โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"อภิสิทธิ์" เผยแก้ "รัฐธรรมนูญ" ดูที่ความจำเป็นเร่งด่วน ชี้ถ้าทำแล้วบ้านเมืองไม่สงบก็ไม่ทำ

Posted: 25 Oct 2010 02:27 PM PDT

“ภท.” พร้อมโหวตหนุนแก้ รธน. 6 ประเด็น ไม่สนเสียงฝ่ายค้าน ด้าน ส.ว.หนุนกรรมการฯ ชุด “สมบัติ” ชี้ต้องเดินหน้าแก้ รธน.ถอยหลังไม่ได้ ไม่หวั่น ปชป.ค้านเขตเดียวเบอร์เดียว วอนเห็นแก่ประเทศ ดักคอม็อบต้านแก้ รธน.อย่ายึด รธน.เป็นของตัวเอง

 
คมชัดลึกรายงานว่า วานนี้ (25 ต.ค.53) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลในการเกิดปัญหานอกสภาฯ หากไม่มีการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คิดว่าเมื่อเห็นข้อเสนอที่ชัดเจนแล้วเราเวียนให้พรรคการเมืองต่างๆ ดูและนำผลของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดู ประเด็นที่เคยมีความวิตกกังวลกันเช่นว่าแก้ไขเพื่อตัวเองหรืออะไรต่างๆ ทางคณะกรรมการฯ ก็ให้ความเห็นมาแล้วว่าไม่ควรแก้ ฉะนั้นประเด็นพวกนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหา
 
ส่วนที่ยังมีหลายประเด็นยังละเอียดอ่อนอยู่เช่นมาตรา 266 มาตรา 237 ที่ไม่ให้ยุบพรรคแต่มาตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคแทนนั้นนายอภิสิทธิ์  กล่าวว่า อันนั้นเป็นจุดหนึ่งซึ่งต้องพูดกันแต่อย่างที่ตนเรียนว่าถ้าเราจะเริ่มแก้รายละเอียดก็จะวนและไม่จบ อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ส่งข้อเสนอมาเพราะตนต้องดูก่อนว่าเป็นอย่างไร
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าเบื้องต้นดูว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือต้องแก้ส่วนไหนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็อาจจะมาพิจารณาอีกครั้งก็ได้ “แต่สิ่งที่ผมพยายามจะทำคือทำอย่างไรก็ได้ให้เรื่องนี้มันจบ ไม่เป็นเงื่อนไขในการที่จะมาถกเถียงกัน แต่อะไรซึ่งไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
เมื่อถามว่าถึงกรณีที่ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนดีพอ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “แน่นอนครับ เพราะเป้าหมายทั้งหมดแล้วสุดท้ายต้องการให้บ้านเมืองสงบ ถ้าทำแล้วบ้านเมืองไม่สงบก็ไม่ทำครับ” ส่วนจะทำเรื่องนี้ให้จบก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนว่ามันมีหลายเรื่องที่เขาเสนอมามันอาจจะไม่ต้องมีความจำเป็นที่ต้องทำก่อนการเลือกตั้ง อันนี้ก็ต้องคุยกัน
 
ต่อข้อถามถึงการสุ่มตัวอย่างของประชาชนกับการทำประชามติ นายกฯ กล่าวว่า มันมีความต่างกัน แต่ประเด็นคือถ้าจะทำความจริงก็ไม่ขัดข้องซึ่งตนเสนอมาตลอด แต่ว่ากระบวนการก็จะยืดเยื้อออกไปแล้วจะมากล่าวหาว่าเราถ่วงเวลาในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ก็จะเป็นประเด็นหนึ่งในการพิจารณา พูดคุยกัน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าโดยขั้นตอนแล้วเมื่อผ่านมติ ครม.ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ การเข้าสู่สภาจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ และสามารถแก้ไขในระยะเวลาเท่าไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าตกลงกันได้ก็เสนอได้ในสมัยประชุมนี้ แต่ว่ามันก็จะต้องผ่าน 3 วาระ และไม่สามารถทำ 3 วาระรวดได้
 
“ที่สำคัญถ้าไปแตะเรื่องของพรรคการเมืองกับระบบเลือกตั้งก็ต้องไปแก้กฎหมายลูกอีก ซึ่งกฎหมายลูกก็ใช้เวลาหลายเดือนครับ ก็จะเอาเรื่องนี้ไปคุยใน ครม.เพื่อกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน และสิ่งสำคัญอยู่ที่พรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันในก็เร็ว ซึ่งที่ผมตอบคือกระบวนการในสภา” นายกฯ กล่าว
 
 
ภท.พร้อมโหวตหนุนแก้ รธน.6 ประเด็น
 
นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ประธาน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้ทำรายงานสรุปข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นมาแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 พ.ย.ที่จะถึงนี้ว่า พรรคภูมิใจไทยรับได้กับผลการศึกษาทั้ง 6 ข้อ หรือจะ 2 ข้อก่อน เราก็รับได้ในกระบวนการและหลักการโดยไม่มีปัญหาใดๆ พรรคให้ความร่วมมือทุกอย่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการสร้างความปรองดอง โดยส่วนตัวในฐานะประธาน ส.ส.พรรค ไม่ติดใจการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายกฎหมายของพรรคจะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง คิดว่าเมื่อข้อเสนอของนายสมบัติเสร็จและส่งให้นายกฯ ซึ่งเห็นดีด้วย ก็จะส่งเข้าวิปรัฐบาล และเข้าครม.ไม่มีอะไรผิดปกติ จากนั้นเมื่อเข้าสภา ก็จะมีการโหวตเสียงข้างมาก แม้ฝ่ายค้านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องเป็นเรื่องของเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในสมัยประชุมนี้
 
 
ส.ว.หนุน กรรมการฯ แก้ไข รธน.ชุดสมบัติ ชี้ต้องเดินหน้าแก้ 
  
นายดิเรก  ถึงฝั่ง  ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ ของกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานว่า เห็นด้วย เพราะอยู่ในกรอบแนวทางที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้เคยเสนอไว้ ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้า คงไม่ต้องมาพูดย้อนหลังว่าควรแก้ไขหรือไม่แก้ไข สิ่งใดที่แก้ไขได้ก่อนก็เดินหน้าไป อะไรที่ยังเป็นปัญหาก็ศึกษาไป ส่วนที่จะทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งใหญ่นั้นตนก็เห็นด้วย เพราะทุกพรรคจะได้เตรียมตัวล่วงหน้า อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภาซึ่งมีกรอบเวลาในการพิจารณากฎหมายอยู่แล้ว
 
เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้มีการแก้ไขเขตเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยนั้น นายดิเรก กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดจากันหลายครั้งซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียเราต้องเอาหักลบกันแบบไหนมีข้อดีมากกว่าก็ควรจะเลือกแบบนั้น ซึ่งในแบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้นจะทำให้คนเก่ง คนดีที่คนในเขตนั้นรักชอบแต่ไม่มีทุนสามารถเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตนั้นได้ ส่วนที่ระบุว่า เขตเล็กนั้นมีปัญหาซื้อเสียงมาก อยากถามว่า ถ้าเลือกตั้งเขตใหญ่ไม่มีการซื้อเสียงเลยหรือไม่ เขตแบบไหนก็ซื้อเสียงได้ทั้งนั้น เราต้องคำนึงถึงความเป็นจริงดูว่า แบบไหนได้ประโยชน์มากกว่ากันและประเทศชาติสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งข้อเสนอทั้ง 6 ประเด็นก็ควรที่จะเดินหน้าต่อไป
 
เมื่อถามต่อว่า เป็นห่วงหรือไม่ที่กลุ่มสีบางกลุ่มประกาศจะชุมนุมเคลื่อนไหวหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายดิเรก กล่าวว่า การชุมนุมต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีทุกครั้ง ตนอยากให้ทุกคนสงบนิ่ง อย่ายึดตัวเองหรือยึดพรรคพวกเป็นหลัก ขอให้ยึดบ้านเมืองและประเทศ เราปกครองประเทศด้วยระบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งประเทศ เมื่อใช้ไปแล้วเกิดปัญหาก็ควรแก้ไขไม่ใช่แก้ไขหรือแตะต้องไม่ได้ อย่าไปยึดติด หากยึดติดประเทศชาติก็ไม่สงบจะมีปัญหาความวุ่นวายตามมาไม่จบไม่สิ้นและเลิกความคิดที่ว่า แก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเสียที เพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์ของประเทศ
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทั้ง 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.มาตรา 237 ให้ยกเลิกการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัครที่กระทำความผิด 2.มาตรา 93-98 ประเด็นที่มาของ ส.ส. ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 3.มาตรา 111-121 ประเด็นที่มาของ ส.ว. ให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 4.มาตรา 190 ให้คงหลักการเดิม แต่เพิ่มเติมประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 5.มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ตำแหน่งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ และ 6. มาตรา 266 ให้ ส.ส. ส.ว. สามารถช่วยแก้ปัญหาประชาชนผ่านส่วนราชการได้
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อภิสิทธิ์” ชี้ให้เอาข้อเท็จจริงมาเผย หลัง “ผู้การวิสุทธิ์” แฉนักการเมืองแทรกแซง เหตุถูกเด้งเข้ากรุ

Posted: 25 Oct 2010 01:49 PM PDT

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ (25 ต.ค.) ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (รองผบช.ภ.9) แถลงข่าว ในหัวข้อ “ฉะ โผตำรวจ นักการเมืองล้วงลูก” เปิดโปงการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชาการ (รองผบช.) ถึงผู้บังคับการ(ผบก.) วาระประจำปี 2553 ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพิ่งพิจารณาแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา และผลการพิจารณามีการโยกย้าย พล.ต.ต.วิสุทธิ์ จากรองผบช.ภ.9 เป็น รองผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี (รองผบช.กมค.) ทั้งนี้ในการแถลงข่าว พล.ต.ต.วิสุทธิ์ ได้อันเชิญองค์พระพุทธชินราชจำลอง และรูปปั้นเทพกวนอู มาวางไว้เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นพยานในการแถลงข่าวด้วย และหยิบหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวการแต่งตั้งออกมาแสดงด้วย 

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เกิดจากการแทรกแซงของนักการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจาก ขณะที่ตนดำรงตำแหน่งเป็น รองผบช.ภ.9 ได้มีการเข้าไปจับกุมการค้าน้ำมันเถื่อน บ่อนการพนัน หวย โต๊ะบอล และยาเสพติด ที่เป็นการขัดผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง โดยในเรื่องนี้ ถือเป็นการโยกย้ายที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว และเป็นไปตามการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นตามการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นตามการแทรกแซงของนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การโยกย้ายในครั้งนี้ มีผลประโยชน์และโผของนักการเมืองเป็นหลัก
 
พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. และ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมยืนยันว่า เรื่องดังกล่าว ตนจะไม่มีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมแต่อย่างใด แต่จะฟ้องร้องผ่านสื่อมวลชน และประชาชน ให้เป็นผู้ตัดสิน และการต่อสู้ในครั้งนี้นั้น ก็ถือเป็นการทำเพื่อข้าราชการในทุกหน่วยงาน ทุกทบวง ทุกกระทรวง ทุกกรม
 
ด้านไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.15 น.วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ระบุว่าที่ถูกโยกย้ายให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการสำนักกฎหมายและคดีนั้นเกิดจากการแทรกแซงของนักการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ว่า "ยังไม่ทราบเลยครับ การเมืองที่ไหน ก็เอาข้อเท็จจริงมาครับ ใครก็ทำผิดไม่ได้อยู่แล้วครับ"
 
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, มติชนออนไลน์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จตุพร-แม่น้องเกด" นำเสื้อแดงร้องเลขาฯ ยูเอ็น ด้านตำรวจนครบาลเตรียม 7 กองร้อยรับมือ

Posted: 25 Oct 2010 01:15 PM PDT

ตำรวจนครบาลเตรียมกำลัง 7 กองร้อย รับมือ "เสื้อแดง" ยื่นหนังสือเลขาฯ ยูเอ็น เผยยังไม่มีข่าวมือที่ 3 ป่วนสร้างสถานการณ์ ขณะจตุพรเผยยูเอ็นตอบรับให้เข้ายื่นหนังสือ พร้อมเตรียมฟ้องศาลโลกคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พ.ย.นี้

 
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านการจราจร พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น. พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการรับมือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่จะมายื่นหนังสือต่อ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในโอกาสเยือนประเทศไทยในวันที่ 26 ต.ค.นี้ว่า การมาเยือนของคณะเลขาฯ ยูเอ็น คาดว่าจะมาอยู่เมืองไทยไม่นาน น่าจะช่วงประมาณ 10.00 น. ถึงเวลา 16.00 น. ส่วนการที่กลุ่ม นปช.จะไปยื่นหนังสือนั้น ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจนครบาลเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยจำนวน 7 กองร้อย ประกอบด้วย บก.น.1, 2, 5, 6 และกองอารักขาถวายความปลอดภัยและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ซึ่งทุกหน่วยมีหน้าที่รับผิดชอบดูในพื้นที่ส่วนของตนเอง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยมากที่สุด
 
ส่วนการยื่นหนังสือของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นก็คงจะต้องมีดำเนินการไป เพราะว่าเลขาฯ ยูเอ็นไปที่ไหนทั่วโลก ก็มักจะมีการยื่นหนังสือซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่อาจจะไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเดียว อาจจะมีกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในจุดที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษคือบริเวณทำเนียบรัฐบาลและบริเวณหน้ายูเอ็น แต่คาดว่าหากมีการยื่นหนังสือก็คงจะเป็นที่หน้ายูเอ็น
 
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะจัดที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับผู้มายื่นหนังสือ โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.วิชัย ผบก.น.1 คอยดูแลจัดระเบียบรวมทั้งเจรจากับผู้ที่มายื่นหนังสือทุกกลุ่มเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ทางการข่าวคาดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะมีพอสมควรและอาจจะมีหลายกลุ่ม แต่เนื่องจากเลขาฯ ยูเอ็น มีช่วงจำกัดที่อยู่ในประเทศไทย การจะทำอะไรเยอะๆ คงไม่ได้ คงต้องทำแบบรวดเร็ว ส่วนการข่าวเรื่องมือที่ 3 เข้ามาก่อความไม่สงบนั้นยังไม่มี
 
เมื่อถามว่าจะมีการปิดการจราจรหรือไม่ พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวว่า ปกติคงจะไม่มีการปิดการจราจร ยกเว้นหากคณะขบวนของเลขาฯ ยูเอ็น จะเคลื่อนขบวนไปที่ใด ทางเจ้าหน้าที่ก็จะอำนวยความสะดวกในการจราจรอย่างเต็มที่เนื่องจากเป็นแขกบุคคลสำคัญ ก็คงมีการปิดการจราจรเฉพาะช่วงที่มีการเคลื่อนขบวนเท่านั้น และยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่จะดูแลความปลอดภัยเลขาฯ ยูเอ็นได้
 
 
"จตุพร - แม่น้องเกด" นำยื่นร้องเลขาฯ ยูเอ็น
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. กล่าวว่า ได้รับการตอบรับจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทยเรื่องที่จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายบัน คี มุน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอนุญาตให้ส่งตัวแทนกลุ่ม นปช.เข้ายื่นหนังสือภายในสำนักงานยูเอ็นประจำประเทศไทยได้ 4 คน ประกอบด้วย น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ทีมวิชาการกลุ่ม นปช. นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมลเกด อัคฮาด หนึ่งในผู้เสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนารามวรวิหาร และตนเอง ส่วนคนที่ 4 อยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับเวลาคาดว่าอยู่ระหว่าง 13.00-14.00 น.
 
นายจตุพรกล่าวว่า กรณี ผบ.ทบ.ห้ามคนเสื้อแดงชุมนุมในระหว่างที่เลขาธิการยูเอ็นเยือนประเทศไทยนั้น ไม่มีอะไรต้องน่าเป็นห่วง เพราะไม่มีการชุมนุมอยู่แล้ว หลังยื่นหนังสือเสร็จจะเดินทางกลับทันที อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถไปห้ามผู้ที่จะมาร่วมเป็นสักขีพยานได้และไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีคนมาร่วมจำนวนเท่าใด แต่ก็ขอร้องให้ประชาชนอยู่อย่างสุภาพชน ความจริง ผบ.ทบ.มีหน้าที่ป้องกันประเทศ ไม่ใช่มากำหนดการยื่นหนังสือของประชาชน และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์มองโลกในแง่ดีบ้าง เพราะถ้ามองแบบมีปัญหาก็จะมีแต่ปัญหา
 
 
เผย พ.ย.ฟ้องศาลโลกคดีปราบม็อบ
 
นายจตุพรกล่าวกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สุราษฎร์ธานี ระบุคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในการชุมนุมที่ กทม.นั้นเกิดจากการฆ่ากันเอง ว่า เรื่องนี้คนเป็นนักกฎหมายควรที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังไม่มีการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตและผู้ที่ทำให้เสียชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะเมื่อรัฐบาลตั้ง ศอฉ.แล้วเอาปลัดกระทรวงทุกกระทรวง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นกรรมการร่วมด้วย จึงทำให้ผู้มีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นไปอยู่กับพวกฆาตกร ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ดำเนินไปโดยปกติ และหากกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง ก็ต้องถามว่าแล้วเหตุใดไม่ชันสูตรพลิกศพ แต่ที่ไม่กล้าและยังยัดเยียดความผิดให้กับผู้เสียชีวิตก็เพราะกลัวกระบวนการยุติธรรมตามปกติใช่หรือไม่
 
"หากนายชวนและคนในรัฐบาลยืนยันว่าคนเสื้อแดงฆ่ากันเอง แล้วคำให้การของผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน พยานที่อยู่ในวัดปทุมวนารามฯกว่า 3 พันคน ที่เขาให้การว่าใครเป็นผู้ฆ่า คลิปวิดีโอหลายชิ้นที่ปรากฏออกมาล้วนชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องยื่นเรื่องให้นายบัน คี มุน ได้รับทราบข้อเท็จจริง และในเดือนพฤศจิกายน คดีความที่เราจะยื่นฟ้องศาลโลกก็จะดำเนินการ" นายจตุพรกล่าว
 
นายจตุพรกล่าวว่า จะขอตรวจสอบคำปราศรัยหาเสียงของนายชวนว่าเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในเรื่องการใส่ร้ายให้เข้าใจผิดหรือไม่ หากเข้าข่าย ก็ต้องต้องดำเนินคดี
 
 
ปชป.ชี้ "แดง" รุกหวังผลการเมือง
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่ม นปช.เตรียมส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อเลขาฯ สหประชาชาติว่า ทราบว่าคงมีการประสานกันแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีการประสานงานกันอย่างไร
 
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแสดงออกทางการเมืองที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายสามารถทำได้ แต่หากจะหวังผลในทางปฏิบัติถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะยูเอ็นซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศจะไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอย่างแน่นอน หากนายจตุพรมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวสามารถที่จะยื่นฟ้องต่อศาลโลกได้ ทำไมไม่ใช้ช่องทางดังกล่าว กลับมายื่นหนังสือให้กับเลขาธิการยูเอ็น ซึ่งเป็นแขกบ้านแขกเมืองทำไม และเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวของคนกลุ่มนี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวที่หวังผลทางการเมืองเท่านั้น ไม่ควรที่จะเคลื่อนไหวในลักษณะทำลายชื่อเสียงของประเทศ
 
 
ไทยอีนิวส์รายงานความเคลื่อนไหวคนเสือแดง
 
ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวไทยอีนิวส์ รายงานความเคลื่อนไหวของคนเสือแดงกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่มประชาธิปไตยก้าวหน้า และสมัชชาสังคมก้าวหน้านัดหมายรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานยูเอ็นเพียงจุดเดียวระหว่างเวลา 12.00-14.00 น. ซึ่งเป็นช่วยเวลาที่นายบัน คี มุน นัดพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อความเป็นระเบียบและเอกภาพ นอกจากนี้ยังนัดให้ผู้ร่วมกิจกรรมทำป้ายภาษาอังกฤษมาด้วย
 
โดยในส่วนสมัชชาสังคมก้าวหน้า ได้ยื่นขอเรียกร้องให้ 1.เปิดเผยรายชื่อผู้ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมด 2.ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และ 3.เร่งเปิดเผยผลสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม เพื่อนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย
 
ส่วนกลุ่มที่นัดหมายกันทางเฟสบุ๊ค คือ กลุ่ม"ลุงยิ้ม ตาสว่าง" ได้นัดหมายพบกันในเวลา 10.00 น. โดยแจ้งว่าเตรียมป้ายต้อนรับนายบัน คี มุน ไว้มากกว่า 200 ป้ายทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาเกาหลี และขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมซ้อมเพลงมาร์ชเสื้อแดงไว้ร้องร่วมกันเพื่อแสดงพลัง อีกทั้งยังมีในส่วนของกลุ่มเว็บบอร์ด อินเตอร์เน็ตฟรีดอม (IF) ก็มีการเตรียมจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มุนในฉบับภาษาอังกฤษด้วย
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ที่รณรงค์ด้านประชาธิปไตยได้มีการจัดทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายบัน คี มุน เรื่อง ข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตย โดยรุบุว่าเหตุการณ์อันเป็นที่เจ็บปวด และจดจำของประชาชนเกาหลีในระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม 1980 ณ เมืองกวางจู ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกและกำลังเกิดขึ้นในประเทศภาคีสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อพิทักษ์สันติภาพและความเที่ยงธรรมแห่งสหประชาชาติ เช่นในประเทศไทยแห่งนี้ เหตุการณ์ล่าสุดในลักษณะเดียวกันนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2010

เราในนามประชาชนไทยผู้รักเสรีภาพ รักสันติ ความเสมอภาคเท่าเทียม และประชาธิปไตย ขอส่งผ่านข้อเรียกร้องให้องค์การที่เป็นความหวังหนึ่งของมวลหมู่มนุษยชาติแห่งสหัสวรรษใหม่ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และระงับยับยั้งการสังหารหมู่ผู้ปรารถนาประชาธิปไตย ซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับหลักนโยบายแห่งรัฐและคณะรัฐาธิปัตย์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

 
ล่าสุด ไทยอีนิวส์ รายงานว่ามีผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวกว่า 10,000 รายชื่อ ประกอบด้วยรายชื่อจากกลุ่มแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย มีผู้ลงนามจำนวน 9,416 รายชื่อ นอกจากนั้น เป็นการรวบรวมรายชื่อผ่านอินเตอร์เน็ตดำเนินการโดยนายรุ่งโรจน์ วรรณศูทร มีผู้ลงนามราว 1,000 รายชื่อ คลิ้กดูเพิ่มเติมที่นี่
 


ที่มา: มติชนออนไลน์, ไทยอีนิวส์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ 18 - 24 ต.ค.53

Posted: 25 Oct 2010 10:30 AM PDT

นายพลพม่าไม่พอใจต้องทิ้งชีวิตทหาร เตรียมเลือกตั้ง/ เจ้าหน้าที่ตรวจค้นค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ/ ชาวบ้านสับสนการเปลี่ยนธงชาติ เพลงชาติและชื่อประเทศใหม่/ ทางการพม่ารักษาความปลอดภัยในย่างกุ้งเข้ม หวั่นประท้วง/ พายุไซโคลน “กิริ” พัดถล่มชายฝั่งรัฐอาระกันเสียหายหนัก
 
18 ต.ค.53
 
นายพลพม่าไม่พอใจต้องทิ้งชีวิตทหาร เตรียมเลือกตั้ง 
แหล่งข่าวรายงานว่า นายพลในกองทัพพม่าหลายรายที่ถูกบังคบให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้ง 2010 หรือกำลังจะได้รับตำแหน่งใหม่ในสภาหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ต่างไม่พอใจและเสียใจที่ต้องทิ้งชีวิตทหารก่อนถึงวันเกษียณอายุราชการ มีรายงานด้วยว่า กระแสไม่ชอบนายพลอาวุโสตานฉ่วยวัย 77 และนายพลอาวุโสหม่องเอวัย 73 กำลังแผ่ขยายในกลุ่มนายพลรุ่นน้องที่ถูกให้บังคับให้ลาออกจากกองทัพ นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันถึงบทบาท รวมถึงการตั้งคำถามว่า ผู้นำสูงสุดทั้งสองคนจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อไหร่ 
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีนายพลได้รับผลกระทบจากการสับเปลี่ยนตำแหน่งในกองทัพ แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ด้านผู้สังเกตการณ์มองว่า เริ่มมีความสับสนระหว่างกลุ่มนายพลที่ยังอยู่ในกองทัพ และกลุ่มนายพลที่ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกับที่เริ่มมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวระหว่างทั้ง สองกลุ่มด้วยเช่นกัน 
 
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรายงานด้วยว่า นายพลบางคนที่ต้องลาออกจากตำแหน่งไม่กล้าเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทหาร แต่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแทน “ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า เกิดอะไรขึ้นในกองทัพ แต่กองทัพดูจะแตกแยก แบ่งเป็นพรรคเป็นพวกมากกว่า ซึ่งก็แตกต่างจากภาพที่เราเคยเห็นว่ากองทัพพม่าแข็งแกร่งและพร้อมเพรียงกัน” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว (Irrawaddy)
 
 
21 ต.ค.53 

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ 
เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย เข้าตรวจค้นค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก หลังได้รับรายงานว่า มีการซ่อนอาวุธและยาเสพติดภายในค่ายผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ภายหลังเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดปืนสั้น 3 กระบอกและกัญชาอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้ลี้ภัยจำนวน 20 คน ถูกจับกุมขัง อย่างไรก็ตามภายหลังทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว มีเพียงเจ้าของบ้านที่ตรวจพบกัญชาเท่านั้น ที่ยังถูกกุมขังอยู่จนถึงขณะนี้
 
มีการคาดการณ์กันว่า การตรวจค้นค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละครั้งนี้ อาจเพื่อเตรียมต้อนรับการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย ทั้งนี้ ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ถือว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด โดยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าอาศัยอยู่จำนวนกว่า 45, 000 คน (DVB)
 
 
22 ต.ค.53

ชาวบ้านสับสนการเปลี่ยนธงชาติ เพลงชาติและชื่อประเทศใหม่ 
การเปลี่ยนธงชาติ เพลงชาติและชื่อประเทศใหม่กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมกันอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับที่ประชาชนกำลังเกิดความสับสน โดยเฉพาะประชาชนในรัฐอาระกัน มีรายงานเช่นกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเปลี่ยนธงชาติใหม่และชื่อประเทศในครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่ยังคงสับสนกับการเลือกตั้งในเดือนหน้าที่จะถึงนี้ด้วย ขณะที่การเปลี่ยนธงชาติครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนครั้งแรกในรอบ 36 ปี
 
 มีรายงานเพิ่มเติมว่า คนที่เชิญธงชาติผืนเก่าลง จะต้องเป็นคนที่เกิดวันอังคารเท่านั้น ส่วนคนที่เชิญธงชาติผืนใหม่ขึ้นสู่ยอดเสาจะต้องเป็นคนเกิดวันพุธ ซึ่งจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านและวัยรุ่นบางส่วนต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าไม่เหมาะสม (Kaladan /DVB) 
 
 
23 ต.ค.53

ทางการรักษาความปลอดภัยในย่างกุ้งเข้ม หวั่นประท้วง 
มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามเมืองในกรุงย่างกุ้งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีรายงานออกมาว่า พระสงฆ์และนักเคลื่อนไหวเตรียมที่จะออกมารวมตัวกันที่เจดีย์ชเวดากอง เพื่อประท้วงการเลือกตั้งในเดือนหน้า มีรายงานว่า รถบรรทุกของเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้ประจำรอบเมือง พร้อมกับที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดบริเวณเจดีย์ชเวดากอง ในช่วงที่มีประชาชนมาทำบุญเป็นจำนวนมาก เพราะตรงกับวันออกพรรษา
 
ด้านนักข่าวท้องถิ่นอ้างว่า พบเห็นพระสงฆ์ 2 รูปถูกจับกุมตรงเจดีย์ชเวดากอง มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้นักการเมืองฝ่ายค้านเดินทางไปยังเมืองกาเล ในภาคสะกาย เพื่อไปร่วมประชุมกับผู้นำชนกลุ่มน้อย (Irrawaddy)
 
 
24 ต.ค.53

พายุไซโคลน “กิริ” พัดถล่มชายฝั่งรัฐอาระกันเสียหายหนัก 
พายุไซโคลนกิริ ได้พัดถล่มชายฝั่งในหลายเมืองของรัฐอาระกันเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 50 คน และคาดตัวเลขน่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีสูญหาย พายุไซโคลนกิริได้ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในหมู่บ้านเลทกามอ เพียงแห่งเดียว มีบ้านเรือนได้รับเสียหายกว่า 700 หลังคาเรือน ซึ่งขณะนี้นี้คาดว่า น่าจะมีประชาชนหลายพันคนต้องไร้บ้าน ด้านประชาชนราว 5 พันคนต้องใช้โรงเรียนและวัดเป็นที่หลบภัยและที่พักชั่วคราว
 
ขณะที่ความเร็วลมของพายุไซโคลนกิริครั้งนี้อยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีคลื่นสูงถึง 3.6 เมตร เมืองมีโบน และพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเค้าก์พรูและเมืองชิตต่วย เป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนกิริมากที่สุด ด้านสื่อบังกลาเทศรายงานเช่นกันว่า ขณะนี้เรือหาปลาของบังกลาเทศจำนวน 21 ลำ ซึ่งมีลูกเรืออยู่บนเรือจำนวน 100 คนได้สูญหายจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวเบงกอลนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน (Narinjara/Irrawaddy)
 
 
...............................................................................................................................................................
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost  และทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับ พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง ว่าด้วยบทบาททหารกับการเมืองไทย

Posted: 25 Oct 2010 10:15 AM PDT

 
 
พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง รองผู้อำนวยการกองการเมือง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในทหารไม่กี่คน ซึ่งพูด ทวีต และเขียนบล็อกเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการเมืองและสังคมไทย ประวิตร โรจนพฤกษ์ พูดคุยกับเขาถึงกองทัพ การเมืองและสังคม
 
ประวิตร: ทำไมคุณจึงคิดว่าอาจมีรัฐประหารอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ 
พ.อ.ธีรนันท์: เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สงบเสียทีเดียว มันเป็นความเชื่อที่ตกค้างมาจากในอดีต และในการทำรัฐประหารครั้งที่แล้ว กองทัพได้เข้ามาใกล้กับการเมืองในระยะใกล้เกินไป ทำให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกของนักการเมือง แทนที่จะเป็นกลไกของรัฐในการทำงานเรื่องความมั่นคง วันนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดรัฐประหาร ผมเองก็ไม่อยากให้เกิด และผมเองก็เชื่อมาตลอดว่ามันจะไม่เกิด แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิด เพราะมันจะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ คือต้องยอมรับว่าช่วงพฤษภาทมิฬ กองทัพได้ห่างจากวงจรอุบาทว์ไปพักหนึ่ง ออกไปยืนในจุดที่ดี แต่อาจเพราะกลุ่มการเมืองดึงเข้ามาหรือผู้นำทหารในยุคหนึ่ง ดึงเข้ามา ทำให้วันนี้กองทัพจะถอยตัวออกไปยืน ก็ไม่ง่าย มันต้องใช้เวลา หากถอยออกมาห่างได้ไม่พอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะกลับเข้ามาสู่วงจรที่เราไม่ชอบกัน ก็คือวงจรอุบาทว์
 
ถ้ามีรัฐประหาร ประเทศไทยก็จะถอยหลังเข้าใกล้กับโมเดลพม่าเข้าไปทุกทีหรือเปล่า
ผมว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงในพม่ายุคนั้นข้อมูลข่าวสารสื่อสารลำบาก แต่ในปัจจุบันการสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อาจจะมีความพยายามเข้าไปสู่จุดนั้น แต่ผมว่ามันไม่ง่าย เราไม่สามารถปิดกั้นได้ขนาดนั้น
 
ในฐานะทหารที่มีมุมมองทางประชาธิปไตย บทบาททหารไทยควรจะเป็นอย่างไร
ช่วงใกล้ เป็นช่วงความขัดแย้ง อาจมีความใกล้กับการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเยอะ แต่ในระยะยาว มองถึงความเป็นทหารอาชีพ ที่ยืนอยู่ในจุดที่เหมาะสมของสังคมไทย มีบริบทในการป้องกันประเทศ ส่วนความขัดแย้งภายใน ถ้าไม่จำเป็นในอนาคตควรจะเป็นเรื่องของภาคส่วนอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทส. หรือคนอื่นๆ มากกว่าทหาร
 
แต่ดูเหมือนทหารไทยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่จบสิ้นเสียที จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 2475 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
มันเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน คิดว่าทหารเองก็พยายามปรับ และคนในกองทัพหลายคนพูดกันเยอะเรื่องกองทัพอาชีพ และการชนกันของกลุ่มอำนาจทหารกับพลังของประชาชนในช่วง 2535 ทำให้เกิดแรงผลักให้ทหารกลับไปยืนในจุดที่ดี หลัง 35 เราไปยืนในจุดที่ดีมากจนถูกดึงเข้ามาในช่วง 19 กันยาที่ผ่านมา คิดว่าวันนี้ทหารหลายคนก็อยากจะกลับไปยืนที่จุดเดิม เพียงแต่ความพัวพันของสถานการณ์ยังทำให้เราถอยออกไปยืนไม่ได้ 
 
คุณคิดว่าทหารต้องมีส่วนรับผิดชอบกับกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ หรือไม่ อย่างไร
วันนี้เราเป็นจำเลยของสังคม ผมเคยพูดในหลายที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สั่งใช้ทหาร เราจะเป็นจำเลยของสังคมทันทีไม่ว่าจะมีการสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะต้องไม่ลืมว่าทหารถูกฝึกมาเพื่อบริหารจัดการความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราเป็นคนที่ใช้กำลังในการจัดการอริราชศัตรู เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสั่งให้ทหารเข้าปฏิบัติการ ก็อาจมีโอกาสเกิดความสูญเสียขึ้นได้ ผมไม่ได้ป้องกันหรือแก้ตัวให้ใครแต่ผมมองว่าทั้งหลายทั้งมวล คือความรับผิดชอบของผู้สั่งการ เพราะทหารทำตามที่ได้รับคำสั่ง อยากให้เห็นใจผู้ปฏิบัติงาน
 
อยากบอกอะไรต่อเพื่อนพี่น้องหรือผู้บังคับบัญชาทหารที่ตอนนี้นิยมชมชอบกับการรัฐประหาร เพราะตอนนี้ก็มีคนกลัว ไม่เพียงแต่คุณ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็ออกมาพูดว่าอาจจะไม่มีเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ 
คงไม่ฝากอะไรถึงใคร เพียงแต่อยากจะบอกว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่า การทำรัฐประหารไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าแต่ทำให้เราถอยหลัง แต่จะทำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นทุกคนด้วยความเป็นทหาร ก็อยู่ในเรื่องของระเบียบวินัย เมื่อสั่งการมาก็ต้องปฏิบัติตาม
 
ทำไมคนไทยจำนวนมากในสังคมนี้จึงคิดพึ่งทหารบ่อยเหลือเกิน คราวที่แล้วเมื่อ 19 กันยา 49 ก็มีการเอาดอกไม้ไปให้ 
ต้องโทษสังคมไทย เรามักจะรอพระเอกขี่ม้าขาว มักจะไม่ยอมให้ปัญหามันถึงที่สุดแล้วแก้หรือหาทางเลือกที่ดี แต่เรามักจะเลือกทางแก้ปัญหาอะไรก็ได้ให้มันยุติลง โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ความรู้กับสังคมไทยว่าเราควรจะเลือกที่จะแก้ปัญหาโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ไม่ควรดึงเอากองทัพเข้ามาวุ่นวายด้วย
 
ในความเห็นของคุณ ทำไมอเมริกาจึงไม่มีรัฐประหาร 
แตกต่างกันแน่นอน ในอเมริกา การเกิดขึ้นของประเทศเขา มีรากฐานมาจากการต่อสู้และเขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน และผ่านวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่คือสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นบริบทที่ผมคิดว่าสร้างบทเรียนสำคัญให้กับสหรัฐฯ และที่สำคัญคือโครงสร้างของกองทัพมีบริบทของการเตรียมกำลังและใช้กำลังที่แยกจากกันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เตรียมกำลังก็ไม่สามารถสั่งใช้กำลังได้
 
ถึงแม้จะเป็นกองทัพที่มีแสนยานุภาพสูงที่สุดในโลก คือถ้ามองในแง่นี้อเมริกาอาจจะทำรัฐประหารได้ง่ายที่สุด เพราะทหารมีอาวุธครบทุกอย่าง
ใช่ครับ แต่อยากให้มองว่าการใช้กองทัพจะมีอยู่หลายภาค หนึ่ง เกณฑ์กำลัง สอง จัดกำลัง สาม ใช้กำลัง สามอันนี้ควรจะมีการแยกส่วน เพราะถ้ารวมอยู่ที่เดียว มันจะเป็น absolute power แต่เราเตรียมโดยคนกลุ่มหนึ่ง สร้างพิมพ์เขียวขึ้นมา แล้วจัดโดยคนกลุ่มหนึ่ง แล้วใช้โดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ความหมายของการจัด เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขึ้นมา ผู้จัดอาจจะเป็นสภาหรือฝ่ายบริหาร แต่ผู้ที่จะใช้กำลัง ต้องได้รับการเลือกสรรโดยผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้น คนที่เตรียมกำลัง เมื่อไม่สามารถใช้กำลังได้ ก็จะไม่สามารถเคลื่อนไหวโดยเอากองทัพไปใช้ในเรื่องส่วนตัวได้
 
ของไทยเป็นแบบรวมศูนย์หรือ
ของไทยคือการจัดกำลัง เตรียมกำลัง และใช้กำลังเป็นอำนาจของผู้นำเหล่าทัพ เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในสภาพของ absolute power อยู่อย่างนี้ มันจึงมีความแตกต่าง เพราะโครงสร้างที่มีมาแต่อดีต จึงทำให้ไม่เหมือนสหรัฐฯ
 
ในความเห็นของคุณ ทหารจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีสถานีโทรทัศน์และวิทยุจำนวนมาก ซึ่งในต่างประเทศ มีกองทัพไม่กี่ประเทศที่ทหารมีทีวี ที่ผมเข้าใจเช่น กองทัพอเมริกาที่เกาหลี ที่มีทีวีก็เป็นทีวีเฉพาะให้ทหารของอเมริกันที่ประจำอยู่ต่างประเทศดู แต่ไม่ใช่ทีวีแบบช่อง 5 
การเกิดขึ้นของทีวีวิทยุทหารเกิดในช่วงสงครามเย็น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ปัจจุบันมันก็สืบทอดมา แต่ในอนาคตน่าจะเป็นแบบที่หลายคนมองกัน คือมีทีวี 3 รูปแบบ คือทีวีเพื่อธุรกิจ เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งจะมีภาคธุรกิจเข้ามายุ่งน้อย มีโฆษณาน้อย และสุดท้ายคือทีวีท้องถิ่นหรือทีวีชุมชน ถ้าเราจัดโครงสร้างได้แบบนี้ก็จะไม่เป็นแบบในปัจจุบัน แต่หากเรามีแล้ว หากใช้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มี หมายความว่าในช่วงเกิดภาวะวิกฤต เราก็จะไม่มีอิสระในการใช้ช่วงเวลาได้อย่างที่เราต้องการ 
 
กองทัพไทยกับพม่ามีความแตกต่างกันไหม ในแง่การยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่ในแง่แสนยานุภาพหรือศักยภาพ 
ผมว่ากองทัพพม่าอยู่ในภาวะที่บาดเจ็บจากประเทศอังกฤษมาห้วงหนึ่ง คือคนพม่ามีความเจ็บช้ำน้ำใจจากการเข้ายึดครองของอังกฤษ เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่หลายคนยินยอมไม่ได้ที่จะกลับไปสู่ภาวะแบบเดิมอีก แต่กองทัพไทย ผมว่าหลายคนก็เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย มีความรู้ด้านพลเรือนเป็นอย่างดี เพียงแต่เมื่อมองความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์กับบริบท มันทำให้เราเองก็ยังไปไม่ถึงสภาพของกองทัพมืออาชีพแบบในมุมมองตะวันตก ต้องใช้เวลา มันยังอยู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน 
 
อีกนานไหม
ไม่นาน เพราะทุกอย่างมันเร็ว ความขัดแย้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่พลเรือนคุมและสั่งใช้กองทัพ เพราะฉะนั้นอำนาจก็เริ่มถูกถ่ายไปสู่ฝ่ายการเมืองมากขึ้น 
 
อาจเพราะกองทัพตระหนักว่าถ้าเทคโอเวอร์รัฐบาล ก็ไม่สามารถคุมได้อยู่ดี มันก็จะมีปฏิกิริยาออกมารุนแรงกว่า ก็เลยคล้ายๆ กับยืมมือรัฐบาล รัฐบาลก็รู้ว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้กองทัพแบบนี้ กองทัพก็รู้ว่าอยู่ตรงตำแหน่งนี้น่าเหมาะที่สุดหรือเปล่า
ก็มีสิทธิมองได้ แต่ด้านของคนที่ทำงานเป็นทหาร หลายคนมองว่าเขารักประเทศชาติ คือ เขาอาจจะเลือกทางเดินที่ต้องยอมรับการที่มีพลเรือนคุมทหาร กระแสโลกก็ผลัก คือ Security Sector Reform และ Security Sector Governance สองคำนี้เป็นคำที่วันนี้กองทัพถูกท้าทาย คือ ในอดีต หน่วยงานความมั่นคงทำงานในลักษณะ mission-based เป็นกล่องดำ มองไม่เห็นกระบวนการทำงาน แต่ปัจจุบัน อย่างใน พ.ร.บ.ความมั่นคง ต้องเขียนแผนก่อนการปฏิบัติ ก็จะขยับจาก mission-based เป็น process และสุดท้ายก็คือ governance based คือต้องถูกตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดงาน คิดว่าไม่นานหลายคนจะได้เห็น เพราะมันถูกกระแสสังคมผลักมาแล้ว
 
ทำไมคุณจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือบทบาทของทหาร ไม่กลัวถูกลงโทษทางวินัยหรือ
ผมรักกองทัพ ผมรักอาชีพผม แล้วผมก็ยังไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่เสียหาย แต่ผมมองในมุมมองวิชาการและบริสุทธิ์ใจกับสิ่งที่ตัวเองพูด ผมไม่ได้พูดเรื่องปัจจุบันเลย แต่ผมพูดถึงเรื่องอนาคตว่ามันควรจะเป็นอย่างไร 
 
แล้วทำไมคนที่มีความคิดแบบคุณในกองทัพจึงมีจำนวนน้อย 
อาจจะมีมากก็ได้ แต่เขาไม่มีช่องทางในการสื่อสาร
 
ประชาไท: หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการพูดว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาที่ผ่านมา ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองสูงขึ้น และตอนนี้ดูเหมือนว่าการเรียกร้องให้ทหารกลับไปเป็นทหารอาชีพแทบจะไม่มีเลย ทหารกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่
ผมเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่เสร็จ โดยแบ่งสภาวะของสังคมไทยเป็นหลายแบบ แบบหนึ่งคือเมื่อไรก็ตามถ้าทหารเข้าไปใกล้กับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ ก็จะทำให้สังคมเสียสมดุล คือผมแบ่งกลุ่มอำนาจเป็นสามกลุ่มคือกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผู้นำทางทหาร ถ้าสามกลุ่มมีระยะที่ดี ก็จะทำให้สังคมมีความสมดุล แต่หากใกล้กันเกินไป ก็จะทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทำให้สังคมไม่มีความสมดุล 
 
ประชาไท: กองทัพดูเหมือนจะมีอำนาจมากขึ้นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่อง GT 200 ซึ่งมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะมีการทุจริต แต่ก็ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ มองอย่างไร
ผมมองเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อด้วยภาษีของประชาชน จะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใส ผมเคยไปเดินแถวฐานทัพเรือสหรัฐขนาดใหญ่ เดินๆ อยู่เขาก็ลากผมขึ้นไปบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ใช้เวลาเดินอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง เมื่อถามว่าทำไมจึงพามาเดิน เขาก็บอกว่านี่คือภาษีประชาชน เขาต้องเปิดแสดงให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าอาวุธใช้งานได้ และเอามาใช้ทำอะไร เช่นเดียวกัน คำถามหนึ่งของสังคมไทยก็คือ ถ้าเรามีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยขาดความเคลือบแคลงใจของประชาชนแล้ว ผมคิดว่าไม่ว่ากองทัพอยากได้อะไร ประชาชนก็น่าจะยินดีสนับสนุนมากกว่าการซื้อแบบปิดลับ
 
ประวิตร: ถ้าให้เลือกตัวอย่างที่ดีของกองทัพในประเทศอื่นเท่าที่คุณรู้จัก คุณชื่นชมกองทัพประเทศไหนมากที่สุด และทำไม
ตอบยาก ผมไม่อยากจะโปรประเทศใดประเทศหนึ่ง ผมชอบความมีวินัยของทหารเยอรมันกับญี่ปุ่น วินัย สำคัญตรงที่ว่าวันนี้ถ้าเราสั่งซ้ายหันขวาหัน เขาก็หัน แต่ว่าถ้าเขาคิดเริ่มมีความคิดเป็นอิสระ จะหันเข้าหากันเอง นี่คือความน่ากลัวของสังคม สำหรับทหารไทย กองทัพก็ดีของมันอยู่แล้ว เปลี่ยนแค่ผู้นำเหล่าทัพ เขาก็จะหันไปตามผู้นำเหล่าทัพ แต่ในอนาคตถ้าเรายิ่งเร่งหรือทำให้กองทัพมีการเมืองเข้ามาปะปน ทุกคนก็จะมีขั้วของตัวเอง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ขั้วต่างเหล่านี้ก็จะหันปืนเข้าหากัน และจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง นั่นคือความน่ากลัว
 
เมื่อเร็วๆ นี้กองทัพสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าพื้นที่ในไซเบอร์สเปซเป็นพื้นที่ที่ต้องปกป้องอธิปไตยพอๆ กับพื้นที่ทางอากาศ อวกาศและบนดิน ซึ่งเป็นครั้งแรกของกองทัพหรือรัฐบาลใดในโลก ที่ประกาศออกมาชัดเจนว่าเรามีพื้นที่ที่ต้องรักษาอธิปไตยอีกที่หนึ่ง นั่นคือโลกในอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่คุณก็ใช้อินเทอร์เน็ต ใช้ทวิตเตอร์ และมีความสนใจเรื่องอินเทอร์เน็ตเป็นพิเศษ มองอย่างไร เพราะตอนนี้ก็มีเสียงโจษจันว่าจะนำมาสู่การมอนิเตอร์อีเมลของประชาชนอเมริกันหรือคนที่ไม่ใช่อเมริกันมากขึ้น ขณะที่ตอนนี้ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันว่าชาติอื่นจะมองอย่างไร แต่อเมริกาประกาศนำทางไปแล้ว และมีศูนย์บัญชาการ ซึ่งเริ่มปฏิบัติการแล้วเมื่อวันที่ 10 หรือ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
เขามีหลักการคือระบบการสื่อสารเขาล่มไม่ได้ และสิ่งที่เขาประกาศนั้นไม่น่าแปลกใจเพราะเขามีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น National Security Agency (NSA) ที่มีหน้าที่มอนิเตอร์ทั้งโลก เพียงแต่การประกาศครั้งนี้เหมือนกับการครอบครองพื้นที่ก่อน เพราะสหรัฐฯ มองเรื่องผลประโยชน์ชาติไม่ว่าในการค้าขายหรือทำธุรกิจก็ตาม เป็นตัวตั้งอันดับหนึ่ง แต่คำถามคือมันจะนำไปสู่อะไรบ้าง ก็คงเกิดการเคลื่อนไหวใต้ดินในเน็ต เพราะมันคือความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงของชาติ กับความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งหากมีการทำตรงนี้ก็คือมีการละเมิดสิทธิ์ ก็ต้องเกิดการต่อต้านแน่นอน ส่วนเรื่องการดักฟังก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ทำมาอยู่แล้วเพื่อป้องกันภัยต่อความมั่นคง นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่เป็นบริบทใหม่ 
 
การที่สังคมไทยมีการรายงานข่าวนายพลดังๆ ไม่เพียงแค่ ผบ.ทบ. เยอะมาก ยกตัวอย่างในช่วงหลัง เช่นคุณวาสนา นาน่วม ให้ความสำคัญกับทหารโดยเฉพาะระดับอาวุโสเยอะ เป็นกึ่งๆ celebrity ไม่ใช่แค่ เสธ.ไก่อู การที่ทหารมีบทบาทในการแสดงความเห็นเรื่องการเมือง เยอะมากและบ่อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอื่น เป็นปัญหาหรือไม่
ผมมองว่าเป็นเรื่องงูกินหาง สื่ออยากรู้ก็ไปถาม เมื่อไม่ตอบก็เป็นปัญหา เมื่อตอบก็เป็นข่าว ผมว่าถ้าสื่อไม่เล่นก็ไม่มีเรื่องนี้ออก อาจจะเป็นมุมมองของสื่อหรือความเชื่อของสื่อเองที่มองว่าทหารยังคงเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในสังคมไทย ผมคิดว่าถ้าสื่อไม่ถามก็คงไม่มีคำตอบจากทหาร เพราะทหารคงไม่แสดงความคิดเห็น เท่าที่ผมทราบคนหลายคนอยากพูด แต่สื่อไม่สนใจ ก็ไม่มีข่าวออก แต่คนบางคนแค่กระแอม สื่อได้ยินก็เอาไปออก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าต้องถามสื่อว่าทำไมจึงให้ความสำคัญ ถ้าเราลดความสำคัญ โดยสื่อไปเล่นข่าวด้านอื่น ก็อาจจะทำให้มันหายไปจากสังคมไทยก็ได้
 
ผมคิดว่าผู้อ่านประชาไทกว่า 90% คงมองว่าทหาร โดยเฉพาะกองทัพบกถ่วงกระบวนการประชาธิปไตยของไทย คุณคิดว่าการมองเช่นนี้คลาดเคลื่อนหรือไม่อย่างไรและอยากจะบอกอะไรกับผู้อ่านที่อาจมองเช่นนี้
ผมอยากให้มองว่ามันมีภาพหลายภาพซ้อนกัน ภาพที่หนึ่งคือผมหรือหลายๆ คนแต่งเครื่องแบบทหาร แต่ภายใต้เครื่องแบบทหาร ก็ถือบัตรประชาชนคนไทย เพราะฉะนั้น มันแยกกันยาก ด้วยบริบทที่กองทัพเข้ามาใกล้กับการเมือง ทำให้เสียสมดุลทางสังคมอย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพราะฉะนั้น ทำให้ถูกมองว่ากองทัพเป็นคนที่เข้ามาทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยช้าลง แต่ผมคิดว่าเราก็คงต้องช่วยกัน เช่น ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งขึ้นเพื่อมาตรวจสอบหรือการสร้างภูมิต้านทานทางสังคมที่จะไม่เห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจทหารจากฝ่ายการเมือง หรือการที่ฝ่ายการเมืองจะใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์ฐานอำนาจของตัวเอง ผมคิดว่าเมื่อไรก็ตามที่เราแยกฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายผลประโยชน์ออกจากกองทัพได้ กองทัพก็กลับไปยืนในจุดที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายตรวจสอบกองทัพด้วยก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
 
 
…………………………
หมายเหตุ: สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ภาคภาษาอังกฤษที่ http://www.nationmultimedia.com/home/2010/10/17/politics/Army-man-calls-it-as-he-sees-it-30140246.html
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถ้าฉันเป็นนายกฯในประเทศที่กำลังมีน้ำท่วมหนัก

Posted: 25 Oct 2010 02:32 AM PDT

 

ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ในประเทศที่กำลังมีภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี

กินพื้นที่กว่า 30 จังหวัดหรือเกือบครึ่งประเทศ

ผู้คนเดือดร้อนหลายล้านคน

เป็นเวลายาวนานเกือบหนึ่งสัปดาห์เต็ม

…. ฉันจะ

ฉันจะสั่งทำถุงยังชีพ ให้ข้างถุงเขียนว่า “มาจากภาษีประชาชน” ไม่ต้องให้ใครได้ “เอาหน้า” เพราะประชาชนเป็นคนทำงานเสียภาษีให้รัฐทุกปีอยู่แล้ว

ฉันจะจัดตั้ง “ศูนย์กลางแก้วิกฤติ” อย่างด่วนที่สุด ไม่รอให้เนิ่นช้ากว่า 7 วัน ไม่ปล่อยให้ “รัฐบาล” ซึ่งกินภาษีประชาชน ทำงานเชื่องช้ากว่าประชาชนด้วยกันเอง

ฉันจะเอา “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ศอฉ.” นั่นแหละมาปัดฝุ่นแล้วลุยงานเลย เพราะฉันเชื่อว่า “น้ำท่วม” ก็เป็นเรื่อง “ฉุกเฉิน” ของชาติเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะภารกิจปราบม็อบเสื้อแดงเท่านั้นที่ฉุกเฉิน

ฉันจะตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าศูนย์ เพราะฉันคือผู้นำประเทศ และนี่คือช่วงเวลาที่ประเทศต้องการผู้นำ

ฉันจะไม่ตั้งที่ปรึกษาฯของฉันซึ่งไม่มีอำนาจอะไรทางกฏหมาย เป็นหัวหน้าศูนย์ โดยเฉพาะหากที่ปรึกษาคนนั้นเคยต้องลาออกจากตำแหน่งการเมืองด้วยเรื่องอื้อ ฉาวในอดีต

ฉันจะเอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลในภาพกว้าง ฉันจะต้องรู้ให้ได้ว่า “น้ำ” ที่ท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปีนั้นมาจากไหน มาอย่างไร มาเมื่อไหร่ แล้วมันแตกต่างจากน้ำในปีก่อนๆอย่างไร และทำไมถึงต่าง

ฉันจะต้องรู้ด้วยว่าพื้นที่ไหนบ้างที่เดือดร้อนไปแล้ว พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อนในตอนนี้ และ พื้นที่ไหนที่น้ำจะท่วมต่อไปในวันพรุ่งนี้
และที่สำคัญคือ เมื่อไหร่ทุกอย่างจะคลี่คลาย

พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อน ฉันจะจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ (แดง เหลือง เขียว) ฉันอยากรู้ด้วยว่าในพื้นที่แต่ละแบบนั้นมีประชาชนอยู่กี่คน จุดไหนบ้าง พื้นที่ไหนเป็นสภาพเมือง พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่การเกษตร ฉันจะได้ส่งการช่วยเหลือไปอย่างเหมาะสม

ฉันจะกำหนดให้ศูนย์กลางแก้วิกฤติเป็นมากกว่า “คนประสานงาน” ระหว่างหน่วยงานราชการที่เชื่องช้า
ศูนย์กลางของฉันจะต้องทำหน้าที่ “บริหารทรัพยากร” ที่มีอยู่ให้ใช้ไปอย่างถูกที่ ถูกเวลา ด้วย

เงินทองที่เบิกจ่ายต้องโปร่งใสรวดเร็ว
ประมวลข้อมูลจากภาคสนามอย่างทันท่วงที
และประสานรับ “น้ำใจ” จากภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ

ดังนั้น ศูนย์ของฉันจะมีข้อมูลรายละเอียดว่าวันนี้ อำเภอไหนบ้างที่ขาดไฟฉายเข้าขั้นวิกฤต
ตำบลใดรับข้าวสารไปหุงกินเองได้ ตำบลใดต้องการอาหารสำเร็จรูปมากกว่า
เส้นทางไหนต้องใช้เรือ ใช้กี่ลำ มีคนติดอยู่แถวนั้นกี่คน

ฉันจะรู้ด้วยว่าถึงนาทีนี้ข้าวสาร น้ำดื่ม ทั้งที่จัดซื้อมาเอง และประสานกับภาคเอกชนนั้น มีกี่ขวด
แจกจ่ายไปจุดไหนบ้างแล้ว ไปถึงที่หมายช้าเร็วแค่ไหน
มีใครได้เกินความจำเป็นหรือไม่ มีใครที่ขาดแคลนอย่างหนักแต่ยังไม่ได้หรือเปล่า

เงินบริจาคทุกบาทจะต้องทำบัญชี แสดงที่มาที่ไป หน่วยงานไหนรับบริจาคมาเท่าไหร่ ต้องแสดงให้ชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อการกล่าวอ้างเพื่อยกเว้นภาษี อีกทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อฉลโดยใช้ความเดือดร้อนของคนร่วมชาติเป็น เครื่องมือ

อ้อ .. ฉันจะแจ้งให้กลุ่ม “ชาตินิยม” ทั้งหลายทราบด้วยว่า ตอนนี้แหละคือเรื่องของ “ชาติ” จริงๆ เพราะมันคือเรื่องของคนตัวเป็นๆที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ใช่ที่ดินผืนน้อยที่มีปัญหามาแต่โบราณ ใครอยากกู้ชาติ อยากพลีชีพ เชิญได้เต็มที่ในครั้งนี้ อย่ามัวแต่ไปต่อแถวกินโดนัท

ฉันจะต้องรู้ด้วยว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดนั้นมีที่ไหนบ้าง จุดไหนที่สามารถอพยพผู้คนเข้าไปได้ จุดไหนยังเสี่ยง

ฉันจะจัดทำแผนอพยพที่ชัดเจน จะไปเส้นทางใด ใช้พาหนะใด ใช้เวลาเดินเท่าไหร่ และที่สำคัญ วันนี้ปลอดภัยแล้วพรุ่งนี้จะปลอดภัยไหม ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทำนายว่าอย่างไร

ดังนั้นหากรู้ว่า น้ำกำลังไหลจาก อำเภอ ก. ไป อำเภอ ข. ภายใน 12 ชั่วโมง ฉันจะได้สั่ง “อพยพ” ผู้คนได้ล่วงหน้า ทันเวลา ไม่ใช่เพียงแต่ทำงาน “ตามปัญหา”

ด้วยความที่ฉัน (และศูนย์กลางของฉัน) มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน เห็นภาพกว้างที่สุด ฉันจะสามารถ “ประสาน” แนวทางการทำงานของแต่ละกลุ่ม ทั้งส่วนราชการต่างๆ หรือส่วนเอกชนอย่างอาสาสมัครกู้ภัย หรือกระทั่งสื่อมวลชน

ทุกคนจะได้ทำงานไปใน “ทาง” เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน ลักลั่น ไร้ทิศทาง

ฉันเชื่อว่าในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ การส่งทรัพยากรอันจำกัดไปให้ถูกที่ ถูกเวลา นั้นสำคัญมาก – ใครขาดน้ำดื่มต้องได้น้ำดื่ม ใครขาดอาหารแห้งต้องได้อาหารแห้ง ใครป่วยต้องได้ถูกเคลื่อนย้ายออกมาทันที – เพราะการใช้ทรัพยากรไปหนึ่งครั้ง มันมีค่าเสียโอกาสอยู่ด้วย

เรือที่ออกไปแจกข้าวสาร สามารถใช้ไปรับคนป่วยได้เช่นกัน
เราเพียงต้องรู้ให้ชัดว่าเมื่อไหร่ควรใช้อะไร ทำอะไร เพื่ออะไร
ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมีข้อมูลมุมกว้าง และต้องตัดสินใจอย่างจากภาพรวม

สำหรับพื้นที่ไหนที่น้ำยังไปไม่ถึง ฉันจะสั่งให้รีบ “เตรียมตัว” รับมือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเอากระสอบทรายมา “กั้น” น้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึงการเตรียมทางหนี ทีไล่ ระบบแจ้งเตือน จัดพื้นที่ปลอดภัยไว้รอรับปัญหา จัดอาหาร ยารักษาโรค ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน

พื้นที่ไหนน้ำเริ่มลดแล้ว ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการ “แจกเงิน” อย่างมักง่ายเพียงอย่างเดียว เพราะฉันรู้ดีว่าเงินมีจำกัด และในสภาวะฉุกเฉินนั้น เงินอาจไม่ต่างจากกระดาษปึกหนึ่ง ที่อาจเอาไปซื้ออาหารมากินได้ไม่กี่มื้อ

ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชนในช่องทางอื่นด้วย เช่น อาจได้เวลาปล่อยสต๊อกข้าวในยุ้งของรัฐ อาจประสานงานกับภาคเอกชนว่าต้องการ “สินค้าเกษตร” เป็นของบริจาค และ อาจเอางบประมาณฉุกเฉินมา “จ้างงาน” ผู้ประสบภัยให้ “ทำอาหาร” แจกจ่ายคนอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประชาชนได้ถึงสองต่อ (มีงานทำ ได้เงิน มีกิน) – ฉันหวังว่าไอเดียแบบเด็ก ป.4 ของฉันจะไม่ไร้เดียงสาเกินไปนัก

ฉันจะทำงานด้วยสำนึกในกะโหลกว่า “ผู้นำ” ประเทศมีหน้าที่รับทราบข้อมูล ประมวลผลในภาพกว้าง กำหนดกลยุทธ์ แนวทาง เป้าหมาย และ “ตัดสินใจ” ในทางเลือกสำคัญๆ

ผู้นำประเทศไม่ได้มีหน้าที่เพียง “รับฟัง” แล้วปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปวันๆตามมีตามเกิด

ฉันรู้ดีว่าแนวทางเช่นนี้สำคัญมากในการ “บริหารวิกฤติ” และในฐานะ “นายกฯมือใหม่” ฉันจะตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด
เพราะจะว่าไป “น้ำท่วม” อาจเป็นภัยพิบัติที่ “เบา” ที่สุดแล้ว หากเทียบกับ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ หรือ ไวรัสระบาด

ฉันจะไม่ออกเดินทางพร่ำเพรื่อ หรือหากจะออกภาคสนาม ก็จะใช้ทรัพยากร (เช่น เจ้าหน้าที่ หรือ ยานพาหนะ) อย่างน้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านั้นควรถูกนำไป “แก้ปัญหา” มากกว่ามาดูแลฉัน

ฉันจะพูดให้น้อย ทำงานให้มาก พูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ
เพราะรัฐบาลของฉันมีโฆษกกินเงินเดือนอยู่แล้ว

ฉันไม่อยากไปแย่งงานเขา ….

 

ที่มา:http://www.roodthanarak.com/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"บก.ลายจุด” ร่วมปั่นจักรยานปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน

Posted: 25 Oct 2010 12:27 AM PDT

บก.ลายจุดร่วมปั่นจักรยานปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน ปรับกลยุทธ์ "เสื้อแดง" มาสร้างสรรค์สังคมช่วยปลูกต้นไม้กันน้ำท่วม สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมาที่ จ.ร้อยเอ็ด กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด กลุ่มคนร้อยเอ็ดรักประชาธิปไตย นำโดยนายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร ประธานกลุ่ม รักษาการประธานผู้ประสานงานกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงภาคอีสาน และนายอดิศร วัฒนาบุตร รักษาการเลขาธิการกลุ่ม นปช.ภาคอีสาน ร่วมกับชมรมปั่นจักรยานจังหวัดร้อยเอ็ด นำโดยนายอนันต์ เจริญแก่นทราย ประธานชมรมปั่นจักรยานจังหวัดร้อยเอ็ด ประมาณ 300 คน จัดโครงการปั่นจักรยานปลูกป่าชุมชนลดภาวะโลกร้อน

วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเป็นการ กล่อมเกลาจิตใจให้ทุกคนมีจิตใจอ่อนโยน เพิ่มความผูกพันในหมู่ประชาชน เชื่อมโยงกับศาสนาและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยนัดหมายรวมกันที่หน้าบึงพลาญชัย เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จากนั้นปั่นจักรยานรอบบึงพลาญชัย 1 รอบ และเดินทางเส้นทางร้อยเอ็ด-โพนทอง ไปยังวัดป่าบ้านมีชัย ต.หมู่ม้น อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร เพื่อปลูกป่าในพื้นที่ 8 ไร่ ประกอบด้วย ต้นแคป่า ต้นหมากเม้า ต้นประดู่ และต้นยางนา รวมทั้งสิ้น 600 ต้น โดยมี หลวงตา ประเด็จ เขมะจิตโต เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านมีชัย ทายกทายิกาวัดและชาวบ้านมีชัยให้การต้อนรับและร่วมปลูกป่า มีกิจกรรมเลี้ยงพระเพล ถวายเงินและจตุปัจจัยไทยทาน เยี่ยมชมธนาคารต้นไม้ศูนย์จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยนายสมบัติกล่าวว่า หลังเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจะปรับกระบวนการทำงานเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็น ประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น เท่าที่คนเสื้อแดงจะทำได้ในทุกเรื่องและไม่ถูกสังคมต่อต้าน เช่น งานสิ่งแวดล้อม งานด้านอาสาสมัคร หรือหลังน้ำลด จะนำคนเสื้อแดงเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ถูกน้ำท่วมในทุกจังหวัด จะเข้าไปร่วมด้วยโดยไม่เข้าไปขัดแย้งกัน แม้มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองร่วมด้วยก็ตาม
 
"คนเสื้อแดงจะเป็นอาสาสมัครร่วมเคลียร์พื้นที่หลังน้ำลด ทำความสะอาดบ้าน ซ่อมแซมฟื้นฟู อาคารบ้านเรือน และให้คำปรึกษาแก้ปัญหาระยะยาวหลังน้ำลด เช่น เรื่องหนี้สินของผู้ประสบภัย โดยกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ทั้งหมดจะเป็นผู้เข้าไปให้ความช่วยเหลือและ ดำเนินการ ในลักษณะของการที่ทุกคนทุกสีต่างมีพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งต้องอยู่ในสังคมของคนไทยด้วยกัน"นายสมบัติกล่าว

จากนั้นเดินทางกลับมายังบึงพลาญชัย ร่วมรับประทานอาหาร และทำกิจกรรมพบปะพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบและชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคน เสื้อแดง และเปิดโอกาสให้ แสดงความคิดเห็นในเรื่องการบ้านการเมือง จนถึงเวลาประมาณ 16.00น. เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมแยกย้ายกันกลับ

ที่มาข่าว:

“ลายจุด” ร่วมปั่นจักรยานปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน (ข่าวสด, 24-10-2553)
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRJNE56a3hORFUwTWc9PQ==

บก.ลายจุดปรับกลยุทธ์นำ"เสื้อแดง"มาสร้างสรรค์สังคมช่วยปลูกต้นไม้กันน้ำท่วม ปชป.อัดมีกลุ่มทุนล้มเจ้าจริง (มติชน, 25-10-2553) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1287916306&catid=01

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ประยุทธ" ไม่ให้ชุมนุมแต่เสื้อแดงมีสิทธิ์ยื่นหนังสือถึงเลขายูเอ็นได้ เตือนอย่าละเมิดสถาบัน

Posted: 25 Oct 2010 12:10 AM PDT

ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผย ศอฉ.เตรียมแผนรักษาความปลอดภัย "บัน คี มูน" แล้ว ห้ามชุมนุมเด็ดขาด  แต่คนเสื้อแดงสามารถยื่นหนังสือได้ ย้ำก่อนยื่นคิดให้ดีว่าเรื่องภายในประเทศควรให้คนนอกเข้ามายุ่งหรือไม่ เตือนอย่าละเมิดสถาบัน

25 ต.ค. 53 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมรักษาความปลอดภัยระหว่าง นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 ตุลาคม ว่า ได้วางแผนล่วงหน้าการรักษาความปลอดภัยแล้ว เนื่องจากพื้นที่ กทม. ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเด็ดขาด แต่ให้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานแล้ว ทั้งนี้ตำรวจจะเป็นหน่วยงานหลักดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งสถานที่และตัวบุคคล ส่วนทหารเป็นกำลังสนับสนุน ได้เตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วหากเกิดเหตุฉุกเฉิน  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าจะมีการก่อเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด

"ขอร้องว่าเรื่องนี้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย จะทำอะไรขอให้ทำแบบผู้ที่เจริญแล้ว อย่ามาชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ต่างชาติมาเห็นเป็นเรื่องที่น่าอับอาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมยื่นประเด็นการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมใน ช่วงเหตุการณ์การกระชับพื้นที่ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า คนนำเสนอต้องคิดว่าควร หรือไม่ควร เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในประเทศ  ควรเอาคนอื่นมาช่วยพูดหรือไม่  ถ้าคนไทยพูดกันเองไม่ได้ ก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร ทหารที่อยู่ทุกวันนี้ ทำตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่เข้าข้างใคร และขอเตือนเรื่องการละเมิดสถาบัน ทุกครั้งที่มีการชุมนุม เขียนป้าย เขียนโปสเตอร์ มีข้อความหมิ่นสถาบัน  ขณะนี้ได้เก็บหลักฐานไว้แล้ว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่มีการเปิดเผยถึงขบวนการล้มเจ้า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และใครที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ควรออกมาพูดตอบโต้ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนคงยอมไม่ได้ ที่ผ่านมาสถาบันทำเรื่องต่าง ๆ ให้ประเทศพัฒนา และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ดังนั้นใครจะมาดูหมิ่นไม่ได้  และอย่าเอาเรื่องสถาบันไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอื่น

ต่อข้อถามว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาพบกับทางกองทัพเพื่อหารือแนวทางปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ยังไม่มีการนัดหมาย แต่เรื่องดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณา และจะหารือร่วมกันทั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ

ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวถึงการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครว่า ได้เตรียมหน่วยทหารรับผิดชอบแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ากำลังพล มีไม่เพียงพอที่จะลงทุกพื้นที่ ดังนั้นจะลงพื้นที่ใดต้องติดตามสถานการณ์ว่าจุดใดต้องการความช่วยเหลือหรือ การฟื้นฟู เพื่อที่ทหารจะได้ปฏิบัติได้ตามความต้องการของประชาชน  ส่วนเรื่องงบประมาณในการช่วยเหลือนั้น ไม่มีปัญหา .- สำนักข่าวไทย
 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 18 - 24 ต.ค. 2553

Posted: 24 Oct 2010 11:36 PM PDT

ลูกจ้างอยุธยาหวั่นนายจ้างอ้างกระแส "บาทแข็ง" ฉวยโอกาสตัดโบนัส

17 ต.ค. 53 - หลังจากนายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา เปิดเผยการประเมินถึงผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งตัวว่าจะทำให้รายได้ของผู้ ประกอบลดลงกว่า 10% ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายโบนัสหรือปรับค่าจ้างประจำปีในปลายปีนี้ได้ วันนี้ (17 ต.ค.53) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมสภาสาขาอยุธยาที่มีกว่า 20 สหภาพแรงงาน เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยนายมนัส เปิดเผยว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานหลายแห่งได้สอบถามข้อมูลกับนายจ้าง ผู้ประกอบการ ทำให้เชื่อว่าผลกระทบเงินบาทแข็งนั้นมีบ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักมากถึงกับที่จะตัดโบนัสหรือไม่ปรับขึ้นเงินเดือนตามที่ตกลง กับสหภาพแรงงาน
 
นาย มนัสแสดงความกังวลด้วยว่า กระแสดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อันจะเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลให้นายจ้างโหมกระแสฉวยโอกาสนี้ไม่ทำตามข้อตกลง ดังนั้นในวันที่ 20 ต.ค.นี้ สหภาพแรงงานในเครือข่ายจะร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นการถ่วงดุลกับทางสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา
 
ด้าน นายบรรจง บุญชื่น ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงาน แห่งประเทศไทย สาขาพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าสหภาพแรงงานต่างๆ ได้พูดคุยกับทั้งนายจ้าง ฝ่ายบุคคล รวมถึงชมรมการบริหารงานบุคคลโดยต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่มีผลกระทบอะไรกับโบนัส อีกทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัวที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนว่าค่าเงินบาทจะ แข็งตัวยาวนานเท่าไร ทั้งนี้การให้โบนัสควรคำนึงถึงผลประกอบการภาพรวมรายปี มากกว่าที่จะหยิบยกสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งชั่วระยะเวลาสั้นๆ
 
นอก จากนี้ นายบรรจง ให้ข้อมูลว่า สถานประกอบการในอยุธยากว่าร้อยละ 50 ไม่ได้เป็นการส่งผลผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก แต่เป็นการส่งผลผลิตให้กับบริษัทแม่ในญี่ปุ่น จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า
 
นาย อุดม ไกรยราช ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาและใกล้เคียง แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่นายจ้างจะหยิบยกค่าเงินบาทแข็งเป็นข้ออ้างใน การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีกับสหภาพแรงงาน และระบุว่า ผู้ประกอบการในอยุธยาไม่ได้เป็นกิจการส่งออกต่างประเทศทั้งหมด บ้างมีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงไม่ได้รับผลกระทบดังที่มีการกล่าวอ้าง
 
"พอ มีการประโคมข่าวเศรษฐกิจพัง นายจ้างก็จะฉวยโอกาส" นายอุดมกล่าวและยกตัวอย่างช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2540 ว่าเกือบทุกบริษัทในอยุธยาได้อ้างปัญหาเศรษฐกิจ ฉวยโอกาสลดเงินเดือนและสวัสดิการ รวมถึงการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน

(ประชาไท, 18-10-2553)

สมัชชาสหภาพแรงงาน จี้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ช่วยผลักดันลมปากนายกฯ ขึ้นค่าแรง 250 บาท

17 ต.ค.53 - ที่หอนประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโดย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) สมัชชาสหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ เรียกร้องให้ผลักดันการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 250 บาทตามที่นายกฯเคยพูดไว้ และเตรียมไปยื่นหนังสือดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกในวันที่ 18 ต.ค.
 
(ประชาไท, 18-10-2553)

แรงงานไทยในลิเบียกลับบ้านรับค่าจ้างคืนแล้ว

18 ต.ค. 53 - ที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดพิธีมอบเงินค่าจ้างให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศลิเบีย ที่มีบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนาจำกัด เป็นผู้จัดส่งแรงงานจำนวน 32 คน โดยมี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานในการมอบเงิน โดยนายสุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวก่อนการมอบเงินว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียในส่วนของ บริษัทเงินและทองฯจำนวน 198  คน

ขณะนี้ทางบริษัทและนายจ้างที่ประเทศ ลิเบียได้จ่ายเงินให้กับแรงงานแล้ว 40 คนและในวันที่ 18 ต.ค.อีกจำนวน  32  คน ทั้งนี้เงินค่าจ้างทางบริษัทเงินและทองพัฒนาฯได้รับเงินจากนายจ้างให้มาจ่าย ให้กับแรงงานไทยแล้วจำนวน 1.87 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกรมการจัดหางานจะติดต่อกับบริษัทเพื่อให้แรงงานมารับค่าแรงคืน ทั้งนี้แรงงานที่อยู่ประเทศได้ทยอยเดินทางยังประเทศครบทุกคนแล้ว

ขณะที่ นพ.สมเกียรติ กล่าวว่าทางกระทรวงแรงงานได้ มีการร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ บริษัท เงินและทองพัฒนาฯเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาแรงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ทั้งนี้อยากฝากข้อให้กับแรงงานไทย ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศต้องดูสัญญาและเงื่อนไขต่างๆให้ละเอียดถี่ ถ้วน และตรวจสอบประเพณีวัฒนธรรมการทำงานของประเทศนั้นว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งความเป็นอยู่และแนวทางการทำงานของนายจ้าง ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้  และสิ่งสำคัญแรงงานต้อง เดินทางไปอย่างถูกต้องและถูกกำหมาย หรือผ่านบริษัทจัดหางานที่ไดรับรองตามมาตรฐาน อย่าหลบหนีเข้า ประเทศเพื่อไปทำงาน เนื่องจาก หากเกิดอะไรจะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น

ด้านนายเสกสรร สุวรรณสาร กรรมการบริษัทเงินและทองพัฒนา จำกัด  กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของแรงงานที่บริษัทได้จัดส่งไปอาจไม่ดีถึง 100 % เต็มเนื่องจากยังมีแรงงานจากประเทศอื่นๆที่ทำงานร่วมกับแรงงานไทย อาทิ บังคลาเทศ ซึ่งอาจทำให้อาหารการกินมีความหลากหลาย ส่วนเรื่องการเดินทางไปทำงานซึ่งมีข่าวว่าคนงานต้องเดินเท้าไปงาน 7-8 กิโลเมตรนั้นก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งข้อเท็จจริง ใช้ระยะทางเพียง 500- 600 เมตรเท่านั้น

นอกจากนี้หากเดินเท้าวัน ละ 7-8 กิโลเมตรท่ามกลางทะเลทรายคนงานคงจะเสียชีวิตไปตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนงานบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการทำงานของบริษัทฯซึ่ง ถือเป็นส่วนน้อย เพราะยังมีคนงานกว่า 90 % ที่ยังต้องการทำงานในประเทศลิเบียต่อ แต่เมื่อเกิดปัญหาจึงต้องนำแรงงานไทยกลับมาทั้งหมด ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีแรงงานไทย ที่บริษัทจัดส่งไปเสียชีวิตที่ประเทศลิเบียแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการพูดคุยระหว่าง ครอบครัวของคนที่ได้สอบถึงความเป็นอยู่  ซึ่งอาจมีบางส่วนพูดเงินจริงไปบ้าง ดังนั้นอยากให้กรมการจัดหางานช่วยแก้ปัญหา

นายจักพรรณ สุวรรณสร กรรมการบริษัทฯ กล่าวว่าตลาดแรงงานไทยในประเทศลิเบียในหนึ่งปีจะมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานกว่า 26,000 คน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบทำให้ทางการลิเบียเกิดความไม่พอใจไม่รับ แรงงานไทยเข้าไปทำงาน ซึ่งอาจทำให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศลิเบียในขณะนี้ต้องเกิดปัญหา  ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้  ส่วนเรื่องค่าแรงของแรงงานตนยืนยันว่าแรงงานจะ ได้ครบหมดทุกคน อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างหากมีเหตุการณ์ต้องหยุดชะงักลงเงินเดือนอาจได้ช้าลง ไปบ้าง โดยได้พยายามติดตามปัญหาและนำเงินค่าจ้างที่แรงงานสมควรจะได้กลับมาทั้งหมด  โดยทางบริษัท ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่าใด

ส่วนนายพรชัย ยุวพรหม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน จ.ศรีสะเกษ  หนึ่งในแรงงานไทย ที่บริษัทเงินและทองพัฒนาฯส่งไปทำงานที่ประเทศลิเบีย กล่าวว่าเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศลิเบียได้ 10 กว่าวันแล้วการที่มารับเงินค่าจ้างในวันนี้รู้สึกดีใจมาก จำนวน 42,000 บาท ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายในครอบครัว และขอยืนยันว่าในช่วงเวลาที่ได้ทำงานในประเทศลิเบียไม่ได้มีปัญหาตามเป็น ข่าว มีเพียงแต่ปัญหาไม่ได้ค่าจ้างตรงเวลา ซึ่งในสัญญาแม้จะระบุว่าสามารถจ่ายเงินเดือนล่าช้า 2-3 เดือนต่อครั้ง ทางแรงงานก็ สามารถรอได้ เพราะในสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ก็ไม่มีปัญหาหรือลำบากแต่อย่างใด ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนตนจะเดินทางไปทำงานที่ปะเทศลิเบีย โดยผ่านบริษัทเงินและทองพัฒนาฯอีก ตนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไรอีก เพราะทางบริษัทได้ติดตามดูความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดไม่ได้ละเลยตามที่เป็น ข่าว

(คม ชัด ลึก, 18-10-2553)

นายจ้างแม่สอดอ้าแขนรับแรงงานพม่าหลังถูกเลิกจ้างจากขอนแก่น

18 ต.ค. 53 -  รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ประมาณ 1,000 คน ได้เริ่มสลายตัวไปยังสถานประกอบการต่างๆ ใน อ.แม่สอด หลังจากที่ถูกลอยแพไล่ออกจากงานมาจากจังหวัดขอนแก่น และถูกส่งมาแม่สอด และทั้งหมดได้ชุมนุมรวมตัวกันที่บริเวณศูนย์การค้าแม่เมยซิตี้ เชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า บ้านริมเมย หมู่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด
      
ทั้งนี้ เนื่องจากมีนายจ้างผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอแม่สอดรับเข้าทำงานเพื่อช่วย เหลือ และเป็นช่วงเดียวกับทางสถานประกอบการใน อ.แม่สอด กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงาน จากการถูกแย่งแรงงานในช่วงพิสูจน์สัญชาติ ไปทำงานพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ก็มีแรงงานบางส่วน เดินทางกลับไปพม่าตามท่าขนส่งสินค้าในช่วงที่พม่าปิดพรมแดน
      
รายงานข่าวแจ้งว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่ากลุ่มนี้มีอยู่หลายคนถูกยึดเอกสารที่แสดงการ พิสูจน์สัญชาติ หนังสืออนุญาตให้ทำงาน หนังสือผ่านแดน ฯลฯ โดยถูกนำไปสวมใช้กับแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง
      
หลายคนให้ข้อมูลว่า ในช่วงทำงานที่ จ.ขอนแก่น ได้ถูกกดขี่ ทุบตี และถูกโกงค่าแรง แต่ไม่กล้าไปแจ้งความต่อตำรวจเพราะเกรงกลัวอิทธิพลของนายจ้างในพื้นที่ที่ สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

(ผู้จัดการ, 18-10-2553)

อดีตคนงานไทรอัมพ์โวยมูลนิธิ ส.ส. ส่อฮุบจักรบริจาค

18 ต.ค. 53 - น.ส.จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงานไทรอัมพ์ นำอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านทางนายพงศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรี เพื่อทวงถามจักรเย็บผ้าที่มีผู้บริจาคให้คนงาน 400 ตัว ไปประกอบอาชีพแลกกับการยุติการชุมนุม แต่กลับได้รับเพียง 250 ตัว

น.ส.จิตรากล่าวว่า ล่าสุด บริษัทส่งมอบจักรให้เพิ่มอีก 150 ตัว แต่ถูกนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 ซึ่งขณะนั้นมีนายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรี จากการทวงถามครั้งล่าสุด นายชีวะเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรี แจ้งว่า จักรดังกล่าวถูกส่งมอบให้มูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง เป็นแบบนี้ได้อย่างไร เพราะขณะนี้คนงานไทรอัมพ์ยังไม่มีอาชีพ

นายพงศักดิ์กล่าวยอมรับว่า จักร 250 ตัว มีสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนจักรที่เหลือเป็นสิทธิของมูลนิธิในการบริหารจัดการ เพราะเป็นผู้รับมอบและออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมประมาณ 1 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า จักร 150 ตัว ถูกขนไปยังมูลนิธิแห่งหนึ่ง ใน จ.พิจิตร และแจกจ่ายกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 3-4 แห่ง สมาคมแม่บ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 ตัว ส่วนที่เหลือยังคงถูกเก็บไว้ในมูลนิธิ

(มติชน, 18-10-2553)

ไพฑูรย์ปัดฮุบจักรคนงานไทรอัมพ์เข้ามูลนิธิ

19 ต.ค. 53 - นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.แรงงาน ในฐานะประธานมูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง กล่าวถึงกรณีที่อดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นในยี่ห้อไทรอัมพ์ ทวงถามจักรเย็บผ้าที่มีผู้บริจาคให้กับคนงาน แต่กลับพบว่าจักรเย็บผ้าดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่มูลนิธิไพฑูรย์  แก้วทอง ว่า ขอยืนยันมูลนิธิไม่ได้ฮุบหรือเก็บจักรเย็บผ้าเอาไว้แต่อย่างใด โดยจักรจำนวน 400 ตัว ทางนายจ้างได้บริจาคให้กับทางกระทรวงแรงงาน เพราะนายจ้างไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้มอบผ่านทางกระทรวงแรงงาน แต่กระทรวงรับมอบไม่ได้ เนื่องจากหากมอบให้จักรจะต้องนำไปขึ้นบัญชีพัสดุ เป็นสิ่งของของทางราชการ ทางมูลนิธิจึงต้องรับมอบและเป็นผู้จัดการ

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้รับมอบจักร ทางมูลนิธิก็ได้นำจักรไปซ่อมแซม เนื่องจากจักรส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ในการใช้งานโดยทางมูลนิธิได้ ออกค่าใช้จ่ายไปกว่า 1 แสนบาท จากนั้นเมื่อซ่อมแซมเสร็จทางมูลนิธิก็ได้นำไปแจกจ่ายให้กับคนงานจำนวน 250 ตัว ตามที่ได้คนงานได้ลงชื่อขอรับจักรเอาไว้

ส่วนที่มีข่าวว่าจักรที่เหลืออีก 150 ตัว ได้มอบให้กับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดต่างๆ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้มอบจักรให้กับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดสุโขทัย ลำพูน และพระนครศรีอยุธยาจริง เนื่องจากว่าจักรดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บ อีกทั้งยังมีการขอมาผ่านทางนายธวัช สุรินทร์คำ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทางมูลนิธิก็ได้จัดส่งไปตามคำขอ ซึ่งเป็นจักรเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น   

ทางมูลนิธิทำอย่างโปร่งใส มีการรับมอบของเป็นลายอักษร ยืนยันว่าคนงานได้รับจักรตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ ซึ่งคนงานที่ได้รับจำนวน 250 คน นั้นมีตัวตน โดยได้มาลงชื่อไว้ ส่วนคนงานที่ยังไม่ได้รับจักร ถ้ามีคนงานกลุ่มใหม่และเห็นว่ามีตัวตนอยู่จริง ทางมูลนิธิจะดำเนินการมอบจักรให้เลยนายไพฑูรย์กล่าว

(เดลินิวส์, 19-10-2553)

ครม.อนุมัติข้อตกลง ส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล แบบรัฐต่อรัฐ ยกเลิกใช้ บ.จัดหางาน

19 ต.ค. 53 - นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมอนุมัติตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอพิจารณาข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศไทยและประเทศอิสราเอล ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยหลังจากนี้การส่งแรงงานระหว่าง 2 ประเทศ จะเป็นการส่งผ่านระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ G2G ซึ่งจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานไทย ที่จะเดินทางทำงานที่ประเทศอิสราเอล ที่จากเดิมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทน 193,000 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยการทำสัญญาดังกล่าวจะลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานไทยเหลือเพียงประมาณ 27,000 บาท พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรี อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้ยกเว้นภาษีเบี้ยประกันแบบบำนาญจากวงเงิน 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มหลักประกันคุณภาพชีวิต และกระตุ้นยอดขายการประกันชีวิตแบบเบี้ยบำนาญและลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการ ดูแลผู้สูงอายุ

พร้อมกันนี้ เสนอให้ตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ตั้งศูนย์ที่ประเทศไทย และเริ่มต้นสำรองเข้า 15,000 ตัน โดยขออนุมัติงบจัดตั้งและดำเนินการ 29,500 ดอลล่าร์สหรัฐ ระยะเวลา 5 ปี

(เดลินิวส์, 19-10-2553)

ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างประสบภัยน้ำท่วมกว่า 70000 คน

19 ต.ค. 53 - นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้สำรวจและหามาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า สถานประกอบการที่เดือดร้อนหนักใน 6 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา มีสถานประกอบการได้รับความเสียหาย 300 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 36,300 คน จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 30,000 คน จ.ชัยนาท มีสถานประกอบการเสียหาย 3 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน จ.ลพบุรี ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 463 คน จ.สระบุรี มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 4 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 178 คน และ จ.นครสวรรค์ มีสถานประกอบการเสียหาย 1 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 220 คน จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่สถานประกอบการและลูกจ้าง เช่น อาหาร ยารักษาโรค ที่พักอาศัย ทั้งนี้ ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเร่งประสานมายังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวง สาธารณสุขได้ทันที

นายสุธรรม กล่าวว่า ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นความผิดตามข้อบังคับของการทำงาน 2. ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ ให้ร่วมมือกับนายจ้างเพื่อซ่อมแซมระบบไฟฟ้า เครื่องจักร 3. ให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ร่วมมือกับนายจ้างดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการกับลูกจ้าง 4. ขอให้ที่ปรึกษาแรงงานหญิงในสถานประกอบการ อาทิ เครือข่ายแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป และ 5. ขอให้สหภาพแรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง สภาองค์การนายจ้างและผู้ประกอบการ ปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น อ.ปักธงชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี อย่างเร่งด่วน และได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เพื่อรองรับตอนน้ำลด

(สำนักข่าวไทย, 19-10-2553)

กมธ.แรงงานฯเตรียมบินลิเบีย บุกพิสูจน์ถูกร้องทอดทิ้งคนงาน

ที่รัฐสภา วันที่ 20 ต.ค. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดย ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน ได้มีการพิจารณากรณีแรงงานไทยในลิเบียยื่นหนังสือร้อนเรียนได้รับความเดือด ร้อนจากการไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ผ่านบริษัทจัดหางานเงินและทอง พัฒนา จำกัด ที่ส่งไปทำงานกับ บริษัทนายจ้าง ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE โดยแรงงานร้องเรียนว่านายจ้างผิดสัญญาไม่จ่ายเงินค่าจ้างตรงเวลา รวมทั้งไม่จ่ายค่าล่วงเวลา และมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ทั้งนี้ ร.ต.สุเมธยืนยันจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยขอฟังข้อมูลจากทั้งผู้ร้องเรียนและบริษัทนายจ้างก่อน

ขณะที่ น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งเพื่อให้ความเป็นธรรมทางกรมการกลศุลพร้อมด้วยกระทรวงแรงงานจะเดินทางไป ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ลิเบีย

ด้านนายจักรพันธุ์ สุวรรณสาร กรรมการบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ยืนยันบริษัทดำเนินงานภายใต้กฎระเบียบของกระทรวงแรงงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้หากตนไม่ทำสัญญาที่ระบุไว้บริษัทตนคงไม่อยู่ไม่ได้ ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าให้แรงงานไทยเดินเท้าไปทำงาน 6-8 กิโลเมตรนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าแรงงานเดินเท้าไกลขนาดนั้นคงไม่มีเวลาทำงาน พร้อมยืนยันที่พักอาศัยเป็นไปตามมาตรฐานทางการลิเบีย ไม่ได้ลำบากตามที่มีร้องเรียน ส่วนการเก็บค่าจัดส่งแรงงานก็เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ส่วนเรื่องค่าล่วงเวลาได้มีการแจ้งให้แรงงานทราบตั้งต้นแล้วว่าไม่การันตี ว่าจะได้ค่าล่วงเวลาทุกวัน โดยเป็นไปตามที่บริษัทประเทศลิเบียกำหนด

นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยภายหลังฟังคำชี้แจงแล้วว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทางกมธ.แรงงานจะทำหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เพื่อขอข้อมูลอีกครั้ง และจะรอผลการเดินไปทางไปเยือนลิเบียของกระทรวงแรงงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน ก่อน ขณะที่ กมธ.แรงงานก็จะเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อยุติปัญหาและจะ เป็นผลดีต่อการส่งแรงงานไทยไปประเทศลิเบีย  ขณะเดียวกันได้ขอให้กรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงาน ดำเนินการเข้มงวดกับบริษัทจัดหางานที่กระทำผิดข้อตกลง เพราะเท่าที่ทราบประเทศลิเบียยังมีความต้องการแรงงานไทยอีกมาก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ

(แนวหน้า, 20-10-2553)

แรงงานประมงไทยกลับบ้านเกิด หลังศาลมาเลย์ให้ปรับคนละแสนบาท

20 ต.ค.53 - คนไทยในพื้นที่ จ.สตูล 9 คน จากเรือบุหงานาวา 2 ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยมารีทาม รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ปล่อยตัวกลับประเทศไทย หลังศาลตัดสินได้ปล่อยตัวกลับบ้าน ในข้อหานำสิ่งของออกจากประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคนละ100,000 บาท ขณะที่ญาติ พี่น้องมารอเฝ้ารับแสดงอาการดีใจจนน้ำตาไหล
      
สำหรับกรณีที่คนไทยถูกจับที่ประเทศมาเลเซียจำนวน 20 คน และเรือผู้โดยสาร 2 ลำที่ชื่อ เรือบุหงานาวา 2 ที่ถูกจับ 9 คน และเรือตะเพียนทองที่มีคนไทยถูกจับ 11 คน จากหน่วยมารีทาม รัฐเปอร์ลิสประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 6 ต.ค ผ่านมา และ วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยนำไปกุมขังที่โรงพักเมืองกาง่า รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ได้ปล่อยตัวแค่ 9 คนยังคงเหลือเพียง 11 คนที่ศาลยังไม่ตัดสินของเรือตะเพียนทอง
      
นายยะหย๊า หมีนโฉ๊ะ อายุ 39 ปี บ้านเลขที่ 35 ม.10 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล คนไทยที่ถูกจับ กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้กลับบ้าน และเห็นหน้าครอบครัว ส่วนที่ถูกจับที่มาเลเซียนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมโดยใช้โซ่ล่ามที่เท้า ระหว่างนั้นได้รอให้ทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือแต่ไม่มีจนศาลตัดสินจึงเสีย ค่าปรับ และได้กลับบ้านในที่สุด
      
ส่วนนางรอหรีย๊ะ ดาละมาน อายุ 59 ปี กล่าวว่า ดีใจมากเมื่อเห็นสามีกลับมาบ้าน โดยสภาพที่อิดโรย เหมือนคนไม่มีแรง แต่ถือว่ายังโชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากและตนถือว่าทางมาเลเซียทำเกินไปที่กัก ขังและใช้โซ่ลามคนไทยทั้งหมด และอยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ช่วยเหลือตรงนี้คนไทยที่ประสบปัญหาเช่นนี้
      
ด้านทางศาลประเทศมาเลเซีย จะมีการตัดสินคนไทยอีก 11 คนที่เหลือในข้อหานำสิ่งของออกจากประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านภาษีที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย และปรับคนละ100,000 บาท ซึ่งทางเรือตะเพียนทองได้มีการยื่นอุทธรณ์ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ต.ค นี้

(หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 20-10-2553)

สภาฯผ่าน กม.กันนายหน้ากินหัวคิวแรงงาน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็น ชอบร่างพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนงานในวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 8 พร้อมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เป็นรายมาตรา  โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดเกี่ยวกับการใช้ชื่อทางธุรกิจการ การจัดตั้งสำนักงานทะเบียนจัดหางานกลาง สำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหาคนงาน และกำหนดให้การจัดหางานต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ใน 3 ประเภทคือ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำในประเทศ  ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ
           
นอกจากนี้ยังกำหนดชัดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำใน ประเทศ เรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างรับคนหา งานเข้าทำงานแล้ว  ในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา  ผู้รับใบอนุญาตไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและต้องจัดการให้คนหางานเดิน ทางกลับ  หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนจัดการให้คนหางานเดินทางกลับโดยใช้จ่ายเงินจากหลักประกันที่ ผู้รับใบอนุญาตได้วางไว้
     
การจัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศ กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ตามที่กฎกระทรวงกำหนด จะรับสมัครหรือประกาศรับสมัครคนหางานล่วงหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจาก นายทะเบียน  กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในเรื่องการจัดส่งคน งานไปต่างประเทศ และการจัดให้นายจ้างในต่างประเทศส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไป ทำงานในต่างประเทศ  กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องช่วยเหลือคนหางานที่ไม่ได้ทำงานตามที่กำหนดไว้ใน สัญญา  กำหนด สิทธิเรียกร้องของคนหางานในกรณีที่ได้ทำงานแล้วแต่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ ตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
           
รวมถึงกำหนดเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหา งานอย่างชัดเจน  พร้อมกำหนดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานในต่างประเทศที่เป็นค่าใช้จ่าย ให้คนหางานที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศและเดินทางกลับ  นอกจากนี้ยังเพิ่มบทลงโทษกับผู้ใดที่โฆษณาการจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบต้องระวางโทษจำคักไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  และกำหนดบทลงโทษแก่บริษัทที่เรียกรับเงินจากคนงานต้องระวางโทษจำกัดไม่เกิน หนึ่งปี และปรับห้าเท่าของค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเกินหรือเรียกล่วงหน้า หรือสามเท่าของเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่รับประกันค่าบริการ
          
นอกจากนี้ มีการกำหนดบทลงโทษไว้ใน มาตรา 95 าผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่จัดการให้คนหางานเดินทางกลับต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา 102 กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่จัดหางานให้คนงานไปต่างประเทศโดยมิได้รับอนุญาตต้อง ระวางโทษจำคักตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา 107 ผู้ใดแสดงตนเป็นตัวแทนจัดหางานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามมี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 109 ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน ส่งไปฝึกงานในต่างประเทศหรือจัดหางานต่างด้าวได้ โดยหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอก ต้องระวางโทษจำคักตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(โพสต์ทูเดย์, 20-10-2553)

แรงงานไทยไปอิสราเอลต้องยื่นเรื่องผ่าน IOM ลดค่าใช้จ่ายต่อหัว กว่าครึ่ง

21 ต.ค. 53 - แรงงานไทยไปอิสราเอลเตรียมใช้เงื่อนไขใหม่ ต้องผ่านทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน แทนการผ่านนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการไปทำงานลดลงจาก 180,000 บาทเหลือกว่า 60,000 บาท ทำให้แรงงานมีเงินเหลือมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามคำพิพากษาศาลสูงประเทศอิสราเอล กำหนดให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทสอิสราเอลนั้นจะต้องผ่านทาง IOM (International Organization for Immigration)  หรือองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นการลงนามร่วมมือกันระหว่างรัฐต่อรัฐ โดย การร่วมมือกันดังกล่าว ทำให้จากนี้ไปแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล จะต้องยื่นเรื่องผ่าน IOM เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหานายหน้าแล้ว ยังช่วยให้ แรงงานมีรายได้ จากที่เคยต้องไปเสียนา มาเสียเมียนั้น ก็จะมีรายได้เหลือเพราะความร่วมมือดังกล่าว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปทำงานในอิสสราเอลจากที่ต้องจ่ายรายละประมาณ 180,000 บาท เหลือเพียง 65,000 บาทเท่านั้น

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานเกษตรกรรม ในการทำงานแต่ละครั้งใช้เวลา 1-2 ปี สำหรับแรงงานชุดต่อไป ที่ใช้เงื่อนไขการยื่นเรื่องผ่าน IOM คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้

(สำนักข่าวไทย, 21-10-2553)

ส.อ.ท.ต้องการแรงงานเพิ่มเกือบ 2.5 แสนคน

21 ต.ค. 53 - นายสมพงษ์   นครศรี    รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงการสำรวจความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก 6 อุตสาหกรรกรรม  ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์   อุตสาหกรรมยานยนต์  อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   อุตสาหการเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะ  และเครื่องจักรกลการเกษตร ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (2554-2558)  พบว่าต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 2.48 แสนคนคิดเป็น 19.2%  จากการจ้างงานรวมปี 2553  จำนวน 1.29 ล้านคน 

โดยความต้องการแรงงานแยกตามประเภท อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องการแรงงานเพิ่ม 1.18 แสนคน  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4.8 หมื่นคน  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 2.8 หมื่นคน  อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลโลหะ การเกษตรและแม่พิมพ์ จำนวน 5.4 หมื่นคน

ทั้งนี้พบว่ามีความต้องการแรงงงานใน ระดับปวช.และปวส.ในสาขาช่างกลโรงงานมากที่สุด จำนวน 4.98 หมื่นคน คิดเป็น 55.57%    รองลงมาคือสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  จำนวน 1.78 หมื่นคน และ ช่างยนต์ จำนวน 1.03 หมื่นคน   ในขณะที่ความต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีมีจำนวน 2.75 หมื่นคน  มีความต้องการในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มากที่สุด 80% โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ  เครื่องกล   ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์  ยานยนต์ และแมคคาทรอนิกส์  ส่วนความต้องการแรงงานในสาขาอื่นเช่น บัญชี  การเงิน กฏหมาย งานธุรการ มีความต้องการเพียง 20%

อย่างไรก็ตามการจ้างงานของ6กลุ่ม อุตสาหกรรม มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)  ค่อนข้างมาก โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ระบุว่าปี 2552  จีดีพีมีมูลค่ารวม 9.05  ล้านล้านบาท   เป็นสัดส่วนที่มาจากสินค้า 6 กลุ่มอุตสาหกรรม 20%  หรือ 6.16 แสนล้านบาท  ของจีดีพี แยกเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  3.21 แสนล้านบาท   อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 1.69 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ  จำนวน 1.25 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ส.อ.ท.ยังมีการคาดการณ์แรง งานภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว 10 ปี (2553-2563 ) เพิ่มเติม ซึ่งพบว่า  มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 3.6 แสนคน  โดยแรงงานในระดับปวช.และปวส.ยังเป็นแรงงานที่มีความต้องการมากที่สุด ในสาขาช่างกลโรงงาน

นายสมพงษ์  กล่าวว่า ทางส.อ.ท.พยายามส่งสัญญาณไปยังภาครัฐ  ภาคการศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกเรียน เพื่อให้ทราบทิศทางความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรม  และนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ภาคอุตสาหกรรมมี กำลังคนใช้อย่างเพียงพอ ตรงสาขา ต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 21-10-2553)

ก.แรงงาน เตรียมจ้างงานเร่งด่วนหลังน้ำลด ให้ค่าแรง 150-180 ต่อวัน

21 ต.ค. 53 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงาน จัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้มีรายได้ หลังน้ำลด โดยให้ค่าแรง 150-180 บาท/คน/วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดประเมินความเดือดร้อนและ พิจารณาโครงการว่าจะใช้งบประมาณเท่าใดและจ้างงานอะไรบ้าง


ทั้งนี้ การจ้างงานจะมีระยะเวลาประมาณ 30-45วัน รวมทั้งมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมอาชีพและประสานกรมการจัดหา งานจัดหาตำแหน่งงานให้กับผู้ประสบภัยที่ไม่มีงานทำหรือผู้ที่ไร่นาเสียหาย ให้มีรายได้ไปก่อน  โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานตัวเลขแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก อุทกภัยเข้ามาแล้ว 7.2 หมื่นคน


การทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนอาจ จะเป็นการสร้างถนน ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมที่สาธารณะทำให้เงินส่งไปถึงมือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงแต่ เรื่องจำนวนงบประมาณและพื้นที่ในการจ้างต้องรอให้สำนักงานแรงงานจังหวัดเสนอ โครงการเข้ามาก่อนนายเฉลิมชัยกล่าว


ขณะที่กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์ รับบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนผู้ประสบภัย โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน หรือ ผ่านบัญชีชื่อแรงงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงานเลขที่บัญชี 383-0-11134-7

(แนวหน้า, 22-10-2553)

ทีดีอาร์ไอหวั่น 30 ปีประกันสังคมล้ม

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวในงานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทยประจำปี53 ในหัวข้ออภิปรายเรื่อง "สวัสดิการสังคมไทยในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21" ว่า กรณีกลุ่มสหภาพแรงงานประเทศฝรั่งเศสประท้วงรัฐบาลที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 62 ปี เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดภาระงบประมาณนั้น ในส่วนของไทยกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี ขณะที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น ดังนั้นการสร้างระบบบำนาญชราภาพต้องคิดให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด ปัญหา และต้องคำนึงถึงภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


ทั้งนี้ สวัสดิการไทยที่ดีมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า และนโยบายการศึกษาฟรี 15 ปี แต่ยังไม่มีสวัสดิการชราภาพ อีกทั้งแรงงานนอกระบบที่มีถึง 26 ล้านคน ก็ยังไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญรองรับ ทั้งที่เป็นสิ่งที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องการ ในส่วนของกองทุนประกันสังคมในอีก 30 ปีอาจจะล้มละลาย หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการประกันการชราภาพที่เป็นการสมทบระหว่างลูกจ้าง นายจ้างและรัฐ โดยคำนวณการจ่ายเงินบำนาญที่ยึดหลักผลประโยชน์ไม่ได้ยึดหลักการสมทบ ซึ่งคำนวณจาก 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย จึงเป็นภาระที่รัฐต้องสมทบมากขึ้น อาจเกิดปัญหาล้มละลายได้ หากไม่มีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.เงินออมแห่งชาติยังมีจุดอ่อน โดยเฉพาะการนำมาเป็นเครื่องมือหาเสียง แต่ไม่คิดถึงภาระหนี้ในระยะยาว โดยหลักสวัสดิการต้องมี 3 เสาหลัก คือ 1.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยรัฐช่วยเหลือทุกคน 2.ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการสมทบระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง และ 3.การออมโดยสมัครใจ นอกจากนี้ต้องเพิ่มอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และสร้างระบบสวัสดิการโดยยึดประโยชน์ของแรงงานอีกด้วย


(ข่าวสด, 22-10-2553)

โรงงานวิ่งวุ่นเลื่อนส่งสินค้า คนงานสำลักน้ำท่วม

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเริ่มทำหนังสือถึงลูกค้าที่รับออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขอเลื่อนกำหนดส่งสินค้าหลังจากโรงงานในหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ได้ปิดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เบื้องต้นลูกค้าส่วนมากเข้าใจเพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตแต่ภัยธรรมชาติ เป็นเหตุสุดวิสัย


ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังมั่นใจว่าโรงงานยังไม่ได้รับความเสียหายมากนักผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมยังรับมือสถานการณ์ได้เพราะเครื่องจักรในโรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ รับความเสียหายมากนัก แต่หากฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ เชื่อว่าโรงงานในต่างจังหวัดหลายแห่งจะได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าที่สูง แน่นอน


ล่าสุดโรงงานที่ถูกน้ำท่วมต่าง ส่งเจ้าหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่โรงงาน พร้อมทั้งป้องกันหรือขนย้ายวัตถุดิบและสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปไม่ให้ได้รับ ความเสียหายอย่างสุดชีวิต "การส่งสินค้า ให้ทันตามกำหนดถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการทำสัญญาซื้อขาย เพราะหากส่งไม่ทันจะทำให้เครดิตเสีย ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้ารายอื่นหรืออาจเปลี่ยนผู้ผลิตประเทศอื่นได้ ดังนั้น โรงงานต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมจำเป็นต้องส่งหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อน โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในภาคกลางและภาคอีสานที่ตอนนี้ทำได้เพียงดูแล สต๊อกสินค้า, วัตถุดิบและเครื่องจักร หากได้รับความเสียหายจะรุนแรงมากกว่าค่าเงินบาทแข็งตัวเสียอีก"


นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรายงานความเสียหาย ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล่าสุดได้รับรายงานว่าในหลายอำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมปิดหลายแห่ง รวมทั้งรถที่รับส่งพนักงานยังไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้ ซึ่งในวันที่ 26 ต.ค.นี้ จะเรียกประชุมอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อสรุปความเสียหายที่ชัดเจนและหาแนวทาง ช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งซึ่งอาจพิจารณาในด้านภาษีหรือค่า ธรรมเนียมช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา วานนี้ (22 ต.ค.) นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รักษาการปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมวิกฤติอุทกภัยกับการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ว่า ได้เรียกหน่วยงานในสังกัดและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาสรุปสถานการณ์อุทกภัย พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบ อุทกภัย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายจากการเสีย โอกาสทางการตลาดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท แต่หากรวมความเสียหายจากนี้ไปอีกสัปดาห์คาดจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ไม่รวมความเสียหายของสถานที่


นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้การท่องเที่ยวไทยเสียโอกาสในการทำรายได้ไปมาก เพราะเดือน ต.ค.เป็นช่วงปิดภาคการศึกษา โดยปกติจะมีคนไทยเที่ยวไทยคึกคักแต่เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมจึงส่งผลให้การ ท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศสะดุดลงและยังเป็นห่วงว่าผลกระทบนี้จะลาก ยาวไปถึงช่วงเทศกาลลอยกระทงในเดือน พ.ย.ด้วย ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กระทบนัก "ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายจากโรงแรมที่เป็นสมาชิก แต่ยอมรับว่าคง ได้รับผลกระทบบ้างจากการที่ลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ตลาดคนไทยเที่ยวไทย"


นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท. มีแผนจะฟื้นฟูสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิมภายหลัง จากที่น้ำลดแล้ว โดยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดได้ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อการท่อง เที่ยวทั่วประเทศด้วย "จากที่ปกติในช่วงนี้จะมีคนไทยเที่ยวในประเทศมาก เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม และมีวันหยุดยาว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ น้ำท่วมก็ทำให้ บรรยากาศการท่องเที่ยวเสียไป เพราะคนหวาดวิตกกับสถานการณ์น้ำท่วม"


นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. เปิด เผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ ททท. ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยได้เตรียมแผนรองรับสำหรับภาคท่องเที่ยวไว้ 2 ด้าน คือ จะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำ ท่วม พื้นที่ที่น้ำท่วม แต่น้ำลดแล้วสามารถเข้าไปเที่ยวได้ เช่น อำเภอวังน้ำเขียว และเตรียมแผนการตลาดสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมภาย หลังน้ำลด เน้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก โดยหากน้ำลดแล้วจะนำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เขาใหญ่ ที่สามารถท่องเที่ยวได้ ช่วงสุดสัปดาห์ไปประชาสัมพันธ์ให้ตลาดต่างประเทศรับทราบด้วย

(ไทยรัฐ, 23-10-2553)

กมธ.บุกลิเบียพิสูจน์ความจริงนายจ้างเบี้ยวเงินแรงงานไทย

กรณีความเดือดร้อนของแรงงานไทยใน ลิเบียได้รับการเยียวยาไปบ้างแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ได้ อะไรเลย โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่บริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนาจำกัดส่งไปทำงานกับ บริษัทนายจ้าง ARSEL BENA WA TASEED JOINT VEN TURE เกือบ 200 ชีวิต ได้เดินทางกลับประเทศไทยและบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ ยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าหัวคิวคืนบางส่วน จำนวนกว่า 100 คน เหลืออีก 53 คน ไม่ยอมรับเศษ เงินแค่ 8,000-12,000 บาท เพราะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับค่าหัวคิวหลักแสน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ต.ค.53 นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ, เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาแรงงานลิเบียร้องเรียนว่าบริษัทนายจ้างราย ของบริษัท รันฮิลล์(RANHILL) จำนวน 1,400 คน ได้รับความยากลำบาก นายจ้างจ่ายเงินเดือนไม่ตรงและไม่ครบตามสัญญา ความเป็นอยู่แร้นแค้นต้องการเดินทางกลับประเทศ

นายสถาพร กล่าวว่า ทางบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ ก็แก้ข้อกล่าวหาทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาก็ว่ากันไปไม่มีอะไร แต่เหตุใดจึงมีแรงงานเดือดร้อนล่าชื่อกันได้มากถึง 500 กว่าคน ทำเรื่องร้องเรียนมาได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายว่าแรงงานในต่างปรแทศจำนวนมากจะ ล่าชื่อได้เช่นนี้ ดังนั้น ความเดือดร้อนน่าจะมีจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการการแรงงาน จึงมีข้อสรุป 3 ข้อคือ 1.เราต้องดูแลความเดือดร้อนของแรงงานทุกๆ คน 2.กรรมาธิการจะจัดส่งคณะตัวแทนเดินทางไปลิเบีย เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าแรงงานมีปัญหาตามที่ร้องเรียนหรือไม่ซึ่งขณะนี้ยัง ไม่กำหนดวันและเวลาที่แน่นอนรวมทั้งจะส่งใครไปเรายังมอบหมายกันอยู่และ 3.ต้องติดตามปัญหาแรงงานลิเบียให้ละเอียดและเชิงลึก

"โอเคเลย ไม่มีปัญหาอะไร บริษัทจัดหางานทำผิดก็ว่ากันไปตามผิดตามกฎหมายกำหนดถ้าถูกก็ว่ากันไปตามถูก ตามข้อเท็จจริงที่กรรมาธิการการแรงงานจะดำเนินการ โดยในแรงงานกลุ่มบริษัทนายจ้างARSEL ที่ได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศแล้วติดตามร้องเรียนความเดือด ร้อนจนได้รับเงินเดือดค้างจ่าย เงินค่าหัวคิวบางส่วนกว่า 100 คน ดังนั้น แรงงานกลุ่มบริษัทนายจ้าง RANHILL ก็ต้องดำเนินเการเช่นกันคือใครอยากกลับก็ต้องให้เดินทางกลับ โดยต้องได้รับเงินค้างจ่าย และค่าหัวคิวคืนจนครบ" ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวอย่างเอาจริงเอาจัง

(สยามรัฐ, 23-10-2553)

เมียเหยื่อแรงงานลิเบียซึ้งใจ กมธ.บินไปช่วยแรงงานไทย

หลังจากแรงงานไทยในประเทศลิเบียที่ บริษัท จัดหางานเงินและทอง พัฒนาจำกัด ส่งไปในกลุ่มที่ทำงานก่อสร้างกับนายจ้างบริษัท รันฮิลล์ (RANHILL) กว่า 500 คน ล่าชื่อร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่านายจ้างผิดสัญญาจ่ายเงินเดือนไม่ครบและไม่ตรงตามกำหนด ไม่มีค่าล่วงเวลาและเสียค่าหัวคิวรายละ 1 แสนกว่าบาท จึงได้รับความเดือดร้อนและต้องการกลับประเทศไทยโดย นายสถาพร มณีรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานเปิดเผยว่ากรรมาธิการมีมติที่จะส่งคณะทำงาน เฉพาะกิจไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงไซต์งานที่ประเทศลิเบียและจะช่วยเหลือให้คน งานที่อยากกลับได้เดินทางกลับ พร้อมเดินเรื่องทวงเงินเดือนค่าจ้างคืนและหากบริษัทจัดหางานผิดก็จะถูกลงโทษ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ต.ค.53 นางอรัญญา มาตรไชย อายุ 44 ปี ชาว ต.หนองเล่า อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งกำลังล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะที่สอง ภรรยาของนายอนัน มาตรไชย แรงงานไทยที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้าง รันฮิลล์ เปิดเผยว่า ขอขอบพระคุณนายสถาพรและคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ละเลยความเดือดร้อนของแรงงานในกลุ่มที่ไปตกระกำลำบากทำ งานกับบริษัทรันฮิลล์ ซึ่งหากท่านเดินทางไปลิเบีย เพื่อช่วยพวกเขาให้ได้เดินทางกลับก็จะดียิ่ง โดยเฉพาะครอบครัวของตนเวลานี้ลำบากมากเงินที่บริษัทโอนให้ก็ไม่ตรงเวลาและ ไม่ครบตามสัญญา ขณะที่ป่วยเป็นมะเร็งก็ใกล้จะตายอยู่แล้วต้องเลี้ยงลูกน้อยอีก 2 คน คืออายุ 11 และ 6 ขวบ ที่คอยหากับข้าวกับปลาดูแลตน เพื่อนบ้านก็สงสารแวะเวียนมาดูบ้าง เวลานี้ลำบากและเหนื่อยมาก

"ตามที่ท่านสถาพรให้ข่าวเอาไว้ดี มากๆอยากให้ไปลิเบียโดยด่วน ขอความสงสารเห็นใจ สาธุ ช่วยด้วยเถอะให้สามีได้เดินทางกลับมา แม้ว่าจะยังไม่ครบสัญญาแต่ก็ขอความเห็นใจให้เป็นกรณีพิเศษ เพราะมีความเดือดร้อนจำเป็น ส่วน ส.ส.อุบลฯ ท่านก็รับปากจะช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับและไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินเอง ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง" นางอรัญญา กล่าวอย่างน่าเวทนาและว่า สามีโทรศัพท์ติดต่อมาทางบ้าน บอกว่าไม่รู้ได้กลับมาเมื่อไร บริษัทไม่มีคำตอบที่แน่นอน เงินเดือนก็เห็นบอกว่าถูกหักไว้เพื่อเป็นเงินค่าเครื่องบิน ใจอยากกลับมาเพราะอยู่โน้นทำงานก็ได้เงินเดือนแค่ 1.6 หมื่นบาท แต่ตอนก่อนไปบอกว่าจะได้ 3 หมื่นบาท ค่าล่วงเวลาและอื่นๆ อีกต่างหาก แต่พอไปได้ไม่พอใช้อยู่เมืองไทยก็พอจะได้เท่าๆกัน ก็ขอกลับเมืองไทยดีกว่า ที่สำคัญเป็นห่วงลูกน้อยและภรรยา ขอความสงสารให้ได้รับเงินค่าหัวคิวคืนบ้างตามแต่จะสงสารเพราะเสียค่าหัวคิว ไปถึง 1.4 แสนบาท

ด้าน นางระเวง คงเนียม อายุ 38 ปีชาว ต.คันโซง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ภรรยาของ นายบุญเริ่ม คงเนียม อีกหนึ่งแรงงานไทยที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้างรันฮิลล์แล้วเงินเดือนไม่ได้ รับตรงและเต็มตามสัญญาต้องการเดินทางกลับประเทศไทย กล่าวแสดงความเห็นกรณีคณะกรรมาธิการการแรงงานมีมติจะเดินทางไปลิเบียและช่วย เหลือแรงงานไทย ว่า มติกรรมาธิการออกมาเช่นนี้ก็ดี ขอขอบพระคุณเอาไว้ล่วงหน้าและอยากฝากให้ไปเร็วๆ เถอะ เวลานี้ครอบครัวแรงงานกลุ่มนี้ลำบากมาก ตนรับจ้างขุดมันสำปะหลังได้เงินกินไปวันๆ ตอนนี้น้ำท่วมก็ไม่มีรายได้ รอเงินที่บริษัทนายจ้างตั้งแต่เดือนก.ย.ตอนนี้ยังไม่ได้รับ เขาบอกว่าโอนเข้าบัญชีแล้วแต่ก็ไม่เห็นได้ เดือนไหนได้ก็ไม่เต็มถูกหักโน้นนี่ ไม่เหมือนก่อนที่จะเดินทางไป

"ดิฉันก็โทรศัพท์ไปให้กำลังใจ นางอรัญญา มาตรไชย เหมือนกัน เพราะสามีเราไปทำงานลิเบียไซต์เดียวกัน แต่ไม่ค่อยเจอกันเพราะคนงานเยอะเป็นพันๆ คน วันก่อนเสียงของนางอรัญญาดูแย่มาก คงไม่ค่อยมีกำลังใจ แต่พอมีข่าวออกไปทางหนังสือพิมพ์ช่วยเสนอข่าวให้ได้รับความสงสารเผื่อมีใคร ช่วยบ้างเขาก้รู้สึกมีกำลังใจ น้ำเสียงวันต่อมาก็ดูแจ่มขึ้น" นางระเวง กล่าวและว่า เห็นข่าวคนงาน 198 คน ที่ไปทำงานกับบริษัท ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ได้รับเงินเดือนค่าจ้างค้างจ่าย และค่าหัวคิวคืน บางส่วนก็อยากให้คนงานกลุ่มของสามีตนได้รับบ้างเหมือนกัน

(สยามรัฐ, 24-10-2553)

โยนกฤษฎีกาชี้ไตรภาคีประกันสังคม

23 ต.ค. 53 - นายเฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายพนัสไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย เตรียมยื่นฟ้องกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานเนื่องจากไม่ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีของคณะ กรรมการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 84 (7) ระบุให้การเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีต้องมาจากการเลือกตั้งแต่กฎหมายไม่ได้ บอกว่าเป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของกพร. พิจารณาแล้ว รัฐธรรมนูญระบุเพียงว่าต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกคณะกรรมการ ไตรภาคี แต่การเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณประมาณ 2 ล้านบาท โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา จึงเป็นปัญหาให้คณะกรรมการไตรภาคีของกระทรวงแรงงานหลายคณะ ยังไม่มีการเลือกตั้งเพราะขาดงบประมาณ

"เรื่องนี้คงต้องมาพิจารณาว่า ถ้าสามารถเลือกตั้งโดยผ่านตัวแทนได้ ก็จะเกิดความสะดวกและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจ ผมได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ถ้าต้องมีการเลือกตั้งทางอ้อมโดยระบบตัวแทน จะทำได้หรือไม่ ถ้าชี้ว่าไม่ผิด ก็จะได้เป็นบรรทัดฐานให้กับการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีทุกชุด และไม่ต้องเสียงบประมาณ 2 ล้านบาท"นายเฉลิมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ก็ใช้ระบบการเลือกตั้งผ่านสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นระบบตัวแทนคล้ายกับการเลือกตั้งคณะกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาตรงกันข้ามว่าผิดระเบียบ การเลือกตั้งบอร์ด สปส.ก็ต้องผิดระเบียบด้วยเช่นกัน

(เดลินิวส์, 24-10-2553)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สปส.เตรียมปรับโฉมบัตรผู้ประกันตนบัตรเดียวทุก รพ.

Posted: 24 Oct 2010 10:40 PM PDT

สปส.เล็งปรับโฉมบัตรผู้ประกันตนใหม่ บัตรเดียวใช้ได้ทุกโรงพยาบาล เชื่อมฐานข้อมูลทั้งประวัติการรักษา สิทธิประโยชน์ และยอดจ่ายเงินสมทบบำเหน็จบำนาญ

25 ต.ค. เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.มีนโยบายการเปลี่ยนบัตรประกันสังคมจากบัตรอ่อน เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ประกันตนในการเข้ารักษาพยาบาลในสังกัด ทั้งนี้บัตรดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ถือบัตรกับสถานพยาบาลต่างๆ คล้ายกับการใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งขณะนี้ สปส.กำลังเจรจราและทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลในสังกัด
 
 “ในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำบัตรในลักษณะไหน อาจเป็นบัตรสมาร์การ์ดหรือบัตรแม่เหล็ก ทั้งนี้ภายในบัตรนอกจากจะมีข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนแล้ว ยังมีข้อมูลในส่วนอื่นๆที่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้วย อาทิ ข้อมูลการจ่ายเงินสมทบเงินของนายจ้างและเงินบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับ ” นายเฉลิมชัยกล่าวและว่า ยังเป็นการป้องการทุจริตการใช้สิทธิซ้อน โดยมีการใช้บัตรคนอื่นมาใช้สิทธิการรักษา

 นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคม จะมีการแยกโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็งออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว เพื่อแก้ปัญหาการผลักภาระการรักษาพยาบาล เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากรักษาเพราะไม่คุ้มกับค่ารายหัว

 ทั้งนี้ในส่วนของโรคพื้นฐาน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล ส่วนโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น โรงพยาบาลต้นสังกัดจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โดยที่โรงพยาบาลศูนย์จะเรียกเก็บเงินจากสปส.โดยตรง ซึ่งจะเป็นลักษณะการแยกบัญชีการจ่ายเงินออกมาจากบัญชีการรักษาโรคทั่วไป ทั้งนี้ โรคใดที่เข้าข่ายเป็นโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น คณะกรรมการการแพทย์จะพิจารณาต่อไป

 นอกจากนี้ยังจะยกเลิกระบบการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ซึ่งต่อไปผู้ประกันตนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเองแล้วเอาใบเสร็จไปเบิกทีหลังอีกต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกันตนดังที่กล่าวมา จะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนเมษายน 2554

ที่มาข่าว:

สปส.ปรับโฉมบัตรผู้ประกันตนบัตรเดียวทุกรพ. (คม ชัด ลึก, 25-10-2553)
http://bit.ly/bJgFea

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ อ.จะนะ เรียกร้องจุฬาราชมนตรี แก้ไขปัญหาให้

Posted: 24 Oct 2010 05:28 PM PDT

กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ อ.จะนะ เรียกร้องจุฬาราชมนตรี แก้ไขกรณีที่ดินวะกัฟ  “อย่าเอาอารมณ์ไว้ข้างหน้า อย่าเอาอัลกุรอ่านไว้ข้างหลัง”

 

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2553  เวลาประมาณ 11:00 น. กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ อ.จะนะ จ.สงขลา จำนวนประมาณ 30 คน ร่วมกันจัดทำแผ่นป้ายไม้กระดานเขียนข้อความว่า “ท่านจุฬาฯ ขอรับ อย่าเอาอารมณ์ไว้ข้างหน้า อย่าเอาอัลกุรอ่านไว้ข้างหลัง”  และนำมาติดตั้งไว้ที่สี่แยกสะกอม ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเรียกร้องให้นายอาศีส  พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนใหม่แก้ไขกรณีที่ดินวะกัฟ ซึ่งเป็นปัญหาทางหลักการศาสนาอิสลามที่ยืดเยื้อมายาวนาน

ทั้งนี้ปัญหาที่ดินวะกัฟซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อ.จะนะ อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่สำนักจุฬาราชมนตรีในชุดก่อนได้ทำการวินิจฉัย ทั้งที่ไม่ได้มีกระบวนการสอบสวนรับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นการใช้กระบวนการรับฟัง สรุปข้อเท็จจริงด้านเดียว ฝ่ายเดียว คือข้อมูลจากฝ่ายราชการ และบริษัทผู้ได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินวะกัฟ  ไม่เคยรับฟังข้อมูลจากกลุ่มผู้ร้องเรียนซึ่งประกอบด้วยทายาท พยานของการวะกัฟเส้นทาง รวมถึงไม่เคยรับฟังข้อเท็จจริงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการปิดกั้นเส้นทางสาธารณประโยชน์ จากการกระทำของบริษัททรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจร ใช้ประโยชน์ในเส้นทางวะกัฟดังกล่าวได้ต่อไป แล้วสำนักจุฬาราชมนตรีจึงมีคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม”  และเห็นด้วยกับกับการแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟหรือทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ บริษัท ทรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ทรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด

ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ จึงพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่นายอาศีส พิทักษ์คุมพล ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ทางกลุ่มฯ ได้เดินทางไปแสดงความยินดี และประสานงานเพื่อขอยื่นหนังสือร้องเรียน แต่นายอาศีส  พิทักษ์คุมพล กลับปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือ และเดินหนีไปขึ้นรถเดินทางออกจากศูนย์บริหารกิจการศาสนาฯ อย่างรีบร้อนโดยไม่ยอมรับฟังคำชี้แจงจากทางกลุ่มฯ แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันผู้ติดตามของนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล ยังพยายามข่มขู่คุกคามตัวแทนกลุ่มฯ อีกด้วย  ดังรายละเอียดที่ทางกลุ่มฯ พยายามนำเสนอต่อสาธารณชน มาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้วนั้น

เมื่อไม่สามารถยื่นหนังสือร้องเรียนได้ ทางกลุ่มจึงเดินทางกลับมายัง อ.จะนะ และต่อมาได้ดำเนินการเรียกร้องผ่านทางข้อความที่เขียนลงในแผ่นป้ายไม้กระดาน มีข้อความว่า “ท่านจุฬาฯ ขอรับ ช่วยคืนดินวะกัฟให้กับอัลลอฮฺ” มาติดตั้งไว้บริเวณสี่แยกหอนาฬิกา  สามแยกบ้านสะหลุดทางไปอำเภอนาทวี และริมถนนทางเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติทรานส์ไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ  จ.สงขลา คู่กับป้ายแสดงความยินดีต่อนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล เนื่องในโอกาสรับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ซึ่งมีผู้อื่นนำมาติดตั้งไว้ก่อนแล้ว แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน แผ่นป้ายดังกล่าวกลับถูกรื้อ ทุบทำลาย ทุกแผ่นป้าย ทุกจุดที่นำไปติดตั้ง  (ดังภาพประกอบ)

ดังนั้นในวันนี้กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟจึงนำแผ่นป้ายข้อความดังกล่าวมาติดตั้งเพื่อเจตนาจะสื่อสารกับนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกร้องให้มีการเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่ดินวะกัฟอีกครั้ง โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม

นายเจะหมัด  สังข์แก้ว สมาชิกกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟ กล่าวว่า “นายอาศีสได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีหลายเดือนแล้ว ยังไม่มีความคืบในการแก้ปัญหาที่ดินวะกัฟแต่อย่างใด พวกเราจึงจำเป็นต้องเรียกร้องด้วยการนำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาเขียนลงในป้าย เพื่อย้ำให้นายอาศีส นำคำสอนในอัลกุรอ่านเป็นหลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินวะกัฟ เนื่องจากการวินิจฉัยที่ผ่านมา มิได้เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม ทำให้หลักการสำคัญของการวะกัฟตามหลักการศาสนาต้องถูกบิดเบือนไป เป็นไปตามต้องการของอำนาจฝ่ายรัฐและผลประโยชน์ของฝ่ายทุน

โดยผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทายาทหรือพยานในการวะกัฟ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนจากการปิดกั้นเส้นทางวะกัฟหรือทางสาธารณะดังกล่าวพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อเท็จจริงตลอดเวลา”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ 6 ปีตากใบ

Posted: 24 Oct 2010 05:16 PM PDT

25 ต.ค. 53 - มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ "๖ ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

แถลงการณ์

๖ ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ซึ่งครบ ๖ ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อันถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ  และแม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะได้เพียรพยายามเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต รวมถึงชุมชน และสังคม แต่สิ่งเดียวที่รัฐบาลในทุกสมัยไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ ความยุติธรรม 

ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ มีผู้เสียชีวิตหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ๗ คน ปัจจุบันพนักงานอัยการมีคำสั่งงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต ต่อมาได้มีการขนย้ายผู้ชุมนุมทั้งหมดไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พบมีผู้เสียชีวิตภายในรถที่ขนย้ายอีก ๗๘ คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๘๕ คน ไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ และพิการ ในกรณีการเสียชีวิตศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ สรุปว่าผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ ขณะอยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่  พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถือเป็นอันยุติ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีตากใบจึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นที่ยอมรับร่วมกันว่า รากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากความไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ดังกล่าว แม้กฎหมายจะมีพื้นที่ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้เองโดยตรง แต่ผู้ครอบครัวเสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในสถานะยากลำบาก อีกทั้งการฟ้องร้องหน่วยงานความมั่นคงก่อให้เกิดความหวาดกลัว และการไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำประชาชนให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมบนบรรทัดฐานของความเท่าเทียมทางกฎหมายได้

ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

๑. ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่

๒. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความยุติธรรมโดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๗(๔)

๓. รัฐบาลต้องมีมาตราการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

๔. สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกกรณี และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิดสิทธิฯในเหตุการณ์ตากใบ

เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ และปรับกระบวนทัศน์ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  รัฐบาลรวมถึงกระบวนการยุติธรรมไทยจึงต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมา ว่าแท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง และความยุติธรรมเพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ตามหลักนิติธรรม อย่างไร เพราะการปรองดอง และความสมานฉันท์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความเป็นธรรม อีกทั้งสันติภาพก็มิได้หมายถึงเพียงการยุติความรุนแรง แต่สันติภาพที่ยั่งยืนหมายถึงการที่ประชาชนทุกคนจะเป็นอิสระจากความหวาดกลัว และต้องไม่ให้มีการงดเว้นโทษ (Impunity) อีกต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'แยนะ สะแลแม' แต่งงาน+รำลึก ‘6ปีตากใบ’

Posted: 24 Oct 2010 05:10 PM PDT

สัมภาษณ์ “แยะนะ สะแลแม” แกนนำสตรีเหยื่อตากใบ ไม่ได้จัดงานรำลึก แต่จัดงานแต่งงานลูกชายตรงกับวันครบรอบ 6 ปี จากผู้สูญเสียสู่แกนนำนักเยียวยา

ปลื้ม – นางแยนะ สะแลแม แกนนำสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังยิ้มอยู่ข้าง “บูหงาปืงันเต็น” หรือของกินของใช้ที่นำมาประดับตกแต่งลวดลายสวยงาม เพื่อใช้ประกอบในงานเลี้ยงแต่งงานลูกชายคนที่ 7 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 6 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งนำมาสู่ความตายของชาวบ้าน 85 ศพ

วันนี้เป็นวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์วิปโยคที่นำมาซึ่งความตายของประชาชนชายแดนใต้ถึง 85 คน เป็นเหตุการณ์ที่ถูกโจทย์จานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย

ด้วยเพราะมีถึง 78 คนที่ตายระหว่างถูกขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ด้วยรถยีเอ็มซีและรถบรรทุกในลักษณะที่ถูกบังคับให้นอนซ้อนทับกัน?

เมื่อวานนี้ ที่บ้านไม้ริมนาท้ายหมู่บ้านจาเราะ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หญิงชรากับลูกหลานกำลังวุ่นอยู่กับการจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆนานา พวกเขาไม่ได้เตรียมการจัดงานครบรอบปีที 6 ของเหตุการณ์ตากใบ แม้หญิงชราผู้นี้คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบโดยตรง

“กะแยนะ” หรือ นางแยนะ สะแลแม คือหญิงชราเจ้าของบ้านหลังนี้ เธอกำลังจะจัดงานแต่งงานลูกชายคนที่ 7 จากจำนวนลูก 8 คน แต่ไม่ใช่ลูกชายคนที่ตกเป็นจำเลยในคดีตากใบพร้อมกับชาวบ้านอีก 57 คน ก่อนที่จะถูกถอนฟ้องในเวลาต่อมา ซ้ำยังสูญเสียสามีในเหตุการณ์ไม่สงบตามมาด้วย

“ลืมไปว่าวันที่ 25 ตุลาคม ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ และไม่ได้ตั้งใจจัดงานแต่งงานลูกให้ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ เมื่อมีคนโทรศัพท์มาถามว่า ใกล้จะจะถึงวันที่ 25 ตุลาคม กะนะไม่ได้จัดงานระลึกตากใบหรือ จึงทำให้นึกขึ้นได้ แต่คนที่โทรศัพท์มาก็บอกว่าดีแล้ว จะได้จำเหตุการณ์ตากใบต่อไปได้” คือเสียงจากปากของกะแยนะ”

แม้ในวันนี้จะมีหลายองค์กรที่ร่วมกันจักงานเพื่อระลึกเหตุการณ์นี้อยู่ แต่ในส่วนของชาวบ้านหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรง ก็ไม่มีใครจัดงานอะไรขึ้นมา ยกเว้น กะแยนะคนเดียว แต่ได้จัดงานไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา

“วันที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบที่ผ่านมา จัดในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เพราะเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ดังนั้นจึงต้องจัดงานรำลึกกันในเดือนรอมฎอน โดยเชิญแขกมาร่วมรับประทานอาหารละศีลอดร่วมกัน ที่โรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) ประจำหมู่บ้านจาเราะ”

กะแยนะ บอกว่า วันนั้น เชิญหลายคนมาร่วมงาน แต่ที่มาส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ส่วนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบไม่ได้มา เพราะส่วนใหญ่ยังหวาดกลัวอยู่ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังหวาดกลัว และไม่ค่อยอยากยุ่งกับทางการมากนัก อยากอยู่ทำงานตามปกติมากกว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ปล่อยให้มันเงียบไป

ถึงแม้ในกลุ่มผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ตามปกติทั่วไป แต่สำหรับกะแยนะ สะแลแม เองไม่ได้วางตัวสงบนิ่งอยู่แต่ในหมู่บ้านอย่างคนทั่วไป แต่กลับพลิกบทบาทบทบาทตัวเองจากผู้ได้รับผลกระทบมาเป็นผู้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คนอื่นๆ ด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการช่วยลูกชายตัวเอง จนนำมาสู่การตั้งกลุ่มเพื่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ

คำว่า “ไม่มีกะแยนะ คนก็คงลืมเหตุการณ์ตากใบไปแล้ว” คงจริงอย่างที่นายทหารในพื้นที่ที่เคยเป็นไม้เบื่อเมากับกะแยนะมาก่อนเคยพูดไว้
กะแยนะเล่าถึงบทบาทตัวเองจากวันนั้นจนถึงวันนี้ว่า เริ่มต้นเป็นแกนนำช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ก่อน เนื่องจากลูกชายของตัวเองตกเป็นจำเลยด้วย ซึ่งตอนนั้นต้องขึ้นลงศาลจังหวัดนราธิวาสตลอด

เมื่อต้องไปศาลหลายครั้ง คนอื่นๆ ที่มีญาติเป็นจำเลยด้วย จึงขออาศัยกะแยนะไปด้วย มีการพึ่งพากัน จากนั้นพวกองค์กรต่างที่ทำงานช่วยเหลือเยียวยาก็เข้ามาช่วย เริ่มจาก กะยา(นางโซรยา จามจุรี วิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) แล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) ตามด้วยทีมทนายความที่เข้ามาว่าความในคดีนี้

“ตอนนี้มาไม่รู้องค์กรไหนต่อองค์กรไหนแล้ว ที่กะแยนะได้ร่วมงานด้วย องค์กรไหนอยากรู้ข้อมูลอะไรก็โทรศัพท์มาถาม แรกๆ ก็ถามเรื่องเหตุการณ์ตากใบ นานๆไปก็ลามไปถึงเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อะไรที่กะนะตอบได้ก็ตอบ อะไรที่กะนะตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ หรือให้ช่วยประสานงานให้ก็มี”

กิจกรรมที่เข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ ส่วนมากคือการเข้าอบรม ซึ่งทำให้ได้ความรู้มาก มีความเข้าใจในหลายๆ เรื่องมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างกลุ่มคนที่ทำงานเยียว กลุ่มคนได้รับผลกระทบ และกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ถึงตอนนี้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่กะแยนะได้ช่วยเหลือมีหลายหลายรูปแบบ ทั้งญาติเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และพวกที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งมีวิธีช่วยเหลือเยียวยาที่แตกต่างกันไป

“ถ้าเป็นพวกที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ(พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548) กะนะจะพยายามหาทางช่วยให้เขาได้กลับไปอยู่บ้านตามปกติ อาจไปพูดคุยหารือกับทหารหรือเจ้าหน้าที่เพื่อจะให้คนที่ถูกหมายควบคุมตัวออกมาแสดงตัวแล้วก็ปล่อยกลับบ้าน”

“การที่เราเข้าไปช่วยตรงนั้น ก็ทำให้เราได้รับความรู้มากขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น ยิ่งทำให้มองเห็นทางที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นด้วย”

หลังจากที่ได้ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบกรณีตากใบ ได้ไปร่วมกิจกรรมในที่ต่างๆ ทำให้ได้รับรางวัลมาด้วย เริ่มจากปี 2550 กะนะได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นปี 2552 ได้รับรางวัลพลเมืองคนกล้า ซึ่งมาจากการคัดเลือกของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายจิตอาสา และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ และได้รับรางวัลจากรายการคนค้นคน

ในปี 2553 นี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้เดินทางไปร่วมงานของสหภาพยุโรปที่ประเทศไอร์แลนด์ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมองค์กรพัฒนาเอกชนของประเทศเกาหลีใต้ เป็นตัวแทนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปร่วมเรียนรู้เรื่องความขัดแย้งที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้

“ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้อยู่บ้านมากนัก เพราะมีองค์กรต่างๆ เชิญเข้าร่วมงานตลอด ส่วนใหญ่จะไปคนเดียว ยกเว้นถ้าเขาต้องการให้พาคนในกลุ่มไปด้วย แต่คนอื่นไม่ค่อยอยากไป แต่เราไปได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานอะไรแล้ว เป็นการเรียนรู้ไปด้วย ถ้าอยู่บ้าน เราก็ไม่ได้เรียนรู้”

กะแยนะ พูดถึงแนวคิดในการเยียวยาของตัวเองด้วยว่า “กะนะพยายามให้ผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ เหมือนที่กะนะเองไม่ได้รู้สึก และเราจะไม่แสดงให้เขาเห็นว่า เราคือผู้ได้รับผลกระทบ เราพยายามพูดให้เขาเข้าใจว่า เมื่อถึงเวลาความสูญเสียมันก็ต้องเกิดขึ้น”

“เมื่อได้พูดไปอย่างนั้นแล้ว ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เราพยายามให้คิดถึงพระเจ้าอย่างเดียว ให้เชื่อว่า พระเจ้ามีองค์เดียว พระเจ้าทำให้ตายเมื่อถึงเวลา อยากให้เขาคิดอย่างนั้นอย่างเดียว เมื่อเขาคิดอย่างนั้นได้ ความเครียดก็ทุเลาลง”

ตอนนี้ไม่ใช่แค่เยียวยาผู้ที่สูญเสียญาติเท่านั้น กรณีถูกจับกุมและควบคุมตัว กะแยนะก็ได้เข้าไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งกะแยนะบอกว่า “เพราะบางคนที่รู้จะไปพึ่งใคร จะพึ่งองค์กรที่มาช่วยก็ไม่รู้จัก แต่เขารู้จักกะนะ เขาก็มาขอช่วยกะนะ บางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่มีคนโทรศัพท์มาหาทุกวัน เหมือนมาร้องเรียนยังไงยังงั้น”

 “ไม่ใช่ว่าเราช่วยเหลือเขาได้ แต่เราช่วยประสานให้ได้ บางทีก็ประสานไปยังมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือประสานกับคุณอังคณา นีละไพจิตร หัวหน้าคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ หรือไม่ก็ประสานกับกะยาให้ช่วยเหลื่อเขาหน่อย แล้วแต่สถานการณ์”

บางครั้งก็ประสานกับทหาร ทั้งทหารในหน่วยในพื้นที่หรือประสานไปถึงระดับผู้คับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทหาร ซึ่งเป็นการประสานไปพร้อมกับเสนอความต้องการขอตัวเองไปด้วยว่า “อยากให้ทหารกลับเข้าไปอยู่ในหน่วย ไม่ต้องเข้ามาตั้งฐานในหมู่บ้าน เพราะนั่นจะทำให้คนร้าย เห็นว่าทหารที่มาอยู่ในหมู่บ้านเป็นศัตรู” ซึ่งนั่นจะทำให้ความเกิดยุ่งยากลำบากกับชาวบ้านตามมาอีกก็เป็นได้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สสส.เปิดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต “แรงงานข้ามชาติ-คนไร้รัฐ” จ.เชียงราย

Posted: 24 Oct 2010 05:01 PM PDT

สสส. ร่วมกับเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง และหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย เปิดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต “แรงงานข้ามชาติ-คนไร้รัฐ” จ.เชียงราย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) จัดงานนำเสนอกิจกรรมใน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม 2553 โดยมีการนำเสนอทั้งกิจกรรมล่ามชุมชนอาสา โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง บทบาทของคริสตจักรห้วยผึ้ง อ.แม่ฟ้าหลวงต่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล สถานการณ์ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของหญิงบริการในพื้นที่ อ.เชียงแสน หลังเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน และร่วมงานประเพณีบุญข้าวใหม่ม้ง ณ บ้านทุ่งนาน้อย ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

น.ส.บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ที่ปรึกษา คพรส. กล่าวถึงภาพรวมของโครงการและสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลใน จ.เชียงราย ว่า คพรส.มีความมุ่งหมายจะให้แรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐ ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยในพื้นที่ จ.เชียงราย คพรส.ได้สนับสนุนให้เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “ล่ามชุมชนอาสา” เพื่อช่วยเหลือคนไร้สัญชาติในการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ เช่น พาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรอกข้อมูล แปลภาษา รวมทั้งรายงานสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีล่ามชุมชนอาสาประมาณ 20 คน ประจำอยู่ใน อ.แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และเชียงของ จ.เชียงราย

สำหรับสถานการณ์ของแรงงานในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งภายหลังการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ได้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆเข้ามาดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือ ทำให้มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเป็นกรรมกรในพื้นที่ท่าเรือจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงบริการต่างๆที่ควรได้รับ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพและสิทธิแรงงานต่างๆ และอีกไม่นานการสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 จะเสร็จในปี 2554 รวมทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 จะเสร็จสิ้นในปลายปี 2555 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

น.ส.เจนจินดา ภาวะดี ผู้ประสานงานโครงการพันธกิจคริสตจักรลุ่มน้ำโขง สภาคริสเตียนแห่งเอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่จีนเปิดประเทศทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตามการอพยพย้ายถิ่นมาอยู่อีกชุมชนหนึ่งที่แปลกใหม่ไป แรงงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากชุมชนที่ย้ายเข้ามา การเข้าไม่ถึงบริการต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เพราะชุมชนไม่ได้ตั้งรับกับสถานการณ์ เกิดความไม่เข้าใจกันในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนเชียงแสน – เชียงของ ที่เรือขนส่งจีนขนสินค้าเข้ามา มีแรงงานจีนมากับเรือ อยู่ในเรือมานาน พอขึ้นบกมาแรงงานต้องหาที่ระบายอารมณ์ ทำให้เกิดหญิงบริการจำนวนมากขึ้น นำไปสู่เรื่องค้ามนุษย์ตามมา ฉะนั้นถ้าชุมชนในพื้นที่ไม่ตั้งรับ มาคอยแก้ปัญหาทีหลัง จะกลายเป็นปัญหาปลายเหตุ สำคัญที่ชุมชนต้องตั้งรับกับปัญหาต่างๆ เอาประชาคมทุกภาคส่วนมานั่งคุยกัน ถึงแนวทางการคลี่คลายปัญหาในอนาคต เพราะเราไม่สามารถหยุดยั้งการค้าเสรีได้ แต่เราสามารถป้องกันล่วงหน้าได้

นอกจากนั้นแล้วปัญหาทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อแรงงานที่เข้ามา การมองเขาเป็นคนอื่น นี้เป็นปัญหาที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดถนน R3A หรือการสร้างสะพาน การมีคาสิโนในพื้นที่ ก็จะทำให้มีคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งคนก็ต้องเสาะแสวงหาความบันเทิงเริงรมย์ สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการค้าบริการมากขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพเรื่องเอดส์ พบว่ารัฐบาลจีนจะเปิดเผยข้อมูลเฉพาะคนที่เป็นเอดส์เท่านั้น แต่คนติดเชื้อยังถูกปกปิดข้อมูลอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้มีการเคลื่อนย้ายสูง ทำให้โอกาสที่ HIV จะแพร่เชื้อก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน”

น.ส.บุษยรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนในพื้นที่บ้านทุ่งนาน้อย ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกว่า 90 % อาศัยอยู่ นอกจากนั้นเป็นกลุ่มม้งกลุ่มใหม่ซึ่งเพิ่งอพยพเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในหมู่บ้าน โดยปัญหาหลักของพื้นที่นี้คือ ความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์กับคนพื้นราบที่อาศัยอยู่เดิม จนเกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทำให้คนม้งต้องรักษาแบบตามมีตามเกิดในหมู่บ้าน บางครั้งก็ไม่กล้าไปจดทะเบียนการเกิด ส่งผลให้เด็กไร้สถานะบุคคล จากสถานการณ์เหล่านี้ คพรส.จึงสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนา คือ หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย มาเป็นกลไกในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ในการทำให้แรงงานข้ามชาติและบุคคลชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเข้าถึงสิทธิสถานะบุคคล แรงงาน และสุขภาพ

นายณัฐพงษ์ มณีกร หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของคริสตจักรในการเป็นกลไกระดับพื้นที่ จ.เชียงราย ว่า จะเน้นการทำงานในเรื่องสัญชาติ สถานะบุคคล ของพี่น้องเผ่าต่างๆ ประมาณ 5-6 เผ่า โดยมีกลไกคือ อาสาสมัครอาสาในชุมชน และมีคริสตจักรเป็นเครือข่ายทำงานอบรมให้ความรู้ว่า พวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไรบ้าง และขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สามของการทำงาน ผลที่ออกมาก็ดีมาก ผู้นำชุมชนและภาครัฐเข้าใจงานที่เราทำมากขึ้น มีท่าทีที่ดีขึ้น อาสาสมัครของเราจึงทำงานง่ายขึ้น ทำให้คนที่ควรได้รับสัญชาติได้รับสัญชาติมากขึ้น หลังจากที่พวกเขาได้รับสัญชาติ ชีวิตพวกเขามีความสุขขึ้น ไปลองคุยกับพวกเขาได้ คือ จากที่ไม่ได้แล้วได้มา ดีนะ เวลาผมคุยกับพวกเขา ใบหน้า แววตาของเขาบอก ถึงแม้บางคนจะยังไม่ได้ แต่ลูกๆเขาได้รับสัญชาติ ก็ยังดี ต่อจากนี้ไป ก็อยากจะขยายการทำงานไปยังระดับตำบลและอำเภอ อย่างที่ทำได้ผลแล้วที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก

“สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เทิดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง นั้น ความน่าสนใจคือ การอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์มาอยู่ร่วมกันได้ เรื่องนี้รัฐทำได้ดี แต่การอยู่ร่วมกันทำให้เกิดช่องว่างการฉกฉวยผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ เป็นที่รู้กันดีว่าพื้นที่เทอดไทยเป็นพื้นที่เสี่ยง เป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ที่เห็นชัดก็คือคนดั้งเดิมของที่นี่เขาสูญเสียสิทธิที่เขาควรจะได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องสัญชาติที่เขาเป็นไทยเกิดในประเทศไทย แต่การเข้าถึงสิทธิในฐานะที่เป็นคนไทย เขาเข้าไม่ถึง นี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คริสตจักรได้พยายามมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน เพราะเห็นปัญหาของพี่น้องในชุมชน เพราะโบสถ์เป็นพื้นที่ศูนย์รวมทางจิตใจ ที่สามารถดึงคนหลากหลายชาติพันธ์มาอยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามโบสถ์ทำงานไปสักระยะหนึ่งก็เกิดปัญหา พบว่ามีพี่น้องเข้าไม่ถึงสิทธิ ถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น ก็มีเวทีการพูดคุยกัน  จึงเกิดทีมงานที่เป็นอาสาสมัครในคริสตจักรชุมชน ที่เป็นศิษยาภิบาลในเครือข่ายสภาคริสตจักรในประเทศไทย โดยพยายามทำในขอบเขตในศักยภาพที่จะทำงานได้ หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคมก็มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานนี้ มีการจัดอบรมอาสาสมัคร การช่วยลงรายงานสถานะบุคคล โดยการประสานงานกับราชการ อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ โดยทำงานผ่านผู้นำชุมชนที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เข้าสิทธิพื้นฐาน” นายณัฐพงษ์กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาสังคมก้าวหน้าขวนคนเสื้อแดงยื่นจดหมายถึงเลขายูเอ็น

Posted: 24 Oct 2010 04:56 PM PDT

สมัชชาสังคมก้าวหน้า ร่วมกับกลุ่มอาจารย์ กลุ่มประชาธิปไตยก้าวหน้า และญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 จะส่งตัวแทนมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาฯสหประชาชาติในวันที่ 26 ตุลาคม 2553 โดยรวมตัวที่หน้าประตูใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 12.00 น

สมัชชาสังคมก้าวหน้าได้ยื่นขอเรียกร้องให้

1.ให้เปิดเผยรายขื่อผู้ถูกกุมขังที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมด

2.ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

3.ให้เร่งเปิดเผยผลสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม เพื่อนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย

ทั้งนี้ จึงขอให้ เสื้อแดง มาร่วมในการยื่นจดหมายเปิดผนึกในครั้งนี้

 

-------------------------------------------------------------------------------------

จดหมายเปิดผนึกถึงบันคีมุน

-------------------------------------------------------------------------------------

 

24 ตุลาคม 2553


เรียน ท่านบันคีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ

เราเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงท่านด้วยความเชื่อถือต่อบทบาทที่ผ่านของท่านและสห ประชาชาติในการผลักดันความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้น อาทิ การรณรงค์ของท่านเพื่อความประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งท่านได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจัง

ในประเทศไทย เป็นที่ทราบดีว่ารัฐบาลได้ใช้กำลังทหารกวาดล้างการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อเดือน เมษายน และพฤษภาคม ด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 ศพ บาดเจ็บหลายพันคน ผู้สูญหายหลายสิบคน มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคน ช่วงเวลาดังกล่าว คุณนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กล่าวเรียกร้องให้ไทย ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในไทย เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย ทำให้พวกเรามีความเชื่อมั่นในจุดยืนของสหประชาชาติต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศไทย

ปฏิบัติการอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ที่ทำให้มีการสูญเสียมากมายแล้วนั้น เป็นปฏิบัติการภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นกฎหมาย เผด็จการที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในการจับกุมก็เป็นเพียงข้อสงสัย ผู้ต้องขังจำนวนมากถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพตามรายงานที่ปรากฎบนพื้นที่สื่อ สาธารณะ และศาลตัดสินโดยจำเลยไม่มีทนาย ไม่มีการสอบพยานบุคคล อาศัยแต่เพียงคำสารภาพจากการซ้อมทรมาน จนกระทั่งบัดนี้ รัฐบาลยังไม่เคยเปิดรายชื่อผู้ถูกจับกุม

 ดังนั้น เราจึงขอให้ท่านนำข่าวสารของเราไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและรัฐบาลไทย ดังนี้ 

1. ให้เปิดเผยรายขื่อผู้ถูกกุมขังที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมด

2. ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

3. ให้เร่งเปิดเผยผลสอบสวนกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม เพื่อนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย ตามข้อเรียกร้องของข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

 

สมัชชาสังคมก้าวหน้า

 

 

Mr. Ban Ki-moon
Secretary-General, United Nations
1st Avenue, 46th Street
New York, NY 10017
USA

 

24 October 2010

 

Dear Sir,

 

We are writing this letter to you with utmost respect to your role at the U.N. in working for the causes of democracy and human rights. We also very much admire your effort in campaigning for democracy in Burma.

 

Here in Thailand, it is widely known that the Thai government had resorted to violence when dispersing the red-shirt demonstration during April and May earlier this year. It resulted in at least 91 deaths, several thousand injured, scores of people went missing, and several hundred were arrested. During that time, Navanethem Pillay, the UN High Commissioner for Human Rights, had appealed to Thailand to set up an independent committee to investigate the matter and bring those who committed the human rights violation to justice. This gives us confidence in the stance of the U.N. regarding human rights issues in Thailand.

The government’s violent crackdown in April and May was done under the emergency decree whose law severely violates the most basic human rights. Moreover, arrests were done on suspicion charges.

 

Many detainees have been tortured to confess. The court would give verdicts without giving the detainees access to any lawyer. It would not seek any witnesses to give testimonies. Only the forced confession extracted under duress were used in court. Up until now, the government has not revealed the names of people they have arrested so far.

 

Therefore, we would like to ask for your help in demanding from our prime minister Abhisit Vejjajiva and our government the following matters:

1.     Reveal to the public the names of all citizens who were arrested.

2.     Release all political prisoners.

3.     Speed up the investigation process that looks into the violence crackdown on protesters and bring those who committed the human rights violation to justice, according to the call from the UN High Commissioner for Human Rights.

Thank you very much.

Social Move



 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น