โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักปรัชญาชายขอบ: มหาวิทยาลัยเทวดา

Posted: 22 Oct 2010 01:19 PM PDT

ว่าด้วยบทสนทนาในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังปรับตัวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยก็คือคุณภาพบัณฑิตและความเป็นอิสระทางวิชาการ

สองวันมานี้ผมมานั่งฟังการอภิปรายแนวทางการการปรับเปลี่ยมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากล แม้จะเห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง แต่บางเรื่องก็เหนื่อยใจ

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สิ่งที่พูดกันในประชาคมมหาวิทยาลัยก็คือเรื่องเก่าๆ เช่น ความเป็นอิสระ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ความมั่นคงของอาจารย์ค่าตอบแทนของอาจารย์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อกันสมองไหล การไม่ขึ้นค่าเรียน (เพราะสาเหตุการออกนอกระบบ ถ้าจะขึ้นก็เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม)

แต่เรื่องที่พูดกันน้อยคือ เรื่องคุณภาพบัณฑิตจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร มหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบหรือรับใช้สังคมมากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

ที่คาใจผมคือการบรรยายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) ที่บอกว่า การที่มหาวิทยาลัยจะก้าวไปสู่ความเป็นสากลจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ แล้วก็เอาความรู้นั้นมาพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน พร้อมกับบริการวิชาการแก่สังคม และ/หรือเสนอทางเลือกใหม่ๆ แก่สังคม ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย

แต่พอท่าน ยกตัวอย่างว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แล้วก็ยกตัวอย่างว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่มีชื่อติดสื่อ ออกความเห็นผ่านสื่อทุกเรื่องนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่ผู้รู้จริง แล้วท่านก็เสนอว่าการแสดงความเห็นต่อสาธารณะจะต้องรู้จริง และต้องคำนึงว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ ต้องมีความเป็นกลาง ตัดอัตตาของตัวเองออกไป

ไม่ควรคิดว่าอาจารย์คนใดคนหนึ่งแสดงความเห็นอะไรออกไปจะเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์คนนั้นเท่านั้น ยังไงก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยด้วย ถ้าจะให้ดีก่อนที่อาจารย์หรือตัวบุคคลจะแสดงความเห็นอะไรออกไป ควรมีการพูดคุยกันภายในก่อน หรือมีการกลั่นกรองกันภายในมหาวิทยาลัยก่อนว่าสิ่งที่จะเสนอต่อสาธารณะมันจริงหรือไม่? เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่?

ผมฟังถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่นึกในใจว่า ท่านผู้เสนอกำลังคิดว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นสถาบันองคมนตรีหรืออย่างไร ท่านกำลังพูดเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากล แต่ท่านกลับเสนอให้มี “ระบบเซ็นเซอร์” ความเห็นของอาจารย์ก่อนเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไปลดทอน “ความเป็นสากล” คือ “เสรีภาพทางวิชาการ” เสียเอง

แล้วมันก็น่าแปลกนะครับ การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นสากล จะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้เยอะแยะไปหมด แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการสร้าง “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ราวกับว่ามหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเข้มแข็งดีอยู่แล้ว

พูดซ้ำๆ กันว่าจะต้องพัฒนาให้บัณฑิตมีคุณธรรมจริยธรรม โดยท่านองคมตรียกตัวอย่างคุณธรรมที่ควรส่งเสริม เช่น ความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ผลิตคนจบออกไปแล้วไปโกงแผ่นดิน เผาบ้านเผาเมือง

ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลง คือผมเห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยต้องวิจัย ต้องรู้จริง (แต่อย่าไปอวดว่ารู้จริงกว่าคนอื่น รู้จริงกว่าชาวบ้าน) และเรื่องที่มหาวิทยาลัยควรวิจัยอย่างยิ่งคือเรื่องบทบาทของกองทัพ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมือง ทำอย่างไรจะเอากองทัพออกไปจากการแทรกแซงทางการเมือง บทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ ควรจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยสากลอย่างไร เป็นต้น

มหาวิทยาลัยควรวิจัยเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน คนระดับล่างของสังคม คนต่างจังหวัด (ไม่ใช่เอาน้ำลายสื่อบางค่ายมาพูดว่าชาวบ้านถูกหลอกถูกล้างสมองถูกซื้อฯลฯ) เรื่องทัศนะต่อประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในเมืองว่าทำไมจึงเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของอำนาจเผด็จการจารีต เป็นต้น

แต่ว่าที่เร่งด่วนกว่า ควรวิจัยว่าทำไมมหาวิทยาลัยจึงเป็นที่พึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านไม่ได้ (แต่อธิการบดีของหลายมหาวิทยาลัยกลับเป็นที่พึ่งของ คมช. หรืออำนาจที่ทำรัฐประหารได้)

ถ้ามหาวิทยาลัยไม่แตะเรื่องสำคัญ เช่น บทบาทของกองทัพ สถาบันกษัตริย์ ต่อพัฒนาการประชาธิปไตย และการตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวบ้าน แล้วเสนอทางออกอย่างเป็นหลักวิชาการ เป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยจะอยู่ในระบบนอกระบบ จะเป็นท้องถิ่นหรือก้าวสู่สากล ก็ไม่มีความหมายอะไรต่อสังคมจริงๆ หรอกครับ

ความหมายจริงๆ ที่มีที่เป็นอยู่คือ ความเป็น “มหาวิทยาลัยเทวดา” ที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์วิมาน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ชาวบ้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะตายหรือเป็น

อยู่กันแบบมหาวิทยาลัยเทวดาดีว่า ออกนอกระบบแล้วอาจารย์มีความมั่นคงรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ผู้บริหารมีอำนาจเพิ่ม เอางบประมาณมายำได้อย่างอิสระกว่าเดิมหรือไม่ จะมีสิทธิ์ได้เครื่องราชหรือไม่ ก็คุยกันไปถกเถียงกันไปเพราะเราคือมหาวิทยาลัยเทวดา!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานการเข้าร่วมประชุมเครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเชีย

Posted: 22 Oct 2010 12:33 PM PDT

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมี รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษา ดิฉันสมบุญ สีคำดอกแค คุณลิขิต ศรีลาพล คุณจะเด็จ เชาน์วิไล คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์จากมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้เข้าร่วมประชุม เครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเชีย ((ANROAV ANNUAL CONFERENCE –ANROAV) ประจำปีครั้งนี้ที่เมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 16-21 ตุลาคม 2553 โดยมี 13 ประเทศในทวีปเอเชีย

ปีนี้มีคนมาร่วมประชุมมากกว่าทุกปีเพราะมีประเทศทางยุโรปมาร่วมประชุมด้วย เช่น ประเทศแคนนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย อิหร่าน ภายในงานได้มีการประชาสัมพันธ์งานด้วยป้ายในงานขนาดใหญ่และเสื้อรณรงค์ ว่าด้วยเรื่องของสถิติคนงานทั่วโลกที่เสียชีวิตและประสบอันตรายจากการทำงาน ที่มีการประสบอันตรายจากการทำงานและเสียชีวิตทั่วโลก 1,100,000 คนต่อปี 30,000 คนต่อวัน 125 ต่อชั่วโมง และ 2 คนทุกหนึ่งนาที

"ในฐานะตัวแทนประเทศไทยดิฉันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในประเทศไทยกับประเทศต่างๆ และดิฉันได้กล่าวในพิธีการเปิดงานร่วมกับตัวแทนจากประเทศจีนอินโดนีเซียว่า

"กรณีของโศกนาฎกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทำให้คนงานวัยหนุ่มสาว ต้องเสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เป็นเพราะความบกพร่องปล่อยปละละเลย เรื่องสุขภาพความปลอดภัย และไม่ใส่ใจของสถานประกอบการณ์ ทำให้เป็นข่าวสลดไปทั่วโลก

หลังจากนั้น นักวิชาการแรงงาน NGO และกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานได้รวมตัวกันก่อตั้งองค์กร ANROAV ขึ้นที่ในประเทศไทย หรือ เรียกชื่อว่าเครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเชียขึ้นมา ซึ่งขณะนั้นมี 13 ประเทศที่รวมตัวกัน และได้ร่วมกันทำการรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานมาตลอดทุกปีเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนป่วยและรณรงค์ป้องกันในระดับภูมิภาค ตัวอย่าง กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายในประเทศไทย ก็ได้รวมตัวกันต่อสู้คดีกับนายจ้างมาตลอด เช่นกัน จึงอยากจะบอกเพื่อนพี่น้องทุกประเทศวันนี้ว่าผลของการต่อสู้คดีที่ยาวนานที่สุดถึง 15 ปีของผู้ป่วยปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย กำลังจะมีคำตัดสินพิพากษาคดีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เวลาบ่ายโมง ที่ศาลแรงงานกลาง ซึ่งอยากจะบอกว่าการชดเชยตามกฎหมาย ของกองทุนเงินทดแทนนั้นไม่เพียงพอต่อการเยียวยารักษาและการดำรงชีวิตของคนป่วย ที่ต้องพิการสูญเสียทั้งสุขภาพกายและสภาพจิตใจ และโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ อย่างปกติ

"การประชุมแอลโรปในแต่ละปี เป็นการประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในสถานที่ทำงานของแต่ละประเทศ และจะมีการร่วมวางแผนการทำงานร่วมกันว่าจะทำงานรณรงค์ร่วมกันต่อไปอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนงานทั้งหลายในแต่ละประเทศดิฉันจึงหวังว่าทุกท่านคงจะมีความสุขกับการประชุมในครั้งนี้และได้ผลสมกับความคาดหมายไว้ทุกคน"

ในการประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันสรุปคำประกาศร่วมกัน ณ เมืองบันดุง ว่าคนงานต้องการความปลอดภัย ต้องการความเป็นธรรม สถานการณ์ของโลกมีปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัย วิกฤตสุขภาพความปลอดภัยครั้งนี้ มีปัญหาสุขภาพความปลอดภัย มีการตัดความปลอดภัยออกไป เพื่อประหยัดต้นทุน คนงานส่วนใหญ่ที่ป่วยต้องถูกเลิกจ้าง ถูกไล่ออก ต้องทนทำงานในที่ที่ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความมั่นคง มีซับคอนแทร็ค ซึ่งกฎหมายไม่ได้คุ้มครอง และคนงานส่วนใหญ่จะออกไปทำงานอยู่นอกระบบ คนส่วนใหญ่ทำงานในบ้าน ทำให้มีผลกระทบต่อครอบครัว ต่อลูกน้อย ไม่มีสิทธิอะไรต่างๆ นโยบายของรัฐยังไม่มีการตอบสนอง ILO [1] มีกฎหมายที่ดี แต่กฎหมายไม่ถูกบังคับใช้ การประชุมกัน พวกเราพยายามทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียคือปัญหาความไม่ปลอดภัย คนงานรวมกลุ่มกันไม่ได้ มีคนที่ไม่ค่อยรู้ข้อมูลสถานการณ์เรื่องโรค ที่เกิดจากการทำงาน รัฐบาลก็ตอบไม่ได้ ไม่บังคับใช้กฎหมาย เวลาคนงานไปร้องเรียนก็ โอเค แต่ไม่ทำอะไร ไม่แก้ไขปัญหาจริงจัง บางทีก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีเงิน สถานการณ์รัฐมีปัญหาคอรัปชั่นไม่โปร่งใส ทำงานเชื่องช้า คนงานอยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำ รัฐพยายามพูดถึงการค้าเสรีที่มีแต่ผลกระทบโดยตรงต่อคนงาน มีบางประเทศพยายามทำมาตรฐานแรงงาน SO ต่างๆออกมามากมาย แต่แท้จริงแล้วเขาพยายาม รณรงค์เพื่อผลประโยชน์ทางผลผลิตมากกว่า ความปลอดภัยอย่างแท้จริง ฝ่ายรัฐและนายจ้างพยายามเอาเงินไปทุ่มเรื่องมาตรฐาน แต่ไม่สนใจการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน และไม่จ่ายเงินค่าชดเชยแก่คนงานกลุ่มต่างๆ รัฐบาลเอาเงินลงทุนไปซื้อธนาคาร แต่เวลาช่วยคนงานบอกไม่มีงบ

พวกเราต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา 155 [2]  ซึ่งเวลาคนงานเจ็บป่วย จะต้องได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะเรื่องของการเจ็บป่วยของคนงานด้วยสารเคมี คนงานต้องได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง โดยไม่แบ่งชาติ เชื้อ เผ่าพันธุ์ รวมถึงแรงงานเด็ก และควรให้กลุ่มคนป่วยจากการทำงาน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยให้เกิดขึ้น เราพัฒนาความสมานฉันท์ในหมู่ผู้ใช้แรงงานทำงานร่วมกันและต้องมีโรงงานที่สะอาดปลอดภัย การพัฒนาประชาธิปไตย การทำงานร่วมกันของภาคประชาชนในเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นำมาสู่การเมืองภาคประชาชน

อ้างอิง
1 องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
2 อนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: สายน้ำร้ายต้องผ่านไป เช่นเดียวกับยุคสมัยทรราชย์

Posted: 22 Oct 2010 11:59 AM PDT

1
นี่คือ น้ำตา ผู้ตกตาย
โหยไห้ร่ำ ชำระ ชะล้างฟ้า
ฝนควบแน่น แค้นเคือง เมืองมารยา
เปื่อยจอมปลวกขัตติยะปราสาททราย

2
เจ็บจดจำ มิยอมไป ปรโลก
สะอิดสะเอียน สกปรก ผู้เป็นใหญ่
โศกโสมม โกสินทร์ นครไทย
ผีเสื้อไพร่หลาวหลวง ทางชีวิต !

3
โลกอาเพท กู่นาม ความเป็นธรรม
ยิน อนันตริยกรรม อำมหิต
เรียกรวมเหล่า คนทุกข์ทั่วสารทิศ
สะสางชนอภิสิทธิ์...สุดสะอาด

4
สามัคคี แล้วน้ำร้ายต้องผ่านไป
เช่นกันกับ ยุคสมัยทรราชย์
โดยครรลอง ของวิธีธรรมชาติ
และอำนาจแห่งมหาประชาชน

5
สามัคคี แล้วน้ำร้ายจะผ่านไป
อุทกภัย เบี่ยงการเมือง ไม่เป็นผล
มิหนำซ้ำ ย้ำให้เห็น ความแยบยล
ที่คนถ่อย ใช้รักษา ประโยชน์ตัว

6
สายน้ำหลาก กัดเซาะ เหล่าแร่ธาตุ
แยกทองคำธรรมชาติ จากตะกั่ว
ยกระดับ สายป่าน ก้านดอกบัว
ผู้นำใด ? ไร้ค่า...น่าหัวร่อ !!!

ขอส่งความห่วงใยไปยังเพื่อนร่วมชาติผู้ประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมทุกหมู่เหล่า
แต่สำหรับพี่น้องเสื้อแดง..ย่อมรับมือกับความทุกข์ครั้งนี้ได้ดีกว่าคนทั่วไป
เพราะวันคืนแสนโหดร้าย แห่งเมษาพฤษภา
ได้พัฒนาจิตใจยกระดับวิธีคิดและความทรหดอดทนกันโดยทั่วหน้า
เมื่อผ่านความตายมาได้ อุทกภัยคงรับมือไม่ยาก
ที่สุด..น้ำร้ายจะผ่านไป เช่นเดียวกับยุคสมัยของทรราชย์ !!!

ไม้หนึ่ง ก.กุนที / กวีราษฎร
22 OCTOBER 2010

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: หยดน้ำตาหน้าคุก 22 เสื้อแดงอุดร กับ ข้อหาเผาศาลากลาง ฯ

Posted: 22 Oct 2010 08:53 AM PDT

 
บ่ายวันจันทร์ ศาลารอพบญาติในบริเวณศาลอุดรธานีคลาคล่ำไปด้วยผู้คนเกือบ 30 ชีวิต ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย คนเฒ่าคนแก่ หลายคนมานั่งรอตั้งแต่เช้า เวลาล่วงเลยไปจนบ่ายแก่ ทุกคนยังนั่งรอบ้างก็ปูเสื่อนอนรออยู่ที่เดิม
บ่ายวันจันทร์ ก็คงเป็นวันธรรมดาอีกวันในชีวิตของใครต่อใคร แต่บ่ายวันจันทร์วันนี้มีความหมายเป็นพิเศษกับครอบครัวที่เฝ้ารอผลการไต่สวนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี พวกเขาเฝ้ารอว่าบุคคลผู้เป็นที่รักจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไรหลังจากบ่ายนี้ผ่านพ้นไป
บ่ายวันจันทร์ โลกยังคงหมุนต่อไปและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
แผนปรองดองปฏิรูปยังดำเนินไปโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และนักวิชาการจำนวนมาก
91 ครอบครัวที่สูญเสียต้องหาหนทางมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าบาดแผลในจิตใจจะยังไม่ได้รับการเยียวยา
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์บางส่วนกลับมาเปิดให้บริการ
วัยรุ่นยอมเสียเวลาต่อแถวซื้อโดนัทยี่ห้อใหม่หลายชั่วโมง ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น
คนเสื้อแดง 22 คนยังคงถูกฝากขังด้วยข้อหาร้ายแรงที่มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หลายคนเป็นเพียงแค่คนมุงดูเหตุการณ์ บางคนเป็นพ่อค้าแม่ขายที่บังเอิญขายของอยู่ในบริเวณชุมนุม บางคนขึ้นพูดบนเวทีหลายวันก่อนหน้าวันที่ 19 พ.ค. และไม่แม้แต่จะอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น และทุกคนถูกจับจากหลักฐานภาพถ่ายและวีซีดีของตำรวจ ไม่ใช่การจับกุมในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
เมื่อผู้ต้องขังเข้าห้องไต่สวนไปแล้ว ผู้คนด้านนอกยังไม่ยอมนั่ง ยืนชะเง้อมองบรรยากาศในห้องไต่สวน เด็กชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนรั้วเหล็กตลอดทั้งบ่าย เพียงแค่อยากจะเห็นหน้าพ่อแม่ที่ถูกคุมขังทั้งคู่ หลายเสียงจากญาติผู้ต้องขังสะท้อนความเจ็บปวด ความเสียใจ ความคับแค้น จากความรู้สึกที่ว่ารัฐปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม
“ผมเป็นทหาร ตอนที่รบกับคอมมิวนิสต์ผมก็รบ ตอนนั้นผมเชื่อสุดใจว่าต้องทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทั้งที่ต้องรบกับคนไทยด้วยกัน ตอนนี้ผมไม่แน่ใจอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้ารัฐบาลนี้ยังอยู่ ผมจะสู้เพื่อให้รัฐบาลนี้ออกไป แฟนผมแค่ขึ้นไปพูดบนเวทีวันที่ 17 พ.ค. วันที่ 19 พ.ค.ไม่ได้อยู่หน้าศาลากลางด้วยซ้ำ ถึงจะผิดก็ผิดแค่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. แต่นี่เขาหาว่าปลุกระดม”
“ตอนนี้ก็ลำบาก เพราะแฟนเป็น อบต. เคยช่วยกันทำมาหากินสองคน ตอนนี้ก็เหลือเราเลี้ยงลูกอยู่คนเดียว ก็พยายามจะขายขนมจีน หัดทำเส้น แต่ไม่ง่ายนะ ทำไม่เป็นก็ไม่ออกมาเป็นเส้น ก็ลำบากแต่ก็ต้องสู้ บางทีมาที่ศาลหรือไปเรือนจำ เจ้าหน้าที่บางคนก็พูดกับเราว่า แฟนเป็นอบต.ก็รู้อยู่แล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด ยังจะไปร่วมชุมนุมกับเขาอีก”
“เราไม่ได้สู้เพื่อท่านทักษิณ ถึงตอนนี้ไม่มีใครสู้ให้นักการเมืองแล้ว สู้เพื่อตัวเองกันทั้งนั้นแหละ สู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้าส.ส.ไม่ดี ไม่ช่วยเหลือเรา อย่างเรื่องคดีนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่ช่วย เลือกตั้งคราวหน้าเราก็ไม่เลือกคนนี้ แต่เขาก็ช่วยเหลือ ช่วยหาทนายมาให้”   
“ถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทยปรองดอง แล้วเราจะปรองดองด้วยไหม คนที่อยู่ข้างในก็ต้องอยากให้ปรองดองอยู่แล้วเพราะเขาอยากออกจากคุก อยากมาทำมาหากิน อยากอยู่กับครอบครัว แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ต่อให้พรรคปรองดอง แต่ถ้าคนที่เจ็บ คนที่ตาย คนที่ถูกจับยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านก็ไม่ยอมปรองดองหรอก”  
เมื่อการไต่สวนเสร็จสิ้นลงในเวลาเย็น ญาติผู้ต้องขังรุมล้อมทนายเพื่อซักถามว่าลูกชาย ลูกสาว สามี ภรรยา พ่อแม่ของพวกเขายังต้องถูกจำกัดอิสรภาพอีกนานแค่ไหน ผู้ต้องขังทั้ง 22 คนเดินออกจากห้องไต่สวนเพื่อขึ้นรถกลับเรือนจำ ผู้ต้องขังชายถูกตีตรวนที่ข้อเท้าทั้งที่เป็นคดีการเมือง ระหว่างพวกเขากับญาติมิตรครอบครัวมีรั้วเหล็กกั้นเอาไว้
ผู้ต้องขังชายคนหนึ่งเรียกเสียงเฮจากบรรดาญาติผู้ต้องขังด้วยการหอมแก้มภรรยาต่อหน้าทุกคน ผู้ต้องขังชายอีกคนรับลูกน้อยอายุ 1 ขวบจากมือภรรยาและเฝ้าหอมแก้มลูกชายอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งตำรวจผู้คุมบอกให้เดินไป หญิงสาวคนหนึ่งที่ผู้ชายของเธออาจจะโดนข้อหาร้ายแรงเนื่องจากมีภาพในวีซีดีเป็นหลักฐานว่าขว้างปาสิ่งของเข้าไปในศาลากลางที่เพลิงกำลังลุกไหม้ - ร้องไห้อยู่ตลอดเวลา เด็กชายคนเดิมที่นั่งอยู่บนรั้วเหล็กตลอดทั้งบ่าย มีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อแม่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าบทสนทนานั้นจะเป็นเรื่องอะไร ผู้เป็นแม่ต้องเดินไปขึ้นรถเรือนจำทั้งน้ำตา และเมื่อพ่อกับแม่เดินจากไป เด็กชายซบหน้าลงร้องไห้กับรั้วเหล็ก สะอื้นตัวโยนอย่างสุดกลั้น ผู้เป็นยายต้องเข้ามาปลอมประโลม ภาพที่เห็นทำให้คนรอบข้างหลายคนต้องเสียน้ำตาอย่างห้ามไม่อยู่
ผู้ต้องขังทั้งหมดขึ้นไปอยู่บนรถเรือนจำ หญิงสาวที่ร้องไห้ตลอดเวลายังคงไม่หยุดร้องไห้ เธอเดินตามมาข้างรถ เขย่งปลายเท้า เพื่อที่จะได้จับมือชายหนุ่มของเธอซึ่งอยู่หลังลูกกรงบนรถคันสูง เธอยืนอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งรถเคลื่อนตัวออกไป ถัดไปด้านหลัง หญิงชราอีกคนผู้ซึ่งเดินทางจากต่างอำเภอเพื่อมาฟังข่าวที่ว่า ลูกชายของเธออาจจะได้รับโทษร้ายแรงเช่นกัน ยืนมองรถเรือนจำเคลื่อนตัวออกไปด้วยสายตาแห้งผาก ไม่มีน้ำตา แต่ไม่มีใครรู้ว่าในใจของเธอกำลังคิดอะไรอยู่
บ่ายวันจันทร์ผ่านพ้นไป ทุกสิ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิม รัฐบาลนี้ยังทำหน้าที่ต่อไปในสภา กองทัพยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย ผู้มีอำนาจยังเสวยสุขอยู่บนซากศพ หลายคนเดินช็อปปิ้งอยู่ในบริเวณที่ทำการล้อมปราบโดยไม่แม้แต่จะหยุดคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีแค่วันและคืนของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ยังคงถูกจองจำ มีเพียงคราบน้ำตาของญาติผู้เสียชีวิตและผู้ต้องขัง มีเพียงความเจ็บปวดคับแค้นในคำพูดและแววตาของพวกเขาที่บอกให้รู้ว่า การต่อสู้ครั้งนี้ไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าความยุติธรรมและประชาธิปไตยจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง      
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ. จับตาผู้ต้องหาเสื้อแดงทุกจุดผ่านชายแดน สั่งดีเอสไอแจกจ่ายรูปให้ตำรวจ

Posted: 22 Oct 2010 08:13 AM PDT

เสธ.ไก่อูเผยผลประชุมศอฉ. สั่งดีเอสไอส่งรูปผู้ต้องหาเสื้อแดงตามหมายจับทั้งหมดที่ยังหลบหนีอยู่แจกจ่ายให้กับตำรวจในทุกจุดผ่านชายแดน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงาน กองบัญชาการกองทัพบก-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) เป็นประธานในการประชุมศอฉ. โดยมีพล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงษ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาในการประชุมเพียง 30 นาที

จากนั้นพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. กล่าวถึงผลการประชุมศอฉ.ว่า ที่ประชุมทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ได้รายงานถึงแผนการรักษาความปลอดภัยนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) และภรรยาที่จะเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยละเอียด ซึ่งภารกิจหลักในการดูแลทั้งการจราจา และการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเชื่อว่า คงไม่มีเหตุการณ์อะไร

โดยพล.อ.ประวิตร ได้เชิญชวนประชาชนคนไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี เพราะถือเป็นหน้าตาของประเทศ เนื่องจากเลขายูเอ็นเป็นบุคคลสำคัญ จึงเป็นห่วงภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่อยากให้ปรากฏภาพที่ไม่ดีในระหว่างที่นายบัน คี มูนเยือนประเทศไทย นอกจากนี้ที่ประชุมทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้มการายงานสรุปความคืบหน้า 3 คดี นอกจากนี้ทางดีเอสไอยังได้รายงานชี้แจงถึงความคืบหน้าการดำเนินการในคดี ต่างๆโดยเฉพาะเหตุระเบิด อาทิ เหตุระเบิดอาคารสมานเมตตา แมนชั่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมศอฉ.ยังได้มอบหมายให้ทางดีเอสไอส่งรูปถ่ายของผู้ต้องหาคดีความมั่น คงตามหมายจับของดีเอสไอและศอฉ.ทั้งหมดที่ยังหลบหนีอยู่แจกจ่ายให้กับเจ้า หน้าที่ตำรวจในทุกจุดผ่านชายแดนเข้าออกของประเทศไทยทั้งถาวรและชั่วคราวอาทิ ด่านปอยเปต รวมถึงตามสถานีตำรวจทั่วประเทศให้ทำเหมือนปฏิทินตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ที่มีหมายจับมักหลบหนีออกไปตามแนวชายแดน รวมถึงผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ตามแนวชายแดนก็ยอมรับว่า ผู้ต้องหาหลายคนได้หลบหนีไปตามด่านแนวชายแดนเล็กๆ ทางที่ประชุมจึงสั่งกำชับให้มีการกระจายหมายจับไปยังทุกด่านแนวชายแดนทั้ง ด่านใหญ่และด่านเล็กทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาเรามีการส่งรูปถ่ายไปเฉพาะด่านชายแดนใหญ่ๆเท่านั้น

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าเปลี่ยนธงชาติ-สัญลักษณ์และชื่อประเทศใหม่

Posted: 22 Oct 2010 08:00 AM PDT

แหล่งข่าวในรัฐฉานรายงานว่า เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) ทางการพม่าได้ประกาศเปลี่ยนใช้ธงชาติใหม่ โดยถือฤกษ์ช่วงบ่ายจัดพิธีเชิญธงชาติเก่าลงจากยอดเสาและนำธงชาติใหม่ขึ้นแทน ขณะเดียวกันได้มีการเปลี่ยนสัญลักษ์ประเทศ ชื่อของประเทศและเพลงชาติใหม่ด้วย

โดยที่ด่านการค้าชายแดนระหว่าง เมืองหมู่แจ้ (รัฐฉานภาคเหนือ) กับ เมืองแจ้เก่า (ร่วยลี่ของจีน) เจ้าหน้าที่ทางการพม่าได้มีการชักธงชาติเก่าลงจากยอดเสาและเชิญธงชาติใหม่ขึ้นแทนที่ เมื่อเวลา 15.00 น.

สำหรับธงชาติใหม่ที่ทางการพม่ากำหนดใช้มีลัษณะคล้ายธงชาติไทใหญ่ปัจจุบัน มี 4 สี ประกอบด้วย สีเหลือง สีเขียว สีแดง และมีรูปดาวสีขาวอยู่ตรงกลาง ขณะที่ธงชาติไทใหญ่มีรูปดวงจันทร์สีขาวอยู่ตรงกลาง

การเปลี่ยนใช้ธงชาติใหม่นี้เป็นไปตามบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2551 (2008) มาตราที่ 13 ซึ่งระบุการเปลี่ยนแปลง 5 ประการสำคัญของประเทศ คือ ธงชาติ เพลงชาติ เมืองหลวง สัญลักษณ์ประเทศ และชื่อประเทศใหม่ ซึ่งเมืองหลวงใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่แหล่งข่าวจากชายแดนไทย-พม่า รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ทำพิธีเปลี่ยนธงชาติที่ด่านการค้าชายแดนฝั่งท่าขี้เหล็ก เมื่อช่วงบ่ายเช่นกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกิดวันอังคารเป็นผู้เชิญธงชาติเก่าลงและทำการเผาทิ้ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เกิดวันพุธทำหน้าที่เชิญธงชาติใหม่ขึ้นสู่ยอดเสาแทน

นอกจากการเปลี่ยนใช้ธงชาติใหม่ ทางการพม่ายังได้มีการเปลี่ยนเพลงชาติ สัญลักษณ์ประเทศ รวมถึงเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหภาพเมียนมาร์ (Union of Myanmar) เป็นสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ (Republic of the Union of Myanmar) ด้วย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่าการตัดสินใจเปลี่ยนธงชาติเป็นไปตามคำแนะนำจากโหราศาสตร์

อาจารย์เมืองดี นักโหราศาสตร์ไทใหญ่กล่าวว่า การตัดสินใจเปลี่ยนธงชาติใหม่ของทางการพม่าน่าจะถือตามโหราศาสตร์ เนื่องจากมีการเลือกเปลี่ยนในวันพุธและถือฤกษ์ในช่วงบ่าย ตามปกติการเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาจะมีในช่วงเช้า และจากคำทำนายตามตำราโหราศาสตร์นั้นบอกว่า ดวงอังคารได้สิ้นสุดไปเมื่อเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาที่ผ่านมา ขณะที่ดวงพุธจะดีเลิศไปอีก 100 ปี จึงเชื่อว่าผู้นำทหารพม่าคงยึดถือตามดวงนี้

ขณะที่สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า พิธีเปลี่ยนธงชาติใหม่ของทางการพม่าในกรุงเนปิดอว์ มีขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (21 ต.ค.) และที่ศาลาว่าการกรุงย่างกุ้ง มีขึ้นเมื่อเวลา 15.33 น. ซึ่งผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การตัดสินใจเปลี่ยนธงชาติเป็นไปตามคำแนะนำจากโหราศาสตร์ ซึ่งธงชาติใหม่ถูกใช้ 17 วันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. นี้

การเปลี่ยนธงชาติใหม่ถูกเสนอระหว่างการประชุมแห่งชาติเมื่อปี 2550 (2007) ซึ่งเป็นการประชุมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 (2008) และมีการถกเถียงคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้แทนจากกลุ่มชนกลุ่มน้อย ซึ่งต่างให้ความเห็นว่า ธงชาติแบบเก่าเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกัน

สำหรับธงชาติเดิมของสหภาพพม่ามีสีแดง และมุมซ้ายด้านบนเป็นสีน้ำเงิน มีรูปกงจักร รวงข้าว และดาวสีขาวจำนวน 14 ดวงล้อมรอบ ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกัน 7 รัฐ 7 ภาค เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการมีสิทธิเท่าเทียมกันในสหภาพ

รูปภาพธงชาติสาธารณรัฐสหภาพพม่า และ สัญลักษณ์ประเทศแบบใหม่

ธงชาติพม่าแบบใหม่

สัญลักษณ์ประจำชาติแบบใหม่ของพม่า

 

----------------------------------------

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีมกฎหมาย ปชป. ฟ้อง “พร้อมพงศ์” ข้อหาหมิ่นประมาทกรณีเผยแพร่คลิป

Posted: 22 Oct 2010 07:50 AM PDT

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 ต.ค. ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายวิรัช ร่มเย็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และกรรมการบริหารพรรค หนึ่งในทีมกฎหมายในกรณียุบพรรค พร้อมด้วยทีมทนายความ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.จตุพร งามสุวิชชากุล พงส.(สบ2) กก.1 บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 , 59 และ 83

นอกจากนี้ ยังร้องเรียนให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำคลิปที่เกี่ยวข้อง 5 คลิป ไปเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำแผ่นซีดีบันทึกคลิปดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องมอบให้พนักงานสอบสวน ไว้เป็นหลักฐาน

นายวิรัช กล่าวว่า ตนมีหลักฐานเป็นซีดีบันทึกคลิปทั้ง 5 คลิป โดยที่ก่อนหน้านี้ตนเคยระบุว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดีกับนายพสิษฐ์และผู้ที่ เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่อยากก้าวล่วงต่ออำนาจหน้าที่ตุลาการ

แต่ภายหลังเมื่อตนทราบว่านายพสิษฐ์ ได้เดินทางไปฮ่องกง โดยสารการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค ในวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลอยู่ชัดในเว็บไซต์ที่เริ่มมีการนำคลิปทั้งหมดไปโพสต์ไว้ ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้ง มีการกระทำที่เป็นขบวนการที่มีความเชื่อมโยงกัน เป็นการเขียนบทของพรรคเพื่อไทยให้กับนายพสิษฐ์ ให้เข้ามาเกี่ยวโยงกับคลิปทั้ง 5 คลิปดังกล่าว         

ในขณะที่เรื่องการนัดหมายผู้ที่อยู่ในคลิปกันว่า บุคคลใดเป็นผู้ดำเนินการนัดหมายนั้น นายวิรัช กล่าวว่า ตนได้แถลงข่าวไปแล้ว แต่จะกล่าวสั้นๆ อีกครั้งว่า นายพสิษฐ์ เป็นคนบอกผ่านมายังนายวรวุฒิ นวโภคิน บอกให้ตนไปพบเพื่อไปรับประทานอาหาร แต่ในรายละเอียดมีอยู่ในคำให้การซึ่งใช้เป็นหลักฐานแล้วคงไม่สามารถเปิดเผย ได้ ส่วนในการสืบสวนสอบสวนหากพบว่ามีผู้ว่าเกี่ยวโยงเกี่ยวพันกับใครก็ขอให้เป็น การวินิจฉัย หรือดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการพิจารณาดำเนินคดี              

ขณะที่ พ.ต.ต.จตุพร กล่าวว่า ได้รับเรื่องและสอบปากคำไว้ในเบื้องต้นก่อนนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการต่อไป 

ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500

Posted: 22 Oct 2010 04:50 AM PDT

คำชี้แจง: ข้อเขียนนี้ ผมเขียนในลักษณะที่ทำให้สามารถอ่านโดดๆ มีความสมบูรณ์ในตัวเองได้ แต่ถ้าต้องการทราบความเป็นมา กรุณาอ่านกระทู้นี้ก่อน

ชื่อบทความเดิม:
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ The Observer พฤษภาคม 2500 : "หากต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน" - ความพยายามรื้อฟื้นคดีสวรรคตของปรีดี-จอมพล ป ที่ล้มเหลว

 

 

เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า "หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"

(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)", วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553, หน้า 218 ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)

ท่านผู้หญิงพูนศุข หมายความว่าอย่างไร?

ผมขออนุญาตไม่ตีความหรืออธิบายประโยคดังกล่าวของท่านผู้หญิงพูนศุขโดยตรง แต่จะขออธิบายว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวนี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทอะไร ที่สำคัญคือ จะชี้ให้เห็นว่า คำสัมภาษณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนถึงบางเรื่องอย่างไร

เช้ามืดยังไม่ทันรุ่งสางของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 จำเลย 3 คนในคดีสวรรคต ได้ถูกนำตัวไปประหารชีวิต มีข่าวร่ำลือออกมาว่า ในนาทีสุดท้ายก่อนจะถูกนำตัวเข้าหลักประหารนั้น ชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นมหาดเล็กที่อยู่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ และเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินประหารชีวิตตั้งแต่ในศาลชั้นต้น (ซึ่งปล่อยอีก 2 จำเลย) ได้พูดคุยแบบสองต่อสอง กับเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจ มือขวาของจอมพล ป ที่ไปสังเกตการณ์การประหารชีวิต โดยที่ ชิต ได้ถือโอกาสที่ตัวเองกำลังจะถูกประหาร เล่า "ความลับ" ของ "กรณีสวรรคต" ให้เผ่าฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในเช้าวันนั้น มีเสียงลือว่า เผ่าได้ทำบันทึกเรื่องที่ชิตเล่าไว้ด้วย (ดูบทความของผมเรื่อง "50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548, หน้า 78 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่)

ขณะนั้น การเมืองไทยกำลัง "ระอุ" ด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองแบบ "สามเส้า" (triumvirate) คือ ระหว่างจอมพล ป พิบูลสงคราม, เผ่า ศรียานนท์ และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันที่จริง ถ้าพูดอย่างเข้มงวดแล้ว จอมพล ป แม้จะไม่ถึงกับไว้วางใจ เผ่า แบบสนิทเต็มร้อย (พุฒิ บูรณะสมภพ มือขวาคนหนึ่งของเผ่า เล่าให้ผมฟังว่า เผ่า เคยเสนอจอมพล ป จะ "เก็บ" สฤษดิ์ ให้ แต่จอมพล ไม่ยอม เพราะในที่สุด ก็ต้องการสฤษดิ์ ไว้คานอำนาจเผ่าเช่นกัน) แต่โดยรวมแล้ว จอมพล ป กับ เผ่า มีลักษณะเป็นพันธมิตรใกล้ชิด เรียกได้ว่า เป็นขั้วหรือกลุ่มเดียวกัน ที่บางครั้งเรียกกันว่า กลุ่ม "พิบูล-เผ่า" ในขณะที่ สฤษดิ์ แยกออกมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง

สฤษดิ์ ในขณะนั้น เล่นการเมืองในลักษณะ "ตีสองหน้า" คือ หน้าหนึ่ง ก็ทำตัว "ก้าวหน้า" คบหาสมาคมและสนับสนุนฝ่ายซ้าย (ที่อยู่ใต้การนำของ พคท.) ในขณะนั้น นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดังอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายคน เรียกได้ว่า เป็น "ลูกจ้าง" ให้สฤษดิ์ โดยปริยาย เพราะเป็นนักเขียนประจำของ "สารเสรี" หนังสือพิมพ์ที่สฤษดิ์ออกทุนทำ

พร้อมกันนั้น สฤษดิ์ ก็สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าพวก "ศักดินา" โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ของควง อภัยวงศ์ และพี่น้องปราโมช (เสนีย์, คึกฤทธิ์) เป็นตัวแทน "ออกหน้า" ที่สำคัญ แต่ยังมีราชวงศ์ชั้นสูง (พวกเจ้าและขุนนางเก่าจากสมัยก่อน 2475) อีกหลายคน ที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ที่เป็นประธานองคมนตรี เคลื่อนไหวแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ด้วย

ถึงปี 2499 จอมพล ป และเผ่า เริ่มตระหนักว่า ไม่สามารถรับมือกับพันธมิตรสฤษดิ์-ศักดินา โดยเฉพาะการเข้มแข็งทางการเมืองที่มากขึ้นของกลุ่มศักดินา อันมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ เป็นครั้งแรกในระยะประมาณ 20 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 และการสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวร (ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงเสด็จกลับประเทศไทยอย่างถาวรในช่วงสิ้นปี 2494) และบทบาทที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์เอง เช่น ในวันกองทัพบก 25 มกราคม 2499 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสวิพากษ์การที่ทหาร - คือกลุ่มของจอมพล ป - เข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่ฉีกประเพณีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองในที่สาธารณะ (ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายมือหนึ่งของรัฐบาลในขณะนั้น ได้ออกปาฐกถาเชิงวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสนี้ จนถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ")

ในปีนั้น จอมพล ป และ เผ่า จึงตัดสินใจหาทางติดต่อกับปรีดีที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เพื่อชักชวนให้ปรีดีกลับประเทศ เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มศักดินา โดย "อาวุธ" สำคัญที่จะร่วมกันใช้ในการต่อสู้นี้ คือ การรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า การบอกเล่าก่อนถูกประหารของชิต ต่อเผ่า คงจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการรื้อฟื้นนี้)

ในช่วงปี 2525 ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณชิต เวชประสิทธิ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกศิษย์ปรีดี" คนหนึ่ง และเป็นอดีตหนึ่งในคณะทนายจำเลยคดีสวรรคต คุณชิตเล่าว่า จอมพล ป ได้ฝากข้อเสนอเรื่องร่วมมือกันสู้ศักดินา (ด้วยคดีสวรรคต) ให้เขาและ "ลูกศิษย์อาจารย์" อีกคนหนึ่งคือ ลิ่วละล่อง บุนนาค นำไปปรึกษาปรีดีที่จีน ตอนที่คุณชิตเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ข้อมูลนี้เป็นเรื่องที่แทบไม่มีคนรู้ ต่อมาในช่วงประมาณปี 2543 จึงมีผู้เผยแพร่จดหมายที่ปรีดีเขียนตอบสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2499 (เข้าใจว่า จอมพล ป คงใช้ให้สังข์เขียนเป็นจดหมายถึงปรีดี ฝากชิตและลิ่วละล่องไปด้วย ปรีดีจึงเขียนเป็นจดหมายตอบมายังสังข์) ในจดหมาย ปรีดีกล่าวตอนหนึ่งว่า "ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่า [ที่]ได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้า ที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้่งผมไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต" (ดูบทความ "50 ปี การประหารชีวิต" ของผมที่อ้างข้างต้น และ "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป, กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 30-35 ซึ่งผมได้เล่าเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2539)

ช่วงสิ้นปี 2499 ถึงกลางปี 2500 มีข่าวลือแพร่สะพัดในพระนครเรื่องรัฐบาลจอมพล ป จะอนุญาตให้ปรีดีเดินทางกลับไทยเพื่อมาสู้คดีสวรรคต สถานทูตอเมริกันในไทยได้รายงานเรื่องนี้ไปยังวอชิงตันหลายครั้ง วอชิงตันแสดงความไม่พอใจและเตือนจอมพล ป ว่า สหรัฐไม่เห็นด้วยกับการให้ปรีดีกลับไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีสวรรคตซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์และเสถียรภาพทางการเมืองของไทย อย่างเป็นทางการจอมพลบอกวอชิงตันว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้มีแผนการดังกล่าว แต่ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ และเข้มข้นสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2500 ทูตอเมริกันรายงานด้วยว่า แผนการจับมือกับปรีดีของจอมพลและเผ่า สร้างความไม่พอใจให้กับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างมาก (ดูวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง บทที่ 8 หน้า 197-221)

เรื่องนี้มาประจวบกับความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป กับสถาบันกษัตริย์ที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อในหลวงภูมิพลที่เดิมทรงมีกำหนดการจะเสด็จไปในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่รัฐบาลจัดขึ้นอย่างมโหฬารในเดือนนั้น ทรงงดการเสด็จอย่างกระทันหัน โดยทรงแจ้งกับรัฐบาลว่ามีพระอาการประชวร แต่ขณะเดียวกัน ทรงบอกทูตอังกฤษเป็นการส่วนพระองค์ว่า พระองค์มิได้ประชวรจนเสด็จไม่ได้ แต่ที่ไม่เสด็จเพราะไม่พอพระทัยที่รูปแบบการจัดงานของรัฐบาลออกมาในลักษณะที่ทำให้รัฐบาลมีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าพระองค์ ทรงเห็นว่า รูปแบบการจัดงานควรออกมาในลักษณะที่ให้พระองค์เป็นศูนย์กลาง (ตัวบทรายงานพระราชดำรัสที่ทรงเล่าแก่ทูตอังกฤษในประเด็นนี้คือ The King … clearly resented the fact that it has been drawn up with a view to making the Government as important if not more so than the King himself around whom of course the celebration should have been centred. ดูคำแปลรายงานฉบับเต็มของทูตอังกฤษนี้ของผม พร้อมเอกสารแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักในเรื่องในหลวงทรงประชวรจริงหรือไม่ ได้ที่นี่)

ในเดือนมิถุนายน (ซึ่งเป็นทั้งช่วงครบรอบการสวรรคตของในหลวงอานันท์และการปฏิวัติ 2475) ท่ามกลางข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับและจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตนี้ ก็เกิดกรณที่นายสง่า เนื่องนิยม เจ้าของฉายา “ช้างงาแดง” ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพรรค “ศรีอาริยเมตไตรย์” ของ เฉียบ ชัยสงค์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกศิษย์ปรีดี” คนหนึ่ง และเพิ่งเดินทางกลับจากการลี้ภัยในจีนร่วมกับปรีดีในปี 2499 (หมายถึงเฉียบ ไม่ใช่สง่า ตัวสง่าเองนั้น ผมไม่แน่ใจว่า เป็นพวกปรีดีแค่ไหน) ขึ้นปราศรัย หรือ “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวง พาดพิงถึงกรณีสวรรคตอย่างล่อแหลมมากๆ ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกคำปราศรัยของสง่ามาโจมตีว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายกับสง่า แต่รัฐบาลจอมพล ป และเผ่า กลับไม่ทำอะไร นอกจากปรับเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ในวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ ปาล พนมยงค์ ลูกชายปรีดี เข้าพบจอมพล ป ที่วัดมหาธาตุเพื่อลาบวช จอมพลได้กล่าวกับปาลว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว” ในเวลาไล่เรี่ยกัน ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้บอกกับเสนีย์ ปราโมชว่า “จอมพล ป จะหาเรื่องในหลวง” (ย่อหน้านี้และย่อหน้าติดกันข้างบน เอาข้อมูลมาจาก ณัฐพล ใจจริง, หน้า 219-220 กรณีนายสง่านั้น ต่อมา เมื่อสฤษดิ์ร่วมกับกลุ่มศักดินาทำรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จึงเริ่มมีการดำเนินคดีฟ้องร้อง ดูคำพิพากษาหลังรัฐประหารลงโทษสง่าในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งให้รายละเอียดว่า นายสง่าพูดหรือทำอะไรบ้างบนเวที “ไฮด์ปาร์ค” ครั้งนั้น ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต, ฉบับพิมพ์ปี 2517, หน้า 265-267)

คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข ที่ยกมาในตอนต้นบทความ เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เอง ในช่วงใกล้ๆ กัน ปรีดีเองก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในจีน แล้วหนังสือพิมพ์ในฮ่องกงนำมารายงานว่า เขาได้ติดต่อกับบุคคลสำคัญในไทยเพื่อการเดินทางกลับมาต่อสู้คดีสวรรคต (อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, หน้า 220)

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวของท่านผู้หญิงพูนศุขมีความสำคัญในแง่ที่นอกจากจะเป็นการยืนยันสนับสนุนหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถึงความพยายามร่วมมือระหว่างปรีดีกับจอมพลและเผ่าที่จะรื้อฟื้นคดีสวรรคต ยังเป็นการยืนยันเด็ดขาดอย่างที่ไม่ต้องมีข้อสงสัยอีกแล้ว ถึงประเด็นหนึ่งที่เคยเป็นปัญหาว่า ปรีดีเองมีข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีสวรรคตหรือไม่อย่างไร ดังที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผู้สนใจกรณีสวรรคตมักจะตั้งคำถามว่า ปรีดีเองมีความเห็นอย่างไรแน่ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐบาล – รวมถึงรัฐบาลหลวงธำรงที่เป็น “นอมินี” ของเขา – ท่าทีอย่างเป็นทางการของเขาคือ ในหลวงอานันท์ทรงยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ ในบทความดังกล่าว ผมได้ยกหลักฐานที่เพิ่งพบใหม่ คือบันทึกการเล่ากรณีสวรรคตของหลวงธำรงต่อทูตอเมริกัน มาแสดงว่า หลวงธำรงและปรีดี (ตามที่หลวงธำรงเล่า) มีข้อสรุปกรณีสวรรคตจริงๆ ที่เก็บเงียบไว้แตกต่างจากท่าทีที่พวกเขาแสดงออกอย่างเป็นทางการ (ดู “ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต: หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวนใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2552, หน้า 60-73 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่) อันที่จริง หลักฐานที่ผมยกมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากใครจะยังมีข้อสงสัยว่า นั่นเป็นเพียงการเล่าหรืออ้างของหลวงธำรงว่า ปรีดีคิดอย่างไร คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุขต่อ The Observer เป็นการยืนยันว่า ปรีดีมีข้อสรุปกรณีสวรรคตแบบเดียวกับที่หลวงธำรงบอกทูตอเมริกันจริงๆ


ความพยายามที่ล้มเหลว - ไม่ทันกาล
ในช่วง 2 เดือนเศษ จากเดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 16 กันยายน 2500 เมื่อสฤษดิ์และกลุ่มศักดินาร่วมกันทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป และเผ่าลง ข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับ และจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตดูจะเบาบางลง เราไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีการดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ในช่วงไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ทั้งจอมพลและเผ่าได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้ติดต่อและพบปะกับหลวงธำรงและดิเรก ชัยนาม คนสนิทของปรีดีในไทย เผ่ายังบอกนักการทูตอเมริกันว่า ธำรงและดิเรกติดต่อกับปรีดีอยู่เสมอ เขาบอกด้วยว่า ปรีดีต้องการให้มีการพิจารณาคดีสวรรคตใหม่โดยเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ได้ (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 229-230)

ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดระหว่างจอมพล ป และเผ่า กับสถาบันกษัตริย์ยังดำเนินต่อไป ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน คือประชาธิปัตย์และสหภูมิ (พรรคของสฤษดิ์) ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่งอ้างว่า ได้ทราบจากแหล่งข่าวว่า ระหว่างการประชุมของฝ่ายรัฐบาลเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนั้น เพื่อพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมีนายทหารระดับสูงเข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีการเสนอให้จับพระมหากษัตริย์ ส.ส.ผู้นี้ยังอ้างว่า แหล่งข่าวของเขาในพรรครัฐบาล (เสรีมนังคศิลา) รายงานว่า ในการประชุมพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2498 เผ่าได้พูดต่อหน้าจอมพลว่า ในหลวงทรงช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, วันที่ 29 สิงหาคม 2500, หน้า 1031-1033) ในวันเดียวกับที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นเอง สฤษดิ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า เขา “ไม่อดทนกับแผนการต่อต้านกษัตริย์” ของจอมพลและเผ่า (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 230)

ดังที่ทราบกันทั่วไป ในที่สุด สฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ในวันยึดอำนาจ ในหลวงภูมิพลทรงมีพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (รัฐธรรมนูญปี 2495 ที่ให้พระบรมราชโองการต้องมีผู้รับสนอง ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่) แต่งตั้งให้สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร และทรง “ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชทุกฝ่าย ฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 76 วันที่ 16 กันยายน 2500, ฉบับพิเศษ หน้า 1 หรือดาวน์โหลดได้ที่นี่) นอกจากพระบรมราชโองการนี้แล้ว การสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ต่อรัฐประหารของสฤษดิ์ ยังได้รับการยืนยันจากหลักฐานร่วมสมัยทั้งของไทย, อเมริกันและอังกฤษ (ผู้สนใจรายละเอียดโปรดดู ณัฐพล ใจจริง, หน้า 223-247) สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสนับสนุนนี้คือ เพื่อยับยั้งการร่วมมือระหว่างจอมพล ป-เผ่า กับปรีดีในการรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (รายงานซีไอเอในขณะนั้นสรุปว่า “เนื่องจากพระองค์ทรงกลัวแผนการของจอมพล ป ที่จะนำปรีดีกลับมาจากจีน”)

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา: เก็บตก จากการประชุมภาคประชาชน ที่เบลเยี่ยม

Posted: 21 Oct 2010 11:23 PM PDT

 

ตอน: เก็บตก จากการประชุมภาคประชาชน ที่เบลเยี่ยม
"ChuPitch TV" กลับมาหลังจากห่างหายไปนาน
โดยตอนล่าสุด "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" สัมภาษณ์ "กรรณิการ์ กิจติเวชกุล" คุยเก็บตก การประชุมภาคประชาชน

ความยาว 38 นาที

ใบตองแห้งออนไลน์: ยุบไม่ยุบก็….

Posted: 21 Oct 2010 11:14 PM PDT

อันที่จริงผมไม่ใคร่จะสนใจคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นัก เพราะยุบไม่ยุบก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากไม่ใช่ยุบพรรคตามมาตรา 237 ที่รัฐธรรมนูญ คมช.วางกับดักบางพรรคไว้โดยเฉพาะ ต่อให้ยุบ อภิสิทธิ์ก็ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ต่อให้ซวยถึงขีดสุด ก็อาจโดนแค่ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรค 5 ปี แต่ไม่เป็นหัวหน้าพรรคก็เป็นนายกฯได้นิ รัฐธรรมนูญไม่ห้าม

นอกจากนี้เหตุยังเกิดในยุคบัญญัติ-ประดิษฐ์ อีกต่างหาก ถ้าใช้เงินผิดประเภทเป็นเหตุอาญา หัวหน้า-เลขาธิการ-เหรัญญิกพรรคในครั้งนั้นก็รับไป (นี่ยังไม่พูดถึงคดีเงินบริจาค 258 ล้านที่ยังไม่ขึ้นศาล)

แต่ที่ไหนได้ คดียุบพรรค ปชป.กลับมาเป็นประเด็นฮือฮา ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ใครๆ ก็ถามว่า ดูคลิปแล้วหรือยัง – ดูแล้ว สนุกดี หมอผีหัวฟูแดนซ์กระจายเพลง Nobody มะเร็งหายไปไหนไม่รู้

อ้าว ไม่ใช่เรอะ คลิปลับตุลาการเรอะ งั้นขอดูซะหน่อย จะสู้คลิปธัญญ่าได้ไหม แต่ดูแล้วบอกตามตรง นอกจากคลิป 2 บันทึกการสนทนาของ 2 ว.กับ 1 พ.แล้ว คลิปอื่นไม่มีอะไรมาก คนปล่อยคลิปอ่อนหัด ไม่เข้าใจเกม เพราะควรจะปล่อยคลิป 2 คลิปเดียวก่อน คลิปอื่นทยอยตามหลัง โดยเฉพาะคลิปแรกที่พาดพิงพลเอกเปรมนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง นอกจากไม่มีประโยชน์ (คนที่เชื่อว่าพลเอกเปรมเกี่ยว ก็เชื่ออยู่แล้ว คนไม่เชื่อ เขาก็ไม่เชื่ออยู่ดี) ยังทำให้กระแสสับสน เล่นหลายชั้นเกินไป แทนที่จะพุ่งเป้าหมายเดียว

เกมแบบนี้ต้องศึกษาจาก ปชป.เวลาถล่มใคร ก๊วนสะตอเขาจะค่อยๆ แพลมข้อมูลทีละวัน รายวัน เรียงลำดับ ชงประเด็นพาดหัวข่าวให้เสร็จสรรพ จากเบาไปหาหนัก จากรองพื้นไปจนสีเข้มและดำ สุดท้ายก็กลายเป็นผู้ร้ายดิ้นไม่หลุด วิธีการแบบนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยคึกฤทธิ์เล่นงาน อ.ปรีดีโน่นแล้ว

คลิป 3-4-5 ผมดูแล้วยังขำ เพราะซับไตเติลถูกๆ ผิดๆ ถอดเทปบางคำก็ผิดชัดๆ ตัวหนังสือก็เขียนผิด ทายได้เลยว่าคนถอดเทปไม่รู้ภาษากฎหมาย ต่อให้ไม่จบกฎหมายถ้าอยู่ในศาล บันทึกการประชุมทุกวัน ก็น่าจะถอดเทปดีกว่านี้

เนื้อหาในเทปส่วนใหญ่แล้วไม่มีอะไร โธ่ ก็ตุลาการท่านนั่งประชุมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่นับสิบ ใครจะหลุดปากพูดอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ผมยังสงสัยว่าเทปที่หลุดออกมาทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียหายตรงไหน ฟังแล้วไม่มีอะไรเสียหายนะครับ นอกจากให้ความรู้เฟื่องเรื่องกฎหมายโดยตุลาการผู้สูงส่งแล้ว บางช่วงยังทำให้ผู้ชมทางบ้านสนุกสนานเฮฮาอีกต่างหาก โดยเฉพาะตอนที่ตั้งวงเมาท์ “เจ๊สด” ผมยังอยากโดดเข้าจอไปขอแจมด้วยคน

ประเด็นที่เกี่ยวกับคดีมีแค่ประเด็นเดียว คือที่ประชุมหารือหาทางให้ประธาน กกต.อภิชาติ สุขัคคานนท์ มาให้การ โดยพูดกันถึงขั้นต้องระบุเป็น “พยานปากสำคัญ” เพื่อ “กดดัน” ประธาน กกต.มาให้การให้ได้

แต่บังเอิ๊ญ มันกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ไปสอดคล้องกับคลิป 2 การสนทนาระหว่างวิรัช ร่มเย็น กับพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่พยายามจะเอาประธาน กกต.มาเป็นพยานให้ได้ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคประชาธิปัตย์

คลิป 2 นี่เสียงดังฟังชัดนะครับ พสิษฐ์กับวิรัชคุยกันว่าจะต้องหานักวิชาการออกมาให้ความเห็น แล้วก็บังเอิ๊ญอีกนั่นแหละ มีอาจารย์กฎหมายเสื้อเหลืองเจ้าเก่า ผู้เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับ คมช.ออกมาให้ความเห็นว่า ปชป.ควร “ชนะฟาวล์” เพราะ กกต.มีมติให้ส่งเรื่องยุบพรรค ปชป.ข้ามขั้นตอน ไม่ผ่านความเห็นชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง

ท้ายที่สุดไม่ทราบว่าเกิดไหวตัวเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะคลิป 2 บันทึกไว้วันที่ 7 คลิป 3-4-5 เป็นการประชุมวันที่ 4 แต่พอถึงการพิจารณาวันที่ 18 ศาลไม่ยักเรียกประธาน กกต.มาให้การ ประเด็นนี้เลย (ดูเหมือน) ตกไป ไม่มีใครซักถามตุลาการว่าเหตุใดในตอนนั้นท่านจึงคิดจะเรียก (โดยบังเอิญสอดคล้องกับสิ่งที่พสิษฐ์-วิรัช คุยกัน)

กระนั้น การไม่เรียกมาเป็นพยาน ก็ไม่ได้แปลว่าศาลจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นไม่ได้ เพราะความเห็นของประธาน กกต.มีอยู่แล้วในสำนวน

เพียงแต่ถ้าศาลยกความเห็นของประธาน กกต.ขึ้นเป็นประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัย แล้วให้ ปชป.”ชนะฟาวล์” ไม่ยุบพรรค แบบที่นักวิชาการรายนั้นออกมาพูด ก็คงดูเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดร้อน (ไม่จืด) ไปเลย

หน้าดำร้องจับโจร

วิรัช ร่มเย็น อ้างว่าถูกจัดฉาก พสิษฐ์เลื่อนเก้าอี้ พสิษฐ์ถามนำ ฯลฯ อ้าว ถามนำแล้วไปเออออห่อหมกกับเขาทำไม วิรัชต้องรู้ว่าตัวเองเป็นทนาย อีกฝ่ายเป็นเลขานุการประธานศาล ไม่ควรพูดคุยกันเรื่องคดีแม้แต่คำเดียว ถ้าอีกฝ่ายพูดก็ต้องบอกปัด

ต่อมาวิรัชให้สัมภาษณ์ใหม่ ยอมรับว่าไปพบพสิษฐ์มาหลายครั้ง แต่พบเป็นการส่วนตัว ไม่ได้พูดคุยเรื่องยุบพรรค (อ้าว แล้วในคลิปพูดเรื่องอะไร) อ้างว่าพสิษฐ์ไม่ใช่ตุลาการ ไม่สามารถเบี่ยงเบนการพิจารณาได้ แต่เลขานุการประธานก็ต้องรู้ข้อมูลรู้สำนวนสิครับ

ถ้าวิรัชทำแบบนี้ได้ ต่อไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ก็เปิดคาเฟ่ข้างศาลให้เจ้าหน้าที่ศาลที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาในคดี ไป “พบเป็นการส่วนตัว” กับเพื่อนที่เป็นทนายได้อย่างเปิดเผย ไม่ผิดอะไร จริงไหมวิรัช

ไอ้ที่น่าประหลาดใจคือ วิรัชอ้างว่ามีการจัดฉากมาตั้งแต่ทศพล เพ็งส้ม ไปพบพสิษฐ์ แต่ตัววิรัชก็ยังไปพบพสิษฐ์อยู่ได้ตั้งหลายครั้ง

ข้างมาร์คอ้างว่าคนทำและเผยแพร่คลิปมีความผิดอาญา ดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรม จัดฉากทำลายพรรคประชาธิปัตย์ แต่คนของตัวเองไปพบเจ้าหน้าที่ศาลพูดคุยเรื่องคดีรู้เห็นกันทั้งประเทศ ยังไม่รู้ว่าผิดหรือไม่ ขอตั้งกรรมการสอบสวนกันเองก่อน ขณะที่โฆษก ปชป.ยังจะเอาผิดพรรคเพื่อไทย ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์

โห ยอดเยี่ยมจริงๆ เกิดมาไม่เคยเห็นใครตาใสเท่านี้ ปชป.น่าจะส่งคนไปเป็นกรรมการฟีฟ่าแทนบังยี (ที่โผล่มาเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย) จะได้ช่วยตะแบงแทนกรรมการฟีฟ่าโซนโอเชียเนีย ที่ถูกนักข่าวซันเดย์ไทม์ปลอมตัวไปติดสินบน ให้เลือกอเมริกาเป็นเจ้าภาพบอลโลก จงใจจัดฉากทำลายกันชัดๆ เลยนะนั่น ถ้านักข่าวซันเดย์ไทม์มาทำอย่างนี้ที่เมืองไทยมีหวังติดคุกหัวโต

ผบ.ตร.ก็สุดบื้อ อ้างว่าไม่มีผู้เสียหายดำเนินคดีไม่ได้ แบบนี้ต้องให้ตำรวจอยุธยาที่จับแม่ค้าขายรองเท้าแตะมาเป็น ผบ.ตร.ซะดีกว่า

คนทำคลิปมีความผิด คนแพร่คลิปมีความผิด แต่คนในคลิปไม่มีความผิด เห็นจะมีอยู่ที่เดียวคือพรรคประชาธิปัตย์

พสิษฐ์น่ะเขาหวังดีกับประชาธิปัตย์แท้ๆ อุตส่าห์ฝากเตือนนายชวนว่าให้ระวังปากเทพไท ก็ยังไม่เชื่อกันอีก (คงหาว่าดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์) ทำไมไม่ถามนายชวนมั่งว่ารู้จักพสิษฐ์หรือเปล่า

คำถามอีกด้านนอกจากถามพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังต้องถามประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าท่านควรรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเลขานุการของท่านเองหรือไม่

ตุลาการ 5 ท่านออกมาแถลงปลดพสิษฐ์ โดยประธานไม่ออกมาด้วย เป็นอะไรที่ประหลาดๆ แต่ก็ไม่ยักมีอะไรในกอไผ่ นอกจากมีแหล่งข่าวกล่าวว่าประธานศาลขอโทษคณะตุลาการที่คนของตนทำให้องค์กรเสื่อมเสีย แต่พยายามจะบอกว่าประธานไม่น่ารู้เห็นการกระทำของเลขาฯ

โอ้ คงไม่มีใครบังอาจปรักปรำหรอกนะครับว่าท่านใช้เลขาฯ ไปเอื้ออำนวยช่วยเหลือ ปชป. เพียงแต่คนเขาถามว่าท่านจะรับผิดชอบอย่างไรกับเลขาฯ ที่ตั้งมาเองกับมือ ดึงตัวมาจากเจ้าหน้าที่ รพ.บำรุงราษฎร์ มากินเงินเดือน 42,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท แต่กลับมาทำอย่างนี้

คือตอนแรกผมยังคิดว่านายพสิษฐ์นี่แกเป็นเจ้าหน้าที่ศาลมาก่อน ที่ไหนได้ เพิ่งรู้จากมติชนว่ามาจาก รพ.บำรุงราษฎร์ จบกายวิภาค ม.รังสิต ท่านประธานผู้ได้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ คงมีสายตายาวไกล เล็งเห็นความสามารถทางกฎหมายจากนักกายวิภาค แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าท่านมองผิด

นั่นสิ แล้วจะรับผิดชอบอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการสอบ (โดยมีเมีย อ.สมคิดร่วมอยู่ด้วย เพิ่งร้นะเนี่ยว่าเมีย อ.สมคิดทำงานศาลรัฐธรรมนูญ เออ แล้ว อ.สมคิดจะวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร)

โทษที ผมไม่อยากใช้คำว่ารับผิดชอบต่อสังคม เพราะคนครึ่งหนึ่งของสังคมไม่มีความเชื่อมั่นศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เอาแค่รับผิดชอบต่อคนพวกที่เชื่อในความขรึมขลังของตุลาการภิวัตน์เมื่อครั้งวินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารและยุบพรรคพลังประชาชนก็พอ โปรดอย่าทำให้คนเหล่านี้ผิดหวัง

โห ยิ่งถ้าพสิษฐ์เป็นเสื้อแดงหรือเป็นสายลับของพรรคเพื่อไทย อย่างที่พยายามใส่สีกัน จะยิ่งเสียหนักเลยนะครับ เพราะท่านไม่ดูตาขุนตาโคนไปเอาลูกเสือลูกตะเข้มาเลี้ยง แล้วใครจะไว้วางใจให้ทำงานใหญ่ ปลดพสิษฐ์แล้ว ท่านจะไปดึงนักกายวิภาคมาจาก ร.พ.ไหนอีกล่ะ

นี่เลยทำให้อยากรู้มากขึ้นว่า เลขาตุลาการอีก 8 คน มาจาก ร.พ.ไหนบ้าง

จากเรื่องที่ไม่น่าเป็นเรื่อง กลับโกโซบิ๊ก จากยุบไม่ยุบที่ไม่น่ามีผลอะไร กลับกลายเป็นยุบไม่ยุบก็เสื่อมอยู่ดี และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ว่าคดีความใดที่มีผลต่อการเมือง

ตุลาการภิวัตน์ถลำลึกเข้ามาแล้วนี่ครับ 

ลูกไม้เก่า ปชป.

พรรคประชาธิปัตย์ทำท่าขัดแย้งกับพรรคภูมิใจห้อย ทั้งเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายในมหาดไทยและผลประโยชน์ในกระทรวงพาณิชย์

นั่นไม่ใช่สัญญาณว่ารัฐบาลจะแตก แต่เป็นสัญญาณว่าอภิสิทธิ์กำลังจะยุบสภา

หาเสียงไงครับ กู้ภาพหาเสียงเตรียมเลือกตั้ง งัดกฎเหล็กร้อยแปดข้อออกมาขย่มพรรคร่วมรัฐบาล เอาไว้เลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยกลับมาจูบปากห้อยๆ กันใหม่

สภากำลังจะปิดสมัยประชุม กฎหมายสำคัญผ่านหมดแล้ว กว่าจะเปิดอีกทีก็ต้นปีหน้า คิดรึว่าอภิสิทธิ์จะอยากให้มีอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งก่อนยุบสภา ระยะเวลาต่อจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องพึ่งมือพรรคร่วม ฉะนั้นไม่แปลกอะไรถ้าจะไปถึงขั้นยึดกระทรวงบางกระทรวงคืน ก่อนยุบสภาในเดือนมกราคม ปล่อยให้พรรคภูมิใจห้อยโวยวายไป เลือกตั้งใหม่กลับมาค่อยร่วมรัฐบาลกัน ใครจะไม่ร่วม ในเมื่ออำมาตย์ ขุนทหาร ตุลาการ ยังมีอำนาจครอบงำการเมือง

ผมค่อนข้างมั่นใจหลังจากอ่าน อ.สุรพล นิติไกรพจน์ ให้สัมภาษณ์ ท่านวิเคราะห์มาเรียบร้อยก่อนจะฟันธง ยุบสภาเดือนมกราคม นักวิชาการระดับนี้แล้ว ใครไม่เชื่ออย่าเชื่อ (ส่วนท่านจะรู้อะไรลึกๆ แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

เกมทะเลาะกันในหน้าหนังสือพิมพ์วันนี้จึงเป็นเกมสร้างภาพก่อนยุบสภา เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ภูมิใจห้อย เพื่อรักษาฐานเสียงคนกรุงเทพฯ (กลัวพรรคการเมืองใหม่แย่ง ฮิฮิ) ส่วนในภาคอีสาน ปชป.ทำใจแล้วว่าตัวเองไม่ได้ เอาแค่หนุนให้ภูมิใจห้อยเป็นทัพหน้า อาวุธยุทโธปกรณ์ กระสุน เสบียง ที่สะสมมา 2 ปีเพียงพอแล้วที่จะสู้

ก็ดูแค่สปอนเซอร์ทีมบุรีรัมย์ 10 ราย 100 ล้าน หาได้ง่ายดาย (มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย เก็บเงินชาวบ้าน 70 กว่าจังหวัด แต่เอาไปให้สปอนเซอร์บุรีรัมย์ทีมเดียว 10 ล้าน)

อภิสิทธิ์ต้องยุบสภา เพราะรู้ว่ายิ่งอยู่นานยิ่งเสื่อม การยุบสภาเลือกตั้งใหม่แล้วได้ชัยชนะร่วมกับพรรคภูมิใจไทย จะลบล้างมลทินที่ว่าตัวเองได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม “รับของโจร” จากการปล้นอำนาจที่ คมช.วางกับดักไว้ให้ตุลาการภิวัตน์และกองทัพช่วยกันล้มรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญที่นักประชาธิปไตยต้องเตรียมตอบโต้คือ การยุบสภาหลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยาวนาน ปิดกั้นสื่อ ทำลายล้างสื่อที่อยู่ตรงข้าม เปิดเสรีภาพด้านเดียวให้สื่อกระแสหลักที่เชียร์ตัวเองและกระหน่ำซ้ำเติมฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉินกวาดล้างจับกุมคุมขังแกนนำและมวลชนฝ่ายตรงข้าม ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้ง นี่เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมกว่าพม่าซักเท่าไหร่เชียว

ในช่วงเวลาที่เหลืออีกราว 3 เดือน ยังเชื่อได้ว่า ระบอบอภิสิทธิ์จะเร่งใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉินกวาดล้างจับกุมปราบปรามเสี้ยนหนาม อย่างเข้มงวดรุนแรง แต่อยู่ภายใต้การสร้างภาพ และใช้กลไกกฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะเมื่อมีมือไม้ครบครันทางด้านตำรวจ มีนายตำรวจผู้เชี่ยวชาญในการปั้นสำนวน ยัดข้อหา (ซึ่งก็เคยรับใช้ทักษิณมาก่อน) เข้าไปเป็นมือไม้หลายราย มิพักต้องพูดถึง DSI ที่ไม่เหลือความเป็นมืออาชีพแล้ว

ระบอบอภิสิทธิ์ไม่ได้กลัวพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณมากเท่ามวลชนเสื้อแดง ซึ่งแสดงพลังให้เห็นว่าพร้อมจะสู้ไม่ถอย ตั้งแต่รำลึกการชุมนุมที่ราชประสงค์มาถึงอยุธยา เสียงตะโกนข้างถนนที่ไม่มีในรายงานข่าว ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ ยิ่งเปล่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ และแรงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรสนับสนุน แต่มวลชนที่โกรธแค้นและสุกงอม ไม่รู้จะไปห้ามใครตรงไหนอย่างไร นี่เป็นผลจากการปิดกั้นของรัฐบาลเอง (เพราะถ้ายอมให้เปิดเว็บประชาไทจนดูได้กว้างขวาง ผมจะได้เขียนเรื่องการต่อสู้โดยสันติให้คนเสื้อแดงอ่าน ฮิฮิ)

คำถามคือ รัฐจะยอมให้มวลชนเสื้อแดงจัดงานเคลื่อนไหวรายสัปดาห์เช่นนี้ต่อไปจนถึงเดือนมกราคมหรือไม่ พวกเขาจะใช้เล่ห์เหลี่ยม กลไก วิธีสกปรก ทั้งในและนอกกฎหมายมาจัดการกับมวลชนอย่างไร (เห็นข่าวล่าสุดก็มีการยึดวิทยุเสื้อแดงที่ขอนแก่นอีกแล้ว)

นี่คือสิ่งที่ผมอยากฝากให้ช่วยกันคิดและเตรียมรับมือ

ใบตองแห้ง
22 ต.ค.53

ป.ล.3-4 วันมานี่นั่งยิ้มกริ่มชอบใจ เพราะคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองเด้งคุณหญิงเป็ด ให้เหตุผลตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้

ศาลปกครองไม่ได้ให้เหตุผลเหมือนกฤษฎีกาของมีชัย ฤชุพันธ์ นะครับ เพราะกฤษฎีกาตีความตื้นมาก ศาลชี้เรื่องคุณสมบัติ ตามมาตรา 34 ผู้ว่าฯต้องพ้นตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก อายุครบ 65 ติดยาเสพย์ติด วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน หรือไปดำรงตำแหน่งอื่น

ประกาศ คปค.คุ้มครองคุณหญิงเป็ดเมื่อครบวาระ แต่ไม่คุ้มครองเรื่องขาดคุณสมบัติ คุณหญิงจึงต้องพ้นตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือเกษียณ เหมือนคนอื่นเขาทั่วไป จะมาทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติอยู่แต่ผู้เดียวไม่ได้

“หากตีความกฎหมายเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่แทน แม้จะตาย ลาออก มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ติดยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้จนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่แทน ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือการที่กฎหมายห้ามกระทำการ หรือการตรวจสอบของวุฒิสภาไม่อาจกระทำได้โดยครบถ้วน”

ให้รู้ซะมั่งว่าเวลาผมเขียนเรื่องกฎหมาย ผมมีที่ปรึกษาที่ยึดหลักเกณฑ์แม่นยำกว่ามีชัย ณ ปั๊มน้ำมัน
....................................... 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น