ประชาไท | Prachatai3.info |
- สิทธิมนุษยชนในอาเซียน กับข้อเสนอ “กลไกสิทธิ” ที่ยังต้องดันให้เดินต่อ
- ราคาของลูกเสือไซเบอร์
- นักศึกษา-นักกิจกรรมแต่งผีร่วมงานรำลึก14 ตุลา ชี้มาตรฐานรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่ำกว่าเผด็จการถนอมฯ
- สร.ไทยอินดัสเตรียลแก๊สจี้บริษัทรับอนุกรรมการสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน
- ปาฐกถา 14 ตุลาฯ ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย
- วิปรัฐบาลชะลอ กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ให้ภาคประชาชนเสนอข้อมูลอีกครั้ง 18 ต.ค.
- TDRI เตือนผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิ์ FTA และปรับตัวให้ทันเกมการค้าโลก
- 'เพื่อไทย' ออกแถลงการณ์ยันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด
- สัมภาษณ์ เดวิด สเตร็คฟัส ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นฯ และสังคมการเมืองไทย
- นักสื่อสารแรงงาน: คนงาน PCB ร้องแรงงาน จ.ชลบุรี นายจ้างเบี้ยวค่าแรงหลังปิดกิจการ
- สร้อยแก้ว คำมาลา : ละครโรงหนึ่ง ตอน 5 "เก้าอี้"
สิทธิมนุษยชนในอาเซียน กับข้อเสนอ “กลไกสิทธิ” ที่ยังต้องดันให้เดินต่อ Posted: 14 Oct 2010 02:07 PM PDT ศ.วิทิต เสนอพันธกรณี 10 ประการสำหรับอนาคตสิทธิมนุษยชนอาเซียน ด้านอาจารย์นิติศาสตร์จากมาเลเซีย ย้ำหลักการไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกสร้างปัญหา แนะอาเซียนต้องการกฎหมายสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่ไม่มีผลบังคับให้เกิดการปฏิบัติ วานนี้ (14 ต.ค.53) เครือข่ายสิทธิมนุษยชนศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 “สิทธิมนุษยชนในอุษาคเณย์” ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2553 ที่ห้องประชุมภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสิทธิและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการสร้างสิทธิมนุษยชนในอุษาคเณย์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน ศ.วิทิต มันตาภรณ์ ประธานร่วมคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ภาคประชาสังคม) กล่าวในการเสวนาในช่วงเช้า เรื่อง “สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ถึงสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค 7 ประการ ซึ่งประกอบด้วย 1.สถาบันสิทธิมนุษยชน ซึ่งในระดับภูมิภาคมีกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่มีข้อจำกัดในการสืบสวนและรับข้อเท็จจริงจากปัจเจกบุคลที่ร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ส่วนระดับประเทศ ในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นแล้ว ขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่มี อย่างไรก็ตามประเด็นไม่ได้อยู่จำนวน แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในที่มาและการทำงาน 2.กฎหมาย ประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับการรับรองในระดับอาเซียน แต่ประเทศในอาเซียนก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น กรณีกฎหมายความมั่นคง และกฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่างๆ 3.นโยบาย แผนงานของอาเซียนมีความมุ่งมั่นในเรื่องชุมชน ความมั่นคง และเศรษฐกิจ อีกทั้งมีการพูดถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ไม่พูดถึงการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม และเรื่องประชาธิปไตย 4.เรื่องแนวปฏิบัติ ประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีการพูดถึงการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ดีพอ 5.ทรัพยากร ในเรื่องงบประมาณ หลายประเทศในอาเซียนมีรายจ่ายทางการทหารมาก ขณะที่งบประมาณเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อย การลงทุนเพื่อคุณภาพสังคมต่ำ พบปัญหาการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน ในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็พบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการทำงาน 6.การประมวลผล อาเซียนมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่ไม่มีตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน หรือตัวชี้วัดทางสังคม และเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพ นอกจากนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษายังไม่ได้รับความสนใจ และ 7.เครือข่ายและการมีส่วนร่วมที่ ยังพบว่ามีการปิดกันในหลายประเทศ ศ.วิทิต ยังนำเสนอพันธกรณีสิทธิมนุษยชน 10 ประการสำหรับอนาคตอาเซียน ได้แก่ 1.ตั้งสถาบันที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางที่มีประสิทธิภาพ 2.มีการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระดับอาเซียน 3.มีรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 4.มีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน 5.มีสภาประชาชนอาเซียน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องสิทธิฯ 6.มีศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อปกป้องและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน 7.กระบวนการสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนเข้าถึง 8.มีเวทีประชาชนในภูมิภาค ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงออกด้านสิทธิมนุษยชน 9.ส่งเสริมการสร้างอาสาสมัครทำงานด้านสิทธิในอาเซียนมากขึ้น 10.ทำให้อาเซียนมีความเป็นประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประชุมอาเซียนในอนาคต ด้าน Dr.Azmi Sharom อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย กล่าวในเวทีเดียวกันว่า กฎบัตรอาเซียนถูกตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อย่างสันติ ในสังคมประชาธิปไตย ส่งเสริมวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่ก็มีปัญหาในเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน และเรื่องการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ซึ่งกลายมาเป็นช่องโหว่ให้การละเมิดสิทธิฯ ยังคงมีอยู่ Dr.Azmi กล่าวด้วยว่า แม้อาเซียนจะเป็นนิติบุคคล แต่หลักการไม่แทรกแซง ทำให้อาเซียนไม่สามารถฟ้องร้องกรณีการละเมิดสิทธิต่อประเทศสมาชิกได้ และเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิฯ แล้วรัฐบาลประเทศนั้นไม่ขอความช่วยเหลือ อาเซียนก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการปัญหาได้ นอกจากนั้น อาเซียนมีเพียงแต่คำประกาศ และข้อตกลง ซึ่งไม่มีสถานทางกฎหมายที่ใช้บังคับกับประเทศสมาชิก ในขณะที่ประเทศบางประเทศก็ไม่ลงนามในข้อตกลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่กระตือรือร้นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน Dr.Azmi กล่าวต่อมาว่า อาเซียนต้องการกฎหมายสิทธิมนุษยชนอาเซียน ไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่ไม่มีผลบังคับให้เกิดการปฏิบัติ และอาเซียนต้องการกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกทำการปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศ ไม่ใช้อ้างกฎหมายภายในประเทศแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่เคยได้เห็นในอาเซียน แต่ก็ยังมีความหวัง เพราะอาเซียนเป็นหน่วยงานที่มีสถานภาพที่ชัดเจน คาดว่าจะสามารถพัฒนาได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามทั้งรัฐบาลและประชาชน จะต้องมองเห็นระบบคุณค่าของเรื่องดังกล่าวไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะที่ Prof.Carlos Medina เลขาธิการคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน กล่าวว่า ยูเอ็นได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้มานาน รวมทั้งในส่วนของเอ็นจีโอ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการไม่เชื่อใจต่อภาครัฐ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการของอาเซียน และมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนขึ้น ซึ่งในส่วนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของอาเซียน แต่หน้าตาอาจยังไม่สมบูรณ์ เพราะเน้นเรื่องการส่งเสริมไม่ได้เน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน Prof.Carlos กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า ในส่วนภาคประชาสังคมควรให้ความสำคัญกับกระบวนการ โดยการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องทำอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน เพราะในส่วนของภาครัฐมีการเปลี่ยนหน้าคนที่เข้ามาขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่มีความยังยืน และในบางครั้งรัฐเองต้องมาขอข้อมูลจากภาคประชาสังคม นอกจากนั้นต้องหาแนวร่วมในท้องถิ่นที่จะเข้ามาเป็นภาคีเพื่อการขับเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นภาครัฐ หรือประชาสังคมอื่นๆ โดยที่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนกันทั้งหมด แต่ร่วมกันทำงานในบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป Prof.Carlos กล่าวด้วยว่า รัฐบาลอาเซียนต้องการความช่วยเหลือจากภาคประชาชน แม้ในการพูดคุยร่วมกันอาเซียนอาจไม่รับในข้อเสนอบางอย่าง แต่อาเซียนก็รู้ตัวว่าต้องการภาพลักษณ์อย่างไร และอาเซียนจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้อันสืบเนื่องมาจากมุมมองของรัฐและภาคประชาสังคม ทั้งนี้ ในพิธีเปิดการประชุมวานนี้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า ในอาเซียนได้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยมีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ AICHR ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 10 ชาติ และเกิดคำถามว่าอาเซียนจะทำงานร่วมกันอย่างไร ในเมื่อแต่ละประเทศมีความแตกต่างเรื่องระดับการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งโดยส่วนตัวให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ แต่ในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำร่วมกันโดยอาศัยกลุ่มเอ็นจีโอ องค์การระหว่างประเทศ ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการดูแลและจัดการระดับสิทธิมนุษยชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
Posted: 14 Oct 2010 11:23 AM PDT อ้างอิงจากเอกสารสรุปผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีในรอบเดือนมิถุนายน และกันยายน 2553 จะเห็นว่ามีการจ้างบริษัท ดิจิตอล สกรีน เพลย์ จำกัด ไปแล้วเป็นเงิน 1,600,000 (มิถุนายน) + 300,000 (กันยายน) = 1,900,000 บาท หนึ่งล้านเก้าแสนบาท ยังไม่รวมงบประมาณที่อาจจะใช้ไปกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในงานเปิดตัว หรืองบประมาณจากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ถ้ามี) เพราะเห็นว่าโครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนาลูกเสือไทยด้วย เท่าที่ปรากฏในข่าว โครงการนี้จะรวบรวมลูกเสือมา 200 คน จาก 10 โรงเรียน เพื่อ "เฝ้าระวังข้อมูลหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประชาชนด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศ ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารในเชิงรุก" ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเฝ้าระวังที่ว่านั้นทำใครโดนจับไปแล้วบ้าง ส่วนเรื่องปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร เท่าที่เห็นก็มีหน้ากลุ่มในเว็บไซต์เด็กดี กับแฟนเพจในเฟซบุค ขอไม่ลงรายละเอียดว่าหน้ากลุ่มนั้นถูกทิ้งร้างอย่างไร และแฟนเพจนั้นเต็มไปด้วยเกม FIFA Superstar อย่างไร พอจะลองหาดูร่างขอบเขตงาน (TOR) ก็หาไม่เจอ ไม่รู้จะเกี่ยวข้องอะไรกับที่การจัดจ้างเป็นไปด้วยวิธี "พิเศษ" หรือเปล่า (ดูในเอกสารจัดซื้อจัดจ้างข้างต้น) ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้ ก็น่าจะลองดูกันว่าโครงการนี้มันพิเศษแค่ไหน ถึงสามารถจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ที่ไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีความโปร่งใสและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนั้นถูกกำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อที่ 24 คือจะใช้วิธีพิเศษได้ก็ต่อเมื่อ 1. เป็นงานที่ต้องจ้างช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ 2. เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นต้องถอดตรวจ ให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 3. เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ 4. เป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ 5. เป็นงานที่จำเป็นต้องการจ้างเพิ่มในสถานการณ์ที่จำเป็น หรือเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนราชการ และจำเป็นต้องจ้างเพิ่ม (Repeat Order) 6. เป็นงานที่ได้ดำเนินการจ้างโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี ก็ไม่รู้ว่าโครงการนี้มันไปตกตามเกณฑ์ข้อไหน ส่วนอนาคตของโครงการนี้ จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้สัมภาษณ์ไว้ จะมีการอบรมลูกเสือไซเบอร์ให้ได้ 100,000 คน ด้วยงบประมาณศูนย์ไอซีทีชุมชน 578,000,000 บาท และ "ขอแค่ 5% ที่จะทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว คือ เขาสละเวลาวันละ 1 ชั่วโมงไปเสิร์ชในเว็บไซต์ต่าง ๆ ถ้าเจอข่าวดี ๆ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาท หรือคุณงามความดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เอาข่าวเหล่านี้ไปเผยแพร่โพสต์ตามเว็บฯ ไปเผยแพร่ต่อหรือโพสต์บนเว็บที่มีข้อความหมิ่นสถาบัน เพื่อให้คนทั่วไปได้อ่าน และเปรียบเทียบข้อมูลสองทาง" สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักศึกษา-นักกิจกรรมแต่งผีร่วมงานรำลึก14 ตุลา ชี้มาตรฐานรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่ำกว่าเผด็จการถนอมฯ Posted: 14 Oct 2010 10:48 AM PDT เมื่อวันที่ 14 ต.ค.53 เวลา 9.00 น. ที่งานรำลึก 14 ตุลา 16 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน ขณะที่นาย องอาจ คล้ามไพบูลย์ ตัวแทนของรัฐบาล นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนองค์กรประชาธิปไตยและแรงงาน ตัวแทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและตัวแทนนิสิตนักศึกษากล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตยนั้น ได้มีคนแต่งหน้าผีประมาณ 5 คนจากกลุ่มประกายไฟและเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ออกมาร่วมภายในงานดังกล่าว พร้อมข้อความ ว่า “14 ตุลา 16 เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย ที่นี่มีคนตาย” และ “10 เมษา 53 เรียกร้องเลือกตั้ง เรียกร้องประชาธิปไตย ที่นี่มีคนตาย” นอกจากนี้ยังมีการเดินแจกจดหมายในชื่อ “จดหมายผีบอก ที่นี่มีคนตาย” ภายในอนุสรณ์สถานด้วย โดยกลุ่มดังกล่าวได้เข้าไปยื่นจดหมายแก่ผู้ที่มากล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย ทั้งนายองอาจ นายแพทย์นิรันดร์ และตัวแทนองค์กรต่างๆ โดยเนื้อความในจดหมายดังกล่าว มีดังนี้
จะมาสดุดีวีรชนประชาธิปไตยกับ “ผี” อะไร? อ้างอิง [2] พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก แถลงการณ์ปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ ในวันที่ 19 พ.ค.53 (แถลง 20 พ.ค.53 ) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สร.ไทยอินดัสเตรียลแก๊สจี้บริษัทรับอนุกรรมการสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน Posted: 14 Oct 2010 05:29 AM PDT สร.ไทยอินดัสเตรียลแก๊สจี้บริษัทรับกรรมการสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน ชี้บริษัทละเมิดนโยบาย-ข้อกำหนด-แนวปฏิบัติ-ข้อปฏิบัติ ของบริษัทเอง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 53 สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สระบุว่า ผู้บริหารของบริษัท TIG-LINDE ได้ดำเนินการสอบสวนและตัดสินไล่นายวสันต์ เรืองลอยขำ ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ออก โดยไม่จ่ายเงินชดเชย ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 53 ซึ่งสหภาพฯ ระบุว่าการกระทำของผู้บริหารเป็นการจงใจละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้าง และแม้ว่าทางสหภาพฯ จะทักท้วงอย่างไรก็ไม่เป็นผล จนนำไปสู่การชุมนุมของคนงาน ต่อมาในวันที่ 8 ต.ค. 53 บริษัท ได้จัดให้มีการทบทวนตามข้อตกลงฯ โดยไม่มีคนกลางและไร้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วม และสหภาพฯ ได้นำเสนอเอกสารที่เป็นของบริษัท TIG-LINDE เขียนขึ้นมาเองว่าการตัดสินของผู้บริหารเกิดข้อผิดพลาดและโทษของคนงานไม่ถึงขั้นไล่ออก แต่ผู้บริหารนำเสนอเอกสารเพียง 1 หน้าและยืนยันด้วยดุลยพินิจของหัวหน้างานว่าสามารถไล่นายวสันต์ออกได้ จากนั้นในวันที่ 11 ต.ค. 53 สหภาพฯ มีโอกาสประชุมร่วมกับ MD และคณะบริหารของ TIG-LINDE เพื่อชี้แจงเรื่องทั้งหมดอีกครั้ง แต่ทางผู้บริหารยังให้คำตอบว่าเป็นการไล่ออกตามดุลยพินิจของหัวหน้างาน โดยไม่คำนึงถึงนโยบาย-ข้อกำหนด-แนวปฏิบัติ-ข้อปฏิบัติ ของบริษัทและบริษัทแม่ (LINDE Group) ในวันนี้ (14 ต.ค. 53) สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส (TIGLU) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัท TIG-LINDE รับนายวสันต์ เรืองลอยขำ ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน ระบุการเลิกจ้างเป็นการละเมิดนโยบาย-ข้อกำหนด-แนวปฏิบัติ-ข้อปฏิบัติ ของบริษัทเอง นอกจากนี้สหภาพฯ ขอให้บริษัทตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยมีคนกลางและผู้มีอำนาจตัดสินใจร่วมกับผู้แทนจากสหภาพฯ และขอให้บริษัทนำ Work Rule มาหารือกับสหภาพฯ ก่อนนำไปบังคับใช้ (อ่านแถลงการณ์ตามไฟล์แนบ)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now | ||||
ปาฐกถา 14 ตุลาฯ ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย Posted: 14 Oct 2010 04:59 AM PDT 14 ต.ค.53 ที่อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว มูลนิธิ 14 ตุลาจัดงานปาฐกถาประจำปี โดยในปีนี้องค์ปาฐกได้แก่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย” สมเกียรติกล่าวถึงสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อต่างๆ ในปัจจุบันว่า แม้การศึกษาวิจัยเท่าที่มี โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงจะพบว่าผู้คนคิดว่าปัญหาความขัดแย้งมาจากความไม่เป็นธรรมทางการเมือง การถูกดูถูกและเอาเปรียบ แต่อาจกล่าวได้ว่าประเด็นทางการเมืองเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก เพราะผู้มีรายได้น้อยย่อมมีโอกาสในการไต่เต้าทางสังคมน้อยด้วย อีกทั้งสถานการณ์ในขณะนี้ คนกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าต่างเชื่อว่ากลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าพยายามปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของตน ดังนั้นการจะเข้าใจปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตลอดจนเข้าใจรากเหง้าปัญหาประชาธิปไตยไทยที่ไม่มั่นคงมาโดยตลอดจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนที่มาของความเหลื่อมล้ำ สมเกียรติ สรุปภาพรวมความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประชากร 20% ที่มีรายได้เกินกว่าครึ่งของจีดีพียังคงมีรายได้สูงกว่าคนจนที่สุด 20% ประมาณ 12-15 เท่าไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อคนจนมีรายได้สูงขึ้น คนรวยก็รายได้สูงขึ้นด้วย เมื่อการกระจายรายได้น้อย มีความเหลื่อมล้ำสูงก็ย่อมมีผลต่อสังคมและการเมืองด้วย ซึ่งในที่นี้สมเกียรติใช้แง่มุมของเศรษฐศาสตร์การเมืองโดยวิเคราะห์ผ่านอุปสงค์และอุปทานของการกระจายรายได้ จากข้อมูลเปรียบเทียบการกระจายรายได้กับการเปรียบเทียบระดับประชาธิปไตยทั่วโลก พบว่า ประชาธิปไตยจะ “เกิดขึ้น” และ “คงอยู่ได้” มากกว่าในประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงและมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน ทั้งยังมีการค้นพบในเชิงประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกาด้วยว่า ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้นั้นเป็นตัวขัดขวางประชาธิปไตย สมเกียรติอธิบายถึงสาเหตุที่ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประชาธิปไตยว่า ในสังคมประชาธิปไตยเมื่อมีการเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่ในสังคมซึ่งรายได้ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยมักต้องการให้รัฐจัดเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูงเพื่อกระจายให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านสวัสดิการหรือการอุดหนุนต่างๆ และผู้ที่จะกำหนดว่าอัตราภาษีและการกระจายรายได้ควรอยู่ระดับใดก็คือ “ผู้ลงคะแนนเสียงมัธยฐาน” หรือ “กลุ่มคนตรงกลาง” พวกเขาจึงตัวแปรสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางประเทศ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนที่มีรายได้น้อยกว่า 6,000 บาทต่อเดือน มีประมาณ 5 ล้านครัวเรือน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 17,600 บาท ขณะที่รายได้ของ “คนตรงกลาง” ของสังคมไทยคือ 10,400 บาท จากการสำรวจยังพบอีกว่า ครัวเรือนตรงกลางนี้มีลูกประมาณ 1 คน 68% อยู่ในเขตชนบท หัวหน้าครัวเรือนมีอายุประมาณ 49 ปี และโดยเฉลี่ยจบเพียงชั้นประถมศึกษา ในจำนวนนี้มีเพียง 17% เท่านั้นที่มีประกันสังคม ในสังคมที่ไม่เสมอภาค จะเห็นโอกาสในการเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของตัวเอง พูดอีกอย่างคือ “คนจน” จะสร้างแรงกดดันทำให้เกิดการเก็บภาษีกับคนมีรายได้สูง สังคมอย่างนี้จะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยได้ยาก หรือเปลี่ยนได้ก็จะรักษาประชาธิปไตยได้ยากเพราะจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนสองกลุ่มใหญ่ สมเกียรติยกตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ หลังจากนั้นเกิดการกระจายรายได้ เกิดนโยบายทางสังคม เกิดการคุ้มครองแรงงาน เกษตรกรและสหภาพแรงงานประท้วงกันมากมาย แล้วก็เกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ขึ้น ซึ่งอธิบายได้ว่า ในสังคมที่เหลื่อมล้ำกันสูง ถ้าเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยที่เมื่อไร จะมีแรงกดดันให้เอาเงินในกระเป๋าคนรายได้สูงไปแจกจ่ายให้คนรายได้ต่ำ คนรายได้สูงก็จะไม่พอใจแล้วผลักดันให้มีการล้มกระดาน แม้ทฤษฎีนี้อธิบายได้ในต่างประเทศที่เป็นประขาธิปไตยที่พอมีการขยายสิทธิในการเลือกตั้งก็จะเกิดการกระจายรายได้มากขึ้น รัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น เก็บภาษีสูงขึ้น มีสวัสดิการมากขึ้น แต่กรณีของไทยมีปัจจัยที่แตกต่าง มีระบบอุปถัมภ์ครอบอีกชั้นเหนือการเลือกตั้งปกติ ถ้าจะมีการลงประชามติ คนอยู่ตรงกลางอาจไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง ถ้าเขาอยู่ในเครือข่ายผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ หรือเจ้าพ่ที่มีฐานะดีกว่าอาจดลบันดาลใจให้เป็นไปตามที่เขาต้องการก็ได้ แต่ในอนาคตเราสามารถทำนายได้ว่า ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะดูจากคนตื่นตัวมากขึ้นของประชาชนก็เหมือนไม่มีทางเลือกอื่น และเมื่อเป็นปะรชาธิปไตยมากขึ้น การกระจายรายได้ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน นี่คือ อุปสงค์ของการกระจายรายได้ ส่วนอุปทานของการกระจายรายได้ก็คือคำถามว่าจะเอาเงินที่ไหนมากระจายรายได้ โดยพื้นฐานแล้วรายได้ของรัฐไทยคือ ภาษีทางตรง 40% และภาษีทางอ้อม 49% สัมปทานและอื่น 1% ซึ่งปัจจัยสำคัญอันหนึ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยคือ รายได้หรือทรัพย์สินที่เป็นเป้าหมายหลักในการเก็บภาษี ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำ การพัฒนาประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะมีแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้ไม่มาก ทำให้ชนชั้นสูงพร้อมจะเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำ มักเป็นประเทศประชาธิปไตยแม้รายได้ต่อหัวไม่สูงนักเช่นอินเดียในปัจจุบัน ขณะที่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงการพัฒนาประชาธิปไตยจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการสร้างความมั่งคั่งจากที่ดินเช่นประเทศเกษตรกรรม เพราะเจ้าที่ดินย่อมไม่ต้องการจัดเก็บภาษีในอัตราสูง ส่วนประเทศที่เหลื่อมล้ำสูงแต่พึ่งพาทุนพาณิชย์หรือทุนการเงิน แรงกดดันให้เกิดการกระจายรายได้นั้นไม่สูงนัก เนื่องจากทุนสามารถเคลื่อนย้ายออกได้ ดังนั้นประเทศกลุ่มนี้จึงพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมาได้แม้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง อีกเรื่องที่สำคัญคือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย สมเกียรติหยิบยกการสำรวจทัศนคติของนักวิจัยจากทีอาร์ไอที่พบว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่าความจน-รวย นั้นมีสาเหตุมาจากการการเกิดมาจนหรือรวย ขณะที่ในทางวิชาการมีหลายสาเหตุทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เป็นธรรม” ไม่ว่าจะความสามารถตามธรรมชาติของคน หรือความไม่เสมอภาคในโอกาส ซึ่งเกิดได้ทั้งจากลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือเกิดจากการกระทำของรัฐ สมเกียรติขยายความว่า รัฐสามารถสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมได้โดยการเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม แทรกแซงตลาด หรือกติกาบางอย่างของรัฐไม่เอื้อต่อการกระจายรายได้ โดยยกตัวอย่างนโยบายของรัฐต่อตลาดแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจประเทศโตขึ้น 50% ใน 20 ปี แต่อัตราค่าจ้าง เพิ่มขึ้นเพียง 2% ขณะที่มีคนอยู่ในระบบการจ้างงานถึง 45% ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุผลที่ผลิตภาพของแรงงานไม่สูงขึ้น รวมทั้งเหตุที่นโยบายของรัฐเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นแรงงานสำรองจำนวนมาก สมเกียรติกล่าวในช่วงท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีการตื่นตัวขึ้นมาก และประชาธิปไตยคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงขอเสนอ 4 ทางเลือกที่อาจเป็นหนทางคลี่คลายในอนาคต โดย 2 ข้อแรกไมมีการกระจายรายได้ ส่วนอีก 2 ทางหลังมีการกระจายรายได้ 1. มีการปฏิวัติประชาชน เหมือนกับที่เกิดใน 14 ต.ค. เป็นหนทางที่มีต้นทุนสูงต่อสังคม เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ เกิดการกระจายรายได้ขนานใหญ่ในสังคมที่ไม่พร้อมปรับเปลี่ยนจะเหมือนกรณี 6 ต.ค.19 2. ทำประเทศให้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยก็จะมีแรงกดดันตลอดเวลา จึงต้องปราบปรามประชาชนไม่ให้เกิดประชาธิปไตย ซึ่งจะมีต้นทุนต่อประเทศสูงมาก และเป็นต้นทุนต่อชนชั้นสูงที่สูงมากด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่น่าจะเป็น คือ 3.มีการกระจายรายได้โดยนโยบายประชานิยม ซึ่งไม่ได้มุ่งสร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง ไม่มีการวางแผนทางการคลัง ไม่มีการวางระบบตรวจสอบทุจริต อนาคตที่อาจตามมาคือ เกิดรัฐประหาร แม้สังคมไทยอาจพูดชัดๆ ไม่ได้ว่าประชานิยมทำให้เกิดรัฐประหาร แต่ก็เป็นข้ออ้างหนึ่งในสมัย คปค. แต่ในละตินอเมริกาแทบทุกประเทศที่ใช้ประชานิยมก็เกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า 4. สวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งมีการวางแผน วางกลไกในการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ มุ่งเป้าหมายสู่คนที่เดือดร้อนจริงๆ ทางเลือกนี้น่าจะดีที่สุด “เราต้องร่วมกันสร้างให้เกิดทางเลือกนี้ มันเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ที่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง และเป็นทางเลือกที่ต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับชนชั้นนำด้วย แต่เขาอาจเลือกแบบประชานิยม เพราะทำได้ง่ายกว่า ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าชนะเลือกตั้งได้ง่ายกว่า ประชานิยมเป็นสิ่งที่ทำแล้วเลิกได้ยากมาก ทั้งยังจะแพร่หลายไปสู่ระดับท้องถิ่นด้วย ... ถ้าเราต้องการปรับสู่ระบบนี้ก็ต้องป้องกันไม่ให้นักการเมืองเอาประชานิยมมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ต้องออกแบบให้พอดี และปรับให้มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” สมเกียรติกล่าว สมเกียรติขยายความเส้นทางในข้อ 4 ว่า อย่างแรก ต้องตั้งหลักให้ได้ว่าระบบสวัสดิการเป็นอย่างไร พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ออกมาในลักษณะสังคมสวัสดิการแท้จริง แต่เป็นประชานิยมสูงมาก ประการที่สอง เมื่อมีการปอภิปรายเรื่องสวัสดิการ ถามว่าต้องเป็นสำหรับประชาชนทุกคนหรือไม่ ประเด็นนี้มีข้อเสนอให้พิจารณาว่า ควรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก สวัสดิการในการลดความเสี่ยง เช่น การตกงาน การบาดเจ็บ เจ็บป่วย ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน น่าจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสวัสดิการถ้วนหน้า อีกประเภทคือ สวัสดิการที่ลดความยากจน จำกัดเฉพาะคนมีรายได้น้อย คนพิการ คนสูงอายุ ประการที่สาม ควรปรับปรุงสวัสดิการให้เป็นธรรมมากขึ้น ลดการอุดหนุนที่ไม่จำเป็น เช่น การประกันการว่างงานในกลุ่มคนลาออกโดยสมัครใจที่ยังได้รับเงินชดเชย ลดการอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้แค่ผู้กู้ กยส. ปรับลดสวัสิดการข้าราชการที่เหมาะสม เป็นต้น ประการที่สี่ ควรกำหนดให้ผู้ได้รับสวัสดิการจากรัฐต้องทำประโยชน์คืนสู่สังคมในบางรูปแบบด้วย ไม่ใช่รัฐต้องให้อย่างเดียว ประการที่ห้า การใช้จ่ายภาครัฐควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมระหวางสวัสดิการกับการลงุทน โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะสวัสดิการโดยธรรมชาติของตัวมันเองเป็นการเอาเงินจากกระเป๋าคนหนึ่งไปสู่กระเป๋าคนหนึ่งซึ่งรวมแล้วมีเม็ดเงินเท่าเดิม ถ้าจะทำให้ระบบไปได้ในระยะยาว รัฐจะลงทุนในสวัสดิการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำใหเกิดการเติบโตในระยะยาวด้วย ประการที่หก ควรปรับเงื่อนไขการลดหย่อนภาระภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มการลดหย่อนการอุปการะบุตร ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางกภาษีของบีโอไอ เป็นต้น ประการที่เจ็ด ขยายฐานภาษีไปผู้ที่ยังไม่ได้จ่ายภาษี แรงกดดันที่จะตกกับเจ้าของที่ดินหรือคนเงินเดือนสูงจะลดลง การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยจะราบรื่นมากขึ้น ประการที่แปด การสร้างหลักประกันด้านการคลัง ให้การใช้จ่ายภาครัฐมีความเหมาะสม ถ้าไม่อยากให้นักการเมืองพาเราไปสู่ระบบประชานิยมที่หยุดไมได้ ต้องสร้างสถาบันทางกรเมือง เช่น มีกฎหมายที่สร้างความโปร่งใสด้านการคลัง ไม่อนุญาตให้เอาหนี้สินภาครัฐไปซุกได้ มีหน่วยงานขึ้นมาช่วยงานรัฐสภาในการพิจารณางบประมาณของรัฐบาล ประการที่เก้า ลดการทุจริตคอรัปชั่น ประการที่สิบ สร้างกติกาทางการเมืองที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้มีรายได้น้อย โดยการสร้างกลไกทางเมืองที่โปร่งใส เช่น มีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลฯ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การทำประชามติได้มาตรฐาน เป็นต้น สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
วิปรัฐบาลชะลอ กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ให้ภาคประชาชนเสนอข้อมูลอีกครั้ง 18 ต.ค. Posted: 14 Oct 2010 04:05 AM PDT คณะกรรมการวิปรัฐบาลได้ให้ข่าวจะชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข อ้างให้กระทรวงสาธารณสุขเคลียร์ทุกฝ่ายให้ลงตัวก่อน วันนี้ (14 ต.ค. 2553) เวลา 12.10 น. ตัวแทนภาคประชาชนได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล โดยมีคุณถวิล ไพรสณฑ์ คณะกรรมการวิปรัฐบาล และ ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมฟังการหารือ โดยตัวแทนประชาชนหนึ่งหมื่นรายชื่อที่เสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขที่เสนอให้ประธานวิปทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อีกทั้งถูกอ้างอิงในการแถลงผลงานการดำเนินนโยบายรัฐบาลมาหลายครั้ง และเสนอให้เดินหน้าพิจารณาให้ทันในสมัยประชุมนี้ โดยนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล ได้เสนอให้ตัวแทนประชาชน จำนวน 8 คน เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการวิปรัฐบาลเพื่อหามติของวิปรัฐบาลอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะเชิญตัวแทนแพทย์ที่มีความเห็นต่างเข้าร่วมประชุมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงข่าวภายหลังการเข้าหารือกับประธานวิปว่า พวกเราหวังที่จะเห็นตัวแทนแพทย์ที่คัดค้านจะเข้าร่วมประชุมด้วยในวันจันทร์นี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันและสนับสนุนให้สามารถเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาแพทย์ที่คัดค้าน ยังไม่เคยบอกกับสาธารณชนว่า จะให้มีการแก้ไขอย่างไรในประเด็นสำคัญของกฎหมาย เช่น ความหมายของความเสียหายตามาตรา 5 และ 6 หรือคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบวิชาชีพในสัดส่วนที่เป็นธรรมกับประชาชนหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นต้น พร้อมยืนยันกฎหมายฉบับนี้ทุกคนได้ประโยชน์ และคาดว่าจะมีการงบประมาณจำนวน 530 ล้านบาทในปีที่ 1 จากการคาดการณ์ของนักวิชาการที่ได้เสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มากในระดับหมื่นล้านบาทอย่างที่ฝ่ายคัดค้านได้เสนอ พร้อมยืนยันโรงพยาบาลรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งรัฐจ่ายสมทบ และให้กระทรวงสาธารณสุข สอบถามแพทย์ที่คัดค้านจากสถานพยาบาลของรัฐคัดค้านเพราะอะไร หากไม่ใช่รักษาผลประโยชน์โรงพยาบาลเอกชน สำหรับตัวแทนประชาชนหนึ่งหมื่นรายชื่อที่เสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขที่เข้าพบประธานวิปฯ วันนี้ ประกอบไปด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก, ภญ.ชโลม เกตุจินดา สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา, นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล มูลนิธิพะเยากับการพัฒนา, นางสาวแววดาว เขียวเกษม และนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
TDRI เตือนผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิ์ FTA และปรับตัวให้ทันเกมการค้าโลก Posted: 14 Oct 2010 02:19 AM PDT ผลวิจัยชี้ ผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA น้อย ในขณะที่เม็ดเงินจากภาษีที่สามารถประหยัดได้เมื่อมีการใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ให้ทันเกมการค้าระหว่างประเทศ ที่ยกเอาบริบทแวดล้อมกระบวนการผลิตสินค้ามากีดกันการค้า เช่น เรื่องกฎแหล่งกำเนิด สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ฯลฯ หลายประเทศตื่นตัวในเรื่องนี้แต่ในภาพรวมไทยยังช้า ทีดีอาร์ไอวิจัยต่อช่วยผู้ประกอบการปรับตัว
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิจัยโครงการการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เปิดเผยว่า จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ โดยใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยย้อนหลังไป 19 ปี พบว่า ในภาพรวม FTA ทุกฉบับที่ไทยลงนามไปนั้นส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ต่าง ๆ ของไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ โดยในปี 2552 ผู้ประกอบการภาคส่งออกของไทยมีอัตราการใช้สิทธิฯ 52% ซึ่งทำให้ไทยสามารถประหยัดภาษีได้ราว 7.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หากมีการใช้สิทธิ์เต็มที่ 100% ภาคส่งออกไทยจะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 1.3 แสนล้านบาท ด้านผู้ประกอบการภาคนำเข้ามีอัตราการใช้สิทธิฯเพียง 37% ซึ่งสามารถประหยัดภาษีได้ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยหากมีการเก็บเกี่ยวประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้นำเข้าสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 5.3 หมื่นล้านบาท สาเหตุของการใช้สิทธิประโยชน์น้อยส่วนหนึ่งเกิดจากแต้มต่อทางภาษีภายใต้ FTA ที่ยังไม่จูงใจพอเมื่อเทียบกับต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้ FTA แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนในการขอใช้สิทธิประโยชน์ โดยหากเราสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้ ภาษีที่ภาคส่งออกและนำเข้าของไทยจะสามารถประหยัดได้จะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าจากที่เป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถเข้าถึงและเกี่ยวเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างแท้จริง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ข้อมูล คำปรึกษา รวมทั้งจัดทำคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในประเด็นต่าง ๆ เช่น อัตราภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงต่าง ๆ แยกตามรายประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ประโยชน์จาก FTA ฉบับใด การเผยแพร่ตารางการลดภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของทั้งไทยและประเทศภาคีตามรหัสพิกัดศุลกากร HS 2007 และ HS 2012 การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขอใช้สิทธิประโยชน์ผ่านช่องทางปกติและทางอินเทอร์เน็ต การใช้ระบบการขอให้หน่วยงานศุลกากรพิจารณาล่วงหน้า (advanced ruling) สำหรับการตรวจสอบพิกัดอัตราศุลกากร อัตราศุลกากร และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อลดปัญหาการตีความพิกัดศุลกากรไม่ตรงกันระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานศุลกากร ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดาวน์โหลดผลการศึกษาที่ได้ระบุสินค้าที่มีการใช้ประโยชน์จาก FTA มากที่สุดใน 30 อันดับแรก และสินค้าที่มีการใช้สิทธิประโยชน์น้อยที่สุดใน 30 อันดับสุดท้าย ได้จาก http://www.tdri.or.th/th/pdf/util_productSummary.pdf นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักนอกเหนือจากเรื่องของการลดภาษีภายใต้ FTA คือ ในปัจจุบัน มีการนำบริบทแวดล้อมของกระบวนการผลิตมาเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้า เช่น การให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม กฎแหล่งกำเนิด มาตรฐานการผลิต มาตรฐานสุขอนามัย ฯลฯ ซึ่งเป็นเกมเจรจาทางการค้าที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันและจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน “ประเทศที่มีการปรับตัวอย่างน่าสนใจในเอเชีย เช่น เกาหลี ซึ่งมีการกำหนดแผนดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการปรับปรุงการผลิตให้เป็นแบบ green supply chain ในการผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้สินค้าเขาขายไปได้ทั่วโลก ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวในเรื่องนี้ หากประเทศไทยยังขยับตัวช้า ก็อาจพลาดโอกาสทางการค้าที่ควรได้ไปอย่างน่าเสียดาย” ดร.เชษฐา ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้คณะผู้วิจัยกำลังทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทยใน 12 สาขา ภายหลังจากที่ FTA ต่าง ๆ ของไทยมีผลบังคับใช้ เพื่อให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคการผลิตไทย ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าอุตสาหกรรมใดได้หรือเสียประโยชน์จาก FTA ฉบับต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างไร ผลของการศึกษานี้จะทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถมีข้อมูลล่วงหน้าที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรม วางแผนรับมือเกมการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ. สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
'เพื่อไทย' ออกแถลงการณ์ยันไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด Posted: 14 Oct 2010 01:09 AM PDT 14 ต.ค. 2553 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ประณามเหตุระเบิดว่าเป็นการสร้างข่าวทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ร้องรัฐบาลแสดงศักยภาพในการปราบปราม สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้
ตามที่เกิดเหตุการณ์วางระเบิดเกิดขึ้นทั่วไปทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการให้ข่าวจากฝ่ายรัฐบาลว่าจะมีการวางระเบิดและสร้างสถานการณ์ป่วน เมืองไปจนถึงสิ้นปี พรรคเพื่อไทยขอแถลงว่า 1. การวางระเบิดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ จะต้องเร่งรีบสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ แทนที่จะสร้างข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม 2. รัฐบาลจะต้องแสดงศักยภาพในการปราบปรามและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอีก เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เพราะหากไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ก็จะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ซ้ำๆ เพิ่มขึ้นอีก 3. พรรคเพื่อไทยขอประณามการสร้างสถานการณ์วางระเบิดป่วนเมืองและแสดงความไม่เห็น ด้วยในการใช้ความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง 4. พรรคเพื่อไทยขอสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด เท่าเทียม และเป็นธรรมต่อผู้กระทำความผิดต่อไป 5. รัฐบาลจะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และขจัดเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกในสังคมให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว พรรคเพื่อไทย 14 ตุลาคม 2553
ที่มา - เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สัมภาษณ์ เดวิด สเตร็คฟัส ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นฯ และสังคมการเมืองไทย Posted: 14 Oct 2010 12:16 AM PDT
เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฎ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ และสังคมการเมืองไทย
1. ประวิตร: คนจำนวนมากที่สนับสนุนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ จึงควรมีกฎหมายหมิ่นฯ มาปกป้องคุ้มครอง คุณเห็นว่าอย่างไร 2. คนไทยจำนวนหนึ่งอ้างว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจ และไม่สามารถเข้าใจสังคมไทยได้ หนังสือของคุณเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการวาดภาพสังคมไทย โดย “ฝรั่ง” ผู้เป็นคนนอกและผู้ไม่รู้หรือไม่ 3. หลายทศวรรษที่แล้ว สื่อกระแสหลักไทยเคยรายงานและเขียนข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าทันและวิพากษ์ มาวันนี้สื่อเหล่านี้เซ็นเซอร์ตนเอง แม้กระทั่งในเรื่องที่มีนัยยะเชิงวิพากษ์เพียงเล็กน้อย โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวง คุณจะอธิบายประกฎการณ์นี้ได้อย่างไร 4. ทำไมสังคมไทยจึงดูเหมือนไม่สามารถหาฉันทามติเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ได้ สังคมไทยยังคงเดินหน้าตราหน้าผู้เห็นต่างว่าเป็นปีศาจอย่างที่มันได้เคยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาในอดีต และคนไทยก็ถูกแบ่งเป็นผู้รักชาติ และคนขายชาติ 5. พวกเจ้านิยมจำนวนหนึ่งเชื่อว่า หากปราศจากกฎหมายหมิ่นฯ สถาบันกษัตริย์จะสั่นคลอน ความกังวลเช่นนี้มีเหตุผลมากน้อยเพียงใด 6. มีอะไรที่พิเศษเกี่ยวกับการจับกุม จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ด้วยกฎหมายหมิ่นฯ เมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ 7. เมื่อพิจารณาถึงพระชนมพรรษาที่สูงของในหลวง และความกังวลเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ และวิกฤติการเมืองในปัจุบัน คุณคิดว่า จะมีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 8. ในหนังสือคุณเสนอว่า ชนชั้นนำไทย ได้แช่แข็งหรือฟอสซิลวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในยุคตำนานปรัมปรา ทำไมพวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้น ประวัติศาสตร์ไทยถูกแช่แข็งไร้การเปลี่ยนแปลง ตกอยู่ในภาวะที่เหมือนอยู่ในละครน้ำเน่าที่ถูกฉายซ้ำซากประกอบด้วยตัวละครคนดีและคนชั่ว สภาพเช่นนี้แหละที่กฎหมายหมิ่นหลายชนิด – ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีบทบาทสำคัญยิ่ง และนำไปสู่การถดถอยของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ตอนที่รัฐธรรมนูญ 2540 กระตุ้นให้กงล้อประวัติศาสตร์ไทยเคลื่อน กลุ่มอำนาจเก่าก็ออกมาแช่แข็งประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่ โดยการสนับสนุนรัฐประหาร [19 กันยา] 2549 แต่ทว่า เราก็ได้รับรู้หลังจากนั้นว่า รัฐประหาร 19 กันยาเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ยอมลืมและไม่ยอมรับ จะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นเรื่องที่ดูแล้วพอมีความหวัง การชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น การให้อภัยย่อมเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดหลังจากความจริงได้ถูกเปิดเผย และผู้บงการสังหารได้ถูกชี้ตัว และคนไทยได้มีโอกาสเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ – ไม่ว่าจะเป็นกรณีดุซุงยอ กรณี 6 ตุลา [2519] พฤษภาทมิฬ ตากใบ หรือกรณี เมษา- พฤษภา 2553 การนิรโทษกรรมไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่า การล้มล้างรัฐบาลพลเรือนโดยการก่อรัฐประหาร หรือการยิงประชาชนผู้ปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ในประเทศอื่น ประชาชนได้ผลักดันให้มีการสร้างความกระจ่างต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงโดยปราศจากความรับผิดชอบ กฎหมายหมิ่นฯ และกฎหมายหมิ่นรูปแบบอื่นได้ทำให้สาธารณะไม่สามารถเริ่มกระบวนการที่จะทำให้ประวัติศาสตร์กระจ่างขึ้นได้ 9. กฎหมายหมิ่นฯ เกี่ยวข้องกับการสร้างวาทกรรมหลักเรื่องความเป็นไทยหรือไม่ 10. อะไรที่คุณค้นพบระหว่างการทำวิจัยเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วทำให้คุณแปลกใจที่สุด 11. หนังสือคุณจะถูกห้ามขายในเมืองไทยหรือไม่
---------
........................................................... สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
นักสื่อสารแรงงาน: คนงาน PCB ร้องแรงงาน จ.ชลบุรี นายจ้างเบี้ยวค่าแรงหลังปิดกิจการ Posted: 13 Oct 2010 11:10 PM PDT คนงาน PCB ทุกข์หนักร้องแรงงานจังหวัดชุลบุรี เหตุนายจ้างเบี้ยวค่าแรงหลังปิดกิจการเพราะโรงงานระเบิด
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 53 ที่ผ่านมาเว็บไซต์นักสื่อสารแรงงานรายงานว่าพนักงานบริษัท พีซีบี เซนเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่นิคมฯอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เลขที่ 684-685 ถ.สุขาภิบาล 8 หมู่ 11 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผลิตแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ มีพนักงาน 400 กว่าคน ได้รวมตัวกันกว่า 100 คน ที่สำนักงานคณะทำงานกลุ่มแรงงานแหลมฉบังสัมพันธ์ ก่อนทำหนังสือคำร้อง (คร7.) เพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าจ้างหลังจากที่บริษัทจ่ายไม่ตรงตามกำหนดมากว่า 2 เดือนแล้วและล่าสุดกำหนดจ่ายภายในวันที่ 28 กันยายน 2553 แต่จนถึงขณะนี้ทุกคนก็ยังไม่ได้รับค่าจ้าง จึงได้รวมตัวกันเรียกร้องพร้อมปักหลักประท้วงอยู่หน้าโรงงานร้องให้บริษัทรับผิดชอบ ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 21.30 น.บริษัท พีซีบี เซนเตอร์ เครื่องจักรได้เกิดระเบิดอย่างรุนแรงและเกิดเพลิงลุกไหม้ ส่งผลให้พนักงานที่อยู่ในที่เกิดเหตุได้รับบาดเจ็บทันทีกว่า 20 ราย สาหัส 6 ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ภายหลังทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิต 3 ราย เป็นผลให้บริษัทต้องปิดกิจการลงชั่วคราว หนึ่งในพนักงานบริษัทดังกล่าวซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดเปิดเผยว่า เราทำงานมาหลายปี หลังจากที่บริษัทได้ปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุระเบิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมานั้น ตอนนี้พวกเราได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการจ่ายค่าจ้างที่ไม่ตรงเวลา ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายทุกวันที่ 28 ของทุกเดือน แต่ถึงขณะนี้ทุกคนยังไม่ได้รับเงินเดือนเลย และในส่วนตนเองได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะอายุก็มากแล้ว การที่จะหางานใหม่ทำเพื่อรองรับระหว่างที่รอความชัดเจนจากบริษัทว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นก็เป็นการยาก ไม่เหมือนคนที่อายุน้อยพวกเขาสามารถหางานทำได้ง่าย พวกเรามีภาระต้องใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าห้องหรือต้องเลี้ยงครอบครัว แต่พอถึงสิ้นเดือนเงินเดือนกลับไม่ได้รับทำให้ยิ่งเดือดร้อนหนักเข้าไปอีก พนักงานยังกล่าวต่ออีกว่า พวกเราต้องการความชัดเจนจากบริษัทว่าจะดำการอย่างไร จะเปิดกิจการต่อหรือปิดกิจการ ก็ให้แจ้งพวกเราหรือไม่ก็มีเงินให้พวกเราสักก้อนหนึ่งเพื่อใช้เป็นทุนหากต้องออกจากงาน คนงานกลุ่มดังกล่าวยังคงประท้วงอยู่หน้าโรงงานตั้งแต่ช่วงบ่าย โดยมีกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกร่วมให้กำลังใจ ซึ่งในเวลาต่อมามีการเจรจาขึ้นโดยตัวแทนพนักงาน ตัวแทนบริษัท และเจ้าหน้าที่แรงงาน จนกระทั่งจนถึงเวลาประมาณ 22.00 จึงยุติการชุมนุม
ที่มาข่าว: คนงาน PCB ทุกข์หนักร้องแรงงานจังหวัด นายจ้างเบี้ยวค่าแรงหลังปิดกิจการเพราะเหตุโรงงานระเบิด (นักสื่อสารแรงงานภาคตะวันออก, 13-10-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | ||||
สร้อยแก้ว คำมาลา : ละครโรงหนึ่ง ตอน 5 "เก้าอี้" Posted: 13 Oct 2010 10:44 PM PDT
ลูกรัก ค่ำแล้ว ลูกสนุกสนานกลางทุ่งหญ้าพอหรือยังนะ ฟ้าค่ำยังติดใจเสียงหัวเราะของลูกอยู่หรือ? จึงยึดยื้อมือหนูไว้พร้อมเว้าวอน เล่นด้วยกันก่อนนะ เล่นด้วยกันก่อน ลูกถึงหัวเราะคิกคัก เมินเสียงเรียกของแม่ และวิ่งถลาไปหาฟ้ากว้างข้างหน้า แม้สนธยามาเยือน สีแดงสุกปลั่งได้เลือนหายกลายเป็นม่วงคล้ำอมเทา กระนั้น แสงสุดท้ายยังอาบตัวหนูงดงาม และเพียงพอต่อสายตาแม่ให้ตรวจทานถ้อยความงานเขียนอย่างไม่เร่งร้อน หลายวันผ่านมาแม่กวาดเก็บเวลาเล็กๆ น้อยๆ ที่เหลือจากการดูแลลูกมาปะชุนงานเขียนที่กระท่อนกระแท่น คล้ายไม่ปะติดปะต่อ คล้ายผ้าคนละผืน เอามาเย็บเข้าด้วยกัน แม้รู้ทั้งรู้ว่าในสายตานักนักนิยมผ้าสวยเนื้อดี แม่อาจถูกตำหนิมากมาย แต่ ณ เวลานี้ แม่กลับไม่ได้คิดถึงความสวยงามมากไปกว่าประโยชน์ใช้สอย แม่หวังเพียงผืนผ้าของแม่จะมีไว้ใช้สำหรับห่มกันหนาว ในขณะที่ค่ำคืนใกล้มาเยือนเต็มทีแล้ว ลูกรัก นี่ไม่ใช่ค่ำคืนอันปกติ บ้านเมืองเราบัดนี้ ยามค่ำคืนมีหิมะตกจัด ยามทิวาวารมีเมฆเทียมบดบัง ท้องฟ้าไม่แจ่มใส แต่เราแสร้งทำเป็นว่าอากาศดี รอบตัวเรามีแต่คนหัวเราะ หัวเราะแล้วหัวเราะอีก ทว่าเมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ เราก็พบว่าจริงแล้วเขาไม่ใช่คนแท้ๆ หากเป็นเก้าอี้ตัวหนึ่งเท่านั้น เก้าอี้สีแดง สีเหลือง สีฟ้า ที่มันล่องไหลไปในแม่น้ำวัลทาวา สาธารณรัฐเช็ก นักเขียนอย่างมิลาน คุนเดอรา ทำแม่สะเทือนใจกับฉากนี้มานับสิบปีแล้ว ปี ค.ศ.1948 ประเทศสาธารณรัฐเช็กถูกยึดอำนาจจากทหารรัสเซีย ขบวนรถถัง กำปั้นชูข่มขู่ บ้านเรือนถูกทำลาย ซากศพที่คลุมด้วยธงชาติ ประชากรเช็กต่างเงียบงันกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนรู้ดีว่าอำนาจที่ดำเนินไปยิ่งใหญ่เกินกว่าตนจะทำอะไรได้ นอกจากรู้สึกโศกเศร้าแล้ว พวกเขาได้แต่กัดกินใจตนเองอย่างรวดร้าว เทเรซาตระหนักถึงความสูญเสียอิสรภาพครั้งนี้ด้วยภาพที่เห็น เก้าอี้สีแดง สีเหลือง สีฟ้า ล่องลอยไปตามแม่น้ำวัลทาวา พลันเธอรู้สึกโศกเศร้าจับขั้วหัวใจ และหยั่งรู้ในสิ่งที่เห็น ว่านั่นคือการอำลา แม่จดจำถ้อยคำและภาพเหล่านี้ได้ไม่ลืมเลือน ความประทับใจจำนวนไม่น้อยในชีวิตคนเรา มักเป็นเรื่องสะเทือนใจเช่นนี้แหละ ลูกรัก และแม่ก็ไม่ลืมคนไทยอีกหลายๆ คนที่พวกเขาหมกตัวอย่างเงียบเชียบในความพ่ายแพ้อาดูร หมองไหม้ บัดนี้ แม้เวลาจะล่วงผ่านกว่าสามเดือนล่วงเข้าสี่เดือน ความเศร้าเสียใจอาจเจือจาง แต่อิสรภาพของเราไม่ต่างอะไรจากเก้าอี้ที่ลอยเท้งเต้งในแม่น้ำ ที่นั่ง ที่อยู่ ที่ยืน ของเรา ได้หลุดลับหาย ทั้งที่โลกนี้ได้ล่วงเดินทางไปไกลแล้ว และพลเมืองไทยก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายกว่าที่ใครๆ จะเข้าใจแล้ว แม่ทึ่งในความรู้ของชายซ่อมรถซึ่งจบแค่ชั้น ป.7 แต่เขามีคอมพิวเตอร์ เขาใช้อินเตอร์เน็ตเป็น เพียงเท่านี้ โลกก็ปิดกั้นความรู้ของเขาไม่ได้แล้ว บางที เขาอาจมีความรู้ดียิ่งกว่าคนเป็นด็อกเตอร์หลายๆ คนด้วยซ้ำ ถ้าด็อกเตอร์คนนั้นไม่ใช่คนรักการอ่าน หากเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาที่ตนเองเรียนเท่านั้น แม่จึงพยายามจะกู่ร้อง จะขับขาน ถึงถ้อยความของพวกเขาว่าพวกเขาเป็นใคร คิดอะไร เรื่องราว ถ้อยคำ ของพวกเขาจึงเป็นเสมือนดั่งเศษผ้าวิ่นแหว่งที่แม่นำมาปะติดปะต่อ เพื่อจะวอนขอต่อแผงขายผ้าในตลาดว่าจะยินดีรับซื้อหรือไม่ บ้านเมืองเรากำลังวิกฤติ สถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ปกติ รับผ้าของฉันไว้จำหน่ายสักหน่อยไหม เพื่อคนจะได้ใช้ห่มกันหนาว แม้อาจไม่แก้หนาวได้มากมาย แต่อย่างน้อยคงพอเป็นทางเลือกหนึ่งในยามยากไร้ได้ ลูกรักของแม่ ขอลูกจงจำเอาไว้ เมื่อสนธยามาเยือน นั่นคือจุดเริ่มต้นของคืนมืดมิด และเราจะต้องใช้เวลาอีกเนิ่นยาวกว่าจะผ่านหนึ่งคืนอันเหน็บหนาวไปได้ แต่... ลูกแม่จ๋า ถ้าเราเตรียมตัวไว้ดี เราจะผ่านมันไปได้ เราจะไม่เป็นไร และเราจะเฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เหน็บหนาวที่สุด มืดมิดที่สุดไปพร้อมๆ กัน เพื่อรอแสงแห่งรุ่งอรุณที่เรืองอุไรที่สุด หลายวันหลายเพลา ที่เราสามพ่อแม่ลูก ตระเวนตามหาคนกลุ่มใหญ่ที่เคยรวมกลุ่มเรือนแสนในเมืองหลวง บัดนี้ เมื่อบนท้องถนนที่พวกเขาเคยอยู่พลันสะอาดสะอ้าน และพวกเขาก็อันตรธานหายราวกับไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง แม่สงสัยว่าพวกเขาหายไปหนอ พวกเขาเป็นซินเดอเรลล่าที่ต้องผละจากงานเต้นรำเมื่อเวลาเที่ยงคืนมาถึงแล้วรีบระเห็จออกจากมหาราชวังอันโอ่โถงเพื่อคืนสู่กระท่อมซอมซ่อปลายนา กลับไปยอมรับความจริงให้แม่เลี้ยงที่โกงชะตาชีวิต ทรัพย์สิน และกลั่นแกล้งต่างๆ นานา อย่างยอมจำนน หรือพวกเขาเป็นนางไม้พรายน้ำที่เด็กหญิงขันทองมองเห็น เธอและเขาออกมาร้องรำทำเพลงชั่วข้ามคืน ครั้นรุ่งเช้าก็เหลือทิ้งไว้เพียงกระเช้าสีดาให้นางไม้ผู้น่าสงสารเก็บเพียงลำพัง หรือพวกเขาจะเป็นเพียง... เพียงนาฬิกาความฝัน มีอยู่จริงได้ก็ยามในสังคมเราหลับใหล จึงเข้ามาปลุกเร้าจินตนาการสังคมใหม่ เขย่าแขนข้างที่อ่อนแรงจนหลงคิดว่าเป็นอัมพาตมาชั่วหลายสิบปีว่า แท้จริง มันยังใช้การได้ดีอยู่ “ตื่น ตื่น ตื่น เถิด เพื่อนเอ๋ย อย่าละเลยพลังมวลชน อย่าคิดว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อย อย่าคอยแต่เชื่อว่าเราต่ำต้อย” หรือใช่ พวกเขาเป็นเพียงนาฬิกาความฝัน เมื่อสังคมไทยลืมตาตื่น ตัวตนของพวกเขาก็เลือนหาย เสียงของพวกเขาก็ไม่มี จอโทรทัศน์ ข่าวสารหน้าหนังสือพิมพ์ เสียงเล่าเสียงลือในโลกอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ปราศพวกเขาสิ้น ลูกจ๋า จำได้ไหม หญิงวัยกลางคนผิวหยาบกรำกร้าน ผ่ากล้วยสุกเป็นสี่ซีก แล้วชุบแป้ง หย่อนลงทอดในกระทะน้ำมันร้อนๆ เธอถามแม่ว่า จะมาคุยกับเธอทำไม ถ้าจะเอาลงหนังสือห้ามลงชื่อนะ นี่ กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งหนังสือมาให้ฉัน แค่ฉันเคยให้สัมภาษณ์ลงในหน้าหนังสือนิดเดียว พวกเขาก็เรียกตัวฉันไปแล้ว นี่ นี่ จดหมาย ดูซะ อยู่ตั้งทุ่งสองห้อง ใครมันจะไปได้ นี่ลูกชายเห็นก็วิตก บอกแม่หลายครั้งแล้วว่าอย่าไปให้สัมภาษณ์ แม่ก็ไม่ฟัง เธอเอาจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษให้แม่ดู แม่ยืนยันการไม่มีตัวตนของเธออีกครั้งด้วยการตอบว่า ค่ะ ค่ะ ป้า ป้าไม่มีตัวตนจริงๆ สำหรับประเทศนี้ ป้าพูดอะไรออกไปไม่ได้แม้ว่าจะเป็นความจริง ป้าเรียกร้องความเป็นธรรมเช่นเดียวกับนางซินเดอเรลล่าไม่ได้ ตราบเท่าที่เจ้าชายไม่ส่งอำมาตย์คนสำคัญมาถึงกระท่อม เพื่อเชิญตัวเข้าไปในมหานครด้วยท่าทีนอบน้อม แม้บ้านและสมบัติจะเป็นของเธอ แม้สิทธิอันชอบธรรมที่จะได้อยู่ดีกินดีจะเป็นของเธอ แต่ใครเล่าจะช่วยเธอได้ ในหมู่บ้านตีนเขา (แม่ยังจำได้ว่า เมื่อแม่ชี้ภูเขาไกล ลูกก็ชี้ตาม จนเป็นที่ขบขันของเรา ว่าลูกรู้เรื่องด้วยหรือว่าแม่หมายถึงอะไร) แทนที่แม่จะเป็นฝ่ายซักถาม แต่กลับกลายเป็นว่าแม่ถูกพวกเขารุมซักถามนานกว่าชั่วโมง กว่าพวกเขาจะวางใจได้ว่าแม่ไม่ได้เป็นคนของรัฐเข้ามา พวกเขากลัวอะไรกับรัฐบาลของพวกเขามากมายขนาดนี้ พวกเขาหวาดหวั่นราวกับแผ่นดินนี้ไม่ใช่ประเทศของเขา นี่มันอะไรกัน? อาจเป็นโชคดี ที่แม่ได้พ่อซึ่งเข้าใจงานของแม่ ที่คอยติดตามดูแลทั้งแม่และลูก จึงทำให้แม่ไม่โดดเดี่ยวต่อความกังขาและการป้องกันตัวเองอย่างสูงจากพวกเขา และคงเป็นความโชคดีของแม่ ที่ความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาของลูก ช่วยทำให้แม่ได้รับความไว้วางใจเร็วขึ้น แม่ยังจำได้ ป้าคนหนึ่งถามว่า ทำมาหากินอะไร แม่ตอบว่า เป็นนักเขียน เพียงเท่านั้น หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อแม่ขอสัมภาษณ์ เธอก็ติดต่อใครต่อใครให้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า สงสารแม่ ถ้าแม่ไม่เขียน แม่ก็ไม่มีเงิน ลูกแม่จ๋า นี่เป็นการสะท้อนกลับของสิ่งที่เรียกว่า มายาคติ แต่ไหนแต่ไร คนดีในทัศนะหนึ่งมักมองคนจนด้วยท่าทีที่มีเมตตา ทุกครั้งที่แสดงความเห็นใจ เรามักรู้สึกไปเองโดยอัตโนมัติว่า เรากำลังให้การช่วยเหลือ แม่เองก็ไม่เว้น แม่อยู่ในข่ายนี้ด้วย แม่คิดโดยกลไกการเรียนรู้ตลอดชีวิตก่อให้เกิดปุ่มเมตตาในสารระบบของแม่ เมื่อแม่บอกว่าจะต้องเอาความคิดเห็นของเขาออกมาให้ได้ จะต้องทำให้พวกเขามีตัวตนในสังคมนี้ ประเทศนี้ให้ได้ – กลไกมโนธรรมอัตโนมัติบอกแม่ว่า แม่กำลังช่วยเหลือพวกเขา แม่มาอึ้งเอา ตอนที่ป้าขายกล้วยทอดพูดกับแม่ “ที่ยอมให้สัมภาษณ์นี่เพราะสงสารนะ” ชั่วขณะนั้นที่แม่อั้นอึ้ง ทำหน้าไม่ถูก แม่ก็ค่อยคลี่คลาย ปลดอัตตาตัวตนออก ใช่สินะ .... โนโลกนี้ ประเทศนี้ มีคนได้ดีดรีด็อกเตอร์ ศาสตราจารย์ ได้ความเติบโตทางการงานจากการร่วมลงไปแลกเปลี่ยนการเมืองบนท้องถนนมามากมายแล้ว ในระหว่างความเมตตาที่พวกเขาหยิบยื่นให้คนจน สถานะความจนอันแข็งแรงของพลเมืองประเทศก็ก่อฐานวิชาการให้เขายืนอยู่อย่างแข็งแรง หนาแน่น กว้างขวางขึ้น ความเมตตาของพวกเขาไม่เคยไม่ได้รับกลับ แม่กำลังใคร่ครวญว่ามีใครบ้างที่อุทิศตนให้กับสังคมและหมกไหม้ไปโดยไม่อาจอยู่ดีกินดีในชั่วชีวิตนี้ พวกเขาเหล่านั้นมีอยู่ ..... ฟ้าพลบแล้วสิ เอกสารของแม่วางอยู่บนหน้าตัก ในความครุ่นคำนึงยาวไกล แม่รู้ว่าถึงเวลาต้องยุติการปะชุนเศษผ้าของแม่แล้ว จับมือแม่ไว้ให้อบอุ่น เราจะฝ่าข้ามคืนมืดมิดนี้ไปด้วยกัน อย่ากลัวเลยนะ ลูกรัก ขอเพียงเราจดจำตำแหน่งแห่งที่ว่าอะไรอยู่ตรงไหนในยามวันสว่าง มีสติตั้งมั่นให้ดี เพราะข้อมูลความรู้ที่เป็นความจริงจะช่วยป้องกันความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตของเรา เราจะเผลอทำร้ายคนอื่นน้อยลง เราจะเลือกทำสิ่งต่างๆ บนหลักการของเราได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ แม้กินไม่ได้ แต่มันสำคัญสำหรับชีวิตซึ่งมีวิญญาณที่ดีดำรงอยู่ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น