โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

คนงานไทยบางส่วนที่ถูกหลอกไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนกลับไทยแล้ว

Posted: 05 Oct 2010 02:06 PM PDT

คนงานไทยบางส่วนที่ถูกหลอกไปเก็บผลไม้ที่สวีเดนกลับไทยแล้ว เรียกร้องความเป็นธรรมเงินค่าจ้างค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์จากบริษัทที่สวีเดน และให้ดำเนินคดีกับนายหน้าคนไทยที่หลอกลวงไปทำงาน

 

 

 

คนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในแถบสแกนดิเนเวียกับปัญหาถูกหลอกอีกครั้งในปีนี้
ที่มาภาพ: Support the struggle of Thai berries pickers in Sweden - Thai berries pickers in Sweden

 

กลับถึงไทย “พม.- แรงงาน” รอรับ

ด้านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 05.30 น.ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้นำข้าราชการระดับบริหารของกรม พัฒนาสังคม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ไปรอรับคนงานไทย จำนวน 117 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เดินทางมาโดยเครื่องบิน บมจ.การบินไทยเที่ยวบินที่ทีจี 961 กลับประเทศไทยสำหรับคนงานไทยทั้ง 117 คน ได้รับการติดต่อจากนายหน้าให้ไปทำงานกับบริษัทลอม เบอร์รี่ ตั้งอยู่ที่เมืองอัลเซเร ทางภาคเหนือของสวีเดน เพื่อเก็บผลเบอร์รี่ป่า เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดคนละ 85,000 บาท นายหน้าแจ้งว่าจะประกันรายได้ตามสัญญาไม่ต่ำกว่าคนละ 140,000 บาท แต่เมื่อไปทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. จนถึงวันที่ 30 ก.ย. ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา อีกทั้งตัวแทนและสายบริษัทได้หลบหนีไป คนงานส่วนหนึ่งจึงต้องเดินทางกลับ

ทันทีที่ถึงท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิ คนงานก็ได้ยื่นหนังสือต่อนายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรียกร้องเงินค่าจ้างค้างจ่าย และสิทธิประโยชน์จากบริษัทลอม เบอร์รี่ พร้อมทั้งให้ดำเนินคดีกับนายภูมิคชา นาคคำสาย หรือ นายหน้าของบริษัท ที่หลอกลวงพวกตนไปทำงานที่สวีเดน และไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา จากนั้นนายอิสสระได้ให้เจ้าเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคม และเจ้าหน้าที่กรมการจัดการงานสัมภาษณ์คนงานแต่ละคน ก่อนให้การช่วยเหลือด้านการเงินจำนวนหนึ่ง และจัดรถบัสนำส่งกลับภูมิลเนา พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมได้นำตัวแทนคนงาน 16 คน ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายภูมิคชา นาคคำ และผู้แทนบริษัทลอม เบอร์รี่ ในประเทศไทย ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ส่วนนายภูมิคชานั้นยังอยู่ที่ประเทศสวีเดน หากเดินทางกลับประเทศไทย ทางตำรวจก็จะจับกุมตัวมาสอบสวนดำเนินคดี

ก่อนหน้าที่คนงานไทย 117 คนจะได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อมด้วยนายสุเมธ มโหสพ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชน และนายอรรณพ บุราณเศรษฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานที่ไปทำงานเก็บผลเบอร์รี่เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ปรากฏว่ามีคนงานไทย จำนวน 157 คน ที่ไปทำงานเก็บผลเบอร์รี่ป่ากับบริษัทลอม เบอร์รี่ เมืองอัลเซเร ได้มาร้องเรียนว่าไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาเนื่องจากนายภูมิคชา สายของบริษัทยืนยันว่าทุกคนจะได้รับเงินประกันรายได้คนละ 140,000 บาท ได้เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และจะครบกำหนดกลับวันที่ 5 ต.ค.นี้ส่วนรายได้นั้นทางบริษัทแจ้งว่าต้องเสียภาษี ค่าอาหารและค่าเดินทาง เหลือเดือนละ 6,579 โครนสวีเดน หรือประมาณ 29,605 บาทไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยอ้างว่าปีนี้ผลเบอร์รี่ป่ามีน้อย รายได้ไม่ตรงตามเป้า ทั้งๆ ที่ทำงานตั้งแต่เวลา 04.00-22.00 น.

หลังจากทราบเรื่อง น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อมคณะได้ติดต่อหารือกับนายเบิร์ท รุท ดาลแบรก นายกเทศมนตรีเมืองอัลเซเร และบริษัทเพื่อช่วยไกล่เกลี่ย โดยคนงานขอให้จ่ายค่าจ้างตามสัญญา คิดเป็นเงินไทย 140,000 บาท เพราะได้รับยังไม่ครบ ซึ่งตัวแทนบริษัทก็แจ้งว่าประธานบริษัทจะเดินทางไปพบคนงานเพื่อไกล่เกลี่ยใน วันที่ 29 ก.ย. แต่พอถึงวันที่ 29 ก.ย. ผู้แทนบริษัทและนายภูมิชา สายบริษัทได้หลบหนีไปไม่ยอมมาชำระค่าจ้าง คนงานจึงได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ทราบ นายอรรณพ บุราณเศรษฐ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ จึงได้ประสานกับเทศบาลเมืองอัลเซเร และสหภาพแรงงานท้องถิ่น จัดรถยนต์ไปรับคนงานไปส่งที่ท่าอากาศยานสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 3 ต.ค.และยังมีคนงานอีก 38 คนยังไม่ยอมกลับ ยืนยันขออยู่ต่อสู้คดีกับบริษัท โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม และสหภาพแรงงานเมืองอัลเซเร จะร่วมฟ้องร้องบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าจ้างให้กับคนงาน

อนึ่งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมาสื่อของสวีเดนได้รายงานว่าแรงงานไทย 135 ในเมืองอัลเซเร (Åsele) คนกำลังจะเดินทางกลับบ้าน โดยคนงานไทยกว่า 160 คน เดือนทางสู่สวีเดนเมื่อสองเดือนที่แล้ว เพื่อเก็บผลไม้ป่าที่ได้รับการสัญญาว่าจะมีรายได้ที่ดี แต่ไม่เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ตำรวจสวีเดนได้ให้ข่าวกับสื่อว่าคนไทยอีก 38 คนเลือกที่จะอยู่ต่อเพื่อทวงเงินค่าจ้างของพวกเขา (ซึ่งคนงานที่เหลืออาจเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 11 ต.ค. นี้) ทั้งนี้เมื่อกลับสู่ประเทศไทยพวกเขาต้องพบกับปัญหาหนี้สินที่ได้หยิบยืมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานที่สวีเดน

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

ช่วย 117 คนงาน ถูกหลอก กลับจากสวีเดน (ไทยรัฐ, 5-10-2553)

Thai berry pickers head home empty handed (thelocal.se, 3-10-2010)
http://www.thelocal.se/29384/20101003/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าแบนนิตยสาร อ้างลงภาพการ์ตูนล้อเลียนพรรครัฐบาล

Posted: 05 Oct 2010 11:10 AM PDT

รัฐบาลพม่าลงดาบสั่งห้ามพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์ที่ชื่อ "The Favourite Journal" เป็นเวลาสองอาทิตย์ โดยถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์พม่ากล่าวหาว่าจงใจลงภาพการ์ตูนล้อเลียนพรรครัฐบาลทหารพม่า นอกจากนี้ยังแบนหนังสือพิมพ์อีกฉบับหลังเขียนพาดหัวข่าวพยากรณ์อากาศกระตุ้นความรู้สึกของประชาชนให้นึกถึงการประท้วงในเดือนกันยายน 2 ปีก่อน

รัฐบาลพม่าลงดาบสั่งห้ามพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ The Favourite Journal เป็นเวลาสองอาทิตย์ โดยถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์พม่ากล่าวหาว่า จงใจลงภาพการ์ตูนล้อเลียนพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party - USDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาลพม่า

กองตรวจสอบและการจดทะเบียนสื่อ(The Press Scrutiny and Registration Division -PSRD) ซึ่งเป็นคณะกรรมการเซ็นเซอร์ภายใต้รัฐบาลพม่าสั่งห้ามนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง The Favourite Journal ตีพิมพ์เป็นเวลา 2 อาทิตย์

“ภาพการ์ตูนดังกล่าวสวมเสื้อสีขาว นุ่งสะโหร่งสีเขียวและสวมหมวก ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การสวมเสื้อสีขาวและนุ่งสะโหร่งสีเขียวเป็นเครื่องแบบของสมาชิกพรรค USDP ดังนั้น คณะกรรมการเซ็นเซอร์จึงคิดว่านั่นเป็นการล้อเลียนพรรค USDP ของรัฐบาล” บรรณาธิการคนหนึ่งในย่างกุ้งกล่าว

ทั้งนี้ นิตยสาร The Favourite Journal เป็นนิตยสารอีกหนึ่งฉบับที่ถูกลงโทษแบนถัดจากนิตยสาร The Modern Times ที่ถูกลงโทษก่อนหน้านี้ไม่นาน หลังพากหัวข่าวในข่าวพยากรณ์อากาศว่า “มันจะมาในเดือนกันยายนนี้หรือไม่?” ซึ่งภายหลังก็ถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์พม่าสั่งแบน เนื่องจากจะเห็นว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าว อาจไปกระตุ้นความรู้สึกของประชาชนต่อเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งนิตยสารฉบับนี้ก็ถูกสั่งห้ามตีพิมพ์เป็นเวลา 1 อาทิตย์

ด้านองค์กรสื่อไร้พรมแดน( Reporters sans frontières-RSF) ออกมารายงานเช่นเดียวกันว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นิตยสาร The Voice Weekly ก็เคยถูกสั่งแบน หลังตีพิมพ์บทความที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่จะให้อำนาจและสิทธิเศษให้กับประธานธิบดีคนใหม่ของพม่า ซึ่งบทความดังกล่าว ไม่ใช่บทความวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด    

องค์กรสื่อไร้พรมแดนยังเปิดเผยว่า พม่าติดอันดับรั้งท้ายที่ 171 จากทั้งหมด 175 ประเทศ ที่ให้เสรีภาพแก่สื่อเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา และขณะนี้มีนักข่าวจำนวน 12 คน และบล็อกเกอร์อีก 2 คน ยังคงถูกคุมขังในพม่า  (ที่มา: Irrawaddy 4 ต.ค.53)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อ

Posted: 05 Oct 2010 10:59 AM PDT

เด็กทุกๆ คนในทุกๆ สังคม พึงได้รับ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ถือกำเนิดจนถึงวัยบรรลุนิติภาวะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เพราะถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างและเตรียมความพร้อมคนดีมีคุณธรรมเข้าสู่การเป็นสมาชิกของสังคม

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กเป็นเรื่องสากลซึ่งนานาอารยประเทศได้เห็นชอบและมีข้อตกลงร่วมกันทั้งใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่รับรองปฏิญญาสากลฯ ดังกล่าวด้วย ซึ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กทุกด้าน โดยเฉพาะการห้ามละเมิดความเป็นส่วนตัว และการกระทำที่มิชอบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของเด็ก

นอกจากยึดมั่นตามข้อตกลงสากลแล้ว ในการดำเนินงานโดยภาครัฐและการเมืองยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก มีการจัดตั้งหน่วยราชการ และกลไกรองรับจำนวนมาก ขณะเดียวกันในการดำเนินงานของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ก็เป็นไปอย่างแข็งขัน 

ยิ่งไปกว่านั้นในภาคสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการขัดเกลาทางสังคม และปัจจุบันกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของเด็กๆ ได้มีการกำหนดไว้ในคู่มือทางวิชาชีพที่จะต้องคุ้มครองดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็ก เช่นในระดับชาติ อาทิ ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2541 หรือในระดับองค์กร อาทิ  ข้อบังคับองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มีเสียงสะท้อนบ่อยครั้งว่า เกิดปรากฎการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อบ่อยครั้ง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์

ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวเด็กที่ถูกกระทำในหลายกรณี เช่น การถูกกระทำด้วยความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีการนำเสนอภาพ ใบหน้า ชื่อ ชื่อโรงเรียน หรือข้อมูลอื่นๆ ที่นำไปถึงตัวเด็กผู้ถูกกระทำ จนทำให้เด็กต้องตกอยู่ในสภาพการถูกกระทำ หรือละเมิดสิทธิซ้ำสอง ซ้ำสาม

หรือล่าสุดการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีเสนอข่าวความสัมพันธ์ของดารานักแสดงหญิงที่ให้กำเนิดบุตรนอกสมรส ขณะที่ฝ่ายชายต้องการให้พิสูจน์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ว่าเป็นลูกของตน โดยมีการนำเด็กมาร่วมออกรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์นั้น ถือ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก” อย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น

การเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างมารดากับผู้ที่ต้องการทราบผลการตรวจสอบก่อนยอมรับความเป็นบิดาที่เกิดขึ้น ตลอดจนข่าวพฤติกรรมฉาวต่างๆ กลับส่งผลเสียต่อเด็กที่

ต้องตกอยู่ในภาวะลูกที่บิดาเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมิต้องการรับเป็นบุตร ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นแล้วได้รับทราบข่าวสารที่มีการบันทึกไว้

ดังนั้นแม้สื่ออาจมิได้ตั้งใจ แต่อาจเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัว และการกระทำที่มิชอบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของเด็กที่มีอายุเพียงไม่กี่เดือน และตัวเด็กเองไม่มีความสามารถปกป้องสิทธิของตน

ทั้งนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในกรณีของหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฯ กำหนดเอาไว้ว่า ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ บุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส ในการเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง (ข้อ 15.) ส่วนกรณีของสื่อโทรทัศน์นั้น หากใช้แนวทางข้อบังคับองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะฯ นั้น การรายงานข่าวหรือการนำเสนอรายการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ต้องดำเนินการอย่างคำนึงถึงการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน (ข้อ 8.5)

การใช้เหตุผลความเป็นบุคคลสาธารณะของดารา อันอยู่ในความสนใจของสังคม สื่อมวลชนจึงต้องทำหน้าที่เปิดเผยรายงานเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างหมดเปลือก แต่ประเด็นนี้ก็มีข้อกำหนดว่า หนังสือพิมพ์พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ข้อ 27.)

กรณีเช่นนี้ หากสื่อเพียงรายงานข่าวเหตุการณ์โต้เถียง การรับหรือไม่รับเป็นบิดาของเด็ก หรือข้อเรียกร้องการตรวจสอบพันธุกรรม จึงไม่น่าเป็นประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง แต่ยิ่งส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อให้รุนแรงยิ่งขึ้น  

ในทางกลับกันหากการรายงานข่าวขยายเนื้อหาครอบคลุมมุมมองอื่นๆ ให้รอบด้าน เช่น ความเท่าเทียมกันของสิทธิมนุษยชนระหว่างคู่กรณีและเด็ก หรือแม้แต่ขุดรากของปัญหาที่แท้จริงคือปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม” ซึ่งการศึกษาของคนแม้จะสูงระดับบัณฑิตก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการละเมิดศีลธรรม หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ฯลฯ สื่อจึงควรนำเสนอแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นในอนาคตได้อย่างไร เป็นต้น

การทำงานของสื่อมวลชนด้วยเจตนาดีเพื่อเสาะแสวงหาความจริงมารายงานต่อสังคมเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนยังมีหน้าที่ในด้านการขัดเกลาสังคม สร้างและสืบสานดำรงวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีเอาไว้ โดยเฉพาะการคุ้มครองเด็ก และเยาวชน จากการนำเสนอข่าวสาร หรือรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำอันผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม อบายมุข ฯลฯ และที่สำคัญคือ ต้องพึงระลึกถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กด้วยมิให้เกิดการละเมิดอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้น อาจจะถึงเวลาต้องพิจารณาทบทวนกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กบนพื้นที่สื่อกันใหม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) คือทางออกประเทศไทย

Posted: 05 Oct 2010 10:53 AM PDT

หนึ่งในแนวความคิดของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้ล่วงลับเน้นย้ำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับผม คือ แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) เพราะพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าปัญหาของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในปัจจุบันคือการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการที่ได้คนที่เป็นตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของผู้คนในสังคม

ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจการเมืองและวงศาคณาญาติ ดังจะเห็นได้จากที่แม้ว่าบางคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วยังสามารถส่งหุ่นเชิดที่เป็นลูกเมียญาติมิตรเข้ารับสมัครและได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยถ้วนหน้า ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ ใดใดในอันที่จะแสดงให้เห็นว่ามีกึ๋นพอที่จะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนได้เลย
โอกาสของประชาชนในชนชั้นล่างหรือผู้ยากจนหาเช้ากินค่ำที่จะเข้าไปมีบทบาทในสภานิติบัญญัติหรือ   มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ จึงได้มีการพยายามหาทางแก้ไขโดยการเสนอรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั่นเอง

นักคิดคนสำคัญที่เสนอแนวความคิดนี้คือ เจอเกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) ที่มีแนวคิดว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นมิได้อยู่ที่การไปร้องขอมาจากอำนาจที่อยู่เหนือตัวเรา หรือเป็นคำสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา หากแต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันและพยายามเข้าใจกันของทุกฝ่าย

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่พลเมืองที่ได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

การปรึกษาหารือ หรือ Deliberative มีที่มาจากกระบวนการที่ใช้ระบบลูกขุน หรือสภานิติบัญญัติและองค์กรอื่นๆที่ทำหน้าที่ตัดสินใจหลังจากปล่อยให้มีกระบวนการถกเถียงสนทนาเพื่อแสวงหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกันได้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

ต่อมาคำว่าการปรึกษาหารือ หรือ Deliberative ได้พัฒนาความหมายไปสู่รูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อการเห็นพ้องต้องกัน(Consensus)ที่ประชาชนได้จากกระบวนการปรึกษาหารือ มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในต่างประเทศก็คือการประชุมเมือง (Town Meeting)ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบNew England ที่อยู่ทางย่านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือของคนในชุมชนที่แสวงหาเจตนารมณ์ร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ มากกว่าในการตัดสินโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระบวนการปรึกษาหารือนี้คล้ายๆกับประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็นและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของชุมชนดังเช่นประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในอดีต
แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การประชุมแบบTown Meeting ทำได้ยาก กระบวนการปรึกษาหารือหรือ Deliberative จึงได้มีการดัดแปลงไปใช้วิธีการต่างๆให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ เช่น

1) การเวทีเสวนาแบบเปิด(Open Forum) เพื่อสนทนาถกเถียงโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานหรือกลุ่มของตนเอง แต่เปิดกว้างให้สาธารณะหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดเวทีสาธารณะโดยมีนักวิชาการเป็นตัวกลางหรือทำหน้าที่เป็นประธาน เช่น การจัดเวทีสภาประชาชนชาวเชียงใหม่ของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นหรือการจัดเวทีผู้แทนพบประชาชนของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย(National Democratic Institute) เป็นต้น

2) การเปิดเวทีแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรืออินเตอร์เน็ต เช่น การเปิดให้แสดงความคิดเห็นในรูปแบบของการเสนอนโยบายประชาชนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นต้น

3) การใช้วิธีการ Deliberative Polling ที่จะสามารถบอกเราได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สาธารณชนทั้งหมดคิดกับประเด็นต่างๆเกี่ยวกับนโยบายหรือเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประชาชนได้มีโอกาสขบคิดกันอย่างกว้างขวาง (Extensive Reflection) และได้มีหนทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งวิธีนี้อาจพอเทียบเคียงได้จากหลักการใช้วิธีการจับฉลากสุ่มเลือก (Lottery) แบบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ หรือหลักการแนวความคิดที่ให้มีคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College)ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งการใช้คณะลูกขุนพลเมือง (Citizens’ Juries) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เน้นที่การถกเถียงปรึกษาหารือกันก่อนในหมู่ประชาชนทั่วไปก่อนที่จะตัดสินใจทางเมือง เช่น การที่จะปรองดองหรือไม่ปรองดองตามแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอ หรือการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนี้เล็งเห็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ผ่านมาที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสได้ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายต่างๆที่ฝ่ายการเมืองนำเสนอมิหนำซ้ำยังไม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากผู้คนในชุมชน ไม่ได้มีโอกาสซักถามถามถึงที่มาที่ไปของนโยบายต่างๆ ว่าทำไมต้องใช้นโยบายนั้นๆ และมีความเป็นไปได้มมากน้อยแค่ไหนรวมถึงผลกระทบต่างๆที่ตามมาของการใช้นโยบายนั้นๆ

เราสามารถนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) นี้มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยเราในปัจจุบันได้ทั้งระดับชุมชนและระดับชาติที่สถานการณ์เต็มไปด้วยความแตกแยกในปัจจุบันนี้ ซึ่งผมคิดว่าหากเราได้มีการนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) มาใช้แล้ว โศกนาฏกรรมทางการเมืองในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

ยังไม่สายเกินไปที่เราจะนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) มาใช้ในการแก้ปัญหาความแตกแยกของสังคมไทยในปัจจุบันและใช้ในการแก้ไขปัญหาของการเป็นสภาผัวเมียในปัจจุบันนี้

แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) นี้เป็นของใหม่ อาจจะเข้าใจยากสักนิดแต่คงไม่ยากเกินไป หากเราพยายามที่จะเข้าใจใช่ไหมครับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) คือทางออกประเทศไทย

Posted: 05 Oct 2010 10:51 AM PDT

บทความโดย "ชำนาญ จันทร์เรือง" เรื่อง "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ" ซึ่ง "เน้นที่การถกเถียงปรึกษาหารือกันก่อนในหมู่ประชาชนทั่วไปก่อนที่จะตัดสินใจทางเมือง"

หนึ่งในแนวความคิดของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้ล่วงลับเน้นย้ำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับผม คือ แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) เพราะพวกเราชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าปัญหาของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในปัจจุบันคือการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงเฉพาะการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการที่ได้คนที่เป็นตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของผู้คนในสังคม

ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มนักธุรกิจการเมืองและวงศาคณาญาติ ดังจะเห็นได้จากที่แม้ว่าบางคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้วยังสามารถส่งหุ่นเชิดที่เป็นลูกเมียญาติมิตรเข้ารับสมัครและได้รับเลือกตั้งเข้ามาโดยถ้วนหน้า ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ ใดใดในอันที่จะแสดงให้เห็นว่ามีกึ๋นพอที่จะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนได้เลย

โอกาสของประชาชนในชนชั้นล่างหรือผู้ยากจนหาเช้ากินค่ำที่จะเข้าไปมีบทบาทในสภานิติบัญญัติหรือมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ จึงได้มีการพยายามหาทางแก้ไขโดยการเสนอรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั่นเอง

นักคิดคนสำคัญที่เสนอแนวความคิดนี้คือ เจอเกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) ที่มีแนวคิดว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นมิได้อยู่ที่การไปร้องขอมาจากอำนาจที่อยู่เหนือตัวเรา หรือเป็นคำสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา หากแต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันและพยายามเข้าใจกันของทุกฝ่าย

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมิได้เน้นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ผลประโยชน์ และการเชื่อฟังส่วนรวมเป็นเบื้องแรก แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่พลเมืองที่ได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

การปรึกษาหารือ หรือ Deliberative มีที่มาจากกระบวนการที่ใช้ระบบลูกขุน หรือสภานิติบัญญัติและองค์กรอื่นๆที่ทำหน้าที่ตัดสินใจหลังจากปล่อยให้มีกระบวนการถกเถียงสนทนาเพื่อแสวงหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกันได้มีพื้นที่ทางการเมืองอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

ต่อมาคำว่าการปรึกษาหารือ หรือ Deliberative ได้พัฒนาความหมายไปสู่รูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อการเห็นพ้องต้องกัน(Consensus)ที่ประชาชนได้จากกระบวนการปรึกษาหารือ มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในต่างประเทศก็คือการประชุมเมือง(Town Meeting)ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบNew England ที่อยู่ทางย่านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือของคนในชุมชนที่แสวงหาเจตนารมณ์ร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ มากกว่าในการตัดสินโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระบวนการปรึกษาหารือนี้คล้ายๆกับประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็นและนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของชุมชนดังเช่นประชาธิปไตยทางตรงของนครรัฐเอเธนส์ในอดีต

แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การประชุมแบบTown Meeting ทำได้ยาก กระบวนการปรึกษาหารือหรือDeliberativeจึงได้มีการดัดแปลงไปใช้วิธีการต่างๆให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ เช่น

1) การเวทีเสวนาแบบเปิด (Open Forum) เพื่อสนทนาถกเถียงโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานหรือกลุ่มของตนเอง แต่เปิดกว้างให้สาธารณะหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดเวทีสาธารณะโดยมีนักวิชาการเป็นตัวกลางหรือทำหน้าที่เป็นประธาน เช่น การจัดเวทีสภาประชาชนชาวเชียงใหม่ของเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นหรือการจัดเวทีผู้แทนพบประชาชนของสถาบันส่งเสริมประชาธิปไตย(National Democratic Institute) เป็นต้น

2) การเปิดเวทีแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรืออินเตอร์เน็ต เช่น การเปิดให้แสดงความคิดเห็นในรูปแบบของการเสนอนโยบายประชาชนของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นต้น

3) การใช้วิธีการ Deliberative Polling ที่จะสามารถบอกเราได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สาธารณชนทั้งหมดคิดกับประเด็นต่างๆเกี่ยวกับนโยบายหรือเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประชาชนได้มีโอกาสขบคิดกันอย่างกว้างขวาง(Extensive Reflection) และได้มีหนทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งวิธีนี้อาจพอเทียบเคียงได้จากหลักการใช้วิธีการจับฉลากสุ่มเลือก(Lottery)แบบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ หรือหลักการแนวความคิดที่ให้มีคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College)ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งการใช้คณะลูกขุนพลเมือง (Citizens’ Juries) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เน้นที่การถกเถียงปรึกษาหารือกันก่อนในหมู่ประชาชนทั่วไปก่อนที่จะตัดสินใจทางเมือง เช่น การที่จะปรองดองหรือไม่ปรองดองตามแบบที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสนอ หรือการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนี้เล็งเห็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ผ่านมาที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสได้ถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายต่างๆที่ฝ่ายการเมืองนำเสนอมิหนำซ้ำยังไม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากผู้คนในชุมชน ไม่ได้มีโอกาสซักถามถามถึงที่มาที่ไปของนโยบายต่างๆ ว่าทำไมต้องใช้นโยบายนั้นๆ และมีความเป็นไปได้มมากน้อยแค่ไหนรวมถึงผลกระทบต่างๆที่ตามมาของการใช้นโยบายนั้นๆ

เราสามารถนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) นี้มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยเราในปัจจุบันได้ทั้งระดับชุมชนและระดับชาติที่สถานการณ์เต็มไปด้วยความแตกแยกในปัจจุบันนี้ ซึ่งผมคิดว่าหากเราได้มีการนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) มาใช้แล้ว โศกนาฏกรรมทางการเมืองในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้คงไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

ยังไม่สายเกินไปที่เราจะนำแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) มาใช้ในการแก้ปัญหาความแตกแยกของสังคมไทยในปัจจุบันและใช้ในการแก้ไขปัญหาของการเป็นสภาผัวเมียในปัจจุบันนี้

แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) นี้เป็นของใหม่ อาจจะเข้าใจยากสักนิดแต่คงไม่ยากเกินไป หากเราพยายามที่จะเข้าใจใช่ไหมครับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กษิตเผยเตรียมผลักดันผู้อพยพชาวพม่ากลับหลังเลือกตั้ง 7 พ.ย.

Posted: 05 Oct 2010 10:05 AM PDT

กษิตเผยที่นิวยอร์ก เตรียมผลักดันชาวพม่าในไทยกลับประเทศหลังการเลือกตั้ง 7 พ.ย. เผยเตรียมการสำหรับคนพม่าในไทยกลับไปยัง “พม่าโฉมใหม่” แม้จะเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนค้านหวั่นผู้อพยพจะถูกทารุณหลังกลับประเทศ

หนังสือพิมพ์ดิการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 3 ต.ค. นี้ ว่านายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเดินทางไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า สิ่งแรกหลังจากเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร คือ การเตรียมผลักดันชาวพม่าที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีกว่า 2 ล้านคน

ผมจะกลับไปที่กรุงเทพ สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ เตรียมมาตรการอย่างแข็งขัน สำหรับประชาชนชาวพม่าที่อยู่ในค่ายอพยพ เป็นผู้พลัดถิ่น เป็นปัญญาชนที่อยู่ตามท้องถนนของกรุงเทพและเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพวกเขากลับพม่าหลังมีการเลือกตั้ง”

ไทยเป็นบ้านสำหรับประชาชนพม่ากว่า 2 ล้านคนโดยประมาณ ส่วนใหญ่อยู่โดยไม่มีบัตรประจำตัว และจำนวนมากเป็นผู้ถูกกดขี่เนื่องจากสาเหตุทางเชื้อชาติและการเมือง นอกจากนั้นยังเข้ามาทำงานเนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องการพวกเขาเข้ามาทำงานประเภทงานใช้แรงงาน ซึ่งโดยมากเป็นงานเสี่ยงอันตราย ค่าแรงต่ำ และมีผู้อพยพประมาณ 150,000 คนอยู่ตามค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทยพม่า

รัฐบาลไทยเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 ของพม่า ในเดือน พ.ย.นี้ จะถือเป็นขั้นตอนอย่างมีนัยสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยนายกษิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “โปรดสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขาเท่าที่จะเป็นไปได้”

เรากำลังเตรียมการสำหรับประชาชนชาวพม่าในประเทศไทย เพื่อการกลับไปยังพม่าโฉมใหม่ในที่สุด (กษิตเรียกว่า “new Myanmar”) ซึ่งอาจเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้น”

อย่างไรก็ตาม นักสิทธิแรงงานและผู้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพม่าเพียงเล็กน้อย และกล่าวว่าพม่าไม่ปลอดภัยพอสำหรับให้ผู้อพยพกลับไป

ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่าได้เตรียมครอบงำการเลือกตั้ง ผ่าน “พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา” (the Union Solidarity and Development party – USDP) โดยพรรคการเมืองนี้จะลงเลือกตั้งชิงที่นั่ง 498 ที่นั่งในรัฐสภา มีการเตรียมเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐสำหรับดำเนินการในพรรคจากการขายทรัพย์สินของรัฐ และมีการข่มขู่พรรคฝ่ายค้าน

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับทหารของพม่า กำหนดที่นั่งของสมาชิกสภา 1 ใน 4 และรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญให้เป็นของทหาร

ขณะที่แอนดี ฮอลล์ (Andy Hall) ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิเพื่อการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ไม่ควรส่งชาวพม่าที่รอการลี้ภัย (asylum seekers) ไปยังพื้นที่ซึ่งในอนาคตสามารถเกิดการประหัตประหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งซึ่งเปรียบเหมือนการขุดสนามเพลาะของรัฐบาลทหาร” ฮอลล์กล่าวและกล่าวด้วยว่า ไม่เข้าใจรัฐบาลไทย ที่จะส่งชนกลุ่มน้อยจะกลับไปยังพม่าหลังการเลือกตั้ง ในที่ซึ่งยังมีความขัดแย้งอยู่ในพื้นที่

ด้านแจ็กกี๊ โพลล็อค (Jackie Pollock) ผู้อำนวยการของมูลนิธิแมพ (the Map Foundation) ซึ่งทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวว่า พม่าจะกลายเป็นที่อยู่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลทหารหลังจากการเลือกตั้ง

ผมคิดว่า สำหรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่สร้างความแตกต่างใดๆ และในพม่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนสำหรับพวกเขา”

ประชาชนกลุ่มเดิมจะถูกตั้งข้อหา และคนกลุ่มนี้เมื่อพวกเขากลับไปก็เสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร”

นักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นไทย-พม่ารายหนึ่ง ยังให้ข้อมูลกับดิการ์เดียนว่า มาตรการผลักดันกลับพม่าของรัฐบาลไทยจะไม่ได้ผล

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Thailand plans to repatriate Burmese asylum seekers after election http://www.guardian.co.uk/world/2010/oct/03/thailand-repatriate-burma-asylum-seekers-election

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ชาวชุมชนบ่อนไก่" ปล่อยลูกโป่งสีแดงรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม

Posted: 05 Oct 2010 10:00 AM PDT

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.53 เวลาประมาณ 17.30 น. ชาวบ้านในชุมชนบ่อนไก่ราว 200 คน รวมตัวกันริมถนนพระราม 4 เพื่อจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมด้วยการจัดกิจกรรมปล่อยลูกโป่งสีแดง โดยมีการรวบรวมเงินกันเองคนละ 100 บาทเพื่อจัดซื้อลูกโป่ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ ชี้สกรีนภาพนายกฯ บนรองเท้าแตะละเมิดสิทธิ-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

Posted: 05 Oct 2010 08:22 AM PDT

 5 ต.ค.53 เว็บไซต์ASTV-ผู้จัดการ รายงานว่า นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา จับกุมพ่อค้าแม่ค้าที่นำรูปภาพของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไปสกรีนที่รองเท้า ว่า การนำรูปภาพของบุคคลไปสกรีนที่รองเท้า ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในสังคมไทยจะให้ความสำคัญในเรื่องของที่ต่ำที่สูง และเรื่องของความเหมาะสม รวมไปถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้มีบัญญัติไว้ การกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลสาธารณะ หรือบุคคลทั่วไป ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น
      
“ผู้ทำจะมีเจตนาอย่างไรถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ความจริงผู้ผลิตควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพราะในมุมกลับกัน หากมีใครนำรูปภาพของเราไปติดไว้ที่รองเท้าบ้าง ก็คงรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน” นายไพบูลย์ กล่าวและว่า สำหรับเรื่องการจับกุมผู้ค้ารองเท้าดังกล่าวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ก็เป็นเรื่องของกฎหมายที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไป
      
โดยก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ได้จับกุมแม่ค้ารายหนึ่งมาตั้งแผงขายของที่ระลึกคนเสื้อแดง ริมถนนศรีสรรเพ็ชญ กลางเกาะเมืองอยุธยา ในช่วงกิจกรรมของคนเสื้อแดง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาความผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ฐานร่วมกันจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลาย ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่งคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประประชาชนในทั่วราชอาณาจักร ก่อนผู้ต้องหาจะได้รับการประกันตัวโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งประกัน
      
ทั้งนี้ แผงร้านค้าของคนเสื้อแดงดังกล่าว มีการขายรองเท้าแตะสีดำแดง ข้างซ้ายพิมพ์ข้อความว่า “มีคนตายที่ราชประสงค์” และมีรูปพิมพ์ใบหน้าของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ส่วนข้างขวาพิมพ์ภาพใบหน้าของนายอภิสิทธิ์
      
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คืบหน้าเหตุระเบิดย่านตลาดบางบัวทอง ตอน 6 โมงเย็น

Posted: 05 Oct 2010 05:02 AM PDT

เปิดรายชื่อและอาการของผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจากเหตุระเบิดสมานเมตตาแมนชั่นย่านบางบัวทอง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ตร.คาดระเบิดหนัก 50 กิโล ใช้เตรียมก่อเหตุ นำมาประกอบจนเกิดบึ้ม ด้าน "เอเอสทีวี" ระบุตำรวจพบซีดีเขียนว่า "รัฐไทยใหม่" ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

เหตุระเบิดย่านตลาดบางบัวทอง ตอน 6 โมงเย็น

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากมูลนิธิร่วมกตัญูญู ว่ามีเหตุระเบิดเกิดขึ้นบริเวณใกล้ตลาดบางบัวทอง บริเวณสมานเมตตาแมนชั่น ปากทางเข้าหมู่ทิพยวรรณ ซึ่งทำให้แรงระเบิดดังกล่าวตึก 5 ชั้น ได้รับเสียหาย มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายราย เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย บาดเจ็บหนัก 4 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยนำส่งรพ.พระนั่งเกล้าแล้ว

 

ตร.คาดระเบิดหนักไม่น้อยกว่า 50 กิโลฯ เก็บไว้เตรียมก่อเหตุ นำประกอบจนเกิดบึ้ม

พล.ต.ต.ศรีวรา รังสิพราหมณ์กุล รักษาการ ผบชภ.1 ได้โทรศัพท์รายงาน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ว่า เหตระเบิดเกิดจากภายในแมนชั่นดังกล่าวแน่นอน โดยประเมินว่า คนร้ายน่าจะเก็บระเบิดจำนวนมากไว้ก่อเหตุและมีการประกอบภายในห้องจนเกิดเหตุ ในที่สุด

"จากประสบการณ์แม้ขณะนี้จะไม่ทราบชนิดและปริมาณวัตถุระเบิด แต่หากเทียบกับส่วนประกอบระเบิดทีใช้แอมโมเนียมไนเตรตหรือปุ๋ยยูเรีย ก็คาดว่า ระเบิดครั้งนี้น่าจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม"

ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร ได้เดินทางเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว

ด้าน นายสมาน บุญประเสริฐ เจ้าของ สมานเมตตาแมนชั่น และประธานชุมชน หมู่บ้านทิพย์วรรณ กล่าวว่า ไม่รู้จักกับผู้ที่มาเช่าห้องที่คาดว่าจะเป็นจุดเกิดเหตุระเบิด โดยเท่าที่เคยสังเกตพบว่า ห้องดังกล่าวมีผู้อาศัยอยู่ 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน และใช้รถกระบะโตโยต้าวีโก้ สีบรอนซ์ทอง ทะเบียนจังหวัดนราธิวาส เป็นพาหนะ

ทั้งนี้เชื่อว่าการเกิดเหตุระเบิดน่าจะเกิดขึ้นจากภายในห้องพัก เพราะรอบตัวอาคารเป็นป่ารกคงไม่สามารถลอบวางระเบิดได้

 

เอพี-เอเอฟพีตีข่าวทั่วโลกบึ้มบางบัวทองเผยปีนี้ระเบิดในกทม.แล้วไม่ต่ำ12ครั้ง

มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างสำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี ระบุว่าเกิดเหตุระเบิดครั้งล่าสุดที่อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ครั้งนี้ออกไปทั่วโลก โดยระบุว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของระเบิดดังกล่าว โดยเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่าระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เพิ่งมีการ ประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จ.นนทบุรี และจังหวัดอื่นๆอีก 3 จังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯออกไปอีก 3 เดือนไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ขณะที่เอพีระบุว่ามีความเชื่อว่าเหตุระเบิดต่อเนื่องในกรุงเทพและปริมณฑลใน ระยะหลังนี้เกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง

โดยในปีนี้มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเทพแล้วไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในระหว่างที่มีการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลต่อเนื่องไป จนถึงหลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง แต่ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ โดยรัฐบาลเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของกลุ่มต่อ ต้านรัฐบาล ขณะที่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกล่าวหาว่าฝ่ายรัฐเป็นผู้ก่อเหตุเพื่อ สร้างความชอบธรรมให้กับการประกาศพรก.ฉุกเฉินของรัฐบาล

เอพีระบุด้วยว่า ในระยะหลังรัฐบาลออกมาประกาศเตือนพ้อมกับเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยมีการจับกุมตัวชาย 11 คนในจ.เชียงใหม่ซึ่งคาดว่าถูกฝึกฝนเพื่อก่อเหตุโจมตีภายใต้ความเคลื่อนไหว เพื่อล้มล้างสถาบัน ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวสร้างความสงสัยในหมู่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่ง รู้สึกว่าเป็นข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้เพื่อใส่ร้ายกลุ่มเสื้อแดงที่ออกมา ประท้วงในช่วงต้นปีนี้และประสบความล้มเหลวในการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการ เลือกตั้งก่อนครบวาระ

โพสทูเดย์ และ มติชน รายงาน ความคืบหน้าเหตุระเบิดที่อาคารสมานเมตตาแมนชั่น เลขที่ 209/10 หมู่6 ต.สโนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึงตั้งอยู่ในชุมชนหมู่บ้านทิพย์วรรณ อยู่ห่างจากถนนกาฐจนาภิเษก 100 เมตร โดยเหตุระเบิดเมื่อ 18.00 น. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 9 ราย

โดยมีรายชื่อผู้บาดเจ็บ ดังนี้ 1.นายวีรศักดิ์ อนุพันธ์ อายุ 38 ปี กระดูกต้นขาหัก  2.ด.ช.นิติพงษ์ ภู่หนู อายุ 7 ปี กระโหลกยุบ ต้องผ่าตัด แต่ยังรู้ตัวดี สอบถามทราบว่ากำลังวิ่งเล่นอยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งสองแพทย์นำส่งต่อ รพ.พระนั่งเกล้า 3.นายสงกรานต์ บูชา อายุ 28 ปี ได้รับบาดเจ็บตามร่างกาย แพทย์ให้พักที่โรงพยาบาลบางบัวทอง

ส่วน 4.น.ส.พัชราพรรณ หวลศรีไทย อายุ 23 ปี บาดเจ็บเล็กน้อย 5.นายพีรพัฒน์ จาดขำ อายุ 24 ปี บาดเจ็บเล็กน้อย 6.นายวีรภัทร วังยายฉิม อายุ 16 ปี 7.ด.ช.ณัฐวร คล้ายจินดา อายุ 3 ปี 8.นายสุรัตน์ อินเปล่ง อายุ 36 ปี และ 9.นายสมาน บุญประเสริฐ์ เมื่อแพทย์ทำแผลแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้

สำหรับผู้เสียชีวิตเบื้องต้นทราบชื่อ 1 ราย คือนายอภิลักษณ์ สัจจะบรรจงจิต ทำงานอยู่แพปลาสุเทพ ซึ่งอยู่ติดกับที่เกิดเหตุ โดยเพื่อนที่รอดชีวิตระบุว่า ก่อนเกิดเหตุนายอภิลักษณ์นั่งเล่นเกมอยู่บนห้องในชั้น 2 ของสมานเมตตาแมนชั่น โดยแรงระเบิดทำให้นายอภิลักษณ์ กระเด็นออกมาตกชั้นล่างห่างประมาณ 10 เมตร

 

เอเอสทีวีเผย ตำรวจพบซีดี "รัฐไทยใหม่" ตกในที่เกิดเหตุึ

ด้านเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า "ห้องที่เกิดเหตุระเบิดน่าจะมาจากห้อง 202 ชั้น 2 ของแมนชั่นดังกล่าว โดยทราบชื่อผู้เช่าคือนายสมัย วงษ์สุวรรณ ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมาเช่าอาศัยอยู่ประมาณเดือนเศษ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตามตัวนายสมัยอยู่เนื่องจากไม่ทราบว่าหลบหนีไปแล้ว หรือเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ"

และยังรายงานว่า "เจ้าหน้าที่ได้พบแผ่นซีดีเขียนว่า "รัฐไทยใหม่" ตกอยู่ในห้องที่เกิดเหตุด้วย จึงได้เก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการสอบสวนต่อไป"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Dialogue in the Dark... เรียนรู้ผ่านการชมนิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตา

Posted: 05 Oct 2010 02:16 AM PDT

ครั้งนี้ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเอง น้องๆ ตาบอดทุกคนเป็นคุณครูของฉัน คุณครูที่สอนให้มองชีวิตในมุมอื่น เอาตัวเองออกจากที่ๆ ที่ยืนอยู่ เพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเราในโลกของเขาเอง ไม่ใช่โลกที่เราเอาแต่มอง ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสัมผัส มีแต่นึกคิด จินตนาการด้วยตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร

เมื่อคุณอยู่ในโลกที่กลับด้าน เป็น “คุณเอง” ที่ “ตาบอด” มุมมอง ความคิด ทัศนคติที่คุณมีต่อคนตาบอดจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร และคุณจะเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ครั้งนี้

ในนิทรรศการ Dialogue in the Dark หรือ บทเรียนในความมืด น่าจะให้คำตอบแก่คุณได้

ฉันมีโอกาสได้นั่งคุยกับคนตาบอด 12 คน เป็นการพูดคุยเชิงสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้พวกเขามาเป็นไกด์ให้กับนิทรรศการ Dialogue in the Dark ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาตินำเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย และจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สาขาอาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน เป็นนิทรรศการถาวรประมาณ 1 ปี นิทรรศการนี้เคยจัดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ ปี 2551 เป็นระยะเวลาสั้นๆ

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัย ว่าทำไมถึงเลือกคนตาบอดมาเป็นไกด์ คนตาบอดจะมองเห็นอะไร และจะแนะนำให้คนเข้าชมนิทรรศการดูอะไรได้บ้าง

Dialogue in the Dark เรียกย่อๆ ว่า DID แปลเป็นภาษาไทยตรงๆ คือ บทสนทนาในความมืด ถ้าให้ความหมายลึกไปกว่านั้น คือ บทเรียนในความมืด ทำไมถึงเป็นบทเรียน เพราะเป็นโอกาสที่เรา -คนตาดี- จะได้เรียนรู้และเข้าใจด้วยตัวเองว่าในความมืดสนิทที่เราไม่สามารถใช้สายตา มองเห็นอะไรได้เลยนั้นเป็นอย่างไร เรามีความรู้สึกอย่างไร เราจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร และจะทำอย่างไรในความมืดนั้น

และในท่ามกลางความมืดที่ไม่รู้ว่าตัวเราอยู่ตรงไหน สิ่งของต่างๆ อยู่ตรงไหน คนที่จะนำเราเข้าไปรู้จักกับการใช้ชีวิตประจำวันช่วงสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงในความมืดนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากคนที่อยู่กับความมืดทุกเมื่อเชื่อวัน และรู้จักความมืดดีที่สุด

นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมถึงต้องคัดเลือกคนตาบอดมาเป็นไกด์ในนิทรรศการนี้

นิทรรศการนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี โดย ดร. อันเดรอัส ไฮเนอเกอ (Andreas Heinecke ) เมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักหนังสือพิมพ์และได้ร่วมงานกับคนตาบอด เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะอยู่ร่วมกับคนตาบอด แต่ก็ได้พบว่าคนตาบอดสามารถทำอะไรได้เหมือนคนทั่วไป และคนทั่วไปมักจะแบ่งแยกคนตาบอดจากสังคมของคนตาดี มีความรู้สึกสงสาร เห็นใจ และไม่กล้าสื่อสารกับคนตาบอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ และไม่เข้าใจคนตาบอดต่อมาเขาเปลี่ยนไปทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือและ อุปกรณ์เพื่อช่วยให้คนตาบอดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์

ครั้งหนึ่งเมื่อไฟดับ เพื่อนคนตาบอดได้สอนเขาให้รู้จักสิ่งรอบข้างในความมืด และจากเหตุการณ์นั้นเองที่ได้จุดประกายแนวความคิดของนิทรรศการ Dialogue in the Dark เพื่อเป็นการสื่อสารให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น คนตาดีจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนตาบอด และคนตาบอดจะได้สอนคนตาดีในความมืด เพื่อที่จะค้นพบสิ่งที่มองไม่เห็นในตัวเราและรอบข้าง

Dialogue in the Dark เริ่มจัดแสดงในปี พ.ศ 2531 ที่ประเทศเยอรมนี และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นิทรรศการนี้จัดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีป มีคนมากกว่า 6 ล้านคนที่ได้สัมผัสประสบการณ์นี้แล้ว นิทรรศการนี้มีทั้งจัดแสดงถาวรและชั่วคราว ขณะนี้จัดแสดงและมีกำหนดจะจัดการแสดงใน 12 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย สำหรับประเทศไทย นิทรรศการนี้จะเริ่มเปิดให้เข้าชมในวันที่ 15 ตุลาคม 2553

...

ในฐานะที่ฉันได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมฝึกอบรมคนตาบอดให้เป็นไกด์ในนิทรรศการ Dialogue in the Dark ในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้มีโอกาสสัมผัสชีวิต ความรู้สึก ความนึกคิดของคนที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิด คนที่เพิ่งจะตาบอดมาในภายหลัง คนที่มีปัญหาทางการมองเห็น คือ ยังพอเห็นแสง ยังพอมองเห็นคร่าวๆ ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่ได้มืดสนิทเสียทีเดียว พวกเขาเคยชินกับการถูกถามถึงเรื่องตาบอด หรือได้รับการแสดงความสงสาร เห็นใจ ฉันพบว่าสำหรับคนที่เพิ่งสูญเสียการมองเห็นอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจที่ถูกถามถึง เรื่องนี้ แต่เมื่อเจอกับคำถามเรื่องนี้มากเข้าก็ถือเป็นเรื่อง “ ธรรมดา” ไปในที่สุด

คนตาบอดโดยทั่วไปมีทั้งเป็นคนขายประกันทางโทรศัพท์ เว็บมาสเตอร์ ดีเจ หมอนวด หมอดู หลายคนยังเรียนหนังสือ บางคนได้ทุน กพ. ไปเรียนต่างประเทศ บางคนขายล็อตเตอรี่ ซึ่งบอกว่าขายได้น้อย และเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน บางคนเป็นคุณครู เป็นอาสาสมัครสอนคนตาบอดให้ใช้คอมพิวเตอร์

จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก ประเทศกำลังพัฒนาจะมีจำนวนคนตาบอดและพิการทางสายตาประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประเทศไทยจึงน่าจะมีจำนวนคนตาบอดและพิการทางสายตา ประมาณ 6 แสน ถึง 7 แสนคน

ข้อมูลจากมูลนิธิคนตาบอดไทย ในปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า มีจำนวนคนตาบอดไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และมีไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถเขียนอ่านอักษรเบรลล์ได้ และน้อยกว่าร้อยละ 5 ที่มีโอกาสประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

หากสถานการณ์คนตาบอดเป็นไปตามข้อมูลตัวเลขดังกล่าว คนตาบอดส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงกำลังตกอยู่ในสภาพของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ในสังคม ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ อาจถูกทอดทิ้งให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นและสังคม ตามที่เราเห็นคนตาบอดเป็นวณิพก หรือนั่งขอทานตามท้องถนน และนี่เองอาจทำให้คนไทยมีภาพพจน์ที่เป็นลบกับคนตาบอด

ฉันถามพวกเขาว่า จะใช้คำใดเรียกพวกเขาดี เรียกว่าคนตาบอด ผู้พิการทางสายตา ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา หรือคำสละสลวยอื่นๆ ที่มีความหมายเดียวกัน เขาตอบว่า เรียกคนตาบอดได้ ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถ้าเรียกด้วยคำสละสลวยอื่นๆ เขาจะรู้สึกว่าเป็นการแบ่งชั้นวรรณะ ไม่ต้องประดิษฐ์คำไพเราะเรียกพวกเขา นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดของฉันที่เกี่ยวกับคนตาบอด ฉันนึกไปเองว่าเขาคงรู้สึกไม่ดีที่ได้ยินคำว่า “ ตาบอด” ราวกับไปตอกย้ำเขา

คนตาบอดก็เหมือนกับเรา มีความรู้สึกนึกคิด มีประสาทสัมผัสอย่างอื่นๆ เหมือนกับเรา บางประสาทสัมผัสอาจจะดีกว่า เช่น คนที่มองไม่เห็นแต่กำเนิดจะใช้นิ้วมือสัมผัสและรับรู้สิ่งของต่างๆ ได้ดีกว่าคนสายตาปกติทั่วไป การที่เขาตาบอดเป็นเพียงการที่เขาไม่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยสายตาเท่านั้น

สำหรับคนตาบอดโดยกำเนิด ถ้าหากพวกเขาได้เรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาจะรู้จักรูปทรงต่างๆ เช่น กล่องสี่เหลี่ยม เหรียญวงกลม แต่ถ้าเป็นคนตาบอดที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ออกจากบ้าน ก็จะไม่รู้จักรูปทรงต่างๆ และเป็นเรื่องยาก หากจะมาเรียนรู้เรื่องรูปทรงต่างๆ เมื่อมีอายุมากแล้ว สำหรับคนตาบอดตั้งแต่เกิด และตาบอดภายหลังจะไม่รู้ว่าที่นี่ หรือที่นั่นอยู่ตรงไหน ในการที่จะพูดบอกสถานที่ที่ตั้งสิ่งของจึงต้องมีสิ่งอ้างอิงเสมอ เช่น ข้างหน้าที่เรายืนอยู่มีโต๊ะ 1 ตัว ถ้าเราเดินไปด้านขวา 1 เมตรจะเจอกำแพง เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 5 ก้าวจะเจอประตูที่เปิดออกไปด้านนอก หรือถ้าเราจะอธิบายอาหารในจาน เราก็จะเทียบกับหน้าปัดนาฬิกา เช่น อาหารในจานเป็นข้าวกระเพราไก่ มีแตงกวาอยู่ที่เลข 12 คือด้านบนของจาน ไข่ดาวอยู่ที่เลข 9 คือด้านซ้ายของจาน เป็นต้น

ในการพูดกับเขา หรือจะให้ความช่วยเหลือ เราจะต้องเรียกชื่อเขา และแนะนำตัวว่าเราชื่ออะไร เป็นใคร ทำหน้าที่อะไร (ถ้าทำงานด้วยกัน) การแตะตัว พร้อมๆ กับการเรียกชื่อ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องทำด้วยความสุภาพ โดยเลือกแตะบริเวณแขน

หากเราจะเดินนำ เราจะให้เขาแตะหรือจับเราบริเวณแขนที่เหนือข้อศอก หรือหัวไหล่ และหากเป็นที่แคบ เราก็จะพับแขนไปไว้ด้านหลัง เพื่อเป็นการบอกว่าเป็นการเดินในที่แคบ ถ้าหากมีความสนิทสนมคุ้ยเคยกันดีก็อาจจะคล้องแขนกันได้ ระหว่างที่พาเดิน เราก็อธิบายว่า เราเดินผ่านอะไรบ้าง ด้านซ้ายด้านขวามีอะไร

ในการพูดคุยกับคนตาบอด สามารถใช้คำพูดได้เป็นปกติ เหมือนที่เราคุยกันทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงคำพูด เช่น ดูบอล ดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือ ถึงแม้ว่าคำว่า “ดู” จะสื่อถึงการใช้สายตามองเห็น แต่เราก็พูดคำเหล่านี้กับเขาได้ บางคนถึงกับผิดศีลข้อ 4 เพราะเลี่ยงไปตอบคำถามว่า มาที่นี่ได้อย่างไร ด้วยการบอกว่านั่งรถไฟใต้ดินมา เนื่องจากไม่กล้าบอกว่าขับรถ เพราะการขับรถต้องใช้สายตา

เวลาพูดกับคนตาบอดไม่ต้องตะโกน เพราะเขาแค่มองไม่เห็น แต่หูยังได้ยินอยู่ และเวลาที่เราจะเดินไปจากเขาก็ให้บอกเขาด้วยว่าเราจะเดินไปแล้ว

พวกเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเราตลอดเวลา เพราะมนุษย์ทุกคนต่างต้องการความเป็นอิสระ ต้องการอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างสง่างาม อย่างมีศักดิ์ศรี

พวกเขาเรียนหนังสือด้วยกันที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ทำกิจกรรมร่วมกัน รู้จักกันเป็นอย่างดี พูดคุยเรื่องต่างๆ เหมือนที่เราคุยกัน เช่น เรื่องฟุตบอล พวกเขาแต่งตัวตามแฟชั่น เดินสยาม ขึ้น-ลงรถเมล์ ต่อรถตู้ ขึ้นรถแท็กซี่ ขึ้นสะพานลอยได้เอง รู้จักสินค้าต่างๆ เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในสังคมเป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่ง ฉันนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านกับพวกเขา พวกเขาเดินนำฉันลงลิฟต์และลงบันไดเลื่อนไปถึงชั้นใต้ดินโดยไม่หลงทาง พวกเขาขึ้น-ลงรถไฟใต้ดินฟรีทุกสถานี โดยยื่นบัตรคนตาบอดเพื่อแลกกับเหรียญที่ผ่านเข้าออก สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส หากเข้าใช้บริการในสถานีที่มีลิฟต์ 7 สถานี คือ หมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช ช่องนนทรี วงเวียนใหญ่ และกรุงธนบุรี จะไม่เสียค่าโดยสาร พนักงานบีทีเอสอธิบายให้ฉันฟังว่าเป็นกฎที่ให้บริการผู้พิการฟรีในสถานี เหล่านั้น แต่ไม่ทราบว่า “ลิฟต์” มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการไม่เก็บค่าโดยสาร

เมื่อน้องๆ ตาบอดและฉันไปถึงชานชาลา พนักงานคอยช่วยอำนวยความสะดวกพาขึ้นรถ ผู้โดยสารเกือบทุกคนต่างหันมามองพวกเขา อาจจะด้วยความสงสาร สงสัย หรืออยากรู้ว่าจะเดินขึ้นรถอย่างไร ก่อนหน้าที่ฉันจะได้ใกล้ชิดกับคนตาบอด ฉันก็คงเป็นหนึ่งในคนที่อยากรู้อยากเห็นเช่นกัน ที่คงจะเหลียวมองจนสุดสายตาเพื่อดูว่าพวกเขาจะไปยังไง

เมื่อถึงสถานีที่ฉันจะขึ้น ฉันมัวแต่รับไหว้จากพวกเขา และจูงน้องคนหนึ่ง ทำให้ฉันหันไปทางประตูรถที่ปิดอยู่ น้องที่มองเห็นลางๆ ตะโกนเสียงดังว่า “ ออกประตูโน้น” คนทั้งรถหันมามองฉันเป็นตาเดียว พร้อมทั้งหัวเราะและยิ้ม

ทำไมให้คนตาบอดบอกทางคนตาดี

พวกเขามีนาฬิกาพิเศษที่กดแล้วจะมีเสียงบอกเวลา หรือถ้าเป็นนาฬิกาที่เป็นเข็มบอกเวลาก็จะเปิดหน้าปัดออก แล้วใช้มือคลำเข็มสั้น เข็มยาว ฉันเคยถามพวกเขาว่า ถ้าคลำแล้วเข็มเลื่อนล่ะ เขาตอบฉันว่า “ พี่ก็คลำเบาๆ สิคะ จะไปเลื่อนเข็มนาฬิกาทำไม”

พวกเขาส่วนใหญ่อ่านอักษรเบรลล์ได้ แต่ก็มีคนที่เพิ่งตาบอดที่ยังไม่สามารถอ่านได้ อักษรเบรลล์ คือการรวมกลุ่มของจุดนูนบนกระดาษ และอ่านโดยการสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ การเขียนอักษรเบรลล์จะมีเครื่องมือที่เป็นแผ่นโลหะ มีบานพับให้สามารถสอดกระดาษเข้าไปได้ บนแผ่นโลหะจะแบ่งเป็นช่องๆ เอาแท่งที่มีปลายเป็นเข็มเหล็กจิ้มลงไปได้ กระดาษก็จะถูกเจาะให้เป็นรอยนูนกลายเป็นอักษรเบรลล์ รวมกันเป็นคำและประโยค อักษรเบรลล์จึงมีขนาดเดียว รูปแบบเดียว ไม่มีแบบต่างๆ ให้เลือก เวลาเขียนจะเขียนจากขวาไปซ้าย

ฉันยังมีโอกาสได้ดูคอมพิวเตอร์ที่คนตาบอดใช้ หน้าจอเหมือนกับที่เราใช้โปรแกรมเวิร์ด แต่เป็นโปรแกรมเฉพาะ ใช้เคอร์เซอร์เลื่อนขึ้นลง เคอร์เซอร์หยุดที่บรรทัดใด ก็จะมีเสียงอ่านประโยคและคำบรรทัดนั้น ฉันทราบมาว่า เวลาเราส่งอีเมล์ให้คนตาบอดก็สามารถเขียนข้อความในอีเมล์ได้เลย เพราะเขาจะสามารถอ่านได้ทันที หรือจะแนบไฟล์ข้อความที่เราเขียนไปด้วยก็ได้ คนตาบอดสามารถใช้โปรแกรมเอ็กเซลได้เช่นกัน แต่จะซับซ้อนเพราะเป็นรูปแบบตารางที่มีทั้งแนวตั้งและแนวนอน นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์สำหรับกลุ่มคนตาบอดโดยเฉพาะอีกด้วย

พวกเขามีเครื่องมือใช้วัดขนาดของธนบัตร เป็นแผ่นพับพลาสติก วิธีการใช้คือ เปิดแผ่นพลาสติกออก สอดปลายธนบัตรให้ชิดขอบด้านใน แล้วพับธนบัตรที่เหลือแนบกับแผ่นพลาสติกที่เปิดครั้งแรก ปลายธนบัตรอีกด้านหนึ่งจะแตะเส้นที่มีอักษรเบรลล์กำกับบอกว่าเป็นธนบัตรราคา ใด เพราะธนบัตรแต่ละราคามีขนาดไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ พวกเขายังมีแหล่งข้อมูลข่าวสารจากบริการสายด่วนข่าวสารความรู้ 1414 เป็นบริการข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งจะได้ฟังข้อมูลข่าวสารและรายการวิทยุจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ข่าวจากหนังสือพิมพ์ หนังสือเสียงจากห้องสมุดคนตาบอดและผู้ด้อยโอกาสทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ

โครงการหนังสือเสียงสำหรับคนตาบอด เริ่มเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว นอกจากคนตาบอดแล้ว ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือได้ลำบากก็ใช้บริการได้ เรื่องที่มีให้ฟังเป็นข่าวสาร สารคดี นิยาย โดยมีทั้งเสียงสังเคราะห์จาก “โปรแกรมตาทิพย์” ที่เป็นโปรแกรมอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ซึ่งเสียงที่อ่านออกมาจะไม่ต่อเนื่องมากนัก และเสียงคนจริงๆ อ่าน สำหรับข่าวประจำวันจะช้าไป 1 วัน เพราะต้องใช้เวลานำข่าวเข้าระบบ

ฉันนึกขอบคุณคนคิดโครงการนี้ ที่ยังนึกถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม สำหรับคนตาดีและใจดี สามารถไปอ่านหนังสือเพื่ออัดเป็นเสียงได้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซอยบุญอยู่ ถนนดินแดง

ฉันยังถามพวกเขาว่า เวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะ รู้ได้อย่างไรว่าสะอาด หรือไม่สะอาด เขาบอกว่า ใช้จมูกพิสูจน์กลิ่น และมีกระดาษทั้งแบบเปียกและแห้งทำความสะอาดที่รองนั่งก่อน ฟังแล้วนึกสะท้อนถึงพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำสาธารณะของคนตาดีบางคน ที่ทิ้งร่องรอยไว้แม้มีตามองเห็น โดยไม่นึกถึงคนเข้าห้องน้ำคนถัดไป

และมาถึงคำถามสำคัญที่ฉันอยากรู้มาก ฉันถามพวกเขาว่ากลัวผีหรือเปล่า พวกเขาย้อนถามฉันว่าความกลัวผีเกิดจากอะไร เกิดจากจินตนาการใช่ไหม ฉันตอบว่า ใช่ และฉันรู้สึกว่าผีมันมากับความมืด
พวกเขาก็บอกว่า ถึงเขามองไม่เห็นก็ยังกลัวผี พวกเขายังมีจินตนาการอยู่แม้ตาจะมองไม่เห็น

...

ฉันอยู่กับน้องๆ ตลอดการฝึกอบรมเพื่อเป็นไกด์ ฉันเดินเข้า เดินออกห้องมืด เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ในระยะเวลา 8 วัน เดินวนไปวนมาในห้องมืดเป็นร้อยรอบ ฉันมีโอกาสได้เห็นห้องเมื่อเปิดไฟ เห็นว่าอะไรอยู่ตรงไหน แต่เมื่อปิดไฟ ฉันก็กลายเป็นคนตาบอดสนิท นอกจากตาบอดแล้ว ยังไม่มีทิศทางในหัวอีกด้วย ถ้าปล่อยฉันไว้คนเดียว ฉันก็คงหาทางออกไม่ถูก แต่น้องๆ เก่งมาก จำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกทิศทุกทาง

น้องๆ ที่จะเป็นไกด์ จะถูกผู้ฝึกอบรมหลักชาวบัลแกเรีย และเยอรมันฝึกอย่างหนัก ถูกเคี่ยวอย่างเข้มข้น รู้ประตูทางเข้า ทางออก ทางตรง ทางลัด ทางฉุกเฉิน ห้องต่างๆ มีลักษณะอย่างไร อะไรอยู่ตรงไหน จะสื่อสารกับผู้ชมอย่างไร ต้องผ่านเหตุการณ์จำลองทุกสถานการณ์ ถูกฝึกให้รับมือกับผู้เข้าชมที่แย่ที่สุดเท่าที่จะมีได้ หนึ่งในนั้นเป็นฉันเอง เพราะฉันเดินเกาะครูฝึกแจ ไม่ต้องกลัวหลงทางหรือเดินชน จึงทำตัวเป็นผู้เข้าชมที่แย่มากๆ ได้อย่างเต็มที่

ทุกคนสามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ได้ โดยปกติจะให้เด็กที่อายุ 8 ขวบขึ้นไปเข้าชม หรือถ้าเป็นเด็กเล็กต้องมีผู้ปกครองเข้ามาด้วยและอุ้มตลอดเวลา หากเด็กร้องจะออกก็ต้องพาออกทันที จะได้ไม่เป็นการรบกวนการชมนิทรรศการของคนอื่น เพราะเมื่อตาไม่สามารถมองเห็นอะไรแล้ว ประสาทสัมผัสทั้งหมดจะถูกใช้เพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ

ผู้ที่ต้องใช้รถเข็นก็จะมีรถเข็นบริการ และจะมีไกด์เฉพาะเพื่อเข็นรถและนำชม คนหูหนวกก็สามารถเข้าดูได้ เพราะจะมีล่ามภาษามืออธิบายวิธีการดู และการปฏิบัติขณะชมนิทรรศการ ผู้ป่วยทางจิตก็สามารถเข้าชมได้เช่นกัน อย่างที่ฉันบอก ไกด์ถูกฝึกให้รับมือกับทุกสถานการณ์ ถ้าหากต้องการบริการพิเศษเช่นนี้ ขอให้จองการเข้าชมล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมไกด์และอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม

เนื่องจากนิทรรศการนี้เป็นโอกาสให้พวกเขามีงานทำ ได้รับค่าตอบแทน และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะได้รับความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกภูมิใจที่ว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ สามารถทำงาน และช่วยสร้างการเรียนรู้ให้แก่คนตาดีได้ การเข้าชมนิทรรศการนี้จึงต้องเก็บค่าเข้าชมเหมือนกับนิทรรศการ Dialogue in the Dark ทุกแห่งทั่วโลก

คนที่เข้าชมจะได้รับทราบข้อปฏิบัติก่อนเข้าชม อาทิ ไม่แนะนำให้เอากระเป๋าติดตัวเข้าไปเพื่อความสะดวกในการเข้าชม เพราะต้องใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ เต็มที่ วัตถุที่เรืองแสงในที่มืด เช่น นาฬิกา เครื่องประดับ โทรศัพท์มือถือ ไม่ให้นำเข้าไป หรือถ้าจะนำเข้าไปต้องเก็บไม่ให้เกิดแสง หรือสามารถเก็บของในล็อกเกอร์ฝากของ รองเท้าที่มีแถบเรืองแสงจะมีเทปปิดให้ ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าส้นสูง เพราะบางพื้นที่อาจจะเดินไม่สะดวก แว่นสายตาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะจะมองไม่เห็นอะไรอยู่แล้ว ห้ามนำไฟแช็ค ไฟฉายเข้าไป ห้ามถ่ายรูป หรือวิดีโอด้านใน เพื่อรักษาความมืด

สำหรับสื่อมวลชนเมื่อลงทะเบียนแล้ว ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะเตรียมข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดไว้ให้ ผู้เข้าชมสามารถนำเงินติดตัวเข้าไปได้ เพราะมีน้ำและเครื่องดื่มขายด้านในให้ทดลองประสบการณ์ซื้อและรับประทานในที่ มืด นอกจากนี้ผู้เข้าชมจะได้รับคำแนะนำในการใช้ไม้เท้าแบบเดียวกับที่คนตาบอดใช้ โดยกวาดไปข้างหน้า ซ้าย ขวา อย่างเบาๆ เพื่อดูว่ามีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้าหรือไม่ ไม้เท้านี้จะเป็นอุปกรณ์ของทุกคนในการเดินชมนิทรรศการ

การเข้าชมจะจัดเป็นกลุ่ม จำนวนผู้เข้าชม 8 คน ต่อไกด์ 1 คน หากใครไม่อยากเดินต่อก็สามารถบอกไกด์ให้พาออกจากนิทรรศการได้ตลอดเวลา ระหว่างการชมนิทรรศการให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของไกด์ เจอประตูก็ไม่ต้องเปิดประตู ไกด์จะเป็นคนเปิดให้เราเอง มีข้อสงสัยอะไรสามารถถามไกด์ได้ตลอดเวลา

...

ระยะเวลา 9 วัน ที่ฉันอยู่ร่วมกับพวกเขาเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของฉัน ฉันเคยเรียนแต่ในห้องเรียน อ่านจากหนังสือ ฟังจากคุณครูสอน ซึ่งล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนอื่น ครั้งนี้ฉันได้เรียนรู้ด้วยตนเอง น้องๆ ตาบอดทุกคนเป็นคุณครูของฉัน คุณครูที่สอนให้มองชีวิตในมุมอื่น เอาตัวเองออกจากที่ๆ ที่ยืนอยู่ เพื่อไปเรียนรู้ เข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเราในโลกของเขาเอง ไม่ใช่โลกที่เราเอาแต่มอง ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสัมผัส มีแต่นึกคิด จินตนาการด้วยตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ฉันยังได้เรียนรู้ความอดทน เพราะแน่นอนที่สุดคนที่อยู่ในที่ที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา ย่อมรู้สึกอึดอัดที่อยู่ในความมืดและมองไม่เห็นอะไรเลย ลองย้อนนึกดู ตอนไฟดับช่วงเวลาสั้นๆ เราก็รู้สึกว่ามันนานและทรมาน นี่จะเป็นการฝึกความอดทนต่อตัวเองและเข้าใจที่จะต้องอดทนต่อผู้อื่นด้วย

วันนี้ ฉันสามารถเรียกพวกเขาว่าเพื่อน ฉันสามารถคุยกับเขาได้อย่างสนิมสนม ไม่มีเส้นขีดกั้น แบ่งแยกใดๆ ระหว่างฉันและพวกเขา ฉันเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตัวเองว่าคนตาบอดมีความสามารถ มีความหมาย มีค่าในสังคม ทำประโยชน์ให้สังคมได้เหมือนอย่างคนตาดีทั่วไป

ฉันอยากให้ทุกคนได้ลองประสบการณ์ครั้งนี้ ลองดูว่าในโลกของคนตาบอดเป็นอย่างไร ลองให้คนตาบอดมานำทางให้คุณในความมืด เหมือนกับที่คุณเคยจูงเขาในที่สว่าง ลองดูว่าในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น หรือแบ่งแยกสิ่งต่างๆ ได้ด้วยสายตา ในที่ๆ ทุกคนมองเห็น (หรือไม่เห็น) อย่างเท่าเทียมกัน เมื่อคุณอยู่ในโลกที่กลับด้าน เป็นคุณเองที่ตาบอด มุมมอง ความคิด ทัศนคติที่คุณมีต่อคนตาบอด จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

เพราะว่า วิธีเดียวที่จะเรียนรู้ได้ดีที่สุด คือการได้พบเจอด้วยตัวเอง ได้สัมผัสด้วยประสบการณ์ของตัวเอง The only way to learn is through encounter. (From the German-Jewish philosopher Martin Buber’s work “The Principles of Dialogue”.)

...

1 ชั่วโมงกับนิทรรศการที่ไม่ได้ใช้ตามองเหมือนนิทรรศการอื่นๆ

1 ชั่วโมงที่ประสาทสัมผัสอื่นๆ จะถูกใช้เพื่อสัมผัสและรับรู้สิ่งรอบข้าง แทนดวงตาที่โดยปกติเราจะใช้เพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ มากที่สุด

1 ชั่วโมงที่คุณจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของพวกเขาในโลกมืด ผ่านนิทรรศการ Dialogue in the Dark หรือบทเรียนในความมืด นับเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาตลอดชีวิตของเขาที่อยู่ในโลกของความมืด

และ 1 ชั่วโมงนี้จะเป็น 1 ชั่วโมงที่คุณจะได้ค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ ค้นพบสิ่งที่มองไม่เห็นในตัวเราและรอบข้าง ได้เรียนรู้ตัวคุณ เอง เข้าใจคนตาบอด และเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติที่เคยมีกับพวกเขามาก่อน

ฉันหวังว่า ทุกคนจะได้มุมมองใหม่ๆ จากบทเรียนนี้ที่จะเชื่อมความแตกต่างในสังคมได้ พลิกมุมมองอื่นๆ ที่ไม่เคยมองเห็น เกิดความเข้าใจ เห็นใจคนอื่นมากขึ้น ไม่เฉพาะกับคนตาบอด แต่กับทุกคนที่ต่างจากเรา

บทเรียนในความมืดนี้ จะทำให้คุณอยู่ในสังคมร่วมกับคนที่แตกต่างจากคุณได้ดีขึ้น

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม "Dialogue in the Dark... การเรียนรู้โดยการชมนิทรรศการที่ไม่ต้องใช้ตา"
ที่มา: www.teenpath.net

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกฟ้องชาวบ้านป่าทุ่ง 32 จำเลยก่อการร้าย คดีฆ่าครูสายบุรี ชาวบ้านเชือดแพะฉลอง

Posted: 05 Oct 2010 02:13 AM PDT

ชาวบ้านบ้านป่าทุ่งเชือดแพะทำอาหารฉลอง หลังศาลจังหวัดปัตตานียกฟ้อง 32 จำเลยก่อการร้าย จากคดีฆ่าครูสายบุรี ส่วนอีก 2 คน ศาลพิพากษาไม่ยกฟ้อง ชาวบ้านยันไม่ฟ้องกลับ แต่ยังรอลุ้นอัยการยื่นอุทธรณ์ ด้าน ผู้ใหญ่บ้านเผยการที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยจำนวนมาก ทำให้ถูกมองเป็นหมู่บ้านโจร ส่วนทหารในพื้นที่เตรียมจัดพบปะเยียวยาชาวบ้าน 

 

ยกฟ้อง - ชุมชนบ้านป่าทุ่ง หมู่ที่ 4 ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กลุ่มนี้รวม 34 คน ยิ้มได้แล้ว หลังจากศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษายกฟ้องในคดีความมั่นคง บางคนถึงกับเชือดแพะฉลอง แต่ก็ต้องลุ้นอีกครั้งหากอัยการจังหวัดปัตตานียื่นอุทธรณ์ก่อนจะครบกำหนด 30 วัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
 
 
ที่หมู่บ้านป่าทุ่ง หรือบ้านนะปาแดในภาษายาวี หมู่ที่ 4 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านหลายคนกำลังกุลีกุจออยู่กับการเชือดแพะทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้าน วันนี้บ้านนี้ พรุ่งนี้บ้านโน้น เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน พวกเขาต่างก็บนบานไว้ว่า ถ้าถูกยกฟ้องจะเชือดแพะ
 
เมื่อคำพิพากษายกฟ้องสมใจ พวกเขาก็ไม่รอช้า รีบจัดการเรื่องนี้ทันที แม้คดียังอยู่ระหว่างรออุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังจากศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 
 
หากอัยการจังหวัดปัตตานีไม่อุทธรณ์คดีนี้ก็จะสิ้นสุดลง จำเลยทั้ง 34 คน ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ก็จะพ้นผิดได้กลับไปประกอบสัมมาชีพอย่างปกติต่อไป ยกเว้น 2 คน ที่ศาลพิพากษาไม่ยกฟ้อง ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นจำเลยที่ 1 และ 2ตามลำดับ
 
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านถึง 34 คนในหมู่บ้านเดียวกันกลายเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงนี้ มาจากเหตุการณ์คนร้ายกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปฆ่าครูโรงเรียนบ้านป่าทุ่ง ชื่อ นาวสาวกามารียา มะลี ถึงในบ้านเลขที่ 208/2 หมู่ที่ 4 บ้านป่าทุ่ง ในช่วงคำวันที่ 23 กันยายน 2550 ในขณะที่ครูกามารียากำลังรับประทานอาหารละศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม พร้อมกับคนในครอบครัวที่มีทั้งแม่ น้องสาว น้องชาย ทำให้ครูกามารียาเสียชีวิต ส่วนคนอื่นๆ ปลอดภัย
 
เหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะที่พ่อของครูกามารียา กำลังปีนต้นมะพร้าวสูงพ้นหลังคาบ้าน เพื่อจะเก็บน้ำตาลมะพร้าวด้วยความอยากกิน จึงทำให้เห็นคนร้าย 7 คน แบ่งกำลังประจำตามจุดต่างๆ ส่วนหนึ่งบุกเข้าไปในบ้าน ก่อนจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด แล้วล่าถอยออกไป
 
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและตรวจค้นในหมู่บ้าน ควบคุมตัวชาวบ้านไป 21 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย นำไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจสายบุรี ก่อนจะคัดเหลือ 14 คน แล้วส่งต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวประมาณ 7 วัน ยกเว้น 3 คน ที่ถูกควบคุมตัวนานถึง 30 วัน
 
ต่อมา ทั้ง 3 คนถูกดำเนินคดีในข้อหา เผาท่อส่งน้ำในโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน แต่ได้รับการประกันตัวออกมา
 
จนกระทั่งผ่านไป 4 เดือน วันที่ 17 มกราคม 2551 ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรสายบุรี ได้เข้าจับกุมนายเจะวานิ เจะแม็ง อายุ 57 ปี ชาวบ้านป่าทุ่ง และจับกุมนายยูรี เจ๊ะแว อายุ 19 ปี อีกคน ในวันที่ 25 มกราคม 2551 ทำให้ชาวบ้านเริ่มเอะใจ จึงมีการตรวจสอบกัน จนกระทั่งทราบว่ามีการออกหมายจับชาวบ้านประมาณ 40 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น ผู้สูงอายุ โต๊ะอิหม่าม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ภารโรง โดยหลายคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน
 
โดยเป็นคดีที่มีฐานความผิดหนักหนาสาหัสมาก คือ ร่วมกันสะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย หน่วงเหนี่ยว กักขังหรือกระทำการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ทำให้ชาวบ้านที่ถูกออกหมายจับต่างก็รู้สึกหวาดกลัว จึงพากันหลบหนีไปอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น นางสาอูดะ สาและ อายุ 50 ปี หนึ่งในจำเลย ที่หนีขึ้นไปอยู่กรุงเทพประมาณ 7 วัน จนกระทั่งกำนันตำบลบางเก่า ได้ประสานให้มีการมอบตัว พร้อมลูกชายอีก 2 คน
 
บางคนก็หลบไปอยู่ตามป่าท้ายหมู่บ้าน หรือเมื่อมีรถยนต์แปลกหน้าผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน ก็จะพากันหลบ เพราะเกรงว่าอาจเป็นรถยนต์ของเข้าหน้าที่ที่จะมาจับกุมชาวบ้าน
 
หลังจากมีการประสานงานกันแล้ว ชาวบ้านจึงทยอยกันออกไปมอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี เช่นเดียวกับลูกชาย 2 คน และลูกเขย 1 คน ของนายเจะวานิที่ถูกจับกุมคนแรก
 
นายเจะวานิ ซึ่งมีอาชีพปลูกผัก เลี้ยงวัวและเลื้อยไม้ กล่าวว่า ผมอยู่ในคุก 80 วัน จากนั้นได้ยื่นหลักทรัพย์มูลค่าสูงถึง 7 แสนบาทขอประกันตัวออกมา ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินทั้งของตนเองและขอเช่าโฉนดที่ดินของคนอื่นมาด้วย แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาล ทุกคนก็ได้รับการลดค่าประกันตัวเหลือคนละ 2 แสนบาท
 
เช่นเดียวกับนายอาลี หะแวกาจิ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ตำบลบางเก่า ตัวแทนบ้านป่าทุ่ง ปัจจุบันเปิดร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนในตลาดอำเภอสายบุรี ที่มีญาติพี่น้องหลายคนถูกออกหมายจับในคดีนี้เช่นกัน ที่สำคัญนายอาลี เป็นอาของครูกามารียา นายอาลีตกเป็นจำเลยพร้อมกับพี่ชายอีก 2 คน พี่สะใภ้ 1 คน และลูกพี่ชาย 1 คน
 
นายอาลี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ต้องขึ้นลงศาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายคาดว่าคนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 ซึ่งต้องขึ้นศาลกันเกือบทุกวันตลอดสัปดาห์ ทำให้ไม่มีเวลาทำมาหากินหารายได้เลย ทุกครั้งที่เดินทางไปศาลจะเช่าเหมารถกระบะถึง 4 คัน ทั้ง 4 คันรถเป็นจำเลยตัวจริง ไม่ใช่ชาวบ้านที่ไปให้กำลังใจอย่างคดีอื่นๆ
 
“ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่นั้น คงไม่ฟ้องกลับแล้ว ชาวบ้านคงไม่เอาแล้ว หากต้องสู้กันอีกหลายปี แค่ 3 ปีที่ผ่านมานี้ชาวบ้านก็รู้สึกลำบากมาพอแล้ว อยากทำงานปกติอย่างคนทั่วไปมากกว่า ไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้อีกแล้ว” นายอาลี กล่าว
 
แม้ศาลจังหวัดปัตตานีจะพิพากษายกฟ้องชาวบ้านเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น เพราะคนทั้งหมู่บ้านต่างก็ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
 
นายอับดุลตอเละ สาแม ผู้ใหญ่บ้านป่าทุ่ง กล่าวว่า เมื่อชาวบ้านตกเป็นจำเลยจำนวนมากอย่างนี้ แน่นอนคนทั่วไปก็ย่อมต้องมองหมู่บ้านนี้ในทางที่ไม่ดี คิดว่าเป็นหมู่บ้านโจร การช่วยเหลือของทางราชการก็หลีกไปที่อื่นหมด แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มปกติ
 
ส่วนนายเจะวานิ กล่าวว่า “เวลาไปไหนมาไหนก็อายคน เพราะคนอื่นจะมองว่า เราเป็นหมู่บ้านโจร แต่ก็งงมากกว่า เพราะมันเป็นไปได้อย่างไรที่มีคนเป็นจำเลยถึง 34 คน ในคดีเดียวกัน”
 
พ.ต.ท.พิสิฐพงศ์ มังกรวงศ์ นายตำรวจสถานีตำรวจภูธรสายบุรี พนักงานสอบสวนในคดีนี้ กล่าวว่า เหตุที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยคดีนี้จำนวนมาก เพราะว่ามีข้อมูลทั้งจากชาวบ้านที่เป็นพยาน จากสายข่าวตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองชี้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง
 
พ.ต.ท.พิสิฐพงศ์ อ้างว่า หลังการมอบตัวของชาวบ้าน ปรากฏว่าสถานการณ์ในหมู่บ้านและใกล้เคียงสงบลงอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีหลายเหตุการณ์ ทั้งฆ่าเผาครู เผาท่อส่งน้ำโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ฆ่าตำรวจ และฆ่าผู้ใหญ่บ้านคนก่อน
 
สอดคล้องกับนายอับดุลตอเละ ที่บอกว่า หลังเหตุยิงครูการมารียา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ในหมู่บ้านมีกลุ่มก่อความไม่สงบจริง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น
 
“ฝ่ายผู้สูญเสีย คือครอบครัวครูกามารียาก็ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐแล้ว โดยน้องๆ ของครูกามารียา ต่างก็ได้เข้ารับราชการและได้รับเงินเดือนจากรัฐทั้งหมดแล้ว เช่น ได้รับการบรรจุเป็นครูและ อส.(อาสาสมัครรักษาดินแดน)” นายอับดุลตอเละ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์โศกนาฏกรรมจะผ่านไปนานแล้ว แต่ที่บ้านเลขที่  208 /2 ของครูกามารียา ก็มีเพียงน้องสาวกับน้องชายและหลานเท่านั้น ส่วนพ่อแม่ของครูกามารียาได้ย้ายออกอยู่ที่อื่นแล้ว โดยที่ผู้ใหญ่บ้านกำลังประสานเพื่อให้กลับมาอยู่บ้านตามเดิม
 
ร.ท.สุรชาติ รอดผล รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ 26 สายบุรี อดีตหัวหน้าฐานปฏิบัติการ นย. (นาวิกโยธิน) บ้านป่าทุ่ง กล่าวว่า แม้ชาวบ้านป่าทุ่งจำนวนมากถูกดำเนินคดี แต่ไม่มีผลกระทบต่องานด้านมวลชนสัมพันธ์ ชาวบ้านยังยิ้มแย้มให้ทหาร แสดงว่าชาวบ้านมีความเข้าใจและไม่กลัวทหารเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันตอนนี้ไม่พบความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามในหมู่บ้านด้วย
 
ร.ท.อภิเชษฐ นุ่นสวัสดิ์ หัวหน้าฐานปฏิบัติการ นย.บ้านป่าทุ่งคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง กล่าวว่า กำลังประสานกับชาวบ้านในกลุ่มนี้อยู่ว่าจะพบปะกัน เพื่อพูดคุยหารือและให้กำลังใจกัน หลังจากที่ศาลได้ยกฟ้องแล้ว ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเยียวในทางหนึ่ง โดยจะให้ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้เดินทางมาพบปะกับชาวบ้านด้วย
 
ทั้งนี้ การออกหมายจับชาวบ้านจำนวนมาก แม้ในชั้นศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องเกือบทั้งหมด แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการในพื้นที่ อย่าง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWacth) 
 
ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การจับกุมหรือควบคุมตัวชาวบ้านจำนวนมากมาดำเนิน แต่สุดท้ายถูกพิพากษายกฟ้อง สะท้อนให้เห็นปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ เนื่องจากมีผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงในเรือนจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการฝากขัง และมีจำนวนน้อยมากที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าผิดจริง 
 
“ต้องยอมรับว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่มีอยู่จริง แต่ก็มีเงือนไขมาจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม ดังนั้นความไม่ยุติธรรมก็ยังเป็นปัญหาใจกลางของความไม่สงบในพื้นที่ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมก่อน  แม้จะช้ากว่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ” ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
ถึงวันนี้ ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็คงได้แต่หวังว่า พวกเขาไม่ต้องบ่นเชือดแพะอีกครั้ง หากต้องลุ้นกับคำพิพากษาอุทธรณ์ที่อาจจะมีขึ้นได้อีกในอนาคต แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ขอเยียวยากันเองก่อนเพื่อความสุขใจ ด้วยการเชือดแพะขอบคุณอัลเลาะห์ (พระเจ้าของชาวมุสลิม) ที่ดลบันดาลให้พวกเขาได้รับการยกฟ้องในครั้งนี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อตลกบราซิลชนะเลือกตั้งท่วมท้น

Posted: 05 Oct 2010 02:12 AM PDT

ขณะที่ประชาชนในหลายประเทศบ่นอุบว่ามีนักการเมืองเหมือนมี 'ตัวตลก' แต่ชาวบราซิลโหวตล้านเสียง ส่งตัวตลกของจริงให้เป็นผู้แทนในสภา

โฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์ของเทียริริก้า

เทียริริก้า นักแสดงตลกทางโทรทัศน์วัย 45 ปี ได้รับคะแนนโหวตจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมาถึง 1,300,000 เสียง ให้เป็นผู้แทนสภาจากรัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีคะแนนสูงสุดจากคะแนนเสียงผู้แทนสภารัฐอื่น ๆ

นักแสดงตลกผู้นี้มีชื่อจริงว่า ฟรานซิสโก เอเวอราโด โอลิวีรา ซิลวา เขามีโฆษณาหาเสียงทางโทรทัศน์แบบแหวก ๆ ด้วยการสวมหมวกใบเล็กกับเสื้อสีฉูดฉาดเต้นระบำพร้อมรอยยิ้มแบบฝืดๆ แน่นอนว่าดูไม่น่านับถือเลยสำหรับผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้ง นอกจากนี้เขายังมีสโลแกนที่มาพร้อมกับการเสียดสีการเมืองอย่าง "ไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว โหวตให้ผมเถอะ"

"พวกสภาผู้แทนทำอะไรกันน่ะหรือ ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าคุณเลือกผมแล้วผมจะบอกคุณเอง" เทียริริก้า กล่าวในโฆษณาหาเสียง "โหวตให้ผมเป็นสภาผู้แทนเถอะแล้วผมจะช่วยเหลือผู้อัตคัดขัดสน...โดยเฉพาะครอบครัวผมเอง"

ชื่อในวงการของเทียริริก้าแปลว่า 'อารมณ์เสีย' โดยเขายังได้เสียดสีนักการเมืองในสภาบราซิลที่มักจะมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต

"พวกคุณเบื่อบุคลิกลื่นไหลของพวกนี้ไหม โหวตให้เทียริริก้าเป็นผู้แทนสิ ... ถ้าคุณเลือกผม ผมจะอยู่ในบราซิลเลีย แล้วในความเป็นจริงผมก็จะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพวกเรา เพื่อบราซิล เพื่อพวกเรา เพื่อช่วงเวลาของเรา เพื่ออะไรสักอย่างของพวกเรา" เขากล่าวอย่างตีหน้าตาย

ขณะเดียวกันวิธีการหาเสียงของเขาก็ใช่ว่าจะมีคนชอบไปเสียหมด เขาถูกผู้ที่ต่อต้านฟ้องร้องดำเนินคดีว่าเขาไม่เหมาะสมในการลงสมัครเลือกตั้งเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าไม่มีการศึกษาซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ แต่ศาลก็ยกฟ้องคดีนี้

โครงการณรณรงค์หาเสียงของเทียริริก้าได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างดี และการได้รับเลือกเป็นผู้แทนของเขาอาจไม่ได้ไร้เดียงสาอย่างที่เห็น เพราะในกฏหมายเลือกตั้งของบราซิล เขาสามารถส่งทอดคะแนนเสียงจำนวนมากของเขาไปให้กับผู้แทนคนอื่นซึ่งมาจากพรรครัฐบาลอย่างพรรคแรงงานได้
 

ที่มา

No joke as clown is Brazil's most voted congressman, Reuters, 04-10-2010
http://news.yahoo.com/s/nm/20101004/od_nm/us_election_clown

Brazilian clown wins seat among the politicians, AFP, 04-10-2010
http://news.yahoo.com/s/afp/20101004/od_afp/brazilvotepoliticstiriricaoffbeat_20101004210423

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 จังหวัด อีก 3 เดือน

Posted: 04 Oct 2010 10:54 PM PDT

ครม.มีมติต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 'กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ' อีก 3 เดือน ตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. แทน สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ลาออกไปลงเลือกตั้งซ่อม

(5 ต.ค.53) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ต่อเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัดออกไปอีก 3 เดือน จากที่จะครบกำหนดในวันที่ 6 ต.ค.53 ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ เนื่องจากเหตุผลในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เสนอรายงานดังกล่าวมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. แทนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม สส.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งรับทราบการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรอง ผอ.ศอฉ. แทน พล.อ.ประวิตร และแต่งตั้งนายเฉียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ศอฉ. ด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ครม. ได้มีมติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. และปริมณฑล ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และมีมติจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.คืนความเป็นปกติสุขโดยเฉพาะพื้นที่ต่างๆ ให้ชาวกรุงเทพฯ 2.ระงับยับยั้งการเผยแพร่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร 3.การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อสามารถดำเนินคดีได้กับแกนนำ และ 4.ให้มาตรการระงับเหตุ เช่น ก่อวินาศกรรม และเหตุอื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินสายยูเอ็น-ทำเนียบ จี้แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

Posted: 04 Oct 2010 04:48 PM PDT

ชาวชุมชนและคนจนเมือง กว่า 2,000 คน เคลื่อนขบวนวันที่อยู่อาศัยสากล ร้องยูเอ็น แก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนบึงกักเลก ในกัมพูชา ก่อนเข้าเจรจาสาทิตย์-อิสสระ เร่งกฎหมายผ่อนผันสร้างบ้าน ตามความคืบหน้าประกาศ 4 ชุมชน นำร่องโฉนดชุมชนในเขตเมือง 

 
 
วานนี้ (4 ต.ค.53) เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดเดินรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ตามที่องค์การสหประชาขาติได้ประกาศให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่อยู่อาศัยสากล โดยได้มีการนัดรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อเวลา 08.00 น.และเริ่มตั้งขบวนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
 
จากนั้น ชาวชุมชนและคนจนเมือง กว่า 2,000 คน ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ อ่านรายงานข้อเสนอเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล เพื่อยื่นหนังสือถึง นายบัน คี มูน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ โดยมีนายมารินัส ดับบลิว ซิคเกิล (Marinus W. SIKKEL) ผู้แทน สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (UNESCAP) ออกมารับฟัง ท่ามกลางสายฝน
 
 
 
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุข้อเรียกร้องให้ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ไปพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาชาวชุมชนบึงกักเลก เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จำนวน 3,000คน ซึ่งกำลังอยู่ในสถานการณ์ถูกบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานการพัฒนาที่ดินจากรัฐบาลกัมพูชา ไล่รื้อ 
 
ในเวลา 11.00 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลประตู 5 เพื่อเข้าเจรจากับผู้แทนรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยเครือขายสลัม 4 ภาค ส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล
 
ทั้งนี้ ผลการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีดังนี้ 1.กรณีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโครงการที่รัฐจัดให้มี หรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้รายได้น้อย พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ผู้แทนนายกรัฐมนตรีรับจะเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาและมีการประกาศใช้ได้ภายในปี 2553 นี้
 
2.การประกาศชุมชนนำร่องโฉนดชุมชนในเขตเมืองจำนวน 4 ชุมชน คือ ชุมชนเพชรคลองจั่น, ชุมชนหลวงวิจิตร, ชุมชนโรงหวาย และชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ที่ประชุมมีการรับที่จะประกาศให้เป็นชุมชนนำร่องโดยใช้นโยบายโฉนดชุมชน และจะเจรจาทำความเข้าใจกับผู้บริหาร กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ 3.การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ที่ประชุมจะเร่งให้เข้า ครม.ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีงบประมาณประเดิมกองทุนจำนวน 167 ล้านบาท
 
4.กรณีโครงการบ้านมั่นคงคนไร้บ้าน ที่ประชุมสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านโดยจะนำเข้า ครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณและนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน และรับที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อมากำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกันระหว่างคนไร้บ้านและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะตั้งคณะกรรมการภายในเดือนตุลาคมนี้
 
5.กรณีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า รัฐบาลรับจะนำข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไปปรับปรุงเนื้อหาร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน 6.กรณีข้อเรียกร้องเรื่องนำภาษีมรดกให้เป็นแหล่งรายได้รัฐบาลที่จะนำมาจัดสวัสดิการให้กับคนจน รัฐบาลรับปากจะนำเรื่องเข้าไปหารือในรายละเอียด
 
7.ในเรื่องการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.หลักประกันชราภาพแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนผลักดันเป็นหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุเดือนละ 1,500 บาทต่อเดือน รัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอแต่ติดที่รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการให้ได้
 
หลังจากนั้น นายสาทิตย์ และนายอิสสระ ได้เดินทางออกมาแจ้งผลการเจรจากับชาวบ้านเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณประตูด้านข้างทำเนียบรัฐบาล
 
 
 
ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสาทิตย์ กล่าวว่า ประเด็นที่เครือข่ายฯ เสนอมา เป็นแนวทางเดียวกับรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด บ้านมั่นคง โฉนดชุมชน คนไร้บ้าน และธนาคารที่ดิน อยู่แล้ว การเจรจาจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่จะขอยืดเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทำงานก่อน อาทิ การกำหนดให้รัฐเร่งและประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นผ่อนผันการควบคุมอาคารสำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกฎกระทรวงได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขอให้กฤษฎีกาได้ทำงานคาดว่าจะได้ประกาศใช้เร็วๆ นี้ 
 
ส่วนกรณีให้รัฐบาลคัดเลือกชุมชนเพชรคลองจั่น ชุมชนหลวงวิจิตร ชุมชนโรงหวาย และชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะของกรุงเทพฯ เป็นชุมชนนำร่องในการออกโฉนดชุมชนภายในเดือนตุลาคม 2553 นั้น จะมีการนัดประชุมกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน ที่ตนเองเป็นประธาน ในสัปดาห์หน้า จะได้ทราบความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร หากไม่ติดขัดใดๆ ทั้ง 4 ชุมชนที่ขอมา ก็จะกลายเป็นต้นแบบในการออกโฉนดชุมชนในเมืองได้ ส่วนกรณีธนาคารที่ดินที่เครือข่ายเสนอตั้งกองทุน 30,000 ล้านบาทมานั้น ปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบไว้ จึงแนะนำไปว่าอาจจะเลือกแบบที่ไม่ใช้งบมากก่อน คือ ประมาณ 100 ล้านบาท ซื้อที่ดินทางภาคเหนือ เป็นต้น 
 
 
สอช. จี้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมพื้นที่ เอื้อให้คนจนได้ปลูกบ้าน
 
ขณะที่เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน (4 ต.ค.53) นายสมชาย นาคเทียม ผู้ประสานงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) พร้อมด้วยเครือข่ายประมาณ 200 คน ในฐานะตัวแทนกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องการจัดสรรที่ดิน ในการปลูกบ้านทั่วประเทศกว่า 4,000 คน ได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันสวมเสื้อสีเขียว พร้อมถือป้ายรณรงค์และใช้เครื่องขยายเสียงในการเรียกร้องขอความเป็นธรรม 
 
แกนนำกลุ่ม สอช. กล่าวว่า วันนี้ตนได้นำกลุ่มสอช.มาเรียกร้องรัฐบาล คือ 1.อยากให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมพื้นที่ในการปลูกสิ่งก่อสร้าง ให้เอื้อกับประชาชนที่มีฐานะยากจน โดยให้ประชาชนที่มีที่ดินขนาดเล็กสามารถปลูกบ้านได้ 2.ในโครงการพัฒนารถไฟ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีที่พักอยู่ริมทางรถไฟ จึงอยากให้ทางการรถไฟเข้ามาแก้ปัญหา โดยการให้อยู่ประชาชนในบางส่วน
 
นายสมชาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการจัดสรรเงินจำนวน 9,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง และใช้เงินไปเพียง 6,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือเงินอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้ตนได้นำกลุ่มประชาชนมาเรียกร้องเงินในส่วนที่เหลือ โดยมีนายจิตติชัย แสงทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้กลุ่ม สอช.จะเดินขบวนไปเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย และสิ้นสุดที่กระทรวงคมนาคม
 
 
 
4 ตุลาคม 2553
 
ฯพณฯ ท่าน บัน คี-มูน
เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ
สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
สหรัฐอเมริกา
 
เรียนท่านเลขาธิการ
 
            เราคือเครือข่ายสลัมสี่ภาค เป็นองค์กรของคนจนเมือง ชาวสลัม และคนไร้บ้านในประเทศไทย เรากำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนเมือง พวกเรามาที่นี่ อาคารยูเอ็นเอสแค็ปนี้ เพื่อร่วมระลึกถึงวันที่อยู่อาศัยสากล ประจำปี 2553 และเพื่อยื่นข้อเรียกร้องด่วนต่อท่าน ในฐานะเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ขอให้ท่านใช้อำนาจอันชอบธรรมของท่านในการหาทางออกที่เหมาะสมแก่ปัญหาการไล่รื้อที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ใกล้ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
 
            ในขณะที่ความพยายามอันดับแรกของเครือข่ายสลัมสี่ภาคนั้นมุ่งไปยังการบรรลุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียงและมั่นคงสำหรับประชาชนที่อยู่ชายขอบที่สุดในประเทศไทยนั้น เราตระหนักดีว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ที่นี่เหมือนกัน ยิ่งกับปัญหาที่คุกคามต่อความเป็นอยู่และกระทั่งการดำรงอยู่ของพี่น้องคนจนเมืองของเราในประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ เราเข้าใจดีถึงความสำคัญของความสมานฉันท์ทางสากลระหว่างคนจนเมืองทั่วโลก ที่จะต้องร่วมกันคัดค้านต่อการท้าทายเหล่านี้ ซึ่งกระทบต่อพวกเราเหมือนๆ กัน และเรียกร้องในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรา หนึ่งในนั้นคือสิทธิในที่อยู่อาศัย
 
            เนื่องจากการมีส่วนร่วมของเราในความสมานฉันท์ทางสากล เราได้ติดตามด้วยความห่วงใยอย่างสูงในความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ในบริเวณริมและรอบทะเลสาบบึงกัก ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายใต้สภาพการณ์ที่น่าเคลือบแคลงอย่างสูง รัฐบาลพนมเปญได้ให้สัมปทานที่ดินในบริเวณนี้เป็นเวลา 99 ปีแก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อนุญาตให้บริษัทถมทะเลสาบและพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้า ขณะเดียวกันได้โยกย้ายชาวบ้าน 4,000 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านริมและรอบทะเลสาบออกไป ทั้งที่จำนวนไม่น้อยได้อาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 20-30 ปี ภายใต้การกดดันอย่างหนัก มีกว่า 1,000 ครอบครัวแล้วที่ได้ถูกบังคับให้ย้ายออกไป แต่ยังมีอีกกว่า 2,000 ครอบครัวที่ยังคงอยู่และปรารถนาจะหาทางออกที่จะอนุญาตให้พวกเขาได้คงอยู่ในพื้นที่ ที่ซึ่งแหล่งงาน โรงเรียน และเครือข่ายทางสังคมของพวกเขาตั้งอยู่
 
            น่าเสียดายที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลกัมพูชาได้สมรู้ร่วมคิดกับบริษัทเอกชนในการใช้การข่มขู่คุกคาม บีบบังคับและใช้กำลังขับไล่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบบึงกักให้ไปพ้นจากบ้านเรือนของตน ปัญหายากขึ้นเพราะยังไม่มีการจัดหาที่อยู่ใหม่หรือจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม
 
            เราเข้าใจดีว่าท่านมีแผนการเดินทางเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 27-28 เดือนตุลาคม 2553 ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อท่านว่า ขอให้ท่านได้พบปะกับชาวบ้านรอบทะเลสาบบึงกัก และองค์กรทางสังคมต่างๆ ที่ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ เพื่อจะได้พูดคุยเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พวกเขากำลังประสบอยู่ และช่วยหาทางทำให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการสนใจแก้ไขโดยรัฐบาลกัมพูชา ด้วยจุดมุ่งหมายให้บรรลุถึงซึ่งความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
 
            ปีนี้ หัวข้อของสหประชาชาติสำหรับวันที่อยู่อาศัยสากลคือ “เมืองดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น” แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าทัศนะของรัฐบาลกัมพูชาต่อเมืองที่ดีขึ้นนั้นยังกีดกันความเป็นไปได้ของชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน 4,000 ครอบครัวรอบทะเลสาบบึงกัก เพื่อทำให้การพัฒนาเมืองมีความหมายเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเมืองอย่างเป็นจริง ผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาต่างๆ นั้น อย่างน้อยที่สุดต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อสิ่งที่จะกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เราหวังว่าท่านจะเข้าใจความจริงของหลักการข้อนี้ และยินดีที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยให้เสียงของประชาชนชาวบึงกักดังไปถึงหูของรัฐบาลกัมพูชา เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่น่าพอใจในความขัดแย้งนี้
 
            สมาชิกเครือข่ายสลัมสี่ภาคจำนวน 500 คนจะกลับมาที่อาคารยูเอ็นเอสแค็ปนี้อีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2553 เพื่อรับฟังผลการตัดสินใจของท่านว่า ท่านจะสามารถพบปะกับตัวแทนชุมชนต่างๆ รอบบึงกักและองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือพวกเขาในระหว่างการเยือนกัมพูชาของท่านในวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ได้หรือไม่ เราหวังว่าจะได้รับคำตอบที่น่ายินดีจากท่านในเวลานั้น
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
( นายจิตติ เชิดชู )
ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น