โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

"อภิสิทธิ์" เยี่ยมเหยื่อน้ำท่วม ให้ทำใจยอมรับสภาพ - สปส.งดเก็บเงินสมทบ 3 เดือน จังหวัดที่น้ำท่วม

Posted: 18 Oct 2010 01:10 PM PDT

น้ำท่วมโคราช เสียชีวิตแล้ว 5 ศพ ศาลปกครองฯ ปิดทำการ 3 วัน 3 รพ.เจอวิกฤตหนัก รมว.แรงงาน สั่ง สปส.งดเก็บเงินสมทบ 3 เดือน ในจังหวัดเหยื่อน้ำท่วม ด้านผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม.ชี้น้ำเหนือจะไหลหลากเข้ากรุงเทพฯ บ่ายวันที่ 20 ต.ค.นี้ เตรียมกระสอบทราย 4 ล้านใบรับมือ

 
 
รมว.แรงงาน สั่ง สปส.งดเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนในจังหวัดน้ำท่วม
 
ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อ 18 ต.ค.53 เวลา 16.10 น.ว่า นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และโฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว และระยอง รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยอีก 33 จังหวัด ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) โดยให้นโยบายการนำเงินจากกองทุนประกันสังคม ไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ แล้ว สปส.รับอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นหลักประกันให้ธนาคารปล่อยกู้กับผู้ประกันตน และผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา รวมทั้งงดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.53) พร้อมกำชับให้คณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาหลักเกณฑ์การขอกู้ของผู้ประกันตน โดยคาดว่าจะปล่อยกู้ได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท
 
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ระดมเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือประชาชนจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งเต็นท์ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 6 จังหวัดแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในเบื้องต้น
 
 
น้ำท่วมโคราช เสียชีวิตแล้ว 5 ศพ ศาลปกครองฯ ปิดทำการ 3 วัน
 
เนชั่นทันข่าว รายงานเมื่อ 18 ต.ค.53 เวลา 18.18 น. ว่า นายอำพน เจริญชีวินทร์ รองอธิบดีศาลปกครองนครราชสีมา ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีศาลปกครองนครราชสีมา กล่าวว่า ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาในหลายอำเภอได้ประสบอุทกภัย ประกอบกับพื้นที่และเส้นทางคมนาคมบริเวณโดยรอบอาคารที่ทำการศาลปกครองนครราชสีมามีน้ำท่วมไม่สามารถเดินทางสัญจรไปมาได้ ส่งผลให้คู่กรณีและประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถเดินทางมาติดต่อราชการได้ ตลอดจนการให้บริการของศาลปกครองนครราชสีมามีข้อขัดข้องและอุปสรรคในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงขอประกาศ ให้ปิดทำการศาลปกครองนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 18-20 ตุลาคม 
 
สำหรับคดีที่ศาลนัดไต่สวน นัดพิจารณาหรือนัดอ่านคำพิพากษาและคำสั่งระหว่างวันดังกล่าว ให้เลื่อนออกไป โดยศาลจะมีหมายแจ้งให้คู่กรณีทราบในภายหลัง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ที่ จ.นครราชสีมามีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ถูกน้ำพัดหายครั้งนี้แล้ว 5 ราย แบ่งเป็น อำเภอปากช่อง 1 ราย อำเภอสูงเนิน 2 ราย และอำเภอด่านขุนทด 2 รายและยังมีประชาชนติดอยู่ภายในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมอีกเป็นจำนวนมากหลายอำเภอ เช่น อ.ปักธงชัย, อ.สูงเนิน, อ.โชคชัย, อ.สีคิ้ว, อ.ด่านขุนทด, อ.ปากช่อง ซึ่งระดับน้ำยังคงท่วมสูง
 
 
3 รพ."โคราช" จมบาดาลวิกฤตหนัก
 
มติชนออนไลน์ รายงาน สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสานยังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยสถานการณ์น้ำท่วมวันที่ 18 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมา ว่า ช่วงเช้ามืดวันเดียวกันระดับน้ำในลำตะคองตั้งแต่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมสองฝั่งลำตะคอง ถ.มิตรภาพ แยกนครราชสีมา และน้ำลำตะคองทะลักเข้าท่วม โรงพยาบาลเซนต์แมร์รี่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์อย่างรวดเร็ว ทั้ง ห้องตรวจรักษาคนไข้นอก โรงอาหาร โรงซักฟอก ศูนย์มะเร็ง ห้องดับจิตที่เก็บศพถูกท่วมทั้งหมด ระดับน้ำสูงประมาณ 1.50 เมตร ทำให้ศพที่เก็บไว้ลอยอยู่ในห้อง 6 ศพ 
 
ขณะที่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง กว่า 6,000 คน ต้องติดอยู่ภายในโรงพยาบาล ขณะที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลเซนต์แมร์รี่ มีรถของญาติผู้ป่วยและแพทย์พยาบาลจอดอยู่นับร้อยคันจมอยู่ใต้น้ำ ต่อมาทางกองทัพภาคที่ 2 และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำรถบรรทุกขนาดใหญ่ และเรือท้องแบนไปช่วยเหลือ
 
 
"มาร์ค" ให้ทำใจยอมรับสภาพ
 
บ่ายวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะ ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเดินทางเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเซนต์แมร์รี่ และเดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อฟังสรุปสถานการน้ำท่วมและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับหัวส่วนราชการ 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ารัฐบาลจะพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติม จากนอกพื้นที่เข้ามาสมทบ เช่น เรือท้องแบน และด้านการช่วยเหลืออื่นๆที่มีความจำเป็น รวมทั้งรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายในคืนนี้ (18 ตุลาคม) เรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ คือสำรวจพื้นที่ประสบภัยที่การช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงได้ และต้องระดมกำลังรักษาระบบการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลทุกแห่งที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือประชาชน โดยตนจะนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโดยตรงจากส่วนกลางมาสู่ในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งขอให้ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงาน 
 
"นครราชสีมาไม่เคยรับผลกระทบจากอุทกภัยรุนแรงขนาดนี้ ปัญหาที่ผ่านมาประชาชนมีความวางใจเกินไปที่จะรับมือกับปัญหา แต่ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ เราต้องทำใจยอมรับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีปริมาณน้ำท่วมขังมาก และรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ในหลายพื้นที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ หรือความคุ้นเคยกับปัญหานี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว 
 
ขณะที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะเดินไปยัง อ.สีคิ้ว และ อ.ปากช่อง เพื่อมอบถุงยังชีพของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
 
 
 
"สุวิทย์" เตือน ปราจีนฯ รับน้ำเขาใหญ่
 
ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าว่าได้รับคำเตือนว่า เวลา 17.00 น.วันที่ 18 ตุลาคม จะปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จะทำให้น้ำจากเขาใหญ่ไหลลงสู่ อ.เมือง และ อ. บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ระวังน้ำล้นตลิ่งด้วย
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุที่น้ำท่วมขังนานเป็นเพราะก่อสร้างรีสอร์ท รวมทั้งตัดถนนรอบพื้นที่เขาใหญ่จึงทำให้ระบายน้ำไม่ทันใช่หรือไม่ นายสุวิทย์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกถึงวันละ 100 มิลลิลิตร เป็นปริมาณที่สูงมาก อย่างไรก็ตามการตัดถนนและสร้างรีสอร์ท ที่ไม่ถูกแบบ ปิดกั้นทางเดินของน้ำอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไปเปลี่ยนทิศทางการไหลเดิมของน้ำ ซึ่งเข้าใจว่ากรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พยายามระมัดระวังเรื่องนี้ นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศในพื้นที่ อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และพื้นที่รอบๆ เขาใหญ่ จึงทำให้น้ำท่วม
 
ที่ จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ ใน 80 หมู่บ้าน 13 ตำบล ของ อ.กบินทร์บุรียังถูกน้ำท่วมหนัก บางแห่งระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร โรงเรียนเทศบาล 2 รวมทั้งเทศบาลตำบลกบินทร์ถูกน้ำท่วม รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ร้านค้าที่อยู่ในชุมชนต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้ออิฐบล็อกและทรายมาก่อแนวกันน้ำที่จะเข้าร้าน ทางมณฑลทหารบกที่ 12 ต้องนำรถบรรทุก 6 ล้อ และกำลังพลออกช่วยเหลือและบริการประชาชนในเขตพื้นที่ประสบภัย
 
 
"ชัยภูมิ" ชั่วโมงเดียวจมบาดาล 
 
จ.ชัยภูมิ น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉูเอ่อล้นไปรวมกับแม่น้ำชี และน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำชีมีระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านท่าศาลา ต.ละหาน อ.จัตุรัส เพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทั้งหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำปะทาว อ.เมือง ชัยภูมิ ระดับน้ำเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ต้องเร่งระบายน้ำออกมา ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ถนนหลายสายรถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ทางเทศบาลระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมืองแล้ว 
 
จ. พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำทั้งสองสายต่าง เฝ้าระวังกันตลอดเวลา เพราะเกรงว่าน้ำจะไหลเข้าท่วมพัดพาเอาข้าวของสูญหายไป ส่วนโบราณสถานต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก 
 
นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าโบราณสถานที่อยู่นอกเกาะเมืองหลายแห่งถูกน้ำท่วม เช่นที่หน้าวัดไชยวัฒนาราม โบราณสถานที่สำคัญ เหลืออีก 1.40 เมตร น้ำจะสูงล้นแผ่นบังเกอร์ ทางกรมศิลปากรได้ระดมเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง เร่งสูบน้ำที่ซึมเข้าตามรอยต่อแผ่นยางที่คลุมบังเกอร์ มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันได้
 
 
อดีต "ผบญ." จมน้ำดับคารถ
 
ที่ จ.ลพบุรี อ.ลำสนธิ ตำรวจและอาสาสมัครกู้ภัย ลากรถรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียน กข-4696 นครนายก ที่ ตก ถนนสายจงโก-ปากช่อง หมู่ 11 ต.หนองรี อ.ลำสนธิ น้ำท่วมสูง 5 เมตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ขึ้นจากน้ำได้ ในรถพบศพ นายพร้อม กุศลส่ง อายุ 61 ปี อดีตเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ต.บ้านพริก อ.บ้านนา จ.นครนายก และนางดวงกมล มารินันท์ อายุ 49 ปี อยู่ที่ 3/501 เขตสายไหม กรุงเทพฯ และ สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล 1 ตัวสภาพขึ้นอืด 
 
พ.ต.ท.ดนัย กิมสูงเนิน รอง ผกก.ป.สภ.ลำสนธิ กล่าวว่า ผู้ตายไปงานเลี้ยงที่ จ.ชัยภูมิ กำลังกลับบ้าน นายพร้อมขับรถมาถึงสี่แยกจงโก กำลังจะเลี้ยวเข้ามายังถนนสายดังกล่าว ชาวบ้านเตือนไม่ให้ขับรถมา เพราะถนนถูกน้ำท่วมสูงถึง 1.50 เมตร แต่นายพร้อมไม่เชื่อ ยังขับรถตะลุยเข้าไป มาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ มีน้ำไหลเชี่ยวมาก รถเสียหลักตกถนนและจมหายไป
 
 
น้ำเหนือหลากเจ้าพระยาล้นท่วมปทุมธานี
 
เนชั่นทันข่าว รายงานเมื่อ 18 ต.ค.53 เวลา 20.20 น.ว่า นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตพื้นที่ อ.สามโคก และ อ.เมืองปทุม จ.ปทุมธานี โดยด่วนหลังจากเมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 
ทั้งนี้ปริมาณน้ำเหนือและน้ำที่ถูกปล่อยจากแม่น้ำป่าสัก ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน วัด สถานีอนามัย และโรงเรียน ที่อยู่ติดริมแม่เจ้าพระยาเป็นวงกว้าง ระดับน้ำเข้าท่วมสูง ทำให้ชาวบ้านต้องรีบขนย้ายข้าวของหนีน้ำ รถยนต์ไม่สามารถจอดในบ้านได้ บางบ้านระดับน้ำเข้าท่วมชั้นล่างของบ้าน ชาวบ้านรีบเก็บทรัพย์สินขึ้นที่สูง และต้องนำรถยนต์ขึ้นมาจอดริมถนนหรือในที่สูง เพื่อหนีน้ำท่วม
 
ขณะที่ ที่วัดโพธิ์เลื่อน ต.บางแขยง อ.เมืองปทุม จ.ปทุมธานี พื้นที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลาย น้ำเข้าท่วมพื้นที่วัด พระสงฆ์และชาวบ้านกั้นน้ำไม่ทัน จึงต้องทำสะพานไม้เดินเข้าวัด ที่หน้าพระอุโบสถ ที่ตั้งบรรจุกระดูก ถูกน้ำเข้าท่วม ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร, ที่วัดบางนา ต.บางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน น้ำเริ่มเข้าท่วมด้านข้างวัดซึ่งอยู่ติดกับคลองย่อยจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าด้านศาลาเอนกประสงค์ของวัด พระสงฆ์และชาวบ้านเร่งช่วยกันกรอกกระสอบทรายกั้นเป็นคันกั้นน้ำ 
 
พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี มีการสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบระดับน้ำทุก 1 ชั่วโมง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย และกำลังคน และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเตรียมรับมือหากมีน้ำท่วมเข้าบ้านเรือนอย่างฉับพลัน สามารถแจ้งประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
 
 
อีก 2 วันน้ำเหนือถึง กทม.
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า มีหลายจังหวัดที่น่าเป็นห่วง ใน 4-5 วันยังต้องเฝ้าระวังพายุเมรี อีกลูกที่เป็นพายุขนาดใหญ่ อาจจะพาดมายังประเทศไทย จะต้องประมาณการว่าจะมีผลกระทบต่อจังหวัดใดบ้าง วันที่ 23-27 ตุลาคมนี้จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุน อาจจะส่งผลกระทบกับ จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ กรุงเทพฯ 
 
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลากเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งมีรายงานว่ามีการระบายน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 1,096 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำที่ 2,217 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมปริมาณเข้ากรุงเทพฯ 3,313 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน จะถึงกรุงเทพฯ บ่ายวันที่ 20 ตุลาคมนี้ จึงได้สั่งการให้ 13 สำนักงานเขต ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมกระสอบทราย 4 ล้านใบ รับมือแล้ว 
 
ด้านนายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกหนักว่า สำหรับพายุไต้ฝุ่นเมกีที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก แต่อาจทำให้เกิดฝนตกโปรยปรายในบางพื้นที่ เนื่องจากพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกลงสู่ทะเลจีนใต้ และจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ คาดว่าฤดูหนาวของประเทศไทยจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้อุณหภูมิเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยอุณหภูมิในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส
 
 
ชี้ พายุไต้ฝุ่นเมกี แรงเท่าไต้ฝุ่นเกย์
 
ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการก่อตัวของพายุไต้ฝุ่นเมกี มีความเป็นไปได้สูงว่าพายุอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณฝน ทำให้พื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี - จ.นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลันคล้ายกับเมื่อปี 2532 ที่เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ และปี 2540 ที่พายุลินดา พัดถล่มภาคใต้ของไทย สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 
 
ส่วนความช่วยของหน่วยราชการนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) สั่งให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกกองทัพภาค จัดชุดเคลื่อนที่เร็วรวมทั้งอุปกรณ์ต่างไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจภูธรภาค 1, 2 และ 3 เข้าผู้ช่วยผู้ประสบภัยและให้เข้มงวดในการป้องกันอาชญากรรมด้วย 
 
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จ.นครราชสีมา เบื้องต้นพบว่า มีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 112 แห่ง สั่งการให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือแล้ว
 
 
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์, เนชั่นทันข่าว
  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไต่สวนคดียุบ ปชป.ครั้งสุดท้าย ศาลนัดแถลงปิดด้วยวาจา 29 พ.ย.นี้

Posted: 18 Oct 2010 11:32 AM PDT

‘อภิสิทธิ์’ เบิกความในฐานะพยานปากแรกอ้าง ปธ.กกต.การันตีการใช้จ่ายเงิน ด้านพีระพันธ์-กัลยาอ้างไม่รู้จักวาศิณี ผู้บริหารบริษัททำป้ายหาเสียง ขณะ ‘ชวน’ เตือน พท.ยื่นยุบ ปชป.ระวังถูกยุบเอง หลังใช้เวลาไต่สวนเกือบ 3 ชั่วโมง ศาลนัดแถลงปิดด้วยวาจา 29 พ.ย.นี้

 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า วานนี้ (18 ค.ต.53) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ มีการนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัดสุดท้าย ในการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ถูกร้องจากกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์
 
พยานฝ่ายผู้ถูกร้องเข้าเบิกความประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตกรรมการบริหารพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม.อดีตรองหัวหน้าพรรค นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองเลขาธิการพรรค โดยการสืบพยานนัดนี้ล่าช้ากว่าเดิมที่นัดไว้ในเวลา 10.00 น.เนื่องจากคณะตุลาการแถลงข่าวชี้แจงกรณีคลิปลับก่อนไต่สวนพยาน
 
การไต่สวนพยานนัดนี้ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมพร้อมด้วย นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความประจำพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีตส.ส.เพชรบูรณ์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ขณะที่ฝ่ายผู้ร้องนำโดยนายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการคดีพิเศษ ฝ่ายสำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) รวมทั้งมีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย
 
 
"มาร์ค"อ้างปธ.กกต.การันตี
 
ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ เบิกความในฐานะพยานปากแรกว่า ทุกปีพรรคจะขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองโดยมีกรอบเวลาการใช้งบในปี 2548 ซึ่งพรรคได้ทำเรื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในเดือนพฤศจิกายน 2547 ซึ่งกรรมการกองทุนขณะนั้นไม่มีการประชุมเพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง พรรคจึงได้ประสานเป็นการภายใจเพื่อขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดแผนงานในโครงการที่ได้ขออนุมัติไปเพื่อจะได้เตรียมการได้ก่อนใช้จ่ายจากบัญชีเลือกตั้ง
 
นายอภิสิทธิ์ตอบข้อซักถามตอนหนึ่งถึงการนำเงินที่ได้รับมาจัดทำป้ายรณรงค์หาเสียงว่า หากมีการใช้จ่ายที่ไม่ตรงตามแผนการทาง กกต.ก็จะมีการทักท้วงให้พรรคชี้แจง ถ้าชี้แจงไม่พอก็วินิจฉัยให้คืนเงิน ดังนั้นพฤติกรรมนี้ยังไม่เคยมีการวินิจฉัยจา กกต.ว่าผิดกฎหมาย เพราะสอดคล้องกับระเบียบกองทุนฯที่ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2547แล้วว่ากรณีการใช้จ่ายมีปัญหาตามระเบียบจะต้องมีการคืนเงินภายใน 30 วัน อีกทั้งนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้ลงนามเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ตรวจสอบเงินสนับสนุนของพรรคในปี 2548 ว่าถูกต้องแล้ว
 
 
พีระพันธ์-กัลยาอ้างไม่รู้จักวาศิณี
 
ต่อมานายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เบิกความว่า ตามที่ น.ส.วาศิณี ทองเจือ ผู้บริหารบริษัทแม็คเนท ซายน์ จำกัดได้เคยให้การกับดีเอสไอว่า ตนเองได้ว่าจ้างให้น.ส.วาศิณีทำป้ายโฆษณาหาเสียง และมีการสั่งจ่ายเช็คในนามบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต แต่ยังค้างค่าจ้างทำป้ายว่า เป็นเรื่องไม่จริง ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบ น.ส.วาศิณี แล้วจะไปให้ น.ส.วาศิณีทำป้ายได้อย่างไร 
 
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เบิกความว่า ในการเลือกตั้งปี 2548 เป็นรองหัวหน้าพรรค มีความคิดที่จะทำป้ายหาเสียงจึงได้ประสานไปยังนายทิวา (นายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม.ของพรรค)เพื่อทำป้ายยุทธศาสตร์ 201 เพื่อให้ประชาชนเลือกพรรคได้ถึง 201 ที่นั่ง ทำให้คณะยุทธศาสตร์จึงทำป้ายนี้ขึ้นมา อีกทั้งช่วงนั้นใกล้ตรุษจีน จึงทำป้ายอวยพรคนไทยเชื้อสายจีนให้มีความสุขจึงอวยพรว่า "ซินเจี่ยอยู่อี่ซินนี้ฮวดใช้" ทั้งนี้ไม่รู้จักจักน.ส.วาศิณี เพราะไม่ได้รับมอบหมายจากพรรคจึงไม่มีหน้าที่สั่งของหรือสั่งทำป้าย ที่น.ส.วาศิณีอ้างว่าคุณหญิงกัลยาทำป้ายซินเจี่ยฯกับป้าย 201 นั้นเข้าใจว่าเพราะตนมีชื่ออยู่และเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วย และช่วงที่มีการสอบปากคำครั้งนั้น ก็เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วยในช่วงเดือนมีนาคม 2552
 
 
อ้างประจวบรับถูกจ้างป้ายสี ปชป. 
 
นายถาวร เสนเนียม เบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายว่า ได้ไปพบกับนายประจวบ สังขาว กรรมการผู้จัดการบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยบังเอิญที่ร้านอาหารแถวสะพานควาย ก็ถามว่านายประจวบเรื่องนี้เป็นอย่างไรเพราะได้ข่าวว่าไปให้การกับดีเอสไอ แต่นายประจวบบอกว่าลำบากจึงต้องให้การกระทบพรรคบ้างตามที่ดีเอสไอเขียนคำให้การให้ และต่อมานายประจวบก็สารภาพกับตนที่กระทรวงมหาดไทยว่าถูกจ้างมาเพื่อป้ายสีพรรคประชาธิปัตย์โดยจะได้รับค่าตอบแทน5 ล้านบาท อีกทั้งพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย สมัยเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีดีเอสไอเป็นบุคคลที่ได้ดีจากระบอบทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์2 คนคือตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณได้เคยร้องยุบพรรคไทยรักไทยมาก่อน และส่วนตัวก็เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคพลังประชาชนจึงเป็นเหตุให้คนในระบอบทักษิณไม่พอใจแก้แค้นเพื่อจะยุบพรรคประชาธิปัตย์
 
 
ศาลนัดแถลงปิดด้วยวาจา 29 พ.ย.
 
เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนเกือบ 3 ชั่วโมง นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านรายงานกระบวนวิธีพิจารณาคดีและนัดให้คู่กรณีแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วันเป็นลายลักษณ์อักษร และนัดให้คู่กรณีมาแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่29 พฤศจิกายนนี้เวลา 09.00 น. หากคู่กรณีไม่มาแถลงปิดคดีด้วยวาจาให้ถือว่าไม่ติดใจ 
 
ภายหลังที่ศาลอ่านรายงานเสร็จสิ้น ผู้แทนนายทะเบียนพรรคการเมืองของกกต. อาทิ นายกิตินันท์ และ นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต.ได้เดินตรงเข้าไปที่ฝ่ายผู้ถูกร้องโดยทั้งสองต่างจับมือให้กำลังใจนายชวน หลีกภัย และนายบัณฑิตเมื่อไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัดสุดท้ายเสร็จสิ้น
 
 
"ชวน" ชี้ป้ายสี "จุ้น" ไม่สำเร็จ
 
จากนั้นนายชวน หลีกภัย ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่พรรคและทีมกฎหมายได้ทำคือ การพิสูจน์ความจริงว่าได้มีการใช้เงินตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัติจริงหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งคือการเสนองบดุลบัญชีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสนอรายงานถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ตลอดระยะเวลาการไต่สวนพยานหลักฐานพรรคได้เสนอหลักฐานและชี้แจงได้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่าที่ทำได้ที่จะไม่ให้กระทบต่อดุลยพินิจของศาล 
 
ผู้สื่อข่าวถามถึง การพยายามสร้างกระแสว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบพรรคบ้านเมืองจะไม่สงบ นายชวนกล่าวว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองดูแลความสงบเรียบร้อย อย่าไปกลัวคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในนักกฎหมายจะมีคำว่า ฟ้าจะถล่มดินจะทลาย ต้องประสิทธิประศาสน์ความยุติธรรม จะไปกลัวไม่ได้ 
 
ส่วนที่มีการเชื่อมโยงคนในพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นายชวนกล่าวว่า ความพยายามนี้จะไม่สำเร็จ และข้อมูลที่ออกมาเป็นทั้งภาพและเสียง รวมทั้งภาพที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายชัช ชลสร ประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่ด้วยกันนั้น ทุกคนรู้แล้วว่าเป็นเหตุการณ์อะไร 
 
“มีขบวนการพยายามเชื่อมโยงประเด็นว่าประธานองคมนตรีแทรกแซงช่วยพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความพยายามเชื่อมโยงให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อไปดูภาพทั้งหมดจะเห็นว่าไม่ใช่มีเพียงประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่มีนายสุเมธ ตันติเวชชกุล องคมนตรี รวมทั้งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมอยู่ด้วย โดยมีความพยายามทำให้เกี่ยวข้องกัน”นายชวน กล่าว
 
นายชวนกล่าวถึงภาพในคลิปวิดีโอที่มีนายวิรัช ซึ่งเป็นส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ว่า เป็นเรื่องของนายวิรัชที่ต้องทำการชี้แจง เพราะเรื่องนี้ตนพูดได้ไม่ดีเท่ากับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่การนำภาพเหล่านี้มาต่อเนื่องกัน เพื่อให้เห็นว่ามีการแทรกแซง มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของศาล แต่เมื่อศาลนำความจริงมาชี้แจงตนคิดว่าประชาชนจะได้รู้ว่าเบื้องหลังมีที่มาอย่างไร
 
 
เตือน พท.ระวังถูกยุบเองยื่นยุบ "ปชป."
 
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องให้การยุบพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง นายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องระวังเดี๋ยวจะโดนยุบเอง แต่ตนเชื่อกฎอย่าง 1 ว่า ใครทำอะไรไม่ดีให้ร้ายไว้ วันหนึ่งจะกระทบ และปรากฏต่อตัวเอง
 
นายบัณฑิต ศิริพันธ์ หัวหน้าทนายความต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การสืบพยานนัดสุดท้ายครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตริ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงได้ชัดเจน และยังมีนายถาวรที่ชี้แจงตบท้ายด้วยดีอีกด้วย แต่แปลกใจว่าเหตุใดศาลไม่กำหนดวันฟังคำวินิจฉัยเลย แต่เข้าใจว่าคงจะนัดฟังคำวินิจฉัยหลังจากการฟังคำแถลงด้วยเอกสาร ดังนั้นในช่วงนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเตรียมคำแถลงเป็นเอกสาร ที่ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลื่อนยศผู้พันปราบเสื้อแดงขึ้นพลตรี

Posted: 18 Oct 2010 10:49 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยกย้ายพันเอกพิเศษ 299 คน โดยส่วนใหญ่เป็นหน่วยคุมกำลังช่วงสลายการชุมนุมเมษายน ถึง พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะที่คนสนิท "บิ๊กบัง" กลับหน่วยคุมกำลังอีกรอบ

 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. กองบัญชาการกองทัพบก (ทบ.) ได้มีคำสั่งกองทัพบกที่ 240/2553 เรื่องให้นายทหารรับราชการและปรับระดับเงินเดือน ลง ณ วันที่ 16 ต.ค.2553 พร้อมแจกจ่ายสำเนาคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับพันเอกพิเศษ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับ "รอง ผบ.พล, รอง ผบ.มทบ., รองเจ้ากรม และ ผู้การกรม" จำนวน 299 คน
 
การโยกย้ายครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยที่มีผลงานการปราบม็อบคนเสื้อแดง โดยเฉพาะระดับผู้บังคับการกรม ในหน่วยของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) นอกจากนี้ ยังปรับตำแหน่ง ผู้บังคับการกรม ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนมาก อาทิ ผบ.ร.1 รอ., ผบ.ร.2 รอ., ผบ.ร.9, ผบ.ม.1, ผบ.ม.4, ผบ.ปตอ.1, ผบ.ปตอ.2 โดยนายทหารเหล่านี้ถูกขยับขึ้นไปจ่อเป็น "พลตรี" ในการโยกย้ายครั้งต่อไป
 
ส่วนนายทหารคนสนิท พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธาน คมช.และอดีต ผบ.ทบ.ได้ขยับเข้ามาสู่ ผบ.หน่วยคุมกำลังอีกครั้ง เช่น พ.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง กลับ มาเป็น ผบ.รพศ.3 พ.อ.ชัยนะ นาคเกิด ขึ้นเป็น รอง ผบ.รร.สพศ.ศสพ. พ.อ.สุนัย ประภูชะเนย์ ขยับเป็น ผอ.กองรร.รพศ.ศสพ.
 
สำหรับตำแหน่งที่มีการปรับย้ายที่สำคัญ ประ กอบด้วย พ.อ.นิรันดร สมุทรสาคร รองเสธ.ทภ.1(ตท.18) เป็น รองผบ.มทบ.11 พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผบ.ร.2 รอ.(ตท.20)เป็น รองผบ.พล.ร.2 รอ. พ.อ.มนตรี ช้างพลายแก้ว ผบ.ร.9(ตท.18) เป็น รองผบ.พล.ร.9 พ.อ.ไพโรจน์ ทองมาเอง เสธ.พล.ร.9(ตท.17) เป็น รองผบ.มทบ.13 พ.อ.ชัยกร ประเสริฐสุข รองผบ.จทบ.สระบุรี(ตท.15) เป็น รองผบ.มทบ.13 พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร ผบ.ร.1 รอ.(ตท.20) เป็น รองผบ.จทบ.กาญจนบุรีพ.อ.กฤต ผิวเงิน ผบ.ร.3(ตท.18) เป็น รองผบ.พล.ร.3 พ.อ.นิรุทธ์ เกตุศิริ ผบ.ร.16(ตท.17) เป็น รองผบ.มทบ.22
 
พ.อ.กฤตัชญ์ สรวมศิริ รองผบ.พล.ร.6(ตท.14)เป็น ผบ.มทบ.24 พ.อ.ธรากร ธรรมวินทร ผบ.ร.23 (ตท.18) เป็น รองผบ.พล.ร.6 พ.อ.สัมพันธ์ ปานสีดา รองผบ.บชร.3(ตท.15) เป็น รองผบ.มทบ.31 พ.อ.ศักดา เจียมสกุล รองผบ.จทบ.พิษณุโลก (ตท.14) เป็น รองผบ.มทบ.32 พ.อ.โกศล ประทุมชาติ เสธ.มทบ.33(ตท.18) เป็น รองผบ.มทบ.33พ.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผบ.ร.152(ตท.15) เป็น รองผบ.พล.ร.5 พ.อ.ชินวัฒน์ ม้นเดช ผบ.ร.153(ตท.18) เป็น รองผบ.พล.ร.15 พ.อ.ชรินทร์ อมรแก้ว รองผบ.จทบ.สุราษฎฯ(ตท.16) เป็น รองผบ.มทบ.42 พ.อ.ปชัญญ์ ตุลยานนท์ เสธ.พล.ปตอ.(ตท.16) เป็น รองผบ.พล.ปตอ. พ.อ.วณเดช สดเอี่ยม เสธ.ขกท.(ตท.15) เป็น รองผบ.ขกท.
 
พ.อ.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ ผอ.กองยุทธการ ทภ.1 (ตท.20) เป็น ผบ.ร.1 รอ. พ.อ.ศตวรรษ รามดิษฐ์ รองผบ.ร.2 รอ. (ตท.21) เป็น ผบ.ร.2 รอ. พ.อ.ชวลิต พงษ์พิทักษ์ ผบ.กรม.สน.พล.ร.9 (ตท.19)เป็น ผบ.ร.9 พ.อ.อดิศร โครพ รองผบ.ร.29(ตท20)เป็น ผบ.กรม.สน.พล.ร.9 พ.อ.สมชาติ แน่นอุดร เสธ.พล.ร.3 (ตท.19)เป็น ผบ.ร.3 พ.อ.ธเนศ วงศ์ชอุ่ม เสธ.พล.ร.6 (ตท.21)เป็น ผบ.ร.6 พ.อ.สมชาย เพ็งกรูด รองผบ.ร.16(ตท18)เป็น ผบ.ร.16 พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร รองผบ.ร.6(ตท.21)เป็น ผบ.ร.23 พ.อ.ธวัช ศรีสว่าง ผบ.ป.21 (ตท.18) เป็น ผบ.ป.4 พ.อ.ดุษิต ปุระเสาร์ รองผบ.ป.21(ตท.19) เป็น ผบ.ป.21 พ.อ.ถนัดพล โกศัยเสวี รองเสธ.พล.ม.1 (ตท.24) เป็น ผบ.ม.3 พ.อ.สุภโชค ธวัชพีระชัย ผอ.กยก.ทภ.3(ตท.21) เป็น ผบ.ร.4พ.อ.ธิรา แดหวา รองเสธ.พล.ร.15(ตท21) เป็น ผบ.ร.152 พ.อ.นิพนธ์ รองสวัสดิ์ ผบ.ศคบ.บชร.4(ตท.16) เป็น ผบ.ร.153
 
พ.อ.ทวี เกิดสมบูรณ์ ประจำมทบ.42(ตท.18) เป็น ผบ.ป.5 พ.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผอ.กยก.นสศ.(ตท.24) เป็น ผบ.รพศ.3 พ.อ.เชษฐา ตรงดี ผอ.กองศสพ. (ตท.21) เป็น ผบ.รพศ.2 พ.อ.ทัตเทพ รอดจิตต์ ผบ.ม.4 รอ.(ตท.19) เป็น ผบ.ม.1 รอ. พ.อ.ศักดา เนียมคำ รองเสธ.พล.ม.2 รอ. (ตท.20) เป็น ผบ.ม.4 รอ. พ.อ.วิรัตน์ นาคจู ผบ.ปตอ.2 (ตท.21) เป็น ผบ.ปตอ.1 พ.อ.วรวุฒิ วุฒิศิริ รองผบ.ปตอ.1(ตท.23) เป็น ผบ.ปตอ.2 พ.อ.อรรถพร อินทรทัต ผบ.หน่วย ขกท.นสศ.(ตท.21)เป็น ผบ.หน่วยขกท.ทภ. พ.อ.สงคราม ดอนนางพา ผบ.หน่วยขกท.ทภ.(ตท.21) เป็น ผบ.หน่วยขกท.นสศ 
 
รายชื่อโยกย้ายนายทหารดูได้ที่ http://dop.rta.mi.th/command/240_53.pdf
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'สมคิด เลิศไพฑรูย์' ขึ้นแท่น อธิการบดี มธ.คนใหม่

Posted: 18 Oct 2010 08:21 AM PDT

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑรูย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มธ.ได้รับเลือกเป็นอธิการฯ คนใหม่ เผยจะทำ 2 เรื่องหลัก สร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ ดึง มธ.กลับไปสู่ในการเป็น ม.เพื่อประชาชน ส่งเสริม น.ศ.ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน หนุม มธ.ออกนอกระบบ

 
เมื่อเวลา 15.35น. วันที่ 18 ต.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สภามหาวิทยาลัย มธ.ได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกอธิการบดีคนใหม่ แทน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยสภามหาวิทยาลัยพิจารณารายชื่อตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ได้แก่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
 
ทั้งนี้ นายวิทวัส ศตสุข อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ. เผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน เสนอแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยและตอบข้อซักถาม จากนั้นเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งผลปรากฏว่านายสมคิด ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 25 คะแนน ต่อ 5 คะแนน จากนี้สภามหาวิทยาลัยจะนำรายชื่อนายสมคิด เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
 
ด้าน ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ตนจะดำเนินการตามที่ได้แถลงไว้กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยและประชาคม 2 เรื่องหลักคือ การสร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ โดยดึงมธ.กลับมาที่จุดเริ่มต้นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนให้มากขึ้น โดยเริ่มจากโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด และการสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยให้มากขึ้น ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบฯวิจัยเพราะมธ.มีงบฯวิจัยปีละ 600 กว่าล้าน ทั้งงบฯ ที่หาได้เอง กับงบฯ ที่รัฐสนับสนุน แต่อยู่ที่อาจารย์ไม่ค่อยทำงานวิจัย โดยอาจารย์มธ.มี 1,700 คน ทำวิจัยเพียง 20% เท่านั้น
 
ทั้งนี้ ตนจะเริ่มงานในฐานะรักษาการอธิการบดี มธ.ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไป 
 
ต่อข้อถามถึงการนำ มธ.ออกนอกระบบนั้น ว่าที่อธิการบดี มธ.คนใหม่ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้ มธ.ออกนอกระบบราชการ เพราะทำให้การบริการงานคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาคม มธ.โดยเฉพาะการออกนอกระบบไม่ใช่การแสวงหากำไร ซึ่งคนส่วนใหญ่มีความกลัวว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าเทอมสูง ขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนคิดว่าจะทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ที่นักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยจะมีระบบตรวจสอบการทำงานของอาจารย์ที่เข้มข้นมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอเข้าที่ประชุม ครม.หากได้รับความเห็นชอบก็นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่า มธ.ออกนอกระบบช้าเกินไปแล้ว
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวรส. เสนอทางเลือกกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ห่วง อปท.ฟ้องหากไม่ขยับถ่ายโอนสถานีอนามัย

Posted: 18 Oct 2010 07:22 AM PDT

สวรส.ห่วง อปท.ฟ้องร้องเร่งรัดถ่ายโอน เสนอทางเลือกอื่นเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพของประเทศ ชี้ไม่จำกัดแค่ถ่ายโอนสถานีอนามัย เผยตัวเลข อบต.สร้างศูนย์บริการสุขภาพเองแล้วกว่า 600 แห่ง เกรงเสียหายต่อระบบโดยรวมถ้าสร้างซ้ำซ้อนมากกว่านี้

 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเป็นธรรมและระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ในปัจจุบัน มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดและขั้นตอนการกระจายอำนาจว่าให้ใช้รูปแบบการถ่ายโอนภารกิจเป็นสำคัญ และในทางปฏิบัติได้มีการตั้งเป้าหมายการนำร่องถ่ายโอนสถานีอนามัย (สอ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไว้ 35 แห่ง แต่ 10 ปีที่ผ่านมาสามารถถ่ายโอนจริงได้ 28 แห่ง ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสถานีอนามัยทั้งประเทศที่เหลืออีกกว่า 9,000 แห่ง ในขณะที่ผลการวิจัยของ สวรส.พบว่า อปท.บางส่วนไม่รอรับโอน แต่ได้ตั้งศูนย์บริการสุขภาพขึ้นมาซ้ำซ้อนในพื้นที่ สอดคล้องกับผลสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า จากจำนวน อบต.ที่เก็บข้อมูลได้กว่า 6,500 แห่ง คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ของ อบต.ทั่วประเทศนั้น ได้จัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดตนเองขึ้นมาแล้วกว่า 600 แห่ง
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวถึงทิศทางการแก้ปัญหาและการตัดสินใจพัฒนาบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นว่า อาจจะกระทบต่อผลโดยรวมของความคุ้มค่าและความเหมาะสมในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรสุขภาพหากมีการสร้างหน่วยบริการซ้ำซ้อน สวรส. จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการทำการศึกษาเพื่อสังเคราะห์ทางเลือกในการดำเนินการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ
 
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นักวิชาการผู้ศึกษาทางเลือกการกระจายอำนาจ กล่าวถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความล่าช้าในการดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ อปท. ซึ่ง อปท. บางแห่งอาจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้เร่งรัดให้ถ่ายโอนตามกฎหมายโดยกรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับกรณีถ่ายโอนสถานศึกษามาแล้ว ฝ่ายวิชาการจึงมีข้อเสนอสำหรับทางเลือกในการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในรูปแบบอื่น ที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ป้องกันปัญหาความซ้ำซ้อนในการจัดสร้างและการใช้งบประมาณที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพ
 
โดยข้อเสนอจากงานวิจัยได้เสนอลักษณะการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ว่าอาจมีได้ 3 ลักษณะ คือ แบบก้าวหน้าที่สุด ให้น้ำหนักไปที่การโอน สอ.ทั้งหมดไปสู่ อบจ.ซึ่งมีพื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นอย่างน้อยหรืออาจกว้างกว่านั้น เช่นระดับอนุภูมิภาค โดยไม่มีการถ่ายโอน สอ.รายย่อยเป็นแห่งๆ อีกต่อไป แบบกึ่งก้าวหน้า คือ ถ่ายโอน สอ.รายแห่งให้ อบต.แห่งที่พร้อมส่วนที่เหลือถ่ายโอนเป็นพวงให้กับ อบจ.แบบที่สามแบบอนุรักษ์ คือให้ สอ.อยู่กับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป แต่ไปจัดการให้มีคณะกรรมการบริหารแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่แทน
 
นพ.ปรีดา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ การกระจายอำนาจทุกรูปแบบมีองค์ความรู้และมีบทเรียนแห่งความสำเร็จเพียงพอแล้วในสังคมไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแต่ต้องมีนโยบายอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนจากฝ่ายนโยบายและผู้มีอำนาจ ในฐานะนักวิชาการหวังว่าข้อเสนอทางวิชาการเหล่านี้ จะเป็นการสร้างทางเลือกและเป็นตัวตั้งต้นให้ฝ่ายต่างๆ พิจารณาร่วมกันเพื่อผลักดันการกระจายอำนาจด้านสุขภาพให้ก้าวหน้าไปได้โดยไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ชะงักงันนานเกินไป นพ.ปรีดา กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไอซีที ผนึก ก.ยุติธรรม และก.วัฒนธรรม คุมเข้มสื่อไอทีผิดกฎหมาย

Posted: 18 Oct 2010 06:11 AM PDT

กระทรวงไอซีที เผยความคืบหน้าการร่วมมือ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรม ป้องปรามสื่อไอซีทีที่ผิดกฎหมาย เตรียมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจทำงานร่วม 3 กระทรวง พร้อมเล็งใช้ช่องทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม “ยุติธรรม แชนแนล” สร้างเครือข่าย-ประชาสัมพันธ์การทำงาน
 
 
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานภายหลัง “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงยุติธรรม ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ” ว่า หลังจากที่ได้มีการสนธิกำลัง 3 กระทรวงแล้ว ได้มีการบูรณาการความร่วมมือและประสานงานทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยได้มีการกำหนดแนวทางความร่วมมือตามข้อตกลง 3 กระทรวงไว้ 4 ข้อหลักๆ คือ 1.กำหนดนโยบายและปฏิบัติการตามกฎหมายและภารกิจของกระทรวง 
 
2.สนับสนุน ประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังเจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานในระหว่างหน่วยงานของแต่ละกระทรวงและหน่วยงานภาคี รวมทั้งการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานของแต่ละกระทรวงและหน่วยงานภาคีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายของแต่ละกระทรวงโดยเร็ว 3.สนับสนุนและประสานงานกันในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของแต่ละกระทรวงเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของแต่ละกระทรวงและการปฏิบัติงานร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงนี้ และ 4.จัดการประชุมประสานงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงนี้ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้การปฏิบัติการร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถาวร
 
“ในการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือ 3 กระทรวงนั้น จำเป็นต้องมีการจัดทำ Road Map เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติการ โดยได้มอบหมายให้สำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนงาน กระบวนการ และขั้นตอนการทำงานที่กระชับชัดเจนเป็นรายไตรมาส รวมถึงจัดทำระบบสารสนเทศอินทราเน็ตสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวงด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบเพื่อนำไปประยุกต์ใช้
 
ส่วนการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการและวางแผนปฏิบัติการตามข้อตกลงความร่วมมือ 3 กระทรวงนั้น ได้สั่งการให้จัดทำระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือ Video Conference System สำหรับใช้ในการประชุมหารือร่วมกัน รวมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการดำเนินการและวางแผนปฏิบัติการตามข้อตกลงความร่วมมือ 3 กระทรวง โดยมีผู้แทนจากแต่ละกระทรวงไม่น้อยกว่า 5 คน มีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นที่ปรึกษาของคณะทำงาน” นายจุติ กล่าว
 
นอกจากนี้ยังให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีความสามารถทั้งในด้านกฎหมาย ด้านวัฒนธรรม ด้านสืบสวนสอบสวนจากแต่ละกระทรวงให้มาดำเนินงานร่วมกัน โดยตรวจสอบคุณสมบัติพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งแล้ว และสอบถามถึงความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการในคณะทำงานเฉพาะกิจ รวมถึงจัดให้มีสถานที่กลางสำหรับประชุมหารือของคณะทำงานเฉพาะกิจ และให้มีการประชุมเป็นประจำเพื่อดำเนินงานร่วมกัน ส่วนการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น จะมีการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนมีการ ลงนามแต่งตั้ง
 
พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้มีอาสาสมัครเข้ามาปฏิบัติงาน โดยนำบุคคลที่มีความสมัครใจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่คัดกรอง และรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สื่อลามกอนาจาร การพนันออนไลน์ ยาเสพติด อาหาร ยา และอื่นๆ แล้วส่งให้กระทรวงฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการ ซึ่งกระทรวงไอซีที สามารถดำเนินการผ่านโครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ โดยให้มีการรับอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอื่นๆ และอาสาสมัครในเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น รวมทั้งให้ใช้ช่องทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม “ยุติธรรม แชนแนล” ของกระทรวงยุติธรรม ในการสร้างเครือข่าย ตลอดจนการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้วย
 
สำหรับประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของแต่ละกระทรวงนั้น ได้มอบหมายพันตำรวจเอกญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปทบทวน เสนอแนะ ข้อดี ข้อด้อย ของกฎกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการดำเนินงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
 

ที่มา: http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=3894&filename=index

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อเผย ‘พสิษฐ์’ ออกนอกประเทศ ตั้งแต่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา

Posted: 18 Oct 2010 05:43 AM PDT

สื่อรายงานข้อมูล สำนักตรวจคนเข้าเมืองระบุ 'พสิษฐ์ ศักดาณรงค์' ซึ่งล่าสุดถูกปลดจากตำแหน่งเลขาฯ ปธ.ศาล รธน.เดินทางออกนอกประเทศไปฮ่องกง ตั้งแต่ 13ต.ค.ก่อนเพื่อไทยแฉเรื่องคลิป 2 วัน

 
หลังตกเป็นข่าว จากกรณีคลิปที่พรรคเพื่อไทยนำมาเผยแพร่ ทำให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งปลด นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ออกจากตำแหน่งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อนายพสิษฐ์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ และเมื่อตรวจสอบไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า นายพสิษฐ์เดินทางออกจากประเทศไทยไปฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เวลา 17.46 น.ด้วยสายการบินคาร์เธย์แปซิฟิก เที่ยวบิน Cx 070 ใช้หนังสือเดินทางราชการเลขที่ F502554 และขณะนี้ยังไม่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย
 
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเดินทางออกนอกประเทศของนายพสิษฐ์ เกิดขึ้นก่อนที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะออกมาแถลงข่าวว่ามีคลิปวีดีโอการพบกันของหนึ่งในทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กับบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ สำคัญอักษรย่อ 'พ' 2 วัน โดยนายพร้อมพงศ์แถลงในวันที่ 15 ตุลาคม ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น.
 
ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น มีผู้โพสต์วีดีโอคลิปที่เชื่อมโยงกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 5 ตอน บนเว็บไซต์ยูทูป ซึ่งคลิปลับดังกล่าว เริ่มเผยแพร่ ในคือคืนวันเดียวกัน โดยในตอนแรกเป็นภาพนิ่ง มีภาพคล้าย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ในสถานที่แห่งหนึ่ง ตอนที่ 2-5 เป็นการสนทนากับคนสนิทของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตอนที่ 2 ความยาว 8 นาที ตอนที่ 3 ความยาว 11 นาที ตอนที่ 4 ความยาว 11 นาที ตอนที่ 5 ความยาว 11 นาที  ซึ่งผู้ที่เผยแพร่คลิปลับดังกล่าว ใช้ชื่อว่า "ohmygod3009"
 
ทั้งนี้ คลิปดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งปลด นายพสิษฐ์จากตำแหน่งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ (18ต.ค.) แต่ยังไม่ปลดออกจากราชการ
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก :  เนชั่นทันข่าว และ Voicetv
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ซูจี’ อยากใช้ ‘ทวิตเตอร์’ สื่อสารวัยรุ่น หลังได้รับการปล่อยตัว

Posted: 18 Oct 2010 05:15 AM PDT

ทนายความของนางออง ซาน ซูจีออกมาเปิดเผยว่า หากได้รับการปล่อยตัวออกมา นางซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีอยากจะสมัครใช้ทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารกับวัยรุ่นทั้งในพม่าและที่อยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ นางซูจีมีกำหนดที่จะได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

 
การกักบริเวณนางซูจีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า นางซูจีอาจจะได้รับการปล่อยตัว แม้รัฐบาลพม่ายังไม่ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะปล่อยตัวนางซูจีในเร็วๆนี้ ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การจัดการเลือกตั้งเร็วขึ้น ซึ่งก็คือในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ อาจเป็นเพราะรัฐบาลต้องการกักตัวนางซูจีในช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จจึงจะปล่อยตัวนางซูจีออกมา
 
ด้านนายหน่ายวิน ทนายความประจำตัวของนางซูจี ซึ่งเดินทางเข้าเยี่ยมนางซูจีก่อนหน้านี้ไม่นาน และเป็นเพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้สามารถเข้าเยี่ยมนางซูจีออกมาเปิดเผยว่า นางซูจีมีความต้องการที่จะสมัครเข้าใช้ทวิตเตอร์ เพื่อสื่อสารกับวัยรุ่นทั้งในพม่าและที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ
 
“นางซูจีหวังว่าเธอจะสามารถทวิตข้อความได้ทุกวัน และสามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้” นายหน่ายวินกล่าว ภายใต้การกักบริเวณ นางซูจีไม่มีโทรศัพท์และไม่สามารถเข้าใช้อินเตอร์เน็ตได้
 
ขณะที่นายหน่ายวินเปิดเผยอีกว่า นางซูจีนั้นเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นางซูจีได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล หรือสื่อและนิตยสารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเท่านั้น รวมไปถึงสามารถฟังวิทยุและรับชมสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลพม่าได้ด้วยเช่นกัน (Irrawaddy 18 ต.ค.53)
 
……………………………………………………………………………………………….
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost  
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สั่งปลด ‘พสิษฐ์’ พ้นเลขาฯ ปธ.ศาล รธน. ชี้เอี่ยวคลิปฉาว ทำภาพพจน์ศาลเสียหาย

Posted: 18 Oct 2010 04:32 AM PDT

‘5 ตุลาการ’ แถลง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งปลด 'นายพสิษฐ์' คำสั่งมีผลวันนี้เป็นต้นไป เพื่อให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมยืนยัน ‘พล.อ.เปรม’ ไม่เกี่ยวล็อบบี้ยุบพรรค ด้าน ‘ชวน’ ยันมั่นใจในพฤติกรรมทีม กม.พรรค เผยสอบถาม ‘วิรัช’ แล้วอ้างฝ่ายโน้นเป็นคนชวน

 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.25 น.วันที่ 18 ตุลาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนประกอบด้วย นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายจรูญ อินทจาร ร่วมแถลงข่าวก่อนการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง โดยนายอุดมศักดิ์ แถลงว่ากรณีที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชนได้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ขอชี้แจงว่า คลิปที่ปรากฏภาพของ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญคนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์ของศาลได้ ดังนั้น นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้มีคำสั่งปลดนายพสิษฐ์ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายพสิษฐ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
 
นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า จากคลิปที่มีภาพปรากฏของ ประธานองคมนตรีนั้น ขอชี้แจงว่าคลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยขณะนั้นประธานศาลรัฐธรรมนูญได้รับรางวัลเป็นนักกฎหมายดีเด่นจากกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มูลนิธินิติศาสตร์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้มอบรางวัล โดยจะมอบเป็นประจำทุกปี ยืนยันว่าประธานองคมนตรีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีใดๆ ทั้งสิ้น
 
รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆ ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ตามพระปรมาภิไธย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกลางกับทุกฝ่าย ไม่มีใครมาก้าวก่ายแทรกแซง ขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของศาล ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สอบสวนและสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ผิดอาญาต่อแผ่นดิน พร้อมกันนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายใน เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกทาง ถ้ามีความคืบหน้าจะแถลงต่อสื่อมวลชนเพื่อให้ทราบอีกครั้ง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีคลิปวิดีโอเกิดขึ้นทางตุลาการจะดำเนินคดีฟ้องร้องกลับหรือไม่ นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนได้เลย เพราะการกระทำต่อศาลเช่นนี้ ถือว่ามีความผิดต่ออาญาแผ่นดิน เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลเสียหาย
 
เมื่อถามว่า การปลดนายพสิษฐ์ออกแสดงว่า พบว่ามีความผิดที่ชัดเจนแล้วหรือไม่ นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบอยู่ โดยเฉพาะการมีภาพของนายพสิษฐ์อยู่ในคลิป อยู่ในเหตุการณ์การสนทนา ซึ่งศาลต้องดำเนินการตรวจสอบ เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเสียหาย จึงจำเป็นต้องมีคำสั่งปลดไว้ก่อน ส่วนจะเกี่ยวข้องไปยังตุลาการระดับสูงอย่างไรหรือไม่นั้น ขณะนี้ก็กำลังตรวจสอบเป็นการภายในอยู่ ส่วนรายละเอียดมีความคืบหน้าอย่างไรจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
 
เมื่อถามว่า การเผยแพร่คลิปดังกล่าวอาจมีบุคคลมากกว่า1 คนมาร่วมขบวนการ นายอุดมศักดิ์ กล่าวว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ เป็นเรื่องที่สังคมต้องมีการวิเคราะห์กันเอง ซึ่งขณะนี้ศาลทำได้เฉพาะการชี้แจง เพื่อให้สังคมรับทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคลิปดังกล่าว ส่วนจะพาดพิงไปยังนักการเมืองคนไหนหรือไม่ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องไปดำเนินการสืบสวนสอบสวน
 
 
"ชวน" ยันมั่นใจในพฤติกรรมทีม กม.พรรค เผยสอบถาม “วิรัช” แล้วอ้างฝ่ายโน้นเป็นคนชวน
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 14.35 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งตั้งกรรมการสอบนายวิรัช ร่มเย็น ที่ปรากฎภาพอยู่ในคลิปฉาวกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ต่อรองคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ทราบเรื่อง เป็นอำนาจของนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ตนคงไม่คัดค้านอะไร เพราะฝ่ายกฎหมายมีหน้าที่ต้องทำงานไป ซึ่งนายวิรัช คงไม่หมดกำลังใจ เพราะหัวหน้าพรรคคงต้องการให้เกิดความกระจ่างชัดว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาดี แต่สำหรับตนไม่ติดใจอะไร เราทำงานด้วยกันไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยนายวิรัช เพราะตนไม่คิดว่าเรื่องนี้จะมีผลอะไรต่อการดำเนินคดี แม้ว่านายวิรัช ไม่ควรไปพบนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ  แต่เมื่อไปพบแล้ว ข้อเท็จจริงที่นายวิรัช ได้เล่าให้ตนฟัง ก็พบว่าไม่ใช่การวิ่งเต้นคดีอะไร และไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปทำอย่างนั้น
 
“ผมถามนายวิรัช ตรงๆ ว่าไปนัดเขาหรือเขานัดมา นายวิรัชบอกว่าเขานัดมา ก็เกรงใจ ซึ่งผมก็เข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือมันไม่ได้เกี่ยวกับศาล ซึ่งเราระวังมาก และนายบัณฑิต ศิริพันธ์ หัวหน้าทนายความต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด ผมไม่ได้ว่าใคร แต่พวกเราทำงานด้วยการยึดความจริงเป็นหลัก ใช้ฝีมือไม่ใช้ฝีตีน ไม่ไปวิ่งเต้น” นายชวน กล่าว
 
เมื่อถามว่าเมื่อมั่นใจว่านายวิรัช ชี้แจงชัดเจน แต่นายกฯยังตั้งกรรมการสอบ ถือเป็นการสร้างภาพหรือไม่ นายชวน กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสอบเบื้องลึกในการถ่ายคลิปนั้น เข้าใจว่าศาลจะดำเนินการเอง ซึ่งขณะนี้ก็ได้ให้นายพสิษฐ์ ออกไปแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน กล่าวว่า ตนไม่สงสัย เพราะเชื่อว่าที่เขาทำงานร่วมกันอยู่ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะไปทำอะไรกันเอง จึงไม่เชื่อเรื่องดังกล่าว
 
อีกด้านหนึ่ง ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า ปชป.ให้สัมภาษณ์ภายหลังขึ้นเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ขอพูดว่ามีความมั่นใจในคดีหรือไม่ แต่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลไปหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีขบวนการกดดันการพิจารณาของศาล คิดว่าจะส่งอะไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มั่นใจว่าศาลจะต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
 
ส่วนกรณีคลิปที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการสนทนาระหว่างนายวิรัช กับเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบรายละเอียด โดยพรรคจะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนของพรรค ส่วนนายวิรัชต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่อย่างไรนั้น ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่พรรคจะไม่เพิกเฉย เมื่อมีประเด็นเกิดขึ้นทางสื่อ ก็ต้องตรวจสอบ
 
เมื่อถามว่า การที่นายวิชัยไปพบกับเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ผมเห็นว่าความจริงถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็จะดี ก็จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อไป แต่เข้าใจว่าเจ้าตัวกับเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญมีความคุ้นเคยกันอยู่”
 
เมื่อถามว่า มองเจตนาในการปล่อยคลิปนี้อย่างไร หัวหน้าปชป. กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเนื้อหาสาระไม่เห็นว่ามีการล็อบบี้ใดๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นเรื่องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พูดกันว่าจะเอาใครมาเป็นพยาน ไม่เห็นว่าจะเป็นสาระอะไร เพราะเป็นสิทธิของปชป. ในฐานะผู้ถูกร้องว่าจะระบุให้ใครเป็นพยาน ทั้งนี้เชื่อว่าคงจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และอาจต้องไปดูเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้ทราบชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น
 
“สิ่งที่ผมยืนยันได้คือพรรคไม่มีความจำเป็นใดๆ ไม่มีเจตนาใดๆ ต้องมาล็อบบี้ศาล พร้อมจะต่อสู้ในเนื้อหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันต้องการให้ศาลพิจารณาได้โดยปราศจากการกดดัน หรือล็อบบี้ใด” นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
เมื่อถามอีกว่า การปล่อยคลิปออกมาก่อนนายกฯ ขึ้นเบิกความนัดสุดท้าย มีเจตนาอะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มันมีความพยายามชัดเจนอยู่แล้วในการพูดทำนองว่าถ้าไม่ยุบปชป. เป็น 2 มาตรฐาน ตนถึงต้องย้ำว่าให้ย้อนกลับไปดูคดียุบพรรคทุกพรรค และให้ดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พรรคการเมือง และ พ.ร.บ. การเลือกตั้งว่าไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนถูกยุบ เพราะความผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการเมือง
 
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าจะมีการนำคลิปวิดีโอนี้ไปเป็นชนวนปลุกการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หัวหน้า ปชป. กล่าวว่า มันมีความพยายามอยู่ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อถามว่า ที่สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปรวมรวมข้อมูลเรื่องคดียุบพรรคทั้งหมดเพื่อเผยแพร่ต่อประชาชน จะเผยแพร่ได้เมื่อไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอเวลาหน่อย หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากสุดท้ายก็จะเสนอข้อเท็จจริงที่มีการเบิกความต่อศาล
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธรรม: “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สัจธรรมรัฐสมัยใหม่ที่เลี่ยงไม่ได้

Posted: 18 Oct 2010 03:16 AM PDT

ประชาธรรมเรียบเรียงปาฐกถานำเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย (พร้อมคลิป)

 
อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 
"...เมื่อกลับไป 200 ปีหรือ "ระบอบใหม่" หรือ "ประชาธิปไตย-รัฐ-ประชาชาติ-ลัทธิชาตินิยม" ได้กลายเป็น รูปแบบ หลักการ มาตรฐาน และสากล ของสิ่งนามธรรมที่เรียกว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่รัฐหรือประเทศสมัยใหม่ต้องเผชิญ ต้องรับ ต้องปรับและต้องปรุง ...ทำให้เข้ากับสภาพการณ์และสถานการณ์ของตน ไม่ว่ารัฐหรือประเทศนั้นจะเป็นระบอบกษัตริย์ ประธานาธิบดี ระบอบทหาร ระบอบอำมาตย์ หรือเป็นระบบพรรคเดียว หลายพรรค หรือระบอบใดก็ตาม เพราะนี่เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้..."
 
5 เดือนที่ผ่านหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ปรองดองของรัฐบาล เหตุการณ์ความขัดแย้งยังไม่ทุเลาลง ข้อเสนอของคณะกรรมการเหล่านั้นก็ยังไม่ออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แม้ข้อเสนอง่ายๆอย่างการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล ถึงกระนั้นการติดตามเพื่อกดดันรัฐบาลต่อก็ยังไม่มีการดำเนินการ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึง ประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้อย่างกว้างขวาง
 
ความขับข้องใจต่อการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว รวมถึงรัฐบาลที่รับฟังแต่ความคิดเห็นที่ไปทางเดียวกับตน ทำให้มีการเสนอแนวทางการปฏิรูปจากหลายส่วนของสังคมอย่างกว้างขวาง แต่เสียงเหล่านั้นไปไม่ถึงบ้าง คกก.และรัฐบาลทำเป็นไม่ได้ยินหรือไม่ฟังบ้าง บางสิ่งก็พูดไม่ได้ จึงนำมาสู่การจัดเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ เสียงที่ไม่ได้พูด กับสิ่งที่พูดไม่ได้ และส่งเสียงไปยังรัฐบาลและคกก.อีกครั้งหนึ่ง
 
อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ปาฐกถานำเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย "เสียงที่พูดไม่ได้ สิ่งที่พูดไม่ได้" ในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดโดยภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มจับตาขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทย (Thai Social Movement watch) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา
 
00000
 
 
ขอเริ่มต้นอย่างนี้ คนที่เชิญบอกว่าอาจารย์อาวุโสไปปฏิรูปกันหมดแล้ว ตนเป็นขิงแก่แต่เพื่อนน้อย มีแต่คนถามผมว่า "ไม่ไปปฏิรูปหรือ" คำว่าปฏิรูปมันถูกใช้ในความหมายพิลึกพิลั่นไปหมด ฉะนั้นการปาฐกถานำจึงคิดหนักว่าจะพูดอะไรดี จึงคิดถึงปัญหาสังคมการเมืองที่ผ่านมา มีการใช้คำว่า "สองมาตรฐาน" และ "ไพร่" อยู่ตลอดเวลา ในช่วงไม่กี่ปีของการประท้วง เมื่อใช้แล้วมีประสิทธิภาพมาก คำว่า "ไพร่" น่าจะตกเวทีประวัติศาสตร์ไปแล้ว เมื่อถูกนำมาใช้กลายเป็นคำที่มีปัญหามากๆ นักวิชาการบางคนบอกว่า ใช้ไม่ได้ นักการเมืองบางคนบอกว่าไม่ควรใช้คำนี้ แต่เมื่อดูที่เวทีการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านเสื้อแดงแล้ว เป็นคำที่มีความหมายมากๆ มันจึงมีนัยยะสำคัญในการเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในปัจจุบัน
 
มีบทความ ความเป็นมาของคำว่าไพร่ที่ตนได้เขียน บทสัมภาษณ์ 4 ปีรัฐประหาร และการแก้ปัญหาเขตแดนพระวิหาร ทั้ง 3บทความเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูดในวันนี้
 
อยากเริ่มต้น เมื่อโลกมนุษย์ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ หรือ "Modern Period-Modernity" มีหลักปรัชญาการเมืองการปกครองใหม่ที่เกิดขึ้นตามมา ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย หรือ Democracy ซึ่งเกิดมาพร้อมๆ กับรัฐประชาชาติ และลัทธิชาตินิยม หลักคิดนี้มีความคิดประหลาดๆ คือความคิดว่าด้วยความเสมอภาค เสรีภาพ ที่ว่าคนเท่าเทียมกัน เป็นความคิดที่ประหลาด เพราะนิ้วคนเรายังไม่เท่ากัน
 
ตอนเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ที่ดังๆจบมาจากอังกฤษ คนหนึ่งชื่อ เสน่ห์ จามริก อีกคนคือ พวงเพ็ญ สองท่านนั้น เอาความคิดของโทมัส ฮ็อบ (Thomas Hob) จอห์น ล็อค (John Locke )และรุสโซ (Jean Jacques Rousseau) มาสอน ฉะนั้นจึงมีคำพูดของนักคิดในยุคนั้นติดหู เช่น รุสโซ บอกว่า "มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่งมีแต่เครื่องพันธนาการ" คิดว่าคำนี้เป็นวลีที่มหัศจรรย์มาก ถ้าดูอายุของรุสโซ 172 ปีผ่านมาแล้ว ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นคนสวิตเซอร์แลนด์ ความคิดเขามีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ความคิดเรื่องคนเท่าเทียมกันนี้ (ที่บอกว่าเป็นความคิดประหลาด) เป็นตัวจุดประกาย และคำนี้ถูกใช้ในคำประกาศของอเมริกา และอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ไม่มีกษัตริย์ หลังได้รับอิสรภาพก็ไม่คิดตั้งราชวงศ์ ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริการะบุว่า “มนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน และจะถูกพรากไปไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือเสรีภาพ และการแสวงหาซึ่งความสุข เมื่อใดก็ตามที่ระบอบของการปกครอง กลายเป็นตัวทำลายซึ่งจุดหมายปลายทางดังกล่าว ก็ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างได้"
 
ความคิดของรุสโซ ทำให้เกิดการปฏิวัติอเมริกา และฝรั่งเศสตามมา การปฏิวัติฝรั่งเศสก็ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ และมีคำขวัญที่ดังกึกก้อง คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ แต่มีคำอีกส่วนหนึ่งที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึงคือคำว่า ou la mort เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "หรือความตาย" ซึ่งต่อท้ายคำสามคำนี้ คนที่เรียนประวัติศาสตร์อเมริกาจะเห็นว่า คำขวัญเรื่อง เสรีภาพกับความตายดังกึงก้องในกระแสปฏิวัติ จึงไม่แปลกที่อเมริกาจะมีเทพีเสรีภาพอยู่ที่ปากอ่าวในนิวยอร์ก
 
กล่าวโดยย่อนับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ทั้งทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปตกอยู่ในยุคสมัยของการปฏิวัติ ( The Age of Revolutions) มีการปะทะต่อสู้กัน
 
ระหว่าง Democracies กับ Monarchies "ประชาธิปไตย" กับ "สถาบันกษัตริย์" เป็นการต่อสู้กันของระบอบเก่า กับระบอบใหม่
 
ระบอบเก่าที่สามารถต่อสู้และปรับตัวให้เข้ากับระบอบใหม่คือ ประชาธิปไตย รัฐ ประชาชาติ ลัทธิชาตินิยมได้ ก็อยู่รอดมาได้ เช่น อังกฤษ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ฯลฯ (และกลายเป็นแม่แบบให้ประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น) ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ล่มสลายไปก็เช่น รัสเซีย จีน เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี ตุรกี ฯลฯ
 
น่าสนใจว่า "การปฏิวัติสยาม" ปี พ.ศ. 2475 ( 24 มิถุนายน ค.ศ.1932) หรืออีกตั้ง 143 ปีต่อมานั้น ใน ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1" ซึ่งเขียนโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ก็สะท้อนความคิดว่าด้วยประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ตลอดจนแนวคิดว่าด้วยรัฐ ประชาชาติ และลัทธิชาตินิยม ด้วยถ้อยคำรุนแรงและดุดัน ดังเช่น
 
"...กษัตริย์ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนค่าเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้มีสิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร.."
 
"...รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์..."
 
"...ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือข้าศึก..."
 
ในการประณาม "ระบอบเก่า" ด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าวนี้ ประกาศคณะราษฎรก็อ้างว่า
 
"...คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกเหนือความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร..."
 
ประกาศฯ ดังกล่าวให้คำสัญญาว่า "...ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า..." และสรุปท้ายด้วยการเสนอหลัก 6 ประการ ซึ่งในข้อที่ 4 และ 5 ตอกย้ำว่า "จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ซึ่งในวงเล็บคือส่วนที่มักถูกตัดทิ้งไปในภายหลัง (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)" และ"จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ (เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น)"
 
คำประกาศที่ว่ามนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน นั้น น่าสนใจคือการปฏิวัติสยามในปี 2475 ในประกาศของ คณะราษฎร์ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและดุดันมากๆ เช่น "กษัตริย์ทรงอำนาจในกลุ่มของพวกตนเอง ....ยกพวกเจ้าอยู่เหนือราษฎร ....." ไพร่ไม่ถือเป็นมนุษย์ และประโยคที่ว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตรีย์ "
 
อันนี้สะท้อนความคิดข้างต้นว่าเข้ามามีอิทธิพลในไทย และน่าสนใจในอีก 13 ปีต่อมา คำประกาศของอิสรภาพของเวียดนามก็เช่นกัน คือระบุว่า มนุษย์ทั้งมวลถูกสร้างมาให้เท่าเทียมกันเช่นกัน และอ้างถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย คือมนุษย์มีเสรี และสิทธิเท่าเทียมกัน
 
เมื่อกลับไป 200 ปีหรือดูประวัติศาสตร์ระยะยาว สรุปได้ว่า "ระบอบใหม่" หรือ "ประชาธิปไตย-รัฐ-ประชาชาติ-ลัทธิชาตินิยม" (ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 200 ปี) ได้กลายเป็น "รูปแบบ หลักการ มาตรฐาน และสากล ของสิ่งนามธรรมที่เรียกว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่รัฐหรือประเทศสมัยใหม่ต้องเผชิญ ต้องรับ ต้องปรับและต้องปรุง รวมถึงทำให้เป็น รูปธรรม 
 
ดังเช่นคำว่า “สองมาตรฐาน” หรือ คำว่า “ไพร่” ที่ผมยกมาน่าจะทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องทำให้เข้ากับสภาพการณ์และสถานการณ์ของตน ไม่ว่ารัฐหรือประเทศนั้นจะเป็นระบอบกษัตริย์ ประธานาธิบดี ระบอบทหาร ระบอบอำมาตย์ หรือเป็นระบบพรรคเดียว หลายพรรค หรือระบอบใดก็ตาม เพราะนี่เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
00000
 
ในตอนท้ายของการเสวนา ดร.ชาญวิทย์ได้ตอบคำถามหรือประเด็นข้อสงสัยของวงเสวนา ที่ว่า สถาบันกษัตริย์ต่างประเทศมีการพัฒนาปรับตัวอย่างมาก จะมีโอกาสได้เห็นในประเทศไทย ว่า คิดว่าถ้าดูการปฏิวัติของประเทศต่างๆ ในโลกอย่างอเมริกา มันเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นเรื่องประหลาด กลายเป็นรูปแบบที่คนเอาอย่างตามกันเป็นกระบวน และเกิดกระแสอย่างใหญ่โต ทั้งทวีปอเมริกา และจะเห็นว่าไม่มีประเทศไหนตั้งราชวงศ์ใหม่ ฉะนั้นการต่อสู้ในช่วง 200 ปี ถ้าสถาบันกษัตริย์สามารถปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตยได้ก็จะอยู่ได้ เช่น อังกฤษ เป็นต้น ในอีกด้านหนึ่งการปรับได้ หรือไม่ได้ เชื่อว่ามันต้องมีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ปรับได้ ซึ่งปรับด้วยตัวเองอาจปรับยาก ดังตัวอย่างกรณี ญี่ปุ่น หลายคนสงสัยว่าทำไมสถาบันจักรพรรดิจึงมั่นคงแข็งแรง ถามว่าปรับตัวเองไม่ใช่ คนที่เข้าไปปรับ คืออเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่ประเทศอื่นในฝ่ายสัมพันธมิตรอยากให้ยุบ ปัจจัยภายนอกจึงทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นต้องปรับตัว ฉะนั้นคำตอบของสังคมไทย ต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่ผลักดันให้เกิดการปรับตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีการพูดกันให้มาก ตนเคยพูดแล้ว ในสื่อกระแสหลักมักจะถูกตัดทิ้ง ผมเคยเสนอว่า สถาบันกษัตริย์จะต้องเป็นสถาบันสูงสุด เป็นสถาบันกลางที่เป็นที่เคารพสักการะของสังคมทั้งประเทศ ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาไปอ้าง เอาไปอิงเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง
 
 
---------------------------------------
 
ที่มา: ประชาธรรม 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: (1) ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย

Posted: 18 Oct 2010 03:10 AM PDT

 
ชื่อบทความเดิม ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ;ตอนที่ 1 ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย
 
 
 
 
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องความยุติธรรม ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงแห่งกระบวนการยุติธรรม ตัวตนที่มี 2 มาตรฐาน เมื่อกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงศาลไม่พ้น ศาลซึ่งเป็นส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรม ในอดีตการโจมตีกระบวนการยุติธรรมได้ยกเว้นศาลไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นที่ยอมรับในความเป็นกลาง ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัจจุบันส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
 
บทความนี้มุ่งแสดงถึงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุแห่งความเป็น 2 มาตรฐาน ของศาล
 
การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องทำความรู้จักเข้าใจถึงสิ่งนั้นก่อน และการทำความเข้าใจก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาก่อนเป็นอันดับแรก ในตอนแรกนี้จึงจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาลไทย ศาลยุติธรรม
 
จากนั้นจะกล่าวถึงโครงสร้างผู้พิพากษา และเปรียบเทียบกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาในท้ายที่สุด
 
ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า รัฐไทย ก่อกำเนิดขึ้นในสมัย ร.5 แห่งยุครัตนโกสินทร์ ศาลไทย ตลอดจนระบบกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ในสมัยนั้นรัฐไทย ตกอยู่ภายใต้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่มหาอำนาจตะวันตก โดยไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา-มหามิตรในปัจจุบันนี้ หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น-ประเทศในเอเชีย ก็ได้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐไทยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย ร.4 ที่มุ่งรักษาอาณาจักรให้พ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก จึงได้ยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบเช่นนี้ การจะแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญานี้จึงต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบศาล ให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติก่อน ซึ่งได้เริ่มต้นและเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.5 นี้เอง
 
สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ สนธิสัญญาที่ระบุให้คนของชาตินั้นไม่ต้องขึ้นศาลไทยเมื่อกระทำผิดในไทย แต่ให้ขึ้นศาลของประเทศตนแทน
 
ในเบื้องต้น ร.5 ได้ส่งเจ้าชายพระองค์หนึ่งไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อจบการศึกษากลับมา พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งศาลขึ้น โดยใช้ระบบกล่าวหาเช่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศอังกฤษตามที่พระองค์ทรงศึกษามา พร้อมทั้งร่างกฎหมายต่างๆ กฎหมายที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายลักษณะอาญา(ภายหลังถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาจนทุกวันนี้) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีแพ่ง) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(วิธีดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีอาญา ตลอดจนการสอบสวน การควบคุมผู้ต้องหา การออกหมายจับ กล่าวโดยสรุป เป็นวิธีดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจจนจบคดีที่ศาลฎีกา)
 
ในส่วนระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความนี้ อาจารย์ผมบางท่านเคยวิเคราะห์ว่า เป็นกฎหมายของระบบไต่สวน ซึ่งต้องให้อำนาจแก่ศาลในฐานะผู้ไต่สวนค้นหาความจริง แต่โดยที่บ้านเราใช้ระบบกล่าวหาซึ่งศาลต้องวางตัวเป็นกลาง ให้คู่ความ 2 ฝ่ายต่อสู้คดีกันด้วยพยานหลักฐานให้ศาลตัดสิน ทำให้กฎหมายให้อำนาจศาลมากเกินควร
นอกจากระบบกฎหมายที่ขัดแย้งกับระบบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้คือ ข้อหา ละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล-เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดอำนาจศาล-เป็นกฎหมายของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยแท้ กล่าวคือ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดทั้ง 3 อำนาจ ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การตั้งศาลเป็นเพียงการแบ่งงานของกษัตริย์ในการตัดสินคดี ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นทำงานแทนเท่านั้น ศาลในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นองค์กรหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานให้แก่กษัตริย์ ทำงานแทนกษัตริย์ ศาลจึงมีสภาพเป็นตัวแทนกษัตริย์ กษัตริย์ที่ใครผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ศาลจึงต้องทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และต้องมีบทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาลรวมถึงห้ามดูหมิ่นศาล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
 
พร้อมกับการก่อตั้งศาลและระบบกฎหมายดังกล่าว พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย ขึ้นในศาล เปิดสอนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายป้อนให้เป็นผู้พิพากษาของศาล(ในทางกฎหมาย ได้อธิบายว่า ผู้พิพากษา ไม่ใช่ศาล แต่โดยที่ศาลเป็นองค์กรที่ทำงานโดยผู้พิพากษา ผู้พิพากษากับศาลจึงแยกจากกันไม่ออก) การสอนกฎหมายบรรยายโดยผู้พิพากษาทั้งหมด
 
การปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ
 
เมื่อ อ.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(ปี 2495 จอมพล ป.ได้เปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์โดยตัดคำว่า “วิชา” และคำว่า "และการเมือง" ออก) เมื่อปี 2477 การสอนกฎหมายได้ย้ายมาที่ธรรมศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายของศาลจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เนติบัณฑิตยสภา" พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาว่า ต้องผ่านการอบรมกฎหมาย ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา(นอกเหนือจากการจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัย) ซึ่งเรียกกันว่า "จบเนติบัณฑิต" อันเป็นระบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การอบรมกฎหมายของเนติ ใช้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาที่เกษียณ เป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่สำคัญหลักสูตรกฎหมายของเนติใช้แนวทางการตีความกฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา(เรียกสั้นๆว่า ฎีกา)
 
ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา นอกจากต้องจบเนติ(อ่านว่า "เน" หรือ "เน-ติ" ก็ได้ แต่ทั่วไปจะอ่านว่า "เน")แล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่นอีก คือ
 
1. มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
 
2. มีประสบการทำงานอย่างน้อย 2 ปี ในอาชีพที่กำหนด เช่น ทนายความ อัยการ นิติกร สำหรับอาชีพทนายความ นอกจากมีอายุงาน 2 ปีแล้ว ยังได้กำหนดให้ต้องว่าความอย่างน้อย 20 คดี(เพื่อป้องกันการทำใบอนุญาตทนายความโดยไม่ได้ทำงานจริง-ส่วนนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่จะกล่าวต่อไป)
 
มีข้อสังเกตอีกอย่าง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นพนักงานอัยการ เป็นคุณสมบัติเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครสอบผู้พิพากษา
 
จากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิสมัครสอบ ไม่จำเป็นต้องมาจากทนายความ หรืออัยการ เฉกเช่นประเทศต้นตำรับศาลที่รับมา
 
เมื่อสอบผ่านแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็น "ผู้ช่วยผู้พิพากษา" และต้องเข้าอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การอบรมภาคทฤษฎีนี้ ไม่เคยมีการเปิดเผยกับคนนอกว่ามีการอบรมอะไรบ้าง แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการสอน "วิชาเขียนคำพิพากษา"ด้วย ส่วนการอบรมภาคปฏิบัติ จะส่งผู้ช่วยผู้พิพากษาไปฝึกงานกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลใหญ่ในกรุงเทพ คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี
 
หลังผ่านการอบรมทั้ง 2 ภาคดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิพากษา จนกว่าจะได้รับการ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้ง" ก่อน เมื่อได้รับโปรดเกล้าแล้ว จะถูกส่งไปเป็นผู้พิพากษาศาลเล็ก คือศาลแขวง และต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้พิพากษาจากเมืองที่ห่างไกลกรุงเทพฯ เมื่ออายุงานเพิ่มขึ้นก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง โดยไปประจำศาลที่ใหญ่ขึ้นอย่างศาลจังหวัด และค่อยๆขยับย้ายเข้าใกล้กรุงเทพฯมากขึ้น
 
กล่าวโดยสรุป ผู้พิพากษาก็มีการเลื่อนตำแหน่งไม่ต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป
 
การจัดสอบคัดเลือกผู้พิพากษา การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา ตลอดจนการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อ คณะกรรมการตุลาการ หรือที่เรียกย่อว่า กต. กต.ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่ยังดำรงตำแหน่งทั้งหมด ส่วนใหญ่ของ กต. เป็นกต.โดยตำแหน่ง มีกต.บางส่วนที่เป็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา และประธานศาลฎีกาเป็นประธานกต.โดยตำแหน่ง
 
จากประวัติความเป็นมาของศาลและโครงสร้างของผู้พิพากษาดังกล่าว ศาลไทยเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช สัญลักษณ์ตลอดจนรูปแบบพิธีการของศาลและผู้พิพากษายังคงเดิมเฉกเช่นเมื่อเริ่มตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ"กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" การ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้งผู้พิพากษา" หรือแม้แต่บทบัญญัติว่าด้วยการ ดูหมิ่นศาล อีกทั้งโครงสร้างของผู้พิพากษาก็เป็นโครงสร้างของข้าราชการประจำ ไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงถึงประชาชน หรือชี้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจนี้เลย ประชาชนไม่มี และไม่เคยมี ส่วนร่วมในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้พิพากษา การสอบคัดเลือกผู้พิพากษาไม่แตกต่างอะไรกับการสอบเข้ารับราชการของข้าราชการพลเรือนอื่นๆเลย
 
ที่สำคัญ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา ระบบการสอบคัดเลือก ระบบการเลื่อนตำแหน่ง ล้วนแต่สร้างให้เกิดเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูงหรือระดับบริหาร สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้ รวมทั้งสร้างทัศนคติร่วมของผู้พิพากษาของศาลทั้งระบบ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: จดหมายจากคลองเปรม

Posted: 18 Oct 2010 02:04 AM PDT

เมื่อทนายความอาสา ‘อานนท์ นำภา’ สะท้อนความรู้สึกของนักโทษการเมืองเสื้อแดงหลากหลายคนที่เขาตระเวนช่วยเหลือด้านคดีความตามจังหวัดต่างๆ  

                                                         
 
                                                                          เขียนที่เรือนจำคลองเปรม,( คลองประปา)
 
                                                   18 ตุลาคม 2553 
 
         ถึง    เพื่อนรักนักสู้ผู้เรืองนาม    (เกือบสองยาม กว่ากว่า หน้าห้องน้ำ)  
 
 
                 หนาวน้ำค้าง กลางคืน กลืนน้ำตา              ฟังน้ำลาย คนชั่วช้า ทุกคืนค่ำ
 
          วันพิฆาต ราชประสงค์ คงจดจำ                       ภาพยังตำ  ติดตา มาวันนี้
 
                 ด้วยคิดถึง จึงเขียน มาส่งข่าว                  บอกเรื่องราว จากห้องขัง มุงสังกะสี
 
          เห็นข่าวเพื่อน ชุมนุม ทางทีวี                          ก็รู้มี ความหวัง อีกครั้งแล้ว
 
                 อยู่ทางนี้ ลำบาก บ้างนิดหน่อย                เขาเรียกรวม บ่อยบ่อย  ( นับเรียงแถว)
 
          ข่าวปรองดอง ไม่เห็น มีวี่แวว                         กลัวแต่แกว จะลอบกัด ยัดลงรู
 
                " กรวดปนข้าว ขาวหม่น ปนน้ำหมาด         ผัดผักราด รสเฝื่อน แฝงสาปหมู
 
         กร่อยน้ำแกง แตงฟัก น้ำมันฟู "                       สอนให้รู้ รสชาติ ของชีวิต
 
                ขังเถิดขัง ร่างกาย อันตายด้าน                 อย่าหมายขัง วิญญาณ เสรีสิทธิ์
 
         ขอสาบาน จักทุ่มเท เทิดอุทิศ                         เพื่อผองเพื่อน มวลมิตร นิจนิรันดร์ !
 
                 แทรกร่างลง ก่อนนอน ขอพรว่า               ให้เพื่อนข้า ปลอดภัย เปี่ยมไฟฝัน
 
          แม้ปืนห่า ถั่งโถม หมายโรมรัน                       จงฝ่าฟัน พ้นได้ จากปลายปืน...
      
     ปล.      โปรดอย่าลืม พวกเรา นะเพื่อนรัก              แวะมาทัก- ทายบ้าง พอสดชื่น
 
          วันพ้นโทษ อยากเห็นภาพ เพื่อนมายืน             รับขวัญคืน สู่มณฑล คนเสื้อแดง
 
                หนาวน้ำตา มาตาม ความรู้สึก                  ยิ่งดื่นดึก ดวงดาว ยิ่งเจิดแจ้ง-
 
          แทรกลูกกรง ดงเถื่อน เพื่อนตะแคง                 นอนอาบแสง ดาวส่อง ที่คลองเปรมฯ"
 
                                                                       
 
                                                                        รักและคิดถึง
                                                                        นักโทษการเมืองเสื้อแดงทุกคน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: “ตีตราตีตรวนตัวตนเกย์: การสร้างภาพเพศวิถีชายรักชายในสื่อไทย”

Posted: 18 Oct 2010 02:02 AM PDT

มอง "ชายรักชาย" ในละคร หนัง เพลง โฆษณา พบหลากหลายมากขึ้น แต่ยังผลิตซ้ำภาพเดิมๆ เช่น เป็นกะเทยต้องตลก มีรักชั่วคราว เจ้าอารมณ์ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ได้ก้าวข้ามเพศวิถีกระแสหลัก

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง “ตีตราตีตรวนตัวตนเกย์: การสร้างภาพเพศวิถีชายรักชายในสื่อไทย” ปี 2552 – 2553 โดยการเสวนาครั้งนี้ได้ตีแผ่ภาพลักษณ์ของเกย์ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ

อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า เขาศึกษาการสื่อความหมายเพศวิถีของชายรักชายผ่านละครโทรทัศน์ร่วมกับนิสิตใน คณะฯ พบว่า ชายรักชายในละครมี 2 ลักษณะ คือ ตัวตลก ไม่ก็เป็นเพื่อนนางเอก หรือเพื่อนตัวร้าย โดยในการศึกษามีการเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของชายรักชายในทีวีช่องต่างๆ ตั้งแต่ปี 2552 – 2553 ดังนี้

“ละครช่อง 3 ตัวละครชายรักชายจะเป็นตัวหลักดำเนินเรื่อง และชีวิตมีผลต่อสถานการณ์ของตัวละครอื่นๆ เราจะเห็นเรื่องราวของความรัก การหลบซ่อนและการปิดบัง มีความรักที่ปิดบังซ่อนเร้น ซึ่งเรื่องดีคือพยายามนำเสนอภาพบวกมากขึ้น แต่กะเทยยังคงเป็นตัวตลก และเป็นชนชั้นล่าง เช่น ละครเรื่อง “เลื่อมพรายลายรัก” หรือ “พระจันทร์สีรุ้ง” ที่มีเกย์ในบทแม่ แต่ลูกไม่ยอมรับ”

ส่วนละครช่อง 5 นั้น ในปี 2552 ชายรักชายเป็นตัวละครหลัก ขณะที่ละครซิทคอมมีตัวละครเป็นกะเทยแต่งหญิง ส่วนปี 2553 ก็ยังคงเน้นกะเทยแต่งหญิงอยู่ เช่น เรื่อง “พรุ่งนี้ก็รักเธอ”

“แต่ภาพลักษณ์ของเกย์นั้น ไม่ต้องปิดซ่อนเท่าละครช่อง 3” อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศบอก

อลงกรณ์ บอกอีกว่า ละครช่อง 7 ในปี 2552 ส่วนใหญ่ภาพลักษณ์ของชายรักชายจะเป็นบทคนรับใช้ เป็นชนชั้นล่าง เช่น เป็นลูกน้องของตัวหลัก ส่วนบทกะเทยก็แสดงออกเกินจริงมาก โดยตัวละครนี้มีไว้เพื่อเรียกเสียงหัวเราะมากกว่า

“ละครช่อง 9 จะมีชายรักชายเป็นตัวประกอบ เป็นคนดี แต่มีอาชีพไม่กี่ประเภท เช่น คนรับใช้ หรืออยู่ในวงการบันเทิง ความสวยความงาม ส่วนกะเทยมักเล่นบทตัวตลก แต่เกย์ที่เป็นชนชั้นกลาง – สูง ต้องปิดบังเพศสภาพ ทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสาร เห็นใจ”

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า ภาพลักษณ์ของชายรักชายที่ปรากฏนั้น จะเป็นภาพลักษณ์เดิมๆ ที่คุ้นชิน คือ แต่งตัวเก่ง ขี้โวยวาย มักพูดจาประชดประชัน จีบผู้ชายก่อน เข้าถึงเนื้อถึงตัว รักเพื่อนพ้อง มีความตลกขบขัน ส่วนภาพลักษณ์ใหม่ ยังไม่ค่อยมีให้เห็นนัก คือ ผู้ชายทั่วไป ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เป็นคนมีเหตุผลแต่ก็อารมณ์ร้ายบางครั้ง มนุษยสัมพันธ์ดี อ่อนไหวคล้ายผู้หญิง ขณะที่คู่เกย์อีกคนจะเข้มแข็งกว่า

“บทบาทที่ปรากฏในเรื่อง ส่วนมากจะเป็นคนดี และการกระทำของคู่เกย์ส่งผลกระทบต่อคู่ของตัวเองและครอบครัวของคนทั้งคู่ เท่านั้น ส่วนตัวประกอบที่เป็นบทตลก จะคอยช่วยเหลือพระเอก หรือนางเอก และไม่มีอาชีพชั้นสูง”

อลงกรณ์ พูดถึง การแสดงออกถึงความรักของชายรักชายในละครมี 4 แบบ คือ 1.รักกัน แต่ไม่แสดงความรักประเจิดประเจ้อ 2.รักกันและแสดงความรักอย่างเปิดเผย 3.บทบาทเกย์ กะเทยที่แสดงออกว่ารักอีกฝ่ายอย่างเปิดเผย และ 4.บทบาทเกย์ที่แอบรักผู้ชายอีกคน แต่ไม่สามารถแสดงออก ซึ่งบทบาทส่วนใหญ่นี้จะไม่กระทบต่อการดำเนินเรื่อง

ผลการศึกษายังพบอีกว่า จากความรักข้างต้นนี่เอง ทำให้มีทั้งรักสมหวัง แม้จะถูกกีดกัน โดยมีแม่สนับสนุนและเข้าใจ แต่พ่อจะขัดขวาง และต่อต้านความรักแบบนี้ หรือก็ไม่สมหวัง แต่ยังมีความสุขต่อไป รวมทั้งรักไม่สมหวัง และพบกับความทุกข์ หรือตัวละครชายรักชายเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ และเพศวิถีของตัวเอง ที่จากรักผู้ชายมาเป็นรักผู้หญิงแทน

“มันทำให้เราเห็นมายาคติว่า ผู้ชายมีหน้าที่ต้องแต่งงานมีครอบครัวกับผู้หญิงที่ดี ขณะที่การเป็นเกย์ กะเทยยังต้องปกปิด เพราะกลัวสังคมไม่ยอมรับ แล้วเกย์ หรือกะเทยระดับล่างมักแสดงออกแบบผู้หญิงเกินจริง ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นของเกย์และกะเทยในสังคม ผ่านเครื่องแต่งกาย สิ่งของที่ใช้ ท่าทาง และลักษณะการพูด” อลงกรณ์อธิบาย

เขาอธิบายเพิ่มว่า บริบทภายนอกของการนำเสนอตัวละครชายรักชายในละครไทยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ของผู้จัดละครที่ต้องการนำเสนอความรักที่หลากหลาย หรือเพื่อให้เข้าใจจิตใจของเพศทางเลือกมากขึ้น แต่ก็มีที่ใช้นักแสดงมาเป็นจุดขาย แบบเอานักแสดงชายแท้มาพลิกบทบาท ซึ่งถือเป็นบทท้าทายความสามารถ

ขณะที่ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาพยนตร์นั้น แบ่งการนำเสนอภาพลักษณ์ของชายรักชายได้ดังนี้

ภาพยนตร์ตลก ที่สร้างสถานการณ์ให้ตลกขบขัน เช่น เรื่อง “ผีตุ๋มติ๋ม” มีสมาชิกในทีมฟุตบอล เป็นชายรักชาย ก็สร้างสถานการณ์จากความตลกของตัวละครที่เป็นชายรักชาย โดยไม่แสดงความสามารถของตัวละคร เช่น เผลอป้องกันลูกเตะเข้าประตูได้ เพราะเป็นเรื่องบังเอิญ

“หนังเอามายาคติของสังคมมาขยายให้มากกว่าเดิม เช่น ชายรักชายแต่งตัวเก่ง ก็ให้ตัวละครแต่งตัวเวอร์ แบบไม่มีใครบนโลกนี้จะทำได้ เช่น ทากันแดดซะขาววอกเหมือนโบกปูน” สัณห์ชัยบอกและว่า ชายรักชายที่มีหน้าตา “ไม่สมบูรณ์แบบ” ก็มักจะเป็นตัวตลก เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ รวมทั้งตอกย้ำว่าชายรักชายด้อยกว่าคนทั่วไป หรือผู้ชายในสังคม

นักวิจารณ์หนัง เล่าว่า ส่วนภาพยนตร์รัก ก็มีไว้เพื่อเทิดทูนความรักแท้ เช่น เรื่อง “จ๊ะเอ๋โกยแล้วจ้า” ที่มีโครงเรื่องเหมือนนางนาก ที่นักแสดง “ปอย ตรีชฎา” รอคอยการกลับมาของแฟน ซึ่งความรักของตัวละครที่สาวและสวย จะได้รับความเห็นใจจากสังคมไทย หรืออย่างเรื่อง “สตรีเหล็ก” ที่โก้-กกกร เบญจาธิกุล เล่น ก็จะได้ความรักกลับไป

“ส่วนตัวละครที่อัปลักษณ์ ความรักก็จะถูกทำให้ตลกขบขัน มีการเน้นย้ำมายาคติว่า นางเอกต้องสาวต้องสวย สาวคืออายุน้อย และสวยคือเหมือนผู้หญิง ถึงจะได้ทุกอย่าง และความรักของชายรักชายมักไม่สมหวัง แต่แม้ไม่สมหวังก็จะเป็นรักที่อมตะ แม้จะตายไป” สัณห์ชัยเล่า

ด้านภาพยนตร์นัวร์ คือภาพยนตร์ที่มีลักษณะการสืบสวนคดี ให้เห็นบรรยากาศของอาชญากรรม พยายามนำเสนอให้เห็นความเหลวแหลกของความเสื่อมทรามของคนในสังคม เช่น เรื่อง “เฉือน” ที่พยายามบอกว่าการเป็นเกย์ เกิดจากศีลธรรมที่เน่าเฟะหย่อนหยาน มีการตีตราว่าตัวเอกเป็นตัวประหลาด ชายรักชายเกิดจากสังคมที่เสื่อมทราม โดยคงไว้ว่าตัวละครชายเป็นคนดี คงไว้ซึ่งสังคมที่ดีงาม

“หากต้องการผลักให้มายาคติหายไป ต้องศึกษาว่ามายาคตินี้เกิดมาได้อย่างไร เช่น การล้อเลียนเรื่องการแต่งตัว ความปากจัด คือเราพยายามนำเสนอว่าฉันยอมรับเพศทางเลือก ฉัน Openแต่แฝงมายาคติล้อเลียนเป็นอย่างมาก” นักวิจารณ์หนังสรุป

อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจการตลาด นิตยสาร Positioning ให้ความเห็นว่า ในสื่อโฆษณาปี 2552 ตัวละครที่เป็นเกย์จะมีอยู่น้อย เช่น โฆษณา “Oriental princess” ที่มีภาพเกย์แบบกลางๆ คือ ไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้าน แต่โฆษณากาแฟลดน้ำหนัก “เนเจอร์กิฟ” ยังคงตอกย้ำภาพเกย์แบบเดิมๆ คือ เป็นกะเทยที่เน้นความตลกขบขัน

“โฆษณาที่เป็นสิ่งพิมพ์ของเกย์มักจะมีการเปลือยอก ใส่เสื้อกล้าม กางเกงใน แต่มักจะลดทอนความแรงของภาพด้วยการนำผู้หญิงมาใส่ไว้ในภาพด้วย” ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจการตลาดกล่าวและว่า การคาดหวังให้สื่อไทยมีภาพเกย์ในโฆษณานั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น เจ้าของสินค้ารับได้หรือไม่ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพลักษณ์ของชายรักชายยังมีในสื่อเพลงด้วย อย่างที่ ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ คอลัมนิสต์ คอลัมน์ Soho หนังสือพิมพ์ The Nationและฝ่ายมิวสิค บริษัทลักษ์เรดิโอจำกัด มองเพศวิถีชายรักชายผ่านงานดนตรีและมิวสิควิดีโอว่า ในปี 2552 กะเทยถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยภาพที่ออกมาคือเป็นกะเทยเลี้ยงผู้ชาย เช่น เพลง “กะเทยประท้วง” ของปอยฝ้าย มาลัยพร เพลง “เจ็บมากๆ” ของ ดัง พันกร ที่มิวสิควิดีโอแสดงความสัมพันธ์ที่ไม่จีรังยั่งยืน มีการแสดงภาพตลกขบขันของเกย์ ทำให้ดูไม่เป็นมนุษย์ มีการตีตราบาปให้กับเกย์ เลสเบี้ยน เช่น เมื่อจับมือกัน พอมีคนมองก็ต้องรีบปล่อย

เขาเล่าต่อไปว่า ในปี 2553 มีวง Wonder gay ซึ่งภาพที่ออกมาจะตรงกันข้ามกับภาพที่สื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของเกย์ เช่น เรียนเก่ง มีความสามารถ แต่โดยทั่วๆ ไปยังมีการใช้กรอบการมองคนด้วยวิถีของรักต่างเพศค่อนข้างมาก

“ภาพของเกย์ในเพลงจะมีอยู่ 2 เทรนด์คือ ถ้าเป็นสาวก็จะมากรัก เจ้าอารมณ์ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเกย์แอบ คือ แอบซ่อนความเป็นเกย์”

อย่างไรก็ตาม ศรุพงษ์ บอกว่า มีการพูดถึงเกย์มากขึ้นในมิวสิควิดีโอ แต่สุดท้ายแล้วคนที่รักเพศเดียวกัน มักเป็นคนผิด เป็นคนชายขอบ ส่วนคนรักต่างเพศ จะเป็นคนมีอำนาจหรือมักถูกเสมอ ทั้งที่ชายรักชาย ก็มีชีวิตจิตใจ เป็นคนเช่นกัน

“ใครกันแน่ที่ทำให้เกย์เป็นคนผิด?” ศรุพงษ์ตั้งคำถาม

ด้าน ปณิธี สุขสมบูรณ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า จะเห็นว่าสื่อกับชายรักชายมีความหลากหลายมากขึ้น แต่สื่อเองยังผลิตซ้ำภาพเดิมๆ ของชายรักชาย เช่น เป็นกะเทยต้องตลก มีรักแค่ชั่วคราว เจ้าอารมณ์ และมีการสร้างมายาคติของเพศวิถีกระแสหลัก เช่น หากเป็นทอม – ดี้ ก็ต้องมีคนหนึ่งที่ต้องเข้าพวกความสัมพันธ์ของคู่ตรงข้าม (ชาย – หญิง)

“การแปะป้ายอาชีพให้กับคนสามารถทำได้ แต่ในเรื่องเพศ ทำไมต้องเอาป้ายไปแปะว่าเขาเป็นพวกไหน ทำไมไม่มองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” ปณิธีกล่าวและว่า นอกจากนี้ภาพในสื่อก็ยังไม่นำเสนอภาพชายรักชายที่เป็นครอบครัว นำเสนอแต่ภาพของครอบครัวที่ต้องเป็นคู่ตรงข้ามชาย – หญิง ในขณะที่ชีวิตจริงมันมีอยู่ แต่ไม่ถูกนำเสนอ

อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบัน ยังไม่ได้ก้าวข้ามเพศวิถีกระแสหลัก เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปลูกฝังมานานจนเชื่อว่าเป็นแบบนั้น หรือในการผลิตสื่อ แม้จะพยายามก้าวข้ามเรื่องเพศกระแสหลัก แต่ยังไม่พ้นมายาคติที่มี

ศรุพงษ์ ทิ้งท้ายในวงเสวนาครั้งนี้ว่า ขึ้นอยู่กับสังคมว่ายอมรับเกย์ได้มากแค่ไหน ถ้าสังคมยอมรับได้ภาพของชายรักชายก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น

“ถ้าสังคมยอมรับได้ ภาพของชายรักชายก็จะเหมือนชายหญิงในสังคม”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิบูลย์ แช่มชื่น: ทางออกประเทศไทย ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย

Posted: 18 Oct 2010 01:48 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: ทางออกประเทศไทย: ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย ทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน

 
รากเหง้าแห่งปัญหาของประเทศไทย
            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ และผู้ที่ยึดหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาใดๆในโลกล้วนเกิดจากเหตุทั้งสิ้น การแก้ปัญหาจะสำเร็จได้ต้องแก้ที่ต้นเหตุแห่งปัญหาเท่านั้น
            ก่อนการเสนอทางออกสำหรับปัญหาประเทศไทย คนไทยทุกฝ่ายทุกสี ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร ให้มองปัญหาและสาเหตุให้ตรงกันเสียก่อน ก่อนร่วมกันคิดแก้ไข สิ่งที่เป็นข้อสรุปเบื้องต้น ในข้อเขียนนี้คือปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัญหาที่มีรากเหง้าต้นเหตุจากระบอบการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบอบเผด็จการที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน
ระบอบเผด็จการเป็นการปกครองโดยอำนาจของคนส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย ไม่ได้เป็นระบอบเพื่อความสุขของปวงชน ปัญหาของคนไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา สุขภาพ ฯลฯ จึงมากมาย และแก้ไม่ได้ด้วยระบอบเผด็จการปัจจุบัน ทำให้ไทยจึงยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างที่กำลังเป็นอยู่ รวมเหตุแห่งปัญหาของไทย จนเกิดความขัดแย้งลึกในสังคมไทยวันนี้ ล้วนมาจากเหตุที่อำนาจการปกครองของไทยเป็นระบอบเผด็จการนั่นเอง  
ระบอบหรืออำนาจการปกครองมีความหมายเดียวกัน ระบอบเผด็จการคืออำนาจเป็นของบุคคลหรือกลุ่มคนหรือคนส่วนน้อย ระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของทุกคนไม่ใช่ของคนส่วนใหญ่เท่านั้น จึงต้องย้ำว่า ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ คือปัญหาระบอบการปกครองของประเทศเราเป็นระบอบเผด็จการ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เขียนหลอกไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ในเกือบทุกฉบับ การแก้ไขปัญหาของชาติไทยวันนี้ จึงจำเป็นต้องปฏิวัติประชาธิปไตย หรือต้องทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เท่านั้น แล้วปัญหาย่อยอื่นๆในชาติก็จะสามารถแก้ไขได้ตามมา
รากเหง้าแห่งปัญหาของประเทศไทย ตามหลักวิชารัฐศาสตร์แล้ว คือปัญหาของระบอบหรืออำนาจการปกครอง ไม่ใช่ปัญหาของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำกองทัพ และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากกองทัพที่ทำการยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลเดิมๆซ้ำซาก ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากตุลาการภิวัฒน์ แต่เป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจหรือระบอบการปกครอง ที่ไม่เคยเป็นระบอบประชาธิปไตยตลอดเวลา 78 ปี หลังการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่สังคมไทยก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจหรือระบอบเผด็จการตลอดมา
เมื่อสังคมโลกและสังคมประชาชาติ เปลี่ยนแปลงมาถึงยุคนี้ ระบอบการปกครองหลักๆอาจจะมีเพียงสองระบอบเท่านั้น คือระบอบประชาธิปไตย หรือเสรีนิยม (Democracy หรือ Liberalism) และ ระบอบเผด็จการ (Dictatorship หรือ Authoritarianism) เท่านั้น ส่วนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute Monarchy นั้นถือว่าไม่ได้เป็นระบอบการปกครองของประเทศในโลกสมัยใหม่นี้แล้ว ถ้าประเทศใดยังมีประมุขแห่งรัฐเป็นกษัตริย์ เป็นพระราชาธิบดีหรือพระจักรพรรดิเช่นหลายประเทศในยุโรปหรือญี่ปุ่น ก็ถือว่าเป็นองค์ประมุขของชาติภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชน ดังนั้นก่อนคิดแก้ปัญหาการเมืองการปกครองของเรา เราต้องตอบคำถามก่อน ว่าระบอบการปกครองของไทยเราเป็นระบอบใดแน่ คำตอบของประชาชนไทยจะต้องตรงกันเสียก่อน ก่อนคิดแก้ปัญหาชาติร่วมกัน และเราจะต้องไม่สับสนอีกด้วย
โดยหลักวิชาการ การจะชี้ว่าระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการนั้น ยึดหลักสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1) หลักอำนาจอธิปไตย - Sovereignty 2) หลักแห่งสิทธิเสรีภาพ – Rights & Liberty 3) หลักความเสมอภาค – Equality 4) หลักกฎหมาย – Rule of Law และ 5) หลักรัฐบาลหรือผู้ปกครองจากการเลือกตั้ง – Elected Government อาจจะมีหลักการอื่นอีกเช่นหลักภราดรภาพ (Fraternity) หรือการอยู่ร่วมกันฉันญาติมิตรและอื่นๆ แต่หลักการที่ 1 คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นถือว่าสำคัญที่สุด
อำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการปกครองของประเทศใดเป็นระบอบใด ถ้าระบอบแห่งอำนาจการปกครองเป็นของปวงชน คนในชาติทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันถืออำนาจอธิปไตย ก็ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าคนส่วนน้อยคือผู้ถืออำนาจ อำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบเผด็จการ หากตรวจสอบความจริงประเทศไทยวันนี้ แม้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่ถ้าอำนาจอธิปไตยจริงๆยังเป็นของคนกลุ่มน้อย ของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ของคนไม่กี่ตระกูล การปกครองของไทยก็เป็นระบอบเผด็จการ ที่ผู้ถืออำนาจทั้งโดยเปิดเผยและโดยลับๆจะไม่ยอมแบ่งปันอำนาจให้เป็นของปวงชน ยกเว้นพรรคหรือพวกตนเอง จะไม่มีการประกันสิทธิและเสรีภาพบุคคล ไม่มีความเสมอภาค ไม่ยึดหลักนิติธรรมสากล แม้มีกฎหมายก็ไม่ใช่กฎหมายเพื่อปวงชน เป็นเพียงเล่ห์กลเพื่อรักษาระบอบเผด็จการไว้เท่านั้น แม้ต้องหลอกประชาชนว่าทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งเพื่อเลือกคนของ ผู้กุมอำนาจเผด็จการเท่านั้นเอง การเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ก็มักจะมีความฉ้อฉลไม่เป็นธรรมเสมอ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตย  
การปกครอง “ระบอบเผด็จการ” (Authoritarian หรือ Dictatorship Regime) คือระบอบที่อำนาจการปกครองเป็นของบุคคล หรือของกลุ่มคน หรือของคนส่วนน้อยในสังคม ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร หรือพลเรือนทั่วไป หากบุคคลหรือกลุ่มคนเป็นผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็น อำนาจหรือระบอบเผด็จการทั้งสิ้น
กลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมมีหลายกลุ่ม ระบอบเผด็จการจึงมีหลายชนิด เช่นระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ระบอบเผด็จการทหาร ระบอบเผด็จการรัฐสภา ระบอบเผด็จการชนกรรมาชีพ ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ฯลฯ คนกลุ่มน้อยกลุ่มใดหรือชนิดใดเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระบอบเผด็จการก็เรียกชื่อเป็นชนิดนั้น
กล่าวโดยทั่วไปถ้าเจ้าศักดินาและเจ้าที่ดินเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบราชาธิปไตย ถ้าเจ้าที่ดินขนาดใหญ่สูงสุดร่วมกับนายทุนขนาดใหญ่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบฟาสซิสต์ ถ้านายทหารชั้นสูงบางกลุ่มร่วมกับนายทุนบางกลุ่มเป็นเจ้าของอำนาจก็เป็นระบอบเผด็จการทหาร ถ้าพวกกลุ่มนายทุนใหญ่ทั่วไปเป็นเจ้าของพรรคการเมืองเลือกพวกตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในรัฐสภาได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา และผู้แทนต้องฟังหัวหน้าพรรคเป็นผู้สั่งการก่อนลงมติใดๆ ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นเพียงของชนกรรมาชีพ ของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ก็ถือเป็นเผด็จการชนกรรมาชีพ หรือเผด็จการคอมมูนิสต์
ระบอบเหล่านี้ล้วนแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจการปกครองมิได้เป็นเพียงของคนส่วนใหญ่แต่เป็นของปวงชน อำนาจที่คนทุกกลุ่มให้การยอมรับ ดังนั้นในคำประกาศแห่งหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Manifesto – 1967) หรือคำประกาศขององค์การเสรีนิยมสากล (Liberal International – 1947) จึงเน้นหลักการให้เคารพสิทธิของคนส่วนน้อย (Minority Rights) ด้วย
การที่หลายคนชอบเรียกระบอบการปกครองปัจจุบันของไทยว่า เป็น ”ระบอบอำมาตยาธิปไตย” หรือ ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย คำเรียกดังกล่าวแม้จะสื่อถูกต้องว่าเป็นอำนาจการปกครองของคนกลุ่มน้อย แต่ก็อาจจะไม่ตรงกับสภาพความจริงแท้แห่งปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันนัก ที่ไม่ได้มีระบบราชการที่มีพวกอำมาตย์จริงๆในไทยอีกแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นการเทียบเคียงปัญหาที่ประชาชนถูกห้ามไม่ให้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ในการนำเสนอปัญหาต่อสาธารณะ ที่ผ่านมาจึงได้เน้นเสนอปัญหาที่อ้างอิงเชื่อมโยงอำนาจกับองคมนตรีและคนในรัฐบาลบางคนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หรือบอกอาการของระบอบเผด็จการ ที่ผู้ถืออำนาจรัฐปฏิเสธการฟังเสียงของประชาชน หรือของคนส่วนใหญ่ ด้วยความกลัวการสูญเสียอำนาจที่พวกตนถือครองอยู่ 
โดยสภาพปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบัน อาจจะกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นเพียงของคนส่วนน้อยเท่านั้น มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ถือดุลอำนาจการปกครองจริงในปัจจุบัน เป็นกลุ่มทุนดั้งเดิม มีเครือข่ายการใช้อำนาจของตนผ่านข้าราชการ ทหารและศาล รวมถึงองค์กรอิสระ แม้ว่ามีรัฐสภา ให้มีการเลือกตั้ง แต่อำนาจการปกครองปัจจุบันก็ยังไม่ใช่อำนาจของปวงชนจริง เมื่อผู้ถืออำนาจเป็นเผด็จการ จึงไม่ได้ยึดถืออำนาจปวงชน ไม่เคารพเสียงประชาชน ด้วยความหวาดกลัวจะสูญเสียอำนาจ จึงอาจจะทำได้ทุกอย่าง ทุกวิถีทางเพื่อยืดและเพื่อรักษาอำนาจของพวกตน แม้ต้องฆ่าคนจำนวนมาก อย่างโจ่งแจ้งหรือด้วยการซุ่มยิงก็ยอมทำ เป็นการใช้อำนาจเพราะหวาดกลัว ทั้งนี้ก็เพื่อการคงไว้ซึ่งอำนาจแห่งเผด็จการของกลุ่มตน
ผู้ปกครองที่ถืออำนาจเผด็จการวันนี้ จึงไม่มีใจให้ปวงชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอำนาจปวงชน ไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคล ไม่ได้ยึดหลักความเสมอภาคของคน ไม่ว่าในทางกฎหมายในทางการเมืองหรือในโอกาสของคน มีการใช้อำนาจนอกระบบ ใช้วาทกรรมต่างๆ ให้ฟังดูดีก่อนทำรัฐประหาร ก่อนการทำร้ายหรือเข่นฆ่าประชาชน แม้ศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบอบ ก็ยังถือว่าการรัฐประหารของไทยมีความชอบธรรม นำกฎของเผด็จการมาใช้เปิดเผย ถือว่ากฎหมายคืออะไรก็ได้ที่เป็นกฎแห่งรัฐาธิปัตย์ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยคนๆเดียว คือโดยสภาที่บุคคลคนเดียวแต่งตั้ง ศาลก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายของรัฐ ยังต้องนำมาใช้เมื่อจำเป็น โดยเฉพาะเพื่อกำจัดศัตรูของระบอบเผด็จการให้สิ้นซาก
ด้วยความที่ระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย ศาลก็ไม่ยึดถือหลักอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ยังนำกฎหมายประกาศคำสั่งของบุคคล (One-man-laws) มาใช้บังคับทั้งในภาวะที่ปกติและภาวะฉุกเฉินตามที่ผู้ถืออาจอ้าง จึงยังมีการใช้กฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษต่อประชาชนอีกด้วย ไม่ได้ให้ความยุติธรรมตามหลักนิติธรรมสากล แต่ประชาชนก็รู้สึกได้ เห็นได้และพิสูจน์ได้เองจากคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนคำว่า “สองมาตรฐาน” กลายเป็นคำเรียกกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ได้ยินไปทั่วประเทศและทั่วโลก จนมีคำถามที่ชาวโลกต้องแปลกใจ ว่าหลังจากคนไทยชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แม้มีคนตายกว่า 90 ศพ มีการซุ่มยิง ฟ้องด้วยภาพไปทั่วโลก แม้คนอยู่ในเขตวัดก็ถูกซุ่มยิง มีตายและบาดเจ็บหลายพันคน จนวันนี้ผู้ถืออำนาจอธิปไตยก็หลอกล่อซื้อเวลาเรื่อยไป เหมือนไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย
ไม่น่าเชื่อว่าในแผ่นดินที่มีกฎหมายของรัฐ วันนี้แม้เวลาล่วงเลยไปแล้วกว่า 6 เดือน ก็ยังไม่มีการจับกุมคุมขังฝ่ายผู้กระทำคนใด ไม่มีใครถูกกล่าวหา ไม่มีใครถูกหมายเรียก หรือถูกสอบสวนใดๆ ยกเว้นฝ่ายผู้ถูกกระทำ 417 คนถูกจำขังโดยมิชอบ ผู้นำจำนวนหนึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนของรัฐถูกละเมิดสิทธิ ไม่ให้ทำธุรกรรมการเงิน ไม่ต้องถามถึงการลงโทษผู้ที่เป็นผู้กระทำให้คนตายและบาดเจ็บ รวมถึงผู้มีอำนาจที่สั่งการ นอกจากเขาจะไม่ถูกจับ ไม่ถูกสอบสวน ไม่มีโทษจากกระบวนการยุติธรรมไทยแล้ว หลายคนยังกลับได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งในฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ยังจะระดมกำลังเสนอญัตติ เสนอกฎหมายเพื่อปรองดองหรือให้นิรโทษกรรมบางคน บางกลุ่มคน เขาทำเพื่อใคร เพื่อผู้ฆ่าหรือผู้ถูกฆ่าที่ไม่ได้ทำผิด ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ แล้วนักการเมืองเหล่านี้ ก็ยังประกาศหาเสียงขอคะแนน เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปมีอำนาจการปกครองอีก ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่รู้ความหนาบาง เพียงแค่นี้ก็บ่งบอกให้เห็น ให้รู้ว่า พรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองไทย ที่ถืออำนาจอธิปไตยอยู่บางคน ประชาชนก็เห็นแล้วว่าท่านเป็นคนของระบอบใด เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ก็ขอให้โชคดีต่อไปเถิด ถ้าอยู่เหนือกฎแห่งกรรม   
ระบอบแห่งอำนาจอธิปไตย ที่เป็นระบอบเผด็จการผสมหลายชนิดของไทยในปัจจุบัน จึงเป็นระบอบหรืออำนาจการปกครองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนคนไทย ประชาชนคนไทยทั่วไป ที่เคยคุ้นกับชีวิตแบบสบายๆอะไรก็ได้ เริ่มรู้สึกได้ถึงระบอบแห่งอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ผ่านมาและดำรงอยู่ มีความตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ จนสังคมไทยปัจจุบันเข้าสู่ศูนย์กลางแห่ง “สถานการณ์ปฏิวัติ” เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนหยุดไม่ได้ จะไม่ยอมรับระบอบการปกครอง ไม่ยอมรับผู้ปกครอง รัฐบาลจะปกครองไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง จะใช้ความรุนแรง แต่จะแก้ปัญหาไม่ได้ ต่อไปในอนาคต มวลชนทั่วไปก็ยิ่งจะมีความตื่นตัว และต้องการการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จำนวนก็จะมากขึ้น และมากขึ้นๆ อีกเรื่อยๆ นี่คือสถานการณ์ปฏิวัติของประชาชน คนที่ควรจะตื่นตามในวันนี้ควรจะเป็นนักการเมือง รวมผู้ปกครองทั้งหลาย แต่น่าเสียดาย พวกท่านๆทั้งหลายยังตามประชาชนไม่ทัน
สิ่งที่รัฐบาลฝ่ายผู้ปกครองหรือ ผู้นำฝ่ายประชาชนยังไม่เข้าใจ คือไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วประชาชนเคลื่อนไหวตื่นตัวนั้นเพราะต้องการอะไร หลายคนไปโทษคุณทักษิณ จนอดีตนายกต้องได้รับกรรมอย่างไม่สมควร สูญทั้งอำนาจและเงิน ได้รับโทษโดยไม่ได้ทำผิดตามหลักนิติธรรม ท่านทั้งหลายหารู้ไม่ว่า ประชาชนต้องการ “ระบอบประชาธิปไตย” จริงๆ เขาไม่ได้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ แม้แกนนำการเคลื่อนไหวบางคน ก็อาจจะหลงผิด คิดไม่ถึงไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาชาติ หรือเขาอาจจะเพียงฉกฉวยโอกาส หรือต้านการปฏิวัติ (Counter Revolution) เพื่อพาตัวเองเข้าสู่ระบอบเผด็จการเก่าแก่ดั้งเดิม ถ้าจริงก็เป็นเพียงการหลอกและทำเพื่อประโยชน์แห่งตน จึงนำพามวลประชาชนเรียกร้องเพียงการเลือกตั้ง แทนการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย จนนำไปสู่การสูญเสียอย่างมหาศาลเช่นที่ผ่านมา
จึงขอให้ประชาชนผู้รู้ ช่วยกันตรวจสอบดู และไตร่ตรองคิดดูว่าถ้าหากมีการเลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองปัจจุบัน ที่ประชาชนแห่กันเลือกจนชนะเลือกตั้ง ใครเป็นผู้แทน เป็นคนของใคร ของพรรคหรือของประชาชน เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ในระบอบเดิม ถามว่ารัฐบาลใหม่ ในระบอบเดิมจะสามารถแก้ปัญหาการปกครองระบอบเผด็จการได้จริงหรือ จะแก้ปัญหาวิกฤติชาติได้จริงหรือ?
คำถามถึงประชาชนคือ แท้จริงแล้วประชาชนไทยร่วมกันเคลื่อนไหว ใส่เสื้อสีต่างๆ เพื่ออะไร เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ใช่หรือไม่ หรือท่านเพียงต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อใคร เพื่อคนใดคนหนึ่งจริงหรือ? การเคลื่อนไหว ทั้งผ่านเน็ท ผ่านสื่อวิทยุ ทีวี ทั้งเข้าร่วมการชุมนุม โดยสันติ ท่านจริงใจเคลื่อนไหว แม้ภายใต้การห้ามของอำนาจเผด็จการท่านก็ยอมฝืน เพื่ออะไร เพื่อใคร เราเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สถานการณ์ปฏิวัติ” เป็นสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ผู้ปกครองเผด็จการสุดท้ายจะทนไม่ได้ จะต้องไป ไปอย่างไรก็คอยดูกัน
โดยหลักวิชา ถือว่าในสถานการณ์อย่างนี้ สุดท้ายอำนาจเผด็จการใดๆก็จะทนอยู่ไม่ได้ ถือเป็นกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลง ของสังคมการปกครองในทั่วโลก ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เชื่อว่าไทยจะเป็นข้อยกเว้นของกฎเกณฑ์นี้ ไม่ว่าคนจะถูกฆ่าหรือถูกขังมากเพียงใด เส้นทางสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ปัญหาที่ผ่านมาที่สำคัญถึงขั้นทำให้เกิดความล้มเหลว คือความไม่เข้าใจในปัญหาของผู้ปกครองและแกนนำการการเคลื่อนไหว ด้วยความไม่เข้าใจอาจจะคิดว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาประเทศได้จริง ข้อเรียกร้องของแกนนำจึงมุ่งไปที่ การยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยคิดว่าหลังการเลือกตั้งประชาชนจะได้มีอำนาจจริงเสียที ซึ่งน่าจะผิด โดยความเป็นจริงแล้วหลังการเลือกตั้งทั่วไปอำนาจอธิปไตยของปวงชน ก็ยังจะไม่เกิด ยังจะเป็นอำนาจของคนกลุ่มน้อยต่อไปเช่นเดิม เป็นของกลุ่มทุนเก่าร่วมกับทหารและข้าราชการบางกลุ่มต่อไปเช่นเดิม ก็เท่านั้น
ในระบอบเดิมนี้ “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” นั้น จะยังไม่มีทางเกิดได้ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ด้วยเพียงผลการเลือกตั้งทั่วไป หากเลือกตั้งในโครงสร้างแห่งอำนาจในสภาพปัจจุบัน ที่ถือว่าระบอบการปกครองยังจะต้องเป็นของระบอบเผด็จการต่อไป
ความไม่รู้ หรืออ่อนด้อยเชิงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และความผิดพลาดในยุทธวิธีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีการระดมมวลชน การเรียกร้อง และการนำโดยกลุ่มปฏิกิริยา ที่ขาดความรู้ทางทฤษฎี ที่ทำการฉวยโอกาสเพียงเพื่อหาอำนาจ และรายได้ให้ตนเองและพรรคพวกนั้น ได้ทำให้กระบวนการเพื่อประชาธิปไตยบิดเบี้ยวไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้เป้าหมายและความต้องการของประชาชนล้มเหลว(ชั่วคราว) นอกจากไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบใหม่ได้แล้ว ยังมีความเลวร้ายมาก ที่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันมีค่ามหาศาลจนประมาณค่ามิได้อีกวาระหนึ่ง
หากเราไม่เข้าใจสภาพปัญหาแท้จริง ในอนาคตประวัติศาสตร์ก็อาจจะซ้ำรอยได้ หากวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาติ และการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม สังคมไทยอาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสีย อีกมากมายมหาศาลกว่าที่เคยเกิดมาแล้วเสียอีก
 
ทางออกประเทศไทย – ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย
            ข้อสรุปเบื้องต้น ดังบรรยายมาพอสมควร จึงสรุปได้ว่า ปัญหาประเทศไทยทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากปัจจัย ที่เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของปัญหาประเทศไทยในวันนี้ คือการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของเผด็จการ อำนาจการปกครองเป็นของกลุ่มทุนผูกขาด ที่เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย โดยคนส่วนน้อย เพื่อคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่จึงยัง “โง่ จน เจ็บ” มายาวนานซ้ำซาก ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก จนไม่น่าเชื่อว่า ทำไมประชาชนคนไทยแท้ส่วนใหญ่จึงยังลำบาก จึงยังยากจนปานนี้ จึงเป็นผู้ไม่มี จึงมีชีวิตเพื่อรอคอยถุงยังชีพตลอดมา ทั้งเด็ก คนกลางคนและคนสูงอายุ 
ถ้าถามว่าทำไมประเทศอื่น ที่มีทรัพยากรน้อยกว่าไทยมาก จึงเจริญพัฒนาล้ำหน้าไทยไปกันได้มากมาย คำตอบง่ายๆคือเขามีการบริหารจัดการที่ดีกว่า คือเขาเป็นประชาธิปไตยไปก่อนไทยนั่นเอง ทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นของปวงชน เอื้ออาทรเพื่อปวงชน คนส่วนใหญ่ของเขาได้รับผลลัพท์ทั่วกัน จนมีความพอเพียงจริง มีความสุขกว่าคนไทย จนเขาได้ขึ้นชั้นกลายเป็นประเทศพัฒนากันทั้งหมดรวมประเทศเพื่อนบ้านใหม่ๆใกล้เคียงไทยเราด้วย มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของไทยให้มีความเจริญเทียมอารยะประเทศอื่นได้คือการทำให้อำนาจการปกครองของไทยเป็นของปวงชน ยกเลิกหรือล้มล้างระบอบเผด็จการ แล้วสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทนให้สำเร็จ
ดังนั้นทางออกของปัญหาประเทศไทยวันนี้ มีทางเดียว คือการสร้างประชาธิปไตยขึ้นให้ได้ แต่ด้วยความซับซ้อนของสภาพปัญหาในระยะที่ผ่านมา การพัฒนาประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการปฏิรูปการปกครองของไทย น่าจะไม่ใช่วิธีการที่จะสำเร็จหรือเป็นไปได้ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้จริง หากทอดเวลาให้ยาวต่อไปมาก ระบอบการสืบทอดอำนาจ ก็ไม่น่ารอดพ้นจากอำนาจเผด็จการไปได้ ทางออกของไทยที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า จึงควรต้องเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตย” แทนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลายคนกลัวคำว่า “การปฏิวัติ” เพราะเข้าใจผิดในความหมายของคำ คิดว่าเป็นการสื่อความหมายที่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากเคยมีผู้สับสน นำคำว่า ปฏิวัติ ไปใช้แทนคำว่ารัฐประหาร ซึ่งเป็นการทำให้ระบอบแย่ลงเลวลง แต่ความจริงแล้ว การปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ในการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบปกครอง จึงมีความหมายเพื่อเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการ ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยให้ได้จริง ให้เป็นคุณต่อชาติและประชาชนได้จริง
เพื่อให้เป็นตัวอย่างแรกของโลก คนไทยทุกฝ่ายต้องร่วมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยไม่ติดยึดสีแห่งสัญญลักษณ์เดิมใดๆ ทุกคนเป็นคนไทยที่มีธงชาติไทยเป็นสัญญลักษณ์ของชาติ หากมองหาสีแห่งประชาธิปไตยไทยของผู้ร่วมเคลื่อนไหว สีธงไตรรงค์สามสีนี้ จะเป็นหลักยึดของคนไทยได้ ที่สำคัญเราควรร่วมกันคิดหาวิธีการ “ปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสันติวิธี” ร่วมกัน จะเป็นการดีและเหมาะสมที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การปฏิวัติประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือยกเลิกระบอบเผด็จการแล้วสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วเพียงยังไม่สมบูรณ์ ไม่ต้องปฏิวัติก็ได้ เพียงแต่ทำการพัฒนาระบบใหม่ให้สมบูรณ์เท่านั้น เพียงทำการปฏิรูปก็ได้ ไม่ต้องถึงปฏิวัติประชาธิปไตยก็ได้ แต่ดูก่อน ทำความเข้าใจก่อนว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออะไรเสียก่อน จึงควรสรุปว่าควรพัฒนา ปฏิรูป หรือปฏิวัติ ความจริงถ้าระบอบอำนาจประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปฎิวัติประชาธิปไตย
แต่คำถามเดิมคือวันนี้ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ? เพียงการมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แบบไทย เป็นประชาธิปไตยจริงหรือ? ตอบได้ว่าไม่จริง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการต่างๆ ก็มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย คนไทยจึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออะไร จะสถาปนาทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไร ขอให้ทำความเข้าใจต่อไปดังนี้
 
ระบอบประชาธิปไตยคืออะไร?
            เพื่อความเข้าใจตรงกัน อุดมการณ์ประชาธิปไตยสากล ดังประกาศไว้ใน คำประกาศแห่งเสรีนิยมสากล ที่เรียกว่า Liberal Manifesto 1947 หรือ The 1967 Declaration of Oxford และ The 1981 Liberal Appeal of Rome ขององค์การประชาธิปไตยของโลก หรือ Liberal International ที่ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1947 อธิบายได้ว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น แสดงออกโดยโครงสร้างอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ รัฐบาลประชาธิปไตย (Democratic Government) โดยการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องยึดหลักการปกครองประชาธิปไตย ตามหลักการในคำประกาศที่สำคัญดังนี้
            หลักที่ 1 – อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศชาติร่วมกัน ไม่ใช่คนส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือกลุ่มใด คณะใด ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยถืออำนาจและผูกขาดอำนาจไว้ ก่อนปี 2475 อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของไทยเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 และ 27 มิถุนายน 2475 โดยสันติวิธี ประชาชนสยามและประชาชนไทยมีความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของชาติ จริง โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานกฎหมายที่ชื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม(ฉบับชั่วคราว) ซึ่งเปรียบเสมือนหนังสือมอบอำนาจให้ปวงชนโดยทรงลงพระปรมาภิไธยเอง โดยไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และต่อมาอีก 2 ปี (2 มีนาคม 2477 – ปี 2478 ตามปีสากล) พระองค์ยังได้ทรงพระอักษรเป็นลายพระหัตถ์ว่า “ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งหลาย แต่มิยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะหนึ่งคณะใด...” และประโยคทองของหลักแห่งอำนาจอธิปไตยที่กล่าวไว้โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชื่ออับบราฮัม ลินคอล์น คือ ”ประชาธิปไตยคือหลักการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน”
หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนี้ ถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐถือว่ามีอำนาจเดียว แต่โดยหลักการแห่งการใช้อำนาจรัฐนั้น แบ่งแยกเป็น 3 ด้านหรือ 3 อำนาจการปกครองย่อยคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ โดยหลักการจัดการระบอบอำนาจรัฐนั้น ให้แบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 อำนาจ เพื่อการตรวจสอบความชอบธรรมและให้ถ่วงดุลกันและกันได้ เพราะปราชญ์การปกครองเชื่อว่า Power corrupts, absolute power corrupts absolutely คือ “อำนาจมักจะฉ้อฉล อำนาจเผด็จการยิ่งจะฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ”
ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐภาแบบของไทย โดยทั่วไปจะถือว่ารัฐสภาต้องถือดุลอำนาจรัฐสูงสุด (Supremacy of Parliament) เช่นเดียวกับของประเทศอังกฤษ ก็คือหลักอำนาจประชาชนต้องสูงสุดนั่นเอง แต่รัฐสภาของไทยจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะอำนาจจริงของรัฐไทยไม่ได้เป็นของปวงชนแต่เป็นของเผด็จการทุนผูกขาด ที่มีอำนาจเหนือรัฐสภาเหนืออธิปไตยแห่งปวงชน นอกจากนั้น หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยปวงชน ยังสามารถแสดงออกและเห็นได้ จากนโยบายการบริหารประเทศของผู้มีอำนาจปกครอง ที่ใช้อำนาจรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือปวงชน มิใช่รักษาผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย หรือของพรรคพวกของผู้ถืออำนาจเท่านั้น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน
            หลักที่ 2 – หลักสิทธิเสรีภาพ (Freedom or Liberty) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย บุคคล หรือพลเมืองจะต้องได้รับการประกันสิทธิพื้นฐานและ ต้องมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ทั้งสิทธิในทางส่วนตัว ในทางสังคมและสิทธิทางการเมือง สิทธิต่างๆเหล่านี้ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้มาพร้อมการเกิด รัฐบาลหรือใครจะละเมิดมิได้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายเขียนไว้หรือไม่ก็ตาม เปรียบได้กับสิทธิการหายใจ การดื่มน้ำและการรับประทานอาหาร จะเขียนกฎหมายห้ามไว้ก็ปฏิบัติไม่ได้
            เพื่อไม่ให้สับสนในเหล่าผู้ปกครองระบอบเผด็จการ หลักการแห่งสิทธิพื้นฐานของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคลทั่วไป ในทางสากลได้รับการกำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศสองฉบับ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Declaration on Human Rights) รวม 30 มาตรา และกฎหมายประกอบที่ชื่อว่าอนุสัญญาระหว่างชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Rights and Political Rights – ICCPR) ถือเป็นกฎหมายหรือข้อตกลงสากลสำหรับรัฐที่เป็นประเทศภาคีขององค์การสหประชาชาติที่จะต้องให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคล ให้การรับรองศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
            ในกฎหมายระหว่างชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ใน 30 มาตรา และมีรายละเอียดเป็นแนวปฎิบัติในกฎหมาย ICCPR กำหนดให้รัฐภาคีทุกประเทศ ต้องให้หลักประกันแก่พลเมือง ในด้านความเสมอภาค ให้มีการประกันสิทธิบุคคลที่เป็นพลเมือง ในเรื่อง การเป็นเพศชายหญิง สิทธิในการใช้ภาษาสื่อสาร การนับถือศาสนา สิทธิในการคิดการพูดและการแสดงออก สิทธิในการสมาคม ในการถือครองทรัพย์สิน ในการเลือกถิ่นที่อยู่ การถือสัญชาติ การเลือกคู่สมรส การแต่งงาน การดำเนินชีวิตครอบครัว การศึกษา การประกอบอาชีพ การแสวงหาความสุข การพักผ่อน การเดินทาง สิทธิทางศาล การห้ามลงโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด ห้ามลงโทษย้อนหลัง สิทธิในชีวิตและร่างกาย ห้ามการทรมาน การให้การเคารพสิทธิของผู้อื่น การห้ามมีทาส การประกันสิทธิทางการเมือง การประกันโอกาสที่เท่าเทียมในการสมัครเข้าสู่ตำแหน่งการเมือง สิทธิการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองของรัฐ และสิทธิในการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองผ่านวิธีการเลือกตั้ง (ม.21 ทั้งข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3) เป็นต้น
            ในจำนวนสิทธิเสรีภาพทั้งปวง กล่าวได้ว่า สิทธิเสรีภาพในการคิด และการแสดงออกมีความสำคัญที่สุด คนแตกต่างสัตว์อื่นก็ในด้านความคิด หากคนถูกตัดสิทธิ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้แสดงออก ด้วยตนเอง หรือโดยผ่านสื่อต่างๆ แล้ว ก็เปรียบได้ว่าคนก็ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์แต่อย่างใด
            หลักที่ 3 – ความเสมอภาค (Equality)   ระบอบประชาธิปไตยถือว่าความเสมอภาคของมนุษย์ เป็นหลักสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่จะต้องถือว่ามนุษย์แต่ละคนเมื่อเกิดมาแล้ว แม้โดยธรรมชาติคนเกิดมาไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างในทางผิวพรรณ ในเผ่าพันธุ์ ในความฉลาดมากน้อย มีมากมีน้อย การให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันในทุกเรื่องทุกอย่างจึงเป็นไปไม่ได้ เป็นการขัดกับหลักธรรมชาติของมนุษย์ เพื่ออนุวัติธรรมชาติของมนุษย์ ให้สอดคล้องตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อระบอบกำหนดให้ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดของประเทศ โดยหลักแห่งความเสมอภาคจึงกำหนดให้ประชาชนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ในการแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น ใน 3 ด้าน
โดยกำหนดสาระสำคัญของหลักความเสมอภาคของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 3 ประการ คือ 1) ประชาชนจะต้องเสมอภาคในกฎหมาย (Equality Before the Law) 2) ประชาชนต้องมีความเสมอภาคทางการเมือง ในการออกเสียงลงคะแนน (Equality in Voting) ในการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ด้วยหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one vote) และ 3) ประชาชนต้องมีความเสมอภาคในโอกาส (Equality in Opportunity) นั่นคือระบอบประชาธิปไตย ต้องให้หลักประกันความเสมอภาคของประชาชนในโอกาสที่เท่าเทียม ในการใช้ความสามารถ ในทางเศรษฐกิจ ในการได้รับการประกันสังคม ในการที่จะได้รับการศึกษา ในการประกอบอาชีพ ในการมีงานทำและคุ้มครองแรงงาน
หากตรวจสอบสภาพสังคมไทย ในอดีตและปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นปัญหาระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีมากมาย ที่ขัดแย้งชัดแจ้งกับหลักความไม่เสมอภาคนี้ ที่เป็นรูปธรรมในช่วงสองสามปีนี้ก็มีมากมาย เช่นการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองไทย การใช้ระบบอุปถัมภ์ในการมีงานทำ การได้ตำแหน่ง กระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกรณีเขายายเที่ยง กรณีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมต่างสีเสื้อ การตัดสินลงโทษอย่างรวดเร็วถ้าเป็นพวกตรงกันข้าม หรือการตัดสินคดีที่มุ่งกลั่นแกล้งเพื่อเอาผิดบุคคลฝ่ายตรงกันข้าม ให้ติดคุกโดยการอ้างการกระทำผิด โดยที่ไม่มีผู้เสียหายหรือไม่มีเจตนาร้าย ถ้าเป็นฝ่ายตนแม้ผิดก็ไม่ติดคุก ถ้าเป็นฝ่ายศรัตรูของระบอบเผด็จการ ต้องให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา หรือให้มีการซุ่มยิงฆ่าเอาชีวิตผู้ชุมนุม เป็นการทำร้ายฝ่ายตรงกันข้ามกับอำนาจเผด็จการ เสมือนมีใบอนุญาตให้ฆ่าได้ แม้เวลาผ่านไปกว่า 6 เดือนก็ไม่พบว่า มีผู้ใดเป็นผู้กระทำ ผู้ใดเป็นผู้สั่งการเป็นต้น แม้เป็นการกระทำที่ชัดเจนเป็นภาพวีดีโอ เห็นกันไปทั่วโลก เหล่านี้คือพยานหลักฐานบ่งชี้ชัด ถึงระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการอันเลวร้ายที่สุดในสังคมไทยวันนี้
หลักที่ 4 – หลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมาย (Rule of Law)
ถือว่าหลักนิติธรรมหรือหลักแห่งกฎหมาย คือหลักที่สำคัญมาก ในระบอบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยนัยแห่งความหมายของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย นอกจากต้องเป็นกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรมสากลแล้ว หลักกฎหมายของระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นจะต้องเป็นกฎหมายของปวงชนเท่านั้น กฎหมายจะต้องตราขึ้นโดยรัฐสภาของปวงชนเท่านั้น และนำไปตีความใช้โดยศาลที่ตั้งขึ้นโดยชอบธรรมเท่านั้น โดยให้ถืออำนาจตามกฎหมายของปวงชน กฎหมายใดที่ขัดกับหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมย่อมถือเป็นโมฆะ
มีการเข้าใจผิดกันมาก ในระหว่างคนที่ไม่รู้หลักหรือลัทธิประชาธิปไตย โดยเข้าใจผิดคิดว่าการปฏิบัติตามกฎหมายคือเครื่องหมายของการถือหลักประชาธิปไตย การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ความจริง ไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ทุกคนต้องปฎิบัติตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่มีระบอบใดอนุญาตให้ใครละเมิดกฎหมายได้ แต่ที่สำคัญกฎหมายที่บังคับใช้จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ กฎหมายใดที่ไม่เหมาะสม เมื่ออำนาจอธิปไตยไม่ต้องการ ก็สามารถแก้ไขหรือยกเลิกเสียก็ได้ กฎหมายใดไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หากคนจำนวนมากแสดงออกเป็นประชามติคัดค้าน ให้ยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนั้น ก็ถือเป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย หาใช่เป็นวิธี กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แต่อย่างใดไม่ การกล่าวเช่นนั้นอาจเป็นความพยายามของอำนาจเผด็จการที่ ต้องการให้ประชาชนยินยอมตามกฎเผด็จการ เพื่อให้ประชาชนอยู่ภายใต้อำนาจแห่งการกดขี่ของพวกตนเองตลอดไป
การปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกความเป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจเผด็จการก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกครองเช่นกัน ที่เลวร้ายกว่านั้นระบอบเผด็จการมักจะเน้นหนักให้ประชาชน ต้องปฎิติตามกฎหมายที่กดขี่ประชาชน ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกฎหมายปิดปากต่างๆ โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงบ้าง การก่อการร้ายบ้าง หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ้าง ไม่ว่าจะพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบัน หากเป็นบุคคลฝ่ายตรงกันข้ามกับอำนาจเผด็จการ ก็จะใช้กฎหมายหมิ่นฯเป็นข้อหาในการกลั่นแกล้ง เพื่อประหัตถ์ประหารกำจัดบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อประโยชน์ของพวกตนที่เป็นอำนาจเผด็จการทั้งสิ้น ทั้งๆที่ผลเสียย่อมตกสู่สถาบันโดยตรง พวกที่ทำให้สถาบันเบื้องบนเสียหายอย่างแท้จริง จึงเป็นคนของพวกกระบอบเผด็จการทั้งนั้น
เมื่อตรวจสอบสภาพการณ์ตามหลักนิติธรรม หรือหลักการใช้กฎหมายปกครองของไทย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจในฝ่ายศาลหรือตุลาการ ในระบอบเผด็จการแบบไทยนี้ ล้วนมีปัญหาหลักกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม ทั้งสิ้น มีกฎหมายไทยหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นโดยอำนาจเผด็จการ ไม่ผ่านอำนาจปวงชนจริง กฏหมา(ย)เผด็จการมีเต็มบ้านเมืองไปหมด แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซ้ำร้ายยังมีการมอบอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ ให้องค์กรที่เรียกว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอีก เพื่อให้ใช้อำนาจอธิปไตย เหนืออำนาจนิติบัญญัติ เหนืออำนาจบริหาร เหนืออำนาจตุลาการ เป็นการใช้อำนาจรัฐเหนืออำนาจอธิปไตยปวงชน ซึ่งผิดหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
เมื่อตรวจสอบสภาพปัญหากฎหมายในระบอบการปกครองไทย จะเห็นว่า อำนาจแห่งระบอบเผด็จการได้ทำให้หลักกฎหมายของไทยขัดต่อหลักนิติธรรมสากล แม้แต่ศาลก็ยังถือว่ากฎแห่งเผด็จการเป็นกฎหมายชาติ นำมาบังคับใช้ได้โดยชอบ หลักกฎหมายจะมีผลย้อนหลังไปลงโทษบุคคลมิได้ แต่ในระบอบเผด็จการไทยในปัจจุบันก็ทำได้ กฎหมายไทยลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วยตนเองก็ได้ แม้คนอื่นทำผิดคนไม่ได้ทำก็ผิดด้วย เพียงการถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้สุจริต แต่ราชทัณไทยในระบอบเผด็จการสามารถกักขังจนลืมก็ได้ เพราะสอบหาหลักฐานไม่จบ ตีตรวนได้ องค์กรนิติบัญญัติของอำนาจเผด็จการ สามารถออกกฎหมายที่ละเมิดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมได้ ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องถูกทำลาย ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ภายใต้ระบอบกฎหมายของระบอบเผด็จการ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องถือหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด
            หลักที่ 5 – หลักอำนาจการปกครองจากการเลือกตั้ง (Elected Government)
            หลักรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หมายถึงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารของรัฐจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วไป คือการให้ผู้ปกครองต้องเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นของปวงชนนั่นเอง ให้ยึดหลักการอำนาจประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ระบอบ ประชาธิปไตยหัวใจของระบอบคืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนต้องมีสิทธิและเสมอภาค ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาล เจตนารมย์ที่แสดงออกของประชาชนในการเลือกตั้งคือความชอบธรรม ในการอยู่ในอำนาจหรือการออกจากอำนาจของผู้ปกครอง
            อำนาจการปกครองหรือผู้ปกครองจากการเลือกตั้ง ถือเป็นหลักประชาธิปไตยทางผู้แทน (Representative Democracy) ที่ยอมรับว่า ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้อำนาจทางตรงได้ จึงต้องใช้ผู้แทนแห่งอำนาจตน คำถามที่สำคัญคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นใคร ผู้แทนเป็นใคร มีอิสระในการเป็นตัวแทนแห่งอำนาจของปวงชนเพียงใด หรือเป็นได้เพียงผู้แทนของกลุ่มทุนเผด็จการผูกขาดบางกลุ่มเท่านั้น
หากดูที่โครงสร้างของอำนาจ ดูที่มาของอำนาจในระบบตัวแทน ว่าเป็นของปวงชนเพียงใด มีความครอบคลุมกลุ่มประชาชนน้อยใหญ่ครบถ้วนมากน้อยเพียงใด ก็จะรู้ได้ รู้คำตอบว่าเป็นรัฐสภาประชาธิปไตยหรือไม่ ในระบอบรัฐสภาแห่งประชาธิปไตย หากโครงสร้างผู้แทนจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ก็เป็นประชาธิปไตย อำนาจการปกครองทั้งฝ่ายนิติปัญญัติที่เป็นผู้ถือดุลอำนาจการตรากฎหมายแห่งรัฐ และฝ่ายบริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อปวงชน หากมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยแท้ ย่อมถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตยได้ อำนาจอธิปไตยก็จะเป็นของปวงชนได้อย่างแท้จริง หากเป็นในทางตรงกันข้าม รัฐสภาก็จะเป็นเพียงผู้แทนของระบอบเผด็จการเท่านั้น
            ฉะนั้น หากเพียงมีการเลือกตั้งในระบบใดก็ตาม ทำให้ได้ตัวแทนที่ไม่มีอิสระ มาเป็นผู้ปกครอง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร แต่เขาต้องอยู่ภายใต้อาณัติ ในกำกับของผู้นำพรรคการเมืองหรือของนายทุนที่เป็นเจ้าของพรรค รัฐสภาก็ไม่เป็นรัฐสภาประชาธิปไตยได้ อำนาจก็เป็นเพียงอำนาจเผด็จการทางรัฐสภาเท่านั้น การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการจึงไม่ทำให้อำนาจการปกครองเป็นประชาธิปไตยได้ ในอีกความหมายหนึ่ง ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งเสมอไป อาจจะใช้วิธีที่ได้ตัวแทนจากคนที่เลือกตั้งภายในกลุ่มหลากหลาย มาทำหน้าที่แทนปวงชนก็ได้ เมื่อหากได้ตัวแทนที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของปวงชน ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้
            จุดอ่อนของการเลือกตั้งยังมีมากมาย นอกจากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิยุติธรรมแล้ว การเลือกตั้งจึงมิใช่ทางออกของการแก้ปัญหาชาติเสมอไป มิใช่วิธีการหลักแห่งระบอบประชาธิปไตยเสมอไป ถ้าเป็นเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ ก็ได้เพียงอำนาจเผด็จการเท่านั้น ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอื่นๆ ก็มีการเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่มีการจำกัดสิทธิผู้สมัครและผู้เลือกตั้งด้วยวิธีการและข้อกำหนดต่างๆมากมาย เช่นมีการจำกัดให้เฉพาะคนที่เป็นพวกของฝ่ายเผด็จการ ลงแข่งขัน จำกัดวุฒิการศึกษา การกำหนดค่าสมัครไว้สูงลิ่ว เพื่อกันไม่ให้คนทั่วไปลงสมัครได้ การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ ก็เป็นเพียงการให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพอเป็นพิธีการเท่านั้น หลังเลือกตั้งแล้วผู้มีอำนาจจริงก็ถือว่า ได้อำนาจ “มาจาก” ประชาชนแล้ว จะทำอะไรก็ได้ การเลือกตั้งเช่นนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ถือว่าเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย
หากพิจารณาให้ถ่องแท้ การเลือกตั้งหรือการลงประชามติของไทยที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับการเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ หลังการเลือกตั้งของไทย หากพรรคการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยชนะ ไม่ใช่พรรคที่เป็นตัวแทนปวงชนจริง ชนะการเลือกตั้ง แม้มีอำนาจปกครอง ก็จะไม่ทำให้การปกครอง เป็นประชาธิปไตยได้ ผลการเลือกตั้งของไทยส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่คำตอบของการสร้างระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย และยิ่งหนักขึ้นหากนักการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีอิสระ ในการคิด การพูด หรือการตัดสินใจ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้แทนขั้นต้น คนที่ได้เป็นผู้แทนประชาชน หากมาทำงานในรัฐสภา ก็ไม่อาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยได้ อำนาจรัฐสภาจากการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นเพียงอำนาจแห่งเผด็จการรัฐสภาเท่านั้น
ดังบรรยายเหตุปัจจัยของสภาพและปัญหาการเลือกตั้ง ในฐานะส่วนหนึ่งของวิธีการแห่งระบอบประชาธิปไตย จึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่หลักการที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถเป็นมรรควิธี หรือหนทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ดีที่สุด ตามที่บางคนเชื่อ และประชาชนจำนวนก็อาจจะเข้าใจผิด และเชื่อเช่นนั้นไปด้วย การเรียกร้องของคนไทยในการชุมนุมที่ผ่านมา จึงขอให้ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่นั้น จึงไม่อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาการของชาติ ด้วยการใช้การเลือกตั้งเพื่อล้มระบอบเผด็จการได้ และเรายังไม่เคยสามารถใช้วิธีการเลือกตั้ง เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างระบอบประชาธิปไตยได้ตลอดเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย  
            อย่างไรก็ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กล่าวถึงทั้ง 5 ประการ คือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน หลักเสรีภาพ หลักคนเสมอภาค หลักกฎหมาย และหลักผู้ปกครองจากเลือกตั้ง ทุกหลักการล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญทีสุดที่เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือหลักการสร้างระบอบอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง แม้เพียงทำให้หลักนี้ข้อเดียวให้สำเร็จเป็นจริงเท่านั้น หลักการสำคัญอื่นๆ ก็จะเป็นไปได้จริงด้วย
 
เราจะปฎิวัติประชาธิปไตยอย่างไร ?
            สังคมไทยเข้าใจผิด หรือหลงผิดคิดว่าการสร้างประชาธิปไตย จะทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีปัญหาทางการเมือง ผู้นำจึงไปคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายประเทศไทย รวยรัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่เราก็ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญ จึงน่าสรุปเป็นบทเรียนได้ในวันนี้แล้วว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดได้จากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นวิธีการที่นักการเมืองไทย รวมถึงคณะบุคคลที่รัฐบาลเผด็จการตั้งขึ้น คิดและเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศไทย เพื่อปฎิรูปประเทศไทยนั้น จึงไม่มีทางจะสำเร็จได้ ไม่ว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินมากเพียงใด
            รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลักแห่งระบอบประชาธิปไตย จะเกิดได้จากอำนาจหรือระบอบประชาธิปไตย โดยความเป็นจริง กฎหมายคือเครื่องมือรักษาระบอบอำนาจที่กำลังเป็นอยู่ อำนาจใดเขียนกฎหมายก็จะเป็นกฎหมายเพื่อกลุ่มชนที่ถืออำนาจนั้น หากรัฐธรรมนูญมาจากระบอบเผด็จการ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพื่อรักษาอำนาจระบอบเผด็จการไว้ หากอำนาจการปกครองเป็นประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบก็จะเป็นประชาธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า “หากงาช้างไม่ได้งอกจากปากสุนัขฉันใด รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ก็จะไม่เกิดจากอำนาจเผด็จการฉันนั้น” สิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นในวันนี้ คือระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญแล้วจึงจะมีประชาธิปไตย เช่นในอดีตถ้าเราไม่ได้รับโอนอธิปไตยมาจากพระมหากษัตริย์มาก่อนเมื่อปี 2475 ราชอาณาจักรสยามจะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ได้อย่างไร ระบอบประชาธิปไตยคือปัจจัยที่ทำให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชน ดังนั้นการสร้างหรือการปฎิวัติประชาธิปไตย ต้องเริ่มที่การทำระบอบอำนาจให้เป็นของปวงชนก่อน
ในโลกประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น การเริ่มต้นของระบอบการปกครองในทุกประเทศ ล้วนเริ่มจากการเป็นระบอบเผด็จการมาก่อนทั้งสิ้น การทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นประชาธิปไตยนั้น มีหลักง่ายๆ ที่เขาทำกันอยู่เพียง 2 อย่างใหญ่ๆคือ
๑)      ขจัดหรือทำลายระบอบเผด็จการลง
๒)     สถาปนาหรือสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน ก็เท่านั้น
การขจัดหรือทำลายระบอบเผด็จการนายทุนผูกขาด และเผด็จการรัฐสภาลงให้ได้โดยสิ้นเชิงนั้นมีมาตรการสำคัญที่จำเป็นต้องทำบางส่วนกล่าวได้คือ
๑)      ทำให้รัฐบาลของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาสิ้นสุดลง
๒)     ทำให้รัฐสภาของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการนายทุนผูกขาดสิ้นสุดลง
๓)     ยกเลิกรัฐธรรมนูญของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการทุนผูกขาด
๔)     ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง สลายพรรคการเมืองที่เป็นของนักธุรกิจการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่รักษาการปกครองในระบอบเผด็จการรัฐสภา ฯลฯ
การสถาปนาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย หรือการปฎิวัติประชาธิปไตยของไทย ให้สำเร็จนั้น ควรพิจารณาเพียงวิธีการปฏวัติในแนวทางสันติเท่านั้น การเคลื่อนไหวมวลชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา หรือการคิดปฎิวัติในแนวทางรุนแรง เราเชื่อว่าไม่อาจจะสำเร็จได้ในบริบทของประเทศไทย แต่ในแนวทางแห่งสันติสังคมไทยสามารถบรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยได้ โดยมรรควิธีนั้นอาจจะไม่สามารถสาธยายได้ทั้งหมด แต่มีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการดำเนินการที่สำคัญบางอย่าง กล่าวโดยภาพรวมคือ
จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว ในทางความคิดประชาธิปไตย ในทางหลักการและทฤษฎีต่างๆ ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้เข้าใจ และจะต้องมีการเคลื่อนไหวในทางจัดตั้งองค์กรสร้างประชาธิปไตย ให้เป็นเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในกลุ่มทุนเสรีนิยม กลุ่มกรรมกร และมวลชน ทุกอาชีพ ทุกวัฒนธรรมทั่วประเทศ อาจจะต้องดำเนินการเป็นสมัชชาประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในระดับชาติ
เมื่อถึงเวลาหนึ่ง จะเกิดมีองค์กรในลักษณะ สภาประชาชนเพื่อปฎิวัติประชาธิปไตยขึ้น โดยอาจจะประกอบด้วย ผู้แทนปวงชนและผู้แทนกลุ่มอาชีพและวัฒนธรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำหน้าที่คล้ายหน้าที่รัฐสภา แต่น่าจะทำได้ดีกว่ารัฐสภาในระบอบเผด็จการ ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ในช่วงเวลาอันไม่นานนักในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่สภาประชาชนปฎิวัติประชาธิปไตย ในวันที่มีความจำเป็น อาจจะต้องทำภารกิจร่วมกับรัฐภาในระบอบเผด็จเดิมเพื่อการปรองดองในชาติ กลายเป็นสภาแห่งชาติเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย (National Council for Democracy) ขึ้นก็ได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่รัฐบาลพระราชทาน หรือรัฐบาลเฉพาะกาล หรือรัฐบาลชั่วคราว (Provisional Government) เพื่อทำภารกิจสำคัญต่างๆที่จำเป็น ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นให้ได้ เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ได้อย่างแท้จริง
ด้วยหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน สิทธิในการคิด ในทางการเมือง ในการสมาคม ฯลฯ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยทุกหมู่เหล่า การดำเนินงานของสภาประชาชน จึงไม่ต้องใช้กฎหมายของระบอบเผด็จการใดๆ มากำกับหรือเป็นแนวทางดำเนินการในด้านใดๆ สภาประชาชนฯที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไปตามเส้นทางแห่งระบอบประชาธิปไตย โดยชอบธรรม อาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ด้วยแนวทางแห่งสันติวิธี เชื่อว่าจะมีแต่สิ่งดีๆเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นตามมา และเชื่อมั่นได้ว่าจะส่งเพียงผลดีต่อชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ กับปวงชนชาวไทยเท่านั้นในท้ายที่สุด...ฯ
 
 
*เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “ทางออกประเทศไทย – ฟังเสียงประชาชนคนสามสี”จัดโดยชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ ร่วมกับ ศูนย์ข่าวประชาชนและหนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ ณ ห้องสัมมนาชั้น 5 อาคารอิมพีเรียลเวิลดิ์ลาดพร้าว กทม. วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ 2553 เวลา 13.00 – 16.30 น.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลาวใหม่กับอนาคตของไทย

Posted: 18 Oct 2010 01:44 AM PDT

 
ลาววันนี้มีสิ่งใหม่ที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง ผมไปลาวหลายครั้ง แต่ผมก็เพิ่งได้เปิดหูเปิดตาดูอย่างจริงจัง จึงขออนุญาตแบ่งปันมาเพื่อเตือนสติผู้กุมอำนาจในไทย ทั้งนี้ผมได้ประมวลจากการไปบรรยายด้านอสังหาริมทรัพย์และการประเมินค่าทรัพย์สิน ที่กรุงเวียงจันทน์ เฉพาะในระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2553
 
 
3G ลาวสุดล้ำหน้า
 
ลาวเขามีโทรศัพท์มือถือระบบ 3G มาเกือบ 4 ปีแล้ว ข่าวว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553 เขาจะมีระบบ 4G แล้ว และระบบ 8G ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ไทยยังไม่มี นัยว่าในภูมิภาคนี้มีอีกเพียง 2 ประเทศคือ บังคลาเทศ และเวียดนามที่ยังไม่มี 3G ใช้!
 
นี่แสดงว่าผู้กุมอำนาจในไทยไม่ได้ทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง ตั้งแต่เบอร์ 1 ยันเบอร์รองๆ ลงมา แต่ละคนคงกระเสือกกระสนรักษาอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว อ้างข้อกฎหมายแบบศรีธนญชัยไปวันๆ ประชาชนไทยจึงสูญเสีย ไม่ได้บริโภคสิ่งดีๆ เช่นชนชาติอื่น
 
 
มาเฟียมีน้อย
 
ตำรวจจราจรรับสินบนก็มี แต่ตำรวจกองปราบปรามลาวทำงานเชิงรุก มีหน่วยปฏิบัติการออกลาดตระเวนยามค่ำคืน หากพบผู้ทำผิดกฎหมายจะตักเตือนก่อน หากผิดซ้ำจะถูกจับกุม และได้รับการลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด จึงทำให้อันธพาล นักเลงหัวไม้มีน้อยมาก สันติราษฎร์จึงร่มเย็นเป็นสุข
 
การเปิดไนท์คลับในลาว เสียเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แตกต่างจากไทยที่ต้องจ่ายให้พวกมาเฟียมีสี บางแห่งจ่ายพอ ๆ กับค่าเช่าสถานที่ เช่น 30,000 บาทต่อเดือน การที่ต้องจ่ายหนักขนาดนี้ ธุรกิจบางแห่งเลยปิดกิจการไป
 
ล็อตเตอรี่ลาวก็ออกสัปดาห์ละ 2 หน ใครใคร่ซื้อ ซื้อ เขาเชื่อมั่นว่าประชาชนมีวิจารณญาณ ไม่งมงายจนเสียผู้เสียคน แต่ลาวไม่มีหวยใต้ดิน ใครบังอาจทำคงไม่รอดเงื้อมือกฎหมาย แต่ในไทย หวยใต้ดิน บ่อนเถื่อน และยาบ้ากลับเฟื่องฟู นัยว่าเป็นเพราะผู้กุมอำนาจไทยเกี่ยวข้อง หรือทำหูไปนาตาไปไร่นั่นเอง 
 
 
กฎหมายแรง-ศักดิ์สิทธิ์
 
กฎหมายลาวเข้มงวดนัก การ ‘วิสามัญฆาตกรรม’ โดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เกิดขึ้นได้ แต่ไม่เป็นข่าวแบบไทย ศาลประชาชนก็เป็นศาลชั้นเดียว อย่างกรณีการแอบถ่ายคลิปที่เกิดขึ้นในไทย หากเป็นในลาว คงต้องโทษติดคุก (แทบ) ตลอดชีวิต
 
ชีวิตคนคุกลาวคงไม่ยืนยาวนัก เพราะเสมือนตายทั้งเป็น สมัยก่อนยังมี ‘คุกมืด’ และ ‘คุกใต้ดิน’ แต่ที่แน่นอนก็คือไม่มีการปล่อยให้ ‘ขาใหญ่’ เปิดสำนักงานในคุกเพื่อค้ายาเสพติดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คนคุกที่ไม่กลับเนื้อกลับใจจริง คงไม่ได้ออกมาเป็นภัยสังคมเป็นแน่
 
 
กฎหมายไม่เข้าข้างนายทุน
 
ไม่มีโอกาสที่ใครจะครองที่ดินจำนวนมหาศาลโดยไม่มีขีดจำกัด เพราะหลังการปลดปล่อย ระบบการผูกขาดที่ดินโดยพวกศักดินาหรือนายทุนใหญ่หมดลง แม้ในระยะหลังอาจมีนายทุนได้รับสัมปทานที่ดินแปลงใหญ่ แต่หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด รัฐก็สามารถยึดคืนมาได้
 
ลาวมีระบบภาษีที่ดินโดยเสียเป็นรายปี ส่วนการโอนมรดกอสังหาริมทรัพย์ก็เสียภาษีราว 13% แต่ในกรณีการซื้อขาย อาจต้องเสียภาษีถึงหนึ่งในสามของมูลค่า เพราะเขาไม่ส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนมือที่ดิน และมีโอกาสน้อยในการติดสินบนเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยเพราะมีระบบตรวจสอบข้าราชการที่ค่อนข้างรัดกุม
 
 
สื่อมวลชนไม่อ้อล้อ
 
หนังสือพิมพ์ลาวไม่ประโคมข่าวฉาวโฉ่ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีนักอ่านข่าว นักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ประเภท ‘จ้อ’ ใส่สีใส่ไข่อย่างเมามัน ดารานักแสดงก็ทำตัวเรียบร้อยดีเพราะกฎหมายที่ลาวนั้นเข้มแข็ง หาไม่ก็หมดทางทำมาหากินอีกต่อไป
 
การที่สื่อมวลชนมีมาตรฐานและจรรยาบรรณในวิชาชีพสูง โดยไม่หากิน ‘ขายข่าว’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็เท่ากับไม่ได้สร้างความเครียดกับสังคม ประชาชนก็ต่างมุ่งการทำมาหากิน มากกว่าไปสนใจเรื่องไร้สาระของชาวบ้าน
 
 
เอ็นจีโอไม่กล้าหือ
 
สมัยสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 กลุ่มเอ็นจีโอกล่าวหาว่าลาวทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลลาวมั่นใจว่าตนทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ลาวยังตั้งคำถามกลับกับพวกนี้ว่าถ้าไม่ให้ลาวสร้างเขื่อน ประชาคมโลกจะช่วยเหลืออะไรลาวได้บ้างหรือไม่ ลาวไม่ใส่ใจต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม ‘จอมปลอม’ ที่พยายามให้ลาวดักดาน
 
โอกาสที่กลุ่ม ‘กรีนพีซ’ จะไปเดินขบวนต่อต้านในลาว คงเกิดขึ้นได้ยาก เชื่อว่าเอ็นจีโอที่เคยรับเงินไปเที่ยวเดินขบวนในยุโรปและอเมริกา ก็คงไม่กล้าจะไป ‘แหยม’ ที่ลาวเป็นแน่ แต่รัฐบาลลาวก็ยินดีต้อนรับเอ็นจีโอเชิงสร้างสรรค์ และคอยติดตามและอำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ซ่องสุมทำลายชาติ
 
 
ลาวเป็นเผด็จการ?
 
บางคนบอกว่าลาวเป็นเผด็จการ แต่ลาวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว’ ตามลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาเป็นเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพซึ่งหมายถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ลาวว่าตนมีประชาธิปไตย ไม่ใช่อนาธิปไตยแบบ ‘ทำได้ตามใจคือไทยแท้’ จะมาด่า มาเดินขบวนไล่รัฐบาลไม่ได้ ทหารเขาก็อยู่ใต้การเมือง ควบคุมโดยรัฐบาล ไม่มีรัฐประหาร
 
สมาชิกรัฐสภาลาวก็ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ห้ามการซื้อเสียง ประชาชนได้รับการปลูกฝังให้มีศักดิ์ศรี ในทางตรงกันข้าม ลาวกลับมองว่าสหรัฐอเมริกาต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ เพราะยังมีการผูกขาด การแบ่งแยกสีผิว ไทยยิ่งอาจไม่ใช่ประชาธิปไตยเพราะมีอภิสิทธิ์ชนเต็มบ้านเต็มเมือง
 
 
ไทยสุดเยียวยา?
 
หวนกลับมาดูไทยที่มักอ้างตัวบทกฎหมาย เรียกร้องให้คนทำดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา และโฆษณาว่าเป็นแผ่นดินธรรม แต่กลับโกงกินกันทุกหย่อมหญ้า ข้าราชการดีๆ ก็มี แต่มักเป็นระดับล่างหรืออยู่ในตำแหน่งและหน่วยงานที่หาผลประโยชน์ได้ยาก ถ้าคิดแบบตลกร้ายโดยข้าราชการดีๆ ลาออกเสียหมด คนโกงจะได้ไม่อาจอ้างได้ว่าในระบบราชการก็ยังมีคนดี ระบบราชการจะได้กลายเป็นชุมโจรโดยสมบูรณ์
 
ขณะนี้คนไทยถูกปั่นหัวให้แตกแยกกันหนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะขาดความเป็นธรรม ไทยจึงมีปัญหาชายแดนใต้ ยิ่งมีเรื่องสีเสื้อ ยิ่งเหมือนไทยขาดที่พึ่ง คล้ายกับว่าผู้กุมอำนาจในไทยขาดความเป็นกลาง-ความเป็นธรรม อนาคตของชาติจึงดูมืดมน ว่ากันว่าประเทศไทยวันนี้เน่าในหนักกว่าลาวก่อนการปลดปล่อย
 
ทุกท่านคงทราบดีว่าเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ไทยไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากลาว ผมห่วงเหลือเกินว่า หากเมืองไทยเกิดกลียุคในวันหน้า เราจะยังรักษาพระแก้วมรกตไว้ในแผ่นดินไทยได้ไหม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น