โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชำนาญ จันทร์เรือง: เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วไง

Posted: 19 Oct 2010 12:08 PM PDT

ผลพวงของการชี้มูลทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอของ ปปช.และข่าวลือเรื่องการใช้เงินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านนักการเมืองที่กระหน่ำประโคมข่าวกันถี่ยิบในช่วงหลัง ทำให้กระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกด้วยเหตุที่ว่าไหนๆตอนนี้ตำแหน่งดังกล่าวก็ผูกพันกับการเมืองอยู่แล้ว เรามาเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ
 
แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปว่าควรหรือไม่ควร เรามาดูนานาอารยประเทศทั้งหลายว่ามีรูปแบบการปกครองกันอย่างไรบ้าง
 
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป มีรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State) วิวัฒนาการของการปกครองประเทศมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลหรือส่วนกลางมาอย่างยาวนาน ซึ่งเน้นหลักการรวมอำนาจและเอกภาพแห่งรัฐโดยถือว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มในการปกครองและบริหารประเทศ
 
ส่วนการปกครองและการบริหารท้องถิ่นเกิดจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล โดยรัฐบาลมอบอำนาจบางประการให้แก่ท้องถิ่น ดังนั้น ท้องถิ่นจะมีอำนาจในการปกครองตนเองและมีความเป็นอิสระมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยเราได้ลอกเลียนแบบการปกครองของฝรั่งเศสมาอย่างยาวนานแต่ไทยเราแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงดังเช่นของฝรั่งเศสที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
 
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของฝรั่งเศสอยู่ที่การออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของเทศบาล จังหวัดและภาค 2 มีนาคม  ค.ศ. 1982 (The Law on the Rights and Liberties of Communes, Departments and Regions 2 march 1982) ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีฟรังชัวส์ มิตเตอร็องด์ (Francois Mitterrand) การออกกฎหมายฉบับนี้นำมาสู่การออกกฎหมายอื่น ๆ ตามมาอีกหลายฉบับ เพื่อให้การปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 
เดิมจังหวัดจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1789 ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลกลาง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1830 จังหวัดได้กลายเป็นองค์กรปกครองที่มี 2 สถานะ คือ สถานะหนึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาลกลาง โดยเป็นส่วนราชการในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และอีกสถานะหนึ่งเป็นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผู้บริหารยังคงมาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
 
ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ ปี 1980 โดยเฉพาะเมื่อมีการออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของเทศบาล จังหวัดและภาคเมื่อ 2 มีนาคม  ค.ศ. 1982  จังหวัดเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเดิมได้กลายเป็น“ผู้ตรวจการแห่งสาธารณรัฐ” (Commissioner of the Republic) อำนาจหน้าที่ซึ่งแต่เดิมเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดถูกถ่ายโอนไปเป็นของประธานสภาจังหวัดซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร
 
สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีจำนวนตั้งแต่ 14 คน จนถึง 76 คน ขึ้นอยู่กับจำนวน “กังต็อง” หรือเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดว่าจะมีจำนวนเท่าใด โดยแต่ละกังต็องมีสิทธิเลือกสมาชิกสภาจังหวัดได้ 1 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดใหม่จำนวนกึ่งหนึ่งของสภา สภาชิกสภาจังหวัดจะคัดเลือกสมาชิกคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาจังหวัด และรองประธานสภาฯ อีก 4 – 10 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดยประธานสภาฯ ยังดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ สภาจังหวัดมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบกิจการต่าง ๆ ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของจังหวัด
 
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชีย มีรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยว และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีองค์พระจักรพรรดิทรงเป็นประมุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ญี่ปุ่นจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
 
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคณะผู้ยึดครองของสหรัฐฯ ที่เข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง การบริหาร และระบบเศรษฐกิจ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร
 
กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จัดระดับชั้นการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นออกเป็น 2 ชั้น (Two-Teir System) คือ ระดับบน (Upper Tier) ได้แก่ จังหวัด (Prefecture) และ ระดับล่าง (Lower Tier) ได้แก่ เทศบาล (Municipal) จึงมีผลทำให้จังหวัดมีพื้นที่ในการดำเนินงานครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลทั้งหมดที่ขึ้นตรงต่อจังหวัดอย่างไรก็ตาม จังหวัดและเทศบาลมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่าเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้สังกัดจังหวัด ดังนั้น จังหวัดจึงมีอำนาจเพียงให้คำแนะนำและแนวทางแก่เทศบาลเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจสั่งการเทศบาลได้
 
ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยอำนาจหน้าที่ที่สำคัญก็คือบริหารงานของจังหวัดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  เสนอร่างกฎหมายต่างๆเพื่อให้สภาจังหวัดพิจารณา  เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภาจังหวัดอนุมัติและบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการอนุมัติอย่างมีประสิทธิภาพ  จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่างๆ(โดยมีหลักการว่าท้องถิ่นเก็บภาษีแล้วนำบางส่วนส่งส่วนกลางตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตรงกันข้ามกับของไทยที่ส่งส่วนกลางก่อนแล้วจึงแบ่งบางส่วนมาให้ท้องถิ่น)  แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด   อำนาจในการยุบสภาจังหวัด           
 
ที่สำคัญคืออำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินกิจการบางอย่างแทนให้สำเร็จลุล่วงตามกฎระเบียบและแนวทางที่รัฐบาลกลางวางไว้
 
 
เกาหลีใต้
ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชีย มีรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับไทย มีการแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลางในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น แต่ประเทศเกาหลีได้กลับทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ
 
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเกาหลีใต้ เพิ่งจะมีการปฏิรูปกันอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีบทบัญญัติรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเกาหลีใต้แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามเกาหลีทีทำให้การปกครองท้องถิ่นของเกาหลีใต้ต้องหยุดชะงักลง หรือจะเป็นการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการของปัก จุง ฮี ก็ตาม
 
แต่อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ก็มีกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ฉบับแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 (Local Autonomy Act in 1949) และได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้การการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุงเมื่อปี ค.ศ. 1995 ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่ามีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น กล่าวคือเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
 
อังกฤษ
อังกฤษเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป มีรูปแบบเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State) เช่นเดียวกับฝรั่งเศส แต่มีความแตกต่างจากฝรั่งเศส ในขณะที่ฝรั่งเศสมีการจัดระบบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น แต่อังกฤษจัดระบบบริหารราชการเพียง 2 ระดับเท่านั้น คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
 
จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นโดยมิได้กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่หลากหลายรูปแบบโดยไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคแต่ว่าเป็นรูปแบบของรัฐรวมหรือสหรัฐซึ่งแตกต่างจากไทยเราซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว โดยผมยกตัวอย่างเฉพาะที่เป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับไทยเพราะเมื่อใดที่มีการยกประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมา ก็จะถูกยกประเด็นการเป็นรัฐเดี่ยวและการมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศขึ้นมาโต้แย้งอยู่เสมอ และแน่นอนว่าผมมิได้ยกตัวอย่างประเทศพม่า ลาว กัมพูชา หรือประเทศในแถบอาฟริกาที่ยังคงมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคอยู่เช่นเดียวกับไทยอยู่แล้ว
 
ประเทศไทยถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วหรือยัง
คำตอบของผมก็คือหากอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยเรายังเป็นเสมือนบุรุษไปรษณีย์ที่ไม่มีอำนาจและงบประมาณเป็นของตนเอง การตัดสินใจต่างๆ ล้วนแล้วแต่รวมศูนย์อำนาจอยู่แต่ในส่วนกลางคือตัวปัญหา การเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยยังคงมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคจึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพราะผลที่ได้มาภายหลังการเลือกตั้งก็ยังคงเหมือนเดิม
 
การบริหาราชการส่วนภูมิภาคนั้นนอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านการเมืองและการปกครองเพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพราะถูกบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ซึ่งไม่มีทางที่จะเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นเท่ากับคนท้องถิ่นเอง
 
ฉะนั้น การมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั่นเองที่เป็นตัวปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน การยกเลิกเสียซึ่งการบริหารราชส่วนภูมิภาคต่างหากคือคำตอบที่ถูกต้อง ไม่ว่าตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่นจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม
 
 
----------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 19 ตุลาคม 2553
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปกป้องสถานภาพตนเองหรือปกป้องคนไข้ ?

Posted: 19 Oct 2010 12:00 PM PDT

ผมคิดอยู่นานว่าจะเขียนงานชิ้นนี้หรือไม่

 
สาเหตุเพียงประการเดียวคือเกรงใจแพทย์และพยาบาลทั้งที่รู้และมิได้รู้จักจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นดั่งพ่อพระแม่พระสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย มีจิตใจและจิตวิญญาณที่เรียกได้ว่า “การทำหน้าที่ให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” แม้จะมีอยู่จำนวนไม่มาก แต่ก็มีอยู่จริงในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและสถานที่ไกลปืนเที่ยง ด้วยเกรงว่าการแสดงความคิดเห็นของผมจะไปกระทบกระเทือนจิตใจ
 
แต่ที่สุดแล้วก็เข้าใจได้ว่าท่านเหล่านั้นน่าจะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงตัดสินใจลงมือเขียน
 
ผมเข้าร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และลงแรงไม่น้อยที่จะให้ ร่าง พ.ร.บ. นี้เข้าสภานิติบัญญัติ เพื่อพิจารณาในสมัยนี้ ด้วยความเห็นใจของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องด้วยความเดือดร้อนและบริสุทธิ์ใจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในนาม “เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์”
 
เพราะเป็นคนนอกวงการสาธารณสุข และมิได้รับผลกระทบในเชิงความเสียหายรุนแรงโดยตรงจากบริการสาธารณสุข แต่ก็มีใจโอนเอียงไปในทางที่เห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ. นี้ไว้ในสังคมไทย จึงได้ทำการศึกษาบรรดาเอกสารต่างๆ ทั้งร่างกฏหมายที่ร่างโดยคณะบุคคลทั้ง 7 คณะ บทความความคิดความเห็นทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน คลิปข่าวจำนวนมากมายที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
 
การเกาะติดกับเรื่องราวดังกล่าว ในฝ่ายที่คัดค้านนั้น จากวิจารณญาณของผมพบว่า มีเพียงส่วนน้อยที่ให้ข้อมูลความคิดเห็นที่น่ารับฟัง น่าเชื่อถือ และเป็นความวิตกกังวลโดยแท้จริง แต่ทว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านส่วนใหญ่มิได้เป็นไปเช่นนั้น การอ้างเหตุผลเพื่อคัดค้านไม่เพียงฟังไม่ขึ้น แต่แพทย์หลายท่านที่ออกมาคัดค้านยังมีทีท่าที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้ดูแลเยียวยาผู้เจ็บไข้ บางกรณีเข้าข่ายใช้วิธีการแบบอันธพาลด้วยซ้ำไป
 
ผมติดใจเหตุผลการคัดค้าน พ.ร.บ. หลายประเด็น แต่ที่ค่อนข้างขุ่นเคืองใจเป็นอย่างมากก็คือ “การระแวดระวังและการปกป้องตนเองจากการฟ้องร้องของบรรดาแพทย์จะเพิ่มมากขึ้นทั้งที่พวกเขาได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักและเสียสละ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรับบริการในภาพรวมของประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้วประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้ได้รับความเสียหาย”
 
คนตัดสินใจมาเรียนแพทย์ แม้ว่าจะมีแรงจูงใจหลายประการ ทั้งลาภ ยศและสรรเสริญ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับเหตุผลที่เป็นพื้นฐานรองรับในการเข้ามาสู่วิชาชีพนี้เป็นการเบื้องต้นก็คือ การทุ่มเทเอาใจใส่ต่อการทำหน้าที่เยียวยารักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างเต็มความสามารถของตนเอง  เหตุผลนี้จึงเป็นข้อตกลงเบื้องต้นที่ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น
 
สำหรับการตอบแทนต่อการทุ่มเททำหน้าที่ดังกล่าวนั้น สังคมได้ยกสถานะภาพของแพทย์ไว้อย่างสูง ซึ่งยังไม่นับรวมกับค่าตอบแทนที่เรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาข้าราชการระดับเดียวกัน ทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าตอบแทนล่วงเวลา รวมไปถึงค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานให้เอกชนของแพทย์จำนวนมาก นี่ไม่ต้องกล่าวถึงแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าตอบแทนต่างๆ สูงลิ่ว
 
เพื่อนผมคนนึงเล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนหมอจะได้การยกย่องสูงโดยไม่รับเงิน แต่ปัจจุบันหมอก็ยังคงยังได้รับเกียรติสูงอยู่แล้วก็ได้เงินมากด้วย แต่หมอจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยรักษาเกียรติเพราะห่วงเงิน คำถาม คือ ถ้าได้เงินไปแล้วก็ไม่ต้องมีเกียรติ สามารถที่จะฟ้องร้องตรวจสอบกันได้”
 
สำหรับประเด็นการฟ้องร้องตรวจสอบที่แพทย์หลายท่านเป็นห่วงและวิตกกังวลนั้น (แพทย์บางท่านถึงกับเสนอให้เขียนกฏหมายไม่มีการฟ้องร้องในทางอาญา) บางท่านถึงกับกล่าวอ้างว่าจะทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างแพทย์กับคนไข้ลดน้อยถอยลงไป
 
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ความเห็นไว้ในทำนองว่า ไม่ว่าจะมีกฏหมายหรือไม่ก็ตาม สังคมรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ควรให้การยอมรับกันเป็นการเบื้องต้นก่อนว่า การปกป้องตนเอง การเรียกร้องความเสียหายจากการได้รับบริการที่เกิดจากความผิดพลาด กระทั่งการแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในที่สุดแล้วการปกป้องตนเองของผู้เสียหายนั้น เป็นการปกป้องสังคมโดยรวมจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ให้บริการด้วย จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะยกความเหล่านี้มากล่าวอ้าง อีกทั้งก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประณามการใช้สิทธินี้
 
ปัจจุบัน “แพทย์” ถือเป็นบุคคลที่มีสถานภาพเป็นอีลีตของสังคม และพยายามจะรักษามันไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง รวมไปถึงการปกป้องการคุกคามที่จะทำให้สถานภาพนั้นสั่นคลอน ผ่านกลไกและกระบวนการผลิตซ้ำต่าง ๆ ทั้งนี้รวมไปถึงความไม่พยายามที่จะให้ความสามารถหรือศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนมีความเข้มแข็งขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับพยายามพัฒนาความรู้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ยิ่งทำให้ผู้คนพึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลอย่างที่สุด
 
และในระบบบริการสาธารณสุขก็มิได้ใส่ใจต่อการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนมิให้เกิดการเจ็บป่วย จนกระทั่งบ้านเมืองเต็มไปด้วยคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องเข้าไปขอรับบริการจากสถานบริการ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับธุรกิจที่ยืนอยู่บนฐานความเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไม่อาทรร้อนใจ สืบทอดและตอกย้ำสถานภาพนั้นให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น โดยไม่อินังขังขอบกับการตกเป็นเครื่องมือของการเป็นเครื่องมือกับธุรกิจบริการทางการแพทย์
 
การเคลื่อนไหวหรือผลักดันใด ๆ ที่จะไปมีผลต่อความสั่นคลอนของสถานภาพนั้นจึงเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับไม่ได้
 
แพทย์จำนวนไม่น้อย จำนวนมากที่อยู่ในกลไกปกป้องและคุ้มครองพวกเดียวกันเองเห็นว่า กฏหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ นี้ จะส่งผลกระเทือนต่อสถานภาพของแพทย์ เช่นเดียวกับกฏหมายหลักประกันสุขภาพฯ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งแพทย์กลุ่มที่ต่อต้านกฏหมายคราวนี้ก็คือกลุ่มเดียวกับการต่อต้านกฏหมายในคราวนั้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฏหมายฉบับนี้จะถูกคัดค้านจนไม่สามารถที่จะนำเข้าพิจารณาในสภาฯ ได้ทันในสมัยการประชุมนี้ แต่ผมมั่นใจเหลือเกินว่าการเคลื่อนไหว ผลักดันจะยังคงมีต่อไป สังคมและประชาชนก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจธาตุแท้ขององค์กรแพทย์มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในระยะยาวที่จะค่อยตีแผ่ปัญหาที่ฝังแน่นในสังคม โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการถืออภิสิทธิ์ของกลุ่มแพทย์ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างถอนรากถอนโคนก็เป็นได้ ดังที่เพื่อนคนหนึ่งกล่าวว่า
 
“...กลุ่มอาชีพแพทย์ เป็นกลุ่มหนึ่งที่รักษาสถานะอภิสิทธิ์ทางสังคมมายาวนาน สังคมเราเปลี่ยนไปมากแล้ว หากพวกเขายังฉุดรั้งความก้าวหน้าสังคม เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเองเท่านั้น ผมคิดว่า “ความขัดแย้ง” ในแบบที่รุนแรงระหว่างชนชั้นก็คงจะเลี่ยงไม่ได้...”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: เด็กหญิง..ตุลา

Posted: 19 Oct 2010 11:50 AM PDT

 
              
 
            ซากศพทารกนิรามถูกทิ้งข้างกองขยะ
            สุนัขจรจัดทึ้งร่างท่ามกลางแมลงวันหึ่ง
            กลิ่นเน่าเหม็นแห่งยุคสมัยโชยอวลน่าอาเจียน
            สายตาเย็นชาด่าทอสาปแช่ง
            ใครกันช่างใจร้ายอำมหิต
            ใครกัน...
 
            ในเงามืด..เด็กสาวไร้เดียงสาเสียสติสั่นไหว
             เธอกอดกุมตุ๊กตาไว้แน่น
             “ใครฆ่าลูกฉัน” เธอถามคนผู้ผ่านทาง
             คุณคะ? รู้ไหมใครฆ่าลูกฉัน
             เธอพร่ำเพ้อ
 
             ในเงามืด…เธอหวาดกลัวกับร่างทะมึนดำ
             เธออยากถอยกลับไปอยู่ในครรภ์มารดา
             ถอยกลับไปยังดวงดาวที่จากมา
             ถอยกับไปยังความว่างเปล่า
             เธอฝัน….
 
             ในเงามืด…เธอถูกปิดปากด้วยศีลธรรม
              เธออยากบอกความจริงกับสังคม
             แต่ใครเล่าจะรับฟังเสียงเธอ
               ประเทศนี้ตัดสินเธอเรียบร้อยแล้ว
 
             ใต้ต้นมะขาม…รุ่งสางวันนั้น
               เธอถูกจับแขวนคอ !
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ต้านโรงไฟฟ้ากังหันลมจ.ปัตตานี ชาวบ้านขู่ปลด‘นายกอบต.’ ถ้าหนุน

Posted: 19 Oct 2010 11:38 AM PDT

 

 
นายจุมพล เดชดำนิล ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการสาธิตพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจังหวัดปัตตานี จะย้ายกลับมาติดตั้งที่แหลมตาชี ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่ของกองทัพเรือ เพราะขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ทำ MOU ความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงกลาโหมแล้ว
 
นายจุมพล กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการนี้ย้ายออกจากพื้นที่ของกองทัพเรือ ที่แหลมตาชีไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เนื่องจากกองทัพเรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ แต่เมื่อตกลงทำความร่วมมือด้านพลังงานกับกระทรวงกลาโหม จึงพิจารณาร่วมกันคัดเลือกเห็นว่า พื้นที่แหลมตาชีมีความเหมาะสม จึงย้ายโครงการกลับมาดำเนินการที่เดิมซึ่งเป็นของกองทัพเรือคือ
 
“หลังจากนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานได้จัดสัมมนาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 1 โดยบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เมื่อเวลา 09.00–11.30 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2553 ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย นายอดิศักดิ์ ชูสุข วิศวกรชำนาญการจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ นายพีรพงค์ เชี่ยววัฒนากุล จากบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด ปลัดอำเภอยะหริ่ง ตัวแทนอำเภอยะหริ่ง นายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์และราษฎรตำบลแหลมโพธิ์ ทั้ง 4 หมู่บ้าน เข้าร่วม 150 คน และมีผมเข้าร่วมประชุมด้วย” นายจุมพล กล่าว
 
นายจุมพล เปิดเผยว่า ในวันดังกล่าว นายพีรพงค์ เชี่ยววัฒนากุล จากบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ ประกอบด้วย ความรู้เบื้องต้น ประวัติกังหันลม ผลกระทบจากการติดตั้งกังหันลม และตอบข้อซักถามของประชาชนที่มาเข้าร่วม และจะเป็นเวทีชี้แจงเวทีสุดท้าย โดยก่อนหน้านี้เคยนำชาวบ้านตำบลแหลมโพธิ์ มารับฟังคำชี้แจง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมาแล้ว 1 ครั้ง และเคยจัดเวทีชี้แจงข้อมูลต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีอีก 1 ครั้ง
 
นายจุมพล กล่าวว่า สำหรับบริษัทเอนไวรอน เทคทู จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบฐานรากของที่ตั้งกังหันลม มีกำหนดแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ขณะนี้กังหันลมทั้ง 2 ตัวสร้างเสร็จแล้ว ติดตั้งได้ทันที่ที่สร้างฐานรากเสร็จ ถือเป็นโรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดใหญ่ของไทย
 
ทั้งนี้ สำหรับกังหันลมขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีเสียงดังเท่ากับตู้เย็นประจำบ้าน ผลิตไฟฟ้าได้ 15% ของความเร็วลมทั้งปี 24 ชั่วโมง คูณกับ 365 วัน ซึ่งจะได้กระแสไฟฟ้า 328,500 หน่วยต่อปี ขายหน่วยละ 8 บาท เป็นเงินจำนวน 2,491,000 บาทต่อปี โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ 2 ตัว ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5 กิโลวัตต์
 
“ในส่วนของชาวบ้านที่ต่อต้าน เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แหลมโพธิ์ต้องไปทำความเข้าใจ สาเหตุที่ชาวบ้านปิดถนนประท้วง เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบกับวิถีชุมชน อันที่จริงการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้” นายจุมพล กล่าว
 
นายจุมพล กล่าวอีกว่า สำหรับผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ ขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ จะประสานกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ โดยอาจจะนำภาษีจากโรงไฟฟ้ากังหันลม จัดตั้งเป็นกองทุนและสวัสดิการให้กับประชาชนชาวตำบลแหลมโพธิ์ รวมทั้งทำให้สถานที่ก่อสร้างกังหันลมเป็นสถานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือก หากทางองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์บริหารดีชาวบ้านก็จะมีรายได้
 
นายและ แวสะมาแอ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้ากังหันลมแหลมตาชี เปิดเผยว่า ชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้ากังหันลม ถ้าหากสร้างจริงตนจะนำชาวบ้านออกมาทวงถามนายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เพราะเคยรับปากกับชาวบ้านว่าจะประสานงานกับหน่วยงานข้างบนให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลม
 
“ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ตนจะเป็นแกนนำชาวบ้านล่ารายชื่อถอดถอนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนนายนิราศ เพราะต้องการให้เข้ามายุติโครงการนี้” นายและ กล่าว
 
“ผมอยากทราบว่าถ้าโรงไฟฟ้ากังหันลมเกิดขึ้น ชุมชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จะได้รับผลกระทบอย่างไร ผมไม่อยากให้ลูกหลานต้องรับชะตากรรมในวันข้างหน้า ชาวบ้านที่นี่เขาไม่ต้องการแต่ไม่รู้จะพูดคุย อธิบาย ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่รัฐยังไง ทราบมาว่าพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้ากังหันลมส่งผลกระทบกระเทือนต่อชายฝั่งทำให้ปลาไม่เข้าฝั่ง กระทบต่อระบบนิเวศ กระทบต่อนกที่อพยพเข้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนทุกปี” นายและ กล่าว
 
นายนิราศ อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมโพธิ์ กล่าวว่า ตนไม่สามารรถรับปากกับกลุ่มผู้คัดค้านได้ว่า จะชะลอโครงการหรือยุติการสร้างได้หรือไม่ เพราะตนไม่สามารถห้าม หรือไปยกเลิก หรือชะลอโครงการได้ เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ
 
“ตนต้องยึดเหตุผลและประโยชน์ของชาวบ้านส่วนใหญ่ ที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม ส่วนที่ชาวบ้านที่คัดค้านจะออกมาล่ารายชื่อถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล จะประสานงานไปยังอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมพลังงานทดแทนฯ ให้ชาวบ้านลงมติว่าจะให้สร้างหรือไม่” นายนิราศ กล่าว
 
สำหรับโครงการสาธิตพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจังหวัดปัตตานี จะมีการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 250 กิโลวัตต์ 1 ตัว ราคา 23.5 ล้านบาท ผลิตจากประเทศอินเดียเสร็จแล้วรอการติดตั้ง และกังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ ราคา 130 ล้านบาท ผลิตจากประเทศจีนเสร็จแล้วรอการติดตั้ง โดยจะสร้างสถานีวัดลมขนาดความสูง 100 เมตรอีก 1 สถานี งบประมาณทั้งหมดมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: พี่น้องตระกูล‘เจ๊ะเต๊ะ’ ชะตาพิสดารและการเยียวยาที่เอื้อมไม่ถึง

Posted: 19 Oct 2010 11:22 AM PDT

 
 
หากจะพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันมีลักษณะพิสดารยิ่งนัก คงเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ‘เจ๊ะเต๊ะ’
 
เพราะการตายของนาย ‘ไซกุตรีย์ เจ๊ะเต๊ะ’ ก่อให้เกิดปริศนาและปัญหาหลายประการตามมา เผยให้เห็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการเยียวยา
 
ประเด็นแรก คือ นายไซกุตรีย์ ซึ่งเป็นข้าราชการครูอยู่ที่โรงเรียนบ้าน(สโลว์)บูกิตจือแร หมู่ที่ 9 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ขณะเดินทางกลับจากละหมาดที่มัสยิดในช่วงค่ำ
 
จากนั้นอีกหนึ่งปี พี่ชายคือ ‘อับดุลกอเดร์ เจ๊ะเต๊ะ’ ซึ่งเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนเดียวกัน ก็ถูกคนร้ายลอบยิงด้วยอาวุธปืนอาก้า ขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปสอนหนังสือบริเวณทางเข้าโรงเรียน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 แต่ก็รอดชีวิตมาได้
 
อับดุลกอเดร์รู้ว่าใครเป็นคนร้าย จนนำมาสู่การเป็นพยานปากเอกในคดีนี้ เพราะเขามั่นใจว่าคนร้ายทั้งสองคนที่มายิงตนก็เป็นคนๆ เดียวกันกับที่ยิงน้องชายจนเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว
 
ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร(สภ.) รือเสาะ ได้ออกหมายจับชายสองคน ซึ่งเป็นคนขับรถจักรยานยนต์และคนลงมือยิง โดยมือปืนมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ในหมู่บ้านเดียวกัน
 
ต่อมาชายทั้งสองคน ออกมามอบตัว แต่ทุกอย่างพลิกผันเมื่อพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนชั่วคราว แม้นายอับดุลกอเดร์พยายามคัดค้านการประกันตัว แต่ก็ไม่ได้ผล
 
สุดท้ายนายอับดุลกอเดร์ต้องร้องขอความคุ้มครองในฐานะพยาน ตามโครงการคุ้มครองพยานของกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ โดยให้เหตุผลว่า เพราะเขาคือพยานปากเอกกรณีเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเองและน้องชายที่ถูกยิงเสียชีวิต โดยตนเองมีทั้งข้อมูลและเบาะแสของผู้ก่อเหตุและผู้สั่งการ
 
อับดุลกอเดร์มั่นใจว่า การที่ผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวออกมา จะทำให้ตนเองจะได้รับอันตรายถึงชีวิตอย่างแน่นอน หากตนเองไม่ได้รับการคุ้มครอง
 
เหตุผลที่ผู้ต้องหาทั้งสองถูกปล่อยตัวออกมา เพราะได้รับการรับรองจากผู้นำชุมชนรายหนึ่ง ซึ่งเขามั่นใจว่า เป็นผู้สั่งการให้ลงมือฆ่าน้องชายและตนเองอย่างไม่ทราบเหตุผล สุดท้ายเขาต้องกลายเป็นพยานที่ต้องถูกคุ้มครองอยู่ในเซฟเฮ้าส์ที่ไม่เป็นหลักแหล่ง
 
ย้อนกลับไปสู่กรณีการตายของน้องชายก็พบเงื่อนงำบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เพราะอับดุลกอเดร์ให้ข้อมูลว่า หลังไซกุตรีย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พอวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ของทหาร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร(ผกก.สภ) และนายอำเภอ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครอง ได้ลงนามในหนังสือรับรองทันทีว่าไม่รับรองว่า การเสียชีวิตของไซกุตรีย์เป็นสาเหตุมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
 
ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้น้องชายไม่ได้รับเงินเยียวยา ทั้งที่ทำงานเป็นข้าราชการครู
 
สิ่งที่สะดุดใจอับดุลกอเดร์ก็คือ ทำไมหนังสือรับรองจาก 3 ฝ่ายจึงออกมาเร็วนัก ทั้งที่น้องชายถูกยิงเสียชีวิตได้เพียง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้กำกับการ สภ.รือเสาะที่ลงนามไม่รับรองด้วย ทั้งที่พนักงานสืบสวนสอบสวนผู้ใต้บังคับบัญชา ยังสืบสวนสอบสวน รวมทั้งเก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐานและพยานบุคคลยังไม่เสร็จ!
 
“ตอนที่ตำรวจลงไปชันสูตรพลิกศพและเก็บรวบรวมหลักฐาน เขายังบอกผมเลยว่า ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อไปขอรับเงินเยียวยาได้เลย”
 
อับดุลกอเดร์ เข้าใจว่ากระบวนการในการรับการเยียวตรงนั้นยังไม่เสร็จสิ้น แต่เขาก็รู้แล้วว่า อะไรเป็นอะไร แต่เหตุใดวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย จึงพร้อมใจกันไม่รับรอง เป็นไปได้อย่างไร เหตุใดเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย จึงรู้ได้ทันทีว่าไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ
 
ทั้งที่การรับรอง 3 ฝ่าย ต้องดำเนินการภายใน 7 วัน ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. กำหนดขึ้น
 
อับดุลกอเดร์ จึงไม่ยอมรับการลงนามไม่รับรองของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายดังกล่าว พร้อมเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมดังกล่าว ด้วยการเดินทางไปร้องเรียนต่อศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดนราธิวาส ทางศูนย์ทนายความมุสลิมจึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์การรับรอง 3 ฝ่ายดังกล่าว ต่อศูนย์ช่วยเหลือเยียวผู้ได้รับผลกระทบประจำอำเภอรือเสาะ
 
ผ่านไปอีกหนึ่งปี อับดุลกอเดร์ได้ติดตามผลการอุทธรณ์ แต่ก็ไม่พบความคืบหน้าใดๆ วันที่ 9 มีนาคม 2553 อับดุลกอเดร์จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์อีกครั้ง โดยส่งไปที่นายอำเภอรือเสาะ เพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
 
ผ่านไปอีก 5 เดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 อับดุลกอเดร์จึงตัดสินใจโทรศัพท์สอบถามไปยังนายอำเภอรือเสาะ เพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง ได้รับคำตอบจากนายอำเภอรือเสาะว่า หนังสือถูกส่งต่อไปแล้ว จึงไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ ว่า และไม่ทราบว่าหนังสือร้องเรียนถูกส่งไปให้ใคร
 
ท่ามกลางความผิดหวัง อับดุลกอเดร์รู้สึกเหมือนถูกฟ้าผ่าลงกลางใจซ้ำอีกครั้ง เมื่อได้รับจดหมายจาก ‘นายโสภณ ทิพย์บำรุง’ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการเขต 9 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดนราธิวาส ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ส่งถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ ระบุว่า ขอให้งดการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดกระทำความผิด!
 
ทั้งที่คดีนี้ มีพยานวัตถุที่ตำรวจเก็บได้ คือ ปลอกกระสุนขนาด 5.5 มม.จำนวน 4 ปลอก ปลอกกระสุนอาก้า จำนวน 30 ปลอก และเศษหัวกระสุนจำนวน 2 ชิ้น อีกทั้งเขายังสามารถชี้ตัวผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อเหตุและผู้ลงมือยิงได้ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ซัดทอดไปถึงผู้บงการด้วย
 
อับดุลกอเดร์ อ่านจดหมายด้วยความมึนงง แทบไม่เชื่อสายตาตนเอง เป็นได้ได้อย่างไร ที่อัยการจังหวัดนราธิวาส สั่งให้หยุดสืบสวนคดีนี้ เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดกระทำความผิด!
 
แม้คดียังมีอายุความอีกยาวนาน แต่ทุกวันนี้ อับดุลกอเดร์ วัย 37 ปีต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้การคุ้มครองของดีเอสไอ อย่างไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
 
แม้วันนี้ เขาไม่อาจกลับไปทำหน้าที่ครู ซึ่งเป็นอาชีพที่เขารักได้อีกต่อไป แต่เขาก็ยังรอความหวังการเยียวยาจากรัฐ จากการสูญเสียน้องชายไป ด้วยเงินช่วยเหลือเยียวยาก้อนหนึ่งอย่างใจจดใจจ่อ
 
น.ส.ปรีดา ทองชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานาน ให้ความเห็นกรณีรัฐปฏิเสธการเยียวยาต่อกรณีการตายของนายไซกุตรีย์ว่า มีความขัดแย้งกันชัดเจนในกรณีที่ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะที่ลงชื่อไม่รับรอง ทั้งที่ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานระบุว่า สาเหตุยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
 
น.ส.ปรีดา บอกว่า ในประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ต้องระบุเหตุผลประกอบว่า ทำไมบุคคลผู้นี้จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ
 
“ต้องระบุเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่รับรองว่าการตายของนายไซกุตรีย์เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ แต่เราก็ทำได้แค่เพียง ส่งหนังสืออุทธรณ์ให้และตอนนี้ก็ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา” น.ส.ปรีดา กล่าว
 
“เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ในรายที่รัฐปฏิเสธการเยียวยา ในใบรับรอง ไม่มีเหตุผลมารองรับเลย ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้นมาทันที ไม่ว่าคนที่ตายจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไม่สงบจริงๆ ก็ตาม”
 
น.ส.ปรีดา ให้ข้อสังเกตอีกอย่างว่า กรณีคนไทยพุทธที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองว่าเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ ซึ่งจะทำให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามมา แต่ถ้าเป็นชาวมุสลิม ถ้าไม่ชัดเจนจริงๆ เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย จะไม่รับรอง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจมาก
 
น.ส.ปรีดา ฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้รับข้อร้องเรียนของมุสลิมเข้ามาเยอะ ทางออกที่ทำได้คือช่วยทำหนังสืออุทธรณ์ให้ แต่ไม่รับประกันว่าจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ แต่เป็นสิ่งแรกที่ประชาชนมีสิทธิจะทำ คือ การยื่นอุทธรณ์” น.ส.ปรีดาระบุทิ้งท้าย
 
แม้ยังไม่รู้ว่าอนาคตการเยียวยาของคนในกระกูล‘เจ๊ะเต๊ะ’ จะเป็นอย่างไร แต่สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อน้องชายอีกคนของอับดุลกาเดร์ ชื่อ ‘อิสรัน เจ๊ะเต๊ะ’ อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาอินแดน หรือ อส.ประจำ อำเภอรือเสาะ ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 3 คนใช้รถปิกอัพไม่ทราบหมายเลขทะเบียนแล่นติดตามและใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มจนเสียชีวิตพร้อมกับ อส.อีกคน คือนายอุเซ็ง ตาดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา
 
เหตุเกิดขณะที่นายอิสรันขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางไปทำธุระที่ตลาดเมืองยะลา บนถนนสาย 4066 บริเวณบ้านพงจือนือเระ หมู่ที่ 3 ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
 
ไม่รู้ว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ‘เจ๊ะเต๊ะ’ ครั้งล่าสุด จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่...
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

20 เคล็ดลับ ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ

Posted: 19 Oct 2010 11:03 AM PDT

มีการประมาณการกันว่าในสหรัฐอเมริกามีคนราว 44,000 – 98,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากความผิดพลาดในการเข้ารับบริการสุขภาพในแต่ละปี** แต่ถ้าถามถึงสถิติในประเทศไทยสถิติดังกล่าวไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบในเมืองไทย คิดว่าคงไม่น้อยไปกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะต้องรู้วิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าว
 
ความผิดพลาดทางการแพทย์เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้แม้แต่ในการรักษาปกติตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การรับการผ่าตัด การได้รับยา หรือการได้รับบริการอื่นๆ ในสถานพยาบาล เช่น การได้รับอาหารที่ผิดประเภทในคนไข้ คู่มือนี้จึงจะเป็นแนวทางสำหรับผู้บริโภคหรือคนไข้ในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยในการรับบริการ
 
 
ก. หลักการที่สำคัญ
 
เคล็ดลับประการที่ 1 ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า “เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ให้การรักษา” นั่นหมายถึงเราต้องมีส่วนร่วมในทุกๆการตัดสินใจในกระบวนการดูแลรักษา, มีงานวิจัยยืนยันว่าผู้ป่วยที่มีส่วนร่วมในกระบวนการรักษามีแนวโน้มจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่า
 
ข. หลักปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยา
 
เคล็ดลับประการที่ 2 ท่านต้องแน่ใจว่าแพทย์ทำการรักษาท่านอยู่ทราบว่า ท่าน ได้รับยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอะไรอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับจากแพทย์ ท่านอื่นๆหรือท่านหาซื้อมารับประทานเอง กรณีที่ได้รับจากแพทย์ท่านอื่น แม้ว่าจะเป็นแพทย์โรงพยาบาลเดียวกัน แต่ คนละแผนก ท่านก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เผื่อแพทย์ท่านนั้นจะไม่ได้อ่านประวัติการใช้ยาของท่านทั้งหมด ในกรณีท่านซื้อมารับประทานเองจากร้านยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ เช่น พวกวิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรต่างๆ ซึ่งในการรักษาพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้มากโดยเฉพาะอันตรายจากปฏิกิริยาต่อวันระหว่างยา ที่แพทย์สั่งให้ใหม่กับยาที่ท่านรับประทานอยู่ หรือกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการรักษาได้ ดัง นั้น ในการพบแพทย์หรือต้องนอนโรงพยาบาลให้นำยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ท่านใช้ประจำมา เป็นข้อมูลเพื่อให้แพทย์ได้ทราบก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจสั่งการรักษา
 
เคล็ดลับประการที่ 3 ท่านต้องแน่ใจว่าแพทย์ที่ทำการรักษาท่านอยู่ทราบว่าท่านเคยแพ้ยาหรือมีอาการข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากยาชนิดใด เพื่อแพทย์จะได้หลีกเลี่ยงยาประเภทดังกล่าว ในกรณีที่ท่านอาจแพ้ยาหรือเกิดอันตรายจากยาที่ได้รับจากคลินิกหรือร้านยา ให้ ท่านกลับไปที่คลินิกหรือร้านยาดังกล่าว เพื่อขอทราบชื่อยาและต้องบันทึกเก็บไว้ประจำตัวและแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกร ผู้ให้การรักษาทราบทุกครั้งก่อนรับยา
 
เคล็ดลับประการที่ 4 ในกรณีที่แพทย์ตัดสินใจให้ยาแก่ท่าน ท่านต้องพยายามทำความเข้าใจกับใบสั่งยาที่ท่านได้รับ โดยเฉพาะลายมือที่แพทย์เขียน เพราะลายมือที่ไม่ชัดเจนทำให้เภสัชกรจ่ายยาผิดพลาดและเป็นที่มาของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนไข้
 
เคล็ดลับประการที่ 5 ท่านพึงต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับยาที่ท่านได้รับ โดยสอบถามแพทย์ให้ชัดเจน ได้แก่
 
- ยาที่ได้รับนั้นใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง
 
- ยาที่ได้รับต้องใช้อย่างไร และใช้ยานานแค่ไหน จะหยุดยาได้เมื่อไร
 
- ถ้าใช้ยาแล้วโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอะไรบ้าง และหากเกิดขึ้นจริงจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
 
- ยาที่ได้รับนี้หากต้องรับประทานร่วมกับยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นที่ท่านรับประทานอยู่จะปลอดภัยหรือไม่
 
- ข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มหรือมีกิจกรรมต่างๆ ประการใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะที่รับประทานยานี้ เช่น ยาบางชนิดจะมีอันตรายหากรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  
เคล็ดลับประการที่ 6 เมื่อไปรับยาตามใบสั่งยาที่ห้องยาหรือร้านยา ต้อง แน่ใจว่าเป็นยาที่เหมาะสมสำหรับท่านจริงๆ ในการรับยาจาเภสัชกร ท่านมีสิทธิที่จะถามเพื่อความมั่นใจว่ายาที่ได้รับเป็นยาที่เหมาะสมกับท่าน จริงๆ โดยเฉพาะหากท่านมีโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาหลายขนานร่วมด้วยอยู่แล้ว ในการศึกษาวิจัย พบว่า ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในขณะจ่ายยา ได้แก่ การได้รับยาผิดชนิด ไม่ถูกต้องตามที่สั่ง หรือได้รับยาในขนาดที่ผิดไปจากที่สั่ง เป้นต้น
 
เคล็ดลับประการที่ 7 หากท่านรับยามาแล้วมีข้อสงสัยถึงวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากต้องรีบถามก่อนกลับบ้าน เพราะหากเข้าใจผิดพลาดจะนำไปสู่การรับประทานยาหรือใช้ยาที่ผิดพลาด เช่น ฉลากระบุว่ารับประทานวันละครั้ง หลังอาหารหรือก่อนนอน มีคนไข้รับประทานยานี้วันละ 4 ครั้ง ทั้งหลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน
 
เคล็ดลับประการที่ 8 ควร ให้เภสัชกรแจ้งให้ท่านทราบถึงอันตรายหรืออาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยา และวิธีปฏิบัติหากเกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะที่อยู่ที่สามารถติดต่อกลับเพื่อขอ ข้อมูลเพิ่มเติม หากเป็นไปได้ควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร
 
เคล็ดลับประการที่ 9 ท่านต้องแน่ใจว่าท่านสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง เช่น หากจำเป็นต้องรับประทานยาน้ำ ต้องถามเภสัชกรให้แน่ใจว่าจะใช้อุปกรณ์ในการตวงยาอย่างไรจะเหมาะสม เช่น หนึ่งช้อนชา ไม่เท่ากับขนาดหนึ่งช้อนกาแฟ หากท่านไม่มีช้อนชาสำหรับตวงยาให้ขอจากห้องยาหรือร้านยาได้ หรือหากได้รับเป็นหลอดฉีดยาสำหรับตวงยาต้องแน่ใจว่าท่านใช้ได้อย่างถูกต้อง หรือหากท่านต้องใช้ยาพ่นต้องแต่ใจว่าพ่นถูกอวัยวะ เช่น พ่นเข้าจมูกหรือพ่นเข้าปาก การเก็บยาหลังจากเปิดขวดใช้แล้ว วิธีการใดที่เหมาะสม เช่น เก็บในตู้เย็น หรือต้องทิ้งภายหลังใช้เป็นเวลา 1 เดือน ในกรณียาหยอดตา
 
 
ค. หลักปฏิบัติหากต้องไปนอนโรงพยาบาล
 
เคล็ดลับประการที่ 10 หาก ท่านมีสิทธิเลือก จงเลือกโรงพยาบาลที่มีความชำนาญในการรักษาคนไข้ในวิธีการนั้นๆก่อน, โดยมีงานวิจัยยืนยันว่าหากได้รับการดูแลในโรงพยาบาลที่มีความชำนาญในการดูแล โรคนั้นๆ มากกว่า จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
 
เคล็ดลับประการที่ 11 หากท่านต้องได้รับการรักษาจากบุคลากรการแพทย์คนใด อย่าลืมถามเขาเหล่านั้นว่า “คุณหมอล้างมือให้สะอาดก่อนมาดูแลท่านหรือไม่” เนื่องจากการล้างมือเป็นวิธีการที่ดีและง่ายที่สุดในการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่องค์การอนามัยโลกยืนยัน และจากการวิจัยพบว่าหากคนไข้ถามผู้ให้บริการในเรื่องดังกล่าว ผู้ให้บริการเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะล้างมือบ่อยขึ้น และใช้สบู่มากขึ้น
 
เคล็ดลับประการที่ 12 หากท่านต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ท่านต้องแน่ใจว่าตัวท่านเอง แพทย์ที่ดูแลท่าน แพทย์ทำการผ่าตัด เข้าใจตรงกันอย่างท่องแท้ว่าจะมีวิธีการอย่างไร มีวิธีการอื่นที่เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าหรือไม่ การผ่าตัดมีความเสี่ยงอย่างไร และต้องตรวจสอบว่าโรงพยาบาลเตรียมป้องกันความเสี่ยงไว้เรียบร้อยหรือยัง เนื่องจากความผิดพลาดในการผ่าตัด เช่นการผ่าตัดผิดตำแหน่ง ที่ก็มีให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่ความผิดพลาดดังกล่าวไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะสามารถป้องกันได้ 100% หรือหากเกิดเหตุการณ์อันตรายจากการผ่าตัด ก็จะมีอุปสรรค์หรือเครื่องมือป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ให้เกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็น
 
เคล็ดลับประการที่ 13 หากท่านได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ต้องแน่ใจว่าท่านได้ถามแพทย์เกี่ยวกับแผนการรักษาระหว่างที่อยู่ที่บ้านจนท่านเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการรับประทานยา การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ หรือการปฏิบัติตนว่าเมื่อไรจะสามารถกลับไปมีกิจกรรมตามปกติได้ หรือกิจกรรมอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง
 
 
ง. หลักปฏิบัติทั่วไปในการรับบริการสุขภาพ
 
เคล็ดลับประการที่ 14 พึงระลึกไว้เสมอว่า “ท่านมีสิทธิถามข้อสงสัยทุกประการเกี่ยวกับการรักษา เพราะฉะนั้น “จงถาม” หรือ “จงพูด” ในสิ่งที่ท่านกังวลใจให้ผู้ให้บริการได้ทราบ
 
เคล็ดลับประการที่ 15 ต้องแน่ใจได้ว่ามีผู้ให้บริการคนใดคนหนึ่งที่ดูแลรับผิดชอบเฉพาะต่อตัวท่านอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากท่านมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน
 
เคล็ดลับประการที่ 16 ต้องแน่ใจให้ได้ว่าผู้ให้บริการทุกคนที่ท่านต้องเกี่ยวข้องด้วยในขณะทำการรักษาทราบข้อมูลสุขภาพของท่าน โปรดอย่าคิดว่าทุกคนที่เข้ามาในกระบวนการรักษาของท่านจะทราบข้อมูลของท่านทั้งหมด
 
เคล็ดลับประการที่ 17 หากเป็นไปได้ในการไปรับการรักษาควรพาใครไปเป็นเพื่อนด้วย อาจเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน เพื่อที่จะช่วยท่านในกรณีที่ท่านต้องการ หรือแม้ว่าคุณอาจจะไม่ต้องการในตอนแรก คุณอาจจำเป็นต้องการคนช่วยเหลือในภายหลังก็ได้ เช่น ใน การผ่าตัดที่ต้องให้ผู้ป่วยหมดสติ หรือการบำบัดรักษาบางชนิดที่ทำให้ท่านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในการรักษาโดยปกติแพทย์จะแจ้งล่วงหน้าเช่น มารักษาตา ห้ามขับรถกลับเอง เป็นต้น
 
เคล็ดลับประการที่ 18 พึงระลึกไว้เสมอว่าในทางการแพทย์ “ยิ่งมากไม่จำเป็นต้องยิ่งดี” โดยเฉพาะการได้รับยาที่มากขึ้นมีโอกาสเสี่ยงต่อยายิ่งมาก หรือแม้กระทั่งการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสอบถามความเหมาะสมในการได้รับยาหรือการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ได้ยาหรือการตรวจเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
 
เคล็ดลับประการที่ 19 หากท่านได้รับคำสั่งให้ตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ใดๆ พึงสอบถามถึงผลของการตรวจ เพราะผลการตรวจอาจจะไม่ได้มีเฉพาะข่าวดีเท่านั้น การทราบผลย่อมจะเป็นประโยชบน์ต่อท่านในการรักษาในขั้นตอนต่อไป
 
เคล็ดลับประการที่ 20 จงหมั่นเรียนรู้ถึงความเป็นไปของโรคหรือความเจ็บป่วยของท่านอย่างสม่ำเสมอ อาจสอบถามจากแพทย์หรือพยาบาล หรือบุคลากรแพทย์ที่ดูแลท่าน หรือเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อื่นๆ  
 
 
 
 
 
ที่มา : Agency for Health care Research and Quality. 2550 20 Tips to Help Prevent Medical Errors. Available at URL : htlp://www.ahrq.org/consumer/zotips.htm
 
** ประมาณอัตราการตายนี้สูงกว่าการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์, มะเร็งเต้านม และเอดส์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจี้ ส.ส.แก้ด่วน ม.15 'จับแพะ' พรบ.คอมพิวเตอร์

Posted: 19 Oct 2010 10:29 AM PDT

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.53 เครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizen ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ส.ส. พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะในมาตรา 15 ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือ “ตัวกลาง” ที่เป็นพื้นที่ความเห็นต่างทางการเมืองกับฝ่ายผู้มีอำนาจถูกเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรมและปิดกั้นเสรีภาพประชาชน โดยเสนอให้พิจารณาและปฎิบัติกับ “ตัวกลาง” ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ จึงให้ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล
 
หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้ และหากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน
 

 
แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต
 
ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 อย่างเร่งด่วน
 
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ) ยังไม่ถูกประกาศใช้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาตลอด ด้วยเล็งเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตในหลายแง่มุม ซึ่งสร้างผลกระทบในการบังคับใช้ หากแต่ภาครัฐกลับมิได้กระตือรือร้นและจริงจังในการแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนฉบับนี้

นอกจากนี้ ระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตพบว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ มาตรา 14 และ 15 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานกับผู้ที่คิดต่างทางการเมือง หรือคิดต่างจากรัฐบาล ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนได้แก่ กรณีการจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรงกับ
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com) ถึงสองคดี
กรณีการจับกุมโดยกองบังคับการปราบปราม

ในคดีแรกนั้น ตำรวจได้ตั้งข้อหากับจีรนุชว่ามีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คือเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฎอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท
 
อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวได้ถูกลบออกจากระบบแล้วเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการจับกุม ภายหลังจากที่จีรนุชได้รับจดหมายจากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งแสดงถึงเจตนาของจีรนุชว่ามิได้จงใจสนับสนุนการ กระทำผิดดังกล่าว นอกจากนี้ ระยะเวลา 20 วันที่ตำรวจกล่าวอ้างว่าเป็นการ “จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม” ก็ยังไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฎในบันทึกของตำรวจหลังจากที่มีการจับกุมแล้วเท่านั้น

กรณีการจับกุมโดยตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ส่วนในคดีที่สอง ตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่นได้ขอให้ศาลจังหวัดออกหมายจับจีรนุชตามการเข้าแจ้งความของ สุนิมิต จิระสุข
<1> ผู้อ่านเว็บไซต์ประชาไทแล้วพบว่าที่ท้ายบทสัมภาษณ์ โชติศักดิ์ อ่อนสูง (ผู้ปฏิเสธที่จะยืนในโรงภาพยนตร์ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี)<2> ซึ่งเปิดให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถโพสต์ความคิดเห็นได้ มีผู้อ่านบางคนโพสต์ความเห็นในทางที่เห็นด้วยกับการกระทำของโชติศักดิ์ สุนิมิตจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับจีรนุชซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเว็บไซต์และผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงจำนวนมาก ดังนี้
ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ

ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งว่าด้วยการเผยแพร่ข้อความยุยงส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่องและละเมิดกฎหมาย

กระทำความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายข้างต้น

และมาตรา 15 ซึ่งว่าด้วยการจงใจสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 14

ศาลขอนแก่นได้อนุมัติหมายจับจีรนุชตามข้อหาที่สุนิมิตแจ้งความมาทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อความที่ตำรวจกล่าวหาว่าผิดกฎหมายนั้นเป็นข้อความตามที่สุนิมิตกล่าวอ้าง และปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ประชาไทเป็นเวลาเพียง 1 - 5 วันก่อนที่สุนิมิตจะเข้าแจ้งความ

ในกรณีนี้ กองบรรณาธิการประชาไทได้พิจารณาลบข้อความบางส่วนด้วยตนเองไปแล้ว ไม่นานหลังพบข้อความ แสดงถึงเจตนาของทีมงานที่ไม่ได้จงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิด และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับการร้องขอเช่นกัน

ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ดังนี้

1. ภาระของ
“ท่อ”

มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

2. ท้องที่เกิดเหตุ
“ทั่วราชอาณาจักร”

มาตรา 15 อ้างถึงความผิดอาญาตามมาตรา 14 โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิด
“ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การเป็นความผิดอาญาทำให้บุคคลใดก็ได้สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงจากที่ใดก็ได้ของเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ทำให้การแจ้งความเป็นไปได้จากทุกพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันได้ เช่นเดียวกับที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาไปแจ้งความในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร<3>

3. ตัวกลางกลายเป็น
“แพะ”

ในการดำเนินคดีกับ
“ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ยังไม่มีการตัดสินโดยศาลว่าข้อความที่ถูกแจ้งนั้นเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง สำหรับผู้โพสต์ข้อความอื่น ๆ รัฐต้องไม่พยายามเอาผิดกับตัวกลาง เมื่อได้รับความร่วมมือแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้

ภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายและต่อสู้คดีที่ต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงเวลาเดินทางอันยาวนาน ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นการจับกุมตัวกลาง ทำให้ตัวกลางต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเกินสัดส่วนที่สมเหตุผล นำไปสู่แนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเกินความจำเป็น โดยยึดหลัก
“ลบเกินไว้ก่อนปลอดภัยกว่า” หรือกำจัดภาระทั้งหมดโดยการยกเลิกพื้นที่สำหรับเนื้อหาที่ผู้ใช้ผลิตเอง (user-generated content) เช่นการปิดบริการเว็บบอร์ด ซึ่งสร้างผล กระทบกับผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความผิด

เราต้องไม่ลืมว่าโครงการเช่น วิกิพีเดีย และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้อ่านสร้างเนื้อหาได้เอง อย่างรวดเร็ว จากทุกสถานที่ แต่การควบคุม จำกัดสิทธิ และบีบพื้นที่ตัวกลางลง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างสรรค์นวัตกรรม จะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์

ข้อยกเว้นความรับผิด (
Safe Harbour)

ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (
safe harbour) หรือการถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยายในขณะที่ยังไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น
 
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ (notice and take down) ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสม<4>

ข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะคุกคามเพื่อบีบพื้นที่
“ตัวกลาง” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงเห็นว่า มาตรา 15 ของกฎหมายฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง จึงเสนอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้
 
พิจารณาและปฎิบัติกับ “ตัวกลาง” ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ (cache/buffer) และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
 
ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย (by default) โดยตระหนักว่าตัวกลางนั้นเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล
 
หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้
 
หากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน
 
ต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยหลักการแจ้งลบข้อความที่ผิดกฎหมาย (notice and takedown procedure) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe harbour) ให้กับตัวกลาง เช่น เมื่อผู้ดูแลเว็บได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อความผิดกฎหมาย แล้วไม่ลบภายในเวลาอันสมเหตุผลตามที่กำหนด จึงอาจถูกพิจารณาว่ามีความผิด
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ขอเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสาธารณะ พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้เสนอมานี้ โดยทันที เพื่อระงับมิให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพื่อเสรีภาพออนไลน์
 
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
17 ตุลาคม 2553
 
 
-------------------------------
<1>http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049421
<2>http://www.prachatai.com/node/16466
<3>เช่นกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ที่จังหวัดปัตตานี จากบทความของ พล.ต.อ. วสิษฐ ในหนังสือพิมพ์มติชน
<4>อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดได้จากบทความแปลโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต “ภาระรับผิดทางกฎหมายของตัวกลาง: ปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการแสดงออกและสร้างสรรค์นวัตกรรม”
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'อภิสิทธิ์' เผยเงินประกันตัวคนเสื้อแดง ให้ใช้กองทุนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพช่วยได้

Posted: 19 Oct 2010 10:24 AM PDT

'อภิสิทธิ์' เผยกรณีคนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมชุมคนเสื้อแดง ให้ ก.ยุติธรรมไปตรวจสอบ พบมีกว่า180 คน สั่งการช่วยคนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแต่ไม่มีทุนทรัพย์ ให้ใช้กองทุนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพช่วยประกันได้ ต้องตรวจสอบตัวเลขอีกครั้ง คาดได้คำตอบชัดในสัปดาห์นี้

 
เมื่อ เวลา 13.00 น.วันที่ 19 ต.ค.ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สืบเนื่องจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้แจ้งให้ ครม.ทราบถึงกรณีที่มีการคุมขังบุคคล ซึ่งที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ว่าได้เรียกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมที่มอบหมายให้ไปตรวจสอบซึ่งมีบุคคลประมาณกว่า 180 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในคดีต่างๆ ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่อย่างไร 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าเป็นสภาพของการถูกคุมขังเรื่องสุขภาพ การศึกษา ตนได้สั่งการให้ดูแลแล้ว แต่จะมีบุคคลอยู่กลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องทนายความ โดยกำลังให้ไปสำรวจว่าที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแต่ครอบครัวไม่มีเงิน ตรงนี้จะให้มาใช้กองทุนและกลไกของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะตรวจสอบตัวเลขอีกครั้ง คาดว่าน่าจะได้คำตอบชัดเจนในสัปดาห์นี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักเลขาฯ องคมนตรี ออกแถลงการณ์แจงภาพ “พล.อ.เปรม” ในคลิปคดียุบพรรค ปชป.

Posted: 19 Oct 2010 10:00 AM PDT

 
วานนี้ (19 ต.ค.53) สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี ออกแถลงการณ์ กรณีปรากฏภาพของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมตรีและรัฐบุรุษ ในคลิป "ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนที่ 1" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Youtube โดยมีใจความว่า 
 
 
แถลงการณ์สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี
 
ตามที่ปรากฏภาพนิ่งของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ในคลิป “ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตอนที่ 1” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ YouTube นั้น สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี ขอชี้แจงให้ทราบว่า ภาพดังกล่าว เป็นภาพ พล.อ.เปรม เมื่อครั้งไปร่วมงาน “วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2552” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2552 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในวันดังกล่าว พล.อ.เปรม ได้ปฏิบัติภารกิจ ดังนี้
 
เวลา 09.30 น. เดินทางถึงบริเวณงานและวางพานพุ่มดอกไม้สักการะอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ณ บริเวณด้านหน้าคณะนิติศาสตร์ จากนั้น พล.อ.เปรม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปพัก ณ ห้องรับรองของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา เวลา 10.00 น. เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2552 ให้แก่ นายชัช ชลวร นักกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2553 และ น.ส.อชิรญาณ์ จันทร์พูล นักศึกษากฎหมายดีเด่น ประจำปี 2552 ณ ห้องประชุมสัมมนา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา โดยศาสตราจารย์ ดร.อักขราทร จุฬารัตน ในฐานะประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และกราบเรียนเชิญ พล.อ.เปรม มอบรางวัล ฯ
 
สำหรับภาพในคลิปดังกล่าว จำนวน 2 ภาพนั้น เป็นภาพภายในห้องรับรอง ของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ก่อนพิธีมอบรางวัล ฯ บุคคลอีก 7 คน ที่ปรากฏอยู่ในภาพ ได้แก่ 1.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา คณะกรรมการรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ 2.นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา คณะกรรมการรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ 3.นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะนักกฎหมายดีเด่น ประจำปี 2553
 
4.ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ 6.นายปรีชา บุตรศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในฐานะ ผู้รับผิดชอบพื้นที่ 7.สุภาพสตรีเจ้าหน้าที่บริการ ตามภาพ พร้อมคำบรรยายที่แนบมาพร้อมนี้
 
จึงขอแถลงการณ์มาให้ทราบ โดยทั่วกัน
 
สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี 19 ตุลาคม 2553
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองพิพากษา "คุณหญิงจารุวรรณ" พ้นผู้ว่าฯ สตง. ชี้อายุเกิน 65 ปี

Posted: 19 Oct 2010 09:47 AM PDT

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ “คุณหญิงจารุวรรณ” ไม่มีอำนาจ และพ้นวาระผู้ว่าฯ สตง.ถาวร ฟันธงอายุเกิน 65 ปี ให้พิศิฐ์นั่งตำแหน่งรักษาการฯ โดยชอบ 

 
วานนี้ (19 ต.ค.53) ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีที่ นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้อง) ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯ สตง. (ผู้ถูกฟ้อง) และมีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าฯ สตง.เป็นผู้ร้องสอด ออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง สตง.ที่ 184/2553 ลงวันที่ 18 ส.ค.53 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิศิษฐ์ เป็นรักษาการผู้ว่าฯ สตง.
 
ทั้งนี้ ศาลปกครองพิพากษาว่า คำสั่งที่ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายพิศิษฐ์เป็นรักษาการ ผู้ว่าฯ สตง. ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก เป็นคำสั่งที่ออกในช่วงที่คุณหญิงได้เกษียณอายุราชการแล้ว โดยมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตาม พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงออกโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจ 
 
อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างที่คุณหญิงจารุวรรณ ระบุว่าหากไม่ดำรงตำแหน่งต่อไป จะทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารงานบุคคลของ สตง.นั้น ศาลเห็นว่า เมื่อมีคำสั่งตั้งรองผู้ว่าฯ สตง.เป็นรักษาการผู้ว่าฯ สตง.แล้ว ตามกฎหมายย่อมมีอำนาจหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้ว่าฯ สตง.โดยสมบูรณ์ จึงไม่เกิดความขัดข้องในการบริหารงาน 
 
ดังนั้น จึงให้คงคำสั่งรักษาการผู้ว่าฯ สตง.ต่อไป นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งให้คงคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่ง สตง.เรื่องแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ สตง.ให้รักษาราชการแทนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
 
ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ ได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางเฉพาะประเด็นเนื้อหาแห่งคดี เรื่อง คำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ของคุณหญิงจารวรรณ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ดังนี้
 
----------------------------
 
 
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การชั้นไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดี (คุณหญิงจารุวรรณ) ได้ข้อเท็จจริงตรงกันว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ 184/2553 ขณะที่มีอายุเกินกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งหรือไม่
 
เห็นว่า ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 เรื่อง แก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้มีประกาศความว่า
 
ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ยังคงใช้บังคับต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่ง
 
ข้อ 2 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2550
 
ข้อ 3 ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับที่ 29 พ้นจากตำแหน่ง
 
และวรรคท้ายความว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 33 บัญญัติว่า ผู้ว่าการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางและให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
 
วรรคสอง ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้ว่าการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่
 
มาตรา 34 บัญญัติว่านอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ตาย (2) มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ (3) ลาออก (4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 28 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29 (5) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 32 (6) คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง และวุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
 
จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ยังคงใช้บังคับต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวดที่ 1 โดยที่บทบัญญัติให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี และดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว บัญญัติอยู่ในหมวด 2 มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่
 
ดังนั้น หากไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยาย พุทธศักราช 2549 เรื่อง แก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมดำรงตำแหน่งได้เพียงห้าปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
 
แต่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดขยายระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ถูกฟ้องคดีออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งไปภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2550 ผู้ถูกฟ้องคดียังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 และมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542
 
แต่นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้วพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 34 ยังบัญญัติเหตุอื่นที่ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วย กล่าวคือ เมื่อตายมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ลาออก ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 28 มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 7 เช่น ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือติดยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
หรือไปดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท ไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ
 
โดยที่การพ้นจากตำแหน่งตามบทบัญญัติในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
 
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่ก็คงเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งต้องอยู่ภายใต้เหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งทั้งสิ้นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542
 
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า ตนได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้วขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่จึงไม่อาจจะพ้นจากตำแหน่งได้อีก
 
หากตีความกฎหมายเช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่แทน แม้จะตาย ลาออก มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ติดยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้จนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่มารับหน้าที่แทน ซึ่งจะทำให้คุรสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือการที่กฎหมายห้ามกระทำการ หรือการตรวจสอบของวุฒิสภาไม่อาจกระทำได้โดยครบถ้วน
ข้ออ้างดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีในการตีความกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้
 
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนจนกว่าจะมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่เข้ารับหน้าที่ได้
 
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งผุ้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ออกมาในภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งแล้วจึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ
 
คำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตำรวจเงินแผ่นดินลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ในส่วนประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปจะก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารราชการแผ่นดินการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 การบริหารงานบุคคลภายในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งต้องกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้น
 
เห็นว่า มาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผูว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 75/2552 เรื่อง แต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ไว้แล้ว
 
ผู้ร้องสอดเป็นรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินย่อมมีอำนาจหน้าที่ทุกอย่างเสมือนหนึ่งตนเองเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้รักษาราชการแทนย่อมเข้าไปใช้อำนาจหน้าที่ทั้งหมดแทนตำแหน่งที่ตนรักษาราชการแทน
 
ดังนั้น เมื่อรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกอย่างที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น
ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
ดังนั้น จึงไม่เกิดข้อขัดข้องในการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 การบริหารงานบุคคลภายในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด
 
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553
 
และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลับมาแล้วเว็บ ม.เที่ยงคืน! เปิดรับบทความวิชาการ พร้อมเผยแพร่สัปดาห์หน้า

Posted: 19 Oct 2010 09:45 AM PDT

 
รายงานข่าวจากคณะผู้ดูแลเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org  แจ้งว่า ขณะนี้ทางเว็บไซต์ฯ เปิดรับบทความวิชาการใหม่อีกครั้งแล้ว หลังจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเกิดการหยุดชะงัก เนื่องจากสมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ต่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถส่งบทความไปได้ที่ midnightuniversity@gmail.com และทางเว็บไซต์พร้อมจะเผยแพร่งานวิชาการต่างๆ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ไอซีที’ เชิญผู้ให้บริการเน็ตหารือ ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เข้ม ปราบเว็บหมิ่นสถาบัน

Posted: 19 Oct 2010 09:29 AM PDT

 
19 ต.ค.53 นายจุติ ไกรฤกษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 53 ได้เชิญผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อย (ไอเอสพี) จำนวน 17 ราย เข้าพบเพื่อขอความร่วมมือสกัดเว็บไซต์ไม่เหมาะสมทุกประเภทภายหลังพบว่าจำนวนเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเว็บหมิ่นสถาบันฯมีมากกว่า 82% โดยส่วนใหญ่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการใช้รูปภาพตัดต่อซึ่งวานนี้มีผู้ประกอบการไอเอสพีเข้าร่วมประชุมเพียง 7 ราย

นายจุติระบุว่าเชิญผู้ประกอบการไอเอสพีมาเพื่อขอความร่วมมือสกัดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่มีจำนวนสูงขึ้นโดยเฉพาะเว็บหมิ่นสถาบัน ซึ่งสูงกว่าเว็บหมิ่นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองส่วนสาเหตุที่ทำให้จำนวนเว็บไซต์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ยังไม่สามารถระบุได้ต้องรอให้ผู้ประกอบการสรุปมานำเสนออีกที
 
นายจุติกล่าวต่อไปว่าไอซีทีได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการไอเอสพีนำพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไปบังคับใช้กับเว็บไซต์ที่ใช้บริการผ่านไอเอสพีเพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมดูแลได้ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อยู่แล้วแต่หากยังไม่ดำเนินการไอซีทีจะเป็นผู้เข้าไปควบคุมดูแลด้วยตัวเองทันที
 
ทั้งนี้ การขอความร่วมมือครั้งนี้ ผู้ประกอบการไอเอสพี ได้เสนอให้ไอซีทีไปปรับปรุง ฮอตไลน์ 1111 และ 1212 โดยระบุว่ายังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะที่ผ่านมาดำเนินการในวันและเวลาราชการเท่านั้นซึ่งส่วนนี้ไอซีทีได้รับเรื่องไว้และจะดำเนินดารแก้ไขปรับปรุงให้เร็วที่สุดโดยอาจจะปรับให้ดำเนินการ  7 วัน 24 ชั่วโมง
 
นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งนายสุชาติ วงศ์อนันต์ชัยผู้ตรวจราชการไอซีที เป็นหัวหน้าชุดพิเศษ เพื่อดูแลเว็บการพนัน เว็บลามกอนาจารและเว็บไซต์ขายยา.
 

 

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าหน้าที่เรือนจำระบุ ไม่ให้ฝรั่ง-เสื้อแดง เยี่ยม ‘ดา ตอร์ปิโด’

Posted: 19 Oct 2010 08:45 AM PDT

19 ต.ค.53 นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูงกล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าเยี่ยมน้องสาวพร้อมนักวิชาการต่างชาติ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นักวิชาการคนดังกล่าเข้าเยี่ยมโดยอ้างถึงกฎระเบียบของเรือนจำที่เคร่งครัดขึ้น นอกจากนี้ในการเข้าเยี่ยมดารณี เธอยังบอกด้วยว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งว่าจะไม่ให้คนเสื้อแดงเข้าเยี่ยมเธอด้วย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถสอบถามจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เรือนจำได้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตร.สรุปสำนวนส่งอัยการ คดีแม่ค้าเสื้อแดงขายรองเท้าแตะลายหน้ามาร์ค-สุเทพ

Posted: 19 Oct 2010 08:31 AM PDT

19 ต.ค.53 นางสาวอมรวัลย์ เจริญกิจ แม่ค้าเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากขายรองเท้าภาพพิมพ์ใบหน้าสุเทพ-อภิสิทธิ์ เดินทางไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยาในช่วงบ่ายตามนัดหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสำนวนส่งฟ้องในชั้นอัยการในวันนี้ (19 ต.ค.) โดยมี นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ส.ส.เพื่อไทย จ.อยุธยา ใช้ตำแหน่งในการประกันชั้นอัยการ โดยผู้ต้องหาจะต้องเดินทางเพื่อไปรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค.นี้  
 
ทั้งนี้ แม่ค้าคนดังกล่าวถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะขายรองเท้าในกิจกรรมวันอาทิตย์ที่แดงของคนเสื้อแดงที่จังหวัดอยุธยา โดยมีนายตำรวจระดับผู้บัญชาการภาค ได้แก่ พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิตพราหมณกุล รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการจับกุมของเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ในการนี้พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหานางอมรวัลย์ว่า ร่วมกันจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 9(3) แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตา 9(3) ข้อ 2 ลงวันที่  7 เม.ย.53 โดยข้อความและภาพที่ปรากฏนั้นไปในทางบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีส่วนทำให้คนตายที่ราชประสงค์ โดยจำหน่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและบุคคลทั่วไป อันเป็นการเผยแพร่ อีกทั้งการนำหน้าบุคคลไปปรากฏที่รองเท้านั้นเป็นการไม่เหมาะสมตามขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของชาวไทยอันเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย: ปฏิรูปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

Posted: 19 Oct 2010 07:55 AM PDT

ประชาธรรมเรียบเรียง การเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ในเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย โดยศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล (พร้อมคลิป)

 

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
00000
 
ช่วงที่สองของการอภิปรายในเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดโดยภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มจับตาขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทย (Thai Social Movement watch) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สำนักข่าวประชาธรรม และประชาไท ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นการเสวนาหัวข้อเรื่อง “ปฏิรูปกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” 
 
นอกจากความเชื่อที่ว่า “การปฏิรูป” ท่ามกลางบรรยากาศที่จำกัดเสรีภาพ ปกปิดข้อเท็จเหตุการณ์สลายการชุมนุม การเลือกป้ายสีเสื้อทางเมืองอย่างสุดโต่งจนได้ยินเสียงฝ่ายตรงข้ามอย่างแผ่วเบา ไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปได้แล้ว ยังมีอีกประเด็นที่นักวิชาการอาวุโสอย่าง ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มองว่าคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้มอง หรือมองแล้วไม่เห็น พร้อมทั้งข้อเสนอที่ว่า คณะกรรมการปฏิรูปทั้งหลายควรต้องฟัง
 
00000
 
 
3 สูง 3 ครอบงำ : โครงสร้างการเมืองที่ต้องปฏิรูป
 
ศ.ดร.อานันท์ อภิปรายว่า ส่วนแรกที่อาจารย์ชาญวิทย์ (ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พูดไปแล้ว ถึงแนวคิดการเมือง แต่ตนคิดว่าต้องพูดทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ในการพูดถึงการเมืองเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนต้องตั้งสติให้ดี และอาศัยแนวคิดบางส่วนที่ช่วยมองสถานการณ์แบบนี้
 
เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจการเมือง นักคิดคนสำคัญที่เราต้องพึ่งพา คือ คาร์ล มาร์ก ซึ่งบอกว่าเราไม่สามารถมองเฉพาะปรากฏการณ์ได้ การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงต้องมองเชิงโครงสร้าง ซึ่งรวมถึงการมองถึงสิ่งที่เห็นแต่พูดไม่ได้ หรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแต่เรามองไม่เห็นให้มากขึ้น
 
ประการที่สอง คือ วิธีคิดนั้นสำคัญ วิธีคิดจะสามารถเจาะเข้าไปในสิ่งที่เราเข้าไม่ถึง เวลาที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมันไม่มี การเปลี่ยนแปลงมันต้องมีคนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตามแนวคิดมาร์กก็จะบอกว่าทุกอย่างมันมีเงื่อนไข เราก็ต้องดูว่าเงื่อนไขอะไรที่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
 
ประการที่สาม ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงมันมีเรื่องอำนาจของการครอบงำและการใช้ความรุนแรง ส่วนของการครอบงำเป็นปัญหา ฉะนั้นการหลุดจากอำนาจการครอบงำต้องใช้ความคิดแบบวิพากษ์ 
 
สามวิธีคิดนี้คือสิ่งที่ตนจะนำมาอธิบาย เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เพราะหากจะปฏิรูปโดยปราศจากความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อ ก็อาจทำให้การปฏิรูปเข้าลึกเข้าโพรงได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สังคมไทยปัจจุบันก้าวข้ามพ้นการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานแล้ว มีความหลากหลายมหาศาล แต่เรายังมองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้ มันจึงเป็นปัญหา ทำให้วิธีคิดของการปฏิรูปเป็นอคติ หรืออยู่บนสมมุติฐานที่ไม่ถูกต้องได้
 
สังคมไทยปัจจุบันอยู่ในโลกไร้พรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดแบบพรมแดนจึงเป็นปัญหามาก สังคมไทยไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมืองอยู่ในภายใต้โลกาภิวัตน์ ดังนั้นด้วยเงื่อนไขที่ว่าเราเป็นสังคมของความหลากหลายและอยู่ในโลกไร้พรมแดน ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาหรือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการปฏิรูป เพราะสิ่งที่พูดยังอยู่ในเงื่อนไขเก่าๆ ก็อาจเป็นปัญหาได้
 
การที่จะปฏิรูปได้เราต้องเข้าใจโครงสร้างที่อยู่ข้างหลัง โครงสร้างปัจจุบันมีลักษณะอย่างไรภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมา ขอสรุปเงื่อนไขที่มีปัญหา 3 ประการ 
 
ประการที่ 1 คือ มีลักษณะ High rent คือมีการเก็บค่าเช่าทางเศรษฐกิจสูงมาก สะท้อนให้เห็นว่ามีการกดขี่ขูดรีดค่าแรงสูงมาก หมายความว่า ส่วนต่างระหว่างค่าแรงกับผลผลิตมวลรวมของประเทศชาติมันต่างกันมหาศาล และมีส่วนต่างที่เราเรียกว่าส่วนเกินหายไป ข้อสงสัยที่ไม่มีใครตอบคือ ส่วนต่างตรงนี้หายไปไหน มีการเอาส่วนเกินไปจากคนที่ใช้แรงงานมากเกินไป ซึ่งสาเหตุนี้เกิดจากสิ่งที่จะพูดต่อมาคือ
 
ประการที 2 High risk ภาระความเสี่ยง การที่สามารถเอาส่วนต่างที่หายไปได้เพราะมีการผลักภาระความเสี่ยงไปให้ “คนที่พูดไม่ได้” รับผิดชอบ เช่น กรณีมาบตาพุด เอาประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะไป แต่ผลักภาระให้คนพื้นที่รับผิดชอบ อันนี้ภาพใหญ่ ถ้าพูดในภาพเล็ก เมื่อพูดถึงชาวนา เรายังยึดติดอยู่ว่าสังคมเราเป็นสังคม land base อยู่ การปฏิรูปจึงติดกับการปฏิรูปที่ดิน มันถูกส่วนเดียว และไม่ใช่ส่วนหัวใจ อีกส่วนหนึ่งคิดว่าสังคมเราไม่อยู่บน land base แต่เปลี่ยนมาเป็น capital base economy คือเศรษฐกิจที่ฐานอยู่บนทุน พูดง่ายๆ คือชาวนาปัจจุบัน เวลาผลิต ปัญหาที่ดินไม่สำคัญเท่ากับทุน เช่นการผลิตแบบพันธะสัญญา มีปัญหา คือชาวนาเป็นเจ้าของที่ดิน แต่ระบบการผลิตทำให้ชาวนากลายเป็นแรงงานบนที่ดินตัวเอง และเมื่อไรเกิดความเสี่ยงชาวนารับไป แต่เมื่อเกิดกำไรนายทุนก็มาขอแบ่ง เป็นต้น กรณีอย่างนี้มันทำให้เกิด High risk ซึ่งไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงจากธรรมชาติ แต่มันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ผิดปกติของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
 
ประการที่ 3 High lost คือ ระบบเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวมามันทำให้เกิดสูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคน มีตัวตน แต่เขาไม่เห็นหัวคุณ หมายความว่า ระบบเศรษฐกิจแบบนี้มันทำให้เกิดผู้ผลิตรายย่อย (แบบที่มาร์กเคยพูดไว้) และผู้ผลิตรายย่อยไม่ได้อยู่ในคำนิยามที่เป็นปกติที่เคยเข้าใจได้ มันอยู่นอกนิยาม เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า ภาคผลิตไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รับเหมาช่วง รถรับจ้าง ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนจากฐานการผลิตบนที่ดินมาเป็นทุนอย่างที่กล่าว ฉะนั้นการปฏิรูป ไม่ว่าจะหวังดีให้สวัสดิการอะไรก็แล้วแต่ไม่อาจเข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะเขากลายเป็นสิ่งที่ เรียกว่า “มนุษย์ล่องหน” อยู่ชายขอบถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากร อันนี้เป็นคำอธิบายการปฏิรูปกับโครงสร้าง เพื่อให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิด High rent High risk High lost ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มองกัน
 
แต่ปัญหามันไม่ได้มีแค่นี้ เพราะขณะที่โครงสร้างแบบใหม่ขึ้น โครงสร้างอำนาจเก่าไม่ค่อยเปลี่ยน ไม่เปลี่ยนแต่สร้างการครอบงำขึ้นมา ซึ่งมีอยู่ 3 การครอบงำ
 
หนึ่งครอบงำโดยความคิดชาตินิยมแบบไร้สติ เช่น เรื่องเขาพระวิหาร การสังหารคนมุสลิมภาคใต้ (ที่คนไทยรู้สึกเฉยๆ) เป็นต้น คือ เราสร้างและป้ายความผิดให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนค้ายาที่ฆ่าแล้วไม่บาป เป็นต้น 
 
สอง ถูกครอบงำทำให้เชื่อว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้องใช้สถาบันเดิมๆ ในการแก้ปัญหา เช่น พอมีปัญหาก็ใช้บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันดั้งเดิม ในขณะที่สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว หรือพยายามจะใช้ชุมชนในการแก้ปัญหาอยู่ตลอด ดังคำกล่าวที่ว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ตนกลับคิดว่าหมู่บ้านมีแต่ปัญหา จะมีคำตอบได้อย่างไร ซึ่งคิดว่าอันนี้เป็นการครอบงำที่หนัก และยังไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร
 
สาม ถูกครอบงำหนักขึ้นไปอีกคือ มองความขัดแย้งเป็นเชิงลบ และยังใช้ปิดปากไม่ให้คนพูด ถ้าคิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องไปปฏิรูปหรอก การปฏิรูปมันต้องขัดแย้ง มีสังคมไหนปฏิรูปโดยไม่ขัดแย้งบ้าง ไม่ใช่ไม่ให้คนพูด ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนพูดน้อยหน่อย การเปลี่ยนแปลงต้องเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องการความขัดแย้งมหาศาลเลย ดังนั้นเราควรมองความขัดแย้งทั้งในเชิงลบและเชิงบวกเพราะความขัดแย้งนำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ ถ้าเรามองเชิงลบเพียงอย่างเดียว ด้านเดียว ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
 
นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ที่อยากจะเรียกว่า 3 สูง 3 ครอบงำ ถ้าถามว่าเราต้องการปฏิรูป เราจะทำอย่างไร คิดว่า เสียงที่ไม่ได้พูดก็เพราะคุณเป็นคนล่องหนอยู่ และที่พูดไม่ได้เพราะถูกครอบงำอยู่นั่นเอง การปฏิรูปจึงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เราต้องเข้าใจว่าปัญหาเป็นเรื่องของการเมืองเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นตลาดเสรี แต่โลกเสรีทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ มันต้องให้ความสำคัญอีกด้าน คือ ฟรี และ แฟร์ สังคมเราเน้นแต่ฟรีแต่ไม่เน้นแฟร์ ถ้าอย่างนี้ทำอะไรไม่ได้ จะทำได้ต้องปรับกลไกเชิงสถาบันหลายตัวที่ต้องมาทำหน้าที่ปรับดุลยภาพของอำนาจใหม่เพื่อลดการขูดรีดแรงอย่างสูงไม่ให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ลดปัญหาความเสี่ยงในระบบทุนนิยม เช่น เรื่องระบบภาษี ที่คนจน คนรวยไม่ควรจะเสียภาษีเท่ากัน ตอนนี้ยังเก็บภาษีทางอ้อมอยู่ทำให้เงินภาษียังไม่เพียงพอ เป็นต้น อีกประเด็นที่สำคัญอย่างมากคือ ปฏิรูปเกี่ยวกับกลไกการใช้ทรัพยากรส่วนรวม ไม่ใช่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ ต้องให้หลายฝ่ายในสังคมต้องเข้ามาร่วมจัดการการใช้ ต้องเป็นเชิงซ้อนมากขึ้น
 
และวิธีคิดเรื่องการจัดการเชิงซ้อนต้องนำมาใช้กับระบบที่มีปัญหามากที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้ คือเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรม ที่ยังเป็นลักษณะเชิงเดี่ยว ต้องเป็นเชิงซ้อน ต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาดุลในระบบยุติธรรมให้มากขึ้น 
 
ทั้งหมดต้องเสริมอำนาจของ ประชาชน ไม่ใช่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาทำให้ ตอนนี้เราอาจมีปัญหาประชาธิปไตย กระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงไหน การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยต้องเปลี่ยนตามบริบท คือต้องคิดเรื่อง การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยภายใต้โลกที่มันเปลี่ยนแปลง (โลกาภิวัตน์) ต้องอาศัยแนวคิดของ กัมชี่ ที่บอกว่าการต่อสู้ ประชาธิปไตยในโลกาภิวัตน์ต้องต่อสู้เชิงประเด็นด้วย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมเรายังเน้นเรื่องรูปแบบมากเกินไป ขาดประเด็นเนื้อหา เพราะฉะนั้นจึงทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันไม่ก้าวหน้า ประชาธิปไตยในกระแสโลกกาภิวัฒน์ต้องมีประเด็นเนื้อหามากกว่านี้ และเราต้องช่วงชิงความหมายของประชาธิปไตยด้วยเพื่อยกระดับ เพราะทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนต่างอ้างประชาธิปไตยทั้งหมด การต่อสู้ประชาธิปไตยในสมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนสมัยรัฐชาติเพราะมีปัญหาเชิงซ้อนเข้ามาอย่างมาก
 
00000
 
 
Peace process ก่อนการปฏิรูป
 
รศ.สมชาย อภิปรายว่า อ่านงานอยู่สามสี่ชิ้น ที่พูดถึงราวันดา บอสเนีย และไอร์แลนด์เหนือ เกี่ยวกับเรื่องสงครามกลางเมือง สิ่งที่ขบคิดจึงอาจแตกต่างจากคณะกรรมการปฏิรูป ตนคิดว่าสิ่งที่เราควรคิดถึงในระยะเฉพาะหน้าอาจจะไม่ใช่เรื่องการปฏิรูปหรืออาจมีเรื่องอื่นที่ควบคู่กับการปฏิรูป ฉะนั้น เรื่องที่จะพูด มี 3 ประเด็น ใหญ่ๆ ด้วยกัน
 
เรื่องแรก คือ ในงานการไต่สวนสาธารณะที่หาความจริง ที่เคยไปพูดซึ่งจัดขึ้นวันเสาร์ (ซึ่งเป็นวันปราบเซียน) สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือหอประชุมเล็กแน่นจนเข้าไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือคำอภิปรายของคนที่มาเข้าร่วม ซึ่งอยู่ในวัยกลางคนอายุ 30 กว่า เขาพูดว่าที่อาจารย์พูดอ้อมไป คือ “ก็รู้ไม่ใช่หรือว่าปัญหาของสังคมนี้อยู่ที่ไหน ทำไมไม่พูดกันตรงๆ นักวิชาการก็ทำได้แค่นี้ วนไปวนมา พวกเราในห้องรู้ใช่ไหม ว่าปัญหาในห้องอยู่ที่ไหน” ทำให้เสียงปรบมือในห้องดังกระทึ่ม คำถามคือสังคมไทยตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น ที่สำคัญงานวันนั้นไม่ได้ออกสู่สื่อกระแสหลัก หมายความว่าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นที่แตกต่างแต่ไม่สามารถสะท้อนความคิดนี้ออกสื่ออกสาธารณะได้ 
 
คำถามคือ สังคมสงบ ปกติสุขหรือไม่ จะบอกว่าสงบก็ไม่ใช่ เพราะมีระเบิดเกิดขึ้น มีสงครามกลางเมืองหรือไม่ ก็ไม่เชิง เราจะอธิบายสถานการณ์นี้อย่างไร คิดว่าน่าจะใกล้เคียง คือ not war not peace พร้อมที่จะสงบสุข และพร้อมที่จะรบ อารมณ์แบบมึงปรองดองเมื่อไรกูปรองดองด้วย มึงรบเมื่อไรกูรบด้วย
 
เรากำลังอยู่ในระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งอาจจะแยกไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ มีนักวิชาการ คือ James D. Fearon เขียนงานชิ้นหนึ่งชื่อว่า Why Do Some Civil Wars Last So Much Longer than Others? คือทำไมสงครามกลางเมืองถึงยาวนานนัก เขาศึกษาสงครามกลางเมืองตั้งแต่ 1945 ถึงปลายศตวรรษที่ 20 พบว่าสงครามกลางเมืองในโลกนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาทำเพื่อที่จะตอบว่าทำไมถึงมีสงครามกลางเมือง เพื่อดูระดับความรุนแรง และระยะเวลาของสงครามกลางเมือง เขาแบ่งสงครามกลางเมืองเป็น 4 ประเภท คือ
 
หนึ่ง สงครามกลางเมืองแบบรัฐประหาร พบว่าค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่ มักจะกินเวลาไม่นาน เพราะเป็นเรื่องของมีอำนาจอยู่ในมือ รบกันแล้วก็วัดความแข็งแกร่ง ใครมากกว่าชนะไป
 
แบบที่สอง ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อสู้ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับคนในอาณานิคม วัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องเอกราช โดยทั่วไปไม่ยาวนานเท่าไหร่
 
สาม สงครามแบบบุตรแห่งแผ่นดิน เป็นความขัดแย้งระหว่างคนภายในรัฐที่ต่างเชื้อชาติ บางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐ บางกลุ่มเป็นคนที่อยู่ชายขอบ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือเรื่องที่ดิน การแย่งชิงทรัพยากร สงครามประเภทนี้กินระยะเวลานาน
 
สี่ เป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากกลุ่มที่มีความมั่นคง เช่น ในพม่ากลุ่มต่อต้านพม่ารับการสนับสนุนจากกลุ่มค้าฝิ่น ในไทยอาจะเป็น 6 ตุลา 19 
 
ปัจจัยที่จะดูว่ายาวนาน หรือไม่ คือ ความเข้มแข็งของอำนาจรัฐกับฝ่ายต่อต้าน ถ้าห่างกันมาก แนวโน้มของสงครามประเภทนี้จะกินเวลาไม่นานแต่ถ้าไม่แตกต่างกันมากจะมีแนวโน้มกินระยะเวลายาวนาน แต่ถ้ามันมาถึงจุดที่ทั้งคู่เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ รบไปก็ไม่มีใครแพ้ชนะ มันจะอยู่ในช่วง Peace process สันติภาพจะเกิดขึ้น
 
ปัจจัยหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจคือ ความขัดแย้งอยู่ในหมู่ชนชั้นนำจะจบง่าย แต่ถ้าแพร่กระจายไปในหมู่ประชาชนโอกาสของการยุติก็ยากมากขึ้น ความขัดแย้งแบบที่แพร่กระจายในหมู่ประชาชนเมื่อถึงจุดหนึ่งจะแสวงหาสันติภาพ 
 
พออ่านงานชิ้นนี้สิ่งที่ทำให้ผมนึกถึงคือ ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงมหกรรมการปฏิรูปประเทศ ถามว่าว่าใจกลางปัญหาคืออะไร ตนคิดว่า คือ ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ อำนาจในการต่อรองของคนกลุ่มต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือ หลังการเคลื่อนไหวพันธมิตรไม่มีการปฏิรูปประเทศ แต่หลังการเคลื่อนไหวเสื้อแดงมีการปฏิรูปประเทศ 
 
คณะกรรมการปฏิรูปนั้น มีหลายเรื่องต้องทำ แต่มีบางอย่างที่ควรต้องทำแต่ไม่ถูกพูดถึง และเป็นสิ่งที่คนเสื้อแดงพูดอยู่ตลอดเวลา คือ การสร้างสถาบันการเมืองใหม่ที่จัดการปัญหาอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมด้วย เช่น การพูด ไพร่ อำมาตย์ ทหาร สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเมืองเก่ามีปัญหา หรือกระบวนการยุติธรรมไทยนั้นไม่ตรงตรงมา สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของสังคมไทย ที่นำมาสู่ความแตกแยกสังคม สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปจะนำหน้าไปได้หรือ ชุดที่เป็นกรรมการนี้หลายคนที่จะวิจารณ์ควรจะต้องระวัง เพราะเป็นการรวมของนักปราชญ์ของแผ่นดินครั้งใหญ่ บางคนเป็นอาจารย์ บางคนคุมแหล่งทุนขนาดใหญ่ ใครจะกล้าวิจารณ์ มันเลยเป็นปัญหา 
 
สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างคือทำงานท่ามกลางความแตกแยก จะผลักดันอะไรให้เดินหน้าไปได้หรือ ซึ่งการปฏิรูปหรือทำให้มันเดินหน้าไปได้ คงต้องทะเลาะกันพอสมควรและเดินหน้าไป ยังการร่างรัฐธรรมนูญ 40 คือการปฏิรูปคือทำแล้วสังคมผลักให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่บัดนี้เรากำลังมีคณะกรรมการปฏิรูปบนฐานที่สังคมแตกเป็นเสี่ยงๆ คณะกรรมการปฏิรูปจะทำได้อย่างไร ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังทำไม่ได้ รัฐบาลยังไม่เอา แล้วจะไปปฏิรูปอย่างอื่นได้ หรือ ตนไม่เชื่อว่าจะทำได้
 
ประเด็นสุดท้าย คือ สังคมไทยต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพมากกว่า หมายความว่าเราต้องการการสร้างสถาบันการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย ก่อนที่จะปฏิรูปมันต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดสันติให้เกิดขึ้นก่อน ทุกคนควรยอบรับกฎเกณฑ์บางอย่างและโดดเข้ามาสู่เกมนี้ ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการปฏิรูป การปฏิรูปที่เกิดขึ้นบนความขัดแย้งอย่างกว้างขวางนี้ ไม่อาจประสบผลสำเร็จ เช่นกรณีภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแต่ก็เป็นปัญหาอยู่ เป็นต้น
 
สิ่งที่จะทำให้เกิดกระบวนการ Peace process ได้ คิดว่ามีอยู่สองประการ
 
ประการแรก ต้องหยุดความคับแค้นที่แพร่กระจายไปสู่สังคม โดยเฉพาะกรณี 91 ศพ ถ้าเราไม่รักษาแผลแล้วจะเดินไปข้างหน้าผมคิดว่ามันลำบาก สิ่งที่น่ากลัวมากคือ ความรุนแรงที่เกิดจากคนธรรมดาที่ไม่มีเครือข่าย น่ากลัว เพราะนั้นหมายความว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่เอาการเมืองในระบบแล้ว ฉะนั้น คณะค้นหาความจริงควรทำให้กระจ่าง ไม่ใช่อ้างดีเอสไอ เพราะรู้อยู่ว่าดีเอสไอไม่ได้รับความเชื่อถือ
 
ประการสุดท้าย ต้องตรวจสอบความเที่ยงตรงขององค์กรสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการทางการศาลที่จะทำให้ความขัดแย้งแพร่กระจายได้ อย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปัญหามาก อย่างในคลิปที่เผยแพร่ในยูทูป คนที่มีหน้าที่พิจารณาคดียุบพรรค เรียกพรรคเพื่อไทยว่า “มัน” สะท้อนอคติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
 
สิ่งที่ต้องทำกันมากขึ้น คือ พวกเราต้องช่วยกัน เช่นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การควบคุมสถาบันการเมือง พวกเราต้องทำอะไรมากขึ้น ในสถานการณ์นี้ หวังว่าเราจะไม่ได้เดินไปสู่สงครามอย่างเต็มตัว มีกติกาที่เราสามารถโต้แย้งกันได้ แต่ไม่ทำให้เสียเลือดเสียเนื้อ 
 
................
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น