ประชาไท | Prachatai3.info |
- สัมภาษณ์ ‘วัชรพันธุ์’ การ์ดเดือนตุลา “เราเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่ฝ่ายรุก”
- ขบวนการปรองดองเรนเจอร์บุกยูเอ็นล้อ ‘บัน คี มุน’ ไม่มีน้ำยา
- เปิดคำให้การ "พยานเสื้อแดง" ฟ้องศาลโลก
- รวบพม่า 33 คน ลอบเข้าเมืองกลางทะเลอันดามัน ระนอง
- ก. ต่างประเทศ ยกเลิกพาสปอร์ต 9 แกนนำ นปช.มีผลทันที
- คนพัทยาประท้วงไม่เอารถไฟฟ้าโมโนเรล หวั่นทำลายเศรษฐกิจ
- ศาล ปค.นัดไต่สวนด่วน ผู้สมัครสอบแพทย์ เหตุถูกตัดสิทธิแค่รูปถ่าย 1 ใบ
- การเข้าเมืองผิดกฎหมาย: ความผิดอยู่ที่เส้นสาย ไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ
- กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า จี้อาเซียนอย่ารับรองผลเลือกตั้งพม่า
- สัญญาณเน็ตพม่าล่มทั่วประเทศ ประเมินเหตุใกล้วันเลือกตั้ง
- กวีประชาไท: รักที่อบอุ่นนั้นถูกพราก
- กลุ่มเยาวชนปะโอแถลงต้านโครงการเหมืองเหล็กพม่า-รัสเซียในรัฐฉาน
- เอ็นจีโอ เผย บริษัท 'เหล้า-บุหรี่' ยักษ์ใหญ่ ดอดพบ "จุรินทร์" หวังล็อบบี้
- คนงานซุปเปอร์เมครวมตัวเรียกร้องค่าแรง โวยนายจ้างไม่ยอมจ่าย
- มทภ.3 เยือนเชียงใหม่ประกาศกร้าวหมิ่นเบื้องสูงยอมไม่ได้ต้องจัดการ
สัมภาษณ์ ‘วัชรพันธุ์’ การ์ดเดือนตุลา “เราเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่ฝ่ายรุก” Posted: 27 Oct 2010 07:36 AM PDT เปิดใจ ‘วัชรพันธุ์ จันทรขจร’ ในบรรยากาศถูกคุกคาม เล่าเรื่องบทบาทรักษาความปลอดภัยการชุมนุมแดงทั้งแผ่นดิน กับเสียงยืนยัน “เราเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่ฝ่ายรุก” ความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นำมาสู่ความสูญเสียชีวิตและอิสรภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมรวมทั้งแกนนำ ซึ่งการล่าติดตามตัว “ผู้ต้องสงสัย” ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ลดราวาศอก เหตุระเบิดล่าสุด ‘สมานเมตตาแมนชั่น’ ยังเป็นใบเบิกทางให้ฝ่ายความมั่นคงใช้วาดภาพเชื่อมโยงระหว่างคนเสื้อแดงและเหตุรุนแรงที่ผ่านๆ มา ซึ่งเชื่อว่าจะยังมีอยู่ต่อไป ในอีกด้าน การรวมตัวของคนเสื้อแดงในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะการรวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ก็ยังดำเนินอยู่คู่ขนานกันไป การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในด้านหนึ่งจึงดูเหมือนพัฒนาขึ้นสู่ระดับที่มวลชนสามารถมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ แต่ในฟากของฝ่ายความมั่นคง ก็เห็นว่ามีเสื้อแดงอีกแนวทางที่พวกเขายังต่อจิ๊กซอว์ไม่สำเร็จ ในความเป็นไปนี้ มีความพยายามเชื่อมโยงคนเดือนตุลาในเครือข่ายชินว่า อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา...และที่กำลังดำเนินอยู่....ทว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน นอกจากความพยายามสกัดแบบเทกระจาดของ ศอฉ. ที่สั่งระงับเส้นทางการเงินบุคคลต้องสงสัยจำนวนหลักร้อยราย ความข้อนี้ “ใบตองแห้ง” เขียนอย่างให้เครดิตว่า ถ้าคนพวกนี้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมจริงแล้ว คนเสื้อแดงคงไม่แพ้ง่ายอย่างนี้....แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน ‘ประชาไท’ คุยกับวัชรพันธุ์ จันทรขจร อดีตคนเดือนตุลา ที่เคยรับหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาและประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงรับหน้าที่หลักในการดูความปลอดภัยให้กับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษาคม 2535 โดยใช้ทรัพยากรจากบริษัทรักษาความปลอดภัย แด๊ด ซีเคียวริตี้ ของเขาเอง และยังเป็นผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และสมัคร สุนทรเวช ในฐานะของคนที่ทำงานด้านความปลอดภัยที่ต้องอาศัยเครือข่ายและข้อมูล เขามองว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่กำลังกระจัดกระจาย พร้อมปัจจัยทางโครงสร้างของประเทศเวลานี้ จะนำพาสังคมไทยเข้าสู่โหมดใหม่ ที่เขาเองก็จินตนาการไม่ได้ ม็อบเป็นเรื่องที่ต้องมีทางลง วัชรพันธุ์ บอกว่า เหตุที่เขายังวนเวียนปรากฏกายอยู่ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก็เพราะความสนิทสนมกับ “น้องๆ” ที่เป็นแกนนำอยู่ หนึ่งในนั้นก็คือ จตุพร พรหมพันธุ์ “ถามว่าพี่ทำอะไรบ้าง พี่ก็ขอบอกว่า น้องๆ ที่อยู่ในกลุ่มนั้นเป็นน้องที่พี่รู้จักกันมานานมาก และมีความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่สมัยที่พี่อยู่ในวงการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะตู่ จตุพร (พรหมพันธุ์) ยังทำกิจกรรมชาวเขาที่เชียงดาวตั้งแต่อายุสักยี่สิบกว่าๆ และตอนนั้นพี่อยู่องค์การแตร์เดซอมของเยอรมัน ก็ทำงานให้ทุนในการพัฒนา ตอนนั้นเขาทำงานในนามของพรรคนักศึกษา เรารู้จักกันมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว และในช่วงเวลาที่เรามีความสนิทสนมกันมากก็คือในปี 2534-2535 คือช่วงพฤษภาทมิฬ” เขาบอกว่าเขาเข้าไปดูการชุมนุมของคนเสื้อแดงบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 โดยการชุมนุมใช้ชื่อต่างๆ กันไปจนมาหยุดที่ชื่อ นปช. “ไปดูเป็นระยะๆ คือเซนส์ของพี่คือเซนส์ของการ์ด คือเป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่ใช่เซนส์ของทหารซึ่งป็นเซนส์ของการจู่โจม ก็ไปดูการรักษาความปลอดภัยที่ นปช. ตั้งขึ้นมาว่าเป็นอย่างไร เขามีระบบอยู่แล้ว อารี (ไกรนรา) เขาก็ตั้งขึ้นมา ว่าจะมีกี่ชั้นๆ แต่ปรากฏว่าอารีเขาเป็นคนเปิด ก็มีการ์ดเยอะมาก ก็มีอาการมั่ว เราก็เตือนว่า อย่างน้อยวงในต้องมีระบบระเบียบ มีการจัดการกับการ์ดที่แฝงตัวเข้ามา แล้วการที่เปิดให้ใครก็ได้เอาบัตรประชาชนเข้ามาก็เป็นการ์ดได้นั้นไม่ถูก ก็บอกเขา แต่ไม่ได้ไปก้าวก่าย หรือการไปอยู่ที่ราชประสงค์ก็ให้ระวัง ภาษาคือ “สูงข่ม” หรือดูจุดที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามาได้ เช่น ศาลาแดง แม้แต่ตรงราชดำเนิน ก็บอกเขาว่า ถ้าเขาจะบุกก็น่าจะมาจากทางสะพานพุทธ หรือทางที่ชุมชนเยอะๆ พูดง่ายๆ ก็ไปดู ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำ และก็เข้าไปได้ง่ายๆ เพราะส่วนมากน้องๆ ก็รู้จักกัน พอมีข่าวก็เข้าไปบอก” ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ เขาอยู่ใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุ และคิดว่าสิ่งที่เกิดไม่ใช่การสลายการชุมนุม แต่มันคือสงครามกลางเมือง “ช่วงกระชับพื้นที่ มีคนโทรไปบอกว่า จะโดนกระชับด้วย ก็เลยอยู่ในที่ที่ใกล้เหตุการณ์ คือไปนอนโรงแรมแถวๆ นั้น แค่ข้ามสะพานมาก็เจอ เพื่อให้ได้ยินเสียง ได้กลิ่นควัน และรู้สึกสลดใจว่า ในที่สุดก็กลายเป็นอย่างนี้จนได้ ในแง่ของการทำลายล้าง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสภาพของสงคราม ไม่ใช่การปราบแบบปราบจลาจล เป็นสภาพของสงครามกลางเมือง” เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้นเป็นเรื่องที่เดินตามสูตรการสลายการชุมนุมซึ่งมีอยู่ในตำราของโรงเรียนเสนาธิการ แต่เรื่องที่น่าตกใจสำหรับเขาก็คือ การเคลื่อนกำลังพลซึ่งเอิกเกริกเป็นประวัติการณ์ “ที่ทำนี่เป็นกองพล ซึ่งถือว่าใหญ่โตมาก เพราะการเคลื่อนกำลังแบบกองพลในประเทศไทยหาได้ยากมาก เคยมีสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งเคลื่อนไปที่ชายแดน ทุกคนก็ทำตามสูตร ขั้นบันไดหนึ่งสองสามสี่ ฉะนั้นที่บอกว่า ไม่มีสไนเปอร์ พี่ไม่เชื่อ เพราะตามสูตรแล้วมีแน่ๆ เพราะเดินตามสูตร” ในช่วงหลังๆ ของการชุมนุม ข่าวการแตกกันของฝ่ายดูแลความปลอดภัยนั้นสะพัดไปทั่ว กระทั่งไม่กี่วันก่อนที่จะจะถูกสลายการชุมนุม กระสุนปริศนาก็คร่าชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายทหารนอกแถวที่ออกมาแสดงบทบาทแข็งขันมากในไม่กี่วันก่อนหน้านั้น วัชรพันธุ์บอกว่า ตัวเขาเห็นว่าจุดอ่อนของฝ่ายดูแลความปลอดภัยส่วนหนึ่งก็มาจากความฮึกเหิมของ เสธ.แดง “ช่วงที่มีการชุมนุมไม่เคยเจอ เสธ.แดง แต่รู้สึกว่าเขากวนน้ำให้ขุ่น และรู้สึกว่า ทำไมต้องพูดอะไรที่มัน...เหมือนกับ...มีคนอยู่สิบคน แล้วพูดว่า กูมีพันคนแล้วกูจะลุยกะมึง ซึ่งนอกจากปากจะพาจนแล้ว ยังพาตายได้ด้วย ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคุยกับ เสธ.แดงเพราะไม่อยากคุย คุยกันคงไม่รู้เรื่อง คิดกันคนละแบบ เคยเจอกันแค่สองครั้งในชีวิต ตอนที่ เสธ.แดง พาเจ้าของคาเฟ่ไปพบรองเลขาธิการนายก ในช่วงที่มีการจัดระเบียบสังคม และอีกครั้ง คือกำลังเคลียร์ม็อบที่บ่อนอก กำลังเจรจากับทางคุณจินตนา (แก้วขาว) อยู่ เสธ.แดงก็โผล่มาบอกว่า ค่ำแล้วไม่ต้องคุย เดี๋ยวกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ คุยอะไรกันนักหนา คือกว่าเราจะคุยกันได้ขนาดนี้ กว่าคุณจินตนาจะยอมคุยด้วย ก็เลยคิดว่า คุยกันไม่รู้เรื่อง และคิดว่าน่าจะอันตรายทั้งต่อตัวเองและส่วนรวม” สังคมไทยกับโหมดใหม่เหนือจินตนาการ ในด้านของรัฐ นอกจากการดำเนินการอย่างจริงจังของฝ่ายความมั่นคงแล้ว อีกด้านก็มีคณะกรรมการปรองดอง ที่จนบัดนี้ยังไม่เป็นที่หวังว่าจะลดดีกรีความขัดแย้งลงได้ “วันก่อนผมเจออาจารย์เดชา สังขวรรณ กรรมการปรองดอง ถามว่า เราจะปรองดองได้ไหม ผมตอบว่า ลำบาก เพราะการปล่อยให้คนมาพูดมาระบายเป็นแค่คนกลุ่มเดียว” เมื่อถูกถามในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับโอกาสเข้าถึงวงในสุดของการดูแลความปลอดภัยของการชุมนุม ว่าเสื้อแดงจับอาวุธจริงหรือไม่ เขาไม่อาจให้ข้อมูลได้ แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ คนเสื้อแดงไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และขีดความเจ็บแค้นของคนมีหลายระดับซึ่งพร้อมจะระเบิดออกในหลายรูปแบบ “พี่ไม่รู้จุดนั้นจริงๆ เพราะอย่างที่บอกแต่แรก คือการทำงานของพี่เป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายป้องกัน แต่ถ้าเป็นฝ่ายรุก พี่ไม่รู้ว่าระบบเป็นยังไง แต่เท่าที่ดูแล้ว ความเจ็บแค้นของคนมีหลายระดับ ทางออกมีหลายระดับ อย่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย ทำไมคนซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เมื่อมีการยิงแล้วถึงวิ่งเข้าหากระสุนปืน มันเกิดขึ้นได้ ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ถึงจุดหนึ่งมันควบคุมไว้ไม่อยู่ และขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคนอีกว่า จะแปรความแค้นเป็นอะไร จะเห็นได้ว่า คนที่ตายส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ นั่นแปรความแค้นเป็นความคลั่งในท้องถนน บางคนพี่ก็ไม่รู้ว่าความแค้นจะพัฒนาไปถึงจุดไหน ถ้าจะเป็นห่วงก็คือ ความหลากหลายมากเสียจนใครก็ไม่ฟังกัน ซึ่งอะไรก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ “จำได้ไหมว่า ตอนที่ บ.ก.ลายจุดไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขึ้นไปพูดบนรถตำรวจ แล้วคนตะโกนว่า กูมาเอง ไม่ฟังมึง ไม่ต้องมาบอกว่ากูต้องทำอะไร อันนี้น่ากลัว เพราะว่าถ้าเป็นม็อบ มีคนอยู่บนเวที มาไหนไปไหนยังบอกกันได้ แต่ตอนนี้พูดไม่ได้แล้วว่าเป็นขบวนการอันเดียวกัน ไม่มีผู้นำ มันหลากหลายมาก” และความหลากหลายนี่เองที่เขามองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด มากเสียยิ่งกว่าการพยายามเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายอย่างที่ฝ่ายรัฐกำลังทำ เขาพูดถึงลูกน้องและเครือข่ายของเขาว่า เขาเองไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า ใครเข้าร่วมในการชุมนุมบ้าง เพราะส่วนใหญ่น่าจะมาด้วยตัวเอง “ถ้ามาก็คงเป็นรูปแบบของชาวบ้าน เพราะหลายคนก็เป็นคนอีสานและมีประสบการณ์การต่อสู้หลายแบบ มีคนที่เคยสู้ในสมัยพ.ศ.2534 ถึงพฤษภาคม 2535 ช่วงของ รสช. เป็นช่วงที่ยอมรับว่า บริษัทเข้าไปอยู่จริง แต่เป็นลักษณะของการเข้าไปจัดระบบ แต่ตอนปะทะกันนั้น เป็นลักษณะความฮึกเหิมมากกว่า...แต่ถ้าจะพูดว่างานของพรรค เขาก็กระจายไปหลายที่ เราก็เห็นหน้าเห็นตาน้องๆ ในพรรคอยู่ มีช่วงที่ทำงานช่วยนายกในเรื่องของม็อบ ปากมูล ม็อบจินตนา แก้วขาว ทุกม็อบ แล้วที่พลาดคือ ปี 2545 เดือนธันวา ที่เขาตีม็อบกันที่สงขลา ก็เป็นเรื่องที่เป็นข่าวอยู่ เพราะเราไปวิจารณ์ผู้ใหญ่” สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเหตุรุนแรงในภายภาคหน้า เขาบอกว่า เหนือจินตนาการของเขาที่จะตอบ ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์คงไม่มีซ้ำรอยอีก “โหมดอย่างที่ผ่านมานั้น ถือว่าจบแล้ว เป็นบทเรียนแล้ว ถ้าจะมีใหม่ก็เป็นอีกขั้นหนึ่งแล้ว ไม่ใช่แบบที่เคย ตอนนี้ที่สมบัติ บุญงามอนงค์ ทำอยู่ ถือว่าโอเค เป็นการรักษาจิตใจที่ยังไม่ยอมแพ้ และตรงนี้คงพัฒนาคนกลุ่มย่อยไปอีก ต่อไปเราคงเห็นลักษณะที่คิดค้นด้วยตัวเองในหลายจังหวัด เหมือนที่อีสาน มีการทำผ้าป่าทำวิทยุขึ้นมาใหม่ ทางเหนือก็มีแรลลี่ มีการนัดเจอที่อยุธยา และคิดว่า เขาคงรอคอยเวลาซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และถ้าดูจากการเมืองไทยก็ยังสับสน การเลือกตั้งก็จะเกิดวัฏจักรเลวร้ายอย่างเดิม พรรคเพื่อไทยได้คะแนนนำ ตั้งรัฐบาลใหม่ เดี๋ยวก็ต้องมีหลากสี สีอะไรขึ้นมาใหม่ ซ้ำไปซ้ำมา แม้แต่ทหารที่บอกว่า ‘ไม่’ ก็อาจจะก่อรัฐประหาร แต่นับจากนี้ไปสองสามปี คิดว่าสังคมจะอยู่ในโหมดที่ผมคิดเอาเองว่า น่าจะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะอยู่ในโหมดที่ขมึงเกลียวขึ้นมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถจะจินตนาการได้ ไม่เหมือนตอนวัยรุ่นที่จินตนาการประเทศไทยว่า ต้องเป็นสังคมนิยมอะไรก็ว่าไปแบบเด็กๆ”
คนเดือนตุลาในเครือข่ายชิน กับเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553 เฉกเช่น คนเดือนตุลาทั่วไปที่เลือกยืนข้างทักษิณ ชินวัตร, วัชรพันธุ์ หรือ “พี่โป๊ะ” ของเพื่อนพ้องน้องนุ่งในแวดวงเอ็นจีโอ ถูกวิพากษ์และกล่าวถึงด้วยความผิดหวัง เพราะเคยหวังไว้มากว่า เมื่อพี่ๆ เข้าไปทำงานกับรัฐบาล ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ แล้ว รัฐบาลน่าจะเข้าใจประเด็นความคับข้องใจของชาวบ้านมากขึ้น ทว่าสุดท้าย สิ่งที่วัชรพันธุ์ทำได้ในยุคทักษิณเรืองอำนาจ ก็คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนในรัฐบาลเดียวกันในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของชาวจะนะ ที่จังหวัดสงขลา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาประสานกับแกนนำมาโดยตลอด พร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เขายังคงทำงานให้กับทักษิณ นายกรัฐมนตรีที่เขาบอกว่า “ตายแทนได้” โดยรับหน้าที่ในงานที่เขาถนัดตั้งแต่เป็นนักศึกษายุคตุลา นั่นคือการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เขาทำมาตั้งแต่การหาเสียงครั้งแรกของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 โดยใช้เครือข่ายคนในเครื่องแบบ และประสบการณ์จากการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งครั้งนั้นใช้ทรัพยากรบุคคลจากบริษัทรักษาความปลอดภัย ‘แด๊ด ซีเคียวริตี้’ ของเขาเอง ในช่วงพฤษภาคม 2535 ‘แด๊ด ซีเคียวริตี้’ บริษัทรักษาความปลอดภัยของเขาเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ผลจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปอารักขาการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คือ บริษัทของเขาถูกตรวจค้น 2 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราวๆ 30 คน ในปี 2540 บริษัทรักษาความปลอดภัยของเขาล้มลงไปพร้อมปัญหาเศรษฐกิจปี 2540 เขาจึงเข้าไปช่วยงานขยายฐานโทรศัพท์มือถือของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องขยายฐานให้ได้ 400 แห่งภายใน 1 ปี “ช่วงนั้นเราก็ไม่ยุ่งเลยเรื่องการเมือง การขยายตอนนั้น นายกฯทักษิณตั้งเป้าขยาย 400 ฐานในหนึ่งปี เราทำได้ 380 ก็สนุกสนานมาก จากนั้นก็มาทำงานการเมือง ในช่วงที่ตั้งพรรคไทยรักไทยปี 2543 เรามองเรื่องการรักษาความปลอดภัยของหัวหน้าพรรคค่อนข้างมาก ก็ได้ตั้งระบบความปลอดภัยขึ้นมา ตั้งทีมที่มีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน แต่ภาพพจน์ของการทำงานรักษาความปลอดภัย เข้าใจว่าติดตัวมาตลอดไม่ว่าจะทำอะไร” บทบาทของการทำงานที่มี “คน” และ “เครือข่าย” ของเขานี่เอง ที่ผลักให้เขาต้องออกมาพูดหลังจากที่อยู่เงียบๆ มาระยะหนึ่ง และเขาเองก็ได้ “ข่าว” มาเช่นกันว่า ตัวเขาอาจจะกำลังเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเพื่อประกอบภาพความรุนแรงของฝ่ายเสื้อแดงให้เข้ารูปเข้ารอย “จำได้ว่าตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อัญชลี ไพรีรักษ์ ก็ปราศรัยหลายครั้งว่า พี่โป๊ะออกมาเถอะ รู้นะว่าทำอะไรอยู่ คุมอะไรอยู่ ซึ่งการพูดแต่ละครั้งก็รู้สึกว่า นี่เขากำลังสร้างภาพของบุคคลคนหนึ่งซึ่งชอบในงานแบบนี้ให้กลายเป็นอะไรที่น่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ” วัชรพันธุ์เท้าความถึงการถูกโยงใยกับเหตุความไม่สงบ ซึ่งเริ่มมีชื่อเขาปรากฏอยู่ในการสนทนาของฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร และถูกขับเน้นมากขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา “ช่วงของการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่ได้ทราบด้วยตัวเอง แต่รู้ว่ามีการพูดถึงตัวบุคคล คือตัวพี่เองว่า น่าจะมีกำลังต่อต้านการรัฐประหาร ในช่วงนั้นถึงขั้นเอาไปพูดกันใน คมช. ว่า พี่จะคุมการเผาเมือง และในช่วงตุลา 2549-มกรา 2550 ก็ต้องหลบเพราะมีการส่งกำลังไปทางเหนือ” เรื่องในคราวนั้น “บางนา บางปะกง” แห่งค่ายเนชั่น ได้หมายเหตุไว้โดยละเอียดว่า ชื่อของวัชรพันธุ์ ถูกฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงทันทีที่มีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครรับปีใหม่ 2550 แต่นั่นก็เป็นการอ้างอิงจากข้อมูลเก่าๆ ของเขา ซึ่งภาพลักษณ์นักบู๊เป็นเรื่องที่ติดตัวลบไม่ออก มาถึง พ.ศ.2553 วัชรพันธุ์ได้รับรู้อีกครั้งว่า ชื่อของเขาถูกกล่าวขานซ้ำอีก พร้อมให้เครดิตอย่างสูงว่า เขานี่แหละคือคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด หาใช่ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ไม่ “มีการพูดกันในวงใน มีการจัดทีมกันเรียบร้อยเลยว่า ให้มองคนๆ นี้ว่าอยู่เบื้องหลังทั้งหมด ไม่ใช่ เสธ.แดง เสธ.แดงเป็นแค่ตัวเปิด ก็เลยรู้สึกว่า นี่กำลังเอานิยายอะไรมาบวกกัน มีข่าววงในจากบุคคลที่เชื่อถือได้ ส่งข่าวมาตั้งแต่ เม.ย.ปี 52 ตลอดเวลาว่า กลุ่มนี้นะ ทหารตำรวจสีนี้ๆ ตั้งทีมไว้แล้ว รอเวลา ถ้าหาหลักฐานไม่ได้ ก็พร้อมจะเซ็ตขึ้นมา...ในฐานะที่ไม่ได้เปิดเผยตัวเองมาก อาจจะรู้จักกันเป็นส่วนตัวกับบางคน เราก็รู้สึกว่าน่าจะออกมาพูดอะไรบ้าง” ชื่อของวัชรพันธุ์นั้น ผูกติดอยู่กับงานด้านความปลอดภัย เนื่องเพราะภาพที่ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยนักศึกษา และเป็นเหตุให้ถูกกล่าวขานถึงเมื่อมีเหตุรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น บ้านพักของเขาที่ จ.เชียงราย มีตำรวจขึ้นไปเยี่ยมเยือนอยู่เนืองๆ โดยบอกกับเจ้าตัวว่า “อยากมารู้จักพี่โป๊ะ” “รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม โอเค อย่างที่บอก ถ้าจะให้คิดแบบรุก เราก็คิดได้ แต่เราใช้ความสามารถจากประสบการณ์เพื่อให้ความเสียหายของการชุมนุมน้อยที่สุด เพราะว่าทหารเป็นหมื่นเราคงทำอะไรมากไมได้ ทีนี้ ในกรณีที่มีคนยืนยันว่า ดีเอสไอจะออกหมายเรียก ก็ยินดี จะเอาหลักฐานหรือสร้างตรงไหนมา ก็จะได้ชี้แจง ข้อหาที่ได้ยินมาคือ ข้อหาก่อการร้าย ซึ่งมันร้ายแรง อย่างคุณธาริต (เพ็งดิษฐ์) ตอนนั้นผมทำงานที่ทำเนียบ ก็เคยนั่งทำงานห้องทำงานต่อกัน ตอนนั้นไม่คิดอะไรมาก แต่พอเขาเป็นอธิบดีแล้วก็ใช้ได้เลย ใช้ได้เลย” วัชรพันธุ์กล่าวยิ้มๆ และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะองค์กรแบบดีเอสไอซึ่งทำงานในฐานะฝ่ายสืบสวนสอบสวนควรจะมีประสิทธิภาพกว่านี้ “อันนี้มันน่ากลัว อย่างเอฟบีไอของอเมริกาเขามีประสิทธิภาพมาก แต่ไม่ใช่ว่า ไปฟัง แล้วหยิบโน่นหยิบนี่มาต่อจิ๊กซอว์....” เมื่อเราถามถึงความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร นายที่เขาบอกว่า “ยอมเอาตัวบังกระสุนให้ได้” ว่า คุยกันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เขาบอกว่า ไม่ได้ติดต่อนานแล้ว แม้แต่วันเกิดของทักษิณ เขาก็ไม่ได้โทรหา แต่ก็ฝากความเคารพไป เพราะรู้สึกเหมือนพี่ชายคนหนึ่ง “โอ้โห นานมาก นานมากๆ ที่ได้คุยกันเป็นการส่วนตัว รู้สึกว่าจะเป็นงานศพคุณแม่ของพี่ปี 2547 ที่ท่านเดินทางไปเป็นประธานงานศพ เพราะว่าหลายเรื่องก็ไม่ต้องคุยกัน แต่ช่วงหลังก่อนที่ท่านจะเสียอำนาจ ก็ช่วยดูเรื่องความปลอดภัยในปี 2548-2549 ส่วนมากเป็นการเจรจากับม็อบ เพราะส่วนใหญ่จะรู้จักกับแกนนำ จะไปเจรจาก่อน และก็ส่งคนแฝงดู เชื่อมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตัวจริงเขาอีกที แต่ไม่ได้ใกล้ชิดมากเหมือนเมื่อก่อน ช่วงใกล้ชิดคือ การหาเสียงครั้งแรกช่วงปี 2543-2544” ฝากถึงรัฐบาลและดีเอสไอ “ไม่เคยติดต่อไปที่รัฐบาลเพื่อให้ข้อมูล ตอนแรกๆ ก็เฉยๆ แต่พอมาย้ำกันหลายทาง ถึงกับมีการระบุชื่อ พล.ต.ต.นี้ๆ เป็นทีม แล้วก็ส่งซิกมาว่า หาหลักฐานไม่ได้ก็จะเก็บซะ ทั้งหมดหลัง 19 พ.ค. สี่เดือนมานี้ มีข่าวทำนองนี้ตลอด ในใจลึกๆ ก็รู้สึกว่า มึงจะเอายังไงกะกู บอกว่าเดี๋ยวจะเก็บซะก็ไม่เห็นทำซะที จริงๆ โทรหามานั่งคุยกันอย่างนี้ก็ได้... สื่อถึงดีเอสไอ หรือใครก็ได้ เพราะว่า อายุขนาดนี้แล้ว และผ่านมามากพอสมควรในการดูแลสถานการณ์ซีเรียสหลายๆ อย่างที่เสี่ยง จะทำอะไรก็ทำ หากมีหลักมีฐาน แต่อย่าปล่อยข่าว ถ้าจะทำอะไรก็ให้ชัด ให้ชอบธรรม เอามาเลย กระสุนนี้ของพี่โป๊ะหรือเปล่า กระเดื่องนี่ลายมือพี่ อะไรแบบนั้นเลย” วัชรพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะกลับไปพร้อมกับคนสนิทที่ติดตามมาด้วยหนึ่งคน ทุกวันนี้เขาไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงรายกับกรุงเทพฯ โดยมีรีสอร์ตเล็กๆ อยู่ที่อำเภอแม่จันต้องดูแล ถ้าไม่มีเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เขาบอกว่า ชีวิตเขาสงบสุขดี และมองหาเขาได้ตามร้านคิโนะคุนิยะ หรือเอเชียบุ๊ก “ถ้าจะจับ ก็ไปจับตามนี้ก็ได้ ชีวิตส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในร้านหนังสือ”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ขบวนการปรองดองเรนเจอร์บุกยูเอ็นล้อ ‘บัน คี มุน’ ไม่มีน้ำยา Posted: 27 Oct 2010 07:26 AM PDT 27 ต.ค.53 เวลาประมาณ 13.00 น. ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและขบวนการปรองดองเรนเจอร์พิทักษ์จักรวาล จัดกิจกรรมแสดงละครล้อการมาเยือนประเทศไทยของนายบัน คี มุน และอ่านแถลงการณ์ท่าทีต่อการมาเยือนไทยของเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า การมาเยือนของนายบัน คี มุน โดยเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยโดยปฏิเสธที่จะพบประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่รอยื่นหนังสือวานนี้ (26ต.ค.53) แสดงให้เห็นว่าเลขาธิการสหประชาชาติไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาและการมีอยู่ของภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง อีกทั้งการแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของนายบัน คี มุน ก็แสดงถึงความไม่จริงจังและจริงใจในช่วยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น สะท้อนข้อจำกัดต่อการเข้าใจบริบทความขัดแย้งอันเป็นเงื่อนไขที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องยังคงละเมิด สิทธิมนุษยชนต่อไปและมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การที่เลขาธิการสหประชาชาติละเลยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ที่มาและความชอบธรรมของ คณะกรรมการปรองดองและกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ในส่วนของละครล้อนั้นมีชื่อตอนว่า “ต้อนรับน้องใหม่” ผู้แสดงสวมหน้ากากรูปบุคคลสำคัญ ทั้งหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะถือปืนเอ็นสิบหก, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือสไนเปอร์ ส่วนนายประเวศ วะสี กับนายอานันท์ ปันยารชุน ถือครกกับสาก ขณะที่นายบัน คี มุน ถือตะกร้าขนมจีนไม่มีน้ำยา ในการนี้มีการจับมือระหว่างนายอภิสิทธิ์และนายบัน คี มุน ทำให้สีแดงที่อยู่ที่มือนายอภิสิทธิ์ติดมือนายบัน คี มุน ด้วย นอกจากนี้ยังมีการวาดหนวดให้กับนายบัน คี มุน และสอนเต้นไก่ย่างเหมือนพิธีรับน้องของหลายมหาวิทยาลัย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เปิดคำให้การ "พยานเสื้อแดง" ฟ้องศาลโลก Posted: 27 Oct 2010 07:23 AM PDT สรุปรายงานคำให้การ "พยานเสื้อแดง" ที่สํานักกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์พีรอฟฟ์ จะยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ 27 ต.ค. 53 - สืบเนื่องจากสํานักกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์พีรอฟฟ์ ในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และบุคคลอื่น ได้จัดทำ รายงานเบื้องต้นของการกระทำที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษย ชาติในราชอาณาจักรไทย ยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ บอกเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเม.ย.2552 และพ.ค.2553 ก่อนจะยื่นเอกสารอีกฉบับยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในอีก 8 อาทิตย์ข้างหน้า โดยในวันนี้ (27 ต.ค. 53) เว็บไซต์ข่าวสดได้เปิดเผยรายงานเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้ หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่มรัฐบาลผสมใหม่จัดตั้งขึ้นจากการร่วมมือของอดีตแกนนำสมาชิกพรรคพลัง ประชาชน นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ มีการประชุมหารือกันในวันที่ 6 ธ.ค. ที่บ้านของนายทหารคนหนึ่ง มีการล็อบบี้อย่างหนักโดยทหารและสมาชิกองคมนตรี หลังขึ้นสู่อำนาจรัฐบาลพยายามปิดปากฝ่ายตรงข้าม โดยใช้ระบบกฎหมาย และคุกคามทางการเมือง ส่งผลให้คณะกรรมการปกป้องนักข่าวและนักข่าวไร้พรมแดนประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ อย่างรุนแรง รายงานที่เผยแพร่เมื่อต้นปี กลุ่ม Human Rights Watch ออกมากล่าวถึง "ความเสื่อมถอย" ของสิทธิมนุษยชนในไทย และผลการจัดอันดับความมีเสรีภาพของสื่อทั่วโลกโดยนักข่าวไร้พรมแดนในปี 2553 ได้จัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 153 ซึ่งตกลงมาถึง 23 ลำดับ รายงานเล่าถึงเหตุการณ์ปี 2552 ที่เริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 11 เม.ย.2552 ที่พัทยา นำไปสู่การยกเลิกการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน และทหารเข้าสลายกลุ่มเสื้อแดงที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ เช้าตรู่วันที่ 13 เม.ย. มีการยิงพลเรือนที่ไม่มีอาวุธโดยใช้กระสุนจริงในความมืดก่อนรุ่งสาง ทำให้ผู้ชุมนุมกว่า 123 รายได้รับบาดเจ็บ พยานให้การว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงอย่างน้อย 6 คนเสียชีวิตทันทีจากการสาดกระสุนยิง แต่ศพถูกลำเลียงขึ้นรถบรรทุกและขับออกจากพื้นที่ไปอย่างรวดเร็ว หลายวันต่อมาศพผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 ราย ลอยขึ้นอืดเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา สภาพศพถูกมัดและมีผ้าปิดปาก การสังหารหมู่ปี 2553 ใช้วิธีการเดียวกันกับปี 2552 โดยใช้กระสุนจริงยิงกลุ่มผู้ชุมนุมและพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ ในรายการ ลำดับเหตุการณ์อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชุมนุมในวันที่ 14 มี.ค. กระทั่งบ่ายของ 10 เม.ย ทหารเริ่มต้นสลายผู้ชุมนุมบริเวณ สะพานผ่านฟ้า จากนั้นเป็นสี่แยกคอกวัว ทหารระดมยิงกระสุนยางจากปืนสั้น 12 เล็งตรงไปยังพลเรือน ขณะที่กองกำลังทหารอื่นๆ ระดมยิงกระสุนจริงจาก เอ็ม 16 และปืนไรเฟิลอัตโนมัติ จากหลักฐานเทปวิดีโอบันทึกชัดเจนว่าการใช้ เอ็ม 16 ปืนในโหมดอัตโนมัติกระสุนปืนจริงนั้นจะไม่มีการใช้อแดปเตอร์ และหลักฐานยังแสดงว่ามีการใช้กระสุนปืนจริง เหตุการณ์รุนแรงขึ้นในเวลา 19.50 น. มีการปาระเบิดไปทางฝั่งของทหารบริเวณถนนดินสอ ทหารเสียชีวิตหลายนาย จากนั้นทหารที่เคยใช้ปืนไรเฟิลยิงข่มขู่ผู้ชุมนุม กลับยิงกระสุนปืนจริงนับพันใส่ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธและรวมตัวกันอยู่ รอบอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยทันที และจากนั้นทหารที่รวมกลุ่มกันที่ถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว กราดกระสุนนับพันนัดใส่ผู้ชุมนุม รายงานอ้างพยานให้การถึงเหตุการณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเย็นวันนั้น หลายคนไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ แต่ผู้ร้องทราบและมีข้อมูลสามารถเปิดเผยให้แก่อัยการได้หากมีกระบวนการคุ้ม ครองชีวิตและความปลอดภัยของพยานและครอบ ครัว พยานปากที่ 14 เห็นเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า ในวันที่ 10 เม.ย. เวลา 18.30 น. พยานเดินทางไปยังถนนตะนาว เห็นทหารยิงกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มคนเสื้อแดงโดยไม่เตือนล่วงหน้า คนที่ถูกยิงอย่างน้อย 1 ราย เลือดไหล และเห็นรูกระสุนบนกำแพงโดยรอบ ในระดับสายตาหรือต่ำกว่านั้น พยานได้ยินเสียงปืนและชายคนหนึ่งถูกยิงที่ใบหน้า การ์ดเสื้อแดงใช้เชือกกั้นบริเวณที่ชายดังกล่าวล้มลง มีกองเลือดบนพื้น และเศษกระดาษที่ระบุชื่อและอายุชายคนดังกล่าว และเห็นกองเลือดอีกสองกองใกล้ๆ กัน มีเศษกระดาษที่ระบุว่าชายทั้งสองคนถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณดังกล่าว พยานปากที่ 16 พวกเขาถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา ขณะที่พยานกำลังใช้น้ำทำความสะอาดตาบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานถูกยิงที่ตาและเป็นเหตุให้สูญเสียดวงตา พยานปากที่ 2 ระบุแก๊สน้ำตาถูกยิงจากเฮลิคอปเตอร์ ในเวลา 19.20 น. โดยปราศจากการเตือนล่วงหน้า ทหารเริ่มยิงปืนใส่กลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย พยานปากที่ 5 เป็นนักข่าว ให้การว่า เวลา 19.00 น. วันที่ 10 เม.ย. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มทหารยิงปืน เอ็ม 16 ขึ้นฟ้า จึงบันทึกภาพไว้ เมื่อทหารขับรถออกไปเกิดเหตุระเบิดใกล้กับที่พยานยืนอยู่ คิดว่าเป็นระเบิดปิงปองจากกลุ่มทหารที่สนับสนุนพันธมิตร ขณะที่ขบวนรถทหารขับออกไป ชายเสื้อแดงถือกิ่งไม้วิ่งตะโกนมาตามถนนว่า "มันฆ่าพี่น้องเรา" รถขบวนทหารคันหลังซึ่งอยู่ห่างจากชายคนดังกล่าวราว 150 เมตร โดยไม่มีเสียงเตือนชายคนดังกล่าวถูกยิง 5 นัด จากทิศทางของรถขบวนทหาร พยานปากที่ 17 ให้การว่าราว 19.00 น. มีผู้ชุมนุมเสื้อแดงกว่าหนึ่งพันคนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทหารเริ่มยิงปืนขึ้นฟ้า ขณะทหารถอยร่นไปยังบริเวณถนนดินสอได้ใช้กระสุนปืนจริงยิงใส่กลุ่มคนเสื้อแดง ที่ไม่มีอาวุธ ชายคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะ สมองไหลออกมาจากหัวกะโหลก พยานบันทึกภาพไว้ จากนั้น เห็นทหารบาดเจ็บบริเวณถนนดินสอ และบันทึกวิดีโอที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามปฐมพยาบาลให้ ขณะที่ทหารยังคงยิงปืนใส่พยานและคนเสื้อแดงที่กำลังปฐมพยาบาลทหาร คนเสื้อแดงที่ช่วยปฐมพยาบาลทหารถูกยิงที่เท้า ส่วนพยานถูกยิงเข้าที่ช่องท้อง พยานปากที่ 15 เป็นอาสาพยาบาลและอยู่ในเหตุการณ์การยิงปะทะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ราว 60 เมตรทางทิศเหนืออนุสาวรีย์ฯ พยานเห็นคนเสื้อแดงปฐมพยาบาลทหาร ทหารยังคงยิงใส่ผู้ชุมนุม และเพิกเฉยต่อสัญลักษณ์กาชาดบนอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และอาสาพยาบาลถูกยิงที่เท้า เวลา 20.15 น. ข้าราชการผู้ใหญ่ได้ติดต่อกับผู้นำเสื้อแดงทางโทร ศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดที่อาจเพิ่มมากขึ้น แกนนำเสื้อแดงตกลงอย่างรวดเร็ว ณ เวลานั้นมีเสื้อแดงเสียชีวิต 17 ศพ มีผู้บาด เจ็บกว่า 600 ราย 3 พ.ค. นายกฯ ประกาศแผนการปรองดองเพียงฝ่ายเดียว และรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในต้นเดือนพ.ย. คนเสื้อแดงยอบรับข้อเสนอแผนการปรองดองแต่ไม่ยอมสลายการชุมนุมเพราะต้องการ ความมั่นใจจากรัฐบาล 13 พ.ค. 1 วันหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกข้อเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกซุ่มยิงระหว่างให้สัมภาษณ์ บริเวณ สวนลุมพินี และเสียชีวิต 2-3 วันหลังจากนั้น กระสุนที่ปลิดชีวิตเสธ.แดง เป็นกระสุนจริงชนิดเดียวกันที่ทหารใช้ยิงผู้ชุมนุม จากนั้นกองทัพพยายามเข้ายึดที่ชุมนุม มีการฆ่าหมู่เกิดขึ้นบริเวณที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ ดินแดง และลุมพินี บางพื้นที่ เช่น ถนนราชประสงค์ ไปจนถึงทางทิศเหนือ และถนนพระราม 4 ไปจนถึงทางทิศใต้ เป็นเขตที่ทหารประกาศใช้ "กระสุนจริง" นักข่าวช่างภาพ Nick Nostitz บันทึกว่า มีคนที่เดินผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการ ยิงของฝ่ายทหารจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเด็กผู้ชายอายุ 10 ขวบ ถูกยิงที่สถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน นักข่าวยังตกเป็นเป้าสังหาร Nelson Rand นักข่าวชาวฝรั่งเศส อายุ 24 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ทางทิศใต้ของสวนลุมพินี ขณะที่ Fabio Polenghi ช่างภาพชาวอิตาลี เสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่หน้าอกในวันที่ 19 พ.ค. ที่น่าเลวร้ายที่สุดคือ ทหารได้กั้น "เรดโซน" กันไม่ให้อาสาพยาบาลเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ และยิงพวกเขาในขณะที่เข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ คำให้การพยานถึงการสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. พยานปากที่ 18 (14 พ.ค.) เป็นคนเสื้อแดง เดินทางไปยังสวนลุมพินี เห็นทหารหลายคนอยู่นอกรั้วของสวน เล็งปืนเข้าไปในสวน และทหารที่อยู่ในสวนถือปืนสั้น พยานถูกทหารถือปืนไรเฟิล M16 ที่มีลำกล้องส่อง ยิงที่ขาขวาด้านล่าง พยานขับรถหนีแต่ทหารยังคงยิงไล่ล่าราว 30-40 ครั้ง ขาและข้อเท้าขวาของพยานถูกยิงกระจุย พยานปากที่ 19 (14 พ.ค.) เดินทางไปสวนลุมพินี เห็นทหาร 50-60 ราย ยืนเรียงแถวตามรั้วเล็งปืนไรเฟิลเข้าไปในสวน ทหารคนหนึ่งยิงพยานด้วยปืนสั้นโดนหัวไหล่ด้านซ้าย พยานวิ่งไปยังต้นไม้ ทหารยังคงยิงกระสุนสาดใส่หลายนัดสลับกับการยิงทีละนัด พยานถูกยิงเป็นครั้งที่สองด้วยกระสุนปืนไรเฟิล จึงโดดลงไปในสระน้ำ โผล่ขึ้นมาเห็นทหาร 3 นาย จึงโดดขึ้นจากสระวิ่งหนี และถูกยิงเป็นนัดที่ 3 กระสุนไรเฟิลเข้าที่น่องขาด้านซ้าย หลังได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล พยานถูกส่งตัวไปยังเรือนจำและถูกล่ามโซ่ที่เตียงนอน ได้รับแจ้งว่าถูกจับกุมเนื่องจากละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พยานถูกล่ามโซ่ไว้ที่เตียงนอนตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นถูกคุมขังในห้องขังปกติและไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาอย่างเป็น ทางการ พยานถูกเรียกไปให้ปากคำที่สำนักงานอัยการ 2 ครั้ง แต่ถูกเลื่อนออกไป พยานปากที่ 20 ให้การเห็นทหารใกล้ซอยงามดูพลีในวันที่ 14 พ.ค. ซ่อนตัวอยู่ใต้สะพานไทย-เบลเยียม พยานยิงธนูใส่ทหาร ทหารโต้กลับด้วยกระสุนจริง เห็นแม่ค้าอายุราว 50 ปีถูกยิงเสียชีวิต และชายหนุ่มอายุราว 30 ปีถูกยิงเข้าที่แก้ม และชายหนุ่มที่มีรอยสักคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่กระดูกสันหลัง เห็นผู้ถูกยิงทั้งหมด 6 ราย 4 ใน 6 รายเสียชีวิต รวมถึงแม่ค้า และชายคนที่ถูกยิงขณะกำลังบันทึกภาพวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือ พยานและประชาชนอีกราว 30 คน เข้าไปหลบภัยในตรอกใกล้เวทีมวยลุมพินี ทั้งหมดถูกทหารใช้กำลังบังคับให้ออกจากบริเวณดังกล่าว นายทหารได้สั่งการและบังคับให้คนเหล่านั้นงอตัว เตะและตี ใช้ปืนที่ปลดล็อกแล้วเล็งใส่ด้วย พยานปากที่ 12 (14 พ.ค.) พยานเป็นอาสาสมัครตำรวจในกรุงเทพฯ พยานและภรรยาถูกบังคับให้หยุดอยู่หน้าโรงแรมอินทรา ตรงบริเวณสะพานลอยข้ามถนนราชปรารภมีทหาร 8 นายเฝ้าอยู่ ยิงทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวในทุกทิศทาง หญิงสาวคนหนึ่งพยายามข้ามถนนจึงถูกยิงล้มลง เวลา 20.00 น. ทหารยิงใส่มอเตอร์ไซค์ 2 คัน จนล้มลงกับพื้น ไม่กี่นาทีได้เกิดเหตุระเบิดหน้าโรงแรมอินทรา ก่อนระเบิดพยานเห็นแสงเลเซอร์แดงยิงสาดลงมาก่อนแสงเลเซอร์สีเขียวปรากฏ จากนั้นเกิดเสียงระเบิดทันที เมื่อเห็นแสงดังกล่าวอีกก็เกิดเหตุระเบิดครั้งที่สอง มีผู้บาดเจ็บ 3 คนรวมถึงพยาน ที่โดนสะเก็ดระเบิดมีแผลที่หลัง พยานปากที่ 22 เล่าเหตุการณ์ที่ถนนราชปรารภ ระหว่างแยกดินแดงและซอยหลังสวน (14-15 พ.ค.) พยานเห็นเหตุการณ์จากระเบียงห้องพัก ทหารมีอาวุธครบมือเปิดฉากยิงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ราว 18.00 น. ตอนแรกทหารใช้กระสุนยาง ตามด้วย กระสุนจริง โดยไม่แยกแยะว่าจะเป็นศีรษะหรือเท้า เหยื่อบางคนเป็นประชาชนที่มุงดูเหตุการณ์ รุ่งขึ้นราว 08.15 น. พยานเห็นประชาชนราว 15 คนเดินขบวนบนถนนถือธงชาติไทย ทันใดนั้นพวกเขาก็ถูกยิงด้วยปืนไรเฟิล (นาโต 223) โดยไม่เตือนล่วงหน้า พลเรือนสองคนถูกยิงเสียชีวิตทันที แต่ทหารยังคงสาดยิงกระสุนหลังจากนั้นราว 30 นาที และยังยิงคนที่พยายามเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บด้วย พยานปากที่ 23 พยานเข้าร่วมการชุมนุมที่ดินแดง และในบริเวณที่ชุมนุม ประมาณวันที่ 18-19 พ.ค. พยานเห็นทหารยิงศีรษะของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเก็บขยะขาย ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดเพราะหญิงดังกล่าวไม่ใช่ผู้ชุมนุม กลุ่มทหารดังกล่าวมีอายุน้อยและยิงใส่ทุกคนในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ 19 พ.ค. วันมหาวิปโยคแห่งการฆ่าหมู่ประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมากที่สุดใน ประวัติศาสตร์ไทย จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะมีมากกว่านี้มากมายหากแกนนำเสื้อแดงไม่ยอมมอบตัว อีกหลายชั่วโมงหลังจากการสลายการชุมนุม มีประชาชนอีก 6 ราย ถูกสังหารในวัดปทุมวนาราม นักข่าวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บในที่เกิดเหตุเล่าว่ามือปืนซุ่มยิงผู้ ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธที่อยู่ในวัดจากรางรถไฟฟ้า พยาบาล 3 ใน 4 รายสวมเครื่องแบบที่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นอาสาพยาบาล เป็น 1 ในพลเรือนที่ถูกยิงเสียชีวิต พยานปากที่ 6 และ 9 ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 19 พ.ค. ราว 16.00 น. และ 17.00 น. เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสตรงทางเข้าวัด ส่วนเต็นท์พยาบาลภายในวัดมีสัญลักษณ์กาชาดชัดเจน เวลา 18.30 น. ทหารเริ่มยิงเข้าไปในเขตวัดโดยไม่มีคำเตือนล่วงหน้า เต็นท์พยาบาลถูกยิงกราด มีอาสาพยาบาล 3 รายถูกยิงเสียชีวิต กมนเกด อัคฮาด, มงคล เข็มทอง และ อัครเดช แก้วขัน ซึ่งอัครเดช เสียชีวิตลงอย่างเจ็บปวดทรมาน ทหารยิงทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปขอความช่วยเหลือเบื้องต้นจากพยาบาลในเต็นท์ เวลา 19.00 น. กลุ่มทหารเข้าไปตะโกนด่าหยาบคายในวัด ในขณะที่พยานและคนอื่นช่วยกันลากศพไปไว้ในที่ปลอดภัย และทหารยังพยายามยิงพวกเขา ทหารหยุดยิงราว 20.00 น. รายงาน ระบุ จากการสลายการชุมนุม รัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพเพิกเฉยหลักการพื้นฐานของการควบคุมฝูงชน ซึ่งตรงข้ามกับ"มาตรฐานสากล" อย่างเช่น หลักการพื้นฐานของการใช้กำลังและอาวุธของคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายองค์การ สหประชา ชาติ การสลายการชุมนุมไม่มีความพยายามที่จะใช้ "อาวุธที่ไม่มีความรุนแรง" ไม่มีการใส่ใจ และสนใจว่าจะมีอันตรายต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหรือไม่ หรือพยายามรักษาชีวิตของผู้อื่น การตอบโต้ของทหารไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำตอบโต้ของคนเสื้อแดงที่เพื่อแค่ เผายางรถยนต์ หรือจุดประทัด การทำร้ายอาสาพยาบาลแสดงให้เห็นถึงการไม่ "พยายามช่วยเหลืออาสา พยาบาล เพื่อบรรเทาจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บก่อนหน้านี้" รายงานระบุ นอกจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลยังออกกฎระเบียบเพิ่มเติมที่ให้ขยายอำนาจพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ใน การจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัย รวมไปถึงการเรียกตัวบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ หรือให้หลักฐานเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ชัดเจนว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ถูกบังคับใช้ในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นการเอื้ออำนาจให้กับรัฐบาลในการทำลายอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม การยืดพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ยังเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการ เมือง (ICCPR) เพื่อการพิจารณากระทำการสอบสวน ผู้ร้องได้ยื่นรายงานเบื้องต้นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประมาณ 8 อาทิตย์ จะยื่นเอกสารอีกฉบับเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในกรณีของศีลธรรมอันดี รายงานระบุว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีมาตรฐานที่ต่ำในการ"ดำเนินการสอบสวนที่เป็นอิสระ" การสอบสวนในอดีตถึงเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถึงการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 500 ราย ที่เกิดจากกองทัพเรือไทยผลักเรือของพวกเขาออกไปยังทะเลหลวง ทำให้เห็นว่าจะสามารถคาดหวังอะไรได้จากการสอบสวนของรัฐบาลถึงความรุนแรงใน เดือนเม.ย. และ พ.ค. 2553 และแม้ว่ารัฐบาลมีโอกาสที่จะกระทำการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ แต่เป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่ารัฐบาลไม่เต็มใจ หรือสามารถที่จะกระทำดังกล่าว นอกจากจะล้มเหลวในการเริ่มดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเป็นธรรม และสมบูรณ์ รัฐบาลยังคงปฏิเสธให้แกนนำเสื้อแดงเข้าถึงหลักฐานผลชันสูตร เอกสาร และวิดีโอภาพและเสียงที่ใช้ประกอบการดำเนินคดี แม้จะไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ร้องต้องระบุรายชื่อของกลุ่มผู้กระทำผิด หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อันระบุในคำร้องนี้ในขั้นตอนการ ยื่นเอกสาร แต่ถือเป็นเรื่องอันเหมาะสมที่จะสรุปความรับผิดของกลุ่มผู้นำพลเรือนและนาย ทหารระดับสูงในรัฐบาลไทย รายงานระบุว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศอฉ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. และผู้บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ อดีตรรท.ผบ.ตร. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะที่ปรึกษาทบ. พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ รองผบ.ทบ. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. ที่มาข่าว: คำให้การพยาน-'เสื้อแดง'ฟ้องศาลโลก (ข่าวสด, 27-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
รวบพม่า 33 คน ลอบเข้าเมืองกลางทะเลอันดามัน ระนอง Posted: 27 Oct 2010 06:11 AM PDT 27 ต.ค. 53 - ร.ต.สมบัติ ทองจันทร์ ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี (ฉก.ร. 25) หัวหน้าจุดตรวจเกาะสาระณีย์ (เกาะผี) หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง นำกำลังลงเรือเร็ว ออกลาดตระเวนตามแนวชายแดนทางทะเล ด้าน จ.ระนอง-จ.เกาะสอง ประเทศพม่า มาถึงบริเวณหน้าเกาะเหลา หมู่ 6 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง พบเรือหางยาว 1 ลำ ขับมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดระนอง จึงส่งสัญญาณไฟให้หยุด เพื่อขอตรวจสอบ พบชาวพม่านอนราบอยู่กับท้องเรือรวม 33 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 18 คน พร้อมสัมภาระจำนวนหนึ่ง ตรวจสอบไม่มีหลักฐานการเข้าเมือง จึงประสานไปยัง พ.ต.ท. วีรยศ การุณยธร สารวัตรใหญ่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ให้มาทำการตรวจสอบ ร.ต.สมบัติกล่าวต่อว่า กลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ได้พยายามนำคนต่างด้าวชาวพม่าจากจังหวัดเกาะสอง เดินทางเข้ามายังจังหวัดระนองเป็นจำนวนมาก โดยใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะคิดค่าหัว 5,000 -20,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการนำพาไปสู่จังหวัดชั้นในที่เป็นเป้าหมายตามใบสั่งใน จังหวัดต่าง ๆ ทั้งในภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่จะลักลอบเดินทางในเวลากลางคืน จากการสอบสวนนาย โกโก วีน อายุ 29 ปี คนขับเรือชาวพม่า ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการว่าจ้างจากนายหน้าชาวพม่าจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่า ให้ไปส่งที่บริเวณท่าเรือย่านสะพานปลา หมู่ 1 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง โดยได้ค่าจ้างเที่ยวละ 1,000 บาท จะมีนายหน้าจากฝั่งไทยมารับไปส่งที่กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต จะต้องจ่ายค่ารถคนละ 8,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งขยายผลติดตามจับกุมกลุ่มขบวนการต่อไป ที่มาข่าว: รวบพม่า 33 คน ลอบเข้าเมืองกลางทะเลอันดามัน ระนอง (เนชั่นทันข่าว, 27-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ก. ต่างประเทศ ยกเลิกพาสปอร์ต 9 แกนนำ นปช.มีผลทันที Posted: 27 Oct 2010 05:55 AM PDT ก. ต่างประเทศยกเลิกพาสปอร์ต 9 แกนนำ นปช. ตามที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับช่วงชุมนุมให้มีผลทันที 27 ต.ค. 53 - นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการยกเลิกหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) จำนวน 9 คน ตามที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน ที่ผ่านมานั้น ซึ่งในวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 โดยจะมีผลทันทีตั้งแต่วันนี้ สำหรับรายชื่อไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล มีผลทันที ที่มาข่าว: กต.เลิกพาสปอร์ต 9 แกนนำ นปช.มีผลทันที (คม ชัด ลึก, 27-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนพัทยาประท้วงไม่เอารถไฟฟ้าโมโนเรล หวั่นทำลายเศรษฐกิจ Posted: 27 Oct 2010 05:33 AM PDT คนพัทยากว่า 300 คน ประท้วงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลพัทยา เชื่อทำลายภูมิทัศน์และธุรกิจเมืองพัทยา เชิญชวนผู้ที่เห็นด้วยติดสติ๊กเกอร์และป้ายผ้า “คนพัทยา..ไม่เอารถไฟฟ้า” ที่มาภาพ: www.pattayadailynews.com 27 ต.ค. 53 - pattayadailynews รายงานว่าที่บริเวณใต้สะพานต่างระดับพัทยาใต้ กลุ่มคนพัทยาหลากหลายสาขาอาชีพกว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการศึกษา และออกแบบระบบรถไฟฟ้า หรือโมโนเรลพัทยา โดยทุกคนได้ร่วมกันแสดงออกโดยสวมเสื้อ “คนพัทยา..ไม่เอารถไฟฟ้า” พร้อมจัดทำแผ่นป้ายแสดงออกถึงการต่อต้านโครงการดังกล่าว ก่อนนัดหมายเดินขบวนไปตามถนนพัทยาสายสอง ก่อนจะไปสิ้นสุดที่วงเวียนปลาโลมา พัทยาเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางเฟสแรกของโครงการ นางรัตนา อ่องสมบัติ ผู้ร่วมเดินประท้วง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการอัปยศที่เมืองพัทยาไม่เล็งเห็นถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผ่านมาเคยรวมตัวกันแสดงออกต่อต้านโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นแล้ว แต่ล่าสุดนายกเมืองพัทยาออกมาแถลงผลงานช่วง 2 ปี ในการบริหารงานปกครองท้องถิ่น ก็ยังแสดงเจตนาที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวต่อไป ท่ามกลางความสงสัยของคนพัทยาถึงหลักการบริหารท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ที่เคยกล่าวไว้ แต่ทว่าหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ผลกระทบต้องตกอยู่กับประชาชน จึงออกมากระตุ้นเตือนให้พี่น้องชาวพัทยา ออกมาต่อสู้เพื่อตัวเองและอนาคต ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าจะทำลายภูมิทัศน์ทางธรรมชาติของเมืองพัทยา ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการจะมาพักผ่อนตากอากาศ ซึ่งนอกจากจะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ที่อนาคตอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือตอม่อที่อาจจะผุดขึ้นหน้าบ้านใครก็ไม่รู้ แต่หากหน้าบ้านคนนั้นมีตอม่อขึ้นมาแล้ว ผลกระทบอื่น ๆ ก็จะตามมาอย่างแน่นอน หากจะบริหารจัดงานงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ควรส่งเสริมและผลักดันในเรื่องของความปลอดภัย และความสะอาดของเมืองมากกว่า เพราะเชื่อแน่ว่าเมืองท่องเที่ยวที่สะอาด และปลอดภัย จะเป็นที่พิสมัยของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ขณะที่นายสุรัตน์ เมฆะวรากุล นักธุรกิจเมืองพัทยา ให้ข้อมูลสำทับด้วยว่า จากการศึกษาข้อมูลของบริษัท โชติจินดามูเชล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา และรับออกแบบโครงการพบว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มีความเห็นด้วย ต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งขัดกับความเป็นจริงในการเปิดเวทีสำหรับประชาชน ให้แสดงออกถึงการก่อสร้างโครงการทุกครั้ง ก็จะที่มีผู้แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก แต่ผลสรุปของการสำรวจกลับผ่านในทุกครั้งไป ทั้งหมดเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึง จึงจำเป็นต้องออกมาแสดงถึงการต่อสู้ว่า “คนพัทยา..ไม่เอารถไฟฟ้า” และพร้อมจะยืนหยัดคัดค้านโครงการดังกล่าวต่อไป แม้สุดท้ายเมืองพัทยาจะยังจัดทำโครงการต่อไปก็ตาม ที่มาข่าว: รวมตัว “คนพัทยา..ไม่เอารถไฟฟ้า” สติ๊กเกอร์ป้ายผ้า ประท้วงว่อน! (pattayadailynews.com, 27-10-2553)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ศาล ปค.นัดไต่สวนด่วน ผู้สมัครสอบแพทย์ เหตุถูกตัดสิทธิแค่รูปถ่าย 1 ใบ Posted: 27 Oct 2010 05:01 AM PDT คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยื่นฟ้องสถาบันแพทยศาสตร์ฯ ตัดสิทธิการสอบต่อศาลปกครอง เหตุส่งรูปถ่ายสมัครไม่ครบ โดยขาดไปจำนวน 1 ใบ ล่าสุดศาลนัดไต่สวนเป็นการด่วนพรุ่งนี้ 27 ต.ค.53 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ยื่นหนังสือฟ้อง ประธานกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เนื่องจากตัดสิทธิการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ของนางสาวศรัญญา จันนามวงศ์ ต่อศาลปกครองกลาง โดยนางสาวศรัญญา จันนามวงค์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ขอความเป็นธรรมต่อประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหนังสือวันที่ 26 ตุลาคม ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการฟ้องศาลปกครองแทน เนื่องจากเห็นว่าการตัดสิทธิไม่ให้เข้าสอบคัดเลือกดังกล่าวกระทบต่อสิทธิ มนุษยชน ข้อเท็จจริงเนื่องจากประธานกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ลงนามในประกาศของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 เรื่องหลักเกณฑ์การสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2554 ผ่านระบบรับตรง (Direct Admissions) โดยกำหนดเอกสารประกอบใบสมัครสอบ ประกอบด้วยเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และรูปถ่ายขนาดนิ้วครึ่ง จำนวน 5 รูป เขียนชื่อ-สกุล ด้านหลังรูปทุกรูปให้อ่านได้ชัดเจน และติดรูปถ่าย 1 รูปลงในใบสมัคร ส่วนที่เหลืออีก 4 รูปจัดใส่ซองจดหมายเล็ก ปิดผนึกเขียนหน้าซองว่า “รูปถ่ายจำนวน 4 รูป” หรือใส่ถุงพลาสติกใส โดยให้ส่งใบสมัครพร้อมหลักฐานทางไปรษณีย์ลงทะเบียนภายในกำหนดวันที่ 3 กันยายน 2553 โดยถือวันที่ประทับตามไปรษณีย์ นางสาวศรัญญา จันนามวงศ์ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ผลการเรียนได้เกรดเฉลี่ย 3.84 และประสงค์จะเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์ จึงได้ยื่นสมัครเพื่อสอบคัดเลือกเรียนในคณะแพทยศาสตร์ผ่านกลุ่มสถาบันแพทย ศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2553 โดยได้ชำระค่าสมัครสอบ 1,215 บาทในวันเดียวกัน และส่งเอกสารครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครสอบ ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2553 นางสาวศรัญญา จันนามวงค์ ได้ตรวจสอบสถานภาพการสมัครสอบและสถานที่สอบในเว็บไซต์ของกลุ่มสถาบันแพทย ศาสตร์ ที่เว็บไซต์ www.9.si.mahidol.ac.th พบว่าไม่มีสิทธิที่จะเข้าสอบโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้เหตุผลว่า พ้นกำหนดการส่งเอกสารเพิ่มเติมไปแล้ว โดยอ้างว่าได้ขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติมจากวันที่ 3 กันยายน 2553 มาเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2553 แล้ว แต่นางสาวศรัญญา จันนามวงค์ ไม่ได้ปฏิบัติตามที่กำหนด จึงไม่สามารถแก้ไขให้เข้าสอบได้และจะไม่คืนเงินค่าสมัครให้ ทั้งนี้ข้อเท็จจริงตามประกาศของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ไม่ได้ระบุว่าให้ผู้ สมัครเข้าไปตรวจสอบภายในวันที่เท่าใดและเวลาใด จึงเข้าใจว่าผู้สมัครสอบทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้จนถึงวันสอบ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้ 1. การตัดสิทธิไม่ให้นางสาวศรัญญา จันนามวงค์เข้าสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย เพราะกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ตัดสิทธิโดยไม่ให้โอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 ประกอบกับไม่ได้แจ้งวันเวลาที่ตรวจสอบให้แน่ชัดจึงมิใช่ความบกพร่องของนาง สาวศรัญญา จันนามวงค์ ที่เข้าไปตรวจสอบสถานภาพการสมัครสอบในวันที่ 15 ตุลาคม 2553 อันเป็นวันที่พ้นระยะเวลาการส่งหลักฐานเพิ่มเติมที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นเองหลังจากการรับสมัคร อีกทั้งเหตุผลที่อ้างว่านางสาวศรัญญา จันนามวงศ์ ส่งรูปไม่ครบโดยขาดไปจำนวน 1 ใบ จากที่กำหนดให้ส่ง 5 ใบ ก็น่าเชื่อว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากนางสาวศรัญญา จันนามวงศ์ ได้ยืนยันว่าได้จัดส่งรูปถ่ายให้ครบถ้วนแล้ว และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยอ้างว่าได้ส่งรูปถ่ายไม่ครบจำนวนโดย ขาดไป 1 ใบ ก็มิได้มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นการส่งไม่ครบหรือมีการสูญหายในขั้นตอนใด ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ยิ่งกว่านั้นยังไม่ปรากฏเหตุผลที่รับฟังได้ว่าการขาดรูปถ่ายเพียง 1 ใบจะเป็นสาระสำคัญทำให้กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยไม่อาจดำเนินการ ให้นางสาวศรัญญา จันนามวงศ์ มีสิทธิเข้าสอบคัดเลือกดังกล่าวได้ เนื่องจากหลักฐานรูปถ่ายเป็นเพียงเอกสารประกอบการพิสูจน์ตัวบุคคลของผู้ สมัครสอบเท่านั้น ซึ่งรูปถ่ายจำนวน 4 รูป ตามที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยอ้างว่าได้รับนั้นย่อมเพียงพอต่อ การพิสูจน์ตัวบุคคลแล้ว 2. การกระทำของประธานกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของนางสาวศรัญญา จันนามวงค์ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 27 28 29 30 50 52 57 วรรคแรก และ 58 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 257 (3) จึงขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาเพิกถอน ประกาศของประธานกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และการกระทำที่มีผลเป็นการตัดสิทธิมิให้นางสาวศรัญญา จันนามวงค์ สอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ และสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้นางสาวศรัญญา จันนามวงค์ มีสิทธิเข้าสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ในวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ล่าสุด ศาลปกครองมีคำสั่งนัดไต่สวน ในวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2553 เวลา 14.00 น. ณ ห้องไต่สวนชั้น 2 ศาลปกครองกลาง เพื่อมีคำสั่งว่า จะคุ้มครองให้มีสิทธิเข้าสอบในวันที่ 30 ตุลาคม 2553 หรือไม่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
การเข้าเมืองผิดกฎหมาย: ความผิดอยู่ที่เส้นสาย ไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ Posted: 27 Oct 2010 04:40 AM PDT บทความนี้แปลจากต้นฉบับเรื่อง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เรื่อง ‘Illegal Immigration – Guilt Lies with Ties, Not Migrant Workers วันที่ 4 ตุลาคม 2553 ศพชาวตะวันตกที่เก็บมานานเเต่งกายด้วยเสื้อสูทดำผูกเนคไท ดูสงบสุขถูกดึงออกมาจากลิ้นชักเก็บศพ ผมเเละเพื่อนร่วมงานต่างตกตะลึง วันนั้นผมเเละเพื่อนไปติดต่อห้องเก็บศพ เพื่อสอบถามเรื่องอาวา แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่ถูกช้างเหยียบเสียชีวิตขณะให้อาหารช้างที่สวนสัตว์ซาฟารีในเชียงใหม่ ญาติ ของอาวาไม่ได้มารับศพเพราะพวกเขาเกรงว่า จะถูกจับเนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน ตามกฎหมาย ผู้ช่วยห้องเก็บศพอธิบายว่า ในกรณีนี้ไม่สามารถออกมรณบัตรเพื่อดำเนินการทาง กฎหมายได้ ไม่มีการทำความสะอาดศพ เพราะหลังทำพิธีกรรมทางศาสนาเเละจะต้องนำไป "จัดการ" อยู่ดี อาวาเป็นคน "ต่างด้าว" ผิดกฎหมายชาวพม่าอยู่เเล้ว ผมเห็นศพอาวาที่ถูกช้างเหยียบก่อน ที่เราจะออก จากห้องเก็บศพ เเละไม่อาจลืมภาพเลือดสีแดงฉานเปื้อนผ้าคลุมสีขาวสะอาดของโรงพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2549 อาวาตายอย่างน่าเศร้าเเละเงียบเชียบ เขาตายฟรี เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ ในประเทศไทย จุดจบแบบนี้อาจเกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติที่โชคร้ายที่สุดคนใดก็ได้ ในจำนวนเเรงงาน ข้ามชาติกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย ที่เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน เเละจะเรื่องเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป เว้นเเต่รัฐบาลไทยจะเปลี่ยนนโยบายการบริหารแรงงานข้ามชาติที่ย่ำแย่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ หลายปีที่ ผ่านมานี้ ผมเริ่มเข้าใจความหลายเชิงสัญลักษณ์ของศพสองศพที่เเตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ผมเคยเห็น เมื่อวันวานตอกย้ำว่าแรงงานข้ามชาติอยู่ในช่วงชั้นทางสังคมที่ต่ำกว่าคนอื่นๆ ในประเทศไทยหลายขั้น กว่ายี่สิบปีที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่กัมพูชา ลาว เเละพม่า เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หยาดเหงื่อ และบ่อยครั้งรวมถึงเลือดของแรงงาน ข้ามชาติ คือเเรงงานสนับสนุนการก่อสร้างตึกระฟ้าทั่วประเทศ แรงงานข้ามชาติภาคเกษตรกรรม หายใจเอาสารพิษเเละสู้แดดที่เเผดเผาผิวคร้ามให้เกรียมขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ กระจายอยู่ทั่วชนบทไทย แรงงานข้ามชาติหญิงทำความสะอาดบ้าน ดูเเลผู้สูงอายุเเละเด็ก ปลดปล่อยหญิง ไทยให้สามารถทำงานนอกบ้าน เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นเเละชีวิตที่ดีกว่า แรงงานข้ามชาติหญิงหลายคน เผชิญการละเมิดในบ้านที่เธอถูกกักกันไว้มิให้ออกสู่โลกภายนอก คุณูปการที่แรงงานข้ามชาติมีต่อเศรษฐกิจ ไทย สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจนปราศจากข้อกังขา เเม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร โลกก็ยืนยันความจริงข้อนี้ ผู้กำหนดนโยบายระดับอาวุโสของไทยย้ำว่าตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติ "ผิดกฎหมาย" เหล่านี้ เป็นเพียงแรงงานชั่วคราว ดังนั้นจึงกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นองค์รวม เช่น โครงการ "จดทะบียน" แรงงาน ข้ามชาติรายปี ที่ใช้อำนาจมติคณะรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นนโยบายที่เพียงพอต่อการเเก้ปัญหาเพื่อ ควบคุม แรงงานข้ามชาติเข้าเมืองและพำนักอาศัย "ผิดกฎหมาย" ให้สามารถทำงานได้อย่าง "ถูกกฎหมาย" เพื่อรอ การผลักดันออกนอกประเทศตามกำหนดที่ประเทศไทยเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อไทยไม่สามารถรับมืออย่างเป็น ทางการกับแรงงานที่ทะลักข้ามชายแดนเข้ามาในไทย ตามความต้องการแรงงานไร้ฝีมือในประเทศ เท่ากับ เจ้าหน้าที่รัฐละเลยปล่อยให้เครือข่ายลักลอบนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ เเละนายหน้า เเรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นและรุกล้ำพื้นที่เข้ามาเรื่อยๆ ความจริงเเล้ว การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติชั่วคราวเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ กว่าสองล้านคน แรงงานกว่าร้อยละ 80 เป็นแรงงานจากพม่า เเละยังคงเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ ระดับอาวุโสจึงใช้สถานะ "ผิดกฎหมาย" เป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แรงงานที่ "จดทะเบียน แล้ว" ถูกปฏิเสธสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงค่าชดเชย การพื้นฟูสมรรถภาพ เเละการขึ้นทะเบียน เป็นผู้พิการ เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน สิทธิในการจดทะเบียนสมรส ขับขี่จักรยานยนต์ เดินทางออกนอกจังหวัดที่จดทะเบียน หรือถือครองทรัพย์สิน ทว่ามีการปฏิเสธข้ออ้างว่า ประเทศไทยเลือก ปฏิบัติอย่างเป็นระบบและโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถูกต้องตาม กฎหมายอย่างเเข็งขันเสมอๆ เหยื่อของนโยบายบริหารการอพยพเเบบไม่เป็นองค์รวม คือแรงงานข้ามชาติหลายแสนคน ที่อาศัยอยู่ใน ประเทศไทยเป็นการ "ชั่วคราว" มากกกว่าทศวรรษ แรงงานข้ามชาติส่วนมากเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุ ยังน้อย ตามธรรมชาติ พวกเขาย่อมมีคู่ครอง แต่งงานเเละมีทายาท รัฐกลับตอบโต้อย่างเป็นทางการด้วย การสร้างภาพแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ร้ายเเละเผยเเพร่เเนวคิดให้ซึมซาบเข้าไปในสังคม โดยการโฆษณา ชวนเชื่อให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสังคม เเละลูกๆ ของแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นเด็กไร้รัฐ จะเป็นภาระที่เเย่งชิงทรัพยากรกับคนไทย เเม้นโยบายที่ขู่ว่าจะดำเนินการผลักดันแรงงาน ข้ามชาติหญิงที่ตั้งครรภ์ออกนอกประเทศยังไม่เป็นผล เเละมีพัฒนาการทางบวกเกิดขึ้นในวงจำกัด ลูกของ เเรงงานข้ามชาติส่วนมากยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ไม่ได้รับการศึกษา เเละไม่มีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับ พวกเขา ความตึงเครียดทางสังคมระหว่างแรงงานข้ามชาติเเละเจ้าบ้านไทยในหมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศเพิ่มขึ้น เพราะ ประชาชนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติน้อยมาก ชาวไทยยังไม่ค่อยเข้าใจว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นใคร ทำไมจึงอพยพเข้ามา เเละทำไมชุมชนไทยจึงถูกกลืนตามทัศนคติของชาวบ้าน กรณีที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อชาวระนองออกมาประท้วงเรียกร้องให้ระงับการออกใบขับขี่รถจักรยานยนต์ให้แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ สื่อสารมวลชนใช้อำนาจในมือโดยขาดความรับผิดชอบเเละเเฝงอคติ จนสร้างภาพแรงงาน ข้ามชาติให้เป็นผู้ร้าย อันเป็นการสนับสนุนสารอย่างเป็นทางการที่รัฐไทยต้องการสื่อว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นภาระที่ประเทศไม่ต้องการ หากไม่มีอคติมาบังตา การกล่าวหาว่าแรงงานข้ามชาติเป็นภาระมากกว่า ประโยชน์สำหรับไทยไม่เป็นความจริง เพราะแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนต้องจ่ายค่าบริการ สำหรับบริการ ที่มาตรฐานด้อยกว่าปกติ ถูกปฏิเสธสิทธิในสวัสดิการสังคม เเละรัฐบาลมีนโยบายเพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิต เเรงงานข้ามชาติน้อยมาก ข้อโต้แย้งว่าค่าจ้างแรงงานข้ามชาติสูงกว่าประเทศต้นทางมาก เเละพวกเขาโชคดีเพียงใดที่ได้อาศัยอยู่ใน ประเทศไทย เเม้จะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่ควรเป็นข้ออ้างที่ปกปิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทย ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มอำนาจให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานราคาถูก โดยยึด ประโยชน์ในการเเข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นที่ต้ัง เเละสามารถแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติไร้ ฝีมือ ได้อย่างง่ายดาย การชี้ช่องว่าแรงงานข้ามชาติกำลังแย่งงานคนไทยเป็นการโยนบาปผิดที่ผิดทาง เนื่องจาก นายจ้างเป็นปัจจัยดึงการอพยพของแรงงานเข้าประเทศ ความล้มเหลวที่จะปฏิรูปกระบวนการผลิตให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิผล เเทนการพึ่งพาแรงงานราคาถูก ที่ประเทศไทยไม่สามารถเเสวงหาเเรงงานได้เอง ท้าย ที่สุดจะทำวห้ประเทศไทยเป็นรองในการเเข่งขันทางเศรษฐกิระดับโลก อนาคตทางเศรษฐกิจโลกอีก 20 ปีข้างหน้าจะเเตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทยจำเป็น ต้องเปลี่ยนแปลง อีกไม่นานประเทศไทยจะไม่สามารถเเข่งขันกับคู่เเข่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ในด้านการ ผลิตสินค้าในราคาต่ำ เเละผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการผลิต เเละลดการซื้อสินค้า ที่มาจากการผลิตที่ขูดรีด บางคนอาจให้เครดิตว่ารัฐบาลไทยมียุทธศาสตร์ ที่วางแผนมาตั้งเเต่ พ.ศ. 2542 แต่เพิ่งนำมาปฏิบัติ เมื่อไม่นานมานี้ ยุทธศาสตร์เพื่อจัดการการอพยพที่ไม่ปกติอย่างเป็นทางการเเบ่งเป็นสามขั้น ขั้นเเรก จะเปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้าเมือง "ผิดกฎหมาย" ในประเทศไทยพิสูจน์สัญชาติ เเละทำหนังสือเดินทาง ชั่วคราว เพื่อปรับสถานะให้ถูกกฎหมาย ขั้นที่สอง จะนำเข้าแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหม่ เพื่อรองรับความขาด เเคลนเเรงงาน ตามการคำนวณจำนวนแรงงานที่ต้องการอย่างเคร่งครัด เเละตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทย ทำไว้กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เเละขั้นที่สามจะจดทะเบียนแรงงาน "ผิดกฎหมาย" ที่อยู่ในประเทศไทย ให้เป็นแรงงานที่สามารถทำงานได้อย่าง "ถูกกฎหมาย" เป็นการชั่วคราว จนกว่าขั้นที่หนึ่งเเละขั้นที่สองจะ ประสบผลสำเร็จ ทว่าดูเหมือนพลังด้านลบที่ฝังอยู่ในระบบการบริหารแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ยังไม่คลายความเข้มเเข็ง เเละเป็นแรงต้านที่ทรงพลัง ทำให้ขั้นตอนอย่างเป็นทางการทั้งสองขั้นไม่ประสบ ความสำเร็จ ตั้งเเต่พ.ศ. 2545 ที่เปิดช่องทางนำเข้าแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายเป็นครั้งเเรก จนถึงปัจจุบัน มีแรงงาน ข้ามชาติที่นำเข้ามาเพียง 25,000 คน (เฉลี่ยประมาณ 3,000 คนต่อปี ) กระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังคง ไม่โปร่งใสเเละมีค่าใช้จ่ายสูง แรงงานข้ามชาติกว่าสองล้านคน ในประเทศไทยเเสดงความประสงค์จะเข้าสู่ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติภายในเส้นตายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 พร้อมมีมาตรการรองรับที่ขู่จะจับกุม เเละผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่ประบวนการพิสูจน์สัญชาติครั้งใหญ่ การทำงานที่ใช้การข่มขู่บังคับ โดยเฉพาะผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยจากประเทศพม่าถูกองค์การสหประชาชาติประนาม หากสามารถ "พิสูจน์" ได้ว่าแรงงานส่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ตรงกับความเป็นจริงให้ประเทศต้นทาง แรงงาน ประมาณหนึ่งล้านคนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้เเล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 อีกไม่นานรัฐบาลไทยจะตระหนักว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยจงใจกรอกข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะกลุ่มที่ เป็นแรงงานชาติพันธุ์กลุ่มน้อยจากประเทศพม่า เพื่อต่ออายุการอาศัยในประเทศไทยไปอีกสองปี เนื่องจาก ความกลัวเเละสับสน เพราะกระทรวงแรงงานไทยไม่สามารถประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ การพิสูจน์สัญชาติเเก่แรงงานข้ามชาติ เเละนายจ้างก่อนประกาศเส้นตาย ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ต่อเเรงงานข้ามชาติของประเทศไทยคือการเเสวงประโยชน์จากนายหน้า ทั้งใน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเเละระบบนำเข้าเเรงงานใหม่ นายหน้าเป็นความจำเป็นเมื่อกระบวนการทั้งสอง ซับซ้อน หากประเทศไทยต้องการรับความท้าทายจากแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ควรลดค่าใช้จ่ายจากการใช้นายหน้าเพื่อสร้างเเรงจูงใจให้แรงงานข้ามชาติเเละนายจ้างปฏิบัติตาม ทว่าระบบ นายหน้าที่เป็นอยู่ยังปราศจากการควบคุมในทางปฏิบัติ เเม้ว่ามีการกำหนดเพดานราคาสูงสุด อย่างไม่เป็น ทางการโดยกระทรวงเเรงงาน เเต่ค่าบริการก็ยังสูงถึงระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการขูดรีด สำหรับนายจ้าง เเละลูกจ้าง มีข่าวลือเเพร่สะพัดว่าใครอยู่เบื้องหลังบริษัทเหล่านี้ นายหน้าเเสวงกำไรขณะสร้างภาระ ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับค่าแรงน้อยอยู่เเล้ว เป็นการสร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อการเอาคนลงเป็นทาสเพื่อ ใช้หนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก้าวเข้ามาจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ โดยลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง "การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม เเละดำเนินคดีแรงงาน ข้ามชาติ ที่ไม่เเสดงความประสงค์จะพิสูจน์สัญชาติ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553" การปราบปราม แรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นหลังประกาศฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลไทย เพื่อบริหารแรงงาน ข้ามชาติอย่างเป็นทางการ โดยการจับกุมและผลักดันผู้ที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติออกนอกประเทศ เพื่อให้ได้รับการนำเข้ามาใหม่อย่างถูกกฎหมาย ผลพวงจากคำสั่งนี้คือ มีหลักฐานชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ ตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบาย "จับเเละรีดไถ" ทั้งแรงงานที่จดทะเบียนเเละไม่จดทะเบียน สื่อนานาชาติกำลังจับตามองการผลักดันออกนอกประเทศที่ไม่มีมาตรฐานเป็นทางการ เช่น การผลักดัน ผู้คน เหล่านี้กลับประเทศพม่ากลายเป็นการลักลอบนำพาแรงงานข้ามชาติกลับเข้าไทย เเละวงจรอุบาทว์ที่เต็ม ไปด้วยการรีดนาทาเร้นเเละการค้ามนุษย์ ซึ่งนายหน้าค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐ เเละกองกำลังติดอาวุธ ในแม่สอด/เมียวดีเเละที่ระนอง/ เกาะสอง มีบทบาทอย่างมาก ท่ามกลางการประกาศเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามแรงงานที่ไม่จดทะเบียน ดังที่รองนายกรัฐมนตรี เเถลงต่อสาธารณะ เเละการยืนยันจากรัฐบาลไทยว่าจะไม่เปิดโอกาสให้เเรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียน ในประเทศไทยได้จดทะเบียนอีกเเล้ว ยกเว้นจะกลับประเทศต้นทางเเละเข้ามาใหม่อย่างถูกกฎหมาย เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงแรงงานกลับประกาศว่า มีเเผนจะเปิดการจดทะเบียนรอบใหม่ให้แรงงานข้ามชาติ ที่ไม่จดทะเบียนอีกครั้ง ถือเป็นการกลับลำทางนโยบายเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ เเม้นโยบาย นี้เป็นที่น่ายินดี เเต่วงจรของการบริหารเเรงงานข้ามชาติอย่างย่ำเเย่ก็หมุนมาบรรจบที่เดิมอีกครั้ง การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติยังดำเนินต่อไป พร้อมความเข้มข้นของอคติ เเละความตึง เครียดทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ไม่มีการจัดการการทุจริตเเละนายหน้าเเข็งเเกร่งกว่าเดิม แรงงานข้ามชาติ ยังถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเเสวงประโยชน์อย่างเป็นระบบ (โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เเละเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่พึงปกป้องเเรงงานข้ามชาติ) เเละยังต้องเเบกภาระค่าใช้จ่ายการเข้าสู่กระบวนการ เปลี่ยนสถานะให้ถูกกฎหมาย ทั้งหมดนี้เป็นภาระสาหัสที่สร้างประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติน้อยมาก เช่น ประสบการณ์ของเเรงงานข้ามชาติพันกว่าคน ในโรงงานเเห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนเเก่น ที่นัดหยุดงาน เเม้แรงงานเหล่านี้จะผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เเต่ได้รับสิทธิเพียงน้อยนิด จนเเรงงานข้ามชาติทนไม่ได้ อีกต่อไป เจ้าหน้าที่รัฐระดับอาวุโสบอกกันเสมอว่า บัดนี้ถึงเวลาเเล้วที่จะแก้ปมยุ่งเหยิงเรื่องเเรงงานข้ามชาติด้วย เหตุผล โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับความต้องการทางเศรษฐกิจเเละความมั่นคงของชาติ คณะกรรมาธิการด้านแรงงาน สภาผู้เเทนราษฎรร่างกฎหมายแรงงานข้ามชาติใหม่ เเละนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกล่าวว่า การสำมะโนประชากรปีนี้จะทำให้ทราบจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เเท้จริง เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติในอนาคต เเม้มีหลักฐานว่าทีมสำมะโนประชากรอาจ ประสบ ความยากลำบากในการค้นหาเเรงงานข้ามชาติ เพราะนายจ้างยังซุกซ่อนเเละปกปิดเเรงงาน ข้ามชาติเป็นอย่างดี กระเเสการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านไปกว่า 20 ปี เเรงงานข้ามชาติสักกี่คนได้ประสบชะตากรรม เช่นเดียวกับอาวา ที่เเม้ตายก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนอื่น เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ก็อดไม่สบายใจไม่ได้ แรงงานข้ามชาติยังนิ่งเงียบเเละขาดการรวมกลุ่ม เเม้จะเผชิญการเอารัดเอาเปรียบมากมาย มีเพียงเเรงงาน ข้ามชาติจำนวนน้อยนิดที่สามารถต่อสู้เเละเข้าถึงความยุติธรรม เเม้ว่าเอ็นจีโอจำนวนมากหาทางช่วยเหลือ ภาพรวมของเเรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือในประเทศไทยยังคงสิ้นหวัง จนกว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญ กับพวกเขาอย่างเร่งด่วน อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะนำเรื่องคุณธรรมเข้าสู่ประเด็นการบริหารเเรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาจากพม่า แกะดำของอาเซียน เเละสัญลักษณ์ของระบอบการปกครอง ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยประการทั้งปวง อาจยอมรับได้ว่ารัฐบาลไทย ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับรากเหง้า ของปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ที่ไหลบ่าเข้ามาในไทยทั้งหมด เเต่ประเทศไทยก็เก็บเกี่ยวผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมหาศาล เพราะสามารถแสวงประโยชน์กับเเรงงาน ข้ามชาติพม่าจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย การรับภาระจึงมาพร้อมราคาที่ต้องจ่ายด้วย หากประเทศไทยยังคงละเลยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เเละค้ากำไรโดยไม่ทำตามหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อแรงงาน ด้วยดี เราอาจสรุปได้ว่า อย่างน้อยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติก็ประสบ ความสำเร็จในการผลิต เเละธำรงพื้นที่ทางสังคมเขตหนึ่งให้เป็นพื้นที่ผิดกฎหมายดังที่เราเห็นทุกวันนี้ เพื่อเป็นพื้นที่เบียดขับให้ แรงงานข้ามชาติตกหล่นจากระบบการคุ้มครองพื้นฐาน นิติรัฐ เเละถูกปฏิเสธเเม้สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน นโยบายของไทยเป็นบ่อเกิดให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบที่ไร้คุณธรรมต่อเเรงงาน "ชั่วคราว" ถึงเวลาเเล้วที่ ประเทศไทยควรได้รับการประณามเพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายเเรงต่อชาวพม่า ซึ่งปกติเเล้วเคย เกิดขึ้นโดยน้ำมือของเผด็จการจากประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น อานดี้ ฮออล์ เป็นที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา เเละดำรงตำเเหน่งผู้อำนวยการโครงการ ยุติธรรมเเรงงานข้ามชาติ ตั้งเเต่ พ.ศ. 2550-2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า จี้อาเซียนอย่ารับรองผลเลือกตั้งพม่า Posted: 27 Oct 2010 03:50 AM PDT เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 53 ที่ผ่านมากลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า ได้ออกแถลงการณ์ ถึงผู้นำและตัวแทนประเทศ กลุ่มอาเซียน ในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 17 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม พ.ศ. 2553 อาเซียน อย่าหลงกลรับรองผลการเลือกตั้งจอมปลอมของพม่า การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ สองทศวรรษของพม่าควรเป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ที่ชาวพม่าจะได้ สัมผัสประสบการณ์ประชาธิปไตย แต่ตรงข้ามกลับกลายเป็นกลลวงที่จะนำไปสู่การกดขี่ประชาชนอีกคำรบหนึ่ง และการเตรียมการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าก็ไม่มีสิ่งใดใกล้เคียงกับ ประชาธิปไตย ในโอกาสที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งในพม่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า (AIPMC) ขอเรียกร้องให้การประชุมครั้ง นี้มุ่งเน้นความสำคัญและบรรจุประเด็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่าเป็นวาระลำดับต้นๆ ของการประชุม อาเซียนไม่ควรปล่อยให้พม่าหลอก การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ อาจนับว่าเลือกตั้งได้เลย หากแต่เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความมั่นคงในการกุมอำนาจของรัฐบาลทหารพม่า และให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทหารในการปกครองประเทศอย่างถาวรสืบไป “นี่ไม่ใช่การเลือกตั้ง” นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สมาชิกรัฐสภา ประเทศไทย และประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่ากล่าว ไม่มีสิ่งใดที่แสดงถึง ความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาลเผด็จการพม่าในการส่งมอบอำนาจสู่ประชาชน แต่กลับพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ฝ่ายตนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ความจริงดังต่อไปนี้ สามารถอธิบายเจตนาแฝงของรัฐบาลทหารพม่าได้เป็นอย่างดี รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศใช้กฏหมายต่างๆ มาเพื่อกีดกันฝ่ายตรงข้ามออกจากกระบวนการเลือกตั้ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การล้มผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติของ (NLD)ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น 392 ที่นั่งจากทั้งหมด 485 ที่นั่ง การกำจัดสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนั้นออกจากเวทีการเมือง โดยใช้วิธีจับกุม คุมขังอย่างยาวนาน บังคับให้ลาออกจากพรรคการเมือง และจำกัดกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทอย่างเข้มงวด นักโทษการเมืองมากกว่าสองพันคนยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ ในจำนวนนี้มีสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2533 อยู่ 12 คน และยังมีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่สำคัญอีกหลายคน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันของประเทศพม่าร่างขึ้นโดยสมาชิกที่รัฐบาลทหารคัดเลือก มาทั้งหมด ไม่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดที่พากย์วิจารณ์การทำ งานของรัฐบาลจะถูกลงโทษ และรัฐธรรมนูญฉบับ นี้ได้รับการยอมรับโดยประชา พิจารณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ท่ามกลางบรรยากาศที่มีแต่การบังคับข่มขู่ ด้วยวิธีการเช่นนี้ รัฐบาลทหารประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2553 การละเมิดอย่างชัดเจนเกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ประกาศใช้กฏหมายเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีนี้ เช่นการข่มขู่คู่แข่งทางการเมือง การจำกัดอิสระใน การเดินทาง ตัดพื้นที่เลือกตั้งสำคัญออกออกจากกระบวนการเลือกตั้ง กีดกันไม่ให้ออง ซาน ซูจีและพรรคสันนิบาติประชาธิปไตยแห่งชาติ (NLD) เข้าร่วมกระบวน การเลือกตั้ง ความตึงเครียดระหว่างทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยที่อยู่ใน พื้นที่ขัดแย้งและกลุ่มวางอาวุธได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากรัฐบาล ทหารพม่าต้องการกำหนดผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความต้องการของตน ภัยสงครามกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้ง การสนับสนุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหารที่มีให้แก่พรรคที่ตนหนุนหลังเป็นไปอย่างกว้าง ขวางได้บิดเบือนความสมดุลของการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล ทหาร กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่าเชื่อว่า การเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การกดขี่ไม่อาจนำมาซึ่งสันติสุขได้ แต่จะนำไปสู่ความรุนแรง และความไร้ซึ่งเสถียรภาพมากขึ้น สิ่งที่ทำให้กลุ่มสมาชิกฯ มีความกังวลมากขึ้นอีก คือการที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ดำเนิกนารใดๆ เพื่อปรับปรุง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่ว ไปในประเทศของตน พม่าได้เมินเฉยต่อการวิงวอนและคำแนะนำของอาเซียน และประชาสังคมนานาชาติในวงกว้าง ให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดและกำหนดปัจจัยโดยทั่วไปเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุม อิสระ และ ยุติธรรมอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่รัฐบาลทหาร กิจการทหารถูกแยกออกจากการวบคุมของพลเรือน ทั้งยังนิรโทษกรรมต่อความผิดใดๆ ก็ตาม ที่ทหารได้กระทำไปในอดีตอีกด้วย กฏบัตรอาเซียนกำหนดให้สมาชิกอาเซียน ยึดมั่นในสันติภาพและเคารพสิทธิ มนุษยชน แต่พม่าได้ทำการละเมิดสัญญาที่ ตนได้ลงนามไว้อย่างสาหัสสากรรจ์ ชื่อเสียงของอาเซียนต้องแปดเปื้อนอย่าง รุนแรงเพราะสมาชิกอย่างพม่า และการเลือกตั้ง จอมปลอมในครั้งนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งความ อัปยศที่เพิ่มลงไปในประวัติอัน เสื่อมเสียของพม่า กลุ่มสมาชิกขอเรียกร้องให้ อาเซียนปฏิเสธผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ รัฐบาลพม่าต้องแสดงความ ยินยอมพร้อมใจที่จะ ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งรวมไปถึง ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยด้วย ผู้นำประเทศอาซียนจำเป็นต้องใช้โอกาสการประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียนครั้งที่ 17 นี้ ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในพม่าก่อน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียน เพื่อพม่าก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสนใจและมีอุดมการณ์ร่วมกันในการ ติดตามกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศพม่ากลุ่มหนึ่ง มีวัตถุประสงค์หลักในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในประเทศพม่า ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 6 ประเทศคือ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สัญญาณเน็ตพม่าล่มทั่วประเทศ ประเมินเหตุใกล้วันเลือกตั้ง Posted: 27 Oct 2010 02:56 AM PDT สมาพันธ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักข่าว Mizzima ว่า ผู้ใช้บริการของเครือข่ายสัญญาณ Bagan Net ของเมียนม่าเทเลพอร์ท พบว่าการทำงานของอินเทอร์เน็ตแย่ลงมากมากว่า 3 วันแล้ว โดยกล่าวเสริมด้วยว่าไม่มีการเตือนในเรื่องนี้มาก่อน เจ้าของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในย่านใจกลางเมืองย่างกุ้งกล่าวว่า สัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกตัดอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ยังคงเข้าเว็บไซต์ในประเทศพม่าอย่าง 'Myanmar Times online' และ 'People Magazine' ได้ เข้าอีเมลได้บ้างบางครั้งแต่พอใช้ไปสัก 10 นาทีสัญญาณก็ขาดไปอีก บางครั้งก็ใช้ได้แค่เพียง 5 นาทีเท่านั้น ภายใต้รัฐบาลทหารของพม่า มีการใช้กฏหมายเซ็นเซอร์อย่างหนักหน่วง และระบบเครือข่ายยังด้อยพัฒนา ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตในพม่าได้รับฉายาว่าเป็น "เมียนมาร์ ไวล์ด เว็บ" บรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ของพม่าให้ความเห็นว่า ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งจะมีการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เขาคิดว่ารัฐบาบทหารคงต้องการปิดกั้นการไหลเวียนข้อมูลไม่ให้ออกไปนอกประเทศ โดยไม่เพียงแค่อินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่ถูกตัด แต่ระบบสัญญาณโทรศัพท์ก็ถูกรบกวน ประชาชนต่างคิดว่ารัฐบาลทหารจงใจทำ เจ้าของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่อีกรายเล่าว่า จากการที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแย่ลง ทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตลดลงไปด้วย ปกติแล้วจะมีคนมาใช้เฟซบุ๊กและกูเกิ้ลทอล์ก แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถใช้มันได้ ร้านเน็ตคาเฟ่ก็แทบจะร้าง ด้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเล่าว่า พวกเขาไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ร้านอินเทอร์เน็ตบางแห่งปิดให้บริการ เพื่อนเขาคนหนึ่งต้องการกรอกแบบฟอร์มเอกสารออกนอกประเทศ (D Form) แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเว็บไซต์ของรัฐบาลที่ให้บริการ D From ไม่สามารถเข้าได้ เว็บไซต์อื่น ๆ ก็ไม่สามารถเข้าได้เช่นกัน โดยร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทุกร้านต่างเป็นเหมือนกันหมด ขณะที่ใน รัฐอาระกัน, คะฉิ่น, คะเรน และเขตอื่น ๆ เช่นมัณฑะเลย์ ก็มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ช้ามาก ทางด้านเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่าย Bagan Net กล่าวว่าการเชื่อมต่อสัญญาณในขณะนี้ยังคงอยู่ภายใต้การปรับปรุงระบบ ขณะที่พนักงานของ Bagan Net ก็ยังไม่ทราบว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพม่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร จากข้อมูลของกระทรวงโทรคมนาคมของพม่าระบุว่ามีชาวพม่าที่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของตนเอง 60,000 ราย ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการประท้วงของพระสงฆ์ในพม่าเมื่อปี 2550 รัฐบาลก็เข้มงวดกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีการปิดบริการสาธารณะหลายอย่างของประเทศช่วงที่มีการประท้วงหนัก การเลือกตั้งของพม่าจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ย. นี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่ารัฐบาลพม่ากำลังปิดกั้นบริการเนื่องจากการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามานี้เอง ที่มา : SEAPA Alert: Burmese junta accused of slowing, cutting Internet connection ahead of elections (Mizzima, 27-10-2010) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีประชาไท: รักที่อบอุ่นนั้นถูกพราก Posted: 27 Oct 2010 01:38 AM PDT ฝนตก น้ำท่วม ท้องหิว ลมพลิ้ว หวิวเหว่ เหน็จหน่าย พ่อแม่ ไม่อยู่ ข้างกาย แล้วจะ มีใคร ทดแทน ยืนรอ นั่งรอ โดดเดี่ยว คอยเหลียว ดูเขา ทั้งสอง ไม่อาจ กลั้นน้ำ ตานอง โซ่ตรวน จองจำ จากไป ชีวิต พลิกผัน เกินคาด อยู่อย่าง จำกัด ฉไน คนชั้น ตัวเล็ก กรรมใด ไร้ด้วย ศักดิศรี ตัวตน หัวใจ เปราะบาง ถูกย่ำ เช้าค่ำ ดิ้นรน บนถนน รับจ้าง ค่าแรง ต่ำจน อดทน ท้าทาย ชะตา แรงน้อย รึสู้ แรงใหญ่ ผู้เถื่อน ดาหน้า เทศนา กำหนด กฎ กติกา คนดี ต้องมา ปกครอง เรามัน ไอ้ตัว กระจ้อย รับผล พลอยเสีย ทั้งผอง แหงนหน้า สู้แสง ฟ้าลำพอง ป่าวร้อง ว่านี่ คืออธรรม แหงนหน้า สู้แสง ฟ้าลำพอง ป่าวร้อง ว่านี่ คืออธรรม!
ขอส่งกำลังใจถึงลูกๆ ของนักโทษการเมือง 27 ต.ค. 53
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กลุ่มเยาวชนปะโอแถลงต้านโครงการเหมืองเหล็กพม่า-รัสเซียในรัฐฉาน Posted: 27 Oct 2010 01:30 AM PDT เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (27 ต.ค.) องค์กรเยาวชนชาวปะโอ (Pa-Oh Youth Organisation - PYO) ออกแถลงการณ์เปิดเผยวีดิทัศน์และใบปลิวต่อสื่อมวลชนที่สถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการแถลงเปิดเผยข้อมูลให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากโครงการเหมืองเหล็กป๋างแปก เหมืองเหล็กขนาดใหญ่สุดในพม่า ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินงานในปีหน้านี้ ทั้งนี้ คำแถลงการณ์ระบุว่า โครงการเหมืองเหล็กดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ เป็นกิจการร่วมทุนกับบริษัท Tyazhpromexport ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย ภายใต้การร่วมมือของรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่ปี 2547 ทางบริษัทได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานต่างๆ ซึ่งใกล้จะเสร็จลงแล้วและจะเริ่มขุดเหมืองในปีหน้า โดยโครงการนี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียที่ทำกิน มลพิษต่อแหล่งน้ำ และการละเมิดสิทธิที่กระทำโดยทหารของรัฐบาลพม่าที่ทำหน้าที่คุ้มครองโครงการ ซึ่งทางการพม่าได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านราว 100 คนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว และประมาณการว่าจะมีชาวบ้านอย่างน้อย 7,000 คน จะต้องถูกโยกย้ายเมื่อโครงการเหมืองเริ่มขึ้น แถลงการณ์ระบุอีกว่า ปัจจุบันโครงการเหมืองเหล็กดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่เหมืองแบบเปิดหน้าดิน มีการขุดโค่นเนินเขาบางส่วน ซึ่งหากโครงการเริ่มขึ้นจะส่งผลให้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ที่อาศัยตามแม่น้ำตะแบได้รับผลกระทบจากมลพิษที่จะถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำ เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่บนต้นน้ำตะแบและจำเป็นต้องใช้น้ำในการล้างและถลุงแร่เหล็ก ที่ผ่านมาชุมชนที่ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐบาลทหารพม่าในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเวนคืนที่ดินและการบังคับโยกย้าย แต่ไม่ได้ผลอะไร นายชางเค โฆษกกลุ่มเยาวชนชาวปะโอ กล่าวในแถลงการณ์ว่า "ในพม่ามีการปิดข่าวเกี่ยวกับโครงการเหมืองป๋างแปกนี้ ด้วยเหตุนี้ เราต้องการให้สังคมรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสนับสนุนชาวบ้านในการต่อต้านโครงการนี้" นอกจากนี้ นายชางเค ยังได้กล่าวเรียกร้องให้หลายฝ่ายรวมถึงองค์กรแห่งชาติปะโอ PNO – (Pa-O National Organization) ซึ่งเป็นอดีตกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ปัจจุบันหันมาจัดตั้งพรรคการเมืองเตรียมร่วมเลือกตั้ง 7 พ.ย. นี้ว่า โครงการเหมืองเหล็กป๋างแปก กำลังทำลายอนาคตของประชาชนในพื้นที่ ควรหาทางปกป้องสิทธิของประชาชนและร่วมกันต่อต้านโครงการนี้ ชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับโครงการนี้ได้ที่... http://pyo-org.blogspot.com/ หรือ ติดต่อขอรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณชางเค โฆษกกลุ่ม PYO โทร. 084-6108330 "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เอ็นจีโอ เผย บริษัท 'เหล้า-บุหรี่' ยักษ์ใหญ่ ดอดพบ "จุรินทร์" หวังล็อบบี้ Posted: 27 Oct 2010 12:04 AM PDT 27 ต.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่า นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ในฐานะประธานภาคีประเทศสมาชิกกฎหมายบุหรี่โลก กล่าวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ถึงกรณีกลุ่มนักธุรกิจจากสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Business Councll: USABC) เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 28 ตุลาคม เพื่อหารืองานด้านสาธารณสุขว่า สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เป็นการรวมตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ 20 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเช่นฟิลลิปมอร์ริสด้วย และว่า เรื่องนี้ประชาคมโลกกว่า 10 ประเทศ ได้ลงชื่อคัดค้านราว 400-500 รายชื่อ ให้สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ตัดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติออกจากคณะ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ค้าขายสินค้าที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และการที่บริษัทบุหรี่เข้าไปแฝงตัวในสภานี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่โรงงานยาสูบประกาศเพิ่มยอดขายบุหรี่ว่า การเพิ่มยอดขายของบริษัทบุหรี่ในประเทศไทยทำได้ยาก เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมที่ดีและเข้มงวด ยกเว้นจะเป็นการลักลอบนำเข้าสินค้าไปจำหน่ายตามสถานบันเทิง ไนต์คลับ ซึ่งควบคุมยาก นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในวันที่ 28 ตุลาคม เครือข่ายจะรวมตัวแสดงพลังคัดค้านกลุ่มสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่กระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้นายจุรินทร์ปฏิเสธไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าพบ เพราะเป็นตัวแทนจากบริษัทเหล้า บุหรี่ ที่แฝงตัวเข้ามาล็อบบี้นักการเมืองและภาครัฐ หวังแทรกแซง ลดทอนนโยบายการควบคุมสินค้าเหล้า บุหรี่ ให้ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการแสดงฉลากข้างขวด การประกาศเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ปกป้องให้คนไทยปลอดภัยจากสินค้าอันตรายเหล่านี้ ที่มาข่าว: เอ็นจีโอแฉบ.เหล้า-บุหรี่ พบ "จุรินทร์" หวังล็อบบี้ (มติชนออนไลน์, 27-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
คนงานซุปเปอร์เมครวมตัวเรียกร้องค่าแรง โวยนายจ้างไม่ยอมจ่าย Posted: 26 Oct 2010 11:47 PM PDT เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 53 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี นายบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้นำพนักงานของบริษัท ซุปเปอร์เมค โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 400 คน มารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและเงินเดือน หลังโรงงานปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่จ่ายเงินตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงาน สร้างความเดือดร้อนแก่พนักงาน จึงต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องดังกล่าว ที่มาข่าว: พนง.ผลิตเครื่องออกกำลังกายรวมตัวเรียกร้องค่าแรง โวย รง.ไม่ยอมจ่าย (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
มทภ.3 เยือนเชียงใหม่ประกาศกร้าวหมิ่นเบื้องสูงยอมไม่ได้ต้องจัดการ Posted: 26 Oct 2010 09:55 PM PDT แม่ทัพภาค 3 เข้าเชียงใหม่เดินสายพบหน่วยงานราชการ เยือนตำรวจภูธรภาค 5 หารือเรื่องความร่วมมือสามประเด็นหลัก ยาเสพติด-สิ่งแวดล้อม-การค้ามนุษย์ ส่วนเรื่องละเมิดสถาบันยืนยันยอมไม่ได้ต้องจัดการจริงจัง
ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าพล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะ เดินทางมายังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าเยี่ยมและร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการทำงานระหว่าง หน่วยงาน โดยมี พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ให้การต้อนรับและเข้าร่วมหารือ ทั้งนี้ การเข้าเยี่ยมในครั้งนี้เป็นไปตามหมายกำหนดการของแม่ทัพภาคที่ 3 ที่จะเข้าเยี่ยมและหารือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงบ่ายด้วย ที่มาข่าว: มทภ.3 เยือนเชียงใหม่ประกาศกร้าวหมิ่นเบื้องสูงยอมไม่ได้ต้องจัดการ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น