โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“ผบ.ทบ.” เตรียมเชิญ บก.สื่อคุย ด้าน “ผบ.ตร.” แถลงนโยบาย 4 ระยะ สร้างความยอมรับจาก ปชช.

Posted: 04 Oct 2010 03:15 PM PDT

ประยุทธ์เตรียมเชิญ บก.สื่อคุยปลายเดือน ต.ค.

วานนี้ (4 ต.ค.2553) เนชั่นทันข่าว รายงานว่า พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวภายหลังการประชุม ผบ.เหล่าทัพว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกท่านใหม่จะมอบนโยบายให้กับกำลังพลของกองทัพบก ในการประชุมหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก และการประชุมในระดับผุ้บังคับกองพัน ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งหลังจากนั้น ท่านมีนโยบายว่าจะเรียนเชิญบรรณาธิการสื่อมาพูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนคติ จะได้มีโอกาสแลกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อกัน และชี้แจงเรื่องต่างๆ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ ผบ.ทบ.จะทำงานร่วมกับกองทัพบก ในส่วนงานนี้ สลก.ทบ.จะประสานไปยังสำนักข่าวโดยตรงทั้ง ทางทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ท่านมีความประสงค์รับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารสื่อ คาดว่าจะนัดหมายได้ประมาณปลายเดือน ตุลาคมนี้
 
 
"ผบ.ตร." แถลงนโยบาย 4 ระยะให้แต่ละ บช.ยึดปฏิบัติ
 
เนชั่นทันข่าว รายงานด้วยว่าในวันเดียวกัน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เป็นประธานการแถลงนโยบายภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 1 ตร. โดยมีข้าราชการตำรวจผู้บังคับบัญชาร่วมฟังนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติต่อในกองบัญชาการที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย รองผบ.ตร. ที่ปรึกษาสบ 10 ผช.ผบ.ตร. ผบช.และ ผบก.ทุกหน่วย
 
สำหรับนโยบายในภาพรวมที่พล.ต.อ.วิเชียร แถลงนั้นคือ นโยบาย 4 ระยะ ที่เคยเปิดเผยในสมัยที่รับตำแหน่ง ผบ.ตร. 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นโยบายเฉพาะหน้าที่ต้องการให้เกิดผลทันที และต่อเนื่อง ได้แก่ การปกป้องเทิดทูนพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ข้าราชการทุกนายที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่เสมือนญาติของตนเอง เลิกพฤติกรรมข่มขู่รีดไถ โดยจะให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละพื้นที่สุ่มตรวจหากพบนายตำรวจรายใดมีพฤติกรรมข่มขู่ รีดไถประชาชนจะถูกดำเนินการทั้งอาญาและวินัยอย่างเด็ดขาด 
 
2.นโยบายระยะเร่งด่วน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ช่วงเวลา “ปัดกวาดบ้าน ร่วมใจพัฒนา” เพื่อปรับปรุงพัฒนาสถานีตำรวจให้เป็นที่พึ่งประชาชนอย่างแท้จริง จัดกิจกรรม “จิตอาสา” ทำประโยชน์เพื่อสังคม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียวของข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้น 3.นโยบายสำคัญ ภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อเสริมสร้างให้ ตร.สามารถควบคุมปัญหาอาชญากรรมได้ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมในชุมชนของตนเอง 4.นโยบายระยะ 1-3 ปี ตร.ต้องเดินหน้าอย่างมีทิศทาง คือตำรวจต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน
 
 
ที่มา: เนชั่นทันข่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทนาย นปช.ร้องศาลอาญาเพิกถอนพิจารณาคดี 19 แกนนำ

Posted: 04 Oct 2010 02:59 PM PDT

ทนายความ นปช.ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีก่อการร้าย ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรม ในชั้นพนักงานอัยการและดีเอสไอ จึงขอให้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมด ศาลรับคำร้อง รอฟังคำสั่ง 27 ธ.ค.นี้

 
วานนี้ (4 ต.ค.2553) นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. ได้ยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีก่อการร้าย คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ
 
โดยคำร้องระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ในชั้นพิจารณาทำสำนวนการสอบสวนของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จึงขอให้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมด
 
ทั้งนี้ศาลรับคำร้องไว้ เพื่อให้ฟังคำสั่งวันที่ 27 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนเสื้อแดงเชียงใหม่มอบดอกไม้รับ “ม.ล.ปนัดดา” พร้อมมีแถลงการณ์เสนอให้ ชม.มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง

Posted: 04 Oct 2010 02:41 PM PDT

“ม.ล.ปนัดดา” เปลี่ยนแผนเข้าศาลากลางรับหนังสือ-ช่อดอกไม้จาก กลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ยันไม่เคยคิดเรื่องถูกส่งมาปราบคนเสื้อแดง ส่วนกรณีจับนักรบแดงต้องรอตรวจสอบ ส่วนคนเสื้อแดงออกแถลงการณ์ต้อนรับผู้ว่าคนใหม่ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนกรุงเทพฯ

 
วันนี้ (4 ต.ค.53) ศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่ และกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต้อนรับ และอ่านแถลงการณ์ ต้อนรับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่เดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งโยกย้าย เมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณ หน้าศาลากลาง จ.เชียงใหม่ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่าง ม.ล.ปนัดดากำลังตระเวนสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของจังหวัด ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางมุ่งเข้าศาลากลางจังหวัด เพื่อไปรับมอบช่อดอกไม้และแถลงการณ์จากกลุ่มคนเสื้อแดง 
 
ม.ล.ปนัดดา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่อหน้ากลุ่มคนเสื้อแดงว่า ในฐานะผู้ว่าคนใหม่จะพยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถ ส่วนเรื่องที่ทางมวลชนเสนอให้มีการรู้รักสามัคคีตามแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของเราทุกคนที่จะช่วยกันเสริมสร้างทัศนคติดังกล่าว 
 
"อย่ามองผมเป็นคนอื่นเป็นอันขาด วันเวลาที่ผมอยู่เชียงใหม่มีความพร้อม มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกท่านเพื่อช่วยกันเสริมสร้าง จ.เชียงใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์อย่างที่เป็นมาสืบต่อไป ขอความร่วมมือให้คนไทยรักใคร่ปรองดองให้อภัยซึ่งกันและกัน มารวมตัวเสริมสร้างทัศนคติที่ดีงาม"
 
ม.ล.ปนัดดา กล่าวถึงนโยบายการทำงานว่าตนจะเป็นผู้เสริมสร้างแนวทางรู้รักและสามัคคีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เน้นป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากเชียงใหม่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 อำเภอ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ขณะเดียวกันจะส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เชียงใหม่และเร่งฟื้นฟูเรียกความมั่นใจให้เชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองแห่งเสน่ห์ล้านนาเช่นกับอดีตอีกครั้ง 
 
ต่อกรณีที่มองว่าเป็นผู้ว่าฯ ที่ถูกส่งมาเพื่อปราบคนเสื้อแดงนั้น ยืนยันว่าเป็นข้าราชการคนใหม่ใน จ.เชียงใหม่ที่รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท มีหน้าที่สร้างความรักความสามัคคีให้คนในชาติไม่เคยคิดในเรื่องดังกล่าว และพร้อมจะทำงานเพื่อประชาชนโดยแสวงหาความร่วมมือและพร้อมจะรับฟังเหตุผลของทุกฝ่ายก็จะพยายามทำหน้าที่ทุกอย่าง
 
 ม.ล.ปนัดดา กล่าวถึงกรณีตำรวจจับกุมนักรบเสื้อแดง 11 คนใน จ.เชียงใหม่วานนี้ว่า ผมเพิ่งมาและทราบข่าวเท่าๆ กันกับพวกเราทางหน้าหนังสือพิมพ์ ก็รอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมารับหนังสือและช่อดอกไม้จากกลุ่มแดงครั้งนี้ พบว่าไม่มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปราบจราจลหรือชุดรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเช่นกับทุกครั้งที่ผ่านมา มีเพียง พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ซึ่งนำตำรวจในและนอกเครื่องแบบติดตามมาดูแลเพียงไม่เกิน 10 นายเท่านั้น นอกจากนี้ที่ศาลากลางจังหวัดยังงดการตรวจสอบการเข้าออกของผู้มาติดต่อราชการ
 
ทั้งนี้ หนังสือและแถลงการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
วันที่ 4 ตุลาคม 2553
 
เรื่อง ยินดีต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
เรียน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
สิ่งที่แนบ แถลงการณ์ของ ประชาชนชาวเชียงใหม่ผู้รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย
 
ตามที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย และจากการที่ปัจจุบันนี้ประเทศชาติของเราเกิดวิกฤตปัญหาทางการเมืองมีความแตกแยกทางความคิดเป็นฝักเป็นฝ่าย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่มีกระแสการเมืองที่แข็งแกร่ง มีกลุ่มบุคคลและกลุ่มการเมืองอยู่มากมายหลายกลุ่ม มีการต่อสู้ทางความคิดและการรวมตัวแสดงพลังกันอยู่เป็นประจำในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้บ้านเมืองไม่มีความสันติสุข เพราะที่ผ่านมาคนเชียงใหม่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ล้วนมีความเข้าอกเข้าใจต่อกัน มีการประสานงานกัน และร่วมมือกัน ในการแสดงออกตามแนวทางประชาธิปไตยตามกฎหมาย ร่วมกันสร้างความรักความสามัคคี สร้างความสงบสุข ภายในจังหวัดเชียงใหม่ของเรา
 
ในการมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ของท่านในครั้งนี้ เราประชาชนชาวเชียงใหม่คาดหวังอย่างยิ่งว่า ท่านผู้มีสายเลือดของ องค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงริเริ่มก่อตั้งและทรงเป็นปฐมเสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้สร้างนิมิตหมายอันดีในการเป็นผู้ว่าราชการที่คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุข พัฒนาท้องถิ่น สร้างขวัญกำลังใจ สร้างความรักความสามัคคี ให้แก่ราษฎรประชาชนชาวเชียงใหม่
 
เราประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่จึงยินดีต้อนรับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการมาดำรงตำแหน่งในครั้งนี้
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
ประชาชนชาวเชียงใหม่ผู้รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย
 
ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่
 
 
..............................
 
 
แถลงการณ์
ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่
เรื่อง ยินดีต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คนใหม่
 
ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เราประชาชนชาวเชียงใหม่ ยินดีต้อนรับท่านผู้ว่าคนใหม่ ผู้ที่จะมาเป็นพ่อเมืองเชียงใหม่ มาเป็นผู้นำในการพัฒนาสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง สร้างความรักความสามัคคี และความสงบสุขร่มเย็น ต่อจังหวัดเชียงใหม่
 
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ ที่ท่านดำรงตำแหน่งอื่น เช่นเป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย หรือเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม จะมีข่าวว่าท่านสนับสนุนต่อบางกลุ่ม ไม่ชอบใจต่อบางกลุ่ม จะเพราะเหตุผลที่ไม่อาจกล่าวถึงอย่างไรก็ดี แต่เราประชาชนชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ ผู้ที่รักและเคารพต่อ อดีตนายกรัฐมนตรีคนเชียงใหม่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นวีรบุรุษขวัญใจคนรากหญ้าทั่วประเทศ ก็คาดหวังว่าด้วยจิตใจของผู้ใหญ่ และจิตใจของผู้บริหาร จิตใจของชาวมหาดไทย และหลังจากได้ร่วมมือทำงานกับประชาชนชาวเชียงใหม่แล้ว เราจะได้เห็นการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข ที่จริงจังและจริงใจจากท่าน ผู้มีสายเลือดสิงห์มหาดไทยอย่างเข้มข้น
 
ประชาชนคนเสื้อแดงเชียงใหม่ในนามศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่ เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกอำเภอ เป็นผู้ประสานงานในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ มาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เราบ่งชี้ว่าเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศชาติของเราอยู่ในขณะนี้ การรัฐประหารในครั้งนั้นนอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้แล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาทุกอย่างให้แย่ลงกว่าเดิม สิ่งที่จะเป็นคุณประโยชน์ของการรัฐประหารมีอยู่อย่างเดียว คือการปลุกจิตสำนึกของประชาชนผู้รักชาติได้ตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยมีคุณค่ามากมายแค่ไหน ประชาธิปไตยสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีกว่าได้อย่างไร เหมือนอย่างกับที่บอกกันว่าประชาธิปไตยสามารถกินได้ และการรัฐประหารในครั้งนั้นคือการเปิดเผยตัวเองอย่างล่อนจ้อนของผู้มีอำนาจและใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย นั่นก็คือการใช้อำนาจแบบเผด็จการ กดขี่ และเหยียดหยามประชาชน
 
ประชาชนคนเสื้อแดงเชียงใหม่เป็นกลุ่มประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบ้านเมืองของเรา เราก็ไม่อาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์เหล่านี้เพราะการนิ่งเฉยของประชาชนอาจทำให้เหล่าเผด็จการคิดไปเองว่าเราให้การสนับสนุนพวกเขา เราจึงต้องออกมารวมตัวกันแสดงพลังว่าเราขอต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ เราได้รับการปลูกฝังในการรักษาบ้านเมืองตามพระราชดำรัสที่ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” และเราก็เห็นว่าประชาชนต้องออกมาควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ซึ่งก็คือรัฐบาลชุดนี้ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอย่างไม่ชอบธรรม มาเป็นรัฐบาลเพราะได้รับการสนับสนุนและกรุยทางจากทหารและเผด็จการที่ทำรัฐประหารมาก่อนหน้านี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศมาเป็นลำดับที่สอง มี ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งห่างจากลำดับแรกถึงกว่า 70 คน แต่ด้วยการใช้อำนาจเผด็จการนอกระบอบประชาธิปไตยพลิกแพลงฉันทามติของประชาชน ตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาในค่ายทหาร เราจึงเห็นว่านั่นคือการตบหน้าประชาชนเจ้าของอำนาจทั่วประเทศ
 
และเมื่อเราประชาชนยืนยันหลักการประชาธิปไตยเดินทางไปทวงถามสิทธิ์ของเรา โดยการเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่ตามแนวทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทรราชย์ของนายอภิสิทธิ์ไม่แค่เพียงไม่สนองตอบเท่านั้น แต่กลับเข่นฆ่าสังหารชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปอย่างมากมายหลายร้อยคน บาดเจ็บ และถูกจับกุมคุมขังในคุกอีกหลายพันคน ในสถานการณ์ไม่ปรกติเช่นนี้ ที่เหตุการณ์รุนแรงยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายน้อยกว่านี้ ถามว่าถ้าหากไม่ได้รับการหนุนหลังจากอำนาจเผด็จการที่ครอบงำประเทศแล้ว รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จะลอยหน้าอยู่เช่นนี้ได้อย่างไร เราจึงเห็นว่าการที่ประชาชนต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ก็คือการปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำรัสในการไม่สนับสนุนคนไม่ดีให้เข้ามาปกครองบ้านเมืองนั่นเอง
 
จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ก็จริง แต่ในหลายปีมานี้การทำงาน หรือการพัฒนา และแก้ไขปัญหาทุกอย่างของจังหวัดกลับดำเนินไปได้อย่างเชื่องช้า สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการบ่อยครั้ง บางท่านมาอยู่ไม่ถึงปี บางท่านมาอยู่ ปี 2 ปีก็ย้ายออกไป ไม่ได้ทำงานแบบต่อเนื่อง ไม่เหมือนจังหวัดสุพรรณบุรีที่เจริญอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ว่าอยู่ทำงานต่อเนื่องถึง 5 ปี แต่จังหวัดเชียงใหม่ยังมีงานพิเศษอีกมากมาย ทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองทหาร เมืองศูนย์กลางราชการของภาคเหนือ ทำให้งานสังคมพวกนี้ ทั้งงานต้อนรับบุคคลสำคัญ งานประสานงาน งานประชุม งานสังคม กลายเป็นงานสำคัญและจำเป็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จนเป็นที่มาของการพูดประชดประชันของบุคคลทั่วไปที่มองว่าหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คือ “ฮับแขก แดกเหล้า เฝ้าสนามบิน ตัดริบบิ้น (ตี๋ก๊อง) แล้วไปตี๋กอล์ฟ”
 
เรามองเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นผู้นำในการพัฒนาเมือง และเราก็มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า ผู้ว่าราชการของเชียงใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่ง พวกท่านมาแล้วก็ไปๆ ไม่เคยได้ทำงานให้บ้านเมืองของเรา ปัญหาของจังหวัดเราจึงไม่ได้รับการแก้ไขเพราะขาดคนทำงาน การพัฒนาเมืองของเราจึงไม่เกิดขึ้นเพราะขาดผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ก็โดยแต่การมีผู้นำที่อยู่อาศัยในท้องถิ่น มีผู้นำที่อาสาและแข่งขันกันเข้ามาทำงาน มีวาระในการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน ซึ่งนั่นก็คือต้องมีการเลือกตั้ง ต้องให้อำนาจต่อประชาชนคนเชียงใหม่เป็นผู้เลือกคนเข้ามาทำงาน เมื่อนั้นปัญหาต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่จะได้รับการแก้ไขที่ถูกจุด เราจึงคาดหวังไว้ว่าเมื่อประเทศชาติของเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนคนเชียงใหม่จะมีโอกาสเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของเราโดยตรง
 
เราจึงขอเสนอให้มีการ “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่” เข้ามาทำงานให้จังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญทัดเทียมกับเมืองใหญ่ ที่เจริญแล้วอย่าง กรุงเทพมหานคร
 
ด้วยความเคารพ
กลุ่มประชาชนชาวเชียงใหม่ผู้รักความเป็นธรรม และรักประชาธิปไตย
ศูนย์ประสานงานกลาง นปช. แดงเชียงใหม่
แถลง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
วันจันทร์ ที่ 4 ตุลาคม 2553
 
 
  ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และ เว็บไซต์นปช.แดงเชียงใหม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายคนดูหนัง ชวนส่งภาพประกวดในหัวข้อ "พอ หรือ ยัง ตัด บัง เบลอ"

Posted: 04 Oct 2010 01:10 PM PDT

 
เครือข่ายคนดูหนัง เผยแพร่กิจกรรมผ่านทางเว็บไซต์ http://thaiaudience.wordpress.com/ ชวนเชิญส่งภาพเข้าร่วมประกวดในหัวข้อ “พอ หรือ ยัง ตัด บัง เบลอ” กับทางเครือข่ายคนดูหนัง
 
 
“พอ หรือ ยัง ตัด บัง เบลอ ? คำถามนี้มักเกินขึ้นคนดูหนังชาวไทยที่หงุดหงิดใจทุกครั้งกับการเซ็นเซอร์ภาพ ในแผ่นหนังที่เราเสียเงินหลายร้อยบาทซื้อ ตั้งแต่ฉากโป๊เห็นหน้าอก ยันตูดเด็กทารก, ฉากยิงกันเลือดอาบจนถึงชิซูกะอาบน้ำ, ฉากสูบบุหรี่ เหล้า ที่แม้จะยังไม่มีตัวละครคนไหนไปหยิบจับ, คำพูดหยาบคายที่หายไปจากปากตัวละคร จากผู้ที่คอยตัดสินบอกเราว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่ง "ไม่ดี ไม่ควรดู ไม่ควรกระทำตาม" ซึ่งบ่อยครั้งก็แสดงให้เห็นถึงความไร้เหตุผลของคนกลุ่มนี้ และกระบวนการเซ็นเซอร์หนัง”


“นั่นจึงกลายเป็นที่มาที่เราจัดประกวด ครั้งนี้เพื่อรวบรวมภาพการเซ็นเซอร์ เหล่านั้นมาเก็บไว้เป็นภาพประวัติศาสตร์ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราได้เห็นการกระทำที่ไร้เหตุผลนี้ เป็นบทเรียนสืบไป เอาไว้” 
 
กติกา คือให้ส่งภาพที่โดน ตัด บัง เบลอ หรือใช้เทคนิคต่างๆ ในการเซ็นเซอร์ภาพจากแผ่นวีซีดี หรือดีวีดีที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ภาพจากรายการโทรทัศน์ต่างๆ ของไทย พร้อมตั้งชื่อภาพเสียดสีประชดประชันภาพเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นความน่ารังเกียจของการเซ็นเซอร์ อาจใช้เทคนิคอื่นๆ มาร่วมด้วย เช่น นำภาพต้นฉบับมาเทียบ, การทำภาพซ้ำ, การนำภาพที่ถูกตัดมารวมมิตรกัน เป็นต้น 
 
ส่งภาพในรูปแบบไฟล์ JPG ไม่จำกัดขนาดมาที่ movieaudiencenetwork@gmail.com (แนะนำควรปรับค่า Resolution หรือความละเอียดภาพ ตั้งแต่ 300 dpi ขึ้นไปเพื่อให้สามารถพิมพ์ต่อได้) พร้อมชื่อภาพที่ตั้ง, ชื่อผู้ส่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อ-สกุลจริง) และอีเมล์เพื่อใช้การติดต่อกลับ ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2553
 
ภาพต่างๆ ที่ส่งเข้าประกวดจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ส่วนภาพที่มีไอเดีย และการนำเสนอที่โดดเด่นตามลำดับ จนได้รับเลือกจะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ มอบให้กับผู้ส่งภาพร่วมสนุก และจะมีการนำภาพมาลงเผยแพร่ในบล็อกเครือข่ายคนดูหนังต่อไป ในขนาดราว 500 X 500 pixel รวมถึงอาจนำไปเผยแพร่ต่อในกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางเครือข่ายจัด
 
 
ที่มา: http://thaiaudience.wordpress.com/2010/01/19/censorphotocontest/
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เจตนารมณ์การผลักดันองค์กรอิสระ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

Posted: 04 Oct 2010 06:29 AM PDT

 

หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม เจตนารมณ์การผลักดันองค์กรอิสระ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

 

หากมองย้อนไปในอดีต 17 ปีที่ผ่านมา มีการเกิดโศกนาฏกรรม ซ้ำซากที่ทำให้เกิดการสูญเสียสุขภาพร่างกาย จิตใจ คนงาน แล้วยังนำมาสู่การเกิดความหายนะมาสู่ครอบครัว ซ้ำร้ายยังเกิดการกล่าวขาน ไปในทางไม่ดีไปทั่วโลก กับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สะเทือนขวัญของแรงงานไทยได้แก่ * ชุมชนคลองเตยถูกผลกระทบจากสารเคมีระเบิดที่คลองเตย (2 มี.ค.34) มีผู้เสียชีวิต 4 คน บ้านเรือน 642 หลังคาเรือนเสียหายในกองเพลิง*โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม จังหวัดนครปฐม จนทำให้คนงานวัยหนุ่มสาว ต้องตายถึง 188 ศพและบาดเจ็บถึง 469 ราย (ในวันที่ 10 พ.ค. 36)*โรงงานรอยัลพลาซ่าถล่ม (วันที่ 13 ส.ค.36 ) มีคนงานข้าราชการ นักท่องเที่ยวตายรวม 167 รายบาดเจ็บกว่า 200 ราย กรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน (11 ก.ค.40) ทำให้คนงาน นักท่องเที่ยว และพนักงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตายรวมจำนวน 91 รายบาดเจ็บกว่า 50 ราย โรงงานอบลำไยแห้งบริษัทหงษ์ไทยระเบิด (19 ก.ย. 2542) คนงานเสียชีวิต 36 คน บาดเจ็บ 2 ราย ชุมชนสันป่าตองบริเวณรอบโรงงานรัศมี 1 กิโลเมตร บ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เสียหายกว่า 571 หลังคา เรือน และชาวบ้านบาดเจ็บ 160 ราย จะเห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ยังขยายตัวออกมาสู่คนในชุมชน เช่น ชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปาง

จากการประสบอันตรายและเจ็บป่วย รวมถึงการเสียชีวิตนั้นยังต้องมีขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ของญาติผู้อยู่ข้างหลังกว่าจะได้รับสิทธิทดแทนนั้นยากเย็นต้องใช้ระยะเวลานานแต่การสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไม่มีอะไรมาชดใช้ได้ จนทำให้นักวิชาการ เอ็นจีโอด้านแรงงาน ผู้นำแรงงานได้เคลื่อนไหวช่วยเหลือผลักดันมาตลอดช่วงนี้เองที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ก่อเกิดขึ้น เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 จากการรวมตัวกันของคนงาน “โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย” ที่เจ็บป่วยและปอดเสื่อมสมรรถภาพการทำงานของปอดอย่างถาวรการเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนนั้น ยากเย็นมาก เพราะถูกปฎิเสธ ทั้งจากนายจ้าง และยังถูกปฎิเสธ จากกองทุนเงินทดแทน ต้องมีการฟ้องร้องกันเป็นร้อยคดี คนป่วยรวมกันหลายพันคน บางรายถูกปลดออกจากงาน บางรายทำงานไม่ไหวก็ต้องลาออกเอง แต่หลายรายก็ถูกนายจ้างปลดออกจากงานทั้งๆ ที่ป่วย อย่างไร้ความปราณี ต้องต่อสู้คดีกับนายจ้างและสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมการต่อสู้คดีนี้ 16 ปี แล้วก็ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาลงมา จากการต่อสู้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย กลายมาเป็นผู้ป่วยจากการทำงานหลายๆ โรคจากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม ในหลายพื้นที่และต้องเข้าเรียกร้องสิทธิ์ ผ่านสมัชชาคนจน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 และต่อมาในรัฐบาลหลายสมัย โดยการช่วยเหลือให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษาที่เป็นทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เอ็นจีโอด้านแรงงาน

และหลายฝ่ายเริ่มมีความคิดร่วมกันว่า การเรียกร้องสิทธิทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุเท่านั้น ในขณะที่ตัวเลขสถิติทางกระทรวงแรงงานก็มีลูกจ้างบาดเจ็บประสบอันตรายจากการทำงานปีละไม่มากไม่น้อยไปจาก 200,000 ราย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการประสบอันตรายจากากรทำงาน ในส่วนโรคที่ได้รับสารเคมีหรือฝุ่นในโรงงาน หรือโรคสืบเนื่องจากการทำงานก็ยังเข้าสู่กองทุนเงินทดแทนยากลำบาก ต้องเจ็บป่วยเรื้อรังตกงานหมดอาชีพไม่มีเงินรักษาตัว ทำให้ชีวิตครอบครัวและอนาคตร่มสลายหาทางออกไม่ได้กลายเป็นคนที่จนที่สุดเพราะต้องสูญเสียสุขภาพ

การเรียกร้องทางนโยบายเริ่มเกิดขึ้นในปี 2537 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยของคนงาน เช่น เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์ และหน่วยงาน ที่เชี่ยวชาญสาขา อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัย สถาบันคุ้มครองสุขภาพคนงาน โดยผลักดันเป็นกฎหมาย ซึ่งท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ได้กรุณานำร่าง พรบ.มาเสนอให้หลายฝ่ายช่วยกันปรับปรุง แล้วสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ นำเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาล สมัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนได้มติ ครม. 26 มีนาคม 2540 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง ใช้ระยะเวลาร่วมร่าง 6 เดือน จนได้ร่าง พรบ.ฉบับสมบูรณ์ ร่างพรบ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. .... แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่างพรบ.ดังกล่าวได้ถูกระงับไปเสียก่อนจะถูกเสนอเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.)

ต่อมา ปี พ.ศ.2544 เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และผลักดันข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งสถาบัน ร่างพรบ.ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ..(.ฉบับบูรณาการ) ไปเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล สมัยคุณลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็ออก พรบ.ฉบับใหม่ คือ ร่างพรบ.ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) และยื่นเข้าสู่ ครม.ไปควบคู่กับ ร่างพรบ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานกระกอบการ พ.ศ. ....เป็น 2 ฉบับ ในขณะนั้น และถูกตีกลับมายังกระทรวงแรงงานใหม่

ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 กระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการ ร่วมพิจารณาร่าง พรบ. 2 ฉบับใหม่ เข้าด้วยกัน ในส่วนของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ สมัชชาคนจน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการพิจารณารวมร่าง พรบ. 2 ฉบับ นี้ด้วย รวมกันแล้วใช้ชื่อ ร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการ) ซึ่งเป็นร่างที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พรบ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ ยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น มีการตั้งองค์กรอิสระที่เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน มีคณะกรรมการบริหารงานแบบเบญจภาคี ปรับเป็น จัตุภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ และภาคีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ (ภาคีผู้ถูกผลกระทบ) โดยทำงานครบวงจร เช่น รักษา ฟื้นฟู ทดแทน โอนสถาบันความปลอดภัยความ และกองทุนเงินทดแทน มาอยู่ในสถาบันเสริมความปลอดภัยฯ ภายใน 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.คุ้มครองส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ
2.จัดการทางการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจาการทำงาน เพื่อให้สามารถกลับเข้าทำงานประกอบอาชีพได้ตามความเหมาะสมหรือดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข
3.ดำเนินการเพื่อคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับเงินกองทุนเงินทดแทนให้เป็นไปอย่างมีหลักประกันสุขภาพและประสิทธิภาพ และมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1.สำรวจ ศึกษาวิเคราะห์วิจัย และพัฒนา เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวางเป้าหมาย นโยบาย และจัดทำแผนงานโครงการและมาตรฐานต่างๆ
2.พัฒนาจัดทำมาตรฐานด้านสุขภาพและยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพความปลอดภัย
3.ส่งเสริมให้สถานประกอบการได้มีการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ
4.กำกับดูแล และตรวจสอบสถานประกอบการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ
5.เป็นศูนย์ข้อมูลและฝึกอบรมด้านสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ
6.ส่งเสริมและประสานบริการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ

**พอร่างแล้วเสร็จก็มีอันเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง**
ต่อมา ปี 2547 กระทรวงแรงงาน ก็ได้นำร่าง พรบ.ฉบับใหม่ ขึ้นมา ชื่อว่า ร่างพรบ.ความปลอดภัยอาชีว อนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ยื่นเข้าสู่ ครม. โดยเสนอตีคู่ไปกับ ร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการ) โดย ครม.จึงมีมติรับหลักการให้รวมร่าง พรบ .ทั้ง 2 ฉบับ เข้าด้วยกันอีกเป็นครั้งที่สอง โดยส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณา ในการรวมร่าง 2 ฉบับ ผลออกมา กลายเป็น ร่างพรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้มีการจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน โดยเอาเบี้ยดอกผลของกองทุนเงินทดแทนมาเป็นกองทุนเพื่อให้นายจ้างกู้ไปจัดซื้ออุปกรณ์และการจัดการความปลอดภัยในการทำงาน และสนับสนุนงานวิชาการและการรณรงค์ ซึ่งการบริหารจัดการโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วน การจัดตั้งองค์กรอิสระ ตามร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีว อนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .ให้ไปอยู่ใน มาตรา 52 ของ ร่างพรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... โดยมีเพียง 3 บรรทัด “ว่าหากมีความพร้อมเมื่อใดให้จัดตั้งองค์กรอิสระ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และเป็น องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

(ซึ่งมีข้อสังเกตคือทำไมกระทรวงแรงงาน ถึง ไม่ยอมรับร่างฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็มีส่วนร่วม และทำไมต้องนำ ร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ..ขึ้นมาใหม่ เพื่อยื่นประกบโดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายแม่บทในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน) โดยแท้จริงแล้วร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) จะอ้างเป็นกฎหมายแม่บทของความปลอดภัยในการทำงานไม่ได้ เพราะเป็นร่างกฎหมายที่อุ้มนายทุน อุ้มนายจ้าง และในสาระสำคัญของหลายๆ มาตรา (ก็มีการเขียนล้อกับอำนาจหน้าที่ของร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ...ไปบรรจุไว้ในพรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ..ในขณะที่ร่างกฎหมาย พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ...ของกระทรวงแรงงานนั้น เน้นการบริหารโดยราชการที่ไปเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ โดยการสร้างองค์กรใหม่ในหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นคนทำงานก็เป็นคนเดิมๆ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบคนเดิมๆ มีจำนวนเท่าเดิม ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับแรงงาน อีกทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพ ที่ให้นายจ้างหรือองค์กรเอกชนกู้ยืมเงินในการปรับปรุงโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร ในด้านความปลอดภัยของโรงงาน ซึ่งจุดนี้เองการจะลงทุนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานนั้น เป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือผู้ลงทุนในการประกอบกิจการในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้รัฐหรือกระทรวงแรงงานมาออกกฎหมายมาให้นายจ้างกู้เงินไปลงทุนด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับแรงงานที่เป็นผู้ถูกผลกระทบโดยตรง ซึ่งมองว่าเป็นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า และกระทรวงแรงงานยังอาศัยชื่อ พรบ. ที่มีความปลอดภัยที่คล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างกฎหมายฉบับนี้ที่เรียกกันสั้นๆ ว่ากฎหมายความปลอดภัย

แต่เมื่อมาดูในส่วนเนื้อหาสาระจะพบว่าร่างกฎหมายฉบับของแรงงาน มีความแตกต่างจากฉบับของกระทรวงแรงงานอย่างมาก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีการผลักดันร่างกฎหมาย พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการ) ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ มาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม

ซึ่งต่อมาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ฯ สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยนักวิชาการ เอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน กลุ่มคนงานที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงาน ได้ร่วมกันคัดค้าน ร่างกฎหมาย พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ของกระทรวงแรงงาน จึงได้ตัด มาตรา 52 ออก

ทั้งนี้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ก็ยังเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อคัดค้าน ร่างพรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ไว้ เพราะเห็นว่าการออกกฎหมาย พรบ.ความปลอดภัยมา ก็มิได้เป็นการปฎิรูประบบสุขภาพความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในขณะนี้ได้ เพราะขาดการมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็เป็นคนเดิม จำนวนเท่าเดิม ในหน่วยงานเดิมๆ ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่ล้าหลังกว่า พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

ผู้ใช้แรงงาน จึงใช้วิธีการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 163 เพื่อเสนอกฎหมาย (โดยพรบ.ฉบับนี้เคยมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2541 แต่ช่วงนั้นการเข้าชื่อยังไม่มีกฎหมายลูกการเข้าชื่อจึงไม่เป็นผล) แต่ในขณะนั้นการเข้าชื่อยังไม่ครบ 10,000 รายชื่อได้เพียง 9730 รายชื่อเท่านั้นเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งงบประมาณ คนที่จะมาทำงาน และเวลา

ในวันที่ 8 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้นำแรงงานเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง บางพลี สมุทรปราการ อยุธยา อ่างทอง รังสิต-ปทุมธานี และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก ได้ชุมนุมในวันนี้เพื่อประท้วงพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ทำตามสัญญาทั้งที่ได้เป็นรัฐบาล อีกทั้งยังได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งในสมัยเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลเงา จะมีมติรับหลักการ ยึดถือ ร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... เป็นร่างของพรรค แต่พอได้เป็นรัฐบาลตัวจริงกลับผ่านร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) ไปยัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) และกำลังจะผ่านเข้าไปในวาระ 1 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร อันใกล้จะถึงนี้ ทั้งนี้ในการชุมนุม ณ หน้าที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณเวลา 14.00 น. ซึ่งมีนายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม. ได้เข้าพบและรับหนังสือคัดค้าน ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับกระทรวงแรงงาน) พร้อมทั้งรับปากว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด โดยนายชุมพล กาญจนะ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีใครเดือดร้อนตนจะเป็นผู้รับเรื่องไว้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาและสั่งการ และจะติดต่อกลับไปตามที่อยู่ที่มีการระบุ ไว้ในหนังสือที่ยื่นคำคัดค้านมานี้แต่ความเป็นจริงก็คือยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ มีความเป็นมาในการเดินทางกว่าจะได้เข้าสู่สภา ฯใช้ระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี ต่อปลายปี 52 โดยการสนับสนุนจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และด้วยความร่วมมือในการทำงานขององค์กรภาคี สนับสนุน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯ สมัชชาคนจน เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เครือข่ายภาคประชาชน กทม. ได้รวมตัวกันและเคลื่อนไหวผลักดัน

จนกระทั่ง เมื่อ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2552 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ และได้รับการพิจารณาเห็นชอบรับหลักการวาระ 1 ในคราวเดียวกันจำนวน 7 ฉบับ 5 ฉบับ เป็นร่าง พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อีก 2 ฉบับ เป็นร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้มี ส.ส. รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.สถาพร มณีรัตน์พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอร่าง พรบ.ฉบับผู้ใช้แรงงาน

และ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คุณสมบุญ สีคำดอกแค ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฝ่ายผู้ใช้แรงงานโดยการเสนอของ ส.ส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์ และส่วนคุณมนัส โกศล ตัวแทนสภาองค์กรลูกจ้าง ก็ได้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวด้วย คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ เริ่มมีการพิจารณาร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ ตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยที่ประชุมให้พิจารณาร่าง พรบ. ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ..... ซึ่งเป็นร่างหลักของรัฐบาลไปก่อน แล้วค่อยนำ ร่าง พรบ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มาพิจารณาภายหลัง เนื่องจาก ร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่รับหลักการมาจากสภาผู้แทนราษฎร มีความแตกต่างกันอย่างมาก ที่ประชุมกำหนดว่า จะเอา การจัดตั้งองค์กรอิสระ ร่าง พรบ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ไปไว้ในหมวดใดหมวดหนึ่งของ ร่าง พรบ.ความปลอดภัย ฯ กรรมาธิการฝ่ายผู้ใช้แรงงานจึงได้ร่วมพิจารณากฎหมาย พรบ.ความปลอดภัยฯไปด้วยและได้มีการเสนอขอแก้ไขบางมตราที่ผู้ใช้แรงงานเสียเปรียบไปได้หลายข้อ ซึ่งแต่ละข้อก็ผ่านไปด้วยความยากเย็นจนเสร็จ และผลการพิจารณาเริ่มนำร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมฯ มาพิจารณาเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 6 -7 -11 พฤษภาคม 2553 โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีมติร่วมกันให้บรรจุ ร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นการตั้งองค์กรอิสระ ไว้ใน พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้

1. เพิ่มมาตรา 4
“สถาบัน”หมายความว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
“คณะกรรมการบริหารสถาบัน” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

2. เพิ่มในหมวด 6/1 ดังนี้
หมวด 6/1
สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

มาตราที่ 51/1 ให้มี สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นองค์กรมหาชนที่ตังขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยองค์กรมหาชน เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) พัฒนาสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(3) ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมดำเนินงานด้าน กับหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของภาครัฐและเอกชน
(4) จัดให้มีการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ
(5) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน

มาตรา 51/2 สถาบันมีรายได้
(1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนเดิม
(2) เงินที่ได้รับจากการจัดสรรจากกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(3) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นรวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ
(4) ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนและค่าบริการต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานของสถาบัน
(5) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น

มาตรา 51/3 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมควบคุมโรค ผู้แทนกรมโรงงาน อุตสาหกรรม กับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชียวชาญ มีผลงาน หรือประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และต้องไม่ใช่ข้าราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ จำนวนหนึ่งคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ

ให้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารมอบหมายได้

การได้มาและการพ้นตำแหน่งของกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และ ฝ่ายลูกจ้างและผู้ทรงคุณวุฒิ ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยให้คำนึงทั้งให้มีหญิงและชาย

ผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปี ที่ 3 ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันที่ 1 กันยายน 2553 ณ ตึกรัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 1 กันยายน 2553  ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรอิสระที่ตั้งเป็นองค์กรมหาชน ประธานกรรมาธิการวิสามัญ คุณนคร มาฉิม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญ จึงได้ขอถอนร่าง พรบ. ความปลอดภัยฯออกมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขใหม่

จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ประชุมกันในวันที่ 7 ,10 ,14 กันยายน 2553 ผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ยืนยันให้เสนอร่าง พรบ.ความปลอดภัยที่บรรจุการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จัดตั้งองค์กรมหาชนเข้าไปใหม่  โดยท่านประธานกรรมาธิการขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าไปชี้แจงให้เหตุผลในสภาทุกคนพร้อมทั้งเสนอ กพร. (การบรรจุการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้าไปใหม่จึงมีแค่วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เท่านั้น)เพื่อป้องกันการซักถามและการตอบคำถาม    ผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปี ที่ 3 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันที่ 22 กันยายน 2553 เวลา 14.00 -15.00 น. ณ ตึกรัฐสภานั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 14 กันยายน 2553

ทั้งนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน เช่น ครั้งเมื่อ วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายทางท่านประธานกรรมาธิการวิสามัญ สส.นคร มาฉิม ก็ได้หารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอตัดการจัดตั้งองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน ออก สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 279 ต่อ 12 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 14 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้หน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว ตาม พรบ.ฉบับนี้รวมทั้ง
หมวด 6/1 ให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน (ไม่เป็นองค์การมหาชน ตามที่ระบุไว้) ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งสถาบันฯ ให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนหน้าที่สถาบันฯ คงเดิมตามที่ระบุไว้ในรายงาน ดังนี้
“มาตรา 51/1 ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นองค์องค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(3) ดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน
(4) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ

แต่ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน แม้จะผ่านสภาในวาระ 2 -3 แล้วนั้น แต่ก็ยังไว้วางใจอะไรไม่ได้ในขณะนี้ เพราะก็ยังห่วงว่า ต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาเสียก่อน ซึ่งจะทำอย่างไรให้ที่ประชุมวุฒิสภาเข้าใจความต้องการของผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งสถาบันฯเป็นองค์กรอิสระ อยู่ในหมวดที่ 6/1 มาตรา 51/1 มีมติรับรอง แล้วจึงนำกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรรับรองใหม่อีกครั้ง ให้ทันในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้ ที่จะมีการปิดสภาฯในเดือนพฤศจิกายน 2553

หลังจากนั้นจะทำอย่างไร ที่ผู้เสนอร่างจะได้เข้าไปมี ส่วนร่วมร่าง “องค์กรอิสระสถาบันฯส่งเสริมความปลอดภัยฯ” ได้อย่างไร เพื่อการมีองค์ประกอบของสถาบันฯ ที่ยังต้องมีหน้าตาที่สมบูรณ์ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แบบมีส่วนร่วมจริงๆของทุกภาคี ไม่ว่าจะเป็นภาคี ภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ภาคีผู้ถูกผลกระทบจากการทำงาน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหา แบบที่ผู้ใช้แรงงานและผู้เสนอร่างต้องการ เช่น ใครเป็นประธาน ผู้อำนวยการ กรรมการมาจากไหน และ อำนาจหน้าที่ของสถาบัน กิจกรรม การบรรจุ ว่ากองทุนงบประมาณ และคน จะเอามาจากไหน สถาบันอิสระนี้ ทั้งนี้ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องติดตามผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะมาส่งเสริมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นจริงได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานต่อไป.
  --------------------------------------------

มีข้อสังเกต: วัตถุประสงค์ในข้อที่
มีการจัดการทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาวินิจฉัยโรค พิจารณาการจ่ายเงินทดแทนและการฟื้นฟูสมรรถภาพของลูกจ้างที่เจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานเพื่อสามารถกลับเข้าทำงานประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข

ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญตั้งแต่ดั้งเดิม ข้อนี้ได้ถูกตัดออกไปเนื่องจาก ทางท่านอาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ ได้เชิญองค์กร ANROAV ประชุมระหว่างสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553มีข้อเสนอแนะจาก ANROAV ดังนี้ (ANROAV) คือองค์กรเครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเซีย
สถาบันฯ ควรจะเน้นบทบาทงานวิจัยกับการให้ความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องสิทธิความปลอดภัยฯ (Research + Education) ข้ออ่อนที่พบในปัจจุบันของงานวิจัยมิได้เป็นงานวิจัยเชิงลึก ที่ศึกษาปัจจัยเชิงโครงสร้าง อำนาจ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดต่อผู้ประสบเคราะห์ ทำให้งานวิจัยที่ผลิตออกมาไม่สามารถนำมาช่วยเหลือคนงานได้ และงบประมาณในการทำงานวิจัยกับการศึกษาคนงานต้องมาจากกองทุนเงินทดแทน

การที่สถาบันฯของกลุ่มเรา เข้าไปทำหน้าที่เองทุกเรื่อง เช่น การดูแลตรวจสอบสถานประกอบการ เป็นความเสี่ยง ในลักษณะนี้จะเกิดความขัดแย้งสูงที่รัฐหรือนายจ้างจะยินยอม หรือกรณีเจอผู้ประสบเคราะห์ถูกละเมิดสิทธิ์ ในระยะยาวอาจเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายนายจ้างหรือรัฐโต้ตอบได้ ซึ่งหน้าที่นี้ควรจะเป็นของรัฐดีที่สุด และสถาบันฯควรเข้าไปติดตามการทำงานของรัฐโดยต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบที่เป็นประชาธิปไตย

การที่สถาบันฯพยายามให้มีคณะทำงานที่มาจาก 5 ภาคี ถือว่าดีที่สุดเพราะเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่ถ้าสถาบันฯลดเหลือเพียง 4 ภาคี ควรจะให้ผู้ประสบเคราะห์ กับคนงานอยู่ด้วยกัน ไม่ควรนำไปรวมกับกลุ่มนักวิชาการหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจเกิดกรณีที่จะเวลาเลือกภาคีผู้ถูกผลกระทบอาจสู้นักวิชาการไม่ได้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ผอ.ประชาไท ว่าด้วยการจับกุมในคดีเมื่อสองปีก่อน

Posted: 04 Oct 2010 04:32 AM PDT

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งบางคนบอกว่าสนับสนุนคนเสื้อแดง และถูกบล็อคมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถูกจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ก.ย.) ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอนุญาตให้มีการโพสต์ความเห็นโดยผู้ใช้ หลังกลับจากการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในโลกไซเบอร์ที่ประเทศฮังการี เธอถูกควบคุมไปที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อต่อสู้คดีซึ่งถูกแจ้งความเมื่อสองปีก่อน ล่าสุด เธอได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 200,000 บาท และได้ให้สัมภาษณ์กับประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น
 

ประวิตร: แปลกใจกับการจับกุมอย่างกระทันหันนี้หรือไม่
จีรนุช: มากๆ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้น หมายจับนี้ออกมามากกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยทราบเลย อันที่จริงก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งแล้ว (หลังจากที่มีหมายจับออกมา) ไม่เคยเจอปัญหา มีเพียงเมื่อตอนเดินทางออกที่ถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ขอให้หยุด 5 นาที โดยแจ้งว่าชื่อของฉันไปพ้องกับชื่อของคนที่ถูกออกหมายจับ 5 ชั่วโมงที่ต้องเดินทางไปขอนแก่น และกลับถึงกรุงเทพฯ ตอนสิบโมงเช้าในวันต่อมา ตอนที่ถูกจับค่อนข้างกังวลว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว

คิดอย่างไรกับการถูกจับในช่วงนี้ ทั้งที่มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ขอนแก่นนานแล้ว
ไม่สามารถเข้าใจหรือหาคำตอบได้ ยืนยันว่าไม่เคยได้รับหมายเรียก แม้ว่าจะถูกออกหมายจับ ตำรวจขอนแก่นบอกว่า พวกเขาไม่ได้เตรียมจะจับกุม แต่จู่ ๆก็ได้รับการติดต่อจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่าได้ดำเนินการจับกุมแล้ว

ต้องทำอะไรต่อไป
ต้องรอดูว่าอัยการจะส่งฟ้องหรือไม่ คดีแรก (คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ส่งฟ้องแล้วและยังอยู่ในชั้นศาล หลังจากได้รับการประกันตัวครั้งนี้ ก็จะต้องไปรายงานตัวที่ สภอ.ขอนแก่น ทุกเดือน ซึ่งนับว่าเป็นภาระพอสมควร

กรณีนี้กระทบกับชีวิตของคุณอย่างไร
โดยส่วนตัวก็ตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม กรณีแบบนี้ถ้าเราต้องการกลั่นแกล้งใคร เราก็สามารถแจ้งความไว้ที่สถานีไกลๆ ที่ไหนก็ได้ แล้วคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือถูกกล่าวหาก็ต้องเดินทางไปแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในแง่การประกันตัวตามระเบียบเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ตามอัตราโทษ ทว่าในหลักปฏิบัติที่จะให้ความเป็นธรรมต่อคนที่ยังเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา และไม่ได้มีพฤติการณ์ของการหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การออกหมายเรียกจะเปิดโอกาสให้ไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในชีวิต อย่างการประกันตัว เพราะหากเป็นหมายเรียกแล้วเราไปรายงานตัวก็เข้าสู่กระบวนการของการสู้คดี แต่พอแบบนี้เหมือนกับเราถูกจับเข้าสู่ทางเลือกที่ไม่มีทางเลือก เพราะวันนั้นถามไปทางตำรวจที่คุมตัวว่าหากไม่ไปขอนแก่นได้หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่า ไม่ได้ ดูเหมือนว่า เรามีทางเลือกที่ถูกเลือกไว้ให้แล้วเท่านั้นเอง

เคยรู้จักผู้ฟ้องมาก่อนไหม
ไม่รู้จัก เท่าที่ทราบเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

คิดอย่างไรต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในหลายส่วนทั้งภาครัฐเองหรือคนในกระบวนการยุติธรรมเองก็เคยยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ในกระบวนการ เพียงแต่ยังไม่ถูกดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่มีการนำกฎหมายมากลั่นแกล้งใคร หรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม ดูเหมือนว่ากลไกการนำกฎหมายนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปกป้องสถาบันยังไม่ถูกดำเนินการอย่างแท้จริง และเห็นชัดว่า คนที่ฟ้อง ซึ่งเราไม่รู้จักเลย นึกอยากจะฟ้อง-ร้องทุกข์ก็สามารถทำได้ และอยากไปร้องทุกข์ที่ไหนก็ได้ ยังคุยตลกกันว่า ดีที่เขาไม่ได้ฟ้องที่นราธิวาส ไม่เช่นนั้นวันนั้นก็คงต้องไปนราธิวาส อันนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับจังหวัดนราธิวาส เพียงแต่มันไกลมากๆ หากต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ

สถานการณ์ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
คิดว่ามีปัญหาแน่ๆ และคงต้องช่วยกันทบทวนและช่วยกันพิจารณาทั้งในแง่ข้อกฎหมาย บรรยากาศ และปัญหาในแง่ความเข้าใจต่อพื้นที่ของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต ที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมเปิด ที่สังคมยังไม่เข้าใจและกลายเป็นพื้นที่จำเลยของการกดบังคับ หรือถูกทำให้เงียบ เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่คนรู้สึกว่าน่าจะพูดได้ แล้วก็อาจจะมีความรู้สึกของคน ไม่เฉพาะในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ของคนในสังคมเองที่อาจจะไม่ค่อยพึงพอใจนักต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนอย่างเปิดๆ อาจจะรู้สึกหวั่นไหวต่ออะไรแบบนี้ ก็อยากจะทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ที่ควบคุมได้และเงียบ และมีข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้ในแง่ของการบังคับ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะซับซ้อนเพิ่มขึ้นบางประการแบบนี้ และเป็นกฎหมายใหม่ จากที่ตัวเองประสบมาเห็นว่าอาจจะยังมีช่องว่างหรือจุดอ่อนของกระบวนการบังคับที่ก่อให้เกิดปัญหาคือความไม่เป็นธรรมต่อคนที่ถูกดำเนินคดี

โทษใครไหมกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
พยายามจะไม่โกรธ แต่คิดว่าต้องแฟร์กับคนที่โพสต์ด้วยเพราะหลายอันยังไม่มีใครบอกว่าข้อความนั้นผิดกฎหมายจริงหรือไม่ คือการที่จะบอกว่าอันไหนผิดหรือไม่ผิดจริงๆ โดยหลักการถึงที่สุดควรจะเป็นการตัดสินในชั้นศาล เพราะฉะนั้น ถ้าจะโกรธ ก็คงอยากโกรธความไม่ชัดเจนในสังคมไทย ความไม่สามารถอดทนที่จะยอมรับต่อความเห็นต่างของผู้คนในสังคมได้ และเลือกวิธีที่จะกดให้สิ่งเหล่านั้นมันเงียบให้หายไป ไม่ได้โกรธเป็นตัวบุคคล อย่างคุณอภิสิทธิ์ เองก็คิดว่าคงอยู่ในฐานะที่ไม่ง่ายนักและไม่สนุกนักกับการอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ แต่ในฐานะผู้นำรัฐบาลก็คาดหวังว่าเขาน่าจะแก้ปัญหาหรือทำอะไรได้มากกว่านี้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกคำร้องขอถอนฟ้อง “วิคเตอร์ บูท” คดีฟอกเงิน

Posted: 04 Oct 2010 04:28 AM PDT

 ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องที่อัยการฝ่ายต่างประเทศขอถอนฟ้อง “วิคเตอร์ บูท” สำนวนที่สอง ข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน

 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายวิคเตอร์ บูท ผู้ต้องหาในคดีค้าอาวุธสงครามข้ามชาติ เดินทางไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อมาฟังคำสั่งศาลกรณีการคัดค้านการถอนฟ้องในคดีที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา
 
นายชาติชาย กล่าวว่า จะประสานกับตำรวจส่งกำลังมาคุ้มครองด้วยอีกหน่วยหนึ่ง ส่วนคำตัดสินจะเป็นอย่างไร กรมราชทัณฑ์พร้อมดำเนินการตามคำสั่ง โดยคาดว่าจะไม่มีเหตุวุ่นวายหรือการชิงตัวผู้ต้องหา
 
ทั้งนี้ ศาลอาญาได้นัดไต่สวนคำร้องคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ ยื่นขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ ตามที่ทางการสหรัฐฯประสานงานมาใน 2 ข้อหา คือ สมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงิน และสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้อัยการไทยดำเนินการถอนฟ้อง เพราะศาลอุทธรณ์สั่งให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท เป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ซึ่งการไต่สวนของศาลจะสอบถามนายวิคเตอร์ บูท พร้อมกับพิจารณาคำร้องของนายลักษณ์ นิติวัฒนวิจารณ์ ทนายความที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการถอนฟ้องคดีดังกล่าว และศาลได้นัดคำสั่งเวลา 13.30 น. พร้อมกันทุกคำร้อง
 
ล่าสุด ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องที่อัยการฝ่ายต่างประเทศ ขอถอนฟ้องนายวิคเตอร์ บูท สำนวนที่สอง ข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน
 
 
ราชทัณฑ์ดูแล "วิคเตอร์ บูท" ในฐานะผู้ต้องขังต่อ
  
เนชั่นทันข่าว รายงานว่า นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องของอัยการในการขอถอนฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงและฟอกเงินทางอิเลคทรอนิคส์ของนายวิคเตอร์ บูท นักค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซียว่า เมื่อศาลยกคำร้องก็ถือว่านายวิคเตอร์ บูท ยังคงต้องเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่กรมราชทัณฑ์จะต้องให้การดูแลต่อไป โดยการดูแลนายวิคเตอร์ บูท จะยังคงใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ในฐานะผู้ต้องขังคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะต้องถูกคุมขังอยู่แดนความมั่นคงสูงของเรือนจำกลางบางขวางเช่นเดิมเพราะถือเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง โดยจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเรือนจำอย่างเข้มงวด 
 
นายชาติชาย กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าเยี่ยมนายวิคเตอร์ บูท ก็เป็นไปตามระเบียบเช่นเดียวกับผู้ต้องขังรายอื่น ส่วนทนายและภรรยาของนายวิคเตอร์ บูท สามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ พร้อมย้ำว่าส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจและจะพยายามให้การดูแลนายวิคเตอร์ บูท อย่างเต็มที่จนกว่าคดีจะสิ้นสุด 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.นำภาพผู้ต้องหาขู่บึ้ม "รพ.ศิริราช" แถลงข่าว แจงสารภาพ ก่อเหตุเพราะไม่พอใจพรรคการเมือง

Posted: 04 Oct 2010 03:59 AM PDT

ตร.เค้นสอบ "ช่างซ่อมรองเท้า" เผยใช้ตู้โทรหน้า "ช่อง5" ยังไม่ฟันธงวิกลจริต เบื้องต้นพบทำเพียงคนเดียว เพราะความคึกคะนอง แจ้งข้อหาทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 1 พันบาท ชั้น ตร.ค้านการประกันตัว ส่งศาลฝากขังพรุ่งนี้ 

 
วันนี้ (4 ต.ค.53) มติชนออนไลน์  รายงานว่า เมื่อเวลา 13.20 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เชิญผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุโทรศัพท์ไปข่มขู่วางระเบิดโรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา มาทำการสอบสวนเพื่อขยายผล คาดว่าจะแจ้งรายละเอียดทั้งหมดให้ทราบในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นคนวิกลจริตจริงหรือไม่ 
 
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัยรายนี้มีอาชีพ เป็นช่างซ่อมรองเท้า จับได้ในกทม.เป็นการเชิญตัวมาสอบถาม ยังไม่สามารถควบคุมตัวได้ เนื่องจากต้องรอการขออนุมัติจับกุมจากศาล เบื้องต้นชายคนดังกล่าวก็รับสารภาพว่าเป็นคนก่อเหตุจริง ส่วนสาเหตุต่างๆ นั้น ต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลเสียก่อน จึงจะสามารถเปิดเผยข้อมูลได้
 
“เบื้องต้นทราบว่าเป็นคนปกติ ไม่ได้เป็นคนวิกลจริตตามที่สงสัยกันแต่อย่างใด และมีอาชีพเป็นช่างซ่อมรองเท้า ส่วนพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นคนร้าย ทางตำรวจก็มีครบถ้วน ทั้งเสื้อผ้าที่ใช้ ภาพจากกล้องวงจรปิดที่โทรศัพท์ในตู้สาธารณะหน้า ททบ.5 ส่วนสาเหตุนั้น ต้องขอเรียนว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เอาเป็นว่าคนร้ายรับสารภาพว่าก่อเหตุ” ผบก.น.1 กล่าว
 
ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) พล.ต.ท.จักรทิพย์ พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.วิชัย พ.ต.อ.ชาตรี กาญจนกันติ ผกก.สน.ดินแดง แถลงข่าวว่า ฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง นำกำลงจับกุม นายสุริยันต์ หรือหมี กกเปือย อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 194 หมู่ 6 ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร พร้อมของกลางกางเกงยีนส์ สีน้ำเงิน 1 ตัว เสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีแดง มีปัก “ความจริงวันนี้” 1 ตัว เสื้อยืดสีชมพู ปัก “ไม่ต้องจ้างกูมาเอง” 1 ตัว รองเท้าแตะ 1 คู่ และถุงพลาสติกสีเหลือง 1 ใบที่ถือในวันเกิดเหตุ จับได้ที่ร้านซ่อมรองเท้า ใกล้โรงพยาบาลพญาไท 2 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมา โดยนำภาพผู้ต้องหามาแถลงไม่ได้นำตัวมาแถลงแต่อย่างใด
 
พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุขึ้น ทาง พล.ต.ต.สุเมธ ได้กำชับ พล.ต.ต.วิชัย ให้ฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง ติดตามสืบสวนจับกุม พบว่าคนร้ายโทรศัพท์จากหน้าช่อง 5 โดยออกจากหองพักย่านสะพายควายเวลาประมาณ 07.00 น. จากนั้นโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะ เวลาประมาร 08.00 น. ขณะกำลังจะไปทำงานที่ร้านซ่อมรองเท้าหน้าช่อง 5 โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณ 5 วัน โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างสอบสวนอยู่ ถึงรายละเอียดต่างๆ โดยเบื้องต้นผู้ต้องหารับสารภาพว่าทำคนเดียวไม่มีใครจ้างมา ทำเพราะความคึกคะนองเท่านั้น แต่ก็จะสอบสวนต่อไป โดยเท่าที่พูดคุยก็เป็นปกติดี
 
ถามว่าผู้ต้องหามีความภักดีต่อสถาบันหรือไม่ พล.ต.ท.จักรทิพย์ตอบว่า เท่าที่ถามก็มี แต่น่าจะเป็นเพราะอารมณ์พาไปมากกว่า เพราะชื่นชอบพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง และที่โทรไปที่โรงพยาบาลศิริราช ก็เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญไม่ได้คิดอะไร โดยก็ถามว่าก่อนทำไปดูหนังอะไรมาหรือเปล่า ก็บอกว่าเมื่อคืนดูหนังฝรั่งมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งฝากไปถึงประชาชนทั่วไปว่าทำแบบนี้ไม่เป็นผลดี ทุกวันนี้เทคโนโลยี กล้องวงจรปิดเยอะ บางครั้งประชาชนอาจคาดไม่ถึงว่าเจ้าหน้าที่จะตามจับได้ เพราะฉะนั้นอย่าทำดีกว่า
 
ด้านพล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า ที่ไม่ได้นำผู้ต้องหามาแถลงเนื่องจากเป็นคดีสำคัญ อาจกระทบต่อความรู้สึก และก็กำลังสอบสวนว่ามีผู้เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นผู้ต้องหาทำเพียงคนเดียว และทำไปเพราะความคึกคะนอง ที่ผ่านมาก็ไม่ได้หลบหนีแต่หยุดวันเสาร์-อาทิตย์จึงเพิ่งตามจับได้ โดยได้แจ้งข้อหาว่าทำให้ผู้อื่นตกใจกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุก 1 ปีปรับไม่เกิน 1 พันบาท ซึ่งในชั้นนี้คัดค้านการประกันตัว และจะส่งฝากขังต่อศาลในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำก็เพราะไม่พอใจพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และยอมรับว่าเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น พล.ต.ท.จักรทิพย์ ได้มอบเงินสดจำนวน 20,000 บาท ให้กับ พ.ต.อ.ชาตรี เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกน้องและขอบคุณที่ตามจับคนร้ายได้ โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ก็ได้มอบเงินกว่า 150,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่ บก.สส. บช.น. ที่ตามจับคนร้ายคดีปล้นรถขนเงินธนาคารได้ด้วย
 
 
 
มทภ.3ส่งทหารสืบทางลับกรณีจับนักรบแดงที่เชียงใหม่
 
เนชั่นทันข่าว  รายงานด้วยว่า วันนี้ที่กองบัญชาการกองทัพภาค 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้มีพิธีรับ-ส่งหน้าที่แม่ทัพภาค 3 คนใหม่ ระหว่าง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาค 3 กับ พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาค 3 เริ่มจากทำพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถและสมเด็จพระสุพรรณกัลยา จากนั้นได้กระทำพิธีลงนามเอกสารรับ-ส่งหน้าที่ และพิธีรับมอบหน้าที่บริเวณลานสโมสรบันเทิงทัพ โดยมีทหารในสังกัดตั้งแถวรับส่งหน้าที่แม่ทัพภาค 3 คนใหม่ แต่ไม่มีการสวนสนามของบรรดาเหล่าทหารทุกกองพันทุกครั้ง
 
พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาค 3 เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนมีอยู่ 4 ประการคือ 1.สกัดกั้นการปราบปราบยาเสพติด โดยเฉพาะแนวตะเข็บชายแดนไม่ให้ทะลักเข้ามา 2.ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เร่งทำฝายชะลอน้ำและปราบปรามผู้บุกรุกทำลายป่า 3.สกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 4.ทำความเข้าใจกับมวลชน เหตุการณ์ 17 เมษายนที่ผ่านมา เพราะล่าสุดทราบว่ามีผู้ไม่หวังดีสร้างความไม่สงบในพื้นที่ ไม่หวังดีต่อสถาบัน 
 
ส่วนกรณีจับนักรบแดง 11 คน ที่ภูฟ้ารีสอร์ท จ.เชียงใหม่ ได้ส่งหน่วยข่าวทหารเข้าไปสืบในทางลับให้แน่ชัดว่ามีการฝึกจริงหรือไม่ เพราะยังไม่เชื่อว่าเป็นการสร้างภาพ หรือสร้างสถานการณ์ จะรอผลการสืบสวนในทางลับ เบื้องลึกถึงการออกมามอบตัวครั้งนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ฟันธงสาเหตุที่แท้จริง เพราะตามสายข่าวระบุว่า มีแกนนำเสื้อแดงระดับหัวกระทิ ”เชียงใหม่ 51” ซึ่งหนีคดีหมายจับ ออกมาจากกัมพูชา และเข้ามาเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
 
ที่มา: มติชนออนไลน์, เนชั่นทันข่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอนุญาตผู้ต้องหาคดีส่ง SMS หมิ่นฯ ประกันตัวแล้ว

Posted: 04 Oct 2010 02:02 AM PDT

หลังถูกควบคุมตัวร่วม 2 เดือน ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ต้องหาวัย 60 ปี คดีหมิ่นเบื้องสูงด้วยการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายกฯ และบุคคลสำคัญ ประกันตัวแล้ว โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 60 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงด้วยการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ต.ค.53) ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายอำพลแล้ว หลังจากทนายได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยศาลให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจะไม่หลบหนี

นางสาวพูนสุข ระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการมอบอำนาจเพื่อยื่นหลักทรัพย์ ซึ่งคงใช้เวลาประมาณ 2 วัน การประกันตัวจึงจะเสร็จสิ้น โดยในการอุทธรณ์ขอประกันตัวครั้งนี้ ได้ใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักประกัน และให้เหตุผลว่า นายอำพลเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อายุมากแล้ว และมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการรักษา จึงไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี

ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนรายงานว่า นายอำพลถูกตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. หลังจากที่ช่วงเช้าวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายอำพล ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญารัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี โดยจับกุมได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และซอยวัดด่านสำโรง 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิช อีก 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ไถง ได้รับแจ้งว่า มีบุคคลลึกลับส่งข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันไปยังบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคน โดยมีการส่งข้อความดูหมิ่นสถาบันไปให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 9 -12 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้ง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีอีกด้วย จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ร่วมกันสืบสวนหาตัวคนร้าย จากการตรวจสอบบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายบริษัทพบว่า มีการใช้ซิมการ์ดแบบเติมเงิน เมื่อส่งข้อความเสร็จแล้วก็จะหักซิมการ์ดทิ้ง จึงติดตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์จนทราบว่านายอำพล เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าวจึงเข้าจับกุมมาสอบสวน เชื่อว่าผู้ต้องหารายนี้น่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า นายอำพล เป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สร้อยแก้ว คำมาลา: ละครโรงหนึ่ง ตอน4 ชิ้นส่วนในความทรงจำ

Posted: 03 Oct 2010 10:57 PM PDT

สร้อยแก้ว คำมาลา ผ่านเรื่องราวจากปากคำของสามัญชนคนเสื้อแดงถึงความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนของพวกเขา

หญิงวัยกลางคนผมยาว

เธอนั่งกอดเข่าต่อหน้าพระพุทธรูป เป้หนึ่งใบพิงหลัง หลังเหตุการณ์การยุติเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดง เสียงระเบิดเอ็มเจ็ดสิบเก้าที่ลงข้างเวทีทำให้เธอและเพื่อนที่ร่วมชุมนุมต่างพากันหาที่หลบภัย ตัวเธอวิ่งหนีเข้ามาในวัดนี้เพียงคนเดียว ส่วนเพื่อนร่วมหมู่บ้านที่มาด้วยกันต่างกระจัดกระจายหนีไปคนละทิศละมุม ไม่รู้ว่าใครไปอยู่ไหนบ้าง 

ร่างกายเธอเหนื่อยล้า หัวใจเธออ่อนแรง แม้อยากร้องไห้ แต่เธอไม่มีน้ำตา
 
วิหารที่เธออาศัยอยู่กว้างขวางเหลือคณา ทว่าก็ไม่เพียงพอจะบรรจุผู้คนซึ่งต้องการที่พึ่งได้ทั้งหมด คนจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ข้างนอก ที่อยู่ข้างในส่วนใหญ่คือคนชรา เด็ก ผู้หญิง รวมกันอยู่หลายร้อยคนทั้งนั่งทั้งนอนเรียงราย
 
ทว่าเธอรู้สึกราวกับไม่มีใครอยู่ตรงนั้นเลย 

“มันเงียบเหมือนไม่มีใครอยู่แม้สักคน ฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย นอกจากนานๆ ครั้งจะมีเสียงเด็กร้องไห้ และเสียงไอของคนแก่”

ไม่มีใครพูดอะไรออกทั้งนั้น ภาพที่ทุกคนเห็น สิ่งที่ทุกคนได้ยินก่อนนี้ มันบอกให้รู้ว่า ความตายมันเดินทางเข้ามาใกล้แค่ปากประตูวัดเท่านั้นเอง   

            “ตอนที่อาสาพยาบาลถูกยิง มีคนมากระซิบบอกว่าเดี๋ยวทหารจะเข้ามายิงพวกเราในวิหาร ฉันมองไปที่พระพุทธรูป บอกว่าไม่เป็นไร ตอนนี้ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าจะตายต่อหน้าพระพุทธรูป ฉันก็พร้อมตายแล้ว”


 
หญิงวัยกลางคนผมสั้น 
 
             “เราไม่ต้องทำอะไรหรอก ตอนนี้ทำอะไรมันก็จับ มันก็ยิง แต่เอางี้สิ ต่อไปเมื่อไหร่ที่เราไม่เห็นด้วย ให้เราออกจากบ้านมาพร้อมๆ กัน ออกบ้านและมาปรบมือพร้อมๆ กัน เคยได้ยินไหม ปรบมือจนกำแพงป้อมเมืองมันทลาย”
 

หญิงหน้ามันขายกล้วยทอด

“ที่รับรู้ว่าเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภา มันต่างจากทุกวันคือ เราจะเห็นมอเตอร์ไซค์พาคนเจ็บเข้ามาเยอะมาก เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็มา เราถึงรู้ว่าข้างนอกมันมีการยิงกันหนัก เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น สัญญาณโทรศัพท์มือถือเราก็ถูกตัด”

“ไม่คิดหนีหรือ?” 

“ไม่! ไม่คิดเลย คิดอย่างเดียวกูจะสู้จนนาทีสุดท้าย แต่ก็ระวังตัวตลอด ไปหลบอยู่ใต้เสาสะพานรถไฟฟ้า เพราะพวกมันอยู่ข้างบนกันเต็มเลย ไปหลบตรงนั้นจะปลอดภัย” 

“นึกว่าเห็นคนเจ็บแล้วจะใจฝ่อ...” 

“ไม่ ไม่เลย แต่เราสงสารคนเจ็บ เช้าวันนั้นมันเยอะมาก เดี๋ยวมา เดี๋ยวมา แล้วพวกมอเตอร์ไซค์นี่มันขี่กันเก่งมาก มันไม่กลัวโดนยิงกันเลย มันจะมีคนขับหนึ่งคน คนเจ็บซ้อนตรงกลาง และอีกคนประกบท้าย มันต้องเข้ามาส่งคนเจ็บที่โรงพยาบาล วิ่งรถกันอยู่ตลอด”

“แล้วตอนที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทำยังไง”

              “ก็หนีไปอยู่ในวัด”

“รู้สึกว่าแพ้...?"  

              ส่ายหน้าแทนคำตอบ เงียบอยู่นาน กล้ำกลืน

             “เราพยายามเต็มที่แล้ว เราไม่ได้ทำผิดอะไร ทุกวันนี้ถึงน้อยใจว่าเราผิดอะไร ทำไมถึงมายิงเรา”

 

หญิงขายเครื่องสำอาง  

“ตอนนั้นพี่เขาบอกว่าให้เข้ามากรุงเทพฯ มาช่วยกัน เราก็นั่งรถไปกัน แต่ไปไม่พ้นจังหวัดตัวเอง ถูกสกัดจับ เขาไม่ให้เราไป”
 
"ถามว่าทุกวันนี้ความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน คนสีหนึ่งทำอะไรก็ผิด คนอีกสีหนึ่งทำอะไรก็ถูก เราไม่ได้โง่ แต่เรารับไม่ได้กับสองมาตรฐาน”

“ในหมู่บ้านตอนนี้มีทหารเข้ามาจัดกิจกรรมอะไรไม่รู้ มาพูดมาบรรยาย เราไม่ได้ไปฟัง กลัว ตอนนี้หลายคนที่เคยไปร่วมชุมนุมไม่กล้าอยู่บ้าน กลัวถูกจับ พวกญาติๆ บอกว่าทางการเขารู้หมดว่าไปชุมนุม เพราะใครที่ทำบัตร นปช.แดง มันจะบันทึกข้อมูลไว้ในคอมฯ เขาบอกว่าพวกทหารยึดเครื่องคอมฯ ของแกนนำไป เลยรู้หมดว่าใครไปร่วมชุมนุม”

“แต่จะบอกอะไรให้ คนทั้งจังหวัดเนี่ย ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นพวกเราหมด ก็คอยดูละกัน”

ชายมีแผลเป็นบนใบหน้า                                      

          “ตอนกลับมาใหม่ๆ ผมพูดกับใครไม่ได้ไปสามสี่วัน คิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็จุก”

 
หญิงผู้มีบ้านอยู่ตีนเขา

          “ป้าทำอะไรไม่ได้เป็นเดือน ไม่ขายของ ไม่ออกไปหาใคร เก็บตัวอยู่ในบ้าน”


ชายเครายาว

            “ตอนออกจากวัด เขาแจกลูกอมมาให้สองเม็ด ผมไม่ได้ไปรับ พอขึ้นรถ เธอหันมาเห็นผม เธอก็ยื่นลูกอมมาให้ผมเม็ดหนึ่ง เธอรู้ว่าผมเป็นเบาหวาน ผมขาดน้ำตาลไม่ได้” 

“เราอยู่อำเภอเดียวกัน ก่อนนี้เราเคยเห็นหน้าแต่ไม่เคยรู้จักกัน แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็ได้พูดคุย รู้จักกัน เห็นใจกัน” 

“รถเมล์ของกทม. พาเราวิ่งออกไป รถวิ่งผ่านลานเซ็นทรัลเวิลด์ ผ่านสยาม ที่ถูกไฟไหม้ แล้วทุกคนที่นั่งในรถก็พากันร้องไห้ ร้องไห้ด้วยกันทั้งคันรถ”


ชายขากระเผลก 

            “ผมโชคร้ายที่วันที่19 ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย”
 
“ทำไมถึงคิดว่าโชคร้าย ไม่คิดว่าโชคดีหรือที่รอดมาได้..?”

          “ไม่เลย ผมโชคร้ายที่ไม่ได้อยู่เหตุการณ์ ผมจะบอกให้นะ ผมอายุ ๖๔ ปีแล้ว ผมสนใจการเมืองมาตลอดชีวิต แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, หรือพฤษภา 35 ผมแค่รับรู้ แต่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะผมอยู่ในวัยทำงาน บางครั้งมีเหตุให้ไปเมืองนอกบ้าง อยู่ไกลสถานที่ชุมนุมบ้าง” 

“ขอโทษนะคะ คุณลุงทำอาชีพอะไรคะ” 

            “ผมทำงานในสายการบิน ตอน 14 ตุลา ผมเห็นข่าวจากต่างประเทศ เพื่อนชาวต่างชาติมาบอกว่า นี่ ยู บ้านยูมีเรื่องแล้ว แต่ครั้งนี้ผมย้ายบ้านมาจากกรุงเทพฯ มาอยู่ต่างจังหวัด การอยู่ต่างจังหวัดมันทำให้เราได้รู้ข้อมูลอะไรเยอะกว่าการอยู่ในกรุงเทพฯ เสียอีก” 

“ผมไปร่วมชุมนุมทุกครั้งที่มีการจัดตั้งเวทีในจังหวัด และครั้งนี้ผมก็ไปตั้งแต่วัน ๑๒ มีนาคม แต่ที่ผมรอดชีวิตมาได้ เพราะก่อนวันที่ 19 พ.ค. ผมกลับมาเอารถ รถผมประสบอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ตอนกลับมาพักผ่อนช่วงเดือนเมษา ลูกๆ ต้องเอารถเข้าอู่ให้ แล้วผมก็นั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ เอง”
 
“พอรถซ่อมเสร็จ ผมก็กลับมาจะเอารถ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ 19 พฤษภา เสียก่อน ผมเป็นคนโชคร้าย ที่เหตุการณ์ทางการเมืองทุกครั้งผมไม่ได้เข้าร่วมด้วยเลย มีครั้งนี้แหละที่เข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. ด้วย”

“ก่อนนี้ผมไปทุกวัน ส่วนใหญ่จะอยู่แถวพารากอน พวกการ์ดหนุ่มๆ เขาจะตั้งป้อมกันที่นั่น เราก็ไปช่วยเขาด้วย มีอยู่คืนหนึ่ง มีข่าวว่าทหารจะเข้ามา พวกหนุ่มๆ มันวิ่งไปข้างหน้ากันหมด และหันมาบอกผมกับคนแก่อีกคน คนนั้น 80 กว่าแล้ว ว่าอยู่ที่นี่แหละ ไม่ต้องไป” 

“ผมก็นึกในใจ มันก็คงจะอย่างนั้นแหละ แค่จะถือบ้องไม้ไผ่วิ่งไปกับเขา เราก็ยกบ้องไม้ไผ่ไม่ไหวแล้ว” 

“ที่พารากอนจะมีผมกับลุงรวยนี่แหละ แก่สุด ก็มองลูกหลานมันสู้ไป เราก็นั่งคุยกัน ตอนนั้นบอกกันว่าถ้าพวกทหารมันมาถึงก็ปล่อยให้มันฆ่าตามสบายเถอะ เพราะจะให้วิ่งหนีก็คงหนีไม่ทันหรอก” 

“แต่คืนนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรง” 

“กลับมาบ้านนี่คิดถึงลุงรวยมาก ไม่รู้แกเป็นยังไงบ้าง เรานั่งด้วยกันสองเฒ่าเกือบทุกคืน” 

“ทุกครั้งที่ผมออกจากบ้าน ผมสั่งกับลูกๆ ผมไว้หมดแล้วว่า ถ้าพ่อเป็นอะไรไปไม่ต้องกังวลนะ เรื่องศพอะไรไม่ต้องไปจัด เพราะผมคิดว่าถ้าผมตาย ศพคงหาไม่เจอหรอก น่าจะถูกเก็บ” 

“ลูกๆ ผมบางคนไปอยู่อเมริกา บางคนอยู่กรุงเทพฯ มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา หมดห่วงแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ผมถึงเข้าร่วมได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าจะตายก็พร้อมตายแล้ว ก็แก่ขนาดนี้แล้ว” 

“ผมเป็นโรคหลายโรค อาหารการกินผมกินร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ผมจะเตรียมอาหารของผมไปเอง” 

“คุณรู้ไหม ประเทศเรานี่ไม่เคยปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบสักครั้ง เราต้องผ่านการปกครองแบบประชาธิปไตยกันก่อน แล้วเราถึงจะเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการ จากนั้นถึงจะเป็นระบอบคอมมิวนิสต์”

“คอมมิวนิสต์คืออะไรรู้ไหม...?” 

“เราคนไทยเข้าใจคำว่าคอมมิวนิสต์กับผิดๆ เยอะมาก ประเทศรัสเซีย หรือจีนอะไรนี่มันยังไปไม่ถึงระบอบคอมมิวนิสต์สักครั้ง ในโลกนี้ยังไม่เคยมีประเทศไหนปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้เลย เพราะมันจะต้องผ่านระบบประชาธิปไตยกันก่อน ผ่านจุดสูงสุดของระบบทุน ซึ่งมันมากับประชาธิปไตย แล้วก็มาถึงรัฐสวัสดิการ” 

“จากนั้นถึงจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้”  

“คอมมิวนิสต์คืออะไร คอมมิวนิสต์คือยูโธเปีย คือยุคพระศรีอาริย์ ไงล่ะ คือสังคมที่ไม่มีชนชั้น มี           ความเสมอภาค มีความเท่าเทียม”

............
 
 
ขณะนั่งเขียน พวกเขาทั้งหมดล่องลอยอยู่ในห้วงคำนึงนึก--- สีหน้า แววตา น้ำเสียง หลายถ้อย หลายความ ยังกระจ่างชัด บางขณะฉันน้ำตาซึม

เหตุการณ์ผ่านพ้นวินาทีเฉียดตายของหลายคนมันฝังลึกเกินกว่าคนสามัญที่ห่างไกลประสบการณ์เช่นนี้จักเข้าถึงได้ และยิ่งหากไร้ความเมตตาเพื่อจะเข้าใจ เห็นใจ ตลอดจนถึงการปลอดซึ่งอคติต่อพวกเขาว่าถูกจ้างมาเป็นเครื่องมือของอดีตนายกฯ หรือเป็นความโง่งมงายของพวกเขาเอง 

นั่นคงยากเกินไปที่จะเข้าใจ 
 
ว่าทำไม พวกเขายังคงสู้ และไม่มีวันลืม 19 พฤษภา 2553

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 3: เฟซบุ๊กจะเติบโต กลืนกินเว็บบอร์ดและบล็อก

Posted: 03 Oct 2010 05:37 PM PDT

สมบัติ บุญงามอนงค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างฐานมวลชนผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่มีใครหยุดยั้งหรือปิดกั้นได้ และเฟซบุ๊กในประเทศไทยคือพื้นที่ต่อสู้ออนไลน์ที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งโลก

 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป



 สมบัติ บุญงามอนงค์: เฟซบุ๊กจะเติบโต กลืนกินเว็บบอร์ดและบล็อก

เมื่อ จรดใบมีดลงบนร่างของนกเพื่อค้นหาชีวิตของมัน วิญญาณของนกก็หลุดลอยออกจากร่างเสียแล้ว..การ “เป็นอยู่” กับการ “เข้าใจ” บางครั้งก็ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง

สมบัติ บุญงามอนงค์ อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งสำหรับคำเปรียบเปรยนี้ เขาเป็นบุคคลที่บอกเล่าพลังของสื่อออนไลน์ได้ทรงพลังที่สุดคนหนึ่ง โดยผ่านการปฏิบัติของเขาเอง เป็นคำอธิบายที่ไม่ซับซ้อนสับสนจากประสบการณ์ของเขาเอง และแน่นอนว่าเป็นคำอธิบายที่แฝงน้ำเสียงเชื่อมั่นอย่างหนักแน่น

เฟซบุ๊กคือคำตอบ

สมบัติ บุญงามอนงค์ ในอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักว่า บ.ก.ลายจุด ใช้เวลาหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนขยับพลังแห่งความเศร้าโศกของกลุ่มทาง การเมืองที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” ให้กลายเป็นพลังแห่งการยืนยันสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นมนุษย์ รวมถึงสิทธิที่จะทวงถามและจดจำ อันเป็นสิ่งที่เกือบจะปลาสนาการไปพร้อมๆ กับการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมเลือดที่ผ่านมา กระทั่งก่อเกิดกิจกรรม "วันอาทิตย์สีแดง" นำมาซึุ่งการรวมตัวกันแสดงออกของคนเสื้อแดงทุกๆ วันอาทิตย์ ผ่านกิจกรรมที่มีท่าทียั่วล้อ หยอกเอิน กวนประสาทต่อผู้ถืออำนาจรัฐเป็นยิ่งนัก เช่น การผูกผ้าแดง การปล่อยลูกโป่ง การแต่งชุดนักเรียนวิ่งรอบสวนสันติภาพ รวมตัวเต้นแอโรบิกที่สวนลุมพินีั และแม้แต่การขี่จักรยานที่อยุธยาเมื่อวานนี้ เป็นอาทิ

สมบัติพบว่ากลุ่มคนในเครือข่ายออนไลน์ของเขามีตั้งแต่อายุ 12-70 กว่าปี แต่ส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง

“มี คนทุกอายุเลย ผมชอบเฟซบุ๊คเพราะมันทำให้ผมสามารถมีตลาดกับคนทุกอายุได้ ไม่ใช่ผมกับเขาเท่านั้นนะ เขาก็มีอิทธิพลกับผมได้เช่นกัน เพราะผมอ่านเขาใช่ไหม แลกเปลี่ยนกัน ผมมีเพื่อนอายุ 12 เท่ากับลูกสาวผม เลยจับคู่ให้เขาคุยกัน เด็กมัธยมก็พอมี เด็กมหาวิทยาลัยเยอะหน่อย พวก 25-35 พวก นี้เป็นฐานใหญ่ ซึ่งผมพึงพอใจมากนะ เพราะฐานนี้เป็นคนที่จะมาทดแทน เป็นคนที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต แล้วเขาแอคทีฟมาก ที่สูงอายุเลยก็มี 50-70 กว่า”

และ เหตุที่เขาต้องหันมาใช้เฟซบุ๊กก็เพราะว่า เซิร์ฟเวอร์หลักของเขาถูก “ถอดปลั๊ก” ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเข้มข้นนั่นเอง ทำให้รายชื่อเครือข่ายที่เขาติดต่อส่งข้อมูลข่าวสารอยู่หายวับไปกับตา เฟซบุ๊กกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งตัวเลขของเพื่อนที่ add เข้ามาก็พุ่งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง

“ช่วง ชุมนุมไง ตอนแรกๆ มีอยู่พันกว่า หลังจากนั้น ที่เข้ามาก็เป็นแดงหมดเลย ขึ้นวันละร้อย เพราะผมจะไม่ใช่แค่ก็อปปี้ข่าว แต่จะวิเคราะห์ มีข้อเสนอ มันจะต่างกับเฟซบุ๊กคนอื่นที่ส่วนใหญ่จะเป็นการก็อปปี้ข่าวมาวาง แล้วก็มาด่า บ่น ระบาย” สมบัติตอบเราเมือถามถึงช่วงพีคสุดของจำนวนคนที่แอดเข้ามา ซึ่งขณะนี้เฟซบุ๊กในชื่อของเขานั้น เต็มพิกัดที่เฟซบุ๊กกำหนดได้แล้ว คือราวๆ ห้าพันคน

สมบัติบอกถึงสาเหตุที่จึงสนใจใช้เฟซบุ๊คเป็นเวทีในการสื่อสารและการเคลื่อนไหวว่า วิถีทางของเฟซบุ๊กคือคำตอบของอนาคต

“ผม ไม่ได้สนใจเชิงปริมาณเท่าไหร่ แต่สนใจในรูปแบบหรือวิถีทางของเฟซบุ๊ค คือมันเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว กึ่ง สาธารณะ มันสามารถสร้างความเป็นเฉพาะกลุ่มและยังสามารถดำรงความเป็นตัวของตัวเองได้ ขณะเดียวกันวันที่คุณอยากให้มันเป็นสาธารณะเมื่อมันมีศักยภาพมันจะแสดงความ เป็นสาธารณะได้ วิถีทางของเฟซบุ๊คนี้เอง...ในฐานะคนเล่นอินเทอร์เน็ตมานานมากและสนใจเรื่อง พวกนี้มาก พอได้มาใช้ ผมรู้เลยว่านี่มันสอดคล้องกับวิธีของผมมากเลย ในฐานะองค์กรที่ต้องการสื่อสารความเป็นสาธารณะ และปลดปล่อยความเป็นปัจเจก”

ในฐานะคนทำงานที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารมานานเป็นสิบปี กระทั่งชื่อ ‘บ.ก.ลายจุด’ นี้ ก็เป็นชื่อที่ได้มาจากการดูแลเว็บไซต์บ้านนอกดอทคอม และยังใช้มันในการสื่อสารทางการเมืองตามเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บบอร์ดราชดำเนิน ในเว็บไซต์พันทิป เขาบอกว่า เว็บบอร์ดนั้นมีข้อจำกัดประการสำคัญคือนำเสนอบุคลิกของคนใช้ได้ทีละด้านเท่า นั้น ขณะที่เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้แสดงตัวตนได้ “กลม” กว่า

“เว็บบอร์ ดมันไม่อนุญาตให้คนคุยเล่น คือคนอ่าน "บก.ลายจุด" ในราชดำเนิน เขาคิดว่าผมเป็นคนนิ่งๆ ไม่มีอารมณ์ ตายด้าน จริงๆ แล้ว ผมเป็นคนตลก มีแง่มุมที่ขำๆ แต่ผมไม่สามารถเขียนแบบนั้นในห้องการเมืองได้ เวลาเขาโต้กันแรงๆ เพราะ มันต้องเป็นการโต้กัน มันก็ไม่ขำ แต่ว่านี่ (เฟซบุ๊ก) มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวผม ผมอยากจะเล่าเรื่องขำๆ ของผม แล้วบางที ผมต้องการเขียนให้คนนี้อ่านนะ กลุ่มนี้อ่าน เรื่องบางเรื่องผมก็จะเขียนให้ลูกน้องที่ทำงานอ่าน คือมันรู้เลยว่าใครเป็นคนอ่าน เขียนเสร็จแล้ว เรารู้เลยว่าข้อความนี้กำลังจะบอกใคร แต่ไม่ได้บอกนะว่าเขียนถึงใคร ไม่ได้ใส่ชื่อ หรือเข้าไปในวอลล์เขาแล้วไปเขียน”

“คือมันมีความเป็นมนุษย์มากกว่า มันให้เรามีอารมณ์ได้ด้วย เรามีคำว่า "แม่ง" "กรู" ซึ่งปกติผมจะไม่เขียนในเว็บบอร์ด มันมีความรู้สึกเหมือนเขียนอยู่คนเดียว บางอารมณ์ ใหม่ๆ ผมเหมือนเขียนงานคนเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันมีคนอ่าน แต่บางทีผมก็เขียนเหมือนประหนึ่งว่าคุยกับตัวเอง เป็นการถอดบทเรียน เก็บเกี่ยวความคิด ตกผลึกความคิดของเราในนาทีนั้น”

จาก การใช้งานเฟซบุ๊กในการเชื่อโยงเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมวัน อาทิตย์สีแดง เขาเชื่อว่า เฟซบุ๊กจะเติบโตต่อไปอย่างไม่อาจจะปิดกั้นได้

หลัง เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมบัติใช้เฟซบุ๊กประกาศทวงถามพื้นที่ร่ำไห้แสดงความเสียใจของคนเสื้อแดงใน ช่วงแรกๆ ท่ามกลางบรรยากาศเรียกร้องรอยยิ้มคืนสู่ประเทศไทยในสื่อกระแสหลัก แต่จากนั้นเครือข่ายของเขากว้างขวางขึ้น และพัฒนามาสู่กิจกรรมการแสดงออกทุกๆ วันอาทิตย์ ที่รู้จักกันในชื่อ “วันอาทิตย์สีแดง รวมถึงแคมเปญที่มี่ชื่อออกจะขี้เล่น คือการสร้าง “แกนนอน” แต่ดูเหมือนผลที่ได้จะเป็นจริงเป็นจัง

ยิ่งเมื่อครบรอบ 4 เดือนแห่งการสลายการชุมนุมมาถึง บรรดาคนเสื้อแดงที่ปราศจากแกนนำมารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ถึงหลักหมื่นคน ด้วยกิจกรรมที่ไม่ต้องมีแกนนำเป็นผู้บอกกล่าว และสร้างผลงานที่น่าทึ่งอย่าง “ใยแมงมุม” ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของข่ายใยของประชาชนที่ก่อตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรวมตัวอันยิ่งใหญ่และน่าตกใจของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สมบัติมีส่วนอย่างยิ่ง เมื่อผู้ร่วมชุมนุมใช้ “โมเดล” ที่เขานำเสนอทั้งในทางเทคนิค เช่น การนอนตาย การจุดเทียน การตะโกน “ที่นี่มีคนตาย” ฯลฯ และโมเดลทางจิตสำนึก ผ่านการตะโกน “กูมาเอง” กระทั่งสมบัติได้พบว่าตัวเขาเองไม่สามารถผลักดันให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านได้ และยอมรับว่า “เอาไม่อยู่” พร้อมบอกกับสื่อว่าจะไม่มาจัดกิจกรรมที่ราชประสงค์อีกหลายเดือน และหากจะรวมตัวใหญ่อีกครั้ง คงต้องหันไปหาสนามกีฬาแทน

“เฟซบุ๊กจะเติบโต ขยายเป็นสาธารณะแน่นอน มันกลืนพวกบอร์ด พวกบล็อกหมด มันจะเหลือน้อยมาก มันจะไปอยู่ในเฟซบุ๊ก มัน จะทำให้เกิดการสนทนา เกิดการปะปนกันมากขึ้น มันทำให้คนได้ปะปนกัน คนบางคนถ้าเล่นเว็บบอร์ดจะไม่เล่นข้ามฟิลด์ แต่ความเป็นเฟซบุ๊ก จะทำให้เกิดการข้ามฟิลด์ของกรอบประเด็น จะทำให้เรื่องต่างๆ ไหลไปได้ไกลมาก มันถูกส่งต่อไปได้ไกลมาก และสามารถสืบเชื่อมโยงไปที่แหล่งของมันได้ มันจะเกิดการเชื่อมหาแหล่ง มันเป็นการพาดเครือข่ายซ้อนไปซ้อนมาหลายๆ ชั้นอย่างสลับซับซ้อน เป็นเครือข่ายทางสังคม มันจะมีบทบาทมาก

“การปิดเฟซบุ๊กจะมีด้วยเหตุผลเดียวคือเอาไม่อยู่แล้ว แต่อันตรายมาก เพราะมันจะไม่ถูกปิดง่ายๆ จะถูกบล็อคเป็นคนๆ เพราะ คนส่วนใหญ่ที่เล่นเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นเขาจะไม่ปิดยูอาร์แอล แต่จะบล็อคเป็นรายๆ ไป แต่การบล็อคเป็นรายๆ ไม่มีปัญหา เพราะเฟซบุ๊กเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ และสามารถทำระบบปิดได้ด้วย ปิดชื่อ กว่าคุณจะรู้ว่ามันมีตัวใหม่มาแล้ว อาจจะใช้เวลานาน และเขาอาจจะพรางตัวคุณ จนไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร”

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็เปิดให้กับการละเมิดความแตกต่างทางความเห็นค่อนข้างรุนแรง

“เป็น ธรรมดาของคนที่มันไม่เคย มันก็เลยเกิดการปะทะ กว่าที่มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ มันจะเกินเลยไปแบบนี้สักพัก มันจะป่าเถื่อน เหมือนสมัยก่อนมันยังไม่มีกฏหมาย มันก็ใช้ความป่าเถื่อน ใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงแล้วก็ตะโกนด่ากัน เขวี้ยงหินข้ามกำแพง กว่าจะเกิดอารยธรรมในเฟซบุ๊ก อาจจะใช้เวลา แต่ยุคนี้เป็นยุคป่าเถื่อน ยุคมืด”

“เพิ่ง ออกจากคุก เพิ่งรู้จักเสรีภาพ เพิ่งได้เป็นผู้กระทำ ความสุขของการเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้มีอำนาจ เป็นความสุขแบบหนึ่ง เหมือนคุณมีโอกาสได้ลั่นปืนใส่ใครตายสักคนหนึ่ง แล้วคุณไม่มีความผิด แล้วมีคนปรบมือ มันเป็นความสุขอีกประเภทหนึ่ง มันฮึกเหิมในอำนาจ”

คำ อธิบายอย่างเข้าใจได้ในสภาพของความป่าเถื่อนนี้ ออกจะขัดกับสิ่งที่เขาเคยเคยกล่าวเมื่อหลายปีที่แล้วว่า การแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดนั้นเหมือนคนอยู่หลังกำพงตะโกนใส่ด่ากันในความ มืด สมบัติยืนยันในวันนี้ว่าความป่าเถื่อนในดินแดนออนไลน์ก็ยังดำรงอยู่

“ผม คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่มันยังคงอยู่มันคาอยู่ แต่มันจะเริ่มมีอารยธรรมมากขึ้น ผมคิดว่าความรู้หรือแนวทางที่มีอารยธรรมมากขึ้นจะปรากฏ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะมีภูมิคุ้มกัน เมื่อก่อนสมัยมีอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ แค่มีใครด่าใครคนหนึ่งในอินเทอร์เน็ต พอคนๆ นั้นไปเห็นว่ามีข้อความนี้อยู่ในอินเทอร์เน็ต เต้นใหญ่เลย เต้นจนเวอร์ ราวกับว่าคนทั้งโลกอ่านเพจนั้น ทั้งที่อาจจะมีแคนแค่ 30 คน อ่าน แล้วก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไร แค่พอคนๆ นั้นไปเห็นเพจนั้น เห็นข้อความนี้ในอินเทอร์เน็ต จะเป็นจะตาย จะลบออกให้ได้ จะฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะทำให้เรื่องนี้มันเกินเลยไป พอถึงจุดนึง อาจจะมีภูมิคุ้มกัน พอมีคนบอกว่ามีคนเขียนด่าผมในอินเทอร์เน็ต ผมก็ถามกลับว่าแล้วไง มันเป็นเรื่องประหลาดหรือ ใหม่ๆ อาจจะประหลาด คุณอาจจะไม่เคย ปกติคำด่ากันมันจะไม่ปรากฏ เพราะเสียงมันด่าจบแล้วก็จบไป ยกเว้นคุณจะถูกด่าในหนังสือพิมพ์นะ แต่ว่ามันก็มีอายุ 1 วันแล้วก็หมดไป แต่ การด่าในอินเทอร์เน็ต ข้อความนั้นยังดำรงอยู่ในอินเทอร์เน็ต คุณสามารถเดินไปที่จุดนั้น เสียงด่านั้นยังคงก้องกังวานอยู่ไม่จบ มันเป็นเรื่องของสังคมที่เราจะต้องเรียนรู้และมีชีวิตอยู่กับปรากฏการณ์และ วัฒนธรรมแบบนี้ มีใครบ้างไหมยังไม่เคยถูกด่าในเว็บบอร์ด บางคนจะเป็นจะตายถูกด่าในเว็บบอร์ด ผมอันนี้อ่อน เพิ่งมาใหม่ เพิ่งเคยเป็น แต่ว่าเราเล่นไปพักนึงเราจะรู้เลยว่ามันธรรมดามาก แล้วทำให้ผมเคารพนับถือพวกนักการเมืองมาก มันถูกด่าทุกวัน น่าตื่นเต้นมากเลย แล้วทำให้ผมเคารพนับถือนักการเมืองมาก น่าตื่นเต้นมากเมื่อคิดถึงพัฒนาการทางความคิดของนักการเมืองต่อความสามารถใน การถูกตำหนิ ด่าทอเหยียดหยาม เป็นตัวทำลายชาติ ดังนั้น เราก็ควรจะมีขีดความสามารถ เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้”

สมบัติ ประเมินว่า การใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองไทยนั้นอยู่ในระดับดุเดือด มากที่สุดแห่งหนึ่งโลก ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้เล่นเฟซบุ๊กที่ถูกบล็อก หรือแม้แต่การปิดเว็บในจำนวนที่น่าจะติดอันดับโลก และหากมองถึงวิธีการสื่อสารของผู้เล่นอินเตอร์เน็ตแล้วละก็เขาคิดว่านี่ไม่ ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

“ผม รู้สึกว่าเมืองไทยดุเด็ดเผ็ดมันมากเลย ผมคิดว่าอาจจะก้าวหน้ามาก อาจจะเป็นพื้นที่ที่รบดุเดือดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้ ถ้าเฟซบุ๊กนะ เพราะถึงบล็อคเฟซบุ๊คจำนวนมหาศาลขนาดนี้ หรือปิดเว็บติดอันดับโลก ดังนั้น เราไม่ใช่ขี้ๆ นะงานนี้ สงครามในไซเบอร์ไม่ใช่ขี้ๆ นะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเข้ารหัส อาจเป็นที่ๆ น่าจะทำการวิจัย”

และมันจะดุเดือดขึ้นไปกว่านี้อีก...

“แน่ นอน วันไหนที่เสียงของชาวบ้านไปปรากฏอยู่หน้าเว็บได้ เป็นความใฝ่ฝันของผม คือตอนนี้การสื่อสาร ลูกชายที่ทำงานอยู่ในโรงงานในกรุงเทพฯ สามารถโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมชั้นสูง วิ่งผ่านโครงข่ายที่มีความสลับซับซ้อน ไปตกที่คันนา ที่พ่อกำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้แล้ว ส่วนตัวผม ผมว่ามันเป็นความงาม สมัยอยู่เชียงราย นาทีละ 18 บาท มือถือแพงไม่พอ โครงข่ายยังไปไม่ถึงด้วย เดี๋ยวนี้มันถึงกันหมดแล้ว และอยู่ในราคาที่ชาวบ้านจ่ายได้

วันไหนที่ชาวบ้านสามารถสะท้อนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างที่มีปัญหาที่พรมแดนศรีษะเกษ ถ้า คนพื้นที่รายงานขึ้นมาได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เราได้อ่านบันทึกนักข่าวพลเมือง คนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าเห็นอย่างนี้ๆ เกิดอะไรขึ้น ผ่านคลิป ความรู้สึกนึกคิดเขา ตอนนี้คนเมืองยึดพื้นที่สื่อแล้วอธิบายชาวบ้านหรือประเทศ ผมว่ามันไม่แฟร์ เหมือนสื่อที่บอกว่าคนต่างจังหวัดเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯ เรียนรู้คนต่างจังหวัดจากทีวีผ่านมุมมองของคนเมือง ดูละครหรือดูสารคดี แบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือวิถีชีวิตที่มันเฟคๆ ผมทำงานกับชาวเขา ผมก็รู้ว่าเวลาสารคดีชาวเขาแต่งตัวแบบนี้มันไม่จริง มันไม่ได้รู้สึกนึกคิดแบบนั้น มันก็พอๆ กับคนฝรั่งหรือญี่ปุ่นเดินมาถามคนไทยบางคนว่า ขี่ช้างมาทำงานหรือเปล่า มันเป็นความไม่จริง ดังนั้นหากเจ้าตัวสะท้อนสิ่งเหล่านี้มาได้โดยตรง ผมว่าวิวัฒนาการของชนชั้นกลางในการมองคนต่างจังหวัดจะเปลี่ยนไป และเมื่อเขามองคนต่างจังหวัดเปลี่ยนไป เขาจะเข้าใจ และผมว่าวันนั้นเราจะทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางได้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง ชนชั้นกลางจะยอมรับ”

เมื่อ เราถามเขาว่า เหตุที่เขามองว่าโลกออนไลน์จะเป็นทางเลือกสำหรับพื้นที่การสื่อสาร แปลว่ามองว่าสื่อหลักทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ใช่หรือไม่ สมบัติไม่ได้ตอบรับ หากแต่ยอมรับในข้อจำกัดของสื่อกระแสหลัก

“มัน ทำหน้าที่ได้จำกัด คือเขาก็ทำหน้าที่มานานแล้ว แต่นั่นก็คือสุดแขนของเขา และอาจมีบางปัจจัยทำให้ประสิทธิภาพของสื่อในปัจจุบันมันตกต่ำ ดังนั้นการมีนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เป็นโลกออนไลน์หรือสื่อทางเลือกทั้งหลาย มันช่วยทำให้ไปอุดช่องว่างหรือขยายศักยภาพที่สื่อเดิมเคยมีอยู่มาก่อน”

เฟซบุ๊กมีข้อจำกัดอะไร

“มัน กินเวลา พอเป็นเรื่องเวลาก็กระทบเรื่องอื่นหมด ผมนี่มีปัญหาตา เล่นจนตาล้า แต่ผมชอบเพราะมันแฟร์นะ คือทุกคนมีพื้นที่เท่ากัน ไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างประชาไทต้องรับผิดชอบเว็บบอร์ด ไม่ต้อง ไม่ต้องมีประชาไท มันแฟร์ ใครคิดว่าตัวเองอยากจะรับผิดชอบได้แค่ไหน คุณเขียน รับผิดชอบกันเอง คุณแหลมมา คนก็จะเข้าไปวิจารณ์คุณนะ เขียนโต้ตอบคุณ ถ้าคุณไม่น่าสนใจเขาก็จะข้ามคุณ เขาซ่อนคุณด้วยถ้าคุณน่ารำคาญ หรือลบคุณออก แต่ถ้าคุณน่าสนใจ จะมีคนจะช่วยขยายขีดจำกัดคุณ ขยายสิ่งที่คุณนำเสนอ”

สมบัติ ย้ำว่าเขาจะยังใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กอย่างเต็มประสิทธิภาพไปอีกยาวนาน เพราะมันตอบสนองต่อความต้องการในการสื่อสารของเขาในขณะปัจจุบันได้ค่อนข้าง ครบถ้วนแล้ว

“แต่ผมอยากให้มี voice chat นะ เมื่อไหร่ที่มันมี voice chat แบบ skype ได้ มันแจ่ม ผมเกลียดแชทที่สุดเลย ผมซ่อนตลอดเลย มันพิมพ์ยาก ต้องเสียเวลา แต่ผมว่าถ้าเป็น voice มัน และถ้า voice มันเป็นกรุ๊ปได้..สุดยอด! และถ้ามีลักษณะ skype ได้ด้วยและเหมือน camfrog เป็น กรุ๊ปได้ อันนี้จะสุดยอด แล้วถ้ามันมีปลั๊กอินที่ถ่ายทอดวิดีโอหรือเสียงได้ จัดรายการวิทยุได้นะ โธ่เอ๊ย คุณเอ๊ย...หมด (หัวเราะ)”

เป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนมีเครื่องสะท้อนความคิดเห็น

ใน สายตาของสมบัติ เขาประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำงานหนักอยู่ขณะนี้ไม่น่าจะส่งผลหนักหนาสาหัสต่อการเติบ โตของพื้นที่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกหรือการดำเนินคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

“มี ผลบ้าง แต่ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ มีบ้างเป็นตัวตลกคนหนึ่ง แต่ตัวคนโดนก็ไม่ตลกนะ แต่มันก็ไม่สามารถมีผลต่อขบวน ต่อวิวัฒนาการของมัน และบทบาทมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จะลงทุนอะไรให้ไปอยู่บนกระแสนี้มันจะคุ้มค่ามาก ผม ไม่ไปไหนแล้ว ผมเล่นแต่เฟซบุ๊กอะ คุ้มแล้ว อ่านข่าว ดูคลิปดูอะไรอยู่ในนั้นหมด มีคนกรองให้เรียบร้อยแล้ว ข่าวไหนที่มันดีปุ๊บคนจะแชร์ จะเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่ถูกเน้นแล้ว ข่าวไหนคนแชร์เยอะก็คลิกดูว่ามันเป็นอย่างไร”

ใน ฐานะที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐบาลแล้ว(จากวิธีปฏิบัติที่รัฐ ดำเนินการกับเขา) เมื่อเราถามเขาว่าถ้าเขาเป็นรัฐบาลจะจัดการกับบรรยากาศปิดไม่มิด กดไม่อยู่อย่างที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ อย่างไร คำตอบของเขาคือ มันไม่ใช่ปัญหา

“ถ้า ผมเป็นรัฐบาล ผมก็จะไม่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้ คือมันเป็นวิวัฒนาการของสังคม เป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนมีเครื่องสะท้อนความคิดเห็น อาจจะพูดผิดพูดถูกบ้าง เข้าใจถูกเข้าใจผิดบ้าง มันเป็นพัฒนาการทางสังคมทางการเมืองที่เราจะต้องเรียนรู้กัน สิ่งที่รัฐบาลทำได้ไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นความพยายามที่จะเล่าความจริง ให้มันไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ทางสังคมนั้น อันนี้ต่างหากที่รัฐบาลควรทำ ไม่ใช่การปิด การตำหนิคนที่ด่าเรา แต่เป็นการชี้แจงและอธิบายว่าความจริงเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ในอินเทอร์เน็ตมันจะดี เพราะบางทีผมก็รู้สึกว่า มันขาดข้อมูลในการถกเถียง ขาดอีกมิติหนึ่ง คนเกลียดรัฐบาลเกลียดฉิบหาย มันรักเกินไปเกลียดเกินไป แล้วบางทีก็หยิบฉวยจากข้อมูลด้านๆ พื้นๆ ที่สื่อเสนอออกได้แค่พื้นฐาน ไม่ลึกซึ้งพอ มันขาดความลึกซึ้ง น่าเสียดาย ขณะที่เมื่อก่อน จะมีรายการทีวีที่มีทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีมาโต้กันอย่างลึกซึ้ง

"แต่ เดี๋ยวนี้มันไม่มีรายการคู่กรณีแล้ว เพราะสังคมรู้สึกว่า นี่มันเป็นการสร้างความขัดแย้ง สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดี เสี้ยมคนให้ทะเลาะกัน แต่ความจริงมันมีความดีของมันอีกด้านหนึ่ง”

สมบัติ ทิ้งทายให้กับคำถามสุดท้ายที่เราถามเขา เป็นการตอบจากสายตาของผู้ที่มองการนำเสนอความคิดแตกต่างเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งก็แน่นอนว่าสิ่งนี้กำลังดำรงอยู่และเขาเป็นเฟืองจักรสำคัญที่ขับเคลื่อน ให้มันดำเนินไปภายใต้แนวคิดของการเป็น “แกนนอน” ที่กำลังขยายแนวนอนของเครือข่ายให้พิสูจน์อำนาจการสื่อสารออนไลน์ที่ขยับออกสู่พื้นที่ ออฟไลน์ได้ทุกๆ วันอาทิตย์!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอนดรูว มาร์แชลล์: คำสาปของเพชรสีน้ำเงิน

Posted: 03 Oct 2010 02:04 PM PDT

 
สุภัตรา ภูมิประภาส แปลจาก “The curse of the blue diamond” by Andrew Marshall on Sep 22, 2010 12:59
 
 
 
เรื่องราวซับซ้อนอันยาวนานสองทศวรรษของการขโมย การปลอมแปลง การไร้ความสามารถ การทุจริต และการฆาตกรรม ที่กลับเข้ามาสู่ความสนใจของสาธารณชนในเดือนนี้ นำความเสียหายกลับมาสู่เศรษฐกิจของประเทศไทย ความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และโอกาสของการสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่
 
มันเป็นเรื่องที่เผยให้เห็นถึงการจัดการเกี่ยวกับการทุจริตซึ่งไม่ถูกควบคุมของตำรวจไทย ความอ่อนแอของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการเผชิญกับกลุ่มผลประโยชน์ที่มีสิทธิอำนาจชอบธรรมอันต้องได้รับการปกป้อง และวิธีการงุ่มง่ามของข้าราชการไทยจำนวนมากเมื่อพยายามที่จะปลดชนวนวิกฤต
 
เรื่องนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เมื่อเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยที่มีหน้าที่ทำความสะอาดในพระราชวังแห่งหนึ่งของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด แห่งซาอุดิอาระเบีย (Prince Faisal bin Fahd) ลอบเข้าไปขโมยเครื่องเพชรและอัญมณีซึ่งรวมทั้งเพชรสีนำเงินอันลือลั่นจากห้องนอนของเจ้าหญิง แล้วซุกซ่อนไว้ในถุงเครื่องดูดฝุ่น และส่งโดย DHL มายังประเทศไทย จากนั้นเขาก็หนีออกจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อกลับมาถึงบ้านที่จังหวัดลำปางในภาคเหนือของประเทศไทย เขาพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดการปล่อยของที่ขโมยมาทั้งชุด และเขาเริ่มแยกขายแต่ละชิ้นด้วยราคาเพียงไม่กี่ดอลลาร์ สันติ ศรีธนะขันธ์ พ่อค้าเพชรรู้ข่าวและเรื่องที่เกิดขึ้นจึงได้รับซื้อเครื่องเพชรทั้งหมดไว้ด้วยราคาที่ไม่อาจเทียบได้กับมูลค่าของมัน
 
ในเวลาใกล้เคียงกัน ฝ่ายราชวงศ์ซาอุฯรับรู้ว่าเครื่องเพชรได้ถูกขโมยไปและได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ไทยทราบ ทีมตำรวจไทยนำโดย พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ทำการจับกุมตัวเกรียงไกรได้อย่างรวดเร็ว แกะรอยไปถึงสันติ และแถลงว่าทางตำรวจได้พบของที่ถูกขโมยมาทั้งหมดแล้ว เกรียงไกรถูกพิพากษาลงโทษจำคุกเจ็ดปี เขารับโทษอยู่สามปีก่อนถูกปล่อยตัวเพราะรับสารภาพ ชลอนำคณะตัวแทนบินไปซาอุฯเพื่อคืนของทั้งหมดให้เจ้าชายไฟซาล
 
นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความผิดพลาดอย่างเลวร้ายต่อชื่อเสียงของตำรวจไทยและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบีย
 
ทางซาอุฯตรวจพบได้อย่างรวดเร็วว่าเครื่องเพชรที่ถูกนำมาคืนทั้งหมดนั้นเป็นของปลอม - โดยการทำเทียมขึ้นมาให้เหมือนของจริงและเพชรสีน้ำเงินได้หายไป
 
ด้วยความไม่วางใจตำรวจไทยอย่างเห็นได้ชัด ทางซาอุฯได้ส่ง มูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ (Mohammad al-Ruwaili) นักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซาอุฯมากรุงเทพฯเพื่อที่จะสางปมคดีนี้
 
เดือนกุมภาพันธ์ 2533 คำสาบได้ปลิดชีวิตแรก กงสุลซาอุฯถูกยิงตายในกรุงเทพฯ ไม่กี่นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯอีกสองคนถูกลอบสังหารเสียชีวิต ในเดือนเดียวกัน รูไวรี่หายตัวไป ไม่มีใครได้เห็นเขาอีก เชื่อกันว่าเขาถูกสังหารแล้วเช่นกัน คดีฆาตกรรมทั้งสี่คนยังคงไม่ถูกทำให้กระจ่าง
 
ทางซาอุฯสงสัยว่าตำรวจไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรมทั้งหมด รัฐบาลซาอุฯได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย และได้แต่งตั้ง โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา (Mohammed Said Khoja) อุปทูตที่พูดจาขวานผ่าซากมาสืบค้นข้อเท็จจริงที่กรุงเทพฯ โคจาสรุปว่าชาวซาอุดิอาระเบียทั้ง 4 คนได้ค้นพบข้อมูลสำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นกับเพชรและถูกฆ่าปิดปาก เริ่มมีข่าวลือแพร่กระจายในประเทศไทยว่ามีคนเห็นภรรยาของบุคคลในกลุ่มผู้ที่มีอำนาจมากในประเทศใส่เพชรซาอุฯที่หายไป
 
เรื่องนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2534 ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ยกเลิกการออกใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานไทยหลายหมื่นคน และยุติการออกวีซ่าไปทำงานให้กับคนไทย ตัวเลขจำนวนคนงานไทยในซาอุดิอาระเบียดิ่งลงจาก 150,000 คนในปี 2532 จนเหลือน้อยกว่า 10,000 คน
 
เดือนสิงหาคม 2537 สันติ พ่อค้าเพชรที่เชื่อกันว่าเป็นคนสับเปลี่ยนเพชรปลอมแทนของจริง ถูกลักพาตัวและถูกทรมานโดยคำสั่งของ พล.ต.ท.ชลอ ไม่นานหลังจากนั้น ภรรยาและบุตรชายวัย 14 ปีของเขาถูกพบเป็นศพในรถเมอร์ซิเดสเบ๊นซ์ที่พังเสียหายอยู่บนถนนสายหลักนอกกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชันสูตรพลิกศพแถลงว่าทั้งสองเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน แต่ปรากฎอย่างรวดเร็วว่ามันกลายเป็นเรื่องที่ตำรวจโกหกอย่างชัดเจน – เหยื่อทั้งสองถูกฆาตกรรมโดยถูกตีที่หัว และมีความพยายามอย่างลวกๆที่จะทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุ
 
ชลอถูกดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรมภรรยาและบุตรชายของสันติ ในระหว่างการพิจารณาคดีมีชาย 4 คนสารภาพว่าได้ทำการฆาตกรรมตามคำสั่งของตำรวจ และตำรวจพยายามขู่เอาเงิน 2.5 ล้านบาท จากพ่อค้าเพชรเป็นค่าไถ่ตัว ชลอถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดจริงและถูกลงโทษประหารชีวิต  แต่ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ในปี 2549 ชลอถูกพิพากษาอีกด้วยว่ามีความผิดฐานรับเพชรที่ถูกขโมยไว้ในครอบครอง
 
 
 
รูปจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ตอนชลอถูกนำตัวจากคุกไปฟังคำพิพากษา :
 
ในขณะนั้น เรื่องราวดำเนินไปอย่างมืดมน สันติและชลอไม่ยอมเปิดเผยสิ่งที่พวกเขารู้ ทำให้เกิดน้ำหนักกับข้อสงสัยที่กระจายไปอย่างกว้างขวางว่าเครื่องเพชรตกอยู่ในมือของบุคคลบางคนที่มีอำนาจมากที่จะปกปิดความจริง ชลอยังคงอยู่ในคุก โดยมีรายงานว่าเขากำลังจัดตั้งวงดนตรีและบันทึกอัลบั้มเพลงชุด “Jailhouse Rock” ของเอลวิส
 
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียยังคงตึงเครียด แม้ว่าจะมีความพยายามเป็นระยะๆที่จะแก้ไขปัญหานี้ ปีที่แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทยได้แถลงอย่างเร่งด่วนว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้อง “ชาวอาหรับ” ชื่อ อาบู อาลี (Abu Ali) ในข้อหาฆาตกรรมหนึ่งในนักการทูตซาอุฯและอ้างแบบค่อนข้างทำให้เกิดความงุนงงด้วยว่าเพชรสีน้ำเงินนั้นอาจไม่เคยมีอยู่ ในตะวันออกกลางนั้นมีคนเป็นล้านที่เรียกตัวเองว่า อาบู อาลี – มันไม่ใช่แม้แต่จะเป็นชื่อจริง แต่เป็นวิธีที่พูดถึงผู้ชายที่มีลูกชายชื่ออาลี ความก้าวหน้าแบบทึกทักเอาเองของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นไม่ได้สร้างความพอใจให้กับทางซาอุฯเลย
 
ปีนี้  ซึ่งคดีกำลังจะหมดอายุความ 20 ปีนั้น มีความคืบหน้าที่แท้จริงเกิดขึ้น – สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายตำรวจอาวุโส พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เชียงใหม่ด้วย ในข้อหาฆาตกรรมรูไวลี่ ตำรวจอีก 4 นายถูกสั่งฟ้องด้วย ทั้งห้าคนอยู่ระหว่างการรอถูกดำเนินคดี
 
การสั่งฟ้องเป็นความคืบหน้าเล็กๆที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯดีขึ้น จนมาถึงปลายเดือนที่แล้วเมื่อประเทศไทยสร้างรอยบากให้การทูตชนิดเตะลูกเข้าประตูตัวเองด้วยการประกาศแต่งตั้งสมคิดเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
ไม่น่าแปลกใจที่สถานทูตซาอุฯมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยความเกรี้ยวกราดต่อการแต่งตั้งสมคิด :
 
สถานทูตฯมีความกังวลอย่างยิ่งยวดที่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในคดีนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในลักษณะที่อาจกระทบการดำเนินการทางกฏหมายต่อจำเลย...
 
เนื่องจากความกังวลที่สำคัญยิ่งเหล่านี้ อาจกระทบอย่างรุนแรงต่อความอุตสาหะพยายามทั้งปวงในปัจจุบันของทั้งสองประเทศในอันที่จะแก้ไขปัญหาคาราคาซังที่กำลังส่งผลโดยตรงต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศ
 
แน่นอน รัฐบาลไทยต้องคาดคะเนได้ถึงพายุนี้แต่เห็นว่ามันโหมกระหน่ำอยู่ในทะเล...... อภิสิทธิ์ และรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ รีบให้ความมั่นใจกับสื่อมวลชนไทยว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นอีกประเด็นที่สร้างความวิบัติกับความสัมพันธ์ทางการทูตและความตึงเครียดนี้จะลดลงเมื่อทางซาอุฯได้รับฟังคำชี้แจงเรื่องทั้งหมดอย่างถูกต้อง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้พยายามที่จะทำให้เรื่องทั้งหลายผ่อนคลายลงด้วยการอ้างเหตุผลที่พิลึกพิลั่นว่าที่จริงแล้วการแต่งตั้งสมคิดนั้นเป็นการลดอำนาจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น  (The Nation) รายงานข่าวว่า:
 
ผู้บัญชาการตำรวจฯกล่าวว่าเขาจะบอกกับนักการทูตซาอุฯด้วยว่า หากจะพิจารณาให้ดี การเลื่อนตำแหน่งของสมคิดนั้นทำให้อำนาจบังคับบัญชาของเขาลดลง เพราะตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจภาคฯนั้นตามที่เห็นกันอยู่ว่ามีอำนาจมากกว่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
ขณะที่สุเทพกล่าวว่าเขาจะส่งจดหมายไปให้ทางซาอุฯเพื่อแจกแจงประเด็นดังกล่าวและปลดชนวนปัญหา กษิตได้พบกับ นาบิล อัชรี (Nabil Ashri) อุปทูตซาอุฯ และแถลงว่าเขาได้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีจดหมาย ทางฝ่ายซาอุฯยังคงโกรธเกรี้ยว อภิสิทธิ์กล่าวว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจะเตรียมชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งจะยุติข้อกังวลของทางซาอุฯแต่ต้องใช้เวลานานเพราะต้องแปลอย่างระมัดระวัง: “การแปลล่าช้าเพราะต้องทำให้เกิดความแน่ใจในความถูกต้องของข้อความมากที่สุด การตีความใดๆที่ผิดจะมีผลให้เกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้น”
 
ดูเหมือนว่าการแปลดังกล่าวนี้จะต้องยากมากเกินไปกว่าที่จะทำให้ลุล่วงได้ สัปดาห์ที่แล้วอภิสิทธิ์ได้พบกับอุปทูตอัชรีด้วยตัวเอง เพราะ (ตามรายงานข่าวของ Bangkok Post) “เป็นการชี้แจงประเด็นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าผ่านเอกสาร” รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า “ตามคำบอกเล่าของอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่าอุปทูตซาอุฯได้รับข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับเรื่องนี้”
 
อัชรีไม่ยอมทนกับรายงานข่าวนี้ วันที่ 19 กันยายน เขาได้ออกแถลงการณ์ที่กราดเกรี้ยวโจมตีเจ้าหน้าที่ไทย:
 
นายนาบิล อัชรี มีความประหลาดใจต่อรายงานข่าวที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับการพบปะดังกล่าวกับนายกรัฐมนตรีไทยที่ให้ภาพว่าอุปทูตซาอุฯมีข้อมูล “ไม่ครบถ้วน” และตามคำกล่าวอ้างของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่าเขา [อัชรี] “มีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับประเด็น” การเลื่อนขั้นของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
 
นายนาบิล อัชรี ย้ำว่าภารกิจที่สำคัญที่สุดของเขาที่นี่คือเป็นตัวแทนรัฐบาลในการติดตามความคืบหน้าของคดีซาอุฯที่ค้างคาอยู่จากรัฐบาลไทย โดยระบุว่าความจริงเขามีข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนตำแหน่งของหนึ่งในผู้ต้องหาในคดีการหายตัวและการฆาตกรรมนักธุรกิจซาอุฯ ในแถลงการณ์อ้างถึงคำพูดของอุปทูตซาอุฯว่า “ผมมีข้อมูลครบถ้วน ไม่ใช่ ข้อมูลไม่ครบ” ตามคำแถลงของอุปทูตซาอุฯ บรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เขาพบเท่าที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งหรืออ้างถึงกฎหมายที่แตกต่างกันในการพยายามอธิบายประเด็นดังกล่าวนี้กับเขา
 
ขณะที่ข้อพิพาทขยายตัวมากขึ้น มีความกังวลเกิดขึ้นว่าทางซาอุฯจะโน้มน้าวให้ประเทศมุสลิมอื่นๆลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย หรือจะตัดโควต้าชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปร่วมพิธีหัจญ์ ในที่สุด วันนี้สมคิดประกาศว่าเพื่อผลประโยชน์ในความสัมพันธ์กับประเทศซาอุฯ เขาจะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าว
 
รองนายกรัฐมนตรีสุเทพยอมรับ “การเสียสละ”ของสมคิด และกล่าวเสริมว่า “การตัดสินใจของเขา [สมคิด] จะทำให้การแก้ปัญหาระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบียง่ายขึ้น”
 
แต่แน่นอน ปัญหาทั้งหมดยังอยู่ห่างไกลจากการแก้ไข และขณะที่การตัดสินใจของสมคิดในการปฏิเสธการแต่งตั้งดังกล่าวได้ขจัดสถานการณ์ที่ความรุนแรงเริ่มเกิดขึ้นและควบคุมไม่ได้นั้นออกไป เหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นไปแล้วต่อความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหาระหว่างสองประเทศ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปทำให้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับโลกอาหรับ
 
ตำนานเรื่องนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับประเทศไทย? ประการแรก มันอธิบายขอบเขตที่น่าตระหนกตกใจของการทำผิดกฎหมายในแวดวงตำรวจไทย  ตามที่นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ (The Economist) ชี้ไว้ในบทความปี 2551 “ในคดีอาชญากรรมที่กระตุ้นความสนใจมากที่สุดของประเทศไทย บ่อยครั้งที่ผู้ต้องสงสัยที่สำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ” เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้ทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าพวกเขายังอยู่ห่างไกลกับการที่จะลดการก่ออาชญากรรมมากกว่าที่จะแก้ปัญหาอาชญกรรม คนไทยจำนวนมากได้พัฒนาการยอมรับเชิงอิดหนาระอาใจต่อพฤติกรรมของตำรวจและไม่ค่อยจะประหลาดใจแม้ในเรื่องทุจริตต่างๆที่โจ่งแจ้งและน่าขนลุก แต่เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นรื่องเพชรซาอุที่อื้อฉาวนั้น บ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อภาพพจน์และผลประโยชน์ของชาติ ประเทศไทยมีตำรวจท่องเที่ยวเป็นหน่วยพิเศษที่ตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ชาวต่างชาติได้มีช่องทางเล็กๆในการติดต่อกับตำรวจปกติทั่วไปเท่าที่เป็นไปได้- [ไม่เช่นนั้นแล้ว] ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งหัวใจของประเทศคงจะน่าขนลุกทีเดียว ตามที่นิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ เขียนไว้ในบทความว่า:
 
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ากองตำรวจของประเทศไทยไม่ได้แย่ที่สุดในโลก: มันมีความสุจริตอยู่บ้าง และมีพนักงานสอบสวนที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงพอสมควรเช่นนี้ บันทึกประวัติอาชญากรรมของตำรวจเลวร้ายมาก...
 
การปฏิรูปตำรวจที่อื่นๆโดยทั่วไปสำเร็จได้เฉพาะแต่ในประเทศที่มีผู้นำทางการเมืองที่ปราศจากมลทินและมีจิตใจเพื่อสาธารณะใช้อำนาจผลักดันให้เกิดขึ้น เมื่อไรประเทศไทยถึงจะมีผู้นำแบบนี้?
 
ประการที่สอง ความพยายามที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและแม้แต่ตัวอภิสิทธิ์เองในการพูดหาทางออกของวิกฤติตามแบบที่คุ้นเคย อภิสิทธิ์และรัฐมนตรีอาวุโสย้ำวลีเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยใช้ในทุกสถานการณ์ – ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีอะไรต้องกังวล มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะคนที่วิจารณ์รัฐบาลไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับสถานการณ์, สาเหตุส่วนหนึ่งจากความซับซ้อนของกฎหมายและลักษณะเฉพาะของประเทศไทย และปัญหาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขเมื่อพวกเขาได้รับฟังคำอธิบายเรื่องต่างๆแล้ว  คำอธิบายที่เป็นคำมั่นสัญญานี้ยากที่จะกลายเป็นจริง
 
คำอธิบายที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลที่คล้ายคลึงกันมากถูกใช้เมื่อรัฐบาลพยายามที่จะขับไล่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ยึดพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพฯเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมนำไปสู่การนองเลือดบนถนนในเมืองหลวงและทำให้เกิดความห่วงใยจากนานาชาติ รัฐบาลกล่าวว่านักวิจารณ์ชาวต่างชาติมีความเข้าใจผิดอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ซับซ้อน แต่พวกเขาจะเข้าใจเมื่อได้รับคำอธิบายถึงเรื่องต่างๆ มันเป็นกลยุทธที่ไม่ใช่เพียงถูกจำกัดอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน – ศัตรูคู่แค้นของอภิสิทธิ์, อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยจัดการกับเรื่องที่เป็นข้อโต้เถียงด้วยวิธีการแบบเดียวกัน และหากพิจารณาถึงสื่อมวลชนที่เฉื่อยชามากของประเทศไทยและข้อเท็จจริงที่ระบบการศึกษาและค่านิยมต่างๆของสังคมนั้นไม่ได้ส่งเสริมให้มีการตั้งคำถามกับผู้บริหาร, บ่อยครั้งที่ข้าราชการไทยไม่ถูกลงโทษเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนในประเทศ เป็นเรื่องยากกว่าที่จะทำให้ชาวต่างชาติเชื่อคำอธิบายที่ไม่เป็นเหตุผลเช่นนั้น – เช่นที่แถลงการณ์ของอุปทูตซาอุฯ ระบุว่า:
 
นายอัชรีอ้างถึงการแสดงความเห็นต่างๆของเจ้าหน้าที่ไทยในสื่อที่แสดงเหตุผลในการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และกล่าวอ้าง โดยไม่มีคำอธิบายที่มากกว่าความซับซ้อนและกฎหมายต่างๆและกฎระเบียบจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งครั้งนี้, และกล่าวว่า “ความเห็นของผมในเรื่องความซับซ้อนเหล่านี้และกฎหมายต่างๆที่เจ้าหน้าที่ไทยได้อ้างถึงในการแก้ต่างให้กับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งของนายสมคิด คือ โดยทั่วไปกฎหมายทุกฉบับถูกร่างและนำมาใช้โดยความเห็นชอบของสาธารณชน ดังนั้น ผมถือว่าไม่มีกฎหมายใดซับซ้อนเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ – ไม่ว่าจะมีกี่ฉบับ – และจุดประสงค์เบื้องต้นของมัน หรือความเข้าใจผิดต่อเป้าประสงค์ของกฎหมาย”
 
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งโดยปกตินั้นสนับสนุนรัฐบาล เขียนในบทบรรณาธิการด้วยถ้อยคำเสียดแทงว่า:
 
ทั้งนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์, รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ บอกว่าพวกเขาได้อธิบายเกี่ยวกับการแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด ให้กับนายอัชรี แล้ว นั่นเป็นเพียงการเพิ่มลับลมคมในเข้าไป
 
ในข้อเท็จจริง นายอัชรีไม่ได้รับคำอธิบายอย่างเป็นทางการตามที่ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลทั้งสามคนสัญญาไว้และได้บอกกับสาธารณชนไทยว่าได้ส่งไปให้ [ทางซาอุฯ]แล้ว คำแก้ตัวคือมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องรวบรวม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่รัฐมนตรีทั้งสามบอกกับสาธารณชน นี่เป็นการตบหน้าข้าราชการกระทรวงต่างประเทศฉาดใหญ่ ความพยายามที่ดำเนินการไปแล้วของพวกเขาในการที่ประสานงานกับนักการทูตซาอุฯตามที่มีการเรียกร้องนั้นได้ถูกทำลายลงโดยนักการเมืองพวกนี้
 
และรัฐบาลได้คำนวณผิดอย่างร้ายแรงถึงผลกระทบทางการเมือง หรือว่าไม่สนใจ
 
ประการที่สาม  และเป็นเรื่องน่ากังวลที่สุดสำหรับคนที่คิดว่าอภิสิทธิ์สามารถนำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปหรือการปรองดองได้ บทสุดท้ายของตำนานเพชรสีน้ำเงินแสดงให้เห็นถึงระดับที่เขายังคงอยู่ในความครอบงำที่ด่างพร้อยแต่เป็นของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีสิทธิอำนาจอันชอบธรรม ไม่ว่าใครจะคิดถึงนโยบายของอภิสิทธิ์อย่างใดก็ตาม เขาไม่ใช่คนโง่ และเขามีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นคนซื่อตรง แต่เขาครองอำนาจ [ในแบบ] ที่ต้องขอบคุณต่อการสนับสนุนของปัจจัยที่เป็นคำถามอย่างยิ่งในกองทัพและตำรวจ และนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีอย่าง เนวิน ชิดชอบ ซึ่งพรรคฯได้แต่งตั้งให้กำกับดูแลรัฐมนตรี 3 คนที่ร่ำรวยมาก สำหรับคนที่ประหลาดใจว่าทำไม
สมคิดถึงได้ถูกเสนอให้รับตำแหน่งที่เป็นข้อถกเถียงซึ่งทำให้เกิดคำถาม– แม้ว่าจะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของไทย - มันชัดเจนว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ทางซาอุฯมองได้ว่าเป็นเหมือนการยั่วยุอย่างมาก – ความจริงที่พี่ชายของเขา [สมคิด] เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มนายทหารและนายตำรวจที่วางแผนการรัฐประหารปี 2549 นั้นให้คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด สองพี่น้องยังมีบทบาทสำคัญในการเตรียมหลักฐานที่นำไปสู่คำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชนที่สนับสนุนทักษิณ - การแทรกแซงที่เปิดโอกาสให้อภิสิทธิ์ได้จัดตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ไม่อาจที่จะไม่รับรู้ถึงความเสียหายใหญ่หลวงของการแต่งตั้งที่มีต่อผลประโยชน์ของประเทศ และแม้ว่าจะมีปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ความพยายามของเขาในการอธิบายเรื่องดังกล่าวนั้นไม่น่าประทับใจ และเขารู้อย่างชัดเจนว่าเขาไม่มีทางเลือกแต่ต้องแก้ตัวให้กับการตัดสินใจ จนกระทั่ง “การเสียสละ”ของสมคิดทำให้เขาหลุดจากบ่วง
 
ในระยะยาวไปกว่านี้ คำสาปของเพชรสีน้ำเงินยังรายล้อมประเทศไทย นี่คือเรื่องราวที่ยังยาวไกลกว่าจะถึงตอนจบ
 
-----------------------------------------------

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกินขอบเขตหรือไม่ คำสั่งศาลปกครองระงับการประมูล 3G ชั่วคราว

Posted: 03 Oct 2010 01:25 PM PDT

ชื่อบทความเดิม คำสั่งศาลปกครองที่ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3Gไว้ชั่วคราว
 
 
 
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 379/2553 เรื่องการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 IMT (“คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G”)2 ทำให้ประชาชนจำนวนมากฝันสลาย โอกาสที่จะได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) ระบบ 3G ที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการมากรายภายในปี 2554 ดูจะเลือนลางไปอย่างสิ้นเชิง ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศาลได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการยับยั้งการบริหารราชการของฝ่ายบริหารอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
 
คำถามถือการยับยั้งดังกล่าวเกินขอบเขตหรือไม่
 
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ระงับการประมูล 3G เป็นผลมาจากการที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (“บมจ. กสท”) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ต่อไปนี้ขอเรียกรวมกันว่า “กทช.”) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz (“ประกาศ 3G”)3  และให้ระงับการประมูลและการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว 
 
ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับฟ้องและได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งให้ กทช. ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวรวมทั้งการดำเนินการตามประกาศ 3G ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว โดยถือว่าประกาศ 3G เป็น “กฎทางปกครอง” กทช. ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลปกครองกลางที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้แก้คำสั่งดังกล่าวของศาลปกครองกลางเป็นว่าให้ “ทุเลาการบังคับ” ตามประกาศ 3G ไว้ก่อน โดยสั่งให้ กทช. ระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G และการดำเนินการต่อไปตามประกาศ 3G จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 
 
ปรากฏการณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าศาลได้เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถยับยั้งการบริหารราชการฝ่ายบริหารได้ง่ายขึ้น ทั้ง ๆ ที่บุคคลนั้นไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายจากการกระทำทางปกครองและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอว่าการกระทำทางปกครองไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ตรงกันข้ามศาลกลับให้น้ำหนักกับการที่ต้องทำให้การบริหารราชการของฝ่ายปกครองเป็นไปโดยถูกต้องตามลำดับขั้นตอนในมุมมองของศาล กล่าวคือ ฝ่ายปกครองจะกระทำการได้ก็ต่อเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่ามีอำนาจตามกฎหมาย (ข้อ 1) โดยศาลได้คาดการณ์ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ฝ่ายบริหารหากกระทำไปโดยไม่มีอำนาจและนำมาเป็นเหตุยับยั้งการกระทำทางปกครองมากกว่าที่จะคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ได้บัญญัติว่าหากศาลจะยับยั้งการบริหารราชการทางปกครองก็จะต้องปรากฎว่า หากไม่ยับยั้ง ก็จะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาภายหลังจากความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าศาลปกครองได้สร้างหลักเกณฑ์การยับยั้งการกระทำทางปกครองขึ้นมาใหม่ (ข้อ 2) 
 
แนวทางการใช้ดุลยพินิจทางตุลาการเช่นนี้ย่อมจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการในภาพรวมอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าหากบุคคลใดที่ไม่ถูกใจการกระทำทางปกครองก็จะสามารถบังคับ (โดยการฟ้องคดี) ให้ฝ่ายปกครองไปชี้แจงและขอคำรับรองความชอบด้วยกฎหมายจากศาลก่อนที่จะดำเนินการให้บริการสาธารณะ
 
ข้อ 1 การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อยับยั้งการบริหารราชการที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การยับยั้งการกระทำทางปกครองโดยศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดนั้นมีข้อพิจารณาว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเรื่องการรับฟ้องคดีซึ่งกฎหมายได้จำกัดคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีเอาไว้ (ข้อ 1.1) และไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ว่าจะต้องปรากฎว่าการกระทำทางปกครอง “น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (ข้อ 1.2)
 
1.1 การรับฟ้องที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี
เหตุผลที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดอาศัยเป็นเหตุในการมีคำสั่งระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G เป็นการชั่วคราวนั้นเป็นเรื่องอำนาจของ กทช. ในการจัดประมูล 3G โดยมีประเด็นสำคัญในศาลปกครองกลางว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ กทช. ขัดต่อมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติให้จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลใหม่หรือไม่ และมีประเด็นหลักในศาลปกครองสูงสุดว่าก่อนการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G โดย กทช. นั้น จะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (“ตารางฯ”) ตามมาตรา 51 (1) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 (ซึ่งต้องจัดทำร่วมกันโดยกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าคณะกรรมการร่วม) ก่อนหรือไม่4
ในเรื่องนี้ คำสั่งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดได้สรุปข้ออ้างของ บมจ. กสท ว่าการดำเนินการตามประกาศ 3G “ทำให้ผู้ฟ้องคดี (บมจ. กสท) ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะผู้ฟ้องคดีและผู้รับสัมปทานในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทานของผู้ฟ้องคดีต้องถูกบังคับให้ใช้กฎตามประกาศ 3G โดยตรง อาจทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทานของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่เดิมเป็นจำนวนกว่า 37,000,000 ราย เลิกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ฟ้องดคีและผู้รับสัมปทานจากผู้ฟ้องคดี จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับเป็นจำนวนเงินจำนวนปีละหลายหมื่นล้านบาท”5
 
ในขณะนี้ประชาชนยังไม่อาจทราบได้ว่าศาลปกครองกลางได้พิจารณารับฟ้องคดีนี้ไว้เพราะเหตุใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และประเด็นการรับฟ้องคดีกับประเด็นการมีคำสั่งบรรเทาทุกข์หรือการทุเลากฎก็ยังมีประเด็นการพิจารณาที่ทับซ้อนกันอย่างหนึ่งคือ ประเด็นที่ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการกระทำทางปกครองหรือไม่ และศาลปกครองกลางเองก็ได้กล่าวไว้ว่า
 
“ประกาศที่พิพาทไม่ได้มีผลบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีให้ต้องกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด”6
 
โดยปกติแล้ว หากศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ศาลก็จะให้เหตุผลและจะไม่พิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีในเรื่องการขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา แต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ประชาชนทั่วไปจะยังไม่อาจทราบถึงเหตุผลในการรับฟ้องไว้พิจารณา ทั้ง ๆ ที่ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่จริงแล้ว แม้คำสั่งรับฟ้องจะไม่อาจอุทธรณ์ได้ก็ตาม แต่หากศาลอธิบายเหตุผลแห่งการรับฟ้องพร้อมกับการมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎก็จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อการอภิปรายทางกฎหมายอย่างมาก7
 
ด้วยเหตุนี้ ในการวิเคราะห์การรับฟ้องคดีของศาลต่อไปนี้ จะอ้างอิงจากข้อเท็จจริงจากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดและข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองสูงสุดนำมาเป็นเหตุในการทุเลาการบังคับตามกฎ
 
1.1.1 ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ที่จะ (หรืออาจจะ) ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าศาลย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการ คงมีแต่เฉพาะอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้นโดยผลของหลักการแบ่งแยกอำนาจดังกล่าว การกระทำทางปกครองจึงมีผลบังคับต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง (privilège du préalable) โดยไม่ต้องได้รับคำรับรองหรือคำบังคับใด ๆ จากศาลก่อน
 
หลักการดังกล่าวนี้จะไร้ผลหากประชาชนทุกคนสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลยับยั้งการกระทำทางปกครองได้โดยเหตุแค่ว่า
 
ตนเองสงสัยในอำนาจของฝ่ายปกครอง การใช้อำนาจขององคาพยพของรัฐที่ก้าวล้ำอำนาจขององคาพยพอื่นย่อมจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอาจถูกละเมิดได้ทั้งทางนิตินัยและโดยทางข้อเท็จจริง 
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายไทยจึงไม่ได้ยอมรับว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเมื่อเห็นว่ากฎทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่เรียกว่า การฟ้องร้องโดยประชาชน (ตามตำรากฎหมายฝรั่งเศสเรียกกันว่า action populaire หรือ actio popularis ตามกฎหมายโรมัน) 
 
กฎหมายได้บัญญัติให้ศาลรับฟ้องคดีเพิกถอนกฎทางปกครองได้แต่เฉพาะกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น10 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ฟ้องคดีต้องแสดงให้ศาลเห็นถึงความเสียหาย (หากกฎยังคงอยู่ต่อไป) หรือประโยชน์ (ที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง) ที่ตนเองจะได้รับ (หากกฎถูกเพิกถอน)11  ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพิจารณาว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎนั้นมี “ความสัมพันธ์” กับความเสียหายหรือประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างอย่างไร 
 
โดยปกติแล้ว เหตุผลที่บุคคลมีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ตนเป็นผู้รับนั้นก็เพราะคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อตนเอง “โดยตรง”12 และ “เป็นการเฉพาะตัว”13 ดังนั้น โดยหลักแล้วบุคคลจะไม่อาจฟ้องร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ตนไม่ใช่ผู้รับ ทั้งนี้เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตนเองเสมือนหนึ่งว่าตนเองเป็นผู้รับคำสั่งด้วย14 ด้วยเหตุเช่นเดียวกัน บุคคลจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนกฎที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่ากฎนั้นส่งผลกระทบต่อตนเองด้วย (กล่าวคือส่งผลโดยตรง (direct) และเป็นการเฉพาะตัว (individualisation) แตกต่างจากที่ส่งผลต่อประชาชนคนอื่น) ในลักษณะที่ไม่ต่างจากคำสั่งทางปกครองที่มีผลต่อตน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยอมรับหลักการนี้15 โดยผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างได้ว่าประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบจากกฎ เพราะผู้ฟ้องคดีต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าตนเองได้รับความเสียหายเป็น “การเฉพาะ” อย่างไร16 และศาลไม่อาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาหากผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับผลกระทบ “เป็นส่วนตัว” แต่มีเพียงความประสงค์จะฟ้องร้องเพื่อให้ระบบขององค์กรเป็นไปโดยชอบธรรมเท่านั้น17
 
นอกจากนี้ ที่กล่าวข้างต้นว่าจะต้องพิเคราะห์ว่า กฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงหรือเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่นั้น หมายความว่า จะต้องพิเคราะห์ว่า “ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎ” (อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี) ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เช่น หากกล่าวอ้างว่าฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจ ก็ต้องระบุว่าเพราะเหตุใด และศาลปกครองก็จะต้องพิจารณาว่าข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่าฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจเพราะเหตุผลนั้น (เหตุแห่งการฟ้องคดี) มีความสัมพันธ์กับประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่กล่าวอ้างโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่ หากไม่ใช่ ศาลก็ไม่อาจรับฟ้องไว้พิจารณา18
 
หลักเกณฑ์การรับฟ้องดังกล่าวทำให้ศาลสามารถแยกแยะผู้ฟ้องคดีที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎจริง ๆ ออกจากประชาชนคนอื่น ๆ โดยทั่วไปได้ดีขึ้น หากไม่มีการแยกแยะและถือว่าผู้ฟ้องคดี สามารถฟ้องคดีได้แม้จะได้รับผลกระทบจากความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเฉกเช่นประชาชนคนอื่น ๆ ทุกคน ก็เท่ากับว่าศาลปกครองจะต้องรับฟ้องคดีจากประชาชนทุกคนอันจะทำให้การรับฟ้องมีความใกล้เคียงกับ actio popularis อย่างมาก
 
หลักที่ว่าผู้ฟ้องคดีจะฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนกฎทางปกครองได้ต่อเมื่อแสดงให้เห็นว่ากฎดังกล่าวกระทบต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวไม่ต่างอะไรจากคำสั่งทางปกครองนั้นได้รับการยอมรับทั้งในกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสหภาพยุโรป19
 
ดังนั้น กรณีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ระงับการประมูล 3G ไว้ชั่วคราว จึงต้องมีการพิจารณาว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ บมจ. กสท กล่าวอ้างนั้น ส่งผลเสียหายต่อ บมจ. กสท โดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่
 
1.1.1.1 ความเดือดร้อนหรือเสียหายของ บมจ. กสท ไม่ใช่ความเสียหาย “โดยตรง” จากการ “ไม่มีอำนาจ”
มีข้อน่ากังขาว่าความเสียหายที่ บมจ. กสท กล่าวถึงเกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่ กทช. มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจให้ประมูลใบอนุญาต 3G ทั้งนี้เพราะ บมจ. กสท เองก็มีคลื่นความถี่ย่าน 800 และเทคโนโลยี CDMA 2000 1X EV-DO20 ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดเท่ากับ 2.4 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งถือเป็นการให้บริการ 3G อยู่แล้วในขณะนี้ และเป็นความเร็วที่มากกว่าความเร็วที่ กทช. กำหนดเป็นอัตราขั้นต่ำของความเร็วการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 Ghz หลายเท่าตัว21 ดังนั้น ในแง่นี้ บมจ. กสท จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศ 3G แต่อย่างใด
 
เสรีภาพในการเลือกบริการของประชาชน 
หากพิจารณาตามข้ออ้างของ บมจ. กสท แม้จะสมมุติว่า กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดประมูลเพราะว่ามาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ บัญญัติให้มีองค์กรกำกับดูแลองค์กรใหม่ และแม้จะสมมุติว่าจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ ตามมาตรา 51 (1) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก่อนตามที่ บมจ. กสท อ้างก็ตาม แต่ความเสียหายของ บมจ. กสท ที่อ้างถึง (ลูกค้าใช้ “เสรีภาพของตน” เลิกใช้บริการของ บมจ. กสท และเปลี่ยนไปใช้บริการของผู้ชนะประมูลและรายได้ของ บมจ. กสท ลดลง) ก็หาได้เป็นผล “โดยตรง” มาจากการที่รัฐยังไม่ได้จัดตั้งองค์กรดังกล่าวหรือไม่ได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่หรือตารางฯ แต่อย่างใดไม่
 
ตรงกันข้าม แม้จะสมมุติว่าในวันที่ประกาศ 3G มีผลใช้บังคับ รัฐได้จัดตั้งองค์กรดังกล่าวแล้วหรือได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ แล้ว โดยหลักของเหตุและผลแล้ว ก็น่าจะเชื่อได้ว่าองค์กรดังกล่าว และแผนแม่บทและตารางฯ ดังกล่าวก็ไม่น่าจะห้ามมิให้ลูกค้าของ บมจ. กสท ใช้เสรีภาพของตนเลือกใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของผู้ชนะการประมูล และคงจะไม่ได้รับประกันว่ารายได้ของ บมจ. กสท จะต้องไม่ลดลง อันเป็นการสร้างการผูกขาด เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรอง มิได้เป็นผลของกฎทางปกครอง
 
รายได้ของ บมจ. กสท
ความเสียหายด้าน “รายได้” เป็นความเสียหาย “ในอนาคต” เพราะผู้ชนะการประมูลต้องใช้เวลาในการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม 3G เป็นเวลานาน และเป็นความเสียหายที่ “ไม่ได้ใกล้ชิดกับการเพิกถอนกฎ” เพราะแม้จะเพิกถอนกฎแล้ว ความเสียหายก็ยังคงอยู่ เพราะหากประชาชนใช้เสรีภาพของตนเลือกใช้บริการ 3G ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  (“บมจ. ทีโอที”)22 รายได้ของ บมจ. กสท ก็ลดลงอยู่ดี และอาจลดลงอย่างมากด้วย กฎอาจทำให้ บมจ. กสท มีคู่แข่งทางธุรกิจมากขึ้นกว่าที่จะต้องแข่งขันกับ บมจ. ทีโอที และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ บมจ. กสท มีรายได้ลดลง แต่การที่รายได้ลดลงก็เป็นผลมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นผลโดยตรงของกฎหรือจากความมีหรือไม่มีอำนาจในการออกกฎของ กทช. ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เคยปฏิเสธที่จะรับฟ้องคดีไว้พิจารณาหากประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่กล่าวอ้างนั้น ไม่มีความใกล้ชิดกับการเพิกถอนกฎ เช่น หากผู้ฟ้องคดีต้องเสียภาษี จึงมาฟ้องคดีที่รัฐออกกฎ โดยอ้างว่ากฎนั้นมีผลเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณ (ภาษี) เป็นต้น23 ทั้งนี้ เพราะการที่ผู้ฟ้องคดีต้องเสียภาษีและมีรายได้สุทธิลดลงนั้น เป็นผลจากกฎเกณฑ์ทางด้านภาษีและรายได้ของผู้ฟ้องคดีเอง ไม่ใช่เป็นผลโดยตรงมาจากกฎอันเป็นเรื่องที่รัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณ แม้ศาลปกครองจะเพิกถอนกฎดังกล่าว ก็ไม่มีผล “โดยตรง” ให้ผู้ฟ้องคดีชำระภาษีน้อยลง ในทำนองเดียวกัน แม้จะเพิกถอนประกาศ 3G แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่ารายได้ของ บมจ. กสท จะเท่าเดิม
 
นอกจากนี้ ความเสียหายเรื่องรายได้ก็เป็นการ คาดหมาย” ของ บมจ. กสท เอง ยังไม่มีความใกล้ชิดแน่นอนเพียงพอกับกฎเพราะยังมีเหตุแทรกแซงจากปัจจัยอื่นมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับประกาศ 3G โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะตลาดและการให้บริการของบมจ.กสท.เอง ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ บมจ.กสท. ทั้งนี้เพราะ ตามที่กล่าวแล้ว บมจ.กสท.เองก็มีคลื่นความถี่ย่าน 800 และเทคโนโลยี CDMA 2000 1X EV-DO ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดเท่ากับ 2.4 เมกะบิตต่อวินาที อันมากกว่าความเร็วขั้นต่ำในการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz หลายเท่าตัว และถือได้ว่าเป็นการให้บริการ 3G อยู่แล้วด้วยในขณะนี้ ดังนั้น หาก บมจ. กสท ให้บริการ 3G ที่ดี ผู้ใช้บริการก็ย่อมไม่เปลี่ยนใจไปใช้บริการของรายอื่น และในขณะนี้ บมจ. ทีโอที เองก็ได้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G อยู่แล้วเช่นกัน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าประกาศ 3G ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ บมจ. กสท โดยตรง 
 
ศาลปกครองสูงสุดก็ได้เคยปฏิเสธว่าบุคคลไม่อาจฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนกฎทางปกครองได้หากความเสียหายเดือดร้อนที่กล่าวอ้างนั้นมิได้มีสาเหตุ “โดยตรง” มาจากกฎของฝ่ายปกครอง แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเช่นรายได้ของผู้ฟ้องคดีเอง24
 
ในทำนองเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดก็เคยมีคำสั่งว่าผู้ร่างกฎทางปกครองจะมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนกฎที่ตนร่างหลังจากที่กฎมีผลใช้บังคับแล้ว โดยอ้างว่ากฎดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและอาจต้องถูกไล่เบี้ยให้ชดใช้ความเสียหายไม่ได้ เพราะความเสียหายที่กล่าวอ้างเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการ “คาดหมาย” เอาเองของผู้ฟ้องคดีและเป็นเหตุการณ์ที่ไกลเกินกว่าเหตุ ศาลไม่รับฟ้อง25 ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะการถูกดูหมิ่นหรือการถูกไล่เบี้ยให้ชดใช้ความเสียหายนั้น เป็นผลจากการกระทำของบุคคลอื่นที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการที่กฎดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากข้ออ้างของ บมจ กสท เรื่องรายได้ที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของบมจ กสท และการแข่งขันจากผู้ชนะการประมูล ไม่ใช่ผลโดยตรงของกฎ
 
เช่นเดียวกัน กรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอย้ายไปดำรงตำแหน่งราชการตำแหน่งหนึ่ง แต่หน่วยงานราชการได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้อื่นให้ไปดำรงตำแหน่งนั้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งเพียงเพราะเหตุว่าหากไม่มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลนั้น ตนเองก็คงจะได้รับคำสั่งย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งนั้น ศาลไม่รับฟ้อง เพราะกรณีเท่ากับเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า26 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากกฎตามที่อ้างยังไม่มีความแน่นอนใกล้ชิดกับกฎอย่างเพียงพอนั่นเอง ซึ่งไม่ต่างจากความเดือดร้อนเสียหายเรื่องรายได้ที่ บมจ. กสท อ้าง กรณีข้างต้นเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีไม่พอใจคำสั่งทางปกครองที่ให้สิทธิบุคคลอื่นให้สามารถ “ประกอบอาชีพ” โดยดำรงตำแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์อยู่ ซึ่งศาลไม่รับฟ้อง กรณีก็ไม่ต่างจากการที่ บมจ. กสท ขอคัดค้านประกาศ 3G ที่อนุญาตให้ผู้อื่น “ประกอบกิจการ” ให้บริการ 3G แข่งขันกับบมจ กสท ซึ่งประกอบกิจการนี้อยู่ ดังนั้น ศาลยิ่งไม่ควรรับฟ้องสำหรับกรณีประกาศ 3G
 
ความเดือดร้อนที่ บมจ. กสท อ้างว่าได้รับจากความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎจึงขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนและสวนทางกับหลักการของเหตุและผล
 
1.1.1.2 ความเดือดร้อนหรือเสียหายของ บมจ. กสท ไม่ใช่ “การเฉพาะตัว” อันทำให้ บมจ. กสท ได้รับผลกระทบแตกต่างจากประชาชนคนอื่น ๆ
เมื่อพิจารณาเหตุที่ บมจ. กสท อ้าง (ความเสียหายเรื่องการย้ายของลูกค้า) จะเห็นได้ว่า การที่ผู้ใช้บริการอาจจะเลิกการใช้บริการระบบ 2G เพื่อย้ายไปใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของผู้ชนะการประมูลนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ บมจ. กสท เป็นการเฉพาะตัว ที่ทำให้กฎมีผลต่อ บมจ. กสท ในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคำสั่งทางปกครองที่มีถึง บมจ. กสท อันทำให้ บมจ. กสท ได้รับผลกระทบที่เป็นการเฉพาะตัวแตกต่างจากประชาชนคนอื่น ๆ เพราะหากถือว่า “การมีโอกาสหรือมีเสรีภาพในเลือกรับบริการมากขึ้น” เป็นเรื่องที่ทำให้ประกาศ 3G เกี่ยวข้องกับ บมจ. กสท เป็นการ “เฉพาะตัว” ทำให้ บมจ. กสท มีสิทธิฟ้องคดีแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้ใช้บริการทุกรายที่อาจได้รับผลกระทบจาก “การมีโอกาสหรือเสรีภาพในการเลือกรับบริการมากขึ้น” เช่น ผู้ปกครองที่ไม่ประสงค์จะให้บุตรหลานใช้เสรีภาพเลิกการใช้โทรศัพท์มือถือระบบ 2G (โครงข่ายของ บมจ. กสท และของผู้รับสัมปทาน) เพื่อไปใช้โครงข่ายโทรศัพท์ 3G ของผู้ชนะการประมูล ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนประกาศ 3G ได้ทุกคนด้วย ซึ่งก็จะใกล้เคียงกับการฟ้องร้องโดยประชาชน (actio popularis) อย่างมาก การบริหารราชการก็จะเกิดอุปสรรคอย่างมาก
 
1.1.2 ความเดือดร้อนหรือเสียหายของ บมจ. กสท ควรได้รับการปกป้องโดยกฎหมายหรือไม่ 
การรับฟ้องคดีเพื่อพิจารณาว่าฝ่ายปกครองได้ทำไปโดยมีอำนาจหรือไม่นั้น ผู้ฟ้องคดีย่อมประสงค์จะได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงชอบที่ศาลปกครองจะพิจารณาว่าประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีหวังไว้นั้น (ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อตนเองจากการกระทำทางปกครองที่ไร้อำนาจ) เป็นประโยชน์ที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง เพื่อไม่ให้ประโยชน์ดังกล่าวจะต้องเสียหายจากการกระทำที่ไร้อำนาจของฝ่ายปกครองหรือไม่ (intérêt protégé par la loi)27 หากไม่ใช่ประโยชน์ที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองและศาลรับฟ้องคดี ก็จะมีผลเป็นการสนับสนุนให้บุคคลที่สงสัยในอำนาจของฝ่ายปกครองสามารถสอบถามศาลปกครองผ่านวิธีการฟ้องร้องได้เสมอว่าฝ่ายปกครองมีอำนาจกระทำการนั้น ๆ หรือไม่ โดยที่คำพิพากษาของศาลจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ของระบบการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้ยอมรับหลักการทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน28
 
คำถามจึงมีว่า การที่รัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้จัดตั้งองค์กรตามมาตรา 47 และการที่กฎหมายบัญญัติให้จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ (อันเป็นสาเหตุแห่งการฟ้องคดีว่าประกาศ 3G29ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) นั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องดังกล่าวมุ่งที่จะคุ้มครองไม่ให้ บมจ. กสท ได้รับความเสียหายจากการที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกบริการและย้ายการรับบริการตามที่ บมจ. กสท อ้างหรือไม่
ข้อเท็จจริงตามคำร้องของ บมจ. กสท น่าจะทำให้ได้คำตอบในเชิงลบ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความเสียหายของ บมจ. กสท (การที่ลูกค้าย้ายไปใช้ 3G ของผู้ชนะการประมูลหรือการที่รายได้ลดลง) ก็ย่อมเกิดขึ้นอยู่ดีแม้จะสมมุติว่ารัฐได้จัดตั้งองค์กรตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ หรือมีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่หรือตารางฯ แล้วในวันประกาศใช้บังคับประกาศ 3G  ทั้งนี้ เพราะตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นไม่มีเหตุว่าองค์กรหรือแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่หรือตารางฯ ดังกล่าวจะมุ่งปกป้อง บมจ. กสท ในเรื่องนี้
 
อีกทั้ง หาก บมจ. กสท อ้างในเรื่องระยะเวลาว่าตราบใดที่ยังไม่มีการจัดตั้งองค์กร ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ หรือยังไม่มีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯใช้บังคับ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ. กสท และผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาสัมปทานของ บมจ. กสท ที่มีอยู่เดิมก็จะไม่เลิกและไม่ย้ายไปใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของผู้ชนะการประมูลอย่าง “รวดเร็ว” นั้น ก็น่าจะไม่เป็นประโยชน์ที่รัฐมุ่งจะคุ้มครองให้แก่ บมจ. กสท อันเกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรเดียวตามมาตรา 47 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ หรือการมีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่หรือตารางฯ อยู่นั่นเอง เพราะอันที่จริงแล้ว องค์กรกำกับดูแลทุกองค์กรไม่ว่าจะองค์กรเดียวหรือแยกเป็นสององค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับใดและไม่ว่าจะมีแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ หรือไม่ องค์กรดังกล่าวหรือแผนแม่บทและตารางฯ ดังกล่าวก็ย่อมจะได้รับการจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ บมจ. กสท ประสงค์จะไม่ให้เกิดขึ้น (การแข่งขัน) ด้วยกันทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ไม่ได้บัญญัติให้จัดตั้งองค์กรตามมาตรา 47 และกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ เพื่อประโยชน์ที่ว่าลูกค้าของ บมจ. กสท จะได้ย้ายไปใช้บริการ 3G ของรายอื่นได้ช้าลงหรือมิให้รายได้ของ บมจ. กสท ลดลงอย่างที่ บมจ. กสท อ้างไว้ ตรงกันข้าม กฎหมายได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ มานานแล้ว แต่ติดขัดที่ไม่มีคณะกรรมการร่วม ซึ่งหากรัฐดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว ลูกค้าของ บมจ. กสท ก็อาจจะใช้เสรีภาพของตนเปลี่ยนใจไปใช้บริการของรายอื่นไปก่อนหน้านี้แล้วซ้ำไป
 
และอย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงในคำสั่งศาลปกครองกลางหรือแม้แต่ในคำร้องของ บมจ. กสท ว่าการจัดตั้งองค์กรตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ หรือการมีแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และตารางฯ นั้น กฎหมายได้กำหนดเรื่องนี้ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องรายได้ของ บมจ. กสท การมุ่งที่จะจำกัดเสรีภาพของประชาชนหรือของผู้ประกอบการรายอื่นหรือทางเลือกของประชาชนในการเลือกรับบริการ 3G ย่อมไม่ใช่ประโยชน์ที่กฎหมายมุ่งจะคุ้มครองเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ 
 
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่ปรากฏว่าคำสั่งศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ แต่การพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการยับยั้งการประมูล 3G ไว้ชั่วคราวกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งกฎหมายก็ได้บัญญัติให้ผู้ฟ้องคดีต้องแสดง “ความเสียหายหรือความเดือดร้อน” และ แสดง“เหตุแห่งความการฟ้องคดี” กล่าวคือ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎว่า กทช. ไม่มีอำนาจเพราะเหตุใด เพื่อให้ศาลตรวจสอบดูถึงความน่าเชื่อถือและความสัมพันธ์กันระหว่างเรื่องนี้อยู่อย่างชัดเจนแล้ว
การที่ศาลปกครองรับฟ้องคดีนี้โดยง่ายพร้อมทั้งยับยั้งการประมูลคลื่นความถี่ 3G ไว้ชั่วคราวนั้น แม้บุคคลทั่วไปอาจเห็นว่าการรับฟ้องก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการของฝ่ายปกครอง กล่าวคือ จะได้หมดข้อสงสัยว่า กทช. มีอำนาจจัดการประมูลคลื่นความถี่ 3G หรือไม่ก็ตาม แต่หากเป็นเช่นนั้น ก็จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางกฎหมายได้ต่อไปว่ากฎหมายไทยได้ก้าวไปใกล้เคียงกับหลักการฟ้องร้องโดยประชาชนหรือ actio popularis อย่างมาก ผู้ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎทางปกครองโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแตกต่างจากประชาชนคนอื่น (และไม่ได้มีประโยชน์ใดที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครอง) ก็สามารถนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ทุกครั้งที่สงสัยว่าฝ่ายปกครองมีอำนาจกระทำทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ เพื่อให้ศาลให้คำตอบอย่างชัดแจ้งหมดข้อสงสัย และหากศาลปกครองรับฟ้องคดีโดยเหตุเพียงว่ามีข้อสงสัยว่ากฎนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีก็จะกลายเป็นว่าศาลปกครองจะต้องเข้าไปพิจารณาในทุกกรณีที่มีการสงสัยอำนาจของฝ่ายปกครอง และเท่ากับว่าหากบุคคลใดที่ไม่ถูกใจกฎที่ฝ่ายปกครองกำหนดขึ้นก็จะสามารถบังคับ (โดยการฟ้องคดี) ให้ฝ่ายปกครองไปชี้แจงและขอคำรับรองความชอบด้วยกฎหมายจากศาลก่อนที่จะดำเนินการจัดบริการสาธารณะได้ หลักที่ว่าฝ่ายปกครองย่อมมีเอกสิทธิ์ในการดำเนินการทางปกครองได้โดยไม่ต้องชี้แจงหรือได้รับคำรับรองหรือคำบังคับจากศาลก่อนก็จะถูกลดทอนลงไปมากและสวนทางกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการฝ่ายปกครองอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสจึงปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น30
 
ดังนั้น จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าในท้ายที่สุด ศาลปกครองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เพราะแม้ว่าศาลปกครองกลางจะรับฟ้องไปแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าในบางครั้ง (แม้จะไม่บ่อยครั้ง) ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งใหม่ในภายหลังไม่รับฟ้องบางข้อหาเช่นกัน ซึ่งหากศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องข้อหาว่า กทช. มีอำนาจในการออกประกาศ 3G ทั้งฉบับหรือไม่ ก็จะทำให้เหตุผลในการทุเลาการบังคับตามกฎ (ทั้งฉบับ) หมดไปด้วย และศาลปกครองอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นก็เป็นได้ จึงต้องติดตามกันต่อไป
 
[โปรดติดตามเรื่องการทุเลาการบังคับตามประกาศ 3G ซึ่งจะลงเผยแพร่ต่อไป]
 
เชิงอรรถ
1  ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน (Docteur en droit public) - เกียรตินิยมสูงสุดโดยมติเอกฉันท์ของคณาจารย์พร้อมสิทธิในการเผยแพร่งาน (มหาวิทยาลัย Strasbourg III ฝรั่งเศส), ปริญญาโท (DEA) กฎหมายประชาคมยุโรป และ Certificat des études européennes (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัย Strasbourg III, นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญรางวัล) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2  บทความนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียนโดยมิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรใด ๆ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอหลักกฎหมายปกครองโดยผ่านการวิเคราะห์คำสั่งของศาลปกครองโดยใช้หลักการของเหตุและผล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการอภิปรายทางกฎหมายในประเด็นของเรื่องต่อไป บทความนี้จึงได้เว้นเสียมิได้กล่าวถึงหลักกฎหมายปกครองหรือข้ออภิปรายทางวิชาการต่าง ๆ ในรายละเอียดของหลักกฎหมายทุกเรื่องอย่างตำรากฎหมาย ตรงกันข้ามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้รับการกล่าวถึงเฉพาะเท่าที่จำเป็นและสั้น ๆ โดยจะระบุถึงที่มาของหลักการในแต่ละเรื่องเท่าที่จำเป็นและโดยสังเขปเช่นกันเพียงเพื่อให้เพียงพอต่อผู้อ่านที่สนใจในการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป และในขณะเดียวกันก็จะทำให้บทความนี้ไม่ยืดยาวจนเกินไป
3  IMT 2000 เป็นคำย่อจากคำว่า International Mobile Telecommunications 2000 ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (หรือ ITU) กลุ่มมาตรฐาน IMT 2000 ประกอบไปด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี 5 กลุ่ม คือ มาตรฐาน WCDMA มาตรฐาน CDMA 2000 มาตรฐาน TD-SCDMA มาตรฐาน Edge และมาตรฐาน DECT โปรดดูคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond), หน้า 6
4  ศาลปกครองสูงสุดระบุในคำสั่งหน้า 11 ว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีคณะกรรมการร่วมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติตลอดจนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกิจการวิทยุโทรคมนาคม จึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้การออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กทช.) จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว” อนึ่ง เพื่อไม่ให้บทความยืดยาวเกินไป ข้อหาอื่น ๆ ของ บมจ. กสท ที่ว่าประกาศ 3G บางข้อไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะไม่กล่างถึงในที่นี้ เพราะข้อหาดังกล่าวสามารถแยกออกได้จากข้อหาหลักและไม่ได้เป็นเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดนำมาเป็นฐานในการทำคำสั่งระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G 
5  นอกจากนี้ บมจ. กสท ยังอ้างว่ากรณีนี้เป็นโครงการที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (คำสั่งศาลปกครองกลาง หน้า 6) ทำให้ บมจ. กสท ขาดโอกาสในการเข้าแข่งขันประมูล แต่ศาลมิได้นำมาเป็นข้อหาที่เป็นฐานในการระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G จึงจะไม่กล่าวไว้ในที่นี้
6  คำสั่งศาลปกครองกลาง หน้า 7
7  การรับฟ้องคดีถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา ดังนั้น การให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงรับฟ้องคดีพร้อมกับการอธิบายเหตุผลในการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาย่อมเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
8  มาตรา 171 รัฐธรรมนูญ
9  มาตรา 197 รัฐธรรมนูญ
10 มาตรา 42 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
11 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 31/2551 ในคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องว่าพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเหตุผลว่ากฎดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ฟ้องคดีโดยตรงโดยศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักว่าหากผู้ฟ้องคดีจะอ้างประโยชน์หรือความเสียหายใด “ประโยชน์หรือความเสียหายนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องแสดงให้เห็นว่าตนได้รับผลกระทบจากการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีอย่างไร และ หากศาลพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองแล้ว จะมีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับอย่างไร แต่ไม่ไปไกลจนถึงขนาดยอมรับให้บุคคลใด ๆ อ้างประโยชน์ที่เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียในฐานะประชาชน เป็นผู้เสียภาษีหรือเป็นเจ้าของประเทศนำกฎหรือคำสั่งทางปกครองใด ๆ ที่ตนไม่เห็นด้วยมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ทั้ง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมิได้มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงกับการที่ศาลปกครองจะเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากหลักทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ไม่ยอมให้บุคคลใดยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองใดโดยอ้างสิทธิในการฟ้องคดีแต่เพียงว่าบุคคลนั้นมีส่วนได้เสียหรือประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง (actio popularis) หรือเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรให้แก่รัฐ”
12 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 31/2551
13 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้เคยมีคำสั่งตลอดมาว่า การฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น จะต้องปรากฏว่าคำสั่งทางปกครองก่อหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัว โปรดดู คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 684/2551 และ 731/2551 เป็นต้น
14 เช่น หากหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ไปดำรงตำแหน่งราชการซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอย้ายไปดำรงตำแหน่งนั้น ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เพราะมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที 448/2551)
15 ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องเพิกถอนกฎทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อกฎดังกล่าวส่งผลเสียหายโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแก่ผู้ฟ้องคดี (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 80/2552)
16 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 176/2551
17 คำสั่งศาลปกครองสูงสุด 850/2551
18 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.31/2551 หน้า 4: “ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้จะต้องเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุแห่งการฟ้องคดี
19 CJCE 29 Juin 1993, Gouvernement de Gibraltar, C-298/89, Rec.I-3605 และโปรดดู D.Simon, Le système juridique communautaire, PUF, 1997, p. 344-345) ทั้งนี้เพื่อยืนยันหลักการที่ว่าประชาชนสามารถฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ฉันใด ก็ย่อมสามารถขอให้เพิกถอนกฎทางปกครองที่มีผลโดยตรงและเป็นการเฉพาะในทำนองเดียวกับคำสั่งทางปกครองได้ฉันนั้น และบุคคลยังสามารถฟ้องขอเพิกถอนกฎทางปกครองที่มีเนื้อหาเป็นชุดของคำสั่งทางปกครองได้ด้วยเช่นกัน
20 เทคโนโลยีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถให้บริการ 3G ได้ตามมาตรฐาน IMT 2000 ตามที่กำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โปรดดูเชิงอรรถที่ 3
21 ความเร็วขั้นต่ำด้านการดาวน์โหลดที่ กทช. กำหนดสำหรับการให้บริการ 3G บนย่านคลื่นความถี่ 2.1 GHz คือ 700 กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้น
22 บมจ. ทีโอที ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT ไปก่อนหน้านี้แล้ว และได้เริ่มให้บริการ 3G แล้ว
23 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 533/2551
24 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 31/2551 ในคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าตนเองต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ดังนั้นจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาเงินเประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ. 2551 โดยเหตุว่ากฎดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า “ภาระในการเสียภาษีเงินได้ของผู้ฟ้องคดีย่อมขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ฟ้องคดี การตราพราชกฤษฎีกาดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อภาระเกี่ยวกับภาษีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
25 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 176/2551
26 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 448/2551
27 D. Bailleul, L’Efficacité comparée des recours pour excès de pouvoir et de plein contentieux objectif en droit public français, LGDJ, 2002, p.89. โปรดดู A. de Laubadère e.a, Trait de droit administratif, Tome I, LGDJ, 1999, p.690: “Il faut encore que cet intérêt coïncide avec celui que la loi a entendu protéger”)
28 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 141/2553 ผู้ฟ้องคดีฟ้องร้องให้ฝ่ายปกครองรับผิดชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ที่มิชอบ ดังนั้นจึงไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหายโดยนิตินัย และไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
29 กทช. ยังได้ชี้แจง (ซึ่งศาลปกครองกลางไม่ได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลปกครอง) ไว้ สรุปได้ว่าแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่อาจกำหนดการใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz เป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะใช้ในกิจการโทรคมนาคมโดยใช้เทคโนโลยี 3G ตามมาตรฐานสากลเท่านั้น
30 ศาลปกครองฝรั่งเศสถือว่าผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าการฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานราชการของฝ่ายปกครองเองไม่ได้ (โปรดดู A. de Laubadère e.a, Trait de droit administratif, Tome I, LGDJ, 1999, p 560)

หมายเหตุผู้เผยแพร่ : ชื่อเด็มของบทความคือ "จดหมายเหตุกฎหมายปกครอง เรื่อง  คำสั่งศาลปกครองที่ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ไว้ชั่วคราว" เนื่องจากข้อจำกัดทางฐานข้อมูล จึงเปลี่ยนชื่อบทความเป็น "คำสั่งศาลปกครองที่ให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ไว้ชั่วคราว"
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉ.2 พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ รพ.ศิริราช

Posted: 03 Oct 2010 12:37 PM PDT

แถลงการสำนักพระราชวัง ฉบับที่ 2 พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชตามเดิม
 
วันที่ 3 ตุลาคม 2553 สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่องสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฉบับที่ 2
 
แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ.2553 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะแพทย์ เพื่อถวายการรักษาพระหทัยเต้นผิดจังหวะนั้น
 
คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้รายงานว่า พระอาการโดยทั่วไปและการเต้นของพระหทัยเป็นปรกติหลังถวายการรักษา ไม่ปรากฏการเต้นเร็วผิดจังหวะของพระหทัยอีก
 
วันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อกลับไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชตามเดิม
 
จึงประกาศมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน สำนักพระราชวัง 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2553
 
เมื่อเวลา 15.23 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ประทับอยู่ ณ ชั้น 20
 
สำหรับบรรยากาศการลงนามถวายพระพรในช่วงบ่าย มีประชาชนและคณะบุคคลต่างๆ ทยอยลงนามถวายพระพรอย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ข้าราชการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ กรมพลศึกษา และผู้แทนพระองค์สุรต่านรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย 
 
วันเดียวกัน ที่บริเวณตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีและภริยา เข้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแจกันดอกไม้แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และร่วมลงนามถวายพระพรด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
 
ทั้งนี้ ยังมีประชาชนทยอยมาลงนามกันอย่างต่อเนื่อง มีตัวแทนบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ นำแจกันดอกไม้มาทูลเกล้าทูกกระหม่อมถวาย อาทิ ตัวแทนนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แจกันดอกไม้ของสมาคมภริยาข้าราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และมีกลุ่มมูลนิธิส่งเสริมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยภูมิ เดินทางมาร่วมลงนามด้วย
 
สำนักพระราชวัง จะเปิดให้ประชาชนทั่วไป ลงนามถวายพระพร บริเวณชั้น 1 ของตึก สก. สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือบุคคลสำคัญของประเทศ จะเปิดให้ลงนาม บริเวณชั้น 10 ของตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยจะเปิดให้ประชาชนเดินทางมาลงนามถวายพระพรจนถึงเวลา 18.00 น.
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมธรรมศาสตร์จี้ว่าที่อธิการบดีหยุดใช้ตำแหน่งไต่เต้าทางการเมือง

Posted: 03 Oct 2010 12:26 PM PDT

 
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.53  นักวิชาการ 3 คน ประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  และอ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ได้ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมธรรมศาสตร์และผู้สมัครตำแหน่งอธิการบดี
 
จดหมายเปิดผนึกของ 3 อาจารย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
 
ในวัยเจ็ดสิบหกปี ธรรมศาสตร์ประสบกับปัญหานานาประการ การย้ายการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมดไปรังสิตส่งผลให้ชุมชนวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “ชีวิตทางภูมิปัญญา” ได้หายไปจากประชาคม
 
บรรยากาศของการถกเถียง-สัมมนา-อภิปรายทั้งในประเด็นทางวิชาการ สังคม และการเมืองแทบไม่หลงเหลืออยู่เลย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะไร้ทิศทางและขาดความชัดเจนของผู้บริหารในการพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาซ้ำร้ายความตกต่ำของชุมชนวิชาการธรรมศาสตร์ยังอุบัติขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง
 
ธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยมีเกียรติภูมิว่าเป็นป้อมปราการแห่งภูมิปัญญาฝ่ายประชาธิปไตย กลับไม่สามารถเป็นเทียนส่องทางให้แก่สังคมได้เลย สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือนักวิชาการและผู้บริหารของประชาคมบางท่านเลือกที่จะทำงานรับใช้กลุ่มการเมืองที่มาด้วยวิถีทางที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในด้านหนึ่ง การที่พวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ก็เพราะพวกเขามีตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย
 
และในอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งทางการเมืองที่พวกเขาได้รับก็จะเป็นบันไดให้พวกเขาสามารถไต่เต้าทางสังคมและเศรษฐกิจหลังพ้นจากตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยได้ต่อไป
 
แทนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะวางตัวเป็นกลางเพื่อเป็นเสาหลักให้แก่สมาชิกของประชาคม พวกเขากลับเลือกที่จะเป็นเสาค้ำยันให้กับกลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง สิ่งนี้ยิ่งซ้ำเติมความอับจนทางปัญญาของประชาคม สร้างค่านิยมผิด ๆ ให้กับนักวิชาการรุ่นหลังว่า ความสำเร็จของการเป็นนักวิชาการคือ การได้รับตำแหน่งทางการเมือง
     
คณาจารย์ ผู้มีรายชื่อข้างล่างนี้ จึงขอเรียกร้องให้ผู้สมัครตำแหน่งอธิการบดีทุกท่าน ให้สัญญาแก่ประชาคมว่า หากท่านได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีแล้ว ท่านจะทุ่มเทสติปัญญาและศักยภาพทั้งปวงของท่านให้ กับการพลิกฟื้นป้อมปราการแห่งนี้ ไม่ใช่เพื่อใช้เป็นบันไดไต่เต้าทางการเมือง เพื่อแสดงถึงความตั้งใจแน่วแน่นี้ เราจึงเรียกร้องท่านให้สัญญาว่า ในระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่ง อธิการบดีนั้น 
ท่านจะไม่ดำรงตำแหน่งอื่นใด ซึ่งเป็นการเบียดบังเวลาทำหน้าที่อธิการบดี หรือทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน หรือทำให้ไม่สามารถแสดงความซื่อตรงทางความคิดในฐานะนักวิชาการ/นักบริหารได้ หรือเป็นตำแหน่งที่มีความชัดเจนว่า เป็นการตอบแทนผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากฝ่ายผู้มีอำนาจ และเมื่อท่านพ้นจากวาระการเป็นอธิการบดีแล้ว ท่านจะต้องเว้นวรรคเป็นเวลาอย่างน้อยสองปีก่อนที่จะรับตำแหน่งใดๆ ที่เข้าข่ายข้างต้น
 
ด้วยความเชื่อมั่นในจิตวิญญาณแห่งธรรมศาสตร์ 
 
ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ  คณะรัฐศาสตร์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น