โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

แนะนำหนังสือ: A Long Way Gone บันทึกทหารเด็ก

Posted: 02 Oct 2010 11:33 AM PDT

สรินณา อารีธรรมศิริกุล อดีตอาจารย์ม.นเรศวร เขียนแนะนำหนังสือที่เขียนจากความทรงจำอันเลวร้ายของทหารเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศเซียร์รา ลีโอน

เมื่อได้โอกาสอ่านหนังสือเรื่อง A Long Way Gone บันทึกความทรงจำของทหารเด็ก (Child Soldier) ที่เกิดขึ้นในประเทศเซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) เขียนโดย อิชมาเอล เบียช (Ishmael Beah) ทำให้ผู้เขียนนึกถึงฉากในหนังฮอลลิวู้ดเรื่อง Blood Diamond ที่มีนักแสดงหน้าตาน่ารักอย่างแจ๊ส ดอร์สันแห่งไททานิกมาเล่นเป็นพระเอก

 

ถ้ายังจำฉากแรกของหนังเรื่องนี้กันได้ กลุ่มกบฎRUF (Revolutionary United Front) เข้าโจมตีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง โซโลมอนผู้เป็นพ่อถูกนำตัวไปเป็นทาสแรงงานในเหมืองเพชร ทำให้เขาพลัดพรากจากครอบครัว หลังจากหนีออกจากเหมืองเพชรเลือดได้โซโลมอนพยายามตามหาลูกชายที่หายไป ในที่สุดเขาก็ตามหาลูกเจอ โซโลมอนเดินย่องเข้าไปในกลุ่มเด็กที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่บนโต๊ะอย่างระวังเหมือนรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ลูกชายของเขาหันหน้ามาพร้อมส่องกระบอกปืนเตรียมเหนี่ยวไกตามสัญชาตญาณของทหารที่เจนจัดในสงคราม เด็กน้อยกัดฟันกรอดๆ ขมวดคิ้วไม่ยอมวางปืนที่กำลังส่องหน้าพ่ออยู่

 

เราคงเดากันได้ว่า ลูกของโซโลมอนคงถูกล้างสมองให้กลายเป็นทหารเด็กที่สามารถฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น แต่เราคงเดาไม่ถูกว่ากระบวนการล้างสมองที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และการเป็นทหารนั้นมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างไร  A Long Way Gone อธิบายความซับซ้อนนี้ออกมาเป็นภาพและความรู้สึกได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว

 

อิชมาเอลเขียนถ่ายทอดประสบการณ์จริงของเขาจากความทรงจำอันแสนเจ็บปวดเมื่อตนเองต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองตอนอายุสิบสองและผ่านการถูกล้างสมองให้กลายเป็นทหารตอนอายุสิบสาม สงครามการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มกบฎRUF และรัฐบาลเผด็จการทำให้อิชมาเอลต้องพลัดพรากจากครอบครัว ความแค้นฝั่งลึกบวกกับหนทางตันที่ไม่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่สงครามทำให้ชะตาชีวิตของเขากลับตาลปัดจากเด็กไร้เดียงสาที่ชอบจับกลุ่มเต้นรำร้องเพลงแนวฮิพฮอพกลายมาเป็นหัวหน้าทหารเด็กที่ทำการปลิดชีวิตคนและปล้นสะดมภ์พลเมืองอย่างไม่รู้สึกรู้สา

 

ย้อนไปในปี 1991 สงครามกลางเมืองในประเทศเซียร์รา ลิโอนปะทุขึ้นจากกลุ่มกบฎเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่าRUF นำโดยอดีตนายทหารฟอเดย์ แซงโก (Foday Sankoh) ทำการเผาหมู่บ้านพลเรือน ฆ่าคนบริสุทธ์เพื่อแย่งชิงอาวุธและเสบียงอาหาร ขณะที่เกณฑ์ผู้ชายและเด็กเข้าเป็นกองกำลังสนับสนุน การที่กบฎRUF เข้าควบคุมตำบลโคโน (Kono) ทางฝั่งตะวันออกของประเทศที่เป็นแหล่งเหมืองเพชรขนาดใหญ่ก็เพื่อต้องการเงินมาซื้ออาวุธและเสบียงสนับสนุนการปฎิวัติ จากนั้นปฎิบัติการของกลุ่มกบฎRUF ได้ขยายการโจมตีไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่นำโดยนายพลโจเซฟ ไซดู (Joseph Saidu)

 

กลุ่มกองกำลังที่อิชมาเอลถูกเกณฑ์เป็นทหารอยู่นั้นถือเป็นกองกำลังอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฎRUF แต่ในขณะเดียวกันก็ทำการฆ่าปล้นสะดมภ์พลเมืองผู้บริสุทธ์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ในเวลานั้นไม่มีใครไว้ใจใคร คนแปลกหน้ากลายเป็นอริศัตรูไปโดยปริยาย แต่ละหมู่บ้านทำได้อย่างเดียวคือตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นเพื่อปกป้องชุมชน สถานการณ์เช่นนี้เสมือนโรคระบาดแห่งความรุนแรงที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วไปทุกหนแห่งในเซียร์รา ลิโอน

 

จากเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสาที่ไม่กล้าแม้กระทั่งฆ่าหมูป่าเพื่อเอามากินประทังชีวิต ถูกล้างสมองให้กลายมาเป็นทหารเลือดเย็นที่สามารถจ้องตาเหยื่อก่อนใช้มีดปาดคออย่างโหดร้ายและใช้ปืนยิงในระยะเผาขนได้นั่นเป็นความน่าประหลาดใจให้ฉุกคิดตั้งคำถามถึงกระบวนการฝึกและวิธีการล้างสมองที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าอันตรายที่สุด การปลุกใจจากคำพูดที่ทำให้เจ็บแค้น การเสพยาเสพติดทั้งแอฟฟีตามีนและที่เรียกว่า“brown brown” (โคเคนผสมดินปืน)ที่สร้างความฮึกเฮิม การดูภาพยนต์สงครามทุกคืนและมีแรมโบ้เป็นไอดอล และการออกรบในสมรภูมิเกือบทุกวัน เสียงร้องโหยห้วนด้วยความเจ็บปวด ความหวาดกลัวและอลหม่านจากการสูญเสียเพื่อนในสมรภูมิ ภาพและเสียงเหล่านี้ที่อิชมาเอลเห็นและได้ยินอยู่ทุกวันแม้ในระยเวลาอันสั้นก็ตามเป็นเสมือนยาทำลายล้างประสาทของเด็กๆ ให้ตายและด้านชาต่อความรุนแรง

 

เรื่องราวของอิชมาเอลสะท้อนภาพและความรู้สึกให้ผู้อ่านรับรู้และเข้าใจสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของเด็กที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะความวุ่นวายของสงครามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งความยากลำบากในการต่อสู้กับภาพหลอนของสงครามและความรุนแรงจนกลายมาเป็นฝันร้ายเมื่อเขาถูกช่วยเหลือออกมาให้อยู่ในค่ายฟื้นฟูของUNICEF ที่เมืองFreetown เมืองหลวงของเซียร์รา ลิโอน รวมทั้งการปรับตัวให้กลับมาเป็นเด็ก (แต่ไม่ไร้เดียงสา) และอยู่ในสภาพสังคมปกติได้อีกครั้ง แต่พอปี1996 อิชมาเอลต้องกระเสือกกระสนหาทางหนีอีกครั้งเมื่อสงครามได้ขยายตัวเข้ามาในเมืองหลวงของประเทศ สุดท้ายเขาต้องอพยพไปอยู่ที่นิวยอร์กและกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กของยูนิเซฟที่มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้โลกได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่อง“ทหารเด็ก”

 

ที่จริงแล้วประเด็นปัญหานี้ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเราหรือเกิดขึ้นแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่าถูกประเมิณว่ามีจำนวนทหารเด็กมากที่สุดในโลก ในปี 2002 ยูเอ็นคลอดพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในสภาวะขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict) โดยอนุสัญญาระบุว่ารัฐบาลสามารถเกณฑ์เด็กที่อายุน้อยกว่า18 ปีมาทำงานในกองทัพได้แต่ไม่สามารถออกไปสู้รบในสมรภูมิได้ ส่วนกองกำลังที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐไม่สามารถเกณฑ์ทหารเด็กที่อายุน้อยกว่า18 ปีมารวมกองกำลังไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในบรรดาสมาชิกอาเซียนมีสามประเทศที่ยังไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญานี้คือประเทศบูรไน มาเลเซีย และพม่า

 

กรณีของอิชมาเอลถือว่าเป็นกรณีที่ยิ่งกว่าเรียกว่าโชคดีที่เขาสามารถหลุดพ้นจากสงครามออกมาอยู่ในสังคมปกติได้อย่างปลอดภัย แต่เพื่อนของเขาหลายคนที่เคยอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูไม่สามารถอพยพออกนอกประเทศได้และต้องกลับไปเป็นทหารเหมือนเดิม ในปัจจุบันแม้ยังไม่มีตัวเลขบ่งชี้ที่แน่ชัดของจำนวนทหารเด็กทั่วโลก แต่องค์กรต่างประเทศหลายๆ องค์กรได้คาดการณ์ว่ายังมีเด็กอีกมากกว่าสองแสนถึงสามแสนคนทั่วโลกที่ยังตกอยู่ในสภาพเดียวกับอิชมาเอล หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเปิดตาผู้ใหญ่อย่างเราให้เข้าใจความรู้สึกของเด็กที่ถูกคุกคามจากสภาวะความรุนแรงของสงครามกลางเมืองแล้ว ยังเหมาะที่จะเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาสิทธิเด็กและกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กในหมู่นักเรียนนักศึกษาด้วยกันเองอีกด้วย

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือ A Long Way Gone: Memoirs of a Boy Soldier

สำนักพิมพ์: Sarah Crichton Books

ปีที่พิมพ์: 2007

ISBN-10:  0-374-10523-5

ความยาว: 229 หน้า

แปลไทยโดย: คำเมือง สำนักพิมพ์สันสกฤต

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อโต้แย้งกรณีสวรรคตใน หนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หนังสือเล่มใหม่ของวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย

Posted: 02 Oct 2010 10:34 AM PDT

วันอังคารที่ผ่านมา (28 ก.ย.2553) มีพี่ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าว่ามีหนังสือเล่มใหม่ออกมา บิดเบือนประวัติศาสตร์อีกแล้วโดยเฉพาะกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่8 ผู้เขียนชื่อ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เหตุที่คุณพี่ท่านนั้นโทรศัพท์มาเล่าเพราะทราบดีว่าคุณพ่อ (สุพจน์ ด่านตระกูล) ของข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ติดตามและนำเสนอข้อมูลในเรื่องกรณีสวรรคตมาอย่างที่ สื่อมวลชนบางท่านนินทาว่า กัดไม่ปล่อย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานจนได้รับรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในฐานะนักเขียนดีเด่น จึงแสดงความคิดเห็นว่าข้าพเจ้าน่าที่จะนำข้อเท็จจริงมาตอบโต้ เพื่อที่ผู้อ่านจำนวนมากจะได้ไม่เข้าใจผิดตามถ้อยความที่ไม่ตรงกับความจริง ของ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยโดยเฉพาะข้อมูลบางตอนที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนและ www.matichon.co.th อยู่ในเวลานี้

อันนามผู้เขียน วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยนี้ เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยในแง่ที่งานเขียนของเธอหลายชิ้นได้ถูกคุณพ่อของ ข้าพเจ้านำมาวิพากษ์วิจารณ์ และโต้แย้งในหลายๆกรณีที่เธออาจเข้าใจคลาดเคลื่อน (หรือจงใจก็ไม่ทราบ)เช่นหนังสือเรื่อง ข้าวของพ่อ ในหน้า 42 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่2) เธอได้เขียนบรรยายไว้ว่า
 
หลังสงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นนั้นก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน
ข้าวไม่เพียงแต่เลี้ยงคนไทยให้ อยู่รอด ไม่อดตาย และผ่านสงครามอันร้ายกาจมาได้เท่านั้น ข้าวยังได้ช่วยชาติให้พ้นภัยในฐานะผู้พ่ายแพ้อีกด้วย
 
แต่จากเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ได้กลับตรงกันข้าม
 
1.    ประเทศไทยไม่เคยตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ทำให้เราสามารถประกาศสันติภาพได้ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1945 และท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้ประกาศในนามของประชาชนชาวไทยว่าการประกาศสงคราม ของไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ รัฐบาลไทยต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย และได้มีงานเฉลิมฉลอง แต่ต่อมาในยุคเผด็จการครองเมือง และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ วันชาติ 24 มิถุนายน และ วันสันติภาพ 16 สิงหาคม ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน จนกระทั่งในวันที่ 10  มิถุนายน 2545 จึงได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ที่ตั้งอยู่ ณ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม (อ่านเพิ่มเติมได้จาก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 171/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์) และต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันสันติภาพไทย ทุกวันที่ 16 สิงหาคม เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน (2553)
 
2.    ที่วิมลพรรณ เขียนว่าไทยถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน นั้น ความจริงไม่ใช่ปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน แต่เป็นจำนวนทั้งหมด 1.5 ล้านตัน ไม่ใช่ต่อปี (ให้ครบ 1.5 ล้านตันเมื่อไรก็จบกัน)
แต่สุดท้ายแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 1946 อังกฤษยอมปรับปรุงสนธิสัญญาข้อนี้เป็นให้ไทยขายข้าวในราคาถูกให้อังกฤษ 1.2 ล้านตันแทนการให้เปล่า โดยความสามารถของรัฐบาลไทยในขณะนั้น (ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี) ที่ได้ทำการเจรจาเป็นผลสำเร็จสรุปว่าไทยต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเปล่าๆทั้งหมด เพียง 150,000 ตัน เท่านั้น (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก-หนังสือไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของดิเรก ชัยนาม
-วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจข้าวในภาคกลางกับผลกระทบต่อสังคมไทย ช่วงพ.ศ.2460-2498 ของ ธรรมรักษ์ จำปา
-หนังสือการวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495 (2527) ของดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล
-เว็บไซด์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้าฯ)
เอกสารหลักฐานสำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ หนังสือแจกในงานศพของนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งท่านได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ไว้ด้วยตัวเอง ว่าดังนี้
 
“.........ก็พอดีวันหนึ่ง จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้โทรศัพท์เชิญข้าพเจ้า (นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ให้ไปพบที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็ได้ส่งโทรเลขของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้ข้าพเจ้าอ่าน ซึ่งมีความเป็นทำนองหารือมาว่า หากประเทศไทยจะเสนอให้ข้าวแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสัก 1,200,000 ตัน หรือ 1,500,000 ตัน (จะเป็นจำนวนไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนหนึ่งใน 2 จำนวนนี้) โดยไม่คิดมูลค่าจะได้หรือไม่ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความในโทรเลขดูตลอดแล้ว ก็วิตกกังวลมาก เพราะว่าการให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวนมากเท่ากับการขายข้าวส่งออกนอก ประเทศของเราในยามปกติตลอดปี มันเท่ากับเป็นค่าปรับสงครามนั่นเอง เพราะจะเป็นเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทย คือจะเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท และนอกจากนั้นแล้วข้าวจำนวนนี้จะมีพอให้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เพราะในระหว่างสงครามนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศดังเช่นยามปกติก็ตาม แต่ทหารญี่ปุ่นก็ได้มากว้านซื้อเอาไปหมด ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องไปหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก่อน นายปรีดี พนมยงค์จึงกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องรีบตอบ กว่าจะสอบสวนอาจจะเสียเวลานาน ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าตกลงว่า ไหนๆอังกฤษและอเมริกาก็ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และไหนๆม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้เสนอให้เขาไปแล้วก็ควรตอบไปว่า เห็นควรรับได้ในหลักการ ส่วนเรื่องจำนวนที่จะให้นั้น จะได้ตกลงพิจารณาในภายหลังจะได้หรือไม่? ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงยอมตกลงที่จะให้มีโทรเลขตอบไปเช่นนั้น”
 
ข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน หรือ 1.5 ล้านตัน ที่จะให้แก่สัมพันธมิตรฟรีๆนั้น เป็นข้อเสนอของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้ปรากฏอยู่ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ 14(ความตกลงสมบูรณ์แบบ เป็นข้อตกลงที่ไทยลงนามกับอังกฤษเมื่อ 1 มกราคม 2489 โดยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เพื่อชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษภายใน 1 กันยายน 2490) แต่ต่อมาเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้แก้ปัญหานี้จากการให้ฟรีเป็นการซื้อขาย ดังปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม 2489
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลให้รอบด้าน หรือจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้มีอคติต่อวิมลพรรณ เป็นการส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเขียนยืนยันสัจจะ ตามหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน เพราะหนึ่งเป็นหน้าที่ของลูกที่จะสานต่องานเผยแพร่สัจจะของผู้เป็นพ่อ และสองเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้รักสัจจะทุกคนที่ต้องช่วยกันเผยแพร่ความจริง นี้ออกไป เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาค้นคว้าของเยาวชนในอนาคต
 
ในกรณีหนังสือออกใหม่ของเธอ เรื่องเอกกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าได้ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของรัชกาลที่8 ตอนหนึ่งของหนังสือเล่ม 2 หน้า 29 บอกว่า
 
“.....การสอบสวนชันสูตรพระบรมศพของ ตำรวจในครั้งแรกก็ทำอย่างหยาบๆไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่แรก เมื่อจะมีการแถลงการณ์ให้เป็นที่รับทราบของประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ ถามหลวงนิตย์ว่า แถลงว่าสวรรคตเพราะพระนาภี (ท้อง) เสียได้หรือไม่ หลวงนิตย์ฯตอบว่า ไม่ได้
หลวงเชวงศักดิ์สงครามถามว่า เพราะโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ปฏิเสธอีก จะออกแถลงการณ์ว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงคัดค้าน รับสั่งให้แถลงการณ์ตามที่เป็นจริง นายกรัฐมนตรี (นายปรีดี พนมยงค์) จึงแถลงการณ์ว่า “เป็นอุบัติเหตุ” ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการสืบสวนตาม กฏหมาย โดยอ้างว่าขัดกับประเพณีแต่อย่างใด”
 
ส่วนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงตามคำให้การของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชบิดามาช้านาน เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่ามีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุ้นเคยกับในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองพระองค์
นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชวิศิษฏ์ได้ให้การไว้ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492 ดังนี้
 
“ขณะที่ขึ้นไปถวายบังคมนั้น พลโทพระศิลปศัสตราคม เป็นผู้ที่ร้องไห้ดังๆ ซึ่งใครๆในที่นั้นเหลียวไปดู แล้วพระรามอินทราจะพูดกับนายกรัฐมนตรีหรือใครจำไม่ได้ว่าใคร่จะขอชันสูตรพระ บรมศพ แต่กรมขุนชัยนาทฯห้ามมิให้กระทำ
 
เกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังนั้น นายทวี บุณยเกตุได้จดบันทึกไว้โดยละเอียดว่าใครมีความเห็นอย่างไร
กรมขุนชัยนาทฯในฐานะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ปรารภกับท่านหญิง แก้ว (มจ.อัปภัสราภา เทวกุล) เป็นการส่วนพระองค์ว่า “เรื่องนี้ (หมายถึงกรณีสวรรคต)ต้องให้ท่านนายก (ท่านปรีดี) ช่วย”
ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีและคนอื่นๆเข้าไปที่พระที่นั่งพระบรมพิมานแล้ว และปรึกษากันว่าจะแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงเหตุแห่งกรณีสวรรคตว่าอย่างไร
 
ขณะนั้นกรมขุนชัยนาทฯกำลังประทับยืนอยู่ที่อัฒจันทร์บันไดใหญ่ได้ออกความ เห็นว่า “สวรรคตเพราะประชวรพระนาภี”พร้อมกับเอานิ้วชี้ที่ท้องของพระองค์เองเป็นการ ออกท่าทาง
 
ต่อความเห็นของกรมขุนชัยนาทฯดังกล่าวนี้ ท่านปรีดีฯไม่เห็นด้วยและมีความเห็นแย้งว่า พระองค์สวรรคตโดยมีบาดแผลและเสียงปืนที่ดังขึ้นก็มีคนได้ยินกันมาก ฉะนั้นจะแถลงการณ์ว่า สวรรคตเพราะประชวรพระนาภีไม่ได้
 
ในที่สุดจึงได้มีแถลงการณ์ออกมาว่าเป็นอุปัทวเหตุ โดยได้รับความเห็นชอบจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดังปรากฏในบันทึกของกรมตำรวจลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และได้นำมาเปิดเผยต่อมหาชนในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในสมัยรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ดังหลักฐานในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2490 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้
 
“วันนี้เวลา 15 น.มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ พระวรวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ พระองค์เจ้าวรรณ พระองค์เจ้าธานี กับท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายท่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปชุมนุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างชุมนุมดังกล่าว อธิบดีกรมตำรวจได้ทูลขอประทานความเห็นของสมเด็จกรมขุนชัยนาท ได้รับสั่งว่า สำหรับพระองค์ท่านเองทรงเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุจริงดังแถลงการณ์ของทาง ราชการ เหตุผลที่ชี้เช่นนั้นก็เพราะพระองค์ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระแสงปืนมาก และเคยเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระชากพระแสงปืนและทรงหันลำกล้องเอา ปากกระบอกมาทางพระพักตร์ เพื่อส่องดูลำกล้องและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่าปืนประบอกนี้ไกอ่อน ลั่นง่าย จึงบันทึกไว้ พ.ต.ท. (ลิมอักษร)” 
 
ซึ่งหลักฐานนี้ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของนายสุพจน์ ด่านตระกูลผู้เป็นบิดา ถ้าคำให้การของหลวงนิตย์ฯตามที่คุณพ่อนำมาเขียนไว้นั้นไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หลวงนิตย์ฯน่าจะทำการฟ้องร้องว่าคุณพ่อหมิ่นประมาท เขียนความเท็จเสียนานแล้ว เพราะขณะที่หนังสือของคุณพ่อออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 หลวงนิตย์ฯยังมีชีวิตพำนักอยู่บ้านเลขที่ 813 ซอยธนาคารศรีนคร ถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ  และคุณพ่อของข้าพเจ้าก็ไม่ใช่บุคคลร่อนเร่พเนจร แต่มีหลักแหล่งอยู่อาศัยที่แน่นอน และหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใต้ดินหากพิมพ์จำหน่ายวางแผงตามท้องตลาดโดย ทั่วไป ถ้าหลวงนิตย์คิดจะติดตามหาตัวคุณพ่อข้าพเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ตรงกันข้ามหลวงนิตย์ฯกลับให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์พิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ว่า
 
“ผมขอชมเชยหนังสือปกขาว (ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต) ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่เขียนไว้ในหน้า 103-108 เกี่ยวกับลักษณะของพระบรมศพ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ทั้งๆที่ส่วนตัวของผมเองก็ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาคุณสุพจน์มาก่อนเลย”
 
คำชมเชยของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าข้อมูลในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่เขียนโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้นเป็นความจริง 
 
และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเล่ม 2 หน้า 40 เขียนว่า
 
หลังการชันสูตรพระบรมศพแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฏว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด คือ
ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด 16 เสียง
ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 14 เสียง
อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงอดุลย์เดชจรัส และ นายดอล ที่ปรึกษาการคลัง ไปพบ นายปรีดีบอกนายดิเรกว่า ได้ทราบว่ามีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้ง 4 คน คือ นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลย์เดชจรัส และนายดอล เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียวไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรก และนายดอลไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงได้ขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดร์เบิร์ก(ซึ่งได้รับเชิญร่วมชันสูตรพระบรมศพ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) แจ้งแก่พระยาดำรงแพทยาคุณว่าจำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตาม วินัย
 
และรศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 28 กันยายนว่า ผู้เขียน (วิมลพรรณ)ได้ค้นข้อมูลจากลอนดอน ได้ข้อสรุปว่า ได้มีการโทรเลขจากสถานทูตอังกฤษในไทยไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเรื่องการเจรจาขอให้แพทย์อังกฤษงดออกความเห็นการชันสูตรพระบรม ศพ ตรงนี้คือหลักฐานใหม่ที่คนไทยจะได้รู้
ผู้อ่านหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มาถึงตอนนี้อาจจะตื่นเต้นตามรศ.ดร.สุเนตร ไปด้วยถ้าไม่เคยอ่าน คำให้การของหลวงนิตย์ฯในหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของนายสุพจน์ ด่านตระกูล ถ้าอ่านแล้วจะทราบดีว่า เป็นหลักฐานใหม่หรือไม่ อย่างไร เพราะคำให้การของหลวงนิตย์ฯต่อศาลสถิตยุติธรรมในฐานะพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 ว่าดังนี้
 
“ในคืนวันที่ 25 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบท่าช้างว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไปที่ทำเนียบทันที ไปถึงทำเนียบเข้าใจว่าเป็นเวลาไม่เกิน 21 นาฬิกา พบท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้ต่อว่าข้าพเจ้าว่าทำไมแพทย์ชันสูตรพระบรมศพแล้วจึงต้องออกความเห็น ด้วยว่า กรณีเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น ตามธรรมดาที่ปฏิบัติกันกันในเมืองไทยนี้ แพทย์จะแสดงความความเห็นได้แต่เพียงว่า การตายเกิดจากอะไร แผลเข้าทางไหนออกทางไหน ถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่อย่างไร จึงทำให้ตายเท่านั้น การที่แพทย์ออกความเห็นเลยไปเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าจึง เรียนตอบว่า ไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น ท่าน พูดต่อไปว่า แพทย์ฝรั่งที่เชิญมาร่วมชันสูตรพระบรมศพนั้นก็ทำเกินหน้าที่ของแพทย์ไปด้วย และเป็นการนอกเหนือจากข้อความในหนังสือที่เชิญมาชันสูตรพระบรมศพและท่านได้ ปรารภต่อไปว่า ก็ควรจะให้แพทย์ฝรั่งทราบว่าที่ออกความเห็นเช่นนั้นไม่ถูก ควรจะถอนความเห็นไปเสีย และได้สั่งให้นายดิเรก ชัยนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งถูกเรียกไปด้วย ให้ไปจัดการเรื่องนี้กับฝรั่งต่อไป ข้าพเจ้ากลับจากทำเนียบเวลาประมาณ 22-23 นาฬิกา เมื่อข้าพเจ้ากลับมาแล้ว นายดิเรกจะยังอยู่หรือไปก่อนแล้วข้าพเจ้าจำไม่ได้
รุ่งขึ้นวันที่26 เดือนเดียวกันนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เริ่มประชุมเวลา 9.30 นาฬิกา เท่าที่จำได้มีกรรมการแพทย์มาประชุมครบเหมือนวันก่อน พอเปิดประชุมพันเอกไดรเบอร์กก็แถลงต่อที่ประชุมว่า เขามีความเสียใจในฐานะเป็นนายแพทย์อยู่ในกองทัพอังกฤษ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจะเกี่ยวข้องในทางการเมือง และได้ทราบจากเอกอัครราชทูตอังกฤษว่าที่กระทำไปนั้นไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะ ฉะนั้นเขาขอถอนความเห็นของเขา ที่เป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีให้นายดิเรก ชัยนามไปจัดการ และนายดิเรก ชัยนามคงพูดกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่พันเอกไดรเบอร์กขอถอนความเห็นนี้ ขอถอนความเห็นของนายแพทย์กองทัพอังกฤษทั้งคณะ คือรวมทั้งพันโทรีสและร้อยเอกคุปต์ด้วย ในหน้ากระดาษความเห็นที่มีขีดฆ่านั้น ใครขีดฆ่าไม่ทราบ
ในคราวประชุมวันที่ 25 พันเอกไดรเบอร์กได้รับว่า จะเรียบเรียงรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์แจก ในวันที่ 26 ก็ไม่ได้ขอถอนหรือของดแต่อย่างใด คงขอถอนเฉพาะความเห็นเท่านั้น รุ่งขึ้นวันที่ 27 ก็ส่งบันทึกมาให้ (โจทก์ขอให้พยานดูบันทึกรายงานการประชุมภาษาอังกฤษที่ดร.ไดรเบอร์กเรียบ เรียง พยานดูแล้วรับรองว่าถูกต้อง).....”
 
จากคำให้การของหลวงนิตย์ฯ ต่อศาลสถิตยุติธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า หลวงนิตย์ฯ ผู้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และดำรงตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมการแพทย์ยังมีความคิดเห็นตรงกับท่านปรีดีฯ ว่าไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น
 
 
และการที่ท่านปรีดีฯได้แสดงความเห็นว่าขอให้นายแพทย์กองทัพอังกฤษถอนความ คิดเห็นไปเสียนั้น ไม่ใช่ให้ถอนเฉพาะแพทย์อังกฤษ แต่รวมถึงนายแพทย์คนไทยทุกคนด้วย และเป็นการกระทำที่เปิดเผยตามขั้นตอนทั่วไป คือให้นายดิเรก ชัยนาม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ไปชี้แจง มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนเป็นหลักฐานใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด
 
 
การที่ข้าพเจ้าหยิบยกคำให้การของหลวงนิตย์ฯ มาแสดงเพราะหลวงนิตย์ฯเป็นแพทย์คนแรกที่ได้เห็นพระบรมศพ และที่สำคัญเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการรักษาพยาบาลแก่ราชตระกูล มหิดลอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นคำให้การของหลวงนิตย์ฯย่อมเป็นคำให้การที่เป็นความสัตย์ และต้องยึดประโยชน์ในการสืบสวน สอบคดีเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลใดที่หลวงนิตย์ฯผู้จงรักภักดีจะให้การเป็นเท็จ
 
 
คุณพ่อของข้าพเจ้าได้เขียนตอบโต้ผู้ฝ่าฝืนสัจจะ บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 ไม่น่าเชื่อว่าจนปี พ.ศ.2553 คุณพ่อของข้าพเจ้าได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรยังต้องมาเขียนชี้แจงความจริงในเรื่องเดียวกันอยู่อีก อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเชื่อเหมือนที่คุณพ่อของข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดชีวิตว่า
 

สัจจะยังคงเป็นสัจจะ และไม่มีผู้ใดสามารถทำลายล้างสัจจะแห่งคดีประวัติศาสตร์นี้ไปได้.

 

 

 

ที่มา:เว็บไซต์นิติราษฎร์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: “แบรนด์ดัง” กับการเรียกร้อง “เพิ่มค่าแรง”

Posted: 02 Oct 2010 08:47 AM PDT

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ข่าวคราวโศกนาฏกรรมของคนทำงานอย่างกรณีการฆ่าตัวตายของคนงานจีนที่ทนสภาพ “แรงบีบคั้น” ไม่ไหว ที่โรงงาน Foxconn รวมถึงการประท้วงใหญ่ของคนงานหญิงในกัมพูชา และอีกหลายที่ในถิ่นที่มี “ค่าแรงถูก” ทั่วทวีปเอเชีย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นรัฐบาลของประเทศค่าแรงต่ำต่างๆ อาจจะไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ หรือตัวการเพียงกลุ่มเดียว เพราะเมื่อมาดูถึงสายพานที่โยงใยการผลิตจะพบว่าแบรนด์ดังหลายๆ แบรนด์ เป็นต้นตอสำคัญด้วยเช่นกัน

แบรนด์ vs. เรียกร้องค่าแรง

ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเอเชียสวนทางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มลุกลามไปทั่วเอเชีย สำหรับผู้ลงทุนกำลังกลายเป็นปัจจัยความเสี่ยงใหม่ต่อการลงทุนในภูมิภาคนี้ ส่วนแรงงานนั้น ถือว่าเป็นสภาพถูกบีบบังคับให้สู่กระบวนการเรียกร้องหน้าโรงงานและบนท้องถนน เรียกร้องกับนายจ้าง และรัฐให้เข้ามาแก้ปัญหาตามลำดับ

บรรดาผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดังทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแรงงานในเอเชียซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดหลายประเทศในเอเชีย นั้นได้เกิดความเคลื่อนไหวขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทั้งในบังกลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย

สำนักข่าว AP รายงานว่า สัญญาณล่าสุดของการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นของแรงงานเอเชียนั้น ได้ปะทุขึ้นในกัมพูชา ประเทศที่มีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยแรงงานจำนวนมากได้เรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการและค่าแรงขั้นต่ำขึ้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาโดยมีแรงงานเข้าร่วมการประท้วงร่วมหลายหมื่นคน

ในรายงานระบุว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่รวมตัวกันประท้วงในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากโรงงาน ในอุตสาหกรรมภาคสิ่งทอ ซึ่งโรงงานเหล่านี้ในกัมพูชาได้ทำการผลิตสินค้ายี่ห้อดังของโลกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Gap, Benetton, Adidas และ Puma ซึ่งในขณะที่ทางการได้กำหนดอัตราค่าแรงไว้ที่ 61 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,890 บาท) ต่อเดือนนั้น แต่ทว่าทางสหภาพแรงงานต้องการให้ฐานเงินเดือนอยู่สูงกว่านั้นที่ 93 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 2,880 บาท)

เลขาธิการสหพันธ์แรงงานแห่งกัมพูชากล่าวว่าแรงงานเหล่านี้กำลังใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกับค่าแรงที่ต่ำมาก

ความเคลื่อนไหวของแรงงานกัมพูชาในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ แรงงานภาคสิ่งทอในบังกลาเทศราว 3 ล้านคน ซึ่งมีบทบาทในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าให้กับบริษัทสัญชาติตะวันตกด้วยเช่นกัน ได้เรียกร้องขึ้นเงินเดือนถึง 80% จากที่ได้รับ โดยการประท้วงถูกบีบบังคับให้จบลงด้วยความรุนแรง มีการจลาจล เผารถยนต์และสร้างความเสียหายให้กับโรงงานผลิตอย่างหนัก

 

คนงานในภาคสิ่งทอของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง

แรงงานในบังกลาเทศเหล่านี้เป็นผู้ทำการผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง เช่น H&M และ Tesco ซึ่งต่างไม่พอใจที่ได้รับการยื่นข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่ 3,000 ทากา (ราว 1,330 บาท) โดยแรงงานเหล่านี้ต้องการขึ้นค่าแรงมาอยู่ที่ 5,000 ทากา (ราว 2,200 บาท)

สหภาพแรงงานในบังกลาเทศระบุว่าค่าแรงที่ได้ต่อรองกลับไปที่ 5,000 ทากาต่อเดือนนั้น น่าจะช่วยให้แรงงานเหล่านี้สามารถพอแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นในบังกลาเทศได้บ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดภาวะเงินเฟ้อในสินค้าประเภทบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นมากด้วย

ที่กัมพูชานั้นการประท้วงหยุดงานเมื่อต้นเดือนถือว่าเป็นวาระที่ส่งผลกระทบต่อ ภาคเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชา ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยการจัดเปิดการเจรจาขึ้นจากฝ่ายสหภาพ แรงงานและฝ่ายผู้ผลิตในปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นถือเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยมีแรงงานอยู่ราว 3.45 แสนคน ในภาคอุตสาหกรรมประเภทนี้

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เวียดนามนั้น แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามได้ห้ามการตั้งสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระขึ้น แต่กระนั้นได้เกิดการนัดหยุดงานประท้วงของแรงงานแล้วถึง 139 ครั้ง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2010 เนื่องจากปัญหาดัชนีค่าครองชีพในเวียดนามที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวพุ่งสูงขึ้นไปที่ 8.75% แล้วในปีนี้

การประท้วงของแรงงานส่วนใหญ่มุ่งไปที่การแสดงความไม่พอใจกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประกอบกับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ โดยแรงงานส่วนใหญ่นั้นต่างทำงานอยู่ในโรงงานของบริษัทข้ามชาติ ผลิตให้แบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย. ก็เกิดการประท้วงขึ้นของแรงงานหลายหมื่นคนในโรงงานผลิตรองเท้าของไต้หวัน

ในอินโดนีเซียที่ถือว่าเป็นแหล่งแรงงานค่าแรงถูกอีกแห่งหนึ่งของเอเชียนั้น อินโดนีเซียมีสหภาพแรงงานที่ทรงอำนาจมากที่สุดอยู่ 3 องค์กร ครอบคลุมแรงงานราว 3.4 ล้านคน และในขณะนี้ก็กำลังเกิดภาวะกดดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้นทุกทีเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานในโรงงานสิ่งทอที่มีเจ้าของเป็นนายทุนต่างชาตินั้นได้เกิดการ ประท้วงขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จากปัญหาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป แต่ค่าแรงที่ได้นั้นกลับไม่สมดุลกับชั่วโมงการทำงาน

ระบบค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียไม่ได้รับการกำหนดขึ้นจากรัฐบาลกรุงจาการ์ตา แต่จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เมื่อปี 2008 ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่จังหวัดปาปัว ที่ 123 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 3,800 บาท) ส่วนค่าแรงที่ถูกที่สุดอยู่ที่ชวาตะวันออก ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 1,860 บาท)

สถานการณ์แรงงานในอินโดนีเซีย ได้ปะทุขึ้นเมื่อวันแรงงานในวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเกิดการเดินประท้วงใหญ่ขึ้นในกรุงจาการ์ตา แต่ทว่าตำรวจก็เข้าควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ

ส่วนที่ในอินเดียซึ่ง การเคลื่อนไหวของแรงงานอยู่บ่อยครั้ง โดยกรณีพิพาทเรื่องค่าแรงหลายครั้งในช่วงปีนี้ เกิดขึ้นในโรงงานผลิตสินค้ายี่ห้อดังของโลก เช่น Nokia ของฟินแลนด์ Hyundai ของเกาหลีใต้ ตลอดจน Bosch ผู้ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีจากเยอรมัน

 

สถานการณ์บีบคั้นที่ “โรงงานของโลก”

 

ความไม่พอใจของแรงงานต่อสภาพการทำงานส่งผลให้มี "การประท้วง-ข้อพิพาทแรงงาน"
แพร่กระจายไปหลายที่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในปี 2010 

แม้กระทั่งสถานการณ์ในจีนเอง ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น “โรงงานผลิตของโลก” นั้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทต่างก็ลุกฮือขึ้นเรียกร้องขอค่าแรงและสวัสดิการให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ดังที่เกิดขึ้นกับการประท้วงของแรงงานในโรงงานผลิตของบริษัทรถยนต์ Toyota และ Honda ตลอดไปจนถึงการประท้วงของแรงงานในโรงงานบริษัทไอที “Foxconn” ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายแบรนด์ดัง (อาทิ ชิ้นส่วนของ Mac mini, iPod, iPad, iPhone ผลิตภัณฑ์ในตระกูลของ Apple เมนบอร์ดคอมพิวเตอร์ของ Intel ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ของ Dell และ Hewlett-Packard ชิ้นส่วนของเครื่องเล่นเกมส์ PlayStation 2 และ PlayStation 3 ของ Sony ชิ้นส่วนของเครื่องเล่นเกมส์ Wii  ของ Nintendo ชิ้นส่วนเครื่องเล่นเกมส์ Xbox 360 ของ Microsoft แบ็ตเตอร์รี่ของ Motorola และชิ้นส่วนของเครื่องอ่านหนังสืออิเล็คทรอนิคส์ Kindle ของ Amazon เป็นต้น)

ปัญหาของ Foxconn ซึ่งนักรณรงค์ต่อผู้บริโภคได้นำไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์แห่งยุค อย่างผลิตภัณฑ์ในตระกูล Apple ทำให้เกิดผลสะท้อนกลับ มีการขึ้นค่าแรงให้กับคนงานในโรงงานที่เสิ่นเจิ้น 30% (อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเกาะกระแสตัวสินค้าที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นขบถแห่งยุคสมัย?) ส่วนการประท้วงและการนัดหยุดงานของคนงาน Honda หลายครั้งในกวางตุ้ง จึงสามารถกดดันทำให้ฝ่ายบริหารขึ้นค่าแรงให้คนงานจาก 939 หยวน เป็น 1,600 หยวน

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ของจีนได้ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามลำดับ โดยขณะนี้ค่าแรงในพื้นที่เซี่ยงไฮ้มีราคาแพงมากที่สุดในจีน อยู่ที่ 1,120 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 166 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 5,150 บาท)

รวมถึงการออกมาแสดงทัศนะคติของบุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ระบุว่าบริษัทข้ามชาติ (ญี่ปุ่น) มักที่จะให้ค่าแรงแก่แรงงานจีนน้อยเกินไป (นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีนได้ขอให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในจีนขึ้นค่าแรงให้กับแรงงานชาวจีน หลังจากที่เกิดการประท้วงหลายครั้ง) รวมถึงร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของจีนที่จะเปิดทางให้แรงงานจีนในเสิ่นเจิ้นต่อรองสิทธิ์การทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากขึ้น

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในเสิ่นเจิ้นเป็นอันดับต้นๆ (และก็เหนียวค่าแรงให้คนงานเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน) ออกมาแสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะจากร่างกฎหมายดังกล่าวแรงงานจากโรงงานจะได้สิทธิ์ในการเปิดเจรจาต่อรองกับผู้บริหาร หากค่าแรงของแรงงานส่วนใหญ่น้อยกว่า 50% ของระดับเฉลี่ยที่จ่ายในเมืองเสิ่นเจิ้น โดยข้อกำหนดใหม่จะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายให้กับแรงงานในโรงงานที่จ่ายค่าแรงต่ำ

 ด้านข้อมูลจากทางการเสิ่นเจิ้นระบุว่า รายได้เฉลี่ยของแรงงานในโรงงานที่อยู่ในเมืองอยู่ที่ประมาณ 3,900 หยวนหรือ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ   ส่วนรายได้ที่บริษัทญี่ปุ่นขนาดเล็กและธุรกิจในเครือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตสินค้ารับอยู่ระหว่าง 1,100 - 1,500 หยวน เท่านั้น

ซึ่งหมายถึงว่า  แรงงานในบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทในเครือสามารถเรียกร้องขึ้นค่าแรงได้กว่า 70%  เพียงแต่ปรับระดับเงินชดเชยขึ้นมาที่ครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ย ข้อกำหนดใหม่จะเปิดทางให้แรงงานในเสิ่นเจิ้นเรียกร้องการต่อรองกับฝ่ายบริหารได้มากเท่าที่ต้องการ

 

 มุมมองนักลงทุน รัฐบาล

นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจในฮ่องกง ให้ความเห็นว่าต้นทุนในกระบวนการผลิตที่สูงขึ้นในจีนนั้นกำลังทำให้ผู้ผลิตย้ายไปยังแหล่งผลิตอื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือบังกลาเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศเหล่านี้ และแม้ว่าในประเทศเหล่านี้จะพบปัญหาขึ้นบ้างเช่นกัน แต่ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับจีนแล้ว ระดับของปัญหานั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

จีนกำลังแพงขึ้นอย่างมาก และประเทศอื่นๆ ที่ด้อยพัฒนากว่าก็กำลังแพงขึ้นเช่นกัน แต่ทว่าช่องว่างระหว่างรายได้ต่อหัวในสถานที่อย่างบังกลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในจีนนั้นต่างกันมาก

ปัญหาการขอขึ้นค่าแรงของแรงงานในประเทศเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่เพิ่มขึ้นทันการปรับขึ้นของแรงงานในจีน

ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทยของกัมพูชาออกมากล่าวว่า หากเกิดการประท้วงของแรงงานขึ้นอีกนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิการของตัวแรงงานเอง นอกเหนือจากจะกระทบต่อนายจ้าง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมไปด้วย

 

 

เรียบเรียงจาก :

Global brands face growing labour militancy in Asia (Cat Barton, AFP, 18-9-2010)
http://www.google.com/hostednews/afp/article/ALeqM5iCMogtK81iCrVi9Hkdr6ZDlf7k4w

http://en.wikipedia.org/wiki/Foxconn

http://en.wikipedia.org/wiki/2010_Chinese_labour_unrest

นายกฯจีนเรียกร้อง บ.เอกชนญี่ปุ่นช่วยขึ้นค่าแรงให้แรงงานชาวจีน (พิมพ์ไทย, 1-9-2553)

กฎหมายแรงงานใหม่จีนกระทบบริษัทญี่ปุ่น (สยามรัฐ, 7-9-2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ:สัญญาณว่ารัฐประหารยังจะมีอีก

Posted: 02 Oct 2010 06:06 AM PDT

ในที่สุด ผบ.ทบ.คนใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขึ้นกิน (ไม่ใช่ “เสวย”) อำนาจแล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลา 53 นี่ก็คืออีกหนึ่งกรณีของความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยา 49 ความสำเร็จของรัฐประหาร ไม่ใช่ทำตามข้ออ้าง 4-5 ข้อได้สำเร็จ ข้ออ้างมีความหมายเป็นแค่ข้ออ้าง แต่ความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐประหารคือ “การกระชับอำนาจรัฐ” ไว้มือ “กลุ่มชนชั้นนำ” ที่คิดว่าตนเองเป็น “เจ้าของรัฐ”

 
แกนนำเสื้อแดงย่อมรู้ดีว่า กลไกในการกระชับอำนาจของเจ้าของรัฐคือ “กองทัพ” ดังในการชุมนุมช่วงมีนา-พฤษภา 53 ข้อเรียกเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลอภิสิทธิชนยุบสภาทันที เหตุผลหนึ่งคือ ไม่ต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิชนตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ.เพื่อเป็นกลไกสืบทอดอำนาจรัฐประหารต่อไป แต่นอกจากข้อเรียกร้องนั้นจะไม่สำเร็จแล้ว การเสียชีวิตขิงประชาชน “91 ศพ” ยังไม่อาจทำลาย “ความชอบธรรม” ในการกระชับอำนาจรัฐไว้ในมือของเจ้าของรัฐเลยแม้แต่น้อย
 
ว่าที่จริงหากมองในมุมของกองทัพและเจ้าของรัฐ ความสำเร็จของรัฐประหารเป็นเรื่องที่ “น่าตื่นตาตื่นใจ” อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐประหารมีมวลชนผู้มีการศึกษาและตื่นตัวทางการเมืองสูงสนับสนุนนับแสน มีบรรดาอธิการบดีมหาวิทยาลัยตบเท้าเข้ารายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร มีเนติบริกรมือหนึ่งของประเทศคอยให้บริการคณะรัฐประหาร มีนักวิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ แห่เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลยมาถึงจนกระทั่งการกระชับอำนาจครั้งล่าสุด 91 ศพ แล้วก็มีราษฎรอาวุโส ปัญญาชนแถวหน้า พระสงฆ์ ฯลฯ น้อมรับการแต่งตั้งของรัฐบาลมือเปื้อนเลือดให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย
 
อาจเพราะผู้รับเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ ล้วนแต่ตระหนักในสัจธรรมที่ว่า “ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป” ฉะนั้น เรามาปฏิรูปประเทศกันต่อดีกว่า มองอนาคตดีกว่า (แต่... เราไม่สนหรอกว่ารัฐประหารจะตั้งอยู่ ไม่ดับไป เพราะรัฐประหารมันคือผลที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน เช่น ประชาชนโง่ นักการเมืองคอร์รัปชัน ทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ)
 
จะว่าไปแล้วพวกที่ก่อรัฐประหารอาจจับ “จริต” คนชั้นกลางในเมืองได้ถูกว่า คนพวกนี้คือพวกจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ฉะนั้น ข้ออ้างเรื่องล้มเจ้าจึงเป็นข้ออ้างที่ยังไงก็สำเร็จกับการใช้ทำรัฐประหาร และใช้ปราบประชาชน ส่วนเรื่องคอร์รัปชันก็เป็นสิ่งที่คนชั้นกลางในเมืองรังเกียจ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นคอร์รัปชันของใคร หรือฝ่ายใด
 
เช่น เมื่อช่วงก่อนวันที่ 19 กันยา ที่ผ่านมา คุณประพันธ์ คูณมี ไปออกรายการตอบโจทย์ทางทีวีไทยกับ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตอนหนึ่งคุณประพันธ์กล่าว (ประมาณ) ว่า “ตอนนี้เสื้อแดงไม่ควรจะมองว่าพันธมิตรเป็นศัตรู เพราะพันธมิตรไม่ได้เป็นศัตรูกับคนเสื้อแดง แต่เป็นศัตรูกับทักษิณ เป็นศัตรูกับรัฐบาลคอร์รัปชัน ตอนนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คอร์รัปชันอาจจะมากกว่าสมัยทักษิณด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เสื้อแดงกับพันธมิตรน่าจะมาร่วมกันต้านคอร์รัปชันจะดีกว่า”
 
ผมฟังแล้วได้แต่นึกในใจว่า ถ้า “มาตรฐาน” ของพันธมิตรคือ “ต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน” แล้วคุณบอกว่า “ตอนนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คอร์รัปชันอาจจะมากกว่าสมัยทักษิณด้วยซ้ำ” ทำไมพวกคุณถึงไม่ออกมาต้าน (วะ) หรือว่าพวกคุณเลือกต้านคอร์รัปชันเป็นบางคนบางกลุ่ม!
 
จริตแบบนี้มันเหมือนกับจริตของบรรดานายทหารผู้ก่อรัฐประหาร เมื่อก่อน 19 กันยา 49 พวกเขามักจะพูดว่า รัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ปัญหา มันล้าสมัยไปแล้ว และมันเหมือนกับจริตของ “ตัวพ่อ” ที่บอกว่า “จะหนึ่งคนหรือแสนคนรัฐบาลก็ต้องรับฟัง” หรือ “ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย (สองศพ) แล้วปฏิเสธความรับผิดชอบ”
 
จะว่าไปแล้วความสำเร็จของรัฐประหารมันอาจไม่ซับซ้อนอย่างที่นักวิชาการพยายามอธิบาย แต่มันสำเร็จได้เพราะว่ามันฉลาดใช้วิธีการ ใช้คน หรือ “ตัวแสดง” (actors) ต่างๆ ที่มันสอดคล้องกับรสนิยมของ “ดัดจริตชน” (เช่น ปณิธาน วัฒนายากร เสธ.ไก่อู เป็นต้น) มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่น่าเศร้า!
 
ลองไปดูบทความชื่อ “ปฏิรูปประเทศไทย รายการเรื่องที่ควรปฏิรูป” ของ คุณหมอประเวศ วะสี (ลงมติชนสองตอน 1-2 ต.ค.53) เริ่มตั้งแต่สาเหตุของวิกฤตประเทศคุณหมอบอกว่าเกิดจาก “อวิชชา” หรือ “คนทั้งปวงล้วนตกอยู่ในโมหภูมิ” แล้วก็เสนอการปฏิรูปตามสาเหตุ 12 รายการ มี “ปฏิรูประบบปัญญา” เป็นรายการที่หนึ่ง ส่วน “ปฏิรูปกองทัพ” ไปแทรกอยู่ในเรื่องปฏิรูปตามประเด็นซึ่งใช้คำว่า เช่น เหมือนยกตัวอย่างเรื่องที่ควรปฏิรูป (ซึ่งไม่รู้ว่าต้องปฏิรูปหรือไม่ ปฏิรูปอย่างไร เพราะคุณหมอไม่ได้เขียนรายละเอียดเหมือนหัวข้ออื่นๆ)
 
ผมจึงรู้สึกว่าเรื่องปฏิรูปประเทศก็เป็นอีกเรื่องของความสำเร็จของรัฐประหาร ที่พยายามใช้วิธีการและตัวแสดงให้สอดรับกับรสนิยมของดัดจริตชน จะเห็นได้ว่าในขบวนแห่ปฏิรูปประเทศไม่มีใครตั้งคำถาม “อย่างจริงจัง” กับการกระทำที่ทำลายประชาธิปไตย เช่น การที่เจ้าของรัฐใช้อำนาจกระชับอำนาจรัฐ การละเมิดเสรีภาพของสื่อ ความรับผิดชอบต่อ 91 ศพ เป็นต้น
 
ที่ทำๆ กันอยู่ แม้แต่อย่างที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ออกมาตั้งคำถามถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของเสื้อแดง ความยุติธรรม หรือกระทั่งตั้งคำถามต่อรัฐประหารที่ถ้าจะเกิดขึ้นอีกมันอาจจะเป็นเหมือนการทำ “อัตวินิบาตกรรม” อะไรทำนองนั้น ผมว่านั่นเป็นเพียงบทบาทของ “ตัวแสดง”
 
คือเป็นตัวแสดงที่ (จะโดยรู้ตัวหรือไม่) ทำให้ดูดีว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง แต่โทษทีคณะกรรมการนี้เชื่อมโยงอยู่กับประชาชน หรือรัฐบาลที่สืบทอดรัฐประหาร 91 ศพ? ฉะนั้น ยิ่งแสดงให้ดูดีมากเท่าไร ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำ “ตัวจริง” ที่คุมเกมรัฐประหาร 19 กันยา 49 เขาช่างฉลาดใช้วิธีการ และตัวแสดงได้เยี่ยมยอดจริงๆ ในยุทธศาสตร์การกระชับอำนาจรัฐไว้ในมือ
 
มันน่าอัศจรรย์ไหม ทั้งกองทัพ รัฐบาล ศาล สื่อมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการ ระบบราชการ รัฐธรรมนูญ 50 ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ “การควบคุมอย่างแยบยล” ของเจ้าของรัฐ นี่มันจึงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากของรัฐประหาร 19 กันยา 49 แล้วไง ถ้าจำเป็นทำไมจะทำรัฐประหารอีกไม่ได้ ในเมื่อมี “ตัวแสดง” เก่งๆ คอยรับใช้ไม่สิ้นสุด!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น