟรีทีวีภายใต้รัฐบาลทหาร

ในปี 2510 กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลประภาส จารุเสถียรในตำแหน่งผบ.ทบ.ให้สัมปทานความถี่บางส่วนแก่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุของครอบครัวน้องสาวภรรยาผบ.ทบ. น้องสาวภรรยาทบ.ทบ.สมรสกับทายาทสกุลกรรณสูตซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในอดีต สกุลกรรณสูตถือหุ้นบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุร่วมกับสกุลจารุเสถียรและสกุลรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฟรีทีวีที่กองทัพบกให้สัมปทานคือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง7หรือช่อง7สี ซึ่งเป็นช่องแรกที่ถ่ายทอดด้วยภาพสี สกุลกรรณสูตและสกุลรัตนรักษ์ได้สัมปทานช่อง7สีจากกองทัพบกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีเดียวกันรัฐบาลถนอมให้สัมปทานความถี่บางส่วนของบริษัทไทยโทรทัศน์(ซึ่งเป็นเจ้าของไทยทีวีช่อง4)แก่บริษัทของสกุลมาลีนนท์ซึ่งถ่ายทอดทีวีทางช่อง 3 ทำให้จำนวนฟรีทีวีเพิ่มเป็น 4 ช่อง ในปี 2517 ททบ.7 เปลี่ยนชื่อเป็นททบ.5 และหันมาออกอากาศทางช่อง 5 ในขณะที่ไทยทีวีช่อง 4 ก็เปลี่ยนมาออกอากาศช่อง 9 ไม่กี่ปีให้หลังรัฐบาลธานินทร์ยุบบริษัทไทยโทรทัศน์และโอนช่อง 9 ให้องค์การสื่อสารมวลชน(อสมท.) กรมประชาสัมพันธ์ในยุครัฐบาลเปรมจึงจัดตั้งทีวีช่อง11ขึ้นมาแทนเพื่อให้เป็นฟรีทีวีของรัฐบาล

การก่อตั้งและบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจโดยกองทัพบก

กองทัพบกก่อตั้งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลในปี 2511 [2] ทำให้กองทัพบกแทรกแซงฟรีทีวีได้ทุกช่องด้วยการเชื่อมเครือข่ายฟรีทีวีเพื่อประชาสัมพันธ์ลัทธิชาตินิยมและการปกครองแบบรวมศูนย์ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจและพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ถ่ายทอดกิจกรรมของกองทัพ ถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา และถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มีนักกีฬาไทยร่วมแข่งขัน ในระยะหลังทีวีพูลหันมาถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาไทยไม่ได้เข้ารอบด้วย เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก

แม้ว่าสงครามเย็นจบไปแล้วกว่า 20 ปี อำนาจของกองทัพบกในการแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูลไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา ประธานกรรมการทีวีพูลคือผู้อำนวยการททบ.5 มาจนถึงปัจจุบัน ทีวีพูลกลายเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารและประชาสัมพันธ์ชัยชนะของคณะรัฐประหารมาตลอด หลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาติชายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้เห็นชัดเจนว่าฟรีทีวีทุกช่องโดนควบคุมโดยคณะรัฐประหารและไม่รายงานสถานการณ์ตามความจริง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงผลักดันให้จัดตั้งฟรีทีวีที่เป็นอิสระซึ่งก็คือไอทีวี หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณไอทีวีโดนยึดสัมปทานไปให้ทีวีช่องใหม่ที่เรียกกันว่าไทยพีบีเอส แน่นอนว่าไทยพีบีเอสก็โดนแทรกแซงโดยทีวีพูลด้วย ความล่าช้าของฟรีทีวีในการเตือนภัยสึนามิเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่ากองทัพบกในปัจจุบันยังคงแทรกแซงการทำงานของฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูล ตราบใดที่ยังไม่ยุบทีวีพูลก็ยากที่ไทยจะมีฟรีทีวีที่รายงานข่าวอย่างอิสระ

อิทธิพลของททบ.5 และช่อง7สีต่อดารานักแสดงและนักร้อง

เมื่อวัดด้วยรายได้ททบ.5 มีส่วนแบ่งตลาดฟรีทีวีเป็นอันดับ 3 ส่วนช่อง 7 สีที่กองทัพบกเป็นเจ้าของสัมปทานมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 (อันดับ 1 คือช่อง 3 และอันดับ 4 คือช่อง 9) ส่วนแบ่งตลาดของททบ.5 รวมกับช่อง7สีสูงถึง 43% ถ้าวัดด้วยเรตติ้งอันดับ 1 คือช่อง7สีส่วนททบ.5 ติดอันดับ 3 [4] ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงผ่านรายการของททบ.5 และช่อง7สีมานานหลายทศวรรษ อาทิ รายการคอนเสิร์ต รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ละครหลังข่าว ฯลฯ ทำให้ดารานักแสดงและนักร้องจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพากองทัพบกและมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ดารานักแสดงและนักร้องมากมายกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้คณะรัฐประหาร

ความเกี่ยวข้องของททบ.5กับบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเม็นท์และธนาคารทหารไทย

ก่อนวิกฤตการเงินในปี 2540 เพียง 3 เดือนกองทัพบกได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีชื่อบริษัทททบ.5จำกัด ในปี 2541 บริษัทททบ.5จำกัดกู้เงินจากสถานีททบ.5 เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทย 2 ทาง ทางตรงคือถือหุ้นในนามของกองทัพบกและทางอ้อมคือถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ทำให้กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทยมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ [6] [7] ต่อมาบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวกู้เงินจากธนาคารทหารไทยไปลงทุนในธุรกิจทีวีดาวเทียม หลังจากนั้นกองทัพบกยินยอมให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นบริษัทททบ.5ร่วมกัน ภายหลังกองทัพบกพยายามถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 เพื่อให้บริษัทททบ.5 จำกัดให้สัมปทานคลื่นความถี่แก่เอกชน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน [5] แต่การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 ให้บริษัทอาร์ทีเอฯกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่เอ็นจีโอและสื่อมวลชนบางสังกัดคัดค้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลทักษิณต้องระงับไม่ให้บริษัทอาร์ทีเอฯจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547

ความขัดแย้งกรณีบริษัทอาร์ทีเอฯทำให้อดีตนายกฯทักษิณโดนประนามว่าสมคบกับพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตรผบ.ทบ.ในขณะนั้นเพื่อฮุบทรัพย์สินสาธารณะไปให้พวกพ้อง แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอดีตนายกฯทักษิณอาจจะขอแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯ ที่จริงแล้วบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การนำของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาในฐานะผู้อำนวยการททบ.5 ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2542 การวางแผนจัดสรรหุ้นให้เอกชนและคนในกองทัพเข้ามาร่วมลงทุนในโฮลดิ้งคอมปะนีก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคนั้น [8] นอกจากนี้บริษัทนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ถ้ารัฐบาลทักษิณไม่ระงับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทอาร์ทีเอฯ อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องจะไม่ได้ประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯเท่ากองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอาร์ทีเอฯหรือเอกชนที่ร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ตราบใดที่กองทัพบกไม่จัดสรรหุ้นบริษัทอาร์ทีเอฯให้อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องให้มากกว่าสัดส่วนหุ้นของกองทัพบกและพันธมิตรเอกชน

นอกจากฟรีทีวี 2 ช่องกองทัพบกมีสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ

นอกจากการจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่แล้ว กองทัพบกพยายามปกป้องผลประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างชัดเจนผ่านกระบวนการสรรหากรรมการกสทช.หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ 2 ใน 5 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกสทช.คือนายทหารจากกองทัพบก [9] เนื่องจากนโยบายของกสทช.ในอนาคตจะมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของคลื่นความถี่ที่กองทัพถือกรรมสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน นอกจากคลื่นความถี่ของฟรีทีวี 2 ช่องแล้ว กองทัพบกยังเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ [10] อาทิ สถานีวิทยุจส. 100 (ให้สัมปทานแก่บริษัทแปซิฟิกคอร์ปอเรชันจำกัดซึ่งมีนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาเป็นประธานกรรมการ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคือพี่ชายของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาอดีตผอ.ททบ.5 ผู้ริเริ่มการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีททบ.5จำกัด) สถานีวิทยุยานเกราะ (ให้สัมปทานคลื่นความถี่บางส่วนแก่บริษัทจีเอ็มเอ็มมีเดียจำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแกรมมี่) ฯลฯ

ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพและการหากำไรจากกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพในรูปแบบต่างๆ

 

หมายเหตุ

  1. สถิติรายได้ของช่อง 3 และช่อง 9 มาจากงบการเงินของบริษัทบีซีอีเวิร์ลด์ จำกัด (มหาชน)และบริษัทอสมท.จำกัด(มหาชน)จากตลาดหลักทรัพย์:
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BEC&language=th&country=TH
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MCOT&language=th&country=TH
    ส่วนสถิติรายได้ของช่อง 5 และช่อง 7 มาจากการรายงานโดยททบ.5และสื่อมวลชน: http://www.tv5.co.th/news/show2.php?id=2680
    http://www.suthichaiyoon.com/detail/19403
  2. ประวัติของทบบ.5: http://www.tv5.co.th/abhis.html
  3. อนุสรณ์ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิ่ง (โฆษกเสียงเสน่ห์และผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย):  http://www.lovesiamoldbook.com/product.detail_489893_th_3967526
  4. อสมท.ขึ้นค่าโฆษณา7% มีค.นี้หวังแชร์ตลาดแซงช่อง 5 ปรับผังใหม่เรตติ้งตกยกออก:  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1330658046&grpid=&catid=05&subcatid=0503
  5. รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.): http://www.ryt9.com/s/cabt/153128
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากธนาคารทหารไทย บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอณ์เทนเมนท์ จำกัดในอดีตคือบริษัทททบ.5 จำกัด: http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  7. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากตลาดหลักทรัพย์: http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=TMB&language=th&country=TH
  8. แป้งปฎิวัติ เงื่อนปมที่รัดแน่น: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1489
  9. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.): http://nbtc.nbtc.go.th/
  10. รายชื่อสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก 126 สถานีทั่วประเทศจากศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก: http://radio.tv5.co.th/radionews/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=4
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะนิติราษฎร์ประกาศไม่เห็นด้วยสิ้นเชิงต่อแนวทางปรองดองแบบนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย

Posted: 25 Apr 2012 03:58 AM PDT

แม้จะทำให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมพ้นผิดและความรับผิด แต่ผู้สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมก็จะรอดไปพร้อมกันด้วย จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายชุมนุมต่างๆ พร้อมเสนอให้แก้ รธน. ระบุให้การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่ร่วมทำรัฐประหารตั้งแต่ผู้กระทำการ ผู้ใช้ ยันผู้สนับสนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หมายเหตุ: วันนี้ (25 เม.ย.) ในเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ ได้มีการเผยแพร่ "ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ ๓๔" โดยมีเนื้อหายืนยันถึงปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และแสดงจุดยืนสนับสนุนให้คณะ ครก.112 รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ต่อสภา นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า "ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิง" ต่อ "แนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่าย" ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกรณี 6 ต.ค. 2519 และ พฤษภาคม 2535 พร้อมมีข้อเสนอแนวทางการตรากฎหมายเพื่อการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

จุดยืนคณะนิติราษฎร์

หลังจากที่คณะนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งต่อมาคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ (ครก. ๑๑๒)ได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่ออย่าน้อย ๑๐๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไปยังรัฐสภา กำหนดระยะเวลารณรงค์ ๑๑๒ วัน และการรณรงค์ดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ ๕ พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ มีผู้สอบถามมายังคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาการและการเคลื่อนไหว ทางความคิดที่จะดำเนินต่อไปในโอกาสครบรอบ ๘๐ ปีของการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ตลอดจนแนวทางทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คณะนิติราษฎร์เห็นสมควรที่จะได้แสดงจุดยืนและทัศนะต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้โดยสังเขป ดังนี้

๑. คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอัตราโทษที่กำหนดไว้ในปัจจุบันสูงเกินสมควรกว่าเหตุ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆอีกหลายประการ ดังที่ได้เคยแสดงให้เห็นไว้แล้วในประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่  ๑๖ (วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔) และในข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หลายประการ และจะบรรเทาปัญหาบางประการลง คณะนิติราษฎร์จึงยืนยันสนับสนุนกิจกรรมของ ครก.๑๑๒ ในการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไปยังรัฐสภา และให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

๒. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อแนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่ายดังเช่นการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ.ศ.๒๕๒๑ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙) หรือการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พ.ศ.๒๕๓๕ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวแม้จะทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมพ้นจากความผิดและความรับผิด แต่ก็จะมีผลให้บรรดาผู้ที่สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมพ้นจากความผิดไปพร้อมกันด้วย การนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา

๓. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าแนวทางการตรากฎหมายเพื่อการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ควรจะต้องพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องและจัดวางโครงสร้างของกฎหมายโดยมีสาระสำคัญหลัก คือ

ประการที่หนึ่ง ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ประการที่สอง ให้มีการนิรโทษกรรมทันทีแก่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนบรรดากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงที่ได้รับการประกาศใช้ในเหตุการณ์การเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆตามที่จะได้กำหนดไว้ในประกาศที่ออกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งและบรรดาการกระทำต่างๆของผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆข้างต้น หากเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ประการที่สาม บรรดาการกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ไม่เข้าข่ายที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เช่น การกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นและไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ตลอดจนการกระทำความผิดของบุคคลที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลในลำดับชั้นใด ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าการกระทำนั้นตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยว่าการกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใดได้

ประการที่สี่ ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใดไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง หรือวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการกระทำที่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ไม่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง ให้ดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมืองหลังเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจรัฐ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

ประการที่ห้า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่คณะนิติราษฎร์เสนอไว้เบื้องต้นโดยสังเขปนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งเป็นอีกหมวดหนึ่ง โดยนอกจากบทบัญญัติในหมวดนี้จะกล่าวถึงคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง และกฎเกณฑ์ต่างๆตามแนวทางที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังต้องกล่าวถึงการเยียวยาความเสียหายต่างๆ ด้วย การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสามารถกระทำได้ทันที

๔. สำหรับกรณีของการลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้บัญญัติเป็นหมวดอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะได้จัดทำขึ้นใหม่ตามที่ได้เคยแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว โดยคณะนิติราษฎร์ยืนยันหลักการของการประกาศให้การนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารหรือแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการเอง ผู้ใช้ ตลอดจนผู้สนับสนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับบรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้แย่งชิงอำนาจรัฐนั้น ก็ให้ลบล้างให้สิ้นผลไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรม แต่ให้เริ่มกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรมต่อไป

คณะนิติราษฎร์ขอเรียนให้ผู้ที่ติดตามกิจกรรมทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ทราบว่าในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ คณะนิติราษฎร์จะได้จัดกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร การขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย และวิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองของบุคคลและสถาบันต่างๆ นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนไหวทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและนิติรัฐดำเนินไปในวงกว้างยิ่งขึ้น คณะนิติราษฎร์จะได้จัดให้มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชน ให้แก่ประชาชนทั่วไป รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้จะแถลงให้ทราบต่อไป

 

๒๕ เมษายน ๒๕๕๕

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสท.ออกมาตรการชั่วคราว หยุดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยาเกินจริง ในทีวีดาวเทียม

Posted: 25 Apr 2012 03:34 AM PDT

วันที่ 24 เม.ย.55 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายประเสริฐ อภิปุญญา เลขาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินการดำเนินการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมต่อโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อย. ณ ห้องสื่อมวลชน อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแนวทางการให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผ่านกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรณีการเผยแพร่ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู

ที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่า ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า อย. ได้มีข้อสรุปแล้วว่า การโฆษณาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู๊ด ซันคลาร่า และเกร็กคู เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และได้ส่งเรื่องดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับโฆษณาดังกล่าว ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการเยียวยาหรือระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้แจ้งกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทุกช่องเพื่อทำการระงับการเผยแพร่ออกอากาศการโฆษณาดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำตัดสินถึงที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น กสท.มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เนื่องจากที่ผ่านมา อย.ได้เฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงและฝ่าฝืนกฎหมายแพร่ภาพผ่านสัญญาดาวเทียม โดยมีการดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับการโฆษณาแล้วแต่ยังมีการแพร่ภาพรายการดังกล่าวอยู่

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ในส่วนตัวแทนบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ยินดีประสานความร่วมมือในการติดตามและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ออกอากาศ ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กสท.จะนำเข้าพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อไป (30 เม.ย.55) และหลังจากการประชุม ในช่วงบ่ายจะมีการไปหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานกับผู้บริหารบริษัทไทยคม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นางสาวสุภิญญาได้เข้าร่วมชุมหารือกับ นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาโฆษณาอาหาร และยาที่เกิดขึ้น ได้มีข้อสรุปต่อการทำงานร่วมกัน ดังนี้

1.จัดทำข้อมูล ฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องต่อการใช้งานช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม โดยมีการขอความร่วมมือไปยังบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ในการรวบรวมข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้จดทะเบียนเช่าช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อแจ้งให้ อย. รับทราบ และเป็นความร่วมมือในการควบคุมดูแลผู้เผยแพร่รายการหรือโฆษณาไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย และขยายผลเชื่อมโยงไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของโฆษณา บริษัทห้างร้านหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

2.กระทรวงฯ เมื่อได้รับทราบปัญหาในการโฆษณาฯ ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ผิดกฎหมาย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะได้มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริง ไปยังบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมอบหมายสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานต่อไป

3.มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม

4.เห็นควรให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันในภาพรวมต่อไป อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น

5.การใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณีจำหน่าย หรือโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายควรมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคมลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อให้สังคมเกิดความรู้เท่าทัน ให้ผู้กำลังกระทำหรือคิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวและลดจำนวนการกระทำความผิดลง

6.การผลิตสื่อสร้างสรรค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความตระหนัก การให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้วิจารณญาณในการอุปโภค บริโภค อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดโอกาสการหลงเชื่อโฆษณาที่หลอกลวง ผิดกฎหมาย

7.การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำหรับ ทก.และ กสทช.นั้นมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมืออยู่แล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "โดยประชาชนเพื่อประชาชน"

Posted: 25 Apr 2012 03:16 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "โดยประชาชนเพื่อประชาชน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น