ประชาไท | Prachatai3.info |
- อานนท์ นำภา:รูปที่แขวนบนผนังยังเหมือนเดิม
- 30บาทรักษาทุกโรค“หมอไม่ชอบแต่คนจนชอบ”
- ภูมิปัญญาของเทวดาผู้ทรงคุณธรรมคืออุปสรรคของประชาธิปไตย
- ไม้หนึ่ง ก.กุนที:สายน้ำร้ายต้องผ่านไป เช่นเดียวกับยุคสมัยทรราชย์
อานนท์ นำภา:รูปที่แขวนบนผนังยังเหมือนเดิม Posted: 24 Oct 2010 03:35 AM PDT ฟ้าสูง ดินต่ำ คำคน แค้นข้น คำข้าว มิกลืนได้ มืดดำ ข้าวตอก ดอกไม้ ชดใช้ เท่าไหร่ ไม่เคยพอ เสียงเขา ดังก้อง ขุนเขา เสียงเรา เขาฟัง แล้วหัวร่อ กำหมัด ชุ่มเหงื่อ เรื่อคอ ไม่ขอ มีรัก ภักดี จำจากเจ้า จอมใจ อาลัยรัก หนุนตัก พ่อเถิดหนา แม่ยาหยี พ่อต้อง ไปเพื่อ สิทธิเสรี พรุ่งนี้ แล้วหนา ต้องจากกัน ตัวเล็ก อย่าดื้อ ถือดี ว่ามี พี่คอย ปอปั้น ขนม ข้าวปลา แบ่งปัน ช่วยแม่ ขยัน ทำงาน กุมมือ เมียแก้ว แล้วลา รอพี่ กลับมา ที่บ้าน เพื่อประชา- ธิปไตย ไม่นาน เสร็จการณ์ พี่จะกลับ นะกลอยใจ สวมเสื้อแดง ออกเดิน เผชิญโชค มือโบก ฝากคำ ร่ำไห้ คิดถึง มองรูป พ่อไว้ ขอพร โพยภัย ให้ผ่านพ้น จากวัน เป็นเดือน เป็นปี ดูข่าว ทีวี แสนสับสน ทหารล้อม บอกมิใช่ ประชาชน แต่เป็นคน ชั่วร้าย ก่อการร้าย ! กระแสธาร เสื้อแดง ยิ่งแข็งกร้าว กระแสข่าว จะยิงกราด ไม่ขาดสาย กระสุนปืน สไนเปอร์ ล้วนเล็งลาย กลิ่นความตาย ฟุ้งตลบ กลบกลางกรุง ชะแง้คอ รอคอย ละห้อยหา หอมข้าวใหม่ โชยมา จากหม้อหุง วันแล้ว วันเล่า เฝ้าปรุง ผักบุ้ง ทอดยอด ล่วงเลย... กราบรูปพ่อ ขอพร ก่อนหลับตา รูปยังยิ้ม พิมพ์หน้า ดูผ่าเผย แม้ขาดพ่อ เคียงข้าง เหมือนอย่างเคย ลมรำเพย ยังพัดคำ พ่อพร่ำไว้ เย็นย่ำ ค่ำยาม น้ำค้างย้อย ลูกน้อย คอยถาม พ่ออยู่ใหน ? โอ๋อย่าร้อง น้องจะตื่น นะดวงใจ พ่อลูกไป เป็นมหา ประชาชน พรุ่งนี้ พ่อจะกลับ มารับขวัญ หลับฝัน เถิดหนา อย่าสับสน หนุนแขนแม่ ต่างหมอน นะหน้ามล อย่าซน เลยเจ้า จงฟัง... ลมกระพือ ปีกพัด พลันดาวตก สั่นสะทก ถนนเถื่อน เกลื่อนรถถัง เสียงปืนเปรี้ยง ระดมยิง ด้วยชิงชัง รูปที่แขวน บนผนัง ยังเหมือนเดิม ! : มอบบทกวีนี้แด่พ่อเสื้อแดงทุกคน อานนท์ นำภา 24 ตุลาคม 2553
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
30บาทรักษาทุกโรค“หมอไม่ชอบแต่คนจนชอบ” Posted: 24 Oct 2010 02:31 AM PDT ผมเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตุการณ์กับคณะกรรมการส่งเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ไป 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553และวันที่ 15 ตุลาคม 2553 ที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตั้งใจที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ กับเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องกฏหมายนี้มาอย่างยาวนานด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ การประชุมครั้งแรก ผมจับประเด็นเนื้อหาอะไรได้ไม่มากนัก แต่ก็ได้พบเห็นแพทย์คนหนึ่งนำชาวบ้านเกือบ 10คน เข้ามาป่วนที่ประชุม ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวพาดพิงกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเชิงตำหนิติเตียน ทั้งในแง่เนื้อหาและกลไกดำเนินงาน (คณะกรรมการ สป.สช.) และแพทย์ท่านดังกล่าว ยังได้กล่าวกับสื่ออีกว่าการคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้ เป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ที่เขากำลังผลักดันอยู่คือการยกเลิกกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่สอง ผมรับรู้และเข้าใจเนื้อหาการพูดคุยมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการทำการบ้านก่อนเข้าประชุม ซึ่งการพูดคุยกันคราวที่สองนี้ มีเรื่องราวและเนื้อหาไม่น้อยที่ทั้งแสลงหูและขุ่นเคืองใจ ที่มากที่สุดก็คือ การพูดจากล่าวโทษให้ร้ายกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างสาดเสียเทเสีย แพทย์คนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “กฏหมายที่เป็นกฏหมายที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย” ตัวผมเอง แม้มิใช่ชาวบ้านระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็มีบัตรทองเช่นเดียวกันแม้ว่าจะยังไม่เคยใช้บริการ วิถีชีวิตของผมสัมผัสและใกล้ชิดชาวบ้านระดับล่างมายาวนาน พบเห็นความยากลำบากของประชาชนในชนบทโดยเฉพาะเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยมามากมาย แน่นอนว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและญาติมิตร แต่มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน และยิ่งในภาวะที่สังคมเปลี่ยนผ่าน วิถีการผลิตและบริโภคที่เปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ว่ากันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้ผู้คนเกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นรวมทั้งรุนแรงมากขึ้นด้วย ในขณะที่ทางเลือกในการบำบัดรักษาก็ถูกขีดเส้นให้แคบลงมาเหลือเพียงบริการสาธารณสุขสมัยใหม่ ความรู้ภูมิปัญญาในการบำบัดรักษาแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่ายเมื่อในอดีตก็ค่อยถูกกีดกันออกไป กระทั่งเลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น ทางเลือกในการบำบัดอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน หากเป็นไม่มากก็มักจะปล่อยให้หายไปเองด้วยการนอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน หนักขึ้นมาหน่อยก็หาซื้อหยูกยาจากร้านค้าในหมู่บ้านมากิน บางหมู่บ้านอาจหาซื้อได้จาก อสม. ที่นำยามาจากสถานีอนามัยมาจำหน่าย ฯลฯ ปฏิบัติตนไปแบบนี้แล้วหากอาการไม่ดีขึ้นก็มักจะไปพบเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย หรือกระทั่งอาการหนักมากขึ้นก็จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดตามแต่กรณี ในอดีตนั้นการออกไปรักษาการเจ็บป่วยของชาวบ้านในโรงพยาบาลนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอยู่ค่ากิน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งหากไม่หนักหนาจริง ๆ ก็มักจะเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาล หลายคนปล่อยไว้จนอาการหนักแล้วค่อยไปโรงพยาบาลทำให้การบำบัดรักษาทวีความยุ่งยากมากขึ้น และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เพิ่มตามขึ้นมา เข้าข่าย “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ดังที่กล่าวไว้ว่าการเจ็บป่วยในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก คนยากคนจนจำนวนมากที่เจ็บป่วยแล้วต้องหมดสิ้นประดาตัว ผมเองมีญาติสนิทอย่างน้อยสองราย ที่ต้องขายวัว-ควาย และนำที่นาไปจำนองเพื่อนำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล คนหนึ่งตายจากไปทิ้งภาระหนี้สินให้ลูกเมีย อีกคนหนึ่งต้องกลับมาทำงานเพื่อหาเงินมาไถ่ที่นา ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถไถ่ถอนกลับคืนมาได้ นี่เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างที่สุดของคนระดับล่าง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยที่สามารถรักษาและชะลอการตายได้ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง แต่เป็นเพราะความยากจนทำให้เขาไม่สามารถเข้ารับการฟอกเลือด และล้างไตทางช่องท้องได้ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว ผู้รู้คนหนึ่งบอกผมว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยเหตุนี้จำนวนมากมายทีเดียว ภายหลังการเกิดนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากขึ้น เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฏหมายที่กำหนดไว้ แน่นอนว่าการเกิดนโยบายเช่นนี้ทำให้ประชาชนตัดสินใจไปรักษาพยาบาลแต่เนิ่น ๆ มากขึ้น ลดภาวะ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในอดีตได้จำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังทำให้การเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เดิมใช้วิธีการรักษาตนเองก็กลับกลายมาพึ่งการรักษา เป็นภาระให้โรงพยาบาลทำงานหนักมากขึ้น และประการนี้นี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แพทย์จำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมเห็นใจเป็นอย่างยิ่งกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดของแพทย์และพยาบาล แต่ว่ามันจะใช้เป็นข้ออ้างได้กระนั้นหรือ ? การใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างเท่ากับว่าเห็นด้วยกับการให้คนเจ็บป่วยนอนรอคอยอยู่ที่บ้าน รอให้อาการเพียบเสียก่อนจึงค่อยมาหาหมอ เป็นการกีดกันการบำบัดรักษาเจ็บป่วยของชาวบ้านยากจนที่เข้าไม่ถึงบริการมาก่อน กระทั่งยินดีกับการให้ชาวบ้านเหล่านั้นรับภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเอง ผมคิดว่าเราอาจต้องเข้าใจกันก่อนว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านมิได้เพิ่มขึ้นหลังจากการประกาศใช้กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงแต่กฏหมายนี้ทำให้คนยากคนจนที่นอนป่วยอยู่กับบ้านตัดสินใจเข้ามารับการรักษาจากโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งนี้หลายรายเป็นการรักษาตัวแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะลุกลามใหญ่โต แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของผม ไม่มีใครอยากมาโรงพยาบาลหรอกครับ แม้ว่าจะเสียเงินค่ารักษาเพียง 30 บาท แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ทั้ง ค่ารถรา ค่ากินค่าอยู่ในระหว่างมาโรงพยาบาลซึ่งต้องใช้เงินอีกไม่น้อย ต้องเสียเวลาทำมาหากิน อีกทั้งสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลก็ไม่น่าดึงดูดอย่างยิ่งให้ก้าวเข้ามา นี่ยังไม่รวมถึงอากัปกิริยาของแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการบางคนที่ไม่มีความเป็นมิตร ดังที่ผมเองประสบมากับตัวเอง นอกจากนั้นผู้ป่วยยากจนหรือผู้ป่วยอนาถา แต่ก่อนนั้นต้องนอนรอความตาย อย่างเช่นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยเอดส์ ฯลฯ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ก็สามารถยืดอายุเขาออกไปได้อีกมากมาย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ดีงามมิใช่หรือ ? แน่นอนว่าการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ๆ ย่อมทำให้เกิดความแออัด และกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ แต่คนยากคนจนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าการได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล การเข้าถึงการรักษาโดยที่ไม่เป็นภาระในการใช้จ่ายมากนัก เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหวังของพวกเขาอยู่แล้ว กล่าวโดยรวมแล้วชาวบ้านระดับล่างที่มีฐานะยากจนเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข มีหลักประกันสุขภาพ และที่สำคัญทำให้ครัวเรือนทั่วประเทศสามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล รวมทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ทั้งนี้โดยการยืนยันผลจากงานวิจัย “การใช้ข้อมูลการสำรวจมาวัดผลกระทบ ของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน และการสร้างดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร TDRI ซึ่งผลการวิจัย พบว่า ในเรื่องผลกระทบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน พบว่า ในปี 2545 หลังจากมีโครงการฯ ครัวเรือนทั่วประเทศ สามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลได้ ประมาณ 7425– 10,247 ล้านบาท และในปี 2547 ลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 12,842 – 14,111 ล้านบาท ส่วนผลกระทบของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงปี 2529-2531กับช่วงปี 2545-2547พบว่า ครัวเรือนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ21,223 – 44,482 ล้านบาทในปี2545และเพิ่มขึ้นประมาณ 29,150 – 53,004 ล้านบาท ในปี 2547 ผมได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า มีแพทย์ท่านหนึ่งพยายามจะเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการยกเลิกกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหากเดาไม่ผิดก็จะมีกลุ่มทุนที่สูญเสียและได้รับผลกระทบจากกฏหมายนี้ รวมไปถึงกลุ่ม องค์กรและสถาบันทางการแพทย์-สาธารณสุข ออกมาสนับสนุนทั้งในทางลับและทางแจ้ง และก็อาจจะมีนักการเมืองที่อาจจะบ้าจี้ไปกับการเคลื่อนไหวของแพทย์กลุ่มนี้ จึงขอเสนอข้อมูลจากการวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากงานวิจัยเดียวกันข้างต้นนี้ เพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้าน สำหรับเป็นสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมคนแค่ 4 ล้านคน ในขณะที่โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ใช้งบประมาณแสนกว่าล้านบาท แต่ครอบคลุมคนถึง 47ล้านคน และจากการสำรวจความพึงพอใจพบว่า คนร้อยละ80 มีความพอใจ ผมจึงขอถามว่าจะมีพรรคการเมืองไหนบ้าจี้ไปกับแพทย์กลุ่มนี้บ้าง...
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ภูมิปัญญาของเทวดาผู้ทรงคุณธรรมคืออุปสรรคของประชาธิปไตย Posted: 24 Oct 2010 02:03 AM PDT อาจารย์ท่านหนึ่งที่ไปสอนในหลักสูตรนานาชาติเล่าว่า เด็กอเมริกันที่มาเรียนในเมืองไทย มีเรื่องที่ต้องให้คิดถึงบ้านอยู่เรื่องหนึ่ง คือคิดถึงบรรยากาศของ “การสนทนาเชิงลึก” ซึ่งเขาบอกว่าในเมืองไทยเขาไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศที่ว่านี้เลย ผมฟังแล้วก็เห็นด้วย อย่าว่าแต่เด็กอเมริกันจะเหงาเลย อาจารย์ไทยที่คิดอะไรเชิงลึก หรือคิดเรื่องซีเรียสหน่อยก็เหงา เพราะหาเพื่อนคุยด้วยได้ยาก ผมเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเขาคุยกันสนุกปากเรื่องฟีล์ม-แอนนี่ คลิปฉาวของดารา แต่ไม่เห็นคุยเรื่องคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญ แถมในห้องทำงานของบางภาควิชายังห้ามคุยเรื่องการเมืองเสียอีก แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างคือ เวลาคนพวกนี้พูดถึงคนเสื้อแดง เขาจะกลายเป็น “เทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญา” ขึ้นมาทันที คือเขาจะตัดสินความผิดของคนเสื้อแดงว่าใช้ความรุนแรง ถูกจ้าง ไม่รู้ประชาธิปไตย ฯลฯ จากภูมิปัญญาที่คิดว่าตนเองเข้าใจคนเสื้อแดงอย่างสิ้นสงสัยเลยทีเดียว มีเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง คือผมได้มีโอกาสสนทนากับคนระดับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนี้ เขาพูดถึงคนเสื้อแดงว่า “มาชุมนุมแบบไม่รู้อะไร จะมาก็ต้องมีคนพามา จัดให้มา จะกลับบ้านก็ต้องมีคนพากลับถึงจะกลับถูก แบบนี้จะบอกว่ามาเรียกร้องสิ่งที่มันมีความหมายซับซ้อนอย่างเช่นประชาธิปไตยได้อย่างไร” ผมเข้าใจว่าศาสตราจารย์ท่านนี้ท่านน่าจะนึกถึงภาพคนชนบทเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ที่มีคำล้อเลียนความไม่รู้ของชาวบ้านว่า มีเจ้าหน้าที่ทางราชการไปพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วชาวบ้านก็ถามว่า “ไอ้เทคโนโลยีที่ว่ามันกิโลละเท่าไหร่” แต่ไม่น่าเชื่อว่าถึง พ.ศ.นี้แล้ว ก็ยังมีคนล้อเลียนชาวบ้านในท่วงทำนองแบบเดิมๆ ดังวิทยากรรับเชิญมาออกรายการทีวีช่อง 11 คนหนึ่ง บอกว่าชาวบ้านถูกชวนมาโค่นอำมาตย์ พอมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็ถามว่า “ไหนต้นอำมาตย์อยู่ไหน พวกเราจะช่วยกันโค่น!” นี่คือปัญหาสำคัญของพวกเทวดาบนหอคอยงาช้างครับ คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้เจนจบ ฉลาดอยู่ฝ่ายเดียว เที่ยวตัดสินชาวบ้านด้วยทัศนะอันตื้นเขิน! ความจริงคือ ช่วงไม่น้อยกว่าสองทศวรรษมานี้คนชนบทเปลี่ยนไปพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นตัวผมเองมาจากครอบครัวรากหญ้าในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ผมถูกจับบวชเณร ตั้งแต่อายุ 14 ปี จึงได้เรียนหนังสือจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วก็ไปทำงานหาเงินเรียนจบปริญญาโทในมหาวิทยาลัยของรัฐ จนจับพลัดจับผลูมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แม่ผม ญาติพี่น้องผมก็ยังเป็นรากหญ้าอยู่เหมือนเดิม แต่อาจดีขึ้นหน่อยคือเวลาลำบากก็ไม่ถึงขนาดต้องไปยืมข้าวสารเพื่อนบ้านมานึ่งเหมือนเมื่อก่อน ครอบครัวน้องสาวผมยังทำนา และรับจ้างทั่วไป (กรรมกร) แต่ลูกชายคนโตของเขาเพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานอยู่ในเมือง คนรองกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันปีที่ 3 คนเล็กเรียน ม. 4 เพื่อนบ้านหลายๆ คนที่ปากกัดตีนถีบเหมือนกันเขาก็ดิ้นรนแบบเดียวกันนี้ คือส่งลูกมาเรียนอยู่ในเมือง ทำงานอยู่ในเมือง คือชาวบ้านเขายังจน แต่เขาก็ดิ้นรน เห็นคุณค่าของการศึกษา ออกจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ ในหลายๆ จังหวัด มีการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ความคิดความอ่าน โลกทัศน์เปลี่ยนไปมาก ฉะนั้น คนชนบทปัจจุบันที่ยังทำไร่ทำนา เป็นกรรมกร อาจจะมีลูกเป็นนักศึกษาปริญญาตรี โท เอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือทำงานอาชีพต่างๆ ในสังคมเมือง ที่เขามาเรียกร้องประชาธิปไตยนับหมื่นนับแสนไม่ใช่คนโง่ที่อะไรๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนพามาพากลับอย่างที่ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำคิด! แม่ผมเล่าให้ฟังว่า คนในหมู่บ้านก็ไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงตลอดในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ผมถามว่าได้เงินค่าจ้างกันไหม? แม่ผมบอกว่าไม่รู้ ไม่เห็นใครมาเล่าให้ฟังว่าได้ค่าจ้าง แต่ที่เห็นแน่ๆ คือ เวลาจะไปชุมนุมผู้ใหญ่บ้านจะประกาศทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านเชิญชวนคนไปชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ใครมีรถปิ๊คอัพก็ให้เอาไป ใครไม่มีก็ให้อาศัยกันไป ส่วนใครที่ไปไม่ได้ก็ขอให้ร่วมบริจาคค่าน้ำมัน ข้าวสารอาหารแห้ง ช่วยเหลือกันตามมีตามเกิดเท่าที่จะช่วยได้ ผมถามว่า ผู้ใหญ่บ้านทำอย่างนั้น ทหารที่เข้ามาในหมู่บ้านเขาไม่ห้ามหรือ? แม่ผมบอกว่าไม่รู้ว่าทหารจะห้ามหรือเปล่า แต่ทุกครั้งที่ไปชุมนุม ผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศทางหอกระจายข่าวทุกครั้ง ชาวบ้านเขาก็ไม่ชอบที่ทหารเข้ามาในหมู่บ้านเกณฑ์คนมาอบรม เขาไม่เชื่อในสิ่งที่ทหารพูด ไม่ใช่หมู่บ้านผมเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ น้องสาวแม่ผมที่อยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองบัวลำภู ก็จัดผ้าป่า 3-4 ครั้ง ช่วยคนเสื้อแดงในหมู่บ้านให้ออกไปร่วมชุมนุม ซึ่งผมแปลกใจมากว่าผู้หญิงในวัยใกล้ 70 อย่างแม่ผม อย่างน้องสาวแม่ผมแต่ก่อนไม่เคยเห็นพูดเรื่องการเมืองเลย แต่ปัจจุบันคนในวัยนี้ และเป็นจำนวนมากในหมู่บ้านลงทุนลงแรงต่อสู้ทางการเมือง หรือต่อสู่เพื่อสิ่งที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตย ผมเองหลุดออกมาจากชนบทมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง อยู่ในมหาวิทยาลัย กลับพบแต่ “คำพิพากษา” ว่าชาวบ้านไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเหยื่อนักการเมืองโกง ถูกซื้อด้วยเงิน ฯลฯ แม้ผมจะเชื่อว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งก็อาจเป็นอย่างที่ว่าจริง คือการต่อสู้ของชาวบ้านก็อาจไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันน่าเสียใจว่าคนที่พิพากษาชาวบ้านเช่นนี้ หลายคนเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เขาเคยเสียเวลาไปศึกษาตัวตน เหตุผล ความคิดความอ่านของชาวบ้างไหมว่า ทำไมพวกเขาจึงออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย! ผมเขียนเรื่องนี้เหมือนกับพูดซ้ำเรื่องเดิมๆ แต่มันก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของคนระดับล่างว่าจำเป็นต้องได้รับการมองให้ถูกต้อง ไม่ใช่มองแค่ว่าพวกเขาเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ต้องมองให้เห็นความเป็นคนของพวกเขาเท่าเทียมกับความเป็นคนของทุกคน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเป็นเจ้าของประเทศนี้เท่าๆ กัน ข้อเรียกร้องและเหตุผลของพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา อยากถามปัญญาชน นักวิชาการ สื่อทั้งหลายว่า พวกคุณรู้ตัวหรือเปล่าว่า ชาวบ้าน คนชนบท คนต่างจังหวัด คนขับแท็กซี่ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรรมกรในสังคมเมือง พวกเขาก้าวล้ำหน้าพวกคุณไปไกลแล้วในเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย! ถ้าตามไม่ทันชาวบ้าน ก็ขอบิณฑบาตว่าอย่าทำตัวเป็นเทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญาเที่ยวพิพากษาชาวบ้านผิดๆ อีกต่อไปเลย หรือถ้าไม่มีปัญญาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็อย่าทำตัวขัดขวางกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านอีกเลยครับ!
จากชื่อบทความเดิม:เทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญาคืออุปสรรคของประชาธิปไตย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ไม้หนึ่ง ก.กุนที:สายน้ำร้ายต้องผ่านไป เช่นเดียวกับยุคสมัยทรราชย์ Posted: 24 Oct 2010 12:31 AM PDT 1 นี่คือ น้ำตา ผู้ตกตาย โหยไห้ร่ำ ชำระ ชะล้างฟ้า ฝนควบแน่น แค้นเคือง เมืองมารยา เปื่อยจอมปลวกขัตติยะปราสาททราย 2 เจ็บจดจำ มิยอมไป ปรโลก สะอิดสะเอียน สกปรก ผู้เป็นใหญ่ โศกโสมม โกสินทร์ นครไทย ผีเสื้อไพร่หลาวหลวง ทางชีวิต ! 3 4 5 สามัคคี แล้วน้ำร้ายจะผ่านไป อุทกภัย เบี่ยงการเมือง ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำ ย้ำให้เห็น ความแยบยล ที่คนถ่อย ใช้รักษา ประโยชน์ตัว 6 ขอส่งความห่วงใยไปยังเพื่อนร่ แต่สำหรับพี่น้องเสื้อแดง..ย่ เพราะวันคืนแสนโหดร้าย แห่งเมษาพฤษภา ได้พัฒนาจิตใจยกระดับวิธีคิ เมื่อผ่านความตายมาได้ อุทกภัยคงรับมือไม่ยาก ที่สุด..น้ำร้ายจะผ่านไป เช่นเดียวกับยุคสมัยของทรราชย์ !!! ไม้หนึ่ง ก.กุนที / กวีราษฎร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น