โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ละครชีวิต

Posted: 20 Oct 2010 02:53 PM PDT

 
เมื่อคืนนี้เจอเรื่องหนึ่ง มีคนไข้คนหนึ่งเข้ามาโรงพยาบาลด้วยอาการน้ำเกินในร่างกายเฉียบพลันเพราะเป็น โรคไตแล้วไม่ได้ไปฟอกไตตามกำหนดนัด คนไข้เหนื่อยมากต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผมก็ถามพ่อของคนไข้ว่าทำไมไม่ไปฟอกไตตามกำหนดนัด (ในตอนนั้นยอมรับเลยว่าถามด้วยความโมโห เพราะว่าคนไข้อาการหนักพอสมควร) คำตอบก็คือ เขาใช้สิทธิ์การรักษาแบบประกันสังคม ต้องออกเงินเองไปก่อนเวลาไปฟอกไต ครั้งหนึ่งประมาณ 2000 บาท แล้วบริษัทค่อยทำเรื่องไปเอาเงินจากสำนักงานประกันสังคมมาให้เขาอีกทอดหนึ่ง ทำให้เขาต้องไปกู้นอกระบบเพื่อมาจ่ายค่าฟอกไตไปก่อนแล้วค่อยไปรับเงินจากบริษัทซึ่งได้รับจากสำนักงานประกันสังคม แน่นอนว่าเวลาไปกู้เงินกู้นอกระบบก็ต้องเสียดอกเบี้ยมหาโหดประเภทร้อยละ 20 ต่อเดือน แล้วครั้งล่าสุดเขาไม่มีเงินจริงๆ (พ่อของคนไข้เขาใช้คำว่าชอร์ตเงิน) ทำให้ไม่สามารถพาลูกไปฟอกไตที่โรงพยาบาลได้ จึงต้องยอมปล่อยให้ลูกอาการแย่ลง และหากลูกเขาจะเสียชีวิตจากอาการน้ำเกินเนื่องจากไม่ได้ฟอกไตตามกำหนดก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เพราะเขาไม่มีเงินจริงๆ 
 
เรื่องนี้ทำให้ผมได้คิดทบทวนหลายๆ อย่าง อย่างแรก คือ ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ของไทยในปัจจุบันนี้ ความแตกต่างทางชนชั้นและรายได้นำไปสู่ความแตกต่างทางคุณค่าของคนในมุมมองของคนในสังคมเอง ในขณะที่บางคนนั้นไม่อาจตายได้ เพราะหากตายไปแล้วจะกลายเป็น "ความสูญเสียใหญ่หลวง" แต่ว่าสำหรับคนจนในประเทศของเราแล้ว ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นคนทำงานเป็นผู้สร้างที่แท้จริงของประเทศของเรา เป็นผู้ทำงานทั้งหลังขดหลังแข็งในโรงงานและหน้าดำกรำแดดตั้งแต่เช้าจรดค่ำเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับประเทศของเราในรูปของผลผลิตต่างๆ ทำไมพวกเขาถึงต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องทนซมซานอยู่อย่างอดอยากยากจน ไม่มีกระทั่งสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าชีวิตของเขาไร้ค่า และญาติพี่น้องของเขาต้องตายอย่างไร้ค่าในประเทศที่อ้างว่าประชาชนคืออำนาจสูงสุดในแผ่นดิน?
 
อย่างที่สอง คือ แม้เราจะมีระบบที่ว่ากันว่า ช่วยสนับสนุนให้คนจนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบขั้นมูลฐานของสิทธิ์ที่จะดำรงชีวิตอยู่ แต่ว่าระบบของเรายังไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงการรักษาอย่างแท้จริง ผู้ที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างแท้จริงคือ ข้าราชการที่ได้ทำระบบเบิกจ่ายตรง ที่มีชื่อเล่นว่า "ระบบสแกนนิ้ว" เพราะใช้วิธีสแกนนิ้วของผู้มีสิทธิ์รับบริการอันได้แก่ บิดา-มารดา ตัวข้าราชการและคู่สมรส และบุตรที่ยังมิได้บรรลุนิติภาวะ เพื่อยืนยันตัวบุคคล เมื่อเข้าระบบนี้แล้ว ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการทางการแพทย์ภายใต้สิทธิ์การรักษาได้โดยไม่ต้องออกเงิน ผิดกับผู้ที่ใช้สิทธิ์ในระบบอื่นๆ เช่น กรณีของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือระบบประกันสังคมของลูกจ้างเอกชน ซึ่งการออกเงินไปก่อนนั้น ในผู้ที่มีรายได้น้อยแล้ว ลงท้ายก็ต้องไปตกเป็นเหยื่อของกลุ่มเงินกู้นอกระบบ ดังเช่นเรื่องที่ผมได้เจอ
 
ส่วนในระบบ 30 บาทนั้น แม้ว่าจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ว่าก็ถูกจำกัดสิทธิ์หลายๆ อย่าง เช่นในกรณีของการล้างไต ผู้ที่เข้าระบบ 30 บาทหากต้องการล้างไตในกรณีของโรคไตวายเรื้อรังนั้น จะต้องล้างแบบทางหน้าท้อง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องอยู่ติดบ้าน และมีผู้ดูแลที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยเต็มวันอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อทำการล้างไตทุกวัน ซึ่งสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีทุนทรัพย์ ที่จะเลี้ยงดูญาติอีกคนหนึ่งให้มาอยู่กับบ้านไม่ได้ไปทำงานหาเงิน หรือจ้างคนมาดูแลทั้งวันแล้ว นี่เป็นเรื่องที่เป็นภาระทุกข์อย่างแสนสาหัส เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลผลักภาระในการจัดหาเครื่องไตเทียมให้กับระบบสาธารณสุขไปให้ประชาชนรับแทน นี่เป็นตัวอย่างของหนึ่งการ "อยู่บนหอคอยงาช้าง" และการพยายามผลักภาระให้กับประชาชนของรัฐข้าราชการ
 
อย่างที่สาม มักจะมีผู้คัดค้านการสนับสนุนสิทธิ์ในการรักษาของคนจน โดยใช้เหตุผลว่า กลัวว่างบประมาณสาธารณสุขจะบานปลายเป็นภาระแก่ประเทศ ในขณะที่งบประมาณทางกลาโหมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8 หมื่นล้าน ในปีงบประมาณ 2549 จนเป็น 1.5 แสนล้าน ในปีงบประมาณ 2554 ในขณะที่งบประมาณสาธารณสุข ขึ้นมาจากประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2539 มาอยู่ที่ประมาณประมาณ 7 หมื่นล้านเท่านั้น ในปีงบประมาณ 2554 ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ประเทศที่ไม่ได้มีสงครามภายนอกในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เหตุใดงบประมาณกลาโหมถึงได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่างบประมาณสาธารณสุข? ผมคิดว่า นี่สะท้อนให้เห็นมุมมองและการจัดสรรทรัพยากรของกลุ่มผู้ถือครองอำนาจรัฐที่แท้จริงในประเทศของเราว่าให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่า
 
เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงเงาสะท้อนส่วนหนึ่งของปัญหาที่หมักหมมกันมาอยู่ในสังคมไทย ปัญหาของความอยุติธรรมในสังคมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และปัญหาเหล่านี้ได้สะท้อนลงมาจนถึงระดับชีวิตประจำวันของประชาชนไทย และประชาชนชั้นล่างของไทย รู้สึกและเจ็บปวดกับปัญหาเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แน่นอน ผู้ที่อยู่ดีมีสุขในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจมองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองเห็นปัญหาเหล่านี้ แต่ว่าหากไม่นำปัญหาเหล่านี้มาพูดกันให้ถึงแก่น ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ส่วนตัวของ สลักธรรม โตจิราการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อีกหนึ่งเหยื่อที่สุดบอบบาง โต๊ะอิหม่ามชายแดนใต้

Posted: 20 Oct 2010 01:37 PM PDT

เจาะชีวิตเหยื่อชายแดนใต้ ครอบครัวโต๊ะอิหม่ามบันนังสตา เป้าหมายอ่อนแอที่สุดในชายแดนใต้ มีแต่ให้ข้อมูลกับรัฐ แต่ไม่ได้รับการเยียวยา

เหยื่อ - นางสาดีนะห์ เจ๊ะลีแม ต้องเลี้ยงลูกโดยลำพัง หลังจากสามีซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่ามบ้านตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาถูกยิงเสียชีวิต

โต๊ะอิหม่าม คือผู้นำศาสนาอิสลาม ที่เป็นเป้าหมายที่อ่อนไหวที่สุดในบรรดาเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยปกป้องตัวเองได้เลย

การจัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายอันบอบบางที่สุดนี้ เป็นไปตามการวิเคราะห์จากสถิติผู้ประสบเหตุไม่สงบในพื้นที่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch แต่กระบวนการช่วยเหลือเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก

อย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของนาย ‘มะสาลี เจ๊ะลีแม’ โต๊ะอิหม่ามแห่งบ้านตาเนาะปูเตะ หมู่ที่ 4 ตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 จากเหตุการณ์ลอบยิงที่หน้าบ้าน

แม้ว่า เหตุการณ์นี้จะผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี แต่ความทุกข์ใจที่ภรรยาและลูกๆต้องแบกรับมาตลอดในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านนั้น นับได้ว่าเป็นความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส เป็นมรสุมลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมา

‘นางสาตีนะห์ เจ๊ะลีแม’ ภรรยาของโต๊ะอิหม่าม ได้เปิดประตูเรือนไม้เก่าซอมซ่อเลขที่ 189หมู่ 4 ตำบลตาเนาะปูเตะ ต้อนรับผู้มาเยือน ก่อนจะบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

เธอเล่าว่า ช่วงเย็นก่อนเกิดเหตุสามีไปละหมาดที่มัสยิด ขากลับตนได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ของสามีมาถึงหน้าบ้าน จึงสั่งให้ลูกไปเปิดประตู เพราะเธอจะสอนลูกเสมอว่าก่อนที่พ่อจะเข้าบ้านต้องเปิดประตูต้อนรับ อย่าให้พ่อต้องเปิดเอง

แต่ทันทีทันใดเมื่อลูกเดินไปถึงประตู แต่ยังไม่ทันได้ผลักออกไปก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณ 3-4 นัด ก่อนที่กระสุนชุดใหญ่จะรัวตามมาอีกหลายนัด ลูกได้วิ่งกลับมาหาเธอด้วยความหวาดกลัวเสียงปืน

เธอเองไม่ได้เอะใจเลยว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับสามีตน จึงได้ออกไปเปิดประตูด้วยตนเอง พอเปิดประตูก็ต้องตกใจเพราะเห็นสามีล้มลงนอนจมกองเลือดอยู่หน้าบ้าน เธอได้เข้าไปอุ้มร่างที่ไร้ลมหายใจของสามีมานอนบนตักด้วยโศกเศร้าเสียใจ

ลูกๆ ของเธอก็ไม่อาจได้เปิดประตูต้อนรับพ่อเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต

นายมะสาลี เจ๊ะลีแม มีอาชีพหลักคือทำส่วนยาง และเปิดร้านขายของชำที่บ้าน เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวเสมอมา

นางสาดีนะห์ บอกว่า รายได้ของครอบครัวตอนที่นายมะสาลียังมีชีวิตอยู่ตกอยู่ประมาณ 500-600 บาทต่อวัน ซึ่งเพียงพอที่จะส่งลูกๆเรียนหนังสือได้

เธอกับนายมะสาลีมีลูกด้วยกันตอนนั้น 7 คน ที่สำคัญลูกคนสุดท้องเพิ่งมาคลอดออกมา ถัดจากวันที่สามีเสียชีวิตเพียง 1 วัน

หลังจากสูญเสียผู้เป็นสามีไปอย่างกะทันหัน เธอและลูกๆ ต้องประสบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องส่งเสียลูกเรียนหนังสือถึง 6 คน

ในขณะเธอเองก็เพิ่งคลอดลูกคนเล็ก ทำให้ต้องหยุดทำงานชั่วคราว สวนยางที่สามีเคยไปกรีดเธอจะไปทำหน้าที่แทนสามีก็ไม่ไหว

ส่วนร้านขายของชำ หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงสามีเสียชีวิตหน้าบ้านตัวเองแล้ว นับวันก็ยิ่งซบเซาลง เพราะไม่มีลูกค้ากล้าเข้าร้าน จึงจำใจต้องปิดร้าน และอยู่อาศัยเงียบๆ ในบ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง

ปัจจุบันนางสาตีนะห์ หาเลี้ยงทั้ง 7 ชีวิตในครอบครัว รวมปากท้องตนเองด้วยการทำขนมวางขายตามร้านค้าในหมู่บ้าน มีรายได้ต่อวันประมาณ 70-100 บาท

ถามว่า รายได้เท่านี้เพียงพอหรือไม่กับการที่ต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคนในบ้าน เธอบอกว่า ไม่พอแน่นอน เธอได้บอกลูกๆ ว่า ถ้าต้องการความรู้ก็ให้พยายามเรียนหนังสือต่อไป เงินที่แม่ให้นั้น ขอให้ใช้อย่างประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“บอกลูกว่า อย่าให้ถึงกับว่าต้องอด ถ้าขาดเหลืออะไรก็บอกได้จะได้ช่วยกันพยายามหามาให้ เพราะก๊ะ(แปลว่า พี่ หมายถึง คำเรียกแทนตัวเอง) เองก็ต้องการให้ลูกๆ มีการศึกษา มีความรู้ ถึงจะลำบากแค่ไหนแต่ก็ต้องพยายาม”แม่ผู้เลี้ยงลูกถึง 7 ชีวิตกล่าวด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้น

เธอบอกว่า พยายามให้กำลังใจกับลูกๆ ไม่ให้ท้อแท้กับความสูญเสียและความยากลำบากที่ประสบกับครอบครัว เพราะเธอรู้ดีว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น มันหนักหนายิ่งนักกับหัวใจน้อยๆ ของเด็กๆ ที่ต้องรับ เธอจึงต้องใช้การปลอบใจและให้กำลังใจเยียวยาความรู้สึกทางจิตใจของลูกๆ ด้วยตนเองทุกวัน

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ นับตั้งแต่สามีของเธอเสียชีวิต เธอไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานรัฐเลย มีแต่หน่วยงานที่เข้าเก็บข้อมูลไปเท่านั้น

หน่วยงานแรกที่เข้ามา คือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เข้ามาหลังเกิดเหตุการณ์ มาเก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือนเศษ เจ้าหน้าที่ชุดเดิมก็เข้ามาเก็บข้อมูลเป็นครั้งที่สอง

เธอเองก็หวังอยู่ว่าจะได้เงินค่าเยียวยาในส่วนนี้ เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนให้กับลูกๆ แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้นำเงินเข้ามามอบให้ แต่เธอก็คิดว่าพวกเขาอาจจะกำลังดำเนินการอยู่

“ผ่านไปอีก 3 เดือน เจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม ก๊ะได้ถามว่า มาเก็บข้อมูลถึง 3 ครั้งแล้ว จะเอาข้อมูลไปทำอะไร ทำไมเรื่องการเยียวยาถึงช้า ก๊ะให้ข้อมูลไปจนไม่รู้ว่าจะให้ข้อมูลอะไรอีกแล้ว สิ่งที่ต้องการคือความช่วยเหลือด้านการเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกๆ ก๊ะไม่ได้หวงข้อมูลหรอก แต่ไม่อยากให้ลูกๆ ต้องออกจากการเรียน อยากให้ลูกมีโอกาสเหมือนเด็กคนอื่นๆ” นางสาดีนะห์กล่าว

พูดไปอย่างนั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงควักเงินให้ 2,000 บาท ก่อนจะกลับไป ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะเป็นเงินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่มากกว่า ไม่ใช่เงินช่วยเหลือเยียวยาอะไร เขาให้เพราะสงสารก๊ะกับลูกๆ มากกว่า

นับได้ว่า เงิน 2,000 บาทนั้น เป็นเงินก้อนแรกที่เธอได้รับหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับสามี และเธอสงสัยมากว่า ทำไมครอบครัวของเธอจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

นางสาดีนะห์เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากนั้นก็มีคนของรัฐคนหนึ่งช่วยนำเรื่องของเธอไปขอเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ แต่ก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า หลักฐานของเธอไม่ครบ ขาดหลักฐานจากสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา ซึ่งเธอคิดว่าอาจจะเป็นใบแจ้งความ

แต่ด้วยความที่เธอเองมีภาระในการเลี้ยงดูลูกถึง 7 คน จึงไม่ได้เดินเรื่องต่อ อีกทั้งหลังเกิดเหตุการณ์ เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูกคนเล็ก

ด้วยภารกิจที่รัดตัวจนถึงไม่อาจปลีกจากลูกๆ ได้ ปัจจุบันเธอจึงเริ่มถอดใจเรื่องเงินเยียวยาก้อนนั้นแล้ว เพราะเหตุการณ์ผ่านมา 3 ปีกว่า ครอบครัวของเธอก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรเลย

ล่าสุดปลัดอำเภอบันนังสตาได้เข้ามาเยี่ยมครอบครัวเธอ และถามว่าเอาเงินจากไหนเป็นค่าเล่าเรียนลูก เธอตอบไปว่า บางครั้งก็ยืมชาวบ้าน ปลัดอำเภอยังถามอีกว่า มียอดหนี้เท่าไหร่แล้ว เธอตอบไปว่า สี่หมื่นกว่าบาทแล้ว

ปลัดอำเภอจึงได้ให้ความหวังกับเธอว่า จะพยายามหาทุนการศึกษาให้กับลูกๆของเธอ ซึ่งเธอเองก็ตั้งความหวังกับเรื่องนี้มาก เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกเหนือสิ่งอื่นใด

“สิ่งที่ก๊ะต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือทุนการศึกษาให้กับลูกๆ เพราะลูกก๊ะ 6 คน เรียนอยู่ยะลา 4 คน เรียนปอเนาะ 1 คน และอีก 1 คน เรียนอยู่ที่โรงเรียนแถวบ้าน”

สำหรับลูกที่เรียนอยู่ในเมือง เธอได้แบ่งเงินให้ลูกคนละ 300 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งคิดแล้วเงินน้อยมากสำหรับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่ก็ต้องอดทน

“ต้องอดทน ก๊ะบอกคำนี้กับลูกด้วยเสมอ

นับเป็นผู้ได้รับผลกระทบอีกครอบครัวหนึ่งที่มีชะตากรรมอันน่าเศร้าสลด แม้ความหวังเรื่องเงินเยียวยาที่จะมาจุนเจือครอบครัวจะรางเลือน แต่วันนี้ สิ่งที่คนเป็นแม่อย่างเธอยังทำอยู่เสมอ คือการเยียวยาหัวจิตหัวใจของลูกๆ ทั้ง 7 ด้วยตัวเอง

ส่วนหัวใจของเธอเองนั้น เธอปฏิเสธที่จะพูดถึง ได้แต่แสดงออกถึงความรู้สึกข้างในด้วยหยาดน้ำตาที่ไหลซึมออกมาไม่ขาดสาย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสรีภาพของสื่อตกต่ำ เพราะสื่อไม่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน

Posted: 20 Oct 2010 01:28 PM PDT

ถ้าเป็นความจริงว่า ประวัติศาสตร์วีรกรรมทหารไทยสมัยใหม่ คือประวัติศาสตร์การทำสงครามกับประชาชน ความจริงที่คู่กันคือ วีรกรรมของสื่อคือการกระพือข่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสังหารประชาชน เช่น ภาพแขวนคอบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ในเหตุการณ์ปราบนักศึกษา 6 ตุลา 19 การประโคมข่าวขบวนการล้มเจ้า ขบวนการผู้ก่อการร้าย และเชียร์ให้ทหารใช้มาตรการรุนแรงปราบคนเสื้อแดงของสื่อในเครือ ผู้จัดการ ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 53 ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) จัดอันดับทำเนียบเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2553 ระบุว่า เสรีภาพประเทศไทยตกต่ำลง โดยร่วง 23 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 153 จากการที่มีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกสังหารและอีก 15 รายได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในกรุงเทพฯ (ประชาไท,20/10/53)

แน่นอนว่า เสรีภาพของสื่อตกต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้โครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีต ใช้ พรก.ฉุกเฉินไล่ปิดสื่อที่เสนอความเห็นต่างทางการเมือง โดยอ้างว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกเร้าความรุนแรง แต่ไม่ปิดสื่อที่มีความเห็นสอดคล้องหรือสนับสนุนฝ่ายตน ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกเร้าความรุนแรงยิ่งกว่า

แต่อำนาจ ฉ้อฉลเสรีภาพ (หมายถึงให้เสรีภาพเกินร้อยเปอร์เซ็นแก่สื่อฝ่ายตัวเองและสื่อที่ตัวเองคุม แต่ไล่ปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม) ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย่อมไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำลายเสรีภาพของสื่อ

จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำลายเสรีภาพของสื่อคือ สื่อไม่ได้ปกป้องเสรีภาพของประชาชน การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกระแสหลัก หรือทีวี หนังสือพิมพ์ สะท้อนว่าสื่อพวกนี้อยู่กับความกลัว

เป็นไปได้อย่างไรที่ภาพเจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าคนเสื้อแดงจะมีเฉพาะภาพจากช่างภาพของสื่อต่างชาติ ขณะที่ภาพจากสื่อไทยมีเฉพาะภาพทหารถูกเสื้อแดงรุมทำร้ายที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก!

ความเห็นของผู้สื่อข่าว (ไทย) ในภาคสนามที่มาออกราบการทีวีก็มักสะท้อนการทำหน้าที่ของตนเองที่ถูกกดดันโดยผู้ชุมชุม แทบไม่มีความเห็นที่เป็นด้านลบต่อแนวทางการปราบผู้ชุมนุมของรัฐบาล หรือการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

สรุปแล้วสื่อไทยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงตลอด แต่สื่อไทยไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมเห็นภาพชัดได้ สะท้อนได้เฉพาะ ศอฉ.แถลงว่าอย่างไร สื่อนอกนำเสนอภาพอะไร แกนนำเสื้อแดง และผู้นำรัฐบาลโต้ตอบกันไปมาอย่างไร นอกนั้นก็เสนอความเห็นของ นักวิชาการดารา หรือคนมีชื่อเสียงทั้งหลายว่าคนพวกนั้นพูดอะไร ฯลฯ

ยิ่งได้ฟังข้อเสนอจากคนทำสื่อเองว่า การปฏิรูปสื่อควรให้สื่อตรวจสอบกันเอง ผมยิ่งอยากจะอ๊วก เพราะ 4-5 ปีมานี้ ผมยังไม่เห็นสื่อไหนตรวจสอบสื่ออย่าง ASTV ผู้จัดการ แม้แต่สื่อคุณภาพอย่างมติชนเอง ก็โดนสนธิและสมุนบริวารเล่นงานมาตลอด จนกระทั่งประกาศบนเวทีพันธมิตรว่า ใครซื้อหนังสือพิมพ์มติชนแสดงว่าไม่เอาสถาบัน แต่มติชนก็ยังหงอมาตลอด (เพิ่งมาตื่นในช่วงหลัง เช่น บุญเลิศ ช้างใหญ่ เขียนเชียร์พันธมิตรมาตลอด เพิ่ง กลับตัว ได้ภายหลัง)

และจนป่านนี้ยังไม่มีสื่อไหนตรวจสอบสื่อด้วยกันอย่างจริงจังในเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง !

เรื่องที่ซีเรียสอย่างยิ่ง กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง ง่ายต่อการฆ่าประชาชนอย่างยิ่ง เช่น การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง การใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง สื่อไม่ยอมตรวจสอบการกระทำเช่นนี้ ไม่เคยเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ ไม่วิพากษ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐบาล 91 ศพ หมดความชอบธรรม ไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ใช้ภาษีของประชาชนเสมือนเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกให้มาทำงานในนามประชาชน แต่ที่จริงมาทำงานรองรับความชอบธรรมของรัฐบาลมือเปื้อนเลือด ฯลฯ

ตัวอย่างบางตอนที่ว่ามานี้คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า สื่อไทยไม่ได้รักเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพประชาชน ต่อสู้เพียงเพื่อประคับประคองเอาตัวรอด มีสื่อทีวีช่องไหน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนบ้างที่พยายามเสนอความจริงให้สังคมรับรู้ว่ามวลชนเสื้อแดงที่ออกมาเสี่ยงตายเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง เรียกร้องประชาธิปไตยหรืออำนาจตัดสินใจของประชาชน เขาเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือของทักษิณ อย่างไร

โดยเสนอให้เห็นรูปธรรมของกระบวนการตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน กระบวนการคิด การรวมกลุ่ม การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขา คือเสนออย่างเป็นระบบ วิเคราะห์เจาะลึก ให้เวลาแก่ความคิดของชาวบ้านใกล้เคียงกับที่ให้เวลาแก่พวก นักวิชาการดารา หน้าเก่าๆ ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ซ้ำๆ ซากๆ!

เราไม่เห็นสื่อกระแสหลักทำหน้าที่อย่างที่ว่านี้ ที่จริงสื่อสรุปเองด้วยซ้ำว่าชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่ มนุษย์ที่มีเสรีภาพ เพราะสื่อมองว่าพวกเขาถูกหลอกมา ถูกจ้างมา ถ้า บังเอิญ (ต้องเรียกว่า บังเอิญ เพราะสื่อไม่เสาะแสวงหา) ได้ฟังชาวบ้านบางคนพูดเหมือนกับว่ามีอุดมการณ์ สื่อก็อาจจะมองว่าชาวบ้านถูกล้างสมองโดยแกนนำเสื้อแดง

เพราะสื่อนำเสนอภาพชาวบ้านด้วยสมมติฐานเช่นนี้ (ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของสื่อเสื้อเหลือง นักวิชาการเสื้อเหลือง ฝ่ายรัฐบาล) ภาพของชาวบ้านจึงไม่ใช่เสรีชน ไม่ใช่คนที่สามารถจะต่อสู้และตายเพื่ออุดมการณ์ได้ ความตายของชาวบ้านจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สื่อจำเป็นต้องประสานเสียงประณามว่า รัฐบาล 91 ศพ หมดความชอบธรรม!”

ฉะนั้น เสรีภาพของสื่อไทยที่ตกต่ำลง สาเหตุหลักๆ เลย เพราะสื่อไทยไม่เคย สะเทือนใจ อย่างแท้จริงกับการที่ประชาชนถูกทำลายเสรีภาพ ถูกทำลายชีวิต มองชาวบ้านเป็นเพียง มนุษย์เครื่องมือ

ไม่ตระตระหนักรู้ถึงการตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน ไร้จิตสำนึกในการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจเผด็จการจารีต สภาพ พิการทางจิตวิญญาณ เช่นนี้นี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เสรีภาพของสื่อตกต่ำลง

อย่ามัวไปโทษอำนาจรัฐที่แทรกแซงสื่อ ปิดกั้นสื่อ เพราะต่อให้มีการใช้อำนาจเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพ

แต่วันนี้ชาวบ้านยอมตายเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ สื่อกลับทำตัวเป็นหางเครื่องรัฐบาล 91 ศพ ร้องเพลงเชียร์ปรองดอง ปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าต่อไปภายใต้โครงสร้างการปกครองที่มีปัญหาอยู่เช่นเดิม!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซาโกซียันปฏิรูปเงินบำนาญต่อ แม้จะถูกประท้วงอย่างหนัก

Posted: 20 Oct 2010 01:22 PM PDT

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคลาส์ ซาโกซี ประกาศว่าเขาจะยังยืนยันปฏิรูปเงินบำนาญต่อไป แม้จะถูกประท้วงอย่างหนักก็ตาม

19 ต.ค. 53 - จากที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนจะเพิ่มปีเกษียณอายุงานขั้นต่ำจาก 60 เป็น 62 ปี และปีที่จะได้รับบำนาญเต็มจากรัฐจากอายุ 65 ปี เป็น 67 ปี ทำให้มีสหภาพแรงงานในฝรั่งเศสพากันออกมาประท้วงบนท้องถนนราว 2,500,000 คน ตั้งแต่เดือนที่แล้ว และแผนการณ์ของรัฐบาลก็ไม่ได้รับความนิยมจากมวลชนรวมถึงสว.ฝ่ายซ้าย ของฝรั่งเศส แต่อย่างไรก็ตาม ปธน. ซาร์โกซี เห็นว่าการปฏิรูปบำนาญในครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวพันธ์กับประเทศฝรั่งเศส

ประท้วงใหญ่วันที่ 6 กระทบสาธารณูปโภค

วันอังคาร (19 ต.ค.) นี้ เป็นวันที่มีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศเป็นวันที่ 6 แล้ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ เช่นสถานทำการไปรษณีย์ โรงเรียน รถไฟ สายการบิน ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำฝรั่งเศสรายงานว่าสายการบินที่ใช้สนามบินออรีในกรุงปารีสร้อยละ 50 ระงับการเดินทาง ส่วนสนามบินแห่งอื่นได้รับผลกระทบร้อยละ 30

โพลล์สำรวจความคิดเห็นแห่งหนึ่งเปิดเผยในวันที่ 18 ต.ค. ว่าร้อยละ 71 ของกลุ่มตัวอย่างแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงแม้ว่ากรประท้วงหยุดงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ในวันที่ 18 ต.ค. ยังมีการประท้วงหน้าโรงเรียนหลายร้อยแห่ง มีทั้งนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุม ในเขตชานเมืองทางตะวันตกของกรุงปารีส มีเยาวชนจำนวนหนึ่งปะทะกับตำรวจปราบจลาจลที่ยิงกระสุนยางเข้าใส่

แรงงานน้ำมันสไตร์ค อาจเกิดวิกฤติขาดแคลน

บริษัทน้ำมัน แอกซอน โมบิล กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า "อยู่ในภาวะวิกฤติ" หลังจากที่คนงานโรงกลั่นน้ำมัน 12 แห่งในฝรั่งเศสประท้วงหยุดงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์มาแล้ว และแหล่งเก็บกักนำมันจำนวนมากของประเทศก็ถูกปิดกั้นทางเข้าออก อย่างไรก็ตามประธานสมาคมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมฝรั่งเศสบอกว่าภาวะขาดแคลนน้ำมันยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ถ้าคนขับรถขนส่งน้ำมันหยุดงานและการปิดโรงกลั่นดำเนินต่อไปก็จะเกิดปัญหาใหญ่แน่

รัฐบาลฝรั่งเศสบอกว่าในประเทศมีน้ำมันสำรองเหลือไว้ใช้ได้อีก 3 เดือน ส่วนปธน. ซาร์โกซี ได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานฉุกเฉินขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหาน้ำมัน

ที่มา :
Sarkozy defies French strikers on pension reform, 19-10-2010, BBC
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-11570828

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัย 20 ตุลาคม 2553

Posted: 20 Oct 2010 01:05 PM PDT

20 ต.ค. 53 - กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยในช่วงวันที่ ๑๐ —๑๙ตุลาคม ๒๕๕๓ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๑๗ จังหวัด ๔๒ อำเภอ ๒๖๗ ตำบล ๗๘๕ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๒๑,๗๖๑ ครัวเรือน ๕๔,๘๔๑ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๓๒,๔๒๘ ไร่ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๑๓ จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ๔ จังหวัด และครั้งล่าสุดในช่วงวันที่ ๑๐ —๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๑๗ จังหวัด ๑๐๑ อำเภอ ๕๕๗ ตำบล ๓,๙๗๓ หมู่บ้าน ได้แก่ ระยอง ตราด สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ ตาก สุรินทร์ บุรีรัยม์ และขอนแก่น ผู้เสียชีวิต ๑๑ ราย ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ รวม ๕ ครั้ง โดยสถานการณ์อุทกภัยครั้งที่รุนแรงสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของ ประชาชนอย่างมาก ได้แก่ ครั้งที่ ๔ ช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ กันยายน — ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ พื้นที่ประสบอุทกภัยรวม ๑๗ จังหวัด ๔๒ อำเภอ ๒๖๗ ตำบล ๗๘๕ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๒๑,๗๖๑ ครัวเรือน ๕๔,๘๔๑ คน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ ๓๒,๔๒๘ ไร่

ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ๑๓ จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ๔ จังหวัดได้แก่ พิจิตร น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งใน ๔ อำเภอ ๑๔ ตำบล ได้แก่ อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนางราง และโพทะเลชัยนาท น้ำท่วมพื้นที่ ๓ อำเภอ ๑๗ ตำบล ๑๗๕ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๑๑,๓๒๑ ครัวเรือน ๓๒,๔๖๙ คน ได้แก่ อำเภอเนินขาม หันคา และสรรพยา อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอป่าโมก ๒ ตำบล ปัจจุบันยังคงมี น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มบางพื้นที่ พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อย เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน ๕ อำเภอ ๕๔ ตำบล ๒๙๗ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๔,๔๙๔ ครัวเรือน ๑๓,๙๗๗ คน ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา บางไทร มหาราช ผักไห่ และบางบาล สำหรับสถานการณ์อุทกภัยครั้งที่ ๕ ช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ กันยายน — ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓

ซึ่งเป็นสถานการณ์อุทกภัยครั้งล่าสุดที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก และถือว่าวิกฤติที่สุดในรอบหลายปี มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม ๑๗ จังหวัด ๑๐๑ อำเภอ ๕๕๗ ตำบล ๓,๙๗๓ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๑๑ ราย ได้แก่ ระยอง น้ำท่วมในพื้นที่ ๒ อำเภอ ๖ ตำบล ๓๒ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง และวังจันทร์ ตราด เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกาะช้าง และแหลมงอบ สระแก้ว น้ำท่วมในพื้นที่ ๔ อำเภอ ๑๐ ตำบล ๑ เทศบาล ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ วังน้ำเย็น ตาพระยา และโคกสูง นครราชสีมา น้ำท่วมในพื้นที่ ๒๔ อำเภอ ๒๓๘ ตำบล ๑,๖๕๓ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๓ ราย สูญหาย ๑ ราย ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา สูงเนิน ขามทะเลสอ โนนแดง เสิงสาง คง หนองบุญมาก จักรราช เทพารักษ์ ด่านขุนทด บ้านเหลือม โนนสูง โชคชัย พิมาย โนนไทย ห้วยแถลง ปากช่อง สีคิ้ว ปักธงชัย ขามสะแกแสง เฉลิมพระเกียรติ พระทองคำ บัวใหญ่ และครบุรี ปราจีนบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ ๒ อำเภอ ๔ ตำบล ๑๔ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอนาดี และกบินทร์บุรี ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ ลพบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ ๑๑ อำเภอ ๑๒๐ ตำบล ๑,๐๑๒ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๒ ราย ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี โคกสำโรง ชัยบาดาล พัฒนานิคม ลำสนธิ ท่าหลวง หนองม่วง สระโบสถ์ โคกเจริญ บ้านหมี่ และท่าวุ้ง นครสวรรค์ น้ำท่วมในพื้นที่ ๕ อำเภอ ๒๕ ตำบล ได้แก่ อำเภอตาคลี ลาดยาว หนองบัว ท่าตะโก และไพศาลี ชัยภูมิ น้ำท่วมในพื้นที่๗ อำเภอ ๑๓ ตำบล ๑๓๒ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว บำเหน็จณรงค์ เนินสง่า จัตุรัส และบ้านเขว้าสระบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ ๘ อำเภอ ๓๙ ตำบล ได้แก่ อำเภอเมืองสระบุรี บ้านหม้อ พระพุทธบาท มวกเหล็ก แก่งคอย วังม่วง เสาไห้ และเฉลิมพระเกียรติ เพชรบูรณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ ๕ อำเภอ ๔๙ ตำบล ๒๗๑ หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ ศรีเทพ บึงสามพัน และวิเชียรบุรีนครนายก น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านนา ๒ ตำบล ราษฎรเดือดร้อน ๕๐๐ ครัวเรือน ๑,๕๐๐ คนสุพรรณบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ ๓ อำเภอ ๙ ตำบล ได้แก่ อำเภอสามชุก หนองหญ้าไทร และเดิมบางนางบวช ศรีสะเกษ น้ำล้นสปริงเวย์เข้าท่วมในพื้นที่ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ ตาก น้ำท่วมในพื้นที่ ๖ อำเภอ ๓๙ ตำบล ๑เทศบาลนคร ๒๖๗ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๓๐,๓๓๒ ครัวเรือน ๑๐๐,๐๐๖ คน ได้แก่ อำเภออุ้งผาง พบพระ แม่สอด ท่าสองยาง แม่ละมาด และบ้านตาก สุรินทร์ น้ำท่วมในพื้นที่ ๗ อำเภอ ๓๓ ตำบล ๒๕๒ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๒๕,๔๒๒ ครัวเรือน ๙๖,๕๙๔ คน ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ สังขะ บัวเชด ศรีขรภูมิ ศรีณรงค์ ชุมลพบุรี และกาบเชิง บุรีรัมย์ น้ำท่วมในพื้นที่ ๑๑ อำเภอ ๖๒ ตำบล ๔๘๕ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๑๓,๒๗๕ ครัวเรือน ๕๑,๘๗๗ คน มีผู้เสียชีวิต ๔ คน ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ ได้แก่ อำเภอโนนดินแดง สตึก ปะคำ บ้านกรวด ประโคนชัย เฉลิมพระเกียรติ ละหารทราย นางรอง หนองหงส์ ลำปลายมาศ และชำนิ ขอนแก่น น้ำท่วมในพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูผาม่าน และบ้านไผ่

นอกจากนี้ ภาวะฝนตกหนัก ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมเส้นทางสายต่างๆ รวม ๑๓ สาย ดังนี้ นครราชสีมา ๗ สาย ได้แก่ สาย ๒ ปากช่อง-ชัยภูมิ อำเภอปากช่อง กม.๗๓-๙๕ สาย ๒๐๔ เลี่ยงเมืองนครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา กม.๔-๑๐ สาย ๒๐๕ ชัยภูมิ-โนนไทย อำเภอพระทองคำ กม.๓๙๖-๔๐๓ สาย ๒๒๔ ตอนหัวทะเล-โชคชัย-ครบุรี อำเภอเมืองนครราชสีมา กม.๐-๓๔ สาย ๒๒๖ นครราชสีมา-จักราช อำเภอจักรราช กม.๓-๓๔ สาย ๒๐๖๘ ทางเข้าอำเภอขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ กม.๑-๓ สาย๓๐๔ บ้านตะขบ-ปักธงชัย อำเภอปักธงชัยและอำเภอเมืองนครราชสีมา กม.๑๐๒-๑๓๓ สระแก้ว ๑ สาย ได้แก่ สาย ๓๓๖๖ ท่าข้าม-หนองเอี่ยน อำเภออรัญประเทศ ชัยภูมิ ๑ สาย ได้แก่ สาย ๒๐๓๗ ผักปัง-เกษตรสมบูรณ์-ชัยภูมิ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ กม. ๗-๓๕ นครสวรรค์ ๑ สาย ได้แก่ สาย ๑๑ ตากฟ้า-ไพศาลี อำเภอไพศาลี กม. ๒๐-๒๕ ลพบุรี ๒ สาย ได้แก่ สาย ๒๐๕ ฉลุงเหล็ก-โคกสำโรง-ลำนารายณ์-ลำสนธิ อำเภอโคกสำโรง กม.๑๙๐-๒๕๘ สาย ๒๐๕ บ้านหมี่-โคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง กม.๑๕-๑๖

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วม มือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งเรือท้องแบน ๑๖๑ ลำ รถผลิตน้ำ ๑๒ คัน รถบรรทุกน้ำ ๙ คัน รถบรรทุกขวดน้ำ ๑ คัน รถแบ๊คโฮ ๔ คัน รถไฟฟ้าส่องสว่าง ๔ คัน รถเครน ๒ คัน รถบรรทุก ๑๔ คัน รถบรรทุกติดปั่นจั่น ๒ คัน รถบรรทุกเทท้าย ๔ คัน รถกู้ภัย/ตรวจการณ์ ๒ คัน เต็นท์พักอาศัยชั่วคราว ๖๔ หลัง เครื่องสูบน้ำ ๑๕ เครื่อง กำลังพล ๑๑๓ นาย ยาสามัญประจำบ้าน ๑๙๐ ชุด และถุงยังชีพ ๒๘,๐๘๖ ถุง สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200
www.disaster.go.th

ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ด้านโพสต์ทูเดย์ดอทคอม ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากทั่วประเทศ สามารถแจ้งข้อมูลผู้ประสบภัย หรือร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ตามรายละเอียดดังนี้

แจ้งข้อมูลผู้ประสบภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สายด่วนโทร 1784 เว็บไซต์ www.disaster.go.th

ติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โทรศัพท์ 1669

กระทรวงสาธารณสุข ติดต่อสายด่วน โทรศัพท์ 1323 และ 1667 รับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

กรมอุตุนิยมวิทยา สายด่วนกรมอุตุนิยมวิทยา โทรศัพท์ 1182 เว็บไซต์ www.tmd.go.th

สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 022517853-6 ,022517614-5 ต่อ 1603
สน.ประชาชน ทีวีไทย รับแจ้งข้อมูลน้ำท่วม และร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย โทรศัพท์ 027911385-7

การรถไฟแห่งประเทศไทย สอบถามการเดินรถไฟได้ที่ โทรศัพท์ 1690

สายด่วนกรมทางหลวง โทรศัพท์ 1586 สอบถามข้อมูลน้ำท่วมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ศูนย์บริหารงานอุบัติภัย สำนักบริหารบำรุงทาง โทรศัพท์ 023546551
ตำรวจทางหลวง โทรศัพท์ 1193

ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โทร. 023546858
ศูนย์ กทม. ติดต่อขอความช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ได้ที่ โทรศัพท์ 1555 และ 022485115 ตลอด 24 ชั่วโมง

ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 044-342652-4 และ 044-342570-7
ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา โทรศัพท์ 086-251-2188 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ขบวนช่วยเหลือน้ำท่วมออกเรื่อย ๆ ขอรับบริจาคเน้นไปที่ น้ำ, ยาแก้ไข้, เสื้อ โทรศัพท์ 022417450-6

ศูนย์รับบริจาคสิ่งของโคราช บริจาคสิ่งของได้ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา บริจาคเงินได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 044-259-996-8 , 044-259-993-4  หรือโอนมาได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขานครราชสีมา บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.นครราชสีมา” เลขที่บัญชี 301-0-86149-4

ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลมีความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวด นมกล่อง และอาหารแห้ง รวมทั้งของใช้เบ็ดเตล็ดสำหรับผู้ป่วย เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ผ้าอนามัย เป็นจำนวนมาก ติดต่อ ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา โทรศัพท์ 086-251-2188 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขานครราชสีมา ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี "โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา" เลขที่บัญชี 301-3-40176-1

กรุงเทพมหานคร ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของได้ที่ศาลาว่า การกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) และที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โทร. 023546858

สภากาชาดไทย สามารถบริจาคเงินไปได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี "สภากาชาดไทยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" เลขที่บัญชี 045-3-04190-6 แล้วแฟ็กซ์ใบนำฝากพร้อมเขียนชื่อและที่อยู่มาที่ สำนักงานการคลัง สภากาชาดไทย ถึงหัวหน้าฝ่ายการเงิน หมายเลขโทรสาร 02-250-0120 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4066-8 สามารถไปบริจาคสิ่งของได้ที่ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย 1871 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ช่อง 3 ครอบครัวข่าวช่อง 3 ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม53 ชื่อบัญชี "ครอบครัวข่าว ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม53" บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 014-3-003-689 ธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 4 อาคารมาลีนนท์ สามารถพิมพ์ข้อความ namjaithai แล้วส่ง sms ไปที่หมายเลข 4567899 ได้ทั้งเครือข่าย AIS, DTAC ครั้งละ 10 บาท

ช่อง 5 ชื่อบัญชี "กองทัพบก โดยททบ.ช่วยภัยน้ำท่วม" บัญชี ธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า บัญชีออมทรัพย์ 021-2-69426-9 หรือสามารถส่งความช่วยเหลือได้ที่สถานีททบ.5

ช่อง 7 สามารถบ ริจาคเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสำนักเพลินจิต ชื่อบัญชี "7 สีช่วยชาวบ้าน" เลขที่บัญชี 001-9-13247-1 หรือสามารถส่งความช่วยเหลือได้ที่ สถานีโทรทัศน์ กองทัพบก ช่อง 7 ซ.พหลโยธิน 18/1

ช่อง 9 ศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ ที่โคราช รายการเช้าข่าวข้น+อสมท. สามารถนำไปให้ที่อสมท.เช่น อาหารแห้ง, เรือ, ผ้าอนามัย, ไฟฉาย โทรศัพท์ 02-2016000 สามารถบริจาคเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาอโศก ชื่อบัญชี "อสมท ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม" เลขที่บัญชี 015-0-12345-0 สอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 022450700-4

ช่อง 11 สื่อกลางรายงานสภาพอากาศ สถานการณ์อุทกภัย และเป็นจุดรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย ชื่อรายการ "ร่วมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม" บริจาคสิ่งของได้ที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถนนวิภาวดี-รังสิต เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-275-2053

ทีวีไทย ทีวีไทย ที่ตึกชินวัตร3 รับบริจาคสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งข้าวของเครื่องใช้ โทร 0-2791-1385-7, 0-2791-1113 บริจาคที่ บช.ออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ เทเวศร์ ชื่อบัญชี "เพื่อนพึ่งภาช่วยน้ำท่วม" เลขที่บัญชี 020-2-69333-2

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถไปบริจาคสิ่งของได้ที่ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคาร 4 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถบริจาคเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี "ชาว กฟภ. รวมใจช่วยผู้ประสบภัย" เลขที่บัญชี 073-1-09891-9 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 025909554, 025909559 และ 029509557

มูลนิธิกระจกเงา (สนง.กรุงเทพ)  8/12 ซ.วิภาวดี44  ถ.วิภาวดีรังสิต  แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 แผนที่ http://mirror.or.th/images/map2.jpg หรือร่วมสมทบทุนได้ที่ เลขที่บัญชี    000-0-01369-2 ชื่อบัญชี  มูลนิธิกระจกเงา   ธนาคารกรุงไทย  สาขานานาเหนือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 087-274-9769 (เอ) , 02-941-4194-5 ต่อ 102  (เอ,สุกี้)

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

ปภ. สรุปสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ (ThaiPR.net, 21-10-2553)
http://www.ryt9.com/s/prg/1010026

ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (โพสต์ทูเดย์, 20-10-2553)
http://bit.ly/bUYSIT

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เสนอรัฐปรับยุทธศาสตร์เข้ากับชีวิตคนจริง

Posted: 20 Oct 2010 12:27 PM PDT

เครือข่ายทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เสนอภาครัฐปรับร่าง-ยุทธศาสตร์แก้ไขเยาวชนท้องไม่พร้อมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้คุณแม่ยังสาวที่ท้องไม่พร้อมได้ไตร่ตรองทางเลือกที่สอดคล้องกับชีวิตของตัวเอง

สืบเนื่องจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อ ร่าง-ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ทั้งนี้เครือข่ายท้องไม่พร้อมฯ มีข้อเสนอให้ทบทวนร่าง-ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1.     ควรปรับต้นแบบการปฎิบัติการช่วยเหลือในหน้าสุดท้ายของยุทธศาสตร์นี้ โดยไม่ใช้หน่วยงานในสังกัดพม.เป็นศูนย์กลาง เพราะมีหน่วยงานช่วยเหลือส่งต่ออยู่แล้ว พม.ควรประเมินว่ารองรับเยาวชนท้องไม่พร้อมได้เท่าไร กรณีไหนบ้าง และจะเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่ทำอยู่แล้วอย่างไร พร้อมทั้งทำคู่มือให้ชัดเจน

2.     ควรรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆที่ทำงานด้านนี้ทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงภารกิจและพัฒนาบริการที่เหมาะสมและครบวงจร

3.     ควรมียุทธศาสตร์พัฒนาบ้านพักและสายด่วนช่วยเหลือให้ที่เพียงพอ มีบริการที่เป็นมิตร มีคุณภาพ ให้ผู้ประสบปัญหาเข้าถึงได้จริง

4.     ควรเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจปัญหาท้องไม่พร้อมโดยปราศจากอคติ ไม่ตีตราผู้ประสบปัญหาตามกระแสสังคม ปรับมุมมองต่อเยาวชนว่าไม่ใช่ผู้ก่อปัญหา แต่ควรเสริมพลังให้เยาวชนป้องกันและรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

5.     ไม่ควรจำกัดผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทำให้ละเลยผู้หญิงที่ประสบปัญหาในวัยอื่นๆได้ เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคนและทุกวัย

6.     ยุทธศาสตร์นี้ขาดเรื่องการปรึกษาทางเลือก (Option Counseling) ที่ให้เยาวชนที่ท้องไม่พร้อมได้ไตร่ตรองทางเลือกที่สอดคล้องกับชีวิตของตัวเอง เพราะทางออกเป็นไปได้ทั้งยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและการตั้งครรภ์ต่อ

7.     การทำงานตามยุทธศาสตร์ฯนี้ ควรเป็นการบูรณาการแนวราบ แต่ละหน่วยงานควรเสมอกัน สร้างการมีส่วนร่วม และปรับยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวงให้สอดคล้องแต่ไม่ซ้ำซ้อนกัน

อนึ่ง เครือข่ายทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมเป็นเครือข่ายขององค์กรภาครัฐและเอกชน มีภารกิจทำงานครอบคลุมทุกมิติชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด การปรึกษาทางเลือก การดูแลผู้หญิงที่ตัดสินใจท้องต่อตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลังคลอด และการดูแลแม่และเด็กในระยะยาว รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเด็กเป็นหลัก

 

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://choicesforum.wordpress.com

หรือที่ กานต์รวี ดาวเรือง ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ 082-4508514

เมทินี พงษ์เวช บ้านพักฉุกเฉิน 081-7501399   

ทัศนัย ขันตยาภรณ์ องค์การแพธ 081-6675254

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อสังเกตุ: วิธีคิดเชิงซ้อนและการเคลื่อนไหวทางสังคม

Posted: 20 Oct 2010 12:16 PM PDT

 

“วิธีคิดเชิงซ้อน” กลายเป็นวิธีคิด เป็นองค์ความรู้ ที่นำมาสู่การอธิบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญในแวดวงวิชาการและแวดวงการเคลื่อนไหวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กับ “วิธีคิดเชิงเดี่ยว” ของรัฐซึ่งครอบงำสังคมไทยอยู่มาเป็นเวลานาน โดยมีอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ “วิธีคิดเชิงซ้อน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า “วิธีคิดเชิงซ้อน”นั้น สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์สังคมไทยในหลายด้านมิเพียงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น และที่ผ่านมาก็มีการปรับใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย ซึ่งมีผู้เขียนขอนำเสนอข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

ประเด็นที่ที่หนึ่ง ความสำคัญของความรู้วิชาการของ “วิธีคิดเชิงซ้อน” ที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิเชิงซ้อน” ในการจัดการทรัพยากรที่ดินนั้น โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งมีข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบว่า กรณีการต่อสู้เรื่องที่ดิน การคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ช่วงปี พ.ศ.2535 ที่ภาคอีสาน และกรณีการคัดค้านการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ ปี พ.ศ.2537 ตลอดทั้งกรณีการยึดที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์ภาคเหนือ ปี พ.ศ.2542 นั้นมีวิธีคิดและการจัดการที่ดินที่แตกต่างกันของขบวนการต่อสู้ที่ดินทั้งสองภาค

กล่าวคือ ขบวนการต่อสู้คัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อโทรม (คจก.) ในพื้นที่ภาคอีสาน หรือรู้จักกันว่า เป็นนโยบาย “ไล่คนออกจากป่า” ได้เคลื่อนไหวต่อสู้ตั้งแต่ยุคสมัยเรืองอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐบาลนำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร และได้ยุติโครงการสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์ขับไล่อำนาจเผด็จการทหาร ทำให้มวลสมาชิกที่เคยร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการ คจก. กลับมาทำมาหากินตามปกติ และมีการสนับสนุนกิจกรรมต่างขององค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก การจัดการป่าชุมชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การจัดที่ดินของกลุ่มมวลสมาชิกของขบวนการต่อสู้คัดค้านโครงการคจก.ภาคอีสานนั้น ยังคงเน้นรูปแบบ การจัดการที่ดินเชิงเดี่ยว คือการเรียกร้องให้รัฐมีการรับรองสิทธิ์ของชาวบ้านแบบกรรมสิทธิ์เอกชน หรือให้ความสำคัญกับสิทธิในการแสดงความเป็นเจ้าของมากกว่าสิทธิการใช้ หรือให้อำนาจการจัดการที่ดินแก่ปัจเจกชนเป็นหลักมากกว่าหลักการมีส่วนร่วมกำกับควบคุมของกลุ่มหรือชุมชน หรือให้อำนาจการตัดสินใจในการจัดการที่ดินอยู่ที่เจ้าของที่ดินอย่างเบ็ดเสร็จ เช่น สามารถขายที่ดินให้ใครก็ได้โดยไม่จำเป็นว่าเมื่อที่ดินหลุดมือไปแล้วจะมีผลกระทบต่อกลุ่มหรือชุมชนรอบข้างอย่างไร ผู้ซื้อที่ดินอาจจะใช้พื้นที่ดินนั้นสร้างบ่อขยะ ทำรีสอร์ตสร้างสนามกอฟล์ที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งในเวลาต่อมามีการสำรวจพบว่า ที่ดินของมวลสมาชิก(ส่วนใหญ่เป็นเกษตรรายย่อย) ที่เคยได้ร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการ คจก. ได้ถูกเปลี่ยนมือไปยังนายทุนจำนวนไม่น้อย ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรกรรายย่อยต้องเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และการหนี้สินล้นพ้นตัว กล่าวอีกด้านหนึ่งได้ว่า การจัดการที่ดินรูปแบบนี้มีความเปาะบางที่นำสู่ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินในที่สุด

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเรื่องที่ดินของภาคเหนือนั้น ได้รับอิทธิพลของความรู้ “วิธีคิดเชิงซ้อน” จึงทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนในระหว่างการมีปฏิบัติการณ์ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน และได้ให้ความสำคัญกับ “การจัดการที่ดินเชิงซ้อน” มีรูปธรรมคือ “โฉนดที่ดินชุมชน”

การจัดการที่ดินเชิงซ้อนนั้น เน้นหลักการสิทธิการใช้ ไม่เน้นให้ปัจเจกชนเป็นเจ้าของที่ดินแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์เอกชน ใครไม่ใช้พื้นที่ผืนนั้นคนอื่นในกลุ่มสามารถใช้แรงงานเข้าทำประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นได้ มีกฎระเบียบการจัดการที่ดินของกลุ่ม เช่น ห้ามขายที่ดินให้บุคคลภายนอก ชุมชนทำหน้าที่ควบคุมการจัดการที่ดิน ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้มีความมั่นคงในการถือครองที่ดินได้อย่างรอบด้านกว่าในเชิงเปรียบเทียบกับการจัดการที่ดินแบบเชิงเดี่ยว และนำสู่การพัฒนากลุ่มในด้านอื่นๆด้วย เช่น การทำเกษตรกรรมอินทรีย์ การสร้างตลาดทางเลือก การสร้างแบ่งแปลงเกษตรเป็นของส่วนรวม ฯลฯ

แต่ก็ไม่ลักษณะรวมหมู่สุดโด่งเหมือนเช่นแนวคิดซ้ายจัดสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ที่มีการบังคับเกณฑ์แรงงานให้ทำนารวม หรือแนวคิดของพอลพต ผู้นำเขมรแดง ที่มีการบังคับให้คนในเมือง ปัญญาชน ใช้แรงงานทำนารวม ที่มีแนวคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นของส่วนรวม

ประเด็นที่สอง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานพัฒนา ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ภายใต้คำขวัญ“คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ซึ่งแนวคิดนี้ขาดการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบทความเป็นจริงที่สังคมชนบทนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ทำให้การเสนอทางออกต่อสังคมชนบท “แบบพึ่งตนเอง” หรือ “แบบพอเพียง” ลักษณะต้อง “ขูดรีดตนเอง”ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นธรรมในสังคมไทย

ข้ออ่อนของข้อเสนอเหล่านี้คือการมองข้ามความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสังคมชนบทกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมชนบทแล้ว ยังทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะเท่าที่ควร

ที่สำคัญ ทุกปัญหาของคนจนในชุมชนท้องถิ่นล้วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมที่ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งมิเพียงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น รวมถึงการจัดการทรัพยากรทุกส่วนด้วย เช่น งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น และความบกพร่องทางโครงสร้างนั้นเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ช่องว่างทางชนชั้น ความไม่เสมอภาค ความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้านำ ”วิธีคิดเชิงซ้อน” มาทำความเข้าใจสภาพการดำรงอยู่ของภาคชนบท จะมองเห็นถึง พลวัตรของสังคมชนบท และการเชื่อมโยงระหว่าง “ชนบท” กับ “เมือง” ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน จะเห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาสังคมชนบทที่มีมากไปกว่าเรื่องการไร้สิทธิหรือการถูกละเมิดสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และทั้งยังจะมองเห็นถึงการซ้อนทับของอำนาจต่าง ๆ ผ่านผู้กระทำการที่มีทั้งคนในและคนนอก และทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาอย่างมากคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในการจัดการแรงงาน ในปัจจุบันนี้ การจัดการแรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยมีภาคชนบทเป็นแหล่งแรงงานสำคัญ ขณะที่คนในชนบทเองรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยในทุกวันนี้ไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรหรือพึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติเพียงลำพังอีกต่อไป แต่มียุทธวิธีในการดำรงชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการทำงานรับจ้างทั้งในและนอกภาคการเกษตร

เมื่อพิจารณาในประเด็นแรงงาน จะเห็นแรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรนั้นถูกเอารับเอาเปรียบอย่างมาก เช่น กรณีเกษตรกรรายย่อยที่ต้องรับจ้างบนที่ดินของตนเองภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาโดยไม่มีอำนาจใดๆในการจัดการการผลิตในที่ดินของตนเองเปรียบเสมือนแรงงานรับจ้าง กรณีคนงานรับจ้างทำงานผ่านระบบแบบเหมาช่วงด้วยรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ทำให้นายจ้างสามารถหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงานที่ให้การคุ้มครองแรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้างและการจัดสวัสดิการ มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพเมื่อต้องเผชิญอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย กรณีคนงานในโรงงานที่จำยอมแบบถูกบังคับให้ทำงานมากกว่าแปดชั่วโมงต่อหนึ่งวัน เนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้จึงต้องทำงานผ่านโดยระบบโอที

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเรานำ “วิธีคิดเชิงซ้อน” มาอธิบายเกี่ยวพันกับ”การมีส่วนร่วม” และ” การต่อรอง” ของคนงานในเมืองทั้งในรูปแบบสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการของคนงาน เราจะพบว่า การเคลื่อนไหวของคนงานเพื่อขอแบ่งปันกำไรจากนายจ้าง และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้นต่อคนงาน เช่น เรื่องค่าจ้าง เรื่องสุขภาพความปลอดภัย เพื่อเรื่องสวัสดิการคนงาน ฯลฯ และการต้องการมีส่วนร่วมในระบบการผลิตและระบบการจัดการ เช่น การกำหนดเวลาวันหยุดงาน การกำหนดแผนงานการผลิตฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง เท่ากับว่าคนงานไม่ยอมรับ “การจัดการเชิงเดี่ยว” ของนายจ้างด้วยเช่นกันที่มักเน้น อำนาจระบบสั่งการตามสายบังคับบัญชา กำหนดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตเพียงผู้เดียว

ประเด็นที่สาม ความสำเร็จระดับหนึ่งในการผลิตวาทกรรม “ป่าชุมชน” ซึ่งนับเป็นรูปธรรมหนึ่งของการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ระบบ “สิทธิเชิงซ้อน” จนกระทั่งนักการเมือง พรรคการเมือง และระบบราชการต่างขานรับและเห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายป่าชุมชน

ทว่ากฎหมายป่าชุมชนที่กำลังจะออกมาบังคับใช้นั้นกลับบิดเบือนสาระของป่าชุมชนอย่างสิ้นเชิง อำนาจในการจัดการป่ายังรวมศูนย์อยู่ที่ระบบราชการ และยังเน้นการกีดกันสิทธิของชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งหมายความว่าวาทกรรมป่าชุมชนที่ถูกผลิตขึ้น รวมถึงวาทกรรมอื่น ๆ สามารถที่จะถูกรัฐบิดเบือน แปรเปลี่ยนเจตนารมณ์และความหมายไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ตลอดเวลา

คำถามชวนสงสัยของผู้เขียนก็คือว่า เพียงการผลิตวาทกรรมในการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปฏิบัติทางวาทกรรมเป็นจริงมีรูปธรรมและกฎหมายรองรับได้ เมื่ออำนาจในการออกกฎหมายยังถูกครอบงำจากรัฐและทุนอยู่ตลอดกาล ท่ามกลางที่พลังภาคประชาชนไม่มีอำนาจกดดันได้อย่างเข้มข้น และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับภาคประชาชนยังมีช่องว่างห่างเหินอย่างที่เป็นอยู่ โดยรัฐมีความลำเอียงเคียงข้างราชการและกลุ่มทุนมากกว่า ดังนั้นการมีอำนาจรัฐที่ฟังเสียงประชาชน มีจุดยืนเคียงข้างประชาชนอาจจะสำคัญไม่น้อยในการผลักดันมิให้วาทกรรมภาคประชาชนผันแปรไป

ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองเปรียบเทียบกับรัฐที่มิใช่อำนาจทุนหรือระบบราชการครองอำนาจนำ เช่น ประเทศเวเนซูเอล่า ที่มีประธานาธิบดีฮูโก เชเวซ ผู้ประกาศสร้างประเทศสู่แผนสังคมนิยมใหม่ นั้น จะเห็นได้ว่าการผลักดันนโยบายที่สำคัญสำหรับคนยากจนสามารถเกิดขึ้นได้จริง และมิเพียงเป็นวาทกรรมเท่านั้นแต่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงด้วย

รัฐเวเนซูเอล่านั้น มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าด้วยสิทธิของชุมชน และในทางปฏิบัติสิทธิชุมชนนี้เกิดรูปธรรม ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมการจัดการที่ดินโยชุมชนอย่างจริงจัง สนับสนุนให้คนไร้ที่ดินรวมกลุ่มกัน มีส่วนร่วมในการปฏิรูปที่ดินโดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริม

ใช่หรือไม่ว่า? บทบาทหลักของรัฐ จุดยืนที่รัฐเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนจน ย่อมสำคัญในการผลักดันวาทกรรมที่ก้าวหน้า ให้ปรากฏเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วยเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย หลักสำคัญของ “วิธีคิดเชิงซ้อน” มิใช่เพียงการนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่เป็นหลักที่ควรจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรประชาชนและขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยเช่นกัน

หัวใจสำคัญของวิธีคิดเชิงซ้อน คือการมีส่วนร่วมของคนหลายฝ่าย ซึ่งองค์กรและการเคลื่อนไหวที่มีพลังและเข้มแข็งนั้นจะต้องมีแกนนำรวมหมู่ มวลสมาชิกมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน มีการจัดความสัมพันธ์ในองค์กรเคลื่อนไหวอย่างเสมอภาคระหว่างผู้ปฏิบัติงาน แกนนำ กับสมาชิก มีกฎกติกา ระเบียบร่วมกัน มีการระดมความคิดเห็นอย่างเสมอหน้ามิใช่เป็นเพียงเรื่องของผู้นำไม่กี่คน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม หรือมีประชาธิปไตยภายในองค์กร มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กร รูปธรรมเช่น ขบวนการชาวนาไร้ที่ดินแบบ MST ประเทศบราซิล เป็นขบวนการยึดที่ดินของคนไร้ที่ดิน และมีจัดการที่ดิน และจัดการองค์กรแบบเชิงซ้อน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีวิธีคิดเชิงเดี่ยว การเคลื่อนไหวเชิงเดี่ยวจะเน้นระบบสั่งการ นำเดี่ยว ไม่มีผู้นำรวมหมู่ ให้ความสำคัญกับกระบวนการล็อบบี้ ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่เข้มแข็งในอนาคตเนื่องจากสมาชิกไม่มีส่วนร่วม กลายเป็นเรื่องของผู้นำ เป็นเรื่องของเอ็นจีโอ หรือกลายพันธุ์เป็นองค์แบบราชการ นั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียน ได้นำเสนอถึงข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “วิธีคิดเชิงซ้อน” ที่มีการนำมาอธิบาย หรือปรับใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมในแวดวงขององค์กรพัฒนาเอกชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน การหยิบฉวยใช้ที่อาจจะหลายหลากเข้าใจแตกต่างกันไป ภายใต้การตีความหมาย “วิธีคิดเชิงซ้อน” ของผู้เขียนเอง เพื่อเปิดประเด็นถกเถียงในแวดงวงต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ช.การช่าง คาดต้นปีหน้า เซ็นสัญญาสร้างเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 20 Oct 2010 11:04 AM PDT

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ช.การช่าง คาดเซ็นสัญญาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ต้นปีหน้า สำหรับโครงการน้ำงึม 2 อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า คาดว่าเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเดินเครื่องได้ ขณะเอ็นจีโอออกโรงค้าน ส่วนวุฒิสภาจัดหารือความจำเป็น ผลประโยชน์ และผลกระทบ นำเสนอข้อมูลโครงการ

 
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.53 ข่าวหุ้น รายงานความคืบหน้าโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี ที่จะมีการก่อสร้างในประเทศลาวว่า นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.54 รวมทั้งจะเซ็นสัญญาเงินกู้ราว 8 หมื่นล้านบาท จาก 4 สถาบันการเงินใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนในโครงการฯ โดยสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB)
 
โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าการก่อสร้างราว 1.7-1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณ 6 พันกิกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี (GWh/year) ทั้งนี้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CK เป็นผู้ได้สัมปทานในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากประเทศลาว ในโครงการดังกล่าว
 
นายปลิว กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจราว 4-5 ราย เพื่อเข้ามาร่วมถือหุ้น ในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมีผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของ CK ตั้งเป้าจะถือหุ้นประมาณ 30%
 
สำหรับโครงการน้ำงึม 2 อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า คาดว่าเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเดินเครื่องได้ ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน มี.ค.54
 
ขณะที่ในวันเดียวกันคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้จัดโครงการปรึกษาหารือ เรื่อง “เขื่อนไซยะบุรี: ความจำเป็น ผลประโยชน์ และผลกระทบ?” เพื่อการนำเสนอข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรีได้อย่างรอบด้าน และให้สาธารณชนได้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลต่อผลการศึกษาของผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ในแม่น้ำโขง
 
เนื่องจากมีความเห็นที่ว่า บันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการอนุมัติที่ยังขาดความโปร่งใส ขาดหลักการธรรมาภิบาล ประเทศไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า สมควรที่จะต้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในไทยมีสิทธิรับรู้ถึงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมของโครงการนี้ รวมทั้งมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม 
 
นอกจากนี้การศึกษาด้านผลกระทบต่างๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ด้านท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วยเช่นกันนั้น ยังไม่ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด อาทิ ผลกระทบต่อการอพยพขึ้นไปผสมพันธุ์และวางไข่ของปลาบึก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธ์ ผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาชนิดอื่นๆ ประมาณ 262 สายพันธุ์ ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาประมาณ 40 แห่ง ผลกระทบต่อการสะสมของตะกอนในวังน้ำลึกและแก่งต่างๆ ด้านท้ายน้ำลงมาจนถึงจังหวัดหนองคาย 
 
ในส่วนของโครงการนี้จะมีการประมวลข้อมูลและสภาพปัญหาของโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้ดำเนินการต่อ รวมทั้งประสานงานองค์กรสมาชิกและเครือข่าย โดยจะจัดทำสรุปข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ตุ.ค.ที่ผ่านมา พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง นายเจเรมี เบิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 ขอเรียกร้องให้ระงับกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) และยกเลิกโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งกำลังเป็นประเด็นรณรงค์เพื่อให้หยุดโครงการ โดยกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขง และระดับนานาชาติอยู่ในขณะนี้ จากหลักฐานมากมายจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง แสดงให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรี จะเป็นโครงการที่สร้างความเสียหายร้ายแรง และไม่สมควรจะให้เดินหน้าต่อไป
 
 
 
ลำดับเหตุการณ์
 
4 พฤษภาคม 2550         รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กับบริษัท.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 11 โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง
 
พฤศจิกายน 2551          รัฐบาล สปป.ลาวและบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)ได้ลงนามในข้อตกลงในการพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยข้อตกลงระบุว่าจะทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 ปี ปัจจุบันบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัทไฟฟ้า ไซยะบุรี จำกัด (Xayaburi Power Company Limited (XPCL) ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 800 ล้านบาท โดยบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวร้อยละ 100 เพื่อให้เป็นบริษัทสำหรับการลงนามในการรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นบริษัทที่ทำสัญญาสัมปทาน กับรัฐบาล สปป.ลาว
 
โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) สามารถบรรลุความตกลงเบื้องต้นกับธนาคาร 4 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการปล่อยเงินกู้ร่วมมูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านบาท ให้กับโครงการไซยะบุรี
 
12 มีนาคม 2553           คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไปร่วมลงนามกับผู้ลงทุน คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ และมีสัญญาผูกพัน 29 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และ สปป.ลาว
 
 
23 มีนาคม 2553           คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี อันเป็นผลเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553
 
5 กรกฎาคม 2553         การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี กับบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับปริมาณไฟฟ้าที่ขายเฉลี่ย 1,220 เมกะวัตต์ และราคาค่าไฟเฉลี่ย (Levelized tariff) จะเท่ากับ 2.159 บาท/หน่วย (KWh) โดย MOU จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 18 เดือนนับแต่วันลงนามหรือจนกว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ (Power Purchase Agreement) แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน
           
22 กันยายน 2553               รัฐบาล สปป.ลาวได้ส่งโครงการเขื่อนไซยะบุรีไปยังสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการ Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement(PNPCA) ตามที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน” (ข้อตกลงแม่น้ำโขง) ปี 2538
 
 
 
 
เขื่อนไซยะบุรี
 
รวบรวมโดย โครงการนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
ตุลาคม 2553
 
 
 
เขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี เป็นหนึ่งใน 11 โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี ภาคเหนือของลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแรกทีมีการยื่นขอใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง [PNPCA] (ดูข้อมูลในเอกสารเรื่อง PNPCA) ที่กำลังเป็นประเด็นการรณรงค์ของเครือข่ายภาคประชาสังคมในหลายประเทศ รวมทั้ง
 
•   เครือข่ายพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่รวมทั้งองค์กรระดับสากล (โดยเฉพาะในประเทศผู้ให้ทุนกับรัฐบาลแม่น้ำโขง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง [MRC]) ระดับภูมิภาค และองค์กรในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำการรณรงค์โดยการรวบรวมรายชื่อโดยการลงชื่อในโปสการ์ดเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักมาตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงบัดนี้ได้มากกว่า 23,000 รายชื่อ และได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และยื่นโดยตรงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว (รายละเอียดเพิ่มเติม ดูที่ www.savethemekong.org)
 
•   เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ก่อตั้งในปี 2551 มีสมาชิกจากองค์กรภาคประชาชนไทยประมาณ 50 องค์กร และเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรประชาชนทั้งในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีชุมชนริมน้ำ ซึ่งมีประชาชนประมาณ 24,000 คนจาก 5 จังหวัดริมแม่น้ำโขงของประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเครือข่ายทั้งสอง ได้ยื่นจดหมาย 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 กันยายน เพื่อร่วมกันเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ระงับโครงการเขื่อนไซยะบุรี
 
•   เครือข่ายอื่น ๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรอนุรักษ์ฯ เช่นกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) หรือกลุ่มนักวิชาการ เช่นศูนย์ข้อมูลแม่น้ำโขงออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (AMRC)
 
•   บุคคลในรัฐบาลของประเทศผู้ให้ทุนต่อภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่นล่าสุดวุฒิสมาชิกจิม เวปป์ของสหรัฐอเมริกา ที่มีความเห็นแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เขื่อนบนแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 สืบเนื่องมาจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอเมริกาซึ่งกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคแม่น้ำโขงอีกครั้ง หลังจากการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลบารัค โอบามา
 
 
ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ประเด็นวิพากษ์จากกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวมาเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี มีเนื้อหาที่พอสรุปได้โดยย่อดังนี้
 
 
•   มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติของไทยขาดความโปร่งใส และขัดต่อหลักธรรมมาภิบาล เพราะการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี ทำไปโดยที่ยังไม่มีการเปิดเผยผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลถึงไทยซึ่งเป็นประเทศท้ายน้ำ (แม่น้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดเลยของไทย เป็นจุดที่อยู่ห่างจากจุดที่เสนอให้เป็นตัวเขื่อนเพียง 200 กิโลเมตร) และในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า การตัดสินใจรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของรัฐบาลไทย เป็นเพียงการตัดสินใจเฉพาะภาคการเมืองกับหน่วยงานของรัฐ แต่ละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และประชาชน
 
•   ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีอาจไม่จำเป็น ยังไม่ชัดเจนว่า ไฟฟ้าจากเขื่อนนี้มีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 25 และการประเมินความต้องการไฟฟ้าของไทยยังมีประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งอยู่อีกมาก
 
•   เขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีประมงและระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยรวม เนื่องจากขัดขวางเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขง ซึ่งชุมชนริมน้ำโขงใช้เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติในการหาอยู่หากินมาโดยตลอด รวมถึงปลาบึกและโลมาอิระวดี จากการศึกษาที่เสนอในที่ประชุมที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ระบุว่า ยังไม่มีเทคโนโลยีใดในปัจจุบันที่จะช่วยให้ปลาจำนวนมหาศาลและหลากหลายชนิดในแม่น้ำโขงยังคงอพยพต่อไปได้เหมือนที่เป็นมาหลังการสร้างเขื่อน
 
•   ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและพื้นที่ริมตลิ่งเหนือสันเขื่อนจะถูกน้ำท่วมยาว 90 กิโลเมตร ปัญหาของระดับการไหลของแม่น้ำแปรปรวนซับซ้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ต่อประเทศท้ายน้ำทั้งหมดลงไปจนถึงเวียดนาม
 
•   ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หากสร้างเขื่อนไซยะบุรี ผลผลิตทางการประมงแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีมูลค่าถึง 7 พันล้านเหรียญต่อปี จะได้รับผลกระทบทันที และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหลาย สามารถจะทำให้มูลค่าการประมงทั้งหมดลดได้ถึงร้อยละ 70 หากมีการสร้างจริง
 
•   เขื่อนไซยะบุรีจะปิดกั้นการเกิดตะกอนและแร่ธาตุที่สร้างให้เกิดปากแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชอาหารถึงร้อยละ 50 ของประเทศเวียดนาม ในการประชุมแผนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Plan) ซึ่งนำไปสู่การประเมินเกี่ยวกับเขื่อนที่เสนอสร้างบนลำน้ำโขงสายหลัก ประเมินผลกระทบทางลบในเรื่องระบบนิเวศและการไหลของตะกอนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่จะมาจากเขื่อนที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของลาว รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรียังต่ำกว่าความเป็นจริง
 
•   ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและความเดือดร้อนของชาวบ้านหลังมีการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนในปี 2536 เป็นต้นมา รวมทั้งการที่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงผันผวนผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี จะเป็นการสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนต่อไปอย่างไม่จบสิ้น และจะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านริมโขงให้สาหัสยิ่งขึ้นไปอีก
 
•   กระบวนการเพื่อนำไปสู่การผลักดันการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เป็นสิ่งท้าทาย และคำถามใหญ่ต่อความสามารถของทั้งประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และบทบาทหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ MRC เนื่องจากที่ผ่านมา มีการทำการศึกษาเพื่อการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment [SEA]) โดยทาง MRC เอง แต่ผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะเป็นอันตรายใหญ่หลวง กลับถูกละเลย และมีการพยายามใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) เข้ามาแทน
 
•   การทำแผนลุ่มน้ำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากนานาประเทศในขณะนี้ โน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้าง และอีก 26 เขื่อนที่เตรียมจะสร้างในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง อีกทั้ง 30 เขื่อนในลำน้ำสาขาที่วางแผนจะสร้างในอีก 20 ปีข้างหน้า และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก 11 เขื่อน ซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อย 6 เขื่อนจะสร้างโดยมีผลกระทบที่ “พอจะรับได้”
•   คำถามต่อประเทศผู้ให้ทุนต่อประเทศลุ่มน้ำโขง และให้ทุนต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คือประเทศเหล่านั้นต้องการหรือไม่ ทีจะสนับสนุนโครงการที่จะทำลายความมั่นคงทางอาหารจากผลผลิตการประมงของประชาชนจำนวน 60 ล้านคนในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่ายากจนนี้
 
•   รัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงจะต้องพูดถึงประเด็นเขื่อนให้ชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะสร้างความเสียหายข้ามพรมแดนให้กับทุกประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศจากการแย่งชิงทรัพยากรให้รวดเร็ว และหนักหน่วงขึ้น
 
 
 
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment [SEA]) และกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) กับแผนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอื่นๆ
 
รวบรวมโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
ตุลาคม 2553
 
สำหรับผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission [MRC]) ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ควรให้ความสนใจของกระบวนการ 2 กระบวนการที่เกิดขึ้นในเวลาที่ต่อเนื่องกัน คือ
 
1) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment [SEA]) ซึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์เชิงระบบเพื่อการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากแผนการต่าง ๆ เป็นการประเมินที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนในทางสิ่งแวดล้อม โดยประเมินผลกระทบทั้งในแง่บวก และแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และเพื่อนำไปสู่ทางเลือกต่างๆ รวมทั้งการเลือกที่จะไม่ทำแผนการนั้น ๆ และประเมินการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระบวนการ SEA นี้แรกใช้ในอเมริกา ต่อมาที่ยุโรป และถูกใช้ประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ทำแผนการและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
 
กระบวนการ SEA ถูกนำมาใช้เป็นกระบวนการภายใต้แผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (Basin Development Plan) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 11 เขื่อน โดยมีการประเมินในประเด็นหลายประเด็น ที่สำคัญคือประเด็นผลกระทบกับการประมงในแม่น้ำโขง โดยเน้นคำถามที่ว่าเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความหลากหลายทางชีวภาพของปลา รูปแบบการอพยพของปลา และจำนวนปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงมากน้อยอย่างไร นอกนั้นยังประเมินในด้านพลังงาน เศรษฐกิจ การไหลของน้ำและตะกอน ระบบพื้นผิวโลก ระบบน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเริ่มทำการศึกษามาตั้งเดือนพฤษภาคม 2552 โดยการจ้างทีมที่ปรึกษา และใช้งบประมาณก้อนใหญ่จากประเทศผู้ให้ทุนของ MRC
 
โดยหลักการแล้ว MRC จัดทำการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) นี้ขึ้น เพื่อ ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับประเทศสมาชิก ก่อนที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายจะเข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำหากต้องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศของตน ตามข้อตกลงการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนปี 2538 อย่างไรก็ตาม ผลการประเมิน SEA ซึ่งมีการเสนอในที่ประชุมที่จัดขึ้นโดย MRC ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2553 ได้แสดงให้เห็นผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบในด้านประมงที่เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ รวมทั้งในเชิงรายได้ทางการประมง และผลประโยชน์จากเขื่อน ที่ส่วนใหญ่จะไปยังบริษัทสร้างเขื่อนและรัฐบาล โดยที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า ในแต่ละประเทศ ผลประโยชน์ที่ได้จะกลับไปสู่ประชาชนที่ยากจนมากน้อยเพียงไร ในขณะที่ผลกระทบทั้งหลาย จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง และในทันที ข้อสรุปดังกล่าว ยังผลให้ตัวแทนจากประเทศไทยและเวียดนามซึ่งพูดคุยกันในกลุ่มย่อยที่แยกตามประเทศในที่ประชุมดังกล่าว เลือกที่จะมีความเห็นให้ระงับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก หรือให้เลื่อนการปรึกษาหารือไปอีก 10 ปี ในขณะที่ลาวเสนอให้ทะยอยสร้างทีละเขื่อน และตัวแทนจากกัมพูชา งดออกความเห็น
 
ความสำคัญของผลการประเมิน SEA คือข้อมูลทางวิชาการที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่หนักหน่วงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งทำให้มีกลุ่มนักวิชาการ และองค์กรอนุรักษ์ ติดตามและให้ความสำคัญกับการรณรงค์ในประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักมากขึ้น นอกจากกลุ่มภาคประชาชนที่ทำการรณรงค์อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่องค์กรภาคประชาชนมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือนอกจากรายงานสุดท้ายของกระบวนการ SEA ยังไม่เสร็จสิ้น และข้อมูลดังกล่าว จะยังไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบโดยทั่วกัน หรือมีความเห็นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ในขณะนี้ กลับมีการเสนอการสร้างเขื่อนโดยใช้กระบวนการ แจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) โดยรัฐบาลลาวแทรกขึ้นมาในช่วงปลายเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมาอย่างกระทันหัน
 
2. กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2538 เป็นระเบียบปฏิบัติว่า ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ผ่านทางสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศใด ๆ มีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ ถือเป็นกลไกที่เป็นทางการที่จะช่วยประเทศสมาชิกของ MRC ในการนำเสนอโครงการแต่ละโครงการให้ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาค (โดยอาจจะตั้งกรรมการร่วม หรือทำงานเป็นรายประเทศ) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้จะมีการใช้กระบวนการ PNPCA ในโครงการเขื่อนในน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมาแล้ว แต่เป็นเพียงแต่การแจ้งให้ทราบ ส่วนการหารือล่วงหน้าและการมีข้อตกลงร่วมกัน อย่าเต็มกระบวนการในกรณีเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก เขื่อนไซยะบุรีนี้เป็นโครงการแรกที่มีการเริ่มต้นใช้กลไกนี้
 
กลุ่มภาคประชาสังคมกำลังมีข้อสงสัยในกระบวนการ PNPCA ที่นอกจากจะปฏิบัติโดยเร่งร้อน และไม่สอดคล้องกับกระบวนการนำข้อประเมิน SEA มาพิจารณาอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยให้ประชาชนของตนเองมีส่วนร่วม อีกทั้งการที่ทางสำนักงานเลขาธิการ MRC ละเลยต่อการให้ข้อมูลที่จำเป็นในกระบวนการต่อเนื่องดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ชวนให้สงสัยว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกระบวนการทั้งหมด คือการดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การสร้างเขื่อน มากกว่าการพยายามหาข้อวินิจฉัยถึงความน่าจะสร้างของเขื่อนที่แท้จริง และตรงไปตรงมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ก็อาจจะถือว่าได้หมดความชอบธรรมในการทำภาระบทบาทของตน ในการอำนวยให้การใช้แม่น้ำโขงเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมในหมู่ประเทศสมาชิกตามที่ประกาศไว้ในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2538 และยิ่งจะเป็นที่สงสัยว่า ประเทศต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง จะมีแนวทางร่วมกันได้อย่างไร ในการใช้แม่น้ำโขง ซึ่งประชาชน 60 ล้านคนได้พึ่งพาอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากหิวโหย และความขัดแย้งข้ามพรมแดน
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: (2) โครงสร้างผู้พิพากษา..อิสระ?

Posted: 20 Oct 2010 10:57 AM PDT

 
ชื่อบทความเดิม: ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ; ตอนที่ 2 โครงสร้างผู้พิพากษา : อิสระ?
 
 
อย่างที่กล่าวแล้ว คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบผู้พิพากษาต้องจบเนติ การที่หลักสูตรเนติใช้แนวฎีกาในการตีความกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการยัดเยียดความคิด? ปิดกั้นความคิดของนักศึกษาเนติไม่ให้มีความเห็นต่างจากผู้พิพากษา?
 
ในส่วนการสอบคัดเลือกเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ไม่ได้ใช้ธงคำตอบเช่นเดียวกับเนติ?
 
คุณสมบัติอื่นขอผู้มีสิทธิ์สมัครสอบ คือ นิติกร กลุ่มอาชีพนี้ที่สอบคัดเลือกผ่านมากที่สุด คือ นิติกรของกรมบังคับคดี(เคยได้ยินมาเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันไม่ทราบ) สำหรับกลุ่มทนายความ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นถึงการเก็บคดี
 
การเก็บคดีก็คือ หลังจบปริญญาตรีกฎหมายแล้วก็ลงทะเบียนเรียนเนติ พร้อมกับสมัครสอบใบอนุญาตทนายความ ซึ่งอาจทำหลายอย่างพร้อมกันหรือทีละอย่างก็ได้ แต่เมื่อจบเนติและมีใบอนุญาตทนายความแล้ว ก็ต้องรอเวลา 2 ปี ระหว่างนี้ก็ไปที่ศาล โดยเฉพาะศาลแขวงในกรุงเทพฯในตอนเช้าวันจันทร์ที่มีคดีนัดครั้งแรกจำนวนมาก หรือศาลแพ่งในแผนกคดีตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อขอให้แต่งเข้าเป็นทนายร่วมในคดีฝ่ายเดียว (คดีที่จำเลยไม่มาศาล หรือคดีตั้งผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน=คดีฝ่ายเดียว) และให้ผู้พิพากษาเซ็นต์รับรองการว่าความ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบ
 
การเก็บคดีเป็นวิธีการให้ได้เอกสารรับรองการผ่านงานโดยไม่ได้ทำงานจริง ซึ่งผู้พิพากษาที่เซ็นต์ให้ต่างก็รู้ทุกคน แต่ก็เซ็นต์ให้เป็นส่วนใหญ่ (มีน้อยมากที่จะปฏิเสธ ผมเคยได้ยินเจ้าหน้าที่หน้าบังลังก์ของศาลบางคนพูดว่าท่านนั้นๆไม่เซ็นต์ให้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยเห็นกับตา แต่ที่เห็นก็เซ็นต์ให้ทุกที)
 
การคัดเลือกคนที่ใช้การสอบ 2 ครั้ง เนติ กับสอบผู้ช่วย เป็นระบบการกลั่นกรองคนที่ทำให้ได้คนที่ยึดถือการตีความกฎหมายตามแนวฎีกา
 
เมื่อสอบได้ การอบรมโดยเฉพาะการสอนวิชา "เขียนคำพิพากษา" การฝึกงานภาคปฏิบัติที่มีผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง เป็นการสืบทอดจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่นหรือไม่? การที่คำพิพากษาของศาลเป็นแนวทางเดียวกันหมด-ไม่ใช่ในแง่รูปแบบที่กฎหมายกำหนดโครงร่างคราวๆว่าต้องมีข้อความใดบ้าง อันจัดเป็นแบบฟอร์ม-หากแต่เป็นลีลา สำนวนวิธีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และลีลา สำนวนการให้เหตุผล เนื้อหาแห่งเหตุผลในคำพิพากษาอันเป็นจิตวิญญาณของคำพิพากษา ได้เป็นแบบเดียวหรือเดินในแนวทางเดียวกันตลอดมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน
 
ระบบเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการสืบทอดจิตวิญญาณของผู้พิพากษาหรือไม่?
 
การเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษา แม้จะบอกว่า ใช้ระบบอาวุโส แต่โดยธรรมชาติของระบบราชการ ยิ่งขึ้นสูงก็ยิ่งมีตำแหน่งน้อย ขณะที่คนที่มีอาวุโสถึงเกณฑ์ได้เลื่อนตำแหน่ง มีมากกว่าจำนวนตำแหน่งที่รองรับได้ จึงต้องมีการคัดเลือกเฉพาะบางคนให้เลื่อนตำแหน่ง เช่นนี้จะใช้เกณฑ์อะไรพิจารณา หากใช้ผลงาน แล้วจะวัดผลงานกันอย่างไร การดำเนินกระบวนพิจารณา? การทำคดีเสร็จเร็ว? การไม่มีหรือมีคดีค้างการพิจารณาน้อย? การเขียนคำพิพากษาได้ดี? หรือจะใช้หลักเกณฑ์ด้านลบ การมีข้อผิดพลาดน้อย? หากใช้เกณฑ์เหล่านี้มาเป็นตัววัดผลงานของผู้พิพากษา จะไม่เป็นการกดดันให้ผู้พิพากษาสร้างผลงานได้ตามกำหนด? หากใช้หลักเกณฑ์ต่างๆเช่นนี้ จะไม่เป็นการแทรกแซงการทำงานผู้พิพากษา?
 
เมื่อดูประกอบกับระบบการสอบเนติและสอบคัดเลือก จึงมีคำถามว่า คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้พิพากษาที่อยู่ใน กต.จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งจนถึงผู้บริหารระดับสูงของศาล?
 
เช่นนี้การมีระบบการเลื่อนตำแหน่งของผู้พิพากษา ไม่ทำให้ผู้พิพากษา-โดยเฉพาะผู้พิพากษาที่หวังจะได้เลื่อนตำแหน่ง-ศูนย์เสียความเป็นอิสระ?
 
เมื่อการเลื่อนตำแหน่งถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาไม่กี่คนใน กต. มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ผู้พิพากษาที่เป็น กต.ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้
 
การเรียนการสอนย่อมเกิดความสัมพันธ์ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ การที่อาจารย์เนติเป็นผู้พิพากษา ย่อมมีความสัมพันธ์นี้เช่นกัน การจัดอบรมและการฝึกงานภาคปฏิบัติ ก็ย่อมเกิดความสัมพันธ์ฉันท์ลูกศิษย์-อาจารย์เช่นกัน ขณะที่ผู้พิพากษาใหม่-โดยเฉพาะผู้พิพากษาใหม่ที่มาจากทนายความที่ "เก็บคดี" และมาจากนิติกร-ยังไม่สามารถรับผิดชอบงานได้เต็มที่ ต้องมีผู้พิพากษาอาวุโสโดยเฉพาะหัวหน้าศาล เป็นพี่เลี้ยงต่ออีกระยะ ระบบเช่นนี้ย่อมง่ายต่อการเกิดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้พิพากษาระดับล่าง กับผู้พิพากษาระดับสูง ที่เคยเป็นอาจารย์เนติ เคยเป็นอาจารย์ในการอบรมภาคทฤษฎี เคยเป็นอาจารย์ในการอบรมภาคปฏิบัติ เคยเป็นหัวหน้าศาลที่เป็นพี่เลี้ยง
เมื่อประกอบกับการเลื่อนตำแหน่ง ย่อมเกิดคำถามว่าระบบเช่นนี้ไม่กลายเป็นการสร้างสายใยเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูง(โดยเฉพาะที่อยู่ในกต.)สามารถครอบงำผู้พิพากษาระดับล่างหรอกหรือ?
 
หาก กต.คัดสรรแต่ผู้มีความเห็นเดียวกันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของศาล ประกอบกับระบบการสอบเนติ และสอบคัดเลือก ที่เน้นฎีกา และการฝึกอบรม จนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าศาลกับลูกศาล ไม่เป็นการสร้างจิตวิญญาณของศาล? จิตวิญญาณร่วมกันที่ศาลมีทัศนะคติเดียวกัน? ศาลสามารถปลดแอกตัวเองจากการเป็นข้าราชการในการตรวจสอบหน่วยราชการ หรือข้าราชการอื่น ตลอดจนข้าราชการการเมืองหรือไม่?
การที่มีผู้พิพากษามาจากทนายความที่เก็บคดี เป็นการได้คนที่ไม่เคยผ่านงานมาก่อนหรือไม่? คนที่อยู่แต่กับคำพิพากษาฎีกา อยู่แต่ในห้องเรียนออกจากห้องเรียนก็มามีตำแหน่งเป็นถึง ผู้พิพากษา คนเช่นนี้ง่ายต่อการปลูกฝังแนวความคิดหรือไม่?
 
หาก กต.คัดสรรแต่ผู้มีความเห็นเดียวกันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของศาล ไม่เป็นการสร้างเครือข่ายสายใยที่ผู้พิพากษาระดับบริหารสามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาระดับล่าง?
 
สิ่งที่ระบบสร้างขึ้นดังกล่าว เมื่อรวมกับรูปแบบพิธีการตลอดจนสัญลักษณ์ที่ตกทอดจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ได้ทำให้ศาลกลายเป็นหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป หากแต่เป็นหน่วยราชการที่มีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตย 1 ใน 3 อำนาจตุลาการ
 
หน่วยราชการที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยราชการหรือข้าราชการอื่น หรือแม้แต่ข้าราชการการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรี
 
หน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง กับประชาชน
 
หน่วยงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อ ประชาชน เฉกเช่นอำนาจอธิปไตยอื่น
 
สิ่งที่ต้องถามหาคำตอบจากศาลในระบบเช่นนี้ คงไม่ใช่เพียงความเป็นอิสระ หากแต่ต้องรวมถึงทัศนะคติด้วย หากประชาชนมีคดีความกับข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะได้รับการพิจารณาคดีจากศาลอย่างเป็นกลาง?
 
ยิ่งกว่านั้น แม้จะเป็นคดีความระหว่างประชาชนด้วยกันเอง แต่หากคู่ความฝ่ายหนึ่งรู้จักกับผู้พิพากษาระดับบริหารบางคน คดีนั้นจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นกลาง อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม จากศาล?
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าประกาศไม่อนุญาตให้ทำข่าวในคูหาเลือกตั้ง

Posted: 20 Oct 2010 01:58 AM PDT

พม่าประกาศไม่อนุญาตให้ทำข่าวในคูหาเลือกตั้ง

นายเต่งโซ ประธานสหภาพคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกรุงเนปีดอว์เมื่อวันจันทร์ (18 ต.ค.53) ที่ผ่านมาว่า จะไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปทำข่าวและถ่ายรูปในบริเวณคูหาเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับที่จะไม่อนุญาตให้นักข่าวต่างชาติหรือนักข่าวพม่านอกประเทศเดินทางเข้าพม่าเพื่อทำข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์ โดยอ้างว่า พม่ามีประสบการณ์พอในการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนเตรียมพานักการทูตต่างชาติในพม่าและหน่วยงานยูเอ็นเข้าสังเกตการเลือกตั้งในรอบ 20 ปีนี้

ด้านนายทูหว่าย ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) กล่าวว่า การเลือกตั้งควรเป็นไปอย่างโปร่งใส และควรจะมีการอนุญาตให้สามารถถ่ายรูปได้ในบริเวณคูหาเลือกตั้ง

“ในความเป็นจริง คณะกรรมการเลือกตั้งควรที่จะเชิญสื่อมาทำข่าวด้วยซ้ำ แต่ผมไม่รู้ว่า ทำไมพวกเขาต้องเข้มงวดกับสื่อด้วย ทั้งที่การเลือกตั้งในปี 1990 เอง รัฐบาลยุคนั้นยังอนุญาตให้สื่อและประชาชนสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ได้อย่างอิสระ” นายทูหว่ายกล่าว ขณะที่เรื่องนี้กำลังถูกสหรัฐและอินโดนีเซียวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ด้านนักการเมืองหลายคนกล่าวหาคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าว่า ละเลยการทำความผิดของพรรคสหภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ของรัฐบาล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าใช้เงินหลวงในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง  

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์เปิดเผยว่า  ในช่วงการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลพม่าได้ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในสถานที่ที่มีการจัดการลงประชามติ  รวมทั้งยังห้ามนักข่าวต่างชาติและนักข่าวอิสระเข้าไปทำข่าว นอกจากนี้ชาวบ้านทั่วไปยังถูกข่มขู่และถูกบังคับให้ละคะแนนเห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2551 ด้วยเช่นกัน

(Irrawaddy 19 ต.ค.53)

กองทัพพม่าและทหารคะฉิ่น ส่อเค้าตึงเครียด

กองทัพพม่าและกองกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) เริ่มส่อเค้าตึงเครียด หลังกองทัพพม่าบุกสำนักงาน KIA และคุมตัวเจ้าหน้าที่ 2 นาย ของ KIA เอาไว้ ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่ากล่าวหา KIA ว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นการกล่าวหา KIA ครั้งแรกในรอบ 16 ปี หลังจากที่มีชาวบ้านต้องเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบระเบิดใน พื้นที่ควบคุมของ KIA

ทหารพม่าและเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าได้บุกและล้อมสำนักงานของ KIA ในเมืองโฮปินและเมืองโมงิน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างเมืองมิตจีนาและมัณฑะเลย์ เมื่อตอนค่ำของวันจันทร์ (18 ต.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากที่นายดาบัง กวาง ลัม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานของ KIA ที่ถูกจับก่อนหน้านี้ ได้หลบหนีไปได้

มีรายงานว่า หลังจากฝ่ายพม่าเข้าล้อมสำนักงานของ KIA ทั้ง 2 แห่ง ฝ่าย KIA เองก็ได้นำทหารข้าล้อมด่านตรวจที่ชื่อ ลาจายาง ของทหารพม่าเอาไว้เช่นเดียวกัน โดยทหารของ KIA ได้ล้อมด่านตรวจ ลาจายางตั้งแต่เวลาตีหนึ่งของเช้าวันอังคาร (19 ต.ค. )ที่ผ่านมา แต่ก็ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวในเวลาตีสาม หลังผู้บัญชาการของ KIA ได้เข้าพบกับตัวแทนฝ่ายความมั่นคงของกองทัพพม่า อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า แม้ KIAจะล่าถอยและเจรจากับฝ่ายพม่าแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่พม่ายังคงล้อมสำนักงาน KIA ทั้ง 2 แห่งเอาไว้ รวมถึงยังควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ของ KIA อีก 2 นายด้วยเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ตึงเครียดนี้เกิดขึ้น หลังจากที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าจับกุมนายดาบัง กวาง ลัม เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของ KIA ในเมืองโฮปินเมื่อช่วงเย็นของวานนี้ (18 ต.ค.) หลังกลับจากเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบระเบิดในพื้นที่ของ KIA อย่างไรก็ตามในภายหลัง นายดาบัง กวาง ลัม สามารถหนีออกมาได้ หลังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเขาเอง จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายพม่าเข้าล้อมสำนักงาน KIA ทันที

ด้านสื่อพม่ากล่าวหาว่า KIA ว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ หลังจากที่มีชาวบ้านเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 รายจากการเหยียบระเบิดในเขตควบคุมของ KIA เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ KIA ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า ได้วางกับระเบิดไว้รอบพื้นที่ควบคุมของตนจริง เพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกราน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

(KNG 19 ต.ค.53)

 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost     

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ไทยร่วงกราวกองอยู่ท้ายตาราง

Posted: 20 Oct 2010 01:53 AM PDT

RSF จัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกปี 2553 ระบุประเทศคอมมิวนิสต์เอเชียยังอยู่รั้งท้าย ส่วนไทยร่วงมาท้ายตาราง (153) จากที่มีนักข่าวบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากการทำข่าวชุมนุมเสื้อแดง

19 ต.ค. 53 - สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) จัดอันดับทำเนียบเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2553 โดยระบุว่า ประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ในเอเชียยังอยู่ท้ายตาราง เช่น เกาหลีเหนือ (อันดับที่ 177), จีน (อันดับที่ 171), เวียตนาม (อันดับที่ 165), ลาว (อันดับที่ 168) เป็นกลุ่มที่อยู่ภายใน 15 อันดับท้ายตารางของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อปี 2553

RSF ระบุว่าการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของเกาหลีเหนือยังไม่พัฒนาขึ้น ในทางกลับกันการวางแนวทางเพื่อปูทางให้ทายาทของคิมจองอิลขึ้นสู่อำนาจยิ่งทำให้เกิดการปราบปรามรุนแรงขึ้น ส่วนจีนนั้นแม้จะมีพัฒนาการด้านสื่อและอินเตอร์เน็ตแต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับต่ำเนื่องจากยังมีการเซนเซอร์และปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในแถบทิเบตและซินเกียง ในลาว มีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่สามารถควบคุมสื่อได้ทั้งหมด ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียตนามก็ทำให้เสรีภาพสื่อแย่จนอยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐาน
ด้านประเทศไทยเองก็อยู่ท้ายตารางไม่ห่างกันนัก โดยร่วง 23 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 153 จากการที่มีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกสังหารและอีก 15 รายได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในกรุงเทพฯ

ขณะที่อินเดียเองก็ตกอันดับมาอยู่ในที่ 122 จากกรณีเหตุรุนแรงในแคชมียร์ ฟิลิปปินส์เองก็ตกมา 34 อันดับจากกรณีที่มีการสังหารหมู่นักข่าวในเขตมินดาเนา แม้จะมีฆาตกรบางรายที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ฟิลิปปินส์ยังเต็มไปด้วยอาชญากรรมที่ไม่ได้รับการ ลงโทษ ส่วนอินโดนีเชีย (อันดับที่ 117) แม้จะมีการเติบโตด้านสื่อ แต่ก็มีกรณีที่นักข่าว 2 ราย ถูกสังหาร และอีกหลายรายได้รับการขู่ฆ่า จากการทำข่าวสิ่งแวดล้อม ส่วน มาเลเซีย (อันดับที่ 141), สิงคโปร์ (อันดับที่ 136), ติมอร์ตะวันออก (อันดับที่ 93) ต่างตกอันดับกันในปีนี้ สรุปได้ว่าการปิดกั้นสื่อยังคงไม่ดีขึ้นในประเทศอาเซียน แม้จะมีการนำกฏบัตรสิทธิมนุษยชนมาใช้ก็ตาม

ในอัฟกานิสถาน (อันดับที่ 147) และปากีสถาน (อันดับที่ 151) กลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำจากการที่มีระเบิดพลีชีพ การลักพาตัว ทำให้การทำงานเป็นนักข่าวเป็นอันตรายมากขึ้น และรัฐก็ยังทำการจับกุมนักข่าวสืบสวนสอบสวน ที่บางครั้งก็ดูใกล้เคียงกับการลักพาตัว

ขณะที่กลุ่มประเทศที่ได้ลำดับสูงในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 11), ฮ่องกง (อันดับที่ 34) ส่วนไต้หวันและเกาหลีใต้ได้อันดับดีขึ้นหลังการจับกุมและใช้ความรุนแรงกับนักข่าวลดลงและแม้จะยังมีปัญหาความไม่เป็นอิสระของบรรณาธิการข่าวจากสื่อรัฐก็ตาม

มีประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ได้อันดับดีขึ้นมากอย่างมองโกเลีย (อันดับที่ 76) มัลดีฟ (อันดับที่ 52) ผู้มีอำนาจให้ความเคารพต่อเสรีภาพสื่อจากการที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่โจมตีสื่อในมัลดีฟ

RSF กล่าวว่าทำเนียบนี้จัดโดยอาศัยหลักการด้านการคุกคามเสรีภาพสื่อ ประเทศในเอเชียได้รับอันดับล่าง ๆ อีกปีหนึ่ง แม้ในบางประเทศรัฐจะเปิดเสรีภาพแต่ก็มีการคุกคามสื่อจากกลุ่มที่ม่ใช่รัฐบาล สื่อที่อยู่ภายใต้ประเทศที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จมักจะถูกเซนเซอร์หรือไม่ก็เซนเซอร์ตัวเอง ขณะเดียวกันการที่นักวิชาการจีน หลิว เสี่ยวโป ผู้ถูกทางการจีนสั่งจำคุก 11 ปี ทำการต่อสู้จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ถือเป็นนิมิตใหม่ที่นำความหวังมาให้กับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น

Posted: 20 Oct 2010 01:40 AM PDT

กระแสข่าวการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นค่อนข้างมาแรงในระยะนี้จนอาจทำให้คนทั่วไปคิดว่ามันเพิ่งเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย แต่ที่จริงแล้วแนวโน้มของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นนั้นเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

เด็กไทยที่เข้าสู่วัยรุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2542 ถึง 2552 เป็นเด็กที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2529-2533 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโดมากที่สุดคือ ประมาณ 10% ต่อปี สูงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วัยรุ่นเหล่านี้เกิดในยุคเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวของพ่อแม่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เงินเป็นตัวนำในการสร้างครอบครัว เด็กของพ่อแม่เหล่านี้เป็นผู้ทำสถิติใหม่ของการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาการตั้งครรภ์ของเด็กวัยเรียนเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมา โดยมีเด็กเป็นสื่อในการสะท้อนปัญหา

การใช้เงิน เป็นหลักในการสร้างครอบครัว (ต้องมีวัตถุอุปกรณ์โน่นนี่ให้ลูกพร้อมเพรียง) ทำให้พ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้แก่ลูก สิ่งแวดล้อมที่ประหยัดเวลาของพ่อแม่เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของต่างๆ ในที่สุดเด็กจึงนั่งมองทีวีมากกว่าการพูดคุยกับพ่อแม่

พ่อแม่อาจจะคาดหวังว่า ตนได้ส่งลูกไปโรงเรียน ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของครูในการอบรมสั่งสอนลูก

ด้วยภาวะการเรียนการสอนแบบปัจจุบัน พ่อแม่คาดหวังเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่โรงเรียนนั้นครูมีแต่ความวุ่นวายหาเงินสร้างครอบครัวเช่นกัน ต้องวิ่งเต้นเพื่อทำผลงานขยับวิทยฐานะของตนให้สูงขึ้น แม้แต่ในโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงนั้น มีเด็กห้องคิงห้องเดียวเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือครบตามหลักสูตร เพราะเป็นหน้าตาที่จะทำชื่อเสียง ให้แก่โรงเรียน เด็กห้องอื่นๆ นั่งคุย เล่น หลับ เล่นเกมส์ อ่านนิยาย หนีเรียน และอื่นๆ ตามอัธยาศัยของเด็ก เด็กได้ใช้เวลาเรียนจริงๆ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน ถ้าใครอยากได้ความรู้ก็ต้องหาเงินไปเรียนกวดวิชาตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เอาเอง

พอครูไม่สอนหนังสือเด็กก็ออกมาเพ่นพ่านนอกโรงเรียน แรกเริ่มก็จับกลุ่มใหญ่ๆ ไปสุมหัวสนุกสนานที่บ้านเพื่อน การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยเป็นเรื่องปกติ สุมหัวบ่อยๆ เข้าก็เริ่มแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็นคู่ๆ ต้องเข้าใจว่าเด็กอยู่ในวัยรุ่นเป็นวัยที่มองเพศตรงข้าม ธรรมชาติสั่งให้หญิงชายวิ่งเข้าหากัน การที่เด็กไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนให้เข้าใจธรรมชาติ เค้าก็ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติเรียกร้องเช่นกัน ผลก็คือ อัตราการมีบุตรของเด็กวัยรุ่นแซงหน้าผู้ใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

เด็กบางคนไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงตั้งแต่ต้น แต่ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเอื้ออำนวยให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

ยุคนี้เด็กทำการบ้านโดยใช้อินเทอร์เน็ต การค้นหาคำว่า “กติกาตะกร้อ” เพื่อทำรายงานส่งครู ก็นำไปสู่เว็บไซด์ที่พูดถึงการเล่นตะกร้ออยู่ 5% ของหน้า ที่เหลือเป็นรูปหญิงชายในท่าทางต่างๆ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังอยากรู้ว่าคลิกเข้าไปแล้วจะเจออะไร พ่อแม่ยุคใหม่ก็แสนใจดี มีทั้งทีวีและคอมพิวเตอร์แถมอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชม. วางไว้พร้อมในห้องนอนของลูก

สิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงเรียน ล้วนเป็นการสร้างโดยผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

จากการสัมภาษณ์โรงพยาบาลของรัฐจำนวน 20 แห่งทุกภาคของประเทศ เราพบว่า การตั้งครรภ์และคลอดบุตรของวัยรุ่นนั้นมีฤดูกาล ไม่เหมือนกับฤดูกาลวางไข่ของปลา แต่เป็นฤดูกาลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ฤดูกาลของการตั้งครรภ์จะเริ่มรอบประมาณช่วงลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ ต่อมาถึงวันวาเลนไทน์ ทำให้การคลอดบุตรของเด็กวัยรุ่นจะชุกมากช่วงตั้งแต่กันยายนถึงปลายปี ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่สถานสงเคราะห์เด็กต้องรับเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนมากเช่นกัน

การป้องกันคงไม่ใช่การห้ามเด็กวัยรุ่นออกจากบ้านไปเที่ยว แต่ต้องให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ของร่างกาย การให้กำเนิดโดยที่ยังไม่พร้อม พาไปดูเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง ชี้ให้เห็นปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ข้อมูลเหล่านี้ควรอยู่ในหัวเด็กเพื่อให้เกิดการยั้งคิดก่อนที่จะสร้างปัญหาต่ออนาคตตนเองและผู้อื่น

จากการสัมภาษณ์ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มคือ เด็กที่อยู่ในอำเภอที่ติดต่อกับหัวเมืองใหญ่ เช่นตัวเมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี เป็นต้น เด็กนอกอำเภอเมือง มักจะเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมในตัวเมืองใหญ่ บางคนไปเช้า กลับเย็น แต่ก็มีจำนวนมากที่มาอยู่หอพัก ความอิสระในการเดินทางไปไหนมาไหน การใช้เวลาเข้าเรียนแบบอิสระพ่อแม่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้สิ่งเร้าเข้ามารบกวนได้ง่ายยิ่งนัก

พ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่า ตนโชคดีที่มีลูกชายไม่ต้องกลัวตั้งครรภ์ การคิดเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม วัยรุ่นชายมีโอกาสติดเชื้อ HIV ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ปัญหาเหล่านี้ เป็นความล้มเหลวในการทำงานเชิงรุกของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้วัยรุ่นมีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ที่ผ่านเรามัวแต่ทะเลาะกันว่าการให้ความรู้เพศศึกษาเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ในขณะที่กระรอกเกือบทุกตัวต่างก็วิ่งเข้าโพรงกันสนุกสนานโดยหลอกให้คนชี้นั้นชี้ไปทางอื่น เด็กต่างก็มีจิตวิทยาตามประสาเด็ก เค้ารู้ว่าผู้ใหญ่ฟังเรื่องอะไรได้และฟังเรื่องอะไรไม่ได้ เด็กเลือกสาระที่จะสื่อสารให้ผู้ใหญ่รับรู้แล้วมีความสุข

ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนมัธยมควรจะเป็นศูนย์กลางที่ให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเรียนเรื่องเพศศึกษาไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้ความรู้ และมีโอกาสเรียนรู้การสร้างครอบครัวอบอุ่นโดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ให้ความรู้

แต่ด้วยการที่ราชการแบบไทยๆ ทำงานใครงานมัน กระทรวงใคร กระทรวงมัน จึงทำให้โอกาสการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเป็นไปได้ยากนัก.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอแม็กไซไซชี้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในชนกลุ่มน้อยของพม่ายังขยายตัวกว้าง

Posted: 20 Oct 2010 01:28 AM PDT

หมอแม็กไซไซชี้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่ายังขยายตัวกว้าง ชนกลุ่มน้อยของพม่าจำนวนมากถูกเวนคืนที่ดินและถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าจนเสียชีวิต ร้องยูเอ็นเข้ากดดันด่วน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 53 ที่ห้องประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยวานนี้ สมาคมทางการแพทย์แห่งประเทศพม่า คณะกรรมการด้านสุขภาพและการศึกษาประเทศพม่า หน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ประเทศพม่า และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อคกิ้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง” ผลวินิจฉัยขั้นวิกฤต  ภาวะสุขภาพและสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกของประเทศพม่า”  โดยมี พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและบริหารจัดการคลินิกแม่ตาว ชาวกะเหรี่ยง เจ้าของรางวัลแมกไซไซ 2548   นพ.วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ Rereaech Associate center for Public Health and Human Right นายNai Aye Lwin ตัวแทนจาก Back Pack Health Worker team  น.ส. จาม ต๋อง ตัวแทนจาก กลุ่ม Shan Action Network และนพ.วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ Research Associate center for Public Health and Human Right เข้าร่วมเป็นวิทยากร โดยมีสื่อมวลชนทั้งประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งและบริหารจัดการคลินิกแม่ตาว ชาวกะเหรี่ยง เจ้าของรางวัลแมกไซไซ   กล่าวว่า รายงานที่ได้นำมาเผยแพร่ในวันนี้นั้นเป็นรายงานที่เราต้องการให้เห็นถึงสภาพของแม่และเด็กในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่าซึ่งประกอบด้วยรัฐฉาน กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และมอญ  โดยแม่และเด็กในพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้รับการบริการด้านสุขภาพมาเป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี ซึ่งระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงคือการจัดตั้งขึ้นโดยชุมชนเอง  มีแม่เด็กหลายคนที่ต้องเสียชีวิตในขณะคลอดลูกหรือหลังคลอดลูก  สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนคือจำนวนประชากรในประเทศพม่าที่ยอมหนีตายข้ามฝั่งมาเพื่อรักษาตัวในคลีนิคแม่ตาว หลายคนมารักษาตัวด้วยโรคร้ายแรงอย่างโรดเอดส์ โรคมาเลเรีย ซึ่งการข้ามมาของประชาชนในประเทศพม่าแบบนี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลพม่าไปมีระบบการบริการด้านสาธารณสุขที่ดีพอที่ทำให้ประชนพึ่งพิงได้

แพทย์ผู้ทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการคลินิกแม่ตาว ชาวกะเหรี่ยง เจ้าของรางวัลแมกไซไซ   กล่าวอีกว่า   เราได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อเข้าไปรักษาและจัดตั้งระบบสาธารณสุขให้กับชาวบ้านในแถบชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศพม่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ 1 ทีม จำนวน 5-7 คนจะต้องดูแลประชาชนพม่าถึง 2 พันคน ซึ่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หลายคนได้เสียชีวิตลงเพราะกับระเบิด หรือสภาพอากาศในพื้นที่ที่เลวร้าย อย่างไรก็ตนอยากให้หลายฝ่ายติดตามรายงานชิ้นนี้ให้ดีเพราะจะเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่เหตุปัจจัยหลายอย่างในเรื่องการดูแลด้านสาธารณสุขของประเทศพม่าที่เชื่อมโยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

ด้านนาย Nai Aye Lwin ตัวแทนจาก Back Pack Health Worker teamประเทศพม่า เปิดเผยผลวิจัยที่ได้ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ของฝั่งตะวันออกประเทศพม่าว่า ผลวิจัยหรือรายงานฉบับนี้นั้นชี้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประชากรฝั่งตะวันออกของประเทศพม่านั้นเข้าขั้นวิกฤต โดยมีประชากรจำนวนมากถึง 5 แสนคนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนื้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประชาชนเข้ามาร่วมกรอกแบบสอบถามกับเราสองหมื่นเจ็ดพันคนจาก 21 เมือง ซึ่งเมื่อดูข้อมูลจากแบบสอบถามและนำมาเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของประชากรในแถบอื่น ๆ ของประเทศพม่าแล้วพบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่าสูงที่สุด ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในครั้งนี้นั้นเลวร้ายติดอันดับโลก เปรียบเทียบได้กับการเสียชีวิตของประเทศที่ยังมีการสู้รบกันอยู่อย่าง ซูดานและคองโก  ซึ่งอัตราการเสียชีวิตนั้นจะพบว่าในเด็กอายุ 5 ขวบนั้นเสียชีวิตลงด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้และรักษาได้อย่างโรคท้องร่วงและโรคปอดบวม

ตัวแทนจาก Back Pack Health Worker team ประเทศพม่า กล่าวอีกว่า จากข้อมลในการลงพื้นที่จะพบอีกว่าผู้หญิง 19 คนจากกลุ่มชาติพันธ์จะติดเชื้อมาลาเรีย และยังมีเด็กและผู้หญิงตั้งครรถ์อีกเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคขาดสารอาหารอย่างรุนแรง ส่วนเรื่องความรู้ในเรื่องของอนามัยเจริญพันธ์นั้นจะพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงพม่าในฝั่งตะวันออกนั้นไม่มีความรู้เรื่องการรับประทานยาคุมกำเนิด รัฐบาลไม่สนับสนุนในการบริการด้านสุขภาพจนประชาชนต้องหันมาพึ่งตนเอง โดยการจัดตั้งโครงการสุขภาพชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ข้อมูลที่น่าตกใจเป็นอย่างมากคือ 1 ใน 3 ของชุมชนที่เราลงสำรวจนั้นจะเจอเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ซึ่งมีหลายคนที่ถูกนำไปใช้แรงงานหนักจนเสียชีวิต อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะลงไปให้บริการในด้านสาธารณสุขกับชาวบ้าน แต่ปัญหาของเราก็มีมากเช่นกันเช่นการขาดทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องใช้รักษาโรคต่าง ๆ

ด้าน นพ.วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ Rereaech Associate center for Public Health and Human Right  กล่าวว่า นอกจากปัญหาด้านสุขภาพและการบริการทางด้านสาธารณสุขที่ไม่เอื้ออำนวยต่อประชากรฝั่งตะวันออกของประเทศพม่านั้น เรายังพบโรคร้ายแรงที่กลับมาใหม่ในประเทศพม่าอย่างเช่นโรควัณโรค และโรคเท้าช้างอีกด้วย  มีมาเลเรียสายพันธ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและดื้อยาซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระจายออกไปยังลุ่มน้ำโขง หากรัฐบาลพม่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รีบให้ความช่วยเหลือ  อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังมีประชาชนจำนวนมากในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่าที่ถูกบังคับให้ออกจากสถานที่ที่ตนเองเคยอยู่อาศัยจนต้องกลายสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งถึงแม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะเพิ่งกลับมาจากเยือนพม่าและพยายามบอกว่าเราและพม่านั้นเป็นเพื่อนกันนั้น ในความเป็นจริงความเป็นอยู่ของคนไทยกับคนพม่าช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่ น.ส. จาม ต๋อง ตัวแทนจาก กลุ่ม Shan Action Network กล่าวว่า ประชากรจำนวนมากในฝั่งตะวันออกของประเทศพม่าซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์นั้นนอกจากจะเจอการกดขี่จากรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแล้วยังต้องเจอวิบากกรรมจากกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้เจรจากับกองกำลังติดอาวุธหลายส่วนให้ร่วมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนให้กับรัฐบาลทหารพม่า  นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลทหารพม่ายังพยายามเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรไฟฟ้า เหมืองแร่ โดยไล่ที่ของประชาชนที่เคยอาศัยอยู่เดิม ซึ่งคาดว่ามีประชาชนเกือบ 3 หมื่นคนที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากที่อยู่ของเดิมของเขา และหลายคนก็ถูกบังคับใช้แรงงานในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับโครงการลงทุนเหมืองแร่ และสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ตัวแทนจาก กลุ่ม Shan Action Network กล่าวอีกว่า มีกลุ่มผู้ลี้ภัยมากขึ้นตามลำดับในรัฐฉาน ซึ่งเขาเหล่านั้นซ่อนตัวในพื้นที่และอีกส่วนหนึ่งก็หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือประเทศไทยเองก็ไม่มีที่ให้กับผู้ลี้ภัยในรัฐฉานและ  UNHCR ก็ไม่ร้องรับผู้คนเหล่านี้ว่าเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งเราเองก็ได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งระบบการบริการด้านสาธารณสุขของชาวบ้านให้พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็งขึ้นให้ได้ ซึ่งการช่วยเหลือนั้นก็จะถูกกีดกันจากรัฐบาลทหารของพม่าอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี่ต่อไปเรื่อย ๆ ชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศพม่านั้นต้องเข้าสู่สภาวะวิกฤตอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานในตอนท้ายของรายงานเรื่องสุขภาพแม่และเด็กของประชากรในชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศพม่าในครั้งนี้นั้นยังได้มีข้อเรียกร้องถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องดังนี้ ให้องค์การสหประชาชาติ(UN) ดำเนินการกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีในประเทศของตน  พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าการกระทำของรัฐบาลพม่ากับประชาชนในชายแดนฝั่งตะวันออกนั้นเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ ทั้งนี้องค์กรที่ทำงานกับประเทศพม่านั้นจะต้องพูดอย่างเปิดเผยว่าการกระทำของรัฐบาลพม่านั้นก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงอย่างไร  รวมถึงต้องมีการให้ความช่วยเหลือกับองค์กรชุมชนโดยการให้เงินสนับสนุนการบริการสุขภาพในเขตพม่า  และต้องทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนเพื่อผลักดันการป้องกันโรคระบาดครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศพม่าได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานไทยคูราโบ ประท้วงนายจ้าง จี้เจรจาข้อตกลงที่เหลือ

Posted: 19 Oct 2010 10:58 PM PDT

สหภาพแรงงานไทยคูราโบ กว่า 600 คนสหภาพแรงงานไทยคูราโบ ประท้วงนายจ้างให้เร่งเจรจาข้อตกลงที่เหลือให้ลุล่วง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 53 ที่ผ่านมาพนักงานบริษัทไทยคูราโบ จำกัด และ บริษัทสยามคูราโบจำกัด เลขที่ 14/8 ม.1 ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตผ้าโทเร ตราประตูทองได้รวมตัวกันกะคนงานผัดเช้าจำนวน 300 คน และรอผัดบ่ายอีก 300 คน เศษ ได้เดินจากโรงงานมาร่วมตัวกันประท้วงใต้ทางกลับรถฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ห่างจากโรงงานประมาณ 200 เมตร เพื่อรวมตัวกันประท้วงนายจ้างเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยคูราโบ

นายสุรัตน์ จันทร์วันเพ็ญ ประธานสหภาพแรงงาน และนายณรงค์ เกตุหอม เลขาสหภาพแรงงาน ได้นัดแรงงานจำนวน 600 คนเศษ โดยมีร่วมประท้วงใต้ทางต่างระดับกลับรถฟิวเจอร์พาร์ค เพื่อเรียกร้องนายจ้างให้ออกมาเจราจรข้อตกลงที่ลูกจ้างเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ ซึ่งทางผู้บริหารโรงงานได้มีการพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้วซึ่งบางข้อทางผู้ บริหารโรงงานก็ตกลงไป 5 ข้อแล้วและมีบางข้อก็ยังไม่ตกลงกับการเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากมีข้อปลีกย่อยเพิ่มเติมอีกหลายรูปแบบจึงทำให้ประธานสหภาพได้นัดคน งานออกมาประท้วงดังกล่าว

อย่างไรก็ตามใน ส่วนข้อเรียกร้องที่ทางผู้บริหารโรงงานยังไม่ตกลงคือให้บริษัทควบคุมอุณหภูมิในโรงงานให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส จ้างพนักงานระดับหัวหน้างานพิเศษต้องไม่เกี่ยวข้องกับคนงาน ให้บริษัทจัดทุนการศึกษาบุตรพนักงาน ให้บริษัทเพิ่มเงินสวัสดิการค่าเดินทางไป-กลับ ขอเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าครองชีพกับพนักงานทุกคนๆละ1,800 บาทต่อเดือน และให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนๆละ 99 วัน ทางผู้บริหารบริษัทยังไม่ยอมเจราจาในข้อที่เหลือเหล่านี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย: คำ ผกา วิพากษ์ คกก.ปฏิรูปฯ

Posted: 19 Oct 2010 10:37 PM PDT

 
 
 
 
คำ ผกา นักเขียน ที่รู้จักกันดีในมติชนสุดสัปดาห์ วิพากษ์วิธีคิดและการทำงาน คณะกรรมการปฏิรูป รวมถึงเสนอแนวทางที่ควรทำมากกว่าการนั่งกินบุฟเฟ่ต์ จิบกาแฟ ด้วยภาษีของประชาชน ในช่วงเสวนาหัวข้อ "เสียงที่พูดไม่ได้ในการปฏิรูปประเทศไทย" เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดโดยภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มจับตาขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทย (Thai Social Movement watch) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ด้วยลีลาที่เผ็ดร้อน เร้าอารมณ์ วิพากษ์อย่างถึงแก่น จนชาวออนไลน์ตั้งฉายาให้ว่า "เลดี้กาก้าเมืองไทย"
 
คำ ผกา อภิปรายว่า อันดับแรกอยากอธิบายก่อนว่า ทำไมตนถึงร้อยไม่เอา พันไม่เอากับคณะปฏิรูป ทั้งๆที่หลายคนหลายท่านในคณะปฏิรูปชุดนี้เป็นอาจารย์ที่เคารพ อย่างอาจารย์นิธิ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทำให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์ คกก.ปฏิรูปได้ อยากสรุปเนื้อหาและวิจารณ์คณะปฏิรูปว่าตั้งขึ้นมาอย่างไร มันทำงานอย่างไรในสังคมไทย
 
ขอเริ่มด้วยการสรุปคำพูดของหมอประเวศในไทยรัฐเมื่อ 2-3 วันก่อนที่บ่นน้อยใจว่าทำไมคนถึงไม่เข้าใจการทำงานคกก.ปฏิรูป แถมยังวิพากษ์ วิจารณ์ด้วย หมอประเวศ อธิบายว่า ประเทศอยู่ในช่วงที่วิกฤติสุดๆทุกๆด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไม่มีทางออก ควรปฏิรูปใหญ่เสมือนยกเครื่องประเทศไทย เริ่มจากภาคประชาสังคม และภาควิชาการที่มาร่วมงานกัน เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แก้ปัญหาตามอาการ ปัญหาโครงสร้างคือ สังคมเหลื่อมล้ำ ขาดความเป็นธรรม ถ้ามีความเป็นธรรม คนดีอยู่ด้วยกัน ก็จะมีความสุข คนก็จะรักกัน รักชาติ แต่หมอประเวศก็ไม่ได้อธิบายว่าคนดีของหมอประเวศคืออะไร และเป็นอย่างไร สงบเสงี่ยม ไม่กินเหล้าแบบในโฆษณา สสส.หรือไม่
 
นอกจากนั้นหมอประเวศยังบอกว่า การปฏิรูปมีเป้าหมายที่การขับเคลื่อนของประชาชน ให้มากเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิรูปเอง องค์กร คณะกรรมการ เป็นผู้สนับสนุน การปฏิรูปจะมีพลังได้ต้องเกิดจากการรวมตัวของประชาชน รวมเฉยๆไม่ได้ ต้องรวมโดยมีข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ปัญญา ซึ่งคงต้องเป็นปัญญาแบบที่หมอประเวศคิดว่าดี และยังบอกต่อไปอีกว่าต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทีให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ระบบภาษี เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
 
หมอประเวศพูดต่ออีกว่า คนไทยยังมีความสามัคคี อ่อนโยน ไม่ต้องการความรุนแรง ใครเป็นผู้เริ่มต้นใช้ความรุนแรง มักจะเป็นผู้แพ้ อันนี้ไม่รู้พูดกระทบคนเสื้อแดงหรือไม่
 
มาถึงตรงนี้จะขอพูดถึงเหตุผลที่ออกมาวิจารณ์คณะปฏิรูปและการทำงานของคณะปฏิรูป เพราะเมื่อพิจารณาจากคำพูดหมอประเวศ สามารถประมวลแนวคิดและหลักการทำงานได้ดังนี้
 
แนวคิดหลักของการปฏิรูปประเทศไทยจากฝ่ายคณะกรรมการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น อานันท์ หรือ ประเวศ ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ รุนแรง การออกจากวิกฤติ คือต้องมีการระดมมันสมองจาก "ทุกภาคส่วน" มาร่างแผนการช่วยชีวิตประเทศไทย
 
สาเหตุหลักของวิกฤติ ปัญหาคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนจนน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยใจอันนี้กลายเป็นช่องว่างให้นักการเมืองเข้าไปฉวยใช้พลังของประชาชน ปลุกปั่นให้ประชาชนลุกขึ้นมาเป็นกบฏ ก่อความวุ่นวาย สร้างความรุนแรง จนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ก่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า คนจน ประชาชน จึงตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือของนักการเมือง น่าสงสาร น่าเห็นใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจในคำพูดของพระไพศาลก็ดี หรือคำพูดของหมอประเวศมักจะพบคำพูดในทำนองที่ว่า "ประชาชนเป็นเหยื่อของการเมืองของชนชั้นนำสองกลุ่มที่แย่งชิงอำนาจกัน" และคุนกลุ่มนี้ก็จะมีข้อสรุปที่ว่า น่าเสียดายชีวิตที่ต้องมาตาย บาดเจ็บ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ต้องคำถามกับรัฐว่า มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่ว่าพวกเขาจะออกมาด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วก็ตาม ฉะนั้นคนที่ไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปจะอยู่บนจุดยืนที่ว่า "สงสารคนตาย เห็นใจคนเสื้อแดง แต่กูจะยืนอยู่ข้างฝ่ายรัฐบาล"
 
ชุดความคิดนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อสองประการคือ หนึ่ง ดูถูกนักการเมืองว่าคือพวกชาติชั่วโกงกิน ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ สอง ประชาชนคือผู้บริสุทธิ์ แต่โง่ ไร้เดียงสา เต็มไปด้วยความไม่รู้นานัปการ และเป็นหน้าที่ของคณะปฏิรูปที่ดวงตาเห็นธรรม บรรลุ รู้แจ้ง มากกว่าคนอื่น จะอวตารลงมา ชี้ทางสว่างให้แก่ประชาชน จะมาบอกว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรคือการพัฒนาที่ยั่งยืน อะไรคือเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ทว่า พวกเขาทำไปในนามของถ้อยคำที่ฟังดูดี (ทำให้นึกถึง double speech ในเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล )คือ "การเสริมพลังให้กับประชาชน" หรือ "ส่งเสริมศักยภาพของประชาชน" ยิ่งไปกว่านั้น ยังอ้างว่าเพื่อ "ลดอำนาจรัฐ" และ "กระจายอำนาจ"แต่ทว่ากลับปฏิเสธอำนาจของการเลือกตั้งหน้าตาเฉย
 
นอกจากนี้ พวกคณะปฏิรูปกลบเกลื่อนวิธีคิดของชนชั้นนิยมและอำนาจนิยมของพวกเขาด้วยการออกแบบกระบวนการที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ทุกภาคส่วน" เช่น ระดมมันสมองจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน เกษตรกร ศิลปิน นักเขียน นักการศึกษา ฯลฯ มีการจัดประชุม ทำเวิร์กช็อป ค้นหาข้อเสนอ พิมพ์เขียวที่จะส่งให้ฝ่ายรัฐไปพิจารณา(แต่ถามว่าทุกภาคส่วนของเขา คงลืมเติมว่า ทุกภาคส่วนที่เห็นด้วยกับกูเท่านั้น) และยังใฝ่ฝันว่านี่จะเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ประชาชนสลัดคราบดักแด้ กลายเป็นผีเสื้อแสนสวย มีปีก บินได้ด้วยตนเอง ไม่ง้อ ไม่พึ่งพิงอำนาจรัฐ ไม่เป็นเหยื่อนักการเมืองอีกต่อไป และวันนั้นเราจะเป็นสังคมแสนสุข ผู้คนรักกัน เพราะสังคมเรามีความยุติธรรม
 
คณะปฏิรูปจะเน้นอยู่เสมอว่า พวกเขาไม่ได้เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่เข้ามาเพื่อสร้างกระบวนการให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่จะพึ่งตนเอง ตรวจสอบรัฐบาล แก้ไขปัญหาสังคม และประเทศชาติด้วยตนเอง แทนที่จะหวังพึ่งภาครัฐ หรือเจ้าพ่อ นักการเมือง หรืออยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบเดิม
 
แต่คำถามสำคัญคือ คณะกรรมการปฏิรูปคงลืมถามตนเองว่าเป็นใคร มาจากไหน มีสิทธิอะไรไปตั้งคนนั้น คนนี้ บอกว่าเป็นตัวแทนกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ แล้วยังเชื่อว่าตนมีวิสัยทัศน์เลิศเลอถึงขั้นออกแบบ ทำพิมพ์เขียวให้กับประเทศทั้งประเทศได้
 
คณะกรรมการปฏิรูปเป็นใครจึงออกมาตัดสินประชาชนว่าพวกเขาเป็นพวกไร้จิตสำนึกทางการเมืองหรือมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ผิดพลาดจึงต้องการการปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ที่ถูกต้องกว่าเดิม
 
ทั้งนี้ทั้งนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร หากคณะกรรมการปฏิรูป เป็นเพียงองค์กรเอกชนที่ฟอร์มตัวขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า ตัวเองเป็นอีกเสียงหนึ่งเล็กๆในสังคม ที่มีแนวคิดอยากนำเสนอต่อรัฐบาลและสังคมว่า ก้าวย่างต่อไปของประเทศไทยน่าจะเป็นอย่างไร ปัญหาสำคัญของประเทศคืออะไร ย้ำว่าคณะกรรมการปฏิรูปจะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อทำในนามของคนกลุ่มหนึ่งท่ามกลางคนหลากหลายกลุ่ม และไม่อุกอาจไปเคลมว่าแนวคิดของตนนั้นถูกต้องที่สุด ดีงามที่สุด หวังดีต่อประเทศชาติมากที่สุด บริสุทธิ์ใจอย่างที่สุด มากไปกว่านั้น หากจะมีกลุ่มปฏิรูปด้วยความหวังดีเช่นนี้ ควรทำในนามของคณะทำงานเอกชน มูลนิธิ มิใช่ดำเนินงานด้วยงบประมาณของรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชนที่พวกคุณบอกว่าคือคนที่มีจิตสำนึกผิดพลาด น่าสมเพช เวทนา ต้องการการเยียวยา นี่ยังไม่นับรวมกับที่พวกคุณไปเข้าร่วมกับรัฐบาลที่มือเปื้อนเลือดอีก
 
สำหรับตนสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดของคณะปฏิรูปคือ พวกคุณทำงาน ประชุม ทำพิมพ์เขียว กินบุฟเฟ่ นอนโรงแรม บินไป บินมา พร้อมๆกับสวมชุดเทวดาอวตารมาชุบชีวิตประชาชนผู้หลงผิด ผู้ยากจน ผู้ตกเป็นเหยื่อ ผู้ป่วยไข้ด้วยเงินของบรรดาผู้คนที่พวกคุณดูถูกว่าพวกเขา โง่ พวกเขาจน พวกเขาอ่อนแอ แล้วมันจะมีอะไรน่าอายไปกว่าการใช้เงินของคนจนมาปรามาสดูถูกคนจนพร้อมกับการสถาปนาตนเองเป็นผู้ทรงศีล ทรงภูมิธรรม ดีเลิศประเสริฐศรีกว่าใครๆในโลก
 
พูดสั้นๆคือ ถ้าแน่จริงก็ไปหาเงินมาทำงานปฏิรูปในฐานที่เป็นองค์กรตรวจสอบภาครัฐ ถ่วงดุลภาครัฐ จะประชุม สัมมนา เวิร์กช็อป หรืออะไรก็ได้ ตามที่ตนเองเชื่อ (และคนอื่นอาจจะไม่เชื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าไปบอกว่าคนที่เขาไม่เชื่อนั้นโง่เง่าดักดาน)
 
ทั้งหมดนี้ตนยังไม่ได้พูดถึงบริบทของการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคณะนี้ที่เกิดขึ้นหลังการสังหารหมู่ประชาชนอย่างป่าเถื่อนที่ใจกลางเมืองหลวง ยังไม่ต้องพูดถึงที่มาที่ไปของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังไม่ได้ย้อนกลับไปที่การรัฐประหารปี 2549 ยังไม่ต้องพูดถึงกระบวนการทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งสอดคล้องกับฐานคิดของคนแบบประเวศที่ยังเชื่อว่าประชาชนยังโง่ และระดับคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึก จิตที่ไม่ผ่านการวิวัฒน์ ยังอยู่ในสปีชี่ที่ต่ำเกินกว่าจะปกครองตนเองได้ ขอให้ลองไปดูบทความของหมอประเวศที่พูดถึงสมองส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง
 
ถ้าหากคณะกรรมการปฏิรูปหวังดีต่อชาติ บ้านเมือง และปรารถนาให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งในสังคมไทย สิ่งที่คนที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปควรทำก่อนจะไปทะเยอทะยานเป็นเทวดาจะมาชุบชีวิตประเทศไทย ช่วยทำในสิ่งง่ายๆก่อนคือ ต่อต้านการรัฐประหารอย่างออกนอกหน้า,ตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาลปชป. ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้อย่างไม่ชอบมาพากล,เรียกร้องให้ยกเลิกพรก. ฉุกเฉิน และการมีอยู่ของศอฉ. อย่างจริงจัง จริงใจ มิใช่อ้อมแอ้มพูดนิด แตะหน่อยพอเป็นพิธี พูดหนึ่งวันแล้วก็หายไปเลย ไม่กดดันต่อ,ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกจับกุม คุมขัง ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งในคดีหมิ่นฯ และคดี พรบ. คอมพิวเตอร์ นักเรียนที่ออกมาประท้วงแล้วโดนจับ action ที่มีต่อเรื่องเหล่านี้ต้องชัดเจน,ออกมากดดันให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และการการบาดเจ็บ ล้มตายของประชาชนทั้งในเดือนเมษาฯ และพฤษภาฯหรือทุกครั้งที่ผ่านมา (ทว่าสิ่งที่พวกเขาทำกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามคือไปสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล)
 
นอกจากนั้นควรมีความจริงใจที่จะเห็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง แทนการทำเวิร์กช็อป คัดสรรคนที่ตนเองรักตนเองชอบมาประชุมกันอย่างไม่ที่สิ้นสุดและพร่าผลาญงบประมาณ ควรออกมาพูด เขียน เคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคโดยสิ้นเชิง เพราะมันคือโครงสร้างที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติต่อต่างจังหวัดในฐานะที่เป็นอาณานิคม อย่างที่เชียงใหม่ อยู่ดีๆเราก็มีเหลนกรมพระยาดำรงฯ เป็นเจ้าเมือง
 
แล้วถ้าอยากเสริมพลังประชาชนอย่างจริงใจ สิ่งแรกที่ควรทำคือเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยระบบตัวแทนกลับมาก่อน พร้อมทั้งให้มีการเลือกตั้งที่ปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจที่มองไม่เห็นและไม่มีความรับผิด ต้องละทิ้งความคิดที่ว่าบอกว่าประชาชนอ่อนแอ ประชาชนโง่เง่า ประชาชนขาดวิจารณญาณในการเลือกผู้แทน ประชาชนตะกละเห็นแกผลประโยชน์ระยะสั้น ตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง เลิกเชื่อว่าจิตตนเองวิวัฒน์ไกลกว่าชาวบ้านประชาชน เพราะท่าไม่ใช่เทวดา จึงไม่มีสิทธิพิพากษาประชาชนเช่นนั้น ท่านก็คน ประชาชนก็คน พวกท่านต้องเรียนรู้ที่จะเคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ประชาชนต้องได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก เราต้องการประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานโดยไม่มีมือเปี่ยมเมตตามาประคองให้เราลุก เพราะเราต้องเรียนรู้ที่จะเจ็บเอง ลุกเอง ขอร้อง อย่าเสือกกับเรา หากอยากจะเสือก ก็ไปเสือกแบบไม่ใช้ภาษีของเรา หรือก็ไปตั้งเป็นองค์กรเอกชน นำเสนอทางเลือก รณรงค์ทางสาธารณะ โยนความคิดออกมากลางแจ้ง แข่งขัน ท้าทายกับความคิดชุดอื่นๆ ถ้าปชช. เห็นดีด้วย เขาจะไปร่วมกับท่านเอง แต่อย่ามาสถาปนาตนว่า กูนี่แหละ จะพาพวกมึงพ้นทุกเข็ญ
 
แต่เท่าที่เป็นอยู่ การเกิดขึ้นและการทำงานของคณะปฏิรูป เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง ประชาธิปไตยจอมปลอมของประเทศไทยให้แนบเนียน ดูเหมือนจริง ดูเหมือนกับจะเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เหมือนจะใกล้เคียงกับการเป็นประชาธิปไตยทางตรง เหมือนจะคล้ายประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วม ใจกว้าง เปิดเผย ด้วยต้นทุนทางสังคมของบุคลากรที่คัดเลือกมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูป เช่น คนแบบ อ.นิธิ อ. เสกสรร พระไพศาล ฯลฯ ต้นทุนทางสังคมของคนเหล่านี้ได้ช่วยประดับประดาประชาธิปไตยจอมปลอม ให้ดูดี เป็นเหมือนถุงมือปกปิดคราบเลือดที่เปื้อนมือรัฐบาลอยู่ เป็นผ้ากันเปื้อนปิดชุดเผด็จการเอาไว้ให้เห็นได้วับๆแวมๆ ไม่แจ่มแจ้ง ไม่อุจาด ชุดถ้อยคำที่คณะกรรมการปฏิรูปสรรมาใช้ก็ช่วยยืดอายุรัฐบาลเผด็จการ และพวกท่าก็เกลื่อนความอัปยศของตนเองด้วยการบอกว่า "อย่าไว้ใจพวกผม อย่าเชื่อพวกผม ผมไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน รัฐบาลจะฟังพวกผมแค่ไหน แต่เชื่อสิ พวกผมหวังดีนะ แต่อย่าฝากความหวังซี อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่พวกคุณ อยู่ที่ประชาชนต่างหากเล่า" แต่ขอถามหน่อยว่า ประชาชนออกไปขอให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ยังถูกฆ่าตายเป็นเบือ ท่านยังจะมาว่าประชาชนยังไม่ช่วยตัวเอง หวังพึ่งแต่รัฐบาล ไม่รู้จักลุกขึ้นมาช่วยตนเองอีกหรือ
 
คณะปฏิรูปต้องทำ ถ้าหวังดีจริงคือต้องเรียกร้องให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ของบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน อย่างจริงจัง กว้างขวาง เปิดเผย ออกมาปกป้องคนที่ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้มีคนโดนจับ หนังสือโดนแบน ไปมีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้า แล้วคณะปฏิรูป ควรออกมาด่าเรื่องผังล้มเจ้าอย่างสาดเสียเทเสียด้วย เพราะต้องคิดได้ว่า ถ้ารัฐไทยยังสามารถปล่อยผังล้มเจ้าแบบนี้ออกมาเพ่นพ่าน หลอกลวง ครอบงำ ปลุกปั่นประชาชน ก็อย่าไปคิดเรื่องใหญ่ๆแบบปฏิรูป เพราะเรื่องแค่นี้ พวกคุณยังไม่สามารถท้าทาย หรือท้วงติงรัฐได้
 
นอกจากนี้สิ่งที่ควรปฏิรูป คือกฎหมายหมิ่นฯเพราะเป็นกุญแจหลักที่ตจะนำไปสู่การถกเถียง และนำไปสู่แก่นแกนปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง
 
อันนี้เป็นข้อเสนอที่กล้าพูดเพราะรู้ว่าคณะปฏิรูปไม่กล้าทำ เพราะเอาเข้าจริงๆ พวกเราทุกคนก็รู้ว่า function ของคณะปฏิรูป ไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปหรือหวังผลทางผลงาน แต่เพื่อมาเสริมสร้างภาพพจน์รัฐบาล เพราะฉะนั้นคณะปฏิรูปจะทำหรือไม่ทำอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า การมีอยู่ของคณะปฏิรูปทำให้รัฐบาลมีข้ออ้างที่จะบอกว่า "กูหวังดีกับชาติบ้านเมือง ดูสิ แม้แต่คนที่ด่ากูทุกวัน กูยังให้มาเป็นคณะปฏิรูปเลย" หากคณะปฏิรูปจะออกมาให้ความเห็นที่ต่างกับรัฐบาลบ้าง รัฐบาลก็ได้เครดิตอีกว่า "ดูสิ ผมใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ผมมีความเป็นประชาธิปไตยนะครับ" เพราะรัฐบาลเองก็ตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ได้เปลี่ยนด้วยการมีคณะปฏิรูป ไม่มีทาง เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่รู้สึกว่า การมีคณะปฏิรูปเป็นเรื่อง  threatening หรือคุกคามอำนาจรัฐ มันเป็นแค่คณะลิเก ช่วยคลายความตึงเครียด แต่ไม่มีน้ำยาในเชิงผลงาน ทว่าที่เรามานั่งด่าคณะปฏิรูป เพราะเราเห็นว่านอกจากมันจะไม่มีน้ำยาในเชิงผลงาน มันดันมามีน้ำยาในเชิงอุดมาการณ์ คือ มันช่วยย้ำอุดมการณ์ ไม่เอานักการเมือง ไม่เอาการเมืองในรัฐสภา พึ่งคนดี มีคุณธรรม นักการเมืองเลว ประชาชน โง่ ประชาชนฉลาดคือประชาชนที่ออกมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นอัลเทอร์เนทีฟแบบเอ็นจีโอ ไม่กินเหล้า แบบ สสส. เท่านั้นซึ่งพวกเราก็รู้อยู่ว่าแนวคิดแบบนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของประชาธิปไตยแบบนานาอารยะประเทศ เว้นแต่ว่าถ้าคุณอยากมีประชาธิปไตยแบบพม่า ก็อาจจะต้องเชื่อคนอย่างหมอประเวศเพราะเขามีส่วนในการเสริมสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบนี้ให้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบนี้ในสังคมไทย
 
ส่วนเรื่องนักเขียนปฏิรูปที่จะให้มาพูด หาอ่านจากข่าวที่แจก ก็จะเห็นความสับสน ไร้เดียงสาของนักเขียน ตนคงไม่ต้องพูดอะไรเพื่อเป็นการซ้ำเติมพวกเขา เพราะพวกเขาได้ประจานความคิดของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว
 
เรื่องที่ตกค้างมาจากช่วงก่อนที่อ.อานันท์พูดเรื่องรัฐ เอาเข้าจริงปัญหาของรัฐไทยเราไม่สามารถเปิดศักราชศึกษารัฐไทยได้จริงๆ รัฐไทยมันยังรักษาประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมาจากรัฐประเพณี คือประวัติศาสตร์ไทยควรจะมี 2 เล่ม เล่มแรกไปจบอยู่เล่มที่พูดถึง The end of absolute monarchy แล้วก็ปิดฉากไปเลย และเมืองไทยเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่พูดถึงรัฐของประชาชนที่ความหมายของคำว่าชาติเท่ากับความหมายของคำว่าประชาชนได้แล้ว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น