โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เลดี้ กาก้า คว้าอันดับ 7 สตรีทรงอิทธิพลของโลกจาก Forbes

Posted: 07 Oct 2010 01:03 PM PDT

จากการจัดอันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก โดยนิตยสาร Forbes ในปีที่ผ่าน ๆ มา มักจะมีแต่นักการเมืองและผู้บริหารบริษัท ขณะที่ในปีนี้มีทั้งนักร้องสาวสุดแสบ อย่างเลดี้กาก้า, ภรรยาของบิล เกท และนักเขียนสาวผู้ให้กำเนิดซีรี่ส์ 'ทไวไลท์'

7 ต.ค. 2553 - การจัดอันดับผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกโดยนิตยสาร Forbes พบว่า มิเชลล์ โอบาม่า สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ อยู่อันดับ 1 ตามมาด้วยแองเจล่า เมอเคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อันดับที่ 4 และนักร้องสาว เลดี้ กาก้า อยู่ในอันดับที่ 7

การจัดอันดับประจำปีของ Forbes ในปีนี้มีการระบุว่า มิเชลล์ โอบาม่า เป็นผู้ที่ "มีอำนาจผลักดันประเด็นเรื่องมาตรฐานสารอาหารของอาหารในโรงเรียน" โดยภรรยาโอบาม่าคอยอยู่ห่างจากเรื่องนโยบายหนักๆ ทำตัวเป็นผู้นำแฟชั่นและเป็นแม่ลูกสองที่แข็งขัน

จากการจัดอันดับหญิงผู้มีอิทธิพลในปีที่ผ่านมา (2552) ของ Forbes ซึ่งมักจะมีแต่นักการเมืองและผู้บริหาร การที่ปีนี้ภรรยาของประธานาธิบดีได้รับอันดับหนึ่งจึงเป็นภาพใหม่

ขณะที่ แนนซี่ เปโลซี โฆษกสภาสหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 11 โดยช่วงต้นปีเธอได้รับการประกาศว่าเป็นโฆษกผู้มีอิทธิพลที่สุดในรอบศตวรรษ อันดับ  2 เป็นของไอรีน โรเซนฟิลด์ ผู้บริหารบริษัท Kraft Foods ส่วน โอปราห์ วินฟรีย์ เจ้าแม่สื่อและผู้จัดรายการอยู่อันดับที่ 3

ด้านฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับ 5 ส่วน ซีอีโอ ของ PepsiCo อยู่กันดับ 6

Forbes ใช้วิธีการจัดอันดับโดยการแบ่งคัดเลือกตัวแทนมา 4 หมวดหมู่ คือหมวดการเมือง, ธุรกิจ, สื่อ และไลฟ์สไตล์ แล้วจัดอันดับภายในหมวดหมู่นั้น ๆ ก่อนนำอันดับในหมู่ต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน

ข้อมูลเกี่ยวกับเลดี้ กาก้า ใน Forbes ระบุว่า เธอคือคนที่ถูกแห่แหนให้เป็นราชินีคนใหม่ของวงการเพลงป็อบ ส่วนหนึ่งเป็นของเธอเป็นนักร้อง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ (Performance Artist) เป็นผู้ที่ทำให้วงการเพลงป็อบและวัฒนธรรมป็อบกลับมาคึกคักมีสีสันอีกครั้ง

ขณะที่คนในวงไลฟ์สไตล์คนอื่น ๆ ที่ได้ขึ้นอันดับคือนักร้องสาวผิวสี บิยอนเซ่ ในอันดับที่ 9 แองเจลิน่า โจลี ในอันดับที่ 21 เมอร์ลินดา เกท ผู้เป็นภรรยาของบิล เกท ในอันดับที่ 27 ส่วน มาดอนน่า อยู่อันดับที่ 29 และ สเตเฟนี่ เมเยอร์ นักเขียนซีรี่ส์ 'ทไวไลท์' ที่ได้รับความนิยม อยู่อันดับที่ 49

ซาราห์ พาลิน อดีตผู้ว่าการรัฐอลาสก้าและมีทีท่าจะขึ้นสังเวียนชิงชัย ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2555 อยู่อันดับที่ 16 ฟอร์บเรียกเธอว่าเป็น "นักการเมืองหัวแข็งและนักวิจารณ์" ส่วนราชินีอลิซาเบธที่ 2 อยู่กลางตารางอันดับที่ 41 เป็นสตรีชาวอังกฤษเพียงรายเดียวในการจัด 100 อันดับนี้

 

แปลและเรียบเรียงจาก
Lady Gaga tops Nancy Pelosi in Forbes list of world's most powerful women , The Guardian, 08-10-2010
Forbes : The World's 100 most powerful women

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความ Local Talk : ต้องอยู่ใต้อำนาจ ชั่วฟ้าดินสลาย

Posted: 07 Oct 2010 10:03 AM PDT

ความเซ็กซี่ของ ยุพดี  ฉากอีโรติกเร่าร้อนระหว่างเธอกับ ส่างหม่อง หรือแม้แต่ชื่อเสียงของนักแสดงและผู้กำกับการแสดงนำพาใครหลายคนไปชมภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย”

ข้อถกเถียงส่วนหนึ่งตามหน้าเวบไซท์ต่าง ๆ ของผู้ชมภาพยนตร์วนเวียนอยู่ประเด็นที่ว่าความรักระหว่างยุพดี กับ ส่างหม่อง นั้นเป็น “รักแท้” ใช่หรือไม่ หรือเป็นเพียงความใคร่และหลงใหลหมกมุ่นในรสกามารมณ์จนทำให้ฝ่ายหนึ่งกล้า ทรยศสามีของตนเอง และอีกฝ่ายยอมอกตัญญูต่อคุณอาผู้มีพระคุณเสมอบิดา

ปรัชญาความรักจากหนังสือ Prophet ของคาลิล ยิบราน ถูกตัวเอกทั้งสามใช้เป็นเหตุผลประกอบการกระทำของตนเอง การลอบรักและเล่นชู้ที่ท้าทายกรอบเกณฑ์ทางศีลธรรมและจารีตของสังคมถูกอธิบาย ว่าเป็นการปล่อยตัวและหัวใจให้เดินตามเสียงพร่ำเพรียกของความรักอย่างเสรี แต่การกระทำเช่นนั้นกลับทำให้หญิง-ชายถูกพิพากษาชะตาชีวิตพร้อมกับการเย้ย หยันว่าทั้งคู่ไม่ได้เข้าใจปรัชญาความรักฉบับนั้นอย่างถ่องแท้

ยุพดี เป็นผู้ยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์เสรีนิยมจริงหรือไม่ฉันยังสงสัย ค่าที่เธอเอาความสุขและทุกข์ของตัวเองไปแขวนไว้กับความรักที่ ส่างหม่อง มีให้ และเอาแต่เพียรถามว่าเขายังรักเธออยู่มากน้อยเพียงใด การถูกพันธนาการร่างกายไม่ทำให้เธอทุกข์ร้อนเจ็บปวดเท่ากับที่พบว่าคนรักของ เธอไม่สนใจใยดีต่อเธอเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฉันไม่ได้สนใจฉากรัก นิยามความรัก หรือการเป็นนักเสรีนิยมของ ยุพดี ที่ว่ามาข้างตน  แต่ฉันสนใจตัวตนของ พะโป้ ชายสูงวัยที่กุมชะตาชีวิตของตัวละครทุกตัวในเรื่อง

 

ผู้ทรงธรรม หรือผู้กุมชะตากรรม

พะโป้ เป็นตัวแทนของผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและความดีงาม เป็นคุณอาผู้ชุบเลี้ยงหลานชายคนเดียวมาอย่างดีที่สุดเท่าที่บิดาคนหนึ่งพึง กระทำ ส่งเสียให้เขาร่ำเรียนจนจบ มอบหมายภารกิจการงานที่ดี และจัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ ขณะเดียวกัน พะโป้ ยังเป็นสามีที่ดูแลและทะนุถนอม ยุพดี ภรรยาสาวของเขาเป็นอย่างดี  ยกย่องเชิดชู ให้เกียรติ และให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเหนือภรรยาคนอื่น

เมื่อจับได้ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักทั้งสองทรยศต่อความรักและความดีของตนเอง พะโป้ ยัง สู้อุตส่าห์อดทนอดกลั้น แทนที่จะปลิดชีพคนทั้งสองด้วยการลั่นไกปืนซึ่งชักขึ้นมาแล้ว เขากลับเปลี่ยนใจเดินเข้าห้องพระสวดมนต์ใช้ธรรมะเข้าข่มจิตข่มใจ

จวบจนถึงวันพระใหญ่ พะโป้ นำข้าทาสบริวารสวดมนต์ปฏิบัติธรรมดังเช่นที่เคยทำมา หลังเสร็จสิ้นพิธีธรรมเขาจึงค่อยสำเร็จโทษหลานชายและภรรยาสุดที่รัก เขาไม่ได้อ้างถึงความโกรธแค้นส่วนตัวมากเท่ากับการอ้างตนเป็นผู้พิทักษ์บรรทัดฐานแห่งความดีงาม ข้อหาของ ส่างหม่อง คือการกระทำผิดจารีตครรลองคลองธรรมเพราะอกตัญญูต่อผู้มีบุญคุณท่วมหัว และกระทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครในตระกูลของเขาทำมาก่อน

พะโป้ ลงโทษ ยุพดี และ ส่างหม่อง ด้วยการล่ามโซ่พวกเขาไว้ด้วยกัน แม้ไม่ได้จองจำแต่เขาก็ไม่ปล่อยให้คนทั้งคู่เป็นอิสระจากการควบคุม เมื่อคนทั้งสองพากันหลบหนีเพื่อที่จะหาทางปลดโซ่ตรวน พวกเขาก็ถูกไล่ตามจับตัวกลับมา มิใยที่หลานรักจะมาคร่ำครวญร้องขอการให้อภัยถึงหลายครั้งหลายครา พะโป้ รับฟังคำอ้อนวอนด้วยอาการเฉยชา มิหนำซ้ำเขายังนำเสนอความตายเป็นทางเลือกเพื่อให้คนทั้งคู่ได้หลุดพ้นออกจากโซ่ตรวน

 

ความย้อนแย้งของผู้ทรงธรรม

การกระทำของ พะโป้ มีลักษณะย้อนแย้ง (paradox) อย่างน่างุนงงสงสัย แม้แต่ ทิพย์ คนสนิทของ พะโป้ ก็คาดไม่ถึงว่าผู้ทรงศีลอย่างเขาจะเลือดเย็นได้ถึงเพียงนั้น

ฉันไม่สงสัยในความผิดหวัง ความโกรธ และความอาฆาตแค้นของ พะโป้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดมีเนื้อ เรื่องแบบนี้หากเกิดกับใครก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นนั้นเป็นธรรมดา และฉันก็ไม่เรียกร้องให้เขาให้อภัยหากเขาไม่อาจทำได้ แต่ที่ฉันขัดเคืองใจก็คือการที่ พะโป้ แสดงตนเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมเหนือมนุษย์ปุถุชน เขาพยายามแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ทำโทษสองคนนั้นเพราะโทสะโมหะของตน แต่เป็นการกระทำที่วางอยู่บนความชอบธรรมบางอย่าง

พะโป้ เลือกพิพากษาชะตากรรมของ ส่างหม่อง และ ยุพดี ใน วันพระใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพุทธศาสนิกชนจะละเว้นการกระทำบาป ทุกคนรวมทั้งเขาเองยังอยู่ในชุดขาวประหนึ่งผู้ทรงศีล แทนที่จะเฆี่ยนตีหรือลงโทษด้วยความรุนแรง พะโป้ กลับใช้วิธีแบบหนามยอกเอาหนามบ่งโดยให้หลายชายและภรรยาสาวของเขาได้ครองรักร่วมกันตราบชั่วฟ้าดินสลายสมดังความต้องการของคนทั้งคู่

การกำหนดชะตาชีวิต การจองจำ และการหยิบยื่นความตายให้แก่ ส่างหม่อง และ ยุพดี ไม่เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ พะโป้  เพราะเขาเป็นคุณอาที่เลี้ยงดู ส่างหม่อง มาแต่เล็กจนโต และเป็นสามีที่ย่อมมีอำนาจในการเป็นเจ้าของ ยุพดี ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป  นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้กุมชะตากรรมของทุกชีวิตในอาณาจักรเล็ก ๆ แห่งนั้น เขาสร้างบารมีเสริมอำนาจของตนด้วยการวางตนอยู่ในครรลองแห่งความดี ดังนั้น จึงดูราวกับว่า พะโป้ มีความชอบธรรมมากพอในการลงทัณฑ์หญิงชั่วและชายโฉดที่ละเมิดจารีตประเพณีของสังคมและท้าทายอำนาจของเขา

การกระทำของเขาจึงเป็นการกระทำที่ถูกมองว่าผ่านการใคร่ครวญโดยชอบแล้ว

 

ความคลุมเครือการใช้อำนาจของผู้มีบารมี

วิธีการลงโทษที่ไม่ได้เฆี่ยนโบย วัตรปฏิบัติของเขาที่ผ่าน ๆ มา และสีหน้าท่าทีเรียบเฉยของเขาเมื่อ ส่างหม่อง มาร้องขออิสรภาพ ทำให้ผู้ชมตัดสินได้ยากกว่า พะโป้ ลงโทษชายหญิงทั้งคู่ด้วยความรักหรือความแค้น ประสงค์จะเอากันให้ตายหรือเพียงแค่สั่งสอน “เด็ก” ดื้อให้รู้จักหลาบจำ

เหตุการณ์ในเรื่องดูเสมือนหนึ่งว่า พะโป้ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกระทำต่อ ส่างหม่อง และยุพดี

แต่การพันธนาการคนสองคนไว้ให้ปราศจากอิสรภาพก็ไม่อาจนับว่ามันไม่ใช่ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจองจำ ยุพดี ผู้เทิดทูนเสรีภาพของความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด

การชุบเลี้ยง ส่างหม่อง มาตั้งแต่เล็กจนโตทำให้ พะโป้ อ้างความเป็นเจ้าชีวิต ดังที่เขาพูดว่า ส่างหม่องเป็น “สมบัติ” ของเขาได้หรือไม่

การเป็นสามีที่ดูแลภรรยาอย่างดี ทำให้ พะโป้ มีสิทธิตัดสินการอยู่และการตายของ ยุพดี ได้เชียวหรือ

แม้ว่า พะโป้ จะไม่ได้เป็นผู้ลงมือลั่นไกปืน แต่เขาก็ไม่อาจหลุดพ้นจากข้อหาการเป็นฆาตกร

ขณะที่ ส่างหม่อง ทุรนทุรายกับการถูกพันธนาการทางร่างกาย สำนึกผิดบาป และร่ำร้องหาอิสรภาพอยู่ตลอดเวลา น่าสนใจที่ ยุพดี กลับมิได้ทุกข์ร้อนเช่นนั้นเลย และไม่เคยสักครั้งที่ได้ยินเธอร้องขออิสรภาพจาก พะโป้ นอกเสียจากจะทำตามที่คนรักของเธอต้องการ

หรือเป็นเพราะ ยุพดี ปลดปล่อยตนเองจากการถูกครอบงำทางความคิด พันธนาการของกรอบทางวัฒนธรรม และความหวาดกลัวใด ๆ มานานแล้ว โซ่ตรวนทางร่างกายจึงไม่มีความหมายต่อเธออีกต่อไป

เหตุผลที่ยุพดีตัดสินใจปลิดชีวิตของตนเองเป็น คำถามที่เปิดให้ผู้ชมตีความกันเอาเอง บางคนอาจเห็นเธอเลือกทำเช่นนั้นเพราะพบว่าความรักที่ ส่างหม่อง มีให้เธอกำลังลดน้อยลงจนแทบจะเหือดแห้งไปสิ้น

แต่หากเชื่อว่า ยุพดี เทิดทูนเสรีภาพของความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด เธออาจทำเช่นนั้นเพราะพบว่าเธอกำลังถูก ส่างหม่อง ผลักภาระให้มีชีวิตอยู่กับพันธนาการอันใหญ่หลวงที่สุดของมนุษย์คนหนึ่ง นั่นคือการเป็นแม่ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตลูกน้อยโดยลำพัง

ความตายของ ยุพดี ไม่เป็นเหตุให้ พะโป้ สะท้านสะเทือนใจ เสียใจต่อการกระทำของตนเอง หรือให้อภัยหลานชายที่ยังคงมีชีวิตอยู่  พะโป้ ยืนยันที่จะไม่ปลดโซ่ตรวนให้ ส่างหม่อง เป็นอิสระจากซากศพของ ยุพดี จนกระทั่ง ส่างหม่อง เสียสติ

ฉากที่น่าคิดที่สุดคือฉากที่ ส่างหม่อง ซึ่งเคยหาญกล้าท้าทายอำนาจของ พะโป้  ได้กลายเป็นชายเสียจริตเดินกระเซอะกระเซิงเข้ามาร้องขอ พะโป้  ผู้อยู่ในเครื่องแต่งกายสีขาวว่าอย่าทอดทิ้งเขา

ส่างหม่อง แสดง อาการเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา ศิโรราบต่อผู้กุมชะตาชีวิต และเปล่งคำพูดประโยคเดียวกันกับที่เด็กชายเคยพูดเมื่อหลายสิบปีก่อนขณะยืน อยู่หน้ากองฟอนของศพพ่อที่กำลังมอดไหม้

ไม่ใช่เป็นเพราะ ส่างหม่อง ประพฤติตัวดีขึ้น แต่เป็นเพราะเขาได้กลายเป็นมนุษย์เชื่อง ๆ ที่หมดศักยภาพจะท้าทาย แข็งขืน หรือต่อกรใด ๆ ต่ออำนาจของ พะโป้ ได้อีก ส่างหม่อง จึงได้รับการให้อภัยและยอมรับที่จะดูแล “สมบัติ” ชิ้นนี้ดังเดิม

นั่นคือความ “เมตตา” ของ พะโป้ ใช่หรือไม่ ??

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาฯ รับร่าง พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฯ หลังคอยมา 13 ปี

Posted: 07 Oct 2010 09:11 AM PDT

ผู้บริโภคได้เฮ สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 หลังรอคอยมา 13 ปี

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (6 ต.ค. 2553) ได้ลงมติรับหลักการ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยคะแนนเอกฉันท์ 247 ต่อ 78 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 18 เสียง หลังถกเถียงกันนานเกือบ 6 ชั่วโมง นับเป็นกฎหมายที่ สส.ให้ความสำคัญและร่วมอภิปรายจำนวนมาก กฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งปี 2540 (มาตรา 57) และมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ จำนวน 54 ท่าน โดยมีผู้แทนจากภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายจำนวน 18 ท่าน เพื่อพิจารณารายละเอียดของกฎหมายต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกฎหมายฉบับนี้หลายประเด็น อาทิเช่น ทำอย่างไรให้มีความเป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐได้จริง ความแตกต่างในการทำงานขององค์การนี้กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรนี้ควรทำงานเชิงรุก มีประสิทธิภาพและทำงานได้ทันท่วงทีกับปัญหาผู้บริโภค การได้มาของคณะกรรมการที่มีผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงจริงไม่ใช่องค์กรของภาคธุรกิจ คณะกรรมการทำงานเต็มเวลาหรือไม่อย่างไร คณะกรรมการองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ควรเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับอื่นๆ การประสานงานความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงานของรัฐ ระบบในการตรวจสอบการทำงานและการถอดถอนคณะกรรมการ การทำหน้าที่ตรวจสอบ จะทำได้อย่างไร หากไม่สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นต้น

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550

มาตรา 61 สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

240 องค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกหนุนรัฐบาลอินเดียไม่เอาทริปส์ผนวก

Posted: 07 Oct 2010 08:55 AM PDT

18 เอ็นจีโอไทยและ 240 องค์กร จากทั่วโลกร่วมรณรงค์ต้านข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลง 'ทริปส์' เกรงกระทบการเข้าถึงยาของปชช. ประเทศกำลังพัฒนา

องค์กรพัฒนาเอกชนไทย 18 องค์กรร่วมรณรงค์กับ 240 องค์กรและ 38 นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณสุขทั่วโลก รณรงค์เรียกร้องพร้อมกันให้รัฐบาลยึดมั่นในจุดยืนไม่ยอมรับข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกในการเจรจา การค้าข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดีย ซึ่งจะมีการเจรจาครั้งต่อไปในช่วงวันที่ 6 – 8 ตุลาคม ณ กรุงนิวเดลี และจะสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2553

อินเดียถือเป็นประเทศ “ร้านขายยา” สำคัญที่ผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก  ถ้ารัฐบาลอินเดียยอมเซ็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ผูกมัดเกินกว่ามาตรฐานในข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (หรือที่เรียกว่า “ทริปส์ผนวก”) ประเทศกำลังพัฒนาและโครงการสนับสนุนการรักษาเอชไอวีและเอดส์และโรคอื่นๆ ในประเทศยากจนทั่วโลก จะสุ่มเสี่ยงต่อการขาดแคลนยาชื่อสามัญในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุขของโลก

ร้อยละ 67 ของยาที่อินเดียผลิตได้ ส่งให้กับประเทศกำลังพัฒนา  กว่าร้อยละ 90 ของยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เป็นยาชื่อสามัญที่ใช้ในประเทศยากจนและรายได้ปานกลางมากจากผู้ผลิตในอินเดีย โครงการด้านการรักษาของยูนิเซฟใช้ยาร้อยละ 50 ที่ผลิตในอินเดีย  ประเทศเลโซโธร์ในอัฟริกาซึ้อยาจากอินเดียกว่าร้อยละ 95 และประเทศซิมบับเวร้อยละ 75

ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาถึงยาชื่อสามัญนำเข้าจากอินเดีย เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอุดตัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยมะเร็ง ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐบาล

ดังนั้นรัฐบาลอินเดียยอมตกลงในการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ที่มีข้อผูกมัดทริปส์ผนวก เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยาเกินกว่า 20 ปี การผูกขาดข้อมูลทางยาเพื่อกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญเมื่ออายุสิทธิบัตรยาต้นตำรับหมดลง การใช้มาตรการชายแดนเพื่อยึดจับยาชื่อสามัญที่ถูกกฎหมายที่อยู่ในระหว่างขนส่ง ย่อมจะส่งผลร้ายแรงด้านสุขภาพต่อประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลกในอนาคต

องค์กรพัฒนาเอกชนไทยและสากลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียมีจุดยืนที่มั่นคงที่จะไม่ยอมตกลงในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยนำชีวิตและสุขภาพของคนนับล้านทั่วโลกไปแลก และขอเรียกร้องให้ประเทศอินเดียไม่ยอมรับข้อกำหนดด้านทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ ที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ในการเจรจา 

นอกจากนี้ วันนี้องค์กรพัฒนาเอกชนไทยยังได้ส่งจดหมายข้อเรียกร้องให้แก่เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมกับได้แนบแถลงการณ์ของเอ็นจีโอทั่วโลกไปด้วย  และจะมีกิจกรรมรณรงค์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิเช่น ในวันที่ 6 ตุลาคม จะมีการชุมนุมเรียกร้องใหญ่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย

องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมไทยที่ร่วมเรียกร้อง ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชมรมเพื่อนผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเภสัชกรชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิเพื่อสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กลุ่มศึกษาปัญหายา ไบโอไทย แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มูลนิธิสุขภาพไทย และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี

 

AttachmentSize
India-EU FTA letter to Indian Ambassador to Thailand.pdf178.3 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สบท. เตือนชาวสมาร์ทโฟนระวังเน็ตรั่วและเครื่องหาย

Posted: 07 Oct 2010 08:29 AM PDT

สบท. เตือน ชาวสมาร์ทโฟนระวังปัญหาเน็ตรั่ว และเครื่องหายแนะอย่าบันทึกรหัสผ่านไว้บนเครื่อง อาจโดนทำธุรกรรมไม่รู้ตัว ด้านผู้เชี่ยวชาญการใช้ระบุ การเลือกโปรฯต้องอ่านเงื่อนไขให้ละเอียด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ต.ค. 2553 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้จัดงานเสวนา “รู้ใช้ให้ฉลาด(กว่า) สมาร์ทโฟน (Smart-Phone)" ขึ้น

นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ผอ.สบท. กล่าวว่า ผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟน ต้องพิจารณาเรื่องโปรโมชั่นให้ดี เนื่องจากโปรโมชั่นของสมาร์ทโฟนจะมีบริการที่หลากหลายมีมิติที่ซับซ้อน และต้องเท่าทันตัวเครื่องที่จะมีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้โดยอัตโนมัติ แม้ปัจจุบันผู้ให้บริการจะมีระบบการจำกัดปริมาณการใช้สูงสุดแต่ก็ยังไม่รวมกรณีโรมมิ่ง โดยเฉพาะหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ มีหลายคนที่โดนค่าเน็ตผ่านมือถือเป็นแสนบาท ดังนั้นหากต้องเดินทางไปต่างประเทศควรปิดระบบบริการดาต้าที่ตัวเครื่องหรือปิดผ่านศูนย์บริการ ใช้เฉพาะการโทรออกและรับสายเท่านั้น หรือหากจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ซิมในต่างประเทศจะมีค่าบริการถูกกว่า

“เราต้องเลือกโปรโมชั่นให้ตรงกับการใช้งานและใช้งานให้ตรงกับโปรโมชั่นที่เลือกไม่งั้นจะจ่ายแพง ผู้บริโภคต้องเท่าทันทั้งตัวเครื่องเพราะสมาร์ทโฟนเหมือนคอมพิวเตอร์ถูกตั้งระบบให้ทำงานบางอย่างได้เอง เช่น อัพเดทอีเมล์ตลอดเวลา  ผู้บริโภคต้องศึกษาว่า ทำอะไรได้หรือไม่ได้ มีประโยชน์และโทษอย่างไร และต้องเท่าทันโปรโมชั่น ใช้อะไรได้ไม่ได้  ใช้เกินจะเป็นอย่างไร ต้องเท่าทันเรื่องสัญญาและการใช้อินเทอร์เน็ต” นายประวิทย์ กล่าว

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือ กรณีเครื่องหาย เพราะสมาร์ทโฟนจะบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไว้ทั้งหมด และเวลาหายข้อมูลส่วนตัวจะหายไปหมดด้วย ขณะที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นตัวแทนในการลงทะเบียนเข้าสู่โลกต่างๆ ของเรา เพราะฉะนั้นถ้าใครนิยมทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ต้องรู้จักป้องกัน เช่น อย่าให้เครื่องบันทึกรหัสผ่านของเราไว้มิฉะนั้นอาจมีการทำธุรกรรมโดยคนอื่นโดยที่เราไม่รู้

ด้านนายคงเดช  กี่สุขพันธ์  จากทีมงาน App.Review หรือ กาฝาก  กล่าวว่า จากการสำรวจคนจำนวน 197 คนในเฟสบุคและทวิตเตอร์พบว่า 114 คนจะเลือกซื้อมือถือที่ราคา 8,000-14,000 บาท และจำนวน 28 คน จะซื้อมือถือที่ราคา 20,000 กว่าบาท ข้อควรระวังของผู้บริโภคคือ การใช้โปรโมชั่นเพลินจนหมดโปรโมชั่นไม่รู้ตัว หรือการศึกษาเรื่องการโหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อปิดเน็ตกันเน็ตรั่ว และเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าสู่มือถือได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชน โดยผู้ปกครองควรศึกษาและสนใจเรื่องเทคโนโลยี เพื่อสามารถร่วมกิจกรรมกับบุตรหลานและสามารถป้องกันภัยที่มาจากมือถือให้บุตรหลานได้

นายคงเดชกล่าวอีกว่า ผู้บริโภคไทยต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาเงื่อนไขของโปรโมชั่นเวลาซื้อแพคเกจสิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาเงื่อนไขดอกจันตัวเล็กๆ และต้องอ่านเพราะมีประเด็นหลายๆ ด้านที่สำคัญ เช่น  แพคเกจ 3G ใช้ไม่จำกัดแต่จะมีเงื่อนไขอีกมากที่ผู้ใช้ต้องอ่าน

“ทุกวันนี้ผู้บริโภคทำธุรกรรมอื่นๆ ยังอ่านสัญญา ต่อไปทำธุรกรรมกับโทรศัพท์ก็ต้องอ่านสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ เช่นกัน” นายคงเดชกล่าว

นายพีระพล ฉัตรอนันทเวช  จากรายการ ‘แบไต๋ไฮเทค’ กล่าวว่า สมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์ที่มีระบบปฏิบัติการเหมือนคอมพิวเตอร์ตัวแรกนั้นผลิตขึ้นโดยบริษัทโนเกีย ความสามารถในยุคแรกๆ คือ การส่งเอสเอ็มเอส อีเมล มีปฏิทินนัดหมาย จากนั้นก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนเกิดระบบปฏิบัติการบนมือถือมากกว่า 10 ระบบ แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ แบลคเบอรี่ ซิมเบียน แอนดรอยด์  ไอโอเอสหรือแอปเปิ้ล และวินโดร์โมบาย

นายพีระพลได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ล หรือ ไอโอเอส นั้นสนับสนุนหรือทำให้เกิดการคิดค้นแอพพลิเคชั่นใหม่ๆขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 2 แสนแอพพลิเคชั่น และสร้างรายได้ให้กับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการของไอโอเอสกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ลเป็นระบบปิด คือต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้ระบบปฏิบัติการของแอปเปิ้ลเท่านั้น  สำหรับแอนดรอยด์ ซึ่งกำเนิดขึ้นโดยกูเกิล ถือเป็นระบบแบบเปิดคือ ให้นักพัฒนาสามารถนำรหัสพื้นฐานของกูเกิลแอนดรอยด์ไปแปลงหน้าตา หรือต่อยอดได้ ดังนั้นแอนดรอยด์โฟนแต่ละยี่ห้อจะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน วิธีการนี้จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของแอนดรอยด์เติบโตได้มากในอนาคต 

นายพีระพลกล่าวอีกว่า ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนขณะนี้เป็นของ ซิมเบี้ยนร้อยละ 41 แบลคเบอรี่ร้อยละ 18 แอนดรอยด์ร้อยละ 17 และแอปเปิ้ลร้อยละ 14 ซึ่งทำนายว่าอีกประมาณ 3 ปี แอนดรอยด์จะแซงหน้าซิมเบี้ยน โดยประโยชน์ที่สำคัญของสมาร์ทโฟนคือ ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง คือ อีเมล อินเทอร์เนต โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟสบุค ทวิตเตอร์ แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน สภาพเศรษฐกิจของตัวเองและวัยด้วย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สาละวินโพสต์ : เรือล่มในเขตอิรวดี สังเวย 30 ศพ

Posted: 07 Oct 2010 08:17 AM PDT

มีผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือล่มใกล้กับเมืองลาบุตตา ทางตอนใต้ในเขตอิรวดีเมื่อเช้าวานนี้ (6 ต.ค.53) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 30 คน ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่พบว่าเป็นครูและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ขณะที่สาเหตุเรือล่มครั้งนี้  เป็นเพราะบรรทุกผู้โดยสารเกิน

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดเหตุ พบมีผู้โดยสารราว 70 คน อยู่บนเรือลำดังกล่าว โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมจากหลายโรงเรียนในเมืองลาบุตตาที่ กำลังเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลในหมู่บ้านมิเชาไหง่ แต่เกิดเหตุการณ์เรือล่มเสียก่อน ทั้งนี้สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวน 13 คน ด้านสื่อของจีนระบุว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 24 คน

ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์กล่าวว่า ในระหว่างการเดินทางไปยังหมู่บ้านมิเชาไหง่ ได้เกิดฝนตกหนัก และต่อมาเรือได้เสียหลักเมื่อปะทะเข้ากับคลื่น เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้พบร่างของผู้เสียชีวิตจำนวน 30 คนแล้ว โดย 3 ในผู้เสียชีวิตเป็นครู ขณะที่เหลือเป็นเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 10 – 15 ปี มีผู้รอดชีวิตจำนวน 20 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือจากคนหาปลาและหน่วยบรรเทาทุกข์ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูญหายอีก 20 คน

ส่วนสาเหตุเรือล่มครั้งนี้ เป็นเพราะการรับผู้โดยสารเกินขนาด จึงทำให้เรือขาดการทรงตัว ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพราะไปติดกับตาข่ายของเรือ หลังจากที่เรือล่ม ทั้งนี้ มีรายงานสภาพอากาศในพม่าว่า ในช่วงนี้จะมีกระแสลมแรงและคลื่นสูง ขณะที่พบว่า ประชาชนทั่วไปในเขตอิรวดีมักเดินทางโดยใช้เรือ ในขณะที่พบว่าเรือส่วนใหญ่ในพื้นที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม

(DVB 7 ตุลาคม 53)

 


แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษาคดีคนเร่ร่อนเก็บขยะขาย ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 29 ต.ค. หลังจำคุก 5 เดือน

Posted: 07 Oct 2010 06:55 AM PDT

 
7 ต.ค.53 ที่ศาลแขวงปทุมวัน ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีอาญาดำ หมายเลข 1219/26553 ซึ่งพนักงานอัยการฟ้อง นายสมพล แวงประเสริฐ เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐาน ร่วมกันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไปชุมนุมมั่วสุมกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ที่มีประกาศ ศอฉ.กำหนด และร่วมกันใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะใดๆ เข้าหรือออกในเส้นทางที่กำหนดในพื้นที่ที่มีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งนี้ นายสมพล เป็นคนเร่ร่อน มีอาชีพเก็บขยะขาย อาศัยอยู่บริเวณใต้ทางด่วนข้างศาลแขวงปทุมวัน ไม่มีบัตรประชาชน ไม่รู้หนังสือ ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. จากนั้นถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 5 เดือน โดยเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลนัดสืบพยานโจทก์ 2 ปากได้แก่เจ้าหน้าที่ทหารที่ ทำการจับกุมจำเลยบริเวณด่านตรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้สอบปากคำและลงบันทึกประจำวัน ส่วนวันนี้ (7 ต.ค.) เป็นการสืบพยานจำเลย 2 ปาก ได้แก่ จำเลย และเพื่อนของจำเลยซึ่งเป็นคนกวาดถนนของกรุงเทพมหานคร   โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 9.00 น.ทั้งนี้ นายสมพลได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากทนายอาสาของศาล
เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานำหน่วยทหารมาตั้งด่านบริเวณถนนพญาไท จุฬาซอย 12 เบิกความว่า หลังจากรัฐบาลมีคำสั่งประกาศห้ามการชุมนุมและห้ามให้เส้นทางสัญจรบริเวณโดยรอบที่ชุมนุมราชประสงค์ ได้มีการสนธิกำลังระหว่างทหารและตำรจตั้งด่านสกัดในจุดต่างๆ ตนได้นำกำลังทหาร 18 นาย ร่วมกับตำรวจ 20 นายตั้งด่านบริเวณดังกล่าว มีภารกิจในการตรวจสิ่งผิดกฎหมายและประชาสัมพันธ์ประชาชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม หากควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้จะส่งตัวไปคัดกรองที่หน่วยทหารหน่วยใหญ่บริเวณแยกเจริญผล ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ถึง 16 พ.ค.จับกุมผู้ร่วมชุมนุมที่ผ่านเส้นทางห้ามผ่านดังกล่าวได้ 15 คน ซึ่งทะยอยเดินออกมาทีละคนสองคน สมพลเป็นหนึ่งในนั้นซึ่งถูกจับกุมเวลาประมาณ 22.00 น. และจากการสอบถามก็ยอมรับว่าเข้าร่วมชุมนุม จากนั้นจึงนำตัวทั้ง 15 คนไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์และให้ทหารมาลงบันทึกการจับกุมที่ สน.ปทุมวัน โดยทหารเป็นผู้เล่ารายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟังแล้วจึงนำบันทึกการจับกุมมาให้ผู้ถูกจับกุมลงชื่อ
ทนายจำเลยได้ถามค้านเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ความว่า ที่ผ่านมาทหารไม่เคยมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดมาก่อน และการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่นั้นอยู่ห่างจากถนนพญาไท ซึ่งศอฉ.ประกาศห้ามชุมนุมและใช้เส้นทาง กว่า 100 เมตร
จากนั้น พนักงานสอบสวนจากสน.พญาไท เบิกความว่า ในวันที่ 16 พ.ค. เวลาประมาณ 13.00 น. ได้เดินทางไปทำบันทึกการจับกุมที่ค่ายทหาร จากนั้นได้รับตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 15 คน ไปสอบปากคำยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี มีการแจ้งสิทธิก่อนสอบปากคำ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ โดยจำเลยบอกว่ามีอาชีพเก็บเศษขยะขาย ไม่ได้มาร่วมชุมนุมแต่เดินมาตามถนนจากหัวลำโพงและจะไปเตะตะกร้อที่สนามศุภฯ พอถึงด่านก็โดนถูกจับกุม 
ด้านจำเลยเบิกความว่า อาศัยอยู่ตัวคนเดียวบริเวณใต้ทางด่วน ข้างวัดดวงแขมาหลายปี โดนจับกุมวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ค. เวลา 8.00-9.00 น. ไม่ใช่วันที่ 15 พ.ค.ยามวิกาลดังที่ตำรวจลงบันทึกประจำวัน ทั้งนี้ ตำรวจเป็นผู้สอบปากคำทั้ง 15 คน และสอบถามตนเองไม่กี่คำถาม เมื่อพิมพ์เสร็จตนก็ลงชื่อ โดยที่ตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟัง และตนก็อ่านหนังสือไม่ออก
จำเลยให้การต่อว่า ในวันเกิดเหตุได้เดินทางเตรียมตัวไปเตะตะกร้อที่สนามศุภฯ ตามปกติ โดยจะมีคนที่ชอบกีฬาดังกล่าวไปเตะตะกร้อกันเป็นกลุ่ม ระหว่างทางก็เดินเก็บขยะไปเรื่อยๆ จนมาถึงประตูสนามศุภฯ ด้านจุฬาซอย 12 พบว่าประตูปิดจึงนั่งใส่รองเท้าที่เตรียมมาเพื่อจะหาทางเข้าไปเตะตะกร้อ ทหาร 2-3 คนก็ได้เดินเข้ามาสอบถาม
“ทหารเขาถามว่าจะไปทำอะไร ผมบอกว่าจะไปเตะตะกร้อ ทหารก็ถามว่า ตรงนี้มีเตะตะกร้อเหรอ มึงไปคุยกับลูกพี่กูก่อน พอไปเจอลูกพี่ทหารเขาก็ถามว่า มึงอาชีพอะไร ผมว่าเก็บขยะขาย แล้วเขาก็ถามในถุงมึงมีอะไร ก็ตอบว่า มีตะกร้อ แล้วลูกพี่ทหารก็ให้เตะตะกร้อให้ดู แล้วก็บอกว่า กูรู้ว่ามึงเก็บขยะขาย แต่กูจะสั่งสอนมึง เดี๋ยวตำรวจมาเขาก็ปล่อยมึงเอง” สมพลกล่าวพร้อมระบุว่าจากนั้นจึงควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ นำผ้ามาปิดตา และถูกนำตัวขึ้นรถ โดยไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะทหารจะกระทืบ
อัยการถามค้านว่าเคยยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มนปช.ที่ชุมนุมอยู่ไหม สมพลให้การปฏิเสธก่อนจะกลับคำให้การในภายหลังว่า เคยเข้าไปขอข้าวผู้ชุมนุมกินเมื่อครั้งที่แพ้ดวลตระกร้อและเงินหมด แต่ไม่ใช่วันที่ 16 พ.ค. และตนไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเท่ากับเรื่องอิ่มปากอิ่มท้องไปวันๆ
จากนั้นมีการเบิกตัวพยานจำเลย ซึ่งเป็นพนักงานประจำของกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ทำความสะอาดถนนย่านดังกล่าว เขาให้การว่ารู้จักกับสมพลมา 6-7 ปี เพราะมักจะเตะตะกร้อด้วยกันช่วงเย็น และเขามีอาชีพเก็บกระดาษ ขวดน้ำพลาสติกขาย อาศัยใต้ทางด่วน ส่วนเหตุการณ์ที่ถูกจับกุมตัวนั้นเพิ่งทราบหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 อาทิตย์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์ ตอบ 'ใบตองแห้ง' เรื่อง "34 ปี '6 ตุลา' ที่สุดแห่งความสามานย์"

Posted: 07 Oct 2010 05:43 AM PDT

ใจ อึ๊งภากรณ์ แสดงความเห็นต่อบทความ "34 ปี '6 ตุลา' ที่สุดแห่งความสามานย์" ของ 'ใบตองแห้ง'

ผมเห็นด้วยกับ “ใบตองแห้ง” เวลาเขาวิจารณ์คนเดือนตุลาจำนวนมากโดยเขียนว่า “34 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก และแล้ว คนที่เคยผ่าน ‘6 ตุลา’ ร่วมครึ่งหนึ่งก็กลายไปเป็นผู้สนับสนุนเผด็จการ และเผด็จการแฝงของอำมาตย์” อาจเพิ่มอีกได้ว่าพวกเอ็นจีโอที่เคยท่องคำขวัญ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ก็หันมาอยู่ในกลุ่มคนเสื้อเหลืองนี้ด้วย สำหรับเอ็นจีโพวกนี้ “คำตอบอยู่ที่รัฐประหาร”

แต่ “ใบตองแห้ง” คงจะตาบอดไปข้างหนึ่ง เวลาเขียนต่อว่า “เสื้อแดงมีสโลแกนที่แสดงออกถึงเนื้อหาของสังคมนิยมบ้างหรือเปล่า ไม่ต้องไปถึงขั้นยึดทรัพย์นายทุน ยึดกิจการเป็นของรัฐ เอาแค่อ่อนๆ แบบขึ้นภาษีคนรวย เพิ่มรัฐสวัสดิการ ก็ยังไม่เห็นมีเลย”... เพราะเสื้อแดงเชียงใหม่ก็ชูประเด็นรัฐสวัสดิการ และภาษีก้าวหน้า เสื้อแดงสมัชชาสังคมก้าวหน้า และเสื้อแดงเลี้ยวซ้าย ที่กรุงเทพฯ ก็รณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการ และเลี้ยวซ้าย ยังเน้นเรื่องสังคมนิยมอีกด้วย และในกลุ่มซ้ายๆภายในขบวนการเสื้อแดงเหล่านี้มีคนเดือนตุลาอยู่ด้วย อดีต พคท. ก็มี

การเป็น “ซ้าย” ไม่ใช่แค่พูดเรื่องการจับอาวุธ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวที่ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลวจากประสบการณ์ของ พคท.

วลา “ใบตองแห้ง” พูดถึงความคิดสังคมนิยม และบอกว่า “ต้องขีดเส้นก่อนว่า สังคมนิยมไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย สังคมนิยมเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษชวนหัวอย่างยิ่งว่า People’s Democratic Dictatorship” ก็เป็นเพียงการขุดของเก่ามาฉายซ้ำ ผมสงสัยว่าเขาไม่เคยเป็นมาร์คซิสต์ แค่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นเอง เพราะ “สังคมนิยม” ที่เขาพูดถึงคือระบบเผด็จการ สตาลิน-เหมา ซึ่งล่มสลายไปทั่วแล้ว ส่วนสังคมนิยมมาร์คซิสต์ยังมีอยู่ และเน้นประชาธิปไตยสูงสุดด้วย ตัวอย่างที่ดีที่สุดเพราะมีอิทธิพลสูง คือพรรคใหม่ต้านทุนนิยม (NPA) ในฝรั่งเศส ซึ่งเติบโตมาจากสากลที่สี่ หรือบางส่วนของพรรคซ้าย (Die Linke) ในเยอรมัน ตัวอย่างอื่นๆ ทั่วโลกมีอีก แต่เกรงว่า “ใบตองแห้ง” ไม่ได้ทำการบ้านมาเท่าที่ควร

และเรื่อง “เสรีประชาธิปไตย” อันนี้ก็ของเก่ามาฉายซ้ำอีก “เสรีนิยม” ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสรีนิยมคือแนวคิดกลไกตลาดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา นักวิชาการเสรีนิยมในไทยสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา พรรคเสรีนิยมในไทยคือพรรคประชาธิปัตย์ ในหลายๆ ประเทศมีการใช้รัฐเผด็จการเพื่อบังคับใช้กลไกตลาดเสรีที่ทำให้คนจนจนลงและคนรวยรวยมากขึ้น และเวลาใครที่เป็นอดีตซ้ายอ้างว่าต้องพัฒนาทุนนิยมตลาดเสรี เขาก็แค่ท่องสูตรเดิมของ พคท. ที่เคยเสนอว่าเราต้องสร้างทุนนิยมหรือประชาชาติประชาธิปไตยก่อน เพื่อทำลายระบบเก่า

“ใบตองแห้ง” ควรจะพยายามหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์แบบ “กลไกแข็งกระด้าง” ที่มองว่าเสื้อแดงมาจากคนที่เคยเลือกพรรคนายทุน ดังนั้นจะซ้ายไม่ได้ เพราะในโลกจริงคนเสื้อแดงพัฒนาจิตสำนึกทางชนชั้นของตนเองมาเรื่อยๆ อาจไม่ได้แสดงออกด้วยศัพท์หรือวาจาที่ชัดเจนและเป็นซ้าย แต่มีการเข้าใจว่าตนเป็น “ไพร่” ที่ถูกกดขี่ และสาเหตุที่เขาชอบทักษิณหรือไทยรักไทย มาจากผลประโยชน์ทางชนชั้นอีก เช่นเรื่องระบบสาธารณะสุขถ้วนหน้า หรือกองทุนหมู่บ้าน ในความเป็นจริงคนเสื้อแดงรักทักษิณได้ โดยไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของทักษิณหรือ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเหล่านี้สามารถสู้เพื่อผลประโยชน์คนจนได้ โดยการนำตนเองอีกด้วย นี่คือสภาพขัดแย้งกันเองที่เราเห็นและต้องเข้าใจในโลกจริง

แล้วพวกพันธมิตรฯ ที่อ้างตัวเป็นซ้ายละ? ใบตองแห้งควรจะไปศึกษาขบวนการฟาสซิสต์ทั่วโลก เพราะฟาสซิสต์ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรฯ จะพยายามใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายปนกับความคิดฝ่ายขวา เพื่อดึงคนชั้นกลางที่รู้สึกไม่พอใจกับอำนาจรัฐหรือนายทุนใหญ่เข้ามาเป็นพวก และการที่อดีตฝ่ายซ้ายในกลุ่มพันธมิตรฯ ชื่นชมเผด็จการ เป็นการรักษาจุดยืนเดิมที่เคยรักเผด็จการในจีนอีกด้วย แล้วเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนตอนนี้กำลังบังคับใช้แนวเศรษฐกิจอะไร? คำตอบคือเสรีนิยมกลไกตลาด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท : เมื่อผองเราตื่นจากหลับใหล

Posted: 07 Oct 2010 04:58 AM PDT

แหงนหน้าบอกฟ้า...ว่าผองเราตื่นจากหลับใหล                ไม่หลงเหลือรักใด...สร่างแล้วสิ้นไร้ความรู้สึก

กระสุนทุกนัด...นั้นกัดกร่อนจิตสำนึก                                  ท่ามกลางกองศพและซากตึก...คือรอยร้าวลึกรุนแรง

 

เมื่อฆาตกรปรากฏ...เราก็หมดเยื่อใย                                  เมื่อคนสั่งฆ่าเยื้องกาย...แผ่นดินสั่นไหวทั่วหัวระแหง

เมื่อหัวใจเจ็บช้ำ...เราร้องร่ำหาการเปลี่ยนแปลง               เมื่อแผ่นดินเดือดแดง...ภูเขาน้ำแข็งจักหลอมละลาย

 

ปีเดือนเคลื่อนผ่าน...จันทร์ดวงนั้นเก่าแก่ลง                        นิทานกากับหงส์...ไม่อยู่ยงคงเส้นสาย

รถโดยสารกาลเวลา...พาเราเคลื่อนขบวนมาไกล                ควรมีหรือรอยอาลัย...ท่ามใบสั่งตายจากเบื้องบน

 

ปีศาจในดวงจันทร์...เฉกเช่นกันย่อมสั่นคลอน                     เพลงขับกล่อมเราก่อนนอน...กลายซับซ้อนและสับสน

สายน้ำอันชุ่มเย็น...เป็นธารสายโศกอันวกวน                       หยาดพิรุณนั้นร้อนรน...นั่นคือห่าฝนแห่งความตาย!

 

ไม่มีแล้วใช่ไหม...เทพนิยายบนฟ้านั่น                                   ตำนานสรวงสวรรค์...เดินทางถึงวันเสื่อมสลาย

นานแล้วเรายอมให้ย่ำยี...ดั่งเราไม่มีหัวจิตหัวใจ                   อ้างความเป็นชาติอันเปล่าดาย...ฆ่ากันได้เป็นผักปลา

 

ชาตินั้นหรือ...คือดินแดนจับต้องได้                                       คือขอบเขตหมุดหมาย...อธิปไตยอิสระ

คือพลเมืองถ้วนหน้า...คือประชาสาธารณะ                            มิใช่เทพสักการะ...หรือพระประทานองค์ใด

 

ชาตินั้นหรือ...คือแดนดินถิ่นชีวิต                                           ใช่รูปปั้นปูนปิด...หล่อสำริดพระปางค์ไหน

ใช่รัฐเร้นรัฐ...ลอบกัด...อำพรางกาย                                      ใช่ปราสาทเจดีย์ทราย...ใต้น้ำมือใครประพรม

 

ความมั่นคงของชาติ...มิอาจเอ่ยกล่าวอ้าง                             หากเปล่าว่าง...พลเมืองเป็นปฐม

ดินแดนร้างไร้ความหมาย...ต่างอะไรจากสายลม                    มีเพียงความขื่นขม...ถูกบ่มจ่ายในโรงทาน        

 

เพียงความมั่นคง...ของใครหรือ...จึงเข่นฆ่า                             ใต้ข้อกล่าวหา...ผู้ก่อการร้ายล้างผลาญ

หรือเลือดเนื้อพลเมือง...เป็นเพียงเครื่องบรรณาการ                 ให้ปีศาจในดวงจันทร์...คงกระพันนิรันดร์ไป

 

แต่ความมั่นคงหาใช่...ได้มาด้วยการกดขี่                                 ปลดปล่อยเราสู่เสรี...ทำเสียที...ทำได้ไหม

ทิ้งเสลี่ยงวอทอง...ลงมายืนบนผืนทราย                                  เกิดและตาย..บนผืนดิน...เท่าเท่ากัน

 




เพียงคำ ประดับความ

   กลุ่มกวีตีนแดง

7 ตุลาคม 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตราบใดที่ “อภิสิทธิ์-อานันท์”เล่นละครแหกตา มหากาพย์มาบตาพุดไม่มีทางจบลง

Posted: 07 Oct 2010 04:28 AM PDT

ปัญหามาบตาพุด จะกลายเป็นมหากาพย์แห่งความขัดแย้งไม่ที่สิ้นสุดตราบใดที่รัฐบาลเล่นละครแหกตาประชาชนจัดฉากสร้างภาพว่าพร้อมเข้าไปแก้ไขปัญหาแต่ลับหลังซูฮกกลุ่มทุนอุตสาหกรรม

หลังจากที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุดจำนวนรวม 43 รายได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553  และถัดมาอีก 5 วันเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2553 สมาคมฯกับชาวบ้านทั่วประเทศจำนวน 92 คนก็ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการประกาศกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงฯ ที่ถูกปรับลดลงเหลือ 11 ประเภทกิจการฯ อีกคดี   

การยื่นฟ้องคดีของสมาคมฯ และชาวบ้านมิใช่ต้องการจะค้าความตามการกล่าวอ้างของนักการเมืองบางคน แต่ทว่าต้องการแสวงหาความยุติธรรมจากกระบวนการตุลาการ ให้ปรากฏตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ว่าตามหลักกฎหมายมหาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นสุดท้ายแล้วศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาเป็นเช่นไร เพราะเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาปลดล็อคให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดที่ถูกฟ้องคดีเกือบ 76 โครงการ เดินหน้าต่อไปได้ ยกเว้นโครงการที่เข้าข่ายประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง โดยอ้าง 11 ประเภทกิจการฯ ที่คู่กรณีที่ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี มีความพยายามลุกลี้รุกรนรีบออกประกาศมาดักหน้าก่อนวันพิพากษาเพียง 2 วัน ทั้ง ๆ ที่ศาลปกครองกลางได้ยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2553 และเปิดศาลพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2553

ปมประเด็นปัญหาของโครงการที่เข้าข่ายประเภทกิจการที่อาจเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น มีปัญหาว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แสดงบทบาทหักดิบ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหามาบตาพุด 4 ฝ่าย ปรับลดกิจการที่อาจเข้าข่ายส่งผลกระทบรุนแรงเหลือเพียง 11 ประเภทกิจการ จากข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการชุดนายอานันท์ เสนอขึ้นไปนั้น นายอานันท์แสดงความเป็นทุกข์เป็นร้อนหรือเดือดร้อนแทนประชาชนทั้งประเทศเพียงใด    

กระทั่งกลายเป็นปมปริศนาว่า นายกรัฐมนตรีวัยละอ่อนกับอดีตนายกรัฐมนตรีอาวุโส ผู้มีรากเหง้ามาจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ร่วมมือกันเล่นละครแหกตาชาวบ้านมาตั้งแต่ต้นจนฉากสุดท้าย หรือว่านายทุนใหญ่อดีตนายกฯ ผู้กลับมาเห็นใจชาวบ้านถูกหลอกใช้กันแน่

ถ้านายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง เป็นตัวตั้งตัวตี ยืนกระต่ายขาเดียวให้นายกรัฐมนตรีทบทวน 11 ประเภทกิจการ แล้วกลับไปใช้ 18 ประเภทกิจการตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ จากผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว ก็น่าที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีเชื่อในเหตุผลที่เสนอขึ้นไปได้ สมาคมฯและชาวบ้านก็คงไม่ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลให้ยุ่งยากมากขึ้นต่อไป แต่ที่ผ่านมา นายอานันท์ ทำทีเป็นฮึดฮัดเล็กน้อยแล้วปล่อยให้นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีพร้อมคุย พร้อมให้เหตุผล ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า 11 ประเภทกิจการฯ นั้นดีแล้ว ครอบคลุมแล้ว

คำถามที่คาใจประชาชนทั้งประเทศก็คือ ทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ และนายอานันท์ เอาความเห็นของประชาชนที่สู้อุตส่าห์เอาภาษีของประชาชนอีกเหมือนกันเกือบ 10 ล้านบาทไปจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ไปไว้ที่ไหน

ใครๆ ก็รู้ว่า ปัญหามลพิษในเขตมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื้อรังมาพร้อมๆ กับการพัฒนาเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด นับจากรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบายผันเปลี่ยนพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวริมชายทะเลภาคตะวันออกอันสวยงามให้กลายเป็นเขตลงทุนอุตสาหกรรมหนักจวบจนบัดนี้  

ความรุนแรงของปัญหามลพิษปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีรัฐบาลไหนใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจังเพราะเกรงอกเกรงใจกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งกลุ่มทุนน้ำมัน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเหล็ก กลุ่มโรงงานไฟฟ้า ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มทุนที่ค้ำบัลลังก์รัฐบาลทางอ้อม เพราะการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่เหล่านั้นได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต รัฐบาลสามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างถึงการอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยรวม ทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวกว่า 10 % เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อนจากปัญหามลพิษและถูกแย่งชิงทรัพยากรและทำลายทรัพยากรดั่งเดิมไปอย่างไม่เหลือสภาพเดิม เช่น ทรัพยากรน้ำ ที่ต้องไปไปขโมยมาจากภาคเกษตรกรรมมาป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อนเป็นอันดับแรก กระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดแกนนำการต่อสู้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรม แต่แกนนำและมวลชนที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่ว่าจะเป็นยุคคัดค้านโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมเจนโก้ ที่มวลชนฝ่ายคัดค้านถูกยิงดับปริศนา หรือช่วงต้านกลุ่มทุนทีพีไอ ยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลก่อนถูกเล่ห์เหลี่ยม “ทักษิณ” หักเขี้ยวเล็บ จนมาถึงการลุกขึ้นสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในวันนี้ ก็ล้วนต่างต้องเผชิญแรงกดดัน ถูกข่มขู่คุกคามหมายเอาชีวิตไม่มีเว้น

ที่สำคัญ คือการใส่ร้ายป้ายสี ดีสเครดิตจากสื่ออาวุโสและกลุ่มทุนที่ชอบทำลายทรัพยากรฯ ให้การออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้นั้นไม่ให้มีความชอบธรรมต่าง ๆ นานาสารพัดวิชามารในการดิสเครดิต จนทำให้ดูเหมือนเป็นพวกที่ “คุยยาก” หรือ “คุยไม่รู้เรื่อง” เหมือนดังที่นายอภิสิทธิ์ พยายามพูดจาให้ตนเองดูดีว่าพร้อมที่จะคุยกับกลุ่มเครือข่ายประชาชน และทำความเข้าใจกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านการประกาศประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง “แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ทำความเข้าใจยาก และเรื่องนี้คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ทั้งหมด แต่ก็จะพยายามเดินหน้าทำความเข้าใจ” ตามที่สื่อสารมวลชนรายงาน

หากมองย้อนกลับไปสักนิดเพียงชั่วระยะปีกว่าที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 หากปัญหามลพิษมาบตาพุดได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังภายหลังจากที่ศาลปกครองระยอง มีคำสั่งให้กำหนดเขตพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ และต้องมีแผนฟื้นฟูและการจัดการปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การดึงดันเอาแต่ได้ของฝ่ายกลุ่มทุนที่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้หนุนหลังอย่างสุดตัว เรื่องต่างๆ ก็คงไม่ลุกลามบานปลายไม่สิ้นสุด เพราะถ้าจะว่าไปแล้วเครือข่ายภาคประชาชนฯ ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวเหมือนกับการคัดค้านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นที่แรงระดับ “มึงสร้าง กูเผา” พวกเขาเอาเพียงแค่ “ขอให้อยู่ด้วยกันได้” ไม่ใช่ตั้งหน้าฆ่ากันให้ตาย (ผ่อนส่ง) เท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาแล้ว ก็คือ การขนม็อบจัดตั้งออกมาสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมและรัฐบาล การเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการลงทุนต่อโดยที่แผนปฏิบัติการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหามลพิษยังไม่มีความชัดเจน และไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งจุดชนวนให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดจนมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2552 และวันที่ 2 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ก่อนที่บางส่วนจะถูกปลดล็อคโดยคำตัดสินคดีของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 53 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ชั่วระยะเวลาที่คดีหลักกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของตุลาการศาลปกครองกลาง นายกฯอภิสิทธิ์ เล่นละครแหกตาประชาชน ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นประธานฯ ทั้งการทุ่มงบประมาณออกไปตะเวนรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศในการที่จะดำเนินการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดประเภทกิจการรุนแรง การจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ที่ผิดรัฐธรรมนูญ) ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้โดยยึดหลักการ “ประชาชนต้องมาก่อน” ตามคำโฆษณาชวนเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ 

แต่ผลสุดท้าย พิสูจน์แล้วว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ และนายอานันท์ พร้อมด้วยกุนซือและข้าราชการประจำที่อยู่เบื้องหลังในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด  ต่างมีคำตอบล่วงหน้าอยู่ในใจแล้วว่า “การลงทุนอุตสาหกรรมต้องมาก่อน” โดยเร่งรีบประกาศ 11 ประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อโครงการในมาบตาพุดน้อยที่สุดออกมา โดยไม่แยแสข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯได้ข้อยุติจากการไปรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว แม้จะมีข้อร้องเรียนหรือข้อท้วงติงอย่างไรก็ไม่สนใจ เพียงเพื่อต้องการนำไปใช้เป็นข้ออ้างในชั้นศาลให้ได้ก่อนเป็นพอแล้ว ภาคประชาชนชาวบ้านจะเดือดร้อนเสียหายอย่างไร ทำไมต้องไปสนใจด้วย เพราะคล้อยหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดี กระทรวงอุตสาหกรรม กนอ. กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ต่างก็เร่งเซ็นอนุมัติการลงทุน เร่งเดินหน้าโครงการกันเกือบหมดทั้ง 76 โครงการที่ถูกระงับการดำเนินการชั่วคราว โดยไม่รอการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดและให้ผลของคดีเป็นที่สิ้นสุดเสียก่อนเลย แม้สมาคมฯและชาวบ้านจะได้มีหนังสือท้วงติงไปแล้วก็ตาม

เหตุดังกล่าว สมาคมฯ จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนและเสียหาย อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ในการเรียกร้องความยุติธรรมในกระบวนการทางศาลปกครองสูงสุด จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนให้กับชาวบ้านเหล่านั้นต่อศาลยุติธรรมต่อไป ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เลิกเล่นละครแหกตาประชาชนอีกต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐบาลรับอนุสัญญา ILO 87-98 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาททั่วประเทศ

Posted: 07 Oct 2010 02:32 AM PDT

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งขึ้นค่าจ้างเป็น 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ – ด้าน รมว.แรงงานออกมารับหนังสือไม่ได้ติดชี้แจงกฎหมายอยู่ที่รัฐสภา

ภาพโดย พรพรรณ มังกิตะ

7 ต.ค. 53 - เครือข่ายองค์กรแรงงาน ประกอบด้วยสภาองค์กรลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) และกลุ่มแรงงานในประเทศไทย กว่า 1 พันคน ถือโอกาสที่วันนี้เป็นวัน งานที่มีคุณค่าสากลเดินรณรงค์จากหน้าองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรม

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยยกเลิกระบบโครงสร้างค่าจ้างเดิมที่ให้อนุกรรมการระดับจังหวัดพิจารณา เพราะไม่มีความเป็นธรรมและเป็นสาเหตุทำให้ค่าจ้างมีความเหลื่อมล้ำกันมากเหมือนทุกวันนี้

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 421 บาทต่อวัน หรือ12,000 บาทต่อเดือน ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยอ้างถึงความเหมาะสมจากข้อมูลที่สำรวจถึงการสอดคล้องของรายได้และค่าครองชีพของแรงงานทั่วประเทศในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

เมื่อวันที่7ตุลาคมปีที่แล้ว พวกเราได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า5,000คนออกมารณรงค์เคลื่อนไหนหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่ง พล.ต. สนั่น รับปากว่าจะเร่งผลักดันอนุสัญญาดังกล่าวให้เรียบร้อยภายใน 3เดือน ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1ปี แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เราจึงกลับมาทวงสัญญานายสาวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เมื่อเวลา 11.00 น.นาย สุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน มาเป็นตัวแทนรัฐบาลออกมารับหนังสือของเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ โดยอ้างว่าเคยยื่นหนังสื่อให้กับรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า และการออกมาเรียกร้องวันนี้ต้องการยื่นข้อเรียกร้องกับรัฐมนตรีในสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ดังนั้นนายสุธรรมจึงต่อรองขอพูดผ่านทางเครื่องขยายเสียงกับผู้ชุมนุมว่า

ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ไม่สามารถมารับหนังสือได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากติดชี้แจงกฎหมายอยู่ที่รัฐสภา และสำหรับเรื่องของความล่าช้าในการทำงานที่ผ่านมาเป็นปี ที่ไม่สามารถหวนกลับไปแก้อดีตได้ แต่ต่อจากนี้ขอให้คำมั่นสัญญาว่าข้อตกลงทั้งหมดจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2สัปดาห์นายสุธรรม กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังนายสุธรรมพูดจบ ทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงไม่พอใจคำพูดของนายสุธรรม โดยอ้างว่าคำพูดแบบนี้ใครๆก็พูดได้ และทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ขอยื่นหนังสื่อผ่าน นายสุธรรม จึงได้ชักชวนให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อกดดัน และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรี

ทั้งนี้การชุมนุมใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงเศษทำให้การจราจรบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลขาดการคล่องตัว แต่ยังคงสามารถเคลื่อนตัวไปได้เล็กน้อย และตลอดระยะเวลาการชุมุนม กลุ่มผู้ชุมนุมได้โบกแผ่นป้ายเรียกร้อง ให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง ทั้งนี้หากรัฐบาลขึ้นค่าแรง จะทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนคนรากหญ้าจะมีดีขึ้น

ขณะที่ พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ โดยกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มแรงงาน จะต้องกลับไปดูหลักเกณฑ์ในพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)ที่ยัง คงมีการประกาศใช้ในกรุงเทพมหานคร ว่าการชุมนุมขัดข้องบังคับหรือไม่ เนื่องจากห้ามปิดการจราจร ทำลายทรัพย์สิน หรือข่มขู่ แต่ขณะนี้เท่าที่เห็นยังไม่มีการปิดการจราจร เพราะรถยังสัญจรได้

 

แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
ฉบับที่ 5/2553
เรื่อง ทวงสัญญา 1 ปี กับความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสกล (International Decent Work’s Day) พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมไปถึง สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในประเทศไทย ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่ น้องผู้ใช้แรงงาน

ซึ่งที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่พวกเราคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 5,000 คน ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งท่านได้รับปากว่าจะดำเนินงานผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้จะมีการประชุ่มร่วมกับคณะกรรมการประสานงานเพื่อการให้สัตยาบัน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของกระทรวงแรงงานถึง 5 ครั้ง ซึ่งมีมติร่วมกันว่าให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับพร้อมกัน โดยให้มีการให้สัตยาบันก่อนแล้วค่อยทยอยแก้กฎหมายหลังจากนั้น

ดัง นั้นในวันนี้พวกเราในนามคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอทวงสัญญาจากรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน โดยต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามลำดับโดยด่วน การสร้างงานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาหลัก ทั้ง 2 ฉบับ ในโอกาสครบรอบ 91 ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  และการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2553 นี้ เป็นวาระสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

การที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้ง เป็นองค์กรของคนงานและมีข้อจำกัดในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน และแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ที่จะได้มาโดยรูปแบบการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับอำนาจทุน ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งมี จำนวนมากถึง 37 ล้านคน รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยทันที ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พวกเราในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็จะมีการรณรงค์กดดันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ในประเทศและการรณรงค์ในระดับสากลร่วมกับพี่น้องผู้ใช้ แรงงานทั่วโลก

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานที่มีคุณค่า คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอสนับสนุนการรณรงค์ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมของพี่น้องผู้ใช้แรง งาน 421 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้จริงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553
เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล
คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 9

 

 

 

 

ที่มาข่าว:

 

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐบาลรับอนุสัญญา 87, 98 (สำนักข่าวไทย, 7-10-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/111830.html

ม็อบแรงงานแห่ปิดทำเนียบ เรียกร้องค่าแรง 421 บาทต่อวัน (แนวหน้า, 7-10-2553)
http://www.naewna.com/news.asp?ID=231168

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ประเวศ' เชื่อเหตุระเบิดยิ่งผลักดันให้คนร่วมปรองดอง-ปฏิรูป

Posted: 07 Oct 2010 02:20 AM PDT

7 ต.ค. 2553 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ที่ โรงแรมตะวันนา ถนนสุรวงศ์-นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์อย่างเชื่อมั่นว่า เหตุการณ์ระเบิดร้ายแรงหรือการก่อเหตุป่วนเมืองที่เกิดขึ้นช่วงนี้ไม่เป็น อุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศไทย

ทั้งนี้เชื่อด้วยว่าเหตุป่วนเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ ประชาชนที่ต้องการเห็นความสงบและปรองดองเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูปมากขึ้น ส่วนผู้ที่ทำผิดกฎหมายตนมองว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องว่าไปตาม กฎหมาย

 นพ.ประเวศ  กล่าวว่า สาเหตุวิกฤตของประเทศในปัจจุบัน คือปัญหาขาดความเป็นธรรมและความเลื่อมล้ำ ทำให้คนไม่รักกันและไม่รักชาติบ้านเมือง หากวิเคราะห์แล้วต้นตอที่แท้จริงคือโครงสร้างของอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม เป็นแบบรวมศูนย์ ซึ่งตนมองว่าเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การรัฐประหาร ปัญหาความรุนแรง และการคอรัปชั่นได้ง่าย ทางแก้ที่ง่ายที่สุด คือต้องใช้การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นพร้อมกับส่งเสริมให้ท้องถิ่นนำ ไปสู่การจัดการตัวเอง

"ที่ผ่านมาประเทศมีปัญหาและมีความซับซ้อนมากมาย ผมว่าการฆ่ากัน ทะเลาะกันไม่ใช่ทางออก ต้องใช้การสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่ลงตัวเท่านั้น โดยใช้ชุมธนาธิปไตย ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ไข" นพ.ประเวศ กล่าว

ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธมิตรฯ จัดทำบุญรำลึกครบรอบ 2 ปี เหตุสลายชุมนุม 7 ต.ค. 51

Posted: 07 Oct 2010 01:51 AM PDT

พํนธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปี รำลึกเหตุการณ์ 7 ต.ค. 51 โดยมีการทำบุญในช่วงเช้า 'จำลอง' บอกไม่ใช่กิจกรรมการเมือง เป็นเพียงพิธีกรรมศาสนา

 

7 ต.ค. 2553 - เดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 06.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ตั้งแต่ช่วงเช้ามีกิจกรรมทำบุญตักบาตร และร่วมกันถวายภัตราหารเช้าให้แก่พระสงฆ์ จำนวน 94 รูป โดยหลังจากนั้น ได้มีการประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งมี หลวงปู่เจริญ ราหุโล เจ้าอาวาสวัดป่าธารทอง จ.ราชบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พล.ต.จำลอง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 รวมไปถึงผู้เสียชีวิตจากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงการชุมนุม 193 วันด้วย

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ ไม่ได้เป็นการเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่มีการไฮปาร์คโจมตีผู้ใด มีเพียงการทำบุญตักบาตร และพิธีทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 10.00 น. หลังจากนั้น จะย้ายไปจัดกิจกรรมที่ลานด้านหน้าบ้านเจ้าพระยา สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ต่อไป ซึ่งการจัดกิจกรรมในวันนี้ ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างไร มีเพียงเจตนารมย์ในการรำลึกถึงความสูญเสียจากการใช้ความรุนแรงของอำนาจรัฐ เท่านั้น ส่วนที่ห่วงว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงที่มักเกิดขึ้น พร้อมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น ตนยืนยันว่า ความรุนแรงที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากเรา เพราะเราไม่เคยทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม มีเพียงการชุมนุม และจัดกิจกรรมโดยสงบเท่านั้น
       
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การปรับผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร และ ผบ.ทบ.จะมีส่วนช่วยให้เกิดความปรองดองขึ้นได้หรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ในส่วนของ ผบ.ตร.นั้น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ทราบดีว่าปัญหาคืออะไร แล้วคงต้องมีการปฏิรูปตำรวจไทยอย่างจริงจัง ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันมาก ส่วนเรื่องปฏิวัตินั้น พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดเจนว่า ไม่ทำแน่นอน

ที่มา - เดลินิวส์ออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล : ความเป็นกลาง/สันติวิธี/อนาคตเสื้อแดง

Posted: 07 Oct 2010 01:16 AM PDT

ความขัดแย้งใน 4-5 ปีมานี้ หลายคนมองว่ามันเป็นกลางไม่ได้ มันถึงจุดที่จำเป็นต้องเลือกฝ่าย หลวงพี่มีความเห็นยังไงครับ?

ก็ต้องพูดให้ชัดเจนว่าขัดแย้งเรื่องอะไร เช่น ถ้าขัดแย้งเรื่องหลักการ เช่น ขัดแย้งระหว่างเรื่องประชาธิปไตยกับเรื่องรัฐประหาร ก็ควรพูดได้ว่ามีจุดยืนอย่างไร  ในส่วนของอาตมาก็บอกแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร  ถ้าให้เลือกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ  อาตมาเลือกประชาธิปไตย  หรือถ้าเลือกระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐประหาร อาตมาก็ไม่เอารัฐประหาร

แต่ถ้าต้องเลือกตัวบุคคลหรือขบวนการ มันมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีก ยกตัวอย่างเช่นมีฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แต่ถ้าเค้าจับอาวุธอาตมาก็ไม่เอาด้วย คือมันขึ้นอยู่กับว่าถ้ามีขบวนการ ขบวนการนั้นเป็นใคร มีวิธีการยังไง ถ้าเป็นขบวนการซึ่งอาตมาไม่แน่ใจในตัวผู้นำหรือมีวิธีการที่อาตมาไม่เห็นด้วย เช่น ประท้วงรัฐบาลเผด็จการด้วยการวางระเบิด ประท้วงคณะรัฐบาลทหารด้วยการวางระเบิด อาตมาก็ไม่เอา ไม่สามารถสนับสนุนเขาได้  ในแง่นี้ถือว่าเป็นกลางหรือเปล่า เพราะว่ารัฐบาลทหารเราก็ไม่เอา ส่วนขบวนการต่อต้านรัฐประหารแต่ใช้กำลังอาวุธ สมมติว่ามีนะ อาตมาก็ไม่เอา อันนี้ก็เหมือนกับตอน 6 ตุลา มันมีการรัฐประหาร แล้วก็มีคนจำนวนมากไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ อาตมาก็ไม่เอากับคณะรัฐประหาร หลัง 6 ตุลา แต่ว่าจะให้อาตมาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่เอา เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นใคร มีใครเป็นผู้นำ อาตมาก็ไม่รู้ ภายหลังก็มีข้อมูลว่าเขาสนิทกับจีนมาก อยู่ในอำนาจของจีนเลย  ข้อที่สองเขาใช้ความรุนแรง อาตมาก็ไม่เห็นด้วย  ในแง่นี้ถามว่าเป็นกลางหรือเปล่า  คือ อาตมาไม่เอารัฐบาลเผด็จการคือรัฐบาลธานินทร์ (กรัยวิเชียร) ส่วน พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อาตมาก็ไม่เอา

แต่ปัจจุบันมันอาจจะไม่ชัดถึงขนาดนั้น ปัจจุบันนี้มันก็มีฝ่ายหนึ่งเรียกร้องทหารทำรัฐประหาร แล้วก็สนับสนุนรัฐประหาร แต่ฝ่ายหนึ่งก็ยืนยันว่าไม่เอาเผด็จการอย่างชัดเจน แล้วก็ต้องการประชาธิปไตย แต่ว่าวิธีการอาจจะบกพร่องบ้าง?

ตอนที่เสื้อแดงชุมนุมเมื่อหลายเดือนก่อน  ข้อเรียกร้องของเขาคือให้ยุบสภาใช่มั้ย   จุดยืนตอนนั้นเขาไม่ได้ชูเรื่องต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น ก็คงไม่เวิร์ค เพราะว่าตอนนั้นมันไม่มีรัฐประหารแล้ว  รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มาจากการเลือกตั้งใช่มั้ย อาจจะมีเส้นสนกลในหรือมีเบื้องหลังอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเสื้อแดงตอนนั้นเขาเรียกร้องยุบสภา ไม่ได้ต่อต้านรัฐประหาร เพราะตอนนั้นรัฐบาลไม่ได้มาจากการรัฐประหาร ถึงแม้จะมีทหารหนุนหลังก็ตาม

คือเสื้อแดงเขามองว่าทั้งหมดเนี่ยมันสืบเนื่องมาจากขบวนการรัฐประหาร คือรัฐประหารเสร็จก็จะมีการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ์ขึ้นมา แล้วก็ล้มรัฐบาลสมัคร สมชายลงไป อำนาจสืบเนื่องหรืออำนาจนอกระบบการเลือกตั้งมันก็ช่วยให้มีรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมา เขาก็เลยต่อต้าน?

อันนี้ก็เถียงกันได้ แต่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มาจากกระบวนการทางรัฐสภา ส่วนเบื้องหลังก็ว่ากันไป แต่จะว่าไปแล้วรัฐบาลสมัครกับรัฐบาลสมชายก็อิงทหารใช่มั้ย นายกรัฐมนตรีไปไหนก็พาคุณอนุพงษ์ (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ไปด้วยตลอดเวลา คืออิงทหารมันก็อิงกันทุกรัฐบาลอยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลทหาร ได้อำนาจจากรัฐประหาร  แล้วเสื้อแดงเขาประท้วงรัฐบาลทหาร  อาตมาก็คงมีใจโอนเอียงไปทางนั้น  แต่ตอนนั้นอาตมามีข้อติดขัดอยู่บางเรื่อง ที่ทำให้อาตมาไม่สามารถเทใจให้การสนับสนุนได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่สนับสนุนทั้งรัฐบาล แล้วก็ไม่ได้สนับสนุนทั้งเสื้อแดง แต่ถ้าพูดถึงหลักการ เช่น ประชาธิปไตย อาตมาสนับสนุน แต่พอเป็นเรื่องขบวนการแล้ว มันมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก

ก็เลยไม่สามารถจะโดดลงไปฝ่ายแดงหรือฝ่ายไหนได้?

ใช่ คือถ้าเผื่อเป็นสมัชชาคนจนประท้วงรัฐบาล อาตมาก็อยากสนับสนุนนะ ถ้าเป็นสมัชชาคนจนพูดเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม อาตมาว่ามีน้ำหนักมากเลย

 
แต่เผอิญว่า อย่าง นปช.เขาก็ชูวาระต่อต้านเผด็จการมาตั้งแต่แรกใช่มั้ยครับ แล้วก็เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 40 เรื่อยมา แล้วก็มีประชาชนที่อาจารย์นิธิอาจจะเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างเข้าร่วมเยอะมาก มันเหมือนกับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ซึ่งถ้าเทียบกับ 14 ตุลา, 6 ตุลา ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา หรือพฤษภา 35  ก็จะเป็นคนชั้นกลางในเมือง ปรากฏการณ์ใหม่แบบนี้ หลวงพี่มองยังไง?

ถ้าไม่เอารัฐธรรมนูญปี 50 อาตมาเห็นด้วย แต่ว่า นปช.มีพัฒนาการมาพอสมควรหลังจากตอนนั้น เช่น มีการชุมนุมหน้าทำเนียบเมื่อเดือนเมษาปีที่แล้ว แล้วมีความรุนแรงเกิดขึ้น อันนี้ทำให้คนตั้งคำถามกับเสื้อแดงมาก  ดังนั้นเมื่อคนเสื้อแดงชุมนุม หรือคนกลุ่มไหนก็ตามที่ชุมนุม หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น อาตมาก็บอกว่าขอให้ใช้สันติวิธี อาตมาก็ไม่เคยออกแถลงการณ์ หรือพูดประณามคนเสื้อแดง แต่บอกว่าขอให้คุณสู้ด้วยสันติวิธีนะ ก็พูดทั้งกับรัฐบาลกับฝ่ายประท้วง 

แล้วหลวงพี่มองขบวนการของฝ่ายเสื้อเหลืองยังไง?

คือตั้งแต่หลังรัฐประหาร อาตมาก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องเท่าไหร่  โดยเฉพาะเมื่อมีการชุมนุมเมื่อ 2 ปีก่อน อาตมาก็แค่ติดตามข่าวเฉย ๆ เพราะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะออกไปทางรุนแรง  แม้เขาจะบอกว่าชุมนุมโดยสันติก็ตาม อาตมาก็เห็นใจที่เค้าโดนระเบิดโดนทำร้าย แต่หากใช้อาวุธตอบโต้ อาตมาก็ไม่เห็นด้วย การปราศรัยบนเวทีซึ่งใช้ถ้อยคำรุนแรง อาตมาก็ไม่เห็นด้วย

 
ตอนแรกหลวงพี่คิดยังไงถึงไปเวทีพันธมิตร?

มีไปครั้งเดียวคือเขานิมนต์ไปเลี้ยงพระเพื่อทำบุญ งานทำบุญนี่ถ้าเสื้อแดงนิมนต์อาตมาไปก็ไปนะ คือเรื่องทำบุญ อาตมายินดีไป  นักโทษประหารนิมนต์อาตมาไปเทศน์ อาตมาก็ไป ไม่ได้แปลว่าไปแล้วเห็นด้วยกับการกระทำของเขา แต่ถ้าใครทำดี เช่น ทำบุญก็พร้อมให้ความร่วมมือ ตอนที่ไปทำบุญคราวนั้นก็ยังพูดเตือนเขาว่า อย่าใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง เพราะเวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร

ตอนนั้นเขาทำบุญเรื่อง?

น้องโบว์ตาย วันที่ 7 ตุลา เค้าทำบุญครบ 7 วันก็ 14 ตุลา อาตมาก็ไปแค่นั้น คือไปงานเลี้ยงพระทำบุญ คือเรื่องทำบุญเรื่องเทศน์อาตมาไม่ขัดนะ ใครจะนิมนต์ไปที่ไหนไป

ช่วงที่ว่าไปกับพระกิตติศักดิ์ (กิตฺติโสภโณ)?

ถ้าไปแบบสังเกตการณ์ ก็ไปดูหลายครั้ง แต่ไม่เคยขึ้นเวทีพูด อาตมาว่ามันไม่เหมาะ  นึกได้แล้วว่าอีกมีคราวหนึ่งที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตร คือขึ้นไปให้ศีลห้า นั่นเป็นปี 49 ตอนนั้นเขาจะเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปหน้าทำเนียบ เป็นขบวนใหญ่มากที่บางคนว่าเป็นกีฬาสีนั้นแหละ  ก็มีการทำพิธีขอศีล เขานิมนต์อาตมาไปให้ศีล ก็บอกเค้าว่าอย่าใช้ความรุนแรง อย่าใช้วาจากล่าวประณามใคร

แต่ตอนนั้นไม่ใช่ไปสนับสนุนเสื้อเหลือง?

ไปให้ศีลอย่างเดียว แต่ภาพที่เกิดขึ้นมันก็เหมือนสนับสนุนอยู่ในทีใช่มั้ย ตอนนั้นเสื้อเหลืองเขาต่อต้านทักษิณ ตอนนั้นมันก่อนรัฐประหาร อาตมาไปก็ไปในบทบาทของพระคือไปให้ศีล ไปปรามคนไม่ให้ใช้ความรุนแรง ประมาณ 10 นาที ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่พระเราน่าจะทำได้ ถ้าใครจะนิมนต์ให้ไปพูดอย่างนั้นอาตมาก็ไป คือถ้าเป็นบทบาทในทางศาสนานะ

แล้วที่ว่าหลวงพี่เป็นกลาง เรียกร้องสันติวิธีเนี่ย บางทีเขาก็มองว่าสันติวิธีถ้าแบบคานธีก็จะมีเรื่องอหิงสา เมตตา แล้วก็สัจจะ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เอ๊...สันติวิธีในแนวของหลวงพี่น่ะ พูดถึงสัจจะน้อยไปหรือเปล่า อย่างเช่นพูดถึงสัจจะของคนเสื้อแดงที่ถูกฉ้อฉลเรื่องอำนาจ หรือความเลวร้ายของรัฐประหารอาจจะพูดถึงน้อยกว่าความเลวร้ายของทักษิณ?

จริงๆ เรื่องความเลวร้ายของคุณทักษิณ อาตมาไม่ได้พูดมากนะ โดยเฉพาะหลังจากรัฐประหารแล้วพูดน้อย แต่ที่พูดมากคือพูดว่าทำไมคุณทักษิณจึงเป็นที่นิยมของประชาชนรากหญ้า ไปช่อง 11 ก็พูด ซึ่งทำให้มีเสียงพูดมาเลยว่าไป Take-side (เลือกข้าง) เสื้อแดง ไปพูดคราวนั้นอาตมาพยายามอธิบายว่าทำไมคุณทักษิณจึงเป็นที่นิยมของประชาชน นอกจากพูดแล้วยังเขียนบทความหลายครั้งว่าคุณทักษิณทำไมโดนใจประชาชน แต่การวิจารณ์คุณทักษิณจะน้อยลงไปเมื่อเทียบกับตอนก่อนรัฐประหาร ก่อนรัฐประหารอาตมาไปปาฐกถา 14  ตุลา เมื่อปี 47 วิจารณ์คุณทักษิณเรื่องการใช้ความรุนแรง ทำให้ถูกด่าในครั้งนั้นมากเลย แต่ว่าหลังจากรัฐประหารแล้วก็พูดน้อย

แล้วหลวงพี่วิจารณ์รัฐประหารหรือเปล่าครับ?

ก็พูดนะว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 กันยา - 1 วันหลังรัฐประหาร หนังสือพิมพ์เนชั่นก็มาสัมภาษณ์อาตมาก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะว่าไม่ได้แก้ปัญหา มีแต่ทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น แต่ว่าหนังสือพิมพ์อื่นก็ไม่ค่อยมาสัมภาษณ์อาตมาเรื่องรัฐประหารเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาล จนกระทั่งมีเรื่องมาประท้วงเมื่อเดือนมีนาคม จึงออกมาเตือนเรื่องสันติวิธี เพราะมันเคยเกิดเหตุรุนแรงมาแล้วเมื่อเมษายนปีก่อน  ที่เตือนก็เตือนทั้งรัฐบาลและคนเสื้อแดง แต่มีบางคนมองว่าการพูดอย่างนั้นเป็นลบกับเสื้อแดง เหมือนกับจะบอกว่าคนเสื้อแดงกำลังจะก่อความรุนแรงนะ แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่าย  แต่ว่าคนเสื้อแดงบางคนก็ไม่เข้าใจ มองว่าอาตมาเป็น “เหลืองอำพราง” มาพูดอย่างนี้เพื่อให้ประชาชนตื่นตระหนกว่าเสื้อแดงจะใช้ความรุนแรง


โอเค หลวงพี่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารใช่มั้ยครับ และหลวงพี่ก็คงจะต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น แต่บทบาทความเป็นกลาง หรือสันติวิธีแบบนี้มันจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นไหม?

พูดเรื่องสันติวิธีก่อนคือ อาตมามองว่าการแก้ปัญหาอะไรก็ตาม ถ้าจะทะเลาะกันก็ขอให้ทะเลาะกันอย่างอารยชน คือใช้สันติวิธี  สู้กันอย่างสันติวิธี มันก็จะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างสงบ อาตมาเชื่ออย่างนี้เพราะว่าหลังจากเกิด 6 ตุลาแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามกลางเมือง อาตมาก็ทำบทบาทอย่างที่เคยทำตอนนี้คือบทบาทของฝ่ายที่สาม  จะเรียกว่าเป็นกลางก็ได้ เป็นกลางในความหมายหนึ่งคือว่าไม่แสดงความเห็นเลย ไม่มี Commitment แต่เป็นกลางในความหมายที่อาตมาทำ ตอนหลัง 6 ตุลา คือไม่เอาทั้งสองฝ่าย คือไม่เอาทั้งรัฐบาลทหาร และก็ไม่เอา พคท. แล้วก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ แต่ทำงานคือเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เราพร้อมถูกจับเพราะว่าเราทำงานเปิดเผย ไม่ทำงานใต้ดิน เรียกร้องให้นิรโทษกรรมผู้ต้องหา 6 ตุลา  พวกเราเชื่อว่าถ้ามีการนิรโทษกรรม ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน บ้านเมืองจะสงบสันติได้ คนจะหันมาต่อสู้ด้วยสันติวิธี  ผลสุดท้ายก็อย่างที่เราเห็นว่า สงครามกลางเมืองไม่เกิดขึ้น ผู้คนออกจากป่าวางอาวุธเข้าเมือง  อันนี้ไม่ใช่เพราะพวกเรานะ แต่มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง อันที่สองบ้านเมืองก็คลี่คลายไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จากเผด็จการก็กลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วก็เริ่มเป็นประชาธิปไตยค่อนใบ จนกระทั่งเป็นประชาธิปไตยอย่างมากปี 40 คือมันก็มีวิวัฒนาการไปในทางที่ดี และเกิดขึ้นเพราะมีการใช้สันติวิธี อาตมาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีได้ แต่ว่าถ้ามันสันติไม่ได้มันก็ต้องเกิดความรุนแรง อันนี้ต้องทำใจหากทำเต็มที่แล้ว แต่อาตมาเชื่อว่าระบอบเผด็จการสามารถจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี มันก็มีตัวอย่าง เช่น ชาวฟิลิปปินส์โค่นเผด็จการมาร์คอส ชาวรัสเซียโค่นคอมมิวนิสต์ด้วยสันติวิธี ในยุโรปตะวันออกระบอบคอมมิวนิสต์พังทลายก็โดยสันติวิธี ในเซอร์เบียเผด็จการมิโลเซวิส ก็ถูกประชาชนขับไล่ด้วยสันติวิธี คือประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้เรายืนยันได้ว่า เผด็จการสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยได้ด้วยสันติวิธี


แล้วมันเลยมาถึงคนตาย 91 ศพ ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมแล้วก็มีคนตาย 91 คน มันเป็นการละเมิดศีลธรรมทางศาสนาโดยตรง อย่างนี้มันจะเป็นกลางได้หรือเปล่า?

เป็นกลางไม่ได้อยู่แล้ว สาเหตุหนึ่งที่คนเสื้อเหลืองไม่ชอบอาตมามากก็เพราะว่าอาตมาเรียกร้องอย่าให้มีการใช้กำลังทหารปราบปราม อาตมาเรียกร้องรัฐบาลมาตลอดว่าอย่าใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม จนกระทั่งวันที่ 18 (พ.ค.53) อาตมาเขียนลงในเฟซบุ๊ค ว่า “ความรุนแรงที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องล้มตาย ย่อมเป็นความถูกต้องไปไม่ได้  แม้ว่าเป็นการกระทำในนามของกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย ประชาธิปไตย  ความยุติธรรม หรือความเป็นธรรมในสังคมก็ตาม” แล้วก็ลงท้ายว่า “ปล่อยคนผิดให้ลอยนวล 10 คน ยังดีกว่าฆ่าผู้บริสุทธิ์แม้เพียง 1 คน” ก็มีคนเขียนมาแสดงความเห็นมากกว่า 200 คอมเมนท์ ส่วนใหญ่เขียนมาด่าอย่างรุนแรง  เข้าใจว่าเป็นคนเสื้อเหลือง เขากล่าวหาอาตมาว่าปกป้องผู้ก่อการร้าย  จะปล่อยผู้ก่อการร้ายไปได้ยังไง ก่อนหน้านั้นอาตมาก็ถูกต่อว่าว่าทำไมถึงขัดขวางรัฐบาลไม่ให้ใช้กำลังกับพวกผู้ก่อการร้าย  จุดยืนอาตมาตั้งแต่ต้นก็คือ ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง พอมีการใช้กำลังขึ้นมาจนกระทั่งมีคนตาย ที่จริงๆก็พูดมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษาฯ แล้วนะ พอเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม อาตมาก็เห็นว่ารัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมไปเยอะ แต่ถามว่าสูญเสียแค่ไหน นี่เป็นประเด็นที่เถียงกันได้ว่าสูญเสียแบบไม่เหลือเลยหรือสูญเสียแบบว่ายังพอปกครองประเทศได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่มองไม่ตรงกันว่า 91 คนตายด้วยฝีมือของใคร มีความสับสนในข้อเท็จจริงมาก  อาตมาไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังจัดการกับการชุมนุม  อันนี้ชัดเจนเลย แต่ถามว่าใครรับผิดชอบต่อกรณีนี้ ตรงนี้เป็นประเด็นคำถามมากว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแค่ไหน เรื่องการสั่งการทหารให้จัดการกับการชุมนุม รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแน่นอน  ส่วนเรื่องคนตายนั้น อาตมายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นความผิดของรัฐบาลล้วน ๆ เพราะอย่างที่เราทราบใช่มั้ยว่า มีคนเสื้อดำติดอาวุธสงครามปรากฏตัวในวันที่ 10 แล้วก็เป็นไปได้ว่ามาปรากฏตัวในช่วง 14-19 (พ.ค.) ด้วย อันนี้ไม่มีใครยืนยันและไม่มีใครปฏิเสธ มันเป็นข้อถกเถียงซึ่งยังสงสัยอยู่ คำถามก็คือ กี่มากน้อยที่ตายด้วยฝีมือของทหาร คนที่ตายมีกี่คนที่มีอาวุธ กี่คนที่เป็นคนชุดดำหรือเป็นทหารฝ่ายตรงข้าม ศอฉ. อันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน อาตมาจึงไม่สามารถฟันธงได้ในเรื่องนี้ แต่ต่อไปหากมีข้อมูลใหม่ออกมา อาตมาก็อาจเปลี่ยนใจได้

แต่มันชัดเจนมั้ยครับว่าทหารค่อนข้างจะมีอำนาจมากำกับรัฐบาลอีกทีหนึ่ง แล้วก็กองกำลังที่มาใช้นี่ก็เป็นกองกำลังทหารรักษาพระองค์?

เรื่องรายละเอียดนี้อาตมาไม่รู้นะว่าเป็นกองกำลังชุดไหนบ้าง แต่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้วล่ะ คืออาตมาไม่เห็นด้วยมาตลอดจนกระทั่งวันที่ 18 นี้ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง เพราะว่ามันมีคนตายที่เป็นคนบริสุทธิ์ เช่น เฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ) หรืออาสาสมัครกู้ชีพ แต่เราไม่รู้ว่าที่เหลือนอกนั้นกี่คนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ชุมนุมที่มีแค่มือเปล่า เขาถูกยิงโดยใคร  ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า กี่คนที่ตายด้วยฝีมือของทหาร  ข้อมูลมันสับสนมาก แต่ว่าแน่นอนว่าการใช้กำลังทหารในสถานการณ์อย่างนั้นเป็นสิ่งที่อาตมาไม่เห็นด้วย ในแง่นี้อาตมาไม่ได้เป็นกลางนะ คือการกระทำและผลที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นกลางไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกต้อง

มันจะไม่ขัดแย้งตัวเองหรือครับที่ว่าหลวงพี่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงตรงนี้ที่มีคนตาย แล้วหลวงพี่ก็มารับเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย มันเหมือนกับไปรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลโดยปริยาย?

อาตมาไม่ได้คิดอย่างนั้น  เพราะว่ากรรมการปฏิรูป คนที่ลงนามแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์นะ คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ คืออาตมามาไม่ได้นึกถึงคุณอภิสิทธิ์เลย เมื่อคุณอานันท์มานิมนต์ อาตมาไว้ใจและเชื่อมั่นในคุณอานันท์ จึงรับนิมนต์  แล้วก็อย่างที่เรารู้กันว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น


กรรมการปฏิรูปมันมีกี่ชุด?

สอง

คุณอานันท์ตั้งทั้งหมดเลยใช่มั้ย?

คุณอานันท์ตั้งชุดของอาตมา คุณหมอประเวศตั้งชุดของท่าน

แต่ไม่มีนายกฯตั้งซักชุดเลย?

ไม่มีนะ คือคุณอานันท์และคุณหมอประเวศต้องการความอิสระมาก จึงขอตั้งกรรมการของตัวเองขึ้นมา

 
ไม่ใช่รัฐบาลเป็นฝ่ายริเริ่มตรงนี้ขึ้นมาก่อน?

มันก็มีคนริเริ่มหลายทาง ที่จริงคุณหมอประเวศก็ทำเรื่องนี้นานเป็นปีแล้ว โดยอาศัยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติเป็นแกน  แต่สำหรับคณะกรรมการปฏิรูป  ถ้าถามว่าใครเป็นผู้ขอให้คุณอานันท์มาทำงานนี้ ก็คือคุณอภิสิทธิ์ แต่คนที่แต่งตั้งกรรมการชุดอาตมา ไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์แต่เป็นคุณอานันท์ ส่วนอีกชุดหนึ่งก็แต่งตั้งโดยคุณหมอประเวศ


ถ้ามองแบบอิทัปปัจจยตานะครับ มองเหตุปัจจัยที่เป็นมาตั้งแต่ 19 กันยา 49 แล้วก็เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสลายการชุมนุมแล้วมีคนตาย มันก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งว่าอำนาจรัฐประหารมันยังดำรงอยู่ คือทหารยังมีอำนาจมาก การคอร์รัปชันอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันก็ตรวจสอบไม่ได้ แล้วก็การสลายการชุมนุมที่ผ่านมามันเห็นได้ชัด ในขณะที่รัฐบาลสมัคร สมชาย ทหารไม่ทำอะไรเลย แต่มาถึงยุคนี้ทหารทำแบบจริงจัง แล้วมีการพูดถึงอำนาจนอกระบบเข้ามากำกับอีก ถ้ามองภาพรวมอย่างนี้มันไม่สามารถชั่งน้ำหนัก โอเคว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะมีถูกมีผิด แต่มันสามารถช่างน้ำหนักได้มั้ยว่าใครผิดมากกว่า ใครผิดน้อยกว่า แล้วเราควรจะเลือกฝ่ายไหน?

ตอนนี้ชัดเลยนะว่าทางฝ่ายรัฐบาลมีทหารหนุนหลัง แล้วก็สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร แต่อาตมาก็ไม่ได้มองว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งผิด ก็แสดงว่าอีกฝ่ายหนึ่งถูกนะ คือคนเสื้อแดง อาตมาไม่มีความแน่ใจในเรื่องแกนนำหลายคนเคยมีบทบาทในรัฐบาลที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยเท่าไหร่ คือรัฐบาลทักษิณ นอกจากนั้นบางคนก็พูดชัดว่าสนับสนุนการใช้กำลังอาวุธ ดังนั้นอาตมาจึงทำใจได้ยากที่จะอยู่ฝ่ายเสื้อแดง การมีจุดยืนทางการเมืองมันไม่ได้มีแค่สองทางเลือก ระหว่าง 'ผิด' กับ 'ผิดมากกว่า'

รัฐประหารมันน่าจะผิดมากกว่า?

ผิดมากกว่า ใช่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ตรงข้าม  เหมือนกับอาตมาไม่เอารัฐบาลเผด็จการสมัย 6 ตุลาก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปอยู่ฝ่าย พคท.ซึ่งต่อต้านรัฐบาลทหารและประณามเหตุการณ์ 6 ตุลา  ถึงแม้ว่า พคท.ต่อต้านฝ่ายที่อาตมาไม่เห็นด้วย อาตมาก็ไม่สามารถไปร่วมกับพคท.ได้ อาตมาไม่ได้มีคติว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เมื่อ พคท.เป็นศัตรูของรัฐบาลทหาร จะให้อาตมาไปเป็นมิตรกับ พคท.ก็ไม่เอา นี่ไม่ใช่แนวทางสันติวิธี นี่ไม่ใช่ธรรมาธิปไตยหรือการเอาหลักการเป็นใหญ่   แต่ไม่ได้หมายความว่าอาตมาไม่มีความเห็น อาตมามีความเห็น และไม่ใช่เพียงแค่ว่ามีความเห็น แต่ทำงานด้วยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่าเป็นกลางมันมีความหมายหลายอย่าง เป็นกลางที่เข้าใจทั่วไปหมายถึงการลอยตัว เหนือความขัดแย้ง ไม่ตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด  ถ้าลอยตัวอย่างนี้ไม่ถูก เราต้องตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด ซึ่งอาตมาก็ตัดสินไปแล้ว แต่การตัดสินของอาตมามันนำไปสู่จุดที่ว่า ฉันไม่เอาด้วยกับทั้งสองฝ่ายนะ

หลวงพี่มองว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนมั้ย ปรากฏการณ์ 4-5 ปีมานี้ มันจะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกว่าปี 40 มั้ย คือมันจะก้าวไปข้างหน้ามั้ยครับ?

มันสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ คือวิกฤตมันก็เป็นโอกาสได้ วิกฤตหลายครั้งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนยอมเสียสละเพื่อที่จะไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ว่าตอนนี้แนวโน้มมันก็ยังไม่กระเตื้อง แนวโน้มมันยังต่ำลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามอาตมาเห็นว่าสิ่งที่คนเสื้อแดงกำลังเคลื่อนไหวตอนนี้ โดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “แกนนอน”  อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องดี อาตมาเห็นด้วยมาก  การพยายามเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเพื่อเรียกร้องไม่ให้ลืมคนตาย หรือเพื่อต่อต้านรัฐประหารอย่างที่ บก.ลายจุดทำคือสิ่งที่อาตมาอยากจะเห็น

หลวงพี่มองว่าบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศมันจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมั้ย ภายใน 3 ปี?

ยังพูดไม่ได้นะ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ว่ามันเป็นโอกาสที่เหลืออยู่น้อยนิดที่น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะตอนนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวในทางลบ ต่อต้าน ไม่เอา ประท้วง ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ มันก็มีข้อดี แต่ว่ามันต้องมีการพยายามเสนออะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางบวกด้วย ซึ่งตอนนี้ไม่ค่อยมีใครทำ โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงระยะยาว คือประท้วงคัดค้านอย่างที่หนูหริ่ง หรือสมบัติ (บุญงามอนงค์) ทำ อาตมาก็ว่าดี ทำไปเถอะนะ  สมัยก่อนอาตมาก็ทำงานแบบนั้นแหละ แต่ว่ามันต้องมีคนทำเรื่องที่จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงระยะยาว หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างด้วย ถามว่ามันจะเป็นไปได้มากแค่ไหนในอนาคตอันใกล้ ก็ตอบว่าเป็นไปได้น้อย แต่ว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย คือตอนนี้เปรียบไปมันก็เหมือนเครื่องบินกำลังจะตก เราก็ต้องช่วยกัน จะมาเถียงว่านักบินเป็นใคร สมควรเป็นนักบินหรือไม่ ก็พูดได้นะ แต่ว่าสิ่งที่ต้องเร่งทำควบคู่กันไปก็คือว่าพยายามช่วยกันทำไม่ให้เครื่องบินตก

หลวงพี่ยอมรับมั้ยว่า คุณทักษิณก็ไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบวนการสอบสวน แล้วก็คนเสื้อแดงส่วนใหญ่หลายๆ เรื่องที่เค้าเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม?

ที่ไม่ยุติธรรมชัดเจนคือเรื่องรัฐประหาร การโค่นล้มคุณทักษิณด้วยกำลังอาวุธ เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ส่วนเรื่องคดีความของแกนั้นเถียงกันได้ คืออย่างน้อยเขาให้แกมาพิสูจน์ตัวเอง ให้แกมาแก้ต่างในศาล อันนี้มีข้อถกเถียงทางกฎหมายมากมาย ว่ายุติธรรมต่อคุณทักษิณหรือไม่  อาตมาก็ไม่มีความรู้พอที่จะตอบ มีเรื่องหนึ่งที่แย้งว่า คำฟ้องมาจาก คตส.ใช่มั้ย ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร แต่อาจารย์แก้วสรรก็อธิบายว่า แกร่วม คตส.เพราะ เห็นว่ากระบวนการทั้งหมดต้องมาจบลงที่ศาล ต้องให้ศาลตัดสิน แกบอกว่าถ้าไม่มีตรงนี้แกก็ไม่เป็น คือแกยังเห็นว่ามันต้องไปพิสูจน์กันในศาล ซึ่งบางกรณีคำฟ้องของ คตส.ก็ตกใช่มั้ย มันก็ตกหลายอัน ซึ่งอาตมาว่าก็แฟร์ดี  ไม่ใช่ว่าคำฟ้อง หรือข้อกล่าวหาของ คตส. ทุกข้อเนี่ยศาลรับหมด หลายข้อก็ไม่รับ เพราะฉะนั้น ในแง่นี้มันก็ไม่ได้หมายความว่าแกไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องนี้อาตมาไม่ขอออกความเห็นมากกว่านี้ เพราะว่าไม่ค่อยรู้เรื่องกฎหมาย แต่มองจากสายตาคนภายนอก ถามว่ามันมีการเปิดโอกาสให้แกพิสูจน์ตัวเองมั้ย ก็มี แต่สิ่งที่เป็นปัญหาซึ่งเถียงไม่ได้เลยก็คือการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดมากเลย

แต่แกนนำเสื้อแดงก็ประกันตัวไม่ได้ ส่วนแกนนำเสื้อเหลืองก็ไม่ดำเนินการเท่ากัน?

อันนี้มันชัดอยู่แล้วล่ะ คือถ้าพูดถึงกระบวนการยุติธรรม มันมีความเป็นสองมาตรฐานมาก ตั้งแต่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน มีความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเยอะมาก คือไม่ต้องเปรียบเทียบระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงก็ได้  มองแค่ว่าสิ่งที่ ศอฉ.ทำมันถูกมั้ย อาตมาก็ว่าไม่ถูก เพราะมีการจับใครต่อใครมั่วไปหมด หลายคนหลักฐานก็อ่อนหรือไม่มีเลย บางอย่างก็เป็นแค่แสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธีก็ไปจับเขา อย่างนักเรียนที่เชียงราย

คือ ผมคิดว่าหลวงพี่คงจะได้สัมผัสความรู้สึกของคนเสื้อแดงนะครับ ผมว่าความรู้สึกที่รุนแรงอย่างหนึ่งคือเค้ารับไม่ได้กับอำนาจนอกระบบ จะเรียกว่าอำมาตย์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เหมือนกับพยายามจะกระชับอำนาจของตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุด มันทำให้ประชาธิปไตยมันไปไม่ถึงไหน ตรงนี้หลวงพี่มองยังไง?

ก็เห็นด้วย แต่ก็ยังมองไม่ออกว่า การเลือกตั้งใหม่มันจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร อาตมามองไม่เห็น แต่ไม่ขัดข้องหากจะมีการยุบสภาวันนี้พรุ่งนี้แล้วเลือกตั้งใหม่  คือข้อเรียกร้องของเสื้อแดงมีทั้งที่เป็นทางการกับที่ไม่เป็นทางการ มันต่างกันนะ ที่เป็นทางการก็คือว่า ให้ยุบสภา แต่ที่ไม่เป็นทางการคือ ต่อต้านสองมาตรฐาน อำนาจนอกระบบ อำมาตยาธิปไตย ตกลงจะเอาอันไหนแน่ เรื่องอำนาจนอกระบบ อาตมาเห็นด้วย สองมาตรฐานอาตมาก็เห็นด้วย แต่ที่เสนอเป็นทางการคือให้ยุบสภา อันนี้อาตมาเคาะนะ คือยังไงก็ได้

หลวงพี่มองอนาคตของคนเสื้อแดงยังไง?

ถ้าทำแบบสมบัติหรือหนูหริ่ง ก็มีโอกาสที่จะได้ใจคนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่รู้จะมีพลังหรือเปล่านะ เพราะว่ามันอาจจะสื่อสารได้กับคนในเมือง แต่ว่าจะถึงอกถึงใจชาวบ้านหรือเปล่าไม่รู้ แต่อาตมาเชื่อว่าตอนนี้ คนเสื้อแดงถ้าไม่รู้จักหาแนวร่วมไว้ จะมีปัญหามาก เพราะตอนนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยรักษาแนวร่วมเลย ใครคิดไม่เหมือนตัวเองก็ด่า และต้องเห็นด้วยทุกเรื่องเลยนะตั้งแต่ต้นจนปลาย ซึ่งมันก็มีแต่คนเสื้อแดงด้วยกันเท่านั้นแหละที่จะเห็นด้วยกับคุณทุกอย่าง  เราควรดึงคนที่แม้ไม่เห็นด้วยกับเราทุกเรื่องแต่บางเรื่องเห็นด้วยเอามาเป็นพวก เรื่องนี้อาตมาเข้าใจว่ามันมีการถกเถียงกันมากในหมู่เสื้อแดง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการจัดงานที่หอเล็ก (หอประชุมเล็กธรรมศาสตร์) งาน “เราจะไม่ทอดทิ้งกัน” ใช่ไหม  กฤช เหลือลมัย อ่านบทกวีเตือนคนเสื้อแดงให้ใจกว้าง อย่ามองคนที่ไม่ใช่พวกเราเป็นศัตรู ปรากฏว่าโดนโห่ใช่มั้ยทั้งที่เค้าเป็นมิตรกับเสื้อแดง มันมีการแสดงของคุณโบว์ด้วย ก็โดนโห่เหมือนกัน  คือทั้งที่เค้าเป็นมิตรกับเสื้อแดง แต่ว่าเพียงแค่เขาคิดไม่เหมือนเราในบางเรื่องก็โดนโห่แล้ว
 
ท่าทีแบบนี้จะทำให้เสื้อแดงไม่โต เพราะว่าในที่สุดก็จะมีแต่พวกเดียวกันเอง การทำงานทางสังคมหรือการเมืองหากต้องการทำให้เป็นขบวนการที่ใหญ่ ก็ต้องพร้อมที่จะดึงคนทุกฝ่ายเข้ามาเป็นพวกกับคุณ หรือสนับสนุนคุณ แม้ว่าบางเรื่องเขาจะไม่เห็นด้วย แต่เสื้อแดงถ้าท่าทีอย่างที่เป็นอยู่ มันจะไม่โต ซึ่งอาตมาเข้าใจว่าเรื่องนี้ มีการถกเถียงกันภายในกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่  อาตมาคิดว่าถ้าเอาแต่ด่าคนที่คิดไม่เหมือนตัว จะโตยาก  แล้วในที่สุดก็จะด่ากันเอง

คือมันเป็นธรรมชาติของทุกขบวนการ หากเริ่มต้นจากการเล่นงานคนอื่นแล้ว ในที่สุดก็จะเล่นงานกันเอง ซึ่งเป็นมากในขบวนการคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือว่าเขมร  คือพอได้อำนาจมาแล้วก็จะจัดการคนอื่นก่อน เสร็จแล้วก็เล่นงานกันเอง ในที่สุดขบวนการก็พัง เขมรก็พินาศ อาตมาคิดว่านี่เป็นปัญหาหนึ่งของคนเสื้อแดง ขนาดยังไม่มีอำนาจก็เล่นงานคนอื่น ไม่เว้นแม้แต่มิตรหรือแนวร่วม หากเป็นอย่างนี้ก็น่าสงสัยว่าจะโตได้ยังไง

 


ตัดทอนจากเนื้อหาบางส่วนของการสัมภาษณ์ประกอบโครงการวิจัยเรื่อง “ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน” ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย (สัมภาษณ์วันที่ 5 ต.ค.53) โดยผู้วิจัยขออนุญาตผู้ให้สัมภาษณ์ในการเผยแพร่ในประชาไทแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาระ 34 ปี 6 ตุลา: "ศิโรตม์" แนะอย่าเลือกจดจำความรุนแรง

Posted: 07 Oct 2010 12:51 AM PDT

เสวนา 34 ปี 6 ตุลา ที่ มธ. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์แนะอย่าเลือกจดจำความรุนแรง ชี้ประเด็นของความรุนแรงไม่ใช่อยู่แค่ว่าใครก่อความรุนแรง แต่เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือสังคมมองการใช้ความรุนแรงอย่างไร

(6 ต.ค.53) ในโอกาสครบรอบ 34 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงเช้า โดยมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ ต่อด้วยการแสดงนาฏลีลาจำลองเหตุการณ์ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกราดยิงนักศึกษา รวมถึงมีการวางพวงมาลา โดยมีนายสุรพล นิติไกรพจน์ ในฐานะอธิการบดี มธ. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียนนักศึกษาและประชาชนร่วมรำลึก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยประมาณ 10 นาย ขณะที่ช่วงสายมีการจัดกิจกรรมรำลึก โดยนักศึกษากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์คัดค้านอำนาจนอกระบบ ณ บริเวณสนามฟุตบอล ฝั่งตึกโดม (คลิปวิดีโอ)

วันเดียวกัน เวลา 10.00น. ที่ห้องจิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา ม.มหิดล กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ความรุนแรงและอำนาจรัฐ" โดยเริ่มจากนิยามของความรุนแรงว่า ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงเชิงกายภาพอย่างการทำร้ายร่างกายและชีวิตผู้อื่นเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้หมดโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์ บุคคลหมดโอกาสในการบรรลุความ เป็นคนอย่างสมบูรณ์ ผ่านความรุนแรงแบบต่างๆ เช่น ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการทหาร ทางภาษา ทางกฎหมาย ทางวาทกรรม โดยยกตัวอย่างความรุนแรงทางกฎหมาย เช่น การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่หลายคนเข้าใจว่าเหมือนกฎหมายปกติ แต่จริงๆ แล้วมีลักษณะพิเศษคือทำให้การกระทำที่ปกติแล้วไม่ผิดกลายเป็นการกระทำที่ผิดและถูกลงโทษได้ อาทิ กรณีแม่ค้าขนข้าวกล่องจากตลาดไทมาให้ผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ปัจจุบันยังติดคุกอยู่ กรณีนี้โดยตัวการกระทำไม่ผิด แต่เมื่อกฎหมายบอกว่าผิด จึงผิด หรือการที่คนจำนวนมากถูกยิงบาดเจ็บล้มตายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทั้งที่โดยการกระทำคือการใช้สิทธิชุมนุมนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ถูกลงโทษว่าผิด เนื่องจากอยู่ผิดที่ผิดเวลา ทำให้คนจำนวนมากติดคุก ตาย บาดเจ็บ โดยไม่มีคนรับผิดชอบเลย

เขาเล่าถึงงานวิจัยของนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่พูดถึงความรุนแรงของไทยผ่านการศึกษา ปรากฏการณ์ในไทย 3 ช่วง คือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เหตุการณ์ 6 ตุลา และการปราบปรามการค้ายาเสพติดสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ โดยระบุว่า ความรุนแรงทั้งสามช่วงคล้ายกันตรงที่คนจำนวนมากถูกกักขังโดยพลการก่อนที่จะมีการตัดสินความผิด โดยในยุคสฤษดิ์ มีการรัฐประหารที่นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึกเกือบ 17 ปี คนจำนวนมากถูกจับกุมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย-คอมมิวนิสต์ ให้จับกุมผู้ต้องสงสัย และควบคุมตัวได้โดยไม่มีกำหนดเวลา คล้ายกับที่คนเสื้อแดงเจอ แต่กรณีของคนเสื้อแดงซับซ้อนกว่าเพราะเป็นการจับกุมผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อ 14 ตุลา โดยมีการให้เหตุผลในคำสั่งยกเลิกกฎหมายนี้ว่า คำสั่งนี้ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า แม้รู้ว่าที่ผ่านมากฎหมายผิดแล้ว แต่คนที่ถูกจับฟรีเป็นร้อยๆ คนก็ไม่มีใครชดเชยความยุติธรรมหรือความเสียหายให้

นอกจากนี้ ความรุนแรงยังทำให้คนหวาดกลัวว่าอาจถูกทำร้าย แม้ไม่ถูกทำร้ายทางร่างกาย แต่เป็นการคุกคามทางอุดมการณ์ ให้เปลี่ยนเป็น "พลเมืองดี" โดยงานวิจัย ระบุว่า จากการสอบถามผู้ที่ถูกจับหลังเหตุการณ์หกตุลาที่เชียงใหม่ พวกเขาบอกว่าไม่ได้ถูกซ้อมหรือทรมาน หรือหากมีก็ไม่เป็นปัญหาที่คุกคามพวกเขาเท่ากับการถูกอบรมด้วยเรื่องซ้ำๆ ซากๆ อย่างเอกลักษณ์แห่งชาติ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเป็นไทย โดยคนที่ถูกจับจำนวนหนึ่งเป็นเพียงครูสังคม ถูกจับเพราะมีหนังสือบางเล่มที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ปัจจุบัน ใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็กรณีคล้ายกัน คือจับคนเข้ารับการอบรมเรื่องพลเมืองดี ศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง จนเมื่อทหารมองว่าพร้อมกลับไปเป็นพลเมืองดีของไทยแล้วจึงปล่อยตัว

ขณะที่ความรุนแรงจากอำนาจรัฐโดยตรงผ่านการกดขี่ปราบปรามนั้น ศิโรตม์ระบุว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง ทำให้คนคิดมากขึ้นเมื่อจะเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจตัดสินใจเงียบในเรื่องบางเรื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับตัวเอง แม้จะรู้ว่าสิ่งที่รัฐกระทำนั้นผิด อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายิ่งรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนมากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งพัฒนาวิธีตอบโต้รัฐแบบต่างๆ ออกมา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์หลังหกตุลาว่า เมื่อเกิดการฆ่าซึ่งรัฐคิดว่าจะหยุดความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ปรากฏว่า พรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวขึ้น สงครามในเขตป่าเขามีมากขึ้น มวลชนของพรรคในเขตเมืองก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับหลังการปราบที่ราชประสงค์ ที่ต่อมา ประชาชนฝ่ายที่ถูกปราบก็พัฒนาการต่อต้านออกมาหลายรูปแบบ เช่นกรณีของ บก.ลายจุดที่ชวนคนออกมาใส่เสื้อแดงทุกวันอาทิตย์

ศิโรตม์แนะว่า ในสังคมที่เผชิญปัญหาแบบนี้ คนที่เห็นต่างจากรัฐจะต้องประเมินให้ได้ว่า รัฐแต่ละช่วงมีการควบคุมอย่างไร เพื่อกำหนดการต่อต้านให้อยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และไม่ก่อให้ผู้ชุมนุมเผชิญปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่หวาดกลัวรัฐจนไม่ออกมาทำอะไรเลย

ต่อประเด็นเรื่องการทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงและอำนาจรัฐ ศิโรตม์ระบุว่า นอกจากคำถามว่าเราจะจดจำความรุนแรงกันอย่างไรแล้ว อีกปัญหาที่น่าสนใจคือวิธีการที่สังคมเลือกจดจำความรุนแรงที่โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามีแนวโน้มจะเลือกจดจำเฉพาะความรุนแรงที่สอดคล้องกับอคติทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือสอดคล้องกับความต้องการทางการเมือง เหตุผลทางการเมืองที่ต้องการพูดในปัจจุบัน การจดจำความรุนแรงไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่าความรุนแรงเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ซึ่งเขามองว่านี่เป็นเรื่องที่อันตราย

"โดยความทรงจำที่เรามีต่อหกตุลาในแง่หนึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เราใช้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อวิจารณ์อะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยในปัจจุบัน แต่ความทรงจำถึงคนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นตัวเขาจริงๆ ถูกทำให้หายไป" ศิโรตม์กล่าวพร้อมฉายให้ผู้ฟังในห้องดูภาพของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ โดยระบุว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความรุนแรงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่ความรุนแรงทุกรูปแบบที่เราจดจำ อาทิ ภาพของมนัส เศียรสิงห์ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์หกตุลา เขาถูกพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของความตายหกตุลา มากกว่าว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร มีความสำคัญต่อพ่อแม่พี่น้องของเขาอย่างไร หรือหากเขายังอยู่จะประกอบอาชีพอะไร


อารมณ์ พงศ์พงัน

หรือภาพของอารมณ์ พงศ์พงัน ผู้นำกรรมกรซึ่งถูกจับพร้อมนักศึกษาในช่วงหกตุลา หรือพ่อหลวงอินถา สีบุญเรือง ผู้นำชาวนา แทบไม่มีใครจำชื่อพวกเขาได้แล้ว เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่ปัญญาชนรุ่นหลังมองแล้วจะยึดโยงกับเหตุการณ์ได้ว่าเป็นยุคที่ปัญญาชนเคยมีบทบาทอย่างสูงในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือภาพของเตียง ศิริขันธ์ และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สองในสี่รัฐมนตรีที่ถูกฆ่าทิ้ง ที่ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว เพราะคนรุ่นหลังไม่เห็นประโยชน์ในการพูดถึงเขาอีก คนอย่างอมเรศ ไชยสะอาด หรือนิสิต จิรโสภณ ก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง แต่ชื่อของเขาก็ไม่ถูกพูดถึงมากนักเวลาคนรุ่นหลังพูดถึงหกตุลา


เตียง ศิริขันธ์ - ทองอินทร์ ภูริพัฒน์

"เราจดจำความตายโดยเน้นเป็นพิเศษไปที่กรณีซึ่งเป็นประโยชน์กับการต่อสู้ของคนในยุคปัจจุบัน" ศิโรตม์กล่าวและยกตัวอย่างภาพของความรุนแรงที่ตากใบ ว่าเพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่ปีมานี้และมีความรุนแรงไม่น้อยกว่าเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ ซึ่งที่ผ่านมา เขามองว่า ฝ่ายผู้ที่สะเทือนใจกับความรุนแรงที่ราชประสงค์ยังไม่มีการพูดถึงความรุนแรงในกรณีตากใบเท่าใดนัก อาจเพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยที่ทักษิณเป็นนายกฯ และคนจำนวนมากที่สะเทือนใจกับความรุนแรงที่ราชประสงค์ยังไม่พร้อมจะพูดถึงกรณีนี้


ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

"ประเด็นของความรุนแรงไม่ใช่อยู่แค่ว่าใครก่อความรุนแรง แต่เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือสังคมมองการใช้ความรุนแรงอย่างไร" ศิโรตม์กล่าวและตั้งคำถามว่า เราจะมีความกล้าที่จะพูดถึงความรุนแรงที่ราชประสงค์ควบคู่ไปกับกรณีตากใบที่มีคนตายไป 85 ศพได้หรือไม่ ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงทั้งหมดจากจุดยืนว่าความรุนแรงทางการเมืองเป็นเรื่องผิดจริงๆ เราจะจัดการกับความรุนแรงแบบนี้อย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะกลายเป็นว่าเรายอมรับความรุนแรงได้ในกรณีที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นพวกเดียวกับเรา

ศิโรตม์ระบุว่า ขณะที่เราพูดถึงความรุนแรงทางการเมืองจำนวนมาก เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนจำนวนมากพูดถึงความรุนแรงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือพูดบางเรื่องที่เราพูดไม่ได้ในปัจจุบัน และนี่เป็นปัญหาที่ท้าทายทางจริยธรรม และตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่เราจะเห็นว่า ความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ความรุนแรงที่ตากใบรวมถึงความรุนแรงในกรณีอื่นๆ ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดโดยรัฐบาลใดก็ตาม รวมถึงตั้งคำถามด้วยว่าที่สุดแล้ว เราสามารถพูดเรื่องความรุนแรงโดยหลุดจากกรอบทางการเมือง เหตุผลทางการเมือง หรืออคติรอบตัวได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้น เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยอมรับความรุนแรงทางการเมืองไปเรื่อยๆ และจากโจทย์ว่า ความรุนแรงทางการเมืองผิดหรือถูก จะกลายเป็นว่า ความรุนแรงถูกใช้โดยใคร ถ้าโดยฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องผิด ฝ่ายที่เราเห็นด้วยเป็นเรื่องถูก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น