ประชาไท | Prachatai3.info |
- มาเลเซียจ่อเปิดบริการเครือข่ายสื่อสารระบบ "4จี"
- TDRI ศึกษาการใช้แรงงานเด็กใน อก.แปรรูปกุ้งแช่แข็ง ป้องกันถูกยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี
- องค์การหมอไร้พรมแดน รณรงค์ “สหภาพยุโรป หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที”
- นักข่าวพลเมือง: สนั่น-สนธิ เจอนักศึกษาแต่งผีประท้วง “จะปรองดอง ถามผีรึยัง?”
- ไฟไหม้คลังแสงทัพพม่าในรัฐฉาน ยังไม่ทราบสาเหตุ
- รำลึกครบรอบ 6 เดือน เหตุสลายการชุมนุม 10 เมษา ที่เชียงใหม่
- วอลเดน เบลโล: ผลลัพธ์ทางการเมืองของการชะงักงันทางเศรษฐกิจ
- "ยูนิเซฟ" ร้อง รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหา "สื่อลามกเด็ก"
- ใบตองแห้งออนไลน์: ตอบ ‘ใจ อึ๊งภากรณ์’ ว่าด้วยสังคมนิยมและซ้ายเสื้อเหลือง
- ผู้ใช้แรงงานทวงความคืบหน้ารับสัตยาบัน ILO 87-98
- เสียงจาก 39 คนงานไทย ยืนยันเรียกร้องสิทธิที่สวีเดนต่อ
- วีดีโอคลิปกิจกรรมคนเสื้อแดงวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010
มาเลเซียจ่อเปิดบริการเครือข่ายสื่อสารระบบ "4จี" Posted: 11 Oct 2010 01:36 PM PDT บริษัทมาเลเซีย เตรียมจับมือเปิดเครือข่ายการสื่อสารระบบ “4จี” 18 พ.ย.นี้ และมีแผนเสนอขอเชื่อมต่อโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต กับบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า กลุ่มบริษัทวายทีแอล คอร์ป. (YTL Corp.) ของมาเลเซีย เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ 11 ต.ค. ว่า เตรียมเปิดเครือข่ายการสื่อสารอินเทอร์เน็ตระบบ “4จี” ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ทั้งเตรียมแผนเสนอขอเชื่อมต่อโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตกับบริษัทเซซมิ คอร์ป. (Sezmi Corp.) ของสหรัฐฯ การลงทุนระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 4 หรือ “4จี” ใช้งบประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตของมาเลเซียในอนาคตอันใกล้นี้จะเร็วกว่าระบบ “3จี” อีกมาก เทคโนโลยี 4จี เป็นเครือข่ายความเร็วสูงชนิดพิเศษ ถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของ 3จี มีอัตราความรับส่งข้อมูลระหว่าง 50-100 เมกะบิต/วินาที หรือเร็วกว่า 3จี ราว 10 เท่า มีการเพิ่มลูกเล่นการใช้ Wi-Max ซึ่งแม้ไม่ใช่เครือข่ายเคลื่อนที่ แต่กระแสการใช้ Wi-Fi จากโทรศัพท์มือถือเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ นิยมมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ใช้ได้ในระยะรัศมีไม่กี่ 10 เมตร ขณะที่ Wi-Max ขยายพื้นที่ออกไปหลายกิโลเมตร สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
TDRI ศึกษาการใช้แรงงานเด็กใน อก.แปรรูปกุ้งแช่แข็ง ป้องกันถูกยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี Posted: 11 Oct 2010 01:24 PM PDT ทีดีอาร์ไอเผยยังมีการใช้แรงงานเด็กในขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตแท้จริงในบางอุตสาหกรรม นำร่องศึกษาโครงสร้างการส่งออกกุ้งแช่แข็งทั้งระบบ เป็นตัวอย่างกำหนดอาชีพและการคุ้มครองแรงงานเด็กให้เหมาะสม ป้องกันไม่ให้ถูกยกเป็นข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญและมีมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่จากในการสำรวจแรงงานต่างด้าวใน 5 จังหวัด พบว่าในจำนวนแรงานต่างด้าว 600 คน ที่ตอบแบบสอบถาม เป็นแรงงานเด็กกว่า 20 ราย โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 -18 ปี อีกครึ่งอายุต่ำกว่า 15 ปี ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี บางคนทำงานถึงวันละ 10 -12 ชั่วโมง ซึ่งเกินกฎหมายกำหนด และรัฐยังดูแลไม่ถึง จึงเน้นการศึกษาตั้งแต่กระบวนการแรกของอุตสาหกรรมก่อนจะส่งเข้าโรงงาน ซึ่งมีแรงงานเข้าไปเกี่ยวข้องมากทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว การศึกษานี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในการใช้แรงงานเด็ก เพื่อดูว่าเด็กซึ่งควรอยู่ในโรงเรียน (ตามกฎหมายมีนโยบายเรียนฟรี) แต่ตกหล่นไม่ได้เรียน และต้องมาสู่การใช้แรงงานนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องในส่วนไหน ด้วยเหตุผลใด มีสภาพการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของคนไทย ทุกปีจะมีแรงงานในระดับ ม.ต้น และม.ปลายซึ่งตกหล่นจากระบบโรงเรียนราว 1.3 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจย้อนกลับไปเรียนต่อได้ แต่มีบางส่วนที่มาเข้าสู่ตลาดแรงงาน เริ่มจากทำงานเล็กๆ น้อยๆ และบางคนอาจเข้าไปทำงานที่ไม่ค่อยเหมาะสม การศึกษาครั้งนี้เน้นกรณีแรงงานเด็กต่างด้าว 20 คนจากผลการสำรวจ และลงศึกษาเชิงลึกใน 5 จังหวัด เช่นสมุทรสาคร นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ได้อยู่ในโครงสร้างที่จะได้รับการคุ้มครองใดๆ ส่วนใหญ่ทำงานกับนายจ้างรายย่อยในขั้นต้นกระบวนการของอุตสาหกรรม เช่น “ล้ง” ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายย่อย ทำหน้าที่ในการตัดหัว แกะเปลือก ทำความสะอาดกุ้ง ก่อนส่งเข้าสู่โรงงาน แรงงานเด็กก็จะมีส่วนมาทำงานตรงนี้ การสำรวจที่ครอบคุมแรงงานไทยของหน่วยราชการจึงยังไม่พบว่ามีสถานประกอบการรายใดใช้แรงงานเด็ก ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติมจะนำไปสู่การกำหนดกรอบการศึกษาภาพรวมทั้งประเทศอีกครั้งหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กที่จำเป็นต้องเข้าสู่การทำงานได้รับการคุ้มครองดูแลในการทำงานที่เหมาะสม และไม่ถูกเอาเปรียบและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็ควรจะอยู่ในโรงเรียน ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า นายจ้างรายย่อยอย่าง “ล้ง” อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเมื่อใช้แรงงานเด็กก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย ดังนั้นการมีบัญชีอาชีพที่เด็กทำได้ทำไม่ได้จะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงานเด็ก และผู้ประกอบการจะได้ตระหนักและปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะการใช้แรงงานเด็กยังเป็นปัญหาอ่อนไหวที่อาจถูกนำไปใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้ากับบางประเทศได้ เช่น สหรัฐฯ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
องค์การหมอไร้พรมแดน รณรงค์ “สหภาพยุโรป หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที” Posted: 11 Oct 2010 01:12 PM PDT องค์การหมอไร้พรมแดน เริ่มการรณรงค์ “สหภาพยุโรป หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที” เตือนสติให้หยุดการกระทำที่บ่อนทำลายการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย ที่กรุงนิวเดลี (บรัสเซล,นิวเดลี 10 ตุลาคม 2553) ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังจะเจรจาการค้าทวิภาคี (เอฟทีเอ) กับอินเดีย พร้อมกันนั้นเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ อินเดียได้ประท้วงการเจรจาดังกล่าวทำให้มีผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับกุมและถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย, ในวันนี้ องค์การหมอไร้พรมแดนซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมได้เริ่มเปิดตัวการรณรงค์ระดับโลกเตือนสติสหภาพยุโรปให้หยุดการกระทำทุกวิถีทางที่จะเป็นบ่อนทำลายการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก “ในฐานะที่เป็นหมอ พวกเราพึ่งพายาราคาถูกที่ผลิตในอินเดียทำให้พวกเราสามารถรักษาผู้ป่วยของเราได้ เราซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์กว่าร้อยละ 80 จากอินเดียเพื่อรักษาคนไข้ 160,000 คนให้มีชีวิตอยู่ได้” นายแพทย์อูนนิ คารุนาคารา (Dr.Unni Karunakara) ประธานองค์การหมอไร้พรมแดนนานาชาติกล่าว “ในนามของคนไข้ทุกคน เราไม่สามารถนิ่งเฉยทนเห็นรัฐบาลสหภาพยุโรปปิดประตูการเข้าถึงยาทุกหนทาง ไม่ว่าจะเป็น การผลิตยาชื่อสามัญ, การขึ้นทะเบียนยา, การขนส่งยาเพื่อไปถึงมือประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น วันนี้เราจึง เปิดตัวการรณรงค์ระดับโลก เพื่อจะส่งเสียงดังและชัดเจนว่า ‘Europe! HANDS OFF our medicine.’ “สหภาพยุโรป หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที” การเจรจาเอฟทีเอระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรปเป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีที่สหภาพยุโรปใช้โจมตียาชื่อสามัญ เช่นเดียวกับเอฟทีเอที่สหภาพยุโรปกำลังเจรจากับอีกหลายประเทศ สหภาพยุโรปกำลังบ่อนทำลายการผลิตยาชื่อสามัญที่ปลอดภัย มีคุณภาพทัดเทียมและมีราคาถูกด้วยการกดดันให้ประเทศคู่เจรจาต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากกว่าไปที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ สหภาพยุโรปเป็นหัวโจกหลักในการเจรจาอย่างลับๆในความตกลงทางการค้าด้านสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeiting Trade Agreement (ACTA)) ซึ่งจะมีกลไกและมาตรการต่างๆที่จะจำกัดการผลิตยาชื่อสามัญ จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้แล้ว: ด้วยระเบียบศุลกากรของสหภาพยุโรป ยาชื่อสามัญที่ถูกกฎหมายถูกกักที่ท่าเรือในสหภาพยุโรประหว่างการจัดส่งไปประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายเมื่อขาดยาจำเป็น “สิ่งที่สหภาพยุโรปกำลังทำอย่างได้ผลคือการแย่งยาช่วยชีวิตไปจากมือของพวกเรา” แพทย์หญิงมาเรียส มูลเลอร์ (Dr. Marius Müller) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ขององค์การหมอไร้พรมแดนขเคนย่า “เพราะยาชื่อสามัญมีราคาถูกกว่า ทำให้เราสามารถรักษาคนไข้เอดส์และผู้ติดเชื้อฯได้ มันเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาที่จะกลับไปทำงาน เลี้ยงดูลูกๆของพวกเขาอีกครั้ง แต่ถ้าสหภาพยุโรปเดินหน้านโยบายดังกล่าวซึ่งคือการปิดการผลิตยาราคาถูกเหล่านี้ เท่ากับว่าเรากำลังเสี่ยงที่จะทำลายความสำเร็จตลอด 5 ปี ที่เราสู้กับโรคเอดส์มา” จากงานศึกษาล่าสุดพบว่า ในปี 2008 เกือบร้อยละ 90 ของยาต้านไวรัสเอชไอวีเอดส์ที่องค์กรผู้บริจาคทั่วโลกใช้อยู่ ซึ่งรวมทั้งรัฐบาลประเทศยุโรปเอง เป็นยาชื่อสามัญที่ผลิตจากอินเดียทั้งสิ้น การผิดแหล่งผลิตยาชื่อสามัญเหล่านี้จะเป็นความหายนะของผู้คนนับล้านที่รอคอยยาช่วยชีวิต “มีความชัดเจนมากที่สหภาพยุโรปใช้ทุกโอกาสที่มีในการปิดทางการเข้าถึงยาชื่อสามัญของคนในประเทศกำลังพัฒนา” นางมิเชล ไชด์ส (Michelle Childs) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว “พวกเราร่วมมือกับภาคประชาสังคมทั่วโลกขอเรียกร้องให้สหภาพยุโรปยุติการกระทำดังกล่าวทันที และขอให้ทุกคนไม่ว่าคุณจะอยู่มุมใดของโลกร่วมสนับสนุนการรณรงค์ของเรา โดยไปที่ https://action.msf.org/en_CH และร่วมกันส่งข้อความถึงนายคาเรล เดอ กุช (Karel De Gucht) ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของยุโรปให้หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที” ................. สาระในจดหมายที่มีถึงนายคาเรล เดอ กุช (Karel De Gucht) ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของยุโรป ผู้ป่วยหลายล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพิงยาชื่อสามัญราคาถูกเพื่อต่อชีวิตพวกเขาให้คงอยู่ มากกว่าร้อย 80 ของยารักษาโรคที่องค์การหมอไร้พรมแดนใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาผลิตในอิเดีย แต่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพยายามที่จะทำลายแหล่งผลิตยาชื่อสามัญเหล่านี้ ด้วยการโจมตีที่การผลิต, การขึ้นทะเบียน, การส่งออกยาชื่อสามัญ ทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ยาต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง ช่วยพวกเราส่งข้อความไปที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้ให้หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที ............ หยุดแย่งยาจากพวกเราซะที เรียน ฯพณฯ คาเรล เดอ กุช (Karel De Gucht) ประธานคณะกรรมาธิการการค้า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังผลักดันนโยบายและความตกลงที่จะกีดกันประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าถึงยาชื่อสามัญราคาถูก ถ้าท่านยังดำเนินนโยบายและการกระทำเยี่ยงนี้ต่อไป ประชาชนที่ต้องพึ่งพิงยาเหล่านี้คงต้องอยู่อย่างสิ้นหวัง และจำนวนมากคงต้องเสียชีวิต ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้ท่านดำเนินการดังต่อไปนี้ • หยุดผลักดันเนื้อหาในความตกลงการค้าเสรีที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตยาชื่อสามัญราคาถูก • หยุดกักยาชื่อสามัญที่จะขนส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาและมาเปลี่ยนผ่านที่ท่าต่างๆของยุโรป ด้วยการแก้ไขกฎระเบียบศุลกากรของสหภาพยุโรปเสีย • หยุดผลักดันการจำกัดการผลิตและกระจายยาชื่อสามัญผ่านนโยบายต่อต้านสินค้าปลอมแปลง เช่น ACTA ซึ่งเป็นการเจรจาลับๆเกี่ยวกับสินค้าปลอมแปลง เพื่อผู้ป่วยทั่วโลกที่จำเป็นต้องใช้ยาช่วยชีวิตราคาถูกอย่างยิ่ง, เราขอเรียกร้องให้ท่านปรับเปลี่ยนจุดยืนและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชาชน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
นักข่าวพลเมือง: สนั่น-สนธิ เจอนักศึกษาแต่งผีประท้วง “จะปรองดอง ถามผีรึยัง?” Posted: 11 Oct 2010 12:48 PM PDT สนั่น-สนธิ พูดเรื่องปรองดอง-นิรโทษกรรม ที่ ม.รามฯ เจอนักศึกษาแต่งหน้าผีประท้วง ขี้ไร้ความชอบธรรมจะมาปฏิรูปหรือเรียกร้องการนิรโทษกรรม จวกจะปรองดองแต่ยังไม่สามารถหาคนผิดกรณี 91 ศพ มาลงโทษได้ ถือเป็นเรื่องน่าละอายใจ วานนี้ (11 ตุลาคม 53) เวลา 12.30 น.คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับองค์การนักศึกษารามคำแหง ซึ่งบริหารงานโดย พรรคตะวันใหม่ จัดอภิปรายเรื่อง “แผนปรองดองหรือการนิรโทษกรรมความเหมือนที่แตกต่างในการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย” ณ ห้องประชุมศิลปาชีพ ชั้น 4 อาคารคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก โดยวิทยากร ได้แก่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่าที่หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคเพื่อไทย งานอภิปรายเริ่มต้นด้วยการกล่าวรายงานการจัดการอภิปราย โดยนายตนัย หนูชู นายกองค์การนักศึกษาฯ จากนั้น รศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอภิปรายและกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ และเมื่อเวลา 13.30 น. การอภิปรายจึงเริ่มขึ้นโดย นายพัชระ สารพิมพา ผู้ดำเนินรายการ ได้เปิดให้ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เริ่มการอภิปรายเป็นท่านแรก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่เริ่มการอภิปรายได้มีนักศึกษาจากกลุ่มรามประกายไฟ ราว 5 คนได้แต่งหน้าเป็นคนตาย และแต่ละคนได้มีแผ่นข้อความติดไว้ที่หน้าอก เช่น “เสียดายคนตายไม่ได้ปรองดอง” “ผมเป็นทหารอาชีพนะครับ ไม่เล่นการเมือง” “ปรองดอง…ปองร้าย” “จะปรองดอง ถามผีรึยัง?” เข้ามาประท้วงในห้องที่ติดกับห้องเสวนาซึ่งเตรียมไว้ให้ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาได้นั่งฟัง ซึ่งห้องดังกล่าวมีทางเดินเชื่อมต่อกับห้องเสวนา และมีหน้าต่างกระจกสามารถมองทะลุถึงกันได้ ทำให้ฝ่ายผู้จัดงานต้องรีบกันตัวกลุ่มนักศึกษาออกไปจากห้องประชุม แล้วปิดม่านที่กั้นระหว่างสองห้องทันที ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่และกลุ่มนักศึกษาจากองค์การนักศึกษาฯ ได้เข้ามาพยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ขอให้กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมเห็นแก่ชื่อเสียงคณะ และมหาวิทยาลัย ขณะที่ผู้เข้าร่วมการอภิปรายบางส่วนปรบมือให้กับกลุ่มนักศึกษา และเมื่อสื่อมวลชนบางส่วนที่เห็นเหตุการณ์ได้ถ่ายภาพบันทึกไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งต้องรูดม่านปิดหน้าต่าง เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม หลังจากทางเจ้าหน้าที่ได้ขอร้องให้ออกไปจากงานอภิปราย ทางกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมก็ปฏิบัติตาม โดยระหว่างเดินออกจากห้องกลุ่มนักศึกษาได้มีการแจกจดหมายเปิดผนึกให้กับสื่อมวลชนบางส่วน แต่ก็ถูกขัดขวางโดยกลุ่มองค์การนักศึกษาบางคนที่เดินตามออกไปด้วย “เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเครื่องยืนยันว่าการปรองดองหรือการปฏิรูปนั้นไม่ใช่ทางออกของสังคมไทยและไม่ได้เปิดโอกาสให้กับคนที่คิดต่าง รวมทั้งมีการกีดกันการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งที่ในอดีตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษาสูง” ตัวแทนนักศึกษากล่าวกับผู้สื่อข่าว ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวของกลุ่มนักศึกษามีใจความดังนี้ จดหมายเปิดผนึกถึง สนธิ บุญรัตกลิน และสนั่น ขจรประศาสน์ ในขณะที่ปัจจุบันเกิดกระแสการปรองดอง และการนิรโทษกรรมขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถ หาผู้กระทำความผิดกรณีคนตาย 91 ศพ มาลงโทษหรือแสดงความรับผิดชอบได้ ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องน่าละอายใจเป็นอย่างมากต่อผู้ที่ออกมานำกระแสการปฏิรูปหรือปรองดองหรือ นิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมหรือการปรองดองจะเกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชน รับรู้ความจริงและรัฐบาลผู้ก่อการเข่นฆ่าประชาชนลาออกหรือยุบสภาเพื่อรับผิดชอบต่อ กรณีดังกล่าว และประชาชนควรจะเป็นผู้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมด้วยตัวของประชาชน เอง ไม่ใช่นักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ นักการเมืองที่เคยกระทำการรัฐประหารยึดอำนาจ จากประชาชนดังเช่นปัจจุบันนี้ ดังนั้น ทั้งสนธิ บุญยรัตกลิน และ สนั่น ขจรประศาสน์ จึงไม่มีความเหมาะสมหรือมีความชอบธรรม ในการเข้ามาทำการปฏิรูปหรือเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม กลุ่มรามประกายไฟ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ไฟไหม้คลังแสงทัพพม่าในรัฐฉาน ยังไม่ทราบสาเหตุ Posted: 11 Oct 2010 12:31 PM PDT เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังเก็บอาวุธสำคัญทัพพม่าในรัฐฉานตะวันออก ยังผลให้อาคารและสรรพาวุธต่างๆ ระเบิดเสียหายวอด
"คนเครือไท" ซึ่งเป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ (สำนักข่าวฉาน) รายงานว่า มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 7.00 น. ของวานนี้ (10 ต.ค.) ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า ในเมืองสาด อยู่ในรัฐฉานภาคตะวันออก ตรงข้ามชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้อาคาร 2 หลัง ที่ใช้เป็นที่กักเก็บอาวุธถูกเพลิงไหม้และเกิดระเบิดเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ คลังเก็บอาวุธดังกล่าวทราบว่า เป็นของกองสรรพาวุธที่ 642 ใต้สังกัดบก.ควบคุมยุทธการที่ 14 ประจำเมืองสาด ซึ่งใช้เป็นที่กักเก็บอาวุธหลากหลายชนิดจำนวนมาก อีกทั้งเป็นที่ซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใต้อาคารยังมีห้องเก็บอาวุธใต้ดินรวมอยู่ด้วย โดยคลังแสงนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือแม่น้ำสอน และพื้นที่โดยรอบเป็นที่ตั้งกองพันต่างๆ ทั้งกองพันยานเกราะและกองพันปืนใหญ่ แหล่งข่าวชาวบ้านในพื้นที่เผยว่า เห็นเปลวเพลิงลุกไม้และได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว กว่าเพลิงจะสงบกินเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งสาเหตุนั้นเชื่อว่า อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือ เกิดจากการเสื่อมสมรรถนะของลูกระเบิด หรือไม่ก็อาจเกิดจากการโจมตีของกองกำลังว้า UWSA หรือ กองกำลังไทใหญ่ SSA ขณะที่แหล่งข่าวชาวบ้านอีกฝ่ายเชื่อว่า เหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือไม่ก็เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ภายในของพม่าเอง ซึ่งไม่น่าจะเกิดจากฝีมือของกองกำลังกลุ่มต่อต้าน เนื่องจากสถานที่ตั้งคลังแสงอยู่ในความดูแลของกองทัพพม่าอย่างเข้มงวด ซึ่งมีกองพันต่างๆ ตั้งอยู่โดยรอบ ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า เหตุคลังแสงระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก พล.จ.ตานทุนอู แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม (บก.เชียงตุง) มาเยือนเมืองสาด และเพิ่งเดินทางกลับออกไปยังเมืองโต๋นได้ไม่นาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ขณะที่แหล่งข่าวชาวบ้านลาหู่คนหนึ่งเผยว่า มีทหารเสียชีวิตจากเหตุนี้ 3 นาย เป็นทหารยศนายสิบ 1 นาย ส่วนอีกสองนายเป็นพลทหาร
.................................................................. ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
รำลึกครบรอบ 6 เดือน เหตุสลายการชุมนุม 10 เมษา ที่เชียงใหม่ Posted: 11 Oct 2010 11:23 AM PDT กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ กิจกรรมเดินขบวนผูกผ้าแดง ในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 รำลึก ครบรอบหกเดือน เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงวันที่ 10 เมษา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2553 เวลา 15.30-17.30 น. กลุ่มคนเสื้อแดงไร้สังกัด กลุ่มเชียงใหม่เลี้ยวซ้าย กลุ่มเชียงใหม่ ฉึก... ฉึก และนปช.แดงเชียงใหม่ ประมาณ 20 คน ร่วมกันจัดในวันอาทิตย์สีแดง ที่บริเวณลาน Think park ถนนนิมมานเหมินท์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมสังเกตการณ์ และดูแลความปลอดภัยนับ 10 นาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร่วมกิจกรรมได้ผูกผ้าสีแดงผืนยาวไว้ที่ข้อมือเรียงต่อกัน แล้วตั้งแถวเดินขบวนลงมาบนถนนนิมมานเหมินท์ และไปทำกิจกรรมนำผ้าสีแดงไปผูกตามเสาของป้ายถนนนิมมานเหมินท์ จากนั้นได้เดินขบวนกลับมาผูกผ้าสีแดงที่ป้ายแยกรินคำ ต่อด้วยการอ่านบทกวีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 แล้วจึงแยกย้ายกันไปอย่างสงบ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่งตัวหลากหลายแบบ โดยบางคนใส่หน้ากากอินทรีแดง และบางคนใส่หน้ากากเป็นผีเพื่อรำลึกถึงคนตาย ขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น.วันเดียวกัน ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่ ที่กลุ่ม นปช.เชียงใหม่เคยจัดกิจกรรมบนถนนคนเดินทุกอาทิตย์ แต่ปรากฏว่าในวันนี้มีกลุ่มสมาชิกคนเสื้อแดงมาร่วมกิจกรรมเพียง 50 คน จึงมีการเปิดเพลงปลุกใจของกลุ่ม นปช.และมีการเต้นแอโรบิคแทน และจากนั้นได้นำผ้าแดงผูกตามต้นไม้ และมีการฉายวิดีโอเหตุการณ์ที่มีการชุมนุมที่ผ่านมา ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ มาคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหว อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า การทำกิจกรรมครั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 มาร่วมแต่อย่างใด สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วอลเดน เบลโล: ผลลัพธ์ทางการเมืองของการชะงักงันทางเศรษฐกิจ Posted: 11 Oct 2010 11:15 AM PDT วิเคราะห์ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของโอบามากับระบบ "ฟาสซิสต์" ที่อาจไม่ไกลเกินจริง ต้องขออภัยต่อที เอส อีเลียต (T.S. Eliot) เป็นการส่วนตัว แต่เดือนกันยายนต่างหากคือเดือนที่โหดร้ายที่สุดไม่ใช่เมษายน (บรรทัดแรกของกวีนิพนธ์ The Waste Land ที่โด่งดังของอีเลียต: ผู้แปล) ก่อนหน้าเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เคยมี 11 กันยายน 1973 ที่นายพลปิโนเชต์โค่นล้มรัฐบาลอัลเลนเดและเริ่มต้น 17 ปีแห่งการปกครองของความกลัว ใกล้เข้ามา ในวันที่ 15 กันยายน 2008 เลห์แมนบราเธอร์ล้มละลายและส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนให้วิกฤตการเงินกลายเป็นประสบการณ์เฉียดตายสำหรับระบบการเงินโลก สองปีให้หลัง เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางมาก สัญญาณของการฟื้นตัวที่ผู้กำหนดนโยบายที่สิ้นหวังเคยกล่าวอ้างว่าได้สังเกตเห็นในปลายปี 2009 และต้นปีนี้กลับกลายเป็นเพียงภาพลวงตา ในยุโรป ประชาชนกว่าสี่ล้านคนตกงานและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่บังคับใช้กับประเทศที่มีหนี้ท่วมท้นอย่างกรีซ สเปน อิตาลีและไอร์แลนด์มีแต่จะเพิ่มจำนวนคนว่างงานขึ้นอีกหลายแสน ทั้งนี้ เยอรมนีอาจรอดพ้นจากสภาพที่หดหู่นี้ ในเชิงเทคนิค ถึงแม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอยก็ตาม แต่การฟื้นตัวก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลสำหรับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่หดตัวไปแล้วกว่า 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009 ตัวเลขนี้ถือเป็นการบ่งบอกถึงสภาพที่อ่อนเปลี้ยของไตรมาสที่สองที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพี 1.6 เปอร์เซ็นต์และอัตราการว่างงานที่แท้จริงสูงกว่าอัตราทางการ 9.6 เปอร์เซ็นต์ถ้าหากเราคิดรวมถึงกลุ่มที่เลิกล้มที่จะหางานไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจยังคงปฏิเสธที่จะลงทุน ธนาคารยังคงไม่ปล่อยเงินกู้ยืม ขณะที่ผู้บริโภคก็ยังปฏิเสธที่จะใช้จ่าย ถ้าหากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ยังไม่มีออกมา แน่นอนว่าเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงที่หวาดกลัวกันนักหนาจะกลายเป็นความจริงเมื่อผลกระทบของการอัดฉีดเงินโดยรัฐบาลกลางกว่า 787 พันล้านเหรียญในระบบเศรษฐกิจค่อยๆ หมดลง ที่ผู้บริโภคอเมริกันไม่ยอมใช้จ่ายนั้นก็มีผลสะเทือนไปยังระบบเศรษฐกิจโลกด้วย ไม่ใช่เพียงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เท่านั้น การใช้จ่ายเงินของชาวอเมริกันที่มาจากการกู้ยืมนั้นเคยเป็นแรงขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ก่อนหน้าวิกฤตและเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นก็ไม่มีการใช้จ่ายจากแหล่งอื่นมาแทนที่ สำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนซึ่งได้รับการอัดฉีดจากแผนกระตุ้นของรัฐบาลกว่า 585 พันล้านเหรียญนั้นมีผลชะลอแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวได้เป็นการชั่วคราวทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ มันยังส่งผลกระทบบางส่วนไปยังแอฟริกาและอเมริกาใต้ด้วย อย่างไรก็ตาม มันไม่มากพอที่จะดึงสหรัฐอเมริกาและยุโรปจากความชะงักงันทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนแล้ว โอกาสที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวลงไปสู่การเติบโตในอัตราที่ต่ำ การชะลอตัวลงหรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจถดถอยก็อาจจะเป็นจริงขึ้นมาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก จะตัดหรือจะกระตุ้น ตามความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐ พวกที่ต่อต้านงบประมาณแบบขาดดุลดูจะไม่มีข้อโต้แย้งมากนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภาวะเงินฝืดเป็นความเสี่ยงที่กำลังน่าวิตก ความกลัวว่าการใช้จ่ายของรัฐจะเติมเชื้อไฟให้กับเงินเฟ้อดูจะผิดที่ผิดทาง นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับคนรุ่นต่อไปนั้นก็ออกจะไม่เข้าที เพราะวิธีการที่ดีที่สุดที่เราจะทำให้กับพลเมืองในอนาคตได้ก็คือสร้างหลักประกันให้พวกเขาได้รับส่งต่อระบบเศรษฐกิจที่เติบโตและมีสุขภาพดี การใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลในขณะนี้จึงเป็นวิธีที่จะไปสู่การเติบโตแบบที่ว่า ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่สามารถชำระหนี้ของรัฐไม่ใช่ความเสี่ยงที่แท้จริงสำหรับประเทศที่กู้ยืมในสกุลเงินที่ตนสามารถควบคุมได้ อย่างเช่นสหรัฐฯ เพราะถึงที่สุดแล้ว สหรัฐฯ สามารถจ่ายหนี้คืนโดยการสั่งให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเท่านั้น ผู้ที่สนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเสียงดังที่สุด น่าจะเป็นพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์โนเบลที่กลายเป็นแกะดำในกลุ่มอนุรักษ์นิยม สำหรับครุกแมน ปัญหาก็คือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ยังใหญ่ไม่พอตั้งแต่ต้น แต่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เขาต้องการควรจะเป็นเท่าใด? หรือมาตรการอื่นๆ แบบไหนที่รัฐบาลสามารถทำได้? ครุกแมนเองแสดงท่าทีอึกอักต่อคำถามเหล่านี้ บางทีอาจเป็นเพราะเขาตระหนักได้ว่าแนวคิดเคนส์เซียนแบบดั้งเดิมนั้นมีข้อจำกัดของมันอยู่ นั่นคือ “ไม่มีใครรู้ว่ามาตรการเหล่านี้ทำงานได้ดีเพียงใด เหตุผลเท่าที่มีก็คือ ก็ยังดีกว่าที่จะได้ลองใช้มาตรการบางอย่างแม้มันจะไม่ได้ผล แทนที่จะมัวแต่หาข้อแก้ตัวและปล่อยให้แรงงานประสบกับความลำบาก” ครุกแมนกล่าวว่า นอกจากการใช้จ่ายแบบขาดดุลเพิ่มขึ้นแล้ว ทางเลือกที่มีก็คือ “การชะงักงันแบบถาวรและการว่างงานระดับสูง” ครุกแมนอาจจะมีเหตุผลที่ดี แต่เหตุผลมักสำคัญน้อยกว่าอุดมการณ์ ผลประโยชน์และการเมือง กล่าวคือ ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับสูง แต่พลังที่ต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่และงบประมาณแบบขาดดุลนั้นก็กำลังมีบทบาทในสามประเทศตะวันตกที่สำคัญ นั่นคือ ในอังกฤษ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประสบความสำเร็จในการลดบทบาทของรัฐบาล ในเยอรมนี ภาพของประชาชนกรีกและสเปนที่ฟุ่มเฟือยกำลังใช้จ่ายเงินกู้ยืมจากชาวเยอรมันที่ทำงานหนักนั้นกลายเป็นสิ่งที่ส่งให้พรรคของนางแมร์เกลขึ้นสู่อำนาจอย่างง่ายดาย และสุดท้าย ในสหรัฐอเมริกา ดังจะกล่าวต่อไป ความล้มเหลวของโอบามา แต่ถึงกระนั้น ชัยชนะของสายเหยี่ยวอาจไม่ได้ถูกกำหนดมาแล้ว อย่างที่อนาโตล คาเลตสกี (Anatole Kaletsky) นักวิจารณ์เศรษฐกิจของนิตยสารไทม์ของลอนดอน ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ไม่มีจุดยืนร่วมกับแนวความคิดก้าวหน้าเท่าใดนักได้กล่าวเอาไว้ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของกระแสต่อต้านงบประมาณแบบขาดดุลเกิดขึ้นจากความผิดพลาดด้านยุทธวิธีของโอบามา ควบคู่กับความล้มเหลวของฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่สามารถเสนอวาทกรรมเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่สามารถโน้มน้าวผู้คนได้ ความผิดพลาดด้านยุทธวิธีที่สำคัญของโอบามา คือการเข้ารับผิดชอบผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้โดยใช้หลักการร่วมสองพรรคในสภา (bipartisanship) ซึ่งตรงข้ามกับโรนัล เรแกนและมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ที่เคย “ปฏิเสธไม่ขอรับผิดชอบกับปัญหาเศรษฐกิจใดๆ” ทั้งเรแกนและแทตเชอร์ใช้เวลา “ในช่วงหลายปีแรกของการบริหารเพื่อทำให้ประชาชนเชื่อว่าวิบากกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายก่อนหน้านั้น สหภาพแรงงานที่มีบทบาท รวมทั้งชนชั้นนำสายเสรีนิยมก้าวหน้า” คาเลตสกียังกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าคือ “เรื่องเล่า” (เน้นโดยผู้แปล) แบบโอบามาที่มีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะขณะที่โอบามาพยายามกล่าวโทษผู้บริหารสถาบันการเงินว่าโลภมาก ขณะเดียวกันเขากลับดำเนินการราวกับสถาบันการเงินเหล่านี้ใหญ่เกินกว่าที่จะล้มได้ "เมื่อธนาคารเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตอย่างรวดเร็วและมีผลกำไรดีกว่าที่ประชาชนถูกทำให้เชื่อ" คาเลตสกีได้เสนอในหนังสือ Capitalism 4.0 ของเขาว่า “นักการเมืองจากทุกพรรคก็ถูกตีตราจากกระแสสังคมว่าเป็นเหมือนตัวตลกที่ถูกทำให้ดูน่าขันโดยเหล่านายธนาคารที่พวกเขาพยายามจะตำหนิ" แน่นอนว่าชุดของแผนการปฏิรูปทางการเงินของพรรคเดโมแครตที่เพิ่งผ่านสภาไปนั้นสามารถตอกย้ำความรับรู้สาธารณะที่ว่าคนเหล่านี้ถูกเหมารวมหรือถูกทำให้เสียขวัญโดยบรรดานายธนาคารที่พวกเขาประณาม ที่สำคัญ แผนปฏิรูปที่ว่านี้ ยังขาดข้อกำหนดที่มีประสิทธิภาพ: ข้อกำหนดแบบที่มีในกฎหมาย Glass-Steagall (เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาปี 1929 จุดประสงค์เพื่อป้องกันการเก็งกำไร: ผู้แปล) ที่ป้องกันธนาคารพาณิชย์ไม่ให้เล่นบทวาณิชธนกิจควบคู่ไปด้วย; ห้ามการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ซึ่งวอร์เรน บัฟเฟท (Warren Buffett) เรียกว่าเป็น "อาวุธทำลายล้างรุนแรง; "จัดเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศหรือ Tobin Tax (ภาษีที่เสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล James Tobin จุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อลดการผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและป้องกันการเก็งกำไรในระยะสั้น: ผู้แปล) และควบคุมการจ่ายผลตอบแทน โบนัสและแรงจูงใจอย่าง สต็อกออปชั่น (stock options) ให้กับผู้บริหาร คาเลตสกีเชื่อว่าโอบามาน่าจะวาดภาพวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ในลักษณะว่ามันถูกสร้างขึ้นโดย “ปรัชญาแบบเชื่อมั่นตลาดสุดโต่งที่สร้างความแตกแยกและถูกทำให้ดูง่ายเกินจริง แทนที่จะเป็นข้อบกพร่องส่วนตัวของนายทุนธนาคารและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน” ด้วยการนำเสนอคำอธิบายที่เป็นระบบของการเกิดวิกฤตแบบนี้ นักการเมืองก็จะสามารถยึดกุมจินตนาการสาธารณะด้วยเรื่องเล่าหลังวิกฤตแทนที่จะเป็นการตั้งศาลเตี้ยให้กับพวกนายทุนจอมโลภ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วน่าเร้าใจกว่า” แต่อาจเป็นเพราะผู้ใกล้ชิดอย่างเลขาฯ กระทรวงการคลัง ทิม เกทธ์เนอร์ (Tim Geithner) และผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ลาร์รี ซัมเมอรส์ (Larry Summers) ซึ่งทั้งคู่ต่างก็แยกตัวเองไม่ออกจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ เรื่องราวที่เป็นระบบแบบที่ว่ากลับไม่ปรากฏให้เห็น สู่ยุทธศาสตร์แบบก้าวหน้า แต่ฝ่ายก้าวหน้าก็ไม่ควรจะพึงพอใจต่อความสิ้นไร้ไม้ตอกของแนวคิดเศรษฐกิจแบบทีปาร์ตี้ พวกเขาควรพยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวของนโยบายเคนส์เซียนที่อ่อนแรงของโอบามา นอกเหนือจากความผิดพลาดเชิงยุทธวิธีที่เข้ารับผิดชอบวิกฤตและความล้มเหลวที่ไม่สามารถเสนอวาทกรรมต้านเสรีนิยมใหม่ที่มีพลังในการอธิบายวิกฤตแล้ว ปัญหาหลักของโอบามาและทีมงานของเขาก็คือความล้มเหลวที่จะเสนอทางเลือกอื่นเพื่อแทนที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ จะว่าไปแล้ว องค์ประกอบของทางออกที่ก้าวหน้านั้นได้ถูกคัดทิ้งออกไปโดยนักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์เซียนและสายก้าวหน้าเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่, กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นสำหรับสถาบันการเงิน, นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน, ภาษีสูงสำหรับคนรวย, การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน, นโยบายอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว, การควบคุมเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไร, การควบคุมเงินลงทุนไหลกลับต่างประเทศ, การมีสกุลเงินของโลกและธนาคารกลางของโลก รัฐบาลภายใต้โอบามาได้พยายามที่จะใช้มาตรการเหล่านี้บางส่วน แต่เนื่องจากความกระตือรือร้นที่จะใช้หลักการร่วมสองพรรคในสภา, ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของบุคคลสำคัญในรัฐบาลกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและความล้มเหลวของบรรดาเทคโนแครตเช่น ซัมเมอรส์และเกทธ์เนอร์ที่ไม่สามารถข้ามพ้นกระบวนทัศน์ของเสรีนิยมใหม่ รัฐบาลนี้จึงล้มเหลวในการนำเสนอมาตรการเหล่านี้ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปทางสังคมที่มีขอบเขตกว้างขึ้นเพื่อทำให้การควบคุมและจัดการระบบเศรษฐกิจมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สำหรับฝ่ายก้าวหน้า บทเรียนที่น่าจะได้จากโอบามาโนมิคส์ (Obamanomics) ที่ไม่ทำงานก็คือ การจัดการแบบเทคโนแครตเท่านั้นยังไม่เพียงพอ นโยบายแบบเคนส์ต้องเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และแผนที่กว้างขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้ กลยุทธ์นี้จะต้องมีแรงผลักสำคัญ 3 ส่วนประกอบกัน คือ หนึ่ง การตัดสินใจที่มีความเป็นประชาธิปไตยในทุกระดับของเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับองค์กรจนถึงการวางแผนในระดับมหภาค, สอง ต้องมีความเสมอภาคมากขึ้นในการกระจายตัวของความมั่งคั่งและรายได้ เพื่อชดเชยอัตราการเติบโตที่ต่ำอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม และสาม การประสานร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลกับหลักปฏิบัติเรื่องการแข่งขัน ทั้งในด้านการผลิตการกระจายและการบริโภค นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวไม่สามารถถูกป้อนลงมาจากข้างบนโดยชนชั้นนำเทคโนแครตอย่างที่เคยเป็นมาภายใต้รัฐบาลนี้อีกต่อไป ความผิดพลาดใหญ่หลวงประการสำคัญที่ผ่านมาก็คือการปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เคยส่งให้โอบามาเข้าสู่อำนาจต้องหมดพลังลงไป ดังนั้น ต้องดึงให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ฝ่ายก้าวหน้าเองคงจะได้บทเรียนสำคัญจากขบวนการทีปาร์ตี้แล้วว่าพวกเขาต้องเข้าร่วมช่วงชิงพื้นที่กับทีปาร์ตี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเด็นเรื่องความอยู่รอดหรือปากท้องของคนอเมริกันในระดับรากหญ้า สุญญากาศดำรงอยู่ไม่ได้นานตามธรรมชาติ ความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายในการเติมเต็มที่ว่างนี้อย่างสร้างสรรค์ย่อมเป็นผลให้เกิดการฟื้นกำลังของฝ่ายขวาขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับความกังวลที่น้อยลงสำหรับการแทรกแซงจากรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายขวาที่แข็งแกร่งขึ้นนี้จะเป็นฝ่ายขวาที่สามารถผนวกเอาแนวทางแบบเคนส์เซียนของเหล่าเทคโนแครตเข้ากับแนวทางประชานิยมที่เป็นแนวปฏิกิริยาทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเรามีคำเรียกระบอบแบบนี้ว่า ฟาสซิสต์ และอย่างที่โรเจอร์ บูทล์ (Roger Bootle) ผู้เขียน The Trouble with Markets ได้เตือนพวกเราไว้ ชาวเยอรมันนับล้านได้ตาสว่างกับระบบตลาดเสรีและทุนนิยมในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ในทศวรรษ 1930s: ผู้แปล) แต่ความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายในการเสนอทางเลือกที่ทำได้ ทำให้ชาวเยอรมันตกเป็นเหยื่อของพรรคการเมืองที่เมื่อได้เข้าสู่อำนาจแล้ว กลับนำมาตรการแจกเงินแนวเคนส์เซียนที่สามารถลดอัตราว่างงานลงมายัง 3 เปอร์เซ็นต์เข้าผนวกกับข้อเสนอทางสังคมและวัฒนธรรมแบบต้านปฏิกิริยา (counterrevolutionary) ที่มีผลทำลายล้างอย่างเลวร้าย ฟาสซิสต์ในสหรัฐอเมริกาฯ? มันไม่ได้ไกลเกินจริงอย่างที่คุณเคยคิดหรอก สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
"ยูนิเซฟ" ร้อง รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหา "สื่อลามกเด็ก" Posted: 11 Oct 2010 10:43 AM PDT (11 ต.ค. 2553) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจับกุมและดําเนินคดีอย่างถึงที่สุดกับผู้ที่ผลิต แจกจ่าย หรือขายวิดีโอลามกเด็กหรือสื่อลามกอื่นๆ ที่แสวงประโยชน์จากเด็ก นายโทโมโอะ โฮซมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดําเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องนี้ หลังจากมีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้นําเสนอข่าวเกี่ยวกับการขายสื่อลามกเด็กในรูปแบบดีวีดีและวีซีดีอย่างโจ่งแจ้งบนถนนสุขมวิทซอย 3 ถึงสุขุมวิทซอย 21 “การขายสื่อลามกเด็กดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กอย่างร้ายแรงและเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น” นายโฮซูมิกล่าวและว่า “แม้ว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้ามากในการดําเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงประโยชน์ และการถูกทําร้าย แต่การไม่จัดการกับปัญหาสื่อลามกเด็กอย่างเร่งด่วนและจริงจังอาจเป็นการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศได้” นายโฮซูมิกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการหยุดยั้งการขายวิดีโอลามกซึ่งมีการนําเสนอภาพลามกเด็กจากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะสืบหาแหล่งผลิต เผยแพร่ และจัดจําหน่ายวิดีโอลามกเด็กด้วย เพื่อดําเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดกับบุคคลใดก็ตามที่ผลิต เผยแพร่ และขายวิดีโอและสื่อลามกเด็กอื่นๆ ที่เป็นการแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา การขายสื่อลามกถือเป็นความผิดอาญาที่ต้องโทษจําคุกสูงสุด 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ใบตองแห้งออนไลน์: ตอบ ‘ใจ อึ๊งภากรณ์’ ว่าด้วยสังคมนิยมและซ้ายเสื้อเหลือง Posted: 11 Oct 2010 09:31 AM PDT เรียน อาจารย์ใจ ขอบคุณที่อาจารย์ช่วยวิจารณ์ข้อเขียนของผม ซึ่งถือเป็นเกียรติ คำวิจารณ์ของอาจารย์ช่วยให้แยกแยะทำความเข้าใจเรื่องพันธมิตรกับความคิดสังคมนิยมได้ชัดเจนขึ้น ต้องเรียนว่าผมเป็นคอลัมนิสต์ ไม่ใคร่จะใช้ศัพท์วิชาการได้รัดกุมนัก สมัยอยู่ในขบวนการนักศึกษาหรืออยู่ป่า ผมก็เป็นพวกขี้เกียจอ่านตำรา ใช้แค่ครูพักลักจำ ผสมผสานกับการปฏิบัติ จะบอกว่าเป็นมาร์กซิสต์หรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ เพราะผมไม่เคยอ่าน Capitalism จบซักที ศึกษาวัตถุนิยมวิภาษ ก็กังขาอยู่ว่าทำไม้ เวลายกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณสู่คุณภาพ ตำราทุกเล่มก็ยกตัวอย่างเรื่องน้ำเดือดเหมือนกันหมด นี่พูดเฉพาะตำราลัทธิมาร์กซ์สายสตาลิน-เหมา สายอื่นยิ่งหูไม่กระดิก ทร็อตสกี้ผมก็เคยดูแต่ในหนัง ที่อเลน เดอลอง เอาขวานจามหัวริชาร์ด เบอร์ตัน (แถมยังมัวแต่ดูโรมี ชไนเดอร์ อีกต่างหาก) ในด้านชีวทัศน์หรือ ผมก็ค่อนไปทางซ้ายเสเพล ถูกวิจารณ์ว่าเสรี จนหัวเราะคิกคักกับเพื่อนๆ ว่าโชคดีนะที่ พคท.แพ้ ถ้าปฏิวัติสำเร็จเราคงโดนส่งไปอยู่เกาะตะรุเตาแหงๆ อาจารย์ชี้ได้ถูกต้องว่า “สังคมนิยม” ที่ผมพูดถึงคือเผด็จการสตาลิน-เหมา (เลนินโชคดีที่ตายก่อน เลยไม่ทันทำอะไรผิดพลาด) ถ้าจะว่าเหมารวมก็ขออภัย ที่ผมไม่ได้แยกแยะจากสังคมนิยมมาร์กซิสต์สายอื่น ตรงนี้อาจารย์ช่วยทำให้ชัดเจนขึ้น ขอจำกัดความใหม่ว่า “สังคมนิยม” ที่ผมพูดถึงคือแนวคิดสังคมนิยมที่เอาชนะโดยยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธและใช้เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพมาจัดระเบียบสังคม แบบรัสเซีย จีน หรือเวียดนาม (ซึ่งความจริงการที่ต้องยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธของประเทศเหล่านี้ก็มีเงื่อนไขของเขา เช่น จีนและเวียดนามเป็นสงครามประชาชาติ ต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านฝรั่งเศส เป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชไปพร้อมๆ กับปฏิวัติสังคมนิยม ส่วนรัสเซียก็มาจากความทารุณโหดร้ายของระบอบพระเจ้าซาร์ รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามโลก) สิ่งที่ผมนำเสนอคือ จากการพูดคุยกับเพื่อนพ้อง “ซ้ายเสื้อเหลือง” ผมพบว่าพวกเขายังไม่ตื่นจากแนวคิด “ปฏิวัติสังคมนิยม” เพียงแต่เปลี่ยนอุดมการณ์จากสังคมนิยมแบบจีนรัสเซียที่พังทลายไปแล้ว มาเป็น “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ชุมชนนิยม ชาตินิยม เกลียดทุนนิยม ต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ กลายเป็นหัวเอียงซ้ายท้ายเอียงขวา เอาสองอย่างนี้มาผสมกัน กระทั่งสนับสนุนรัฐประหารและเผด็จการแฝงของขั้วอำนาจจารีตนิยม โดยเชื่อว่าจะจัดระเบียบให้เกิดการปฏิรูปสังคมในระดับหนึ่ง และยับยั้งการกลืนกินของทุนโลกาภิวัตน์ได้ระยะหนึ่ง ผมเคยบอกเพื่อนพ้องเหล่านี้ว่า ผมขอกลับไปอยู่ในยุคแสวงหา เป็นคนยุคซิกซ์ตี้เสียยังดีกว่า เพราะหลังจากทิ้งความคิด “ยึดอำนาจรัฐ” แล้วผมก็กลับไปที่จุดตั้งต้น คืออยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ซึ่งผมอาจใช้คำว่าประชาธิปไตยทุนนิยม หรือเสรีประชาธิปไตย จะถูกไหมก็ไม่ทราบ แต่ต้องการเน้นว่านี่คือ “ทุนนิยม” ถ้าจะให้ดีก็คือ พรรคการเมืองในแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง หรือชนะแล้วก็กลับมาแพ้ (เช่นในสวีเดน ในอิตาลี) ไม่เห็นเป็นไร หรืออาจจะเป็นแบบบราซิล แบบปารากวัย และหลายประเทศในอเมริกาใต้ ที่ขบวนการประชาสังคมก่อตั้งพรรคการเมืองกระทั่งชนะเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พวก “ซ้ายเสื้อเหลือง” แตกต่างจากผมก็คือ พวกเขาไม่เชื่อในประชาธิปไตย “แบบตะวันตก” อีกแล้ว พวกเขากลับคิดว่าประชาธิปไตยตะวันตกมีแต่จะทำให้คนยากคนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกวาดเข้าไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งในด้านหนึ่ง-ถ้ามองแต่ด้านที่เลวร้าย ก็ถูก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่พวกเขาหันไปสนับสนุนให้รัฐจารีตนิยมเข้มแข็งใหญ่โต มันก็ไม่ใช่ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” เหมือนกัน พวก “ซ้ายเสื้อเหลือง” ยังมองด้วยซ้ำไปว่าประชาธิปไตยเป็นแค่ข้ออ้างของทุนนิยมโลก อย่างเช่น คุณสุรพงษ์ ชัยนาม ผู้เขียนหนังสือ “มาร์กซ์และสังคมนิยม” (หนังสือต้องห้ามหลัง 6 ตุลา) ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขียนเรื่องพม่าไว้ว่า “...อย่าหลงทาง ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มีในอนาคต สหรัฐอเมริกาเอง อังกฤษเองทุกวันนี้ หรือฝรั่งเศสเองก็มีหลายด้านที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย” “...ประเทศตะวันตกไม่ต้องการได้รับผลกระทบแบบลัทธิคอมมิวนิสต์มาท้าทายทุนนิยม มีระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาท้าทายประชาธิปไตยเสรีนิยม วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีอะไรขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่าทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม ต้องมี “Hegemonic Power” (อำนาจนำ) อยู่ได้นานที่สุด ให้มันมีประชาธิปไตยเสรีนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมเป็น “Washington Consensus” (ฉันทามติวอชิงตัน) หมด นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องอยู่ในกรอบนี้ และวิธีการอันหนึ่งที่ดีที่สุดคือส่งเสริมให้ทุกประเทศมีการเลือกตั้ง ให้มันเนียนก็แล้วกัน แล้วรัฐบาลนั้นยึด “Washington Consensus”…….. จะเห็นได้ว่าพวกเขาก็ต่อต้าน “ทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ด้วยเช่นกัน พวกเขาจึงประณามเผด็จการทหารพม่า แต่ร่วมมือสนับสนุนเผด็จการแฝงในประเทศไทย ตรงนี้อาจารย์พูดได้ตรงกว่าผมว่าผมควรจะไปศึกษา “ขบวนการฟาสซิสต์ทั่วโลก เพราะฟาสซิสต์ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรฯ จะพยายามใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายปนกับความคิดฝ่ายขวา เพื่อดึงคนชั้นกลางที่รู้สึกไม่พอใจกับอำนาจรัฐหรือนายทุนใหญ่เข้ามาเป็นพวก” นี่แหละใช่เลย แนวคิดของอดีตฝ่ายซ้ายในพันธมิตร เพียงแตกต่างจากขบวนการฟาสซิสต์อื่นๆ ตรงที่พวกเขามาจากฝ่ายซ้ายที่เคยถูกปราบโดยอำนาจฟาสซิสต์ (แล้วตอนนี้ก็มายุให้ฟาสซิสต์ “อุ้ม” สมบัติ บุญงามอนงค์) ส่วนที่ว่าอดีตฝ่ายซ้ายในพันธมิตรชื่นชมเผด็จการจีน ในภาพรวมของพันธมิตรอาจไม่ชัดเจนนัก แต่สื่อและนักวิชาการบางส่วนที่สนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ ชูภาพจีนเป็น idol โดยเฉพาะในช่วงงานเอ็กซ์โป ว่าเห็นไหมจีนปราบการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน แล้วนำประเทศมาเจริญรุ่งเรืองได้ขนาดนี้ (สุทธิชัย หยุ่น เขียนให้คนเปรียบเทียบจีนกับอินเดีย ว่าใครพัฒนาไปได้เร็วกว่ากัน) ความคิดของ “ซ้ายเสื้อเหลือง” ที่ผมพบเห็นอีกอย่างคือ พวกเขาไม่เชื่อว่าจะสถาปนาสังคมประชาธิปไตยที่เป็นระบบได้ ซึ่งน่าจะมาจากความคิดอนาธิปไตยแบบ “นักปฏิวัติ” ผู้เคยพ่ายแพ้ พวกเขาเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่การใช้อำนาจ อยู่ที่การสร้าง Power เช่นที่นำ Power ของพันธมิตรไปช่วยเหลือชาวมาบตาพุด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการพัฒนาทุนนิยม พวกเขามักยกโจทย์แบบนี้มาตอบโต้ว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะช่วยชาวบ้านได้ไหม กว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่ชุมชนมีอำนาจตัดสินใจ ชาวบ้านโดนมลพิษตายหมดก่อน เดินทางลัดดีกว่า พวกเขาไม่ถกกับผมว่า การลงโทษทักษิณ การยุบพรรคไทยรักไทย ฯลฯ เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่เชื่อหลักนิติรัฐอยู่แล้ว (ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น-ยังคิดกันแบบนี้อยู่) พวกเขาจึงไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ชูมือรับทั้งที่บอกว่าขัดหลักการประชาธิปไตย พวกเขาเชื่อในอำนาจ ใครมีอำนาจก็ทำเพื่อฝ่ายตัวเอง ไม่เห็นแปลกตรงไหน และแทนที่จะทำให้อำนาจนั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงตามหลักการประชาธิปไตย พวกเขากลับเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ และกลับไปโหนอำนาจหรือต่อรองอำนาจใช้อำนาจนั้นให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าเรื่องมาบตาพุด หรือตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เอางบประมาณเข้าเครือข่ายลัทธิประเวศ (เพื่อไปทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามความคิดของเขา) ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมวิพากษ์ซากเดนความคิด “ปฏิวัติสังคมนิยม” (แบบสตาลิน-เหมา) ที่ตกค้างอยู่ในฝ่ายซ้ายเสื้อเหลือง โดยผสมพันธ์กับความคิดชุมชนนิยม เศรษฐกิจชาตินิยม (ปกป้องสมบัติชาติ ให้ 3-G เป็นของคนไทย) ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งผมเรียกง่ายๆ ว่า “ลัทธิประเวศ” โดยมี idol เช่น พี่พิภพ ธงไชย, รสนา โตสิตระกูล, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ อ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ นักวิชาการแรงงานตลอดชีพ ที่จริงการวิพากษ์อย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์เจาะลึก ผู้เขียนควรจะมีความรู้ทางวิชาการ แต่บังเอิ๊ญไม่ค่อยมีใครเขียน ผมเลยต้องเขียนในฐานะคนเดือนตุลาหางแถว คืออยู่ในเมืองก็เป็นพวกปิดโปสเตอร์ อยู่ในป่าก็เป็นพลทหาร ดัดแปลงตัวเองแทบตายได้เป็นแค่ ย.ไม่ได้เป็น ส. เป็น ทปท.ก็ไม่ใช่นักรบผู้กล้า ลูกตาขาวมากกว่าลูกตาดำ (แถมเคยทำระเบิดลั่นคามือ ดีไม่มีใครตายแบบแฟลตบางบัวทอง) กลับออกมาก็อิเหละเขละขละ จับพลัดจับพลูไปทำหนังสือพิมพ์ แล้วก็ถูกถีบออกมาอยู่ในสมรภูมิด้วยความจำใจ เนื่องจากมีอาชีพเขียนหนังสือแล้วกลืนหลักการที่ตัวเองยึดถือไม่ได้ ลงรูปชามก๋วยเตี๋ยวประชดสื่อเชียร์รัฐประหาร ว่าถ้าสื่อเป็นแบบนี้ไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า ทั้งที่ความจริงผมก็เป็นแค่คนชั้นกลางแถวล่างธรรมดาๆ ที่ไม่พอเพียง พกบัตรเอ็มการ์ดยันเอ็มแคและบาร์บีคิวพลาซ่า พาลูกกินฟาสต์ฟู้ดตามห้างต่างชาติ ทุกวันที่ 1 และ 16 ก็ซื้อหวย สมัยก่อนก็เล่นพนันบอล ครึ่งลูก ครึ่งควบลูก แปะปั่ว ไม่เคยอุทิศตัวเองเพื่อชาวบ้านแบบ NGO ไม่เคยอุทิศตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ขอแค่เป็นประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ ด่าคนนั้นด่าคนนี้สนุกดี แต่เกลียดที่สุดจนอดรนทนไม่ได้คือพวกที่ยกตนเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้วจะมากำหนดสังคมจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่น (แถมห้ามวิพากษ์วิจารณ์อีกต่างหาก) ผมกำลังจะบอกว่าผมเป็นเสรีนิยมน่ะครับ และผมคิดว่าในขั้นตอนนี้ของสังคมไทยคือการต่อสู้ระหว่างความคิดเสรีนิยมกับความคิดจารีตนิยม ระหว่างความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการแฝงหรือประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีการชี้นำ บวกกับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของคนชั้นล่างคนชนบทที่ต้องการมีส่วนในอำนาจการเมืองการปกครอง เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของเขาเอง ในการต่อสู้นี้มันมีเนื้อหาสังคมนิยมอยู่บ้าง เช่นรัฐสวัสดิการ แต่ประชาธิปไตยตะวันตก ก็มีรัฐสวัสดิการ จากการผลักดันของพรรคการเมืองสังคมนิยมหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยนั่นแหละ อเมริกาก็เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า โอบามากำลังจะทำ Health Care ซึ่งมีส่วนคล้าย 30 บาท ประชาธิปไตยยุโรป ไม่ว่าพรรคฝ่ายขวาแค่ไหนก็ยังต้องมีรัฐสวัสดิการ มีกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันการผูกขาด ผมจึงคิดว่า “เสรีนิยม” มันไม่ใช่เนื้อหาในความหมายเดิม ที่มีแค่มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่นเดียวกับที่อาจารย์บอกว่า “สังคมนิยม” ไม่ใช่เนื้อหาในความหมายเดิม (ผมอาจไม่แม่นเรื่องศัพท์แต่อธิบายตามความเข้าใจ) ข้อสำคัญคือถ้าจะตีความคิดของพวกซ้ายพันธมิตรให้ตก ก็ต้องโต้ในส่วนที่เขาประณาม “ทุนนิยมเสรี” “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เพราะอุดมการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยในทัศนะผม ต้องไปสู่ประชาธิปไตยทุนนิยมแบบยุโรป ที่มีรัฐสวัสดิการ มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และมีกลไกถ่วงดุลการผูกขาด หรือพูดอีกอย่างคือ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราต้องการรัฐบาลที่มีความสามารถบริหารเศรษฐกิจทุนนิยมโดยสามารถปรับตัวให้ทันกับโลกาภิวัตน์ พร้อมกับสนองความต้องการของคนชนบทคนชั้นล่างที่เลือกตั้งพวกเขาเข้ามา แบบรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง มีกลไกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (ที่ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์) คอยสกัดกั้นถ่วงดุลปกป้องสิทธิประชาชน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไป เป้าหมายในเชิงอุดมการณ์จึงไม่ใช่ไปสู่ “สังคมนิยม” แม้อาจจะมีเนื้อหาสังคมนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นหลักของการเคลื่อนไหว เช่นข้อเรียกร้องของเสื้อแดงเชียงใหม่ ยังไม่ใช่ประเด็นหลักของเสื้อแดงทั้งขบวน (ตรงนี้ผมอาจแกล้งหลับตา เพราะผมเน้นให้เห็นว่าเนื้อหาพวกนี้ไปอยู่ที่ฝ่ายเสื้อเหลือง เช่น ปฏิรูปประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำ ออก พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยในรัฐบาลมือเปื้อนเลือด) ในการต่อสู้อาจมีลักษณะชนชั้น แต่ผมคิดว่าคำว่า “ไพร่” ของคนเสื้อแดง มีความหมายในเชิงความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยมากกว่าลักษณะทางชนชั้นแบบมาร์กซิสม์ สิ่งที่มวลชนเสื้อแดงพูดได้จับใจคือเขาไม่ได้เป็นขอทาน ไม่ได้ต้องการความอนุเคราะห์ แต่ต้องการมีอำนาจจัดการเองอย่างที่รัฐบาลทักษิณทำให้เขาตื่นขึ้นมา อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดว่าเราขัดแย้งกัน เพราะสิ่งที่ผมเขียนคือผมต้องการขีดเส้นให้ชัดว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ต้องการนำไปสู่สังคมนิยมมาร์กซิสม์ (แบบสตาลิน-เหมา) แต่เราต้องการไปสู่เป้าหมายร่วมอันดับแรกของคนทุกชนชั้น (ยกเว้นรัฐจารีตนิยม) คือความเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค หลังจากนั้นจะเป็นพรรคการเมืองไหนสลับกันชนะเลือกตั้ง เป็นคอนเซอร์เวทีฟ เป็นลิเบอรัล เป็นพรรคใหม่ต้านทุนนิยม สากลที่สี่ สมัชชาที่ห้า ก็แล้วแต่คนเลือก ขณะที่ส่วนตัวผมยังเชื่อในประชาธิปไตยทุนนิยม แบบที่มีรัฐสวัสดิการและการถ่วงดุล ควบคู่ไปกับเสรีนิยมกลไกตลาด เพราะกลไกตลาดและการแข่งขันเท่านั้นที่ทำให้โลกหมุนไปข้างหน้า ทำให้เรามีไมโครซอฟท์ YouTube Twitter Facebook Playboy (เอ๊ะ ไม่เกี่ยวกันนี่หว่า) ขณะที่ฝ่ายถ่วงดุลก็มีหน้าที่ไล่ตามยับยั้งไม่ให้มันผูกขาดกลืนกิน ประชาธิปไตยทุนนิยมอาจจะไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ ไม่สามารถเป็นจริง 100% ตามอุดมคติ แต่ก็เป็นระบอบที่ดีที่สุดในขณะนี้ ถ้าไม่เชื่อเช่นนี้ผมก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปโต้แย้งกับพวกพันธมิตร พวกคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน หรือพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ตะพึดตะพือ ด้วยความเคารพ ใบตองแห้ง ป.ล.คำว่าเสรีนิยมบางครั้งผมฟังแล้วสับสน เช่นที่อาจารย์บอกว่าพรรคเสรีนิยมในไทยคือพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในทางความคิด ผมเห็นว่า ปชป.เป็นอนุรักษ์นิยม คือเป็นปลัดประเทศ ยึดจารีตนิยม ไม่คิดเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ หมอพลเดชเคยพูดไว้ในการประชุมสมาคมของเขาว่า “ประชาธิปไตย ที่โตเต็มวัยจะประกอบด้วยการมีกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของผล ประโยชน์และกลุ่มชนชั้นความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ ก) แนวคิดขวาสุดเป็นแนวความคิดของเสรีนิยมที่เรียกว่า Liberal ข) แนวคิดตรงกลางไปขวาเป็น แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เรียกว่า Conservative ค) แนวคิดตรงกลางไปซ้ายเป็น แนวคิดสังคมนิยมที่เรียกว่า Socialist ง) แนวคิดซ้ายสุดเป็นแนวคิดคอมมิวนิสม์ (Communism) แล้วแกก็บอกว่าอเมริกามีพรรครีพับลิกันเป็น Liberal พรรคเดโมแครตเป็น Conservative ส่วนสิงคโปร์มีพรรคเดียวเป็น Liberal ซึ่งตรงข้ามกับสื่ออเมริกันฝ่ายเดโมแครต เขาถือว่าเขาเป็น Liberal ความคิดเสรีนิยม เปิดกว้างให้กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในการพูด คิด เขียน แสดงออก โฆษณา สร้างสรรค์งานศิลปะ เสรีภาพทางเพศ หรือกระทั่งเสรีภาพเพศที่สาม เช่น สนับสนุนการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ (ขณะที่พวกรีพับลิกันจะอ้างศาสนาศีลธรรมจรรยามากกว่า) เข้าใจว่าเสรีนิยมที่อาจารย์ใช้ กับที่หมอพลเดชใช้ ก็คือเสรีทางเศรษฐกิจ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ในความหมายของผมอาจจะเป็นเสรีนิยมทางความคิดวัฒนธรรม “เสรีนิยม” แบบมีเสรีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ฟอกล้าง “ท้าทาย” ความคิดจารีตนิยมแบบไทยๆ ที่ผูกขาด ห้ามวิจารณ์ พังทลายการเซ็นเซอร์ทางความคิดทั้งหมด ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะเป็นจุดขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางที่รักเสรีกับอำนาจเก่ารัฐจารีตนิยม สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ผู้ใช้แรงงานทวงความคืบหน้ารับสัตยาบัน ILO 87-98 Posted: 11 Oct 2010 09:01 AM PDT แรงงานทวงสัญญา 1 ปี ความคืบหน้ารัฐบาลไทยในการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ 98 ชี้เคยบอก 3 เดือนจะรับแต่ผ่านมา 1 ปีแล้ว จี้ให้รับหากจริงใจต่อผู้ใช้แรงงาน 11 ต.ค. 53 – เวลาประมาณ 13.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน ตัวแทนแรงงานในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งประกอบไปด้วยสภาองค์การลูกจ้าง, สหพันธ์แรงงาน, กลุ่มสหภาพแรงงาน, สมาพันธ์แรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สหภาพแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้เข้ามอบหนังสือ "ทวงสัญญา 1 ปี กับความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO" ให้กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยตัวแทนแรงงานระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว (วันที่ 7 ต.ค. 52) กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ทำการยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ 98 โดยในขณะนั้น ได้ยื่นผ่านนายสนั่น ขจรประศาสน์ ส่งต่อไปให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสนั่นได้รับปากว่าจะดำเนินงานผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน แต่ถึงแม้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานเพื่อให้สัตยาบันของกระทรงแรงงานถึง 5 ครั้งซึ่งมีมติร่วมกันว่าให้รัฐบาลไทยรับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับพร้อมกัน แล้วหลังจากนั้นค่อยแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ แต่ทั้งนี้จนถึงปัจจุบันได้ครบรอบ 1 ปีไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการให้สัตยาบันโดยรัฐบาลไทยแต่อย่างใด ตัวแทนแรงงานระบุว่าการที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นหากรัฐบาลจะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งมีจำนวนมากถึง 37 ล้านคน รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับโดยทันที สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
เสียงจาก 39 คนงานไทย ยืนยันเรียกร้องสิทธิที่สวีเดนต่อ Posted: 11 Oct 2010 06:36 AM PDT เสียงจาก 39 คนงานไทยที่ไปเก็บลูกเบอร์รี่ในสวีเดน ยังยืนยันที่จะต่อสู้อยู่ที่สวีเดนต่อไป เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการเก็บผลไม้, ค่าทำงานล่วงเวลา และขอสิทธิในการกลับมาทำงานในอนาคตอีก ลั่นไม่ชนะไม่ยอมกลับบ้าน
คนงานไทย 39 คน ยังปักหลักเรียกร้องสิทธิที่สวีเดน ลั่นหากไม่ได้ตามสิทธิไม่กลับบ้าน 11 ต.ค. 53 - จรรยา ยิ้มประเสริฐ ประธานสหภาพคนทำงานต่างประเทศแห่งประเทศไทย สัมภาษณ์คนงานไทยที่ไปเก็บลูกเบอร์รี่ในสวีเดนและยังยืนยันที่จะต่อสู้อยู่ ที่สวีเดน โดยคนงานให้ข้อมูลพื้นฐานว่าก่อนที่จะมาทางนายหน้าได้บอกและรับประกันว่าจะ ไม่มีการขาดทุน และได้บอกกับคนงานว่าเป็นโควตาของแรงงานที่จะสามารถเก็บผลไม้ได้เกินเป้า แต่เมื่อไปทำงานจริงๆ แล้วพบว่ามีคนที่ได้เกินเป้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้น คนงานเล่าต่อว่าสาเหตุที่เก็บผลไม้ไม่ได้ตามเป้านั้นเพราะเดินทางมาถึงทีหลัง แรงงานกลุ่มอื่นรวมถึงอากาศเย็น ซึ่งเหตุผลที่คนงานไปถึงสวีเดนช้านั้นเพราะว่าต้องหาเงินเพิ่มให้กับนายหน้า (นอกเหนือจากค่าเดินทาง 25,000 บาท) โดยคนงานบางคนต้องยอมเป็นหนี้สินที่ประเทศไทยเพราะต้องนำใบโฉนดที่ดินไปกู้ เงินจากแหล่งทุน รวมถึงให้ญาติพี่น้องช่วยหยิบยืมมาอีกต่อหนึ่ง ในเรื่องการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยนั้น คนงานที่ยังอยู่ที่สวีเดนได้กล่าวว่าทางการไทยได้ให้คำแนะนำว่าให้กลับมายัง ประเทศไทยก่อนแล้วค่อยแจ้งความดำเนินคดีเกลี้ยกล่อมให้กลับบ้าน โดยกรณีของเพื่อนคนงานไทยที่เดินทางกลับบ้านไปก่อนเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น (ดู: คนงานบางส่วนที่ถูกหลอกไปเก็บผลไม้สวีเดนกลับไทยแล้ว) คนงานที่สวีเดนกล่าวว่าได้สอบถามเพื่อนที่กลับบ้านไปแล้วและได้ความว่าความ ช่วยเหลือในขั้นต้นคือการให้ลงชื่อไว้กับทางการไทย และได้เงินช่วยเหลือกลับบ้านคนละ 400 บาท และมีคนงานส่วนหนึ่งไปแจ้งความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้เมื่อถามเรื่องการกลับบ้าน คนงานไทยที่เหลือตอบว่าจะอยู่เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินจากการเก็บผลไม้, ค่าทำงานล่วงเวลา และขอสิทธิในการกลับมาทำงานในอนาคตอีก
กรมการจัดหางานเคยเตือนพบคนไทยขอวีซ่าท่องเที่ยวแฝงทำงานเก็บผลไม้ที่สวีเดนสูงผิดปกติกว่า 5,000 คน อนึ่งเมื่อต้นเดือน ก.ค. 53 ที่ผ่านมานายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีที่กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่าขณะนี้มีคนไทยยื่นขอวีซ่าไปท่องเที่ยวที่สวีเดนมากกว่า 5,000 คน ว่า จากการตรวจสอบพบว่า ทุกคนแจ้งความจำนงจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ ที่เป็นคนไทยและเป็นภรรยาของชาวสวีเดน ซึ่งปีนี้ทางการสวีเดน ได้อนุญาตให้ไทยที่พักอาศัยในสวีเดน เรียกว่ากลุ่มมาดาม สามารถพาญาติเข้าไปทำงานเก็บผลไม้ป่าได้คนละไม่เกิน 3 คน และปราศจากเงื่อนไข ขณะที่แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางาน 4 แห่งประมาณ 3 พันคน โดยทุกคนจะต้องได้รับกาประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 75,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง และแรงงานจะต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าอาหารและค่าน้ำมันรถ รวมทั้งภาษีเงินได้เองทั้งหมด ส่วนค่าที่พัก ค่าเช่ารถ และอุปกรณ์การทำงาน บริษัทจะจัดหาให้ รวมทั้งจัดหาพื้นที่สำรองในการเก็บเกี่ยวผลไม้เพิ่มด้วย ซึ่งมีเงื่อนไขเดียวกับการจ้างตรงจากนายจ้างชาวสวีเดน ที่มีการประกันรายได้ให้แรงงาน แต่แรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและภาษีเงินได้ร้อยละ 25 ของรายได้ ซึ่งมีประมาณ 200 คน "การเดินทางผ่านบริษัทนำพาและการจ้างตรง จะต้องจองตั๋วเครื่องบินแบบเลื่อนวันและเวลาได้ เพื่อให้แรงงานสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที หากเกิดปัญหา ซึ่งจะมีแรงงานทยอยเดินทางชุดแรกในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้คาดว่า ปีนี้อาจเกิดปัญหาแรงงานไทยสวีเดนหนักกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่ไปทำงานผ่านกลุ่มมาดาม เพราะเกินอำนาจการดูแลของเจ้าหน้าที่สถานทูต" รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
วีดีโอคลิปกิจกรรมคนเสื้อแดงวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 Posted: 11 Oct 2010 02:13 AM PDT วีดีโอคลิปพิธีทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.และ พ.ค.53
วีดีโอคลิปรำลึก 6 เดือนเหตุการณ์ 10 เมษา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น